ฉบับที่ 175 กระแสต่างแดน

ของต้องห้ามกฎหมายอินโดนีเซียระบุให้สถานที่สาธารณะ สถานพยาบาล สถานศึกษา สนามเด็กเล่น สถานีขนส่ง และสถานที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา เป็นสถานที่ปลอดบุหรี่ แต่เรื่องราวมันไม่ง่ายอย่างนั้นคุณแม่รายหนึ่งโพสต์เล่าเรื่องของเธอในเว็บไซต์ www.change.org ว่าขณะที่เธอและลูกน้อยวัยขวบกว่าๆ กำลังนั่งทานอาหารอยู่ที่ร้านกาแฟเจโค ในห้างลิปโปมอลล์ กรุงจาการ์ตานั้น มีลูกค้าผู้ชายคนหนึ่งเข้ามาบอกให้เธอพาลูกไปนั่งที่อื่น เพราะเขาต้องการสูบบุหรี่ เธอแจ้งกับพนักงานร้านแต่กลับได้รับคำยืนยันว่า “ไม่ต้องห่วง การระบายอากาศของร้านเราดีเลิศ”เธอส่งคำร้องไปยังร้านกาแฟเจโค ห้างลิปโป รวมถึงผู้ว่าราชการเมืองจาการ์ตา ให้ลงมือทำอะไรสักอย่างได้แล้ว และคำร้องนี้มีคนร่วมลงชื่อไม่ต่ำกว่า 38,000 คน       และนั่นนำไปสู่การสำรวจของ Jakarta Environmental Management Agency ที่ได้ข้อค้นพบอันน่าตื่นตะลึงว่าร้อยละ 90 ของศูนย์การค้าและห้างร้านต่างๆ ในเมืองนี้ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายเรื่องการติดประกาศกำหนดพื้นที่ปลอดบุหรี่ อาจตื่นตัวช้าไปบ้าง แต่ขณะนี้ทางการได้ออกประกาศว่าจะเข้มงวดกับผู้ประกอบการที่ลืมติดป้าย “ห้ามสูบบุหรี่” ให้มากขึ้น และผู้ฝ่าฝืนซ้ำซากจะได้รับโทษหนักกว่าเดิมแน่นอน     Fast Fashion, Slow Recycling  เมื่อเสื้อผ้าราคาถูกลง ผู้บริโภคก็มีแนวโน้มจะซื้อเสื้อผ้าใหม่บ่อยขึ้น ปรากฏการณ์นี้ยืนยันได้ด้วยยอดขายเสื้อผ้าทั่วโลกที่เพิ่มสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์  คำถามคือ ในอนาคตเราจะมีวัตถุดิบ (ซึ่งส่วนใหญ่คือฝ้ายที่ต้องอาศัยน้ำและสารเคมีปริมาณมหาศาลในการปลูก) เพียงพอต่อความต้องการหรือไม่แบรนด์เสื้อผ้าหลายเจ้า เช่น Marks and Spencer และ H&M เริ่มแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมด้วยโครงการรับเสื้อผ้าเก่ากลับมารีไซเคิลแต่ปัญหาคือเทคโนโลยีการรีไซเคิลใยฝ้ายในปัจจุบันยังไม่ดีพอ มีเพียงร้อยละ 20 ของใยฝ้ายจากเสื้อผ้าสำเร็จรูปเท่านั้นที่นำมาใช้ในการผลิตเสื้อผ้าตัวใหม่ได้ เพราะกระบวนการตัดเพื่อรีไซเคิลทำให้ได้เส้นใยที่สั้นลง นี่ยังไม่นับว่าเรายังไม่มีวิธีจัดการกับเสื้อผ้าที่ประกอบขึ้นด้วยเส้นใยต่างชนิดกันด้วยคาร์ล โจฮาน เพอซัน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ H&M บอกว่าบริษัทจะตั้งงบประมาณปีละ 1 ล้านยูโรเพื่อการวิจัยหาเทคนิคใหม่ๆ ในการรีไซเคิลเส้นใยโดยไม่ทำให้มันเสื่อมคุณภาพอย่างไรก็ตามหลายฝ่ายมองว่านี่อาจเป็นการแก้ปัญหาที่ยังไม่ตรงประเด็น ... มันจะไม่ดีกว่าหรือถ้าเราออกแบบให้เสื้อผ้าให้สามารถใช้งานได้นานขึ้นก่อนจะเสื่อมสภาพหรือเสื่อมความนิยมไปถึงเวลาของ Slow fashion แล้วกระมัง ...      อาหารดีต้องมีที่มาถ้าได้รู้ว่าของกินที่ไหนอร่อย แม้ราคาจะสูงไปบ้าง ผู้บริโภคส่วนใหญ่ก็ยินดีจ่าย แต่ปัญหามันอยู่ที่ เราไม่มีโอกาสได้รู้นี่สิ สมาชิกคนหนึ่งเสนอร่างกฎหมายต่อวุฒิสภาออสเตรเลียว่าด้วยการให้ร้านอาหารเปิดเผยที่มาของวัตถุดิบอาหารทะเล เพื่อช่วยให้ผู้บริโภคได้สนับสนุนกิจการประมงในประเทศ และได้รู้ว่ากุ้ง หอย ปู ปลา ที่รับประทานนั้นสดสะอาด ได้มาด้วยวิธีที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมและไม่ผิดกฎหมายหรือไม่เรื่องนี้เรื่องใหญ่เพราะปัจจุบันคนออสเตรเลียนิยมบริโภคอาหารทะเลกันมากขึ้น และงานวิจัยก็พบว่าร้อยละ 70 ของคนออสซี่ชอบอาหารทะเลที่หาได้ในประเทศมากกว่าอาหารนำเข้า ความจริงแล้วไม่ใช่แค่เรื่องอาหาร ร้อยละ 90 ของผู้คนที่นั่นยินดีจะซื้อสินค้าที่ระบุว่า “ทำในออสเตรเลีย” มากกว่าสินค้านำเข้าด้วยน่าเสียดายที่ร้อยละ 75 ของอาหารทะเลที่ขายตามร้านอาหารในออสเตรเลียถูกนำเข้าจากต่างประเทศ เช่น ปลากะพงจากเวียดนาม อินโดนีเซีย และซาอุดิอาราเบีย  ปลาปนเปื้อนยาปฏิชีวนะจากเอเชีย (ข่าวไม่ได้ระบุว่าประเทศไหน) แล้วยังมีเนื้อปลาที่ขายในร้านฟิชแอนด์ชิปส์ที่ได้มากจากปลาฉลามอีก สุดท้ายแล้ววุฒิสมาชิกออสเตรเลียมีมติไม่เห็นด้วยกับการออกกฎหมายดังกล่าว “เมนูปลาวันนี้” จึงบอกอะไรผู้บริโภคไม่ได้เหมือนเดิม  สงครามแอพยานเด็กซ์ เว็บค้นหาข้อมูลอันดับหนึ่งของรัสเซียร้องเรียนต่อหน่วยงานต่อต้านการผูกขาดทางธุรกิจ ขอให้ตรวจสอบพฤติกรรมของกูเกิ้ลที่ใช้อำนาจการตลาดในรัสเซียเอาเปรียบคู่แข่งผ่านแอพฯเพราะทุกวันนี้ ผู้บริโภคที่ซื้อโทรศัพท์ที่มีระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ จะได้แอพลิเคชั่นจากกูเกิ้ลพ่วงไปด้วย ทำให้กูเกิ้ลถูกตั้งให้เป็นเว็บค้นหาหลักประจำเครื่องและมีไอคอนอยู่บนหน้าจอโดยอัตโนมัติ นั่นหมายความว่ายานเด็กซ์กำลังจะเสียลูกค้าให้กับกูเกิ้ลเป็นจำนวนไม่น้อย หน่วยงานดังกล่าวฟันธงแล้วว่า กูเกิ้ลกระทำผิดตามที่มีผู้ร้องเรียนจริง ความผิดดังกล่าวมีโทษปรับร้อยละ 15 ของรายได้ของกูเกิ้ลรัสเซียในปี 2014 ทั้งนี้เขายังไม่เปิดเผยรายได้ดังกล่าวเพราะถือเป็นความลับทางการค้า อย่างไรก็ตาม ในปี 2014 กูเกิ้ลมีรายได้รวมทั่วโลก 66,000 ล้านเหรียญ และรัสเซียเป็นตลาดใหญ่อันดับ 4 ของบริษัท นอกจากรัสเซียแล้ว กูเกิ้ลกำลังเผชิญกับข้อหาเดียวกันนี้ในสหภาพยุโรปเช่นกัน  “ติ๊งติ๊ง”ได้ไปต่อ ฮ่องกงก็ประสบปัญหารถติดเช่นเดียวกับเมืองใหญ่ทั้งหลาย ที่ปรึกษาด้านผังเมืองจึงเสนอให้ยกเลิกรถรางบางสายในย่านเซ็นทรัล บนเกาะฮ่องกง ด้วยเหตุผลว่ามันวิ่งช้าเกินไป และกีดขวางการจราจรเพราะต้องใช้พื้นที่มาก นอกจากนี้เครือข่ายรถไฟฟ้าไต้ดินก็เพียงพอที่จะให้บริการอยู่แล้ว แน่นอนแผนนี้มีผู้คนจำนวนไม่น้อยออกมาคัดค้านด้วยเหตุผลต่างๆ กันไป บ้างก็รู้สึกว่ารถรางซึ่งมีมากว่า 110 ปีนี้เป็นส่วนหนึ่งของความเป็นฮ่องกง  บ้างก็ไม่อยากสูญเสียรูปแบบการเดินทางสาธารณะที่ถูกที่สุดบนเกาะฮ่องกงไป (ค่าโดยสาร 2.30 เหรียญตลอดสาย และ 1 เหรียญสำหรับเด็กและผู้สูงอายุ) นอกจากนี้รถรางยังปล่อยมลพิษน้อย เหมาะสมกับยุคที่ต้องช่วยกันลดโลกร้อน และโดยเฉลี่ยแล้วผู้โดยสารรถรางใช้เนื้อที่ถนนน้อยกว่าผู้ขับขี่รถยนต์ถึง 19 เท่าส่วนนักวิชาการด้านการขนส่งก็ยืนยันว่าการยกเลิกรถรางสายนั้นออกไปคงไม่ช่วยลดปัญหารถติด เพราะเมื่อไม่มีรถราง ก็จะมีจำนวนรถยนต์เข้ามาแทนที่อยู่ดี ปัญหาที่แท้จริงคืออาคารในเขตเซ็นทรัลที่สร้างมานานแล้วไม่มีพื้นที่ให้รถบรรทุกเข้ามาจอดเทียบส่งของ ทำให้รถเหล่านี้ต้องใช้พื้นที่ถนนเป็นที่จอด จึงนำไปสู่ปัญหารถติด ถ้าจะแก้ก็น่าจะแก้ที่จุดนี้ หรือถ้าคิดในทางกลับกัน เมื่อรถไฟฟ้าใต้ดินมีโครงข่ายครอบคลุมแล้วทำไมไม่ประกาศให้เซ็นทรัลเป็นเขตปลอดรถยนต์ไปเสียเลยสุดท้ายบรรดาผู้ใช้รถรางกว่า 200,000 คนต่อวันก็โล่งใจได้ เพราะเจ้ารถ “ติ๊งติ๊ง” ที่ว่านี้จะยังคงให้บริการครบทุกเส้นทางตามเดิม พูดลอยๆ ตรงนี้เลย ว่าถึงแม้ค่าโดยสารรถรางจะถูกแสนถูก แต่บริการยังน่าประทับใจ และผลกำไรจากการประกอบการก็ยังคงดีงามเหมือนเคย …   

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 173 กระแสต่างแดน

ป่วยเลือกได้วันนี้คนอเมริกันมีเว็บไซต์ที่พวกเขาสามารถค้นหาและเลือกศัลยแพทย์สำหรับการผ่าตัดชนิดไม่เร่งด่วนแล้ว เว็บ SurgeonRating.org จัดอันดับศัลยแพทย์ 50,000 คนในอเมริกา โดยใช้ข้อมูลของโครงการสิทธิประโยชน์เมดิแคร์ในปีพ.ศ. 2552 – 2556  แพทย์และนักสถิติจะเป็นผู้จัดอันดับโดยใช้เกณฑ์ต่างๆ เช่น อัตราการเสียชีวิต อาการของผู้ป่วยก่อนการผ่าตัด และผลการประเมินโดยแพทย์อื่นๆ  ผู้ที่ต้องการค้นหาว่าควรเข้ารับการผ่าตัดจากแพทย์ท่านไหนสำหรับอาการเจ็บป่วยของตนเอง สามารถเข้าไปที่เว็บนี้ พิมพ์รหัสไปรษณีย์ลงไป แล้วเลือกประเภทการผ่าตัด (ณ ปัจจุบันมีให้เลือก 14 ประเภท เช่น ผ่าตัดเข่า ผ่าตัดสะโพก หรือต่อมลูกหมาก เป็นต้น) ระบบก็จะขึ้นชื่อแพทย์มาให้เลือกศัลยแพทย์ที่ไม่มีชื่อในระบบคือกลุ่มที่ยังมีประวัติการรักษาในระบบเมดิแคร์ไม่มากพอ หรือไม่ก็ได้คะแนนประเมินต่ำกว่าค่าเฉลี่ยส่วนเว็บ SurgeonScorecard จะประเมินศัลยแพทย์ 17,000 คนที่เคยทำการผ่าตัดชนิดไม่เร่งด่วนที่นิยมกันมากที่สุด 8 ประเภท โดยใช้ข้อมูลของเมดิแคร์เช่นกัน (จากปีพ.ศ. 2552 – 2557) โดยผู้ป่วยสามารถค้นหาจากรัฐ โรงพยาบาล หรือชื่อศัลยแพทย์ได้เลย แพทย์ 24 คนและทีมงานของเว็บไซต์จะเป็นผู้จัดอันดับ โดยใช้ข้อมูลอาการแทรกซ้อนหลังการผ่าตัด (กรณีผู้ป่วยกลับเข้ามารักษาที่โรงพยาบาลอีกครั้งภายใน 30 วัน) แต่เขาจะตัดกรณีที่คนไข้ป่วยหนัก มีความเสี่ยงสูง อายุมาก สุขภาพไม่ดี หรือโรงพยาบาลมีผลการดำเนินงานต่ำออกไปแต่กว่าจะได้ข้อมูลมาใช้ในเว็บไซต์เหล่านี้ก็ต้องใช้เวลาถึง 5 ปี  เมื่อปีพ.ศ. 2552 องค์กร Center for the Study of Services/Consumers’ Checkbook (ผู้อยู่เบื้องหลังเว็บ SurgeonRating.Org) ฟ้องศาลเพื่อขอสิทธิในการเข้าถึงข้อมูลสถิติการผ่าตัดของแพทย์ แต่เขาเพิ่งจะได้ข้อมูลครบสมบูรณ์ในเดือนตุลาคม ปีที่แล้วนี่เอง    ร็อคไม่ดีมีคืนคณะกรรมการตัดสินข้อพิพาทระหว่างผู้ประการกับผู้บริโภคของฟินแลนด์ ได้รับเรื่องร้องเรียนจากแฟนเพลงที่ซื้อตั๋วไปดูคอนเสิร์ตของชัค เบอรี่ ที่เมืองเฮลซิงกิ เมื่อสองปีก่อน แฟนเพลงระบุว่าตำนานร็อคแอนด์โรลในวัย 89 ปี ดูเหมือนจะยืนเล่นกีตาร์แทบไม่ไหว เจ้าตัวก็ออกปากขอโทษกับแฟนๆ กลางเวทีเรื่องสภาพร่างกายของตัวเอง เรียกว่าคอนเสิร์ตวันนั้นค่อนข้างกร่อย    คณะกรรมการฯ ตัดสินว่า เมื่อศิลปินทำการแสดงไม่ได้ตามมาตรฐานที่คาดหวัง แฟนเพลงที่เสียเงินเข้าชมก็มีสิทธิขอเงินคืนได้ครึ่งหนึ่งของราคาตั๋วที่จ่ายไป แต่นั่นต้องเป็นความเห็นร่วมกันของแฟนเพลงนะ ไม่ได้หมายความว่า ถ้าคุณไปดูคอนเสิร์ตแล้วรู้สึกหงุดหงิดไม่ชอบอยู่คนเดียวก็จะไปขอเงินคืนได้ถ้ายังจำกันได้ เมื่อ 7 ปีก่อน ศิลปินร็อครุ่นใหญ่อย่าง นีล ยัง ก็ประกาศคืนเงินให้แฟนเพลง 11,000 คนที่ผิดหวังจากการมาดูคอนเสิร์ตของเขาที่โอไฮโอ เพราะเขารู้ตัวดีว่าเสียงแหบ ร้องไม่ดี และผู้คนพากันทยอยเดินออกตั้งแต่คอนเสิร์ตยังไม่จบ  รอกันอีกนิดนึง ข่าวดี! การรถไฟฝรั่งเศส (SNCF) สั่งซื้อรถไฟที่มีขนาดใหญ่ขึ้น มาวิ่งในเส้นทางสาย TER เลียบชายหาดริเวียร่า เพื่อรองรับผู้โดยสารจำนวนมากที่เดินทางระหว่างฝรั่งเศสและอิตาลี ปัจจุบันมีถึงวันละ 130,000 คนเดือนกรกฎาคม บริษัทบอมบาเดียร์ผู้รับสัมปทานได้ส่งมอบรถไฟรุ่น Regio 2N ที่รองรับผู้โดยสารได้ขบวนละ 1,000 คน เรียบร้อยแล้ว แต่ข่าวร้ายคือ ขณะนี้รถไฟขบวนดังกล่าวยังคงสิ้นสุดเส้นทางที่เมือง Menton ของฝรั่งเศสเท่านั้น เพราะอะไรน่ะหรือ? หนังสือพิมพ์ท้องถิ่น Nice Matin ออกมาเปิดเผยว่าเป็นเพราะรถไฟใหม่นี้มันสูงเกินกว่าที่ควรไปประมาณ 2-3 มิลลิเมตร จึงไม่สามารถลอดอุโมงค์จากฝรั่งเศสเข้าไปถึงอิตาลีได้ปัญหาแนวนี้ไม่ได้เพิ่งเคยเกิดขึ้นกับ SNCF หรอกนะ ปีที่แล้วเขาก็ต้องใช้งบประมาณถึง 50 ล้านยูโร (ประมาณ 1,859 ล้านบาท) เพื่อขยายชานชาลากว่า 1,300 แห่ง หลังจากพบว่ามันแคบเกินไปสำหรับรถไฟที่สั่งมาใหม่จำนวนหลายร้อยตู้ ข่าวไม่ได้บอกว่าปัญหาตัวรถสูงไปนี้จะต้องใช้งบในการแก้ไขเท่าไร บอกแต่ว่าใครที่รอจะขึ้นสายนี้เต็มเส้นทางก็ต้องรอถึงเดือนพฤศจิกานะจ๊ะ ... ขอเวลาขูดเพดานอุโมงค์แพ้บ!! เพิ่ม 20 ลด 20นักวิจัยนิวซีแลนด์พบว่า การเพิ่มภาษีอาหารที่มันหรือเค็มเกินพิกัดขึ้นร้อยละ 20 พร้อมๆ กับการลดภาษีผัก/ผลไม้ลงร้อยละ 20 จะสามารถช่วยชีวิตผู้คนได้ปีละ 2,400 คน นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยโอทาโก้ มหาวิทยาลัยโอ๊คแลนด์ และมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ค้นพบว่าสูตรเพิ่ม 20 ลด 20 นี้จะทำให้คนเลือกซื้ออาหารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายมากขึ้น พวกเขาใช้ข้อมูลจาก Statistics NZ มาเป็นฐานในการจำลองเรื่องราคา ปริมาณการซื้อ และอัตราการตายจากหัวใจวาย โรคเบาหวาน หรือมะเร็งที่เกี่ยวข้องกับนิสัยการกินสิ่งที่พบคือ อัตราการตายโดยรวมจะลดลงร้อยละ 6.8 เมื่อราคาอาหารกลุ่มที่มีเกลือเพิ่มขึ้นร้อยละ 20 และอัตราดังกล่าวจะลดลงร้อยละ 5 เมื่อราคาอาหารในกลุ่มที่มีไขมันสูงเพิ่มขึ้นร้อยละ 20 ในขณะเดียวกัน ถ้าลดราคาผัก/ผลไม้ลงร้อยละ 20 อัตราการตายจะลดลงไปอีกร้อยละ 1.9   คุณอาจสงสัยว่าทำไมเขาไม่พูดถึงเรื่องภาษีน้ำตาล คำตอบคือข้อมูลที่ไม่ยังไม่เพียงพอจะนำมาสร้างแบบจำลองได้นั่นเอง   รับประกันสอบตกใครๆ ก็พูดถึงไอเดียสตาร์ทอัพ  นักศึกษาหนุ่ม 3 คนจากมหาวิทยาลัยเศรษฐศาสตร์และการเงินแห่งเซี่ยงไฮ้ก็เช่นกันเด็กกลุ่มนี้เกิดปิ๊งไอเดียการทำธุรกิจขึ้นมาได้ตอนที่สมาชิกในกลุ่มคนหนึ่งสอบตก แล้วรำพึงรำพันว่า ... ถ้ามีประกันการสอบตกนี่มันน่าจะดีนะ ว่าแล้วก็พากันรวบรวมข้อมูลอัตราการสอบตกย้อนหลังของเพื่อนๆในรุ่น แล้วพบว่า ... อืม ... ดูถ้าพวกเราคงจะทำธุรกิจได้ จากนั้นก็เคาะออกมาว่า เขาจะเก็บ “เบี้ยประกัน” จากเพื่อนๆที่สนใจคนละ 5 หยวน (25 บาท) ด้วยเงื่อนไขว่าพวกเขาจะได้รับเงินชดเชย 30 หยวน (150 หยวน) ถ้าสอบไม่ผ่าน แต่ถ้าพวกเขาทำคะแนนได้มากกว่าร้อยละ 90 ก็จะได้เงินไป 20 หยวน (100 บาท) เช่นกันไอเดียนี้ได้รับความสนใจพอสมควร ขนาดเริ่มเมื่อปลายเดือนมิถุนายน ยังมีเพื่อนนักศึกษาสนใจ “ทำประกันภัยสอบตก” ถึง 150 คน เขาบอกว่าถ้าเริ่มธุรกิจก่อนสอบปลายภาค จะมีคนสนใจมากกว่านี้อีกพวกเขาคิดจะตั้งบริษัททำธุรกิจนี้เต็มรูปแบบ แต่ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายให้ความเห็นว่า แบบนี้ทำเล่นๆ ก็พอได้ แต่ถ้าเป็นธุรกิจจริงๆขึ้นมาก็ต้องมีหน่วยงาน มีกฎหมายเข้ามาควบคุมเพราะมีความเป็นไปได้สูงว่าอาจถูกหลอกกันได้ทั้งฝ่ายผู้ให้และผู้รับการประกัน เดี๋ยวจะพาลกลุ้มใจเสียดายเงินจนสอบไม่ผ่านกันหมดนะจ๊ะเด็กๆ    

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 171 กระแสต่างแดน

ดื่มตามลำดับทิม ฮันท์ บรรณาธิการร่วมของนิตยสาร Ethical Consumer ชักชวนให้คนอังกฤษเปลี่ยนจากการเดินเข้าร้านกาแฟใหญ่ๆ ด้วยความเคยชิน ไปอุดหนุนร้านกาแฟอิสระเจ้าเล็กบ้างการสำรวจโดยนิตยสารดังกล่าวพบว่าร้านอย่างสตาร์บัคส์  คอสตา  หรือคาเฟ่เนโร ได้คะแนนจริยธรรมการประกอบการในอันดับต่ำมากเมื่อเทียบกับร้านกาแฟเจ้าเล็กกว่าในขณะที่ร้านที่ได้คะแนนความเป็นมิตรต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม 3 อันดับต้นคือ ร้านโซโห คอฟฟี่  เอสไควร์ คอฟฟี่ และเอเอ็มที คอฟฟี่  คุณฮันท์เขาบอกว่าร้านพวกนี้ไม่เคยเลี่ยงภาษี แถมยังใช้เมล็ดกาแฟที่จัดซื้อมาด้วยราคาเป็นธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งร้านโซโห ที่ใช้ชา กาแฟ และผงโกโก้ที่มีตรารับรอง “Fairtrade” หรือ “การค้าที่เป็นธรรม” ทั้งสิ้น หรือร้านเอเอ็มที ที่ใช้นมออร์กานิกเป็นส่วนผสมของเครื่องดื่มในทางกลับกัน ร้านใหญ่อย่างสตาร์บัคส์ กลับละเมิดข้อตกลงกับสหภาพแรงงาน ยกเลิกการจ่ายค่าจ้างในช่วงพักกลางวัน และไม่แสดงจุดยืนให้ชัดเจนว่าจะจัดหาน้ำมันปาล์มจากแหล่งที่ถูกที่ควร ส่วนคาเฟ่เนโร และคอสตา คอฟฟี่ ก็แทบไม่มีหลักฐานการจัดหาวัตถุดิบอย่างมีจริยธรรมและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเลย    ที่สำคัญ สามเจ้านี้มีสาขารวมกันไม่ต่ำกว่า 3,000 สาขาทั่วอังกฤษจะไม่บอกก็กระไรอยู่ว่าเจ้าที่ได้คะแนนต่ำสุดคือ Harris + Hoole ของเทสโก ที่สร้างภาพว่าเป็นแบรนด์กาแฟอิสระ เจ้านี้ไม่มีข้อมูลด้านนโยบายสิ่งแวดล้อม จริยธรรม หรือการจัดซื้อที่ชัดเจนเลย     ขอถนนเพื่อคนเดินบ้าง“ร้อยละ 92 ของผู้คนที่ใช้รถใช้ถนนในซิดนีย์ทุกวันนี้เป็นคนเดินเท้า แต่ทำไมพวกเขาถึงถูกปฏิบัติต่อราวกับเป็นพลเมืองชั้นสอง” นี่เป็นคำถามจาก โคลเวอร์ มัวร์ ผู้ว่าการเมืองซิดนีย์  เธอยังสงสัยต่อไปว่า ทำไมเวลาในการยืนรอข้ามถนนถึงนานกว่าระยะเวลาที่รถติด ระยะเวลาที่ให้เดินข้ามก็สั้นกว่าเวลาที่ปล่อยให้รถวิ่ง ... เราจัดลำดับอะไรผิดหรือเปล่า?คงมีหลายคนข้องใจเหมือนๆกัน จึงทำให้ในที่สุดเทศบาลเมืองซิดนีย์วางแผนจะเพิ่มและปรับปรุงทางเท้าและทางข้ามถนน โดยใช้เงินปีละไม่ต่ำกว่า 15 ล้านเหรียญ (ประมาณ 400 ล้านบาท)โครงการที่ใช้งบประมาณทั้งหมด 60 ล้านเหรียญ (1,600 ล้านบาท) นี้ มีเป้าหมายเพื่อเพิ่มจำนวนผู้เดินทางด้วยเท้า ลดเวลาการเดินทาง ขยายทางเท้า และทำให้การทางเดินไปยังร้านค้าต่างๆ สะดวกสบายขึ้น ที่สำคัญคือต้องลดอุบัติเหตุรถยนต์ที่เกิดกับคนเดินเท้าลงให้ได้ร้อยละ 50 แม้ว่าจำนวนคนถูกรถชนจะลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่ตัวเลขในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาก็ยังน่าตกใจ เช่น ในรัศมี 400 เมตรจากสถานีรถไฟเซ็นทรัล มีผู้เสียชีวิตหรือบาดเจ็บ 131 คน และในรัศมี 300 เมตรจากศาลาว่ากลางเมืองซิดนีย์มีคนเดินที่ประสบอุบัติเหตุบนท้องถนนถึง 142 คน ดราม่าบะหมี่ซองบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเคยเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในชีวิตของผู้คนทั้งในจีนและประเทศอื่นๆ ในเอเชีย เพราะทั้งสะดวก อร่อย และถูกคนจีนบริโภคบะหมี่ดังกล่าวปีละ 40,000 ล้านซอง (ครึ่งหนึ่งของบะหมี่ที่ชาวโลกบริโภค) แต่เสน่ห์ของอาหารเส้นชนิดนี้ลดลงอย่างฮวบฮาบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่คนรายได้น้อย ข่าวบอกว่า ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2014 ยอดขายลดลงร้อยละ 9.1 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า เพราะคนจีนเริ่มมองว่าบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเป็นอาหารขยะ ที่อาจทำให้เป็นโรคหัวใจได้ถ้าบริโภคบ่อยเกินไป ปัจจุบันจีนมีผู้ผลิตบะหมี่เจ้าใหญ่อยู่เพียง 2 ราย ได้แก่ Uni-President China และ Master Kong (บริษัทบะหมี่ถึงร้อยละ 90 ปิดกิจการไปในช่วงปี 2000 ถึง 2010) นอกจากนี้รายงานจากนีลเซนยังพบว่า ร้อยละ 75 ของผู้ที่เข้าร่วมการสำรวจ ยินดีจ่ายเงินเพิ่มเพื่อให้ได้อาหารที่ดีต่อสุขภาพ อาหารที่ไม่มีสารปรุงแต่ง หรือไม่ผ่านการดัดแปรพันธุกรรมด้วย   นอกจากความกังวลเรื่องสุขภาพแล้ว การสำรวจโดย China Confidential ยังพบว่า แรงงานต่างชาติ ซึ่งเป็นกลุ่มที่บริโภคบะหมี่สำเร็จรูปมากที่สุด มีการย้ายถิ่นฐานไปทำงานในเมืองเล็กๆ ในขณะที่บริษัทบะหมี่ยังคงทำการตลาดอยู่ในเมืองใหญ่เท่านั้นแต่เดี๋ยวก่อน บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปไฮเอนด์ที่นำเข้าจากเกาหลียังได้รับความนิยมไม่เสื่อมคลาย เพราะกระแสความนิยมละครทีวีของเกาหลีที่ยังแรงไม่หยุดนั่นเอง บิดลดควันเวียดนามมีแผนจะทำให้ร้อยละ 20 ของรถจักรยานยนต์ลดการปล่อยควันเสียลงให้ได้ภายในปี 2013 แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จ จึงต้องเริ่มกันใหม่ ด้วยมาตรการตรวจควันเสียดานังจะเป็นเมืองแรกที่มีมาตรการบังคับดังกล่าว นี่คือข้อเสนอต่อกระทรวงขนส่งที่ระบุว่าตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2018 เป็นต้นไป เจ้าของรถจักรยานยนต์ที่มีอายุการใช้งาน 10 ปีขึ้นไป จะต้องนำรถเข้ารับการตรวจควันปีต่อมาจะขยายผลไปยังรถที่อายุ 5 ปีขึ้นไป และภายในปี 2020 แผนนี้จะถูกนำไปใช้ในเมืองฮานอย ไฮฟอง เกิ่นเทอ และโฮจิมิห์นซิตี้ ด้วยเจ้าของรถคันที่ตรวจแล้วไม่ผ่าน จะต้องนำไปปรับปรุงแล้วมารับการตรวจวัดใหม่ ถ้าผ่านก็จะได้ตรารับรองไป ใครไม่ยอมปรับปรุงและยังขับขี่รถที่ไม่มีตรารับรอง ก็จะโดนปรับชาวบ้านโอดว่าค่าธรรมเนียมรถมอเตอร์ไซค์ที่จ่ายอยู่จะไม่ยิ่งสูงไปกว่าเดิมหรือ แต่ทางการยืนยันว่าค่าตรวจสอบรายปีนั้นไม่เกิน 150,000 ดอง (230 บาท) ว่าแล้วเขาก็บอกว่ากำลังจะขอความร่วมมือจาก ฮอนดา ซูซูกิ พิอาจิโอ และยามาฮา ให้ช่วยตั้งสถานีตรวจควันด้วยสาเหตุที่เลือกดานังเป็นเมืองแรกเพราะขนาดประชากรที่พอเหมาะ (1 ล้านคน) และการบริหารจัดการที่ดีของหน่วยงานรัฐ และเมืองนี้มีจักรยานยนต์ 713,000 คัน งดขายงดดื่ม         พรรคอิสลามของอินโดนีเซียเสนอให้มีการห้ามผลิต ขาย หรือบริโภคเครื่องดื่มทุกชนิดที่มีแอลกอฮอลมากกว่าร้อยละ 1 และให้มีโทษจำคุกถึง 2 ปีสำหรับผู้ที่ฝ่าฝืนผู้เกี่ยวข้องกับร่างกฎหมายฉบับนี้ที่อาจจะประกาศใช้ภายในสิ้นปี 2015 ระบุว่า การห้ามดังกล่าวเป็นไปเพื่อสุขภาพมากกว่าเรื่องของศีลธรรม แต่มียังข้อห่วงใยเรื่องผลกระทบต่อการท่องเที่ยว รัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจของเขาบอกว่าอาจจะต้องยกเว้นให้กับโรงแรมห้าดาวและเกาะบาหลี เพราะ “คนตะวันตกนั้น มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิต”ด้านสมาคมผู้ผลิตก็บอกว่าการสั่งแบนดังกล่าวอาจทำให้มีคนตกงานกว่า 200,000 คนในช่วง 10 ปีที่ผ่านมายอดขายเครื่องดื่มแอลกอฮอลเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว ทั้งเบียร์สัญชาติอินโดนีเซียอย่าง บินตัง (ซึ่งผู้ถือหุ้นใหญ่คือไฮเนเก้น) ไปจนถึงเครื่องดื่มของผู้ประกอบการจากต่างประเทศอย่างคาร์ลสเบิร์กและดีอาจิโออินโดนีเซียมีประชากร 250 ล้านคน และมีประชากรมุสลิมมากที่สุดในโลก อัตราการบริโภคแอลกอฮอล์เพิ่มขึ้นเป็นประวัติการณ์ ปัจจุบันรั้งอันดับ 10 ของเอเชีย 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 170 กระแสต่างแดน

