ฉบับที่ 155 ยำปลาข้าวสาร (จบ)

อ่านเรื่องปลาข้าวสารมา 2 ตอนแล้วอาจจะยังสงสัยปลาข้าวสารว่าตกลงคืออะไรแน่ ระหว่าง ปลาข้าวสารคือปลากะตักตัวเล็กที่ยังไม่โตสายพันธุ์หนึ่งตามที่กรมประมงบอก หรือ บูหรา (ปลาข้าวสาร) ที่เราซื้อมากิน มันเป็นปลากะตักที่โตเต็มวัยเท่านี้แหละและมีมาให้ชาวประมงในอ่าวพังงา และทะเลอันดามัน จับมากิน-ขายได้บางช่วงบางฤดู ที่พี่อิดว่ามันเป็นชุดความรู้ที่ชาวบ้านใช้ต่อรองเพื่อให้ตัวเองยังคงมีสิทธิมีโอกาสในการจับปลาข้าวสารมาขายโดยหมุนเวียนเปลี่ยนพลัดไปกับการจับปลากะตักสายพันธุ์อื่นๆ ในช่วงเวลาที่ต่างไป ธนู  แนบเนียน ผู้ประสานงานองค์กรความร่วมมือเพื่อฟื้นฟูธรรมชาติอันดามัน  บอกกับฉันว่า แม้ความรู้เรื่องปลาข้าวสารจะแตกแขนงออกเป็น 2 แนวทาง  แต่ทั้งกรมประมงและชาวประมงพื้นบ้านชายฝั่งอันดามันต่างมีข้อตกลงร่วมกันในการอนุรักษ์และฟื้นฟูท้องทะเลหน้าบ้านของตน คือร่วมกันแก้ไขปัญหาอวนลากอวนรุนที่รุกล้ำเข้ามาในเขตชายฝั่ง โดยจับกุม เปลี่ยนเครื่องมือ และขยายระยะห่างเป็นเขตอนุรักษ์เพิ่มมากขึ้นจากเดิมที่ห่างจากชายฝั่ง 3 กิโลเมตร เป็น 3 ไมล์ทะเล หรือ 5.4 กิโลเมตร   นอกจากนี้ชาวประมงพื้นบ้านยังต้องรักษาสภาพป่าชายเลน หญ้าทะเล ปะการัง  ซึ่งเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยและอนุบาลสัตว์น้ำให้มีสภาพอุดมสมบูรณ์   ธนู กังวลว่าอวนตาถี่ที่เรือปลากะตักในใช้จับปลาข้าวสารนั้นอาจจะมีปลาอื่นๆ ปะปนมาด้วย เมื่อประกอบกับการที่เรือปลากะตักนำอุปกรณ์ไฮเทคมาใช้ตรวจหาปลาได้อย่างแม่นยำจะมีผลทำให้ปริมาณปลาข้าวสารและปลาชนิดอื่นๆ ลดปริมาณลงอย่างรวดเร็ว  แต่การที่รัฐจะประกาศควบคุมปริมาณการจับปลาชนิดต่างๆ ของไทยไปพร้อมๆ กับการประกันราคาปลาคงยังไม่เกิดขึ้นได้ง่ายๆ ในเมืองไทย  แม้ชาวประมงพื้นบ้านจะช่วยกันรักษาน่านน้ำอันเป็นพื้นที่หากินของตัวเองในการเฝ้าระวังเรืออวนลากอวนรุน  รวมทั้งเรือหาปลากะตักจากต่างถิ่นแล้ว  ก็ยังมีปัญหาพื้นๆ อย่างเรือเถื่อนที่ไม่มีใบอนุญาตหรืออาชญาบัตร ยังคงมีปรากฏให้เห็นเสมอ แม้ธนูจะบอกว่าถ้าผู้บริโภคจะช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมทางทะเลโดยการเลือกซื้อจากกลุ่มชาวประมงที่ทำการอนุรักษ์  แต่ฉันก็ยังอดคิดไปไกลไม่ได้ว่า เป็นเรื่องยากมากๆ ที่ผู้บริโภคจะทราบถึงแหล่งที่มาของปลาข้าวสาร และอาหารทะเลชนิดอื่นๆ คิดอะไรไม่ออกฉันก็หาข้อมูลไปเรื่อยๆ  เลยได้ย้อนกลับไปดูมาตรการควบคุมการจับปลากะตักเพื่อความยั่งยืนของสหภายุโรป ที่อ่าวบิสเคย์  พื้นที่ชายฝั่งทะเลของสเปนและฝรั่งเศส ซึ่งประสบความสำเร็จในการริเริ่มแผนการจัดการระยะยาวของปลากะตักในอ่าวบิสเคย์เป็นไปอย่างยั่งยืน โดยเสนอสูตรทางคณิตศาสตร์เพื่อคำนวณหาค่าปริมาณที่อนุญาตให้จับทั้งหมด (total allowable catch, TAC) และโควตาในการจับโดยขึ้นอยู่กับรัฐนั้นๆ ปี 2553 ชายฝั่งทะเลเขตสเปนได้โควตาจับปลา 80 % (14,040 ตัน) ในขณะที่ฝรั่งเศสได้โควตา 20 % (1,560 ตัน)  จนกระทั่งในเดือนมิถุยายน 2554 นักวิทยาศาสตร์จากศูนย์เทคโนโลยีด้านการวิจัยทางทะเลและอาหาร (AZTI-Tecnalia) ยืนยันว่า ชีวมวลของปลากะตักในอ่าวบิสเคย์มีปริมาณเพิ่มขึ้น 278 % ต่อปี จาก 36,500 ตันในฤดูใบไม้ผลิ 2553 เป็น 138,000 ตัน ในเดือนพฤษภาคม 2554 ซึ่งจากการศึกษาของ Bioman ระบุว่า จากจำนวนของไข่ที่พบทำให้คาดการณ์ได้ว่า 86% ของชีวมวลมาจากปลากะตักอายุ 1 ปี  ผลจากการจำกัดปริมาณการจับสัตว์น้ำเหล่านี้ทำให้คณะกรรมาธิการยุโรปเสนอต่อรัฐบาลสมาชิกสหภาพยุโรปทั้ง 27 ประเทศ เพื่อขอเพิ่มโควตาจับปลากะตัก (anchovy) ในอ่าวบิสเคย์จาก 15,600 ตัน เป็น 29,700 ตัน (เพิ่มขึ้น 47 %)  โดยฤดูจับปลาเริ่มตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2554 และสิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2555 น่าอิจฉาเขานะคะที่ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ถูกนำมาใช้กับแผนการอนุรักษ์ได้อย่างประสบความสำเร็จ  ในประเทศไทยของเราหากจะฝันถึงการกำหนดโควตาสัตว์น้ำในทะเล  และการประกันรายได้เพื่อความมั่นคงของผู้ประกอบการจับปลาเพื่อให้เรามีอาหารทะเลกินกันได้อย่างยั่งยืนคงเป็นเรื่องไกลเกินฝันจริงๆ   มาทำปลาข้าวสารกรุบกริบกินส่งท้ายกันดีกว่า เครื่องปรุง ปลาข้าวสาร 1/2 ถ้วย , ไข่ไก่ 1 ฟอง , แผ่นห่อเมี่ยงเวียดนาม  1 ขีด , พริกไทยเม็ด 10 เม็ด , รากผักชี 1 ราก ,  ใบชะพลูหั่นฝอย 10 ใบ (หรือใบมะกรูดซอยละเอียด 5 – 6 ใบ) , น้ำมันปาล์ม   วิธีทำ ล้างปลาข้าวสารให้สะอาดหลายๆ รอบ ใส่กระชอนทิ้งให้สะเด็ดน้ำ โขลกพริกไทยเม็ดกับรากผักชีให้ละเอียด ตอกไข่ใส่ชาม เจียวไข่แล้วนำปลาข้าวสาร พริกไทยโขลกกับรากผักชี ใบชะพลูหั่นฝอยมาคลุกเคล้าให้เข้ากัน ใช้กรรไกตัดแผ่นห่อเมี่ยงเวียดนามออกเป็นขนาดพอคำ  นำส่วนผสมที่ปรุงไว้มาทาบางๆ วางเรียงลงในจานแล้วนำไปทอด  ตอนละเลงเครื่องปรุงลงแผ่นเมี่ยงควรระวังอย่าให้ชุ่มน้ำเพราะจะทำให้ลอกแผ่นเมี่ยงตอนทอดยาก เมื่อเตรียมแผ่นเมี่ยงที่ใส่เครื่องปรุงเสร็จแล้วจึงตั้งกระทะไฟปานกลาง  รอจนน้ำมันร้อนจัดแล้วค่อยๆ ทอดจนเหลืองกรอบ   หมายเหตุ ตอนจะเสิร์ฟ  คุณอาจเลือกน้ำจิ้มที่กินกับข้าวสารกรุบกริบได้หลายแบบ ทั้งซอสมะเขือเทศ  หรืออาจาด (แตงกวาและหอมแดงซอยในน้ำตาลเคี่ยวไฟกับน้ำส้มสายชูและเกลือนิดหน่อย)  แต่คราวนี้ฉันทำง่ายกว่า คือคว้าเอาน้ำจิ้มไก่สำเร็จรูปที่มีอยู่ในครัวมาเหยาะใส่ลงในถ้วยที่เต็มไปด้วยแตงกวาที่ผ่ายาว 4 ชิ้นแล้วหั่นหนาครึ่งเซนติเมตร //

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 154 ปลาข้าวสาร (2) ขนมจีนซาวน้ำ

จากปลาข้าวสารที่กำลังจะเข้าปากในรูปการยำของฉันในตอนที่แล้ว ได้นำเราไปสู่เรื่องปัญหาและการคลี่คลายลงการจับปลากระตักในทะเลชายฝั่งอันดามันในอดีต และภาพปัจจุบันของชาวประมงชายฝั่งที่นั่นได้มีการปรับตัวเองไป จนเกิดเป็นการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น แต่ผู้อ่าน บางคนอาจยังมีคำถามคาใจถึงมาตรการที่กรมประมงใช้ในการควบคุม “การใช้อวนตาถี่ 0.6  ซ.ม.” ที่ติดตั้งในเรือปลากะตักกลางวัน ที่ยังอาจจะมีผลกระทบต่อการขยายพันธุ์ปลากะตักและอาชีพการจับปลาในระยะยาว เรื่องนี้ พี่อิด – พิเชษฐ ปานดำ คนทำงานกับชาวประมงชายฝั่งอันดามันใน จ.พังงา – ภูเก็ต และคนที่เคยพาฉันไปซื้อปลาข้าวสารในตลาดภูเก็ต หลังจากการเยี่ยมเยือนกลุ่มออมทรัพย์และพื้นที่อนุรักษ์ริมฝั่งทะเลของเพื่อนชาวประมงที่แกทำงานด้วย 2 – 3 แห่ง เมื่อ 4 – 5ปีก่อน เล่าให้ฉันฟังว่า หากจะยึดข้อกำหนดขนาดของตาอวนในการจับปลากระตักกลางวันเป็นหลักอย่างที่กรมประมงกำหนด คนจับปลาคงต้องผันตัวเองไปทำอาชีพอื่นทั้งหมดแน่ๆ  ชาวประมงในฝั่งอันดามันจึงต้องต่อรองกับกรมประมง   “ก่อนอื่นเธอต้องเข้าใจก่อนว่าปลากระตักมีหลายชนิด ส่วนปลาข้าวสารที่เธอเรียกนั่น คนที่อ่าวพังงาเรียกปลาบูหรา” เสียงพี่อิดกรอกหูผ่านเครื่องมือสื่อสารในยุค 3G ดังชัดแจ๋ว พี่เขาบรรยายถึงเครื่องมือจับปลาและปลาชนิดต่างๆ ที่จับโดยเรือปลากะตักกลางวัน ว่าเรือหาปลาชนิดนี้จะใช้อวนที่เป็นมุ้งเขียว ซึ่งแน่นอนว่ามีขนาดตาอวนเล็กกว่าที่กรมประมงกำหนด เพราะต้องใช้กวาดจับปลาตัวเล็กชนิดต่างๆ ในร่องน้ำลึก ที่อยู่ไกลออกไปจากชายฝั่ง และเรือประมงเล็กไปไม่ถึง   นอกจากจะจับปลากระตักหรือปลาฉิ้งฉั้งในภาษาถิ่นแล้ว  ยังมี ปลาลิง ปลาบูหรา และปลาอื่นๆ อีก นับกว่า 10 ชนิด  ซึ่งปลาแต่ละชนิดอยู่กันคนละฝูงไม่ปะปนกัน  แถมยังมีความชุกชุมในแต่ละช่วงฤดูแตกต่างกันด้วย เพราะว่าในร่องน้ำลึกมีปลาตัวเล็กหลากหลายชนิดให้เรือปลากะตักจับนี่เอง ที่ทำให้เรือจับปลากะตักต้องจับปลาตัวเล็กหมุนเวียนไป  โดยบูหราจะมีมากในช่วงเปลี่ยนลมมรสุม หรือปีละ 2 ครั้ง คือระหว่างปลายเดือนเมษายน-มิถุนายน และช่วงปลายปีพฤศจิกายน-ธันวาคม  พ้นจากช่วงนี้เรือกะตักกลางวันก็หาและจับปลาตัวเล็กชนิดอื่นๆ แทน พี่อิดเล่าต่อไปอีกว่า อวนเขียวที่ล้อมจับบูหรานั้นยังจำกัดชนิดเฉพาะบูหรา เพราะปลาที่ล่าบูหราอย่างปลาฉลามนั้นสามารถพุ่งตัวหนีออกจากอวนเมื่อกำลังตีล้อมจับปลาได้อีกต่างหาก  ซึ่งต่างจากอวนทวน เครื่องมือปูม้าที่เวลาจับปูม้าแล้วมักได้ปลาอื่นๆ ติดมาด้วย “มิน่า  พี่ยังพาพวกเราไปซื้อปลาข้าวสารกลับบ้านหลังจากขึ้นทะเล” ฉันกรอกเสียงกลับไป คนอีกฝั่งที่ไกลลิบนั่นหัวเราะร่วมไปกับฉัน แต่ยังไม่วายอัพเดทความคืบหน้าให้ฟังอย่างอารมณ์ดีต่อ “คนบนเรือหากะตักกลางวันที่นี่ส่วนใหญ่ยังเป็นคนพื้นถิ่น  เรือกะตักปั่นไฟกลางคืนจากอ่าวไทยไม่ค่อยเข้ามาในเขตนี้หลายปีแล้ว หลังจากชาวบ้านที่นี่ช่วยกันดูแลทะเล เดี๋ยวนี้คนทำประมงก็น้อยลงด้วย  แต่ปัญหาที่นี่ก็เหมือนที่อื่นๆ คือเริ่มเปลี่ยนจากเทคโนโลยีการจับแบบพื้นๆ มาใช้อุปกรณ์ไฮเทคค้นหาปลาจากดาวเทียมขึ้นอย่างซาวเดอร์ หรือซูนาร์ ที่แม่นยำ รวดเร็วกว่า ... ” เรื่อง ปลาข้าวสารหรือบูหรา ยังไม่จบ  มีต่อตอนหน้าแน่ๆ  ตอนนี้เรามาหาอะไรกินง่ายๆ จากปลาข้าวสารกันดีกว่า ฉันนึกถึงบูหราสดๆ ที่ชาวอ่าวพังงาเอามาทำห่อหมกหรือยำสดๆ แต่ปลาข้าวสารที่ฉันซื้อมาจากตลาดนัดนั่นเป็นปลาข้าวสารที่แช่แข็งมาในท้องเรือแล้วเอามาต้มน้ำทะเลและตากให้แห้งบนบก  เวลาจะเอามากินก็แค่ล้างหลายๆ เที่ยวเพื่อจางรสเค็มแล้วลวกด้วยน้ำร้อนเดือดๆ อีกทีก่อนจะสงให้สะเด็ดน้ำก่อนนำไปปรุงในรูปแบบต่างๆ  เมนูบูหราเที่ยวนี้ขอเป็นอาหารพื้นๆ ภาคกลาง ง่ายๆ แล้วกัน   ขนมจีนซาวน้ำ เครื่องปรุง 1.เส้นขนมจีน  ½  กก.   2.มะพร้าวขูด 3 ขีด  3.สับปะรดเปรี้ยว-หวาน หั่นชิ้นเล็ก 1 ถ้วย  4.ปลาข้าวสารล้างสะอาดลวกน้ำร้อนและสงให้สะเด็ดน้ำ 1 ถ้วย 5.กระเทียมสดซอยบาง ¼ ถ้วย   6.เกลือ 1 ช้อนชา  7.น้ำตาลทราย  8.พริกขี้หนูคั่วป่น  9.น้ำปลา วิธีทำ คั้นมะพร้าวเอาแต่หัวกะทิประมาณ 1 ถ้วย ปรุงรสด้วยเกลือให้มีรสเค็มนิดๆ แล้วนำไปเคี่ยวไฟปานกลาง ต้องหมั่นคนตลอดเวลาให้กะทิแตกมันและป้องกันกะทิจับกันเป็นลูกนานสัก 10 นาทีแล้วยกลง  จากนั้นจัดเรียงเครื่องเคียงที่ต้องการกินลงในจาน  ปรุงรสเค็ม เผ็ด หวาน ตามชอบ   //

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 153 ยำปลาข้าวสาร (1)

