ฉบับที่ 174 รถยนต์หายในห้างฯ บิ๊กซี

ฉบับนี้เป็นเรื่องรถยนต์หายอีกครั้ง ในฉบับก่อนๆ ผู้เขียนเคยเขียนถึงกรณีรถยนต์หายในห้างฯ แห่งหนึ่ง   เดิมแต่ละห้างฯ ใช้วิธีการแจกบัตรจอดรถสำหรับรถของลูกค้า ซึ่งเป็นวิธีที่มีการตรวจสอบการเข้าออกของรถยนต์ที่เข้ามาใช้บริการในห้างสรรพสินค้า โดยพนักงานของห้าง และค่อนข้างรัดกุม เพราะหากไม่มีบัตรผ่านเข้าออก กรณีจะนำรถยนต์ออกไปจะต้องถูกตรวจสอบโดยพนักงานของห้างฯ  ต่อมามีรถยนต์ของลูกค้าหายโดยที่บัตรเข้าออกยังอยู่ที่ตัวลูกค้า  ในคดีนั้น ต่อมามีการฟ้องร้องต่อศาลให้ห้างฯ และบริษัทฯ รปภ. ซึ่งห้างฯ จ้างมาดูแลความปลอดภัยในบริเวณห้างฯ ให้ร่วมกันรับผิดชดใช้เงินค่ารถยนต์คันที่หาย  ในคดีดังกล่าวศาลฎีกาได้วินิจฉัยว่า หากพนักงาน รปภ.ใช้ความระมัดระวังตรวจสอบตรวจสอบบัตรเข้าออกโดยละเอียดรอบคอบแล้วคนร้ายก็ไม่สามารถโจรกรรมรถยนต์ออกไปจากห้างได้  จึงพิพากษาให้ห้างฯกับบริษัท รปภ. ร่วมกันรับผิดชดใช้เงินค่ารถยนต์ให้แก่ลูกค้า  จากผลของคำพิพากษาของศาลฎีกาในคดีดังกล่าวเป็นเหตุให้บรรดาห้างสรรพสินค้าทั้งหลายเลิกแจกบัตรเข้าออกรถยนต์ที่เข้ามาใช้บริการในห้าง(คงคิดว่าไม่แจกบัตรเข้าออก ก็ไม่ต้องตรวจบัตร จะได้ไม่มีกรณีที่จะอ้างว่าห้างประมาทเลินเล่ออีก)ต่อมามีผู้บริโภคไปใช้บริการของห้างฯ บิ๊กซี แล้วรถยนต์หาย  บริษัทประกันของลูกค้าชดใช้ค่าสินไหมทดแทนค่ารถยนต์ให้แก่ลูกค้าไปแล้วช่วงสิทธิมาฟ้องห้างฯ บิ๊กซี กับ บริษัท รปภ. เป็นจำเลยร่วม ให้ ร่วมกันรับผิด  ซึ่งศาลฎีกาได้พิพากษาไว้ในคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7471/2556 คดีระหว่าง บริษัทสินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) โจทก์ กับ บริษัทบิ๊กซี ซูปเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด จำเลย บริษัทพีเคเอฟเซฟตี้การ์ด จำกัด จำเลยร่วม ดังนี้ ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “....พิเคราะห์แล้ว ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่า การที่รถยนต์ของนายวินัยสูญหายเกิดจากการกระทำละเมิดของจำเลยหรือไม่ เห็นว่า จำเลยมีฐานะเป็นบริษัทจำกัด(มหาชน) มีวัตถุประสงค์ในการประกอบกิจการห้างสรรพสินค้าขายปลีกและขายส่งสินค้าอุปโภคและบริโภคต่างๆ ดังนี้ ลูกค้าที่มาใช้บริการยังสาขาต่างๆ ของจำเลยรวมทั้งสาขาลำลูกกาที่เกิดเหตุ  ซึ่งเป็นผู้ที่มาอุดหนุนสินค้าของจำเลย จำเลยย่อมต้องให้ความสำคัญด้านบริการไม่ว่าจะเป็นเรื่องสินค้า ความปลอดภัย ความสะดวกสบายเพื่อสร้างความพึงพอใจและดึงดูดให้ลูกค้ามาใช้บริการและซื้อสินค้า หรือใช้บริการอื่นๆ หรือไม่  หากจำเลยจัดสถานที่จอดรถไว้กว้างขวางมีปริมาณเพียงพอสะดวกสบาย ย่อมดึงดูดลูกค้าให้เข้าไปซื้อสินค้าหรือใช้บริการ ทั้งตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 มาตรา 8(9) , 34 ยังได้บัญญัติให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคารต้องมีพื้นที่จอดรถ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่การจราจร จำเลยก็ต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวเช่นกัน ซึ่งจำเลยเองก็ยอมรับว่า การจัดสถานที่จอดรถของจำเลยเป็นไปตามพระราชบัญญัติดังกล่าว  แต่อย่างไรก็ดีจำเลยต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของลูกค้าทั้งในชีวิตและทรัพย์สิน และมีหน้าที่ดูแลด้วยตามสมควร มิใช่ปล่อยให้ลูกค้าระมัดระวังหรือเสี่ยงภัยกันเอาเอง ได้ความจากนายชานุ หัวหน้าฝ่ายป้องกันความสูญหายของจำเลยสาขาลำลูกกาเบิกความว่า รถยนต์ของนายวินับหายไปขณะจอดอยู่ในลานจอดรถของจำเลยเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2552  เวลาประมาณ 15.00 นาฬิกา และเบิกความตอบคำถามค้านทนายโจทก์ว่า ก่อนเกิดเหตุคดีนี้ จำเลยได้จัดให้มีการแจกบัตรสำหรับสำหรับรถของลูกค้าที่เข้ามาในห้างของจำเลย แต่ขณะเกิดเหตุยกเลิกไปแล้ว โดยใช้กล้องวงจรปิดแทน แสดงให้เห็นว่าจำเลยเคยใช้วิธีการแจกบัตรสำหรับรถของลูกค้า ซึ่งเป็นวิธีการตรวจสอบการเข้าออกของรถยนต์ที่เข้ามาใช้บริการในห้างสรรพสินค้าของจำเลยโดยพนักงานและค่อนข้างรัดกุมเพราะหากไม่มีบัตรผ่านเข้าออก กรณีจะนำรถยนต์ออกไปจะต้องถูกตรวจสอบโดยพนักงานของจำเลย  แต่จำเลยกลับยกเลิกวิธีการดังกล่าวเสียเป็นเหตุให้คนร้ายสามารถเข้าออกจากลานจอดรถห้างสรรพสินค้าของจำเลยและโจรกรรมรถได้ง่ายยิ่งขึ้น  การที่รถยนต์ของนายวินัยสูญหายขณะที่จอดอยู่บริเวณลานจอดรถของจำเลยจึงเกิดจากความประมาทเลินเล่อของจำเลย  และที่จำเลยปิดประกาศไว้ว่า จะไม่รับผิดชอบต่อการสูญหายหรือเสียหายใดๆ ก็เป็นเรื่องข้อกำหนดของจำเลยฝ่ายเดียว ไม่มีผลเป็นการยกเว้นความรับผิดในการกระทำละเมิดของจำเลย และการที่นายวินัยหรือลูกค้าซึ่งทราบถึงการยกเลิกการแจกบัตรจอดรถ แต่ยังคงเข้ามาจอดรถเพื่อซื้อสินค้าหรือใช้บริการอื่นที่ห้างสรรพสินค้าของจำเลยจะถือว่าเป็นการเสี่ยงภัยเองของนายวินัยดังที่จำเลยอ้างมาในฎีกานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา พยานหลักฐานโจทก์นำสืบมีน้ำหนักให้รับฟังได้มากกว่าพยานหลักฐานของจำเลย ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าการที่รถยนต์ของนายวินัยสูญหายไปเกิดจากความประมาทเลินเล่อของจำเลย ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้นพิพากษายืน ( ให้ใช้ราคารถยนต์แก่โจทก์)

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 158 สัญญาฝากทรัพย์ กรณีรถหายในอู่ซ่อม

สัญญาฝากทรัพย์เป็นเอกเทศสัญญาชนิดหนึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  ลักษณะ 10 หมวด 1 โดย มาตรา 657 ได้ให้ความหมายของสัญญาฝากทรัพย์ว่า “อันว่าฝากทรัพย์นั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่าผู้ฝาก  ส่งมอบทรัพย์สินให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง  เรียกว่าผู้รับฝากและผู้รับฝากตกลงว่าจะเก็บรักษาทรัพย์สินนั้นไว้ในอารักขาแห่งตนแล้วจะคืนให้” ในการรับฝากทรัพย์นั้นมีทั้งเป็นการรับฝากทรัพย์เป็นการให้เปล่าไม่มีบำเหน็จ  และมีทั้งการรับฝากทรัพย์มีบำเหน็จค่าฝาก  ซึ่งผลของรับฝากทรัพย์เป็นการให้เปล่าไม่มีบำเหน็จและมีบำเหน็จค่าฝากมีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะใช้ระดับความระมัดระวังสงวนทรัพย์สินต่างกัน  ยิ่งผู้รับฝากเป็นผู้มีวิชาชีพเฉพาะกิจการค้าขายหรืออาชีวะอย่างหนึ่งอย่างใด ก็ต้องมีระดับความระมัดระวังสงวนทรัพย์สินสูงเพิ่มขึ้นไปอีก โดย มาตรา 659 บัญญัติว่า “ถ้าการฝากทรัพย์เป็นการทำให้เปล่าไม่มีบำเหน็จไซร้ ท่านว่าผู้รับฝากจำต้องใช้ความระมัดระวังสงวนทรัพย์สินซึ่งฝากนั้นเหมือนเช่นเคยประพฤติในกิจการของตนเอง ถ้าการรับฝากทรัพย์นั้นมีบำเหน็จค่าฝาก  ท่านว่าผู้รับฝากจำต้องใช้ความระมัดระวังและใช้ฝีมือเพื่อสงวนทรัพย์สินนั้นเหมือนเช่นวิญญูชนจะพึงประพฤติโดยพฤติการณ์ดั่งนั้น  ทั้งนี้ย่อมรวมทั้งการใช้ฝีมืออันพิเศษเฉพาะการในที่จะพึงใช้ฝีมือเช่นนั้นด้วย ถ้าและผู้รับฝากเป็นผู้มีวิชาชีพเฉพาะกิจการค้าขายหรืออาชีวะอย่างหนึ่งอย่างใด  ก็จำต้องใช้ความระมัดระวังและใช้ฝีมือเท่าที่ เป็นธรรมดาจะต้องใช้และสมควรจะต้องใช้ในกิจการค้าขายหรืออาชีวะอย่างนั้น” มาดูตัวอย่างกรณีศึกษากันหน่อย คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1008/2551 วินิจฉัยว่า การที่จะพิจารณาว่าจำเลยในฐานะผู้รับฝากรถยนต์คันพิพาทไว้โดยมีบำเหน็จค่าฝากได้ใช้ความระมัดระวังและใช้ฝีมือเพื่อสงวนทรัพย์สินนั้นเหมือนเช่นวิญญูชนพึงประพฤติโดยพฤติการณ์ดังนั้นหรือไม่นั้นจะต้องพิจารณาเปรียบเทียบกับคนทั่วๆ ไป ในภาวะเช่นนั้นว่าควรจะพึงใช้ความระมัดระวังเช่นไร  ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า  จำเลยจอดรถยนต์คันพิพาทไว้บริเวณด้านหน้าอู่ซ่อมรถของจำเลยโดยได้ล็อกประตูและล็อกพวงมาลัยรถยนต์คันพิพาท ส่วนตัวจำเลยก็นอนอยู่ภายในอู่ดังกล่าว เมื่อได้ยินเสียงเครื่องยนต์รถดังขึ้นก็ได้ลุกขึ้นดู  ปรากฏว่ารถยนต์คันพิพาทหายไปก็ได้แจ้งให้เจ้าพนักงานตำรวจสายตรวจที่ผ่านมาทราบและออกติดตามคนร้ายกับเจ้าพนักงานตำรวจด้วย ตามพฤติการณ์ดังกล่าวถือว่าจำเลยได้ใช้ความระมัดระวังและใช้ฝีมือเพื่อสงวนทรัพย์สินนั้นเหมือนเช่นวิญญูชนจะพึงประพฤติโดยพฤติการณ์ดังนั้นแล้ว อู่ซ่อมรถของจำเลยเป็นห้องแถวและเป็นอู่ขนาดเล็ก  บริเวณด้านหน้าของอู่ตั้งประชิดติดกับขอบถนน ย่อมเป็นไปได้ยากที่จะมีการกั้นรั้วหรือจัดหายามมาคอยระแวดระวังในเวลากลางคืน ดังนั้น การที่จำเลยจอดรถยนต์คันพิพาทไว้บริเวณด้านหน้าของอู่จะถือว่าจำเลยไม่ได้ใช้ความระมัดระวังและใช้ฝีมือเพื่อสงวนทรัพย์สินนั้นเหมือนเช่นวิญญูชนจะพึงประพฤติโดยพฤติการณ์ดังนั้นหาได้ไม่ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 520/2554 วินิจฉัยว่า  โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยรับผิดตามสัญญาฝากทรัพย์ โดยจำเลยเป็นนิติบุคคลประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์มีวัตถุประสงค์ว่ารับฝากเงิน  จำเลยจึงเป็นผู้รับฝากผู้มีวิชาชีพเฉพาะกิจการค้าขายหรืออาชีวะอย่างหนึ่งอย่างใดจึงต้องใช้ความระมัดระวังและฝีมือเท่าที่เป็นธรรมดาจะต้องใช้และสมควรจะต้องใช้ในกิจการค้าขายหรืออาชีวะอย่างนั้นตามบทบัญญัติมาตรา 659  วรรคสาม แห่ง ป.พ.พ. อันเป็นการกำหนดมาตรฐานในการระมัดระวังในการปฏิบัติตามสัญญาในขั้นสูงสุดเยี่ยงผู้มีวิชาชีพเช่นนั้นจะพึงปฏิบัติในกิจการที่กระทำ  เมื่อปรากฏว่า พนักงานของจำเลยทุจริตลักลอบเบิกถอนเงินจากบัญชีเงินฝากของลูกค้าต่างๆ จำนวน 34 บัญชี รวมทั้งรายบัญชีของโจทก์  แสดงว่าจำเลยมิได้ใช้ความระมัดระวังในการดูแลบัญชีเงินฝากของโจทก์ อันเป็นการปฏิบัติผิดสัญญา  ได้ความว่าโจทก์ฝากเงินประเภทประจำ 3 ปี กรณีเป็นเรื่องปกติวิสัยที่เจ้าของบัญชีจะอุ่นใจมิได้ติดตามผลในบัญชีเงินฝากจนกว่าจะครบกำหนดตามระยะเวลาที่กำหนด การที่โจทก์ไม่ได้ไปติดต่อรับดอกเบี้ย จึงไม่ใช่เรื่องผิดปกติวิสัยและไม่ใช่ความผิดของโจทก์ เนื่องจากโจทก์เป็นลูกค้าของจำเลย มิใช่ผู้มีหน้าที่ระมัดระวังทรัพย์สินที่ตนฝาก  เมื่อจำเลยผิดสัญญาฝากเงินไม่ได้ใช้ความระมัดระวังและฝีมือเท่าที่เป็นธรรมดาจะต้องใช้และสมควรจะต้องใช้ในกิจการค้าขายหรืออาชีวะอย่างนั้นในการดูแลเงินฝากของโจทก์ เมื่อเงินฝากของโจทก์ถูกเบิกถอนไปจนหมด  จำเลยจึงต้องรับผิดชดใช้เงินจำนวนดังกล่าวคืนแก่โจทก์ หมายเหตุผู้เขียน สิทธิเรียกร้องให้คืนเงินตามสัญญาฝากทรัพย์ มิได้มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 (ฎ. 2542/2549)     //

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 125 รถหายในคาร์ฟูร์ (ตอนจบ)

  มาว่ากันต่อเลยนะครับ... ...จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นเจ้าของห้างสรรพสินค้าคาร์ฟูร์  สาขาบางใหญ่ จังหวัดนนทบุรี  ได้จัดให้มีลานจอดรถสำหรับลูกค้าที่มาซื้อสินค้าโดยผู้ที่จะนำรถยนต์เข้าไปจอดในบริเวณลานจอดรถดังกล่าวจะต้องรับบัตรจอดรถจากพนักงานรักษาความปลอดภัย ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 เสียก่อน  และเมื่อจะนำรถยนต์ออกจากบริเวณลานจอดรถก็จะต้องมอบคืนบัตรจอดรถให้แก่พนักงานรักษาความปลอดภัยที่ทางออกเสียก่อนจึงจะนำรถยนต์ผ่านออกไปได้  หากไม่มีบัตรจอดรถพนักงานรักษาความปลอดภัยจะไม่อนุญาตให้นำรถยนต์ออกไปได้  รายละเอียดปรากฏตามข้อความด้านหลังบัตรจอดรถ แม้จะปรากฏข้อความที่ด้านหลังบัตรจอดรถข้อ 2 ว่า บัตรนี้เป็นบัตรผ่านสำหรับนำรถเข้าจอดบริเวณห้างคาร์ฟูร์เท่านั้น  บริษัทไม่รับผิดชอบกรณีสูญหายหรือเสียหายใดๆ ทั้งสิ้น และไม่มีการเก็บค่าบริการจอดรถก็ตาม  แต่พฤติการณ์ของจำเลยที่ 2 ดังกล่าว  ย่อมทำให้ผู้ที่มาใช้บริการจอดรถหรือลูกค้าของห้างคาร์ฟูร์โดยทั่วไปเข้าใจได้ว่า  บริเวณลานจอดรถดังกล่าว  จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นเจ้าของห้างคาร์ฟูร์จัดให้บริการรักษาความเรียบร้อยและความปลอดภัยสำหรับรถยนต์ของลูกค้าที่จะนำเข้ามาจอดขณะที่เข้าไปซื้อสินค้าที่ห้างสรรพสินค้าของจำเลยที่ 2 โดยมอบหมายให้จำเลยที่ 1 และพนักงานรักษาความปลอดภัยอื่นเป็นผู้ดูแลความสงบเรียบร้อยและความปลอดภัยทั้งขณะนำรถยนต์เข้าไปจอดและขณะนำรถยนต์ออกจากบริเวณลานจอดรถซึ่งผู้ที่มิใช่เจ้าของรถยนต์และไม่มีบัตรจอดรถจะลักลอบนำรถยนต์ออกไปไม่ได้ เพราะจะมีพนักงานรักษาความปลอดภัยคอยตรวจสอบก่อน  การกระทำที่จำเลยทั้งสองปฏิบัติมาดังกล่าวย่อมเป็นการก่อให้เกิดหน้าที่แก่จำเลยทั้งสองต้องดูแลรักษาความเรียบร้อยและความปลอดภัยแก่รถยนต์ที่นำเข้ามาจอด  โดยพนักงานรักษาความปลอดภัยที่ได้รับมอบหมายมีหน้าที่โดยตรงที่จะป้องกันไม่ให้ผู้ที่ไม่ใช่เจ้าของรถยนต์นำรถยนต์ออกไปจากบริเวณลานจอดรถหรือป้องกันการโจรกรรมด้วยการตรวจบัตรตรงช่องทางออก   ซึ่งหากจำเลยทั้งสองมีการตรวจตราอย่างเคร่งครัดและป้องกันอย่างดีมิให้ผู้ที่ไม่มีบัตรขับรถผ่านออกไปได้โดยง่ายก็ยากที่รถยนต์ของนายสรศักดิ์จะถูกคนร้ายลักไปได้  โดยเฉพาะอย่างยิ่งขณะที่คนร้ายขับรถยนต์ของนายสรศักดิ์ผ่านช่องทางออกนั้น  คนร้ายได้ขับผ่านจำเลยที่ 1 ซึ่งประจำอยู่ช่องทางออกโดยไม่ได้คืนบัตรจอดรถให้  จำเลยที่ 1 ได้เคาะรถยนต์เพื่อให้คืนบัตร  แต่คนขับรถนิ่งเฉยแล้วขับรถยนต์ออกไป   จำเลยที่ 1 จึงจดทะเบียนรถไว้คือ 7978 หรือ 7879 หลังจากนั้นจำเลยที่ 1ไม่ได้แจ้งทางวิทยุสื่อสารให้ศูนย์รักษาความปลอดภัยของห้างคาร์ฟูร์ทราบโดยอ้างว่าวิทยุสื่อสารของจำเลยที่ 1 แบตเตอรี่หมด   แสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 ไม่ได้ใช้ความระมัดระวังป้องกันความปลอดภัยให้แก่รถยนต์ของลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการอย่างเต็มที่ อันเป็นการงดเว้นการปฏิบัติหน้าที่เพื่อป้องกันการโจรกรรมรถยนต์เป็นผลโดยตรงทำให้รถยนต์ของนายสรศักดิ์ถูกคนร้ายลักไปและเป็นการประมาทเลินเล่อจึงเป็นการกระทำละเมิดต่อนายสรศักดิ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นการกระทำไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2  ดังนั้น  จำเลยที่ 2 ในฐานะนายจ้างจึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1ในผลแห่งละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา 425  โจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยตามสัญญาประกันภัยได้ชำระค่าสินไหมทดแทนในการที่รถยนต์สูญหายครั้งนี้เป็นจำนวนเงิน 430,000 บาท ให้แก่นายสรศักดิ์เรียบร้อยแล้ว  จึงรับช่วงสิทธิที่จะไล่เบี้ยเอาแก่จำเลยทั้งสองได้  จำเลยทั้งสองต้องร่วมกันรับผิดตามจำนวนเงินดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยต่อโจทก์ตามฟ้อง  ที่ศาลล่างพิพากษายกฟ้องโจทก์นั้นศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย  ฎีกาโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น คดีไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาข้ออื่นของโจทก์ต่อไป”  พิพากษากลับ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นจำนวนเงิน 430,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 22 ธันวาคม  2542 จนกว่าจะชำระเสร็จ แต่ดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้องมิให้เกินกว่า 2,678 บาท ตามที่โจทก์ขอ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ   หมายเหตุผู้เขียน  คดีมันพลิกครับท่าน  และปัจจุบันนี้ตามห้างต่างๆ ก็เลิกแจกบัตรก็เพราะเหตุนี้  และก็ยังมีรถหายอยู่เรื่อยๆ หายแบบว่าไม่มีบัตร   ตอนนี้มีคดีฟ้องห้างดอกบัว คดียังอยู่ศาลชั้นต้น  คงต้องรอฟังศาลฎีกาต่อไปว่าจะออกอย่างไรแล้วจะนำมาแจ้งให้ทราบ  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 124 รถหายในคาร์ฟูร์

  ฉบับนี้เป็นเรื่องของผู้บริโภคที่ไปซื้อของในห้างคาร์ฟูร์ พอซื้อเสร็จออกมาพบว่ารถหาย โชคดีหน่อยที่ผู้บริโภครายนี้ได้ทำประกันภัยไว้ บริษัทประกันภัยได้จ่ายค่าสินไหมทดแทนให้กับผู้บริโภคแล้ว ช่วงสิทธิมาฟ้องตั้งแต่พนักงานรักษาความปลอดภัยจนกระทั่งเจ้าของห้าง ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ยกฟ้องโจทก์ โจทก์ก็ไม่ย่อท้อสู้ขาดใจยื่นฎีกา ซึ่งผู้เขียนจะนำคำพิพากษาศาลฎีกาฉบับล่าสุดนี้ จัดเต็มให้ เพราะมีประเด็นที่น่าสนใจหลายประเด็น  คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3100/2543 คดีระหว่าง บริษัทวิริยะประกันภัย จำกัด โจทก์ กับ นายธนพล วอนวงศ์ กับพวก จำเลย โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันส่งมอบรถยนต์คันดังกล่าวคืนให้แก่โจทก์หากไม่สามารถส่งมอบคืนได้ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 430,000 บาทแก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 22 ธันวาคม 2542 ถึงวันฟ้องเป็นจำนวนเงิน 2,687 บาท รวมเป็นเงินจำนวน 432,678 บาท กับขอให้ร่วมกันชำระดอกเบี้ยอัตราเดียวกันนับถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระราคาเสร็จแก่โจทก์  จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง  ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์และจำเลยทั้งสองให้เป็นพับ  โจทก์อุทธรณ์  ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์เป็นพับ  โจทก์ฎีกา ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า “...พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังยุติว่า จำเลยที่ 2 ประกอบธุรกิจเป็นเจ้าของห้างสรรพสินค้าคาร์ฟูร์ มีจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างทำหน้าที่เป็นพนักงานรักษาความปลอดภัย เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2542 เวลา 19 นาฬิกาเศษ นายสรศักดิ์ จันทร์แสงวัฒนา ขับรถยนต์กระบะยี่ห้อโตโยต้า หมายเลขทะเบียน บจ 7978 นนทบุรี ไปจอดที่ลานจอดรถของห้างสรรพสินค้าคาร์ฟูร์ สาขาบางใหญ่ จังหวัดนนทบุรี ซึ่งเป็นกิจการของจำเลยที่ 2 โดยรับบัตรจอดรถแล้วนายสรศักดิ์ขึ้นไปซื้อของในห้างเป็นเวลาหนึ่งชั่วโมงเศษ ต่อมามีคนร้ายลักรถยนต์ของนายสรศักดิ์ขับรถหลบหนีผ่านจุดทางออกของลานจอดรถที่จำเลยที่ 1ประจำอยู่โดยไม่มีบัตรจอดรถคืนแก่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นพนักงานรักษาความปลอดภัย คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยทั้งสองต้องรับผิดคืนรถยนต์หมายเลขทะเบียน บจ 7978 นนทบุรี หรือชดใช้ราคาแทนเป็นเงิน 430,000 บาท แก่นายสรศักดิ์หรือไม่ เพียงใด และโจทก์เข้ารับช่วงสิทธิจากนายสรศักดิ์มาฟ้องลาเบี้ยจากจำเลยทั้งสองได้หรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่า เป็นหน้าที่ของจำเลยทั้งสองต้องตรวจตรารถยนต์เข้าออกว่าจะต้องคืนบัตรจอดรถเมื่อมีคนขับรถยนต์ออกไปจากลานจอดรถและบัตรนั้นต้องมีหมายเลขทะเบียนตรงกับหมายเลขทะเบียนที่พนักงานรักษาความปลอดภัยเขียนไว้ในบัตรจอดรถขณะที่ขับรถเข้ามาจอด หากไม่มีบัตรจำเลยที่ 1 ก็ย่อมจะไม่อนุญาตให้ลูกค้านำรถยนต์ออกไปได้ จนกว่าจะแสดงหลักฐานการเป็นเจ้าของรถ  เห็นว่าตามข้อเท็จจริงที่โจทก์และจำเลยนำสืบฟังได้....ว่า คดีนี้ไม่อยากตัดทอน เพราะเป็นที่มาที่ห้างในปัจจุบันไม่มีบัตรเข้าออกแบบนี้อีก ไปตามต่อกันฉบับหน้านะครับ  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 114 รู้กฎหมายกับทนายอาสา รถยึดไป ข้าฯไม่ว่า แต่ซีดี ข้าฯ ใครอย่าแตะ

รถยึดไป ข้าฯไม่ว่า แต่ซีดี ข้าฯ ใครอย่าแตะ เวลาที่ผู้บริโภคถอยรถยนต์ใหม่สภาพป้ายแดงออกมา ก็มักจะชอบนำไปตกแต่งประดับยนต์ เปลี่ยนล้อแม็กซ์ เปลี่ยนวิทยุเครื่องเล่นเทป เครื่องเล่น ซีดี ลำโพงและอุปกรณ์เครื่องเสียง ถ้าซื้อรถยนต์ด้วยเงินสดก็คงไม่เป็นไร แต่ถ้าเป็นรถยนต์ที่เช่าซื้อมาจากบริษัทลิสซิ่งหรือไฟแนนซ์ หากเอาเงินไปตกแต่งรถยนต์จนค้างค่างวดแล้วถูกยึดรถยนต์คันนั้นไป ปัญหามีอยู่ว่าเครื่องเสียงที่ติดรถไปนั้นจะเป็นของใคร คำตอบอยู่ที่ว่า เครื่องเสียงนั้นเป็นอุปกรณ์ของรถยนต์หรือไม่ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 147 บัญญัติว่า “ อุปกรณ์ หมายความว่า สังหาริมทรัพย์ซึ่งโดยปกตินิยมเฉพาะถิ่นหรือโดยเจตนาชัดแจ้งของเจ้าของทรัพย์ที่เป็นประธาน เป็นของใช้ประจำอยู่กับทรัพย์ที่เป็นประธานเป็นอาจิณเพื่อประโยชน์แก่การจัดดูแลใช้สอย หรือรักษาทรัพย์ที่เป็นประธาน และเจ้าของทรัพย์ได้นำมาสู่ทรัพย์ที่เป็นประธานโดยการนำมาติดต่อหรือปรับเข้าไว้ หรือทำโดยประการอื่นใดในฐานะเป็นของใช้ประกอบกับทรัพย์ที่เป็นประธานนั้น อุปกรณ์ที่แยกออกจากทรัพย์ที่เป็นประธานเป็นการชั่วคราวก็ยังไม่ขาดจากการเป็นอุปกรณ์ของทรัพย์ที่เป็นประธานนั้น อุปกรณ์ย่อมตกติดไปกับทรัพย์ที่เป็นประธาน เว้นแต่มีการกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น” มาดูตัวอย่างของจริงกันเลยดีกว่า คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1814/2545 จำเลยนำวิทยุ เครื่องเล่นเทป เครื่องเล่นซีดี ลำโพงและอุปกรณ์เครื่องเสียงมาสู่รถที่เช่าซื้อเพื่อประโยชน์ของจำเลยเอง หาใช่เพื่อประโยชน์แก่การจัดการดูแลใช้สอยหรือรักษาอันเป็นทรัพย์ประธานไม่ ทรัพย์ดังกล่าวจึงมิใช่อุปกรณ์อันจะตกติดไปกับทรัพย์ประธานตาม ป.พ.พ. 147 วรรคท้าย ส่วนข้อสัญญาที่กำหนดว่า “ หากผู้เช่าซื้อนำสิ่งของเข้ามาดัดแปลง ต่อเติมหรือตั้งอยู่ในตัวทรัพย์สินที่เช่าซื้อ สิ่งนั้นจะตกเป็นส่วนหนึ่งของทรัพย์สินที่เช่าซื้อและเป็นกรรมสิทธิ์ของเจ้าของทันที “ นั้น ก็เป็นแบบฟอร์มที่โจทก์ผู้ให้เช่าซื้อจัดทำขึ้นเพียงฝ่ายเดียว และเป็นข้อความที่มาจากปัญหาที่มักเกิดข้อพิพาทระหว่างโจทก์กับผู้เช่าซื้อรายอื่นที่ผู้เช่าซื้อมักนำสิ่งของเข้าดัดแปลง ต่อเติมหรือติดกับทรัพย์ที่เช่าซื้อ และเมื่อต้องการเอาสิ่งของดังกล่าวคืนก็จะทำการรื้อไปอันทำให้ทรัพย์ที่เช่าซื้อของโจทก์เสียหาย แต่กรณีที่จำเลยนำทรัพย์ดังกล่าวมาสู่ตัวรถย่อมไม่ถึงขนาดที่จะก่อให้เกิดความเสียหายหากจะต้องรื้อออกไปจึงไม่อยู่ในขอบเขตแห่งสัญญาดังกล่าว โจทก์หาอาจจะยกข้อสัญญาที่ปรากฏว่าเป็นเหตุไม่คืนวิทยุ เครื่องเล่นเทป เครื่องเล่นเทป เครื่องเล่นซีดี ลำโพงและอุปกรณ์เครื่องเสียงให้แก่จำเลยหาได้ไม่ คำโบราณว่า ครกนั้นคู่กับสาก แต่เครื่องเสียงไม่จำเป็นต้องคู่กับรถยนต์เสมอไป ------------------------------------------------------------------------------

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 100 ขายเงินดาวน์รถยนต์ไปแล้วยังโดนฟ้อง

