ฉบับที่ 174 กระแสต่างแดน

ยังไม่พร้อม
ความพร้อมในการอพยพผู้อยู่อาศัยในบริเวณรอบๆ โรงไฟฟ้าเซนได(ซึ่งคาดว่าจะกลับมาใช้งานได้ตั้งแต่วันที่ 10 สิงหาคม) ยังคงต่ำกว่าระดับค่าเฉลี่ยของญี่ปุ่นทั้งประเทศ

การสำรวจโดยหนังสือพิมพ์อาซาฮีพบว่า มีสถานพยาบาล 2 แห่งจาก 85 แห่ง และศูนย์พักฟื้น 15 แห่ง จาก 159 แห่งในรัศมี  30 กิโลเมตรจากโรงไฟฟ้าดังกล่าวเท่านั้นที่เตรียมพร้อมแผนอพยพในกรณีฉุกเฉิน

ถ้ารวมความพร้อมในเขตโรงงานนิวเคลียร์ทั้งประเทศจะพบว่า มีเพียงร้อยละ 34 เท่านั้นจัดทำแผนอพยพแล้ว 

ในปี 2012 รัฐบาลญี่ปุ่นขยายเขตการเตรียมตัวเมื่อเกิดภัยพิบัติ จากรัศมี 8 – 10 กิโลเมตรเป็น 30 กิโลเมตร และกำหนดให้สถานพยาบาลต่างๆ ระบุสถานที่พักสำหรับคนไข้ เส้นทางการอพยพ รูปแบบการเดินทางขนส่งที่จะใช้ เพื่อไม่ให้เกิดความล่าช้าในการอพยพผู้ป่วยและชาวบ้านเหมือนเหตุการณ์ที่เมืองฟุกุชิมะ

นอกจากนี้ยังกำหนดให้เมืองและหมู่บ้าน 135 แห่งในรัศมี 30 กิโลเมตรของโรงไฟฟ้าทุกโรง รวบรวมรายชื่อผู้ที่ไม่สามารถอพยพด้วยตนเองได้เอาไว้ด้วย แต่การสำรวจพบว่า 1 ใน 4 ของหมู่บ้านเหล่านี้ยังไม่ได้ทำ 

ปัจจุบันเตาปฏิกรณ์ปรมาณูทุกตัวในญี่ปุ่นถูกพักงาน แต่บริษัทคิวชู อิเล็กทริก พาวเวอร์ กำลังผลักดันให้เซนไดเป็นโรงงานแรกที่เริ่มใช้งานเตาดังกล่าวอีกครั้ง ภายใต้มาตรการความปลอดภัยที่เข้มงวดขึ้น และในอนาคตอัน โรงไฟฟ้าทากาฮามาและโรงไฟฟ้าอิคาตะก็จะเริ่มเดินเครื่องเตาเหล่านี้เช่นกัน

 

ระวัง “ของนอก”
อาหารปลอมจากจีนระบาดไปหลายประเทศ จึงไม่แปลกที่เราจะได้ยินข่าวว่าคนจีนก็ไม่ไว้ใจอาหารในประเทศตัวเอง

ผู้ประกอบการหลายเจ้าจึงไม่ยอมพลาดโอกาสจัดหาสินค้าแบรนด์นอกเข้ามาสนองความต้องการของผู้บริโภคที่ต้องการอาหาร “ปลอดภัยและมีคุณภาพ”  

นมผงสำหรับทารกเป็นหนึ่งในสินค้าที่ว่า บรรดาผู้ผลิตนมผงยี่ห้อที่ได้รับความน่าเชื่อถือในต่างประเทศต้องกำหนดโควตาการส่งออกไปยังประเทศจีน เพื่อไม่ให้เกิดการขาดแคลนในประเทศตัวเอง แม้แต่นักท่องเที่ยวที่ถือโอกาสไปหิ้วมาด้วยตนเองก็เริ่มพบอุปสรรค เพราะต้นทางเขาจำกัดจำนวนซื้อ (ฮ่องกงอนุญาตให้นักท่องเที่ยวจีนซื้อได้คนละ 2 กระป๋อง ออสเตรเลียให้ซื้อได้คนละ 4 กระป๋อง) 

โอกาสใหม่สำหรับพ่อค้าหัวใสจึงบังเกิด เขาเอาใจผู้นิยมของนอกด้วยการ “จ้าง” โรงงานในประเทศที่มีชื่อเสียงด้านผลิตภัณฑ์นม อย่างออสเตรเลีย เป็นผู้ผลิตให้ บนกระป๋องมีฉลากที่ระบุว่า “มาจากออสเตรเลีย” และ “ได้รับการรับรองโดยหน่วยงานที่ดูแลผลิตภัณฑ์นมของออสเตรเลีย” แล้วขายออนไลน์ในราคาถูกจนไม่น่าเชื่อ

ขนาดรวมค่าจัดส่งแล้ว นมผงกระป๋องขนาด 1,800 กรัม ราคาประมาณ 600 บาทเท่านั้น
มันเป็นสินค้า “จากออสเตรเลีย” ที่คุณหาซื้อไม่ได้ในออสเตรเลียแน่ๆ แล้วก็ได้แต่สงสัยว่ามัน “ผลิตในออสเตรเลีย” จริงหรือเปล่า


 
อยากรู้ ต้องได้รู้
กฎหมายที่กำหนดให้ไม่ต้องมีการติดฉลากอาหารที่มีส่วนประกอบผ่านการดัดแปรพันธุกรรม หรือ  Safe and Accurate Food Labeling Act กำลังจะเข้าสู่การพิจารณาโดยวุฒิสภาอเมริกันเร็วๆ นี้

