ฉบับที่ 110 สิทธิบอกเลิกสัญญาของผู้เช่าซื้อและผู้ให้เช่าซื้อ

ในกรณีที่ผู้ให้เช่าซื้อส่งมอบทรัพย์สินที่ให้เช่าซื้อในสภาพที่ไม่เหมาะสมแก่การใช้ประโยชน์ของผู้เช่าซื้อ หรือผู้ให้เช่าซื้อไม่จัดการแก้ไขทรัพย์สินที่เช่าซื้อให้อยู่ในสภาพที่เหมาะแก่การใช้ประโยชน์แล้ว ผู้เช่าซื้อก็มีสิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อ บอกเลิกสัญญาเช่าซื้อด้วยการส่งมอบทรัพย์สินที่เช่าซื้อนั้นคืนให้แก่ผู้เช่าซื้อและผู้ให้เช่าซื้อก็ต้องมอบค่าเช่าซื้อทั้งหมดที่รับมานั้นให้แก่ผู้เช่าซื้อ แต่ทั้งนี้ผู้เช่าซื้อมีหน้าที่ต้องมอบค่าใช้ทรัพย์สินนั้นให้แก่ผู้ให้เช่าซื้อตลอดระยะเวลาที่ได้ใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินนั้นด้วย ดังกรณีศึกษาดังต่อไปนี้ “ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3010/2543 ระบบไฟฟ้าเป็นส่วนประกอบอันเป็นสาระสำคัญของรถยนต์ หากระบบไฟฟ้าใช้การไม่ได้ย่อมส่งผลให้เครื่องยนต์ ระบบทำความเย็นและอื่นๆ ใช้การไม่ได้ไปด้วย การที่ระบบไฟฟ้ารถยนต์คันที่จำเลยเช่าซื้อไปจากโจทก์เสียทั้งระบบ 3 ครั้ง ภายในระยะเวลา 3 เดือน นับแต่วันรับมอบรถยนต์ถือได้ว่าความชำรุดบกพร่องนั้นถึงขนาดเป็นเหตุให้เสื่อมราคาหรือเสื่อมความเหมาะสมแก่ประโยชน์อันมุ่งหมายจะใช้เป็นปกติ อันผู้ขายต้องรับผิด จำเลยได้แจ้งให้โจทก์ทราบเพื่อจัดการแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงรถยนต์คันใหม่ แต่โจทก์ไม่ดำเนินการ จำเลยจึงไม่ชำระค่าเช่าซื้องวดต่อมาและใช้สิทธิเลิกสัญญาเสียได้ และคู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม โจทก์ผู้ให้เช่าซื้อและจำเลยผู้เช่าซื้อต่างสมัครใจเลิกสัญญาต่อกันผลแห่งการเลิกสัญญาดังกล่าว คู่สัญญาจะต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิม เมื่อจำเลยมิได้ผิดสัญญาก็ไม่ต้องชดใช้ค่าเสียหายใดๆ ให้แก่โจทก์ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4974/2545 จำเลยเป็นผู้ให้เช่าซื้อรถยนต์ย่อมมีหน้าที่ต้องส่งมอบสำเนาทะเบียนรถยนต์และแผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์ให้แก่โจทก์ผู้เช่าซื้อ เพราะสำเนาทะเบียนรถยนต์และแผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์เป็นสาระสำคัญในการใช้รถ จำเลยส่งมอบรถยนต์ให้โจทก์ตามสัญญาเช่าซื้อโดยรถยนต์ไม่มีสภาพเหมาะสมจะใช้งานได้ตามประโยชน์ที่มุ่งหมายโดยสัญญาเช่าซื้อจึงต้องรับผิดต่อโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 472 ประกอบ มาตรา 547 จำเลยจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญาเช่าซื้อ จะอ้างเหตุอันเกิดจากบริษัท น. ซึ่งเป็นบุคคลภายนอก ยังไม่โอนทะเบียนยังไม่โอนทะเบียนรถยนต์ให้จำเลยไม่ได้ เนื่องจากสัญญาเช่าซื้อเป็นสัญญาต่างตอบแทน เมื่อจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาโจทก์ย่อมมีสิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อและไม่ชำระค่าเช่าซื้อได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 369 จำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญา เพราะไม่สามารถจัดการแก้ไขให้รถยนต์ที่เช่าซื้ออยู่ในสภาพใช้งานได้ตามประโยชน์ที่มุ่งหมายโดยสัญญา โจทก์ย่อมมีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 387 ถือได้ว่าโจทก์บอกเลิกสัญญาเช่าซื้อโดยชอบแล้ว โดยโจทก์ไม่จำต้องส่งมอบรถยนต์คืนจำเลยก่อนเนื่องจากการบอกเลิกสัญญาด้วยการส่งมอบทรัพย์สินกลับคืนให้แก่เจ้าของตาม ป.พ.พ. มาตรา 573 นั้นเป็นบทบัญญัติให้สิทธิผู้เช่าซื้อเลิกสัญญาในกรณีที่ไม่มีการผิดสัญญา ฉะนั้น เมื่อคู่สัญญาเลิกสัญญาโดยชอบแล้วคู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งกลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 โดยโจทก์ต้องคืนรถยนต์พิพาทให้จำเลยและต้องใช้เงินตามค่าแห่งการใช้สอยรถยนต์พิพาทให้จำเลยด้วย ส่วนจำเลยต้องคืนค่าเช่าซื้อแก่โจทก์ “ แต่ถ้าผู้เช่าซื้อเป็นฝ่ายผิดสัญญา ไม่ใช้เงินค่าเช่าซื้อสองงวดติดต่อกันหรือผิดสัญญาในข้อสำคัญ ผู้ให้เช่าซื้อบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อแล้ว ผู้ให้เช่าซื้อมีสิทธิริบเงินค่าเช่าซื้อทั้งหมดที่ผู้เช่าซื้อชำระไปแล้ว และผู้ให้เช่าซื้อมีสิทธิเข้าครอบครองทรัพย์สินที่ให้เช่าซื้อได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 574

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 178 สถานการณ์ อาหาร GMO ในเยอรมนี

