ฉบับที่ 240 ความเคลื่อนไหวเดือนกุมภาพันธ์ 2564

ขยะอิเล็กทรอนิกส์ชิ้นเล็กฝากไปกับไปรษณีย์ได้        บริษัท ไปรษณีย์ไทยผนึกกำลังเอไอเอส จัดโครงการ'ฝากทิ้ง ขยะอิเล็กทรอนิกส์' ผ่านบุรุษไปรษณีย์กว่า 2 หมื่นคนทั่วประเทศ โดยประชาชนสามารถ 'ฝากทิ้ง ขยะอิเล็กทรอนิกส์' ผ่านบุรุษไปรษณีย์ได้ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย สมาคมโรคไตแนะผู้ป่วยอย่าหลงเชื่อสมุนไพรบำรุงรักษาไต        ในงานสัปดาห์วันไตโรค สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทยร่วมกับเครือข่ายองค์กรทางการแพทย์ยืนยัน ปัจจุบันยังไม่มีสมุนไพรตัวไหนที่มีข้อมูลหลักฐานทางงานวิจัยหรือการบันทึกมากเพียงพอที่แสดงถึงประโยชน์ในการรักษาโรคไตได้อย่างมั่นใจ การนำมาใช้จึงอาจทำให้เกิดโทษต่อผู้ป่วยโรคไตได้ โดยเฉพาะตัวถั่งเช่าที่กำลังได้รับความนิยมในปัจจุบัน         รศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ นายกสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย ยืนยันว่าจากองค์ความรู้ที่มีข้อพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ในปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลที่สามารถสรุปได้อย่างชัดเจนว่า ถั่งเช่ามีประโยชน์จริงในผู้ป่วยโรคไต เนื่องจากมีเพียงข้อมูลการศึกษาในสัตว์ทดลอง แต่ไม่มีหลักฐานการศึกษาที่ดีเพียงพอที่จะพิสูจน์ได้ว่าถั่งเช่ามีประโยชน์กับไตในมนุษย์ และการศึกษาส่วนใหญ่ไม่ได้รายงานของอาการที่ไม่พึงประสงค์ของถั่งเช่าอีกด้วย การที่ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังลองทานยาสมุนไพรรักษาโรคไตนั้น น่าจะมีโทษมากกว่าประโยชน์ ซึ่งการรักษาที่ดีที่สุดคือการดูแลปฏิบัติตัวอย่างเหมาะสม เพื่อชะลอการเสื่อมของไตให้ช้าที่สุด รวมทั้งหลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่เกิดความเสี่ยงต่อไตทั้งหมด    เครือข่าย “พาราควอต” เล็งฟ้องศาลปกครองยื้อขอใช้ต่อ        25 ก.พ. คือกำหนดเวลาสุดท้ายที่ให้ครอบครองสาร “พาราควอต-คลอร์ไพริฟอส” เกษตรกรต้องเร่งส่งคืนสารเคมีอันตรายร้ายแรงให้กับร้านค้าสารเคมีทางการเกษตรที่ซื้อมา จากนั้นร้านค้าก็จะต้องส่งคืนให้ผู้ผลิตหรือผู้นำเข้าเพื่อให้นำสารเคมีเหล่านี้ไป “กำจัด” โดยรัฐจะกำหนดวันวิธี และสถานที่ในการทำลาย ทั้งนี้ ตามประกาศได้กำหนดไว้ว่า ผู้ฝ่าฝืนที่มีสารเคมีทางการเกษตรอันตรายร้ายแรงไว้ในครอบครองหลังวันที่ 25 ก.