ฉบับที่ 117 เหล็กในคนท้อง

ผู้ที่เรียนรู้ในด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพส่วนใหญ่คงเข้าใจในความสำคัญของธาตุเหล็กในอาหาร ไม่มากก็น้อย และส่วนใหญ่ก็ทราบว่า สตรีที่ตั้งท้องนั้นมักได้รับการเสริมธาตุเหล็กในรูปยาเม็ดเหล็ก ซึ่งมีองค์ประกอบเป็นสารเคมีคือ Ferrous sulfate โดยอาจมีวิตามินซีผสมเพื่อช่วยการดูดซึมให้ดีขึ้น  ในเว็บไซต์หนึ่งที่เข้าไปพบโดยอาศัย Google ได้อธิบายเกี่ยวกับการเสริมธาตุเหล็กในผู้ตั้งท้องว่า ปกติในการฝากท้องที่โรงพยาบาลใหญ่หน่อย แพทย์จะตรวจเลือดเพื่อเช็คสุขภาพผู้ตั้งท้อง และจะเป็นผู้ให้ธาตุเหล็กเสริมเพื่อให้เพียงพอในแต่ละวัน นอกจากนี้แพทย์มักแนะนำให้ผู้ตั้งท้องกินอาหารที่มีธาตุเหล็กด้วย  โดยเฉลี่ยแล้วผู้ตั้งท้องต้องการธาตุเหล็กประมาณ 1,000 มิลลิกรัม โดยแบ่งเป็นของทารกและรกประมาณ 300 มิลลิกรัม และ 500 มิลลิกรัม สำหรับผู้ตั้งท้อง นอกจากนี้ยังรวมธาตุเหล็กที่ถูกขับออกจากร่างกายประมาณ 200 มิลลิกรัม รวมๆ แล้ว ผู้ตั้งท้องจึงต้องการธาตุเหล็กประมาณ 1,000 มิลลิกรัมตลอดการตั้งท้อง ซึ่งหากแบ่งเฉลี่ยปริมาณธาตุเหล็กที่ผู้ตั้งท้องต้องการในแต่ละวันก็ประมาณ 6 มิลลิกรัม  ในขณะที่อีกเว็บไซต์หนึ่งได้ให้ข้อแนะนำในการปฏิบัติตนเมื่อท้องว่า ในระยะแรกของการตั้งท้องผู้ตั้งท้องจะปรับตัวได้จากการไม่มีประจำเดือน ดังนั้นจึงยังไม่จำเป็นต้องมีการเสริมแร่ธาตุเหล็ก ยกเว้นกรณีแม่มีภาวะโลหิตจางมาก่อน แพทย์จะแนะนำให้เสริมธาตุเหล็กในรูปยาเม็ด อาหารที่มีแร่ธาตุเหล็กสูง ได้แก่ เลือด ตับ เนื้อสัตว์ ผักใบเขียว เหล็กจากผักร่างกายดูดซึมไม่ดียกเว้นจะมีตัวช่วยส่งเสริมการดูดซึม เช่น วิตามินซี และโปรตีนจากสัตว์ จากนั้นในช่วงไตรมาสที่ 2-3 แพทย์จะแนะนำให้เสริมยาเม็ดเหล็ก 1 เม็ดต่อวัน เพราะได้จากอาหารอย่างเดียวไม่พอ นอกจากนี้ยังมีข่าวที่รายงานในเว็บไซต์ www.voicetv.co.th ว่า นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขกล่าวระหว่างการลงพื้นที่ อ.เกาะยาว จ.พังงา ว่า ได้เตรียมแจกยาบำรุงท้องที่มีส่วน ผสมของไอโอดีน โฟเลทและเหล็กให้กับหญิงตั้งท้องจนถึงคลอด เพื่อให้เด็กที่คลอดออกมามีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงสมบูรณ์ ส่วนกรมอนามัย (ในเว็บไซต์ www.ranthong.com) ได้แนะนำว่า การรับประทานอาหารที่มีธาตุเหล็กควบคู่กับการรับประทานวิตามินซี เพิ่มประสิทธิภาพการดูดซึมธาตุเหล็ก หากอยู่ในภาวะที่เสี่ยงต่อการขาดธาตุเหล็ก เช่น เด็ก วัยรุ่น สตรีมีประจำเดือน ควรเสริมยาเม็ดธาตุเหล็กสัปดาห์ละ 1 เม็ด เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพสมอง เรียนรู้ดีขึ้น ลดการเจ็บป่วย ทำงานได้ผลผลิตมาก เพิ่มคุณภาพชีวิต อย่างไรก็ดีมีเรื่องน่าสนใจในเว็บ www.xn--q3c1ar6i.com ได้กล่าวถึงปัญหาการกินยาเม็ดเหล็กโดยไม่เจตนาของเด็กว่า ในประเทศสหรัฐอเมริกาว่า มีรายงานระหว่างเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2535 ถึงเดือนมกราคม 2536 มีเด็ก 5 รายที่มีอายุระหว่าง 11-18 เดือน ในมลรัฐลอสแองเจลิสต้องเสียชีวิตหลังจากได้รับธาตุเหล็กในยาบำรุงเกินขนาด นอกจากนี้ยังมีรายงานหนึ่งที่ศึกษาย้อนหลังไป 7 ปีครึ่ง พบมีเด็กจำนวนมากถึง 80 คนที่ต้องเข้าโรงพยาบาลเนื่องจากได้รับธาตุเหล็กเกินขนาด และจำนวนเกือบครึ่งหนึ่งเกิดอาการพิษที่รุนแรง พบว่าเด็กส่วนใหญ่ได้รับธาตุเหล็กจากยาบำรุงของแม่หรือของญาติขณะที่เธอเหล่านั้นตั้งท้องนั่นเอง โดยเป็นยาที่วางอยู่ภายในบ้านและมักอยู่ในภาชนะพลาสติกที่เปิดได้อย่างง่ายดาย สรุปแล้วจะเห็นว่าการให้ยาเม็ดเหล็กแก่สตรีที่ตั้งท้องนั้นเป็นเรื่องสำคัญ ต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ ซึ่งจะพิจารณาจากระดับของความเข้มข้นของเหล็กในร่างกาย โดยดูจากค่าฮีมาโตคริทคือ ค่าปริมาตรเม็ดเลือดแดงอัดแน่น เพื่อบอกว่าเลือดมีความเข้มข้นเพียงพอหรือไม่ เพราะถ้ามีน้อยจะบ่งบอกว่า เลือดจางเกินไป และที่สำคัญคือ ยาเม็ดเหล็กนั้นไม่ใช่ของที่จะกินพร่ำเพรื่อได้ เพราะมีอันตรายพอสมควร ผู้เขียนขอยกงานวิจัยที่มีการตีพิมพ์และเผยแพร่แล้วว่า การเสริมธาตุเหล็กนั้นควรระวังในเรื่องใด ผู้เขียนเคยตั้งคำถามอยู่ในใจนานแล้วเหมือนกันว่า ในท้องถิ่นกันดารนั้น เวลาสตรีที่ตั้งท้องไปหาแพทย์ที่หน่วยอนามัยชุมชนที่เล็กที่สุดในระบบการแพทย์ของบ้านเรา สตรีนางนั้นจะได้รับแนะนำให้ปฏิบัติตัวอย่างไรบ้าง โดยเฉพาะในเรื่องการได้รับเหล็กเพื่อเสริมในระหว่างตั้งท้อง ทั้งนี้เพราะมีบทความทบทวนเอกสารของ Peter Reizenstein เรื่อง Iron, Free Radicals and Cancer ในวารสารชื่อ Medical Oncology and Tumor Pharmacotherapy ชุดที่ 8. เล่มที่ 4 หน้า 229-233 ตีพิมพ์เมื่อปี 1991 กล่าวถึงปัญหาของการที่เหล็กมีส่วนร่วมในการเกิดมะเร็งได้ ก่อนอื่นคงต้องอธิบายพื้นฐานเล็กน้อยว่า มะเร็งนั้นเกิดได้จากสาเหตุมากมาย และไม่มีสาเหตุอะไรที่ถูกฟันธงว่า ใช่เลย เพราะนักวิทยาศาสตร์และแพทย์หลายท่านร่วมกันลงความเห็นว่า มันคงมีการร่วมกันของหลายสาเหตุที่ก่อให้เกิดมะเร็ง ในประเด็นของเหล็กนั้น ทุกคนยอมรับกันว่า เหล็กซึ่งเป็นโลหะที่ร่างกายจำเป็นต้องได้รับในปริมาณที่พอเพียงเพื่อช่วยให้ร่างกายดำรงชีวิตได้ โดยเป็นองค์ประกอบของเม็ดเลือดที่นำออกซิเจนไปเลี้ยงเซลล์ต่าง ๆ ของร่างกาย และยังทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยของเอนไซม์อีกหลายชนิดที่จำเป็นต่อร่างกาย ปกติแล้วเมื่อเหล็กเข้าสู่ร่างกาย จะมีการเปลี่ยนพอควรที่จะให้เหล็กนั้นอยู่ในรูปที่ซับซ้อน