ฉบับที่ 224 การซื้อขายออนไลน์(ทั่วโลก) ต้องเป็นมิตรกับผู้บริโภค

   จากการติดตามดูนโยบายเรื่องการซื้อสินค้าออนไลน์ของสหพันธ์องค์กรผู้บริโภคแห่งเยอรมนี มีการนำเสนอหลักการ 3 ข้อ        ·    การซื้อขายสินค้าออนไลน์ ผู้บริโภคต้องได้รับการคุ้มครองไม่น้อยไปกว่าการซื้อของแบบออฟไลน์        ·    กฎหมายการคุ้มครองผู้บริโภคของอียู จำเป็นต้องคงไว้และสามารถเปลี่ยนแปลงได้ในกรณีที่ เพิ่มความคุ้มครองให้กับผู้บริโภค        ·    ความปลอดภัยของสินค้า เป็นนโยบายที่สำคัญอันดับแรก ในเวทีการเจรจาการค้าระหว่างชาติ         สืบเนื่องจากการประชุมสุดยอด ในเวทีการค้า WTO ของสมาชิกซึ่งเป็นตัวแทนจากรัฐบาล 76 ประเทศ ซึ่งมีกลุ่มประเทศ อียู เข้าร่วมเพื่อพิจารณา รอบการเจรจาการค้าระหว่างชาติ ว่าด้วยข้อตกลงการค้า e commerce โดยเป้าประสงค์ของกลุ่มอียู คือ เสริมสร้างสิทธิแก่ผู้บริโภค มีสิทธิในการกำหนดมาตรฐานของตนเองและขยายวงเวทีในการเจรจาต่อรองในประเด็นการคุ้มครองผู้บริโภค         ซึ่งผลการเจรจาการค้าในครั้งนี้จะส่งผลต่อผู้บริโภคทั่วโลก เนื่องจากการเจรจาการค้ารอบนี้จะมีกฎเกณฑ์ระเบียบการค้าออนไลน์ เป็นแนวทางปฏิบัติในการทำธุรกรรมการซื้อขายออนไลน์ ด้วยการคุ้มครองผู้บริโภคในการทำธุรกรรมออนไลน์ทั่วโลกนั้น มีมาตรฐานการคุ้มครองผู้บริโภคที่ต่ำกว่าเกณฑ์ของมาตรฐาน อียู ยกตัวอย่างผู้บริโภคที่ไม่ได้อยู่ในอียู ซื้อสินค้าออนไลน์และได้รับสินค้าที่มีความชำรุดบกพร่องหรือเกิดปัญหาในขั้นตอนการส่งมอบสินค้า ส่งผลให้ ผู้บริโภคได้รับความยากลำบากในการเรียกร้องสิทธิ ในการคืนสินค้า หรือสิทธิในการชดเชยเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้น และบ่อยครั้งที่ผู้บริโภคประสบปัญหา กรณีได้รับสินค้าที่ไม่ปลอดภัยจากประเทศต้นทางสินค้านอกอียู ผลการศึกษานี้ เผยแพร่โดยวารสารผู้บริโภค Which ? ของประเทศอังกฤษ        ผู้แทนการเจรจาประเด็น e commerce ของ กลุ่มประเทศอียู ได้วางเป้าหมายการเจรจา โดยเน้นไปที่ 4 ประเด็นสำคัญ คือ        ·   มาตรการคุ้มครองผู้บริโภคที่ดีกว่า ในการค้าระบบ e commerce ในระดับนานาชาติ        ·   การคงไว้ของมาตรฐานการคุ้มครองผู้บริโภคในอียู        ·   การมีกลไกในการเพิ่มอำนาจต่อรองให้กับองค์กรคุ้มครองผู้บริโภค และ        ·   การต่อสู้กับสินค้าที่ไม่ปลอดภัย ที่โฆษณา Online         อย่างไรก็ตามการเจรจาการค้าในประเด็นนี้ ก็ยังมีความเสี่ยงที่ซ่อนอยู่เช่นกัน ซึ่งในมุมมองของสหพันธ์องค์กรผู้บริโภคในอียู เห็นว่ายังมีอีกหลายประเด็น ที่ยังไม่ได้มีการบรรจุไว้ในวาระการเจรจาในประเด็นที่สำคัญๆ หลายประเด็น ได้แก่ เรื่อง Artificial Intelligence(ปัญญาประดิษฐ์) Cybersecurity(ความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์) Data Protection(การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล) Data Transfer(การส่งผ่านข้อมูล) และ Network Neutrality(ความเป็นกลางของระบบเครือข่ายเชื่อมต่อข้อมูล)         ตัวอย่างล่าสุดคือ การตกลงการค้าระหว่าง สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น ได้นำไปสู่การใช้ปัญญาประดิษฐ์ ในการควบคุมและเฝ้าระวังการค้าแบบดิจิทัล(Digital Trade) ซึ่งประเด็นการใช้ปัญญาประดิษฐ์ในการควบคุมและเฝ้าระวังการค้าในรูปแบบ Digital Trade เพิ่งจะเริ่มต้นอภิปรายสาธารณะในกลุ่มประเทศอียูเท่านั้น และจุดยืนขององค์กรผู้บริโภคอย่างสหพันธองค์กรผู้บริโภคแห่งเยอรมนีนั้น เห็นว่าข้อตกลงในการเจรจาทางการค้า ไม่ควรที่จะใช้มาเป็นข้ออ้างในการจำกัด หรือละเลยมาตรการการคุ้มครองผู้บริโภค กรณีประเทศไทย        เมื่อย้อนกลับมาดูปัญหาของผู้บริโภคในบ้านเราในการซื้อสินค้าออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการถูกหลอกลวง และการถูกฉ้อโกง การได้รับสินค้าที่ชำรุดบกพร่องหรือไม่ครบถ้วน ส่งมอบสินค้าผิดจากที่ตกลงสั่งซื้อ ปัญหาบริการหลังการขาย ปัญหาการโฆษณาเกินจริง เป็นเท็จหรือ ผิดกฎหมาย และปัญหาผู้บริโภคขาดความรู้ ฯลฯ ทางคณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ได้มีข้อเสนอ “การกำกับตลาดออนไลน์ให้เป็นธรรม” ไปยังหน่วยงานภาครัฐ หลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็น สำนักงานพัฒนาธุรกกรมทางอิเล็กทรอนิกส์(สพธอ.) สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค(สคบ.) กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ตลอดจนธนาคารแห่งประเทศไทย ไปแล้วนั้น มีความคืบหน้าหลายประการในการร่วมมือกันทำงาน โดยเฉพาะกับสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์(สพธอ.) และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อ.ย.) ซึ่งเป็นนิมิตหมายที่ดีในการคุ้มครองผู้บริโภคของผู้บริโภคชาวไทย         แต่อย่างไรก็ตามการซื้อขายสินค้าออนไลน์ปัจจุบันเป็นการทำธุรกรรมข้ามพรมแดน ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่จะต้อง ติดตามและเฝ้าระวังการเจรจาการค้าเสรีรอบต่างๆ ที่จะมีขึ้นตามมา ดังนั้นผมคิดว่า ทางองค์กรผู้บริโภคโดยเฉพาะ องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคซึ่งเป็นภาคประชาชน จำเป็นที่จะต้องมีส่วนร่วมและรับรู้ ประเด็นต่างๆ ที่จะมีการเจรจาการค้าเสรี ซึ่งเป็นสิทธิอันชอบธรรมนี้ด้วยเช่นกัน เนื่องจากการเกิดขึ้นของสภาองค์กรผู้บริโภคขณะนี้ยังอยู่ในช่วงที่ยังไม่สามารถทำหน้าที่ได้   แหล่งข้อมูลเวบไซต์สหพันธองค์กรผู้บริโภคแห่งเยอรมนี (Federation of German Consumer Organizations)https://www.vzbv.de/meldung/online-handel-verbraucherfreundlich-gestaltenวันที่ 24 กันยายน 2562

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 223 สิทธิของผู้ซื้อที่ดินที่เป็นที่สาธารณประโยชน์

        เช่นเคยผมมีเรื่องเล่าเกี่ยวกับกฎหมายใกล้ตัวทุกท่านมาบอกเล่า โดยจะขอหยิบยกเรื่องของสิทธิในที่ดินมาพูดถึงอีกสักครั้ง เพราะเห็นว่าทุกวันนี้ก็ยังมีปัญหากันไม่น้อย เกี่ยวกับการซื้อขายที่ดิน  สิทธิผู้บริโภคกำหนดว่าผู้บริโภคต้องได้รับความเป็นธรรมในการทำสัญญา อย่างไรก็ตามผู้บริโภคก็ต้องระมัดระวัง ไม่ใช่ตรวจสอบเพียงข้อสัญญา แต่ต้องตรวจถึงทรัพย์สินที่ซื้อขายด้วย         อย่างกรณีตัวอย่างคดีที่ยกมาให้ดูกันนี้ เป็นเรื่องที่ผู้ซื้อไปซื้อที่ดินซึ่งเป็นสาธารณประโยชน์ ซึ่งกฎหมายวางหลักไว้ว่าทรัพย์สินซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินนั้นจะโอนแก่กันมิได้ ประเด็นคือถ้าทำสัญญาซื้อขายกันแล้วจะมีผลใช้บังคับได้แค่ไหน และหากสัญญาเป็นโมฆะไม่มีผลใช้บังคับ ผู้ซื้อมีสิทธิขอเงินค่าที่ดินคืนได้เพียงใด ประเด็นดังกล่าว มีคดีขึ้นสู่ศาล และศาลฏีกาได้วางหลักไว้ว่าการที่โจทก์จำเลยทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทแก่กัน เป็นการทำนิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย สัญญาซื้อขายระหว่างโจทก์จำเลยย่อมตกเป็นโมฆะ และหากโจทก์ผู้ซื้อรู้อยู่ขณะทำสัญญาว่าที่ดินดังกล่าวเป็นที่สาธารณประโยชน์ ถือว่าชำระนี้ไปโดยรู้อยู่ว่าตนเองไม่มีหน้าที่ต้องชำระ โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้เงินค่าที่ดินคืน         คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7464/2555        ที่ดินพิพาทเป็นที่สาธารณประโยชน์จึงเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ซึ่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1305 บัญญัติว่า ทรัพย์สินซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินนั้นจะโอนแก่กันมิได้ เว้นแต่อาศัยอำนาจแห่งบทกฎหมายเฉพาะหรือพระราชกฤษฎีกา การที่โจทก์จำเลยทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทแก่กัน จึงเป็นการทำนิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย สัญญาซื้อขายระหว่างโจทก์จำเลยย่อมตกเป็นโมฆะตามมาตรา 150 และมีผลเป็นการเสียเปล่าเท่ากับโจทก์จำเลยมิได้ทำสัญญาซื้อขายกันและต้องคืนทรัพย์สินอันเกิดจากโมฆะกรรมแก่กันโดยให้นำบทบัญญัติว่าด้วยลาภมิควรได้มาใช้บังคับตามมาตรา 172        แต่การที่โจทก์ชำระราคาที่ดินพิพาทแก่จำเลยตามสัญญาซื้อขายโดยรู้อยู่แล้วว่าที่ดินพิพาทเป็นที่สาธารณประโยชน์ ถือว่าเป็นการกระทำตามอำเภอใจเหมือนหนึ่งว่าเพื่อชำระหนี้โดยรู้อยู่ว่าตนไม่มีความผูกพันที่จะต้องชำระ ทั้งยังเป็นการฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายตามมาตรา 407 และมาตรา 411 โจทก์จึงไม่มีสิทธิจะได้รับคืนราคาที่ดินที่ชำระแก่จำเลยดังกล่าว        นอกจากนี้ แม้เป็นที่ชายตลิ่งอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันนั้น  ผู้ใดจะอยู่มาช้านานเท่าใดก็ ไม่ได้กรรมสิทธิ์            คำพิพากษาฎีกาที่ 1642/2506        ที่ชายตลิ่งอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันนั้น ผู้ใดจะอยู่มาช้านานเท่าใดก็หาได้กรรมสิทธิ์ไม่ แต่ถ้าหากบุคคลอื่นเข้ามากั้นรั้วปลูกเรือนแพและสิ่งอื่นๆ กีดขวางหน้าที่ดินของเจ้าของที่ดินที่ติดกับที่ชายตลิ่งเต็มหมด จนไม่สามารถใช้สอยชายตลิ่งเข้าออกสู่ลำแม่น้ำได้แล้ว ย่อมถือว่าเจ้าของที่ดินนั้นได้รับความเสียหายเป็นพิเศษ มีสิทธิฟ้องขับไล่ได้          ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์        มาตรา 1304 สาธารณสมบัติของแผ่นดินนั้น รวมทรัพย์สินทุกชนิดของ แผ่นดินซึ่งใช้เพื่อสาธารณประโยชน์ หรือสงวนไว้เพื่อประโยชน์ร่วมกัน เช่น        (1) ที่ดินรกร้างว่างเปล่า และที่ดินซึ่งมีผู้เวนคืนหรือทอดทิ้งหรือกลับมา เป็นของแผ่นดินโดยประการอื่น ตามกฎหมายที่ดิน        (2) ทรัพย์สินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน เป็นต้นว่า ที่ชายตลิ่ง ทางน้ำ ทางหลวง ทะเลสาบ        (3) ทรัพย์สินใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะ เป็นต้นว่า ป้อม และโรงทหาร สำนักราชการบ้านเมือง เรือรบ อาวุธยุทธภัณฑ์         มาตรา 1305 ทรัพย์สินซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินนั้นจะโอนแก่กัน มิได้ เว้นแต่อาศัยอำนาจแห่งบทกฎหมายเฉพาะหรือพระราชกฤษฎีกา        มาตรา 1306 ท่านห้ามมิให้ยกอายุความขึ้นเป็นข้อต่อสู้กับแผ่นดินใน เรื่องทรัพย์สินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน        มาตรา 1307 ท่านห้ามมิให้ยึดทรัพย์สินของแผ่นดินไม่ว่าทรัพย์สินนั้น จะเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินหรือไม่

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 223 ความเคลื่อนไหวเดือนกันยายน 2562

