ฉบับที่ 249 ความเคลื่อนไหวเดือนพฤศจิกายน

อัตราค่าโดยสารรถยนต์รับจ้างผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์        12 พ.ย. 64 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ประกาศกระทรวงคมนาคม เรื่องกำหนดอัตราค่าจ้างบรรทุกคนโดยสารและค่าบริการอื่น สำหรับรถยนต์รับจ้างผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ และเรียกรถผ่านแอปพลิเคชันต่างๆ พ.ศ.2564  โดยมีผลบังคับใช้ทันทีตั้งแต่วันประกาศ โดยอัตราค่าจ้างบรรทุกคนโดยสารของรถยนต์รับจ้างผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ กำหนด ดังนี้         1. รถยนต์รับจ้างผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ขนาดเล็ก ระยะทาง 2 กิโลเมตรแรก 40 - 45 บาท เกินกว่า 2 กิโลเมตรขึ้นไป กิโลเมตรละ 6 - 10 บาท 2. รถยนต์รับจ้างผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ขนาดกลาง ระยะทาง 2 กิโลเมตรแรก 45 - 50 บาท เกินกว่า 2 กิโลเมตรขึ้นไป กิโลเมตรละ 7 - 12 บาท 3. รถยนต์รับจ้างผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ขนาดใหญ่ ระยะทาง 2 กิโลเมตรแรก 100 - 150 บาท เกินกว่า 2 กิโลเมตรขึ้นไป กิโลเมตรละ 12 - 16 บาท         ทั้งนี้ กรณีระบบคำนวณอัตราค่าโดยสารล่วงหน้าประเมินว่าสภาพจราจร ไม่สามารถเคลื่อนที่หรือเดินรถต่อไปได้ตามปกติ ให้คิดอัตราค่าโดยสารคำนวณเพิ่มในอัตรานาทีละ 2 บาท และค่าบริการอื่น กำหนดในกรณีจ้างผ่านระบบสื่อสารทางอิเล็กทรอนิกส์ เรียกเก็บเพิ่มในอัตรา 20 บาท กรณีที่ปริมาณรถยนต์รับจ้างผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ไม่สมดุลกับความต้องการใช้บริการ เรียกเก็บเพิ่มในอัตราไม่เกินหนึ่งเท่าของค่าจ้างบรรทุกคนโดยสาร ต้องไม่เกิน 200 บาท จากประกาศราชกิจจานุเบกษาราคาเริ่มต้นค่าโดยสารต่ำสุด คือ 40 บาท เพิ่มค่าบริการเรียกรถ 20 บาท โดยรวมค่าบริการเริ่มต้นจะอยู่ที่ 60 บาท คปภ.ยัน บ.ประกันห้ามยกเลิกกรมธรรม์ "เจอ จ่าย จบ"         จากกรณีของบริษัทเดอะวันประกันภัย จำกัด (มหาชน) แจ้งผู้เอาประกันให้เลือกเงื่อนไขที่บริษัทยื่นข้อเสนอ หากไม่แจ้งการเลือกทางบริษัทจะเปลี่ยนความคุ้มครองในกรมธรรม์โดยอัตโนมัติ จากเจอ จ่ายจบ เป็นคุ้มครองเฉพาะโคม่านั้น         15 พ.ย. สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) โดยนายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการสำนักงาน คปภ. กล่าวว่า ยังคงยึดคำสั่งนายทะเบียนตามกฎหมาย โดยบริษัทประกันไม่สามารถใช้สิทธิบอกเลิกกรมธรรม์ หรือเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขกรมธรรม์ได้ตามอัตโนมัติ เนื่องจากจะกระทบต่อผู้เอาประกันทั้งความไม่ยุติธรรมและความเชื่อมั่นของประชาชน ทั้งนี้ คปภ. ได้เสนอแนวทางเพิ่มเพื่อช่วยเหลือบริษัทประกันและผู้เอาประกัน โดยทางบริษัทประกันสามารถเสนอทางเลือกให้ผู้เอาประกันได้ แต่ต้องเป็นความสมัครใจของผู้เอาประกันเท่านั้น ไม่สามารถบังคับหรือแจ้งเปลี่ยนอัตโนมัติได้ หากไม่ปฎิบัติตามจะถือว่าทางบริษัทประกันฝ่าฝืนคำสั่งนายทะเบียน มีโทษปรับสูงสุด 300,000 บาท กาแฟผสมยาอียังไม่มีในไทย         จากกรณีในสื่อออนไลน์มีการประกาศขาย “ยาอีในกาแฟซอง 3,000 บาท ในทวิตเตอร์และอีกกรณีเผยแพร่คลิปที่นำซองกาแฟมาประกอบคลิป เพื่ออ้างว่ามียาอีผสมในกาแฟในแอปพลิเคชัน TikTok” นั้น         นายวิชัย ไชยมงคล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ได้สอบปากคำ นายนพพร สุชัยเจริญรัตน์ ผู้ต้องหาที่ใช้บัญชีทวิตเตอร์ ประกาศขายยาอีผสมกาแฟ โดยพบว่า นายนพพรได้โพสต์ข้อความดังกล่าวจริงและยอมรับว่า ได้นำรูปมาจากทางอินเตอร์เน็ตมาโพสต์ลงทวิตเตอร์ เมื่อลูกค้าสนใจและหลงเชื่อโอนเงินให้ ก็จะบล็อกไลน์  เปลี่ยนชื่อไลน์ เพื่อหลอกลวงไปเรื่อยๆ นายนพพรสารภาพว่า ทำไปเพราะความมึนเมาจากการเสพยา คึกคะนอง แต่ไม่ได้มีการจำหน่ายจริง ดังนั้นจากการสืบสวนทั้งหมดพบเป็นเพียงการหลอกลวงให้หลงเชื่อและโอนเงิน ขอยืนยันว่าจนถึงขณะนี้ ไม่พบว่ามียาอีผสมกาแฟอยู่จริงในประเทศไทย ธนาคารแห่งประเทศไทยเตรียมแก้หนี้ระยะยาวด้วยการรวมหนี้-รีไฟแนนซ์         พ.ย. 64 นางสาวสุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายและกำกับสถาบันการเงิน 2 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ได้มีการออกมาตรการแก้หนี้ระยะยาวด้วยการรีไฟแนนซ์ รวมหนี้ โดยให้สถาบันการเงินที่เป็นผู้รวมหนี้  ช่วยลดต้นทุนเรื่องการจัดชั้นและการกันเงินสำรอง โดยทำการรวมหนี้และผ่อนปรนหลักเกณฑ์การคำนวณสินทรัพย์เสี่ยงด้านเครดิต และไม่คิดค่าปรับไถ่ถอนก่อนกำหนดตั้งแต่ 16 พ.ย. 64 - 31 ธ.ค. 66 ส่วนการรวมหนี้ต้องใช้ระยะเวลาเตรียมการ เริ่มตั้งแต่สิ้นเดือน ธ.ค. 64 - 31 ธ.ค. 66 ส่วนในกรณีสถาบันการเงินหรือผู้ประกอบการไม่ปล่อยให้ลูกหนี้รีไฟแนนซ์ออกไปรวมกับหนี้แห่งอื่น ยืนยันเมื่อลูกหนี้นำเงินมาปิดหนี้มายื่นให้ สถาบันการเงินไม่มีสิทธิปฏิเสธ ทั้งนี้ ด้านนางสาว อรมนต์ จันทพันธ์ รองผู้อำนวยการ ฝ่ายนโยบายและกำกับสถาบันการเงิน 2 ธปท. กล่าวว่า ประโยชน์ของลูกหนี้ คือ ดอกเบี้ยลด สินเชื่อบ้านดอกเบี้ยเท่าเดิม สินเชื่ออื่นที่หากนำมารวมหนี้ จะบวกดอกเบี้ยจากสินเชื่อบ้านที่ใช้เป็นหลักประกันได้ไม่เกิน 2%  ศาลอุธรณ์รับเป็นคดีกลุ่มกรณีเกษตรกรได้รับผลกระทบจากพาราควอต         จากกรณีเกษตรกรที่อาศัยอยู่ใน อ.โนนสัง อ.นากลาง และ อ.สุวรรณคูหา จ.หนองบัวลำภู ได้รับความเสียหายจากการใช้ผลิตภัณฑ์ยาฆ่าหญ้า ยี่ห้อ ก๊อกโซน ที่มีสารพาราควอตผสมอยู่ ซึ่งก่อให้เกิดโรคเนื้อเน่า จนบางรายต้องตัดเนื้อส่วนที่เน่าออก ได้ยื่นฟ้องเป็นคดีสินค้าไม่ปลอดภัยจากสารพาราควอต กับบริษัท เจียไต๋ จำกัด จำนวน 16 รายนั้น         วันที่ 24 พฤศจิกายน 2564 นางสาวณัฐวดี เต็งพานิชกุล นักกฎหมายฝ่ายพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า คดีสินค้าไม่ปลอดภัยจากยาฆ่าหญ้าในศาลชั้นต้นไม่อนุญาตให้ดำเนินคดีแบบกลุ่ม แต่ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งอนุญาตให้ดำเนินคดีแบบกลุ่มได้ โดยมีเหตุผลเป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมายในเรื่องการดำเนินคดีแบบกลุ่ม โดยหากฟ้องคดีแยกกันการนำสืบที่แตกต่างกันทำให้ผลการตัดสินอาจไม่เหมือนกันได้ และผู้ที่ได้รับความเสียหายบางส่วนจะไม่ได้รับการเยียวยา ศาลยังเห็นว่า การที่ประชาชนได้รับการเยียวยาจากผู้ประกอบการที่ดำเนินธุรกิจที่ก่อให้เกิดความเสียหาย จะทำให้เกิดการลงโทษเชิงทรัพย์สินกับผู้ประกอบธุรกิจ และจะทำให้ผู้ประกอบธุรกิจตระหนักได้ว่าหากไม่แก้ไขปรับปรุงในการประกอบธุรกิจ ก็อาจถูกฟ้องร้องดำเนินคดีด้วยวิธีการดำเนินคดีแบบกลุ่มอีก ทั้งนี้ การดำเนินคดีฟ้องกลุ่มได้เรียกค่าเสียหายของสมาชิกกลุ่ม 16 คน เรียกค่าเสียหายรวมประมาณ 11.32 ล้านบาท

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 249 แผนปั่นให้โลกเย็น

        ในการประชุมภาคีสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ COP26 ที่เมืองกลาสโกว สก็อตแลนด์ ในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา สหพันธ์จักรยานแห่งทวีปยุโรป (European Cycling Federation) ได้เข้ายื่นจดหมายเปิดผนึกที่ลงนามโดย 350 องค์กรทั่วโลก เรียกร้องให้รัฐบาลประเทศต่างๆ ส่งเสริมการใช้จักรยานอย่างเร่งด่วนและกว้างขวาง เพื่อลดการปล่อยก๊าซที่ทำให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้น        โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้จักรยานในเมืองใหญ่ ร้อยละ 80 ของก๊าซเรือนกระจกเกิดขึ้นในเขตเมือง และโดยเฉลี่ย ผู้คนประมาณครึ่งหนึ่งของประเทศก็อยู่ในเมือง การสำรวจยังพบว่าคนเหล่านี้ยืนยันจะเป็นคนเมืองต่อไป แม้เหตุการณ์ไม่คาดฝัน เช่น การล็อคดาวน์ หรือวิกฤตเศรษฐกิจในช่วงโควิดจะทำให้การใช้ชีวิตลำบากไปบ้างก็ตาม         หลายเมืองใหญ่ในโลกได้ลงมือส่งเสริมการใช้จักรยานอย่างจริงจัง ประสบความสำเร็จบ้าง ประสบปัญหาบ้าง เรามาดูตัวอย่างกัน...         -        อัมสเตอร์ดัม เมืองหลวงของเนเธอร์แลนด์ อยู่ในอันดับต้นๆ ด้วยโครงสร้างพื้นฐานที่รองรับการใช้จักรยาน การออกแบบผังเมืองที่ดี การจำกัดความเร็วรถยนต์ รวมถึงขนาดของเมืองที่เล็กกะทัดรัด ทำให้มากกว่าร้อยละ 50 ของการเดินทางในเมือง เป็นการเดินทางด้วยจักรยาน ปัจจุบันเมืองนี้มีประชากร 1.15 ล้านคน จักรยานจดทะเบียนมากกว่า 900,000 คัน และเลนจักรยานความยาว 400 กิโลเมตร ไม่เพียงอัมสเตอร์ดัมเท่านั้น ร้อยละ 25 ของประชากรเนเธอร์แลนด์ใช้จักรยานในการเดินทางประจำวัน อัตราการถือครองจักรยานเฉลี่ยทั้งประเทศอยู่ที่คนละ 1.33 คัน (ด้วยสถิติโจรกรรมจักรยานที่ค่อนข้างสูง คนส่วนหนึ่งจึงถีบจักรยานเก่าๆ ไปทำงาน แต่จะมีจักรยาน “ไฮเอนด์” อีกคันจอดไว้ที่บ้าน สำหรับใช้ปั่นออกทริปไกลๆ)  ข้อมูลของประเทศเนเธอร์แลนด์ระบุว่าการใช้จักรยานจะทำให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์คนละ 21 กรัมต่อกิโลเมตร ขณะที่การใช้รถส่วนตัวทำให้เกิดคาร์บอนไดออกไซด์ 271 กรัมต่อคน/ต่อกม. แม้แต่การใช้รถเมล์ก็ยังทำให้เกิดก๊าซดังกล่าวถึงคนลั 101 กรัม/กม.  และการเปลี่ยนจากรถยนต์มาใช้จักรยานยังลดก๊าซไนโตรเจนออกไซด์ลงได้ร้อยละ 65 แถมประหยัดเงินได้ปีละไม่ต่ำกว่า 8,000 ยูโรเนเธอร์แลนด์ยังเคาะตัวเลขออกมาว่าทุกๆ 1 กิโลเมตรที่จักรยานผ่านไป จะทำให้เกิดผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ 0.68 ยูโร ในขณะที่รถยนต์ส่วนบุคคลและรถเมล์จะเป็นภาระต่อสังคมคิดเป็นมูลค่า 0.37 และ 0.29 ยูโร ต่อกิโลเมตร         -        ลอสแอนเจลิส เป็นอีกตัวอย่างที่น่าสนใจ เพราะเขาให้ความสำคัญกับการใช้จักรยานด้วยสาเหตุด้านสุขภาพ ทั้งๆ ที่โครงสร้างเดิมจะเป็นเมืองที่เกิดมารองรับการใช้รถยนต์ (อาจจะมากกว่าเมืองอื่นๆ ในอเมริกาด้วยซ้ำ) เมืองนี้ติดอันดับเมืองที่ประชากรวัยเด็กเป็นหอบหืดมากที่สุดในอเมริกา และปัญหารถติดสาหัสในเมืองก็ทำให้เกิดการสูญเสียทางผลิตภาพไปปีละไม่ต่ำกว่า 19,000 ล้านเหรียญ นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยที่พบว่ามีการแจ้งเหตุความรุนแรงในครอบครัวผ่านสายด่วน 911 เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 9 ในวันที่รถติดหนัก ที่สำคัญยังพบว่ารถเมล์เมืองนี้วิ่งได้เร็วแค่ประมาณ 17 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ไม่ต่างอะไรกับความเร็วจักรยาน และการเดินทางส่วนใหญ่ (เกินร้อยละ 65) มีระยะไม่เกิน 8 กิโลเมตร สิ่งที่เป็นปัญหาของแอลเอคือเรื่องความปลอดภัย สถิติการเกิดอุบัติเหตุกับผู้ใช้จักรยานที่นี่ค่อนข้างสูง แต่ความนิยมใช้จักรยานที่เพิ่มสูงขึ้นหลังการระบาดของโควิด-19 ก็ทำให้ภาครัฐหันมาให้ความใส่ใจปรับปรุงเรื่องนี้อย่างจริงจังขึ้น         -        ปารีส เมืองนี้ไม่พูดถึงไม่ได้เพราะเขามีนายกเทศมนตรีที่มุ่งมั่นจะปรับปรุงคุณภาพอากาศและคุณภาพชีวิตของผู้คน ด้วยการส่งเสริมให้การขี่จักรยานเป็นโหมดการเดินทางหลักของคนเมือง            หลังได้รับตำแหน่งในปี 2014  แอนน์ อิดัลโก ก็ทำตามสัญญาที่ให้ไว้เมื่อตอนหาเสียง เช่น ลดพื้นที่จอดรถยนต์ ลดกำหนดความเร็วรถจาก 50 กิโลเมตร/ชม. เป็น 30 กิโลเมตร/ชม.) เพิ่มทางจักรยาน ทั้งโดยการเปลี่ยนจากเลนรถยนต์และการสร้างเลนจักรยานขึ้นใหม่ รวมๆ แล้วปารีสได้ทางจักรยานมา 300 กิโลเมตร ด้วยงบประมาณ 150 ล้านยูโร         ปัจจุบัน “เครือข่าย” จักรยานในปารีสมีระยะทางมากกว่า 1,000 กิโลเมตร ในนี้รวมเอา “เลนโคโรนา” หรือเส้นทางชั่วคราวสำหรับใช้จักรยานในช่วงโควิด-19 ระบาดหนัก ระยะทาง 52 กิโลเมตร ที่ถูกเปลี่ยนมาเป็นเลนจักรยานถาวรอยู่ด้วย           นอกจากนี้ใจกลางกรุงปารีส ซึ่งเป็นที่ตั้งของสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญหลายแห่ง เช่น มหาวิหารนอร์เทรอดาม ยังถูกประกาศให้เป็นเขตห้ามรถยนต์เข้า นับว่ากร้าวมากสำหรับเมืองที่มีนักท่องเที่ยวมาเยือนมากที่สุดในโลก  ล่าสุด แอนน์ อิดัลโก นายกเทศมนตรีปารีสสองสมัยคนนี้ได้ประกาศลงสู้ศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีฝรั่งเศสในปีหน้า (2022) แน่นอนว่าเธอยังชูนโยบายเดิม ด้วยการประกาศว่าจะทำให้ปารีสเป็นเมืองที่ใช้จักรยานได้ 100% ภายในปี 2026         หันมาดูกรุงเทพมหานครของเรา เมืองที่มีผู้อยู่อาศัยไม่ต่ำกว่า 10 ล้านคน มีรถยนต์และจักรยานยนต์ไม่ต่ำกว่า 9 ล้านคัน และคุณภาพอากาศแบบคุ้มดีคุ้มร้าย ผู้คนมีทางเลือกสองทางเมื่อใช้ขนส่งสาธารณะ (จะเลือกแบบคุณภาพดีราคาแพง หรือแบบคุณภาพต่ำราคาถูก) ไหนจะปัญหาเรื่องการเชื่อมต่อ ในขณะที่คนพร้อมจะใช้จักรยานยังต้องยอมรับความเสี่ยงและความลำบากยุ่งยาก         ทั้งหมดนี้ดูแล้วยังไม่ใช่ “ชีวิตดีๆ ที่ลงตัว” แต่ปัญหานี้ยังไม่เคยถูกจัดการอย่างเป็นระบบ  ได้แต่หวังว่าผู้ที่จะได้รับเลือกตั้งเป็นผู้ว่ากรุงเทพมหานครคนใหม่ ในการเลือกตั้งที่ (คาดว่า) จะมีขึ้นในเดือนเมษายนปีหน้า จะมีนโยบายยกระดับคุณภาพอากาศและคุณภาพชีวิตของคนกรุงเทพฯ ได้อย่างยั่งยืนเสียที https://www.france24.com/en/france/20211103-residents-react-to-mayor-hidalgo-s-plans-for-a-100-bikeable-parishttps://www.dutchcycling.nl/en/https://www.amsterdamtips.com/cycling-in-amsterdamhttps://cop26cycling.com/https://streetsforall.org/

