ฉบับที่ 139 คำกล่าวอ้างทางสุขภาพบนฉลากอาหาร

อาหารสำเร็จรูปในปัจจุบัน ถ้าไม่เพิ่มหรือลดสารอาหารบางอย่าง ก็ดูจะไม่อินกับกระแสรักสุขภาพ ทำให้ผู้ประกอบการต้องพยายามคิดหาอะไรมาเป็นจุดขายเพิ่มความโดดเด่นกับสินค้าของตนเอง เราจึงเห็นโฆษณาและข้อความกล่าวอ้างบนฉลากประเภท มีวิตามิน บี 12 แคลเซียมสูง หรือไขมันต่ำ อยู่เสมอ คำกล่าวอ้างที่ปรากฏบนฉลากอาหาร มีผลอย่างมากที่ทำให้ผู้บริโภคตัดสินใจซื้อ  ในงานวิจัยเรื่อง อิทธิพลของข้อมูลการกล่าวอ้างหน้าที่สารอาหารบนฉลากต่อการตัดสินใจซื้อเครื่องดื่มผสมสารอาหารของผู้บริโภค โดยวรรณวิสา ฮับหลี พบว่า ผู้บริโภคส่วนใหญ่ตัดสินใจซื้อเครื่องดื่มผสมสารอาหารโดยดูข้อความกล่าวอ้างได้แก่ ไขมันต่ำ ร้อยละ 92.6 ไม่มีโคเรสเตอรอล ร้อยละ 90.4 และ ไขมันอิ่มตัว 0% ร้อยละ 89.5 เช่นเดียวกับที่ฉลาดซื้อเคยทำผลสำรวจไปเมื่อฉบับ 134 ที่พบว่า ร้อยละ 76.8 มีผลต่อการตัดสินใจซื้อ   ความจริงของคำกล่าวอ้างบนฉลาก คำกล่าวอ้างบนฉลากที่บอกปริมาณสารอาหาร (Nutrient content claim) นั้น หากผู้ประกอบการจะนำมาแสดงบนฉลาก ต้องเป็นไปตามเกณฑ์กำหนดในบัญชีแนบท้ายประกาศกระทรวงสาธารณสุข(ฉบับที่ 182) พ.ศ. 2541 เรื่อง ฉลากโภชนาการ หมายความว่า คำที่จะนำมาใช้ต้องเป็นคำที่กฎหมายกำหนดจะมาใช้คำตามใจชอบไม่ได้ ฉลาดซื้อขอนำข้อมูลบางส่วนมานำเสนอเพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง โดยเฉพาะคำกล่าวอ้างที่กำลังฮิตในปัจจุบัน ไขมัน ไขมันต่ำ (low fat) ต้องมีไขมันต่ำกว่า 3 กรัมต่อ1 หน่วยบริโภคและขนาดของหน่วยบริโภคไม่เกิน 30 กรัม หรือ ไม่เกิน 2 ช้อนโต๊ะ ปราศจากไขมัน (fat free) มีไขมันน้อยกว่า 0.5 กรัมต่อ1 หน่วยบริโภค ปราศจากไขมันอิ่มตัว (saturated fat free) มีไขมันอิ่มตัวน้อยกว่า 0.5 กรัมต่อ 1 หน่วยบริโภค และมีไขมันทรานส์ไม่เกิน 0.5 กรัมต่อหน่วยบริโภค ปราศจากโคเลสเตอรอล (cholesterol free) มีโคเลสเตอรอลน้อยกว่า 2 มิลลิกรัม หรือไขมันอิ่มตัว ไม่เกิน 2 กรัมต่อ 1 หน่วยบริโภค โคเลสเตอรอลต่ำ (low cholesterol) มีโคเลสเตอรอลไม่เกิน 20 มิลลิกรัม หรือไขมันอิ่มตัว ไม่เกิน 2 กรัมต่อ 1 หน่วยบริโภค   น้ำตาล ปราศจากน้ำตาล (sugar free) มีน้ำตาลน้อยกว่า 0.5 กรัมต่อ 1 หน่วยบริโภค   ใยอาหาร ใยอาหารสูง (high fiber) มีปริมาณใยอาหารตั้งแต่ 5 กรัมขึ้นไป และอาหารนั้นจะต้องจัด อยู่ในประเภทไขมันต่ำร่วมด้วย หรือต้องระบุปริมาณไขมันถัดจากปริมาณใยอาหารเป็นแหล่งใยอาหาร (food source of fiber) ใยอาหาร 2.5-4.9 กรัมต่อ 1 หน่วยบริโภค  พลังงาน ปราศจากพลังงาน (calorie free) มีพลังงานน้อยกว่า 5 กิโลแคลอรี่ต่อ 1 หน่วยบริโภค พลังงานต่ำ (low calorie) มีพลังงานน้อยกว่า 40 กิโลแคลอรี่ต่อหน่วยบริโภคและขนาดหน่วยบริโภคไม่เกิน 30 กรัม หรือไม่เกิน 2 ช้อนโต๊ะ   ดังนั้นจะเห็นว่า คำว่า ปราศจาก ไม่ได้หมายถึง ไม่มี หรือ เป็น 0 แต่ยังมีอยู่น้อยกว่า 0.5 กรัม เช่น กรณีน้ำตาลและไขมัน ที่สำคัญคือ กฎหมายไม่อนุญาตการกล่าวอ้าง “ปราศจาก” หรือ “ต่ำ” หากอาหารนั้นหรืออาหารชนิดนั้นโดยธรรมชาติทั่วไปเป็นไปตามเงื่อนไขอยู่แล้ว โดยมิได้มีการใช้กระบวนการผลิตพิเศษ หรือมีการปรับสูตรเพื่อให้อาหารนั้นมีปริมาณสารอาหารที่จะกล่าวอ้างลดลงจนเป็นไปตามเงื่อนไข เนื่องจากจะทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดว่าอาหารจากผู้ผลิตนั้นแต่เพียงผู้เดียวที่มีคุณสมบัตินี้ ตัวอย่างเช่น ไม่อนุญาตให้น้ำบริโภคแสดงข้อความ “ปราศจากพลังงาน” หรือ “ไขมันต่ำ” เนื่องจากน้ำบริโภคทั่วไปจากผู้ผลิตทุกรายก็มีคุณสมบัตินี้ด้วย   กรณีกล่าวอ้างว่า “มี” หรือ “สูง”  การบอกว่า มี สารอาหารชนิดที่อ้างก็ต้อง มีจริงๆ แต่ถ้ามีจริงแต่มีน้อยเกินกว่าจะเป็นประโยชน์ในทางโภชนาการต่อร่างกาย ก็ห้ามแสดงคำว่า “มี” จะกล่าวอ้างว่า มี ได้ก็ต้องไม่น้อยกว่า ร้อยละ 10 ของปริมาณที่แนะนำต่อวัน (Thai RDI) และถ้าจะกล่าวอ้าง ด้วยคำว่า “สูง” (high) ก็ต้องมีสารอาหารชนิดที่อ้าง 20 เปอร์เซ็นต์ของปริมาณที่แนะนำต่อวัน (Thai RDI)   กรณีการกล่าวอ้างถึงหน้าที่ของสารอาหารที่มีต่อร่างกาย สารอาหารที่มีการกล่าวอ้างถึง ต้องมีอยู่ในบัญชีสารอาหารที่แนะนำให้บริโภคประจำวันสำหรับคนไทยอายุตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไป (Thai RDI) โดยผลิตภัณฑ์ที่กล่าวอ้างต้องมีสารอาหารนั้นอยู่ในระดับที่จัดว่า “เป็นแหล่งของ” ของสารอาหารนั้นในปริมาณหนึ่งหน่วยบริโภคอ้างอิงและปริมาณหนึ่งหน่วยบริโภคที่แสดงบนฉลาก  มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่เชื่อถือได้และการกล่าวอ้างจะต้องไม่มีข้อความระบุหรือมีความหมายให้เข้าใจว่าการบริโภคสารอาหารนั้นจะสามารถป้องกันหรือบำบัดรักษาโรคได้ ตัวอย่าง “แคลเซียมเป็นส่วนประกอบสำคัญของกระดูกและฟัน” การจะระบุเช่นนี้ได้ ก็ต้องมีแคลเซียมอย่างน้อย ร้อยละ 10 ของ (Thai RDI) เพราะเมื่อผู้บริโภคเห็นข้อความนี้แล้วจะเข้าใจทันทีว่า ผลิตภัณฑ์นี้ มีแคลเซียมอยู่มาก   ความจริงเกี่ยวกับการรับรู้เรื่องฉลากของผู้บริโภค คำกล่าวอ้างที่ดึงดูดใจนั้นมีผลต่อการตัดสินใจซื้อ ซึ่งฉลากอาหารคือด่านแรกที่จะวัดว่า ผู้บริโภค เข้าใจหรือเข้าใจมากพอหรือไม่ในการซื้อผลิตภัณฑ์ ฉลาดซื้ออาศัยช่วงงานสมุนไพรแห่งชาติที่ผ่านมา สำรวจทัศนคตินักช้อปที่ร่วมเดินภายในงาน วันที่ 7-9 กันยายน 2555 จำนวน 317 คน เกี่ยวกับความเข้าใจเรื่องฉลากอาหาร พบว่า  ร้อยละ 90.9 เข้าใจว่าผลิตภัณฑ์อาหารทุกชนิดต้องแสดงฉลากโภชนาการ ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง การแสดงฉลากโภชนาการ ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข(ฉบับที่ 182) นั้น เป็นการแสดงโดยสมัครใจสำหรับอาหารทุกชนิดทั่วไป แต่จะบังคับสำหรับอาหารที่มีการกล่าวอ้างต้องแสดงฉลากโดยบังคับ ร้อยละ 53.6 เข้าใจว่าข้อความบรรยายสรรพคุณในการรักษา บำบัด บรรเทาโรค สามารถระบุบนฉลากอาหารได้ ซึ่งถือเป็นเรื่องเข้าใจผิดที่ต้องเร่งแก้ไข เพราะฉลากอาหารห้ามเด็ดขาดมิให้บรรยายสรรพคุณในการรักษา บำบัดหรือบรรเทาโรค เพราะอาหารไม่ใช่ยา ความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนนี้ทำให้ผู้บริโภคส่วนหนึ่งถูกหลอกให้เสียเงินมาแล้วเป็นจำนวนมากเพราะเชื่อว่า กินอาหารตามที่อ้างสรรพคุณรักษาโรคได้แล้วจะช่วยหายจากอาการเจ็บป่วย ความเข้าใจในเรื่องฉลากจึงยังเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องช่วยกันทำความเข้าใจ เพื่อยกระดับผู้บริโภคของเราให้เท่าทันเกมของผู้ประกอบการ ข้อมูล อิทธิพลของข้อมูลการกล่าวอ้างหน้าที่สารอาหารบนฉลากต่อการตัดสินใจซื้อเครื่องดื่มผสมสารอาหารของผู้บริโภค โดยวรรณวิสา ฮับหลี สาขาวิชาเทคโนโลยีอาหาร บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2552. ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 182) พ.ศ. 2541

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 134 ฉลากอาหารกับความเข้าใจของผู้บริโภค