รถเมล์ในเมืองหลวง กระแสต่างแดนฉบับนี้พาคุณไปดูความเคลื่อนไหวของวงการรถโดยสารสาธารณะในเมืองใหญ่ของประเทศเพื่อนบ้านเพื่อเรียกน้ำย่อย ก่อนจะไปพบกับเรื่องเด่นประจำฉบับที่ว่าด้วยสถานการณ์รถเมล์โดยสารในกรุงเทพมหานครของเรา เริ่มจากสิงคโปร์ ต้องยกให้เขาจริงๆ เรื่องความเป็นเลิศในการจัดบริการสาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบขนส่งมวลชนที่นักข่าวหลายสำนักจัดให้อยู่ในสิบอันดับที่ดีที่สุดของโลก แต่เชื่อหรือไม่ว่าคนสิงคโปร์เองยังไม่ค่อยพึงพอใจกับบริการรถเมล์ของเขาเท่าที่ควร เพราะยังต้องรอ “นานเกินไป” รัฐจึงต้องออกมาตรการ “ทำดีได้ ทำร้ายเสีย” เพื่อเพิ่มอัตราการตรงต่อเวลา ซึ่งก็ถือว่าได้ผลดีทีเดียว ผลการประเมินระหว่างเดือนมิถุนายนถึงพฤศจิกายนปีที่ผ่านมาพบว่า เวลารอรถเมล์ลดลงประมาณ 12 – 36 วินาที(ย้ำวินาที) บริษัท SBS Transit ได้รับเงินรางวัลประมาณ 17 ล้านบาท จากการทำให้รถเมล์ของบริษัทวิ่งตรงเวลาขึ้น อีกบริษัท คือ SMRT Corp ก็ไม่น้อยหน้า ได้ไปประมาณ 8.3 ล้านบาท เช่นกัน บริษัทจะได้รางวัล 6,000 เหรียญ(ประมาณ 145,000 บาท) ทุกๆ 6 วินาทีของ “เวลารอรถเมล์” ที่ลดลง แต่เดี๋ยวก่อน บริษัทจะถูกปรับ 4,000 เหรียญ(ประมาณ 96,000 บาท ต่อทุกๆ 6 วินาทีที่คนต้องรอนานขึ้นด้วย และเพื่อให้ได้บริการที่ดียิ่งขึ้น รัฐบาลจึงส่งเสริมการแข่งขันด้วยการเปิดให้เอกชนที่มีรถเมล์ในสังกัดไม่ต่ำกว่า 250 คันเข้าร่วมประมูลเส้นทางเดินรถ ในเบื้องต้นมี 3 แพ็คเก็จ เริ่มจากบูลิมแพ็คเก็จที่มี 26 เส้นทาง ซึ่งข่าวระบุว่ามีผู้สนใจร่วมประมูลถึง 11 เจ้า ตั้งแต่เจ้าเก่าอย่าง SBS Transit และ SMRT Corp ไปจนถึงผู้ประกอบการผลงานเยี่ยมจากจีน อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนี และออสเตรเลียด้วย ใครจะเป็นผู้ได้เซ็นสัญญาต้องติดตามในปลายเดือนพฤษภาคม มาเลเซีย กัวลาลัมเปอร์จัดว่ามีเครือข่ายการขนส่งมวลชนที่ดีอันดับต้นๆ ของภูมิภาคอาเซียน แต่ปัญหาเรื่องการวางผังเมือง สภาพการจราจรที่หนาแน่น และความสะดวกในการเป็นเจ้าของรถยนต์ส่วนตัว ก็ยังทำให้การปรับปรุงคุณภาพการเดินทางบนท้องถนนโดยรถสาธารณะเป็นเรื่องยาก ปัจจุบันอัตราการใช้รถสาธารณะเพิ่มขึ้นเพราะผู้คนต้องการลดภาระจากค่าครองชีพที่สูงขึ้น เลยทำให้ต้องยอมรับสภาพการเดินทางที่ใช้เวลาค่อนข้างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่ใช้บริการรถเมล์สายต่างๆ (ซึ่งทั้งหมดอยู่ภายใต้การดำเนินงานของ Rapid KL) เพราะยังต้องพบกับสถานการณ์รถขาดช่วง มาช้า หรือวิ่งนอกเส้นทาง แถมยังมีประเด็นเรื่องขาดแคลนพนักงานขับรถด้วย รัฐบาลตั้งเป้าไว้ว่าในปี 2015 นี้จะต้องมีผู้คนใน Klang Valley (รวมตัวเมืองกัวลาลัมเปอร์) ใช้บริการขนส่งมวลชนไม่ต่ำกว่า 750,000 ไปที่อินโดนีเซียกันบ้าง ล่าสุด บริษัททรานส์จาการ์ตา ผู้ประกอบการรถ BRT ในเขตเมืองจาการ์ตาซึ่งเป็นระบบ BRT ที่ยาวที่สุดในโลก(208 กิโลเมตร) ครอบคลุม 12 เส้นทาง จะเป็นผู้ดูแลการขนส่งสาธารณะทางบกทั้งหมด รวมถึงรถเมล์ร่วมบริการด้วย คนขับรถร่วมก็สนับสนุนแผนการปรับปรุงบริการรถร่วมโดยบริษัทที่รัฐบาลเป็นเจ้าของ เพราะปัจจุบันรายได้ของพวกเขาขึ้นอยู่กับจำนวนผู้โดยสาร จึงเน้นรับคนให้ได้จำนวนมากไว้ก่อน อาจจะละเลยเรื่องบริการที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพไปบ้าง แต่ปัจจุบันจำนวนผู้โดยสารลดลง รายได้ก็ลดลง พขร. รายหนึ่งบอกว่าเมื่อ 4 ปีก่อนเขาเคยหาได้ถึงวันละ 200,000 รูเปีย(ประมาณ 500 บาท) แต่วันนี้ถ้าได้ 100,000 รูเปีย ก็นับว่าโชคดีมากแล้ว จึงคิดว่าถ้ามีเงินเดือนเหมือนพนักงานบริษัทก็ย่อมดีกว่าแน่นอน(พวกเขาจะได้รับโอกาสเข้าทำงานกับทรานส์จาการ์ตา โดยมีเงื่อนไขว่าต้องผ่านการอบรมและรับรองก่อน) เงินเดือนพวกเขาจะเป็นเท่าไรข่าวไม่ได้บอก แต่ที่แน่ๆ ค่าแรงขั้นต่ำในจาการ์ตา คือ 6,000 บาท บรูไน ประเทศที่คนส่วนใหญ่มีฐานะดีและนิยมใช้รถส่วนตัวก็ประกาศแผนแม่บทเพื่อยกเครื่องขนส่งมวลชนให้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อลดการพึ่งพารถยนต์ส่วนตัวและสร้างความยั่งยืนทางสังคมและสิ่งแวดล้อม ปัจจุบันขนส่งมวลชนในบรูไนมี 3 ประเภทได้แก่ รถโดยสาร รถแท็กซี่ และเรือแท็กซี่ ซึ่งยังมีจำนวนไม่พียงพอ ไม่ครอบคลุมเส้นทาง และยังขาดประสิทธิภาพและคุณภาพ จึงไม่เป็นที่นิยมทั้งในหมู่คนท้องถิ่นและคนต่างชาติ สิ่งที่จะได้เห็นเป็นอันดับแรกๆ คือเส้นทางรถ BRT จำนวน 4 เส้นทางในเขตบรูไน-มัวรา รวมความยาว 48 กิโลเมตร ที่จะมีรถออกทุก 4 นาที และในนั้นก็มีเส้นทางที่สำรวจพบว่ามีผู้คนใช้มากที่สุดนั่นคือ ระหว่างมัสยิดทอง Masjid Jame'Asr Hassanil Bolkiah Mosque กับโรงพยาบาล Raja Isteri Pengiran Anak Saleha Hospital ที่รองรับผู้โดยสารถึง 60,000 คนต่อวันด้วย ฟิลิปปินส์ กรมการขนส่งและการสื่อสารของฟิลิปปินส์เชื่อว่า ระบบที่ประสบความสำเร็จมาแล้วในกรุงโซล ประเทศเกาหลีจะใช้ได้ดีกับการปฏิรูปรถโดยสารในกรุงมะนิลา เขาต้องการลดอุบัติเหตุจากรถประจำทางและเพิ่มความคล่องตัวของการจราจร โดยเริ่มจากการทดลองใช้ระบบการประมูลเส้นทางรถเมล์ C5 ในเขตตัวเมืองของมะนิลา ระบบเดิมของเขาคือ คนขับรถจะต้องจ่ายเงินจำนวนหนึ่งให้กับผู้ประกอบการเมื่อจบ “กะ” ของตนเองในแต่ละวัน แต่ในระบบใหม่รัฐจะให้เงินช่วยเหลือกับคนขับในบางเส้นทางเพื่อให้สามารถออกรถตามกำหนดเวลา ไม่ต้องถ่วงเวลาเพื่อรอรับคนหรือขับเร็วขับแซงเพื่อแย่งลูกค้าจากรถคันอื่น  ก่อนหน้านี้เคยมีข้อเสนอจากวุฒิสมาชิกให้จ่ายค่าตอบแทนคนขับรถเป็นเงินเดือนที่แน่นอน และปรับปรุงสภาพการทำงานให้ดีขึ้นเพื่อลดอุบัติเหตุบนท้องถนนมาแล้ว กัมพูชา กัมพูชาเตรียมเปิดบริการรถสาธารณะอีกครั้ง(หลังจากเมื่อ 13 ปีที่แล้วเปิดดำเนินการได้เพียง 2 เดือนก็ต้องพับไป) เพื่อเป็นการแก้ปัญหาการจราจรในกรุงพนมเปญ ซึ่งมีประชากร 2 ล้านคน มอเตอร์ไซค์ 1 ล้านคัน และรถยนต์อีก 300,000 คัน เขาหวังเป็นอย่างยิ่งว่าผู้คนจะเลิกการใช้มอเตอร์ไซค์แล้วหันมาใช้บริการสาธารณะแทน รัฐมนตรีท่านหนึ่งให้ความเห็นว่าคราวก่อนที่ไม่ประสบความสำเร็จก็เพราะผู้คนยังติดกับการมีรถมาส่งถึงหน้าบ้าน ไม่ชอบเดินไกล จึงไม่ชอบขึ้นรถเมล์ อย่างไรก็ดีตั้งแต่ 5 กุมภาพันธ์ 2558 เป็นต้นมา มีรถปรับอากาศ 10 คันทดลองให้บริการระหว่าง 5.30 น. – 16.30 น. บนถนนมณีวงศ์ ด้วยค่าโดยสาร 1,500 เรียล (12 บาท) ตลอดสาย ซึ่งถูกกว่าการขึ้นมอเตอร์ไซค์รับจ้าง “โมโตดุ๊บ” ถึง 5 เท่า ถ้าได้ผลตอบรับดีเขาก็จะพิจารณาเพิ่มรถและเพิ่มเส้นทางอีกที เวียดนาม ในเมืองโฮจิมินห์ซิตี้ การขนส่งมวลชนยังพัฒนาไปไม่ถึงเป้า รถส่วนตัวยังเต็มท้องถนน เวียดนามยังไม่มีระบบรถไฟฟ้าหรือรถ BRT ในเขตเมืองและยังขาดความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับรถโดยสารสาธารณะ นักวิจัยจากโครงการลดความแออัดของการจราจร ระบุว่าในช่วงปี 2011 – 2015 การใช้บริการขนส่งสาธารณะในเมืองนี้จะมีไม่เกินร้อยละ 15 ของความต้องการในการสัญจรไปมาเท่านั้น ที่ผ่านมาเทศบาลโฮจิมินห์ซิตี้ มุ่งแต่เรื่องการปรับปรุงสภาพรถ(มีการชงเรื่องขอจัดซื้อรถเมล์ใหม่ 1,670 คัน) แต่ถึงจะปรับปรุงสถานีขนส่งหรือเพิ่มบัสเลนแล้วก็ตาม ในปี 2015 นี้คาดว่าจะมีผู้ใช้บริการรถเมล์เพียง 707 ล้านคน หรือร้อยละ 11.5 ของความต้องการในการเดินทางเท่านั้น สาเหตุหลักมาจากการไม่จำกัดการใช้รถส่วนตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งรถมอเตอร์ไซค์ กรมการขนส่งจึงเสนอให้มีการเก็บค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนรถใหม่ เพิ่มภาษี คิดค่าจอดรถ รวมถึงจำกัดพื้นที่จอดรถบนทางเท้าด้วย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 161 กระแสต่างแดน

ร้านหนังสือต้องได้ไปต่อ สถานการณ์ร้านหนังสือในเกาหลีใต้ที่สถิติการอ่านของประชากรเมื่อปีกลายอยู่ที่ 9.2 เล่มต่อปี ก็อาจย่ำแย่ไม่แพ้บ้านเรา สรุปความได้ว่าร้านเล็กอยู่ยาก ร้านใหญ่อยู่ไม่ง่าย มีแต่ร้านออนไลน์เท่านั้นที่ยังทำกำไรต่อเนื่อง ตามกฎหมายของเกาหลีซึ่งให้ความคุ้มครองผู้ผลิตหนังสือเป็นอย่างดีเสมอมา ร้านจะลดราคาหนังสือใหม่ได้ไม่เกินร้อยละ 10 แต่สำหรับหนังสือที่พิมพ์ออกมาเกิน 18 เดือนไปแล้ว ร้านสามารถลดราคาได้ตามความพอใจ ร้านออนไลน์ย่อมเสนอส่วนลดให้กับผู้ซื้อได้มากกว่า ผู้คนจึงมักมาเปิดดูเล่มจริงที่ร้านแต่กลับบ้านมือเปล่าไปสั่งซื้อจากร้านค้าออนไลน์อีกที และบางครั้งก็เป็นร้านจากต่างประเทศด้วย สถานการณ์ตอนนี้น่าเป็นห่วง เพราะจากปี 2003 ถึง 2013 นั้นมีร้านหนังสือปิดตัวไปถึง 1 ใน 3 และในเมืองเล็กๆ บางแห่งไม่มีร้านหนังสือเลย และมีอีกไม่น้อยที่ทั้งเมืองมีร้านหนังสือเพียงหนึ่งร้าน ทั้งนี้เพราะต้องแข่งขัน(อย่างเสียเปรียบ) กับร้านหนังสือออนไลน์และหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ นี่ยังไม่นับว่าคนเกาหลีอ่านหนังสือน้อยลงและการใช้จ่ายเพื่อการอ่านก็น้อยลงด้วย เพื่อเป็นการคุ้มครองธุรกิจร้านหนังสือในประเทศ ซึ่งไม่ได้เป็นแค่ร้านขายหนังสือแต่เป็นศูนย์กลางชุมชนที่ผู้คนในท้องถิ่นได้ใช้เป็นที่พบปะสังสรรค์ ให้สามารถดำรงอยู่ต่อไป กฎหมายที่จะบังคับใช้ในปลายปีนี้จึงห้ามการลดราคาหนังสือเกิน 15 เปอร์เซ็นต์ และห้ามไม่ให้ร้านออนไลน์ยกเว้นการคิดค่าบริการส่งหนังสือ   ด้านร้านหนังสือก็ปรับตัวกันขนานใหญ่ นอกจากขายหนังสือแล้วก็ยังต้องขายกาแฟ เปิดแกลอรี่โชว์/ขายงานศิลปะ รวมไปถึงมีสนามเด็กเล่นไว้บริการด้วย   ขึ้นหรือลงดี? มาลุ้นกันว่าชาวเมืองปักกิ่งจะต้องควักกระเป๋าจ่ายค่ารถเมล์ รถไฟสาธารณะมากขึ้นกี่หยวน คงจำกันได้ว่าปักกิ่งเป็นเจ้าภาพการแข่งขันโอลิมปิกในปี 2008 ตอนนั้นรัฐบาลจีนประกาศลดราคาบัตรโดยสารรถสาธารณะประเภทต่างๆ เพื่อให้ผู้คนเปลี่ยนจากการใช้รถส่วนมาโดยสารรถสาธารณะ การจราจรบนท้องถนนจะได้คล่องตัวขึ้นในช่วงดังกล่าว แต่จนถึงวันนี้ราคายังคงไม่ได้ปรับขึ้น ผู้ประกอบการรถสาธารณะจึงออกมาเรียกร้องให้รัฐปรับเพิ่มค่าบริการให้สอดคล้องกับต้นทุน ... แต่เดี๋ยวก่อน เงื่อนไขเขาไม่ธรรมดา ข้อเสนอคือขอให้ค่าตั๋วโดยสารรถเมล์เป็นเพียง 1 ใน 3 ของค่าบัตรโดยสารรถไฟที่ปรับขึ้นเท่านั้น เช่น ถ้าค่าตั๋วรถไฟปรับขึ้นไปเป็น 6 หยวน (ประมาณ 30 บาท) ค่าตั๋วรถเมล์ก็ควรขึ้นเป็น 2 หยวนเท่านั้น เป็นต้น เหตุที่ต้องเสนออย่างนี้เพราะที่ผ่านมาคนเมืองปักกิ่งไม่ค่อยนิยมการเดินทางด้วยรถเมล์ พวกเขาเปลี่ยนไปขึ้นรถไฟใต้ดินเพราะมันทั้งถูกและเร็วกว่า แม้จะไปไหนมาไหนใกล้ๆ ก็ยังใช้บริการรถไฟใต้ดิน หวังว่าเขาจะเลือกลดราคาตั๋วรถเมล์ ไม่ใช่คงราคาตั๋วรถเมล์แล้วไปเพิ่มราคาตั๋วรถใต้ดินนะ   ห่วงสุขภาพ ช่วงนี้บรรดานักการเมืองรัสเซียฟิตจัด พากันเสนอกฎหมาย “เพื่อสุขภาพที่ดีของประชาชน” ออกมาอย่างต่อเนื่อง เรียกทั้งเสียงโวยวายและเสียงสนับสนุนได้ไม่น้อย เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาก็ประกาศห้ามการขายชั้นในสตรีที่มีอัตราการระบายความชื้นต่ำกว่าร้อยละ 6 หมายความว่าตั้งแต่ 1 กรกฎาคมที่ผ่านมาจะต้องไม่มีชั้นในที่ทำจากใยสังเคราะห์(เพราะระบายความชื้นได้ไม่เกินร้อยละ 3.6) วางขายตามห้างร้านในเขตรัสเซีย คาซักสถาน และเบลารุส เด็ดขาด เท่านั้นยังไม่พอ เขาเตรียมเสนอให้ห้ามขายร้องเท้าส้นแบนและรองเท้าส้นสูง เพราะมันทำให้เกิดความผิดปกติของเท้า ปัจจุบันกว่าร้อยละ 40% ของคนรัสเซียมีอาการดังกล่าว ส่วนรองเท้าผ้าใบสำหรับคุณผู้ชายก็มีลุ้นจะโดนแบนเช่นกัน รวมถึงในกองทัพด้วยเพราะเขาอ้างว่ารองเท้าผ้าใบทำให้ความพร้อมทางการทหารลดลง ล่าสุดข่าวว่ามีการเสนอให้ห้ามขายบุหรี่ให้กับสตรีที่มีอายุต่ำกว่า 40 ปีด้วย เพราะเกรงว่าเด็กรัสเซียรุ่นใหม่ที่จะเกิดมาจะสุขภาพไม่ดีเท่าที่ควร ก่อนหน้านี้ก็ออกกฎหมายห้ามไม่ให้บริษัทบุหรี่บริจาคเงินให้กับองค์กรการกุศลต่างๆ เพราะถือว่าเป็นการกระทำที่ “ไร้จริยธรรม” เม็ดบีดส์เจ้าปัญหา อิลินอยส์เป็นรัฐแรกของสหรัฐอเมริกาที่ประกาศห้ามการผลิตและจำหน่ายเครื่องสำอางที่มีเม็ดพลาสติกแบบที่เราเรียกกันว่า “ไมโครบีดส์” เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา เพราะมันเป็นภัยต่อสิ่งแวดล้อม และขณะนี้กำลังมีการเสนอให้แบนผลิตภัณฑ์เหล่านี้ทั้งประเทศภายในปี 2018 ไมโครบีดส์ ซึ่งมีเส้นผ่าศูนย์กลางไม่เกิน 1 มิลลิเมตร สามารถหลุดรอดผ่านอุปกรณ์บำบัดน้ำเสียไปลงในแหล่งน้ำได้สบายๆ แค่นิวยอร์ครัฐเดียวก็มีการปล่อยเม็ดพลาสติกเหล่านี้ลงแหล่งน้ำถึง 19 ตันต่อปี ในเขตทะเลสาบน้ำจืดทั้ง 5 (The Great Lakes) เขาก็พบว่ามีเม็ดพลาสติกเล็กๆ พวกนี้อยู่ 466,000 เม็ดต่อตารางกิโลเมตร และมากกว่าร้อยละ 80 ของมันเป็นไมโครบีดส์ที่ใช้ในเครื่องสำอางนั่นเอง รายงานล่าสุดจากองค์กรสหประชาชาติระบุว่า ขณะนี้แหล่งน้ำในโลกของเราเต็มไปด้วยเศษพลาสติกเล็กๆ เหล่านี้ คิดเป็นค่าเสียหายที่เกิดขึ้นต่อระบบนิเวศสัตว์น้ำไม่ต่ำกว่า 13,000 ล้านเหรียญ ทางด้านผู้ผลิตอย่างลอรีอัล และจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน ก็ตื่นตัวและให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี ด้วยการเปลี่ยนไปใช้วัสดุอื่นอย่างเกลือทะเล เป็นต้น   เครียดจนต้องขาด งานวิจัยพบว่าสถิติการขาดงานอันสืบเนื่องจากสาเหตุเรื่องความเครียดของชาวดัทช์ในปีนี้สูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ Arboned สำนักวิจัยด้านสุขภาพและความปลอดภัยของเนเธอร์แลนด์ ซึ่งเก็บข้อมูลจากคนทำงาน 1.1 ล้านคน ระบุว่าจากปี 2009 เป็นต้นมานั้น มีคนขาดงานเพราะความเครียดเพิ่มขึ้นถึง 8 เท่า และที่สำคัญแค่ครึ่งแรกของปีนี้ก็มีการขาดงานไปแล้ว 4.6 ล้านวัน ร้อยละ 10 ของวันลางานเหล่านี้มีเหตุผลแนบท้ายว่าเพราะ “เครียด” เมื่อคำนวณดูแล้วพบว่านายจ้างจะมีค่าใช้จ่ายถึง 800 ล้านยูโรสำหรับการขาดงานเพราะสาเหตุนี้ โดยธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการลางานมากที่สุดได้แก่ ธุรกิจด้านการศึกษา การแพทย์ ไอที และการเงินการธนาคาร ส่วนสาเหตุที่ทำให้เครียดเป็นอันดับต้นคือความวิตกเรื่องภาระการเงินและการหาสมดุลระหว่างงานกับชีวิตครอบครัว   //

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 157 กระแสต่างแดน

รถยนต์ความเสี่ยงสูง ข่าวนี้สร้างความสั่นสะเทือนให้อุตสาหกรรมผลิตรถยนต์ขนาดเล็กในอินเดียไม่น้อย เมื่อองค์กรทดสอบรถยนต์ Global NCAP ได้ทดสอบความปลอดภัยของรถยนต์นั่งขนาดเล็กที่ผลิตและจำหน่ายในอินเดียจำนวน 5 รุ่น และพบว่าระดับคะแนนความปลอดภัยของทุกรุ่นเท่ากับ ... 0 ดาว (จากคะแนนเต็ม 5 ดาว) เขาทดสอบด้วยการชนด้านหน้า ที่ความเร็ว 64 กิโลเมตร/ชั่วโมง โดยรถรุ่นพื้นฐาน (ซึ่งไม่มีการติดตั้งถุงลมนิรภัย) เขาพบว่าโครงสร้างของ Suzuki Maruti Alto 800 / Tata Nano และ Hyundai i10 มีความปลอดภัยต่ำเสียจนกระทั่งแม้จะมีถุงลมนิรภัยก็ไม่สามารถช่วยป้องกันการบาดเจ็บสาหัสจากการชนได้ ส่วนอีก 2 รุ่นคือ Ford Figo และ Volkswagen Polo นั้น ยังพอทำเนาตรงที่มีโครงสร้างแข็งแรงกว่า และการติดตั้งถุงลมนิรภัยก็จะช่วยให้ปลอดภัยขึ้นได้ (หลังการทดสอบครั้งนี้ Volkswagen ประกาศเลิกขายรุ่นที่ไม่ทีถุงลมนิรภัย) Max Mosley ประธาน Global NCAP กล่าวว่าขณะนี้ระบบความปลอดภัยของรถยนต์อินเดียยังล้าหลังยุโรปหรืออเมริกาอยู่ถึง 20 ปี อีกครั้งที่ประชากรของประเทศที่สามารถผลิตรถยนต์ที่ผ่านมาตรฐานความปลอดภัยเพื่อส่งออกไปขายทั่วโลก กลับต้องขับรถยนต์ตกมาตรฐานอยู่ในบ้านตัวเอง ปีที่ผ่านมา รถยอดนิยมทั้ง 5 รุ่นมียอดขายรวมกันเป็นร้อยละ 20 ของยอดขายรถยนต์ทั้งหมดในอินเดีย     เลือกกินไม่ได้ ข้อมูลจากองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ระบุว่าความหลากหลายของการปลูกพืชเพื่อใช้เป็นอาหารในช่วงศตวรรษที่ 20 ลดลงไปถึงร้อยละ 75 และยิ่งไปกว่านั้น 1ใน 3 ของความหลากหลายที่เหลืออยู่ ณ วันนี้อาจจะหายไปภายในปี 2050 ด้วย ในรอบ 50 ปีที่ผ่านมาอาหารการกินของผู้คนในโลกเปลี่ยนไป และโลกาภิวัฒน์ด้านอาหารก็ทำให้ผู้คนที่อยู่ต่างถิ่นกันบริโภคอาหารที่เหมือนกันมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งพืชที่ให้พลังงานสูงอย่าง ข้าว มันฝรั่ง อ้อย และข้าวสาลี (อย่างหลังนี้เป็นหนึ่งในอาหารหลักในร้อยละ 97 ของประเทศทั่วโลก)  และพืชที่ไม่เคยมีความสำคัญเลยเมื่อ 50 ปีก่อนก็กลับมีความสำคัญขึ้น โดยเฉพาะพืชที่ปลูกเพื่อสกัดน้ำมันเช่น ถั่วเหลือง ซึ่งเป็นส่วนผสมสำคัญในอาหารใน 3 ใน 4 ของประเทศต่างๆ ทั่วโลก แม้พืชเหล่านี้จะช่วยบรรเทาความหิวโหยของประชากรโลกได้ แต่การบริโภคพืชที่ให้พลังงานสูงเป็นหลักก็เป็นสาเหตุของอัตราการเกิดโรคไม่ติดต่อเช่นโรคหัวใจหรือโรคเบาหวานด้วยเช่นกัน นี่ยังไม่นับว่าการปลูกพืชเชิงเดี่ยวนั้นเสี่ยงต่อความแห้งแล้ง แมลงศัตรูพืช และโรคต่างๆ ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้นเมื่อสภาวะอากาศเปลี่ยนแปลง และพันธุ์พืชบางชนิดยังถูกครอบครองโดยบรรษัทข้ามชาติเพียงไม่กี่ราย ซึ่งนิยมลงทุนในพืชเพียงไม่กี่สายพันธุ์อีกด้วย ทางเลือกในการกินของเราจึงถูกจำกัดด้วยประการฉะนี้     “มีฉลากก็ไม่ช่วย” ภายใต้กฎหมาย Affordable Care Act ของอเมริกานั้น ผู้ประกอบการตู้ขายอาหารอัตโนมัติหยอดเหรียญจะต้องติดฉลากโภชนาการแสดงปริมาณแคลอรี่ ไว้ในบริเวณใกล้ๆ กับจุดที่วางอาหาร(ขนมหวาน ของขบเคี้ยว น้ำอัดลม) กฎหมายที่จะมีผลภายในหนึ่งปีนี้มีผลกระทบต่อผู้ประกอบการที่มีตู้ขายอาหารอัตโนมัติตั้งแต่ 20 ตู้ขึ้นไป(ข่าวบอกว่ามีประมาณ 10,800 ราย) ร้านอาหารที่มีสาขามากกว่า 20 สาขาขึ้นไป ร้านสะดวกซื้อ และร้านขายของชำด้วย แต่ผู้เชี่ยวชาญด้านโยบายจาก Heritage Foundation บอกว่าที่ผ่านมานั้นชัดเจนแล้วว่าฉลากเปลี่ยนพฤติกรรมของคนอเมริกันไม่ได้ เขาว่ารัฐบาลอาจมาผิดทาง เพราะปัญหาคือประชาชนยังไม่สามารถตัดสินใจเลือกซื้ออาหารอย่างถูกต้อง จึงควรให้ความรู้เรื่องแคลอรี่ในอาหารกับผู้บริโภคเสียก่อน เพื่อให้ผู้บริโภคอยากควบคุมปริมาณแคลอรี่ด้วยตนเอง ด้านผู้ประกอบการ(ซึ่งกว่าร้อยละ 75 เป็นรายย่อยที่มีลูกจ้างไม่เกิน 3 คน) บอกว่าเรื่องนี้มีค่าใช้จ่ายมากโขอยู่ บริษัทขนาดเล็กจะมีค่าใช้ประมาณ 2,400 เหรียญในปีแรก และ 2,200 เหรียญในปีต่อๆ ไป และเงินที่ลงไปก็ไม่ได้สร้างผลตอบแทนทางธุรกิจด้วย อัตราส่วนประชากรต่อตู้ขายอาหารอัตโนมัติของอเมริกาอยู่ที่ 40 คนต่อ 1 ตู้ และร้อยละ 5 ของเงินที่คนอเมริกันใช้จ่ายนอกบ้านเป็นการใช้จ่ายกับตู้เหล่านี้    มันช่างน่าอิจฉายิ่งนัก นอกจากเนเธอร์แลนด์จะมีนายกอินดี้ที่ขี่จักรยานไปทำงาน (ขออภัยพี่น้องประชาชนที่ต้องการหาเลขเด็ดเพราะจักรยานเขาไม่มีหมายเลขทะเบียน) องค์กรผู้บริโภคของเขาก็ยังเปรี้ยวไม่แพ้กันอีกด้วย Netherlands Authority for Consumers and Markets หรือ ACM บอกว่าปีที่ผ่านมาเขาสามารถช่วยชาวบ้านประหยัดเงินได้ถึง 300 ยูโร (13,400 บาท) ต่อครัวเรือนเลยทีเดียว รวมๆ แล้วการทำงานของ ช่วยลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นของผู้บริโภคลงได้มากกว่า 1,850 ล้านยูโร (80,000 ล้านบาท) จากค่าแก๊ส ไฟฟ้า ค่าบริการโทรศัพท์ หรืออินเตอร์เน็ต ถ้าเป็นวงดนตรีก็ต้องเรียกว่าเป็น “ซูเปอร์กรุ๊ป” เพราะเป็นการรวมตัวของ 3 องค์กรที่ดูแลผู้บริโภค เหมือนการรวม สคบ. เข้ากับ กสทช. และคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า เข้าด้วยกัน ล่าสุด ACM ขู่จะเข้าไปตรวจสอบเรื่องร้องเรียนจากร้านค้าปลีกว่ามาสเตอร์การ์ดเก็บค่าธรรมเนียมจากพวกเขาแพงเกินไป แต่ยังไม่ทันลงมือ มาสเตอร์การ์ดก็ยอมปรับลดค่าธรรมเนียมลงจากปัจจุบันที่ร้อยละ 0.9 เหลือ 0.7 ในเดือนมิถุนายนและลดลงไปเรื่อยๆ จนเหลือร้อยละ 0.3 ในเดือนมกราคมปี 2016 แน่นอนจริงๆ แค่เงื้อก็ได้ผลแล้ว หมายเหตุ : เรื่องร้องเรียน 3 อันดับต้นของผู้บริโภคชาวดัทช์ได้แก่ สินค้าอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน บริการโทรคมนาคม(ซึ่งปีนี้ถูกเบียดตกมาอยู่อันดับสอง) และบริการขนส่งและการท่องเที่ยว   ฟินแลนด์ ไม่น่าเชื่อว่าประเทศฟินแลนด์จะยังไม่มีข้อกำหนดเรื่องเงื่อนไขการจ้างงานในฟิตเนส จนทำให้บรรดาครูฝึกต้องดิ้นรนเพื่อความอยู่รอดแบบใครตัวมัน แม้จะไม่มีองค์กรด้านวิชาชีพนี้อย่างจริงจัง แต่ ERTO องค์กรด้านแรงงานก็เคยเสนอค่าจ้างที่เหมาะสมสำหรับงานครูผู้ฝึกสอนในฟิตเนสไว้ที่ชั่วโมงละ 29.90 ยูโร (1,300 บาท) ในเมืองหลวง และ 26.10 ยูโร(1,165 บาท) ในพื้นที่อื่นๆ แต่ไม่มีใครจ่ายอัตราที่ว่าเลย ผู้ประกอบการฟิตเนสบางรายจ่ายค่าจ้างพื้นฐานต่ำกว่า 5 ยูโร แล้วให้ค่าหัวตามจำนวนผู้เรียนในคลาสหัวละ 50 เซนต์ (ถ้าครูฝึกสอนคลาสละ 10 คน ก็จะได้ค่าจ้างรวมชั่วโมงละ 10 ยูโรเท่านั้น)  ส่วนบางแห่งก็จ่ายเพียงชั่วโมงละ 20 ยูโร ให้กับครูฝึกที่มีประสบการณ์การสอนมากกว่า 10 ปี การปริปากบ่นก็ไม่ใช่ทางเลือก เพราะเจ้าของฟิตเนสพร้อมที่จะหาครูหน้าใหม่ไร้ประสบการณ์เข้ามาแทนที่อยู่เสมอ หรือไม่ก็อาจถูกย้ายช่วงเวลาสอนไปอยู่ในช่วงที่ไม่ค่อยมีคนมาใช้บริการ นอกจากนี้ยังจ่าย “โบนัสวันอาทิตย์” น้อยกว่าที่ควรด้วย ปกติแล้วโบนัสนี้ต้องจ่ายตามค่าแรงรายชั่วโมง แต่ผู้ประกอบการหัวใสกลับแจ้งค่าจ้างรายชั่วโมงต่ำกว่าที่จ่ายจริง เช่นในจำนวน 30 ยูโรที่จ่ายนั้น มีเพียง 10 ยูโรที่แจ้งเป็นค่าแรง ที่เหลือกลับเรียกว่าเงินที่ชดเชยให้สำหรับเวลาที่ใช้เตรียมสอน เป็นต้น   //

