ฉบับที่ 120 คิดจะรัก...ต้องระวังอย่าสำลักยา

  “ กวาวเครือขาว  บำรุงสมอง  บำรุงประสาท   กวาวเครือแดง บำรุงสมรรถภาพทางเพศท่านชาย ” ข้อความที่น่าสนใจนี้ ไม่ใช่คำพูดของผมนะครับ  แต่เป็นเสียงประกาศจากดีเจท่านหนึ่ง ผ่านทางวิทยุชุมชนแห่งหนึ่งทางภาคอีสาน  ไม่รู้ว่าเป็นเพราะความน่าเชื่อถือของดีเจ หรือสรรพคุณที่ระบุอย่างนั้น จึงทำให้คุณตา และคุณยายวัยหกสิบกว่า คู่หนึ่ง ถึงกับใจอ่อนยอมโทรศัพท์เข้าไปในรายการเพื่อขอสั่งซื้อยาดังกล่าว  หลังจากนั้น ไม่นานเกินรอ  ยาทั้ง 2 ชนิดก็ถูกส่งมาทางไปรษณีย์ สู่มือของผู้สูงวัยทั้งสอง  เอาละ ! นับแต่นี้ คุณตา คุณยายคู่นี้ คงจะได้บำรุงสมอง  บำรุงประสาท   บำรุงสมรรถภาพทางเพศกันสมอุรา  แต่....หลังจากเริ่มประทานยาไปประมาณ 2 เดือน โรงพยาบาล  ก็ได้มีโอกาสต้อนรับคุณยาย ด้วยอาการ เลือดออกทางช่องคลอด เป็นปริมาณมาก  ทั้งๆ ที่คุณยายท่านหมดประจำเดือนไปแล้วเมื่อ 29 ปีที่แล้ว หรือท่านจะย้อนยุคกลัวมาเป็นสาวรุ่น ?  ภญ.ติ๊ก เภสัชกรสาวสวย ของโรงพยาบาลนี้ เล่าให้ผมฟังเพิ่มเติมว่า  คุณยาย ท่านรับประทานยา " กวาวเครือขาว "  ครั้งละ 1 แคปซูล  ก่อนอาหาร  เช้า  เย็น ติดต่อกัน นานถึง 50  วัน  เมื่อยาหมด ท่านก็เลยรับประทาน  " กวาวเครือแดง "  ต่อ โดยรับประทาน วันละ 1  แคปซูล  ก่อนอาหาร เช้า  เย็น   เช่นเดียวกัน  แต่พอรับประทาน กวาวเครือแดง ได้เพียง 2 วัน เท่านั้น ก็เริ่มมีเลือดออกทางช่องคลอดเป็นปริมาณมาก แถมไหลออกไม่หยุดติดต่อกันมาแล้ว 14  วัน  คิดได้ว่า คงไม่ใช่อาการย้อนยุคกลับมาสาวแน่นอน จึงรีบมาโรงพยาบาล หลังจากคุณหมอตรวจภายใน  พบการหนาตัวผิดปกติของผนังมดลูก   จึงได้ให้พักรักษาตัวเป็นผู้ป่วยใน  เพื่อทำการรักษาต่อ เภสัชกร ติ๊ก  ตรวจสอบ ผลิตภัณฑ์กวาวเครือ  ที่คุณยายท่านรับประทาน ได้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ทั้ง ยากวาวเครือขาวและยากวาวเครือแดง   ต่างก็ขึ้นทะเบียนตำรับยา เป็น ยาสามัญประจำบ้านแผนโบราณ และมีเลขทะเบียนยาถูกต้อง   (กวาวเครือนั้นมีสาร  Phytoestrogen  ซึ่งมีโครงสร้างคล้าย เอสโตรเจน ซึ่งเป็นฮอร์โมนในเพศหญิง  ทำให้ผู้บริโภคเกิดผลข้างเคียงที่ตามมา    ขนาดรับประทานของกวาวเครือขาว  ไม่ควรเกิน 1-2 มิลลิกรัม/กิโลกรัม/วัน   หรือประมาณวันละ  50 - 100  มิลลิกรัม   ซึ่งปัจจุบัน อย.กำหนดขนาดรับประทานของกวาวเครือขาวไม่เกิน  100 มิลลิกรัม / วัน) ในโอกาสเทศกาลแห่งความรักที่บานฉ่ำ กระชุ่มกระชวย เรื่องราวของคุณยาย คงจะเป็นอุทาหรณ์สอนใจ  ในการบริโภคยา เพราะยามีทั้งคุณและโทษ ผู้บริโภคต้องระมัดระวังก่อนเลือกบริโภคยา  โดยต้องศึกษาข้อมูลให้ดีก่อน แม้ว่ายานั้นจะขึ้นทะเบียนเป็นยาสามัญประจำบ้านแผนโบราณแล้วก็ตาม (ขอขอบคุณ ภญ.สุภาวดี   เปล่งชัย  รพ.เสลภูมิ ผู้ให้ข้อมูลเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคในครั้งนี้)

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 120 ไม่มีให้ซื้อตามโฆษณา ก็ต้องฟ้องสิจ้ะ

วันที่ 30 ธันวาคม 2553 ได้มีโอกาสหยิบหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ขึ้นมาอ่าน และได้เห็นการโฆษณาของห้างโลตัส เป็นภาพสีคู่ 2 หน้า และแสดงภาพสินค้าราคาขายอย่างชัดเจน มีทั้งสินค้าลดราคา ซื้อ 1 แถม 1 ตั้งแต่วันที่ 30 ธ.ค. 2553 ถึง 2 มกราคม 2554 พร้อมคำบรรยายว่าซื้อแล้วจะได้สิทธิคูณ แต้ม 3 เท่าในคลับการ์ด และมีข้อความตัวเล็กๆ ด้านล่างของกรอบโฆษณา ถึงข้อจำกัดการซื้อ เช่น กรณีสินค้าขาดตลาด จำหน่ายหมดก่อนกำหนดหรือปฏิบัติตามคำสั่งราชการ โดยไม่มีการระบุว่าสินค้ามีจำนวนจำกัดเมื่ออ่านข้อมูลครบถ้วน ผู้เขียนได้ชวนพี่สาวและหลานๆ เดินทางไปที่ห้างโลตัสสมุทรสงคราม เวลาประมาณ 10.40 น. เพื่อไปซื้อสินค้าตามโฆษณา ไปถึงชั้นวางของปรากฏว่าไม่มีของตามที่โฆษณาวางอยู่ ผู้เขียนจึงไปสอบถามเจ้าหน้าที่ ได้คำตอบว่า ของหมดแล้ว(ฮ้า....นี่เพิ่งวันแรกแต่เช้าหมดแล้วเหรอ..) เอ้า...หมดก็หมด ผู้เขียนเตรียมกลับบ้าน หันมาเจอพี่สาวและหลานๆ เห็นซื้อของกันมาเต็มมือก็เลยถามว่าอ้าว...ของที่ตั้งใจมาซื้อไม่มีแล้วซื้ออะไรกันมา ก็ได้คำตอบว่าไหนๆ ก็เสียเวลามาแล้ว ก็ซื้อๆไปเถอะ (อ้าว...อีกครั้ง)ผู้เขียนเริ่มรู้สึกว่าการโฆษณาของเขาได้ผล เพราะเมื่อผู้บริโภคเห็นโฆษณาก็อยากจะมาที่ห้าง มาแล้วไม่เจอของที่ตั้งใจซื้อ ก็ต้องซื้อสินค้าอื่นๆ เพื่อไม่ให้เสียเวลา ซึ่งตรงนี้หรือเปล่า คือเป้าของการโฆษณา แต่คิดอีกที เออ..สินค้าเขาคงหมดจริงๆจนถึงวันที่ 1 มกราคม 2554 หลังเสร็จภารกิจส่วนตัวประจำวันผู้เขียนได้เดินทางไป ที่ห้างโลตัสอีกครั้ง ก่อนเที่ยง ปรากฏว่าก็ไม่มีสินค้าอีก เอาละอันนี้เริ่มชัด(อะไรว่ะ....มากี่ทีก็ไม่มีของ..) ผู้เขียนจึงไปแจ้งเจ้าหน้าที่ว่าต้องการคุยกับผู้จัดการ รอสักพักผู้จัดการ(หรือเปล่าไม่รู้) ก็มาคุยและแจ้งว่าสินค้าหมดแล้วจริงๆ ผู้เขียนจึงได้นำหนังสือพิมพ์ที่โฆษณาของห้างไปแสดงและชี้ให้เห็นว่า ไม่มีข้อความไหนบอกว่า สินค้ามีจำนวนจำกัด และไม่ได้บอกว่าต้องมาซื้อสินค้าเวลาไหนจึงจะซื้อสินค้าตามที่โฆษณาได้ เป็นการให้ข้อมูลไม่ครบถ้วนผิดกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค ขณะที่มีการเจรจาก็มีผู้บริโภครายอื่นๆ มายืนฟังด้วย(ที่น่าเศร้าใจที่สุดคือ..มีผู้บริโภคบางคนพูดว่า...ของมันหมดแล้วมาโวยทำไม หมดก็ซื้ออย่างอื่นซิ..กลายเป็นว่าคนใช้สิทธิเป็นคนผิดอีก..แส้นนนน....ดี...จริงผู้บริโภคไทย) ผู้จัดการบอกว่าขอเบอร์โทรไว้แล้วกันหากสินค้ามาและจะโทรบอก อันนี้ล่ะ..