“ฉลากอาหาร” เปรียบเสมือนหน้าต่างของผลิตภัณฑ์ที่ทำให้สามารถมองเห็นผลิตภัณฑ์ภายในภาชนะบรรจุได้ โดยเป็นเครื่องมือของผู้ประกอบการในการสื่อสารข้อมูลแก่ผู้บริโภคและเป็นส่วนหนึ่งในการเพิ่มมูลค่าแก่ผลิตภัณฑ์ เป็นเครื่องมือของหน่วยงานรัฐในการติดตามตรวจสอบคุณภาพอาหารและให้ข้อมูลความรู้ที่เป็นประโยชน์แก่ประชาชน อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจากการดำเนินงานของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคพบว่า มีการละเมิดสิทธิผู้บริโภคจากกรณีการแสดงฉลากอาหารไม่ถูกต้องอยู่พอสมควร เช่น การไม่แสดงวันผลิต-วันหมดอายุ หรือแสดงแล้วแต่หาไม่เจอ ไม่แสดงชื่อผู้ผลิต-ผู้จำหน่าย การใช้ข้อความกล่าวอ้างคุณค่าให้เข้าใจผิดในสรรพคุณไปจากความเป็นอาหาร และการใช้คำแสดงส่วนประกอบที่ทำให้เข้าใจผิดถึงส่วนประกอบของอาหาร เป็นต้น ซึ่งปัญหาต่าง ๆ เหล่านี้ทำให้เห็นถึงความจำเป็นที่น่าจะต้องมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบฉลากอาหารโดยทำให้เป็นมิตรต่อผู้บริโภคโดยทำให้เห็นชัด น่าอ่าน อ่านง่าย และเข้าใจง่ายมากขึ้น แต่ก่อนที่จะมีการปรับปรุงรูปแบบฉลากอาหารได้จะต้องมีการสำรวจข้อมูลการแสดงฉลากอาหารในปัจจุบันกันเสียก่อน ฉลาดซื้อฉบับนี้จึงได้นำข้อมูลผลการสำรวจความคิดเห็นของผู้บริโภคที่มีต่อฉลากอาหารมาฝากคุณผู้อ่านกัน   ข้อมูลการสำรวจ ฉลาดซื้อได้ร่วมกับโครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งกลไกการคุ้มครองความปลอดภัยด้านอาหารโดยผู้บริโภคดำเนินการสำรวจการรับรู้และความเข้าใจของผู้บริโภคที่มีต่อฉลากอาหารในสามประเด็น 1. รูปแบบฉลากโภชนาการ 2. วันผลิต/วันหมดอายุของอาหาร และ 3. ประเด็นการโฆษณาบนฉลากอาหาร การสำรวจนี้ได้รับความร่วมมือในการตอบแบบสอบถามจากผู้บริโภคจำนวน 474 คนในทุกช่วงอายุ คละกลุ่มอาชีพและคละฐานการศึกษาจากแปดจังหวัดในสี่ภูมิภาคคือ กรุงเทพฯ สมุทรสงคราม ขอนแก่น เชียงใหม่ พะเยา สุราษฎร์ธานี สงขลา และสตูล ระหว่างช่วงเดือนสิงหาคมถึงเดือนตุลาคม 2554   ผลการสำรวจ 1 การรับรู้ฉลากโภชนาการ ร้อยละ 83.5 ต้องการให้อาหารทุกประเภทต้องแสดงฉลากโภชนาการ ฉลากโภชนาการ คือ การแสดงข้อมูลคุณค่าทางอาหารของผลิตภัณฑ์นั้น ๆ บนฉลากในรูปของชนิด และปริมาณของสารอาหารรวมไปถึงการใช้ข้อความ กล่าวอ้างทางโภชนาการ เช่น โปรตีนสูง เสริมวิตามินซี เป็นต้น การใช้ฉลากโภชนาการในปัจจุบันอยู่ในลักษณะการแสดงโดยสมัครใจสำหรับอาหารทุกชนิดทั่วไป แต่จะบังคับให้ อาหารที่มีการกล่าวอ้าง ต้องแสดงฉลากโภชนาการ ซึ่งหมายความว่า ไม่ใช่อาหารทุกชนิดต้องมีฉลากโภชนาการ เราถามผู้บริโภคเกี่ยวกับความเข้าใจฉลากโภชนาการ (ข้อมูลแสดงคุณค่าของอาหาร) ในสามรูปแบบคือ แบบการแสดงตัวเลขเป็นร้อยละโดยมีสีเดียวที่ อย. เพิ่งนำมาใช้ (Guideline Daily Amount: GDA)     แบบสีสัญญาณไฟจราจร เขียว เหลือง แดง (Traffic Light Labeling) และ แบบตารางแสดงคุณค่าโภชนาการตามปกติ   ผลการสำรวจพบว่า ผู้บริโภคร้อยละ 49.6 มีความพอใจในฉลากโภชนาการแบบ GDA ขณะที่ความพอใจที่มีต่อฉลากสีสัญญาณไฟจราจรนั้นอยู่ที่ร้อยละ 84.8 และเมื่อถามเปรียบเทียบระหว่างการใช้ฉลากทั้งสองรูปแบบพบว่าร้อยละ 24.3 ชื่นชอบ GDA ร้อยละ 64.8 ชื่นชอบแบบสีสัญญาณไฟจราจร และร้อยละ 5.7 ไม่ชอบทั้งสองแบบ โดยให้ข้อเสนอแนะว่าน่าจะนำทั้งสองรูปแบบมารวมกัน(มีผู้ไม่ตอบในข้อนี้อีกจำนวนร้อยละ 5.3) เมื่อถามว่าถ้ามีการใช้รูปแบบฉลากโภชนาการแบบใหม่ไม่ว่าจะเป็น GDA หรือ สีสัญญาณไฟจราจรแล้วจะต้องใช้รูปแบบฉลากโภชนาการแบบเดิมหรือไม่ ได้รับคำตอบว่าจำเป็น แต่ต้องปรับรูปแบบให้เข้าใจง่ายขึ้นจำนวนร้อยละ 62.2 และมีผู้ที่ตอบว่าไม่จำเป็นจำนวนร้อยละ 33.5 โดยให้เหตุผลสองข้อคือ 1) เพราะไม่เคยอ่านฉลากโภชนาการรูปแบบเดิม จำนวนร้อยละ 67.5 และ 2) เพราะอ่านฉลากโภชนาการแบบเดิมไม่รู้เรื่องจำนวนร้อยละ 32.5 คำถามสุดท้ายในประเด็นนี้ ได้ถามถึงความจำเป็นในการแสดงฉลากโภชนาการในอาหาร พบว่า ร้อยละ 83.5 ต้องการให้อาหารทุกประเภทต้องแสดงฉลากโภชนาการ ร้อยละ 10.3 ให้แสดงเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่กล่าวอ้างคุณค่าทางโภชนาการ และ ร้อยละ 1 ต้องการให้แสดงในผลิตภัณฑ์สำหรับเด็ก โดยที่มีผู้ไม่ตอบในข้อนี้อีกจำนวนร้อยละ 5.7   2 ความเข้าใจเรื่องการโฆษณาบนฉลากอาหาร ร้อยละ 76.8 ตอบว่า โฆษณาบนฉลากมีผลต่อการตัดสินใจซื้อ โดยทั่วไป พรบ. อาหาร พ.ศ. 2522 ได้กำหนดให้ผู้ประกอบการที่ประสงค์จะโฆษณาคุณประโยชน์ของผลิตภัณฑ์อาหารของตนจะต้องขออนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาทุกครั้งแต่สำหรับการโฆษณาบนฉลากอาหารนั้นกลับไม่มีการบังคับทางกฎหมายว่าต้องส่งให้ อย. ตรวจสอบแต่อย่างใด ทำให้ผู้ประกอบการบางส่วนใช้ช่องว่างนี้ในการโฆษณาผลิตภัณฑ์ของตนซึ่งบางครั้งก็เป็นข้อความที่เกินจริง โอ้อวดสรรพคุณ ทำให้เข้าใจผิดไปจากความเป็นอาหาร อีกทั้งยังเป็นการสิ้นเปลืองเนื้อที่บนฉลากทำให้ตัวหนังสือในส่วนอื่น ๆ ของฉลากที่มีความสำคัญมากกว่า เช่น วันผลิต-วันหมดอายุ ตารางโภชนาการ มีขนาดเล็กทำให้ไม่น่าอ่าน ดังนั้นหากมีการควบคุมดูแลด้านฉลากอาหารที่ดี โดยตัดเนื้อหาการโฆษณาที่ไม่จำเป็นเหล่านี้ออกไปก็จะทำให้มีเนื้อที่บนฉลากมากขึ้นเพียงพอที่จะทำให้ฉลากอาหารน่าอ่านและอ่านง่าย   เมื่อส่งผลิตภัณฑ์ให้กับผู้ตอบแบบสอบถามและให้หาโฆษณาบนฉลากอาหาร ร้อยละ 24.5 ตอบว่าไม่มีโฆษณา ขณะที่ร้อยละ 71.3 ตอบว่ามี อย่างไรก็ตาม จากการให้ผู้ตอบแบบสอบถามเขียนคำโฆษณาที่ตนเห็นลงในแบบสอบถามด้วย พบว่า กว่าครึ่งเข้าใจได้ถูกต้องถึงสิ่งที่ตนเขียนมา ขณะที่อีกกลุ่มใหญ่ไม่เข้าใจว่าการโฆษณาบนฉลากอาหารคืออะไร โดยที่กว่าครึ่งของผู้ที่ตอบว่ามีโฆษณาบนฉลากเข้าใจว่าการใช้คำกล่าวอ้างทางโภชนาการตามที่ อย. อนุญาต คือการโฆษณา บ้างคิดว่าชื่ออาหารเป็นโฆษณา และบางส่วนสับสนระหว่างการแสดงส่วนประกอบของอาหารกับการโฆษณา เมื่อถามว่าโฆษณาที่เห็นมีผลต่อการตัดสินใจซื้อหรือไม่ ร้อยละ 76.8 ตอบว่ามี ร้อยละ 18.6 ตอบว่าไม่มีผล และร้อยละ 4.6 ไม่แสดงความคิดเห็น ซึ่งหมายความว่าคำบรรยายต่าง ๆ ที่เห็นบนฉลากไม่ว่าจะเป็นการกล่าวอ้างทางโภชนาการทั้งที่ถูกต้องและไม่ถูกต้อง และทั้งการโฆษณาโดยตรงบนฉลาก มีผลต่อการตัดใจของผู้บริโภคค่อนข้างสูง คำถามสุดท้ายของประเด็นว่าเห็นด้วยกับการมีโฆษณาบนฉลากอาหารหรือไม่ ร้อยละ 69 ตอบว่า เห็นด้วย และ ร้อยละ 26.8 ตอบว่า ไม่เห็นด้วย อย่างไรก็ตามจากเหตุผลของผู้ที่เห็นด้วยที่บอกว่าการโฆษณาทำให้รู้สรรพคุณและส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์นั้นทำให้สามารถเข้าใจได้ว่าผู้ที่ตอบว่าเห็นด้วยบางส่วนนั้นยังคงมีความสับสนและไม่สามารถแยกแยะได้ว่าอะไรคือคำกล่าวอ้างทางโภชนาการที่ อย. อนุญาต และอะไรคือการโฆษณาซึ่งเป็นสิ่งที่มิได้ระบุไว้ให้แสดงตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขเรื่องฉลาก 3 การรับรู้ของผู้บริโภคที่มีต่อการแสดงวันผลิต-วันหมดอายุ ร้อยละ 49.2 อยากเห็นฉลากอาหารแสดงทั้งวันผลิตและวันหมดอายุ --------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------- “ในทางกฎหมายคำว่า “วันหมดอายุ” ถือเป็นสัญญาที่ผู้ประกอบการให้กับผู้บริโภค ส่วนคำว่า “ควรบริโภคก่อน” ถือเป็นคำแนะนำของผู้ประกอบการที่มีต่อผู้บริโภค” นายอิฐบูรณ์  อ้นวงษา หัวหน้าศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------   เมื่อถามผู้ตอบแบบสอบถามว่าเห็นวันผลิต-วันหมดอายุของผลิตภัณฑ์ที่อยู่ในมือหรือไม่ ร้อยละ 57.6 ตอบว่าเห็น ร้อยละ 7.4 ตอบว่า ไม่เห็น ร้อยละ 30.6 ตอบว่า เห็นแต่ใช้เวลาในการหานาน และส่วนที่เหลือไม่แสดงความคิดเห็น ซึ่งสัดส่วนที่ไม่ต่างกันมากของทั้งสามคำตอบและเมื่อรวมผู้ที่ตอบว่าไม่เห็นกับผู้ที่ตอบว่าเห็นแต่ใช้เวลาในการหานานแล้วนั้นสัดส่วนขยับมาเป็นร้อยละ 57.6 ต่อ ร้อยละ 38 สำหรับคำถามที่ว่าพอใจกับการแสดงวันผลิต-วันหมดอายุที่เห็นอยู่แค่ไหน ได้รับคำตอบว่า พอใจ ร้อยละ 52.7 ไม่พอใจ ร้อยละ 42.8 และไม่แสดงความคิดเห็นอีกร้อยละ 4.4 จากการตอบแบบสอบถาม แสดงว่าการแสดงวันผลิต-วันหมดอายุบนบรรจุภัณฑ์ในปัจจุบันค่อนข้างมีปัญหา และควรที่จะมีการปรับปรุงรูปแบบ ยิ่งไปกว่านั้นเมื่อถามความเข้าใจเรื่องวันหมดอายุว่า คำว่า “วันหมดอายุ” เหมือนหรือต่างอย่างไรกับคำว่า “ควรบริโภคก่อน” พบว่า ร้อยละ 47.3 ตอบว่า เหมือนกัน ร้อยละ 48.1 ตอบว่า ต่างกัน และร้อยละ 4.6 ไม่ตอบ ซึ่งชี้ให้เห็นว่าความเข้าใจเรื่องวันผลิต-วันหมดอายุของผู้บริโภคยังคงเป็นปัญหาและตามมาซึ่งคำถามว่าปัญหานี้เกิดจากอะไร ระหว่าง การใช้คำที่สร้างความสับสนให้เหมือนว่าใช้แทนกันได้ทั้งที่ควรจะมีการบังคับทางกฎหมายต่างกัน หรือความเข้าใจพื้นฐานของผู้บริโภคน้อย หรือ ระบบไม่ต้องการให้คนเข้าใจได้ กันแน่ ท้ายที่สุด เมื่อถามถึงรูปแบบการแสดงวันผลิต-วันหมดอายุที่อยากเห็น เราได้รับคำตอบว่า ร้อยละ 49.2 อยากเห็นการแสดงทั้งวันผลิตและวันหมดอายุโดยให้มีแต่คำว่า “วันหมดอายุ” เพียงอย่างเดียว โดยไม่ต้องมีคำว่า “ควรบริโภคก่อน” มาเป็นตัวเลือกของผู้ประกอบการ ขณะที่ร้อยละ 29.5 ต้องการแบบเดียวกับข้อแรกแต่ให้เปลี่ยนจากคำว่า “วันหมดอายุ” มาเป็น “ควรบริโภคก่อน” แต่อย่างเดียว ซึ่งจากสัดส่วนที่ออกมาเห็นได้ชัดเจนว่าผู้บริโภคไม่อยากเห็นการแสดงคำที่สร้างความสับสนอย่างคำว่าว่า “วันหมดอายุ” และ “ควรบริโภคก่อน” ไว้ด้วยกันโดยให้เป็นตัวเลือกของผู้ประกอบการ หากแต่ต้องการความชัดเจนอย่างใดอย่างหนึ่งไปเลย --------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------- ความหมายและความสำคัญของฉลากอาหาร “ฉลากอาหาร” คืออะไร? บางคนตอบว่ากระดาษ/พลาสติกที่มีตัวหนังสือพิมพ์ติดอยู่ข้างขวด บ้างก็ตอบว่าลวดลายและตัวอักษรที่ติดอยู่บนซองขนม และอีกหลายคนตอบว่าข้อความบรรยายสรรพคุณของอาหาร ซึ่งคำตอบของคำถามนี้ คือ ถูกทุกข้อ โดยตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 ให้คำนิยามไว้ว่าคือ “รูป รอยประดิษฐ์ เครื่องหมาย หรือข้อความใด ๆ ที่แสดงไว้ที่อาหาร ภาชนะบรรจุอาหารหรือหีบห่อของภาชนะบรรจุอาหาร” และตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่ 194 พ.ศ. 2543 เรื่องฉลากอาหารได้กำหนดให้อาหารทุกชนิดที่ผู้ผลิตไม่ได้เป็นผู้ขายอาหารนั้นให้กับผู้บริโภคโดยตรงต้องแสดงฉลากบนภาชนะบรรจุ โดยกำหนดให้แสดงข้อมูลที่สามารถแบ่งกลุ่มตามวัตถุประสงค์การแสดงได้เป็น 4 กลุ่มได้แก่ ข้อมูลความปลอดภัย ประกอบด้วย วันที่ผลิต/หมดอายุ วิธีการเก็บรักษา วิธีปรุง และคำเตือนต่างๆ ข้อมูลความคุ้มค่า ประกอบด้วย ชื่อ/ประเภทของอาหาร ส่วนประกอบซึ่งเรียงลำดับตามปริมาณที่ใช้จากมากไปน้อย และปริมาณอาหาร (น้ำหนักหรือปริมาตร) ในภาชนะบรรจุ ข้อมูลเพื่อการโฆษณา ได้แก่ รูปภาพและข้อความกล่าวอ้างต่าง ๆ  และ ข้อมูลเพื่อแสดงความเชื่อมั่น ได้แก่ ยี่ห้ออาหาร ชื่อและที่อยู่ของผู้ผลิต ผู้จำหน่ายหรือผู้นำเข้า เครื่องหมาย อย.  และตราสัญลักษณ์ต่าง ๆ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 124 ตรวจฉลากบะหมี่สำเร็จรูป(อีกสักครั้ง)

  ตามที่สัญญาไว้ในฉบับที่แล้วว่า จะพาท่านผู้อ่านไปดูการให้ข้อมูลบนฉลากของอาหารกึ่งสำเร็จรูปแบบซองเดี่ยวชนิดซองต่อซอง ยี่ห้อต่อยี่ห้อของผู้ประกอบการในตลาด ฉลาดซื้อจึงได้เก็บตัวอย่างอาหารกึ่งสำเร็จรูปในตลาดเท่าที่หาได้จากห้างบิ๊กซีสาขาสะพานควาย และร้านสะดวกซื้อ เซเว่นอีเลฟเว่นสาขาต่าง ๆ  รวมจำนวน 37 ตัวอย่าง ตัวอย่างละ 1 รสชาติ แบ่งตามตราสินค้าได้เป็น 12 ยี่ห้อ   ผลการทดสอบผู้ประกอบการกว่าครึ่งแสดงข้อมูลที่ต้องแสดงครบถ้วน ยกเว้นคำแนะนำในการเก็บรักษา (ซึ่งประกาศกระทรวงสาธารณสุขเปิดช่องไว้ให้ใส่หรือไม่ก็ได้เพราะใช้คำว่า “ถ้ามี”) ที่ผู้ประกอบการหลายตราสินค้าไม่ได้แสดง ได้แก่ ตราสินค้าไวไว ไวไวควิก ซื่อสัตย์ ฮาร์โมนีไลฟ์ และอินโดหมี่   สำหรับการเปรียบเทียบการแสดงข้อมูลรายการต่อรายการนั้นฉลาดซื้อขอนำเสนอใน 2 ประเด็นคือ การแสดงวันผลิต/วันหมดอายุ และฉลากโภชนาการ   วันผลิต/วันหมดอายุพบว่า การแสดงข้อมูลในส่วนของวันผลิต/วันหมดอายุหรือควรบริโภคก่อน ไม่เป็นมาตรฐานเดียวกัน การแสดงฉลากค่อนข้างสับสนและมีรูปแบบที่แตกต่างกันไปในผู้ประกอบการแต่ละตราสินค้า เช่น บางรายแสดงทั้งวันผลิต/วันหมดอายุหรือควรบริโภคก่อนโดยใช้คำภาษาไทยกำกับให้ดูบนซองแล้วใช้เลขหกหลักโดยไม่มีจุดหรือไม่เว้นวรรค เช่น มาม่า บางรายใช้เลขหกหลักกับจุดคั่นเพื่อให้รู้ว่าเป็นวัน/เดือน/ปี เช่น ยำยำ บางรายใช้เว้นวรรค เช่น อินโดหมี่ บางรายแสดงปีก่อนแล้วค่อยแสดงวันกับเดือน เช่น บะหมี่ผักอบแห้งโมโรเฮยะรสเห็ดหอมตราฮาโมนีไลฟ์  อย่างไรก็ตามมีข้อสังเกตเพิ่มเติมว่า แม้แต่ตราสินค้าเดียวกันแต่ต่างประเภทเส้นก็ยังมีการแสดงรายละเอียดที่ต่างกัน เช่น วุ้นเส้นกึ่งสำเร็จรสต้มยำกุ้งกับบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปรสหมูสับต้มยำน้ำข้นตรามาม่า ที่ตัวอย่างแรกแสดงคำว่าควรบริโภคก่อนเป็นภาษาไทย แล้วแสดงเลขหกตัวซึ่งน่าจะเป็น วัน/เดือน/ปี พร้อมด้วยล็อตผลิตเป็นตัวอักษรภาษาอังกฤษ ขณะที่ตัวอย่างหลังแสดงคำว่า “วันที่ผลิต/วันที่ควรบริโภคก่อน ดูบนซอง” แล้วแสดงคำภาษาอังกฤษว่า MFG ตามด้วยเลขหกหลัก (090511) กับตัวอักษรภาษาอังกฤษและตัวเลข (H22) บรรทัดถัดมาแสดงคำภาษาอังกฤษว่า BBE ตามด้วยเลขหกหลัก (091111)   ผู้ประกอบการที่แสดงแต่วันที่ผลิตอย่างเดียวได้แก่ ตราสินค้าไวไว กับ เอฟเอฟ โดยที่รายแรกส่วนใหญ่แสดงเป็นคำภาษาไทยว่า “ผลิต” ตามด้วยเลขหกหลักส่วน รายหลังแสดงคำว่า “ผลิต (MFG)” ตามด้วยเลขหกตัวมีจุดคั่นเพื่อแสดงวัน/เดือน/ปี ในทางกลับกันตราสินค้าของผู้ประกอบการที่แสดงแต่วันหมดอายุหรือควรบริโภคก่อนเพียงอย่างเดียว ได้แก่ มาม่าประเภทเส้นกึ่งสำเร็จรูปอื่นที่ไม่ใช่เส้นบะหมี่ ซื่อสัตย์ อินโดหมี่ เกษตร และ ฮาโมนีไลฟ์   ข้อเสนอ ควรให้มีการใช้คำเป็นภาษาไทยว่า วันผลิต และ วันหมดอายุ ตามด้วยวัน/เดือน/ปี (ปีที่ใช้ควรเป็นแบบเดียวกัน เลือกเอาอย่างใด อย่างหนึ่งว่าจะใช้ ปี พ.ศ. หรือ ปี ค.ศ.) โดยที่จะมีภาษาอังกฤษเป็นตัวย่อต่อท้ายหรือไม่ก็ได้ และควรแสดงข้อความดังกล่าวไว้ในตำแหน่งเดียวกันบนฉลากในทุกผลิตภัณฑ์ เพื่อให้ผู้บริโภคสังเกตได้ง่าย   ฉลากโภชนาการ การแสดงฉลากโภชนาการมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ข้อมูลและความรู้ด้านคุณค่าทางโภชนาการของอาหารแก่ประชาชน อันเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคทางด้านอาหารและโภชนาการ อย่างไรก็ตาม สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กำหนดให้การแสดงฉลากโภชนาการเป็นไปโดยสมัครใจเว้นแต่มีการกล่าวอ้างทางโภชนาการหรือมีการใช้คุณค่าในการส่งเสริมการขาย (ในกรณีอาหารกึ่งสำเร็จรูป) จากการตรวจสอบข้อมูลบนฉลากอาหารกึ่งสำเร็จรูปทั้ง 37 ตัวอย่างพบว่าอยู่ในระดับที่ไม่น่าพอใจ มีเพียง 1 ใน 3 (13 ตัวอย่าง) ที่แสดงข้อมูลโภชนาการ โดยที่ 6 ตัวอย่างเป็นของผู้ประกอบการตราสินค้ามาม่า (มีการกล่าวอ้างคุณค่าบนฉลากอาหาร)  ขณะที่ผลิตภัณฑ์จำนวน 24 ตัวอย่าง (2 ใน 3) ไม่มีการแสดงข้อมูลโภชนาการ โดยทั้งร้อยเปอร์เซ็นต์ของตัวอย่างที่ไม่แสดงข้อมูลโภชนาการ ได้แก่ ตราสินค้ายำยำจัมโบ้และยำยำช้างน้อย ไม่มีการแสดงข้อมูลโภชนาการเลย ถัดมาคือ ไวไวและไวไวควิก ที่มีเพียงตัวอย่างเดียวที่แสดงข้อมูลโภชนาการ ปิดท้ายด้วยตราสินค้ามาม่า ซึ่งกว่าครึ่งหนึ่งของตัวอย่างที่ทดสอบ ไม่แสดงข้อมูลโภชนาการ ขณะที่มาม่าบิ๊กแพ็คทั้งหมดไม่มีการแสดงข้อมูลโภชนาการ   ถ้าหากนำผลิตภัณฑ์มาให้ฉลากในลักษณะสัญญาณไฟจราจร พบว่าเกือบทั้งหมดมีโซเดียมสูง ติดระดับไฟแดง โดยเฉพาะยี่ห้อ เอฟเอฟที่ให้โซเดียมสูงถึง 2 กรัม (2,000 มิลลิกรัม) คิดเป็นร้อยละ 83 ของความต้องการสารอาหารต่อวัน ส่วนตัวอย่างที่มีระดับคะแนนโดยภาพรวมดีที่สุด ได้แก่ บะหมี่ผักอบแห้งโมโรเฮยะรสเห็ดหอมตราฮาโมนีไลฟ์ ที่ได้เกณฑ์คะแนนเป็นสีเขียวเกือบทั้งหมดยกเว้นโซเดียมที่ได้สีแดง  สรุปในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ควรเลือกจากการให้ข้อมูลบนฉลากเป็นสำคัญ ดูวันผลิต/วันหมดอายุหรือควรบริโภคก่อน ข้อความเฉพาะของวัตถุเจือปนอาหารเมื่อมีการใช้ และข้อมูลโภชนาการ แนะนำให้สนับสนุนผู้ประกอบการที่แสดงวันผลิตและวันหมดอายุ เป็นภาษาไทยบนฉลาก หลีกเลี่ยงการบริโภคอาหารกึ่งสำเร็จรูปของผู้ประกอบการตราสินค้าที่ไม่แสดงข้อมูลโภชนาการ และหลีกเลี่ยงการบริโภคอาหารกึ่งสำเร็จรูปเกินกว่า 1 ซองต่อวันเนื่องจากมีโซเดียมสูงอันอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพได้ -------------------------------------------------------------------------------- การเก็บสินค้าและเกณฑ์ที่ใช้ในการพิจารณา เก็บตัวอย่างอาหารกึ่งสำเร็จรูปจากห้างบิ๊กซีสาขาสะพานควาย และร้านสะดวกซื้อ เซเว่นอีเลฟเว่นสาขาต่าง ๆ  รวมจำนวน 37 ตัวอย่าง ตัวอย่างละ 1 รสชาติ แบ่งตามตราสินค้าได้เป็น 12 ยี่ห้อ  ได้แก่  มาม่า 12 ตัวอย่าง มาม่าบิ๊กแพ็ค 3 ตัวอย่าง ไวไว 6 ตัวอย่าง ไวไวควิก 3 ตัวอย่าง ยำยำจัมโบ้  5 ตัวอย่าง ยำยำช้างน้อย 2 ตัวอย่าง เทสโก้ เกษตร  ฮาร์โมนีไลฟ์ อินโดหมี่ เอฟเอฟ และ ซื่อสัตย์ อย่างละ 1 ตัวอย่าง   พิจารณาตามเกณฑ์การแสดงฉลากตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 194) พ.ศ. 2543 เรื่องฉลากจำนวน 15 รายการ ซึ่งเมื่อจัดกลุ่มรวมจะเหลือ 10 รายการ ได้แก่ ชื่ออาหาร เลขสารบบอาหาร ชื่อและที่ตั้งของผู้ผลิตหรือผู้แบ่งบรรจุ ปริมาณของอาหาร ส่วนประกอบที่สำคัญ ข้อความเฉพาะของวัตถุเจือปนอาหารเมื่อมีการใช้ วันผลิต/วันหมดอายุ คำแนะนำในการเก็บรักษา วิธีปรุงเพื่อรับประทาน/คำแนะนำในการบริโภค และข้อมูลโภชนาการ (ตามสมัครใจ) --------------------------------------------------------------------------------      

