ฉบับที่ 116 กระแสต่างแดน

  อภินิหารกังหันลมครองพิภพ สองสามปีที่ผ่านมามีฟาร์มกังหันลมผุดขึ้นเป็นดอกเห็ดในชนบทของอิตาลี ซึ่งก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไรเพราะการมีพลังงานทดแทนไว้ใช้ย่อมเป็นเรื่องดี แต่เรื่องมันมาปูดตอนที่มีข่าวว่านักธุรกิจที่ชื่อ วีโต้ นิคาสตริ ซึ่งขณะนี้เป็นที่รู้จักกันในฉายา “ลอร์ดออฟเดอะวินด์” (Lord of the Wind) ถูกศาลสั่งยึดทรัพย์สินมูลค่าถึงหนึ่งพันห้าร้อยล้านยูโร (ไม่ต่ำกว่า 60,000 ล้านบาท) ในบรรดาทรัพย์สินที่ถูกยึดไปจากบุคคลผู้นี้ นอกจากอสังหาริมทรัพย์กว่า 100 แห่งทางตะวันตกของเกาะซิซิลีแล้ว ยังมีธุรกิจพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์กว่า 43 บริษัทด้วย   คนส่วนใหญ่ก็เพิ่งจะรู้ว่าที่แท้จอมบงการเบื้องหลังกังหันลมเหล่านั้นคือนายวีโต้ ที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับกลุ่มมาเฟีย “โคซา โนสตรา” ที่แทรกซึมเข้าสู่ธุรกิจพลังงานทดแทนจากลมมาได้สองสามปีแล้ว เรื่องนี้เป็นกระแสฮือฮาไม่น้อย เพราะมันหมายถึงธุรกิจพลังงาน ซึ่งเป็นธุรกิจที่ได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลได้กลายเป็นแหล่งให้เงินที่ได้มาอย่างผิดกฎหมาย อาศัยเป็นช่องทางฟอกตัวไปแล้ว เรียกว่ามาเฟียเขาได้ไปสองเด้ง ขูดรีดชาวบ้านโดยตรงไปรอบหนึ่งแล้วยังขูดทางอ้อมผ่านรัฐบาลได้อีก   ข่าวบอกว่าอย่าให้รัฐบาลเลือกแก้ปัญหานี้ด้วยการหันไปใช้พลังงานนิวเคลียร์แทนก็แล้วกัน ทุกวันนี้อิตาลีผลิตพลังงานลมได้มากเป็นอันดับสามของยุโรป รองจากเยอรมนีและสเปน ปลายปีพ.ศ. 2552 อิตาลีมีฟาร์มกังหันลมทั้งหมด 294 ฟาร์ม และที่ผ่านมาธุรกิจนี้ในอิตาลีเติบโตถึงร้อยละ 20 ต่อปี-------------------------------------------------------------------------------------   ขาปั่นขอร้อง นาทีนี้จะพูดเรื่องทางสำหรับจักรยานมันก็คงเชยไปแล้วสำหรับประเทศในยุโรป คนที่เดนมาร์กเขาขยับไปถกกันเรื่องของทางจักรยานแบบไม่มีสัญญาณไฟกันแล้วเรื่องของเรื่องคือ ชาวเมืองโคเปนเฮเกนที่เขานิยมปั่นจักรยานไปทำงานหรือไปทำธุระ เขารู้สึกหงุดหงิดเหมือนกันนะที่ต้องติดไฟแดง คับข้องใจได้ไม่นานรัฐบาลเขาก็จัดให้ ด้วยการประกาศแผนการสร้างมอเตอร์เวย์สำหรับจักรยาน เพื่อเป็นการส่งเสริมให้ผู้คนหันมาใช้จักรยานให้มากขึ้น สมาคมนักปั่นเขารับรองว่าแผนนี้จะทำให้มีจำนวนคนใช้จักรยานเพิ่มขึ้นสองเท่า (ปัจจุบันชาวเมืองโคเปนเฮเกนเกือบร้อยละ 30 ไปทำงานด้วยพาหนะสองล้อที่ต้องอาศัยพลังงานส่วนตัวนี่แหละ) นอกจากทางสำหรับจักรยานโดยเฉพาะแล้ว เขายังจะจัดสถานีบริการให้เป็นระยะ เพื่อให้นักปั่นได้ใช้บริการสูบลม รับน้ำดื่ม หรือสอบถามข้อมูลเรื่องเส้นทางด้วย … อิจฉาจัง ...