ฉบับที่ 198 โดนหลอกให้ทำประกัน

แม้การทำประกันชีวิตจะมีข้อดีหลายประการ แต่ควรเกิดขึ้นจากความสมัครใจของผู้บริโภคแต่ละคน เพราะหากผู้บริโภคถูกหลอกให้ทำประกัน สามารถส่งผลให้บริษัทเสียชื่อเสียงจากการถูกฟ้องร้อง และสร้างความรู้สึกด้านลบให้กับผู้บริโภคได้ ดังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับผู้ร้องรายนี้เมื่อปลายปี พ.ศ. 2555 คุณสุชาติต้องการทำบัญชีสะสมทรัพย์กับธนาคารกสิกรไทย ในจังหวัดนครราชสีมา เมื่อเขาแจ้งความประสงค์ พนักงานพร้อมผู้จัดการธนาคารในปีดังกล่าว ได้แนะนำว่า ถ้าออมเงินฝากกับธนาคารในวงเงินประมาณ 600,000 บาท จะได้รับบัตรเครดิต Wisdom พร้อมด้วยสิทธิพิเศษต่างๆ มากมาย ทำให้เขาตัดสินใจที่จะฝากเงินจำนวนดังกล่าว เพราะเห็นว่าได้สิทธิประโยชน์หลายอย่างของบัตรเครดิต และตกลงกรอกรายละเอียดพร้อมเซ็นชื่อลงในเอกสารต่างๆ โดยที่ไม่ได้ตรวจสอบก่อน เพราะมีความไว้เนื้อเชื่อใจกับพนักงานธนาคารอยู่แล้ว อย่างไรก็ตามในอีก 2 ปีถัดมา คุณสุชาติต้องการนำเงินที่ฝากไว้ไปลงทุนทำธุรกิจ จึงไปแจ้งความประสงค์ขอปิดบัญชี แต่กลับพบว่าไม่สามารถทำได้ เนื่องจากเงินทั้งหมดที่เขาฝากไว้นั้น เป็นการทำประกันชีวิตกับธนาคาร ซึ่งหากส่งเบี้ยประกันไม่ครบ 5 ปีตามเงื่อนไข เขาจะไม่ได้รับเงินคืนเมื่อถึงกำหนด เมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้ คุณสุชาติจึงแจ้งไปว่า เขาไม่ทราบเรื่องการทำประกันชีวิตดังกล่าว เพราะหากทราบก่อนก็คงไม่ทำ และเขาไม่ยอมที่จะสูญเสียเงินที่ฝากไปแน่นอน เขาจึงไปร้องเรียนกับพนักงานที่เคยคุยกันไว้ แต่ก็ได้รับคำตอบว่าต้องจ่ายเบี้ยประกันให้ครบกำหนดก่อน ถึงจะได้รับเงินคืน มิฉะนั้นก็จะถูกริบเงินทั้งหมด ทำให้คุณสุชาติต้องเดินทางไปยังสำนักงานใหญ่ของบริษัทประกันชีวิต เพื่อร้องเรียนและขอรับเงินคืน แต่ก็ไม่สามารถดำเนินการได้เช่นกัน เขาจึงส่งเรื่องมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิเพื่อขอความช่วยเหลือ แนวทางการแก้ไขปัญหาจากกรณีนี้ศูนย์พิทักษ์สิทธิแนะนำให้ผู้ร้องทำหนังสือถึงธนาคารแห่งประเทศไทยและ คปภ. โดยให้ขอเงินคืนทั้งหมด ด้วยเหตุผลว่า ขณะที่ทำการฝากเงินนั้นผู้ร้องไม่ทราบว่าเป็นการทำประกัน เพราะพนักงานไม่ได้แจ้งรายละเอียดดังกล่าวให้ทราบก่อน ซึ่งที่ผ่านมามีผู้บริโภคหลายรายที่เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ และสามารถเรียกร้องเงินคืนได้ทั้งหมด แต่อาจเสียเวลาการดำเนินการสักหน่อย ดังนั้นก่อนตัดสินใจเซ็นชื่อหรือกรอกรายละเอียดส่วนตัวลงในเอกสารใดๆ ควรตรวจสอบให้ดีก่อน

อ่านเพิ่มเติม >