ฉบับที่ 237 วาสนารัก : แข่งบุญแข่งวาสนา...แข่งกันไม่ได้จริงๆ หรือ

                มีความเปรียบเปรยอยู่ข้อหนึ่งที่ผู้คนมักจะกล่าวกันไว้ว่า “แข่งเรือแข่งพายนั้นแข่งได้ แต่แข่งบุญแข่งวาสนาแข่งกันไม่ได้”         ความเปรียบข้อนี้สะท้อนโลกทัศน์ที่หยั่งรากลึกเนิ่นนานในสังคมไทยเอาไว้ว่า ถึงแม้นเรื่องของ “ความสามารถ” อาจเป็นสิ่งที่ปัจเจกบุคคลแข่งขันเพื่อกำชัยชนะระหว่างกันได้ก็ตาม แต่เรื่องของ “เส้นวาสนา” หาใช่จะเป็นสิ่งที่ปัจเจกชนมีอำนาจกำหนดกฎเกณฑ์ใดๆ ได้ไม่         “บุญพาวาสนาส่ง” ถือเป็นกลไกรอมชอมความขัดแย้ง และสร้างความชอบธรรมให้กับคนชั้นนำที่จะอธิบายว่า ทำไมมนุษย์เราจึงมีความแตกต่างและไม่เท่าเทียมกันในความสัมพันธ์ ด้วยเหตุนี้ คนที่เราเห็นว่า เขามีสถานะดีกว่า ก็เนื่องจากเขามีวาสนาติดตัวมาแต่กำเนิด ในขณะที่เราอาจจะมีสถานะต่ำต้อยด้อยกว่า ก็ด้วยเพราะเกิดมาพร้อมกับเสียงเพลงที่ปลอบประโลมใจว่า “ฉันมันไม่มีวาสนา ฝืนดวงชะตาก็คงไม่ได้”         แม้โลกทัศน์เรื่อง “วาสนา” เยี่ยงนี้ อาจตกผลึกฝังเป็นตะกอนนอนก้นในสังคมไทยมายาวนานก็จริง แต่ทุกวันนี้ เมื่อสถานะแห่งชนชั้นนำเริ่มแปรเปลี่ยนโฉมหน้าค่าตาไป คำถามก็ดูน่าสงสัยยิ่งว่า แล้วบุญวาสนายังจะเป็นเรื่องที่แข่งขันฝีพายไม่ได้จริงอยู่อีกหรือไม่         ละครโทรทัศน์เรื่อง “วาสนารัก” ที่เพียงเห็นแค่ชื่อ ก็เหมือนจะชวนชี้ให้เราเริ่มตั้งคำถามต่อสำนึกเรื่อง “บุญพาวาสนาส่ง” เฉกเช่นที่กล่าวมานี้         ด้วยเป็นภาคต่อของละครเรื่อง “ทุ่งเสน่หา” ซึ่งเรื่องราวแต่เดิมสะท้อนความเปลี่ยนแปลงของชนบท ที่ผันผ่านสู่ความเป็นเมือง ละคร “วาสนารัก” จึงสานต่อคำถามว่า ภายใต้วิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปสู่รุ่นลูกและหลานของตัวละครในภาคแรกนั้น โลกทัศน์ต่อบุญวาสนาของเธอและเขาได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างไรกันบ้าง         เปิดฉากมากับบรรยากาศของตัวเมืองนครสวรรค์ กับภาพของตัวละครภาคก่อนอย่าง “สำเภา” และ “ยุพิณ” ที่อดีตเคยเป็นคู่ปรับกัน แต่เวลาที่ผ่านผันก็ทำให้ทั้งสองมีวุฒิภาวะและเข้าใจชีวิตมากขึ้น พร้อมๆ กับปมปัญหาใหม่ที่ถูกผูกไว้ให้เป็นจุดเริ่มต้นของความรักอันดูเหมือนจะไร้วาสนาของคนรุ่นลูกหลาน          สำเภามี “กันตพล” เป็นหลานชาย ที่เพราะชาติกำเนิดของเขาหาใช่เป็นหลานแท้ๆ ของสำเภาไม่ แต่เขาเป็นลูกของ “ไผท เทพทอง” พระเอกลิเกชื่อดังที่ประสบอุบัติเหตุเสียชีวิตลงตั้งแต่ต้นเรื่อง         และเหมือนกับโชควาสนาจะเล่นตลก เมื่อกันตพลได้มาพบเจอกับ “ใกล้รุ่ง” ลูกสาวบ้านลิเกของไผท เทพทอง และเขาก็รู้สึกถูกชะตาตกหลุมรักหญิงสาวมาตั้งแต่ครั้งแรกที่พบกัน โดยมีความลับที่ถูกลืออยู่ตลอดว่า ทั้งคู่อาจเป็นพี่น้องพ่อเดียวกัน ซึ่งอาจจะก่อกลายเป็นรักต้องห้ามของพระนางในเรื่องไปในที่สุด         เพราะโดยแก่นแกนหลักของละครก็คือ การชี้ยืนยันให้เห็นว่า วาสนาเป็นเงื่อนไขที่กำหนดมนุษย์ทุกคน และเป็นลิขิตที่เรามิอาจฝืนได้ เพราะฉะนั้นความรักที่พลิกผันไปมาของกันตพลกับใกล้รุ่ง