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 123 ตรวจสอบการให้ข้อมูลบนฉลากของอาหารกึ่งสำเร็จรูปแบบบรรจุห่อรวม

  บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเป็นเสบียงคู่ครัวคนไทยสมัยใหม่มาอย่างยาวนาน เท่าที่ผู้เขียนทราบก็ราว ๆ ปี พ.ศ. 2514 – 2515 จนถึงปัจจุบัน โดยมียี่ห้อแรกคือ ซันวา นิตยสารฉลาดซื้อได้เคยลงบทความทดสอบปริมาณโซเดียม (เกลือ และ ผงชูรส) มาแล้ว ครานี้ผมขอนำบทความเกี่ยวกับบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปมาเสนอผู้อ่านอีกครั้ง แต่ครั้งนี้เราจะไม่พูดถึงคุณภาพของผลิตภัณฑ์แต่อย่างใด หากแต่เป็นเรื่องของ ฉลาก และการให้ข้อมูลบนฉลาก ที่ต้องพูดคุยกันมาก ฉบับนี้เลยขอนำเสนอการเปรียบเทียบฉลากภายนอกของอาหารกึ่งสำเร็จรูปชนิดจัดชุดก่อน และฉบับหน้าจะพาท่านผู้อ่านไปดูรายละเอียดฉลากชนิดซองต่อซอง ยี่ห้อต่อยี่ห้อของผู้ประกอบการรายต่าง ๆ ในตลาดว่าค่ายใดจะให้ข้อมูลกับผู้บริโภคมากกว่ากัน   ฉลากและความสำคัญคำว่า ฉลาก ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน หมายความว่า รูป รอยประดิษฐ์ เครื่องหมายหรือข้อความใด ๆ ที่แสดงไว้ที่ภาชนะหรือหีบห่อบรรจุยา อาหาร หรือผลิตภัณฑ์อื่น เช่น ฉลากยา ฉลากเครื่องสําอาง  ส่วนคำว่า ฉลากอาหาร นั้น พระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 ระบุว่าหมายรวมถึง รูป รอยประดิษฐ์ เครื่องหมาย หรือข้อความใด ๆ ที่แสดงไว้ที่อาหาร ภาชนะบรรจุอาหาร หรือหีบห่อของภาชนะที่บรรจุอาหาร  ฉลากอาหารเป็นแหล่งข้อมูลของผู้บริโภค ที่จะทำให้ผู้บริโภคได้ทราบข้อมูลที่จำเป็นเกี่ยวกับอาหารนั้น ๆ ในการแสดงข้อมูลบนฉลากอาหาร ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 194) พ.ศ. 2543 เรื่องฉลาก ได้กำหนดไว้ว่า “ฉลากของอาหารที่จำหน่ายต่อผู้บริโภค ต้องมีข้อความเป็นภาษาไทยแต่จะมีภาษาต่างประเทศด้วยก็ได้ และจะต้องมีข้อความแสดงรายละเอียดดังต่อไปนี้…” สำหรับข้อมูลที่ประกาศฉบับนี้ระบุให้แสดงนั้นมีทั้งหมด 15 รายการ   ในปัจจุบันสินค้าหลายชนิดถูกวางขายในห้างค้าปลีกขนาดใหญ่และห้างสรรพสินค้าในลักษณะแพ็กชุดใหญ่ เช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป เครื่องดื่มชงชนิดต่างๆ เพื่อส่งเสริมการขายให้มากขึ้น เพราะการซื้อแบบแพ็กชุดราคาจะถูกลงเมื่อเทียบเป็นจำนวนชิ้น ในกรณีฉลากสำหรับบรรจุภัณฑ์ภายนอกของอาหารชนิดจัดชุดนั้น ตามหลักการควรที่จะมีการแสดงข้อมูลในระดับเดียวกันกับการแสดงข้อมูลที่อยู่ในซองย่อยที่อยู่ภายในซองบรรจุภัณฑ์รวม เพราะไม่เช่นนั้นจะรู้ได้อย่างไรว่า ผลิตภัณฑ์ข้างในเป็นอย่างไร เนื่องจากไม่สามารถแกะแยกห่อออกมาดูได้  ฉลาดซื้อจึงได้ลองใช้เกณฑ์ขั้นต่ำที่พึงแสดงตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขเรื่องฉลากที่ต้องแสดงจำนวน 4 รายการ ได้แก่ ชื่ออาหาร ชื่อและที่ตั้งของผู้ผลิตหรือผู้แบ่งบรรจุ ปริมาณของอาหารเป็นระบบเมตริก (น้ำหนักสุทธิ-กรัมหรือกิโลกรัม/ ปริมาตรสุทธิ-มิลลิลิตรหรือลิตร) และวันเดือนและปีที่ผลิต วันเดือนและปีที่หมดอายุการบริโภค หรือ วันเดือนและปีที่อาหารยังมีคุณภาพดี โดยมีข้อความว่า “ผลิต” “หมดอายุ” หรือ “ควรบริโภคก่อน” กำกับไว้ด้วยแล้วแต่กรณี มาใช้เป็นเกณฑ์ประกอบการพิจารณากับตัวที่บรรจุภัณฑ์ที่ห่อหุ้มสินค้าชนิดแพ็กชุด  โดยตัวอย่างทดสอบชุดแรก มาจากกรณีร้องเรียนของผู้บริโภครายหนึ่งที่ ร้องเรียนกับศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคเมื่อกลางเดือนเมษายน เรื่องซื้อสินค้าหมดอายุเนื่องจากการไม่เห็นวันผลิต – วันหมดอายุ บนบรรจุภัณฑ์ของผลิตภัณฑ์ 3 ห่อได้แก่ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปรสต้มยำกุ้งน้ำข้น ตรามาม่า ชนิดห่อแบบจัดชุด 6 ซอง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปรสต้มยำกุ้ง ตรามาม่า ชนิดจัดชุด 10 ซอง และบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปรสหมูสับ ตรายำยำ จัมโบ้ ชนิดจัดชุด 10 ซอง ที่ผู้ร้องซื้อจากห้างบิ้กซี สาขาสะพานควายเมื่อเดือนมีนาคม   จากการตรวจสอบหลักฐานเบื้องต้นที่ผู้ร้องส่งมา พบว่าซองภายนอกของผลิตภัณฑ์ทั้ง 3 ห่อ ไม่มีการระบุ วันผลิต – วันหมดอายุ แต่มีการระบุวัน เวลา ดังกล่าวไว้ในบรรจุภัณฑ์ย่อยแต่ละซองที่อยู่ภายในซองใหญ่ ในการหาข้อมูลเพิ่มเติมผู้เขียนจึงได้ไปเก็บตัวอย่างเพิ่มเติมเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2554 จากห้างที่ผู้ร้องไปใช้บริการจำนวน 3 ตัวอย่าง และจากร้านท็อปซูเปอร์มาเก็ต สาขาโรงภาพยนตร์เซ็นจูรี่ จำนวน 5 ตัวอย่าง รวม 8 ตัวอย่างได้แก่ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปรสหมูสับต้มยำ ตราไวไว ชนิด 10 ซอง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปรสต้มยำกุ้ง ตราไวไว ชนิด10 ซอง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปรสกุ้งนึ่งมะนาว ตราไวไวควิก ชนิด 5 ซอง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปรสต้มยำหมูสับ ตรา ยำยำจัมโบ้ ชนิด 6 ซอง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปรสต้มยำทะเลหม้อไฟ ตรายำยำจัมโบ้ ชนิด 6 ซอง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปรสเย็นตาโฟต้มยำหม้อไฟ ตรามาม่า ชนิด 10 ซอง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปรสไก่กระเทียม ตราซื่อสัตย์ ชนิด 6 ซอง และวุ้นเส้นกึ่งสำเร็จรูปรสต้มยำกุ้ง ตราเกษตร ชนิด 4 ซอง แล้วนำมารวมกับตัวอย่างเก่าที่ผู้ร้องส่งมาให้รวมทั้งหมด 11 ตัวอย่าง เพื่อตรวจสอบลักษณะการแสดงข้อมูลขั้นต่ำแก่ผู้บริโภค จำนวน 4 รายการได้แก่ ชื่ออาหาร ชื่อและที่ตั้งของผู้ผลิตหรือผู้แบ่งบรรจุ ปริมาณของอาหารเป็นระบบเมตริก และ วันผลิต – วันหมดอายุ รวมไปถึงตรวจดูลักษณะบรรจุภัณฑ์บนซองภายนอกของผลิตภัณฑ์   ผลการทดสอบพบว่า1. เกือบทุกตัวอย่าง แสดงชื่อสินค้าและตราสินค้าบนซองภายนอกบรรจุภัณฑ์ แม้ว่าซองที่บรรจุจะเป็นซองใสก็ตาม ยกเว้น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปรสไก่กระเทียม ตราซื่อสัตย์ ที่ได้แสดงข้อมูลไว้ในห่อภายในของบรรจุภัณฑ์โดยที่ห่อภายนอกเป็นพลาสติกใส สามารถมองทะลุได้อย่างชัดเจน  2. ไม่มีตัวอย่างใดแสดงชื่อและที่ตั้งของผู้ผลิตหรือผู้แบ่งบรรจุบนซองภายนอกของบรรจุภัณฑ์ 3. มีตัวอย่างจำนวน 7 ตัวอย่างจาก 11 ตัวอย่างแสดงปริมาณของอาหารไว้บนห่อรวมบรรจุภัณฑ์ โดยที่ 3 ตัวอย่างแสดงไว้ด้านหลังบรรจุภัณฑ์ ได้แก่ ยำยำจัมโบ้รสต้มยำหมูสับชนิด 6 ซอง ยำยำจัมโบ้รสต้มยำทะเลหม้อไฟชนิด 6 ซอง และไวไวรสต้มยำกุ้งชนิด 10 ซอง อีก 4 ตัวอย่างแสดงไว้ด้านหน้าบรรจุภัณฑ์ได้แก่ มาม่ารสต้มยำชนิด 10 ซอง มาม่ารสเย็นตาโฟต้มยำหม้อไฟ ชนิด 10 ซอง มาม่ารสต้มยำกุ้งน้ำข้นชนิด 6 ซอง และยำยำจัมโบ้รสหมูสับชนิด 10 ซอง  4. ไม่มีตัวอย่างใดแสดงวันผลิต-วันหมดอายุบนห่อรวมบรรจุภัณฑ์ หากแต่มีการแสดงข้อมูลวันผลิต วันหมดอายุ หรือวันบริโภคก่อน ภายในบรรจุภัณฑ์ย่อยในทุกผลิตภัณฑ์ อย่างไรก็ตามมีตัวอย่างจำนวน 3 ตัวอย่างที่ไม่สามารถเห็นวันผลิต – วันหมดอายุในผลิตภัณฑ์ด้านในซอง ได้อย่างชัดเจน เนื่องจากซองรวมบรรจุภัณฑ์มีลักษณะปิดทึบทั้งหมดหรือเกือบทั้งหมด ได้แก่ รสเย็นตาโฟต้มยำหม้อไฟ ชนิด 10 ซอง ยำยำจัมโบ้รสต้มยำทะเลหม้อไฟ ชนิด 6 ซอง ยำยำจัมโบ้รสต้มยำหมูสับ ชนิด 6 ซอง  5. ลักษณะของบรรจุภัณฑ์แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มได้แก่ (1) บรรจุภัณฑ์ที่เป็นพลาสติกใสทั้งหมดหรือใสบางส่วนแต่สามารถเห็นได้ครบทุกด้านทั้งซ้าย ขวา หน้า และหลัง บรรจุภัณฑ์กลุ่มนี้มี 3 ตัวอย่าง คือ ซื่อสัตย์รสไก่กระเทียม ชนิดจัดชุด 6 ซอง ไวไวควิกรสกุ้งนึ่งมะนาว ชนิดจัดชุด 5 ซอง และ วุ้นเส้นกึ่งสำเร็จรูปรสต้มยำตราเกษตร ชนิดจัดชุด 4 ซอง (2) บรรจุภัณฑ์ที่เป็นพลาสติกประกอบลวดลายด้านหน้าและหลังแต่เปิดพื้นที่ว่างด้านซ้ายและขวาให้มองเห็นสิ่งที่อยู่ข้างในได้ บรรจุภัณฑ์กลุ่มนี้มี 4 ตัวอย่าง ได้แก่ มาม่ารสต้มยำกุ้ง ชนิดจัดห่อ 10 ซอง มาม่ารสต้มยำกุ้งน้ำข้น ชนิดจัดชุด 6 ซอง ยำยำจัมโบ้รสหมูสับ ชนิดจัดชุด 10 ซอง และไวไวรสต้มยำกุ้ง ชนิดจัดชุด 10 ซอง (3) บรรจุภัณฑ์ที่เป็นพลาสติกประกอบด้วยรูปหรือลวดลายปิดหมด 3 ด้านเปิดพื้นที่ใสให้เห็นด้านในเพียงด้านเดียวหรือปิดทั้ง 4 ด้านจนไม่สามารถเห็นสิ่งที่อยู่ด้านในได้ บรรจุภัณฑ์กลุ่มนี้มีทั้งหมด 4 ตัวอย่าง ได้แก่ มาม่ารสเย็นตาโฟต้มยำหม้อไฟ ชนิดจัดชุด 10 ห่อ ยำยำจัมโบ้รสต้มยำทะเลหม้อไฟ ชนิดจัดชุด 6 ซอง ยำยำจัมโบ้รสต้มยำหมูสับ ชนิดจัดชุด 6 ซอง และไวไวรสหมูสับต้มยำชนิดจัดชุด 10 ซอง   ข้อสังเกต1. ถึงแม้ผลิตภัณฑ์จะเป็นตราสินค้าเดียวกันแต่หากต่างรสกัน ไม่เสมอไปที่การแสดงข้อมูลจะเป็นแบบเดียวกัน ยกตัวอย่างเช่น ไวไวรสหมูสับต้มยำชนิดจัดชุด 10 ซอง กับ ไวไวรสต้มยำกุ้งชนิดจัดชุด 10 ซอง ที่ตัวอย่างแรกมีการแสดงข้อมูลเพียงชื่อและตราสินค้าร่วมกับตัวอักษรขนาดใหญ่ว่าจัดชุด 10 ซอง ขณะที่ตัวอย่างหลังมีการแสดงข้อมูลสำคัญทุกอย่างเกือบครบถ้วนรวมไปถึง ข้อมูลโภชนาการด้วย 2. มีเพียง 2 ตัวอย่างเท่านั้นที่มีการแสดงคำว่า ผลิต หรือ ควรบริโภคก่อน เป็นภาษาไทยอยู่ในบรรจุภัณฑ์ ได้แก่ วุ้นเส้นกึ่งสำเร็จรูปรสต้มยำกุ้งตราเกษตร ชนิดจัดชุด 4 ซอง และ ไวไวรสต้มยำกุ้ง ชนิดจัดชุด 10 ซอง  3. ไม่มีรูปแบบตายตัวของการแสดงข้อมูลสำคัญของผู้ผลิตบนห่อใหญ่ของบรรจุภัณฑ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง วันผลิต วันหมดอายุ หรือ ควรบริโภคก่อน อีกทั้ง เมื่อมองเข้าไปในบรรจุภัณฑ์ย่อย ยังพบว่าหน่วยปีที่ใช้ก็ยังมีความแตกต่างกัน ขณะที่ส่วนใหญ่ใช้ปี ค.ศ. แต่ก็ยังมีบางรายใช้ปี พ.ศ. ในการอ้างอิง เช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปรสไก่กระเทียมตราซื่อสัตย์ เป็นต้น  สรุป การแสดงฉลากของอาหารกึ่งสำเร็จรูปชนิดจัดชุดอยู่ในระดับไม่น่าพอใจเนื่องจากมีการแสดงข้อมูลสำคัญที่จำเป็นไม่เพียงพอโดยเฉพาะอย่างยิ่ง วันผลิต วันหมดอายุ หรือ ควรบริโภคก่อน   ยิ่งไปกว่านั้น ในกรณีที่มีการกล่าวอ้างทางโภชนาการ หรือ มีการใช้คุณค่าในการส่งเสริมการขาย เช่น มาม่ารสต้มยำกุ้ง ชนิดบรรจุ 10 ซอง ระบุว่ามีธาตุไอโอดีน เหล็ก และวิตามินเอ บนฉลากทั้งซองรวมภายนอกและซองเล็กภายในแต่บนซองรวมกลับไม่มีการระบุฉลากโภชนาการไว้ จริงอยู่ว่ามีการแสดงข้อมูลโภชนาการไว้ภายในซองเล็ก และลักษณะซองภายนอกอาจจะมีลักษณะใสมองเห็นด้านในได้บางส่วน แต่การจัดวางบรรจุภัณฑ์ทำให้มองไม่เห็นข้อมูลเหล่านี้  ดังนั้น ในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์นี้ชนิดจัดชุด ควรดูที่การแสดงข้อมูลบนบรรจุภัณฑ์ภายนอก หากไม่มีการแสดงข้อมูลวันผลิต-วันหมดอายุ ที่เห็นได้ชัดเจน ผู้บริโภคไม่น่าจะสนับสนุน ผู้ประกอบการรายนั้นๆ และควรส่งเสริมผู้ประกอบการที่ทำดี ทำฉลากชัดเจนจะดีกว่า   ตารางเปรียบเทียบการแสดงข้อมูลบนฉลากของอาหารกึ่งสำเร็จรูปชนิดบรรจุห่อรวม ผลิตภัณฑ์/ยี่ห้อ ชื่ออาหาร ชื่อและที่ตั้งของผู้ผลิตหรือผู้แบ่งบรรจุ ปริมาณของอาหาร วันผลิต – วันหมดอายุ ลักษณะบรรจุภัณฑ์ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปรสต้มยำกุ้ง ตรามาม่า ชนิดจัดชุด 10 ซอง มี ไม่มี มี ไม่มี มีภาพประกอบและลวดลายด้านหน้าและหลังของบรรจุภัณฑ์แต่มองเห็นด้านข้างได้ทั้งสองด้าน โดยแสดงวันผลิต-วันหมดอายุ บนซองย่อยที่อยู่ภายในห่อรวม บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปรสต้มยำกุ้งน้ำข้น ตรามาม่า ชนิดจัดชุด 6 ซอง มี ไม่มี มี ไม่มี มีภาพประกอบและลวดลายด้านหน้าและหลังของบรรจุภัณฑ์แต่มองเห็นด้านข้างได้ทั้งสองด้าน โดยแสดงวันผลิต-วันหมดอายุ บนซองย่อยที่อยู่ภายในห่อรวม บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปรสเย็นตาโฟต้มยำหม้อไฟ ตรามาม่า ชนิดจัดชุด 10 ซอง มี ไม่มี มี ไม่มี มีภาพประกอบและลวดลายทั้งด้านหน้าและหลังของบรรจุภัณฑ์ ซองมีสีชมพูถึงชมพูเข้มทั้งซอง มีการแสดงวันผลิต-วันหมดอายุ บนซองย่อยที่อยู่ภายในห่อรวมแต่ไม่สามารถมองเห็นสิ่งของด้านในได้อย่างชัดเจน บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปรสหมูสับต้มยำ ตราไวไว ชนิดจัดชุด 10 ซอง มี ไม่มี ไม่มี ไม่มี มีภาพประกอบและลวดลายบนผลิตภัณฑ์ 3 ด้าน เปิดพื้นที่ให้เห็นด้านในได้หนึ่งด้าน โดยแสดงวันผลิต-วันหมดอายุ บนซองย่อย บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปรสต้มยำกุ้ง ตราไวไว ชนิดจัดชุด 10 ซอง มี ไม่มี มี ไม่มี มีภาพประกอบและการแสดงข้อมูลชื่ออาหาร ตราสินค้า เลขสารบบอาหาร (เลขอย.) ด้านหน้าของซองรวม ด้านหลังแสดงข้อมูลโภชนาการ วิธีปรุง ส่วนประกอบสำคัญ และคำแนะนำในการบริโภค และเปิดพื้นที่ด้านข้างทั้งสองข้างให้มองเห็นวันผลิต-วันหมดอายุที่อยู่ภายในซองย่อย บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปรสกุ้งนึ่งมะนาว ตราไวไวควิก ชนิดจัดชุด 5 ซอง มี ไม่มี ไม่มี ไม่มี เป็นซองใสมีลายเล็กน้อยตรงกลางด้านหน้าซอง ซึ่งเป็นที่ระบุข้อมูลชื่อและชนิดอาหารพร้อมบาร์โค้ดของซอง วันผลิต-วันหมดอายุอยู่ในซองย่อยแต่มองได้ไม่ชัดเจนเนื่องจากสีสันของบรรจุภัณฑ์ภายในมีมากเกินไป บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปรสหมูสับ ตรายำยำจัมโบ้ ชนิดจัดชุด 10 ซอง มี ไม่มี มี ไม่มี มีภาพประกอบและลวดลายด้านหน้าและหลังของบรรจุภัณฑ์แต่มองเห็นด้านข้างได้ทั้งสองด้าน โดยแสดงวันผลิต-วันหมดอายุ บนซองย่อยที่อยู่ภายในห่อรวม บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปรสต้มยำหมูสับ ตรายำยำจัมโบ้ ชนิดจัดชุด 6 ซอง มี ไม่มี มี ไม่มี มีภาพประกอบและลวดลายบนผลิตภัณฑ์ และมีสีทึบ 3 ด้าน เปิดพื้นที่ให้เห็นด้านในได้เพียงเล็กน้อยหนึ่งด้าน โดยมีลวดลายมากจนมองเห็นการแสดงวันผลิต-วันหมดอายุ บนซองย่อย ได้ไม่ชัดเจนหรือไม่เห็นเลย บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปรสต้มยำทะเลหม้อไฟ ตรายำยำจัมโบ้ ชนิดจัดชุด 6 ซอง มี ไม่มี มี ไม่มี มีภาพประกอบและลวดลายบนผลิตภัณฑ์ และมีสีทึบ 3 ด้าน เปิดพื้นที่ให้เห็นด้านในได้เพียงเล็กน้อยหนึ่งด้าน โดยมีการแสดงวันผลิต-วันหมดอายุ บนซองย่อย แต่ไม่สามารถเห็นได้เนื่องจากตำแหน่งของวันผลิต-วันหมดอายุที่อยู่ในซองย่อยไม่ตรงกับช่องที่เปิดไว้ให้เห็นด้านในเพียงเล็กน้อย วุ้นเส้นกึ่งสำเร็จรูปรสต้มยำกุ้ง ตราเกษตร ชนิดจัดชุด 4 ซอง มี ไม่มี ไม่มี ไม่มี เป็นซองใส มีข้อมูลชื่อและชนิดอาหารพร้อมบาร์โค้ดของซอง วันผลิต-วันหมดอายุ อยู่ในซองย่อย สามารถมองเห็นได้ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปรสไก่กระเทียม ตราซื่อสัตย์ ชนิดจัดชุด 6 ซอง ไม่มี ไม่มี ไม่มี ไม่มี เป็นซองใสมีลายเล็กน้อยตรงกลางด้านหน้าซอง ระบุตราสินค้าแต่ไม่ระบุชื่อสินค้า มีบาร์โค้ดของซอง วันผลิต-วันหมดอายุอยู่ในซองย่อยสามารถมองเห็นได้

