ฉบับที่ 206 สะสมแต้มครบ แต่แลกของไม่ได้

หนึ่งในกลยุทธ์ส่งเสริมการขายที่โดนใจผู้บริโภคมากที่สุด หนีไม่พ้นวิธีการสะสมแต้มเพื่อแลกรับของรางวัล ซึ่งนอกจากจะทำให้ธุรกิจนั้นๆ มียอดขายที่เพิ่มขึ้นแล้ว ยังส่งผลให้ผู้บริโภคส่วนใหญ่รู้สึกว่าเงินที่เสียไป สามารถสร้างประโยชน์กลับคืนมาได้อีกอย่างไรก็ตามกลยุทธ์ดังกล่าวอาจสร้างปัญหาได้ ในกรณีที่ผู้บริโภคสะสมแต้มครบ และทำตามกติกาที่กำหนดไว้ทุกอย่าง แต่กลับแลกรับของรางวัลไม่ได้ ดังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับผู้ร้องรายนี้คุณพชรเข้าร่วมกิจกรรมสะสมดาว (แต้มที่จะได้รับหลังการซื้อสินค้า) เพื่อแลกรับของรางวัล ของห้างสรรพสินค้าเทสโก้ โลตัส ซึ่งภายหลังเขาสะสมครบตามจำนวนที่กำหนดไว้ และต้องการแลกรับของรางวัลเป็นหมอนสุขภาพ กลับได้รับการแจ้งจากพนักงานว่า ระหว่างนี้สินค้าดังกล่าวหมด แต่สามารถเขียนใบจองไว้ก่อนได้ ซึ่งหากสินค้ามาถึงจะโทรศัพท์ติดต่อกลับไปหลังผ่านไปนานหลายสัปดาห์ และใกล้ครบกำหนดวันที่สามารถแลกรับของรางวัลได้ คุณพชรก็ยังไม่ได้รับการติดต่อกลับจากพนักงานของห้างฯ ดังกล่าวแต่อย่างใด เขาจึงทดลองไปสอบถามโดยตรงกับพนักงานอีกครั้ง ซึ่งได้รับการตอบกลับมาว่า สินค้าหมดและหมดเวลาแลกแล้ว ถึงจะมีใบจองไว้ก็หมดสิทธิเมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้ คุณพชรจึงไม่พอใจมากและนำเรื่องราวดังกล่าวไปโพสต์ลงสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งหลังจากนั้นได้มีผู้บริโภครายอื่นๆ จำนวนมาก ได้เข้ามาแสดงคิดเห็นว่าประสบปัญหาดังกล่าวเช่นเดียวกัน ส่งผลให้คุณพชรส่งเรื่องมาร้องเรียนยังศูนย์พิทักษ์สิทธิ เพราะต้องการให้ห้างฯ แสดงความรับผิดชอบแนวทางการแก้ไขปัญหาจากกรณีดังกล่าว พบว่า ผู้ร้องทำตามกติกาที่ทางห้างฯ ระบุไว้ แต่ไม่สามารถแลกรับของรางวัลได้ตามโปรโมชั่น เนื่องจากสินค้าหมด ซึ่งตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 เรื่องการคุ้มครองผู้บริโภคในด้านการโฆษณา มาตรา 22 กำหนดไว้ว่า การโฆษณาจะต้องไม่ใช้ข้อความที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค หรือใช้ข้อความที่อาจก่อให้เกิดผลเสียต่อสังคมเป็นส่วนรวมโดยให้ข้อความดังต่อไปนี้ ถือว่าเป็นข้อความที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค หรือเป็นข้อความที่อาจก่อให้เกิดผลเสียต่อสังคมเป็นส่วนรวม (1) ข้อความที่เป็นเท็จหรือเกินความจริง(2) ข้อความที่จะก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการไม่ว่าจะกระทำโดยใช้หรืออ้างอิงรายงานทางวิชาการ สถิติ หรือสิ่งใดสิ่งหนึ่งอันไม่เป็นความจริงหรือเกินความจริง หรือไม่ก็ตาม(3) ข้อความที่เป็นการสนับสนุนโดยตรงหรือโดยอ้อมให้มีการกระทำผิดกฎหมายหรือศีลธรรม หรือนำไปสู่ความเสื่อมเสียในวัฒนธรรมของชาติ(4) ข้อความที่จะทำให้เกิดความแตกแยกหรือเสื่อมเสียความสามัคคีในหมู่ประชาชน(5) ข้อความอย่างอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวงซึ่งตาม (5) ข้อความอย่างอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2534) นั้น กำหนดให้ ข้อความโฆษณาสินค้าหรือบริการที่ระบุหรือประกาศว่า ผู้ประกอบธุรกิจจัดให้มีการประกวดชิงรางวัล โดยไม่ได้ระบุรายละเอียดดังต่อไปนี้ ถือเป็นข้อความที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค(ก) หลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข หรือข้อกำหนดในการเสี่ยงโชคหรือในการประกวดชิงรางวัล(ข) วัน เดือน ปีที่เริ่มต้นและสิ้นสุดของการจัดให้มีการเสี่ยงโชคหรือการประกาศชิงรางวัล เว้นแต่กรณีที่เป็นการโฆษณาทางวิทยุ โทรทัศน์ ข้อความโฆษณาที่กำหนดระยะเวลาเริ่มต้นของการเสี่ยงโชคหรือการประกวดชิงรางวัลนั้นจะให้ปรากฏในส่วนที่เป็นภาพหรือในส่วนที่เป็นเสียงอย่างหนึ่งอย่างใดก็ได้ แต่ข้อความโฆษณาที่กำหนดระยะเวลาสิ้นสุดนั้นจะต้องให้ปรากฏทั้งในส่วนที่เป็นภาพและส่วนที่เป็นเสียง(ค) ประเภทและลักษณะของของแถมพก หรือรางวัลจำนวนและมูลค่าของของแถมพกหรือรางวัลแต่ละสิ่ง หรือมูลค่ารวมในแต่ละประเภท เว้นแต่กรณีที่การโฆษณาทางวิทยุกระจายเสียงหรือวิทยุโทรทัศน์ ผู้ประกอบธุรกิจจะไม่ระบุมูลค่าของของแถมพกหรือรางวัล แต่ละสิ่ง หรือมูลค่ารวมในแต่ละประเภทก็ได้   แต่ผู้ประกอบธุรกิจจะต้องระบุมูลค่ารวมของแถมพกหรือรางวัลทุกประเภทไว้แทน(ในกรณีที่สิ่งซึ่งจัดเป็นของแถมพกหรือรางวัลเป็นสิ่งซึ่งมีมูลค่าที่ผู้บริโภคอาจทราบได้โดยทั่วไป  และข้อความโฆษณานั้นได้แสดงให้ผู้บริโภคทราบถึงประเภทและลักษณะของของแถมพกหรือรางวัลไว้โดยชัดแจ้งแล้ว  ผู้ประกอบธุรกิจจะไม่ระบุมูลค่าของของแถมพกหรือรางวัลนั้นไว้ก็ได้)(ง) เขตหรือถิ่นที่มีการจัดให้มีการเสี่ยงโชคหรือการประกวดชิงรางวัล เว้นแต่กรณีที่เป็นการจัดให้มีขึ้นทั่วราชอาณาจักร(จ) วัน เดือน ปี เวลา