ฉบับที่ 157 ในสวนขวัญ : ครอบครัวของเรา ก็ต้องเป็นเราที่ดูแล

ในสังคมของมนุษย์เรามีลักษณะของครอบครัวอยู่สองประเภท คือ ครอบครัวแบบที่เราไม่ได้เลือก กับครอบครัวที่เราเลือกได้เอง ในกรณีของครอบครัวที่เราไม่ได้เลือกหรือไม่มีสิทธิ์เลือกนั้น เนื่องจากมนุษย์เราเลือกเกิดไม่ได้ว่าเราจะตกฟากมาถือกำเนิดในครอบครัวใด เพราะฉะนั้น บรรดาพ่อแม่พี่น้องปู่ย่าตายายที่อยู่ในวงศ์วานเครือญาติและครอบครัวเดียวกับเรา ก็คือคนที่เราเลือกไม่ได้ว่าจะเกิดมาเป็นลูกเป็นหลานของใครคนใด ส่วนกรณีของครอบครัวที่เราเลือกได้นั้น ก็คือรูปแบบของครอบครัวที่มนุษย์แต่ละผู้แต่ละนามมีสิทธิที่จะสร้างขึ้นเอง โดยเลือกชายหรือหญิงที่ตนพึงใจมาเป็นสามีหรือภรรยาคู่ครองของตน แต่ไม่ว่าจะเป็นครอบครัวแบบใดก็ตาม เนื่องเพราะครอบครัวเป็นสถาบันที่เล็กที่สุด แต่ก็ใกล้ชิดกับทุกชีวิตในสังคมมากที่สุดเช่นกัน ดังนั้น ครอบครัวของใคร คนๆ นั้นก็ต้องดูแลรักษาและออกแบบครอบครัวของเขาหรือเธอกันเอง และเพราะครอบครัวต้อง “ออกแบบ” หรือ “by design” แบบของใครของมัน ตัวละครอย่าง “ไม้” และ “เป็ดปุ๊ก” ในละคร “ในสวนขวัญ” จึงต้องเรียนรู้ที่จะเข้าใจสัจธรรมความเป็นจริงข้างต้นด้วยเช่นกัน หาก “สนิมเหล็กเกิดแต่เนื้อในตน” ฉันใด ปัญหาของครอบครัวใครก็เกิดแต่ภายในของครอบครัวตนฉันนั้น เฉกเช่นเดียวกับไม้ที่ความเข้าใจผิดว่า “คุณหทัย” ผู้เป็นมารดาทอดทิ้งเขาและไปแต่งงานมีครอบครัวใหม่ ก็เป็นปมในใจที่ค้างคามานับแต่วัยเด็กของไม้   ในทางเดียวกัน สำหรับครอบครัวของเป็ดปุ๊กเอง ความขัดแย้งระหว่างบิดาหรือ “คุณเชียร” กับลูกชายและลูกสะใภ้อย่าง “ไก่กุ๊ก” และ “เก็จเกยูร” ก็ทำให้ทั้งคุณเชียรและเป็ดปุ๊กต้องระเห็จออกจากบ้านมาหาที่อยู่ใหม่ ซึ่งก็คือหมู่บ้านที่คุณหทัยมารดาของไม้เป็นเจ้าของนั่นเอง เมื่อเป็ดปุ๊กย้ายรกรากมาซื้อบ้านใหม่ติดอยู่กับเรือนของไม้ ด้านหนึ่งทั้งคู่อาจจะเริ่มต้นจากความผิดใจระหองระแหง เป็นพ่อแง่แม่งอนที่ไม่เข้าใจกัน แต่เพราะกลายเป็นคนบ้านใกล้ชิดรั้วติดกัน ประกอบกับไม้ที่มีอีกอาชีพหนึ่งเป็นคนจัดสวนได้เข้ามาตกแต่งสวนในบ้านให้ลุงเชียรและเป็ดปุ๊กอยู่เป็นประจำ ความใกล้ชิดก็ค่อยๆ เกิดกลายเป็นความรักในที่สุด ไม่เพียงแต่ไม้จะได้เข้ามาช่วยดูแลแก้ปัญหาให้กับครอบครัวของเป็ดปุ๊กในหลายๆ เรื่อง แต่เมื่อต่างฝ่ายต่างได้มองเห็นปัญหาของอีกครอบครัวหนึ่ง แบบที่ตัวละครพระเอกแอบมองนางเอกจากบ้านที่ปลูกอยู่บนต้นไม้อยู่ทุกวัน ต่างฝ่ายต่างก็เริ่มเข้าใจสัจธรรมที่ว่า คงไม่มีครอบครัวของใครหรอกที่จะไร้ซึ่งปัญหาใดๆ เลย เพราะฉะนั้น เมื่อพระเอกอย่างไม้ได้เข้ามาตกแต่งสวนในบ้านของเป็ดปุ๊ก รวมไปถึงร่วมมือกับวัยรุ่นในหมู่บ้าน ทำกิจกรรมแปลงเขตกองขยะให้เป็นสวนหย่อมอันร่มรื่น ก็เท่ากับการทิ้งคำถามให้กับตัวละครและผู้ชมไปพร้อมๆ กันว่า ถ้าเราเห็นครอบครัวและบริเวณรอบๆ เป็นแค่ “กองขยะ” มันก็จะเป็น “กองขยะ” อยู่เยี่ยงนั้น แต่หากครอบครัวเป็นอะไรบางอย่างในชีวิตที่มีคุณค่ายิ่งไปกว่านั้น ก็คงต้องเป็นเราที่พร้อมจะเก็บกวาด และแปลงครอบครัวให้เป็นสถาบันที่มีคุณค่าต่อชีวิตเราจริงๆ นั่นเอง แบบเดียวกับที่เป็ดปุ๊กได้ตั้งคำถามกับไม้ว่า “แล้วสวนหย่อมที่สร้างขึ้นในหมู่บ้านนี้จะมีใครมาดูแลหรือ” ซึ่งไม้ก็ตอบเธอไปว่า “ถึงแม้ว่าจะไม่มีใครมาดูแล ผมก็จะมารดน้ำพรวนดินที่นี่อยู่เป็นประจำ” นั่นก็เท่ากับว่า กับครอบครัวของเรา หากเราไม่หมั่นใส่ปุ๋ยพรวนดินเอง ก็คงไม่มีใครอื่นจะมาดูแลได้ดีไปกว่าเราหรอก ในขณะเดียวกัน ตัวละครอย่างไม้และเป็ดปุ๊กก็ได้สาธิตให้เราเห็นอีกด้วยว่า วิธีการดูแลคุณค่าของครอบครัวที่ดีที่สุด ก็คือการย้อนกลับไปสื่อสารความเอื้ออาทรและ “หมั่นคอยดูแลและรักษาดวงใจ” ของคนในครอบครัวอยู่อย่างต่อเนื่อง ก็เหมือนกับบรรดาเมนูอาหารไทยๆ นานาชนิด ที่ได้เข้ามาเป็นส่วนเชื่อมร้อยสายใยระหว่างสมาชิกของครอบครัวดังกล่าว ในท่ามกลางสายสัมพันธ์อันเปราะบางของคนในครอบครัวยุคปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นข้าวเหนียวหมูปิ้งที่ไม้ซื้อมาฝาก “คุณย่าขวัญ” เอย น้ำพริกปลาร้าที่เป็ดปุ๊กซื้อมาฝากคุณเชียรเอย หมูมะนาวที่ไม้ใช้เป็นสื่อสมานรอยร้าวกับคุณหทัยผู้เป็นมารดาเอย ไปจนถึงสำรับอาหารอย่างปลาทูต้มเค็มที่ใช้เชื่อมสัมพันธ์ข้ามรั้วบ้านของไม้และเป็ดปุ๊ก สำรับเมนูเหล่านี้ก็คือการที่ตัวละครพยายามต่อสายใยบางเส้นให้กับสายสัมพันธ์ที่แห้งแล้งยิ่งนักในสถาบันครอบครัวยุคนี้ ในขณะเดียวกัน ในอีกหลืบมุมหนึ่งของตัวละคร เราก็จะได้เห็นบทบาทสำคัญของบรรดาผู้อาวุโสอย่างคุณย่าขวัญ ผู้ผ่านโลกผ่านร้อนผ่านหนาวเข้าใจชีวิตมาก่อนคนรุ่นใหม่ เพราะฉะนั้นเมื่อคุณย่าขวัญปรารถนาจะให้หลานชายได้ลงเอยเป็นฝั่งเป็นฝากับเป็ดปุ๊ก คุณย่าจึงลงมือจัดการตั้งแต่ส่งสำรับปลาทูต้มเค็มเป็นสื่อสัมพันธ์กับครอบครัวของเป็ดปุ๊ก จัดงานเลี้ยงวันเกิดของตนเพื่อให้หนุ่มสาวได้มีโอกาสใกล้ชิดกัน จัดทริปท่องเที่ยวเพื่อเอื้อให้บรรยากาศเป็นใจ ไปจนถึงกลยุทธ์การสมคบคิดกับคุณเชียร เพื่อวางแผนให้ลูกหลานของตนได้เข้าใจและบอกรักกันในที่สุด บทบาทของผู้อาวุโสดังกล่าว คงบอกเป็นนัยแก่เราได้ว่า ปัญหาครอบครัวหรือปัญหาการใช้ชีวิตของคนหนุ่มสาวในท่ามกลางสังคมที่เปลี่ยนแปลงแบบทุกวันนี้ คนรุ่นใหม่อย่างไม้และเป็ดปุ๊กคงไม่มีศักยภาพมากพอที่จะเข้าไปจัดการแก้ไขได้ด้วยตนเอง หากแต่ยังต้องพึ่งพิงผู้ใหญ่ที่เคย “อาบน้ำร้อนมาก่อน” ที่จะช่วยขับให้นาวาชีวิตของคนกลุ่มนี้ดำเนินต่อไปได้ และเพราะครอบครัวของเรา ก็ต้องเป็นเราที่ดูแลแบบนี้เอง หากเราจะใช้ชีวิตอยู่ “ในสวนขวัญ” ก็คงไม่ต่างจากไม้ เป็ดปุ๊ก และตัวละครต่างๆ ที่ต้องหมั่นรดน้ำพรวนดินดูแลครอบครัวของเราให้เป็น “สวนขวัญ” ที่ร่มรื่นและมีคุณค่าต่อชีวิตจริงๆ //

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point