ฉบับที่ 184 ติดตามแจ้งเบาะแสเด็กหายผ่าน ThaiMissing

    ปัจจุบันมีบุคคลที่สูญหายเป็นจำนวนมาก โดยจะเห็นได้จากข่าวสารบนหน้าหนังสือพิมพ์หรือข่าวสารในโทรทัศน์ช่องต่างๆ ที่ประกาศตามหาบุคคลที่หายไป โดยเฉพาะกลุ่มที่เป็นเด็กและผู้สูงอายุ ทั้งนี้ได้มีองค์กรหนึ่งที่ให้ความช่วยเหลือและพยายามติดตามหาบุคคลที่สูญหายเหล่านั้น ซึ่งมักจะมุ่งติดตามเด็กเป็นส่วนใหญ่ มูลนิธิกระจกเงาเป็นองค์อันดับต้นๆ ที่จะมีคนนึกถึงและแจ้งเบาะแสเรื่องเด็กที่สูญหาย ด้วยสังคมปัจจุบันหันนิยมใช้โซเชียลมีเดียกันเป็นจำนวนมาก การขอความช่วยเหลือและแจ้งเบาะแสจึงนิยมใช้โซเชียลมีเดียเป็นตัวกลางในการติดตามเด็กที่สูญหาย แอพพลิเคชั่น ThaiMissing เป็นแอพพลิเคชั่นของมูลนิธิกระจกเงา ที่คำนึงถึงการใช้สื่อทางโซเชียลมีเดียเป็นตัวกลางและเป็นการเพิ่มช่องทางให้ประชาชนทั่วไปได้แจ้งเบาะแสต่างๆ และติดตามคนที่สูญหายโดยผ่านแอพพลิเคชั่นนี้การเริ่มต้นการใช้แอพพลิเคชั่น ThaiMissing จะสามารถเข้าใช้งานได้ 2 แบบ คือ แบบทั่วไปโดยไม่ทำการ log in และการเข้าใช้ระบบด้วยการ log in ผ่าน facebook การเข้าระบบผ่าน facebook จะช่วยให้สามารถใช้แอพพลิเคชั่นแจ้งเบาะแสได้ดีขึ้นและเป็นการยืนยันตัวตนของผู้แจ้งอีกด้วยภายในแอพพลิเคชั่นจะแบ่งออกเป็นหมวด ได้แก่ หมวดติดตามรายบุคคล จะเป็นข้อมูลต่างๆ ของบุคคลที่สูญหายว่ามีใคร และมีรายละเอียดอย่างไร นอกจากนี้ในหมวดนี้ยังมีปุ่มให้แจ้งเบาะแส สำหรับผู้ที่ทราบข้อมูลหรือพบเห็นบุคคลที่สูญหาย โดยการส่งเป็นข้อความหรือรูปภาพ และการแชร์สถานที่บริเวณที่พบเห็นบุคคลที่สูญหายได้ทันที หมวดข้อมูลเผยแพร่จะเป็นหมวดที่ให้ข้อมูล ข่าวสารที่น่าสนใจ ข้อควรรู้เกี่ยวกับบุคคลที่สูญหาย ส่วนอีกสองหมวด คือ หมวดติดตาม ซึ่งเป็นหมวดที่ผู้ใช้แอพพลิเคชั่นจะสามารถตั้งค่าแจ้งเตือนตนเองเมื่อมีบุคคลสูญหายภายในพื้นที่ที่ตนเองอาศัยอยู่ โดยมีจุดประสงค์เพื่อให้สามารถช่วยสังเกตเมื่อได้พบเห็นบุคคลที่สูญหายไปและแจ้งเบาะแสได้ทันถ่วงที และหมวดสมาชิกในครอบครัว ซึ่งจะเป็นหมวดที่มีไว้สำหรับแจ้งบุคคลภายในครอบครัวตนเองหรือคนรู้จักสูญหายไป การมีแอพพลิเคชั่นนี้ในสมาร์ทโฟน จะเป็นการช่วยเหลือสังคมและครอบครัวผู้อื่นโดยไม่ยุ่งยาก  เมื่อพบเห็นบุคคลที่คาดว่าเป็นบุคคลที่ติดตามค้นหาอยู่ก็สามารถแจ้งเบาะแสและแชร์สถานที่ที่พบเห็นได้ทันทีผ่านแอพพลิเคชั่น เพียงแค่ใช้การสังเกต ติดตามข้อมูลผ่านแอพพลิเคชั่นนี้ก็ถือว่าเป็นการช่วยเหลือสังคมได้อีกทางหนึ่ง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 170 เกือบหยุดหายใจเพราะใบสั่งยาของแพทย์

เมื่อป่วยสิ่งที่คิดเป็นอันดับแรกคือไปหาหมอ  เพื่อให้หมอรักษาอาการป่วยให้ดีขึ้น  เช่นเดียวกับน้าสมัย(นามสมมุติ) อายุ 79 ปี ที่ป่วยหลายโรค ทั้งโรคหัวใจ  เบาหวาน  ความดัน  เรียกได้ว่าโรคมาเป็น ชุดๆ ตามอายุที่สูงขึ้น    น้าสมัยไปหาหมอ หมอก็เขียนใบสั่งยาให้ไปรับยาที่ห้องยา  โดยน้าสมัย ไม่รู้เลยว่าหมอสั่งยาอะไรมาให้กิน   เมื่อได้ยามาก็กินตามคำแนะนำของหมอทุกประการ   แม้มีอาการเหนื่อยง่ายมากขึ้น ก็ไม่ได้สงสัยอะไร  คิดว่าเป็นไปตามวัย  จนกระทั่งหมอโรคหัวใจนัดไปพบอีกครั้งที่โรงพยาบาล  จึงได้ทราบว่าหัวใจเต้นอ่อนมาก เพียง 20-30  ครั้งต่อนาที   หมอสั่งให้นอนโรงพยาบาลทันที  พร้อมบอกว่า เป็นภาวะอันตรายมาก  คนไข้พร้อมจะสิ้นลมได้ทุกเวลา โดยเฉพาะเวลานอนหลับลูกๆ ของน้าสมัย ทุกข์ใจกันมาก ต้องลางานมาดูแลพ่อ ต้องผลัดกันเฝ้าตลอดเวลา เพราะกลัวว่าพ่อจะนอนแล้วไม่ตื่น     แต่ไม่มีใครรู้ว่าสาเหตุที่ทำให้หัวใจเต้นอ่อนมากอะไร   จนกระทั่งหมอโรคหัวใจเรียกลูกๆ ของน้าสมัยเข้าไปพูดคุย  พร้อมแจ้งว่าที่หัวใจเต้นอ่อนสาเหตุเพราะ  ยารักษาความดันที่หมอสั่งให้กิน  ไปกดให้หัวใจเต้นช้าลง  บวกกับน้าสมัยอายุมาก ทำให้อาการเป็นมากขึ้น  หมอจะสั่งยาตัวใหม่ให้นะ เมื่อเปลี่ยนยาอาการของน้าสมัยดีขึ้นทันตาเห็น  สรุปว่าที่น้าสมัยเกือบตายเพราะยาที่หมอสั่งให้กินนั่นเอง สิ่งที่สงสัยคือ  คนไข้อายุเกือบ 80 ปี หมอจะสั่งยาให้ทำไมไม่ระมัดระวังมากกว่านี้   การสั่งยาผิดหรือยาแรงเกินไป  จากหมอที่รักษาก็อาจกลายเป็นฆาตกรได้ง่ายๆ เช่นกัน   เคสนี้ใช้สิทธิราชการ (ซึ่งมักได้ยามากกว่าสิทธิอื่นๆ) การจะเรียกร้องความเสียหายทำได้ทางเดียวคือ”ต้องฟ้อง”(ไม่เหมือนสิทธิในระบบหลักประกันที่มีกองทุนชดเชยความเสียหายที่เกิดจากการรักษาพยาบาล) ซึ่งส่วนใหญ่ก็ปล่อยเลยตามเลยไม่เรียกร้องอะไร   ที่เขียนเรื่องนี้เพราะต้องการให้ผู้บริโภคพึงระมัดระวัง  และสอบถามหมอมากขึ้น ”ก่อนรับยาต้องกล้าถาม” เพราะเมื่อเกิดอันตรายถึงชีวิต ก็ไม่อาจเยียวยาได้   ดังนั้นเพื่อความปลอดภัยขอตัวท่านและคนใกล้ตัว โปรดระวังว่า  “ยา” มีคุณอนันต์ก็มีโทษมหันต์ เช่นกัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 164 กระเป๋าหาย แอร์เอเชีย หาคืนไม่ได้ ก็จ่ายให้คุ้มหน่อย