โดย ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค ประธานอนุกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านสินค้าและบริการร่างกฎหมายจีเอ็มโอ (GMO- Genetically Modified Organism) หรือร่างพ.ร.บ.ความปลอดภัยทางชีวภาพ ที่ผลักดันโดยกลุ่มผู้สนับสนุนจีเอ็มโอและใกล้ชิดกับบรรษัทเมล็ดพันธุ์ข้ามชาติผ่านการเห็นชอบโดยคณะรัฐมนตรี แล้ว กำลังถูกเสนอไปสู่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ภายใต้สถานการณ์ทางการเมืองปัจจุบันเชื่อว่าจะผ่านการพิจารณาโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติโดยเร็ว กฎหมายฉบับนี้จะเป็นใบผ่านเพื่อเปิดทางสะดวกให้กับการปลูกพืชจีเอ็มโอในประเทศไทย โดยเปิดช่องโหว่ให้บรรษัทที่ทำการทดลองจีเอ็มโอในภาคสนาม และขายเมล็ดพันธุ์จีเอ็มโอในเชิงพาณิชย์ไม่ต้องรับผิดชอบผลกระทบที่มีต่อความหลากหลายทางชีวภาพ ความมั่นคงทางอาหาร และผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมอื่นๆ ร่างกฎหมายฉบับนี้ยังมีประเด็นที่ควรปรับปรุง เพราะมีหลายข้อที่ไม่สอดคล้องกับหลักการสากลในพิธีสารว่าด้วยความปลอดภัยทางชีวภาพ และพิธีสารเสริมนาโงย่า-กัวลาลัมเปอร์ว่าด้วยการรับผิดและชดใช้ความเสียหาย เช่น กรณีผลกระทบจากกรณีจีเอ็มโอนั้น ในพิธีสารฯ ครอบคลุมถึงการคุ้มครองผลกระทบทางสังคมเศรษฐกิจ และอนุญาตให้ใช้ดุลพินิจตามสมควรได้ แม้จะไม่ปรากฏหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ แต่ในร่างกฎหมายระบุว่า ต้องใช้ข้อมูลและหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ชัดเจนแล้วเท่านั้น สำหรับประเทศเยอรมนี ที่ประชาชนมากกว่าร้อยละ 80 ไม่ต้องการบริโภคผลิตภัณฑ์ที่มี GMO ก็ตกอยู่ในฐานะมัดมือชก ซึ่งก็ยังถูกบังคับให้บริโภคทางอ้อมเช่นกัน แต่อย่างไรก็ตามกฎหมายของเยอรมนีเข้มงวดมากในเรื่องการติดฉลากผลิตภัณฑ์ที่มี ส่วนผสมของผลิตภัณฑ์ และองค์กรผู้บริโภคก็เรียกร้องให้รัฐบาลแบน อาหารที่มี GMO เป็นองค์ประกอบ   เคยมีกรณีที่รัฐบาลท้องถิ่น ซากเซน อันฮาลต์ (Sachsen Anhalt) เป็นโจทก์ ฟ้องร้องรัฐบาลกลางที่ออกกฎหมายการขึ้นทะเบียนเกษตรกรที่ปลูกพืช GMO และควบคุมอย่างเข้มงวด ในกรณีที่มีการปนเปื้อน การผสมพันธุ์พืชข้ามแปลง เกษตรกรที่ปลูกพืช GMO จะต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้น ฝ่ายโจทก์อ้างว่า เป็นการจำกัดเสรีภาพในการประกอบอาชีพ คำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญแห่งสหพันธรัฐเยอรมนี ยืนยันถึงหลักแห่งความปลอดภัยและคุ้มครองความหลากหลายทางชีวภาพ จึงยกคำร้องของของโจทก์ จนถึงปัจจุบันนี้ พื้นที่การทำการเพาะปลูก พืช GMO ในเยอรมนี เหลือน้อยมาก และไม่เป็นที่นิยม เนื่องจากถูกต่อต้านจากผู้บริโภคและเกษตรกรที่ให้ความสำคัญกับเกษตรอินทรีย์ เยอรมนีมีคำสั่งประกาศห้ามปลูก ข้าวโพด GMO Mon 810 ถึงแม้ว่าจะมีกฎหมายห้ามแต่ก็มีช่องทางอื่นที่สามารถหลุดรอดเข้ามาได้ จากการนำเข้าผลผลิตทางเกษตร ไม่ว่าจะเป็น ถั่วเหลือง คาโนลา (พืชสำหรับผลิตน้ำมันพืช) และเกษตรกรที่เลี้ยงสัตว์บางราย ก็ใช้อาหารสัตว์ที่มีส่วนผสมของ GMO เลี้ยงสัตว์ด้วย ในอียูอนุญาตให้ใช้สิ่งมีชีวิตที่ดัดแปลงพันธุกรรม GMO ประมาณ 50 ชนิด ในเยอรมนี รัฐบาลห้ามจำหน่ายพืชผัก เนื้อสัตว์ ที่เป็น GMO ซึ่งเป็นอาหารของมนุษย์ ยกเว้นอาหารบางชนิดเช่น ช็อคโกแลต จาก อเมริกา ซีอิ๊วในร้านอาเซียนช็อป แต่ต้องติดฉลากว่า GMO ให้เห็นอย่างชัดเจนเรื่องการติดฉลาก หากผลิตภัณฑ์ชนิดใดมีส่วนผสมของ ผลิตภัณฑ์ GMO น้อยกว่า 0.9 % ได้รับข้อยกเว้นไม่ต้องติดเครื่องหมาย GMO สำหรับผลิตภัณฑ์จากสัตว์ ไม่ว่า จะเป็น เนื้อ นม ไข่ ที่ผลิตจาก สัตว์ ที่เลี้ยงด้วยอาหารสัตว์ GMO ปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายมาควบคุมเรื่องฉลาก เนื่องจาก การย่อยของกระเพาะสัตว์ ที่เลี้ยงด้วยพืช GMO สามารถย่อยสลาย DNA ของพืชชนิดนี้ได้ แต่จากผลการศึกษาปัจจุบันมีการตรวจพบ ว่า มีการเปลี่ยนแปลงพันธุกรรมในสัตว์ที่เลี้ยงด้วย พืช GMO ในอนาคตอาจมีการเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์ให้รัดกุมยิ่งขึ้น หน่วยงานเฝ้าระวังทางด้านอาหารของเยอรมนี ทำการสุ่มตรวจผลิตภัณฑ์ทางอาหารมนุษย์เป็นระยะๆ พบว่า หนึ่งในสี่ ของผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลือง มี GMO ปนอยู่ พบว่าในน้ำผึ้งที่นำเข้ามาจำหน่ายในเยอรมนี มีการปนเปื้อนของ GMO สำหรับข้าวโพดพบมากถึง 6% และ และพบว่า ผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลือง 7 ตัวอย่าง ผลิตภัณฑ์จากข้าวโพด 3 ตัวอย่างมีการปนเปื้อน GMO สูงกว่าที่กฎหมายกำหนด (ยกตัวอย่าง ชิปข้าวโพด (maize chip) ที่นำเข้าจากฟิลิปปินส์) และยังตรวจพบมะละกอนำเข้ามี่มีการปนเปื้อน GMO (โชคดีที่ วารสารสำหรับผู้บริโภคที่มีสมาชิกมากกว่า หนึ่งแสนราย ไม่ได้ใส่ชื่อประเทศที่ส่งออกไปว่า เป็นประเทศไทย) สำหรับผู้บริโภคที่ตระหนักถึงความเสี่ยงจากผลกระทบทางด้านสุขภาพ และสิ่งแวดล้อมจากGMO สามารถเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่ปลอดจาก GMO ภายใต้ฉลาก GMO free ซึ่งเป็นการติดฉลากแบบสมัครใจ ซึ่งเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค ที่ตระหนักและให้คุณค่ากับการผลิตแบบเกษตรอินทรีย์ เนื่องจากในการผลิตแบบเกษตรอินทรีย์นั้นจะต้องไม่มีการใช้ ส่วนผสมที่เป็น GMO และต้องรักษามาตรฐานความปลอดภัย ไม่ให้มีการปนเปื้อนของ GMO ในฟาร์มแบบเกษตรอินทรีย์ ในกรณีที่เราจะผลักดันนโยบายเกษตรอินทรีย์ นั้น เราคงต้องเลือกระหว่าง GMO กับ เกษตรอินทรีย์ อย่างชัดเจน ว่าจะเอาแบบไหน สำหรับผมเองในฐานะผู้บริโภค ชัดเจนครับว่า “ไม่เอา GMO” ครับ   (ที่มา วารสาร test 2/2014)  