องค์กรผู้บริโภค และ ETDA จับมือผู้ประกอบการ ทำ MOU ซื้อขายออนไลน์ปลอดภัย        19 กันยายน องค์กรผู้บริโภค และ ETDA จับมือผู้ประกอบการ ทำ MOU ซื้อขายออนไลน์ปลอดภัย หวังคุ้มครอง เยียวยาผู้บริโภคจากการถูกหลอก         คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน สมาคมสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ร่วมกับสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์หรือ ETDA กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย บริษัท เซ็นทรัล เจดี คอมเมิร์ซ จำกัด บริษัท แอลเอ็นดับเบิ้ลยู จำกัด และบริษัท บิวตี้ นิสต้า จำกัด ร่วมกันลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) เรื่อง “การคุ้มครองผู้บริโภคในการซื้อขายสินค้าและบริการในตลาดออนไลน์” ณ ห้อง 201 ชั้น 2 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยมี นายเทวัญ ลิปตพัลลภ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงดังกล่าว         โดยนายณัฏฐชัย ศรีรุ่งสุขพินิจ ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ผู้แทนรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ กล่าวว่า ที่มาของความร่วมมือในครั้งนี้เกิดจากองค์กรผู้ร่วมลงนามและพยานทุกฝ่ายเห็นความสำคัญของการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค และต้องการสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภคในการซื้อขายออนไลน์ จึงร่วมกับ ETDA และผู้ประกอบการออนไลน์ จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “การคุ้มครองผู้บริโภคในการซื้อขายสินค้าและบริการในตลาดออนไลน์” นี้ขึ้น เพื่อเป็นกรอบในการทำงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภคร่วมกัน ทำให้การซื้อขายออนไลน์มีความปลอดภัย น่าเชื่อถือมากยิ่งขึ้น         ด้านนางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า ความร่วมมือในการทำบันทึกข้อตกลง (MOU) ซื้อขายออนไลน์ในครั้งนี้ได้มีการประชุมร่วมกันระหว่างองค์กรผู้บริโภค หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องและผู้ประกอบการตลาดออนไลน์หลายครั้ง เพื่อให้เกิดระบบและมาตรการคุ้มครองผู้บริโภค ทำให้ผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นในการซื้อขายออนไลน์ ซึ่งบันทึกความร่วมมือนี้จะคลอบคลุมสาระสำคัญทั้งหมด 7 ด้าน ได้แก่ 1. ด้านการตรวจสอบร้านค้าที่ร่วมจำหน่ายสินค้าหรือบริการ 2. ด้านการแสดงข้อมูลของร้านค้าที่ร่วมจำหน่ายสินค้าหรือบริการ 3. ด้านการมีระบบให้ข้อมูลจำเป็นแก่ผู้บริโภค 4. ด้านระบบรักษาความปลอดภัยทางการเงิน โดยมีระบบ “คนกลาง” 5. ด้านนโยบายความเป็นส่วนตัว 6. ด้านการมีช่องทางร้องเรียน และระบบติดตามเรื่องร้องเรียน และ 7. ด้านการมีนโยบายความพึงพอใจ การคืนสินค้าและการเยียวยาแก่ผู้บริโภค          ขณะที่นางสุรางคณา วายุภาพ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ กล่าวว่า ผลสำรวจของ ETDA พบว่า มูลค่าตลาดอีคอมเมิร์ซ เพิ่มสูงขึ้น จาก 2.7 ล้านล้านบาทในปี 2560 เป็น 3.2 ล้านล้านบาทในปัจจุบัน ส่วนบีทูซี (B2C) ของประเทศไทยก็สูงเป็นอันดับที่ 1 ของอาเซียน และเมื่อเทียบมูลค่าระหว่างปี 2559 กับปี 2560 พบว่า มีมูลค่าเพิ่มถึงกว่า 1 แสน 6 หมื่นล้านบาท ส่วนหนึ่งมาจากความเชื่อมั่นในเทคโนโลยี ระบบอีเพย์เมนท์ (e - Payment) ที่สะดวกมากขึ้น การขนส่งที่รวดเร็ว ทำให้คนหันมานิยมซื้อของออนไลน์สูงขึ้น ท่ามกลางการทำธุรกรรมทางออนไลน์ที่เติบโตอย่างก้าวกระโดด กลับพบปัญหา การโกง ฉ้อฉล เอารัดเอาเปรียบผู้โภคอย่างต่อเนื่อง        จากสถิติศูนย์รับเรื่องร้องเรียนปัญหาออนไลน์ (1212 OCC) พบว่า ในปี 2560 มีการร้องเรียนจำนวน 9,987 ครั้ง และเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวในปี 2561 ที่พบเรื่องร้องเรียนสูงถึง 17,558 ครั้ง เฉลี่ย 1,463 ครั้งต่อเดือน ส่วนใหญ่เป็นเรื่องเกี่ยวกับการซื้อแล้วไม่ได้รับสินค้า สินค้าไม่ตรงตามสเปกที่ตกลง สินค้าผิดกฎหมาย ไม่มีมาตรฐาน ซึ่งการลงนามครั้งนี้จะเป็นตัวแปรสำคัญในการขับเคลื่อนเพื่อแก้ปัญหาเหล่านี้ได้อย่างเป็นรูปธรรมในอนาคต  เผย “บุหรี่ไฟฟ้า” ลดสูบไม่เกิน 10%        การประชุมการขับเคลื่อนเชิงนโยบายการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าของประเทศไทย โดยศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ม.มหิดล เผยผู้ที่นำบุหรี่ไฟฟ้ามาเป็นทางเลือกเพื่อเป็นตัวช่วยเลิกบุหรี่นั้น จากข้อมูลพบว่าผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้ามีอัตราการเลิกบุหรี่เพียงร้อยละ 5-9และหากคนที่สูบบุหรี่ใช้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นตัวช่วยเลิกบุหรี่เทียบกับคนที่ไม่ได้ใช้ โอกาสเลิกบุหรี่ยังลดลงไปกว่าเดิมถึง 27% (ผลิตภัณฑ์บุหรี่ไฟฟ้าในตลาดมากกว่า 95% มีสารนิโคตินเป็นส่วนผสมอยู่ในสารน้ำ ซึ่งทำให้ติดสารนิโคตินได้)        ด้าน ภญ.ดร.อรลักษณ์ พัฒนาประทีป คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า จากการประมาณค่าความสูญเสียที่เกิดจากบุหรี่ไฟฟ้าในเชิงเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข พบว่า ผลกระทบจากค่าใช้จ่ายในการรักษาและค่าเสียโอกาสในการเกิดโรคต่อปีเท่ากับ  534,571,710 บาท ซึ่งเป็นความสูญเสียทางเศรษฐศาสตร์และสุขภาพของเยาวชนและประชาชนไทยที่ต้องแบกรับภาระจากบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์         ที่ประชุมจึงได้เสนอความเห็นเพื่อการคงไว้ซึ่งมาตรการห้ามนำเข้าบุหรี่ไฟฟ้า  ห้ามขาย หรือให้บริการ ตามคำสั่งคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ที่ 9/2558 ซึ่งกำหนดโทษสำหรับผู้ประกอบธุรกิจทั่วไป ให้จำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และหากผู้ที่กระทำผิดเป็นผู้ประกอบธุรกิจในฐานะผู้ผลิต ผู้สั่ง หรือผู้ที่นำเข้ามาเพื่อขาย ต้องรับโทษเพิ่มสูงขึ้นเป็นจำคุกไม่เกิน 10 ปี ปรับไม่เกิน 1,000,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ1 ต.ค. นี้ กระทรวงสาธารณสุขให้ผู้ป่วยไปรับยาที่ร้านยาใกล้บ้านได้         ต้นเดือนตุลาคม 2562 นี้ กระทรวงสาธารณสุขจะเริ่มดำเนินนโยบายลดความแออัดของโรงพยาบาล โดยให้ผู้ป่วยสามารถนำใบสั่งยาจากแพทย์ไปรับยาที่ร้านยาใกล้บ้านได้ เพื่อลดเวลารอคิวรับยาในโรงพยาบาลและเพิ่มความสะดวกสบายแก่ประชาชนมากขึ้น หากเข้าเกณฑ์ 4 เงื่อนไข ดังนี้ (1) ใช้สิทธิ์บัตรทอง (2) ป่วยด้วยโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง หอบหืด หรือโรคทางจิตเวช (3) แพทย์วิจัยฉัยแล้วว่าผู้ป่วยสามารถรับยาที่ร้านยาได้ และ (4) ผู้ป่วยยินดีไปรับยาที่ร้านยา เริ่มนำร่องในโรงพยาบาล 50 แห่ง และร้านยาที่ได้มาตรฐานกว่า 500 ร้านทั่วประเทศ        ดูรายชื่อร้านยาที่เข้าร่วมโครงการได้ที่        https://www.nhso.go.th/FrontEnd/page-contentdetail.aspx?CatID=MTI4OA%3D%3D ป.ป.ส. เตือน ระวังตกเป็นเหยื่อขนส่งยาทางพัสดุไปรษณีย์         พันตำรวจตรี สุริยา สิงหกมล รองเลขาธิการ ป.ป.ส. เตือนประชาชน ระวังตกเป็นเหยื่อนักค้ายาเสพติด ฉวยโอกาสขนส่งยาเสพติดและสิ่งผิดกฎหมายผ่านพัสดุไปรษณีย์ เป็นเหตุให้ถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย         “ปัจจุบัน นักค้ายาเสพติดเลือกใช้บริการรับ-ส่งพัสดุภัณฑ์ในการขนส่งยาเสพติดมากขึ้น ซึ่งหากพบว่าบุคคลใดมีส่วนเกี่ยวข้อง ไม่ว่าในฐานะผู้ให้บริการขนส่ง หรือผู้รับพัสดุไปรษณีย์ ล้วนมีความผิดตามกฎหมาย โดยผู้ส่งมีความผิดฐานจำหน่ายยาเสพติดให้โทษ และผู้รับพัสดุภัณฑ์มีความผิดฐานครอบครอง หรือครอบครองเพื่อจำหน่าย ขึ้นอยู่กับปริมาณของกลางยาเสพติด...ดังนั้นขอให้ประชาชนระมัดระวังตนเองและคนในครอบครัว กรณีผู้รับสินค้า เมื่อทราบจากพนักงานส่งพัสดุภัณฑ์ว่าจะมีการส่งพัสดุนั้น ขอให้สอบถามและตรวจสอบอย่างถี่ถ้วนว่า ตนเองหรือคนในครอบครัวมีการสั่งสินค้า หรือจะได้รับพัสดุภัณฑ์โดยที่ไม่สั่งสินค้าหรือไม่ หากพบการแอบอ้างชื่อในการส่งสินค้า หรือเห็นความไม่ชอบมาพากล ขอให้แจ้งตำรวจหรือเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องโดยลงบันทึกไว้เป็นหลักฐาน หรืออาจเก็บหลักฐานไว้แสดงถึงเหตุการณ์ดังกล่าว เพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจ และยืนยันตนว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง”         แจ้งเบาะแสได้ที่ สายด่วน ป.ป.ส. โทร. 1386 ตลอด 24 ชั่วโมง สถิติการฆ่าตัวตายปี 2562 ของไทย เฉลี่ย 14.4 คนต่อคนไทย 1 แสนคน         คนไทยฆ่าตัวตายเป็นอันดับ 32 ของโลก  เฉลี่ย 14.4 คนต่อคนไทย 1 แสนคน ข้อมูลจากผลสำรวจซึ่งแถลงในวันที่ 10 กันยายน ซึ่งองค์การอนามัยโลก ได้กำหนดให้เป็นวันป้องกันการฆ่าตัวตายโลก(World Suicide Prevention Day)         องค์การอนามัยโลก(WHO) ได้รายงานสถานการณ์การฆ่าตัวตายโลก โดยระบุว่ามีคนเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายทุกๆ 40 วินาที และการฆ่าตัวตายเป็นสาเหตุการเสียชีวิตของวัยรุ่น(อายุ 15-29 ปี) มากที่สุด รองลงมาจากอุบัติเหตุบนท้องถนน แม้ว่าในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา หลายประเทศทั่วโลกจะเพิ่มมาตรการ และนโยบายป้องกันการฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้น แต่ก็ยังต้องการการสนับสนุนจากภาคส่วนต่างๆรายงานการจัดอันดับประเทศที่มีอัตราการฆ่าตัวตายสูงที่สุดในโลก ประจำปี 2562 โดย World Population Review ที่สำรวจ และพิจารณาข้อมูลการฆ่าตัวตายขององค์การอนามัยโลกปี 2561 ทั้งหมด 183 ประเทศ พบว่า ประเทศไทย มีอัตราการฆ่าตัวตายสูงที่สุด ติดอันดับ 32 ของโลก เฉลี่ย 14.4 คนต่อประชากร 1 แสนคน      โดยห้าอันดับแรกได้แก่ อันดับ 1 ลิทัวเนีย อันดับ 2 รัสเซีย อันดับ 3 กายอานา อันดับ 4 เกาหลีใต้ อันดับ 5 เบลารุส

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 222 ซื้อตั๋วรถทัวร์ล่วงหน้า แต่ว่าไม่มีที่นั่งในวันเดินทาง

        ปัญหาคลาสสิกของเรื่องการเดินทางช่วงวันหยุดยาวคือ การหารถโดยสารเพื่อเดินทาง เพราะคนมาก ความต้องการสูงแต่รถน้อย ดังนั้นหลายท่านจึงแก้ไขด้วยการจองตั๋วล่วงหน้า และถ้าได้ตั๋วมาไว้ในมือแล้ว ซึ่งมีพร้อมรายละเอียดทั้งเที่ยวรถและเลขที่นั่ง ย่อมจะมั่นใจว่าตนเองไม่พลาดการเดินทางแน่ แต่ระบบรถโดยสารประเทศไทยอะไรก็เกิดขึ้นได้        คุณเนตรนภาและหลานสาวเป็นชาวจังหวัดแพร่ มีแผนที่จะเดินทางเข้ากรุงเทพฯ ในวันหยุดยาวที่กำลังจะมาถึง เนื่องจากเกรงว่าตั๋วโดยสารจะเต็มเพราะเป็นช่วงเทศกาล คุณเนตรนภาจึงตัดสินใจซื้อตั๋วล่วงหน้าจากบริษัทรถทัวร์เชิดชัยทัวร์ จากท่ารถอำเภอร้องกวาง จังหวัดแพร่ ในราคาใบละ 450 บาท ซึ่งตั๋วได้ระบุเวลาเดินทางและเลขกำกับที่นั่งไว้ชัดเจน 1 เอ และ 1 บี โดยมีรอบเดินทางเวลา 20.50 น.         เมื่อถึงวันเดินทางก่อนเวลาแค่ 20 นาที คือ 20.30 น. คุณเนตรนภาได้รับแจ้งจากพนักงานขายตั๋วโดยสารทางโทรศัพท์ว่า รถทัวร์คันที่คุณเนตรนภาได้ซื้อตั๋วล่วงหน้าเอาไว้นั้น เต็มตั้งแต่ต้นทางแล้ว ขอให้คุณเนตรนภารีบเดินทางไปซื้อตั๋วโดยสารใหม่ที่สถานีขนส่งแพร่         เมื่อคุณเนตรนภาเดินทางไปถึงสถานีขนส่งจังหวัด ก็ได้โต้เถียงกับพนักงานขายตั๋วว่า รถจะเต็มได้อย่างไร ในเมื่อตั๋วที่ซื้อมาระบุที่นั่งและเวลาไว้ชัดเจน ตนเองควรได้สิทธิในการนั่งเพราะตนเองจองและจ่ายเงินไปแล้ว  ไม่ควรต้องถูกปฏิเสธิการใช้บริการและไปเที่ยวหาซื้อตั๋วใหม่ ซึ่งไม่แน่ว่าจะได้ไหม  การที่บริษัททำแบบนี้ เอาเปรียบตนเองและหลานสาวมาก หากตนเองซื้อตั๋วใหม่ไม่ได้จะทำอย่างไร ที่พัก และอื่นๆ ที่จองไว้ก็จะพลาดทั้งหมด         คุณเนตรนภาพยายามใช้สิทธิอย่างเต็มที่ แต่สุดท้ายก็ต้องจำใจรับเงินค่าโดยสารคืนกลับมา เพราะการบริษัทปล่อยให้มีคนอื่นโดยสารในที่ของตนเองไปแล้ว อย่างเลี่ยงไม่ได้  เมื่อพาหลานสาวเดินหาตั๋วใหม่ในคืนนั้น ก็เป็นอย่างที่คิดคือ เที่ยวรถที่จะเดินทางเข้ากรุงเทพฯ นั้นเต็มหมดทุกเที่ยว คุณเนตรนภาและหลานสาวจึงต้องพลาดการเดินทางในคืนนั้นจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น คุณเนตรนภาตัดสินใจร้องเรียนมายังศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคจังหวัดแพร่ ถึงการให้บริการที่ไม่ได้มาตรฐานของบริษัทรถทัวร์ จากการซื้อตั๋วโดยสารล่วงหน้าที่ระบุเลขที่นั่งชัดเจน แต่เมื่อถึงเวลาเดินทาง กลับไม่สามารถเดินทางได้เพราะที่นั่งเต็ม แนวทางการแก้ไขปัญหา        กรณีดังกล่าว ศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคจังหวัดแพร่ ได้ดำเนินการส่งเรื่องร้องเรียนไปยังบริษัทเชิดชัยทัวร์ และขนส่งจังหวัดแพร่เพื่อแก้ไขปัญหา แต่ไม่พบว่ามีการตอบกลับมาจากทั้งสองแห่ง         อย่างไรก็ตามเรื่องนี้ทางคุณเนตรนภาขอยุติเรื่องไปก่อน ดังนั้นหากผู้บริโภคเจอเหตุการณ์ในลักษณะเดียวกัน ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคแนะนำให้ปฏิบัติ ดังนี้         1. ถ่ายภาพตั๋วโดยสาร สถานที่จำหน่ายตั๋ว และสอบถามชื่อพนักงานจำหน่ายตั๋วเก็บไว้เป็นหลักฐาน        2. แจ้งความลงบันทึกประจำวัน ณ สถานีตำรวจที่สะดวก กรณีเกิดความเสียหายจากการพลาดเที่ยวรถ เช่น ค่าปรับจากการผิดนัดติดต่องาน หรือเสียโอกาสจากการว่าจ้างงาน โดยท่านสามารถเรียกค่าเสียหายจากบริษัทผู้ให้บริการรถทัวร์โดยสารได้        3. ส่งหนังสือร้องเรียนไปยังบริษัทผู้ให้บริการรถทัวร์, ขนส่งประจำจังหวัด และ กรมการขนส่งทางบก รวมถึงส่งสำเนาหนังสือร้องเรียนมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ด้วยก็ได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 222 ซื้อของออนไลน์ จ่ายอย่างไรให้ปลอดภัย มั่นใจ ได้เงินคืน