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 147 กระแสต่างแดน

บริการไม่เข้าป้ายฟังแล้วเฉยไว้ อย่าไปอิจฉาเขา … รถไฟที่อิตาลีเขามีการตรวจสอบคุณภาพกันอย่างสม่ำเสมอโดยองค์กรปกครองท้องถิ่นที่รถไฟวิ่งผ่านล่าสุดแคว้นทัสคานีเขาตรวจสอบแล้วได้ความว่าต้องสั่งปรับบริษัทเทรนอิตาเลียหรือการรถไฟอิตาลี เป็นเงิน 644,000 ยูโร (25 ล้านบาท) โทษฐานที่ฝ่าฝืนสัญญาจ้างหลายๆ เรื่อง ตั้งแต่การไม่จัดจำนวนตู้โดยสารให้เพียงพอกับจำนวนคน ไม่แจ้งข้อมูลแก่ผู้บริโภคเมื่อขบวนรถเกิดการล่าช้า ไม่มีป้ายหรือสัญลักษณ์ที่เพียงพอในตัวสถานี ไปจนถึงเรื่องห้องน้ำไม่สะอาด หรือระบบปรับอากาศไม่ทำงาน เป็นต้นนี่คือผลจากการตรวจทั้งหมด 14,000 ครั้ง เมื่อปีที่แล้ว แต่เท่านั้นยังไม่พอ รฟต. ยังถูกปรับเพิ่มอีก 4,000 ยูโร (150,000 บาท) เพราะไม่ยอมรับโทรศัพท์สายด่วนสำหรับร้องเรียนบริการ ปิดท้ายขบวนด้วยเรื่องความล่าช้าหรือยกเลิกการเดินทาง ที่ทำให้เทรนอิตาเลียโดนปรับเพิ่มอีก 4.3 ล้านยูโร หรือประมาณ 160 กว่าล้านบาท (นี่ขนาดสถิติการตรงเวลาเขาอยู่ที่ร้อยละ 90 นะ)สาเหตุของความล่าช้านั้น ข่าวบอกว่าเป็นเพราะความหนาแน่นที่สถานีฟลอเรนซ์ ตั้งแต่เริ่มมีระบบรถไฟความเร็วสูงในปี 2008 มาจนบัดนี้ การประสานงานเชื่อมต่อของรถไฟทั้งสองประเภทก็ยังไม่ลงตัวอ้าว ... ตกลงว่าถ้ามีรถไฟความเร็วสูงแล้ว รถไฟธรรมดาๆ จะต้องใช้เวลามากขึ้นหรือนี่ ?!! เสื้อผ้าดีๆมีที่ไหน? ถ้าผู้บริโภคต้องการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมด้วยการซื้อเสื้อผ้าที่ผลิตจากโรงงานที่มีสภาพการทำงานที่เป็นมิตรและปลอดภัยต่อลูกจ้าง เขาหรือเธอจะไปช้อปที่ไหน? อุตสาหกรรมเสื้อผ้าสำเร็จรูปทั่วโลกมีมูลค่าประมาณ 100,000 ล้านเหรียญสหรัฐ  แต่คุณทราบหรือไม่ว่ามีเพียงร้อยละ 1 เท่านั้น ที่เป็นการผลิตเสื้อผ้าด้วยกระบวนการผลิตที่ผ่านมาตรฐาน “จริยธรรม” จริงๆ ยกตัวอย่างที่บังคลาเทศเอง ซึ่งอุตสาหกรรมนี้มีมูลค่าถึง 20,000 ล้านเหรียญ โรงงานส่วนใหญ่ไม่มีมาตรฐาน ไม่มีทางหนีไฟ และมีความเสี่ยงที่จะถล่มลงมา ตัวอย่างเช่น ตึกรานา พลาซ่า ที่มีผู้เสียชีวิตเกือบ 700 คน เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ตึกดังกล่าวมีโรงงานผลิตเสื้อผ้าอยู่ทั้งหมด 5 โรง ที่ผลิตเสื้อผ้าให้กับแบรนด์ดังๆ จากสหรัฐฯ แคนาดา อังกฤษ อิตาลี เสปน เยอรมนี และเดนมาร์ค ความจริงแล้วแบรนด์เหล่านี้ได้กำหนดมาตรฐานโรงงานไว้แล้ว ขาดแต่การกำกับดูแลให้เป็นไปตามมาตรฐาน เพราะการตรวจสอบโรงงานในต่างประเทศจะทำให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น และที่สำคัญคือยังไม่ได้รับแรงกดดันมากพอจากผู้บริโภค แต่อุบัติเหตุครั้งใหญ่ๆ ที่ผ่านมา ก็ทำให้เราได้เห็นการเปลี่ยนแปลงในวงการค้าปลีกเสื้อผ้าอยู่บ้าง เช่น วอลมาร์ท ห้างค้าปลีกที่ใหญ่ที่สุดในโลก ประกาศเมื่อเดือนมกราคมว่าจะยกเลิกสัญญากับโรงงานที่ไม่ผ่านการตรวจสอบทันทีที่พบว่าฝ่าฝืนข้อตกลง (เปลี่ยนจากของเดิมคือแค่ตักเตือน) หรือกรณีของบริษัท The Gap ก็บอกว่าจะจ้างเจ้าหน้าที่มาตรวจสอบเรื่องของความเสี่ยงไฟไหม้ให้กับโรงงานที่รับจ้างผลิตเสื้อผ้าของบริษัททั้งหมดในบังคลาเทศ อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีเจ้าไหนยินดีลงนามรับข้อเสนอขององค์กรพัฒนาเอกชนและสหภาพแรงงานบังคลาเทศที่ต้องการยกระดับความปลอดภัยของโรงงานผลิตเสื้อผ้าในบังคลาเทศ เพราะเท่ากับเป็นการผูกมัดให้บริษัทต้องรับผิดเมื่อเกิดเหตุไฟไหม้รวมถึงต้องจ่ายเงินเพื่อการซ่อมแซมโรงงานด้วย เรื่องนี้ยังต้องติดตามตอนต่อไป .. แต่การระบุสถานที่ผลิตไว้ในฉลากสินค้าก็น่าจะช่วยให้ข้อมูลประกอบการตัดสินใจของผู้บริโภคได้บ้าง หรือว่านี่ก็ทำให้ต้นทุนเพิ่มอีก?   อวสานธุรกิจกระดาษ? การรณรงค์ลดการใช้กระดาษในประเทศฟินแลนด์เขาได้ผลจริงๆ หลักฐานคือการปรับตัวขนานใหญ่ของอุตสาหกรรมกระดาษในประเทศ อุตสาหกรรมนี้จ้างแรงงานถึง  40,000 คน และนี่คือตัวเลขที่ลดลงไป 3 เท่าแล้วในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา ปัญหานี้มีกันทั่วยุโรป เมื่อธุรกิจต่างๆ ตั้งแต่นิตยสาร ไปจนถึงตั๋วเครื่องบิน พากันทำทุกอย่างโดยไม่ง้อกระดาษ UPM-Kymmene Corp ผู้ผลิตกระดาษสำหรับแม็กกาซีนเจ้าใหญ่ที่สุดในโลก ลดการผลิตลงไป 850,000 ตันในปีนี้ ซึ่งการลดกำลังการผลิตลงร้อยละ 7 นี้ส่งผลกระทบต่อ โรงงานทั้งในฟินแลนด์ เยอรมนี และฝรั่งเศส ส่วน Stora Enso เจ้าใหญ่อีกรายหนึ่งก็ประกาศลดกำลังผลิตลงมาเหลือ 475,000 ตัน ทำให้ต้องปิดโรงงานในสวีเดนไป 2 โรง แต่เดี๋ยวก่อน ธุรกิจยังคงดำเนินต่อไป บริษัท UPM หันมาเอาดีทางด้านพลังงานทางเลือก ด้วยการลงทุน 150 ล้านยูโรสร้างโรงกลั่นแห่งแรกของโลกที่ผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพจากน้ำมันที่เป็นผลพลอยได้จากการนำต้นสนมาผลิตกระดาษ และเพราะความต้องการใช้กระดาษที่อื่นๆในโลกไม่ได้ลดลงเหมือนที่ฟินแลนด์ UPM จึงไปลงทุนสร้างโรงงานกระดาษในประเทศจีน เช่นเดียวกับ Stora Enso ที่ไปลงทุนสร้างโรงงานผลิตกระดาษกล่อง ในมณฑลกวางสี และร่วมทุนกับบริษัทจากชิลีเปิดโรงงานกระดาษในอุรุกวัย เป็นต้น   ประหยัดได้อีก จุดขายของรถนาทีนี้ ไม่มีอะไรแรงไปกว่าเรื่องของการประหยัดน้ำมันอีกแล้ว แต่ใครเลยจะรู้ว่าระยะทางที่วิ่งได้ต่อน้ำมันหนึ่งแกลลอนนั้นเป็นไปตามที่โฆษณาไว้หรือไม่? บังเอิญว่านิตยสารผู้บริโภคของอังกฤษ Which? เขามีทุนมากพอจะทดสอบได้ เลยพบข้อมูลที่น่าสนใจทีเดียว Which? ทดสอบรถเล็ก 2 รุ่น ที่อ้างว่าประหยัดน้ำมัน ได้แก่ ฟอร์ด เฟียสต้า 1.0 อีโคบู๊สต์ และ เรโนลด์ คลิโอ 0.9 TCE 90 และพบว่า ฟอร์ด เฟียสต้า 1.0 อีโคบู๊สต์ วิ่งได้น้อยกว่าที่โฆษณาไว้ถึง 9.2 ไมล์ต่อแกลลอน (โฆษณาบอกว่า วิ่งได้ 76.4 mpg สำหรับนอกเมือง แต่การทดสอบของ Which? พบว่าวิ่งได้ 65.7 mpg เท่านั้น) และค่าเฉลี่ยสำหรับการวิ่งในเส้นทางทุกประเภทอยู่ที่ 56.5 ไมล์ต่อแกลลอน ไม่ใช่ 65.7 เหมือนที่อ้างด้วย เมื่อลองคำนวณดู โดยใช้ราคาน้ำมันในปัจจุบัน และสมมุติระยะทางใช้รถไว้ที่ 12,000 ไมล์ต่อปี ก็หมายความว่า รถรุ่นนี้จะต้องใช้เงินค่าน้ำมันเกินกว่าที่ตั้งใจไว้ถึง 185 ปอนด์ (ประมาณ 8,400 บาท) ต่อปี เช่นเดียวกับ เรโนลด์ คลิโอ 0.9 TCE 90 ที่วิ่งได้น้อยกว่าโฆษณา 8.5 ไมล์ต่อแกลลอน ซึ่งหมายความว่าเจ้าของรถรุ่นนี้จะต้องใช้เงินค่าน้ำมันเกินกว่าที่ตั้งใจไว้ถึงปีละ 186 ปอนด์ (ประมาณ 8,450 บาท) Which? ยืนยันว่าวิธีการทดสอบของเขาใกล้เคียงกับการใช้รถจริงมากกว่าการทดสอบของ EU ด้วย   ทำงานที่นี่มีความสุข ความรับผิดชอบต่อสังคมของผู้ประกอบการเป็นเรื่องที่เราได้ยินกันมาระยะหนึ่งแล้ว แต่ที่ไต้หวันเขามีมุมมองใหม่ เขาจะใช้มันเพื่อเพิ่มระดับความสุขให้คนในประเทศ รัฐบาลไต้หวันให้ความเชื่อมั่นว่าถ้าคุณมีงานทำ คุณก็จะมีความสุข อย่างน้อยก็ใน 1,600 บริษัทที่ร่วมลงนามใน “คำประกาศว่าด้วยความสุขในที่ทำงาน” ร่วมกับหน่วยงานของรัฐ 6 กระทรวง กระทรวงเศรษฐกิจเขาบอกว่ารัฐบาลต้องการลดความเครียดของผู้คนในช่วงเศรษฐกิจขาลง และโครงการนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งของการทำ “ดัชนีความสุขในที่ทำงาน” ด้วย เขาเน้นเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมเป็นหลัก ตั้งแต่การมีส่วนร่วมพัฒนาชุมชน เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม การทำธุรกิจอย่างมีธรรมาภิบาล การคืนกำไรให้กับสังคมและร่วมดูแลผู้ด้อยโอกาส นอกจากนี้ยังเน้นเรื่องความปลอดภัยในที่ทำงาน การมีพื้นที่ทำงานที่สะดวกสบาย มีโอกาสได้รับการจ้างงานและได้รับความก้าวหน้าเท่าเทียมกัน มีเงินช่วยเหลือหลังเกษียณ ฯลฯ และต้องให้พนักงานได้มีสมดุลระหว่างเรื่องงานและชีวิตส่วนตัว มีวันหยุดเพียงพอ เลือกชั่วโมงทำงานได้ ฯลฯ  ที่สำคัญที่สุดคือการผลิตสินค้าหรือบริการที่ปลอดภัยและมีคุณภาพ เพราะความสุขจะกระจายออกไปถึงผู้บริโภคหรือพลเมืองทุกคนนั่นเอง //

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 144 กระแสต่างแดน

  บัตรของเรา เรทของเรา บริษัทบัตรเครดิตวีซ่างานเข้า เมื่อถูกคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าและการคุ้มครองผู้บริโภคแห่งออสเตรเลียฟ้องในข้อหาพยายามใช้อำนาจทางการตลาดผูกขาดอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ   ข่าวบอกว่าในช่วง 5 ปีที่ผ่านมานั้น นักท่องเที่ยวที่ถอนเงินจากตู้กดเงินอัตโนมัติด้วยบัตรวีซ่าจะต้องใช้อัตราแลกเงินที่วีซ่าเป็นผู้กำหนดเท่านั้น   แม้คุณจะเลือกจ่ายค่าสินค้าบริการด้วยบัตรเครดิต บริษัทเขาก็กำหนดให้ร้านค้าต่างๆ ที่เปิดรับการจ่ายเงินด้วยบัตรวีซ่าใช้อัตราแลกเปลี่ยนของเขาอยู่ดีนั่นแหละ   คณะกรรมการฯ เป็นห่วงว่าจะเกิดการผูกขาดในธุรกิจบริการรับแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ และเจ้าอื่นจะพากันล้มหายตายจาก ไม่เหลือทางเลือกให้ผู้บริโภคในที่สุด  นั่นสินะ.. เวลาจะแลกเงินเรายังต้องเสาะหาว่าจะไปแลกเงินกับเจ้าไหนดีให้ได้อัตราสูงที่สุด แต่เวลาใช้บัตรเรากลับหมดทางเลือกไปซะอย่างนั้น     ภาษีที่เลี่ยงได้ คือกำไรของเรา? เว็บไซต์ www.ethicalconsumer.org ของอังกฤษกำลังชักชวนให้ผู้บริโภคบอยคอตอเมซอน ร้านหนังสือออนไลน์ที่เรารู้จักกันดี เพื่อกดดันให้บริษัทจ่ายภาษีให้สมน้ำสมเนื้อกับผลกำไรมหาศาลเสียที   อเมซอนไม่ใช่บริษัทเดียวที่เลี่ยงภาษี แต่ที่ถูกเพ่งเล็งหนักเพราะเว็บนี้เขาเชื่อว่าอเมซอนใช้การเลี่ยงภาษีเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์หลักของการทำธุรกิจ   รายงานในหนังสือพิมพ์ The Guardian ระบุว่า 1 ใน 4 ของลูกค้าของบริษัทอยู่ในอังกฤษ คิดเป็นยอดขายในประเทศนี้ถึง 7,500 ล้านปอนด์ (350,000 ล้านบาท) ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา   แต่บริษัทไม่ได้เสียภาษีจากผลกำไรดังกล่าวให้กับรัฐบาลอังกฤษเลย เขาคาดว่าการสูญเสียครั้งนี้มีมูลค่าประมาณ 100 ล้านปอนด์ (4,600 ล้านบาท)   เมื่อพ.ศ. 2551 นิตยสาร Business Week ระบุว่าอเมซอนจ่ายภาษีให้รัฐบาลอเมริกันเพียงร้อยละ 4 ของผลกำไรเท่านั้น ... น้อยกว่าอีก 488 บริษัทที่อยู่ใน 500 อันดับบริษัทที่ใหญ่ที่สุดของสหรัฐฯ   ถัดมาอีก 3 ปี อเมซอนใช้เงิน 5 ล้านเหรียญ(ประมาณ 150 ล้านบาท) สนับสนุนการแก้ไขกฎหมายภาษีของรัฐแคลิฟอร์เนียให้เป็นประโยชน์ต่อบริษัทมากขึ้นด้วย       ใครอยากบอยคอตก็ให้ไปซื้อหนังสือจากเว็บของสำนักพิมพ์โดยตรง หรือไม่ก็อุดหนุนร้านหนังสือแถวบ้านดีกว่า(แต่ใครจะเข้าไปเปิดดูตัวอย่างหนังสือจากเว็บของอเมซอนฟรีๆ อันนี้ไม่ว่ากัน)     เมื่อสตาร์บัคส์ชักจะไม่หอมกรุ่น หลังจากสตาร์บัคส์อังกฤษถูกเปิดโปงในรัฐสภาว่ามีมาตรการเลี่ยงภาษีที่ “ไร้จริยธรรม” บริษัทจึงรีบแก้ไขสถานการณ์ด้วยการออกนโยบายลดเงินเดือนและสวัสดิการพนักงานเสียเลย โดยให้เหตุผลว่าต้องลดรายจ่ายเพื่อให้มีเงินเหลือมาจ่ายภาษีมากขึ้น   นโยบายนี้มีผลต่อพนักงานประมาณ 7,000 คน ของร้านกาแฟสตาร์บัคส์กว่า 750 สาขาในอังกฤษ ที่ต่อไปนี้จะไม่ได้ค่าจ้างในช่วงพักกลางวัน 30 นาที ค่าจ้างในวันแรกของการลาป่วย เงินโบนัสพิเศษ หรือแม้แต่คูปองกินฟรีในวันเกิด   พนักงานบอกว่าพวกเขามีทางเลือกอยู่ 2 ทางคือ หนึ่งเซ็นรับทราบข้อตกลง/เงื่อนไขการจ้างงานใหม่ แล้วทำงานต่อไปเงียบๆ อย่าหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาคุยเป็นอันขาด สองไม่เซ็นก็ได้ แต่ต้องลาออกไปโดยพลัน   สตาร์บัคส์แถลงว่า รายจ่ายของธุรกิจร้านกาแฟของบริษัทหมดไปกับค่าจ้างและสวัสดิการพนักงานมากที่สุด บริษัทจึงใช้เวลาในช่วงสองสามเดือนที่ผ่านมาปรับโครงสร้างรายจ่ายให้สมดุลกับการพัฒนาธุรกิจ   บริษัทบอกว่าได้ทำความเข้าใจกับพนักงานแล้ว โดยบางคนได้รับคำอธิบายจากผู้จัดการว่าสตาร์บัคส์ขาดทุนค่อนข้างมากในยุโรป จึงต้องหาวิธีลดรายจ่ายลง   แต่รายงานข่าวในช่วงก่อนหน้านี้บอกว่า ด้วยวิธีการอันซับซ้อนซ่อนเงื่อน ทำให้สตาร์บัคส์เสียภาษีเพียง 8.6 ล้านปอนด์ (403 ล้านบาท) จากรายได้ทั้งหมด 3,100 ล้านปอนด์ (145,200 ล้านบาท) ในช่วง 13 ปีที่ผ่านมา   ด้านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอังกฤษก็ตั้งข้อสงสัยว่า มันเป็นไปได้อย่างไรที่บริษัทนี้จะขาดทุนอย่างต่อเนื่องมาตลอดเวลา 15 ปีที่เปิดกิจการในอังกฤษ ทั้งๆ ที่มีส่วนแบ่งตลาดมากกว่าร้อยละ 30   และที่สำคัญยังแถลงต่อผู้ถือหุ้นว่าบริษัททำกำไรได้ร้อยละ 15 ต่อปีด้วย   ตกลงมันยังไงกันแน่? แล้วทำไมภาระภาษีถึงมาตกอยู่กับพนักงานรายได้น้อยไปเสียได้?     บอกแล้วให้ซื้อรถใหม่ เรื่องร้องเรียนอันดับหนึ่งของ สมาคมผู้บริโภคแห่งสิงคโปร์สิงคโปร์ (คล้ายๆ สคบ.บ้านเรา) ปีนี้ได้แก่ “รถมือสอง” ที่เบียดแชมป์เก่าอย่าง “ผลิตภัณฑ์ความงาม” ตกถนนไปเลย   ข่าวบอกว่าเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับรถมือสองที่เคยครองอันดับ 9 ในปีที่แล้ว ขึ้นจากมาครองตำแหน่งแชมป์ในปีนี้ ด้วยสถิติเรื่องร้องเรียนถึง 2,255 กรณี (เพิ่มขึ้นเกือบร้อยละ 80)   สาเหตุเพราะปัจจุบันการจะซื้อรถใหม่ที่สิงคโปร์นั้นต้องมีค่าใช้จ่ายเรื่อง “ใบรับรองการเป็นเจ้าของรถ” ที่สูงถึง 92,100 เหรียญสิงคโปร์ (ประมาณ 2 ล้านกว่าบาท ... โอ้แม่เจ้า ... นี่ยังไม่ได้รวมราคารถเลยนะ) ที่สำคัญเขาบอกว่าใบรับรองฯ ที่ว่านี้ยังสามารถแพงได้อีก   ก็คงมีแต่เศรษฐีเท่านั้นที่จะซื้อรถใหม่ได้ ส่วนครอบครัวที่มีรายได้ปานกลางก็ต้องพึ่งรถมือสองซึ่งนอกจากจะเกเรอยู่บ่อยๆ แล้วยังจะฝ่าฝืนนโยบายลดมลพิษด้วยการพ่นควันดำกระจาย...ให้รัฐบาลปวดหัวอีกด้วย     เวียดนามร้องซีพีขายไข่ไก่แพง หลังจากชาวบ้านร้องเรียนกันเข้ามามากว่าราคาไข่ไก่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วตั้งแต่ต้นปี   กรมอุตสาหกรรมและการค้าแห่งนครโฮจิมินห์เรียกตัวแทนของซีพีเวียดนามเข้าชี้แจงนโยบายการตั้งราคาไข่ไก่ของบริษัทโดยด่วน   กรมฯ บอกว่า ไข่ที่นำเข้าตั้งแต่เดือนธันวาคมปีที่แล้วก็ยังเพียงพอต่อความต้องการในประเทศ  ราคาอาหารไก่ก็ยังไม่เปลี่ยนแปลง แล้วเหตุใดซีพีท่านจึงขึ้นราคาเสียเล่า   ซีพีออกมายอมรับว่าในช่วงที่ผ่านมาได้ปรับราคาไข่ไก่ขึ้นหลายครั้ง  โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงก่อนเทศกาลเต๊ดหรือตรุษจีนของเวียดนาม ที่ความต้องการสูงเป็นพิเศษ แต่สัญญาว่าต่อไปนี้จะตั้งราคาให้เป็นธรรมขึ้น   เกษตรกรขายไข่ให้ซีพีในราคาฟองละ 1550 ด็อง (2.2 บาท)  รวมค่าขนส่งค่าบรรจุหีบห่อแล้วก็น่าจะอยู่ที่ประมาณ 1,700 ด็อง (2.4 บาท) แต่ ณ วันที่ 15 มกราคม ซีพีเวียดนามขายที่ราคา 2,500 ด็อง (3.5 บาท)   ตามกฏหมายเวียดนาม การฝ่าฝืนกฎหมายการแข่งขันทางการค้ามีความผิด ต้องเสียค่าปรับร้อยละ 5 – 10 ของรายได้บริษัท   ปี 2011 ซีพีเวียดนามมีรายได้ 1,500 ล้านเหรียญสหรัฐ (44,670 ล้านบาท) //