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 171 การเลือกซื้อจักรยาน

โดย ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค ประธานอนุกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านสินค้าและบริการการขี่จักรยานนอกจากจะเป็นการออกกำลังกายแล้ว ยังสามารถช่วยลดการใช้พลังงานจากน้ำมัน และก๊าซธรรมชาติที่ในอนาคตจะมีราคาสูงขึ้นและนับวันจะมีแต่หมดลงทุกที แต่สิ่งที่ต้องระมัดระวังการขี่จักรยานในเมืองใหญ่ คือ เรื่องความปลอดภัยจากผู้ร่วมใช้ถนนอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นคนขับมอเตอร์ไซค์ รถยนต์ส่วนบุคคล รถยนต์โดยสารสาธารณะ และคนเดินทางเท้า การจำกัดความเร็วในการขับขี่รถยนต์บนถนนแต่ละสาย จะทำให้การขับรถบนถนนนั้นมีความปลอดภัยต่อผู้ร่วมใช้ถนนอื่นๆ ด้วย ในเขตที่อยู่อาศัยและสถานที่ราชการ เช่น ในโรงเรียน ในมหาวิทยาลัย จะมีป้ายจำกัดความเร็ว ซึ่งกำหนดให้ใช้ความเร็วได้ไม่เกิน 30 กิโลเมตรต่อชั่วโมง  จากข้อมูลของสมาคมขับขี่จักรยานแห่งเยอรมนี(The German Cyclist’s Association: ADFC) ชี้ให้เห็นว่า การกำหนดความเร็วที่ 30 กิโลเมตรต่อชั่วโมงนั้นจะทำให้บรรยากาศและสวัสดิภาพของคนขี่จักรยานและคนเดินถนนดีขึ้น และยังทำให้การไหลลื่นและความคล่องตัวของการจราจรโดยรวมดีขึ้นด้วย นอกจากนี้ยังสามารถลดมลภาวะจากเสียง มลภาวะจากควันได้ ตลอดจนสามารถลดการใช้พลังงานกลุ่มฟอสซิล ทั้งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ที่เป็นทรัพยากรสิ้นเปลือง มีราคาแพงและมีวันหมดไปในอนาคต ตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมในการเปลี่ยนให้ถนนในเมืองใช้ความเร็วได้ไม่เกิน 30 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ในปี 1983 ในเขตเมือง Buxtehude       ที่ได้ประกาศกำหนดความเร็วบนถนนในเมือง 30 กิโลเมตรต่อชั่วโมง นั้น ปรากฏว่า คนที่ขับรถยนต์ กลับประหลาดใจว่า สภาพการจราจร ในเมืองดีขึ้น การจราจรไหลลื่นขึ้น ผิดความคาดหมายว่าจะเกิด “สภาพจลาจลในเมืองขึ้น” เวลาที่ใช้ในการขับรถผ่านเมืองใช้เวลาเพียง 48 วินาทีเท่านั้น จากการทดลองในเมืองดังกล่าวได้นำไปสู่การขยายผล กำหนดเป็นกฎจราจรที่ใช้บังคับในอีกหลายเมืองตามมา  สำหรับเนื้อหาในวันนี้จะเล่าถึงการเลือกซื้อจักรยานเบื้องต้น จะต้องพิจารณาอะไรบ้างในการลงทุนซื้อจักรยานนอกจากราคาแล้วยังมีปัจจัยด้านอื่นที่เราควรต้องคิดถึงด้วยเช่นกัน   การเลือกระบบเกียร์ ถ้าเราขี่จักรยานบ่อย ๆ ควรจะเลือกซื้อจักรยานที่มีคุณภาพดี สำหรับจักรยานที่มี 27 เกียร์นั้น เราไม่ได้ใช้เกียร์หมดทุกเกียร์ ส่วนใหญ่แล้วเราใช้ 15- 16 เกียร์เท่านั้นเอง เกียร์ที่สำคัญในการขับขี่จักรยาน คือ เกียร์ต่ำสุด และเกียร์สูงสุด การเลือกซื้อจักรยาน 27 เกียร์นั้น เหมาะสำหรับนักกีฬาปั่นจักรยานที่ขับผ่านเทือกเขาสูง เพราะนักกีฬาที่เข้าแข่งขันจะคุ้นเคย ทราบถึงความละเอียดและความเหมาะสมของเกียร์ในสนามแข่งขันดีกว่าคนที่ขับขี่จักรยานทั่วไป ซึ่งใช้เพียง 7 เกียร์ ก็เพียงพอแล้ว ระบบของเกียร์จักรยานแบ่งเป็น 2 ระบบ คือ ระบบ ·       derailleur gear (Kettenschaltung) ·       internal gear hub (Nebenschaltung) ปัจจุบันมี 4 ยี่ห้อที่เป็นผู้นำในตลาดได้แก่ ·         Shimano ·         SRAM (เดิมคือยี่ห้อ Sachs) ·         Campagnolo และ ·         Rohloff ระบบเบรก การขับขี่จักรยานทั่วๆ ไป ใช้ drum brake และ back pedal brake ก็เพียงพอ เนื่องจากเป็นเบรกที่ประกอบสำเร็จใน gear hub บำรุงรักษาง่าย และใช้งานได้ดีในสภาวะพื้นถนนลื่น เบรกประเภทนี้ ไม่เหมาะสำหรับการขับขี่จักรยานลงภูเขา เป็นระยะเวลานาน ๆ เพราะจะเกิดความร้อนสูงมาก อาจทำให้เบรกไหม้ได้ สำหรับนักกีฬาจักรยาน การใช้เบรก ประเภท caliper brake หรือ disc brake จะเหมาะสมกว่า แต่ caliper brake นั้นความสามารถในการเบรกจะลดลงในสภาวะถนนเปียก ข้อด้อยอีกอย่างหนึ่งของเบรกประเภทนี้ คือ การสึกหรอของผ้าเบรก และการสึกหรอของล้อจักรยาน ในขณะที่ dis brake จะไม่มีปัญหามากเรื่องการสึกหรอนี้ ล้อรถจักรยาน มี 2 ประเภท ตามวัสดุที่ใช้ในการผลิต คือ ล้ออะลูมิเนียม และ ล้อเหล็กกล้า ซึ่งมีราคาถูกกว่า ล้ออะลูมิเนียม ในกรณีที่ใช้ล้อเหล็กกล้า ก็ไม่ควรใช้ กับ caliper brake เพราะความสามารถในการเบรกแย่มาก บนถนนเปียก ปัจจุบัน เรามักพบว่า จักรยานหลายยี่ห้อใช้ล้ออะลูมิเนียม ซึ่งมักจะมีตัวบ่งบอกการสึกของ ล้อ ( wear indicator) ช่วยบอกการสึกหรอที่เกิดจากการเบรก ซึ่งจะช่วยให้คนขับขี่จักรยานสามารถเปลี่ยนล้อได้ทัน ก่อนที่ล้อจะแตกหัก ยางรถจักรยาน แล้วแต่ความชื่นชอบของแต่ละคน สำหรับนักปั่นจักรยานสำหรับการแข่งขัน ชอบยางรถจักรยานทื่มีความกว้างของยางน้อยๆ และไม่มีดอกยาง ในขณะที่นักปั่นจักรยานวิบาก (mountain bike) ชอบยางที่มีความกว้างของยางมากๆ และมีดอกยางหยาบๆ   สิ่งที่สำคัญสำหรับยางรถจักรยานไม่ได้อยู่ที่ความกว้างหรือความแคบของยาง