ฉบับที่ 258 ชีวิตไรเดอร์ไทย เสี่ยงภัยและไร้สวัสดิการ

        ปัจจุบันคนไทยมีการใช้บริการสั่งอาหารส่งถึงที่พักหรือเดลิเวอรี่เพิ่มมากขึ้น ทำให้เกิดอาชีพบริการส่งอาหารเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด มีผู้ให้บริการหลายเจ้า ทั้งสัญชาติไทย และต่างชาติ อาทิ อาทิ แกร๊บ, ไลน์แมน, ฟู๊ดแพนด้า ชอปปี้ เป็นต้น ยิ่งในช่วงโควิด 19 ระบาด ซึ่งเปลี่ยนวิถีการใช้ชีวิตของคนอย่างมาก ทั้งการงดเว้นการเดินทาง การทำงานจากบ้าน และปัญหาคนตกงาน ซึ่งทำให้ผู้คนจำนวนหนึ่งต้องเข้าสู่อาชีพไรเดอร์เพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดดจากหลักหมื่นรายในช่วงก่อนการระบาดโควิด มาเป็นหลักแสนคนในช่วงที่โควิด-19 ระบาดตั้งแต่ปี 2563 ถึงปัจจุบัน         อย่างไรก็ตามเมื่อมองไปที่ตัวพนักงานหรือไรเดอร์นั้น ต้องถือว่าเป็นอาชีพอิสระรูปแบบใหม่ ซึ่งกฎหมายคุ้มครองแรงงานที่มีผลบังคับใช้อยู่ในปัจจุบันยังไม่สามารถดูแลเรื่องสิทธิ สวัสดิการแรงงานกลุ่มนี้ได้อย่างครอบคลุม ส่วนหนึ่งติดปัญหาเรื่องการตีความสถานภาพของไรเดอร์ว่าเป็นลูกจ้างแพลตฟอร์ม หรือพาร์ทเนอร์ (หุ้นส่วนแรงงาน) ซึ่งไม่ตรงกับกฎหมายคุ้มครองแรงงานที่มีอยู่ในปัจจุบัน           มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว เพราะพนักงานไรเดอร์ก็คือส่วนหนึ่งของงานบริการที่ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของผู้บริโภคไทยไปแล้ว จึงได้ทำการศึกษาโดยการสัมภาษณ์พนักงานไรเดอร์ต่อประเด็นเรื่องสิทธิในฐานะคนทำงานอาชีพอิสระนี้ ว่าทุกข์ สุขอย่างไรบ้าง และมีข้อจำกัดใดที่ทางไรเดอร์มองว่าพวกเขาควรได้รับจากสังคม         จากการรวบรวมข้อมูลร่วมกับการสัมภาษณ์เชิงลึกกลุ่มผู้ประกอบอาชีพไรเดอร์พบว่า มีปัญหาเรื่องระบบการทำงานที่ยังเป็นข้อเหลื่อมล้ำของผู้ปฏิบัติงาน ทั้งด้านเทคโนโลยี อายุ ทำให้ได้รับงานน้อยลง ซึ่งส่งผลถึงโอกาสในการได้รับสิทธิประโยชน์พิเศษจากแอพพลิเคชั่น อีกทั้ง ยังเป็นช่องโหว่ ให้คนที่เชี่ยวชาญใช้เทคโนโลยีช่วยโกงการกดรับออร์เดอร์ ที่สำคัญคือ มีปัญหาเรื่องค่าตอบแทนที่คิดตามระยะทางไม่มีมาตรฐานกลาง แต่ละแอพฯ กำหนดค่าตอบแทนเอง และใช้แรงจูงใจอื่นๆ ไม่มีสิทธิสวัสดิการ ไม่มีประกันสุขภาพ ไม่มีประกันอุบัติเหตุ สิ่งเหล่านี้ส่งผลให้ไรเดอร์ต้องพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อให้ได้รับงานเร็ว ส่งงานเร็ว