ฉบับที่ 272 รู้ก่อนดื่มกาแฟไร้คาเฟอีน

        สมาคมกาแฟแห่งชาติสหรัฐฯ (National Coffee Association - NCA) ระบุว่า การดื่มกาแฟปราศจากคาเฟอีนหรือดีแคฟ  (decaffeinated coffee) นั้นมีสัดส่วนอยู่ที่ประมาณ 10% ของตลาดในสหรัฐอเมริกา กาแฟประเภทนี้เหมาะกับคนที่มีปัญหาดื่มกาแฟปรกติแล้วใจสั่น คนที่ต้องนอนหลับให้ได้ในเวลาที่กำหนด ผู้มีความดันโลหิตสูง ผู้หญิงที่ตั้งท้อง ฯ จึงเลี่ยงไปดื่มกาแฟที่ได้มาจากกระบวนการสกัดสารคาเฟอีนออก พฤติกรรมนี้ดูแล้วน่าจะดีต่อสุขภาพ (จิต) อย่างไรก็ดีหลังจากที่หลายคนได้ศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับกาแฟประเภทนี้มากขึ้นกว่าผู้บริโภคทั่วไปก็พบว่า กาแฟดีแคฟบางยี่ห้อผ่านการผลิตโดยอาศัยสารเคมีซึ่งมีข้อมูลควรระวัง ส่งผลให้ความกังวลใจ (มากกว่าเดิม) มาเยี่ยมเยือน ผู้บริโภคกลุ่มนี้ควรได้รับการบอกกล่าวอย่างไรถึงจะมีความสบายใจขึ้นในการดื่มกาแฟดีแคฟ 

 
กาแฟไร้คาเฟอีนนั้นผลิตอย่างไร 
        กาแฟประเภทนี้ผลิตจากเมล็ดกาแฟที่คาเฟอีนถูกกำจัดออกไปอย่างน้อย 97% นั่นคือ สำหรับเมล็ดกาแฟทุกๆ 100 กรัม ปริมาณคาเฟอีนควรไม่เกิน 0.1 กรัม (สำหรับในประเทศไทยตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 197) .. 2543 เรื่อง กาแฟ กำหนดว่า มีคาเฟอีนไม่เกินร้อยละ 0.1 ของน้ำหนัก) 
        มีหลายวิธีในการขจัดคาเฟอีนออกจากเมล็ดกาแฟ เช่น การใช้น้ำช่วยพร้อมการกรองด้วยถ่านกัมมันต์ (Swiss water process) กระบวนการที่สองคือ การใช้ตัวทำละลายอินทรีย์ คือ methylene chloride (ซึ่งมีอีกชื่อคือ dichloromethane) หรือใช้ ethyl acetate ช่วยในการผลิต และกระบวนการสุดท้ายเป็นการใช้คาร์บอนไดออกไซด์เหลว (supercritical fluid extraction ซึ่งมีค่าความดันวิกฤตเป็น 73.8 บาร์ และอุณหภูมิวิกฤตเป็น 31.1 องศาเซลเซียส) ช่วยในการผลิต 
        ส่วนขั้นตอนการผลิตกาแฟดีแคฟแบบสั้นๆ คือ เมล็ดกาแฟถูกล้างในตัวทำละลายจนกระทั่งสกัดคาเฟอีนออกมามากที่สุด จากนั้นจึงกำจัดตัวทำละลายออก แล้วนำเมล็ดกาแฟที่ได้ไปคั่วและบด คุณสมบัติของกาแฟไร้คาเฟอีนควรเกือบเหมือนกับกาแฟทั่วไป ยกเว้นปริมาณคาเฟอีนที่มีน้อยมาก



 
ทำไมบางคนถึงกังวลกับดีแคฟที่ผลิตโดยใช้สารเคมีช่วยในการกำจัดคาเฟอีน  
        Methylene chloride เป็นสารออกฤทธิ์หลักในน้ำยาล้างสี (paint stripper หรือ paint remover) ที่ถูกห้ามโดย US.EPA ในเดือนมีนาคมปี 2019 ในทางตรงกันข้ามปัจจุบัน US.FDA ยังอนุญาตให้ใช้ Methylene chloride ในกระบวนการกำจัดคาเฟอีน (ทำหน้าที่เป็น processing aid) ในกาแฟโดยไม่จำเป็นต้องเปิดเผกระบวนการกำจัดคาเฟอีนบนฉลาก 
        Methylene chloride ในปริมาณน้อยถูกร่างกายเผาผลาญให้เป็นคาร์บอนมอนอกไซด์ที่อาจนำไปสู่พิษจากคาร์บอนมอนอกไซด์ได้ในผู้อ่อนไหวบางคน รายงาน Report on Carcinogens, Fifteenth Edition (2021) ซึ่งมีทั้งที่เป็นรูปเล่มและออนไลน์ของ U.S. National Toxicology Program ให้ข้อมูลว่า Methylene chloride (หรือ Dichloromethane) ได้รับการจัดว่า เป็นสารก่อมะเร็งในมนุษย์ โดยอาศัยหลักฐานที่เพียงพอของการก่อมะเร็งจากการศึกษาในสัตว์ทดลอง เพียงแต่ข้อมูลทางระบาดวิทยายังไม่พอ อีกทั้งยังไม่มีงานวิจัยที่บอกว่าระดับใดของ Methylene chloride ในอาหารที่อาจก่อมะเร็งในคน สำหรับ IARC (International Agency for Research on Cancer องค์กรหนึ่งซึ่งสังกัดองค์การอนามัยโลกที่มีบทบาทในการประเมินและจัดกลุ่มสารก่อมะเร็งแล้วตีพิมพ์ออกมาเป็นหนังสือเรียกว่า IARC Monograph) กล่าวว่า Methylene chloride อยู่ใน Group 2B (possibly causing cancer in humans) 
        ปัจจุบันผู้บริโภคสามารถหาซื้อกาแฟดีแคฟจากออนไลน์หรือจากซูเปอร์มาเก็ตได้เป็นบางยี่ห้อที่ระบุการกำจัดคาเฟอีนด้วย Swiss water process ซึ่งมักมีราคาแพงกว่าชนิดที่ไม่บอกกระบวนการเอาคาเฟอีนออก อย่างไรก็ดีไม่มีอะไรเป็นการรับประกันว่าจะได้ของตรงฉลาก (เมื่อซื้อออนไลน์) ยกเว้นเชื่อในความน่าเชื่อถือของผู้ขายที่ไม่ใช่ตัวแทนโดยตรงจากบริษัทผู้ผลิต
 
มีข้อมูลหรือไม่ว่า กาแฟดีแคฟมี Methylene chloride ตกค้าง 
        ปัจจุบันหน่วยงานที่ทำหน้าที่ประเมินอันตรายต่อสุขภาพจากสิ่งแวดล้อมของรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา (California Environmental Health Hazard Assessment) ได้เพิ่ม Methylene chloride เข้าไปในรายการของข้อเสนอ 65 (Prop. 65) เพราะการประเมินอย่างเป็นทางการของรัฐแคลิฟอร์เนียนั้นได้สรุปว่า ในระหว่างตั้งครรภ์ Methylene chloride สามารถถ่ายทอดจากแม่ (สัตว์ทดลอง) สู่ลูกได้ 
        สิ่งที่น่ากังวลใจคือ ประชากรกลุ่มเปราะบางจำนวนมากทั้งสตรีมีครรภ์ ผู้สูงอายุ และผู้ที่เป็นโรคหัวใจ ล้วนเป็นผู้บริโภคกาแฟที่ไม่มีคาเฟอีนเป็นประจำ โดยที่เขาเหล่านั้นไม่รู้ว่ากาแฟนั้นเอาคาเฟอีนออกด้วยวิธีใด เพราะฉลากกาแฟดีแคฟนั้นไม่บังคับให้ระบุวิธีการเอาคาเฟอีนออก นอกจากผู้ผลิตจะรู้สึกเองว่า ในการติดฉลากว่า ใช้กระบวนการ Swiss water process น่าจะก่อความมั่นใจในความปลอดภัยเมื่อบริโภคมากขึ้น 
        Clean Label Project ซึ่งเป็นองค์กรณ์เอกชน (NGO) ที่มีสำนักงานตั้งอยู่ในรัฐโคโลราโด สหรัฐอเมริกาได้มีเอกสารในเว็บขององค์กรเมื่อเดือน กุมภาพันธ์ 2022 เรื่อง More Methylene Chloride! ซึ่งรายงานผลการวิเคราะห์ Methylene chloride ในกาแฟดีแคฟ หลายยี่ห้อโดยห้องปฏิบัติการเคมีวิเคราะห์ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานจากหน่วยงานของรัฐบาล ผลปรากฏว่าพบ methylene chloride ในกาแฟดีแคฟบางยี่ห้อ (ขอสงวนนาม) ซึ่งผลการทดสอบในภาพรวมนั้นระดับของ Methylene chloride สูงขึ้นกว่าระดับที่เคยตรวจพบในครั้งก่อนหน้าเมื่อหลายปีราว 10 เท่า-100 เท่า แต่ก็ยังต่ำกว่าขีดจำกัดตามกฎระเบียบทั้งหมดที่มีอยู่ในสหรัฐอเมริกา
 
