ฉบับที่ 92 เมลามีน ที่ไม่ได้อยู่แค่ในจาน

นอกจาก อย.ที่เก็บตัวอย่างอาหารเพื่อตรวจหา “เมลามีน” ปนเปื้อนกันวันต่อวันแล้ว ฉลาดซื้อก็นำตัวอย่างสินค้าบางรายการที่แอบสงสัยว่า มีเมลามีนปะปนอยู่หรือไม่ เข้าทดสอบที่ ห้องปฏิบัติการกลาง (ประเทศไทย) จำกัด ด้วยเช่นกัน ซึ่งผลที่ออกมา…เป็นข่าวดี 

ถึงตอนนี้ “เมลามีน” คงเป็นคำที่คุ้นเคยกันแล้ว  แต่ขอกล่าวถึงสักหน่อยล่ะกันเผื่อใครยังค้างใจอยู่ เมลามีน
008
เป็นสารที่ใช้ทำพลาสติกและปุ๋ย มีสารฟอร์มาลดีไฮด์เป็นองค์ประกอบสำคัญ เมลามีนบริสุทธิ์ยังมีองค์ประกอบของไนโตรเจนสูงมาก 66.67% คิดเป็นปริมาณโปรตีนได้ 416.66% ดังนั้นเมื่อนำเมลามีนมาผสมในน้ำนมหรือนมผงก็ทำให้ผลการตรวจพบเปอร์เซ็นต์ไนโตรเจนสูงขึ้นด้วย ทำให้เข้าใจผิดได้ว่า ผลิตภัณฑ์ที่ตรวจนั้นมีโปรตีนสูง คุณภาพดีได้มาตรฐานด้วย (ทั้งนี้ก็เพราะการตรวจหาปริมาณโปรตีนในนมผงปัจจุบันยังไม่สามารถทำได้โดยตรง แต่จะทำทางอ้อมด้วยการตรวจหาปริมาณไนโตรเจนแทน เนื่องจากโปรตีนมีไนโตรเจนเป็นองค์ประกอบเช่นเดียวกัน) 

กรณีนมผงปนเปื้อนเมลามีนนี้เป็นนวัตกรรมใหม่ล่าสุดของอาหารปลอมปน ที่แม้แต่คนในแวดวงอุตสาหกรรมนมยังงงๆ กันอยู่ เนื่องจากไม่มีใครคาดคิดว่าจะมีคนนำมาใส่ในอาหารได้ โดยเฉพาะนม เลยไม่จัดเป็นสารต้องห้ามที่ต้องตรวจสอบในขั้นตอนควบคุมคุณภาพตามปกติ กระทรวงสาธารณสุขไทยก็เพิ่งออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ฉบับที่ 311 พ.ศ. 2551 เมื่อวันที่ 8 ต.ค. 2551เรื่องควบคุมอาหารปนเปื้อนสารเมลามีน โดยห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่าย ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 10 ต.ค.2551 

จริงๆ เมื่อสองปีที่แล้ว ก็มีข่าวพบเมลามีนในอาหาร แต่เป็นอาหารของน้องแมว น้องหมา ที่ทางการสหรัฐตรวจพบในอาหารสัตว์ที่มาจากประเทศจีน เนื่องจากมีหมาแมวจำนวนมากในสหรัฐฯ ที่เจ็บป่วย ตายจากภาวะไตวาย ทำนองเดียวกัน สารเมลามีน ที่ปนอยู่ในอาหารหากเรารับประทานเข้าไป ร่างกายจะไม่ย่อยสลาย แต่จะถูกขับออกมาทางปัสสาวะ หากกรณีสารเมลามีนเข้าไปในร่างกายปริมาณมากจึงจะก่อให้เกิดพิษ โดยเฉพาะที่ไต กรณีทารกเสียชีวิต 4 คนที่ประเทศจีน ก็เกิดจากสาเหตุไตวายเฉียบพลัน ทั้งนี้เพราะอาหารหลักของเด็กทารกคือ นม ขณะที่ผู้ใหญ่จะรับประทานอาหารหลากหลายกว่า โอกาสได้รับสารเมลามีนเข้าไปจึงมีปริมาณไม่มาก 

