ฉบับที่ 156 หลับไม่เต็มตื่น

เช้าตรู่ (ประมาณ 5.45 น) ของวันหนึ่งในเดือนมกราคม 2557 ผู้เขียนได้ดูสารคดีสั้นจากสถานีโทรทัศน์ช่องหนึ่ง ซึ่งมีรายการข่าวค่อนข้างเช้าให้ข้อมูลว่า ถ้าตื่นขึ้นมากลางดึกแล้วดื่มนมจะทำให้กลับไปนอนหลับต่อได้ดี โดยให้เหตุผลซึ่งฟังแล้วรู้สึกว่า คนจัดหาข้อมูลนั้นพยายามน้อยไปหน่อยหรือขาดความรู้ทางวิทยาศาสตร์โดยสิ้นเชิงอย่างน่าใจหาย จึงเขียนเหตุผลทำให้พิธีกรหญิงต้องเพ้อเจ้อว่า การดื่มนมทำให้ผู้ดื่มระลึกถึงสมัยเป็นทารกที่ได้ดื่มนมแม่แล้วรู้สึกสบายจึงนอนหลับได้ ผู้เขียนแทบไม่เชื่อหูในเหตุผลดังกล่าว แต่ก็ฉุกใจว่าควรคิดให้รอบคอบก่อน มันอาจจะเป็นความรู้ใหม่ที่มีผู้รู้ค้นพบ ดังนั้นจึงลองใช้ google ค้นหาคำอธิบายในเรื่องดังกล่าวจากคนไทยทั่วไปในอินเตอร์เน็ตก็พบว่า ส่วนใหญ่แล้วอธิบายประเด็นคำถามนี้ด้วยเหตุผลเดิมๆ ว่า การดื่มนมแล้วนอนหลับง่ายขึ้นเพราะ นมนั้นเป็นเครื่องดื่มที่มีกรดอะมิโนอิสระคือ ทริปโตเฟน ซึ่งร่างกายเราสามารถดูดซึมแล้วนำไปเปลี่ยนแปลงเป็นสารชีวเคมีชื่อ เมลาโทนิน (Melatonin) ซึ่งออกฤทธิ์ที่สมองซึ่งเป็นตัวควบคุมการนอนหลับของมนุษย์และสัตว์ชั้นสูงส่วนใหญ่   ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์กล่าวว่า ชื่อทางชีวเคมีของเมลาโทนินคือ N-[2-(5-methoxy-1H-indol-3-yl)ethyl]acetamide ซึ่งเป็นสารที่ถูกสร้างภายในต่อมไพเนียล (Pineal gland) ซึ่งเป็นต่อมไร้ท่อในสมองโดยใช้กรดอะมิโนทริปโตเฟน ซึ่งได้จากการกินอาหารและการสลายตัวของโปรตีนในร่างกายเป็นสารตั้งต้น แล้วส่งไปทำงานทั่วร่างกาย จึงถูกจัดว่าเป็นฮอร์โมนธรรมชาติ ซึ่งก่อให้เกิดความรู้สึกเฉื่อยชารวมถึงอุณหภูมิของร่างกายลดต่ำลง ร่างกายจึงเข้าสู่สภาวะต้องการนอนหลับ การหลั่งของฮอร์โมนชนิดนี้ถูกกระตุ้นโดยความมืดและถูกยับยั้งโดยแสง ระดับของเมลาโทนินลดลงอย่างรวดเร็วในช่วงเช้ามืดของวันใหม่ และมีต่ำมากในตอนกลางวันถ้าอยู่ในที่มีแสงสว่าง ดังที่เราเกือบทุกคนเป็นเหมือนกันคือ ถ้าอยู่ในที่มืดนาน ๆ จะเกิดอาการง่วงนอน ดังนั้นอุบัติเหตุที่เกิดเนื่องจากการเดินทางด้วยพาหนะจึงมักเกิดตอนกลางคืน ส่วนอุบัติเหตุทางถนนที่เกิดตอนกลางวันมีแดดจ้านั้นคงไม่เกี่ยวกับเมลาโทนิน แต่คงเป็นเพราะร่างกายมันล้า อ่อนเพลียทนไม่ไหวแล้วมากกว่า ระดับของเมลาโทนินนั้นเพิ่มขึ้นสูงสุดในเด็กที่มีสุขภาพดีทั่วไปช่วงหลังเที่ยงคืน ส่วนผู้สูงอายุนั้นระบบการสร้างเมลาโทนินจะเริ่มเสื่อมลงเรื่อยๆ การศึกษาในสัตว์ทดลองแสดงให้เห็นว่า การหลั่งเมลาโทนินลดลงมีความสัมพันธ์กับกลไกการชราภาพ ซึ่งเป็นคำอธิบายทางวิทยาศาสตร์ว่า ทำไมผู้สูงอายุจึงพบกับปัญหาในการนอนไม่หลับมากกว่าผู้ที่อายุยังน้อย เมลาโทนินนี้เป็นสารชีวเคมีที่พบในพืชด้วย กล่าวกันว่าสารชีวเคมีนี้ทำหน้าที่เกี่ยวกับการเจริญเติบโตของส่วนลำต้นของพืชแต่ลดการเจริญของราก และที่สำคัญคือเป็นสารต้านออกซิเดชั่นซึ่งพืชที่กำลังเจริญเติบโตต้องการมาก สารนี้พบได้ในพืชหลายชนิดได้แก่ feverfew (ลักษณะคล้ายดอกเก็กฮวย) Saint John’s wort ข้าว ข้าวโพด มะเขือเทศ ผลไม้หลายชนิดเช่น กล้วย สับปะรด เชอรี่ องุ่น และส้ม และที่เป็นที่รู้กันว่าดื่มเมื่อไรมีโอกาสหลับได้ง่ายคือ ไวน์และเบียร์ ดังนั้นการบริโภคอาหารดังตัวอย่างที่กล่าวถึงนี้ ความเข้มข้นในเลือดของเมลาโทนินย่อมสูงขึ้นได้ ส่งผลให้ท่านอาจหลับในช่วงเวลาทำงานได้ไม่ยาก ซึ่งน่าจะใช้เป็นเหตุผลในการอ้างถึงการหลับกลางวันของหลายท่านได้อย่างมีเหตุผลทางวิทยาศาสตร์ กระบวนการผลิตเมลาโทนินไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในมนุษย์เท่านั้น สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทั้งหมดก็ผลิตเมลาโทนินในเวลากลางคืนได้เช่นกัน โดยเฉพาะวัวจะผลิตด้วยกลไกเดียวกันกับมนุษย์ โดยส่งผ่านจากกระแสเลือดเข้าไปในน้ำนม ทั้งนี้ปริมาณเมลาโทนินขึ้นอยู่กับช่วงเวลาของกลางวันและกลางคืน ผสมผสานไปกับอาหารที่วัวได้รับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้ระบบแสงที่ออกแบบพิเศษในการเลี้ยงวัวนม มีผู้รายงานว่าน้ำนมนี้มีเมลาโทนินสูงขึ้นกว่านมทั่วไปถึง 1 ใน 3 เท่าของนมปกติ จึงมีมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งร่วมกับบริษัทผลิตนมบริษัทหนึ่งในประเทศไทยขอจดสิทธิบัตรกรรมวิธีการผลิตแบบนี้เรียบร้อยแล้ว อีกทั้งยังอยู่ในระหว่างการขอจดทะเบียนยาอีกด้วย ซึ่งประการหลังนี้ผู้เขียนค่อนข้างประหลาดใจในความคิดเป็นอย่างมากว่ามันจะเป็นไปได้อย่างไร เพราะยังไม่เห็นผลการศึกษาในคนว่า คนที่ดื่มนมพิเศษนี้นอนหลับง่ายกว่าคนที่ดื่มนมปรกติ ผู้เขียนเป็นคนมีกรรม เวลาต้องไปนอนต่างถิ่นมักนอนไม่ค่อยหลับ ยิ่งถ้าต้องไปนอนในต่างประเทศยิ่งมีปัญหาเนื่องจากเวลาเปลี่ยนไป อาการนี้หลายท่านคงทราบดีว่าฝรั่งใช้ศัพท์ว่า Jet lag มีงานวิจัยหลายชิ้นที่รายงานความไม่แน่นอนเกี่ยวกับประสิทธิภาพของเมลาโทนินในการแก้อาการ Jet lag ด้วยวิธีการวิเคราะห์อภิมาน (Meta-analysis) [เป็นวิธีการนำงานวิจัยหลาย ๆ ชิ้นที่ทำเรื่องเดียวกัน แล้วนำมาตัดสินความน่าจะเป็นไปได้โดยรวมด้วยวิธีทางสถิติชั้นสูง เพื่อให้ได้คำตอบว่า ประเด็นที่เป็นปัญหานั้นใช่หรือไม่ แต่สถิติก็คือสถิติซึ่งเป็นวิชาที่เข้าถึงได้ยากของคนทั่วไป] ที่เปิดเผยข้อมูลโดย องค์กรความร่วมมือคอเครน (Cocrane) ของประเทศอังกฤษว่า การใช้เมลาโทนินที่ปริมาณ 0.5 - 5 มิลลิกรัมหรือไม่ใช้ในคนที่มีสภาวะ Jet lag นั้นให้ผลในการบรรเทาอาการไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ แต่หากใช้ที่ปริมาณมากกว่า 5 มิลลิกรัมขึ้นไปจะทำให้เวลาในการเคลิ้มหลับสั้นลง และยิ่งเห็นผลชัดมากขึ้นในคนที่ข้ามโซนเวลาคือ บินจากทิศตะวันออกไปทางทิศตะวันตก การวิเคราะห์อภิมานอื่นๆ กลับพบว่า เมลาโทนินไม่ได้ทำให้เกิดประโยชน์ได้อย่างชัดเจนสำหรับอาการ Jet lag รวมทั้งไม่ได้ช่วยให้นอนหลับง่ายขึ้นในกรณีที่เกิดอาการนอนไม่หลับสำหรับผู้ที่ทำงานเป็นกะ นอกจากนี้เวลานอนหลับโดยรวมก็ไม่ได้นานอย่างมีนัยสำคัญ ดังนั้นการจะบริโภคเมลาโทนินเพื่อช่วยในการนอนหลับนั้น ผู้บริโภคควรใช้วิจารณญาณอย่างเต็มที่ ครั้งหนึ่งเคยมีผู้ถามขณะฟังการบรรยายวิชาการของผู้เขียนว่า “เวลานอนไม่หลับกลางดึกของคืนที่ต้องนอนให้หลับเพราะพรุ่งนี้มีกิจกรรมสำคัญต้องทำ ควรทำอย่างไรเพื่อให้หลับ” คำตอบจากผู้เขียนนั้นอาจไม่ใช่คำตอบที่เป็นยาครอบจักรวาล แต่มักใช้ได้ผลกับผู้เขียนเองคือ “ช่างหัวมัน อย่าหวังว่าจะหลับ ปล่อยตามสบาย ถ้าจะไม่หลับก็แสดงว่า ร่างกายพักผ่อนพอแล้ว ให้ทำเป็นนอนเล่นสบาย ๆ ไม่คิดอะไร จากนั้นเผลอประเดี๋ยวเดียว เช้าแล้ว” สำหรับผู้เขียนในปัจจุบันนี้สามารถนอนหลับได้ง่ายเพราะ สามารถทำใจให้โปร่งสบาย ไม่คิด (แค้นใคร) ไม่เครียด (เพราะเกษียณแล้ว) และไม่เข้านอนหลัง 4 ทุ่ม (เพราะรายการทีวีไม่ค่อยได้เรื่อง กำลังรอดิจิตอลทีวีอยู่) ส่วนการกินอาหารที่มีเมลาโทนินหรือสารตั้งต้นคือ ทริปโตเฟน นั้นก็เป็นตัวช่วยได้ในกรณีที่นอนหลัง 4 ทุ่ม ได้ผลบ้างไม่ได้ผลบ้างตามบุญตามกรรม แต่ไม่เคยกินสารเมลาโทนินที่สังเคราะห์ใส่ขวดขายเพราะมันเป็นกาลกิณีต่อกระเป๋าสตางค์นั่นเอง   //