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 139 กระแสต่างแดน

ความสะดวกต้องมาก่อน? พาคุณผู้อ่านไปดูสถานการณ์รถโดยสารสาธารณะในจีนกันบ้าง ข่าวว่ามีอุบัติเหตุบ่อยไม่แพ้ที่เมืองไทย แต่มันประหลาดกว่าตรงที่เราเลือกเดินทางกับรถทัวร์เพราะมันถูก แต่คนจีนเขานิยมเดินทางด้วยรถทัวร์กันมากที่สุดทั้งๆที่ตั๋วรถทัวร์แพงกว่าตั๋วรถไฟด้วยซ้ำ เหตุเพราะเวลาของรถทัวร์มันช่างเหมาะกับการใช้ชีวิตเสียจริงๆนะพี่น้อง ไม่ว่าจะมาทำงานหรือมาซื้อของไปขาย ตัวอย่างเช่น รถทัวร์ระหว่างลินเฮกับปักกิ่ง มีให้ขึ้นกันทุกครึ่งชั่วโมง ด้วยค่าโดยสาร 250 หยวน ( ตั๋วรถไฟ ราคาเพียง 150 หยวน เท่านั้น) บรรดาพ่อค้าแม่ขายมาจะถึงปักกิ่งประมาณเที่ยง แล้วเดินจากสถานีขนส่งเข้าตลาดไปหาซื้อของได้เลย ได้ของครบก็กลับมาขึ้นรถที่ออกตอน 16.30 น. กลับบ้านสบายใจเฉิบ แถมบนรถยังมีพื้นให้วางของอีกด้วย ลืมบอกไปว่ารถโดยสารส่วนหนึ่งของที่นี่เขาเป็นรถนอน สองชั้น ขนาด 30 เตียง ส่วนใหญ่พาผู้โดยสารข้ามเมืองผ่านเส้นทางคดเคี้ยว มือใหม่หัดนั่งก็อาจจะนอนไม่ค่อยหลับ แต่หลายคนที่ใช้บริการอยู่บอกเดี๋ยวก็ชิน ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา มีอุบัติเหตุเกิดขึ้นกับรถโดยสารสองชั้น 13 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 252 คน สาเหตุหลักมากจากโครงสร้างตัวรถและอาการหลับในของพนักงานขับรถนั่นเอง ทางการเขามีกฎให้เปลี่ยนคนขับทุก 4 ชั่วโมง แต่ความเป็นจริงก็อย่างที่เรารู้ๆกัน ยิ่งช่วงเทศกาลด้วยแล้วยิ่งเป็นโอกาสทองที่คนขับเขาจะทำเงิน มีรายหนึ่งให้สัมภาษณ์ว่าถ้าสภาพร่างกายเขาอึดพอ เขาจะสามารถหาเงินได้ ถึง 20,000 หยวน ซึ่งเท่ากับเงินที่หาได้จากการทำงาน 11 เดือนเลยทีเดียว รัฐบาลเขาก็พยายามอย่างยิ่งที่จะลดอุบัติเหตุ ตั้งแต่การบังคับติดกล้องวงจรปิดบนรถ และห้ามรถวิ่งในระหว่างเวลาตี 2 ถึง ตี 5 (ซึ่งจากสถิติแล้วเป็นเวลาที่เกิดอุบัติเหตุมากที่สุด) ไปจนถึงการสั่งเลิกผลิตรถสองชั้นพวกนี้ และไม่รับต่อทะเบียน ขอแสดงความเสียใจกับคนที่อยากไปทดลองขึ้น ลองแสวงหาความตื่นเต้นกันด้วยวิธีอื่นไปก่อนแล้วกัน     เวียดนามอัพเกรดกฎหมายโฆษณา กลับมาที่เพื่อนบ้านใกล้ตัว กฎหมายโฆษณาของเวียดนามฉบับปรับปรุงใหม่ที่จะมีผลวันที่ 1 มกราคมปีหน้า เขาอนุญาตให้สื่อสิ่งพิมพ์เพิ่มหน้าโฆษณาได้ และให้วิทยุ/โทรทัศน์มีโฆษณาได้ร้อยละ 10 ของเวลาออกอากาศ (มากกว่ากฎหมายเดิมซึ่งอนุญาตเพียงร้อยละ 5 เท่านั้น) ประมาณการณ์ได้ว่าผู้ผลิตจะต้องมีเฮ ... แต่เดี๋ยวก่อน เขาระบุไว้ด้วยว่า ทั้งเจ้าของผลิตภัณฑ์และบริษัทโฆษณาจะต้องร่วมกันรับผิดชอบถ้าโฆษณาดังกล่าวมีข้อมูลอันเป็นเท็จ ค่าปรับตามกฎหมายใหม่นั้น มากกว่าเดิมถึง 5 เท่า ใครลงโฆษณาหลอกลวงผู้บริโภค ท่านก็มีสิทธิถูกปรับถึง 200 ล้านดอง (เกือบสามแสนบาท) ผู้ชมโทรทัศน์บอกว่าโฆษณาทุกวันนี้ ไม่ไหวจะดู แถมยังโผล่มาไม่เป็นเวล่ำเวลาอีกด้วย เห็นบอกว่าดูละครเรื่องหนึ่ง ต้องเจอกับโฆษณาแทรกถึง 4 ครั้ง (นี่แสดงว่ายังไม่เคยดูละครไทยกันล่ะสิ) สื่อเวียดนามเขายังมีข้อสงสัย ว่าผู้บริโภคชาวเวียดนามรู้สึกมั่นใจขึ้นว่าตัวเองจะปลอดภัยจากโฆษณาหลอกลวงเหล่านี้จริงหรือไม่? ใครจะเป็นผู้รับรองคุณภาพและความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์? ใครจะเป็นผู้คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคเวลาที่ผู้ประกอบการเผยแพร่ข้อมูลผิดๆในโฆษณา? ข่าวเขายกตัวอย่าง การเสียชีวิตของผู้หญิงคนหนึ่งจากการเข้าไปรับบริการที่มาเรีย คลินิก ซึ่ง โฆษณาว่าเป็นหนึ่งในคลินิกที่ดีที่สุดของเวียดนาม หรือโฆษณาหมวกกันน็อค ที่อ้างว่าได้มาตรฐานความปลอดภัย ที่มาถูกจับได้ในภายหลังว่าเป็นหมวกกันน็อคชนิดที่ใช้สำหรับการขับขี่จักรยานเท่านั้น ผู้ผลิตถูกปรับไปเพียง 27.5 ล้านดอง (ประมาณ 45,000 บาท) ซึ่งเท่ากับเงินเดือนเพียงสองเดือนของคนชั้นกลางในเวียดนามเท่านั้น     ห้าม “อินเตอร์” แค่ชื่อ ขณะที่เรากำลังจะปั้นตัวเองให้เป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ มาเลเซียเขาก็ตั้งธงจะเป็นศูนย์กลางทางด้านการศึกษาเช่นเดียวกัน เริ่มจากกระทรวงอุดมศึกษาของเขาประกาศเข้มงวดกับสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาของเอกชน ที่ตั้งชื่อด้วยการใส่คำว่า “นานาชาติ” ว่าต้องมีคุณภาพและมาตรฐานสมระดับ international จริงๆ เขาบอกว่าต่อไปนี้ใครใช้คำที่ว่า ก็แปลว่าต้องมีหน้าที่จัดการเรียนการสอนที่เป็นไปตามมาตรฐานสากลด้วย รวมถึงการจัดสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ เช่นต้องมีสนามกีฬาทั้งกลางแจ้งและในร่มด้วย จะมามีเฉพาะห้องเรียน ห้องประชุมไม่ได้แล้ว แถมยังบอกว่ากำลังพิจารณาให้มหาวิทยาลัยตามตึกแถว ที่มีคำว่า “นานาชาติ” อยู่ในชื่อ ถอนคำดังกล่าวออกไปด้วย เพราะสถาบันพวกนี้ ตอนที่มาขอจดทะเบียนก็อ้างว่าขอใช้ห้องแถวเพียงชั่วคราว แต่ 15 ปีผ่านไปก็ยังไม่ขยับขยายไปที่อื่น ปัจจุบันมาเลเซียมีมหาวิทยาลัย “นานาชาติ” อยู่ทั้งหมด 109 แห่ง ในกลุ่มนี้เป็น “ห้องแถว” นานาชาติเสีย 48 แห่ง     ขาดแคลนจิตวิญญาณ การสำรวจเมื่อเร็วๆนี้ของกระทรวงการศึกษาและฝึกอบรมของเวียดนามพบว่า ร้อยละ 20 ของคณะต่างๆในมหาวิทยาลัยที่นั่นยังไม่มีห้องสมุด อันนั้นไม่เท่าไร แต่เขาบอกว่าอีกร้อยละ 80 นั้นมีห้องสมุดก็จริง แต่มันเป็นห้องสมุดที่ช่าง “ขาดจิตวิญญาณ” เสียนี่กระไร จากการสำรวจ 196 คณะในมหาวิทยาลัยของกระทรวงฯ (จากทั้งหมด 392 แห่ง) พบว่ามีเพียง ร้อยละ 80.4 เท่านั้นมีห้องสมุด ในขณะที่มหาวิทยาลัยภายใต้สังกัดกระทรวงอื่น หรือภายใต้สังกัดการปกครองท้องถิ่นนั้น มีสถิติการมีห้องสมุดสูงกว่า นอกจากนี้ยังมีเพียงไม่ถึงร้อยละ 40 ในกลุ่มนี้ ที่มี “ห้องสมุดอิเล็กทรอนิ กส์” ให้นักศึกษาได้ใช้กัน ผู้บริหารคนหนึ่งของมหาวิทยาลัยด้านการศึกษาแห่งฮานอย บอกว่านี่แหละคือสถานการณ์ของมหาวิทยาลัยในเวียดนาม ณ ปัจจุบัน แม้แต่ข่าวห้องเรียนหรืออุปกรณ์การศึกษาไม่เพียงพอ ก็ไม่ถือเป็นเรื่องแปลก เขายกตัวอย่างว่า นักศึกษาจำนวน 10,000 คน ของมหาวิทยาลัยด้านธรณีวิทยาและการทำเหมืองก็ต้องใช้ห้องที่เป็นของโรงแรมแห่งหนึ่งเป็นห้องเรียน อาจารย์จากมหาวิทยาลัยด้านการกีฬาแห่งโฮจิมินห์ซิตี้ ก็บอกว่าปัญหาหลักอีกอย่างหนึ่งคือการมีเงินทุนไม่เพียงพอต่อการซื้อที่ดินมาทำสถานศึกษาด้วย     โชว์ห่วยแดนภารตะ  ผู้อ่านฉลาดซื้อคงจะได้ยินข่าวเรื่องรัฐบาลอินเดียยินยอมให้ห้างค้าปลีกข้ามชาติ อย่างวอลมาร์ท ของสหรัฐฯ หรือเทสโกของอังกฤษเข้าไปตั้งสาขาในแดนภารตะที่มีประชากรกว่า 1,200 ล้านคนได้ โดยให้เหตุผลว่าเพื่อการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจที่ไม่ค่อยจะโชติช่วงเท่าที่ควร แน่นอนอยู่แล้วว่ามีคนจำนวนไม่น้อยที่ได้รับผลกระทบ และออกมาชุมนุมเรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนการตัดสินใจ เพราะตามถนนหนทาง ตรอกซอยต่างๆ ที่อินเดียนั้นล้วนแล้วแต่เต็มไปด้วยร้านโชว์ห่วย ที่ถือเป็นกิจการของครอบครัว สืบทอดกันมากจากรุ่นสู่รุ่น ข้อมูลของสหพันธ์ผู้ค้าแห่งอินเดีย ระบุว่ามีร้านค้าประเภทนี้กว่า 50 ล้านแห่ง และมีผู้คนกว่า 220 ล้านคนที่การทำมาหากินของพวกเขาต้องพึ่งพาร้านเหล่านี้ คนกลุ่มนี้จึงเป็นฐานเสียงขนาดใหญ่ทีเดียว ต้องจับตาดูกันว่ารัฐบาลเขาจะเลือกอย่างไร แม้นักวิเคราะห์ส่วนหนึ่งจะมองว่า สังคมอินเดียน่าจะไม่ถูกผลกระทบจากการมีห้างเหล่านี้ซึ่งคาดว่าต้องออกไปตั้งอยู่ตามชานเมือง ในขณะที่ร้านโชว์ห่วยดั้งเดิมมีทำเลที่ดีกว่า เข้าถึงได้ง่ายกว่า และมีความสัมพันธ์ที่ดีกว่ากับลูกค้า ข่าวบอกว่ารัฐบาลจำกัดให้ห้างค้าปลีกขนาดใหญ่เปิดได้เฉพาะในเมืองที่มีประชากรมากกว่า 1 ล้านคน (ซึ่งไม่น่าจะหายากนักในอินเดีย) ต้องมีการลงทุนอย่างน้อย 100 ล้านเหรียญสหรัฐ และขายสินค้าที่จากท้องถิ่นอย่างน้อยร้อยละ 30 มาลุ้นกันดูว่าเหตุการณ์จะจบลงคล้ายที่บ้านเราหรือไม่

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 134 กระแสต่างแดน

  จับจริงปรับจริง ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมนี้เป็นต้นไป ดานัง ซึ่งเป็นเมืองท่าขนาดใหญ่อันดับ 4 ของประเทศเวียดนาม เขาจะเพิ่มความเข้มข้นของการปราบปรามการทำผิดกฎจราจรขึ้นอีกระดับ อย่างแรก ถ้าคุณทำผิดกฎจราจร คุณจะต้องเสียค่าปรับแพง อย่างที่สอง ตำรวจจราจรที่ปฏิบัติหน้าที่ใน 4 เส้นทางหลักในการเข้า/ออกตัวเมืองดานัง ซึ่งมีความวุ่นวายจอแจไม่ธรรมดา จะได้รับค่าตอบแทนเพิ่มขึ้นอีกคนละ 5 ล้านด็อง (ประมาณ 7,400 บาท) จากอัตราเงินเดือนปกติ 2 ล้านด็อง (ประมาณ 3,000 บาท) ในขณะที่สารวัตรจราจรจะได้เงินเพิ่มอีกเดือนละ 2 ล้านด็อง (ประมาณ 3,000 บาท) แถมด้วยส่วนแบ่งอีกร้อยละ 10 จากค่าปรับที่เรียกเก็บจากพวกที่ทำผิดกฎจราจรอีกต่างหาก เท่านั้นยังไม่พอ เขาจะมีการติดตั้งกล้องวงจรปิดไว้ตามจุดตรวจเพื่อลดการติดสินบนเจ้าหน้าที่อีกด้วย ใครมีภาพตัวเองรับสินบน ไม่ว่ามากหรือน้อย จะต้องถูกไล่ออกทันที อีกหน้าที่หนึ่งของตำรวจจราจรที่ดานังคือการตรวจคุณภาพของหมวกกันน็อคของบรรดาผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์ด้วย เพราะเมืองนี้กำลังมีปัญหาหมวกกันน็อคปลอมระบาด ที่คนนิยมซื้อมาใช้เพราะราคาถูกกว่ากันครึ่งต่อครึ่ง   ข่าวบอกว่าตำรวจเขาจะเชิญสิงห์มอเตอร์ไซค์เข้าไปนั่งรอการตรวจหมวกกันน็อคในที่ร่มๆ ให้สบายใจ ถ้าพบว่าเป็นชนิดที่ต่ำกว่ามาตรฐาน เขาก็จะเก็บไว้ แล้วให้ซื้อหมวกกันน็อค ที่ทั้งคุณภาพดี มีมาตรฐาน และราคาเพียงใบละ 80 บาทใส่กลับบ้านไปด้วย เหตุที่ผลิตออกมาได้ถูกนั้นก็เพราะ เทศบาลเมืองดานังเขาให้เงินกู้แบบไม่คิดดอกเบี้ย (ประมาณ 11.7 ล้านบาท) กับผู้ผลิตหมวกกันน็อค เพื่อเป็นต้นทุนในการผลิตหมวกนิรภัยที่มีมาตรฐาน โดยมีเงื่อนไขว่าจะต้องผลิตหมวกนิรภัยให้กับเทศบาล 100,000 ใบ ภายในระยะเวลา 2 ปี   รถไฟสายพิเศษ การรถไฟแห่งประเทศฝรั่งเศส ถูกศาลสั่งให้จ่ายค่าชดเชยเป็นเงิน 1,500 ยูโร (ประมาณ 60,000 บาท) ให้กับสาวนางหนึ่งที่ไปทำงานสายถึง 6 ครั้งในช่วงทดลองงาน เพราะรถไฟที่เธอใช้เพื่อเดินทางจากบ้านไปยังสำนักงานในเมืองลียงนั้นมาไม่ตรงเวลา เธอคนนี้ฟ้องเรียกค่าเสียหายจาก SNCF หรือ Société Nationale des Chemins de fer Français (ซึ่งเป็นผู้ประกอบการรถไฟเจ้าใหญ่ของยุโรป รวมถึงเป็นเจ้าของกิจการรถไฟความเร็วสูง TGV ด้วย) ไปทั้งหมด 45,000 ยูโร (ประมาณ 1.8 ล้านบาท) โทษฐานที่ทำให้เธอต้องได้รับความกระทบกระเทือนทางจิตใจ และสูญเสียรายได้ที่อาจเกิดขึ้นถ้าเธอผ่านการทดลองงานด้วย เธอบอกว่าระยะเวลาที่ต้องรอนั้นมีตั้งแต่ 10 ถึง 75 นาที และสำนักงานกฎหมายที่เธอเข้าทดลองงานในเดือนมิถุนายน ปี 2010 ก็ยืนยันว่าการมาสายของเธอเป็นผลเสียต่อกิจการของบริษัท ศาลเห็นด้วยว่าการที่รถไฟมาไม่ตรงเวลานั้น ทำให้เธอเกิดความเครียด จึงสั่งให้ SNCF จ่ายเงินชดเฉยให้กับเธอเป็นเงิน 1,500 ยูโร แม้ว่าผู้บริโภคจะไม่ได้ค่าชดเชยทั้งหมดที่เรียกร้องไป แต่ข่าวบอกว่านี่ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่การรถไฟฝรั่งเศสจะต้องเตรียมตัวรับมือต่อไป สองปีก่อน การรถไฟฝรั่งเศสเคยถูกศาลสั่งให้จ่ายค่าชดเชยให้แก่ทนายคนหนึ่งเป็นเงิน 5,000 ยูโร (ประมาณ 200,000 บาท) เพราะรถไฟมาสายและทำให้เขาพลาดรถที่จะต้องต่อไปพบลูกความที่เมืองนีมส์ มาแล้ว     วันนี้ห้ามขาย สำนักงานเทศบาลของ 25 เขตในกรุงโซลลงความเห็นร่วมกันว่า แต่นี้ต่อไป ห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ และสาขาย่อยที่เรียกกันว่า SSM (super supermarkets) ของห้างเหล่านั้น จะต้องปิดทำการในวันอาทิตย์ที่สองและสี่ของเดือน นี่เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามที่จะช่วยให้ร้านค้าแบบดั้งเดิม (หรือที่บ้านเราเรียก “โชว์ห่วย”) ให้สามารถอยู่ควบคู่กันไปกับร้านค้าปลีกขนาดใหญ่ โดยไม่ต้องปิดกิจการนั่นเอง กรุงโซลเป็นหนึ่งในหลายๆ เมือง ที่กำลังปฏิบัติตามกฎหมายใหม่ ที่ให้อำนาจแก่องค์กรท้องถิ่น ในการสั่งให้ร้านค้าปลีกขนาดใหญ่และสาขาย่อย ปิดทำการได้ถึงเดือนละ 2 ครั้ง และการฝ่าฝืนจะมีโทษปรับ 30 ล้านวอน(ประมาณ 800,000 บาท) ทั้งนี้มีข้อยกเว้นสำหรับห้างที่ยอดขายเกินร้อยละ 50 มาจากการจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากการเกษตรและปศุสัตว์ ร้าน Hanaro Club ซึ่งเป็นร้านค้าปลีกที่ดำเนินงานโดยสหพันธ์สหกรณ์การเกษตรแห่งชาติของเกาหลีก็เข้าข่ายนี้เช่นกัน และแน่นอนที่สุด สมาคมร้านค้าปลีกของเกาหลี ได้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้ทบทวนกฎหมายดังกล่าว เพราะ “มันเป็นการละเมิดสิทธิของห้างในการประกอบธุรกิจ และละเมิดสิทธิของผู้บริโภคในการจับจ่าย”  นอกจากนี้ยังบอกว่าจะล่ารายชื่อ 1 ล้านรายชื่อ เพื่อคัดค้านกฎหมายนี้ สมาคมฯ โอดครวญว่า ทีพวกขายของทางโทรทัศน์หรือทางอินเตอร์เน็ทยังขายได้ทุกวัน วันละ 24 ชั่วโมงเลย (ว่าแต่ร้านโชว์ห่วยเขาขายของแบบเดียวกันกับร้านพวกนี้หรือไงนะ?)     แคลอรี่ บลา บลา? เนื่องจากประชากรของเขามีอัตราการเกิดโรคอ้วนสูงเป็นอันดับต้นๆ ของยุโรป รัฐบาลอังกฤษเลยตัดสินใจประกาศแผนลดความอ้วนระดับชาติ ด้วยการกำหนดให้ผู้ผลิตลดปริมาณแคลอรี่ในอาหารสำเร็จรูปลง เบื้องต้นได้รับความร่วมมือจากผู้ประกอบการ 17 ราย ซึ่งรวมถึง โคคา โคล่าที่ประกาศว่าจะลดปริมาณแคลอรี่ในเครื่องดื่ม (บางชนิด) ของตนเองลงร้อยละ 30 เช่นเดียวกับ Mars ที่บอกว่าจะทำขนมหวานรสช็อคโกแล็ต แต่ละชิ้นให้มีแคลอรี่ไม่เกิน 250 หรือห้าง Asda ที่ประกาศเปิดตัวผลิตภัณฑ์แบรนด์ใหม่ที่จะผลิตเฉพาะอาหารแคลอรี่ต่ำ เป็นต้น เรื่องนี้จะว่าดีก็ใช่ แต่มันยังไม่ถึงที่สุด พรรคแรงงานออกมาตั้งคำถามกับรัฐบาลว่าทำไมถึงไม่คิดถึงทางเลือกอื่นที่เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคมากกว่านี้ เช่น กำหนดให้ผู้ประกอบการปรับปรุงฉลากอาหาร หรือจำกัดการโฆษณาอาหารขยะทั้งหลายที่เด็กๆ พบเห็นบ่อยเกินไปในโทรทัศน์ เป็นต้น อีกความพยายามที่น่าสนใจของรัฐบาลอังกฤษคือการขอให้ผู้ผลิตทำบรรจุภัณฑ์ที่เอื้อต่อการเก็บไว้รับประทานในคราวต่อไปได้ด้วย     ถนนนี้เราจอง คุณอาจเคยได้ยินชื่อ เอมิเรตส์ สเตเดียม ในกรุงลอนดอน หรือถ้าคุณเป็นแฟนของทีมฟุตบอลเลสเตอร์ซิตี้ คุณก็คงจะรู้จักคิง พาวเวอร์ สเตเดียม แต่ “แบรนด์” ต่างๆ สามารถไปได้ไกลกว่านั้น อย่างน้อยๆ ก็ที่รัฐเวอร์จิเนีย สหรัฐอเมริกา เพราะเขาประกาศขายสิทธิในการตั้งชื่อถนน ทางหลวง สะพาน ฯลฯ ให้กับใครก็ตามที่ยินดีให้ราคาสูงสุดในการประมูล เวอร์จิเนีย ซึ่งเป็นรัฐที่มีประชากรหนาแน่นเป็นอันดับที่ 12 ของอเมริกา ตัดสินใจผ่านกฎหมายดังกล่าวเพื่อหางบประมาณมาซ่อมแซมถนน ซึ่งแต่ละสายก็อายุไม่ต่ำกว่า 100 ปี นักการตลาดบอกว่านี่เป็นโอกาสอันดีของผู้ประกอบการในยุคที่ “แบรนด์” ทั้งหลายแข่งกันสร้างการรับรู้ให้กับผู้บริโภค แทนที่จะไปทุ่มเทเงินให้กับนักกีฬาหรือทีมกีฬาที่รวยอยู่แล้ว บริษัทต่างๆ ควรใช้เงินเพื่อสนับสนุนการดูทรัพย์สินสาธารณะดีกว่า ในทางกลับกัน ฝ่ายที่คัดค้านมองว่ามันเป็นการใช้พื้นที่สาธารณะเพื่อการค้า ซึ่งทำให้ผู้บริโภคต้องถูกแวดล้อมไปด้วยโฆษณาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้นั่นเอง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 132 กระแสต่างแดน

  เมื่อเรือ “ไม่สำราญ”บรรดาผู้โดยสารเรือคอสตา คอนคอร์เดีย ที่ล่มอยู่นอกชายฝั่งเกาะแห่งหนึ่งในอิตาลีกำลังรวมตัวกันฟ้องผู้ประกอบการเพื่อเรียกร้องค่าชดเชยให้เหมาะสมกับประสบการณ์ “เรือไม่สำราญ” ที่ตนเองได้รับ เบื้องต้นนั้น บริษัทประกาศว่าจะคืนเงินค่าตั๋วให้ พร้อมกับคูปองส่วนลด 30% สำหรับการเดินทางครั้งต่อไป(ถ้ายังจะกล้าไปด้วยกันอีก) แต่นั่นไม่ดีพอ บรรดาองค์กรผู้บริโภคของอิตาลี นำโดยองค์กร “อัลโตรคอนซูโม” ไปต่อรองการชดเชยได้ดีขึ้นอีกระดับ นั่นคือผู้โดยสารทุกคน(รวมถึงเด็กเล็กที่ไม่อยู่ในข่ายต้องเสียค่าตั๋ว) จะต้องได้รับค่าชดเชยคนละ 11,000 ยูโร(ประมาณ 440,000 บาท) และได้รับคืนเงินค่าตั๋ว ค่าภาษีท่าเรือ ค่าเดินทางเพื่อมาขึ้นเรือ(แล้วแต่ว่าใครขึ้นรถยนต์ รถไฟ หรือนั่งเครื่องบินมา) ค่ารักษาพยาบาล และค่าเดินทางกลับบ้าน(ด้วยความผิดหวัง) นอกจากนี้ยังขอให้บริษัทคืนเงินทั้งหมดที่ผู้โดยสารใช้จ่ายในระหว่างที่อยู่บนเรือ(เช่น การใช้บริการสปา บาร์เครื่องดื่ม หรือเล่นพนันในคาสิโนบนเรือ เป็นต้น)  รวมถึงจัดส่งข้าวของทั้งหมดคืนให้กับผู้โดยสารถึงบ้าน โดยบริษัทเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายด้วย บริษัทคาร์นิวาล คอร์ป เขาบอกว่าตกลงตามนั้น โดยผู้โดยสารจะได้สิทธินั้น 7 วันหลังลงนามในสัญญา แต่เดี๋ยวก่อน องค์กรผู้บริโภค โคดาคอนส์ เขาประกาศชักชวนบรรดาผู้โดยสารที่เซ็งจิตเพราะอดเดินทางตามทริปในฝัน มาร่วมกันฟ้องผู้ประกอบการ เพื่อเรียกร้องค่าเสียหายซึ่งเขาบอกว่าน่าจะอยู่ที่ระหว่าง 125,000 – 1,000,000 ยูโร(ประมาณ 4 – 40 ล้านบาท) ข่าวบอกว่ามีคนสนใจเยอะทีเดียว รายงานข่าวอุบัติเหตุที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 17 ราย และผู้สูญหายอีก 15 คน นี้ทำให้เราได้รู้ว่าธุรกิจเรือสำราญนี้มีระเบียบด้านความปลอดภัยที่หละหลวมมาก เช่นไม่มีการระบุจำนวนเจ้าหน้าที่ที่สามารถดูแลเรื่องความปลอดภัยในยามฉุกเฉิน(เรียกว่า ในบรรดาลูกเรือ 1,023 คน บนเรือคอสตา คอนคอร์เดีย ที่ทำหน้าที่ดูแลสระว่ายน้ำ บาร์ คาสิโน และโรงภาพยนตร์บนเรือนั้น มีเพียงไม่กี่คนเท่านั้นที่เชี่ยวชาญด้านการเดินเรือ) หรือแม้แต่การแล่นเรือเข้าไปในระยะ 150 เมตรจากฝั่งนั้น เขาบอกว่าไม่ได้มีข้อห้ามใดๆ และที่เราไม่ค่อยจะได้ยินข่าวคราวเรื่องอุบัติเหตุเรือสำราญก็เพราะเขาถือเป็นข้อมูลที่ไม่จำเป็นต้องเปิดเผยต่อสาธารณะอีกต่างหาก ส่วนที่เปิดแง้มๆ ออกมาผ่านฐานข้อมูลขององค์กรสหประชาชาติ International Maritime Database นั้นก็มีนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยในสหรัฐฯ  ออกมาแฉว่าน้อยกว่าตัวเลขจริงหนึ่งเท่าตัว     แอพแยกสี ต้องพึ่งพาตัวเองกันแล้วจริงๆ สำหรับผู้บริโภคในยุคที่การตัดสินใจของรัฐบาลได้รับอิทธิพลจากผู้ประกอบการเป็นหลัก หลังจากที่รัฐบาลไม่ยอมประกาศใช้ฉลาก “สัญญาณไฟจราจร”บนผลิตภัณฑ์อาหาร ทีมงานจากมหาวิทยาลัยซิดนีย์ เขาก็หันไปพัฒนาแอพพลิเคชั่นในไอโฟนออกมาช่วยผู้บริโภคตัดสินใจเลือกซื้ออาหารที่ดีต่อสุขภาพขึ้นมาเองจนได้ แอพฯ ที่ชื่อว่า “food switch” นี้จะสแกนบาร์โค้ดผ่านกล้องของโทรศัพท์ แล้วบอกคุณได้ว่าบรรดาอาหาร 20,000 รายการที่มีจำหน่ายในซูเปอร์มาร์เกตนั้น มีไขมัน น้ำตาล หรือเกลือในประมาณที่ ปลอดภัย ต้องระวัง หรือ เป็นอันตรายต่อร่างกาย หรือไม่ ด้วยการขึ้นเป็นสัญลักษณ์ไฟเขียว เหลือง แดง นั่นเอง เจ้าโปรแกรมที่ว่า มันไม่หยุดแค่นั้น มันสามารถแนะนำอาหารที่ดีกว่าให้คุณได้ด้วย โดยจะอ้างอิงจากฐานข้อมูลที่มีการเก็บข้อมูลโดยสถาบันวิจัย George Institute ของมหาวิทยาลัยซิดนีย์ นั่นเอง บรูซ นีล ผู้อำนวยการสถาบันดังกล่าวบอกว่ากำลังเก็บข้อมูลว่าการใช้ระบบสัญญาณไฟจราจรนั้นสามารถเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการเลือกของผู้บริโภคได้จริงหรือไม่ ถ้าใช่ก็จะได้นำไปยืนยันกับรัฐบาลในทันใด เผื่อว่าคิดผิดจะได้คิดใหม่ เพราะเขาเชื่ออย่างยิ่งว่าคนเราต้องการเลือกอาหารที่ดี เพียงแต่อาจจะท้อแท้เพลียใจที่จะต้องคอยเพ่งอ่าน หรือคอยคำนวณเปรียบเทียบปริมาณไขมัน น้ำตาล หรือเกลือทุกครั้งที่เลือกซื้อ ทีนี้ก็อยู่ที่รัฐบาลแล้วว่าจะเลือกแบบที่ง่ายสำหรับผู้บริโภค หรือง่ายสำหรับผู้ผลิต    ชอบของเก่า เรื่องกินนี่ไม่เข้าใครออกใครจริงๆ นะคุณผู้ชม บางทีความอร่อยลิ้นก็มาเหนือความสะอาดเสียอย่างนั้น อย่างที่เมืองฉงชิ่ง ซึ่งเป็นถิ่นร้านอาหารหม้อไฟอันลือชื่อของจีนนั้นเกิดกระแสต่อต้านการประกาศห้ามใช้น้ำมันซ้ำจากลูกค้าคนก่อนๆ เรื่องมีอยู่ว่า ที่นี่เขาถือเป็นวิถีปฏิบัติกันมานานแล้ว การเก็บน้ำมันที่เหลือจากภาชนะของลูกค้าที่กินเสร็จแล้ว เพื่อนำมาใช้ต่อกับลูกค้ารายต่อไปนั้น ว่ากันว่ามันช่างได้กลิ่นและรสสะสมจากผัก หรือเนื้อสัตว์ที่เข้มข้นยิ่งนัก เอาเป็นว่าร้อยละ 80 ของร้านในเมืองนี้เขาก็ใช้วิธีนี้แหละ แต่แล้วอยู่มาวันหนึ่งทางการเขาประกาศห้ามการกระทำดังกล่าวด้วยเหตุผลว่ามันไม่ถูกสุขอนามัย แถมยังมีคนนำคลิปเปิดโปงการ “รีไซเคิล” น้ำมันในร้านพวกนี้ไปโพสต์ลงยูทูบ ทำให้คนบางส่วนตกใจและรับไม่ได้ ที่น่าประหลาดใจกว่าคือ หลังจากประกาศออกไป มีคนในฉงชิ่งกว่า 13,000 คนเข้าไปแสดงความเห็นในเว็บกันอย่างกว้างขวาง มีถึงร้อย 66.5 ที่ไม่เห็นด้วยกับการแบน โดยให้เหตุผลว่ารสชาติจะไม่อร่อยเหมือนเดิม และ “น้ำมัน” ในที่นี้ก็เป็นคนละอย่างกับ “น้ำมัน” ในคลิปที่เห็นพนักงานร้านเก็บออกจากชามที่กินเหลือด้วย ส่วนทางร้านก็แน่นอนว่าไม่เห็นด้วย โดยบอกว่ามันเพิ่มต้นทุนและไม่อร่อยเหมือนเดิม จึงทำให้คนเข้าร้านน้อยลงขาประจำรายหนึ่งบอกว่าเมื่อก่อนมีแค่ 60 หยวนก็กินกันได้ 2 คนแล้ว แต่หลังจากประกาศแบนแล้วต้องมีเงินเป็นร้อยถึงจะพอกินกัน เพราะทางร้านอ้างว่าต้นทุนสูงขึ้น จึงขอเก็บเงินเพิ่มจากค่าน้ำซุปด้วยนั่นเอง   ไวไฟ กรุณาเข้าใกล้ รู้ไว้ให้อิจฉาเขาเล่น ในประเทศฟินแลนด์ เอสโตเนีย  ฝรั่งเศส สเปน และกรีซนั้นการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตนั้นถือเป็นสิทธิมนุษยชนพื้นฐานกันแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งฟินแลนด์ ที่การันตีว่าประชาชนของเขาทุกคนจะต้องสามารถเข้าถึงอินเตอร์เน็ตความเร็วอย่างต่ำ 1 Mbps ด้วย มาเลเซีย เพื่อนบ้านเราก็กำลังตอบรับเทรนด์ดังกล่าวเช่นกัน ตั้งแต่เมษายนนี้เป็นต้นไป รัฐบาลมาเลเซียเขามีวิธีเพิ่มการเข้าถึงสัญญาณไวไฟ WiFi แบบไม่ต้องเสียเงินด้วยการออกกฎให้บรรดา ผับ ร้านอาหารที่มีเนื้อที่เกิน 120 ตารางเมตร ทั้งหมดในกรุงกัวลาลัมเปอร์ จัดบริการไวไฟฟรีแก่ลูกค้า ส่วนศูนย์อาหารในพื้นที่สาธารณะ นั้นรัฐบาลรับเป็นคนจัดหาให้เอง ก่อนหน้านี้เขาก็มี hotspots ไว้ให้ประชาชนได้ใช้ 1,500 จุด แต่กำลังจะหมดสัญญาในไม่ช้า(อันนี้ไม่อยากจะโม้ว่าที่กรุงเทพฯ ของเรานั้นเขามีถึง 20,000 จุดเชียวนะ) ส่วนที่ญี่ปุ่นนั้นบริษัทยักษ์ใหญ่ที่ขายเครื่องดื่มผ่านตู้ขายของ เขาออกมาประกาศว่าในปี 2012 นี้ ตู้ขายน้ำอัตโนมัติของเขา จำนวน 1,000 ตู้ จะปล่อยสัญญาณไวไฟในรัศมี 50 เมตร รอบๆ ตู้ ให้ได้ใช้กันฟรี รอบละ 30 นาที จะเข้านานเท่าไรก็ได้เพียงแต่ต้องกดต่อสัญญาณทุกๆ 30 นาทีนั่นเอง   มีจอดต้องมีดับเมื่อมลพิษทางอากาศส่วนใหญ่ในฮ่องกงมาจากรถยนต์ ทางการเขาก็เลยออกกฎหมายห้ามการจอดรถแบบติดเครื่องค้างไว้เสียเลย ต่อไปนี้ถ้าใครจอดรถโดยไม่ยอมดับเครื่อง(เพราะว่ากำลังรอใคร หรือแอบนอนกลางวัน ก็แล้วแต่) จะต้องโดนปรับเป็นเงิน 320 เหรียญฮ่องกง(ประมาณ 1,300 บาท) แต่ก็มีข้อยกเว้นอยู่บ้าง เขาให้จอดได้ 3 นาที ทุกๆ 1 ชั่วโมง(แต่สงสัยอยู่ว่าใครจะมาคอยจับเวลานะนี่) และเขาอนุโลมให้รถแท็กซี่ที่อยู่ในคิวพร้อมรับผู้โดยสาร และรถมินิบัสที่อยู่ใน 2 คิวแรก สามารถติดเครื่องรอไว้ได้ เขามีตัวเลขอ้างอิงว่าการจอดรถติดเครื่องวันละ 10 นาที จะทำให้สูญเสียน้ำมันไปเปล่าๆ ปีละ 100 ลิตร และสำคัญการกระทำดังกล่าวมันทำให้เครื่องยนต์สึกหรอเร็วกว่าที่ควร แถมยังต้องเปลี่ยนน้ำมันเครื่องเร็วขึ้นอีก ฮ่องกงเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่มีการจราจรหนาแน่นที่สุดในโลก ปัจจุบันมีรถวิ่งไปมาอยู่ 567,705 คัน บนถนนระยะทางประมาณ 2,000 กิโลเมตร

