ฉบับที่ 176 เมื่อโฟล์คสวาเก้น อาจต้องรับผิดตามกฎหมายสินค้าชำรุดบกพร่อง

โดย ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค ประธานอนุกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านสินค้าและบริการจากเหตุการณ์ กรมควบคุมมลพิษของอเมริกา ( EPA) ได้แจ้งข้อกล่าวหาต่อ บ. โฟล์กสวาเกน (VW) ว่า จงใจที่จะหลอกลวงการแสดงข้อมูลการวัดค่าไอเสียจากรถยนต์ดีเซลรุ่น Jetta, Beatle, Passat และ Audi A 3 เนื่องจากซอฟท์แวร์แสดงผลการวัดต่ำกว่าค่าความเป็นจริงถึง 10- 40 เท่าในสภาวะการขับแบบปรกติ ซึ่งเกินกว่าค่าที่ทางกรมควบคุมมลพิษของอเมริกากำหนด ต่อกรณีดังกล่าวผู้บริโภคตามกฎหมายเยอรมันสามารถทำอะไรได้บ้างเมื่อรถยนต์ที่ซื้อมามีปัญหาชำรุด บกพร่องโฟล์คสวาเก้นมีหน้าที่ ที่จะต้องเรียกคืนรถที่มีปัญหาจากการวัดค่าไอเสียรถยนต์คืนหรือไม่ ?ไม่จำเป็น ตามหลักกฎหมายเยอรมัน บริษัทจะเรียกรถคืนก็ต่อเมื่อรถยนต์นั้นก่อให้เกิดความไม่ปลอดภัยต่อชีวิตของลูกค้า ในกรณีความผิดพลาดจากเครื่องมือวัดไอเสียที่ติดตั้งในตัวรถนั้นยังไม่ถึงกับ ก่อให้เกิดความไม่ปลอดภัยต่อชีวิต แต่โฟล์คสวาเก้นสามารถเรียกคืนรถยนต์คันที่มีปัญหาดังกล่าวตามความสมัครใจ หรือ ในกรณีที่โฟล์คสวาเก้นไม่อยากสร้างความยุ่งยากใจให้กับลูกค้า เพราะลูกค้าสามารถใช้สิทธิเรียกร้องให้โฟล์คสวาเก้นชดเชยค่าเสียหายและความบกพร่อง (Mängelrechte) ที่เกิดขึ้นได้ ซึ่งจะมีผลต่อภาพลักษณ์ของและความน่าเชื่อถือของบริษัท สิ่งที่น่าติดตามสำหรับผู้บริโภคขณะนี้คือ รอดูว่าโฟล์คสวาเก้นมีข้อเสนอให้กับลูกค้าอย่างไร ผู้บริโภคมีสิทธิอะไรบ้างในกรณีนี้ตามหลักกฎหมายแพ่งของเยอรมนี ในกรณีที่ลูกค้าซื้อสินค้า เมื่อภายหลังปรากฏว่า เป็นสินค้าชำรุดบกพร่อง ค่าไอเสียที่ปล่อยออกมามีค่าสูงมากเกินกว่ากฎหมายกำหนด หรือทำให้ ใช้น้ำมันมากกว่าที่โฆษณาไว้ ผู้บริโภคสามารถใช้สิทธิเรียกร้องตามกฎหมาย การประกันสินค้า (Gewährleistungsrecht: defect liability law) หลักการใช้สิทธิเรียกร้องตามกฎหมายดังกล่าวคือ •    เรียกร้องให้ผู้ผลิตหรือผู้ขาย ซ่อมแซมสินค้าให้เป็นไปตามสัญญาหรือที่โฆษณาไว้ (Nacherfüllung) โดยจะต้องกำหนดเงื่อนไขของเวลาในการซ่อมแซมให้รถมีสภาพเหมือนเดิมอย่างสมเหตุสมผล ในกรณีการขอเปลี่ยนรถให้ใหม่นั้น ต้องไม่เป็นภาระต่อผู้ผลิตหรือผู้ขายมากเกินไป ซึ่งผู้ผลิตมักจะเลือกการซ่อมแซมแทนการเปลี่ยนของใหม่ให้ก่อน •    นอกจากนี้ผู้บริโภคสามารถบอกยกเลิกสัญญากับผู้ขายได้ (Rücktritt) โดยสามารถคืนรถที่มีปัญหา และขอเงินคืน โดยคิดราคาค่าเสื่อมจากการใช้รถไปแล้วบางส่วน ซึ่งสามารถคิดจากระยะทางที่รถวิ่งมาแล้ว