ฉบับที่ 163 “พรบ.ทวงหนี้” กฎหมายที่ลูกหนี้รอคอย

การกู้ยืมเงิน เพื่อการจัดซื้อสิ่งจำเป็นในชีวิต(บางสิ่งก็ไม่จำเป็น) เช่น ซื้อบ้าน เฟอร์นิเจอร์ รถยนต์ ฯลฯ   สมัยนี้เป็นไปได้ง่าย เพราะมีทั้งสถาบันการเงินและกลุ่มธุรกิจที่เสนอบริการเงินด่วน อันแสนง่ายดายให้กับผู้บริโภคเป็นจำนวนไม่น้อย ด้วยเงื่อนไขจูงใจ ทั้งจ่ายเงินคืนขั้นต่ำจากวงเงินที่ใช้จ่ายไปแล้ว ไม่ต้องมีคนค้ำประกัน ฐานเงินเดือนที่ไม่สูงมาก    จ่ายน้อย ผ่อนนาน ฯลฯ ทำให้ประชาชนทั่วไปเกิดการใช้จ่ายเงินจาก บัตรเครดิต และบัตรสินเชื่อหมุนเวียน กันเป็นจำนวนเงินมหาศาล บางคนก็ได้รับความสะดวกสามารถจ่ายคืนได้ปกติ แต่หลายคนได้เริ่มเข้าสู่สภาวะมีหนี้สินเกินตัวกันไปแล้วปัญหาหนี้สินที่ลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้นั้นมีมากมาย  จนก่อให้เกิดอาชีพใหม่ คือ “การติดตามทวงหนี้”   พฤติกรรมของคนที่รับทวงหนี้มีหลากหลาย  ตั้งแต่  ทวงหนี้ทั้งวัน  โทรมาหาเจ้านายประจานหนี้   ข่มขู่ ว่าไม่ชำระจะต้องเข้าคุกเพราะโกงเจ้าหนี้  อ้างว่าเป็นตำรวจจะมาจับหากไม่ใช้หนี้  ทวงหนี้กับญาติพี่น้อง หรือใช้จดหมายที่เลียนแบบหมายศาลหลอกลูกหนี้  ฯลฯ  กลวิธีมีหลากหลายมากมาย  โดยเฉพาะการด่า หรือพูดจาหยาบคายดูหมิ่นเหยียดหยาม  เสมือนลูกหนี้ เป็น “อาชญากรของสังคม”ปัญหาการร้องเรียนพฤติกรรมของเจ้าหนี้และคนที่ติดตามหนี้มีมากมาย จนกระทั่งเมื่อวันที่ 14 กันยายน 2550 ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ออกแนวปฏิบัติในการติดตามทวงถามหนี้กับลูกหนี้แก่สถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจสถาบันการเงิน ผู้ประกอบธุรกิจบัตรเครดิตที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน และผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับที่มิใช่สถาบันการเงินทุกแห่ง แต่ยังคงเป็นเพียงแนวปฏิบัติที่มิได้มีบทลงโทษแก่ผู้ที่ฝ่าฝืน และไม่ครอบคลุมถึงการกำกับดูแลการประกอบธุรกิจติดตามทวงถามหนี้ หรือการรับจ้าง หรือรับมอบอำนาจจากนิติบุคคลผู้ให้สินเชื่อดังกล่าว  อีกทั้งข้อร้องเรียนเรื่องพฤติกรรมการทวงหนี้มิได้ลดลงแต่อย่างใดในปีเดียวกันสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติได้เสนอร่างพระราชบัญญัติการติดตามทวงถามหนี้อย่างเป็นธรรม พ.ศ. .... ต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ซึ่งได้ลงมติรับหลักการเมื่อเดือนธันวาคม 2550 แต่สภานิติบัญญัติแห่งชาติได้สิ้นสุดสถานะลงตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มีผลให้ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวไม่ได้รับการพิจารณา และต่อมาในเดือนกันยายน 2553 กระทรวงการคลังเสนอ ร่าง ร่างพระราชบัญญัติฯ เข้าไปใหม่ และคณะรัฐมนตรีเห็นชอบในหลักการ  และส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาตรวจร่างระราชบัญญัติฯ  เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2556 คณะรัฐมนตรีเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติฯ ดังกล่าว และให้ส่งคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาลต่อไป และต่อมามีพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2556 จึงมิได้มีการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติฯ นี้ปัจจุบันร่างพระราชบัญญัตินี้ ฝ่ายกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม คสช. ได้พิจารณาและจะนำเสนอ คสช. ให้ความเห็นชอบและบรรจุเข้าสู่วาระการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติในลำดับแรก  โดยมีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พรบ. ฉบับนี้แล้ว  โดยมีการเปลี่ยนชื่อเป็น “ (ร่าง) พระราชบัญบัติการทวงถามหนี้ พ.ศ”สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติการทวงถามหนี้อย่างเป็นธรรม พ.ศ. ....1. ขอบเขตการใช้บังคับ- ผู้ให้สินเชื่อ ซึ่งได้แก่ นิติบุคคลที่ให้สินเชื่อเป็นทางการค้าปกติ นิติบุคคลที่รับซื้อ หรือรับโอนสินเชื่อต่อไปทุกทอด และบุคคลอื่นใดตามที่กำหนดในกฎกระทรวง- ผู้รับมอบอำนาจจากผู้ให้สินเชื่อในการทวงหนี้- ผู้ประกอบธุรกิจทวงถามหนี้2. กำหนดให้มีการจดทะเบียนของผู้ประกอบธุรกิจทวงถามหนี้โดยผู้ประกอบธุรกิจทวงถามหนี้ต้องจดทะเบียนต่อสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง3. การติดต่อกับบุคคลอื่นที่มิใช่ลูกหนี้ทำได้เพียงสอบถามสถานที่ติดต่อลูกหนี้เท่านั้นโดยกำหนดวิธีปฏิบัติในการติดต่อกับบุคคลอื่น เช่น ผู้ทวงถามหนี้ต้องแจ้งชื่อตัว ชื่อสกุล ชื่อหน่วยงาน ไม่แจ้งความเป็นหนี้ของลูกหนี้ ไม่ใช้ภาษา สัญลักษณ์ หรือชื่อทางธุรกิจบนซองจดหมายหรือในหนังสือหรือในสื่ออื่นใดที่ทำให้เข้าใจว่าติดต่อมาเพื่อทวงถามหนี้ ไม่ติดต่อหรือแสดงตนที่ทำให้เข้าใจผิดเพื่อให้ได้ข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่ติดต่อของลูกหนี้4. กำหนดหลักเกณฑ์ในการทวงถามหนี้ ดังนี้4.1  วิธีปฏิบัติในการติดต่อกับลูกหนี้ผู้ทวงถามหนี้ต้องติดต่อกับลูกหนี้ตามสถานที่ที่ได้แจ้งไว้ ติดต่อในเวลา 9.00น. – 20.00น. แจ้งลูกหนี้ทราบถึงชื่อผู้ให้สินเชื่อและจำนวนหนี้ที่ลูกหนี้เป็นหนี้ แสดงหลักฐานการรับมอบอำนาจให้รับชำระหนี้จากผู้ให้สินเชื่อต่อลูกหนี้ด้วย และเมื่อลูกหนี้ชำระหนี้แล้วให้ผู้ทวงถาม ออกหลักฐานการชำระหนี้แก่ลูกหนี้4.2 ข้อห้ามในการทวงถามหนี้ ห้ามทวงถามหนี้กับบุคคลอื่น1) ไม่กระทำการในลักษณะข่มขู่ใช้ความรุนแรง ใช้วาจาหรือภาษาที่เป็นการดูหมิ่น เสียดสีลูกหนี้หรือบุคคลอื่น เปิดเผยความเป็นหนี้แก่ผู้อื่นที่ไม่เกี่ยวข้อง ติดต่อลูกหนี้เกี่ยวกับหนี้โดยใช้ไปรษณียบัตร เอกสารเปิดผนึกหรือโทรสาร หรือใช้ภาษา สัญลักษณ์ ชื่อทางธุรกิจบนซองจดหมายหรือในหนังสือที่ทำให้เข้าใจว่าติดต่อมาเพื่อทวงถามหนี้ และทวงถามหนี้ในลักษณะอื่นตามคณะกรรมการประกาศกำหนด2) ห้ามทวงถามหนี้ในลักษณะที่เป็นเท็จหรือทำให้เกิดความเข้าใจผิดในการ ทวงถามหนี้โดยแสดงหรือใช้เครื่องหมาย เครื่องแบบหรือข้อความที่ทำให้เชื่อว่าการทวงถามหนี้ ทำโดยทนายความ สำนักงานกฎหมาย แสดงหรือมีข้อความที่ทำให้เชื่อว่าจะถูกดำเนินคดี ถูกอายัดทรัพย์หรือเงินเดือน ติดต่อหรือแสดงให้เชื่อว่าจะถูกดำเนินคดี ถูกยึดหรืออายัดทรัพย์หรือเงินเดือน ติดต่อหรือแสดงให้เชื่อว่าผู้ทวงถามหนี้ดำเนินการให้แก่บริษัทข้อมูลเครดิต3) ห้ามทวงถามหนี้ในลักษณะไม่เป็นธรรม โดยเรียกเก็บค่าธรรมเนียมหรือค่าใช้จ่ายเกินกว่าอัตราที่คณะกรรมการประกาศกำหนด หรือการเสนอหรือจูงใจให้ลูกหนี้ออกเช็ค ทั้งที่รู้อยู่ว่าลูกหนี้อยู่ในฐานะที่ไม่สามารถชำระหนี้ได้5. การกำกับดูแลผู้ทวงถามหนี้5.1 กำหนดให้มีคณะกรรมการกำกับการทวงถามหนี้ โดยมีปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธาน กรรมการโดยตำแหน่ง 8 ท่าน ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงการคลัง ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ปลัดกระทรวงยุติธรรม เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย  นายกสภาทนายความ และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 5 ท่าน ผู้มีความเชี่ยวชาญด้านการเงินการธนาคาร กฎหมาย และการคุ้มครองผู้บริโภค อย่างน้อยด้านละ 1 คน และเจ้าหน้าที่ สศค. เป็นฝ่ายเลขานุการกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิมีวาระคราวละ 3 ปี ไม่เกิน 2 วาระติดต่อกันสศค. รับผิดชอบงานธุรการของคณะกรรมการ มีอำนาจหน้าที่รับเรื่องร้องเรียน ติดตามสอดส่องพฤติการณ์ของผู้ทวงถามหนี้ ประสานราชการหรือหน่วยงานของรัฐที่มีอำนาจหน้าที่ในการกำกับดูแลหรือตรวจสอบผู้ให้สินเชื่อ ผู้ทวงถามหนี้หรือบุคคลอื่นใด รับจดทะเบียนการประกอบธุรกิจทวงถามหนี้และปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่คณะกรรมการมอบหมาย6. บทกำหนดโทษ6.1 กำหนดแยกระหว่างการใช้มาตรการบังคับทางปกครองสำหรับการกระทำผิด ที่ไม่ร้ายแรงให้แยกเป็นโทษทางปกครอง เช่น ติดต่อโดยไม่แจ้งชื่อ ที่มา ติดต่อนอกเวลา เรียกค่าธรรมเนียมเกินอัตรา และกรณีความผิดร้ายแรงให้แยกเป็นโทษอาญา โดยกำหนดความรับผิดสำหรับผู้ทวงถามหนี้ที่ดำเนินกิจการฝ่าฝืน ปรับทางปกครองไม่เกิน 1 แสน6.2 โทษอาญา1) จำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 1 แสน หรือทั้งจำทั้งปรับ (ประกอบธุรกิจโดย ไม่จดทะเบียน เปิดเผยความเป็นหนี้กับบุคคลอื่น ใช้วาจาดูหมื่น เสียดสี จูงใจให้ลูกหนี้ออกเช็ค)2) จำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 3 แสน หรือทั้งจำทั้งปรับ (ข่มขู่ ใช้ความรุนแรง ทำให้เชื่อว่าเป็นการกระทำของทนายความ)3) จำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 5 แสน หรือทั้งจำทั้งปรับ (ใช้ข้อความ เครื่องหมาย สัญลักษณ์ เครื่องแบบที่ทำให้เข้าใจว่าเป็นการกระทำของศาล เจ้าหน้าที่ของรัฐ)7. บทเฉพาะกาลผู้ประกอบธุรกิจทวงถามหนี้อยู่ก่อนวันที่ พรบ. นี้มีผลใช้บังคับ ให้ยื่นขอจดทะเบียนภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่ พรบ. นี้มีผลใช้บังคับลูกหนี้คงต้องตั้งตาคอยกันว่า  กฎหมายฉบับนี้จะคลอดเมื่อไร และจะคลอบคลุมพฤติกรรมของคนทวงหนี้ได้จริงหรือไม่  หวังว่า การพิจารณาร่างกฎหมายคงออกมาให้ลูกหนี้ได้ชื่นใจ สมกับคำที่ว่า   คสช. คืนความสุขให้กับคนไทย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 163 ปลั๊กไฟรุ่นพิเศษ เสียบปุ๊บ ไฟดับปั๊บ...

คุณโสภา  ได้ซื้อปลั๊กไฟชนิดอย่างดียี่ห้อหนึ่ง จากร้านจำหน่ายที่ห้างพันธุ์ทิพย์พลาซ่า เป็นปลั๊กไฟแบบ 5 ช่องเสียบ ยาว 4.5 เมตร  มา 1 อัน ในราคา 400 บาทเมื่อกลับมาถึงบ้าน  คุณโสภาได้หยิบปลั๊กมาเพื่อใช้งานทันที หลังจากเสียบปุ๊บ ทันใดนั้นไฟฟ้าทั้งชั้นก็ดับสนิท อุปกรณ์ไฟฟ้าต่างๆ ที่เปิดอยู่ เช่น ทีวี พัดลม คอมพิวเตอร์ ทุกอย่างดับหมด  แต่คุณโสภา ยังไม่อยากเชื่อว่าปลั๊กไฟที่ซื้อมาจะเสีย ที่ไฟดับอาจเป็นเพราะพอดีการไฟฟ้าหยุดจ่ายไฟก็ได้ คุณโสภาจึงไปขอทดลองเสียบปลั๊กไฟอีกครั้งกับบ้านอีกหลังหนึ่งในบริเวณเดียววัน เมื่อเสียบปุ๊บ ผลเป็นเช่นเดียวกัน คือ ไฟฟ้าของบ้านหลังนั้นดับสนิท ทุกอย่างไม่สามารถใช้งานได้ คุณโสภาจึงรีบโทรศัพท์ไปที่ร้านเพื่อแจ้งว่าปลั๊กไฟที่ซื้อมามีปัญหา แต่ร้านที่ซื้อบอกไม่เกี่ยวกัน ให้ไปติดต่อกับบริษัทเอาเองเจอแบบนี้ คุณโสภา มึนแปดด้านไม่รู้จะทำยังไง ปลั๊กก็เสีย ไฟก็ดับ จึงมาขอคำปรึกษาและร้องเรียนที่มูลนิธิฯ แนวทางแก้ไขปัญหา การแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้ จริงๆ แล้วง่ายมาก ตามสิทธิผู้บริโภคเมื่อซื้อสินค้ามาแล้วใช้งานไม่ได้ ผู้บริโภคก็ย่อมมีสิทธิได้เปลี่ยนสินค้าหรือได้เงินคืนกรณีนี้คุณโสภา สามารถนำสินค้าไปเปลี่ยนกับร้านที่ซื้อได้เลย แต่อาจจะมีปัญหาถกเถียงกันนิดหน่อย หากร้านที่ขายไม่ยอมให้เปลี่ยน อาจทำให้อารมณ์เสีย แต่ถ้าไม่อยากให้มีปัญหาและไม่ใช่หน้าที่ของเราที่ซื้อมาแล้วยังต้องเอาไปเปลี่ยน เพื่อความรวดเร็วจึงแนะนำให้กดโทรศัพท์ไปที่บริษัทผู้ผลิตปลั๊กไฟ ที่ระบุชื่อที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ติดต่อที่กล่องผลิตภัณฑ์ เพื่อขอให้บริษัทส่งพนักงานเข้ามาตรวจสอบปลั๊กไฟที่ซื้อและระบบไฟฟ้าที่บ้านว่าเกิดจากสาเหตุใด หากมีความชำรุดเสียหายของอุปกรณ์และระบบไฟฟ้า