รถยนต์เป็นทรัพย์ที่มีราคาสูง ชาวบ้านธรรมดาซึ่งเป็นผู้บริโภคทั่วๆ ไป อย่างเราๆ ท่านๆ ที่ไม่ใช่เศรษฐีอยากจะมีรถยนต์ใช้กับเขาสักคันแม้จะเป็นรถยนต์ปิคอัพ ก็รถยนต์กระบะนั้นแหละแต่เรียกให้มันเท่ๆ ไปอย่างนั้นเอง เมื่อไม่มีเงินสดทีละหลายๆ แสนจะซื้อ ก็คงต้องพึ่งบริการบริษัทไฟแนนซ์หรือบริษัทลิสซิ่งอันว่าบริษัทลิสซิ่งสมัยนี้ก็แสนโหด นอกจากจะตรวจสอบประวัติอย่างละเอียดราวกับว่าจะไปสมัครเป็นลูกเขยแล้ว ยังต้องหาคนค้ำประกันแน่นๆ (ศัพท์ของเซลส์ขายรถ) อีกด้วย แถมบางบริษัทยังให้ผู้บริโภคไปเปิดบัญชีกระแสรายวัน เอาเช็คมาออกชำระค่างวดอีกด้วย “ประมาณว่าไม่ผ่อนตูเมื่อไรจะได้ดำเนินคดีอาญาเรื่องเช็คอีกดอกหนึ่งด้วย”ครั้นซื้อรถมาได้ใช้ไประยะหนึ่งอยากเปลี่ยนรถใหม่จะทำยังไง ก็ต้องขายดาวน์รถยนต์คันเก่าซิครับท่าน ขายดาวน์ไปแล้ว บริษัทลิสซิ่งก็รับทราบแล้ว จนผู้เช่าซื้อคนใหม่ผ่อนไปได้ 4 งวด แล้วไม่ผ่อนต่อ บริษัทลิสซิ่งก็มาฟ้องผู้เช่าซื้อกับผู้ค้ำประกันคนเดิม เพราะไม่ได้คืนสัญญาเช่าซื้อและสัญญาค้ำประกันเดิมให้ผู้บริโภค(โหดจริงๆ) มาดูกันซิว่าศาลจะว่าอย่างไรคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 632/2551 ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า “ พิเคราะห์แล้วข้อเท็จจริงที่โจทก์และจำเลยทั้งสองได้โต้แย้งกันรับฟังเป็นที่ยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่า เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2538 จำเลยที่ 1 ได้เช่าซื้อรถยนต์ยี่ห้อนิสสัน เซฟิโร หมายเลขทะเบียน 3ธ-230 กรุงเทพมหานคร ไปจากโจทก์ในราคา 538,770 บาท ตกลงผ่อนชำระ 30 งวดๆ ละ 17,959 บาทตั้งแต่วันที่ 5 สิงหาคม 2538 และทุกวันที่ 5 ของเดือนถัดไปจนกว่าจะครบ โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันและยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมหลังจากทำสัญญาเช่าซื้อประมาณ 2 สัปดาห์ จำเลยที่ 1 ขายรถยนต์คันดังกล่าวให้แก่นายศุภชัย …เป็นการขายเงินดาวน์ และเมื่อเดือนกันยายน 2538 นายขนิษฐ์ มาขอซื้อรถคันที่เช่าซื้อจากนายศุภชัย โดยนายขนิษฐ์จะต้องไปผ่อนชำระค่าเช่าซื้อกับโจทก์ นายศุภชัยได้ติดต่อขอวงเงินกู้จากโจทก์และนัดให้จำเลยที่ 1 ไปทำสัญญาโอนสิทธิการเช่าซื้อให้แก่นายขนิษฐ์ ต่อมามีการผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อตั้งแต่งวดที่ 5 ประจำวันที่ 5 ธันวาคม 2538 โจทก์จึงบอกเลิกสัญญาและติดตามรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนคดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่าจำเลยทั้งสองต้องรับผิดตามสัญญาเช่าซื้อและสัญญาค้ำประกันตามฟ้องหรือไม่ แม้ตามคำขอโอนสิทธิการจะเช่าซื้อจะระบุว่า คำขอยังไม่มีผลผูกพันโจทก์จนกว่าจะทำการตรวจสอบหลักฐานของผู้เช่าซื้อ แต่พฤติการณ์ที่โจทก์คืนเช็คที่จำเลยที่ 1 ชำระเป็นค่าเช่าซื้อล่วงหน้าให้แก่จำเลยที่ 1 และนายขนิษฐ์ ผู้เช่าซื้อรายใหม่กับผู้ค้ำประกันลงลายมือชื่อในแบบพิมพ์สัญญาเช่าซื้อและสัญญาค้ำประกัน และยอมให้นายศุภชัยมอบรถยนต์คันพิพาทให้แก่นายขนิษฐ์ ผู้เช่าซื้อรายใหม่ รวมทั้งรับเงินค่าเช่าซื้อจากนายขนิษฐ์ต่อมาถึงสี่งวด และงวดที่ 5 บางส่วนแสดงว่าผู้เช่าซื้อรายใหม่รับรถคันที่เช่าซื้อไปแทนโจทก์ สัญญาเช่าซื้อและสัญญาค้ำประกันระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงสิ้นผลผูกพัน จำเลยทั้งสองไม่ต้องรับผิดตามสัญญาเช่าซื้อและสัญญาค้ำประกันต่อโจทก์“ ศาลฎีกายกฟ้อง ผู้บริโภครอดตัวไป บริษัทนี้มันโหดจริงๆ ขายดาวน์ไปแล้วยังมีหน้ามาฟ้องอีก ใครอยากรู้ว่าบริษัทอะไรต้องมาถามเป็นการส่วนตัวครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 180 สถานการณ์รถยนต์ส่วนบุคคลที่ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า Electricity car (E-car) ของเยอรมนี

โดย ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค ประธานอนุกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านสินค้าและบริการปี 2007 รัฐบาลเยอรมนีมีมติสนับสนุนเงินงบประมาณให้กับโครงการรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า (E-car) โดยมีเป้าหมายว่า ภายในปี 2020 จะต้องมีจำนวนรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าไม่ต่ำกว่า 1 ล้านคันวิ่งบนท้องถนน แต่จากข้อมูลของกรมการขนส่งทางบก (Kraftfahrtbundesamt: KBA) ในปี 2015 มีเพียงแค่ 31,000 คัน เท่านั้น ซึ่งยังห่างไกลจากเป้าหมายที่วางไว้มาก และในเดือนมกราคม ปี 2016 ที่ผ่านมา มีรถไฟฟ้าที่ขอจดทะเบียนเพียงแค่ 477 คัน จากรถทั้งหมด 218,365 คัน (น้อยกว่า 27% เมื่อเทียบกับข้อมูลจากปีที่แล้วในเดือนเดียวกัน) และมีเพียง 976 คันที่เป็นรถ plug-in hybrid (รถที่ขับเคลื่อนด้วยน้ำมันและไฟฟ้า) ทำให้การเติบโตและความนิยมของรถไฟฟ้าต่ำกว่าความคาดหวังของตลาดรถยนต์ แม้ว่าภาพลักษณ์ของรถไฟฟ้าถูกมองว่าเป็นความหวังของอนาคต เนื่องจากเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ไม่สร้างมลพิษ และโฆษณาชวนเชื่อว่า ปล่อยก๊าซเรือนกระจก 0 กรัม สำหรับรถแบบ plug in hybrid ที่ โฆษณาว่า ประหยัดพลังงาน ยกตัวอย่างรถ ปอร์เช่ Cayenne S E-hybrid ใช้น้ำมันเพียง 3.4 ลิตร ต่อ 100 กิโลเมตร และได้ฉลากประหยัดน้ำมันระดับ A+ ในการปล่อยก๊าซ CO2  สู่บรรยากาศ (ซึ่งยังไม่ได้รวมปริมาณการปล่อยก๊าซ CO2 จากการใช้ไฟฟ้า ที่เกิดจาก โรงไฟฟ้า) แต่สิ่งที่สำคัญสำหรับรัฐบาลเยอรมนี คือ การติดตามผล การดำเนินนโยบายในอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ ที่จะผลักดันให้เยอรมนีเป็นผู้นำในด้าน รถไฟฟ้า ในด้านการตลาด และเป็นผู้นำในการส่งออก ซึ่งใช้มาตรการให้เงินสนับสนุน (Kaufprämien: buyer’s premium) แก่ผู้ผลิตหลังจากที่ได้มีการพูดคุยกันระหว่างรัฐบาล และผู้ประกอบการผลิตรถยนต์ รถที่ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมจริงหรือไม่ ? แน่นอนว่าถ้าใช้รถที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า (E-Car) ปัญหาของก๊าซ NOX จะลดลง แต่อย่างไรก็ตามมีความจำเป็นที่จะต้องมองภาพรวมการก่อให้เกิดมลพิษโดยรวม ด้วยเทคโนโลยีการผลิตแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า ในปัจจุบันใช้พลังงานสิ้นเปลืองมากเช่นกัน นอกจากนี้การผลิตกระแสไฟฟ้า ซึ่งส่วนใหญ่ใช้ถ่านหิน ก็มีส่วนในการปลดปล่อยก๊าซสู่บรรยากาศอย่างมหาศาลเช่นกัน ยังไม่รวมถึงก๊าซพิษอื่นๆ เช่น ปรอทที่เกิดจากการเผาไหม้ถ่านหิน หากพิจารณาถึงสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าในเยอรมนีซึ่งขณะนี้ใช้ถ่านหิน ถึง 42 % ก็หมายความความว่า การใช้รถขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้านั้น ไม่ได้หมายถึงการลดมลภาวะ และก๊าซเรือนกระจกสู่บรรยากาศ หากเปรียบเทียบกับ รถที่ใช้เบนซิน ก๊าซธรรมชาติ ดีเซล และเครื่องยนต์ ไฮบริดที่มีประสิทธิภาพ จากข้อมูลของสมาคมยานยนต์ของเยอรมนี (VCD) รถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า (E-Car) ปล่อยก๊าซ CO2 67-103 กรัมต่อ ระยะทาง 1 กิโลเมตร ในขณะที่รถยนต์ที่ติดอันดับต้นๆในการประหยัดพลังงานที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานอย่างอื่น ปล่อยก๊าซ CO2 ระหว่าง 79-94 กรัมต่อระยะทาง 1 กิโลเมตรความคาดหวังของรัฐบาลเยอรมนี ในการสนับสนุนรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า คืออะไรจริงๆ แล้วเงินสนับสนุนที่รัฐทุ่มให้กับรถยนต์ E- Car นั้น ไม่ว่าจะเป็นการลดราคาให้ผู้ซื้อ (buyer’s premium) คันละ 5000 ยูโรหรือ การลดภาษี เพื่อส่งเสริมให้เกิดการใช้งาน E-Car ในวงกว้างนั้น อาจไม่เป็นดังที่รัฐบาลคาด (รัฐบาลสนับสนุนงบประมาณที่สูงถึง 2500 ล้านยูโร) ที่จะทำให้เกิดการขยายปริมาณการใช้รถยนต์ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า ให้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ ซึ่งงบประมาณดังกล่าว เปรียบเสมือนของขวัญที่รัฐบาลมอบให้กับอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ทำอย่างไร รถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าจึงจะขยายตัวการใช้งานได้มากขึ้น หากเราพิจารณาแต่เพียงรถยนต์ส่วนบุคคล อาจเป็นการมองที่คับแคบไป จริงๆ แล้วขณะนี้ในเยอรมนีเอง ก็มีรถขนส่งสาธารณะที่ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า ซึ่งมีมานานแล้วแทบทุกเมือง นอกจากนี้ รถไฟฟ้าความเร็วสูง รถไฟ รถบัสที่ขนส่งในเมือง ก็ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าอยู่แล้ว นอกจากนี้ รถจักรยานไฟฟ้า ก็เป็นที่นิยม ในปี 2015 สามารถจำหน่ายรถจักรยานไฟฟ้า ได้ถึง 500,000 คัน ซึ่งเหมาะสำหรับการขนส่งสินค้าในเมืองใหญ่     ดังนั้นเป้าหมายที่ทางรัฐบาลเยอรมนี เพิ่มปริมาณรถที่ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า 1 ล้านคัน (ซึ่งคิดสัดส่วนเทียบกับปริมาณรถทั้งหมด เพียงแค่ 2 %) แทบไม่ได้ส่งผลต่อการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกเลย จากข้อมูลดังกล่าว ผู้เชี่ยวชาญมีความเห็นว่า รัฐบาลเยอรมนี ไม่ควรให้น้ำหนักกับปริมาณรถไฟฟ้าที่จะวิ่งในถนนให้ครบ 1 ล้านคัน ตามเป้าที่ได้ตั้งไว้แต่แรก แต่ควรตั้งเป้าในการลดต้นทุนการผลิตแบตเตอรีประกอบกับพัฒนาประสิทธิภาพแบตเตอรี เพื่อให้รถสามารถวิ่งได้ในระยะทางไกลขึ้น ซึ่งขึ้นอยู่กับความจริงใจของภาคอุตสาหกรรมในการปฏิวัติเทคโนโลยีระบบการขับเคลื่อนแบบใหม่ ที่ไม่จำเป็นต้องรอความช่วยเหลือจากรัฐบาลเลย(ที่มา http://www.tagesschau.de/wirtschaft/elektroautos-kaufpraemien-101.htm)  

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 173 Sharing economy (เศรษฐศาสตร์แห่งการแบ่งปัน): Car sharing (การเช่ารถระยะสั้น)

โดย ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค ประธานอนุกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านสินค้าและบริการแนวความคิดการเช่าแทนที่การซื้อสินค้านั้น มีหลายเหตุมาจากหลายปัจจัย ในกรณีที่สินค้าบางอย่างเราใช้แทบนับครั้งได้ การซื้อก็เป็นวิธีที่ไม่คุ้มค่า แนวความคิดนี้ ชาวเยอรมันได้พัฒนามาเป็นธุรกิจการเช่ารถระยะสั้น เนื่องจากบางคนใช้รถส่วนตัวไม่บ่อยนัก เพราะโครงข่ายจราจรในเมืองใหญ่ของประเทศเยอรมันนั้นค่อนข้างดี และครอบคลุมไปเกือบทุกพื้นที่ ประเด็นที่น่าสนใจ คือ คนที่นิยมใช้การเช่าแบบระยะสั้นนั้นเป็นคนรุ่นใหม่ ในขณะที่คนมีอายุเกิน 60 ปี ไม่ได้มีความสนใจต่อ พฤติกรรมการเช่ารถ นอกจากเหตุผลที่สำคัญในประเด็นความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจแล้ว ประเด็นการรักษาสิ่งแวดล้อมก็มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าประเด็นทางเศรษฐศาสตร์รูปแบบการให้บริการ Car sharingการให้บริการ Car sharing มีสองลักษณะคือ •    กรณีที่เป็นผู้มีรถยนต์ส่วนตัว และแบ่งให้ผู้อื่นมาเช่ารถของตน เนื่องจากใช้รถน้อยมาก โดยเฉลี่ยใช้รถยนต์ส่วนตัวไม่เกิน 5000 กิโลเมตรต่อปี•    กรณีที่ทำเป็นธุรกิจแบ่งรถให้เช่าในรูปแบบบริษัท ลักษณะการประกอบการจำแนกได้เป็น 2 ลักษณะเช่นกัน คือ•    ผู้เช่าสั่งจองรถยนต์และเดินทางมารับรถรถยนต์ที่เช่า ซึ่งจอดอยู่ตามสถานที่ที่ระบุไว้ โดยสามารถเช่าได้ทางอินเตอร์เนต โทรศัพท์ และสมาร์ทโฟนแอพ อัตราค่าเช่ารถ คือ 2-5 ยูโรต่อชั่วโมง (ราคานี้รวมน้ำมันแล้วด้วย) เมื่อใช้รถยนต์เสร็จแล้ว ก็ขับกลับไปคืนที่เดิม•    แบบที่สองเรียกว่า Free floating model ซึ่งมีลักษณะยืดหยุ่นกว่าแบบแรก แต่ก็มีอัตราเช่าสูงกว่า ปัจจุบันอัตราค่าเช่าอยู่ที่ 15-17 ยูโรต่อชั่วโมง (ราคานี้รวม น้ำมันและค่าจอดรถไว้แล้ว) การเช่ารถแบบนี้ ผู้เช่าจะไปรับรถที่จอดไว้ ตามสถานที่ที่ระบุไว้ในคอมพิวเตอร์ เว็บไซต์ หรือ สมาร์ทโฟนแอพ และเมื่อใช้รถเสร็จแล้วก็จะนำไปจอดคืนไว้ ณ ที่จอดสาธารณะในเขตที่ตกลงกันกรณีผิดกติกาการเช่ารถเนื่องจากการแบ่งเช่ารถระยะสั้นต้องเป็นสมาชิกกับผู้ประกอบการให้เช่ารถ เพราะฉะนั้นหากผู้เช่าผิดกติกาบ่อยครั้งนอกจากจะถูกปรับเป็นจำนวนเงินสูงแล้ว ก็อาจถูกแบนไม่ให้เช่ารถต่อไปได้เช่นกัน ตัวอย่างของการคืนรถในลักษณะที่ผิดกติกา เช่น การคืนรถที่มีรถสกปรกเลอะเทอะเปรอะเปื้อนทั้งภายในภายนอกอย่างมาก กรณีแบบนี้ผู้เช่าต้องจ่ายค่าทำความสะอาดเพิ่มเติม หรือในกรณีที่คืนรถในสภาพที่มีน้ำมันในถังน้อยกว่า หนึ่งในสี่ ผู้เช่าก็อาจต้องจ่ายค่าปรับเพิ่มเติมถึง 50 ยูโร นอกจากนี้การสูบบุหรี่ในรถหรือคืนรถไม่ตรงเวลาก็ต้องเสียค่าปรับสูงมากทีเดียวธุรกิจแบ่งรถให้เช่าระยะสั้นแบบนี้กำลังเติบโตในเยอรมนี สามารถเช่ารถได้ใน 490 เมือง มีสมาชิกทั้งหมด 223,000 คน และในอนาคตจะเติบโตมากขึ้นเนื่องจากราคาถูกกว่าแท็กซี่ และด้วยความสามารถของระบบนาวิเกเตอร์ ทำให้สามารถเดินทางไปยังจุดหมายได้อย่างง่ายดายและแม่นยำ แม้ว่าจะไม่รู้จักเส้นทางการเดินทางในเมืองนั้นมาก่อนก็ตาม(ที่มา: วารสาร Test ฉบับที่ 7/ 2015) 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 172 การเลือกซื้อที่ล็อครถจักรยาน

โดย ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค ประธานอนุกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านสินค้าและบริการฉบับที่แล้วได้เล่าถึงการเลือกซื้อจักรยานโดยดูจากชิ้นส่วนและอุปกรณ์ที่สำคัญในการขี่ ฉบับนี้ขอเล่าถึงการเลือกซื้อที่ล็อครถจักรยานสำหรับป้องกันการขโมยดูบ้าง ตามสถิติการก่ออาชญากรรมในประเทศเยอรมนีนั้น ขโมยจะใช้เวลาไม่เกิน 3 นาที ในการตัดหรือทำลายที่ล็อคจักรยาน หากใช้เวลานานกว่านั้น ย่อมเสี่ยงที่จะถูกจับ ดังนั้น แทนที่ขโมยจะใช้เวลานานในการปฏิบัติการทำลายที่ล็อคจักรยานคันนี้ ก็เลือกที่จะไปขโมยรถจักรยานคันอื่นที่ขโมยง่ายกว่าแทน ในแต่ละปีในประเทศเยอรมนีจะมีจักรยานถูกขโมยไม่ต่ำกว่า 300,000 คัน การป้องกันด้วยการล็อคจักรยานที่มีประสิทธิภาพจะช่วยลดความเสี่ยงในการถูกขโมยได้ ประเภทของที่ล็อครถจักรยาน•    ที่ล็อคแบบตัว U (U-lock) เป็นประเภทที่ดีที่สุดแบบหนึ่ง ยากที่จะใช้เครื่องมือตัดหรือทำลาย•    ที่ล็อคแบบ amored cable lock ลักษณะแข็งนอก อ่อนใน เนื่องจากข้างในเป็นลวดโลหะสามารถตัดได้ง่าย•    ที่ล็อคแบบ spiral cable lock ข้อดีของที่ล็อคประเภทนี้คือ เป็นลวดยาวๆ ล็อคจักรยานได้ง่าย แต่ก็โดนตัดทำลายได้ง่ายเช่นกัน•    ที่ล็อคแบบ folding clamp และ แบบ 2-folding-clamp lock ข้อดีคือ พกพาได้สะดวก พับเก็บง่าย แต่มีข้อเสียคือ มีขนาดสั้น ไม่ยาว•    ที่ล็อคแบบห่วงโซ่ (chain lock) เป็นที่ล็อคที่มีความแข็งแรงปลอดภัยสูง ตัดให้ขาดยาก แต่ก็มีน้ำหนักมาก•    ที่ล็อคแบบ folding cable lock มีลักษณะเป็นลวดโลหะที่สามารถพับเก็บได้ โดนตัดหรือทำลายได้ง่ายมากการล็อคจักรยานเป็นการป้องกันการลักขโมยในเบื้องต้น แต่ต้องเข้าใจว่าไม่สามารถป้องกันได้ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ถ้ารู้จักใช้ที่ล็อคดีๆ ก็สามารถประวิงเวลาขโมยในการตัดหรือทำลายตัวล็อคได้ การล็อคจักรยานที่ดีคือ การล็อคล้อ และโครงจักรยานให้ติดกับรั้ว ที่ไม่สามารถยกหนีไปไหนได้ นอกจากนี้การเลือกสถานที่จอดรถจักรยานที่เหมาะสม มีคนพลุ่กพล่าน และไม่เป็นที่ลับตาคน ก็ช่วยป้องกันขโมยได้เช่นกัน วิธีการล็อคจักรยานที่ถูกต้อง •    ล็อคตัวจักรยานไว้กับสิ่งปลูกสร้าง เช่น ที่จอดรถจักรยาน เสาไฟฟ้า หรือ กำแพง•    ล็อคจักรยานให้สูงไว้ก่อน เพื่อป้องกันไม่ให้ขโมยใช้เครื่องมือตัดได้ง่าย โดยล็อคบริเวณตัวโครงจักรยาน นอกจากนี้ ควรจะล็อคที่ส่วนอื่นๆ ของจักรยานเพิ่มเติมเช่น ล้อรถจักรยาน•    ควรเลือกสถานที่มีคนพลุกพล่าน จะช่วยทำให้ขโมยต้องยับยั้งชั่งใจ และไม่ควรจอดรถจักรยานทิ้งไว้ข้ามคืนสำหรับใครที่มีจักรยานราคาแพงๆ แล้ว ก็สมควรหาที่ล็อคที่เหมาะสมกับราคาจักรยานด้วย โดยรวมแล้วที่ล็อคจักรยาน แบบ U- lock นั้น มีประสิทธิภาพสูงที่สุดจากผลการทดสอบขององค์กรผู้บริโภค (Stiftung Warentest) คือ จากการทดสอบที่ล็อคแบบ U lock 10 ยี่ห้อ ได้คะแนนระดับดี 6 ยี่ห้อ ในขณะที่ ที่ล็อคแบบ folding clamp ได้คะแนนระดับ ดี เพียง 1 ยี่ห้อจากที่ทดสอบทั้งหมด 8 ยี่ห้อ ที่ล็อคแบบ ห่วงโซ่ (chain lock) ได้คะแนนระดับดี เพียง 1 ยี่ห้อเช่นกัน จากที่ทดสอบ 9 ยี่ห้อและที่ล็อคแบบ amored cable lock ไม่มียี่ห้อใดเลยได้คะแนนระดับดี จากที่ทดสอบ 3 ยี่ห้อหวังว่าจะพอเป็นข้อมูลเบื้องต้นให้กับเพื่อนสมาชิกวารสารฉลาดซื้อ ได้ใช้เป็นแนวทางในการเลือกซื้อที่ล็อคจักรยานและวิธีป้องกันขโมยได้บ้างพอสมควร(ที่มา: วารสาร Test ฉบับที่ 7/2007 และ 5/ 2015) 

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 170 ข้อควรระวังเมื่อจอดรถทิ้งไว้กลางแดดหน้าร้อน

โดย ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค ประธานอนุกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านสินค้าและบริการหน้าร้อนในเมืองไทย โดยเฉพาะเดือนเมษายนถึงพฤษภาคมของทุกปี จะเป็นเดือนที่มีอุณหภูมิสูงที่สุด อุณหภูมิกลางแจ้งอาจเกินกว่า 40 องศาเซลเซียส ในบางพื้นที่ทั้งในกรุงเทพและต่างจังหวัด หากเราจอดรถปิดกระจกทิ้งไว้ โดยไม่มีที่บังแดดหรือติดม่านกันแดด อุณหภูมิภายในรถที่จอดทิ้งไว้นานหลายชั่วโมง อาจจะสูงถึง 70- 80 องศาเซลเซียส ข้อควรระวังสำหรับผู้ที่ต้องจอดรถทิ้งไว้กลางแจ้ง ในการเติมน้ำมันเต็มถัง แล้วขับรถโดยใช้น้ำมันเล็กน้อย เมื่อจอดรถในที่กลางแจ้ง อาจทำให้น้ำมันที่เติมนั้นล้นออกมาจากถังได้ เพราะอากาศร้อนทำให้น้ำมันขยายตัว เช่น เราเติมน้ำมันเต็มถัง 50 ลิตร เมื่ออุณหภูมิของรถที่จอดกลางแดดเพิ่ม น้ำมันจะขยายตัว เพิ่มขึ้นอีกถึงหนึ่งลิตร เนื่องจากน้ำมันที่ออกมาจากปั้มนั้น จะมีอุณหภูมิต่ำกว่าอุณหภูมิสิ่งแวดล้อม เนื่องจากถังน้ำมันในปั๊ม จะฝังอยู่ใต้ดิน  น้ำมันที่รั่วล้นออกมาจากการขยายตัวนั้น หากโชคร้าย ก็อาจติดไฟลุกไหม้ เป็นอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินได้ แว่นตา ก็ไม่ควรทิ้งไว้ โดยเฉพาะด้านที่ติดกับกระจกที่สามารถโดนแสงแดด  เนื่องจากเป็นอันตรายในกรณีที่แสงแดดผ่านเลนส์ อาจทำให้เกิด focus effect ซึ่งการรวมแสงที่จุดโฟกัส อาจทำให้เกิดการติดไฟลุกไหม้ได้เช่นกัน ของมีค่าไม่ว่าจะเป็นกล้องถ่ายรูป คอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟน โทรศัพท์มือถือ เนื่องจากเป็นของล่อตาล่อใจ โจรขโมย และอาจทำให้อุปกรณ์อิเล็คโทรนิคเหล่านี้ ชำรุดได้ เมื่อทิ้งไว้ในที่ที่มีอุณหภูมิสูงนาน ๆ โซดาหรือน้ำอัดก๊าซ ที่บรรจุในขวดแก้ว ก็ไม่ควรทึ้งไว้ในรถที่จอดกลางแดดไว้นานๆ เพราะความร้อนทำให้ก๊าซขยายตัว เกิดการระเบิดได้ เมื่อจอดรถไว้กลางแดด เมื่อสตาร์ตรถ ควรหมุนกระจกหน้าต่างให้ต่ำที่สุด เพื่อระบายอากาศร้อนในรถก่อน หลังจากนั้น เมื่อขับรถ ก็ปรับกระจกหน้าต่างระบายอากาศโดยปรับให้กระจกสูงขึ้น โดยมีช่องระบายอากาศสูงประมาณ 1 ฝ่ามือ และเปิดเครื่องปรับอากาศที่มีความแรงปานกลาง และหากรถเรามี ปุ่มปรับทิศทางของแอร์ ก็ให้ปรับทิศทางของแอร์ไหลผ่านทางเท้า จะช่วยการระบายความร้อนในรถได้เร็วขึ้น การเปิดเครื่องปรับอากาศระดับสูงสุดขณะขับรถ จะสิ้นเปลืองพลังงานสูงมาก สิ่งมีชีวิต เช่น สัตว์เลี้ยง ไม่ว่า สุนัข หรือแมว ก็ไม่ควรปล่อยให้อยู่ในรถเพราะอาจทำให้ เกิดอาการ heat stroke ได้ เราเคยได้ยินข่าวโศกนาฏกรรมจากการปล่อย สัตว์เลี้ยงอยู่ในรถ ในขณะที่จอดรถทิ้งไว้กลางแดด ต้องตายเพราะความประมาท ชะล่าใจของเจ้าของ ที่สำคัญที่สุด คือ ไม่ควรปล่อยเด็กเล็กทิ้งไว้ในรถ โดยไม่มีผู้ใหญ่ดูแล เคยมีกรณี เด็กเสียชีวิตจากการขาดอากาศหายใจ และ heat stroke เป็นประจำ ฉลาดซื้อ ฉลาดคิด ฉลาดใช้ชีวิต ในยุคบริโภคนิยม แม้หน้าร้อนสภาพอากาศจะร้อนรุนแรง หากเราตั้งสติรับมือกับความร้อนอย่างชาญฉลาด ก็สามารถผ่านหน้าร้อนได้อย่างสบายๆ ครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 152 หลักการคืนรถใหม่ที่มีข้อบกพร่อง : แนวทางปฏิบัติในประเทศเยอรมนี

โดย ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค ประธานอนุกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านสินค้าและบริการติดตามข่าวปัญหาของผู้ซื้อรถเชพโรเลทครูซ ที่พบว่ารถเกิดข้อบกพร่อง และอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุ เป็นอันตรายต่อคนขับและผู้โดยสารได้ ผู้บริโภคพยายามที่จะขอให้ทางบริษัทซื้อรถคืน ขณะนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนการทดสอบพิสูจน์ ซึ่งเป็นกระบวนการยุติธรรมก่อนที่จะฟ้องร้องต่อศาล ในกรณีที่ไม่สามารถไกล่เกลี่ยกันได้นั้น ผมมีแนวทางในเรื่องนี้ โดยจะขอเล่าแนวทางปฏิบัติของทางเยอรมันดังต่อไปนี้ครับ ในกรณีที่ซื้อรถใหม่ โดยปกติผู้บริโภคจะได้รับการประกันสองรูปแบบ คือ การรับประกันจากผู้ขาย ที่เรียกว่า Dealer Guarantee และได้รับประกันจากบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ เรียกว่า Manufacturer Guarantee โดยจะมีระยะเวลาประกันนาน 2 ปี  ในกรณีที่ผู้บริโภคพบว่ารถมีข้อบกพร่อง (Defects) หลังจากส่งมอบรถก่อน 6 เดือนจะใช้สิทธิการประกันรถก็จะไม่มีปัญหาอะไร แต่ถ้าหลังจาก 6 เดือนไปแล้ว ต้องพิสูจน์ว่ารถตอนส่งมอบนั้นมีข้อบกพร่อง และผู้บริโภคใช้รถอย่างถูกต้อง จึงจะสามารถใช้สิทธิจากการรับประกันของผู้ผลิตได้ ในกรณีที่รถใหม่เป็นรถที่มีข้อบกพร่องหลายจุด (Montagsauto: Monday cars) เบื้องต้นผู้บริโภคไม่สามารถจะคืนรถได้ทันที ต้องปล่อยให้ทางผู้ขาย หรือ ผู้ผลิตทำการซ่อมแซมรถก่อน และหากลองซ่อมแล้ว 2 ครั้งยังไม่สามารถแก้ไขข้อบกพร่องได้ ผู้บริโภคมีสิทธิที่จะร้องเรียนต่อผู้ผลิต หรือฟ้องร้องต่อศาลเพื่อยกเลิกสัญญา หรือให้ทางผู้จำหน่ายซื้อรถคืนได้ อย่างไรก็ดี ผู้บริโภคที่จะขายรถคืนให้กับทางบริษัทนั้น โดยทั่วไปจะโดนหักค่าเสื่อมราคา คิดเป็น 0.67% ของราคาเต็มของรถต่อระยะทางที่รถวิ่ง 1000 กิโลเมตร เนื่องจากลักษณะของรถ Monday cars นี้ มักจะมีจุดบกพร่องหลายๆ จุด เพราะฉะนั้นหากรถจอดอยู่ในอู่ซ่อมเป็นระยะเวลานานๆ รวมแล้วมากกว่าระยะเวลาที่รถวิ่ง ผู้บริโภคก็สามารถใช้ประเด็นนี้ ฟ้องร้องต่อศาลเพื่อยกเลิกสัญญาการซื้อขาย โดยเป็นกรณีที่เรียกว่า “สินค้าอยู่ในสถานะที่ไม่สามารถยอมรับได้” (Unzumutbarkeit: Unacceptability) สามารถขอเปลี่ยนรถใหม่ หรือขอให้ทางบริษัทซื้อรถคืนกลับไปได้เช่นกัน แต่อย่างไรก็ตามในกรณีที่ รถ แสดงอาการว่าผิดปกติและอาจส่งผลต่อสวัสดิภาพและความปลอดภัยของคนขับและผู้โดยสาร ก็สามารถที่จะใช้สิทธิผ่าน กฎหมายสินค้าที่ไม่ปลอดภัยได้ (Product Liability Law) โดยบังคับให้ผู้ผลิตหรือผู้จำหน่ายเป็นฝ่ายพิสูจน์ ในกรณีที่เป็นคดีฟ้องร้องไม่สามารถตกลงไกล่เกลี่ยกันได้ แต่เนื่องจากในเยอรมันหรือประเทศที่ให้ความสำคัญกับสวัสดิภาพของผู้บริโภคและประชาชน หากรถยนต์ส่อเค้าว่ามีข้อบกพร่อง ทางบริษัทก็จะทำการแสดงความรับผิดชอบทันที ไม่ต้องใช้กฎหมายมาบีบบังคับ เหมือนในเมืองไทย เพราะทางบริษัทผลิตรถยนต์ เป็นห่วงเรื่องภาพพจน์ของยี่ห้อเขา มากกว่าที่จะใช้สิทธิในการต่อสู้คดีความทางศาลครับ และกรณีรถยนต์เชพโรเลทนี้ คาดว่าผู้บริโภคของไทยยังต้องเหนื่อยกับการเรียกร้องสิทธิให้ผู้ประกอบการมีความรับผิดชอบอีกพอสมควรทีเดียว ตรงนี้เป็นตัวชี้วัดสำหรับการรับผิดชอบต่อสังคมได้เป็นอย่างดีว่าเป็นอย่างไร แหล่งข้อมูล www.adac.de

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 128 องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค: กรณีรถยนต์และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง

โดย ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค ประธานอนุกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านสินค้าและบริการ ในปัจจุบัน มีสินค้าหลายชนิดที่อยู่ในตลาดเป็นจำนวนมาก   สินค้าชนิดเดียวกันมีความหลากหลายทั้งทางด้านปริมาณและคุณภาพ   บริษัทผู้ผลิตส่วนใหญ่ต่างมุ่งที่จะขายสินค้าหรือบริการของตนโดยใช้กลยุทธ์ทางการตลาด  มีการใช้สื่อโฆษณาประชาสัมพันธ์ในหลายรูปแบบเพื่อให้สินค้าสามารถขายและแข่งขันได้ การประชาสัมพันธ์สินค้ามักมุ่งเน้นให้ผู้บริโภคเห็นความดีและประโยชน์ของสินค้าแต่เพียงด้านเดียวจึงทำให้ผู้บริโภคตกอยู่ในฐานะที่เสียเปรียบเนื่องจากขาดข้อมูลที่สำคัญบางอย่างในการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ เช่น ไม่แจ้งผลข้างเคียงของการใช้สินค้า ซึ่งอาจเป็นเหตุให้ผู้บริโภคซื้อผลิตภัณฑ์ที่ไม่ตรงกับความต้องการที่แท้จริง หรือได้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ ไม่เหมาะสมกับราคาหรือสินค้า มีผลข้างเคียงอื่นๆ  อันเป็นเหตุให้ผู้บริโภคสูญเสียเงินจำนวนมาก  ในประเทศที่พัฒนาแล้ว  ภาครัฐได้เห็นความสำคัญของผู้บริโภค  และเห็นว่าประชาชนควรจะมีข้อมูลรอบด้าน เพื่อเลือกซื้อสินค้าให้เหมาะสมกับความต้องการและคุ้มค่ากับเงินที่จ่ายไป บางประเทศรัฐบาลสนับสนุนองค์กรอิสระที่ไม่แสวงหาผลกำไรให้ทดสอบสินค้าที่มีอยู่ตามท้องตลาด เพื่อให้ได้ข้อมูลที่แท้จริงในด้านต่างๆของสินค้านั้น  รวมทั้งเผยแพร่ผลการทดสอบสินค้าและให้คำแนะนำในการเลือกซื้อสินค้าแก่ผู้บริโภค  ตัวอย่างองค์กรในประเทศเยอรมนีที่ทำหน้าที่ด้านการให้ข้อมูล คำแนะนำเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์รถยนต์ ในประเทศเยอรมนีชื่อว่า สมาคมยานยนต์แห่งประเทศเยอรมนี (Der Allgemein Deutsche Automobil Club: www.adac.de)  หน้าที่ ที่สำคัญขององค์กรนี้คือ การให้ข้อมูลเพื่อประกอบการตัดสินใจเลือกซื้อรถยนต์ โดยจะทำการทดสอบรถยนต์ที่วางขายอยู่ในท้องตลาด โดยจะทำการทดสอบและให้ข้อมูลแก่ผุ้บริโภคโดยละเอียดมาก เช่น เทคนิคและความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างไรบ้าง ลักษณะของตัวรถทั้งภายในและภายนอก ลักษณะของเครื่องยนต์และระบบส่งกำลัง ความปลอดภัย  การขับเคลื่อนของรถ และราคา ยกตัวอย่างผลการทดสอบรถยนต์ รุ่น Chevrolet  Aveo 1.4 (ดูเอกสารแนบประกอบ)   นอกจากนี้  ยังได้ทำข้อมูลในด้านการให้ความรู้เกี่ยวกับการบำรุง ดูแลรักษารถยนต์ การป้องกันอุบัติเหตุที่อาจจะเกิดจากรถยนต์ วิธีการขับรถที่ปลอดภัยและประหยัดพลังงาน  มีฐานข้อมูลเกี่ยวกับสภาพถนนที่เป็นปัจจุบัน ให้คำปรึกษาทางด้านกฎหมาย ตลอดจนให้คำแนะนำเกี่ยวกับการหาแหล่งเงินกู้เพื่อซื้อรถยนต์ ทดสอบคุณภาพและมาตรฐานการให้บริการของอู่ซ่อมรถยนต์ และศูนย์ให้บริการของรถยนต์ และให้ข้อมูลเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องเช่น  น้ำมัน ที่นั่งเสริมนิรภัยสำหรับเด็ก  ยาง เบรก ฯลฯ ตลอดจนให้คำแนะนำในเรื่องการขับรถยนต์แก่คนพิการ   สำหรับประเทศไทย การจัดตั้งองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาราจักรไทย พ.ศ. 2550 ตามมาตรา 61 บัญญัติว่า สิทธิของบุคคล ซึ่งเป็นผู้บริโภค ย่อมได้รับการคุ้มครองในการได้รับข้อมูลที่เป็นความจริง และมีสิทธิร้องเรียนเพื่อให้ได้รับการแก้ไขเยียวยาความเสียหาย รวมทั้งมีสิทธิรวมตัวกันเพื่อพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค อีกทั้งยังกำหนดให้มีองค์การเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคที่เป็นอิสระจากหน่วยงานของรัฐ ซึ่งประกอบด้วย ตัวแทนผู้บริโภค ทำหน้าที่ให้ความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาหน่วยงานของรัฐในการตรวจตรา และการบังคับใช้กฎหมายและกฎ และให้ความเห็นในการกำหนดมาตรการต่างๆ เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค รวมทั้งตรวจสอบและรายงานการกระทำหรือละเลยการกระทำอันเป็นการคุ้มครองผู้บริโภค ทั้งนี้ให้รัฐสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินการขององค์การอิสระดังกล่าวด้วย ซึ่งได้มีการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค โดยมีการเสนอร่างโดยคณะรัฐมนตรี ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลและส.ส.ฝ่ายค้าน จำนวนทั้งหมด 7 ร่าง   ผ่านการพิจารณาในชั้นของสภาผู้แทนราษฎรทั้งสามวาระ และกำลังพิจารณาแปรญัตติอยู่ในชั้นของกรรมาธิการวิสามัญวุฒิสภา ก็ได้มีการประกาศยุบสภาไปก่อน ทำให้ตอนนี้ ร่าง พรบ.ดังกล่าว ต้องได้รับคำรับรองยืนยันจากนายกรัฐมนตรี จึงจะพิจารณาร่าง พรบ.ดังกล่าวต่อไปได้ และจากรายงานสถิติการร้องเรียนในรอบ 11 เดือนที่ผ่านมาของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค มีการร้องเรียนเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์รถยนต์ มากที่สุด โดยมีผู้ร้องเรียนถึง 7752 ราย (โพสต์ ทูเดย์ 18 กันยายน 2554) จะเห็นได้ว่า ผู้บริโภคถูกเอาเปรียบ และถูกละเมิดสิทธิเป็นวงกว้าง  หากสังคมไทยมีองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค คณะกรรมการองค์การอิสระทั้ง 7 ด้าน คือ   1ด้านการเงินและการธนาคาร2 ด้านการบริการสาธารณะ3 ด้านที่อยู่อาศัย4 ด้านบริการสุขภาพ5 ด้านสินค้าและบริการทั่วไป6 ด้านสื่อสารและโทรคมนาคม7ด้านอาหาร ยา หรือผลิตภัณฑ์สุขภาพ  จะช่วยคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคและป้องกันการการละเมิดสิทธิของผู้บริโภคในวงกว้างได้ โดยเฉพาะกรรมการที่ดูแลรับผิดชอบทางด้านสินค้าและผลิตภัณฑ์ทั่วไป ที่จะต้องนำข้อมูลเกี่ยวกับผลการทดสอบรถยนต์ เหมือนกับที่องค์กรผู้บริโภคของหลายๆประเทศ ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับรถยนต์ เพื่อช่วยผู้บริโภคการตัดสินใจเลือกซื้อรถยนต์ ได้อย่างคุ้มค่า เป็นการคุ้มครองผู้บริโภคในเชิงรุก ในระยะยาวหากมาตรฐานสินค้ารถยนต์ในประเทศสูงขึ้น ก็จะช่วยทำให้ยกระดับมาตรฐานของรถยนต์ในประเทศไทยสูงขึ้น เพิ่มความสามารถในการแข่งขันทางอ้อม เหมือนกับอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ในเยอรมัน ที่เป็นผลมาจากนโยบายการคุ้มครองผู้บริโภคเชิงรุกที่ทุกภาคส่วนในสังคมให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 115 “รถใช้น้ำ” ช่วยโลกร้อน ประหยัดเชื้อเพลิง ?

ราคาน้ำมันที่พุ่งตัวสูงขึ้นอยู่ในขณะนี้ สร้างความเดือดเนื้อร้อนใจแก่ผู้ใช้รถเป็นจำนวนมาก ในสื่อต่างๆ มีการโฆษณาถึงผลิตภัณฑ์ในรูปแบบหลากหลาย ที่อวดอ้างสรรพคุณว่า ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมีความสามารถ ช่วยลดปริมาณการปล่อยมลภาวะ และยังช่วยลดปริมาณการใช้น้ำมัน อันทำให้ช่วยผู้ใช้รถจำนวนมากสามารถประหยัดค่าน้ำมันได้ วันนี้มีเพื่อนสมาชิกสอบถามเข้ามาถึงเรื่อง “รถใช้น้ำ” ว่ามีความน่าเชื่อถือมากน้อยเพียงใด คอลัมน์ ช่วง ฉลาด ช้อป มีคำตอบให้ครับ รถพลังงานน้ำ vs. รถพลังงานไฮโดรเจนตามหลักทางวิทยาศาสตร์แล้ว การได้มาซึ่งพลังงานเกิดจากการปฏิกริยาทางเคมีของสสารที่มีพลังงานสะสมสูงกว่า เปลี่ยนไปเป็นสสารที่มีพลังงานสะสมต่ำกว่า โดยระหว่างการเปลี่ยนแปลงนั้นสสารจะปลดปล่อยพลังงานออกมา ยกตัวอย่างเช่น การเผาไหม้ของสสารกลุ่มไฮโดรคาร์บอน (พลังงานฟอสซิล) ไปเป็นก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และก๊าซออกซิเจน   เปรียบเช่นเดียวกับกระบวนการหายใจของมนุษย์ ที่สามารถเปลี่ยนอาหารที่มนุษย์รับประทานไปทำปฏิกริยากับก๊าซออกซิเจน ทำให้ได้มาซึ่งพลังงานที่เราใช้ในชีวิตประจำวัน และก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เราหายใจออกมา   ในลักษณะเดียวกัน ก๊าซไฮโดรเจน สามารถทำปฏิกริยากับก๊าซออกซิเจน ทำให้เกิดน้ำและพลังงาน ได้เช่นกันดังสมการเคมี   เนื่องจากก๊าซไฮโดรเจนและก๊าซออกซิเจนมีพลังงานสะสมสูงกว่าน้ำ ลักษณะเช่นนี้เป็นที่มาของพลังงานทางเลือกใหม่ หรือที่เราเรียกกันว่า Hydrogen Fuel เมื่อนำหลักการนี้มาใช้เป็นพลังงานแก่รถยนต์ เราจึงเรียกว่ารถพลังงานไฮโดรเจน ซึ่งกำลังได้รับการพัฒนาและกำลังคาดหมายว่าจะสามารถมาทดแทนพลังงานจากฟอสซิลได้ในอนาคตอันใกล้นี้ ในทางตรงกันข้ามหากเราต้องการนำน้ำมาทำให้เกิดไฮโดรเจนและก๊าซออกซิเจน สิ่งที่เราต้องทำคือการใส่พลังงานลงไปในน้ำเพื่อทำให้เกิดปฏิกริยาดังสมการเคมี ซึ่งปฏิกริยาดังกล่าวสามารถทำได้ด้วยกระบวนการ Electrolysis คือการใส่พลังงานไฟฟ้าผ่านขั้วไฟฟ้าทั้งสองลงไปในน้ำ ทำให้เกิดก๊าซไฮโดรเจนที่ขั้วลบ และก๊าซออกซิเจนที่ขั้วบวก  จากหลักการที่อธิบายมานี้จะเห็นได้ว่า รถที่ใช้พลังงานไฮโดรเจนนั้นกำลังได้รับการพัฒนาเพื่อเป็นพลังงานทางเลือกแห่งอนาคต ในทางตรงกันข้ามการให้ได้มาซึ่งพลังงานจากน้ำโดยปฏิกริยาเคมีนั้นเป็นไปไม่ได้เลย เพราะน้ำเป็นสสารที่มีพลังงานสะสมต่ำกว่าเมื่อเทียบกับ ก๊าซไฮโดรเจนและก๊าซออกซิเจน ดังนั้นรถยนต์ที่วิ่งได้ด้วยพลังงานน้ำล้วนๆ จึงไม่มีอยู่จริง แล้ว “รถใช้น้ำ” ที่โฆษณากันคืออะไร? หลักการของอุปกรณ์เหล่านี้ คือ ติดตั้งตัว Electrolyze โดยนำพลังงานจากแบตเตอรี่เพื่อแยกเอาก๊าซไฮโดรเจนและออกซิเจนออกจากน้ำ แล้วนำเอาก๊าซไฮโดรเจนและก๊าซออกซิเจนที่ได้เหล่านั้น ใส่เข้าไปในเครื่องยนต์ โดยมักจะอ้างว่าเป็นการทำให้เครื่องยนต์ใช้น้ำมันน้อยลง และเกิดมลภาวะที่น้อยลงด้วย   ข้อเท็จจริง: การนำก๊าซไฮโดรเจนใส่เข้าไปในเครื่องยนต์นี้ ได้รับการศึกษาและรับรองทางวิทยาศาสตร์แล้วว่า “สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการเผาไหม้ และทำให้เกิดมลภาวะที่น้อยลงจริง” แต่ประสิทธิภาพก็เพิ่มในปริมาณเล็กน้อยเท่านั้น นอกเหนือจากนี้สิ่งที่ผู้ผลิตสินค้าเหล่านี้มักไม่พูดถึงคือ กระบวนการ Electrolysis เพื่อแยกก๊าซไฮโดรเจนจากน้ำนั้น เป็นกระบวนการที่ต้องใช้พลังงานเช่นเดียวกัน โดยพลังงานที่ว่านี้ก็มาจากแบตเตอรี่ ซึ่งมาไล่เรียงกันดีๆ แล้ว จะเห็นว่าพลังงานแบตเตอรี่ก็มาจากการเผาไหม้ในเครื่องยนต์ ก็คือพลังงานน้ำมันนั้นเอง  และเมื่อพิจารณาตามกฎทางเทอร์โมไดนามิกแล้ว ในทุกกระบวนการนั้นจะต้องเกิดการสูญเสียพลังงานทั้งสิ้น เพราะฉะนั้น การนำพลังงานทางกลที่ได้จากน้ำมัน ไปปั่นเป็นพลังงานไฟฟ้าแล้วนำพลังงานไฟฟ้าไปแยกไฮโดรเจน แล้วนำกลับมาเผาไหม้ใหม่ จึงเป็นกระบวนการที่ไม่คุ้มอย่างยิ่ง โดยสรุปจึงเป็นไปไม่ได้เลยที่อุปกรณ์พวกนี้จะสามารถช่วยประหยัดการใช้น้ำมันได้ ที่ต่างประเทศก็มีการขายผลิตภัณฑ์เช่นนี้เหมือนกันไม่ใช่หรือ? ณ ปัจจุบัน ไม่มีผลิตภัณฑ์ประเภทนี้ใดๆ ที่ได้รับการรับรองและค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์จาก United States Environmental Protection Agency นั้นหมายความถึง ผลิตภัณฑ์ประเภทนี้ในต่างประเทศก็อาจจะเข้าข่ายหลอกลวงผู้บริโภคเช่นกัน ผลิตภัณฑ์พวกนี้โดยส่วนมาก มักจะมีการอ้างถึงผลการทดสอบการประหยัดน้ำมัน และการปล่อยมลภาวะ ซึ่งค่าที่เกิดจากการทดสอบเหล่านี้ อาจเกิดขึ้นได้จากลักษณะการขับขี่ หรือการปรับค่าของหัวฉีดและ Engine Control Unit (ECU) ต่างๆ สรุปโดยรวมแล้ว การใช้ก๊าซไฮโดรเจนที่เกิดจากการใช้กระบวนการ Electrolysis แยกออกมาจากน้ำนั้น ไม่ได้ช่วยให้ผู้ใช้รถที่ติดตั้งอุปกรณ์สามารถประหยัดน้ำมันได้จริง ขณะที่เรากำลังรอการมาของเทคโนโลยีรถที่ใช้ Hydrogen fuel cell การดูแลเช็คสภาพรถยนต์ ให้อยู่ในสภาพดี ตรวจสอบลมยางและไส้กรองอยู่เสมอ ไม่บรรทุกของเกินความจำเป็น รวมถึงขับรถไม่เร็วเกินไปนัก หรือถ้าเป็นไปได้ก็หลีกเลี่ยงการใช้รถเมื่อไม่จำเป็น น่าจะเป็นทางออกที่ดีสำหรับการประหยัดน้ำมันในยุคน้ำมันราคาแพงนี้ครับ

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 105 รถเข็นเด็ก: อันตรายจากสารเคมีที่แอบแฝง

โดย ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค ประธานอนุกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านสินค้าและบริการรายการข่าวหลายช่องได้นำเสนอข่าวอุบัติเหตุสุดช็อคที่เกิดขึ้นในประเทศออสเตรเลีย กรณีที่รถเข็นเด็กไถลจากชานชาลาและคว่ำลงในรางรถไฟจังหวะเดียวกับที่รถไฟวิ่งเข้าชานชาลาพอดี เดชะบุญเด็กน้อยไม่เป็นอะไรมากนอกจากหัวโน เนื่องจากคุณแม่ได้รัดเข็มขัดนิรภัยไว้ทำให้เด็กไม่กระเด็นหลุดออกมานอกรถเข็นขณะโดนกระแทก (ตามข่าววันที่ 16 ตุลาคม 2552)  ไม่ว่าคุณแม่คนดังกล่าวจะเลือกใช้รถเข็นเด็กยี่ห้ออะไร แต่ถือว่ารถเข็นยี่ห้อดังกล่าวใช้ได้ครับ เพราะมีความแข็งแรงมากพอจนสามารถป้องกันเด็กจากอุบัติเหตร้ายแรงได้ พูดถึงเรื่องของรถเข็นเด็ก ในเยอรมนีก็ให้ความสนใจกับผลิตภัณฑ์ชนิดนี้เป็นอย่างมาก มีการทดสอบสินค้าประเภทนี้เฉลี่ยแล้วปีละครั้ง แต่ละครั้งที่ทดสอบก็จะพบข้อบกพร่องมากบ้างน้อยบ้าง ซึ่งทางผู้ทดสอบก็จะแจ้งให้ผู้ผลิตรับทราบ ซึ่งผู้ผลิตของเยอรมนีเองก็ไม่เคยเพิกเฉย และไม่เคยโต้แย้งเกี่ยวกับผลการทดสอบเลยสักครั้ง ทั้งๆ ที่มาตรฐานอุตสาหกรรมการผลิตของเยอรมนีเองก็ขึ้นชื่อว่ามีมาตรการควบคุมและบังคับอย่างเข้มข้น สำหรับเมืองไทยของเรานั้น หากมีการร้องเรียนหรือการแจ้งข้อมูลจากผู้บริโภค/สื่อสารมวลชน ผู้ประกอบการและผู้ผลิตควรมีมาตรการรับผิดชอบหากพบข้อบกพร่องของผลิตภัณฑ์ หากเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ซึ่งผู้ซื้อซื้อไปไม่เกิน 7 วัน แล้วพบว่าผลิตภัณฑ์นั้นไม่สามารถใช้ได้ เกิดข้อบกพร่องเสียหายซึ่งมาจากการผลิต ก็ควรจะเปลี่ยนสินค้าอันใหม่ให้เลย หลายครั้งที่ผู้เขียนมีประสบการณ์จากเพื่อนฝูง พี่น้องมาปรารภเกี่ยวกับการซื้อสินค้ามาใช้ไม่นานแล้วพบว่าสินค้าดังกล่าวไม่สมบูรณ์ ชิ้นส่วนบางอย่างเสียโดยไม่ทราบสาเหตุ ผู้ซื้อเองต้องการจะเปลี่ยนสินค้าเป็นชิ้นใหม่แต่ผู้ขายไม่สามารถเปลี่ยนได้ ทำได้แค่เพียงส่งซ่อมและแก้ไขให้เท่านั้น บางกรณีอ้างว่า ไม่สามารถเปลี่ยนสินค้าชิ้นใหม่ได้ เนื่องจากผู้ซื้อไม่ได้ซื้อเงินสด (ใช้บริการผ่อนชำระ 0% ทำให้เสียสิทธิ!!!) ซึ่งการเปลี่ยนสินค้าให้แบบไม่มีเงื่อนไขคงไม่ทำให้ผู้ประกอบการต้องปิดกิจการเพราะโอกาสเกิดเหตุการณ์ในลักษณะดังกล่าวนั้นไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยๆ (หากเกิดขึ้นหลายๆ ครั้ง สินค้าชิ้นนั้นควรได้รับการตรวจสอบ เพราะอาจจะผลิตไม่ได้มาตรฐานจริงๆ) ลองติดตามดูข่าวคราวเกี่ยวกับความรับผิดชอบของผู้ประกอบการในบ้านเรายังไม่มีการบังคับใช้กฎหมายในเรื่องดังกล่าวเลยครับ แต่เรื่องลักษณะนี้ก็มีเกิดขึ้นในสังคมอยู่เป็นประจำ สำหรับผมนั้นก็จะนำข่าวเหล่านี้มาเสนอให้เพื่อนสมาชิกทราบเป็นระยะๆ ครับ และหวังว่าการเผยแพร่ข่าวสารข้อมูลในด้านการคุ้มครองผู้บริโภคจะมีผลต่อความรับผิดขอบของผู้ผลิตในเมืองไทย ตามมาตรฐานสากล สมกับที่ได้ตรามาตรฐาน ISO ซึ่งผู้ผลิตบ้านเราพยายามทำหรือหาวิธีที่จะให้ได้มาซึ่งมาตรฐานนี้ สำหรับมาตรฐานของฝรั่งที่ไม่ได้ออกเป็น ISO แต่เป็นมาตรฐานทางจริยธรรมของผู้ผลิตคือ การรับผิดชอบสินค้าที่ผลิตขึ้นและพบข้อบกพร่อง โดยการรับเปลี่ยนสินค้าแบบไม่มีเงื่อนไข และหากผู้ผลิตจะส่งสินค้าไปยุโรปหรือสหรัฐอเมริกา ก็ต้องยอมรับเงื่อนไขจริยธรรมแบบฝรั่งด้วยเช่นกัน ซึ่งไม่รู้ว่าจะเกิดขึ้นในสังคมไทยเมื่อไหร่ คงต้องดูกันต่อไปครับ กลับมาเรื่องของเราดีกว่า ฉบับนี้ผมนำเรื่องผลการทดสอบรถเข็นเด็กของนิตยสาร Test เยอรมนี ฉบับเดือนกันยายน 2552 มานำเสนอครับ ผลการทดสอบพบสารเคมีอันตรายในรถเข็นเด็กถึง 10 ยี่ห้อ จากจำนวนยี่ห้อที่นำมาทดสอบทั้งหมด 14 ยี่ห้อ ชิ้นส่วนที่มีการตรวจพบสารเคมีอันตราย ได้แก่ บริเวณที่จับ (Handle) เข็มขัดนิรภัย เบาะคลุม และที่กันฝน ชิ้นส่วนดังกล่าวมีปริมาณสารเคมีประเภท Plasticizer หรือ Phatalate และ สารเคมีประเภท Polycyclic Aromatic Hydro Carbon (PAHC) สารเคมีกลุ่มดังกล่าวนี้เป็นสารก่อให้เกิดมะเร็ง และทำให้เป็นหมันได้ สารเคมีดังกล่าวถูกตรวจพบในกลุ่มสินค้าหลายอย่าง โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์สำหรับเด็กและเด็กอ่อน (baby article) ได้แก่ เก้าอี้เสริมของเด็ก เก้าอี้หัดเดิน และเครื่องเขียน เป็นต้น ในการทดสอบครั้งนี้ยังพบสารเคมีอันตรายชนิดอื่นด้วย อาทิ Chlorinated paraffin, สารป้องกันการติดไฟ (flame retardant) สารเคมีกลุ่ม Organozine กลุ่ม Phenol และFormaldehyde ผลการทดสอบสะท้อนให้เห็นว่าผู้ผลิตยังไม่ตระหนักถึงอันตรายที่หลบซ่อนอยู่ในผลิตภัณฑ์ ถึงแม้ว่าสารเคมีที่กล่าวมานี้จะไม่ทำให้เกิดอันตรายแบบปัจจุบันทันด่วน แต่หากสารเคมีเข้าสู่ร่างกาย ก็จะเกิดการสะสม สามารถส่งผลร้ายต่อสุขภาพของเด็กในอนาคตได้ ดังนั้น ผู้ผลิตควรต้องปรับปรุงกระบวนการผลิตให้มีมาตรฐาน เพื่อให้ปลอดภัยจากสารเคมีอันตรายทั้งหลายเหล่านี้ สำหรับยี่ห้อที่ตรวจพบสารเคมีอันตรายดังกล่าว คุณพ่อคุณแม่สามารถดูได้จากข้อมูลที่เรานำมาลง และหากพบสินค้ายี่ห้อดังกล่าวมีวางจำหน่ายในประเทศไทย ก็ควรจะหลีกเลี่ยงไม่เลือกมาใช้งานและแจ้งมายังมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคด้วยนะครับ

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 174 คอนโดมิเนียมแนวรถไฟฟ้า บนมิติความเหลื่อมล้ำ

ภายใต้การเร่งรัดของ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ที่ต้องการให้รถไฟฟ้าทั้ง 10 สายแล้วเสร็จภายในปี 2562 ลองมโนถึงวันที่โครงข่ายรถไฟฟ้าแผ่คลุมทั่วกรุงเทพ ชีวิตคนเมืองน่าจะสะดวกสบายกว่านี้ ไม่ต้องทุกข์ทนกับสภาพการจราจรอันเจ็บปวด มันเป็นภาพดีๆ ในอนาคตที่โครงสร้างพื้นฐานมอบให้เรา    ทว่า ยังมีอีกด้านของเหรียญที่ไม่ถูกพูดถึง ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะมันไม่ได้กระทบโดยตรงต่อปัจเจกในเวลาอันสั้น แต่มีแนวโน้มจะหมักหมมเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่บ่มเพาะความเหลื่อมล้ำและปัญหาด้านผังเมืองในอีกหลายปีข้างหน้า เรากำลังพูดถึงการกระจุกตัวของที่ดินตามแนวรถไฟฟ้าและการผุดคอนโดมิเนียมอย่างแทบจะไร้การควบคุม ซึ่งวันนี้เราเริ่มเห็นบ้างแล้วตามแนวรถไฟฟ้าทั้งเส้นเก่า เส้นใหม่ และเส้นที่กำลังจะสร้าง---------------------------------------------------------------------เส้นทางรถไฟฟ้า 10 สาย1.ชานเมืองสายสีแดงเข้ม เส้นทางหัวหมาก-บางซื่อ-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต2.ชานเมืองสายสีแดงอ่อน เส้นทางตลิ่งชัน-บางซื่อ-หัวหมาก3.ส่วนต่อขยายแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ เส้นทางพญาไท-บางซื่อ-ดอนเมือง4.สายสีม่วง เส้นทางบางใหญ่-บางซื่อ5.สายสีเขียว เส้นทางหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และแบริ่ง-สมุทรปราการ6.สายสีน้ำเงิน เส้นทางบางซื่อ-ท่าพระ และหัวลำโพง-บางแค7.สายสีส้ม เส้นทางศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี8.สายสีชมพู เส้นทางแคราย-ปากเกร็ด-มีนบุรี9.สายสีเหลือง เส้นทางลาดพร้าว-สำโรง10.สายสีเขียวเข้ม เส้นทางยศเส-สนามกีฬาฯ-สะพานตากสิน-บางหว้า---------------------------------------------------------------------รถไฟฟ้ามา ที่ดินราคาพุ่ง    จากการศึกษาของดวงมณี เลาวกุล และเอื้อมพร พิชัยสนิธ ในปี 2551 พบว่า พื้นที่รวมผู้ถือครองที่ดินเนื้อที่มากที่สุด 50 อันดับแรกในกรุงเทพฯ คือ 41,509.67 ไร่ ขณะที่พื้นที่รวมผู้ถือครองที่ดินเนื้อที่น้อยที่สุด 50 อันดับสุดท้ายมีเพียง 0.32 ไร่ เมื่อเทียบเป็นสัดส่วนการถือครองที่ดินมากที่สุด 50 อันดับแรกต่อ 50 อันดับสุดท้าย ช่องว่างนี้เท่ากับ 129,717.72 ไร่ แม้ตัวเลขนี้จะเป็นตัวเลขปี 2551 แต่ในภาวะที่ราคาที่ดินในกรุงเทพฯ ถีบตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตัวเลขข้างต้นน่าจะยังไม่ล้าสมัย     ปัจจัยหลักที่ทำให้ราคาที่ดินในกรุงเทพฯ ถีบตัวสูงขึ้นอย่างมหาศาลคือการเกิดขึ้นของรถไฟฟ้าและปริมาณที่ดินในเขตเมืองมีน้อยลง ยกตัวอย่างย่านรัตนาธิเบศร์ ปัจจุบันราคาที่ดินตารางวาละประมาณ 2.5-3 แสนบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2556 ประมาณร้อยละ 20 แต่ถ้าเทียบย้อนหลังไป 3 ปี พบว่าราคาขยับสูงขึ้นจากเดิมถึงร้อยละ 100-120การสำรวจการเปลี่ยนแปลงราคาที่ดินในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลปี 2558 ของ บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (AREA) ซึ่งมี ดร.โสภณ พรโชคชัย เป็นประธานกรรมการบริหาร พบว่า ในรอบ 16 ปี ตั้งแต่ปี 2541-2557 ราคาที่ดินเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 84 แต่ในเขตชั้นในกลับเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 158 เนื่องจากเขตใจกลางเมืองมีระบบขนส่งมวลชน ส่วนเขตชั้นนอกเพิ่มขึ้นร้อยละ 69-89 ขณะที่ในรอบ 5 ปี ตั้งแต่ปี 2552-2557 ราคาที่ดินปรับเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 55 ทำเลที่ราคาที่ดินเพิ่มสูงสูงสุดยังคงเป็นเขตชั้นใน เพิ่มขึ้นร้อยละ 75.8 เขตชั้นนอกเพิ่มขึ้นร้อยละ 39.9-49.9 โดยเฉพาะในศูนย์ธุรกิจ (CBD: Central Business District) ปรับตัวสูงสุดถึงร้อยละ 59.5-92.2ส่วนในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา พบว่า ที่ดินตามแนวรถไฟฟ้าปรับเพิ่มร้อยละ 3.5 ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ย โดยที่ดินตามแนวรถไฟฟ้าบีทีเอสเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.5 ส่วนต่อขยาย อ่อนนุช-แบริ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.9 ส่วนต่อขยายตากสิน-บางหว้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.0 ส่วนต่อขยายหมอชิต-สะพานใหม่เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.0ส่วนราคาที่ดินตามแนวรถไฟฟ้าใต้ดินหรือ MRT ราคาเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.5 แนวแอร์พอร์ต ลิงค์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 5 รถไฟฟ้าสายสีม่วง บางซื่อ-บางใหญ่ เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.8 สายสีน้ำเงิน บางซื่อ-ท่าพระ เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.6 และสายหัวลำโพง-บางแค เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.4 โดยราคาที่ดินแนวรถไฟฟ้าที่มีอัตราการเพิ่มต่ำสุดคือสายสีแดง บางซื่อ-ตลิ่งชัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.7    ถามว่า ราคาที่ดินบริเวณใด เพิ่มขึ้นมากที่สุดในการสำรวจของ AREA ครั้งนี้ คำตอบคือที่ดินบริเวณรถไฟฟ้าสยาม ชิดลม และเพลินจิต คิดเป็นตารางวาละ 1.75 ล้านบาท หรือไร่ละ 700 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2556 ที่ตารางวาละ 1.6 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.3 ทั้งยังคาดการณ์ว่า สิ้นปี 2558 ราคาที่ดินในบริเวณนี้จะเพิ่มขึ้นเป็น 1.9-2.0 ล้านบาท---------------------------------------------------------------------จำนวนคอนโดมิเนียมตามแนวรถไฟฟ้าข้อมูลจาก TerraBKK Research สำรวจคอนโดมิเนียมตามแนวส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าที่เปิดตัวตั้งแต่ปี 2010-2015 และกำลังเปิดขายในปัจจุบัน มีดังนี้ส่วนต่อขยายสายสีเขียวหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต จำนวน 12 โครงการ 4,253 ยูนิต ช่วงราคา 50,500-91,500 บาท/ตร.ม.แนวรถไฟฟ้าสายสีเขียว กรุงธนบุรี-บางหว้า จำนวน 8 โครงการ 4,958 ยูนิต ช่วงราคาตั้งแต่ 61,000-28,000 บาท/ตร.ม. แนวรถไฟฟ้าสายสีเขียว บางจาก-แบริ่ง จำนวน 21 โครงการ 7,353 ยูนิต ช่วงราคาตั้งแต่ 60,000-127,500 บาท/ตร.ม.แนวรถไฟฟ้าสายสีชมพู แคราย-มีนบุรี จำนวน 17 โครงการ 7,943 ยูนิต ช่วงราคาตั้งแต่ 43,000-72,000 บาท/ตร.ม.ส่วนต่อขยายสายสีน้ำเงิน บางซื่อ-ท่าพระ และหัวลำโพง-บางแค จำนวน 20 โครงการ 16,857 ยูนิต ช่วงราคาตั้งแต่ 46,000-125,000 บาท/ตร.ม.สายสีม่วง เตาปูน–บางใหญ่ จำนวน 42 โครงการ 34,373 ยูนิต ช่วงราคาตั้งแต่ 45,000-85,000 บาท/ตร.ม.    ขณะที่ข้อมูลจากประชาชาติธุรกิจ (14 พฤษภาคม 2558) รายงานจำนวนโครงการตั้งแต่ช่วงแคราย-หลักสี่ พบจำนวนโครงการดังนี้       บริเวณแยกแคราย 4 โครงการ ได้แก่ เดอะ พาร์คแลนด์ 635 ยูนิต สร้างเสร็จและขายหมดแล้ว, ศุภาลัย ปาร์ค แคราย-งามวงศ์วาน 697 ยูนิต, เดอะ ไพรเวซี่ ติวานนท์ 156 ยูนิต และศุภาลัย วิสต้า 404 ยูนิตบริเวณแจ้งวัฒนะ 8 โครงการ ได้แก่ โครงการฮอลล์มาร์ค 427 ยูนิต, แอสโทร 484 ยูนิต, เดอะซี้ด 210 ยูนิต, เดอะ เบส 2 อาคาร 1,231 ยูนิต, โครงการกรีเน่ 376 ยูนิต, เรียล 837 ยูนิต, ศุภาลัย ลอฟท์ 435 ยูนิต และศุภาลัย ซิตี้ รีสอร์ท 752 ยูนิตโครงการใกล้ศูนย์ราชการ 3 โครงการ ได้แก่ โครงการมิกซ์ทาวน์ 38 ยูนิต, เรสต้า แจ้งวัฒนะ เฟส 1 80 ยูนิต เฟส 2 78 ยูนิต และรีเจนท์ โฮม รวม 1,358 ยูนิต---------------------------------------------------------------------อนาคตจะเห็นคอนโดฯ ตารางวาละ 3 แสนบาทแน่นอนว่า ราคาที่ดินที่พุ่งสูงขึ้นย่อมส่งผลกระทบลูกโซ่ต่อราคาคอนโดมิเนียมตามแนวรถไฟฟ้า ยิ่งใกล้สถานีมากเท่าไหร่ ราคาก็ยิ่งขยับสูงขึ้น เช่น คอนโดมิเนียม 2 แห่งที่กำลังก่อสร้างใกล้สถานีรถไฟฟ้าสะพานควายอย่าง The Signature และ The Editor ของพฤกษา แห่งแรกราคาเริ่มต้นที่ 4.9 ล้านบาท ส่วนแห่งที่ 2 ราคาเริ่มต้นที่ 4.29 ล้านบาท เรียกว่าเป็นราคาที่ซื้อบ้านเดี่ยวในเขตชานเมืองและต่างจังหวัดได้สบายๆผู้บริหารบริษัทอสังหาริมทรัพย์หลายแห่งยืนยันตรงกันในเรื่องนี้ว่า โครงข่ายรถไฟฟ้ามีส่วนสำคัญทำให้ที่ดินที่รถไฟฟ้าผ่านขยับตัวเพิ่มสูงขึ้นมากกว่าราคาประเมินของราชการ บางแห่งสูงขึ้นกว่าเท่าตัว ยิ่งถ้าเป็นที่ดินตามเส้นสุขุมวิทราคาที่ดินจะปรับสูงกว่าบริเวณอื่น 3-4 เท่า ซึ่งการที่ผู้ประกอบการคอนโดมิเนียมได้ที่ดินมาในราคาสูง จึงผลักให้ราคาขายคอนโดมิเนียมสูงตามเพื่อให้คุ้มกับต้นทุนราคาที่ดินเฉลี่ยแล้วราคาที่ดินจะปรับขึ้นปีละประมาณร้อยละ 8-20 โดยราคาเฉลี่ยคอนโดมิเนียมในกรุงเทพฯ ช่วงที่ผ่านมาอยู่ที่ประมาณ 9.4 หมื่นบาทต่อตารางเมตร ปรับขึ้นจาก 8.8 หมื่นบาทต่อตารางเมตรในปี 2556 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 7 และยังคาดว่าในอนาคต คนกรุงเทพฯ จะได้เห็นคอนโดมิเนียมราคา 3 แสนบาทต่อตารางเมตรอย่างเลี่ยงไม่ได้รถไฟฟ้ากับการจัดการที่ดิน    การเกิดขึ้นของโครงข่ายรถไฟฟ้าผูกโยงกับการพุ่งขึ้นของราคาที่ดินและราคาคอนโดมิเนียม หากมองในมิติเศรษฐกิจ มันก็ดูสมเหตุสมผลตามกลไกตลาดและกฎอุปสงค์-อุปทาน ใครมีกำลังซื้อย่อมสามารถเข้าถึงที่พักอาศัยตามแนวรถไฟฟ้า ซึ่งมีความสะดวกสบายในการเดินทางได้ ...ถือเป็นเรื่องปกติ    แต่จริงๆ แล้วไม่ปกติ ไม่ปกติตรงที่ โดยทั่วไปแล้ว การสร้างโครงสร้างพื้นฐานอย่างรถไฟฟ้าในเมืองจะต้องคิดควบคู่ไปกับการจัดการที่ดิน เนื่องจากรถไฟฟ้าทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการใช้ที่ดิน“บางครั้งการจัดการที่ดินที่ดีอาจไม่ต้องใช้รถไฟฟ้าก็ได้ หรือทำให้รถไฟฟ้านั้นมีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น การเปิดพื้นที่ให้รถไฟฟ้าวิ่งเข้าไปจุดหนึ่ง แล้วจัดรูปแบบการใช้ที่ดินให้ทุกคนเข้าถึงได้ ไม่ใช่มองแต่จะเอารถไฟฟ้าถมลงไปที่ปากซอยหรือมองว่าที่ดินเป็นเรื่องของเอกชน” ผศ.ดร.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ อาจารย์ประจำภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ และอาจารย์พิเศษ ภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวหลักการประการหนึ่งของการจัดการที่ดินก็เพื่อแบ่งปันผลประโยชน์ที่ได้ระหว่างเอกชนและชุมชน/สังคม เช่น คนที่รถไฟฟ้าผ่านที่ดินของตน ทำให้มูลค่าที่ดินเพิ่มขึ้น ดังนั้น ส่วนหนึ่งของมูลค่าที่ได้เพิ่มขึ้นจะต้องถูกจัดสรรคืนให้แก่สังคม อาจจะเป็นพื้นที่บางส่วน ผศ.ดร.พิชญ์ ตั้งข้อสังเกตว่า ทำไมสังคมไทยจึงคิดเรื่องการแบ่งปันที่ดินแค่ระหว่างคนจนแบ่งที่ดินกับราชการ แต่ไม่มีคนรวยในสมการนี้ ทั้งที่ถ้าพื้นที่หนึ่งแปลงได้กำไรมากมหาศาลจากรถไฟฟ้า ก็ควรเวนคืนครึ่งแปลงมาสร้างประโยชน์ให้คนอื่น เพราะพื้นที่ครึ่งแปลงเดิมก็ได้ประโยชน์อยู่แล้วทำไมต้องสนใจเรื่องนี้ทำไมเราต้องสนใจเรื่องรถไฟฟ้ากับการจัดการที่ดิน ทำไมเราต้องสนใจว่าราคาที่ดินตามแนวรถไฟฟ้าจะสูงขึ้นหรือไม่ ทำไมราคาคอนโดมิเนียมที่สูงถึงเกี่ยวข้องกับเรา มันเกี่ยวข้องกับเราๆ ที่เป็นผู้บริโภคอย่างไรในภาพเล็ก คอนโดมิเนียมที่ผุดขึ้นอย่างไร้การควบคุมย่อมส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมในละแวกนั้นๆ อย่างเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะการถ่ายเทอากาศและความร้อน กระทบต่อความปลอดภัยของผู้อยู่อาศัยและประชาชนใกล้เคียงหากเกิดเหตุไฟไหม้ แต่เพราะที่ดินมีราคาแพง ผู้ประกอบการจึงพยายามใช้สอยที่ดินให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งอาจหมายถึงการละเลยพื้นที่สำหรับให้รถดับเพลิงเข้าถึงจุดเกิดเหตุ ในที่นี้หมายถึงทั้งตัวคอนโดมิเนียมเองและที่อยู่อาศัยใกล้เคียงในเชิงมหภาค รถไฟฟ้ากำลังผลักไสผู้คนที่เป็นฟันเฟืองของเมืองจำนวนมากให้ออกห่างจากเมืองยิ่งขึ้น และหากคุณเป็นผู้บริโภคที่มีรายได้ปานกลาง การเข้าถึงที่พักอาศัยตามแนวรถไฟฟ้าก็คงเป็นสิ่งที่เกินเอื้อม และนี่คือความเหลื่อมล้ำครั้งแรกที่รถไฟฟ้าเกิดขึ้นเมื่อ 16 ปีก่อนในวันที่ 5 ธันวาคม 2542 วัตถุประสงค์หลักเพื่อบรรเทาปัญหาการจราจรในกรุงเทพฯ ณ เวลานั้น การจัดการที่ดินยังเป็นประเด็นที่ไม่มีใครกล่าวถึง แต่ผลของรถไฟฟ้าสายแรกเกิดขึ้นแล้วในปัจจุบันผศ.ดร.พิชญ์ อธิบายว่า ส่วนตัวแล้วไม่แน่ใจว่าภาครัฐไม่มีการวางแผนจัดการที่ดินหรือมีมุมมองในการวางแผนจัดการที่ดินในแบบที่ภาครัฐเข้าใจ แต่อาจไม่สอดคล้องกับผลประโยชน์ของสังคม เมื่อขาดกลไกการจัดการที่ดินที่ดีพอจึงทำให้ผลประโยชน์ไม่ตกแก่สังคมทั้งหมด โดยเฉพาะกับกลุ่มคนรายได้น้อยที่เป็นจักรกลสำคัญในการขับเคลื่อนเมือง ขณะที่มิติการแก้ไขปัญหาจราจร การไม่จัดรูปที่ดิน ยังส่งผลให้เกิดการกระจุกตัวของกิจกรรมในสถานีสุดท้าย“คำถามคือคนที่มีรายได้น้อยจะสามารถเข้าถึงรถไฟฟ้าได้มากน้อยแค่ไหน เขายังจะต้องต่อไปอีกกี่ต่อ เช่น รถเมล์ รถมอร์เตอร์ไซค์ รถสองแถว ที่อยู่อาศัยเดิมที่เขาเคยอยู่ราคาค่าเช่าอาจเพิ่มขึ้น จนเขาต้องขยับต่อไปอีก ส่วนพวกที่มีเงินก็ซื้อคอนโดฯ ปล่อยให้เช่า มีเก็บภาษีเขาไหม อันนี้ไม่นับการที่ขาดการวางแผนชุมชนที่ชัดเจนว่าจำนวนคอนโดฯ มากมายที่โถมถล่มลงมาในซอยบ้านแล้วมาแย่งพื้นที่ถนน พื้นที่กินข้าว หรือกระทั่งมาเปลี่ยนรูปแบการใช้ที่ดินเดิม มันจะส่งผลกระทบให้ชุมชนเดิมอย่างไร”กล่าวคือผู้ที่เข้าถึงคอนโดมิเนียมตามแนวรถไฟฟ้าเป็นชนชั้นกลางระดับบนขึ้นไปที่มีรายได้ค่อนข้างสูง มีความสามารถผ่อนจ่ายได้ และเมื่อที่พักอาศัยใกล้แนวรถไฟฟ้ามีราคาสูง ราคาค่าหอพักย่อมถีบตัวสูงตาม ภาระจึงตกอยู่บนบ่าของผู้ที่มีรายได้น้อย หากต้องการหอพักราคาย่อมเยาก็ต้องถอยห่างจากแนวรถไฟฟ้าออกไป กลายเป็นว่าจุดมุ่งหมายของรถไฟฟ้าที่ต้องการเป็นระบบขนส่งแก่คนทุกกลุ่ม ผู้ที่มีฐานะดีกลับได้ประโยชน์มากกว่าอย่างเห็นได้ชัดเมื่อผู้มีรายได้น้อยเข้าถึงที่พักอาศัยใกล้แหล่งงานในเมืองไม่ได้ พวกเขาก็ต้องขยับออกไปไกลขึ้น ค่าเดินทางสูงขึ้น ทั้งที่คนกลุ่มนี้คือกลุ่มแรงงานที่ขับเคลื่อนเมือง-ผู้ใช้แรงงาน, แม่บ้าน, เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย, พ่อค้าริมทาง เมื่อจักรกลสำคัญของเมืองเหล่านี้ถูกกระทบ ผู้คนที่อาศัยอยู่ในเมืองคงไม่สามารถเลี่ยงผลพวงที่ตามมาได้ นี้จึงเป็นความเหลื่อมล้ำเชิงโครงสร้างที่เกิดจากการขาดการวางแผนการจัดการที่ดินตามแนวรถไฟฟ้า แต่ส่งผลแผ่คลุมคนเมืองส่วนใหญ่ สิ่งที่พอทำได้กับอนาคตรถไฟฟ้า 10 สายถึงตรงนี้ บางคนอาจคิดว่าการจัดการที่ดินให้สอดคล้องกับแนวรถไฟฟ้าคงเป็นไปไม่ได้ในมหานครอย่างกรุงเทพฯ ซึ่งไม่จริง กรณีสิงคโปร์ถือเป็นต้นแบบความสำเร็จของการจัดการที่ดินกับระบบขนส่ง ในสิงคโปร์เราจะไม่เห็นที่พักอาศัยผุดเป็นดอกเห็ดตามแนวรถไฟฟ้า แต่ที่พักอาศัยจะขยับออกห่างจากแนวรถไฟฟ้าในระยะทางที่พอเดินถึง แต่อยู่ใกล้แนวรถเมล์มากกว่า ส่วนบริเวณที่มีรถไฟฟ้าก็มักจะเป็นจุดกระจายคนและท่ารถ“คำถามก็คือคุณจะวัดการประสบความสำเร็จจากอะไร? จากการที่คนมีบ้านอยู่ เข้าถึงรถไฟฟ้าได้ และมีทางเลือกในการจราจร หรือจะวัดจากการที่มีโครงการขึ้นมากมาย มีการเก็งกำไร และมีคนที่มีบ้านอยู่แล้วปล่อยคอนโดให้คนอื่นเช่า? คุณจะวัดความสำเร็จจากคนที่มีอาหารการกินที่ดีใกล้บ้าน หรือจะวัดจากโฆษณาตลกร้ายของคอนโดฯ หรูระยับที่ไม่เคยบอกเลยว่าพวกนี้หาข้าวหาปลากินที่ไหน ถ้าไม่ลงมาเบียดกับคนอื่นๆ บนถนนอยู่ดี” ผศ.ดร.พิชญ์ กล่าวอนาคตรถไฟฟ้า 10 สายในกรุงเทพฯ จึงไม่ได้มีภาพสวยงามของความสะดวกรวดเร็วในการเดินทางเพียงอย่างเดียว ผศ.ดร.พิชญ์ ประเมินสถานการณ์ข้างหน้าว่า คนจะต้องออกไปอยู่ไกลขึ้นเรื่อยๆ เพราะสู้ราคาไม่ได้ ดังนั้น จึงเป็นเรื่องปกติที่สถานีสุดท้ายของรถไฟฟ้าแต่ละเส้นทางจะมีคนกระจุกตัวเพื่อต่อรถ ส่วนกรณีคนที่ต้องการพักอาศัยในบ้านเดี่ยวก็จะต้องอยู่ออกไปไกลขึ้นเช่นกัน ทำให้ต้องเลือกขับรถเข้ามาในเมืองเหมือนเดิม อีกคำถามที่ ผศ.ดร.พิชญ์ ชวนให้ขบคิดต่อคือ ในพื้นที่ที่มีแต่คอนโดมิเนียมเหล่านั้น มีโรงเรียน โรงพยาบาล และสิ่งอำนาวยความสะดวกเพียงพอหรือไม่ และใครจะรับผิดชอบให้มีสวนสาธารณะส่วนประเด็นระยะยาว คือคอนโดมิเนียมเหล่านี้มีวันหมดอายุเมื่อใด เนื่องจากคอนโดมิเนียมไม่สามารถทุบได้ตามอำเภอใจเพราะมีเจ้าของร่วม หากไม่มีการเตรียมรับมือในประเด็นนี้ ในอนาคตยาวๆ คอนโดมิเนียมสวยงามในวันนี้อาจเป็นแหล่งเสื่อมโทรมลอยฟ้าทว่า ในสถานการณ์ที่แผนการก่อสร้างรถไฟฟ้าเดินหน้าไปแล้วโดยปราศจากแนวทางการจัดการที่ดินเช่นนี้ ยังพอมีหนทางใดที่จะบรรเทาปัญหาได้บ้าง ผศ.ดร.พิชญ์ แสดงทัศนะว่า ต้องเพิ่มอำนาจให้เขตต่างๆ เขตต้องมีอำนาจการจัดวางผังในระดับเขตโดยประชาชนมีส่วนร่วมมากขึ้น เพิ่มข้อบังคับการจัดหาพื้นที่สาธารณะให้เขตมากขึ้น“เขตในวันนี้ โครงสร้างขาดการมีส่วนร่วม เพราะผู้อำนวยการเขตเป็นข้าราชการแต่งตั้งมาจากส่วนกลางของ กทม. สมาชิกสภาเขตไม่มีอำนาจในการจัดทำงบประมาณ โครงการต่างๆ นอกจากจะต้องรับผิดชอบในพื้นที่ของตน จะต้องรับผิดชอบต่อส่วนรวมคือเขตด้วย จะสนใจแค่ค่าส่วนกลางของโครงการอย่างเดียวไม่ได้ ต้องมีเงินส่วนหนึ่งในการรับผิดชอบค่าส่วนกลางของเขต เพราะคุณเข้ามาเปลี่ยนสภาพที่ดินอย่างมากมาย ทำให้คนที่อยู่เดิมเดือดร้อน“หรือเราอาจต้องจัดรูปแบบใหม่ เช่น รถไฟฟ้าวิ่งเข้าไปในพื้นที่ราชการขนาดใหญ่ที่แปรสภาพเป็นที่พักอาศัยให้เช่า เป็นต้น และจากนั้นเราจะสามารถออกแบบชุมชนทุกอย่างได้ สิ่งนี้จะทำให้เรามองเรื่องการแก้ปัญหาการใช้ที่ดินในอีกรูปแบบหนึ่ง ไม่ใช่มองแค่ว่าใครจะโชคดีที่มีที่ติดรถไฟฟ้า มาสู่การเอาที่ติดรถไฟฟ้ามาเวนคืน แล้วแบ่งสรรประโยชน์ เช่น เป็นทั้งที่พักอาศัยและแหล่งธุรกิจ เอาผลกำไรจากธุรกิจมารองรับส่วนของที่พักอาศัย”ขณะเดียวกัน การจัดการที่ดินจะต้องเน้นคุณภาพชีวิตของผู้คนให้มาก เช่น ถ้าโครงการคอนโดมิเนียมแห่งใดเพิ่มความร้อนหรือเพิ่มมลพิษให้กับพื้นที่ โครงการนั้นก็จะต้องรับผิดชอบต่อผลกระทบที่เกิดขึ้น ด้าน รศ.ดร.ศักดิ์สิทธิ์ เฉลิมพงศ์ อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมขนส่ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความเห็นว่า การเก็บภาษีที่ดินรอบสถานีรถไฟฟ้าจะช่วยลดการเก็งกำไร และทำให้การใช้ประโยชน์ที่ดินมีประสิทธิภาพมากขึ้น และควรลดข้อกำหนดเกี่ยวกับที่จอดรถที่จะต้องมีสำหรับอาคารที่ก่อสร้างใกล้สถานี เพราะว่าในปัจจุบันนี้ แม้อาคารจะอยู่ติดสถานีรถฟ้า แต่ก็ยังต้องสร้างที่จอดรถเป็นจำนวนมาก ซึ่งไม่จำเป็นและทำให้ต้นทุนของผู้ประกอบการสูงโดยใช้เหตุ ทำให้ราคาอสังหาริมทรัพย์สูงเกินไป อีกทั้งทำให้คนที่ไม่ใช้รถแต่ต้องการซื้อทรัพย์สินใกล้สถานีต้องแบกรับต้นทุนในส่วนนี้โดยไม่จำเป็น และกล่าวเสริมว่า“โดยเฉพาะคนที่อยู่ใกล้สถานีบางส่วนกลับขับรถยนต์ ไม่ได้ใช้รถไฟฟ้า หรือพวกนักเก็งกำไร ซื้อแล้วไม่ได้อยู่ เป็นการเสียโอกาสที่จะใช้ประโยชน์จากที่พักอาศัยเหล่านั้น ขณะที่คนจนที่ต้องการใช้รถไฟฟ้าก็ไม่สามารถซื้อได้ รัฐจึงควรแทรกแซงโดยสร้างที่พักให้คนจน อาจไม่ต้องใกล้รถไฟฟ้ามาก เช่น ในรัศมี 1 กิโลเมตรก็พอ ไม่ต้องมีที่จอดรถ ทำทางเดินเท้าหรือจักรยานเชื่อมต่อให้ดี”ยังมีประเด็นน่าสนใจที่ ผศ.ดร.พิชญ์ ทิ้งท้ายเอาไว้ว่าด้วยเทคโนโลยีและอำนาจ กล่าวคือในนิวยอร์คมีพื้นที่บางส่วนที่รถไฟฟ้าเข้าไม่ถึงหรือเข้าถึงได้น้อย ทำให้เป็นแหล่งที่พักอาศัยของคนที่มีรายได้ไม่สูงนัก แต่ก็รัฐก็ยังสามารถจัดรูปที่ดินได้โดยใช้รถเมล์เข้าไปรองรับการเดินทาง วิธีคิดเรื่องการขนส่งจึงไม่จำเป็นต้องหมกมุ่นในเชิงเทคโนโลยีเท่านั้น แต่ต้องมองว่าเรื่องการจัดการเมือง การจัดความสัมพันธ์ทางอำนาจเช่นเดียวกับการจราจร รถเมล์ควรต้องไปก่อนรถยนตร์หรือรถยนต์ต้องไปก่อนรถเมล์ รถเมล์เร็วหลายเมืองในโลกใช้รถเมล์เร็วแทนรถไฟฟ้าโดยใช้หลักการง่ายๆ ว่าใครควรไปก่อนใคร แล้วจึงกั้นเลนให้รถเมล์วิ่ง“อำนาจสำคัญกว่าเทคโนโลยีครับ เทคโนโลยีต้องรองรับอำนาจ ถ้าเราไม่จัดการอำนาจ เทคโนโลยีก็รองรับคนที่มีอำนาจเดิมนั่นแหละ”    อาจกล่าวได้ว่า ทั้งหมดนี้คือผลกระทบที่เกิดจากการใช้เทคโนโลยีแก้ปัญหาการจราจรในเมือง โดยขาดการเชื่อมโยงกับมิติอื่นๆ –ที่ดิน คนเมือง แรงงาน การขนส่ง ฯลฯ  ผลลัพธ์ที่ได้ เมืองอาจดูทันสมัยและพัฒนา แต่ถึงที่สุดแล้ว ความเหลื่อมล้ำระหว่างคนมีและไม่มีกลับไม่เคยหดแคบลงเลยในมหานครกรุงเทพฯ แห่งนี้---------------------------------------------------------------------ซื้อคอนโดฯ อย่างไรไม่เจ็บตัว    คอนโดมิเนียมเป็นสินทรัพย์ที่มีราคาสูง มันอาจหมายถึงภาระผูกพันนานหลายสิบปี การซื้อคอนโดจึงจำเป็นยิ่งยวดที่ต้องมีสติพอๆ กับสตางค์ ไม่ว่าบริษัทที่ขายคอนโดมิเนียมให้คุณจะมีชื่อเสียงน่าเชื่อถือแค่ไหน หากคุณคิดจะซื้อคอนโดมิเนียมสักห้องเพื่ออยู่อาศัย สิ่งที่ นฤมล เมฆบริสุทธิ์ หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิ์ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค อธิบายต่อจากนี้ คุณควรทำโดยเคร่งครัดเพื่อรักษาประโยชน์ของผู้บริโภคเช่นคุณ1.ประเมินความสามารถในการผ่อนชำระ เป็นหัวใจสำคัญข้อแรกที่ต้องคำนึงถึง หากผ่านข้อนี้ได้จึงพิจารณาข้อต่อไป2.ตรวจสอบว่าคอนโดมิเนียมแห่งนั้นก่อสร้างหรือยัง ตรวจสถานะของผู้ประกอบการให้ชัดเจนว่ามีความมั่นคงมากพอที่จะก่อสร้างคอนโดมิเนียมหรือไม่ ถ้าก่อสร้างแล้ว จะแล้วเสร็จประมาณเมื่อไหร่“ถ้าคุณซื้อคอนโดฯ ที่มีแต่ที่ดินก็มีโอกาสเสี่ยงที่คอนโดฯ อาจไม่สร้าง เคยมีกรณีแบบนี้เกิดขึ้น เพราะการก่อสร้างคอนโดฯ มีกรอบกำหนดว่า การจะประกาศขายคอนโดฯ ได้ต้องผ่านการขออนุญาตก่อสร้างให้เรียบร้อย แต่ผู้ประกอบการบางรายลักไก่ขายเพื่อเอาเงินดาวน์มาสร้างบางส่วนก่อน ถ้าตรงไหนกฎหมายบอกว่าผิดก็ค่อยไปแก้ ทั้งที่ที่ดินตรงนั้นอาจสร้างไม่ได้ เพราะเป็นที่ดินที่ไม่เหมาะกับการก่อสร้างอาคารสูง”3.แบบของสัญญาที่ใช้ถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ แบบสัญญาดังกล่าวเรียกว่า อช.22 ซึ่งจะมีการระบุรายละเอียดสำคัญและสิทธิของผู้บริโภคตามแนวทางที่กรมที่ดิน เช่น กำหนดความรับผิดของผู้ประกอบการว่า ถ้าไม่ส่งมอบตามระยะเวลา ผู้บริโภคมีสิทธิ์เลิกสัญญาหรือใช้สิทธิ์เรียกค่าปรับ เป็นต้น ซึ่งถึงแม้ว่ากฎหมายจะกำหนดให้ผู้ประกอบการทุกรายต้องใช้แบบสัญญานี้ มิเช่นนั้นจะถือว่าโมฆะ ผู้บริโภคก็ควรตรวจดูให้แน่ใจ อย่างน้อยจะได้ไม่ต้องเสียเวลาภายหลัง4.ขั้นตอนที่สำคัญที่สุดคือการตรวจสภาพห้องก่อนรับโอน มีผู้บริโภคหลายรายที่ต้องประสบปัญหาห้องไม่ได้คุณภาพ อันเนื่องจากความเผลอเรอในจุดนี้ นฤมล แนะนำว่า ก่อนจะทำสัญญารับโอน ผู้บริโภคต้องตรวจสภาพห้องอย่างละเอียด ควรมีลิสต์รายการที่ต้องตรวจรับและช่างส่วนตัวร่วมตรวจสอบด้วย เช่น หลอดไฟสามารถใช้ได้ทุกดวงหรือไม่ ห้องน้ำมีจุดไหนชำรุดหรือเปล่า มีการติดตั้งสายดินเรียบร้อยหรือไม่ ฯลฯ หากตรวจภายในวันเดียวไม่เสร็จ ก็ต้องยอมเสียเวลาตรวจต่อวันที่ 2เมื่อพบจุดบกพร่องให้แจ้งผู้ประกอบการดำเนินซ่อมแซมแก้ไข โดยทำเป็นลายลักษณ์อักษรให้ชัดเจน ผู้บริโภคควรเก็บสำเนาไว้ที่ตนเอง 1 ฉบับ หากผู้ประกอบการไม่ดำเนินการแก้ไขให้เป็นที่เรียบร้อย อย่ารับโอนเด็ดขาดนฤมล อธิบายว่า ปกติแล้วการซื้อคอนโดมิเนียมจะมีการรับประกันตัวโครงสร้าง 5 ปีและส่วนควบ 2 ปี ซึ่งอายุการรับประกันจะเริ่มต้นเมื่อเกิดการโอนกรรมสิทธิ์ ดังนั้น หากผู้บริโภครับโอนกรรมสิทธิ์ตั้งแต่ยังสร้างไม่เสร็จหรือรับโอนกรรมสิทธิ์โดยไม่ตรวจสภาพห้องอย่างถี่ถ้วน ผู้บริโภคอาจได้รับความเสียหายเมื่อห้องมีความชำรุดบกพร่อง กรณีที่มักเกิดขึ้นเสมอๆ คือผู้ประกอบการอ้างว่า ผู้รับยินยอมรับโอนห้องในสภาพนั้นเองหรือไม่ก็อ้างว่าความเสียหายส่วนหนึ่งเป็นเพราะผู้บริโภคหลังจากที่เข้าอยู่อาศัยแล้วนอกจากนี้ การซ่อมแซมบางครั้งอาจยืดเยื้อเกินกว่าที่คาดไว้หรือผู้ประกอบการผัดผ่อนจนครบกำหนดการรับประกัน ถึงตอนนี้ผู้ประกอบการสามารถบอกปัดความรับผิดชอบได้ ค่าใช้จ่ายต่างๆ ผู้บริโภคจะกลายเป็นผู้รับภาระเอง เหตุนี้การตรวจสภาพห้องก่อนการรับโอนจึงถือว่าเป็นสิ่งสำคัญมากในการซื้อคอนโดมิเนียม“ถ้าเป็นคอนโดฯ มือสองมือสามก็ทำเหมือนกัน ไปเรียกร้องกับผู้ขายที่เป็นเจ้าของห้องเดิมให้จัดการห้องให้เรียบร้อยก่อนรับโอน แต่กรณีซื้อต่อมือสองจะแตกต่างอยู่ตรงที่ว่า มันเป็นเรื่องที่สองฝ่ายจะตกลงกัน ผู้ขายอาจขายซากห้องก็ได้ ถ้าผู้ซื้อพอใจหรือต้องการตกแต่งเองก็สามารถทำได้ เป็นข้อตกลงระหว่างผู้ซื้อ-ผู้ขาย”  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 159 รถโดยสารสองชั้น : ความปลอดภัย “สร้างได้”