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 128 กระแสต่างแดน

  เยอรมนีไม่ชอบ ปุ่ม Like อย่างที่รู้ๆ กัน เยอรมันชนเขาถือมากในเรื่องของการละเมิดความเป็นส่วนตัว คงยังจำกันได้ว่าเยอรมนีคือประเทศที่บังคับให้กูเกิ้ล สตรีทวิวทำเบลอหน้าของผู้คนที่ปรากฏในเว็บของตน จนหลายคนที่ใช้บริการเว็บแผนที่ดังกล่าวแอบเรียกประเทศนี้ว่า “เบลอมันนี”  และวันนี้งานก็มาเข้าเครือข่ายออนไลน์ยอดนิยมอย่างเฟสบุ๊ค เจ้าของปุ่ม Like ที่เรารู้จักกันดีนี่แหละ  รัฐเชลสวิก-โฮลสไตน์ ทางตอนเหนือของเยอรมนี ประกาศว่าการทำงานของปุ่ม Like นั้นผิดกฎหมายว่าด้วยความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้ ทั้งในระดับรัฐและระดับประเทศ และต่อไปนี้บริษัทใดก็ตามที่ยังคงใช้ปุ่ม Like เป็นเครื่องมือทางการตลาดออนไลน์ของตนเองหลังสิ้นเดือนตุลาคมนี้ จะถูกปรับ 50,000 ยูโร (ประมาณ 2 ล้านบาท)  กฎหมายของสหภาพยุโรประบุว่า ผู้ที่จะถูกเก็บข้อมูลจะต้องให้ความยินยอมอย่างชัดแจ้งและโดยสมัครใจหลังจากที่ได้รับการแจ้งโดยผู้ประกอบการ แต่สำหรับกฎหมายเยอรมนีนั้นระบุให้ต้องแจ้งจุดประสงค์ในการเก็บและแจ้งด้วยว่าข้อมูลดังกล่าวจะถูกส่งไปให้ใครบ้าง  เฟสบุ๊คออกมาบอกว่าปุ่ม Like ที่ว่านี้มีมาปีกว่าแล้ว แถมใครๆ ก็ชื่นชอบ และข้อมูลที่เก็บก็แค่เป็นการนับจำนวนจากหมายเลขเครื่องคอมพิวเตอร์ (IP address) ที่มีการกดปุ่ม Like เท่านั้น  ในขณะที่หลายผ่ายออกมายืนยันว่าเฟสบุ๊คเก็บข้อมูลมากกว่านั้น แถมยังเก็บข้อมูลทุกคนที่เข้าใช้เว็บดังกล่าว ไม่ว่าจะกดปุ่ม Like หรือไม่ และจะถูกติดตามเก็บข้อมูลไปอีก 2 ปีด้วย   เมื่อความอ้วนเป็นวาระแห่งโลกปัญหาที่ทุกประเทศมีเหมือนๆ กันขณะนี้ คือการมีจำนวนประชากรที่เป็นโรคอ้วนเพิ่มขึ้นทุกปี และดูเหมือนสถานการณ์จะย่ำแย่ไปได้อีก  นักวิจัยคาดการณ์ว่าในปี ค.ศ. 2030 อังกฤษ ซึ่งปัจจุบันมีคนเป็นโรคอ้วนอยู่ร้อยละ 25 จะมีคนอ้วนถึงร้อยละ 40 โดยที่ค่าใช้จ่ายในการดูแลสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับโรคดังกล่าวก็จะเพิ่มขึ้นปีละ 2 ล้านปอนด์ด้วย ส่วนในอเมริกาจะมีถึงร้อยละ 50 ของประชากรเป็นโรคอ้วนในปีดังกล่าว (ขณะนี้ประชากร 1 ใน 3 ของอเมริกาก็เป็นโรคอ้วนแล้ว)  เลยมีการตั้งคำถามว่าเราน่าจะสร้างสิ่งแวดล้อมเพื่อลดความอ้วนกันดีหรือไม่  นักวิจัยฟันธงว่า ที่ปัญหาโรคอ้วนลุกลามใหญ่โตได้ขนาดนี้ก็เพราะรัฐบาลแต่ละประเทศเฉื่อยชาเกินไปและไม่ตระหนักว่า ทุกวันนี้สิ่งที่ทำให้ประชากรอ้วนขึ้น คือสภาพสังคมและสิ่งแวดล้อม ที่ทำให้การสร้างสุขภาพนั้นเป็นเรื่องที่ยากเย็น ทั้งๆ ที่ผลลัพธ์ของมันคือภาระค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลของรัฐนั่นเอง  ว่าแล้วก็มีข้อเสนอไปยังองค์การสหประชาชาติ ที่มีการประชุมสูงสุดด้านสุขภาพในเดือนกันยายนที่ผ่านมา ให้กดดันรัฐบาลของประเทศต่างๆ ให้ลงมือ “ลดความอ้วน” ในระดับนโยบาย เช่น เก็บภาษีจากอาหารที่เป็นโทษต่อร่างกาย จำกัดจำนวนโฆษณาอาหารทางสื่อต่างๆ บังคับใช้ฉลากอาหารแบบสัญญาณไฟจราจร หรือจัดโครงการอาหารกลางวันเพื่อสุขภาพในโรงเรียนของรัฐ เป็นต้น  ถ้าเป็นเช่นนั้นได้จริงก็น่าจะดีไม่น้อย เพราะการสร้าง “สภาพแวดล้อม” เพื่อการลดความอ้วน น่าจะได้ผลดีกว่าการปล่อยให้ประชาชนต้องหันไปพึ่งพาผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร กาแฟ หรือเครื่องดื่มที่อ้างว่าช่วยลดความอ้วนได้ไม่น้อย ที่สำคัญประหยัดเงินในกระเป๋าเราด้วย   ข้าวจีเอ็มโออีกสองปีข้างหน้าฟิลิปปินส์จะมีข้าวพันธุ์โกลเด้นไรซ์ ภาคสอง(Golden Rice 2) ออกสู่ตลาด ว่ากันว่าถ้ารับประทาน “ข้าวสีทอง” ฉบับปรับปรุงนี้วันละ 1 ถ้วย (8 ออนซ์) ร่างกายเราจะสามารถสร้างวิตามิน A ได้ถึงครึ่งหนึ่งของความต้องการต่อวันเลยทีเดียว แต่เรื่องนี้ก็ยังไม่มีการพิสูจน์  เพราะ “ข้าวสีทอง” ที่ว่านั้นมันเกิดมาเพื่อช่วยลดปัญหาการขาดวิตามินเอในเด็กโดยเฉพาะ จึงถูกดัดแปรพันธุกรรมให้มีเบตาแคโรทีนมากเป็นพิเศษ แต่ขอบอกว่าตัวแรกที่ทำออกมา (Golden Rice 1) โดยบริษัท ซินเจนต้านั้นไม่น่าประทับใจเท่าไร นักวิทยาศาสตร์อาวุโส จากสหภาพผู้บริโภคของอเมริกา (Consumer Union) ได้ทำการวิเคราะห์สารที่มีอยู่ในข้าวที่ว่านั้นและพบว่ามันก็ช่วยได้จริงๆ ถ้าเด็กกินข้าวที่ว่าวันละ ... 10 กิโลกรัม เครือข่ายต่อต้านการเกษตรแบบใช้สารเคมีในฟิลิปปินส์จึงออกมาแสดงความวิตกเรื่องที่จะมีข้าวชนิดใหม่ออกสู่ตลาดโดยที่ผู้บริโภคยังไม่ได้รับความมั่นใจว่าข้าวชนิดใหม่นั้นดีอย่างไร ปลอดภัยหรือไม่ คุ้มค่าแค่ไหนที่จะเสี่ยงกับการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพและการจำกัดสิทธิของเกษตรกร ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกระบุว่าแต่ละปีมีเด็ก 250,000 – 500,000 คนในประเทศโลกที่สาม ต้องสูญเสียการมองเห็นเพราะขาดวิตามินเอ และนอกจากนี้มีร้อยละ 40 ของเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบที่มีภูมิคุ้มกันอ่อนแอ จึงทำให้มีคนคิดหาทางออกด้วยข้าวชนิดใหม่ แต่เดี๋ยวก่อน เราไม่ได้กินแค่ข้าวอย่างเดียว และข้าวที่ไม่ขัดสีก็มีวิตามินอยู่แล้ว ไม่เห็นความจำเป็นใดๆ ที่จะต้องพึ่งพา “ข้าวสีทอง” นี่เลย ได้เวลาขาย “รถคันแรก”ช่วงนี้ตลาดรถมือสองที่พม่าคึกคักมากๆ ตรงข้ามกับบ้านเราที่ใครๆ ก็พากันมองหาซื้อรถใหม่ป้ายแดง เพราะรัฐบาลพม่ามีนโยบายโละรถเก่าออกจากท้องถนน โดยให้เหตุผลว่ามันสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง ทำให้จราจรติดขัด และอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุด้วย ปัจจุบันในพม่ามีรถที่อายุเกิน 40 ปีอยู่ ประมาณ 10,000 คัน และรถที่อายุระหว่าง 30 – 40 ปี อีกประมาณ 8,000 คัน (ที่นี่เขามีรถไม่มากเพราะคนที่จะเป็นเจ้าของรถได้ก็มีแต่ทหารหรือคนใกล้ชิดเท่านั้น)  เมื่อเร็วๆ นี้ รัฐบาลออกประกาศเชิญชวนให้เจ้าของนำรถยนต์ที่มีอายุเกิน 40 ปี พร้อมกับทะเบียนรถไปมอบให้กับกรมขนส่งทางบกเพื่อแลกกับใบอนุญาตซื้อรถใหม่ (กว่าเดิม) ที่นำเข้าจากไทย ญี่ปุ่น เกาหลี จีน อินเดีย มาเลเซีย โดยเขากำหนดว่ารถเหล่านี้จะต้องเป็นรถที่ผลิตหลังปี พ.ศ. 2538 และราคาไม่เกิน 3,500 เหรียญ (ประมาณ 108,000 บาท)  โครงการดังกล่าวทำให้ราคารถเก่าถีบตัวสูงขึ้นอย่างไม่น่าเชื่อ เพราะมีคนไม่น้อยอยากจะมาซื้อเพื่อเอาไปแลกกับใบอนุญาต ซึ่งมีราคาแพงลิบลิ่ว ข่าวบอกว่าใบอนุญาตสำหรับรถเอนกประสงค์ (เช่น โตโยต้า แลนด์ครูสเซอร์) ก็คันละ 150 ล้านจ๊าด ถ้าเป็นรถบัสก็ 30 ล้านจ๊าด รถบรรทุกก็ถูกลงมาเหลือ 20 ล้านจ๊าด และเมื่อได้รถใหม่มาแล้วก็สามารถเอามาขายทำกำไรได้มากขึ้นนั่นเอง แผนขั้นต่อไปของกระทรวงอุตสาหกรรมพม่าคือการขายรถมินิซาลูน ที่ร่วมกันผลิตกับบริษัทรถแห่งหนึ่งในจีน ที่ราคา 5.5 ล้านจ๊าด (สองแสนกว่าบาท) ด้วย 100 ปีผ่านไป ยังไม่สายใช้สิทธิ ชาวบ้านจาก 13 หมู่บ้าน 350 ครอบครัวรวมตัวกันฟ้องรัฐบาลอินเดีย โทษฐานที่ไม่ยอมจ่ายค่าชดเชยให้กับบรรพบุรุษของพวกเขา หลังจากยึดพื้นที่ทำมาหากินของพวกเขาไปสร้างเมืองใหม่ เมื่อ 100 ปีก่อน  ปัจจุบันพื้นที่ดังกล่าวกลายเป็นที่ตั้งของอาคารสำคัญๆ อย่างรัฐสภา ศาลสูง บ้านประธานาธิบดี หรือแม้แต่ประตูชัยอินเดียที่เราเห็นรูปกันอยู่บ่อยๆ  ในขณะที่ลูกหลานของคนกลุ่มดังกล่าวต้องอาศัยอยู่อย่างแร้นแค้นในหมู่บ้านที่ห่างออกไป 40 กิโลเมตรจากกรุงเดลลี  ความจริงแล้วคนที่เข้ามาไล่ที่ในสมัยนั้น คือบรรดาขุนนางอังกฤษในยุคล่าอาณานิคม แต่ที่ฟ้องรัฐบาลอินเดียเพราะถือว่ามารับช่วงต่อตั้งแต่การประกาศเอกราชในปี ค.ศ. 1947 ทั้งนี้เขาบอกว่าถ้ายังไม่ได้เรื่องก็จะเดินหน้าฟ้องรัฐบาลอังกฤษเป็นรายต่อไป  ความจริงแล้วอังกฤษได้จ่ายค่าชดเชยให้กับบางครอบครัวด้วยการฝากเงินเข้าบัญชีธนาคารไว้ แต่ว่าคนสมัยนั้นไม่รู้ถึงสิทธิของตนเองและไม่ได้รับข่าวสาร จึงไม่ได้ไปถอนออกมา  ชาวบ้านกลุ่มนี้บอกว่า การฟ้องร้องครั้งนี้ก็เพื่อเรียกคืนศักดิ์ศรีของ “ชาวเดลลี” และเรียกร้องค่าชดเชยตามที่พวกเขาสมควรได้ (แต่ทั้งนี้เขาขอให้จ่ายเป็นอัตราปัจจุบันนะ)  กฎหมายเวนคืนที่ดินของอินเดียนั้นมีใช้มาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1894  และยังถูกนำมาใช้อยู่ เมื่อรัฐบาลต้องการเวนคืนพื้นที่มาทำโครงการสาธารณะ เช่น ถนนหรือโรงไฟฟ้า ซึ่งก็มีมากขึ้นทุกวันตามอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของอินเดีย ซึ่งปีนี้รัฐบาลก็กำลังถูกกดดันให้เพิ่มค่าชดเชยให้กับชาวบ้านด้วย  อังกฤษตัดสินใจย้ายเมืองหลวงของจากกัลกัตตามาที่เดลลี เพื่อหนีปัญหาความไม่สงบทางการเมือง โดยพระเจ้าจอร์จที่ 5 ได้ประกาศตั้งเดลลีเป็นเมืองหลวงใหม่ของอินเดียในปี ค.ศ. 1911  ลดระดับความโปร่งใสสหรัฐฯ มีหน่วยงาน HRSA (Health Resources and Services Administration) ที่เก็บข้อมูลความผิดพลาดของแพทย์ในการรักษาพยาบาล เอาไว้ในธนาคารข้อมูลเกี่ยวกับแพทย์ หรือ National Practitioners Data Bank คนทั่วไปสามารถเข้าถึงข้อมูลดังกล่าวได้ทางอินเตอร์เน็ท ในส่วนที่เรียกว่า Public Use File ซึ่งข้อมูลที่นำมาลงนั้นจะถูกตัดข้อมูลบางอย่างออกไปเพื่อรักษาความเป็นส่วนตัวของแพทย์ ส่วนข้อมูลเต็มๆ นั้น กฎหมายถือเป็นความลับและจะเปิดเผยต่อโรงพยาบาล หน่วยงานที่ออกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ และหน่วยงานด้านสุขภาพที่เกี่ยวข้องเท่านั้น แต่อยู่มาวันหนึ่งมีนักข่าวของหนังสือพิมพ์ Kansas City Star นำเอาข้อมูลที่ตัวเองสืบค้น มารวมกับข้อมูลของแพทย์ทางประสาทวิทยาคนหนึ่งที่เขาได้จากฐานข้อมูลข้างต้น แล้วก็เขียนบทความเปิดโปงเรื่องราวการถูกฟ้องร้องจากการรักษาพยาบาลที่ผิดพลาดของหมอคนดังกล่าวโดยเปิดเผยชื่อ เรื่องนี้ทำให้ HRSA ประกาศลดระดับการเข้าถึงข้อมูลเรื่องดังกล่าวโดยคนทั่วไป ส่งผลให้สมาคมผู้สื่อข่าวสาธารณสุขและองค์กรผู้บริโภค Consumer Union ออกมาตั้งคำถามกับรัฐบาลว่า นี่หรือคือนโยบายเรื่อง “ความโปร่งใส” ที่นายบารัค โอบามา พูดถึง และการช่วยรักษาความลับให้กับแพทย์ มันสำคัญกว่าการรักษาประโยชน์ของสาธารณะอย่างนั้นหรือ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 114 กระแสต่างแดน

      คนบ้านเดียวกันประเทศมั่งคั่งอย่างแคนาดาก็มีปัญหาเรื่องความมั่นคงทางอาหารกับเขาเหมือนกันหรือนี่   สมาพันธ์การเกษตรแห่งแคว้นโนวา สโกเชีย บอกว่าในทุกๆ 1 เหรียญที่คนแคนาดาใช้จ่ายกับการซื้ออาหารนั้น มีเพียง 13 เซ็นต์เท่านั้นที่เป็นรายได้ให้กับเกษตรกรในท้องถิ่น งานวิจัยที่ติดตามเรื่องนี้มาเป็นเวลากว่า 3 ปี พบว่าโดยเฉลี่ยแล้ว อาหารที่ประชากรของแคว้นนี้รับประทานกันอยู่นั้น ต้องเดินทางรอนแรมมาไม่ต่ำกว่า 4,000 กิโลเมตร โดยปกติแล้วครัวเรือนในแคนาดานั้นใช้จ่ายกับเรื่องอาหารค่อนข้างน้อยอยู่แล้ว  เมื่อเทียบกับประชากรในอเมริกา หรือออสเตรเลีย   แต่งานวิจัยเรื่องนี้ระบุว่าปรากฏการณ์ห้างค้าปลีกเป็นหนึ่งในสาเหตุหลักที่ทำให้เกษตรกรในแคว้นนี้ต้องปิดกิจการกันไปเป็นจำนวนมาก เช่นปัจจุบันแคว้นนี้มีฟาร์มหมูเหลืออยู่เพียง 4 ฟาร์มเท่านั้น จากที่เคยมีถึง 90 ฟาร์มเมื่อ 10 ปีก่อน อย่างที่รู้ๆ กัน ซูเปอร์มาเก็ตเจ้าใหญ่ๆ สามารถนำเข้าสินค้าเกษตรในปริมาณมากและในราคาที่ค่อนข้างต่ำทำให้สามารถขายให้กับผู้บริโภคในราคาที่ถูกกว่าผลผลิตในท้องถิ่นได้ เกษตรกรในพื้นที่จึงต้องหันไปทำอย่างอื่นแทน  พูดง่ายๆ แคว้นนี้กำลังสูญเสียความสามารถในการพึ่งพาตนเองในเรื่องอาหารนั่นเอง เพราะคนรุ่นใหม่ก็ไม่สนใจที่จะสานต่อกิจการของเกษตรกรรุ่นปัจจุบัน ซึ่งขณะนี้มีอายุเฉลี่ย 55 ปีแล้วด้วย แต่ทั้งนี้ก็ยังไม่ถึงกับหมดหวัง รายงานดังกล่าวประเมินว่าถ้าผู้คนในแคว้นโนวา สโกเชียหันมาอุดหนุนเนื้อวัวที่ผลิตในท้องถิ่น จะทำให้มีเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจถึง 65.5 ล้านเหรียญ และสร้างงานได้ถึง 1,300 ตำแหน่งทีเดียว นั่นไง ฮีโร่ตัวจริงก็ไม่ใช่ใครที่ไหน เป็นผู้บริโภคอย่างเราๆ ท่านๆ นี่เอง   นักศึกษาก็ผู้บริโภค ปัจจุบันมีเรื่องร้องเรียนจากนักศึกษาในอังกฤษและเวลส์เกี่ยวกับมหาวิทยาลัยตัวเอง มากขึ้นร้อยละ 50 รายงานของสำนักงานตุลาการอิสระระบุว่า สาขาวิชาที่มีนักศึกษาร้องเรียนมากที่สุดได้แก่ บริหารธุรกิจ กฎหมาย และแพทย์ศาสตร์ และส่วนใหญ่มักเป็นนักศึกษาในระดับบัณฑิตศึกษาหรือนักศึกษาต่างชาติ รายงานดังกล่าวตั้งข้อสังเกตว่า การร้องเรียนที่เพิ่มขึ้นนี้แสดงให้เห็นว่านักศึกษาเริ่มมองเห็นตนเองในฐานะ “ผู้บริโภค”มากขึ้น และเริ่มรับ “การศึกษาที่ไม่ได้มาตรฐาน” ไม่ได้ เพราะนักศึกษาทุกวันนี้เริ่มมีหนี้สินมากขึ้น จึงทำให้มีความเครียด และความคาดหวังมากขึ้น   (แม้จะเป็นพียงแค่ร้อยละ 0.05 ของจำนวนนักศึกษาทั้งหมด ซึ่งอาจเป็นเพราะการร้องเรียนนั้นมีขั้นตอนค่อนข้างยุ่งยาก)   ปีที่ผ่านมามีเรื่องร้องเรียนเข้ามาทั้งหมด 1,007 เรื่อง และ 1 ใน 5 ของเรื่องร้องเรียนเหล่านี้   "เป็นเรื่องที่ฟังขึ้น" ข้อร้องเรียนส่วนใหญ่เกี่ยวกับการที่มหาวิทยาลัยไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนกระบวนการของตัวเองตามที่ได้แจ้งนักศึกษาไว้  ทั้งนี้สำนักงานตุลาการอิสระสามารถตรวจสอบว่ามหาวิทยาลัยได้ให้สิ่งที่สัญญาไว้กับผู้เรียนหรือไม่ แต่ไม่สามารถตรวจสอบเรื่องของการให้คะแนน การตัดเกรด หรือคุณภาพการสอนได้ในปี พ.ศ. 2552 มหาวิทยาลัยเหล่านี้ต้องจ่ายค่าชดเชยไปเป็นจำนวนทั้งสิ้น 163,000 ปอนด์  (ประมาณ 8 ล้านกว่าบาท) ซึ่งเป็นการจ่ายให้กับ การสูญเสียโอกาสในการได้งานทำ โอกาสในการก้าวหน้าทางการงานหรือความเครียด เป็นต้น   นักศึกษาคนหนึ่งได้รับเงินชดเชย 750 ปอนด์ (37,800 บาท) กับการที่ไม่ได้รับคัดเลือกเข้าร่วมโครงการนักเรียนแลกเปลี่ยนเพราะมีคุณสมบัติไม่ครบตามที่มหาวิทยาลัยกำหนด เขาร้องเรียนว่ามหาวิทยาลัยไม่ได้แจ้งคุณสมบัตินั้นไว้ให้ชัดเจน อีกรายหนึ่งเป็นนักศึกษาปริญญาเอกที่ได้ค่าชดเชยไป 45,000 ปอนด์ (2 ล้าน 2 แสนบาท) จากการที่เขาต้องเสียเวลาไปกับกระบวนการตรวจสอบทางวินัยของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งไปถึง 3 ปีเต็ม -----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------   รถ ICE ที่ไม่เย็น คลื่นความร้อนที่เล่นงานประเทศต่างๆในยุโรป นั้นลุกลามเข้าไปถึงห้องโดยสารติดแอร์ของรถไฟความเร็วสูงที่วิ่งระหว่างเมืองของเยอรมนี Inter City Express (ที่เรียกย่อๆ ว่า ICE) กับเขาด้วยดอยท์ชบาห์น หรือการรถไฟเยอรมนี จึงต้องรับผิดชอบด้วยการจ่ายค่าชดเชยให้กับผู้โดยสารที่ต้องพบแพทย์เพราะอาการเจ็บป่วยอันสืบเนื่องมาจากความร้อนที่ว่า คนละ 500 ยูโร (20,000 บาท) พร้อมกับคืนเงินค่าตั๋วให้ด้วย ขณะนี้มีคนมารับเงินชดเชยไปแล้วถึง 2,200 คน   สื่อเยอรมันรายงานว่าอุณหภูมิในห้องโดยสารนั้นสูงกว่า 50 องศาเซลเซียส ในขณะที่ระบบเครื่องปรับอากาศของตู้โดยสารนั้นสามารถรับมือกับอุณหภูมิได้สูงสุดแค่ 32 องศาเท่านั้น รูดิเกอร์ กรูบ ซีอีโอ ของการรถไฟเยอรมันตั้งคำถามกับประสิทธิภาพของรถไฟที่บริษัทใช้วิ่งอยู่ แต่นายกสมาคมอุตสาหกรรมรถไฟเยอรมนี ปฏิเสธข้อสงสัยดังกล่าว โดยยืนยันว่าบริษัทผู้ผลิตไม่มีทางทำรถไฟไก่กาที่ระบบแย่ๆ ออกมาแน่นอน ปัญหาน่าจะเป็นเพราะการดูแลรักษาที่ไม่ดีพอมากกว่า   อย่างไรก็ตามข่าวเขาบอกมาว่า ด้วยอากาศที่เปลี่ยนไป รถไฟรุ่นหน้าที่จะเข้าประจำการปีหน้านั้นจะทำมาให้สามารถรับมืออุณหภูมิได้ถึง 40 องศาเซลเซียสกันไปเลย@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@   เบียดเบียนคนแก่ สถานีโทรทัศน์ Nos ของเนเธอร์แลนด์ ออกมาแฉว่าเดี๋ยวนี้บรรดาบ้านพักฟื้นหรือบ้านพักคนชราจะเรียกเก็บเงินจากผู้ใช้บริการมากขึ้น ด้วยการเรียกเก็บค่าบริการเล็กๆ น้อยๆ ประปราย เช่น ค่าผลไม้ ค่ากระดาษทิชชู ค่าพาไปเดินออกกำลัง เป็นต้น ที่ต้องแฉก็เพราะว่าบรรดาบริการเหล่านี้ถือเป็นบริการที่อยู่ภายใต้การคุ้มครองของระบบประกันสุขภาพอยู่แล้วนั่นเอง   Nos TV บอกว่า ผู้ป่วยหรือคนชราที่พักอยู่ในสถานบริการเหล่านั้น ต้องจ่ายเงินเพิ่มค่ากาแฟ น้ำอัดลมหรือขนมขบเคี้ยว บางคนถูกเรียกเก็บค่าต่อสัญญาณโทรทัศน์หรือการอาบน้ำเพิ่มอีกหนึ่งครั้ง มีรายหนึ่งที่ต้องจ่ายค่าถุงมือและน้ำยาฆ่าเชื้อที่พยาบาลใช้ด้วย  สำนักงานประกันสุขภาพของเนเธอร์แลนด์บอกว่าได้รับเรื่องร้องเรียนมากขึ้นเกี่ยวกับความผิดพลาดที่เกิดขึ้นกับใบเรียกเก็บเงินของสถานบริการเหล่านี้ และได้ประกาศให้บรรดาศูนย์บริการเหล่านั้นรีบแก้ไข ไม่เช่นนั้นจะต้องจ่ายค่าปรับ แต่ยืนยันว่ายังไม่มีเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภคถูกเก็บเงินเพิ่มเข้ามาเลย  ปัจจุบันในเนเธอร์แลนด์ มีคนที่ใช้บริการบ้านพักเหล่านี้อยู่ประมาณ 260,000 คน ประชาชนชาวดัทช์ทุกคนจะต้องทำประกันสุขภาพที่เรียกว่า AWBZ ที่ตนเองต้องจ่ายเบี้ยประกันในอัตราร้อยละ 12 ของเงินเดือน ซึ่งครอบคลุมการใช้บริการสถานพักฟื้นและบ้านพักคนชราด้วย ขณะนี้มีคน 600,000 คนภายใต้การดูแลของระบบประกันที่ว่านี้ ซึ่งมีค่าใช้จ่ายประมาณ 22,000 ล้านยูโร (ประมาณ 920,000 ล้านบาท) ต่อปี@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@   สวยต้องเสี่ยงลิปสติกสีแดงนั้นท่านว่ามักมีการปนเปื้อนของสารตะกั่ว สาวปากแดงโปรดระวัง องค์การอาหารและยาของสหรัฐฯ ได้ทดสอบหาปริมาณสารตะกั่วในลิปสติกสีแดงทั้งหมด 22 ยี่ห้อ และ พบว่า ลิปสติกยี่ห้อคัฟเวอร์เกิร์ลและลอรีอัล นั้นมีตะกั่วปนเปื้อนในปริมาณสูงที่สุด องค์กรผู้บริโภคของนิวซีแลนด์ ซึ่งเป็นประเทศที่ลิปสติกสองยี่ห้อที่ว่ามานั้น ได้รับความนิยมในระดับต้นๆ บอกว่า องค์กรนี้กำลังเรียกร้องให้มีกฎหมายที่บังคับให้มีการแสดงส่วนประกอบรอง (เช่นตะกั่ว) ในเครื่องสำอางไว้บนฉลากด้วย(กฎหมายปัจจุบันกำหนดให้มีการแสดงเฉพาะส่วนผสมหลักเท่านั้น) เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับรู้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสารตะกั่วด้วย ผู้อำนวยการสมาคมน้ำหอมและเครื่องสำอาง การ์ธ วิลลี่ บอกว่าการทำลิปสติกสีแดงให้ปราศจากตะกั่วนั้นแทบจะเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ และปริมาณสารตะกั่วที่เกิดขึ้นในแต่ละล็อตแตกต่างกันไป บางล็อตอาจไม่มีเลย ในขณะที่บางล็อตก็แทบจะสูงเกินมาตรฐานที่กำหนด   ด้านโฆษกพร็อกเตอร์แอนด์แกมเบิล ผู้ผลิตลิปสติกยี่ห้อคัฟเวอร์เกิร์ลบอกว่าไม่ได้ใช้สารตะกั่วในการผลิต แต่ที่ตรวจพบนั้นเป็นตะกั่วที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติและมีเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ไม่ใช่ปริมาณที่จะเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค ทางลอรีอัล ก็ยืนยันว่ามีตะกั่วในลิปสติกในปริมาณต่ำมากเช่นกัน นักพิษวิทยา ดร.ไมเคิล บีสลีย์ บอกว่าการจะระบุว่าปริมาณเท่าใดจึงจะเป็นอันตรายนั้นค่อนข้างยาก เพราะการเป็นพิษนั้นมีปัจจัยในเรื่องของการสะสมด้วย แต่ทั้งนี้ในกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป ได้ประกาศห้ามใช้สารตะกั่วในลิปสติกทุกชนิดแล้ว อ้าว ... เรื่องสวยก็มีสองมาตรฐานกับเขาเหมือนกันหรือนี่