และสถานที่ซึ่งกำหนดไว้สำหรับการทำการเสี่ยงโชคหรือการตัดสินการประกวดชิงรางวัล(ฉ) สื่อโฆษณาที่จะใช้ในการประกาศรายชื่อผู้ได้รับของแถมพกหรือรางวัลจากการเสี่ยงโชคหรือการประกวดชิงรางวัลดังนั้นจากเหตุการณ์ของผู้ร้องรายนี้ การที่ห้างฯ ไม่ระบุจำนวนของรางวัลไว้ให้ผู้บริโภคทราบ และอ้างว่าสินค้าหมดนั้น อาจเข้าข่ายการโฆษณาที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งผู้บริโภคสามารถร้องเรียนขอให้มีการตรวจสอบได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 176 “หนี้จากบัตรเครดิตที่ไม่ได้ใช้”

อิทธิพลของยุคซื้อก่อนแล้วค่อยจ่าย ทำให้คนส่วนใหญ่นิยมใช้บัตรเครดิต เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระเงินในกระเป๋า จนบางครั้งเปิดกระเป๋ามาเจอบัตรเครดิตเยอะกว่าเงินก็มี อย่างไรก็ตามบัตรเครดิตเหล่านี้ก็อาจสร้างภาระให้เราแทนได้ หากเราใช้จ่ายมากเกินไปจนกลายเป็นหนี้ หรืออย่างในกรณีนี้ที่ไม่ได้ใช้จ่ายแต่ดันเป็นหนี้โดยไม่รู้ตัวเมื่อ 3 ปีก่อน ผู้ร้องเคยสมัครบัตรเครดิตกับธนาคาร UOB แต่ไม่เคยใช้ซื้อสินค้าใดๆ เพราะมีบัตรเครดิตอื่นที่ใช้บริการเป็นประจำอยู่แล้ว อย่างไรก็ตามแม้ไม่มีการเปิดใช้บริการ แต่ค่าธรรมเนียมรายปีก็ไม่ได้ยกเว้น เธอจึงตัดปัญหาภาระที่ไม่จำเป็น ด้วยการโทรศัพท์ไปที่ Call center ของธนาคารเพื่อยกเลิกบัตรใบนี้ ซึ่งพนักงานก็ได้ดำเนินการยกเลิกให้เธอเรียบร้อย แต่หลังจากนั้นเหตุการณ์กลับไม่ได้ดำเนินไปได้ด้วยดีอย่างที่คิดต้นปี 2557 เธอได้รับโทรศัพท์จากเจ้าหน้าที่ฝ่ายเร่งรัดหนี้สินของธนาคารดังกล่าวว่า ขอให้ชำระหนี้จากการนำบัตรเครดิตไปกดเงินสดจากตู้ ATM รวมแล้วจำนวนกว่า 2 แสนบาท ซึ่งเธอก็ได้ชี้แจงกลับไปว่า ไม่เคยเปิดใช้บริการหรือทำธุรกรรมทางการเงินใดๆ กับบัตรเครดิตใบนี้ เจ้าหน้าที่จึงให้เธอหาทางดำเนินการแก้ต่างให้ตัวเอง ด้วยการแนะนำให้โทรศัพท์ไปที่ Call center หรือฝ่ายตรวจสอบการทุจริตของธนาคาร ซึ่งใช้เวลาไม่น้อยเลยกว่าจะได้รับการติดต่อประสานงานกลับมา พร้อมกับคำตอบว่าให้ไปแจ้งความเพื่อพิสูจน์หาข้อเท็จจริง เพราะความเสียหายที่เกิดขึ้นเจ้าของบัตรต้องรับผิดชอบเอง เมื่อได้รับคำตอบเช่นนั้นเธอจึงต้องทำตามคำแนะนำ โดยการไปแจ้งความขอภาพจากกล้องวงจรปิดตามตู้ ATM ต่างๆ ที่มีการกดเงินจำนวนนั้นไป และโทรศัพท์ไปยังธนาคารต่างๆ ให้เก็บภาพวงจรปิดไว้ ซึ่งในที่สุดก็เห็นว่าคนที่มากดเงิน เป็นชายใส่หมวกนิรภัยปิดหน้าที่เธอไม่รู้จัก ต่อมาจึงประสานกลับไปยังเจ้าหน้าที่ของธนาคารดังกล่าว เพื่อขอร้องให้ตรวจสอบข้อมูลของบัตรและพบว่า