แต่ขึ้นอยู่กับแรงดันอากาศในยางและดอกยาง ถ้านักปั่นที่ขับขี่จักรยานที่มีดอกยางหยาบๆ บนถนนลาดยาง เสียงจะดัง ซึ่งก็คือ การเสียพลังงานจากการปั่น ไปเป็นพลังงานเสียงโดยไม่จำเป็น จริงๆ แล้ว ควรเลือกใช้ยางจักรยานที่มีดอกยางไม่ต้องหยาบมาก และไม่ต้องกังวลว่าจะเกิดเหตุการณ์ ล้อฟรี (Aquaplanning) ถ้าความเร็วไม่เกิน 400 km/ชั่วโมง เพราะการเกาะถนนไม่ได้ขึ้นอยู่กับลักษณะของดอกยาง แต่ขึ้นอยู่กับส่วนผสมทางเคมีของวัสดุที่นำมาผลิตยางรถจักรยาน และก่อนจะตกลงซื้อ ควรลองขับขี่ดูก่อนว่า จักรยานคันที่เราสนใจนี้ เป็นอย่างไร เพราะต้องเข้าใจว่า ราคาจักรยานสมัยนี้ไม่ได้มีราคาพันสองพันบาทแล้ว บางคันมีราคาเป็นหลักหมื่น หวังว่าจะพอเป็นข้อมูลเบื้องต้นให้กับเพื่อนสมาชิกวารสารฉลาดซื้อ ได้ใช้เป็นแนวทางในการเลือกซื้อจักรยานให้เกิดประโยชน์สูงสุด และคุ้มค่ากับเงินได้บ้างพอสมควร   (ที่มา: http://www.fa-technik.adfc.de/Ratgeber/Fahrradkauf/index.html)  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 161 ความรับผิดเพื่อชำรุดบกพร่องในสัญญาซื้อขาย และการคุ้มครองผู้บริโภค

โดย ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค ประธานอนุกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านสินค้าและบริการคณะอนุกรรมการด้านสินค้าและบริการทั่วไป ได้ดำเนินงานตามบทบาทหน้าที่ตามที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการฯ ดังที่กำหนดไว้ใน (ร่าง) พรบ.องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. ... เพื่อทดลองทำหน้าที่ของอนุกรรมการฯ ตามเจตนารมณ์ของร่างกฎหมายดังกล่าว โดย ได้มีความเห็นให้จัดทำการศึกษาวิจัยเรื่อง “ความรับผิดเพื่อชำรุดบกพร่องในสัญญาซื้อขายและการคุ้มครองผู้บริโภค โดย นายเชิดวุฒิ สินพิมลบูรณ์ นักวิจัยในโครงการนี้ ซึ่งผลจากการศึกษาวิจัยได้นำไปประกอบการจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย และขยายผลโดยการนำเสนอต่อผู้แทนภาครัฐและภาคธุรกิจ เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคและประชาชนทั่วไป โดยผลจากการแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นปรากฏว่า ผู้เข้าร่วมทุกฝ่ายมีความเห็นตรงกันว่าการปรับปรุงหลักกฎหมายในการจัดการกับปัญหาข้อพิพาทเรื่องสินค้ามือหนึ่งชำรุดบกพร่องในลักษณะทำนองเดียวกับที่หลายประเทศได้ดำเนินการแล้วจะเป็นประโยชน์ และทุกภาคส่วนควรร่วมมือกันในการปรับปรุงและพัฒนามาตรการที่เกี่ยวข้องดังกล่าวเพื่อยกระดับการคุ้มครองผู้บริโภคและพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตของประเทศไทยให้ดียิ่งขึ้น หลักกฎหมายว่าด้วยความรับผิด(ของผู้ขาย) เพื่อความชำรุดบกพร่องของสินค้าถือเป็นหลักกฎหมายสำคัญที่รัฐจะนำไปเป็นกฎเกณฑ์ในการสร้างความสงบและผาสุก(ในแง่ของการทำสัญญาซื้อขาย) ให้แก่สังคม อีกทั้ง หลักกฎหมายดังกล่าวยังมีความสำคัญต่อความคล่องตัวและความมั่นคงทางพาณิชย์อีกด้วย ซึ่งกฎเกณฑ์ดังกล่าวได้มีการบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 3 ลักษณะ 1 หมวด 2 ส่วนที่ 2 ตั้งแต่มาตรา 472 ถึงมาตรา 474 โดยบัญญัติไว้อย่างกว้างๆ ซึ่งในทางหนึ่งก็อาจจะส่งผลให้สามารถใช้และตีความกฎหมายได้อย่างยืดหยุ่นตามกาลเวลา แต่ก็อาจจะสร้างความสับสนและก่อให้เกิดอุปสรรคในการบังคับใช้และการตีความได้เช่นกัน   ประกอบกับมาตราดังกล่าวได้บัญญัติและบังคับใช้มาตั้งแต่พุทธศักราช 2472 และด้วยกาลเวลาที่ผ่านมาเป็นระยะเวลาที่ยาวนานย่อมส่งผลต่อการบังคับใช้กฎหมายอย่างมิอาจหลีกเลี่ยงได้ เนื่องจากข้อเท็จจริงที่ปรากฏในขณะนั้น กับข้อเท็จจริงที่ปรากฏในปัจจุบันย่อมแตกต่างกันไปมาก ทั้งในแง่เทคโนโลยี ความซับซ้อนของสินค้า พฤติกรรมของคู่สัญญา หรือวิธีการดำเนินการค้าขายก็แตกต่างกันมากมายในแง่ทางเทคนิค ดังนั้น จึงควรจะต้องทำการวิเคราะห์และศึกษาเปรียบเทียบ เพื่อค้นหาปัญหาและแนวทางการแก้ไขปัญหาที่เหมาะสมเท่าที่จะเป็นไปได้ และนอกเหนือไปจากประเด็นปัญหาเกี่ยวกับบทนิยามของความชำรุดบกพร่องของสินค้า รวมถึงภาระในการพิสูจน์เกี่ยวกับความชำรุดบกพร่องของสินค้าแล้ว ยังมีประเด็นที่ควรต้องทำการศึกษาต่อไปว่า ความชำรุดบกพร่องที่ผู้ขายต้องรับผิดนั้นได้แก่ความชำรุดบกพร่องที่ปรากฏขึ้นในช่วงเวลาใด ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นก่อน ระหว่าง หรือหลังการส่งมอบสินค้าแล้วก็ได้ และเมื่อปรากฏว่าผู้ขายต้องรับผิดเพื่อชำรุดบกพร่องแล้วก็จะต้องมาแจกแจงสิทธิและหน้าที่ต่างๆ ของทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย รวมถึงการพิจารณาเกี่ยวกับอายุความในการใช้สิทธิเรียกร้องที่เกี่ยวเนื่องกับความรับผิดเพื่อชำรุดบกพร่อง โดยได้ทำการศึกษาเปรียบเทียบหลักกฎหมายดังกล่าวที่ปรากฏในประเทศเยอรมนีและสิงคโปร์ (Lemon Law) ผลการศึกษา เมื่อพิจารณาจากระบบความรับผิดเพื่อชำรุดบกพร่องของไทยที่ปรากฏในมาตรา 472 ถึง 474 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์แล้ว