ฉันกำลังสงสัยว่า เวลาที่คุณเห็นปลาข้าวสารแล้วนึกถึงอะไรบ้าง?  จะมีเรื่องปลาข้าวสาร สักเรื่องไหมที่คุณกับฉันคิดถึงมันแล้วบังเอิญว่าคิดตรงกัน   และเรื่องที่ว่านั้นบังเอิญอีกทีว่าพ้นไปจาก เรื่องคุณค่าทางโภชนาการของปลาข้าวสารที่อุดมไปด้วยแคลเซียม และเมนูที่น่าจะกินจากปลาชนิดนี้? ปลาข้าวสาร หรือปลาสายไหม  เป็นลูกปลาที่ยังไม่โตเต็มวัยของปลากะตัก  หรือที่รู้จักและมีชื่อเรียกอื่นๆ อีกว่า ปลากล้วย, ปลาหัวอ่อน, ปลาจิ้งจั๊ง, ปลามะลิ, ปลาหัวไม้ขีด, ปลาเส้นขนมจีน , ปลายู่เกี้ย, ปลาเก๋ย    ปลาชนิดนี้เป็นปลาขนาดเล็กอยู่กันเป็นฝูงใหญ่ตามผิวน้ำทะเลโดยอาศัยแพลงตอนเป็นอาหาร  มันจึงเป็นอาหารชั้นดีของปลาและสัตว์ทะเลขนาดใหญ่กว่า ครั้นเรามีแบบแผนการผลิตทางการประมงและอุตสาหกรรมอาหาร ปลาชนิดนี้เลยกลายมาเป็นอาหารของคนด้วย   ซึ่งนอกจากเราจะกินปลากะตัก ในรูปอาหารสารพัดตำรับการปรุงแล้ว   คนยังเอามันไปทำปลาบ่นเป็นอาหารเลี้ยงสัตว์สารพัดชนิดให้กลายเป็นอาหารของเราอีกที ย้อนกลับไปช่วงปี พ.ศ. 2540-2542  ฉันคงคิดมากว่าจะซื้อปลาข้าวสาร มากินดีไหม เพื่อความสบายใจของตัวเองว่าไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างปัญหาให้กับชาวประมงพื้นบ้าน ทั้งที่อยู่ชายฝั่งทะเลสงขลาและฝั่งอันดามันที่กำลังประท้วงเรื่องหาปลากะตักตอนกลางคืนที่ติดเครื่องปั่นไฟกันอยู่ในขณะนั้น   จากการเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องของสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านภาคใต้ ที่เรียกร้องให้ยกเลิกการใช้เรือจับปลากะตักแบบปั่นไฟ  และเครือข่ายชาวประมงพื้นบ้าน  จังหวัดกระบี่  พังงา  ภูเก็ต และระนอง ที่ร้องเรียนให้หน่วยงานรัฐดำเนินการกับเรือประมงที่ติดอวนรุนและอวนลาก ในช่วงเวลานั้น ทำให้ต่อมาในปี 2542 มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการการศึกษาและกำหนดมาตรการที่เหมาะสมในการแก้ไขปัญหาการทำประมงปลากะตักโดยใช้แสงไฟประกอบ  ผลการศึกษาพบว่า การทำประมงปลากะตักมิได้ชี้ชัดถึงการทำลายทรัพยากรสัตว์น้ำชนิดอื่น จึงอนุญาตให้เรือหาปลากะตักแบบปั่นไฟทำการต่อไปได้  โดยมีมติให้แบ่งเขตการทำประมงปั่นไฟตามความเหมาะสมในแต่ละพื้นที่ ซึ่งจะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการระดับจังหวัดขึ้นมาแบ่งเขต  อีกทั้งยังกำหนดให้มีการขึ้นทะเบียนเรือประมงและการควบคุมจำนวนอาชญาบัตร  เพื่อควบคุมปริมาณการทำประมงปลากะตัก  รวมถึงการควบคุมขนาดของตาอวนให้ใหญ่กว่า 0.6 ซม. เพื่อให้ลูกปลากะตักหรือปลาข้าวสารซึ่งมีขนาดเล็กกว่าตาข่ายหลุดรอดและเติบโต เพื่อให้เราได้มีปลาชนิดนี้กินกันต่อไปอย่างยั่งยืน หลังจากข่าวความขัดแย้งของชาวประมงพื้นบ้านกับเรือหาปลากะตักแบบติดเครื่องปั่นไฟซาไปจากหน้าหนังสือพิมพ์  การกินปลาข้าวสารเพื่อแสดงความความตื่นตัวในการอนุรักษ์ทรัพยากรชายฝั่งของฉันก็สร่างเซาไปไปด้วยเช่นกัน  จนกระทั่งเมื่อไม่กี่วันก่อนเพื่อนของฉันซึ่งเคยทำงานวิจัยเกี่ยวกับวีถีชาวประมงพื้นบ้านในชายฝั่งทะเลอันดามันเมื่อกว่า 10 ปีก่อน ได้กลับไป “เยี่ยมสนาม”   ที่เธอเคยวิจัย และ นำของฝากจากอันดามันมาให้ฉันและเพื่อนๆ ได้บริโภคกันอย่างเปรม เธอเล่าว่า แม้ข้อสรุปจากการต่อสู้เรื่องเรือปั่นไฟปลากะตักในคราวนั้นจะเอนเอียงไปทางฝ่ายเรือประมงพาณิชย์ แต่เครือข่ายชาวประมงพื้นบ้านก็ไม่ได้ย่อท้อและต่อสู้ขับเคี่ยวกับการทำประมงที่ทำลายล้างอย่างเรืออวนลาก อวนรุนซึ่งบั่นทอนรายได้ของพวกเขา โดยงัดเอาสารพันกลยุทธ์ขึ้นมาสู้ เช่น การเรียกร้องค่าเสียหายของเครื่องมือประมง การแจ้งความกับเจ้าหน้าที่รัฐ   การพยายามปรับเปลี่ยนเวลาหรือสถานที่การทำประมงของตนเพื่อหลีกหนีเรืออวนลากอวนรุน  การที่มีองค์กรพัฒนาเอกชนเข้าไปสนับสนุนชาวประมงพื้นบ้านรวมตัวกันเป็น “สมัชชาชาชาวประมงพื้นบ้านอันดามัน” เพื่อดำเนินการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรชายฝั่ง  การป้องกันและกำจัดผู้ที่ทำการประมงอย่างผิดกฎหมาย และการผลักดันในเชิงนโยบายและกฎหมาย  ซึ่งมีการทำงานทั้งในระดับหมู่บ้าน/ตำบลและระดับเครือข่าย ทั้งในระดับเครือข่ายอ่าว และระดับภาคอย่างต่อเนื่อง  จนกระทั่งส่งผลต่อนโยบายสนับสนุนการปรับเปลี่ยนเครื่องมือประมงอวนรุนของกรมทรัพยากรทางทะเลที่ตั้งขึ้นใหม่ ตอนนั้นนโยบายสนับสนุนการปรับเปลี่ยนเครื่องมือประมงอวนรุน เป็นเครื่องมือชนิดอื่นที่ไม่ทำลายล้าง เช่น ให้อวนถ่วง 40 หัว มูลค่า 6 หมื่นบาท  นี้ได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง 5 ปีติดต่อกัน กระทั่งอวนรุนหมดไปจากฝั่งทะเลอันดามัน ยกเว้นก็แต่ที่ จ.ระนองเท่านั้น   ด้วยนโยบายนี้ ประกอบกับการทำงานอนุรักษ์พื้นที่ประมงชายฝั่ง ซึ่งเป็นแหล่งอนุบาลพันธุ์สัตว์น้ำทะเลของกลุ่มชาวบ้านที่ดำเนินงานกันอย่างต่อเนื่องยาวนานทำให้ปัจจุบันพื้นที่ประมงชายฝั่งอันดามันฟื้นตัวขึ้นมาได้มาก... หากคุณอยากเสพของฝากชิ้นเยี่ยมนี้แบบเต็มๆ  ต้องไปดาวน์โหลดที่   “สถานะของระบบนิเวศและทรัพยากรชายฝั่งท่ามกลางการปรับโครงสร้างชนบท: กรณีชุมชนชายฝั่งทะเลอันดามัน”   โดย ชลิตา บัณฑุวงศ์   https://docs.google.com/file/d/0B-ahm0-nZyGIUjl0Y3lWLU05Qmc/edit?usp=sharing&pli=1 คราวหน้าฉันจะมาคิดเรื่องปลาข้าวสารต่อ   ฉันขอให้คุณคิดถึงมันล่วงหน้าไว้เลยก็ได้  แล้วมาดูกันว่าเราจะคิดถึงมันอย่างเหมือนหรือต่าง กันมากน้อยแค่ไหนอย่างไร  แล้วพบกันค่ะ   ยำปลาข้าวสารแบบง่ายๆ เครื่องปรุง: ปลาข้าวสารคั่วกรอบ  ½ ถ้วย  มะม่วงแก้วหรือมะม่วงน้ำดอกไม้ดิบขูดเส้นฝอย 1 ถ้วย  น้ำตาลทราย 1 ช้อน  พริกป่น 1 ช้อน  พริกขี้หนูซอย ตามชอบ และใบมะยมอ่อน  3 – 4 ช่อ วิธีทำ: เคล้าเครื่องปรุงทุกอย่างเข้าด้วยกัน  ไม่ต้องใช้เกลือหรือน้ำปลา เพราะว่าปลาข้าวสารเราเค็มเข้มอยู่แล้ว  จากนั้นก็จัดลงจานวางเรียงกินเคียงเครื่องดื่มที่คุณชอบ วิธีกินปลาข้าวสาร อีกแบบฉันได้มาจากเพื่อนสาวชาวญี่ปุ่นของฉัน  เธอเคยยำปลาข้าวสารแบบญี่ปุ่นให้กินเมื่อกว่า 15 ปีก่อน แต่ฉันยังจำได้ดี  ทำง่ายมาก  เครื่องปรุงเปลี่ยนจากปลาข้าวสารกรอบเป็นปลาข้าวสารธรรมดานี่แหละ แต่เอาไปล้างด้วยน้ำสะอาด 3 – 4 ครั้งแล้วลวกด้วยน้ำร้อนแล้วสรงให้สะเด็ดน้ำ  หั่นแตงซุกินีตามแนวขวางเป็นแผ่นบางๆ เรียงลงจาน  โรยด้วยปลาข้าวสารที่เตรียมไว้    เสิร์ฟคู่กับถ้วยวาซาบิที่คลอด้วยซีอิ๊วญี่ปุ่น  เท่านี้ก็เป็นการกินปลาข้าวสารแบบยอดนิยมของเจแปนนิส ได้อีกหนึ่งจานแล้ว

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 143 บุฟเฟต์จากข้าว : เมี่ยงกรอบ

  ก่อนปีใหม่ 2 สัปดาห์ฉันเพิ่งเจอกับเพื่อนสาวชาวนาเช่าเจ้าเก่าที่เธอมีอีกอาชีพคือแม่ค้าขายผักในตลาดนัด  ทำให้ฉันได้มีโอกาส up date สถานการณ์ ด้านการผลิตของเธอไปพร้อมๆ กับการจับจ่ายของในตลาดไปด้วย “น้ำในทุ่งลดลงเร็วเหลือแค่เอวแล้ว  ว่าจะวิดน้ำออกแล้วปลูกข้าว ก็กลัวจะไม่มีน้ำอีก”  เธอว่าสั้นๆ พลางส่ายหน้า โดยปกติแล้ว ทุ่งนาที่เธอเช่าทำนานั้นมักได้เริ่มต้นปั่นนาและทำเทือกเพื่อเตรียมหว่านข้าวแบบนาน้ำตมในช่วงหลังปีใหม่ เป็นนาปรังเที่ยวแรก   แต่ความกังวลของเธอก็คือข่าวภาวะน้ำจะแล้ง  น้ำในเขื่อนจะมีไม่เพียงพอ และทำให้ทำนาไม่ได้ตามที่ต้องการ  หรือทำนาได้แค่ปีละเที่ยวเดียวเท่านั้นจากที่เคยทำนาปี ละ 2 หน เมื่อภาวะแล้งมาเยือน  ประสบการณ์เดิมๆ ของเพื่อนนชาวนายังตามหลอนและสร้างความกังวลจนเธอต้องคิดหาทางเลือกอื่นๆ เพื่อให้ยังคงทำนาได้ปีละ 2 หนตามที่ต้องการ   แต่การเร่งวิดน้ำออกจากนาเพื่อเตรียมหว่านไถ  แล้วใช้วิธีการวิดน้ำเข้าไปอีกอย่างน้อยอีกประมาณ  3 – 4 เที่ยว เป็นช่วงๆ ใน ทุกๆ  7 – 10 วัน  เพื่อหล่อเลี้ยงข้าวให้เติบโต   ที่ต้องเสียทั้งเวลาและค่าน้ำมันทำให้เธอเอาโดยคร่าวๆ แล้วก็ได้แต่ส่ายหน้าว่าไม่คุ้ม   ผิดกับที่ใครหลายคนที่ไม่เคยมาสัมผัส คลุกคลี อยู่กับปัญหาของเธอที่คาดการณ์เอาอย่างง่ายๆ ว่า ราคาข้าวที่ถูกยกระดับขึ้นมาถึงตันละ 15,000 บาท นั้น จะทำให้ชาวนาอย่างเธอตาโตและหาช่องโกยกำไรโดยปลูกข้าวระยะสั้นมาขายเข้าโครงการ!! สำหรับเธอ  แม้จะอยากปลูกข้าวขาย แต่ก็ต้องอาศัยช่องทางอื่นๆ ที่ยังพอเหลืออยู่ และมีเงื่อนไขที่เหมาะสมกับตัวเธอมากกว่า ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็น  ”ความยืดหยุ่น”  ที่มีอยู่ในระบบเศรษฐกิจปัจจุบัน  โดยการที่เธอผันตัวเองมาเป็นแม่ค้า  ระดมทุนจากที่ตัวเองมีและร่วมทุนกับเครือญาติเปิดร้านค้าเล็กๆ แล้วเร่ขายไปตามตลาดนัดต่างๆ  ในช่วงที่ว่างจากงานนาราว 4 เดือน   ซึ่งนี่เป็นเพียงแค่ 1 ตัวอย่างที่ทำให้ฉันคลายข้อสงสัยที่เคยมีว่า ทำไมชาวนาภาคกลางซึ่งเป็นกลุ่มชาวนารายย่อยที่ไร้ที่ทำกินมากที่สุด จึงมีการรวมตัวเพื่อต่อสู้เรื่องที่ดินทำกินตัวน้อยที่สุด  เพราะการต่อสู้ในเรื่องนี้ต้องอาศัยพลังการรวมตัว อำนาจการวิเคราะห์ และระยะเวลาอย่างยาวนานในการต่อรองต่างๆ กับรัฐและทุน   ชาวนาที่ไม่มีที่ดิน  มีต้นทุนสำคัญของตัวเองคือเวลา หรือชั่วโมงการทำงานเพื่อสร้างผลิตผล เพื่อให้ได้ค่าตอบแทน(ผลผลิต หรือรายได้จากการค้าขาย)   และในกรณีชาวนารับจ้างทำนา  สิ่งที่ได้รับจากการลงทุนลงแรงในงานคือ ค่าจ้าง(กรณีชาวนารับจ้างทำนา)   ซึ่งถูกคิดคำนวณออกมาเป็นขนาดพื้นที่ของการผลิต  เช่น ค่าฉีดยา - หว่านปุ๋ย ไร่ละ 50 บาท   เมื่อผลผลิตทางการเกษตรมีเพดานราคาขายออกจากไร่นาต่ำ ความหวังที่จะดิ้นรนเพื่อให้พวกเขาอยู่รอดจึงไม่ใช่แค่ลดต้นทุนการผลิต หรือกินอยู่ใช้จ่ายอย่างพอเพียง  อย่างที่แนวคิดของกระบวนการส่งเสริมอินทรีย์พร่ำบอกให้พวกเขาต้องปฏิบัติโดยที่ไม่ต้องการเปลี่ยนแปลงกลไกตลาด    แต่มันคือความหวังที่จะมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นและลำบากให้น้อยลงโดยการไปให้พ้นจากการทำการเกษตรที่ตกอยู่ภายใต้กลไกการตลาดที่รุมทึ้งเอากับส่วนเกินของผลตอบแทนจากชาวนาและแรงงานภาคการเกษตรไปให้กับฝ่ายพ่อค้า/ตัวกลางอย่างที่เป็นมาในอดีต   อุดมการณ์ชาวนาอินทรีย์อันเรียวแคบ  ที่มุ่งเน้นไปที่กลุ่มชาวนาที่มีที่ดิน ทุน และเวลา มากพอที่จะใช้เทคนิคทางเลือกต่างๆ ซึ่งเพิ่มเวลาในการจัดการมากยิ่งขึ้น  และเข้มงวดกับการควบคุมคุณภาพผลผลิตและผลกระทบต่อระบบนิเวศน์   และขายผลผลิตในระบบตลาด(เดิม) ตามแนวทางการส่งเสริมที่เป็นมา   ในสายตาของชาวนาไร้ที่จึงเป็นการขูดรีดตัวเองมากขึ้น  และเฝ้ารอผลตอบแทนที่เลื่อนออกไป      และหากมองในแง่ของการแข่งขันเชิงเปรียบเทียบกับการทำนาปกติของพวกเขา   การทำนาอินทรีย์ที่ขายในตลาดปกติจึงเป็นการเพิ่มอำนาจการแข่งขันของฝ่ายที่มีทุนมากกว่า  มีอำนาจในการจัดการมากกว่า เข้ามาเบียดขับชาวนาไร้ที่ให้หลุดออกไปจากระบบการทำนาไวยิ่งขึ้น  จากเบียดบังเอาส่วนของผลกำไร(ค่าตอบแทน) ของชาวนา  ที่มีผลต่อการกดค่าแรงของลูกจ้างในนา  โดยราคาข้าวเพดานต่ำกว่าตันละ  10,000 บาท ซึ่งเป็นราคาสูงสุดที่ชาวนาเคยขายได้ในระบบประกันราคา   เมื่อเครือข่ายชาวนาอินทรีย์อีสานออกมาโวยว่าราคาข้าวที่แพงขึ้นจากโครงการจำนำข้าว ทำให้ชาวนาที่พวกเขาคาดว่าจะเพิ่มเข้ามาเป็นส่วนของขบวนการทำนาอินทรีย์หดหายไป  เพราะราคาข้าวอินทรีย์ยังขายได้ในราคาเดิม(ที่สูงกว่าข้าวทั่วไปเล็กน้อย)  จึงกลายเป็นเรื่องกึ่งชวนหัวให้ขื่นขันกันว่า   ที่ผ่านมานาอินทรีย์และข้าวอินทรีย์นั้นอยู่ได้ในตลาดที่ขูดรีดตัวเองและเพื่อนๆ ชาวนาด้วยกันนั่นเอง   เมี่ยงกรอบ บุฟเฟต์อันนี้เหมาะกับงานปาร์ตี้ปีใหม่  ดัดแปลงมากจากเมนูอาหารเวียดนาม คือแหนมเนือง และหมูห่อชะพลูอันโด่งดัง  โดยเอาแผ่นแป้งข้าวเจ้าที่ใช้สำหรับกินกับแหนมเนืองมาใช้ห่อไส้หมูบดปรุงรสที่คลุกเคล้ากันใบชะพลูซอย   เครื่องปรุง หมูบด (หรือกุ้งบด)  1 ขีด  ,  รากผักชี  3 ราก  , พริกไทยเม็ด 20 เม็ด ,  กระเทียม 10 กลีบ,  เกลือนิดหน่อย,   แผ่นแป้ง 6 แผ่น , ใบชะพลูดซอยละเอียด 20 ใบ, น้ำมันปาล์มสำหรับทอด   วิธีทำ 1.โขลกรากผักชีกับพริกไทยเม็ดและกระเทียมให้ละเอียด  นำไปคลุกกับเกลือและหมูบด จนเข้ากันดีจึงนำใบชะพลูมาคลุกเคล้าให้เข้ากัน 2.เตรียมแผ่นแป้ง ผ่าแบ่งเป็นแผ่นครึ่งวงกลม แล้วใช้น้ำสะอาดลูบแผ่นแป้งให้ทั่วจนแผ่นแป้งนิ่มลงจึงหยิบเนื้อหมูบดที่ปรุงแล้วมาพันเป็นรูปกรวย   หรือจะใช้วิธีเกลี่ยหมูปรุงรสลงบนแผ่นแป้งทั้งแผ่นแล้วใช้อีกแผ่นประกบก็ได้ 3.ใส่น้ำมันลงกระทะ ตั้งไฟปานกลางจนร้อนดี จึงค่อยนำกรวยแป้งลงไปทอดจนเหลืองกรอบให้ทั่ว ตักขึ้น กินกับน้ำจิ้มทอดมัน  น้ำจิ้มไก่ หรือบ๊วยเจี่ย แนมกับแตงกวา ต้นหอม และใบชะพลู ตามชอบ

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 139 ข้าว(เม่า)จี่ AEC

ได้ข่าวจากพี่ชาวนาที่ฉันเคยไปสัมภาษณ์ว่าเขาเลือกปลูกพันธุ์ข้าว กข. 51 อายุเพียง 90 วัน ในรอบการปลูกนาปรังหนที่ 2 ที่ต้องเกี่ยวให้ทันก่อนน้ำมาภายในสิ้นเดือนสิงหาคมนี้เป็นอย่างช้า  หากเลือกพันธุ์อื่นที่อายุยาวนานกว่านั้นอาจจะต้องเสี่ยงเกี่ยวข้าวเขียวหนีน้ำกันอีกรอบเพราะเมื่อต้นปี 55 นั้น น้ำลดช้าทำให้ แม้ว่าเกษตรตำบลจะท้วงติงว่าข้าว กข. 51 จะขายได้ราคาต่ำเพราะคุณภาพข้าวไม่ดี แต่นี่คือทางเลือกที่ดีที่สุดตามเงื่อนไขที่พี่เขาเลือกได้ ฉันเองก็นึกขำเกษตรตำบลอยู่ไม่น้อย แม้ในช่วงการปฏิบัติตามนโยบายประกันราคาของรัฐบาลประชาธิปัตย์  พันธุ์ข้าวอายุตั้งแต่ 100 วัน ที่รัฐกำหนดให้ขึ้นทะเบียนนั้นมีอยู่จริงเฉพาะในทะเบียนเมื่อต้องปลูกข้าวนาปรังรุ่นที่2 ซึ่งต้องปลูกระหว่างเดือนพฤษาคม –ต้นกันยายน  หรือที่ชาวนาเรียก “รุ่นหนีน้ำ” และถึงแม้จะปลูกพันธุ์ข้าว 90 วันแล้วแต่หากน้ำมาก่อนกำหนดเกี่ยวหนีน้ำก็ต้องการเป็นเกี่ยวข้าวให้เป็ดกินเพราะโรงสีไม่รับซื้อ ส่วนข้าวที่เกี่ยวขายได้ตามปกติก็ถูกพ่อค้าช้อนซื้อในราคาต่ำแต่มีรัฐบาลยอมจ่ายส่วนต่างชดเชยให้โดยตรงกับชาวนา แต่รวมแล้วเงินจากการขายข้าว 1 ตันที่ชาวนาได้จริงก็ไม่ถึง 10,000 บ. เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงหลังเลือกตั้งใหม่ปี 2554 น้ำมาไวและมากเหมือนเดิม พันธุ์ข้าวที่ปลูกพันธุ์เดิม เกี่ยวข้าวเขียวขายเหมือนเดิม แต่ปีนี้ราคาข้าวเขียวขายได้เกือบเท่าราคาข้าวปกติในช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งๆ ที่อยู่ในช่วงรอยต่อของการเปลี่ยนแปลงนโยบายจากประกันราคาข้าวเป็นจำนำข้าวแทน - - ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น? สื่อต่างประเทศอย่างบลูมเบิร์กวิเคราะห์ไว้ว่าราคาข้าวที่ขึ้นสูงในช่วงนั้นเป็นเพราะนโยบายจำนำข้าวมีผลทำให้ดึงราคาข้าวในตลาดโลกให้สูงขึ้น  พ่อค้าข้าว/โรงสี พยายามกักตุนข้าวก่อนรัฐจะดำเนินนโยบายดังกล่าว  กระตุ้นกลไกตลาดให้ข้าวมีมูลค่าเพิ่มขึ้นและชาวบ้านรับตรงเองจากชาวนา  จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมชาวนาส่วนใหญ่ถึงพออกพอใจกับการขายข้าวได้ราคาไม่ต่ำกว่าตันละ 1 หมื่นบาทจากการขายข้าวงวดนั้น ผลที่ตามมาของนโยบายจำนำข้าวคือชาวนากล้าที่จะลงทุนปรับเปลี่ยนจากนาฟางลอยที่ปลูกแล้วไม่คุ้มมาเป็นนาปรัง 2 หนแทน เพราะแม้จะมีความเสี่ยงเรื่องหนีน้ำในการปลูกนาหนที่ 2 อยู่บ้าง แต่การจัดการผลผลิตและแนวโน้มของผลตอบแทนที่ได้รับอย่างคุ้มค่าก็มีอยู่โอกาสอยู่มากด้วยเช่นกัน   ราคาข้าวก่อนหน้านั้นมันถูกกดให้ต่ำมานานมากแล้วโดยกลไกตลาด ก่อนปี 2550 ราคาข้าวไม่เคยสูงเกินกว่าตันละ 6,500 บ. และค่าเช่านาปีละ 300-400 บ./ไร่  และที่นาหลุดมือจากชาวนาเพราะราคาข้าวถูกกดไปแล้วเท่าไหร่?  แม้ช่วงปี 50-51 ซึ่งราคาข้าวเขยิบขึ้นสูงถึงตันละ 1 หมื่นบาทนั่นก็เพราะประเทศคู่แข่งส่งออกข้าวของไทยเราเจอปัญหาภัยพิบัติและเกิดการเก็งกำไรของตลาดโลก   ฉันยังสงสัยว่าถ้าราคาข้าวนาปรังไทยเรายังขายได้ต่ำกว่าหมื่นบาท/ตัน  เมื่อถึงวันที่ไทยต้องเปิดเสรีข้าวในปี 2558 นั่น เราจะขายข้าวส่งออกกันในราคาที่เท่าไหร่  หากไม่พยายามดึงราคาให้สูงขึ้นไว้และหนีให้พ้นสงครามตัดราคากันเองของประเทศผู้ส่งออกข้าวอย่างที่เราทำๆ กันมาอย่างต่อเนื่อง? ฉันยังสงสัยต่อไปอีกว่า มีสัดส่วนของชาวนาหน้าใหม่ ทุนใหม่ กับชาวนาหน้าเดิมหรือชาวนารับมรดกต่อเนื่องมาจากครอบครัว เป็นเท่าไหร่ที่จะเหลือพออยู่สู้กับวิกฤติการแข่งขันข้าวครั้งใหม่ในโลกตลาดเสรีถ้าเรายังขายข้าวได้ในราคาต่ำกว่าตันละ 1 หมื่น? ยังมีเรื่องข้าวคุณภาพอย่างข้าวนาปี ข้าวเมล็ดยาวของไทยที่หลายคนยังไม่แน่ใจว่าจะโดนข้าวหอมเมล็ดยาวของกัมพูชา และข้าวปอซานมุยของพม่ามาแข่งขันในตลาดชั้นสูงเพิ่มจากเดิมที่มีข้าวบาสมาติของอินเดียข่มกันอยู่กับข้าวหอมมะลิของไทย ให้เราได้ฉงนสงสัยกับการเคลื่อนย้ายไปของนักลงทุนภาคการเกษตรเสรีอีก  ถึงตอนนี้ฉันได้แต่ฝันแทนประชากรกลุ่มชาวนาของประเทศผู้ส่งออกว่าถ้ามีสหภาพชาวนาและครัสเตอร์ส่งออกข้าวแห่งอาเซียนในการค้าเสรี AEC ก็คงจะดี  - - อา  อยากจะฝันแบบนี้นานๆ จัง   ก่อนจะไปฝันแบบนั้นฉันเพิ่งอิ่มมาจากเมนูข้าวเม่าที่จับเอาวิธีการปรุงโดยการจี่ไฟ (ปิ้ง-ย่าง) แบบอีสาน กับเครื่องปรุงแบบไทยปนแขกอย่างหมูสะเต๊ะ มาผสมผเสปนเปกันน่ะ เครื่องปรุง 1.ไข่ไก่ใบใหญ่ 1 ฟอง   2.ข้าวเม่าข้าวเหนียว(สีเขียว)  1 ถ้วย  3.หมูสะเต๊ะ  4 ไม้ 4.พริกไทยป่น   5.เกลือ 1 ช้อนชา   6.น้ำเปล่า 3 ช้อนโต๊ะ    7.สาหร่ายญี่ปุ่นแห้งท่อน 1 ช้อนโต๊ะ (ไม่ใส่ก็ได้) วิธีทำ 1.ตอกไข่ลงชาม ตีไข่แดงให้แตกเข้ากันกับไข่ขาว   ปรุงรสด้วยพริกไทยและเกลือเติมสีสันอาหารโดยการใส่สาหร่ายญี่ปุ่นแห้งที่ใช้กรรไกรตัดเป็นชิ้นเล็กๆ ยาว 1 ซม. 2.ใส่ข้าวเม่าลงในไข่เจียวที่เตรียมไว้  คนให้เข้ากันให้ทั่วแล้วทิ้งไว้สัก 5 นาทีเพื่อให้ไข่ซึมเนื้อข้าวเม่าจนนิ่มดี 3.นำข้าวเม่าผสมไข่ห่อหมูสะเต๊ะ  โดยนำใช้มือที่สวมถุงพสาสติกใส(ถุงใส่แกงร้อน) เพื่อห่อไม้หมูสะเต๊ะให้แน่นและไม่ติดมือ 4.นำไปย่างบนเตาไฟฟ้า หรือเตาถ่านตามสะดวก   โดยตั้งไฟให้แรงปานกลาง  เมื่อเหลืองหอมสุกดีแล้วยกลง เสิร์ฟคู่กับน้ำจิ้มหมูสะเต๊ะ และอาจาด หากชอบข้าวจี่หอมๆ อาจจะต้องหาชามใบเล็กๆ อีกใบและเพิ่มไข่อีกลูก  เจียวไข่และปรุงรสให้เหมาะตามชอบแล้วนำข้าวปั้นที่นำไปจี่มาชุบแล้วจี่สัก 3 – 4 ครั้ง ส่วนผู้ที่พิสมัยรสชาติที่แตกต่างออกไป อาจจะเปลี่ยนไส้ในข้าวเป็น หมู ไก่ กุ้ง  เห็ด และแน่นอน  น้ำจิ้มที่ใช้ก็เลือกเป็นแจ่วแบบอีสาน หรือน้ำพริกตาแดง  หรืออื่นๆ ตามแต่สะดวกค่ะ