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 174 กระแสต่างแดน

ยังไม่พร้อมความพร้อมในการอพยพผู้อยู่อาศัยในบริเวณรอบๆ โรงไฟฟ้าเซนได(ซึ่งคาดว่าจะกลับมาใช้งานได้ตั้งแต่วันที่ 10 สิงหาคม) ยังคงต่ำกว่าระดับค่าเฉลี่ยของญี่ปุ่นทั้งประเทศการสำรวจโดยหนังสือพิมพ์อาซาฮีพบว่า มีสถานพยาบาล 2 แห่งจาก 85 แห่ง และศูนย์พักฟื้น 15 แห่ง จาก 159 แห่งในรัศมี  30 กิโลเมตรจากโรงไฟฟ้าดังกล่าวเท่านั้นที่เตรียมพร้อมแผนอพยพในกรณีฉุกเฉินถ้ารวมความพร้อมในเขตโรงงานนิวเคลียร์ทั้งประเทศจะพบว่า มีเพียงร้อยละ 34 เท่านั้นจัดทำแผนอพยพแล้ว ในปี 2012 รัฐบาลญี่ปุ่นขยายเขตการเตรียมตัวเมื่อเกิดภัยพิบัติ จากรัศมี 8 – 10 กิโลเมตรเป็น 30 กิโลเมตร และกำหนดให้สถานพยาบาลต่างๆ ระบุสถานที่พักสำหรับคนไข้ เส้นทางการอพยพ รูปแบบการเดินทางขนส่งที่จะใช้ เพื่อไม่ให้เกิดความล่าช้าในการอพยพผู้ป่วยและชาวบ้านเหมือนเหตุการณ์ที่เมืองฟุกุชิมะนอกจากนี้ยังกำหนดให้เมืองและหมู่บ้าน 135 แห่งในรัศมี 30 กิโลเมตรของโรงไฟฟ้าทุกโรง รวบรวมรายชื่อผู้ที่ไม่สามารถอพยพด้วยตนเองได้เอาไว้ด้วย แต่การสำรวจพบว่า 1 ใน 4 ของหมู่บ้านเหล่านี้ยังไม่ได้ทำ ปัจจุบันเตาปฏิกรณ์ปรมาณูทุกตัวในญี่ปุ่นถูกพักงาน แต่บริษัทคิวชู อิเล็กทริก พาวเวอร์ กำลังผลักดันให้เซนไดเป็นโรงงานแรกที่เริ่มใช้งานเตาดังกล่าวอีกครั้ง ภายใต้มาตรการความปลอดภัยที่เข้มงวดขึ้น และในอนาคตอัน โรงไฟฟ้าทากาฮามาและโรงไฟฟ้าอิคาตะก็จะเริ่มเดินเครื่องเตาเหล่านี้เช่นกัน   ระวัง “ของนอก” อาหารปลอมจากจีนระบาดไปหลายประเทศ จึงไม่แปลกที่เราจะได้ยินข่าวว่าคนจีนก็ไม่ไว้ใจอาหารในประเทศตัวเองผู้ประกอบการหลายเจ้าจึงไม่ยอมพลาดโอกาสจัดหาสินค้าแบรนด์นอกเข้ามาสนองความต้องการของผู้บริโภคที่ต้องการอาหาร “ปลอดภัยและมีคุณภาพ”  นมผงสำหรับทารกเป็นหนึ่งในสินค้าที่ว่า บรรดาผู้ผลิตนมผงยี่ห้อที่ได้รับความน่าเชื่อถือในต่างประเทศต้องกำหนดโควตาการส่งออกไปยังประเทศจีน เพื่อไม่ให้เกิดการขาดแคลนในประเทศตัวเอง แม้แต่นักท่องเที่ยวที่ถือโอกาสไปหิ้วมาด้วยตนเองก็เริ่มพบอุปสรรค เพราะต้นทางเขาจำกัดจำนวนซื้อ (ฮ่องกงอนุญาตให้นักท่องเที่ยวจีนซื้อได้คนละ 2 กระป๋อง ออสเตรเลียให้ซื้อได้คนละ 4 กระป๋อง) โอกาสใหม่สำหรับพ่อค้าหัวใสจึงบังเกิด เขาเอาใจผู้นิยมของนอกด้วยการ “จ้าง” โรงงานในประเทศที่มีชื่อเสียงด้านผลิตภัณฑ์นม อย่างออสเตรเลีย เป็นผู้ผลิตให้ บนกระป๋องมีฉลากที่ระบุว่า “มาจากออสเตรเลีย” และ “ได้รับการรับรองโดยหน่วยงานที่ดูแลผลิตภัณฑ์นมของออสเตรเลีย” แล้วขายออนไลน์ในราคาถูกจนไม่น่าเชื่อขนาดรวมค่าจัดส่งแล้ว นมผงกระป๋องขนาด 1,800 กรัม ราคาประมาณ 600 บาทเท่านั้นมันเป็นสินค้า “จากออสเตรเลีย” ที่คุณหาซื้อไม่ได้ในออสเตรเลียแน่ๆ แล้วก็ได้แต่สงสัยว่ามัน “ผลิตในออสเตรเลีย” จริงหรือเปล่า  อยากรู้ ต้องได้รู้กฎหมายที่กำหนดให้ไม่ต้องมีการติดฉลากอาหารที่มีส่วนประกอบผ่านการดัดแปรพันธุกรรม หรือ  Safe and Accurate Food Labeling Act กำลังจะเข้าสู่การพิจารณาโดยวุฒิสภาอเมริกันเร็วๆ นี้ร่างกฎหมายนี้มีคนตั้งชื่อให้ว่า DARK Act หรือ Denying Americans the Right–to-Know Act เพื่อประชดที่กฎหมายดังกล่าวละเมิดสิทธิที่ผู้บริโภคจะได้รู้ว่ามีอะไรอยู่ในอาหารที่พวกเขารับประทาน Just Label It หนึ่งในองค์กรที่คัดค้านร่างกฎหมายดังกล่าวระบุว่า ร้อยละ 90 ของคนที่พวกเขาสอบถาม เห็นด้วยกับการติดฉลาก และยังมีอีกกว่า 200,000 คนที่ลงชื่อออนไลน์ว่าไม่เห็นด้วยกับ “พรบ. มืด” ดังกล่าว ดาราสาวกวินเน็ธ พาลโทรว์ ก็เป็นหนึ่งในนั้น เธอมาร่วมประท้วงในฐานะคุณแม่ที่ต้องการให้ลูกๆได้สิ่งที่ดีและสมควรได้รู้ว่าเธอกำลังให้พวกเขารับประทานอะไร  คุณแม่ของเธอก็มาด้วยเพราะเชื่อว่ายังมีเรื่องที่ต้องพิสูจน์อีกมากเกี่ยวกับความปลอดภัยของอาหารดัดแปรพันธุกรรม ด้านอุตสาหกรรมอาหารอ้างว่า การติดฉลากจะทำให้ผู้บริโภคสับสน แถมยังต้องจ่ายเงินมากขึ้นถึงปีละ 500 เหรียญ (17,500 บาท) ต่อครัวเรือน แถมยังแขวะดาราสาวว่าหาเรื่องเกาะกระแสแก้ตกเทรนด์หรือเปล่า    ปัจจุบัน จีน บราซิล รัสเซีย ออสเตรเลีย ประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรป และประเทศอื่นๆ รวม 64 ประเทศ มีกฎหมายบังคับการติดฉลากระบุว่ามีส่วนผสมที่ผ่านการดัดแปรพันธุกรรมแล้ว    โดนเรียกคุยหลังจากชาวเน็ตในสิงคโปร์พากันแชร์รูปพนักงานร้าน BreadTalk เทนมถั่วเหลืองยี่ห้อ Yeo’s ลงในขวดแบ่งของทางร้าน ที่ติดฉลากว่า “freshly prepared” (ซึ่งทำให้ผู้บริโภคเข้าใจว่าทางร้านทำเองทุกวัน)ทางร้านออกมาขอโทษและหยุดขายผลิตภัณฑ์ดังกล่าวแล้ว BreadTalk ยอมรับว่าเขาแบ่งนมถั่วเหลืองพาสเจอไรส์ยี่ห้อเย่วอี้มาใส่ขวดขายในร้านจริง ซึ่งก็เป็นเรื่องปกติที่ร้านอาหารนิยมทำ(แต่ร้านอื่นเขาไม่ได้ติดฉลากที่ว่านะคุณ)ร้านให้เหตุผลว่าปกติแล้วขวดเหล่านั้นเป็นขวดสำหรับใส่น้ำผลไม้คั้นสด ไม่ได้ใช้สำหรับนมถั่วเหลือง และจะดูแลไม่ให้เกิดเรื่องแบบนี้ขึ้นอีก  แต่นั่นยังไม่เพียงพอ สมาคมผู้บริโภคแห่งสิงคโปร์ CASE – Consumers Association of Singapore บอกว่าการกระทำดังกล่าวถือเป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้ และเรียกร้านขนมปังเจ้าดังสัญชาติสิงคโปร์ (ซึ่งมีสาขาอยู่ในบ้านเราด้วย) เข้ามาพูดคุยปรับความเข้าใจเนื่องจากฉลากทำให้เข้าใจได้ว่าทางร้านเป็นผู้ผลิตนมถั่วเหลืองเองทุกวัน ซึ่งสอดคล้องกับการมีราคาสูงกว่านมถั่วเหลืองที่เทจากกล่อง ผู้บริโภคจึงมีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากการกระทำดังกล่าวได้   บอลลิวูดลดโลกร้อนอุตสาหกรรมภาพยนตร์ก็ไม่ต่างจากอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่ใช้พลังงานมหาศาลและสร้างผลกระทบมากมายต่อสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นการเดินทางของทีมงาน นักแสดง การใช้แสง สี เสียง และเอฟเฟคต่างๆ รวมถึงอาหารการกิน ไหนจะวัสดุต่างๆที่นำมาสร้างฉากอีก ทั้งหมดนี้ล้วนทำให้เกิด “รอยเท้าคาร์บอน” ภาพยนตร์เรื่อง “Aisa Yeh Jahaan” เป็นภาพยนตร์อินเดียเรื่องแรกที่มีการบันทึกข้อมูลรอยเท้าคาร์บอน การถ่ายทำภาพยนตร์ดรามาเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมเรื่องนี้ สร้างคาร์บอนไดออกไซด์ 78.47 ตัน คิดจากการใช้พลังงานทั้งทางตรง (ไฟฟ้าที่ใช้) และทางอ้อม (อาหาร การเดินทาง ฯลฯ)  เพื่อเป็นการชดเชยมลพิษที่สร้างขึ้น ผู้สร้างต้องปลูกต้นไม้ทั้งหมด 560 ต้น แนวทางการวัดและจัดการร้อยเท้าคาร์บอนสำหรับอุตสาหกรรมภาพยนตร์ ถูกกำหนดขึ้นโดยสมาคมผู้ผลิตภาพยนตร์ BAFTA ของอังกฤษ และ PGA ของอเมริกา ที่ผ่านมาพบว่าหนังค่ายเล็กๆ จะสร้างคาร์บอนฯประมาณ 100 ตัน แต่ถ้าเป็นหนังฟอร์มยักษ์ ก็อาจสร้างคาร์บอนฯ ได้มากถึง 10,000 ตันอุตสาหกรรมภาพยนตร์ของลอนดอนเจ้าเดียวก็ทำให้เกิดคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 125,000 ตัน ต่อปี (เทียบเท่ากับปริมาณจากบ้าน 24,000 หลังเลยทีเดียว)  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 157 กระแสต่างแดน