ก็เหมือนจะถูกเล่าผ่านกติกาของบุญวาสนาที่ให้ผู้ชมได้ลุ้นไปด้วยว่า “วาสนารัก” ของคนทั้งคู่จะบรรจบพบและลงเอยอย่างไร         พร้อมๆ กับการร่วมลุ้นไปกับ “วาสนารัก” ของตัวละครนี้ ที่น่าอัศจรรย์ใจยิ่งก็คือ แทบจะทุกตัวละครในเรื่องต่างก็พากันพ้องเสียงพร่ำพูดซ้ำแล้วซ้ำเล่าด้วยประโยคที่มักจะขึ้นต้นว่า “ถ้าคนเค้ามีวาสนาต่อกัน...” บ้าง หรือ “เป็นเพราะวาสนาที่ทำให้...” บ้าง จนผู้เขียนเองก็รู้สึกได้ว่า ตั้งแต่ดูละครโทรทัศน์มา ไม่เคยอิ่มล้นกับละครเรื่องใดที่จะสำทับซ้ำๆ กับคำว่า “วาสนา” จนนับครั้งไม่ถ้วนเยี่ยงนี้         แม้ว่าวาสนาจะเป็นโลกทัศน์ที่ฝังแฝงเข้มข้นอยู่ในมโนสำนึกของคนรุ่นหนึ่ง แต่สำหรับคนรุ่นใหม่หรือลูกหลานที่เป็นผลผลิตของคนรุ่นก่อนๆ นั้น เหมือนจะเดินอยู่บนทางสองแพร่ง ที่ฟากหนึ่งก็เชื่อในพลังของวาสนาฟ้าลิขิต แต่อีกฝั่งหนึ่ง โลกทัศน์ของคนกลุ่มนี้ก็เริ่มเห็นว่า สองมือของปัจเจกบุคคลสามารถก่อร่างและกำหนดชะตาชีวิตของตนเองได้ด้วยเช่นกัน         จะมีก็แต่ตัวละครอย่าง “ไพรัช” ที่ประสบอุบัติเหตุเสียชีวิตไปเท่านั้น ที่ไร้วาสนาในความรักกับนางเอกใกล้รุ่ง แบบที่ “จินดา” ผู้เป็นแม่ก็ยังกล่าวถึงบุตรชายว่า “ทำบุญแค่นี้ มีวาสนาต่อกันแค่นี้” แต่กับตัวละครอื่นๆ ที่เหลือนั้น เมื่อต้องหันมา “สู้เพื่อรัก” กลุ่มคนรุ่นใหม่เหล่านี้ต่างก็พากันเชื่อด้วยว่า หากมีความมุ่งมั่นตั้งใจกันแล้ว ต้องอาศัยสองมือกับหนึ่งใจของปัจเจกเท่านั้น ที่จะฝ่าฟันและกำหนดทางเดินแห่งรักของตนเองได้          ไม่ว่าจะเป็น “พรรณษา” ศัตรูหัวใจของใกล้รุ่ง ที่ไม่เลือกทำตัวเป็น “ข้าวคอยฝน” นั่งรอโชควาสนาบันดาลให้ได้เข้าวงการบันเทิง หากแต่เธอก็เชื่ออยู่ตลอดกับคำพูดที่ว่า “ในเมื่อวาสนามันไม่มี มันก็ต้องสร้างโอกาสเอาเอง” จนบรรลุฝั่งฝันในวงการมายาได้ในที่สุด         หรือ “เพทาย” กับ “เมฆินทร์” ที่เพื่อจะพิชิตหัวใจหญิงสาวอย่างพรรณษาและ “จินตนา” ซึ่งเขาแอบรักมาตลอด ก็มิอาจรอให้ “พรหมลิขิตบันดาลชักพา” ได้ แต่ทั้งสองมุ่งมั่นสมัครเรียนนายร้อยตำรวจ เพราะเชื่อมั่นว่า มีเพียงดาวบนบ่ากับหัวใจของตนเท่านั้น ที่จะให้ได้มาซึ่งความรักที่อยู่เหนือวาสนา         ไล่เรื่อยไปถึง “บดินทร์ เทพทอง” พระเอกลิเกที่ถือคติ “ดักลอบต้องหมั่นกู้ เป็นเจ้าชู้ต้องหมั่นเกี้ยว” ด้วยหวังพิชิตใจของ “อาภากร” ที่ต่างกันทั้งฐานะทางสังคมและต่างกันทั้งช่วงวัย รวมทั้งตัวละคร “เอกชัย” ที่เพศวิถีหาใช่อุปสรรคที่จะกีดกันความรักความรู้สึกที่เขามีต่อ “จันทร์เพ็ญ” ไปได้          จนแม้แต่กับนางเอกใกล้รุ่ง ที่แม้จะมีชายหนุ่มรูปหล่อพ่อรวยอย่าง “อรรณพ” มาคุกเข่าขอแต่งงาน แต่เมื่อกันตพลคือชายเดียวที่เธอรัก ถึงใครต่อใครจะพยายามขัดขวางความรักของเธอ แต่ใกล้รุ่งก็เลือกยืนยันว่า “ครั้งนี้ขอรุ่งทำตามใจของตัวเองสักครั้ง” ก่อนที่ปมเงื่อนเรื่องชาติกำเนิดของทั้งคู่จะคลี่คลายไปในที่สุด         ในฉากอวสานของเรื่อง แม้ละครจะปิดท้ายด้วยข้อความแคปชันที่ขึ้นไว้ว่า “โชคชะตา