ฉบับที่ 169 แอบรักออนไลน์ : ลองหัดเงยหน้าในสังคมก้มหน้า

นักวิชาการชาวแคนาดาท่านหนึ่งที่ชื่อ มาร์แชล แมคลูฮัน เคยกล่าววลีคลาสสิกเอาไว้ว่า “สื่อคือสาร” อันหมายความว่า ถ้าปัจเจกบุคคลหนึ่งๆ เติบโตมากับวิถีการสื่อสารเช่นไร บุคลิกภาพของเขาหรือเธอก็จะมีแนวโน้มถูกกำหนดให้เป็นไปคล้ายคลึงกับเบ้าหลอมรูปแบบการสื่อสารเช่นนั้น ถ้าเราเติบโตมาในบรรยากาศที่วิถีการสื่อสารเป็นการพูดคุยแบบเห็นหน้าค่าตากัน เราก็จะมีทักษะการอ่านคนเป็น และเชื่อว่าความไว้วางใจจะมีได้ก็ต้อง “รู้จักหัวนอนปลายเท้า” เท่านั้น แต่คำถามก็คือ หากทุกวันนี้ มวลมนุษย์เรากำลังใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางวิถีการสื่อสารแห่งโลกเสมือน พูดคุยสื่อสารได้แม้แต่กับคนไกลที่ไม่รู้จักมักจี่กันมาก่อน คำถามก็คือ บุคลิกภาพของเราที่อยู่ในชุมชนเสมือนจะถูกหลอมหล่อกันออกมาเยี่ยงไร คำตอบต่อข้อสงสัยดังกล่าว สามารถส่องดูได้จากความสัมพันธ์ของสามตัวละครหลัก อันได้แก่ สาวออฟฟิศรุ่นใหญ่รุ่นเล็กอย่าง “อวัศยา” และ “พริบพราว” ที่เล่นบทบาท “แอบรักออนไลน์” เพื่อพิชิตหัวใจของหนุ่มหล่อแสนดีวัยเบญจเพสอย่าง “ปราณนต์” สำหรับตัวละครหลักคนแรกคืออวัศยา หญิงวัยสามสิบต้นๆ กับบุคลิกเคร่งขรึมคร่ำครึในฐานะผู้จัดการฝ่ายการตลาดของบริษัทหลักทรัพย์นาราภัทร แม้ด้านหนึ่งเธอจะถูกตั้งฉายาจากเพื่อนร่วมงานว่าเป็น “อสรพิษสี่ตา” แต่ในอีกด้านหนึ่ง อวัศยาก็มีความทรงจำติดตรึงอยู่กับภาพของชายหนุ่มคนหนึ่งที่เคยช่วยชีวิตเธอเอาไว้จากการถูกรถชนเมื่อหลายปีก่อน ส่วนปราณนต์ก็คือ “ผู้ชายในฝัน” คนดังกล่าว ที่หลายปีให้หลังได้ย้อนกลับมาสมัครงานในแผนกเดียวกับที่อวัศยาดูแลอยู่ โดยที่คู่แข่งในหน้าที่การงานของเขาก็คือพริบพราว สาวนักเรียนนอกจากบอสตันที่ได้มาทำงานเป็นผู้ช่วยเลขานุการคนใหม่ของ “ลิปดา” บอสใหญ่เจ้าของบริษัทนาราภัทรนั่นเอง ตัวละครสามคนไม่เพียงถูกเชื่อมโยงกันด้วยหน้าที่การงานในบริษัทเท่านั้น หากแต่การมีอีกส่วนหนึ่งของชีวิตในโลกเสมือน “ออนไลน์” ก็ได้ผูกร้อยเชื่อมรัดคนสามคนให้ก้าวเดินเข้าสู่ปริมณฑลแห่งโลกใหม่ที่เป็น “สังคมก้มหน้า” ที่มนุษย์ติดอยู่กับโลกเสมือนโดยไม่เคยเงยมองความจริงที่อยู่ตรงหน้าแต่อย่างใด   มูลเหตุของเรื่องเริ่มต้นจากที่อวัศยาได้พบกับปราณนต์ในวันที่เขามาสัมภาษณ์งานกับเธอ ความทรงจำในช่วงวัยสาวแรกรุ่นถึง “ชายในฝัน” ผู้นี้ก็ได้ย้อนเวลากลับมา อวัศยาจึงเพียรหาทางที่จะได้พูดคุยกับปราณนต์ผ่านโปรแกรมแชตออนไลน์ โดยสมมติชื่อนามแฝงเป็น “คุณแอบรัก” เมื่ออวัศยาพบว่าปราณนต์เพิ่งอกหักจากแฟนสาวมา เธอก็ใช้คุณแอบรักคอยปลอบประโลมจิตใจและกลายเป็นที่ปรึกษาปัญหาต่างๆ ให้กับชายหนุ่มผ่านสื่อออนไลน์ โดยที่เขาเองก็ไม่ทราบเลยว่า คุณแอบรักก็เป็นคนเดียวกับเจ้านายสาว “อสรพิษสี่ตา” ซึ่งเห็นหน้าค่าตาที่ออฟฟิศอยู่ทุกวัน ภายใต้ความสัมพันธ์ในโลกเสมือนแบบนี้ ละครได้สะท้อนให้เราเห็นความคาดหวังที่แตกต่างกันของผู้ชายและผู้หญิงต่อความสัมพันธ์ที่มีระหว่างกัน เพราะในขณะที่บุรุษเพศอย่างปราณนต์เข้าสู่โลกออนไลน์โดยคาดหวังจะมีผู้หญิงสักคนที่เป็น “คู่คิด” คอยให้คำปรึกษาปัญหาต่างๆ ในชีวิต