จะพบว่าบทบัญญัติความรับผิดเพื่อชำรุดบกพร่องมีขอบเขตกว้างและไม่ชัดเจน ก่อให้เกิดความยุ่งยากในการตีความ อันส่งผลต่อการคุ้มครองผู้บริโภคอย่างมีนัยสำคัญ และแม้ว่าพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภคจะมีมาตรการในการคุ้มครองผู้บริโภคที่หลากหลายก็ตาม แต่นั่นก็เป็นเพียงการบัญญัติเกี่ยวกับวิธีพิจารณาหรือกรอบการใช้อำนาจของศาลเท่านั้น อีกทั้งโครงสร้างการคุ้มครองผู้บริโภคกรณีความรับผิดเพื่อชำรุดบกพร่องที่ปรากฏในพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 ยังเป็นการบัญญัติการคุ้มครองผู้บริโภคที่เรียกได้ว่า “กล้าๆ กลัวๆ” เมื่อเปรียบเทียบกับของเยอรมนีและสิงคโปร์ ดังจะเห็นได้จากการการบัญญัติการคุ้มครองผู้บริโภคกรณีสินค้าชำรุดบกพร่องเอาไว้ในกฎหมายวิธีพิจารณาความ ซึ่งก็เป็นการคุ้มครองผู้บริโภคกรณีสินค้าชำรุดบกพร่องที่ “ผิดฝา ผิดตัว” ดังนั้น การคุ้มครองผู้บริโภคกรณีสินค้าชำรุดบกพร่องที่ปรากฏในระบบกฎหมายไทยควรจะมีการจัดระบบเสียใหม่ เพื่อลบภาพ “กล้าๆ กลัวๆ และผิดฝา ผิดตัว” ออกไปให้ได้ ...   เปรียบเทียบหลักกฎหมายของเยอรมนีและสิงคโปร์ กรณีสินค้าชำรุดบกพร่อง เยอรมนี นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 2002 เป็นต้นมา เยอรมนีได้ทำการปรับปรุงประมวลกฎหมายแพ่ง (Das Bürgerliches Gesetzbuch; BGB)  ขนานใหญ่  โดยหนึ่งในนั้นคือ การนำข้อความคิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคเข้ามาใส่ไว้ในระบบความรับผิดเพื่อชำรุดบกพร่อง ซึ่งมีการแก้ไขเพิ่มเติมทั้งในส่วนองค์ประกอบของนิยามความชำรุดบกพร่อง เหตุยกเว้นความรับผิด รวมไปถึงสิทธิต่างๆ ของผู้ซื้อไม่ว่าจะเป็น การเรียกให้ซ่อมแซมหรือเปลี่ยนสินค้า การขอลดราคาตามสภาพ การบอกเลิกสัญญา (ขอคืนสินค้าและขอรับเงินที่ชำระไปคืน) รวมไปถึงการคุ้มครองผู้บริโภคในกรณีที่ผู้บริโภคทำสัญญากับผู้ประกอบธุรกิจ จะต้องมีการคุ้มครองผู้บริโภคในบางประเด็นเป็นกรณีพิเศษ เช่น บทสันนิษฐานความชำรุดบกพร่อง หรือข้อห้ามในการยกเว้นสิทธิต่างๆ ของผู้บริโภคตามกฎหมาย เป็นต้น สิงคโปร์ (Lemon law) ระบบความรับผิดเพื่อชำรุดบกพร่องของสิงคโปร์เป็นระบบความรับผิดที่ปรากฏในระบบคอมมอนลอว์ คือถือเอาข้อตกลงตามสัญญาเป็นหลักไม่ว่าจะเป็นข้อตกลงที่ปรากฏชัดแจ้งหรือข้อตกลงโดยปริยายเป็นต้น กรณีที่ผิดข้อตกลงที่เป็นสาระสำคัญของสัญญา (breach of conditions) ผู้ซื้อมีสิทธิที่จะไม่ขอผูกพันตนตามสัญญาอีกต่อไปได้ โดยสามารถปฏิเสธที่จะไม่รับมอบสินค้าหรือโดยการขอกลับคืนสู่สถานะเดิม เสมือนหนึ่งไม่เคยมีสัญญาต่อกัน โดยการบอกเลิกสัญญาและการเรียกค่าเสียหายหลังจากเลิกสัญญาไปแล้ว และในกรณีที่ในการผิดข้อตกลงที่มิได้เป็นสาระสำคัญของสัญญานั้น (breach of warranties) ผู้ซื้อยังคงต้องผูกพันตนตามสัญญาต่อไปได้ โดยสามารถเรียกค่าเสียหายได้ แต่มิได้ให้สิทธิในการปฏิเสธที่จะรับมอบทรัพย์ที่ซื้อขายหรือยกเลิกสัญญาแต่อย่างใด ดังนั้น สิทธิของผู้ซื้อจึงมีน้อยกว่าหรือหากจะมองในมุมมองของผู้บริโภคจะถือได้ว่า Sale of Goods Act ไม่ปรากฏการคุ้มครองผู้บริโภคเลย ซึ่งก็มีความพยายามที่จะตีความ Sale of goods act เพื่อให้คุ้มครองผู้บริโภคมากขึ้น ซึ่งก็ปรากฏความพยายามที่จะอธิบายว่าผู้ขายจะสามารถป้องกันมิให้ผู้ซื้อยกเลิกสัญญาได้ โดยการส่งมอบสินค้าที่ไม่ชำรุดบกพร่องให้ทันแก่เวลา (เอาสินค้านั้นกลับไปแก้ไข ซ่อมแซม หรือเปลี่ยนสินค้าให้ใหม่) แต่คำอธิบายดังกล่าวก็ยังมิได้มีการบัญญัติสิทธิดังกล่าวไว้ในกฎหมายแต่อย่างใด ดังนั้น จึงเกิดปรากฏการณ์ที่มีการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมาย หรือเรียกสั้นๆ ว่า Lemon Law ขึ้น โดยจะเป็นการเพิ่มเติมในส่วนที่ว่า ผู้ขายจะรับผิดอย่างไร (สิทธิของผู้ซื้อในการเรียกให้ผู้ขายรับผิด) โดยจะมีการบัญญัติถึงการซ่อมแซมแก้ไข การเปลี่ยนสินค้า รวมถึงการลดราคาตามสภาพ รวมถึงบทสันนิษฐานความรับผิดเพื่อชำรุดบกพร่องด้วย สำหรับท่านที่สนใจในรายงานฉบับสมบูรณ์ ทางอนุกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านสินค้าและบริการจะทำการเผยแพร่ผลการศึกษา ผ่านทางเวบไซต์ของ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค http://www.consumerthai.org/main/index.php?option=com_content&view=section&layout=blog&id=24&Itemid=179 หรือ สามารถติดต่อเพื่อขอรับเอกสารในรูปอิเลคโทรนิคส์ไฟล์ ได้ทางฝ่ายเลขานุการอนุกรรมการ ตามที่อยู่อีเมลด้านล่างนี้ pohin59@gmail.com;     //

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 129 ภัยจากการซื้อสินค้าในห้างค้าปลีกสมัยใหม่