พ. 2564 มีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ อย่างไรก็ตามภาระในการกำจัดสารเคมีอันตรายร้ายแรง “พาราควอต-คลอร์ไพริฟอส” จะตกไปอยู่ที่ผู้นำเข้าที่ต้องเสียค่ากำจัดเองประมาณ 100,000 บาท/ตัน         ดังนั้นจึงเกิดการเคลื่อนไหวโดยทางด้านเครือข่ายผู้ใช้เคมีปลอดภัย สมาคมวิทยาการวัชพืช เตรียมระดมทุนดึงมหาวิทยาลัย นักวิชาการ วิเคราะห์ผลตกค้างใหม่บอกผลวิจัยชุดเก่า “เชื่อถือไม่ได้” ขู่ฟ้องศาลปกครองเอาผิด คณะกรรมการวัตถุอันตราย ผิดรัฐธรรมนูญ มาตรา 73 และ 4 อ้างทำเสียหาย 200,000 ล้านบาท "กัญชา กัญชง"ใช้ประกอบอาหารไม่ผิดกฎหมาย        22 กุมภาพันธ์ ภญ.สุภัทรา บุญเสริม รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เปิดเผยว่าคณะกรรมการอาหารได้มีมติเห็นชอบ (ร่าง) ประกาศกระทรวงสาธารณสุข จำนวน 2 ฉบับ ได้แก่ 1.(ร่าง) ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ ….) พ.ศ…. ออกตามความในพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 เรื่อง กำหนดอาหารที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่าย ซึ่งมีสาระสำคัญคือ ปลดให้ใช้ส่วนของกัญชาและกัญชงที่ไม่เป็นยาเสพติดในผลิตภัณฑ์อาหารได้ 2.(ร่าง) ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ ….) พ.ศ…. ออกตามความในพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 เรื่อง เมล็ดกัญชง น้ำมันจากเมล็ดกัญชง โปรตีนจากเมล็ดกัญชง และผลิตภัณฑ์อาหารที่มีส่วนประกอบของเมล็ดกัญชง น้ำมันจากเมล็ดกัญชง หรือโปรตีนจากเมล็ดกัญชง โดย อย. จะเสนอ (ร่าง) ประกาศฯ ทั้ง 2 ฉบับนี้ให้นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขลงนาม และประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อให้มีผลบังคับใช้ต่อไป         ด้านองค์กรผู้บริโภค เป็นห่วงประเด็นเรื่องการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค ระบุ 'คณะกรรมการอาหาร และ อย.' ต้องพิจารณาเรื่องการกำกับดูแลร้านอาหารและเครื่องดื่ม การแจ้งข้อมูลผู้บริโภค คำเตือน และกำหนดอายุผู้ซื้อ มีบทลงโทษถ้าไม่ดำเนินการ         “สาร THC และ CBD ที่อยู่ในใบกัญชาละลายได้ดีในอาหารที่มีไขมันเป็นองค์ประกอบและถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดผ่านระบบทางเดินอาหารได้ดี จึงมีความเสี่ยงต่อความปลอดภัยของผู้บริโภคค่อนข้างสูง อาจเกิดผลข้างเคียงจากการบริโภคได้ โดยเฉพาะในหญิงมีครรภ์ หญิงให้นมบุตร ทารก เด็กเล็ก อาจได้รับสารนี้จากการบริโภคทั้งโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ” มลฤดี โพธิ์อินทร์ นักวิชาการด้านอาหารมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค องค์กรผู้บริโภค คัดค้านราคา 104 บาทรถไฟฟ้าสายสีเขียวและร่วมเสนอทางออก        'มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เดินหน้าคัดค้านขึ้นราคาค่าโดยสารรถไฟฟ้า BTS สายสีเขียวสูงสุด 