เมล็ดกาแฟสายพันธุ์ที่มีคาเฟอีนต่ำหรือไม่มีคาเฟอีนเลยมีหรือไม่ 
        Wikipedia ให้ข้อมูลว่าในปี 2004 มีรายงานบนโลกออนไลน์ว่า กาแฟชนิดหนึ่งมียีน caffeine synthase บกพร่อง ส่งผลให้เกิดการสะสมธีโอโบรมีน (theobromine) แทนที่สารนี้จะถูกเปลี่ยนต่อไปเป็นคาเฟอีน ลักษณะดังกล่าวเกิดได้ทั้งตามธรรมชาติ การผสมข้ามพันธุ์จนเกิดภาวะดังกล่าวหรืออาจใช้กระบวนการทางพันธุวิศวกรรมเพื่อ knock out (ปิดการทำงาน) ยีนที่สร้างคาเฟอีน 
        ในปี 2009 ความก้าวหน้าในการปลูกเมล็ดกาแฟที่ไม่มีคาเฟอีนกลับมาเป็นที่สนใจอีก รายงานข่าวกล่าวว่า เป็นกาแฟชนิดที่เรียกว่า "Decaffito" คำๆ นี้ถูกประดิษฐ์ขึ้นเพื่ออธิบายคุณสมบัติกาแฟนี้ และเป็นเครื่องหมายการค้าของบริษัทในบราซิล 
        กาแฟ Decaffito ที่พบในธรรมชาตินั้นคือ กาแฟสายพันธุ์ Coffea charrieriana ที่ปราศคาเฟอีน (หรือมีน้อยมาก) ซึ่งพบครั้งแรกในประเทศเคนยา ทวีปอัฟริกา แต่รายละเอียดในรูปงานวิจัยนั้นตีพิมพ์ในวารสาร Botanical Journal of the Linnean Society ของปี 2008 เรื่อง A new caffeine-free coffee from Cameroon ส่วนเมล็ดกาแฟชนิดซึ่งมีคาเฟอีนเป็นองค์ประกอบสำคัญและนิยมปลูกทั่วโลกคือ Coffea arabica และ Coffea robusta
 
โครงการค้นหากาแฟไร้คาเฟอีนนั้นเป็นอย่างไร 
        มีตัวอย่างโครงการลักษณะนี้ที่ศูนย์วิจัยกาแฟชั้นนำของ Instituto Agronomico de Campinas (IAC) ในบราซิล หน่วยงานนี้ได้เริ่มกระบวนสำคัญของโครงการที่มีระยะเวลาดำเนินการสองทศวรรษในการพัฒนากาแฟสายพันธุ์ที่ไม่มีคาเฟอีน (หรือมีต่ำมาก) ตามธรรมชาติ ซึ่งนักวิจัยเชื่อว่า การพัฒนาดังกล่าวมีศักยภาพทางธุรกิจที่โดดเด่นอย่างมาก 
        ความสำเร็จของสายพันธุ์กาแฟที่เพาะได้อาจเจาะตลาดผู้บริโภคเฉพาะกลุ่มในภูมิภาคที่มีการบริโภคมหาศาล อย่างเช่น ยุโรปและสหรัฐฯ ซึ่งลูกค้าต้องการดื่มกาแฟไร้คาเฟอีนที่มาจากธรรมชาติแทนที่การดื่มกาแฟไร้คาเฟอีนที่ต้องผ่านกระบวนการทางเคมี นอกจากนั้นบริษัทที่จำหน่ายกาแฟไร้คาเฟอีนจะได้รับประโยชน์จากต้นทุนที่ต่ำลง เนื่องจากสามารถข้ามขั้นตอนทางอุตสาหกรรมในการขจัดสารคาเฟอีนออกจากกาแฟพันธุ์ปกติไปได้ พร้อมกับภาพพจน์ที่ว่า บริษัทนั้นใส่ใจต่อสุขภาพและความปลอดภัยของผู้บริโภค 
        ปัจจุบันกาแฟบางสายพันธุ์ที่พัฒนาขึ้นภายในศูนย์วิจัยการแฟของ IAC ให้มีคาเฟอีนต่ำนั้น ได้ถูกนำไปปลูกตามภูมิภาคต่างๆ ของบราซิลแล้ว โดยต้นกาแฟมักใช้เวลาราวสองถึงสามปีจึงจะออกผลผลิตเป็นครั้งแรกเพื่อทดสอบผลที่ได้ อย่างไรก็ดียังไม่มีใครสนใจกล่าวถึงธีโอโบรมีนที่อาจสูงขึ้นได้ในกาแฟที่ไร้คาเฟอีนว่า อาจก่อปัญหาอื่นตามมา เพราะเคยมีข่าวในบ้านเราว่า เด็กสาวเกือบขิตเพราะดื่มโกโก้เย็นที่ชงอย่างเข้มข้น (ซึ่งโกโก้นั้นเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีธีโอโบรมีนสูงเป็นซิกเนเจอร์)

แหล่งข้อมูล: ดร.แก้ว กังสดาลอำไพ

0 point

LINE it!