ที่ผู้เขียนรับไม่ได้ พอใครโวยก็ให้สินค้าใครไม่โวยก็หลอกลวงกันเรื่อยๆไป โดยเฉพาะบริษัทต่างชาติที่เข้ามากอบโกยรายได้จากผู้บริโภคไทย ด้วยการใช้เทคนิคทางการตลาด นำสินค้าชิ้น 2 ชิ้น มาโฆษณาเป็นเหยื่อล่อ หลอกลวงให้หลงเชื่อ เพื่อให้ผู้บริโภคเข้าไปที่ห้างของตนนั้น เป็นเทคนิคการตลาดที่ขาดจริยธรรมอย่างสิ้นเชิง(จริงๆ) ผู้เขียนได้โทรไปที่สายด่วนผู้บริโภค มีเสียงอัตโนมัติตอบกลับมาว่า ผู้ให้บริการติดบริการรายอื่นอยู่โปรดรอสักครู่ จนสายถูกตัด แต่ก็พยายามโทรอีกหลายครั้งใช้เวลาเกือบครึ่งชั่วโมง ก็ไม่สามารถติดต่อได้ เลยต้องโทรหาท่านเลขา สคบ.ท่านก็รับเรื่องแล้วบอกว่าจะดูแลให้ แต่เมื่อคิดอีกทีไปแจ้งความไว้เพื่อเป็นหลักฐานในการดำเนินคดี ก็คงดีก็เลยไปแจ้งความไว้ที่โรงพักเพื่อที่จะได้ดำเนินการฟ้อง พรบ.วิธีพิจารณาความผู้บริโภค เพื่อสร้างบรรทัดฐานต่อไป และในวันเดียวกันก็มีผู้บริโภครายอื่นโทรมาร้องเรียนว่าถูกหลอกเช่นกัน โดยดูทีวีมีการโฆษณาว่ามีกล้องโซนี่ ซื้อ 1แถม 1 ไปซื้อจริงๆไม่มีสินค้าเช่นกัน จึงแนะนำให้ไปแจ้งความไว้อีกคดี กลายเป็นว่าผู้บริโภคได้ร่วมกันให้ของขวัญปีใหม่กับห้างโลตัสไปแล้วโดยไม่ตั้งใจ ที่เขียนเรื่องนี้เพราะผู้เขียนมั่นใจว่าหลายห้างใช้เทคนิคนี้เช่นกัน ไม่อยากจะฝากหน่วยงานแล้วเพราะฝากไปก็เหนื่อยเปล่า ผู้บริโภคอย่างเราๆต้องร่วมมือกันเมื่อเจอเหตุช่วยกันแจ้งความ เพื่อผลักดันให้ธุรกิจเหล่านี้มีจริยธรรมในการประกอบธุรกิจ พลังของเราจะเป็นพลังที่ขับเคลื่อนสังคมไปสู่การลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรมในสังคมได้จริง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 120 รายงานปัญหาผู้บริโภค ปี 2553 และจับตาภัยผู้บริโภคปี 2554 ตอนที่ 2

1. ปัญหาด้านสื่อและโทรคมนาคม• เอสเอ็มเอสกวนใจ และอินเตอร์เน็ตสุดอืดปัญหากลุ่มนี้ อันดับหนึ่งเป็นปัญหาของการใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ราวร้อยละ 48 และอันดับสองคือ ปัญหาการใช้บริการอินเตอร์เน็ตร้อยละ 33 ในกลุ่มปัญหาโทรศัพท์เคลื่อนที่นั้น เรื่องที่มีการร้องเรียนเข้ามามากที่สุดคือ ปัญหาเอสเอ็มเอสกวนใจ หรือสมัครเข้าใช้บริการโดยไม่ได้ตั้งใจและถูกหักเงินค่าใช้บริการ ซึ่งเรื่องนี้จะเชื่อมโยงกับปัญหาการคิดค่าบริการผิดพลาดด้วย เนื่องจากถูกหักเงินโดยไม่ทราบเหตุผลส่วนปัญหาอินเตอร์เน็ตนั้น จะมีสองเรื่องใหญ่ที่ผู้บริโภคร้องเรียนคือ ปัญหาเน็ตช้า ไม่เร็วอย่างที่โฆษณา และปัญหาซื้อสินค้าผ่านเน็ต ถูกหลอกให้โอนเงินแต่ไม่ได้สินค้า แนวทางแก้ไข• กรณีมีเอสเอ็มเอสขยะเข้ามากวนใจตลอดเวลา ผู้บริโภคสามารถทำข้อตกลงกับผู้ให้บริการมือถือได้ว่าโทรศัพท์มือถือเบอร์ใดที่ไม่ต้องการรับเอสเอ็มเอสขยะได้ และหากยังมีเข้ามาอีกก็สามารถเรียกค่าเสียหายกับผู้ให้บริการได้ เพราะถือว่าได้ทำสัญญาตกลงกันแล้ว• กรณีสมัครเอสเอ็มเอส โดยไม่ตั้งใจ เมื่อทราบว่าเกิดปัญหานี้ขึ้นให้ผู้บริโภคติดต่อกับผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือโดยทันที เพื่อแจ้งยกเลิกการใช้บริการรับข้อความเอสเอ็มเอสและมิให้เรียกเก็บเงิน หรือหากมีการหักเงินเรียกเก็บไปแล้ว ก็ให้ผู้ให้บริการมือถือคืนเงินโดยทันที เพราะถือว่าเป็นการใช้บริการที่ผู้บริโภคไม่ได้ตั้งใจสมัคร• ปัญหาเน็ตช้า ผู้บริโภคควรเข้าไปในเว็บไซต์ที่มีบริการตรวจสอบความเร็วเน็ต และปริ้นท์ข้อมูลไว้เป็นหลักฐาน หากความเร็วเน็ตที่ใช้ได้ไม่ถึง 80% จากความเร็วที่โฆษณา ผู้บริโภคสามารถเรียกร้องให้ผู้ให้บริการแก้ไขปัญหาให้มีความเร็วตามที่โฆษณาได้และยังขอลดหย่อนค่าบริการได้ หรือปฏิเสธการจ่ายค่าบริการได้ หากไม่สามารถใช้บริการอินเตอร์เน็ตได้ในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งที่มีหลักฐานชัดเจน• ส่วนการซื้อสินค้าผ่านเน็ตนั้น ทราบว่าในขณะนี้รัฐบาลกำลังดำเนินการกับปัญหานี้ โดยพยายามให้มีการเรียกเก็บภาษีการซื้อขายสินค้าผ่านเน็ต ซึ่งจะช่วยให้ผู้บริโภครู้ตัวตนผู้ขายสินค้าได้ชัดเจนมากขึ้น   2. ปัญหาด้านอสังหาริมทรัพย์ คนร้องคอนโดแซงหน้าปัญหาบ้านจัดสรร ในปี 2553 ปัญหาของผู้อยู่อาศัยในอาคารชุดหรือคอนโดมิเนียมเบียดแซงหน้าปัญหาของหมู่บ้านจัดสรรไปแบบเฉียดฉิว โดยกลุ่มปัญหาอสังหาริมทรัพย์ การร้องรียนเรื่องคอนโดคิดเป็นร้อยละ 40 และปัญหาหมู่บ้านจัดสรรอยู่ที่ร้อยละ 37 ปัญหาคอนโด ส่วนใหญ่เป็นเรื่องผิดสัญญาจะซื้อจะขายของผู้ประกอบธุรกิจ คือ สร้างไม่เสร็จ สร้างล่าช้า สร้างไม่ได้มาตรฐาน แต่ผู้บริโภคที่ไม่รู้เหลี่ยมกฎหมายมักตกเป็นฝ่ายถูกฟ้องร้องเหตุไม่ยอมรับโอนกรรมสิทธิ์ตามสัญญา ในขณะที่หมู่บ้านจัดสรรจะมีปัญหาในการจะซื้อจะขายบ้านและที่ดิน โดยที่ผู้บริโภคต้องจ่ายเงินจอง เงินดาวน์ไปก่อน ในระหว่างที่รอคำตอบขอสินเชื่อกับสถาบันการเงิน แต่เมื่อทราบผลว่าสินเชื่อไม่อนุมัติ ทำให้ผู้บริโภคต้องสูญเงินจองเงินดาวน์ไปเป็นจำนวนมาก แนวทางแก้ไข• กรณีคอนโดมีปัญหาในการก่อสร้าง สร้างไม่เสร็จ สร้างล่าช้า สร้างไม่ได้มาตรฐาน เมื่อผู้บริโภคทราบเหตุปัญหาในขั้นตอนไหน ลักษณะใด ให้ทำหนังสือทักท้วงให้ผู้ประกอบธุรกิจแก้ไขหรือให้ก่อสร้างให้เป็นไปตามที่ตกลงไว้ในสัญญาโดยทันที อย่าใช้วิธีโทรศัพท์ติดตามเพียงอย่างเดียว และไม่ให้จ่ายเงินค่างวดจนกว่าปัญหาที่ทักท้วงไปนั้นจะได้รับการแก้ไขลุล่วงเรียบร้อย หากผู้ประกอบธุรกิจไม่ดำเนินการแก้ไขให้เป็นไปตามสัญญา ผู้บริโภคมีสิทธิ์บอกเลิกสัญญา และเรียกค่าเสียหายได้ • กรณีซื้อบ้านจัดสรร ที่ต้องขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินแล้วยังไม่รู้ผลอนุมัติ เพื่อป้องกันไม่ให้สูญเงินจองเงินดาวน์ไปแบบกินเปล่า ก่อนที่จะลงนามในสัญญาจองและสัญญาจะซื้อจะขาย ผู้บริโภคควรขอให้ผู้ประกอบธุรกิจระบุไว้ในสัญญาเลยว่า หากกู้ไม่ผ่านผู้ประกอบธุรกิจยินดีจะคืนเงินจอง เงินดาวน์ทั้งหมด หรือในสัดส่วนเท่าไหร่ก็ว่าไปตามที่จะตกลงกัน หากผู้ประกอบธุรกิจหรือพนักงานขายไม่ยินยอม ให้เดินออกมาได้เลย ไม่ต้องสนใจกับโครงการนั้นอีกต่อไป   3. ปัญหาด้านบริการสุขภาพและสาธารณสุข• ฟิตเนส...