ทำให้รู้จัก หากได้รัก เพราะวาสนา” แต่ความคิดต่อบุญวาสนาก็อาจไม่ใช่คำตอบที่เหมือนพ้องกันระหว่างคนสองรุ่นสองวัย          เพราะในทางหนึ่ง คนรุ่นเก่าอย่างสำเภาผู้ผ่านโลกมาทั้งด้านที่สมหวังและสูญเสีย เหมือนจะยังคงยึดมั่นในพลังแห่งวาสนาที่เข้ามากำหนดชะตาชีวิตของคนเรา แบบเดียวกับที่เธอพูดว่า “ไม่คิดว่าแต่ละคู่แต่ละคนจะลงเอยกันได้ ต่างที่มาต่างวาสนา มีวาสนามากมีวาสนาน้อยก็แตกต่างกันไป แต่ก็เพราะวาสนานี่แหละที่ทำให้ชีวิตของเราหักเหเปลี่ยนผัน และลงเอยกันได้ โดยที่เรามิอาจคาดเดากันได้เลย”         แต่สำหรับอนุชนคนรุ่นใหม่ๆ ทั้งหลายแล้ว ปริศนาที่ทิ้งไว้ให้ขบคิดหลังละครจบลงก็คือ ระหว่าง “วาสนา” กับ “สองมือหนึ่งใจ” นั้น เธอและเขายังคงต้องค้นหาต่อไปว่า ปัจเจกบุคคลจะเลือกผสมผสานเส้นทางทั้งสองแพร่งให้เป็นเส้นทางดำเนินชีวิตของตนกันอย่างไร

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 185 ทันเล่ห์ประกันภัย

ต้องยอมรับว่าธุรกิจประกันภัย มีการแข่งขัน และแย่งชิงลูกค้ากันสูงมาก   หากการแข่งขันนั้น เป็นการแข่งขันกันด้านคุณภาพ  สื่อตรง มีธรรมาภิบาล คงเป็นความโชคดีของผู้บริโภค   และคงสร้างความตื่นตัวให้ผู้บริโภค มีความต้องการที่จะทำประกันมากขึ้น  แต่ความจริงมิได้เป็นเช่นนั้น จากข้อมูลเรื่องร้องเรียนปรากฏชัดว่า มีปัญหาเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก  เช่น ประกันภัยผู้สูงอายุ ที่ระบุว่า ไม่ต้องถามโรค  แต่พอพบว่า เมื่อป่วยเข้าจริง หลายรายกลับถูกบอกเลิกสัญญา โดยใช้ข้อกฎหมายว่าหากบริษัทเห็นว่ามีความเสี่ยง  บริษัทมีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ รวมถึงเทคนิคต่างๆ ในการจ่ายคืนสินไหมล่าช้า ฯลฯ จนทำให้ผู้บริโภคจำนวนไม่น้อยที่เข็ดขยาดกับบริษัทประกันภัยล่าสุดได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภคว่า  ถูกเชิญชวนให้จ่ายเงินซื้อประกันชีวิตเพิ่ม โดยไม่รู้ว่าถูกหลอกจ่ายเงินไปแล้ว ต่อมาภายหลังจึงเพิ่งนึกได้ว่าน่าจะถูกหลอก  เรื่องมีอยู่ว่า “คุณมา”(นามสมมุติ)ได้ซื้อประกันชีวิตกรณีอุบัติเหตุถึงแก่ชีวิต เบี้ยประกันปีละ 2,100 บาท(วงเงินประกัน 4 แสนบาท) จะได้เบี้ยประกันต่อเมื่อเสียชีวิตจากอุบัติเหตุเท่านั้น  ต่อมาได้รับโทรศัพท์จากตัวแทนบริษัทประกันภัย  แจ้งว่ามีทางเลือกที่ดีกว่ามาให้  เพราะการซื้อประกันอุบัติเหตุนั้นหากไม่เกิดอุบัติเหตุ เงินก็จะสูญเปล่า พร้อมเชิญชวนให้ซื้อประกันแบบสะสมเป็นรายปี  เสียชีวิตจากเหตุใดก็จะได้สินไหมทันที โดยเพิ่มวงเงินประกันเป็น 6 แสนบาท แต่ต้องจ่ายเบี้ยประกันปีละ 14,000  บาท  ตอนถูกชวนไม่ทันคิดเลยตอบตกลงและจ่ายเงินไป   เมื่อได้กรมธรรม์จึงได้อ่านรายละเอียด ทำให้ทราบว่า กรณีจะได้เงินประกันจากเหตุใดก็ได้ตามที่เจ้าหน้าที่กล่าวอ้างแต่จะต้องเลย 2 ปีขึ้นไป หรือ  หากตายก่อนเวลา 2 ปี ก็ต้องตายจากอุบัติเหตุถึงจะได้สินไหมจากบริษัท  แต่ถ้าตายจากโรคทั่วไปบริษัทจะไม่จ่ายสินไหม  แต่จะคืนวงเงินที่ซื้อประกันไว้พร้อมดอกเบี้ย 10%  เมื่อคิดดูแล้ว จึงรู้ว่าเสียท่าบริษัทประกันภัย เพราะต้องจ่ายเงินซื้อประกันมากกว่าเก่าถึง 5 เท่า แต่การคุ้มครองเพิ่มเพียงเล็กน้อย   กระบวนการแก้ปัญหาเรื่องร้องเรียนก็ดำเนินต่อไป  ที่เขียนมาเพื่อให้ข้อมูลกับผู้บริโภคว่า ก่อนตัดสินใจซื้อประกันฯ โปรดอ่านรายละเอียดในสัญญาให้รอบคอบ          