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 156 คู่มือนักร้อง (เรียน) ตอนที่ 1

คอลัมน์เรื่องเล่าเฝ้าระวัง ได้นำเสนอข้อมูลผลิตภัณฑ์ที่มีความเสี่ยงต่อสุขภาพมาหลายฉบับแล้ว และเป็นข่าวดีที่ผู้เขียนทราบว่า ผู้บริโภคที่ติดตามอ่านคอลัมน์นี้หลายท่าน ได้ลุกขึ้นมาเป็นหูเป็นตาในการเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์ที่ไม่ปลอดภัยในท้องตลาด  โดยแจ้งข้อมูลผลิตภัณฑ์อันตรายที่ตนพบเห็นไปให้หน่วยงานราชการดำเนินการต่อ แต่เนื่องจากข้อมูลที่ส่งต่อบางชิ้นมีรายละเอียดไม่มากพอ เจ้าหน้าที่จึงไม่สามารถนำข้อมูลไปดำเนินการต่อได้ทันที ทำให้ต้องไปเริ่มต้นหาข้อมูลกันใหม่อีกรอบ เพื่อให้ประชาชน ผู้บริโภค และเครือข่ายต่างๆ สามารถรวบรวมข้อมูล หลักฐานต่างๆ ได้อย่างครบถ้วน ผู้เขียนขอนำเสนอวิธีง่ายๆ ในการดำเนินการรวบรวมข้อมูลก่อนส่งเรื่องร้องเรียน โดยมีคาถาง่ายๆ ที่ควรท่องให้ขึ้นใจดังนี้ ข้อมูลพร้อมพรรค -  หลักฐานครบถ้วน – เรื่องด่วนส่งทัน – ช่วยกันบอกต่อ  ก่อนที่เราสวมวิญญาณจะเป็นพลเมืองดี นำข้อมูลมาร้องเรียนกับเจ้าหน้าที่นั้น  เราควรตรวจสอบข้อมูลต่างๆ ที่เรามีว่าครบถ้วน สมบูรณ์หรือไม่ เพราะถ้าข้อมูลที่เราส่งต่อให้เจ้าหน้าที่นั้นครบถ้วนหรือเพียงพอ เจ้าหน้าที่ก็จะสามารถนำไปดำเนินการได้ทันที แต่ถ้าข้อมูลที่เราร้องเรียนไม่ครบถ้วน ขาดข้อมูลที่สำคัญ เจ้าหน้าที่ก็ไม่สามารถนำไปดำเนินการได้ และจะทำให้เจ้าหน้าที่ต้องเสียเวลาในการรวบรวมข้อมูลเพิ่มเติม จนอาจทำให้เรื่องที่เราร้องเรียนล่าช้าไม่ทันเหตุการณ์ มี 4 ขั้นตอนง่ายๆ ให้เราตรวจสอบความพร้อมในการร้องเรียนดังนี้   1. ข้อมูลพร้อมพรรค ในขั้นตอนนี้ ขอให้เราตรวจสอบข้อมูลที่เราจะนำไปร้องเรียนว่าครบถ้วน หรือเพียงพอหรือไม่ จากประสบการณ์พบว่า ข้อมูลที่ครบถ้วนจะประกอบด้วยประเด็นหลักๆ ดังนี้ 1) ชื่อผู้ร้องเรียน หรือผู้บันทึกข้อมูล ตลอดจนที่อยู่ หรือเบอร์โทรศัพท์เพื่อให้เจ้าหน้าที่สามารถติดต่อได้ หากต้องการข้อมูลรายละเอียดต่างๆ เพิ่มเติมในภายหลัง 2) ควรตรวจสอบหน่วยงานที่เราจะร้องเรียนให้ถูกต้อง  เช่น ร้องเรียนเรื่องผลิตภัณฑ์สุขภาพ(อาหาร ยา เครื่องสำอาง ฯลฯ) ให้ร้องเรียนที่ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด โรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล กรณีที่เป็นการโฆษณาผ่านสื่อโทรทัศน์และวิทยุสามารถร้องเรียนไปยังสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ 3) ระบุสื่อที่พบการโฆษณาและข้อมูลเกี่ยวกับสื่อดังกล่าวให้ชัดเจนที่สุด เช่น วัน เวลาที่พบการโฆษณา พื้นที่ที่พบโฆษณา คลื่นความถี่/ช่องรายการ  ชื่อสถานี ชื่อรายการ  ชื่อผู้จัดรายการ 4) รายละเอียดข้อมูลผลิตภัณฑ์ที่โฆษณา เช่น ชื่อผลิตภัณฑ์ และถ้าทราบว่าผลิตภัณฑ์นั้นเป็นยา อาหาร เครื่องสำอาง เครื่องมือแพทย์ วัตถุอันตรายให้ระบุไปด้วย  นอกจากนี้ หากเป็นไปได้ให้ตรวจสอบด้วยว่าโฆษณานั้นมี เลขที่โฆษณาผลิตภัณฑ์ หรือไม่ ทั้งนี้ต้องไม่สับสนระหว่างเลขที่อนุญาตโฆษณา กับเลขทะเบียนผลิตภัณฑ์ เช่น เลขทะเบียนตำรับยา หรือเลขทะเบียนตำรับอาหาร หรือเลขที่จดแจ้งเครื่องสำอาง 5) รายละเอียดวิธีการโฆษณา เช่น การจัดรายการ มีผู้เล่าประสบการณ์ สปอตโฆษณา หรืออื่น ๆ 6) ประเด็นที่เราสงสัยว่าไม่ถูกต้องหรือไม่ปลอดภัย  เช่น การอวดอ้างสรรพคุณอย่างเกินจริง หรือมีการรับรองสรรพคุณอย่างไม่น่าจะเป็นไปได้ เราสามารถตรวจสอบเบื้องต้นได้เองโดยเปรียบเทียบกับข้อกฎหมายในกฎหมายยา อาหาร หรือกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง (ต่อฉบับหน้า)   //

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 156 มติแพทยสภามีผลผูกพันคู่ความและศาลแค่ไหน ตอน 5