  เรื่องเกี่ยวข้อง: นิตยสารออนไลน์ ผู้บริโภค กาแฟ คาเฟอีน เมล็ดกาแฟ

ฉบับที่ 278 ข้าวโพดขึ้นรา..อร่อยหรือกร่อย

        คลิปหนึ่งใน TikTok ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับความนิยมของคนเม็กซิกันในการกินข้าวโพดที่ขึ้นราจนเมล็ดมีลักษณะผิดปรกติ โดยเนื้อข่าวมีประมาณว่า คนเม็กซิกันไม่โยนข้าวโพดที่ขึ้นราจนเมล็ดดูน่าเกลียดทิ้ง แต่กลับชอบนำมาทอดทำเป็นอาหารกิน อีกทั้งยังเป็นสินค้าเกษตรที่มีราคาแพงเป็นพิเศษเพราะ (ในความรู้สึกของคนเม็กซิกัน) ข้าวโพดดังกล่าวมีรสชาติดีและมีกรดอะมิโนจำเป็นคือ lysine สูงกว่าข้าวโพดปรกติ นอกจากนี้ยังมีการอธิบายด้วยว่า เป็นภูมิปัญญาโบราณของคนพื้นเมือง Aztec ที่สูญหายไปจากสังคมโลกแล้ว (แต่อาจซ่อนตัวอยู่ในป่าลึกส่วนที่ไม่ใครรู้เห็นได้)... ท้ายสุดของคลิปนั้นได้ตั้งประเด็นที่นักพิษวิทยาได้ยินแล้วสยองว่า “ไม่รู้ว่าข้าวโพดที่ขึ้นราในประเทศไทยกินได้แบบนี้หรือไม่ เพราะถ้าได้….หมายความว่า รายได้เกษตรกรจะเพิ่มขึ้นมากมาย”         มีคำถามว่า ราชนิดที่ขึ้นบนเมล็ดข้าวโพดที่ยังอยู่ในฝักดังแสดงในคลิปวิดีทัศน์นั้นคืออะไร ซึ่งเมื่อสืบหาข้อมูลจากอินเตอร์ตามช่องทางต่างๆ ก็พบว่า รานี้มีชื่อทางวิทยาศาสตร์คือ Ustilago maydis (อุสติลาโก เมย์ดิส) ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในชื่อสามัญว่า "ราดำ", "ทรัฟเฟิลเม็กซิกัน","huitlacoche (ฮ์วีท-ลา-โค-เช่ะ)" หรือ "cuitlacoche (ค์วีท-ลา-โค-เช่ะ)" คำหลังนี้ใช้น้อยกว่าคำแรกมาในคลิปต่าง ๆ ใน YouTube         เชื่อกัน (แต่หลักฐานไม่ชัดเจน) ว่า ที่มาของคำว่า ฮ์วีทลาโคเช่ะ หรือ ค์วีท-ลา-โค-เช่ะ นั้นเป็นคำในภาษาของอารยธรรมแอซเท็ก ซึ่งมาจากคำว่า cuitla (ขี้) และ cochi (หมู) โดยรวมแล้ว ฮ์วีทลาโคเช่ะ จึงหมายถึง ขี้หมู ซึ่งผู้เขียนไม่แน่ใจว่า สิ่งที่เหมือนขี้หมูนั้นคือ กลิ่นหรือเปล่า แต่เวลาคูคลิปที่มีการปรุงเป็นอาหาร ทุกคนดูมีความสุขดีในการกิน         บทความเรื่อง Huitlacoche (Ustilago maydis), an Iconic Mexican Fungal Resource: BioculturalImportance, Nutritional Content, Bioactive Compounds, and Potential Biotechnological Applications ในวารสาร Molecules ของปี 2023 ให้ข้อมูลว่า อุสติลาโก เมย์ดิส เป็นเชื้อราที่เกิดบนข้าวโพดที่ทำให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจที่สำคัญในประเทศต่างๆ แต่ในทางกลับกันการบริโภคข้าวโพดขึ้นรานี้ (ฮ์วีทลาโคเช่ะ) กลายเป็นเป็นเอกลักษณ์ของวัฒนธรรมอาหารเม็กซิกัน และมีมูลค่าทางการค้าสูงในตลาดภายในประเทศ บทความให้ข้อมูลต่อว่า ฮ์วีทลาโคเช่ะเป็นแหล่งสารอาหารที่ดีเยี่ยม เช่น โปรตีน ใยอาหาร กรดไขมัน แร่ธาตุ และวิตามิน อีกทั้งยังมีหลักฐานว่า เป็นแหล่งสำคัญของสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพที่มีคุณสมบัติเสริมสร้างสุขภาพอีกด้วย โดยมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์แสดงให้เห็นว่า สารสกัดหรือสารประกอบที่แยกได้จากฮ์วีทลาโคเช่ะมีคุณสมบัติต้านอนุมูลอิสระ ต้านจุลชีพ ต้านการอักเสบ ต้านการก่อกลายพันธุ์ ต้านเกล็ดเลือด (แสดงถึงศักยภาพในการบำบัดโรคต่างๆ เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคหลอดเลือดแดงส่วนปลายตีบ อาการเจ็บหน้าอกที่มีสาเหตุจากหัวใจ เป็นต้น) และมีฤทธิ์โดปามิเนอร์จิค (คือ มีฤทธิ์ที่มีบทบาทสำคัญในอารมณ์ เพิ่มแรงจูงใจและความสุข จึงมักถูกเรียกว่าเป็น "สารก่อความรู้สึกดี" เพราะมันถูกปล่อยออกมาเพื่อตอบสนองต่อประสบการณ์ที่น่าพึงพอใจและสามารถช่วยยกระดับอารมณ์ได้)         สำหรับความน่าสนใจในทางอุตสาหกรรมนั้น มีความพยายามนำฮ์วีทลาโคเช่ะมาทดลองใช้ในการสังเคราะห์อนุภาคนาโนอนินทรีย์ ใช้ในการกำจัดโลหะหนักออกจากตัวกลางที่เป็นน้ำ ใช้ช่วยในการควบคุมทางชีวภาพ ใช้สำหรับกระบวนการผลิตไวน์ ใช้เป็นแหล่งของสารลดแรงตึงผิวทางชีวภาพ (bio-surfactant) และเอ็นซัมบางชนิดที่มีศักยภาพในบางอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง ประเด็นที่น่าสนใจคือ มีแนวโน้มว่าจะนำเอาฮ์วีทลาโคเช่ะมาใช้เป็นส่วนผสมในการพัฒนาอาหารสุขภาพ (น่าจะหมายถึงผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร) เนื่องจากมีคุณสมบัติในการลดคอเลสเตอรอล เป็นต้น         ความจริงนั้นรา อุสติลาโก เมย์ดิส เป็นที่รู้จักกันดีในหมู่เกษตรกรไทย เพียงแต่เรียกกันเป็นชื่ออื่น นักวิชาการจัดรานี้ว่า เป็นรากลุ่ม basidiomycetes fungus ก่อโรคในข้าวโพดเรียกว่า โรคราเขม่าดำข้าวโพด (corn smut disease) ซึ่งสมาคมนักโรคพืชแห่งประเทศไทยเมื่อ 11 ตุลาคม 2559 ให้ข้อมูลใน Facebook ของสมาคมว่า โรคสมัท (Smut) หรือราเขม่าดำ เกิดจากเชื้อรา