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 183 กระแสต่างแดน

แฟนบอลดีใจ...ได้เฮปกติแล้วเยอรมนีมีกฎเหล็กห้ามทำเสียงดังหลัง 4 ทุ่ม แต่วุฒิสภาได้อนุมัติให้เทศบาลต่างๆ ผ่อนผันกฎดังกล่าวในช่วงที่มีการแข่งขันฟุตบอลยูโร (10 มิถุนายน ถึง 10 กรกฎาคม)เพราะฝรั่งเศส ประเทศเจ้าภาพการแข่งขันฟุตบอลยูโรปีนี้ กำหนดเวลาเริ่มการแข่งขันส่วนใหญ่ไว้ที่ 3 ทุ่ม หากไม่มีการผ่อนผัน เจ้าหน้าที่เทศบาลคงต้องระดมคนไปตามปรับแฟนบอลจำนวนไม่น้อยที่อาจส่งเสียงเฮ(หรือโห่ก็แล้วแต่) ให้กำลังใจทีมชาติอยู่ที่บ้านแต่เพื่อรักษาสมดุลระหว่างกลุ่มรักชาติกับกลุ่มรักความเงียบ เขากำหนดให้ใครก็ตามที่จะจัดฉายการถ่ายทอดสดบนจอใหญ่ให้คนมาร่วมกันเชียร์ ต้องมาขออนุญาตจากเทศบาลก่อนเพื่อให้พิจารณาเป็นกรณีไป อร่อยข้ามรั้วนี่คือร้านขายอาหารว่างสำหรับคนเดินทางร้านแรกในเยอรมนี ใครขับผ่านมาแล้วหิวก็จะจอดรถ ตะโกนสั่ง แล้วปีนบันไดที่พาดกับรั้วเหล็กขึ้นไปรับอาหารจากพนักงานที่ปีนมาส่งและเก็บเงิน ใครมีเวลามากหน่อยก็ปีนข้ามไปนั่งกินในร้านได้ลูกค้าบางคนรับของแล้วมองซ้ายมองขวา ... นี่มันรายการประเภทซ่อนกล้องเน้นฮาหรือเปล่าเนี่ย เมื่อปี 2009 คริสติน่าลงทุนซื้อร้านนี้ ซึ่งตั้งอยู่ริมออโต้บาห์น ในรัฐทูรินเจียตอนกลางของประเทศ แต่ต่อมาเธอพบว่าสำนักงานขนส่งของทูรินเจียได้เพิกถอนใบอนุญาตค้าขายของร้านไปตั้งแต่ปี 2004 นี่มันหลอกขายกันชัดๆ เพราะคงไม่มีใครซื้อที่ตรงนี้แน่นอนถ้ารู้ว่าขายของไม่ได้แต่เธอก็เปิดกิจการขายไส้กรอกต่อไป จนทางการมาสร้างรั้วเหล็กกั้นระหว่างร้านกับถนน คริสติน่าไม่ยอมแพ้ เธอซื้อบันไดมาพาดอำนวยความสะดวกให้ลูกค้าจนได้ เจ้าหน้าที่รัฐบอกว่าเธอสามารถขายอาหารให้กับลูกค้าอีกฝั่ง(ที่มาท่องเที่ยวเดินป่า) ได้ตามปกติ แต่ขายกับคนบนถนนไม่ได้ และเธอจะต้องจ่ายค่าปรับเธอรับไม่ได้ ... นี่ไม่ใช่ร้านธรรมดา ใครที่ไหนจะปิดประวัติศาสตร์ ร้านนี้เปิดมา 80 ปีแล้ว มันอาจเป็นร้านแรกในยุโรปด้วยซ้ำ สมัยก่อนร้านนี้แหละคือที่ที่ผู้คนแวะหยุดพักเวลาเดินทางจากเยอรมันตะวันตกไปตะวันออก… เรื่องนี้ยังตกลงกันไม่ได้ ต้องติดตามผลการตัดสินของศาล รายได้ “พื้นฐาน”มิถุนายนนี้จะเป็นครั้งแรกในโลกที่ประชากรของประเทศหนึ่งจะได้โหวตว่าต้องการให้รัฐจัด “รายได้พื้นฐานแบบไม่มีเงื่อนไข” (UBI: unconditional basic income) ให้หรือไม่ประชาชนกลุ่มหนึ่งรวมตัวกันเรียกร้องขอ UBI กับทุกคนไม่ว่าจะมีหรือไม่มีงานทำ เพื่อให้พวกเขาใช้ชีวิตอยู่ได้อย่างภาคภูมิใจและเข้าร่วมกิจกรรมสาธารณะได้ องค์กร Basic Income Earth Network (BIEN) บอกว่าจุดประสงค์คือการลดความยากจนและการพึ่งพาสวัสดิการรัฐ ที่สำคัญที่สุด ... ผู้คนไม่จำเป็นต้องรู้สึกว่าคุณค่าของพวกเขาขึ้นอยู่กับงานที่ทำ และพวกเขาสามารถเลือกทำงานที่ชอบได้(ไม่ใช่ทำเพราะต้องทำเพื่อความอยู่รอด)ตัวเลขนั้นยังไม่ได้เคาะ แต่ที่คุยกันอยู่ขณะนี้คือ 2,500 ฟรังก์ (ประมาณ 90,000 บาท) หมายความว่าจะไม่เกิดอะไรขึ้นกับคนที่หาเงินได้เกินนี้ แต่ใครที่ได้น้อยกว่าก็จะได้รับเพิ่มจนครบตามจำนวนแน่นอนรัฐบาลไม่เห็นด้วย ไหนจะงบมหาศาล 208,000 ล้านฟรังก์ต่อปี ไหนจะกลัวว่าคนที่มีรายได้น้อยอาจเลิกทำงานแล้วมารอรับเงินเฉยๆ แต่เราจะได้รู้กันในวันที่ 5 มิถุนายนนี้แล้วว่าผู้คนในสวิตเซอร์แลนด์จะโหวตรับหรือไม่ ..ผลโพลอย่างไม่เป็นทางการบอกว่ามีถึงร้อยละ 57 ที่ไม่เห็นด้วย ไปด้วยกันนะผู้ประกอบการขนส่ง เดลีทรานสปอร์ต คอร์ป บอกว่าตั้งแต่ลดค่าตั๋วโดยสารรถไฟสายสนามบินลงร้อยละ 40 มีคนมาใช้บริการเพิ่มถึงร้อยละ 50 ตอนนี้ฝ่ายบริหารเลยคิดจะลดราคาตั๋วสายอื่นๆ บ้างปัจจุบันเดลีเมโทรมีผู้โดยสารประมาณ 2.6 ล้านคนต่อวัน ในชั่วโมงเร่งด่วนจะมีผู้โดยสารประมาณ 300 คนต่อหนึ่งตู้ แต่ในเวลาอื่นๆ จะมีผู้โดยสารใช้บริการเพียง 78 คนต่อตู้เท่านั้น เขาจึงคิดแผนจะลดค่าโดยสารในชั่วโมงไม่รีบเร่งลงแต่เรื่องนี้อดีตผู้บริหารเขาเห็นต่าง เขาบอกว่าเราเป็นบริษัทที่เลี้ยงตนเองและไม่ได้รับเงินสนับสนุนใดๆ จากรัฐ เราจึงน่าจะเก็บเงินได้ตามคุณภาพที่เราเสนอให้กับลูกค้า หลักๆแล้ว เขามองว่าควรขึ้นค่าโดยสารด้วยซ้ำเดลีเมโทรมีผลประกอบการเป็นบวกมาโดยตลอด แม้ค่าใช้จ่าย (ด้านเชื้อเพลิงและค่าจ้างพนักงาน) จะเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 40 ในปีที่แล้วบริษัทก็ยังมีกำไรอยู่ดี... ไม่เหมือนแถวนี้นะ เอะอะก็ขาดทุน ... ไม่แยกแล้วมันยุ่งหนึ่งในเรื่องที่สิงคโปร์ยังจัดการไม่ได้คือการรีไซเคิลขยะจากบ้านเรือน ทุกวันนี้แม้จะมีถังสีน้ำเงินวางไว้ให้ผู้คนนำขยะที่รีไซเคิลได้มาทิ้ง แต่มีถึงร้อยละ 50 ของสิ่งที่อยู่ในถังที่ไม่สามารถนำไปรีไซเคิลได้เพราะผู้คนยังไม่ตระหนัก และยังคงทิ้งเศษอาหาร กระดาษทิชชูใช้แล้ว หรือแม้แต่ผ้าอ้อมสำเร็จรูปของเด็กลงไปด้วยความจริงแล้วรัฐบาลสิงคโปร์ให้ความสำคัญกับการรีไซเคิลมากเพราะทั้งประเทศมีบ่อขยะอยู่เพียง 1 บ่อที่กำลังจะเต็มในอีก 20 ปีข้างหน้า ปัจจุบันมีบริษัทเอกชนที่เก็บขยะเพื่อรีไซเคิลอยู่ 4 บริษัท ทั้งหมดบอกตรงกันว่าขยะที่ได้มานั้นคุณภาพแย่ เพราะหนูหรือแมลงเข้ามากัดกินเศษขยะสดที่ปะปนมา ทำให้ “เสียของ” และยังเพิ่มค่าใช้จ่ายจากการไปทิ้งอีกด้วย  อัตราการรีไซเคิลของคนสิงคโปร์อยู่ที่ร้อยละ 19 ยังห่างไกลกับมหาอำนาจด้านรีไซเคิลอย่างไต้หวันที่มีอัตรานี้ถึงร้อยละ 50 ... เพราะที่นั่นการรีไซเคิลเป็นกฎหมายด้วย     

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 138 กระแสต่างแดน

