ฉบับที่ 97 กระแสต่างแดน

กระแสต่างแดน 97 ศศิวรรณ ปริญญาตร บทต้องห้ามเมื่อเร็วๆ นี้รัฐบาลจีนออกประกาศห้ามไม่ให้นักแสดงหรือบุคคลอื่นที่ไม่มีคุณวุฒิ มารับบทเป็นแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญในภาพยนตร์โฆษณายาทางโทรทัศน์อย่างเด็ดขาด ที่ประเทศจีนนั้นโทรทัศน์ทุกช่องต่างก็อุดมไปด้วยโฆษณายาหรือผลิตภัณฑ์สุขภาพ และผู้ผลิตสินค้าเหล่านั้น จะนิยมใช้ “แพทย์” หรือ “นักวิชาการ” เป็นผู้นำเสนอสินค้าของตน เพื่อทำให้ผู้บริโภคเกิดความเชื่อถือแต่ความมาแตกเอาเมื่อมีคนพบว่าบรรดา “ผู้รู้” ที่ว่านี้ ทั้งที่เป็นคนๆ เดียวกันกลับมีหลายชื่อแซ่ และมีความเชี่ยวชาญแตกต่างกันไป เรื่องนี้จุดประกายโดยผู้ชมโทรทัศน์รายหนึ่งที่บังเอิญจำได้ว่า คุณหมอกูโปฉิน ที่อยู่ในโฆษณายารักษาโรคเบาหวานนั้นเป็นคนเดียวกันกับนายซุนยุน “ผู้เชี่ยวชาญ” ด้านธนบัตรหายากในโฆษณาอีกชิ้นหนึ่ง และแถมยังเป็น “อาจารย์มหาวิทยาลัย” นามว่าลูซิง ในโฆษณาอีกชิ้นด้วย ว่าแล้วเขาก็นำภาพจากโฆษณาสามชิ้นนั้นไปโพสต์ไว้ในอินเตอร์เน็ต จึงทำให้เกิดกระแสการติดตามสืบเสาะหา “ผู้เชี่ยวชาญในการแสดงเป็นผู้รู้” เหล่านี้ขึ้น และพบว่ามีผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ตัวปลอมปรากฏตัวอยู่บนจอโทรทัศน์อย่างน้อย 12 คน บรรดามหาวิทยาลัยและโรงพยาบาลต่างๆ ก็ต้องคอยจับตาดูโฆษณาว่ามีใครมาแอบอ้างว่าเป็น “ผู้เชี่ยวชาญ” ที่ประจำการอยู่ในหน่วยงานของตนบ้าง เพื่อจะได้รีบออกมาปฏิเสธความเกี่ยวข้องกับบุคคลดังกล่าว และช่วยหยุดยั้งกระบวนการหลอกลวงผู้บริโภคได้ทันการ ลืมบอกไปว่าโทษจากการฝ่าฝืนประกาศดังกล่าวจะทำให้บริษัทถูกเพิกถอนใบอนุญาตโฆษณา และถูกระงับการขายผลิตภัณฑ์ดังกล่าวเป็นระยะเวลาหนึ่งด้วย เมื่อความจนกลายเป็นจุดขายรีอาลิตี้ โชว์ก็ดูกันมาแล้ว ลองไปเที่ยวรีอาลิตี้ทัวร์กันดูบ้าง กระแสการตอบสนองความอยากรู้อยากเห็นของมนุษย์ ในเรื่องต่างๆ ในแบบที่มันเกิดขึ้นจริง โดยปราศจากการตระเตรียมหรือแต่งเติม ได้ทำให้เกิดการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่กันไปเป็นที่เรียบร้อย รูปแบบการท่องเที่ยวที่กำลังมาแรงแข่งกับทัวร์แนวหรูที่พาคุณไปดูแต่ของสวยๆงามๆ ได้แก่ ทัวร์ที่พานักเดินทางไปสัมผัสกับชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชนแออัดตามเมืองใหญ่ๆ หรือที่หลายคนเรียกว่าพัวริซึ่ม (poorism) แหล่งท่องเที่ยวยอดฮิตขณะนี้ได้แก่ ย่านชุมชนแออัดในเมืองริโอ เดอจาเนโร ของบราซิล ย่านทาราวีในเมืองมุมไบของอินเดีย และเขตมูคูรูในกรุงไนโรบี เมืองหลวงของเคนยา ว่ากันว่านักท่องเที่ยวสนใจทัวร์ประเภทดังกล่าว เพราะมันทำให้พวกเขาได้มีโอกาสพูดคุยกับคนในชุมชน ได้เห็นสภาพความเป็นอยู่ที่แท้จริงของคนแถวนั้น แต่คนในท้องถิ่นก็มีทั้งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับการท่องเที่ยวแบบนี้เพราะถึงแม้มันจะเป็นโอกาสในการสร้างเศรษฐกิจชุมชน