ฉบับที่ 167 ธุรกิจสถานบริการดูแลผู้สูงอายุ

จะโดยรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม ประเทศไทยเราได้ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแล้ว ตัวชี้วัดก็คือ จำนวนประชากรสูงวัย(อายุ 60 ปีขึ้น) ณ ปัจจุบันมีมากกว่า 9 ล้านคน ซึ่งเกิน 10% ตามนิยามขององค์การสหประชาชาติ ที่ระบุว่า ประเทศใดมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปเกิน 10% หรืออายุ 65 ปี ขึ้นไปเกิน 7% ถือว่าประเทศนั้นก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ สิ่งที่ตามมากับตัวเลขอายุที่มากขึ้น คือ ความเสื่อมถอยของร่างกาย ทั้งหูตาที่ฝ้าฟาง ข้อ กระดูกที่เปราะบาง ความกระฉับกระเฉงลดลง ไม่อาจเคลื่อนไหวได้ตามใจนึก อีกทั้งความเสื่อมถอยของร่างกายทำให้เป็นโรคได้ง่ายโดยเฉพาะกลุ่มโรคติดเชื้อ และถ้ายิ่งใช้ชีวิตแบบไม่ค่อยระวังตัว โรคเรื้อรังในกลุ่มหัวใจ เส้นเลือด ก็กลายเป็นโรคประจำตัวที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงในการทุพพลภาพหรือพิการได้มากที่สุด ระดับผู้สูงอายุไทยอาจแบ่งได้เป็นสามระดับ คือ กลุ่มสูงอายุวัยต้น 60-79 ปี วัยปลาย 80-99 ปี และกลุ่มอายุเกิน 100 ปีขึ้นไป  ซึ่งในช่วงวัยต้นร่างกายยังไม่เสื่อมถอยมาก ประกอบกับความรู้ ความสามารถและประสบการณ์ ทำให้ยังสามารถทำงานได้ เป็นประโยชน์ทั้งกับครอบครัวและชุมชน แต่เมื่อเวลาผ่านไปก็ต้องเข้าสู่ระยะพักผ่อน งานการต่างๆ ที่เคยทำได้ ก็อาจไม่สามารถทำได้อีกและต้องการผู้ช่วยเหลือดูแลในบางกิจกรรม เช่น  การเดินทาง  การใช้ขนส่งสาธารณะ การใช้โทรศัพท์ การเข้าใช้ห้องสุขา การอาบน้ำ การประกอบอาหาร เป็นต้น และเมื่อเข้าสู่ภาวะพึ่งพิงมากที่สุด คือ ไม่สามารถเคลื่อนไหวร่างกายได้ ต้องนอนติดเตียง ภาระทั้งหมดก็จะตกมาที่ผู้ดูแล ซึ่งสังคมไทยแต่เดิมมาก็ฝากไว้กับลูกหลาน หรือญาติพี่น้อง แต่สถานการณ์ปัจจุบันคือ ผู้สูงอายุส่วนหนึ่งไม่มีลูก ต้องอยู่ตามลำพัง และถึงแม้จะมีลูก พวกเขาเหล่านั้นก็มีภาระที่มากมายรอบด้าน อาจทั้งในฐานะของพ่อแม่ที่ต้องเลี้ยงดูลูกของตน ตลอดจนภาระในการทำงานหาเลี้ยงครอบครัว ถ้าผู้สูงอายุต้องเข้าสู่ภาวะพึ่งพิงไม่ว่าจะมากหรือน้อย ใครจะเป็นผู้ดูแล?   