ทุกวันนี้สายการบินต้นทุนต่ำทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศนั้น มีการแข่งขันกันสูง ทุกเจ้าต้องต่อสู้กันทางธุรกิจทั้งด้วยราคาและบริการ เพื่อครองใจลูกค้าให้ได้ การลด แลก แจก แถม... ก็มีให้เห็นกันตลอด คุณนันท์นภัส ก็เป็นคนหนึ่งที่มีความจำเป็นต้องเดินทางทั้งในประเทศและต่างประเทศอยู่บ่อยๆ เธอจึงเลือกใช้บริการของ แอร์เอเชีย ซึ่งเป็นสายการบินต้นทุนต่ำ ที่ว่ากันว่าดีที่สุดในโลก(โฆษณาเขาว่ามาแบบนี้นะ)ย้อนกลับไปเมื่อประมาณเดือนมิถุนายน 2556  คุณนันท์นภัส โทรศัพท์เข้ามาร้องเรียนต่อศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคว่า สายการบินแอร์เอเชียทำกระเป๋าเดินทางเธอหาย โดยเธอเล่าว่าเมื่อวันที่ 26  พฤษภาคม 2556  ขณะที่เธอไปทำงานกับสามีที่ประเทศสิงคโปร์ เธอเลือกที่จะใช้บริการสายการบินแอร์เอเชีย โดยเครื่องออกจากท่าอากาศยานซางฮี สิงคโปร์  เพื่อเดินทางกลับมาประเทศไทย เธอนำกระเป๋าโหลดเข้าเครื่องตามปกติ  แต่เมื่อถึงสนามบินดอนเมือง กระเป๋ากลับไม่ได้ตามออกมาด้วยคุณนันท์นภัสยืนรอที่สายพานลำเลียงกระเป๋าอยู่นานจนแน่ใจว่า ไม่มีกระเป๋าเดินทางของเธอแล้ว  เธอจึงสอบถามกับพนักงานของสายการบินทันที ว่าจะจัดการเรื่องนี้อย่างไร เพราะเธอมีกำหนดเดินทางต่อไปจังหวัดอุบลราชธานี  ประเทศลาว  มาเก๊า และอีกหลายที่อย่างต่อเนื่อง ก่อนที่จะเดินทางกลับประเทศมาเลเซีย ซึ่งเป็นที่พักของเธอ“ดิฉันพยายามติดต่อ สอบถามพนักงานของสายการบิน ตั้งแต่วันแรกที่หาย เพื่อขอให้ติดตามกระเป๋าคืนมาให้ได้โดยเร็ว เพราะในกระเป๋าเดินทางมีของใช้ส่วนตัวที่จำเป็นอยู่จำนวนมาก ซึ่งพนักงานก็ได้ยืนยันว่ากระเป๋าไม่หายแน่นอน เพราะยังมีเที่ยวบินจากสิงค์โปร์อีก 2 เที่ยวในวันนั้น โดยอ้างว่าเมื่อพบกระเป๋าเดินทางแล้วจะส่งคืนให้ดิฉันที่จังหวัดอุบลราชธานีในวันรุ่งขึ้นทันที” แต่พอถึงอุบลราชธานีแล้ว ก็ไม่มีการส่งมอบกระเป๋าคืนตามที่ว่าไว้แต่อย่างใด เธอหงุดหงิดมาก เพราะทุกครั้งเธอต้องเป็นฝ่ายพยายามสอบถามแล้วกับทางสายการบินตลอด แต่ไม่มีคำตอบและแทบไม่มีการติดต่อกลับ ต่อมาในวันที่ 19 มิถุนายน 2556  บริษัท แอร์เอเชีย โดยแผนกติดตามสัมภาระ ฝ่ายปฏิบัติการภาคพื้นดิน ได้มีหนังสือแจ้งคุณนันท์นภัสว่า สายการบินหากระเป๋าเดินทางของเธอไม่เจอ จึงขอแสดงความรับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหาย โดยอ้างข้อกำหนดและเงื่อนไขการบินของแต่ละสายการบิน ซึ่งในกรณีสัมภาระสูญหายสำหรับเส้นทางการบินระหว่างประเทศ กำหนดไว้ที่ 922 บาท ต่อ 1 กิโลกรัม เมื่อสัมภาระของคุณนันท์นภัส มีน้ำหนัก 15 กิโลกกรัม  คุณนันท์นภัส จึงมีสิทธิได้รับค่าชดเชยความเสียหายเป็นเงินจำนวน 13,830 บาทจากจดหมายฉบับดังกล่าว เธอเห็นว่า “ไม่เป็นธรรม” เนื่องจากในกระเป๋าเดินทางมีของใช้ที่จำเป็นและทรัพย์สินหลายอย่างที่มีมูลค่ารวมเกินกว่า 50,000  บาท ในเมื่อบริษัทไม่สามารถติดตามกระเป๋าเดินทางคืนมาได้ การเสนอจะชดใช้โดยอ้างกฎระเบียบที่กำหนดขึ้นเอง จึงเป็นการปฏิเสธความรับผิดชอบและการเอาเปรียบของผู้ประกอบการต่อผู้บริโภค ซึ่งจะเป็นแบบอย่างให้เกิดการเอาเปรียบกับผู้บริโภครายอื่นๆ อีกเป็นจำนวนมากในอนาคต  เธอจึงนำเรื่องเข้าร้องเรียนต่อศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เพื่อขอความช่วยเหลือ แนวทางแก้ไขปัญหา ภายหลังรับเรื่องร้องเรียน ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค ได้ออกหนังสือเพื่อขอให้บริษัทแอร์เอเชีย เยียวยาความเสียหายให้กับผู้บริโภค  แต่ก็ได้รับการยืนยันจากบริษัทว่า ได้พิจารณาเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นกับคุณนันท์นภัสแล้วเป็นเงิน 13,830 บาท ซึ่งไม่เป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคดังนั้นเมื่อไม่มีทางออกในการเจรจา คุณนันท์นภัส จึงจำเป็นต้องขอนำเรื่องเข้าสู่ศาล ด้วยการยื่นฟ้องบริษัท แอร์เอเชีย จำกัด เป็นคดีผู้บริโภค ต่อศาลแขวงดอนเมืองเมื่อฟ้องคดีแล้ว กระบวนการในคดีผู้บริโภคนั้น ศาลจะเน้นกระบวนการเจรจาไกล่เกลี่ย  สำหรับคดีนี้โดยใช้ชั้นเจรจาไกล่เกลี่ยคู่กรณีทั้งสองฝ่าย พยายามหาข้อยุติร่วมกันในการเจรจาประนีประนอม แต่ก็ไม่สามารถหาจุดร่วมที่ตกลงกันได้เมื่อคดีมีแนวโน้มจะต้องตัดสินให้มีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งถูกผิดด้วยคำพิพากษา แต่ผู้ตัดสินเห็นว่ายังมีแนวโน้มที่จะตกลงกันได้ จึงได้พยายามหาทางไกล่เกลี่ยกันอีกครั้ง  โดยในครั้งนี้มีผู้ตัดสินเข้าร่วมการเจรจาด้วย  เบื้องต้นคุณนันท์นภัส ยืนยันถึงข้อเสนอให้บริษัทชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงินจำนวน 30,000  บาท พร้อมให้บริษัททำการขอโทษถึงความผิดพลาดที่เกิดขึ้น  แต่เพื่อให้การเจรจาสามารถดำเนินการต่อไปตามคำแนะนำของผู้ตัดสิน            คุณนันท์นภัสและบริษัท แอร์เอเชีย จึงสามารถบรรลุข้อตกลงในการเจรจากันได้ คือ บริษัท แอร์เอเชีย ยินดีชำระค่าเสียหายให้แก่ผู้เสียหายเป็นเงินจำนวน 25,000 บาท พร้อมปลอบใจด้วยบัตรโดยสารเส้นทางภายในประเทศไปและกลับจำนวน 1 ที่  และบริษัทยินดีรับจะนำเรื่องที่เกิดขึ้นทั้งหมดไปปรับปรุงแก้ไขการบริการให้ดีขึ้นต่อไป คุณนันท์นภัส ยินยอมรับข้อเสนอนี้ เรื่องจึงเป็นอันยุติลงในชั้นศาล ด้วยการจบคดีแบบประนีประนอมยอมความแม้ว่าผลของคดีนี้จะไม่ได้จบลงด้วยคำพิพากษาเพื่อให้เป็นคดีตัวอย่าง ตามที่คุณนันท์นภัสคาดหวังไว้ในตอนแรก แต่การจบลงด้วยการเจรจาไกล่เกลี่ย  ก็สามารถชี้ให้เห็นถึงแนวทางการแก้ไขปัญหากรณีลักษณะนี้สำหรับผู้บริโภครายต่อๆ ไปได้ว่า หากใครเจอปัญหาแบบนี้แล้วเจรจาตกลงกันไม่ได้  ให้เตรียมหลักฐานที่เกี่ยวข้องมาฟ้องศาลได้เลย อย่าได้กลัวหรือคิดว่าจะเสียเวลา เพราะการพิทักษ์สิทธิตนเองเป็นสิ่งสำคัญ อย่างน้อยการเจรจาไกล่เกลี่ยที่ศาล ก็สามารถสร้างแรงกดดัน เพิ่มอำนาจการต่อรองให้กับบริษัทผู้ให้บริการต้องชดเชยความเสียหายคืนได้เหมือนคดีนี้ได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 161 รถหาย! ถูกฟ้องเรียกค่ากุญแจ