 โดย ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค ประธานอนุกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านสินค้าและบริการ ปฏิเสธได้ยากว่า ร้านสะดวกซื้อ  และห้างค้าปลีกสมัยใหม่ ทั้ง เซเว่น-อีเลฟเว่น บิ๊กซี เทสโก้-โลตัส ท็อปซูเปอร์มาร์เก็ต และอื่น ๆ ที่จัดวางสินค้าและมีการบริหารจัดการแบบเดียวกัน เข้ามามีบทบาทสูงขึ้นเรื่อย ๆ ในชีวิตของคนเมือง(วัดได้จากช่วงน้ำท่วมที่ของในห้างเหล่านี้ว่างเปล่าอย่างน่าตกใจ เพราะทุกคนต่างพากันกักตุนอาหาร) เหตุผลที่คนจำนวนมากเลือกที่จะเข้าไปจับจ่ายในสถานที่เหล่านี้แทนที่จะใช้บริการร้านค้าในชุมชนหรือโชห่วยใกล้บ้านแตกต่างกันไป เช่น มีอิสระที่จะเดินเลือกสินค้าด้วยตนเอง สะดวก เข้าถึงได้ง่าย เชื่อว่าสินค้าที่วางจำหน่ายจะมีคุณภาพและความปลอดภัยที่ดีกว่า และ ทำให้ได้สินค้าราคาถูกกว่า เป็นต้น อย่างไรก็ตามจากการทำงานคุ้มครองผู้บริโภค เรื่องความปลอดภัยด้านอาหารของเครือข่ายผู้บริโภคใน 10 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ สมุทรสงคราม กาญจนบุรี ขอนแก่น ร้อยเอ็ด เชียงใหม่ พะเยา สุราษฎร์ธานี สงขลา และสตูล ตั้งแต่เดือนมีนาคม ถึง ตุลาคม 2554 พบว่าการซื้อสินค้าจากร้านสะดวกซื้อสมัยใหม่และจากห้างนั้น อาจทำให้ผู้บริโภคพบปัญหาได้ไม่ต่างกัน (หรือแย่กว่า?) กับการซื้อสินค้าจากร้านใกล้บ้าน ไม่ว่าจะเป็น การจำหน่ายสินค้าหมดอายุบนชั้นวาง สินค้าเสื่อมสภาพก่อนวันหมดอายุ สินค้ามีคุณภาพผิดมาตรฐาน และราคาสินค้าไม่ตรงกับราคาป้ายหรือไม่มีสินค้าแถมตามการส่งเสริมการขายที่ระบุไว้ ปัญหาสินค้าหมดอายุเริ่มกันที่การจำหน่ายสินค้าหมดอายุบนชั้นวางสินค้า เครือข่ายผู้บริโภคภาคใต้ ได้สำรวจการจำหน่ายสินค้าในห้างค้าปลีกสมัยใหม่และร้านสะดวกซื้อในจังหวัดรวมกันกว่า 15 สาขา ในปลายเดือนกรกฎาคมถึงกันยายน 2554 พบสินค้าหมดอายุรวมกันบนชั้นวางทั้งสิ้นกว่า 40 รายการ ทั้งของสดและของแห้ง โดยที่กว่าครึ่งเป็นของแห้งโดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าที่นำเข้าจากต่างประเทศทั้งขนม บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป และอาหารเช้าสำหรับเด็ก(ซีเรียล) และจากการร้องเรียนของผู้บริโภคเมื่อเดือนพฤษภาคม 2554 ว่าพบบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปตรามาม่ารสต้มยำกุ้งทั้งน้ำข้นและน้ำใสและยำยำรสหมูสับหมดอายุบนชั้นวางของห้างบิ๊กซีสาขาสะพานควาย การจำหน่ายองุ่นนำเข้าหลังวันหมดอายุโดยนำมาจำหน่ายแบบลดราคาพิเศษในห้างท็อปส์ สาขาเซ็นจูรี่ อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ต่อมาในเดือนสิงหาคม จากการสำรวจอาหารของโครงการฯ พบว่า นมข้นหวานกระป๋องตรามะลิจากห้างแมคโครสาขาแจ้งวัฒนะเสื่อมสภาพทั้งกลุ่มการผลิตก่อนวันหมดอายุบนฉลาก   โดยพบก้อนสีเหลืองอยู่ในกระป๋องนม และกรณีขนมปังยี่ห้อ เอ-พลัส ไส้สังขยา จากเซเว่น-อีเลฟเว่น สาขาอาคารหะรินธร ถนนสาทรเหนือ เขตบางรัก กทม. มีราขึ้นก่อนวันหมดอายุของสินค้าประมาณ 3 วัน   สินค้าไม่ตรงราคาป้าย กรณีราคาสินค้าไม่ตรงกับราคาป้าย สมาคมผู้บริโภคสงขลา หนึ่งในเครือข่ายผู้บริโภคภาคใต้ได้รับการร้องเรียนจากผู้บริโภคว่า   พบเห็นการส่งเสริมการขายโดยประกาศลดราคานมผงสำหรับเด็กจากหนังสือพิมพ์ จึงได้ไปซื้อสินค้าจากห้างเทสโก้ โลตัสสาขาหาดใหญ่ ตามประกาศ โดยได้ดูการแสดงราคาและเงื่อนไขต่างๆ ที่แสดงอยู่บนชั้นวางเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เมื่อมาชำระเงินปรากฏว่ายอดชำระไม่ตรงตามราคาที่ปรากฏในการส่งเสริมการขาย ห้างฯ อ้างว่าเลยเวลาการส่งเสริมการขายทั้งที่โฆษณาและบนชั้นวางสินค้ายังคงแสดงข้อมูลอยู่   ห้างฯ ไม่ได้มาตรฐาน ผู้บริโภคทำอะไรได้บ้าง เมื่อการซื้อสินค้าจากร้านสะดวกซื้อและห้างค้าปลีกสมัยใหม่ ไม่ได้มีความปลอดภัยและสะดวกอย่างที่เข้าใจกัน วิธีการหนึ่งที่จะช่วยผู้บริโภคได้ คือการอ่านฉลากอาหารและข้อมูลต่าง ๆ บนชั้นวางก่อนตัดสินใจซื้อ สิ่งที่ควรพิจารณาบนฉลาก ได้แก่ ชื่ออาหาร วันผลิต-วันหมดอายุ ส่วนประกอบของอาหาร เพื่อช่วยในการพิจารณาถึงคุณค่าของอาหารรวมทั้งเรื่องของวัตถุเจือปน น้ำหนักหรือปริมาตรสุทธิ อันนี้ช่วยให้ผู้บริโภครู้น้ำหนักช่วยในการเปรียบเทียบเลือกสินค้า และส่วนสุดท้ายที่ควรอ่านเป็นส่วนเสริม คือฉลากโภชนาการที่จะบอกให้ผู้บริโภครู้ข้อมูลเกี่ยวกับโภชนาการของอาหารนั้น ๆ ว่ามีมากน้อยเพียงใด คุ้มค่าไหมที่จะนำมาบริโภค เคล็ดลับที่ทาง โครงการอาหารฯ ขอแนะนำคือ  เวลาเลือกซื้อสินค้า ควรเลือกสินค้าที่แสดงวันหมดอายุหรือควรบริโภคก่อนอย่างชัดเจน หากแสดงแค่วันผลิตโดยไม่แสดงวันหมดอายุ ขอแนะนำว่าให้เลี่ยงไปก่อน ไม่ควรบริโภค ให้เลือกซื้อสินค้าของผู้ผลิตรายอื่นที่มีการแสดงข้อมูลบนส่วนนี้อย่างชัดเจนจะเป็นประโยชน์กับผู้บริโภคได้มากกว่า สำหรับกรณีอาหารเสื่อมสภาพก่อนวันหมดอายุนั้น หลายกรณีสามารถดูได้จากรูปลักษณ์ภายนอกของอาหาร เช่น บรรจุภัณฑ์บุบบวม ลักษณะของอาหารเปลี่ยนไปทั้งรูปและกลิ่น ซึ่งจะต้องใช้การพิจารณาอย่างถี่ถ้วนจึงจะสังเกตเห็น ฉลาดซื้อขอแนะนำว่าให้ใช้เวลาในการพิจารณาเลือกซื้อสินค้าในแต่ละชิ้นให้มากขึ้น ไม่ควรตรงเข้าไปหยิบสินค้าโดยที่ไม่สังเกต กรณีของสดที่ต้องมีการควบคุมอุณหภูมิในการเก็บรักษา ขอให้พิจารณาอุณหภูมิของตู้แช่ว่า อุณหภูมิที่แสดงอยู่เหมาะสมหรือไม่กับการเก็บรักษาอาหาร หากอุณหภูมิต่ำหรือสูงไป ก็ไม่ควรที่จะซื้อสินค้าจากห้างสาขานั้น ๆ ควรใช้บริการสาขาอื่นหรือสถานที่จำหน่ายแหล่งอื่นจะช่วยลดความเสี่ยงจากการได้สินค้าเสื่อมสภาพได้ ท้ายที่สุด ไม่ว่าจะเลือกซื้อสินค้าจากที่ไหนปัญหาที่กล่าวมาข้างต้นก็สามารถเกิดขึ้นได้ ผู้บริโภคจึงต้องตื่นตัวอยู่ตลอดเวลาที่เลือกซื้ออาหารใดๆ ก็ตาม อย่าให้ความเคยชินและความเร่งรีบ มาอ้างเป็นเหตุหนึ่งในการเลือกซื้อที่ไม่รอบคอบ และถ้าทำตามเราแนะนำแล้วแต่ยังพบสินค้าไม่ปลอดภัยอีก อย่าวางเฉยทิ้งอาหารนั้น ๆ ไป เพราะเรามีสิทธิที่จะเรียกร้องค่าเสียหายจากผู้ประกอบการหรือผู้จัดจำหน่ายได้นะครับ