สัญญาชั่วฟ้าดินสลาย ในช่วงเดือนกันยายน ปี 2553 มีหนังไทยเรื่องหนึ่งเข้าฉาย คือเรื่อง ชั่วฟ้าดินสลาย เป็นเรื่องราวโศกนาฏกรรมความรักสุดหน่วงระหว่างอาสะใภ้กับหลานชายของสามี แบบ “ความรักชั่วนิรันดร์ การลงทัณฑ์ชั่วชีวิต” ดูไปแล้วเอามาเทียบกับการเป็นสมาชิกบริการฟิตเนสช่างเหมือนกันได้แบบไม่ผิดเพี้ยน ต่างกันนิดเดียวคือฟิตเนสจะออกแนว “สมาชิกชั่วนิรันดร์ การลงทัณฑ์ชั่วชีวิต” เป็นสมาชิกไปแล้ว เลิกไม่ได้ ต้องจ่ายเงินไปเรื่อยๆ ลูกเดียว นอกจากฟิตเนสแล้ว จากการร้องเรียนยังพบว่าบรรดาศูนย์สุขภาพและความงามจำพวกสปามีการใช้สัญญาชั่วนิรันดร์ลักษณะนี้กับผู้บริโภคเช่นกัน นับเป็นภัยผู้บริโภคอีกเรื่องหนึ่งที่น่าจับตาในปี 2554ปัญหาสัญญาสัญญาไม่เป็นธรรมของบริการฟิตเนส เป็นปัญหายอดฮิตที่มีการร้องเรียนในกลุ่มปัญหาด้านบริการสุขภาพและสาธารณสุข โดยมีมากถึงร้อยละ 45 แนวทางแก้ไข• ผู้บริโภคควรตั้งสติก่อนคิดทำสัญญา• หากหลงเข้าทำสัญญาไปแล้ว ถ้าเป็นการจ่ายเงินผ่านบัตรเครดิต หากไม่ประสงค์จะใช้บริการต้องรีบทำหนังสือบอกเลิกสัญญาโดยเร็วที่สุด ด้วยเหตุผลที่ผู้ประกอบธุรกิจโฆษณาเป็นเท็จ เกินจริง หรือผิดสัญญาในข้อสำคัญ แล้วให้ส่งสำเนาหนังสือบอกเลิกสัญญาไปที่บริษัทบัตรเครดิตเพื่อให้ระงับการเรียกเก็บเงินโดยทันที• หากผู้ประกอบธุรกิจฟิตเนสผิดสัญญาในเงื่อนไขสำคัญ นอกจากจะสามารถบอกเลิกสัญญาได้แล้ว ผู้บริโภคยังมีสิทธิเรียกค่าเสียหายหรือเรียกร้องค่าสมาชิกคืนได้ แต่หากเจรจาไม่สำเร็จอาจต้องใช้การฟ้องเป็นคดีผู้บริโภคในท้ายที่สุด4. ปัญหาด้านอาหาร ยา เครื่องสำอางจับตา...อาหารไม่ปลออดภัยปัญหาด้านอาหารเท่าที่มีการร้องเรียนกับมูลนิธิฯ มีสองลักษณะใหญ่คือ อาหารไม่ปลอดภัย และการโฆษณาเป็นเท็จหรือเกินจริง  โดยอาหารไม่ปลอดภัยนั้นมักเกิดในลักษณะของอาหารไม่บริสุทธิ์ โดยมีสาเหตุใหญ่ๆ คือ มีสิ่งที่น่าจะเป็นอันตรายแก่สุขภาพเจือปนอยู่ และเกิดปัญหาในกระบวนการผลิต การบรรจุหรือการเก็บรักษา ที่ไม่ถูกสุขลักษณะ กรณีที่เคยนำมาลงในฉลาดซื้อ เช่น พบตัวมอดในนมผงสำหรับเด็กเล็ก นมบูดเสียก่อนกำหนดส่วนด้านการโฆษณาที่เป็นเท็จหรือสงสัยว่าเป็นเท็จนั้น มักพบในผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีการโฆษณาตามสื่อทีวีดาวเทียมหรือสื่อวิทยุชุมชนต่างๆ แนวทางแก้ไขใน 7 กลุ่มปัญหา ปัญหาด้านอาหาร ยา เครื่องสำอางนับเป็นกลุ่มปัญหาที่มีการร้องเรียนเข้ามาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเป็นจำนวนน้อยที่สุด ทั้งนี้ด้วยปัจจัยหลายอย่าง เช่น การมีหน่วยงานที่รับผิดชอบดูแลอย่างชัดเจน ความเสียหายไม่ชัดเจน หรือเสียหายไม่มาก หรือพบปัญหาบ่อยมากจนเป็นเรื่องชินชา อย่างไรก็ดีปัญหากลุ่มนี้นับเป็นปัญหาที่ใกล้ตัวผู้บริโภคมากที่สุดกว่ากลุ่มใด จึงจำเป็นที่มูลนิธิฯ จะต้องดำเนินการรณรงค์ให้ผู้บริโภคได้ใช้สิทธิให้มากยิ่งขึ้น  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 120 ทำไมเรา(โง่) จ่ายอยู่กลุ่มเดียว

เดือนที่ผ่านมาคงได้รับรู้ปัญหาของระบบประกันสังคมกันอยู่ไม่มากก็น้อย เพราะผู้ประกันตนถือเป็นกลุ่มเดียว(9.4 ล้านคน) ที่ต้องจ่ายสมทบค่ารักษาพยาบาลให้กับตนเอง จ่ายเงินแล้วสิทธิประโยชน์ยังน้อยกว่ากลุ่มอื่น ๆ ไม่จะเป็นสวัสดิการข้าราชการ หรือระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า(บัตรทอง) ในกรณีผู้ป่วยเรื้อรัง กว่าจะได้ใช้สิทธิผู้ประกันตน ก็ต้องผ่านการพิสูจน์จากสำนักงานว่า เป็นผู้ประกันตนหรือไม่ ทั้งๆ ที่ บางคนจ่ายเงินมาไม่น้อยกว่า 4 ปี ก่อนเก็บเงินก็ไม่เคยถูกถามว่าเป็นผู้ประกันตนหรือไม่ หรือหากจะคลอดบุตรได้ก็ต้องจ่ายสมทบเงินมาไม่น้อยกว่า 7 เดือน ทำให้ผู้หญิงวัยทำงานจำนวนมากไม่สามารถไปฝากท้องได้เพราะไม่มีเงินจ่ายและไม่สามารถใช้สิทธิใด ๆ ได้ สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้สะท้อนระบบประกันสังคมว่าไม่ได้มองว่าเรื่องสุขภาพเป็นสิทธิพื้นฐานของประชาชน แต่เป็นสิ่งที่จะต้องจ่ายก่อนถึงจะได้สิทธินั้น ทั้งที่รัฐธรรมนูญก็กำหนดไว้ชัดเจนว่า บุคคลย่อมมีสิทธิเสมอกันในการรับบริการทางสาธารณสุขที่เหมาะสมและได้มาตรฐานต้องยอมรับว่าเมื่อปี 2533 กฎหมายประกันสังคมก้าวหน้ามากในสังคมไทย แต่หากพิจารณาในปัจจุบันที่เรามีกฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เมื่อปี 2545 ครอบคลุมคนไทยทั้งประเทศ ทำให้ผู้ประกันตนเป็นกลุ่มเดียวที่ต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาล เงินประมาณ 15,000 ล้านบาท ที่จ่ายสมทบทั้งลูกจ้างและนายจ้าง หากนำไปจ่ายเพิ่มสิทธิประโยชน์ชราภาพ หรือเป็นเงินออมของผู้ประกันก็น่าจะทำให้ผู้ประกันตนเมื่อสูงวัยพอจะมีคุณภาพชีวิตได้บ้าง ที่สำคัญทุกคนที่เป็นคนไทยมีความเท่าเทียมในการได้รับสวัสดิการขึ้นพื้นฐานจากประเทศ นอกจากนี้ยังเพิ่มประสิทธิภาพระบบหลักประกันสุขภาพ (60 ล้านคน) ให้สิทธิประโยชน์ของทุกคนเหมือนกัน และสร้างความเข้มแข็งของระบบประกันสังคมในระยะยาว ช่วยกันลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรมด้วยของจริง ร่วมกันผลักดันเรื่องนี้ให้เป็นจริง ด้วยการสมัครเป็นสมาชิกชมรมพิทักษ์สิทธิผู้ประกันตน และร่วมกิจกรรมได้ที่ Facebook ชมรมพิทักษ์สิทธิผู้ประกันตน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 119 เค้ก (cake)