104 บาท เพิ่มภาระประชาชน กลายเป็นขนส่งสาธารณะที่ยากต่อการเข้าถึง แนะเว้นค่าแรกเข้า - ตั้งเพดานราคา - จัดการสัญญาสัมปทาน' แก้ปัญหาราคารถไฟฟ้า         การเดินทางด้วยรถไฟฟ้าต้องทำให้เป็นขนส่งสาธารณะที่ทุกคนเข้าถึงได้ ไม่เพิ่มภาระค่าครองชีพ ค่าโดยสารรถไฟฟ้าราคาถูกกว่านี้ได้ โดยสิ่งที่ควรนำมาพิจารณาคือ การเว้นค่าแรกเข้า เนื่องจากปัญหาค่าโดยสารรถไฟฟ้าถูกคิดจากสัญญาสัมปทานในแต่ละสายแยกกัน จึงทำให้ราคาในแต่ละสายสีต่างๆ แตกต่างกัน เนื่องจากเมื่อมีการเชื่อมต่อระหว่างระบบทำให้ผู้โดยสารจำเป็นต้องจ่ายค่าแรกเข้าให้กับรถไฟฟ้าอีกระบบตามที่ระบุในสัญญาฯ ดังนั้นถ้าใครต้องต่อรถไฟฟ้าหลายต่อก็จะแพงขึ้นมาก เพราะต้องเสียค่าแรกเข้าให้กับทุกระบบรถไฟฟ้า ระบบตั๋วร่วมจึงควรเกิดขึ้นได้เสียที คือตั๋วเดียวและขึ้นได้ทุกระบบ และพิจารณาเรื่องการทำให้ค่าโดยสารมีส่วนลด         “รัฐควรนำสัญญาสัมปทานทุกสายมาดูเพื่อแก้ไขปัญหา เพราะหากยังใช้สัญญาสัมปทานเดิม แม้จะยกเว้นค่าแรกเข้าแล้วก็ยังราคาเกือบหนึ่งร้อยบาท ดังนั้นจึงต้องทำควบคู่กันไป ทั้งการยกเว้นค่าแรกเข้า ตั้งเพดานราคา และจัดการปัญหาสัญญาสัมปทาน นอกจากนี้เรื่องการอุดหนุนจากรัฐก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ต้องคิด รัฐสามารถพัฒนาและใช้ประโยชน์จากพื้นที่บนสถานีรวมถึงพื้นที่แนวเส้นรถไฟฟ้า เพื่อนำรายได้ส่วนนั้นมาดอุดหนุนเพื่อให้ประชาชนได้ใช้ในราคาที่ถูกลง”

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 237 กินถังเช่าสกัดต่อเนื่อง เสี่ยงไตวาย ต้องระบุคำเตือนในฉลาก

        รศ.ดร.ภญ. มยุรี ตั้งเกียรติกำจาย สาขาวิชาเภสัชกรรมคลินิก คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ให้ข้อมูลการติดตามผู้ป่วยพบมีผู้ป่วยไตเรื้อรัง 3 รายแย่ลง วัยกลางคนและสูงอายุใช้สารสกัดถั่งเช่า รับประทาน 1 เม็ดต่อวันเป็นเวลาประมาณ 1 เดือน ค่าการทํางานของไตแย่ลง (eGFR ลดลง) เมื่อหยุดใช้ค่าการทํางานของไตดีขึ้น บางคนไม่ดีขึ้นกลายเป็นไตวายระยะสุดท้ายในปี พ.ศ. 2562         ปี พ.ศ. 2563 พบผู้ป่วยจำนวน 8 ราย เป็นผู้ป่วยสูงอายุมีโรคหัวใจรับประทานสารสกัดถั่งเช่าสีทอง วันละ 1 เม็ดประมาณ 1 เดือน ค่าการทํางานของไตแย่ลงเมื่อหยุดใช้ค่าการทํางานของไตดีขึ้น อีก 6 รายมีอาการไตวายเฉียบพลัน 1 ราย, 2 รายเป็นโรคไตเรื้อรังระยะ 3-4 บางรายเมื่อหยุดใช้แล้วไตดีขึ้น บางรายต้องฟอกเลือด พบอีก 1 รายใช้กาแฟถั่งเช่าร่วมกับยาแก้ปวดและสมุนไพรผสมสเตียรอยด์ทําให้ค่าการทํางานของไตแย่ลง         ทำให้นึกย้อนไปถึงเรื่องร้องเรียนในอดีตของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ที่หลังจากทานขี้เหล็กสกัดทำให้มีอาการตัวเหลืองตาเหลือง