ข่าวร้ายในข่าวดี สถิติการสูบบุหรี่ของคนอเมริกันลดลงอย่างมีนัยสำคัญ แต่นั่นเป็นเพราะพวกเขาหันไปสูบซิการ์หรือสูบไปป์กันมากขึ้น ข้อมูลจากรายงานของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐอเมริการะบุว่าระหว่างปี ค.ศ. 2000 ถึง ค.ศ. 2011 การบริโภคผลิตภัณฑ์ยาสูบลดลงร้อยละ 27.5 แต่การบริโภคยาสูบในรูปแบบที่ไม่ใช่บุหรี่นั้นเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 123 ในช่วงเวลาเดียวกัน สาเหตุหลักคือราคา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงหลายปีที่ผ่านมาที่เศรษฐกิจของสหรัฐอยู่ในช่วงตกต่ำและการว่างงานในอัตราที่สูง หลังจากอเมริกาประกาศเก็บภาษีสรรพสามิตเมื่อสามปีก่อน บรรดายาเส้นและซิการ์ ถูกเก็บภาษีในอัตราที่ต่ำกว่าบุหรี่มาก   ปัจจุบันจึงมีผลิตภัณฑ์ที่ดูคล้ายซิการ์ขนาดเล็กออกมาวางตลาดมากขึ้น เพราะผู้ผลิตต้องการจ่ายภาษีถูกลงเพื่อจะได้ขายในราคาที่ถูกใจวัยโจ๋ ซิการ์มินิพวกนี้ราคาเพียงแพ็คละ 44 บาท ในขณะที่บุหรี่หนึ่งแพ็ค ราคาเกือบ 160 บาท วัยรุ่นอเมริกันทุกวันนี้สูบซิการ์กันมากขึ้น โดยเริ่มสูบก่อนอายุ 26 ด้วยซ้ำ การสูบบุหรี่หรือซิการ์เป็นสาเหตุการตายของคนอเมริกัน ปีละ 500,000 คน ด้วยโรคปอด โรคมะเร็ง โรคทางเดินหายใจและโรคเรื้อรังอื่นๆ ที่ทำให้รัฐต้องใช้งบประมาณค่ารักษาพยาบาลปีละ 6 ล้านล้านบาท   ปฏิบัติการใหม่ของฮีโร่? เด็กทุกคนล้วนมีซูเปอร์ฮีโร่ในดวงใจ ไม่ว่าจะเป็น ซูเปอร์แมน สไปเดอร์แมน หรือ แบทแมน  แต่บริษัทเครื่องดื่มน้ำอัดลมยักษ์ใหญ่โคคา-โคล่า ในประเทศเม็กซิโก กำลังทำให้ฮีโร่ในดวงใจของพวกเขาเปลี่ยนไป ในโฆษณาชิ้นล่าสุดที่พุ่งเป้าหมายไปยังลูกค้ากลุ่มเด็ก โคคา-โคล่าใช้ภาพเด็กผู้ชายหลายคนใส่ชุดซูเปอร์ฮีโร่ ถือขวดโค้กไว้ในมือข้างหนึ่ง พร้อมกับข้อความว่า “จำได้ไหม? ตอนที่เป็นเด็ก พวกเราล้วนเป็นซูเปอร์ฮีโร่กันทั้งนั้น” มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์กันหนาหู หลังจากโฆษณาชิ้นนี้ถูกเผยแพร่ออกไป หลายคนมองว่ามันเป็นการสร้างค่านิยมที่ไม่ถูกต้องแก่เด็ก ที่อาจเข้าใจว่าน้ำอัดลมเป็นเครื่องดื่มที่ดีต่อสุขภาพ แม้แต่ซูเปอร์ฮีโร่ที่พวกเขารัก ก็ยังเลือก El Poder del Consumidor องค์กรผู้บริโภคของเม็กซิโก ออกมาเรียกร้องให้บริษัทยุติการเผยแพร่โฆษณาชิ้นนี้ พร้อมกับส่งจดหมายแสดงความกังวล ไปถึงนางมากาเร็ต ชาน เลขาธิการองค์การอนามัยโลก เรียกร้องให้มีการประเมินการทำงานของสหพันธ์องค์กรอาหารและเครื่องดื่มสากล หรือ IFBA ที่มีหน้าที่โดยตรงในการส่งเสริมให้ผู้บริโภคได้รับประทานอาหารที่มีประโยชน์และเสริมสร้างรูปแบบการใช้ชีวิตที่ดีต่อสุขภาพ ว่าทำงานเต็มที่หรือไม่ แถมด้วยการเรียกร้องให้องค์การอนามัยโลกตั้งกฎห้ามไม่ให้ผลิตภัณฑ์อาหารหรือเครื่องดื่มชนิดใดก็ตามทำการตลาดกับกลุ่มลูกค้าวัยเด็ก เว้นแต่อาหารหรือเครื่องดื่มนั้นจะผ่านเกณฑ์มาตรฐานคุณค่าอาหารก่อน   เมื่อสถานออกกำลังกาย..