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 138 เค้กกระทะกะข้าวเม่า

ก่อนน้องสาวจะต้องย้ายตัวเองไปเรียนภาษาที่นิวซีแลนด์ เธอกลับมาอยู่บ้านของพ่อเธอ 1 สัปดาห์ ก็บ้านเดียวกับที่ฉันกับแม่อาศัยอยู่นี่แหละ แล้วบ่ายวันหนึ่ง ก็ได้ฤกษ์ดีที่ฉันมีโอกาสว่างได้ละจากหน้าจอคอมพ์ชั่วคราว  ฉันก็ได้ลองทำเค้กกระทะ(pan cake) กันกับแม่และน้อง  ทำครั้งแรกก็ทำเลียนแบบสูตรที่ข้างกล่องแป้งแพนแค้กสำเร็จรูปจำหน่ายว่าไว้ เพียงแต่ลดเนื้อแป้งลงนิดหน่อย และไม่ใส่เนยตามสูตร เพราะแม่ต้องควบคุมไขมัน อันที่จริง ก่อนหน้านี้ย้อนไปกว่า 10 ปี เค้กกระทะที่เคยกินอยู่นี้มีเพื่อนคนหนึ่งเคยทำให้กิน  ทั้งๆ ที่เพื่อนคนนี้ไม่นิยมการทำอาหารใดๆ เลย ยกเว้นการชงกาแฟหอมๆ ให้เพื่อนๆ ดื่ม  จำได้ว่านอกจากความแปลกประหลาดใจที่เห็นเธอลงมือทำเองแล้ว  รสอร่อยของแพนเค้กชุดนั้นมันอร่อยมากด้วยเช่นกัน   หลังจากนั้นมา พอเบื่อๆ อาหาร บางคราวก็นึกถึงเค้กกระทะ  แล้วก็ทดลองทำกินเองจากสูตรแป้งสำเร็จที่มีวางขายในชั้นของซูเปอร์มาร์เก็ต  มีบ่อยๆ ที่ฉันเพิ่มแป้ง ลดแป้ง ลดนม  แล้วเติมกล้วยหอม กล้วยน้ำว้า ข้าวโอ้ต  รำละเอียด หรืองา  ลงไปผสม  ทำเสร็จออกมาก็กินกับแยมมั่ง น้ำผึ้งมั่ง  ผลัดเปลี่ยนไปตามแต่จะมีวัตถุดิบอะไรมาให้เล่น   แพนเค้กข้าวเม่า เครื่องปรุง แป้งแพนเค้กสำเร็จรูป 100 กรัม  หรือ  1 ถ้วย , นมสด   1 ถ้วย , ไข่ไก่ฟองใหญ่ 1 ฟอง , ข้าวเม่า  1/3 ถ้วย , น้ำมันถั่วเหลือง 1 ช้อนโต๊ะ   วิธีทำ 1ใส่น้ำมันลงในถ้วย ตีไข่แล้วคนให้ไข่แดง และไข่ขาวเข้ากันกับน้ำมัน 2.เติมน้ำนมลงไปแล้วใส่ข้าวเม่าคนให้เข้ากัน  จากนั้นจึงค่อยๆ เติมแป้งลงไปทีละน้อย  คนให้แป้งละลาย จนกระทั่งแป้งหมด 3.ตั้งกระทะเทฟลอนบนเตาไฟขนาดกลาง  เมื่อกระทะร้อนดีแล้วจึงค่อยๆ ตักส่วนผสมที่เตรียมไว้ลงไปทอด จนกระทั่งเหลืองหอมแล้วพลิกอีกด้านหนึ่งทอดให้เหลืองสุก ตัดเสิร์ฟ กินกับเนย แยม หรือน้ำผึ้ง ครบ 1 เดือนพอดี ที่น้องไปอยู่ในที่ที่ไม่มีใครในบ้านรู้จัก  อาการกินอะไรไม่ได้นอกจากนมกับกล้วยหอมของน้องเริ่มดีขึ้น เธอเริ่มกินขนมปัง และหันมาพึ่งบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปบ้าง  แต่ยังปฏิเสธชัดเจน แกะแพะและเนื้อวัว จนฉันกับแม่คลายห่วงลงได้นิดหน่อย ระหว่างเคี้ยวเค้กกระทะราดแยมส้มและเนยที่มีเม็ดข้าวเม่าเจือกลิ่นอยู่ในปาก  ฉันกำลังสงสัยว่า ถ้าเปลี่ยนเป็นข้าวเม่าในไข่เจียวกินกับปลาร้าบ้องอุบลฯ  หรือน้ำพริกหนุ่มเจ้าอร่อยจากเชียงใหม่ที่น้องชอบ   มันจะทำให้อาการช่วยบรรเทาคิดถึงปลาร้าสับ ปลาร้าหลนของน้องสาวที่อยู่ไกลได้ไหมหว่า???

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 137 ข้าวเม่าห่อกุ้ง

ช่วงนี้ฝนฟ้าตกบ่อยๆ หนักบ้าง เบาบ้าง หลายคนก็ยังหวังว่าข้าวนาปรังหนที่2 ซึ่งเริ่มปลูกกันช่วงต้นพฤษภาคมจะได้เกี่ยวทันน้ำในต้นกันยายน และมีชาวนาอีกไม่น้อยที่เปลี่ยนเอาข้าวอายุสั้น 90 วันลงแทนข้าว 110 วันก็เพราะเหตุนี้ ข้าวเม่ายังมีเหลืออยู่ในครัว  คราวนี้เลยลองเอามาห่อกุ้งแล้วเอาไปทอดกินจิ้มกับครีมสลัดและแนมผักแก้เลี่ยน วิธีที่ทดลองมี 2 แบบ   แบบที่ 1 ห่อด้วยข้าวเม่า เครื่องปรุง   น้ำเปล่า  5 ช้อนโต๊ะ  , น้ำส้มสายชูกลั่น  1 ช้อนโต๊ะ , น้ำตาลทราย 1 ช้อนชา , กุ้ง 4 ตัว , ข้าวเม่า 8 ช้อนชา , งาบด 2 ช้อนโต๊ะ , น้ำมันพืช 1 ถ้วย   วิธีทำ 1.ผสมน้ำ, น้ำส้มสายชูกลั่น และน้ำตาลทราย คนเพื่อละลายให้เข้ากันดี 2.นำงาบด และข้าวเม่าที่คัดแยกสิ่งปลอมปนออกแล้วมาคลุกเคล้าทิ้งไว้สักพัก ข้าวเม่าจะนิ่มและมีลักษณะแฉะกว่าที่เคยกินแบบข้าวเม่าคลุกกับมะพร้าวเล็กน้อย 3.ระหว่างรอให้ข้าวเม่านิ่ม  ปอกกุ้งและผ่าแนวกลางลำตัวตามยาวลึกแค่พอเห็นเส้นสีดำเพื่อเอามันออกมา ล้างกุ้งให้สะอาดและทิ้งให้สะเด็ดน้ำ 4.เมื่อข้าวเม่านิ่มแล้ว ใช้มือนวดโดยออกแรงเล็กน้อยให้ข้าวเม่านิ่มจับตัวกัน 5.ใช้ถุงพลาสติกขนาดถุงแกง ผ่าออกให้เป็นแผ่น  นำข้าวเม่าที่นวดมาวางลงบนถุงพลาสติกแล้วใช้อีกด้านวางประกบ จากนั้นใช้ฝ่ามือกดลงให้ข้าวเม่าเป็นแผ่นบางๆ แล้วจึงนำไปห่อกุ้งที่เตรียมไว้ 6.นำกุ้งที่ห่อข้าวเม่าไปทอดในน้ำมันปาล์มที่ตั้งระดับความร้อนปานกลางจนเหลืองสุก ตักให้สะเด็ดน้ำแล้วเสิร์ฟคู่กับครีมสลัดหรือบ๊วยเจี่ย   แบบที่ 2 ชุบแป้งแล้วคลุกข้าวเม่า เครื่องปรุง    แป้งสำหรับทอด  4 – 5 ช้อนโต๊ะ  ,  น้ำเย็น  ½ ถ้วย  ,  ข้าวเม่า 1 ขีด , กุ้ง 5 ตัว , น้ำมันพืช 1 ถ้วย วิธีทำ 1.เตรียมกุ้งแบบเดียวกับวิธีที่ 1 2.ผสมแป้งกับน้ำเย็น  คนให้เข้ากันดี  แป้งที่ผสมไม่ควรข้นหรือเหลวจนเกินไปนัก 3.เทข้าวเม่าลงในจาน 4.นำกุ้งมาชุบลงในน้ำแป้งให้ทั่ว  จากนั้นนำกุ้งขึ้นมาคลุกกับข้าวเม่า  ทำจนครบ 5 ตัว แล้วทิ้งไว้ประมาณ 5 นาที เพื่อให้ข้าวเม่านิ่มและเกาะตัวกัน 5.นำกุ้งลงทอดในน้ำมันให้เหลืองสุกโดยตั้งไฟปานกลาง  แล้วนำมาจัดลงจานราดด้วยสลัดครีม   ข้าวเม่าที่นำมาใช้ทั้ง 2 วิธี ใช้ข้าวเม่าข้าวเหนียวซึ่งมีสีเขียว  เมื่อนำมาปรุงในที่ 1 แล้วทอดให้กรอบ ถ้าห่อหนาจะกรอบนอกนุ่มใน  ส่วนการปรุงแบบวิธีที่ 2 ข้าวเม่าที่ห่อกุ้งจะบางกว่าและกรอบกว่าถ้ามีแต่ข้าวเม่าสีขาวซึ่งเป็นข้าวเม่าที่ทำจากข้าวเจ้าไม่เหมาะกับวิธีที่ 1  แต่จะเหมาะกับวิธีที่ 2 มากกว่า เศษข้าวเม่าที่เหลือเมื่อนำไปทอดกรอบๆ แล้วเอามาคลุกกับสลัดครีมทำให้ฉันนึกไปถึงข้าวเม่าหมี่ได้ยังไงกันนะ  ชักอยากกินขึ้นมาแล้วเหมือนกัน ไม่ได้เจอกับมันเสียนาน แต่นึกถึงเครื่องเคราและวิธีการก็ชวนคร้านขึ้นมาซะแล้ว เครื่องปรุงข้าวเม่าซึ่งมีทั้งกุ้งแห้ง, เต้าหู้ขาว(แข็ง), ข้าวเม่า, ถั่วลิสง ,  ทั้งหมดนี่จะต้องเอามาทอดให้สุกกรอบ  จากนั้นจึงเคี่ยวน้ำตาลปี๊บกับน้ำมะขามเปียกและน้ำปลาจนเป็นฟองละเอียดแล้วจึงนำเครื่องปรุงที่ทอดกรอบรอไว้ลงมาคลุกเคล้าให้ข้าวกัน ฉันจำวิธีการได้ แต่สูตรที่แม่เคยทำขายนั้นเลือนราง จำได้ว่าเวลาทำแค่พอให้เอาทุกอย่างลงไปคลุกในกระทะใบเขื่อง(แต่ไม่เท่ากระทะใบบัว) ต้องใช้ข้าวเม่า และถั่วลิสงเป็นกิโล  เต้าหู้ข้าวนั้นก็หลายก้อนหั่นเป็นชิ้นเล็กๆ เพื่อให้ทอดได้กรอบ  ส่วนตอนเคี่ยวน้ำตาลปี๊บนั่นต้องกะให้ฟองละเอียดพอที่เครื่องทอดจะจับกันดีกับน้ำตาล   แต่ต้องไม่แก่ไฟเกินไปจนเมื่อนำเครื่องปรุงทุกอย่างไปคลุกแล้วปล่อยให้เย็นจนข้าวเม่าหมี่ตกทราย อีกอย่าง ฉันอยากหาวิธีกินข้าวเม่าแบบใหม่ๆ  นึกวิธีกินแบบอื่นได้เมื่อไหร่คงมีเมนูใหม่มาให้ลองทำกันดูนะคะ

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 115 ข้าวต้มสุขภาพ และการเตรียมงานใหญ่ชาวกินเปลี่ยนโลก

เมื่อวานมาประชุมออฟฟิศจนค่ำ ทำให้กลับบ้านนอกไม่ทันรถบัสเที่ยวสุดท้าย เมื่อคืนเลยเลือกนอนค้างบ้านพี่เก๋ เพราะใกล้ที่ประชุม สายวันนี้ต้องประชุมเรื่องการออกแบบลานวัฒนธรรม ในงานมหกรรมสมุนไพรแห่งชาติครั้งที่ 7 ซึ่งจะมีขึ้นระหว่าง วันที่ 1 – 5 กันยายน นี้ที่เมืองทองธานี...... ปีนี้นอกจากจะมีเพื่อนเครือข่ายเกษตรทางเลือก และชุมชนต้นแบบความมั่นคงทางอาหารแล้ว ยังมีเครือข่ายหมอยาพื้นบ้านมาร่วมกัน วางแผนออกแบบเนื้อหาและรูปแบบการนำเสนอ ซึ่งในปีนี้ จะเน้นไปเรื่องความหอมของพืชผัก อาหาร และสมุนไพร จากทั่วประเทศไทย มานำเสนอและแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างชุมชนกับผู้สนใจ เพื่อให้เกิดการนำมาปรับประยุกต์ใช้ในวิถีประจำวันได้อย่างสมสมัย ปีนี้มีคอนเซ็ปต์ของมหกรรมสมุนไพรฯ คือ " หอมกรุ่นทั่วไทย หอมไกลทั่วโลก " นอกจากจะมีข้าวหอมหลากชนิด กับผักสมุนไพรเด่นตามคอนเซ็ปต์ของแต่ละภาคมาโชว์ในรูปแบบของอาหารพร้อมชิม และการสาธิตวิธีการปรุงพร้อมสรรพคุณแล้ว ยังมีโซนทางเลือกเพื่อสุขภาพของคนเมือง ซึ่งปีนี้นอกจากจะมีแปลงผักคนเมืองและสาธิตการดูแลสวนครัวแบบอินทรีย์ที่เหมาะกับคนเมืองแล้ว ยังมีหน่วยให้ความรู้เคลื่อนที่ (mobile unite) ของโครงการสวนผักคนเมือง มาเปิดตัวให้ได้รู้จักกันในงาน และตามไปบริการในละแวกใกล้บ้านอีก 7 หน่วยอีกด้วย ปีนี้โครงการพัฒนากลไกอาหารปลอดภัย มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้มาร่วมเปิดบูธให้บริการข้อมูลอาหารปลอดภัยให้กับผู้บริโภคที่สนใจ ในรูปแบบของเกมส์ที่ขออุบไว้ รอให้ท่านผู้สนใจไปร่วมกิจกรรมกันในงาน ส่วนชาวกินเปลี่ยนโลก ปีนี้เตรียม ทำหนังสือเรื่องถั่วพื้นบ้านจากงานศึกษาออกมา 2 เล่ม พร้อมกิจกรรมรณรงค์กินถั่วพื้นบ้าน ซึ่งมี “นิทรรศการถั่วๆ” ว่าด้วยสาธิต การกิน การปลูก และพันธุ์เมล็ดถั่วพื้นบ้าน พร้อมกับนิทรรศการกินได้พร้อมคู่มือการกินโปรไบโอติกพื้นบ้าน !! ทั้งนี้ในบริเวณลานวัฒนธรรมปีนี้ เราออกแบบรณรงค์ลด ละ เลิก การสร้างขยะ โดยขอเชิญชวนให้ผู้สนใจไปงานมหกรรมพกพาภาชนะส่วนตัวสำหรับใส่อาหารรับประทาน จาน ช้อน ปิ่นโต และถุงใส่ของต่างๆ ไปเอง พร้อมมีกิจกรรม “ธนาคารขยะ” เพื่อให้เกิดการหมุนเวียนถุงพลาสติกแล้วมาใช้ซ้ำใหม่อีกด้วย จบการประชาสัมพันธ์ ...เช้าตรู่หลังฟ้าสางใหม่ๆ วันนี้ พี่เก๋ตื่นและลงมาตั้งหม้อข้าวต้มแล้วเตรียมตัวออกไปวิ่งที่สระน้ำ สวนสาธารณะท้ายหมู่บ้าน ก่อนออกไปบอกฉันที่หมกตัวอยู่ในคอมพ์ฯ “ดูข้าวต้มด้วยนะ” จนพี่เก๋กลับมาจากวิ่งแล้วร้องทักฉันเรื่องข้าวต้มนั่นแหละ จึงได้เดินตาตื่นไปดูหม้อข้าวบนเตาแก๊ส เฮ้อ! เกือบไป .... ดีนะที่พี่เก๋ตั้งหม้อข้าวบนเตาไฟอ่อน ข้าวหอมมะลิในหม้อกำลังเดือด ปุดๆ เบาๆ เม็ดขาวๆ แตกปริเปื่อยกำลังชวนกิน นี่ถ้าไหม้คงจะต้องต้มใหม่อีกรอบ พี่เก๋ปิดเตาไฟ หันมาเตรียม เห็ดฟาง เห็ดหอม เต้าหู้ ผักชี กระเทียมและขิง เต้าหู้ขาว 2 ชิ้น หั่นเป็นก้อนพอคำ เห็ดฟาง 1 ขีด และเห็ดหอมสดอีก 1 ขีด ผ่ากลาง ผักชีหั่นหยาบ และขิงซอยเป็นเส้นบาง และบุบกระเทียมไทยไว้ผัด 2 หัว เครื่องปรุงข้าวต้มสุขภาพก็พร้อมปรุงแล้ว!! วิธีทำข้าวต้มสุขภาพ 1.ตั้งกระทะบนเตาไฟ เทน้ำมันลงใส่ รอให้ร้อนแล้วใส่ก้อนเต้าหู้หั่นชิ้นลงไปทอดให้เหลืองหอมจึงปิดเตาแล้วตักเต้าหู้ขึ้นพัก 2.เปิดเตาไฟอีกครั้ง ใส่กระเทียมบุบสับหยาบลงไปผัดในน้ำมันให้เหลืองหอม แล้วลำเลียงเครื่องปรุง อันได้แก่ เห็ดหอมสด เห็ดฟาง และเต้าหู้ทอดลงไปผัดเพื่อดึงความหวานหอมของเนื้อเห็ดออกมา ปรุงรสด้วยซีอิ๊วขณะผัด 3.เมื่อเห็ดหอมและเห็ดฟางสุกแล้วปิดเตาไฟ ตักใส่ลงในหม้อข้าวต้มที่สุกรอไว้ก่อนหน้านี้ คนให้เข้ากัน ชิมและปรุงรสด้วยซีอิ๊ว โรยด้วยขิงซอย ผักชีหั่นหยาบ และพริกไทยป่น ตักเนื้อข้าวต้มในชามเข้าปากแล้วใจก็ยังอดนึกฝักถั่วแปบอ่อนๆ ถ้าเอามาผัดกับเครื่องข้าวต้มเหล่านี้ก็คงอร่อยเนอะ...จำถั่วแปบที่เล่าในเล่มก่อนได้ไหมคะ ถั่วแปบที่ปลูกไว้เมื่อกลางมิถุนายน ครั้นปลายเดือนกรกฎาคมก็ได้เพื่อนบ้านผู้หวังดีมาช่วยตัดหญ้าหน้าบ้านให้ แต่ความที่เขาไม่รู้จักก็เลยตัดต้นถั่วแปบที่กำลังงามทิ้งไปด้วย กะว่าในงานมหกรรมฯ นี่แหละ คงจะได้ต้นและเมล็ดถั่วแปบกลับไปปลูกใหม่ที่บ้านอีกครั้ง คุณล่ะคะ สนใจถั่วแปบและถั่วและโปรไบโอติกพื้นบ้านหรือเปล่า? ถ้าสนใจเชิญในงานมหกรรมฯ นะคะ ไว้เจอกัน  