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 98 เลือกซื้อแอร์กับฉลาดซื้อ

กองบรรณาธิการ“จากการชะลอตัวของภาวะเศรษฐกิจ ความไม่แน่นอนทางการเมือง และราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มปรับตัว สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อของผู้บริโภค ทำให้แนวโน้มของตลาดเครื่องปรับอากาศในปีนี้อาจจะอยู่ในภาวะชะลอตัว” ประโยคข้างต้นอาจดูคล้ายหัวข้อข่าวในหน้าเศรษฐกิจของหนังสือพิมพ์หลายฉบับ และในความเป็นจริง แม้ว่าสภาพอากาศในช่วงฤดูร้อนมีทีท่าจะร้อนระอุกว่าปีที่ผ่านมา และความต้องการเครื่องปรับอากาศเพิ่มขึ้น แต่สภาพทางเศรษฐกิจที่ปรับลดลง สะท้อนให้เห็นว่าผู้บริโภคเริ่มมีการใช้จ่ายที่ระมัดระวังมากยิ่งขึ้น ดังนั้นคาดว่าการแข่งขันของตลาด เครื่องปรับอากาศในปีนี้จะรุนแรง และจะทำให้ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายเครื่องปรับอากาศต้องพยายามปรับตัว พร้อมจัดรายการส่งเสริมการขายเครื่องปรับอากาศ ตั้งแต่ต้นปีเพื่อกระตุ้นยอดขายให้เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้   โปรโมชั่นส่วนใหญ่เน้นไปที่การแข่งขันทางด้านเทคโนโลยีของเครื่องปรับอากาศ ที่สร้างความแตกต่างของผลิตภัณฑ์ ด้วยเทคโนโลยีเฉพาะตัว และหันกลับมาใช้กลยุทธ์ทางด้านราคา โดยเฉพาะกลุ่มผู้ผลิตรายใหญ่ สำหรับตลาดเครื่องปรับอากาศในปีนี้ จะมีมูลค่าประมาณ 740,000 เครื่อง โดยมีอัตราการเติบโตในเชิงปริมาณอยู่ที่ 4% ขณะที่การเติบโตในเชิงมูลค่าจะอยู่ที่ 2% จากปกติจะเติบโตเฉลี่ยประมาณ 5-10% โดยมีแบรนด์มิตซูบิชิ อีเล็คทริคของ ค่ายกันยงวัฒนาเป็นผู้นำตลาด ครองส่วนแบ่ง 29% และจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ทำให้กันยงต้องปรับกลยุทธ์ทางการตลาด ด้วยการเพิ่มกำลังการผลิต และปรับลดคุณสมบัติที่ไม่จำเป็นออกไป เพื่อให้ราคาของเครื่องปรับอากาศลดลง ในฤดูร้อนเช่นนี้อุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้นจะส่งผลให้เครื่องปรับอากาศต้องทำงานหนัก ทำให้ค่าไฟฟ้าสูงมากขึ้น ซึ่งการดูแลเครื่องปรับอากาศให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานเพื่อเตรียมรับหน้าร้อนโดยการล้างเครื่องปรับอากาศจะทำให้เครื่องปรับอากาศทำงานได้ดีขึ้น ส่วนใครที่ต้องการซื้อเครื่องปรับอากาศในหน้าร้อนนี้ก็ต้องทำการบ้านกันหน่อยค่ะ เพราะจากการสำรวจพบว่าพฤติกรรมการตัดสินใจซื้อสินค้าของผู้บริโภคจะเลือกเครื่องปรับอากาศที่มีเทคโนโลยีเรื่องของสุขภาพมาเป็นอันดับหนึ่ง รองลงมาคือช่วยประหยัดไฟ ราคา บริการหลังการขายและรูปลักษณ์ของตัวสินค้า แต่อย่างไรก็ตามฉลาดซื้อเห็นว่า เราควรเลือกเครื่องปรับอากาศแบบที่คุ้มค่าระหว่างเงินที่เสียไปกับเทคโนโลยีที่ได้มา อีกทั้งผู้บริโภคยังต้องคำนึงถึงเรื่องการช่วยประหยัดไฟในระยะยาวด้วยนะคะ แอร์เลือกอย่างไรให้เย็นใจ 1.เลือกเครื่องปรับอากาศให้เหมาะกับขนาดของห้องขนาดการทำความเย็นของเครื่องปรับอากาศ เรียกว่า บีทียู (บีทียู/ชั่วโมง) การเลือกขนาดบีทียูให้เหมาะกับขนาดห้องเป็นเรื่องสำคัญสุด ทำไมต้องเลือกบีทียูให้พอเหมาะกับห้อง เพราะถ้า BTU สูงไป คอมเพรสเซอร์ทำงานตัดบ่อยเกินไป ทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานลดน้อยลง ทำให้ความชื้นในห้องสูง ไม่สบายตัวและที่สำคัญราคาแพงและสิ้นเปลืองพลังงาน BTU ต่ำไป คอมเพรสเซอร์ทำงานตลอดเวลา เพราะความเย็นห้องไม่ได้ตามอุณหภูมิที่ตั้งไว้ สิ้นเปลืองพลังงานและเครื่องเสียเร็ว   BTU/ ช.ม. ห้องปกติ (ตารางเมตร) ห้องที่โดนแดด (ตารางเมตร) 9000 12-15 11-14 12000 16-20 14-18 18000 24-30 21-27 21000 28-35 25-32 24000 32-40 28-36 26000 35-44 30-39 30000 40-50 35-45 36000 48-60 42-54 48000 64-80 56-72 60000 80-100 70-90 หรือมีสูตรสำหรับคำนวณง่ายๆ คือ BTU = พื้นที่ห้อง ( กว้าง X ยาว ) X ตัวแปรตัวแปรแบ่งได้ 2 ประเภท ได้แก่ 700 สำหรับห้องที่มีความร้อนน้อยใช้เฉพาะกลางคืน 800 สำหรับห้องที่มีความร้อนสูงใช้กลางวันมาก และกรณีที่ห้องสูงกว่า 2.5 เมตร บวกเพิ่ม 5 % 2.เลือกฉลากประหยัดไฟเบอร์ 5การเลือกฉลากเบอร์ 5 หมายถึงว่า คุณได้เลือกเครื่องปรับอากาศที่ไม่กินไฟมากแต่ให้ความเย็นได้เท่ากัน หากเครื่องปรับอากาศที่คุณชอบเป็นเบอร์ 5 เหมือนกัน บีทียูเท่ากัน ให้เลือกเครื่องที่มีค่า EER สูงกว่า เพราะกินไฟน้อยกว่าแต่ให้กำลังความเย็นเท่ากัน (ค่า EER หรือ Energy Efficiency Ratio เป็นค่าที่บอกถึงประสิทธิภาพด้านพลังงาน ซึ่งสามารถคำนวณได้เองหรือดูจากเอกสารแนะนำสินค้าที่ผู้ผลิตนำเสนอไว้ หรือดูได้ทันทีตอนนี้เลยที่เรื่องเด่น 2 ค่ะ) 3.