สถานบริการดูแลผู้สูงอายุ จำนวนผู้สูงอายุที่ต้องการการดูแลไม่ว่าจะระดับมากหรือระดับน้อย ที่เพิ่มจำนวนสูงขึ้นอย่างรวดเร็วนั้น ส่งผลให้มีความต้องการการดูแลในสถานบริการเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย แต่ปรากฏว่าภาครัฐยังไม่มีการจัดให้มีบริการที่ตอบสนองความต้องการของผู้สูงอายุกลุ่มนี้อย่างชัดเจน มีเพียงสถานสงเคราะห์คนชรา(บ้านพักคนชรา) ที่มีวัตถุประสงค์เพื่ออุปการะผู้สูงอายุที่ประสบปัญหาทุกข์ยากเดือดร้อนไม่มีผู้ดูแลหรือไม่ก็ไร้ที่อยู่อาศัยเท่านั้น ขณะที่สถานบริการดูแลผู้สูงอายุที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ของภาคเอกชน ทั้งที่อยู่ในโรงพยาบาล หรือจดทะเบียนเป็นสถานพยาบาลสำหรับผู้ป่วยสูงอายุ หรือที่เราเรียกว่า เนอร์สซิ่งโฮม (Nursing Home) จะมีราคาค่าใช้จ่ายที่สูง และยังพบปัญหาในเรื่องของมาตรฐานการดูแลผู้สูงอายุที่ยังไม่มีมาตรฐานชัดเจนโดยตรง ตลอดจนอุปกรณ์การดูแลและสิ่งแวดล้อม ส่วนใหญ่ไม่เหมาะสมกับผู้สูงอายุ เช่นเรื่องแสงสว่าง พื้นผิวห้อง ทางลาด จำนวนผู้ดูแลที่ไม่พอต่อจำนวนผู้สูงอายุ เป็นต้น เนื่องจากยังไม่มีบริการการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุระยะยาวในภาครัฐ  มีแต่การบริการโดยภาคเอกชน   แต่ด้วยการจดทะเบียนของสถานพยาบาลเอกชนของไทยนั้นมีหลายลักษณะมาก ทำให้เราไม่สามารถทราบจำนวนสถานบริการผู้สูงอายุที่แน่ชัดได้ อีกทั้งในการประกอบธุรกิจสถานดูแลผู้สูงอายุ ไม่จำเป็นต้องจดทะเบียนเป็นสถานพยาบาลก็ได้ แค่จดทะเบียนการค้าเท่านั้นก็สามารถดำเนินธุรกิจนี้ได้แล้ว ธุรกิจสถานบริการดูแลผู้สูงอายุ ธุรกิจสถานบริการดูแลผู้สูงอายุ อาจหมายถึง สถานบริการที่ไม่ใช่โรงพยาบาล แต่มีการให้บริการที่พำนัก บริการยาแก่ผู้สูงอายุที่ไม่ต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์อย่างเป็นประจำ โดยทั่วไปจะครอบคลุม การให้บริการที่พักค้างคืน บริการอาหารการดูแลความสะอาดเสื้อผ้าและที่พัก ตลอดจนความสะอาดของร่างกาย พร้อมทั้งติดตามดูแลสุขภาพเบื้องต้นอย่างใกล้ชิด แต่ไม่ได้ให้การรักษาพยาบาล หากมีความเจ็บป่วยจะบริการนำส่งต่อแผนกคนไข้ของโรงพยาบาลใกล้เคียงเพื่อรับการรักษาพยาบาลต่อไป โดยอาจมีบริการเสริมอื่นๆ ที่ช่วยให้ผู้สูงอายุได้มีกิจกรรมพิเศษ ที่ช่วยส่งเสริมให้ดำเนินชีวิตได้อย่างมีคุณภาพทั้งร่างกายและจิตใจ แต่ถ้าการให้บริการเน้นการดูแลเพื่อการฟื้นฟูสภาพสำหรับผู้สูงอายุ โดยเฉพาะการดูแลผู้สูงอายุที่อยู่ในภาวะพึ่งพาและทุพพลภาพช่วยเหลือตัวเองไม่ได้และต้องการบริการพยาบาลและยาเป็นประจำ จะจัดเป็น “สถานพยาบาล” ตาม พ.ร.บ. สถานพยาบาล (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2547 และเป็นไปตามกฎกระทรวงว่าด้วยการประกอบกิจการสถานพยาบาล พ.ศ. 2545 อย่างไรก็ตามสถานการณ์ปัจจุบัน คือ การให้บริการในธุรกิจนี้จะมีลักษณะของการผสมผสาน  โดยที่ส่วนใหญ่ก็ไม่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นสถานพยาบาลแม้จะให้บริการในลักษณะของการบริบาลผู้สูงอายุก็ตาม และสถานบริการดูแลผู้สูงอายุหลายแห่งแม้แต่จดทะเบียนการค้าก็ยังไม่ได้ดำเนินการให้ถูกต้อง ประเภทของการให้บริการ การบริการในสถานดูแลผู้สูงอายุในกลุ่มที่ไม่เน้นเรื่องการฟื้นฟูบำบัด ซึ่งผู้รับบริการส่วนใหญ่ไม่มีภาวะพึ่งพิง หรือพึ่งพิงไม่มาก ยังพอสามารถช่วยตัวเองได้ ส่วนใหญ่จะครอบคลุมการบริการหลักและมีการให้บริการเสริมเพื่อเพิ่มความสะดวกสบายและดึงดูดใจลูกค้า ดังนี้   บริการหลัก บริการเสริม Ø บริการดูแลผู้สูงอายุด้านความเป็นอยู่ทั่วไป Ø บริการที่พักค้างคืน Ø บริการอาหาร 3 มื้อ และอาหารว่าง 2 มื้อ Ø ดูแลทำความสะอาดของร่างกาย Ø ดูแลทำความสะอาดเสื้อผ้า Ø ติดตามดูแลสุขภาพเบื้องต้นแต่ไม่ได้ให้การรักษาพยาบาล หากมีความเจ็บป่วย Ø จะบริการนำส่งต่อแผนกคนไข้ของโรงพยาบาลใกล้เคียง Ø กิจกรรมกายภาพบำบัดเบื้องต้น Ø กิจกรรมสันทนาการต่างๆ และกิจกรรมตามวัฒนธรรมประเพณี Ø บริการรถรับ-ส่งจากบ้าน Ø นำส่งผู้สูงอายุตามแพทย์นัด Ø ทัศนศึกษา Ø บริการด้านจิตใจ เช่น การจัดกิจกรรมทางศาสนา Ø บำบัดในรูปแบบพิเศษต่างๆ เช่น วารีบำบัด Ø บริการด้านความรู้ข่าวสารใหม่และการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ Ø การบรรยายจากวิทยากรรับเชิญต่างๆ เพื่อให้ข้อมูลในการดำเนินชีวิต Ø การบริการประสานงานกับองค์กรอื่นๆ เช่น การให้คำปรึกษาทางกฎหมาย และการฌาปนกิจ   สำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงสูง เช่น เป็นผู้ป่วยอัมพาต ผู้ป่วยอัลไซเมอร์ หรือผู้ป่วยที่จำเป็นต้องได้รับการดูแลอย่างต่อเนื่องหรือพักฟื้นจากการเข้ารับการรักษาพยาบาลในโรงพยาบาล ลักษณะการให้บริการของสถานดูแลผู้สูงอายุกลุ่มนี้จะอยู่ในข่าย เนอร์สซิ่งโฮม ซึ่งบริการที่จัดให้ได้แก่ บริการบำบัดทางการแพทย์ เช่น บริการยา การตรวจวัดอุณหภูมิ ความดันโลหิต บริการให้อาหารทางสายยาง ดูดเสมหะ บริการกายภาพบำบัดเพื่อฟื้นฟูสภาพ การป้องกันแผลกดทับ ฯลฯ แต่ดังที่ได้กล่าวไป ส่วนใหญ่การให้บริการของสถานดูแลผู้สูงอายุในปัจจุบันจะมีลักษณะผสมผสาน จึงจำเป็นต้องเลือกให้เหมาะสมกับความต้องการในการเข้ารับบริการ   ค่าใช้จ่ายไม่ธรรมดา ผู้ที่เลือกใช้บริการในสถานดูแลผู้สูงอายุ ไม่จำเป็นว่าต้องเป็นลูกหลานของผู้สูงอายุ บางทีผู้สูงอายุก็เป็นผู้เลือกใช้บริการสถานดูแลเหล่านี้ด้วยตนเอง ซึ่งแน่นอนว่าจำเป็นต้องมีความสามารถในการจ่ายพอสมควร ปกติราคาจะขึ้นอยู่กับบริการที่นำเสนอ ค่าบริการมีทั้งแบบรายวันและรายเดือน รวมทั้งเงินค้ำประกันหรือค่าประกันแรกเข้า(ส่วนนี้จะคืนเมื่อบอกเลิกใช้บริการ)   ในลักษณะรายวันค่าใช้จ่ายอยู่ที่ประมาณ 800-1000 บาท ส่วนรายเดือนประมาณ 10,000-25,000 บาท ทั้งนี้สถานบริการบางแห่ง ยังมีค่าบริการเสริมอื่นๆ ที่นอกเหนือไปจากค่าบริการปกติ เช่น การเฝ้าไข้เฉพาะบุคคล ค่ายานพาหนะรับส่งโดยกะทันหัน ค่ายาและเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ ซึ่งโดยรวมแล้วอาจสูงถึง 30,000 บาท/เดือน จากการสำรวจหากเป็นสถานบริการดูแลผู้สูงอายุในโรงพยาบาลจะมีค่าใช้จ่ายสูงที่สุด เพราะได้รวมค่าแพทย์และพยาบาลเข้าไว้ด้วย ค่าใช้จ่ายตกอยู่ที่ประมาณเดือนละ 30,000-50,000 บาท และจากการสัมภาษณ์ผู้ประกอบการบางท่านให้ความเห็นว่า การเรียกเก็บค่าบริการสูง ส่วนหนึ่งเพื่อป้องกันปัญหาการทิ้งผู้สูงอายุไว้กับสถานดูแล   มาตรฐานควบคุมและการคุ้มครองด้านบริการ กรณีสถานดูแลผู้สูงอายุในส่วนของเอกชน ยังไม่มีมาตรฐานกำกับที่ชัดเจน เว้นแต่ที่จดทะเบียนเป็นสถานพยาบาลสำหรับดูแลผู้สูงอายุ ตามกฎหมายสถานพยาบาล ที่มีกองการประกอบโรคศิลปะเป็นผู้กำกับดูแล นอกจากนี้ต้องบอกว่า ไม่มีองค์กรกำกับดูแลโดยตรง ทั้งในส่วนมาตรฐานการให้บริการ การกำกับดูแลและการขึ้นทะเบียน ดังนั้นหากเกิดปัญหาจากการใช้บริการ คงต้องดำเนินการร้องเรียนในเรื่องสัญญากับทางสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค แต่ถ้าสถานบริการดูแลผู้สูงอายุได้ขึ้นทะเบียนไว้กับกองการประกอบโรคศิลปะ ก็สามารถร้องเรียนได้โดยตรง หรืออาจฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายได้โดยใช้กฎหมายวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค   การเลือกสถานบริการดูแลผู้สูงอายุ สถานดูแลผู้สูงอายุที่ดำเนินการโดยภาคเอกชนนั้นมีค่าใช้จ่ายสูง ควรจัดให้เป็นทางเลือกหนึ่ง เพราะในการดูแลผู้สูงอายุ หากเป็นไปได้ การดูแลโดยคนในครอบครัวย่อมดีที่สุด แต่หากบางครั้งมีความจำเป็น เช่น ผู้สูงอายุจำเป็นต้องได้รับการดูแลตลอด 24 ชั่วโมง อาจพิจารณาเลือกจ้างผู้ดูแลพิเศษประจำบ้าน ซึ่งท่านสามารถดูแลต่อได้เมื่อผู้ดูแลกลับไป อีกทั้งผู้สูงอายุก็ได้อยู่ในบ้าน ซึ่งสร้างความอบอุ่นใจได้มากกว่า