ความเห็นต่อเนื่องจากคดีคนไข้ฟ้องร้องแพทย์ โดยอาจารย์นพพร  โพธิรังสิยากร ...   4.เมื่อแพทย์ต้องได้รับความยินยอมในการรักษาจากคนไข้  ความคิดเดิมที่ Hippcrates เชื่อว่าแพทย์รักษาดีที่สุดตามหลัก Patermityship โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากคนไข้จึงได้รับการพิจารณาใหม่ว่า  เมื่อเป็นดังนี้แพทย์ยังจะต้องรักษาคนไข้ในระดับมาตรฐานดีที่สุดหรือไม่  จนต่อมาได้มีคำประกาศ ณ กรุงเจนีวา ค.ศ. 1948 ( the Declaration of Geneva in 1948 amended in Sydney in 1968) ว่าแพทย์ยังจะต้องประกอบวิชาชีพในระดับดีที่สุด โดยถือเป็นจริยธรรมในการรักษาคนไข้เรียกว่าหลัก best practice  อย่างไรก็ดี  แม้องค์กรแพทย์จะถือว่าโดยจริยธรรมแพทย์ต้องรักษาดีที่สุดก็ตาม  แต่ความเห็นในวงการกฎหมายกลับมีความเห็นแตกต่างไปจากเดิม  โดยเห็นว่าการรักษาดีที่สุดไม่มี และมีไม่ได้ เหตุที่มีผู้เห็นว่าการรักษาดีที่สุดไม่มี เป็นการพิจารณาตามสภาวะความเป็นจริง เช่น แพทย์ไปพบคนเจ็บนอนข้างทาง  แพทย์ทำการรักษาเบื้องต้น โดยไม่มีเครื่องมืออุปกรณ์ครบครันเป็นการรักษาดีที่สุดหรือไม่ หากไม่ใช่การรักษาดีที่สุดก็ต้องถือว่าแพทย์ประมาท เพราะทำการรักษาต่ำกว่ามาตรฐานที่กำหนดว่า ต้องดีที่สุด แพทย์ประจำอนามัยมีเครื่องมือน้อยกว่าแพทย์ประจำอยู่โรงพยาบาลชุมชนหากรักษาคนไข้ย่อมเรียกได้ว่าเป็นการรักษาไม่ดีที่สุด  หากเป็นเช่นนี้จะมีแพทย์ประจำอนามัยที่กล้ารักษาประชาชนได้อย่างไร   แพทย์ประจำโรงพยาบาลชุมชน มีเครื่องมือไม่เท่ากับโรงพยาบาลประจำจังหวัดแม้จะสามารถผ่าตัดเล็กน้อยได้  แต่ไม่มีวิสัญญีประจำโรงพยาบาลชุมชน  หากมีการผ่าตัดก็ต้องถือว่าเป็นการรักษาไม่ดีที่สุด  เช่นนี้แล้วแพทย์ประจำโรงพยาบาลชุมชนจะกล้าผ่าตัดช่วยคนไข้หรือไม่ แพทย์ประจำโรงพยาบาลประจำจังหวัด มีเครื่องมือและประสบการณ์น้อยกว่าผู้เชี่ยวชาญในโรงพยาบาลชั้นดีในกรุงเทพมหานคร  การรักษาของแพทย์ในโรงพยาบาลประจำจังหวัดก็ต้องถือว่าไม่ดีที่สุดเช่นกัน แพทย์ประจำโรงพยาบาลชั้นนำในกรุงเทพมหานคร  ก็หาใช่จะรักษาดีเท่ากับแพทย์ในโรงพยาบาลชั้นนำของโลกที่มีเครื่องมืออุปกรณ์การแพทย์ทันสมัยที่สุด  หากเป็นเช่นนี้เท่ากับไม่มีการรักษาที่ดีที่สุดในประเทศไทย แล้วจะมีแพทย์รักษาคนไข้ในประเทศนี้ได้อย่างไร ด้วยเหตุนี้จึงมีผู้เห็นว่าการรักษาดีที่สุดไม่มี  และมีไม่ได้ เนื่องจากหากมีการรักษาดีที่สุดแล้วก็คงไม่ต้องมีการวิจัยพัฒนาวงการแพทย์ให้ดียิ่งขึ้นเนื่องจากเป็นการรักษาดีที่สุดอยู่แล้ว  เช่นนี้เท่ากับเป็นการหยุดยั้งพัฒนาการในวงการแพทย์  ซึ่งหาเป็นสิ่งที่ถูกที่ควรไม่  ดังนั้น วงการกฎหมายในประเทศต่างๆ จึงมิได้ถือเอาจริยธรรมของการประกอบวิชาชีพเวชกรรมแพทย์ในระดับดีที่สุดเป็นมาตรฐานว่าแพทย์กระทำการด้วยความประมาทเลินเล่อหรือไม่ ( Puteri N. J. Kassim , op.cit . , p.41 ) ด้วยเหตุนี้จึงมีคำวินิจฉัยของศาลในประเทศสหรัฐอเมริกาและอังกฤษวินิจฉัยปฏิเสธมาตรฐานในการรักษาในระดับดีที่สุด เช่น คดี Osbom v. Irwin Memorial BloodBank ( 7 CalRptr. 2d , 101 ( Ct.App.Cai.1991 ) ที่เด็กอายุ 3 อาทิตย์ต้องรับการผ่าตัดหัวใจและได้รับการให้เลือด แต่เลือดมีเชื่อ HIV เนื่องจากโรงพยาบาลไม่มีเครื่องมือตรวจสอบเบื้องต้นว่าเลือดที่ได้รับบริจาคมีเชื้อ HIV หรือไม่  ซึ่งมิใช่การรักษาที่ดีที่สุด  แต่ศาลเห็นว่าทางปฏิบัติของโรงพยาบาลแม้มิใช่วิธีการดีที่สุดแต่ก็เป็นไปตามมาตรฐานการรักษาทั่วไป ( Standard Practice ) ของวิธีปฏิบัติในการรักษาในเวลานั้น(custom at the time ) จึงไม่ถือว่าเป็นความประมาท หลังจากนั้นได้มีคดี Nowatske v. Osterioh ( 198 Wis 2d 419 , 543 NW 2d. 265 (1996 )  และคดี Vergara v. Doan ( 593 NF 2d 185 ( ind. 1992 ) วางหลักวินิจฉัยในทำนองเดียวกันว่า  มาตรฐานในการรักษาไม่จำต้องถือมาตรฐานการรักษาดีที่สุด  และไม่จำเป็นต้องใช้มาตรฐานเดียวกันทั้งประเทศ ( national  standard ) แต่จะเป็นมาตรฐานใดย่อมแล้วแต่สภาพ  สภาวะแห่งท้องถิ่นแต่ละที่เป็นหลัก ( Locality rule ) ซึ่งในคดี Vergara v.Doan ได้วางหลักว่าแพทย์ในเมืองเล็กย่อมมีมาตรฐานต่ำกว่าแพทย์ในเมืองใหญ่  แพทย์ทั่วไปย่อมมีมาตรฐานต่ำกว่าแพทย์ผู่เชี่ยวชาญเฉพาะทาง แพทย์ในโรงพยาบาลของรัฐย่อมมีมาตรฐานต่ำกว่าแพทย์ของโรงพยาบาลเอกชนที่เรียกค่ารักษาสูงกว่าแพทย์ในโรงพยาบาลของรัฐ  ทำให้เกิดหลักในการกำหนดมาตรฐานในการรักษาของแพทย์ขึ้นใหม่แทนการใช้หลักการรักษาดีที่สุด ( best practice ) มาเป็นการพิจารณามาตรฐานในการรักษาตามสภาพและสถานที่ที่มีการรักษานั้น  (Current Accepted Medical Practice) แนวความคิดในการกำหนดมาตรฐานในการรักษาตามหลัก Current Accepted   Practice ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง  ทำให้ศาลในประเทศต่างๆ  ถือเป็นแนวในการกำหนดมาตรฐานการรักษาของแพทย์ สำหรับประเทศไทยนั้น  คณะกรรมการแพทย์สภาได้มีการนำแนวความคิดังกล่าวไปทำการแก้ไขปรับปรุงข้อบังคับแพทย์สภาเสียใหม่ ดังนี้ “  ข้อบังคับแพทยสภาว่าด้วยการรักษาจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ.๒๕๔๙ หมวด ๔ การประกอบวิชาชีพเวชกรรมในระดับดีที่สุดในสถานการณ์นั้นๆ ภายใต้ด้วยความสามารถและข้อจำกัดของภาวะ วิสัย และพฤติการณ์ที่มีอยู่ “  ( ราชกิจจานุเบกษา , เล่ม ๑๒๓ ตอนพิเศษ ๑๑๕ ง วันที่ ๑ พฤศจิกายน ๒๕๔๙ หน้า ๒๔ )   ไว้มาต่อตอนจบ(จริงๆ) กันในฉบับหน้านะครับ   //