-------------------------------------------------------------------------------------     น้ำพุโซดา คนปารีสเขาติดน้ำขวดอัดคาร์บอน (หรือโซดานั่นแหละ) กันงอมแงม ถึงขั้นที่เทศบาลเมืองปารีสต้องหาวิธีมาช่วยให้คนเหล่านี้หย่าขาดจากมันให้ได้คุณอาจสงสัยว่าดื่มโซดาแล้วมันมีปัญหาอะไรหรือ เรื่องของเรื่องเทศบาลเขากังวลเรื่องปัญหาขยะพลาสติก ซึ่งฝรั่งเศสมีศักยภาพในการผลิตได้ถึง 262,000 ตันในปีที่ผ่านมา ทั้งนี้เพราะฝรั่งเศสเป็นประเทศที่บริโภคน้ำบรรจุขวดมากที่สุดเป็นอันดับ 8 ของโลก และสาเหตุที่คนที่นี่เขาชอบดื่มน้ำขวดก็เพราะว่ามันเป็นน้ำอัดแก๊สที่ดื่มแล้วซ่าได้ใจนั่นเอง เทศบาลที่นั่นเขาทำการสำรวจแล้วพบว่า คนจะดื่มน้ำจากก๊อกมากขึ้นถ้ามันซ่าด้วย ไม่เชื่อดูได้จากยอดขายถล่มทลายของเครื่องอัดแก๊สแบบใช้ตามบ้านก็ได้ว่าแล้วก็ควักกระเป๋าไป 75,000 ยูโร (หรือประมาณ 3 ล้านบาท) เพื่อติดตั้งน้ำพุโซดาในสวนสาธารณะให้ชาวบ้านพากันมาดื่มฟรีกันทุกวันไม่เว้นวันหยุดตั้งแต่ 8 โมงเช้า – 3 ทุ่มครึ่ง นี่เป็นขั้นทดลอง ถ้าเสียงตอบรับดีก็จะมีการติดตั้งเพิ่มขึ้นในสวนสาธารณะอื่นๆ ด้วย-------------------------------------------------------------------------------------   เมื่อ “สี” อาจก่อความไม่สงบนักโภชนาการและองค์กรด้านเด็กออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลออสเตรเลียประกาศห้ามใช้สีสังเคราะห์ในอาหาร ที่เป็นสาเหตุให้เกิดอาการไฮเปอร์แอ็คทีฟในเด็ก ในขณะที่ซูเปอร์มาร์เก็ตเจ้าใหญ่อย่าง Aldi เก็บผลิตภัณฑ์ที่มีสีเหล่านี้เป็นส่วนผสมออกไปจากชั้นหมดแล้ว งานสำรวจของกลุ่ม Karitane พบว่าหนึ่งในสามของแม่ชาวออสเตรเลียสังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมของลูก ว่ามีอาการอยู่ไม่สุก ลุกลี้ลุกลน บางทีก็ก้าวร้าว หลังจากกินอาหารที่มีสีผสมอาหารเข้าไป สมาคมนักโภชนาการแห่งออสเตรเลียบอกว่าร้อยละ 21 ของเด็กออสซี่วัย 9 ขวบ รับประทานเค้กหรือบิสกิตทุกวัน และแม่ๆ เหล่านี้ส่วนใหญ่สามารถเห็นความเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมเด็กหลังกินอาหารที่มีสารกันบูดและสีได้ชัดเจน สีที่เป็นปัญหากลุ่มนี้มีอีกฉายาว่า “หกอันตรายเซาท์แทมตัน” (ได้แก่ sunset yellow (E110) quinoline yellow (E104) carmoisine (E122) allura red (E129) ponceau 4R (E124) and tartrazine (E102)) ที่ได้ชื่อนี้มาก็เพราะงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยเซาท์แทมตัน ในปีค.