        ปัจจุบันการซื้อสินค้าหรือบริการออนไลน์ได้เปลี่ยนชีวิตผู้บริโภค สามารถซื้อสินค้าได้ทุกประเภทเพียงปลายนิ้วสัมผัส ทำให้มูลค่าทางการตลาดของ ธุรกิจ e-Commerce หรือตลาดออนไลน์มีการเติบโตอย่างมาก ซึ่งล่าสุด มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค โดย “เสาวลักษณ์ ชีวสิทธิยานนท์” ได้ทำการศึกษาวิจัย เรื่อง “การศึกษาข้อมูลระบบการชำระเงินและคืนเงินกรณีซื้อสินค้า/บริการออนไลน์” เมื่อช่วงต้นปี 2562 ทำให้พบข้อมูลที่น่าสนใจ ว่าทำธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์บนตลาดออนไลน์มีรูปแบบที่หลากหลาย ซับซ้อน และไร้ขอบเขต จึงเป็นหนึ่งช่องทางอันหอมหวานของกลุ่มมิจฉาชีพเข้ามาหลอกลวง เอารัดเอาเปรียบผู้บริโภคบนตลาดออนไลน์ได้มากเช่นเดียวกัน เห็นได้จากการสำรวจของบ้านสมเด็จโพล พบว่ากว่า 32.4% เคยถูกหลอกลวงจากการซื้อสินค้าออนไลน์ จึงจำเป็นต้องให้การคุ้มครองผู้บริโภคที่มากขึ้นทั้งนี้  “นิตยสารฉลาดซื้อ” ได้นำเอาข้อค้นพบในงานวิจัยชิ้นดังกล่าวที่เป็นประโยชน์มาฝากผู้อ่านเป็นหลักคิดเพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของการซื้อของออนไลน์ โดยพุ่งเป้าไปที่ลักษณะการจับจ่ายใช้สอย ซึ่งหลักๆ พบว่ามี ดังนี้1. เงินสด2. จ่ายผ่านบัตรเดบิต3. บัตรเครดิต4. เงินอิเล็กทรอนิกส์ เช่น บัตรโดยสารรถไฟฟ้า บัตรซื้ออาหารในศูนย์อาหาร บัตรเติมเงินโทรศัพท์มือถือ บัตรเติมเงินซื้อชั่วโมงอินเทอร์เน็ต บัตรชมภาพยนตร์ และกระเป๋าเงินบนโทรศัพท์มือถือ เป็นต้น5. การชำระเงินผ่านโซเชียลมีเดีย ที่จะมีผู้ทำหน้าที่เป็น Payment Gateway อีกทีหนึ่ง แล้วให้ผู้ซื้อเลือกจ่ายค่าสินค้าผ่านบัตรเดบิต บัตรเครดิต โอนเงินผ่านธนาคาร เป็นต้น 6. การชำระเงินผ่านตัวกลาง (PayPal) สามารถผูกบัญชีกับการชำระเงินผ่านบัตรเดบิต บัตรเครดิต หรือโอนเงินผ่านธนาคารได้ และ7. การชำระเงินผ่านแอปพลิเคชันในโทรศัพท์เคลื่อนที่ หรือผ่านอินเทอร์เน็ตแบงค์กิ้ง จ่ายแบบไหนปลอดภัยสุด         โดยในงานวิจัยได้มีการศึกษาลักษณะการใช้จ่ายเงินทั้ง 7 วิธีการแล้ว และได้บทสรุปออกมาว่า “การชำระค่าสินค้าและบริการผ่านบัตรเครดิต” มีความปลอดภัยค่อนข้างสูงโดยเฉพาะประเทศไทย เพราะต้องใส่หมายเลขบัตรเครดิต รหัส CVV 3 หลัก และรหัส OTP อีกทั้งเมื่อเกิดปัญหาจากการซื้อสินค้าหรือบริการออนไลน์ และต้องการเรียกเงินคืน ผู้บริโภคมีสองทางเลือก คือ         1.ติดต่อผู้ขาย หรือตลาดกลางซื้อขายออนไลน์ เพื่อขอคืนเงิน (refund) โดยตรง หรือ        2.ในกรณีที่ติดต่อผู้ขายไม่ได้ หรือผู้ขายปฏิเสธที่จะคืนเงินให้ ผู้ซื้อสามารถติดต่อธนาคารผู้ออกบัตร เพื่อยื่นเรื่องขอปฏิเสธการชำระเงิน (chargeback) โดยธนาคารอาจใช้เวลาในการตรวจสอบและดำเนินการคืนเงินภายใน 45-90 วัน        แต่สิ่งที่แตกต่างจากบัตรเดบิต คือ บางธนาคารอนุโลมให้ผู้ถือบัตรเครดิตยังไม่ต้องชำระค่าใช้จ่ายที่ยื่นเรื่องขอตรวจสอบได้ แต่หากใช้จ่ายผ่านบัตรเดบิตนั้น ผู้ซื้อจะถูกหักเงินค่าสินค้าออกจากบัญชีธนาคารไปก่อน แล้วหลังจากตรวจสอบเสร็จ จึงดำเนินการคืนเงินให้         อีกทั้งระยะเวลาคืนเงินของบัตรเครดิตยังอาจรวดเร็วกว่าบัตรเดบิตในกรณีที่ซื้อสินค้าและขอคืนเงินผ่านตลาดกลางซื้อขายออนไลน์เช่น Lazada หรือ Amazon และยังมีขั้นตอนการขอคืนเงินที่ง่ายกว่ากรณีที่ชำระค่าสินค้าผ่านการโอนเงินทางบัญชีธนาคาร เพราะหากโอนเงินให้ผู้ขายโดยตรงและไม่ได้รับสินค้าในกรณีของประเทศไทย จะต้องไปแจ้งความที่สถานีตำรวจเพื่ออายัดบัญชี ซึ่งก็ยังไม่แน่ว่าจะได้รับเงินคืนจากผู้ขายหรือไม่         “การชำระค่าสินค้าผ่านบัตรเดบิต” ถึงแม้จะมีความปลอดภัยเช่นเดียวกับบัตรเครดิต แต่ในขั้นตอนการขอเงินคืนนั้น อาจจะใช้เวลาที่มากกว่าบัตรเครดิต อีกทั้งยังเป็นการหักเงินในบัญชีเป็นค่าซื้อสินค้าไปก่อน         “การชำระค่าสินค้าเป็นเงินสดปลายทาง” เรียกว่ามีความปลอดภัยสูงว่าจะได้รับสินค้าอย่างแน่นอน แต่การใช้จ่ายด้วยเงินสดมีต้นทุนการใช้ที่สูงกว่าการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์ และในกรณีที่ได้รับสินค้าไม่ตรงตามที่อธิบายไว้ และต้องการคืนสินค้านั้น จะมีความเสี่ยงมากว่ากรณีซื้อตรงกับผู้ขายอาจจะมีความไม่แน่นอนว่าจะสามารถติดต่อผู้ขายเพื่อขอคืนเงินได้หรือไม่ แต่ในกรณีที่ซื้อสินค้าโดยจ่ายเงินปลายทางผ่านตลาดกลางเช่น Lazada นั้น ยังสามารถติดต่อผ่านตลาดกลางนี้ได้ อย่างไรก็ตาม กรณีสินค้าถูกนำส่งโดย บริษัทเคอรี่ มีแนวทางปฏิบัติที่น่าสนใจดังนี้ สำหรับผู้บริโภค ที่เลือกการชำระเงินโดยจ่ายปลายทาง แล้วพบว่า หลังจากชำระเงินไปแล้ว สินค้าที่ซื้อไม่ตรงตามที่โฆษณา หรือที่สั่งไป มีสิทธิขอเงินคืนได้ เนื่องจากกรณีที่เราชำระเงินปลายทาง ผู้ส่งของ คือบริษัทเคอรี่ จะคงเก็บเงินไว้ 3 วันตามนโยบายของบริษัท ที่ตกลงไว้กับผู้ส่งว่า “บริการเก็บเงินค่าสินค้าปลายทาง ค่าบริการคิดเป็น 3% ของยอดที่เรียกเก็บ ผู้ส่งจะชำระค่าขนส่งและค่าบริการนี้ ณ จุดส่ง สำหรับยอดเงินเรียกเก็บปลายทางระบบจะทำการโอนเงินคืนผู้ส่งใน 3 วันทำการหลังจากลูกค้าปลายทางได้รับสินค้าเป็นที่เรียบร้อย" ดังนั้น เมื่อได้รับของและชำระเงินแล้ว ควรตรวจสอบสินค้าภายใน 3 วัน และหากพบว่าไม่ตรงกับที่สั่ง ควรติดต่อไปยังบริษัทเคอรี่ เพื่อขอคืนเงิน โดยแจ้งเลขที่พัสดุ ชื่อผู้ส่ง หลังจากนั้นบริษัทจะประสานสาขาใกล้เคียงให้มารับของนั้นคืนไป และคืนเงินให้กับผู้บริโภค(ที่มา มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค)        “การชำระเงินผ่าน e-money” กรณีเป็นบัตรพลาสติกจะมีความคล้ายคลึงกับเงินสด หากสูญหาย ก็เหมือนกับสูญเสียเงินสดเท่ากับมูลค่าที่มีในบัตรพลาสติก แต่ e-money อีกประเภทที่คล้ายกับบัตรเครดิตแบบเติมเงินล่วงหน้านั้น จะมีความปลอดภัยเพราะจำกัดวงเงินความเสียหายเท่ากับเงินที่เติมไว้ในบัตร แต่ตอนนี้ e-money ในประเทศไทยยังไม่แพร่หลายจนสามารถใช้ได้กับทุกร้านค้าหรือทุกเว็บไซต์         “การจ่ายเงินผ่านตัวกลาง” เช่น “PayPal” นั้นมีความปลอดภัยค่อนข้างมาก เพราะ PayPal มีนโยบายคุ้มครองผู้ซื้อในกรณีที่ผู้ซื้อไม่ได้รับสินค้า หรือได้รับสินค้าที่แตกต่างจากที่ระบุไว้อย่างชัดเจน โดยผู้บริโภคสามารถขอเงินคืนโดยเปิดข้อพิพาทกับ PayPal ได้ภายใน 180 วันนับจากวันชำระเงินค่าสินค้า         “การจ่ายผ่านแอปพลิเคชันในโทรศัพท์มือถือ หรือ “อินเทอร์เน็ตแบงค์กิ้ง” ผู้ซื้อจะต้องเข้ารหัสส่วนตัว เพื่อเข้าไปทำธุรกรรม ซึ่งหลังจากทำรายการแล้ว จะมี sms แจ้งเตือนให้ผู้ซื้อทราบว่าได้มีการใช้จ่ายจากบัญชีของตนเอง หรือในบางครั้งถ้ามีการโอนเงินไปบุคคลอื่นเป็นครั้งแรก จะต้องใส่รหัส OTP ด้วย แต่ในกรณีที่ซื้อสินค้าแล้วมีปัญหา อาจมีความยุ่งยากในการขอเงินคืนโดยเฉพาะกรณีซื้อสินค้ากับผู้ขายรายย่อย เพราะอาจเกิดปัญหาไม่สามารถติดต่อผู้ขายได้ ในกรณีประเทศไทยต้องมีการแจ้งความที่สถานีตำรวจเพื่อขออายัดบัญชีของผู้ขาย        “การจ่ายผ่านโซเชียลมีเดีย” ความปลอดภัยในการใช้บัตรขึ้นกับ Payment gateway ที่ให้บริการ แต่โดยทั่วไป Payment gateway เหล่านั้นจะผ่านมาตรฐานความปลอดภัยทั่วไปอยู่แล้ว ลักษณะการใช้งานคล้ายกับกรณีของบัตรเดบิต และบัตรเครดิต แต่หากผู้บริโภคเลือกจ่ายผ่านการโอนเงินผ่านธนาคารก็อาจมีความยุ่งยากในการขอเงินคืน         อย่างไรก็ตาม แม้มีช่องทางให้สามารถคืนสินค้าและขอเงินคืนได้แล้ว แต่ไม่ได้หมายความว่าผู้ซื้อจะสามารถทำได้ตามอำเภอใจทุกอย่างมีหลักเกณฑ์ข้อกำหนดเอาไว้ โดยหลักๆ จากที่งานวิจัยได้รวบรวมเอาไว้ อาทิ  สินค้าที่ได้รับไม่ตรงตามที่อธิบายไว้ สินค้าชำรุด เสียหาย ถูกแกะออกมาใช้หรือเป็นสินค้ามือสอง  ไม่ได้รับของตรงตามกำหนดเวลา ได้รับของไม่ครบถ้วน หรือชำรุดบกพร่อง หรือไม่ถูกต้องตรงตามวัตถุประสงค์        และการจะเรียกร้องสิทธิตรงนี้ ผู้ซื้อจะต้องเก็บหลักฐานการซื้อสินค้าออนไลน์ทุกครั้ง เพื่อใช้เป็นหลักฐานในกรณีทีเกิดปัญหา เช่น หลักฐานระยะเวลาการรับประกันการคืนสินค้า หลักฐานการชำระค่าสินค้า หลักฐานการติดต่อกับเจ้าหน้าที่ เป็นต้น เพราะในบางครั้งแม้ผู้ซื้อจะมีหลักฐานที่ยืนยันว่ามีระยะเวลาประกันการคืนสินค้าภายใน 14 วันจริง ก็ยังมีปัญหาในการคืนสินค้าดังกรณีตัวอย่างของ Lazada ที่ระบบแจ้งว่าต้องคืนสินค้าภายใน 7 วันแต่ได้แสดงผลบนหน้าเว็บไซต์ว่าคืนได้ภายใน 14 วัน วิธีแก้ปัญหาในการซื้อสินค้าและบริการออนไลน์         ผู้บริโภคควรเรียนรู้สิทธิและวิธีแก้ปัญหาในการซื้อสินค้าและบริการออนไลน์ เช่น ใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต สามารถใช้วิธีปฏิเสธการชำระเงิน (chargeback) ได้หากเกิดปัญหาจากการซื้อสินค้า และมีระยะเวลาคืนเงินที่รวดเร็วกว่าการใช้บัตรเดบิต แต่การชำระเงินค่าสินค้าผ่านการโอนเงินธนาคารนั้น มีความเสี่ยงสูงโดยเฉพาะการซื้อกับผู้ขายโดยตรง เพราะถ้าไม่ได้รับสินค้าและไม่สามารถติดต่อผู้ขายได้ ต้องดำเนินเรื่องแจ้งความที่สถานีตำรวจเพื่ออายัดบัญชี ซึ่งยังไม่ได้รับประกันว่าจะได้รับเงินคืนหรือไม่ ดังนั้นเพื่อความปลอดภัย การซื้อสินค้าผ่านตลาดกลางซื้อขายสินค้า ย่อมมีความปลอดภัยมากกว่าซื้อจากผู้ขายโดยตรง เพราะมีการรับประกันสินค้าและนโยบายคืนเงินที่ชัดเจนกว่า          ทั้งนี้เมื่อดำเนินการเรียกร้องสิทธิโดยตรงกับทางผู้ขาย หรือธนาคารสถาบันที่เป็นตัวกลางในการจ่ายเงินไปแล้วยังไม่ได้รับความเป็นธรรม ผู้ซื้อสามารถร้องเรียนไปยังหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องได้ ดังนี้         1.สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) (สพธอ.)         2.กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม        3.กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก. ปอท.)         4.สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.)         5.สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)         6.ธนาคารแห่งประเทศไทย        7.มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค         ขั้นตอนการร้องเรียน        ในการร้องเรียนนั้นควรเตรียมหลักฐานเพื่อให้เจ้าหน้าที่นำไปใช้พิจารณา เช่น        1. ใบสั่งซื้อสินค้าหรือบริการ        2. ข้อความสนทนาการซื้อสินค้าหรือบริการระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขาย        3. ข้อมูลร้านค้า        4. หลักฐานการชำระเงิน        5. ถ่ายรูปสินค้าและเก็บสินค้าไว้เป็นหลักฐาน        6. นำหลักฐานทั้งหมดแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษที่สถานีตำรวจท้องที่ เพื่อเป็นหลักฐาน           อย่างไรก็ตาม นอกจากที่ต้องระวังเรื่องการหลอกลวงจากการซื้อขายผ่านระบบออนไลน์แล้วสิ่งที่ผู้ซื้อควรระวังด้วยเช่นกันคือ “ความอยากของตัวเอง” โดยเฉพาะการชำระค่าสินค้าที่ไม่ใช่เงินสด ซึ่งก่อนหน้านี้มีจิตแพทย์ออกมาให้ข้อมูลว่า “การซื้อของ” นับเป็นความสุขอย่างหนึ่งของมนุษย์ ช่วยลดความรู้สึกแย่ๆ ที่มีในจิตใจ ยิ่งถ้าซื้อทางออนไลน์ และไม่ได้จ่ายเงินสดยิ่งทำให้เกิดความเพลิดเพลิน ไม่รู้สึกเจ็บปวดเท่ากับการต้องควักกระเป๋าจ่ายสด ดังนั้นจงระมัดระวังใจตนเอง ซื้อเท่าที่จำเป็น

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 221 ผู้ป่วยควรเข้าถึงยาจากกัญชา แต่ต้องช่วยกันเป็นหูเป็นตาอย่าให้ถูกหลอก

        ช่วงที่สังคมกำลังตื่นตัวเรื่องการนำกัญชามาใช้ทางการแพทย์ มีการกำหนดช่วงเวลาให้ผู้ป่วยที่กำลังใช้ผลิตภัณฑ์จากกัญชา มาแจ้งข้อมูลที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดในแต่ละจังหวัด ผมมีโอกาสได้พูดคุยกับผู้ป่วยที่มาแจ้งข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์การได้รับผลิตภัณฑ์จากกัญชา ทราบว่าส่วนใหญ่ผู้ป่วยจะให้ข้อมูลว่า มีคนนำมาจำหน่ายให้ หรือบางรายก็สั่งซื้อจากอินเทอร์เน็ต        ประเด็นที่เจ้าหน้าที่และพวกเราควรจะช่วยกันหาทางเพื่อคุ้มครองดูแลผู้ป่วยเหล่านี้คือ ผลิตภัณฑ์ที่พวกเขายอมเสียเงินเสียทองซื้อมา เป็นน้ำมันกัญชาจริงหรือไม่ เพราะข้อมูลราคาของน้ำมันกัญชาที่ผู้ป่วยแต่ละคนซื้อมา มีราคาแตกต่างกันมาก ตั้งแต่ขวดละ 500 ไปจนถึง 10,000 บาท         ผู้ป่วยที่น่าสงสารหลายรายที่ป่วยโรคเรื้อรังยอมเสียเงินแพงๆ เพราะคาดหวังผลในการรักษา ยิ่งสอบถามวิธีการใช้ ยิ่งน่าเป็นห่วงเพราะส่วนมากจะดูข้างขวดและมักจะเพิ่มขนาดการใช้เอง เพราะต้องการผลที่รวดเร็วขึ้น บางรายก็แอบใช้โดยไม่บอกใคร พอมาเจอยาแผนปัจจุบันที่ตนเองรับประทานเป็นประจำก็ยิ่งเสริมฤทธิ์กัน จนต้องนำส่งโรงพยาบาล กว่าผู้ป่วยจะยอมบอกคุณหมอ ก็แทบแย่         ล่าสุด ได้รับข้อมูลจากน้องเภสัชกรจากหลายๆ จังหวัดแจ้งว่า เริ่มมีขบวนการนำยามาเร่ขาย อ้างว่ามีส่วนผสมของกัญชา โดยคนที่มาเร่ขายจะบอกว่าเป็นยาจากโครงการหลวง เวลาจะซื้อต้องบอกหมายเลขบัตรประชาชนด้วย  และให้ไปขอใบรับรองจากแพทย์ว่าป่วย  อ้างว่าจะนำชื่อผู้ป่วยไปเข้าโครงการให้ ถ้าซื้อยาในวันนี้ ราคากระปุกละ 500 บาท แต่ถ้าไปซื้อที่โรงพยาบาลจะต้องเสียเงินถึง 750 บาท หลังจากเสียเงินแล้ว ผู้ป่วยจะได้รับแจกกัญชาสองต้น และอัญชันอีกหนึ่งต้น มีเหยื่อหลงเชื่อหลายราย         จากข้อมูลที่พบคาดว่า สถานการณ์ที่จะเอากระแสกัญชามาหลอกลวงผู้ป่วยเริ่มจะมีมากขึ้น และหลากหลายรูปแบบด้วย การนำผลิตภัณฑ์กัญชามาใช้ทางการแพทย์ เป็นทางเลือกให้ผู้ป่วยเข้าถึงยาอย่างหนึ่ง แต่ผลิตภัณฑ์จากกัญชาก็เหมือนยาทั่วๆ ไป ที่มีทั้งคุณและโทษ ซึ่งทางกระทรวงสาธารณสุข ก็พยายามที่จะดูแลให้ผู้ป่วยได้เข้าถึงยาอย่างปลอดภัย หากพบผู้ป่วยรายใดที่ใช้ผลิตภัณฑ์กัญชาแล้วเกิดผลข้างเคียง ก็สามารถแจ้งข้อมูลยังสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ผ่านทางช่องทางนี้ได้ที่ http://thaihpvc.fda.moph.go.th/thaihvc/Marijuana/input-form.jsf        เมื่อเจ้าหน้าที่ได้รับข้อมูลแล้ว จะติดต่อกลับ เพื่อสอบถามอาการ และรวบรวมเป็นข้อมูลในการเฝ้าระวังผลข้างเคียง เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับความปลอดภัยต่อไป        หากเราพบเห็นผลิตภัณฑ์แปลกๆ ที่อ้างว่ามีส่วนผสมของกัญชา ตลอดจนมีพฤติกรรมการขายที่หลอกให้ผู้ป่วยเสียเงินเสียทอง ขอให้รีบแจ้งสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด เพื่อจะได้ช่วยกันดูแล อย่าให้ใครมาอาศัยสถานการณ์นี้ หลอกลวงซ้ำเติมผู้ป่วยที่น่าสงสารเหล่านี้อีก

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 220 ฉลาดซื้อเผยปริมาณโลหะหนัก - สารกันบูดในผลิตภัณฑ์น้ำปลาร้าปรุงสำเร็จปลอดภัย แนะผู้บริโภคเลือกยี่ห้อที่ผ่าน อย.

ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อเผยปริมาณแคดเมียม, ตะกั่วและสารกันบูดในผลิตภัณฑ์น้ำปลาร้าปรุงสำเร็จปลอดภัย สารกันบูดไม่เกินเกณฑ์ที่กำหนด แนะให้ผู้บริโภคอ่านฉลากให้รอบคอบและเลือกรับผลิตภัณฑ์ที่มี อย.ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ โดยโครงการเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ร่วมมือกับเครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภคภาคตะวันออกเฉียงเหนือดำเนินการทดสอบซ้ำ ในปีนี้ เพื่อเป็นการเฝ้าระวังด้านอาหารและสร้างความมั่นใจในการบริโภค โดยในครั้งนี้(  2562 ) เก็บตัวอย่างน้ำปลาร้าปรุงสำเร็จ จำนวน 15 ตัวอย่าง เป็นตัวอย่างในชื่อผลิตภัณฑ์เดิม 9 ตัวอย่าง และผลิตภัณฑ์ใหม่อีก 6 ตัวอย่าง ส่งวิเคราะห์หาสารโลหะหนักตะกั่วและแคดเมียม และเพิ่มการทดสอบปริมาณสารกันบูดกรดเบนโซอิกและกรดซอร์บิกด้วย ผลทดสอบตะกั่ว น้ำปลาร้าทุกตัวอย่างผ่านเกณฑ์มาตรฐานตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 98 พ.ศ. 2529 คือไม่เกิน 1 มิลลิกรัม/อาหาร 1 กิโลกรัม            ส่วนผลทดสอบแคดเมียม เนื่องจากไม่มีเกณฑ์มาตรฐานตามประกาศ ฉบับที่ 98 จึงใช้เกณฑ์เทียบเคียงจากของมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน น้ำปลาร้า ของสำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรม คือ แคดเมียม ต้องน้อยกว่า 2 มิลลิกรัม/กิโลกรัม พบว่า ทุกตัวอย่างผ่านเกณฑ์มาตรฐาน มผช. เช่นกัน           ผลทดสอบหาปริมาณสารกันบูด พบว่า น้ำปลาร้าปรุงรสตราไทยอีสาน (ฉลากระบุ ไม่ใช้วัตถุกันเสีย) พบปริมาณกรดเบนโซอิก 831.83 มก./กก. และ น้ำปลาร้าส้มตำปรุงสำเร็จ ตะวันทอง ๑  (ฉลากระบุ ไม่ใช้วัตถุกันเสีย) พบปริมาณกรดเบนโซอิก 404.84 มก./กก.   ซึ่งปริมาณการใช้สารกันบูดใกล้เคียงกับผลิตภัณฑ์ น้ำปลาร้าต้มสุกเข้มข้น ตราน้องพร คือ พบปริมาณ 641.81 มก./กก. แต่แสดงข้อมูลบนฉลากชัดเจนว่า มีการใช้วัตถุกันเสีย ซึ่งทั้งหมดไม่เกินเกณฑ์มาตรฐานตามที่กฎหมายกำหนดคือ ไม่เกิน 1,000 มก./กก.              อย่างไรก็ตามหลายผลิตภัณฑ์พบว่ามีปริมาณกรดเบนโซอิกในปริมาณไม่มาก(ไม่ถึง 100 มก./กก.) คือ ไม่มากพอที่จะเป็นการตั้งใจใส่เพื่อให้มีฤทธิ์ในการต่อต้านจุลินทรีย์(ปริมาณที่เหมาะต่อการเก็บหรือยืดอายุอาหารคือ 500-2,000 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม) ดังนั้นเป็นไปได้ว่ามาจากวัตถุดิบที่นำมาผลิต ซึ่งกรดเบนโซอิกสามารถพบได้จากพืชพรรณหลายชนิดตามธรรมชาติ               โดยก่อนหน้านี้ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ – มีนาคม พ.ศ.2561  โครงการฯ เก็บตัวอย่างน้ำปลาร้าปรุงสำเร็จ จำนวน 12 ตัวอย่าง เพื่อทดสอบหาปริมาณตะกั่วและแคดเมียม ซึ่งพบว่า ผลทดสอบตะกั่ว ในน้ำปลาร้าทุกตัวอย่างผ่านเกณฑ์มาตรฐานตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 98 พ.ศ. 2529 คือไม่เกิน 1 มิลลิกรัม/อาหาร 1 กิโลกรัม ส่วนผลทดสอบแคดเมียม เนื่องจากไม่มีเกณฑ์มาตรฐานตามประกาศ ฉบับที่ 98 จึงใช้เกณฑ์เทียบเคียงจากของมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน น้ำปลาร้าของสำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรม คือ แคดเมียมต้องน้อยกว่า 2 มิลลิกรัม/กิโลกรัม พบว่า ทุกตัวอย่างผ่านเกณฑ์มาตรฐาน มผช. อ่านบทความ  - ฉบับที่ 220 ปริมาณแคดเมียมและตะกั่วและสารกันบูดในผลิตภัณฑ์น้ำปลาร้าปรุงสำเร็จ    ได้ที่ลิงก์ https://www.chaladsue.com/article/3166 - ฉบับที่ 205 ผลิตภัณฑ์ของฝาก-ของดี จาก 4 ภาค "น้ำพริกหนุ่ม น้ำปลาร้า แกงไตปลาแห้ง และโรตีสายไหม "    ได้ที่ลิงก์ https://chaladsue.com/article/2806/