ในสหรัฐอเมริกากำหนดค่าการได้รับสัมผัสหรือการกิน เท่ากับ 0.63 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัวหนึ่งกิโลกรัมต่อวัน และสหภาพยุโรปกำหนดไว้ที่ 0.5 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัวหนึ่งกิโลกรัมต่อวัน 

ต่อไปก็ไม่รู้ว่าจะมีการนำสารตัวอื่นที่เป็นอันตรายมาปลอมปนกับอาหารในทำนองเดียวกับเมลามีนอีกหรือไม่ ดังนั้นคงถึงเวลาแล้วที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องมาคุยกันเรื่องระบบเฝ้าระวังอาหารที่ปลอดภัยและรัดกุม เพื่ออย่างน้อยก็ให้สามารถควบคุมสถานการณ์ได้อย่างทันท่วงที

ฉลาดซื้อทดสอบ 
ในวันประชุมกองบรรณาธิการเมื่อวันที่ 22 กันยายน 2551 ฉลาดซื้อสนใจข่าวเรื่องเมลามีนอย่างมาก โดยเราไม่ค่อยเชื่อมั่นว่า บรรดานมผงสำหรับเด็กแม้ว่าจะมาจากประเทศอื่นที่ไม่ใช่เมืองจีน จะปลอดจากสาร
003
เมลามีน หรือผลิตภัณฑ์ที่มีนมเป็นส่วนผสมภายในประเทศหลายตัว เราก็กังวลว่าอาจมีการนำนมจากเมืองจีนมาใช้  ประกอบกับมีหลายคนโทรศัพท์มาถามที่ฉลาดซื้อกันมาก ว่ายี่ห้อนั้นยี่ห้อนี้เป็นอย่างไรบ้าง ปลอดภัยไหม (ส่วนใหญ่เป็นยี่ห้อดังๆ ที่นำเข้านมผงจากประเทศอื่นที่ไม่ใช่จีน) เผอิญว่าเรามีผลิตภัณฑ์นมผงที่นำมาวิเคราะห์ฉลาก (เรื่องเด่นฉบับนี้) ซึ่งเป็นลอตการผลิตที่เข้าข่ายต้องสงสัย จึงทยอยส่งห้องทดสอบพร้อมๆ กับสินค้าอาหารหลายรายการที่เก็บจากห้างสรรพสินค้า (เก็บตัวอย่างวันที่ 23 กันยายน)  เพื่อส่งตรวจหาเมลามีนพร้อมๆ กัน 

ผลทดสอบปรากฏว่า ไม่มีผลิตภัณฑ์ใดที่ปนเปื้อนสารเมลามีนหรือสารในกลุ่มเดียวกัน เป็นอันว่าปลอดภัยและเชื่อมั่นได้ อย่างที่ผู้ผลิต โดยเฉพาะกลุ่มสมาชิกผลิตภัณฑ์อาหารนมไทย ระบุว่า ผลิตภัณฑ์นมของพวกเขาปลอดภัยจากสารเมลามีน รวมทั้ง อย.เองก็ขยันขันแข็ง ยิ่งช่วงอาทิตย์สุดท้ายของเดือนกันยายน อย.ตรวจสินค้าอาหารกันวันต่อวันมากกว่า 90 รายการ ซึ่งไม่พบการปนเปื้อนแต่อย่างใด เว้นนมผงนำเข้าจากจีนของบริษัทดัชมิลล์บางรายการที่พบ แต่ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน ซึ่ง อย.บอกว่าสกัดไว้ได้ทันก่อนนำมาผลิตเป็นอาหารวางจำหน่าย 

ผลทดสอบรายชื่อผลิตภัณฑ์ที่ทดสอบการปนเปื้อนเมลามีน