ฉบับที่ 271 ซื้อบ้านทั้งที ต้องซ่อมยกหลังจน...อยู่ไม่ได้

        การซื้อบ้าน เป็นความฝันของใครหลายคนที่กว่าจะเป็นจริงได้ต้องทำงานอย่างหนัก และสำหรับบางคนอาจต้องใช้เวลาครึ่งค่อนชีวิตเพื่อให้ได้บ้านในฝันมาครอบครอง แต่การซื้อบ้านแม้เมื่อได้โอนบ้าน ครอบครองมีชื่อเป็นเจ้าของสมบูรณ์แล้ว ท่านอาจคิดว่าฝันเป็นจริงเสียที แต่เมื่อได้เข้าอยู่อาศัย จึงได้รู้ว่าฝันที่เป็นจริงนั้นกลับกลายเป็น ‘ฝันร้าย’ เมื่อบ้านที่เฝ้ารอกลับเป็นบ้านที่มีแต่จุดชำรุด ซ่อมเท่าไหร่ก็ไม่แล้วเสร็จ ซ้ำยังขยายให้เห็นจุดชำรุดเสียหายอื่นๆ ที่ยังหมกเม็ดให้เจ้าของบ้านได้เห็นอยู่เรื่อยๆ เช่น เรื่องราวของคุณหมูกรอบ        เรื่องราวคือ คุณหมูกรอบเข้าไปดูโครงการหมู่บ้านจัดสรรแห่งนี้ ซึ่งตั้งอยู่ย่านบางนา ตั้งแต่ในเดือนตุลาคมปี 2564 คุณหมูกรอบคิดว่าได้เข้ามาดูสภาพบ้านในช่วงหน้าฝนแล้ว ก็น่าจะสามารถพิสูจน์คุณภาพบ้านได้ ในเดือนพฤศจิกายนจึงทำสัญญาเริ่มผ่อนและมีการโอนบ้านในเดือนธันวาคมปีเดียวกัน        หลังจากโอนแล้ว ขณะนั้นอยู่ระหว่างการตกแต่งภายใน คุณหมูกรอบจึงยังไม่ได้ย้ายเข้าไปอยู่อาศัย แต่ก็ได้เข้าไปตกแต่งและตรวจสอบสภาพบ้านสม่ำเสมอก่อนจะย้ายเข้ามาอยู่ในเดือนมิถุนายน ปี 2565         แล้วสัญญาณเตือนว่าบ้านที่ซื้อเต็มไปด้วยปัญหาก็เริ่มตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ปี 65 ที่รั้วบ้านทรุด แม้จะพยายามซ่อมแต่จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่สามารถเป็นรั้วที่ให้ความปลอดภัยได้ ต่อมาในเดือนเมษายน หลังคาห้องครัวรั่วซึมจนฝนรั่วน้ำไหลลงมา ขณะนั้นคุณหมูกรอบยังไม่ได้เข้าอยู่อาศัย จึงแจ้งเรื่องให้ช่างเข้าซ่อมซึ่งตอนแรกช่างก็ตื่นตัวที่จะเข้ามาซ่อมให้อย่างรวดเร็วแต่เมื่อเข้าอยู่อาศัยท่าทีกลับเริ่มเปลี่ยนไป         นอกจากจุดที่แจ้งซ่อมยังแก้ไม่หายแล้ว เมื่อย้ายเข้าอยู่ในเดือนมิถุนายน จุดร้ายแรงที่พบอีก คือการชำรุดที่โรงรถซึ่งเกิดจาก ‘โครงสร้างไม่ถูกหลัก’ ทำให้น้ำรั่วซึมไหลเข้าไปทั่วบริเวณรอบๆ จนน้ำซึมไปทั่ว การซ่อมโรงรถทำให้ได้เห็นการก่อสร้างที่มีปัญหาหมกเม็ดอยู่ จุดที่ไม่สามารถตรวจสอบได้อีกหลายจุดและต่อมาหลังเข้าอยู่เพียงไม่กี่เดือน ผนังบันไดก็เกิดรอยร้าว แผ่นไม้ลูกราวบันไดแตกหัก         แน่นอนว่าทุกครั้งที่เกิดปัญหา คุณหมูกรอบได้แจ้งซ่อมและให้ช่างของโครงการฯ ระบุปัญหาและสาเหตุและแนวทางการแก้ไขปัญหาแต่กลับไม่มีการสื่อสารใดๆ เพียงแต่บอกรายละเอียดว่า ช่างจะเข้ามาซ่อมวัน เวลาใดเท่านั้น ซึ่งไม่เพียงพอจะให้เข้าใจสาเหตุของปัญหาที่แท้จริงว่าอะไรคือสิ่งที่ทำให้บ้านของคุณหมูกรอบต้องซ่อมอยู่หลายครั้งได้         บ้านหลังดังกล่าวนี้ มูลค่ารวมกว่า 4.5 ล้านบาท คุณหมูกรอบผ่อนเดือนละประมาณ 25,000 บาท ปัจจุบันได้รับความเดือดร้อนอย่างมากอยู่อาศัยอย่างไม่มีความสุข ซึ่งในโครงการฯ ไม่ใช่บ้านของคุณหมูกรอบหลังเดียวที่มีปัญหาแต่บ้านหลังอื่นๆ ก็ปัญหาด้วยกันเช่นเดียวกันกว่า 5- 6 หลัง ซึ่งเจ้าของบ้านที่เกิดปัญหาเหล่านี้ทั้งหมดจึงได้รวมตัวกันเข้ามาร้องเรียนกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหา         หลังจากรับเรื่องร้องเรียนจากผู้เสียหายทั้งหมด มูลนิธิฯ ได้ประสานกับตัวแทนของบริษัทเพื่อนัดหมายการเจรจาไกล่เกลี่ย เมื่อวันที่ 1 ก.ย. 2566 ที่ผ่านมา กรณีบ้านของคุณหมูกรอบที่แทบซ่อมตลอดระยะเวลาที่อยู่อาศัยได้เพียงไม่นานนั้น เธอยืนยันว่าเธอต้องการขอคืนบ้าน ไม่ประสงค์อยู่ต่อแล้ว ซึ่งทางตัวแทนบริษัทบอกจะนำข้อเสนอไปปรึกษากับผู้บริหาร อย่างไรก็ตามภายหลังจากการเจรจาไกล่เกลี่ยเธอก็ยังไม่ได้รับการติดต่อจากบริษัทอีกเลย ทั้งนี้คุณหมูกรอบเธอยืนยันว่าหากปัญหายังไม่ได้รับการแก้ไขให้จบสิ้น ก็จะสู้คดีให้ถึงที่สุดต่อไป         จากกรณีปัญหาของคุณหมูกรอบ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคยังได้รับเรื่องเรียนปัญหาจากการซื้อบ้านจัดสรรอีกหลายลักษณะ มูลนิธิฯ จึงมีคำแนะนำทั้งเพื่อป้องกันปัญหาไม่ให้เกิดขึ้น และแนวทางรับมือเมื่อประสบกับปัญหาแล้วดังนี้         1.เมื่อสนใจและเข้าดูโครงการควรตรวจสอบรายละเอียดการสร้างบ้านว่าถูกต้องหรือไม่ และควรหารายละเอียดการใช้งานพื้นที่เดิมด้วย เช่น เคยเป็นพื้นที่ลุ่มหรือไม่ เพราะอาจทำให้เกิดปัญหาบ้านทรุดได้         2.ผู้ซื้อบ้านจะต้องศึกษาสัญญาการซื้อบ้านโดยละเอียด เพื่อให้ทราบแน่ชัดว่า ส่วนใดของบ้านมีระยะเวลาประกันเท่าไหร่ ส่วนใดที่บริษัทรับประกันในระยะเวลา 5 ปี และ ส่วนใดที่บริษัทรับประกันเพียง 1 ปี เพื่อป้องกันการปัดความรับผิดชอบได้         3.ผู้ที่ยังไม่ซื้อบ้าน ยังไม่ได้รับโอนต้องหมั่นมาเช็คตรวจสอบสภาพบ้าน ซึ่งหากนัดเข้ามาบ่าย ช่างที่ดูแลอาจเก็บงานทำให้ไม่พบจุดที่เป็นปัญหาได้ จึงควรเข้ามาตรวจทั้งนัดหมายล่วงหน้า และการเข้าดูแบบไม่ให้รู้ก่อนด้วย         4.เมื่อถึงกำหนดโอนบ้านแต่บ้านยังไม่อยู่ในสภาพที่เรียบร้อย ผู้ซื้อไม่ควรจะรับโอนบ้าน แม้จะถูกหว่านล้อม โน้มน้าวด้วยโปรโมชั่นต่างๆ ในช่วงเวลาโอน หรือการถูกบอกกล่าวเชิงเตือนว่า ค่าโอนอาจเพิ่มสูงขึ้นในภายหลัง เพราะควรรับโอนเมื่อสภาพบ้าน สมบูรณ์แล้วเท่านั้นและหากบ้านยังคงมีปัญหาจนถึงกำหนดวันโอนและ ผู้บริโภคเป็นผู้เลื่อนกำหนดการรับโอน ผู้บริโภคควรเข้าไปลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐานด้วยเพื่อยืนยันว่า ต้องเลื่อนการรับโอนเพราะสภาพบ้านยังมีปัญหาอยู่จริง         5.หากผู้ซื้อมีทุนทรัพย์เพียงพอ ควรจ้างบริษัทรับตรวจบ้านเข้ามาช่วยตรวจสอบด้วย         6.ทุกครั้งที่มีการแจ้งซ่อม การสื่อสาร ร้องเรียนถึงบริษัท ต้องมีการเก็บเป็นเอกสารหลักฐานถ่ายภาพก่อนซ่อม ระหว่างซ่อม และหลังซ่อมโดยละเอียด ลงบันทึกประจำวันไว้ให้ชัดเจน ทุกครั้งจึงดีที่สุด