ร่างกฎหมายนี้มีคนตั้งชื่อให้ว่า DARK Act หรือ Denying Americans the Right–to-Know Act เพื่อประชดที่กฎหมายดังกล่าวละเมิดสิทธิที่ผู้บริโภคจะได้รู้ว่ามีอะไรอยู่ในอาหารที่พวกเขารับประทาน 

Just Label It หนึ่งในองค์กรที่คัดค้านร่างกฎหมายดังกล่าวระบุว่า ร้อยละ 90 ของคนที่พวกเขาสอบถาม เห็นด้วยกับการติดฉลาก และยังมีอีกกว่า 200,000 คนที่ลงชื่อออนไลน์ว่าไม่เห็นด้วยกับ “พรบ. มืด” ดังกล่าว 

ดาราสาวกวินเน็ธ พาลโทรว์ ก็เป็นหนึ่งในนั้น เธอมาร่วมประท้วงในฐานะคุณแม่ที่ต้องการให้ลูกๆได้สิ่งที่ดีและสมควรได้รู้ว่าเธอกำลังให้พวกเขารับประทานอะไร  คุณแม่ของเธอก็มาด้วยเพราะเชื่อว่ายังมีเรื่องที่ต้องพิสูจน์อีกมากเกี่ยวกับความปลอดภัยของอาหารดัดแปรพันธุกรรม 
ด้านอุตสาหกรรมอาหารอ้างว่า การติดฉลากจะทำให้ผู้บริโภคสับสน แถมยังต้องจ่ายเงินมากขึ้นถึงปีละ 500 เหรียญ (17,500 บาท) ต่อครัวเรือน แถมยังแขวะดาราสาวว่าหาเรื่องเกาะกระแสแก้ตกเทรนด์หรือเปล่า    

ปัจจุบัน จีน บราซิล รัสเซีย ออสเตรเลีย ประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรป และประเทศอื่นๆ รวม 64 ประเทศ มีกฎหมายบังคับการติดฉลากระบุว่ามีส่วนผสมที่ผ่านการดัดแปรพันธุกรรมแล้ว 
 


 โดนเรียกคุย
หลังจากชาวเน็ตในสิงคโปร์พากันแชร์รูปพนักงานร้าน BreadTalk เทนมถั่วเหลืองยี่ห้อ Yeo’s ลงในขวดแบ่งของทางร้าน ที่ติดฉลากว่า “freshly prepared” (ซึ่งทำให้ผู้บริโภคเข้าใจว่าทางร้านทำเองทุกวัน)

ทางร้านออกมาขอโทษและหยุดขายผลิตภัณฑ์ดังกล่าวแล้ว BreadTalk ยอมรับว่าเขาแบ่งนมถั่วเหลืองพาสเจอไรส์ยี่ห้อเย่วอี้มาใส่ขวดขายในร้านจริง ซึ่งก็เป็นเรื่องปกติที่ร้านอาหารนิยมทำ(แต่ร้านอื่นเขาไม่ได้ติดฉลากที่ว่านะคุณ)

ร้านให้เหตุผลว่าปกติแล้วขวดเหล่านั้นเป็นขวดสำหรับใส่น้ำผลไม้คั้นสด ไม่ได้ใช้สำหรับนมถั่วเหลือง และจะดูแลไม่ให้เกิดเรื่องแบบนี้ขึ้นอีก  

แต่นั่นยังไม่เพียงพอ สมาคมผู้บริโภคแห่งสิงคโปร์ CASE – Consumers Association of Singapore บอกว่าการกระทำดังกล่าวถือเป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้ และเรียกร้านขนมปังเจ้าดังสัญชาติสิงคโปร์ (ซึ่งมีสาขาอยู่ในบ้านเราด้วย) เข้ามาพูดคุยปรับความเข้าใจ

เนื่องจากฉลากทำให้เข้าใจได้ว่าทางร้านเป็นผู้ผลิตนมถั่วเหลืองเองทุกวัน ซึ่งสอดคล้องกับการมีราคาสูงกว่านมถั่วเหลืองที่เทจากกล่อง ผู้บริโภคจึงมีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากการกระทำดังกล่าวได้ 
 


บอลลิวูดลดโลกร้อน
อุตสาหกรรมภาพยนตร์ก็ไม่ต่างจากอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่ใช้พลังงานมหาศาลและสร้างผลกระทบมากมายต่อสิ่งแวดล้อม 

ไม่ว่าจะเป็นการเดินทางของทีมงาน นักแสดง การใช้แสง สี เสียง และเอฟเฟคต่างๆ รวมถึงอาหารการกิน ไหนจะวัสดุต่างๆที่นำมาสร้างฉากอีก ทั้งหมดนี้ล้วนทำให้เกิด “รอยเท้าคาร์บอน” 

ภาพยนตร์เรื่อง “Aisa Yeh Jahaan” เป็นภาพยนตร์อินเดียเรื่องแรกที่มีการบันทึกข้อมูลรอยเท้าคาร์บอน 

การถ่ายทำภาพยนตร์ดรามาเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมเรื่องนี้ สร้างคาร์บอนไดออกไซด์ 78.47 ตัน คิดจากการใช้พลังงานทั้งทางตรง (ไฟฟ้าที่ใช้) และทางอ้อม (อาหาร การเดินทาง ฯลฯ)  เพื่อเป็นการชดเชยมลพิษที่สร้างขึ้น ผู้สร้างต้องปลูกต้นไม้ทั้งหมด 560 ต้น 

แนวทางการวัดและจัดการร้อยเท้าคาร์บอนสำหรับอุตสาหกรรมภาพยนตร์ ถูกกำหนดขึ้นโดยสมาคมผู้ผลิตภาพยนตร์ BAFTA ของอังกฤษ และ PGA ของอเมริกา 

ที่ผ่านมาพบว่าหนังค่ายเล็กๆ จะสร้างคาร์บอนฯประมาณ 100 ตัน แต่ถ้าเป็นหนังฟอร์มยักษ์ ก็อาจสร้างคาร์บอนฯ ได้มากถึง 10,000 ตัน

อุตสาหกรรมภาพยนตร์ของลอนดอนเจ้าเดียวก็ทำให้เกิดคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 125,000 ตัน ต่อปี (เทียบเท่ากับปริมาณจากบ้าน 24,000 หลังเลยทีเดียว)

 

แหล่งข้อมูล: กองบรรณาธิการ

150 point

LINE it!