จึงพบการกระทำผิดกฎหมายจราจร ทั้งขับรถฝ่าไฟแดง ขับย้อนศร กลับรถที่ห้ามกลับ ขับบนทางเท้า เป็นต้น นำมาซึ่งอุบัติเหตุบนท้องถนน ดังนั้นกลุ่มไรเดอร์จึงมีข้อเรียกร้องคือ อย่างน้อยให้มีการเพิ่มค่ารอบที่เป็นธรรม มีสวัสดิการบ้าง เช่นประกันอุบัติเหตุ            จากข้อค้นพบจากการศึกษา มูลนิธิฯ จึงรวบรวมผลและจัดทำเป็นข้อเสนอให้กระทรวงแรงงานเข้ามากำกับดูแลเรื่องนี้อย่างจริงจัง เพื่อผลักดัน 2 เรื่องสำคัญให้สามารถใช้ได้จริง ดังนี้           1. มีการการกำหนดค่าตอบแทนที่เป็นธรรม และ         2. ผลักดันให้เจ้าของแพลตฟอร์มมีการทำประกันอุบัติเหตุให้กับไรเดอร์ เป็นต้น ทั้งนี้เชื่อว่า หากมีการผลักดันอย่างน้อย 2 ประเด็นนี้ คือเรื่องค่าตอบแทนที่เป็นธรรม และมีประกันอุบัติเหตุ จะทำให้ไรเดอร์คลายกังวลได้มากขึ้น ไม่ต้องเร่งรีบในการทำรอบจนเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุบาดเจ็บ เสียชีวิตบนท้องถนน         ทั้งนี้จากการรวบรวมข้อมูล มูลนิธิฯ ทราบว่ากระทรวงแรงงานเอง มีความพยายามในการที่จะเข้ามาดูแลสิทธิสวัสดิการของกลุ่มไรเดอร์ รวมถึงแรงงานนอกระบบรูปแบบใหม่ๆ เพิ่มเติม เบื้องต้นคือมีการเปิดพื้นที่ให้มีการพูดคุยระหว่างเจ้าของ หรือผู้แทนแพลตฟอร์ม กับกลุ่มไรเดอร์         และจนถึงขณะนี้ทราบว่าได้มีการผลักดันร่างพ.ร.บ. แรงงานนอกระบบ พ.ศ.... ซึ่งผ่านครม.ไปแล้ว ตามที่ โฆษกกระทรวงแรงงานออกมาเปิดเผยว่า จะทำให้แรงงานนอกระบบได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานในการประกอบอาชีพ มีความปลอดภัยในการทำงาน มีหลักประกันทางสังคม ตลอดจนมีสัญญาการทำงานที่เป็นธรรม เช่น ไม่กำหนดเงื่อนไขทำให้ต้องเร่งรีบทำงานอย่างมีความเสี่ยง หรือต้องทำงานหนักเกินปกติจนเสียสุขภาพ ผลตอบแทนที่เป็นธรรม การจ่ายค่าตอบแทนตามอัตราและระยะเวลาที่กำหนดสวัสดิการและหลักประกันขั้นพื้นฐาน เป็นต้น         ทาง มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เองหวังว่ารูปธรรมในการแก้ไขปัญหาด้วยการกำกับของกฎหมายจะออกมาโดยเร็ว เพื่อเป็นการยกระดับแรงงานไทยให้ได้รับสิทธิ ความเป็นธรรมเท่าเทียมอย่างแท้จริง         “วันนี้โลกก้าวไปไกล แต่กฎหมายยังล้าหลัง หากยังใช้ภาษาแบบเดิมๆ คงไม่พอ ตามไม่ทันกับการจ้างงานที่เปลี่ยนแปลงไป กระทรวงแรงงานต้องเร่งตีความคำว่าพาร์ทเนอร์ออกมาให้ได้ และเข้าไปให้การดูแลสิทธิสวัสดิการให้กับไรเดอร์”

อ่านเพิ่มเติม >