แต่ผู้หญิงอย่างอวัศยากลับค้นหาผู้ชายหนึ่งคนเพียงเพราะต้องการให้เขามาเป็น “คู่เสน่หา” แม้ว่าจะอยู่ในโลกเสมือนก็ตาม และหากวลีที่ว่า “สื่อคือสาร” เป็นคำกล่าวที่ถูกต้องด้วยแล้ว ไม่ว่าผู้ชายจะคาดหวัง “คู่คิด” หรือผู้หญิงจะคาดหวัง “คู่เสน่หา” แต่ในความผูกพันที่เกิดขึ้นผ่านสื่อเสมือนออนไลน์ ก็ได้เข้ามากำหนดชีวิตของตัวละคร ให้ค่อยๆ ถอยห่างจาก “ความจริงแท้จริง” มาสู่ “ความจริงแบบเสมือน” มากขึ้น เพราะฉะนั้น ภายใต้อำนาจของโลกเสมือน ตัวละครที่ผูกร้อยกันอยู่ในพื้นที่ออนไลน์จึงปรับบุคลิกภาพของตนไปตามโลกใหม่ที่ตัวเองใช้ชีวิตอยู่ และกลายเป็นบุคลิกของคนที่ “ช่างมโน” โดยไม่ยืนอยู่กับความจริงแท้จริงใดๆ อวัศยาได้เริ่มต้น “มโน” จินตนาการความสัมพันธ์แบบรักต่างวัยระหว่างเธอกับพนักงานหนุ่มรุ่นน้อง และสร้างตำนานความรักผ่านดอกไม้ที่ชื่อกิ๊บเก๋ว่า “love in the mist” หรือ “รักในสายหมอก” โดยที่อีกทางหนึ่งก็กังวลว่าปราณนต์และคนรอบข้างจะรู้ความลับว่าเธอกำลังสวมบทบาทเป็นคุณแอบรักในโลกเสมือน ส่วนพริบพราวเอง ที่พบว่าผู้ชายดีๆ ในยุคไฮสปีด ช่างเป็นทรัพยากรที่มีจำกัดยิ่งนัก เธอจึงเลือกโดดมาเล่นเกมในสังคมออนไลน์ ปลอมตัวเป็นคุณแอบรักแบบเสมือนๆ ซ้อนทับไปอีกชั้นหนึ่ง และยังวางหมากวางกลเพื่อแย่งหัวใจของปราณนต์มาจากอวัศยาให้จงได้ ในขณะเดียวกัน ปราณนต์ซึ่งกำลังติดกับดักของสังคมออนไลน์อยู่เช่นกัน เขาก็แอบหลงรักผู้หญิงเสมือนอย่างคุณแอบรัก แม้จะไม่รู้ว่าตัวจริงเธอคือใคร เพราะฉะนั้นเขาจึงเที่ยวถามผู้หญิงแต่ละคนที่วนเข้ามาในชีวิตอยู่เสมอว่า “คุณใช่แอบรักหรือเปล่า” ภายหลังจากที่ตัวละครทั้งหมดถูกยึดโยงเข้าสู่พื้นที่สังคมเสมือนเดียวกัน สังคมเสมือนดังกล่าวนั้นก็เริ่มมีอำนาจมากขึ้น และพัฒนาไปถึงจุดสุดขั้นของตัวมัน เมื่อตัวละครที่ก้มหน้าอยู่ในโลกออนไลน์ ได้จำลองโลกเสมือนให้กลายเป็นโลกจริงขึ้นมาในที่สุด เหมือนกับพริบพราวซึ่งต้องการเอาชนะอวัศยา จนถึงกับสร้างฉากเสแสร้งจมน้ำทะเลเพื่อให้ปราณนต์ว่ายน้ำมาช่วย โดยที่ตัวละครทุกคนก็เริ่มแยกไม่ออกแล้วว่า อุบัติเหตุครั้งนี้เป็นเรื่องจริงหรือเรื่องล้อเล่นกันแน่ สังคมเสมือนอาจช่วยให้ผู้คนที่อยู่ไกลกันได้ผูกโยงมาพานพบและ “แอบรักออนไลน์” ได้ก็จริง แต่ถ้าชุมชนเสมือนที่คนเราใช้ชีวิตอยู่นั้น ค่อยๆ สถาปนาตัวมันขึ้นมาเป็นโลกความจริงเสียเองแล้ว ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ที่อยู่ก้ำกึ่งระหว่างเรื่องจริงกับเรื่องลวงเยี่ยงนี้ ก็ดูเป็นเรื่องน่าตื่นตระหนกไม่น้อย ก็คงเหมือนกับคำพูดของบอสลิปดาที่เตือนสติอวัศยาซึ่งเริ่มแยกไม่ออกระหว่างตัวเธอกับคุณแอบรักว่า “ก็เพราะคุณมัวแต่ก้มหน้าส่งข้อความไปหาเพื่อนที่ไกล...ไกล๊...ไกล... แต่ผมซึ่งนั่งอยู่ตรงหน้านั้น คุณกลับไม่เคยเงยหน้ามาสนใจเสียเลย” สำหรับชีวิตที่ดำเนินไปในโลกเสมือนที่ดูจะเสมือนแม้แต่ในเรื่องความรักและความสัมพันธ์ หากเรารู้จักหัดเงยหน้าขึ้นมาจากสังคมที่ผู้คนเอาแต่ก้มหน้าอยู่ตลอดเวลา ความรักความผูกพันจริงๆ ก็น่าจะเกิดขึ้นได้โดยไม่ต้องติดกับดักอยู่ในเรื่องเสมือนแบบลวงๆ อีกต่อไป  

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point