  เรื่องเกี่ยวข้อง: นิตยสารออนไลน์ โรงไฟฟ้า อาหารปลอม ฉลากอาหาร โลกร้อน

ฉบับที่ 278 กระแสต่างแดน

หิวเมื่อไรก็แวะมา         เทศบาลเมืองปีนังประกาศยืนยันไม่ยกเลิกใบอนุญาตในการประกอบการร้านอาหาร 24 ชั่วโมงก่อนหน้านี้ CAP องค์กรผู้บริโภคแห่งปีนังได้ออกมาเรียกร้องให้ภาครัฐพิจารณาจำกัด “ชั่วโมงเปิดขาย”ของร้านประเภท “มามัก” หรือร้านอาหารแบบดั้งเดิมที่เสิร์ฟอาหารพลังงานสูง (เช่น โรตี) เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามในการแก้ปัญหาโรคอ้วนของประชากร         ผลสำรวจของกระทรวงสาธารณสุขมาเลเซียระบุว่า ร้อยละ 31.3 ของประชากรมีน้ำหนักเกิน ในขณะที่ร้อยละ 22.2 เป็นโรคอ้วน และปัจจุบันมาเลเซียยังครองสถิติประเทศที่มีผู้ใหญ่เป็นโรคอ้วนมากที่สุดในอาเซียนด้วย หากรัฐบาลไม่รีบแก้ไข เมื่อถึงปี 2035 สองในสามของเยาวชนมาเลเซียก็จะมีภาวะโรคอ้วน         เรื่องนี้มีกระแสต่อต้านล้นหลาม เนื่องจาก “มามัก” เป็นแหล่งกินดื่มยอดนิยมของนักศึกษา รวมถึงคนที่เลิกงานดึกและแฟนบอลที่นิยมมารวมตัวกันดูฟุตบอล เพราะค่าใช้จ่ายถูกกว่าผับบาร์ทั่วไป ยังไม่นับกลุ่มคนที่ต้องตกงานหรือรายได้น้อยลงเพราะร้านปิดเร็วขึ้นด้วย อนาคตไว้ทีหลัง          สมาคมประกันชีวิตแห่งเกาหลีซึ่งมีสมาชิกเป็นบริษัทประกันจำนวน 22 บริษัท ออกมาแสดงความวิตกหลังพบว่า จำนวนลูกค้าที่ขอยกเลิกกรมธรรม์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงสามปีที่ผ่านมา         ล่าสุดพบว่ามีกรมธรรม์ที่ถูกยกเลิกก่อนกำหนดไปถึง 1.14 ล้านฉบับ ทั้งแบบที่ยกเลิกอัตโนมัติเพราะลูกค้าผิดเงื่อนไข เช่น ขาดส่งเบี้ยหรือส่งล่าช้าและแบบที่ลูกค้าสมัครใจขอยกเลิกเอง เพราะมีความจำเป็นต้องใช้เงิน เช่น ต้องการเงินไปผ่อนบ้านเพราะกลัวถูกยึด         ร้อยละ 32.8 ของคนที่บอกเลิกสัญญา ให้เหตุผลว่ายกเลิกเพราะรับภาระไม่ไหว ราคาอาหารหรือสินค้าอื่นๆ ก็เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะนี้เกาหลีกำลังประสบภาวะเงินเฟ้อสูงและมีดอกเบี้ยเงินกู้ที่สูงที่สุดตั้งแต่ปี 2008 (อัตราร้อยละ 3.5)         อย่างไรก็ตาม แม้จะต้องจ่ายเงินคืนให้กับลูกค้ามากเป็นประวัติการณ์ในปี 2023 บริษัทประกันฯ ก็ยังมีผลกำไรเพิ่มขึ้นร้อยละ 37.6    ค้าขายต้องเป็นธรรม         สำนักงานบริหารการกำกับดูแลตลาดแห่งชาติจีน (State Administration for Market Regulation) ออกระเบียบใหม่เพื่อปราบปรามการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมในตลาดออนไลน์ เพื่อคุ้มครองสิทธิของทั้งผู้ประกอบการและผู้บริโภค         สำนักงานฯ บอกว่าระเบียบนี้เป็นการแสดงจุดยืนเรื่องการกำกับดูแลอีคอมเมิร์ซ  อุตสาหกรรมอินเทอร์เน็ต การจัดระเบียบการค้าขาย รวมถึงการส่งเสริมนวัตกรรมและเศรษฐกิจแบบดิจิทัล         เนื้อหาซึ่งแบ่งออกเป็น 43 ข้อ มีการกล่าวถึง “ความหมายของการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม” ข้อมูลปลอม โฆษณาหลอกลวง ความรับผิดชอบตามกฎหมาย การจัดเก็บข้อมูลของลูกค้า รวมถึงการทำธุรกิจแบบเลือกปฏิบัติ         ที่สำคัญยังกำหนดให้แพลตฟอร์มต่างๆ มีความรับผิดชอบเพิ่มขึ้นในการกำกับดูแลให้ร้านค้าแข่งขันกันอย่างเป็นธรรม หากฝ่าฝืนจะต้องรับโทษที่สูงกว่าเดิม         ระเบียบนี้จะมีผลบังคับตั้งแต่เดือนกันยายนนี้เป็นต้นไปลุ้นยิ่งกว่าบอล         การรถไฟเยอรมนีประกาศว่า เขาพร้อมแล้วที่จะให้บริการแฟนบอลจำนวนมากที่จะเดินทางเข้ามาเชียร์ทีมของตัวเองในศึกยูโร 2024  ตั้งแต่การจัดที่นั่งเพิ่มอีก 10,000 ที่ในวันที่มีการแข่ง ไปจนถึงโปรโมชันส่วนลดสำหรับผู้โดยสารที่ถือตั๋วเข้าชมฟุตบอล         แม้แต่การซ่อมบำรุงที่ทำอยู่เป็นประจำก็จะงดเว้นตลอดช่วงการแข่งขันเพื่อป้องกันรถไฟล่าช้า         อย่างไรก็ตามรายงานระบุว่า ระบบรถไฟในเยอรมนีนั้นมีปัญหาสะสมอยู่ไม่น้อย ทั้งตัวขบวนรถ ตัวรางที่ค่อนข้างเก่า ทำให้เกิดการขัดข้องทางเทคนิคจนขบวนรถต้องเสียเวลาอยู่บ่อยครั้ง ในปี 2023 อัตราการ “ดีเลย์” (ตั้งแต่ 6 นาทีขึ้นไป) ของรถไฟทางยาวในเยอรมนีสูงถึงร้อยละ 36         แต่ที่น่าเป็นห่วงคือ พฤติกรรมของแฟนบอลที่อาจระเบิดฟอร์มใส่เจ้าหน้าที่ของการรถไฟได้ทุกเมื่อ เรื่องนี้สหภาพรถไฟเขายื่นคำขาดไว้แล้วว่า ถ้าถูกคุกคามพวกเขาจะหยุดปฏิบัติงานทันที         จากการสำรวจสมาชิกสหภาพฯ จำนวน 4,000 คน มีถึงร้อยละ 64 ที่เคยถูกผู้โดยสารทำร้ายหรือด่าทอ 