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 271 ถังก๊าซสนิมขึ้นเกรอะ เปลี่ยนกี่รอบ กี่รอบก็ให้แบบเดิม

       ถังก๊าซหุงต้มที่เราใช้อยู่ในครัวเรือนอยู่ทุกวันนี้ หากเห็นว่าถังมีสภาพเสื่อมโทรมชำรุด ก่อให้เกิดความรู้สึกว่าทุกครั้งที่ใช้งานว่ามันจะมีความปลอดภัยไหม เราก็จะต้องรีบใช้สิทธิผู้บริโภคขอเปลี่ยนถัง อย่าปล่อยให้ผู้ประกอบการเอาเปรียบ        คุณพีพี อาศัยอยู่ที่จังหวัดสมุทรปราการ ปกติใช้บริการร้านก๊าซหุงต้มที่เป็นร้านประจำอยู่ร้านเดียวคือ ร้าน xxx ซึ่งอยู่ในซอยเดียวกันกับบ้านของคุณพีพี ครั้งนี้เมื่อก๊าซหมด คุณพีพีได้ไปติดต่อใช้บริการ แต่เมื่อพนักงานนำถังก๊าซมาส่งที่บ้าน เขาพบว่าได้ถังแก๊สเก่ามาก เก่าขนาดว่ามองไม่เห็นรายละเอียดความปลอดภัยของถังก๊าซที่สำคัญเลยทั้ง ชื่อบริษัทผู้ผลิต วัน เดือน ปี ที่ผลิตถังและหมดอายุ คุณพีพีจึงขอให้ทางร้านเปลี่ยนถังใหม่ให้ แต่ทางร้านก็ยังส่งถังก๊าซในสภาพ “อันตราย” กลับมาให้อีก และอีกสองสามครั้งเมื่อเรียกใช้บริการร้านก๊าซ เขาก็ได้รับถังที่ในสภาพทรุดโทรมทุกครั้ง คุณพีพีเกรงว่าปล่อยไว้แบบนี้ชีวิต บ้านเรือน ทรัพย์สินอาจจะไม่ปลอดภัย จึงร้องเรียนมายังมูลนิธิฯ เพื่อขอคำแนะนำว่าตนเองจะได้ก๊าซหุงต้มที่มีสภาพถังปลอดภัยได้อย่างไร        แนวทางการแก้ไขปัญหา        1.เมื่อมูลนิธิฯ ได้รับเรื่องร้องเรียนแล้วได้ติดต่อประสานแจ้งไปยังกรมธุรกิจพลังงาน ให้เข้าตรวจสอบในร้านดังกล่าวและอยู่ในระหว่างดำเนินการตรวจสอบ        2.มูลนิธิได้เข้าไปสังเกตการณ์หน้าเพจของร้านดังกล่าว ร้านได้ประกาศข้อความว่า “ถังแก๊ส เป็นสินค้าหมุนเวียน เมื่อแก๊สหมดหลังการใช้งาน (ต้องสลับถัง) กับลูกค้าท่านอื่นๆ เป็นไปไม่ได้ ที่ลูกค้าจะได้รับถังสภาพใหม่ทุกครั้งในการสั่งซื้อ ร้านขอสงวนสิทธิ์ เลือกถังแก๊สให้ลูกค้าเอง การเลือกถังแก๊สถือเป็นสิทธิ์ขาด” ซึ่งกรณีนี้ มูลนิธิมองว่า ถึงแม้ร้านจะเป็นผู้เลือกถังก๊าซ แต่ถังก๊าซก็จะต้องมีลักษณะที่ถูกต้องตามกฎหมาย ดังนี้            - ถังก๊าซ มีเครื่องหมายมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมรับรองคุณภาพมีซีลปิดผนึกที่หัวถังในสภาพสมบูรณ์ พร้อมหมายเลขถังกำกับ และมีข้อความระบุชื่อบริษัท เดือน ปีที่ตรวจสอบถังครั้งสุดท้าย น้ำหนักถัง และน้ำหนักบรรจุอย่างชัดเจน รวมถึงตัวถังไม่มีรอยบุบ บวม หรือเป็นสนิท            - สายนำก๊าซ ต้องเป็นชนิดที่ใช้กับก๊าซหุงต้ม ไม่ทำจากยางหรือพลาสติก เพราะเมื่อถูกก๊าซหุงต้มจะละลายทำให้เกิดการรั่วไหลได้ ที่สำคัญต้องไม่หักงอง่าย ทนต่อแรงดันและการขูดขีด สามารถต่อกับลิ้นเปิด – ปิดได้สนิทและแน่นหนา            - เหล็กรัดสายยางส่งก๊าซ ต้องเลือกใช้ชนิดที่ไม่เป็นสนิม มีความแข็งแรงทนทาน และควรเปลี่ยนใหม่ทุกๆ 2 ปี        3. ดังนั้นหากประชาชนได้รับบริการถังบรรจุก๊าซที่ไม่ได้มาตรฐานตามข้อ 2 สามารถแจ้งร้องเรียน พร้อมหลักฐานประกอบให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปตรวจสอบมาตรฐานได้ที่ สำนักงานพลังงานจังหวัด กระทรวงพลังงานในทุกๆ จังหวัด และ กองความปลอดภัยธุรกิจก๊าซปิโตรเลียมเหลว กรมธุรกิจพลังงาน และ สำนักงานพลังงานจังหวัด กระทรวงพลังงานในทุกๆ จังหวัด

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 271 ทำหน้ากระชับ แต่กลับได้หน้าเบี้ยว

        Ulthera (อัลเทอร่า) หรือ Ultherapy คือ เทคโนโลยียกกระชับแบบ Original มีหลักการทำงานโดยใช้คลื่นเสียงความถี่สูง และมีความเฉพาะเจาะจง (Focused Ultrasound) ยิงลงไปใต้ชั้นผิวเพื่อให้ผิวเกิดการยกกระชับขึ้น         นี่คือคำโฆษณา ที่สถานเสริมความงาม คลินิกต่างๆ ให้คำจำกัดความนวัตกรรมอัลเทอร่าไว้ แต่เรื่องราวของคุณจอย ผู้ที่ได้รับบริการอัลเทอร่ากับคลินิกเสริมความงามแห่งหนึ่งกลับเป็นตรงกันข้าม เพราะไม่ได้หน้ากระชับแต่กลับได้หน้าเบี้ยว เธอจึงเข้ามาร้องเรียนกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค         คุณจอยได้เข้ารับบริการกระชับหน้าด้วยการทำอัลเทอร่าที่ โนรา คลินิก (นามสมมุต) เมื่อปี 2565 แต่ใบหน้าที่ต้องการให้กระชับนั้น กลับกลายเป็นว่าทำให้มีปัญหาหน้าเบี้ยวหลังการทำอัลเทอร่า คุณจอยจึงกลับมาหาแพทย์ที่คลินิกอีกครั้งเพื่อให้ช่วยรักษาอาการผิดปกติ แต่แพทย์ของทางคลินิกปฏิเสธการรักษาเพื่อแก้ไขอาการเพียงแนะนำให้คุณจอยไปซื้อยารักษาอาการเอาเอง โดยคลินิกจะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายให้ คุณจอยจึงต้องไปหาแพทย์เพื่อรักษาอาการผิดปกติที่โรงพยาบาลอื่น         ระหว่างการรักษาอาการหน้าเบี้ยวคุณจอยจึงได้รู้เพิ่มเติมว่า คลินิกดังกล่าวไม่ได้ใช้แพทย์ที่เชี่ยวชาญอัลเทอร่า ( Ulthera ) โดยเฉพาะเป็นเพียงแพทย์ผิวหนังทั่วไปเท่านั้น จึงได้รับการบริการและการดูแลที่ไม่ดีและยังต้องหาทางรักษาอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นตามมาภายหลัง คุณจอยเสียเงินรักษาอาการไปแล้วกว่า 32,500 บาท (ก่อนร้องเรียนกับทางมูลนิธิฯ) แต่ทางคลินิกจ่ายเพียงแค่ 7,664 บาท ยังคงเหลือจำนวนที่ทางคลินิกต้องชดใช้คืนให้แก่คุณจอยอีกจำนวน 24,836 บาท ซึ่งคุณจอยยังไม่ได้รับเงินคืนจากคลินิกอีกเลย ทั้งที่คลินิกแจ้งว่าจะรับผิดชอบค่ารักษาทั้งหมดแต่แรก จึงร้องเรียนมายังมูลนิธิฯ เพื่อขอความช่วยเหลือ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 271 ไม่อยากเสี่ยงหน้าพัง ต้องเลือกเครื่องสำอางที่ปลอดภัย