เค้ก (cake) ขนมอบประจำเทศกาลสำคัญ ทั้งปีใหม่ วันเกิด งานแต่งงาน เค้กกำเนิดมาในยุคเดียวกับขนมปังตั้งแต่อียิปต์โบราณ เดิมแยกความแตกต่างของเค้กกับขนมปังด้วยรูปร่างและรสชาติ   เค้ก ออกรสหวานเด่นชัด ซึ่งส่วนใหญ่จะได้จากน้ำผึ้ง ภายหลังความแตกต่างยิ่งเด่นชัดขึ้นมาก เมื่อขนมปังจัดอยู่ในกลุ่มอาหารหลัก ส่วนเค้กจัดอยู่ในกลุ่มขนมหวาน   เค้กยุคแรกจะทำโดยใช้เตาหินร้อนๆ และใช้ยีสต์เพื่อการขึ้นฟู มาเลิกใช้ยีสต์เอาเมื่อศตวรรษที่ 18 เมื่อมีคนคิดค้นเบกกิ้งโซดาได้ในปี ค.ศ. 1840 และยังมีผงฟูที่เกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1860 ส่วนการเปลี่ยนจากเตาหินมาเป็นเตาไฟฟ้าหรือเตาแก๊สนั้น เริ่มในศตวรรษที่ 19 ประมาณปี ค.ศ. 1900  ว่ากันว่าโลกนี้มีสูตรการทำเค้กเป็นล้านๆ สูตร บางสูตรตำรับก็ถ่ายทอดสืบต่อกันมา  นานนับศตวรรษ แต่ก็ล้วนทำจากส่วนผสมหลัก 4 อย่าง คือ แป้ง น้ำตาล ไข่ และไขมัน   เห็นส่วนผสมก็น่าจะดูออกว่า เค้กเป็นขนมที่ให้พลังงานสูง เค้ก 1 ชิ้นเล็ก(35 กรัม) ให้พลังงานถึง 140 กิโลแคลอรี่ ยิ่งถ้ากินร่วมกับน้ำหวาน น้ำอัดลมปริมาณแคลอรี่ยิ่งกระฉูด ดังนั้นก็เตือนกันไว้ อร่อยได้ แต่อย่ามากมายนะคะ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 119 มาเป็นครอบครัวพิทักษ์สิทธิกันเถอะ

  สังคมไทยเป็นสังคมจำเลย ที่กล่าวเช่นนี้เพราะเห็นจากหลายกรณีที่เกิดขึ้น ที่เราจะต้องมองหาจำเลยว่าใครจะเป็นคนผิด เพื่อให้รู้สึก สบายใจ ว่าหาคนผิดได้หรือไม่งั้น ก็มีความกลัวว่าเราจะต้องไปเกี่ยวข้องด้วยและร่วมรับผิดชอบ เช่น การนำเสนอข่าวฟิล์มกับแอนนี่ หรือเรื่องรถตู้ชนบนโทลล์เวย์ และทุกๆ ปี เราจะเห็นการเสนอข่าวว่า ปีนี้มีคนกลับบ้านและไปเที่ยวต่างจังหวัดมาก เริ่มตั้งแต่รถติดมากจากกรุงเทพฯ ติดไปจนถึงนครสวรรค์ หรือข่าวว่าบริษัทขนส่งหรือการรถไฟจะเพิ่มเที่ยวให้สามารถกลับบ้านกันได้ทั้งหมด เห็นข่าวประเภทนี้กันมาหลายปี ดูซ้ำไปซ้ำมา หากจะโทษการเสนอข่าวก็ง่ายไป เราก็ต้องมีส่วนร่วมในการทำให้ข่าวที่เราดูกันตลอดเวลานั้น มีความน่าสนใจมากขึ้นด้วย ปีนี้ฉลาดซื้อตั้งใจที่จะชักชวนให้ช่วยกันปฏิบัติการนำเสนอข่าวด้วยตัวเอง ด้วยการเป็นสมาชิกครอบครัวพิทักษ์สิทธิ ซึ่งจะขอชักชวนคนไทยทั้งประเทศเข้าร่วมเป็นครอบครัวนี้ ที่จะเป็นเหมือนชุมชนของผู้บริโภคที่แข็งขัน มีพลังในเรื่องที่จะช่วยกันติดตามข่าวสาร หรือรายงานผลเหตุการณ์การละเมิดสิทธิ ราคาสินค้า หรือแจ้งเรื่องราวร้องทุกข์ผ่านสื่อที่รวดเร็วฉับไวภายในเครือข่าย ถือเป็นปฏิบัติการที่เราสร้างเองได้ และมีประโยชน์ต่อผู้บริโภค ปีนี้ฉลาดซื้อและทีม มพบ. พร้อมกับครอบครัวพิทักษ์สิทธิ เราจะมุ่งสู่วิสัยทัศน์ “สานพลัง เท่าทันโลก บริโภคอย่างสร้างสรรค์” ด้วยกัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 119 แอบทำผิด แต่ไม่ยอมรับ ยังไงก็ต้องรับผิด (1)

  คดีเด็ดสำหรับเดือนนี้เป็นคำพิพากษาฎีกาใหม่ล่าสุด เป็นเรื่องผู้บริโภคซื้อห้องชุดโดยเชื่อว่าเป็นโครงการในเครือของบริษัทใหญ่ที่มีชื่อเสียงน่าเชื่อถือ มีทุนจดทะเบียนเป็นร้อยล้าน แต่เวลาทำสัญญาผู้บริโภคกลับต้องทำสัญญากับบริษัทฯ โนเนม อีกบริษัทหนึ่งที่มีทุนจดทะเบียนแค่ สิบล้าน ครั้นเกิดปัญหาห้องชุดสร้างไม่เสร็จ ผู้บริโภคจะสามารถฟ้องเรียกเงินที่ชำระไปแล้วคืนจากบริษัทใหญ่ที่ไม่ได้เป็นคู่สัญญาได้หรือไม่  คดีนี้สามารถใช้เป็นบทเรียนสำหรับผู้บริโภคที่ต้องการฟ้องร้องดำเนินคดีกับบริษัทที่มีทุนจดทะเบียนต่ำ แต่ทำมาหากินในระดับโครงการร้อยล้าน พันล้าน ซึ่งถ้าดูแค่ทุนจดทะเบียนอาจจะคิดไปได้ว่า ฟ้องไปก็เปล่าประโยชน์ แต่จริงๆ แล้ว ถ้าบริษัททำมาหากินในลักษณะส่งรายได้ให้กับบริษัทใหญ่ เราก็ฟ้องให้เป็นจำเลยร่วมกันได้เลยครับ   คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2637-2638 /2553 คดีระหว่าง คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค โจทก์ กับ บริษัทโกลเด้น เกท พลาซ่า จำกัด กับพวก จำเลย  ศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภควินิจฉัยว่า “... พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติโดยคู่ความไม่ฎีกาโต้แย้งว่า จำเลยที่ 1 (บริษัทโกลเด้น เกท พลาซ่า จำกัด) เป็นเจ้าของและผู้ดำเนินการโครงการประตูทองพลาซ่าและคอนโดมิเนียมและทำสัญญาขายห้องชุดกับผู้บริโภคทั้ง 21 ราย แล้วผิดสัญญาก่อสร้างไม่แล้วเสร็จและหยุดการก่อสร้าง   ผู้บริโภคทั้ง 21 ราย ร้องเรียนต่อโจทก์และมอบอำนาจให้โจทก์บอกเลิกสัญญาและเรียกเงินคืนจากจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 เพิกเฉยจึงถือว่าสัญญาจะซื้อจะขายระหว่างจำเลยที่ 1 กับผู้บริโภคทั้ง 21 ราย ในคดีนี้เป็นอันเลิกกัน โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีนี้ คดีสำหรับจำเลยที่ 1 ถึงที่สุดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ให้จำเลยที่ 1 ร่วมกับจำเลยที่ 2 ชำระเงินพร้อมดอกเบี้ยแก่ผู้บริโภคทั้ง 21 ราย มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 (บริษัท แผ่นดินทอง พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด(มหาชน) ว่าจำเลยที่ 2 ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ตามฟ้องหรือไม่  โจทก์มี นางสาว ค. นาง ม. นางสาว ป. นาง ท. และ นาง พ. ผู้บริโภคสั่งซื้อห้องชุดในโครงการประตูทองพลาซ่าและคอนโดมิเนียมเบิกความทำนองเดียวกันว่า รู้จักโครงการดังกล่าวจากแผ่นพับโฆษณาเอกสารหมาย จ.9 และทราบจากพนักงานขายของโครงการว่าเป็นโครงการของคุณหญิงศศิมา  ศรีวิกรณ์ และเป็นโครงการในเครือของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์  พยานทั้งห้าจึงให้ความเชื่อถือในโครงการและตกลงซื้อห้องชุดในโครงการดังกล่าว ส่วนจำเลยที่ 2 นำสืบว่าจำเลยที่ 2 เป็นเพียงผู้บริหารการขายซึ่งรับค่าจ้างจากจำเลยที่ 1 โดยทำหน้าที่ชักชวนประชาชนให้มาซื้อห้องชุดในโครงการเท่านั้น ใบโฆษณาเอกสารหมาย จ.18 จำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดทำ จำเลยที่ 2 เพียงมีหน้าที่รับไปแจกจ่ายเท่านั้น”  เอาล่ะสิ จำเลยที่ 2 บริษัท แผ่นดินทอง พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด(มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทที่ไม่ใช่คู่สัญญาโดยตรง พยายามดิ้นที่จะไม่รับผิดชอบในคดีนี้ แล้วผลจะออกมาเป็นอย่างไร ขอพักไว้แค่นี้ก่อนนะครับ เนื่องจากมีเนื้อหาฎีกาที่ค่อนข้างยาว ติดตามกันต่อฉบับหน้าครับ  แต่ยังไงเสีย คนผิดก็ต้องรับผลแห่งการกระทำเสมอ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 119 กระแสต่างแดน

