ฉบับที่ 129 ระวังปัญหาแอบใช้บัตรประชาชน…ช่วงน้ำท่วม

  มีโอกาสไปประชุมกับศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคจังหวัดลพบุรีเลยได้มีโอกาสฟังปัญหาที่เกิดขึ้นกับชาวบ้านในจังหวัด ซึ่งเป็นปัญหาเก่าแก่ที่เกิดขึ้นมานานคือ การแอบนำสำเนาบัตรประชาชนไปใช้ทำกิจการอย่างอื่นๆ เรื่องมีอยู่ว่าชาวบ้านจำนวนสามสิบกว่าคนได้นำสำเนาบัตรประชาชนไปให้ผู้ใหญ่บ้านเพื่อขอขึ้นทะเบียนเกษตรกร แต่วันดีคืนดีก็พบว่า สมาชิกในกลุ่มทั้งสามสิบกว่าคนเป็นหนี้กันถ้วนหน้าคนละหลายแสนบาท เรื่องแดงขึ้นเพราะถูกโทรศัพท์ทวงเงินว่าไปกู้เงินกับเขาไว้แล้วทำไมไม่จ่ายคืน แถมถูกแจ้งความดำเนินคดีกับตำรวจ ตำรวจพาซื่อนัดผู้เสียหายไปข่มขู่ให้เสร็จว่า เป็นหนี้เขาแล้วก็ต้องจ่าย จะทำบันทึกจ่ายกันยังไงก็ว่ามา เจอเรื่องแบบนี้กับเรา หากไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนหรือไม่มีความรู้คงปวดหัวและวุ่นวายมากพอควร แต่เผอิญสามสิบกว่าคนนี้โชคดี จังหวัดลพบุรีมีศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภค เลยมีคนนำเรื่องมาเล่าให้ผู้ประสานงานศูนย์คุ้มครองสิทธิฯ ฟังก็ได้สืบสาวเรื่องราวจนทำให้ได้ข้อเท็จจริงว่า ลูกสะใภ้ผู้ใหญ่บ้านได้นำสำเนาบัตรประชาชนของคนที่ไปขึ้นทะเบียนไปทำสำเนาเพิ่มเติมแล้วปลอมลายเซ็นต์ไปกู้เงิน และน่าจะรับรู้ร่วมกันระหว่างคนแอบไปกู้กับคนให้กู้ โดยอาจจะเคยดำเนินการแบบนี้มาก่อนหรือไม่ ในอดีตเราอาจจะมีปัญหาเรื่องนี้เพราะนำบัตรประชาชนไปขอใช้โทรศัพท์มือถือเรียกว่านอนอยู่บ้านเฉยๆ ก็เป็นหนี้ หรือบางคนก็กลายเป็นสมาชิกพรรคการเมืองกันไป กรณีนี้เมื่อศูนย์ฯ เข้าไปให้การช่วยเหลือนอกจากไม่ต้องจ่ายเงินเพราะไม่ได้กู้แล้ว ยังได้แจ้งความดำเนินคดีกับลูกสะใภ้ผู้ใหญ่บ้านว่า ใช้เอกสารทางราชการโดยไม่ได้รับอนุญาต และฉ้อโกงประชาชน ช่วงนี้หลายพื้นที่ประสบปัญหาน้ำท่วมและรัฐบาลได้มีมติให้เยียวยาความเสียหาย ซึ่งในคอลัมน์นี้เราคงไม่ถกเถียงเรื่องจำนวนที่จ่ายว่ามากน้อยเพียงพอหรือไม่เพียงใด แต่ทุกครั้งในการดำเนินการก็ต้องใช้บัตรประชาชนเป็นหลักฐาน อย่าลืมคิดถึงเรื่องนี้ไว้เป็นบทเรียน การใช้สำเนาบัตรประชาชนต้องระบุให้ชัดเจนว่าเพื่อวัตถุประสงค์อะไร และกรุณาเขียนให้ชัดเจนในการใช้งานและเขียนระบุบนรูปของตนเองไม่ต้องกลัวว่ารูปจะไม่สวยหรือมองไม่เห็นเพราะมิเช่นนั้น อาจจะมีผู้ไม่หวังดีนำสำเนาไปใช้ประโยชน์เพื่อการอื่นและอาจจะลำบากและเจ็บตัวภายหลังได้ ให้กำลังใจกับผู้ประสบภัยน้ำท่วมทุกคน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 111 การรอนสิทธิคืออะไร.

ในการซื้อขายทรัพย์สินกันนั้นนอกจากผู้ขายจะต้องรับผิดชอบในความชำรุดบกพร่องที่เกิดขึ้นแก่ทรัพย์สินที่ขายแล้ว ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ยังได้กำหนดให้ผู้ขายจะต้องรับผิดในการ รอนสิทธิในทรัพย์สินที่ขายด้วย เพราะนอกเหนือจากการที่ผู้ซื้อมีความประสงค์ที่จะได้รับโอนกรรมสิทธิ์แล้ว ผู้ซื้อยังต้องการที่จะครอบครองทรัพย์สินที่ตนได้ซื้อมาโดยปกติสุขปราศจากการรบกวนของบุคคลอื่นด้วย  มาตรา 475 จึงบัญญัติว่า “หากว่ามีบุคคลผู้ใดมาก่อการรบกวนขัดสิทธิของผู้ซื้อในอันที่จะครองทรัพย์สินโดยปกติสุข เพราะบุคคลนั้นมีสิทธิเหนือทรัพย์สินที่ได้ซื้อขายกันนั้นอยู่ในเวลาซื้อขายก็ดี เพราะความผิดของผู้ขายก็ดี เพราะความผิดของผู้ขายก็ดี ท่านว่าผู้ขายจะต้องรับผิดในผลอันนั้น “ จากบทบัญญัติมาตรา 475 นี้ จึงกล่าวได้ว่าการรอนสิทธิ คือการที่มีบุคคลผู้ใดก็ตาม มาก่อการรบกวนขัดสิทธิของผู้ซื้อในอันจะครอบครองทรัพย์สินโดยปกติสุข เพราะบุคคลผู้นั้นมีสิทธิเหนือทรัพย์สินที่ได้ซื้อขายกันนั้น ไม่ว่าการรอนสิทธินั้นจะเป็นการรอนสิทธิทั้งหมดหรือแต่บางส่วน ในทรัพย์สินที่ซื้อขายก็ตาม นอกจากบทบัญญัติ มาตรา 475 ที่วางหลักให้ผู้ขายต้องรับผิดในการรอนสิทธิไว้เบื้องต้นแล้ว มาตรา 479 ยังบัญญัติต่อมาอีกว่า “ ถ้าทรัพย์สินที่ซื้อขายกันหลุดไปจากผู้ซื้อทั้งหมดหรือแต่บางส่วน เพราะเหตุการณ์รอนสิทธิก็ดี หรือว่าทรัพย์สินนั้นตกอยู่ในบังคับแห่งสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดเป็นเหตุให้เสื่อมราคาหรือเสื่อมความเหมาะสมแก่การที่จะใช้ หรือเสื่อมความสะดวกในการใช้สอย หรือเสื่อมประโยชน์อันจะพึงได้แต่ทรัพย์สินนั้น แลซึ่งผู้ซื้อหาได้รู้ในเวลาซื้อขายไม่ก็ดี ท่านว่าผู้ขายต้องรับผิด " สิทธิของบุคคลผู้รบกวนขัดสิทธินั้นจะต้องเป็นสิทธิที่มีโดยชอบด้วยกฎหมายอันจะทำให้ผู้ขายต้องรับผิด เช่น สิทธิเหนือพื้นดิน สิทธิการเช่า สิทธิอาศัย โดยสิทธินั้นไม่จำเป็นต้องเป็นทรัพย์สิทธิเสมอไป แม้เป็นบุคคลสิทธิ เช่น ตามสัญญาเช่า ก็ก่อให้เกิดการรอนสิทธิได้ อุทาหรณ์ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่น่าสนใจมีดังนี้ คำพิพากษาฎีกาที่ 2053/2538 จำเลยผู้ขายต้องรับผิดในการรอนสิทธิตาม ป.พ.พ. มาตรา 475 แม้จะไม่รู้ถึงสาเหตุแห่งการรอนสิทธิก็ตาม และเมื่อโจทก์ต้องจำยอมให้เจ้าพนักงานตำรวจยึดรถยนต์พิพาทซึ่งซื้อมาจากจำเลยไปเพราะเป็นรถยนต์ที่ถูกโจรกรรมมา ความรับผิดของจำเลยดังกล่าวจึงไม่อยู่ในบังคับอายุความฟ้องร้องตามมาตรา 481 แต่มีอายุความ 10 ปี ตาม มาตรา 193/10 คำพิพากษาฎีกาที่ 6472/2539 สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินแม้ไม่มีข้อตกลงให้ผู้ขายต้องรับผิดในการรอนสิทธิ แต่โดยผลของกฎหมายผู้ขายต้องรับผิด เมื่อปรากฏว่ามีการรอนสิทธิในที่ดินพิพาทอยู่ก่อนแล้วในเวลาทำสัญญาจะซื้อจะขาย แม้จำเลยผู้ขายจะไม่ทราบว่าที่ดินพิพาทถูกรอนสิทธิ แต่โจทก์ผู้ซื้อได้แจ้งให้จำเลยทราบก่อนถึงกำหนดจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ จำเลยมีหน้าที่ต้องขจัดเหตุที่ถูกรบกวนสิทธิไปเสียก่อนถึงกำหนดนัดจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ เมื่อจำเลยไม่ดำเนินการ โจทก์ย่อมมีสิทธิไม่รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทและยังไม่ตกเป็นฝ่ายผิดสัญญา การที่จำเลยบอกเลิกสัญญาจึงไม่มีผลผูกพันโจทก์และไม่มีสิทธิริบเงินที่โจทก์วางไว้ตามสัญญา

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 139 ปัญหาลิขสิทธิ์ เมื่อเข้าสู่ยุคหลอมรวมเทคโนโลยี ในเยอรมนี

โดย ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค ประธานอนุกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านสินค้าและบริการ สำหรับบทความในวันนี้ จะขออธิบายสถานการณ์การแพร่ภาพโทรทัศน์ ของประเทศเยอรมนี ที่มีการเปลี่ยนผ่านการส่งสัญญาณทีวีจากระบบอนาลอก มาเป็นระบบดิจิตอล สมบูรณ์แบบ และมีการหลอมรวมเทคโนโลยี คือประชาชนสามารถเลือกชมรายการโทรทัศน์ผ่านเครื่องรับสัญญาณโทรทัศน์ และรับชมรายการผ่านอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงที่เรียกว่า ทีวีออนไลน์ได้ทั้งสองช่องทาง ความสะดวกในการรับชมรายการโทรทัศน์ผ่านทางอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงนั้นเป็นที่นิยมในเยอรมันอย่างมาก เพราะสามารถรับชมรายการโทรทัศน์ได้ทุกที่ และทุกเวลา สามารถเลือกชมรายการที่แพร่ภาพผ่านไปแล้วก็ได้ และที่น่าสนใจยิ่งขึ้นสำหรับการชมรายการผ่านระบบอินเตอร์เน็ตคือ สามารถบันทึกรายการต่างๆ ที่ชื่นชอบ เพื่อนำมาดูกี่ครั้งๆ ก็ได้เช่นกัน สำหรับการนำรายการที่เผยแพร่ออกอากาศมาบันทึกเก็บไว้ เป็นการส่วนตัวนั้น  สมัยก่อนก็เคยเกิดคดีฟ้องร้องระหว่างบริษัทที่สร้างหนังของฮอลลิวูด กับบริษัทโซนี่ เนื่องจากบริษัทที่เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ภาพยนตร์ เกรงว่าความสามารถในการบันทึกเนื้อหาลงบนวิดีโอเทปนั้น จะทำให้รายได้ของบริษัทผู้สร้างหนังลดลง เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของตนเอง คดีฟ้องร้องดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อ 35 ปีที่แล้วเป็นที่ฮือฮาในประเทศสหรัฐอเมริกา คดีประวัติศาสตร์นี้มีชื่อว่า Betamax-Case และผลของคำตัดสินของศาลฎีกาสูงสุด (US supreme court) ได้ตัดสินให้โซนี่ชนะคดี ทำให้เรา(ผู้ที่ชื่นชอบการดูหนัง) สามารถบันทึกภาพยนตร์ลงบนวิดีโอเทปได้ เพื่อนำมาชมซ้ำเป็นการส่วนตัว 35 ปีให้หลังเกิดคดีลักษณะคล้ายๆ กันในประเทศเยอรมนี เนื่องจากสถานีโทรทัศน์เอกชนยักษ์ใหญ่สองช่อง คือ RTL และ SAT1 กำลังดำเนินคดีฟ้องร้องเวบไซต์ที่ให้บริการ การบันทึกการแพร่ภาพอัตโนมัติผ่านระบบอินเตอร์เน็ต (Online Recorder) เนื่องจากในเยอรมันมีเวบไซต์ให้บริการการบันทึกรายการอัตโนมัติ คือ Save.tv และ Bong.tv เวบไซต์ดังกล่าวสามารถค้นหารายการโทรทัศน์ และบันทึกรายการแบบอัตโนมัติผ่านระบบอินเตอร์เน็ต เนื่องจากสถานีโทรทัศน์ทั้งสองช่องมักจะมีรายการดีๆ กีฬาดี และซีรีส์ดีๆ มานำเสนอต่อผู้ชม จึงมีจำนวนเรตติ้งค่อนข้างสูงกว่าช่องทีวีสาธารณะ ใครที่เป็นสมาชิก save.tv หรือ Bong.tv สามารถตั้งโปรแกรมให้บันทึกเนื้อหาได้แบบอัตโนมัติ โดยที่ไม่จำเป็นต้องเปิดอินเตอร์เน็ตทิ้งไว้เลย เมื่อโปรแกรมทำการบันทึกรายการเสร็จแล้ว ผู้ชมสามารถที่จะชมรายการออนไลน์ โดยการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ต หรือสามารถดาวน์โหลดรายการที่ชื่นชอบเก็บไว้ในคอมพิวเตอร์ส่วนตัว แล้วอยากจะชมรายการตอนไหนก็ได้ เนื่องจากทางฝั่งสถานีโทรทัศน์เกรงในเรื่องการละเมิดลิขสิทธิ์ จึงได้ฟ้องเวบไซต์ที่ให้บริการดังกล่าว แต่ศาลสูงของเยอรมันได้ตัดสินให้เวบไซต์ที่ให้บริการ Online Recorder ชนะคดี โดยให้เหตุผลว่าการบันทึกรายการโทรทัศน์ดังกล่าวเป็นไปเพื่อการใช้งานส่วนบุคคล (BGH, Az. I ZR 215/06 และ I ZR 175/07 ราคาการสมัครเป็นสมาชิกของเวบไซต์ online recorder ดังกล่าวก็ไม่แพง เพียง 10 ยูโรต่อเดือน ซึ่งถูกกว่าค่าธรรมเนียมบำรุงทีวีสาธารณะ ซึ่งเป็นหน้าที่ ที่ทุกครอบครัวต้องจ่ายสมทบให้กับ สำนักงานจัดเก็บค่าธรรมเนียมการบริโภคสื่อสาธารณะ (Die Gebühreneinzugszentrale GEZ) ในราคา 18 ยูโร ถึงแม้สถานีโทรทัศน์เอกชนทั้งสองช่องจะแพ้คดี แต่ก็ยังไม่ลดละความพยายาม  โดยที่จะปิดช่องว่างทางธุรกิจการบันทึกรายการออนไลน์ ก็ได้มีแผนที่จะสร้าง Mediathek (คลังของรายการโทรทัศน์ที่ได้ออกอากาศไปแล้ว) เนื่องจากรายได้ที่สำคัญของสถานีโทรทัศน์และรายการขึ้นอยู่กับเรตติ้ง การเข้าชมรายการ หากทางสถานีไม่เสนอบริการนี้ ก็จะเสียประโยชน์ตรงส่วนนี้ไป ในประเด็นข้อกฎหมายการบันทึกรายการโทรทัศน์อีกประเด็นหนึ่ง ที่ยังอยู่ในการฟ้องร้องระหว่างเวบไซต์ให้บริการ online recorder กับสถานีโทรทัศน์ ก็คือ เวบไซต์ onlinetvrecorder.com มี option การดึงรายการจากโทรทัศน์ที่ผู้ชมเองไม่ได้ทำการบันทึกเก็บไว้ ตรงนี้เลยกลายเป็นประเด็นว่าอาจละเมิดกฎหมายลิขสิทธิ์ได้ ซึ่งคดีนี้ยังอยู่ในการพิจารณาคดีของศาลอยู่ ในอนาคตองค์กรคุ้มครองผู้บริโภคอาจต้องเข้ามาช่วยเหลือให้คำแนะนำ ในประเด็นนี้ครับ เพราะการละเมิดกฎหมายลิขสิทธิ์ ผู้บริโภคมักจะเสียค่าปรับ หรือค่าเตือนเป็นวงเงินที่สูงมาก ซึ่งเป็นอีกปัญหาหนึ่งที่ผู้บริโภคสื่อในยุโรปประสบปัญหาอยู่ครับ ที่มา (Finanztest 9/2012)