        มีหลายคนที่ต้องเผชิญภาวะผิวหน้าเป็นสิวหรือเกิดอาการแพ้ระคายเคืองต่างๆ จากเครื่องสำอางโดยที่ไม่รู้ตัวว่าสาเหตุต้นตอมันมาจากเครื่องสำอางที่เราใช้นี่แหละ ซึ่งสาเหตุก็มาจากที่บางคนซื้อสินค้ามาจากออนไลน์ตามกระแส เพราะดูรีวิวแล้วเชื่อ เห็นเขาว่าดีก็เลยอยากลอง โดยไม่ได้เช็กว่าของแท้หรือของปลอมหรือของไม่มีคุณภาพ เมื่อนำมาใช้ก็เกิดผลเสียต่อผิวหน้า         การเลือกเครื่องสำอางจึงต้องมั่นใจว่า ปลอดภัย เพื่อลดการระคายเคืองและอาการอื่นๆ ที่ไม่พึงประสงค์ ดังนี้             1. เลือกที่มี เลขที่จดแจ้ง ซึ่งหมายถึงเครื่องสำอางนั้นได้ขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) แล้ว  เครื่องสำอางคือ สินค้าควบคุมที่ผู้ประกอบการต้องมาจดแจ้งกับทาง อย. ทั้งนี้ เพื่อความปลอดภัย สามารถนำเลขไปเช็กได้ที่หน้าเว็บไซต์ของทาง https://oryor.com/check-product-serial            2. มีฉลากระบุรายละเอียดให้ครบถ้วน ยกตัวอย่าง ชื่อหรือประเภทเครื่องสำอาง ส่วนผสมประกอบด้วยอะไรบ้าง วันเดือนปีที่ผลิต-หมดอายุ วิธีการใช้ ปริมาณสุทธิ ที่ตั้งผู้ผลิต-นำเข้า ครั้งที่ผลิต คำเตือนและฉลากต้องเป็นภาษาไทยชัดเจนตามที่กฎหมายกำหนด             3. หากหาวันหมดอายุไม่เจอให้ดูสัญลักษณ์สากล เช่น สัญลักษณ์รูปกระปุกเปิดฝาที่มีเขียนข้อความตรงกลางว่า 2M 3M 6M โดยมีความหมายตัวอย่าง คือ 2M = สินค้าตัวนี้จะมีอายุหลังเปิดใช้งาน 2 เดือนนั้นเอง (เลือกดูตรงนี้ได้เพื่อการตัดสินใจในการเลือกซื้อได้)             4. สัญลักษณ์เป็นรูปหนังสือ คือ สัญลักษณ์ให้อ่านข้อมูลเพิ่มเติมในแผ่นพับ พวกรายละเอียดวิธีใช้ต่างๆ            5. ไม่ควรใช้สินค้าที่มีบรรจุภัณฑ์แตกหรือรั่ว ควรเลือกเครื่องสำอางที่แพกเกจอยู่ในสภาพสมบูรณ์             6. ควรทดลองก่อนใช้ทุกครั้ง เช่น นำสินค้ามาเทสที่บริเวณแขนก่อนทุกครั้ง ก่อนใช้เพื่อให้เราแน่ใจว่าไม่แพ้แน่นอน  สิ่งที่ควรระวัง        · ส่วนผสมต่างๆ ของเครื่องสำอางทั้งก่อนซื้อ-ก่อนใช้ ควรอ่านฉลากให้ละเอียดว่าส่วนผสมของสารอะไรบ้าง ซึ่งบางอันอาจมีสารที่เราอาจจะแพ้ระคายเคืองได้ง่าย         · คำเตือน ตรงนี้ควรอ่านให้ชัดเจนและละเอียด ที่สำคัญควรทำตามอย่างเคร่งครัด        · สำหรับนักช้อปทั้งที่ชอบซื้อลิปสติก รองพื้น บลัชออนตามห้าง ก็ควรระวังไม่นำตัวเทสเตอร์ของทางร้านมาสัมผัสผิวโดยตรง เพราะอย่าลืมว่าเทสเตอร์แต่ละอันนั้น มีการเทสไปแล้วหลายคน อาจมีเชื้อโรคที่เรามองไม่เห็นอยู่ได้ หากเรานำมาใช้ต่อก็อาจเกิดสิว หรือติดเชื้อได้        · ไม่ควรซื้อเครื่องสำอางในปริมาณเยอะ เพราะอาจจะเสื่อมสภาพก่อนใช้งานได้        · สุดท้ายไม่ควรใช้เครื่องสำอางร่วมกับคนอื่น ควรใช้เป็นของส่วนตัวโดยเฉพาะ        · ไม่ใช้เครื่องสำอางปนกัน เช่น ใช้ทาที่ผิวก็ควรทาแค่ผิวกาย ไม่เอามาทาบริเวณผิวหน้า เพราะเครื่องสำอางแต่ละแบบก็ถูกออกแบบมาให้ใช้แค่บริเวณนั้นโดยเฉพาะนั่นเอง                    สุดท้ายอยากให้ระมัดระวังการซื้อเครื่องสำอางที่มีราคาถูกกกว่าปกติทั่วไปในโลกออนไลน์ แนะนำให้ซื้อกับร้านค้า Official ของแบรนด์ในแต่ละแพลตฟอร์มเท่านั้น เพื่อมั่นใจได้ว่าจะได้ของแท้แน่นอน รวมทั้งหลีกเลี่ยงการซื้อของปลอมอีกด้วย อีกเรื่องคือการซื้อเครื่องสำอางตามตลาดนัดก็ควรจะระมัดระวังให้ดี แม้ว่าบางครั้งสินค้าจะไม่ใช่ของปลอมทุกอัน แต่ก็มีความเสี่ยงหากราคาตัวสินค้ามีราคาถูกกว่าสินค้าปกติ แถมเครื่องสำอางพวกครีมทาหน้าตามตลาดนี้ต้องระวังให้ดีอีกด้วย มักมีพวกครีมสารอันตรายไม่ได้มาตรฐานอยู่เยอะ หากมีอาการระคายเคืองแพ้เครื่องสำอางก็ควรหยุดใช้ทันที และไปพบแพทย์ไม่ควรรักษาเองนะคะ  อ้างอิงจาก: FDA Thai  https://youtu.be/qC9_ZvbxTX0?si=BYr32FEhzhSPfLRuhttps://youtu.be/SIAaW0-bXaA?si=V2nxCn8-BSmBRteOPobpad: เรื่อง...เคล็ดลับเลือกซื้อเครื่องสำอางอย่างปลอดภัย ไม่อยากหน้าพัง ต้องอ่าน!

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 271 แอปพลิเคชัน FoodiEat กินดีมีสุข