อ่านเพิ่มเติม >


ฉบับที่ 249 ติดโควิด ชีวิตเปลี่ยน บทเรียนการเยียวยาจิตใจหลังติดโควิด-19

        เกือบ 2 ปีแล้วที่คนทั่วโลกต้องผวากับโรคโควิด-19 ล่าสุดองค์การอนามัยโลกประกาศยืนยันว่าพบเชื้อกลายพันธุ์ชนิดใหม่ทางตอนใต้ของทวีปแอฟริกา ตั้งชื่อว่า โอไมครอน ซึ่งระบาดเร็วและรุนแรงกว่าที่ผ่านมา แสดงว่าเชื้อโควิดคงจะอยู่กับพวกเราไปอีกนานและทุกคนมีสิทธิ์ที่จะติดได้         เช่นเดียวกับคุณเกวรินทร์ ศิลาพัฒน์ นักวิชาการด้านการพัฒนาระบบสื่อ และรองผู้จัดการแผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ แม้เธอจะคลุกคลีกับข้อมูลด้านสุขภาพ ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโควิด-19 เคร่งครัด รวมทั้งทำอาหารกินเอง เน้นสั่งซื้อของทางออนไลน์ แต่สุดท้ายก็ติดโควิด-19 จากคนใกล้ชิด ประสบการณ์ที่เธอนำมาบอกเล่านี้จึงคล้ายกระจกสะท้อนให้ทุกคนเตรียมรับมือไว้ให้พร้อมเสมอ      เตรียมพร้อมรับมือโควิด-19 ไว้ก่อนที่จะติดแล้ว         ตั้งแต่โควิด-19 ระบาด เนกับแฟนก็ระวังตัวตลอด เนเป็นโรคหอบกับภูมิแพ้ แฟนมีความดันและโรคอ้วน แล้วเรายังต้องเดินทางไปทำงานเราก็กลัว เนตรวจ ATK ทุกๆ 7 วันอยู่แล้ว ก่อนจะระบาดหนักๆ เนซื้ออุปกรณ์และยาที่ต้องใช้เก็บไว้อย่างละ 2 ชุด ทั้งเครื่องตรวจวัดอุณหภูมิ เครื่องวัดความดัน ฟ้าทะลาย ยาแก้ปวด ยาแก้ไอ แผ่นเจลลดไข้ พร้อมใช้ยามฉุกเฉินทันที         พอวันที่ 8 สิงหาคม แฟนตรวจที่บริษัทแล้วพบว่าติด ยังไม่มีอาการอะไร เนแจ้งกับทางคอนโด และขอเช่าห้องเปล่าให้แฟนนอนแยกต่างหาก เขาปวดหัวมากและเริ่มมีไข้วันที่ 9 ช่วงกลางคืน ก็ให้กินยา ตอนนั้นคิดว่าทำอย่างไรให้เข้าสู่ระบบการรักษาได้เร็วที่สุด ก็ไปลงทะเบียนในไลน์ของ สปสช. ไว้ พอเขาแจ้งว่าจะมีโรงพยาบาลติดต่อกลับมาวันที่ 10 ซึ่งเราฟังมาจากหมอว่าอาการคนไข้จะหนักขึ้นในวันที่ 3 นับจากเริ่มมีอาการ พอถึงตอนนั้นเขาอาจจะไม่ไหวแล้ว เนจึงให้แม่ประสานกับโรงพยาบาลที่สุราษฎร์ธานี ฉุกละหุกมาก แต่โชคดีได้ติดรถมูลนิธิกุศลศรัทธาของจังหวัดสุราษฎร์ธานีกลับไปด้วยกัน         แฟนได้ไปรักษาที่โรงพยาบาล เนถูกแยกไปอยู่ LQ ตอนนั้นผลตรวจยังเป็นลบ แต่พอวันที่ 11 ปวดหัวมาก กินยาก็ไม่หาย พอกลางคืนข้ามจะวันที่ 14 สรุปผลตรวจออกมาเป็นบวก จึงต้องเข้าโรงพยาบาล หมอให้ยาฟาวิพิราเวียร์ เนไอจนอ้วก ปวดหัวมาก และท้องร่วงหนักจนหมอต้องให้น้ำเกลือกับออกซิเจน หลังจากรักษาอยู่ 2-3 สัปดาห์ เราทั้งคู่ก็ค่อยๆ อาการดีขึ้น แต่ต้องอยู่กักตัวต่อ 7 วัน ต้องทำหนังสือขอจังหวัดเพื่อจะกลับกรุงเทพฯ แล้วเราก็ตัดสินใจนั่งรถไฟกลับมาวันที่ 31 สิงหาคมรักษาโรคโควิด-19 หาย แต่กลายเป็นโรคแพนิก         ตอนที่อยู่โรงพยาบาล เนอยู่คนเดียวในห้องเปล่าๆ ไม่เจอโลกข้างนอกเลยตลอด 15 วัน เครียด จิตตก พอออกมากลายเป็นกลัวคนไปเลย แม้แต่ตอนนั่งรถไฟกลับมา เนก็กลัว ไม่กล้ากินข้าว ไม่กล้าไปห้องน้ำ ไม่กล้านั่งเก้าอี้ เพราะไม่รู้ว่าคนในรถไฟติดหรือเปล่า ต้องเอาแอลกอฮอล์ฉีด เอาผ้าเช็ดทุกอย่าง รู้สึกว่าให้มันปลอดภัย จนพอกลับมาบ้านอาการนี้ก็ยังเป็นอยู่         ตั้งแต่กลับมาบ้าน เนนอนข้างนอกที่โซฟาคนเดียวเพราะกลัวว่าจะติดซ้ำ แล้วก็ยังไปเข้มงวดกับแฟนด้วยว่าอย่าทำแบบนั้นอย่าทำแบบนี้เดี๋ยวติดอีกหรอก ตอนนั้นหนึ่งคือเราฟังเยอะไปว่าถ้าติดซ้ำจะหนักกว่าเดิม สองคือกังวลว่าเขากลับไปทำงานแล้วจะไปเอาเชื้อมาติดเราอีก พอเนพูดทุกวันๆ เป็นอาทิตย์สองอาทิตย์ไม่หยุด เขาเริ่มรำคาญว่าทำไมต้องพูดย้ำนักหนา แล้วเราก็ทะเลาะกัน ทั้งๆ ที่ก็รู้ว่าเขาติดมาจากที่ทำงาน ไม่มีใครอยากติดหรอก เขาเองก็เซฟตัวเองสุดๆ แล้ว แต่เหมือนเรากลัว หวาดระแวงไปหมด         จริงๆ เนเริ่มมีปัญหาสุขภาพจิตตั้งแต่ตอนอยู่ที่โรงพยาบาลแล้ว พยาบาลเห็นเนเริ่มเงียบๆ แปลกๆ ก็เลยให้ทำแบบประเมิน แล้วเหมือนเราเข้าข่ายต้องปรึกษาหมอ หลังจากที่กลับมาแล้วหมอก็ถามว่าได้คุยกับแฟนหรือยัง ก็บอกว่ายัง คือกลัวติด กลัวไม่หาย โน่น นี่ นั่น หมอบอกว่านี่คืออาการ Panic เป็นผลจากภาวะ Long COVID คือภาวะที่เป็นการกระทบทางจิตใจจากการติดโควิดจากคนรอบข้าง แม้ไม่ได้เกิดการสูญเสีย แต่ทำให้เป็นปัญหาครอบครัวระยะยาว คือถ้าไม่รักษา หรือคิดว่าเดี๋ยวก็หาย บอกเลยว่าไม่หาย แล้วยิ่งจะสะกิดความรู้สึกไปเรื่อยๆ อย่างพอใครเริ่มไอก็กลายเป็นหวาดระแวงกันเอง หมอแนะนำว่าควรปรึกษานักจิตวิทยา ขอคำปรึกษาเยียวยาจิตใจเพื่อคนในครอบครัว         เนไปเจอแอปพลิเคชั่นที่ให้ปรึกษาด้านจิตวิทยาของสมาคมนักจิตวิทยาแห่งหนึ่ง จองคิวปรึกษาไว้สัปดาห์ละครั้ง ใช้วิดีโอคอลคุยกัน ครั้งแรกเขาก็ถามว่าเป็นอย่างไร รู้สึกอย่างไร เนก็เล่าไป หมอบอกว่านั่นคือรีเฟล็ก ที่เราแสดงออกมาว่าเราไม่เข้าใกล้เขา คือนั่งก็นั่งห่างกัน ไม่จับ ไม่แตะ ไม่ต้อง แล้วก็จะฉีดแอลกอฮอล์ทุกอย่างในบ้าน วันแรกหมอแนะให้ลองจับมือกัน สวมแมสก์แล้วเข้าไปกอดกันสักครั้ง เนลองทำแล้ว แต่ก็ไม่หาย มันกลัว พอครั้งที่สองหมอก็แนะนำว่าลองกลับไปนั่งคุยกันดีๆ หาวิธีการว่ทำอย่างไรก็ได้ต้องมาจูนกันใหม่ ซึ่งพอเราคุยกันไปสักพัก สมองเนจะคิดเชิงตำหนิว่าเขาทำแบบนี้ๆ อีกแล้ว         ครั้งที่สาม หมอก็ประเมินว่าน่าจะมีอะไรแปลกๆ อยู่สักอย่างหนึ่งที่ตัวเนไม่ใช่ตัวแฟน หมอก็มีให้เลือกสองทาง หนึ่งคือแยกกันอยู่จนกว่าจะดีขึ้นและคิดถึงกัน สองคือเปลี่ยนสิ่งแวดล้อมทั้งหมดในบ้าน เพราะถ้ายังอยู่ในสิ่งแวดล้อมเดิมๆ เราจะคิดแต่เรื่องเดิมๆ เนเลยว่าจะลองจัดบ้านใหม่ หมอบอกว่าให้ชวนแฟนมาช่วยเราเลือกด้วยว่าอยากจะเปลี่ยนตรงไหนยังไง         พอเข้าสู่กระบวนการนี้ กลายเป็นเราได้อยู่ใกล้กันมากขึ้น ได้คิดด้วยกันว่าเราเปลี่ยนมุมห้องแบบนี้ดีไหม ทำให้ลืมเรื่องโควิดไปเลย เราช่วยกันจัดของ ช่วยกันประกอบเฟอร์นิเจอร์ที่สั่งมาใหม่ ทำให้เริ่มไม่มีระยะห่าง แต่เนจะติดอยู่อย่างเดียวคือทุกครั้งที่เขาไปทำงาน สมองจะเริ่มคิดอีกแล้วว่าเขาต้องไปเจอคนเยอะ แล้วเขาต้องติดกลับมาแน่เลย         อันนี้คุณหมอบอกให้ปล่อยวาง โดยก่อนหน้านั้นเนไม่ได้เข้าไปนอนในห้อง จนจัดห้องใหม่เสร็จ หมอก็บอกลองเข้าไปนอนในห้องสิ แล้วก็ทำกิจวัตรเหมือนที่เราเคยทำคือตรวจ ATK ดูอาการ สังเกตอาการ แล้วแนะนำว่าเวลานอนให้เอามือสัมผัสให้เรารู้สึกว่าเรามั่นใจในตัวเขา จะช่วยลดความหวาดระแวงนี้ได้พอสัปดาห์ที่ห้ามาประเมินก็ดีขึ้น แต่ยังรู้สึกติดอยู่นิดๆ ก็คิดว่ายังโชคดีที่เราไม่ถึงขั้นสูญเสีย กระบวนการเหล่านี้ช่วยรักษาความสัมพันธ์ในชีวิตคู่ให้เรา แล้วยังกลับไปชาร์จความรู้สึกให้พ่อกับแม่ของเนด้วย         เนรู้สึกผิดที่เห็นพ่อแม่ต้องลำบากและร้องไห้เพราะเป็นห่วงเรา จึงพยายามเอาวิธีการที่หมอแนะนำนี้ไปใช้ปลอบประโลมพ่อกับแม่ด้วย หมอบอกให้โทรไลน์ โทรคุยวิดีโอคอลกับพ่อแม่ให้เห็นหน้ากันทุกวันว่าเราปกติสมบูรณ์ดีและจิตใจเขาจะดีขึ้น วิธีการคือให้เราบอกเขาก่อนเลยว่าวันนี้เรารู้สึกดีอย่างไร คือต้องบอกเขาก่อนที่เขาจะถาม เพราะถ้าเขาถามแปลว่านั่นคือเขากังวล พอเราบอกเขาก่อนเขาก็รู้สึกคลายกังวล และให้ชวนคุยเรื่องอื่นๆ ที่สบายใจ ซึ่งพอทำตามวิธีนี้แล้วแม่กับพ่อก็ค่อยๆ ดีขึ้น เมื่อกลับมาทำงานก็ต้องปรับตัวต่อสังคม         หลังจากกลับมากรุงเทพฯ เนกลับมาทำงานในสัปดาห์ที่สอง ประเด็นก็คือเราทำงานสายสุขภาพด้วยเราคิดเยอะ เราก็เลยนอยด์ กลัว ไม่ใช่คิดว่าเขากลัวเรา แต่เรากลัวเขา แล้วก็เพิ่งกล้านั่งรถไฟฟ้าได้ไม่นานนี้เอง        ข่าวก็มีอิทธิพลต่อความรู้สึกมาก ในด้านลบทำให้เราหวาดระแวงว่าคนโน้นติดคนนี้ติด ไปตรงนั้นติดตรงนี้ติด เราก็เลยไม่มั่นใจว่าถ้ากลับไปใช้ชีวิตปกติ เราจะติดอีกไหม พอมีคนพูดว่าภายในหนึ่งเดือนติดซ้ำได้นะ ติดซ้ำแล้วอาการหนักขึ้น เราก็ยิ่งกลัว ส่วนในด้านบวกก็ทำให้เรามีข้อมูลข่าวสารว่าถ้าเราติดแล้วจะไปอยู่ที่ไหน ทำอย่างไร จะเข้ากระบวนการอย่างไร อันนี้จะช่วยได้เยอะ อยากให้แนะนำว่าถ้าติดโควิด-19 แล้วควรทำยังไง        ให้คุณทำใจไว้ได้เลยว่าโควิดไม่ได้หายไป แต่จะเป็นเมื่อไหร่ไม่รู้ เราต้องพร้อมเสมอ หนึ่งคือต้องมียาเอาไว้จะปลอดภัยสุด เพราะถ้าเริ่มมีอาการคุณกินก่อนได้เลย สองคือถ้าคุณมีอาการไข้ มีปรอท มีเครื่องวัดออกซิเจน คุณจะรู้ตัวเองว่าอาการหนักหรือไม่หนัก ฉะนั้นอุปกรณ์พวกนี้ควรมีติดบ้าน สามคือถ้าติดแล้วต้องมีสติให้มากๆ เพราะว่าบางคนพอติดแล้วแพนิกเตลิดไปเลย เนบอกเลยว่าตัวเองก็ตกใจมาก แต่ก็ดึงสติไว้ได้ ไม่ต้องหาสาเหตุว่าทำไมถึงติด ติดที่ไหนไม่ต้องหา ให้คิดไปข้างหน้าว่าติดแล้วเราจะไปที่ไหน         ถ้าเริ่มมีอาการไม่ดี ตรวจเลยอย่ารอ ควรจะมีชุดตรวจแบบ ATK ติดบ้านไว้ ถ้าติด ให้รีบเตรียมตัวเองเพื่อไปเข้ารับการรักษาให้เร็วที่สุด เพราะนั่นเท่ากับว่าคุณจะไม่มีเชื้อลงปอด คุณรอดตาย แต่ถ้าคุณมีเชื้อลงปอดเมื่อไหร่คุณนับระยะเวลาไปได้เลย 1 ปี กว่าคุณจะหาย อีกอย่างที่สำคัญคือหมอบอกว่าเนฟื้นตัวเร็วคือหนึ่งเนได้รับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ สองคือเนได้รับวัคซีนแอสตร้าซิเนก้ามาแล้วเข็มหนึ่ง เท่ากับว่าเรามีภูมิอยู่แล้วในระดับหนึ่งที่จะต่อต้านการลงปอดและต่อต้านอาการหนักได้         ช่วงมีอาการวันที่ 1 ถึงวันที่ 5 มันยากมากที่จะประคองตัวเอง แต่ขอให้ต่อสู้กับตัวเองให้ได้ คือโควิคมันมีไทม์ไลน์ จะหนักแค่ช่วงมีอาการวันที่ 3 ถึงวันที่ 5 แล้ววันที่ 6,7 จะดีขึ้น ถ้าคุณพ้นจากวันที่ 7 ไปได้ คุณคือคนใหม่ที่แข็งแรงขึ้นทั้งใจทั้งกาย อยากบอกคนที่เป็นโควิดว่าต้องมีสุขภาพใจที่แข็งแรง อย่าคิดว่าจะตนเป็นที่รังเกียจ ถ้าเป็นโควิดแล้วอยู่คนเดียว ไม่บอกใคร จะยิ่งแย่ถ้าใจเราอ่อนแอ เราต้องมีจิตใจเข้มแข็งมากๆ สิ่งที่ได้เรียนรู้จากการป่วยโควิดครั้งนี้         หลังจากวันที่ 7 จะเป็นช่วงฟื้นตัว ทำให้เนมีเวลาอยู่กับตัวเองมากขึ้น ได้ทบทวนตัวเอง ได้อ่านหนังสือเยอะมาก แล้วก็เรียนวาดรูปออนไลน์จบไปคอร์สหนึ่งด้วย แต่บางทีก็เหงา ดีที่เพื่อนๆ โทรมาชวนคุยบ่อยๆ ตอนนี้เราก็ใช้วิธีนี้กับน้องๆ เพื่อนๆ ที่ติดโควิดอยู่นราธิวาส ยะลา คือโทร.ถามทุกวันว่าเป็นอย่างไรบ้าง โอเคไหม เพราะเรารู้ว่าการต้องอยู่คนเดียวแบบนั้นมันทรมาน         โควิดมีทั้งโทษและประโยชน์ ถ้าบางคนใจสู้ ก็ไหว แต่ถ้าบางคนไม่สู้ ก็คือยอมแพ้ไปเลย แล้วบางคนก็คิดว่าคือไม่ไหวแล้วไม่มีทางรักษาแล้ว อันนั้นเป็นเพราะว่าคุณกลัว ยังมีทางออกอื่นอีกเยอะมาก ถ้าเราเตรียมตัวดีเราจะรับมือกับมันได้ ตอนนั้นก็พยายามจะโพสต์เล่าว่าตัวเองเป็นอย่างไร เพราะคิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์กับคนอื่น ถ้าเขามีอาการแบบนี้เขาต้องสังเกตอาการอย่างไร         อยากจะฝากบอกทุกคนว่าอย่ารังเกียจคนเป็นโควิด คนเป็นโควิดคือคนที่ต้องการกำลังใจมากที่สุด เพราะเขาต้องต่อสู้ด้วยตัวเองอย่างโดดเดี่ยว          โควิดไม่ได้เป็นแค่โรค แต่เป็นเหมือนแผลเป็นที่ทิ้งร่องรอยไว้ ให้เรายังรู้สึกติดอยู่ในใจตลอด

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 249 โควิดก็ยังไม่หมด และข้อมูลมั่วๆก็ยังมา (1)

        โควิด19 ยังไม่หมด ข้อมูลเกี่ยวกับโควิด 19 ที่ไม่ถูกต้องก็ยังคงถาโถมมาเรื่อยๆ ยิ่งคนในยุคนี้ที่มีอะไรๆ ก็ต้องรีบแชร์ไว้ก่อนโดยไม่ตรวจสอบ ยิ่งเป็นการสนับสนุนให้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้องนี้แพร่กระจายไปได้เร็ว และมันก็จะหมุนเวียนกลับมาอีกในอนาคต ดังนั้นขอรวบรวมข้อมูลมั่วๆ ที่เคยเจอ พร้อมกับคำชี้แจงที่ถูกต้องมาให้ผู้บริโภคได้เข้าใจจะได้ไม่ตกเป็นเหยื่อและหลงเป็นเครื่องมือกระจายข่าวโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์          กินยาแอสไพริน ช่วยรักษาโควิด 19 ให้หายได้         แชร์กันไปเยอะ จนสถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ต้องออกมาบอกว่าข้อมูลนี้ไม่จริง การรักษาโรคโควิด 19 ต้องให้การรักษาตามแนวทางของ ศบค. เป็นหลัก ส่วนการรักษาภาวะแทรกซ้อนของโรค อยู่ในดุลยพินิจของแพทย์ผู้ให้การรักษาเท่านั้น ผู้ป่วยโควิด 19 จึงไม่ควรซื้อยาแอสไพรินมารับประทานเอง การนำมารับประทานโดยไม่จำเป็นนอกจากจะไม่ช่วยรักษาอาการป่วยโควิด 19 แล้ว ยังอาจมีผลข้างเคียงจากแอสไพรินได้          ใช้น้ำเกลือ น้ำมะนาว หรือน้ำขิง ล้างคอ ต้านโรคโควิด 19         มีการแชร์คลิปเสียงอ้างว่าเป็นคณบดีคณะแพทย์ศิริราช แนะนำให้ใช้น้ำเกลือ น้ำมะนาว หรือน้ำขิง มาล้างคอ เพื่อต้านทานโควิด 19 ในเรื่องนี้คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลเคยออกมาแจ้งว่า เป็นข้อมูลเท็จ เสียงในคลิปนั้นก็ไม่ใช่เสียงของคณบดีคณะแพทย์ศิริราชแต่อย่างใด และยังชี้แจงเพิ่มเติมว่า การใช้น้ำเกลืออุ่นๆ น้ำมะนาวอุ่นๆ หรือน้ำขิงอุ่นๆ บ้วนปากและล้างคอ ก็ไม่สามารถฆ่าเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ได้         น้ำยาบ้วนปาก ป้องกันการติดเชื้อโควิด 19         กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ชี้แจงว่าตามที่มีการแชร์ข้อมูลน้ำยาบ้วนปาก ป้องกันการติดเชื้อโควิด 19 โดยอ้างว่าเป็นผลการศึกษาวิจัยชิ้นใหม่ของคณะนักวิทยาศาสตร์นานาชาติ ที่พบว่าน้ำยาบ้วนปากอาจมีประสิทธิภาพป้องกันการติดโควิด 19 ได้ด้วย เพราะสามารถทำลายเชื้อไวรัสโควิด 19 ก่อนที่มันจะสามารถเข้าสู่เซลล์ร่างกายมนุษย์         ข้อมูลดังกล่าวนี้เป็นเท็จ เพราะ น้ำยาบ้วนปากถูกผลิตให้ฆ่าเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้มีกลิ่นปาก แม้น้ำยาบ้วนปากบางชนิดจะมีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ แต่ความเข้มข้นของแอลกอฮอล์ จะไม่ถึงร้อยละ 20 ในขณะที่การฆ่าโควิดต้องใช้เอทิลแอลกอฮอล์ หรือเอทานอล ที่มีความเข้มข้น 70% ขึ้นไป หรือใช้โซเดียมไฮโปคลอไรท์ (NaOCl) ในการฆ่าเชื้อ ดังนั้นการใช้น้ำยาบ้วนปากฆ่าเชื้อโควิด 19 จึงไม่ได้ผล         รับประทานกล้วย ช่วยต้านโควิด 19         ข่าวนี้คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่าเป็นข้อมูลเท็จ ไม่มีผลในการช่วยต้านโควิดแต่อย่างใด นอกจากนี้ในผู้ป่วยโรคเบาหวานและผู้ป่วยโรคไต ก็ไม่ควรรับประทานกล้วยในปริมาณมากเพราะในกล้วยจะมีน้ำตาลและโพแทสเชียมสูง            กลั้นหายใจตรวจการติดเชื้อด้วยตัวเอง         มีการส่งต่อข้อมูลว่าสามารถตรวจสอบความเสี่ยงการติดโควิดด้วยตัวเอง โดยการหายใจเข้าลึกๆ แล้วกลั้นหายใจไว้ 10 วินาที รอดูว่ามีอาการไอ แน่นหน้าอกหรือไม่ หากไม่มีอาการแสดงว่าไม่ติดเชื้อ กระทรวงสาธารณสุข ออกมาชี้แจงว่าข้อมูลไม่เป็นความจริง ขณะนี้ยังไม่มีผลวิจัยทางการแพทย์ที่ออกมายืนยันว่าวิธีดังกล่าวสามารถใช้ตรวจการติดเชื้อโควิด 19 ได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 248 ทฤษฎีสมคบคิด โควิด-19 มาจากไหน