มีไฟล์เสียงของเธอที่ยืนยันการเปิดและยกเลิกบัตรเครดิตทางโทรศัพท์ โดยภายหลังได้ตกลงกับเจ้าหน้าที่ว่าจะถือบัตรเครดิตใบนี้ต่อ แต่ให้มีการยกเว้นการเก็บค่าธรรมเนียม ซึ่งเจ้าหน้าที่ก็ได้ดำเนินการให้เรียบร้อยจากข้อมูลที่เจ้าหน้าที่แจ้งมา เธอยืนยันกลับไปว่าไม่สามารถเกิดขึ้นได้ เพราะไม่เคยตกลงเจรจากับธนาคารเช่นนั้น จึงขอไฟล์บันทึกเสียงที่อ้างข้อมูลดังกล่าวมาพิสูจน์ข้อเท็จจริง แต่ธนาคารกลับไม่ยอมทำตามข้อเรียกร้องของเธอง่ายๆ คลิปเสียงที่จะเป็นพยานสำคัญในการเอาผิดผู้ร้องกลายเป็นปัญหาใหญ่ เพราะธนาคารไม่ยอมส่งคลิปเสียงทั้งหมดมาให้ โดยอ้างว่าบางส่วนได้ทำลายทิ้งไปแล้ว และที่มีอยู่ก็เป็นไฟล์เสียงที่ไม่สมบูรณ์อีก มากไปกว่านั้น เมื่อผู้ร้องตรวจสอบวันเวลาของไฟล์ดังกล่าว ก็พบว่าไม่ตรงกับที่เจ้าหน้าที่อ้างไว้ตอนแรก นอกจากนี้การติดต่อกับเจ้าหน้าที่ดูแลเรื่องก็ยากขึ้นเรื่อยๆในที่สุดธนาคารจึงปล่อยไม้เด็ดคือ ไม่ตอบข้อร้องเรียนหรือหลักฐานไฟล์เสียงที่ผู้ร้องขอ เพียงส่งหนังสือระบุว่า ตามเงื่อนไขสัญญาการทำบัตรเครดิต เจ้าของบัตรต้องรับผิดชอบในสิ่งที่เกิดขึ้น ซึ่งตอนนี้สถานะของผู้ร้องคือ เป็นหนี้แล้วไม่ยอมจ่าย และการที่ผู้ร้องทำหนังสือไปที่ธนาคารแห่งประเทศไทยให้มีการตรวจสอบข้อมูลนั้น ไม่สามารถทำได้ เพราะแม้จะเป็นธนาคารแห่งชาติก็ไม่มีสิทธิที่จะมาตรวจสอบระบบเชิงลึกรายบุคคล เมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้ผู้ร้องจึงมาร้องเรียนที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เพื่อขอความช่วยเหลือแนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์พิทักษ์สิทธิแนะนำให้ผู้ร้อง ทำหนังสือปฏิเสธการชำระหนี้ตามที่ธนาคารได้กล่าวอ้าง เพราะไม่มีหลักฐานที่ชัดเจนว่าผู้ร้องเป็นผู้กดเงินสดจำนวนนั้นไป นอกจากนี้ข้อสังเกตต่างๆ ที่ผู้ร้องได้ทำหนังสือร้องเรียนก็ไม่ได้รับการอธิบาย โดยในระหว่างนี้เรื่องอยู่ระหว่างการเจราจาที่อัยการ ซึ่งผู้ร้องได้เรียกร้องให้ยุติการเรียกเก็บหนี้ทั้งหมดที่ธนาคารกล่าวอ้าง เพราะส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือในการทำธุรกรรมทางการเงินกับธนาคารอื่นๆ ทั้งนี้ทางศูนย์ฯ ก็จะติดตามความคืบหน้าของกรณีนี้ต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 154 โอนเงินแล้ว บอกไม่ได้รับ แล้วใครจะรับผิดชอบระหว่างธนาคารหรือคนรับโอน