อันเกิดจากปลั๊กไฟที่ชำรุดเสียหายแล้วนำมาจำหน่าย บริษัทผู้ผลิตต้องรับผิดชอบค่าเสียหายทั้งหมดโดยไม่มีเงื่อนไขหลังการแนะนำ คุณโสภาได้ทำตาม  และในช่วงบ่ายของวันเดียวกัน บริษัทได้ส่งช่างเทคนิคมาตรวจสอบปลั๊กไฟและระบบไฟฟ้าของบ้านทั้งหมด ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่าระบบไฟฟ้าของบ้านไม่มีปัญหา ช่างของบริษัทสามารถแก้ไขให้เป็นปกติเหมือนเดิมได้ แต่ในส่วนปลั๊กไฟที่ซื้อมานั้น ทดสอบแล้วพบว่ามีความชำรุดบกพร่องของสินค้าจริง บริษัทจึงขอแสดงความรับผิดชอบด้วยการนำปลั๊กไฟตัวใหม่ที่ทดลองแล้วว่าสามารถใช้งานได้มาให้แทน และขอนำปลั๊กไฟตัวปัญหากลับคืน เพื่อทดสอบหาสาเหตุต่อไปเรื่องเหมือนจะจบลงด้วยดี ถ้าคุณโสภาเป็นเพียงผู้บริโภคธรรมดาที่ไม่คิดมาก แต่คุณโสภา เข้าใจว่าปัญหาแบบนี้อาจเกิดได้กับทุกคนที่ซื้อปลั๊กไฟ และเพื่อให้ได้ข้อมูลข้อเท็จจริงนั้น จึงได้ขอสงวนสิทธิที่จะไม่ให้ปลั๊กไฟตัวปัญหาให้กับบริษัท แต่จะขอนำส่งให้กับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เพื่อให้ทดสอบหาข้อเท็จจริงของการชำรุดเสียหายของปลั๊กไฟนี้ เพื่อให้เป็นข้อมูลสำหรับผู้บริโภคที่อาจจะเจอปัญหาแบบเดียวกันนี้การดำเนินการกับปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างทันท่วงที กับการแสดงความรับผิดชอบของบริษัทเช่นนี้ ทำให้คุณโสภา ได้รับการแก้ไขปัญหาอย่างรวดเร็ว เกิดความสบายใจและไม่คิดจะ ซึ่งหากใครที่เจอปัญหาแบบเดียวกันนี้ ก็สามารถนำวิธีนี้ไปใช้ได้ข้อมูลเพิ่มเติมทั้งนี้เชื่อว่าหลายคนคงไม่รู้ว่า ปัจจุบันปลั๊กไฟ หรือปลั๊กพ่วง แบบต่างๆ ที่ขายกันในบ้านเรานั้น แท้จริงแล้ว มี มอก. เพียงเฉพาะในส่วนที่เป็นมาตรฐานสายไฟ คือ มอก. 11-2531  หรือ มอก. 11 ที่เป็นสายไฟหุ้มฉนวนทองแดง PVC  เท่านั้น โดยที่ในส่วนที่เป็นรางปลั๊กไฟทั้งชุด มอก. ไมได้กำหนดมาตรฐานควบคุมไว้ ซึ่งการกำหนดให้มีมาตรฐานดังกล่าวของสายไฟดังกล่าว ทาง มอก.  ได้ออกเป็นมาตรฐานประเภททั่วไป ที่ไม่มีการบังคับ คือจะมีหรือไม่มีก็ได้ แต่ถ้าได้รับเครื่องหมายก็แสดงถึงคุณภาพที่ได้มาตรฐานของผลิตภัณฑ์นั้นๆนั่นหมายความว่า ผู้ผลิตหรือผู้จำหน่ายที่นำปลั๊กไฟมาขายนั้น ขอแค่มีสายไฟที่ถูกหลักเกณฑ์ตามมาตรฐาน มอก. ก็จะสามารถนำมาขายในประเทศไทยได้แล้ว ซึ่งส่วนใหญ่ผู้ผลิตหรือผู้จำหน่ายก็จะไม่บอกข้อมูลในส่วนนี้ให้ผู้บริโภคได้รับรู้กันด้วย บอกแค่ว่า ผลิตภัณฑ์นี้ได้ มอก. เท่านั้นเท่านี้ ผู้บริโภคก็คิดกันไปเองว่า มอก. นี้คือ มาตรฐานของปลั๊กไฟทั้งชุด... อึ้งกันเลยใช่ไหมล่ะ !!!เจอแบบนี้ ผู้บริโภคก็คงต้องดูแลตัวเอง การเลือกใช้ปลั๊กไฟจึงควรพิจารณาในส่วนประกอบต่างๆ ของปลั๊กให้ดี ทั้งตัวปลั๊กเสียบ สายไฟฟ้าและวัสดุที่ใช้ทำรางปลั๊ก และอย่างน้อยก็ อย่าลืมมองหาปลั๊กไฟที่มีตรามาตรฐาน มอก. ในการพิจารณาเลือกซื้อ แม้จะมีมาตรฐานเฉพาะสายไฟอย่างเดียว แต่ทั้งนี้ก็เพื่อให้เกิดความคุ้มค่าและความปลอดภัยในการใช้งานนะครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 163 กฎหมายคุ้มครอง “เจ้าหนี้”

สวัสดีครับท่านผู้อ่าน วันนี้ก็มีเรื่องกฎหมายที่เป็นประโยชน์มาบอกเล่าเช่นเคย โดยฉบับนี้ จะขอกล่าวถึงกฎหมายเรื่องหนี้ที่น่าสนใจ โดยนำเสนอผ่านเรื่องราวปัญหาจากชีวิตจริงของลูกหนี้และเจ้าหนี้  ซึ่งโดยปกติ เมื่อตกเป็นลูกหนี้ กฎหมายไม่ได้จำกัดสิทธิในการดูแลจัดการทรัพย์สินของลูกหนี้แต่อย่างใด  ทำให้แม้ตกเป็นลูกหนี้ ก็ยังสามารถโอน ขาย จำหน่ายทรัพย์สินของตัวเองได้  แต่หากมีลูกหนี้จอมขี้โกง ทราบดีว่าตนมีทรัพย์สินเพียงน้อยนิด ยังทะลึ่งไปโอนขายทรัพย์สินให้บุคคลอื่น และรู้อยู่แก่ใจว่า ถ้าขายหรือจำหน่ายทรัพย์สินนี้ไป ตนเองจะมีทรัพย์สินไม่พอชำระหนี้แก่เจ้าหนี้เค้า แบบนี้ เจ้าหนี้ก็คงเสียเปรียบแย่ เพราะไม่มีหลักประกันอะไรเลย ว่าเมื่อถึงเวลาชำระหนี้ ลูกหนี้จะมีอะไรมาชำระหนี้ให้เจ้าหนี้ได้ครบถ้วน กฎหมายก็มองเห็นความได้เปรียบเสียเปรียบของเจ้าหนี้ลูกหนี้ในเรื่องแบบนี้ จึงมีบทบัญญัติเพื่อคุ้มครองเจ้าหนี้ขึ้น เรียกว่า “การฟ้องเพิกถอนการฉ้อฉล (ของลูกหนี้)” อยู่ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา 237 โดยมีสาระสำคัญว่า “เจ้าหนี้ชอบที่จะร้องขอให้ศาลเพิกถอนเสียได้ซึ่งนิติกรรมใดๆ อันลูกหนี้ได้กระทำลงทั้งรู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบแต่ความข้อนี้ท่านมิให้ใช้บังคับ ถ้าปรากฏว่าในขณะที่ทำนิติกรรมนั้น บุคคลซึ่งเป็นผู้ได้ลาภงอกแต่การนั้นมิได้เท่าถึงข้อความจริงอันเป็นทางให้เจ้าหนี้ต้องเสียเปรียบนั้นด้วย....” เจตนารมณ์ของกฎหมายต้องการคุ้มครองเจ้าหนี้ให้ฟ้องเพิกถอนนิติกรรมที่ทำให้ตนเสียเปรียบเท่านั้น การฟ้องไม่ทำให้เจ้าหนี้ได้สิทธิอะไรมากไปกว่าที่มีอยู่เดิม ดังนั้น วัตถุประสงค์ของการฟ้องเพิกถอนการฉ้อฉลคือการทำให้กองทรัพย์สินของลูกหนี้ กลับมาเป็นเช่นเดิม เช่น ลูกหนี้ทั้งตัวมีทรัพย์สินเพียงที่ดินอยู่หนึ่งแปลง หากโอนขายที่ดินแปลงนี้ให้บุคคลอื่น  เจ้าหนี้จะเดือดร้อนเพราะไม่เหลือทรัพย์สินพอที่จะบังคับใช้หนี้  เมื่อลูกหนี้ขายที่ดินนี้ไปโดยรู้ดีว่าจะทำให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ เจ้าหนี้ก็มีอำนาจฟ้องเพิกถอนการฉ้อฉล ให้ที่ดินแปลงดังกล่าวกลับมาเป็นของลูกหนี้ตามเดิม เพื่อให้ตนสามารถมีสิทธิบังคับชำระหนี้เอากับที่ดินแปลงนั้นได้  จึงเห็นได้ว่า ไม่ได้ทำให้เจ้าหนี้ได้เปรียบมากขึ้นแต่อย่างใด นอกจากนี้ อำนาจฟ้องเพิกถอนการฉ้อฉลซึ่งนิติกรรมที่ลูกหนี้ได้กระทำลงโดยรู้ว่าเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบนั้น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 