        ช่วงเวลาที่คนอเมริกันกำลังติดเชื้อโควิด-19 จำนวนมากในปี 2020 นั้น อดีตประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ได้เริ่มเผยแพร่ทฤษฎีสมคบคิดว่า โควิด-19 หลุดรอดออกมาจากห้องแล็บในหวู่ฮั่น ส่งผลให้ WHO ต้องส่งทีมงานไปพิสูจน์เรื่องนี้ที่ประเทศจีน แต่สุดท้ายก็ยังไม่สามารถสร้างความกระจ่างในเรื่องนี้ได้ อย่างไรก็ตามมีรายงานข่าวแบบไม่เป็นทางการในขณะนั้นว่า นักวิจัยหลายคนของสถาบันไวรัสวิทยาที่หวู่ฮั่นของจีนล้มป่วยจนต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลในเดือนพฤศจิกายน 2019 ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่นานก่อนที่ทางการจีนยืนยันการพบผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่รายแรกในเมืองหวู่ฮั่น         กลางเดือนกันยายน 2020 มีข่าวหนึ่งซึ่งแพร่หลายแทบทุกสื่อคือ Yan Li-Meng ออกเสียงแบบจีนว่า เหยียน ลี่-ม่อง ซึ่งเป็นแพทย์ (MD.) และนักจักษุวิทยา (Ph.D.) ชาวฮ่องกงซึ่งลี้ภัยออกจากฮ่องกงไปสหรัฐอเมริกาได้ให้สัมภาษณ์แก่สถานีโทรทัศน์ฟ็อกซ์นิวส์ว่า รัฐบาลจีนรู้เรื่องเกี่ยว covid-19 ตั้งแต่ก่อนมีการระบาด แต่ปกปิดเอาไว้จนเกิดการระบาดไปทั้งโลก นอกจากนี้เธอยังกล่าวหาหัวหน้าของเธอซึ่งเป็นที่ปรึกษาองค์การอนามัยโลกว่า ไม่นำพากับคำเตือนที่เธอบอกให้ระวังเชื้อไวรัสตัวใหม่เกี่ยวกับการติดต่อจากคนสู่คนได้ โดยหัวหน้าของเธออ้างว่า รัฐบาลจีนไม่อนุญาตให้เผยแพร่ข้อมูล ซึ่งทำให้แพทย์ตามโรงพยาบาลไม่กล้าให้ข้อมูลอะไรเกี่ยวกับคนไข้ที่มีอาการโรคทางเดินหายใจเฉียบพลันอย่างรุนแรง ส่งผลให้เธอต้องหนีออกไปสหรัฐอเมริกาเพื่อเปิดเผยให้คนทั้งโลกได้รู้ อย่างไรก็ดีข่าวดังกล่าวได้ถูกด้อยค่าลงโดยนักวิทยาศาสตร์ชั้นนำจากหลายประเทศ เนื่องจากหลักฐานที่ เหยียน ลี่-ม่อง อ้างถึงนั้นเป็นบทความวิชาการที่ตีพิมพ์ในวารสารซึ่งเป็นประเภท preprint ที่ต้องการความรวดเร็วในการเผยแพร่ข้อมูล จึงไม่มีการตรวจทานความถูกต้อง (no peer review)         ครั้นถึงวันที่ 15 สิงหาคม 2021 เว็บไซต์สำนักงานข่าว Global Times ของจีนได้มีบทความเรื่อง Conspiracy theory or reasonable skepticism? Why we should demand an investigation into US labs for origins of COVID-19 (ประมาณว่า...ทฤษฎีสมคบคิดหรือความสงสัยที่สมเหตุสมผล? ทำไมเราจึงควรเรียกร้องให้มีการสอบสวนห้องทดลองของสหรัฐฯ เพื่อหาที่มาของ COVID-19) ซึ่งกล่าวว่า ชาวจีนกว่า 25 ล้านคนได้ลงนามเพื่ออุทธรณ์ให้มีการสอบสวนห้องปฏิบัติการทางชีววิทยาใน Fort Detrick สังกัดกองทัพบกในสหรัฐอเมริกาในลักษณะเดียวกับที่ WHO ทำกับสถาบันไวรัสวิทยาหวู่ฮั่นของจีน         ในบทความของ Global Times นั้นนักข่าวได้ชี้ถึงเบาะแสและข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเอกสารทางวิชาการและรายงานสาธารณะส่วนหนึ่งจากสื่ออเมริกัน ก่อให้เกิดข้อสงสัยเกี่ยวกับห้องปฏิบัติการใน Fort Detrick ซึ่งโยงไปถึงความเกี่ยวข้องกับ ดร. ราล์ฟ แบริค (Ralph Baric) ศาสตราจารย์ในภาควิชาระบาดวิทยาและศาสตราจารย์ในภาควิชาจุลชีววิทยาและภูมิคุ้มกันวิทยาที่ University of North Carolina at Chapel Hill ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญในการปรับแต่งไวรัสให้เปลี่ยนแปลงได้ตามต้องการด้วยเทคนิคการตัดแต่งพันธุกรรม         ในบทความวิจัยเรื่อง Reverse genetics with a full-length infectious cDNA of severe acute respiratory syndrome coronavirus (ประมาณว่า...การย้อนกลับของระบบพันธุกรรมทำให้ได้ cDNA ที่ก่อการติดเชื้อได้ของไวรัสโคโรนาซึ่งก่อโรคทางเดินหายใจเฉียบพลันอย่างร้ายแรง) ในวารสาร PNAS หรือ Proceedings of the National Academy of Sciences of the United States of America ของปี 2003 โดยคำว่า cDNA ย่อนั้นมาจาก complementary DNA ซึ่งเป็น DNA สายเดี่ยวที่สร้างจาก RNA template โดยอาศัยเอ็นซัม reverse transcriptase ช่วยเร่งปฏิกิริยา งานวิจัยนี้ได้แสดงศักยภาพของเทคนิคที่คิดค้นชื่อ reverse genetics system จนสามารถสังเคราะห์ cDNA แบบเต็มความยาวจากหน่วยพันธุกรรมคือ RNA ของ SARS-CoV สายพันธุ์ Urbani จากเทคนิคดังกล่าวทำให้ทีมวิจัยสามารถสังเคราะห์ไวรัสโคโรนาในกลุ่ม SARS ที่มีการกลายพันธุ์ตามตำแหน่งที่ต้องการขึ้นมาได้ และสุดท้ายผู้เกี่ยวข้องในการทำวิจัยได้ยื่นขอสิทธิบัตรสิ่งที่ค้นพบสำเร็จในปี 2007 (patent code US7279327B2)         นิตยสาร MIT Technology Review ฉบับวันที่ 29 มิถุนายน 2021 มีบทความเรื่อง Inside the risky bat-virus engineering that links America to Wuhan (ประมาณว่า...ความเสี่ยงที่เชื่อมโยงให้อเมริกาเกี่ยวข้องกับหวูฮั่นนั้นเกิดเนื่องจากไวรัสในค้างคาวที่ถูกตัดแต่งพันธุกรรม) ได้กล่าวว่า หลังตีพิมพ์ผลงานเกี่ยวกับวิธีสำคัญในการสังเคราะห์ไวรัสได้ในปี 2007 แล้ว ดร.แบริค ได้เริ่มสะสมตัวอย่างไวรัสโคโรนาจากทั่วโลกโดยหวังสร้างไวรัสโคโรนาที่เป็นต้นแบบที่นำไปสู่การพัฒนายาและวัคซีนที่ต่อต้านไวรัสโคโรนาทั้งหลายที่ออกฤทธิ์คล้ายเชื้อไวรัสก่อโรค SARS (ในปี 2013)         เว็บ www.justia.com ให้ข้อมูลว่า (ณ เดือนสิงหาคม 2021 ) ดร.แบริค นั้นถือสิทธิบัตร 13 เรื่องที่เป็นรายละเอียดเกี่ยวกับไวรัสที่เป็นอันตราย 3 ชนิด โดยสิทธิบัตรต่างๆ นั้นน่าจะนำไปสู่การสร้างวัคซีนต่อต้านและวิธีการวินิจฉัยโรคเกี่ยวกับไวรัสเช่น สิทธิบัตรเกี่ยวกับ Dengue virus ซึ่งก่อให้เกิดไข้เลือดออก สิทธิบัตรเกี่ยวกับ Zika virus ซึ่งก่อโรคที่มีอาการคล้ายไข้เลือดออกแต่อันตรายน้อยกว่า ยกเว้นในหญิงมีครรภ์ที่ติดเชื้อนี้จะคลอดลูกออกมามีสมองเล็กกว่าปรกติ และสิทธิบัตรการสร้างหนามโปรตีนของไวรัสโคโรนา         ในช่วงปลายปี 2019 มีข่าวซึ่งเป็นที่สนใจไปทั่วโลกว่า ทีมของนักวิทยาศาสตร์จีนนำโดย ดร.ฉี เจิ้งลี่ (Dr. Shi Zhengli) ซึ่งเป็นนักไวรัสวิทยาและรองผู้อำนวยการสถาบันไวรัสวิทยาที่หวู่ฮั่น ในมณฑลหูเป่ยทางตอนกลางของจีน ได้ประกาศถึงความสำเร็จในการถอดรหัสพันธุกรรมของ coronavirus ในค้างคาวถ้ำ (Chinese horseshoe bat) ที่จับได้ในมณฑลยูนนาน ซึ่งอยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีนและพบว่า เป็นไวรัสสายพันธุ์ใหม่         มีคลิปวิดีโอใน YouTube เรื่อง Wuhan Lab Scientist Warns Coronavirus Is Just The Tip Of An Iceberg ซึ่งมีใจความสำคัญในการกล่าวเตือนต่อสาธารณะว่า การพบไวรัสโคโรนาชนิดใหม่นี้จำเป็นต้องมีการศึกษาให้ดีเพราะจะต้องหาหนทางป้องกันหากเกิดการระบาดครั้งใหญ่ นอกจากนี้ในการให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์ CGTN นั้น ดร.ฉี กล่าวว่า ตัวอย่างไวรัสที่ศึกษานั้นได้รับในวันที่ 30 ธันวาคม 2019 จากนั้นจึงทำการถอดรหัสพันธุกรรมและตั้งชื่อชั่วคราวว่า ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (novel coronavirus) พร้อมทั้งแจ้งข้อมูลไปยัง WHO ในวันที่ 12 มกราคม 2020 ซึ่งต่อมาในต้นเดือนกุมภาพันธ์จึงเริ่มพบว่า ไวรัสสายพันธุ์ใหม่นี้มีความเชื่อมโยงกับอาการปอดบวมอย่างหนักของคนไข้ของโรงพยาบาลที่หวู่ฮั่น         กลับไปที่นิตยสาร MIT Technology Review ฉบับวันที่ 29 มิถุนายน 2021 ซึ่งให้ข้อมูลย้อนหลังถึงการเกี่ยวข้องของ ดร. แบริค ที่นำมาสู่ความน่าสงสัยเกี่ยวกับต้นตอของ SARS-CoV-2 โดยกล่าวว่า ดร.แบริค เคยติดต่อกับ ดร.ฉี เพื่อขอตัวอย่างข้อมูลพันธุกรรมของไวรัสโคโรนาที่ถูกสะสมในห้องปฏิบัติการของสถาบันฯ เพื่อนำไปใช้ในการวิจัยและทดลองสร้างไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ภายในห้องปฏิบัติการที่อาจแพร่เชื้อสู่มนุษย์ได้ และสุดท้ายได้มีการตีพิมพ์ข้อมูลความสำเร็จโดยมี ดร.แบริคและ ดร.ฉี เป็นผู้ร่วมวิจัย บทความนั้นชื่อ A SARS-like cluster of circulating bat coronaviruses shows potential for human emergence (ประมาณว่า...ไวรัสโคโรนาที่มีลักษณะคล้ายกลุ่มไวรัสที่ก่อให้เกิดโรค SARS ในค้างคาวได้แสดงศักยภาพในการก่อโรคในมนุษย์) ในวารสาร Nature Medicine ของปี 2015           บทความใน Nature Medicine ดังกล่าวเป็นการร่วมงานของทีมนักวิจัยจาก University of North Carolina at Chapel Hill และหน่วยงานสำคัญอื่นๆ ในสหรัฐอเมริกา รวมถึงห้องปฏิบัติการของ US.FDA ตลอดถึงนักวิจัยจาก Wuhan Institute of Virology, Chinese Academy of Sciences ซึ่งเมื่อพิจารณาจากการค้นพบและการตีพิมพ์ผลงานแบบเปิดเผยนั้น อาจสื่อได้ถึงความบริสุทธิ์ใจในการเผยแพร่ข้อมูลทางวิชาการเกี่ยวกับโอกาสของเชื้อไวรัสโคโรนาที่อาจกลายพันธุ์แล้วระบาดในมนุษย์ โดยทีมนักวิจัยได้อธิบายถึงการดัดแปลงรหัสพันธุกรรมของ RNA ส่วนที่สร้างหนามโปรตีนของไวรัส SARS-CoV (ชนิดที่ก่อการติดเชื้อทางเดินหายใจในหนูเม้าส์) ไปเป็นรหัสทางพันธุกรรมที่สร้างหนามโปรตีนของไวรัสสายพันธุ์ SHC014 (ซึ่ง ดร.ฉี ส่งให้ ดร.แบริค) ส่งผลให้ได้ไวรัสสังเคราะห์ชนิดใหม่ (synthetic virus) ซึ่งมีศักยภาพในการก่อการติดเชื้อในคนได้ เพราะไวรัสใหม่มีหนามโปรตีนที่สวมเข้าพอดีกับตัวรับ ACE2 ของเซลล์ซึ่งแยกจากทางเดินหายใจของมนุษย์แล้วเลี้ยงในห้องทดลอง สิ่งที่น่ากังวลประการหนึ่งจากบทความนี้คือ ได้มีการประเมินวิธีการบำบัดการติดเชื้อไวรัสใหม่ด้วยระบบภูมิคุ้มกันชนิดโดยโมโนโคลนัลแอนติบอดีและแนวทางการใช้วัคซีนตลอดจนถึงการใช้ยาที่มีอยู่ในขณะนั้นต่อการต้านเชื้อใหม่แล้ว พบว่าแนวทางที่มีอยู่ขณะนั้นมีประสิทธิภาพต่ำจนถึงล้มเหลวในการจัดการและป้องกันการติดเชื้อไวรัสโคโรนาที่ถูกสังเคราะห์ให้มีโปรตีนหนามแบบใหม่         งานวิจัยที่กล่าวถึงในวารสาร Nature Medicine ของปี 2015 นั้น ได้รับการสนับสนุนเงินทุนวิจัยจากหลายแหล่งคือ National Institute of Allergy & Infectious Disease (ซึ่งมี ดร. Anthony S. Fauci เป็นผู้อำนวยการ และมีห้องปฏิบัติการด้านโรคติดเชื้อร้ายแรงในค่ายทหารบก Fort Detrick), National Institute of Aging of the US National Institutes of Health, National Natural Science Foundation of China และ EcoHealth Alliance ซึ่งเป็นองค์กรเอกชน (ที่ได้เงินสนับสนุนจากหน่วยงานที่มีภารกิจในการป้องกันประเทศของสหรัฐฯ) โดยมีบทบาทในการปกป้องผู้คน สัตว์ และสิ่งแวดล้อมจากโรคติดต่ออุบัติใหม่          ดังนั้นโดยสรุปแล้วจะเห็นได้ว่า สองประเทศยักษ์ใหญ่ที่มีเทคโนโลยีด้านชีวภาพสูงนั้นได้มีความร่วมมือในการทำวิจัยเพื่อให้ได้ความรู้เกี่ยวกับไวรัสสายพันธุ์ที่ถูกทำนายว่า น่าจะก่อหายนะแก่มนุษย์ ก่อนเกิดการระบาดของโควิด-19 แล้วถึง 4 ปี ผู้เขียนคาดเอาเองว่า อีกไม่นานอาจมีภาพยนตร์ที่สร้างตามพล็อตเรื่องของทฤษฎีสมคบคิดนี้ในแนวทางเดียวกับภาพยนต์เรื่อง Contagion ซึ่งฉายในปี 2011 และมีชื่อไทยว่า สัมผัสล้างโลก

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 248 โควิด 19 น่ะของจริง แต่ผลิตภัณฑ์บางอย่างอาจจะปลอม?

        ข่าวผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ในการรักษาผู้ติดเชื้อโควิด19 จะมีการเผยแพร่ออกมาเรื่อยๆ ล่าสุดมีการนำผลิตภัณฑ์ยาสมุนไพรที่ใช้ในผู้ป่วยจากประเทศจีนเข้ามาขออนุญาตจำหน่ายในไทย โดยยานี้ได้รับอนุญาตในประเทศไทยแล้ว โดยให้สรรพคุณบรรเทาอาการจากไข้หวัดใหญ่ เช่น ไข้ ปวดเมื่อยร่างกาย บรรเทาอาการไอ เจ็บคอ ปวดหัว และเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จึงทำให้ประชาชนต้องการยาสมุนไพรชนิดนี้มาก จึงมีผู้ฉวยโอกาสนำยาปลอมลักลอบมาจำหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์จำนวนมาก และยังขายในราคาแพงกว่ายาจริงอีกด้วย        จากข้อมูลที่ได้รับแจ้งจากผู้บริโภคพบว่าจำหน่ายถึงราคากล่องละ 350-380 บาท ในขณะที่ผลิตภัณฑ์ยาสมุนไพรของแท้ราคากล่องละ 279 บาทเท่านั้น ซึ่งล่าสุดผู้นำเข้ายาสมุนไพรนี้ได้แจ้งความเพื่อให้ตำรวจติดตามดำเนินคดีแล้ว         สมุนไพรจากจีนยังมีมาอีกเรื่อยๆ ล่าสุดสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา พบการโฆษณาขายผลิตภัณฑ์สเปรย์พ่นจมูกต้านเชื้อแบคทีเรีย ทางสื่อออนไลน์ โดยระบุสรรพคุณว่า สมุนไพรชนิดนี้ ใช้สเปรย์พ่นจมูกต้านเชื้อแบคทีเรีย ป้องกันและรักษาโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ จมูกตัน น้ำมูกไหล จมูกคัน แห้งตึง สูตรสมุนไพรบริสุทธิ์ สเปรย์ฆ่าเชื้อป้องกันไวรัส และต้านการอักเสบที่มีประสิทธิภาพ 10 วินาทีผ่านโพรงจมูกและหายเร็วโดยไม่เกิดซ้ำ” จนบางคนนำไปใช้กับผู้ป่วยโควิด 19         สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริง พบว่าผลิตภัณฑ์นี้ยังไม่ได้รับอนุญาตจาก อย. จึงไม่สามารถประเมินความปลอดภัยและประสิทธิผลตามที่กล่าวอ้างได้ และพบว่าผู้จำหน่ายมีลูกเล่นในการหลบเลี่ยงให้ดำเนินการตามกฎหมายได้ยาก โดยเมื่อจะสั่งซื้อผลิตภัณฑ์ ผู้ซื้อจะต้องกรอกข้อมูลชื่อผู้ซื้อและเบอร์โทรศัพท์ของตนลงในเว็บไซต์ หลังจากนั้นผู้ขายจึงจะติดต่อกลับเพื่อส่งสินค้าโดยการเก็บเงินปลายทาง ทำให้โฆษณานี้จะไม่สามารถเชื่อมโยงกับผู้ขายได้ และหากผู้บริโภคใช้ผลิตภัณฑ์แล้วไม่ได้ผลตามที่กล่าวอ้างหรือได้รับอันตราย การเอาผิดใดๆ กับผู้ขายก็ทำได้ยาก        นอกจากสมุนไพรจีนแล้ว ยังมีผู้นำผลิตภัณฑ์ยาสมุนไพรทางเลือกในไทย ไปมอบให้ตามโรงพยาบาลสนามหรือศูนย์พักคอยผู้ป่วยโควิด 19 โดยแนะนำว่าให้ใช้รักษาโควิด มีการนำเสนอภาพการรับมอบผลิตภัณฑ์ หรือคลิปประสบการณ์ของผู้ติดเชื้อโควิด 19 ที่ใช้ผลิตภัณฑ์ชนิดนี้แล้วหายจากการป่วย ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงพบว่า ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมีการโฆษณาอ้างว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบจากสมุนไพรหลายชนิด ได้แก่ ฟ้าทะลายโจร แก่นจันทน์แดง แก่นจันทน์ขาว หัวคล้า รากฟักข้าว รากมะนาว รากสะแก รากกระทุงหมาบ้า รากย่านาง บอระเพ็ด แต่เมื่อตรวจสอบจากสูตรที่ขึ้นทะเบียนตํารับแล้ว พบว่าไม่มีฟ้าทะลายโจรเป็นส่วนประกอบ และมิได้มีสรรพคุณหรือมีฤทธิ์ในการช่วยรักษาการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 แต่อย่างใด และไม่พบหลักฐานข้อมูลการวิจัยถึงประสิทธิผลและความปลอดภัยในการใช้เพื่อข้อบ่งใช้เพื่อรักษาโรคโควิด-19  นอกจากนี้ยังพบว่าผลิตภัณฑ์สมุนไพรดังกล่าวขึ้นทะเบียนเป็นผลิตภัณฑ์ยาแผนไทย มีข้อบ่งใช้เป็นยาแก้ไข้ ดังนั้นการนำเอาผลิตภัณฑ์สมุนไพรดังกล่าวมาใช้เพื่อรักษาโรคโควิด-19 จึงไม่สอดคล้องตามสรรพคุณที่ขึ้นทะเบียนไว้         ในยุคที่ผู้คนกำลังตื่นตัวในการดูแลสุขภาพเพื่อป้องกันและรักษาโควิด 19 แม้การใช้ผลิตภัณฑ์ทางเลือกต่างๆ จะเป็นสิ่งที่หลายคนอยากลองนำมาใช้ แต่หากเราผลีผลามนำมาใช้โดยไม่หาข้อมูลอย่างรอบคอบแล้ว เราอาจจะเสียทั้งเงิน และอาจเสี่ยงต่ออาการป่วยที่ลุกลามไปได้ ดังนั้นควรปรึกษาหรือติดตามตรวจสอบข้อมูลจากหน่วยงานของสาธารณสุขก่อนจะดีกว่า

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 247 ความเคลื่อนไหวเดือนกันยายน 2564