ตราไม่รับรอง บ่อยครั้งที่ผู้บริโภคอย่างเราๆ ให้ความไว้วางใจ “ตรารับรอง” โดยลืมถามตัวเองว่าตราสัญลักษณ์ดังกล่าวนั้น “รับรอง” อะไรกันแน่ องค์กรต่อต้านการทารุณสัตว์ SAFE (Safe Animals from Exploitation) ที่นิวซีแลนด์ออกมาแฉกันเต็มๆ ว่า ตรารับรอง “PigCare Accredited” ที่ติดอยู่บนฉลากผลิตภัณฑ์จากเนื้อหมูที่ขายในซูเปอร์มาร์เก็ตนั้น ไม่ได้มีความหมายอะไร นอกจากจะช่วยให้ผู้ผลิตสามารถขายของได้มากขึ้น  เพราะผู้บริโภคปัจจุบันต้องการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสัตว์ ตรารับรองที่ว่าจึงทำให้ผู้บริโภคมั่นใจว่าหมูน้อยเหล่านั้นเคยมีชีวิตอยู่อย่างสุขสบายตามอัตภาพ ไม่ทุกข์ทรมานเพราะถูกกักขังบริเวณอยู่ในกรงจนขยับไม่ได้  แต่ความจริงแล้วเงื่อนไขที่จะได้ตรารับรอง “PigCare” นั้นไม่ได้ครอบคลุมไปถึงเรื่องการห้ามใช้กรงขัง หรือการห้ามเลี้ยงแบบอุตสาหกรรมด้วยซ้ำ ในขณะที่ฟาร์มที่เลี้ยงแบบเปิด ต่างก็ไม่เข้าร่วมขอฉลากรับรองที่ว่าเพราะไม่เห็นด้วยกับการรับรองดังกล่าว  ฮานส์ ครีก ผู้อำนวยการของ SAFE บอกว่าจริงๆ แล้วสิ่งที่ผู้บริโภคควรมองหาคือตรารับรอง “Free range” หรือ “Free farmed” (ฟาร์มเปิด) มากกว่า  อืม ... จะบริโภคอย่างรับผิดชอบนี่มันไม่ง่ายเลยจริงๆ ---------------------------------------------------------------------------------------------------------------     คันต่อไปครับ แค่สาวนางหนึ่งถูกปฏิเสธโดยแท็กซี่ 6 คันซ้อน ก็เป็นข่าวลงหนังสือพิมพ์ที่นิวซีแลนด์ซะแล้ว (ไม่อยากจะคุยว่าที่บ้านเรา แค่นี้จิ๊บๆ) วิคตอเรีย กริฟฟิน ออกจากงานเลี้ยงที่บริษัทในย่านเวียดักท์ เมื่อตอนเที่ยงคืนครึ่งของคืนวันเสาร์ที่ 18 ธันวาคมปีที่แล้ว เพื่อมาเรียกรถแท็กซี่ที่จอดรออยู่มากมาย แต่เธอกลับถูกปฏิเสธถึง 6 ครั้งติดต่อกันเพียงเพราะบ้านเธออยู่ใกล้เกินไป คนขับรายหนึ่งบอกให้เธอเดินกลับบ้านเอง มีรายหนึ่งรีบล็อคประตูไม่ให้เธอเปิดเข้าไปเลยด้วยซ้ำ   ค่าโดยสาร(ถ้าเธอได้ขึ้น) จะประมาณ 15 เหรียญ หรือ 350 บาท แต่ค่าปรับซึ่งคนขับแท็กซี่จะต้องจ่าย เพราะทำผิดกฎหมายฐานปฏิเสธผู้โดยสารนั้นอยู่ที่ 400 เหรียญ หรือประมาณ 9,000 บาท เวียดักท์ เป็นหนึ่งในย่านที่มีสถิติการปฏิเสธผู้โดยสารมากที่สุด ทิม เรดดิช ประธานสหพันธ์แท็กซี่นิวซีแลนด์ประเมินว่าอย่างน้อยๆ ต้องมีการถูกปฏิเสธไม่ต่ำกว่า 10 ครั้ง รวมๆ แล้วก็น่าจะหลายพันครั้งต่อปี (แต่มีคนร้องเรียนเข้ามาจริงๆ เพียงปีละ 20 ครั้งเท่านั้น) ตามกฎหมายนิวซีแลนด์ คนขับแท็กซี่สามารถปฏิเสธผู้โดยสารได้เมื่อรู้สึกว่าจะเกิดความไม่ปลอดภัยต่อตนเอง เมื่อผู้โดยสารอยู่ภายใต้อิทธิพลของสิ่งมึนเมาหรือสิ่งเสพติด เมื่อผู้โดยสารพกพาน้ำหรืออาหารมาด้วย เมื่อผู้โดยสารส่งเสียงดังหรือมีพฤติกรรมรุนแรงหรือนำสัตว์ซึ่งไม่ใช่สัตว์นำทางมาด้วย เมื่อมีผู้โดยสารจำนวนมากเกินไป นอกจากนี้ยังให้ปฏิเสธได้ในกรณีที่ผู้โดยสารมีเงินไม่พอจ่าย (คนขับสามารถถามล่วงหน้าได้)  เอาเป็นว่ายังไงก็ไม่อนุญาตให้ปฏิเสธเพราะระยะทางสั้นเกินไป --------------------------------------------------------------------------------------------------------------- เข็มขัดมาช้า คราวนี้มาดูการขนส่งในฮ่องกงกันบ้าง ซึ่งขณะนี้รถที่มีเป็นประเด็นมากที่สุดเห็นจะเป็นมินิบัส ซึ่งมีผู้ใช้บริการถึง 1.85 ล้านคนต่อวันในบรรดารถทั้งหมดที่วิ่งอยู่บนท้องถนนนั้นมีมินิบัสที่จดทะเบียนอยู่ร้อยละ 0.76 แต่กลับมีสถิติการเกิดอุบัติเหตุสูงถึงร้อยละ 5 และจากสถิติเมื่อสองปีที่แล้ว ร้อยละ 9 ของจำนวนผู้ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนเป็นผู้โดยสารรถมินิบัสนั่นเอง  หลังจากเกิดอุบัติเหตุสองครั้งที่ทำให้มีผู้เสียชีวิต 6 รายเมื่อปี 2009 กรมการขนส่งฮ่องกงประกาศบังคับให้มินิบัสทุกคันติดตั้ง “กล่องดำ” และอุปกรณ์จำกัดความเร็ว  นอกจากนี้กรมฯ ยังประกาศให้รถมินิบัสที่ขึ้นทะเบียนหลัง 1 สิงหาคม 2004 ทุกคันติดเข็มขัดนิรภัย และมีการคาดการณ์ไว้ว่า ร้อยละ 60 ของรถมินิบัสจะมีเข็มขัดนิรภัยภายในปี 2008 แต่จนถึงกันยายนปีที่แล้วมีรถมินิบัสที่มีเข็มขัดนิรภัยเพียงร้อยละ 55 เท่านั้น  ผู้ตรวจการประเมินว่าภายในปี 2015 จะยังมีรถที่ไม่ปลอดภัยวิ่งอยู่บนท้องถนนอีกไม่ต่ำกว่า 1,000 คัน และคงต้องใช้เวลา 8 ปี จึงจะทำให้รถทุกคันมีเข็มขัดนิรภัยได้   แอพหน้าขาวเชื่อหรือไม่ อินเดียเป็นตลาด “ครีมหน้าขาว” ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย และเช่นเดียวกับบ้านเรา ความอยากขาวนั้นไม่เข้าใครออกใคร ที่นั่นตลาดครีมไวท์เทนนิ่งสำหรับผู้ชายเติบโตถึงร้อยละ 25 (สูงกว่าตลาดครีมสำหรับผู้หญิงร้อยละ10) ถึงขนาดเฟสบุ๊คที่อินเดียเขามีแอพพลิเคชั่นให้หนุ่มๆได้อัพโหลดรูปถ่ายหน้าตัวเองเข้าไป แล้วลองลากเส้นผ่าน เพื่อให้รู้กันไปว่าจะหล่อขึ้นได้สักเท่าไรเมื่อหน้าขาวขึ้น (ด้วยเทคโนโลยีดิจิตัล) แอพพลิเคชั่นดังกล่าวออกมาพร้อมกับการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ครีมกันแดดและไวท์เทนนิ่งสำหรับผู้ชายยี่ห้อวาสลีนนั่นเอง   