237 ได้บัญญัติให้เป็นอำนาจของเจ้าหนี้ ซึ่งหมายรวมถึงเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาด้วย ไม่ว่าจะมีการบังคับคดีแล้วหรือไม่ก็ตาม คำพิพากษาฎีกาที่ 5207/2545 เมื่อโจทก์อ้างว่าตนเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของจำเลยที่ 1 ในคดีก่อนและจำเลยที่ 1 ลูกหนี้ตามคำพิพากษาทำนิติกรรมยกทรัพย์พิพาทให้จำเลยที่ 2 โดยรู้อยู่ว่าเป็นทางให้โจทก์เสียเปรียบอันเป็นการฉ้อฉลโจทก์ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองให้เพิกถอนการฉ้อฉลได้ การที่จำเลยทั้งสองซึ่งเป็นสามีภริยากันรีบไปจดทะเบียนหย่าและทำสัญญาแบ่งทรัพย์สินเพื่อหลีกเลี่ยงมิให้โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดทรัพย์พิพาทที่จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของรวมนั้น ถือเป็นทางที่ทำให้โจทก์เสียเปรียบ โจทก์มีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนสัญญาแบ่งทรัพย์สินดังกล่าวได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 237 คนที่เป็นเจ้าหนี้ แม้ยังไม่ได้ฟ้องให้ลูกหนี้ชำระหนี้ ก็มีสิทธิฟ้องเพิกถอนการฉ้อฉลได้ คำพิพากษาฎีกาที่ 3975/2553 การฟ้องขอให้เพิกถอนการฉ้อฉลตาม ป.พ.พ. มาตรา 237 เป็นการให้สิทธิแก่เจ้าหนี้ที่จะสงวนไว้ซึ่งกองทรัพย์สินของลูกหนี้ เพราะทรัพย์สินของลูกหนี้ย่อมเป็นหลักประกันในการชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 214 ดังนั้น เจ้าหนี้ผู้มีสิทธิร้องขอให้ศาลเพิกถอนการฉ้อฉลจึงหมายถึงเจ้าหนี้ที่มีสิทธิเรียกให้ลูกหนี้ชำระหนี้ของตนจากทรัพย์สินของลูกหนี้และต้องเสียเปรียบจากการที่ทรัพย์สินของลูกหนี้ลดลงไม่พอชำระหนี้อันเนื่องมาจากการทำนิติกรรมฉ้อฉลของลูกหนี้ ไม่ว่าเจ้าหนี้ดังกล่าวจะเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาหรือไม่ก็ตาม แม้เจ้าหนี้ในหนี้ที่ยังไม่ได้มีการฟ้องร้องบังคับให้ชำระหนี้ก็มีสิทธิที่จะร้องขอให้เพิกถอนได้เมื่อโจทก์แจ้งความดำเนินคดีอาญาและฟ้องเรียกเงินคืนจากจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ย่อมทราบว่าตกเป็นลูกหนี้ที่จะต้องชำระหนี้ให้แก่โจทก์ การที่จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 โดยเสน่หา และไม่มีทรัพย์สินอื่นที่จะให้โจทก์บังคับคดีได้อีกนอกจากที่ดินพิพาทจำเลยที่ 1 ย่อมรู้อยู่ว่าเป็นทางให้โจทก์เจ้าหนี้เสียเปรียบ โจทก์ย่อมมีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมซึ่งเป็นการฉ้อฉลนั้นเสียได้ อีกเรื่องที่น่าสนใจ คือการที่จะเพิกถอนการฉ้อฉลได้นั้น ต้องพิจารณาดูตัวผู้ทำสัญญากับลูกหนี้ด้วย ว่ารับโอนทรัพย์สินไปโดยสุจริตหรือไม่ คำพิพากษาฎีกาที่ 5572/2552 จำเลยที่  1 มีอาชีพจัดสรรที่ดินขาย โจทก์ไปทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินกับจำเลยที่ 1โดยวางเงินมัดจำไว้ 100,000 บาท จากราคาที่ดิน 2,000,000 บาท   เวลาต่อมา จำเลยที่ 1 กลับเอาที่ดินแปลงดังกล่าวไปจำนองไว้กับจำเลยที่ 5 เพื่อประกันหนี้ค่าวัสดุก่อสร้าง และหลังจากนั้นจำเลยที่ 1 ได้โอนที่ดินแปลงดังกล่าวใช้หนี้แก่จำเลยที่ 5 ทำให้โจทก์เสียเปรียบ ไม่ได้รับชำระหนี้จากจำเลยที่ 1 จึงฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนการการโอนดังกล่าว ซึ่ง ศาลฎีกาได้ตัดสินว่าการจำนองดังกล่าว จำเลยที่ 5 รับจำนองโดยทราบดีว่าที่ดินดังกล่าว จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายกับโจทก์ไว้แล้ว เพราะก่อนรับจำนอง จำเลยที่ 5 ไปดูที่ดินกับจำเลยที่1 ก็เห็นว่าที่ดินดังกล่าวกำลังมีการปลูกสร้างอาคารอยู่ และทราบดีว่าจำเลยที่ 1 มีอาชีพจัดสรรที่ดินขาย ประกอบกับจำเลยที่ 5 มีอาชีพขายวัสดุก่อสร้างย่อมรู้ดีว่าการจัดสรรที่ดินขายนั้น อาจจะทำสัญญาจะซื้อจะขายเฉพาะที่ดิน แล้วให้ผู้ซื้อปลูกสร้างบ้านบนที่ดินเอง อีกทั้งยังทราบดีว่าที่ดินแปลงดังกล่าวที่ตนรับจำนองไว้เป็นที่ดินซึ่งจัดสรรไว้เพื่อขาย การที่มีบ้านปลูกสร้างอยู่บนที่ดิน แสดงให้เห็นว่าที่ดินแปลงดังกล่าวได้มีการทำสัญญาจะซื้อจะขายไปแล้ว เนื่องจากจำเลยที่5 รู้ว่าตัวจำเลยที่ 1 เองก็ไม่มีเงินทุนพอที่จะสร้างบ้านก่อนแล้วจึงขายพร้อมที่ดินแปลงดังกล่าว อีกทั้งการรับจำนองและโอนที่ดินพิพาทนั้นไม่ได้เป็นการดำเนินไปตามปกติ แต่เป็นการโอนจากหนี้ค่าวัสดุก่อสร้างของจำเลยที่ 1 มาเป็นหนี้กู้ยืมเงินแล้วจดทะเบียนจำนอง ทำให้จำเลยที่ 5 ไม่ได้ชำระเงินให้แก่จำเลยที่ 1 เลย  พฤติการณ์ดังกล่าวของจำเลยที่ 1 และที่5 เป็นการรับโอนโดยไม่สุจริต โดยมีเจตนาให้โจทก์ที่เป็นเจ้าหนี้เสียเปรียบ จึงเป็นกรณีต้องด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 237  โจทก์ชอบที่จะฟ้องขอให้เพิกถอนได้ แม้การโอนที่ดินพิพาทจะได้มีการจดทะเบียนแล้วก็ตาม แต่เมื่อจำเลยที่ 5 รับโอนไว้โดยไม่สุจริต จำเลยที่ 5 ย่อมไม่ได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 1300 ซึ่งบัญญัติห้ามมิให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนอสังหาริมทรัพย์เฉพาะกรณีผู้รับโอนเสียค่าตอบแทนและรับโอนมาโดยสุจริตเท่านั้น  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 163 การพัฒนาที่ต้องทบทวน