เคยได้ยินคำว่า ดัชนีมวลกาย กันไหม         ค่าดัชนีมวลกาย (Body Mass Index : BMI) คือ มาตรการที่ใช้ประเมินภาวะอ้วนและผอมในผู้ใหญ่ ตั้งแต่อายุ 20 ปีขึ้นไป สามารถทำได้โดยการชั่งน้ำหนักตัวเป็นกิโลกรัม และวัดส่วนสูงเป็นเซนติเมตร แล้วนำมาหาดัชมีมวลกาย โดยเกณฑ์มาตรฐานอยู่ระหว่าง 23 - 24.90 kg/m2 ผู้ที่มีค่าดัชนีมวลกาย (BMI) ตั้งแต่ 23.0 ขึ้นไป ถือว่าน้ำหนักเกินมาตรฐาน มีภาวะเสี่ยงต่อโรคเรื้อรังขึ้นตามลำดับ ไม่ว่าจะเป็น โรคอ้วน โรคหัวใจ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง ตามมาได้         การควบคุมอาหารมีส่วนสำคัญอย่างมาก ที่จะช่วยให้สามารถลดน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติได้ ดังนั้นเพื่อให้มีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง ห่างไกลจากโรคภัยไข้เจ็บ สิ่งที่สำคัญคือการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินอาหารของตนเอง โดยเลือกกินอาหารให้หลากกลาย แต่มีประโยชน์ และควรกำหนดปริมาณการกินที่เหมาะสมต่อความต้องการพลังงาน ทั้งนี้ก็ไม่ควรลด งด หรือ อดอาหารมากจนเกินไป โดยเฉพาะการรับประทานอาหารเช้าซึ่งมีความสำคัญอย่างมาก เพื่อสะสมไว้ใช้ทำกิจกรรมทั้งวัน ส่วนอาหารเย็นควรรับประทานไม่หนักมาก เนื่องจากจะมีโอกาสเผาผลาญพลังงานได้น้อย ทำให้พลังงานเหล่านั้นถูกสะสมในร่างกายกลายเป็นไขมันได้         ลองมาควบคุมพฤติกรรมการกินอาหารผ่านแอปพลิเคชัน FoodiEat กันดีกว่า แอปพลิเคชันนี้ถูกพัฒนามาโดย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สำนักงานกองทุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล มีวัตถุประสงค์เพื่อบันทึกและวิเคราะห์พฤติกรรมการกินอาหาร และการออกกำลังกาย         การใช้งานไม่ยาก เพียงดาวน์โหลดและกรอกข้อมูลชื่อผู้ใช้งาน รหัสผ่าน วันเกิด เพศ น้ำหนัก ส่วนสูง รอบเอว เพื่อลงทะเบียน ระบบจะเริ่มต้นโดยการคำนวณค่าดัชนีมวลกาย (BMI) และอัตราความต้องการเผาผลาญพลังงานของร่างกายในแต่ละวัน (BMR) หรือเรียกว่าค่าพลังงานที่ร่างกายต้องการต่อวันโดยไม่รวมการทำกิจกรรมต่างๆ ต่อจากนั้นกรอกข้อมูลประวัติการรับประทานอาหารในแต่ละมื้อและข้อมูลการออกกำลังกายของทุกวัน แอปพลิเคชันจะคำนวณพลังงานของอาหารหักลบอัตราความต้องการเผาผลาญพลังงานของร่างกายในแต่ละวัน เพื่อให้ผู้ใช้แอปพลิเคชันสามารถควบคุมและวางแผนการการรับประทานอาหารในแต่ละมื้อได้         นอกจากนี้แอปพลิเคชันจะรวบรวมประวัติในรูปแบบสถิติ เพื่อให้นำมาวิเคราะห์เปรียบเทียบย้อนหลังได้ และยังมีข้อมูลความรู้ คำแนะนำ เป็นแนวทางในการปฏิบัติที่ถูกต้อง ดังนั้นเพื่อสุขภาพที่ดีขึ้น การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหารเป็นสิ่งที่ดีที่สุด รวมถึงการออกกำลังกายเพื่อส่งเสริมความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ถ้าอยากเปลี่ยนตัวเองให้กลับมามีรูปร่างสมส่วน ห่างไกลโรคร้าย ต้องเริ่มหันมาใส่ใจเรื่องนี้กันมากขึ้น โดยเริ่มต้นจากการใช้แอปพลิเคชัน FoodiEat เพื่อดูแลสุขภาพกัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 271 มาตาลดา : วอท อะ วันเดอร์ฟูล เวิร์ลด์