อ่านเพิ่มเติม>

ฉบับที่ 277 กระแสต่างแดน

เมืองอยู่ยาก        นายกเทศมนตรีเมืองฟลอเรนซ์ยอมรับว่าเมืองของเขาได้รับผลกระทบจากการท่องเที่ยวที่ขยายตัวแบบไร้การควบคุม         ขณะนี้อัตราค่าเช่าบ้านในเมืองดังกล่าวอยู่ที่ร้อยละ 84 ของเงินเดือน เมื่อมองย้อนกลับไปจะพบว่าระหว่างปี 2016 – 2023 ค่าเช่าบ้านในเมืองฟลอเรนซ์เพิ่มขึ้นร้อยละ 42 ในขณะที่จำนวนที่พักในแอป Airbnb ก็เพิ่มจาก 6,000 เป็น 15,000 ห้อง/หลัง         ล่าสุดเรื่องนี้ส่งผลกระทบให้บรรดาช่างฝีมือจำนวนมากถูก “ไล่ที่” ออกจากบริเวณทำเลทอง เพราะเจ้าของพื้นที่ต้องการเปลี่ยนจาก “โรงงาน” เป็นโรงแรมสำหรับนักท่องเที่ยว         รัฐบาลอิตาลีได้ร่างระเบียบห้ามเปิดที่พักเพิ่มตั้งแต่เดือนตุลาคมปีที่แล้ว แต่ยังไม่สามารถประกาศใช้เพราะเสียงค้านจากผู้ที่จะได้ประโยชน์ ในขณะที่แผนส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรองก็ยังไม่เป็นมรรคผล เพราะนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่มีเวลาไม่เกินสามวัน จึงต้องการไปเยี่ยมชมเฉพาะสถานที่ยอดนิยมเท่านั้น  เยียวยาจิตใจ         คณะกรรมการแก้ไขข้อพิพาทผู้บริโภคแห่งเมืองมุมไบ ประเทศอินเดีย มีคำสั่งให้ Flipkart แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซอันดับหนึ่งของอินเดีย จ่ายเงินชดเชยให้กับผู้บริโภค 10,000 รูปี (4,400 บาท) ฐานบกพร่องในการให้บริการและทำธุรกิจอย่างไม่เป็นธรรม         เดือนกรกฎาคม ปี 2022 ผู้บริโภคสั่งซื้อไอโฟนจากร้านค้าแห่งหนึ่งบนแพลตฟอร์มดังกล่าว และชำระเงินด้วยบัตรเครดิตในราคา 39,628 รูปี (17,300 บาท) หกวันต่อมาเขาได้รับข้อความสั้นจาก Flipkart ว่าคำสั่งซื้อถูกยกเลิก เนื่องจากผู้ให้บริการขนส่งติดต่อผู้รับไม่ได้         เมื่อติดต่อไปยังแพลตฟอร์มก็ได้รับคำอธิบายว่าบริษัทจะคืนเงินให้เต็มจำนวนและขอให้เขาทำการสั่งซื้อเข้ามาใหม่ แต่คราวนี้ไอโฟนรุ่นที่เขาอยากได้มีราคาแพงขึ้นกว่าเดิม 7,000 รูปี         คณะกรรมการฯ มองว่าบริษัทจงใจหากำไรเพิ่มด้วยการยกเลิกออเดอร์ของลูกค้า และสร้างความทุกข์ทรมานทางจิตใจให้กับผู้บริโภคด้วยการยกเลิกโดยไม่ถามความยินยอมของเขาก่อน  ต้องจ้างเด็ก         เยอรมนีกำลังประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานอย่างหนัก ผู้ประกอบการขนส่งออกมาเตือนว่าอาจต้องลดจำนวนรถที่ให้บริการลงเพราะหาคนทำงานไม่ได้ หลายรายบอกว่าตำแหน่งที่ประกาศรับยังเหลือว่างถึงร้อยละ 30         เมื่อไม่มีพนักงานเพิ่ม คนที่ทำงานอยู่ก็หยุดงานประท้วงบ่อยเพราะต้องแบกภาระหนักเกินไป         บริษัทขนส่งมวลชน VAG ของเทศบาลเมืองนูเร็มเบิร์ก (ซึ่งต้องการพนักงานขับรถสาธารณะอย่างรถไฟ รถรางและรถเมล์ รวมกันปีละ 160 อัตรา) จึงใช้วิธีติดประกาศจ้างงานตามมหาวิทยาลัย ชักชวนให้นักศึกษาใช้เวลาว่างเป็นพนักงานพาร์ทไทม์ขับรถราง สัปดาห์ละ 20 ชั่วโมง        คุณสมบัติได้แก่เป็นผู้มีใบขับขี่ อายุเกิน 21 ปี มีความรับผิดชอบ รักงานขับรถ และทำงานเป็นกะได้ ผู้ผ่านการคัดเลือกก็จะได้รับการอบรมภาคทฤษฎี ฝึกปฏิบัติกับเครื่องจำลองการขับ จากนั้นจึงฝึกกับรถรางจริง เนื่องจากอยู่ในภาวะเร่งด่วน การฝึกจึงใช้เวลาน้อยกว่าปกติเท่าตัว ขอก่อนรื้อ         กระทรวงแรงงานเดนมาร์กประกาศห้ามการรื้อถอนอาคารที่มีแร่ใยหินโดยไม่ได้รับอนุญาต และกำหนดโทษปรับไว้ไม่ต่ำกว่า 30,000 โครน (ประมาณ 160,000 บาท)         รายงานข่าวระบุว่ากฎหมายดังกล่าวน่าจะสามารถเริ่มบังคับใช้ในวันที่ 1 กรกฎาคมปีนี้ โดยมีระยะเวลาผ่อนผัน 6 เดือน         พูดง่ายๆ คือ “เจ้าของบ้าน” จะรื้อถอนเองไม่ได้ เพราะการรื้อถอนต้องดำเนินการโดยบริษัทที่ได้รับใบอนุญาตเท่านั้น บริษัทเหล่านี้จะมีระบบควบคุมคุณภาพ และมีเจ้าหน้าที่ที่ผ่านการฝึกอบรมมาสำหรับการนี้โดยเฉพาะ เพื่อให้มั่นใจว่าจะไม่เกิดการฟุ้งกระจายของฝุ่นแร่ใยหินซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพ        แร่ใยหินถือเป็นสิ่งผิดกฎหมายในเดนมาร์กมา 35 ปีแล้ว แต่ปัญหานี้ยังไม่หมดไปเนื่องจากยังมีการใช้ในงานก่อสร้างต่อเติมอาคาร และยังมีอาคารจำนวนไม่น้อยที่สร้างก่อนปี 1989 (พ.ศ. 2532) ส่วนกรณีของประเทศไทย เรายังไม่อยู่ในกลุ่ม 56 ประเทศที่ประกาศแบนแร่ใยหินแล้ว รีบใช้เงิน         คนเกาหลีไต้มีแนวโน้มจะขอรับเงินเกษียณก่อนกำหนดกันมากขึ้น เพราะต้องการเงินไว้ใช้ในวันที่ค่าครองชีพแพงเหลือใจ         ข้อมูลทางการระบุว่าปีที่แล้วมีคนเกษียณก่อนกำหนด 849,744 คน นับเป็นสถิติสูงสุดตั้งแต่ปี 1999 ซึ่งเป็นปีแรกที่อนุญาตให้มี “early retirement” และคาดว่าปี 2024 นี้จะมีถึง 960,000 คน        ก่อนหน้านี้รัฐบาลเกาหลีได้ประกาศขยับอายุเกษียณจาก 62 เป็น 63 ปี เพื่อให้มีเงินเหลืออยู่ในระบบนานขึ้น แต่คนจำนวนมากไม่อยากรอจนตัวเองอายุ 63 พวกเขารู้สึกอุ่นใจกว่าถ้าได้ถือเงินก้อนไว้เลย หลายคนก็ต้องการเงินมาลดความฝืดเคืองในชีวิตประจำวัน         การขอรับเงินก่อนเวลาเป็นสิ่งที่สามารถทำได้ แต่มีเงื่อนไขว่าผู้รับจะถูกหักเงินบางส่วน เช่นถ้ารับก่อนกำหนดหนึ่งปี จะถูกหักร้อยละ 6 หรือถ้าขอรับก่อนเวลาห้าปีจะถูกหักร้อยละ 30 เป็นต้น          สหภาพแรงงานเกาหลีกำลังผลักดันให้การขยายเวลาการจ้างงาน เพื่อให้โอกาสผู้สูงอายุมีรายได้เพิ่มก่อนจะต้องออกไปหางานใหม่ เพราะเงินที่ได้จากการเกษียณมันน้อยเกินไป 