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 112-113 กระแสต่างแดน

ขึ้นฟรีแบบมีประเด็นที่ปารีสมีคนกลุ่มหนึ่งมุ่งมั่นอย่างยิ่งที่จะขึ้นรถโดยไม่ซื้อตั๋ว เพราะต้องการเรียกร้องให้รัฐจัดบริการขนส่งมวลชนในปารีสให้ฟรี เหมือนกับบริการการศึกษา หรือบริการสุขภาพ  กลุ่มนี้เขารวมตัวกันอย่างเหนียวแน่นเป็นระบบ ใครโดนจับได้และถูกเรียกเก็บค่าปรับ เขาก็มีกองทุนเอาไว้จ่ายให้ด้วย หนังสือพิมพ์ เลอ ปาริเซียง รายงานว่าปัจจุบันมีกองทุนแบบนี้อย่างน้อย 10 กองทุน โดยสมาชิกร่วมอุดมการณ์นั่งรถฟรีแต่ละคนจะร่วมลงขันคนละ 5 – 7 ยูโร (ประมาณ 200 - 300 บาท) เพื่อสำรองไว้จ่ายค่าปรับ ปารีสเมโทร หรือ ขนส่งมวลชนปารีส เขาบอกว่าปัจจุบันร้อยละ 4 ของคนที่ขึ้นรถนั้นไม่ได้ซื้อตั๋ว ถ้าแยกดูตามเส้นทางจะพบว่า อัตราการขึ้นรถฟรีอยู่ที่ร้อยละ 10 สำหรับรถทางไกล และร้อยละ 6 สำหรับรถที่วิ่งในปารีส แต่ทั้งนี้ขนส่งฯ เขาบอกว่ารายได้จากตั๋วโดยสารนั้นเป็นเพียงแค่ร้อยละ 30 ของต้นทุนการดำเนินงานเท่านั้น เรียกว่าแทบจะไม่พอสำหรับการจ่ายเงินเดือนให้กับนายตรวจซึ่งปัจจุบันมีอยู่ 968 คน (กลุ่มที่รณรงค์เพื่อรถฟรีเขาตั้งข้อสังเกตว่าค่าใช้จ่ายในปฏิบัติการไล่ล่านั้นน่าจะแพงกว่าราคาตั๋วด้วยซ้ำ)  ชาวปารีสต้องจ่ายค่าตั๋วถึง 1.70 ยูโร (ประมาณ 68 บาท) ในขณะที่ค่าโดยสารเฉลี่ยของประเทศอื่นๆ ในยุโรปอยู่ที่ 1 ยูโร (40 บาท) เท่านั้น อันที่จริง หลายเมืองในฝรั่งเศสเขามีรถฟรีให้ขึ้นกัน เมืองกงปิแอง ก็มีรถฟรีมาแล้ว 33 ปี นอกจากนี้ยังมีเมือง โอบาง กูโลเมีย วิตร หรือชาโตรู ซึ่งทางเมืองเขาคำนวณแล้วว่ารายได้จากการขายตั๋วนั้นไม่ได้มากอะไรเลย เมื่อเทียบกับต้นทุนทั้งหมดของการจัดการขนส่ง  ไม่รู้ว่า ขสมก. ของเราสนใจจะไปเยี่ยมชมดูงานของเขาหรือเปล่า จะได้รู้กันไปว่าการจะขึ้น “รถเมล์ฟรี จากภาษีของประชาชน” ที่ฝรั่งเศสนี่มันต้องเตรียมตัวออกสตาร์ทกันให้ดีเหมือนที่บ้านเราหรือเปล่า --------------------------------------------------------------------- ของ (ไม่น่าจะ) เสีย ปัญหาที่อเมริกาและกลุ่มประเทศในทวีปอัฟริกามีเหมือนกันคือการสูญเสียอาหารปริมาณมหาศาลไปโดยเปล่าประโยชน์  อัฟริกายังขาดแคลนเทคโนโลยีในการเก็บเกี่ยวและเก็บรักษาพืชผล ทำให้ผลผลิตทางการเกษตรกว่า 1 ใน 4 ต้องเน่าเสียไปก่อนจะได้กลายเป็นอาหาร เพราะสภาพอากาศที่รุนแรง โรคพืช และศัตรูพืช เป็นต้น ในแต่ละปีมีผลิตผลอย่างพืชไร่ ผัก ผลไม้ เนื้อสัตว์ ปลา นมวัว เสียหายไปไม่ต่ำกว่า 100 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่าประมาณ 48 ล้านเหรียญสหรัฐ ในขณะที่ประชากรกว่า 265 คนอยู่ในภาวะอดอยาก  ส่วนอเมริกานั้น แม้จะมีเทคโนโลยีขั้นเทพก็ยังมีปัญหาเรื่องอาหารที่ต้องเสียไปโดยเปล่าประโยชน์เช่นกัน ในแต่ละวันคนอเมริกันหนึ่งคน จะทิ้งอาหารประมาณ 1.5 ปอนด์ (เช่น ผักกาดที่เฉาไปนิด เบอร์เกอร์ที่กินไปเพียงครึ่ง หรือแอปเปิ้ลที่ช้ำๆ ดูไม่น่ากิน) รวมๆ แล้วทำให้เกิดเป็นขยะปริมาณเท่ากับสะพานโกลเด้นเกท 74 สะพาน ที่ต้องเป็นธุระนำไปฝังกลบหรือไม่ก็เผาอีกต่างหาก  ร้อยละ 34 ของก๊าซมีเทนในสหรัฐฯ ก็เกิดจากขยะมหึมากองนี้  ถ้าย้อนกลับไปดูที่แหล่งผลิต จะพบว่ามีผลผลิตถูกทิ้งให้เสียไปไม่น้อยเหมือนกัน องค์กรการกุศลแห่งหนึ่ง ส่งอาสาสมัครไปตามฟาร์มต่างๆ เพื่อเก็บผลผลิตสภาพดีที่เหลือทิ้ง ปรากฏว่าเขาสามารถเก็บมาได้ถึง 15.7 ล้านปอนด์ (ข้อมูลปี 2552) ฟู้ด รันเนอร์ ก็เป็นอีกองค์กรหนึ่งที่จัดหาอาหารสัปดาห์ละ 10 ตัน ให้กับคนไม่มีบ้านอยู่ หรือบ้านพักคนชรา โดยอาหารเหล่านั้นคือของที่ ร้านกาแฟ ร้านอาหาร และซูเปอร์มาร์เก็ต ไม่ใช้แล้วนั่นเอง สถาบัน Worldwatch ฟันธงแล้วว่า อันตรายหมายเลขหนึ่งของโลกเราทุกวันนี้ ได้แก่ “วัฒนธรรมกินใช้อย่างเหลือเฟือ” นี่แหละ ซึ่งไม่ได้ระบาดเฉพาะในหมู่คนอเมริกัน ผู้บริโภคทุกคนต้องเรียนรู้ที่จะหย่าขาดจากมันให้ได้ --------------------------------------------------------------------- รถสะดวกขาย ในนิวยอร์กมีรถบรรทุกเร่ขายอาหารกว่า 3,000 คัน รถเร่เหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมท้องถิ่นไปแล้ว และเทคโนโลยีอย่างทวิตเตอร์ก็ทำให้ธุรกิจนี้มีสีสันขึ้นด้วยการช่วยให้แฟนพันธุ์แท้สามารถติดตามความเคลื่อนไหวของรถเจ้าประจำได้ ว่าขณะนี้ไปจอดอยู่ที่ไหน   รถเร่เหล่านี้เป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภคทั้งในด้านความหลากหลายและราคา เรียกว่ามีอาหารนานาชนิดขาย ตั้งแต่ ไอศกรีม ฮอทดอก วอฟเฟิล บราวนี่ และอื่นๆ ด้วยสนนราคาเฉลี่ยเพียง 10 เหรียญ แต่ปัญหาคือเดี๋ยวนี้รถเร่บางคัน กลับจอดปักหลักขายตามหัวมุมถนนที่คนจอแจเสียนี่ บางคันจอดยึดพื้นที่ตั้งแต่ 10.00 โมงเช้าจนถึงเที่ยงคืน บางเจ้าก็ถึงขั้นทำใบปลิวเมนูของร้านพร้อมระบุตำแหน่งที่จอดไว้ด้วย(มั่นใจขนาดนั้นเลย) หลังจากมีเรื่องร้องเรียนจากชาวบ้าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องขยะหรือคราบน้ำมันที่รถเร่เหล่านี้ทิ้งไว้ ปัญหาเรื่องที่จอดรถไม่เพียงพอ การถูกบดบังหน้าร้าน (สำหรับร้านที่ตั้งอยู่ริมฟุตบาธ) เป็นต้น สมาชิกสภาเทศบาลนิวยอร์ก เจสสิกา แลพพิน จึงนำเสนอร่างกฎหมายให้มีการเพิกถอนใบอนุญาตที่กรมสุขภาพออกให้รถเร่เหล่านี้ ถ้าพวกเขาได้รับใบสั่งจราจรมากกว่า 2 ใบ ในระยะเวลา 1 ปี จากการจอดติดเครื่องหรือหยอดเหรียญในมิเตอร์เพื่อซื้อเวลาจอดรถ ต้องรอดูกันต่อไปว่าร่างนี้จะผ่านเป็นกฎหมายหรือไม่ หรือจะมีการเปลี่ยนแปลงในสาระสำคัญอย่างไร ในวันที่มีการรับฟังความคิดเห็นนั้นมีกลุ่มผู้ค้ารถเร่และบรรดาขาประจำรวมตัวกันเพื่อยื่น 4,000 รายชื่อที่ไม่เห็นด้วยกับร่างดังกล่าว สมาชิกสภาฯ คนดังกล่าวยืนยันว่า ถ้ารถเร่เหล่านี้ต้องการพื้นที่ขายถาวร ก็ควรจะไปหาพื้นที่เปิดเป็นร้าน ถ้าจะเป็นรถเร่ ก็ต้องเร่ให้ตรงคอนเซ็ปต์ --------------------------------------------------------------------- ไม่ซ่อมก็จ่ายมา ที่อังกฤษนั้นถ้าคุณขับรถตกหลุมบนถนน สิ่งแรกที่ควรทำคือกลับบ้านไปเปิดคอมพิวเตอร์ เข้าเว็บไซต์ www.fixmystreet.com หรือ www.potholes.co.uk เพื่อตรวจสอบว่าหลุมที่ไปตกมานั้นมีคนแจ้งซ่อมเข้าไปหรือยัง ถ้ามีแล้ว ก็หมายความว่าคุณมีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากรัฐได้ ทุกวันนี้มีผู้เดือดร้อนเพียง 1 ใน 10 เท่านั้นที่สามารถเรียกร้องค่าเสียหายได้จริงๆ เนื่องจากหน่วยงานของรัฐ เช่น Highways Agency หรือเทศบาลท้องถิ่นจ่ายค่าชดเชยให้โดยอ้างอิงจากหลุมบ่อที่ “ขึ้นทะเบียน” หรือมีการแจ้งซ่อมแซมไว้แล้วแต่รัฐยังไม่ดำเนินการให้เท่านั้น สถิติระบุว่าในเดือนมกราคมถึงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา รัฐซ่อมไปแล้วกว่า 1.4 ล้านหลุม (ในลอนดอนอย่างเดียว ก็ปาเข้าไป 120,000 หลุม) ด้วยงบประมาณกว่า 100 ล้านปอนด์ บ้านเราน่าจะลองเอาไอเดียนี้มาใช้ดูบ้าง ดูท่าทางการแจ้งผ่านรายการทำนอง “ทุกข์ชาวบ้านชาวช่อง” หรือ “ช่วงนี้ชี้ให้ดูนะ” คงจะไม่พอเสียแล้ว ---------------------------------------------------------------------   เย็นอย่างพอเพียง เทศบาลเมืองไทเป ไต้หวัน ออกกฎหมายให้อาคารสำนักงานและห้างร้านใหญ่ๆ ที่บริโภคไฟฟ้าเป็นปริมาณมาก ตั้งอุณหภูมิเครื่องปรับอากาศไว้ที่ 26 องศาเซลเซียส ใครเย็นไปกว่านี้มีปรับกฎหมายว่าด้วยการประหยัดพลังงานและการลดการปล่อยคาร์บอนจากภาคธุรกิจ จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคมนี้ โดยจะมีช่วงเวลาให้ปรับตัว 6 เดือน หลังจากนั้นถ้าใครตั้งเครื่องปรับอากาศไว้ที่อุณหภูมิต่ำกว่า 26 องศาเซลเซียส ก็จะถูกปรับเป็นเงินระหว่าง 10,000 บาทถึง 50,000 บาท ช่วงแรกเขาจะบังคับใช้กับธุรกิจที่ใช้ไฟมากกว่า 100,000 กิโลวัตต์-ชั่วโมง ต่อเดือน หรือจ่ายค่าไฟเดือนละมากกว่า 300,000 บาท ปัจจุบันในเมืองหลวงของไต้หวันมีองค์กรประเภทนี้ (ซูเปอร์มาร์เก็ต ห้างค้าปลีก โรงแรม ห้างสรรพสินค้า อาคารสำนักงาน) 540 แห่ง ธุรกิจเหล่านี้บริโภคไฟร้อยละ 38 ของพลังงานไฟฟ้าในไทเป ถ้าแต่ละแห่งลดการบริโภคไฟลงร้อยละ 1 ก็จะสามารถประหยัดพลังงานไฟฟ้าในปริมาณที่สามารถใช้ได้กับ 7,000 ครัวเรือนต่อปีเลยทีเดียว ---------------------------------------------------------------------   หมูย้อมแมว บริษัท Primo SmallGood ทางตะวันตกของเมืองซิดนีย์ ซึ่งเป็นผู้ผลิตอาหารจากเนื้อหมูที่ใหญ่ที่สุดในซีกโลกใต้ โดนปรับเป็นเงินประมาณ 6 ล้าน 7 แสนบาท โทษฐานที่ติดฉลาดผลิตภัณฑ์เบคอนของตนว่าเป็น “ผลิตภัณฑ์ของออสเตรเลีย” สาเหตุที่โดนค่าปรับแพงที่สุดตั้งแต่มีการใช้กฎหมายนี้มาก็เพราะเบคอนที่ว่านั้นทำจากเนื้อหมูที่นำเข้าจากเดนมาร์กและแคนาดา นี่เป็นอีกระดับของการคุ้มครองผู้บริโภค ..แม้สินค้าจะไม่ได้เป็นอันตราย แต่ก็ถือว่าได้ละเมิดสิทธิของผู้บริโภคที่จะได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง อย. ของนิวเซาท์เวลส์เขารู้เรื่องนี้มาตั้งแต่ปี 2008 เลยเริ่มทำการสืบสวนบริษัทผู้ผลิตอาหารภายในรัฐ และพบว่าบริษัทนี้มีผลิตภัณฑ์ที่ติดฉลากผิดทั้งหมด 100 ตัน จึงแจกไป 63 ข้อหาภายใต้กฎหมายอาหารของรัฐนิวเซาท์เวลส์ ทั้งนี้ข่าวเขาบอกว่ายังต้องพิสูจน์กันต่อไปว่าบริษัทดังกล่าวได้รับผลประโยชน์ทางการเงินจากการติด “ฉลากผิด” ที่ว่าด้วยหรือไม่

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 107 กระแสต่างแดน

เราไม่เอารถประจำทาง เราที่ว่านี้ไม่ใช่ใคร เป็นผู้ประกอบการรถตู้โดยสารไม่ประจำทางแบบดั้งเดิมของเมืองโจฮันเนสเบิร์กที่ออกมาชุมนุมต่อต้านการเปิดให้บริการรถโดยสารประจำทางที่รัฐบาลจะจัดให้มีขึ้นก่อนการแข่งขันฟุตบอลโลกในเดือนมิถุนายนปีนี้คนกลุ่มนี้บอกว่าถ้ามีรถประจำทางขึ้นมาเมื่อไร พวกเขาก็มีแต่เจ๊ง แต่ผู้บริโภคนั้นแสนจะยินดีที่จะได้นั่งรถประจำทางที่เชื่อถือได้ ตรงเวลาและปลอดภัย เพราะทนไม่ไหวแล้วกับบริการรถตู้ที่พวกเขาต้องเสี่ยงกับคนขับที่อารมณ์ขึ้นๆ ลงๆ ขับรถก็หวาดเสียวแถมยังหยาบคายอีกต่างหากเพื่อเป็นการรองรับบรรดาแฟนๆ ที่จะมาเชียร์ทีมของตัวเองในการแข่งขันฟุตบอลโลกครั้งที่ 19 ที่สาธารณรัฐอัฟริกาใต้เป็นเจ้าภาพ รัฐบาลจึงจัดระบบการขนส่งใหม่ที่จะให้บรรดารถตู้และรถบัสที่ต่างคนต่างวิ่งกันอยู่ในขณะนี้มารวมตัวกันตั้งบริษัท โดยเจ้าของรถแต่ละคนก็จะเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทด้วย ค่าตอบแทนก็จะขึ้นอยู่กับระยะทางสะสมที่ทำได้ (ไม่ใช่จำนวนผู้โดยสาร) และชั่วโมงทำงานจะลดลงจากวันละ 12 – 16 ชั่วโมงเหลือเพียงวันละ 8 ชั่วโมงเท่านั้นแม้บริการที่เคยทำมาจะไม่เป็นที่ประทับใจเห็นๆ แต่ธุรกิจรถตู้โดยสารไม่ประจำทางนี้เป็นหนึ่งในไม่กี่ธุรกิจที่อนุญาตให้คนผิวสีสามารถทำได้ ดังนั้นคนเหล่านี้จึงอ่อนไหวกับเรื่องนี้มากและมองว่ารัฐบาลกำลังแย่งสิ่งที่เป็นของพวกเขาไป แม้รัฐบาลจะประกาศยกเลิกนโยบายแบ่งแยกสีผิวไปได้ 15 ปีแล้ว แต่ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลกับกลุ่มรถตู้โดยสารนั้นยังไม่ดีขึ้นเลย  ปัจจุบันร้อยละ 40 ของรถรับจ้างที่วิ่งอยู่ในเมืองโจฮันเนสเบิร์กนั้นเป็นรถเถื่อนด้วย ------------------------------------------------------------------------------------ ผู้ดีซื้อเพลงแพงคนอังกฤษที่ซื้อเพลงผ่านร้านเพลงออนไลน์นั้น อาจพลาดโอกาสในการประหยัดเงินไปถึงปีละ 1,200 ปอนด์ (ประมาณ 64,000 บาท) เลยทีเดียว ไม่ใช่เพราะเพลงออนไลน์ขายแพงกว่าเพลงในแผ่นซีดีตามร้าน แต่เพราะตลาดเพลงออนไลน์ซึ่งมีมูลค่าถึง 120 ล้านปอนด์นั้น ไม่มีการควบคุมราคาที่ชัดเจน จึงทำให้แต่ละร้าน (ซึ่งในที่นี้ก็คือเว็บไซต์) ตั้งราคาขายแตกต่างกันไปเว็บไซต์ www.tunechecker.com ซึ่งเป็นเว็บที่รวมร้านขายเพลงออนไลน์ และเป็นเว็บที่ทำการสำรวจดังกล่าว ยกตัวอย่างกรณีอัลบั้มของไมเคิล บลูเบล ซึ่งขายในราคา 8 ปอนด์ (ประมาณ 425 บาท) ที่เว็บ iTunes แต่สามารถซื้อได้ในราคา 5 ปอนด์ (ประมาณ 265 บาท) ในเว็บอเมซอน อีกตัวอย่างคือถ้าซื้ออัลบัมเพลงฮิต 40 อัลบั้มต่อปี จากร้าน Play เพียงร้านเดียว ผู้ซื้อจะต้องใช้เงินทั้งหมด 3,235 ปอนด์ (170,000 บาท) แต่ถ้าลองใช้เวลาค้นหาราคาที่ถูกที่สุดของแต่ละอัลบั้มนั้น จะใช้เงินเพียงแค่ 1,980 ปอนด์ (105,600 บาท) นอกจากนี้ยังพบว่ามีคนอังกฤษจำนวนไม่น้อยที่เข้าใจว่าต้องซื้อเพลงจากเว็บใดเว็บหนึ่งเท่านั้นจึงจะสามารถนำมาเล่นกับอุปกรณ์เครื่องเสียงของที่ตนมีได้  ทั้งๆ ที่ความจริงแล้วพวกเขาสามารถซื้อเพลงจากร้านออนไลน์ร้านใดก็ได้ผลสำรวจย้ำว่าเพลงยิ่งดังก็ยิ่งมีร้านเสนอขายในราคาที่แตกต่างกันหลายระดับ ถ้าผู้บริโภครักอยู่ร้านเดียวไม่ยอมเปลี่ยนแปลง ก็ยิ่งมีโอกาสเสียเงินโดยไม่จำเป็นมากขึ้น ------------------------------------------------------------------------------------- สูตรใครก็ได้ แต่ต้องไม่อ้วน ข่าวเรื่องบริษัทยักษ์ใหญ่จากอเมริกาผู้ผลิตขนมหวานรสช็อคโกแลตจะเข้าครอบครองกิจการของบริษัทประเภทเดียวกันที่อังกฤษ ทำให้มีคนออกมาแสดงความวิตกว่ารสชาติแบบดั้งเดิมของช็อคโกแลตอังกฤษนั้นอาจจะต้องจบสิ้นลงเขาว่ากันว่าคนสองประเทศนี้กินช็อคโกแลตกันคนละรส สูตรของทางเมืองผู้ดีนั้นเขากำหนดให้มีปริมาณโกโก้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 20 และใช้เมล็ดโกโก้จากฝั่งตะวันตกของอัฟริกา ส่วนในอเมริกานั้นแม้จะมีส่วนผสมของโกโก้เพียงร้อยละ 10 ก็สามารถเรียกว่าช็อคโกแลตได้แล้ว และวัตถุดิบที่ใช้คือเมล็กโกโก้จากอเมริกาใต้ (แต่คนในภาคพื้นยุโรปฟังแล้วคงเชิดใส่ เพราะเขาชอบช็อคโกแลตเข้มๆ จึงต้องมีโกโก้ไม่ต่ำกว่า ร้อยละ 40 ของส่วนผสม)แต่ไม่ว่าจะผลิตจากสูตรไหน เจ้าช็อคโกแลตเหล่านี้หรือเรียกให้ถูกว่าขนมหวานรสช็อคโกแลต ถูกจับตามานานแล้วว่าเป็นตัวการหนึ่งทำให้เด็กและผู้ใหญ่ยุคนี้มีน้ำหนักเกินสำนักงานมาตรฐานอาหารของอเมริกาจึงกำหนดให้ภายในปีค.ศ. 2012 ขนมที่มีช็อคโกแลตเป็นส่วนประกอบจะต้องลดขนาดลงมาให้เหลือเพียงชิ้นละไม่เกิน 50 กรัม ถ้าเป็นช็อคโกแลตแท่งก็ต้องมีขนาดไม่เกิน 40 กรัมด้วย โลกจะแตกในปี 2012 อย่างในหนังเขาว่าหรือไม่เรายังไม่รู้ แต่ที่แน่ๆ เราจะได้เห็นขนมหวานที่ขนาดเล็กลงแน่นอน -----------------------------------------------------------------   จากเครดิต สู้เดบิตปัจจุบันคนอเมริกันเป็นหนี้บัตรเครดิตไม่ต่ำกว่า เก้าแสนเจ็ดหมื่นล้านเหรียญ (จากตัวเลขเมื่อปลายปี พ.ศ. 2551) และแต่ละครัวเรือนที่มีบัตรเครดิตประมาณ 10,679 เหรียญ (ประมาณ 350,000 บาท)ร้อยละ 78 ของครัวเรือนอเมริกัน หรือประมาณ 91 ล้านครัวเรือน มีบัตรเครดิตมากกว่าหนึ่งใบ โจราธาน เลวาฟ อาจารย์ด้านการตลาดแห่งมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย บอกว่าประเทศอเมริกานั้นเป็นสังคมที่เน้นการบริโภคอย่างยิ่ง เรียกว่าเป็นบริโภคนิยมที่ฉีดสเตียรอยด์เข้าไปด้วยเลยทีเดียว แต่ขณะนี้คนอเมริกันหันมาใช้บัตรเดบิตกันมากขึ้น ปี 2007 มีคนใช้บัตรเดบิตประมาณร้อยละ 65 อีกหนึ่งปีถัดมาสถิติการใช้เพิ่มขึ้นเป็น ร้อยละ 72 เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำทำให้คนต้องการออมมากขึ้น และบัตรเดบิตก็ดูเหมือนจะเป็นการจัดการงบประมาณของตนเองได้ดีกว่า และไม่เป็นการนำเอาเงินในอนาคตมาใช้พูดถึงเรื่องบัตรเครดิตก็ต้องยกตัวอย่างพฤติกรรมของบริษัทบัตรเครดิตที่ไม่น่ารัก ที่สหภาพผู้บริโภคหรือ Consumers Union ของอเมริกา เขาประณามไว้เสียหน่อย ขณะนี้บริษัทบัตรเครดิตทั้งหลายกำลังรีบขึ้นอัตราดอกเบี้ยกันยกใหญ่ พูดง่ายๆ คือรีบเก็บซะก่อนที่กฎหมายว่าด้วยบัตรเครดิตของอเมริกาจะมีผลบังคับใช้ในเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้า บางบริษัทก็ใช้วิธีหลอกล่อให้ลูกค้าต้องยอมรับอัตราดอกเบี้ยใหม่ไปโดยไม่รู้ตัว และหลายบริษัทเพิ่มอัตราขั้นต่ำในการชำระหนี้ขึ้นกว่าร้อยละ 250 นอกจากนี้ยังมีการใช้มุข “คืนดอกเบี้ย” เช่นบางแห่งคิดดอกเบี้ยถึงร้อยละ 29.9 แต่อ้างว่าจะลดดอกเบี้ยให้ร้อยละ 10 ถ้าลูกค้าจ่ายตรงเวลา ซึ่งความจริงนี่ก็คือการแอบขึ้นดอกเบี้ยนั่นเอง หลายๆ แห่งที่อ้างว่าใช้อัตราดอกเบี้ยแบบผันแปร ก็ไม่ได้ใช้ในแบบที่เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคแต่อย่างใด เพราะพวกเล่นกำหนดอัตราขั้นต่ำเอาไว้ด้วย คือสูงเท่าไรก็จะขอเก็บเท่านั้นแต่ถ้าต่ำมากเกินไปกลับไม่ยินยอม (แล้วนี่มันเป็นอัตราผันแปรตรงไหนเนี่ย) น่าจะบอกกันตรงๆ ว่าผันแปรแต่ขาขึ้นเท่านั้นก็หมดเรื่อง --------------------------------------------------------------------------------- อเมริกันชนยังต้องใช้ยาแพงต่อไปอเมริกากำลังจะออก พรบ. ปฏิรูประบบสุขภาพ ฉบับใหม่เร็วๆ นี้ ซึ่งต้องใช้งบประมาณกว่า 800,000 ล้านเหรียญ(26 ล้านล้านบาท) มาดูกันให้ชัดๆ ว่าอเมริกา “เปลี่ยน” ไปอย่างที่ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ได้ลั่นวาจาไว้หรือไม่ แต่ที่แน่ๆ คนอเมริกันจะยังคงใช้ยาแพงเหมือนเดิม เพราะวุฒิสภาไม่รับข้อเสนอเรื่องการนำเข้ายาราคาถูกจากเพื่อนบ้านอย่างแคนาดา ยิ่งไปกว่านั้นอเมริกันชนยังต้องรอถึง 12 ปี กว่าจะซื้อยาสามัญประเภทชีววัตถุ (เช่น ยาที่ใช้ในการรักษาโรคมะเร็ง) ในราคาที่ถูกลงได้ เพราะร่างพรบ.ฉบับนี้ให้สิทธิกับบริษัทผู้ผลิตยาชื่อการค้าประเภทชีววัตถุ ผูกขาดการขายยาดังกล่าวได้ถึง 12 ปี แถมต่อไปนี้ อย.ของสหรัฐจะเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการตรวจรับรองยาประเภทชีววัตถุจากผู้ผลิตยาชื่อสามัญอีกด้วย แต่เชื่อหรือไม่ว่าร่างฉบับนี้ยกเลิกภาษีร้อยละ 5 ที่เคยเก็บจากบริการเสริมความงามอย่างการฉีดโบท็อกซ์ลบริ้วรอย ผ่าตัดเสริมหน้าอก หรือลดไขมันหน้าท้อง ข่าวบอกว่าผู้ผลิตโบท็อกซ์รายใหญ่อย่าง Allergen Inc และแพทย์ศัลยกรรมได้ร่วมกันล็อบบี้ไม่ให้มีการเก็บภาษีจากบริการดังกล่าวโดยอ้างว่าจะมีผลกระทบต่อผู้หญิงวัยทำงานจำนวนมาก ข่าวบอกว่าเหตุที่รัฐบาลนี้ดูจะเอื้อประโยชน์ให้กับธุรกิจยาและสุขภาพเป็นพิเศษนั้น น่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับการที่นายโอบามาเคยรับเงินบริจาคถึง 20 ล้านเหรียญจากบริษัทเหล่านี้ ในการรณรงค์หาเสียงในเมื่อสองปีก่อน “เปลี่ยน” ที่ว่านี่สงสัยจะหมายถึงโอกาสเข้าถึงยารักษาโรคที่น้อยลง ในขณะที่โอกาสในการเข้าถึงบริการศัลยกรรมความงามเปลี่ยนโฉมเพิ่มขึ้นนี่เอง  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 103 กระแสต่างแดน

