ฉบับที่ 157 กระแสในประเทศ

ประมวลเหตุการณ์เดือนมีนาคม 2557 อย.วอนพ่อค้าแม่ค้า อย่าใส่ฟอร์มาลินในอาหาร สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) ต้องออกโรงเตือนกับบรรดาพ่อค้าแม่ค้าว่า สารฟอร์มาลิน หรือ ฟอร์มาลดีไฮด์ เป็นวัตถุห้ามใช้ในอาหาร ใครนำไปใช้มีความผิด มีโทษทั้งจำทั้งปรับ พร้อมกันนี้ อย. ได้ทำหนังสือขอความร่วมมือไปยังร้านขายยาทั่วประเทศให้ระมัดระวังในการขายฟอร์มาลิน เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ซื้อนำไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ หลังมีการตรวจพบฟอร์มาลินปนเปื้อนในปริมาณค่อนข้างสูงในอาหารสด เช่น อาหารทะเล ผัก ผลไม้ และเนื้อสัตว์ โดยที่จังหวัดขอนแก่น พบว่าตัวอย่าง ปลาหมึกกรอบ และสไบนาง (ส่วนหนึ่งของเครื่องในวัว) มีฟอร์มาลินปนเปื้อนถึงร้อยละ 90 จากตัวอย่างที่เก็บได้ตามตลาดสด ฟอร์มาลินเป็นวัตถุห้ามใช้ในอาหาร ตามพระราชบัญญัติอาหาร ซึ่งหากฝ่าฝืน จัดเป็นการผลิต จำหน่ายอาหารไม่บริสุทธิ์ มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ     สารเคมีกำจัดศัตรูพืช “ระเบิดเวลา” ฆ่าชีวิตเกษตรกรไทย โครงการเฝ้าระวังสารเคมีกำจัดศัตรูพืชและพัฒนากลไก เพื่อยกเลิกการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่มีอันตรายร้ายแรง เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช(Thailand Pesticide Alert Network : Thai-PAN) ได้จัดประชุมวิชาการเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช "สร้างสังคมไทยให้ปลอดภัยจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืช" โดยในเวทีได้มีการนำเสนอข้อมูล จากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) พบว่าผลการตรวจเลือดเกษตรไทย ระหว่างปี 2554-2556 มีจำนวนผู้ที่เสี่ยงอันตรายจากสารเคมีทางการเกษตรถึง 32%  นอกจากนี้ยังมีข้อมูลทางวิชาการที่ชี้ให้เห็นว่า การตกค้างของสารเคมีทางการเกษตรในร่างกายของคนเรานั้น ส่งผลให้เกิดโรครุนแรงจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็น มะเร็งสมอง มะเร็งเต้านม มะเร็งเม็ดเลือดขาว มะเร็งต่อมน้ำเหลือง สมองเสื่อม หอบหืด ทารกในครรภ์ไม่เติบโต แท้งลูก และเบาหวาน ด้านกรมวิชาการเกษตร ได้นำเสนอข้อมูลปริมาณการนำเข้าสารเคมีทางการเกษตร พบว่าปี 2556 ประเทศไทยนำเข้าสารกำจัดศัตรูพืช 8.7 หมื่นตัน มากกว่าปี 2550 ประมาณ 28% ซึ่งหนึ่งในแนวทางการแก้ปัญหาสารเคมีทางการเกษตรในบ้านเรา ก็คือการยกเลิกการนำเข้า จำหน่าย และใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่มีพิษร้ายแรง ซึ่งจากการศึกษาข้อมูลพบว่าในประเทศไทยเรามีสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่ควรยกเลิกการใช้กว่า 155 ชนิด โดยในจำนวนนั้นมีสารที่ควรยกเลิกโดยเร็ว เช่น คาร์โบฟูราน เมททิลโบรโมด์  เมธิลดาไธออน เมโทมิล พาราควอท  ฯลฯ ซึ่งเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืชพยายามอย่างยิ่งเพื่อให้การยกเลิกเกิดขึ้นจริงในบ้านเราโดยเร็วที่สุด ซึ่งก็ต้องอาศัยความร่วมมือกับทุกภาคส่วนของประเทศ     เทรนด์ใหม่ผู้บริโภค “แฉออนไลน์” ช่วง 2- 3 เดือนที่ผ่านมา ใครที่ติดตามข่าวสารเกี่ยวกับผู้บริโภคทางสังคมออนไลน์ คงจะได้เห็นปรากฏการณ์ "แฉ" จากเหล่าผู้บริโภคที่เจอปัญหาเรื่องอาหารไม่ปลอดภัยและการปนเปื้อนในอาหาร ไม่ว่าจะเป็นกรณีที่ป๊อปคอร์นยี่ห้อดังเจอตั๋วรถเมล์ปนมากับเมล็ดป๊อปคอร์น นมพร้อมดื่มบรรจุกล่องที่พบว่าในกล่องมีการเติมโตของเชื้อราที่ดูแล้วน่าตกใจและไม่น่าปลอดภัยกับผู้บริโภค และที่น่าจะได้รับการพูดถึงในสังคมมากที่สุดคงหนีไม่พ้นกรณีที่มีผู้บริโภคท่านหนึ่งพบแมลงสาบอยู่ในไอศกรีมที่ซื้อจากร้านฟาสต์ฟู้ดชื่อดัง ซึ่งการที่ผู้บริโภคนำปัญหาที่ตัวเองพบเจอมาเปิดเผยต่อสาธารณะผ่านสังคมออนไลน์ ถือเป็นอีกวิธีหนึ่งในการพยายามเรียกร้องสิทธิของผู้บริโภคในยุคปัจจุบัน ซึ่งถือว่าเป็นว่าได้รับผลตอบรับที่ดี เพราะทั้งได้รับความสนใจจากบริษัทผู้ผลิตที่เป็นต้นเหตุของปัญหา ปัญหาของผู้บริโภคได้รับการแก้ไขอย่างรวดเร็ว สื่อมวลชนได้เห็นปัญหาแล้วนำเรื่องไปขยายต่อในวงกว้าง ผู้บริโภคคนอื่นๆ เองก็ได้รับรู้ปัญหา และนำไปเป็นบทเรียนเพื่อป้องกันและแก้ไขได้เวลาที่ตัวเองเจอปัญหาแบบเดียวกัน แม้ว่าในท้ายที่สุดทุกปัญหาอาจจะไม่ได้รับการแก้ไขในทันที เช่น กรณีที่ผู้บริโภคเจอแมลงสาปในไอศกรีม ผู้ประกอบการปฏิเสธที่จะยอมรับผิด โดยอ้างว่าผู้บริโภคซื้อไอศกรีมถ้วยดังกล่าวออกไปจากร้าน แล้วทิ้งเวลานานกว่าจะกลับมาแจ้งว่าเจอปัญหา แต่รูปแบบการแก้ปัญหาในลักษณะนี้ของผู้บริโภคก็น่าจะจุดประกายเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภคและการมีความรับผิดชอบต่อผู้บริโภคของบริษัทต่างๆ ในบ้านเราให้มีเพิ่มมากขึ้นได้ในอนาคต     ผู้บริโภคลงนามความร่วมมือกับทรูแก้ปัญหาโรมมิ่ง คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน ได้จัดงาน “วันสิทธิผู้บริโภคสากล” (World Consumer Rights Day) โดยปีนี้ได้ชูประเด็นปัญหาเรื่องการใช้งานบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ระหว่างประเทศ (International Roaming)หลังจากที่มีผู้บริโภคร้องเรียนผ่านมาทางศูนย์พิทักษ์สิทธิ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ว่าถูกเรียกเก็บค่าบริการโรมมิ่งเป็นเงินสูงถึง 1.3 ล้านบาท หลังจากผู้เสียหายได้เปิดใช้บริการที่ประเทศซาอุดิอาระเบียในระยะเวลาแค่ 14 วัน หรืออีกหนึ่งกรณีที่ผู้บริโภคได้เปิดแพ็กเกจโรมมิ่งในประเทศฝรั่งเศส แล้วเจอเรียกเก็บค่าบริการถึง 1.6 แสนบาท ทั้งที่มีการกำหนดวงเงินค่าบริการ (credit limit) แต่การจำกัดวงเงินดังกล่าวไม่รวมถึงบริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศ ซึ่งตัวอย่างปัญหาเหล่านี้ เกิดจากการที่บริษัทผู้ให้บริการไม่แจ้งข้อมูลที่ถูกต้องครบถ้วนกับผู้ใช้ ไม่ว่าจะเป็นวิธีการคิดค่าบริการ อัตราค่าบริการ และวิธีการปิดระบบการใช้งานโรมมิ่ง ซึ่งล้วนเป็นข้อมูลสำคัญและจำเป็นต่อผู้บริโภคทั้งสิ้น นอกจากนี้ภายในงาน คณะกรรมการองค์การฯ ได้มีการลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (เอ็มโอยู) ร่วมกับ บริษัท เรียล ฟิวเจอร์ จำกัด ในเครือบริษัททรู เพื่อเป็นข้อตกลงว่าทางบริษัทจะให้การดูแลผู้บริโภคมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดให้มีวงเงิน (credit limit)  เพื่อใช้บริการทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ โดยผู้บริโภคสามารถร้องขอไปยังผู้ประกอบการเพื่อปรับลด หรือเพิ่มวงเงินได้ และให้มีช่องทางการแจ้งเตือนเมื่อค่าใช้จ่ายใกล้ครบวงเงินที่กำหนด ซึ่งบริษัทต้องมีระบบระงับการให้บริการ และให้มีหมายเลขโทรศัพท์ฟรีให้ผู้บริโภคได้โทรเข้ามาแจ้งได้ว่า จะขอระงับการใช้ทันทีหรือต่ออายุการใช้งาน และให้แยกงานใช้งานบริการเสียงและข้อมูล (Voice and Data) ออกจากกัน ซึ่งทางคณะกรรมการฯได้แจ้งว่าได้มีการเชิญผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือในประเทศไทยทั้ง 3 ค่ายคือ ทรู ดีแทค และ เอไอเอส แต่มีเพียง ทรู เจ้าเดียวเท่านั้นที่ตอบตกลงร่วมลงนามความร่วมมือในครั้งนี้     ถึงเวลาเดินหน้าปฏิรูประบบการคุ้มครองผู้บริโภคไทย คณะกรรมการองค์การอิสระผู้บริโภคภาคประชาชน ร่วมกับเครือข่ายเดินหน้าปฏิรูป จัดเวทีเสวนาสาธารณะเรื่อง "การปฏิรูประบบการคุ้มครองผู้บริโภค" เพื่อนำเสนอข้อเรียกร้องต่อหน่วยงานภาครัฐ ให้เกิดการพัฒนาเรื่องการคุ้มครองดูแลผู้บริโภคในประเทศไทย ไปพร้อมกับการผลักดันให้เกิดกฎหมายองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคในประเทศไทยเสียที หลักจากที่องค์กรผู้บริโภคลงมือลงแรงเพื่อให้เกิดกฎหมายสำหรับผู้บริโภคฉบับนี้มาแล้วกว่า 16 ปี โดยในงานได้มีการพูดคุยและแสดงข้อคิดเห็นของสถานการณ์ผู้บริโภคในบ้านเรา จากทั้งนักวิชาการ ตัวแทนจากหน่วยงานภาครัฐ รวมถึงตัวแทนจากภาคประชาชน ซึ่งในเวทีเสวนาก็ได้มีข้อสรุปเบื้องต้นเป็นข้อเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหา 5 มาตรการสำคัญในการปฏิรูประบบคุ้มครองผู้บริโภค 1.เร่งรัดการออกกฎหมายองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค 2.พัฒนากลไกยกเลิกสินค้าอันตรายอัตโนมัติ เช่น ยาอันตราย สารเคมีอันตราย หรือสินค้าอันตรายที่พบว่าเป็นอันตรายต่อสุขภาพ โดยยึดหลัก one ban all ban 3. การเยียวยาเชิงลงโทษ ที่ทันท่วงทีและอัตโนมัติ 4. มีหน่วยงานเดียวรับผิดชอบงานคุ้มครองผู้บริโภค ทำหน้าที่ให้ข้อมูล รับเรื่องร้องเรียน และคุ้มครองผู้บริโภค แบบ one stop service 5. สนับสนุนองค์กรผู้บริโภค เพื่อให้มีส่วนร่วมในการคุ้มครองผู้บริโภค การเผยแพร่ข้อมูล การเข้าถึงห้องทดลอง การเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม รวมทั้งตรวจสอบหน่วยงานรัฐในการคุ้มครองผู้บริโภคได้มากขึ้น //

อ่านเพิ่มเติม >