โดยมีดาราบอลลีวูดชื่อดัง ชาฮิด คาปูร์ เป็นพรีเซ็นเตอร์แสดงให้เห็นครึ่งหน้าที่ผิวคล้ำและผิวขาวขึ้นด้วยแอพฯ ดังกล่าว ทำให้เกิดกระแสมากมายในเฟสบุ๊ค ทางวาสลีน บอกว่าไม่ใช่เรื่องของการกีดกันสีผิว มันก็เหมือนๆ   กับที่ผู้คนในอเมริกาเหนือหรือยุโรปอยากมีผิวสีแทนนั่นแหละ แต่นักธุรกิจชาวอินเดียที่เปิดแฟนเพจในเฟสบุ๊คเพื่อรณรงค์ต่อต้านเทรนด์ “ต้องขาว” ในอินเดีย บอกว่าการที่คนตะวันตกไม่มีผิวสีแทน ไม่ได้เป็นเหตุให้พวกเขาถูกเลือกปฏิบัติ มันเป็นแค่ทางเลือกหนึ่งเท่านั้น ในขณะที่ในอินเดียนั้นผู้คนเชื่อว่าการมีผิวขาวหมายถึงการประสบความสำเร็จในชีวิต ข่าวแถมข้อมูลมาว่า จากการสำรวจที่ทำกับผู้คนจำนวน 12,000 คน ในปี 2009 โดยเว็บหาคู่ออนไลน์ พบว่าสีผิวเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดในการเลือกคู่ของหนุ่มสาวในสามรัฐทางตอนเหนือของอินเดีย ---------------------------------------------------------------------------------------------------------------   เศรษฐศาสตร์ต้นคริสต์มาส ราคาต้นคริสต์มาสที่เดนมาร์กซึ่งเป็นผู้ส่งออกต้นคริสต์มาสรายใหญ่ที่สุดในยุโรป นาทีนี้อยู่ที่ 160 โครเนอร์ (ประมาณ 850 บาท) ต่อความยาวหนึ่งเมตร เขาบอกว่าราคานี้ขึ้นมาจากปีก่อนร้อยละ 25  สมาคมผู้ปลูกต้นคริสต์มาสแห่งเดนมาร์กบอกว่าที่แพงก็เพราะเขาไม่สามารถประเมินความต้องการของผู้บริโภคล่วงหน้าได้ เพราะเจ้าต้นไม้ประจำเทศกาลนี้ต้องใช้เวลาในการปลูกถึง 9 ปี   อย่างไรก็ดี ข้ออ้างที่ว่านี้ยังไม่สามารถคลายข้อข้องใจของสมาคมผู้บริโภคที่นั่นได้เมื่อเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว สมาคมฯ ถูกศาลสั่งปรับ 500,000 โครเนอร์ (ประมาณสองล้านหกแสนกว่าบาท) โทษฐานที่ชักชวนให้สมาชิกร่วมกันตั้งราคาขั้นต่ำสำหรับต้นคริสต์มาสในช่วงระหว่างปี 2002 ถึง 2006   ข่าวบอกว่าระหว่างปี 2005 ถึง 2009 ราคาต้นคริสต์มาสเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 80 โดยพันธุ์ยอดฮิตที่ขายดีเป็นเทน้ำเทท่าได้แก่พันธุ์นอร์ดมันเฟอร์ --------------------------------------------------------------------------------------------------------------   คูปองสองมาตรฐาน องค์กรผู้บริโภคของเดนมาร์กไม่เห็นด้วยกับการแจกคูปองลดราคาเป็นโปรโมชั่นส่งเสริมการขาย เพราะมันหมายถึงการจ่ายเงินจำนวนต่างกันสำหรับสินค้า/บริการเดียวกัน  ความจริงแล้วตั้งแต่ปี 1994 เป็นต้นมา ที่เดนมาร์กมีกฎหมายห้ามการแจกคูปองลดราคา เพื่อการันตี “ความเท่าเทียม” เรียกว่าใครบังอาจแจกเป็นอันต้องถูกจับและปรับกันไป   เรื่องการแจกคูปองกลับมาเป็นประเด็นอีกครั้ง เมื่อสหภาพยุโรปได้ทำข้อตกลงเมื่อปี 2009 ที่ระบุว่าให้สามารถทำได้ ทั้งนี้ข้อตกลงดังกล่าวก็เขียนไว้ชัดเจนว่าให้แต่ละประเทศถือปฏิบัติตามกฎหมายของตนเองไปจนถึงปี 2013   แต่บรรดาผู้ประกอบการที่นั่นไม่รอช้า รีบใช้ประโยชน์จากข้อตกลงดังกล่าวของสหภาพยุโรปทันที แถมยังบอกว่าลูกค้าส่วนใหญ่พึงพอใจกับคูปองลดราคาที่ว่าอีกด้วย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 119 กระแสในประเทศ

  ประมวลเหตุการณ์เดือนธันวาคม 2553 2 ธันวาคม 2553นักวิจัยเตือน ผักไฮโดรโปนิกเสี่ยงมะเร็ง ม.เกษตรศาสตร์ เปิดเผยงานวิจัยที่ชวนตกใจ ระบุผักที่ไฮโดรโปนิก รับประทานมากอาจเป็นต้นเหตุของโรคมะเร็ง จากไนเตรทที่สะสมมากับผัก น.ส.พัชราภรณ์ ภู่ไพบูลย์ นักวิจัยจากฝ่ายเครื่องมือและวิจัยทางวิทยาศาสตร์ สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ร่วมกับทีมวิจัย ร่วมกันศึกษาการสะสมไนเตรทในพืชผักที่มากเกินไป ซึ่งหากรับประทานเข้าไปไนเตรตจะไปรวมตัวกับสารเหนี่ยวนำทำให้เกิดมะเร็ง  ผลการศึกษาพบว่าผักที่ปลูกในน้ำยาไฮโดรโปนิกมีแนวโน้มการสะสมไนเตรตสูงสุด เพราะวิธีปลูกผักแบบไฮโดรโปนิกมีการเติมน้ำยาให้พืชเจริญเติบโตมากเกินความต้องการตามธรรมชาติของผัก โดยผักคะน้าไฮโดรโปนิกมีค่าเฉลี่ยของไนเตรตสูงที่สุด รองลงมาคือ ผักบุ้ง  ดังนั้นจึงอยากขอให้เกษตรกรและผู้ปลูกผักไฮโดรโปนิกลดปริมาณการใส่น้ำยาหรือเติมน้ำเปล่าให้มากขึ้น ผู้บริโภคควรเลือกผักไฮโดรโปรนิกจากเกษตรกรที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน ส่วนการปลูกผักแบบอื่นๆ ก็ไม่ควรใส่ปุ๋ยมากเกินไป -------------------------------------------------------------------------------------------------------   16 ธันวาคม 2553ส่งเสริมสมุนไพรใช้รักษาโรคทั่วหน้า กระทรวงสาธารณสุขเตรียมส่งเสริมให้มีการใช้สมุนไพรในการรักษาโรคมากขึ้น โดยในปี 2554 นี้ จะผลักดันนโยบายด้านการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ให้เข้าสู่ระบบบริการสุขภาพของสถานพยาบาลทุกระดับทั่วประเทศ และให้มีการเปิดหลักสูตรการเรียนการสอนด้านการแพทย์แผนไทย โดยกระทรวงสาธารณสุขได้บรรจุแพทย์แผนไทยที่จบปริญญาตรี ซึ่งทั่วประเทศมีประมาณ 1,000 คน ไปปฏิบัติหน้าที่ในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ยังไม่นับรวมแพทย์พื้นบ้านทั้งที่ขึ้นทะเบียนไว้และได้รับใบประกอบโรคศิลป์แล้วอีกเป็นจำนวนมาก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญเรื่องยาและการนวดเป็นหลัก  นอกจากนี้ยังเตรียมตั้งโรงงานสมุนไพรแห่งชาติ เป็นศูนย์กลางวิจัยและถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตยาแผนไทยและผลิตภัณฑ์สมุนไพร ให้มีคุณภาพมาตรฐานเป็นที่ยอมรับในระดับสากล ซึ่งจะช่วยทำให้สมุนไพรไทยได้รับการส่งเสริมและพัฒนาเพื่อนำมาผลิตเป็นยาหรืออาหารเสริมอย่างถูกต้องและเป็นระบบมากยิ่งขึ้น -----------------------------------------------------------------------------------------------------   15 ธันวาคม 2553โฆษณานมเด็กเกินจริงมีสิทธิโดนแบน ถึงเวลาคุมเข้มโฆษณาอาหารสำหรับทารก เมื่อที่ประชุมสมัชชาแห่งชาติ ครั้งที่ 3 เตรียมผลักดัน พ.