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 156 100 ปี หมอยา

เมื่อวันที่ 10- 12  มกราคม 2557  เป็นวันจัดงาน “100  ปี วิชาชีพและการศึกษาเภสัชศาสตร์แห่งประเทศไทย โดย สภาเภสัชกรรม  และมูลนิธิเภสัชศาสตร์เพื่อสังคม   ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อทบทวนผลการดำเนินการ 100 ปี ที่ผ่าน และทิศทางการพัฒนาหลักสูตรการศึกษา “วิชาเภสัชศาสตร์” กับความคาดหวังของประชาชนต่อวิชาชีพนี้  ในทศวรรษ ต่อไปประเด็นที่ท้าทาย “หมอยา” มีมากมาย   รวมถึงการกำหนดหลักสูตรการสอนอย่างไร?  ให้ผู้ที่จบหลักสูตรวิชาชีพเภสัชกรรม  เป็นผู้ที่ “เอาธุระต่อสังคม” ไม่ใช่เป็นแค่อาชีพหนึ่งในสังคม   สาเหตุที่เขียน เช่นนี้ เพราะเภสัชกร  เป็นผู้ทรงความรู้เกี่ยวกับเรื่องยา   ทุกแขนง ทุกสาขา ทั้งความรู้เรื่องการใช้ยาการกินยา ผลกระทบของยา การผลิตยา  ทั้งยาคนยาสัตว์  รวมถึงเป็นผู้ที่จะทำให้ประเทศไทยเกิดความมั่นคงด้านยา  เรียกได้ว่าเป็นรอบรู้เรื่องที่เกี่ยวกับยาครบวงจร   แต่ความรู้ที่อุตส่าห์ร่ำเรียนมาตั้ง 6 ปี  กลับถูกนำมาใช้อย่างจำกัด  เภสัชกร เป็นได้แค่คนขายยาในร้านยา คนจัดยาและแนะนำยาให้กินยาตามแพทย์สั่ง  เช่น  ยานี้กินกี่วัน กินวันละกี่มื้อ  แต่กินไม่ตรงแล้วเป็นไง กินไม่ครบจะเกิดอะไร(ไม่มีเวลาบอก)  เป็นเภสัชในโรงงาน  ฯลฯ ที่ยังไม่เคยเป็นเลยตลอด 100 ปีที่ผ่านมา  เห็นจะเป็น  “ผู้ทำให้ประเทศไทยพึ่งพาตัวเองด้านยาได้” อย่างที่ควรจะเป็น ด้วยข้อจำกัด และอุปสรรคมากมาย ทำให้ 100 ปี ที่ผ่านมาประเทศไทยยังต้องพึ่งการนำเข้ายาจากต่างประเทศเป็นหลัก  เท่าที่ผู้เขียนไปนั่งฟังในเวทีรวมถึงเป็นผู้ที่ร่วมวิพากษ์ เรื่องหลักสูตรการศึกษานี้  ทำให้ทราบว่า  เรายังขาด   องค์กรที่จะมาเป็นเจ้าภาพในการสร้างความมั่นคงด้านยาของประเทศ  ขาดทั้งงบประมาณ  ความพร้อมในการผลิตยา  รวมถึงขาดนโยบาย จากฝ่ายการเมือง  ที่จะสร้างความมั่นคงด้านยาอย่างจริงจัง  นักการเมืองบ้านเรายังมีความสุขกับการอนุมัติงบประมาณเพื่อนำไปซื้อยา  มากกว่าที่จะทำให้ประเทศไทยมีความแข็งแกร่งด้านพึ่งพาตนเองเรื่องยา   ในภาวะกระแสปฏิรูปประเทศไทยกำลัง มาแรง  ก็เลยอยากฝากประเด็นนี้ให้ติดอยู่ในกระบวนการปฏิรูปด้วยก็จะดียิ่งเจอกันฉบับหน้าจะนำปัญหาการใช้ยาอย่างขาดความรู้จนทำให้ถึงตายมาเล่าสู่กันฟัง มีเยอะเชียวล่ะคุณเอ๋ย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 156 เอสเอ็มเอส ไม่สมัครไม่ต้องจ่าย

มาอีกแล้วกับเรื่องเอสเอ็มเอสที่ไม่ได้สมัครใช้บริการ แต่เครือข่ายดันมาคิดค่าบริการแล้วบอกปัดว่า “ไม่ใช่ของบริษัทฯ ค่ะ จึงไม่สามารถระงับบริการได้” ใครจะเชื่อที่ผ่านมาและน่าจะยังเป็นเรื่องปัจจุบันด้วย คือรูปแบบการส่งข้อความสั้น หรือ SMS ปัญหาจะมีลักษณะที่อ้างว่าเป็นบริการในหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น ข้อความตลก คลิปลับ ดูดวง ชิงโชค บริการข่าว โหลดเพลง ฯลฯ และมีการหักเงินค่าบริการผ่านระบบการหักเงินอัตโนมัติจากเครือข่ายผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบต่างๆ ทั้งในระบบเติมเงิน และรายเดือน บางท่านจะไม่รู้ตัวเลยว่าถูกหักเงิน จนเมื่อโทรศัพท์ไม่สามารถใช้งานได้นั่นแหละ ถึงจะทราบว่าตนเองเป็นเหยื่อไปอีกรายแล้วคุณณิชาก็เช่นกัน เธอเล่าว่าใช้บริการของทรู ทั้งหมายเลขโทรศัพท์และอินเตอร์เน็ต Wi-Fi มานานแล้ว จนพฤษภาคม  ปีที่แล้วได้เปิดบริการเพิ่มอีก 1 เบอร์ โดยวงเงินของเบอร์นี้จำกัดไว้ที่ 1,000 บาท และเนื่องจากใช้บริการหลายอย่างจึงไม่ทันได้สังเกตถึงความผิดปกติ(รายละเอียด)ของค่าบริการว่ามีอะไรบ้าง ได้แต่ชำระเงินไปตามยอดที่ตรวจสอบได้จากทางเว็บไซต์ของทรูเท่านั้น จนเดือนตุลาคมเธอไม่สามารถใช้บริการโทรออกจากเบอร์ที่เปิดใช้งานเมื่อเดือนพฤษภาคมนั่นแหละ จึงรู้ตัวว่าโดนเข้าแล้ว“ก็มียอดค้างค่าบริการเบอร์นี้ประมาณ 1 เดือนนะคะ ไม่คิดว่าจะถูกตัดบริการ พอลองหาใบแจ้งหนี้ค่าบริการดู เลยมารู้ตัวว่า เบอร์นี้ไม่เคยมีใบแจ้งหนี้มาที่บ้านเลยตั้งแต่สมัคร เมื่อสอบถามกับคอลเซนเตอร์ ปรากฏว่าทางบริษัทฯ จัดส่งใบแจ้งหนี้ไปที่ที่อยู่เก่า ทั้งที่ตอนสมัครใช้ก็แจ้งที่อยู่ปัจจุบันอย่างชัดเจน ยอดค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 701 บาท ซึ่งสูงมากเพราะดิฉันไม่ค่อยได้ใช้บ่อยนัก จึงถามรายละเอียดว่าเป็นค่าอะไร ทางคอลเซนเตอร์แจ้งว่า เป็นค่าบริการที่สมัครเกมจาวา งงไปเลยค่ะว่าสมัครไปตอนไหนกัน” คุณณิชาปฏิเสธว่าไม่เคยสมัครเล่นเกมอะไรเลย ทางคอลเซนเตอร์จึงทำเรื่องยกเลิกให้ ทั้งหมด 4 เกม จากนั้นคุณณิชาลองมาดูรายละเอียดการใช้งานในเดือนกันยายนผ่านทางเว็บไซต์ ก็พบว่า มีการส่ง SMS มาที่เบอร์นี้เยอะมาก ประมาณ 80 ข้อความ(ค่าบริการ 10-20 บาท/ข้อความ) และสำหรับเดือนตุลาคมที่ยังไม่ได้ตัดรอบบิลก็เจอไปอีก 130 ข้อความ ค่าบริการทะลุไป 1,350 บาท ช่วงเวลาที่เกิดปัญหาคือช่วง 05.00 – 08.00 น. ซึ่งเป็นช่วงที่ไม่เคยจะหยิบโทรศัพท์มาใช้งานเลยสำหรับคุณณิชา“ดิฉันแจ้งร้องเรียนกับทางคอลเซนเตอร์ทันที ยืนยันไปค่ะว่าไม่เคยสมัคร ทางคอลเซนเตอร์ก็ยืนยันว่า ลูกค้าสมัครๆ และเสนอว่าจะลดค่าบริการให้ 300 บาท จากยอดสองเดือนรวมๆ ประมาณ 2,000 กว่าบาท มันไม่แฟร์เลยนะคะ”คุณณิชาไม่เชื่อว่าทางทรูจะไม่สามารถทำอะไรได้มากกว่า ช่วยเหลือ 300 บาท ก็ขนาดยอดเงินในเบอร์นี้มีแค่ 1,000 บาท ยังปล่อยให้ข้อความสั้นมันทะลุเกินวงเงินไปได้ จึงมาร้องเรียนและขอคำปรึกษากับทางศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค แนวทางแก้ไขปัญหาเมื่อไม่ได้สมัครใช้บริการ ก็ไม่ควรต้องจ่ายค่าบริการ ทางศูนย์ฯ จึงแนะนำให้คุณณิชาทำหนังสือ หรือทำจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ (อีเมล์) ถึงบริษัท ทรู โดย 1.ขอให้ทางทรูตรวจสอบค่าใช้จ่ายกรณีบริการเสริมข้อความสั้น พร้อมปฏิเสธการชำระค่าบริการข้อความสั้นทั้งหมด ตามใบแจ้งหนี้ในรอบบิลที่มีปัญหา พร้อมยกเลิกบริการเสริมทุกชนิด(เพื่อป้องกันปัญหาในอนาคต) 2.แจ้งขอให้ทางบริษัทฯ เปิดสัญญาณการใช้งานตามปกติ โดยทางผู้ร้องจะชำระค่าบริการที่ยังค้างอยู่เฉพาะที่เป็นค่าบริการจริงไม่เกี่ยวกับค่าบริการข้อความสั้นที่ผู้ร้องไม่ได้สมัครใช้บริการ โดยหนังสือนี้สำเนาถึงศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ ด้วยต่อมาได้รับแจ้งจากคุณณิชาว่า ได้ส่งอีเมล์ไปถึงบริษัท ทรู เพื่อดำเนินการตามที่ทางศูนย์ฯ แนะนำ ปัจจุบันทางบริษัทฯ ได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาให้แล้ว โดยปรับลดค่าบริการส่วนเกินจากบริการข้อความสั้น(SMS) รวม 1341.78 เหลือเฉพาะค่าบริการจริง โดยจะเปิดสัญญาณให้ 3 วันเพื่อให้ทางผู้ร้องได้ชำระค่าบริการที่ค้างอยู่ พร้อมระงับบริการ SMS ทั้งหมด คุณณิชาขอบคุณที่ทางศูนย์พิทักษ์ฯ ได้ช่วยเหลือให้คำแนะนำในครั้งนี้ และยินดีจะช่วยเหลือสนับสนุนทางมูลนิธิฯ หากมีประเด็นที่ต้องการพลังจากผู้บริโภคคนเล็กคนน้อย //