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 217 เคล็ดลับก่อนและหลังเดินทางด้วยรถโดยสารสาธารณะ

                การเดินทางด้วยรถโดยสารสาธารณะในแต่ละครั้ง โดยเฉพาะช่วงเทศกาลที่มีจำนวนคนใช้บริการจำนวนมาก เช่น ปีใหม่ สงกรานต์ มักมีผู้ประสบพบเจอปัญหาต่างๆ มากมาย นอกจากอุบัติเหตุทางถนนที่พบเห็นได้บ่อย ปัญหาที่เกิดจากการใช้บริการไม่ว่าจะเป็นบรรทุกผู้โดยสารเกิน หรือเรียกเก็บค่าโดยสารแพงกว่าปกติ โดยอ้างว่าเป็นรถเสริมวิ่งช่วงเทศกาล ตลอดจนปัญหารถผีรถเถื่อนที่มาคอยดักเก็บผู้โดยสารที่สถานีขนส่ง ซึ่งหากเกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้น ผู้โดยสารจะเสียประโยชน์เนื่องจากไม่ได้รับการคุ้มครองใดๆ ก็พบได้บ่อยในทุกช่วงเทศกาลด้วยเช่นกัน           วันนี้ฉลาดซื้อมีเคล็ดลับดีๆ มาบอกกันครับ เคล็ดลับที่ 1 ซื้อตั๋วอย่างไรให้ปลอดภัย         1. ควรเลือกรถโดยสารกับบริษัทที่เชื่อถือได้ คือมีชื่อบริษัทปรากฏที่ช่องจำหน่ายตั๋ว ที่ตั๋วโดยสารและบริเวณตัวรถ มีตราสัญลักษณ์ประทับข้างรถว่าเป็นรถร่วมของ บขส. หรือ รถที่ได้รับอนุญาตจากกรมการขนส่งทางบกหรือไม่ เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกล่อลวงให้ใช้บริการของรถโดยสารที่ผิดกฎหมายหรือที่เรียกว่า "รถผี รถเถื่อน" นั่นเอง        2. เมื่อจ่ายเงินซื้อตั๋ว จะต้องได้รับตั๋วโดยสารหลังจ่ายเงินทุกครั้ง พร้อมทั้งตรวจสอบทันทีว่าข้อมูลการเดินทางถูกต้อง ครบถ้วนหรือไม่ รายละเอียดที่ไม่ควรมองข้ามประกอบด้วย วันเวลาที่เดินทาง ราคาตั๋วโดยสาร ตำแหน่งที่นั่ง เลขข้างรถ ประเภทของรถโดยสาร หากระบุไม่ตรงให้รีบทักท้วงแก้ไขโดยทันทีเคล็ดลับที่ 2 ทำอย่างไรจึงปลอดภัยก่อนเดินทาง        1. ควรต้องมาถึงสถานีขนส่ง ก่อนเวลารถออกอย่างน้อย 45 นาที เพื่อจะได้มีเวลาตรวจสอบว่า รถโดยสารที่จะใช้บริการถูกต้องตรงตามต้องการหรือไม่ เช่น ซื้อตั๋วรถโดยสารชั้นเดียวแต่ทางผู้ให้บริการจัดเป็นรถประเภทอื่นมาแทน หากเจอแบบนี้ต้องปฏิเสธทันที และขอให้ปรับเปลี่ยนจัดรถที่ถูกต้องตรงตามสัญญา หากไม่สามารถตกลงกันได้ให้ผู้โดยสารติดต่อที่ หน่วยคุ้มครองสิทธิผู้ใช้บริการรถสาธารณะซึ่งจะให้บริการภายในสถานีขนส่งแต่ละแห่ง หากไม่มีให้โทรติดต่อที่หมายเลข 1584 เพื่อให้ช่วยดำเนินการแก้ไขปัญหา        2. ต้องขึ้นรถในบริเวณสถานีขนส่งเท่านั้น ห้ามขึ้นรถในบริเวณภายนอกสถานีขนส่ง เพราะหากหลงเชื่ออาจจะกลายเป็นเหยื่อของ "รถผี รถเถื่อน"        3. ควรจดจำข้อมูลสำคัญของรถโดยสารทุกครั้ง เช่น หมายเลขทะเบียนรถโดยสาร  ป้ายทะเบียนรถ รถโดยสาร เลขข้างรถ และควรใส่ใจถึงตำแหน่งทางออกฉุกเฉินและที่ตั้งของอุปกรณ์ความปลอดภัยบนรถด้วย เช่น ถังดับเพลิง และค้อนทุบกระจกเคล็ดลับที่ 3 ระหว่างเดินทางต้องปลอดภัย        1. รถโดยสารต้องออกจากสถานีเดินรถตามเวลาที่กำหนด และไม่รับผู้โดยสารเกินกว่าจำนวนที่นั่งผู้โดยสารตลอดเส้นทางการเดินรถ โดยเฉพาะรถโดยสารปรับอากาศต้องไม่มีผู้โดยสารยืนโดยเด็ดขาด         2. พนักงานขับรถต้องขับรถติดต่อกันไม่เกิน 4 ชั่วโมง เว้นแต่ได้พักติดต่อกันเป็นเวลาไม่น้อยกว่าครึ่งชั่วโมง จึงสามารถปฏิบัติหน้าที่ขับรถต่อไปได้อีกไม่เกินสี่ชั่วโมงติดต่อกัน และต้องขับรถตามเส้นทางที่กำหนดไว้ หากไม่มีเหตุสุดวิสัย และต้องหยุดหรือจอดรถตามที่กำหนดไว้ตามตารางการเดินรถ ไม่ทอดทิ้งผู้โดยสารระหว่างทาง        3. ผู้โดยสารต้องคาดเข็มขัดนิรภัยตลอดการเดินทาง เพราะหากรถเกิดสูญเสียการทรงตัว หรือเกิดอุบัติเหตุขึ้นจะทำให้ร่างกายของผู้โดยสารไม่หลุดจากที่นั่งไปชนกระแทกกับผู้โดยสารคนอื่นหรือวัสดุสิ่งของต่างๆในรถได้ ซึ่งช่วยลดความสูญเสียที่เกิดจากการบาดเจ็บและเสียชีวิตได้เป็นอย่างดี         4. ผู้โดยสารต้องมีสติขณะโดยสารอยู่บนรถ ต้องสังเกตพฤติกรรมการขับรถโดยสารของพนักงานขับรถ เช่น เหยียบเบรกโดยไม่มีเหตุผล ขับรถส่ายไปส่ายมา ขับรถเร็วกว่าปกติ ควรต้องเตือนและแจ้งพนักงานขับรถให้หยุดขับรถและจอดพักโดยทันที         5. หากพนักงานขับรถมีพฤติกรรมขัดขืน หรือเสี่ยงต่อความไม่ปลอดภัย ควรรีบแจ้ง 1584 หรือ 191 หรือ 1193 โดยทันที         จากเคล็ดลับ 3 ระวังข้างต้น เชื่อว่าหากผู้โดยสารนำ 3 เคล็ดเหล่านี้ไปใช้ การเดินทางของท่านในช่วงวันหยุดยาวจะถึงจุดหมายปลายทางด้วยความปลอดภัย มีความสุขแน่นอนครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 217 ความเคลื่อนไหวเดือนมีนาคม 2562

เด็กไทยกินเค็ม 5 เท่า        พ.อ.นพ.อดิสรณ์ ลำเพาพงศ์ กรรมการบริหาร สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย และแพทย์โรคไตในเด็ก กล่าวว่า คนไทยมีแนวโน้มป่วยเป็นโรคไตเพิ่มขึ้น 15% ต่อปี ที่น่าห่วงคือ พฤติกรรมการบริโภคของเด็กไทย ซึ่งกินเค็มเกินปริมาณที่ควรบริโภคต่อวัน เกือบ 2-5 เท่า โดยปริมาณโซเดียมเฉลี่ยที่เด็กรับประทานอยู่ที่ 3,194 มิลลิกรัม/วัน ขณะที่ปริมาณโซเดียมที่เด็กวัยเรียน อายุ 6-8 ปี ควรได้รับอยู่ที่ 325-950 มิลลิกรัม/วัน, เด็กอายุ 9-12 ปี อยู่ที่ 400 - 1,175 มิลลิกรัม/วัน และเด็กอายุ 13-15 ปี อยู่ที่ 500-1,500 มิลลิกรัม/วัน        ด้าน ผศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ ประธานเครือข่ายลดการบริโภคเค็ม กล่าวว่า ผู้ปกครองมักให้เด็กกินเค็มโดยไม่รู้ตัว ผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูปและขนมกรุบกรอบที่พบว่ามีปริมาณโซเดียมสูง เช่น โจ๊กสำเร็จรูป 1 ถ้วย ซึ่งมีโซเดียมสูงถึง 1,269 มิลลิกรัม, ปลาเส้น มีโซเดียม 666 มิลลิกรัม/ซอง, สาหร่าย 304 มิลลิกรัม/ซอง หรือ มันฝรั่งทอด 191 มิลลิกรัม/ซอง การบริโภคอาหารเหล่านี้เพียง 1 ซอง ปริมาณโซเดียมก็เกินความต้องการต่อวันแล้ว หากเด็กเคยชินกับการกินเค็มก็มีแนวโน้มเป็นผู้ใหญ่ติดเค็ม และส่งผลต่อการเกิดโรคความดันโลหิตสูง หัวใจ และไต ตามมา        ปัจจุบันมีผู้ป่วยโรคไตทั่วโลกกว่า 850 ล้านคน และเป็นสาเหตุการตายอันดับที่ 6        เครดิตภาพ : https://teen.mthai.com/variety/165892.htmlเตือนผู้ปกครอง ระวังคลิปการ์ตูน สอนเด็กทำร้ายตัวเอง        อธิบดีกรมสุขภาพจิต เปิดเผยว่า พบคลิปการ์ตูนสำหรับเด็กบนยูทูป (YouTube) ถูกดัดแปลงสอดแทรกเนื้อหาที่มีความรุนแรงและการทำร้ายร่างกายตนเอง โดยจงใจทำขึ้นเพื่อมุ่งเป้าโจมตีเด็กที่ยังรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ให้ทำตามแบบอย่างในคลิป        นอกจากนี้ ยังมีเนื้อหาความรุนแรงอื่นๆ ปะปนอยู่ในคลิปด้วย เช่น ความรุนแรงในโรงเรียน และการค้ามนุษย์ โดยผู้ไม่หวังดีใช้ฉากในการ์ตูนเพื่ออำพรางการตรวจจับของระบบรักษาความปลอดภัยบนเว็บ ซึ่งเมื่อผู้ปกครองตรวจสอบแบบผิวเผินอาจไม่พบความผิดปกติ เพราะเนื้อหาอันตรายมันถูกสอดแทรกอยู่ระหว่างกลางของเนื้อเรื่อง ผู้ปกครองจึงควรดูแลบุตรหลานอย่างใกล้ชิด ไม่ปล่อยให้เด็กใช้สื่อเพียงลำพัง โดยเฉพาะในเด็กเล็ก และมีการควบคุมเวลาและเนื้อหาอย่างถี่ถ้วน ซึ่งหากเกิดกรณีตามเหตุการณ์ดังกล่าว สามารถขอคำปรึกษาได้ที่สายด่วนสุขภาพจิต 1323มติกก.สถานพยาบาลย้ำผู้ป่วยซื้อยานอก รพ.ได้        18 ก.พ. นพ.ณัฐวุฒิ ประเสริฐสิริพงศ์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) แถลงข่าวว่า                1) ยาในสถานพยาบาลเป็นส่วนหนึ่งของบริการทางการแพทย์ ตามแผนการรักษาของแพทย์ ซึ่งแพทย์ต้องรับผิดชอบต่อผลการรักษา                2) เรื่องการติดป้ายประกาศแจ้งคนไข้ว่าสามารถขอใบสั่งยาเพื่อนำไปซื้อจากร้านขายยาได้ เห็นว่าเป็นสิทธิของผู้ป่วยอยู่แล้วที่สามารถทำได้ แต่ไม่เห็นด้วยในการติดป้าย เพราะการรักษาในรพ. เป็นลักษณะทีมสหวิชาชีพที่ต้องมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลกันระหว่างแพทย์กับเภสัชกร รวมถึงคุณภาพของยา ซึ่งจะส่งผลต่อคุณภาพของการรักษาผู้ป่วยตามแผนการรักษา แต่ก็ย้ำว่ามติ 2 ข้อนี้เป็นเพียงความเห็นของคณะกรรมการสถานพยาบาลเท่านั้น ยังไม่ใช่สิ่งสุดท้ายที่ต้องทำตาม แต่จากนี้จะนำเรียนรมว.สาธารณสุขเพื่อทราบ เพื่อส่งมติดังกล่าวเข้าที่ประชุมคณะอนุกรรมการฯ พิจารณาออกมาตรการในการควบคุมราคาบริการทางการแพทย์ ซึ่งตนยังไม่ทราบว่าอนุกรรมการฯ จะประชุมเมื่อไหร่ เพราะต้องรอความเห็นจากหน่วยงานอื่นๆ อีก เช่น ธุรกิจประกันภัย ธุรกิจประกันชีวิต เป็นต้น เพราะผู้ป่วยร้อยละ 60-70 ของรพ.เอกชนเป็นผู้ที่มีประกันเหล่านี้        เมื่อถามว่าสรุปผู้ป่วยที่เข้ารับบริการในสถานพยาบาลเอกชนสามารถนำใบสั่งยามาซื้อจากร้านขายยาข้างนอกได้หรือไม่ นพ.ณัฐวุฒิ กล่าวว่า เดิมกฎหมายก็ไม่ได้ห้ามผู้ป่วยนำใบสั่งยาไปซื้อจากร้านขายยาข้างนอกอยู่แล้ว อย่างยาบางตัวที่ไม่มีในรพ. หรือยา รพ.หมดสต๊อก หรือกรณีผู้ป่วยมารพ.รัฐแล้วคิวยาวก็ขอใบเสร็จไปซื้อยาจากร้านข้างนอกได้ เป็นสิทธิของผู้ป่วยอยู่แล้ว แต่ยาบางตัวไม่สามารถซื้อได้ แล้วแต่กรณีพบร้านค้าออนไลน์ โฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมายกว่า 700 ราย         มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค เปิดเผยผลการเฝ้าระวังโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพบนสื่อออนไลน์ เช่น เฟซบุ๊ค ไลน์ อินสตาแกรม ซึ่งพบสินค้าที่ถูกเพิกถอนจาก สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) 29 รายการ ยังมีวางขายอยู่ นอกจากนี้ยังมีการอ้างเลข อย.ปลอม ไม่แสดงฉลากภาษาไทย หรือข้อมูลผู้ผลิต        ทั้งนี้ยังพบว่าดาราและเน็ตไอดอลมีส่วนในการโฆษณาโอ้อวดสรรพคุณเกินจริง ผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่ไม่ผ่านการขออนุญาตจาก อย. หรือมักโฆษณาว่าผ่านมาตรฐาน อย. แต่แท้จริงแล้วเป็นเพียงการจดแจ้งกับทาง อย.เท่านั้น จึงขอให้ดาราและเน็ตไอดอลตรวจสอบข้อมูลผลิตภัณฑ์ก่อนรับงานโฆษณา        โดยเครือข่ายผู้บริโภค มีข้อเสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อการแก้ปัญหา เช่น ให้ดำเนินคดีผู้ค้ารายย่อยที่จำหน่ายหรือโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผิดกฎหมายอย่างจริงจัง การสร้างระบบเชื่อมต่อฐานข้อมูลผลิตภัณฑ์สุขภาพระหว่างห้างออนไลน์กับ อย. เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบข้อมูลได้ รวมถึงการให้รัฐจัดเก็บภาษีการขายสินค้าออนไลน์ด้วย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 210 รู้กฎหมายกับทนายอาสา