พิจารณาเรื่องอายุการใช้งาน การติดตั้งและบริการหลังการขายความบกพร่องใดๆ ย่อมเกิดขึ้นได้ แต่ถ้าเลือกบริษัทหรือผู้ผลิตที่น่าเชื่อถือ มีการทำตลาดมานาน มีบริการติดตั้งโดยช่างผู้ชำนาญ และบริการหลังการขายที่ดี ตลอดจนการรับประกันต่างๆ ก็คือจุดสำคัญของการพิจารณาเลือกเครื่องปรับอากาศเช่นกัน 4.พิจารณาคุณสมบัติพิเศษและดีไซน์ต่างๆ ว่าใช้คุ้มราคาหรือไม่นอกจากเบอร์ 5 แล้ว เดี๋ยวนี้ยังแข่งขันกันด้านเทคโนโลยีความเย็น ความเงียบ จนกระทั่งก้าวมาสู่กระแสสุขภาพที่หลายๆ แบรนด์ต้องใส่ระบบฟอกอากาศในเครื่องปรับอากาศ ซึ่งมีทั้ง ซิลเวอร์นาโน นาโนไททาเนียม แผ่นกรองเฮปป้าฟิลเตอร์ พลาสม่าคลัสเตอร์ เป็นต้น ลองพิจารณาดูนะคะว่าคุ้มค่าหรือไม่ เรามีข้อมูลมาฝากค่ะ ระบบการทำการของเครื่องปรับอากาศก็มีผลต่อการตัดสินใจของผู้บริโภคเช่นกัน เช่น ระบบฟอกอากาศ (Air Purifier) ซึ่งในปัจจุบันผู้ผลิตนิยมติดตั้งระบบฟอกอากาศไว้ในเครื่องปรับอากาศ เพื่อช่วยทำให้อากาศภายในห้องมีความสะอาดบริสุทธิ์ มากขึ้น ซึ่งระบบฟอกอากาศที่ติดตั้งมาพร้อมเครื่องปรับอากาศมีอยู่ด้วยกันหลายระบบดังนี้(1) การกรอง (Filtration) เป็นการใช้แผ่นกรองอากาศในการดักจับฝุ่นละออง หรืออนุภาคที่มีขนาดใหญ่กว่าช่องว่างระหว่างเส้นใย โดยที่สิ่งสกปรกจะติดค้างอยู่ที่ไส้กรอง และต้องทำการเปลี่ยนเมื่อหมดอายุการใช้งาน ตัวอย่างของระบบนี้ก็คือ HEPA (High Efficiency Particulate Air) ซึ่งเป็นการกรองอากาศที่มีประสิทธิภาพในการกำจัดอนุภาคขนาดเล็กถึง 0.05 ไมครอน ในกรณีที่ต้องการกำจัดกลิ่นในอากาศ จะนิยมใช้แผ่นคาร์บอน (Activated carbon filters) เพื่อดูดซับกลิ่นเช่น กลิ่นควันบุหรี่ กลิ่นอาหารเป็นต้น    (2) การดักจับด้วยไฟฟ้าสถิต (Electrostatic Precipitator) เป็นการใช้ตะแกรงไฟฟ้า (Electric grids) ในการดักจับฝุ่นละออง หรืออนุภาค โดยการเพิ่มประจุไฟฟ้าให้กับอนุภาคฝุ่นละออง และใช้แผ่นโลหะอีกชุดหนึ่งซึ่งเรียงขนานกันดูดอนุภาคฝุ่นละอองไว้ โดยที่หลังจากใช้งานไประยะหนึ่งต้องหยุดเครื่องเพื่อทำความสะอาดแผ่นโลหะ(3) การปล่อยประจุไฟฟ้า (Ionizer) เป็นการใช้เครื่องผลิตประจุไฟฟ้า และปล่อยออกมาพร้อมกับลมเย็นเพื่อดูดจับอนุภาคฝุ่นละออง และกลิ่น โดยประจุลบที่ปล่อยออกมาจะทำการดูดจับอนุภาคฝุ่นละอองและกลิ่น ซึ่งมีโครงสร้างเป็นประจุบวก จนกระทั่งกลุ่มอนุภาคเหล่านั้นรวมตัวกันจนมีขนาดใหญ่ขึ้น และตกลงสู่พื้นห้อง โดยกลุ่มอนุภาคเหล่านั้นจะถูกกำจัดไปพร้อมกับการทำความสะอาดพื้นห้องตามปกติ ดังนั้นระบบนี้จึงไม่จำเป็นต้องมีการทำความสะอาดเพราะไม่มีการดักจับโดยใช้แผ่นกรอง แต่เป็นการใช้ปฏิกิริยาทางเคมี ประจุลบ = ผลิตจากระบบฟอกอากาศประจุบวก = ฝุ่นละออง กลิ่น ควัน เชื้อโรค เครื่องปรับอากาศที่บอกว่ามีระบบฟอกอากาศนั้นเพียงแค่ป้องกันไม่ให้เชื้อโรคเข้าไปเพาะเชื้อในเครื่องได้ตอนที่ปิดเครื่องไปแล้วมีความชื้น เครื่องปรับอากาศนั้นหน้าที่เดียวคือให้ความเย็นในเมืองร้อน (หรือให้ความอุ่นในเมืองหนาว) การกรองอากาศ เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการฟอกอากาศ ซึ่งการกรองอากาศคือการดูดฝุ่นนั่นเอง ในขณะที่การฟอกอากาศที่ดีจะเพิ่มการปล่อยประจุ +/- มาฆ่าเชื้อโรค หรือทำให้เชื้อโรคเป็นหมันและสลายเคมีที่เป็นอันตรายด้วย ดังนั้นการจะเลือกซื้อเครื่องปรับอากาศหรือฟอกอากาศนั้นควรจะคำนึงเสียก่อนว่าระหว่าง อากาศเย็นสบายกับอากาศที่ปราศจากสิ่งที่เป็นอันตรายต่อร่างกายเรา สิ่งใดสำคัญกว่ากันค่ะ 5. เลือกประเภทของเครื่องปรับอากาศให้เหมาะสมเครื่องปรับอากาศ 2 แบบที่ผู้บริโภคมักใช้กันในบ้าน คือ1) แบบติดผนัง (Wall type) เป็นเครื่องปรับอากาศที่มีรูปแบบเล็กกะทัดรัด เหมาะสำหรับห้องที่มีพื้นที่น้อย เช่น ห้องนอน ห้องรับแขกขนาดเล็ก ข้อดี: รูปแบบทันสมัย และมีให้เลือกหลากหลาย เงียบ และติดตั้งง่าย ข้อเสีย: ไม่เหมาะกับงานหนัก เนื่องจากคอยล์เย็นมีขนาดเล็กส่งผลให้คอยล์สกปรก และอุดตันง่ายกว่าคอยล์ที่มีขนาดใหญ่กว่า 2) แบบตั้ง/แขวน (Ceiling/floor type) เป็นเครื่องปรับอากาศที่เหมาะสำหรับห้องที่มีพื้นที่ตั้งแต่เล็กเช่น ห้องนอน ไปจนถึงห้องที่มีพื้นที่ขนาดใหญ่ เช่น สำนักงาน ร้านอาหาร ห้องประชุม ข้อดี: สามารถเลือกการติดตั้งได้ทั้งตั้งพื้น หรือแขวนเพดาน สามารถใช้งานได้หลากหลาย เข้าได้กับทุกสถานที่ และการระบายลมดี ข้อเสีย: ไม่มีรูปแบบให้เลือกมากนักสรุปปัจจัยต่างๆ ในการเลือกซื้อเครื่องปรับอากาศในหน้าร้อนนี้ ได้แก่ ขนาดห้องที่ติดตั้ง โดยการคำนวณขนาดทำความเย็น (BTU) รูปแบบของเครื่องปรับอากาศว่าเป็นแบบติดผนัง ตั้ง แขวน โดยต้องคำนึงถึงพื้นที่ที่จะทำการติดตั้ง และความสะดวกในการดูแลรักษา บริการหลังการขาย เทคโนโลยีพิเศษ และสุดท้ายก็คือวัตถุดิบที่ใช้ทำเครื่องปรับอากาศ เพราะมันจะมีผลต่อประสิทธิภาพการทำงาน และความคงทนของเครื่องปรับอากาศค่ะ

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point