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 110 ข้าว – ถั่ว – งา มากับกุยช่าย

เมนูอันใหม่นี้มีที่มาจากเหตุอันน่ายินดีของเพื่อนพ้องน้องพี่ต่างองค์กร เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์กับหลานสาวคนใหม่เอี่ยม น้องลูกน้ำ - ลูกของศจินทร์ เจ้าของคอลัมน์ connecting ในฉลาดซื้ออาหารตำรับคุณแม่หลังคลอดที่เราคุ้นเห็นจะเป็นแกงส้มกับแกงเลียง แกงอย่างแรกช่วยเรื่องการระบายส่วนอย่างหลังช่วยเพิ่มน้ำนมเพื่อการเลี้ยงลูก นอกจากนี้ยังมีวัตถุดิบอีกหลายชนิดที่ปรุงให้แม่ลูกอ่อนกินเรียกน้ำนม เช่น หัวปลี แมงลัก พริกไทยอ่อน เมล็ดขนุน และกุยช่ายกุยช่าย หมอยาร้านสมุนไพรบุญเหลือที่ตลาดบางบัวทองเคยแนะเพื่อนแม่ลูกอ่อนของฉันให้นำมาต้มกับเนื้อปลา ใส่กระเทียมสด เป็นอีกเมนูที่เพิ่มมาจากผัดกุยช่ายกับตับและขนมกุยช่ายช่วงให้นมลูกซึ่งควรมีระยะเวลายาวนานไม่ต่ำกว่า 6 เดือนเป็นอย่างน้อย ฉันเลยทดลองเมนูใหม่จากวัตถุดิบอินทรีย์ที่มี ทดลองทำมาได้ 2 เมนู คือ ขนมกุยช่ายสุขภาพ กับโจ๊กบำรุงแม่ลูกอ่อน ขนมกุยช่ายสุขภาพเริ่มด้วยการตระเตรียม ข้าวกล้องหอมมะลิ 1 แก้ว ถั่วเขียวอินทรีย์ 1 แก้ว งา 3 สี (ขาว-ดำ-น้ำตาล) อย่างละ 3 ช้อนโต๊ะ เกลือ 1 ช้อนชา กุยช่ายปลูกเอง 1 กำมือ (หั่นเป็นท่อน 1 ซม.) และน้ำ 3 แก้ว ข้าวกล้อง ถั่วและงา ทั้ง 3 อย่างนี้ แยกถ้วยเอาไปซาวน้ำแล้วสงให้สะเด็ดน้ำ จากนั้นค่อยๆ นำทีละอย่างไปปั่นด้วยเครื่องปั่นไฟฟ้าให้ละเอียด จากนั้นนำส่วนผสมทั้ง 3 อย่างเทลงภาชนะทนไฟ หรือพิมพ์ขนมเค้กก็ได้ เติมน้ำ คนให้เข้ากันดีแล้วเติมเกลือกับใบกุยช่ายลงไป จากนั้นนำไปนึ่ง โดยนำพิมพ์เค้กใส่ลงในหม้อนึ่งหรือซึ้ง หาฝาปิดพิมพ์เค้กไว้เพื่อป้องกันไอน้ำหยดลงไปทำให้หน้าขนมแฉะ นึ่งไฟกลางประมาณ 30 นาที จะได้ขนมกุยช่ายที่เคี้ยวมันๆ มีสารอาหารจากข้าวกล้อง ถั่ว งา พร้อมกากใยที่แม่ลูกอ่อนต้องการอย่างมาก แต่เนื้อขนมไม่เหนียวเหมือนขนมกุยฉ่ายทั่วไปที่ใส่แป้งข้าวเจ้ากับข้าวเหนียว หลังนึ่งใหม่ๆ กินกับน้ำจิ้มที่ทำจากซีอิ๊วดำ ผสมกับน้ำส้มสายชูหมัก น้ำตาลโตนด เคี่ยวบนเตาไฟสัก 10 นาทีแล้วหั่นพริกสดใส่ลงไป ตอนทดลองชิมนี่ไม่มีใครมาชิมด้วย ขนมจึงถูกแช่เก็บไว้ เมื่อจะกินอีกที เอาชิ้นขนมขนาดที่ต้องการมาอังบนกระทะเคลือบ ใช้น้ำมันมะพร้าวเทลงกระทะเล็กน้อย อุ่นให้เหลืองหอม ก็ได้รสชาติแปลกจากตอนเริ่มทำไปอีกแบบ   อีกสูตรที่แปลงจากขนมกุยช่ายสุขภาพ คือ โจ๊กบำรุงแม่ลูกอ่อน เมนูนี้ต้องเตรียมเครื่องปรุงเพิ่มอีก ดังนี้ค่ะ น้ำซุปผัก ผักกะหล่ำปลีอินทรีย์ เห็ดหอม กุ้งแห้งวิธีทำน้ำซุป น้ำซุปผัก เตรียมจากหอมแดง กระเทียม และใบหม่อน และน้ำสะอาด ตั้งไฟอ่อน ใส่กุ้งแห้งกับเกลือไปตั้งแต่ตอนเริ่มต้ม เมื่อเดือดใส่ผักกะหล่ำ จนกะหล่ำนิ่มกำลังกิน เห็ดหอมที่แช่น้ำแล้วหั่นเป็นชิ้น จากนั้นใส่ขนมกุยช่ายที่เราทำไว้ลงไป คนให้เข้ากันก็จะได้เป็นโจ๊กร้อนๆ เคล็ดลับความอร่อยอยู่ที่ความหอมของเครื่องปรุงที่เข้ากันอย่างกลมกล่อมกุ้งแห้งตัวใหญ่คัดพิเศษ ผลิตแบบคนทำรับประกันความสะอาดทุกขั้นตอนได้มาตอนที่ฉันเริ่มทดลองพอดีคนรับประกันไม่ใช่ใครที่ไหน เป็นพี่บุญยืน คอลัมน์นิสต์ฉลาดซื้อของเราอีกคน ที่กำลังแบกภาระหนักในการผลิตกุ้งแห้งอินทรีย์ปลอดสารเคมีมาจำหน่ายให้พวกเรากินแบบไฟท์บังคับ ดูท่าว่าลูกค้าจะกึ่งบังคับกึ่งขอร้องกันไปอีกยาวนาน เพราะหลังจากที่เครือข่ายผู้บริโภคออกเก็บตัวอย่างกุ้งแห้งทั่วตลาดส่งให้ฉลาดซื้อไปตรวจแล้วเจอสีปนอยู่ในกุ้งแห้งทุกตัวอย่าง มีข่าวดีฝากไว้ก่อนจาก ตอนไปฟังการบรรยายวันเปิดตลาดสีเขียวในโรงพยาบาลต้นแบบปทุมธานีเมื่อต้นมีนาคม วิทยากรอาจารย์สุทธิวัสส์ คำภา ผู้เชี่ยวชาญด้านสมุนไพรและแพนดูลั่ม ได้กล่าวตอนหนึ่งว่า “ต้มข้าวกับถั่วเขียวกินอย่างละเท่าๆ กัน ใช้ล้างพิษโลหะในตัวได้” ดีและง่ายจนน่าปลื้มใจและสนุกสนานไปกับการทดลองดูนะคะ

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 102 ข้าวคลุกกะปิรวมมิตร

เรื่องเรียงเคียงจานนก อยู่วนา วันหยุดเมื่อสงกรานต์ที่ผ่านมา ฉันหลบร้อนจากเรื่องราวที่ผ่านตาในหน้าคอมพิวเตอร์และโทรทัศน์ไปอยู่ในสวน เพาะถั่วมะแฮะ ถั่วแปบ ถั่วดาบ ที่เก็บมาจากยโสธร ถั่วพูจากฝักแก่ที่พันเลื้อยต้นมะม่วงในบ้าน และถั่วพุ่มที่เก็บมาจากตลาดสดของชาวบ้านระหว่างทางไปสามพันโบก จ.อุบลฯ พอปลายเดือนเมษายน ต้นถั่วแปบและถั่วดาบก็มีอันเป็นไปเพราะหอยหากอัฟริกันที่แฝงฝังอยู่ในสวนออกมาพาเหรดกันช่วงที่ฉันไม่อยู่บ้านหลายวัน ดีที่ยังมีกล้ามะแฮะที่ฉันแยกเอาไปปลูกลงดินข้างรั้วบ้าน กับถั่วพูที่นอกจากเอาไปลงข้างค้างที่เพิ่งทำขึ้นใหม่เพื่อป้องกันไม่ให้รกเลื้อยไต่ไปบนต้นไม้ใหญ่จนลำบากต่อการเก็บมากิน ยังเหลือเอาไปปันให้พี่ฉัตร แม่ค้าก๋วยจั๊บในหมู่บ้านซึ่งแม้ตัวเองจะบอกว่าไม่ค่อยมีที่จะปลูกก็ยังพยายามปลูกพืชผักสวนครัวแซมแทรกที่หน้ารั้วบ้านของตัวเองด้วยใจรัก ส่วนถั่วพุ่ม ฉันนำกล้าทั้ง 3 ต้นปลูกลงในลอง ซึ่งเป็นท่อซีเมนต์ขนาดใหญ่กว้างเกือบเมตรที่ปกติเขาเอาไว้ทำบ่อพักส้วม ลองซื้อมาหนึ่งอันตกราคาแค่ 80 – 85 บาท นับว่าถูกกว่ากระถางดินขนาดใหญ่หลายเท่าทีเดียวแม้กล้าผักต่างๆ ทั้งใบบัวบก ผักชี ผักชีฝรั่ง ผักคะน้า ผักกาดเขียว กวางตุ้ง ผักกาดฮ่องเต้ และอีกสารพัดชนิดที่ว่านลงดิน ล้วนมีชะตากรรมเดียวกับถั่วแปบและถั่วดาบทั้งสิ้น ซึ่งในการลงมือ “เก็บ” เหล่าเจ้าหอยทากตัวแสบ(มารคอหอยตัวจริง)แทบทุกครั้งเพื่อเอาไปปล่อยนอกบ้าน ฉันจะข่มขู่มันว่าจะเอาไปต้มยำทำแกงเป็นเมนูในคอลัมน์นี้สักครั้งมันก็ยังไม่เข็ด ยังคงพากันแห่แหนเข้ามาเพราะที่สวนของฉันมันทั้งร่มชื้นและมีต้นไม้ เศษซากใบไม้ไว้ให้กินได้อย่างอิ่มหมีพีมัน วิธีกินหอยทากชนิดนี้ ถ้าจะกินให้ดีต้องเอาไปต้ม นึ่งหรือย่างให้สุกดีเสียก่อนแล้วปรุงเป็นอาหารต่างๆ อร่อยไม่แพ้หอยจุ๊บ หรือหอยหวาน แต่แค่เห็นหน้าเห็นหนวดมันแล้ว ออกจะดูน่ารักน่าสงสารแม้จะสร้างความรำคาญและเสียหายให้กันอยู่บ้าง ก็ได้แต่ปลงใจว่ามันทำให้ฉันต้องพยายามค้นหาผักยืนต้นอื่นๆ ที่มันไม่พิสมัยต่อไป พอก่อนจะเข้าพรรษา ต้นถั่วพุ่มก็งามสมบูรณ์ ออกดอกออกฝักให้ได้เห็นชื่นตา ฝักแรกของต้น ฉันปล่อยให้มันแก่แห้งคาต้นไว้ เพื่อเก็บเมล็ดไว้ปลูกครั้งต่อไป ตอนเก็บฝักแดงๆ มากินยังนึกแปลกใจว่าเป็นเพราะพันธุ์ที่ได้มามีแต่ถั่วพุ่มสีแดง หรือว่าถั่วพุ่มสีเขียว ถั่วพุ่มลายที่ปะปนมากันในถุงเมล็ดที่วางขายจะถูกเจ้าหอยทากกินหมด ซึ่งถ้าจะให้รู้คำตอบได้แน่คงต้องลองหาเมล็ดถั่วพุ่มสีอื่นๆ มาทดลองเพาะซ้ำร่วมกับถั่วพุ่มแดงอีกหน แล้วฉันก็หายจากบ้านไป 5 – 6 วัน อีก2 ครั้ง ดีแต่ว่าที่ที่ฉันไม่อยู่มีเทวดาคอยดูแลต้นไม้ในสวนไว้อย่างต่อเนื่อง กลับมาบ้านเที่ยวนี้จึงเห็นสุมทุมพุ่มไม้ในสวนเขียวงามสดสะพรั่ง และดั่งเช่นเคย เจ้าหอยทากก็ออกมาร่าเริงเลยกันเป็นหมู่คณะ ฉันเห็นฝักถั่วพุ่มแดงไสวก็ได้แต่บอกว่าช่างมันเถอะ ถือว่าแบ่งกันกิน แล้วก็เก็บมันไปทิ้งเหมือนเดิม เดินทางหลายวันแบบนี้ ได้ลงมือทำอาหารกินเองสักที ค่อยชื่นใจ มีข้าวเย็นเป็นข้าวหอมมะลิหุงปนกับข้าวกล้องบรือปรุ๊ หรือข้าวหม่นของปกากะญอที่เชียงใหม่ กับยอดของใบชะมวงที่พี่ฝนเอามาให้จากบ้านสิงห์บุรี และกะปิดีของชาวบ้านที่ทำนาอินทรีย์ ต.วัดดาว อ.บางปลาม้า จ.สุพรรณบุรีติดก้นครัว เมนูวันนี้คงจะเป็นข้าวคลุกกะปิ ฝักถั่วพุ่มที่พองแล้วฉันแกะเอาแต่เมล็ดออกมา เนื้อเมล็ดที่สดยังหวาน มัน ส่วนเปลือกนั้นออกจะเหนียวเกินอร่อย ทดลองกินฝักที่สดกำลังกิน เนื้อจะเหนียวกว่าและหวานน้อยกว่าถั่วฝักยาวนิดหน่อย ฉันเอามาซอยบางๆ ไว้ แล้วเอาใบชะมวงมาซอยหยาบๆ แทนมะม่วงซอย ซอยหอมแดงอินทรีย์จากสุรินทร์ วางข้างพริกที่เก็บมากินจากในสวน แล้วลงมือเจียวไข่ไก่ เป็นไข่จากไก่แจ้ที่ฉันเก็บมาจากบ้านแม่ที่อยุธยา แล้วซอยเป็นเส้นหยาบๆ รอไว้ แกะกระเทียมอินทรีย์สุรินทร์แล้วตี สับกระเทียมเจียวให้หอม ตักกะปิเกือบๆ ช้อนแกงลงไปผัดบนไฟอ่อนๆ ให้หอมดีแล้วเอาข้าวที่ยีเป็นเม็ดลงไปผัดสักครู่แล้วตักขึ้น ฉันเลิกกินหมูมาตั้งแต่เมื่อต้นปี ดีที่ในตู้เย็นยังมีกุ้งแห้งทั้งป่นแล้ว และกุ้งเป็นตัว กับหอยหวานที่ได้มาจากดอนหอยหลอดเมื่อกลางมิถุนายน (คราวหน้าไม่แน่อาจเป็นเจ้าหอยทากตัวแสบ ฮา) ฉันเลือกหยิบมาแต่หอยหวาน จำได้ว่าตอนเลือกซื้อหอยหวานที่ไม่คลุกน้ำตาลนี่ฉันเดินหาอยู่พักใหญ่ หลายร้านกว่าจะได้ เพราะแผงร้านขายอาหารทะเลที่ดอนหอยหลอดส่วนใหญ่จะมีขายชนิดที่ผสมมาเสร็จ “เอากลับไปทำแล้วมันหวานเลยไม่ต้องปรุง” เป็นคำอธิบายของแม่ค้า จนสุดท้ายตอนที่ฉันได้มาเป็นเพราะแม่ค้าด้วยกันเองช่วยถามเพื่อนข้างร้านที่เขามีหอยหวานที่ไม่ปรุงเก็บไว้นั่นแหละ ไม่งั้นอดกินแน่เลยเชียว เทหอยหวานใส่ลงชามแล้วล้าง 2 – 3 ครั้ง ตั้งทิ้งให้สะเด็ดน้ำ แล้วเอาไปทอดในน้ำมันแบบขลุกขลิก ไฟไม่แรงมากเพราะกลัวไหม้ หมั่นใช้ตะหลิวคนเอาไว้ พอสุกเหลืองหอมทั่วทุกตัวดีแล้วตักใส่ถ้วย เอาน้ำผึ้งโตนดราดสัก 1 ช้อนโต๊ะแล้วคลุกให้เข้ากันดี แค่นี้ทุกอย่างก็พร้อมแล้วสำหรับมื้อเช้าเย็นชื้นฝนที่พรมลงมาแต่เมื่อคืน น้ำผึ้งโตนด (หรือคนที่เอามาให้จากคาบสมุทรสทิงพระ สงขลาเรียกน้ำผึ้งโหนด) เป็นน้ำหวานจากจาวตาลที่ถูกเคี่ยวจนเหนียวมีลักษณะคล้ายน้ำผึ้ง คนแถวนั้นคุ้นเคยกับมันดีเพราะมีตาลโตนดปลูกเรียงรายอยู่มากไม่น้อยกว่าที่เพชรบุรีเลยทีเดียว วิธีใช้น้ำผึ้งโหนดของพวกเขามีตั้งแต่เอามาผสมน้ำจิ้มสารพัดชนิด ทำอาจาด ใส่ขนมหวานน้ำแข็งไสเป็นน้ำเชื่อม เชื่อมขนม ตอนที่อ้นยกขวดน้ำผึ้งโหนดให้ฉัน 4 ขวด เธอกังวลว่าขวดจะหนักและต้องแบกขนกัน ซึ่งเป็นข้อจำกัดของการผลิตสินค้าส่งออกขาย แต่ฉันว่าไม่ได้ลำบากอะไรแค่ใส่ไว้ท้ายรถ แล้วพอมาถึงก็แบ่งๆ กับเพื่อนๆ ไปทดลองทำอาหารกินกันดู รสมันหวานและหอมดีแท้ๆ ถ้าจะทำน้ำปลาหวานแบบที่กินกับมะม่วง หรือที่กินกับปลาดุกเผาสะเดาลวก ก็แสนจะสะดวก ไม่ต้องเอาน้ำตาลโตนดที่เป็นปึกเป็นแว่นมาเคี่ยวไฟละลายให้เหนียว แถมยังลดความเสี่ยงจากการใช้น้ำตาลโตนดปึกซึ่งถ้าไม่รู้แหล่งและดูไม่ออก อาจจะได้น้ำตาลโตนด(แว่น) ที่ปนดีน้ำตาลที่เขามาใส่ตอนเคี่ยวให้มันแห้งไฟและจับเป็นก้อน ข้าวคลุกกะปิจานนี้เลยเป็นเมนูรวมมิตรจากผลผลิตทั่วสารทิศตั้งแต่ภูเขาสูงเหนือจรดดินแดน 3 น้ำ ของสงขลาไป อร่อยแบบข้าวคลุกกะปิ แต่แปลกออกไปไม่เหมือนใครดี ซึ่งแบบนี้คุณเองก็ลองแปลงเองได้ ง่ายๆ จริงๆ

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 126 ดีใจจัง…คนข้างหลังก็บ้านเฮา