รถยนต์ความเสี่ยงสูง ข่าวนี้สร้างความสั่นสะเทือนให้อุตสาหกรรมผลิตรถยนต์ขนาดเล็กในอินเดียไม่น้อย เมื่อองค์กรทดสอบรถยนต์ Global NCAP ได้ทดสอบความปลอดภัยของรถยนต์นั่งขนาดเล็กที่ผลิตและจำหน่ายในอินเดียจำนวน 5 รุ่น และพบว่าระดับคะแนนความปลอดภัยของทุกรุ่นเท่ากับ ... 0 ดาว (จากคะแนนเต็ม 5 ดาว) เขาทดสอบด้วยการชนด้านหน้า ที่ความเร็ว 64 กิโลเมตร/ชั่วโมง โดยรถรุ่นพื้นฐาน (ซึ่งไม่มีการติดตั้งถุงลมนิรภัย) เขาพบว่าโครงสร้างของ Suzuki Maruti Alto 800 / Tata Nano และ Hyundai i10 มีความปลอดภัยต่ำเสียจนกระทั่งแม้จะมีถุงลมนิรภัยก็ไม่สามารถช่วยป้องกันการบาดเจ็บสาหัสจากการชนได้ ส่วนอีก 2 รุ่นคือ Ford Figo และ Volkswagen Polo นั้น ยังพอทำเนาตรงที่มีโครงสร้างแข็งแรงกว่า และการติดตั้งถุงลมนิรภัยก็จะช่วยให้ปลอดภัยขึ้นได้ (หลังการทดสอบครั้งนี้ Volkswagen ประกาศเลิกขายรุ่นที่ไม่ทีถุงลมนิรภัย) Max Mosley ประธาน Global NCAP กล่าวว่าขณะนี้ระบบความปลอดภัยของรถยนต์อินเดียยังล้าหลังยุโรปหรืออเมริกาอยู่ถึง 20 ปี อีกครั้งที่ประชากรของประเทศที่สามารถผลิตรถยนต์ที่ผ่านมาตรฐานความปลอดภัยเพื่อส่งออกไปขายทั่วโลก กลับต้องขับรถยนต์ตกมาตรฐานอยู่ในบ้านตัวเอง ปีที่ผ่านมา รถยอดนิยมทั้ง 5 รุ่นมียอดขายรวมกันเป็นร้อยละ 20 ของยอดขายรถยนต์ทั้งหมดในอินเดีย     เลือกกินไม่ได้ ข้อมูลจากองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ระบุว่าความหลากหลายของการปลูกพืชเพื่อใช้เป็นอาหารในช่วงศตวรรษที่ 20 ลดลงไปถึงร้อยละ 75 และยิ่งไปกว่านั้น 1ใน 3 ของความหลากหลายที่เหลืออยู่ ณ วันนี้อาจจะหายไปภายในปี 2050 ด้วย ในรอบ 50 ปีที่ผ่านมาอาหารการกินของผู้คนในโลกเปลี่ยนไป และโลกาภิวัฒน์ด้านอาหารก็ทำให้ผู้คนที่อยู่ต่างถิ่นกันบริโภคอาหารที่เหมือนกันมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งพืชที่ให้พลังงานสูงอย่าง ข้าว มันฝรั่ง อ้อย และข้าวสาลี (อย่างหลังนี้เป็นหนึ่งในอาหารหลักในร้อยละ 97 ของประเทศทั่วโลก)  และพืชที่ไม่เคยมีความสำคัญเลยเมื่อ 50 ปีก่อนก็กลับมีความสำคัญขึ้น โดยเฉพาะพืชที่ปลูกเพื่อสกัดน้ำมันเช่น ถั่วเหลือง ซึ่งเป็นส่วนผสมสำคัญในอาหารใน 3 ใน 4 ของประเทศต่างๆ ทั่วโลก แม้พืชเหล่านี้จะช่วยบรรเทาความหิวโหยของประชากรโลกได้ แต่การบริโภคพืชที่ให้พลังงานสูงเป็นหลักก็เป็นสาเหตุของอัตราการเกิดโรคไม่ติดต่อเช่นโรคหัวใจหรือโรคเบาหวานด้วยเช่นกัน นี่ยังไม่นับว่าการปลูกพืชเชิงเดี่ยวนั้นเสี่ยงต่อความแห้งแล้ง แมลงศัตรูพืช และโรคต่างๆ ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้นเมื่อสภาวะอากาศเปลี่ยนแปลง และพันธุ์พืชบางชนิดยังถูกครอบครองโดยบรรษัทข้ามชาติเพียงไม่กี่ราย ซึ่งนิยมลงทุนในพืชเพียงไม่กี่สายพันธุ์อีกด้วย ทางเลือกในการกินของเราจึงถูกจำกัดด้วยประการฉะนี้     “มีฉลากก็ไม่ช่วย” ภายใต้กฎหมาย Affordable Care Act ของอเมริกานั้น ผู้ประกอบการตู้ขายอาหารอัตโนมัติหยอดเหรียญจะต้องติดฉลากโภชนาการแสดงปริมาณแคลอรี่ ไว้ในบริเวณใกล้ๆ กับจุดที่วางอาหาร(ขนมหวาน ของขบเคี้ยว น้ำอัดลม) กฎหมายที่จะมีผลภายในหนึ่งปีนี้มีผลกระทบต่อผู้ประกอบการที่มีตู้ขายอาหารอัตโนมัติตั้งแต่ 20 ตู้ขึ้นไป(ข่าวบอกว่ามีประมาณ 10,800 ราย) ร้านอาหารที่มีสาขามากกว่า 20 สาขาขึ้นไป ร้านสะดวกซื้อ และร้านขายของชำด้วย แต่ผู้เชี่ยวชาญด้านโยบายจาก Heritage Foundation บอกว่าที่ผ่านมานั้นชัดเจนแล้วว่าฉลากเปลี่ยนพฤติกรรมของคนอเมริกันไม่ได้ เขาว่ารัฐบาลอาจมาผิดทาง เพราะปัญหาคือประชาชนยังไม่สามารถตัดสินใจเลือกซื้ออาหารอย่างถูกต้อง จึงควรให้ความรู้เรื่องแคลอรี่ในอาหารกับผู้บริโภคเสียก่อน เพื่อให้ผู้บริโภคอยากควบคุมปริมาณแคลอรี่ด้วยตนเอง ด้านผู้ประกอบการ(ซึ่งกว่าร้อยละ 75 เป็นรายย่อยที่มีลูกจ้างไม่เกิน 3 คน) บอกว่าเรื่องนี้มีค่าใช้จ่ายมากโขอยู่ บริษัทขนาดเล็กจะมีค่าใช้ประมาณ 2,400 เหรียญในปีแรก และ 2,200 เหรียญในปีต่อๆ ไป และเงินที่ลงไปก็ไม่ได้สร้างผลตอบแทนทางธุรกิจด้วย อัตราส่วนประชากรต่อตู้ขายอาหารอัตโนมัติของอเมริกาอยู่ที่ 40 คนต่อ 1 ตู้ และร้อยละ 5 ของเงินที่คนอเมริกันใช้จ่ายนอกบ้านเป็นการใช้จ่ายกับตู้เหล่านี้    มันช่างน่าอิจฉายิ่งนัก นอกจากเนเธอร์แลนด์จะมีนายกอินดี้ที่ขี่จักรยานไปทำงาน (ขออภัยพี่น้องประชาชนที่ต้องการหาเลขเด็ดเพราะจักรยานเขาไม่มีหมายเลขทะเบียน) องค์กรผู้บริโภคของเขาก็ยังเปรี้ยวไม่แพ้กันอีกด้วย Netherlands Authority for Consumers and Markets หรือ ACM บอกว่าปีที่ผ่านมาเขาสามารถช่วยชาวบ้านประหยัดเงินได้ถึง 300 ยูโร (13,400 บาท) ต่อครัวเรือนเลยทีเดียว รวมๆ แล้วการทำงานของ ช่วยลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นของผู้บริโภคลงได้มากกว่า 1,850 ล้านยูโร (80,000 ล้านบาท) จากค่าแก๊ส ไฟฟ้า ค่าบริการโทรศัพท์ หรืออินเตอร์เน็ต ถ้าเป็นวงดนตรีก็ต้องเรียกว่าเป็น “ซูเปอร์กรุ๊ป” เพราะเป็นการรวมตัวของ 3 องค์กรที่ดูแลผู้บริโภค เหมือนการรวม สคบ. เข้ากับ กสทช. และคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า เข้าด้วยกัน ล่าสุด ACM ขู่จะเข้าไปตรวจสอบเรื่องร้องเรียนจากร้านค้าปลีกว่ามาสเตอร์การ์ดเก็บค่าธรรมเนียมจากพวกเขาแพงเกินไป แต่ยังไม่ทันลงมือ มาสเตอร์การ์ดก็ยอมปรับลดค่าธรรมเนียมลงจากปัจจุบันที่ร้อยละ 0.9 เหลือ 0.7 ในเดือนมิถุนายนและลดลงไปเรื่อยๆ จนเหลือร้อยละ 0.3 ในเดือนมกราคมปี 2016 แน่นอนจริงๆ แค่เงื้อก็ได้ผลแล้ว หมายเหตุ : เรื่องร้องเรียน 3 อันดับต้นของผู้บริโภคชาวดัทช์ได้แก่ สินค้าอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน บริการโทรคมนาคม(ซึ่งปีนี้ถูกเบียดตกมาอยู่อันดับสอง) และบริการขนส่งและการท่องเที่ยว   ฟินแลนด์ ไม่น่าเชื่อว่าประเทศฟินแลนด์จะยังไม่มีข้อกำหนดเรื่องเงื่อนไขการจ้างงานในฟิตเนส จนทำให้บรรดาครูฝึกต้องดิ้นรนเพื่อความอยู่รอดแบบใครตัวมัน แม้จะไม่มีองค์กรด้านวิชาชีพนี้อย่างจริงจัง แต่ ERTO องค์กรด้านแรงงานก็เคยเสนอค่าจ้างที่เหมาะสมสำหรับงานครูผู้ฝึกสอนในฟิตเนสไว้ที่ชั่วโมงละ 29.90 ยูโร (1,300 บาท) ในเมืองหลวง และ 26.10 ยูโร(1,165 บาท) ในพื้นที่อื่นๆ แต่ไม่มีใครจ่ายอัตราที่ว่าเลย ผู้ประกอบการฟิตเนสบางรายจ่ายค่าจ้างพื้นฐานต่ำกว่า 5 ยูโร แล้วให้ค่าหัวตามจำนวนผู้เรียนในคลาสหัวละ 50 เซนต์ (ถ้าครูฝึกสอนคลาสละ 10 คน ก็จะได้ค่าจ้างรวมชั่วโมงละ 10 ยูโรเท่านั้น)  ส่วนบางแห่งก็จ่ายเพียงชั่วโมงละ 20 ยูโร ให้กับครูฝึกที่มีประสบการณ์การสอนมากกว่า 10 ปี การปริปากบ่นก็ไม่ใช่ทางเลือก เพราะเจ้าของฟิตเนสพร้อมที่จะหาครูหน้าใหม่ไร้ประสบการณ์เข้ามาแทนที่อยู่เสมอ หรือไม่ก็อาจถูกย้ายช่วงเวลาสอนไปอยู่ในช่วงที่ไม่ค่อยมีคนมาใช้บริการ นอกจากนี้ยังจ่าย “โบนัสวันอาทิตย์” น้อยกว่าที่ควรด้วย ปกติแล้วโบนัสนี้ต้องจ่ายตามค่าแรงรายชั่วโมง แต่ผู้ประกอบการหัวใสกลับแจ้งค่าจ้างรายชั่วโมงต่ำกว่าที่จ่ายจริง เช่นในจำนวน 30 ยูโรที่จ่ายนั้น มีเพียง 10 ยูโรที่แจ้งเป็นค่าแรง ที่เหลือกลับเรียกว่าเงินที่ชดเชยให้สำหรับเวลาที่ใช้เตรียมสอน เป็นต้น   //