อ่านเพิ่มเติม>

ฉบับที่ 276 กระแสต่างแดน

aติดเก้าอี้        การสำรวจ “ชั่วโมงนั่ง” ใน 10 ประเทศในยุโรป (กรีซ ไซปรัส สวีเดน ลักเซมเบิร์ก เบลเยียม ฟินแลนด์ โรมาเนีย เนเธอร์แลนด์ เดนมาร์ก สาธารณรัฐเชก) พบว่าตำแหน่ง “แชมป์นั่งนาน” ตกเป็นของเนเธอร์แลนด์ ซึ่งร้อยละ 26 ของประชากรวัยเกิน 16 ปี มีชีวิตติดเก้าอี้เกิน 8.5 ชั่วโมงต่อวัน ในขณะที่ค่าเฉลี่ยของยุโรปอยู่ที่ร้อยละ 11         นอกจากนี้ยังพบว่า ประชากรประมาณ 3.7 ล้านคน หรือครึ่งหนึ่งของคนวัยทำงาน นั่งนานกว่าวันละ 6 ชั่วโมง โดยอาชีพที่นั่งนานที่สุดคือทนายความ นักเศรษฐศาสตร์ นักพัฒนาซอฟท์แวร์ ด้วยสถิติ 7.3 ชั่วโมงต่อวัน แซงคนขับรถบรรทุกที่นั่งประมาณ 7.2 ไปอย่างฉิวเฉียด         งานวิจัยของ TNO พบว่าการนั่งนานซึ่งส่งผลกระทบต่อการไหลเวียนของเลือด ทำให้คนดัทช์เสียชีวิตก่อนวัยอันควรปีละไม่ต่ำกว่า 21,000 คน ด้วยโรคหัวใจ มะเร็ง และโรคเบาหวานชนิดที่สอง คิดเป็นความสูญเสียทางเศรษฐกิจประมาณ 1,000 ล้านยูโรขอแค่สอง     การรถไฟฝรั่งเศส SNFC ประกาศระเบียบใหม่สำหรับผู้ที่จะโดยสารไปกับรถไฟความเร็วสูง TGV  InOui  และ Intercite’  ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์เป็นต้นไป จะสามารถนำสัมภาระติดตัวไปด้วยได้สองใบเท่านั้น (หนึ่งใบใหญ่และหนึ่งใบเล็ก)          คำจำกัดความของ “ใบใหญ่” คือสัมภาระขนาด 70x90x50 ซม. ส่วน “ใบเล็ก” ต้องมีขนาดไม่เกิน 40x30x15 ซม. แต่มีข้อยกเว้นให้กับสัมภาระอย่างรถเข็นเด็ก กระเป๋าเครื่องดนตรี หรือกระเป๋าอุปกรณ์กีฬา เป็นต้น         ช่วงแรกยังอยู่ในระยะตักเตือน แต่หลังจาก 15 กันยายน การฝ่าฝืนระเบียบนี้มีค่าปรับ 50 ยูโร (ประมาณ 2,000 บาท)        ระเบียบลักษณะนี้ใช้กับรถไฟระหว่างเมืองทั่วไปอยู่แล้ว ผู้สามารถนำกระเป๋าขึ้นรถไฟได้คนละสองใบ (ขนาด 55x35x25 และ 36x27x15) หากมีสัมภาระมากกว่านี้ก็สามารถจ่ายเงินเพิ่มได้          ส่วนรถไฟท้องถิ่น TER ไม่มีลิมิต ใช้ระบบใครมาก่อนได้ก่อน เพียงแต่ต้องดูแลไม้ให้เกะกะคนอื่น  เช่นเดียวกับรถไฟ Eurostar ก็ไม่มีข้อจำกัด แต่ขออยู่ในปริมาณที่ถือและยกขึ้นวางด้วยตัวเองได้ เสี่ยงสูงขึ้น         จีนเป็นตลาดรถอีวีอันดับหนึ่งของโลกและเป็นผู้นำด้านการผลิตแบตเตอรีสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า จึงมีภาพลักษณ์ประเทศไฮเทค พรั่งพร้อมด้วยเทคโนโลยีการผลิตที่สามารถช่วยสร้างสังคมคาร์บอนต่ำ         แต่งานสำรวจโดยหน่วยงานสาธารณสุขทั่วประเทศกำลังชี้ให้เห็นว่าสุขภาพของคนทำงานในอุตสาหกรรมนี้กำลังแย่ลง           การทำงานในโรงงานผลิตแบตเตอรีมีอันตรายหลายด้าน และอุตสาหกรรมนี้จัดอยู่ในประเภทอุตสาหกรรมความเสี่ยงสูง