แต่มันก็หมายถึงการถูกรุกล้ำความเป็นส่วนตัวไปพร้อมๆ กันด้วย ถ้ารักจะเที่ยวทัวร์แบบนี้กันจริงๆ เขาก็มีคำแนะนำว่าให้นักท่องเที่ยวเลือกสนับสนุนเฉพาะทัวร์ที่จัดอย่างรับผิดชอบต่อสังคมด้วย อย่าไปกับทัวร์แชะ ประเภทเอารถตู้ไปจอดประชิดบ้านเขาแล้วให้นักท่องเที่ยวถ่ายรูปตามใจชอบเด็ดขาด ทัวร์ที่น่าสนใจก็เป็นประเภทเดินเท้า หรือทัวร์จักรยานที่จะให้โอกาสคุณได้สัมผัสชีวิตผู้คนพูดคุยกับชาวบ้าน ซื้อสินค้าจากงานฝีมือเขาบ้าง ที่ใช้นโยบายห้ามใช้กล้องโดยเด็ดขาด ก็มีให้เลือกไม่น้อย ข่าวบอกมาด้วยว่า ภาพยนตร์เรื่อง Slumdog Millionaire ที่เพิ่งจะได้รับรางวัลไปเป็นหอบ ก็มีส่วนทำให้กระแสความนิยมในการท่องเที่ยวแบบนี้เป็นที่นิยมกันมากขึ้นด้วย ผู้ดียืนยันไม่เอาโฆษณาแฝงในรายการโทรทัศน์ บรรดาผู้ผลิตสินค้าทั้งหลายต่างก็ผิดหวังคอตกกันไปตามๆ กันเมื่อในที่สุดรัฐบาลอังกฤษก็ยังคงไม่อนุญาตให้มีการโฆษณาแฝงในรายการโทรทัศน์ เราอาจจะเห็นโฆษณาแฝงกันจนชิน ทั้งในบ้านเราเองและในรายการโทรทัศน์จากฝั่งอเมริกา แต่ที่ประเทศอังกฤษนั้น เรื่องนี้เป็นสิ่งที่ทำไม่ได้ ที่เป็นประเด็นขึ้นมาเพราะช่วงหลังๆ นี้รายได้ของบรรดาสถานีโทรทัศน์ในอังกฤษนั้นตกลงอย่างฮวบฮาบ เพราะทั้งคนดู ทั้งโฆษณาต่างก็พากันไปนัดพบกันในที่แห่งใหม่ซึ่งได้แก่ อินเตอร์เน็ตอย่างที่เรารู้กัน ทางสมาคมบริษัทโฆษณาก็เลยเสนอว่า ทำไมไม่ลองผ่อนปรนกฎเกณฑ์เรื่องการห้ามโฆษณาแฝงดู เพราะมันจะช่วยกระตุ้นให้เกิดรายได้กับสถานีโทรทัศน์ถึง 72 ล้านปอนด์ (3,600 ล้านบาท) ทีเดียว แต่รัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรมเขาก็ยืนยันว่า ยังไม่มีหลักฐานชัดเจนจากที่ไหนเลยว่าการอนุญาตให้มีโฆษณาแฝงจะส่งผลดีต่อภาวะการเงินของทางสถานี ในขณะที่เรื่องของการผ่อนผันกฎเกณฑ์เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ ที่ส่งผลกระทบกับคนเป็นจำนวนมาก ผู้บริหารสูงสุดของสถานีโทรทัศน์ช่อง 4 ของอังกฤษบอกว่า “เขาก็เห็นด้วยกับการตัดสินใจของรัฐบาล เพราะการปล่อยให้มีโฆษณาแฝงนั้นจะทำให้สถานีขาดความน่าเชื่อถือ ในขณะที่จะได้ผลตอบแทนเป็นตัวเงินเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ซึ่งคิดแล้วไม่คุ้มกันเลย” ยินดีกับผู้บริโภคในประเทศอังกฤษด้วย แต่ไม่แน่ใจว่าจะดีใจกันไปได้อีกนานแค่ไหนเพราะข่าวบอกว่าเขาจะมีการทบทวนเรื่องนี้กันอีกครั้งในอีกสองปีข้างหน้า อยากดำเสี่ยงก็ยอม ในขณะที่สาวๆ บ้านเรานิยมฉีดกลูตาไธโอนให้ผิวขาวผ่อง คนที่ขาวผ่องอยู่แล้วกลับพยายามทำให้ตัวเองดูผิวคล้ำขึ้นด้วยวิธีการฉีดสารเมลาโนแทนเข้าผิวหนังบริเวณท้อง (ช่างกล้ากันจริงๆ) ว่ากันว่าที่ประเทศอังกฤษนั้น เทรนด์นี้มาแรงมากๆ แม้ว่าทางการจะออกมาเตือนแล้วเตือนอีกว่าสารดังกล่าวเป็นอันตรายต่อระบบภูมิคุ้มกันและการทำงานของหัวใจ ตามด้วยความเสี่ยงจากการใช้เข็มฉีดยาร่วมกันอีก แต่กลับมีรายงานจากหน่วยงานที่ให้บริการเข็มฉีดยา ว่ามีคนโทรมาขอเข็มฉีดยาไปใช้ฉีดสารนี้กันมากขึ้น หน่วยงานที่ดูแลเรื่องนี้ พยายามรณรงค์ให้ร้านต่างๆ หยุดขายสารเมลาโนแทนให้กับผู้บริโภค ซึ่งการขายสารดังกล่าวถือเป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย เพราะยังไม่ได้ขึ้นทะเบียน (และยังไม่ผ่านการตรวจสอบยืนยันเรื่องความปลอดภัย) แต่อุปกรณ์ชุดทำผิวแทนด้วยตนเองนี้กลับมีขายกันทั่วไปตามร้านเสริมสวย สถานออกกำลังกาย และในอินเตอร์เน็ต ที่สนนราคา 25 ปอนด์ (1,300 บาท) ประกอบด้วยเข็มฉีดยา ผงเมลาโนแทน และน้ำบริสุทธิ์อีกหนึ่งขวด ให้หนุ่มสาวเดนตายทั้งหลายซื้อไปใช้กัน สารเมลาโนแทนนี้คิดค้นขึ้นมาโดยบริษัทแห่งหนึ่งในออสเตรเลียเพื่อใช้รักษาความผิดปกติของผิวหนัง ชื่ออย่างเป็นทางการของมันคือ CUV 1647 ที่ยังไม่อนุญาตให้ใช้ได้ในคน แต่ใช้ในการวิจัยได้ แต่แล้ววันหนึ่งมีมือดีมาขโมยสารดังกล่าวไป แล้วมันก็มาโผล่ในตลาดมืดอย่างที่บอก บาร์โค้ดในซูเปอร์มาเก็ตก็โกงได้ คุณไว้ใจเครื่องสแกนบาร์โค้ดในซูเปอร์มาเก็ตแค่ไหน ที่อื่นยังไม่ทราบแต่ที่นิวซีแลนด์นั้นเขาทำวิจัยออกมาแล้วว่าอัตราความผิดพลาดนั้นสูงถึงร้อยละ 4 ทีเดียว ความผิดพลาดที่ว่านั้น ได้แก่ การลืมเปลี่ยนราคาจากราคาเต็มเป็นราคาโปรโมชั่น หรือการใส่ราคาผิดจากขนาดของผลิตภัณฑ์ เป็นต้น จึงมีบ่อยครั้งที่ผู้บริโภคเข้าใจว่าตนเองกำลังซื้อสินค้าราคาพิเศษ โดยไม่รู้ตัวเลยว่าตนเองก็จ่ายราคาเต็มอยู่ หรือซื้อเครื่องดื่มขนาดเล็กแต่จ่ายราคาของขวดขนาดใหญ่นั่นเอง พอล พิคเคอริง อาจารย์ภาควิชาธุรกิจ จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีโอ้คแลนด์ตั้งสมมุติฐานไว้ว่าอัตราความผิดพลาดนั้นอย่างต่ำก็ร้อยละ 4 (หรือจากสินค้าที่สแกนทุกๆ 25 ชิ้นนั้นจะมี 1 ชิ้นที่ตั้งราคาผิด) และความผิดพลาดมักเกิดขึ้นกับกรณีห้างใหญ่ๆ เพราะผู้คนนิยมจับจ่ายซื้อของเป็นจำนวนมากชิ้น พอลบอกอีกว่า มีผู้บริโภคชาวกีวี่ไม่ถึงร้อยละ 50 ที่ตรวจสอบใบเสร็จของตนเอง ว่าแต่เมื่อเกิดความผิดพลาดขึ้นแล้วผู้บริโภคเรียกร้องให้แก้ไข แล้วทางร้านแก้ตัวทันทีหรือเปล่า ผลการสำรวจระบุว่า นักช้อปมักเจอกับพนักงานที่ทำท่าเบื่อหน่ายเวลาที่เข้าไปติดต่อขอเงินคืน บ้างก็ต้องกรอกแบบฟอร์มยืดยาวกว่าจะได้เงินคืนมา 2 เหรียญ และมีบ้างที่เจอเงื่อนไขว่าจะได้คืนเป็นเงินสดต่อเมื่อจ่ายเงินไปด้วยบัตรเครดิตเท่านั้น อย่างไรก็ตามกฎหมายที่นี่ก็เข้มงวด เพราะเมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้วห้างทาร์เก็ต ถูกปรับเป็นเงินถึง 1.7 ล้านเหรียญสหรัฐ (60 ล้านบาท) โทษฐานที่แสดงราคาสินค้าที่ไม่อัพเดทและถูกกว่าราคาจริงที่ลูกค้าต้องจ่าย เมืองไทยจะมีโอกาสได้ปรับใครเป็นชิ้นเป็นอันแบบนี้บ้างไหมหนอ

อ่านเพิ่มเติม >