เช่นการเกาะติดไปกับโปรตีนเฉพาะเพื่อทำงานที่เหมาะสม เหล็กไม่ควรอยู่เป็นอิสระลอยไปลอยมา เพราะมิเช่นแล้วอาจเกิดปัญหาเกี่ยวการเกิดอนุมูลอิสระ ซึ่งเป็นสิ่งที่ถูกสันนิษฐานว่าก่อมะเร็งด้วย เหล็กนั้นเป็นธาตุที่มีวาเล็นซี 2 และ 3 ตามที่เราเรียนมาในวิชาเคมี ตั้งแต่อยู่มัธยมต้นแล้ว วาเล็นซีนี้เปลี่ยนไปมาได้ตามความเหมาะสม โดยถ้ามีสาร (เช่น เบต้าแคโรตีน) ที่สามารถให้อิเล็คตรอนกับเหล็กวาเล็นซี 3 (Fe3+) ได้ มันจะกลายเป็นเหล็กวาเล็นซี 2 (Fe 2+) ซึ่งปรากฏว่า เหล็กวาเล็นซี 2 นี้สามารถกระตุ้นให้เกิดอนุมูลอิสระชนิด hydroxyl free radical (OH•) โดยเริ่มต้นมาจากไฮโดรเจนเปอรอกไซด์ (ที่เซลล์ร่างกายผลิตระหว่างการทำงาน) ทำปฏิกิริยากับเหล็ก ตามปฏิกิริยาของ Fenton (ซึ่งหารายละเอียดได้ใน www.wikipedia.org) ดังนี้ Fe2+ + H2O2 → Fe3+ + OH• + OH− ที่สำคัญคือ ในทางชีววิทยาระดับโมเลกุลแล้ว อนุมูลอิสระชนิด hydroxyl free radical นี้สามารถก่อให้เกิดการกลายพันธุ์ของหน่วยพันธุกรรมได้ และถ้าการกลายพันธุ์นั้นเกิดที่ตำแหน่งเหมาะสม อาจก่อมะเร็งได้โดยไม่จำกัดอวัยวะ ดังนั้น Peter Reizenstein จึงได้ตั้งประเด็นขึ้นมาในทำนองว่า มันคงไม่จำเป็นต้องมานั่งพิสูจน์แล้วว่าเหล็กเป็นสารก่อมะเร็งหรือไม่ แต่มันสำคัญที่ยังไม่มีการพิสูจน์ว่าการเสริมเหล็กทั้งที่ไม่จำเป็นหรือหลีกเลี่ยงได้นั้นไม่อันตรายจริงหรือ และน่าจะเป็นประโยชน์ที่จะหาความจริงว่า การเสริมเหล็กในอาหารนั้นจำเป็นหรือไม่ หรือจะให้ดีควรให้มีการผลิตแป้งข้าวสาลีที่ไม่เสริมอะไรให้ผู้บริโภคบ้าง ที่สำคัญคือ การจ่ายยาเม็ดเหล็กให้คนไข้ที่ไม่ได้ขาดเหล็กนั้นต้องไม่เกิดขึ้น ซึ่งเป็นไปตามข้อบังคับของ Danish National Board of Health ซึ่งประสงค์จะคุ้มครองเด็ก สตรีและผู้บริจาคเลือด ในฐานะที่ผู้เขียนไม่ใคร่มีความรู้เกี่ยวกับเหล็กในเรื่องโภชนาการคลินิกเท่าใดนัก จึงนำเสนอเรื่องนี้ให้เป็นแนวคิดว่า ในเมืองใหญ่ซึ่งมีแพทย์ที่มีความรู้สูง การเสริมเหล็กแก่สตรีที่เริ่มตั้งท้องนั้น คงได้มีการตรวจสอบแล้วว่าจำเป็น โดยดูจากความเข้มข้นของเม็ดเลือดเป็นหลัก แต่สำหรับสตรีที่ตั้งท้องและไม่ได้ฝากท้องเป็นเรื่องเป็นราว หากเคยได้ข้อมูลว่าหญิงตั้งท้องควรกินยาเม็ดเหล็ก (โดยไม่ทราบเหตุผลทางวิชาการ) หรืออยู่ในชนบทที่ระบบการแพทย์ไม่สมบูรณ์ การเสริมยาเม็ดเหล็กนั้น ได้ทำอย่างรอบคอบแล้วหรือไม่ เพราะปัญหาที่เกิดในกรณีเหล็กส่งเสริมสภาวะการเกิดมะเร็งนี้กินเวลานานกว่าจะเห็นผล ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้นการฟ้องร้องก็ทำไม่ได้และก็ไม่รู้จะฟ้องไปทำไมเนื่องจากหลักฐานถูกขับถ่ายออกจากร่างกายจนไม่มีเหลือแล้ว  

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point