อุสติลาโก เมย์ดิส พบระบาดทั่วไปในแหล่งที่มีการปลูกข้าวโพดทั่วโลก ทำให้ผลผลิตเสียหายเล็กน้อยไปจนถึง 6 เปอร์เซ็นต์ของผลผลิตและทำความเสียหายกับข้าวโพดหวานเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ โดยลักษณะอาการแสดงให้เห็นบนส่วนต่าง ๆ ของพืชที่อยู่เหนือดิน ลำต้น ใบ ฝักและเกสรตัวผู้ เชื้อราสร้างปม (gall) ขึ้นโดยครั้งแรกมีขนาดใหญ่สีขาว ต่อมาจะเปลี่ยนเป็นสีดำ เมื่อแก่ปมจะแห้งผนังที่หุ้มปมจะแตกออก ภายในมีผงสีดำ คือ สปอร์ (spore) ของเชื้อรา ซึ่งเป็นตัวแพร่ระบาดของโรคในฤดูต่อๆ ไป         นอกจากนี้เอกสาร ข่าวเตือนการระบาดศัตรูพืชประจำสัปดาห์ ของกองส่งเสริมการอารักขาพืชและจัดการดินปุ๋ย กรมส่งเสริมการเกษตร ปีที่ 15 ฉบับที่ 51 ประจำวันที่ 5 เมษายน 2560 มีบทความเรื่อง โรคราเขม่าดำข้าวโพด (Smut Disease) ได้แจ้งเตือนเกษตรกรที่ปลูกข้าวโพดทุกชนิดให้ระวังโรคราเขม่าดำหรือโรคสมัทที่มักพบได้ในข้าวโพดทั่วประเทศไทย อีกทั้งโรคนี้ยังสามารถทำความเสียหายแก่ พืชไร่ เช่น อ้อย (โรคแส้ดำ) และธัญพืชต่าง ๆ หลายชนิด โดยเข้าทำลายเมล็ด เกิดการเพิ่มปริมาณผงสปอร์สีดำงอกเต็มผลผลิต ทำให้ผลผลิตเสียหายและคุณภาพลดลง ซึ่งในช่วงนี้ (เมษายน) สภาพอากาศเหมาะสมสำหรับเชื้อรานี้เจริญเติบโตแพร่ระบาดและทำความเสียหายรุนแรง ดังนั้น เกษตรกรควรหมั่นสำรวจแปลงอย่างสม่ำเสมอ เมื่อเริ่มพบอาการของกลุ่มผงสีดำ หรือเมล็ดข้าวโพดเป็นปุ่มปมบวมพอง ให้รีบขอคำแนะนำเจ้าหน้าที่จากสำนักงานเกษตรอำเภอ หรือสำนักงานเกษตรจังหวัด เพื่อหาแนวทางควบคุม และป้องกันกำจัดก่อนเกิดการระบาดรุนแรง         ดังได้เกริ่นแล้วในตอนต้นของบทความว่า ผู้ที่ทำคลิปลง TikTok เกี่ยวกับ ฮ์วีทลาโคเช่ะ ได้ทิ้งท้ายในคลิปว่า ถ้าในประเทศไทยมีการระบาดของรา อุสติลาโก เมย์ดิส บนข้าวโพดบ้านเรา เกษตรกรคงได้เพลินในการเก็บเงินที่ได้จากการขายวีทลาโคเช่ะเป็นกอบเป็นกำเช่นเดียวกับเกษตรกรเม็กซิกัน ซึ่งความจริงแล้วในทางวิชาการนั้น การระบาดของราดังกล่าวเป็นหายนะของเกษตรกรต่างหาก เพราะบริบทของข้าวโพดขึ้นราที่เกิดขึ้นในไทยนั้นอาจมีลักษณะหลายประการที่ต่างจากข้าวโพดขึ้นราของชาวเม็กซิกัน อีกทั้งในการปรุงอาหารจานเด็ดดังกล่าวอาจต้องมีเคล็บลับบางประการที่ทำให้ผู้บริโภคเม็กซิกันดูมีความปลอดภัยดีหลังบริโภคฮ์วีทลาโคเช่ะ         ถ้า Mexican soft power เกี่ยวกับข้าวโพคขึ้นราดำนี้เข้ารุกรานไทย มีข้อมูลอะไรที่ผู้บริโภคชาวไทยควรสนใจบ้าง ก่อนอื่นผู้บริโภคควรตระหนักว่า ลักษณะข้าวโพดที่ติดโรคนั้นเป็นการกลายพันธุ์ของเมล็ดอย่างหนึ่ง เพราะราอุสติลาโก เมย์ดิส นั้นมีคุณสมบัติพิเศษในการเปลี่ยนแปลงการแสดงออกทางพันธุกรรมของเมล็ดข้าวโพดจนแสดงลักษณะผิดปรกติ ข้อมูลเชิงลึกทางวิชาการคือ อุสติลาโก เมย์ดิส ดังกล่าวเป็นเจ้าบ้าน (host) ของไวรัสจำเพาะคือ UmV (Ustilago maydis virus) ในลักษณะปรสิตที่ทำให้มีการสร้างสารพิษ killer toxins ออกมาได้ (ทำนองเดียวกับแบคทีเรียหลายชนิดมีไวรัสที่เรียกว่า phage หรือ bacteriophage เป็นปรสิต) ซึ่งสารพิษเหล่านี้สามารถฆ่าตัวเชื้อราเองได้ และมีศักยภาพในการนำไปใช้ควบคุมยีสต์ชนิดที่ไม่เป็นประโยชน์ในการผลิตไวน์ดังกล่าวถึงแนวโน้มในการประยุกต์ใช้รานี้ข้างต้น         ที่น่ากังวลใจแทนผู้บริโภคชาวเม็กซิกันคือ การที่ข้าวโพดถูกรุกรานด้วยรา อุสติลาโก เมย์ดิส ดังกล่าว เป็นการเอื้อให้ราชนิดอื่น เช่น ราที่สร้างสารพิษอัฟลาทอกซินและราที่สร้างสารพิษฟูโมนิสซิน เข้ารุกรานข้าวโพดได้ง่ายขึ้น ดังปรากฏในบทความเรื่อง Aflatoxin and Fumonisin in Corn (Zea mays) Infected by Common Smut Ustilago maydis ในวารสาร Plant Disease ของปี 2015 ซึ่งได้ตั้งข้อสังเกตด้วยว่า ผู้ที่นิยมกินฮ์วีทลาโคเช่ะอาจได้อร่อยไปพร้อมกับการได้รับอัฟลาทอกซินและฟูโมนิสซินเข้าไปเป็นของแถมด้วย ซึ่งดูแล้วไม่น่าจะเป็นเรื่องดี เพราะอัฟลาทอกซินนั้นมีสมาชิกสำคัญคือ อัฟลาทอกซิน บี1 ซึ่ง IARC จัดเป็นสารก่อมะเร็งตับในมนุษย์ ส่วนสารฟูโมนิสซินซึ่งเพิ่งค้นพบในราวปี 1988 นั้นมีข้อมูลพื้นฐานจัดว่า เป็นสารพิษที่ทำให้ม้าเสียการทรงตัวและตายเนื่องจากสมองถูกทำลาย ทำให้เกิดอาการลิ่มเลือดอุดตันในปอดของหมูส่งผลให้หมูเกิดอาการหอบเหนื่อยฉับพลัน หายใจถี่และระดับออกซิเจนในเลือดต่ำ และสารพิษนี้เป็น non-genotoxic carcinogens (ก่อให้เกิดมะเร็งโดยไม่ทำให้สารพันธุกรรมกลายพันธุ์) โดยมีข้อมูลทางระบาดวิทยาว่า ก่อมะเร็งหลอดอาหารในประชากรของอัฟริกาใต้และในจีน รายละเอียดเกี่ยวกับฟูโมนิซินนั้นสามารถอ่านได้ในบทความเรื่อง ฟูโมนิซิน สารพิษจากเชื้อราที่มีความสำคัญต่อคนและสัตว์ ในวารสารสัตวแพทย์ศาสตร์ มข ปีที่ 11 พ.ศ. 2544 ซึ่งดาว์นโหลดมาอ่านได้