ในปัจจุบันแม้ว่ารถโดยสารสาธารณะ ได้แก่ รถโดยสารขนาดใหญ่ (หมวด ม.4) หรือ รถตู้โดยสารสาธารณะ (หมวด ม.2จ) จะมีมาตรฐานขั้นพื้นฐานที่กำหนดขึ้นโดยกรมขนส่งทางบกไว้บางประการแล้วนั้น อย่างไรก็ตาม จากสถิติอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับรถโดยสารขนาดใหญ่อย่างรถโดยสารสองชั้นที่ผ่านมาล่าสุด ไม่ว่าจะเป็น กรณีที่รถโดยสารนำเที่ยวเสียหลักตกเหวข้างทางที่ อ.ดอยสะเก็ด จ.ลำปาง ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2556 หรือกรณีรถโดยสารนำเที่ยวสองชั้นพลิกคว่ำตกเหวข้างทางที่อ.แม่สอด จ.ตาก ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2557 รวมถึงล่าสุดในเดือนเมษายน พ.ศ. 2557 ที่รถโดยสารนำเที่ยวสองชั้น เกิดอุบัติเหตุพลิกคว่ำบนถนนเลี่ยงเมือง ที่จ.ตรัง ล้วนทำให้เห็นอย่างชัดเจนว่า การเดินทางด้วยรถโดยสารสองชั้น ยังคงมีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุที่สูงอยู่ อีกทั้งยังมีความเสียหายและรุนแรงต่อชีวิตของผู้โดยสารสูงมากเช่นกัน โดยสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุนั้น นอกเหนือจากพฤติกรรมและความชำนาญในเส้นทางของผู้ขับขี่ สภาพของถนนหรือเส้นทางในการเดินรถแล้วนั้น อีกสาเหตุหลักของความสูญเสียชีวิตของผู้โดยสารคือ รถโดยสารสาธารณะเหล่านี้ ยังไม่มีโครงสร้างที่มีความแข็งแรง หรืออุปกรณ์พื้นฐานด้านความปลอดภัยที่มีประสิทธิภาพเพียงพอตามมาตรฐานสากล หรือไม่มีการถูกบังคับใช้อย่างจริงจัง บทความนี้ จะอธิบายถึงสาเหตุหลักและลักษณะรูปแบบส่วนใหญ่ของอุบัติเหตุที่เกิดกับรถโดยสารสองชั้นโดยสังเขป และชี้เน้นเชิงเสนอแนะถึงวิธีการและอุปกรณ์ด้านความปลอดภัยของรถโดยสารสองชั้นตามหลักการเชิงวิศวกรรมที่สำคัญ ที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพด้านความปลอดภัยของรถโดยสารสองชั้น ที่ควรจะมีการนำมาใช้กับรถโดยสารสาธารณะในประเทศไทยโดยเร่งด่วน ซึ่งไม่เพียงแต่ผู้โดยสารเท่านั้นที่ควรรู้และเข้าใจ แต่รวมถึงผู้ที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนอีกด้วย   สาเหตุหลักสามประการของการเกิดอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับรถโดยสารสองชั้น สามปัจจัยหลัก ที่มีผลกระทบโดยตรงต่อความปลอดภัยในการโดยสารรถโดยสารสองชั้น มีดังต่อไปนี้ 1) คนชับและผู้โดยสาร - พฤติกรรม วินัย มารยาทในการใช้รถและถนนของคน ซึ่งประกอบด้วย ผู้ขับขี่รถ ผู้ร่วมใช้ถนน และผู้โดยสารรถ เป็นอีกหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่สุด ที่มีผลต่อความปลอดภัยบนท้องถนน ไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรมการขับขี่ การเคารพกฎจราจร ความชำนาญเส้นทางของผู้ขับขี่เอง นอกจากนี้การตระหนักถึงความปลอดภัยด้วยตนเองของผู้โดยสารก็มีความสำคัญเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น การคาดเข็มขัดนิรภัย หรือไม่โดยสารรถที่มีจำนวนผู้โดยสารมากกว่าที่นั่งที่มีอยู่ เป็นต้น 2) ยานพาหนะและอุปกรณ์ภายใน – นอกเหนือจากโครงสร้างตัวถังรถ แชสซี รวมไปถึงชิ้นส่วนพื้นฐานอย่างระบบบังคับเลี้ยว สภาพช่วงล่าง สภาพยางรถ และอุปกรณ์ด้านความปลอดภัยต่างๆ ของรถ เช่น ระบบเบรก แล้วนั้น การออกแบบรถที่ครอบคลุมถึง ขนาดความสูงของรถ การจัดวางเก้าอี้โดยสาร ซึ่งส่งผลต่อน้ำหนักรวม การกระจายน้ำหนัก และตำแหน่งของจุดศูนย์ถ่วง ยังมีผลโดยตรงต่อสมรรถนะการขับขี่และการทรงตัวของรถอีกด้วย 3) สิ่งแวดล้อม - อีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดความไม่ปลอดภัยในการจราจร ก็คือ รูปแบบเส้นทางที่คดเคี้ยว ลาดชัน สภาพของถนนที่ชำรุดผุผัง เป็นหลุมเป็นบ่อ มีการจัดวางตำแหน่งของอุปกรณ์กั้นข้างทางที่ไม่เหมาะสม มีสิ่งกีดขวางการจราจร ทำให้ที่รถต้องชะลอความเร็วหรือเปลี่ยนเส้นทางโดยกะทันหัน รวมถึง สัญญาณจราจรที่ไม่ชัดเจน อาทิ ป้ายจราจร เส้นแบ่งทางเดินรถ สิ่งเหล่านี้เป็นชนวนสำคัญที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุ บ่อยครั้ง ซึ่งผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่ายจะมองข้ามไม่ได้เป็นอันขาด ลักษณะและรูปแบบของอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับรถโดยสารสองชั้น จากข้อมูลสถิติจากมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคพบว่า เหตุการณ์เสียหลักพลิกคว่ำ หลุดโค้ง เบรกไม่อยู่ เป็นลักษณะและรูปแบบของอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับรถโดยสารสองชั้นที่พบเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งสามารถอธิบายด้วยหลักการทางวิศวกรรม และอธิบายถึงผลความของความรุนแรงอันตรายต่อชีวิตผู้โดยสารได้ดังนี้ 1) การพลิกคว่ำ (Rollover) จากผลงานวิจัยจากประเทศฮังการี หนึ่งในประเทศในยุโรปที่มีจำนวนรถโดยสารสองชั้นสูงพบว่า รูปแบบของการเสียหลักพลิกคว่ำของรถโดยสารสองชั้น สามารถแบ่งตามมุมองศาของการพลิกคว่ำ ได้เป็นสามรูปแบบ ดังที่ได้อธิบายไว้ในรูปที่ 1 ซึ่งสามารถสรุปได้ว่า ลักษณะของมุมของการพลิกคว่ำที่ 90 องศา จะเกิดความเสียหายน้อยที่สุด โดยที่มุมของการพลิกคว่ำระหว่าง 45 ถึง 60 องศา จะสามารถส่งผลให้เกิดความเสียหายในระดับเล็กน้อยถึงขั้นรุนแรง ในขณะที่กรณีของการพลิกคว่ำที่ 90 องศาขึ้นไป ที่พบส่วนใหญ่ จะส่งผลให้เกิดความเสียหายขั้นรุนแรง มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก ซึ่งรูปแบบลักษณะของการพลิกคว่ำของเหตุการณ์แต่ละแบบนั้น จะสัมพันธ์กับความเร็วของรถ สภาพถนนหรือความสูงของอุปกรณ์กั้นข้างทาง รวมถึงขนาดของตัวรถ โดยปัจจัยด้านขนาดของตัวรถที่มีผลโดยตรงต่อเสถียรภาพในการขับขี่ ได้แก่ ตำแหน่งของจุดศูนย์ถ่วงของรถ ซึ่งในการพลิกคว่ำของรถโดยทั่วไปนั้น จะสามารถอธิบายได้ดังที่แสดงในรูปที่ 2 ในกรณีที่จุดศูนย์ถ่วงของรถยนต์ (จุดสีแดง) อยู่ในตำแหน่งภายในแนวแกนตั้งของฐานล้อรถยนต์ รถคันนั้นจะยังคงมีเสถียรภาพอยู่จนกว่าจุดศูนย์ถ่วงจะเลยพ้นแกนตั้ง ซึ่งจะส่งผลให้รถทั้งคันเกิดการพลิกคว่ำ โดยทั่วไปแล้ว สถานการณ์การขับขี่ที่สามารถทำให้รถเกิดอัตราเสี่ยงต่อการพลิกคว่ำ ได้แก่ การขับชี่ในพื้นที่ต่างระดับ ลาดชัน รัศมีวงเลี้ยวแคบ รวมไปถึงการหักเลี้ยวรถเพื่อเปลี่ยนเลนอย่างกะทันหันที่ความเร็วสูง เกณฑ์ที่หน่วยงานด้านความปลอดภัยของรถสาธารณะสากลอย่าง สถาบัน National Highway Traffic Safety Administration (NHTSA) ใช้ในการวิเคราะห์การ “ป้องกันการพลิกคว่ำ” (Rollover resistance) และเปรียบเทียบวิเคราะห์อัตราเสี่ยงต่อการพลิกคว่ำของรถสาธารณะแต่ละประเภท คือ ค่า Static Stability Factor (SSF)  ซึ่งสามารถคำนวณได้จากสูตร SSF = T ÷ (2 ×H) โดยจากรูปที่ 3 ตัวแปร T (Track Width) คือ ความกว้างของฐานล้อของรถโดยกำหนดจากระยะห่างระหว่างตำแหน่งจุดศูนย์กลางของรถ และตัวแปร H (Center Gravity of Height) หมายถึง ค่าความสูงของจุดศูนย์ถ่วงรถถึงพื้น ซึ่งตามทฤษฏีแล้วโครงสร้างของรถที่มีค่า SSF ที่ต่ำ รถจะมีแนวโน้มที่จะพลิกคว่ำได้ง่ายกว่า รถที่มีค่า SSF สูงกว่า ตัวอย่างของค่า SSF ที่ได้จากการวิเคราะห์รถโดยสารประเภทต่างๆ ที่มีจำนวนที่นั่งผู้โดยสารต่างๆ กัน โดยสถาบัน Transport Canada และ NHTSA แสดงไว้ในตารางที่ 1 ซึ่งจะพบว่ารถที่มีจำนวนที่นั่งมากกว่า ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องมีแนวโน้มที่จะพลิกคว่ำได้ง่ายกว่าเสมอ ยกตัวอย่างเช่น รถ 30ที่นั่งที่มีค่า SSF มากกว่า รถ 19 ที่นั่งบางคัน ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับโครงสร้างของตัวรถเป็นหลัก ซึ่งมีปัจจัยที่เกี่ยวข้องหลายปัจจัย อาทิ เช่น การจัดวางอุปกรณ์ต่างๆ ที่มีผลต่อน้ำหนักรวมหรือตำแหน่งของจุดศูนย์ถ่วงรถ ฐานความกว้างของรถแต่ละคัน หรือระบบกันสะเทือนช่วงล่าง ที่จะมีผลต่อตำแหน่งความสูงของจุดศูนย์ถ่วงรถ เป็นต้น ปัจจัยเหล่านี้เป็นสิ่งที่สำคัญในการออกแบบและปรับปรุงพัฒนาสมรรถนะของรถให้มีค่า SSF ที่สูง เพื่อหลีกเลี่ยงการพลิกคว่ำให้ได้มากที่สุด   ประเภทรถ ค่า Static Stability Factor (SSF) รถโดยสาร 7 ที่นั่ง 1.27 รถตู้โดยสาร 12 ที่นั่ง 1.06 รถตู้โดยสารฐานล้อกว้าง 15 ที่นั่ง 1.06 - 1.08 รถโดยสารชั้นเดียว 15  ที่นั่ง 1.06 รถโดยสารชั้นเดียว 30 ที่นั่ง 0.99 รถโดยสารชั้นเดียว 19  ที่นั่ง 0.94 รถโดยสารสองชั้น 0.60 – 0.80   1) การเสียหลักหลุดโค้ง/ท้ายปัด (Spinout/Oversteering)  การเลี้ยวโค้งของรถเป็นหนึ่งในสถานการณ์ระหว่างการขับขี่และจราจรที่เกิดขึ้นบ่อยที่สุด และหนึ่งในประเภทของอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นบ่อยที่สุดก็คือ การที่รถเสียหลักรถหลุดโค้ง ซึ่งมีสาเหตุมาจากหลายๆ ปัจจัย ได้แก่ ความเร็วในการขับขี่สูงเกินกำหนดในรัศมีความโค้ง สภาพถนนลื่น และการบรรทุกผู้โดยสารเกิน รวมไปถึงการกระจายน้ำหนักของตัวรถที่เพลาหน้าและเพลาท้ายไม่เหมาะสม ซึ่งตามทฤษฏีพลศาสตร์ยานยนต์แล้วนั้น ในกรณีที่รถที่มีการกระจายน้ำหนักที่ล้อหลัง มากกว่าล้อหน้า แล้วถูกขับเลี้ยวเข้าโค้งด้วยความเร็วสูง (หรือที่เรียกว่า “การเลี้ยวเร็ว“) รถจะมีแนวโน้มของการเคลื่อนที่ที่เรียกว่า  ”โอเวอร์สเตียริง” (Oversteering) หรือ “การหลุดโค้งท้ายปัด“ ซึ่งมีแนวโน้มจะเกิดขึ้นได้ง่ายกับรถยนต์ที่มีสัดส่วนน้ำหนักส่วนท้ายมากกว่าด้านหน้า โดยสามารถอธิบายได้จากสถานการณ์ที่ส่วนท้ายของรถนั้น ถูกหมุนปัดในทิศทางที่ทำให้รถเสียการทรงตัวเป็นมุมมากกว่าความรัศมีความโค้งของถนน ในขณะที่ส่วนหน้าของรถถูกบังคับเลี้ยวปกติดังที่แสดงในรูปที่ 4 2) การเบรกไม่อยู่ (Insufficient Brake Force) อีกหนึ่งในเหตุการณ์ที่พบบ่อยในการเกิดอุบัติเหตุคือ สถานการณ์ “เบรกไม่อยู่” โดยปกติแล้ว แรงเบรกที่ถูกสร้างในระบบเบรก จะเกิดจากแรงเบรกจากเท้าของคนขับที่ได้รับการเสริมแรงจากหม้อลมเบรก ซึ่งมีหลักการทำงานโดยอาศัยแรงสูญญากาศจากสร้างจากเครื่องยนต์ ดังที่แสดงในรูปที่ 5 ในกรณีที่แรงเบรกในระบบเบรกของรถไม่เพียงพอ อาจจะมีสาเหตุจากสองกรณี ได้แก่ การที่ระบบเบรกมีการรั่วซึมของระบบท่อลม ทำให้ระบบเบรกทำงานได้อย่างไม่มีประสิทธิภาพ และการที่หม้อลมเบรกไม่ได้รับแรงสูญญากาศที่พอเพียงกับความต้องการ ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้กับรถโดยสารสองชั้นที่มีน้ำหนักมาก ที่เคลื่อนที่ลงจากทางที่สูงหรือลงจากภูเขาเป็นระยะทางยาวๆ จนคนขับต้องเหยียบเบรกบ่อยและต่อเนื่อง ซึ่งส่งผลให้แรงสูญญากาศที่ได้จากเครื่องยนต์ส่งไปยังหม้อลมเบรกไม่เพียงพอ ทำให้คนขับ ต้องออกแรงในการเหยียบเบรกมากขึ้นกว่าปกติหลายเท่า เกิดความรู้ว่า “แป้นเบรกหนัก” ไม่สามารถหยุดรถได้อย่างปลอดภัย ซึ่งมักจะมีความเข้าใจผิดว่า “เบรกแตก” (หมายถึงการที่หม้อลมเบรกได้รับความเสียหาย) ซึ่งแท้จริงแล้วมีความหมายที่แตกต่างกัน ความปลอดภัยที่ “สร้างได้” ของรถโดยสารสองชั้น” - วิธีการและระบบอุปกรณ์ด้านความปลอดภัย วิธีการและระบบอุปกรณ์ด้านความปลอดภัยในรถยนต์นั้นสามารถแบ่งตามลำดับเหตุการณ์ก่อนและหลังการการอุบัติเหตุได้เป็น แนวทางความปลอดภัยที่ช่วยป้องกันการเกิดอุบัติเหตุหรือที่เรียกว่า “Active safety” และแนวทางความปลอดภัยที่ช่วยลดความรุนแรงของอุบัติเหตุ หรือที่เรียกว่า “Passive safety” ดังที่แสดงในรูปที่ 6 ซึ่งอธิบายถึงทุกอย่างที่ช่วยหลีกเลี่ยงการเกิดอุบัติเหตุ ซึ่งในกรณีนี้ นอกเหนือจากระบบอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เช่น ระบบเตือนคนขับ ระบบช่วยเหลือคนขับคนแล้ว ยังครอบคลุมวิธีการออกแบบ รูปร่างและการกระจายน้ำหนัก ซึ่งส่งผลลัพธ์ออกมาในรูปของตำแหน่งของจุดศูนย์ถ่วงของรถ ซึ่งมีผลการเสถียรภาพการทรงตัวดังที่อธิบายไว้แล้วเบื้องต้น จากข้อเท็จจริงพบว่า ทั้งรถโดยสารชั้นเดียวและสองชั้นที่มีให้บริการอยู่ในประเทศไทย ส่วนใหญ่แล้วนั้น ได้รับการประกอบจากอู่ประกอบรถภายในประเทศ โดยมีการนำเข้าแชสซีจากต่างประเทศ ซึ่งจะประกอบด้วยโครงสร้างส่วนช่วงล่างทั้งหมด เครื่องยนต์ ระบบส่งกำลัง และระบบเบรก ซึ่งมีทั้งแบบใหม่และแบบใช้แล้ว โดยอู่จะเป็นผู้ประกอบโครงสร้างและตัวถังขึ้น โดยใช้ประสบการณ์ของช่าง ที่จะเน้นด้านความสวยงาน แต่ไม่มีการคำนึงความแข็งแรงที่ถูกต้องตามแบบวิศวกรรม และไม่มีการควบคุมความถูกต้องอย่างจริงจัง ซึ่งผลกระทบเชิงลบที่เห็นได้เป็นรูปธรรมอย่างชัดเจนคือ ความเสียหายที่รุนแรงต่อชีวิตและทรัพย์สิน กรณีที่เกิดจากอุบัติเหตุครั้งต่างๆ ที่เป็นผลสืบเนื่องจากสาเหตุต่างๆ จากตัวรถ ได้แก่ ความสูงของรถที่มีอัตราเสี่ยงต่อการพลิกคว่ำสูง (ค่า SFF ต่ำ) โครงสร้างของตัวรถที่ไม่มีความแข็งแรงรองรับสถานการณ์การพลิกคว่ำ ความแข็งแรงของอุปกรณ์ยึดเก้าอี้โดยสารที่ไม่แข็งแรง ทำให้เก้าอี้หลุดออกจากพื้นรถกรณีเกิดอุบัติเหตุ ความแข็งแรงของเข็มขัดนิรภัยที่ไม่เพียงพอ เป็นต้น คำว่า “รถโดยสารสองชั้นที่ปลอดถัย”สำหรับหลายฝ่ายไม่ว่าจะเป็นผู้บริโภค หน่วยงานที่ทำหน้าที่กำกับดูแล หรือผู้ประกอบการ อาจมองว่าเป็นเรื่องที่ทำสำเร็จได้ยาก แต่หากพิจารณาด้วยหลักการวิศวกรรมแล้วจะพบว่า “การสร้างความปลอดภัย” ให้แก่ตัวรถนั้น เป็นเรื่องที่ไม่มีไกลเกินจริง เนื่องด้วย หนึ่งในเหตุผลสำคัญคือ ผู้ประกอบการในประเทศไทยส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบโครงสร้างตัวถังขึ้นเอง สามารถเลือกประเภทของเก้าอี้โดยสาร การจัดวางตำแหน่งที่นั่งได้เอง กำหนดความสูงของรถได้เอง รวมทั้งเลือกรูปแบบของแชสซี และอุปกรณ์ด้านความปลอดภัยพื้นฐานอย่างระบบเบรกได้เอง  ดังที่ผู้เขียนเสนอแนะ แนวทางการ”สร้าง” รถโดยสารสองชั้นที่ปลอดภัย ดังต่อไปนี้ (รูปที่ 7) 1) จุดศูนย์ถ่วงต่ำ มาตรการการลดตำแหน่งจุดศูนย์ถ่วง เป็นหนี่งในวิธีการด้าน Active safety ที่สามารถทำได้ ดังที่ได้อธิบายไว้แล้วนั้น รถประเภทที่มีตำแหน่งจุดศูนย์ถ่วงต่ำ (ค่า H ต่ำ) จะมีเสถียรภาพการทรงตัวที่ดีและอัตราเสี่ยงต่อการพลิกคว่ำต่ำกว่า รถประเภทที่มีจุดศูนย์ถ่วงสูงกว่า (ค่า  H สูง) จากหลักการนี้เอง สามารถอธิบายถึงเหตุผลที่มีการผลักดันให้ยกเลิกการเดินรถรถโดยสารสองชั้นในหลายพื้นที่ที่มีความคดเคี้ยว ลาดชัน และทดแทนด้วยรถโดยสารชั้นเดียว ซึ่งมีตำแหน่งจุดศูนย์ถ่วงที่ต่ำกว่า เมื่อเปรียบเทียบกรณีที่มีผู้โดยสารเท่ากัน ในเส้นทางเดียวกัน นอกจากนี้ การควบคุมความสูงของรถให้ได้ค่า SSF ที่สูงขึ้น ก็เป็นสิ่งผู้ประกอบการควรนำไปใช้เป็นอย่างยิ่ง 2) เพิ่มประสิทธิภาพระบบเบรกในสถานการณ์ฉุกเฉินด้วยระบบ ABS และ Brake-Assist อุปกรณ์ชนิด Active safety ที่สามารถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของระบบเบรกในรถโดยสารสองชั้น ได้แก่ ระบบป้องกันการล็อคล้อหรือระบบ ABS (Anti-lock Braking System) ซึ่งจะช่วยคนขับให้สามารถควบคุมรถได้อย่างปลอดภัยในสถานการณ์ที่สามารถเกิดการหลุดโค้งท้ายปัดได้ โดยทั่วไปแล้วระบบ ABS จะถูกติดตั้งและจำหน่ายมาพร้อมกับแชสซีรถอยู่แล้ว  ซึ่งผู้ประกอบการสามารถเลือกชนิดและประเภทได้ ซึ่งในปัจจุบัน หลายประเทศในยุโรปได้มีการออกกฏหมายบังคับให้รถโดยสารสาธารณะทุกคันติดตั้งระบบเบรกประเภทนี้แล้ว นอกจากนี้ อุปกรณ์ที่สำคัญที่สามารถช่วยสร้างแรงเบรกให้แก่รถที่มีน้ำหนักมาก อาทิ เช่น อุปกรณ์หน่วงความเร็ว (Retarder) ที่มีใช้แพร่หลายในรถบรรทุก หรือปั๊มสูญญากาศ (Vacuum-assisted Pump) โดยในกรณีที่ผู้ขับขี่เหยียบแป้นแบรกบ่อยและต่อเนื่อง จนแรงสูญญากาศจากเครื่องยนต์ไม่เพียงพอ อุปกรณ์นี้จะช่วยเติมแรงสูญญากาศให้แก่หม้อลมเบรก (รูปที่ 8) ทำให้ผู้ขับขี่ยังคงสามารถออกแรงเหยียบแป้นเบรกอย่างปกติ และสามารถชะลอรถได้อย่างปลอดภัย 1) โครงสร้างของห้องโดยสารที่รองรับการพลิกคว่ำ มาตรการประเภท Passive safety ที่ควรกำหนดให้อู่ประกอบรถโดยสารนำมาใช้อย่างเร่งด่วนคือ การพัฒนาโครงสร้างของห้องโดยสารที่มีความแข็งแรงรองรับการพลิกคว่ำ (Rollover) หรือที่เรียกว่า “โครงสร้างแบบ Superstructure” ซึ่งตามมาตรฐานสากล UN ECE R 66 ได้มีบังคับใช้ในรถโดยสารที่มีผู้โดยสารจำนวน 16 ที่นั่งขึ้นไป โดยมาตรฐานนี้จะกำหนดให้โครงสร้างของรถโดยสารต้องผ่านการทดสอบ ด้วยการปล่อยโครงสร้างลงมาจากแท่นเอียง (Tilt table) ที่ระดับความสูงจากพื้น 80 เซนติเมตร ดังแสดงใน รูปที่ 9 โดยโครงสร้างที่จะนำมาทดสอบนี้ จะเป็นโครงสร้างทั้งหมดของรถโดยสารทั้งคัน หรือเป็นโครงสร้างเฉพาะส่วนที่เรียกว่า “Bay-Section”ก็ได้ โดยโครงสร้างเฉพาะส่วนนี้ จะต้องมีการกำหนดคุณสมบัติทางกายภาพที่เหมือนรถโดยสารที่ประกอบเสร็จ เกณฑ์การทดสอบความแข็งแรงของโครงสร้างที่ตามมาตรฐานนี้ คือหลังจากการทดสอบนั้น จะต้องไม่ส่วนหนึ่งส่วนใดของโครงสร้างล้ำเข้าไปในขอบเขตความปลอดภัย (หรือที่เรียกว่า “Residual space”) ที่กำหนดไว้ดังแสดงในรูปที่ 10 นอกจากนี้การทดสอบนี้ยังสามารถทำได้ทั้งการทดสอบภาคสนามบนโต๊ะเอียงจริงหรือทำการทดสอบในสภาวะเสมือนในคอมพิวเตอร์โดยอาศัยระเบียบวิธีไฟไนต์เอลิเมนต์ช่วยในการวิเคราะห์ความแข็งแรงของโครงสร้าง 2) เก้าอี้โดยสาร การจับยึดกับพื้นรถและเข็มขัดนิรภัย มาตรการประเภท Passive safety อีกประการที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งต่อชีวิตของผู้โดยสาร คือความแข็งแรงของเก้าอี้โดยสาร การจับยึดและเข็มขัดนิรภัย ซึ่งมาตรฐานความแข็งแรงของที่นั่ง จุดยึดที่นั่ง และจุดยึดเข็มขัดนิรภัยของรถโดยสารที่เป็นที่ยอมรับกับอย่างกว้างขวางคือ UN ECE R 16 (Uniform provisions concerning the approval of Vehicles equipped with safety-belts, safety-belt reminder, restraint systems, child restraint systems and ISOFIX child restraint systems) โดยระบุถึงข้อกำหนดความแข็งแรงของระบบการยึดรั้งทั้งระบบ ซึ่งประกอบด้วย เข็มขัดนิรภัย อุปกรณ์ยึดเข็มขัดนิรภัยกับตัวรถ เก้าอี้โดยสาร และอุปกรณ์จับยึดเก้าอี้โดยสารกับพื้นรถ โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อยึดผู้โดยสารไม่ให้เกิดการเคลื่อนที่หลุดออกจากพื้นรถในกรณีที่เกิดการเบรกกะทันหัน การพุ่งชนสิ่งกีดขวาง รวมไปถึงการพลิกคว่ำ ซึ่งโดยทั่วไป จะทดสอบด้วยแรงฉุดเก้าอี้โดยสารเป็นจำนวนไม่น้อยกว่าสิบเท่าของน้ำหนักผู้โดยสาร ซึ่งตามมาตรฐานนี้ จะทำการทดสอบอุปกรณ์ทั้งหมดพร้อมกัน นอกเจากนี้ ยังมีมาตรฐานการทดสอบอุปกรณ์นิรภัยอื่นๆ อาทิ เช่น การรองรับการกระแทกของศีรษะ หรืออวัยวะอื่นๆ ของผู้โดยสารให้ไม่เกิดอันตราย อีกทั้งการทดสอบภาคสนามอื่นๆ ที่เพื่อบ่งชี้พฤติกรรมการเคลื่อนที่และเสถียรภาพของรถ ได้แก่ การทดสอบการเลี้ยวโค้งที่รัศมีการเลี้ยวโค้งคงที่ (Steady state circular test) หรือการทดสอบการเปลี่ยนเลนกะทันหัน (Double lane change หรือ Elch test) เพื่อศึกษาที่จะส่งผลการดื้อโค้ง (understeering) หรือท้ายปัด (oversteering) ของรถเป็นต้น ซึ่งมาตรการเชิงวิศวกรรมเหล่านี้ เป็นสิ่งที่จะต้องได้รับการผลักดันอย่างเร่งด่วน ควบคู่กับแนวทางการจัดการทั้งในด้านพนักงานขับรถ เส้นทางเดินรถ รวมไปถึงสภาพถนนและป้ายสัญลักษณ์จราจร ด้วยความหวังที่ว่า การเดินทางด้วยรถโดยสารสองชั้นอย่างปลอดภัย จะไม่ต้องพึ่งค่ำว่า “โชค” อีกต่อไป   ข้อมูลและภาพประกอบอ้างอิง Matyas, M. (2010), Behaviour of the Lower Level (Deck) of Double-Deck Vehicles in Rollover UN ECE R 66 Uniform technical prescriptions concerning the approval of large passenger vehicles with regard to the strength of their superstructure EOBUS project http://www.eobus.com/news/105.htm National Highway Traffice Safety Administration (NHTSA) Transport Canada UN ECE R 66 Uniform technical prescriptions concerning the approval of large passenger vehicles with regard to the strength of their superstructure   //

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 143 รถบัสลายการ์ตูน สวยงามหรืออันตราย!?