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 156 ค้างค่างวดรถ 3 งวด แต่จะให้จ่าย 6 ไหวไหม

สมัยนี้ยังจะมีใครซื้อรถด้วยเงินสดๆ แบบจ่ายทีเดียวไหม คงน้อยมากๆ แม้แต่คนที่มีเงินมาก ก็ไม่ทำเพราะระบบลิซชิ่งหรือระบบเช่าซื้อรถยนต์มันทำให้บริหารเงินได้ดีกว่าที่จะเอาเงินเยอะๆ ไปทุ่มในครั้งเดียว และยังช่วยให้คนเงินน้อยสามารถมีรถยนต์เป็นของตนเองได้ บริษัทรถยนต์ก็ขายได้มากขึ้น ยังไม่รวมนโยบายรถคันแรกที่รัฐบาลออกมาช่วยกระตุ้นยอดขายด้วย เราจึงเห็นปรากฏการณ์ยอดขายรถยนต์สูงลิ่วในทุกปีการเช่าซื้อหรือทำสัญญาเช่าซื้อ (Hire-Purchase) คือ สัญญาที่เจ้าของทรัพย์สินหรือผู้ให้เช่าซื้อนำทรัพย์สินออกให้เ ช่า และให้คำมั่นว่าจะขายทรัพย์สินหรือให้ทรัพย์สินตกเป็นกรรมสิทธิ์แก่ผู้เช่าซื้อ เมื่อผู้เช่าซื้อได้ชำระเงินครบถ้วนตามสัญญาแล้วการเช่าซื้อรถยนต์เราจึงยังไม่ได้เป็นเจ้าของโดยสมบูรณ์แต่เป็นเพียงผู้เช่าซื้อ โดยมีสัญญาว่าจะชำระเงินให้เป็นงวดๆ ให้แก่เจ้าของจริง ซึ่งก็คือบริษัทที่ให้บริการเช่าซื้อรถยนต์ ถ้าสามารถจ่ายเงินได้ตรงงวดคงไม่มีปัญหา ปัญหามาเกิดเอาตรงที่จ่ายไม่ทันและถ้าไม่ทัน 3 งวดติด เจ้าของเขาก็จะมายึดรถ(ทรัพย์)ของเขาทันทีคุณพิมลวรรณเช่าซื้อรถยนต์กับบริษัท โตโยต้า ลิสซิ่ง(ประเทศไทย) จำกัด เป็นราคาค่าเช่า 857,247 บาท โดยจะชำระงวดละ 8,733 บาท แต่เกิดปัญหาขึ้นเมื่อคุณพิมลวรรณขาดส่งไป 3 งวด ไม่นานทางบริษัทลิสซิ่ง ได้ให้พนักงานมานำรถไปพร้อมบอกว่า ให้ไปไถ่ถอน ด้วยการชำระเงิน 3 งวดที่ขาดส่งไป รวมค่าปรับ ค่าติดตามรถ พร้อมค่าไถ่ถอนทั้งสิ้น 36,624 บาท โดยให้เวลาดำเนินการ 6 เดือน แต่เมื่อคุณพิมลพรรณติดต่อกลับไปทางโทรศัพท์เพื่อขอทราบรายละเอียดค่าบริการค่าปรับต่างๆ ก็ได้ข้อมูลใหม่ชวนตกใจว่า คุณพิมลพรรณต้องชำระทั้งหมด 89,022 ซึ่งเป็นยอดที่รวมค่าเช่าล่วงหน้าอีก 6 เดือน จึงจะมารับรถคืนได้ แนวทางแก้ไขปัญหาทางศูนย์พิทักษ์ฯ ได้สอบถามข้อมูลจากคุณพิมลพรรณ พบว่า ยอดค่าใช้จ่ายที่ถูกเรียกเก็บเกิดจากการเจรจาความกันทางโทรศัพท์ ซึ่งคุณพิมลพรรณมิได้รับหนังสือบอกกล่าวจากบริษัทแต่อย่างใดตามประกาศของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค(สคบ.) เรื่องให้ธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์นั้น ความข้อ 3 มีสาระสำคัญและมีเงื่อนไข ที่เกี่ยวข้องดังนี้ (4) ผู้ให้เช่าซื้อมีสิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อได้ในกรณีผู้เช่าซื้อผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อรายงวด 3 งวดติดๆ กัน และผู้ให้เช่าซื้อมีหนังสือบอกกล่าวผู้เช่าซื้อให้ใช้เงินรายงวดที่ค้างชำระนั้นภายในเวลาอย่างน้อย 30 วัน นับแต่วันที่ผู้เช่าซื้อได้รับหนังสือและผู้เช่าซื้อละเลยเสียไม่ปฏิบัติตามหนังสือบอกกล่าวนั้น (5) เมื่อผู้ให้เช่าซื้อบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อและกลับเข้าครอบครองรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ที่ให้เช่าซื้อ เพื่อนำออกขายให้แก่บุคคลอื่น     ก. ก่อนขายให้แก่บุคคลอื่น ผู้ให้เช่าซื้อต้องแจ้งล่วงหน้าให้ผู้เช่าซื้อทราบเป็นหนังสือไ ม่น้อยกว่า 7 วัน เพื่อให้ผู้เช่าซื้อใช้สิทธิซื้อได้ตามมูลหนี้ส่วนที่ขาดอยู่ตามสัญญาเช่าซื้อ       ข. ในกรณีที่ผู้ให้เช่าซื้อนำรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ออกขาย หากได้ราคาเกินกว่ามูลหนี้ในส่วนที่ขาดอยู่ตามสัญญาเช่าซื้อ ผู้ให้เช่าซื้อจะคืนเงินส่วนที่เกินนั้นให้แก่ผู้เช่าซื้อ แต่หากได้ราคาน้อยกว่ามูลหนี้ในส่วนที่ขาดอยู่ตามสัญญาเช่าซื้อ ผู้เช่าซื้อจะรับผิดส่วนที่ขาดนั้นเฉพาะกรณีการขายโดยวิธีประมูลหรือขายทอดตลาดที่เหมาะสมเท่านั้นเมื่อไม่มีหนังสือแจ้งบอกกล่าว เจ้าหน้าที่ศูนย์พิทักษ์ฯ จึงได้ติดต่อกลับไปยัง บริษัท โตโยต้า ลิสซิ่ง เพื่อขอทราบข้อเท็จจริง อีกทั้งแจ้งให้ทางผู้ร้องชำระเงินค่างวดที่ค้างไว้ 3 งวดแก่บริษัทฯ เพื่อให้สัญญากลับคืนสู่สภาพ ทางศูนย์ฯ ได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ของบริษัทฯ ว่า ผู้ร้องผิดสัญญาเพราะผิดนัดชำระ 3 งวด ในหนังสือบอกกล่าวก็ระบุไว้ว่าให้ชำระทันที จุดนี้ทางศูนย์ฯ แย้งว่า ผู้ร้องไม่ได้รับหนังสือบอกกล่าวจากทางบริษัทแต่อย่างใด อีกทั้งการชำระทันทีก็ยังต้องอยู่ในเงื่อนไขตามประกาศของ สคบ. คือ ไม่เกิน 30 วัน จึงถือว่ากรณีนี้ผู้ร้องมิได้กระทำผิดสัญญาและยังได้ชำระค่างวดที่ค้างอยู่ทั้งหมดแล้ว ทางบริษัทจึงต้องคืนรถยนต์ให้กับผู้ร้องโดยทันทีเมื่อแย้งกลับไปด้วยข้อกฎหมายทางฝ่ายบริษัทฯ เลยขอพักการเจรจาก่อนบอกว่า ตนเองมิใช่คนดูแลโดยตรง จะติดต่อกลับในภายหลังต่อมาผู้ร้องได้แจ้งว่า บริษัทฯ ติดต่อให้ไปรับกุญแจคืนและตนก็ได้ไปรับตรวจรถเรียบร้อยแล้ว จึงขอขอบคุณมูลนิธิฯ มา ณ ที่นี้   //