พี่คะ  “แม่หนูถูกฟ้อง  ทำยังไงดี ”   คำถามของคุณจิราภรณ์ ที่ซื้อรถยนต์มือสอง ยี่ห้อ TOYOTA ซึ่งจัดไฟแนนท์กับ  กับบริษัท อยุธยา แคปปิตอล ออโต้ ลีส จำกัด (มหาชน) โดยใช้ชื่อคุณแม่ เพราะตนเองเพิ่งทำงานและพักอยู่กับแม่ที่ ปทุมธานี  ปลายปี 54  เกิดวิกฤติน้ำท่วมครั้งใหญ่ ทำให้ต้องอพยพทั้งข้าวของและรถยนต์มาพักบ้านพี่สาวแถวงามวงศ์วาน ทำให้บ้านคับแคบข้าวของต้องวางไว้นอกบ้าน จนจอดรถไม่ได้  เลยต้องนำรถไปจอดไว้ข้างทาง เหมือนที่ชาวบ้านทั่วไปเค้าจอดกัน  โดยล็อกพวงมาลัย ล็อกเบรก และล็อกกุญแจประตูรถยนต์  ตามที่จะสามารถล็อกได้ จอดไว้ได้ประมาณเกือบปี  รถหาย!ในวันเดียวกันกับที่ทราบเรื่อง น้องรีบพาแม่ไปแจ้งความ  ตำรวจแนะนำให้ไปขอหนังสือมอบอำนาจเพราะไม่ใช่ผู้ถือกรรมสิทธิ์รถแจ้งความเองไม่ได้  ตนเองกับแม่ก็รีบไปขอหนังสือฉบับนั้นทันที  แล้วรีบมาดำเนินการแจ้งความร้องทุกข์เพื่อให้ตำรวจทำคดีอีกครั้ง จัดการเรื่องนี้เสร็จก็ทำหนังสือถึงไฟแนนท์ขอหยุดชำระทันที  ถูกไฟแนนท์เรียกเก็บค่าธรรมเนียมไปอีก 500  บาท ตนเองเสียดายรถยังคิดที่จะตามหารถ โดยโพสต์ Facebook บ้าง ไปตามที่มีแหล่งข่าวว่ารถน่าจะถูกขายแถวไหนบ้าง ก็ไม่พบ เรื่องเงียบหายไปปีกว่า  อยู่ๆ แม่ก็ได้รับหมายศาลถูกไฟแนนท์ฟ้องเป็นจำเลย คดีผิดสัญญา  ไฟแนนท์เรียกให้คืนรถ หรือคืนเงิน  ชาวบ้านอย่างเรา จะสู้เค้ายังไง  มีแต่กุญแจ ไม่มีรถ  ไม่มีเงิน  จะหาทนายช่วยอย่างไร  ได้มาปรึกษากับมูลนิธิฯ เพื่อขอความช่วยเหลือ แนวทางแก้ไขปัญหา เนื่องจากพยานหลักฐานของผู้ร้อง ที่มีอยู่ครบถ้วน  เช่น หลักฐานการแจ้งความที่มีรายละเอียดครบถ้วน, หนังสือบอกกล่าวให้บริษัท อยุธยาฯ  รับทราบว่ารถหายไม่ขอชำระค่างวด และใบเสร็จรับเงินค่าธรรมเนียมการหยุดใช้รถ ภาพถ่ายต่างๆ เช่น การโพสต์ใน Facebook เพื่อตามหารถยนต์ของตนเอง สถานที่จอดรถ เป็นต้น   โดยแนวทางการต่อสู้คดีนั้น ชี้ให้เห็นว่า “รถหายมิได้เกิดจากความประมาทของผู้ซื้อ  และผู้ซื้อต้องรับผิดชอบค่าเสียหายหรือเบี้ยปรับหรือค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการทวงถาม การติดตามรถ ค่าทนายหรือค่าอื่นใด เพียงเท่าที่เจ้าของได้ใช้จ่ายไปจริงตามความจำเป็นและมีเหตุผลอันสมควร” อีกทั้งบริษัทฯ ทราบดีอยู่แล้วว่ารถยนต์คันเช่าซื้อสูญหายไป โดยการแจ้งของผู้ร้อง ตามหลักฐานที่ผู้ร้องมี แล้วยังนำคดีมาฟ้อง โดยไม่คำนึงถึงความเสียหายที่คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งจะได้รับ ถือเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคโดยไม่เป็นธรรม คดีนี้ได้ขอให้ศาลยกฟ้อง    ภายหลังการพิจารณาคดี  ศาลชั้นต้น พิพากษายกฟ้อง คดีนี้บริษัทฯ ได้ยื่นอุทธรณ์   คงต้องตามกันต่อไปว่าจะสิ้นสุดอย่างไร //

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 147 ตีค่าราคามนุษย์ เยียวยาความเสียหายหรือเอาเงินฟาดหัว?

วันที่ 17 เมษายน 2556 วันสุดท้ายของโครงการ 7 วันอันตราย ตามนโยบายของรัฐบาลบนถนนสายหนึ่งในกรุงเทพมหานคร  หนุ่มสาวยังคงสนุกสนานกับการเล่นน้ำ ยิ่งรถติดยิ่งสนุกโครม!! เสียงรถเมล์สาย 15 ชนกับท้ายรถยนต์คันหนึ่ง แต่ไม่รุนแรงมากนัก ไม่มีใครได้รับบาดเจ็บ จึงมีการถ่ายผู้โดยสารจากรถเมล์ที่เกิดอุบัติเหตุมายังรถเมล์สายเดียวกันที่แล่นตามมา เมื่อรวมผู้โดยสารทั้งหมดมาอยู่ในคันเดียวกัน ทำให้เกิดความแออัดยัดเยียดเบียดกันมาถึงบริเวณด้านหน้ารถติดคนขับ“ผู้โดยสารด้านหน้าช่วยเขยิบด้วยครับ ผมมองกระจกข้างไม่เห็น” เสียงลุงคนขับรถเมล์ตะโกนบอกแต่ด้วยเสียงเครื่องยนต์ที่ดังทำให้ผู้โดยสารคนนั้นไม่ได้ยิน ลุงคนขับจึงขยับตัวเอื้อมมือไปสะกิดผู้โดยสารคนที่ยืนบังกระจกมองข้าง โดยที่รถยังแล่นด้วยความเร็ว และเรื่องไม่คาดคิดก็เกิดขึ้นโครม!!! ลุงคนขับล้มลง ทำให้มือที่จับพวงมาลัยอยู่นั้น หักเข้าชนต้นไม้ข้างทางเข้าอย่างจัง ผู้โดยสารได้รับบาดเจ็บกว่า 20 รายวันที่ 23 เมษายน 2556 บริษัทประกันภัยที่รับทำประกันไว้กับรถเมล์คันที่เกิดเหตุ ได้นัดผู้โดยสารที่ได้รับบาดเจ็บมาเจรจาค่าเสียหาย วันนั้นเป็นวันธรรมดาผู้บาดเจ็บแต่ละคนต้องลางานมา  เมื่อผู้จัดการบริษัทประกันภัยมาถึง“เอ้า .. ใครก่อนดีครับ?” ผู้จัดการบริษัทประกันภัยตะโกนร้องเรียกเหมือนมาแจกของที่โรงทาน“ชั้นก่อนละกัน เดี๋ยวต้องรีบไปเปิดร้านขายของต่อ” หญิงคนหนึ่งยกมือแสดงตัว “300 พอมั้ย” ผู้จัดการคนนั้นเสนอตัวเลข โดยไม่ถามถึงความเสียหาย หรืออาการบาดเจ็บเลยแม้แต่น้อย“บ้าเหรอ  300  ชั้นหน้าบวมปูดไปตั้งหลายวันนะ ไปทำงานก็ไม่ได้ ชั้นมีใบเสร็จนะ”“ใบเสร็จนี้มันใช้ไม่ได้ มันไม่ได้ลงวันที่ .. เอางี้ ผมให้ 1,000 บาท จบเรื่องเลย ถือว่าผมช่วยละกัน” ผู้จัดการคนเดิมตอบ“ 1,000 ก็ได้ ชั้นกลัวเสียเวลา” หญิงคนนั้นตอบเมื่อตกลงตัวเลขเงินค่าเสียหายกันได้ด้วยวิธีแบบที่ว่ามา ผู้จัดการบริษัทประกันภัย จะส่งเรื่องให้ลูกน้องอีก 2-3 คน ดำเนินการเรื่องการประนีประนอมยอมความ และจัดการให้ผู้เสียหายแต่ละรายลงลายมือชื่อยอมให้รับเงินและไม่ติดใจเอาความทางคดีทั้งแพ่งและอาญาต่อไป จากนั้นผู้จัดการบริษัทประกันภัยก็ทำสิ่งที่เรียกว่า การเจรจาเพื่อเยียวยาความเสียหายแก่ผู้บาดเจ็บ” แบบเดิมซ้ำๆ จนครบทั้ง 20 คนคำถามคือ มาตรฐานการชดเชยเยียวยาของประกันภัยในอุบัติเหตุรถโดยสารอยู่ตรงที่ไหน? อยู่ที่ความเขี้ยวของตัวแทนประกัน หรือควรอยู่บนที่ตั้งแห่งความเสียหายที่เกิดขึ้น แนวทางแก้ไขปัญหาดร.