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 183 สมัชชาผู้บริโภคไทยปี 2559 “ร่วมผลักดันระบบการคุ้มครองผู้สูงวัย”

ทุกวันที่ 30 เมษายนของทุกปี ถือเป็นวันคุ้มครองผู้บริโภคไทย มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคประชาชนจากทั่วประเทศ จะร่วมกันจัดงานสมัชชาผู้บริโภคไทย เพื่อติดตามการเคลื่อนไหวในประเด็นการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค และเรื่องที่ยังอยู่ในกระแสการรณรงค์ของภาคประชาชนในประเทศต่างๆ สำหรับงานสมัชชาผู้บริโภคไทยประจำปี 2559 ครั้งนี้ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้ร่วมกับ คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน (คอบช.) ศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) แผนงานพัฒนาวิชาการและกลไกคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ (คคส.) และ สสส. จัดงานขึ้นเมื่อวันที่ 29 – 30 เมษายนที่ผ่านมา ณ โรงแรมเบสท์เวสเทิร์นพลัสแวนด้าแกรนด์ นนทบุรี โดยมีประเด็นหลักคือ ระบบคุ้มครองผู้บริโภคกับสังคมผู้สูงวัย และปัญหารถโดยสารสาธารณะกรณีรถสองชั้นฉลาดซื้อฉบับนี้จึงขอพาผู้อ่านไปเยี่ยมชมกิจกรรมต่างๆ ภายในงานทั้งสองวันสมัชชาผู้บริโภคไทยปี 2559 วันที่ 29 เมษายน 2559ระบบคุ้มครองผู้บริโภคกับสังคมผู้สูงวัย เหตุผลที่ระบบคุ้มครองผู้บริโภคกับสังคมผู้สูงวัย กลายเป็นธีมหลักของงานมาจากการที่ประเทศเรา ก้าวเข้าสู่การเป็นสังคมของผู้สูงอายุ(ประชากรที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป) มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2543 หรือเมื่อ 16 ปีที่แล้ว โดยจำนวนประชากรผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้นถึงร้อยละ 15 ของประชากรทั้งหมด หรือราว 10 ล้านคน และจะกลายเป็นสังคมผู้สูงวัยอย่างสมบูรณ์ในปี พ.ศ.2564 หรืออีก 5 ปีข้างหน้า (เมื่อสัดส่วนดังกล่าวเพิ่มเป็นร้อยละ 20) แต่เราจะพบว่าปัญหาของผู้สูงวัยในฐานะผู้บริโภคนั้น ยังคงมีอยู่และเพิ่มมากขึ้น จึงจำเป็นที่เราต้องร่วมกันผลักดันให้เกิดระบบการคุ้มครองผู้สูงวัยที่มีประสิทธิภาพมากกว่าเดิมปาฐกถาพิเศษจาก นพ. วิชัย โชควิวัฒน กรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ถึงแนวทางในการสร้างระบบคุ้มครองผู้บริโภคในสังคมสูงวัยว่า “แม้ผู้สูงอายุจะผ่านโลกมามาก แต่เมื่อสูงวัยก็จะมีความเปราะบางตามธรรมชาติ เช่น เมื่อเกษียณจากการทำงาน โอกาสรับรู้ข้อมูลข่าวสารต่างๆ ก็จะลดลง จึงมีโอกาสมากที่จะถูกชักจูงจากผู้ที่ต้องการแสวงหาผลประโยชน์ หรือในกรณีที่ต้องการสินค้าและบริการมาช่วยสร้างเสริมสุขภาพให้แข็งแรง ก็อาจตกเป็นเหยื่อของการโฆษณาชวนเชื่อต่างๆ ได้ง่าย ดังนั้นจึงควรมีมาตรการการดูแลที่เหมาะสม เพื่อไม่ให้ผู้สูงอายุถูกเอารัดเอาเปรียบหรือตกเป็นเหยื่อจนกลายเป็นปัญหาสังคม ทั้งนี้หากเราพิจารณาจากการศึกษาเรื่อง การเข้าถึงและความพึงพอใจต่อบริการตามสิทธิผู้สูงอายุ เมื่อปี 2558 จะพบว่าผู้สูงอายุไทยส่วนใหญ่ร้อยละ 85 ยังสามารถทำกิจวัตรประจำวันของตนเองได้ทั้งหมด ที่เหลือร้อยละ 13 ช่วยเหลือตัวเองได้บางส่วน และมีเพียงร้อยละ 2 ที่ช่วยเหลือตัวเองในชีวิตประจำวันไม่ได้เลย ดังนั้นประเทศไทยควรมีวิสัยทัศน์ในการส่งเสริมสนับสนุนให้ผู้สูงวัยในกลุ่มใหญ่ สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ยาวนานที่สุด ส่วนกลุ่มที่ช่วยเหลือตัวเองได้บางส่วน ควรสนับสนุนให้ช่วยเหลือตัวเองได้มากขึ้นเรื่อยๆ และช่วยฟื้นฟูผู้สูงวัยที่เหลืออีกร้อยละ 2 ให้ช่วยเหลือตัวเองได้บ้างโดยเราสามารถสร้างผู้สูงวัยให้เป็นพลังสังคมได้ ด้วยการส่งเสริมความเข้มแข็งของผู้สูงวัยอย่างครบวงจร ซึ่งมีหลักการสำคัญคือ 1. ต้องพัฒนาให้ผู้สูงวัยมีความเข้มแข็ง โดยพัฒนาผู้สูงวัยในฐานะปัจเจกบุคคล โดยต้องทำให้อยู่ในภาวะพึ่งพิงน้อยที่สุด ซึ่งสามารถทำได้ด้วยการส่งเสริมผู้สูงวัยทำงาน ทั้งงานอาชีพและงานสังคม เพราะจะทำให้ผู้สูงวัยรู้สึกได้ว่า ตนเองมีคุณค่า นอกจากนี้จะทำให้ได้รับข้อมูลข่าวสาร และสามารถพึ่งพาซึ่งกันและกันได้ด้วย 2. ต่อมาต้องพัฒนาองค์กรต่างๆ ทั้งของผู้สูงวัยเอง และองค์กรที่ทำงานด้านผู้สูงวัย 3. รวมทั้งพัฒนาเครือข่ายของบุคคลและองค์กรผู้สูงวัย และ 4. พัฒนาสภาพแวดล้อม ทั้งกฎหมาย สิ่งแวดล้อม สื่อ ระบบงาน กลไกต่างๆ ที่เอื้อต่อการสร้างความเข้มแข็งของผู้สูงวัย” นอกจากนี้ นพ. วิชัย ยังได้เปรียบเปรียบสังคมผู้สูงวัยระหว่างประเทศไทยและประเทศสิงคโปร์ไว้ว่า บ้านเขารวยก่อนแล้วจึงแก่ แต่บ้านเราแก่ก่อนแล้วจึงรวย เพราะติดกับดักรายได้ปานกลาง และแม้รัฐบาลจะช่วยจ่ายเงินค่ายังชีพให้กับผู้สูงอายุเดือนละ 600 ถึง 1,000 บาท แต่ก็ไม่เพียงพอที่จะใช้ชีวิตอยู่ในประจำวันได้ ดังนั้นสังคมไทยจึงควรเร่งพัฒนาการคุ้มครองผู้สูงวัยให้เป็นระบบ เพื่อเตรียมตัวเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้านี้ต่อจากปาฐกถา คือการเสวนาถึงทุกข์ของผู้สูงวัย ซึ่งเป็นการสะท้อนปัญหาต่างๆ ของผู้บริโภคสูงวัย ที่มีสาเหตุมาจากสินค้าหรือบริการ ตลอดจนปัญหาความมั่นคงในชีวิตและสุขภาพ มีตัวแทนจากหลายฝ่ายเข้าร่วมแลกเปลี่ยนความเห็นในประเด็นดังกล่าว นายเชษฐา แสนสุข ตัวแทนเครือข่ายผู้สูงอายุในชุมชนแออัด กล่าวว่า “ทุกข์ของผู้สูงอายุในเมืองส่วนใหญ่คือปัญหาเรื่องสุขภาพ และเรื่องค่าใช้จ่าย การหวังพึ่งลูกหลานอย่างเดียวไม่สามารถทำได้ จึงอยากให้รัฐจัดบำนาญแห่งชาติ เพื่อเป็นหลักประกันในชีวิตให้กับทุกคน หรือนางทองม้วน นกแก้ว ตัวแทนผู้สูงอายุจากจังหวัดสมุทรสงคราม ที่มีประสบการณ์เป็นเหยื่อโฆษณายามาหลายครั้ง โดยสั่งซื้อยาตามโฆษณาทางวิทยุ เพราะอยากหายจากอาการป่วยที่เป็นอยู่และหลงเชื่อดาราดังทั้งหลายที่มาโฆษณา ซึ่งมาพบภายหลังว่ายาต่างๆ เหล่านั้นไม่มีความปลอดภัย”ก่อนจบการเสวนาจึงได้มีการร่วมกันสรุปข้อเสนอสำหรับ แนวทางการแก้ปัญหาทุกข์ของผู้บริโภคสูงวัยให้มีความยั่งยืน 6 ข้อ ดังนี้ 1. รัฐควรพิจารณาให้ผู้สูงอายุมีหลักประกันในช่วงสุดท้ายของชีวิต 2. หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการโฆษณาผ่านสื่อวิทยุ-โทรทัศน์ ควรควบคุมการโฆษณายาอย่างจริงจัง เพื่อไม่ให้มีผู้หลงเชื่อจนตกเป็นเหยื่อโฆษณายาเกินจริง โดยเฉพาะผู้สูงวัย ผู้ป่วย และคนต่างจังหวัด 3. รัฐบาลควรให้การดูแลผู้สูงอายุมากกว่านี้ โดยเฉพาะการออกกฎหมายดูแลผู้สูงอายุ เพราะส่วนใหญ่ มีความกังวลว่าบั้นปลายจะลำบาก โดยเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ไม่ควรต่ำกว่า 2,600 บาทต่อเดือน เพื่อให้ผู้สูงอายุพออยู่ได้ 4. รัฐต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนผู้ที่จะได้รับผลกระทบโดยตรงจากนโยบายที่รัฐคิด เข้าไปมีส่วนร่วมและนำเสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับนโยบายนั้นๆ เพราะส่วนใหญ่แล้ว ผู้คิดนโยบายไม่ได้เข้าถึงปัญหาอย่างแท้จริง มักทำตามกระแสการเรียกร้อง แต่ไม่ได้คิดทั้งระบบ เช่น ปัญหาการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุ รัฐควรกำหนดนโยบายและแนวทาง ที่สามารถสร้างหลักประกันรายได้พื้นฐานให้กับผู้สูงอายุได้ เพราะหากมีหลักประกันรายได้เพียงพอต่อการยังชีพในระดับหนึ่ง คนกลุ่มนี้ก็จะไม่เป็นภาระอีกต่อไป 5. ผู้มีอำนาจในสังคม ควรมองว่า ผู้สูงอายุไม่ใช่ภาระ แต่เป็นคลังสมองของสังคม สามารถสร้างคุณูปการต่อประเทศได้ และสุดท้าย 6. ประกันสังคม ควรปรับเปลี่ยนอัตราการจ่ายบำนาญที่ปัจจุบันกำหนดตายตัวไว้ไม่เกิน 3,000 บาทต่อเดือน เพื่อให้สอดคล้องกับค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้นแต่ละปีทั้งนี้ภายหลังกิจกรรมในห้องประชุมใหญ่เสร็จสิ้น ก็มีการแบ่งการเสวนาเป็นห้องย่อยทั้งหมด 3 ห้องในประเด็นคือ 1. ประกันภัยผู้สูงวัย 2. ผู้สูงอายุกับการบริโภคยา อาหารและเครื่องมือแพทย์ที่เป็นปัญหา และ 3. ความเป็นไปได้ทางการเงินการคลังในการมีบำนาญพื้นฐานทั่วหน้าของประชาชน ซึ่งแต่ละห้องนั้นก็มีเรื่องราวที่น่าสนใจที่ต่างกัน ดังนี้สรุปประเด็นห้องย่อยที่หนึ่ง เรื่องประกันภัยผู้สูงวัย ประเด็นหลักของการเสวนาคือ ปัญหาของประกันภัยชนิดนี้ ที่มักนำดาราหรือพิธีกรสูงวัยมาดึงดูดใจลูกค้าด้วยการใช้คำโฆษณาว่า “ไม่ต้องตรวจสุขภาพ ไม่ต้องตอบคำถามใดๆ” ซึ่งทำให้ผู้สูงอายุส่วนใหญ่หลงเชื่อทำประกัน เพราะถูกโฆษณาเกินจริงและขาดข้อมูลที่ครบถ้วนถูกต้อง เพราะโฆษณาดังกล่าวไม่ได้บอกรายละเอียดทั้งหมดว่า กรมธรรม์ประกันภัยชนิดนี้ให้ผลคุ้มครองอะไรบ้าง ซึ่งทำให้เกิดปัญหาตามมาเมื่อ ผู้ทำประกันภัยเกิดเจ็บป่วยหรือเสียชีวิต  แนวทางแก้ไขปัญหานี้จึงเป็นหน้าที่หลักของ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ซึ่งนางสาวราตรี เนตรพระฤทธิ์  ผู้อำนวยการฝ่ายวางแผนและพัฒนาการคุ้มครองสิทธิ คปภ. กล่าวว่า ทาง คปภ. ได้ออกกฎเกณฑ์และระเบียบเรื่องการโฆษณาหรือเสนอขายว่า ต้องมีถ้อยคำที่ชัดเจน ทำให้ประชาชนไม่สับสน และจะต้องบอกให้ชัดเจนว่า ถ้าหากเจ็บป่วยตายภายใน 2 ปี จะมีสิทธิ์ได้รับเฉพาะเบี้ยประกันภัยคืนบวกกับเงินเพิ่มเท่านั้นอย่างไรก็ตามหากผู้สูงวัยต้องการซื้อประกัน ควรศึกษาข้อมูลจากหลายๆ แห่งก่อนตัดสินใจ เช่น www.oic.or.th ที่รวบรวมข้อมูลเรื่องบริษัทประกันภัย กรมธรรม์ประกันภัยแต่ละชนิดแต่ละประเภทพร้อมทั้งคำอธิบาย มีข้อมูลสถิติเรื่องการร้องเรียน ข้อมูลสถิติเรื่องการลงโทษบริษัทประกันภัย และหากต้องการข้อมูลเพิ่มเติมก็สามารถโทรศัพท์ไปที่สายด่วนประกันภัย 1186 ซึ่งจะแนะนำได้ว่าควรเข้าไปคลิกตรงไหนในเว็บไซต์ นอกจากนี้ควรเก็บหลักฐานการโฆษณาต่างๆ ไว้ด้วย เช่น ใบปลิวโฆษณา เพราะถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาเช่นกัน และเมื่อได้กรมธรรม์มาแล้ว ควรอ่านหรือศึกษาคู่มือ เพื่อให้ทราบว่าสิทธิประโยชน์ในข้อสัญญาเป็นอย่างไร นอกจากนี้นางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค ยังได้ฝากข้อเสนอเพิ่มเติมอีก 5 ข้อดังนี้ 1.