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 140 กระแสต่างแดน

ได้เวลาตัดสัญญาณ ปัจจุบันประเทศเคนยามีผู้ใช้มือถืออยู่ประมาณ 29 ล้านคน แต่มือถือที่ชาวบ้านร้านตลาดถือกันอยู่นั้น มีไม่น้อยที่เป็น “เครื่องปลอม” หรือเครื่องที่หมายเลขอีมี่ไม่ปรากฏในฐานข้อมูลระหว่างประเทศ พูดง่ายๆ คือมือถือประเภทที่แอบหิ้วเข้ามาขายกันเองจากจีน ไนจีเรีย หรือ อัฟริกาใต้นั่นแหละ รัฐบาลเคนยาตัดสินใจเด็ดขาด ให้บรรดาผู้ประกอบการทั้ง 4 เจ้า ระงับการให้สัญญาณกับ ”เครื่องปลอม” ที่ว่านั้นทันทีหลังเที่ยงคืนวันที่ 30 กันยายนที่ผ่านมา (ข่าวบอกว่าก่อนหน้านี้ รัฐบาลประกาศเลื่อนเวลาการตัดสัญญาณไปแล้ว 3 ครั้ง) รัฐบาลเขาบอกว่า “เครื่องปลอม” นั้นเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของชาติและของบุคคลทั่วไป เพราะโทรศัพท์พวกนี้ทำให้ประสิทธิภาพของเครือข่ายลดลง และยังอาจถูกนำไปใช้ในการก่ออาชญากรรมด้วย ผู้ประกอบแต่ละรายมีจำนวนผู้ได้รับผลกระทบแตกต่างกันไป ซาฟารีคอมมีลูกค้าได้รับผลกระทบถึง 670,000 คน ตามด้วยแอร์เทลเคนยา 100,000 คน เทเลคอมออเรนจ์ 20,000 คน และยูโมบายอีก 45,000 คน ทางออกของผู้บริโภคคือต้องไปซื้อเครื่องใหม่มาใช้ก่อนกำหนดตัดสัญญาณดังกล่าว   รวมๆ แล้ว มีเลขหมายที่ถูกตัดสัญญาณทั้งหมด 800,000 เลขหมาย (รวมซิมการ์ดแบบไม่จดทะเบียนด้วย) ทั้งนี้ กสทช. ของเคนยา บอกว่าจะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการตัดสัญญาณให้กับผู้ประกอบการ แต่ไม่ได้บอกว่าผู้บริโภคจะได้รับการชดเชยอย่างไร หลายคนตั้งข้อสังเกตว่า การที่โทรศัพท์ “ปลอม” สามารถผ่านชายแดนเข้ามาขายในประเทศได้ ก็เป็นความรับผิดชอบของรัฐเช่นกัน เพราะผู้บริโภคทั่วไปจะไปตรวจสอบหมายเลขอีมี่ของโทรศัพท์ด้วยตนเองได้อย่างไรกัน บอลจบ คนยังจบไม่ได้ ชาวฉลาดซื้อคงยังจำกันได้ว่าเมื่อ 2 ปีก่อน ทีมนักเตะจากสเปนได้ตำแหน่งแชมป์ฟุตบอลโลก (World Cup 2010) ไปครอง สำหรับพวกเราที่นี่พอได้รู้ว่าใครเป็นแชมป์ก็บ้านใครบ้านมัน แต่จนถึงวันนี้ มีผู้บริโภคชาวสเปนจำนวนไม่น้อยที่รู้สึกว่าเกมนี้ยังไม่จบ คนเหล่านี้คือผู้บริโภคที่ซื้อโน้ตบุ้ค และเครื่องรับโทรทัศน์ ยี่ห้อทอม ทอม และโตชิบา รุ่นที่โฆษณาในช่วงก่อนและขณะที่มีการแข่งขันฟุตบอลโลกที่ประเทศอัฟริกาใต้ว่า “ถ้าสเปนได้แชมป์ พวกเขาจะสามารถมาขอเงินคืนได้ทันที” ผ่านไปแล้ว 2 ปี บางคนก็ยังไม่ได้เงินคืน แต่ได้รับคำตอบจากบริษัททั้งสองแห่งว่า เป็นเพราะพวกเขาไม่ได้เข้าไปลงทะเบียนในเว็บไซต์หลังการซื้อ (แต่ข้อมูลดังกล่าวไม่ได้บอกไว้ชัดเจนในโฆษณา) องค์กรผู้บริโภค FACUA ของสเปนบอกว่าขณะนี้มีเรื่องร้องเรียนเข้ามาท่วมท้น และทีมกฎหมายขององค์กรก็กำลังเตรียมที่จะฟ้องบริษัทอยู่ เนื่องจากโฆษณาที่ว่านั้นเข้าข่ายทำให้ผู้บริโภคเกิดความเข้าใจผิด ซึ่งเป็นตามมาตรา 5 ของ พรบ.การค้าที่เป็นธรรม ของสเปน ความจริงโฆษณานี้ก็มีในประเทศอื่นในยุโรปด้วยเช่นกัน ทอม ทอม ทำโฆษณาใน 8 ประเทศ ในขณะที่โตชิบาก็โฆษณาใน เยอรมนี อังกฤษ อิตาลี สเปน และโปรตุเกส แต่ไม่เป็นปัญหาที่ประเทศอื่นเพราะประเทศเหล่านั้นไม่ได้แชมป์   อาหารกลางวันเยอรมนี เดือนที่แล้วนักเรียนกว่า 11,000 คนในเยอรมนีตะวันออก (เบอร์ลิน แบรนเดนเบิร์ก แซ็กโซนี เทอริงเกีย)  ต้องล้มป่วยลงด้วยอาการอาหารเป็นพิษ สาเหตุเบื้องต้นคาดว่าน่าจะมาจากชุดอาหารกลางวันที่มีสตรอเบอรี่แช่แข็งเป็นของหวานอยู่ด้วย ระบบอาหารกลางวันที่โน่นเขาใช้การจ้างบริษัทเอกชนจัดส่งให้ตามโรงเรียน สถาบันควบคุมและป้องกันโรค สถาบันประเมินความเสี่ยง และสำนักงานคุ้มครองผู้บริโภคของที่นั่น สันนิษฐานว่าโรงเรียนที่มีเด็กป่วยเหล่านี้ น่าจะได้รับอาหารจากบริษัทที่ชื่อ โซเด๊กโซ เหมือนกัน  และสาเหตุน่าจะมาจากไวรัสที่แฝงตัวมาในอาหาร อย่าง โนโรไวรัส โซเด๊กโซ ยืนยันว่ามีเพียงร้อยละ 5 ของโรงเรียนที่เขาส่งอาหารให้เท่านั้นที่มีนักเรียนมีอาการอาหารเป็นพิษ แต่ข่าวล่าสุด ระบุว่าโซเด๊กโซยอมจ่ายค่าชดเชยให้กับนักเรียนที่ได้รับผลกระทบทั้งหมด (แต่ไม่ได้เปิดเผยตัวเลข) เนื่องจากความผิดพลาดที่เกิดขึ้นจากบริษัทที่มารับช่วงการผลิตนั่นเอง นายกผู้ประกอบการอาหารโรงเรียนแห่งเบอร์ลินและแบรนเดนเบิร์ก บอกว่าเขาไม่แปลกใจในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เพราะราคาวัตถุดิบแพงขึ้นในขณะที่งบช่วยเหลือที่รัฐบาลให้กับพวกเขาก็น้อยลง เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา มีผู้ประกอบการ 6 รายร่วมกันหยุดส่งอาหารตามโรงเรียนจนกว่าเทศบาลจะอนุมัติเพิ่มเงินช่วยเหลือ งานวิจัยจากคณะวิทยาศาสตร์ประยุกต์ มหาวิทยาลัยฮัมบูร์ก ก็ระบุว่ารัฐจะต้องเพิ่มงบประมาณอีกอย่างน้อย 1 ยูโรต่อหัว จึงจะสามารถมีอาหารกลางวันที่ดีตามมาตรฐานของสมาคมโภชนาการแห่งเยอรมนีให้กับเด็กนักเรียนได้ ปัจจุบันงบอาหารกลางวันอยู่ที่ประมาณ 2.50 ยูโรต่อหัว (99 บาท) แต่เขาบอกว่าถ้าจะให้ดีต้องมีถึง 3.17 – 4.25 ยูโรต่อหัว (126 – 168 บาท)     นายก (อียิปต์) หยุดได้ กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าต่างประเทศของอียิปต์ กำลังเล็งจะรื้อฟื้นการใช้อำนาจของนายกรัฐมนตรีตามมาตรา 10 ของ พรบ. คุ้มครองการแข่งขันและป้องกันการผูกขาดทางการค้าขึ้นมาอีกครั้ง กลุ่มประชาชนต่อต้านการขึ้นราคาสินค้า (Citizens Against Price Rise Association CAPRA) สนับสนุนการเคลื่อนไหวดังกล่าวเต็มที่ เพราะกฎหมายดังกล่าวระบุให้นายกรัฐมนตรีมีสิทธิกำหนดราคาสินค้าโภคภัณฑ์ได้ ในยามจำเป็นหรือเมื่อประเทศเกิดวิกฤติ ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าอียิปต์จะกลับไปใช้นโยบายเศรษฐกิจแบบเผด็จการ ที่กำหนดราคาสินค้าโภคภัณฑ์ทุกชนิดเหมือนในอดีต เขาแค่ต้องการจัดระเบียบการค้าและป้องกันผู้บริโภคจากผู้ค้าบางรายที่อาศัยช่วงชุลมุนมาผูกขาดราคาสินค้า หลังเหตุการณ์ไม่สงบทางการเมืองเมื่อวันที่ 25 มกราคม 2555 และเหตุการณ์ต่อเนื่องหลังจากนั้น กลุ่ม CAPRA บอกว่ารัฐบาลปฏิบัติต่อนักธุรกิจพวกนี้ราวกับว่าพวกเขาเห็นแก่ประโยชน์ของประเทศเป็นหลักและใส่ใจความเดือดร้อนของคนในสังคม ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้วผู้ค้าเหล่านั้นไม่ได้มีความรับผิดชอบถึงระดับนั้น ข่าวบอกว่า ราคาสินค้าที่สูงขึ้นในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาไม่ได้เป็นไปตามหลักอุปสงค์อุปทานแต่อย่างใด แต่เป็นผลพวงจากการคอรัปชั่นในช่วงการปกครองของนายมูบารัคนั่นเอง    ยักษ์ใหญ่ยอมแล้ว ในที่สุดห้างยักษ์ใหญ่ค้าปลีกของอังกฤษอย่างเทสโก้ก็ยินยอมที่จะใช้ฉลากอาหารระบบไฟจราจร เหมือนห้างอื่นๆ ในประเทศเสียที เทสโก้บอกว่าได้ทำการสำรวจความเห็นของลูกค้าแล้วพบว่า พวกเขาชอบฉลากแบบไฟจราจรที่แสดงให้เห็นกันไปเลยว่าอาหารดังกล่าวมีปริมาณไขมัน น้ำตาล และเกลือ เกินไปหรือไม่ ในขณะเดียวกันก็ชอบฉลากแบบ GDA ที่ให้ข้อมูลละเอียดเป็นร้อยละด้วย เลยตัดสินใจจะใช้ฉลากระบบ “ลูกครึ่ง” ที่มีทั้งสองอย่างด้วยกัน ความจริงแล้ว ก่อนหน้านี้ห้างอื่นๆ (Sainsbury, Mark & Spencer, Asda) เขาเปลี่ยนมาตั้งแต่ปี 2548 แล้ว อีกสองห้างได้แก่ Lidl และ Aldi ก็เปลี่ยนไปแล้วตั้งแต่ต้นเดือนกันยายน และข่าวล่าสุดห้าง Morrisons ก็เปลี่ยนแล้วเช่นกัน องค์กรมาตรฐานอาหารของอังกฤษ ระบุว่าฉลากไฟจราจร จะช่วยส่งเสริมให้เกิดการบริโภคที่ดีต่อสุขภาพและจัดการไขปัญหาโรคอ้วนของคนอังกฤษได้ดีที่สุด ข้ามฝั่งมาดูทางอเมริกาเขาบ้าง บริษัทน้ำอัดลม โค้ก เป๊ปซี่ และดร.เปปเปอร์ กำลังจะเปิดตัวตู้ขายน้ำอัดลมอัตโนมัติที่จะแจ้งปริมาณแคลอรี่ ให้ทราบก่อนลูกค้าจะตัดสินใจซื้อ โดยจะเริ่มจากตึกราชการในเมืองชิคาโก และซานอันโตนีโอ และจะใช้ตู้ดังกล่าวทั่วประเทศในปี 2556

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 136 กระแสต่างแดน

ทำเองใช้เอง จะมีสักกี่คนที่รู้จักเมือง อีสต์ ลิเวอร์พูล บนฝั่งแม่น้ำโอไฮโอ ก่อนหน้านี้เคยได้ชื่อว่าเป็นเมืองที่ “จัดโต๊ะอาหารให้กับอเมริกา” ด้วยโรงงานถ้วยชามในเมือง ที่มีถึง 48 แห่ง แต่ปัจจุบัน เศรษฐกิจที่นี่แตกสลาย ไม่ต่างอะไรกับถ้วยชามที่ถูกทำหล่น เมืองนี้กลายเป็นจุดอับของอเมริกา ประชากร(ซึ่งมีทั้งหมด 11,000 คน) มีรายได้เฉลี่ยเพียง 1 ใน 3 ของรายได้ของผู้คนในรัฐโอไฮโอทั้งหมด คนส่วนใหญ่ข้ามแม่น้ำไปหางานทำในคาสิโน ในเวอร์จิเนียตะวันตก บ้างก็ไปทำงานที่สนามบินพิทส์เบิร์ก อัตราว่างงานที่นี่สูงถึงร้อยละ 10 โรงงานเซรามิกก็เหลืออยู่เพียง 2 เจ้าเท่านั้น หนึ่งในนั้นได้แก่ The American Mug and Stein เกือบจะปิดตัวลงเมื่อฤดูใบไม้ร่วงที่ผ่านมา   ที่ว่า “เกือบ” ก็เพราะ อูลริค โฮนิกเฮาเซน เจ้าของบริษัทเฮาเซนแวร์ ในคาลิฟอร์เนีย ที่เป็นผู้จัดหาเครื่องถ้วยชามเซรามิกให้กับห้างค้าปลีกรายใหญ่ๆ มีแผนจะให้โรงงานนี้ผลิตถ้วยส่งให้กับร้านกาแฟสตาร์บัคส์ ถ้วยดังกล่าวจะเริ่มวางขายในสาขาต่างๆ ทั่วอเมริกา ในเดือนมิถุนายน ภายใต้แบรนด์ Indivisible ที่เป็นโครงการสร้างงานให้กับคนอเมริกัน ของสตาร์บัคส์นั่นเอง นี่เป็นตัวอย่างการตอบสนองเสียงเรียกร้องให้ผู้ประกอบการทั้งได้มีส่วนช่วยกันแก้ปัญหาการว่างงานในอเมริกา บริษัท GE ก็ตั้งโรงงานเพิ่มอีก 2 แห่งเพื่อผลิตแบตเตอรี่คุณภาพสูง ที่แต่ก่อนเคยสั่งผลิตจากจีน ทำให้มีคนว่างงานน้อยลงไปอีก 800 คน เป็นต้น เรื่องนี้เป็นไปได้ด้วยหลายปัจจัย ตั้งแต่ค่าแรงในสหรัฐฯ ที่ลดลง ในขณะที่ค่าแรงในจีนแพงขึ้น นอกจากนี้ระยะทางและเวลาในการขนส่งที่น้อยกว่าก็มีส่วนจูงใจผู้ประกอบการไม่น้อย (เช่น ถ้าสั่งทำถ้วยที่อีสต์ ลิเวอร์พูล จะใช้เวลารอเพียง 4 วัน ถ้าสั่งจากจีนจะต้องรอถึง 3 เดือน เป็นต้น)   จับไป .. อย่าให้เสีย นักวิชาการเขาบอกว่า ถ้าเราเรียนรู้ที่จะกินปลาชนิดใหม่ๆ กันบ้าง เราจะสามารถรอดพ้นจากวิกฤติอาหารได้ อย่างน้อยๆ ก็ที่ทะเลเหนือ ที่แต่ละปีมีการทิ้งปลาที่จับขึ้นมาได้กลับลงทะเลไป ไม่ต่ำกว่า 1 ล้านตัน ด้วยวิธีการทำประมงแบบปัจจุบัน ทำให้ชาวประมงมักจะได้ปลาที่ไม่ได้ตั้งใจจับ (เพราะมันนำมาขายใครไม่ได้) ขึ้นมาด้วยเสมอ สถิติบอกว่ามีปลาที่ถูกจับผิดตัวอยู่ประมาณร้อยละ 50 แถมบางประเทศยังมีกฎหมายห้ามจับปลาบางชนิด หรือไม่ก็มีโควตาห้ามจับปลาบางชนิดเกินปริมาณ ก็ต้องจัดการทิ้งปลาพวกนี้ไปซะก่อนจะถึงฝั่ง คำถามคือ ทำไมเราต้องเลือกด้วย? การนำปลาที่ว่ามากินเป็นอาหาร ย่อมดีกว่าปล่อยพวกมันกลับลงทะเลไป รอเวลาสิ้นลม เสียของเปล่าๆ นอกจากเรื่องภาวะเศรษฐกิจ เรื่องฟุตบอลแล้ว ระยะนี้สมาชิกสหภาพยุโรปก็กำลังถกเถียงกันว่าจะประกาศห้ามการจับปลาแบบทิ้งๆ ขว้างๆ นี้ดีหรือไม่ นอร์เวย์ สวีเดน เดนมาร์ค แบนไปแล้ว ในขณะที่ สก็อตแลนด์ ฝรั่งเศส โปรตุเกส และโปแลนด์อยู่ฝ่ายที่ยังไม่ค่อยจะเห็นด้วย นักวิชาการยืนยันว่าต้องแบนเท่านั้นยุโรปถึงจะมีทางรอด และมีปลาบริโภคกันอย่างพอเพียงในอนาคต     ผู้ดีเชิดใส่วันหมดอายุ สิ่งที่สำคัญที่สุดบนฉลากอาหารสำเร็จรูปคือ วันหมดอายุ แต่พักหลังๆ นี่ผู้บริโภคชาวอังกฤษดูเหมือนจะใส่ใจกับมันน้อยลง ต้องกินให้หมด แม้มันจะเสี่ยง องค์การมาตรฐานอาหารของอังกฤษเขาทำสำรวจพบว่าร้อยละ 97 ของผู้บริโภคเชื่อว่าราคาอาหารนั้นเพิ่มขึ้นมากในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา(ข่าวไม่ได้บอกว่านายกอร์ดอน บราวน์ สั่งการให้บรรดา รมต.ไป เดินตลาดสำรวจราคาด้วยตนเองหรือเปล่านะ) และเมื่อถามว่าผู้บริโภคมีมาตรการที่จะจัดการกับเรื่องนี้อย่างไร ร้อยละ 47 บอกว่าตนเองใช้วิธี “บริการจัดการ สต๊อค” หรือพูดอีกอย่างคือเก็บของเหลือในตู้เย็นกินให้เกลี้ยงนั่นแหละ ปัญหามันอยู่ที่เขากินทุกอย่างแม้จะเลยวันหมดอายุที่ระบุไว้บนฉลาก คือถ้าดูแล้วยังหน้าตาเหมือนเดิม กลิ่น ยังไม่เปลี่ยน หรือจำได้ว่าเอาใส่ตู้เย็นไว้ไม่นาน ก็เป็นอันว่าลงมือกินได้ แต่ทางการเขาเป็นห่วง เพราะผู้ดีเหล่านี้ลืมใช้วิจารณญาณในการกินไปนิด เพราะอันตรายบางอย่างนั้นไม่สามารถบอกได้ด้วยลักษณะภายนอก เช่น คุณไม่มีทางดมดูแล้วรู้ว่าอาหารนั้นมี อีโคไล หรือซัลโมเนลลา เด็ดขาด ข่าวเขาฝากเตือนมาว่าใครก็ตามที่ไปลอนดอนเพื่อดูกีฬาโอลิมปิกในปีนี้ อย่าลืมสังเกตดูว่ารถเข็นขายอาหารที่เข้าไปรุมซื้อนั้นมีใบอนุญาตและผ่านการตรวจสอบหรือไม่ อาหารเป็นพิษขึ้นมาจะเชียร์กีฬาไม่สนุกซะเปล่าๆ     อีบุ๊คส์ บุกโรงเรียนฮ่องกง ฮ่องกงก็เป็นอีกที่ๆ มีปัญหาเรื่องราคาหนังสือเรียนแพงเหลือหลาย ปีที่แล้ว ก็ออกประกาศห้ามโรงเรียนใช้ระบบการรับแจกคู่มือครูฟรีจากสำนักพิมพ์ เพื่อแลกกับการขายหนังสือฉบับนักเรียนในราคาที่สูงกว่าปกติ แต่ปัญหาก็ยังไม่หมดไป รมต.ศึกษาธิการของที่นั้นจึงหันมาชงข้อเสนอให้รัฐส่งเสริมการพัฒนาหนังสือในรูปแบบอิเลคทรอนิกส์แทน เขาบอกว่าตั้งแต่ปีการศึกษาหน้าเป็นต้นไป โรงเรียนประถมและมัธยมในฮ่องกง อย่างน้อย 50 โรงจะเปลี่ยนจากหนังสือในรูปแบบดั้งเดิมมาเป็นอีบุ๊คส์ทั้งหมด ทั้งนี้กำลังรอให้รัฐบาลอนุมัติงบประมาณ 50 ล้านเหรียญฮ่องกง (ประมาณ 200 ล้านบาท) ให้มหาวิทยาลัยและองค์กรไม่แสวงหากำไรนำไปเป็นทุนพัฒนาอีบุ๊คส์เล่มใหม่ๆ ขึ้นมาให้ตอบสนองกับหลักสูตรในโรงเรียนมากขึ้น ที่น่าสนใจคือ เขาบอกว่าอุปกรณ์ที่ใช้ในการอ่านอีบุ๊คส์นั้น ไม่จำเป็นต้องมีกันคนละเครื่อง เด็กๆ สามารถใช้อุปกรณ์ร่วมกันเป็นกลุ่มได้ จะได้แบ่งเบาภาระของผู้ปกครองด้วย ไม่น่าเชื่อว่าฮ่องกงที่รวยขนาดนั้น เขาไม่แจกแท็บเล็ตให้เด็กคนละเครื่องเหมือนที่เมืองไทยหรอกหรือนี่     รักคงยังไม่พอ โคลเอตต้า ผู้ผลิตช็อคโกแล็ต สัญชาติสวีเดน โฆษณาว่าในซองขนมหวานรสช็อคโกแลต Mini Plopp ของเขาจะมีถ้อยคำ 4 คำบรรจุอยู่: LOVE HUG KISS และ JOY บรรยากาศรักนะจุ๊บๆ นี้ควรจะทำให้ทุกฝ่ายรื่นรมย์ แต่ปรากฏการณ์รักคุดก็เกิดขึ้นจนได้ เมื่อผู้บริโภคชาวสวีเดนรายหนึ่งร้องเรียนต่อองค์กรผู้บริโภค Konsumentverket ว่าเธอไม่ได้รับความเป็นธรรม(หรือจะบอกว่าไม่ได้รับความรักดี?) จากโคลเอตต้า เพราะเธอลงทุนไปซื้อ Mini Plopps มาหลายห่อ เพื่อนำมาใช้ในงานแต่งของเธอ ซึ่งคิดมาแล้วว่าจะต้องอบอวลไปด้วยความรัก แต่ปรากฏว่าไม่ว่าจะเปิดสักกี่ซอง แขกเหรื่อทั้งหลายรวมทั้งตัวเธอเองก็ยังไม่พบคำว่า LOVE และ JOY เสียที เมื่อสืบสาวราวเรื่องไปก็พบว่าเกิดความผิดพลาดขึ้นในกระบวนการผลิต ทำให้โรงงานใส่แต่คำว่า HUG และ KISS ลงไปในซองเท่านั้น โฆษกบริษัทออกมาขอโทษ และสัญญาว่าคราวหน้าจะไม่ให้พลาดอีก ... เขาคงหมายถึงการผลิตครั้งต่อๆ ไป ไม่ใช่งานแต่งครั้งหน้าหรอก