และมีงานวิจัยในปี 2019 ที่พบว่าอุตสาหกรรมนี้เกิดภาวะสารเคมีเป็นพิษบ่อยที่สุดมาตั้งแต่ช่วงต้นปี 90         แม้ว่าแบตเตอรีรถอีวีซึ่งเป็นลิเธียมไอออนจะมีอันตรายน้อยกว่าแบตเตอรีตะกั่วกรดแบบเดิม แต่คนทำงานยังมีโอกาสได้รับอันตรายจากฝุ่นกราไฟท์ เขม่าที่เกิดขึ้นขณะผสมหรือกวนวัตถุดิบ อิเล็กโทรดขั้วลบขั้วบวก หรือแม้แต่โอโซนในพื้นที่เชื่อมโลหะ รวมถึงระดับเสียง 90 เดซิเบลที่สูงเกินระดับปลอดภัย (85 เดซิเบล) ต้องคืนเงิน         คณะกรรมาธิการการแข่งขันทางการค้าและผู้บริโภคแห่งออสเตรเลีย (ACCC) เรียกร้องให้มีการปฏิรูปกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค และทำให้ผู้ประกอบการไม่สามารถปฏิเสธการคืนเงินหรือปฏิเสธการรับประกันสินค้าได้         ความจริงแล้วผู้บริโภคมีสิทธิที่จะได้รับการประกันโดยอัตโนมัติตาม พรบ. คุ้มครองผู้บริโภคออสเตรเลีย แม้ผู้ขายจะอ้างว่าเลยระยะเวลารับประกัน หรือได้แจ้งแล้วว่าไม่สามารถเปลี่ยนหรือขอเงินคืนได้         จากเรื่องร้องเรียนทั้งหมด 98,000 เรื่องที่คณะกรรมาธิการได้รับในปี 2023 มีประมาณร้อยละ 30 ที่เกี่ยวกับการรับประกันสินค้า (28,000 เรื่อง)         ผลิตภัณฑ์ที่มีเรื่องร้องเรียนเข้ามาอันดับต้นๆ คือ รถยนต์ สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดใหญ่ ผู้บริโภคมักได้รับคำตอบว่า “สินค้าหมดประกันแล้ว คุณต้องรับผิดชอบค่าซ่อมเอง” หรือในบางกรณี เช่น การขอให้ผู้ประกอบการซ่อมรถมือสองให้ ผู้บริโภคต้องมีธุระจัดการไม่ต่ำกว่า 60 ขั้นตอน ได้หมดถ้าสดชื่น         ร้านอาหาร ร้านค้าปลีกในญี่ปุ่นเริ่มผ่อนคลายกฎระเบียบเรื่องการแต่งตัว เพื่อรับมือกับสถานการณ์ขาดแคลนแรงงานในประเทศ         เรื่องนี้กำลังกลายเป็นเทรนด์ ในปี 2022 บริษัท Pan Pacific International Holding เจ้าของกิจการห้างอย่าง “ดองกี้” ยอมประกาศยกเลิกระเบียบเรื่องการย้อมสีผมตามที่พนักงานร้องขอ         ปีต่อมาครึ่งหนึ่งของพนักงานในห้างล้วนมีสีผมที่ไม่ใช่สีดำตามธรรมชาติ และในจำนวนนั้นร้อยละ 20 เป็นสีแบบจี๊ดจ๊าดหรือไม่ก็บลอนด์ไปเลย ผู้คนมีความสุขขึ้นเมื่อได้ทำงานในแบบที่เป็นตัวของตัวเอง         เดือนกันยายนปีที่แล้ว ซูเปอร์มาร์เก็ต BELC ในโตเกียวก็ยกเลิกกฎเรื่องสีผม ทรงผม หรือการเจาะหู รวมถึงการทาเล็บ ลดการลาออกของพนักงานซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาที่ต้องการย้อมสีผม         เรื่องรวมไปถึงแรงงานต่างประเทศด้วย เครือร้านอาหารซูชิโร ที่มีการจ้างงานคนจาก 60 ประเทศ อนุญาตให้พนักงานสวมฮิญาบ (กรณีผู้หญิง) หรือไว้หนวดเคราได้ถ้าสวมหน้ากากอนามัย (กรณีผู้ชาย) 