  “เมือง” เป็นคำที่มีความหมายหลายด้านด้วยกัน บ้างก็ว่าเมืองเป็นดินแดนแห่งความทันสมัยและความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ บ้างก็ว่าเมืองเป็นศูนย์รวมแห่งอารยธรรมอันล้ำยุคล้ำสมัย บ้างก็ว่าเมืองเป็นสถานที่แหล่งทำกินของคนจำนวนมากมายมหาศาล   แต่ที่แน่ๆ คำตอบอีกหนึ่งข้อของความเป็น “เมือง” ก็คือ พื้นที่ที่เต็มไปด้วยสภาวะแปลกแยกและสายสัมพันธ์อันเปราะบาง   กล่าวกันว่า นับแต่ปลายศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา ผลพวงหลังจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมในยุโรป ทำให้เกิดเมืองใหญ่ๆ ขยายตัวออกไปอย่างมากมาย และเมื่อเมืองอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ขยายตัว เมืองเหล่านั้นก็ต้องการแรงงานปริมาณมหาศาล ที่จะมาเป็นปัจจัยการผลิตทางเศรษฐกิจในทุกๆ ด้าน   ด้วยเหตุดังกล่าว เมืองต่างๆ จึงจำเป็นต้องพึ่งพาแรงงานจากต่างถิ่น โดยเฉพาะจากชนบท เพื่อเข้ามาหมุนฟันเฟืองการผลิตในสังคมเมือง อันเป็นที่มาของการอพยพย้ายถิ่นของผู้คนจากชายขอบ เข้าสู่ศูนย์กลางของเมืองใหญ่ จนทำให้เมืองยิ่งโตวันโตคืน แต่ชนบทก็ยิ่งโทรมลงๆ   ปรากฏการณ์เดียวกันนี้ก็ไม่ได้แตกต่างไปจากกรณีของสังคมไทยเท่าใดนัก ภายหลังจากที่เมืองใหญ่ๆ อย่างกรุงเทพมหานครและอีกหลายๆ มุมเมืองขยายตัวขึ้นมา ชุมชนเมืองใหม่เหล่านี้ก็กลายเป็นแหล่งรองรับการอพยพของแรงงานพลัดถิ่น ที่ละทิ้งภาคชนบทเพื่อเข้ามาแสวงหาความเจริญก้าวหน้าในส่วนกลาง ริ้วรอยเช่นนี้ปรากฏอยู่ในโฆษณาโทรทัศน์ ที่โปรโมทขายเครือข่ายโทรศัพท์มือถือยี่ห้อหนึ่ง กับพรีเซ็นเตอร์ดาราหนุ่มที่เปิดตัวมาในฐานะลูกอีสานบ้านเฮาอย่าง คุณณเดชน์ คูกิมิยะ ฉากเริ่มต้นของโฆษณาเปิดด้วยเสียงดนตรีคลอเบาๆ ให้ความรู้สึกอ้างว้างเปล่าเปลี่ยว และมีเสียงลอยๆ ของคุณณเดชน์พูดขึ้นว่า “พวกเรามาตามหาความฝันในเมืองใหญ่ ฝันว่าลูกอีสานคนหนึ่งกำลังเติบโตขึ้น ฝันว่าจะทำให้ชีวิตคนในครอบครัวเราดีขึ้น ฝันที่เราจะได้เป็นในสิ่งที่ฝัน ฝันที่จะทำให้ฝันของใครอีกคนเป็นจริง...” ภาพที่ตัดขนานมากับเสียงคลอนั้นก็คือ ภาพมุมกว้างของเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพมหานคร เป็นฉากรถยนต์ที่ติดโยงยาวกันเป็นแพ สลับกับรถยนต์อีกจำนวนหนึ่งที่แล่นผ่านไปมา มีผู้คนเดินขวักไขว่กันอยู่เต็มท้องถนน แต่ก็ดูเหมือนว่า จะเป็นท้องถนนที่ไม่มีใครสนใจใคร   จากนั้นก็มีภาพของคุณณเดชน์พระเอกหนุ่มเดินอยู่ท่ามกลางฝูงชนที่มากมาย แต่ก็ดูแปลกแยกขาดสายสัมพันธ์กับสัญจรชนคนอื่นๆ   ตัดสลับกับภาพของแม่ค้าส้มตำที่กำลังเว้าภาษาอีสานคุยโทรศัพท์อยู่ที่แผงส้มตำที่มีป้ายเขียนติดกระจกว่า “คิดฮอดบ้านเฮา” ภาพของโชเฟอร์แท็กซี่ที่เหม่อมองดูรูปถ่ายของเมียและลูกที่ติดไว้หน้ากระจกรถ มองเห็นกระจกหลังเป็นผู้โดยสารชายอีกคนที่คุยโทรศัพท์เว้าโลดด้วยภาษาถิ่นอีสานอีกเช่นกัน  คุณณเดชน์เดินทางมาพบกับคุณหมออีกคนหนึ่ง ซึ่งก็โทรศัพท์คุยภาษาถิ่นอีสานกับบิดาที่ต่างจังหวัด  ด้านนอกนั้น ผู้คนถ้าไม่ง่วนกับการคุยโทรศัพท์ ก็ยังคงเดินขวักไขว่กันเต็มตั้งแต่ท้องถนนถึงบนสะพานลอย ข้างทางมีทีวีจอยักษ์เป็นภาพ “นักล่าฝัน” ที่เข้ามาประกวดร้องเพลงใน กทม.  คุณณเดชน์แวะมาพักกินข้าวเที่ยงในร้านอาหารญี่ปุ่น แววตาของเขาดูฉงนสนเท่ห์ เขาจับตะเกียบคีบก้อนซูชิเอาไว้ในมือ ขณะที่เหม่อมองดูพ่อครัวกำลังคุยโทรศัพท์อย่างออกรสชาติเป็นภาษาอีสานด้วยเช่นกัน  ภาพตัดกลับมาที่รถไฟฟ้าบีทีเอสแล่นผ่านไป มีหนุ่มวินมอเตอร์ไซค์ยืนเปลี่ยวเหงาอยู่ใต้สถานีรถไฟฟ้า คนบางคนเหม่อลอยมองออกไปนอกสะพาน ขณะที่คุณณเดชน์ก็คงเดินต่อไปท่ามกลางชีวิตคนกรุงที่แสนจะเปลี่ยวเปล่าและแปลกแยกยิ่งนัก ก่อนที่จะมีคำพูดความในใจของคุณณเดชน์ที่กล่าวต่อไปว่า “พวกเราต้องไกลบ้าน ไกลพ่อแม่พี่น้อง แต่มีบางสิ่งที่ทำให้พวกเราไม่เคยไกลกัน...” และทันใดนั้น เสียงโทรศัพท์มือถือก็ดังขึ้น ปลายสายเป็นภาพเพื่อนชาวอีสานตะโกนมาทักทายคุณณเดชน์ด้วยสำเนียงเสียงภาษาถิ่นแบบคิดฮอดม่วนชื่น  ปิดท้ายโฆษณา คุณณเดชน์ก็เลยหยุดอยู่กลางท้องถนนที่แปลกแยก และยืนเซิ้งตามจังหวะหมอลำเสียงแคนที่ลอยมาจากแอ่งอารยธรรมอีสานบ้านเฮา ผ่านเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ ที่แม้หมู่เฮาจะอยู่ไกลกัน แต่ก็ช่วยขยับให้ทุกชีวิตในทุกภูมิภาคได้มาอยู่ใกล้ชิดกัน  นักทฤษฎีสังคมวิทยาบางกลุ่มเคยอธิบายไว้ว่า ไม่มีสังคมใดที่ผู้คนจะแปลกแยกระหว่างกันและกันมากเท่ากับสังคมแห่งความเป็น “เมือง” ยิ่งหากเป็น “เมืองหลวง” หรือที่ฝรั่งเรียกกันว่า “capital city” อันแปลว่า เมืองแห่งการระดมทุนทุกชนิดด้วยแล้ว อาการเปลี่ยวเหงา ว้าเหว่ หรือโหยหาสายสัมพันธ์บางอย่าง ก็จะยิ่งเข้มข้นขึ้นเป็นทวีคูณ กรุงเทพมหานครของเราก็คงไม่แตกต่างไปจากสัจธรรมข้างต้นเท่าใดนัก เพราะแม้ความเจริญและทุนทางเศรษฐกิจจะกระจุกตัวรวมศูนย์อยู่ในเมืองหลวงแห่งนี้ แต่ทว่า กทม. ก็ยังได้ชื่อว่าเป็นเมืองที่ “มีผู้คนอยู่รอบกาย เหมือนไม่มีไม่เห็นใคร...”  ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น? ก็ในเมื่อจุดเริ่มต้นของเมืองเกิดจากการดูดซับทรัพยากรต่างๆ เข้าสู่ส่วนกลางแล้ว ผู้คนแบบร้อยพ่อพันแม่จากถ้วนทั่วทุกสารทิศก็จะมุ่งเข้าสู่การตามล่าหา “ความฝัน” กันในสังคมเมืองเป็นหลัก แบบเดียวกับที่คุณแม่ค้าส้มตำ คนขับรถแท็กซี่ คุณพี่วินมอเตอร์ไซค์ คุณนักร้องนักล่าฝัน พ่อครัวร้านซูชิ ไปจนถึงคุณณเดชน์พระเอกหนุ่ม ทั้งหมดล้วนแล้วแต่เป็นกลุ่มคนพลัดถิ่นที่เข้ามาแสวงหาโอกาสที่ดีขึ้นในชีวิตกันในเมืองหลวง  ด้วยเหตุดังกล่าว กรุงเทพมหานครจึงกลายเป็น “เมืองใหญ่” แต่ก็ “ไร้ราก” เพราะ “รกราก” ดั้งเดิมของผู้คนที่อพยพจากทั่วทุกทิศทุกภาคนั้น มีจุดกำเนิดมาแต่ชนบทมากกว่า เมื่อคนที่หยั่ง “รกราก” ในถิ่นอื่น ต้องจับพลัดจับผลูมาอยู่ในเมืองใหญ่ต่างถิ่นที่ “ไร้ราก” เช่นนี้ ก็ไม่น่าแปลกที่คุณณเดชน์และบรรดาตัวละครลูกอีสานใหญ่น้อยทั้งหมด จึงเกิดอาการ “lost in translation” หรืองุนงงสงสัยว่า “ฉันมาทำอะไรที่นี่” มาเดินขวักไขว่กันเต็มท้องถนนและสถานีรถไฟฟ้า แต่ก็ไม่มีใครสนใจใครกันเลย แต่มนุษย์ก็ยังเป็นมนุษย์ ที่มีความพยายามจะต่อเส้นสายสัมพันธ์ระหว่างกันอยู่ตลอด เพื่อสลายความแปลกแยกและว้าเหว่ในเมืองเปลี่ยวเหงา  ด้านหนึ่ง โทรศัพท์มือถืออาจจะทำให้ผู้คนในเมืองหลวงยิ่งแปลกแยกจากกันมากยิ่งขึ้น เพราะแม้จะอยู่บนถนนหรือบนรถไฟฟ้า ผู้คนเหล่านั้นก็คุยโทรศัพท์โดยยิ่งไม่ต้องสนใจคนรอบข้างได้มากขึ้น แต่อย่างน้อย พวกเขาก็อาจจะไม่ได้แปลกแยกไปกับบรรดาเพื่อนสนิทมิตรสหายหรือครอบครัวที่ยังอยู่ใน “รกราก” ของชนบทห่างไกล หากครั้งหนึ่งบรรดาคุณพี่โชเฟอร์แท็กซี่เคยติดสติ๊กเกอร์แสดงความรู้สึก “ดีใจจังคันข้างหลังก็เป็นลาว” แล้ว ทุกวันนี้เครือข่ายมือถือก็ช่วยให้คุณณเดชน์และบรรดาลูกอีสานใน กทม. ทั้งหลาย ได้รู้สึกว่า “ดีใจจังคนข้างหลังก็บ้านเฮา” เหมือนกัน

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 103 “กินข้าวหรือยัง” กับ “ความคิดสร้างสรรค์ใหม่ ๆ”

มีอะไรในโฆษณา สมสุข หินวิมาน ในองค์กรการทำงานเพื่อผลิตชิ้นงานโฆษณา หรือที่เรียกเก๋ ๆ เป็นภาษาฝรั่งว่า “เอเยนซี่โฆษณา” นั้น ถือเป็นท่าบังคับเลยว่า ทุกๆ เอเยนซี่ต้องมีแผนกหนึ่งที่ขาดไม่ได้ ที่เรียกว่า “แผนกครีเอทีฟ” บุคลากรด้านครีเอทีฟเหล่านี้มีหน้าที่หลักในการผลิต “ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ใหม่ๆ” ลงไปในชิ้นงานโฆษณา เพราะตรรกะของอุตสาหกรรมโฆษณานั้นเชื่อว่า เฉพาะความคิดใหม่ๆ หรือ “นิวไอเดีย” เท่านั้น ที่จะจับจิตสะกดใจผู้บริโภคให้หลงอยู่ในมนตราแห่งการขายสินค้าและบริการได้ สำหรับผมเอง ตั้งแต่สมัยเรียนปริญญาตรี ก็เคยลงเรียนวิชาการโฆษณามาบ้างเหมือนกัน และเท่าที่จำไม่ผิด คุณครูก็เคยสอนว่า ต้องเป็นความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ เท่านั้น ที่ลูกค้าหรือเจ้าของสินค้าเขาจะสนใจ และทุ่มเงินในหน้าตักวาดฝันใหม่ๆ เหล่านั้นให้เอเยนซี่ได้ผลิตเป็นชิ้นงานโฆษณาขึ้นมาได้จริงๆ แต่ก็นับตั้งแต่เรียนจบมาแล้วเกือบสองทศวรรษได้ ผมก็มีความสงสัยมาโดยตลอดว่า จะเป็นไปได้หรือที่ระบบอุตสาหกรรมโฆษณาอันมีการผลิตงานแบบเป็นสายพาน จะสามารถปั๊มงานโฆษณาออกมาได้เป็นปริมาณมหาศาลในแต่ละปี และในบรรดางานเหล่านั้น ก็สามารถที่จะเป็นบรรจุภัณฑ์ที่รังสรรค์ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ที่ว่า “ใหม่ๆ” ออกมาได้อย่างไม่รู้จบ หรือหากเป็นไปได้จริงตามคำอ้างดังกล่าว ผมก็สงสัยตามมาว่า กับมุขในการสื่อสารสร้างสรรค์แบบ “ใหม่ๆ” ที่สามารถรีดเค้นออกมาได้อย่างต่อเนื่องนั้น มนุษย์ที่ทำงานอยู่ในเอเยนซี่ เขาจะผลิตความคิดริเริ่มใหม่ๆ เหล่านั้นออกมาจากเบ้าหลอมในพื้นที่แห่งหนตำบลใด เมื่อหลายทศวรรษก่อน เคยมีนักภาษาศาสตร์ชาวรัสเซียที่ล่วงลับไปแล้วในปัจจุบันคนหนึ่ง ที่มีนามกรว่า คุณปู่มิคาอิล บัคทิน ที่สนใจวิเคราะห์รูปแบบภาษาในการสื่อสารของมนุษย์ คุณปู่บัคทินได้ลงมือศึกษา “ความคิดสร้างสรรค์” อันถือเป็นด้านที่ “เคลื่อนไหว” ของภาษาในการสร้างสรรค์ประโยคและเนื้อหาใหม่ๆ ที่คนเราใช้สื่อความกันในปัจจุบัน ข้อสรุปที่ชวนกระแทกใจเป็นอย่างมากของคุณปู่บัคทินก็คือ “ไม่มีอะไรใหม่ๆ ใต้ดวงตะวันที่ฉายแสงอยู่ในทุกวันนี้” ทั้งนี้ก็เนื่องจากว่า สิ่งที่มนุษย์เราพูดๆ กันอยู่ในทุกวันนี้ ก็คือสิ่งที่เราเคยได้พูดกันมาแล้วเมื่อวานนี้ และจะเป็นสิ่งที่เราจะพูดต่อไปอีกในวันพรุ่งนี้ เพราะฉะนั้น แม้แต่ภาษาและความคิดสร้างสรรค์ที่อยู่ในงานโฆษณานั้น หากมองตามนัยของคุณปู่บัคทินนี้ ก็อาจจะไม่มีอะไรใหม่ๆ ในกระบวนการผลิตชิ้นงานโฆษณาทางโทรทัศน์เอาเสียเลย ผมจะลองยกตัวอย่างโฆษณาชิ้นหนึ่งที่แสดงให้เห็นชัดเจนว่า ภาษาโฆษณาที่เราเห็นในวันนี้ ล้วนมี “เงาทะมึน” ของภาษาหรือประโยคที่เราเคยสื่อสารพูดกันมาแล้วในอดีต ดังปรากฏอยู่ในกรณีของโฆษณาวัตถุเคมีที่ใช้ปรุงอาหารชนิดหนึ่ง ที่เรารู้จักกันดีในชื่อว่า “ผงชูรส” โฆษณาผงชูรสยี่ห้อนี้ ร้อยเรียงผูกเรื่องราวของชีวิตคนที่แตกต่างกันหลายกลุ่ม เริ่มตั้งแต่เด็กนักเรียนสองคนที่เปิดกล่องข้าวกลางวันมานั่งเปิบและแบ่งปันไข่ต้มกินกัน เด็กคนหนึ่งก็พูดกับเพื่อนว่า “กินข้าวมั้ย เดี๋ยวเราแบ่งให้” จากนั้น ภาพก็ตัดมาที่บรรยากาศของร้านส้มตำในตลาด ลูกค้าก็ตะโกนบอกแม่ค้าส้มตำว่า “ขายดีจังเลย อย่าลืมกินข้าวนะป้า” ภาพที่สามเป็นฉากคุณลุงส่งการ์ดให้คุณป้า พร้อมข้อความเขียนว่า “เย็นนี้ทานข้าวกันนะ” และมีกุหลาบในมือช่อโตที่พร้อมจะมอบให้ภรรยาสุดที่รัก ภาพที่สี่เป็นฉากค่ายมวยที่ดูเงียบเหงาอ้างว้าง เพราะนักมวยคนหนึ่งในค่ายเพิ่งชกแพ้มา โค้ชก็พูดกับนักมวยคนนั้นว่า “กินข้าวหน่อย จะได้มีแรง” ภาพถัดมาคือฉากของเด็กนักเรียนหญิงคนหนึ่งที่สอบตก และกำลังร้องไห้เศร้าใจอยู่ในมุมเล็กๆ ของห้องนอน พ่อกับแม่ที่ยืนอยู่ก็ยื่นสำรับอาหารให้และปลอบประโลมใจว่า “กินข้าวหน่อยนะลูก...อร่อยมั้ยลูก” และ “ปีหน้าค่อยว่ากันใหม่” สุดท้ายเป็นภาพฉากงานเลี้ยงแต่งงาน เจ้าบ่าวเจ้าสาวบนเวทีก็พูดกับแขกในงานเลี้ยงขึ้นว่า “ก็ขอขอบคุณท่านผู้มีเกียรติทุกท่านนะครับ เชิญรับประทานอาหารให้อร่อยนะครับ” แล้วกล้องก็กวาดให้เห็นภาพในงานเลี้ยง ที่แขกเหรื่อทุกคนกำลังรับประทานอาหารกันอย่างมีความสุขและความอิ่มเอมปิดท้ายโฆษณาด้วยเสียงของผู้บรรยายชายที่พากย์ขึ้นมาว่า “คำง่ายๆ ที่กินใจคนไทยเสมอมา...กินข้าวหรือยัง” สำหรับสังคมไทยในยุคนี้ ที่อาจจะมีคนพ่ายแพ้กันเยอะ หรือเป็นสังคมที่ความรู้สึกเอื้ออาทรต่อคนรอบข้างเริ่มหดหายจางเลือนลงไปนั้น ผมคิดว่า การได้เห็นโฆษณาชิ้นนี้ ก็คงแสดงถึงอารมณ์ร่วมของผู้คนที่อยากจะกลับมาสร้างความรู้สึกดีๆ ร่วมกันขึ้นมาอีกสักครั้ง และในเมื่อวัฒนธรรมข้าวเป็นวัฒนธรรมที่หล่อเลี้ยงชีวิตและสังคมไทยอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่อดีต คงจะเป็นเหตุปัจจัยที่ไม่ยากเกินไปนัก ที่โฆษณาจะหยิบยกเอารากวัฒนธรรมข้าวมาผลิดอกออกผลเป็นความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ที่จะสื่อสารความรู้สึกเอื้ออาทรและกำลังใจที่ให้กันและกันได้ แต่ก็อย่างที่ผมได้กล่าวไว้ในตอนต้นนะครับว่า ไม่มีอะไรที่จะใหม่ไปได้อีกแล้วใต้ดวงตะวันดวงนี้ แม้แต่ในโลกของการโฆษณา เพราะฉะนั้น เนื้อหาสารที่เรารับรู้จากโฆษณาชิ้นนี้จึงปรากฏให้เห็น “เงาทะมึน” ของเนื้อหาสารแบบเก่าๆ ที่คนในอดีตก็พูดกันต่อเนื่องเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การหยิบยกเอาประโยคที่คนไทยชอบพูดทักทายว่า “กินข้าวหรือยัง” เอากลับมาเล่าความกันใหม่อีกครั้งในโฆษณาผงชูรสดังกล่าว ผมเองไม่ใคร่แน่ใจว่า วลีที่ว่า “กินข้าวหรือยัง” เป็นประโยคที่คนไทยเริ่มต้นพูดกันเป็นกลุ่มแรกจริงหรือเปล่า เพราะบางกระแสท่านก็ว่า น่าจะเป็นคำทักทายที่คนไทยเอามาจากคนจีนในยุคข้าวยากหมากแพง แต่กระนั้นก็ตาม ไม่สำคัญว่าใครจะเป็นผู้ริเริ่มการทักทายดังกล่าวก่อน เพราะทุกวันนี้ คำทักทายนี้ก็หยั่งรากฝังลึกมาเป็นคำพูดทักทายแบบคนไทยในปัจจุบันไปแล้ว และประโยคที่ว่า “กินข้าวหรือยัง” ดังกล่าว ก็ได้กลายมาเป็นคำทักทายที่โฆษณาเลือกเอามาใช้เพื่อจับใจผู้บริโภคที่ได้รับชมโฆษณาชิ้นนี้ สมกับคำบรรยายปิดท้ายที่กล่าวไว้ว่า วลีนี้เป็น “คำง่ายๆ ที่กินใจคนไทยเราเสมอมา” ด้วยเหตุดังกล่าว ไม่ว่าโฆษณาจะสร้างสรรค์ฉากเด็กนักเรียนแบ่งปันอาหารอย่างมีความสุข แม่ค้าส้มตำที่ชื่นใจกับคำทักทายจากลูกค้าของเธอ ลุงป้าที่สุขใจกับอาหารมื้อเย็นและกุหลาบช่อโต นักมวยที่มีกำลังใจกลับมาสู้ชีวิตใหม่ นักเรียนหญิงที่ล้มแล้วลุกขึ้นมาใหม่ในสนามสอบ หรือฉากความชื่นมื่นอิ่มเอมใจในวันมงคลสมรส ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์เหล่านั้นต่างก็ล้วนมี “เงาทะมึน” ของคำง่ายๆ เก่าๆ แต่กินใจผู้บริโภคชาวไทยซ่อนเร้นอยู่เบื้องหลังนั่นเอง ยิ่งหากคิดในแง่ของหลักการสื่อสารทางการตลาดด้วยแล้ว การที่จะขายสินค้าใหม่ๆ อย่างวัตถุเคมีภัณฑ์ในการปรุงรสอาหารให้ประสบความสำเร็จได้นั้น คงเป็นไปไม่ได้เลยที่โฆษณาจะสร้างสรรค์ความคิดริเริ่มที่แปลกแหวกแนวหรือ “ใหม่ๆ” ได้อย่างเบ็ดเสร็จสมบูรณ์ ในทางตรงกันข้าม กลยุทธ์ที่โฆษณาจำนวนมาก (รวมถึงโฆษณาผงชูรสชิ้นนี้) เลือกมาใช้ ก็คือ การต่อยอดแตกปลายความคิดริเริ่มสร้างสรรค์บนความคิด เนื้อหาสาร และคำทักทาย ที่เวียนว่ายอยู่ในวัฒนธรรมข้าวดั้งเดิมของคนไทย ด้วยเหตุฉะนี้ ความคิดสร้างสรรค์แบบที่ได้ติดตาทาบกิ่งเอาไว้บนรากวัฒนธรรมดั้งเดิมเท่านั้นนี่แหละ ที่มีโอกาสจะเอื้ออำนวยให้สารแฝงในโฆษณาได้ “กินใจคนไทย” ไปพร้อมๆ กับการ “กินข้าว” แกล้มผงชูรสไปในทุกๆ มื้อนั่นเอง มาถึงตอนนี้ ถ้าคุณปู่บัคทินจะกล่าวอะไรบางอย่างที่ถูกต้อง ก็คงจะเป็นการนำเสนอวาทะที่ว่า ไม่มีเนื้อหาสารใดจะใหม่ได้จริงๆ อีกต่อไปแล้ว เพราะทุกอย่างที่โฆษณากำลังพูดกับคุณผู้ชมในวันนี้ ก็คือสิ่งที่คุณผู้บริโภคอย่างเราๆ เคยพูดกันผ่านๆ มาแล้ว และก็จะเป็นสิ่งที่เราจะพูดกันอีกต่อไปในอนาคตด้วยเช่นกัน