การเลือกสถานบริการดูแลผู้สูงอายุ ควรพิจารณาเรื่องทำเลที่ตั้ง ซึ่งควรจะใกล้บ้านและสะดวกในการเดินทาง สิ่งแวดล้อมรอบอาคารที่ให้บริการควรมีความสงบไม่พลุกพล่าน ไม่มีมลภาวะที่เป็นพิษ อีกทั้งควรพิจารณาในส่วนของอุปกรณ์เช่น เตียงนอน เครื่องมือแพทย์ การรักษาความสะอาดของสถานที่ ลักษณะทางกายภาพบางอย่างที่อาจไม่เหมาะกับการใช้ชีวิตของผู้สูงอายุ เช่น บันไดลาดชันเกินไป ประตูแคบไป ห้องน้ำสุขภาพภัณฑ์ต่างๆ   ควรได้รับการออกแบบให้เหมาะกับผู้สูงอายุ  ส่วนเรื่องราคาค่าบริการให้พิจารณาเปรียบเทียบกับการบริการที่จะได้รับ และระมัดระวังเรื่องค่าบริการเสริม ที่ไม่รวมอยู่ในค่าบริการปกติ และที่สำคัญอีกประการคือ ผู้ดูแลผู้สูงอายุ ควรเป็นผู้ที่ผ่านการอบรมเรื่องการดูแลผู้สูงอายุ ซึ่งปัจจุบันมีโรงเรียนสอนหลักสูตรดังกล่าวหลายแห่ง และควรมีจำนวนที่เหมาะสมกับผู้ใช้บริการ เพื่อให้สามารถดูแลได้อย่างทั่วถึงอย่างมีคุณภาพ   แม้ว่าผู้สูงอายุจะไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มที่เหมือนในอดีต แต่ก็ถือว่าเป็นกลุ่มคนที่มีส่วนในการพัฒนาประเทศ ดังนั้นควรช่วยกันเรียกร้องและผลักดันให้รัฐได้เข้ามามีส่วนในการดำเนินงาน สถานดูแลผู้สูงอายุระยะยาวที่เป็นของรัฐ หรือหน่วยงานของชุมชน หรือในรูปแบบที่เหมาะสม ได้มาตรฐานและเป็นธรรมโดยถือเป็นสวัสดิการที่รัฐพึงมอบให้กับประชาชนกลุ่มสูงวัยที่ได้มีส่วนร่วมสร้างสังคมมา   ไทยสู่ยุค “คนชราเต็มเมือง” จี้รัฐกันเงินก้อนโตไว้ดูแล หมอแนะผู้สูงวัยตุนเงิน “3 ล้านบาท” ไว้รักษา 2 โรคยอดฮิต! ผู้จัดการออนไลน์ 6 กุมภาพันธ์ 2556 ประเทศไทยใกล้เข้าสู่ภาวะคนชราเต็มเมือง แพทย์ชี้โรคหัวใจ-มะเร็ง ผลาญงบดูแลสุขภาพผู้สูงอายุอ่วม แนะว่าที่ “คนแก่” ต้องเตรียมเงินค่ารักษาตัวโรคละ 1.5 ล้านบาท พร้อมเตรียมใจรับสภาพปัญหาขาดแคลนผู้ดูแลระดับวิกฤต “สิ่งที่รัฐบาลจะต้องรีบทำก็คือการส่งเสริมให้ประชาชนปรับเปลี่ยน วิถีชีวิตไปสู่แนวทางที่จะไม่เป็นโรคอย่างจริงจัง ซึ่งทำได้หลายระดับ ไม่เพียงแต่ให้ความรู้ในรูปแบบของข้อมูลเฉยๆ แต่รวมไปถึงการส่งเสริมทางสังคม เช่น จัดถนนหนทางให้คนขี่จักรยานได้โดยไม่มีรถมาชน เพื่อเป็นการส่งเสริมให้คนออกกำลังกายระหว่างเดินทางไปทำงาน เพราะตอนนี้โอกาสที่คนไทยจะได้ออกกำลังกายแทบจะเหลืออยู่อย่างเดียวคือ การเดินทางไปทำงาน” นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์ แพทย์หัวหน้าศูนย์ตรวจสุขภาพ โรงพยาบาลพญาไท 2 