ฉบับที่ 149 การไกล่เกลี่ยคดี ของเยอรมนี: บริบททางสังคมที่ต่างจากประเทศไทย

โดย ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค ประธานอนุกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านสินค้าและบริการบทความนี้ผมได้แปลและเรียบเรียงมาจากบทความในวารสาร Finanztest  ซึ่งเป็นวารสารสำหรับผู้บริโภคในเรื่องเศรษฐศาสตร์ นิติศาสตร์ และการเงิน ฉบับเดือน มกราคม 2555 เพื่อเสนอเป็นข้อมูลประกอบสำหรับการจัดตั้งศูนย์ไกล่เกลี่ยของ กสทช. ซึ่งเป็นหน่วยงานภาครัฐ ในบทความนี้การไกล่เกลี่ยซึ่งเป็นกระบวนการยุติธรรมทางเลือก ในเยอรมนี ให้การไกล่เกลี่ยเป็นเรื่องของเอกชนครับ (รัฐไม่ได้เข้าไปยุ่งในกระบวนการเหมือนบ้านเรา ที่รัฐต้องยุ่งทุกเรื่อง และก็ยุ่งเป็นยุงตีกัน ท้ายสุดประชาชนไม่ค่อยได้ประโยชน์อะไร และรัฐต้องจัดสรรงบประมาณมาสนับสนุน) การไกล่เกลี่ยข้อพิพาทสามารถดำเนินการได้ไม่ว่าเป็นข้อพิพาทที่เกิดขึ้นในที่ทำงานบริษัท ห้างร้าน และภายในหน่วยงานราชการ ปัจจุบันในเยอรมนีมี พ.ร.บ. ที่ออกมาเพื่อสนับสนุนกระบวนการไกล่เกลี่ย คดีตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จ เช่น คดี ครอบครัว เช่นมีคดีหนึ่งที่สามีภรรยา แยกทางกัน และมีข้อพิพาทในประเด็นที่ว่า จะส่งลูกไปเรียนที่โรงเรียนไหน และใครจะดูแลจัดการเรื่องใด เช่นใครจะไปรับไปส่งตอนไหน ใครจะดูแลเรื่องเครื่องแต่งกาย คดีแบบนี้ทางรัฐสนับสนุนให้ใช้การไกล่เกลี่ย เพราะมีรายละเอียดมากสำหรับการที่จะตกลงร่วมกันในการดูแลลูก   กรณีตัวอย่างนี้ใช้เวลาในการไกล่เกลี่ย 12 ครั้งกว่าจะได้ข้อยุติ  ซึ่งการไกล่เกลี่ยจะเป็นผลดีต่อ พ่อ แม่และลูก มากกว่าการฟ้องร้องคดีกัน  การไกล่เกลี่ยที่เกิดขึ้นนี้มีค่าใช้จ่ายสำหรับคู่ความคือ 600 ยูโร(คู่กรณียอมรับว่าเป็นเงินที่คุ้มค่า) โดยปกติราคาสำหรับการไกล่เกลี่ยคดีจะอยู่ระหว่าง 90- 400 ยูโรต่อชั่วโมง (3600 – 16000 บาท) ขึ้นอยู่กับลักษณะคดี  ค่าครองชีพของเมืองที่เกิดคดี และความสามารถและทักษะของผู้ไกล่เกลี่ย ผู้ที่ทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยจะเป็นคนกลาง (Mediator) ไม่ได้เสนอคำตอบหรือทางออกสำหรับข้อขัดแย้งหรือข้อพิพาท แต่จะทำหน้าที่เป็นผู้ดำเนินการ (Moderator) ไกล่เกลี่ยให้ดำเนินไปได้อย่างราบรื่น จนกระทั่งคู่กรณีทั้งสองสามารถหาทางออกได้ด้วยตัวเอง คดีที่มีข้อพิพาทกันในครอบครัว ระหว่างเพื่อนบ้าน กรณีพิพาทระหว่างลูกจ้างกับนายจ้าง ธนาคารกับลูกค้า ประชาชนกับเจ้าหน้าที่รัฐ ก็สามารถใช้กระบวนการไกล่เกลี่ยได้ (แต่ไม่ยักมีคดีระหว่างผู้บริโภคกับผู้ประกอบการนะครับ) ในเยอรมนี เป็นเวลากว่า 20 ปีมาแล้ว ที่ใช้การไกล่เกลี่ยแก้ไขข้อพิพาท  จนกระทั่งเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2012 ได้มีการประกาศใช้ พ.ร.บ.ว่าด้วยการไกล่เกลี่ย หลังจากใช้เวลาร่างและพิจารณากฎหมายในสภา bundestag เป็นเวลากว่า 3 ปี พ.ร.บ.นี้จะมีส่วนสนับสนุนการไกล่เกลี่ย ตลอดจนสนับสนุนพัฒนาหลักสูตรการไกล่เกลี่ยให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น “ข้อแนะนำสำหรับการไกล่เกลี่ยคือ คู่กรณีควรมีทนายความของตนเองมาร่วมด้วย ซึ่งจะช่วยให้การรักษาความเป็นกลางของผู้ไกล่เกลี่ยเป็นไปได้ง่ายขึ้น “ มิชาเอล พลาสสมานน์ นักไกล่เกลี่ยและทนายความให้คำแนะนำ การทำงานของผู้ไกล่เกลี่ยควรต้องทำงานเป็นทีมเวิร์ค องค์ประกอบของทีมประกอบด้วยเพศหญิงและเพศชาย นักกฎหมาย และนักการศึกษา ครู อาจารย์ เมื่อคู่กรณีตกลงเข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยแล้ว ก็ต้องรักษาข้อเสนอเป็นความลับทั้งคู่กรณีและผุ้ไกล่เกลี่ย ซึ่งในกรณีที่ไม่สามารถไกล่เกลี่ยได้ ผู้ไกล่เกลี่ยก็สามารถปฏิเสธ การเป็นพยานในชั้นศาลได้ (Zeugnisverweigerungsrecht)   ผู้ไกล่เกลี่ยที่ได้รับการรับรอง (Certified Mediator) ใน พ.ร.บ.ไม่ได้กำหนดวิธีการสอบ หรือหลักสูตรบังคับ แต่จะระบุลักษณะที่พึงปรารถนาของผู้ทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยที่ขึ้นทะเบียน เช่น ต้องผ่านการอบรมไม่น้อยกว่า 120 ชั่วโมงสำหรับเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับวิชากฎหมาย ที่เกี่ยวข้องกับการไกล่เกลี่ย เทคนิคการต่อรอง และการสื่อสาร (Verhandlungs- und Kommunikationstechnik) การดำเนินรายการสานเสวนา (Gesprächführung) และการจัดการความขัดแย้ง (Konfliktkompetenz) นอกจากนี้ยังมี เนื้อหาที่เป็นภาคปฏิบัติ โดยที่จะมีระบวนการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และการตรวจสอบของผู้ไกล่เกลี่ย เพื่อพัฒนาความสามารถของนักไกล่เกลี่ยในระหว่างการฝึกอบรม สหพันธ์การไกล่เกลี่ยข้อขัดแย้ง (www.bmev.de) เป็นองค์กรเอกชนระดับสหพันธรัฐ ที่พัฒนาหลักสูตรการไกล่เกลี่ย สำหรับนักไกล่เกลี่ยมืออาชีพ ข้อดีของการไกล่เกลี่ยคือ เป็นวิธีการระงับข้อพิพาทที่มีราคาถูกสำหรับคู่ความในกรณีที่ มีมูลค่าสูงๆ เช่น คดีมรดก ข้อดี อีกอย่างหนึ่งสำหรับการไกล่เกลี่ยคือ ได้ข้อยุติที่รวดเร็ว เมื่อเปรียบเทียบกับการฟ้องร้องคดีในศาล สำหรับคนเยอรมันเองนั้นนับว่าการไกล่เกลี่ยเป็นกระบวนการยุติธรรมทางเลือกที่น่าสนใจ เพราะคนเยอรมันจะมีประกันความยุติธรรม (Rechtsschtuzversicherung เบี้ยประกันความยุติธรรมจะอยู่ระหว่าง 200- 360 ยูโรต่อปี) ที่บริษัทรับประกันมีกรมธรรม์คุ้มครองลูกค้า ในกรณีที่ต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม และกระบวนการไกล่เกลี่ยนั้น Rechtschutzversicherung ก็ครอบคลุมค่าใช้จ่ายสำหรับกระบวนการไกล่เกลี่ยด้วย การไกล่เกลี่ยที่ประสบความสำเร็จ คือ การที่คู่กรณีได้ลงนามตกลงในสัญญาไกล่เกลี่ย ซึ่งคู่ความควรจะต้องให้ทนายฝ่ายตนตรวจสอบรายละเอียดอีกครั้งก่อนลงนามในข้อตกลง ในกรณีที่คู่ความฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดผิดสัญญาดังในข้อตกลงดังกล่าว ก็สามารถนำเรื่องฟ้องศาลเพื่อบังคับคดีต่อไปได้

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point