อ่านเพิ่มเติม>

ฉบับที่ 275 กระแสต่างแดน

ส้วมสะเทือนใจ        การรถไฟอินเดียต้องจ่ายค่าชดเชย 30,000 รูปี (ประมาณ 12,900 บาท) ให้กับผู้โดยสารคนหนึ่งที่ได้รับความกระทบกระเทือนต่อร่างกายและจิตใจจากสภาพห้องน้ำบนขบวนรถ         วันที่ 3 กันยายน 2564 ผู้โดยสารคนดังกล่าวขึ้นรถไฟตู้ปรับอากาศชั้นสามจากนิวเดลลีเพื่อไปลงที่เมืองอินดอร์ ซึ่งเป็นการเดินทางข้ามคืนที่ใช้เวลาประมาณ 15 ชั่วโมง          แปดโมงเช้าวันต่อมา เขาลุกไปเข้าห้องน้ำเพื่อล้างหน้าและทำธุระส่วนตัว แต่พบว่าไม่มีทั้งน้ำล้างหน้าและน้ำสำหรับกดชักโครก ซึ่งขณะนั้นอยู่ในสภาพสกปรกสุดทน และเนื่องจากรถไฟเสียเวลา เขาจึงต้องทนปวดท้องอยู่สองชั่วโมงและไปถึงที่ทำงานสายด้วย         แม้จะแย้งว่าห้องน้ำไม่ถือเป็น “บริการ” ตามกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค แต่การรถไฟฯ มีความผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตาม “กฎบัตรพลเมือง” ที่กำหนดให้หน่วยงานรัฐจัดหาน้ำใช้ที่สะอาดและห้องน้ำที่ถูกสุขอนามัยให้กับประชาชนและยังต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการฟ้องร้อง 10,000 รูปีด้วย  ยาถูกมีอยู่จริง         เป็นเรื่องปกติที่คนสิงคโปร์จะขับรถข้ามชายแดนไป “ซื้อของ” ที่ยะโฮร์บารู เมืองหลวงของรัฐยะโฮร์ ประเทศมาเลเซีย เพราะนอกจากราคาสินค้าอุปโภคบริโภคในซูเปอร์มาร์เก็ตที่นั่นจะถูกกว่า รวมถึงยารักษาโรคก็ถูกกว่าด้วย แถมร้านยาในมาเลเซียก็ไม่ถามหา “ใบสั่งแพทย์” อีก         ตัวอย่างเช่น ราคาของยาลดความดัน Micardis ในสิงคโปร์อยู่ที่ 53 เหรียญ (1,400 บาท) แต่สามารถซื้อได้ในมาเลเซียที่ราคา 62 ริงกิต (470 บาท)         นอกจากความแตกต่างของค่าเงินแล้ว ยาในมาเลเซียยังถูกกว่าเพราะร้านยาซึ่งมีหลายร้านในบริเวณเดียวกันมักจะกระหน่ำลดราคาเพื่อแย่งลูกค้าด้วย         อย่างไรก็ตามช่องข่าว CNA ซึ่งนำเสนอเรื่องดังกล่าวพบว่ายาที่สั่งซื้อจากร้านออนไลน์ในมาเลเซียมักใช้ไม่ได้ผล อาจเป็นเพราะคุณภาพการเก็บรักษาหรือการขนส่ง แถมหลายตัวยังเป็นยาปลอมหรือมีสารต้องห้าม         ทางช่องข่าวแนะนำให้คนสิงคโปร์ประหยัดด้วยการซื้อ “ยาชื่อสามัญ” เพราะเขาทดสอบแล้วพบว่าหลายตัวมีประสิทธิภาพไม่ต่างจากยาที่มีแบรนด์เลย ถือบัตรไหนดี         กรุงโซลและปริมณฑลมีบัตรขึ้นรถสาธารณะหลายใบให้เลือก เป้าหมายร่วมกันคือลดภาระค่าเดินทางให้คนเมือง แต่สิทธิประโยชน์และเขตพื้นที่ให้บริการนั้นไม่เหมือนกัน         “ไคลเมทการ์ด” บัตรรายเดือนโดยเทศบาลโซล ใช้ขึ้นรถเมล์และรถไฟได้ดินได้ทุกเส้นทางในโซลได้ไม่จำกัด ใบละ 62,000 (ประมาณ 1,650 บาท) และบัตรดังกล่าวจะครอบคลุมพื้นที่เมืองอินชอนด้วยตั้งแต่ปี 2024         “ไอพาส” ของเทศบาลเมืองอินชอน ใช้เดินทางในเมืองนี้ได้โดยไม่จำกัดเที่ยว