        สิ่งที่ปรากฏอยู่ในโลกแห่งละครโทรทัศน์ ไม่ว่าจะเป็นฉาก พล็อตเรื่อง หรือแม้แต่ตัวละครต่างๆ ไม่เคยโผล่ขึ้นมาจากสุญญากาศแบบไร้ที่เป็นมาเป็นไป หากแต่มีเงื่อนไขและที่มาที่ไปซึ่งยึดโยงกับโลกแห่งความเป็นจริงรอบตัวเราเสมอ และที่สำคัญ ภาพที่เห็นผ่านละครและตัวละครอันหลากหลายที่เราสัมผัสอยู่นั้น ล้วนเป็นจินตนาการซึ่งสร้างขึ้นเพื่อสะท้อนย้อนให้เราคิดถึงความเป็นจริงในชีวิตที่กำลังเผชิญอยู่        กับคำอธิบายชุดนี้ ดูจะเข้ากันได้ดีกับชีวิตของนางเอกสาวอย่าง “มาตาลดา” ที่ได้รับการเสกสรรปั้นแต่งให้เป็นตัวละครที่ทำหน้าที่ “ฮีลหัวใจ” ให้กับผู้ชมผ่านโลกของละครโทรทัศน์แนวรักโรแมนติก        มาตาลดาถูกสรรค์สร้างให้เป็นนางเอกผู้มี “พลังแห่งความใจดี” เป็นผู้หญิงที่ประหนึ่งขี่ม้าหลุดออกมาจากท้องทุ่งลาเวนเดอร์ คอยให้ความหวัง ให้พลังใจกับคนรอบข้าง มองโลกในแง่ดี และเชื่อว่าปัญหาทุกอย่างมีทางออกเสมอ อาจเป็นเพราะว่า “เกริกพล” พ่อของเธอเป็นกะเทยนางโชว์เจ้าของสมญานามว่า “เกรซ” ถูก “เปา” ผู้เป็นอากงไล่ออกจากบ้าน ด้วยเหตุผลเพราะ “เกิดมาเป็นคนผิดเพศ” พ่อเกรซจึงตั้งมั่นและสัญญากับตนเองว่า จะเลี้ยงมาตาลดาให้ “กลายเป็นคนที่ใจดีที่สุดในโลก” ให้จงได้        กับการเปิดตัวในฉากแรกๆ ของมาตาลดา เราก็จะเห็นพลังของความใจดีที่แผ่ซ่านไปทั่ว นับตั้งแต่เปิดฉากที่พ่อเกรซเล่านิทานให้เธอฟัง เพื่อให้เด็กน้อยเติบโตมาเป็นประหนึ่งเจ้าหญิงผมทองผู้มีจิตใจเผื่อแผ่ต่อเพื่อนมนุษย์ทุกคน ไปจนถึงฉากที่มาตาลดาให้ความเอ็นดูและรับเลี้ยงบรรดาสุนัขจรจัดแทบจะทุกตัวที่พลัดหลงผ่านเข้ามาในชีวิตของเธอ        ในขณะที่มาตาลดาเป็นตัวละครที่ใจดีชนิดที่หาได้ยากยิ่งในกาลสมัยปัจจุบัน ผู้คนที่อยู่รายล้อมรอบชีวิตเธอกลับถูกออกแบบให้ดูมีความผิดปกติหรือมีปมบาดแผลในจิตใจกันถ้วนหน้า        เริ่มจากนางโชว์ “ตัวตึง” อย่างพ่อเกรซเอง ที่เลือกเพศวิถีอันต่างออกไปจากความคาดหวังของสังคม จนถูกทุบตีอัปเปหิออกจากบ้าน และไปๆ มาๆ ก็กลับกลายเป็นบาดแผลที่ทั้งพ่อเกรซ อากง และอาม่า “เฟิน” ต่างก็บาดเจ็บจากทิฐิที่อากงสาดใส่เพศสภาพ LGBTQ+ ของบุตรชายไม่แตกต่างกันเลย        ตามมาด้วยพระเอกหนุ่ม “ปุริม” หรือที่ “บุญฤทธิ์” ผู้เป็นพ่อ ตั้งชื่อเล่นให้เขาว่า “เป็นหนึ่ง” ก็คืออีกหนึ่งตัวละครซึ่งต้องทนทุกข์ยากจากการแบกภาระและความคาดหวังที่บิดาอยากให้เขาเป็นที่หนึ่งเหนือทุกๆ คน และแม้เขาจะเรียนเก่งเรียนดีจนได้เป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคหัวใจอันดับต้นๆ ก็ตาม แต่อีกด้านหนึ่งเขาก็กลายสภาพเป็น “หมอหัวใจที่ไม่มีหัวใจและไร้ความรู้สึก”        ฉากต้นเรื่องที่เป็นหนึ่งใส่แว่นตาของนักประดาน้ำนั่งอยู่เดียวดายในห้องนอน ก็ไม่ต่างจากการบ่งบอกนัยว่า ชีวิตของเขาถูกบิดากำหนดและกดทับไว้ให้จมอยู่ใต้ห้วงมหาสมุทรแห่งความคาดหวังของครอบครัวที่หนักอึ้งอยู่บนสองบ่า        ในเวลาเดียวกัน สำหรับบุญฤทธิ์ที่หน้าฉากสังคมประสบความสำเร็จทั้งชีวิตครอบครัวและหน้าที่การงาน หากแต่ความรู้สึกผิดจากอดีตที่ตามหลอกหลอนอยู่ตลอดเวลา ก็ทำให้เขาถ่ายโอนความเจ็บปวดมาที่การเรียกร้องความเป็นเลิศจากบุตรชาย และสร้างความรู้สึกทุกข์ใจให้กับ “ชนิดา” ผู้เป็นภรรยาไปด้วยเช่นกัน        เพื่อผลักดันให้บุตรชายได้ขึ้นเป็นที่หนึ่งดังใจปรารถนา บุญฤทธิ์เจ้าของงานเขียนหนังสือเรื่อง “ชีวิตไม่ติดกรอบ” กลับเลือกสร้างกรอบจับคู่เป็นหนึ่งกับหญิงสาวในวงสังคมอย่าง “อรุณรัศมี” ที่สวยหรูดูแพง เพียบพร้อมทั้งความรู้และฐานะทางเศรษฐกิจสังคม และยิ่งเมื่อภายหลังเป็นหนึ่งมาติดพันหลงรักมาตาลดา บุตรสาวของกะเทยนางโชว์ บุญฤทธิ์ก็ยิ่งออกฤทธิ์กีดกันความรักของทั้งคู่ในทุกทาง        แต่ในทางกลับกัน หลังฉากชีวิตของอรุณรัศมี ลูกสาวท่านรัฐมนตรีที่ดูเลิศเลอเพอร์เฟ็กต์ ลึกๆ กลับเป็นผู้หญิงที่แล้งน้ำใจ ทำทุกวิถีทางเพื่อเอาชนะทุกคนที่เหนือกว่าตน โดยเฉพาะกับมาตาลดาที่แสนจะธรรมดาแต่กลับปาดหน้าเค้กพิชิตหัวใจเป็นหนึ่งไปได้ ทั้งนี้ก็เนื่องจากมารดาของอรุณรัศมีเป็นผู้หญิงที่ไม่เคยลุกขึ้นมาสู้ แต่ยอมศิโรราบต่อการถูกกระทำทารุณทั้งกายวาจาใจอยู่ตลอดจากชายผู้เป็นสามี        ส่วนทางฝั่งของชนิดามารดาของเป็นหนึ่ง ก็มีน้องสาวคือ “ชุลีพร” ที่จิตใจห้วงลึกตั้งแง่อิจฉาริษยาความสำเร็จของพี่สาว และเอาแต่เสี้ยมสอน “ไตรฉัตร” บุตรชายให้เอาชนะเป็นหนึ่ง ด้วยการแย่งชิงอรุณรัศมีมาเป็นคนรักของตนให้ได้ และยิ่งเมื่อภายหลังไตรฉัตรรู้ว่าผู้หญิงที่เป็นหนึ่งรักอยู่ก็คือมาตาลดา เขาก็เปลี่ยนเป้าหมายมาเป็นนางเอกผู้แสนใจดีแทน ซึ่งทั้งหมดนี้ก็เป็นไปเพียงเพราะต้องการปกปิดความรู้สึกเจ็บปวดที่ชุลีพรมักเปรียบเทียบว่าตนเป็นรองต่อเป็นหนึ่งอยู่ตลอดเวลา        ท่ามกลางผู้คนรายรอบที่ชีวิตช่างดูกะปลกกะเปลี้ยพิการทางใจนั้น ตัวละครมาตาลดาได้เล่นบทบาทที่แตกต่าง ไม่เพียงทำหน้าที่สร้างกำลังใจให้กับสรรพชีวิตที่โลดแล่นอยู่ในท้องเรื่อง หากแต่ผลานิสงส์แห่งความใจดีและมองโลกสวย ยังช่วยคลี่คลายเปลาะปมให้ตัวละครผ่านพ้นความเจ็บปวดและเยียวยารอยร้าวต่างๆ ระหว่างพ่อแม่กับลูก ปู่กับหลาน พี่กับน้อง สามีกับภรรยา หรือผู้คนต่างรุ่นต่างวัย ควบคู่ไปกับคำพูดและวลีเด็ดๆ ที่พร่ำสอนคุณธรรมให้ตัวละครและผู้ชมได้ร่วมกันขบคิดเพื่อให้เข้าใจชีวิตไปพร้อมๆ กัน        ในโลกที่จิตใจของมนุษย์ช่างเปราะบางอยู่นั้น ประโยคที่มาตาลดาพูดกับเป็นหนึ่งผู้เป็นคุณหมอโรคหัวใจที่ไร้หัวใจว่า “คนไข้ไม่จำเป็นต้องอยากได้หมอที่เก่งที่สุด แต่เป็นหมอที่เข้าใจหัวใจเค้าดีที่สุด เค้าอาจกำลังมองหาหมอที่ใจ และมองเห็นเค้าเป็นคนก็เป็นได้” ก็สะท้อนให้เห็นว่า ก้นบึ้งของปัญหาที่ปัจเจกบุคคลยุคนี้เผชิญอยู่ ที่สุดแล้วก็คงมาจากการมองข้ามความเข้าอกเข้าใจระหว่างเพื่อนมนุษย์ด้วยกันจริงๆ        เมื่อผู้เขียนดูละครเรื่องนี้จบ เกิดคำถามข้อแรกขึ้นมาว่า ระหว่างมาตาลดากับตัวละครที่ป่วยทางจิตใจกันถ้วนหน้าอยู่นั้น ใครคือมนุษย์จริงๆ ในโลกมากกว่ากัน คำตอบที่เราน่าจะเห็นพ้องก็คือ ตัวละครอื่นๆ ต่างดูเป็นผู้คนที่พบได้ในโลกใบนี้ หาใช่มาตาลดานางเอกผู้แสนดีที่ดูช่างเซอร์เรียลิสต์เหนือจริงเสียนี่กระไร        และหากจะถามต่อไปว่า แล้วในขณะที่ละครสะท้อนความเป็นจริงในชีวิตผ่านตัวละครอื่นๆ อยู่นั้น ตัวละครอุดมคติประหนึ่งยูโธเปียอย่างมาตาลดาปรากฏตนขึ้นมาได้อย่างไร กับคำถามข้อนี้เชื่อกันว่า หากในโลกความจริงมนุษย์กำลังเผชิญกับปัญหาและความขัดแย้งต่างๆ ที่จัดการไม่ได้ โลกสัญลักษณ์ที่สมมติตัวละครแนวอุดมคตินี่เอง จะช่วยบำบัดความขัดแย้งอย่างน้อยก็ในจินตนาการให้บรรเทาเบาบางลงไป        เมื่อมาถึงฉากจบของเรื่อง ที่ตัวละครซึ่งเคยเป็นคู่ขัดแย้งในสงครามความรักและครอบครัว ต่างให้อภัยและลุกขึ้นมาเต้นรำกันอย่างสนุกสนานราวกับไม่เคยมีปัญหาใดๆ กันมาเลยในชีวิต ไม่เพียงแต่เป็นการ “ฮีลหัวใจ” ของผู้ชมเท่านั้น หากแต่ยังชวนขบคิดไปด้วยว่า กับความขัดแย้งที่เห็นกันอยู่ในโลกความจริง ถ้าเราเคยเยียวยามาได้แล้วในอุดมคติแห่งโลกของละคร เราจะทำให้การคลี่คลายปัญหาเช่นนี้บังเกิดขึ้นในโลกความจริงได้หรือไม่ และอย่างไร

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 271 ผู้บริโภคไทยกับสังคมไร้เงินสด