กฎหมายขายฝากเมื่อทำสัญญากันแล้วกรรมสิทธิ์ในที่ดินตกเป็นของผู้รับซื้อฝากทันที...ต่างจากการทำสัญญาจำนอง ที่เมื่อครบกำหนดไถ่ถอนจำนองแล้ว กรรมสิทธิ์จะยังไม่ตกเป็นของผู้รับจำนองทันที ต้องไปฟ้องบังคับคดีกับศาลอีกครั้งหนึ่งการขายฝากต้องระวัง อันตรายกว่าสัญญาจำนอง             ครั้งนี้มีเรื่องเกี่ยวกับการทำสัญญามาฝาก โดยเฉพาะสำหรับคนที่ชอบเอาที่ดิน เอาบ้านไปประกันเงินกู้ต่างๆ อยากให้ศึกษาไว้นะครับ  อย่างที่เราทราบกัน ว่าเวลาจะไปกู้ยืมเงิน บางคนเครดิตไม่ดี ก็ไม่สามารถไปกู้เงินกับธนาคารรัฐบาลหรือเอกชนได้ ก็ต้องไปหาคนที่รับซื้อฝาก หรือรับจำนองที่ดิน  ซึ่งสังเกตไหมครับว่า สัญญาที่เขาทำกับเรา ทำไมเขาไม่ค่อยทำสัญญาจำนองกัน แต่ชอบทำเป็นสัญญาขายฝาก สาเหตุก็คือ กรรมสิทธิ์ตามสัญญาขายฝาก โอนไวกว่านั่นเอง กล่าวคือ กฎหมายขายฝากเมื่อทำสัญญากันแล้วกรรมสิทธิ์ในที่ดินตกเป็นของผู้รับซื้อฝากทันที ย้ำนะครับว่าทันที ไม่ต้องรอให้มีการผิดสัญญา โดยมีเงื่อนไขว่า ผู้ขายฝากจะมาไถ่ถอนได้ภายในเวลาที่กำหนดไว้ในสัญญา แม้จะเขียนไว้ว่าภายใน 10 ปี แต่ไม่ได้เขียนระยะเวลาขั้นตํ่าเอาไว้ ส่วนใหญ่จึงทำสัญญาในระยะสั้น เมื่อถึงเวลาผู้ขายฝากไม่มีเงินมาไถ่ถอน ที่ดินก็จะตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ซื้อฝาก ซึ่งจริงๆ ก็ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ซื้อฝากตั้งแต่วันทำสัญญาวันแรกแล้ว แต่เมื่อไม่มาไถ่ถอนตามกำหนด ที่ดินก็ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้รับซื้อฝากโดยสมบูรณ์ และไม่ต้องไปฟ้องบังคับจำนองเลย ผู้ทำธุรกิจรับซื้อฝากจึงนิยมเรียกร้องให้ผู้ขอกู้เงินทำขายฝากด้วยเหตุผลประการใดประการหนึ่ง มากกว่าทำสัญญาจำนอง เพราะการทำสัญญาจำนองเมื่อครบกำหนดไถ่ถอนจำนองแล้ว กรรมสิทธิ์ยังไม่ตกเป็นของผู้รับจำนองทันที ต้องไปฟ้องบังคับคดีกับศาลอีกครั้งหนึ่ง            มีคดีเรื่องหนึ่ง ที่น่าสนใจเกี่ยวกับการไถ่ทรัพย์ตามสัญญาขายฝาก โดยผู้ขายฝากได้นำเงินไปไถ่ในวันสุดท้ายตามสัญญา แต่เนื่องจากไปตอนช่วงเย็น เลยเวลาราชการแล้ว ไม่สามารถไปจดทะเบียนไถ่ทรัพย์ได้ ผู้รับฝากก็เลยอ้างว่าไถ่เลยเวลาแล้ว จึงไม่ยอมให้ไถ่คืน ทำให้ผู้ขายฝากมาฟ้องศาล และศาลฎีกาก็ได้ตัดสินเป็นแนวทางไว้ว่า การจดทะเบียนไถ่ทรัพย์ซึ่งขายฝาก กฎหมายไม่ได้บัญญัติว่าจะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในกำหนดเวลาไถ่ทรัพย์คืน โจทก์ย่อมมีสิทธิไถ่ที่ดินซึ่งขายฝากได้คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 19332/2556            โจทก์ใช้สิทธิไถ่ที่ดินจากจำเลยเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2554 อันเป็นวันครบกำหนดเวลาไถ่ที่ดิน ซึ่งขายฝาก โดยนำเงินสินไถ่เพื่อไปชำระให้แก่จำเลยที่บ้าน แต่จำเลยบ่ายเบี่ยงอ้างว่าหมดเวลาราชการแล้ว การกระทำของโจทก์ดังกล่าวถือได้ว่าเป็นการใช้สิทธิไถ่ที่ดิน ซึ่งขายฝากต่อจำเลยภายในเวลาที่กำหนดไว้ในสัญญาขายฝากโดยชอบตาม ป.พ.พ. มาตรา 492 ประกอบมาตรา 498 แล้ว จำเลยต้องรับการไถ่ แม้โจทก์ใช้สิทธิไถ่ที่ดินนั้นในเวลา 18 นาฬิกา ซึ่งล่วงพ้นเวลาราชการแล้ว และไม่สามารถจดทะเบียนการไถ่ขายฝากที่ดินในวันดังกล่าวได้ก็ตาม แต่การจดทะเบียนไถ่ทรัพย์ซึ่งขายฝาก กฎหมายไม่ได้บัญญัติว่าจะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในกำหนดเวลาไถ่ทรัพย์คืน เมื่อโจทก์ใช้สิทธิไถ่ทรัพย์สินซึ่งขายฝากนั้นต่อจำเลยภายในกำหนดเวลาไถ่ตามสัญญาขายฝากโดยชอบแล้ว จึงมีผลผูกพันใช้ยันได้ระหว่างโจทก์กับจำเลย โจทก์ย่อมมีสิทธิไถ่ที่ดินซึ่งขายฝากได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 209 ซื้อสินค้าผ่านเฟซบุ๊กไม่ได้คุณภาพทำอย่างไรดี

ตลาดสินค้าออนไลน์ของประเทศไทย หรือ e-Commerce นั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่าปี 2560 ที่ผ่านมา มีมูลค่าประมาณ  214,000 ล้านบาท และจะยิ่งเติบโตไปอีกมาก ซึ่งความนิยมอย่างต่อเนื่องนี้ สิ่งหนึ่งที่ตามมาอย่างไม่อาจเลี่ยง ก็คือ ปัญหาจากการถูกหลอกลวง และสินค้าที่นำมาจำหน่ายไม่มีคุณภาพ คุณพอใจ เป็นคนหนึ่งที่พอใจในบริการที่สะดวกของโลกโซเชียล หลังจากมองหาสินค้าน่าสนใจไปเรื่อยๆ เธอถูกใจรองเท้าสตรีคู่หนึ่งเข้า จากเพจขายสินค้าประเภทแฟชั่น โดยเพจดังกล่าวมีระบบจัดส่งและสามารถเก็บเงินที่ปลายทางได้ ซึ่งสะดวกสำหรับคุณพอใจมาก เธอจึงเลือกรองเท้าตามที่เห็นโพสต์ขายในราคา 1,200 บาท หลังจ่ายเงินไปเธอรีบเปิดดูรองเท้าอย่างตื่นเต้น แต่กลับพบมากยิ่งไปกว่าความตื่นเต้น เพราะรองเท้าที่ได้มามีสภาพพื้นรองเท้าหลุดล่อน คุณพอใจจึงรีบติดต่อไปที่เพจทันทีเพื่อขอคืนสินค้าและขอเงินคืน “เพจเขาก็ตอบนะคะ แต่บอกว่าเขาจะคืนให้แค่ 10 % หรือ 120 บาท” คำตอบนี้ทำให้คุณพอใจไม่พอใจมากๆ จึงนำเรื่องมาปรึกษาทางศูนย์พิทักษ์สิทธิ แนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์พิทักษ์ฯ แนะนำให้คุณพอใจไปแจ้งความที่สถานีตำรวจเพื่อเป็นหลักฐานสำหรับการขอคืนสินค้าและรับเงินคืนเต็มจำนวน เนื่องจากสินค้าที่ได้รับมามีความชำรุดเสียหาย  และได้ช่วยติดต่อประสานกับทางเพจดังกล่าวเพื่อให้มีการแก้ไขปัญหา หลังการประสานไปสองครั้ง ทางเพจตอบกลับว่าจะดำเนินการแก้ไขปัญหาให้กับผู้ร้อง แต่ขอให้ประสานกับผู้ร้องติดต่อกลับมาอีกครั้ง เนื่องจากทางเพจมีลูกค้าลงข้อความติดต่อจำนวนมาก อาจทำให้เรื่องของคุณพอใจหลุดรอดสายตาไป เมื่อทางศูนย์ฯ แจ้งให้คุณพอใจทราบและขอให้ดำเนินเรื่องติดต่อใหม่ ทราบต่อมาว่าคุณพอใจได้รับเงินคืนเต็มจำนวนแล้วดังนั้นหากพบปัญหาจากการซื้อสินค้าออนไลน์ ผู้บริโภคควรติดต่อไปยังผู้ขายก่อน เพื่อแจ้งให้ทราบและให้ผู้ขายแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น ถ้าเป็นการซื้อผ่านเว็บไซต์(Website) ก็จะมีขั้นตอนและเงื่อนไขในการรับผิดชอบของเว็บไซต์(Website) กำหนดไว้แล้ว สามารถติดต่อไปยังคอลเซ็นเตอร์ หรือหมายเลขโทรศัพท์ที่ปรากฏบนหน้าเว็บไซต์ แต่ถ้าเป็นการซื้อผ่านโซเชียลมีเดีย เฟซบุ๊ก อินสตาแกรม ไลน์ ต้องติดต่อไปยังผู้ขาย ซึ่งเป็นการช่วยเหลือตนเองในเบื้องต้นก่อน ถ้าปัญหายังไม่ได้รับการแก้ไขจนพอใจก็ควรร้องเรียนไปยังหน่วยงานต่างๆ ที่รับเรื่องร้องเรียนโดยนำหลักฐานต่างๆ เช่น ใบสั่งซื้อสินค้า ข้อความสนทนาการซื้อสินค้าระหว่างผู้ซื้อผู้ขาย ข้อมูลร้านค้า หลักฐานการชำระเงิน รูปถ่ายสินค้า และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง มาประกอบคำขอร้องเรียน เพื่อให้การแก้ไขปัญหาที่มีประสิทธิภาพ รวดเร็วมาก ยิ่งขึ้น แต่ทั้งนี้การแก้ปัญหาในขั้นตอนนี้จะมีระยะเวลาดำเนินการพอสมควร 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 206 กระแสในประเทศ

สรุปความเคลื่อนไหวเดือนเมษายน 2561จับตาพิจารณา “พาราควอต” หมอจุฬาฯ ย้ำอันตราย ทำผู้ป่วยตายทรมานเมื่อวันที่ 9 เม.ย.61 ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ รพ.จุฬาลงกรณ์ ในฐานะกรรมการปฏิรูประบบสาธารณสุข กล่าวว่า ยังพบคนไทยมีความเสี่ยงจากการกินผักผลไม้ปนเปื้อนสารเคมี ซึ่งอาจสะสมจนเสี่ยงต่อโรคไต โรคตับ ล่าสุดพบส่งผลต่อสมองด้วย ที่ผ่านมาเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคได้เรียกร้องให้ยกเลิกการใช้พาราควอต อีกทั้งกระทรวงสาธารณสุขและผู้เชี่ยวชาญได้สรุปข้อเสนอไปแล้วว่าควรถอนทะเบียนพาราควอต เพราะมีผลต่อสุขภาพ แต่ยังมีการตั้งอนุกรรมการเฉพาะกิจ ที่มีตัวแทนจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อพิจารณาตัดสินในเดือนเมษายนนี้อีกว่า จะถอนหรือต่อทะเบียนพาราควอตปัจจุบันพาราควอตถูกห้ามใช้แล้วใน 48 ประเทศทั่วโลก โดยมีผู้ป่วยจากการสัมผัสสารเคมีที่ผิวหนัง หรือกินโดยไม่ตั้งใจ เสียชีวิตอย่างทรมานจากเนื้อปอดเป็นพังผืด ตับวาย ไตวาย และยังพบว่าชาวสวนนั้นสัมผัสสารเคมีจากการย่ำน้ำที่ขังอยู่ในไร่นา ทั้งนี้ คณะวิจัยของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) พบว่า รพ.จังหวัด หนองบัวลำภู ในหนึ่งปีมีคนไข้ 100 กว่าราย และเสียชีวิตแล้ว 6 ราย จากภาวะขาเน่าและติดเชื้อซ้ำซ้อน ซึ่งผู้ป่วยหลายรายต้องตัดขาทิ้ง สบส.ยกระดับการคุ้มครองผู้บริโภค สแกนปุ๊บ รู้ทันทีคลินิกไหนเถื่อนกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) สร้างระบบให้ประชาชนตรวจสอบการขึ้นทะเบียนสถานพยาบาลด้วย “คิวอาร์โค้ด” (QR Code) ผ่านสมาร์ทโฟน สแกนแล้วรู้ทันทีว่าเป็นคลินิกถูกต้องตามกฎหมาย หรือ คลินิกเถื่อนนพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ในปี พ.ศ.2561 เฉพาะในพื้นที่กรุงเทพมหานคร มีคลินิกที่ขึ้นทะเบียนกับ สบส. เกือบ 6,000 แห่ง ดังนั้นเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการลักลอบเปิดคลินิกเถื่อนให้บริการทางการแพทย์ที่ไม่ได้คุณภาพ สร้างความเสี่ยงต่อสุขภาพ และชีวิตประชาชน สบส.ได้พัฒนาระบบตรวจสอบคลินิกเอกชนที่มีกว่า 20,000 แห่งทั่วประเทศ โดยนำนวัตกรรม “คิวอาร์โค้ด” (QR Code) ติดที่ใบอนุญาตประกอบกิจการสถานพยาบาล, ใบอนุญาตแพทย์ผู้ดำเนินการ และบริเวณด้านหน้าของคลินิกหากประชาชนสแกนคิวอาร์โค้ดแล้วพบว่าข้อมูลชื่อสถานพยาบาลและที่ตั้งไม่ตรง หรือแพทย์ผู้ดำเนินการเป็นคนละคนกับที่แสดงในฐานข้อมูล ขอให้หลีกเลี่ยงการรับบริการจากคลินิกดังกล่าว สำหรับในพื้นที่ กทม. ให้แจ้งมายังศูนย์รับเรื่องร้องเรียนกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ โทรศัพท์ 02 193 7000 ต่อ 18618 ในส่วนภูมิภาค ให้แจ้งที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดในพื้นที่ เพื่อให้หน่วยงานที่ดูแลรับผิดชอบเข้าดำเนินการตรวจสอบโดยทันที พบเครื่องสำอางเกาหลี 8 ยี่ห้อ ปนเปื้อนโลหะหนักเมื่อวันที่ 23 มี.ค.61 เว็บไซต์ข่าวโพสต์ทูเดย์ ได้เผยแพร่ข่าวจากเซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ ซึ่งรายงานว่า รัฐบาลเกาหลีใต้โดยกระทรวงความปลอดภัยของอาหารและยา เปิดเผยเครื่องสำอาง 8 ยี่ห้อ ที่ผลิตในเกาหลีปนเปื้อนสารโลหะหนักจำนวนมาก โดยพบว่าเครื่องสำอาง 13 ชนิด มีทั้งเครื่องสำอางสำหรับชายและหญิง ที่จำหน่ายโดยแบรนด์ดัง 8 ยี่ห้อ มีตั้งแต่แบรนด์ อีทูดี้ เฮ้าส์, เอเทรียม, เมคฮัล, XTM Style, SKEDA, สกินฟู้ด, 3CE และ Makeheal Naked Slim Brow Pencil (สี BR0203 and YL0801) ซึ่งตามรายงานของหน่วยงานดังกล่าว ระบุว่า พบ antimony ในระดับตั้งแต่ 10.1 ส่วนต่อล้าน (ppm) ถึง 14.3 ppm จากทั้งใน 13 ผลิตภัณฑ์ ซึ่งกฎหมายอนุญาตให้พบ antimony ได้สูงสุดไม่เกิน 10 ppmด้านบริษัท อมอร์แปซิฟิก ซึ่งเป็นหนึ่งในเจ้าของแบรนด์ที่อยู่ในรายชื่อดังกล่าว ได้ออกแถลงการณ์ขอโทษต่อสิ่งที่เกิดขึ้น พร้อมระบุว่าจะหามาตรการอย่างดีที่สุดเพื่อไม่ให้เกิดเรื่องแบบนี้ขึ้นอีก และได้สั่งเรียกคืนเครื่องสำอางที่มีปัญหาดังกล่าว ตั้งแต่วันที่ 20 มีนาคมแล้วที่มา: เว็บไซต์โพสต์ทูเดย์, scmp.com สคบ. ออก“สัญญาเช่าซื้อรถ” เพิ่มความคุ้มครองผู้บริโภค ไม่ให้ถูกเอาเปรียบเว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ รายงานว่า สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ได้ออกประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจให้เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. 2561 (ฉบับใหม่ล่าสุด) ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 กรกฎาคมนี้โดยสาระสำคัญของประกาศฉบับใหม่ ไม่ได้แตกต่างจากเดิมมากนัก ที่แก้ไขเป็นเรื่องการคิดอัตราดอกเบี้ยกรณีผิดนัดชำระหนี้, การปรับลดดอกเบี้ยกรณีผู้บริโภคต้องการชำระค่าเช่าซื้อทั้งหมดในคราวเดียวกัน, ค่าใช้จ่ายจากการบังคับยึดรถกรณีผู้เช่าซื้อผิดนัดชำระหนี้เกิดกำหนด ซึ่งเดิมผู้ให้สินเชื่อเช่าซื้อหรือบริษัทลีซซิ่ง สามารถเรียกเก็บค่าใช้จ่ายในการยึดรถจากผู้บริโภคได้ แต่กฎหมายใหม่กำหนดข้อห้ามไว้ ซึ่งประกาศฉบับใหม่ มีรายละเอียดโดยสรุป ดังนี้1. กำหนดดอกเบี้ยปรับกรณีผิดนัดชำระ ไม่เกิน 15% (เดิม 17%)2. บริษัทเช่าซื้อต้องทำตารางแสดงค่างวด แยกเงินต้น-ดอกเบี้ย วันเดือนปีชำระค่างวด ให้ผู้บริโภคทราบชัดเจน3. กรณีผู้เช่าซื้อต้องการชำระเงินทั้งหมด (โปะ) บริษัทลีสซิ่งต้องให้ส่วนลดดอกเบี้ยไม่น้อยกว่า 50%4. ให้สิทธิ์ผู้เช่าซื้อ ซื้อรถคืนได้ภายใน 7 วัน หลังยึดรถ และให้สิทธิ์ผู้ค้ำประกันอีก 15 วัน5. กรณีจะนำรถขายทอดตลาด ต้องแจ้งให้ผู้เช่าซื้อและผู้ค้ำประกันทราบล่วงหน้า 7 วัน โดยจะซื้อได้ตามมูลหนี้ส่วนที่ขาดอยู่ตามสัญญาเช่าซื้อ6. บริษัทเช่าซื้อสามารถเก็บค่าธรรมเนียมทวงถามได้ตามใช้จ่ายจริง แต่ห้ามเก็บค่าใช้จ่ายดำเนินการยึดรถ7. มีผลบังคับใช้ 1 กรกฎาคม 2561นอกจากนี้ ในประกาศยังระบุว่า ในกรณีที่ผู้เช่าซื้อ ชำระเงินค่าเช่าซื้อและค่าใช้จ่ายต่างๆ ครบถ้วนแล้ว ให้กรรมสิทธิ์ในรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ที่เช่าซื้อเป็นของลูกค้าทันที โดยบริษัทลีสซิ่งต้องดำเนินการจดทะเบียนรถให้เป็นชื่อของลูกค้าภายใน 30 วัน หากเกินกำหนด บริษัทลีสซิ่งต้องเสียเบี้ยปรับในอัตราที่เท่ากับเบี้ยปรับที่ลูกค้าต้องชำระเมื่อผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อ คอบช. ทวงถาม กรมการค้าภายใน เรื่องควบคุมค่ารักษา รพ.เอกชนเมื่อวันที่ 28 มี.ค.61 คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค(คอบช.) พร้อมเครือข่ายผู้บริโภค ได้เดินทางไปติดตามทวงถาม เรื่องการควบคุมราคาค่ารักษาพยาบาล กับ กรมการค้าภายใน หลังจากเคยยื่นหนังสือขอให้ควบคุมราคาค่ารักษาพยาบาลของโรงพยาบาลเอกชน เมื่อ มี.ค.ที่ผ่านมาโดยได้มีการเสนอข้อคิดเห็นเกี่ยวกับการบริการสุขภาพของ รพ.เอกชน ว่าถือเป็นบริการที่มีความจำเป็นพื้นฐาน จึงควรมีการควบคุมราคา ซึ่งการเรียกเก็บค่าบริการที่ไม่เป็นธรรมของ รพ.เอกชน ยังคงเป็นปัญหาที่ผู้บริโภคร้องเรียนเข้ามาน.ส.สุภัทรา นาคะผิว กรรมการ คอบช. ด้านบริการสุขภาพ กล่าวว่า การควบคุมค่ารักษาพยาบาลแพง ใน รพ.เอกชนนั้นเป็นเรื่องเร่งด่วน เพราะผู้ใช้บริการมีความเดือดร้อน จากการเรียกเก็บค่ารักษาพยาบาลที่ไม่มีการกำกับดูแลขอบเขต จึงขอให้คณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) ได้จัดประชุมเพื่อทบทวนในเรื่องนี้ โดยขอให้กรมการค้าภายใน เก็บข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สมาคมโรงพยาบาลเอกชน  เพื่อหามาตรการกำกับควบคุมต่อไป โดยหลังจากนี้ ทางเครือข่ายผู้บริโภคจะมีการติดตามทวงถามความคืบหน้าอีกครั้งหนึ่ง