ผู้สูงอายุสามารถรับเงินคืนร้อยละ 30 จากที่จ่ายไป         “เคพาส” ของกระทรวงที่ดิน สิ่งปลูกสร้างและการขนส่ง ใช้เดินทางได้ 60 เที่ยวทั่วประเทศ หากใช้รถสาธารณะมากกว่า 15 ครั้งต่อเดือน สามารถขอเงินคืนได้ร้อยละ 30 (สำหรับผู้ที่อายุ 19-34 ปี) ส่วนผู้มีรายได้น้อยจะได้เงินคืนร้อยละ 52         แล้วยังมี “คยองกีพาส” สำหรับใช้ในจังหวัดคยองกี ที่จะเริ่มใช้เดือนพฤษภาคมได้เงินคืนเหมือนกันแต่ไม่จำกัดจำนวนเที่ยว         ประชาชนเกาหลีหลายคนสงสัยดังๆ จะง่ายกว่าไหม ถ้ารัฐบาลลดราคาตั๋วไปเลย   ไม่ต้องฝัง         เพราะความสะดวกและความประหยัด คนดัทช์ยุคนี้จึงหันมาเลือกใช้บริการพิธีศพแบบเผา แทนที่จะฝังตามธรรมเนียมดั้งเดิม         ที่เนเธอร์แลนด์พิธีศพแบบเผามีค่าใช้จ่าย 6,000 ยูโร (ประมาณ 232,000 บาท) แต่อาจมีค่าใช้จ่ายเพิ่มบ้างในกรณีที่ราคาพลังงานแพงขึ้น ในขณะที่การฝังมีค่าใช้จ่ายถึง 9,000 ยูโร (ประมาณ 350,000 บาท)         สถิติระบุว่าร้อยละ 68.4 ของผู้ที่เสียชีวิตในช่วงสามไตรมาสแรกของปี 2023 ได้รับการฌาปนกิจศพ ความนิยมที่เพิ่มมากขึ้นดูได้จากจำนวนฌาปนสถานที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเช่นกัน         ข้อเสียอย่างเดียวคือ ตามขั้นตอนปกติของเนเธอร์แลนด์ ญาติจะต้องรอประมาณหนึ่งเดือนถึงจะสามารถมารับกระดูกกลับได้         หลายคนไม่อยากทิ้งภาระให้ลูกหลานต้องจ่ายค่าดูแลหลุมศพก็จะสั่งเสียไว้ให้เลือกวิธีนี้ ส่วนการกล่าวไว้อาลัยหน้าหลุมศพก็ไม่จำเป็น เพราะปัจจุบันผู้คนนิยมบอกลากันตั้งแต่ก่อนที่ผู้ล่วงลับจะจากไปฟาสต์เฟอร์นิเจอร์        รัฐบาลไต้หวันต้องรีบออกมาเคลียร์ หลังสื่อออกมาเปิดเผยว่าในช่วงเดือนสุดท้ายของปี 2023 ยังมีที่นอนเก่าที่ควรนำไปรีไซเคิลตกค้างอยู่ถึง 140,000 หลัง หมายความว่ามีสปริงที่ยังไม่ถูกนำไปใช้งานและมีผ้าที่สามารถเปลี่ยนเป็นเชื้อเพลิงได้ค้างอยู่         กระทรวงสิ่งแวดล้อมบอกว่าที่ผ่านมาเขาก็จัดการรีไซเคิลที่นอนได้ปีละเกือบหนึ่งล้านหลังโดยไม่มีปัญหา แถมบอกอีกว่าเดี๋ยวช่วงตรุษจีนก็จะมีฟูกถูกทิ้งเพิ่มอีกเพราะคนต้องซื้อของใหม่เข้าบ้าน         ผู้แทนกระทรวงฯ อธิบายว่าเครื่องรีไซเคิลของเขานั้น ถ้าจะให้คุ้มค่ากับพลังงานที่เสียไปต้องใส่ฟูกเข้าไปอย่างต่อเนื่องครั้งละไม่ต่ำกว่า 5,000 หลัง มันก็เลยเกิด “ความกอง” อย่างที่เห็น         แต่คำถามคือใครควรเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่าย มูลค่าตลาดที่นอนมีมากกว่า 10,000 ล้านเหรียญ ด้วยยอดขายประมาณ 330,000 หลังต่อปี แต่ที่ผ่านมารัฐยังไม่มีกลไกที่จะทำให้ผู้ประกอบการร่วมแสดงความรับผิดชอบต่อขยะที่นอนเลย         อีกปัญหาที่ต้องรับมือคือ “ฟาสต์เฟอร์นิเจอร์” ที่ราคาถูก ดีไซน์สวย แต่ใช้งานได้ไม่นาน

อ่านเพิ่มเติม>

ความคิดเห็น (0)