แสดงทัศนะต่อบทบาทเชิงรุกที่รัฐบาลควรทำในการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของ ประเทศไทย ซึ่งเริ่มต้นมาระยะหนึ่งแล้ว โดยข้อมูลของสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า ปัจจุบันประเทศไทยเป็นสังคมสูงวัยแล้ว   อีกไม่เกิน 10 ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะกลายเป็น “สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์” เมื่อมีสัดส่วนประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไปเพิ่มสูงถึงร้อยละ 14 และต่อจากนั้นอีกไม่เกิน 10 ปี ไทยจะเป็น “สังคมสูงวัยระดับสุดยอด” ในปี พ.ศ. 2575 เมื่อประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไปเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 20 ประชากร 1 ใน 5 จะมีอายุสูงกว่า 65 ปี และประชากรครึ่งหนึ่งในประเทศไทยจะมีอายุสูงกว่า 43 ปี! อาจจะช้าเกินไปด้วยซ้ำที่ประเทศไทยเพิ่งมาตั้งคำถามกันว่า จะเกิดปัญหาอะไรขึ้นบ้างเมื่อประเทศไทยก้าวเข้าสู่ยุคผู้สูงวัยเต็มอัตรา ? นพ.สันต์กล่าวต่อว่า ทุกวันนี้แม้แต่ชาวไร่ชาวนาก็ไม่ได้ออกแรง ส่งผลให้ชาวไร่ชาวนามีอัตราการเป็นโรคกระดูกพรุน ซึ่งเป็นโรคของคนไม่ออกแรง สูงพอๆ กับคนที่อยู่ในเมือง เพราะชาวไร่ชาวนาในปัจจุบันกลายเป็นผู้จัดการท้องนาที่ไม่ต้องออกแรงเหมือนเดิม กิจกรรมการเกี่ยวข้าวไถนาล้วนแต่เป็นหน้าที่ของรถเกี่ยวรถไถที่ถูกจ้างมาแทน ที่แรงคน “ทำอย่างไรจะให้คนได้เดินทางไปทำงานพร้อมกับออกกำลังกายไปในตัว เป็นเรื่องที่ต้องทำในระดับรัฐบาล โดยอาจจะตั้งต้นด้วยเมืองเล็กๆ นำร่องขึ้นมาสักเมือง กำหนดถนนสำหรับคนเดินและขี่จักรยานโดยเฉพาะ แล้วค่อยๆ ขยายออกไป ในที่สุดคนก็จะได้ออกกำลังกาย เพราะอย่างไรเขาก็ต้องเดินทางไปทำงานอยู่แล้ว ทุกวันนี้บางคนเขาก็อยากเดินหรือขี่จักรยานไปทำงาน แต่ทำไม่ได้ เพราะกลัวถูกรถชน” ดังนั้นรัฐต้องส่งเสริมให้คนเริ่มรักษาสุขภาพตนเองตั้งแต่วันนี้ เพราะเมื่ออายุมากขึ้นคนจะเสี่ยงต่อ 3 กลุ่มโรควัยชราต่อไปนี้ 1. กลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ได้แก่ โรคกลุ่มหลอดเลือดหัวใจ หลอดเลือดสมอง โรคไตเรื้อรัง โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง มะเร็ง จากข้อมูลปัจจุบันคนไทยราว 55% มีปัจจัยเสี่ยงของโรคเหล่านี้ ทำให้คนไทยเกินครึ่งเสียชีวิตจากโรคกลุ่มนี้ 2. โรคสมองเสื่อม ซึ่งมากับคนอายุยืน 3. โรคซึมเศร้า ซึ่งตามมากับภาวะสมองเสื่อมและโรคเรื้อรัง