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 124 กระแสต่างแดน

  อย่างนี้มันต้องถอน(ให้หมด) สมาคมบัตร เอทีเอ็มประเทศเวียดนาม  เรียกร้องให้เพิ่มค่าธรรมเนียมถอนเงินสดจากเครื่องเอทีเอ็ม(ATM) ของต่างธนาคารจาก 3, 300 เป็น 5, 500 ด่องเวียดนาม ในแต่ละครั้งที่มีการถอนเงิน พร้อมขออนุญาตให้สามารถเก็บค่าธรรมเนียมการถอนเงินจากตู้ ATM จากธนาคารเจ้าของบัตรในครั้งที่ 4 ซึ่งก่อนหน้านี้การถอนเงินสามครั้งถูกหน่วยงานปฏิเสธไม่ให้เรียกเก็บค่าธรรมเนียม   สมาคมอ้างว่า การเพิ่มค่าธรรมเนียมถอนเงินสดของต่างธนาคารจะช่วยลดภาระการขาดทุนในการลงทุนตู้ ATM และเพื่อหลักประกันและความปลอดภัยของตู้ รวมทั้งจากเดิมที่ไม่ได้รับอนุญาตให้เก็บค่าธรรมเนียมการถอนเงินสดสำหรับลูกค้าจากตู้ ATM ธนาคารของตนเอง รวมทั้งปัญหาของลูกค้าที่ลูกค้ามักจะถอนเงินทั้งหมดจากบัตรเพื่อฝากในบัญชีออมทรัพย์และได้รับอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น ในขณะที่ธนาคารไม่ได้ประโยชน์จากการเก็บเงินไว้ในตู้ ATM ขณะที่นักวิชาการเวียดนาม ไม่เห็นด้วยกับเหตุผลของสมาคมธนาคาร “ปัญหาสำคัญคือคุณภาพบริการที่ไม่เหมาะสมกับการขึ้นราคา ไม่ว่าจะเป็นปัญหาตู้ATM ที่มักจะยึดบัตร ตู้ใช้การไม่ได้ หรือถอนเงินแล้วไม่มีเงินออกมาแต่ถูกหักบัญชีไป หรือแม้แต่ปัจจุบันที่ธนาคารส่วนใหญ่บังคับให้มีเงินขั้นต่ำไว้ ถึงแม้จะน้อยแต่ก็เป็นเงินให้ธนาคารหาประโยชน์โดยไม่มีต้นทุนใด ๆ และที่สำคัญธนาคารไม่ควรลงทุนในการขยายเครือข่าย ATM ให้มากเพราะในอนาคตแนวโน้มการชำระเงินที่ไม่ใช้เงินสดจะถูกพัฒนามากขึ้น   อยากมีทางด่วนแบบนี้บ้าง ประเทศอาเจนตินา มีกติกาที่น่าสนใจเรื่องการใช้ทางด่วน โดยเขาได้ออกเป็นกฎกระทรวงสำหรับให้ผู้ใช้ทางด่วนแห่งชาติ โดยมีการระบุรายละเอียดเพื่อเป็นประโยชน์กับผู้ใช้ทาง ทั้งเรื่องระยะเวลาในการรอชำระค่าผ่านทาง และจำนวนยานพาหนะในการรอจ่ายเงินในแต่ละช่องทาง   โดยกำหนดให้การรอจ่ายเงินไม่เกินสามนาทีสำหรับเส้นทางพิเศษของรถประเภทเดียวกัน หรือห้านาที สำหรับเส้นทางการจราจรที่มีรถหลายประเภท  หรือจำนวนรถสูงสุดไม่เกิน 20 คัน ของรถที่รอชำระเงินค่าผ่านทางในแถวเดียวกัน และเมื่อไหร่ที่เข้าเงื่อนไขใดเงื่อนไขหนึ่ง ทางพิเศษต้องเปิดทางให้กับรถทุกคัน นั่นหมายความว่า ไม่สามารถเก็บเงินจากลูกค้าได้เลย   ใครไปประเทศนี้ไม่ต้องแปลกใจหากได้ยินเสียงแตรเมื่ออยู่บนทางด่วนเพราะเป็นสัญญาณให้ไม้กั้นทางด่วนยกขึ้นและใช้ทางด่วนได้ฟรี เพราะไม่ทางด่วนไม่สามารถประกันเรื่องระยะเวลาที่รอหรือจำนวนรถที่มากเกิน 20 คันตามที่กำหนดไว้เพื่อเป็นประโยชน์กับผู้บริโภค ------------------------------------------------------------------------------- มหาวิทยาลัยสตรีใหญ่ที่สุดในโลก แม้ว่าโลกมุสลิมจะเคร่งครัดในประเพณีปฏิบัติเรื่องสิทธิ หญิง ชาย ทำให้หญิงมุสลิมจำนวนมากขาดโอกาสทางการศึกษา แต่ที่ซาอุดิอาระเบียที่นี่กลับก้าวหน้าเป็นอย่างมาก เพราะเขาเพิ่งเปิดมหาวิทยาลัยสตรีที่ใหญ่ที่สุดในโลก กษัตริย์ อับดุลลาห์ แห่งซาอุดิอาระเบีย ได้ทำพิธีเปิดมหาวิทยาลัยปรินเซสโนรา บินท อับดุลารามัน (Princess Nora bint Abdulrahman University – PNU) อย่างเป็นทางการ ด้วยศักยภาพในการรองรับนักศึกษาถึง 50,000 คน ทำให้ มหาวิทยาลัยปรินเซสโนราฯ นี้ เป็นศูนย์การเรียนรู้ระดับสูงและมหาวิทยาลัยที่เปิดสอนสำหรับผู้หญิงเพียงอย่างเดียวที่ใหญ่ที่สุดของโลก ซึ่งรัฐบาลซาอุดิอาระเบีย ใช้งบประมาณในการสร้างถึง 200 ล้านเหรียญ ริยาลซาอุ  นาย อิบราฮิม อัล อัสแซบ รัฐมนตรีกระทรวงการคลังของซาอุฯ กล่าวว่า “มหาวิทยาลัยแห่งนี้เป็นสัญลักษณ์ที่แสดงให้เห็นถึงระบบการศึกษาสำหรับผู้หญิงและการมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศนี้ของผู้หญิง”  นอกจากศักยภาพในการรองรับจำนวนมาก และการเปิดสอนในภาควิชาที่ผู้หญิงหาเรียนได้ยากในบางมหาวิทยาลัยที่เข้มงวดในเรื่องการแบ่งเพศชายและหญิงในชั้นเรียนแล้ว ม.ปรินเซส โนรา ยังมีสิ่งปลูกสร้างพร้อมอุปกรณ์การเรียน เครื่องไม้เครื่องมือเพื่อการศึกษาต่างๆ ที่ครบครัน ไม่ว่าจะเป็น ศูนย์เพื่อการศึกษาทางการแพทย์ ศูนย์วิจัย และห้องสมุดที่มีหนังสือและบทความต่างๆ กว่าห้าล้านเล่ม สิ่งหนึ่งที่ดึงดูดความสนใจเป็นพิเศษของมหาวิทยาลัยนี้คือ ศูนย์กีฬาขนาดใหญ่สำหรับผู้หญิง และพื้นที่พักอาศัยพร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกที่รองรับนักศึกษาได้ถึง 12,000 คน นาย อับอัสแซบ กล่าวเสริม มหาวิทยาลัยแห่งนี้ ถูกออกแบบให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมด้วยการใช้เทคโนโลยีประหยัดพลังงาน โดยใช้พลังงานแสงอาทิตย์จากแผงโซล่าที่มีความกว้าง 40000 ต.ร.เมตร ซึ่งพลังงานที่ได้นั้น 16% ใช้ไปกับการผลิตความร้อน และ 18% ในการทำความเย็นภายในมหาวิทยาลัย อีกหนึ่งความสะดวกและทันสมัยที่ต้องกล่าวถึงของมหาวิทยาลัยปรินเซส โนราคือ ระบบขนส่งภายในที่ควบคุมด้วยระบบคอมพิวเตอร์ ที่มีรถไฟของมหาวิทยาลัยซึ่งเชื่อมต่อกับทุกอาคารและศูนย์ฯ ต่างๆ ให้บริการนักศึกษาตลอด 24 ชม. และไม่ใช่เพียงสาธารณูปโภคที่ทันสมัยเท่านั้น มหาวิทยาลัย ปรินเซสโนรา ยังมี โรงกำจัดขยะ โรงบำบัดน้ำเสีย โกดังเก็บของ และศูนย์ซ่อมบำรุง เพื่อการตอบสนองและการดูแลมหาวิทยาลัยแห่งนี้อย่างครบวงจรอีกด้วย งานนี้เรียกว่าใหญ่ครบวงจรจริงๆ ------------------------------------------------------------------------------- ห้องฉุกเฉิน มีก็เหมือนไม่มี ไม่น่าเชื่อว่าประเทศที่เพิ่งออกกฎหมายประกันสุขภาพถ้วนหน้าอย่างสหรัฐอเมริกากำลังเผชิญกับปัญหาห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาลมีไม่เพียงพอ โดยเฉพาะในเขตคนจนที่อาศัยอยู่ในเมือง  จากการศึกษาซึ่งตีพิมพ์เป็นบทความของสมาคมการแพทย์อเมริกา พบว่าจำนวนห้องฉุกเฉินสำหรับผู้ป่วยในเขตเมืองในสหรัฐอเมริกาช่วง 20 ปีที่ผ่านมามีอัตราลดลงจาก 2,440 ห้อง ในปี 1990 เหลือ 1,779 ห้องในปี 2009 ถึงแม้ว่าอัตราจำนวนห้องฉุกเฉินจะมีเพิ่มขึ้นประมาณ 35% ทั่วประเทศก็ตาม  โรงพยาบาลส่วนใหญ่ในสหรัฐฯ ต่างพากันปิดแผนกฉุกเฉิน โดยเฉพาะโรงพยาบาลที่ดำเนินการเน้นในเชิงธุรกิจ เนื่องจากห้องฉุกเฉินไม่ทำกำไรให้กับโรงพยาบาล ในรายงานการศึกษาพบว่า เกือบสองเท่าของห้องฉุกเฉินในโรงพยาบาลที่ดำเนินการเชิงธุรกิจและโรงพยาบาลที่ได้ผลกำไรต่ำมักปิดแผนกฉุกเฉินลง เนื่องจาก 40% เป็นการให้บริการแก่ผู้ป่วยยากจน  สำหรับผู้ป่วย “บางคนคิดว่า ตราบเท่าที่ยังมีห้องฉุกเฉินอยู่ พวกเขาก็ยังรู้สึกเหมือนได้รับการปกป้อง” ดร.ฮะเซีย นักวิจัยซึ่งได้รับทุนจากมูลนิธิโรเบิร์ต วูด จอห์นสัน กล่าว แต่ถึงแม้ว่าจะยังมีห้องฉุกเฉินใกล้บ้านให้อุ่นใจ พวกเขาก็ยังได้รับผลกระทบจากการมีห้องฉุกเฉินเพียงไม่กี่ห้องอยู่ดี เพราะจำนวนห้องที่มีน้อยทำให้ผู้ป่วยต้องรอนานขึ้น ซึ่งส่งผลต่อคุณภาพในการรักษา  สถานการณ์การมีห้องฉุกเฉินน้อยอาจจะยิ่งเลวร้ายกว่านี้ เนื่องจากกฎหมายการดูแลสุขภาพฉบับใหม่ จะมีผลต่อแผนการดูแลสุขภาพสำหรับประชาชนยากจน เพราะบ่อยครั้งที่มีผลประโยชน์เกิดขึ้นจากห้องฉุกเฉินเนื่องจากหมอไม่ยอมรักษาผู้ป่วยภายใต้โครงการประกันสุขภาพของรัฐ  ดร.แซนดร้า เอ็ม ชไนเดอร์ ประธาน วิทยาลัยแพทย์ฉุกเฉินแห่งสหรัฐอเมริกา กล่าวว่า ตามกฎหมายแล้ว ห้องฉุกเฉินต้องให้การรักษา โดยต้องไม่คำนึงถึงความสามารถในการจ่ายค่ารักษาของผู้ป่วย แต่ประเด็นมันอยู่ที่ว่า ต่อไปอาจจะไม่มีห้องฉุกเฉินที่ไหนให้พวกเขาไปรักษาก็ได้” -------------------------------------------------------------------------------   ฉลากขนมแบบไฟจราจรทำไมจะทำไม่ได้บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านอาหารสุขภาพและอาหารเช้าซีเรียลของประเทศนิวซีแลนด์นามแซนิทาเรียม หัวก้าวหน้าสุดๆ ไม่กังวลว่าผู้บริโภคจะกลัวและไม่กล้าบริโภคผลิตภัณฑ์ หากติดสัญญาณ เขียว เหลือง แดง บนฉลากอาหาร เดินหน้าประกาศใช้ระบบฉลากโภชนาการแบบสัญญาณไฟจราจรของตนเอง เรียกว่า “ระบบการกินเพื่อสุขภาพ” ฉลากของบริษัทนี้ก้าวไปไกลกว่าฉลากโภชนาการแบบสัญญาณไฟจราจรแบบทั่วไป ตรงที่ไม่เพียงแค่มีข้อมูลด้านลบที่ก่อให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพ ได้แก่ ปริมาณไขมัน ไขมันอิ่มตัว น้ำตาล และเกลือ แต่ในอาหารบางผลิตภัณฑ์ยังแสดงข้อมูลอาหารด้านบวกที่ดีต่อสุขภาพ ได้แก่ ปริมาณโปรตีน ใยอาหาร (ไฟเบอร์) และอาหารกลุ่มให้กากใย ได้แก่ ผัก ผลไม้ และ ธัญพืช  ที่ใจถึงสุดๆ คือ บริษัทกล้าระบุคำแนะนำความถี่ในการบริโภค โดยแบ่งคำแนะนำออกเป็น 3 ชนิด คือ กินได้บ่อย ๆ กินบ้างบางครั้งบางคราว และ กินเมื่อจำเป็น   ท้ายสุด ยังใจกว้างเป็นแม่น้ำ ด้วยการเปิดรับทุกเสียงสะท้อนจากผู้บริโภคเกี่ยวกับการใช้ระบบฉลากโภชนาการสำหรับการกินเพื่อสุขภาพนี้ของบริษัท และยืนยันจะไม่จดลิขสิทธิ์ทางปัญญาใด ๆ กับระบบฉลากโภชนาการนี้ หากผู้ประกอบการรายใดหรือประเทศใดก็ตามสนใจรูปแบบฉลากนี้ก็สามารถนำไปใช้ได้ทันที   ผู้ประกอบการคนไทย อายเขาไหมล่ะ ตัวอย่างฉลากโภชนาการของบริษัทแซนิทาเรียม