        เหตุการณ์ระบาดของโควิด 19 ถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่เร่งให้ประชาชนส่วนใหญ่เริ่มคุ้นเคยกับรูปแบบการชำระเงินผ่านทางระบบอิเล็กทรอนิกส์กันมากขึ้น ตลอดจนความนิยมในการสั่งซื้อสินค้าแบบออนไลน์ และความเร็วของระบบอินเทอร์เน็ตที่พร้อมรองรับการทำธุรกรรมทางการเงินผ่านแอปพลิเคชันของธนาคารต่างๆ ส่งผลให้การทำธุรกรรมทางการเงินผ่านระบบช่วยอำนวยความสะดวกและความคล่องตัวในการจับจ่ายมากยิ่งขึ้น ด้วยสถานการณ์ดังกล่าวนั้นทำให้การเข้าสู่ “สังคมไร้เงินสด” เป็นไปอย่างเป็นธรรมชาติและรวดเร็ว        อย่างไรก็ตามการก้าวไปสู่ แคชเลส โซไซตี้ (Cashless Society) หรือสังคมไร้เงินสด นั้น ผู้บริโภคพร้อมจริงๆ หรือแค่ถูกสถานการณ์บังคับ หรือความกังวลใจในเรื่องอื่นๆ จะมีอะไรบ้าง นิตยสารฉลาดซื้อและศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ จึงทดลองหาคำตอบ โดยได้ดำเนินโครงการสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับสังคมไร้เงินสด ในกรุงเทพมหานครโดยเก็บจากกลุ่มตัวอย่างจากประชาชนที่อาศัยอยู่ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร จำนวนทั้งสิ้น 1,135 กลุ่มตัวอย่าง (เก็บข้อมูลในวันที่ 11 - 21 พฤษภาคม 2566)        คำถามที่ว่าปัจจุบันประชาชนคนไทยพร้อมสำหรับการเป็นสังคมไร้เงินสดแล้วหรือไม่ ผลการสำรวจมีข้อมูลที่น่าสนใจดังต่อไปนี้ร้อยละ 66 ใช้จ่ายด้วยระบบออนไลน์        กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มีการซื้อสินค้าและบริการโดยไม่ใช้เงินสดหรือใช้ระบบการจ่ายเงินออนไลน์ ร้อยละ 66.1 และไม่มีการซื้อสินค้าและบริการโดยไม่ใช้เงินสดหรือใช้ระบบการจ่ายเงินออนไลน์ ร้อยละ 33.9        อย่างไรก็ตามกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ ไม่ทราบว่า เพื่อรองรับการเข้าสู่ความเป็นสังคมไร้เงินสด ธนาคารแห่งประเทศไทยมี ประกาศแนวปฏิบัติสำหรับสถาบันการเงินและผู้ประกอบธุรกิจการเงินในการทำความรู้จักและบริหารติดตามความเสี่ยงร้านค้า ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 (ร้อยละ 43.3) รองลงมาคือทราบ (ร้อยละ 32.3) และอันดับสุดท้ายคือ ไม่แน่ใจ (ร้อยละ 24.4)ซื้อสินค้าด้วยระบบออนไลน์เดือนหนึ่งมากกว่า 10 ครั้ง        กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่จากจำนวน 750 กลุ่มตัวอย่าง มีการซื้อสินค้าและบริการโดยไม่ใช้เงินสด/ใช้ระบบการจ่ายเงินออนไลน์ โดยเฉลี่ยเดือนละมากกว่า 10 ครั้ง มากที่สุด (ร้อยละ 40.3) อันดับสองคือ 7 – 8 ครั้ง (ร้อยละ 16.4) อันดับสามคือ 5 – 6 ครั้ง (ร้อยละ 15.2) อันดับสี่คือ 9 – 10 ครั้ง (ร้อยละ 12.7) อันดับห้าคือ 3 – 4 ครั้ง (ร้อยละ 10.9) และอันดับสุดท้ายคือ 1 – 2 ครั้ง (ร้อยละ 4.5) โดยยอดเงินที่ใช้หรือโอนต่อการใช้จ่ายต่อครั้งนั้น อันดับที่หนึ่งคือ 101 – 300 บาท (ร้อยละ 28.8) อันดับสองคือ 301 – 500 บาท (ร้อยละ 24.5) อันดับสามคือ 501 – 800 บาท (ร้อยละ 16.5) อันดับสี่คือ มากกว่า 1,000 บาท (ร้อยละ 11) อันดับห้าคือ 801 – 1,000 บาท (ร้อยละ 9.7) และอันดับสุดท้ายคือ น้อยกว่า 100 บาท (ร้อยละ 9.5)แอปพลิเคชันธนาคารคือคำตอบ        มีการชำระค่าสินค้าบริการโดยไม่ใช้เงินสด อันดับที่หนึ่งคือ โอนเงินผ่านแอปพลิเคชันของธนาคาร (ร้อยละ 40.1) อันดับสองคือ จ่ายผ่าน QR Code (ร้อยละ 30.9) อันดับสามคือ โอนเงินระบบ PromptPay ร้อยละ (11.6) อันดับสี่คือ ชำระค่าสินค้าและบริการผ่านบัตรเดบิตหรือบัตรเครดิต (ร้อยละ 10.3) และอันดับสุดท้ายคือ จ่ายผ่าน e-Wallet (ร้อยละ 7.1)        ความคิดเห็นที่มีต่อการเลือกใช้การซื้อสินค้าและบริการโดยไม่ใช้เงินสด/การจ่ายเงินออนไลน์ สะดวกต่อการใช้จ่าย (ร้อยละ 97.1) ความรวดเร็ว (ร้อยละ 96.8) และ มีบันทึกการใช้จ่าย สามารถทำบัญชีรายรับรายจ่ายในแต่ละเดือนได้ง่ายกว่าการใช้เงินสด (ร้อยละ 67.6)คำถามเกี่ยวกับความพร้อมและข้อกังวล        • หากธนาคารเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการซื้อสินค้าและบริการโดยไม่ใช้เงินสด และใช้ระบบ Online Payment หรือการจ่ายเงินออนไลน์ จะทำให้ท่านใช้บริการนี้น้อยลงหรือไม่                             น้อยลง                       ร้อยละ   55.9                             ไม่น้อยลง                   ร้อยละ   14.8                            ไม่แน่ใจ                     ร้อยละ   29.3        • คิดว่าปัจจุบันผู้สูงอายุสามารถซื้อสินค้าและบริการโดยไม่ใช้เงินสด และใช้ระบบการจ่ายเงินออนไลน์ ได้หรือไม่                             ได้                              ร้อยละ   50.7                             ไม่ได้                          ร้อยละ   19.8                            ไม่แน่ใจ                      ร้อยละ   29.5        • คิดว่าการซื้อสินค้าและบริการโดยไม่ใช้เงินสด/ระบบการจ่ายเงินออนไลน์ ทำให้เกิดปัญหาอาชญากรรม (เช่น แก๊งคอลเซนเตอร์) เพิ่มมากขึ้นหรือไม่                             ใช่                              ร้อยละ   73.5                             ไม่ใช่                          ร้อยละ   10.7                            ไม่แน่ใจ                      ร้อยละ   15.8        • คิดว่าปัจจุบันระบบของธนาคารสามารถป้องกันการเกิดอาชญากรรมในการซื้อสินค้าและบริการแบบไม่ใช้เงินสด/ใช้ระบบการจ่ายเงินออนไลน์ ได้หรือไม่                             ได้                              ร้อยละ   44.7                             ไม่ได้                          ร้อยละ   26                            ไม่แน่ใจ                      ร้อยละ   29.3        • คิดว่าในปัจจุบันประเทศไทยพร้อมสำหรับการเป็นสังคมไร้เงินสดหรือไม่                             พร้อม                         ร้อยละ   50.8                             ไม่พร้อม                     ร้อยละ   25.9                            ไม่แน่ใจ                     ร้อยละ   23.3        • ระบุเหตุผลที่ไม่ใช้บริการชำระเงินแบบไม่ใช้เงินสดหรือการชำระเงินออนไลน์ (เลือกได้มากกว่าหนึ่งข้อ)                            ไม่มีโทรศัพท์มือถือ                                                                   ร้อยละ   14.6                             โทรศัพท์มือถือที่มี ใช้ทำธุรกรรมไม่ได้                                      ร้อยละ   33.7                             ไม่ถนัดการใช้เทคโนโลยี                                                          ร้อยละ   56                             กลัวพลาดเพราะมีปัญหาสุขภาพ (เช่น สายตาไม่ดี มือสั่น)         ร้อยละ   22.6                             ไม่มั่นใจว่าจะปลอดภัย กลัวตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพ                     ร้อยละ   26.1                             ยังไม่เห็นข้อดีของธุรกรรมแบบไร้เงินสด                                    ร้อยละ   10.5                             สะดวกที่จะใช้เงินสดมากกว่า                                                     ร้อยละ   55.8                             อื่นๆ                                                                                           ร้อยละ   1.6         • คิดว่าในปัจจุบันประเทศไทยพร้อมสำหรับการเป็นสังคมไร้เงินสดหรือไม่                             พร้อม                        ร้อยละ   39.5                             ไม่พร้อม                    ร้อยละ   33.3                            ไม่แน่ใจ                    ร้อยละ   27.2