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 156 กระแสต่างแดน

พลาดจนได้ ห้างอิเกียสาขาซามาร่า ในรัสเซียกลับมาเป็นข่าวอีกครั้งหลังจากเปิดดำเนินการเมื่อสามปีก่อน ซึ่งกว่าจะเปิดได้ก็ต้องฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆ นานาจนเปิดห้างได้ล่าช้ากว่าแผนไปถึง 4 ปี เหตุที่แผนต้องสะดุดไปถึง 8 ครั้งนั้น รวมถึงการที่ห้างยังสร้างอาคารไม่ได้มาตรฐานด้านความปลอดภัยของรัสเซีย ซึ่งกำหนดให้อาคารต้องแข็งแรงขนาดต้านทานพายุเฮอริเคนได้ด้วย ที่สำคัญ บริษัทไม่มีนโยบายจ่ายค่าน้ำร้อนน้ำชาให้กับเจ้าหน้าที่รัฐ และถึงขั้นเคยไล่เจ้าหน้าที่ระดับบริหารออกไปสองราย เพราะจับได้ว่าติดสินบนเจ้าหน้าที่รัสเซียด้วย แต่ที่เปิดได้ในที่สุดเพราะบริษัทใช้ไม้ตายด้วยการยื่นคำขาดว่าถ้าเปิดสาขาซามาร่าไม่ได้ ก็จะระงับแผนการลงทุนทั้งหมดในรัสเซีย (ปัจจุบันธุรกิจเฟอร์นิเจอร์และของแต่งบ้านสัญชาติสวีดิช มีสาขาในรัสเซียถึง 14 แห่ง จากทั้งหมด 338 สาขาทั่วโลก)   ปีนี้ อิเกีย ซามาร่า เป็นข่าวอีกครั้งเพราะโดนข้อหาขายต้นไม้ที่ไม่ผ่านการตรวจสอบโดยด่านกักกันพืชของเมือง และถูกปรับเป็นเงิน 1,900 เหรียญ ซึ่งต้นไม้จำนวน 20,000 ต้นที่สต็อคไว้ขายนี้ก็ถูกส่งมาจากสาขาในเมืองมอสโควและเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กนั่นเอง ยิ้มสองมาตรฐาน เดนมาร์กใช้ระบบแสดงผลการตรวจสอบสุขอนามัยของร้านขายอาหาร ด้วยสไมลี่ย์ หรือ “หน้ายิ้ม” ที่เรารู้จักกัน โดยแสดงเป็น 4 หน้า ตั้งแต่ หน้าเบะ (โดนปรับ โดนแจ้งข้อหา หรือถูกถอนใบอนุญาต) หน้าบึ้ง (ถูกห้ามขายชั่วคราว) หน้าอมยิ้ม (เกือบดีแล้ว ปรับปรุงเพียงเล็กน้อย) ไปจนถึงหน้ายิ้มแฉ่ง (ผ่านฉลุย ไม่มีข้อติ) รายงานหน้ายิ้มซึ่งเป็นผลจากการเข้าตรวจโดยไม่แจ้งล่วงหน้า(ปีละ 1 ถึง 3 ครั้ง) ที่ว่านี้จะถูกแสดงไว้ที่หน้าร้านให้ผู้บริโภคมองสามารถเห็นได้ชัดเจน เดนมาร์กใช้ระบบนี้ดูแลเรื่องความปลอดภัยด้านอาหารมา 13 ปีแล้ว ทั้งกับร้านอาหาร ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านขายของชำ ร้านขายขนมอบ รถเข็นขายอาหาร โรงอาหาร ครัวโรงพยาบาล และบ้านพักคนชรา เมื่อ 6 ปีที่ผ่านมาเขาเพิ่มหน้ายิ้มแฉ่งติดโบว์ หรือ “อิลิทสไมลี่ย์” ให้กับร้านที่ได้หน้ายิ้มแฉ่ง 4 ครั้งติดต่อกันด้วย แต่วันนี้ อย. ของเดนมาร์กมีแผนที่จะยกเลิกเจ้าอิลิทสไมลี่ย์ เพราะมันทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดว่าร้านที่ได้สัญลักษณ์นี้สะอาดถูกสุขอนามัยกว่าร้านที่ได้รับหน้ายิ้มแฉ่งเฉยๆ นั่นเอง   จิตตกระหว่างทาง ระยะเวลาที่ใช้ในการเดินทางไปทำงานในแต่ละวันนั้น มีผลกระทบต่อระดับความสุข และความกังวลของมนุษย์เงินเดือนมิใช่น้อย นี่เป็นผลจากการสำรวจที่สำนักงานสถิติแห่งชาติของอังกฤษทำกับประชากร 60,000 คน เพื่อต้องการเปรียบเทียบสภาพจิตใจของคนที่เดินทางไปทำงานกับคนที่ทำงานอยู่กับบ้าน ในภาพรวมเขาพบว่า “การเดินทาง” นั้นส่งผลในทางลบอย่างเห็นได้ชัดต่อความรู้สึกพึงพอใจในชีวิต และการเห็นคุณค่าในงานที่ทำ นอกจากนี้มันยังมีผลต่อระดับความสุขและความวิตกกังวลด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในคนที่ใช้เวลาเดินทางระหว่าง 60 ถึง 90 นาที ต่อเที่ยว และจะยิ่งหนักหนามากขึ้นในกรณีของผู้ที่เดินทางด้วยรถประจำทางหรือแท็กซี่(อย่างหลังนี่เป็นเพราะนั่งนานแล้วจ่ายมากด้วยหรือเปล่าผลสำรวจเขาไม่ได้บอก) คุณอาจจะนึกว่าการขี่จักรยานไปทำงานน่าจะเป็นทางออก  ... แต่ไม่ใช่ เพราะเขาพบว่าระยะเวลาที่ใช้ยังคงส่งผลในทางตรงข้ามต่อผู้ขับขี่จักรยานอยู่ดี ยิ่งปั่นนาน ความสุขก็จะยิ่งน้อยลง(เขาไม่ได้บอกว่าเป็นเพราะเหนื่อยหรือเปล่า) โธ่ ผู้คนของเขายังจิตตกได้ขนาดนี้ทั้งๆ ที่ระบบการขนส่งออกจะก้าวหน้า ถ้าสำนักงานสถิติแห่งชาติบ้านเราทำบ้างสงสัยต้องประกาศให้ทุกคนทำงานอยู่บ้านแน่นอน   อ้วนแล้วหล่อ สำหรับหนุ่มๆ ชาวกัมพูชาแล้ว ถ้าอยากจะดูมีเสน่ห์ก็ขอบอกว่าต้องอวบนิดๆ ช่างเข้าทางกับพฤติกรรมการบริโภคของคนสมัยนี้ที่นิยมรับประทานขนมหวาน น้ำอัดลมและ อาหารขยะมากขึ้นเสียเหลือเกิน ในภาพรวมแล้ว กัมพูชามีสถิติคนเป็นโรคอ้วนเพิ่มขึ้น ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้ไม่นานประเทศเพื่อนบ้านของเราเพิ่งจะได้รับตำแหน่งประเทศที่มีพฤติกรรมการกินที่ส่งเสริมสุขภาพที่สุดในโลกจากองค์การออกซ์แฟม งานวิจัยที่ทำในปี 2010 พบว่าร้อยละ 15.5 ของประชากรกัมพูชามีน้ำหนักเกินหรือเป็นโรคอ้วน จะว่าไปแล้วกัมพูชาก็ไม่ต่างจากอีกหลายประเทศในโลกที่มีทั้งประชากรที่อดอยากและประชากรที่น้ำหนักเกิน อีกหนึ่ง ภาพสะท้อนว่าระบบอาหารของโลกเราช่างไร้สมดุล และทุกวันนี้จำนวนคนเป็นโรคอ้วนในประเทศกำลังพัฒนาแซงหน้าประเทศพัฒนาแล้วไปถึง 2 เท่าตัว ข่าวจากพนมเปญโพสต์ระบุว่าคนกัมพูชาอวบขึ้น เพราะรูปแบบการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไป เมื่อผู้คนนิยมเข้ามาทำงานในเมืองกันมากขึ้น วิถีชีวิตแบบดั้งเดิมที่เคยต้องลงแรงกับการทำการเกษตรก็เริ่มได้รับความนิยมจากคนรุ่นใหม่น้อยลง นอกจากนี้สถิติการนำเข้าขนมหวานสำเร็จรูปและน้ำอัดลมเพิ่มขึ้นหลายเท่าระหว่างปี 2003 ถึง 2008 โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากประเทศไทย และร้านอาหารแบบตะวันตกอย่างร้านเบอร์เกอร์จากอเมริกาก็เริ่มมาเปิดกิจการกันมากขึ้นเช่นกัน หยุดตรวจ? งานวิจัยจากแคนาดา ซึ่งเก็บข้อมูลจากผู้หญิง 90,000 คนในช่วงเวลา 25 ปี ระบุว่าอัตราการตายจากมะเร็งเต้านมไม่แตกต่างกันระหว่างผู้หญิงที่เข้ารับการตรวจแมมโมแกรมและผู้หญิงที่ไม่ได้รับการตรวจ นอกจากนี้เขาพบว่าการตรวจอาจส่งผลในทางลบ เพราะ 1 ใน 5 ของมะเร็งที่ตรวจพบโดยแมมโมแกรมและได้รับการรักษาไปแล้วนั้นไม่ได้มีอันตรายและไม่จำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วยวิธีการผ่าตัด ทำคีโม หรือฉายรังสีเลยด้วยซ้ำ แม้จะเป็นที่รู้กันว่ามะเร็งบางชนิดเติบโตช้ามาก หรือไม่โตเลย และไม่จำเป็นต้องรักษา บางชนิดหดหายไปเองได้ด้วย แต่เมื่อมีการตรวจพบเราจะไม่มีทางทราบได้ว่ามันอันตรายหรือไม่ แพทย์จึงต้องทำการรักษาทุกกรณีเพื่อเป็นการปลอดภัยไว้ก่อน ณ ปัจจุบัน สวิตเซอร์แลนด์เป็นประเทศเดียวที่เปลี่ยนนโยบายการตรวจแมมโมแกรม โดย Swiss Medical Board ประกาศว่าจะไม่มีการเพิ่มสถานพยาบาลที่จัดการตรวจแมมโมแกรมอีก (ปัจจุบันนี้มี 10 เขต จากทั้งหมด 26 เขต) ส่วนโรงพยาบาลที่มีอยู่แล้วก็กำลังจะยกเลิกในอีกไม่ช้า ทั้งนี้เพราะเห็นว่าแมมโมแกรมไม่ได้ลดอัตราการตายจากมะเร็งเต้านม แต่สร้างความวิตกกังวลที่นำไปสู่การรักษาที่ไม่จำเป็น สถาบันมะเร็งแห่งอเมริกา ซึ่งออกมายืนยันว่าการตรวจดังกล่าวสามารถลดอัตราการตายจากมะเร็งเต้านมได้ถึงร้อยละ 15 สำหรับผู้หญิงในวัย 40 ปี และร้อยละ 20% สำหรับผู้หญิงที่สูงวัยกว่า ก็ประกาศว่าจะพิจารณาปรับเปลี่ยนข้อแนะนำการตรวจแมมโมแกรมสำหรับปีนี้ด้วย   //