สุเมธ  องกิตติกุล  แห่งสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(ทีดีอาร์ไอ) ได้ทำการศึกษา “อุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะ : ผลกระทบ การประกันภัย การชดเชยเยียวยา” ร่วมกับ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และ ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน ได้เปิดเผยว่า การชดเชยเยียวยาต่อผู้ประสบอุบัติเหตุจากระบบประกันภัยนั้นพบว่า วงเงินค่าเสียหายยังไม่มีความเหมาะสมเท่าที่ควรนอกจากนั้น ยังพบปัญหาการขาดการเชื่อมโยงระหว่างบริษัทประกัน ผู้ประกอบการ และผู้ประกอบการที่ถือใบอนุญาตอย่างบริษัท ขนส่ง จำกัด(บขส.) และองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ(ขสมก.)  และบทบาทของบริษัทประกันมีอยู่น้อยในการสร้างระบบตรวจสอบ และป้องกันการเกิดอุบัติเหตุรถโดยสารจากการกำหนดเบี้ยประกัน ดังนั้นจึงเสนอให้มีการกำกับดูแลผู้ประกอบการ ทั้งผู้ประกอบการที่ถือใบอนุญาตและผู้ประกอบการที่ร่วมบริการอย่างเข้มงวด รวมถึงให้เข้มงวดในการให้ใบอนุญาตที่พิจารณาถึงประวัติด้านอุบัติเหตุด้วย นอกจากนี้ยังต้องสร้างกลไกของบริษัทประกันภัยในการกำหนดเบี้ยที่สะท้อนความเสี่ยงของผู้ประกอบการแต่ละรายด้วยนอกจากนี้ ดร.สุเมธได้เสนอให้มีการปรับปรุงเงินชดเชยเยียวยาความเสียหายสำหรับ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 หรือประกันภัยภาคบังคับที่รถยนต์ทุกคันต้องทำ โดยให้ความคุ้มครองค่ารักษาพยาบาลจากไม่เกิน 15,000 บาท เพิ่มเป็นไม่เกิน 150,000 บาท ส่วนค่าชดเชยกรณีเสียชีวิตหรือทุพพลภาพอย่างถาวร ให้กับจาก 200,000 บาทเพิ่มขึ้นเป็น 400,000 บาท และหากสูญเสียอวัยวะหรือพิการ ที่มีผลต่อการดำเนินชีวิตควรปรับให้ได้รับเงินช่วยเหลือเบื้องต้น 240,000 บาทและระบบประกันภัย ควรปรับปรุงแก้ไขอุปสรรคปัญหาในการเรียกร้องค่าเสียหายของผู้ประสบอุบัติเหตุ ได้แก่ ความล่าช้าในการพิสูจน์ถูก-ผิด และค่าใช้จ่ายในการเดินทาง การติดต่อประสานงานที่ไม่มีใบเสร็จ ทำให้ใช้เรียกร้องค่าเสียหายได้ยากด้วย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 142 การเรียกความเสียหายในอุบัติเหตุรถโดยสาร

ตีหนึ่งครึ่ง ของคืนวันที่ 11 ตุลาคม 2554รถทัวร์สองชั้นของบริษัท ทรัพย์ไพศาลทัวร์ รับผู้โดยสารรวม 40 ชีวิต จาก จ.พัทลุง มุ่งหน้าเข้ากรุงเทพฯ แล่นมาถึงเขต อ.ท่าแซะ จ.ชุมพร ผู้โดยสารที่ยังไม่หลับเห็นว่าข้างหน้าเป็นทางแยก อ.ท่าแซะ มีรถบรรทุก รถทัวร์หลายคันจอดติดไฟแดงอยู่ แต่แทนที่รถทัวร์ที่โดยสารมา ซึ่งกำลังแล่นเข้าโค้งลงเนินก่อนถึงทางแยกจะชะลอความเร็วของรถลง และดูเหมือนว่าคนขับพยายามเบรกรถแต่รถกลับไม่เบรกดังใจ จึงตัดสินใจหักพวงมาลัยหลบรถด้านหน้า ทำให้รถทัวร์ขนาดสองชั้นพุ่งขึ้นเกาะกลางถนนพลิกคว่ำในชั่วพริบตาผู้โดยสารที่อยู่ในรถ ทั้งผู้หญิง ผู้ชาย และเด็ก ต่างร้องขอความช่วยเหลือระงม หลายรายได้รับบาดเจ็บ แขนขาหัก ศีรษะแตก เนื้อตัวมีบาดแผลถลอก เจ้าหน้าที่กู้ภัยได้เร่งเข้าช่วยเหลือผู้โดยสารออกจากตัวรถที่ล้มคว่ำตะแคง บางรายยังติดอยู่ในตัวรถ เจ้าหน้าที่กู้ภัยต้องใช้เครื่องตัด ถ่าง ตัดตัวถังรถเพื่อช่วยชีวิตของผู้โดยสารอย่างทุลักทุเลกรรณิการ์ เป็นหนึ่งในผู้โดยสาร เธอได้รับบาดเจ็บเจียนตายหากไม่ได้รับการรักษาจากแพทย์อย่างทันท่วงที หลังเข้ารับการรักษาพยาบาล แพทย์ตรวจพบอาการบาดเจ็บหลายแห่ง กระดูกซี่โครงหัก 5 ซี่ แทงปอดฉีกขาด ต้องใส่สายระบายของเสีย กระดูกเบ้าตาขวาแตก ต้องแย็บแผลรอบดวงตา 3 เข็ม กระดูกสะบักขวาและกระดูกแขนขวาหักสะบั้น เส้นประสาทโดนทำลาย 3 เส้น จนไม่สามารถใช้แขนและมือหยิบจับสิ่งของได้ตามปกติ เขียนหนังสือหรือพิมพ์ดีดไม่ได้ เวลานอนต้องนอนหงายอย่างเดียว  เธอรู้สึกว่า ร่างกายเหมือนถูกบดแทบจะเป็นผุยผง นี้เป็นภาพชีวติหนึ่งของผู้โดยสาร 40 ชีวิต อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นในดึกคืนนั้นทำให้มีผู้บาดเจ็บ 33 ราย และเสียชีวิตถึง 7 ราย แนวทางแก้ไขปัญหากรรณิการ์ ติดต่อร้องขอความช่วยเหลือมาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เพื่อขอเรียกความเสียหายจากบริษัทรถและบริษัทประกันภัยที่เกี่ยวข้อง แต่ไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไรเมื่อเกิดขึ้นอุบัติเหตุ ใครหลายคนมักทำอะไรไม่ถูก มีคำแนะนำเพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติดังนี้ผู้โดยสารที่ประสบอุบัติเหตุจนได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต แม้จะมีสิทธิบัตรทอง บัตรข้าราชการ หรือสิทธิอื่นใด อย่าเพิ่งไปใช้ให้ใช้สิทธิตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 (พ.ร.