ทั้งที่ใบขี้เหล็กช่วยอาการนอนไม่หลับ บำรุงตับ แกงขี้เหล็กที่รู้จักมีฤทธิ์ระบายอ่อนๆ ช่วยไม่ให้ท้องผูก นอนหลับสบายเมื่อมีความพยายามที่จะทำใบขี้เหล็กให้เป็นยาสมุนไพรสำเร็จรูปที่ใช้ง่ายเป็นชนิดเม็ด โดยใช้ใบขี้เหล็กตากแห้งบดเป็นผงแล้วบรรจุเม็ดวางจำหน่ายในท้องตลาด เมื่อขี้เหล็กแคปซูลเหล่านี้เข้าถึงผู้บริโภค เริ่มมีข้อสังเกตจากแพทย์ระบบทางเดินอาหารหลายท่านว่า พบผู้ป่วยด้วยโรคตับอักเสบมีเรื่องร้องเรียนว่าทานแล้วตัวเหลืองจนต้องยุติการขึ้นทะเบียนและการจำหน่ายยาสมุนไพรชนิดนี้ในท้ายที่สุด         นอกจากปัญหารายงานว่าอาจจะมีความเกี่ยวข้องกับปัญหาการทำงานของไต หลายคนเบื่อการโฆษณาการขายถั่งเช่ามาก โฆษณาจำนวนมากจนน่ารำคาญ ทำให้รู้สึกว่าทำไมถึงขายถั่งเช่าสกัดกันทั้งบ้านทั้งเมือง คนกินเยอะขนาดนี้เลยหรือ ? ถ้ามาดูโฆษณามีทั้งรักษาโรคเรื้อรังสารพัด บำรุงร่างกาย เพิ่มพลังทางเพศ ไทด์อินในรายการต่างๆ ป้ายโฆษณาด้านหลังแนะนำสินค้าขายตรงมีให้เห็นได้ยิน ทุก 15-30 นาที จากทั้งดาราน้อยใหญ่ แทบจะทุกช่องทีวีโซเชียลมีเดียหรือแทบทุกช่องทางทำให้คนที่มีปัญหาสุขภาพหรือโรคเรื้อรังอดใจไว้ไม่อยู่อยากทดลองว่าจะช่วยได้จริงมั้ย แต่ผลลัพธ์กลับส่งผลต่อความรุนแรงของโรคหรือเกิดโรคบางประเภท เช่น ไตวายเรื้อรัง           ถึงแม้ทีวีดิจิทัลจะเป็นอุตสาหกรรมตะวันตกดิน แต่กสทช. ก็ต้องกำกับร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ให้เข้มข้นเรื่องการโฆษณาผิดกฎหมาย เกินจริง โอ้อวด รักษาโรคของผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และเมื่อมีรายงานว่า อาจจะมีความเกี่ยวข้องกับปัญหาไตวายเรื้อรัง อย. ในฐานะหน่วยงานที่ต้องกำกับผลิตภัณฑ์นี้โดยตรงก็ต้องเรียกบริษัทผู้ผลิตผู้จัดจำหน่ายทั้งหลายเร่งปรับปรุงฉลาก ให้มีคำเตือนที่ชัดเจนในการใช้ผลิตภัณฑ์นี้ ติดตามผลข้างเคียงอย่างเป็นระบบและผู้ประกอบการต้องรีบดำเนินการเพื่อลดความเสี่ยงกับผู้ป่วยโรคเรื้อรังทั้งหลาย         สุขภาพของเราไม่ได้มาจากผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร หยุดคิดว่าถ้าไม่ดี อย. ก็ไม่ควรให้จำหน่ายเพราะการรู้ว่าไม่ดีมักจะมาทีหลัง หวังว่าถั่งเช่าจะไม่ซ้ำรอยขี้เหล็กที่เป็นอาหารมีคุณ แต่สกัดแล้วเป็นโทษ เพราะหากย้อนไปในประเทศจีนก็ทานถั่งเช่าเป็นอาหารใส่ในต้มจืดเฉพาะฤดูหนาวเท่านั้น  หรือหากในธิเบตก็นิยมทานเป็นชาหรือใส่ในอาหารเฉพาะบางฤดูเช่นเดียวกัน สุขภาพของเราคงไม่ใช่ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารแต่มาจากความสุข การบริโภคอาหารที่ดี การใช้ชีวิต การพักผ่อนและการออกกำลังกาย

อ่านเพิ่มเติม >