อนุทินแจงสาธารณสุขโดนแฮกข้อมูลคนไข้จริงสั่งเร่งแก้ปัญหา        จากกรณีเพจเฟซบุ๊กน้องปอสาม ได้เปิดเผยถึงการถูกแฮกข้อมูลผู้ป่วย 16 ล้านราย ของกระทรวงสาธารณสุขไทย วันที่ 7 กันยายน 2564  นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้เผยว่า ยอมรับว่าข้อมูลผู้ป่วยถูกแฮกจริง โดยข้อมูลที่ถูกแฮกเกิดขึ้นใน จ.เพชรบูรณ์ และเคยเกิดที่ จ.สระบุรี แต่เป็นข้อมูลทั่วไป ไม่ใช่ข้อมูลที่เป็นความลับแต่ประการใด ทั้งนี้ ได้สั่งให้ปลัด สธ. เร่งดำเนินการแก้ไข ด้าน นพ. ธงชัย กีรติหัตถยากร รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้แถลงการณ์กรณีการแฮกข้อมูลผู้ป่วยว่า ข้อมูลที่โดนประกาศขายมาจากฐานข้อมูลย่อยที่ทางเจ้าหน้าที่ของ รพ. ต้นทาง ไม่ได้เป็นข้อมูลเชิงลึกที่อยู่ในระบบฐานข้อมูลของโรงพยาบาล ซึ่งแฮกเกอร์ได้เพียงข้อมูลชื่อนามสกุล เบอร์โทรศัพท์ สิทธิในการรักษา อาทิ ประกันสังคม ข้าราชการ บัตรทอง ประวัติการนัดคนไข้ของแพทย์ ข้อมูลการแอดมิท ตารางเวรของแพทย์และการคำนวณรายจ่ายการผ่าตัดราว 692 ราย เพื่อซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ เป็นต้น ส่วนการดำเนินการตรวจสอบเรื่องความเสี่ยงได้ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการรักษามั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์แห่งชาติ สธ. และกระทรวงดีอีเอส ได้มีการแบ็กอัพข้อมูลทั้งหมด ว่ายังมีสิ่งใดซ่อนอยู่ในเซิร์ฟเวอร์หรือไม่” องค์การเภสัชกรรมเตือน “ฟาวิพิราเวียร์” ขายออนไลน์ผิดกฎหมาย        วันที่ 8 กันยายน 2564  ภญ.ศิริกุล เมธีวีรังสรรค์ รองผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม กล่าวว่า มีผู้แอบอ้างประกาศขายยาฟาวิพิราเวียร์ ซึ่งเป็นยาต้านไวรัสโควิด-19 ขององค์การเภสัชกรรมที่ได้ทำการผลิตวิจัยและพัฒนาเองผ่านทางอินเทอร์เน็ต โดยระบุเป็นยาขององค์การเภสัชฯ จึงขอเตือนผู้บริโภคระวังอาจได้ยาปลอมและการขายผ่านอินเทอร์เน็ตเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย เนื่องจากยาฟาวิพิราเวียร์จัดอยู่ในกลุ่มยาควบคุมพิเศษ โดยสั่งจ่ายโดยแพทย์เท่านั้นและต้องติดตามผลการรักษาตลอด ซึ่งปัจจุบันยังไม่สามารถวางขายทั่วไปและออนไลน์ได้ กระท่อม "ต้ม-ปรุงอาหารขาย" ยังผิดกฎหมาย        กรณีพืชกระท่อมถูกปลดออกจากบัญชียาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 และประชาชนเริ่มค้าขายใบกระท่อมได้นั้น เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2564 นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า หลังจากรัฐสภาได้เห็นชอบ พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 8) ซึ่งเป็นการถอดพืชกระท่อมออกจากบัญชียาเสพติดให้โทษประเภท 5 ยังมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการใช้พืชกระท่อมว่าสามารถทำในส่วนใดได้บ้าง ขอชี้แจงว่า ส่วนของการเคี้ยวใบ การปลูก การครอบครองและขายใบสด โดยไม่ได้ปรุงหรือทำเป็นอาหารสามารถทำได้อย่างเสรีไม่ผิดกฎหมาย แต่หากนำไปทำผลิตภัณฑ์สมุนไพรและแจ้งว่ามีสรรพคุณช่วยบรรเทาอาการต่างๆ จะต้องไปขออนุญาตตามกฎหมายของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เพราะมีกฎหมาย พ.ร.บ.ผลิตภัณฑ์สมุนไพร พ.ศ.2562 ควบคุม        หรือการนำไปทำเป็นอาหารหรือเป็นส่วนผสมในอาหารเพื่อขายนั้น  พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ.2522 ยังไม่ปลดล็อคให้สามารถนำพืชกระท่อมไปทำอาหารหรือผสมในอาหารเพื่อจำหน่ายได้ แม้กระทั่งน้ำต้มกระท่อมที่ไม่ได้ผสมกับสิ่งใดเลย ก็เป็นสิ่งที่ห้ามผลิตเพื่อจำหน่าย โดยประกาศของกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 424 ) พ.ศ.2564 ออกตามความใน พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ.2522 เรื่อง กำหนดอาหารที่ห้ามผลิต นำเข้าหรือจำหน่าย ซึ่งกำหนดให้อาหารที่ปรุงจากพืชกระท่อมนั้น เป็นอาหารที่ห้ามผลิตนำเข้าหรือจำหน่าย การฝ่าฝืน ผลิต และขาย อาหาร ที่ พ.ร.บ.อาหาร ห้ามมีโทษตามมาตรา 50 จำคุก 6 เดือน-2 ปี ปรับ 5,000-20,000 บาท ตรวจสอบผ้าก่อนอบแห้ง        จากกรณีมีคลิปวิดีโอเผยแพร่เครื่องอบผ้ามีไฟลุกท่วมของร้านสะดวก Otteri wash & dry ซึ่งทางต้นคลิปได้ระบุว่า เจ้าของน่าจะเป็นการลืมไฟแช็กไว้ในกระเป๋าเสื้อผ้า  ทางบริษัท อ๊อตเทริ วอช แอนด์ ดราย จำกัด เจ้าของแบรนด์แฟรนด์ ได้ชี้แจ้งสาเหตุว่า ไม่มีการลืมไฟแช็คในผ้าและเกิดจากการนำผ้าที่ไม่ควรนำเข้าอบใส่ในเครื่องอบ หลังบริษัทลงพื้นที่ตรวจสอบระบบแก๊สและระบบไฟฟ้า พบว่ามีการทำงานปกติ และได้มีการตรวจสอบ ณ จุดเกิดเหตุไฟไหม้ที่เครื่องอบผ้า พบว่า ซากของผ้าที่อยู่ด้านในกลายสภาพเป็นพลาสติกแข็ง ซึ่งเป็นชุดกีฬา ชุดผ้าร่ม ซึ่งเป็นผ้าที่ไม่ควรนำเข้าเครื่องอบ เพราะเส้นใยผ้าที่ผ่านสภาพการใช้งานพักหนึ่งจะไม่สามารถทนต่อความร้อนได้ จึงจะดำเนินการเพิ่มคือ มีป้ายประกาศเรื่องของชนิดผ้าที่ห้ามนำเข้าเครื่องอบติดตั้งอยู่ภายในร้าน ศาลตัดสิน “จ่ายค่าเสียหายผู้พิการ”กรณีสร้างลิฟต์ระบบไฟฟ้าบีทีเอสล่าช้า 5 ปี        จากกรณีภาคีเครือข่ายขนส่งมวลชนทุกคนต้องขึ้นได้และภาคีคนพิการ ร่วมกันฟ้องยื่นฟ้อง กทม. ปี 2550 ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาวันที่ 20 มกราคม 2558 ให้ กทม. จัดทำลิฟต์และสิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐานตามกฎหมายในระบบรถไฟฟ้าบีทีเอส สายแรกที่อยู่ในสัมปทานให้ครบทั้ง 23 สถานี ภายในวันที่ 21 มกราคม 2559 แต่จนถึงปี 2564  ยังไม่ดำเนินการสร้างลิฟต์และสิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐานให้เสร็จได้ เป็นเวลา 5 ปีแล้ว วันที่ 15 กันยายน 2564 ศาลปกครองสูงสุดได้นัดฟังคำพิพากษา กรณีเรียกร้องค่าเสียหายที่ กทม. ไม่สามารถสร้างลิฟต์บนระบบรถไฟฟ้าบีทีเอสให้เสร็จภายใน 1 ปี ด้านนายสว่าง ศรีสม ผู้จัดการโครงการและแผนงานภาคีเครือข่ายขนส่งมวลชนทุกคนต้องขึ้นได้ กล่าวว่า ศาลปกครองสูงสุดตัดสินให้ กทม. ซึ่งเป็นผู้ให้สัมปทาน รับผิดชอบค่าเสียหายให้แก่ผู้พิการที่ร่วมฟ้องกว่า 500 คนที่ได้รับความเสียหาย โดยต้องมีภูมิลำเนาใน กทม. และพิสูจน์ได้ว่าทำงาน/อยู่อาศัยใน กทม. ต้องใช้ขนส่งสาธารณะในกรุงเทพฯ เป็นประจำ เป็นค่าชดเชยค่าเสียหายจำนวน 5,000 บาทต่อคน รวมดอกเบี้ย ร้อยละ 7 ต่อปี นับตั้งแต่ปี 2559 ที่ควรจะทำให้แล้วเสร็จ เป็นเวลา 5 ปี และให้กทม.จ่ายค่าชดเชยค่าเสียหายภายใน 6-7 วัน   เคลมประกันโควิดเกิน 15 วัน เร่งใช้สิทธิร้องทุกข์        มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเผย ผู้ร้องเรียนกรณีเคลมประกันโควิด-19 ล่าช้าเกิน 15 วัน บางส่วนได้รับค่าสินไหมแล้ว หลังมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคพายื่นเรื่องที่ คปภ. เมื่อวันที่ 10 กันยายน แม้ยังมีผู้ที่ไม่ได้รับค่าสินไหมกว่าครึ่งของรายชื่อที่ส่งไป แต่คาดว่าคงได้รับการแก้ไขปัญหาทุกราย         นางสาวฟิตรีนา อาลี เจ้าหน้าที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า ผู้บริโภคที่พบปัญหาเรื่องบริษัทประกันจ่ายค่าสินไหมประกันโควิด-19 ล่าช้า เกิน 15 วัน สามารถร้องเรียนมาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค โดยเตรียมเอกสารดังนี้ 1. ใบรับรองแพทย์ 2. รายงานการตรวจ RT-PCR (ถ้ามี)  3. สำเนากรมธรรม์  4. สำเนาหน้าบัญชีธนาคาร  5. สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน  ส่งมาให้ทางมูลนิธิฯ ซึ่งจะรวบรวมและทยอยส่งให้ทาง คปภ.ดำเนินการ เนื่องจากมีผู้เสียหายทยอยร้องเรียนเข้ามาเรื่อยๆ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 247 มหกรรมยารักษาโควิด?

        ท่ามกลางสงครามการระบาดของโควิด 19 ที่คงจะยืดเยื้อไปอีกระยะหนึ่ง มหกรรมยารักษาโควิดก็กระหน่ำสะพัดกระจายไปทั่วในสังคม จนหลายฝ่ายต้องออกมาช่วยกันเตือนและขอความร่วมมืออย่าแชร์ข้อมูลดังกล่าว เตรียมตุนยาฟาวิพิราเวียร์ไว้กินป้องกันตัว?        ด้วยเหตุที่ประชาชนได้รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับการใช้ยายาฟาวิพิราเวียร์รักษาโควิด 19 มาบ้าง ทำให้มีผู้ไม่หวังดีฉวยโอกาสนี้ หลอกขายยาให้แก่ประชาชนตามอินเทอร์เน็ต โดยอ้างว่าเพื่อนำมาใช้ในการป้องกันการติดเชื้อโควิด และเป็นยาดีที่ลักลอบนำเข้ามาจากประเทศจีน         อันที่จริงแล้วการกินยาฟาวิพิราเวียร์ล่วงหน้าไม่เกิดประโยชน์ เพราะไม่สามารถป้องกันโรคได้ ยาฟาวิพิราเวียร์ เป็นยาควบคุมพิเศษ ที่แพทย์ต้องพิจารณาจ่ายตามอาการที่เกิดขึ้นในผู้ป่วยโควิด 19 แต่ละราย และต้องสั่งจ่ายภายใต้การดูแลของแพทย์และบุคลากรสาธารณสุข เพราะมีความจำเป็นที่จะต้องติดตามอาการข้างเคียง และผลการรักษาระหว่างการใช้ยาอย่างต่อเนื่อง  และต้องคำนึงถึงความเสี่ยงจากผลข้างเคียงที่อาจจะเกิดขึ้นด้วย โดยเฉพาะในหญิงตั้งครรภ์ นอกจากนี้ยาฟาวิพิราเวียร์ ยังจำเป็นต้องใช้ยาอย่างต่อเนื่องตามคำแนะนำ การนำยาไปใช้อย่างไม่ถูกต้อง อาจทำให้เกิดเชื้อดื้อยาได้ง่าย จนอาจเป็นเหตุให้ผู้ป่วยอาจเสียชีวิตได้ในที่สุด           การลักลอบนำยาของผู้ป่วยมาขาย หรือเจตนานำยาอื่นมาปลอม เพื่อให้เชื่อว่าเป็นยาฟาวิพิราเวียร์และหลอกขายตามอินเทอร์เน็ต ยังเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย หากประชาชนสงสัยว่ายาฟาวิพิราเวียร์ที่ได้รับเป็นยาปลอม สามารถสอบถามและแจ้งเบาะแสที่สายด่วน 1556 อีเมล์ 1556@fda.moph.go.th ยา 6 ชนิด ที่ต้องเตรียมไว้ใช้รักษาโควิด-19 ด้วยตนเองที่บ้าน?         มีการส่งต่อข่าวเรื่อง ยา 6 ชนิด ที่ต้องเตรียมไว้ใช้รักษาโควิด-19 ด้วยตนเองที่บ้าน คือ ยาพาราเซตามอล แอมบรอกซอล เดกซ์โทรเมทอร์แฟน คลอเฟนิรามีน วิตามินซี และฟ้าทะลายโจร  ซึ่งต่อมาทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง ร่วมกับกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข และชี้แจงว่าข้อมูลนี้เป็นข้อมูลเท็จ  ผู้ป่วยโควิด-19 ที่ต้องการเข้าร่วมโครงการ home isolation (การแยกกักตัวที่บ้าน)  จะต้องได้รับการประเมินอาการรายบุคคล และได้รับการอนุญาตจากแพทย์เสียก่อน หลังจากนั้นผู้ป่วยจะได้รับยาที่เหมาะสมตามความจำเป็นโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เพื่อใช้ในระหว่างกักตัวที่บ้าน  การนำยามาเตรียมไว้รับประทานเองโดยไม่ตรงตามอาการ อาจทำให้เกิดอันตรายจากภาวะแทรกซ้อนของยา จนส่งผลเสียต่อผู้ป่วยเองได้ยาชุดรักษาโควิด?         นอกจากนี้ยังมีการหลอกขายชุดยาต้านโควิด โดยมีการแอบขายผ่านทางอินเทอร์เน็ตในราคาชุดละประมาณ 4,000 บาท เมื่อเหยื่อหลงเชื่อสั่งซื้อและโอนเงินไปปรากฎว่าได้รับวิตามินซี และยารักษาเริมมาแทน เสียทั้งเงินและอาจเสียสุขภาพด้วยในสถานการณ์นี้ สิ่งที่จะทำให้ผู้ป่วยโควิด 19 ได้รับความปลอดภัย ไม่มีความทุกข์จากผลิตภัณฑ์ที่ และไม่ถูกหลอกลวงซ้ำเติมจนเสียเงินเสียทอง ขอให้ผู้ป่วยหรือผู้สัมผัสเสี่ยงสูงกับผู้ป่วย ติดต่อเจ้าหน้าที่สาธารณสุข หรือ อสม หรือกำนันผู้ใหญ่บ้าน เพื่อให้ข้อมูลต่างๆ เข้าสู่ระบบในการรักษาพยาบาลอย่างเร็วที่สุด

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 247 แค้นรักสลับชะตา : คนคำนวณมิสู้ฟ้าลิขิต

          เป็นเวลาหลายศตวรรษมาแล้วที่ “วิทยาศาสตร์” ได้สถาปนาขึ้นมาเป็นระบบคิดหลักของสังคมมนุษย์ วิทยาศาสตร์ตั้งอยู่บนฐานคิดที่เชื่อในเรื่องเหตุผล การพิสูจน์ความจริงเชิงประจักษ์ และความก้าวหน้าของการคิดค้นนวัตกรรมเทคโนโลยีต่างๆ ที่จะเอื้อให้มนุษย์สามารถเอาชนะธรรมชาติและสิ่งเหนือธรรมชาติทั้งปวง         ในโลกตะวันตก “ยุคมืด” แห่งการผูกขาดความรู้โดยคริสตจักรและความเชื่อเหนือธรรมชาติตามลัทธิเทวนิยมได้ถือครองโลกตะวันตกมานับหลายร้อยปี แต่ภายหลังที่เกิดการปฏิวัติทางความรู้ วิทยาศาสตร์ได้ใช้ข้ออ้างว่า เหตุผลและความจริงเชิงประจักษ์เท่านั้นที่จะเป็นคำตอบไปสู่ความก้าวหน้าของมวลมนุษยชาติในกาลสมัยใหม่ได้ ในขณะที่ศาสนาและความเชื่อพระเจ้าแบบดั้งเดิมได้ถูกผลักให้กลายเป็นเรื่องล้าหลังงมงาย พิสูจน์จับต้องไม่ได้ และค่อยๆ ถูกลดทอนอำนาจในการอธิบายโลกแห่งความรู้ของมนุษย์ลงไป        ทว่า คำอธิบายข้างต้นนั้นดูจะไม่ใช่คำตอบที่ถูกต้องนักสำหรับปรากฏการณ์ของการสลับร่างระหว่างตัวละคร “เตช” กับ “ภศวรรษ” ในละครโทรทัศน์เรื่อง “แค้นรักสลับชะตา”         เปิดฉากของเรื่องขึ้นมา ละครได้แนะนำให้รู้จักกับเตช ตัวละครหนุ่มหล่อไฮโซ ลูกชายหัวแก้หัวแหวนของ “ธนภพ” และ “ฐิติยา” เจ้าของธุรกิจโลจิสติกส์ที่ร่ำรวย หลังจากเรียนจบวิศวกรรมการบินจากต่างประเทศ เตชก็มุ่งมั่นที่จะเป็นกัปตันเครื่องบิน และคาดหวังจะลงเอยใช้ชีวิตคู่กับ “กุลนิษฐ์” คุณหมอนิติเวชสาว         ตัดสลับกับภาพของภศวรรษ ดาราชายหนุ่มหล่อ ผู้ที่ทั้งเจ้าชู้ กะล่อน เห็นแก่ตัว และรักใครไม่เป็น เพราะตั้งแต่เด็กนั้น เขาได้รับแต่ “พลังด้านลบ” จากการตั้งแง่รังเกียจของ “สุนัย” ผู้เป็นบิดา โดยที่ตนเองก็ไม่ทราบสาเหตุ จนเลือกชีวิตอีกด้านเป็นคนรับเดินยาเสพติดให้กับแก๊งมาเฟีย และแม้เขาจะคบหาอยู่กับแฟนนางแบบสาวอย่าง “จินนี่” แต่ลึกๆ ภศวรรษก็ไม่เคยเชื่อว่า โลกนี้จะมีใครที่จริงใจและรักเขาจริงๆ         กับชายหนุ่มสองคนที่อยู่กันคนละโลกและคนละเงื่อนไขชีวิต แต่ก็เหมือนถูกสวรรค์เบื้องบนลิขิตให้ต้องโคจรมาพบกัน เพราะในคืนหนึ่งซึ่งเป็นวันพระจันทร์กลายเป็นสีแดง ทั้งคู่ประสบอุบัติเหตุรถยนต์กับมอเตอร์ไซค์ชนกัน ทำให้เตชกับภศวรรษเกิดการสลับร่าง โดยที่วิญญาณของพระเอกหนุ่มทั้งคู่ได้สลับไฟล์ไปอยู่ในร่างของอีกคนหนึ่ง         จากนั้น ปมขัดแย้งของเรื่องก็ผูกขมึงเกลียวยิ่งขึ้น เพราะไม่เพียงแค่ “ร่าง” จะต้องสลับกัน แต่ “ชะตาชีวิต” ของทั้งคู่ก็ต้องสลับปรับเปลี่ยนไปด้วย ดังนั้น เตชผู้ที่ถูกพรากไฟล์ชีวิตไปทั้งหมด จึงพยายามหาทางกลับคืนร่างของเขา ในขณะที่ภศวรรษผู้ซึ่งได้ลิ้มรสชีวิตใหม่เป็นลูกเศรษฐีไฮโซ แถมมีคนรักเป็นหมอสาวแสนสวย ก็ไม่อยากจะย้อนกลับไปเดินทางบนชะตาชีวิตเส้นเดิม         แต่ในท่ามกลางความขัดแย้งของเส้นเรื่องที่ดำเนินไปนี้ ละครก็ค่อยๆ เฉลยให้เห็นว่า แท้จริงแล้วทั้งเตชและภศวรรษเป็นพี่น้องร่วมมารดาเดียวกัน โดยมีจุดเริ่มต้นของความสับสนในชะตาชีวิตที่ต้องเปลี่ยนแปรพลิกผันมาจากความรักความแค้นที่สืบเนื่องมาตั้งแต่คนรุ่นพ่อรุ่นแม่ของเขาเอง         จุดชนวนเริ่มต้นมาจากความรักที่มีรอยแค้นสลักฝังอยู่ เพราะครั้งหนึ่งสุนัยกับฐิติยาเคยเป็นคนรักเก่ากันมา แต่ด้วยสถานะที่ยากจนกว่า ธนภพจึงใช้อำนาจเงินพรากฐิติยาไป จากความรักจึงเปลี่ยนเป็นความแค้น สุนัยก็ได้แต่รอวันที่จะกลับมาทำให้ธนภพต้องเจ็บปวดแบบที่ครั้งหนึ่งเขาเคยถูกอีกฝ่ายกระทำมา         หลังเรียนจบและได้มาเป็นหมอทำกิฟต์ชื่อดัง ความรู้วิทยาศาสตร์การแพทย์ผนวกกับแรงรักแรงแค้นที่ฝังแน่นเอาไว้ ทำให้หมอสุนัยผู้มีอหังการว่า ตนสามารถเป็นประหนึ่ง “พระเจ้า” ผู้ให้กำเนิดสรรพชีวิตได้ รอคอยวันที่จะใช้ความรู้ของเขาล้างแค้นธนภพกับอดีตหญิงคนรักของตน         ดังนั้น เมื่อธนภพกับฐิติยามาขอคำปรึกษาเรื่องที่ทั้งคู่มีบุตรยาก สุนัยจึงตัดสินใจแก้แค้นด้วยการแอบทำกิฟต์เด็กทารกชายขึ้นมาสองคนพี่น้อง ซึ่งก็คือเตชกับภศวรรษ ที่คนแรกเป็นลูกชายของเขา กับอีกคนที่เป็นบุตรของธนภพ จากนั้นจึงสลับชาติกำเนิดของเด็กทั้งสองให้ไปอยู่ในครอบครัวของอีกฝ่ายหนึ่ง เพื่อให้ลูกของตนได้ไปใช้ชีวิตในครอบครัวเศรษฐีผู้มั่งคั่ง และตนก็เลี้ยงลูกชายของศัตรูหัวใจให้เผชิญอยู่แต่กับทุกขเวทนา         ในทางหนึ่ง เส้นเรื่องหลักของละครจะเน้นให้ผู้ชมได้ลุ้นและตื้นเต้นไปกับชะตาชีวิตที่พลิกผัน เพราะเตชก็ต้องมาเผชิญกับด้านมืดในชีวิตที่ภศวรรษก่อไว้ ในขณะที่ภศวรรษก็ได้เปลี่ยนสถานะสลับมาใช้ชีวิตอันอู้ฟู่หรูหรา จนไม่อยากจะสลับคืนกลับไปอยู่ในร่างเดิม ซึ่งนั่นก็คือการให้คำตอบแบบที่ตัวละครต่างก็มักจะพูดอยู่เสมอว่า “ชีวิตเราจะดีหรือไม่ดี ก็อยู่ที่ตัวเรา ไม่ใช่อยู่ที่ว่าเราจะอยู่ในร่างของใคร”         แต่ในอีกทางหนึ่ง ละครเองก็ได้ชี้ชวนให้เราตั้งคำถามไปด้วยว่า ปรากฏการณ์แบบคืนวันพระจันทร์แดงที่ดูเหนือจริง และทำให้ชายหนุ่มสองคนสลับชะตาชีวิตกันได้เยี่ยงนี้ ก็ช่างท้าทายคำอธิบายของวิทยาศาสตร์ที่ธำรงพลานุภาพในโลกแห่งความรู้ของสังคมสมัยใหม่         ในขณะที่เตชผู้เติบโตมากับโลกความจริงและเหตุผลทางวิทยาศาสตร์ เพราะเขาเป็นทั้งวิศวกรการบินและมีหมอนิติเวชสาวเป็นแฟน ส่วนภศวรรษก็มีชีวิตอยู่กับโลกสมมติและอารมณ์ความรู้สึก ที่เขาเป็นดารานักแสดง แถมมีแฟนสาวเป็นนางแบบที่มีชื่อเสียง เมื่อได้สลับร่างกัน ทั้งคู่ก็พบว่า ความจริงและเหตุผลหาใช่จะอยู่เหนือกว่าสิ่งสมมติและอารมณ์ แต่ทว่าพรมแดนของทั้งสองโลกนี้อาจมีเพียงเส้นกั้นบางๆ ที่พร้อมจะผนวกข้ามไขว้ไปมาได้เช่นกัน         และพร้อมๆ กันนี้ ในขณะที่ละครได้เผยในท้ายเรื่องว่า เศรษฐีผู้มั่งคั่งอย่างธนภพก็มีเบื้องหลังเป็นผู้บงการใหญ่ของธุรกิจค้ายาเสพติด ตัวของหมอสุนัยเองที่เชื่อมั่นในความรู้แบบวิทยาศาสตร์การแพทย์ ก็ได้เรียนรู้ด้วยว่า ชะตาชีวิตของคนเราไม่อาจกำกับให้อยู่ใต้อาณัติของมนุษย์ไปได้เลย เพราะแม้วิทยาการการแพทย์จะให้ปฏิสนธิตัวอ่อนชีวิตของมนุษย์ขึ้นมาได้ก็ตาม แต่สิ่งศักดิ์สิทธิ์แห่งคืนวันพระจันทร์แดงก็พร้อมที่จะทำให้ชะตาชีวิตของคนเราผันไปตามที่เบื้องบนกำหนดเอาไว้แล้ว         ภาษิตจีนโบราณเคยกล่าวเอาไวว่า “คนคำนวณมิสู้ฟ้าลิขิต” คำกล่าวนี้ก็อาจใช้เตือนผู้คนในโลกสมัยใหม่ได้ว่า แม้วิทยาการความรู้จะทำให้มนุษย์คิดคำนวณและมีอหังการอยู่เหนือธรรมชาติขึ้นได้ก็จริง แต่ลิขิตแห่งสรวงสวรรค์ก็ยังคงมีอำนาจเหนือเงื้อมมือเล็กๆ ของคนเราอยู่วันยังค่ำ         และในฉากจบของเรื่อง ชายหนุ่มสองคนได้ตัดสินใจไม่สลับร่างกลับคืน ก็เพราะ “ทุกอย่างมันถูกที่ถูกทางของมันไปแล้ว” แต่ที่สำคัญ คำกล่าวของ “ลุงชาติ” บ่าวรับใช้ของหมอสุนัยที่ผ่านชีวิตมานานช่างถูกต้องยิ่งนักว่า “ทุกอย่างได้ถูกกำหนดมาแล้ว ไม่มีใครฝืนโชคชะตาได้…คุณจะเชื่อหรือไม่เชื่อ แต่สุดท้ายทุกอย่างมันก็เกิดขึ้นจริง”