ในกรณีประกันแบบสูงวัย มีเงื่อนไขการจ่ายเบี้ยประกันก็คือต้องตายหลังเวลา 2 ปีจึงจะได้ทุนประกัน มีความเห็นว่าเป็นระยะเวลาที่ยาวเกินไป จึงขอให้พิจารณาทบทวนเรื่องนี้ใหม่ 2.ขอให้มีการลงโทษผู้กระทำผิดกฎหมายเรื่องการโฆษณาซึ่งปัจจุบันสามารถตรวจสอบได้ และขอให้ประกาศให้ทราบโดยทั่วกันว่าบริษัทไหนได้ดำเนินการทางกฎหมายไปแล้ว เพื่อให้มีการปรับเปลี่ยนโฆษณา 3.เพิ่มบทกำหนดโทษของตัวแทนในกรณีที่ขายประกันแบบผิดจรรยาบรรณ ไม่ใช่แค่เพิกถอนใบอนุญาต 4.ขอให้มีมาตรการบังคับให้บริษัทประกันภัยมีระบบ Call Center ที่ลูกค้าติดต่อง่าย เพราะขณะนี้มีบริษัทประกันภัยที่เสนอขายประกันทางโทรศัพท์ แต่เมื่อมีการติดต่อกลับเพื่อขอยกเลิกสัญญา ติดต่อไม่ได้ หรือติดต่อยากมาก และ 5.การยกเลิกประกันขอให้ทำได้ในกรณีเดียวคือ ขอให้ยกเลิกภายใน 30 วันไม่มีความจำเป็นที่จะต้องกำหนดว่า ถ้าผ่านตัวแทนต้องดำเนินการภายใน 15 วัน ขอให้มีการปรับให้เท่ากัน เพราะอย่างน้อยจะได้มีเวลาศึกษา สรุปประเด็นห้องย่อยที่สอง ผู้สูงอายุกับการบริโภคยา อาหารและเครื่องมือแพทย์ที่เป็นปัญหา พบว่าปัญหาหลักคือ การหลงเชื่อในสรรพคุณของผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ยาแผนโบราณต่างๆ โดยจะมีกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ผู้สูงอายุนิยมใช้ประจำ เช่น น้ำมันปลา สาหร่ายสไปรูไลน่า แคลเซียม โปรตีนผง จมูกข้าว ซึ่งมักได้รับการชักชวนให้ซื้อจากผู้ใกล้ชิด  หรือจากผู้ประกอบวิชาชีพ แต่เราจะพบว่าผลิตภัณฑ์เหล่านั้นไม่ได้ปลอดภัยและมีประโยชน์เสมอไป เช่น ผลิตภัณฑ์บางชนิดโฆษณาว่ามาจากปลาน้ำลึก ซึ่งถ้าไปคนเป็นหอบหืดกินเข้าไปก็จะอันตาย หรือแม้แต่คลอโรฟิลล์ก็พบว่า มีตัวอย่างผลิตภัณฑ์ที่ใส่สารบางอย่างเข้าไป จนทำให้คนที่กินแล้วก็ใจสั่น หรือการกินยาแผนโบราณบางชนิด ก็สามารถทำให้เกิดอาการแพ้ยา ตัวบวมจากสเตียรอยด์ที่ใส่ลงไป หรือมีจ้ำเลือดออกใต้ผิวหนังได้ ดังนั้นจึงต้องมีแนวทางในการแก้ไขปัญหาที่ชัดเจน เช่น ให้ผู้สูงอายุควรมีผู้ดูแลหรือสร้างความรู้เชิงวิชาการ ที่ทำให้เข้าใจเรื่องข้อมูลผลิตภัณฑ์สุขภาพอย่างถูกต้อง ซึ่งไม่ใช่เฉพาะเรื่องของความปลอดภัย แต่ต้องมีประโยชน์ด้วย รวมทั้งควบคุมคุณภาพและราคา นอกจากนี้สภาวิชาชีพต้องควบคุมให้คนของตัวเองดูแลและทำหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภคด้วย เพราะทุกวันนี้คนในวิชาชีพกลุ่มหนึ่งเป็นคนขายผลิตภัณฑ์นี้ ซึ่งช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือและทำให้ของขายดีขึ้น และควรปรับปรุงฉลากโภชนาการ ให้อ่านเข้าใจง่าย ส่วนกรณีที่เครื่องมือแพทย์มีปัญหา มีสาเหตุจากการนำไปสาธิต โฆษณา โอ้อวด เกินความจริง เช่น ใช้รักษาโรคโน้นโรคนี้ได้ ทั้งที่ไม่ได้งานวิจัยมาสนับสนุน แต่ใช้เทคนิคคือให้ไปใช้ฟรี มีการเล่นเกม แจกรางวัล ของขวัญ โปรโมชั่นเยอะแยะ ซึ่งผู้บริโภคไม่ควรหลงเชื่อ เพราะไม่มีผลิตภัณฑ์สุขภาพตัวไหนที่สามารถรักษาได้ครอบจักรวาล สรุปประเด็นห้องย่อยที่สาม ความเป็นไปได้ทางการเงินการคลังในการมีบำนาญพื้นฐานทั่วหน้าของประชาชน ห้องนี้มีคนเข้าร่วมหนาแน่นมากที่สุด เพราะผู้สูงวัยส่วนใหญ่ต่างก็มีความทุกข์ในเรื่องของรายได้ หรือมีรายได้ต่ำทำให้ไม่สามารถเก็บออมได้มากพอเมื่อสูงวัย และต่างต้องการให้รัฐจัดสวัสดิการบำนาญให้ผู้สูงวัยทุกคน ซึ่งควรอยู่ในอัตราใกล้เคียงกับเส้นความยากจน ตามที่สำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติระบุไว้ในปี 2557 คือ 2,600 บาทต่อเดือน แต่ประเด็นคือรัฐจะสามารถจัดสรรงบให้ผู้สูงอายุได้เพียงพอหรือไม่อย่างไรก็ตามในการเสวนาครั้งนี้ ก็มีการร่วมกันเสนอแนวทางการแก้ปัญหา หรือความเป็นไปได้ในการมีบำนาญพื้นฐานถ้วนหน้าของประชาชนคือ 1.รัฐต้องส่งเสริมให้ประชาชนโดยเฉพาะ กลุ่มที่เป็นแรงงานนอกระบบมีส่วนร่วมออมเพื่อการเกษียณ หรือผลักดันโครงการให้ความรู้ทางการเงิน และปรับนโยบายการลงทุนของกองทุนการออมเพื่อการเกษียณ เพื่อเพิ่มผลตอบแทน 2.เตรียมความพร้อมสำหรับรับคนสูงวัยซึ่งมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เช่น การสนับสนุนการลงทุนร่วมภาครัฐและเอกชน ลดแรงกดดันที่รัฐต้องใช้พลังในการลงทุนด้านต่างๆ ให้เอกชนมาร่วมด้วย ปรับปรุงการจัดเก็บรายได้ภาครัฐ หาแหล่งเงินอื่นที่นอกเหนือจากงบประมาณแผ่นดิน นอกจากนี้จากงานวิจัยของนักวิชาการในและต่างประเทศก็ได้ยืนยันว่า ประเทศไทยมีงบเพียงพอในการจัดสรรสวัสดิการบำนาญดังกล่าว เพียงแต่ต้องบริหารงบให้กระจายอย่างเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำ และปฏิรูประบบภาษี รวมทั้งการจัดเก็บภาษีทรัพย์สิน สิ่งแวดล้อม กำไรในตลาดหุ้น และควรปรับขึ้นภาษีอย่างเป็นธรรม ซึ่งท้ายที่สุดแล้วทุกคนต่างก็หวังว่าข้อเสนอต่างๆ จะเป็นจริง เพราะบำนาญชราภาพถือว่าเป็นสวัสดิการหรือสิทธิขั้นพื้นฐานที่รัฐควรจัดสรรให้ประชาชนในประเทศ    เป็นอย่างไรกันบ้างคะกับเนื้อหากิจกรรมของวันแรก เรียกได้ว่าเสวนากันในประเด็นที่เกี่ยวกับกับผู้สูงอายุในทุกแง่มุมที่เป็นปัญหากันเลยทีเดียว สมัชชาผู้บริโภคไทยปี 2559 วันที่ 30 เมษายน 2559การเสวนาปัญหารถโดยสารสองชั้นจากข้อมูลของศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทย ที่ได้นำเสนอข้อมูลอุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะ เมื่อปี 2558 พบว่า อัตราการเกิดอุบัติเหตุของรถโดยสารสองชั้น สูงกว่าอัตราการเกิดอุบัติเหตุของรถบัสชั้นเดียวถึง 6 เท่า ซึ่งส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยของผู้บริโภคที่ต้องเดินทางด้วยรถโดยสารดังกล่าว จึงเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องรณรงค์ให้รถโดยสารสองชั้นทุกคัน ต้องผ่านทดสอบการลาดเอียง ทั้งนี้หากวิเคราะห์สาเหตุหลักของอุบัติเหตุดังกล่าว พบว่าไม่ได้มาจากผู้ขับขี่เพียงอย่างเดียว แต่รถมีปัญหาเรื่องโครงสร้าง และการออกแบบที่ไม่เหมาะสมกับเส้นทางและถนนในประเทศ หรือไม่เป็นไปตามมาตรฐานข้อกำหนดสากล เช่น UNECE R66 ที่เกี่ยวข้องกับความแข็งแรงของโครงสร้างและการทดสอบตัวถังรถโดยสารหลายประการ ดังนี้ 1.ตำแหน่งของจุดศูนย์ถ่วงที่อยู่สูงกว่ารถชั้นเดียว เนื่องจากมิติรถสองชั้นที่สูง 4.20 ม. ยาวกว่า 12.00 ม. หนักกว่า 18  ตัน ยังไม่รวมน้ำหนักของผู้โดยสารและสัมภาระด้านบน เพราะฉะนั้นด้วยรถที่มีความสูงขนาดนี้ เมื่อวิ่งด้วยความเร็วบนถนนจึงมีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุรุนแรงได้โดยเฉพาะทางโค้ง ทางลาด 2.ปัญหาโครงสร้างความแข็งแรง ที่ส่วนใหญ่ประกอบขึ้นจากการนำคัสซีเก่ามาซ่อมแซม และดัดแปลงเป็นตัวถังรถใหม่ เพื่อลดต้นทุนนำเข้ารถใหม่จากต่างประเทศที่มีราคาสูงกว่าเท่าตัว ซึ่งผู้บริโภคไม่มีทางรู้ได้ว่ารถคันไหนต่อเติมดัดแปลงมาอย่างไร  และ 3. ปัญหาระบบเบรก ที่มักจะขัดข้องหรือหยุดทำงานขณะวิ่งลงเนินเขาระยะทางยาว การคุมเข้มความแข็งแรงของโครงสร้างรถ และโครงสร้างเบาะผู้โดยสาร ที่ยังขาดความแข็งแรงและไม่มีจุดยึดเกาะกับรถตามมาตรฐานสากล ซึ่งยังไม่มีการกำหนดข้อบังคับและบทลงโทษชัดเจน  อย่างไรก็ตามมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ก็ได้จัดทำข้อเสนอระยะสั้น เพื่อเป็นมาตรการเร่งด่วนแก่กรมการขนส่งทางบกเพื่อพิจารณา 4 ข้อ ดังนี้ 1.ขอให้กรมฯ ออกประกาศใหม่ให้รถโดยสารสองชั้นทุกคันต้องเข้ารับการทดสอบการลาดเอียง 2.ขอให้รถโดยสารสองชั้นที่ผ่านการทดสอบการลาดเอียงต้องแสดงสัญลักษณ์หรือติดสติ๊กเกอร์ว่าผ่านการทดสอบอย่างชัดเจนบริเวณด้านหน้าและด้านข้างรถเพื่อเป็นตัวเลือกในการใช้บริการให้กับผู้บริโภค 3. ขอให้กรมกำหนดเส้นทางเสี่ยงสำหรับรถโดยสารสองชั้น โดยพิจารณาจากสภาพถนน และจำนวนอุบัติเหตุของรถขนาดใหญ่ ต้องห้ามใช้เส้นทางโดยเด็ดขาดพร้อมกำหนดโทษหากฝ่าฝืน 4. ขอให้กรมพัฒนาระบบ GPS ในรูปแบบเชิงป้องกันอุบัติเหตุแบบ Real time ที่สามารถแจ้งเตือนและสกัดจับได้ทันที โดยเชื่อมโยงหรือส่งต่อกับระบบฐานข้อมูลหน่วยงานอื่นๆ ในระดับพื้นที่ เช่น ตำรวจทางหลวง สำนักงานขนส่งแต่ละจังหวัด เป็นต้นซึ่งข้อเสนอทั้ง 4 จะได้มีการติดตามเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคต่อไป ----------------------------------------------------------------------------------------------------รางวัลยกย่องสื่อมวลชลที่มีส่วนร่วมต่อการสร้างความรู้และนำเสนอข่าวสารด้านการคุ้มครองผู้บริโภคโดย คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชนจัดขึ้นเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้สื่อมวลชนทำข่าว สารคดีเชิงข่าวการคุ้มครองผู้บริโภค ที่มีคุณภาพและมีคุณค่าต่อการสร้างสรรค์และเปลี่ยนแปลงสังคมไทยให้ดีขึ้น รวมทั้งเพื่อส่งเสริมกำลังใจให้สื่อมวลชนไทย โดยแบ่งออกเป็นประเภทสื่อโทรทัศน์ และสื่อออนไลน์ ดังนี้ ประเภทสื่อโทรทัศน์ ประกอบด้วยรางวัลข่าวยอดเยี่ยม ได้แก่ ข่าวลิฟท์บีทีเอส โดย นายอาธิต พันธุ์ปิยะศิริ จากสำนักข่าวไทย อสมท. และสารคดีเชิงข่าวยอดเยี่ยม  ได้แก่ ผลงานเรื่องศัลยกรรมปรับโครงสร้างจมูก สวยหรือเสี่ยง โดย นางสาวศิริพร กิจประกอบ ผู้สื่อข่าวกองข่าวเฉพาะกิจ ช่อง 9 MCOT HDประเภทสื่อออนไลน์ ประกอบด้วยรางวัลสารคดีเชิงข่าวยอดเยี่ยม ได้แก่ ผลงานเรื่องร้าวทรุดบ้านหรูรัชวิภา โดย นางสาวธิดารัตน์ เมืองจันทร์ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ และรางวัลชมเชยสารคดีเชิงข่าวเรื่อง มหากาพย์ 2 ปีสะพานถล่ม ร้องเรียนสารพัดหน่วยงาน – ไร้ความคืบหน้า โดย นายณัฐพร วีระนันท์ สำนักข่าวอิศรา