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 271 น้ำตาลเทียมขม

        วันที่ 29 มิถุนายน 2566 สำนักข่าวทั่วโลกให้ข่าวว่า องค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศว่า สารให้ความหวานแทนน้ำตาลทรายคือ แอสปาร์แตม (aspartame) ที่ใช้กันอย่างแพร่หลายถูกจัดระดับการก่ออันตรายต่อสุขภาพนั้นในกลุ่ม 2B possibly carcinogenic to humans (น่าจะเป็นสารก่อมะเร็งในมนุษย์) ตามข้อเสนอของ International Agency for Research on Cancer (IARC) ข้อมูลนี้ปรากฏในเอกสารชื่อ Agents Classified by the IARC Monographs, Volumes 1–134 ซึ่งผู้อ่านสามารถดาว์นโหลดเอกสารที่เป็นบทความ pdf มาอ่านได้จาก https://monographs.iarc.who.int/list-of-classifications อย่างไรก็ดีทางองค์การอนามัยโลกได้แนะนำต่อว่า ให้ทำการศึกษาที่ "มากขึ้นและดีขึ้น" พร้อมด้วย "การติดตามผลที่ยาวนานขึ้น" เพื่อประเมินหาหลักฐานการก่อมะเร็งที่น่าเชื่อถือมากขึ้น         องค์การอนามัยโลก (WHO) นั้นเป็นหน่วยงานของสหประชาชาติที่ทำหน้าที่ประเมินปัจจัยการดำรงชีวิตและให้ข้อมูลด้านสาธารณสุขแก่ประเทศสมาชิก แต่ไม่มีอำนาจในการออกกฎเกณฑ์บังคับ ซึ่งเป็นภาระของหน่วยงานกำกับดูแลต่างๆ ของแต่ละประเทศ เช่น สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา อย่างไรก็ดีคำแนะนำขององค์การอนามัยโลกอาจมีอิทธิพลต่อการรับรู้ของสาธารณชนและนโยบายของผู้บริหารประเทศซึ่งอุตสาหกรรมอาหารในแต่ละประเทศต้องติดตามสิ่งที่อาจเกิดขึ้น  สารเคมีต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของมนุษย์นั้น IARC จัดแบ่งอย่างไร         IARC จำแนกสารเคมีที่มนุษย์สัมผัส (หมายรวมถึงลักษณะอาชีพการทำงานที่ต้องสัมผัสสารบางชนิดด้วย) ซึ่งองค์กรที่เกี่ยวข้องหรือได้รับผลกระทบเสนอให้สารนั้นถูกพิจารณาโดยกลุ่มผู้เชี่ยวชาญ เพื่อจัดลำดับซึ่งแบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม คือ        ·     Group 1 สารก่อมะเร็งในมนุษย์ (Carcinogenic to humans มีการศึกษาทางระบาดวิทยาในมนุษย์ และหลักฐานที่เพียงพอในสัตว์ทดลองและชัดเจนว่า มนุษย์ได้สัมผัสสารนี้) มี 126 ชนิด เช่น บุหรี่, เครื่องดื่มอัลกอฮอล์, สารพิษจากเชื้อรา aflatoxin, แบคทีเรีย Helicobacter pylori, ควันจากถ่านหิน, ไวรัส Epstein-Barr, รังสีจากแสงแดด, ฝุ่นหนัง (Leather dust) เป็นต้น        ·     Group 2A อาจเป็นสารก่อมะเร็งในมนุษย์ (probably carcinogenic to humans มีหลักฐานจำกัดเกี่ยวกับการก่อมะเร็งในมนุษย์และมีหลักฐานเพียงพอในสัตว์ทดลอง) มี 95 ชนิด เช่น Androgenic (anabolic) steroids ซึ่งคนที่ชอบสร้างกล้ามเนื้อมักใช้, ชีวมวล หรือ Biomass fuel (หลักๆคือ เศษไม้), สารประกอบตะกั่ว, เกลือ nitrate และ/หรือ เกลือ nitrite ที่กินเข้าไปแล้วก่อให้เกิดปฏิกิริยาไนโตรเซชั่นในกระเพาะอาหาร, hydrazine เป็นต้น        ·     Group 2B น่าจะเป็นสารก่อมะเร็งในมนุษย์ (possibly carcinogenic to humans มีหลักฐานจำกัดเกี่ยวกับการก่อมะเร็งในมนุษย์และมีหลักฐานไม่เพียงพอในสัตว์ทดลอง) มี 325 ชนิด เช่น ผักดอง, สารสกัดจากใบว่านหางจระเข้, Ochratoxin A, 1,6-Dinitropyrene เป็นต้น        ·     Group 3 ไม่สามารถจำแนกประเภทได้ (not classifiable หลักฐานไม่เพียงพอในมนุษย์และไม่เพียงพอหรือจำกัดในสัตว์ทดลอง) มี 500 ชนิด เช่น ยาคลายเครียด Diazepam, สีแดง Ponceau SX, ยารีเซอร์พีน (reserpine เป็นสารอัลคาลอยด์ ได้มาจากเปลือกรากแห้งของต้นระย่อมน้อย ถูกใช้เป็นยากล่อมประสาท, ลดความดันโลหิต, แก้ภาวะเคลื่อนไหวผิดปกติ)        ·     Group 4 ไม่เป็นสารก่อมะเร็งในมนุษย์ (probably not carcinogenic to humans มีหลักฐานบ่งชี้ว่าไม่ก่อมะเร็งในมนุษย์และในสัตว์ทดลอง) ซึ่งปัจจุบันไม่มีสารเคมีใดเหลืออยู่ในกลุ่มนี้  สถานภาพของแอสปาร์แตมก่อนเป็นข่าวนั้นเป็นอย่างไร         สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของประเทศที่เป็นสมาชิกของ Codex ซึ่งเป็นอีกองค์กรหนึ่งของสหประชาชาติถือว่า แอสปาร์แตมอยู่ในชั้นความปลอดภัยสำหรับการบริโภคตั้งแต่ปี 1981 จึงมีการใช้ในผลิตภัณฑ์ยอดนิยมมากมาย เช่น น้ำอัดลมไร้พลังงาน อาหารเช้าทำจากธัญพืช หมากฝรั่ง ยาสีฟัน น้ำตาลเทียมบรรจุซองสำหรับชากาแฟและอื่น ๆ แต่สิ่งที่น่าสังเกตคือ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐอเมริการะบุว่า ปริมาณในการบริโภคสารให้ความหวานแทนน้ำตาลนั้นควรเป็นอย่างจำกัดเท่าที่จำเป็น โดยมีการยกตัวอย่างจำนวนหน่วยบริโภคของเครื่องดื่มบรรจุกระป๋องว่า ควรเป็นเท่าใดตามน้ำหนักตัว เพื่อไม่ให้ร่างกายได้รับสารให้ความหวานแทนน้ำตาลมากเกินไป          การเป็นสารก่อมะเร็ง Group 2B มีความหมายอย่างไรต่อผู้ผลิตอาหาร         การอภิปรายถึงโอกาสก่ออันตรายของสารให้ความหวานแทนน้ำตาลที่เกิดขึ้นในสังคมผู้บริโภคนั้น อาจส่งผลให้บริษัทผู้ผลิตอาหารต่างๆ สั่นคลอนได้ ดังนั้นจึงดูว่าจำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับผลกระทบของการบริโภคสารให้ความหวานแทนน้ำตาลแต่ละชนิดไม่ใช่แค่เพียงแอสปาร์แตม         Wikipedia ได้ให้ข้อมูลว่า บริษัทน้ำอัดลมใหญ่บริษัทหนึ่งได้เคยถอดแอสปาแตมออกจากส่วนผสมของเครื่องดื่มไดเอ็ทของบริษัทในปี พ.ศ. 2558 แต่นำกลับมาใช้อีกครั้งในอีกหนึ่งปีผ่านไปจนถึง พ.ศ. 2563 จึงเลิกใช้อีกครั้ง ดังนั้นการที่แอสปาร์แตมถูกปรับระดับเป็น สารที่น่าจะเป็นสารก่อมะเร็งในมนุษย์ นั้น อาจเป็นการเปิดประตูสำหรับการดำเนินคดีโดยผู้บริโภคในลักษณะเดียวกับกรณีของสารกำจัดวัชพืชชนิดหนึ่งที่ถูกฟ้องเป็นคดีในสหรัฐอเมริกาว่าก่อมะเร็งแก่ผู้ใช้ในระยะยาว  ตัวอย่างงานวิจัยที่คงเป็นข้อมูลที่ทำให้ IARC ตัดสินใจ         บทความเรื่อง Artificial sweeteners and cancer risk: Results from the NutriNet-Sante´ population-based cohort study (สารให้ความหวานเทียมและความเสี่ยงต่อมะเร็ง: ผลลัพธ์จากการศึกษาตามกลุ่มประชากรของ NutriNet-Sante') ในวารสาร PLOS Medicine ของปี 2022 ให้ข้อมูลจากการศึกษาซึ่งเป็นการติดตามหนุ่มสาวชาวฝรั่งเศส 102,865 คน นานเฉลี่ย 7.8 ปี โดยบันทึกการบริโภคอาหารและชนิดสารให้ความหวานแทนน้ำตาลตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อดูความสัมพันธ์ระหว่างสารให้ความหวานแทนน้ำตาลและอุบัติการณ์ของมะเร็งตามแบบจำลองซึ่งปรับตามอายุ เพศ การศึกษา การออกกำลังกาย การสูบบุหรี่ ดัชนีมวลกาย ส่วนสูง น้ำหนักที่เพิ่มขึ้นระหว่างการติดตาม เบาหวาน ประวัติครอบครัวในการเป็นมะเร็ง รวมแล้วจำนวน 24 รายการ โดยบันทึกรายละเอียดการบริโภคอาหารรายชั่วโมง และปริมาณพลังงานรวมที่บริโภค เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เกลือโซเดียม กรดไขมันอิ่มตัว ใยอาหาร น้ำตาล ผักและผลไม้ อาหารธัญพืชไม่ขัดสี และผลิตภัณฑ์จากนม ซึ่งผลการศึกษาพบว่า สารให้ความหวานแทนน้ำตาลโดยเฉพาะแอสปาร์แตมและอะซีซัลเฟม-เค มีความสัมพันธ์กับความเสี่ยงมะเร็งที่เพิ่มขึ้น โดยในรายละเอียดนั้นการบริโภคแอสปาร์แตมมีความสัมพันธ์กับความเสี่ยงมะเร็งทรวงอกและโรคอ้วนที่เพิ่มขึ้น การค้นพบนี้ให้ข้อมูลเชิงลึกที่สำคัญและใหม่สำหรับกระบวนการประเมินความเสี่ยงซ้ำในการใช้สารให้ความหวานแทนน้ำตาลโดย European Food Safety Authority และหน่วยงานด้านสุขภาพอื่นๆ ทั่วโลก  ผู้บริโภคควรทำเช่นไรในสถานการณ์ที่มีข่าวดังกล่าวข้างต้น         ก่อนอื่นผู้บริโภคต้องถามตนเองก่อนว่า จำเป็นต้องกินแอสปาร์แตมหรือผลิตภัณฑ์ที่มีหรือไม่ ถ้าคำตอบคือ จำเป็น ก็ต้องถามต่อไปว่า ทำไม พร้อมกับคำถามต่อทันทีว่า มีทางเลือกชนิดของสารให้ความหวานแทนน้ำตาลเป็นชนิดอื่นอีกหรือไม่ ประเด็นที่สำคัญคือ การที่ใครสักคนควรกินสารให้ความหวานแทนน้ำตาลชนิดใดเป็นประจำนั้นควรตั้งอยู่บนเหตุผลที่ว่า แพทย์ตรวจร่างกายแล้วพบว่า การกินน้ำตาลธรรมชาติก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการเกิดสุขภาพที่ไม่ดี เช่น ผู้ป่วยเบาหวาน โรคอ้วน และอาจรวมถึงผู้มีความดันโลหิตสูง  ถ้าเชื่อว่ากันไว้ดีกว่าแก้หรืออ้วนไม่ได้เพราะอาชีพกำหนด ผู้บริโภคควรทำอย่างไร         คำแนะนำในการควบคุมน้ำหนักคือ กินแต่พออิ่ม (หยุดก่อนอิ่มจริงสักนิด) กินผักและผลไม้ที่มีความหวานต่ำในปริมาณที่มากพอทำให้อิ่ม ประมาณว่าในมื้อหนึ่งมีอาหารเนื้อสัตว์ แป้งและไขมันเป็นครึ่งจานและมีผักผลไม้ในอีกส่วนครึ่งของจาน พร้อมทั้งการออกกำลังกายอย่างน้อย 150 นาทีต่อสัปดาห์ ทำได้ดังนี้การบริโภคสารให้ความหวานแทนน้ำตาลน่าจะไม่จำเป็น ที่สำคัญคือ ควรเข้าใจว่าสารให้ความหวานแทนน้ำตาลนั้นเป็นทางเลือกในการบริโภคอาหารหรือขนมที่มีความหวานเพื่อการตอบสนองความต้องการทางจิตใจที่ยากจะควบคุม เช่น เป็นการลดความทรมานในผู้กินอาหารคีโต เป็นต้น ยังคงบริโภคสารให้ความหวานแทนน้ำตาลได้ต่อไปหรือไม่         ตราบใดที่องค์กรที่ดูแลสุขภาพทั้งระดับประเทศและระดับโลกยังเชื่อในข้อมูลของ Codex ที่บอกว่า แอสปาร์แตมยังปลอดภัยในระดับที่แนะนำให้บริโภคได้นั้น การยอมรับในความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในภายหลังเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคต้องทำใจ ผู้บริโภคอาจเปลี่ยนไปกินผลิตภัณฑ์ที่ใช้สารให้ความหวานแทนน้ำตาลชนิดอื่นที่ดูมีความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพน้อยกว่า เช่น สารในกลุ่มน้ำตาลอัลกอฮอล ซึ่งปัจจุบันเครื่องดื่มหลายชนิดใช้สารซูคราโลส (sucralose) เพื่อลดปริมาณน้ำตาลทรายต่อหน่วยบริโภค ซึ่งเป็นการลดผลกระทบจากภาษีความหวานที่เพิ่มตามกฏหมายใหม่ซึ่งดูสอดคล้องกับคำแนะนำของหน่วยงานด้านสาธารณสุขที่แนะนำให้ลดละเลิกอาหารหวานมันเค็ม ทั้งที่จริงแล้วเป็นคนละเรื่องเดียวกัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 271 ก่อนรับยาต้องกล้าถาม อย่าลืมถามชื่อยาบนซองยาด้วยทุกครั้ง