บ. รถฯ) ก่อนเป็นลำดับแรก ความคุ้มครองที่จะได้รับ คือ1. ค่ารักษาพยาบาล ที่เกิดขึ้นจริงรายละไม่เกิน 5 หมื่นบาท เงินส่วนนี้โรงพยาบาลที่ผู้ประสบภัยไปรับการรักษาจะเป็นผู้ทำเรื่องรับแทน2. ค่าปลงศพ กรณีที่มีการเสียชีวิต ให้ทายาทโดยธรรม เช่น พ่อ-แม่ หรือคู่สมรส ติดต่อขอรับจากบริษัทประกันภัยซึ่งรถที่เกิดเหตุแต่ละคันทำประกันภัยตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 (พ.ร.บ.รถ) เช่นเดียวกัน จำนวนรายละ 2 แสนบาท (ทั้งนี้รวมค่ารักษาพยาบาลที่เกิดขึ้นก่อนเสียชีวิตด้วยหากมี) ค่าใช้จ่ายจำนวนนี้รวมไปถึงกรณีสูญเสียอวัยวะ หรือทุพพลภาพอย่างถาวรด้วย3. เงินชดเชยรายวันกรณีต้องนอนรักษาตัวในโรงพยาบาล วันละ  200 บาท  รวมกันไม่เกิน 20 วัน (ค่าใช้จ่ายส่วนนี้ ตัวแทนบริษัทประกันมักไม่บอกให้ทราบ และโรงพยาบาลไม่ได้ยุ่งเกี่ยวด้วย ผู้ป่วยจึงควรเบิกเสียให้ครบ อย่างน้อยๆ ก็มีมูลค่าถึง 4,000 บาท )ความคุ้มครองตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 (พ.ร.บ. รถฯ) ผู้เสียหายไม่ว่าจะเป็นตัวผู้โดยสารเองหรือทายาท สามารถติดต่อขอเบิกได้จากบริษัทประกันภัยซึ่งรถโดยสารที่เกิดเหตุแต่ละคันจะต้องทำประกันภัยนี้ไว้เนื่องจากเป็นประกันภัยภาคบังคับ หากมีปัญหาสะดุดติดขัดประการใด ให้ติดต่อไปที่สายด่วนประกันภัย 1186 หรือติดต่อ บริษัท กลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด โทร 0-2100-9191ทีนี้ ยังมีความเสียหายอื่นๆ อีก ที่ผู้โดยสารที่ประสบอุบัติเหตุควรได้รับการชดเชยจากบริษัทรถและบริษัทประกันภัย แต่ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถฯ ดูแลเฉพาะค่ารักษาและค่าปลงศพซึ่งจำกัดวงเงินไว้ในระดับหนึ่ง ดังนั้น ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นเพิ่มเติม ผู้เสียหายสามารถเรียกร้องได้จากกรมธรรม์ประกันภัยรถภาคสมัครใจที่รถโดยสารคันนั้นมีอยู่ หากไม่มีกรมธรรม์ในส่วนนี้ก็ให้เรียกร้องโดยตรงกับบริษัทเจ้าของรถโดยสารและบริษัทขนส่งจำกัดได้ ความเสียหายที่สามารถเรียกได้จากประกันภัยรถภาคสมัครใจหรือจากบริษัทรถ กรณีบาดเจ็บ กรณีเสียชีวิต - ค่ารักษาพยาบาลที่เกินจาก พ.ร.บ.รถ- ค่าเสียความสามารถในการประกอบการงานในอนาคต- ค่าเสียหายอย่างอื่นที่มิใช่ตัวเงิน- ค่าขาดประโยชน์ทำมาหาได้ระหว่างเจ็บป่วย - ค่าความเสียหายต่อทรัพย์สิน - ค่าขาดไร้อุปการะ - ค่าปลงศพ- ค่าใช้จ่ายอันจำเป็น- ค่าขาดประโยชน์ทำมาหาได้ก่อนตาย- ค่าขาดการงานในครัวเรือน ข้อควรระวัง ให้ระมัดระวังการลงลายมือชื่อรับค่าสินไหมทดแทนเบื้องต้นจากบริษัทรถยนต์หรือบริษัทประกันภัย หากมีเงื่อนไขในเอกสารการรับเงินหรือเอกสารข้อตกลงใด ๆ ว่า ให้ยินยอมรับเงินค่าเสียหายโดยไม่ติดใจเอาความกับบริษัทรถยนต์ เจ้าของบริษัทรถยนต์ บริษัทประกันภัย หรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอื่น ๆ ในกรณีที่การเจรจาค่าเสียหายยังไม่เป็นที่ยุติ แต่หากผู้เสียหายได้ลงลายมือชื่อยินยอมไปแล้ว จะทำให้ไม่สามารถนำเรื่องฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายกับศาลได้ ในกรณีของคุณกรรณิการ์ มูลนิธิฯได้แนะนำให้รวบรวมความเสียหายที่เกิดขึ้นจริงทั้งหมดและตีมูลค่าออกมาเป็นตัวเงิน คุณกรรณิการ์ได้สรุปรวมตัวเลขที่ต้องการเรียกร้องกับบริษัทประกันภัยเป็นจำนวนเงินรวม 5 แสนบาท และยื่นข้อเสนอไปที่บริษัทประกันภัย ซึ่งบริษัทประกันภัยเจรจาต่อรองลดเหลือ 450,000 บาท คุณกรรณิการ์ตกลง เรื่องจึงเป็นอันยุติในขั้นตอนการเจรจาไกล่เกลี่ย ไม่ต้องเสียเวลาเทียวไปเทียวมาที่สถานีตำรวจหรือไปฟ้องร้องต่อศาล

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 131 ตื่นเถิด กกพ.

หลังเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ ที่ส่งผลให้มีผู้คนเดือดร้อนเสียหายจำนวนมาก  และที่สำคัญคือมีผู้เสียชีวิต ด้วยเหตุถูกไปช้อตตาย 100 กว่าคน ถือว่ามีคนตายด้วยเหตุนี้มากที่สุดในโลก  พูดถึงไฟฟ้า วันนี้ผู้เขียนมีเรื่องที่เกี่ยวกับไฟฟ้าที่น่าสนใจมาเล่าสู่กันฟัง  เอาตั้งแต่โครงสร้างไฟฟ้าในบ้านเรา  ประเทศไทยเรามี พรบ. กำกับกิจการพลังงาน(ที่กำกับโครงสร้างทั้งราคาและบริหารน้ำมันไม่ได้เพราะเขียนกฎหมายยกเว้นน้ำมันไม่ให้อยู่ใน พรบ.นี้) เรามีกระทรวงพลังงาน(ที่กำลังวุ่นวายกรณีจะลอยตัวราคาแก๊ส) แต่น่ามหัศจรรย์มาก เพราะกระทรวงพลังงานดูแลได้แค่ ปตท. และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตเท่านั้น    ส่วนการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคและการไฟฟ้านครหลวงขึ้นอยู่กับกระทรวงมหาดไทยจะไม่ให้ว่ามันมหัศจรรย์ได้อย่างไร  ในเมื่อนโยบายกระทรวงพลังงานเป็นผู้ดูแล  แต่การบริหารจัดการมหาดไทยดูแล  โอ้ย...ยิ่งคิดยิ่งซับซ้อนเอา...มาเข้าเรื่องที่จะคุยวันนี้ดีกว่า   เรื่องมีอยู่ว่ามีกรณีผู้ใช้ไฟฟ้า ที่มีเหตุอันที่ทำให้ไปจ่ายค่าไฟฟ้าไม่ตรงเวลา แล้วถูกตัดไฟ   เมื่อไปจ่ายเงินและขอให้มาต่อมิเตอร์ไฟฟ้า  ผู้ร้องต้องเสียค่าต่อไฟฟ้า 107 บาท(บวกภาษี) ซึ่งเป็นที่รู้กัน แต่ก็มีกรณีซ้อนกรณีเข้ามาอีกนั่นคือ ไฟฟ้ายังไม่โดนตัดแต่ไปจ่ายไฟฟ้าเลยกำหนดก็ถูกเรียกเก็บ 107 บาท เช่นกัน   ซึ่งกรณีนี้มีผู้ร้องเรียนว่าเมื่อไฟฟ้ายังไม่ได้ไปตัดไฟ  ก็ยังไม่มีค่าใช้จ่ายแล้วมาเรียกเก็บเงินเขาค่าอะไร เรื่องนี้มีการร้องเรียนไปถึงคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานแห่งชาติ(กกพ.)  