“สร้างภาพ” ได้ ไม่ถือว่าหลอกกันองค์กรเฝ้าระวังโฆษณาของอังกฤษออกมายืนยันว่าจะไม่สั่งห้ามการใช้เทคนิค “สร้างภาพ” ให้บุคคลที่ปรากฏตัวบนหน้านิตยสารดูดีเกินจริง กลุ่มเสรีนิยมประชาธิปไตยได้ออกมาเรียกร้องให้มีการห้ามใช้เทคนิคต่างๆ ในการตกแต่งรูปภาพของบรรดาคนดัง หรือนางแบบนายแบบที่ปรากฏบนหน้านิตยสาร เพราะมันทำให้เด็กๆ เกิดความกังวลในเรื่องรูปร่างหน้าตาของตนเอง และขณะเดียวกันก็เรียกร้องให้โฆษณาสำหรับผู้ใหญ่นั้น มีคำเตือนทำนอง “ภาพนี้ผ่านการตกแต่งด้วยเทคนิค” อยู่ด้วย กลุ่มดังกล่าวบอกว่าการตกแต่งหรือเปลี่ยนแปลงภาพเพื่อทำให้คนดูดีขึ้นนั้น มันหมายถึงการที่สังคมคาดหวังใน “ภาพลักษณ์ที่เป็นไปไม่ได้” และเทคนิคการลบไฝ ฝ้า หรือรอยย่นบนใบหน้านั้นอาจจะทำให้บรรดาเด็กผู้หญิงเสียความมั่นใจในตนเอง ในขณะที่ภาพสาวๆ ที่ผอมเกินเหตุก็อาจทำให้เด็กๆ เป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติทางการกินมากขึ้นด้วย ดาราหลายคนก็เคยออกมาพูดถึงการใช้เทคนิคเหล่านี้ เคท วินสเล็ท ไม่พอใจที่นิตยสาร GQ ทำให้เธอขายาวขึ้นและผอมเกินจริงในรูปที่ขึ้นปก ในขณะที่นักร้องสาว เคลลี่ คล้ากสัน ก็เคยถูก “ลดไซส์” บนปกของนิตยสารอเมริกันฉบับหนึ่งมาแล้วเช่นกัน แม้แต่คีร่า ไนท์ลี่ย์ นางเอกจากเรื่องคิงอาเธอร์ ก็เคยพูดถึงหน้าอกที่ดูเหมือนเป็นของเธอในโปสเตอร์ประชาสัมพันธ์ภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวนั้น “ไม่ใช่ของชั้นแน่ๆ” โฆษกขององค์กรที่ควบคุมดูแลเรื่องมาตรฐานการโฆษณา (ซึ่งตั้งขึ้นโดยอุตสาหกรรมการโฆษณา) บอกว่า ไม่จำเป็นต้องไปห้ามกันให้วุ่นวายเพราะปีที่แล้วมีเรื่องร้องเรียนดังกล่าวเพียง 5 กรณีเท่านั้นที่สำคัญเขาบอกว่า ใครๆ ก็รู้อยู่แล้ว(จริงหรือ?) ว่าภาพโฆษณาเหล่านี้มีการใช้เทคนิคช่วยทั้งนั้น ใครมีรถเก่า เอามาขาย หนึ่งในแผนการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลเยอรมนีได้แก่ การประกาศรับซื้อรถเก่า (กว่า 9 ปี) ในราคาคันละ 2,500 ยูโร (ประมาณ 124,000 บาท) กระทรวงการคลังของเยอรมนีบอกว่านี่คือแผนการกระตุ้นให้ผู้คนตัดสินใจลงทุนซื้อรถใหม่ที่มีประสิทธิภาพในการใช้เชื้อเพลิงมากขึ้นมาใช้แทนคันเก่า ส่วนเจ้ารถเก่าที่ว่านั้นก็ไม่ได้เอาไปจอดที่เต็นท์ไหนแต่จะถูกเอาไปเข้าเครื่องบดให้เป็นเศษเหล็กนั่นเอง ผู้คนให้ความสนใจโครงการนี้กันล้นหลาม งบที่เตรียมไว้(ประมาณ 2,600 ล้านยูโรหรือ 129,000 ล้านบาท) ก็ถูกใช้หมดไปภายในวันเดียว แถมยังมีคนมาลงชื่อต่อคิวไว้ล่วงหน้าอีก 15,000 คนด้วย แต่ไม่รู้ว่าแผนนี้ จะกระตุ้นเศรษฐกิจของเยอรมนีได้จริงหรือไม่ งานวิจัยจากสถาบัน Halle Economic Research Institute ระบุว่า 3 ใน 4 ของคนที่เอารถเก่ามาขายให้รัฐบาลในโครงการนี้ คือคนที่ตั้งใจจะซื้อรถใหม่อยู่แล้วแม้จะไม่ได้เงินช่วยเหลือจากรัฐก็ตาม ซึ่งหมายความว่าในจำนวนรถที่คาดว่าขายได้ 2 ล้านคันตามโครงการเอื้ออาทรที่ว่านี้ มีถึง 1.5 ล้านคันที่ยังไงๆ ก็ขายได้อยู่แล้ว เรื่องนี้รัฐบาลออกมาแก้ต่างว่า เจตนาของโครงการคือการกระตุ้นให้เกิดการใช้จ่ายเดี๋ยวนี้ ไม่ใช่ปีหน้า ซึ่งเยอรมนีเตรียมงบประมาณในการกระตุ้นเศรษฐกิจไว้ทั้งหมด 5,000 ล้านยูโร หรือประมาณ 247,000 ล้านบาท ความสุขที่คุณตัดไม่ได้ประเทศภูฏานออกมาเตือนประชาชนเรื่องการตัดต้นไม้มาทำธงในการอธิษฐานให้กับผู้ล่วงลับ เพราะเหตุว่ามันจะไม่ดีต่อพื้นที่ป่าอันเขียวชอุ่มและ “ความสุขมวลรวม” ของประเทศ ชาวพุทธที่นี่นิยมปักธงเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิตหรือเพื่ออุทิศให้กับผู้ที่ล่วงลับให้สามารถค้นพบทางไปสู่โลกหน้าได้ เชื่อกันว่ายิ่งปักมากยิ่งดี และที่สำคัญคือต้องใช้ธงใหม่ทุกครั้งด้วย ถ้าใครใช้ธงเก่าก็จะดูเหมือนไม่พยายามเท่าที่ควร ซึ่งก็หมายถึงว่าจะไม่ได้บุญไปด้วย คนภูฏานเชื่อว่า ลมจะพัดพาเอากระแสดีๆ จากสัญลักษณ์ตันตระที่เขียนอยู่บนธงสีเหลือง เขียว แดง ขาว และน้ำเงิน ซึ่งเป็นตัวแทนของธาตุทั้ง 5 ออกไป และจะต้องมีการปักธงทั้งหมด 108 ธง เมื่อมีคนเสียชีวิต รัฐบาลภูฏานต้องคิดหนักเพราะไม่สามารถชักชวนให้ประชาชนเปลี่ยนจากธงไม้มาใช้ธงเหล็กหรือธงรีไซเคิลได้ ในขณะที่รัฐธรรมนูญของภูฏานซึ่งให้ความสำคัญกับความสุขมวลรวมประชาชาติของประชากรซึ่งปัจจุบันมีอยู่ 700,000 คนนั้นระบุไว้ชัดเจนว่าจะต้องมีพื้นที่ป่าไม้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 60 ของพื้นที่ประเทศ ในระหว่างเดือนมิถุนายนปี 2007 ถึงมิถุนายน 2008 ภูฏานมีการตัดต้นไม้ 60,000 ต้น เพื่อนำมาใช้ในการทำธงดังกล่าว อยู่คุกกินอร่อยกว่าอยู่โรงพยาบาลนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยบอร์นมัธ ในอังกฤษ ได้ทำการสำรวจเปรียบเทียบคุณภาพของอาหารที่โรงพยาบาลของรัฐเตรียมให้ผู้ป่วยกับอาหารที่เรือนจำเตรียมให้กับนักโทษ ผลปรากฏว่าอาหารสำหรับนักโทษนั้นมีคุณภาพสูงกว่าอาหารสำหรับผู้ป่วย ทั้งนี้นักวิจัยเขาบอกว่าอาหารในเรือนจำ จัดว่าเป็นอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการดีเยี่ยม เป็นอาหารที่ไม่เน้นไขมัน แถมยังใส่เกลือน้อยกว่าและไม่นิยมใช้วิธีการทอดหรือผัดด้วย ศาสตราจารย์ จอห์น เอ็ดเวิร์ดส์ หนึ่งในผู้ร่วมวิจัยบอกว่าเรื่องนี้เรื่องใหญ่ ร้อยละ 40 ของคนไข้จะมีภาวะทุพโภชนาการเพราะอาการเจ็บป่วยทำให้คนไข้มีความอยากอาหารน้อยลง คนเหล่านี้จึงควรจะได้รับความใส่ใจเป็นพิเศษจากโรงพยาบาลในการกระตุ้นให้รับประทานอาหารดีๆ ให้มากขึ้น แต่ทีมวิจัยกลับพบว่าเวลาที่โรงพยาบาลของรัฐถูกตัดงบประมาณนั้น งบอาหารจะเป็นอย่างแรกที่ถูกตัด แต่ทั้งนี้โฆษกจากกรมสุขภาพของอังกฤษเขายืนยันว่า คนไข้ส่วนใหญ่ก็พอใจกับอาหารที่โรงพยาบาลจัดให้(เป็นไปได้ว่าคนไข้ยังไม่เคยรับประทานอาหารในเรือนจำ ... แต่ก็น่าจะไม่จำเป็นต้องเข้าไปลองนะ) น้ำหนักไม่ลด อดได้เงินคืน เดี๋ยวนี้คลินิกลดน้ำหนักในฮ่องกงหันมาชักชวนผู้บริโภคให้เข้ารับบริการด้วยข้อเสนอว่าพวกเขาจะได้บริการฟรี ถ้าสามารถลดความอ้วนได้จริงและช่วยเป็นพรีเซ็นเตอร์ให้กับทางคลินิกด้วย แต่มันไม่ง่ายอย่างที่คิด ก่อนอื่นผู้ที่ประสงค์จะใช้บริการลดน้ำหนักกับทางคลินิกพวกนี้ต้องจ่ายเงินเต็มจำนวนล่วงหน้าไปก่อน เพื่อแสดงถึงความมุ่งมั่นว่าต้องการจะลดน้ำหนักจริงๆ และมีการทำสัญญาตั้งเป้าหมายการลดไว้ด้วย ถ้าพลาดเป้าไม่สามารถลดได้ตามที่แจ้งความจำนงไว้กับทางร้าน ลูกค้าก็จะไม่ได้เงินคืนหรือได้ส่วนลดตามที่เสนอไว้ในตอนแรก เช่น รายหนึ่งที่ร้องเรียนเข้ามาบอกว่าเธอต้องจ่ายเงิน 24,800 เหรียญฮ่องกง (ประมาณ 108,000 บาท) ต่อคอร์สลดน้ำหนักที่ใช้เวลา 2 เดือน และเธอจะได้เงินคืนถ้าสามารถลดน้ำหนักได้ 15 ปอนด์ (ประมาณ 7 กิโลกรัม) ภายในระยะเวลาดังกล่าว แต่เธอก็ไม่ได้เงินก้อนนั้นคืนมา เพราะไม่สามารถลดน้ำหนักได้ตามเป้าที่ตั้งไว้ เรื่องนี้จัดการยากจริงๆ เพราะแม้จะมีการดูสัญญาโดยละเอียดแล้วก็ตาม แต่ในสัญญาก็ระบุไว้แล้วว่า การรักษาอาจไม่ประสบความสำเร็จเสมอไป ขึ้นอยู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตและการรับประทานอาหารของผู้เข้ารับบริการ ทำให้เป็นการยากที่จะชี้ลงไปว่าความล้มเหลวในการลดน้ำหนักนั้นเป็นความผิดของใคร แต่ส่วนมากแล้วจะเป็นฝ่ายลูกค้า ปัจจุบันสภาผู้บริโภคของฮ่องกงมีเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับคลินิกลดความอ้วนมากขึ้น แค่ช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้ ก็มีกรณีร้องเรียนที่เกี่ยวกับเงื่อนไขคืนเงินที่ว่านี้กว่า 31 กรณี (มากกว่าปีที่แล้ว 7 เท่า) จากเรื่องร้องเรียนทั้งหมด 86 เรื่องที่เกี่ยวกับบริการของคลินิกลดความอ้วน คำแนะนำที่ทางการฮ่องกงให้กับผู้บริโภคขณะนี้คือ ให้ระลึกไว้เสมอว่าใดๆ ในโลกล้วนไม่ฟรี

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 102 กระแสต่างแดน

แดดไม่แจ่ม เราจ่าย บริษัททัวร์หัวใสในประเทศฝรั่งเศสมีโปรโมชั่นใหม่มาเอาใจลูกค้าที่นิยมสายลมแสงแดด คือถ้าคุณซื้อทัวร์ของบริษัท Pierre et Vacances หรือ FranceLoc ไป แล้วต้องขาดโอกาสในการอาบแดดเพราะไปติดฝนอยู่ไม่ต่ำกว่า 4 วันต่อหนึ่งสัปดาห์ บริษัทจะรับผิดชอบด้วยการจ่ายเงินคืนให้ด้วยวงเงินประกันสูงสุด 400 ยูโร (ประมาณ 20,000 บาท) คุณอาจสงสัยว่าแล้วจะพิสูจน์กันยังไง ถ่ายรูปตัวเองตอนเปียกปอนเพราะสายฝนแล้วส่งไปให้บริษัทดูอย่างนั้นหรือ ข่าวบอกว่านักท่องเที่ยวไม่ต้องทำอะไร บริษัทจะเป็นฝ่ายส่งอีเมล์หรือเอสเอ็มเอสไปหาเองถ้าเขาตรวจสอบข้อมูลกับรูปถ่ายจากดาวเทียมของกรมอุตุของฝรั่งเศสแล้วว่ามีฝนตกจริงๆ ในสถานที่ที่ลูกค้าซื้อทัวร์ไป จากนั้นก็จะส่งเช็คมาให้ภายใน 3 วันหลังจากลูกค้ากลับถึงบ้าน เงินที่จะคืนให้กับลูกค้าแต่ละรายนั้นเขาจะดูตามปริมาณฝนที่ต้องเผชิญด้วย (สงสัยว่าคนที่จะได้ 400 ยูโรเต็มๆ นี่คงจะเป็นพวกที่ต้องหลบฝนอยู่ในโรงแรมทั้ง 7 วันเลยแน่ๆ) ไอเดียนี้ ททท. สนใจจะนำมาใช้โปรโมทการชวนคนไทยเที่ยวไทยบ้างก็น่าจะดี ว่าแต่จะประกันเรื่องอะไรดี เราก็ไม่ใช่ชนชาติที่นิยมแสงแดดเหมือนเขาเสียด้วย คิวบา ประกาศรัดเข็มขัด ประธานาธิบดี ราอูล คาร์ลอส ของคิวบาบอกกับประชาชนว่า ขณะนี้ประเทศกำลังอยู่ในช่วงวิกฤติขั้นรุนแรง ขอให้ทุกคนขยันกันให้มากขึ้น และเตรียมพร้อมกับการรัดเข็มขัดระดับชาติกันได้แล้ว ฤดูร้อนปีที่ผ่านมา คิวบาก็เผชิญกับพายุเฮอริเคนถึงสามครั้ง เป็นความเสียหายทั้งหมดกว่าหมื่นล้านเหรียญสหรัฐ และจนถึงวันนี้ก็ยังซ่อมบ้านของประชาชนไปได้เพียงร้อยละ 43 ของบ้านที่เสียหายทั้งหมดจำนวน 260,000 หลัง ที่สำคัญคิวบาสูญเสียเสบียงอาหารและสินค้าเกษตรที่รัฐบาลเก็บตุนไว้เพื่อประกันราคาด้วย เมื่อต้องเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ คิวบาซึ่งประชากรแทบทุกคนเป็นลูกจ้างของรัฐ ด้วยเงินเดือนเฉลี่ยต่อหัวประมาณ 20 เหรียญ (ประมาณ 700 บาท) ได้ประกาศยกเลิกอาหารกลางวันเอื้ออาทรที่เคยมีไว้บริการพนักงานในโรงงานแล้ว และตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายนเป็นต้นมา คิวบา (ซึ่งผลิตน้ำมันเองได้ และยังได้ใช้น้ำมันฟรีจากเวเนซูเอล่า) ก็ประกาศนโยบายประหยัดพลังงาน เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของแผนลดรายจ่ายของประเทศลงให้ได้ร้อยละ 6 ด้วย เดี๋ยวนี้รัฐประกาศให้ข้าราชการมาทำงานแค่ 8 โมงเช้า ถึง 3 โมงเย็นเท่านั้น บางแห่งให้มาทำอาทิตย์ละ 2 วัน ที่สำคัญที่ทำการรัฐหลายๆ แห่งก็ห้ามเปิดเครื่องปรับอากาศด้วย ข่าวบอกว่าโรงงานที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายลดการใช้พลังงานไปแล้วได้แก่ โรงงานผลิตยางรถยนต์ และโรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์อาหารจากนมวัว ช่วงนี้ยางรถยนต์ที่คิวบาขาดตลาด ในขณะที่โยเกิร์ตในเมืองหลวงฮาวาน่านั้น กลายเป็นของหายากและราคาแพงลิบลิ่ว มีขายเฉพาะในห้างหรูๆ หรือแหล่งท่องเที่ยวเท่านั้น คนคิวบาตาดำๆ ไม่สามารถซื้อหามากินได้ แบนร้านฟาสต์ฟู้ด อีกไม่นานนิวยอร์คอาจมีประกาศห้ามเปิดร้านฟาส์ตฟู้ดในระยะ 1.6 กิโลเมตรจากที่ตั้งของโรงเรียนรัฐกระแสการตื่นตัวเรื่องโรคอ้วนในเด็กกับอาหารฟาสต์ฟู้ด ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวของกลุ่มธุรกิจร้านอาหารฟาส์ต์ฟู้ดรายใหญ่ได้ไม่น้อยทีเดียว เช่น แมคโดนัลด์ หรือเบอร์เกอร์ คิง และบริษัทฟาสต์ฟู้ดในอเมริกาอีก 13 ราย (ในกลุ่มนี้ไม่มี เคเอฟซี พิซซ่าฮัท เอแอนด์ดับบลิว และทาโก้ เบลล์) ได้ทำข้อตกลงร่วมกันว่า จะต้องมีข้อความที่พูดถึงอาหารที่ดีต่อร่างกายอย่างน้อยครึ่งหนึ่งในโฆษณาที่มีเป้าหมายเป็นเด็ก ลดการใช้ตัวการ์ตูนที่เด็กๆ รู้จัก และไม่ทำการโฆษณาในเขตโรงเรียน อย่างไรก็ตามกลุ่มที่เคลื่อนไหวเรื่องนี้ยังเป็นห่วงว่า มาตรการต่างๆ นั้นอาจไม่เป็นผลเมื่อบริษัทเหล่านี้ก็จะยังคงเปิดสาขาเพิ่มขึ้นเพื่อรองรับลูกค้าเด็กๆ ในบริเวณที่ใกล้กับสถานศึกษา เพิ่มขึ้นทุกวัน จากผลการวิจัยจากมหาวิทยาลัยโคลัมเบียเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ระบุว่า เด็กแคลิฟอร์เนียที่เรียนอยู่ในโรงเรียนที่มีร้านเบอร์เกอร์และเฟรนช์ฟรายส์ อยู่ใกล้ๆ นั้นมีอัตราการเป็นโรคอ้วนสูงกว่าเด็กจากที่อื่นๆ ร้อยละ 5.2 เจนนิเฟอร์ แฮริส นักวิชาการด้านโรคอ้วนและนโยบายด้านอาหารจากมหาวิทยาลัยเยล บอกว่าความพยายามของผู้ประกอบการนั้นยังไม่อาจนับเป็นอะไรได้ สิ่งที่ควรจะมีขึ้นคือการใช้กฎหมายเพื่อจำกัดการเข้าถึงอาหารฟาสต์ฟู้ดไปเลย เหมือนอย่างที่ทำกับสินค้าอย่างบุหรี่หรือเหล้านั่นเอง ว่าแล้ว เอริค โจยา สมาชิกสภาเมืองนิวยอร์ค ก็เตรียมยื่นร่างกฎหมายที่ห้ามเปิดกิจการร้านฟาสต์ฟู้ดในระยะ 1.6 กิโลเมตรจากโรงเรียนไปเสียเลย เขาบอกว่าถึงบรรดาพ่อแม่จะมีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงต่อการเลือกรับประทานอาหารของลูก แต่รัฐเองก็มีหน้าที่รับผิดชอบในการช่วยให้พ่อแม่สามารถเลี้ยงลูกให้มีสุขภาพดีขึ้นด้วยเช่นกัน รถมือสอง ... เรื่องร้องเรียนอันดับหนึ่งของคนอังกฤษ คอนซูเมอร์ ไดเร็ค หน่วยงานรับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภคของประเทศอังกฤษ ออกมาแถลงสถิติจำนวนเรื่องร้องเรียนว่าปัญหาที่ผู้บริโภคร้องเรียนเข้ามามากที่สุดในช่วงครึ่งปีแรกของ พ.ศ. 2552 ได้แก่ ปัญหาจากการซื้อรถมือสองนั่นเอง โดยมีกรณีร้องเรียนทั้งหมด 24,672 กรณี จากทั้งหมด 414,000 กรณีส่วนอันดับสองได้แก่ สัญญาการใช้โทรศัพท์มือถือ อันดับสามคือโทรทัศน์ และตามด้วยโทรศัพท์มือถือ (หมายถึงตัวเครื่อง) โดยรวมแล้วปีนี้มีคนร้องเรียนน้อยลงร้อยละ 3 โดยถ้าแยกแยะเป็นประเด็นแล้วหนึ่งในสามของเรื่องร้องเรียนเหล่านั้น เป็นเรื่องของสินค้าชำรุด บกพร่อง ในขณะที่หนึ่งในสี่เป็นการได้รับบริการที่ไม่ดีจากร้านหรือจากพนักงานขาย อังกฤษมีการใช้ พรบ.การขายสินค้า ค.ศ. 1979 ที่ระบุว่า ถ้าของที่เราซื้อมามีความบกพร่อง ทางร้านจะต้องรับผิดชอบด้วยการคืนเงินหรือซ่อมหรือเปลี่ยนสินค้าชิ้นใหม่ให้ แต่ถ้าความบกพร่องดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากการใช้งานโดยผู้บริโภคแล้ว ถ้ายังอยู่ในช่วงหกเดือนแรกหลังการซื้อ ทางร้านจะต้องรับภาระการพิสูจน์ข้อบกพร่องดังกล่าว แต่ถ้าหกเดือนผ่านไปภาระการพิสูจน์จะเป็นของผู้บริโภค จองได้ ไม่ต้องจ่ายเพิ่งรู้เหมือนกันว่าที่ประเทศจีนนั้นจะพบแพทย์กันครั้งหนึ่งเราต้องไปเข้าคิวขอนัดหมอ และการเข้าคิวอย่างเดียวก็ใช้เวลาหลายชั่วโมงแล้ว ที่เพิ่งจะรู้อีกอย่างหนึ่งคือคนจีนที่เบื่อรอ เขานิยม (หรือจำเป็นก็ไม่แน่ใจ) ไปเสียเงินใช้บริการของตัวแทนรับจองนัดพบแพทย์อย่าง www.91985.com เป็นต้น ข่าวไม่ได้บอกว่าค่าบริการครั้งละเท่าไร แต่คงไม่สำคัญแล้วเพราะกระทรวงสาธารณสุขของจีนซึ่งอยู่ในระหว่างการปฎิรูปบริการสาธารณสุขมีแผนจะห้ามโรงพยาบาลใช้บริการจากตัวแทนดังกล่าว แล้วบังคับให้โรงพยาบาลเหล่านั้นให้บริการรับนัดฟรีให้กับประชาชนด้วยตนเอง ขณะนี้แผนการดังกล่าวอยู่ในระหว่างการพิจารณาและมีการเปิดให้ประชาชนเข้าไปแสดงความเห็นได้ในเว็บไซต์ของกระทรวงฯ โรงพยาบาลใหญ่ๆ อย่างโรงพยาบาลรุยจินและโรงพยาบาลหัวซานได้ประกาศยกเลิกการรับนัดผ่านตัวแทน www.91985.com ไปแล้ว และทางตัวแทนดังกล่าวก็บอกว่าจะเปลี่ยนไปทำธุรกิจขายข้อมูลด้านสุขภาพแทน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 101 กระแสต่างแดน

น้ำขวดหรือจะสู้น้ำประปา บริษัทที่ขายน้ำดื่มในอเมริกานั้นทำกำไรได้ปีละหลายล้านเหรียญจากความเชื่อที่ว่าน้ำดื่มบรรจุขวดนั้นสะอาดบริสุทธิ์กว่าน้ำประปาบ้านๆ แต่หารู้ไม่ว่าการผลิตน้ำขวดดังกล่าวมีการควบคุมดูแลน้อยกว่าน้ำประปาด้วยซ้ำ รายงานที่นำเสนอในสภาคองเกรสของสหรัฐระบุว่าองค์การอาหารและยาของสหรัฐมีอำนาจน้อยมากในการกำกับดูแลความปลอดภัยของน้ำดื่มบรรจุขวด ในขณะที่ในบางมลรัฐที่พอจะมีอำนาจจัดการอยู่บ้างก็ให้ความสำคัญกับการควบคุมการผลิตน้ำประปามากกว่า บาร์ท สตูพัค ผู้แทนจากรัฐมิชิแกนบอกว่า คนอเมริกันยินดีจ่ายเงินซื้อน้ำบรรจุขวด ซึ่งมีราคามากกว่าน้ำจากก๊อกถึง 1,900 เท่า และใช้พลังงานมากกว่า 2,000 เท่าในการผลิตและการขนส่ง ในขณะที่มีน้ำดื่มบรรจุขวดถูกเรียกคืนเพราะมีการปนเปื้อนของสารหนู โบรเมท เชื้อรา และแบคทีเรีย อยู่เป็นระยะๆ ในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา   แม้แต่เดือนเมษายนที่ผ่านมาก็มีรายงานข่าวว่ามีเด็กนักเรียนนับสิบรายที่ป่วยหลังจากดื่มน้ำบรรจุขวดที่ซื้อจากตู้ขายน้ำอัตโนมัติ รายงานดังกล่าวยังระบุว่าองค์การอาหารและยาของสหรัฐไม่ได้ควบคุมปริมาณของสารประกอบ DEHP (ซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพ) ในน้ำดื่มบรรจุขวด ในขณะที่หน่วยงานที่ดูแลด้านสิ่งแวดล้อมมีการควบคุมปริมาณสารดังกล่าวในน้ำประปา แต่ทางสมาคมผู้ผลิตน้ำบรรจุขวดบอกว่า มีความเป็นไปได้น้อยมากที่จะมีสารนี้ในน้ำดื่มบรรจุขวดซึ่งผ่านการควบคุมมาหลายขั้นตอนแล้ว สมาคมฯ บอกว่าในปีที่ผ่านมา คนอเมริกันนั้นดื่มน้ำกันไปทั้งหมด 8,700 ล้านแกลลอน หรือ ประมาณคนละ 28.5 แกลลอน รายได้จากการขายน้ำดื่มบรรจุขวดในปีดังกล่าวสูงถึง 11,200 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณกว่า 380,000 ล้านบาท) ที่นี่ไม่มีน้ำขวดคราวนี้ข้ามทวีปมาที่ออสเตรเลียกันบ้าง มาดูปรากฏการณ์น่าสนใจที่เมืองบันดานูน ทางตะวันตกเฉียงใต้ของซีดนีย์ ประชากร (ซึ่งมีทั้งหมดประมาณ 2,500 คน) ของเมืองท่องเที่ยวแห่งนี้เห็นร่วมกันว่าควรจะกำจัดสิ่งที่เรียกว่า “น้ำดื่มบรรจุขวด” ออกไปจากเมืองเสียที เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากขั้นตอนการบรรจุขวดและการขนส่ง แต่ไม่ต้องกลัวว่าไปเที่ยวเมืองนี้แล้วจะไม่มีน้ำดื่มดับกระหายนะพี่น้อง เขามีขวดเปล่าเอาไว้ให้รองน้ำจากตู้กดน้ำที่ตั้งไว้ทั่วไปตามท้องถนนเอาไว้ดื่มกันให้เปรม ส่วนกับทางร้านค้านั้น เขาก็ไม่ได้บังคับขืนใจให้หยุดขายน้ำดื่มบรรจุขวดแต่อย่างใด ปล่อยให้เป็นความสมัครใจของร้านค้าต่างๆ ซึ่งมีอยู่ประมาณ 50 ร้าน การรณรงค์ครั้งนี้เกิดขึ้นเพราะมีบริษัทที่ชื่อว่า นอร์เล็กซ์ โฮลดิ้ง จะมาตั้งโรงงานเพื่อสูบเอาน้ำจากเมืองนี้แล้วส่งเข้าไปบรรจุขวดในโรงงานที่ซีดนีย์ ซึ่งอยู่ห่างออกไป 120 กิโลเมตร ผู้คนที่เมืองนี้คัดค้านแผนการดังกล่าว และขณะนี้บริษัทฯ ก็ยังอยู่ในระหว่างการอุทธรณ์ต่อศาล เป็นใครก็คงรับไม่ได้ ถ้าจะมีคนมาสูบน้ำไปจากบ้านเราแล้วเอาไปใส่ขวดกลับมาขายเราอีก การรณรงค์ของชาวเมืองบันดานูนนี้ถือว่าได้ผลทีเดียวเพราะรัฐนิวเซาท์เวลส์ก็รับลูกทันที ผู้ว่าการรัฐออกมาประกาศว่าต่อไปนี้ห้ามหน่วยงานของรัฐใช้เงินไปกับการซื้อน้ำดื่มบรรจุขวดเด็ดขาด คนออสซี่ก็ใช้เงินไปกับการซื้อน้ำดื่มบรรจุขวดไม่น้อย ถึงปีละ 500 ล้านเหรียญออสเตรเลีย (ประมาณ 13,000 กว่าล้านบาท) เลยทีเดียว ผู้หญิงเชิญตู้อื่น... นะครับใครจะไปนึกว่าวันหนึ่งคุณสุภาพบุรุษชาวญี่ปุ่นเขาจะออกมาเรียกร้องขอรถไฟตู้พิเศษสำหรับชายล้วน ในช่วงเวลาเร่งด่วนที่ต้องมีการเบียดเสียดกัน ทั้งนี้ทั้งนั้นไม่ใช่เพราะว่ากลัวจะโดนผู้หญิงแต๊ะอั๋งหรอกนะ แต่เป็นเพราะไม่อยากถูกกล่าวหาว่าไปลวนลามคุณสุภาพสตรีมากกว่า ก็รถมันแน่นซะขนาดนั้น จะทำตัวล่องหนก็วิทยายุทธ์ยังไม่แก่กล้าพอ จากข้อมูลของตำรวจญี่ปุ่น ในปี พ.ศ. 2550 มีคุณผู้ชายถูกจับข้อหาลวนลามสตรีเพศถึง 2,000 คนเลยทำให้บริษัทที่จัดการเรื่องรถไฟต้องมีการกำหนดให้ตู้โดยสารบางตู้เป็นเขตปลอดผู้ชาย ที่นี้เลยทำให้เกิดไอเดียสุดเจ๋งตามมา คือมีการขอตู้โดยสารสำหรับชายล้วนๆ บ้าง ผู้ที่เสนอไอเดียเรื่องตู้โดยสารสำหรับชายล้วนนี้ได้แก่ผู้ถือหุ้นจำนวนสิบคน (ข่าวไม่ได้ระบุว่าเป็นผู้ชายหรือผู้หญิง) ของบริษัทเซบุ โฮลดิ้ง ซึ่งเป็นผู้ประกอบการรถไฟในเขตโตเกียว ที่เสนอทางออกในการแก้ปัญหาหลังจากที่บริษัทได้รับเรื่องร้องเรียนจากคุณผู้หญิงจำนวนมากว่าถูกลวนลาม และในขณะเดียวกันก็ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้ชายที่ถูกกล่าวหาว่าไปลวนลามคนอื่นๆ ทั้งที่จริงแล้วไม่ได้ทำด้วย ว่าแล้วก็เลยเสนอว่าน่าจะจัดตู้พิเศษสำหรับชายล้วนด้วยมันถึงจะเท่าเทียม แต่คณะกรรมการเขาลงมติไม่รับข้อเสนอนี้ โดยให้เหตุผลว่าจนถึงขณะนี้มีผู้โดยสารชายออกมาโวยวายน้อยมาก ก็เลยต้องขอรบกวนให้นั่งตู้เดียวกับคุณผู้หญิงต่อไป งานนี้ไม่รู้ใครกลัวใครแล้ว ผิดด้วยหรือที่ไม่อยากโชว์แขน ร้านเสื้อผ้ายี่ห้อดัง อะเบอร์ครอมบี้แอนด์ฟิทช์ (Abercrombie & Fitch) ถูกพนักงานขายฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายเป็นเงิน 25,000 ปอนด์ หรือประมาณ 1.4 ล้านบาท โทษฐานที่เลือกปฏิบัติต่อเธอ พนักงานขายคนนี้ชื่อ เรียม ดีน เป็นนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยลอนดอน เธออายุ 22 ปีและใช้แขนเทียมมาตั้งแต่อายุ 3 ขวบ ตอนแรกที่รับเธอเข้าทำงานในตำแหน่งพนักงานขายนั้น ทางร้านอะเบอร์ครอมบี้ ในย่านหรูของลอนดอน อนุญาตให้ดีนใส่เสื้อแขนยาวเพื่อปกปิดแขนเทียมไว้ในขณะให้บริการลูกค้าได้ แต่ผ่านไปไม่กี่วันทางร้านก็บอกกับเธอว่าเธอต้องถอดเสื้อคลุมแขนยาวนั้นออกให้เหลือแต่เสื้อยืดตัวในเหมือนพนักงานคนอื่นๆ เมื่อเธอปฏิเสธที่จะทำเช่นนั้น จึงเท่ากับว่าเธอฝ่าฝืนนโยบายเรื่องการแต่งกายของบริษัท เธอจึงถูกย้ายเข้าไปทำงานในห้องเก็บสินค้า ทั้งนี้ผู้ใหญ่ของบริษัทให้เหตุผลว่าควรให้ดีนทำงานอยู่หลังร้านไปจนกว่าจะถึงฤดูหนาวที่พนักงานทุกจะได้ใส่เสื้อแขนยาวได้โดยไม่ผิดระเบียบ เมื่อมีข่าวเรื่องนี้ออกมา ทางร้านก็ปฏิเสธเสียงแข็งว่าดีนคงเข้าใจอะไรผิดไปแน่ๆ เพราะความจริงแล้วทางบริษัทมีนโยบายต่อต้านการเลือกปฏิบัติอย่างแข็งขันเลยทีเดียวนะ แต่ดีนอาจจะเข้าใจถูกก็ได้ เพราะในปี พ.ศ. 2547 เพียงปีเดียว บริษัทนิว อัลบานี เจ้าของแบรนด์ดังกล่าว ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่รัฐโอไฮโอ สหรัฐอเมริกา ก็เคยถูกฟ้องร้องเพราะการเลือกปฏิบัติ และต้องจ่ายเงินชดเชยให้กับพนักงานเป็นจำนวนถึง 50 ล้านเหรียญ (ประมาณ 1,700 ล้านบาท) มาแล้ว อัจฉริยะที่ไม่ค่อยฉลาดภายในปี พ.ศ. 2555 กว่า 1.3 ล้านครัวเรือนในนิวซีแลนด์ จะต้องติดตั้งมิเตอร์ไฟฟ้าอัจฉริยะ เพื่อช่วยให้เกิดการสื่อสารระหว่างผู้อยู่อาศัยกับบริษัทที่ให้บริการไฟฟ้า และช่วยให้ผู้บริโภคสามารถประหยัดเงินค่าไฟได้ นี่ย่อมเป็นเรื่องดีเห็นๆ แต่ปัญหามันอยู่ที่รัฐบาลปล่อยให้บรรดาผู้ให้บริการไฟฟ้า (ซึ่งในนิวซีแลนด์มีอยู่ถึง 11 บริษัท) เป็นผู้ที่รับผิดชอบติดตั้งมิเตอร์เหล่านี้กันเอง โดยไม่มีการควบคุมดูแล แจน ไรท์ กรรมาธิการด้านสิ่งแวดล้อมของรัฐสภานิวซีแลนด์ออกมาเปิดเผยว่า ขณะนี้บรรดาผู้ประกอบการเหล่านั้น พยายามหลีกเลี่ยงการตั้งการทำงานของมิเตอร์ดังกล่าวในทางที่จะเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค ซึ่งคุณไรท์ก็บอกว่าไม่น่าแปลกใจ เพราะการใช้ไฟมากขึ้นย่อมหมายถึงผลกำไรที่เพิ่มขึ้นสำหรับผู้ประกอบการนั่นเอง ความจริงแล้วมิเตอร์อัจฉริยะที่ว่านี้นอกจากจะทำให้บริษัทสามารถรู้ปริมาณการใช้ไฟของแต่ละครัวเรือนโดยไม่ต้องส่งคนมาเดินจดแล้ว ยังช่วยให้ผู้บริโภคประหยัดเงินและสามารถใช้ไฟฟ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ด้วยการแจ้งให้ผู้บริโภคทราบว่าอัตราค่าไฟในขณะนั้นเป็นเท่าไร และช่วงไหนเป็นช่วงที่มีการใช้ไฟฟ้ากันมาก โดยไมโครชิพในมิเตอร์จะทำหน้าที่ควบคุมอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าแบบอัจฉริยะที่จะมีออกมาจำหน่ายในอนาคตอันใกล้นี้ มิเตอร์ที่ว่าจะปิดเครื่องใช้ไฟฟ้าอัจฉริยะได้โดยอัตโนมัติ ในช่วงที่มีการใช้ไฟสูง แต่บริษัทกลับไม่ได้ใส่ไมโครชิพที่ว่าให้กับมิเตอร์ที่กำลังติดตั้งกันอยู่ในขณะนี้ให้กับ 800,000 ครัวเรือน และมิเตอร์เหล่านั้นก็ไม่มีระบบแสดงข้อมูลตามเวลาจริงเพื่อช่วยในการตัดสินใจของผู้บริโภคด้วย เช่น บางคนอาจจะยังเปิดเครื่องทำน้ำอุ่นในสระว่ายน้ำไว้เพราะไม่รู้ตัวว่าค่าไฟได้ขึ้นราคาไปแล้ว เป็นต้น คุณไรท์ตั้งคำถามว่า ถ้าไม่ติดตั้งไมโครชิพที่ว่านี้ ก็ไม่รู้ว่าจะทำอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าอัจฉริยะออกมาขายทำไม และถ้าจะติดตั้งเพิ่มในภายหลังก็จะมีค่าใช้จ่ายอีกถึง 60 ล้านเหรียญนิวซีแลนด์ (ประมาณ 1,300 ล้านบาท) อีกด้วย สรุปว่าถ้ารัฐบาลยิ่งปล่อยให้เป็นไปอย่างนี้ ก็จะยิ่งทำให้ผู้บริโภคต้องติดตั้งมิเตอร์อัจฉริยะที่ไม่ค่อยฉลาดกันไปโดยไม่รู้ตัว