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 156 กระแสในประเทศ

ประมวลเหตุการณ์เดือน มกราคม 2557 “บ้านและที่อยู่อาศัย” กับปัญหายอดฮิตปี 56 สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ได้สรุปเรื่องร้องเรียนของผู้บริโภคตลอดปี 2556 ที่ผ่านมา พบว่า ปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัยกลายเป็นปัญหากวนใจผู้บริโภคมากที่สุด แซงหน้าแชมป์เก่าอย่างปัญหาจากการใช้รถยนต์ เนื่องจากโครงการรถยนต์คันแรกที่เริ่มหมดลง ประกอบกับคนหันมาซื้อคอนโดมากขึ้น และเมื่อเกิดปัญหาเพียง 1 ยูนิต ผู้บริโภคที่อยู่ในโครงการเดียวกันก็มักจะตามกันมาร้องเรียนด้วย สำหรับเรื่องร้องเรียนในปี 2556 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 20 ธันวาคม มีผู้บริโภคร้องเรียนทั้งสิ้น 3,150 ราย โดยเรื่องร้องเรียนที่มากที่สุดคือเรื่อง อสังหาริมทรัพย์ 1,324 ราย แบ่งเป็น 3 ประเภทปัญหา คือ 1.อาคารชุด 629 ราย 1,390 เรื่อง เช่น ไม่เป็นไปตามที่ระบุไว้ในสัญญาหรือโฆษณา ก่อสร้างไม่แล้วเสร็จยกเลิกสัญญา  2.บ้านจัดสรร 392 ราย 1,019 เรื่อง เช่น ไม่ดำเนินการตามที่โฆษณา มีการชำรุดหลังก่อสร้าง กู้ได้ไม่เต็มจำนวนตามที่ประกาศ ขอยกเลิกสัญญา และ 3.เช่าพื้นที่ เช่าช่วง 303 ราย 608 เรื่อง   สคบ.ดำเนินการไกล่เกลี่ยตามที่ผู้ร้องต้องการและเรื่องยุติแล้ว 60% เหลืออีก 40% โดยหลังจากนี้ทาง สคบ. จะส่งเจ้าหน้าที่จะลงสุ่มตรวจโครงการที่อยู่อาศัยที่พบปัญหาร้องเรียกซ้ำซาก แล้วจะมีการแจ้งชื่อโครงการที่มีปัญหาให้กับประชาชนทั่วไปได้รับทราบ     ผิวขาวออร่า แต่หน้าพัง กระแสความนิยมอยากจะมีผิวขาวของวัยรุ่นไทย กำลังเป็นเรื่องน่าห่วง หลังจากที่มีวัยรุ่นจำนวนมากตกเป็นเหยื่อของโฆษณาหลอกลวงชวนเชื่อ ผลิตภัณฑ์ผิวขาว ที่โอ้อวดว่าใช้แล้วผิวขาวสว่าง “ออร่า” แต่กลับต้องเจอผลข้างเคียง นอกจากผิวจะไม่ขาวแล้ว ยังต้องเสียโฉม หน้าพัง ผิวที่หวังว่าจะขาวก็ยิ่งคล้ำดำลงกว่าเดิม ล่าสุดมีกรณีที่วัยรุ่นอายุ 16-18 ปีที่ จ.เพชรบุรี ให้ครีมที่อ้างสรรพคุณช่วยให้ผิวขาวแล้วเกิดอาการแพ้ ผิวลายแตกงา เมื่อเก็บตัวอย่างครีมผิวขาวที่น่าจะเป็นปัญหาไปตรวจสอบยังศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 5 สมุทรสงคราม พบว่า ตัวอย่าง ครีมและโลชั่นทาผิวที่อ้างว่าช่วยให้ผิวขาว จำนวน 11 ตัวอย่างที่วางขายในจังหวัดเพชรบุรี ประกอบด้วยครีม 4 ประเภท ได้แก่ 1.ครีมผสมเองแบ่งขายใส่กระปุกที่ไม่มีฉลาก 2.ครีมที่ผสมเองแบ่งขายใส่กระปุกที่มีฉลากแต่ไม่ได้จดแจ้ง  3.ครีมที่มีฉลากภาษาจีน และ 4.ครีมที่มีฉลากภาษาจีนที่เป็นยาใช้ภายนอก มีการใช้สารสเตียรอยด์ชนิดโคลเบทาซอล โพรพิโอเนต (Clobetasol propionate) ในครีมทั้ง 11 ตัวอย่าง ในปริมาณตั้งแต่ 8.0-449.8  มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ซึ่งเป็นส่วนผสมที่สูงมาก นอกจากนี้ยังตรวจพบสารคีโตโคนาโซล (Ketoconazole) ซึ่งจัดเป็นยาในทุกตัวอย่าง และบางตัวอย่างตรวจพบว่ามีการใส่วัตถุกันเสีย 2 ชนิดคือ เมทิลพาราเบน (Methylparaben) และโพรพิลพราราเบน (Propylparaben) ด้วย สำหรับ สารโคลเบทาซอล โพรพิโอเนตเป็นสารห้ามใช้ในเครื่องสำอาง ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องกำหนดวัตถุที่ห้ามใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตเครื่องสำอาง สารดังกล่าวเป็นยาสเตียรอยด์ ใช้ทาภายนอกที่มีความแรงสูงสุด ที่ใช้ในการรักษาผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงิน โรคผื่นผิวหนังที่ดื้อยาสเตียรอยด์ชนิดรุนแรงปานกลาง หรือใช้ในบริเวณผิวหนังที่หนา เช่นที่ขาหรือส้นเท้า สารชนิดนี้เมื่อใช้ไปนานๆ จะทำให้ผิวหนังบางลง เกิดจ้ำเลือดง่าย หรือมีรอยแตกที่ผิวหนัง     ระวัง!!!ใช้สมุนไพรขัดหน้า การใช้ผลิตภัณฑ์สมุนไพร ขัดหน้า ขัดตัว หลายคนอาจจะคาดไม่ถึงว่า ตรวจพบการปนเปื้อนของเชื้อจุลินทรีย์ในระดับสูงจนน่าตกใจ สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ(องค์การมหาชน) หรือ สทน. โดยนักวิจัยของศูนย์ฉายรังสี ได้ทำการศึกษาข้อมูลเบื้องต้นทางจุลชีววิทยาในวัตถุดิบสมุนไพรและส่วนผสม ชนิดอื่น ๆ ที่มักใช้ผลิตเป็นเครื่องสำอางสมุนไพรไทยจำนวน 10 ชนิด ได้แก่ ไพล ขมิ้นอ้อย ขมิ้นชัน ว่านนางคำ ทานาคา กวาวเครือ จันทน์หอม เปลือกมังคุด ดินสอพอง และจันทน์เทศแดง โดยพบว่าในวัตถุดิบทั้ง 10 ชนิด มีจำนวนแบคทีเรียทั้งหมดในระดับที่สูงมาก คือ 1,000-1,000,000 โคโลนีต่อกรัม ทั้ง ๆ ที่ค่ามาตรฐานของไทยที่กำหนดคือ ต้องมีไม่เกิน 1,000 โคโลนีต่อกรัม  และพบการปนเปื้อนของเชื้อจุลินทรีย์ Clostridium spp. ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคบาดทะยัก ในวัตถุดิบ 4 ชนิด คือ ไพล  ทานาคา กวาวเครือ และ ดินสอพอง นอกจากนี้ยังได้สุ่มตรวจเครื่องสำอางสมุนไพรไทยที่สามารถหาซื้อตามตลาดทั่วไป ได้แก่ ครีมโคลนสมุนไพรพอกตัว จำนวน 12 ตัวอย่าง พบว่ามีจำนวนเชื้อจุลินทรีย์ทั้งหมดเกินมาตรฐานที่กำหนดไว้ 5 ตัวอย่าง (ร้อยละ 41.67) แป้งสมุนไพรพอกหน้าและขัดตัวจำนวน 40 ตัวอย่าง พบว่ามีจำนวนเชื้อจุลินทรีย์ทั้งหมดเกินมาตรฐานที่กำหนดไว้ 27 ตัวอย่าง (ร้อยละ 67.5)  และพบการปนเปื้อนของเชื้อจุลินทรีย์ Clostridium spp. ถึง 22 ตัวอย่าง (ร้อยละ 55) ของผลิตภัณฑ์ทั้งหมด     ทุกข์ของผู้ป่วย การรักษาไม่ได้มาตรฐาน ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้เปิดเผยข้อมูลร้องเรียนด้านสุขภาพปี 2555 – 2556 พบว่ามีเรื่องร้องเรียนจากทุกสิทธิการรักษาคือ สิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า สิทธิประกันสังคม สิทธิสวัสดิการข้าราชการ และกลุ่มที่จ่ายเงินเอง ทั้งจากโรงพยาบาลรัฐ โรงพยาบาลเอกชน และคลินิก รวมทั้งหมด 38 เรื่อง ปัญหาที่พบมากที่สุด คือเรื่องมาตรฐานการรักษา 18 เรื่อง เช่น ผิดพลาดในการรักษา การผ่าตัด ทำให้แผลติดเชื้อ แพทย์จ่ายยาผิด เข้ารักษาโรงพยาบาลตามสิทธิแต่แพทย์ตรวจไม่ละเอียดให้แต่ยาแก้ปวด จ่ายยาให้ยาไม่ตรงชื่อหน้าซอง ทำให้คนไข้เกิดอาการการแพ้ยา ซึ่งมีอยู่กรณีหนึ่งแพทย์ถึงขั้นลืมผ้าก๊อตไว้ในช่องคลอดหลังทำคลอดให้กับคนไข้ ตามมาด้วยปัญหามาตรฐานการบริการ 9 เรื่อง เช่น เจ้าหน้าที่ไม่บริการ พูดจาไม่สุภาพ ไม่เอาใจใส่ผู้ป่วย  นอกจากนี้ยังพบปัญหาเรื่องระบบส่งต่อผู้ป่วย ระบบการใช้สิทธิ และปัญหาอื่นๆ เช่น เรื่องค่ารักษาพยาบาลแพง กรณีการให้การช่วยเหลือที่ล่าช้า พบว่าเกิดจาก การขาดแคลนแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในการอ่านเวชระเบียน ร่วมทั้งหน่วยงานภาครัฐล่าช้ากรณีส่งต่อเรื่องร้องเรียน แล้วไม่ได้รับการตอบรับ ทำให้การดำเนินการช่วยเหลือผู้เสียหายบางรายทำได้ลำบาก ล่าช้า และผู้เสียหายยังติดปัญหาเรื่องการขอเวชระเบียน ที่สำคัญคือผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่ได้รับความเสียหายยังไม่รู้ช่องทางการร้องเรียน     7 วิธีปิ้งย่างลดเสี่ยงมะเร็ง พญ.ธิดากานต์ รุจิพัฒนกุล นักวิชาการโครงการ “รวมพลัง ขยับกาย สร้างสังคมไทย ไร้พุง” เครือข่ายคนไทยไร้พุง ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) แนะนำ 7 ข้อควรทำสำหรับคนที่ชอบกินอาหารปิ้งย่าง 1.เลือกสถานที่ปิ้งย่างที่มีอากาศถ่ายเทดี เพราะควันจากอาหารก็ส่งผลต่อร่างกายได้ 2. เน้นเนื้อสัตว์ประเภทปลา หรือไก่ไม่ติดหนัง ซึ่งมีปริมาณไขมันน้อยกว่า 3. เลี่ยงการรับประทานเนื้อแปรรูป เช่น ไส้กรอก เบคอน ไส้กรอกอีสาน เพราะมีไขมันและโซเดียมสูง 4. อย่าใช้ไฟแรงเกิน หรือปิ้งจนเกรียม หมั่นทำความสะอาดคราบเขม่าและรอยไหม้ต่างๆ ที่ติดอยู่บริเวณตะแกรง 5. หมักเนื้อด้วยน้ำมะนาว สะระแหน่ มินต์ โรสแมรี จะช่วยลดการเกิดของสารก่อมะเร็งในกลุ่มเอมีนส์ 6. ตัดเนื้อส่วนที่มีมันออกก่อนนำไปปิ้งย่าง หรืออบให้สุกนิดหน่อยก่อนเพื่อลดเวลาปิ้ง และ 7. เน้นกินผักสดๆ ควบคู่ด้วยเสมอ และเลือกดื่มน้ำเปล่า แทนน้ำอัดลมหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะจะยิ่งเพิ่มปริมาณแคลอรีที่เกินความต้องการของร่างกาย อนึ่ง การรับประทานอาหารปิ้งย่างประจำจะมีผลกระตุ้น เซลล์มะเร็ง คือ สารในกลุ่มไฮโดรคาร์บอน (Polycyclic aromatic hydrocarbons หรือ PAH) ซึ่งพบในควันที่เกิดจากไขมันสัตว์ที่โดนความร้อนสูง โดยพบว่ามีความสามารถในการก่อมะเร็งได้ไม่แพ้ควันบุหรี่ และสารในกลุ่มเอมีนส์ (Heteocyclic amines) ที่พบมากในเนื้อแดงที่ถูกความร้อนสูง มีงานวิจัยหลายแหล่งระบุว่าเป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคมะเร็ง //