จนนำไปสู่การทำข้อตกลงร่วมกันระหว่าง กกพ.และไฟฟ้า  ว่าไฟฟ้าจะเรียกเก็บ 107 บาทได้เฉพาะกรณีมีการตัดไฟฟ้าจริงแล้วเท่านั้น(ไฟฟ้าไม่ดับปรับ 107 ไม่ได้) มีผลบังคับใช้ตั้งแต่กลางปี 2554  ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี  แต่เหตุการณ์ไม่เป็นเช่นนั้น   ฝ่ายปฏิบัติ(การเงิน)ของการไฟฟ้าในหลายที่(ตามข้อมูลร้องเรียน)ยังเก็บเงิน107 บาท โดยไม่สนใจว่าไฟฟ้าจะถูกตัดหรือไม่ตัด   ยึดเพียงวันที่ตามบิลเรียกเก็บเงินเป็นหลักหากเลยวันที่กำหนดเรียกเก็บทันทีป้าอ้วน(คนที่มาร้องเรียนและเป็นคณะกรรมการผู้ใช้พลังงานประจำเขตด้วย)เล่าให้ฟังว่า “ฉันเถียงเขาว่าฉันออกจากบ้านมาไฟฟ้าที่บ้านฉันยังไม่ถูกตัดเลย ทำไมมาเก็บเงินฉัน  ก็กกพ.มีข้อตกลงกับไฟฟ้าแล้วว่าไฟฟ้ายังไม่ถูกตัดจะไม่เก็บ 107 บาท”   เจ้าหน้าที่ตอบกลับมาว่าไม่สนใจข้อตกลงอะไรทั้งนั้นทำตามหน้าที่ไม่พอใจไปฟ้องร้องเอาผู้เขียนในฐานะประธานผู้ใช้พลังงานเขต  จึงได้ทำหนังสือไปหารือกับ กกพ.ถึงข้อตกลงที่ไฟฟ้าไม่ปฏิบัติตามก็ได้คำตอบว่า กกพ.ได้ทำหนังสือไปถึงการไฟฟ้าแล้ว 3 ฉบับ ในขณะที่มีเรื่องร้องเรียนเรื่องนี้เข้ามาอย่างต่อเนื่อง   รายใดร้องเรียนก็จะได้เงินคืนรายใดไม่ร้องก็เสียเงินฟรี  เราก็ทำหนังสือกระตุ้นเข้าไปอีก  เพื่อให้ กกพ.ที่มีหน้าที่กำกับดูแลทำงานตามหน้าที่ ที่ต้องทำ  ไม่ใช่เข้ามานั่งเสวยสุขกันไปวันๆขอแรงพวกเราช่วยกันร้องเรียนและเฝ้าระวังให้องค์กรที่มีหน้าที่ ได้ทำงานตามหน้าที่(กันบ้าง?) คิดถึง พรบ.องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค จัง เมื่อไหร่จะคลอดเสียที.. จะได้มาช่วยดันก้น องค์กรเหล่านี้ให้ทำงานได้จริงๆ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 127 แสนสิริแพ้คดีบ้านไม่ได้มาตรฐาน ชดใช้ค่าเสียหายกว่า 2 แสนบาท

 ที่มาที่ไปของเรื่องนี้เริ่มต้นเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2548ในวันนั้น ด้วยความชื่นชมหลงใหลในแบบบ้านและคำโฆษณาของโครงการบ้านเศรษฐศิริ-รามอินทรา ซึ่งรับประกันคุณภาพด้วยชื่อเสียงของบริษัท แสนสิริ จำกัด(มหาชน) คุณสุริยุ  และครอบครัวได้ตัดสินใจทำสัญญาซื้อบ้านหนึ่งหลังจากโครงการฯ ราคา 6,690,000 บาท พร้อมรับประกันการซ่อมแซม 1 ปีเมื่อรับโอนกรรมสิทธิบ้านกันเรียบร้อย คุณสุริยุก็ฮัมเพลง “บ้านคือวิมานของเรา” ขนข้าวของและพาสมาชิกครอบครัวเข้าพักอาศัยด้วยหัวใจอิ่มเอิบสมหวังแต่อยู่มาไม่นานสมาชิกของบ้านหลังนี้ก็ค่อยๆ พบว่า บ้านมีจุดชำรุดบกพร่องหลายแห่งผู้เสียหายได้พบว่า บ้านราคาเหยียบ 6.7 ล้านบาทหลังนี้มีความชำรุดบกพร่องหลายแห่งเวลาฝนตกหนักๆ น้ำรั่วเข้าห้องแม่บ้านทุกครั้ง ทำให้วอลเปเปอร์และเฟอร์นิเจอร์ในห้องได้รับความเสียหายเมื่อช่วยดูกันดีๆ พบว่าน้ำฝนรั่วเข้าทางวงกบประตูและหน้าต่าง ส่วนหลังคาด้านระเบียงบ้านชั้นล่างก็มีน้ำฝนรั่วซึม นอกจากนี้ยังมีการแตกร้าวของปูนตามผนังรอบตัวบ้าน ผนังบันไดและรั้วบ้าน มีการแตกร้าวของประตูห้องนอนและห้องน้ำ และยังพบว่าขนาดของประตูไม่มาตรฐานตามที่ใช้ในท้องตลาดต้องสั่งทำพิเศษ ส่วนชานบันไดชั้นสองช่างติดตั้งไม่ได้มาตรฐานเวลาเดินมีเสียงดังออดแอด พอขึ้นไปดูชั้นสอง พื้นชั้นสองปูด้วยไม้วีเนียร์ ปูไม่แน่นทำให้เวลาเดินพื้นจะยุบตัวลงและมีเสียงดัง ขณะที่ตามรายการวัสดุมาตรฐานท้ายสัญญาจะซื้อจะขายระบุว่าต้องเป็นพื้นไม้ปาร์เก้ แต่ที่เป็นเรื่องใหญ่ที่สุดซึ่งมาพบในภายหลัง คือ มีการก่อสร้างบ้านผิดแบบแปลนจากที่ได้ทำสัญญาตกลงกัน จึงทำให้เกิดปัญหาต่างๆ ที่ว่ามา เนื่องจากแบบแปลนบ้านไม่ตรงนั่นเอง คุณสุริยุ จึงได้แจ้งให้บริษัทฯ เข้ามาซ่อมแซมและแก้ไข ซึ่งบางแห่งก็สามารถซ่อมแซมได้  แต่บางแห่งซ่อมแซมแล้วอาการยังเป็นเหมือนเดิม คุณสุริยุได้แจ้งบริษัทฯ มาตลอดเพื่อให้ซ่อมแซมอาการชำรุดให้แล้วเสร็จ แต่บริษัทฯไม่ดำเนินการแก้ไข  และพยายามผัดวันประกันพรุ่งมาตลอดท้ายสุด จึงตัดสินใจนำเรื่องยื่นฟ้องบริษัท แสนสิริฯ เป็นคดีผู้บริโภคที่ศาลแขวงมีนบุรีด้วยตนเอง เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน  2552   ฐานผิดสัญญา เรียกค่าเสียหายเป็นเงิน  258,448  บาท  และขอให้ศาลมีคำสั่งให้บริษัทฯ ต้องส่งมอบแปลนบ้านที่ถูกต้องให้ด้วย หรือหากส่งมอบไม่ได้ให้ชดใช้ราคาเป็นเงิน  20,000 บาทแทนฝ่ายบริษัทแสนสิริที่ตกเป็นจำเลย ได้ยื่นคำให้การต่อสู้คดีปฏิเสธความรับผิด โดยอ้างว่าการก่อสร้างเป็นไปตามแบบแปลนและยกเรื่องอายุรับประกันบ้านขึ้นต่อสู้ว่าการรับประกันการซ่อมเนื่องจากการก่อสร้างนั้นมีกำหนดระยะเวลาถึงวันที่ 27 พฤศจิกายน 2549  เท่านั้น และยังอ้างว่าบ้านชำรุดบกพร่องเกิดจากการใช้งาน หรือการเสื่อมสภาพตามธรรมชาติของวัสดุซึ่งเจ้าของบ้านมีหน้าที่ต้องดูแลระมัดระวังและบำรุงรักษาในระหว่างการใช้งาน จึงขอปฏิเสธค่าเสียหายที่เรียกมา ขอชดใช้ค่าเสียหายเพียง 30,000 บาทศาลแขวงมีนบุรีได้นัดไกล่เกลี่ย 3 ครั้ง ในช่วงเดือน มกราคม , มีนาคม และ พฤษภาคม 2553  ทั้งสองฝ่ายไม่สามารถตกลงกันได้ ศาลจึงนัดสืบพยานจำเลยและสืบพยานโจทก์ในวันที่ 24-25 กุมภาพันธ์ 2554แม้การฟ้องคดีผู้บริโภค ผู้บริโภคจะสามารถฟ้องคดีด้วยตนเองได้โดยไม่ต้องใช้ทนายความ แต่เมื่อถึงขั้นที่ต้องพิจารณาคดีมีการสืบพยานกัน ผู้บริโภคส่วนใหญ่ก็ไปไม่เป็นเหมือนกัน