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 246 ความเคลื่อนไหวเดือนสิงหาคม 2564

ปรับเป็นแสน ห้ามนำ-ใช้ ครีมกันแดดที่มีสารเคมีอันตรายเข้าอุทยานแห่งชาติ        3 สิงหาคม ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ ประกาศกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช เรื่อง ห้ามนำและใช้ครีมกันแดดที่มีส่วนประกอบของสารเคมีที่เป็นอันตรายต่อปะการังเข้าไปในอุทยานแห่งชาติ ใจความสำคัญระบุว่า ปัจจุบันมีนักท่องเที่ยวเข้าไปท่องเที่ยวในอุทยานแห่งชาติทางทะเลเป็นจำนวนมาก รวมทั้งมีการนำและใช้ครีมกันแดดที่มีสารเคมีที่เป็นอันตรายต่อปะการังเข้าไปในอุทยานแห่งชาติ ทั้งนี้จากข้อมูลทางวิชาการพบว่า สารเคมีหลายชนิดที่พบในครีมกันแดดมีส่วนทำให้ปะการังเสื่อมโทรมลง มีส่วนทำลายตัวอ่อนปะการัง ขัดขวางระบบสืบพันธุ์และทำให้ปะการังฟอกขาว  ดังนั้นเพื่อเป็นการสงวน อนุรักษ์ คุ้มครองดูแลทรัพยากรและป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายต่อปะการังและระบบนิเวศในอุทยานแห่งชาติ กรมอุทยานแห่งชาติจึงอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 20 แห่ง พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562 ออกประกาศดังนี้         ห้ามนำและใช้ครีมกันแดด ที่มีส่วนประกอบของสารเคมีที่เป็นอันตรายต่อปะการังเข้าไปในอุทยานแห่งชาติ ได้แก่ Oxybenzone , Octinoxate ,4-Methylbenzylid Camphor และ Butylparaben หากผู้ใดฝ่าฝืนมีความผิดมาตรา 20 ประกอบมาตรา 47 แห่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2561 ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท         ประกาศฉบับนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ซื้อยาฟ้าทะลายโจรระวังเจอของปลอม         23 สิงหาคม 2564 กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา แถลงผลการปฏิบัติกรณีบุกตรวจค้นโรงงานลักลอบผลิตยาฟ้าทะลายโจรโดยไม่ได้รับอนุญาต มูลค่าของกลางกว่า 200,000 บาท พร้อมจับแม่ลูกเจ้าของโรงงานที่ลักลอบผลิตยาฟ้าทะลายโจรปลอม  เนื่องจากมีกรณีผู้ร้องเรียนแจ้งว่า ได้สั่งซื้อยาสมุนไพรฟ้าทะลายโจรที่มีการโฆษณาตามเพจเฟซบุ๊ก แล้วพบว่ายาไม่มีรสชาติขมซึ่งผิดปกติจากฟ้าทะลายโจรที่มีรสขมเป็นลักษณะเด่น จึงดูที่ฉลากพบระบุสถานที่ผลิตคือ “ผลิตโดย วิสาหกิจชุมชนบ้านคลอง เลขทะเบียน 03/1-20024 ควบคุมสูตรโดยแพทย์แผนไทย” แต่ไม่พบเลขการจดแจ้งผลิตภัณฑ์สมุนไพร และไม่สามารถตรวจสอบผู้ได้รับอนุญาตหรือผู้ผลิตได้ จึงเชื่อว่ายาฟ้าทะลายโจรดังกล่าวน่าจะเป็นของปลอม ต่อมา เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.4 บก.ปคบ. ร่วมกับเจ้าหน้าที่ อย. จึงทำการสืบสวนจนพบผู้ที่โพสขายยาฟ้าทะลายโจร บนเพจเฟซบุ๊ก และเข้าจับกุม ด้าน อย.ระบุ หากผู้บริโภคต้องการซื้อยาฟ้าทะลายโจรต้องดูฉลากที่ระบุเลขที่จดแจ้งและระบุสถานที่ผลิตชัดเจน โดยซื้อจากร้านค้าที่น่าเชื่อถือ “ขนส่งทางบกขอ” ตำรวจไม่จับใบขับขี่หมดอายุถึงสิ้นปี         ตามที่กรมการขนส่งทางบกมีประกาศงดให้บริการประชาชนด้านใบอนุญาตขับรถและใบอนุญาตเป็นผู้ประจำรถที่สำนักงานขนส่งทั่วประเทศจากสถานการณ์โควิดระบาด จนกว่าจะมีประกาศยกเลิกสถานการณ์ฉุกเฉินนั้น กรมฯ จึงประสานสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อขอให้ผ่อนปรนการใช้กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ คำสั่ง เกี่ยวกับกรณีใบขับขี่หมดอายุ ทั้งนี้สำนักงานตำรวจแห่งชาติจึงได้พิจารณากฎเกณฑ์ขยายระยะเวลา ดังนี้         1.ใบขับขี่หมดอายุขับรถต่อไปได้จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564          2.เพิ่มการผ่อนปรนให้ผู้ที่มีใบอนุญาตขับรถยนต์ส่วนบุคคลและส่วนบุคคลชั่วคราว สามารถขับรถที่ใช้ในการรับจ้างขนส่งสินค้าได้ เช่น รถบรรทุกที่มีน้ำหนักรถไม่เกิน 2,200 กิโลกรัม โดยจดทะเบียนตามกฎหมายของการขนส่งทางบก และรถปิกอัพป้ายเหลือง         กรณีที่ประชาชนมีเอกสารคำขอต่ออายุใบอนุญาตขับรถหรือใบอนุญาตประจำรถ ได้แก่ เอกสารใบรับรองแพทย์ หนังสือรับรองการผ่านการอบรมและทดสอบ หรือคำขอที่ดำเนินการไม่สำเร็จภายใน 90 วัน กรมการขนส่งทางบกจะอนุโลมให้ใช้เป็นเอกสารประกอบการดำเนินการได้จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม  2564  พืชกระท่อมปลดออกจากยาเสพติดแล้ว ประชาชน ซื้อ-ขายได้        นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า กระท่อมเคยถูกจัดเป็นยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ แต่ตอนนี้พืชกระท่อมได้ถูกปลดออกจากยาเสพติดให้โทษแล้ว ทุกคนสามารถครอบครองซื้อขายได้         และ การปลดพืชกระท่อมออกจากยาเสพติด มีผลให้ต้องปล่อยตัวผู้กระทำความผิดตามกฎหมายพืชกระท่อมจำนวน 1,038 คน ซึ่งจะต้องไม่เป็นผู้ที่เกี่ยวกับคดีสารเสพติดอื่นนอกเหนือจากพืชกระท่อม และถือว่าเป็นผู้ไม่เคยกระทำความผิด หากในกรณีที่ผู้ต้องหาที่อยู่ระหว่างการสอบสวนให้ยุติปล่อยตัวทันที รวมถึงผู้ที่ถูกดำเนินคดีในศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกา ต้องมีการจำหน่ายคดีออกจากสารบบของศาล โดยได้รับการพิพากษายกฟ้อง ผู้ที่ถูกกักขังแทนค่าปรับ จะต้องยกเลิกการเสียค่าปรับทันที ไม่รับเป็นคดีกลุ่ม กรณีคดีฟ้องกลุ่มเอไอเอสคิดค่าบริการปัดเศษวินาทีเป็นนาที         ตามที่มีตัวแทนผู้บริโภคได้ยื่นฟ้องคดีแบบกลุ่ม 3 ค่ายมือถือดัง เรื่องการคิดค่าโทรศัพท์แบบปัดเศษวินาทีเป็นนาทีเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2561 เหตุจากการคิดค่าบริการดังกล่าวทำให้ผู้บริโภคจ่ายค่าบริการเกินกว่าที่ใช้จริงนั้น  วันที่ 3 สิงหาคม 2564 ศาลชั้นต้นได้อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในการขอดำเนินคดีแบบกลุ่มคดีฟ้องกลุ่มเอไอเอสว่า ศาลอุทธรณ์ได้มีคำสั่งไม่รับคำร้องอนุญาตให้ดำเนินคดีแบบกลุ่มของโจทก์ ให้ดำเนินคดีแบบสามัญแทน โดยให้เหตุผลว่า การดำเนินคดีแบบกลุ่มมิได้เป็นธรรมและมีประสิทธิภาพมากกว่าการดำเนินคดีสามัญ ไม่มีข้อมูลว่าสมาชิกในกลุ่มถูกเรียกเก็บค่าบริการเกินการใช้งานจริงไปเท่าไร ค่าเสียหายในคำขอบังคับไม่ได้ระบุหลักการและวิธีการคำนวณเพื่อชำระเงินให้แก่สมาชิก ส่วนเรื่องการคิดค่าบริการปัดเศษของบริษัทเอไอเอส ผู้ให้บริการสามารถเปลี่ยนโปรโมชั่นหรือผู้ให้บริการได้ และหากดำเนินคดีแบบสามัญการคำนวณค่าเสียหาย ผู้บริโภคไม่ต้องคำนวณ เพราะอยู่ในความรู้เห็นของผู้ประกอบการ แต่หากเป็นการดำเนินคดีแบบกลุ่ม ให้โจทก์ชี้แจงมาให้หมดว่าค่าบริการที่เก็บเกินไปมีเท่าไร ดังนั้นหากดำเนินคดีแบบสามัญสะดวกกว่า         ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ระบุว่า จากคำตัดสินนี้ทางมูลนิธิฯ กำลังอยู่ในระหว่างตัดสินใจว่าจะยื่นฟ้องแยกเป็นรายคดีหรือฟ้องแบบเป็นโจทก์ร่วมกันในกระบวนการแบบสามัญ เช่น สมาชิก 30-40 คน อาจจะฟ้องแยก หรือถ้าเป็นโจทก์ร่วมกัน สมาชิกที่เหลืออาจจะเอาขึ้นมาเป็นโจทก์ทั้งหมด นอกจากโจทก์ 2 คนที่ฟ้องไปก็ต้องเปลี่ยนเป็นโจทก์ที่ 1 พร้อมกับพวกอีก 30 คน ทั้งนี้เพื่อให้ผู้บริโภคได้ประโยชน์สูงสุด

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 246 หลอก หลอก หลอก

        ในขณะที่สถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19 ยังไม่ลดลง สถานการณ์การหลอกหากินของกลุ่มมิจฉาชีพ บนความหวาดกลัวจะติดเชื้อของประชาชนก็ไม่ลดลงเช่นกัน มีอะไรๆ มาพวกนี้ก็ช่างหาเรื่องมาหลอกได้ทุกเรื่อง         หลอกขายสมุนไพรต้านโควิด         มีข้อมูลของแพทย์ออกมาเตือนภัยผ่านทางโซเชียล ซึ่งข้อมูลที่อ่านพบปรากฎว่าคล้ายกับข้อมูลที่น้องๆ เจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่มาเล่าให้ฟัง คือ ในโลกออนไลน์มีการโฆษณาผลิตภัณฑ์บรรจุในแคปซูล โดยอ้างว่าเป็นผลิตภัณฑ์ยาสมุนไพรต้านโควิด นำมาจากคลินิก ไหนๆ ก็โฆษณาแล้วจะไม่ขายก็ดูกระไรอยู่ หลังจากปลุกอารมณ์และความหวังของผู้คนที่กำลังหวาดระแวงว่าตนเองจะติดเชื้อโควิดหรือไม่ ก็ขายมันซะเลย ทำให้ผู้ที่กังวลว่าจะป่วยหรือผู้ป่วยโควิดบางรายหลงเชื่อ ยอมเสียเงินสั่งซื้อมากิน กินไปแล้วอาการไม่ดีขึ้น บางรายอาการกลับแย่ลง ตรวจพบว่ามีภาวะผิดปกติ บางรายพบว่าเซลล์เม็ดเลือดลดลงด้วย         หลอกขายประกันโควิด         ไม่ได้มีแต่หลอกขายผลิตภัณฑ์ มีข้อมูลจากน้องในชุมชนทางอีสานเล่าให้ฟังว่า ในขณะที่หลายคนกำลังลังเลว่าจะฉีดวัคซีนหรือไม่ฉีดดี จะไม่ฉีดก็กลัวคิดเชื้อ แต่ถ้าฉีด ก็กลัวจะเกิดการแพ้จนอันตราย ในที่สุดก็มีแก๊งหัวใส อาศัยจังหวะนี้ตระเวณไปหลอกขายประกันเกี่ยวกับโควิด ทั้งประกันการติดเชื้อโควิด และประกันการแพ้วัคซีน โดยเลือกเหยื่อที่ไม่ค่อยมีความรู้เกี่ยวกับการประกัน สุดท้ายเมื่อเหยื่อหลงเชื่อจ่ายเงินไปแล้ว ก็หายหน้าไปเลย ไม่ได้กรมธรรม์อะไรกลับมา         หลอกขายวัคซีนทางเลือก         ที่จังหวัดอุดรธานี พบเหตุการณ์มีผู้ตระเวณหลอกขายวัคซีนซิโนฟาร์ม ในราคาเข็มละ1,800 บาท โดยอ้างว่าเหลือจากที่ฉีดให้บุคลากรของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย มีผู้หลงเชื่อรวม 20 คน ตกลงจ่ายเงินยอมซื้อ โดยผู้ที่หลอกขายอ้างว่า เมื่อจ่ายเงินแล้ว จะให้ไปฉีดได้ที่จุดบริการฉีดของโรงพยาบาล มีการระบุเวลานัดหมายให้เรียบร้อย นอกจากนี้ กลุ่มมิจฉาชีพยังพยายามสร้างความน่าเชื่อถือ โดยสร้างกลุ่มไลน์ โดยมีบุคคลที่อ้างว่าเป็นแพทย์เป็นผู้ดูแลกลุ่ม คอยให้ข้อมูลต่างๆ อยู่ตลอด จนเมื่อถึงวันฉีดวัคซีน ผู้ที่จ่ายเงินไปแล้วเดินทางไปฉีดวัคซีนที่จุดบริการของโรงพยาบาล ปรากฎว่าไม่มีรายชื่อของตนแต่อย่างใด เมื่อไปตรวจสอบที่โรงพยาบาลก็พบว่า แพทย์ที่มีการอ้างชื่อและคอยให้ข้อมูลในกลุ่มไลน์ ก็ไม่ใช่แพทย์ด้วย         เอ๊ะ เอ๊ะ เอ๊ะ ทุกครั้งจะได้ไม่ถูกหลอก         เนื่องจากการจัดการปัญหาการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19 เป็นเรื่องสำคัญที่ทุกหน่วยงานประเทศต้องมาร่วมกันดูแล ดังนั้นสิ่งต่างๆ ที่เกี่ยวข้องจะมีการกำหนดขั้นตอนต่างๆ อย่างละเอียด มีการตรวจสอบ เพื่อไม่ให้มีใครมาหลอกลวงจนเกิดอันตรายได้ ผลิตภัณฑ์ต่างๆ ก็ต้องมาขออนุญาตและพิสูจน์กับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาว่าปลอดภัยไม่มีอันตราย การขายประกันก็มีหน่วยงานที่ดูแลด้านนี้ดูแลอยู่ ส่วนการบริการฉีดวัคซีน ก็มีระบบและรายละเอียดทุกขั้นตอน โดยมีหน่วยงานสาธารณสุขในแต่ละจังหวัดดูแล ดังนั้นหากใครมาแนะนำหรือชักชวนอะไรเกี่ยวกับโควิด ให้เราเสียเงินเสียทอง อย่าเพิ่งรีบเชื่อนะครับ ให้ เอ๊ะๆๆ ไปหลายๆ ครั้ง ถ้าไม่แน่ใจก็ไปสอบถามที่หน่วยงานสาธารณสุขใกล้ตัวได้เลย เอ๊ะ เอ๊ะ เอ๊ะ จะได้ไม่ถูก หลอก หลอก หลอก นะครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉลาดซื้อ พบยาอันตรายที่อาจเกิดผลข้างเคียงถึงชีวิต ในกาแฟสำเร็จรูปเพิ่มสมรรถภาพเพศชาย

        นิตยสารฉลาดซื้อ พบยาอันตรายที่ต้องควบคุมพิเศษ ซิลเดนาฟิลและทาเดลาฟิล ที่อาจเกิดผลข้างเคียงถึงชีวิต ในผลิตภัณฑ์กาแฟสำเร็จรูปเพิ่มสมรรถภาพเพศชาย โทษปรับสูงสุด 150,000 บาท         นิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ร่วมกับเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคใต้ และโครงการสนับสนุนระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ เปิดเผยผลตรวจวิเคราะห์ยาควบคุมพิเศษ โดยสุ่มเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์กาแฟสำเร็จรูป ที่อ้างสรรพคุณช่วยเพิ่มสมรรถภาพทางเพศ จำนวน 23 ตัวอย่าง จากร้านค้าทั่วไปและร้านค้าออนไลน์  ได้แก่ ร้านค้าทั่วไป พื้นที่จังหวัด สงขลา ปัตตานี และนราธิวาส จำนวน 16 ตัวอย่าง  ร้านค้าทั่วไปในกรุงเทพฯและปริมณฑล จำนวน 2 ตัวอย่าง ร้านค้าออนไลน์ Lazada และ Shopee จำนวน 5 ตัวอย่าง ระหว่างเดือนพฤษภาคม - มิถุนายน 2564         น.ส.มลฤดี โพธิ์อินทร์ นักวิชาการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ กล่าวว่า “ ในกลุ่มผลิตภัณฑ์กาแฟสำเร็จรูปเพิ่มสมรรถภาพทางเพศชาย ที่เราสุ่มสำรวจนั้น นำมาตรวจวิเคราะห์ยาควบคุมพิเศษ 3 ชนิด ได้แก่ ซิลเดนาฟิล (Sildenafil), ทาเดลาฟิล (Tadalafil) และวาร์เดนาฟิล (Vardenafil) พบ 7 ใน 23 ตัวอย่าง มีซิลเดนาฟิลและทาเดนาฟิล แต่ไม่พบสารวาร์เดนาฟิล แบ่งเป็นตรวจพบทั้งซิลเดนาฟิลและทาเดนาฟิล จำนวน 1 ตัวอย่าง ได้แก่ NATURAL HERBS COFFEE Kopi Jantan Tradisional สั่งซื้อจากร้านค้าทั่วไป ในตลาดกิมหยง อ.หาดใหญ่ สงขลา         และตรวจพบซิลเดนาฟิล อีกจำนวน 6 ตัวอย่าง ได้แก่ 1. KOPI JANTAN TRADISIONAL ENERGY COFFEE (กาแฟสมุนไพรธรรมชาติ) สั่งซื้อจากร้านค้าทั่วไป ในตลาดกิมหยง อ.หาดใหญ่ สงขลา 2. MA KHAW ม้าขาว คอฟฟี่ กาแฟปรุงสำเร็จชนิดผงผสม สูตรดั้งเดิม กลุ่มสหมั่งคั่ง สั่งซื้อจากร้านค้าออนไลน์ Shopee 3. GOMAX COFFEE โกแม็กซ์ คอฟฟี่ กาแฟสำเร็จรูปชนิดผง สั่งซื้อจากร้านค้าออนไลน์ Shopee 4. AAAAAAA KOPI JANTAN TRADISIONAL (เสือสิงโต) กาแฟสมุนไพรธรรมชาติ สั่งซื้อจากร้านค้าออนไลน์ Lazada 5. KOPI PALING SEDAP 7 ดาว (ม้า 3 ตัว) สั่งซื้อจากร้านค้าออนไลน์ Lazada 6. AAAAA Kopi Jantan Tradisional สั่งซื้อจากร้านค้าออนไลน์ Shopee         จากเรื่องนี้ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้ส่งผลทดสอบให้ทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาได้ดำเนินการทางกฎหมายต่อไป โดยบทลงโทษของการพบสารปนเปื้อนในผลิตภัณฑ์กาแฟสำเร็จรูปเพิ่มสมรรถภาพเพศชายนั้น กฎหมายให้ปรับสูงสุดที่ 150,000 บาท เนื่องจากเป็นผลิตภัณฑ์อาหารที่ได้รับการขึ้นทะเบียนในประเทศไทย และมีซิลเดนาฟิล (Sildenafil) ทาเดลาฟิล (Tadalafil) และวาร์เดนาฟิล (Vardenafil) ซึ่งเป็นยาแผนปัจจุบันเป็นส่วนผสม ซึ่งถือว่าเป็น “อาหารไม่บริสุทธิ์” ตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 มาตรา 25(1) ประกอบมาตรา 26(1) ต้องได้รับโทษตามมาตรา 58 คือ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หรืออาจเข้าข่ายอาหารปลอมหากมีฉลากเพื่อลวงหรือพยายามลวงให้เกิดความเข้าใจผิด ตามมาตรา 25(2) ประกอบมาตรา 27(4) ต้องระวางโทษตามมาตรา 59 คือ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือน ถึง 10 ปี และปรับตั้งแต่ 5,000 – 100,000 บาท และเข้าข่ายมาตรา 40 ประกอบมาตรา 41 กรณีโฆษณาผลิตภัณฑ์ที่อวดอ้างเกินจริง มีโทษโฆษณาโดยฝ่าฝืนมาตรา 40 มีโทษตามมาตรา 70 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 30,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ มาตรา 41 มีโทษตามมาตรา 71 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท สำหรับกรณีของการโฆษณาขายสินค้าผ่านระบบออนไลน์ ที่มีลักษณะหลอกลวงให้ผู้ซื้อหลงเชื่อและเข้าใจผิดในคุณสมบัติ หรือบรรยายสรรพคุณเกินจริงนั้น ระวังเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายบนสื่อออนไลน์ ซึ่งหากตรวจสอบแล้วพบเป็นความผิดจริง อาจเข้าข่ายเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับดอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 14 (1) "อันเป็นการนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลอันเป็นเท็จ โดยประการที่นำจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน ซึ่งต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 100,000 บาท"         ด้าน ภญ.ชโลม  เกตุจินดา ที่ปรึกษาเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคใต้ กล่าวว่า “จากข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ระบุว่า ซิลเดนาฟิล (Sildenafil), ทาเดลาฟิล (Tadalafil) และวาร์เดนาฟิล (Vardenafil) เป็นยากลุ่มที่ใช้รักษาอาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศ จัดเป็นยาควบคุมพิเศษ ต้องใช้ใบสั่งของแพทย์ในการซื้อยาเท่านั้น เนื่องจากมีผลข้างเคียงสูง เช่น อาการปวดศีรษะ ตาลาย ความดันโลหิตต่ำเฉียบพลัน หัวใจเต้นผิดจังหวะ ผู้ที่มีโรคประจำตัว โรคตับและไต ความดัน เบาหวาน และโรคหัวใจ อาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงจนถึงชีวิตได้”         นส.มะกรือซง สาแม คณะทำงานเครือข่ายผู้บริโภคจังหวัดนราธิวาส กล่าวว่า “การเก็บตัวอย่างในพื้นที่นั้นเก็บจากการร้องเรียนของผู้บริโภคในพื้นที่ ซึ่งมีข้อมูลจากผู้บริโภคว่าได้รับประทานกาแฟผสมสมุนไพรและมีอาการมึนไป 2 วัน จึงได้ตรวจสอบไป 13 อำเภอ ซึ่งไม่ได้มีแค่ตัวเดียวแต่มีผลิตภัณฑ์ลักษณะนี้ 12 ตัวอย่าง เมื่อเก็บตรวจสอบไปเจอ 2 ตัวอย่างที่พบสาร ซึ่งภาพรวมเกี่ยวกับสินค้าในพื้นที่จำหน่วยโดยลักษณะมีรถนำมาฝากขายร้านค้าซึ่งไม่ได้เป็นของทางร้านค้าจำหน่ายเอง”         น.ส.จุฑา สังขชาติ    ผู้ประสานงาน เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคใต้ กล่าวถึงการทำงานเฝ้าระวังครั้งนี้ว่า “การที่เลือกสินค้าตัวนี้มาทดสอบเพราะอะไรเริ่มจากทางภาคใต้มีวัฒนธรรมการดื่มกาแฟเป็นที่นิยมมาก เนื่องจากวิถีชีวิตที่ต้องกรีดยางและต้องดื่มกาแฟตอนเช้า และจากการที่ได้ร่วมงานกับเครือข่ายนราธิวาส มีผลิตภัณฑ์ที่กาแฟลักษณะแบบนี้เป็นที่นิยมหลากหลายยี่ห้อมีลักษณะราคาแพงกว่ากาแฟทรีอินวันทั่วไป ซึ่งมีราคาแพงและเป็นที่นิยม เช่น 4 ซอง 100 บาท ซึ่งมีผู้บริโภคได้กินกาแฟประเภทนี้และหัวใจวาย จึงได้ตรวจสอบพบว่ามีผลิตภัณฑ์ลักษณะนี้ในหลายพื้นที่จังหวัด  ส่วนการทำงานในพื้นที่ต่อ ทางเราจะมีการเฝ้าระวังในพื้นที่ ซึ่งจะนำไปสู่การทำงานร่วมกับ สสจ.นราธิวาส และจากการได้พูดคุย เราจะทำการเตือนภัยและให้ความรู้ไปยังผู้บริโภค เพื่อให้ผู้บริโภคมีความรู้ความเข้าใจ และเรามองไปถึงการทำงานระยะยาวระหว่างคณะกรรมการไทยร่วมกับทางมาเลเซียในการเฝ้าระวังสินค้าชายแดน โดยจะผลักดันให้มีตัวแทนผู้บริโภคไทยเข้าไปมีส่วนร่วมในการจัดการแก้ไขปัญหามากยิ่งขึ้น และร่วมผลักดันในเชิงนโนบายต่อไป” ติดตามรายละเอียดผลการทดสอบได้ที่  https://www.chaladsue.com/article/3789 ประสานงานรายละเอียดได้ที่ : ชนิษฎา วิริยะประสาท โทรศัพท์ 081 356 3591  หรือ 086 765 9151