และนำไปสู่ภาวะซึมเศร้า “3 โรคนี้จะเป็นปัญหาใหญ่ในอนาคตของประเทศไทยที่กำลังก้าวเข้าสู่สังคมคนชรา โดยเฉพาะ 2 โรคที่ค่ารักษาพยาบาลแพงกว่าเพื่อนคือ โรคหัวใจ และโรคมะเร็ง เพราะทางการแพทย์ยังไม่รู้วิธีรักษา จึงต้องรักษาที่ปลายเหตุ ส่งผลให้เป็นกลุ่มโรคที่กินเงินมากที่สุด โดยสังเกตได้จากการลงทุนของโรงพยาบาลภาคเอกชนที่จะเน้นลงทุนในกลุ่มนี้ เพราะสามารถเก็บเงินได้มาก” นพ.สันต์บอกอีกว่า ต้นทุนค่ารักษาพยาบาล 2 โรคแพงในโรงพยาบาลเอกชนและโรงพยาบาลรัฐไม่ต่างกันมากนัก ซึ่งค่ารักษาพยาบาลขั้นต้นของโรคมะเร็งในโรงพยาบาลเอกชนจะตกอยู่ที่ประมาณ 600,000 บาท ไม่นับรวมต้นทุนการดูแลเมื่อคนไข้ทุพพลภาพหรือเป็นผู้ป่วยเรื้อรังระยะสุด ท้าย ซึ่งในทางการแพทย์อาจจะหยุดให้การรักษา เมื่อถึงจุดที่รักษาแล้วคุณภาพชีวิตไม่ดีขึ้น ขณะที่ต้นทุนการรักษาโรคหัวใจ เฉพาะค่ารักษาขั้นต้นในโรงพยาบาลเอกชน จะมี 2 ชนิด คือ ชนิดที่จบลงโดยไม่ต้องผ่าตัด ค่ารักษาอยู่ที่ประมาณ 400,000 บาท และชนิดที่ต้องจบลงด้วยการผ่าตัดมีค่ารักษาประมาณ 800,000 บาท “นี่เป็นค่ารักษาขั้นต้นที่ยังไม่ได้นับรวมความยืดเยื้อเรื้อรังและ ค่าเสียโอกาสที่ทำงานไม่ได้ ดังนั้น ถัวเฉลี่ยแล้วโรค 2 กลุ่มนี้จะมีต้นทุนการรักษาขั้นต้น 6-8 แสนบาทต่อคนต่อโรคโดยประมาณ ไม่นับรวมภาวะทุพพลภาพที่เกี่ยวเนื่องจากโรค และการรักษาในฐานะผู้ป่วยที่สิ้นหวังระยะสุดท้าย ซึ่งการรักษาลุกลามจนเสียชีวิตก็ไม่น่าจะถูกกว่าการรักษาขั้นต้น โดยอาจจะมีค่าใช้จ่ายที่พอๆ กัน หรือมากกว่า ดังนั้นโดยประมาณแล้วจะต้องใช้เงินต่อโรค 1,500,000 บาทต่อการดูแลผู้ป่วย 1 คน” ในขณะที่โรคสมองเสื่อมกับโรคซึมเศร้า มีต้นทุนการรักษาไม่แพง แต่ต้นทุนที่แพงไม่แพ้กันคือต้นทุนในแง่ของคุณภาพชีวิต เพราะคนที่เป็น 2 โรคนี้ชีวิตจะไม่มีคุณภาพ ยิ่งไปกว่านั้นคือจะไปมีต้นทุนที่ผู้ดูแล ซึ่งโครงสร้างสังคมไทยในช่วง 10 ปีต่อจากนี้ยังมีผู้ดูแลเป็นคนในครอบครัวอยู่ แต่หลังจาก 10 ปีข้างหน้าไปแล้ว ยังไม่มีหลักฐานว่าใครจะเป็นผู้ดูแลคนชราเป็นที่คาดการณ์ว่าผู้ที่จะต้องทำหน้าที่ดูแลคงจะเป็นภาระของสังคม นั่นหมายความว่ารัฐอาจจะต้องจัดตั้ง Nursing Home ขึ้นมาดูแลคนสูงอายุที่ไม่มีใครเอา เพราะลูกไม่พอเลี้ยงดู จากขนาดครอบครัวที่เล็กลง และผู้สูงอายุส่วนหนึ่งไม่มีลูกหลาน เพราะฉะนั้นถึงจุดหนึ่งโรคในกลุ่มโรคชราเรื้อรังจะต้องตกเป็นภาระของสังคม โดยเริ่มต้นตั้งแต่เดี๋ยวนี้เป็นต้นไป

อ่านเพิ่มเติม >