อ่านเพิ่มเติม>

ฉบับที่ 277 ผงซักฟอกที่ไม่เหมือนเดิม

        ปลายเดือนพฤศจิกายนปี พ.ศ. 2554 น้ำที่ท่วมบ้านผู้เขียนในแขวงศาลาธรรมสพน์ เขตทวีวัฒนา นานเกือบ 2 เดือนได้ลดลง ในช่วงนั้นผู้เขียนได้รับการเสนอจากเพื่อนบ้านว่าจะรับทำความสะอาดบ้านให้ด้วยน้ำยาล้างบ้านที่มีเอ็นซัม (enzyme) เป็นองค์ประกอบด้วยราคา 5000 บาท ในสถานการณ์ตอนนั้นผู้เขียนได้ตอบปฏิเสธไปเพราะไม่ค่อยศรัทธาและเสียดายสตางค์ อีกทั้งยังพอมีแรงกายและแรงใจที่จะจัดการบ้านของตนเอง ต่อมาผู้เขียนจำได้ว่า เริ่มได้ยินโฆษณาขายผงซักฟอกแนวใหม่ที่กล่าวว่า ขจัดคราบหนักด้วยพลังเอ็นซัม ป้องกันการย้อนกลับของคราบสกปรก คงความสว่างสดใส ฟื้นฟูใยผ้าและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม          ข้อความโฆษณาเพื่อหว่านล้อมให้ผู้บริโภคเปลี่ยนใจไปใช้สินค้าใหม่นั้นมักกล่าวว่า “เป็นผงซักฟอกที่ผสมเอ็นซัมเหมาะสำหรับสลายคราบหนักบนเสื้อผ้า ซักผ้าขาวได้ดั่งใจ ผ้าสีขาวใส หอมลึก หอมนานฝังแน่นด้วยแคปซูลน้ำหอม สามารถใช้สำหรับซักด้วยมือหรือเครื่องซักผ้า (สูตรฟองน้อย) ขจัดคราบสกปรกได้อย่างรวดเร็ว ผ้าขาวเป็นประกายเหมือนใหม่ ไม่ผสมแป้ง แช่ผ้าค้างคืนไม่เหม็นอับ”         ในต่างประเทศมีการแยกประเภทผงซักฟอกตามแต่ละชนิดของเอ็นซัมเพื่อกำจัดคราบเฉพาะ เช่น ชนิดมีโปรตีเอส (protease) ใช้กำจัดคราบโปรตีนออกจากผ้า ชนิดมีอะไมเลส (amylase) ใช้กำจัดคราบแป้งติดแน่นบนเนื้อผ้า และชนิดมีไลเปส (lipase) เพื่อกำจัดคราบไขมันบนเนื้อผ้า โดยมีคำแนะนำให้ทำการแช่ผ้าไว้ก่อนซัก 30 นาที – 1 ชั่วโมง หรือดูให้เหมาะสมตามคราบที่เปื้อนบนเนื้อผ้า หรืออาจทิ้งไว้ค้างคืนถึงหลายๆ วัน ก็ไม่มีปัญหากลิ่นไม่พึงประสงค์ เพราะผงซักฟอกแนวใหม่ไม่มีแป้งและสารเพิ่มปริมาณที่เป็นอาหารของแบคทีเรีย         ผู้บริโภคหลายท่านอาจพอมีความเข้าใจอยู่แล้วว่า เอ็นซัมทำหน้าที่ช่วยเร่งปฏิกิริยาเคมีในสิ่งมีชีวิตและบางชนิดก็มีศักยภาพในการทำงานนอกสิ่งมีชีวิตได้ด้วย เช่น ปาเปน (papain) ในยางมะละกอ ดังนั้นการเติมเอ็นซัมลงในผงซักฟอกจึงทำให้ผงซักฟอกมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นในการกำจัดคราบสกปรกขนาดใหญ่ที่เกาะติดกับเส้นใยผ้า โดยคราบนั้นถูกเอ็นซัมที่เหมาะสมย่อยสลายเป็นอนุภาคขนาดเล็กแล้วหลุดออกจากเส้นใยผ้าได้ง่ายขึ้น จึงไม่จำเป็นต้องใช้ความร้อนช่วยเหมือนในการซักผ้าแบบเดิม ซึ่งมักลดคุณสมบัติของเนื้อผ้า เพราะความร้อนมักทำให้เส้นใยผ้าบางชนิดลดความแข็งแรงหรือบางชนิดเสียรูปทรงไปเลย และความร้อนอาจทำให้สีย้อมบนเนื้อผ้าเปลี่ยนเฉดไปด้วย         ความคิดในการนำเอาเอ็นซัมมาช่วยในการซักผ้าเริ่มตั้งแต่ปี 1959 (พ.ศ. 2502) โดยออตโต โรห์ม (Otto Röhm) ได้เสนอให้มีการเพิ่มเอ็นซัมในผงซักฟอก ซึ่งคือโปรตีเอสที่สกัดจากอวัยวะของสัตว์ที่ได้จากโรงฆ่าสัตว์ อย่างไรก็ดีแม้ว่าผงซักฟอกสูตรของโรห์มได้ประสบความสำเร็จมากกว่าวิธีการทำความสะอาดเสื้อผ้าแบบเดิม แต่เอ็นซัมที่ใช้นั้นไม่เสถียรนักเมื่อต้องถูกผสมกับด่างและสารฟอกขาว ต่อมาจึงมีการปรับปรุงให้ดีขึ้นโดยการใช้เอ็นซัมโปรตีเอสที่ผลิตโดยจุลินทรีย์สายพันธุ์เฉพาะซึ่งมีความเสถียรกว่า         ชนิดของเอ็นซัมที่ใช้ในการซักผ้านั้นต้องมีความพิเศษเหนือเอ็นซัมทั่วไปคือ สามารถทำงานได้ในสภาวะปรกติของการซักผ้า เช่น อุณหภูมิของน้ำอาจสูงถึง 60 °C และต้องอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เป็นด่างหรือเป็นกรด อยู่ได้ดีในสารละลายที่มีความเข้มข้นขององค์ประกอบอื่นเช่น แร่ธาตุที่แตกตัวเป็นไอออนปริมาณสูง และการมีอยู่ของสารลดแรงตึงผิวหรือสารมีฤทธิ์ออกซิไดซ์ สำหรับเอ็นซัมที่นิยมนำมาเติมลงในผงซักฟอกโดยหลักๆ นั้นมี 3 ประเภท คือ         โปรติเอส (proteases) เป็นเอ็นซัมที่มีการใช้มากที่สุดในผงซักฟอก โดยทำหน้าที่ย่อยโปรตีนให้มีขนาดเล็ก (proteolysis) ด้วยการตัดสายโปรตีนให้มีขนาดที่เล็กลง คราบโปรตีนบนเสื้อผ้าจึงหลุดออกได้ง่ายขึ้น ตัวอย่างเช่น รอยเลือด, เหงื่อไคล และคราบอาหารที่มีส่วนประกอบของโปรตีน         อัลฟา-อะไมเลส (alpha-amylases) เป็นเอ็นซัมที่มีหน้าที่ย่อยแป้งให้มีขนาดเล็กลง จึงถูกใช้เพื่อกำจัดคราบอาหารที่เกิดจากแป้งพาสต้า, มันฝรั่ง, น้ำเกรวี่, ช็อกโกแลต อาหารเด็ก ตลอดจนเครื่องสำอางที่มีส่วนประกอบของแป้ง นอกจากนี้อัลฟา-อะไมเลสยังช่วยกำจัดคราบเจลที่เกิดจากการพองของผงแป้งเมื่อโดนความชื้นทำให้เกิดคราบเหนียวจับกับฝุ่นละอองได้ง่ายจนลดความสดใสของผ้า        ไลเปส (lipase) เป็นเอ็นซัมที่มีหน้าที่ย่อยไขมันหรือน้ำมันที่ไม่ละลายน้ำให้มีขนาดเล็กลงจนผงซักฟอกสามารถเข้าทำปฏิกิริยากับโมเลกุลไขมันหรือโมเลกุลน้ำมันที่เล็กลงจนกลายสภาพเป็นโมเลกุลที่ละลายน้ำได้ การเลือกใช้ผงซักฟอกที่มีเอ็นซัม         การเลือกใช้ผงซักฟอกที่มีเอ็นซัมนั้นมีคำแนะนำโดยทั่วไปว่า ผู้บริโภคควรใส่ใจในการใช้ผงซักฟอกที่มีเอ็นซัมเซลลูเลส (cellulases) เพื่อช่วยกำจัดคราบซอสและซุปที่ทำจากผักและผลไม้ เพราะเอ็นซัมชนิดนี้มีผลกับเสื้อผ้าที่มีเส้นใยทำมาจากฝ้าย ลินิน หรือในกรณีผ้าใยสังเคราะห์ที่มีส่วนผสมของเส้นใยที่เป็นเซลลูโลสจากพืช เนื่องจากเอ็นซัมสามารถตัดพันธะไกลโคไซด์ (glycosidic bond) ของเส้นใยเซลลูโลสซึ่งผลที่ตามมาคือ ผ้าเปื่อยเร็ว         กรณีผ้าเปื่อยเร็วนั้นอาจเกิดได้ในกรณีใช้ผงซักฟอกที่ผสมเอ็นซัมแมนนาเนส (mannanase) เพื่อขจัดคราบอาหารที่มีองค์ประกอบบางส่วนเป็นยางไม้เช่น guar gum ที่มีองค์ประกอบเป็นโพลีเมอร์ของน้ำตาลแมนโนส (mannose) เรียกว่า แมนแนน (mannan) ที่เป็นโพลีแซ็กคาไรด์ชนิดหนึ่งพบได้ในเฮมิเซลลูโลสซึ่งเป็นองค์ประกอบของเส้นใยธรรมชาติจากพืชบางชนิดที่นำมาทอเป็นผ้า ส่วนผ้าไหมซึ่งทราบกันดีว่า มีองค์ประกอบเป็นเส้นใยโปรตีนจากรังไหมนั้น ก็ไม่ควรใช้ผงซักฟอกที่มีเอ็นซัมโปรตีเอสเพราะลักษณะที่ดีของผ้าไหมอาจเสียไประหว่างการซัก ผงซักฟอกเอ็นซัมกับสิ่งแวดล้อม         การกล่าวว่า ผงซักฟอกแนวใหม่ช่วยลดโลกร้อนและรักษาสิ่งแวดล้อมนั้นดูมีความเป็นจริง เพราะนอกจากการเพิ่มประสิทธิภาพในการกำจัดคราบของผงซักฟอกแล้ว อีกหนึ่งเหตุผลที่ทำให้เอ็นซัมเป็นที่นิยมนำมาใช้ในผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด คือ เอ็นซัมเป็นสารชีวภาพที่ได้จากธรรมชาติซึ่งไม่เป็นอันตรายในการซักและทิ้ง ทำให้ผลิตภัณฑ์เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งสามารถประหยัดพลังงาน เนื่องจากการไม่ต้องใช้น้ำร้อนในการซักผ้าในประเทศที่น้ำประปาในฤดูหนาวมีอุณหภูมิต่ำ         มีข้อควรคำนึงบางประการที่กลุ่มผู้ประกอบการระบุไว้เอกสารเรื่อง Guidance for the Risk Assessment of Enzyme-Containing Consumer Products (คำแนะนำในการประเมินความเสี่ยงของผลิตภัณฑ์อุปโภคบริโภคที่มีเอ็นซัม) ของ American Cleaning Institute เผยแพร่เมื่อเดือนธันวาคม ปี 2009 ที่กล่าวว่า ในช่วงทศวรรษ 1960 ไม่ค่อยมีใครทราบเกี่ยวกับอันตรายของเอ็นซัมและคิดเอาเองว่า “เป็นส่วนผสมจากธรรมชาติจึงควรปลอดภัย” ดังนั้นเอ็นซัมในยุคเริ่มแรกที่ถูกนำมาใช้ในโรงงานผลิตผงซักฟอกจึงอยู่ในรูปแบบผงละเอียดที่ลอยฟุ้งได้มากในอากาศ (เชื่อกันว่าอยู่ที่ > 1 มก./ลบ.ม.) ส่งผลให้การสูดดมฝุ่นของเอ็นซัมเข้าสู่ร่างกายทำให้เกิดการผลิตแอนติบอดีจำเพาะคือ อิมมูโนโกลบูลิน E (immunoglobulin E หรือ IgE) ที่ส่งผลให้เกิดอาการภูมิแพ้ของทางเดินหายใจในหมู่คนงานผลิตผงซักฟอกและแม่บ้านบางคนของคนงานที่ซักเสื้อผ้าที่ปนเปื้อนด้วยฝุ่นเอ็นซัมของสามีที่เป็นคนงาน         ดังนั้นเมื่อทราบถึงปัญหาดังกล่าว ผู้ผลิตสินค้าจึงใช้เทคโนโลยีการห่อหุ้มเอ็นซัมเป็นเม็ด (encapsulation) เพื่อลดการเกิดฝุ่น ทำให้อุบัติการณ์ของอาการภูมิแพ้ในทางเดินหายใจในผู้บริโภคและคนงานหมดไป ดังนั้นผงซักฟอกที่มีเอ็นซัมช่วยในการซักผ้าจึงต้องเป็นชนิดที่ใช้เอ็นซัมที่ได้รับการพัฒนาให้อยู่ในรูปการห่อหุ้มเป็นเม็ด (encapsulated particle) เท่านั้น         ประการสุดท้ายที่น่าจะสำคัญในยุคที่เศรษฐกิจอาจอยู่ในสภาพ “วิกฤต” คือ ผู้บริโภคควรประเมินก่อนตัดสินใจซื้อว่า มีเหตุผลใดในการซื้อผงซักฟอกแนวใหม่ที่แพงกว่าของเก่ามาใช้ เช่น ต้องดูจากลักษณะการใช้เสื้อผ้าในอาชีพที่ต่างกัน โดยคนที่ทำงานในที่ร่มซึ่งเหงื่อออกน้อยและไม่น่าจะเกิดคราบสกปรกหนักบนเสื้อผ้าก็อาจไม่จำเป็นต้องซื้อมาใช้ ยกเว้นถ้าผู้บริโภคเป็นผู้บริหารระดับสูงเงินเดือนมากพอและต้องรักษาภาพพจน์การเป็นคนประณีต นั่นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง         ส่วนในกรณีของผู้บริโภคที่ทำงานในสถานที่ที่เสื้อผ้าต้องสัมผัสคราบสกปรกหนักมากเช่น ช่างเครื่อง คนฆ่าสัตว์ พนักงานทำความสะอาด ผู้ใช้แรงงานกลางแจ้ง ฯลฯ บุคคลในอาชีพเหล่านี้จำเป็นต้องทบทวนว่า ถ้าซื้อผงซักฟอกแนวใหม่นี้มาใช้จะทำให้เงินที่ควรเก็บไว้ใช้เมื่อแก่ลดลงเท่าใด อีกทั้งมักมีการโฆษณาที่ใช้ดารา (ซึ่งอาจซักผ้าด้วยมือไม่เป็น) มากระตุ้นให้ซื้อผงซักฟอกประเภทนี้สำหรับซักเสื้อผ้าให้เด็กเล็ก แม่ผู้ประเสริฐทั้งหลายก็ควรประเมินว่า จะมีคนที่มีค่าพอสักกี่คนในการที่ต้องลงทุนซื้อของแพงมาซักผ้าลูกเพื่อให้เขาได้ชื่นชมว่า ลูกใส่เสื้อผ้าสะอาด  ประการสำคัญคือ ผู้บริโภคเชื่อได้อย่างไรว่า ผงซักฟอกที่ซื้อมานั้นมีเอ็นซัมจริงอย่างที่โฆษณาไว้โดยไม่ต้องซื้อมาลองผิดลองถูก 