ไม่ฟิต สมาชิกกว่า 300 คน ของสถานออกกำลังกาย กาแลคติกา ในเมืองเซนปีเตอร์สเบิร์ก ประเทศรัสเซีย ออกมาเรียกร้องขอเงินค่าสมาชิกคืน หลังจากได้ข่าวว่ามีสมาชิกประมาณ 1,500 - 3,000 คนถูกฟิตเนสเจ้านี้หลอกลวงเงิน ไม่เพียงแต่สมาชิกเท่านั้น พนักงานของกาแลคติกา อย่างน้อย 3 สาขา ก็ออกมาทวงเงินค่าจ้างที่บริษัทค้างพวกเขาอยู่ด้วย เรื่องนี้ช่างคล้ายกับเหตุการณ์ที่บ้านเราอะไรเช่นนี้ อดีตสมาชิกคนหนึ่งของกาแลคติกา สาขาในเขตยูลิตซา บาคูนินา บอกว่าสาขาปิดตัวลงโดยไม่มีการแจ้งล่วงหน้า ให้เหตุผลว่าจำเป็นต้องปิดชั่วคราว “เนื่องจากขัดข้องทางเทคนิค” ซึ่งความจริงแล้วสาขานี้ถูกสั่งปิดลงโดยเจ้าของอาคาร เพราะค้างค่าเช่านานเกินไป หลังจากเกิดเหตุการณ์นี้ สาขาอื่นๆ ในเครือของ กาแลคติกา ฟิตเนส รีบออกมาปฏิเสธความเกี่ยวข้องใดๆ กับสาขาที่ปิดตัวลง โดยอ้างว่าสาขาดังกล่าวมีการบริหารแยกออกไปโดยอีกบริษัทหนึ่ง  นอกจากนี้ยังเข้าไปลบชื่อสาขานี้ออกจากรายชื่อสาขาในเว็บไซด์ของบริษัท และเปลี่ยนชื่อบริษัทจาก กาแลคติกา ฟิตเนส เป็น กโลบัส ฟิตเนส ด้วย ความแตกเมื่อสมาชิกกว่า 100 คน ส่งจดหมายร้องเรียนไปตามที่อยู่สำหรับรับเรื่องร้องเรียนจากสมาชิก แต่ปรากฏว่าที่อยู่นั้นกลับเป็นสถานที่ตั้งของตลาดแห่งหนึ่ง หาได้เป็นที่ตั้งของสาขาใหญ่อย่างที่เข้าใจกัน กาแลคติกา ฟิตเนส ไม่ได้มีตัวตนเป็นบริษัทด้วยซ้ำ และอุปกรณ์ออกกำลังกายที่เห็น ก็เช่าเขามาทั้งนั้น  สรุปว่าไม่ได้ฟิตจริงอย่างที่สร้างภาพไว้เลยนะนี่   “มัน” มีเงื่อนไข  เป็นที่รู้กันว่างานกีฬาระดับโลกอย่างโอลิมปิก นั้นเป็นโอกาสที่บริษัทใหญ่ๆ จะเข้ามาเป็นสปอนเซอร์เพื่อส่งเสริมการขายผลิตภัณฑ์ของตนเอง แต่คราวนี้ออกจะเกินไปนิดเมื่อคณะกรรมการผู้จัดการแข่งขันโอลิมปิกและพาราลิมปิกปีนี้ ได้ทำข้อตกลงมอบสิทธิในการขายฟรายส์และชิปส์ ในบริเวณโอลิมปิก พาร์ค ให้แก่ แมคโดนัลด์ แต่เพียงผู้เดียว ร้านอื่นๆ จะไม่สามารถขายฟรายส์หรือชิปส์เปล่าๆ หรือขายชิปส์กับอย่างอื่นนอกเหนือจากปลาทอดได้ สร้างความหงุดหงิดใจให้กับบรรดาเจ้าหน้าที่ที่เข้าไปเตรียมงานพิธีเปิดและพิธีปิดการแข่งขันโอลิมปิกมิใช่น้อย เรื่องนี้สร้างความกดดันให้ร้านเหล่านี้ จนต้องเขียนประกาศไปติดไว้เพื่อชี้แจงเหตุผลให้ผู้บริโภคเข้าใจ จนนักข่าวคนหนึ่งของหนังสือพิมพ์เดอะเทเลกราฟไปเห็นเข้าจึงโพสต์ลงในทวิตเตอร์ ทำให้มีคนรับรู้เรื่องนี้มากขึ้นและสร้างแรงกดดันให้กับทางผู้จัดและแมคโดนัลด์พอสมควร สุดท้าย แมคโดนัลด์ยอมผ่อนผันให้เจ้าหน้าที่เหล่านี้สามารถสั่งชิปส์เปล่าๆ จากร้านอื่นมากินได้ แต่สำหรับผู้เข้าชมกีฬา ข้อตกลงเรื่องสิทธิในการขายยังคงอยู่ เพราะแมคโดนัลด์เขาอุตส่าห์ลงทุนสร้างสาขาที่ใหญ่ที่สุดในโลก ที่มีที่นั่งถึง 1,500 ที่ ไว้ในโอลิมปิก พาร์คเพื่อรอให้บริการคุณแล้ว เรียกว่า... คุณจะมีทุกอย่าง ... ยกเว้นอิสระในการซื้อ “มัน” นี่แหละ   ทำไมต้องเป็นเจ้าภาพ คำถามที่เกิดขึ้นมากที่สุดเกี่ยวกับ การเป็นเจ้าภาพการจัดการแข่งขันกีฬาโอลิปิกคือ สิริรวมแล้วเขาได้กำไรหรือขาดทุนกันแน่? อย่างเช่นคราวนี้ รัฐบาลอังกฤษควักกระเป๋าลงทุนไปประมาณ 8,500 ล้านปอนด์ เพื่อใช้ในการก่อสร้างสนามแข่งขัน ที่พักนักกีฬา การรักษาความปลอดภัย ไหนจะการปรับปรุงภูมิทัศน์หรือบูรณะสถานที่เสื่อมโทรมต่างๆ เพื่อต้อนรับผู้คนที่จะมาเยือน แถมด้วยพิธีเปิด พิธีปิดที่อลังการงานสร้างอย่างยิ่ง