ร.บ.อาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก ตรวจสอบการโฆษณานมผงในเด็ก 0-2 ปี เพื่อปรับเปลี่ยนทัศนคติคุณแม่ยุคใหม่ ให้หันกลับมาเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มากขึ้น  พญ.ยุพยง แห่งเชาวนิช เลขาธิการชมรมส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า อัตราการเลี้ยงลูกด้วย “นมแม่” ในประเทศไทยลดลงเหลือเพียงร้อยละ 5.4 เนื่องจากมีการโฆษณาและแจกตัวอย่างนมผงในโรงพยาบาลจำนวนมาก ซึ่งการโฆษณานมผงสำหรับทารกในปัจจุบันนี้สร้างความเข้าใจที่ผิดๆ ว่ากินแล้วจะช่วยสร้างพัฒนาการที่ดีหรือทำให้เด็กฉลาดกว่าเด็กคนอื่น ทำให้มีพ่อ-แม่จำนวนมากหันมาเลี้ยงลูกด้วยนมผงกันมากขึ้น ดูได้จากยอดการนำเข้านมผงจากต่างประเทศ ซึ่งสูงถึง 10,000 ล้านบาทต่อปี  พ.ร.บ.ฉบับนี้ น่าจะเริ่มใช้ในปี 2555 เพื่อควบคุมการส่งเสริมการขายในผลิตภัณฑ์นมผงสำหรับเด็กแรกเกิด โดยกฎหมายฉบับนี้จะห้ามทำการโฆษณาและส่งเสริมการขายใดๆ ในผลิตภัณฑ์นมผงสำหรับเด็กทารกถึงอายุ 2 ปี ------------------------------------------------------------------------------------------------------     มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เผยสถิติร้องเรียนปี 53 หนี้บัตรเครดิตครองแชมป์!!! มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เปิดเผยข้อมูลการทำงานการรับเรื่องร้องเรียนในปี 2553 ที่ผ่านมา ปัญหาหนี้บัตรเครดิต ถือเป็นปัญหาที่ผู้บริโภคร้องเรียนมากที่สุด ถึง 94% รองลงมาเป็นเรื่อง บริการสาธารณะ สินค้าและบริการ โทรคมนาคม อสังหาริมทรัพย์ และบริการด้านสาธารณสุข น.ส.สารี อ๋องสมหวัง ผู้จัดการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวถึงสถานการณ์การรับเรื่องร้องเรียนของศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ในรอบปี 2553 ที่ผ่านมา มูลนิธิฯ ได้ฟ้องคดีกระทรวงคมนาคม กรณีดอนเมืองโทลเวย์ เป็นคดีสาธารณะ สนับสนุนการฟ้องคดีให้ผู้บริโภคจำนวน 386 คดี เป็นคดีที่ใช้กฎหมายวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค 178 คดี รวมทุนทรัพย์ทั้งสิ้น 212,576,590.07 บาท และมีคดีที่สิ้นสุดแล้วจนถึงปัจจุบันเป็นเงิน 27,244,803.39 ล้านบาท โดยรับเรื่องร้องเรียนและดำเนินการช่วยเหลือทั้งสิ้น 798 คดี  สำหรับลักษณะปัญหาเรื่องหนี้บัตรเครดิตที่มาร้องเรียนนั้น มีหลายรูปแบบ เช่น เป็นหนี้บัตรหลายใบ ไม่มีความรู้ในการจัดการบริหารหนี้สิน ถูกติดตามทวงหนี้ไม่เป็นธรรม จนถึงขั้นถูกฟ้องศาล แนะรัฐฯ ต้องออกกฏหมายคุ้มครองอย่างเหมาะสม เช่น กฎหมายติดตามทวงหนี้ที่เป็นธรรม กฎหมายบัตรเครดิตที่มีการกำกับดูแลค่าธรรมเนียมและดอกเบี้ย หรือการมีแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำโดยรัฐกำกับดูแล เป็นต้น  มูลนิธิฯ ตั้งความหวังว่าจะได้เห็น องค์การอิสระเพื่อผู้บริโภคจะเกิดขึ้นในปี 2554 นี้ พร้อมทั้งเรียกร้องให้ภาครัฐฯ เข้ามาควบคุมดูแลกิจการที่คิดทำธุรกิจแบบผูกขาด และให้การสนับสนุนเรื่องมาตรการอาหารปลอดภัย ปรับปรุงคุณภาพบริการรถโดยสารสาธารณะ และเรียกร้องให้ภาคธุรกิจรับผิดชอบต่อผู้บริโภคให้เท่าเทียมกับความรับผิดชอบต่อผู้บริโภคในต่างประเทศ ------------------------------------------------------------------------------------------------------   “สบท.” เดินหน้าทำงานต่อไปในยุค “กสทช.” นายแพทย์ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา ผู้อำนวยการสถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม (สบท.) ยืนยันว่า งานด้านการคุ้มครองผู้บริโภคด้านโทรคมนาคมยังคงดำเนินต่อไป แม้จะมีการเปลี่ยนแปลงสำนักงานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) กลายเป็นสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เพราะมีมาตรา 31 ของพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ และกำกับการประกอบ กิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์   และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553 หรือ พ.ร.บ.กสทช. คอยรองรับอยู่ แต่เรื่องตัวสถาบันจะยังมีอยู่ต่อไปหรือไม่ ต้องรอหลังการจัดตั้งคณะกรรมการกสทช. ซึ่งต้องแล้วเสร็จภายใน 180 วัน ซึ่งแนวโน้มอาจจะถูกควบรวม และแต่งตั้งเป็นสถาบันคุ้มครองผู้บริโภคใหม่  ทั้งนี้ ในฐานะผู้อำนวยการ สบท.จะส่งหนังสือไปยังผู้ประกอบการทุกรายที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับ พ.ร.บ.กสทช. ใหม่นี้ว่า ผู้บริโภคยังมีสิทธิร้องเรียนปัญหาได้ตามเดิม เพราะการจัดตั้งสบท. มีความชอบด้วยกฎหมาย ตามพ.ร.บ.ประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2544 เนื่องจาก สบท.มีผลสถานะเป็นหน่วยงานหนึ่งในสำนักงาน กทช. ยังมีสถานะอยู่ตามเดิม  นอกจากนี้ องค์กรคุ้มครองผู้บริโภคทั่วประเทศได้เสนอ 4 มาตรการคุ้มครองผู้บริโภคในช่วงจัดตั้งคณะกรรมการ กสทช. คือ 1. เร่งรัดให้มีการคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์อย่างเร่งด่วน และคงบทบาทการทำงานของ สบท. ต่อไป 2. เร่งออกมาตรการคุ้มครองสิทธิ กรณี เอสเอ็มเอสรบกวน และการขายสินค้าผ่านโทรศัพท์ และกำหนดมาตรการการคงสิทธิเลขหมาย ย้ายค่ายเบอร์เดิมผู้บริโภคต้องไม่เสียค่าใช้จ่าย 3. เร่งให้ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือไม่ควรกำหนดอายุของบัตรเติมเงินตามประกาศของ กทช. และ 4. ขอให้ทำร่างแผนแม่บทคลื่นความถี่ที่รับผิดชอบก่อนมีกรรมการ กสทช.