ธุรกรรมทางการเงินที่สะดวกและหลากหลายช่องทางในปัจจุบัน ช่วยสร้างความคล่องตัวให้กับผู้บริโภคและภาคธุรกิจอย่างมากมาย แม้แต่ธุรกรรมอย่างการโอนเงิน ไม่ต้องไปหน้าเคาน์เตอร์หรือตู้เอทีเอ็มเราก็สามารถทำผ่านอินเตอร์เน็ตได้เช่นเดียวกันคุณเขมวิภากับน้องสาวสนใจจะเข้าอบรมเรื่องพลังงานแสงอาทิตย์ที่จะจัดอบรมกันที่จังหวัดพัทลุงโดยบริษัทโซล่า เซล แห่งหนึ่ง ซึ่งจะจัดในวันที่ 26 ตุลาคมที่ผ่านมา เธอจึงโอนเงินจำนวน 5,500 บาทผ่านช่องทางอินเตอร์เน็ตแบงค์กิ้ง จากบัญชีธนาคารทหารไทยของเธอไปที่ธนาคารกรุงไทยของผู้รับโอน ซึ่งก็คือตัวแทนบริษัทโซล่า เซล ดังกล่าว ในตอนเย็นของวันที่ 24 ตุลาคมวันที่ 25 ตุลาคม ระบบเอสเอ็มเอสได้แจ้งเข้ามาที่มือถือยืนยันว่า การโอนเงินสำเร็จ โดยแจ้งทั้งทางมือถือผู้โอนและผู้รับโอนพอวันที่ 26 ไปถึงหน้าห้องอบรม ปรากฏว่า ทางผู้จัดบอกว่า “ยังไม่ได้รับเงิน” (ไม่มีเงินในบัญชี) จึงไม่อนุญาตให้เข้าอบรม “ดิฉันร้อนใจโทรไปสอบถามทางคอลเซนเตอร์ 1558 พนักงานยืนยันว่ารายการสำเร็จเรียบร้อย แต่ถ้าอยากให้เช็ครายละเอียดขอเวลาสักหน่อย” คุณเขมวิภาเห็นว่าไหนๆ ก็มาถึงที่แล้ว ไม่เข้าอบรมไม่ได้ จึงให้น้องสาวกดเงินสดจากตู้เอทีเอ็มมาจ่ายให้กับทางผู้จัดการอบรม และขอให้ทำหนังสือว่าได้รับเงินจำนวนนี้ไว้แล้วระหว่างที่อบรมน้องสาวของคุณเขมวิภาได้ไปติดต่อกับธนาคารทหารไทยสาขาพัทลุงให้ช่วยตรวจสอบ แต่ถูกปฏิเสธบอกไม่มีอำนาจต้องรอคอลเซนเตอร์ ซึ่งต้องใช้เวลาสำหรับการตรวจสอบถึง 7 วันวันที่ 1 พฤศจิกายน ครบ 7 วันคอลเซนเตอร์ไม่โทรมา คุณเขมวิภาต้องโทรไปเอง คำตอบเดิมคือยืนยันว่า การโอนเงินสำเร็จ เงินไปอยู่ในบัญชีผู้รับแล้วดึงกลับมาไม่ได้ “ดิฉันโทรกลับไปทางผู้จัดการอบรม ทางนี้ก็ยืนยันว่า ไม่มียอดเงินเข้า แต่ไม่ยอมแสดงหลักฐานบัญชี บอกแต่ว่าเป็นเอกสารของบริษัท แต่ส่งจดหมายเพื่อเป็นเอกสารยืนยันกับดิฉันว่า ไม่ได้รับเงินจริงๆ” คุณวิภาจึงต้องย้อนไปธนาคารอีกครั้งเพื่อยื่นเรื่องให้ตรวจสอบและคืนเงิน ทางธนาคารแนะนำให้ไปลงบันทึกประจำวันที่สถานีตำรวจ เพื่อเป็นหลักฐานประกอบการตรวจสอบ เมื่อรอผลการตรวจสอบทางสำนักงานใหญ่ธนาคารยืนยันเหมือนเดิมว่า รายการโอนสำเร็จ “ตอนนี้ดิฉันเริ่มหงุดหงิดแล้วค่ะ จึงโทรไปหาบริษัทฯ บริษัทฯ ก็ปฏิเสธเช่นเดิม และขอให้เอาหลักฐานมาแสดงว่าเงินเข้ายังบัญชีปลายทางจริงๆ ทั้งสองฝ่ายต่างปฏิเสธแล้วคนที่เสียหายอย่างดิฉัน จะไปเอาเงิน 5,500 บาทนี้ คืนจากใครค่ะ” การแก้ไขปัญหาเมื่อพิจารณาจากความเป็นไปได้แล้ว ทางฝ่ายธนาคารน่าจะมีหลักฐานที่ชัดเจนกว่าทางบริษัทฯ ที่ไม่ยอมแสดงหน้าบัญชีให้เห็นว่า มีรายการโอนเงินเข้าในเวลาและจำนวนดังกล่าวตามที่ทางธนาคารทหารไทยยืนยัน ทางศูนย์พิทักษ์ฯ จึงแนะนำให้คุณเขมวิภา ทำหนังสือถึงบริษัทอย่างเป็นทางการเพื่อขอคืนเงิน โดยระบุเนื้อหาและเอกสารที่ยืนยันว่าการโอนเงินนั้นสำเร็จ โดยทางศูนย์ฯ ได้ช่วยประสานกับทางบริษัทฯ ด้วย เพราะถ้าหากบริษัทยืนยันว่า ทางตนเองไม่ได้รับเงินจำนวนดังกล่าวควรแสดงหลักฐานยืนยัน หากไม่มีหลักฐานก็ควรคืนเงินจำนวนดังกล่าวให้กับผู้บริโภคเพราะทางบริษัทฯ ได้รับเงินสดสำหรับเป็นค่าอบรมไปแล้วสุดท้ายบริษัทก็คืนเงินจำนวน 5,500 บาทให้กับคุณเขมวิภาเรียบร้อย แต่เงินจำนวนนี้ไปค้างอยู่กับบริษัทถึง 13 วัน (25 ตุลาคม – 6 พฤศจิกายน) แหม มันน่าเอาเรื่องต่อจริงๆ   //

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 123 สินค้าใช้แล้วไม่ได้ผล ยูนิซิตี้ ยอมคืนเงินให้ลูกค้า

 เป็นเรื่องราวของผู้บริโภคท่านหนึ่งที่เราให้ชื่อสมมติว่า “คุณนันทา” เราเคยลงรายละเอียดเรื่องนี้ไว้ในฉลาดซื้อฉบับที่ 110 สำหรับเล่มนี้ขอนำเสนอความคืบหน้าที่ผู้บริโภคของเราได้แฮปปี้มีความสุขจากความรับผิดชอบของผู้ประกอบธุรกิจ ความเดิมมีอยู่ว่า “คุณนันทา” ไปหลงเชื่อซื้อผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร “เอนจูวิเนทพลัส” ของบริษัท ยูนิซิตี้ มาร์เก็ตติ้ง(ไทยแลนด์) จำกัด จากตัวแทนขายตรงที่โฆษณาสรรพคุณว่า กินผลิตภัณฑ์นี้แล้วจะช่วยให้ลดริ้วรอยตีนกาบนใบหน้าได้ หากไม่ได้ผลยินดีคืนเงิน แต่พอใช้ไปกลับเกิดอาการแพ้และริ้วรอยตีนกาก็ไม่ได้ลบหายไปเลย คุณนันทาจึงร้องเรียนมาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคขอให้ช่วยเรียกร้องเอาเงินค่าสินค้าจำนวน 4,950 บาทคืนให้ด้วย ส่วนค่าเสียหายอื่นไม่คิด แนวทางการแก้ไขปัญหา มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้ส่งจดหมายแจ้งไปยังบริษัท ยูนิซิตี้ฯ เพื่อขอให้เยียวยาความเสียหายตามจำนวนเงินที่ผู้บริโภคได้ร้องเรียนมา ซึ่งบริษัท ยูนิซิตี้ฯ ได้มอบหมายให้ฝ่ายกฎหมายมีหนังสือตอบกลับมาที่มูลนิธิฯ มีใจความโดยสรุปว่า ผลิตภัณฑ์เอนจูวิเนทพลัสเป็นผลิตภัณฑ์ในเครือของยูนิซิตี้จริง จำหน่ายในหลายประเทศ ยกเว้นประเทศไทยที่ ยูนิซิตี้ ไทยแลนด์ ไม่ได้มีการนำเข้าผลิตภัณฑ์ตัวนี้แต่อย่างใด ยูนิซิตี้ยอมรับว่า สมาชิกขายตรงที่จำหน่ายสินค้าให้กับคุณนันทาเป็นสมาชิกขายตรงของยูนิซิตี้จริง  