ศ. 2007 พบว่าสารทั้งหกตัวมีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมไฮเปอร์แอคทีฟในเด็ก จึงทำให้ร้านค้าในอังกฤษพากันสมัครใจถอนสินค้าออกไป หลังจากที่องค์กรมาตรฐานอาหารอังกฤษได้ออกเป็นคำแนะนำไป สหภาพยุโรปก็ออกข้อกำหนดให้อาหารที่ใส่สีจะต้องมีคำเตือนทำนองว่า: “ตาตราซีน (หรือสารตัวใดตัวหนึ่งในกลุ่มดังกล่าว) อาจมีผลในทางลบต่อความตื่นตัวและความสนใจของเด็ก” แต่สถาบันมาตรฐานอาหารของออสเตรเลียและนิวซีแลนด์กลับบอกว่ายังไม่มีหลักฐานแน่นหนาพอที่จะสั่งแบนสีสังเคราะห์เหล่านั้น และให้ผู้บริโภคดูแลตัวเอง (อ้าว) ด้วยการดูที่ฉลากซึ่งกฎหมายระบุให้แจ้งสีผสมอาหารไว้แล้ว-------------------------------------------------------------------------------------   รอการพิสูจน์ รับจดหมายเตือนกันไป สำหรับบริษัทผู้ผลิตน้ำยาบ้วนปากที่โฆษณาว่าผลิตภัณฑ์ของตนสามารถกำจัดคราบพลัคหรือรักษาโรคเหงือกได้ องค์การอาหารและยาของสหรัฐฯ ทำจดหมายไปถึงผู้ผลิตน้ำยาบ้วนปากยี่ห้อลิสเตอรีน ซีวีเอส และวอลกรีน ให้รีบจัดการแก้ไขโฆษณาเหล่านั้นภายใน 15 วัน จริงอยู่น้ำยาบ้วนปากเหล่านี้มีส่วนผสมของโซเดียมฟลูออไรด์ ซึ่งทางอย.ก็ยอมรับว่าสามารถป้องกันฟันผุได้ แต่ทั้งนี้ทางผู้ผลิตยังไม่ได้พิสูจน์ว่ามันสามารถกำจัดคราบพลัค หรือป้องกันโรคเหงือกได้อย่างที่โฆษณาไว้ ตามกฎหมายแล้วผู้ผลิตไม่สามารถกล่าวอ้างว่าผลิตภัณฑ์ของตนรักษาโรคได้ จนกว่าข้อกล่าวอ้างเหล่านั้นจะผ่านการพิสูจน์โดย อย.เสียก่อน ถ้ามันทำได้จริงก็จะได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นยา และอนุญาตให้สามารถวางขายในร้านขายยาทั่วไปได้ แม้ปัจจุบันจะยังไม่มีเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับอาการบาดเจ็บหรือผลในทางลบต่อสุขภาพจากผลิตภัณฑ์เหล่านี้แต่ อย. ก็ขอแจ้งให้พี่น้องทราบว่าอย่าเพิ่งคาดหวังว่าน้ำยาบ้วนปากจะสามารถป้องกันหรือรักษาโรคเหงือกได้ และถ้าคุณเคยอ่านหนังสือเรื่อง “100 สิ่งที่ไม่ต้องทำ (ก็ได้) ก่อนตาย” คุณก็จะรู้ว่าจริงๆ แล้วคุณไม่จำเป็นต้องใช้น้ำยาบ้วนปากเลยด้วยซ้ำไป

อ่านเพิ่มเติม >