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 99 กระแสต่างแดน

กระแสต่างแดน 99 ศศิวรรณ ปริญญาตร เทคโนโลยีใหม่ ขายตรงถึงใจ จิตใจมนุษย์เรานั้นอาจจะไม่ได้ยากแท้หยั่งถึงอีกต่อไป เมื่อนักวิจัยหันมาใช้เทคโนโลยีที่สามารถบอกได้ว่าเกิดอะไรขึ้นในสมองของเราบ้างสิ่งที่ผู้บริโภคอย่างเราฟังแล้วต้องหนาวคือ บริษัทผู้ผลิตสินค้ารายใหญ่ๆ และบริษัทผู้ประกอบการอาหารฟาสต์ฟู้ด ได้หันมาซื้อบริการอ่านใจลูกค้าผ่านสมองกันแล้วนักวิจัยอ้างว่าวิธีดังกล่าวได้ผลลัพธ์ที่น่าเชื่อถือกว่าการทำโฟกัสกรุ๊ปหลายเท่า เพราะโดยมากแล้วคนเราไม่ค่อยรู้ถึงความรู้สึกของตนเอง หรือถึงจะรู้ก็อาจไม่กล้ายอมรับด้วยเหตุผลต่างๆ นานา จากสถิติที่มีการบันทึกไว้ปรากฏว่า มากกว่าร้อยละ 90 ของผลิตภัณฑ์ที่เปิดตัวในตลาดจะต้องปิดตัวไปภายในระยะเวลาหนึ่งปี ทั้งๆที่สินค้าหรือบริการเหล่านี้ผ่านการทำโฟกัสกรุ๊ปกับผู้บริโภคมาแล้วทั้งสิ้นว่ากันว่าการตัดสินใจของคนเรานั้นเป็นสิ่งที่เรากระทำไปโดยไม่รู้ตัว คงไม่มีใครคิดว่าคำเตือนที่อยู่บนซองบุหรี่นั้นเป็นสิ่งที่กระตุ้นให้คนอยากสูบบุหรี่มากขึ้น แต่นี่คือเรื่องที่นักวิทยาศาสตร์พบจากการแสกนสมอง ที่พบว่า ความอยากบุหรี่ของคนเราถูกกระตุ้นโดยคำเตือนดังกล่าวเรียกว่าอีกหน่อยอาจจะไม่ต้องมีการสัมภาษณ์ผู้บริโภคกันแล้ว ไม่ว่านักการตลาดจะอยากรู้ว่าเราคิดอย่างไร หรือต้องการอะไร เขาก็จะสามารถสื่อสารกับสมองของเราโดยตรงได้เลย และเทคโนโลยีที่สามารถทำให้มองเห็นสิ่งที่เกิดขึ้นในสมองเราจากระยะไกลก็มีแล้วด้วย เช่น แทนที่ผู้ประกอบการร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดกำลังค้นหาวิธีที่จะหลอกล่อสมองเราให้คิดไปว่าอาหารของตนนั้นดีต่อสุขภาพ โดยไม่ต้องพัฒนาสูตรอาหารให้มีคุณค่าทางโภชนาการมากขึ้นให้เป็นการเพิ่มต้นทุนแต่อย่างใด เช่นอาจจะเป็นการปล่อยกลิ่นอาหารชนิดหนึ่งออกมาในร้าน ที่ทำให้สมองของเราเกิดความรู้สึกในเชิงบวก เป็นต้น วิทยาศาสตร์กำลังบอกเราว่า สมองของคนเรานั้นยังไม่สามารถวิวัฒนาการมาได้ทันกับความซับซ้อนของระบบการตลาดในปัจจุบันด้วยเช่นกัน หลอดน่ะ ประหยัดไฟ แต่ไม่ประหยัดคน ข่าวดี กลุ่มประเทศยุโรปประกาศว่าจะเปลี่ยนมาใช้หลอดไฟแบบประหยัดพลังงานทั้งหมดภายในอีก 3 ปีข้างหน้าเพราะมันสามารถลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึงปีละ 5 ล้านตัน เอ…แต่ว่า หลอดไฟจำนวนมหาศาลที่จะต้องจัดหามาเพื่องานนี้ จะมาจากที่ไหนได้ล่ะ ถ้าไม่ใช่ประเทศจีน ซึ่งมีทั้งโรงงานแบบที่มีมาตรฐานการผลิตไม่แพ้โรงงานในยุโรปและโรงงานนรกที่เปิดตัวขึ้นมากมายเพื่อรองรับคำสั่งซื้อจำนวนมากมายดังกล่าวนั้น การผลิตหลอดประหยัดไฟก็ทำให้เกิดผลเสียต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อมไม่น้อย เพราะใช้สารปรอทเป็นตัวที่ทำให้เกิดปฏิกิริยาเคมีที่จะทำให้เกิดแสงสว่างขึ้น ซึ่งเรารู้กันดีว่าเป็นสารที่อันตรายต่อระบบประสาท ปอด และไต แม้แต่ทางยุโรปเองก็เตือนผู้บริโภคว่า ถ้าทำหลอดชนิดนี้แตกเมื่อไหร่ให้รีบออกไปจากห้องดังกล่าวและอย่ากลับเข้ามาก่อน 15 นาทีเป็นอันขาด ก็น่าคิดว่าแล้วคนที่ต้องทำงานอยู่กับมันทั้งวันจะเป็นอย่างไรกันบ้างจากการตรวจสุขภาพคนงานในโรงงานที่ไม่ผ่านมาตรฐานการผลิต พบว่าคนงานเกือบทั้งหมดที่มารับการตรวจร่างกายมีปรอทในร่างกายเกินระดับมาตรฐาน (มีอยู่คนหนึ่งที่มีปรอทในร่างกายเกินไปถึง 150 เท่า) ในกรณีของเมืองอันยาง พบว่า ร้อยละ 35 ของคนงานในเมืองนี้มีอาการเจ็บป่วยที่เกิดจากสารปรอทและที่สำคัญปรอทจากโรงงานก็ไหลลงสู่แหล่งน้ำของเมืองด้วยปรอทส่วนใหญ่มาจากเหมืองในเมืองกุ้ยโจว ทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ของจีน ที่นี่มีการทำเหมืองปรอทกันอย่างต่อเนื่องมาหลายร้อยปีตั้งแต่สมัยราชวงศ์หมิงแล้ว ก่อนหน้านี้รัฐบาลจีนได้สั่งปิดไปเนื่องจากราคาปรอทในตลาดโลกลดต่ำลง ในขณะที่แม่น้ำ ไร่นาได้รับความเสียหาย และประชากรมีอาการเจ็บป่วยมากขึ้น แต่ด้วยความต้องการอันล้นหลามจากยุโรป เหมืองเหล่านี้จึงถูกเปิดขึ้นมาอีกครั้ง ภาษีช็อกโกแลต ไม่นานมานี้มีคุณหมอและนักโภชนาการชาวสก็อตแลนด์คนหนึ่งออกมาเรียกร้องให้มีการเก็บภาษีช็อกโกแลต เพื่อที่คนจะได้กินมันให้น้อยลง คุณหมอเดวิด วอล์กเกอร์ บอกว่าขณะนี้ 1 ใน 4 ของคนสก็อตเป็นโรคอ้วน และอัตราการเพิ่มขึ้นของโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ก็สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และสาเหตุจะเป็นอะไรไปไม่ได้นอกจากขนมหวานรสช็อกโกแลตที่มีขายอย่างดาษดื่นนั่นเองขนมหวานถุงหนึ่ง (225 กรัม) มีพลังงานสูงถึง 1,200 แคลอรี่ (ซึ่งเป็นครึ่งหนึ่งของปริมาณแคลอรี่ที่เราควรได้รับในแต่ละวัน และเราจะต้องเดินอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาอย่างน้อย 3 ชั่วโมงจึงจะเผาผลาญมันได้หมด)คุณหมอจึงเสนอให้มีการเก็บภาษีช็อกโกแลตมันเสียเลย แล้วเอาเงินที่ได้มาทำนุบำรุงกิจกรรมกีฬาสร้างเสริมสุขภาพกันดีกว่า แต่ในที่ประชุมนั้นมีคนที่ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดดังกล่าวมากกว่า ข้อเสนอนี้จึงตกไปแต่ที่น่าสนใจมากอีกอย่างหนึ่งก็คือสิ่งที่เจ้าของร้านช็อกโกแลตแห่งหนึ่งออกมาคัดค้าน เธอบอกว่าความจริงแล้ว ถ้าเป็นช็อกโกแลตแท้ๆ ก็ไม่จำเป็นต้องกินเข้าไปมาก พูดง่ายๆ ว่าของแท้นั้นแม้จะกินเพียงเล็กน้อยแต่สามารถให้ความรู้สึกเป็นสุขได้นานกว่า เธอจึงอยากให้ผู้บริโภคได้รับรู้และแยกแยะให้ออกระหว่างช็อกโกแลตจริงๆ กับขนมหวานที่แอบอ้างเรียกตนเองว่า ช็อกโกแลตไปด้วย เพราะอย่างแรกนั้นเป็นสินค้าที่ทำให้เกิดการพัฒนาชุมชน และสร้างรายได้อย่างเป็นธรรมให้กับเกษตรกรผู้ผลิตเมล็ดโกโก้ในประเทศกำลังพัฒนาแต่อาจมีราคาค่อนข้างแพงกว่าเพราะไม่ได้ผลิตโดยโรงงานอุตสาหกรรมเป็นจำนวนมากๆการคิดภาษี (เพิ่มไปจากภาษีมูลค่าเพิ่มที่ผู้บริโภคจ่ายอยู่แล้ว) จะทำให้ช็อกโกแลตดีๆ ยิ่งมีราคาแพงขึ้นไปอีก ทำให้คนที่รายได้น้อยแต่ใจรักช็อกโกแลตไม่ยอมเปลี่ยนแปลง ต้องหันไปหาทางเลือกที่ถูกกว่าซึ่งก็คือขนมหวานรสช็อกโกแลตที่ว่าเม็กซิโก ครองตำแหน่งประเทศที่มีประชากรที่เป็นโรคอ้วนมากที่สุดในโลกรองจากสหรัฐอเมริกา ทั้งๆ ที่มีปริมาณการบริโภคช็อกโกแลตเพียง 500 กรัมต่อคนต่อปี แต่ในขณะที่สวิตเซอร์แลนด์ซึ่งมีอันดับประชากรเป็นโรคอ้วนมากเป็นอันดับที่ 28 นั้นมีการบริโภคช็อกโกแลตถึงปีละ 11 กิโลกรัมต่อปีเลยทีเดียว ชุมชนคนไม่ใช้รถประเทศเยอรมนีนั้นเป็นบ้านเกิดของทั้งรถยนต์และถนนคุณภาพ แต่ที่ชุมชน Vauban ในเมือง Freiburg ใกล้กับพรมแดนสวิสและฝรั่งเศสนั้นกำลังเป็นชุมชนนำร่องที่ทดลองการใช้ชีวิตโดยไม่ต้องพึ่งพารถยนต์ส่วนตัวชุมชนที่อยู่ห่างตัวเมืองออกมา 4 กิโลเมตรนี้ สร้างเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2549 ในฐานะส่วนหนึ่งของโครงการวางผังเมืองอย่างฉลาด เพื่อเป็นชุมชนตัวอย่างที่ทำให้ใครๆ ได้เห็นว่าคุณภาพชีวิตแบบคนเมืองนั้นเป็นไปได้โดยไม่ต้องพึ่งพารถส่วนตัวร้อยละ 70 ของผู้อยู่อาศัยที่นี่ไม่มีรถใช้ และร้อยละ 57 ยอมขายรถที่ตนเองมีอยู่ก่อนที่จะย้ายเข้ามาอยู่ในชุมชนนี้ ซึ่งความจริงแล้วเขาไม่ได้ห้ามไม่ให้มีรถนะ เพียงแต่คุณต้องนำรถไปจอดในเขตนอกชุมชนในที่จอดที่ค่อนข้างจำกัดและมีค่าใช้จ่ายไม่น้อยชุมชนที่มีผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาด 1 ตารางไมล์นี้มีประชากรประมาณ 5,500 คน พื้นที่ดังกล่าวเคยเป็นค่ายทหารของนาซีซึ่งไม่เคยออกแบบเพื่อการใช้รถส่วนตัวอยู่แล้ว และเพื่อให้เกิดการใช้พื้นที่และพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ที่อยู่อาศัยจึงเป็นตึกขนาด 4 -5 ชั้น (ไม่มีบ้านเดี่ยว) ขนาบเส้นทางวิ่งของรถราง เพื่อให้ทุกคนสามารถเดินออกจากอาคารที่พักมาขึ้นรถเข้าไปยังตัวเมือง Freiburg ได้โดยสะดวกน่าอยู่ไหมล่ะ หมูตัวเดียวข่าวการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ที่มีคนเริ่มต้นเรียกมันว่า “โรคหวัดหมู” นั้นทำให้อัฟกานิสถานต้องกักบริเวณหมูที่มีอยู่เพียงตัวเดียวทั้งประเทศเอาไว้คุณอาจสงสัยถึงที่มาที่ไปของเจ้าหมูตัวดังกล่าวว่ามาทำอะไรอยู่ในประเทศมุสลิมแห่งนี้ ที่ผลิตภัณฑ์จากหมูถือเป็นสิ่งผิดกฎหมาย เฉลยให้ก็ได้ว่าเป็นของขวัญที่ประเทศจีนมอบให้กับสวนสัตว์ของอัฟกานิสถาน เจ้าหมูน้อยตัวดังกล่าวซึ่งปกติเป็นของแปลกประจำสวนสัตว์ ต้องถูกพรากจากเพื่อนกวางและแพะที่อยู่ในคอกเดียวกัน ออกมาอยู่ในห้องขังเดี่ยวเพราะผู้ที่มาเยี่ยมชมสวนสัตว์กลัวว่ามันจะแพร่เชื้อหวัดสายพันธุ์อันตรายมาให้ แต่จะว่าไปหมูตัวนี้ถือว่ายังโชคดีอยู่ เพราะที่ผ่านมาสัตว์ที่พักอาศัยอยู่ที่สวนสัตว์แห่งนี้เคยผ่านเรื่องที่หนักหนาสาหัสกว่านี้มาแล้ว เช่นในช่วงที่เกิดสงครามนั้นทั้งบรรดาเก้ง กวางหรือกระต่าย ก็ถูกพวกนับรบมูจาฮิดีนที่เข้ามายึดสวนสัตว์สำเร็จโทษด้วยการกินเป็นอาหารประทังความหิว ส่วนเจ้าสิงโตมาร์จัน ดาวเด่นประจำสวนสัตว์ในขณะนั้นก็เผลอตัวไปเขมือบนักรบคนหนึ่งที่แอบปีนเข้ามาในกรงเข้า เลยทำให้ญาติผู้พี่ของนักรบคนดังกล่าวกลับมาล้างแค้นด้วยการเอาระเบิดมาขว้างใส่กรง ทำให้เจ้ามาร์จันต้องกลายเป็นสิงโตตาบอดฟันหลอไป เอ่อ…เป็นหมูตัวเดียวในประเทศมุสลิมก็ดีไปอย่างเนอะ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 175 ยังผ่อนไม่หมด แต่รถหาย ใครต้องรับผิดชอบ?

สวัสดีครับผู้อ่านทุกท่าน วันนี้เราจะมาพูดถึงเรื่องรถกันบ้าง หลายคนคงมีความจำเป็นต้องใช้รถ เพื่อไว้ทำงาน และความสะดวกในการเดินทาง แต่ก็มีบางคนที่ยังผ่อนค่ารถอยู่ วันดีคืนดีรถหายโดยที่ไม่ได้ตั้งใจ ตัวเองก็เดือดร้อนอยู่แล้ว เมื่อรถสุดที่รักถูกขโมยไป ยังซ้ำร้ายถูกบริษัทไฟแนนซ์ตามทวงเงินค่าเช่าซื้อรถอีก หลายท่านก็สงสัย รถก็ไม่ได้ใช้ ควรผ่อนต่อไปหรือหยุดจ่าย ทำไมเรายังต้องรับผิดชอบอีก ประเด็นดังกล่าวนี้ เคยมีบริษัทไฟแนนซ์ ยื่นฟ้องผู้บริโภคซึ่งเป็นผู้เช่าซื้อที่รถหายต่อศาล และศาลฎีกาได้ตัดสินไว้เป็นบรรทัดฐานอย่างสำคัญ คือ การที่รถหายไปนั้น มีผลให้สัญญาเช่าซื้อระงับไป ดังนั้นผู้บริโภคไม่จำเป็นต้องจ่ายเงินค่างวดรถนับแต่วันที่รถสูญหาย ดั่งที่ปรากฏในคำพิพากษา ดังนี้ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10417/2551สัญญาเช่าซื้อว่าเริ่มชำระงวดแรกวันที่ 25 เมษายน 2540 เช่นนี้ เมื่อผิดนัดชำระค่าเช่าซื้องวดที่ 9 จึงเป็นงวดประจำวันที่ 25 ธันวาคม 2540 แต่โจทก์นำสืบว่าจำเลยที่ 1 ผิดนัดงวดที่ 9 นับแต่วันที่ 15 พฤษภาคม 2541 แสดงว่าโจทก์ยอมรับชำระค่าเช่าซื้อไม่ตรงตามงวดที่ระบุในสัญญา เช่นนี้ถือว่าโจทก์ จำเลยที่ 1 ไม่ถือเอากำหนดระยะเวลาการชำระค่าเช่าซื้อเป็นสาระสำคัญ หากโจทก์ประสงค์จะเลิกสัญญาจะต้องบอกกล่าวให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อภายในระยะเวลาอันควรก่อน การที่โจทก์บอกเลิกสัญญาเช่าซื้อทันทีเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2541 จึงไม่ชอบรถยนต์ที่เช่าซื้อได้สูญหายไปจริงก่อนโจทก์มีหนังสือบอกเลิกสัญญา และเนื่องจากสัญญาเช่าซื้อเป็นสัญญาเช่าทรัพย์รวมกับคำมั่นว่าจะขายทรัพย์สินที่ให้เช่า สัญญาเช่าซื้อจึงเป็นสัญญาเช่าทรัพย์ประเภทหนึ่ง เมื่อรถยนต์ที่เช่าซื้อสูญหาย สัญญาเช่าซื้อย่อมระงับไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 567 ดังนี้ สัญญาเช่าซื้อระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จึงเลิกกันนับแต่วันที่ 26 มีนาคม 2541 ซึ่งเป็นวันที่รถยนต์ที่เช่าซื้อสูญหาย เมื่อข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าการสูญหายเป็นเพราะความผิดของจำเลยที่ 1 โจทก์จะฟ้องเรียกค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระอยู่นับแต่วันที่รถยนต์ที่เช่าซื้อสูญหายไม่ได้ แต่ตามสัญญาเช่าซื้อ ข้อ 4. กำหนดให้ผู้เช่าซื้อต้องรับผิดเกี่ยวกับค่าเสียหายจากการใช้การเก็บรักษาทรัพย์ที่เช่าซื้อแม้เป็นเหตุสุดวิสัย และตามข้อ 7. ได้กำหนดให้ผู้เช่าซื้อต้องรับผิดเงินค่าเช่าซื้อ ค่าเสียหายใดๆ ในกรณีสัญญาเช่าซื้อได้ยกเลิกเพิกถอนไม่ว่าเหตุใดให้แก่ผู้ให้เช่าซื้อจนครบถ้วน ย่อมหมายความรวมถึงผู้เช่าซื้อต้องรับผิดต่อผู้ให้เช่าซื้อเกี่ยวกับค่าเสียหาย ค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระในกรณีสัญญาเช่าซื้อเลิกกันเพราะเหตุรถยนต์เช่าซื้อสูญหายด้วย ข้อกำหนดดังกล่าวเป็นการกำหนดค่าเสียหายไว้ล่วงหน้าในลักษณะเป็นเบี้ยปรับย่อมใช้บังคับได้ตามกฎหมายจากคำพิพากษาดังกล่าว เห็นได้ว่า สัญญาเช่าซื้อที่ทำกันนั้น ความจริงคือสัญญาเช่าประกอบกับคำมั่นว่าจะขายทรัพย์นั้นให้แก่ผู้เช่า จึงต้องนำบทกฎหมายเรื่องการเช่าทรัพย์มาใช้ด้วย ซึ่งตามกฎหมายเช่าทรัพย์กำหนดว่า หากทรัพย์ที่เช่าสูญหายไป สัญญาเช่าสิ้นสุดลง กรณีเช่าซื้อก็นำเรื่องนี้มาใช้ ดังนั้น เมื่อรถที่เช่าซื้อกันหายไป โดยไม่ใช่ความผิดของผู้เช่าซื้อจึงถือว่าสัญญาเช่าซื้อเลิกกันไป นอกจากนี้ ศาลได้ชี้ว่า มีข้อสัญญาที่เกี่ยวข้องกับความรับผิดของผู้เช่าซื้อ กรณีรถหายไว้ด้วย ซึ่งจะ ผู้ให้เช่าซื้อมักจะเอาเปรียบผู้บริโภค โดยการกำหนดไว้ในสัญญาว่า ให้ผู้เช่าซื้อต้องรับผิดในค่าเสียหาย และค่าเช่าซื้อ กรณีสัญญาได้ยกเลิกกันไปไม่ว่าเหตุใดๆ ซึ่งข้อสัญญานี้ ทำให้ผู้บริโภคเดือดร้อนเป็นอย่างมาก ซึ่งศาลก็มองว่า แม้สัญญาเช่าซื้อจะเลิกกัน แต่ที่ตกลงกันไว้ว่าหากทรัพย์สิน สูญหาย ผู้เช่าซื้อจะชดใช้ค่าเสียหายให้ ก็ถือว่าเป็นค่าเสียหายที่ตกลงกันไว้ล่วงหน้า ใช้บังคับกันได้ ในฐานะเบี้ยปรับ ซึ่งศาลสามารถปรับลดได้หากสูงเกินคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5819/2550 เมื่อรถยนต์ที่เช่าซื้อสูญหาย สัญญาเช่าซื้อย่อมระงับไปนับแต่วันที่รถยนต์สูญหายตาม ป.พ.พ. มาตรา 567 จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องส่งมอบรถยนต์คันที่เช่าซื้อคืนแก่โจทก์ แต่เมื่อปรากฏข้อตกลงตามสัญญาเช่าซื้อว่าในกรณีที่รถยนต์นั้นสูญหาย ผู้เช่าจะยอมชดใช้ค่ารถยนต์เป็นเงินจำนวนเท่ากับค่าเช่าซื้อส่วนที่เหลือที่ผู้เช่าจะต้องชำระทั้งหมดตามสัญญาเช่าซื้อทันที ถือว่าจำเลยที่ 1 ได้ตกลงจะชำระค่าเสียหายให้แก่โจทก์กรณีนี้ไว้ด้วย อันเป็นการกำหนดความรับผิดในการที่จำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้ล่วงหน้ามีลักษณะเป็นเบี้ยปรับ ซึ่งหากสูงเกินส่วนศาลชอบที่จะลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 383 วรรคแรก ส่วนค่าขาดประโยชน์นั้น เมื่อรถยนต์ที่เช่าซื้อสูญหายไปเป็นเหตุให้สัญญาเช่าซื้อเลิกกันแล้ว จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์แต่ความจริง เมื่อรถหาย ผู้ให้เช่าซื้อมักจะได้รับการเยียวยาความเสียหายจากบริษัทประกันภัย โดยผู้บริโภคเป็นผู้เสียเบี้ยประกันภัย และบริษัทไฟแนนซ์เจ้าของรถเป็นผู้รับผลประโยชน์ การที่บริษัทไฟแนนซ์ ได้รับเงินเยียวยาจากบริษัทประกันภัยแล้ว ยังมาเรียกเก็บเงินค่าเช่าซื้อกับผู้บริโภคอีก ถือว่าเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ซึ่งหากได้รับไว้แล้ว ต้องคืน คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4819/2549ตามสัญญาเช่าซื้อตกลงกันไว้ว่า กรณีรถยนต์ที่เช่าซื้อถูกลักไป จำเลยผู้ให้เช่าซื้อจะได้รับชดใช้ค่าสินไหมทดแทน 2 ทาง โดยได้จากโจทก์ผู้เช่าและจากบริษัทประกันภัย อันเป็นการเกินกว่าความเสียหายที่จำเลยได้รับ เมื่อโจทก์เป็นผู้เสียเบี้ยประกันภัยและจำเลยเป็นผู้รับประโยชน์ก็เพื่อโจทก์จะไม่ต้องเป็นภาระใช้ค่ารถให้แก่จำเลยจึงยอมเสียเบี้ยประกันภัย และจำเลยได้แสดงเจตนาขอค่าสินไหมทดแทนจากบริษัทประกันภัยแล้ว จนบริษัทประกันภัยอนุมัติให้จ่ายเงินให้จำเลย การที่จำเลยรับเงินค่าเช่าซื้อที่เหลือจากโจทก์หลังจากรถยนต์ที่เช่าซื้อถูกลักไปเป็นการใช้สิทธิไม่สุจริต ต้องคืนเงินค่าเช่าซื้อดังกล่าวให้โจทก์โดยสรุป ก็คือผู้บริโภคควรที่จะคุ้มครองสิทธิของตนเอง ตั้งแต่ตอนทำสัญญา ต้องอ่านข้อสัญญาให้ละเอียดด้วย หากเห็นว่าข้อไหนไม่เป็นธรรมก็ควรโต้แย้งหรือสอบถามตั้งแต่ตอนนั้นเลย เพื่อจะได้ให้เขาแก้ไข เพราะเมื่อเกิดปัญหาใครจะต้องรับผิดชอบแค่ไหน อย่างไร สุดท้ายก็ต้องมาเปิดดูสัญญากันอยู่ดี และเมื่อเกิดเหตุรถหาย ท่านจะต้องรีบแจ้งความเพื่อลงบันทึกไว้เป็นหลักฐานให้เร็วที่สุด จากนั้นจึงนำใบแจ้งความที่ได้ไปยื่นให้กับบริษัทประกันภัยที่ทำไว้รวมถึงบริษัทไฟแนนซ์ด้วย และที่สำคัญคือ “ ไม่ต้องไปจ่ายค่าเช่าซื้ออีก “ เพราะกฎหมายกำหนดไว้ว่าเมื่อรถหายไม่จำเป็นจะต้องผ่อนชำระค่างวดต่อ เนื่องจากสัญญาถูกระงับไปแล้ว นับแต่วันที่รถหาย แต่จะต้องมีการมาคำนวณค่างวดรถที่จ่ายแล้วเป็นเงินเท่าใด และบริษัทประกันได้จ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่บริษัทเป็นเงินเท่าใด ถ้า 2 จำนวนนี้รวมกันแล้วไม่เกินกว่าราคาที่ประกันจะต้องจ่าย ผู้เช่าซื้อก็ไม่ต้องรับผิดชอบ แต่หากเกินจำนวนที่ทำประกันรถหายก็จะต้องผ่อนชำระในส่วนที่เหลือแต่ในส่วนนี้ถ้ามีการนำคดีสู่ศาล ศาลมีอำนาจจะสั่งให้ผู้เช่าซื้อผ่อนชำระต่อหรือไม่ก็ได้ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของศาลโดยศาลจะกำหนดความเสียหายให้ตามสมควร 

อ่านเพิ่มเติม >