แต่การไปขายผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้รับอนุญาตจากยูนิซิตี้โดยใช้ชื่อของยูนิซิตี้ ถือว่าเป็นการกระทำผิดจรรยาบรรณการขายตรงอย่างร้ายแรง ทำให้ทั้งลูกค้าและบริษัทฯได้รับความเสียหาย ซึ่งบริษัทฯได้พิจารณามาตรการลงโทษสมาชิกขายตรงรายนี้ โดยอาจมีการให้พ้นจากสมาชิกภาพและดำเนินคดีทั้งทางแพ่งและทางอาญาต่อไป ยูนิซิตี้ ไทยแลนด์ชี้แจงเพิ่มเติมว่า ตามสัญญาสมัครสมาชิกขายตรงของยูนิซิตี้และตามธรรมเนียมทางการค้าทั่วไปในการขายตรง ถือว่าสมาชิกขายตรงไม่ได้มีฐานะเป็นลูกจ้างของยูนิซิตี้ และบริษัทไม่มีความรับผิดร่วมกับสมาชิกขายตรงรายนี้ ยูนิซิตี้ ไทยแลนด์ยังอ้างข้อกฎหมายเพิ่มเติมอีกว่า บริษัทไม่ต้องมีความรับผิดชอบในผลิตภัณฑ์ดังกล่าว เนื่องจากผลิตภัณฑ์ดังกล่าวไม่ได้จัดจำหน่ายโดยบริษัท อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการบรรเทาความเสียหายให้กับผู้บริโภค ยูนิซิตี้ ไทยแลนด์จะเป็นผู้ติดต่อประสานงานกับบริษัทยูนิซิตี้ในต่างประเทศซึ่งเป็นผู้จัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ดังกล่าว เพื่อดำเนินการคืนเงินให้กับคุณนันทาต่อไป อีกทั้งยินดีให้ความร่วมมือในการจัดหาข้อมูลเกี่ยวกับสมาชิกขายตรงที่ก่อความเสียหายให้กับคุณนันทา  รวมถึงยินดีไปให้ปากคำเป็นพยานหากมีการดำเนินคดีต่อสมาชิกตรงรายนี้ด้วยเช่นกัน ในเวลาต่อมาเราได้รับแจ้งจากคุณนันทาว่า บริษัทยูนิซิตี้ ไทยแลนด์ ได้โอนเงินจำนวน 4,950 บาทที่เป็นราคาสินค้าที่จ่ายไปให้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ส่วนความเสียหายอื่นๆนั้นคุณนันทาไม่ติดใจเอาความ พร้อมทั้งขอสมัครเป็นสมาชิกฉลาดซื้อ สร้างภูมิคุ้มกันให้กับตนเองและครอบครัวอีกด้วย  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 115 แสตมป์แลกเก้าอี้เซเว่น รอครึ่งปียังไม่ได้

“คนดีอย่างเธอที่เป็น เซเว่นไม่มีให้ซื้อ.....” เพลงลูกทุ่งยอดฮิตของน้องจั๊กจั่น วันวิสา คงเป็นเพลงคาใจของคุณยายเฉลียวไปอีกนาน หลังจากที่ได้มีประสบการณ์กับการรอโปรโมชั่นแสตมป์แลกสินค้าของเซเว่นอีเลฟเว่นนานถึงครึ่งปีคุณยายเฉลียวโทรศัพท์มาหาเราในบ่ายวันหนึ่งของเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาบอกว่า บ้านของคุณยายอยู่แถวซอยจรัญสนิทวงศ์ 35 ซึ่งก็เป็นปกติของทุกปากซอยที่มีผู้คนหนาแน่นคับคั่งว่าจะต้องมีร้านค้าสะดวกซื้ออย่างเซเว่นอีเลฟเว่นตั้งอยู่หนึ่งร้านเป็นอย่างน้อยคุณยายเฉลียวถึงจะมีอายุปาเข้าไป 70 