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 162 ทำไมเครือข่ายผู้บริโภคจึงคัดค้านการแจกคูปอง 1,000 บาท กรณีกล่องดิจิตอลทีวี

วันนี้ ถ้าไม่พูดถึงเรื่องการแจกคูปองเพื่อให้ประชาชนไปแลกซื้อกล่องทีวีดิจิตอล ของ กสทช.  คงเชยแย่....   แต่เอ๊ะ! เรื่องดีๆ อย่างนี้ ทำไมมีทั้งคนสนับสนุน และคัดค้านมากมายจัง    ผู้บริโภคค้านการแจกคูปองราคา 1,000  บาท  เสนอให้กำหนดราคาคูปองเพียง 690 บาท   แต่ผู้ประกอบการทีวีดิจิตอล  กลับค้านการแจกคูปองราคา 690 บาท และสนับสนุนการแจกคูปองราคา 1,000 บาท  โอ้ย...มันกลับหัวกลับหางยังไงกันผู้บริโภคน่าจะดีใจที่ได้คูปอง 1,000 บาท  กลับไม่เอา   ได้มากก็ดีแล้วไง  ทำไมถึงมาค้าน เพราะอะไร?   โดยเฉพาะมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค  เป็น 2 องค์กรที่ออกมาคัดค้านเต็มเหนี่ยว  และโดนสังคมตั้งคำถามมากมายถึงการออกมาคัดค้านเรื่องนี้   ถามจริงๆ ก็ต้องบอกกันตรงๆ ว่า สาเหตุที่คัดค้าน คือ 1. ราคา และ  2. ขั้นตอนการแจกค้านทำไม?  ชัดๆ นะเพราะเงินที่จะนำมาใช้ในการแจกคูปอง  22  ล้าน ครัวเรือน ต้องใช้งบประมาณกว่า 2 หมื่นล้านบาท     แม้จะเถียงว่าเงินนี้ไม่ใช่เงินงบประมาณแผ่นดิน  แต่เป็นเงินที่ได้มาจากการประมูลคลื่นความถี่ ทีวีดิจิตอล(รัฐธรรมนูญกำหนดว่าคลื่นความถี่ “ถือว่าเป็นสมบัติชาติ”) เงินที่นำมาแจกคือเงินของประเทศ    ดังนั้นการใช้เงินนี้ต้องสุจริต โปร่งใส   และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนและประเทศชาติ    การแจก “คูปอง” ไม่ใช่ปัญหา  แต่ปัญหาคือ “การกำหนดราคาคูปอง”แล้วทำไม? เครือข่ายที่ทำงานด้านผู้บริโภค จึงสนับสนุนการแจกคูปอง 690 บาท  คำตอบคือ  เพราะราคากล่องดิจิตอล  500  บาท ผู้ผลิตผู้ขายก็มีกำไรแล้ว(มีบริษัทผู้ผลิตและนักวิชาการออกมายืนยันชัดเจน) การกำหนดราคาคูปอง 1,000 บาท เป็นการกำหนดราคาเกินจริง  คนที่ได้ประโยชน์ไม่ใช่ประชาชน !  เพราะกำหนดราคาที่ 1,000 บาท ผู้ขายกล่องก็จะอัพราคาให้สูงกว่าราคาคูปองอยู่ดี  จะเห็นได้ว่า ตอนแรกที่ กสทช. มีแนวจะกำหนดราคาคูปองที่ 690 บาท ราคากล่องในท้องตลาดเรายังหาซื้อได้ในราคา 600-700 บาท ตอนมีข่าวว่า กสทช.จะกำหนดราคาคูปองใหม่เป็น 1,000 บาท  ราคากล่องก็ขึ้นราคาไปที่ 1,200  บาท   แต่ถึงเวลาเคาะราคาจริงที่ 690 บาท  ราคากล่องก็เริ่มลงราคามาแล้วในหลายยี่ฮ้อ  คงเป็นคำตอบได้อย่างดีว่า  ไม่ว่าจะแจกคูปองราคาเท่าไร   เราก็ต้องจ่ายเพิ่มส่วนต่างอยู่ดี  คนที่ได้ประโยชน์พุงปลิ้น ไม่ใช่ผู้บริโภคประเทศไทยกำลังเข้าสู่โหมดแห่งการปฏิรูป   การปฏิรูป ก่อนอื่น เราต้องมองข้ามผลประโยชน์ส่วนตน   และต้องร่วมแรงร่วมใจรักษาผลประโยชน์ชาติ   ไม่ปล่อยให้เกิดการโกงด้านนโยบายซ้ำซากอีก   มหากาพย์คูปองดิจิตอลยังไม่จบ   ยังมีเรื่องวิธีการแจก  วิธีการจำหน่ายกล่องฯ  ใครจะมีสิทธิขายได้บ้าง จะเอื้อเพียงรายใหญ่  หรือรายเล็กรายน้อยก็มีสิทธิขายได้  ต้องติดตามตอนต่อไป  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 150 ซื้อเตียงนอกแถมได้มอดนำเข้า

พลชัย เป็นหนุ่มฐานะดีมีงานทำอยู่ต่างประเทศ 1-2 เดือนถึงจะได้กลับมาพักผ่อนที่เมืองไทยสักครั้งหนึ่ง ลงทุนซื้อคอนโดใหม่เป็นนิวาสสถานอยู่คอนโดใหม่จะใช้ของเก่าไม่เข้าสไตล์ก็กระไรอยู่ เลยลงทุนซื้อเฟอร์นิเจอร์ใหม่เอี่ยมยกชุดรวมถึงเตียงนอน พลชัยไปซื้อเตียงหรูจากห้างเฟอร์นิเจอร์ชื่อดังย่านบางนาราคาสี่หมื่นเก้าพันกว่าบาทเขาบอก ประทับใจตั้งแต่วันแรกที่นัดส่งของ นัดครั้งแรกปล่อยให้รอถึง 5 โมงเย็น สุดท้ายโทรมาบอกสินค้าชำรุดส่งไม่ได้ นัดครั้งที่สอง เอาเตียงมาส่ง แต่เอาของชำรุดมาหัวเตียงหัก พลชัยเลยไม่ยอมรรับของ นัดครั้งที่สาม พลชัยบอกต้องรับของเลยเพราะจะเข้าอยู่แล้วไม่งั้นคงได้นอนปูเสื่อในคอนโดหรูแน่หลังจากที่รับสินค้ามาใช้งานก็สังเกตว่า ใต้เตียงมีผงไม้ตกอยู่ที่พื้น พลชัยนึกในแง่ดีว่าคงเป็นแค่เศษไม้ที่ใสไม่ดีมีเศษค้างอยู่และร่วงหล่นมา จนเวลาล่วงเลยมาได้ 6 เดือนหลังจากรับเตียงมาใช้ ทางคอนโดมีการฉีดยาฆ่าแมลง พลชัยกลับจากทำงานต่างประเทศจะนอนเตียงซะหน่อย ก็เจอตัวอะไรสักอย่างตายเกลื่อนพื้นตกอยู่ใต้เตียง พอพลิกฟูกขึ้นมาดูเห็นซากแมลงตัวเล็กๆ ที่ดูคล้ายมอดเขาโทรแจ้งไปที่ห้างเฟอร์นิเจอร์ชื่อดังแห่งนั้น บอกว่าเตียงน่าจะมีตัวมอดอยู่ให้ส่งคนเข้ามาตรวจสอบดูและกำจัดมอดให้ด้วย พนักงานจากร้านเฟอร์นิเจอร์มาดูและยอมรับว่าเตียงมีมอดจริง พร้อมแสดงความรับผิดชอบด้วยการรับเตียงกลับไปและบอกให้พลชัยไปเลือกเตียงใหม่ที่ร้านได้ โดยไม่ได้มีการกำจัดมอดที่อาจหลงเหลืออยู่ในห้องปรากฏว่าเตียงใหม่ที่ได้มาหัวเตียงสไตล์หลุยส์แต่ราคาร่วมหกหมื่นบาท เขาต้องจ่ายเพิ่มอีกเกือบหนึ่งหมื่นบาท เอามาใช้นอนได้สักพักปรากฏว่าเตียงตัวใหม่มีมอดเป็นของแถมเหมือนกัน “ห้างฯ บอกว่าเป็นเตียงนำเข้า ตัวมอดก็นำเข้ามาจากต่างประเทศมาแพร่เชื้อเมืองไทย ทุกครั้งที่เห็นโฆษณาของห้างฯ ชื่อดังแห่งนี้ เห็นเตียงเราปรากฏบนหน้าจอทีวี เจ็บช้ำใจมาก ไม่รู้คนอื่นซื้อไปติดตัวมอดไปอีกกี่คน” พลชัยถาม แนวทางแก้ไขปัญหาจากการตรวจสอบข้อมูล ทราบว่าผู้ร้องเรียนรายนี้ได้รับการแจ้งข้อมูลจากพนักงานหลายคนของห้างเฟอร์นิเจอร์แห่งนี้ว่า สินค้าล็อตแรกๆ ช่วงที่เปิดห้างสินค้านำเข้าไม่ได้ผ่านการอบฆ่าเชื้อ และรีบส่งให้ลูกค้า ทำให้มีปลวกมีมอดติดมาในเนื้อไม้ด้วย หลังจากที่ได้มีการประสานงานเจรจากัน ห้างเฟอร์นิเจอร์ยอมรับสินค้าคืนและคืนเงินให้แก่ผู้ร้องเรียนเต็มตามจำนวนที่จ่ายไปเกือบหกหมื่นบาท และยังยอมรับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่ผู้ร้องเรียนต้องจ้างบริษัทกำจัดปลวกมากำจัดสัตว์ไม่พึงประสงค์ที่ตกค้างในคอนโดให้อีก 8,000 บาทพลชัยยอมรับการชดเชยด้วยอารมณ์เซ็งฝุดๆ เข็ดแล้วเลือกเตียงตามโฆษณา แถมอะไรไม่แถม ดันแถมมอดปลวกนำเข้าซะนี่  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 134 ร้องข้าวเกรียบโครงการหลวง ฉลากวันหมดอายุซ้อนทับ

คุณพชร ซื้อผลิตภัณฑ์ข้าวเกรียบโครงการหลวง สูตรแครอท ที่ร้านโครงการหลวง สาขาคิงพาวเวอร์ สนามบินสุวรรณภูมิ“ราคาห่อละ 25 บาทครับ ก็เปิดถุงมานั่งกิน ระหว่างนั่งกินก็ดูรูปประกอบ ดูข้อมูลต่างๆ ที่แสดงอยู่ตามข้างถุงไปเรื่อย ผมมาสะดุดมือสะดุดตาตรงสติ๊กเกอร์ที่แปะแสดงวันผลิต วันหมดอายุครับ แกะออกมาดูมันมี 2 อันแปะทับกันอยู่”สติ๊กเกอร์อันบนระบุวันผลิตไว้ที่ 05/12/54 วันหมดอายุ 05/01/55 ส่วนอันที่ถูกแปะทับปิดไว้ ระบุวันผลิตเป็นวันที่ 25/11/54 วันหมดอายุ 25/12/54 วันที่คุณพชรซื้อข้าวเกรียบห่อนี้นั้นคือวันที่ 10 ธันวาคม 2554“ถึงแม้ว่าจะยังไม่ถึงวันหมดอายุที่ระบุไว้ทั้งสองฉลากก็ตาม แต่ก็ทำให้ผมไม่แน่ใจว่าแล้ววันผลิตวันหมดอายุที่แท้จริงคือวันไหนกันแน่”นอกจากนี้ คุณพชร ยังสังเกตพบว่า มีการนำสติ๊กเกอร์ที่มีคำว่าสูตรแครอท มาแปะทับบนบรรจุภัณฑ์แต่ว่าไม่มีการระบุรายละเอียดในส่วนประกอบหลังบรรจุภัณฑ์ว่ามีแครอทผสมในสัดส่วนเท่าไหร่“ผมว่าการแสดงฉลากแบบนี้เป็นการหลอกลวงผู้บริโภค อยากจะให้มูลนิธิฯ ช่วยประสานไปยังผู้ผลิตให้ตรวจสอบและแก้ไขปัญหานี้ด้วยครับ” แนวทางแก้ไขปัญหา ตาม พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ.2522 การที่อาหารที่มีฉลากเพื่อลวง หรือพยายามลวงผู้ซื้อให้เข้าใจผิดในเรื่องคุณภาพ ปริมาณ ประโยชน์ หรือลักษณะพิเศษอย่างอื่น หรือในเรื่องสถานที่และประเทศที่ผลิต ถือว่าเป็นอาหารปลอม ห้ามผลิตหรือจำหน่ายให้แก่ผู้บริโภค ผู้ใดฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงสิบปี และปรับตั้งแต่ห้าพันบาทถึงหนึ่งแสนบาทด้วยการกระทำที่อาจเข้าข่ายการกระทำผิดตามข้อกฎหมายดังกล่าว มูลนิธิฯ จึงได้มีหนังสือร้องเรียนไปยัง มูลนิธิโครงการหลวงในฐานะผู้ผลิตสินค้า และบริษัท คิงพาวเวอร์ ดิวตี้ฟรี จำกัด ในฐานะผู้จำหน่าย ให้ช่วยกันตรวจสอบปัญหาที่เกิดขึ้นและได้พิจารณาเยียวยาความเสียหายให้แก่ผู้บริโภคตามสมควรไม่นานมูลนิธิโครงการหลวง ได้มีหนังสือชี้แจงตอบกลับมา โดยมีข้อชี้แจงที่สำคัญดังนี้ประเด็นที่ 1 การนำสติ๊กเกอร์วันผลิตแปะทับกันเนื่องจากพนักงานติดสติ๊กเกอร์วันผลิต (25/11/54) ที่ถุงในจำนวนที่เผื่อไว้ เมื่อถึงรอบการผลิตชุดใหม่ (05/01/55) พนักงานไม่ได้แกะสติ๊กเกอร์อันเดิมออกจากถุงที่เผื่อไว้ แต่แปะสติ๊กเกอร์อันใหม่ทับไป ทำให้ลูกค้าเข้าใจผิดว่าผู้ผลิตนำสินค้าเก่ามาติดวันผลิตใหม่ ซึ่งระบบการผลิตนั้น ผู้ผลิตจะทำการผลิตตามคำสั่งซื้อของลูกค้าเท่านั้น โดยไม่มีการผลิตสินค้าสต๊อกไว้ จึงไม่มีสินค้าที่เป็นชุดการผลิตเก่าส่งจำหน่ายให้ลูกค้า อนึ่งทางผู้ผลิตได้ทำการตักเตือนพนักงาน รวมทั้งอบรมกระบวนการทำงานให้พนักงานที่เกี่ยวข้องได้เข้าใจถึงกระบวนการทำงานที่ถูกต้อง เพื่อให้มั่นใจว่าจะไม่เกิดเหตุการณ์อย่างนี้ขึ้นอีกประเด็นที่ 2 การนำสติ๊กเกอร์ที่มีคำว่า สูตร Carrot มาติดที่บรรจุภัณฑ์เนื่องจากผลิตภัณฑ์ข้าวเกรียบโครงการหลวงมีทั้งหมด 3 สูตร คือ สูตรแครอท สูตรฟักทอง และสูตรเห็ดหอม ซึ่งการผลิตถุงอลูมิเนียมฟอยด์นั้นจำเป็นต้องสั่งซื้อจำนวนมาก ดังนั้น ผู้ผลิตจึงใช้บรรจุภัณฑ์แบบเดียวกันในการบรรจุผลิตภัณฑ์ข้าวเกรียบทั้ง 3 สูตร แต่จะมีสติ๊กเกอร์ที่มีการระบุสูตรติดไว้ด้านหน้าของบรรจุภัณฑ์ เพื่อเป็นการควบคุมต้นทุนการผลิต ซึ่งการใช้บรรจุภัณฑ์แยกชนิดกันนั้นจะทำให้ผู้ผลิตมีต้นทุนในการทำบล๊อกพิมพ์ และต้นทุนในการสั่งผลิตบรรจุภัณฑ์เพิ่มขึ้นอีก 3 เท่า ทั้งนี้ส่วนประกอบที่แจ้งในบรรจุภัณฑ์นั้นเป็นส่วนประกอบจริงของผลิตภัณฑ์ เช่น สูตรแครอท ในส่วนประกอบระบุว่า มีผลิตผลโครงการหลวง 36% ความหมายคือ มีแครอทเป็นส่วนประกอบอยู่ 36% หรือ สูตรฟักทอง ในส่วนประกอบระบุว่ามีผลิตผลโครงการหลวง 36% ความหมายคือ มีฟักทองเป็นส่วนประกอบอยู่ 36% เป็นต้น ดังนั้นผู้ผลิตจะให้พนักงานขายชี้แจงให้ลูกค้าทุกรายเข้าใจถึงส่วนประกอบของผลิตผลโครงการหลวง“ฝ่ายตลาด มูลนิธิโครงการหลวง ขอขอบพระคุณ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและคุณพชร เป็นอย่างสูงที่ได้แจ้งข้อมูลที่เป็นประโยชน์ให้ทางมูลนิธิฯ(โครงการหลวง)ได้รับทราบ ซึ่งทางมูลนิธิฯ(โครงการหลวง) จะนำไปปรับปรุงต่อไป สำหรับการพิจารณาเยียวยาในความเสียหายแก่ผู้ร้องนั้น ทางมูลนิธิโครงการหลวงจะขอมอบกระเช้าเป็นการตอบแทนในคำแนะนำ และขอโทษที่ทำให้คุณพชร เข้าใจผิด...”คุณพชรมีความพึงพอใจในคำชี้แจงและการดำเนินการที่ได้รับ ส่วนมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคก็ขอบพระคุณมูลนิธิโครงการหลวงเป็นอย่างสูงต่อการใส่ใจในปัญหาของผู้บริโภคในครั้งนี้    

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 134 ก้นบุหรี่ปริศนา ในขนมข้าวเกรียบกุ้ง

เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในช่วงส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ 2555 คุณชุตินันท์เปิดร้านขายของชำในหมู่บ้านที่ ต.แม่เปา อ.พญาเม็งราย จ.เชียงรายวันที่ 31 ธันวาคม 2554 คุณชุตินันท์ ได้เดินทางเข้าตัวอำเภอพญาเม็งรายเพื่อไปหาซื้อสินค้าเข้าร้าน และได้ซื้อขนมกรุบกรอบจากร้านนรารัฐพาณิชย์หลายรายการ ในจำนวนนั้นมีขนมกรุบกรอบ ชื่อข้าวเกรียบกุ้งจำนวน 12 ถุง ราคารวม 48 บาท“ก้อเอามาแบ่งขายที่ร้านค่ะ ขายถุงละ 5 บาท 12 ถุงก็ได้เงิน 60 บาท ได้กำไรอยู่ 12 บาทแต่ถ้าหักค่ารถค่าแรงไปด้วยก็คงจะไม่ถึง”“ซื้อมาวันที่ 31 ธันวาคม พอวันรุ่งขึ้น 1 มกราคมเป็นวันปีใหม่ก็มีคนในหมู่บ้านมาซื้อเลย เขาซื้อข้าวเกรียบกุ้งไป 1 ถุง แล้วก็ซื้อขนมกรุบกรอบยี่ห้ออื่นๆไปอีกหลายห่อ แต่พอตกตอนเย็นลูกค้าก็เอาขนมข้าวเกรียบกุ้งมาคืน บอกว่ามีเศษก้นบุหรี่ปนใส่มาอยู่ในถุงด้วย ขอเปลี่ยนเป็นขนมอื่นแทน ก็ต้องเปลี่ยนให้เขาไป”“เราเอาขนมมาดูอย่างละเอียด ซองไม่มีร่องรอยฉีกแกะ แต่ถุงขนมเป็นพลาสติกใส ก็เห็นเศษก้นบุหรี่ที่สูบแล้วปนมาในขนมด้วย ถ้าไม่สังเกตให้ดีจะไม่เห็นเพราะสีและขนาดของก้นบุรี่ใกล้เคียงกับสีและรูปทรงของขนมข้าวเกรียบกุ้งมาก” หลังจากนั้นคุณชุตินันท์จึงได้นำขนมถุงดังกล่าวไปแจ้งความกับสถานีตำรวจเพื่อให้บันทึกไว้เป็นหลักฐาน และได้ส่งขนมถุงนี้พร้อมภาพถ่ายและสำเนาบันทึกประจำวันของสถานีตำรวจร้องเรียนมาที่มูลนิธิฯ เพื่อขอความช่วยเหลือ  แนวทางแก้ไขปัญหาเมื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้ว เห็นว่าเรื่องนี้อาจเข้าข่ายการผลิตและจำหน่ายอาหารไม่บริสุทธิ์อันอาจเป็นอันตรายต่อผู้บริโภคได้ มูลนิธิฯ จึงได้มีหนังสือถึงห้างส่วนจำกัด วิชัยพาณิช ฟู๊ด โปรดักส์ ในฐานะผู้ผลิต และเจ้าของร้านนราพาณิชย์ในฐานะผู้จำหน่ายเพื่อขอให้ร่วมกันพิจารณาเยียวยาความเสียหายแก่ผู้บริโภคตามสมควร โดยส่งไปเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาต่อมาในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2555 หจก.วิชัยพาณิช ฟู๊ด โปรดักส์ ได้มีหนังสือชี้แจงกลับมาที่มูลนิธิฯ ว่า ได้ตรวจสอบดูแล้วว่าเป็นความผิดพลาดและเลินเล่อของพนักงานที่บรรจุข้าวเกรียบบกพร่องต่อหน้าที่ ไม่ดูแลการบรรจุข้าวเกรียบลงในซองให้ถูกสุขลักษณะ ทาง หจก.วิชัยพาณิช ฟู๊ด โปรดักส์ ได้จัดการว่ากล่าว ตักเตือนพนักงานดังกล่าวเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และ หจก.วิชัยพาณิช ฟู๊ด โปรดักส์ ยินดีเยียวยาค่าเสียหายให้แก่คุณชุตินันท์เป็นจำนวนเงิน 10,000 บาท ทั้งนี้ ทางหจก.วิชัยพาณิช ฟู๊ด โปรดักส์ ได้จัดการเรียกเก็บคืนสินค้าชุดนั้นกลับจากร้านค้ามายัง หจก.วิชัยพาณิช ฟู๊ด โปรดักส์ แล้ว“ต่อไปนี้ทาง หจก.วิชัยพาณิช ฟู๊ด โปรดักส์ จะดูแลการผลิตและการบรรจุให้เข้มงวดยิ่งขึ้นกว่านี้”นอกจากจะดำเนินการตามที่ว่ามาแล้ว หจก.วิชัยพาณิช ฟู๊ด โปรดักส์ ยังได้บริจาคเงินให้กับมูลนิเพื่อผู้บริโภคอีก 2,000 บาท จึงขอขอบพระคุณมา ณ ที่นี้ด้วย  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 125 ทำอย่างไรจะเข้าใจภาษา “พยากรณ์อากาศ”