กรณีการคืนรถสามารถทำได้ ถ้าผู้ผลิตไม่สามารถซ่อมแซมแก้ไขให้รถมีสภาพกลับคืนมาเหมือนเดิมได้ หรือ ผู้ผลิต ซ่อมแล้วซ่อมอีกจนทำให้ผู้บริโภคเดือดร้อนรำคาญ (unzumutbar) •    การขอลดหย่อนราคา (Minderung) ในกรณีที่รถมีความเสียหาย หรือบกพร่องเล็กน้อย ผู้บริโภคสามารถขอลดหย่อนราคาจากผู้ขายหรือผู้ผลิตได้ ผู้บริโภคสามารถใช้สิทธิตามกฎหมายการประกันสินค้ากับใครเนื่องจากผู้บริโภคไม่ได้ซื้อรถกับบริษัทผู้ผลิตรถยนต์โดยตรง แต่ซื้อผ่านบริษัทตัวแทน ตามกฎหมายการประกันสินค้า (Gewährleistungsrecht: defect liability law) ผู้บริโภคต้องเรียกร้องสิทธิผ่านบริษัทตัวแทนขายรถยนต์ที่มีสัญญาต่อกัน บริษัทตัวแทนขายรถยนต์ (Dealer) สามารถเรียกค่าเสียหายกับโฟล์คสวาเก้นในฐานะผู้ผลิตรถยนต์ ต่อ ได้หรือไม่สามารถเรียกร้องได้ เนื่องจากมี นิติสัญญาต่อกัน อายุความตามกฎหมายการประกันสินค้ามีระยะเวลานานเท่าใดปกติอายุความจะมีอายุ 2 ปีนับจากวันที่ทำสัญญาซื้อรถ แต่ในกรณีที่สินค้าชำรุดบกพร่องมาตั้งแต่กระบวนการผลิตจากโรงงาน และบริษัทตัวแทนจำหน่ายก็ไม่ได้มีส่วนรู้เห็นความผิดพลาดของรถยนต์ เนื่องจากทางบริษัทย่อมปกปิดข้อผิดพลาดดังกล่าวด้วย อายุความในกรณีนี้ก็จะยาวนานขึ้น ในกรณีนี้ อายุความขยายเป็นสามปี นับจากวันที่ผู้บริโภคทราบถึงความชำรุดบกพร่องนั้น กรณีที่ ผู้บริโภคมีประกัน (Guarantee) จากผู้ผลิต สามารถทำอะไรได้บ้างผู้ผลิตรถยนต์มักจะเสนอบริการ ให้การรับประกันจากผู้ผลิต (manufacturer guarantee) เพิ่มเติมกับผู้บริโภค แต่การประกันแบบนี้จะต่างจาก การประกันตามกฎหมายประกันความชำรุดบกพร่องของสินค้า (Gewährleistungsrecht: defect liability law) ซึ่งมีสภาพบังคับ ในกรณีนี้ผู้ผลิตรถยนต์สามารถเสนอการรับประกันรถยนต์ซึ่งมีเวลานานกว่า 2 ปีตามความสมัครใจ หากผู้บริโภคมีประกันประเภทนี้ ก็สามารถใช้สิทธิดำเนินการให้ผู้ผลิตนำรถยนต์ที่มีปัญหาไปปรับปรุง ซ่อมแซมแก้ไขได้ สัญญาประกันแบบนี้ เป็นนิติกรรมที่ผู้ผลิตรถยนต์มีผลผูกพันกับผู้บริโภคโดยตรง สำหรับผู้บริโภคในไทยตอนนี้ คงต้องรอ พ.ร.บ. ความรับผิดต่อการชำรุดบกพร่องของสินค้า (Lemon Law) ที่ผ่านการลงมติเห็นชอบจากสภาปฏิรูปแห่งชาติเรียบร้อยแล้ว แต่ยังรอการพิจารณาในชั้นของสภานิติบัญญัติแห่งชาติอยู่ อีกหนึ่งความหวังของกฎหมายดีๆ ที่มักจะถูกละเลย และขัดขวางจาก ผู้มีอำนาจทางการเมืองหลายฝ่าย ที่ยังเข้าใจว่า การคุ้มครองผู้บริโภคเป็นอุปสรรคต่อการประกอบธุรกิจและอุตสาหกรรม ทว่าจริงๆแล้วการคุ้มครองผู้บริโภคที่ดี เป็นการส่งเสริมธุรกิจ การแข่งขันทางการค้า และเป็นการส่งเสริมธรรมาภิบาลอีกทางหนึ่งที่สำคัญ  

อ่านเพิ่มเติม >