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 119 อาหาร 1 ใน 3 ไม่ปลอดภัย

  นับเนื่องจากที่ผมได้ร่วมทำโครงการอาหารปลอดภัย(ชื่อเล่นนะครับ) ผมก็ได้นำเสนอผลการทดสอบผลิตภัณฑ์อาหารไปหลากหลายชนิดมาก มากขนาดรวมเป็นหนังสือ “ถูกปาก” ที่ทางฉลาดซื้อจัดพิมพ์จำหน่ายไปเมื่อตุลาคมที่ผ่านมาได้หนึ่งเล่มเชียวนะครับ   แต่งานในโครงการฯ นี้มีมากกว่าการทดสอบผลิตภัณฑ์อาหารครับ ท่านบอกอเลยขอร้องเสียงแข็งให้ผมช่วยสรุปภาพรวมของโครงการฯ มาเล่าให้สมาชิกฉลาดซื้อได้รับรู้บ้าง ก็เลยขอเบียดคอลัมน์ช่วงฉลาดช้อปหน่อยนะครับ ความเป็นมาโครงการพัฒนากลไกการเฝ้าระวังความปลอดภัยด้านอาหารของผู้บริโภคเป็นโครงการความร่วมมือของ 3  ภาคี คือระหว่างเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคใน 8 จังหวัด (กรุงเทพฯ สมุทรสงคราม ขอนแก่น มหาสารคาม เชียงใหม่ พะเยา สงขลา และสตูล)   โดยมีมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเป็นผู้ประสานงานกลางกับเครือข่ายห้องปฏิบัติการทางอาหารในระดับภูมิภาค (ม.เชียงใหม่ ม.ขอนแก่น และ ม.สงขลานครินทร์) ที่มีสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดลเป็นผู้ประสานงานกลาง และ ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ อุบลราชธานี   ทำหน้าที่พัฒนาและดูแลระบบฐานข้อมูลการเฝ้าระวังความไม่ปลอดภัยทางอาหาร ดำเนินงานภายใต้วัตถุประสงค์หลักสามประการ คือ (1) เพื่อพัฒนากลไกการเฝ้าระวังความปลอดภัยด้านอาหารโดยผู้บริโภค (2) เพื่อคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคจากปัญหาความไม่ปลอดภัยด้านอาหาร และ (3) เพื่อพัฒนาเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคในการเฝ้าระวังความปลอดภัยด้านอาหาร   เราทำอะไรไปบ้าง จากการดำเนินงานที่ผ่านมา การพัฒนากลไกการเฝ้าระวังความปลอดภัยด้านอาหารของผู้บริโภค ได้          จัดตั้งศูนย์เฝ้าระวังความปลอดภัยด้านอาหารในระดับจังหวัดขึ้นใน 8 จังหวัด จาก 4 ภูมิภาค โดยมีสมาชิกเครือข่ายที่ตื่นตัวและทำการเฝ้าระวังความปลอดภัยด้านอาหารประมาณ 500 คน ในกรุงเทพฯ จังหวัดสมุทรสงคราม ขอนแก่น มหาสารคาม เชียงใหม่ พะเยา สงขลา และจังหวัดสตูล โดยศูนย์เฝ้าระวังทั้ง 8 จังหวัดได้พัฒนาร่วมกันเป็นกลไกการเฝ้าระวังระดับประเทศ  จัดกิจกรรมสำคัญ (ก) การสนับสนุนข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์ความปลอดภัยด้านอาหารให้แก่พื้นที่ดำเนินงานทุก 2 สัปดาห์  (ข) การฝึกอบรมด้านกฎหมาย เทคนิคการรับเรื่องร้องเรียนด้านอาหาร และการติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงาน   นอกจากนั้นยังได้รับการสนับสนุนจากศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์อุบลราชธานี พัฒนาระบบฐานข้อมูลและเว็บไซท์ สำหรับการรายงานและเผยแพร่ข้อมูลปัญหาความไม่ปลอดภัยด้านอาหาร www.tumdee.org/food/ เชื่อมโยงกับเว็บไซท์มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค www.consumerthai.org เพื่อสามารถเข้าถึงได้มากขึ้นและง่ายแก่การนำข้อมูลไปใช้ และได้ดำเนินการพัฒนาศักยภาพในการใช้ฐานข้อมูลและการรายงานข้อมูลความไม่ปลอดภัยด้านอาหารแก่เจ้าหน้าที่ของพื้นที่ดำเนินงานทั้ง 8 จังหวัด   ข้อมูล  อีกทั้งยังได้ดำเนินการรายงานและเผยแพร่ข้อมูลผลการเฝ้าระวังความปลอดภัยด้านอาหารให้แก่ผู้บริโภคอย่างต่อเนื่องผ่านสื่อต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นสื่อสิ่งพิมพ์ สื่อวิทยุ สื่อโทรทัศน์ หรือสื่อความรู้แบบอื่น ๆ เพื่อให้ข้อมูลประกอบการตัดสินใจแก่ผู้บริโภคในการเลือกซื้อสินค้าที่มีมาตรฐาน มีคุณภาพ และปลอดภัย   อาหาร 1 ใน 3 ไม่ปลอดภัยจากที่ได้รายงานผลทดสอบผลิตภัณฑ์อาหารอย่างสม่ำเสมอในฉลาดซื้อ อันนี้เกิดจากความร่วมมือกันของศูนย์ฯ ทั้ง 8 จังหวัด ที่แข็งขันช่วยกันลงพื้นที่เก็บตัวอย่างและส่งวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการ ซึ่งตลอดปีที่ผ่านมา มีตัวอย่างที่เราส่งวิเคราะห์รวมกว่า 750 รายการ   และจากการวิเคราะห์พบว่าอย่างน้อย 1 ใน 3 ของอาหารที่สุ่มตัวอย่าง มีการปนเปื้อนเกินมาตรฐาน ไม่ว่าจะเป็นด้านจุลินทรีย์ หรือเคมี ยกตัวอย่างเช่น สารกันบูดในลูกชิ้นหมู ไก่เนื้อ และปลา ยาฆ่าแมลงในผัก-ผลไม้   ทั้งที่เป็นประเภทปลอดสารและที่ขายอยู่ในตลาดปกติ ยาฆ่าแมลง อะฟลาท็อกซินและโลหะหนักตกค้างในของแห้งจำพวก กุ้งแห้ง ปลาหมึกแห้ง เห็ดหอมแห้ง เห็ดหูหนูขาว และสาหร่ายแกงจืด ทั้งนำเข้าและที่ขายอยู่ภายในประเทศ จุลินทรีย์ปนเปื้อน หรือความผิดปกติของค่าโปรตีน(มีทั้งน้อยและมากจนผิดปกติ)ในนมโรงเรียนทั้งชนิด พาสเจอร์ไรส์ และยูเอชที และคุณค่าทางโภชนาการและโลหะหนักในสาหร่ายขนมเด็ก เป็นต้น ซึ่งคงผ่านตาท่านผู้อ่านฉลาดซื้อไปแล้ว  เรื่องอาหารที่เรานำเสนอนี้สร้างกระแสฮือฮาได้มากนะครับ ผมได้รับจดหมายไถ่ถามจากบริษัทผู้ผลิตเป็นระยะๆ ว่า โครงการฯ เราทำอะไร ทดสอบยังไง โดยส่วนใหญ่ผู้ผลิตเจ้าใหญ่ที่พบว่าเกิดปัญหากับผลิตภัณฑ์ของตน ก็ยินดีที่ทางเราช่วยเป็นหูเป็นตาให้อีกทาง และพร้อมที่จะนำข้อเสนอของเราไปปรับปรุงตัวผลิตภัณฑ์ อันนี้ถือเป็นเรื่องน่ายินดีมากครับ และรายที่แย่ๆ หาผู้ผลิตไม่เจอ ก็พบว่า หายหน้าหายตาไปจากตลาดเหมือนกันครับ อันนี้ผมถือว่า เป็นเรื่องดี แต่อาจจะมาโผล่ในชื่อหรือยี่ห้ออื่นหรือไม่ อันนี้ต้องติดตามกันต่อไป   ข้อเสนอทางด้านนโยบายเมื่อพบว่ามีปัญหาอะไรบ้างในห่วงโซ่ของการผลิตอาหาร ผู้ร่วมดำเนินงานในโครงการฯ ก็ได้ร่วมกันพัฒนานโยบายสำคัญเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคด้านความปลอดภัยของอาหารขึ้น ซึ่งได้ผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมสมัชชาผู้บริโภค ที่มีผู้บริโภคเข้าร่วมไม่น้อยกว่า 500 คน คิดว่าหลายท่านก็คงจะได้เข้าร่วมประชุมในครั้งนั้นด้วย  จากนั้นก็นำเสนอรายละเอียดเผยแพร่ให้กับสาธารณชน เพื่อที่จะได้ผลักดันให้หน่วยงานรัฐ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการควบคุม กำกับดูแล และส่งเสริมให้เกิดความปลอดภัยด้านอาหารได้พัฒนาต่อไป สำหรับท่านใดที่สนใจเรื่องข้อเสนอนโยบาย เราจัดทำเป็นเอกสารแจก ติดต่อมาที่ผมได้ครับเอกสารยังพอมีเหลืออยู่บ้าง   ก้าวต่อไปเพื่อสังคมที่มีคุณภาพถึงแม้โครงการนี้จะเป็นการทดลองพัฒนากลไกการคุ้มครองผู้บริโภคด้านอาหารใน 8 จังหวัด และมีความจำกัดด้านความรู้เชิงวิชาการขององค์กรผู้บริโภคในการเผยแพร่ข้อมูลเรื่องนี้ต่อสาธารณะ แต่โครงการได้ขยายผลเพิ่มเติมในการพัฒนาความร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.)   โดยมีคณะทำงานในการใช้ประโยชน์จากผลข้อมูลการเฝ้าระวังอาหารร่วมกัน และการพัฒนาความร่วมมือเรื่องอาหารปลอดภัย ในอนาคต ซึ่งหน่วยงานรัฐหรือหน่วยงานท้องถิ่นควรจะมีการสนับสนุนระบบการพัฒนาการเฝ้าระวังความปลอดภัยด้านอาหาร และการรณรงค์เรื่องอาหารปลอดภัยโดยผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง เพื่อความมั่นคงและความปลอดภัยด้านอาหารของประชาชนคนไทยทุกคน

อ่านเพิ่มเติม >