อ่านเพิ่มเติม>

ฉบับที่ 276 มะเร็งปอดในนักกีฬาหนุ่มไม่สูบบุหรี่

        คนบนโลกออนไลน์ได้รู้จักหมอหนุ่มวัย 28 ปีคนหนึ่งที่บอกเล่าอาการป่วยมะเร็งปอดของตัวเองผ่านเพจเฟซบุ๊กว่า เป็นคนที่ชอบออกกำลังกายแต่กลับป่วยเป็นมะเร็งปอดระยะที่ 4 โดยหมอหนุ่มท่านนี้ใส่ใจในความผิดปกติของอาการไอของตนเองจึงเข้ารับการตรวจร่างกายแล้วพบว่า กำลังป่วยเป็นมะเร็งปอดระยะที่ 4 ซึ่งไม่สามารถผ่าตัดรักษาให้หายขาดได้ หมอหนุ่มได้ตั้งประเด็นที่อาจเป็นสาเหตุของการป่วยว่า ปัจจัยเดียวที่เป็นไปได้คือ ภาวะฝุ่น PM 2.5 ที่รุนแรงในจังหวัดเชียงใหม่มานานหลายปี สิ่งที่น่าสนใจคือ คนเชียงใหม่ทุกคนต่างรับผลจากฝุ่น PM 2.5 พอ ๆ กันแต่ไม่ใช่ทุกคนเป็นมะเร็งปอด แล้วปัจจัยใดที่น่าจะทำให้คนหนุ่มที่ออกกำลังกายเป็นประจำและไม่สูบบุหรี่กลับมีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งปอดมากกว่าคนอื่น การกลายพันธุ์ของเซลล์อาจนำไปสู่การเป็นมะเร็งปอด         ข้อมูลทางการแพทย์กล่าวว่า มะเร็งปอดนั้นแบ่งได้ในชั้นต้นเป็น 2 ประเภทคือ มะเร็งปอดชนิดเซลล์เล็ก (Small Cell Lung Cancer) ซึ่งพบประมาณร้อยละ 10-25 ของมะเร็งปอดทั้งหมด มักพบบริเวณใกล้ขั้วปอดมากกว่าบริเวณชายปอด มีการแพร่กระจายเร็ว มีความเข้าใจว่าเกิดจากการที่สารเคมีบางชนิดทำให้เกิดความผิดปกติของระบบฮอร์โมน โดยทั่วไปนั้นมะเร็งปอดชนิดนี้ตอบสนองต่อเคมีบำบัดและรังสีรักษาได้ดี แต่โอกาสหายขาดยังเป็นไปได้น้อย ส่วนประเภทที่ 2 คือ มะเร็งปอดชนิดเซลล์ไม่เล็ก (Non-Small Cell Lung Cancer) ซึ่งพบประมาณร้อยละ 75-90 ของมะเร็งปอดทั้งหมด มีการแพร่กระจายที่ช้าจึงมีโอกาสตรวจพบโรคในระยะเริ่มต้นได้มากกว่ามะเร็งปอดชนิดเซลล์เล็ก จึงนำไปสู่การผ่าตัดเอาก้อนและต่อมน้ำเหลืองออกพร้อมการบำบัดร่วมกับการให้เคมีบำบัดและรังสีรักษาหรือการบำบัดเสริมอื่นๆ ทำให้มีโอกาสหายขาดได้         การเกิดมะเร็งซึ่งรวมถึงมะเร็งปอดนั้นเกี่ยวข้องกับการกลายพันธุ์ของยีนหลายยีน ซึ่งบทความเรื่อง Genomic profiling in non-small-cell lung cancer in young patients. A systematic review (การทบทวนอย่างเป็นระบบถึงการทำรูปแบบจีโนมในมะเร็งปอดชนิดเซลล์ไม่เล็กในผู้ป่วยอายุน้อย) ในวารสาร ESMO Open ของ European Society for Medical Oncology ในปี 2021 ได้ให้ข้อมูลว่า มะเร็งปอดในผู้ป่วยอายุน้อยนั้นพบไม่บ่อยนัก ดังนั้นจึงทำการทบทวนอย่างเป็นระบบเกี่ยวกับรูปแบบจีโนมของผู้ป่วยอายุน้อยที่เป็นมะเร็งปอดตั้งแต่ปี 2010 ถึง 2020 จากเอกสารในฐานข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์หลักต่าง ๆ แล้วเลือกต้นฉบับงานวิจัย 23 ฉบับมาพิจารณาซึ่งพบว่า มะเร็งปอดในผู้ป่วยอายุน้อยกว่า 50 ปี เกิดขึ้นบ่อยในสตรีและเป็นมะเร็งแบบ adenocarcinoma (มะเร็งที่เกิดขึ้นที่ต่อมหรือเยื่อบุที่ผลิตเมือกหรือของเหลว มะเร็งประเภทนี้พบได้บ่อยในมะเร็งเต้านม ต่อมลูกหมาก ปอด และลำไส้ใหญ่) และบ้างก็อยู่ในระยะที่ลุกลาม ซึ่งในการทบทวนข้อมูลครั้งนี้พบว่า การกลายพันธุ์ของหลายยีนในเซลล์เนื้อเยื่อ (somatic cells) มีความเกี่ยวข้องกับการเกิดมะเร็งปอด ได้แก่         การกลายพันธุ์ของยีน TP53 ซึ่งสร้างโปรตีน p53 ที่ควบคุมระบบการแบ่งเซลล์ให้เป็นปรกติ การกระตุ้นการตายของเซลล์ในลักษณะ apoptosis และความเสถียรของยีนด้วยกลไกการซ่อมแซมต่างๆ         การกลายพันธุ์ของยีน EGFR T790M ยีนนี้เป็นที่รู้จักกันในนามว่า gatekeeper gene ซึ่งเป็นยีนที่ทำหน้าที่ป้องกันการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งที่เกิดขึ้น และป้องกันการสะสมของการกลายพันธุ์ที่นำไปสู่การเพิ่มจำนวนเซลล์ผิดช่วงเวลา สำหรับ epidermal growth factor receptor (EGFR) นั้นเป็นโปรตีนที่ทำหน้าที่เป็นตัวรับปัจจัยที่กระตุ้นการเจริญเติบโตของผิวหนัง ผลของการกลายพันธุ์นำไปสู่การแสดงออกของตัวรับ EGFR บนผนังมากเกินไป ทำให้เกิดการแบ่งเซลล์ที่ไม่สามารถควบคุมได้ ซึ่งเป็นลักษณะขยายการทำงานของเซลล์ที่ไม่ปรกติจึงมีความเกี่ยวข้องกับมะเร็งหลายชนิดรวมถึงมะเร็งชนิด adenocarcinoma ในปอด มะเร็งทวารหนัก มะเร็งสมอง (Glioblastoma) และเนื้องอกของเยื่อบุผิวที่ศีรษะและคอ         การกลายพันธุ์ของกลุ่มยีน BRCA ได้แก่ BRCA1, BRCA2 (และอาจเพิ่ม BRCA3 ในอนาคต) ซึ่งก่อให้เกิดกลุ่มอาการมะเร็งเต้านมและรังไข่ทางพันธุกรรม         การกลายพันธุ์ของยีน HER2 (Human epidermal growth factor receptor) จนกลายเป็นปัจจัยสนับสนุนการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง มีงานวิจัยพบว่าประมาณ 1 ใน 3 ของผู้ป่วยมะเร็งเต้านมมักพบความผิดปรกติของ HER2 เป็น positive นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงระดับยีนส์ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนี้ทำให้เกิดมะเร็งได้หลายชนิดรวมถึงมะเร็งปอด         การกลายพันธุ์ของยีน YAP1 (yes associated protein 1) ซึ่งสร้างโปรตีนตัวควบคุมการถอดรหัสที่กระตุ้นการถอดรหัสยีนที่เกี่ยวข้องกับการอยู่รอดของเซลล์และการแพร่กระจายและยับยั้งการฆ่าตัวตายแบบ apoptosis ดังนั้นการกลายพันธุ์จึงส่งผลให้การเกิดมะเร็งได้ง่ายขึ้น         การกลายพันธุ์ของยีน CHECK2 ซึ่งเป็นยีนที่ควบคุมการสร้างโปรตีนที่หยุดยั้งการเติบโตของเนื้องอก ความผิดปรกติของยีนนี้เพิ่มความเสี่ยงต่อมะเร็งเต้านมตลอดชีวิตเป็นสองเท่า นอกจากนี้ยังสามารถเพิ่มความเสี่ยงมะเร็งลำไส้ใหญ่และมะเร็งต่อมลูกหมากได้ และทำให้เกิดความสงสัยว่า การเปลี่ยนแปลงของยีนนี้โดยเฉพาะในวัยรุ่นและผู้ใหญ่วัยหนุ่มสาวมีความสัมพันธ์ต่อการเกิดมะเร็งปอด การกลายพันธุ์ของยีนใดที่อาจเป็นต้นเหตุสำคัญของมะเร็งปอด         ยีนที่ดูน่าสนใจเป็นพิเศษได้ถูกระบุในบทความของอาจารย์จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เรื่อง TP53 gene mutations of lung cancer patients in upper northern Thailand and environmental risk factors (การกลายพันธุ์ของยีน TP53 ของผู้ป่วยมะเร็งปอดในภาคเหนือของประเทศไทยและปัจจัยเสี่ยง) ซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Cancer Genetics and Cytogenetics ของปี 2008 บทความนี้รายงานผลการศึกษาถึงผลของปัจจัยต่างๆ ในสิ่งแวดล้อมต่อการกลายพันธุ์ของยีน TP53 ในผู้ป่วยมะเร็งปอดที่อาศัยอยู่ในภาคเหนือของประเทศไทย ซึ่งเป็นบริเวณที่มีอุบัติการณ์ของมะเร็งปอดสูงกว่าส่วนอื่นของประเทศ (หลายบทความในอดีตตั้งประเด็นว่า ความนิยมในการสูบบุหรี่ขี้โยนั้นเป็นสาเหตุของการเกิดมะเร็งปอดสูงของสตรีชาวเหนือ)         การกลายพันธุ์ของยีน TP53 พบได้มากประมาณ 40-70% ในเนื้อเยื่อมะเร็งปอด และการกลายพันธุ์ของยีนนี้สามารถตรวจพบได้ตั้งแต่ในระยะแรก ๆ ของมะเร็งปอดซึ่งอาจเป็นผลจากการได้รับสารก่อมะเร็งจากสิ่งแวดล้อม รายงานวิจัยหลายชิ้นระบุว่า จำนวนและรูปแบบการกลายพันธุ์ของยีน TP53 มีความแตกต่างกันในแต่ละกลุ่มประชากร ซึ่งความแตกต่างนี้อาจเกิดจากเชื้อชาติที่ต่างกัน หรือได้รับสารก่อมะเร็งจากสิ่งแวดล้อมที่ต่างกัน รวมไปถึงลักษณะการดำเนินชีวิตที่ต่างกัน         ในการศึกษานี้ได้มีศึกษาเปรียบเทียบการถ่ายทอดยีนที่กลายพันธุ์ในผู้ป่วยมะเร็งปอดและครอบครัว (ญาติสายตรงและพี่-น้องผู้ป่วย) พร้อมมีกลุ่มควบคุมเพื่อดูว่า การกลายพันธุ์แต่กำเนิด (germline mutations หรือ inherited mutations นั้น เป็นการที่ยีนมีความผิดปกติตั้งแต่เป็นเซลล์ต้นกำเนิดหลังการปฏิสนธิ และส่งผ่านความผิดปกตินี้ผ่านเซลล์สืบพันธุ์ไปยังรุ่นลูกหลานต่อไปได้ เช่น การกลายพันธุ์ของยีน BRCA ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งเต้านมและมะเร็งรังไข่ชนิดที่สามารถสืบทอดทางพันธุกรรมได้) มีผลต่อการเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งปอดของประชากรกลุ่มนี้หรือไม่ โดยนักวิจัยได้ดำเนินการสกัดดีเอ็นเอจากเม็ดเลือดขาวของผู้ป่วย ญาติผู้ป่วยและกลุ่มควบคุม พร้อมกับสกัดดีเอ็นเอจากเนื้อเยื่อมะเร็งปอดและเนื้อเยื่อปอดปกติของผู้ป่วยแต่ละรายเปรียบเทียบกับลำดับเบสอ้างอิงที่ได้จาก GenBank (accession no. X54156) ซึ่งผลการศึกษาจากผู้ป่วย 55 รายและกลุ่มควบคุม 57 ราย รวมทั้งจากบิดา-มารดาของผู้ป่วยอีก 8 ราย ไม่พบการกลายพันธุ์แต่กำเนิดในดีเอ็นเอที่สกัดจากเม็ดเลือดขาว การค้นพบนี้ชี้ให้เห็นว่า การกลายพันธุ์แต่กำเนิดไม่เกี่ยวข้องกับการเกิดมะเร็งปอดในผู้ป่วยกลุ่มนี้ แต่พบว่ามีการกลายพันธุ์ของเซลล์เนื้อเยื่อ (somatic mutation) 19 ตำแหน่ง ในดีเอ็นเอที่สกัดได้จากเนื้อเยื่อมะเร็งปอดของผู้ป่วย 18 ตัวอย่าง อย่างไรก็ดีไม่มีการกลายพันธุ์ที่ตำแหน่งใดๆ ซ้ำกันจนเป็น hot spot (ซึ่งเป็นจุดสังเกตที่เด่นชัดถึงโอกาสของการเกิดมะเร็ง)         ประเด็นที่น่าสนใจคือ เมื่อทดสอบผลของปัจจัยจากสิ่งแวดล้อมต่อการกลายพันธุ์ พบว่าการใช้ยาฆ่าแมลงหรือสารเคมีกำจัดศัตรูพืช และการอาศัยอยู่ในบ้านที่มีอากาศถ่ายเทไม่ดี ได้แก่บ้านซีเมนต์หรือบ้านที่มีห้องครัวอยู่ภายในบ้าน มีผลต่อการเกิดการกลายพันธุ์ของยีน TP53 อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ         ดังนั้นจึงพอสรุปได้ว่า ความแตกต่างระหว่างเชื้อชาติและสารก่อกลายพันธุ์ในสิ่งแวดล้อมมีอิทธิพลต่อการกลายพันธุ์ของยีน ซึ่งนำไปสู่การเกิดมะเร็งปอด และเป็นไปได้ว่าการกลายพันธุ์ของยีน TP53 อาจเกิดจากปัจจัยอื่นนอกเหนือไปจากการสูบบุหรี่ ซึ่งหากรู้ถึงปัจจัยที่มีผลต่อการกลายพันธุ์แล้วจะมีประโยชน์ต่อการป้องกันการเกิดมะเร็งปอดต่อไปได้ในอนาคต ซึ่ง ณ.ปัจจุบัน พ.ศ. 2567 นั้นก็ดูเหมือนยังไม่ทราบในสิ่งที่บทความตั้งความหวังไว้ ดังนั้นคนไทยในภาคเหนือจึงยังอยู่ในความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งปอดต่อไป