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 106 กระแสต่างแดน

ยิ่งสุข ยิ่งหวาดระแวงมีข้อค้นพบจากงานวิจัยว่า คนเราซื้อระยะประกันเพิ่มสำหรับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทั้งหลายด้วยสองสาเหตุ หนึ่ง คือเราไม่สามารถประเมินความเสี่ยงได้อย่างถูกต้อง สองสภาวะจิตใจของเราในขณะที่ซื้อนั้นมันสุขเกินไปยิ่งเรามีความสุขมากเท่าไร เราก็จะยิ่งอยากหลีกเลี่ยงความเสี่ยงมากเท่านั้นปกติแล้วก่อนที่เราจะลงมือซื้ออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ราคาแพงสักชิ้นเรามักจะต้องทำการศึกษามาดีพอใช้ น้อยคนนักที่จะหาข้อมูลเรื่องการซื้อเวลารับประกันเพิ่ม แต่การประกันแบบนี้กลับมีคนตัดสินใจซื้อมากมายคนขายก็มักให้เหตุผลกับเราว่า เราอาจพลั้งเผลอทำอุปกรณ์เหล่านี้ตกหล่นเมื่อไรก็ได้ และซื้อการประกันนั้นก็ง่ายมาก ประหยัดเวลา คิดแล้วถูกกว่าออกไปกินข้าวนอกบ้านหนึ่งมื้อเสียอีก ทำนองนี้เป็นต้นเหตุที่ทางร้านพยายามอย่างยิ่งที่จะขายการรับประกันเพิ่มให้กับลูกค้าก็เพราะ บริการดังกล่าวสามารถทำเงินมหาศาลให้กับทางร้านนั่นเอง ลองคิดดูว่าประกันเพิ่มสำหรับเน็ตบุ๊คราคา 400 เหรียญนั้นเท่ากับ 130 เหรียญ (เกือบ 1ใน 3) เลยทีเดียวSquareTrade เป็นบริษัทที่ขายการรับประกันให้กับสินค้าที่ซื้อขายทางอินเตอร์เน็ตเป็นต้น เชื่อหรือไม่บริษัทนี้สามารถขายการรับประกันให้กับเน็ทบุ๊คตัวเดียวกันในราคา 60 เหรียญเท่านั้น ซีอีโอ ของ SquareTrade บอกว่าบริการประกันแบบนี้มันไม่ใช่บริการที่ไม่ดีนะ เพียงแต่ร้านต่างๆ มักขายในราคาที่แพงเกินกว่าเหตุเท่านั้นเองในทางกลับกัน หน่วยงานที่คุ้มครองผู้บริโภคจะแนะนำว่าเราไม่ควรเสียเงินกับการเพิ่มระยะรับประกันเหล่านั้นเลยจะดีกว่า เพราะสินค้าอิเล็กทรอนิกส์เหล่านี้ส่วนใหญ่ไม่จำเป็นต้องซ่อมหรือถ้าจะซ่อม มันก็อยู่ในงบประมาณเดียวกับค่าซื้อการรับประกันเพิ่มนั่นแหละเรามักคิดว่าอย่างไรเสียค่าซื้อประกันเพิ่มมันก็ยังน้อยกว่าค่าซื้อสินค้าใหม่ แต่ยังไม่มีใครรู้เลยว่าอัตราการเสียของสินค้าเหล่านี้เป็นเท่าไร แต่ขอบอกว่ามันต่ำกว่าที่คุณคิดแน่นอนคอนซูเมอร์รีพอร์ต นิตยสารเพื่อผู้บริโภคของอเมริกา ได้ทำการสำรวจกับผู้อ่าน แล้วทำการคำนวณอัตราการเสียของอุปกรณ์เหล่านี้ในระยะ 3 ถึง 4 ปี และพบว่าอัตราการเสียของเครื่องเล่นโทรทัศน์ มีเพียงร้อยละ 3 (จากเครื่องเล่นโทรทัศน์ทั้งหมด 10 ยี่ห้อ) ในขณะที่อัตราการเสียของกล้องถ่ายรูปมีร้อยละ 10อัตราสูงที่สุดได้แก่ โน๊ตบุ้ค (ร้อยละ 43) แต่นั่นเป็นการเสียที่เกิดจากอุบัติเหตุและการมีของเหลวหกใส่คีย์บอร์ด ซึ่งโดยทั่วไปก็ไม่อยู่ในเงื่อนไขรับประกันอยู่แล้ว ... นั่นสิ แล้วคนเราซื้อประกันเพิ่มเพราะอะไรนักวิชาการให้ทัศนะว่า เราซื้อประกันพวกนี้เพราะเราอยู่ในอารมณ์ที่ดีเกินไปขณะที่กำลังจะได้มาซึ่งสินค้าที่เราเฝ้าฝันถึงมานาน สถิติบอกว่าคนเรานิยมซื้อระยะเวลารับประกันเพิ่มให้กับสินค้าประเภทที่ให้ความสุข มากกว่าสินค้าที่ซื้อเพราะต้องใช้ประโยชน์จากมัน (อย่างเครื่องซักผ้าหรือตู้เย็น)ฟังดูคล้ายเราควรหาเรื่องให้ตัวเองอารมณ์เสียสักเล็กน้อยก่อนออกไปซื้อของ จะได้ตัดสินใจอย่างมีสติขึ้นนะนี่จัดระเบียบเนื้อสดเชื่อหรือไม่ว่าประเทศที่ส่งออกเนื้อวัวมากเป็นอันดับสองของโลกอย่างออสเตรเลีย ไม่มีระบบการติดฉลากระบุคุณภาพสำหรับเนื้อวัวที่ขายในประเทศของตนเอง ผู้บริโภคส่วนใหญ่จึงไม่สามารถรู้ได้ว่า เนื้อที่ตนเองกำลังจะซื้อไปทำอาหารรับประทานนั้นเป็นเนื้อที่มีคุณภาพในระดับใดว่ากันว่าปัจจุบัน ร้อยละ 3 ของเนื้อวัวที่วางขายในซูเปอร์มาร์เก็ตในออสเตรเลีย เป็นเนื้อโคแก่ ที่แพ็คขายโดยติดฉลากว่าเป็นเนื้อ “คุณภาพเยี่ยม” หรือที่เรียกติดปากในภาษาฝรั่งว่า “พรีเมี่ยม” นั้นแลทุกวันนี้ออสเตรเลียไม่มีระบบการคัดแยกแบบบังคับสำหรับเนื้อวัวที่ขายในประเทศ มีเพียงโครงการแบบสมัครใจ ซึ่งก็มีเพียงเจ้าของไร่ปศุสัตว์เพียง 12,500 ไร่ จากทั้งหมด 160,000 ไร่ เท่านั้นที่สมัครเข้าร่วมโครงการให้การรับรองขององค์กร Meat and Livestock Australiaภายใต้ระบบรับรองที่ว่านี้ เนื้อจากโคเนื้อที่มีอายุสามปีครึ่งขึ้นไป หรือเนื้อโคนมที่พ้นวัยให้นมแล้วจะถูกจัดเข้าประเภทที่เหมาะกับการบริโภคในรูปแบบของเนื้อบดเท่านั้น แต่มีอีกข้อตกลงดั้งเดิมที่ระบุว่า เนื้อโคอายุมากเหล่านั้นสามารถนำมาขายในรูปแบบของสก็อตช์ฟิลเล่ท์ หรือ ทีโบนได้ ถ้ามีการระบุที่ฉลากว่าเป็นเนื้อโค “ราคาประหยัด”ทำไปทำมาบางห้างก็เลยทำมึนๆ ติดฉลากบรรดาเนื้อโคแก่เหล่านั้นว่า “พิเศษ” ไปด้วย ซึ่งอาจทำให้ผู้บริโภคเข้าใจว่าได้ของดีราคาถูก (ซึ่งความจริงแล้ว มันคือของไม่ดี ราคาถึงได้ถูก)รัฐบาลนิวเซาท์เวลส์ก็เลยแก้ปัญหาด้วยการเสนอให้มีระบบการรับรองแบบเดียวกับ AUS-Meat ที่ใช้ในการรับรองและคัดแยกประเภทของเนื้อวัวที่ส่งออกจากออสเตรเลียไปขายทั่วโลกนั้นแลPenFriend เพื่อนใหม่ใช้อ่านฉลากหลายคนรู้จักสิ่งที่เรียกว่า PenFriend ที่คุณครูภาษาอังกฤษสมัยประถมเคยให้เราฝึกเขียนจดหมายภาษาอังกฤษถึงเพื่อนต่างชาติ (นี่ถือเป็นการเช็คอายุคนอ่านไปในตัว เด็กเดี๋ยวนี้คงใช้ MSN Hi5 หรือ Facebook กันแล้ว)แต่ PenFriend นาทีนี้ คือ อุปกรณ์หน้าตาคล้ายปากกาชนิดใหม่ที่ทำให้ผู้พิการทางสายตา สามารถอ่านฉลากบนสินค้าต่างๆ ได้ อุปกรณ์ดังกล่าวใช้ระบบบาร์โค้ด ซึ่งเมื่อสแกนด้วยปากกาดิจิตัลแล้วจะไปเปิดไฟล์ เอ็มพี3 ที่บันทึกเสียงเอาไว้นั่นเองอุปกรณ์ที่พัฒนาขึ้นมาในโครงการร่วมระหว่างสถาบันผู้พิการทางสายตาแห่งชาติของอังกฤษและบริษัทลิงกัว มันตรา มีราคาประมาณ 60 ปอนด์ (ประมาณ 3,200 บาท) และสามารถใช้ในการทำฉลากตั้งแต่ อาหาร เสื้อผ้า ดีวีดี หรือ อัลบั้มเพลงต่างๆ ได้เทคโนโลยีที่เรียกว่า Optical Identification (OID) นี้จะพิมพ์จุดเล็กๆ ลงไปบนแผ่นสติกเกอร์ ซึ่งสามารถอ่านได้ด้วยสแกนเนอร์ที่อยู่ตรงปลายของปากกา และขณะที่มันสแกน ก็จะเปิดไฟล์เสียงที่บันทึกไว้เพื่อบอกว่า ของที่อยู่ในขวดนั้นเป็นอะไร ซึ่งหมายความว่าจะบันทึกวันหมดอายุหรือคำแนะนำในการประกอบอาหารไว้ด้วยได้ ประกาศ! ห้ามใช้ทีวีกินไฟคณะกรรมาธิการด้านพลังงานของรัฐแคลิฟอร์เนียลงมติอย่างเป็นเอกฉันท์ว่า ต่อไปนี้โทรทัศน์ขนาดไม่เกิน 58 นิ้ว ที่ขายในรัฐดังกล่าว จะต้องลดอัตราการกินไฟลงอย่างน้อยร้อยละ 33 ภายในปี พ.ศ. 2554 และจะต้องลดลงร้อยละ 49 ภายในปีพ.ศ. 2556ร้อยละ 10 ของการบริโภคพลังงานไฟฟ้าในรัฐแคลิฟอร์เนียเกิดจากการเปิดเครื่องรับโทรทัศน์ (ยิ่งเป็นโทรทัศน์จอพลาสมานั้น ก็จะยิ่งกินไฟมากกว่าโทรทัศน์ธรรมดาถึง 3 เท่า)ถ้าทุกคนในรัฐเปลี่ยนมาใช้โทรทัศน์ที่สามารถใช้พลังงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้นได้ก็จะประหยัดค่าไฟได้ 30 เหรียญต่อเครื่อง ต่อปีเลยทีเดียวอุตสาหกรรมผู้ผลิตโทรทัศน์ว่าอย่างไรน่ะหรือ บ้างก็โวยวายว่านี่มันเป็นอุปสรรคต่อการสร้างสรรค์นวัตกรรมและเป็นการแทรกแซงกลไกตลาด ซึ่งกำลังทำให้เกิดการผลิตสินค้าที่ใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพอยู่แล้ว (ขณะนี้มีโทรทัศน์ประหยัดไฟขายอยู่ในท้องตลาดประมาณ 1,000 รุ่นแล้ว)ในแต่ละปี คนแคลิฟอร์เนียซื้อเครื่องรับโทรทัศน์ 4 ล้านเครื่องหนี้ศัลยกรรมขณะนี้ประเทศเวเนซูเอล่ากำลังอยู่ในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำ หลังจากที่เศรษฐกิจเฟื่องฟูมาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 5 ปีแม้เศรษฐกิจจะไม่เป็นใจแต่คนเวเนซูเอล่าก็ยังมุ่งมั่นที่จะทำหน้าเด้ง ดูดไขมัน และเสริมหน้าอกกันต่อไป สถิติการทำศัลยกรรมที่นี่ไม่เคยลดลงเลย ไม่เค้ย ไม่เคย ที่เขาจะคิดหยุดทำ เพียงแต่คิดว่าจะทำอย่างไรถึงจะได้ทำเท่านั้นทางออกคือการรูดปรึ๊ด หรือไม่ก็หาเงินกู้นั่นเองแพทย์ศัลยกรรมคนหนึ่งบอกว่า ยิ่งภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ คนก็ยิ่งอยากจะใช้จ่ายเพื่อการปลอบประโลมตัวเองมากขึ้น บ้างก็งัดเอาเงินเก็บออกมาทำสวย ที่ไม่มีก็กู้ยืมกันมาทีเดียว แพทย์คนเดิมบอกว่าลูกค้าบางรายยอมย้ายออกมาอยู่ในห้องเช่าที่เล็กลงเพื่อจะได้มีเงินเหลือไปทำการแปลงโฉม ส่วนอีกรายเอารถไปขายเพื่อหาเงินมาดึงหน้านักจิตวิทยาสังคมจากมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในเวเนซูเอล่าบอกว่าเรื่องนี้มันเกิดกับคนส่วนน้อย เพราะผู้หญิงกลุ่มที่มีรายได้ปานกลางถึงต่ำนั้น มักไม่มีเงินเก็บให้ถอนออกมาใช้ หรือมีทรัพย์สินอะไรที่จะเอาไปขายได้อย่างนั้นหรอกแต่ถ้าดูจากโฆษณาของคลินิกศัลยกรรมตามสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินจะเห็นว่า คลินิกเหล่านี้นั่นแหละที่เสนอปล่อยเงินกู้ให้เพื่อการศัลยกรรม หรืออีกนัยหนึ่งอุตสาหกรรมนี้กำลังทำทุกวิถีทางเพื่อให้ตนเองมีรายได้เข้ามาอย่างต่อเนื่องในทุกสภาพเศรษฐกิจคนที่นี่จำนวนไม่น้อยมองว่าการทำศัลยกรรมไม่ใช่เรื่องฟุ่มเฟือย พวกเขาเชื่อว่าคนเราจำเป็นจะต้องสวย ถึงคุณไม่อยากจะสวยแต่แรงกดดันจากสังคมก็ทำให้คุณอยากจะไปพึ่งมีดหมออยู่นั่นเอง ร้อยละ 60 ของผู้หญิงที่นั่นทำการผ่าตัดเพิ่มขนาดหน้าอก และหลายคนก็ทำมากกว่าหนึ่งครั้งด้วย

อ่านเพิ่มเติม >