ตามข่าว รัฐบาลเขาคาดการณ์ว่าจะมีรายได้จากการลงทุนครั้งนี้ถึง 13,000 ล้านปอนด์ ภายในระยะเวลา 4 ปีหลังจากโอลิมปิกจบลง เรามาดูสถิติย้อนหลังกันบ้าง บริษัทที่ปรึกษาทางการเงินโกลด์แมน แซคส์ พบว่า ตลาดหุ้นของประเทศที่เคยเป็นเจ้าภาพการแข่งขันโอลิมปิก จะคึกคักขึ้นมาในช่วงหนึ่งปีหลังการแข่งขัน และราคาที่อยู่อาศัยก็เพิ่มสูงขึ้น การเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกนั้น ทำให้ราคาที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้นร้อยละ 1 และถ้าผลของมันยังมีอยู่ถึง 10 ไตรมาส ก็หมายถึงราคาบ้านจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.5 เควิน ดาลี นักเศรษฐศาสตร์จากโกลด์แมน แซคส์ วิเคราะห์ว่าโอลิมปิกจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของอังกฤษให้โตขึ้นได้ประมาณร้อยละ 0.4 ในไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ ... แต่ทุกอย่างก็จะกลับไปเหมือนเดิมในไตรมาสที่ 4 แต่มีอยู่สิ่งหนึ่งที่เจ้าภาพจะได้มากขึ้นแน่นอน นั่นคือจำนวนเหรียญรางวัล เขามีสถิติที่ยืนยันได้ เจ้าภาพไม่จำเป็นต้องเป็นเจ้าเหรียญทองเสมอไป แต่โดยเฉลี่ยแล้ว ประเทศที่เป็นเจ้าภาพจะมีโอกาสได้เหรียญมากกว่าตอนที่ไม่ได้เป็นเจ้าภาพ เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 54 เลยทีเดียว กรุงเทพฯ จะลองเป็นดูบ้างไหม ...   ขาช็อปฮ่องกงเมินแฟร์เทรด แม้ว่าตลาดสินค้าแฟร์เทรดทั่วโลกจะมีการขยายตัวขึ้นถึงร้อยละ 27 ตามข้อมูลรายงานตลาดประจำปี 2553 ขององค์กรแฟร์เทรดสากล (The Fairtrade International หรือ FLO) แต่สินค้าที่มีตราแฟร์เทรดกลับยังไม่เป็นที่นิยมในกลุ่มผู้บริโภคชาวฮ่องกงเท่าไหร่นัก การสำรวจความเห็นของผู้บริโภคกว่า 620 คน โดยมูลนิธิแฟร์เทรดของประเทศฮ่องกง พบว่าผู้บริโภคไม่ซื้อสินค้าดังกล่าวเพราะราคาของสินค้าชนิดนี้สูงกว่าราคาสินค้าทั่วไป ร้านที่จำหน่ายสินค้าเหล่านี้มักไม่อยู่ในเขตที่สะดวกต่อการเดินทาง และผู้บริโภคบางกลุ่มยังมีความเชื่อว่าคนที่อุดหนุนสินค้าที่มีตราแฟร์เทรดหมายถึงพวกต่อต้านระบบทุนนิยม ผลสำรวจยังพบว่าผู้บริโภคส่วนใหญ่ยังถูกดึงดูดโดยโฆษณาลดราคาตามร้านซูเปอร์มาร์เก็ตทั่วไปมากกว่า ในขณะที่ร้อยละ 76 ของผู้ที่ซื้อสินค้าที่มีตราสัญลักษณ์แฟร์เทรดบอกว่า ที่ซื้อสินค้าเหล่านี้เพราะต้องการสนับสนุนผู้ที่ด้อยโอกาสทางสังคม เมื่อถามว่าพวกเขาพร้อมที่จะจ่ายเงินเพิ่มขึ้นหรือไม่ หากผู้ผลิตพร้อมที่จะผลิตสินค้าที่ใช้วัตถุดิบที่เป็นสินค้าแฟร์เทรดออกมาจำหน่าย กว่า 56 เปอร์เซ็นต์ของผู้บริโภคที่ไม่เคยรู้จักนโยบายนี้มาก่อนตอบว่าจะไม่ยอมจ่ายเงินเพิ่มเพื่อสินค้าเหล่านั้น แต่ประธานองค์กรแฟร์เทรดฮ่องกงเขาก็ไม่ท้อ เขาเชื่อมั่นว่าการพัฒนาของสินค้าแฟรเทรดในฮ่องกงจะต้องเป็นไปในทางบวก หากได้รับการสนับสนุนจากทางรัฐบาลมากพอ และประชากรฮ่องกงส่วนใหญ่ก็เห็นด้วยว่ารัฐบาลควรจะมีส่วนร่วมในการสนับสนุนสินค้าแฟร์เทรด สรุปว่าเป็นธรรมน่ะชอบ แต่ต้องถูกด้วย

อ่านเพิ่มเติม >