ไปประเทศอังกฤษเที่ยวนี้ เช่นเคยไม่พ้นภารกิจประชุมกรรมการสหพันธ์ผู้บริโภคสากล (Consumers  International) ซึ่งเป็นเครือข่ายขององค์กรผู้บริโภค 250 องค์กรใน 115 ประเทศทั่วโลก เป็นการประชุมวางแผนงานเพื่อกำหนดยุทธศาสตร์ขององค์กรอีก 5 ปี ว่าจะมีบทบาทอย่างไรในทศวรรษที่ 21 การประชุมครั้งนี้ถกเถียงกันอย่างกว้างขวางว่า จะทำอย่างไรถึงจะแก้ปัญหาหลายมาตรฐานของบริษัทข้ามชาติได้เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน เช่น การปฏิบัติของธนาคารที่มีสาขาทั่วโลกแต่คุ้มครองผู้บริโภคแตกต่างกัน หรือบริษัทอาหารไม่ยอมทำฉลากที่เข้าใจง่ายโดยใช้สีสัญญาณไฟจราจรในประเทศเยอรมนี ประเทศไทย และอีกหลายประเทศ แต่ทำเต็มที่ในประเทศอังกฤษ หรือมาตรฐานความปลอดภัยของรถยนต์ในยุโรปที่เข้มงวดกับบริษัทผู้ผลิตและจำหน่ายรถยนต์ ขณะที่ประเทศอื่นๆ ทั่วโลก ยังผจญกับปัญหาความไม่ปลอดภัยต่อชีวิต ปัญหาชีวิตที่ไม่เท่ากันของผู้บริโภค ท้าทายองค์กรผู้บริโภคทั่วโลก ว่าจะปรับตัวทำงานเชื่อมโยงกันอย่างไรให้มีพลัง การประกาศเพียงอย่างเดียวว่า เราจะให้มี One Ban All Ban Policy ในประเทศอาเซียนหรือทั่วโลกไม่มีความหมายหากทำไม่ได้จริง พลังของผู้บริโภคจะช่วยสนับสนุนสิ่งเหล่านี้ได้อย่างไร นอกจากเรื่องใหญ่ ยังได้เจอสิ่งเล็กแต่เป็นเรื่องใหญ่ของผู้บริโภคทุกคน เพราะเกี่ยวข้องกับกระเป๋าผู้บริโภค คือปัญหาความไม่เป็นธรรมเรื่องราคาสินค้า เช่น ขนมปังปอนด์ขนาดใหญ่น้ำหนักมากกว่าบ้านเรา 2 ปอนด์ ราคาเพียง 50 บาท กาแฟที่ราคาพอๆ กับบ้านเรา กางเกงชั้นในผ้าฝ้ายอย่างดีที่บ้านเรา ราคาเกือบ 80 บาท  แต่ที่โน่นราคาเพียง 50 บาท ซึ่งสอดคล้องกับการทดสอบขององค์กรผู้บริโภคในเบลเยี่ยมที่พบว่า คนบราซิลต้องซื้อรถที่ผลิตในประเทศราคาแพง และคุณภาพแย่กว่ารถของตนเองที่ขายในยุโรป ทำให้คิดถึงรถญี่ปุ่นทุกยี่ห้อที่เราผลิตในประเทศไทย ว่าทั้งคุณภาพและราคารถเป็นแบบเดียวกันกับบราซิลหรือไม่ หรือที่พูดกันอย่างกว้างขวางและรณรงค์กันมากแต่ยังไม่เปลี่ยนแปลง คือเรื่องราคาน้ำมัน ที่เราใช้น้ำมันราคาสิงคโปร์บวก แต่ส่งออกในราคาสิงคโปร์ลบ  หรือเรามีต้นทุนเทียมอยู่ในราคาน้ำมันและสินค้าจำนวนมากในปัจจุบัน ในเมืองใหญ่ๆ ยังได้เห็นถนนที่มีเพียงสองเล็นเล็กๆ มีรถโดยสารสาธารณะที่ให้บริการตรงเวลา ฟุตบาทกว้างให้เดิน ทางจักรยาน และต้นไม้ เราคงไม่ต้องฝัน ถ้าอยากเห็นในกรุงเทพฯ และเมืองอื่นๆ ทั่วประเทศ เห็นทีจะต้องช่วยกันคิดและทำร่วมกันทำ ก่อนมีถนนสี่เลนเต็มทั่วประเทศ ข้ามถนนต้องใช้สะพานลอยกันทุกจังหวัด ใกล้ปีใหม่ ฉลาดซื้อก็ต้องปรับตัวและเปลี่ยนแปลง สมาชิกและคนอ่าน แฟนฉลาดซื้อต้องการให้เราปรับตัวอย่างไร ช่วยกันแจ้งเข้ามา เพราะสังคม ประเทศ โลกเปลี่ยนทุกวัน แต่เราเปลี่ยนไปเพื่ออะไร ช่วยกันหาความหมายและสร้างความเปลี่ยนแปลงร่วมกัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 162 กฎหมายเกี่ยวข้องกับการเงิน

องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคทำท่าจะเป็นหมันเมื่อเจอกฎเหล็กของคสช. ที่มีต่อสนช. ว่า กฎหมายที่สนช. มีสิทธิในการพิจารณาจะต้องไม่เกี่ยวข้องกับการเงิน หากย้อนไปพิจารณากฎหมาย 43 ฉบับที่ค้างท่อรอพิจารณา ซึ่งไม่มีร่างกฎหมายองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผ้บริโภค และทั้ง 43 ฉบับก็เกี่ยวข้องกับการเงินทั้งนั้น แต่สนช. บางคนก็ให้ข้อมูลว่า การเงินที่พูดถึงเป็นการเงินที่กำหนดไว้ในกฎหมายปกติ แต่ไม่ใช่การเงินที่เป็นอิสระ เป็นกองทุน ที่รัฐสภาไม่มีอำนาจในการอนุมัติวงเงิน ต้องจ่ายโดยไม่มีอำนาจใดๆ เป็นอิสระคล้ายๆ กับองค์การอิสระทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือไทยพีบีเอส ฟังดูแล้วเหมือนกับองค์การอิสระจะมีงบประมาณระดับพันล้านหรือหมื่นล้านบาทในการทำงาน แต่การกันเงิน 3 บาทต่อหัวประชากร ที่ถูกกำหนดไว้ในองค์การอิสระ หากคิดเป็นงบประมาณ ประมาณ  190 ล้านบาทต่อปี(บางคนบอกว่าน้อยกว่ามูลค่าห้องน้ำในรัฐสภาแห่งใหม่) การกันเงินเป็นเพียงหลักการเรื่องความอิสระขององค์กรนี้ในการทำงานคุ้มครองผู้บริโภค และมีหลักประกันให้กับองค์กรว่า สามารถทำงานได้ไม่ว่ารัฐบาลจะชอบหรือไม่ชอบองค์กรนี้ ใดยต้องให้เงินองค์กรเพื่อผู้บริโภคนี้ขั้นต่ำ 190 ล้านบาทซึ่งนับว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับจำนวนเงิน 2.4 แสนล้านที่เป็นงบประมาณแผ่นดิน หรือหากเทียบกับเม็ดเงินของกสทช. ที่วางแผนแจกกล่องดิจิตอลในตอนแรก 25,000 ล้านบาท   เรื่องการเงินเป็นอุปสรรคที่สำคัญประการหนึ่งแต่อุปสรรคที่สำคัญกว่า คงเป็นปัญหาจากหน่วยงานคุ้มครองผู้บริโภค ที่ไม่ยอมเสนอกฎหมายฉบับนี้ แถมให้ข้อมูลต่อคณะกรรมการกฤษฎีกาคณะพิเศษว่า กฎหมายฉบับนี้ซ้ำซ้อนกับสคบ. 80% หากเป็นจริงคงไม่ต้องเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญทั้งปี 2540 และ 2550 เพราะองค์การนี้ทำหน้าที่ให้ความเห็นหรือเสนอนโยบาย มาตรการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค เปิดเผยการละเมิดสิทธิผู้บริโภค ส่งเรื่องให้อัยการสูงสุดพิจารณาฟ้องคดี และตรวจสอบการทำงานของสคบ. ว่าสามารถคุ้มครองผู้บริโภคได้มากน้อยแค่ไหนอย่างไร หากจะซ้ำซ้อนก็คงมีเพียงการสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้กับผู้บริโภค ซึ่งยิ่งทำกันมากยิ่งเกิดประโยชน์กับการคุ้มครองผู้บริโภค การปฏิรูปครั้งนี้จะไม่ถึงฝั่ง หากไม่มีการสร้างความเข้มแข็งและเพิ่มเครื่องมือให้กับประชาชน ต้องจัดทำกฎหมายที่ให้อำนาจประชาชน ดำเนินการออกกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภคที่ต่างเฝ้ารอมามากกว่า  16 ปี ประเทศนี้ไม่ได้ขาดแคลนเงิน แต่ขาดคนที่มีวิสัยทัศน์ที่ต้องการแก้ปัญหาประเทศมากกว่าอำนาจของตนเอง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 162 เตรียมพร้อมให้ดี...อย่าให้ผีมารังควาน