อ่านเพิ่มเติม>

ฉบับที่ 275 นัดยานัตถุ์แทนสูบบุหรี่ลดมะเร็งปอด

        เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2556 ในเว็บ pantip.com มีกระทู้หนึ่งถามว่า ยานัตถุ์ อันตรายมั้ยคะ โดยมีใจความสำคัญว่า “คุณพ่อดิฉันเลิกบุหรี่ได้ ก็มานัดยานัตถุ์ได้หลายปีแล้วค่ะ ห้ามเท่าไรก็ไม่ฟัง เคยเห็นเสมหะคุณพ่อมีสีดำๆ วันก่อนลูกสาวดิฉันเห็นคุณตาจามมีน้ำมูกเป็นสีดำๆ เลยมาบอกดิฉัน ดิฉันเลยกังวล ว่าจะอันตรายไหม แล้วที่สูดผงๆนั่ นเข้าไป มันจะไปอยู่ไหน ถ้าไม่ใช่ในหลอดลมกับปอด ตามความเข้าใจของดิฉัน ขอผู้รู้ช่วยตอบด้วยค่ะ”         จากนั้นก็มีผู้เข้ามาตอบกระทู้ว่า “มันน่าจะเข้าไปที่ปอดได้บ้าง แต่จังหวะที่เป่านั้น เท่ากับหายใจออกครับ ผงยาจะเคลือบฝังจมูกอย่างรวดเร็ว เพราะน้ำมูกจะถูกขับออกมา เพื่อต่อต้านสิ่งแปลกปลอม พิษนั้นมีน้อยกว่า ควันที่ได้จากใบยาสูบ อันเป็นส่วผสมหลักเดียวกันกับบุหรี่ โดยยานัด XXX มีใบยาสูบ ประมาณ 50 % นอกนั้นเป็นสมุนไพร และที่ช่วยทำให้เย็นอย่างหนึ่งคือพิมเสนครับ ยานัตถุ์สามารถช่วย ระงับการจามจากภูมิแพ้ได้ชะงัก และสามารถลดความตึงเครียดทางอารมณ์ได้อย่างดี เพราะมีส่วนผสมของสารนิโคตินนั้นเอง....” ซึ่งโดยสรุปแล้ว เมื่อมีทั้งคำถามและคำตอบ นั่นแสดงว่า การนัดยานัตถุ์นั้นยังมีปรากฏอยู่ในบ้านเรา         พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 ให้ความหมายคำว่า “นัตถุ์” แปลว่า จมูก และคำว่า “ยานัตถุ์” จึงมีความหมายโดยรวมว่า ผงยาละเอียดที่ปรุงขึ้นจากใบยาสูบหรือวัตถุสมุนไพรอย่างอื่น ใช้สำหรับนัดหรือเป่า สูด เข้าในจมูกนั่นเอง ปัจจุบันการใช้ยานัตถุ์พบเห็นได้น้อยมาก เนื่องจากมีรูปแบบการใช้ยาแบบอื่นที่สะดวกกว่า         ในประเทศไทยนั้น ยานัตถุ์ (ภาษาอังกฤษคือ snuff) คือ ยาผงที่ใช้สำหรับเป่าเข้าทางจมูกเพื่อบำบัดโรคหรือวัตถุประสงค์อื่น ตัวยาอาจประกอบด้วยส่วนผสมหลายอย่างที่มีผงใบยาสูบเป็นหลัก อาจผสม สเปียร์มินต์ (มีองค์ประกอบเป็น คาร์โวน ลิโมนีน เมนทอล และเมนโทนให้ความหอมเย็น) อบเชย เมนทอล การบูร เป็นต้น เพื่อเพิ่มความรื่นรมย์ ส่วนในสหรัฐอเมริกานั้นยานัตถุ์ถูกจัดเป็นผลิตภัณฑ์ยาสูบไร้ควัน         ยานัตถุ์มี 2 ประเภทคือ ยานัตถุ์แบบชื้น (Moist snuff) ซึ่งผู้ใช้เหน็บยานัตถุ์แบบนี้ที่หลังริมฝีปากบนหรือล่างหรือระหว่างแก้มกับเหงือก (ว่าไปแล้วน่าจะเป็นลักษณะเดียวกับการใช้ยาฉุนของคนไทยโบราณ) ซึ่งผู้บริโภคต้องคายหรือกลืนน้ำยาสูบที่สะสมอยู่ซ้ำๆ หลังจากนั้นเมื่อผ่านไปช่วงเวลาหนึ่งมักคายทิ้ง ส่วนยานัตถุ์ประเภทที่ 2 เป็นแบบแห้ง (Dry snuff) ซึ่งใช้โดยการสูดหายใจเข้าทางจมูกที่มีการใช้มานานพอควรในประเทศไทย โดยนำผงยานัตถุ์บรรจุลงไปในท่อเหล็กรูปตัวยู ใส่ปลายท่อด้านหนึ่งเข้ารูจมูกแล้วใช้ปากเป่าปลายท่ออีกด้านหนึ่ง เพื่อให้ตัวยาฟุ้งกระจายเข้าไปในโพรงจมูก ผู้ที่ใช้ยานัตถุ์จะรู้สึกเคลิบเคลิ้มเหมือนได้สูบบุหรี่ ปัจจุบันการนัดยาในประเทศไทยนั้นยังพบเห็นได้ในกลุ่มผู้สูงอายุตามชนบทบางจังหวัด         ในประเทศไทยนั้นยานัตถุ์จัดเป็นยาสามัญประจำบ้านตามประกาศพระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510 ของกระทรวงสาธารณสุข แต่ต้องเป็นสูตรที่ไม่มีส่วนผสมของยาเสพติดให้โทษ ยาอันตราย หรือยาควบคุมพิเศษใด ๆ ร่างกายดูดซึมนิโคตินและสารเคมีอื่นๆ เข้าสู่กระแสเลือดผ่านทางเยื่อบุปากหรือจมูก ระดับนิโคตินในเลือดมีความคล้ายคลึงกันระหว่างผู้สูบบุหรี่และผู้ใช้ยานัตถุ์         เมื่อ 16 มีนาคม 2023 www.fda.gov มีบทความเรื่อง FDA Authorizes Copenhagen Classic Snuff to be Marketed as a Modified Risk Tobacco Product มีข้อมูลที่น่าสนใจว่า หลังจากการตรวจสอบหลักฐานที่มีอยู่อย่างเข้มงวด รวมถึงคำแนะนำจากคณะกรรมการที่ปรึกษาทางวิทยาศาสตร์ของผลิตภัณฑ์ยาสูบ (Tobacco Products Scientific Advisory Committee) ความคิดเห็นสาธารณะ และข้อมูลทางวิทยาศาสตร์อื่นๆ ที่มีอยู่ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐอเมริกาสรุปว่า คำกล่าวอ้างเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับความเสี่ยงมะเร็งปอดในส่วนที่เกี่ยวกับยานัตถุ์นั้น มีความถูกต้องทางวิทยาศาสตร์ ข้อมูลดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า หากผู้สูบบุหรี่ในปัจจุบันเปลี่ยนจากการสูบบุหรี่โดยสิ้นเชิงมาใช้ผลิตภัณฑ์นี้ พวกเขาจะมีความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งปอดลดลงได้ อย่างไรก็ดีสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาสหรัฐฯไม่ได้กล่าวว่า ยานัตถุ์นั้นไม่มีอันตรายใด ๆ ดังนั้นใครที่ไม่เคยเสพยานัตถุ์ก็ไม่ควรเริ่มเสพ เพราะถ้าไปดูข้อความบนตลับยานัตถุ์ที่มีขายในสหรัฐอเมริกาบางยี่ห้อนั้นจะพบคำเตือนประมาณว่า  ผลิตภัณฑ์นี้ทำให้เกิดโรคเหงือกและการสูญเสียฟันได้ (This product can cause gum disease and tooth loss)         ในเว็บ www.health.harvard.edu เมื่อ 17 เมษายน 2023 มีบทความเรื่อง Is snuff really safer than smoking? ซึ่งให้ข้อมูลตอนหนึ่งว่า สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐอเมริกาได้รับการอนุมัติเป็นระยะเวลา 5 ปี ให้ทดลองโครงการใช้ยานัตถุ์เป็นทางลดการสูบบุหรี่ โดยบริษัทผู้ขายยานัตถุ์ต้องติดตามผลสัมฤทธิ์ อย่างไรก็ดีแม้อัตรามะเร็งปอดลดลง แต่ถ้ากระบวนการทางการตลาดแบบใหม่ของยานัตถุ์กลายเป็นการดึงดูดผู้ที่ไม่สูบบุหรี่รวมถึงวัยรุ่นที่ไม่ได้ใช้ยานัตถุ์มาก่อนมาใช้ยานัตถุ์จนกลายเป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อสุขภาพให้กับคนจำนวนมาก โครงการนี้ต้องถูกยกเลิก         ในสหรัฐอเมริกานั้นยานัตถุ์เริ่มได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ตามสถิติของ US.CDC (Centers for Disease Control and Prevention) นั้น ผู้ใหญ่ 5.7 ล้านคนในสหรัฐอเมริกาใช้ผลิตภัณฑ์ยาสูบไร้ควันเป็นประจำซึ่งคิดเป็นร้อยละ 2 ของประชากรผู้ใหญ่ ส่วนนักเรียนมัธยมปลายก็ใช้เช่นกันด้วยร้อยละที่ใกล้เคียงกันคือร้อยละ 1.6 % และประเด็นที่น่าสนใจคือ มีข้อมูลว่า การใช้ยานัตถุ์นั้นมีค่าใช้จ่ายน้อยกว่าการสูบบุหรี่คือ แค่ $300 ถึง $1,000 ต่อปี เทียบกับหลายพันดอลลาร์ต่อปีที่บางคนจ่ายในการสูบบุหรี่ และที่น่าสนใจคือ ไม่ทำให้ผู้อื่นสัมผัสควันบุหรี่มือสอง         ในด้านความปลอดภัยของยานัตถุ์นั้น ผู้บริโภคจำต้องรับสภาพว่า มีความเสี่ยงต่อการรับสารพิษใดบ้างเมื่อเริ่มใช้ ในบทความเรื่อง Smokeless tobacco and cigarette smoking: chemical mechanisms and cancer prevention ในวารสาร Nature Reviews Cancer ของปี 2022 ได้ให้ข้อมูลว่า ผลิตภัณฑ์ยาสูบไร้ควันจำนวนมากนำไปสู่การสัมผัสสารก่อมะเร็งหลายชนิดที่หลายคนคาดไม่ถึง ซึ่งรวมถึงสารกลุ่มไนโตรซามีนเช่น  เอ็น-ไนโตรโซนอร์นิโคติน (N'-nitrosonornicotine) ซึ่งอาจเป็นสาเหตุหลักของการเกิดมะเร็งช่องปากที่พบได้ทั่วไปโดยเฉพาะในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สารไนโตรซามีนที่พบเฉพาะในใบยาสูบ (ที่ยังไม่ถูกเผาไหม้หลังบ่ม) เกิดจากปฏิกิริยาของอัลคาลอยด์ในยาสูบกับเกลือไนไตรต์ ซึ่งมี 3 ชนิด ได้แก่ N'-nitrosonornicotine (NNN), 4-(methylnitrosamino)-1-(3-pyridyl)-1-butanone (NNK) และ 4-(methylnitrosamino)-1-(3-pyridyl)-1-butanol (NNAL) ซึ่งมีศักยภาพในการก่อมะเร็งปอด         จากการตั้งความหวังว่า ความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งปอดในการใช้ยานัตถุ์ต่ำกว่าเมื่อเทียบกับการสูบบุหรี่นั้น แต่โอกาสก่อปัญหาสุขภาพยังมีอยู่ เพราะเมื่อพิจารณาข้อมูลจาก US.CDC ที่กล่าวว่า ยานัตถุ์เพิ่มความเสี่ยงต่อสุขภาพอื่นๆ มากมาย ซึ่งรวมถึงข้อมูลงานวิจัยที่กล่าวว่า มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดมะเร็งในช่องปาก (เช่น ลิ้น เหงือก และกระพุ้งแก้ม) หลอดอาหาร และตับอ่อน มีความเสี่ยงสูงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด ก่ออันตรายต่อสมองของวัยรุ่นที่กำลังพัฒนา ก่อปัญหาเกี่ยวกับฟัน เช่น ฟันเปลี่ยนสี โรคเหงือก ฟันเสียหาย สูญเสียกระดูกรอบฟัน ฟันหลุด เพิ่มความเสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนดและการคลอดก่อนกำหนดในผู้ใช้ที่ตั้งครรภ์ และเนื่องจากนิโคตินเป็นสิ่งเสพติดดังนั้นการใช้ผลิตภัณฑ์ยาสูบใด ๆ จึงกลายเป็นนิสัยที่ยากจะเลิกได้อย่างรวดเร็ว         สุดท้ายแล้วสถานะของการนัตถุ์ยาต่อผู้บริโภคทั่วไปนั้นคือ ควรหลีกเลี่ยงถ้าไม่ใช่ผู้เสพติดบุหรี่ที่ต้องการเลิกบุหรี่ แม้ว่าแนวทางของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐอเมริกาในปัจจุบันระบุว่า การนัตถุ์ยาปลอดภัยกว่าการสูบบุหรี่ แต่สิ่งสำคัญคือ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาสหรัฐอเมริกาได้ย้ำตลอดเวลาว่า ไม่มีการสนับสนุนการใช้ยานัตถุ์และไม่รับรองให้ยานัตถุ์เป็นผลิตภัณฑ์เพื่อการสันทนาการ ที่ปลอดภัยแก่ประชาชน เพราะสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับประชาชนคือ การไม่ใช้ผลิตภัณฑ์ใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับยาสูบ

อ่านเพิ่มเติม>

ความคิดเห็น (0)