อ่านเพิ่มเติม >


ฉบับที่ 245 กระแสต่างแดน

แบรนด์ที่ไว้ใจ        ขยะอิเลคทรอนิกส์ที่กำลังจะล้นโลกส่วนหนึ่งมาจากอุปกรณ์ไฟฟ้าที่จากเราไปก่อนเวลาอันควรและไม่คุ้มที่จะซ่อมกลับมาใช้ต่อ สิ่งหนึ่งที่ผู้บริโภคพอจะทำได้คือ เลือกแบรนด์ที่ทำผลิตภัณฑ์ได้มีประสิทธิภาพและใช้งานได้นาน แล้วใครล่ะที่เราเชื่อถือได้         องค์กรผู้บริโภคของสหรัฐอเมริกา Consumer Reports (CR) ได้สำรวจและจัดอันดับ “ความน่าเชื่อถือ” ของแบรนด์เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน เช่น ตู้เย็น เครื่องซักผ้า เครื่องล้างจาน เตาไมโครเวฟ เครื่องซักผ้า และเครื่องอบผ้า เป็นต้น โดยใช้คะแนนจากความเห็นของสมาชิก         ในการสำรวจครั้งที่สามนี้มีเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ถูกอ้างอิง 760,000 ชิ้น ที่ผู้บริโภคซื้อในระหว่างปี 2010 และ 2020 และแบรนด์ที่ถูกนำมาจัดอันดับนั้นคือแบรนด์ที่มีเครื่องไฟฟ้าออกมาจำหน่ายอย่างน้อยสองประเภท สิบอันดับแรกได้แก่ Speed Queen  LG  Café’  Ikea  Thermador  Bosch Miele  GE  Roper และ Signature Kitchen Suite ส่วนยี่ห้อที่เรารู้จักกันอย่าง Whirlpool  KitchenAid และ Samsung นั้นเข้ามาที่อันดับ 11, 17 และ 20 ตามลำดับ รู้แต่ไม่เข้าใจ?        การสำรวจความเข้าใจเรื่อง “ยาปฏิชีวนะ” ในหมู่ประชากรยุโรปในปี 2018 พบว่าคนส่วนใหญ่รู้ว่ายาปฏิชีวนะ (ที่หลายคนเรียกติดปากว่า ยาแก้อักเสบ) รักษาโรคหวัดไม่ได้ และรู้ด้วยว่าหากใช้พร่ำเพรื่อจะทำให้ยาใช้ไม่ได้ผล         นอกจากนี้ยังรู้ว่ามีผลข้างเคียง และควรใช้ภายใต้คำแนะนำของแพทย์เท่านั้น         แต่เมื่อถามถึงประสิทธิภาพของยาปฏิชีวนะในการฆ่าไวรัส ร้อยละ 48 ตอบว่ายาปฏิชีวนะสามารถ “ฆ่าไวรัสได้” ในขณะที่ร้อยละ 43 ตอบว่า “ฆ่าไม่ได้” ที่เหลืออีกร้อยละ 9 ตอบว่า “ไม่รู้”แต่ละปียุโรปมีการติดเชื้อจากแบคทีเรียดื้อยาไม่ต่ำกว่า 670,000 เคส มีผู้เสียชีวิตไม่ต่ำกว่า 33,000 คน ส่งผลให้เกิดภาระทางการเงินต่อระบบสุขภาพไม่ต่ำกว่าหนึ่งพันล้านยูโร         มีการคาดการณ์ว่าในปี 2050 ผู้คนจะเสียชีวิตจากแบคทีเรียดื้อยามากกว่าโรคมะเร็ง            ขณะนี้ประเทศที่มีอัตราการตายจากแบคทีเรียดื้อยาสูงที่สุดในยุโรปคืออิตาลี ตามด้วยฝรั่งเศส ในขณะที่กรีซ ไซปรัส และสเปน เป็นประเทศที่มีการใช้ยาปฏิชีวนะมากที่สุดตามลำดับ   โควิดช่วยเพิ่มยอด        การศึกษาตัวเลขยอดขายยาปฏิชีวนะในอินเดีย โดยคณะวิจัยจากอเมริกาและแคนาดาพบว่ายอดสั่งซื้อยาปฏิชีวนะจากโรงพยาบาลเอกชนเพิ่มขึ้นสูงเป็นประวัติการณ์ในช่วงโควิด-19 ระบาด         ปี 2019 มีการใช้ยาปฏิชีวนะในผู้ใหญ่เพิ่มขึ้นร้อยละ 72.5 ในขณะที่ปี 2020 มีการเพิ่มขึ้นร้อยละ 76.8         นักวิจัยคาดว่ามีการใช้ยาปฏิชีวนะโดยไม่จำเป็นไปประมาณ 216 ล้านโดส หรือพูดง่ายๆ ข้อมูลนี้ทำให้ตีความได้ว่าผู้ป่วยทุกคนที่ถูกวินิจฉัยว่าติดเชื้อโควิดจะได้รับยาปฏิชีวนะนั่นเอง         และเมื่อเจาะจงไปที่ยาอซิโตรมัยซิน (ที่ใช้รักษาไทยฟอยด์หรือท้องร่วง) ก็พบว่ามีการใช้ถึง 38 ล้านโดส ในระหว่างเดือนมิถุนายนถึงกันยายน ปี 2019 ซึ่งเป็นช่วงที่มีการระบาดหนัก         น่าสังเกตว่าขณะที่การใช้ยาปฏิชีวนะในกลุ่มประเทศตะวันตกมีแนวโน้มลดลงเพราะคนไม่ค่อยเป็นหวัด ติดต่อพบปะกันน้อยลง ยกเลิกนัดทำฟันหรือการผ่าตัดเล็กอื่นๆ ที่ไม่จำเป็น แต่แนวโน้มการใช้ในอินเดียกลับเพิ่มขึ้นทั้งๆ ที่โรคอย่างมาลาเรีย ไข้เลือดออก หรือโรคชิคุนกุนยาก็ลดลงแล้ว  ไหนเล่ามาซิ        สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินของสิงคโปร์ ขอคำอธิบายด่วนหลังพบว่ามีอุปกรณ์ฟิตเนสแทรคเกอร์ 341,208 ชิ้น รวมมูลค่าห้าล้านเหรียญสิงคโปร์หรือประมาณ 120 ล้านบาท ยังไม่ถูกนำไปแจกจ่ายให้กับประชาชนตามโครงการส่งเสริมสุขภาพ National Steps Challenge ที่เริ่มมาตั้งแต่ปี 2015         อุปกรณ์ที่ราคาระหว่าง 10 ถึง 25 เหรียญ เหล่านี้อยู่ในสภาพที่ใช้งานแทบไม่ได้ มีราขึ้นทั้งสายและหน้าปัด และการรับประกันจากผู้ผลิตบางรุ่นก็หมดแล้ว บางรุ่นก็จะหมดสิ้นปีนี้ ยังไม่นับว่าเทคโนโลยีที่ใช้ก็อาจจะเก่าเกินไปแล้ว         หนักไปอีกเมื่อไม่พบว่าใครเป็น “เจ้าภาพ” ทำหน้าที่จัดทำสต็อคหรือบันทึกการแจกจ่ายผ่านทางอีเวนท์ต่างๆ และสตง. ยังพบว่ามีอุปกรณ์ดังกล่าวหายไปจากสต็อคอย่างไร้ร่องรอยถึง 17,909 เครื่อง (คิดเป็นมูลค่า 720,000 เหรียญ)         ผู้เข้าร่วม “โครงการนับก้าว” สามารถเอาคะแนนที่สะสมจากการออกกำลังกายมาแลกเป็นสินค้าหรือบริการจากผู้ประกอบการได้โดยรัฐเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่าย โครงการเขาช่างจูงใจเหลือเกิน แม้แต่คนที่ตายไปแล้วก็ยังมาสมัครกันถึง 136 คน!!  อยากให้รีบสั่งเลย        ปีนี้คนออสซี่ต้องรีบคิดให้ตกว่าจะซื้อของขวัญอะไรให้เพื่อนหรือญาติในคริสต์มาสที่จะถึง... ในอีกห้าเดือนข้างหน้า คิดได้แล้วก็ต้องลงมือสั่งทันที ผู้ประกอบการเขาออกมาเตือนด้วยความหวังดี         อย่าลืมว่านักช้อปออนไลน์มีจำนวนมหาศาล ในขณะที่การขนส่งระหว่างประเทศมีข้อจำกัดมากขึ้นทำให้ต้องใช้เวลาเพิ่มขึ้นจาก 3 เดือนเป็น 6 เดือน บริษัทขนส่งทางเรือที่เคยมีดำเนินการอยู่ 24 เจ้าก็ลดเหลือแค่ 13 เจ้าในช่วงที่มีโรคระบาด         ไหนจะปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ หรือการปิดโรงงานในประเทศต้นทางเพราะพนักงานติดโควิด-19 อีก         ยิ่งถ้าต้องการสินค้าแบบเจาะจงแบรนด์ก็ยิ่งต้องรีบ โดยปกติแล้วร้อยละ 80 ของสินค้าที่ส่งทางเครื่องบินมายังออสเตรเลียนั้นจะนั่งมาสวยๆ ใต้ท้องเครื่องบินโดยสาร (ค่าเฉลี่ยของทั้งโลกอยู่ที่ร้อยละ 50) แน่นอนว่ามีเที่ยวบินโดยสารน้อยลงเพราะปัจจุบันออสเตรเลียยอมให้มีการเดินทางเข้าประเทศได้แค่ 3,035 คนต่อสัปดาห์เท่านั้น (จากเดิม 6,070 คน) สรุปว่ารีบได้รีบ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 245 รู้จักแผนจัดการเชื้อดื้อยา กำจัดจุดอ่อนก่อนเข้าสู่แผนปี 2565-2569

        ปัญหาเชื้อดื้อยาถูกพูดถึงบ่อยครั้ง แต่ก็ยังคงต้องพูดถึง ย้อนกลับไปวันที่ 6 กันยายน 2554 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขในขณะนั้นลงนามในปฏิญญานครชัยปุระว่าด้วยการดื้อยาต้านจุลชีพ เป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาต่อๆ มากระทั่งเกิดเป็น ‘แผนยุทธศาสตร์การจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพประเทศไทย พ.ศ.2560-2564’ เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2559 แต่กว่าจะมีคณะกรรมการนโยบายการดื้อยาต้านจุลชีพแห่งชาติก็ล่วงเลยถึง 10 มีนาคม 2560         พอถึงเดือนธันวาคม 2562 มีการจัดทำรายงานความก้าวหน้าระยะครึ่งแผนออกมา ซึ่งเราจะกล่าวถึงในภายหลัง ส่วนปี 2564 ที่ผ่านมาแล้ว 7 เดือน ทั้งเป็นปีสุดท้ายของแผนยังไม่มีการจัดทำ เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19         ส่วนแผนยุทธศาสตร์ฯ ปี 2565-2569 กำลังอยู่ในช่วงดำเนินการ ‘ฉลาดซื้อ’ ฉบับนี้จะชวนมาทำความรู้จักแผนดังกล่าว ความคืบหน้า จุดอ่อน และสิ่งที่ควรจะเป็น โดยเฉพาะในส่วนของยุทธศาสตร์ที่ 5 เกี่ยวกับการส่งเสริมความรู้ด้านเชื้อดื้อยาและความตระหนักด้านการใช้ยาต้านจุลชีพอย่างเหมาะสมแก่ประชาชน ซึ่งเป็นส่วนที่ภาคประชาชนและภาคีเครือข่ายเข้ามามีบทบาท         ทำไมต้องมีแผนยุทธศาสตร์จัดการเชื้อดื้อยา         เรามาทำความรู้จัก ‘แผนยุทธศาสตร์การจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพประเทศไทย พ.ศ.2560-2564’ อย่างย่นย่อกันก่อน         ข้อมูลจากแผนฯ ระบุว่ามีผู้คนประมาณ 700,000 คนต่อปีเสียชีวิตจากเชื้อดื้อยา ถ้าปล่อยไว้โดยไม่ทำอะไร ปี 2593 ตัวเลขผู้เสียชีวิตจะสูงถึง 10 ล้านคน โดย 4.7 ล้านคนอยู่ในทวีปเอเชีย สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจประมาณ 3.5 พันล้านล้านบาท ขณะที่ประเทศไทยมีการเสียชีวิตจากเชื้อดื้อยาปีละประมาณ 38,000 คน 4.2 หมื่นล้านบาทคือความสูญเสียทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น นี่คือที่มาของแผน         ตัวแผนกำหนดเป้าหมายที่ต้องไปให้ถึงในปี 2564 ไว้ 5 ข้อคือ การป่วยจากเชื้อดื้อยาลดลงร้อยละ 50 การใช้ยาต้านจุลชีพสำหรับมนุษย์และสัตว์ลดลงร้อยละ 20 และ 30 ตามลำดับ ประชาชนมีความรู้เรื่องเชื้อดื้อยาและตระหนักในการใช้ยาต้านจุลชีพอย่างเหมาะสมเพิ่มขึ้นร้อยละ 20 และประเทศไทยมีระบบจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพที่มีสมรรถนะตามเกณฑ์สากล        โดยมีการกำหนดยุทธศาสตร์ไว้ 6 ยุทธศาสตร์ ประกอบด้วย ยุทธศาสตร์ที่ 1 การเฝ้าระวังการดื้อยาต้านจุลชีพภายใต้แนวคิดสุขภาพหนึ่งเดียว ยุทธศาสตร์ที่ 2 การควบคุมการกระจายยาต้านจุลชีพในภาพรวมของประเทศ ยุทธศาสตร์ที่ 3 การป้องกันและควบคุมการติดเชื้อในสถานพยาบาลและควบคุมกำกับดูแลการใช้ยาต้านจุลชีพอย่างเหมาะสม         ยุทธศาสตร์ที่ 4 การป้องกันและควบคุมเชื้อดื้อยาและควบคุมกำกับดูแลการใช้ยาต้านจุลชีพอย่างเหมาะสมในภาคการเกษตรและสัตว์เลี้ยง ยุทธศาสตร์ที่ 5 การส่งเสริมความรู้ด้านเชื้อดื้อยาและความตระหนักด้านการใช้ยาต้านจุลชีพอย่างเหมาะสมแก่ประชาชน และยุทธศาสตร์ที่ 6 การบริหารและพัฒนากลไกระดับนโยบายเพื่อขับเคลื่อนงานด้านการดื้อยาต้านจุลชีพอย่างยั่งยืน         ผลสำรวจดูดี แต่ในรายละเอียดนั้น...         เราจะไปดูความคืบหน้าจากรายงานระยะครึ่งแผน ‘ความรู้และความตระหนักเรื่องการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างเหมาะสมและเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพของประชาชนในประเทศไทย: ผลการสำรวจอนามัยและสวัสดิการ พ.ศ.2562’ จัดทำโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติและสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (International Health Policy Program หรือ IHPP) ว่าผลลัพธ์ออกมาอย่างไร โดยแบ่งออกเป็น 4 หัวข้อ         ข้อแรก-การได้รับข้อมูลเกี่ยวกับการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างเหมาะสมและเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพ พบว่าประชาชนน้อยกว่า 1 ใน 4 หรือร้อยละ 21.5 ได้รับข้อมูลเกี่ยวกับประเด็นนี้ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 17.8 จากการสำรวจในปี 2560 โดยประชาชนส่วนใหญ่หรือร้อยละ 82.7 ได้รับข้อมูลจากบุคลากรทางการแพทย์         หัวข้อที่ 2 ความรู้เรื่องการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างเหมาะสมและเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพ พบว่า ประชาชนมีความเรื่องนี้เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 23.7 ในปี 2560 เป็นร้อยละ 24.3 ในปี 2562 แต่ข้อที่น่าสังเกตคือประชาชนมากกว่าครึ่งที่ตอบแบบสอบถามตอบคำถามไม่ถูกต้องในประเด็น ‘ยาปฏิชีวนะไม่สามารถฆ่าเชื้อไวรัส’ ‘ยาปฏิชีวนะไม่สามารถรักษาไข้หวัด’ ‘ยาปฏิชีวนะไม่ใช่ยาแก้อักเสบ’ และ ‘การได้รับยาปฏิชีวนะบ่อยครั้งก่อให้เกิดผลข้างเคียง เช่น ท้องเสีย’         ข้อที่ 3 ตระหนักเรื่องความสำคัญของการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างเหมาะสมและเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพ โดยคะแนนในส่วนนี้เท่ากับ 3.3 จาก 5 คะแนน ประชาชนร้อยละ 89.6 เห็นว่าควรใช้ยาปฏิชีวนะเฉพาะที่แพทย์ พยาบาล หรือเภสัชกรสั่งให้เท่านั้น ถึงกระนั้น ประชาชนส่วนใหญ่ยังเข้าใจผิดในบางประเด็น เช่น ร้อยละ 83.3 เชื่อว่าหากใช้ยาปฏิชีวนะอย่างถูกต้องจะไม่มีความเสี่ยงเรื่องเชื้อดื้อยา เป็นต้น         และข้อที่ 4 การใช้ยาปฏิชีวนะในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา พบว่าประชาชนร้อยละ 6.3 ใช้ยาปฏิชีวนะในรูปแบบการกินในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา โดยประชาชนร้อยละ 98.1 ได้รับยาปฏิชีวนะจากบุคลากรทางการแพทย์ แต่ยังมีร้อยละ 1.9 ที่ซื้อจากร้านขายของชำ ทั้งนี้สาเหตุการใช้ยาส่วนใหญ่หรือร้อยละ 43.2 ใช้เพื่อรักษาไข้หวัดใหญ่ซึ่งเป็นการใช้ยาไม่เหมาะสม เพิ่มขึ้นมากจากร้อยละ 27.0 ในปี 2560                ข้อสังเกตจากเภสัชกร         นอกจากนี้ ปี 2563 กลุ่มนิสิตจากคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม ยังได้ทำการสำรวจออนไลน์ในหัวข้อ ‘ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างไม่สมเหตุสมผลของประชาชนที่ใช้สื่อออนไลน์’         ภก.ชินวัจน์ แสงอังศุมาลี อาจารย์ประจำคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม และนักวิชาการประจำศูนย์วิชาการเฝ้าระวังแลพัฒนาระบบยา (กพย.) อธิบายผลสำรวจว่า         “เรามีการถามว่าในช่วงปี 2563-2564 ก่อนสำรวจ 6 เดือนมีการใช้ยาปฏิชีวนะหรือเปล่า ประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์ตอบว่าเคย ซึ่งในยุทธศาสตร์ที่ 5 เรื่องการสื่อสารเราเน้นเรื่องหวัด เจ็บคอ ท้องเสีย แผลสดไม่ต้องใช้ยาปฏิชีวนะจึงมีคำถามด้วยว่าในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมาที่บอกว่าใช้ยาปฏิชีวนะ คุณได้ใช้รักษาอาการเจ็บคอ ท้องเสีย แผลสดหรือเปล่า ก็ประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ ตอบว่าใช้         “ในส่วนความรู้แบ่งเป็น 2 ส่วนคือความรู้เกี่ยวกับเชื้อดื้อยาและความรู้เกี่ยวกับยาปฏิชีวนะ ผลโดยภาพรวมคนส่วนมากจะตอบข้อความรู้ได้ถูกต้องเกิน 60 เปอร์เซ็นต์ ยกเว้นข้อหนึ่งที่น่าสนใจที่ไม่เกิน 60 เปอร์เซ็นต์ คือคนยังคิดว่ายาปฏิชีวนะเรียกอีกอย่างหนึ่งว่ายาแก้อักเสบ เป็นข้อที่คนส่วนใหญ่ยังตอบผิดอยู่คือ 56 เปอร์เซ็นต์ ในส่วนเรื่องทัศนคติส่วนใหญ่ค่อนข้างดีว่าต้องทานยาปฏิชีวนะจนครบ         “ส่วนในเรื่องของพฤติกรรมส่วนใหญ่อยู่ในระดับกลางๆ คนที่ตอบว่าเคยซื้อยาปฏิชีวนะมากินเองส่วนใหญ่เคยประมาณ 60 กว่าเปอร์เซ็นต์อันนี้ก็เป็นจุดที่น่าสนใจ และร้อยละ 50 ซื้อยาฆ่าเชื้อมากินเองตามที่เคยได้รับจากหมอ ส่วนพฤติกรรมอื่นๆ เช่นการแกะแคปซูลเอายามาโรยแผลยังน้อยอยู่ อาจเพราะเราใช้สื่อออนไลน์กลุ่มประชาชนที่เข้าถึงแบบสำรวจอาจเป็นประชาชนที่มีการศึกษา”         คนทำงาน         คราวนี้เราจะกลับมาที่ยุทธศาสตร์ที่ 5 ซึ่งที่ผ่านมามีความร่วมมือจากหลายเครือข่ายที่เข้ามาร่วมทำงานอย่างศูนย์วิชาการเฝ้าระวังแลพัฒนาระบบยา (กพย.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เอ็นจีโอ ภาคประชาสังคม บุคลากรทางการแพทย์ หน่วยงานรัฐ อาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) เป็นต้น         ยุทธศาสตร์นี้มี 3 กลยุทธ์คือ ส่งเสริมบทบาทขององค์กรและเครือข่ายภาคประชาสังคม สื่อมวลชนในการสร้างความเข้าใจเรื่องเชื้อดื้อยาและการใช้ยาต้านจุลชีพอย่างเหมาะสมอ ส่งเสริมและพัฒนาความรอบรู้ด้านสุขภาพด้านเชื้อดื้อยาและความตระหนักด้านการใช้ยาต้านจุลชีพอย่างเหมาะสมให้แก่ประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มเด็ก เยาวชน และกลุ่มวัยทำงาน และสุดท้าย เสริมสร้างความเข้มแข็งและการมีส่วนร่วมของชุมชนและภาคีเครือข่าย         ภก.ชินวัจน์ อธิบายว่า หน่วยงานรับผิดชอบประกอบไปด้วยกรมสนับสนุนบริการสุขภาพซึ่งในกรมนี้จะมี 2 กองย่อยคือกองสนับสนุนบริการสุขภาพทำหน้าที่ดูแล อสม. ทั่วประเทศ อีกกองหนึ่งคือกองสุขศึกษาทำหน้าที่จัดทำสื่อหรือเผยแพร่สื่อให้ อสม. นำไปใช้กระจายความรู้ให้กับประชาชน        ในส่วนผู้รับผิดชอบส่วนที่ 2 คือ สสส. ทำหน้าที่ให้ความรู้ในระดับกว้างทั้งประเทศผ่านสื่อออนไลน์ โทรทัศน์ วิทยุ รถไฟฟ้า ใน สสส. ยังมีภาคีเครือข่าย เช่น กพย. มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เป็นต้น         “ในส่วนของ กพย. เราจัดกิจกรรมสัปดาห์รณรงค์เรื่องการรู้และตระหนักการใช้ยาต้านแบคทีเรีย แล้วก็ชวนแต่ละที่มาร่วมกันตรงนี้เพื่อทำเป็นแคมเปญ นอกจากนี้ กพย. ก็ผลิตสื่อด้วย เช่น กระจกส่องคอ ยาวิพากษ์ แผ่นพับต่างๆ กระจายไปยังโรงพยาบาลในเครือข่ายของ กพย.”        ส่วนที่ 3 คือสมัชชาสุขภาพแห่งชาติซึ่งมีมติให้ ‘วิกฤติการณ์เชื้อแบคทีเรียดื้อยาและการจัดการปัญหาแบบบูรณาการ’ เป็นประเด็นที่ต้องจัดการในการประชุมครั้งที่ 8 ปี 2558 แต่ยังไม่มีการเคลื่อนไหวใดๆ        สิ่งที่ต้องแก้ไขในแผนปี 2565-2569         จากตอนต้นถึงบรรทัดนี้ การขับเคลื่อนประเด็นเชื้อดื้อยาดูจะดำเนินไปด้วยดี แม้บางข้อจะยังมีความเข้าใจผิดในหมู่ประชาชนก็ตาม แต่ในมุมมองของ ภก.ชินวัจน์ กลับเห็นว่ามีหลายสิ่งอย่างที่ต้องจัดการและแก้ไข         เบื้องต้น ผลการสำรวจปี 2562 ออกมาถือว่าไม่เลว อย่างไรก็ตาม เมื่อลงไปดูในรายละเอียดยังมีหลายจุดที่แสดงให้เห็นว่าประชาชนยังเข้าใจคลาดเคลื่อน ส่วนหนึ่งมาจากแผนการสื่อสารที่ยังไม่ชัดเจน         “ผมคิดว่าข้อที่สำคัญที่สุดคือเรื่องการสื่อสารของภาครัฐยังแย่อยู่ เป็นการสื่อสารแบบราชการที่ประชาชนเข้าใจยาก คุณตั้งยุทธศาสตร์ขึ้นมาและต้องการภาคประชาชนในการสนับสนุน แต่การสื่อสารการให้ข้อมูลที่ถูกต้องคุณยังไม่ชัดเจน แล้วสื่อที่คุณผลิตออกมามันไม่ใช่สื่อที่ประชาชนทั่วไปเข้าใจได้ง่ายๆ” ภก.ชินวัจน์ วิพากษ์วิจารณ์         ประเด็นที่ 2 การสื่อสารของภาคประชาชนในระดับท้องถิ่นบางครั้งต้องอาศัยหน่วยงานรัฐท้องถิ่น เช่น โรงพยาบาลในส่วนของสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) พบว่างบประมาณสนับสนุนให้บุคลากรของโรงพยาบาลหรือ สสจ. ลงพื้นที่พูดคุยทำความเข้าใจกับประชาชนยังน้อย ภก.ชินวัจน์ กล่าวว่าหน่วยงานราชการไม่มีงบประมาณให้ในการทำสื่อหรือกิจกรรม แม้กระทั่งกรมสนับสนุนบริการสุขภาพก็ไม่มีงบประมาณเพื่อทำตามยุทธศาสตร์นี้         ในส่วนของภาคประชาชน ภก.ชินวัจน์ แสดงความคิดเห็นว่าภาคประชาชนมีเครือข่ายที่เหนียวแน่น เครือข่ายเหล่านี้ควรมีแกนนำที่เข้ามาร่วมทำงานกับภาครัฐ เพราะขณะที่ภาครัฐยังทำงานแบบเช้าชามเย็นชาม หากภาคประชาชนช่วยกันส่งเสียงสะท้อนปัญหาก็น่าจะมีส่วนเร่งความกระตือรือร้นในการทำงานได้         อีกด้านหนึ่ง ภก.ชินวัจน์ ยอมรับว่าที่ผ่านมาการสื่อสารกับประชาชนยังไม่มีการจำแนกกลุ่มที่ชัดเจนเพื่อผลิตสื่อที่ตรงกลุ่มเป้าหมาย สื่อที่ผลิตออกมาส่วนใหญ่ดูเหมือนว่าจะเน้นกลุ่มชนชั้นกลางในเมือง ซึ่งอาจไม่สอดคล้องกับกลุ่มประชาชนที่อยู่นอกเขตเมือง        และจุดนี้จะเป็นประเด็นที่ภาคประชาชนจะมีการหารือต่อไปเพื่อกำหนดออกมาเป็นยุทธศาสตร์ที่ 5 ด้านการส่งเสริมความรู้ด้านเชื้อดื้อยาและความตระหนักด้านการใช้ยาต้านจุลชีพอย่างเหมาะสมแก่ประชาชน ในแผนยุทธศาสตร์การจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพประเทศไทย พ.ศ.2565-2569 ต่อไป         หมายเหตุ การสัมภาษณ์ ภก.ชินวัจน์ แสงอังศุมาลี เกิดขึ้นก่อนมีการประชุมหารือเพื่อวางแนวทางยุทธศาสตร์ 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 244 การใช้ยาเพิ่มน้ำหนักดีจริงหรือ