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 181 คุณจะใช้สิทธิการตายได้อย่างไร

ด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ก้าวหน้ามากขึ้นในปัจจุบันก็เปรียบเหมือนกับเหรียญที่มี 2 ด้าน ด้านหนึ่งคือ ความสามารถในการช่วยเหลือชีวิตของมนุษย์ให้หายจากโรคภัยไข้เจ็บ แล้วกลับมาสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ ไว้บนโลกนี้ต่อไปได้อีกจนกว่าวาระสุดท้ายของชีวิตจะเวียนมาถึง ส่วนอีกด้านหนึ่งของเหรียญ “ความก้าวหน้าทางการแพทย์” กลับกลายเป็นสิ่งที่ “เกินความจำเป็น” เพราะไม่ว่าจะประโคมใช้เทคโนโลยีที่มีอยู่เพียงใด แต่ความตายก็มาเยือนในเวลาอันใกล้ ดังนั้นแล้ว หากเมื่อฝ่ายหนึ่งอยากจะจากไปอย่างสงบ แต่ฟากผู้รักษาชีวิตและญาติอาจยังทำใจไม่ได้ สิ่งที่น่าจะเป็นทางออกอาจจะอยู่ที่ หนังสือแสดงเจตนาหรือสิทธิในการเลือกที่จะตายของผู้ป่วย บุคคลมีสิทธิทำหนังสือแสดงเจตนาปฏิเสธการรักษาเพื่อยืดการตายนางนิรชา อัศวธีรากุล ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมสิทธิและสร้างสังคมสุขภาวะ สำนักงานสุขภาพแห่งชาติ ระบุว่า จากภาวะก้ำกึ่งระหว่างความเป็นความตาย ประกอบกับการที่สังคมไทยกำลังย่างเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มรูปแบบ แต่ยังไม่มีระบบในการดูแลคนเหล่านี้ในวาระสุดท้ายได้อย่างเป็นระบบเช่นนี้ นำมาสู่การยกร่าง มาตรา 12 พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 ที่ให้สิทธิทุกคนบนผืนแผ่นดินไทยได้ตัดสินใจเอาเองว่าจะยินดีให้แพทย์ประโคมเทคโนโลยีเพื่อยื้อชีวิต หรือขอใช้สิทธิเลือก “ตายอย่างสงบ”  สาระสำคัญของมาตรา 12 ระบุว่า บุคคลมีสิทธิทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพียงเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิต หรือเพื่อยุติการทรมานจาการเจ็บป่วย และเพื่อเป็นการขยายวิธีปฏิบัติตามกฎหมายดังกล่าวจึงได้มีการออกกฎกระทรวง กำหนดกฎเกณฑ์และวิธีการดำเนินการตามหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการ สาธารณสุขที่เป็นไปเพียงเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิต หรือเพื่อยุติการทรมานจากการเจ็บป่วย พ.ศ. 2553 ซึ่งประกาศลงราชกิจจานุเบกษา ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2553   นิยามของคำว่า “วาระสุดท้าย” ที่สามารถขอใช้สิทธิปฏิเสธการรักษา คือ ภาวะของผู้ทำหนังสือแสดงเจตนาอันเกิดจากการบาดเจ็บหรือโรคที่ไม่อาจรักษาให้หายได้และผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมผู้รับผิดชอบการรักษาได้วินิจฉัยจากการ พยากรณ์โรคตามมาตรฐานทางการแพทย์ว่าภาวะนั้นนำไปสู่การตายอย่างหลีกเลี่ยง ไม่ได้ในระยะเวลาอันใกล้จะถึง และให้หมายความรวมถึงภาวะที่มีการสูญเสียหน้าที่อย่างถาวรของเปลือกสมองใหญ่ ที่ทำให้ขาดความสามารถในการรับรู้และติดต่อสื่อสารอย่างถาวรโดยปราศจาก พฤติกรรมการตอบสนองใดใดที่แสดงถึงการรับรู้ได้จะมีเพียงปฏิกิริยาสนองตอบอัตโนมัติเท่านั้น แพทย์จะมีความผิดหรือไม่ หากทำตามเจตนาของผู้ป่วย “วาระสุดท้ายของชีวิตนั้นสามารถพิสูจน์ได้ เพราะสภาพร่างกายของผู้ป่วยจะเป็นตัวบ่งบอก เพราะฉะนั้นไม่ต้องไปกังวลอย่างอื่น หรือคิดไปในทางที่ไม่ดี เรื่องนี้สามารถพิสูจน์ได้อยู่แล้ว และตามกฎหมายระบุว่าบุคลากรทางด้านสาธารณสุข คือแพทย์ พยาบาล คนที่เกี่ยวข้องหากปฏิบัติตามหนังสือแสดดงเจตนานี้แล้วไม่ถือว่าเป็นความผิด ให้พ้นจากความรับผิดทั้งปวง”  นางนิรชา อัศวธีรากุล กล่าวยืนยัน อย่างไรก็ตาม เมื่อวาระสุดท้ายของชีวิตมาถึงจริงๆ แพทย์ต้องดูว่าผู้ป่วยนั้นมีสติสัมปชัญญะหรือไม่ หากผู้ป่วยมีสติสัมปชัญญะดีพอที่จะสื่อสารได้ตามปกติ แพทย์เจ้าของไข้ต้องอธิบายให้ผู้ป่วยที่ทำหนังสือแสดงเจตนาฯ ได้ทราบถึงภาวะและความเป็นไปของโรคในขณะนั้นเพื่อยืนยันความประสงค์ที่จะปฏิเสธการรักษาหรือไม่ แต่ถ้าผู้ป่วยที่ทำหนังสือแสดงเจตนาฯ ไม่มีสติสัมปชัญญะดีพอที่จะสื่อสารได้ตามปกติ ก็ต้องแจ้งกับบุคคลที่ 3 อาทิ ญาติของผู้ป่วยเพื่อแจ้งให้ทราบถึงภาวะของโรค และแจ้งรายละเอียดเกี่ยวกับการดำเนินการตามเจตนารมณ์ของผู้ป่วยก่อนจะปฏิบัติตามคำสั่งในหนังสือ “บางคนที่เชื่อเรื่องปาฏิหาริย์สักวันหนึ่งญาติของตัวเองอาจจะฟื้นขึ้นมาหลังจาก นอนโดยไม่รับรู้อะไรมาสักระยะ ตรงนี้เป็นหน้าที่ของญาติที่ต้องคุยกับบุคลากรทางการแพทย์ให้เข้าใจตรงกัน บางคนพอคุยไปคุยมาก็ยอมทำตามความประสงค์ บางคนก็ฝืนคำสั่งก็มี แต่เมื่อยื้อไปสักพักแล้วเห็นว่าไม่สามารถยื้อได้อีกก็เลยกลับมาใช้แนวทาง ที่ผู้ป่วยแสดงเจตจำนงเอาไว้ ดังนั้นการตามความประสงค์ของผู้ที่ทำหนังสือแสดงเจตจำนงเอาไว้ ประกอบกับความเห็นทางการแพทย์ยืนยันว่าเป็นวาระสุดท้ายแล้วก็ปล่อยให้ ตายอย่างสงบเพื่อที่อย่างน้อยผู้ป่วยจะได้ไม่ต้องเจ็บปวดกับการใช้สารพัด เครื่องช่วยชีวิต” ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมสิทธิ ระบุว่า “อย่างที่บอกว่าเนื่องจากปัจจุบันเทคโนโลยีทางการแพทย์มีความก้าวหน้า ไปมาก และแพทย์หลายๆ คนยังมีความกังวลว่ากฎหมายดังกล่าวสามารถใช้ได้จริงๆ หรือไม่ จึงมีการฟ้องร้องกฎกระทรวง ว่าเนื้อหาหรือคู่มือในการปฏิบัติตามมาตรา 12 ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื้อหาสาระที่ไม่ถูกต้อง ขาดการมีส่วนร่วมมของภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น จึงได้มีการต่อสู้ด้วยหลักการ เหตุผลกันนานกว่า 5 ปี ท้ายที่สุดศาลปกครองสูงสุดตัดสินเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ.2558 ว่ากฎกระทรวงที่ออกตามความในมาตรา 12 นั้นชอบด้วยกฎหมาย สามารถใช้ได้จริง” การใช้สิทธิมาตรา 12 ไม่ใช่การฆ่าตัวตาย  เรื่องการใช้สิทธิการตายนั้น ที่จริงแล้วมีมานานก่อนที่จะมีมาตรา 12 ออกมา โดยทุกคนสามารถแจ้งผู้ที่เกี่ยวข้องได้ในกรณีที่มีความประสงค์ตายอย่างธรรมชาติไม่ต้องมาสวน มาสอดเครื่องไม้เครื่องมือที่รังแต่จะทำให้เกิดความเจ็บปวด ซึ่งถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่สมัยก่อนเป็นเรื่องง่ายมาก ผู้ป่วยสามารถแจ้งญาติ แจ้งบุคคลากรทางการแพทย์เพื่อขอกลับไปเสียชีวิตที่บ้านท่ามกลางลูกหลานได้ และที่จริงแล้วกฎหมายดังกล่าวไม่ได้ให้สิทธิในการเร่งการตาย เพราะเมื่อญาติๆ และแพทย์ตกลงทำตามความประสงค์ของผู้ป่วยแล้ว แพทย์ก็ยังให้การรักษาแบบประคับประคองเพื่อไม่ให้ผู้ป่วยต้องเจ็บปวดจากภาวะการดำเนินโรค เช่น ให้ยาแก้ปวด เป็นต้น ที่สำคัญยืนยันว่า การใช้สิทธิตามมาตรา 12 ไม่ใช่การฆ่าตัวตาย ! อาการของวาระสุดท้ายนั้นจะสามารถมองเห็นและพิสูจน์ได้ มีข้อบ่งชี้ปัจจุบันมีคนดังหลายๆ คนได้เขียนหนังสือแสดงความจำนงขอใช้สิทธิการตายเอาไว้เช่นเดียวกัน อาทิ นพ.