  เชื่อว่าใครที่สัญจรบนท้องถนนเป็นประจำ น่าจะเคยสะดุดตากับบรรดา “รถบัสลายการ์ตูน” ทั้งตัวการ์ตูนญี่ปุ่น การ์ตูนฝรั่ง การ์ตูนไทยก็มี สีสันแสบตา เรียกว่านับสีกันไม่ถูก แถมบางคันยังติดไฟพรึ่บพรั่บเป็นสิบๆ ดวง ดูแล้วออกจะรกหูรกตามากกว่าจะเรียกว่าเป็นความสวยงาม เชื่อว่าหลายคนที่พบเห็นคงมีคำถามอยู่ในใจว่า รถทัวร์ลายการ์ตูนและรถทัวร์ที่ติดไฟส่องสว่างเกินความจำเป็นพวกนี้ เป็นรถที่ได้รับอนุญาตถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ แล้วจะมีผลอย่างไรหรือไม่กับเรื่องของการขับขี่และที่สำคัญคือเรื่องของการเกิดอุบัติเหตุ เรามาร่วมกันไขปริศนาของเหล่าบรรดารถบัสลายการ์ตูนสีลูกกวาดที่กำลังออกอาละวาดบนท้องถนนว่าเหมาะสม? ถูกต้อง? ปลอดภัย? อันตราย? หรือขัดกับกฎหมายอะไรยังไงกันบ้าง?   ต้องทำเพื่อเอาใจลูกค้า? พวกรถบัสลายการ์ตูนมักจะมาในรูปของ “รถโดยสารไม่ประจำทาง” ซึ่งมักจะเป็นรถรับส่งพนักงาน หรือรถโดยสารเพื่อการท่องเที่ยว ซึ่งการเป็นรถเพื่อการท่องเที่ยวนี่แหละที่กลายเป็นคำกล่าวอ้างของผู้ประกอบการให้เช่ารถโดยสารไม่ประจำทางถึงเหตุผลที่ทำให้รถต้องถูกตกแต่งด้วยสีสันและลวดลายต่างๆ   ฉลาดซื้อได้สอบถามพนักงานขับรถและผู้ประกอบการให้เช่ารถโดยสารไม่ประจำทางแห่งหนึ่งในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งถือเป็นจังหวัดที่มีบริษัทผู้ประกอบการรถบัสโดยสารทั้งประจำทางและไม่ประจำทางหลายแห่ง เนื่องจากเป็นจังหวัดที่เป็นนิคมอุตสาหกรรม จึงทำให้มีรถบัสสำหรับรับ - ส่งพนักงานวิ่งให้บริการเป็นจำนวนมาก รวมทั้งรถที่เพนท์ลายการ์ตูน – แต่งไฟก็มีให้พบเห็นได้ไม่ยาก พนักงานขับรถและผู้ประกอบการได้อ้างถึงเหตุผลที่รถต้องมีการแต่งสีสันหรือวาดลายการ์ตูน รวมทั้งการที่ต้องมีการติดโคมไฟจำนวนมากไว้บริเวณหน้ารถหรือตามตัวรถว่า เป็นความต้องการของลูกค้าที่มาขอใช้บริการ เพราะลูกค้าที่ต้องการรถประเภทนี้ส่วนใหญ่ให้เหตุผลเรื่องความสนุก โดยคิดว่ายิ่งรถมีสีสันแต่งสวยก็จะยิ่งให้ความรู้สึกสนุกมากขึ้น ถึงขนาดที่ลูกค้าที่มาติดต่อเช่ารถเป็นฝ่ายขอมาเองเลยว่ารถต้องมีลวดลายเยอะๆ แต่งไฟเยอะๆ เครื่องเสียงก็ต้องดัง บางก็ว่าด้วยความที่รถมีลวดลายเฉพาะทำให้ง่ายต่อการจดจำเวลาที่รถไปจอดรอบตามที่ต่างๆ เช่น สถานที่ท่องเที่ยวหรือตามปั้มน้ำมัน ซึ่งมักจะมีรถบัสโดยสารลักษณะนี้จอดเป็นจำนวนมาก ทำให้คนที่โดยสารมาจดจำรถของตัวเองได้   สรุปคือ ผู้ประกอบการอ้างว่าการตกแต่งรถบัสด้วยสีสัน ลายการ์ตูน และดวงไฟที่มากมายเกินพอดีนั้น เป็นหนึ่งในเรื่องของการบริการ แต่บริการในลักษณะนี้อาจกำลังขัดกับเรื่องของกฎระเบียบข้อบังคับที่เกี่ยวข้องกับรถโดยสาร รวมทั้งอาจส่งผลต่อเรื่องของความปลอดภัย ซึ่งตัวผู้ใช้บริการหรือผู้โดยสารเองอาจยังไม่ทราบข้อมูลที่ถูกต้อง ตัวผู้ประกอบการเองก็ละเลยที่จะเลือกปฏิบัติตามกฎระเบียบ และอาจจะรวมถึงหน่วยงานภาครัฐที่ทำหน้าที่กำกับดูแลที่หละหลวมในการควบคุม   สาเหตุหลักของการเกิดอุบัติเหตุมักเกิดจากความประมาทของพนักงานขับรถ เช่น ขับรถเร็ว ขับตัดหน้ากระชั้นชิด ขับผิดกฎหมาย ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่นๆ อีกที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุขึ้นกับรถโดยสารสาธารณะ ทั้งสภาพของถนนที่ยากต่อการขับและต้องอาศัยของชำนาญของผู้ขับ สภาพแวดล้อม เช่น ฝนตกหนัก ถนนลื่น   สภาพของรถก็มีผลต่อสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุเช่นกัน ทั้งในเรื่องการตรวจเช็คที่ไม่ได้มาตรฐาน อุปกรณ์ชำรุด ส่งผลต่อการควบคุมรถ และรวมถึงการตกแต่งต่อเติมสภาพรถเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ซึ่งกรมการขนส่งทางบกได้มีการกำหนดไว้ชัดเจนในกฎกระทรวงเรื่อง “กำหนดความปลอดภัยในการรับจ้างบรรทุกคนโดยสาร พ.ศ. 2555” ว่าไม่ให้มีการเปลี่ยนแปลงตัวรถหรือส่วนหนึ่งส่วนใดของรถ หรือเพิ่มสิ่งหนึ่งสิ่งใดเข้าไป ซึ่งน่าจะเป็นอันตรายกับการขับรถและการโดยสาร   เพราะฉะนั้นบรรดารถโดยสารที่เพนท์สีสันหรือลายตัวการ์ตูนต่างๆ รอบตัวรถ และที่มีการติดไฟส่องสว่างไว้ที่หน้ารถนับสิบๆ ดวง ที่ดูแล้วน่าจะเป็นการตกแต่งดัดแปลงรถที่เกินความจำเป็นนั้น ถึงแม้ยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนว่ารถทัวร์ลายการ์ตูนและรถทัวร์ที่ติดไฟส่องสว่างเกินความจำเป็นนั้นมีผลต่อการเกิดอุบัติเหตุมากน้อยแค่ไหน แต่กรมการขนส่งทางบกก็ได้มีการออกกฎหมายควบคุมในเรื่องนี้ เพราะถือว่าเป็นการกระทำที่สุ่มเสี่ยงต่อการทำให้เกิดอุบัติเหตุขึ้นบนท้องถนน   สถิติการเกิดอุบัติเหตุของรถโดยสารสาธารณะช่วงระหว่างเดือนมกราคมถึงสิงหาคม 2555 พบว่ามีอุบัติเหตุเกิดขึ้นถึง 176 ครั้ง มีผู้เสียชีวิตถึง 181 คน บาดเจ็บ 1,857 คน ที่มา กรมการขนส่งทางบก   รถบัสแต่งสี – แต่งไฟ ระวังเข้าข่ายทำผิดกฎหมาย ข้อบังคับเรื่องการตกแต่งสีและลวดลายบนตัวถังรถ กรมการขนส่งทางบกได้ออกข้อบังคับเรื่องการตกแต่งสีสัน ลวดลาย และภาพวาด บนตัวถังรถยนต์ ไว้ในประกาศเรื่อง “ตัวอักษร ภาพ หรือเครื่องหมายที่ตัวถังรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสาร และรถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของ พ.ศ. 2555” ซึ่งมีข้อกำหนดดังนี้ รถโดยสารทั้งแบบประจำทางและไม่ประจำทาง สามารถตกแต่งภาพไว้บนตัวถังรถได้ แต่ต้องเป็นไปตามที่กรมการขนส่งทางบกกำหนด และได้รับการขออนุญาตเสียก่อน โดยรูปภาพประจำรถหรือข้อความที่นำมาตกแต่งต้องไม่มีลักษณะดังนี้ 1.กระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เช่น รูปภาพล้อเลียนหรือข้อความที่ส่อไปทางดูหมิ่น ดูถูกผู้นำหรือประชาชนของประเทศอื่น เป็นต้น 2.กระทบต่อความมั่นคงของรัฐและเกียรติภูมิของประเทศไทยหรือขัดต่อแนวนโยบายแห่งรัฐ เช่น รูปภาพหรือข้อความที่สนับสนุนให้ล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย เป็นต้น 3.ขัดต่อกฎหมายอื่น เช่น รูปภาพหรือเครื่องหมายของเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ เป็นต้น 4.ขัดต่อความสงบเรียบร้อย ศีลธรรม หรือวัฒนธรรมอันดีของประชาชน เช่น รูปภาพหรือข้อความที่ส่อไปในทางลามกอนาจาร 5.ขัดต่อลัทธิหรือความเชื่อทางศาสนา หรืออาจเป็นประเด็นขัดแย้งทางศาสนา เช่น  รูปภาพหรือข้อความล้อเลียนศาสดาหรือผู้นำทางศาสนา 6.ก่อให้เกิดอันตรายหรือก่อให้เกิดความไม่ปลอดภัยแก่ผู้ใช้รถใช้ถนน เช่น รูปภาพหรือข้อความที่เป็นสีสะท้อนแสง เป็นต้น 7.ละเมิดหรือทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น เช่น รูปภาพหรือข้อความที่หมิ่นประมาทผู้อื่น เป็นต้น 8.มีข้อความหรือถ้อยคำที่ไม่เหมาะสม เช่น คำหยาบคาย คำผวน หรือคำแสลงที่สื่อความหมายในทางลามก อนาจาร เป็นต้น   ที่สำคัญคือ รูปภาพประจำรถต้องไม่ปิดทับเครื่องหมายของผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่ง เครื่องหมายที่ต้องให้ปรากฏประจำรถ หมายเลขเส้นทาง ชื่อเส้นทาง หรือข้อความอื่นที่กฎหมายกำหนด เช่น ข้อความเกี่ยวกับการใช้ประตูฉุกเฉิน ทางออกฉุกเฉิน และต้องไม่ส่งผลกระทบต่อการทำงานของอุปกรณ์ต่างๆ ของรถ เช่น ประตูฉุกเฉิน ประตูอัตโนมัติ จนเป็นเหตุให้ไม่สามารถใช้งานได้ตามปกติ โดยอนุญาตให้มีรูปภาพประจำรถได้แต่เฉพาะในตำแหน่งด้านข้างภายนอกตัวถังรถเท่านั้น และต้องไม่บดบังส่วนที่เป็นกระจกหรือบานหน้าต่าง หากกระทำผิดฝ่าฝืนกฎข้อบังคับจะถูกลงโทษปรับสูงสุด 50,000 บาท   แต่จากสภาพที่เห็นๆ กันอยู่ ว่าการตกแต่งตัวถังรถ ทั้งด้านข้าง ด้านหน้า และด้านท้ายตัวรถ ด้วยรูปภาพการ์ตูนหรือลวดลายต่างๆ โดยใช่สีสันหลากหลายสี จนยากที่จะจำแนกเจาะจงว่ารถคันดังกว่าเป็นสีอะไร ทำเป็นปัญหาอย่างมากต่อการจดจำหรือใช้เป็นข้อมูลเฉพาะของรถคันดังกล่าว แม้บางคนอาจอ้างว่ายิ่งรถตกแต่งลายการ์ตูนน่าจะช่วยให้จำง่ายด้วยซ้ำเพราะไม่ซ้ำกับรถคันอื่น แต่หากเป็นกรณีที่ผู้เสียหายหรือผู้ที่ได้รับอุบัติเหตุจากรถบัสลายการ์ตูนดันดังกล่าว ไม่รู้จักตัวการ์ตูนตัวนั้นที่เป็นภาพวาดอยู่บนรถ ก็แทบจะระบุไม่ได้เลยว่าลักษณะสีของรสบัสคันดังกล่าวเป็นสีอะไร นอกจากนี้การใช้สีสันเป็นจำนวนมากโดยเฉพาะสีสะท้อนแสง ก็จะยิ่งเป็นอันตรายกับผู้ใช้รถใช้ถนนคนอื่น เพราะสีสะท้อนแสงจะไปรบกวนการทัศนวิสัยการขับขี่ของรถคันอื่นได้   เรื่องของรูปภาพโฆษณาที่ติดข้างรถโดยสาร คนกทม.น่าจะคุ้นเคยกับบรรดารถเมล์ที่ด้านข้างตัวรถถูกปิดทับด้วยภาพโฆษณา ซึ่งประกาศเรื่อง “ตัวอักษร ภาพ หรือเครื่องหมายที่ตัวถังรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสาร และรถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของ พ.ศ. 2555” ก็มีผลบังคับกับรถประจำทางเหล่านี้ด้วยเช่นกัน แต่ก็มีข้อกำหนดเฉพาะเพิ่มเติม เช่น รูปภาพเพื่อการโฆษณาบริเวณส่วนตัวถังที่เป็นกระจกหรือบานหน้าต่าง ต้องทำด้วยวัสดุโปร่งแสงซึ่งสามารถทำให้ผู้โดยสารภายในรถมองเห็นสภาพภายนอกรถได้ดี และบุคคลภายนอกรถสามารถมองเห็นสภาพภายในรถได้ด้วย การติดรูปภาพเพื่อการโฆษณาที่ตัวถังรถ ต้องติดให้แนบแน่นกับตัวถังรถอย่างเรียบร้อย โดยต้องไม่มีส่วนใดยื่นออกนอกตัวถังรถ ข้อบังคับเรื่องโคมไฟส่องสว่าง ส่วนในเรื่องของโคมไฟนั้น ตามพระราชบัญญัติ การขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 กำหนดไว้ว่าให้มีได้เฉพาะในส่วนที่มีความจำเป็นเท่านั้น เช่น โคมไฟส่องสว่างด้านหน้า ไฟเลี้ยว ไฟจอด ไฟท้ายและไฟจอดแสงสีแดง ไฟส่องป้ายทะเบียน และไฟแสดงส่วนสูง ส่วนกว้างของรถ สำหรับไฟส่องสว่างที่อนุญาต คือ ไฟแสงสีขาวและสีเหลืองเท่านั้น โคมไฟอื่นนอกจากที่กล่าวมาแล้ว ถ้าจะนำมาใช้ต้องได้รับความเห็นชอบจากกรมการขนส่งทางบกเสียก่อน สำหรับรถบัสที่ติดตั้งโคมไฟสปอร์ตไลท์ ที่มีลักษณะโคมไฟเรียงกันเป็นแถวยาวที่ด้านหน้าและด้านท้ายรถ ทั้งตามแนวตั้งและแนวนอนเป็นจำนวนมากหลายสิบดวง ซึ่งปิดบังทัศนะวิสัยในการมองบริเวณกระจกรถ รวมถึงการดัดแปลงแก้ไขโคมไฟต่างๆ เช่น โคมไฟส่องสว่าง โคมไฟเบรก โคมไฟเลี้ยวให้มีสีที่ผิดไปจากที่กฎหมายกำหนด หรือติดสติ๊กเกอร์ปิดบังทัศนวิสัยในการมองบริเวณกระจกหน้ารถ รวมถึงเปิดเสียงดังก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญและเป็นอันตรายแก่ผู้ใช้รถใช้ถนน ถือว่าเข้าข่ายกระทำผิดพระราชบัญญัติ ผู้ที่ทำผิดจะมีโทษปรับสูงสุด 50,000 บาท จากการที่ฉลาดซื้อได้สอบถามกับพนักงานขับรถบัสไม่ประจำทางคนหนึ่งถึงเรื่องของโคมจำนวนกว่าร้อยดวงที่ติดอยู่ด้านหน้ารถนั้น พนักงานขับรถยืนยันว่า “ทุกดวงสามารถเปิดใช้งานได้” ซึ่งแน่นอนหากมีการเปิดใช้โคมไฟเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด รวมถึงการนำไปใช้ผิดประเภทย่อมส่งผลต่อการขับขี่ของรถยนต์คันอื่นๆ (ใครที่พบเห็นรถโดยสารทั้งประจำทางและไม่ประจำทาง ที่มีการตกแต่งสี – ลวดลาย โคมไฟ หรือตกแต่งส่วนหนึ่งส่วนใดของตัวรถที่ดูแล้วไม่เหมาะสม ขัดกับกฎหมาย หรืออาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุ สามารถแจ้งไปได้ที่ “ศูนย์คุ้มครองผู้โดยสารรถสาธารณะ โทร. 1584”) ------------------------------------------------------- คำแนะนำในการเดินทางโดยรถโดยสารไม่ประจำทาง -เลือกผู้ประกอบการที่มีความน่าเชื่อถือ มีที่ตั้งสถานที่ประกอบการชัดเจน มีใบอนุญาตประกอบการจากกรมการขนส่งทางบก ตรวจสอบได้ -ได้ดูสภาพรถจริงๆ ก่อนที่จะตัดสินใจใช้บริการ เรามีสิทธิเลือกรถที่จะใช้ -เลือกเช่ารถที่มีอุปกรณ์ความปลอดภัยครบถ้วน ได้แก่ เข็มขัดนิรภัย มีค้อนทุบกระจก ถังดับเพลิง และควรมั่นใจว่าอุปกรณ์ต่างๆ ยังอยู่ในสภาพที่ใช้ได้จริง -เลือกรถโดยสารแบบชั้นเดียว เพราะปลอดภัยกว่ารถโดยสารที่เป็นแบบ 2 ชั้น -เลือกรถที่มีการทำประกันอุบัติเหตุ แบบประกันชั้น 1 -ถ้าเดินทางในระยะทางที่มากกว่า 400 กิโลเมตร ต้องมีพนักงานขับรถ 2 คน -พนักงานขับรถต้องมีใบอนุญาตสำหรับรถโดยสาร (ใบอนุญาตประเภท 2 ขึ้นไป) และต้องมีการแสดงข้อมูลพนักงานขับรถที่ถูกต้อง (ชื่อ – นามสกุล และ รูปถ่าย) ติดบริเวณด้านในของรถ ถ้ามีพนักงานขับ 2 คน ก็ต้องแสดงข้อมูลที่ถูกต้องทั้ง 2 คน -ควรมีการวางแผนเส้นทางการเดินทางและระยะเวลาร่วมกับพนักงานขับรถ เลือกเส้นทางที่ปลอดภัย และไม่ควรเดินทางด้วยความเร่งรีบเกินไป เพราะเสี่ยงต่ออันตราย -ระหว่างเดินทางอย่าลืมค่อยสังเกตพนักงานขับรถ ว่าอยู่ในสภาพที่พร้อมจะขับขี่หรือไม่ รวมทั้งต้องขับรถด้วยความสุภาพเรียบร้อย ไม่ขับรถประมาท หรือขับหวาดเสียว หากเห็นว่าไม่ปอลดภัยต้องรีบบอกกับพนักงานขับรถ หรือขอให้หยุดรถแล้วแจ้งบริษัทผู้ให้บริการ เจ้าหน้าตำรวจจราจร หรือกรมการขนส่งทางบก -เลือกรถที่มีสภาพถูกต้องตามกฎหมาย ไม่มีการตกแต่งลายหรือใช้สีสันฉูดฉาดหลายสี ไม่มีการติดโคมไฟหรือใช้แสงสีผิดจากที่กฎหมายกำหนด ---------------------------------------------------------------------     ปัจจุบันมีรถโดยสารจดทะเบียน จนถึง 31 ตุลาคม 2555 ทั้งสิ้นจำนวน 137, 153 คัน เป็นรถโดยสารประจำทาง จำนวน 88,962 คัน รถโดยสารไม่ประจำทาง จำนวน 36,962 คัน ที่มา : กรมการขนส่งทางบก

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 133 เทคนิค...เลือกรถโดยสารให้ปลอดภัย

  ก่อนเข้าสู่เทศกาล สงกรานต์ ปีนี้ ฉลาดซื้อขอนำเรื่อง รถโดยสารประจำทาง มาย้ำเรื่องความปลอดภัยกันอีกครั้ง จะโดยสารรถทัวร์ รถตู้หรือแม้แต่การเหมารถ ขอได้โปรดพิจารณาให้รอบคอบก่อนตัดสินใจ ซึ่งเรามีวิธีการดีๆ มาฝาก และอย่างไรเสียหากเกิดปัญหาถูกละเมิด เราก็มีทางออกมานำเสนอด้วย ทั้งนี้เพื่อให้ผู้โดยสารหรือกำลังจะโดยสารทุกคน ได้เดินทางอย่าง “ปลอดภัย”   ฉลาดซื้อแนะ เมื่อจะใช้บริการรถโดยสารสาธารณะ 1.อย่าใช้บริการ รถผี รถเถื่อน ในช่วงเทศกาลความต้องการของผู้ใช้บริการมีสูง แต่จำนวนรถที่ให้บริการอาจมีไม่เพียงพอ จึงกลายเป็นช่องทางให้ผู้ที่ไม่หวังดีนำรถโดยสารที่ผิดกฎหมายไม่ได้รับการรับรองจากบริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) มาเปิดให้บริการ ผู้โดยสารที่ถูกล่อลวงให้ไปกับบริการรถผีและรถเถื่อนเหล่านี้ ก็มีทั้งแบบที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์ คือไม่รู้ว่าเป็นรถผิดกฎหมาย กับแบบที่รู้ทั้งรู้แต่ก็ยอมเลือกใช้บริการ เพราะจำเป็นต้องเดินทางและหารถโดยสารที่ถูกต้องตามกฎหมายไม่ได้แล้วจริงๆ ปัญหาที่คุณจะต้องเจอคือ การเรียกเก็บค่าเดินทางแพงเกินกว่ารถที่ให้บริการปกติ  และหากเกิดอุบัติเหตุก็ยากที่ได้รับการชดเชยช่วยเหลือ เพราะไม่รู้ที่มาที่ไปว่าใครเป็นคนรับผิดชอบ ใครเป็นเจ้าของรถหรือบริษัทผู้ดูแลเป็นใคร ปัญหานี้ทาง บขส. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็พยายามเร่งกวดขันจัดการรถผีที่แอบลักลอบให้บริการ พร้อมๆ กับการเพิ่มจำนวนรถโดยสารเพื่อรองรับการใช้บริการที่มากขึ้นในช่วงเทศกาล แต่อย่างไรก็แล้ว “ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน” เวลาที่ไปใช้บริการรถโดยสารตามสถานีขนส่งต่างๆ อย่าหลงเชื่อหากมีใครมาชักชวนให้ใช้รถที่ไม่น่าไว้วางใจหรือมาจากบริษัทผู้ให้บริการที่ตรวจสอบไม่ได้ 2.ไม่เลือกเก้าอี้เสริม หรือตั๋วเสริม ซึ่งก็ถือเป็นเรื่องอันตรายไม่แพ้การใช้บริการรถผี รถเถื่อน ถ้าหากรถเกิดอุบัติเหตุขึ้นผู้โดยสารที่นั่งในตำแหน่งเก้าอี้เสริม จากสถิติพบว่า จะได้รับบาดเจ็บมากกว่าคนที่นั่งในตำแหน่งปกติ เพราะที่นั่งเสริมไม่มีอุปกรณ์ป้องกันอย่างเข็มขัดนิรภัย ซึ่งรถโดยสารที่มีการเพิ่มเก้าอี้เสริม หรือตั๋วเสริมเกินจำนวนที่นั่งที่กฎหมายกำหนดนั้น ถือว่าผิดกฎหมาย 3.รถโดยสารที่เลือกใช้บริการ ต้องอยู่ในสภาพดี ไม่มีอุปกรณ์ชำรุดบกพร่อง ดูแล้วปลอดภัยไม่เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ สามารถโดยสารได้ด้วยความมั่นใจ ไร้กังวล นอกจากนี้อย่าลืมตรวจสอบข้อมูลสำคัญต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเลขทะเบียนรถ ชื่อพนักงานขับรถ เวลารถออก เวลาถึงจุดหมายปลายทาง เส้นทางที่รถวิ่ง จุดพักรถ ฯลฯ 4.เฝ้าระวังคนขับรถอันตราย ปฏิเสธไม่ได้ว่าสาเหตุส่วนใหญ่ของการเกิดอุบัติเหตุ มาจากความประมาทของพนักงานขับรถ ทั้งจากการที่พนักงานขับรถขาดความระมัดระวัง ขับรถด้วยความเร็วสูง หรือสมรรถภาพร่างกายไม่พร้อมสำหรับการขับรถ ในฐานะผู้ใช้บริการเราอาจไม่มีความสามารถขนาดที่จะรู้ล่วงหน้าหรือเลือกได้ว่าพนักงานคนไหนขับรถดีพนักงานคนไหนขับรถไม่ดี แต่อย่างน้อยเราก็สามารถสังเกตพฤติกรรมต่างๆ ของพนักงานขับรถในระหว่างที่เราโดยสารอยู่บนรถได้ ไม่ว่าจะเป็นการขับรถที่ปฏิบัติถูกต้องตามกฎจราจร มีการนำรถออกจากสถานีขนส่งตรงตามเวลาที่แจ้งไว้ มีการหยุดพักรถหรือเปลี่ยนพนักงานขับตามเวลาที่กฎหมายกำหนด (พนักงานขับรถสามารถขับติดต่อกันได้ไม่เกินสี่ชั่วโมง เว้นแต่ได้พักติดต่อกันเป็นเวลาไม่น้อยกว่าครึ่งชั่วโมง) ฯลฯ หากเราพบเห็นข้อสงสัยหรือเริ่มรู้สึกกังวลไม่ไว้ใจกับพฤติกรรมการขับรถของพนักงานประรถโดยสาร อันดับแรกควรพูดคุยสอบถามกับพนักงานผู้ดูแลบนรถ หากยังรู้สึกไม่มั่นใจในความปลอดภัย ให้โทรแจ้งไปยัง ศูนย์คุมครองผู้โดยสารรถสาธารณะ กรมการขนส่งทางบก โทร. 1584 5.อย่าลืมคาดเข็ดขัดนิรภัย เข็มขัดนิรภัยถือเป็นอุปกรณ์ตัวช่วยสำคัญ ที่ทำให้ความรุนแรงที่เกิดจากอุบัติเหตุลดลงได้มาก หากไม่ได้คาดเข็มขัดนิรภัยเมื่อเกิดอุบัติเหตุตัวของผู้โดยสารจะกระเด็นออกจากที่นั่งไปกระแทกกับผู้โดยสารคนอื่นหรือวัสดุต่างๆ ที่อยู่บนรถ หรือไม่ก็อาจกระเด็นหลุดออกนอกรถ ซึ่งยิ่งทำให้บาดเจ็บหนักและเสี่ยงต่อการเสียชีวิตสูง ข้อมูลจากกรมขนส่งทางบกบอกว่า แรงกระแทกของรถที่เกิดอุบัติเหตุขณะวิ่งด้วยความเร็ว 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง จะเท่ากับรถที่ตกจากที่สูงแล้วกระแทกพื้นในระยะประมาณ 14 เมตร หรือความสูงของตึก 5 ชั้น ยิ่งรถวิ่งด้วยความเร็วมากขึ้นแรงกระแทกที่จะเกิดขึ้นเมื่อรถประสบอุบัติเหตุหรือเบรกกะทันหันก็ยิ่งเพิ่มมากขึ้น การคาดเข็มขัดนิรภัยจึงมีส่วนสำคัญอย่างมากในการลดการบาดเจ็บที่เกิดจากแรงกระแทกขณะรถเกิดอุบัติเหตุ แถมเข็มขัดนิรภัยยังช่วยลดความรุนแรงของการบาดเจ็บที่อาจเกิดขึ้นบริเวณอวัยวะสำคัญอย่าง ศีรษะ ใบหน้า ลำคอ และทรวงอก เมื่อคาดเข็มขัดนิรภัยอวัยวะต่างๆ ที่กล่าวจะไม่ไปกระทบกับวัสดุที่อยู่ด้านหน้า ไม่ว่าจะเป็น พวงมาลัย กระจก หรือเบาะที่นั่งด้านหน้า 6.อย่ามองข้ามอุปกรณ์นิรภัยสำหรับใช้ในเหตุฉุกเฉิน ไม่ว่าจะเป็น ถังดับเพลิง และค้อนทุบกระจก เมื่อขึ้นไปนั่งอยู่บนรถแล้วเรียบร้อย อย่าลืมมองหาดูว่าอุปกรณ์สำคัญเหล่านี้ถูกจัดวางไว้อยู่ส่วนไหนของรถ และที่สำคัญก็คือต้องให้แน่ใจว่าอยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน อย่างน้อยๆ การที่เราได้รู้ว่ามีอุปกรณ์ช่วยเหลือต่างๆ เตรียมพร้อมไว้ใช้ในกรณีฉุกเฉิน น่าจะช่วยทำให้เรารู้สึกอุ่นใจในการเดินทางเพิ่มขึ้นได้อีกเยอะ 7.ที่สำคัญที่สุดก็คือเราต้องรู้หน้าที่ของตัวเอง ต้องนึกถึงเรื่องความปลอดภัยเป็นอันดับแรก ต้องปฏิบัติตามคำแนะนำเพื่อความปลอดภัย เช่น คาดเข็มขัดนิรภัย ไม่นั่งในที่นั่งอื่นๆ นอกเหนือบริเวณที่นั่งของผู้โดยสาร ถ้าพบอุปกรณ์ชำรุดหรือความผิดปกติจากรถที่เราโดยสารอยู่ ต้องแจ้งให้พนักงานประจำรถทราบ และเรามีสิทธิ์ที่จะไม่ใช้บริการถ้าหากรู้สึกถึงความไม่ปลอดภัยหรือได้รับการบริการไม่ตรงตามที่ได้แจ้งหรือตกลงกันไว้   เมื่อเจอปัญหาต้องกล้ารักษาสิทธิ์ เบอร์โทรสำหรับร้องเรียนปัญหาจากบริการรถโดยสาร1584 ศูนย์คุมครองผู้โดยสารรถสาธารณะ184 ศูนย์รับร้องเรียนขนส่งมวลชนกรุงเทพฯ1508 แจ้งร้องทุกข์เกี่ยวกับรถโดยสารของ บขส. และรถร่วม1193 ตำรวจทางหลวง02 - 248 – 3737 ศูนย์พิทักษ์สิทธิ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค   ปี 2554 มีอุบัติเหตุเกิดขึ้นกับรถโดยสารขนาดใหญ่ทั่วประเทศทั้งหมด  991 ครั้ง ส่วนอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับรถตู้โดยสารอยู่ที่ 916 ครั้งที่มา: สำนักงานตำรวจแห่งชาติ   อุบัติเหตุรถโดยสารเกิดจากอะไร? -พนักงานขับรถขับรถด้วยความประมาท หรือไม่ชำนาญเส้นทาง-พนักงานขับรถด้วยความเร็วสูง เมื่อเกิดอุบัติเหตุทำให้ไม่สามารถควบคุมรถได้ -โครงสร้างรถไม่มีความแข็งแรงพอ เมื่อเกิดอุบัติเหตุถูกชนหรือพลิกคว่ำ โครงสร้างของรถจะทำให้ผู้ที่โดยสารได้รับบาดเจ็บ เช่น ตัวรถฉีกขาดทำให้ผู้โดยสารกระเด็นออกจากรถ หรือส่วนประกอบของรถหลุดมากระแทกผู้โดยสาร-เบาะนั่งไม่ได้มาตรฐาน เมื่อเกิดอุบัติเหตุทำให้หลุดออกจากตัวรถ -สภาพเส้นทางเป็นโค้งลงเขาลาดชันวกไปมา ไม่เหมาะกับรถโดยสารที่มีขนาดสูง เช่นรถ 2 ชั้น-สภาพของถนนที่ไม่พร้อมใช้งาน พื้นถนนชำรุด ไม่มีป้ายแจ้งเตือน ไม่มีไฟส่องสว่าง ฯลฯ-สภาพอุปกรณ์ประกอบข้างทาง เช่น เครื่องกั้นไม่ได้ออกแบบมาสำหรับสำหรับรถขนาดใหญ่ซึ่งมักมีความสูงของจุดศูนย์ถ่วงเกินจากแนวกั้นทำให้ไม่สามารถป้องกันรถขนาดใหญ่ได้-หลายคนอาจจะชอบเลือกนั่งรถโดยสารที่มีกระจกกั้นไว้ตลอดแนวยาว เพราะดูสวยงามหรือดูแล้วรู้สึกโล่งๆ ไม่อึดอัด แต่ถ้าพูดถึงเรื่องความปลอดภัยรถโดยสารที่เป็นกระจกรอบด้านย่อมปลอดภัยน้อยกว่ารถที่เน้นโครงสร้างที่เป็นเหล็ก เพราะเมื่อเกิดอุบัติเหตุกระจกแตก ผู้โดยสารจะหลุดออกมานอกรถทำให้ได้รับบาดเจ็บหนัก ข้อมูลโดย: ผศ.ดร. สมประสงค์ สัตยมัลลี “ยกระดับคุณภาพ: รถโดยสารสาธารณะ”-----------   ความหวัง (?) ของคนไทยเรื่องความปลอดภัยของรถโดยสาร -กรมการขนส่งทางบกกำลังศึกษาเพื่อออกแบบโครงสร้างชิ้นส่วนของตัวรถโดยสารทั้งแบบ 1 ชั้น และ 2 ชั้น โดยจะเน้นเรื่องคุณภาพของโครงสร้างของตัวรถ ทดสอบจุดศูนย์ถ่วงเมื่อต้องวิ่งบนพื้นลาดเอียง และการกำหนดมาตรฐานความปลอดภัยของที่นั่ง โดยจะทำการสร้างต้นแบบเครื่องทดสอบที่นั่งประจำรถโดยสารที่ได้มาตรฐาน ซึ่งการทดสอบที่นั่งจะมีผลบังคับใช้กับรถโดยสารทุกบริษัทต้องนำเก้าอี้เข้ามาทดสอบการดึงสำหรับรถที่จดทะเบียนใหม่เริ่มวันที่ 1 มกราคม 2556 -รถโดยสารประจำทางทุกมาตรฐานจะต้องติดตั้งเข็มขัดนิรภัยได้มาตรฐานตามที่สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) โดยรถโดยสารประจำทางทุกมาตรฐานมีผลบังคับใช้วันที่ 1 ม.ค. 2556 ขณะที่รถตู้โดยสารประจำทางมีดีเดย์บังคับใช้ 1 เม.ย. 2555 นี้แล้ว -ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน. (ศวปถ.) ภายใต้มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) ได้จัดเวทีสาธารณะเพื่อหาข้อเสนอเชิงนโยบายเรื่องความปลอดภัยและมาตรฐานของรถโดยสาร โดยมีทั้งภาครัฐ ผู้ประกอบ และภาคประชาชนเข้าร่วม โดยได้ข้อเสนอที่น่าสนใจเพื่อความปลอดภัยของรถโดยสารที่ยั้งยืน แบ่งเป็นข้อๆ ดังนี้ 1.ต้องมีการกำหนดมาตรฐานเข็มขัดนิรภัยและบังคับใช้อย่างจริงจัง  2.มีการฝึกอบรมพัฒนาศักยภาพของพนักงานขับรถและกำหนดให้มีการออกใบประกอบวิชาชีพเฉพาะสำหรับพนักงานขับรถโดยสาร กำหนดเวลาการทำงานของพนักงานขับรถให้เหมาะสม 3.ควรมีการกำหนดความเร็วเฉพาะของรถโดยสารสาธารณะและกวดขันบังคับใช้จริงจัง (อัตราความเร็วของรถตามพ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 กำหนดความเร็วรถโดยสารไว้ที่ไม่เกิน  60  กม./ ชม. ขณะวิ่งในเมือง ถ้าวิ่งนอกเมืองไม่เกิน  80 กม./ชม.)4.ภาครัฐต้องให้ความสำคัญกับเรื่องความปลอดภัยของผู้ใช้บริการรถโดยสารอย่างจริงจังมากขึ้น โดยรัฐต้องช่วยส่งเสริมให้ผู้ประกอบการหันมาใช้รถโดยสารที่ปลอดภัยได้มาตรฐาน พร้อมไปกับการให้ข้อมูลกับผู้บริโภคให้รู้จักเลือกรถโดยสารที่ปลอดภัย คำนึงถึงชีวิตของตัวเองเป็นสำคัญ และต้องรู้ถึงสิทธิของตัวเอง-----------------------------------------------------------------   เหมารถทัวร์ อย่างไรให้ปลอดภัยที่สุดรถโดยสารไม่ประจำทางหรือรถโดยสารแบบเช่าเหมาคันเป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับคนที่นิยมเดินทางท่องเที่ยวกันเป็นหมู่คณะ ยิ่งในช่วงเทศกาลวันหยุดยาวยิ่งไม่ต้องพูดถึง มีคนติดต่อขอใช้บริการเป็นจำนวนมากแน่นอน  แต่การใช้บริการรถโดยสารเช่าเหมาคันแบบนี้ การระมัดระวังเรื่องความปลอดภัยก็ไม่แตกต่างจากรถโดยสารประจำทางทั่วไป เพราะที่ผ่านมาอุบัติเหตุที่เคยเกิดขึ้นกับรถประเภทนี้ก็มีให้เห็นกันเป็นประจำ เพราะฉะนั้นการเลือกใช้บริการก็ต้องมีเทคนิคที่ควรรู้เช่นกัน ก่อนทำสัญญา 1.การเลือกบริษัทรถ ต้องเลือกบริษัทที่เป็นนิติบุคคล ไม่ควรเลือกบริษัทรถที่เป็นตัวบุคคลรายเดี่ยว เพราะหากเป็นนิติบุคคลจะได้รับการดูแลจากสมาคมผู้ประกอบการรถโดยสารไม่จำทาง (สสท.) 2.รายละเอียดในการทำสัญญาต้องมีความชัดเจน ประกอบไปด้วย-ต้องระบุเส้นทางการเดินทาง ต้นทาง-ปลายทาง-หมายเลขทะเบียนรถคันที่จะให้บริการ-ชื่อพนักงานขับรถ ในกรณีที่ระยะทางเกิน 400 กิโลเมตรจะต้องมีพนักงานสับเปลี่ยนกัน 2 คน หรือหากมีพนักงานขับรถเพียงคนเดียวก็ต้องมีการระบุถึงจุดพัก หรือระยะเวลาการจอดพักรถไม่น้อยกว่า 30 นาทีทุก 4 ชั่วโมง-พนักงานขับรถต้องได้รับใบอนุญาตขับขี่จากกรมขนส่งทางบก ให้ขับรถประเภทรถสาธารณะ เท่านั้น-แนบใบตรวจสภาพรถยนต์จากกรมการขนส่งทางบกกับสัญญาว่าจ้างด้วย ซึ่งระยะเวลาที่ระบุไม่ควรเกิน 2 เดือน ภายหลังการตรวจสภาพ -แนบเอกสาร กรมธรรม์ทั้งภาคบังคับ ภาคสมัครใจ ของรถคันที่ว่าจ้าง ซึ่งผู้ว่าจ้างต้องตรวจสอบว่าถูกต้อง ตรงกับเลขทะเบียนรถหรือไม่ 3.สภาพของรถโดยสาร  ผู้ว่าจ้างต้องไปตรวจสอบสภาพรถด้วยตนเองว่ามีความเหมาะสม ปลอดภัยในการเดินทางหรือไม่ โดยที่ควรใช้งานต้องมีลักษณะดังต่อไปนี้-ต้องเป็นรถโดยสารชั้นเดียว-ต้องมีเข็มขัดนิรภัยทุกที่นั่ง-ต้องเป็นเบาะที่นั่งยึดโยงกับที่ ไม่เป็นแบบสไลด์ หรือถอดเข้าออกเพื่อเพิ่มปริมาณที่นั่ง-มีอุปกรณ์นิรภัยติดตั้งบนรถ เช่น ค้อนทุบกระจก ถังดับเพลิง เป็นต้น  ก่อนเดินทาง ต้องตรวจสอบว่าผู้รับจ้างปฏิบัติตรงกับที่ทำสัญญาหรือไม่ หากพบว่ามีสิ่งหนึ่งประการใดไม่เป็นไปตามข้อตกลง เช่น ไม่ใช้รถยนต์คันที่ตกลงในสัญญา ผู้ว่าจ้างสามารถยกเลิกสัญญาได้ทันที และสามารถเรียกร้องให้ผู้รับจ้างชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้นได้ด้วย  ระหว่างเดินทาง หากพบว่ามีการขับรถหวาดเสียว ขับเร็ว ขาดความระมัดระวัง หรือรู้สึกถึงความผิดปกติอื่นใดในตัวรถ ให้ทำการเตือนกับพนักงานขับรถ  หากไม่เชื่อฟังหรือไม่แก้ไข ผู้โดยสารควรแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือรีบแจ้งกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเช่น ศูนย์คุ้มครองผู้โดยสารรถสาธารณะ 1584 หรือสายด่วนกองบังคับการตำรวจทางหลวง 1193 หรือกับบริษัทรถที่ว่าจ้าง โดยทันที กรณีที่เกิดเหตุ สำหรับผู้เสียหายสามารถเรียกร้องการชดเชย เยียวยากับ พนักงานขับรถ เจ้าของบริษัทรถโดยสารคันที่เกิดเหตุ และบริษัทประกันภัย ทั้งค่ารักษาพยาบาล ค่าปลงศพในกรณีที่เสียชีวิต ความเสียหายของทรัพย์สิน ที่นำติดตัวไปในการเดินทาง  ขาดโอกาสหรือสูญเสียโอกาสในการทำงาน ขาดไร้ผู้อุปการะ  หรือตลอดจนความเสียหายทางด้านจิตใจ------------------------------------------------------------------------------------   รถตู้โดยสาร...ทางเลือกที่ต้องระวัง รถตู้ถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการเดินทางที่กำลังมาแรงทั้งกระแสในความต้องการของผู้บริโภค และเรื่องราวของอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนต้องมีการตั้งคำถามถึงความเหมาะในการนำรถตู้มาใช้ในการขนส่งผู้โดยสาร แต่ ณ วันนี้ถ้าจะให้หยุดการให้บริการของรถตู้โดยสารคงเป็นเรื่องที่แทบจะพูดได้เต็มปากเลยว่าเป็นไปไม่ได้ เพราะรถตู้กลายเป็นตัวเลือกหลักในการเดินทางของหลายๆ คนไปซะแล้ว เพราะฉะนั้นสิ่งที่ควรทำอย่างเร่งด่วนในเวลานี้ก็คือ การดูแลเรื่องความปลอดภัยในการใช้รถตู้โดยสาร โดยตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 55 เป็นต้นไป กรมการขนส่งทางบกจะดำเนินการติดตั้งเทคโนโลยี rfid (radio frequency identification) ในการตรวจจับความเร็วรถตู้โดยสารสาธารณะ หากตรวจพบรถตู้โดยสารสาธารณะที่ขับเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดจะถูกปรับทันที 5,000 บาท และหากพบการกระทำผิดซ้ำจะปรับ 10,000 บาท พร้อมกับไม่อนุญาตให้ใช้รถคันนั้นในการรับส่งผู้โดยสารอีก ใครที่อยากได้รับความคุ้มครองความปลอดภัยจากเจ้าเทคโนโลยีตรวจจับความเร็ว rfid ก็ต้องเลือกใช้บริการรถตู้ที่มีป้ายทะเบียนสีเหลืองเท่านั้น ส่วนด้านข้างรถก็ต้องมีเครื่องหมายแสดงการเข้าร่วมกับ ขสมก. หรือ บขส. พร้อมบอกชื่อเส้นทาง รถตู้ที่มีป้ายทะเบียนสีอื่นนอกจากสีเหลืองถือเป็นรถตู้โดยสารผิดกฎหมาย เสี่ยงอุบัติเหตุแถมยังยากต่อการติดตามตรวจสอบหากเกิดเหตุร้ายถ้าอยู่ๆ คนขับรถตู้กลายมาเป็นมิจฉาชีพ นอกจากนี้ วันที่ 1 เม.ย. กรมการขนส่งทางบก ก็เตรียมออกประกาศบังคับให้รถตู้ที่จดทะเบียนใหม่ทุกคัน ต้องติดตั้งเข็มขัดนิรภัยทุกที่นั่ง แต่น่าเสียดายที่ยังไม่มีกฎหมายออกมาบังคับให้ผู้โดยสารทุกที่นั่งต้องคาดเข็มขัดนิรภัย ก็ได้แต่หวังกันต่อไปว่าวัฒนธรรมการคาดเข็มขัดนิรภัยทุครั้งเมื่อใช้บริการรถตู้โดยสารจะเกิดขึ้นในบ้านเราได้สักที--------------------------------------------------------------------------------------------------------------- เรื่องต้องรู้  การคุ้มครองเมื่อเกิดอุบัติเหตุ เรื่องสำคัญเรื่องหนึ่งที่เราทุกคนควรรู้ หากเราประสบอุบัติเหตุจากการใช้บริการรถโดยสาร ก็คือ เรามีสิทธิ์ได้รับการชดเชยค่าเสียหาย ค่ารักษาพยาบาล จากพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 ซึ่งเราจะได้รับเป็นค่ารักษาพยาบาลรายละไม่เกิน 5 หมื่นบาท แต่ถ้าเป็นในกรณีเสียชีวิตหรือทุพพลภาพ จะได้เงินชดเชยสูงสุด 2 แสนบาท  นอกจากนี้ยังได้รับชดเชย 200 บาทต่อวัน รวมกันไม่เกิน 20 วัน สำหรับกรณีเข้ารักษาในสถานพยาบาลในฐานะคนไข้ใน สำหรับการขอรับสิทธิ์นั้น ตัวผู้ที่ได้รับความเสียหาย หรือทายาทจะต้องยื่นคำร้องขอรับค่าความเสียหายต่อบริษัทประกันภัย บริษัทกลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด หรือสำนักงานกองทุนทดแทนผู้ประสบภัย ภายใน 180 วัน นับจากวันที่เกิดเหตุ