        อยากเพิ่มน้ำหนัก อยากอ้วน แต่กินเท่าไรก็ไม่อ้วน ในเมื่อกินอาหารไม่อาจช่วยได้ กินยาช่วยเลยละกัน ทำแบบนี้ได้ไหม แล้วจะได้ผลจริงหรือเปล่า มันจะเป็นการแก้ปัญหาหรือสร้างปัญหากันนะ เรามาทำความรู้จักกับยาเพิ่มน้ำหนักกันเถอะ         ความหมาย         ยา  คือ สารทางธรรมชาติหรือสารเคมีที่ผ่านกรรมวิธีแล้วนำมาใช้งานให้ออกฤทธิ์ต่อร่างกาย เพื่อใช้ในการป้องกัน รักษา บำบัด หรือบรรเทาอาการของโรค ซึ่งจะแตกต่างในสรรพคุณและวิธีการใช้ ยาจะมีการทดลองซ้ำแล้วซ้ำเล่าและมีการตรวจสอบถึงผลกระทบที่จะตามมากับผู้ใช้อย่างละเอียดก่อนจะอนุญาตให้ใช้ในคน เพราะยาบางประเภทอาจจะรักษาอาการหรือรักษาโรคชนิดหนึ่งหาย แต่กลับไปทำลายระบบร่างกายส่วนอื่น และทำให้ต้องรักษาการป่วยของร่างกายที่เกิดจากการรับประทานยาตัวนั้นด้วย ถึงตรงนี้จะพบว่า ยานั้นผ่านการตรวจสอบค่อนข้างละเอียด หากใช้ถูกวิธีก็เกิดผลดี แต่ก็อันตรายถ้าใช้ไม่เหมาะสม แล้วยาช่วยเพิ่มน้ำหนักนั้นมีอยู่จริงไหม         ยาช่วยเจริญอาหารหรือที่มักเรียกกันว่า “ยาเพิ่มน้ำหนัก” ที่รู้จักกันในวงกว้าง คือ ยาไซโปรเฮปทาดีน (Cyproheptadine) หรือที่รู้จักกันดีในชื่อการค้าว่า “เพอริแอคติน” (Periactin) และยาพิโซติเฟน (Pizotifen)         อันที่จริงสรรพคุณต้นฉบับนั้นเป็นยาแก้แพ้  แต่มีผลข้างเคียงทำให้เกิดอาการง่วงนอนและอื่นๆ โดยออกฤทธิ์กระตุ้นให้ร่างกายมีฮอร์โมนอินซูลินสูงขึ้น ทำให้ร่างกายมีน้ำตาลในเลือดต่ำ เมื่อน้ำตาลต่ำก็จะไปกระตุ้นที่ศูนย์ความหิวในสมอง จึงทำให้เกิดอาการหิวหรืออยากกินอาหารมากขึ้น บ่อยขึ้น จึงช่วยให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นในทางอ้อมได้          อย่างไรก็ตาม ยาเหล่านี้ก็จะมีผลข้างเคียงหลายอย่างในการใช้จึงต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์หรือขอคำแนะนำก่อนใช้ยาจากเภสัชกร ส่วนขนาดและระยะเวลาที่เหมาะสมของการใช้ยาต้องขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์เท่านั้น หมายความว่า เราไม่ควรไปซื้อรับประทานเอง         ไม่กินยาได้ไหม         ปัญหาสุขภาพนั้น สิ่งแรกเลยที่ต้องจัดการคือ การค้นหาสาเหตุของปัญหา ถ้ามีรูปร่างผอมและดัชนีมวลกายน้อย เรี่ยวแรงไม่มี อาจเกิดได้จากสาเหตุหลายประการ เช่น กินอาหารไม่ถูกต้อง เป็นพันธุกรรม มีนิสัยการกินที่ผิด (เลือกกิน) หรืออาจมีปรสิตแอบอยู่ในตัว ฯลฯ จึงควรแก้ไขให้ถูกที่ โดยเริ่มจากพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกายเพื่อวินิจฉัยว่าไม่ได้มีสาเหตุทางกายภาพ เช่น มีพยาธิ เป็นกรรมพันธุ์หรือโรคร้าย หากสาเหตุเกิดจากโรคต้องให้แพทย์รักษา แต่หากเป็นเรื่องของพฤติกรรมลองนำวิธีเหล่านี้ไปใช้ดู         ·     ปรับวิธีกินให้เหมือนกับคนอ้วน            1.กินเร็วหรือเคี้ยวอาหารเร็วขึ้น            2.เพิ่มมื้ออาหาร            3.งดดื่มน้ำระหว่างรับประทาน            4.กินอาหารที่ให้พลังงานสูง                  ·     กินให้ถูกหลักโภชนาการ            1.กินอาหารดีมีประโยชน์ให้ครบ 5 หมู่  ไม่เลือกกิน            2.เพิ่มสัดส่วนหรือเน้นอาหารกลุ่มโปรตีนและไขมันเพิ่มเติมในมื้ออาหาร เพื่อช่วยเสริมกล้ามเนื้อ เช่น อกไก่ โปรตีนจากปลา ไข่ ธัญพืช กะทิ ถั่วและเมล็ดพืชต่างๆ         ·     เพิ่มการออกกำลังกายอย่างถูกวิธี             ลองนำคำแนะนำข้างต้นนี้ไปปรับใช้ น่าจะช่วยเพิ่มน้ำหนักได้ แต่การเพิ่มน้ำหนักที่ดีต่อสุขภาพนั้นก็ไม่ได้เกิดขึ้นได้เพียงชั่วข้ามคืนต้องทำไปเรื่อยๆ อย่างสม่ำเสมอ แล้วผลลัพธ์จะออกมาดี และแน่นอนว่าดีกว่าการกินยาช่วยเพิ่มน้ำหนัก เพราะนั่นเป็นเพียงการใช้เสริมเพื่อให้เกิดความอยากอาหารขึ้นเท่านั้น ผลข้างเคียงก็เยอะ จึงไม่ควรเป็นสิ่งยึดหลัก เอาเป็นแค่ทางเลือกก็พอหากจำเป็นจริงๆ           ยาเพิ่มน้ำหนัก หรือยาช่วยเจริญอาหาร        1. ยาต้านซีโรโทนิน  (serotonin antagonist)             1.1 ไซโปรเฮปทาดีน (Cyproheptadine) : เป็นยาแก้แพ้ที่รู้จักในชื่อการค้าว่า “เพอริแอคติน” (Periactin)  มีสรรพคุณต้านฤทธิ์ของสารฮิสตามีนที่ทำให้เกิดอาการภูมิแพ้ ต้านฤทธิ์ซีโรโทนิน และออกฤทธิ์กระตุ้นให้ร่างกายมีฮอร์โมนอินซูลินสูงขึ้น ทำให้น้ำตาลในเลือดต่ำ เมื่อน้ำตาลต่ำก็จะไปกระตุ้นที่ศูนย์ความหิวในไฮโปทาลามัส (ส่วนหนึ่งของสมอง) ทำให้หิวหรืออยากกินอาหารมากขึ้น บ่อยขึ้น จึงช่วยให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นในทางอ้อมได้ แต่น้ำหนักตัวจะไม่เพิ่มและยังอาจลดลงด้วยซ้ำเมื่อหยุดยา              ผลข้างเคียง             - ง่วงนอนตอนกลางวัน จึงอาจกระทบต่อผลการเรียนหรือการทำงาน             - ทำให้เกิดอาการอยู่ไม่สุข พลุ่งพล่าน             - ยังยั้งการหลั่งฮอร์โมนกระตุ้นการเจริญเติบโต (ถ้าใช้ในเด็กอาจทำให้เด็กตัวเตี้ย)             1.2 พิโซติเฟน (Pizotifen) : มีฤทธิ์และผลข้างเคียงคล้ายคลึงกับไซโปรเฮปทาดีน แต่มีราคาแพงกว่า         โดยทั่วไปแพทย์จะให้ใช้ยา 2 ชนิดนี้ ไม่นานเกิน 2 สัปดาห์ เพื่อเลี่ยงไม่ให้ไปรบกวนการทำงานของต่อมไร้ท่อ        2. ยากลุ่มคอร์ติโคสตีรอยด์และอะนาบอลิกฮอร์โมน             2.1 ยากลุ่มคอร์ติโคสตีรอยด์ : ผู้ขายยาบางรายมักผสมยานี้ลงใน “ยาชุด” หลายแบบ และโฆษณาว่าเป็นยาบำรุงร่างกายบ้าง ยาชุดเพิ่มความอ้วนบ้าง อันที่จริง ยากลุ่มนี้จัดว่าเป็น “ยาอันตราย” ห้ามซื้อขายโดยไม่มีใบสั่งแพทย์ เพราะมีผลข้างเคียงรุนแรงต่อผู้กินยาอย่างผิดวิธี ตัวยากลุ่มนี้ เช่น เพรดนิโซโลน (Prednisolone) เด็กซาเมทาโซน  ผลข้างเคียง             - กระดูกหยุดเจริญเติบโตในเด็ก และกระดูกผุในผู้ใหญ่             - ร่างกายบวมฉุจากการคั่งของเกลือและน้ำ ผู้ใช้ยาจึงหลงคิดว่าอ้วนขึ้น            - ภูมิต้านทานของร่างกายลดลง เกิดโรคติดเชื้อได้ง่าย             - อาจเป็นเบาหวานหรือแผลในกระเพาะอาหาร             - ถ้าใช้ต่อเนื่องนานๆ จะกดการทำงานของต่อมหมวกไต และเสพติดได้             - อาจเกิดสิว ซึ่งรักษายาก ผิวหนังบาง ผิวหนังแตกเป็นริ้วตามหน้าท้องและขาอ่อน         2.2 อะนาบอลิกฮอร์โมน : ยากลุ่มนี้ที่มีแพร่หลายในท้องตลาดคือ แอนโดเจน เป็นฮอร์โมนที่มีมากในเพศชาย มีฤทธิ์กระตุ้นการเจริญของกระดูกและกล้ามเนื้อ ทำให้มีลักษณะของเพศชาย เช่น เสียงห้าว มีหนวดขนขึ้นดกดำ อวัยวะเพศชายเจริญรวดเร็ว 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 244 อย่างนี้ก็ได้เหรอ เมื่อต้องเจอโควิด (1)

        การระบาดของโควิด 19 ในระลอกล่าสุด ทำให้เกิดความตระหนกตกใจ และเกิดความตื่นตัวของผู้คนในการแสวงหาสิ่งต่างๆ มาป้องกันตัวหรือต่อสู้กับเจ้าเชื้อโควิด 19 กันจ้าละหวั่น นักวิชาการและนักวิชาเกิน เช่น ผู้ผลิต ผู้ขาย หลายท่านก็ออกมาให้ข้อมูลกับประชาชน ยิ่งให้ข้อมูลบางทีชาวบ้านก็ยิ่งสับสนเพราะมันดูน่าเชื่อถือไปหมด สุดท้ายพอตัวเองคิดว่าน่าจะเป็นไปได้ก็อ่อนระทวยเสียเงินไปหามากินมาใช้ไปตามๆ กัน         ผมพยายามรวบรวมข้อมูลผลิตภัณฑ์ที่เกิดขึ้นในช่วงนี้มานำเสนอ เพื่อให้ผู้อ่านได้ฉุกคิดและตัดสินใจได้ว่าอะไรควรใช้ อะไรไม่ควรใช้ อะไรน่าเสี่ยง อะไรไม่ควรเสี่ยง สรุปพอหอมปากหอมคอในช่วงนี้ดังนี้ 1. ห้ามเด็ดขาด เพราะได้ไม่คุ้มเสีย1.1 ห้ามใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของโพวิโดน ไอโอดีน กลั้วคอ เพื่อป้องกันเชื้อไวรัสโควิด-19 ลงสู่ปอด         สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริง พบว่า ข้อมูลดังกล่าวนั้นเป็นเท็จ เนื่องจากผลิตภัณฑ์ที่มีการกล่าวถึง คือ โพวิโดนไอไอดีนชนิดกลั้วคอ มีคุณสมบัติฆ่าเชื้อโรค จุลินทรีย์หรือแบคทีเรีย ลดอักเสบบริเวณช่องปากและลำคอ แผลในปาก และระงับกลิ่นปากเท่านั้น ไม่สามารถป้องกันเชื้อไวรัสจากลำคอลงสู่ปอดได้         นอกจากนี้ การที่มีผู้แนะนำให้ใช้น้ำมะนาวมากลั้วคอแทน ก็ไม่สามารถได้ผลเช่นเดียวกัน 1.2 ห้ามตุนยา Hydroxychloroquine เพื่อใช้รักษาโควิด-19         ตามที่มีการแชร์ข้อความว่า "ผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ใช้ยา Hydroxychloroquine รักษาหายทุกราย ให้หาซื้อยามาไว้ที่บ้าน" ทางกรมการแพทย์ได้ชี้แจงว่า มีข้อมูลบิดเบือน เนื่องจากปัจจุบันยา Hydroxychloroquine ถูกแนะนำให้ใช้รักษาผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ที่มีอาการ ตามแนวทางการรักษาที่ออกโดยกระทรวงสาธารณสุขจริง แต่ไม่ได้มีประสิทธิภาพสูงขนาดรักษาได้หายทุกรายตามที่กล่าวอ้าง และในแนวทางการรักษาล่าสุด มีการแนะนำให้ใช้ร่วมกับยาชนิดอื่น ไม่ใช้เป็นยาเดี่ยวในการรักษา นอกจากนี้การใช้ยาไม่ถูกวิธีทำให้เกิดอันตรายกับผู้ป่วยจากผลข้างเคียงของยาได้ เช่น จอประสาทตาเสื่อมและมีโอกาสทำให้เกิดการดื้อยาของเชื้อมาลาเรียในประเทศไทยมากขึ้น 1.3 ตระเวณหา ยาฟาวิพิราเวียร์ หรือยาต้านไวรัสอื่นๆ เพื่อมากักตุนใช้เองที่บ้าน         จากการที่ “ยาฟาวิพิราเวียร์” ถูกนำมาใช้ลดอัตราการเสียชีวิตของผู้ติดเชื้อโควิด 19 ในปัจจุบัน ทำให้ประชาชนบางคนถึงกับพยายามตระเวณไปตามร้านยาเพื่อเสาะหายานี้ หรือหายาต้านไวรัสอื่นๆ มากักตุนไว้กับตัวเองเพื่อใช้รับประทานป้องกันการติดโควิด         ขอย้ำเตือนว่า ยาต้านไว้รัสเหล่านี้จะต้องใช้ภายใต้การวินิจฉัยของแพทย์และใช้เมื่อจำเป็น การนำไปใช้อย่างไม่ถูกต้อง นอกจากจะเกิดผลเสียต่อร่างกายตนเองแล้ว ยังจะยิ่งทำให้เกิดการดื้อยาจนส่งผลเสียต่อระดับประเทศได้ 1.4 กล้วยดิบบดแห้ง กัญชา กัญชง กินรักษาโควิด 19         ยังไม่มีงานวิจัยใดๆ ที่สรุปได้ชัดเจนว่า กล้วยดิบบดแห้ง กัญชา กัญชง สามารถป้องกันหรือฆ่าเชื้อโควิด19 ได้ การหลงเชื่อซื้อผลิตภัณฑ์เหล่านี้มากินจึงไม่เกิดประโยชน์ หนำซ้ำจะเกิดผลเสียตามมาอีกด้วย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 244 ข่าวดีเพิ่มเติมจากยาสูบ