อำพล จินดาวัฒนะ อดีตเลขาธิการสำงานสุขภาพแห่งชาติ คุณหญิงจำนงศรี หาญเจนลักษณ์ นักเขียนชื่อดัง เป็นต้น ท้ายที่สุด การใช้สิทธิขอตายตามมาตรา 12 เป็นเครื่องมือที่ทำให้เกิดความเข้าใจกันได้ระหว่างแพทย์และญาติเพื่อการวางแผนดูแลชีวิตผู้ป่วยล่วงหน้า แพทย์รู้ว่าไม่ไหว ญาติเข้าใจยื้อไปก็เป็นการทรมานผู้ป่วย จะได้ใช้วาระสุดท้ายนี้ในการอยู่ด้วยกันอย่างคุ้มค่าที่สุด คนตายได้จากไปโดยไม่ต้องทรมานคนที่สามารถทำหนังสือแสดงเจตนารมณ์ขอใช้สิทธิการตายนั้นต้องมีสติสัมปชัญญะ อายุครบ 18 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป แต่ถ้าเป็นเด็กต้องให้ผู้ใหญ่เป็นคนตัดสินใจ โดยสามารถทำได้ 2 ลักษณะ คือ 1. เขียนเป็นลักษณ์อักษร และ 2. การใช้สิทธิด้วยวาจา แต่ในกรณีแสดงความจำนงด้วยวาจานั้นอาจจะยากไปหน่อย เพราะไม่มีหลักฐานยืนยัน สำหรับ การเขียนเป็นลายลักษณ์อักษรนั้นตามกฎหมายบอกว่าต้องมีความชัดเจนเพียงพอที่ จะดำเนินการตามความประสงค์ของผู้ทำหนังสือแสดงเจตนาได้ โดยมีข้อมูลเป็นแนวทางในการทำหนังสือ ดังนี้ 1. รายการที่แสดงข้อมูลของผู้ทำหนังสือแสดงเจตนาฯ โดยระบุชื่อ นามสกุล อายุ หมายเลขบัตรประจำตัวประชาชนและที่อยู่ หรือหมายเลขโทรศัพท์ที่ติดต่อได้  2. วัน เดือน ปี ที่ทำหนังสือแสดงเจตนา 3. ชื่อ นามสกุล หมายเลขบัตรประจำตัวประชาชนของพยาน และความเกี่ยวข้องกับผู้ทำหนังสือแสดงเจตนา  4. ระบุประเภทของบริการสาธารณสุขที่ไม่ต้องการจะรับบริการ  5. ในกรณีที่ผู้ทำหนังสือแสดงเจตนาให้ผู้อื่นเขียน หรือพิมพ์หนังสือแสดงเจตนาฯ ให้ระบุชื่อ นามสกุล และหมายเลขบัตรประจำตัวประชาชนของผู้เขียน หรือผู้พิมพ์เอาไว้ด้วย ที่สำคัญในหนังสือแสดงเจตนาฯ ต้องลงลายมือชื่อ หรือพิมพ์นิ้วมือของผู้นำทำหนังสือแสดงเจตนา พยาน และผู้เขียน หรือผู้พิมพ์เอาไว้ด้วย ทั้งนี้ผู้ทำหนังสือแสดงเจตนาอาจระบุชื่อบุคคลเพื่อทำหน้าที่อธิบายความประสงค์ที่ แท้จริงของผู้ทำหนังสือแสดงเจตนาที่ระบุไว้ไม่ชัดเจน ซึ่งบุคคลที่ถูกระบุชื่อดังกล่าวจะต้องลงลายมือชื่อ หรือลายพิมพ์นิ้วมือ และหมายเลขบัตรประจำตัวประชาชนไว้ในหนังสือแสดงเจตนาด้วย นอกจากนี้ ในหนังสือแสดงเจตนาฯ สามารถระบุ รายละเอียดอื่นๆ ได้ เช่น ต้องการเสียชีวิต ณ สถานที่ใด ความประสงค์ที่จะรับการเยียวยาทางจิตใจ และการปฏิบัติตามประเพณี และความเชื่อทางศาสนา และให้บริการสาธารณสุขให้ความร่วมมือตามสมควร เมื่อผู้ทำหนังสือแสดงเจตนาเข้ารับการรักษาตัวรักษาตัว ในสถานบริการสาธารณสุขก็ให้นำหนังสือแสดงเจตนายื่นต่อผู้ประกอบวิชาชีพด้านสาธารณสุขของสถานบริการสาธารณสุขโดยไม่ชักช้า อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ทำหนังสือแสดงเจตนาฯ อาจยกเลิก หรือเปลี่ยนแปลงหนังสือแสดงเจตนาฉบับใหม่ได้ตลอด ซึ่งในกรณีที่มีการแสดงหนังสือเจตนาหลายฉบับให้ยึดถือเอาฉบับที่ทำครั้งหลังสุดเป็นฉบับที่มีผลบังคับใช้     นานาทัศนะเรื่องการใช้สิทธิการตาย จากวงเสวนาเรื่อง ปลายทางชีวิตจะลิขิตการรักษาอย่างไร เมื่อวันที่  10 กุมภาพันธ์ 2559 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  รศ. ดร. นนทวัชร์ นวตระกูลพิสุทธิ์ ศูนย์กฎหมายสุขภาพและจริยศาสตร์ กล่าวถึงสิทธิในการทำหนังสือแสดงเจตนารมณ์ไม่ขอรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไป เพื่อการยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิต ตามมาตรา 12 พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 ว่า หนังสือแสดงเจตนาฯ มีรากฐานมากจากกฎหมาย 3 ฉบับ คือ 1. มาตรา 12 ในพ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ วรรค 3 กำหนดว่าบุคคลมีสิทธิในการแสดงความประสงค์ไม่ขอรับบริการสาธารณสุข และวรรค 1 กำหนดให้ต้องแสดงเป็นลายลักษณ์อักษร โดยมีเงื่อนไขว่าเป็นไปเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิต  2.กฎกระทรวงสาธารณสุข พ.ศ. 2553 กำหนด ลักษณะ วิธีการ และรายละเอียดการแสดงเจตนาไม่ขอรับบริการสาธารณสุข โดยมีนิยามในตอนท้ายว่าผู้ป่วยยังต้องได้รับการดูแลแบบประคับประคอง และ 3. ประกาศ สำนักงานสุขภาพแห่งชาติ เรื่องแนวทางปฏิบัติตามหนังสือแสดงเจตนารมณ์ฯ เพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์ปฏิบัติตาม เช่น เมื่อแพทย์หรือพยาบาลได้รับหนังสือแสดงเจตนาฯ ของผู้ป่วยแล้วควรเก็บไว้ในเวชระเบียนเพื่อให้มีการส่งต่อความเข้าใจกับ แพทย์ที่มีการรับช่วงการรักษาต่อได้ทราบความประสงค์ของผู้ป่วย เป็นต้น ทั้งนี้เมื่อปฏิบัติตามหนังสือดังกล่าวแล้วไม่ถือว่าเป็นความผิด      ก่อนหน้านี้มีแพทย์ฟ้องร้องต่อศาลปกครองให้เพิกถอนกฎกระทรวงเพราะไม่มีการ รับฟังความเห็นจากผู้มีส่วนได้เสียอย่างทั่วถึง และสาระในกฎกระทรวงไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ซึ่งพอสรุปได้ 2 ประเด็น คือ 1. หลักการให้แพทย์ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมปล่อยให้ผู้ป่วยต้องเสียชีวิตโดยไม่ทำการรักษาพยาบาลเลยถือเป็นการุณยฆาต 2. เป็นสร้างหลักเกณฑ์ขึ้นใหม่ให้ผู้ป่วยมีอำนาจกำหนดหลักเกณฑ์เหนือผู้ประกอบ วิชาชีพด้านสาธารณสุข ซึ่งศาลปกครองพิจารณาแล้วพบว่าก่อนออกกฎกระทรวงดังกล่าว สช.ได้จัดให้มีการรับฟังความเห็นมาแล้วในหลายเวที และเสนอกฎหมายตามขั้นตอน และเมื่อพิจารณาในสาระของกฎหมายพบมีกำหนดให้แพทย์ดูแลแบบประคับประคองอยู่ จึงไม่ถือเป็นการปล่อยให้ผู้ป่วยเสียชีวิต และไม่ใช่การุณยฆาต ส่วนการสร้างหลักเกณฑ์ให้ผู้ป่วยมีสิทธิเหนือแพทย์นั้น ตามรัฐธรรมนูญกำหนดให้คนทุกคนมีสิทธิในสุขภาพร่างกายของตัวเอง จึงมีสิทธิปฏิเสธการรับการรักษา ดังนั้นจึงมีคำพิพากษาให้เดินหน้ากฎหมายดังกล่าวได้ และเป็นหน้าที่ของภาคประชาชนที่จะกระตุ้นให้สถานพยาบาลปฏิบัติตามหนังสือ แสดงเจตนา      “อย่างไรก็ตาม ไม่ได้บังคับให้ทุกคนต้องทำ แต่เป็นทางเลือกให้เลือกทำเพื่อความสบายใจของผู้ป่วย ญาติ และแพทย์ เมื่อทำหนังสือ ก็แสดงว่ามีความประสงค์ เมื่อมีการใช้สิทธิย่อมเกิดหน้าที่ต่อผู้ที่เกี่ยวข้องเช่นแพทย์ เมื่อผู้ประกอบวิชาชีพทำตามหนังสือเจตนาแล้วไม่ต้องรับผิด เป็นการสร้างความสบายใจให้กับผู้ปฏิบัติตาม” อ.นนทวัชร์ กล่าว     ศ.นพ.วิฑูรย์ อึ้งประพันธ์ กรรมการกฤษฎีกาและที่ปรึกษากฎหมายอาวุโส ศูนย์กฎหมายสุขภาพและจริยศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า รัฐธรรมนูญกำหนดให้คนเรามีสิทธิในชีวิตและร่างกายและร่างกายของตัวเอง ซึ่งใครจะทำอะไรโดยที่เจ้าของไม่ยินยอมไม่ได้ ดังนั้นผู้ป่วยจึงสิทธิปฏิเสธการรักษาที่ทำให้เกิดความทรมานได้ เช่น ไม่ขอใส่ท่อช่วยหายใจ ไม่เจาะคอ หรือขอใช้สิทธิในการอยู่กับบุคคลอันเป็นที่รักที่บ้านของตัวเองก็ได้ เป็นต้น แต่ที่ต้องมีการกำหนดไว้ในมาตรา 12 ของ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติก็เพื่อเป็นหลักของกฎหมายทางด้านการแพทย์ เนื่องจากที่ผ่านมาการกระทำสิ่งเหล่านี้ต้องไปอิงกับกฎหมายอาญา กฎหมายแพ่ง อีกทั้งยังมีการตีความที่แตกต่างกัน ยืนยันว่าหนังสือดังกล่าวไม่ใช่พินัยกรรมแต่อย่างใดหลายคนระบุว่าหนังสือดัง กล่าวเป็นพินัยกรรม หากพูดเช่นนั้นจะทำให้มีปัญหาได้ เพราะพินัยกรรมจะมีผลต่อเมื่อผู้ทำพินัยกรรมเสียชีวิตไปแล้ว      ขณะนี้ในส่วนของโรงเรียนแพทย์เองตอนนี้ก็เริ่มมีการเรียนการสอนการดูแลผู้ ป่วยแบบประคับประคองผู้ป่วยระยะสุดท้ายเพื่อลดการทรมานแล้ว แต่ในส่วนของประชาชนทั่วไปยังไม่ค่อยรู้จักกฎหมายดังกล่าวมากนัก หรือหากทราบแล้วก็ยังไม่ค่อยยอมรับกัน ครอบครัวไม่ยอมรับ โดยเฉพาะคนที่มีฐานะดีมักยื้อชีวิต สุดท้ายแล้วเสียค่าใช้จ่ายเยอะ โดยไม่สามารถยื้อชีวิตได้ ดังนั้นจะต้องมีการรณรงค์ให้ประชาชนทราบและเข้าใจเจตนารมณ์ของของกฎหมาย หากเป็นไปได้คนทุกคนก็ควรที่จะทำหนังสือแสดงเจตนาเอาไว้ที่สำคัญคือต้องหารือกับคนในครอบครัวเพื่อให้เกิดการยอมรับร่วมกัน ส่วนตัวผมก็เขียนเอาไว้เช่นกันในหนังสือ “ก่อนวันถัดไป” และกำลังจะทำขึ้นมาใหม่ โดยก่อนทำจะต้องมีการปรึกษากับครอบครัว ลูก และภรรยา เพื่อให้เป็นที่ยอมรับร่วมกันก่อนด้วย      รศ. พญ.