ยุคนี้เหมือนยุคทองของพลเมืองดี ผู้บริโภคหลายรายเมื่อพบเห็นการถูกละเมิดสิทธิจากสินค้าต่างๆ เช่น พบสินค้าหมดอายุหรือไม่ได้คุณภาพ มักจะนำข้อมูลเหล่านี้ไปเผยแพร่ในโซเซียลมีเดีย แต่พบว่าผู้บริโภคหลายรายที่พยายามจะเป็นพลเมืองดีกลับถูกผู้ประกอบการที่กระทำผิดย้อนกลับมาข่มขู่ อันที่จริงการข่มขู่เจ้าหน้าที่หรือประชาชน จากผู้ประกอบการที่กระทำผิดมีมานานแล้ว มีหลายรูปแบบ เริ่มต้นอาจแค่ให้คนอื่นมาโน้มน้าวให้ยุติเรื่องโดยมาคุยโดยตรง หรือมาคุยกับคนใกล้ชิดแทน หรือไม่ก็ส่งจดหมายหรือโทรศัพท์มาข่มขู่ มาด้อมๆ มองๆ ให้เห็นเพื่อให้เกิดความหวาดกลัว หรืออย่างรุนแรงถึงขนาดใช้กำลังประทุษร้ายหรือไปแจ้งความข้อหาหมิ่นประมาทก็โดนกันมาแล้ว น้องๆ เภสัชกร ที่เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ก็โดนกันหลายราย “ถ้าเป็นแบบนี้ผู้บริโภคที่พร้อมจะเป็นพลเมืองดีจะทำอย่างไร?” “หากตั้งใจจะทำดี อย่าหวั่นไหวครับ” แต่สิ่งแรกที่เราต้องยึดให้แม่นคือ “ข้อมูลที่เราได้พบเห็นหรือรับรู้มานั้นต้องเป็นข้อเท็จจริง” หลายครั้งที่พลเมืองดีได้ข้อมูลไม่ครบถ้วน แล้วผลีผลามรีบไปดำเนินการ กว่าจะรู้ว่าข้อมูลที่ได้มานั้น มันมีส่วนจริงบ้างไม่จริงบ้างก็ถลำลงไปเยอะแล้ว อันดับแรกขอให้ตรวจสอบให้ชัดว่า ผลิตภัณฑ์อะไร เกิดกับใคร เกิดอันตรายอย่างไร ถ้ารู้จักกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขยิ่งดี ให้เขาช่วยกันตรวจสอบให้ชัดว่าอันตรายที่เกิดขึ้นนั้นมันมาจากผลิภัณฑ์นี้จริงหรือไม่ และพยายามรักษาสภาพเดิมของสินค้าให้มากที่สุด เผื่อบางทีเจ้าหน้าที่จำเป็นต้องส่งตัวอย่างผลิตภัณฑ์ไปวิเคราะห์ เจ้าของสินค้าเขาจะอ้างไม่ได้ว่ามีการสลับเปลี่ยนตัวอย่าง (หรือหากจะส่งพิสูจน์เองควรให้มีเจ้าหน้าที่หรือคนกลางเป็นพยานรับรู้เห็นด้วย) โดยปกติ เมื่อเจ้าหน้าที่ได้รับข้อมูลและพบว่า ผลิตภัณฑ์นั้นๆ อาจจะเกิดอันตราย ก็จะออกประกาศเตือนภัยให้ประชาชนรู้ แต่ผู้บริโภคบางรายหากอยากจะเตือนประชาชนด้วยตัวเองก็สามารถกระทำได้ แต่ขอให้เป็นการแจ้งข้อมูลเพื่อเตือนภัยจากสิ่งที่ตนเองพบ โดยอาจใช้ข้อความในลักษณะว่า “พบผลิตภัณฑ์สินค้าที่แสดงฉลากแบบนี้” ไม่ถูกต้องตามกฎหมายหรือพบว่าทำให้ได้รับความเสี่ยงหรืออันตราย พยายามเลี่ยงข้อความที่ไประบุว่า “ผลิตภัณฑ์ยี่ห้อนั้นทั้งหมด” มันเลวหรืออันตราย เพราะข้อมูลที่พบคือสิ่งที่เราเจอตรงหน้าเท่านั้น “หากเป็นพลเมืองดีแล้วโดนขู่” ขอให้ตั้งสติให้ดี ระลึกไว้เสมอว่าผู้ผลิตสินค้าที่ผิดกฎหมายมักไม่กล้าแสดงตัว เพราะหากแสดงตัวว่าเป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์เมื่อไร ก็จะถูกเจ้าหน้าที่ดำเนินคดีแน่นอน เมื่อตั้งสติได้แล้ว ขอให้ไปแจ้งความลงบันทึกประจำวัน พร้อมทั้งเตรียมข้อมูลเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สินค้าที่น่าจะเป็นมูลเหตุที่ทำให้ถูกขู่ไปด้วย เพื่อจะได้มีการบันทึกข้อมูลให้เห็นความเชื่อมโยงกัน หลังจากนั้นให้ไปแจ้งข้อมูลให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุข ในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภคทราบด้วย (เช่น โรงพยาบาลชุมชน สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด หรือสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา) เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหา แต่หากไม่ประสงค์จะแสดงตัว จะฝากคนอื่นๆ ไปแจ้งข้อมูลแทนตนเอง ขอให้มีข้อมูลที่ละเอียด ชัดเจนครบถ้วน เพื่อที่เจ้าหน้าที่จะได้ดำเนินงานได้อย่างรวดเร็ว ให้กำลังใจพลเมืองดีทุกคนครับ “ถ้ามั่นใจในเจตนาดี อย่าให้ผีมารังควาน”

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 162 Google Translate ตัวช่วยแปลภาษา

เมื่อสัปดาห์ก่อนได้มีโอกาสได้ร่วมงานกับชาวต่างชาติบินตรงมาจากสหรัฐอเมริกา ต้องสปีค ฟุด-ฟิด-ฟอ-ไฟ กันตลอดเวลา ไม่ว่าจะกินข้าว คุยงาน ทำกิจกรรมทุกอย่าง คงเดากันได้ใช่ไหมคะ ว่าความวุ่นวายสำหรับคนที่ใช้ภาษาอังกฤษไม่แข็งแรง จะมีมากมายแค่ไหน บอกตรงๆ ว่าเหนื่อยมากค่ะ บางท่านอาจจะกำลังคิดว่าทำไมไม่หาคนแปลมาช่วย ถูกค่ะ เราหาคนมาช่วยแปลแน่นอน แต่ในบางช่วงเล็กๆ น้อยๆ เราก็ต้องสื่อสารด้วยประโยคภาษาอังกฤษไปบ้างเช่นกัน ถ้าเป็นสมัยก่อนคงต้องหา Talking Dict มาเป็นตัวช่วย แต่กว่าจะหาซื้อ กว่าจะกดแต่ละตัวอักษร คงไม่ได้คุยกันแน่  ดีว่าในปัจจุบันเทคโนโลยีช่วยเราได้มาก แค่ยกสมาร์ทโฟนกดค้นหาแอพพลิเคชั่นสำหรับแปลภาษาก็ช่วยได้มากทีเดียว แอพพลิเคชั่นนี้เป็นที่รู้จักกันดี เป็นของ Google หลายคนคงคุ้นเคยกับการใช้โปรแกรมช่วยแปลภาษาบน Google มาบ้างแล้ว แอพพลิเคชั่นได้ย่อมาไว้บนสมาร์ทโฟน เพื่อให้เข้ากับยุคสมัยของเทคโนโลยีในปัจจุบัน  แอพพลิเคชั่นมีชื่อว่า Google Translate แอพพลิเคชั่น Google Translate  สามารถดาวน์โหลดได้ฟรีบนสมาร์ทโฟน ภายในแอพพลิเคชั่นมีภาษาครอบคลุมมากกว่า 70 ภาษา ขั้นตอนแรกต้องเลือกภาษาที่ต้องการป้อนและภาษาที่ต้องการให้แปลออกมา จากนั้นจะมีวิธีการป้อนคำต่างๆ ได้ 3 วิธี วิธีที่ 1 สามารถพิมพ์ในรูปแบบคีย์บอร์ดปกติ วิธีที่ 2 สามารถกดรูปเส้นด้านขวามือ เพื่อให้มือเขียนเป็นคำที่ต้องการได้เลย และทางแอพพลิเคชั่นจะอ่านข้อความที่เขียนนั้นอัตโนมัติ และวิธีที่ 3 ระบบเสียง ให้กดรูปไมโครโฟนแล้วพูดเป็นเสียง เพื่อให้แอพพลิเคชั่นจับคลื่นเสียงแล้วอ่านเป็นข้อความให้อัตโนมัติ เมื่อแปลภาษาเรียบร้อยแล้ว ด้านหลังประโยคที่แปลจะมีสัญลักษณ์รูปลำโพง สามารถกดเพื่อให้แอพพลิเคชั่นอ่านออกเสียงให้ฟังได้ด้วย  นอกจากนี้ Google Translate  ยังเก็บข้อมูลที่เคยมีการแปลไว้ให้ด้วย เพื่อช่วยเก็บบันทึกการแปลภาษา เพื่อเอาไว้ใช้งานภายหลัง ข้อสังเกตอันหนึ่งสำหรับแอพพลิเคชั่นนี้ ไม่แนะนำให้แปลประโยคยาวๆ เนื่องจากการแปลประโยคที่ซับซ้อนของ Google ยังได้ผลไม่ค่อยดีเท่าที่ควร แต่สามารสรุปใจความได้ในระดับพอใช้ อย่างน้อยแอพพลิเคชั่น Google Translate ก็ช่วยให้ความไม่เข้าใจในภาษาอังกฤษบางคำ เปลี่ยนมาเป็นสามารถสื่อสารกับชาวต่างชาติได้พอสมควร แค่นี้ก็ทำให้รู้สึก ฟุด-ฟิด-ฟอ-ไฟ ได้คล่องขึ้นมานิดนึงล่ะ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 162 กระยาสารท