อ่านเพิ่มเติม >


ฉบับที่ 155 ป่วยฉุกเฉิน รักษาได้ทุกโรงพยาบาล ?

ก่อนจะปิดต้นฉบับนี้ถึงแม้ศาลรัฐธรรมนูญจะเปิดช่องว่างให้ทุกฝ่ายหายใจ ว่า สามารถเลื่อนเลือกตั้งได้ ถึงแม้เราจะมีความเห็นที่แตกต่างในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เพราะฝ่ายหนึ่งยืนยันจะเดินหน้าเลือกตั้ง แต่อีกฝ่ายก็ต้องการปฏิรูปประเทศก่อนการเลือกตั้ง ฉลาดซื้อในฐานะเป็นเครื่องมือของสังคมในการคุ้มครองผู้บริโภค ใคร่ขอให้ยอมรับการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ต่างจากที่เราไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของศาลแพ่งกรณีจอดำของฟุตบอลยูโร แต่เราก็ต้องยอมรับคำพิพากษา เราขอให้ทุกฝ่ายเจรจา เพื่อหาทางออก และขอให้รัฐบาลคุยกับประธานคณะกรรมการการเลือกตั้งเลื่อนการเลือกตั้งที่ทุกฝ่ายเห็นพ้อง เพื่อป้องกันความรุนแรงที่จะเกิดขึ้นจากการปะทะของทั้งสองฝ่าย เรามีสิทธิเรียกร้องรัฐบาลถึงแม้จะเป็นรัฐบาลรักษาการ และเชื่อว่าคนที่ต้องการแบบนี้ไม่ใช่ไม่รักประชาธิปไตยหรือไม่ต้องการการเลือกตั้ง แต่รัฐบาลย่อมต้องมีความรับผิดชอบต่อความรุนแรงที่จะเกิดขึ้นจากการเลือกตั้ง และภาวนาอย่าให้มีการประทะกันของประชาชนผู้สนับสนุนของทั้งสองฝ่าย อย่าให้การเลือกตั้งในประเทศเต็มไปด้วยเลือดของคนไทย ส่วนการปฏิรูปความเหลื่อมล้ำที่สำคัญด้านสุขภาพคือการทำให้ผู้ประกันตนไม่ต้องจ่ายสมทบด้านสุขภาพ และให้มีสุขภาพมาตรฐานเดียวในการให้บริการสาธารณสุข ซึ่งดูเหมือนเส้นทางยังอีกยาวไกล...   แต่ผลพวงของการยกเลิกข้อบังคับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ว่าด้วยสิทธิการเข้ารับบริการจากสถานบริการอื่นกรณีที่มีเหตุสมควร อุบัติเหตุ หรือกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ของผู้ป่วยบัตรทอง และหันมาใช้ข้อบังคับคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ว่าด้วยการใช้สิทธิขอรับบริการสาธารณสุข กรณีที่มีเหตุสมควร กรณีอุบัติเหตุ หรือกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน พ.ศ.2555 ของประชาชนทุกสิทธิ ภายใต้นโยบายป่วยฉุกเฉินไปที่ไหนก็ได้ที่ต้องการให้ใช้บริการฉุกเฉินมาตรฐานเดียว ผู้บริโภคได้ถูกโรงพยาบาลเอกชนล้วงกระเป๋าไปจากกรณีฉุกเฉินจำนวนไม่น้อย หลายคนใช้บริการฉุกเฉินแล้วผูกพันค่ารักษานับล้านบาท ได้ทำให้เกิดปัญหากับผู้ป่วยจากทุกระบบ โดยเฉพาะผู้ประกันตนซึ่งโดยปกติแล้วสามารถรักษากรณีฉุกเฉินในทุกโรงพยาบาล(อยู่แล้ว)ได้นานถึง72 ชั่วโมง และต้องแจ้งโรงพยาบาลคู่สัญญาให้ทราบว่าจะจัดการรักษาพยาบาลต่ออย่างไรกลายเป็นสิทธินี้หายไปเพราะฉุกเฉินถูกตีความโดยโรงพยาบาลทั้งที่ก่อนหน้าที่เป็นสิทธิของผู้ประกันตน และก็เช่นเดียวกันกับบัตรทอง ที่ถูกยกเลิกกรณีเหตุอันควร และการตีความฉุกเฉินที่คำนึงถึงการรับรู้ของผู้ป่วยที่มีต่ออาการป่วยด้วย หรือข้าราชการที่รักษาที่ไหนก็ได้ในโรงพยาบาลรัฐกลายเป็นว่าต้องเสียเงินหากไปโรงพยาบาลเอกชนเพราะไม่เข้าข่ายฉุกเฉิน ภาพปัญหาข้อเท็จจริงที่สะท้อน การถูกเรียกเก็บตังค์จากระบบฉุกเฉินคงต้องถึงเวลาทบทวน เพราะไม่งั้นอย่างไรเห็นทีจะเจอปัญหาหมดเนื้อหมดตัวเหมือนในอดีตที่เราไม่มีระบบหลักประกันสุขภาพ   //

อ่านเพิ่มเติม >