นงลักษณ์ คณิตทรัพย์ คณะแพทยศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ได้กล่าวถึงการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายของชีวิตให้จากไปโดยไม่ทรมาน ว่า เมื่อผู้ป่วยเข้าสู่ช่วงสุดท้ายของชีวิตจะมีลักษณะอาการที่แสดงออกมา เช่น เบื่ออาหาร รับประทานไม่ได้ หรือรับประทานได้น้อย ทำให้ญาติหรือผู้ดูแลค่อนข้างเป็นกังวลว่าผู้ป่วยจะได้รับความทรมาน หรือกังวลว่าร่างกายได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว เมื่อผู้ป่วยมีภาวะดังกล่าวร่างกายจะหลั่งสารคีโตนออกมา ซึ่งสารตัวนี้จะมีฤทธิ์คล้ายกับยาแก้ปวดทำให้ผู้ป่วยรู้สึกสบาย ผ่อนคลาย เช่นเดียวกับผู้ป่วยไตวายระยะสุดท้ายจะมีภาวะของเสียในร่างกายคั่งซึ่งดูเหมือนจะเป็นสิ่งไม่ดี แต่การที่ของเสียในร่างกายคั่งจะทำให้ผู้ป่วยไม่รู้สึกเจ็บปวด หรือกรณีที่ผู้ป่วยไม่ยอมดื่มน้ำทำให้ร่างกายขาดน้ำนั้นในแง่ดีแล้วร่างกาย จะหลั่งสารเอ็นโดฟินออกทำให้รู้สึกสบาย แต่ตรงนี้ญาติสามารถใช้ผ้าชุบน้ำ หรือให้จิบน้ำนิดหน่อยแต่ไม่ต้องคะยั้นคะยอ และหากมีเสมหะ ส่วนใหญ่จะให้ยาละลาย ถ้าจำเป็นต้องดูดก็ใช้เพียงลูกยางแดงเท่านั้น ถ้าดูดเสมหะมากออาจจะเลือดออกและทรมานได้     ดังนั้น ถ้าผู้ป่วยทำหนังสือแสดงเจตนารมณ์ไม่ขอรับการรักษาที่เป็นไปเพื่อยืดการตาย ในวาระสุดท้ายของชีวิตเอาไว้ ญาติก็ไม่ต้องกังวล เพราะแพทย์ยังให้การดูแลแบบประคับประคองอยู่แล้ว ส่วนอาการอ่อนเพลียที่พบนั้น ถือเป็นอาการปกติของผู้ป่วยที่อยู่ในวาระสุด ท้าย ไม่จำเป็นต้องทำอะไรเป็นพิเศษ แค่ให้พักผ่อนอย่างเหมาะสม และช่วยดูแลเรื่องสภาพจิตใจ พูดคุย หรือเปิดเพลงที่ผู้ป่วยชอบ ไม่ต้องปลุกมาทานอาหารหรือดื่มน้ำ ร่างกายจะเสื่อมสภาพลง ประสาทสัมผัสจะลดลง เมื่อถึงจุดๆ หนึ่งการไหลเวียนของเลือดต่างๆ จะลดลง อาจจะทำให้ผิวหนังมีจำๆ บ้าง บางคนมีอาการเพ้อ ส่งเสียงอืออา ซึ่งเป็นเพราะการเปลี่ยนแปลงทางสมอง แต่ไม่ใช่ความเจ็บปวด หรือมองเห็นบาปบุญคุณโทษ หรือคนที่จากไปแล้ว ตรงนี้ไม่ต้องกังวล แค่ให้ผู้ป่วยได้พักผ่อนเยอะๆ และค่อยๆ จากไปอย่างสงบ     “การตายอย่างสงบแบ่งเป็น 3 ส่วน 1. ด้านร่างกาย ต้องไม่ได้รับการเจ็บปวด ทรมาน เช่น ถ้าเป็นมะเร็งระยะสุดท้ายซึ่งผู้ป่วยย่อมมีอาการเจ็บปวด สามารถให้มอร์ฟีนได้ทุกช่วงที่มีอาการ โดยไม่ต้องกังวลว่าจะไปกดการหายใจ 2. ด้านจิตใจ ต้องดูแลให้ผู้ป่วยรู้สึกสงบ มีความสุข เช่น ให้พยาบาลพูดคุย โน้มน้าวถึงความสุขในอดีต ปล่อยวางเรื่องที่ยังค้างคา และ 3. ด้าน สิ่งแวดล้อมที่คนไข้ต้องการคือสงบ มีคนที่รักและไว้ใจอยู่ใกล้ๆ หรือถ้าผู้ป่วยอยากกลับไปเสียชีวิตที่บ้านก็ให้กลับไปได้ แล้วจัดทีมแพทย์ไปเยี่ยมบ้านแทน” พญ.นงลักษณ์ กล่าว และว่า สำหรับกรณีที่ผู้ป่วยบางรายที่จะลุกขึ้นมาได้เหมือนอาการจะดีขึ้นแต่ก็เสีย ชีวิตในที่สุดนั้น เชื่อว่าเกิดจากพลังครั้งสุดท้ายของผู้ป่วยที่ต้องการจะสั่งเสียเป็นครั้งสุดท้าย       พญ.ฉันทนา หมอกเจริญพงศ์ สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กล่าวว่า กฎหมายดังกล่าวออกมาแล้วทำให้ผู้ปฏิบัติงานมีความสบายใจที่จะปฏิบัติตามความต้องการของผู้ป่วย และเมื่อทราบล่วงหน้าจะทำให้เกิดการวางแผนร่วมกันระหว่างผู้ป่วย ญาติ และแพทย์ในการดูแลวาระสุดท้ายของผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้ผู้ป่วยจากไปอย่างสงบที่สุด รวมถึงการดูแลญาติไม่ให้เกิดความรู้สึกผิดหรือผลกระทบภายหลังจากดำเนินการ ตามหนังสือเจตนารมณ์ฯ ทั้งนี้ที่ผ่านเคยมีผู้ป่วยมะเร็งขอกลับไปเสียชีวิตที่บ้านตามประเพณีไทยทรงดำ แพทย์จะมีหน้าที่ออกหนังสือรับรองว่าเป็นการเสียชีวิตที่เป็นไปตามธรรมชาติ โดยไม่ต้องมีการผ่าศพพิสูจน์สาเหตุอีก อย่างไรก็ตามจากการรวบรวมข้อมูลของสถาบันมะเร็งแห่งชาติพบว่ามีผู้ป่วยวาระ สุดท้ายของชีวิตทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ขอรับบริการสาธารณสุขฯ ไม่ถึง 1% ในขณะที่ข้อมูลในประเทศสหรัฐอเมริกามีการใช้สิทธิประมาณ 30 % ก็ยังถือว่าน้อยอยู่     ด้าน นางพรวรินทร์ นุตาวงศ์ พยาบาลวิชาชีพ จากวชิระพยาบาล กล่าวว่า การดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายความยากอยู่ที่การสื่อสาร ไม่ว่าจะเป็นการสื่อสารับญาติ ผู้ป่วย หรือกับแพทย์ โดยมีพยาบาลเป็นตัวประสาน โดยเฉพาะญาติที่ค่อนข้างมีการศึกษานั้นจะสื่อสารได้ยาก แม้จะมีหนังสือแสดงเจตนาฯ ดังนั้นพยาบาลจึงต้องมีเทคนิคในการสื่อสารที่ดี ส่วนการช่วยผู้ป่วยเพื่อให้มีความสุขในวาระสุดท้ายของชีวิต นอกจากดูแลประคับประคอง ให้ยาระงับปวดแล้ว การสื่อสาร การพูดถึงสิ่งที่ผู้ป่วยภูมิใจ มีความสุข การปฏิบัติตามคำขอของผู้ป่วย เช่นพาคนที่ผู้ป่วยอยากเจอให้มาเจอกัน รวมถึงการกอด ซึ่งจะต้องกอดนิ่งๆ แน่นๆ นานๆ ถ่ายทอดความรู้สึกจากใจถึงใจ แต่ไม่ควรตบบ่าเพราะเหมือนกับเป็นการแสดงออกว่าให้ผู้ป่วยทำใจ     นางวรรณา จารุสมบูรณ์ เครือข่ายพุทธิกาเพื่อพระพุทธศาสนาและสังคม กล่าวว่า การดูแลจิตในวันสุดท้ายเพื่อให้ไปสู่ภพภูมิที่ดี หากผู้ป่วยในการฝึกปฏิบัติที่ดีก็อาจจะทราบดีว่าต้องทำอย่างไร แต่ถ้าผู้ป่วยไม่เคยฝึกปฏิบัติ ก็เป็นหน้าที่ของญาติที่ต้องช่วยเหลือ โดยเริ่มต้นจากการตั้งสติให้ดี เพราะผู้ป่วยบางรายมีอาการเจ็บปวดกระสับกระส่าย อาการเหล่านี้จะกระตุ้นให้ญาติตกใจ และเร่งให้การรักษาโดยลืมถึงเจตนารมณ์ของผู้ป่วยที่ไม่ขอรับการรักษาในวาระสุดท้ายของชีวิต บางคนเมื่อให้การรักษา ใส่ท่อช่วยหายใจแล้วกลับนึกถึงความต้องการของผู้ป่วยขึ้นมาก็เป็นเรื่องยากแล้ว ในการถอดเครื่องช่วยหายใจออกเช่นกัน  ดังนั้นในชั่วโมงสุดท้ายขอให้ตั้งหลักนิ่งๆ เมื่อรู้ว่าไม่สามารถรักษาโรคให้กลับมาเป็นปกติได้แล้ว  จะทำอย่างไรให้ไปสงบมากกว่า      สำหรับขั้นตอนดูแลชั่วโมงสุดท้ายของผู้ป่วยมีวิธีดังนี้คือ 1. ทำ ให้ทุกข์ทางกายผ่อนคลายลง ถ้าผู้ป่วยเจ็บปวดก็ให้มอร์ฟีนโดยไม่ต้องกังวลว่าจะเสพติด จากนั้นให้สังเกตอาการปวดลดลง และเริ่มนิ่งให้จัดท่านอนให้สบาย ดูอุณหภูมิให้เหมาะสมเพราะบางคนจะรู้สึกหนาว บางคนรู้สึกร้อนเหงื่อออกแสดงว่าธาตุไฟแตก ต้องใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดตัวให้ และดูภาวะอื่นๆ ด้วย ทั้งนี้ธรรมชาติเตรียมขั้นตอนการตายของคนเราให้มีความสงบที่สุขอยู่แล้ว เช่น เมื่อกินไม่ได้ร่างกายก็จะหลั่งสารคีโตนออกมา แต่ที่ทรมานเพราะมีกระบวนการแทรกแซงจากกระบวนการทางการแพทย์ทั้งหลาย       2. การดูแลด้านจิตใจ ดูว่าผู้ป่วยพร้อมหรือไม่ หากไม่พร้อมจะช่วยอย่างไร เช่น ห่วงใคร ห่วงอะไร และช่วยดูแลสิ่งเหล่านี้ อย่าไปบอกว่าไม่ต้องเป็นห่วงเพราะเป็นเพียงการปลอบใจ แต่ต้องช่วยบรรเทาเขา บางคนอยากทำบางอย่างก่อนตายก็ช่วยให้บรรลุความตั้งใจ เช่น อยากสั่งเสีย อยากพบใครสักคน อยากถวายสังฆทาน เป็นต้น นอกจากให้ทำสิ่งที่ปรารถนาแล้วต้องดูว่ามีเรื่องค้างคาใจหรือไม่ เช่น เคยทำเรื่องไม่ดี เคยทะเลาะกับใคร ถ้าคนนั้นยังอยู่ก็พามาพบเพื่อจะได้ขอโทษ อโหสิกรรมกันได้ ที่สำคัญผู้ป่วยต้องให้อภัยตัวเองด้วย หรือให้ผู้ป่วยเขียนจดหมายส่งถึงคนที่ยังรู้สึกติดค้างใจ เป็นต้น      สุดท้ายคือเรื่องของจิตก่อนเสียชีวิตควรมีที่พึ่งที่ระลึกถึง หากผู้ป่วยเป็นคนอยู่ในศีล ในธรรม ก็ให้นึกถึงเรื่องบุญกุศล แต่ถ้าเป็นคนธรรมดาที่ไม่มีโอกาสปฏิบัติธรรม ก็ขอให้ระลึกถึงความดีที่เคยทำมา ไม่ว่าจะเป็น การประกอบอาชีพสุจริต การทำความดี เป็นพ่อแม่ที่ดี ไม่เคยให้ร้ายใคร ช่วยเหลือเกื้อกูล หรือระลึกถึงสิ่งที่ภูมิใจ เช่น ส่งลูกเรียนจบปริญญาทุกคน เป็นต้น หรือหากผู้ดูแลไม่ทราบว่าผู้ป่วยได้ทำความดีมาแค่ไหน ก็สามารถพูดกลางๆ ได้ เช่น ให้ผู้ป่วยนึกถึงสิ่งดีๆ ที่เคยทำมา อาจจะเป็นเรื่องเล็กๆ ไปจนถึงเรื่องใหญ่ๆ อย่างไรก็ตาม ช่วงที่ผู้ป่วยใกล้เสียชีวิตการรับรู้อ่อนลง สมองช้าลง ดังนั้นขอให้พูดคุยกับผู้ป่วยใกล้ๆ หู เช่น กล่าวอโหสิกรรม บอกรักให้พูดใกล้ๆ หู และพูดสั้นๆ ช้าๆ ชัดๆ อย่าพูดเร็ว เพราะจิตตามไม่ทัน     “หลายคนที่ทำแล้วได้ผลคือการนำจินตนาการ นำให้นึกถึงวันที่ดีๆ สถานที่ที่เคยไปแล้วเขาประทับใจ เป็นที่ยึดเหนี่ยว เป็นจิตวิญญาณของเขา โดยสรุปคือการดูแลให้สุขสบายในช่วงสุดท้าย แต่เรื่องไหนที่จัดการไม่ได้ก็ต้องปล่อยไป ถ้าใครที่ร้องไห้ฟูมฟายควรให้ออกไปข้างนอก เพราะอาจจะทำให้คนไข้ตายโดยไม่สงบ ดังนั้นหมู่ญาติต้องคุยกัน ว่าร่างกายคนไข้ส่งสัญญาณแล้ว จะต้องรวมพลังส่งให้ไปสบายที่สุด บอกรัก กอด หอมแก้ม ห้ามทะเลาะกัน อย่าพูดเรื่องไม่ดี อย่าทำให้บรรยากาศเศร้าหมอง ถึงเวลาแล้วมันจะสงบและงดงามมาก ถ้าเราปล่อยให้กระบวนการตายนั้นเป็นไปอย่างธรรมชาติ แพทย์ พยาบาล เภสัชกร นักสังคมฯ ที่เข้าใจเรื่องวาระสุดท้าย ควรเตรียมญาติ และมีทางเลือกให้เขาจะได้ไม่เกิดรบกวนการยื้อชีวิต ต้องยอมรับว่าเรื่องนี้ยังเป็นเรื่องใหม่ และจำเป็นที่ภาคประชาชนมีความรู้เรื่องนี้ จะฝากความหวังไว้ที่โรงพยาบาลอย่างเดียวไม่ได้”