 ท่ามกลางสภาพปัญหาการเปลี่ยนแปลงของลมฟ้าอากาศ ซึ่งส่งผลกระทบ กับคนทั่วโลก ทั้งเรื่องน้ำท่วม ฝนแล้ง แผ่นดินไหว ดินโคลนถล่ม ฯลฯ โดยเฉพาะสภาพอากาศที่มีความเปลี่ยนแปลงสูงมากอย่างที่เราๆ ท่านๆ เห็นอยู่ ไม่ใช่หน้าหนาวมันก็หนาว ไม่ใช่หน้าฝน ฝนก็มา เรียกได้ว่ามันกลับตาลปัตรไปหมดนั้นหลายคนได้รับความเดือดร้อนเสียหายอย่างตั้งตัวไม่ทัน หลายคนอยู่ในอาการตื่นตระหนกกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ และที่ใกล้ตัวที่สุดคือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย แต่ยังดีที่สังคมไทยของเราเป็นสังคมที่ไม่ทอดทิ้งกัน แม้จะช่วยไม่ได้ทั้งหมดแต่ก็ช่วยบรรเทาเบื้องต้นได้บ้าง และด้วยการเกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศที่ผิดเพี้ยนไปจากที่เคยเป็น สิ่งเดียวที่จะทำให้เรารู้การเปลี่ยนแปลงนั้นคงหนีไม่พ้น การรอฟังพยากรณ์อากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยา ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่คอยเตือนประชาชนให้ทราบถึงการเปลี่ยนแปลงของ ลมฟ้าอากาศคำว่าพยากรณ์ แปลง่ายๆ ก็คือการทำนายทายทักล่วงหน้านั่นเอง แต่เขาทาย(คำนวณ)บนข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ และความทันสมัยของเทคโนโลยีในปัจจุบัน จึงเป็นการทำนายที่ค่อนข้างถูกต้องเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้นการออกมาให้ข้อมูลการพยากรณ์อากาศจึงเป็นเรื่องที่ประชาชนให้ความสำคัญ แต่ปัญหาของคำพยากรณ์ในบ้านเราคือการใช้ภาษาสื่อสารที่ทำให้ชาวบ้านฟังแล้วเข้าใจยากหรือไม่เข้าใจเลย วันก่อนผู้เขียนนั่งฟังเองแล้วก็งง..เอง เช่น “วันนี้มีฟ้าหลัวตอนกลางวัน” ฟังแล้วงง..ฟ้าหลัวคืออะไร หลัวแล้วเป็นยังไง? ถ้าไม่หลัวแล้วจะเกิดอะไร? ผู้เขียนก็พยายามไปสืบค้นหาคำตอบแล้วก็ได้มาว่า ฟ้าหลัวตอนกลางวันหมายความว่า มีหมอกกลางแดดหรือที่เรียกกันว่า “หมอกแดดนั่นเอง” ซึ่งไม่ได้ทำให้อากาศเปลี่ยนแปลงอะไร (อ้าว....แล้วมาบอกเราทำไม?) อีกหลายคำคือ “ความชื้นสัมพัทธ์กี่ %” “ฝนตกกี่มิลลิเมตร” ฟังแล้วไม่เข้าใจว่าเขากำลังสื่อสารอะไรกับเรา... แล้วหากความชื้นมากจะเกิดอะไร? ความชื้นน้อยจะเกิดอะไร? ฝนตกกี่มิลลิเมตรจึงเรียกว่าปกติ และกี่มิลลิเมตรที่ต้องระวัง กี่มิลลิเมตรที่มีอันตราย?... (และยังมีภาษาที่ฟังแล้วไม่เข้าใจอีกหลายส่วน) ที่ผู้เขียน เขียนถึงเรื่องนี้เพราะข้อมูลเหล่านี้มีความสำคัญอย่างยิ่งกับประชาชน ไม่ใช่แค่มาพูดตามหน้าที่ให้เสร็จๆ ไป และไม่ใช่ให้เรามีหน้าที่แค่ฟัง...แต่เราไม่รู้ว่าอุตุกำลังบอกอะไรเรา...เพราะการสื่อสารของอุตุฯ เกือบๆ จะเรียกได้ว่าเป็นภาษาเฉพาะของคนที่มีความเชี่ยวชาญด้านนี้เท่านั้นที่ฟังแล้วเข้าใจ ไอ้ชาวบ้านอย่างเราๆ ก็แค่ฟังให้มันผ่านๆ หูไปเท่านั้นที่เล่ามาก็แค่อยากส่งเสียงดังๆ ไปถึงผู้ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้อง ว่าคำพยากรณ์ของท่านมีความสำคัญต่อประชาชนมากนะ... ได้โปรดช่วยใช้ภาษาสื่อสารที่ทำให้ชาวบ้านเขาฟังแล้วเข้าใจง่ายๆ หน่อยได้ไหม..ว่าสภาพฝนฟ้าอากาศกำลังจะเกิดอะไรขึ้น พวกเราจะได้เตรียมตัวได้ทันและรู้ข้อมูลไปพร้อมๆ กัน หนักจะได้กลายเป็นเบา การสื่อสารที่ประชาชนส่วนใหญ่ฟังไม่เข้าใจมันก็เหมือนไม่มีการสื่อสาร เราคิดว่าอุตุฯ ทำได้ ให้กำลังใจนะ เรารอภาษาที่ฟังแล้วรู้เรื่องอยู่จ้ะ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 114 อย่าลืมปฏิรูป

เมื่อประมาณปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ผู้เขียนได้มีโอกาสไปเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นเครือข่ายเพื่อนทีวีไทย (ผู้เขียนเป็นสมาชิกสภาผู้ชมผู้ฟังรายการทีวีไทย) ในหัวข้อรับฟังความคิดเห็นมีหัวข้อหนึ่งคือคนสุพรรณคิดว่ามีปัญหาอะไรบ้างในพื้นที่ที่ต้องพึ่งสื่อ และก็มีหลากหลายปัญหาที่ลั่งไหลออกมาจากเวทีนั้น แต่มีอยู่ปัญหาหนึ่งที่ฟังแล้วสะดุดหูมากเป็นเรื่องของคุณจันทร์(นามสมมุติ) เธอเล่าว่าเธอกำลังปลูกบ้านใหม่ เลยเข้าไปติดต่อที่ร้านโฮมโปรบางใหญ่และได้คุยกับเซลล์โดยตรง และมีการตกลงซื้อไม้รามิเนสซึ่งเซลล์บอกว่าเป็นไม้เยอรมัน และได้บอกขนาดของบ้านให้เซลล์ช่วยคำนวณไม้ให้ ว่าต้องซื้อจำนวนเท่าไร รวมถึงซื้อสินค้าอื่นๆ ในร้านด้วย รวมๆ แล้ววันนั้นคุณจันทร์จ่ายเงินล่วงหน้า ไปประมาณ 200,000 บาท โดยมีสัญญาว่าจะส่งมอบของให้ทั้งหมดภายใน 1 เดือน พอครบเดือนของยังไม่มาส่งคุณจันทร์ได้โทรทวงถาม คำตอบที่ได้คือ พี่ปรับพื้นหรือยัง(อ้าวทำไมไม่บอกว่าต้องปรับพื้นก่อนส่งของ)คุณจันทร์จึงตอบไปว่าอีก 15 วันมาส่งของได้เลย ผ่านไป 15 วันของก็ยังไม่มาส่ง จากนั้นก็โทรตามตลอด กว่าจะมาส่งของก็เล่นไป เกือบๆ 4 เดือน จึงมีความชัดเจนว่าจะนำของมาส่งและส่งช่างมาปูพื้นให้ตามสัญญา คุณจันทร์ก็บอกว่าไหนๆ จะมาส่งไม้ 80 ตารางเมตร จึงแล้วขอให้เอาไม้มาเพิ่มอีก 5 ตารางเมตร เผื่อไม่พอจะได้ไม่ต้องเทียวไปเทียวมา ปรากฎว่าของที่เอามาส่งไม่ตรงตามที่สั่งทั้งสีและลาย แต่ไหนๆ ก็มาส่งแล้วหยวนๆ แล้วกัน(นิสัยผู้บริโภคทั่วไป) และก็ไม่มีไม้มาเพิ่มตามที่ตกลงและสิ่งที่คุณจันทร์กังวลก็เกิดขึ้นจริงคือไม้ไม่พอ ขาด 5 ตารางเมตร ตรงนี้คุณจันทร์ร้องทุกข์ว่าอาจเป็นเทคนิคการขายสินค้าของร้านนี้ เพราะเมื่อไม่พอก็ต้องกลับไปเอาใหม่ และคิดค่าขนส่งเพิ่มอีกเที่ยวละ 1,500 บาท ฟังดูรู้สึกได้เลยว่าผู้บริโภคอย่างเราๆ เสียเปรียบไปทุกทาง เอาเงินเขาไปหมุนก่อนตั้ง 4 เดือน กว่าจะส่งของ(ผู้บริโภคเสียเปรียบตลอด) และยังมีการเอารัดเอาเปรียบเล็กๆ น้อยๆ ตอดนิดตอดหน่อยกันอีก แล้วเรื่องอย่างนี้เชื่อว่าไม่ได้เกิดขึ้นกับคุณจันทร์รายเดียว ผู้บริโภคอย่างเราๆ จะพึ่งใครได้ นอกจากต้องใฝ่คว้าหาความรู้เรื่องสิทธิผู้บริโภคด้วยตนเองเพิ่มขึ้นไม่อย่างนั้นก็ต้องตกเป็นเบี้ยล่างผู้ประกอบการอยู่อย่างนี้ร่ำไป คงต้องขอบอกดังๆ อีกครั้ง ว่าเราต้องการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ที่จ่อรอเข้าสภาผู้แทนมาตั้งแต่สมัยประชุมที่แล้ว(เป็นแม่สายบัวแต่งตัวเก้อไปแล้ว1สมัย)หวังว่า สมัยประชุมนี้จะไม่เบี้ยวกันอีกนะท่านนักการเมือง..... ไหนๆ ก็กำลังเข้าสู่กระแสการปฏิรูปฟีเวอร์กันแล้ว ก็ขอให้ ช่วยปฏิรูปให้เกิดความเป็นธรรมในทุกด้าน ด้วยนะ ท่าน นน....อะ-พิ-สิดดดดๆๆๆๆ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 174 “หม้อหุงข้าวดิจิตอล” เปรียบเทียบประสิทธิภาพการใช้พลังงาน

เพราะยุคนี้เป็นยุคดิจิตอล อะไรๆ ก็ต้องเป็นดิจิตอล ขนาดหม้อหุงข้าวยังมี “ระบบดิจิตอล” หม้อหุงข้าวระบบดิจิตอล จะช่วยให้การเข้าครัวไม่ใช่เรื่องน่ากลัวอีกต่อไป เพราะแม้จะใช้ชื่อว่าหม้อหุงข้าว แต่หม้อหุงข้าวระบบดิจิตอลไม่ได้มีหน้าที่แค่หุงข้าวเหมือนหม้อข้าวไฟฟ้าธรรมดาทั่วไป เพราะหม้อหุงข้าวดิจิตอลทำได้หลากหลายเมนู ไม่ว่าจะ หุง อุ่น ตุ๋น ต้ม นึ่ง ไปจนถึงของหวานอย่างขนมเค้ก ที่ทำได้ง่ายๆ แค่ปลายนิ้วสั่ง สรรพคุณฟังดูดีขนาดนี้ แฟนๆ ฉลาดซื้อคงสนใจอยากจะเป็นเจ้าของหม้อหุงข้าวระบบดิจิตอลสักเครื่อง เพราะฉะนั้นก่อนที่จะออกไปหาซื้อมาใช้งาน ต้องไม่พลาดที่จะอ่านบทความผลทดสอบ “ประสิทธิภาพของหม้อหุงข้าวระบบดิจิตอล” ทดสอบเปรียบเทียบประสิทธิภาพในการหุงข้าวด้วยหม้อหุงข้าวระบบดิจิตอลฉลาดซื้อได้สุ่มเก็บตัวอย่างหม้อหุงข้าวดิจิตอลจำนวน 7 ยี่ห้อ เพื่อทดสอบเปรียบเทียบดูประสิทธิภาพในการหุงข้าวของหม้อหุงข้าวดิจิตอล โดยดู 3 เรื่องสำคัญคือ ระยะเวลาในการหุง พลังงานที่ใช้ และคุณภาพของข้าวที่หุงสุก โดยทีมเครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค เป็นผู้ทำหน้าที่ดำเนินการทดสอบในครั้งนี้ สำหรับการทดสอบได้ทำการแบ่งกลุ่มของหม้อหุงข้าวออกเป็น 2 กลุ่ม ตามปริมาณความจุของหม้อ   กลุ่มแรก คือหม้อหุงข้าวดิจิตอลที่มีความจุสูงสุดของหม้อที่ปริมาณ 1 ลิตร ได้แก่ 1.Tefal รุ่น RK7021 71              ไม่ระบุกำลังไฟฟ้า2.Panasonic รุ่น SR-MS103       กำลังไฟฟ้า 750 วัตต์3.Philips รุ่น HD 3031                ไม่ระบุกำลังไฟฟ้า 4.Electrolux รุ่น ERC6503W      ไม่ระบุกำลังไฟฟ้า 5.Toshiba รุ่น RC-10NMF          กำลังไฟฟ้า 560 วัตต์   กลุ่มที่สอง คือหม้อหุงข้าวดิจิตอลที่มีความจุสูงสุดของหม้อที่ปริมาณ 1.8 ลิตร ได้แก่1.Sharp รุ่น KS-COM18        กำลังไฟฟ้า 830 วัตต์2.Hitachi รุ่น RZ-XMC18       กำลังไฟฟ้า 820 วัตต์ ผลการทดสอบประสิทธิภาพในการหุงข้าวของหม้อหุงข้าวดิจิตอล(กลุ่มความจุ 1 ลิตร) ผลการทดสอบคุณภาพของข้าวกล้องทุกหม้อในกลุ่มความจุ 1 ลิตร พบว่า หุงได้สุกทั่วทั้งหม้อโดย หม้อหุงข้าวที่ได้คะแนนรวมสูงสุด 3 อันดับแรก คือ1.Toshiba รุ่น RC-10NMF        40 คะแนน2.Tefal รุ่น RK7021 71            38 คะแนน 3.Philips รุ่น HD 3031             38 คะแนน•    หม้อหุงข้าวที่หุงเสร็จเร็วที่สุด(ได้คะแนนรวมเท่ากัน 10 คะแนนจาก 15 คะแนน) คือ 1.Tefal รุ่น RK7021 71 2.Panasonic รุ่น SR-MS103 3.Philips รุ่น HD 3031•    หม้อหุงข้าวที่ประหยัดพลังงานที่สุดในการทดสอบ คือToshiba รุ่น RC-10NMF•    หม้อหุงข้าวที่ใช้พลังงานมากที่สุดในการทดสอบ คือPanasonic รุ่น SR-MS103เหตุผล เนื่องจากมีกำลังไฟฟ้าสูงกว่าตัวอย่างหม้อหุงข้าวอื่นในกลุ่มหม้อที่มีความจุ 1 ลิตร ซึ่งมีกำลังไฟสูงเกินความจำเป็น การใช้งานเป็นระยะเวลานานทำให้สิ้นเปลืองพลังงานมากกว่า ผู้บริโภคควรหลีกเลี่ยงการใช้หม้อหุงข้าวที่มีกำลังไฟฟ้าสูงเกินความจำเป็นผลการทดสอบประสิทธิภาพในการหุงข้าวของหม้อหุงข้าวดิจิตอล (กลุ่มความจุ 1.8 ลิตร)หม้อหุงข้าวที่หุง เสร็จเร็วกว่า ประหยัดพลังงานมากกว่า และคุณภาพข้าวที่หุงสุกดีกว่า คือ หม้อหุงข้าวดิจิตอลยี่ห้อ Hitachi รุ่น RZ-XMC18 กำลังไฟฟ้า 820 วัตต์ การเลือกซื้อหม้อหุงข้าวไฟฟ้า    •    หม้อหุงข้าวไฟฟ้าและดิจิตอล มีมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) ด้านความปลอดภัยควบคุมอยู่•    เลือกซื้อที่มีการรับประกัน เมื่อการปัญหาในการใช้งานต้องมีศูนย์ที่พร้อมให้การดูแลซ่อมแซม•    เลือกขนาดความจุของหม้อและกำลังไฟฟ้าให้เหมาะสมกับความต้องการในการใช้งาน เพื่อเป็นการประหยัดไฟฟ้า•    หม้อหุงข้าวระบบดิจิตอล ควรมีข้อความเป็นภาษาไทยกำกับที่ปุ่มควบคุมการใช้งาน เพื่อง่ายต่อการใช้•    ต้องมีสัญลักษณ์หรือเครื่องหมายบอกปริมาณในส่วนหม้อหุงข้าวด้านใน ขีดบอกระดับ หรือ สัญลักษณ์อื่นที่แสดงความจุที่กำหนด ซึ่งมองเห็นได้ในขณะเติมน้ำวิธีดูแลรักษา1)    ไม่ควรใส่ข้าวและน้ำไม่เกินขนาดของหม้อ2)    การทำความสะอาด ให้เช็ดด้วยผ้าหมาดชุบน้ายาล้างภาชนะ เช็ดด้วยผ้าชุบน้าสะอาด แล้วเช็ดด้วยผ้าให้แห้ง3)    ส่วนที่เป็นหม้อหุงข้าว ต้องเช็ดด้านนอกของหม้อให้แห้ง โดยเฉพาะส่วนที่เป็นก้นหม้อ ก่อนทำการหุง4)    ห้ามเปิดฝาขณะน้ำเดือด5)    ห้ามปิดช่องระบายไอน้ำและฝาหม้อในขณะที่หม้อหุงขาวทำงาน6)    ใช้ทัพพีตักข้าวที่ให้มาเท่านั้น ไม่ควรใช้อุปกรณ์อื่นๆ ที่มีความคม7)    ใส่หม้อในก่อนเสียบปลั๊กไฟเข้ากับเต้ารับ8)    ถอดปลั๊กไฟออกทุกครั้งหลังเลิกใช้งาน 9)    ปล่อยให้เย็นลงก่อนทำความสะอาด          

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ทดสอบ 97 หม้อหุงข้าวรุ่นไหน หุงไว กินไฟน้อย

เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค ตัวอย่างหม้อหุงข้าวซื้อมาจากเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีราคาตั้งแต่ 459 บาท ถึง 1830 บาท แบ่งตามขนาดบรรจุได้แก่- หม้อหุงข้าวขนาด 1 ลิตร จำนวน 3 รุ่น ได้แก่ TOSHIBA รุ่น RC- T 10 AFS (WS), SHARP รุ่น KS- 11ET และ HITACHI รุ่น RZ -10B- หม้อหุงข้าวขนาด 1.5 ลิตร จำนวน 1 รุ่น ได้แก่ ยี่ห้อ PHILIPS รุ่น HD 4733- หม้อหุงข้าวขนาด 1.8 ลิตร จำนวน 7 รุ่น ได้แก่ OTTO รุ่น CR-180 T, MITSUMARU รุ่น AP- 618, KASHIWA รุ่น RC-180, TOMEX รุ่น TRC-KR 80, IMAFLEX รุ่น LP-919 A, SKG รุ่น SK- 18 F และ PANASONIC รุ่น SR- TEG 18 A   ในการทดสอบครั้งนี้เราจะพิจารณาการหุงข้าวเต็มหม้อและการอุ่น การทดสอบหุงข้าว ใช้หม้อหุงข้าวขนาดบรรจุ 1.5 และ 1.8 ลิตร หุงข้าว 10 ถ้วยตวง และหม้อหุงข้าวขนาดบรรจุ 1 ลิตร หุงข้าว 5 ถ้วยตวง จับเวลาตั้งแต่เริ่มหุงจนข้าวสุก (สวิตช์หม้อข้าวดีดตัว เปลี่ยนจากการหุง (cooking mode) เป็นการอุ่น (warm mode)) และปล่อยให้ข้าวระอุเป็นเวลา 10 นาที หลังจากนั้นตรวจสอบการใช้พลังงานไฟฟ้าในการหุงข้าวของหม้อหุงข้าวแต่ละรุ่น เวลาและพลังงานในการหุงข้าวหม้อหุงข้าวขนาด 1 ลิตรจากผลการทดสอบหม้อหุงข้าวขนาด 1 ลิตร พบว่า TOSHIBA รุ่น RC- T10AFS (WS) ใช้เวลาในการหุงน้อยที่สุดคือ 22 นาที และใช้พลังงานไฟฟ้าน้อยที่สุดด้วยคือ 0.186 กิโลวัตต์ชั่วโมง ซึ่งถ้าหากเราหุงข้าววันละ 1 ครั้ง พลังงานไฟฟ้าที่ใช้ในการหุงข้าวทั้งปี คือ 68 กิโลวัตต์ชั่วโมง ส่วน HITACHI รุ่น RZ- 10B และ SHARP รุ่น KS-11 ET ใช้เวลาในการหุง 24 นาทีเท่ากัน ใช้พลังงานไฟฟ้าประมาณ 0.2 กิโลวัตต์ชั่วโมง (ดูรายละเอียดในตาราง)- หม้อหุงข้าวขนาด 1.5 ลิตร และ1.8 ลิตร- หม้อหุงข้าวขนาด 1.5 ลิตรของ PHILIPS รุ่น HD 4733 ขนาดบรรจุ 1.5 ลิตร จะใช้เวลาในการหุง นานที่สุด เมื่อเทียบกับหม้อหุงข้าวขนาด 1.8 ลิตร ที่นำมาทดสอบ คือใช้เวลา 35 นาที แต่ใช้พลังงานไฟฟ้าน้อยที่สุดคือ 0.265 กิโลวัตต์ชั่วโมง สำหรับหม้อหุงข้าวขนาด 1.8 ลิตร PANASONIC รุ่น SR-TEG 18A ใช้เวลาในการหุงน้อยที่สุดคือ 24 นาที และใช้พลังงานไฟฟ้าน้อยที่สุดคือ 0.266 กิโลวัตต์ชั่วโมง (ดูรายละเอียดในตาราง)จากการทดสอบหุงข้าว ทั้ง 11 รุ่น พบว่าได้ข้าวสุกที่สุกอย่างทั่วถึง สามารถรับประทานได้ ความนุ่มของข้าวไม่ต่างกัน พลังงานในการอุ่นข้าวทดสอบโดยหุงข้าวเต็มหม้อ (หม้อขนาดบรรจุ 1 ลิตร ใช้ข้าว 5 ถ้วยตวง และหม้อขนาดบรรจุ 1.8 ลิตร ใช้ข้าว 10 ถ้วยตวง) และอุ่นข้าวที่หุงสุกแล้ว นาน 8 ชั่วโมง ผลการทดสอบเรียงตามการใช้พลังงานจากน้อยไปหามากดังนี้หม้อหุงข้าวขนาด 1 ลิตร- หม้อหุงข้าว HITACHI รุ่น RZ- 10B ใช้พลังงานในการหุงและอุ่น 0.359 กิโลวัตต์ชั่วโมง (พลังงานไฟฟ้าที่ใช้ทั้งปี คือ 132 กิโลวัตต์ชั่วโมง)- หม้อหุงข้าวTOSHIBA รุ่น RC- T10AFS (WS) ใช้พลังงาน 0.362 กิโลวัตต์ชั่วโมง (พลังงานไฟฟ้าที่ใช้ทั้งปี คือ 133 กิโลวัตต์ชั่วโมง)- หม้อหุงข้าว SHARP รุ่น KS-11 ET ใช้พลังงาน 0.435 กิโลวัตต์ชั่วโมง (พลังงานไฟฟ้าที่ใช้ทั้งปี คือ 159 กิโลวัตต์ชั่วโมง) สำหรับหม้อหุงข้าวขนาด 1.5 ลิตร และ1.8 ลิตร- หม้อหุงข้าว PHILIPS รุ่น HD 4733 ขนาดบรรจุ 1.5 ลิตร ใช้พลังงานไฟฟ้าน้อยที่สุดคือ 0.403 กิโลวัตต์ชั่วโมง (พลังงานไฟฟ้าที่ใช้ทั้งปี คือ 148 กิโลวัตต์ชั่วโมง) - หม้อหุงข้าว OTTO รุ่น CR- 180 T ใช้พลังงานไฟฟ้า 0.589 กิโลวัตต์ชั่วโมง (พลังงานไฟฟ้าที่ใช้ทั้งปี คือ 215 กิโลวัตต์ชั่วโมง) - หม้อหุงข้าว IMAFLEX รุ่น LP-919 A และหม้อหุงข้าว SKG รุ่น SK-18F ใช้พลังงานไฟฟ้าเท่ากันคือ 0.612 กิโลวัตต์ชั่วโมง (พลังงานไฟฟ้าที่ใช้ทั้งปี คือ 224 กิโลวัตต์ชั่วโมง)- หม้อหุงข้าว MITSUMARU รุ่น AP- 618 ใช้พลังงานไฟฟ้า 0.726 กิโลวัตต์ชั่วโมง (พลังงานไฟฟ้าที่ใช้ทั้งปี คือ 265 กิโลวัตต์ชั่วโมง)- หม้อหุงข้าว TOMEX รุ่น TRC-KR 80 ใช้พลังงานไฟฟ้า 0.78 กิโลวัตต์ชั่วโมง (พลังงานไฟฟ้าที่ใช้ทั้งปี คือ 285 กิโลวัตต์ชั่วโมง)- หม้อหุงข้าว PANASONIC รุ่น SR-TEG 18A ใช้พลังงานไฟฟ้า 0.792 กิโลวัตต์ชั่วโมง (พลังงานไฟฟ้าที่ใช้ทั้งปี คือ 290 กิโลวัตต์ชั่วโมง)- หม้อหุงข้าว KASHIWAรุ่น RC- 180 ใช้พลังงานไฟฟ้า 0.805 กิโลวัตต์ชั่วโมง ใช้พลังงานไฟฟ้าสูงสุด ในการทดสอบครั้งนี้ (พลังงานไฟฟ้าที่ใช้ทั้งปี คือ 294 กิโลวัตต์ชั่วโมงจากการทดสอบอุ่นข้าวเป็นเวลา 8 ชั่วโมงพบว่า หม้อหุงข้าวทั้ง 11 รุ่น ไม่เกิดการไหม้ติดที่ก้นหม้อ ข้าวที่ผ่านการอุ่นเมล็ดข้าวนุ่ม รับประทานได้ดีหมายเหตุ การคำนวณการใช้พลังงานทั้งปีคิดจาก จำนวนพลังงานที่ใช้ในการหุงและอุ่น 365 วันวัสดุและการเคลือบผิวเราสามารถแบ่งหม้อหุงข้าวด้านในได้เป็น 2 ประเภทตามวัสดุในการผลิต คือ หม้อที่ทำจากเหล็กกล้าไร้สนิม (Stainless Steel) และทำจากอลูมิเนียม วัสดุหม้อหุงข้าวตัวอย่างที่เรานำมาทดสอบเกือบทุกรุ่น จะมีหม้อในที่ผลิตจากวัสดุประเภทเหล็กสแตนเลสสตีล ยกเว้นหม้อในของHITACHI รุ่น RZ- 10B สมบัติของหม้อในที่ผลิตจากเหล็กกล้าไร้สนิมคือ ผิวมันแวววาว ไม่เป็นสนิม สามารถเก็บความร้อนได้ดี เพราะเหล็กกล้าไร้สนิม เป็นตัวนำความร้อนที่ไม่ดี นอกจากนี้ มีน้ำหนักมาก เมื่อเปรียบเทียบกับอลูมิเนียม หม้อในที่ผลิตจากอลูมิเนียม จะมีน้ำหนักเบา และไม่เป็นสนิม ร้อนเร็ว เนื่องจากอลูมิเนียมเป็นตัวนำความร้อนที่ดี แต่เก็บความร้อนไม่ดีเหมือนเหล็กกล้าไร้สนิม เคลือบเทฟลอนเทฟลอนเป็นสารเคมีสังเคราะห์ชนิดหนึ่ง มีชื่อทางเคมีว่า Polytetrafluorethylene (PTFE) ซึ่งมีสมบัติที่ดีต่อการเคลือบผิว ป้องกันการเกาะติดแน่นของตะกรันและข้าวที่หุง ทนต่อความร้อน และสารเคมี บางครั้งอาจจะเติมส่วนผสมประเภทวัสดุเซรามิคลงไปผสม เพื่อความความแข็งแรง หรืออาจจะเติมวัสดุประเภทบรอนซ์ซึ่งเป็นโลหะผสม เพื่อเพิ่มสมบัติในการนำความร้อน ข้อควรระวังในการใช้งานไม่ควรให้ความร้อนหรือเสียบปลั๊กไฟทิ้งไว้ จนทำให้หม้อเปล่ามีอุณหภูมิสูง เพราะวัสดุเทฟลอนสามารถปล่อยไอระเหยที่เป็นพิษออกมาได้หากอุณหภูมิเกินกว่า 360 องศาเซลเซียส ซึ่งไอระเหยสารพิษที่ปล่อยมานี้ จะทำให้เกิด อาการที่เหมือนกับคนเป็นโรคไข้หวัดใหญ่ได้ เราเรียกว่า Teflon fever จากการทดสอบ พบว่าไม่มีหม้อหุงข้าวรุ่นใดให้ความร้อนสูงเกินกว่า 360 องศาเซลเซียส จากการทดสอบด้วยครีมเทียม (ดูรูปภาพประกอบ 1 ก) พบว่าหม้อที่ไม่เคลือบเทฟลอน ครีมเทียมที่ไหม้ติดแน่นที่ก้นหม้อ ทำความสะอาดยาก (รูป 1 ข และ 1 ค) เทียบกับหม้อในที่เคลือบเทฟลอน ครีมเทียมที่ไหม้สามารถหลุดร่อนออกมาได้ง่าย (รูป 1 ง) อุณหภูมิสูงสุดและการกระจายตัวของความร้อนการกระจายตัวของความร้อนของหม้อในที่ดี ต้องสม่ำเสมอ ไม่ควรจะกระจุกตัวอยู่จุดเดียวเพราะ จะทำให้บริเวณนั้นมีอุณหภูมิสูงมาก อาจทำให้ข้าวบริเวณนั้นไหม้ติดก้นหม้อได้ ในขณะที่บริเวณอื่นจะมีอุณหภูมิต่ำกว่า จากการทดสอบโดยการใช้ครีมเทียม และให้ความร้อนหม้อหุงข้าวจนกระทั่งหม้อเปลี่ยนจากฟังค์ชันการหุงเป็นการอุ่น พบว่า - หม้อหุงข้าว OTTO, MITSUMARU, KASHIWA, TOMEX, IMAFLEX, SKG, PANASONIC, SHARP และ มีการกระจายตัวของความร้อนที่สม่ำเสมอ และร้อนเร็ว ที่สุด เมื่อเปรียบเทียบกับหม้อหุงข้าวอื่นๆ และเมื่อวัดอุณหภูมิที่ก้นหม้อจะได้ค่าอุณหภูมิสูงสุด ตั้งแต่ 170- 290 องศาเซลเซียส (ดูรูป 2 ก) - หม้อหุงข้าวที่มีการกระจายตัวของความร้อนที่ไม่สม่ำเสมอ คือ หม้อหุงข้าว PHILIPS รุ่น HD 4733 และหม้อหุงข้าว TOSHIBA (ดูรูป 2 ข) หม้อหุงข้าวที่มีการกระจายตัวของความร้อนได้ช้า คือ หม้อหุงข้าว HITACHI รุ่น RZ- 10B จากรูปจะเห็นว่าอุณหภูมิจะต่ำมากจนครีมเทียมไม่เปลี่ยนสี อุณหภูมิสูงสุดที่วัดได้ คือ 150 องศาเซลเซียส (ดูรูป 2 ค)คู่มือการใช้งาน- หม้อหุงข้าว HITACHI รุ่น RZ- 10B อธิบายชิ้นส่วนประกอบของหม้อหุงข้าว วิธีการใช้งาน วิธีการทำความสะอาดและบำรุงรักษาอุปกรณ์ ข้อควรระวังในการใช้งาน ข้อแนะนำเรื่องความปลอดภัย และข้อมูลจำเพาะทางเทคนิค ตัวหนังสืออ่านง่าย มีรูปภาพประกอบมาก มีที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ติดต่อ และเวปไซต์ของบริษัทที่ผลิตและจำหน่าย - หม้อหุงข้าวTOSHIBA รุ่น RC- T10AFS (WS) อธิบายชิ้นส่วนประกอบของหม้อหุงข้าว วิธีการใช้งาน วิธีการทำความสะอาดอุปกรณ์ ข้อควรระวังในการใช้งาน และข้อมูลจำเพาะทางเทคนิค ตัวหนังสืออ่านง่าย มีรูปภาพประกอบมาก อ่านง่าย สะบายตา มีที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ติดต่อ และเวปไซต์ของบริษัทที่ผลิตและจำหน่าย- หม้อหุงข้าว SHARP รุ่น KS-11 ET อธิบายชิ้นส่วนประกอบของหม้อหุงข้าว วิธีการใช้งาน วิธีการทำความสะอาดและบำรุงรักษาอุปกรณ์ ข้อควรระวังในการใช้งาน ข้อแนะนำเรื่องความปลอดภัย และข้อมูลจำเพาะทางเทคนิค ตัวหนังสืออ่านง่าย มีรูปภาพประกอบมาก มีที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ติดต่อ และเวปไซต์ของบริษัทที่ผลิตและจำหน่ายหม้อหุงข้าวขนาด 1.5 ลิตร และ1.8 ลิตร- หม้อหุงข้าว PANASONIC รุ่น SR-TEG 18A อธิบายชิ้นส่วนประกอบของหม้อหุงข้าว วิธีการใช้งาน วิธีการทำความสะอาดและบำรุงรักษาอุปกรณ์ ข้อควรระวังในการใช้งาน ข้อแนะนำเรื่องความปลอดภัย และข้อมูลจำเพาะทางเทคนิค ตัวหนังสืออ่านง่าย มีรูปภาพประกอบมาก มีที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ติดต่อ และเวปไซต์ของบริษัทที่ผลิตและจำหน่าย และเครือข่ายศูนย์บริการ - หม้อหุงข้าว PHILIPS รุ่น HD 4733 ขนาดบรรจุ 1.5 ลิตร อธิบายชิ้นส่วนประกอบของหม้อหุงข้าว ข้อควรจำ วิธีปฏิบัติก่อนการใช้งานครั้งแรก การใช้งาน การรับประกันและการใช้งาน การแก้ปัญหา ให้ข้อมูลของสินค้าละเอียด แต่ตัวหนังสือมีขนาดเล็กมาก และภาพประกอบแยกไปไว้ด้านหลังของเล่มทำให้ไม่สะดวกในการอ่าน - หม้อหุงข้าว OTTO รุ่น CR- 180 T อธิบายชิ้นส่วนปะกอบของหม้อหุงข้าว การใช้งานแบบง่ายๆ ข้อควรระวังและแนะนำการต่อสายดิน มีข้อมูลจำเพาะทางเทคนิค - หม้อหุงข้าว MITSUMARU รุ่น AP- 618 อธิบายชิ้นส่วนประกอบของหม้อหุงข้าว การใช้งานเพื่อความปลอดภัย ข้อควรระวังในการใช้งาน วิธีทำความสะอาด และข้อมูลทางเทคนิค ตัวหนังสืออ่านง่ายพร้อมรูปภาพประกอบ - หม้อหุงข้าว KASHIWAรุ่น RC- 180 สินค้าบางตัวไม่มีคู่มือการใช้งาน และคู่มือการใช้งานที่พบเป็นภาษาอังกฤษ ไม่มีการแปลเป็นภาษาไทย - หม้อหุงข้าว TOMEX รุ่น TRC-KR 80 อธิบายชิ้นส่วนประกอบของหม้อหุงข้าว วิธีการใช้งาน วิธีการทำความสะอาดอุปกรณ์ ข้อควรระวังในการใช้งาน ไม่มีข้อมูลจำเพาะทางเทคนิค และที่อยู่ของบริษัทที่ผลิตและจำหน่าย แต่มีเบอร์โทรศัพท์ของศูนย์บริการ- หม้อหุงข้าว IMAFLEX รุ่น LP-919 A อธิบายชิ้นส่วนประกอบของหม้อข้าว วิธีการใช้งาน วิธีการทำความสะอาดอุปกรณ์ ข้อควรระวังในการใช้งาน ข้อมูลจำเพาะทางเทคนิค มีที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ติดต่อ และเวปไซต์ของบริษัทที่ผลิตและจำหน่าย- หม้อหุงข้าว SKG รุ่น SK-18F อธิบายชิ้นส่วนประกอบของหม้อหุงข้าว วิธีการใช้งาน วิธีการทำความสะอาดและบำรุงรักษาอุปกรณ์ ข้อแนะนำเรื่องความปลอดภัย และข้อมูลจำเพาะทางเทคนิค ตัวหนังสืออ่านง่าย มีรูปภาพแต่ไม่คมชัด มีที่อยู่ และเบอร์โทรศัพท์ติดต่อ ของบริษัทที่ผลิต   ดาวโหลด File ตารางการทดสอบหม้อหุงข้าวไฟฟ้า ที่อยู่และหมายเลขโทรศัพท์ของบริษัทที่จัดจำหน่ายหม้อหุงข้าวไฟฟ้าที่เรานำมาทดสอบ Sharp บริษัท ชาร์ปไทย จำกัด952 อาคารรามาแลนด์ ชั้น 12 ถนนพระราม 4 แขวงสุริยวงศ์ เขตบางรัก กรุงเทพฯ 10500 โทรศัพท์ 0-2638-3500 โทรสาร 0-2638-3900 ศูนย์ลูกค้าสัมพันธ์ 0-2638-3888www.sharpthai.co.th Toshibaบริษัท โตชิบาไทยแลนด์ จำกัด201 ซ.เผือกจิตร ถ.วิภาวดีรังสิต จตุจักร กรุงเทพฯโทรศัพท์ 0-2512-0270-81โทรสาร 0-2513-0305ศูนย์บริการข้อมูล 0-2939-5611www.toshiba.co.th Panasonic บริษัท พานาโซนิค ซิว เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด 75 ถนนเสรีไทย แขวงคันนายาว เขตคันนายาว กรุงเทพฯ 10230โทรศัพท์ 0-2731-8888โทรสาร 0-2731-9976ศูนย์ลูกค้าสัมพันธ์ 0-2729-9000www.panasonic.co.th Hitachiศูนย์บริการสำนักงานใหญ่ บริษัท ฮิตาชิเซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด 994,996 ซอยทองหล่อ ถนนสุขุมวิท 55 แขวงคลองตันเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพฯ 10110 โทรศัพท์ 0-2381-8381-98 โทรสาร 0-2381-9520www.hitachi-th.com Philipsบริษัท ฟิลิปส์อิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัดเลขที่ 1768 ชั้น 26-28 อาคารไทยซัมมิททาวเวอร์ ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ แขวงบางกะปิ เขตห้วยขวาง กรุงเทพฯ 10320โทรศัพท์ 0-2614-3333 แฟกซ์ 0-2614-3444 ศูนย์ข้อมูลผู้บริโภคฟิลิปส์ โทรศัพท์ 0-26528652www.philips.co.th Sanyoบริษัท ซันโย (ประเทศไทย) จำกัดอาคารซันโย 795 ถ.พระราม 9 แขวงบางกะปิ เขตห้วยขวาง กรุงเทพฯ 10310โทรศัพท์ 0-2308-6999 แฟกซ์ 0-2318-6211ศูนย์ลูกค้าสัมพันธ์ 0-2308-6900 Hanabishiบริษัท ฮานาบิชิ อิเลคทริค คอร์ปอเรชั่น จำกัด ตั้งอยู่เลขที่ 3/1-2, 3/72 หมู่ 5 ซอยสุขสวัสดิ์ 14 ถนนสุขสวัสดิ์ แขวงจอมทอง เขตจอมทอง กรุงเทพฯ 10150 โทรศัพท์ (อัตโนมัติ): 0-2468-2244, 0-2476-3888, 0-2877-0285โทรสาร: 0-2877-0288-89www.hanabishi.co.th Imarflexบริษัท อิมาร์เฟล็กซ์ อินดัสเตรียล จำกัด68/13 ม.9 ถนนธนบุรี-ปากท่อ แขวงบางมด เขตจอมทอง กรุงเทพฯ 10150 โทรศัพท์ 0-2450-0033โทรสาร 0-2452-1277www.imarflex.co.thE-mail : service@imarflex.co.th SKGบริษัท เอส เค จี อีเล็คทริค กรุ๊ป (ประเทศไทย) จำกัดซ.เอกชัย 131 แขวงบางบอน เขตบางบอน กรุงเทพฯ 10150โทรศัพท์ 0-2892-2888, 0-2892-5082-87, 0-2894-8623-32www.skgelectric.com Tomexบริษัท คลาสสิค คลาส จำกัด38/80 ม.7 ใกล้แยกบางพลู ถนนบางกรวย-ไทรน้อย ต.บางรักใหญ่ อ.บางบัวทอง จ.นนทบุรี 11110โทรศัพท์ 0-2926-7550 www.tomex.co.th Mitsumaruบริษัท ที เอ ที (ประเทศไทย) จำกัด 36/11 ม.2 ซ.บางบอน 5 ถ.เอกชัย แขวงบางบอน เขตบางบอน กรุงเทพฯ 10150โทรศัพท์ 0-2892-5950 โทรสาร 0-2892-5959www.mitsumaru.com Ottoบริษัท ออตโต้ คิงส์กลาส จำกัด88 ม.7 ถ.บรมราชชนนี แขวงศาลาธรรมสพน์ เขตทวีวัฒนา กรุงเทพฯ 10170โทรศัพท์ 0-2888-3555โทรสาร 0-2800-4500-4  

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า150 Point