        ข้อมูลส่วนใหญ่ที่สืบค้นได้ในประเด็นที่เกี่ยวกับการใช้ยาสูบสายพันธุ์ออสเตรเลียสู้ไวรัสนั้น มักเป็นไปในด้านการดัดแปลงพันธุกรรมให้ใบยาสูบสร้างโปรตีนที่เป็นแอนติบอดีสู้กับเชื้อโรค (neutralizing antibody) ดังที่เล่าให้ฟังในฉลาดซื้อประจำเดือนมีนาคม 2564 อย่างไรก็ดีได้มีคำถามถึงการใช้ใบยาสูบเพื่อผลิตโปรตีนที่ทำหน้าที่ในวัคซีนเพื่อกระตุ้นให้ร่างกายสร้างแอนติบอดีต้านเชื้อโรคมีบ้างไหม ซึ่งคำตอบคือ มี         บทความชื่อ Potential Applications of Plant Biotechnology against SARS-CoV-2 ตีพิมพ์ในวารสาร Trends in Plant Science ในปี 2020 นั้น ให้ข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับการหาทางต่อสู้ covid-19 โดยอาศัยใบยาสูบช่วยในการผลิตวัคซีน ข้อความส่วนหนึ่งในบทความกล่าวประมาณว่า...         “อย่างน้อยก็มีบริษัทหนึ่งที่คิดจะพัฒนาวัคซีน covid-19 โดยอาศัยการแสดงออกของยีน (เพื่อสร้างหน่วยย่อยโปรตีนจาก SARS-CoV-2) ในใบยาสูบ บริษัทนั้นคือ Kentucky BioProcessing ในเมือง Owensboro รัฐเคนตักกี สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ British American Tobacco อย่างไรก็ดีรายละเอียดนั้นยังไม่เป็นที่เปิดเผยต่อสาธารณะ โดยมีข้อมูลเบื้องต้นว่าน่าจะเป็นการใช้ลำดับโปรตีน S1 ซึ่งเป็นโพลีเป็บไทด์ที่เป็นองค์ประกอบส่วนที่แสดงความแตกต่างระหว่างหนามโปรตีน (spike protein) ของ SARS-CoV-2 และหนามโปรตีนของ coronavirus ชนิดอื่น มาถอดเป็นรหัสพันธุกรรมแล้วใส่เข้าไปในเซลล์ของใบยาสูบ เพื่อบังคับให้ใบยาสูบสร้างโปรตีนซึ่งสามารถแยกออกเป็นโปรตีนบริสุทธิ์ที่มีศักยภาพเป็นแอนติเจน เพื่อใช้ทำเป็นวัคซีนสำหรับฉีดกระตุ้นภูมิคุ้มกันเพื่อต่อต้าน SARS-CoV-2 ในคน”         กลับมาที่แอนติบอดีที่ผลิตจากใบยาสูบ ซึ่งปรากฏเป็นข่าวในแง่ความปลอดภัยว่าผ่านหรือไม่นั้น ในเว็บ www.sanook.com เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2563 มีหัวข้อข่าวเรื่อง บริษัทยาสหรัฐแตะเบรก ระงับการทดลองแอนติบอดีรักษาโควิด-19 เหตุกังวลความปลอดภัย บริษัทที่ข่าวกล่าวถึงคือ Eli Lilly & Co ซึ่งได้แถลงการณ์ว่า คณะกรรมการติดตามความปลอดภัยด้านข้อมูลของบริษัทจาก US.FDA ได้แนะนำให้บริษัทระงับการรับอาสาสมัครทดลองการฉีดแอนติบอดีในโครงการทดลองซึ่งได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลสหรัฐอเมริกา โดยแอนติบอดีชนิดนี้เป็นโมโนโคลนอลแอนติบอดี (monoclonal antibody) ที่ Eli Lilly & Co ต้องการใช้บำบัดอาการของผู้ป่วยโรคโควิด-19 ควบคู่กับการใช้ยาเรมเดซิเวียร์ (Remdesivir) ของบริษัทกิลเลียด ไซแอนเซส (Gilead Sciences)         ต่อมาในวันที่ 9 พฤศจิกายน 2563 ได้มีข่าวปรากฏใน https://www.prnewswire.com กล่าวว่า Lilly's neutralizing antibody bamlanivimab (LY-CoV555) receives FDA emergency use authorization for the treatment of recently diagnosed COVID-19 และเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2563 ในเว็บ https://www.biopharma-reporter.com มีข่าวเรื่อง Canada grants emergency use authorization to Lilly’s COVID-19 antibody, drug maker in strategic manufacturing deal with Samsung ซึ่งเป็นการแสดงว่ามีการอนุมัติแบบฉุกเฉินในการใช้ neutralizing antibody เป็นยาในคนไข้วิกฤตบางกลุ่มเป็นกรณีพิเศษแล้ว         Bamlanivimab เป็นโปรตีนแอนติบอดีที่สามารถจับตัวกับหนามโปรตีนของไวรัส เพื่อยับยั้งการเข้าสู่เซลล์มนุษย์ โดยมีข้อแม้ในการใช้ยาตัวนี้คือ ต้องเป็นคนไข้ covid-19 ซึ่งเป็นผู้ใหญ่ที่มีอาการไม่หนักหรือถ้าเป็นเด็กจะต้องมีอายุมากกว่า 12 ปีและมีน้ำหนักอย่างน้อย 40 กิโลกรัม ซึ่งแพทย์ต้องประเมินว่า ถ้าไม่ได้รับการบำบัดด้วยยานี้แล้วมีแนวโน้มว่า จะมีอาการหนักเมื่อเข้าไปอยู่ในโรงพยาบาล        Bamlanivimab นี้ห้ามใช้กับผู้ป่วยใน (Inpatient) ของโรงพยาบาลซึ่งป่วยเนื่องจาก covid-19 ที่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจและผู้ป่วยที่มีปริมาณออกซิเจนต่ำ (ผู้เขียนเข้าใจว่าเนื่องจากผู้ป่วยเหล่านี้อยู่ในขั้นวิกฤตที่เกิดจาก cytokine storm คือสภาวะที่ระบบภูมิคุ้มกันทำงานผิดพลาดและตอบสนองด้านการอักเสบแบบโหมกระหน่ำเกินภาวะควบคุมได้ ส่งผลให้มีการทำลายเซลล์ปอดในคนไข้หลายคน) ยานี้ผ่านการประเมินทั้ง 3 ระยะแล้วในคน แต่ผลจากการประเมินนั้น US.FDA ไม่ประทับใจนัก ซึ่งดูได้จากการกำหนดให้มีข้อแม้ในการใช้ยามากมายซึ่งหาดูได้จากเอกสารหลายชิ้นที่ Eli Lilly & Co เผยแพร่ในเว็บของบริษัท         ตัวอย่างที่สำคัญของข้อมูลที่เป็นข้อจำกัดห้ามใช้คือ ผู้ป่วยต้องไม่เป็น 1. คนขี้แพ้ (allergies) 2. คนท้องหรือเตรียมจะท้อง 3. แม่กำลังให้นมลูก 4. คนไข้โรคร้ายแรงอื่น ๆ หรือ 5. ผู้ที่กำลังกินยาหรือวิตามินเสริมใด ๆ เพื่อการบำบัดโรค และที่สำคัญคือ การใช้ยานี้ในผู้ป่วยจำเป็นต้องให้สู่หลอดเลือดดำโดยผ่านสายน้ำเกลือในปริมาณสูงถึง 700 มิลลิกรัมต่อ 20 มิลลิลิตร ซึ่งอาจมีผลข้างเคียงได้ถึงขั้น “ตาย” หรืออยู่โรงพยาบาลนานขึ้น เป็นต้น         ต่อคำถามที่อาจมีคือ แอนติบอดีชนิดใดบ้างถูกใช้ในการบำบัดโรคเนื่องจากไวรัสได้จริงแล้วหรือไม่ นั้น ผู้เขียนได้สืบข้อมูลพบว่า มีหลายบทความในอินเตอร์เน็ตที่กล่าวถึงยาชื่อ ZMapp ของ Eli Lilly & Co ที่เคยมีเป็นความหวังในการใช้บำบัดโรค Ebola ที่เกิดจากไวรัสชื่อ Zaire ebolavirus โดยโรคนี้ติดต่อจากคนสู่คน (Human to human transmission) ผ่านการสัมผัสเมือกหรือสารคัดหลั่ง (ปัสสาวะ น้ำลาย เหงื่อ อุจจาระ อาเจียน น้ำนมหรือน้ำอสุจิ) ของผู้ป่วยที่ติดเชื้อ นอกจากนี้ยังเชื่อว่าสัตว์บางชนิดอาจเป็นพาหะ ได้แก่ ค้างคาวผลไม้ (Fruit Bat) และลิง เป็นต้น         อาการของการติดเชื้อไวรัสอีโบลาโดยทั่วไปเหมือนการติดเชื้อไข้เลือดออกคือ มีอาการไม่เฉพาะเจาะจง ประกอบไปด้วยอาการไข้ ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย คลื่นไส้ อาเจียน ถ่ายเหลว แต่อาการจะรุนแรงขึ้นถึงขั้นมีเลือดออก ตาเหลือง ตัวเหลือง การทำงานของอวัยวะภายในล้มเหลว นอกจากนี้ให้สงสัยไว้ก่อนในผู้ที่มีประวัติเดินทางไปในพื้นที่ที่มีการระบาดของเชื้อไวรัสอีโบลา และ/หรือ มีการสัมผัสกับสารคัดหลั่งของผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสอีโบลาว่า เป็นผู้อาจติดเชื้อ ซึ่งโดยทั่วไปมักเริ่มมีอาการตั้งแต่ 2-21 วันภายหลังจากสัมผัสกับเชื้อ โรคอีโบลานี้มีความรุนแรงมากเพราะมีอัตราการเสียชีวิตเฉลี่ยสูงถึงราวร้อยละ 50         จากบทความเรื่อง Fighting Ebola with ZMapp: spotlight on plant-made antibody ใน Scientific China Life Sciences ของปี 2014 (doi: 10.1007/s11427-014-4746-7) และบทความเรื่อง Ebola 'Secret Serum': Small Biopharma, The Army, And Big Tobacco ในเว็บ www.forbes.com รวมถึงข้อมูลจาก Wikipedia ทำให้ประมวลรู้เรื่องของ ZMapp ว่า ยานี้ผลิตภายใต้กระบวนการแบบโมโนโคลนอลแอนติบอดีซึ่งมีหลายวิธี แต่วิธีที่เกิดจากการดัดแปลงพันธุกรรมของยาสูบออสเตรเลีย (Nicotiana bethamiana) นั้นเป็นความพยายามของบริษัท Kentucky BioProcessing Inc. ซึ่งหวังว่าจะเป็นยาที่อาจช่วยชีวิตชาวโลกจากโรคอีโบลา         จากข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับ ZMapp นั้นกล่าวประมาณว่า โปรตีนนี้เป็นยาชีวเภสัชภัณฑ์ซึ่งประกอบด้วยโมโนโคลนอลแอนติบอดีที่เป็น chimeric antibodies 3 ชนิดที่ถูกพัฒนาให้ทำงานร่วมกันเพื่อบำบัดโรคอีโบลา คำว่า Chimeric antibody นั้นหมายถึง แอนติบอดีลูกผสมที่เกิดจากการต่อโปรตีนส่วน Fab (ส่วนของแอนติบอดีที่เปลี่ยนแปลงไปตามแอนติเจนที่ต่างกัน) ซึ่งมักผลิตได้จากสัตว์ทดลอง (เช่นหนู) กับโปรตีนส่วน Fc (ส่วนของแอนติบอดีที่คงที่ไม่เปลี่ยนแปลงไปตามแอนติเจนที่ต่างกัน) ของแอนติบอดีจากมนุษย์ ทั้งนี้เพื่อลดการกระตุ้นให้เกิดการสร้างแอนติบอดีที่ต่อต้านโปรตีนที่ใช้เป็นยา (ในที่นี้คือ ZMabb) ให้น้อยลง         ยา ZMapp ได้รับการทดสอบกับสัตว์เท่านั้นและยังไม่ได้รับการทดลองแบบ randomized controlled trial ในคน แต่จำเป็นต้องใช้ในมนุษย์อย่างรีบด่วนเพราะในช่วงต้นเดือนสิงหาคม 2014 เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ชาวอเมริกัน 2 คน ชื่อ Dr. Kent Brantly (อาสาสมัครวัย 33 ปีของ โครงการของ Samaritan's Purse ซึ่งเป็นองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไรของกลุ่มผู้นับถือศาสนาคริสต์) และ Nancy Writebol (อาสาสมัครวัย 59 ปี ที่ไปทำงานช่วยคนไข้อีโบลา) ได้ติดเชื้อในระหว่างการดูแลผู้ป่วยอีโบลาในไลบีเรีย ซึ่งหลังจากได้ยา ZMapp แล้วผู้ป่วยทั้งสองอ้างว่า รู้สึกดีขึ้นและออกจากโรงพยาบาลเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2014 ซึ่งเป็นข่าวโทรทัศน์ที่หาดูได้จาก YouTube เรื่อง How to grow an Ebola vaccine with a tobacco plant (https://www.youtube.com/watch?v=uCW6qeJt-JA)         National Institute of Health (หรือกระทรวงสาธารณสุขของสหรัฐอเมริกา) เริ่มดำเนินการทดลองประสิทธิภาพของ ZMapp ทางคลินิกในอาสาสมัครจากเซียร์ราเลโอน กินี และไลบีเรีย ในเดือนมกราคม 2015 โดยมีเป้าหมายที่จะทดลองในคน 200 คน แต่การแพร่ระบาดของโรคลดลงส่งผลทำให้ต้องปิดการทดลองก่อนกำหนดในเดือนมกราคม 2016 โดยมีข้อมูล (ที่ไม่สามารถตัดสินทางสถิติ) ว่า ZMapp ช่วยลดอันตรายของโรคราวร้อยละ 40         แม้ว่า ZMapp เคยได้รับการประเมินโดยองค์การอนามัยโลกเพื่อใช้ในกรณีฉุกเฉินเนื่องจากมีประโยชน์มากกว่าผลเสียที่เป็นความเสี่ยงก็ตาม แต่ก็มีข้อสังเกตเกี่ยวกับปัญหาของอุณหภูมิของการจัดเก็บระหว่างการขนส่งที่ต้องการความเย็นต่อเนื่อง ในเดือนสิงหาคม 2019 หน่วยงานด้านสุขภาพแห่งชาติของสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก องค์การอนามัยโลกและสถาบันสุขภาพแห่งชาติของสหรัฐอเมริกาได้ประกาศหยุดใช้ ZMapp จากนั้นในเดือนตุลาคม 2020 สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา (FDA) ได้อนุมัติยาอีกชนิดหนึ่งในลักษณะเดียวกับ ZMapp ชื่อ Inmazeb ซึ่งเป็นของผสมของโมโนโคลนอลแอนติบอดี 3 ชนิด คือ atoltivimab, maftivimab, และ odesivimab ในการรักษาการติดเชื้อที่เกิดจาก Zaire ebolavirus         ดังนั้นโดยสรุปแล้ว แอนติบอดีสู้ไวรัสที่ผลิตโดยใช้ใบยาสูบจึงมีแค่แนวโน้มที่อาจถูกใช้ได้จริงยามฉุกเฉิน แต่ยังไม่ได้ใช้โดยทั่วไปในขณะที่เขียนบทความนี้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 243 ความเคลื่อนไหวเดือนพฤษภาคม

พาณิชย์คุมเข้มค่าบริการดีลิเวอรี่ ห้ามขึ้นค่าคอมมิชชั่นร้านค้า        7 พ.ค. นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้สั่งการให้กรมการค้าภายในติดตามดูแลราคาค่าบริการขนส่งดีลิเวอรี่อย่างใกล้ชิด กรมการค้าภายในจึงได้หารือร่วมกับผู้ให้บริการส่งอาหารและแพลตฟอร์มขายสินค้าออนไลน์ ทั้ง 11 แพลตฟอร์ม ได้แก่ Lineman, GRAB, Foodpanda, Robinhood, Gojek, Lazada, Shopee, JJmall, ไปรษณีย์ไทย, Ohlala Shopping และ Lalamove  ซึ่งจากการหารือผู้ให้บริการยืนยันว่า ไม่มีการปรับขึ้นราคาค่าบริการขนส่งดีลิเวอรี่อย่างแน่นอน พร้อมกันนี้ หลายแพลตฟอร์มยังมีการจัดโปรโมชั่น เพื่อช่วยเหลือประชาชนอยู่แล้ว สำหรับสถานการณ์ยอดการสั่งซื้อส่วนใหญ่เพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย 5-10% เท่านั้น หรือบางรายไม่เพิ่มขึ้น         กรณีที่มีข่าวว่าแพลตฟอร์มต่าง ๆ มีการปรับขึ้นค่า GP (Gross Profit) หรือ ค่าคอมมิชชั่นที่ร้านอาหารต้องจ่ายให้กับเป็นค่าดำเนินการที่ทางแพลตฟอร์มเรียกเก็บนั้น แพลตฟอร์มต่างๆ ยืนยันว่าไม่มีนโยบายปรับค่า GP หรือค่าบริการขนส่ง เนื่องจากเข้าใจสถานการณ์และต้องการช่วยเหลือร้านค้าต่างๆ อยู่แล้ว โดยในส่วนการเก็บค่า GP บางรายให้ร้านค้าเลือกที่จะจ่ายค่า GP หรือไม่ บางรายไม่มีการเก็บค่า GP หรือเก็บค่า GP เฉพาะผู้ประกอบการรายใหญ่เท่านั้น ทั้งนี้กระทรวงพาณิชย์ ได้เน้นย้ำให้แพลตฟอร์มพยายามรักษามาตรฐานสุขอนามัยของพนักงานส่งสินค้า เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดและสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน รวมทั้งให้แพลตฟอร์มขายสินค้าออนไลน์ดูแลร้านค้าที่จำหน่ายหน้ากากอนามัย เจลล้างมือ ห้ามขายเกินราคาที่กำหนด และต้องแสดงราคาให้ชัดเจนอีกด้วยผักสด 10 ชนิดที่พบพยาธิมากที่สุด         เพจเฟซบุ๊ก ศูนย์วิจัยโรคปรสิต สำนักวิชาแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี เผยผลสำรวจผักสดที่วางขายตามตลาด พบการปนเปื้อนพยาธิสูงถึง 35.1%  และมีพยาธิที่สามารถไชผ่านผิวหนังเราได้ จำเป็นต้องล้างด้วยน้ำยาล้างผัก และสวมใส่ถุงมือขณะล้าง         ข้อมูลดังกล่าวมาจากการสำรวจของ Punsawad C และคณะ (2019) จากสำนักวิชาแพทย์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ซึ่งเก็บผักจากตลาดในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช จำนวน 265 ตัวอย่าง พบการปนเปื้อนพยาธิในผักจำนวน 93 ตัวอย่าง (35.1%)   โดยพบว่ามีพยาธิปากขอสูงสุด 42.9% รองลงมาคือ พยาธิเส้นด้าย 10.6% พยาธิแส้ม้า 2.6% พยาธิไส้เดือน 2.6% และพยาธิไส้เดือนสุนัข 2.6%         โดยผัก 10 ชนิดที่พบพยาธิเรียงจากมากไปน้อย คือ 1. ผักขึ้นฉ่ายฝรั่ง 2. สะระแหน่ 3. ใบบัวบก 4. ผักชีไทย 5. หอม 6. ผักชีฝรั่ง 7. ผักกาดขาวจีน 8. ผักสลัด  9. โหระพา 10. ผักบุ้งจีน  แนะรับประทานโดยการทำให้สุก หากจะรับประทานสดควรล้างทำความสะอาดด้วยน้ำยาล้างผัก น้ำส้มสายชู ด้วยการแช่อย่างน้อย 30 นาที และควรสวมถุงมือขณะล้างป้องกันพยาธิชนิดที่ไชผ่านผิวหนังได้ สภาของผู้บริโภคเสนอหน่วยงานกำกับเร่งตรวจสอบ รพ.เอกชนเรื่องค่ารักษาพยาบาล         สภาองค์กรของผู้บริโภค เสนอ กรมการค้าภายในและกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เร่งตรวจสอบและกำกับควบคุมราคาค่าบริการ ค่ารักษา และค่าอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่เกี่ยวกับการรักษาผู้ป่วยโควิด - 19 ของโรงพยาบาลเอกชน หลังพบกรณีที่อาจเข้าข่ายการตั้งราคาที่สูงเกินสมควร เช่น ผ้าก๊อซ ที่ราคาต้นทุน 10 บาท ถูกโรงพยาบาลเอกชนเรียกเก็บในราคา 800 บาท ชุดป้องกันเชื้อ (PPE) ราคาที่ยอมรับร่วมกัน 144 บาท แต่กลับถูกเรียกเก็บถึง 401.61 บาท หรือหน้ากาก 3M รุ่น 1870 ราคาขายในท้องตลาดชิ้นละ 65 - 70 บาท แต่โรงพยาบาลเอกชนบางแห่งคิดราคาถึงชิ้นละ 185 บาท ซึ่งสูงกว่าราคาตลาดถึงร้อยละ 226 – 282         การตั้งราคาในลักษณะดังกล่าวอาจเป็นที่มาของการเรียกร้องให้เพิ่มค่าใช้จ่ายในการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จนกลายเป็นภาระของรัฐบาลและประชาชน เป็นการสร้างวิกฤติในวิกฤติอีกชั้นครม.เห็นชอบจัดสรรงบให้สภาองค์กรของผู้บริโภคเป็นทุนประเดิมขับเคลื่อนงาน         11 พ.ค. 2564 น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.เห็นชอบจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น งบเงินอุดหนุน จำนวน 350 ล้านบาท ให้แก่สภาองค์กรของผู้บริโภค เพื่อเป็นทุนประเดิมเบื้องต้น ตามที่ พ.ร.บ.การจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ. 2562 กำหนด สภาองค์กรของผู้บริโภค เป็นองค์กรอิสระที่ไม่แสวงหาผลกำไร มีอำนาจหน้าที่ อาทิ คุ้มครองและพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค ติดตามและตรวจสอบปัญหาที่กระทบสิทธิผู้บริโภค ส่งเสริมองค์กรของผู้บริโภคในระดับพื้นที่และจังหวัด ดำเนินคดีเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิของผู้บริโภค ช่วยเหลือสมาชิกในการไกล่เกลี่ยข้อพิพาททั้งก่อนและในระหว่างการดำเนินคดี สนับสนุนการศึกษาวิจัยเพื่อใช้ประโยชน์ในการคุ้มครองสิทธิ และเสนอแนะนโยบายเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคแก่ภาครัฐ         น.ส.รัชดา กล่าวว่า สำหรับแผนปฏิบัติการสภาองค์กรของผู้บริโภค ภายใต้งบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2564 - 2565 ประกอบด้วย 6 แผนสำคัญ ดังนี้        1.แผนงานสนับสนุนและดำเนินการคุ้มครองพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค        2.แผนงานพัฒนานโยบายและมาตรการคุ้มครองผู้บริโภค        3.แผนงานสนับสนุนหน่วยประจำจังหวัดและองค์กรของผู้บริโภค        4.แผนงานสื่อสารเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค        5.แผนงานจัดตั้งสำนักงานและพัฒนากำลังคนของสภาองค์กรของผู้บริโภค        6.แผนเงินสำรองกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น  มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและพันธมิตร ส่งคําชี้แจงขอให้ศาลคุ้มครองชั่วคราว ควบรวมธุรกิจ ซีพี – เทสโก้โลตัส         14 พฤษภาคม 2564 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและองค์กรผู้บริโภคในฐานะผู้ฟ้องศาลปกครองร่วมกับ 36 องค์กรผู้บริโภค รวมทั้งผู้บริโภครายบุคคล กรณีคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า (กขค.) มีมติอนุมัติให้ บริษัท ซี.พี. รีเทล ดีเวล ลอปเม้นท์ จํากัด ควบรวมกิจการกับ บริษัท เทสโก้ สโตร์ส จํากัด อาจไม่ชอบด้วยกฎหมาย ได้ส่งคําชี้แจงถึงเหตุผลที่ขอให้ศาลกำหนดมาตรการคุ้มครองหรือบรรเทาทุกข์ชั่วคราว โดยระบุว่า หากศาลไม่คุ้มครองชั่วคราวจะทำให้เกิดการผูกขาดจนยากต่อการแก้ไข เยียวยาภายหลัง การอนุมัติให้ควบรวมครั้งนี้จะเพิ่มอำนาจครอบงำธุรกิจ ปิดทางเลือกผู้บริโภค ทำลายกิจการรายย่อย

อ่านเพิ่มเติม >