อ่านเพิ่มเติม >

สคบ. ออก“สัญญาเช่าซื้อรถ” เพิ่มความคุ้มครองผู้บริโภค ไม่ให้ถูกเอาเปรียบ

            เว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ รายงานว่า สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ได้ออกประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจให้เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. 2561 (ฉบับใหม่ล่าสุด) ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 กรกฎาคมนี้            โดยสาระสำคัญของประกาศฉบับใหม่ ไม่ได้แตกต่างจากเดิมมากนัก ที่แก้ไขเป็นเรื่องการคิดอัตราดอกเบี้ยกรณีผิดนัดชำระหนี้, การปรับลดดอกเบี้ยกรณีผู้บริโภคต้องการชำระค่าเช่าซื้อทั้งหมดในคราวเดียวกัน, ค่าใช้จ่ายจากการบังคับยึดรถกรณีผู้เช่าซื้อผิดนัดชำระหนี้เกิดกำหนด ซึ่งเดิมผู้ให้สินเชื่อเช่าซื้อหรือบริษัทลีซซิ่ง สามารถเรียกเก็บค่าใช้จ่ายในการยึดรถจากผู้บริโภคได้ แต่กฎหมายใหม่กำหนดข้อห้ามไว้ ซึ่งประกาศฉบับใหม่ มีรายละเอียดโดยสรุป ดังนี้1.      กำหนดดอกเบี้ยปรับกรณีผิดนัดชำระ ไม่เกิน 15% (เดิม 17%)2.      บริษัทเช่าซื้อต้องทำตารางแสดงค่างวด แยกเงินต้น-ดอกเบี้ย วันเดือนปีชำระค่างวดให้ผู้บริโภคทราบชัดเจน3.      กรณีผู้เช่าซื้อต้องการชำระเงินทั้งหมด (โปะ) บริษัทลีสซิ่งต้องให้ส่วนลดดอกเบี้ยไม่น้อยกว่า 50%4.      ให้สิทธิ์ผู้เช่าซื้อ ซื้อรถคืนได้ภายใน 7 วัน หลังยึดรถ และให้สิทธิ์ผู้ค้ำประกันอีก 15 วัน5.      กรณีจะนำรถขายทอดตลาด ต้องแจ้งให้ผู้เช่าซื้อและผู้ค้ำประกันทราบล่วงหน้า 7 วัน โดยจะซื้อได้ตามมูลหนี้ส่วนที่ขาดอยู่ตามสัญญาเช่าซื้อ6.      บริษัทเช่าซื้อสามารถเก็บค่าธรรมเนียมทวงถามได้ตามใช้จ่ายจริง แต่ห้ามเก็บค่าใช้จ่ายดำเนินการยึดรถ7.      มีผลบังคับใช้ 1 กรกฎาคม 2561            นอกจากนี้ ในประกาศยังระบุว่า ในกรณีที่ผู้เช่าซื้อ ชำระเงินค่าเช่าซื้อและค่าใช้จ่ายต่างๆ ครบถ้วนแล้ว ให้กรรมสิทธิ์ในรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ที่เช่าซื้อเป็นของลูกค้าทันที โดยบริษัทลีสซิ่งต้องดำเนินการจดทะเบียนรถให้เป็นชื่อของลูกค้าภายใน 30 วัน หากเกินกำหนด บริษัทลีสซิ่งต้องเสียเบี้ยปรับในอัตราที่เท่ากับเบี้ยปรับที่ลูกค้าต้องชำระเมื่อผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 205 สิทธิของผู้ซื้อบ้านที่ก่อสร้างไม่เสร็จตามสัญญา

ผมจะพาทุกท่านมารู้จักกับเรื่องสิทธิของผู้บริโภคอีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญ คือ สิทธิที่จะได้รับความเป็นธรรมในสัญญา โดยขอยกกรณีตัวอย่างของการทำสัญญาซื้อขายบ้านนะครับ ก่อนทำสัญญาใดๆ ก็ตามเราต้องตรวจดูข้อสัญญาให้ดีๆ เพราะสัญญาที่กำหนดขึ้นนั้น ผู้ขายเขาร่างมาให้ เราต้องดูให้ดีว่ามีข้อใดที่เอาเปรียบเราหรือไม่ หากเห็นข้อใดไม่สมเหตุผล ก็คุยกันและขอให้แก้ไขได้นะครับเพราะเป็นสิทธิของเราในฐานะผู้บริโภคครับ เพราะเมื่อทำสัญญาไปแล้วจะเกิดสิทธิและหน้าที่ทั้งผู้ซื้อผู้ขายต้องปฏิบัติให้เป็นตามสัญญา เรื่องที่เกิดขึ้นนี้ เป็นเรื่องของผู้บริโภคท่านหนึ่งที่ไปทำสัญญาจะซื้อจะขายบ้าน ซึ่งตอนไปทำสัญญาก็แน่นอนว่า บ้านยังอยู่ระหว่างก่อสร้าง หลังทำสัญญาไปแล้ว ก็จ่ายเงินผ่อนบ้านเรื่อยมา แต่พออยู่ไปเรื่อยๆ ปรากฏว่า กลับจ่ายเงินเขาไม่ครบ จ่ายไม่ตรงเวลา ทั้งที่สัญญาก็ระบุไว้ว่าต้องจ่ายเมื่อไหร่ ส่วนผู้ขายก็สร้างบ้านไม่เสร็จตรงตามกำหนด เรียกว่าทั้งสองฝ่ายไม่ปฏิบัติให้ตรงตามสัญญากันเลย ผู้บริโภคท่านนี้เห็นบ้านสร้างไม่ยอมเสร็จสักที ก็ไปฟ้องศาลขอเรียกเงินค่างวดคืน ปัญหาที่เกิดคือ แบบนี้ตัวเองก็ผิดนัดเขาไม่ชำระเงินให้ตรงตามเวลาที่ตกลง จะมีสิทธิทวงเงินคืนได้หรือไม่  ซึ่งสุดท้ายเรื่องก็ไปสู่ศาลฎีกา และศาลก็ได้ตัดสินให้ผู้ขายคืนเงินแก่ผู้บริโภค เนื่องจากก่อนฟ้อง ผู้ขายมีหนังสือทวงถามให้ผู้บริโภคที่เป็นผู้ซื้อชำระค่างวด แต่ผู้ซื้อไม่ยอมจ่ายและมีหนังสือเลิกสัญญาไปถึงผู้ขายเช่นกัน ศาลมองว่าทั้งสองฝ่ายต่างต้องการเลิกสัญญาต่อกัน จึงมีผลให้สัญญาจะซื้อจะขายเลิกกัน ซึ่งตามกฎหมาย ผลของการเลิกสัญญา ทำให้คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายต้องกลับสู่ฐานะเดิม ดังนั้น ผู้ขายจึงต้องคืนเงินค่างวดที่โจทก์ชำระทั้งหมดให้แก่ผู้บริโภคพร้อมดอกเบี้ย คำพิพากษาศาลฎีกาที่  6327/2549           โจทก์มิได้ชำระเงินค่างวดตรงตามเวลาและครบถ้วนในกำหนดตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง ส่วนจำเลยก็มิได้ก่อสร้างบ้านให้แล้วเสร็จภายในกำหนดวันที่โจทก์ต้องชำระเงินค่างวด งวดสุดท้ายและจำเลยตกลงจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่โจทก์ จึงถือว่าต่างฝ่ายต่างมิได้ถือกำหนดระยะเวลาที่กำหนดไว้ในสัญญาเป็นสาระสำคัญต่อไป หนี้ที่ต่างต้องชำระต่อกันจึงไม่มีกำหนดเวลาแน่นอนต่างฝ่ายย่อมเรียกอีกฝ่ายหนึ่งชำระหนี้ได้โดยพลันโดยกำหนดระยะเวลาพอสมควรแล้วบอกกล่าวให้อีกฝ่ายชำระหนี้ภายในระยะเวลาที่กำหนดนั้นได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 204 วรรคแรก          สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นสัญญาต่างตอบแทนและล่วงเลยกำหนดเวลาชำระหนี้มาแล้วประมาณ 10 เดือน ดังนั้นหนังสือบอกกล่าวของจำเลยที่ทวงถามให้โจกท์ชำระเงินค่างวดที่ค้างเพื่อใช้สิทธิบอกเลิกสัญญานั้น จำเลยจะต้องขอปฏิบัติการชำระหนี้ต่อโจทก์ด้วยว่าจำเลยพร้อมที่จะโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและบ้านให้แก่โจทก์แล้ว เมื่อจำเลยมิได้ขอปฏิบัติการชำระหนี้ด้วย โจทก์จึงมีสิทธิไม่ชำระหนี้ตามสัญญาต่างตอบแทนนั้นได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 369 ข้อเท็จจริงปรากฏว่าจำเลยยังก่อสร้างบ้านไม่แล้วเสร็จในขณะที่มีหนังสือบอกกล่าวให้ชำระหนี้ค่างวดที่ค้าง จำเลยจึงไม่อยู่ในฐานะที่พร้อมที่จะขอปฏิบัติการชำระหนี้ตอบแทนให้แก่โจทก์ได้ การที่โจทก์ไม่ชำระเงินค่างวดที่ค้างให้แก่จำเลยจึงไม่ถือว่าโจทก์ผิดสัญญา จำเลยยังไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญาและริบเงินที่โจทก์ชำระแล้ว          หลังจากที่จำเลยมีหนังสือทวงถามให้โจทก์ชำระค่างวดที่ค้างแล้ว โจทก์ไม่ชำระแต่ได้มีหนังสือบอกเลิกสัญญาแก่จำเลย และต่อมาจำเลยก็ได้มีหนังสือบอกเลิกสัญญาแก่โจทก์อีก ดังนี้เท่ากับคู่สัญญามีเจตนาเลิกสัญญาต่อกัน สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างระหว่างโจทก์จำเลยจึงเป็นอันเลิกกัน คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งกลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม จำเลยต้องคืนเงินค่างวดที่โจทก์ชำระแล้วทั้งหมดให้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 วรรคหนึ่ง และวรรคสอง ในคดีนี้ มีประเด็นน่าสนใจอีกอย่างหนึ่งคือ เมื่อเป็นสัญญาต่างตอบแทน ทั้งสองฝ่ายต้องรู้หน้าที่ของตน ผู้ขายรู้ว่าตนมีหน้าที่ต้องสร้างบ้านให้เสร็จ และโอนกรรมสิทธิ์ในบ้านและที่ดินให้โจทก์ แต่ปรากฎว่าในขณะมีหนังสือแจ้งให้โจทก์จ่ายเงินค่างวดบ้าน ตนเองก็ยังไม่พร้อมจะดำเนินการโอนกรรมสิทธิ์ในบ้านและที่ดินให้โจทก์ แสดงว่าจำเลยผู้ขายไม่สามารถปฏิบัติตามหน้าที่ของตนตอบแทนตามสัญญา  ดังนั้น การที่โจทก์ยังไม่จ่ายเงินค่างวดจึงยังไม่ถือว่าโจทก์ผิดสัญญา ผลที่ตามมาคือ ผู้ขายไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญาและจะริบเงินของโจทก์ไม่ได้

อ่านเพิ่มเติม >

พฤติกรรมชาวกรุง กับการ Shopping Online

ฉลาดซื้อ ร่วมมือบ้านสมเด็จโพลล์เผย 32.4% โพลล์ชี้คนกรุง 74.7%  เชื่อมั่นใน Online shopping เคยถูกหลอกลวงจากการซื้อสินค้าผ่านทางระบบออนไลน์ จี้หน่วยงานรัฐรับผิดชอบโดยตรงฉลาดซื้อ ร่วมมือบ้านสมเด็จโพลล์เผย โพลล์ชี้คนกรุง 74.7%  เชื่อมั่นใน Online shopping 40.7% ซื้อของราคา 501 – 1,000 บาท 32.4% เคยถูกหลอกลวงจากการซื้อสินค้าผ่านทางระบบออนไลน์ เครือข่ายผู้บริโภคทั่วประเทศจัดเสวนาสมัชชาผูบริโภค ประจำปี 61 ชูประเด็น “กำกับตลาดดิจิทัลให้เป็นธรรม รวมพลังผู้บริโภคผลักดันกฎหมายสภาองค์กรผู้บริโภคแห่งชาติ”นิตยสารฉลาดซื้อ ร่วมมือกับศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา  สำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับการซื้อสินค้าผ่านทางระบบออนไลน์ (Online shopping) โดยเก็บจากกลุ่มตัวอย่างจากประชาชนที่เคยซื้อสินค้าผ่านทางระบบออนไลน์และอาศัยอยู่ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร จำนวนทั้งสิ้น 1,205 กลุ่มตัวอย่าง เก็บข้อมูลในวันที่ 22 - 25 กุมภาพันธ์ 2561  ซึ่งกลุ่มตัวอย่างในการสำรวจครั้งนี้ใช้เกณฑ์ตารางสำเร็จรูปของ Taro Yamane กำหนดว่า ประชากรเกิน 100,000 คนต้องการความเชื่อมั่น 95% และความผิดพลาดไม่เกิน 3% ต้องใช้กลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,111 กลุ่มตัวอย่าง ผู้ช่วยศาสตราจารย์สิงห์ สิงห์ขจร ประธานคณะกรรมการศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ กล่าวว่า ผลการสำรวจในครั้งนี้เนื่องจากในปัจจุบันมีการซื้อสินค้าผ่านทางระบบออนไลน์ (Online shopping) มีเป็นจำนวนมากและมีอัตราการเติบโตที่เพิ่มมากขึ้น สินค้าที่มีความหลากหลายที่อยู่บนร้านค้าออนไลน์ทั้งในแบบใช้ระบบเครือข่ายสังคมออนไลน์ และแบบเว็บไซด์ที่จัดทำขึ้นเพื่อขายสินค้า การตัดสินใจ ความเชื่อมั่น ปัญหาต่างๆในการซื้อสินค้าผ่านทางระบบออนไลน์เป็นอย่างไร โดยผลการสำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์เกี่ยวกับการซื้อสินค้าผ่านทางระบบออนไลน์ (Online shopping) โดยมีข้อมูลที่น่าสนใจดังต่อไปนี้กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มีการซื้อสินค้าผ่านทางระบบออนไลน์ ผ่านทางร้านค้าบน Facebook เป็นอันดับหนึ่ง ร้อยละ 30.9 อันดับที่สองคือร้านค้าบน Instagram ร้อยละ 25.4 อันดับที่สามคือ Lazada ร้อยละ 13.9 อันดับที่สี่คือ Shopee ร้อยละ 10.9 และอันดับที่ห้าคือ Kaidee ร้อยละ 7.8 และมีการซื้อสินค้าผ่านทางระบบออนไลน์ เป็นสินค้าประเภท เสื้อผ้าผู้หญิง/ผู้ชาย เป็นอันดับหนึ่ง ร้อยละ 29.8 อันดับที่สองคืออาหารเสริมสุขภาพ ร้อยละ 13.0 อันดับที่สามคือ เครื่องใช้ไฟฟ้า ร้อยละ 12.1 อันดับที่สี่คือ อุปกรณ์เสริมมือถือ ร้อยละ 9.1 และอันดับที่ห้าคือ สินค้าความงาม ร้อยละ 8.4กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มีความเชื่อมั่นในการซื้อสินค้าผ่านทางระบบออนไลน์ ร้อยละ 74.7 มีความเชื่อมั่น เพราะเชื่อมั่นในระบบ/เว็บไซต์ที่มีความน่าเชื่อถือ อันดับหนึ่ง ร้อยละ 33.8 อันดับที่สองคือ เพราะสินค้าที่ซื้อได้รับการรับรองจากผู้ซื้อคนอื่นหรือการรีวิว ร้อยละ 31.0 อันดับที่สามคือ เพราะสินค้าได้รับการรับรองจากระบบ/เว็บไซต์ที่น่าเชื่อถือ ร้อยละ 21.6 อันดับที่สี่คือ เพราะสินค้านั้นมีราคาถูกกว่าไปซื้อหน้าร้าน ร้อยละ 13.5 และคิดว่าสินค้าในร้านค้าออนไลน์ มีความน่าเชื่อถือ ร้อยละ 62.9 ในส่วนของความน่าเชื่อถือ สินค้าบริโภค (ผลิตภัณฑ์อาหาร) ร้อยละ 45.8ในส่วนของราคาที่ใช้จ่ายซื้อสินค้าผ่านทางระบบออนไลน์ อันดับหนึ่งคือ 501 – 1,000 บาท ร้อยละ 40.7 อันดับที่สองคือ 101 – 500 บาท ร้อยละ 23.1 อันดับที่สามคือ 1,001 – 1,500 บาท ร้อยละ 19.5 อันดับที่สี่คือ 1,501 – 2,000 บาท ร้อยละ 9.5 อันดับที่ห้าคือ มากกว่า 2,000 บาท ร้อยละ 6.6 และอันดับสุดท้ายคือ น้อยกว่า 100 บาท ร้อยละ 0.6 การชำระค่าสินค้าที่ใช้จ่ายผ่านทางระบบออนไลน์ ด้วยวิธีการ โอนเงิน/หักบัญชีธนาคาร มากที่สุด ร้อยละ 61.1 อันดับที่สองคือ ผ่านบัตรเครดิต/เดบิต ร้อยละ 14.8 อันดับที่สามคือ โอนเงินผ่านเคาน์เตอร์ ร้อยละ 11.1 กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดว่าการจัดส่งสินค้าผ่านทางระบบออนไลน์ มีความรวดเร็ว ร้อยละ 75.8 เคยพบการจัดส่งสินค้าล่าช้ากว่ากำหนด ร้อยละ 54.4 และเคยพบสินค้าชำรุด/เสียหาย หรือได้รับสินค้าไม่ครบตามจำนวนที่สั่งซื้อสินค้า ร้อยละ 35.0กลุ่มตัวอย่างเคยถูกหลอกลวงจากการซื้อสินค้าผ่านทางระบบออนไลน์ ร้อยละ 32.4 และเมื่อพบปัญหาจากการถูกหลอกลวงจากการซื้อสินค้าผ่านทางระบบออนไลน์ อันดับหนึ่งคือ แจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ร้อยละ 39.6 อันดับที่สองคือ โพสต์ลงโซเชียลมีเดีย/เฟสบุ๊ค ร้อยละ 28.7 อันดับที่สามคือ ร้องเรียนผ่านสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ร้อยละ 19.3 อันดับที่สี่คือ ไม่ดำเนินการใดๆ ร้อยละ 9.7 ในส่วนของการเคยมีการตรวจดูวันเดือนปีที่หมดอายุของสินค้าผ่านทางระบบออนไลน์ ร้อยละ 60.8 เคยมีการตรวจดูสถานที่ผลิตของสินค้าผ่านทางระบบออนไลน์ ร้อยละ 57.3 และเคยมีการตรวจสอบมาตรฐาน อย. (สํานักงานคณะกรรมการอาหารและยา) ของสินค้าผ่านทางระบบออนไลน์ ร้อยละ 58.4ทั้งนี้  ผู้ช่วยศาสตราจารย์สิงห์ สิงห์ขจร เสนอแนะว่า ควรมีหน่วยงานที่ดูแลจัดการในเรื่องการซื้อขายออนไลน์โดยตรง มีมาตรการเข้มงวด รวมถึงการควบคุมดูแลให้เกิดความเป็นธรรมกับผู้บริโภคด้วย อีกส่วนหนึ่งคือ การใช้จ่ายออนไลน์นั้น ส่วนใหญ่เป็นการซื้อขายโดยการหักบัญชีธนาคาร จากผู้ขายและผู้ซื้อโดยตรง ซึ่งภาครัฐจะสูญเสียรายได้จากภาษี ตรงนี้จะแก้ไขได้อย่างไร นางสาวสารี อ๋องสมหวัง บรรณธิการบริหารนิตยสารฉลาดซื้อ  กล่าวเสริมว่า “ปัจจุบันการสั่งซื้อสินค้าออนไลน์เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ได้รับความนิยมในบ้านเรา เป็นที่น่าเสียดายหากภาครัฐจะสูญเสียรายได้ไปไม่น้อยจากการเก็บภาษีอากร  เพราะในต่างประเทศ อย่างเช่นประเทศอินโดนีเซีย มีการเก็บภาษีจากเฟสบุคได้แล้ว  ปีนี้เป็นปีที่ 2  สองปีซ้อนที่สหพันธ์ผู้บริโภคสากล (Consumers International) ร่วมกับองค์กรผู้บริโภคทั่วโลก กำหนดให้วันสิทธิผู้บริโภคสากล (World Consumer Rights’ Day) ซึ่งตรงกับวันที่ 15 มีนาคม ของทุกปีเป็นประเด็น การคุ้มครองผู้บริโภคจากธุรกิจออนไลน์ เพื่อสร้างความมั่นใจและความ ยุติธรรมให้แก่ผู้บริโภค(Building a Digital World Consumers Can Trust) ในปี พ.ศ. 2560 สู่ “การกำกับตลาดดิจิทัลให้เป็นธรรม” (Making digital marketplaces fairer) ในปี 2561 อีคอมเมิร์ซได้เปลี่ยนวิถีชีวิตทุกคน ผ่านโทรศัพท์มือถือหรืออุปกรณ์ที่ เชื่อมต่ออินเตอร์เน็ต สามารถชำาระเงินซื้อข้าวของเครื่องใช้บริการได้ทั่วโลก แม้แต่เครื่องใช้ส่วนตัว เครื่องใช้ในบ้าน อุปกรณ์ดนตรี  จองบริการ ขนส่งและที่พัก หรือซื้อตั๋วเข้าร่วมกิจกรรม สำหรับในประเทศไทย มูลค่า e-Commerce ในปี 2559 รวมทั้งสิ้น 2,560,103.36 ล้านบาท ขณะที่งบโฆษณาดิจิทัลในปี 2559 มีมูลค่า 9,477 ล้านบาท คาดว่า ปี 2560 จะทะลุหมื่นล้านขึ้นไป อย่างไรก็ตาม ผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นของการซื้อขายออนไลน์ ได้ทำให้ เกิดปัญหาสำคัญกับผู้บริโภค เช่น การหลอกลวง ซื้อของแล้วไม่ได้ของ ไม่ได้ เงินคืนหรือถึงแม้ได้เงินคืนก็แสนยากเย็น เมื่อเกิดเหตุการณ์ผิดพลาดขึ้น ถูกหลอกลวง ฉ้อโกง หรือโฆษณาเกินจริง เป็นเท็จ โอ้อวดสรรพคุณ จะได้รับ การชดเชยเยียวยาเป็นอย่างดี หรือถูกจัดการจากหน่วยงานอย่างทันท่วงที  ด้วยเหตุนี้เชื่อว่า การเคลื่อนไหวของขบวนการผู้บริโภคทั่วโลก จะสามารถ ทำาให้เกิดการกำากับตลาดดิจิทัลที่เป็นธรรมสำาหรับผู้บริโภคเพิ่มขึ้นมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และองค์กรผู้บริโภคทั่วประเทศ จัดงานสมัชชาผู้บริโภคประจำปี 2561 “กำกับตลาดดิจิทัลให้เป็นธรรม รวมพลังผู้บริโภคผลักดันกฎหมายสภาองค์กรผู้บริโภคแห่งชาติ” ในวันพุธที่ 14 ถึงวันพฤหัสบดีที่ 15 มีนาคม 2561 ณ ห้องจูปิเตอร์ ชั้น 3 โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ ภายในงาน  มีการนำเสนองานวิจัย เรื่อง การคุ้มครองผู้บริโภคในการซื้อขายออนไลน์ โดย นางพลินี เสริมสินสิริ นักวิชาการอิสระ  เสวนา “กำกับตลาดดิจิทัลให้เป็นธรรม (Making digital marketplaces fairer)”  และมีกิจกรรมวิชาการที่น่าสนใจ อาทิ เสวนา “มาตรการคุ้มครองผู้บริโภคตลาดออนไลน์” , เสวนา “แนวทางการจัดการโฆษณาผิดกฎหมายในออนไลน์ซ้ำซาก กรณีผลิตภัณฑ์สุขภาพ” , เสวนา เรื่อง “แนวทางการแจ้งเตือนภัยสินค้าไม่ปลอดภัยทางสื่อดิจิตัล” , เสวนา “ความเป็นไปได้ในการตรวจสอบและกำกับค่ารักษาพยาบาลแพง” , เสวนา “ต้นแบบและความร่วมมือรถรับส่งนักเรียนปลอดภัย”  และในวันพฤหัสบดีที่ 15 มีนาคม 2561 ร่วมรับฟังเสวนา “ร่างพระราชบัญญัติสภาองค์กรผู้บริโภคแห่งชาติ ความก้าวหน้าและอนาคต” ผู้สนใจสามารถลงทะเบียนเข้าร่วมงานล่วงหน้าได้ที่ 02 248 3737 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 202 อดได้ของ เพราะสัญญาซื้อขายผิดแบบ