กระยา หมายถึง ของกิน สารท หมายถึง ฤดู ตามรากศัพท์เดิม หรือหมายถึง วันสารทของไทย ที่ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10 จึงต้องเขียนว่า กระยาสารท ไม่ใช่ กระยาสาด กระยาสารทเป็นขนมโบราณ เดิมจะหากินได้เฉพาะช่วงงานวันสารท ซึ่งเป็นงานบุญประเพณีของไทย ที่เลียนแบบมาจากเมืองแขกอีกที คำว่าสารทในภาษาอินเดีย มีความหมายว่า ฤดูใบไม้ร่วง ซึ่งเป็นเวลาเดียวกันกับฤดูการผลิดอกออกผลของพืชพันธุ์ โบราณจึงถือกันว่าควรจะนำผลผลิตเหล่านั้นมาถวายแด่สิ่งศักดิ์สิทธิ์เพื่อเป็นการสักการะและขอพรให้พืชของตนออกดอกออกผลดกดีในฤดูกาลถัดไป ของไทยเราช่วงเวลาที่ตรงกับระยะข้าวเริ่มออกรวง(ปลายฝนต้นหนาว) ชาวบ้านจะเกี่ยวข้าวที่ยังมีเปลือกอ่อนๆ และเมล็ดยังไม่แก่เอามาคั่ว ตำ ให้เป็นเมล็ดข้าวแบน ๆ ที่เรียกว่า ข้าวเม่า แล้วนำมากวนผสมถั่ว งา น้ำตาล ให้จับตัวกันเป็นขนมสำหรับนำไปทำบุญถวายพระ และแบ่งปันกันในช่วงเทศกาลวันสารทพอดี ขนมกระยาสารทถือเป็นสัญลักษณ์ของผลิตผลทางการเกษตรที่อุดมสมบูรณ์ สมัยก่อนว่ากันว่า ถ้าจะกินกระยาสารทให้อร่อยต้องกินกับกล้วยไข่ คงเพราะว่า กระยาสารทหวานมากกินพร้อมกล้วยไข่ ซึ่งจะสุกในหน้าสารทไทยพอดีนั้น จะช่วยให้ไม่ต้องกินขนมกระยาสารทมากเกินไป เรียกว่าเป็นอุบายอย่างหนึ่งของคนโบราณที่เข้าท่ามากๆ  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 162 ทำไมเครือข่ายผู้บริโภคจึงคัดค้านการแจกคูปอง 1,000 บาท กรณีกล่องดิจิตอลทีวี

วันนี้ ถ้าไม่พูดถึงเรื่องการแจกคูปองเพื่อให้ประชาชนไปแลกซื้อกล่องทีวีดิจิตอล ของ กสทช.  คงเชยแย่....   แต่เอ๊ะ! เรื่องดีๆ อย่างนี้ ทำไมมีทั้งคนสนับสนุน และคัดค้านมากมายจัง    ผู้บริโภคค้านการแจกคูปองราคา 1,000  บาท  เสนอให้กำหนดราคาคูปองเพียง 690 บาท   แต่ผู้ประกอบการทีวีดิจิตอล  กลับค้านการแจกคูปองราคา 690 บาท และสนับสนุนการแจกคูปองราคา 1,000 บาท  โอ้ย...มันกลับหัวกลับหางยังไงกันผู้บริโภคน่าจะดีใจที่ได้คูปอง 1,000 บาท  กลับไม่เอา   ได้มากก็ดีแล้วไง  ทำไมถึงมาค้าน เพราะอะไร?   โดยเฉพาะมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค  เป็น 2 องค์กรที่ออกมาคัดค้านเต็มเหนี่ยว  และโดนสังคมตั้งคำถามมากมายถึงการออกมาคัดค้านเรื่องนี้   ถามจริงๆ ก็ต้องบอกกันตรงๆ ว่า สาเหตุที่คัดค้าน คือ 1. ราคา และ  2. ขั้นตอนการแจกค้านทำไม?  ชัดๆ นะเพราะเงินที่จะนำมาใช้ในการแจกคูปอง  22  ล้าน ครัวเรือน ต้องใช้งบประมาณกว่า 2 หมื่นล้านบาท     แม้จะเถียงว่าเงินนี้ไม่ใช่เงินงบประมาณแผ่นดิน  แต่เป็นเงินที่ได้มาจากการประมูลคลื่นความถี่ ทีวีดิจิตอล(รัฐธรรมนูญกำหนดว่าคลื่นความถี่ “ถือว่าเป็นสมบัติชาติ”) เงินที่นำมาแจกคือเงินของประเทศ    ดังนั้นการใช้เงินนี้ต้องสุจริต โปร่งใส   และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนและประเทศชาติ    การแจก “คูปอง” ไม่ใช่ปัญหา  แต่ปัญหาคือ “การกำหนดราคาคูปอง”แล้วทำไม? เครือข่ายที่ทำงานด้านผู้บริโภค จึงสนับสนุนการแจกคูปอง 690 บาท  คำตอบคือ  เพราะราคากล่องดิจิตอล  500  บาท ผู้ผลิตผู้ขายก็มีกำไรแล้ว(มีบริษัทผู้ผลิตและนักวิชาการออกมายืนยันชัดเจน) การกำหนดราคาคูปอง 1,000 บาท เป็นการกำหนดราคาเกินจริง  คนที่ได้ประโยชน์ไม่ใช่ประชาชน !  เพราะกำหนดราคาที่ 1,000 บาท ผู้ขายกล่องก็จะอัพราคาให้สูงกว่าราคาคูปองอยู่ดี  จะเห็นได้ว่า ตอนแรกที่ กสทช. มีแนวจะกำหนดราคาคูปองที่ 690 บาท ราคากล่องในท้องตลาดเรายังหาซื้อได้ในราคา 600-700 บาท ตอนมีข่าวว่า กสทช.จะกำหนดราคาคูปองใหม่เป็น 1,000 บาท  ราคากล่องก็ขึ้นราคาไปที่ 1,200  บาท   แต่ถึงเวลาเคาะราคาจริงที่ 690 บาท  ราคากล่องก็เริ่มลงราคามาแล้วในหลายยี่ฮ้อ  คงเป็นคำตอบได้อย่างดีว่า  ไม่ว่าจะแจกคูปองราคาเท่าไร   เราก็ต้องจ่ายเพิ่มส่วนต่างอยู่ดี  คนที่ได้ประโยชน์พุงปลิ้น ไม่ใช่ผู้บริโภคประเทศไทยกำลังเข้าสู่โหมดแห่งการปฏิรูป   การปฏิรูป ก่อนอื่น เราต้องมองข้ามผลประโยชน์ส่วนตน   และต้องร่วมแรงร่วมใจรักษาผลประโยชน์ชาติ   ไม่ปล่อยให้เกิดการโกงด้านนโยบายซ้ำซากอีก   มหากาพย์คูปองดิจิตอลยังไม่จบ   ยังมีเรื่องวิธีการแจก  วิธีการจำหน่ายกล่องฯ  ใครจะมีสิทธิขายได้บ้าง จะเอื้อเพียงรายใหญ่  หรือรายเล็กรายน้อยก็มีสิทธิขายได้  ต้องติดตามตอนต่อไป  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 162 น้ำมะเขือเทศกล่อง ขึ้นรา !!! กินไปแล้วทำไงดี