        เหตุการณ์ที่ผู้ป่วยแพ้ยาและเข้ามารักษาตัวที่โรงพยาบาลมักเกิดขึ้นบ่อยครั้ง แม้ว่าเภสัชกรจะพยายามสอบถามชื่อยาและข้อมูลต่างๆ ทั้งจากตัวผู้ป่วยหรือแหล่งที่ส่งมอบยา (เช่น ร้านยาบางแห่ง หรือคลินิกบางแห่ง) แต่พบว่าบางครั้งมักจะไม่ได้รับความร่วมมือในการให้ข้อมูลครบถ้วนเพียงพอพอ ส่งผลให้การลงประวัติแพ้ยาของผู้ป่วยขาดความสมบูรณ์ ระบุชื่อยาไม่ได้ ทำให้ผู้ป่วยยังต้องเสี่ยงต่อการแพ้ยาซ้ำๆ อีกในครั้งต่อๆ ไป ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อร่างกายจนอาจเสียชีวิตได้        จากข้อมูลที่ได้รับจากผู้บริโภค พบว่าหลายครั้งที่ผู้ป่วยไปรับบริการที่คลินิก ร้านยา หรือสถานพยาบาลเอกชน ฯลฯ มักจะไม่ได้รับรู้ข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับยาที่ตน เช่น ชื่อยา สรรพคุณ วิธีการใช้ ตลอดจนข้อพึงระวังต่างๆ สถานบริการหลายแห่งดังกล่าวข้างต้น มักจะเขียนเพียงแค่ ยาแก้อะไร กินปริมาณเท่าไหร่และกินเวลาไหน บนซองยาหรือฉลากยาเท่านั้นเอง        ประเทศไทยมีการออกหลักเกณฑ์และข้อกำหนดให้ผู้ป่วยจะต้องได้รับทราบข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับยาที่ตนได้รับมานานแล้ว สภาวิชาชีพทางด้านสุขภาพสาขาต่างๆได้ร่วมกันออกประกาศรับรองสิทธิและข้อพึงปฏิบัติของผู้ป่วย มาตั้งแต่พ.ศ. 2558 เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับประโยชน์สูงสุดจากกระบวนการรักษา ต่อมาเมื่อปี พ.ศ.2556 กระทรวงสาธารณสุขก็ได้ออกกฎกระทรวงเกี่ยวกับร้านยา มีรายละเอียดกำหนดให้ร้านยาต้องให้ข้อมูลยาแก่ผู้รับบริการให้ครบถ้วน บนซองยานอกจากจะบอกสรรพคุณ วิธีใช้แล้ว ยังต้องบอกชื่อสามัญทางยา คำเตือน ข้อควรระวังต่างๆอีกด้วย        จนมาถึงปี 2565 ก็มีประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง มาตรฐานการให้บริการของสถานพยาบาลเกี่ยวกับฉลากบรรจุยา กำหนดให้ซองยาจากคลินิก ที่ไม่มีชื่อยาหรือชื่อผู้ป่วยและรายละเอียดอื่นที่สำคัญมีโทษอาญา จำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โดยมีผลบังคับใช้ 15 มีนาคม 2567 ซึ่งในระหว่างรอการบังคับใช้อีก 2 ปี ผู้ป่วยอาจได้รับความเสี่ยงจากการบริการที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานหรือขาดจรรยาบรรณ ดังเช่น ในรายการโหนกระแส เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ.2566 ที่ผ่านมา มีการนำเสนอข้อมูลผู้ป่วยที่ได้รับอันตรายจากการไม่ได้รับข้อมูลยาที่ครบถ้วนจากสถานพยาบาลแห่งหนึ่ง        นอกจากประโยชน์ต่อตัวผู้ป่วยทางด้านการรับษาพยาบาลแล้ว ในด้านกฎหมายแรงงาน “ซองยา” ยังสามารถใช้ประกอบการลาป่วยได้ เพราะเหตุที่ซองยามีกฎหมายกำหนดไว้ให้ต้องมีข้อมูลมากพอ ที่จะเชื่อได้ว่าป่วย ฝ่ายบุคคลจึงสามารถตรวจสอบกลับไปที่ผู้ส่งมอบยา (ไม่ว่าจะเป็นเภสัชกรหรือแพทย์) ได้ว่าป่วยจริงหรือไม่ แต่หากซองยาเป็นเพียงซองพลาสติกใสๆ ฝ่ายบุคคลอาจจะไม่รับฟังว่าป่วยจริง        ดังนั้นจำให้ขึ้นใจเลยว่า “เรามีสิทธิตามกฎหมายที่จะได้รับข้อมูลยา” และ “ก่อนรับยาต้องกล้าถาม” หากพบว่า แพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร หรือผู้ประกอบวิชาชีพอื่นๆ ไม่ให้ข้อมูลยาที่ครบถ้วน นอกจากจะผิดหลักเกณฑ์และข้อกำหนดต่างๆตามกฎหมายแล้ว ผู้ประกอบวิชาชีพเหล่านี้จะมีความผิดตามข้อบังคับของจรรยาบรรณของวิชาชีพนั้นๆ ด้วย ซึ่งสภาวิชาชีพต่างๆ ก็มีการกำหนดบทลงโทษ ซึ่งเราสามารถร้องเรียนได้โดยตรงที่สภาวิชาชีพแต่ละแห่งได้เลย

อ่านเพิ่มเติม >