กว่าปีแล้วแต่ก็ยังแฟนพันธุ์แท้ของร้านสะดวกซื้ออย่าง 7-11 ทุกๆ วันคุณยายจะต้องมีเหตุให้ไปซื้อสินค้าจาก 7-11 ที่ตั้งอยู่หน้าปากซอยใกล้บ้านไม่เคยขาดช่วงปี 2552 คงจำกันได้ร้าน 7-11ได้กระตุ้นการซื้อสินค้าของผู้บริโภคด้วยโปรโมชั่น ซื้อสินค้าครบ 40 บาท ใบเสร็จใช้แลกแสตมป์สะสมได้ 1 ดวง เมื่อลูกค้าสะสมแสตมป์ได้ครบตามจำนวนที่ร้านระบุไว้ สามารถใช้แลกสิ่งของกระจุ๊กกระจิ๊กที่ 7-11 กำหนดไว้ได้ อาทิ แก้วน้ำ น้ำอัดลมกระป๋อง รวมถึงเก้าอี้สนาม เป็นต้น คุณยายเฉลียวเป็นคนขยันซื้อเอามากๆ ในเวลาไม่นานคุณยายสะสมแสตมป์ได้ถึง 330 ดวง จึงนำมาขอแลกเก้าอี้สนามที่ร้านเซเว่นหน้าปากซอย ได้ไป 1 ตัว ต่อมาในช่วงเดือนธันวาคม ปี 2552 คุณยายเฉลียวยังมุ่งมั่นซื้อสินค้ากับ 7-11สาขาหน้าปากซอยจรัญสนิทวงศ์ 35 อย่างไม่รู้เบื่อ ไม่นานก็สามารถสะสมได้อีก 330 ดวง จึงนำมาขอแลกเก้าอี้สนามอีกตัวตั้งใจว่าจะเอาไว้นั่งคุยเล่นกับเพื่อนบ้าน แต่คราวนี้ต้องผิดหวังเพราะร้านบอกว่าของหมดให้รออีกหนึ่งเดือน คุณยายก็ทนรออีกหนึ่งเดือนพอถึงกำหนดระยะเวลาที่ 7-11สัญญา คุณยายเฉลียวจึงได้มาทวงเก้าอี้สนาม แต่มากี่ครั้งๆ ก็ได้แต่คำตอบว่าของหมดยังไม่มา ทวงเป็นสิบๆ เที่ยวจนคนแก่หมดกำลังใจ จึงจับโทรศัพท์มาขอความช่วยเหลือกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคแนวทางแก้ไขปัญหานับเป็นความสามารถพิเศษของคุณยายโดยแท้และเป็นหนึ่งในคุณภาพของผู้บริโภคที่ 7-11 จะต้องรักษาไว้ เพราะแสตมป์รวมกว่า 660 ดวงที่คุณยายเฉลียวสะสมได้นั้นต้องใช้เงินซื้อสินค้ากับ 7-11 มากถึง 26,400 บาท เพื่อขอแลกเก้าอี้สนามราคาไม่กี่ร้อยบาทจำนวน 2 ตัวเราทำหนังสือแจ้งถึงกรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด(มหาชน) ในฐานะผู้ประกอบธุรกิจที่ดูแลร้านค้า 7-11 ทั่วประเทศให้ดูแลรับผิดชอบผู้บริโภคชั้นดีอย่างคุณยายเฉลียวด้วย ไม่นาน บริษัท ซีพี ออลล์จึงได้ติดต่อกับคุณยายโดยตรงเพื่อชี้แจงถึงปัญหาขาดแคลนเก้าอี้พร้อมทั้งจัดส่งเก้าอี้สนามที่คุณยายรอคอยมานานกว่าครึ่งปีให้เป็นที่เรียบร้อย โดยที่คุณยายไม่ติดใจเอาความใดๆ กับ 7-11 อีก“ต่อไปนี้คงจะเข้าร้านเซเว่นน้อยลง เพราะไม่ประทับใจการให้บริการของร้านแล้ว และขอบคุณมูลนิธิฯที่ดำเนินการติดตามเรื่องให้ ไม่ผิดหวังที่ได้รู้จักและโทรเข้ามาร้องเรียน ขอให้กำลังใจมูลนิธิฯในการดำเนินการช่วยเหลือผู้บริโภคต่อไป” คุณยายเฉลียวให้พรทิ้งท้ายก่อนวางหูโทรศัพท์ไป

อ่านเพิ่มเติม >