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 169 15 มีนาคม: วันสิทธิผู้บริโภคสากล…สังคมไทยเอาไงดี?

วันที่ 15 มีนาคม ของทุกปี กลุ่มเครือข่ายผู้บริโภคทั่วโลกที่ใช้ชื่อว่า “สหพันธ์ผู้บริโภคสากล (Consumer International, CI)” ได้จัดให้มี “วันสิทธิผู้บริโภคสากล (World Consumer Rights Day, WCRD)” ได้จัดเป็นครั้งแรกเมื่อปี 1985 ซึ่งเป็นปีที่องค์การสหประชาชาติได้ออกประกาศคำแนะนำสำหรับการคุ้มครองผู้บริโภค (UNGCP) หลังจากได้เกิดการเคลื่อนไหวของกลุ่ม CI มาร่วม 10 ปี ว่าไปแล้วทุกความก้าวหน้าของสังคมมนุษยชาติต่างได้มาด้วยความพยายามที่ยากลำบากของคนกลุ่มหนึ่งซึ่งมีจำนวนน้อยที่ค่อยๆ ก่อตัวขึ้นมาทั้งสิ้น  สำหรับการที่เลือกเอาวันที่ 15 มีนาคม ก็เพราะว่าเป็นวันที่ประธานาธิบดี จอห์น เอฟ. เคนเนดี ได้กล่าวสุนทรพจน์เรื่อง “สิทธิผู้บริโภค” ในสภาคองเกรสเมื่อปี 1962 หรือ 53 ปีมาแล้ว ความใน 2-3 ประโยคแรกในสุนทรพจน์ดังกล่าวยังคงเป็นความจริงมาถึงวันนี้ก็คือ “ผู้บริโภคโดยนิยามแล้วหมายถึงพวกเราทุกคน ผู้บริโภคเป็นกลุ่มเศรษฐกิจที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในระบบเศรษฐกิจที่ทั้งส่งผลและได้รับผลกระทบจากเกือบทุกการตัดสินใจทั้งของภาครัฐและเอกชน  แม้ว่า 2 ใน 3 ของค่าใช้จ่ายในระบบเศรษฐกิจมาจากผู้บริโภค แต่ผู้บริโภคก็เป็นเพียงกลุ่มสำคัญกลุ่มเดียวที่ไม่มีการจัดตั้งอย่างมีประสิทธิผล ดังนั้น ความเห็นของพวกเขาจึงมักไม่ได้มีการรับฟัง” กล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือ ในขณะที่ภาคอุตสาหกรรม ภาคธนาคารและอื่นๆ ต่างก็มีองค์กรของตนเองไว้ต่อรองกับรัฐบาล แต่ผู้บริโภคกลับไม่มี ปัจจุบัน สหพันธ์ผู้บริโภคสากล ซึ่งมีสำนักงานอยู่ในประเทศอังกฤษ มีสมาชิก 250 องค์กร จาก 120 ประเทศทั่วโลก มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) และสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค คือองค์กรสมาชิกจากประเทศไทย CI คือกลุ่มสหพันธ์ผู้บริโภคในระดับโลกที่ทำงานรณรงค์ร่วมกับสมาชิกทั่วโลกเพื่อเป็นเพียงปากเสียงเดียวที่เป็นอิสระและเป็นสะท้อนถึงถึงอำนาจเพื่อผู้บริโภคในระดับโลก “เรากำลังสร้างการเคลื่อนไหวของผู้บริโภคสากลให้มีพลัง  เพื่อช่วยปกป้องและสร้างความเข้มแข็งให้กับผู้บริโภคทั่วทุกหนทุกแห่ง” วันสิทธิเพื่อผู้บริโภคสากล วันสิทธิเพื่อผู้บริโภคสากล 15 มีนาคม 2558 เมื่อปีที่แล้ว ทาง CI ได้ยกประเด็นความไม่เป็นธรรมในการให้บริการโทรศัพท์มือถือของผู้บริโภคทั่วโลก ในขณะที่การให้บริการในประเทศไทยยังคงเป็นปัญหาดังที่กล่าวมาแล้ว มาปีนี้ทาง CI ได้ยกประเด็น “อาหารปลอดภัย” ขึ้นมารณรงค์ทั่วโลก รวมทั้งในเวทีที่จะจัดในประเทศไทยในวันที่ 15-16 มีนาคม ที่โรงแรมเซนจูรี่ พาร์ค ถนนราชปรารภ เขตราชเทวี กทม. ผมอยากจะนำเสนอที่มาของปัญหาว่า ทำไม CI จึงให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ แต่ผมมาพบคำถามที่ท้าทายในปัญหารวมๆของผู้บริโภคที่ประธานาธิบดีเคนเนดี ได้ตั้งไว้เมื่อ 53 ปีก่อน แต่ปัญหาก็ยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างมีนัยสำคัญ ทาง CI ได้นำเสนอสิ่งที่เรียกว่า “ยุทธศาสตร์ใหม่ของสหพันธ์ผู้บริโภคสากล (CI’s New Strategy)” ทาง CI ได้ตั้งคำถามชวนให้เราคิดว่า “ลองจินตนาการดูว่า ถ้าโลกนี้คือสถานที่ ซึ่งปัจเจกชนแต่ละคนมีอำนาจหรือมีพลังเท่ากับรัฐบาลและบรรษัท ในตลาดสินค้าผู้บริโภคมีอำนาจที่จะท้าทายต่อสินค้าที่ไม่ยุติธรรม ไม่ปลอดภัย และการกระทำใดๆ ที่ไม่มีจริยธรรมของบริษัท แล้วปัจเจกได้รับความสำเร็จ เราในฐานะผู้บริโภคแต่ละรายควรจะทำอย่างไร” เพื่อให้ได้รับสิ่งดังกล่าวตามที่เราจินตนาการไว้ เราต้องคิดการใหญ่ (think big) และเราจำเป็นต้องกระทำร่วมกันทั่วโลก (act global) เพราะสินค้าทุกวันนี้ไม่มีพรมแดน ไม่ได้ขึ้นอยู่กับอุปสงค์และอุปทานภายในประเทศ ดังนั้นในโลกที่ (1) มีความเป็นโลกาภิวัตน์มากขึ้นและ (2) มีเทคโนโลยีการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้น เราจะต้องเพิ่มพลังของปัจเจกและการจูงใจให้ CI และสมาชิกทั่วโลกให้บรรลุความสำเร็จมากขึ้น ผมได้พยายามฟังวิดิโอประชาสัมพันธ์ของ CI อยู่หลายรอบ ผมจับความได้ว่าจะใช้ 2 วิธีการใหญ่คือ (1) สร้างความร่วมมือกันในระดับโลก และ (2) ต้องเข้าใจถึง “หัวใจของพลวัฒน์ใหม่” และใช้ประโยชน์ให้เต็มศักยภาพ ถ้าพูดกันให้ดูง่ายขึ้นก็คือการสื่อสารด้วยโทรศัพท์มือถือนั่นเองซึ่งเราสามารถเชื่อมกันจากปัจเจกเป็นกลุ่ม จากกลุ่มถึงกลุ่ม CI ยังย้ำอีกว่า “เราไม่สามารถทำเรื่องนี้ได้ตามลำพัง ความเข็งแกร่งที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคือความลึกและความกว้างของสมาชิกของเรา พลังของพวกเขา ความเข้าใจที่ลึกซึ้ง ประสบการณ์และศักยภาพที่เหนือกว่าในการระดมพลผู้บริโภคของพวกเขา คือกระดูกสันหลังของสิ่งที่เราสามารถส่งต่อถึงกัน” เราจะสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ เพื่อเพิ่มความเข้มแข็งให้กับสมาชิกของเรา รวมถึงผู้บริโภคที่พวกเขาให้บริการอยู่ โดยการใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่จากโอกาสที่ก้าวหน้าของยุคข้อมูลข่าวสาร เราจะสร้างเวทีของการทำงานร่วมกันบนระบบออนไลน์เพื่อการเคลื่อนไหวของผู้บริโภคในระดับโลก เวทีที่ว่านี้ ได้แก่ การสนับสนุนให้มีการแลกเปลี่ยนความรู้ การปฏิบัติที่ดี การวิจัยและเอกสารประกอบการรณรงค์ วิสัยทัศน์เพื่ออนาคตของ CI ทั้งหลายทั้งปวง ก็คือการสนับสนุนพลังและภูมิปัญญาของการเคลื่อนไหวของผู้บริโภคทั่วโลก วิสัยทัศน์ของ CI คือการปลดปล่อยพลังของผู้บริโภคในระดับนานาชาติ และสร้างสำนึกในกลุ่มผู้บริโภคถึงความเร่งด่วนอันเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของทุกคน เราจึงต้องทำงานร่วมกันเพื่อให้สิทธิของผู้บริโภคเป็นพลังเพื่อการเปลี่ยนแปลงโลกที่ทรงพลังที่สุด ในความเห็นของผมแล้ว ยุทธศาสตร์ใหม่ของ CI นั้นดีมากและทันสมัย เท่าที่กลุ่มพลเมืองในยุคนี้จะพึงกระทำได้ ในยุคที่บรรษัทข้ามชาติมีความเข็มแข็งมาก แต่ผมเห็นว่าประเด็นสำคัญมากๆ คือการทำให้ผู้บริโภคเห็นพลังที่แท้จริงของตนเองในยุคที่เทคโนโลยีสารสนเทศมีความก้าวหน้ามากๆ ในเว็บไซต์ของ CI ได้แขวนวิดีโอคำบรรยายของ Gerd Leonhard หลังจากที่ผมได้ค้นคว้าเพิ่ม ผมชอบสไลด์ของเขาซึ่งผมนำมาเสนอในที่นี้   เขาบอกว่าเศรษฐกิจของโลกได้เคลื่อนจากบริษัทน้ำมันขนาดใหญ่ (Big Oil) มาสู่บริษัทด้านสารสนเทศขนาดใหญ่ (Big Data) แล้ว “ข้อมูลคือน้ำมันชนิดใหม่” ใช่ครับ ผมกำลังจะบอกว่าพลังของข้อมูลข่าวสารและการสื่อสารนั้นมีพลังมาก พลังที่ว่านี้คือพลังเพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม เปลี่ยนแปลงโลก เป็นพลังที่ส่งผลต่อการตัดสินใจของรัฐบาลและบริษัทผู้ผลิตสินค้าได้ นอกจากนี้ คุณ Gerd Leonhard ยังได้ให้คำแนะนำที่มีประโยชน์อีกหลายประการ เช่น การแบ่งปันทำให้ความรู้เติบโตเพิ่มขึ้น  ควรการกระจายทุกสิ่งทุกอย่าง และให้ใช้แนวคิดที่ได้จากเชื้อไวรัส ผมไม่แน่ใจว่า คุณ Leonhard หมายถึงอะไร แต่ในความเข้าใจของผมเองว่าหมายถึง 2 ประการ คือ (1) การปรับตัวเองเพื่อสร้างภูมิต้านทานซึ่งเป็นความหมายที่ตรงไปตรงมาในทางชีววิทยา แต่ในความหมายที่ (2) เป็นความหมายทางสังคม ที่เชื้อไวรัสจำนวนน้อยนิด แต่สามารถขยายตัวได้อย่างรวดเร็วและสามารถระบาดและส่งผลกระทบอย่างมหาศาลในวงกว้างอย่างรวดเร็ว การทำงานของกลุ่มผู้บริโภคจึงควรจะเอาอย่างการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส ซึ่งเงื่อนไขในยุคเทคโนโลยีก้าวหน้าได้เอื้อให้เราพร้อมทุกอย่างแล้ว คุณ Leonhard ได้ยกเอาคำพูดของคุณ Peter Drucker ที่ว่า “The greatest danger in times of turbulence is not the turbulence, itself, but to act with yesterday’s logic” ซึ่งหมายความว่า “อันตรายที่สำคัญที่สุด ในเวลาที่มีกระแสอันเชี่ยวกราก (turbulence) นั้น ไม่ใช่กระแสอันเชี่ยวกรากในตัวมันเอง  แต่มันคือการกระทำด้วยตรรกะของเมื่อวาน” ตรรกะของเมื่อวานอาจเป็นตรรกะที่ในทางคณิตศาสตร์เรียกว่า Linear Logic หรือตรรกะเชิงเส้น หรือตรงไปตรงมา ซึ่งต่างกันอย่างมากกับสภาพที่เป็น Turbulence ทั้งที่มาของทฤษฎีและวิธีการหาผลเฉลยก็แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง  

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 169 สมัชชาผู้บริโภคไทย ปี 2558 องค์การอิสระเพื่อผู้บริโภคจะได้ในรัฐบาลนี้หรือไม่ หลังรอมา 17 ปี

ในทุกวันที่ 15 มีนาคม ซึ่งเป็นวันสิทธิผู้บริโภคสากล มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคประชาชนจากทั่วประเทศ จะร่วมกันจัดงานสมัชชาผู้บริโภคไทย เพื่อติดตามการเคลื่อนไหวในประเด็นการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค ทั้งประเด็นที่องค์กรสิทธิผู้บริโภคสากลกำหนดเป็นเรื่องเด่นประจำปี และเรื่องที่ยังอยู่ในกระแสรณรงค์ของภาคประชาชนในประเทศต่างๆ ซึ่งในปี 2558 นี้ เครือข่ายผู้บริโภคไทย ก็ยังคงติดตามและพยายามเคลื่อนไหวผลักดันให้เกิดองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค 15 มีนาคม ปี พ.ศ. 2558 นี้ องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน ได้ร่วมกับ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปช.) มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน และ สสส. จัดงานวัน “สมัชชาผู้บริโภค” ขึ้นเมื่อวันที่ 15-16 มีนาคมที่ผ่านมา ณ โรงแรมเซนจูรี่ พาร์ค กรุงเทพฯ โดยมีประเด็นหลักในการจัดงานคือ สิทธิผู้บริโภคในการได้รับอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ซึ่งเป็นเรื่องเด่นประจำปี ขององค์กรผู้บริโภคสากล โดยมีจุดประสงค์เพื่อสนับสนุนให้ผู้บริโภคมีส่วนร่วมปฏิรูปการคุ้มครองตัวเองในเรื่องอาหารที่ปลอดภัยและดีต่อสุขภาพ รวมทั้งการจัดทำข้อเสนอในเชิงนโยบาย และกำหนดทิศทางในการพัฒนางานคุ้มครองผู้บริโภค สิทธิผู้บริโภคในการได้รับอาหารที่ดีต่อสุขภาพ หมายถึง ความปลอดภัยจากการค้าที่ไม่เป็นธรรมที่มีผลต่อชีวิตและทรัพย์สินในการบริโภคสินค้าและบริการ เช่น  การควบคุมสินค้าจำพวกอาหารเจือปนสารพิษ ยารักษาโรคที่หมดอายุและมีสารพิษ ตลอดจนของเล่นหรือเครื่องใช้ที่ก่อให้เกิดอันตราย เป็นต้น ซึ่งภายในงานได้ชวนให้ผู้บริโภคร่วมกันผลักดันในเรื่องของอาหารปลอดภัย ควรมีฉลากอาหารที่ดี ที่เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค และการควบคุมคุณภาพอาหารในโรงเรียน โรงพยาบาล รวมถึงส่งเสริมและติดตามการกำหนดมาตรการอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค ภายในงานมีการนำตัวอย่างอาหารปลอดภัยมาตั้งร้านได้แก่ ผักปลอดสารพิษ ที่ไม่น่าเชื่อว่าจะมีราคาเพียงแค่ถุงละ 10 บาท หรือ กุ้งแห้งตัวใหญ่ๆ เนื้อแน่นถุงละ 100 บาท ที่ทำให้ผู้เข้าร่วมงานพากันจับจ่ายใช้สอยซื้ออาหารที่ทั้งถูกและปลอดภัยกันอย่างสบายๆ โดยไม่ต้องกังวลเรื่องการปนเปื้อนสารเคมี ทั้งยังมีการนำตัวอย่างของอาหารที่ไม่ปลอดภัยมาเปิดเผยด้วยเช่นกัน โดยแสดงจำนวนปริมาณน้ำตาลและโซเดียมที่เกิดกำหนดอย่างไม่ปิดบังตรายี่ห้อ ซึ่งก็เป็นที่น่าตกใจว่าอาหารที่ไม่ปลอดภัยเหล่านั้น เป็นอาหารที่พวกเราต่างก็บริโภคกันทั่วไปในชีวิตประจำวัน เช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ซึ่งมีปริมาณโซเดียมสูงลิบ มากกว่าปริมาณสูงสุดที่องค์การอนามัยโลกกำหนดปริมาณโซเดียมที่เราควรได้รับต่อวัน คือ วันละ 6 กรัม หรือ 2,400 มิลลิกรัม หรือน้ำตาลปริมาณมากในชาเขียวสำเร็จรูป ที่ไม่โฆษณากันด้วยเรื่องคุณค่าแล้วแต่ใช้วิธีการชิงโชครถยนต์แทน   ความคืบหน้าขององค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค นอกจากนี้ประเด็นสำคัญที่ขาดไม่ได้เลยก็คือ เรื่องความคืบหน้าขององค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน ที่หลังจากได้มีการรณรงค์องค์การอิสระมาอย่างยาวนานถึง 17 ปี จนเรื่องเข้าสู่ สส. และ สว. ไปแล้ว แต่ก็ยังโดนเคราะห์ถูกยกกลับมาพิจารณาใหม่อีกครั้ง เพราะเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง แต่นั่นก็ไม่ได้ลดพลังของผู้บริโภคในการผลักดันกฎหมายนี้ต่อแต่อย่างใด เพราะ หากกฎหมายนี้สำเร็จก็จะเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคทุกคน ขณะนี้สถานะปัจจุบันของกฎหมายองค์การอิสระ คือ อยู่ระหว่างการพิจารณาของ สปช. ซึ่งหากผ่านแล้วขั้นตอนต่อไปคือเข้าสู่ ครม. โดยการทำงานขององค์การอิสระ จะร่วมมือกับ สปช. ในการปฏิรูปโดยการใช้พิมพ์เขียว (blueprint) เพื่อการปฏิรูประบบการคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างรับฟังความคิดเห็นขององค์กรทั่วประเทศ หากเราจะพูดถึงความสำคัญของกฎหมายนี้ ก็สามารถสรุปเป็นประเด็นสั้นๆ ได้ 6 ประการดังนี้ ประการแรก กฎหมายฉบับนี้จะทำให้สามารถเปิดเผยชื่อสินค้าที่เอาเปรียบผู้บริโภคได้ ประการที่สอง เป็นปากเสียงของผู้บริโภคในการถูกเอารัดเอาเปรียบ ประการที่สาม เผยแพร่ข้อมูลเฉพาะด้านที่เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค ประการที่สี่ รับเรื่องร้องทุกข์และแก้ไขปัญหาผู้บริโภคแบบครบวงจร (one stop service) ประการที่ห้า ตรวจสอบงานคุ้มครองผู้บริโภคทั้งรัฐและเอกชน และประการสุดท้าย ดำเนินงานเชิงรุก ผลักดันกฎหมายที่เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค เรียกได้ว่ากฎหมายฉบับนี้จะทำให้ผู้บริโภคได้ใช้สิทธิได้เต็มที่ในฐานะพลเมือง เป็นการสร้างความเข็มแข็งให้องค์กรผู้บริโภคนั่นเอง อย่างไรก็ตามหากมีองค์การอิสระเกิดขึ้นแล้วสิ่งที่ตามมาคือ ต้องทำความเข้าใจกับผู้บริโภค ภาคีเครือข่ายภาคประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เข้าใจถึงบทบาทหน้าที่ทั้งในส่วนของหน่วยงานรัฐที่ทำหน้าที่กำกับดูแลการคุ้มครองผู้บริโภคด้านต่างๆ ให้สามารถใช้อำนาจได้อย่างมีประสิทธิภาพในการจับปรับลงโทษผู้กระทำผิด และในส่วนขององค์การอิสระทำหน้าที่พัฒนาและเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับ องค์กรผู้บริโภค ตรวจสอบและให้ความเห็นต่อหน่วยงานของรัฐ สำหรับใครที่พลาดอดไปก็ไม่เป็นไร รอพบกันใหม่อีกครั้งในปีหน้า เพราะ กิจกรรมดีๆ แบบนี้ยังคงจัดขึ้นเพื่อรณรงค์ให้ผู้บริโภคได้ตระหนักถึงสิทธิในการคุ้มครองตนเองและพัฒนาให้ผู้บริโภคเข้าใจสิทธิผู้บริโภคสากล โดยเฉพาะสิทธิที่จะได้รับข้อมูลความรู้อันจำเป็นต่อการบริโภคอย่างเท่าทันในยุคบริโภคนิยมเช่นนี้ต่อไป