กลายเป็นข่าวครึกโครมบนโลกออนไลน์กันอีกครั้ง เมื่อมีผู้บริโภครายหนึ่ง โพสกระทู้ในเว็บไซด์พันทิปดอดคอม ว่า  “ เตือนภัยน้ำผลไม้ยี่ห้อดัง !!! ”   พร้อมระบุถึงความผิดปกติของน้ำมะเขือเทศที่ดื่มไป และยังได้โพสภาพของสิ่งแปลกปลอมรูปร่างประหลาดที่อยู่ในน้ำมะเขือเทศดังกล่าวไว้ให้คนอื่นเห็นอีกด้วยกรณีนี้เกิดขึ้นเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา คุณคทาธร ได้ซื้อน้ำมะเขือเทศบรรจุกล่อง UHT  ยี่ห้อมาลี จากห้างสรรพสินค้าเดอะมอลล์งามวงศ์วาน เพื่อให้ลูกสาวดื่ม ซึ่งลูกสาวได้เปิดกล่องและดื่มน้ำมะเขือเทศตามปกติ แต่ไม่ได้นำเข้าตู้เย็น ดื่มไปสามวันอย่างต่อเนื่องโดยไม่ได้สังเกตว่าน้ำมะเขือเทศที่ดื่มมีอะไรเจือปนอยู่หรือเปล่าจนเข้าวันที่สามก็ผิดสังเกต เมื่อจะดื่มปรากฏว่าเทน้ำไม่ออก เหมือนมีอะไรอุดอยู่ที่ปากกล่อง จึงลองเขย่า เทแล้วก็ยังไม่ออก ด้วยความสงสัยจึงตัดสินใจบีบกล่อง ดูเพื่อความแน่ใจ สิ่งที่เธอเห็น ทำให้เธอผงะ แทบอาเจียนออกมาเลยทีเดียว เพราะสิ่งแปลกปลอมที่ติดคาอยู่ในกล่อง  มีสภาพเหมือนหนังคางคกตากแห้งแช่น้ำลื่นๆ เหนียวๆ“ถ้ารู้ว่ามีสิ่งนี้แต่แรก คงไม่กินจนหมดแบบนี้ “เธอแจ้งคุณคทาธรผู้เป็นพ่อทันที คุณคทาธร จึงรีบโทรศัพท์แจ้ง Call Center  ผู้ผลิตตามเบอร์โทรศัพท์และเวลาทำการที่ติดอยู่ข้างกล่อง ลองโทรอยู่หลายที แต่ติดต่อไม่ได้ ไม่มีคนรับสาย คุณคทาธรจึงตัดสินใจโพสกระทู้ลงเว็บไซด์พันทิพย์ดอดคอม โดยเพื่อเป็นการเป็นการเตือนให้ผู้บริโภครายอื่นรับรู้ และหวังว่าบริษัทจะรู้ว่าสินค้าของบริษัทมีปัญหา เพื่อบริษัทจะแสดงความรับผิดชอบบ้างหลังจากโพสกระทู้ไปแล้ว ในคืนนั้นเอง ตัวแทนบริษัทก็ติดต่อกลับมา สอบถามรายละเอียดของสินค้ากับลักษณะของสิ่งแปลกปลอมที่พบเจอ พร้อมขอแสดงความรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น แต่คุณคทาธร คิดว่าปัญหาที่เกิดขึ้น แม้จะเป็นเรื่องการซื้อสินค้าของตนเอง แต่สินค้าดังกล่าวเป็นสินค้าที่มีขายอยู่จำนวนมาก อาจมีผู้บริโภคคนอื่นที่เจอปัญหาแบบตน และเพื่อให้บริษัทตรวจสอบหาความจริงของสิ่งปลกปลอมนี้ คุณคทาธร จึงตัดชิ้นสิ่งแปลกปลอมครึ่งหนึ่งให้กับบริษัทเพื่อนำไปวิเคราะห์หาสาเหตุ โดยอีกส่วนหนึ่งจะขอนำส่งให้มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ให้ตรวจสอบปัญหา เพื่อให้เป็นกรณีตัวอย่างกับประชาชนผู้บริโภคต่อไป แนวทางแก้ไขปัญหา แม้ว่ากรณี บริษัทได้แถลงการณ์ชี้แจงปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างทันที สรุปได้ว่า  เบื้องต้นกรณีนี้สามารถเกิดขึ้นจาก micro leak คือ รอยรั่วที่มีขนาดเล็กมากเฉพาะอากาศที่ผ่านเข้าไปได้เท่านั้น น้ำจะไม่สามารถไหลซึมออกมาได้ โดยอากาศจะค่อยๆ ซึมผ่านเข้าไปภายในกล่อง ทำให้จุลินทรีย์เติบโตกลายเป็นสิ่งแปลกปลอมลักษณะดังกล่าวได้ ซึ่งสิ่งนี้อาจเกิดขึ้นได้จากการกระแทกระหว่างขนส่ง หรือทางร้านอาจมีการทำกล่องตกหล่นแล้วนำกลับขึ้นไปวางใหม่ ทำให้บรรจุภัณฑ์ชำรุดได้เช่นกันแต่การแถลงการณ์ชี้แจงปัญหาที่เกิดขึ้นของบริษัท โดยที่ยังไม่มีการตรวจสอบหาสาเหตุหรือวิเคราะห์ตัวอย่างสิ่งแปลกปลอมดังกล่าวอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการนั้น อาจจะยังไม่เป็นคำตอบสุดท้ายของผู้บริโภค  ที่หวังว่าปัญหาแบบนี้จะไม่เกิดขึ้นอีกเนื่องจากหากลองย้อนไปค้นข้อมูลในโลกออนไลน์ดูแล้วจะพบว่า ปัญหาน้ำผลไม้บรรจุกล่องที่เจอสิ่งปนเปื้อนแปลกปลอมนี้มีเกิดขึ้นโดยตลอด ซึ่งคำตอบของบริษัทที่ออกมาล้วนไม่แตกต่างกัน คือ เกิดจากระบบการขนส่งที่มีปัญหา ทำให้กล่องผลิตภัณฑ์มีรูรั่ว ทำให้อากาศที่มีเชื้อราและเชื้อจุลินทรีย์ต่างๆ ปนเปื้อนเข้าไปในกล่องผลิตภัณฑ์และเป็นสาเหตุให้ผลิตภัณฑ์เสียและเกิดก้อนเชื้อราดังกล่าว ดังนั้นจะเห็นได้ว่าปัญหาดังกล่าว บริษัทรับรู้รับทราบ แต่ก็ยังไม่สามารถจัดการปัญหาที่เกิดขึ้นได้ ซึ่งแน่นอนไม่มีใครรับรองได้ว่าปัญหาจะไม่เกิดขึ้นอีก หรือเกิดขึ้นแล้วแต่ไม่มีใครรู้ จึงเป็นหน้าที่ของบริษัทหรือผู้ผลิตที่จะออกมาตรการกำกับดูแลอย่างจริงจังเพื่อป้องกันและไม่ให้เกิดปัญหาลักษณะแบบนี้ขึ้นอีกในอนาคตดังนั้น  เพื่อให้เกิดความไว้วางใจและความเชื่อมั่นในผลิตภัณฑ์น้ำผลไม้ของบริษัท วันที่  31 กรกฎาคม 2557   บริษัทจึงได้ขอเข้ามาชี้แจงสาเหตุและแนวทางแก้ไขปัญหาของบริษัทต่อผู้บริโภคร่วมกับคุณคทาธรที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค 1.  บริษัทขอชี้แจงว่า ผลการวิเคราะห์จากตัวอย่างของผู้ร้องนั้น เป็นเชื้อรา Aspergilus  ที่น่าจะเกิดจากฝาเปิดกล่องที่ตรวจสอบพบรอยรั่ว สันนิษฐานว่า สินค้าอาจได้รับการกระแทกหรือตกหล่นในระหว่างการขนส่ง  และบริษัทจะส่งตรวจสอบเพิ่มเติม กับ หน่วยงานกลาง ได้แก่  หน่วยงานวิจัยของม.มหิดล และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์  ซึ่งน่าจะทราบผลประมาณ 30 วันทำการ2.  บริษัทจะมีมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหา  ตั้งแต่กระบวนการผลิต , ระบบการขนส่ง  และระบบการจัดเก็บของตัวแทนจำหน่ายจนถึงมือผู้บริโภค3.  บริษัทฯ จะเข้าไปชี้แจง  ในกระทู้ที่ร้องเรียน  มาลีสัมพันธ์ , เว็บพันทิปส่วนมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ในฐานะองค์กรรับเรื่องร้องเรียน เบื้องต้นนำน้ำมะเขือเทศกล่องใหม่ยี่ห้อดังกล่าว มาทดสอบด้วยการเปิดเทดื่มโดยไม่ได้นำเข้าเก็บในตู้เย็นเป็นเวลา 3 วันติดต่อกัน ตามแบบคุณคทาธร เพื่อต้องการพิสูจน์ว่าสาเหตุของการมีเชื้อราไม่ใช่เกิดจากการดื่มน้ำมะเขือเทศแล้วไม่นำเข้าตู้เย็น ซึ่งผลการทดสอบก็ไม่พบเชื้อราหรือสิ่งแปลกปลอมในกล่องน้ำมะเขือเทศแต่อย่างใด ซึ่งขั้นตอนต่อไปของมูลนิธิฯ นั้นจะนำตัวอย่างเชื้อราหรือสิ่งแปลกปลอมที่พบในกล่องน้ำมะเขือเทศของผู้ร้องนำส่งหน่วยงานด้านโภชนาการวิเคราะห์ตัวอย่างปัญหา เพื่อให้เป็นข้อมูลเฝ้าระวังสำหรับผู้บริโภคต่อไปขอฝากสำหรับผู้บริโภคเอง ก็มีหน้าที่ต้องตระหนักถึงความปลอดภัยในการบริโภคสินค้าด้วยเช่นกัน เช่น การเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่มีวันหมดอายุ ไม่มีรอยบุบหรือชำรุดเสียหาย การรับประทานน้ำผลไม้บรรจุกล่องแบบนี้ ควรนำเข้าตู้เย็นทุกครั้งเมื่อรับประทานเสร็จ และควรต้องรับประทานให้หมดภายใน 3 วัน เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภคเองด้วย

อ่านเพิ่มเติม >