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 125 รถตู้โดยสารดัดแปลง...ความปลอดภัยที่คุณเลือกได้

ชีวิตสังคมเมืองที่เต็มไปด้วยความเร่งรีบทั้งในด้านการใช้ชีวิต รวมไปถึงเรื่องการเดินทาง ประกอบกับภาวะวิกฤติการน้ำมันเชื้อเพลิงมีการปรับราคาสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ผู้ที่ต้องเดินทางในเขตกรุงเทพมหานคร หรือปริมณฑลจำนวนมากลดการใช้ยานพาหนะส่วนตัวลงและเลือกที่จะเดินทาง โดยใช้รถตู้บริการโดยสารสาธารณะกันมากขึ้น อุบัติเหตุบนท้องถนนที่เกิดขึ้นกับรถตู้โดยสารสาธารณะบ่อยครั้ง ได้นำมาซึ่งความเสียหายต่อทรัพย์สินและสูญเสียชีวิตที่มิอาจจะประมาณมูลค่าได้   บ่อยครั้งที่มีคำถามเกิดขึ้นมากมายว่า เหตุการณ์เหล่านี้สามารถหลีกเลี่ยงได้หรือไม่ ผู้ที่เกี่ยวข้องมีมาตรการหรือแนวทางอะไรที่จะช่วยเพิ่มความปลอดภัย ให้เกิดขึ้นได้จริงกับการโดยสารรถตู้ ซึ่งจากข้อมูลเบื้องต้นที่มีอยู่ สำหรับแนวทางหรือมาตรการด้านระเบียบการบริหารจัดการนั้น ผู้ที่มีส่วนรับผิดชอบก็พยายามเร่งรัดหาแนวทางกันมาต่อเนื่อง และคาดว่าน่าจะมีความเคลื่อนไหวเพิ่มเติมในทางบวกอีกในอนาคตอันสั้น  รถตู้โดยสารกับมาตรฐานที่มีอยู่(จริง) ทุกครั้งที่เกิดอุบัติเหตุอันน่าสลดใจกับรถตู้โดยสารสาธารณะ อย่างล่าสุดที่รถตู้โดยสารขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพประสบอุบัติเหตุบนทางยกระดับดอนเมืองโทลล์เวย์ เมื่อวันที่ 27 ธ.ค. 2553 ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตรวม 9 ราย หรือเหตุการณ์เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2553 ที่ได้เกิดอุบัติเหตุรถตู้โดยสารรับจ้างที่มีผู้โดยสารเต็มคัน ชนหัวเกาะบริเวณทางแยกและเสียหลักตกจากทางพิเศษลงไปบนถนนพระราม 6 นั้น ทำให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องหลายๆ ฝ่าย ได้กลับมาตระหนักถึงความปลอดภัยและคุณภาพของการให้บริการรถตู้โดยสารกันทุกครั้ง หลายๆ เสียง หลายๆ สื่อ ก็ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ว่า “เมื่อไหร่จะมีมาตรฐานรถตู้ในบ้านเราสักที”  ในความเป็นจริงนั้น ที่ผ่านมาก็ได้มีผู้ที่มีส่วนรับผิดชอบ ริเริ่มพยายามจะหามาตรการ เพื่อหลีกเลี่ยงหรือลดอุบัติเหตุ จากการโดยสารรถตู้สาธารณะมาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการที่กรมการขนส่งทางบก ได้ประกาศแจ้งกำหนด ให้มีการควบคุมคุณภาพรถตู้บริการให้เป็นประเภทมาตรฐาน 2 (จ)*   ตั้งแต่วันที่ 17 ธันวาคม 2551 ซึ่งมีมติให้รถตู้โดยสารที่ใช้ก๊าซธรรมชาติอัด (CNG) เป็นเชื้อเพลิงควบคู่กับน้ำมันมีสภาพอายุการใช้งานไม่เกิน 10 ปี มีการควบคุมระยะห่างระหว่างเก้าอี้โดยสาร (ดังที่แสดงในภาพที่ 1) มีการกำหนดให้ใช้รถที่มีหลังคาสูงและนอกเหนือจากนี้ ยังมีการควบคุมการตรวจสภาพรถทุกๆ 6 เดือน เพื่อตรวจเช็คระบบความปลอดภัย ระบบไฟส่องสว่าง การแข็งแรงของการยึดที่นั่งผู้โดยสารกับตัวรถหรือประตูรถ และมีการควบคุมมลพิษ ซึ่งจากข้อมูล ณ วันที่ 23 เมษายน 2553 ที่ผ่านมานั้น ได้มีรถตู้ส่วนบุคคลมาจดทะเบียน จำนวนทั้งสิ้นแล้วกว่า 9,000 คันแล้ว (ที่มา: กรมการขนส่งทางบก)   ภาพที่ 1 การควบคุมระยะที่นั่งผู้โดยสารตามมาตรฐาน 2(จ) (ที่มา: กรมการขนส่งทางบก)   อุบัติเหตุลดลง ความรุนแรงไม่ลดตาม อะไรคือสาเหตุ ?จากการที่หลายๆ ฝ่ายที่ผลักดันมาตรการต่างๆ เพื่อความปลอดภัยให้แก่ผู้โดยสารรถตู้สาธารณะอย่างเข้มข้น ผลปรากฏว่า ในปี พ.ศ. 2553 ที่ผ่านมา ได้เกิดอุบัติเหตุที่มีรถตู้โดยสารสาธารณะเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้อง ทั้งหมด 1,253 ครั้ง ลดลงจากปี พ.ศ. 2552 ไปได้ 20 เปอร์เซ็นต์ (1,549 ครั้ง - ที่มา:  ศูนย์อำนวยความปลอดภัยทางถนน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย) นับว่าเป็นแนวโน้มที่ดีขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม เป้าหมายที่แท้จริงของแต่ละมาตรการก็ยังคงเป็นการเลี่ยงอุบัติเหตุไม่ให้เกิดขึ้น (Active safety) และลดความรุนแรงในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุขึ้นแล้ว (Passive safety) ซึ่งโดยทั่วไปนั้น  ปัจจัยหลัก ที่มีผลกระทบโดยตรงต่อความปลอดภัยในการจราจร มีดังต่อไปนี้  1) มนุษย์ - พฤติกรรม วินัย มารยาทในการใช้รถและถนนของมนุษย์ ซึ่งประกอบด้วย ผู้ขับขี่รถ ผู้ร่วมใช้ถนน และผู้โดยสารรถ เป็นอีกหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่สุด ที่มีผลต่อความปลอดภัยบนท้องถนน ไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรมการขับขี่ การเคารพกฎจราจรของผู้ขับขี่เอง หรือการตระหนักถึงความปลอดภัยด้วยตนเองของผู้โดยสาร เช่น การคาดเข็มขัดนิรภัย หรือไม่โดยสารรถที่มีจำนวนผู้โดยสารมากกว่าที่นั่งที่มีอยู่ เป็นต้น 2) ยานพาหนะ - นอกเหนือจากสภาพของรถโดยสารที่สัมพันธ์กับอายุการใช้งานของตัวรถแล้วนั้น การดัดแปลงด้วยการเพิ่มที่นั่งผู้โดยสารและติดตั้งระบบแก๊สเป็นเชื้อเพลิง ซึ่งส่งผลให้น้ำหนักรวมและสมดุลน้ำหนักตัวรถเปลี่ยนแปลงจากตัวรถตู้แบบเดิม ก็มีผลกระทบโดยตรงต่อความปลอดภัยในการขับขี่ ในสถานการณ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการเบรกรถโค้งที่ความเร็วสูง หรือการเบรกกะทันหัน เป็นต้น เพื่อเพิ่มระดับความปลอดภัยในการขับขี่ของรถตู้ ในปัจจุบันผู้ผลิตหลายราย ได้ทำการติดตั้งอุปกรณ์เพื่อเพิ่มความปลอดภัยหลายชนิดเป็นอุปกรณ์พื้นฐาน ไม่ว่าจะเป็นระบบควบคุมเพื่อหลีกเลี่ยงอุบัติเหตุ(Active Safety) เช่น ระบบ ABS หรือ ESP หรืออุปกรณ์ที่จะช่วยลดความรุนแรงของอุบัติเหตุต่อผู้โดยสาร(Passive Safety) อาทิ เข็มขัดนิรภัย หรือระบบถุงลมนิรภัย เป็นต้น 3) สิ่งแวดล้อม - อีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดความไม่ปลอดภัยในการจราจร ก็คือ สภาพของถนนที่ชำรุดผุผัง เป็นหลุมเป็นบ่อ มีสิ่งกีดขวางการจราจร ทำให้ที่รถต้องชะลอความเร็วหรือเปลี่ยนเส้นทางโดยกะทันหัน รวมถึง สัญญาณจราจรที่ไม่ชัดเจน อาทิ ป้ายจราจร เส้นแบ่งทางเดินรถ สิ่งเหล่านี้เป็นชนวนสำคัญที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุ บ่อยครั้ง ซึ่งผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่ายจะมองข้ามไม่ได้เป็นอันขาด   แนวคิดและการวิเคราะห์สถานการณ์ในการขับขี่ที่เป็นอันตราย ต่อไปจะขอนำเสนอแนวคิดและการวิเคราะห์สถานการณ์ในการขับขี่ที่เป็นอันตราย เสี่ยงต่อการทำให้เกิดอุบัติเหตุกับรถตู้ที่ได้รับการดัดแปลงเพื่อเป็นรถโดยสารด้วยหลักพลศาสตร์ยานยนต์ (Vehicle dynamics) และเสนอแนะแนวทางเชิงปฏิบัติที่สามารถทำได้จริง เพื่อหลีกเลี่ยงอุบัติเหตุและเพิ่มความปลอดภัยของการโดยสารรถตู้บริการ โดยยกตัวอย่างการวิเคราะห์จากกรณีศึกษาดังต่อไปนี้  “หลุดโค้ง ท้ายปัด ล้อล็อคไถล” ของรถตู้ เกิดขึ้นได้อย่างไร  ในกรณีศึกษานี้จะนำตัวอย่างจาก รถตู้ดัดแปลงตามประเภทมาตรฐาน 2(จ) มาพิจารณาและเสนอแนะแนว ทางแก้ไขปรับปรุงที่เป็นไปได้ เพื่อเพิ่มสมรรถนะในการขับขี่และความปลอดภัยในการโดยรถตู้ให้มากยิ่งขึ้น โดยกำหนดให้  • มีคนขับและผู้โดยสาร ในรถรวมทั้งหมด 15 คน  • ผู้โดยสารมีน้ำหนักเฉลี่ย 68 กิโลกรัมต่อคน • มีการติดตั้งถังแก๊ส CNG ขนาด 90 ลิตรที่ห้องสัมภาระทั้งหมด 2 ถัง• มีแก๊สบรรจุอยู่ประมาณครึ่งถัง   • การติดตั้งระบบเชื้อเพลิงโดยใช้ ก๊าซธรรมชาตินั้นได้คุณภาพผ่านข้อกำหนดแล้ว ซึ่งถือว่าเป็นข้อ กำหนดที่สำคัญต่อความปลอดภัยจากการติดตั้ง ไม่เกี่ยวข้องกับสมรรถนะของรถ  ผลกระทบโดยตรงที่เกิดขึ้นจากการดัดแปลงในกรณีนี้คือ ปริมาณน้ำหนักรวมและสมดุลน้ำหนักของรถที่เปลี่ยนแปลงไป โดยสามารถเปรียบเทียบน้ำหนักของรถตู้โดยสารโครงสร้างเดิมและแบบที่มีการดัดแปลงได้ดังแสดงตารางที่ 1 ซึ่งจากตารางข้างต้นจะพบว่า รถตู้ที่ได้รับการดัดแปลงในกรณีที่ศึกษานั้น มีจะน้ำหนักของรถรวมถึง 3,350 กิโลกรัม เพิ่มจากประเภทที่ไม่ได้ดัดแปลงประมาณ 400 กิโลกรัม  นอกเหนือจากนี้ ภาพที่ 2 จะแสดงให้เห็นว่า น้ำหนักส่วนใหญ่ที่เพิ่มขึ้นของตัวรถตู้จากการดัดแปลงนั้นจะอยู่ที่ตำแหน่งส่วนท้ายของรถ ซึ่งทำให้สัดส่วนการกระจายน้ำหนักหรือแรงกดของเพลาหน้าและเพลาท้ายของรถตู้หลังการดัดแปลงนั้น แตกต่างจากสภาพเดิมของรถ ตัวอย่าง เช่น จากอัตราส่วน 56% ต่อ 44% เปลี่ยนเป็น 47% ต่อ 53% ซึ่งหมายความว่า สัดส่วนแรงกดที่ล้อหน้าทั้งสองล้อต่อน้ำหนักรวมจะลดลงไปกว่าเดิม ในขณะที่แรงกดที่ล้อหลังจะเพิ่มขึ้น ซึ่งจากข้อมูลนี้จะสามารถวิเคราะห์ผลกระทบต่อความปลอดภัย รวมถึงสมรรถนะของรถในการออกตัว การเร่ง หรือการเบรก ทั้งทางตรงและทางโค้งได้เป็นกรณีต่างๆ ดังต่อไปนี้     น้ำหนักรถรวมกรณีที่มีผู้โดยสารเต็มคัน 2,926 กิโลกรัม 3,350 กิโลกรัมตารางที่ 1: เปรียบเทียบน้ำหนักรถโดยสารตู้ประเภทที่ศึกษาก่อนและหลังการดัดแปลง   ภาพที่ 2 สัดส่วนน้ำหนักที่เพลาหน้าและหลังของรถตู้ที่ทำการศึกษา ก่อนและหลังดัดแปลงติดตั้งถังแก๊ส  กรณีที่ 1) รถตู้หลุดโค้งการเลี้ยวโค้งของรถเป็นหนึ่งในสถานการณ์ระหว่างการขับขี่และจราจรที่เกิดขึ้นบ่อยที่สุด และหนึ่งในประเภทของอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นบ่อยที่สุดก็คือ การที่รถเสียหลักหลุดโค้ง ซึ่งมีสาเหตุมาจากหลายๆ ปัจจัย หนึ่งในปัจจัยหลักก็คือการที่น้ำหนักหรือแรงกดของรถที่ล้อหลังมีมากกว่าที่ล้อหน้าในปริมาณที่มาก ดังที่แสดงในภาพที่ 2 จะพบว่าปริมาณของแรงกดที่ล้อหลังทั้งสองล้อ ได้เพิ่มขึ้นจากเดิมถึง 7 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่แรงกดที่ล้อหน้าทั้งสองล้อได้ลดลงไปจากเดิม ซึ่งตามทฤษฏีพลศาสตร์ยานยนต์แล้วนั้น ในกรณีรถที่มีการกระจายน้ำหนักที่ล้อหลังมากกว่าล้อหน้า แล้วถูกขับเลี้ยวเข้าโค้งด้วยความเร็วสูง(หรือที่เรียกว่า “การเลี้ยวเร็ว“) รถจะมีแนวโน้มของการเคลื่อนที่ที่เรียกว่า  ”อันเดอร์สเตียริง” (Understeering) หรือ “การหลุดโค้ง“ ซึ่งมีแนวโน้มจะเกิดขึ้นได้ง่ายกับรถยนต์ประเภทขับเคลื่อนล้อหลัง หรือรถที่มีสัดส่วนน้ำหนักส่วนท้ายมากกว่าด้านหน้า ดังที่แสดงในภาพที่ 3 เหตุการณ์ “อันเดอร์สเตียริง” จะเกิดขึ้นในขณะที่เริ่มเลี้ยวเข้าโค้ง โดยที่คนขับบังคับเลี้ยวจากการหักเลี้ยวของพวงมาลัยตามรัศมีการโค้งของถนน ในขณะที่ล้อหลังของรถทั้งสองข้าง พยายามที่จะเคลื่อนที่ต่อไปในทิศทางเดิมก่อนที่จะเข้าโค้ง ผลที่เกิดขึ้นกับสมรรถนะของรถโดยที่ผู้ขับขี่ก็จะสามารถรู้สึกได้คือ ช่วงท้ายรถจะมีลักษณะหน่วงฝืนทิศทางการเลี้ยว หากคนขับไม่แก้ไขสถานการณ์หรือไม่มีอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ช่วย ก็อาจจะทำให้รถ ”หลุดโค้ง” ได้ ภาพที่ 3 ปรากฏการณ์อันเดอร์สเตียริง (Understeering) หรือ การหลุดโค้งของรถ   การเคลื่อนที่ของรถอีกประเภทที่ถือว่ามีอันตรายมากกว่านั้นจะเรียกว่า “โอเวอร์สเตียริง” (Oversteering) หรือ “การท้ายปัด“ ซึ่งมีแนวโน้มจะเกิดขึ้นได้บ่อยกับรถประเภทขับเคลื่อนล้อหน้า โดยสามารถอธิบายได้จากสถานการณ์ที่ส่วนท้ายของรถนั้น ถูกหมุนปัดในทิศทางที่ทำให้รถเสียการทรงตัวเป็นมุมมากกว่าความรัศมีความโค้งของถนน ในขณะที่ส่วนหน้าของรถถูกบังคับเลี้ยวปกติ (รูปที่ 4)   ภาพที่ 4 ปรากฏการณ์โอเวอร์สเตียริง (Oversteering) หรือ การท้ายปัดของรถ  แนวทางการแก้ไขสำหรับการแก้ไขปรากฏการณ์ “อันเดอร์สเตียริง“ หรือ “การหลุดโค้ง” ซึ่งจะเป็นกรณีที่จะเกิดขึ้นได้บ่อยกับรถตู้โดยสารที่มีน้ำหนักด้านท้ายสูงนั้น สามารถทำได้ด้วยบังคับหมุนพวงมาลัยในทิศทางเข้าโค้งให้มากยิ่งขึ้นไปจากเดิม เพื่อบังคับดึงให้ตัวรถทั้งคันเลี้ยวเข้าสู่รัศมีความโค้งที่ต้องการ ซึ่งเป็นการแก้ไขได้ด้วยผู้ขับขี่เอง นอกเหนือจากนี้ ในปัจจุบันผู้ผลิตรถหลายรายได้ติดตั้งอุปกรณ์ชนิด Active Safety เพื่อควบคุมการเคลื่อนที่ของรถให้ปลอดภัย ด้วยการควบคุมการเบรกของล้อรถทั้งสี่ล้อโดยอิสระต่อกันด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ที่เรียกว่า Electronic Stability Control (ESC) ซึ่งจะทำหน้าที่ป้องกันการล็อคไถลและเสียหลักของรถที่มีผลต่อความปลอดภัยเป็นอย่างมาก อย่างไรก็ตามด้วยราคาที่ยังสูง อุปกรณ์นี้จึงไม่ได้มีติดตั้งอยู่ในรถตู้โดยสารทั่วไป  กรณีที่ 2) ล้อหน้าล็อคไถล ระหว่างเบรกทางตรง ในการวิเคราะห์สมรรถนะของการเบรกทางตรงของรถนั้น สามารถนำทฤษฏีแรงเสียดทานมาใช้พิจารณาได้ โดยแรงเบรกที่ล้อรถนั้นจะเป็นแรงเสียดทาน(friction) ที่เกิดขึ้นระหว่างยางรถทั้งสี่ล้อกับพื้นถนน ซึ่งคำนวณได้จากผลคูณของน้ำหนักหรือแรงกดที่ล้อนั้นๆ (Normal force) กับค่าสัมประสิทธิ์แรงเสียดทาน(Friction coefficient) โดยค่าของตัวแปรนี้จะขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ เช่น สภาพความขรุขระของถนน ความชื้นของพื้นถนน หน้าผิวสัมผัสของยางรถยนต์ แรงดันลมของล้อรถ เป็นต้น   ภาพที่ 5 แรงเบรกและแรงกดที่ล้อหน้าและหลังระหว่างการเบรกของรถ  จากรูปที่ 5 ในขณะที่รถถูกเบรกนั้น จะเกิดแรงฉุดหรือแรงหน่วงที่เกิดขึ้นจะกระทำที่จุดศูนย์ถ่วงของรถ ซึ่งทางฟิสิกส์จะเรียกว่า “แรงปฏิกิริยา” (Reaction) ซึ่งเป็นผลลัพธ์ที่เกิดจาก “แรงกิริยา” (Action) หรือแรงเบรกที่ล้อทั้งสี่ข้าง แรงฉุดระหว่างการเบรกนี้จะเป็นทำให้เกิดแรงกดที่ล้อหน้า และแรงยกที่ล้อหลังของรถเป็นปริมาณที่เท่ากัน ส่งผลให้น้ำหนักหรือแรงกดที่ล้อทั้งสี่ข้างเปลี่ยนแปลง(แรงกดที่ล้อหน้าเพิ่มขึ้น แรงกดล้อหลังที่ลดลง) ซึ่งจากสมการการคำนวณแรงเบรกที่ล้อดังที่ได้กล่าวไปนั้น จะสามารถพิจารณาได้ว่า กรณีที่ค่าสัมประสิทธิ์แรงเสียดทานคงที่ แรงเบรกที่ล้อจะแปรผันตรงกับแรงกดที่ล้อ โดยจากแรงกดที่ล้อหน้าที่เพิ่มขึ้นนั้นจะทำให้แรงเบรกของรถที่ล้อหน้านั้นเพิ่มขึ้น ในขณะที่แรงเบรกของรถที่ล้อหลังน้อยลง สำหรับกรณีรถตู้ดัดแปลง ที่มีน้ำหนักที่ท้ายรถเพิ่มขึ้นประมาณ 400 กิโลกรัม จากน้ำหนักถังแก๊ส หรือเทียบได้กับแรงกดประมาณ 3,924 นิวตัน ซึ่งตามทฤษฏีนั้นล้อหลังทั้งสองข้างของรถจะสามารถสร้างแรงเบรกได้มากขึ้นกว่ารถที่ไม่ได้รับการดัดแปลง เนื่องจากสัดส่วนแรงกดที่ล้อหน้าลดลง สัดส่วนความต้องการแรงเบรกล้อหน้าก็จะลดลงไปด้วยเมื่อเทียบกับที่ล้อหลัง ซึ่งในทางปฏิบัตินั้น ในขณะที่คนขับเหยียบแป้นเบรกเพื่อทำการลดความเร็วรถ น้ำมันเบรกยังคงถูกส่งกระจายไปที่เบรกล้อหน้าในปริมาณเท่าเดิม ซึ่งก็จะส่งผลให้ล้อหน้าสามารถล็อคหรือไม่หมุนได้ชั่วขณะ และเกิดการไถลไปกับพื้นถนนในที่สุด ซึ่งสถานการณ์ที่เรียกว่า “ล้อหน้าล็อค” นี้ จะทำให้คนขับไม่สามารถบังคับทิศทางการเลี้ยวของรถได้  แนวทางการแก้ไขเนื่องจากกรณีที่พิจารณาเป็นการเบรกรถที่ทางตรง การควบคุมทิศทางรถไม่ได้ชั่วขณะจึงถือว่าไม่ถึงขั้นเป็นอันตรายสูง การปล่อยและสัมผัสแป้นเบรกอีกครั้งของคนขับ ก็สามารถทำให้ล้อหมุนระหว่างการเบรกและไม่ถูกล็อคได้ ทำให้สามารถควบคุมการบังคับเลี้ยวได้อีกครั้ง ในปัจจุบันเพื่อให้สามารถใช้ข้อดีของน้ำหนักหรือแรงกดที่ล้อในกรณีที่มีการบรรทุกหรือกระจายน้ำหนักที่ตัวรถแบบต่างๆ ให้ได้ประสิทธิภาพสูงขึ้นและมีความปลอดภัยมากขึ้น ผู้ผลิตรถยนต์หลายๆ รุ่น ได้ทำการติดตั้งระบบควบคุมการกระจายน้ำมันเบรกไปยังล้อต่างๆ ของรถ หรือแบ่งสัดส่วนแรงเบรกที่ล้อหน้าและหลังของรถ ให้เหมาะสมกับน้ำหนักที่บรรทุก (หรือที่เรียกว่า “Electronic Brake Force Distribution, EBD”) ซึ่งเป็นระบบที่เสริมเข้ากับระบบป้องกันการล็อคของล้อ (Anti-Lock Braking System, ABS) เพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการเบรกตามน้ำหนักบรรทุกของรถ ป้องกันการล็อคของล้อและไถลเสียหลักของรถได้  กรณีที่ 3) รถเสียหลักระหว่างเบรกทางโค้ง จากที่ได้กล่าวในหัวข้อที่ 2 แล้วนั้น แนวโน้มของการเคลื่อนที่เลี้ยวโค้งของรถที่ช่วงท้ายมีน้ำหนักมากคือ เหตุการณ์ “อันเดอร์สเตียริง” ซึ่งสามารถแก้ไขได้โดยการหมุนพวงมาลัยไปในทิศทางการเข้าโค้งเดิมให้มากยิ่งขึ้น เพื่อดึงให้ตัวรถกลับสู่องศาการเลี้ยวโค้งเดิม  ในกรณีที่ศึกษานี้ รถตู้จะถูกเบรกกะทันหันจากความเร็วสูงระหว่างการเลี้ยวโค้ง (ภาพที่ 6)  จากการที่ผู้ขับขี่เหยียบแป้นเบรกด้วยความแรงและรวดเร็ว จะส่งผลให้จานเบรกจับหรือดุมเบรกถูกจับด้วยแรงปริมาณมาก ทำให้ล้อที่ถูกเบรกหยุดหมุนไปชั่วขณะที่เรียกว่า “ล้อล็อค” และไถลโดยไม่หมุนไปกับพื้นถนน ซึ่งในระหว่างนี้เอง ล้อหลังที่หยุดหมุนไปชั่วขณะ ล้อจะไม่สามารถสร้างแรงต้านแรงกระทำภายนอกจากด้านข้าง(Lateral force) ใดๆ  ที่เกิดขึ้นในเวลานั้นๆ ได้ เช่น แรงที่เกิดจากลมพัด ผลที่เกิดขึ้นก็คือล้อหลังของรถจะปัด รถจะไถลไปในทิศทางตามแรงกระทำนั้นๆ และเสียการทรงตัวหรือไถลออกจากรัศมีเลี้ยวโค้งของถนน และเกิดอุบัติเหตุได้ในที่สุด สถานการณ์นี้ถือว่าเป็นสถานการณ์ที่เป็นอันตรายมาก และมีแนวโน้มจะเกิดขึ้นได้บ่อย โดยเฉพาะกับรถที่มีน้ำหนักหรือแรงกดที่ล้อหลังมาก อย่างรถตู้โดยสารสาธารณะ   ภาพที่ 6 การล็อคของล้อหลังและเสียหลักระหว่างการเบรกของรถ  แนวทางการแก้ไขโดยทั่วไป เหตุการณ์ล้อหลังล็อคและไถล จะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วเพียงเวลาไม่กี่วินาที ซึ่งเป็นการยากที่ผู้ขับขี่จะสามารถแก้ไขสถานการณ์ได้ทัน แนวทางป้องกันที่พอจะสามารถบรรเทาความรุนแรงได้ ก็คือจะเป็นการติดตั้งระบบ Electronic Stability Control (ESC) ซึ่งจะทำหน้าที่ควบคู่กับระบบ Anti-Lock Braking System (ABS) เพื่อป้องกันการล็อคไถลและเสียหลักของรถ รวมไปถึงการติดตั้งอุปกรณ์นิรภัย ประเภท Passive safety อย่างถุงลมนิรภัย เป็นต้น จากที่ได้บรรยายในบทความมาแล้วนั้น จะเป็นสถานการณ์เสี่ยงที่สามารถเกิดขึ้นได้กับรถยนต์ทุกประเภท โดยเฉพาะกับรถตู้โดยสารในกรณีที่ศึกษา รวมไปถึงแนวทางแก้ไขเชิงเทคนิคและในด้านการจัดการจากทัศนะของผู้เขียน ซึ่งแสดงในตารางที่ 2  หากมีผู้ตั้งถามว่าจะสามารถลดอุบัติเหตุลงได้จริงหรือไม่นั้น ก็ขอตอบว่าตามทฤษฏีแล้วสามารถทำได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากได้รับการสนับสนุนด้วยการเริ่มต้นแก้ไขตรงที่ปัจจัยหลักสามประการ ได้แก่ มนุษย์ ยานพาหนะ และสิ่งแวดล้อม   ตารางที่ 2: แนวทางการสร้างความปลอดภัยในการโดยสารรถตู้สาธารณะตามเกณฑ์การพิจารณาต่างๆ   จากข้อมูลข้างต้นสิ่งที่น่าจะเริ่มต้นได้ง่ายที่สุด เร็วที่สุด โดยไม่ต้องลงทุนลงแรงอะไร เมื่อเทียบกับแนวทางอื่นๆ และยังมีผลกระทบสูงมาก ก็คือการแก้ไขปัจจัยเสี่ยงที่เกิดจาก “มนุษย์” ไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรมคนขับหรือผู้โดยสารนั่นเอง ส่วนในทางปฏิบัตินั้น ย่อมไม่ใช่เรื่องง่ายอย่างแน่นอน   สำหรับผู้ที่โดยสารรถตู้เองนั้น “การเลือกความปลอดภัย” ในการโดยสารรถตู้สาธารณะ เริ่มพิจารณาได้ ตั้งแต่ก่อนที่จะขึ้นรถตู้โดยสารแต่ละคัน เช่น เลือกรถตู้ที่สภาพภายนอกดูไม่เก่าหรือมีอะไรชำรุด อย่าเลือกโดยสารรถตู้ที่จอดไม่ตรงจุด ไม่โดยสารรถตู้ที่รับผู้โดยสารเกินจำนวนเก้าอี้ ไม่โดยสารรถตู้ที่ไม่มีเข็มขัดนิรภัยในแต่ละที่นั่ง หลังจากที่ขึ้นรถแล้วก็คาดเข็มขัดนิรภัยและล็อคประตูข้างเสมอ   ในกรณีที่เป็นผู้ขับขี่ก็ควรให้คำแนะนำแก่ผู้โดยสาร อย่างไรก็ตามแม้ว่าแนวทางดังที่กล่าวนี้จะเป็นสิ่งที่ทำได้ง่าย แต่ในทางปฏิบัติจริง ยังมีคนจำนวนน้อยคำนึงถึงหรือปฏิบัติตาม ทั้งๆ ที่ความปลอดภัยนั้น เป็นสิ่งที่คุณหรือใครๆ ก็เลือกได้ เพียงแต่ว่าคุณจะเริ่มเมื่อไหร่เท่านั้นเอง   ข้อมูลและภาพประกอบอ้างอิง1. กรมการขนส่งทางบก 2. ศูนย์อำนวยความปลอดภัยทางถนนกรมป้องกันและบรรเทา สาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย3. Heißing, Bernd; Ersoy, Metin: Fahrwerkhandbuch - Grundlagen, Fahrdynamik, Komponenten, Systeme, Mechatronik, Perspektiven. Wiesbaden: Vieweg/Teubner, 2008.