คุณสุริยุจึงร้องมาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเพื่อขอความช่วยเหลือ แนวทางแก้ไขปัญหาเรื่องมาถึงขั้นนี้ จำเป็นต้องส่งผู้บริโภคให้ถึงฝั่ง มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจึงต้องจัดหนักทนายความจากศูนย์ทนายความอาสาเพื่อผู้บริโภคของมูลนิธิฯ ได้เข้าช่วยเหลือผู้บริโภครายนี้ในการพิจารณาคดี  และมีการสืบพยานเสร็จสิ้นในวันที่ 1 เมษายน 2554 วันที่ 26 พฤษภาคม 2554 คือวันประกาศชัยของผู้บริโภคศาลนั่งบัลลังก์อ่านคำพิพากษาตัดสินให้บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้บริโภคเป็นเงิน 196,674.18 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี นับถัดจากวันที่ฟ้องเมื่อ 3 พฤศจิกายน 2552 จนกว่าจะชำระเสร็จ และให้ส่งมอบแบบแปลนที่ถูกต้องให้แก่ผู้บริโภค  หรือถ้าไม่ส่งมอบก็ให้ใช้ราคาค่าจ้างเขียนแบบแปลนใหม่แทนจำนวน  20,000  บาท  พร้อมให้บริษัทจ่ายค่าทนายความจำนวน 5,000 บาท แทนผู้บริโภคด้วย ถือเป็นคำพิพากษาที่ค่อนข้างจัดหนักเช่นกัน บริษัท แสนสิริ ในฐานะจำเลยไม่อุทธรณ์  ยอมชดใช้ค่าเสียหายให้ผู้บริโภคทั้งหมดที่ศาลมีนบุรีในวันที่ 7 กันยายน 2554“รู้สึกพอใจคำพิพากษาอย่างมากที่ทำให้ผู้ประกอบการรู้ว่า  ไม่ควรเอาเปรียบผู้บริโภค  และคิดว่ากระบวนการทางกฎหมายเอื้อประโยชน์ให้กับผู้บริโภคใช้สิทธิได้อย่างเต็มที่  และขอบคุณมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคที่ให้ความช่วยเหลือด้านคดีโดยจัดหาทนายความให้  และสนับสนุนให้มีองค์กรที่เป็นประโยชน์ให้อยู่คู่กับผู้บริโภคต่อไป” คุณสุริยุกล่าวด้วยความซาบซึ้ง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 121 ลูกค้า 3BB เจ็บแล้วอย่าแค่จำ

หากไม่ได้ใช้บริการและมีความเสียหาย ฟ้องคดีผู้บริโภค ดีที่สุดจากกรณีที่บริษัท ทริปเปิลทรี อินเทอร์เน็ต จำกัด ซึ่งเป็นผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง 3BB ได้ตัดสัญญาณอินเทอร์เน็ตโดยไม่ได้รับอนุญาตจากหน่วยงานกำกับดูแล ทำให้ผู้ใช้บริการได้รับความเดือดร้อนทั่วประเทศไม่น้อยกว่า 12,000 รายการกระทำของบริษัท ทริปเปิลทรีฯ ที่ยกเลิกการให้บริการมาตั้งแต่ต้นเดือนมกราคมโดยไม่ได้แสดงความรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นกับผู้ใช้บริการทั่วประเทศ ถือเป็นการกระทำที่ขาดจริยธรรมทางการค้าเป็นอย่างยิ่งที่สังคมควรร่วมกันประณามและมีมาตรการลงโทษ ที่สำคัญยังเป็นการกระทำผิดทั้งด้านสัญญาและการโฆษณา คือนอกจากจะไม่ให้บริการตามสัญญาทั้งๆ ที่มีการเรียกเก็บเงินค่าบริการไปแล้ว ยังมีการละเมิดสิทธิของผู้บริโภคด้วยการโฆษณาโดยใช้ข้อความที่เป็นเท็จหรือเกินความจริง ด้วยการใช้ข้อความว่า “ต้องได้ทุกที่ ทุกแห่ง... ทั่วประเทศ 6 MB” ถือเป็นการกระทำผิดต่อผู้บริโภคที่ชัดแจ้งเป็นอย่างยิ่ง แนวทางแก้ไขปัญหาในขณะที่กำลังรอหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการแก้ไขปัญหา แต่ขณะนี้พบว่าผู้ใช้บริการจำนวนมากที่ถูกระงับสัญญาณอินเทอร์เน็ตมาตั้งแต่ต้นเดือนมกราคม โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบธุรกิจต่างได้รับความเสียหายกันโดยถ้วนหน้า โดยที่ยังไม่มีการช่วยเหลือเยียวยาใดๆ จากผู้ให้บริการรายนี้เลย เห็นว่าผู้ใช้บริการควรมีมาตรการลงโทษบริษัท ทริปเปิ้ลทรีฯ ด้วยการใช้สิทธิฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายได้ และสามารถเรียกค่าเสียหายที่เกิดขึ้นจริงเป็นรายวันได้อีกด้วย โดยสามารถฟ้องเป็นคดีผู้บริโภคกับศาลยุติธรรมที่ประจำอยู่ตามจังหวัดต่างๆ ที่ผู้บริโภคได้รับความเดือดร้อนได้เลยเพราะถือว่าได้เกิดเหตุการผิดสัญญา ณ ที่จังหวัดนั้น โดยการยื่นฟ้องผู้บริโภคไม่ต้องเสียค่าฤชาธรรมเนียมใดๆ การฟ้องเป็นคดีผู้บริโภคนั้น ผู้บริโภคสามารถไปยื่นฟ้องด้วยตนเองได้โดยไม่จำเป็นต้องใช้ทนายความในขั้นตอนยื่นฟ้องก็ได้ เพราะศาลทุกแห่งจะจัดให้มีเจ้าพนักงานคดีคอยให้ความช่วยเหลือแก่ผู้บริโภคที่ต้องการใช้สิทธิฟ้องร้องเป็นอย่างดี นอกจากนี้ยังอาจขอให้ศาลใช้วิธีการคุ้มครองชั่วคราวด้วยการให้มีการเปิดสัญญาณอินเทอร์เน็ตแก่ผู้ใช้บริการได้ และกรณีนี้น่าจะเข้าข่ายการกระทำของผู้ประกอบธุรกิจที่มีเจตนาเอาเปรียบผู้บริโภคหรือจงใจให้ผู้บริโภคได้รับความเสียหาย ผู้บริโภคที่ยื่นฟ้องสามารถขอให้ศาลมีคำสั่งให้ผู้ประกอบธุรกิจจ่ายค่าเสียหายเพื่อการลงโทษเพิ่มขึ้นอีกได้“สำหรับผู้บริโภคที่มีความกังวลในการยื่นฟ้องด้วยตนเองสามารถติดต่อขอให้มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคช่วยเหลือดำเนินการได้โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายที่เบอร์โทรศัพท์ 02-2483734-7 หรือติดต่อที่ www.consumerthai.org”  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 118 นมยูเอชทีบูด จะเรียกค่าเสียหายได้หรือไม่