ผู้บริโภคจำนวนมากตัดสินใจซื้อคอนโดมิเนียมเป็นของตนเอง ซึ่งบางคนโชคดีไม่เจอปัญหาใดๆ ในขณะที่หลายคนเจอปัญหามากน้อยต่างกันไป และหนึ่งในปัญหาเหล่านั้นคือเรื่องของมาตรฐานหรือรูปแบบของสัญญาในการซื้อขาย ซึ่งจะมีเรื่องราวเป็นอย่างไรนั้น เราลองไปดูกันคุณชาลาชื่นชอบคอนโดของโครงการ Arcadia Beach Continental ซึ่งเป็นคอนโดหรูสไตล์ยุโรป เธอจึงตัดสินใจเข้าทำสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดห้องหนึ่งของโครงการดังกล่าว และได้ชำระเงินจองเป็นจำนวน 50,000  บาท อย่างไรก็ตามภายหลังทำสัญญาเสร็จแล้วเรียบร้อย คุณชาลาก็มาทราบว่าสัญญาที่เธอทำไปนั้น ไม่สามารถบังคับใช้ตามกฎหมายได้ เนื่องจากเป็นสัญญาที่ใช้ภาษาอังกฤษทั้งหมด เธอจึงติดต่อไปยังผู้ประกอบการเพื่อขอให้แก้ไขปัญหาดังกล่าว ซึ่งได้เสนอกลับมาว่าให้เธอเปลี่ยนมาจองห้องของอีกโครงการหนึ่งแทน โดยจะลดราคาให้เป็นพิเศษ แต่ต้องชำระค่าเงินจองเพิ่มอีกประมาณ 300,000 บาทด้านคุณชาลาเห็นว่าข้อเสนอดังกล่าวน่าสนใจ จึงตกลงทำตามที่บริษัทแนะนำและชำระเงินเพิ่มไป อย่างไรก็ตามหลังเวลาผ่านไปหลายเดือน เธอก็ได้เข้าไปติดตามความคืบหน้าการก่อสร้างของโครงการดังกล่าว แต่กลับพบความจริงว่า ทางบริษัทได้นำห้องที่เธอจองไว้ ไปขายให้กับบุคคลอื่นโดยไม่ได้รับอนุญาต เธอจึงตัดสินใจทำหนังสือขอยกเลิกสัญญาทั้งหมดไปยังบริษัท แต่ทางบริษัทไม่แสดงความรับผิดชอบใดๆ กลับมา ทำให้คุณชาลาไปร้องเรียนต่อสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค(สคบ.) พร้อมส่งเรื่องมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์เพื่อขอความช่วยเหลืออีกทางแนวทางการแก้ไขปัญหาเบื้องต้นศูนย์พิทักษ์สิทธิ์ให้คำแนะนำในการทำสัญญาเพื่อจะซื้อจะขายห้องชุดว่า ต้องใช้แบบสัญญามาตรฐาน(อ.ช.22) ทั้งยังต้องให้เป็นไปตามประกาศของ สคบ.กำหนด คือ ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่องให้ธุรกิจห้องชุดเป็นธุรกิจที่ควบคุม พศ.2543 (3) ที่กำหนดให้สัญญาที่ผู้ประกอบธุรกิจทำกับผู้บริโภค ต้องมีข้อความเป็นภาษาไทยที่สามารถเห็นและอ่านได้ชัดเจน มีขนาดของตัวอักษรไม่เล็กกว่าสองมิลลิเมตร ซึ่งในกรณีที่ผู้ประกอบการใช้ข้อความในสัญญาเป็นภาษาอื่นนั้น สัญญาย่อมไม่มีผลบังคับใช้ได้นอกจากนี้ในกรณีห้องชุดที่ได้ตกลงทำสัญญาจะซื้อขายกันแล้ว ผู้ประกอบการไม่สามารถนำห้องดังกล่าว ไปขายให้กับบุคคลอื่นได้ เพราะจะถือว่าเป็นการผิดสัญญา โดยผู้บริโภคมีสิทธิบอกเลิกสัญญาและเรียกเงินพร้อมทั้งดอกเบี้ยคืนจากผู้ประกอบการได้ โดยต้องทำเป็นหนังสือบอกเลิกสัญญา ซึ่งสามารถเข้าไปดูตัวอย่างรูปแบบของหนังสือบอกเลิกสัญญาได้ที่เว็บไซต์มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (http://www.consumerthai.org/data-storage/non.html)ทั้งนี้ก่อนที่ศูนย์ฯ จะได้ช่วยผู้ร้องดำเนินการเจรจาไกล่เกลี่ยให้ผู้ร้องที่มูลนิธิ ก็พบว่าทาง สคบ. ได้เรียกให้ผู้ร้องเข้าไปเจรจาก่อน ซึ่งผลปรากฏว่า ทาง สคบ. ได้ช่วยเหลือผู้ร้องให้ได้เงินคืนส่วนหนึ่งแล้ว โดยเป็นส่วนที่ผู้ร้องได้ชำระไปในรอบที่สอง เนื่องจากเงินส่วนที่ผู้ร้องได้ชำระไปรอบแรกนั้น ทาง สคบ. มองว่าผู้ร้องไม่ได้มีเจตนาซื้อคอนโดดังกล่าวไว้เพื่ออยู่อาศัยเอง แต่ซื้อไว้เพื่อขายต่อหรือออกให้เช่าเพื่อเก็งกำไร ดังนั้นจึงไม่รับไกล่เกลี่ยให้ เพราะไม่เข้าข่ายเป็นผู้บริโภค ซึ่งผู้ร้องก็ยินดีรับเงินจำนวนดังกล่าว เพราะไม่ต้องการให้เรื่องยืดเยื้อไปมากกว่านี้และขอยุติการร้องเรียนกับทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 200 รู้จักกฎหมาย “ขายฝาก” เป็นสัญญาซื้อขายแบบหนึ่ง ไม่ใช่สัญญาประกันหนี้

ช่วงเดือนที่ผ่านมา หลายท่านคงได้ติดตามข่าวฆาตกรรมที่มีปมจากเหตุฝากขายที่ดิน ที่ชาวบ้านหลายคนบอกว่าโดนหลอกให้ขายฝากที่ดิน แล้วถูกเอาที่ดินไปขายต่อโดยไม่รู้เรื่อง  ดังนั้นวันนี้ เรามาทำความรู้จักเรื่องการทำสัญญาขายฝากให้มากขึ้นกันดีกว่า เพื่อให้ผู้บริโภคอย่างเราเท่าทันเรื่องการขายฝากมากขึ้นครับ ก่อนอื่นเราต้องทำความเข้าใจก่อนว่า การขายฝาก คืออะไร ต่างกับสัญญาจำนองอย่างไร ซึ่งหากไปดูข้อกฎหมายจะทราบว่า การทำสัญญาจำนอง คือการเอาทรัพย์ เช่น บ้าน ที่ดิน ไปเป็นหลักประกันในการชำระหนี้ กรรมสิทธิ์ในที่ดินหรือบ้านยังเป็นของเราอยู่ไม่ได้โอนไป หากเราไม่ชำระหนี้เขาจะบังคับจำนองต้องลำบากไปฟ้องศาล ขอให้ศาลมีคำสั่งให้ยึดทรัพย์ แต่ถ้าทำเป็นสัญญาขายฝาก เหมือนเอาทรัพย์ไปขายและถ้าครบกำหนดก็ให้ซื้อคืนได้ ฉะนั้นกรรมสิทธิ์ในที่ดินหรือบ้านก็จะโอนไปด้วย หากเราผิดนัดชำระหนี้แค่วันเดียว ก็มีสิทธิจะเอาทรัพย์เราไปขายต่อหรือไปทำอะไรก็ได้เพราะกรรมสิทธิ์มันโอนมาแล้ว ไม่ต้องลำบากไปขอศาลด้วย ดังนั้นในมุมผู้ที่เดือดร้อนเงิน แล้วจะนำที่ดินหรือบ้านไปกู้เงิน จึงขอแนะนำว่าไม่ควรทำเป็นสัญญาขายฝากนะครับ เพราะโอกาสที่จะเสียทรัพย์สินจะมีสูงกว่าเพราะกรรมสิทธิ์โอนให้เขาไปตั้งแต่วันทำสัญญาแล้ว  เราจะเห็นว่า สัญญาขายฝากมีเรื่องของ “กำหนดเวลาไถ่ทรัพย์คืน” ไว้เป็นสาระสำคัญ ซึ่งหากไม่มาไถ่คืนตามกำหนดเวลาที่ตกลงไว้ก็จะเสียสิทธิไถ่ทรัพย์คืน และทำให้ทรัพย์สินที่ขายฝากนั้นตกเป็นของผู้รับฝากทันที  อย่างไรก็ตามระยะเวลาไถ่ทรัพย์อาจขยายเวลาได้  คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18460/2557            การขยายกำหนดเวลาไถ่ทรัพย์สินที่ขายฝากกฎหมายมิได้บังคับให้ต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ เพียงแต่อย่างน้อยต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้รับไถ่ จึงจะบังคับกันได้ การไม่นำหนังสือหรือหลักฐานเป็นหนังสือไปจดทะเบียนหรือจดแจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ คงมีผลทำให้คู่สัญญาไม่อาจยกการขยายเวลาขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทนโดยสุจริตและได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้วเท่านั้น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 496 วรรคสอง ดังนั้น การตกลงขยายกำหนดเวลาไถ่ตามหนังสือขอต่อสัญญาขายฝาก ซึ่งมีจำเลยที่ 1 ผู้รับไถ่ลงลายมือชื่อไว้ แม้มิได้นำไปจดทะเบียนหรือจดแจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ก็มีผลผูกพันจำเลยที่ 1 ส่วนจำเลยที่ 2 แม้ไม่ได้ลงลายมือชื่อ แต่การที่จำเลยที่ 2 รู้เห็นยินยอมในการกระทำของจำเลยที่ 1 กรณีถือได้ว่าจำเลยที่ 2 เชิดจำเลยที่ 1 หรือยอมให้จำเลยที่ 1 เชิดตัวเองออกแสดงเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 2 ในการตกลงและทำหนังสือขยายกำหนดเวลาไถ่ให้แก่โจทก์ การลงลายมือชื่อของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการกระทำในฐานะตัวแทนของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้รับไถ่ด้วย หนังสือขยายกำหนดเวลาไถ่จึงมีผลผูกพันจำเลยทั้งสอง เมื่อจำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงโดยนำทรัพย์สินที่รับซื้อฝากไปขายก่อนครบกำหนดเวลาไถ่ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จึงต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ นอกจากนี้ ถ้ามีการกำหนดราคาไถ่ทรัพย์ที่สูงกว่าราคาแท้จริงที่ขายฝาก กฎหมายก็ให้ถือว่า ให้ไถ่กันตามราคาขายฝากที่แท้จริง และรวมประโยชน์ตอบแทนไม่เกินร้อยละ 15 ต่อปี เท่านั้น โดย “ราคาขายฝากที่แท้จริง” คือ ราคาที่ผู้ซื้อฝากได้ชำระราคาแก่ผู้ขายฝากในขณะทำสัญญากัน ซึ่งอาจจะมากกว่าหรือน้อยกว่าราคาทรัพย์สินที่แท้จริง  เช่น ราคาขายฝากบ้าน 300,000 บาท กำหนดเวลาไถ่ 3 ปี กำหนดสินไถ่ เป็นเงิน 500,000 บาท เช่นนี้ ถือว่ากำหนดไว้เกินร้อยละ 15 ต่อปี เนื่องจากเมื่อคิดประโยชน์ตอบแทนจะได้ 155,000 บาท เท่านั้น(ราคาขายฝากที่แท้จริง x ประโยชน์ตอบแทน ร้อยละ 15 x กำหนดเวลาไถ่) จึงได้เท่ากับ 455,000 บาทเท่านั้น ดังนั้นค่าสินไถ่ที่กำหนดไว้ 500,000 บาทจึงตกเป็นโมฆะ ใช้บังคับได้เพียงไม่เกินที่กฎหมายกำหนดกล่าวคือ ผู้มีสิทธิไถ่ย่อมชำระสินไถ่เพียง 455,000 บาท เท่านั้น     อีกทั้ง กฎหมายเขียนเรื่องประโยชน์ตอบแทนร้อยละ 15 ต่อปี  ทำให้บางคนเข้าใจว่าเป็นสัญญาประกันหนี้ เพราะมีลักษณะคล้ายดอกเบี้ยเงินกู้  แต่แท้จริงคือการทำสัญญาซื้อขายประเภทหนึ่งคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1265/2559       บันทึกเอกสารหมาย จ.4 มีข้อความสรุปว่า จำเลยได้รับขายฝากที่ดินพิพาท จำเลยยินดีจะทำสัญญาซื้อขายตั้งแต่วันที่ 26 กรกฎาคม 2555 ถึงวันที่ 26 มกราคม 2556 ตามสัญญาเดิมที่ทำไว้พร้อมดอกเบี้ย โดยบันทึกดังกล่าวมีการอ้างถึงสัญญาขายฝากฉบับเดิมที่ น. มารดาโจทก์ทำไว้ก่อนตาย ซึ่งหากเป็นการตกลงจะซื้อขายที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างกันใหม่ก็ไม่จำเป็นต้องกล่าวถึงสัญญาขายฝากฉบับเดิมไว้ ทั้งยังตกลงให้โจทก์ต้องชำระสินไถ่พร้อมดอกเบี้ยตามสัญญาขายฝากเดิมให้แก่จำเลยภายในวันที่ 26 มกราคม 2556 กรณีจึงถือได้ว่าจำเลยขยายกำหนดเวลาไถ่ให้แก่โจทก์  โดยมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อจำเลยผู้รับไถ่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 496 วรรคสอง แล้ว น. มารดาโจทก์ผู้ขายฝากและจำเลยผู้รับซื้อตกลงคิดดอกเบี้ยเดือนละ 12,000 บาท กรณีนี้จึงเป็นการกำหนดราคาสินไถ่หรือราคาขายฝากสูงกว่าราคาขายฝากที่แท้จริงในอัตราร้อยละ 18 ต่อปี เมื่อราคาสินไถ่หรือราคาขายฝากที่กำหนดไว้สูงกว่าราคาขายฝากที่แท้จริงเกินอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จึงต้องห้ามตาม ป.พ.พ. มาตรา 499 วรรคสอง ซึ่งกำหนดให้ไถ่ได้ตามราคาขายฝากที่แท้จริงรวมประโยชน์ตอบแทนร้อยละ 15 ต่อปี ราคาสินไถ่ที่เกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้คู่ความไม่อุทธรณ์ฎีกา ศาลฎีกาก็หยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้

อ่านเพิ่มเติม >

ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค พัฒนาเครือข่ายผู้บริโภค ‘เก็บตัวอย่าง-เฝ้าระวังอาหาร ยา สินค้าสุขภาพ’ รุกสร้างมาตรฐานความปลอดภัยในระดับท้องถิ่นทั่วประเทศ

ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จัดอบรมเชิงปฏิบัติการ “การเก็บตัวอย่าง-เฝ้าระวังสินค้าและบริการสุขภาพ” เพื่อเสริมความรู้และพัฒนาศักยภาพในการเก็บตัวอย่างสินค้าและบริการประเภทอาหาร ยา หรือผลิตภัณฑ์สุขภาพให้กับเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคประชาชนส่วนกลางและภูมิภาค เพื่อนำไปใช้ทำงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภคให้เข้าถึงระดับท้องถิ่นอย่างมีมาตรฐานถูกต้องและมีประสิทธิภาพวันนี้ (10 ต.ค.60) เวลา 09.00 น. ณ โรงแรมทีเค พาเลซ แอนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ - มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จัดกิจกรรมฝึกอบรมปฏิบัติการ การเก็บตัวอย่างและเฝ้าระวังสินค้าและบริการสุขภาพ ภายใต้ โครงการเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมความรู้ให้เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคประชาชน สามารถลงพื้นที่สุ่มเก็บตัวอย่าง ทำการบรรจุ-จัดส่งผลิตภัณฑ์เพื่อส่งตรวจ และเฝ้าระวังสินค้าหรือบริการด้านสุขภาพในท้องถิ่นได้ถูกต้องมีประสิทธิภาพ โดยการบรรยายความรู้การเก็บตัวอย่างเพื่อการทดสอบอาหาร ยาและเครื่องสำอาง จาก ภก.วรวิทย์ กิตติวงศ์สุนทร อดีตอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์และคณะ และกิจกรรมฝึกปฏิบัติการเก็บตัวอย่างสินค้านายสมนึก งามละมัย ผู้ประสานงานโครงการเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ กล่าวว่า “การมีส่วนร่วมในการทดสอบสินค้าหรือบริการของเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคประชาชนจากทั่วประเทศ มีผลดีต่อการสุ่มเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์ที่กว้าง และครอบคลุมทั่วประเทศมากขึ้น ทำให้ผลการทดสอบโดยรวม มีความน่าเชื่อถือมากขึ้น” “ผู้เข้าอบรมเองจะได้รับความรู้พื้นฐานในการเลือกซื้อสินค้า ดูข้อมูลบนฉลาก ทำให้เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคมีความเชี่ยวชาญในการสุ่มเก็บตัวอย่าง โดยเฉพาะสินค้าในตลาดชุมชนที่ดูมีความสุ่มเสี่ยงน่าสงสัยว่าอาจไม่ปลอดภัยต่อผู้บริโภค ไปยังห้องแล็บเพื่อตรวจสอบ และนำผลการทดสอบที่ได้ไปใช้ประโยชน์ในการคุ้มครองผู้บริโภค” นายสมนึกกล่าว นางสาวมลฤดี โพธิ์อินทร์ นักวิชาการด้านอาหาร มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า “ความรู้และเทคนิคการสุ่มเก็บตัวอย่างสินค้าประเภทอาหาร ยา หรือผลิตภัณฑ์สุขภาพเป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องทำอย่างถูกต้องและรวดเร็ว เช่น การคำนวณปริมาณที่ต้องสุ่มเก็บ เลขล็อตการผลิตที่ต้องเป็นชุดเดียวกัน การถ่ายภาพตัวอย่าง การบันทึกข้อมูลฉลากของตัวอย่างอาหารติดบนตัวอย่าง เหล่านี้ต้องทำอย่างระมัดระวังและเข้มงวด เพราะการเก็บตัวอย่างที่ถูกต้องจะสามารถนำส่งตรวจวิเคราะห์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะสินค้าประเภทอาหารหากเก็บผิดพลาด อาจไม่สามารถส่งตรวจได้ เป็นการเสียเวลาและงบประมาณ”นางสาวบารีย๊ะ ยาดำ ผู้ประสานงานสมาคมผู้บริโภคจังหวัดสงขลา กล่าวว่า “อำเภอหาดใหญ่เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีสินค้าหลากหลาย มีแหล่งตลาดสดจำนวนมาก สินค้านำเข้าส่วนใหญ่มาจากจีนและมาเลเซียซึ่งไม่มีฉลากภาษาไทย เช่น อาหารแห้งและเครื่องสำอางที่มีความสุ่มเสี่ยง วันนี้ได้เรียนรู้การอ่านและดูฉลากและเลือกเก็บตัวอย่างประเภทอาหารสด อาหารแห้ง สุ่มเก็บอย่างไรให้ครอบคลุม โดยเรามีเครือข่ายอาสาทำงานในพื้นที่ ซึ่งที่ผ่านมายังไม่รู้เทคนิคการเก็บตัวอย่าง จะนำความรู้ในวันนี้ไปถ่ายทอดให้กับคนทำงานพื้นที่ต่อไป” นางสาวพวงทอง ว่องไว กลไกการคุ้มครองผู้บริโภคภาคเหนือและผู้ประสานงานศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคจังหวัดพะเยา กล่าวว่า “ปัญหาการเฝ้าระวังสินค้าและบริการสุขภาพในภาคเหนือ ส่วนใหญ่เป็นสินค้านำเข้าจากประเทศจีน เช่น ขนม อาหารแห้ง ยา และเครื่องสำอาง ซึ่งไม่มีฉลากภาษาไทย มีการตรวจพบสเตียรอยด์ในยาสมุนไพรจีน จากรถขายเร่ที่มาจำหน่ายตามชุมชน ซึ่งเป็นยาที่ไม่ได้จดแจ้ง มาอบรมวันนี้ได้เทคนิคการอ่านฉลาก วิธีการเลือกเก็บตัวอย่างสินค้า การคำนวณปริมาณสินค้าที่ต้องส่งต่อ การบันทึกข้อมูลเอกสารที่นำส่งเพื่อตรวจสอบสินค้า ซึ่งทั้งหมดจะได้นำไปใช้ทำงานในพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ”ทั้งนี้ ภายหลังการฝึกอบรมเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคประชาชนจะลงพื้นที่เก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์ที่มีจำหน่ายในชุมชนส่งศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ เพื่อส่งตรวจวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการมาตรฐานต่อไป ซึ่งจะส่งเสริมและยกระดับมาตรฐานการทำงานคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชนครอบคลุมพื้นที่ระดับประเทศมากขึ้น

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 198 ไม่มีแถวที่นั่งตามบัตรที่ซื้อ

ในคอลัมน์เสียงผู้บริโภคในเล่มก่อนๆ เคยมีกรณีที่ ผู้โดยสารพบปัญหาซื้อตั๋วรถไฟที่มีเลขที่นั่ง แต่บนรถไฟกลับไม่มีเก้าอี้ให้นั่ง เพราะเก้าอี้เบอร์ดังกล่าวถูกยกเลิกไปแล้ว ซึ่งศูนย์พิทักษ์ได้ช่วยผู้ร้องทำหนังสือถึงการรถไฟแห่งประเทศไทย เพื่อให้ดำเนินการตรวจสอบและดำเนินการแก้ไขปัญหา อย่างไรก็ตามเราได้พบปัญหานี้อีกครั้ง แต่เป็นการซื้อบัตรคอนเสิร์ตแล้วไม่มีแถวที่นั่งตามที่ซื้อไว้แทนเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในเดือนธันวาคมปีที่แล้วกับคุณดวงใจและเพื่อนๆ โดยพวกเธอได้ซื้อบัตรชมคอนเสิร์ตของศิลปินวง Coldplay ในราคา 6,500 บาท และเมื่อถึงวันจัดคอนเสิร์ต พวกเธอก็ได้เดินไปยังแถวที่ได้ซื้อไว้ แต่กลับไม่พบแถวดังกล่าว จึงแจ้งให้ผู้ดูแลงานทราบและพบกับคำตอบว่า ไม่มีแถวที่พวกเธอได้ซื้อไว้จริง แต่จะแก้ปัญหาให้ด้วยการพาไปนั่งจุดอื่น ซึ่งราคาถูกว่าบัตรที่ซื้อไว้ตอนแรกแทน ทำให้คุณดวงใจและเพื่อนๆ ไม่พอใจเป็นอย่างมาก แต่ก็ต้องฝืนรับข้อเสนอดังกล่าว เพราะไม่ทราบว่าจะทำอย่างไรได้ เพราะต้องการชมการแสดงของศิลปินแล้วเหตุการณ์กลับไม่จบเพียงเท่านั้น เพราะเมื่อมีคนที่ซื้อเลขที่นั่งดังกล่าวไว้จริงๆ(ที่ๆ ผู้ดูแลงานพาไปนั่งแทน) เดินทางมาถึง ทำให้เธอและเพื่อนๆ ต้องย้ายจากที่นั่งนั้นไปยังที่นั่งอื่นอีกรอบ และที่มากไปกว่านั้นคือ เธอได้สังเกตว่ามีหลายคนที่ต้องยืนดู เพราะไม่มีที่นั่งตามที่ได้ซื้อ ทำให้คุณดวงใจคิดว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค จึงส่งเรื่องมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์เพื่อขอความช่วยเหลือแนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์พิทักษ์สิทธิช่วยทำหนังสือถึงบริษัท Thai Ticket Major และ BEC-Tero ในกรณีที่จำหน่ายบัตรคอนเสิร์ตเกินตามที่นั่งจริง โดยขอให้มีการเยียวยาความเสียหายให้กับผู้บริโภค ซึ่งภายหลังทางบริษัทได้ชี้แจงว่า เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้น เนื่องจากทางสถานที่จัดงานหรือสนามกีฬาราชมังคลากีฬาสถาน ซึ่งได้ปรับผังสถานที่ใหม่ โดยไม่ได้แจ้งกับทางผู้จัดงานก่อน ทำให้เกิดความผิดพลาดในการจำหน่ายบัตร อย่างไรก็ตามในวันที่จัดคอนเสิร์ตได้แจ้งให้ผู้ที่ได้รับความเสียหายเข้ามาร้องเรียนและขอเงินคืนไปเรียบร้อยแล้ว ซึ่งตามนโยบายของบริษัทจะสามารถขอเงินคืนได้เฉพาะในวันงานเท่านั้น อย่างไรก็ตามยินดีจะเยียวยาชดเชยผู้เสียหายที่เหลือเพิ่มเติมด้วยการให้เสื้อยืดคอนเสิร์ตของศิลปิน ด้านผู้ร้องเมื่อเห็นว่า บริษัทเสนอการเยียวยาดังกล่าวก็รู้สึกว่า เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคอย่างมาก จึงต้องการฟ้องร้องต่อ ศูนย์ฯ จึงแนะนำว่าสามารถทำได้ เนื่องจากกรณีนี้เข้าข่ายตามมาตรา 215 ที่กำหนดให้ลูกหนี้ต้องชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ให้ต้องตามความประสงค์อันแท้จริงแห่งหนี้ โดยหากลูกหนี้ไม่ชำระหนี้เสียเลย หรือชำระหนี้ขาดตกบกพร่อง ล่าช้าผิดเวลา ผิดสถานที่หรือผิดวัตถุแห่งหนี้ ย่อมทำให้เจ้าหนี้ได้รับความเสียหาย ดังนั้นเจ้าหนี้สามารถเรียกเอาค่าสินไหมทดแทน จากความเสียหายที่เกิดขึ้นได้ บทสรุปของเรื่องนี้จะเป็นอย่างไร โปรดติดตามด้วยใจระทึก

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 197 ทำอย่างไรดี ถูกบังคับซื้อตั๋วโดยสาร

สัปดาห์ก่อนมีเพื่อนสมาชิกสอบถามมาว่า “เวลาที่เราต้องเดินทางด้วยรถโดยสารสาธารณะ  แล้วอยู่ดีๆ ถูกบังคับให้ซื้อตั๋วโดยสารที่ราคาแพงกว่าเดิม  หรือคนนั่งเต็มรถแต่ทำไมยังมีผู้โดยสารขึ้นมานั่งกับพื้น มายืนตรงทางเดินบนรถอีก เจอแบบนี้ผู้บริโภคอย่างเราจะทำอะไรได้บ้าง แล้วมีกฎหมายควบคุมผู้ประกอบการไม่ให้ฉวยโอกาสเอาเปรียบบ้างไหม  อยากอธิบายแบบนี้ครับว่า สิ่งเหล่านี้ยังเป็นปัญหาที่ยังพบเจอได้ในปัจจุบัน แม้ว่ากรมการขนส่งทางบกจะมีกฎหมายควบคุมลงโทษพฤติกรรมเอาเปรียบผู้บริโภคของผู้ประกอบการ แต่เราก็ยังพบเห็นปัญหาแบบนี้ออกมาเรื่อยๆ  เพื่อให้คลายข้อสงสัยและตอบข้อซักถามของเพื่อนสมาชิก วันนี้ผมจะมาบอกเล่าสู่กันฟังแบบพอเข้าใจเบื้องต้นแล้วกันนะครับ • ขายตั๋วโดยสารแพงกว่าปกติ  กรณีนี้ตามพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 38 บัญญัติว่า ห้ามมิให้ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่ง เพิ่ม ลด หรือยกเว้นค่าขนส่งหรือค่าบริการอย่างอื่นในการขนส่ง เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการและมาตรา159  บัญญัติว่า  ผู้ใดเรียกเก็บค่าขนส่ง ค่าบริการรับจัดการขนส่ง ค่าบริการเกี่ยวกับการดำเนินการของสถานีขนส่ง หรือค่าบริการอย่างอื่นผิดไปจากอัตราที่คณะกรรมการกำหนด ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาทและมาตรา 135  บัญญัติว่า ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 38 ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองหมื่นบาทจากข้อบัญญัติดังกล่าว ถูกกำหนดไว้ชัดเจนในเรื่องการควบคุมกำกับมิให้ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่ง ซึ่งหมายได้รวมถึงบริษัทเจ้าของรถ รวมถึงพนักงานขาย เจ้าหน้าที่บริษัท เรียกเก็บค่าโดยสารสูงเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้ ดังนั้นหากพบว่ามีการจำหน่ายตั๋วหรือคิดค่าโดยสารแพงเกินกว่าปกติที่กฎหมายกำหนดไว้ พนักงานจำหน่ายตั๋วโดยสาร จะมีความผิด ตาม มาตรา 38 ประกอบกับ มาตรา 159  ฐานจำหน่ายตั๋วเกินราคา ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน  10,000 บาท ขณะที่ผู้ประกอบการขนส่งหรือบริษัทเจ้าของรถ ก็มีความผิดตาม มาตรา 38 ประกอบมาตรา 135 ฐานเพิ่มค่าบริการค่าโดยสารโดยไม่ได้รับอนุญาต ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน  20,000 บาทอีกด้วย  • รถเต็มแล้วคนขับก็ยังรับผู้โดยสารขึ้นมาบนรถ กรณีนี้ตามพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522  มาตรา 107 บัญญัติว่า  ในการขนส่งประจำทางหรือการขนส่งไม่ประจำทางระหว่างจังหวัดหรือระหว่างประเทศไทยกับต่างประเทศ ห้ามมิให้ผู้ได้รับใบอนุญาตเป็นผู้ขับรถรับบรรทุกผู้โดยสารเกินจำนวนที่นั่งผู้โดยสารที่กำหนดไว้ในใบอนุญาตและมาตรา 127 บัญญัติว่า ผู้ได้รับใบอนุญาตปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ประจำรถ ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ ปฏิบัติตามมาตรา 26  วรรคสอง มาตรา 101 มาตรา 102 (1) (2) หรือ (4) มาตรา 103  มาตรา 103 ทวิ มาตรา 104  มาตรา 105 มาตรา 106  หรือมาตรา 107  ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าพันบาทสำหรับผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งประจำทาง  มาตรา 31 ได้กำหนดเงื่อนไขไว้ในใบอนุญาตเกี่ยวกับ (4) จำนวนที่นั่ง และ (7) ค่าขนส่งและค่าบริการ ไว้และมาตรา 131 บัญญัติว่า ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งผู้ใดไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดตามมาตรา 31 (2) (3) (4) (5) (6) (7) (8) (9) (10) (11) (12) (13) (14) หรือ (15) หรือ ในอนุมาตราหนึ่งอนุมาตราใดตามมาตรา 32 มาตรา 33 หรือมาตรา 34 หรือไม่ปฏิบัติตามกฎกระทรวงที่ออกตามมาตรา 35  หรือมาตรา 36 ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าหมื่นบาทดังนั้นหากพบว่ามีการรับผู้โดยสารเกินจากจำนวนที่นั่งบนรถ  พนักงานขับรถจะมีความผิด ตาม มาตรา 107 ประกอบกับ มาตรา 127  ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน  5,000 บาท ขณะที่ผู้ประกอบการขนส่งหรือบริษัทเจ้าของรถ ก็มีความผิดตาม มาตรา 31 (4),(7) ประกอบมาตรา 131 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน  50,000 บาท อีกด้วย เห็นแล้วใช่ไหมครับว่า การฉวยโอกาสเอาเปรียบผู้บริโภคของผู้ประกอบการนั้นมีบทลงโทษเทียบปรับตามกฎหมายอยู่แล้ว แต่ในทางปฏิบัติก็อาจจะมีผู้ประกอบการที่เจตนาฝ่าฝืนกฎหมายหลุดลอดสายตาการตรวจของเจ้าหน้าที่ไปได้ แต่หากเราที่เป็นผู้ใช้บริการพบเจอกับตัว เราไม่ควรยอมปล่อยให้หลุดรอดไปนะครับ เพราะผู้บริโภคมีสิทธิร้องเรียน  เราเชื่อว่า “ ร้องทุกข์ 1 ครั้ง ดีกว่าบ่น 1,000 ครั้ง ”  ฉะนั้นหากเราพบเจอปัญหาจากการใช้บริการรถโดยสารสาธารณะ ไม่ว่าจะเรื่องอะไรก็ตาม เรามีสิทธิร้องเรียน เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้  ด้วยวิธีการดังนี้1. เก็บรายละเอียด หลักฐาน ต่างๆให้ครบถ้วน เช่น หมายเลขทะเบียนรถ เส้นทางวิ่ง  ภาพถ่าย  คลิป  2. ร้องเรียน สายด่วนของกรมการขนส่งทางบก 1584  และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.)  02-248 3737 

อ่านเพิ่มเติม >