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 122 ใครๆ ก็อยากมีรถโดยสารที่มีคุณภาพ

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค(มพบ.) ร่วมกับเครือข่ายผู้บริโภค 24 จังหวัด โดยการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้ดำเนินการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อการใช้บริการรถโดยสารสาธารณะประจำทางในท้องถิ่นเส้นทางภายในจังหวัดและเส้นทางระหว่างจังหวัด ในช่วงระหว่างวันที่ 26 มีนาคม – 8 เมษายน 2554 พบว่า ผู้บริโภคมีปัญหาเรื่องพนักงานขับรถ ขับเร็ว หรือขับรถหวาดเสียว และพนักงานขับรถโดยสารใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่สนทนาระหว่างปฏิบัติหน้าที่สูงสุด นอกจากนี้ยังพบว่า เวลาที่ผู้บริโภคจะคืนตั๋วเมื่อไม่สามารถเดินทางได้ เกือบ 50 % ไม่ได้เงินคืน แต่...ผู้บริโภคเกือบ 90 % ไม่เคยใช้สิทธิร้องเรียนเมื่อเกิดปัญหาจากคุณภาพและงานบริการของรถโดยสารเลย   ผลสำรวจความคิดเห็น • รถประจำทางวิ่งในจังหวัด1.บริการยอดนิยม อันดับหนึ่ง รถสองแถว 44.8 % ตามมาด้วย รถทัวร์โดยสารปรับอากาศ 35.4 % รถเมล์(ไม่ปรับอากาศ) 33.9 % และรถตู้ 24.4 %   2.คุณภาพงานบริการ 2.1 ความถี่ในการรับตั๋วหลังจ่ายค่าโดยสาร ใน 100 คน ไม่เคยได้ตั๋วเลย 9 คน ผลสำรวจ ไม่เคยได้รับตั๋วโดยสารหรือไม่มีบัตรอื่นใดให้เลย 35 % ได้รับตั๋วโดยสารทุกครั้ง 34.4 % ได้รับเป็นบางครั้ง 22.1 % และไม่ได้รับตั๋ว แต่ได้รับเป็นบัตรหมายเลขแทน 8.5 %2.2 การระบุราคาและหมายเลขที่นั่งไว้อย่างชัดแจน ใน 100 คน มี 21 คนที่ไม่เคยเห็นราคาและเลขที่นั่งบนตั๋ว ผลสำรวจ มีการระบุราคาและหมายเลขที่นั่ง 37 % มีการระบุราคาแต่ไม่ระบุหมายเลขที่นั่ง 32.3 % ไม่มีการระบุราคาและไม่ระบุหมายเลขที่นั่ง 20.5 % ไม่มีการระบุราคาแต่ระบุหมายเลขที่นั่ง 10.2 %2.3 การเก็บค่าโดยสาร ครึ่งหนึ่ง โอเคและคิดว่าเหมาะสม มี 19 % ที่บอกแพงเกินไปผลสำรวจ เห็นว่า ถูกต้อง เหมาะสม 50.6 % ไม่แน่ใจเพราะ ไม่ทราบว่าอัตราค่าโดยสารเป็นเท่าไหร่ 30.9 % ถูกต้อง แต่ไม่เหมาะสมเพราะแพงเกินไป 18.5 % 2.4 การขอเงินค่าโดยสารคืนเมื่อจ่ายเงินค่าโดยสารแล้ว แต่ไม่สามารถเดินทางได้ มีถึง 46 % บอกว่า ไม่เคยขอคืนได้เลย ผลสำรวจ ขอไม่ได้เลย 46.1 % ขอได้และได้เงินคืนครบถ้วน 30.6 % ขอได้เหมือนกัน แต่ได้เงินคืนไม่ครบ 23.3 %2.5 การติดประกาศแจ้งถึงข้อมูล เงื่อนไขในการให้บริการของรถโดยสาร ณ จุดพักรถ เกือบครึ่งหนึ่ง ไม่เคยเห็นประกาศใดๆ เลยผลสำรวจ ไม่มีการติดประกาศ 43.3 % มีติดประกาศ ในบริเวณที่เห็นได้ในชัดเจน 32.8 % มีติดประกาศ แต่ไม่อยู่ในบริเวณที่จะเห็นได้อย่างชัดชัดเจน 23.9 % 2.6 บริการของพนักงานประจำรถโดยสาร มากกว่าครึ่งหนึ่ง พอรับได้ (สงสัยชิน)ผลสำรวจ พึงพอใจปานกลาง 64.9 % พึงพอใจน้อย 21.3 % พึงพอใจมาก 10.6 % และไม่พึงพอใจเลย3.2 % 2.7 เคยโดยพนักงานประจำรถ แสดงกริยาไม่สุภาพ เช่น ลวนลาม เสียดสี ข่มขู่ กรรโชก ใน 100 คน มี 35 คนที่เคยโดนมาแล้ว ผลสำรวจ เคย 34.8 % ไม่เคย 65.2 %   3. ความปลอดภัยและการเยียวยาความเสียหาย เรื่องของพนักงานขับรถ 3.1 พนักงานขับรถโดยสาร มีการแสดงป้ายใบอนุญาตการขับขี่ไว้ในรถโดยสารสาธารณะหรือไม่ ใน 100 คน มี 35 คน ตอบว่า ไม่แน่ใจ ผลสำรวจ มี 38.1 % ไม่แน่ใจ 35.2 % ไม่มี 26.7 % 3.2 เคยเห็นพนักงานขับรถเม้าท์มือถือระหว่างขับรถไหม 80 % เห็นมากับตา ผลสำรวจ เคยพบ 80.8 % ไม่เคยพบ 19.2 % เคยพบใช้โทรศัพท์สนทนาโดยใช้มือจับ  53.4 % เคยพบใช้ในขณะที่รถจอด  13.2 % เคยพบใช้โดยเสียบผ่านหูฟัง (Small talk)  11.6 % และ ไม่แน่ใจ 2.7 % 3.3 เคยเจอพนักงานขับรถ ขับเร็ว น่ากลัว หวาดเสียวไหม ผู้บริโภค 75 % มีประสบการณ์ระทึกมาแล้ว ทั้งนั้น โดยมี 28 % เจอประจำ ผลสำรวจ เคย 75.2 % ไม่เคย 20.8 % เคยเป็นบางครั้ง 36.3 % เคยบ่อยมาก 28 % เคยนานๆครั้ง 14.4 % และไม่แน่ใจ  4 % (สงสัยว่าหลับ) 3.4 เคยเจอพนักงานขับรถเมาขณะขับรถไหม 63 % ไม่เคยเห็นคนขับเมาเลย ผลสำรวจ เคยพบ 15.7 % ไม่เคยพบ 62.7 % และไม่แน่ใจ 21.6 % (คงเนียนมาก) 3.5 เคยเจอคนขับรถสูบบุหรี่ขณะขับไหม เกือบ 40 % เคยเจอเหมือนกัน ผลสำรวจ เคยพบ 39 % ไม่เคยพบ 47.4 % ไม่แน่ใจ 13.6 % 3.6 เคยพบพนักงานขับรถมีอาการง่วงหรือหลับในขณะขับรถหรือไม่ มากกว่าครึ่งหนึ่งยังไม่เคยเจอ (โชคดีจัง) ผลสำรวจ เคยพบ 18 % ไม่เคยพบ 54.2 % ไม่แน่ใจ 27.8 % 3.7 เคยพบรถโดยสารที่จอดรับผู้โดยสารนอกจุดรับส่งที่กำหนดหรือไม่ ผลสำรวจ เคยพบ 53.3 % ไม่เคยพบ 25.5 % ไม่แน่ใจ เพราะไม่รู้ตำแหน่งจุดจอดที่กำหนด 21.2 % 3.8 เคยพบรถโดยสารที่ขับช้าเกินควรหรือขับกีดขวางทางรถคันอื่นไหม ขับเร็วก็เจอมาแล้ว ขับช้าก็ต้องมีบ้าง เกือบครึ่งหนึ่งก็เจออยู่บ้าง ผลสำรวจ เคยพบ 48.2 % ไม่เคยพบ 51.8 % เรื่องสภาพรถโดยสาร3.9 รถโดยสารที่ท่านใช้บริการมีเข็มขัดนิรภัย หรือไม่ ผลสำรวจ พบว่า มี 57.6 % ไม่มี 42.4 % 3.10 เข็มขัดนิรภัยอยู่ในสภาพที่เหมาะสมกับการใช้งานหรือไม่ ผลสำรวจ เหมาะสม 55.2 % ไม่เหมาะสม (พันไว้หลังที่นั่ง , สายสั้น ,สายขาด , ไม่มีหัวคาด ฯลฯ) 44.8 % 3.11  เคยพบรถโดยสารที่ผู้โดยสารต้องยืนโดยสารเพราะไม่มีที่นั่งพอหรือไม่ผลสำรวจ เคย 74.4 % ไม่เคยพบ 25.6 % 3.12 เห็นด้วยหรือไม่ที่ผู้โดยสารต้องยืนโดยสารบนรถโดยสารผลสำรวจ ไม่เห็นด้วย 79 % เห็นด้วย 16.5 % และ ไม่แน่ใจ 0.5 % 3.13 รู้ไหมว่า ป้ายทะเบียนของรถโดยสารสาธารณะจะต้องใช้ป้ายทะเบียนสีเหลืองตัวอักษรสีดำตามกฎหมายกำหนดเท่านั้นผลสำรวจ รู้ 60 % ไม่รู้ 40 % 3.14 แล้วรถโดยสารที่ท่านใช้บริการส่วนใหญ่เป็นป้ายทะเบียนสีเหลือง สำหรับขนส่งผู้โดยสารใช่หรือไม่ ผลสำรวจ ใช่ 57.8 % ไม่ใช่ 34.5 % ไม่แน่ใจ 7.7 % 3.15 สภาพรถโดยสารที่ท่านใช้บริการส่วนใหญ่ มีสภาพมั่นคงแข็งแรงหรือไม่ผลสำรวจ สภาพมั่นคงแข็งแรง เหมาะสมกับการใช้งาน 70.0 % สภาพเก่า ทรุดโทรม ไม่เหมาะกับการใช้งาน 30.0 % 3.16 รถโดยสารที่ท่านใช้บริการส่วนใหญ่ มีสภาพภายใน สะอาด ไม่มีกลิ่นเหม็น เหมาะสมกับการใช้บริการหรือไม่ ส่วนใหญ่สะอาดใช้ได้เลย ผลสำรวจ สะอาด ไม่มีกลิ่นไม่พึงประสงค์ 70.3 % ไม่สะอาด สกปรก ทรุดโทรม มีกลิ่นไม่พึงประสงค์ 29.7 %   เรื่องการชดเชยเยียวยาความเสียหาย 3.17 เคยประสบอุบัติเหตุจากการใช้บริการรถโดยสารวิ่งในจังหวัดหรือไม่ ผลสำรวจ ไม่เคย 89 % เคย 11 % 3.18 เคยเจอรถเสียระหว่างเดินทางไหม ผลสำรวจ ไม่เคย 59.9 % เคยสิ 40.1 % 3.19 ถ้าเกิดปัญหาจากการใช้บริการ เคยร้องเรียนไหม เกือบ 88 % ไม่เคยใช้สิทธิเลย(เศร้าจัง) ผลสำรวจ ไม่เคย 87.5 % เคย 12.5 % 3.20 ช่องทางที่ผู้บริโภครู้ว่า ถ้าเกิดปัญหาเรื่องรถโดยสารจะร้องเรียนได้ที่ไหน ผลสำรวจ ผู้ประกอบการ  68.6 % บริษัทประกันภัย 45.5 % กรมการขนส่งทางบก 43 %โรงพยาบาล 11.6 % มูลนิธิ องค์กรทางสังคม 10.9 % และสื่อมวลชน 6.8 % 3.21 รถโดยสารที่ท่านโดยสารมานั้นได้มีการแจ้งความคุ้มครองในการประกันภัยตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ หรือไม่ผลสำรวจ ไม่แจ้ง 60.8 % แจ้ง 39.2 % 3.22 รถโดยสารที่ท่านโดยสารมานั้นได้มีการแจ้งความคุ้มครองในการประกันภัยตามประกันภัยรถเพิ่มเติม หรือไม่ผลสำรวจ ไม่มีแจ้ง 65.9 % มีแจ้ง 34.1 %   4.การกำกับดูแล การมีส่วนร่วมของภาคประชาชน 4.1 คิดว่าการกำกับดูแลคุณภาพบริการรถโดยสารสาธารณะของหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องมีประสิทธิภาพมากน้อยเพียงใดผลสำรวจ ปานกลาง 52.7 % น้อย 31.5 % มาก 15.8 % 4.2 คิดว่า ควรเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการกำกับคุณภาพบริการรถโดยสารสาธารณะหรือไม่ผลสำรวจ สมควร 94.4 % ไม่สมควร 5.6 % 4.3 คิดว่า ประชาชนสามารถมีส่วนร่วมในการกำกับดูแลด้านคุณภาพและความปลอดภัยของบริการรถโดยสารด้วยช่องทางใดบ้าง ผลสำรวจ จัดตั้งศูนย์รับเรื่องร้องเรียน 75.9 % จัดตั้งหน่วยเฝ้าระวัง และรายงาน พฤติกรรมของผู้ประกอบการเจ้าของรถ พนักงานขับรถ พนักงานเก็บเงิน 60.7 % มาร่วมกำหนดนโยบาย มาตรการ เช่น บทลงโทษผู้กระทำความผิดซ้ำ และไม่แก้ไข 53.2 % เป็นอาสาสมัคร ให้ข้อมูลเรื่องสิทธิของผู้ใช้บริการรถโดยสารสาธารณะ 40.4 % --   • รถประจำทางวิ่งระหว่างจังหวัด1.บริการยอดนิยม อันดับหนึ่ง รถทัวร์โดยสารปรับอากาศ 54.3 % รถตู้ 36.2 % รถเมล์ (ไม่ปรับอากาศ) 33.7 %รถสองแถว 17.1 %   2.คุณภาพงานบริการ 2.1 ความถี่ในการรับตั๋วหลังจ่ายค่าโดยสาร ใน 100 คน ไม่เคยได้ตั๋วเลย 13 คน ผลสำรวจ ได้รับตั๋วโดยสารทุกครั้ง  58.6 % ได้รับเป็นบางครั้ง 24.7 % ไม่เคยได้รับตั๋วโดยสารหรือไม่มีบัตรอื่นใดให้เลย 12.3 % ไม่ได้รับตั๋ว แต่ได้รับเป็นบัตรหมายเลขแทน 4.4 %2.2 การระบุราคาและหมายเลขที่นั่งไว้อย่างชัดแจน ผลสำรวจ มีการระบุราคา และหมายเลขที่นั่ง 47.9 % มีการระบุราคา แต่ไม่ระบุหมายเลขที่นั่ง 34.2 % ไม่มีการระบุราคา และไม่ระบุหมายเลขที่นั่ง 11 % ไม่มีการระบุราคา แต่ระบุหมายเลขที่นั่ง 6.9 %2.3 การเก็บค่าโดยสาร ครึ่งหนึ่ง โอเคและคิดว่าเหมาะสม ผลสำรวจ ถูกต้อง เหมาะสม 55.1 % ถูกต้อง แต่ไม่เหมาะสมเพราะแพงเกินไป 15.6 % ไม่แน่ใจเพราะ ไม่ทราบว่าอัตราค่าโดยสารเป็นเท่าไหร่ 29.3 % 2.4 การขอเงินค่าโดยสารคืนเมื่อจ่ายเงินค่าโดยสารแล้ว แต่ไม่สามารถเดินทางได้ มีถึง 40 % บอกว่า ไม่เคยขอคืนได้เลย ผลสำรวจ ขอไม่ได้เลย 39.2 % ขอได้และได้เงินคืนครบถ้วน 31.9 % ขอได้ แต่ได้เงินคืนไม่ครบถ้วน 28.9 % 2.5 การติดประกาศแจ้งถึงข้อมูล เงื่อนไขในการให้บริการของรถโดยสาร ณ จุดพักรถ เกือบครึ่งหนึ่ง เคยเห็นประกาศใดๆ เลยผลสำรวจ มีติดประกาศ ในบริเวณที่เห็นได้ในชัดเจน 42.7 % ไม่มีการติดประกาศ 31.3 % มีติดประกาศ แต่ไม่อยู่ในบริเวณที่จะเห็นได้อย่างชัดชัดเจน 26 % 2.6 บริการของพนักงานประจำรถโดยสาร 72.5 พอรับได้ (สงสัยชิน)ผลสำรวจ พึงพอใจปานกลาง 72.5 % พึงพอใจน้อย 13.8 % พึงพอใจมาก 10.9 % ไม่พึงพอใจเลย 2.8 % 2.7 เคยโดยพนักงานประจำรถ แสดงกริยาไม่สุภาพ เช่น ลวนลาม เสียดสี ข่มขู่ กรรโชก ใน 100 คน มี 35 คนที่เคยโดนมาแล้ว ผลสำรวจ เคย 35 % ไม่เคย 65 % 3. ความปลอดภัยและการเยียวยาความเสียหาย เรื่องของพนักงานขับรถ 3.1 พนักงานขับรถโดยสาร มีการแสดงป้ายใบอนุญาตการขับขี่ไว้ในรถโดยสารสาธารณะหรือไม่ ใน 100 คน มี 40 คน ตอบว่า ไม่แน่ใจ ผลสำรวจ มี 42.7 % ไม่แน่ใจ 39.9 % ไม่มี 17.4 % 3.2 เคยเห็นพนักงานขับรถเม้าท์มือถือระหว่างขับรถไหม เกือบ 80 % เห็นมากับตา ผลสำรวจ เคยพบ 78.9 % ไม่เคยพบ 21.1 % เคยพบใช้โดยเสียบผ่านหูฟัง (Small talk) 11.9 % เคยพบใช้ในขณะที่รถจอด 10.5 % เคยพบใช้โทรศัพท์สนทนาโดยใช้มือจับ 53 % ไม่แน่ใจ 3.5 % 3.3 เคยเจอพนักงานขับรถ ขับเร็ว น่ากลัว หวาดเสียวไหม ผู้บริโภค 73 % มีประสบการณ์ระทึกมาแล้ว ทั้งนั้น ผลสำรวจ เคย 72.9 % ไม่เคย 27.1 % เคยเป็นบางครั้ง 34.5 % เคยบ่อยมาก 19.5 % เคยนานๆ ครั้ง 14.4 % ไม่แน่ใจ 4.6 % 3.4 เคยเจอพนักงานขับรถเมาขณะขับรถไหม 67 % ไม่เคยเห็นคนขับเมาเลย ผลสำรวจ เคยพบ 14.5 % ไม่เคยพบ 66.8 % ไม่แน่ใจ 18.7 3.5 เคยเจอคนขับรถสูบบุหรี่ขณะขับไหม 33.5 % เคยเจอเหมือนกัน ผลสำรวจ เคยพบ 33.5 % ไม่เคยพบ 56.6 % ไม่แน่ใจ 9.9 % 3.6 เคยพบพนักงานขับรถมีอาการง่วงหรือหลับในขณะขับรถหรือไม่ ผลสำรวจ เคยพบ 15.9 % ไม่เคยพบ 61.8 % ไม่แน่ใจ 22.3 % 3.7 เคยพบรถโดยสารที่จอดรับผู้โดยสารนอกจุดรับส่งที่กำหนดหรือไม่ ผลสำรวจ เคยพบ 49.7 % ไม่เคยพบ 30.2 % ไม่แน่ใจ เพราะไม่รู้ตำแหน่งจุดจอดที่กำหนด 20.1 % 3.8 เคยพบรถโดยสารที่ขับช้าเกินควรหรือขับกีดขวางทางรถคันอื่นไหม ขับเร็วก็เจอมาแล้ว ขับช้าก็ต้องมีบ้าง ผลสำรวจ เคยพบ 36.6 % ไม่เคยพบ 63.4 % เรื่องสภาพรถโดยสาร3.9 รถโดยสารที่ท่านใช้บริการมีเข็มขัดนิรภัย หรือไม่ ผลสำรวจ พบว่า มี 66.4 % ไม่มี 33.4 %3.10 เข็มขัดนิรภัยอยู่ในสภาพที่เหมาะสมกับการใช้งานหรือไม่ ผลสำรวจ เหมาะสม 52.8 % ไม่เหมาะสม (พันไว้หลังที่นั่ง , สายสั้น ,สายขาด , ไม่มีหัวคาด ฯลฯ) 47.2 %3.11  เคยพบรถโดยสารที่ผู้โดยสารต้องยืนโดยสารเพราะไม่มีที่นั่งพอหรือไม่ผลสำรวจ เคยพบ 71.1 % ไม่เคยพบ 28.9 %3.12 เห็นด้วยหรือไม่ที่ผู้โดยสารต้องยืนโดยสารบนรถโดยสารผลสำรวจ ไม่เห็นด้วย 83.5 % เห็นด้วย 11.3 % ไม่แน่ใจ 5.1 %3.13 รู้ไหมว่า ป้ายทะเบียนของรถโดยสารสาธารณะจะต้องใช้ป้ายทะเบียนสีเหลืองตัวอักษรสีดำตามกฎหมายกำหนดเท่านั้นผลสำรวจ ทราบ 62.7 % ไม่ทราบ 37.3 %3.14 แล้วรถโดยสารที่ท่านใช้บริการส่วนใหญ่เป็นป้ายทะเบียนสีเหลือง สำหรับขนส่งผู้โดยสารใช่หรือไม่ ผลสำรวจ ใช่ 59.9 % ไม่ใช่ 8.0 % ไม่แน่ใจ 32.1 %3.15 สภาพรถโดยสารที่ท่านใช้บริการส่วนใหญ่ มีสภาพมั่นคงแข็งแรงหรือไม่ผลสำรวจ มั่นคงแข็งแรง เหมาะสมกับการใช้งาน 72.1 % สภาพเก่า ทรุดโทรม ไม่เหมาะกับการใช้งาน 24.2 % 3.16 รถโดยสารที่ท่านใช้บริการส่วนใหญ่ มีสภาพภายใน สะอาด ไม่มีกลิ่นเหม็น เหมาะสมกับการใช้บริการหรือไม่ ส่วนใหญ่สะอาดใช้ได้เลย ผลสำรวจ สะอาด ไม่มีกลิ่นไม่พึงประสงค์ 71.8 % ไม่สะอาด สกปรก ทรุดโทรม มีกลิ่นไม่พึงประสงค์ 27.1 %   เรื่องการชดเชยเยียวยาความเสียหาย 3.17 เคยประสบอุบัติเหตุจากการใช้บริการรถโดยสารวิ่งในจังหวัดหรือไม่ ผลสำรวจ ไม่เคย  89.4 % เคย 10.6 % 3.18 เคยเจอรถเสียระหว่างเดินทางไหม ผลสำรวจ ไม่เคย  59.9 % เคย 40.1 % 3.19 ถ้าเกิดปัญหาจากการใช้บริการ เคยร้องเรียนไหม เกือบ 89 % ไม่เคยใช้สิทธิเลย(เศร้าจัง) ผลสำรวจ ไม่เคย 88.8 % เคย 11.2 % 3.20 ช่องทางที่ผู้บริโภครู้ว่า ถ้าเกิดปัญหาเรื่องรถโดยสารจะร้องเรียนได้ที่ไหน ผลสำรวจ ผู้ประกอบการ 69.1 % กรมการขนส่งทางบก 46.8 % มูลนิธิ องค์กรทางสังคม 7.2 %โรงพยาบาล 6.6 % บริษัทประกันภัย 42 % สื่อมวลชน 4 %3.21 รถโดยสารที่ท่านโดยสารมานั้นได้มีการแจ้งความคุ้มครองในการประกันภัยตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ หรือไม่ผลสำรวจ ไม่แจ้ง 59.4 % แจ้ง 40.6 %3.22 รถโดยสารที่ท่านโดยสารมานั้นได้มีการแจ้งความคุ้มครองในการประกันภัยตามประกันภัยรถเพิ่มเติม หรือไม่ผลสำรวจ ไม่มีแจ้ง 67.8 % มีแจ้ง 32.2 % 4.การกำกับดูแล การมีส่วนร่วมของภาคประชาชน 4.1 คิดว่าการกำกับดูแลคุณภาพบริการรถโดยสารสาธารณะของหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องมีประสิทธิภาพมากน้อยเพียงใดผลสำรวจ ปานกลาง 59.1 % น้อย 28.1 % มาก 12.7 % 4.2 คิดว่า ควรเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการกำกับคุณภาพบริการรถโดยสารสาธารณะหรือไม่ ผลสำรวจ สมควร 92.8 % ไม่สมควร 7.2 % 4.3 คิดว่า ประชาชนสามารถมีส่วนร่วมในการกำกับดูแลด้านคุณภาพและความปลอดภัยของบริการรถโดยสารด้วยช่องทางใดบ้าง ผลสำรวจ จัดตั้งศูนย์รับเรื่องร้องเรียน 72.6% จัดตั้งหน่วยเฝ้าระวัง และรายงาน พฤติกรรมของผู้ประกอบการ เจ้าของรถ พนักงานขับรถ พนักงานเก็บเงิน 68.4 % ร่วมกำหนดนโยบาย มาตรการ เช่น บทลงโทษผู้กระทำวามผิดซ้ำ และไม่แก้ไข 51.6 % เป็นอาสาสมัคร ให้ข้อมูลเรื่องสิทธิของผู้ใช้บริการรถโดยสารสาธารณะ 35.8 %   วิธีการสำรวจ เนื้อหาของแบบสำรวจส่วนที่ 1 ข้อมูลทั่วไปของผู้ตอบแบบสอบถาม ส่วนที่ 2 คุณภาพบริการและมาตรฐานรถโดยสารสาธารณะส่วนที่ 3 สิทธิเรื่องความปลอดภัยและการเยียวยาความเสียหาย ส่วนที่ 4 การกำกับดูแล และการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ส่วนที่ 5 ข้อเสนอแนะเพิ่มเติม  โดยผู้ตอบจะต้องมีอายุ 18 ปีขึ้นไป อาศัยอยู่ในเขตจังหวัดเป้าหมายที่ทำการสำรวจ และเป็นผู้ใช้บริการรถโดยสารสาธารณะ  จังหวัดที่ทำการสำรวจจำนวน 24 จังหวัด ใน 5 ภูมิภาค ได้แก่ ภาคเหนือ 7 จังหวัด คือ เชียงใหม่ พะเยา ลำปาง เชียงราย แพร่ เพชรบูรณ์ พิจิตร ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 5 จังหวัด คือ ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ สกลนคร ภาคใต้ 6 จังหวัด คือ ชุมพร สุราษฎร์ธานี ตรัง สตูล สงขลา พัทลุง ภาคกลาง ตะวันออก ตะวันตก รวม 7 จังหวัด คือสระบุรี ตราด สมุทรสงคราม สมุทรสาคร ประจวบคีรีขันธ์ ราชบุรี และกาญจนบุรี  ทำการสำรวจทั้งสิ้นจำนวน 1,310 ชุด โดยเป็นการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนที่ใช้บริการรถโดยสารประจำทางที่วิ่งในจังหวัดจำนวน 562 คน และเป็นเส้นทางระหว่างจังหวัด 748 คน -------------------------------------------------------------------- สิทธิของผู้บริโภคบริการรถสาธารณะ1. ผู้โดยสารมีสิทธิร้องเรียนหรือฟ้องร้องเพื่อให้ผู้ให้บริการหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการแก้ไขปัญหา เยียวยา หรือชดใช้ความเสียหายที่เกิดขึ้น 2. ผู้โดยสารมีสิทธิที่จะได้รับการชดใช้ความเสียหายจากการประกันภัยโดยไม่มีการประวิงเวลา หรือบังคับให้ประนีประนอมยอมความ 3. ผู้โดยสารมีสิทธิที่จะได้รับการชดใช้ความเสียหายทั้งทางร่างกาย อนามัย เสรีภาพ ทรัพย์สิน และสิทธิอื่น ๆ ที่ถูกละเมิด 4. ผู้โดยสารมีสิทธิที่จะได้รับการชดใช้ความเสียหายด้วยหลักแห่งพฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิด 5. ผู้โดยสารมีสิทธิที่จะรวมตัวกันเพื่อพิทักษ์สิทธิของตนและของผู้อื่น 6. ผู้โดยสารมีสิทธิที่จะได้รับความปลอดภัยจากการใช้บริการรถโดยสาร 7. ผู้โดยสารมีสิทธิที่จะได้รับการบริการจากรถโดยสารและผู้ให้บริการที่มีคุณภาพมาตรฐาน 8. ผู้โดยสารมีสิทธิที่จะได้รับข้อมูลข่าวสารรวมทั้งคำพรรณนาคุณภาพเกี่ยวกับบริการรถโดยสาร รวมทั้งความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัย ที่ถูกต้องเป็นจริง ครบถ้วน เพียงพอต่อการตัดสินใจใช้บริการ 9. ผู้โดยสารมีสิทธิที่จะได้รับความเป็นธรรมในด้านสัญญา และราคาค่าบริการ 10. ผู้โดยสารมีอิสระในการเลือกใช้บริการรถโดยสารด้วยความสมัครใจ และปราศจากการชักจูงใจอันไม่เป็นธรรม --------------------------------------------------------------------

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point