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 111 ลิขสิทธิ์ = ปิดโอกาส?

ส่วนใหญ่แล้วเมื่อเราพูดถึงการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องกฎหมายลิขสิทธิ์เรามักจะได้ยินกันจนชิน คือเรื่องของเทปผี ซีดี/ดีวีดีเถื่อน ที่ว่าด้วยการสูญเสียผลประโยชน์ของเจ้าของลิขสิทธิ์อย่างสำนักพิมพ์ ค่ายหนัง ค่ายเพลง ฯลฯ เสียมาก แต่อีกสิ่งหนึ่งที่เรายังไม่ค่อยได้พูดถึงกันมากนักคือเรื่องของลิขสิทธิ์จากมุมมองของผู้บริโภค เช่นเรื่องของโอกาสในการเข้าถึงข้อมูล ความรู้ จากงานอันมีลิขสิทธิ์ที่มีราคาแพงเกินกว่าที่ผู้บริโภคในประเทศกำลังพัฒนาจะสามารถซื้อได้ หรือสิทธิในการทำสำเนาเพื่อแบ่งปันงานลิขสิทธิ์ที่ผู้บริโภคได้ซื้อมาอย่างถูกต้อง รวมถึงการขาดการสนับสนุนจากรัฐให้มีการสร้างหรือใช้ประโยชน์จากงานที่ทำขึ้นเพื่อประโยชน์สาธารณะที่ไม่สงวนลิขสิทธิ์ในการแบ่งปันอีกเป็นต้น การปรับปรุงกฎหมายลิขสิทธิ์ในปัจจุบันมีแนวโน้มที่ค่อนไปทางการรักษาผลประโยชน์ของภาคธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นการขยายขอบเขต/ระยะเวลาการคุ้มครอง การเพิ่มระดับการปราบปราม ล้วนแล้วแต่ส่งผลให้วัสดุเพื่อการเรียนรู้มีราคาแพงขึ้นหรือหาได้ยากขึ้นสำหรับในประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งยังต้องอาศัยการต่อยอดจากงานที่มีการสร้างสรรค์ไว้ก่อนหน้านั้น นอกจากนี้ผู้บริโภคยังถูกปฏิเสธเสรีภาพในการใช้สินค้าในแบบที่ควรจะสามารถทำได้อีกด้วย ว่าแล้วเรามาดูกันว่าถึงวันนี้กฎหมายลิขสิทธิ์ของประเทศไหนจะรักษาสมดุลระหว่างการรักษาผลประโยชน์ของเจ้าของลิขสิทธิ์กับการเข้าถึงความรู้ของผู้บริโภคได้ดีกว่ากัน A2K Global surveyสหพันธ์ผู้บริโภคสากล (Consumers International) ได้ทำการสำรวจความเป็นมิตรต่อผู้บริโภคของกฎหมายลิขสิทธิ์ของ 34 ประเทศจากทั่วทุกภูมิภาคของโลกในประเด็นต่อไปนี้ • ขอบเขต/ระยะเวลาคุ้มครอง  • อิสระในการเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากงานอันมีลิขสิทธิ์ • เสรีภาพในการแบ่งปันและถ่ายโอน • การบริหารจัดการและบังคับใช้กฎหมายเราพบว่า• ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 30 ในขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านของเราอย่าง มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนามมีกฎหมายที่เป็นมิตรต่อผู้บริโภคมากกว่า (ในอันดับที่ 13 19 และ 20 ตามลำดับ)• สถานภาพทางเศรษฐกิจหรือระดับการพัฒนาไม่ใช่ตัวแปรชี้วัดการมีกฎหมายลิขสิทธิ์ที่เอื้อต่อการเรียนรู้ สวีเดน อเมริกา บังคลาเทศและอินโดนีเซียต่างก็อยู่ในสิบอันดับต้น  ในขณะที่อังกฤษและเคนย่าต่างก็เป็นหนึ่งในสิบอันดับยอดแย่• ประเทศส่วนใหญ่ยังทำคะแนนได้น้อยในเรื่องของเสรีภาพในการแบ่งปันและถ่ายโอน  ซึ่งหมายความว่า ประเทศเหล่านี้ควรเพิ่มงบประมาณในการส่งเสริมการสร้างงานที่ไม่สงวนลิขสิทธิ์ สนับสนุนการใช้ ครีเอทีฟ คอมมอน และซอฟท์แวร์แบบโอเพ่นซอร์ส และใช้ประโยชน์จากงานที่ยังไม่มีผู้อ้างสิทธิ์ให้มากขึ้น• โดยรวมแล้วสิ่งที่ประเทศเหล่านี้ทำได้ดีก็คือเรื่องของการเข้าถึงและการใช้โดยสื่อมวลชน (แต่เรื่องนี้มีความเกี่ยวข้องกับผู้บริโภคน้อยมาก เพราะสื่อเหล่านี้มีงบประมาณไว้สำหรับจ่ายค่าลิขสิทธิ์อยู่แล้ว) Top ten ประเทศที่มีกฎหมายลิขสิทธิ์และการบังคับใช้ที่เอื้อต่อการเข้าถึงความรู้มากที่สุด 10 อันดับ1. อินเดีย2. เลบานอน3. อิสราเอล4. สหรัฐอเมริกา5. อินโดนีเซีย 6. อัฟริกาใต้7. บังคลาเทศ 8. โมรอคโค 9. สวีเดน 10. ปากีสถาน กฎหมายลิขสิทธิ์ของประเทศเหล่านี้ ระบุข้อยกเว้นไว้อย่างกว้างๆ ทำให้ผู้บริโภคสามารถใช้งานจากงานอันมีลิขสิทธิ์ได้ สหรัฐอเมริกาและอิสราเอล เรียกข้อยกเว้นนี้ว่า “การใช้งานอย่างเป็นธรรม” ในขณะที่สวีเดนและเลบานอนเรียกว่า “การทำสำเนาเพื่อการใช้ส่วนตัว” (โดยไม่ได้ระบุว่าเพื่อประโยชน์ทางการศึกษาเท่านั้น ดังนั้นจึงสามารถใช้เพื่อการบันเทิงได้ด้วย) Bottom tenประเทศที่มีกฎหมายลิขสิทธิ์และการบังคับใช้ที่เอื้อต่อการเข้าถึงความรู้น้อยที่สุด 10 อันดับ1. ชิลี2. จอร์แดน 3. อังกฤษ 4. เคนยา5. ไทย6. อาร์เจนตินา7. บราซิล8. แซมเบีย9. อียิปต์ 10. ญี่ปุ่น   ประเทศไทยได้เกรดเฉลี่ย C- โนอา เมทธินี  นักกฎหมายอาสาสมัครของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ซึ่งเป็นนักวิจัยที่ทำการวิเคราะห์กฎหมายลิขสิทธิ์ของประเทศไทยในการสำรวจครั้งนี้บอกว่า โดยภาพรวมแล้วกฎหมายลิขสิทธิ์ของไทยยังไม่มีมาตรการในการรับมือกับการพัฒนาการทางเทคโนโลยีในสื่อใหม่ๆที่เกิดขึ้น เช่น การดาวน์โหลดผ่านอินเตอร์เนท รวมถึงยังไม่มีการระบุไว้อย่างชัดเจนในเรื่องการคุ้มครองสิทธิของผู้พิการในการเข้าถึงข้อมูลความรู้ต่างๆ เขาตั้งข้อสังเกตว่าเมื่อไรก็ตามที่เราจะมีการแก้กฎหมายเพื่อลดช่องว่างดังกล่าว เป็นไปได้อย่างยิ่งที่ผู้บริโภคไทยจะเป็นฝ่ายเสียเปรียบ เพราะประเทศไทยยังต้องการทำข้อตกลงทางการค้ากับประเทศอย่างอเมริกาหรือกลุ่มประเทศอียู ซึ่งต้องการกฎหมายคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาที่เข้มขึ้น  ขณะนี้นักศึกษาสามารถทำสำเนาตำราเรียนเพื่อใช้ส่วนตัวได้ แต่ในอนาคตเมื่อมีการปรับปรุงกฎหมายลิขสิทธิ์แล้ว การจะทำสำเนาได้จะต้องผ่านกระบวนการที่ซับซ้อนและยากขึ้น  ----- หมายเหตุ  ถ้าดูจากตาราง สหรัฐอเมริกาซึ่งจะทำข้อตกลงทางการค้ากับเราและเรียกร้องให้เรามีกฎหมายลิขสิทธิ์เข้มขึ้นนั้น ให้อิสระกับประชาชนในประเทศในการทำสำเนา และคัดลอกไฟล์ มากกว่าบ้านเรามากทีเดียว ประโยชน์ของภาคธุรกิจกับสิทธิผู้บริโภค ... สมดุลที่ต้องตามหา ภาคธุรกิจมักอ้างว่าควรมีกฎหมายลิขสิทธิ์ที่เข้มไว้ก่อน เพราะไม่เช่นนั้นจะได้รับความเสียหายจากเทคโนโลยีการแชร์ไฟล์ทางเน็ท แต่จนปัจจุบันก็ยังไม่มีหลักฐานชัดเจนว่าการแชร์ไฟล์เป็นสาเหตุหลักของการขาดทุนของธุรกิจเพลง แต่มีหลักฐานว่าของอุตสาหกรรมภาพยนตร์เพิ่มขึ้นสูงอย่างเป็นประวัติการณ์ในปี 2552 --------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------- ทางเลือกของภาคธุรกิจ• ในแคนาดา สมาคมนักแต่งเพลงของแคนาดาเสนอให้มีการเก็บค่าธรรมเนียมรายเดือน เพื่อให้คนสามารถแบ่งปันเพลงกันได้อย่างถูกกฎหมาย • บริษัทวอร์เนอร์สาขาประเทศจีน ออกแผ่นดีวีดีไม่กี่วันหลังภาพยนตร์ออกฉาย โดยจำหน่ายในราคาแผ่นละ 70 บาท• หลายประเทศให้ผู้บริโภคได้ฟังเพลงหรือดูภาพยนตร์ผ่านแพลทฟอร์มดิจิตัลด้วยค่าบริการที่สมเหตุสมผล เช่น Spotify (www.spotify.com)  หรือ Hulu (www.hulu.com) เป็นต้น • ปล่อยฟรีไปเลย หรือที่เรียกกันว่าเป็นผลงานสังกัดค่ายเพลงอินเตอร์เน็ท (netlabel)  เช่น เพลงของ Radio Head หรือ Nine Inch Nails ซึ่งการปล่อยฟรีในที่นี้เท่ากับเป็นการโปรโมทให้ผลงานของตนเองเป็นที่รับรู้โดยผู้ฟังจำนวนมาก --------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------- COPY COPY COPY  เมื่อการทำสำเนามีค่าใช้จ่าย  ในแคนาดา เสปน ยูเครน สวีเดน จะคิดภาษีเพิ่มในอุปกรณ์เช่นเครื่องคอมพิวเตอร์ และที่ใช้สื่อบันทึก อย่างแผ่นซีดี ดีวีดีเปล่า เป็นต้นแต่นั่นยังเข้มไม่เท่าที่อิตาลี ที่ผู้บริโภคแต่ละครัวเรือนจะต้องจ่ายเงินเพิ่มถึง 100 ยูโร (ประมาณ 4,000 บาท) เพื่อ “สิทธิในการทำสำเนาเพื่อใช้เอง” ซึ่งได้แก่ภาษีที่ต้องเสียเมื่อซื้อซีดี ดีวีเปล่า เมมโมรี่สติ๊ก หรือมือถือมัลติมีเดีย และค่าธรรมเนียมในการดาวน์โหลดจากร้านเพลงออนไลน์ และภาษีที่ต้องจ่ายเมื่อซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์ (ซึ่งถือเป็นอุปกรณ์ในการทำสำเนาด้วย) เราคงไม่ปฏิเสธว่าสังคมจะยั่งยืนได้ถ้าทุกคนสามารถเข้าถึงความรู้ได้โดยไม่ถูกจำกัด และสามารถร่วมกันสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อประโยชน์สาธารณะได้  ติดตามการรณรงค์เพื่อการเข้าถึงความรู้ของสหพันธ์ผู้บริโภคสากลและความเคลื่อนไหวขององค์กรสมาชิกได้ที่ http://a2knetwork.org/ ---พบกับผลสำรวจความคิดเห็นของนักศึกษาไทย เรื่องของอุปสรรคในการเข้าถึงงานอันมีลิขสิทธิ์ได้ ในฉลาดซื้อฉบับ 112 (มิถุนายน)

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point