เที่ยงวันหนึ่งของเดือนพฤษภาคม 2553 ณ ห้างกาฬสินธุ์พลาซ่า จังหวัดกาฬสินธุ์คุณวัลภาซื้อผลิตภัณฑ์นมโฟร์โมสต์ ยูเอชที รสสตรอเบอรี่ ขนาด 225 ซีซี จำนวน 1 แพ็คกับห้างสรรพสินค้าแห่งนี้ เมื่อนำนมยูเอชทีกลับมาถึงบ้าน จึงได้นำไปแช่ในตู้เย็นเตรียมไว้ให้ลูกกินไม่นาน...ลูกชายคนเล็กวัย 3 ขวบของคุณวัลภา ได้หยิบนมจากตู้เย็นมาดื่ม เพียงแค่อึกแรกที่ดูดจากหลอด เจ้าตัวน้อยทำหน้าเบะหันไปบอกพี่สาวทันทีว่า “นมบูด”ลูกสาวคนโตของคุณวัลภาจึงนำนมกล่องนั้นเททิ้ง และบอกให้คุณวัลภาทราบว่าน้องคนเล็กเจอนมบูดหนึ่งกล่องในเย็นวันนั้นทันที คุณวัลภาไม่ได้ว่าอะไรคิดว่าอาจเป็นไปได้ที่นมจะเน่าเสียบ้าง ไม่อยากจะร้องเรียนให้เสียเวลาแต่พอวันต่อมา คุณวัลภาได้นำนมกล่องที่ซื้อมาเปิดดื่มด้วยตนเอง พบว่านมกล่องที่สองก็บูดเสียเช่นกัน เจอกับตัวเองแบบนี้ คุณวัลภาเริ่มเครียดนึกถึงตอนเจ้าตัวเล็กดื่มนมบูดเข้าใจอารมณ์ของลูกทันที เลยหยิบกล่องที่สามขึ้นมาดูดเพื่อพิสูจน์ว่าจะบูดอีกหรือเปล่า คุณวัลภาไม่ผิดหวัง เพราะดูดปั๊บรู้ทันทีว่าบูดเหมือนกัน คว้ากล่องที่สี่มาดูดอีก็บูดอีกคุณวัลภาดูดไปหน้าก็บูดเบ้ไปตามจำนวนกล่องนมที่เจาะดูดพิสูจน์ไปด้วย กว่าจะได้บทสรุปว่านมที่ซื้อมาจากห้างบูดเสียทั้งแพ็ค ใบหน้าคุณวัลภาในวันนั้นก็บูดเบ้เสียทรงไปมากทีเดียว เมื่อตรวจดูวันหมดอายุระบุ 11/11/10 หรือวันที่ 11 พฤศจิกายน 2553 ซึ่งยังไม่ถึงกำหนดหมดอายุ อีกหลายเดือนในขณะนั้น “ทีแรกคิดว่าช่างมันเถอะเพราะคงแค่บูดกล่องเดียว แต่นี่เป็นทั้งแพ็คเลย” คุณวัลภาจึงได้ไปแจ้งความไว้เป็นหลักฐาน และร้องเรียนกับศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค จังหวัดกาฬสินธุ์ เพื่อเรียกร้องให้บริษัทแสดงความรับผิดชอบ ก่อนที่ศูนย์ฯ แห่งนี้จะส่งเรื่องร้องเรียนมายังมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคให้ทำการช่วยเหลือผู้บริโภคต่อไป แนวทางแก้ไขปัญหาการที่นมปรุงแต่งซึ่งบรรจุอยู่ในกล่องที่ปิดสนิทเกิดการเน่าเสียก่อนถึงกำหนดวันหมดอายุ ปัญหานี้อาจเกิดจากการผลิต การบรรจุ หรือเก็บรักษาไว้โดยไม่ถูกสุขลักษณะ ซึ่งเป็นลักษณะของอาหารไม่บริสุทธิ์ตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.2522 ที่ห้ามไม่ให้ผู้ใดผลิต นำเข้าเพื่อจำหน่าย หรือจำหน่าย ผู้ที่ฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับมูลนิธิฯ จึงได้มีจดหมายถึงกรรมการผู้จัดการบริษัท ฟรีสแลนด์ ฟู้ดส์ โฟร์โมสต์(ประเทศไทย) จำกัด(มหาชน) ในฐานะผู้ผลิตและจัดจำหน่ายนม “โฟร์โมสต์” และกรรมการผู้จัดการบริษัท กาฬสินธุ์พลาซ่า จำกัด ในฐานะผู้จำหน่ายสินค้า ให้ร่วมกันตรวจสอบในปัญหาที่เกิดขึ้นและพิจารณาเยียวยาความเสียหายให้แก่ผู้บริโภค ซึ่งต่อมาผู้บริโภคได้พิจารณาเรียกร้องค่าเสียหายเป็นเงิน 5,000 บาทโดยหวังให้ผู้ประกอบธุรกิจจะได้มีความระมัดระวังในการผลิตและจำหน่ายสินค้าของตนให้มากยิ่งขึ้นไม่นานตัวแทนของ บริษัท ฟรีสแลนด์ ฟู้ดส์ โฟร์โมสต์ ได้นำผลิตภัณฑ์จำนวนหนึ่งไปมอบให้แก่ผู้ร้องเพื่อแทนคำขอบคุณสำหรับการแจ้งขอมูล ส่วนปัญหาที่เกิดขึ้นบริษัทฯ รับที่จะนำข้อมูลและตัวอย่างผลิตภัณฑ์ไปตรวจสอบหาสาเหตุของปัญหาที่เกิดขึ้น พร้อมทั้งยืนยันว่า บริษัทฯ ทำงานด้วยความตั้งใจที่จะมอบผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพและปลอดภัยแก่ผู้บริโภคอย่างเคร่งครัดทุกขั้นตอนด้วยระบบเครื่องมือตรวจสอบที่ทันสมัยผ่านการรับรองมาตรฐานคุณภาพต่างๆ ทั้ง GMP , HACCPs , ISO 9001 และ ISO 22000 และในเวลาต่อมา บริษัท ฟรีสแลนด์ ฟู้ดส์ โฟร์โมสต์ฯ ได้รับผิดชอบต่อข้อร้องเรียนของผู้บริโภคเพิ่มเติม ด้วยการจ่ายเงินเยียวยาความเสียหายให้แก่ผู้ร้องเรียนเป็นจำนวน 5,000 บาทผู้ร้องมีความพึงพอใจในการแก้ไขปัญหาของบริษัท ฟรีสแลนด์ ฟู้ดส์ โฟร์โมสต์ฯ จึงขอขอบพระคุณบริษัทฯ ผ่านทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ที่ประกอบธุรกิจอย่างมีคุณภาพ โดยได้ดูแลผู้บริโภคเป็นอย่างดีเมื่อมีปัญหาเกิดขึ้น

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 115 ประเทศไทย สองมาตรฐานจริงๆ

กว่าหนังสือเล่มนี้จะออกคงล่วงเลยเวลาที่มีบุคลากรทางการแพทย์แต่งชุดดำมาคัดค้าน พรบ.คุ้มครองผู้ได้รับความเสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข เราคงไม่บอกว่าการคัดค้านการสนับสนุนพรบ.ฉบับนี้ใครถูกใครผิด แต่มีประเด็นที่น่าคิดมากกว่านั้นคือ ประเด็นการคัดค้านของคุณหมอต่างๆ ที่ออกมาให้ข้อมูลกับสังคมว่า วันนี้ผู้ป่วยมากขึ้น หมอมีน้อย งานหนัก วัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ขาดแคลน เตียงรองรับคนไข้ไม่เพียงพอ มาตรฐานการให้บริการยังต้องพัฒนากันอีกมาก งบบริการจัดการองค์กรเป็นไปด้วยความยากลำบากเราเข้าใจและเห็นใจเป็นอย่างยิ่งเพราะมันเป็นเช่นนั้นจริงๆ และยอมรับว่าด้วยงานที่หนักมากทำให้เกิดความผิดพลาดเกิดขึ้นได้ ยกตัวอย่างจำนวนผู้ที่ได้รับความเสียหายที่มาขอรับเงินชดเชย ตามมาตรา 41 แห่ง พรบ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ในปี 2552 (ผู้ไม่รู้สิทธิยังมีอีกมาก)จำนวน 810 ราย ผ่านเกณฑ์ช่วยเหลือ 660 รายไม่ผ่าน 150 ราย(เป็นไปตามอาการของโรค)เสียชีวิต 340 ราย พิการ 97 ราย เจ็บป่วยต่อเนื่อง 219 ราย สปสช.จ่ายเงินชดเชยไปทั้งสิ้น 73 ล้านบาท(ยังไม่รวมประกันสังคมและราชการ)   นี่คือตัวเลขที่เกิดขึ้นจริง ซึ่งมีคนตายมากกว่าประเทศที่ทำสงครามอีก(อนิจจาระบบสาธารณสุขที่รักษาคนไทย)แต่อีกมุมหนึ่งในประเทศเดียวกัน เราก็เจรจาการค้าเสรีกับประเทศอื่นๆ โชว์สรรพคุณ คุณภาพมาตรฐานการบริสาธารณสุขที่โดดเด่นเป็นสากลไม่น้อยหน้าประเทศใดๆ ภายใต้ชื่อเมดดิคอลฮับ(ศูนย์กลางทางการแพทย์สากล) เกิดธุรกิจการแพทย์ ที่มีความพร้อมในการรองรับผู้ป่วยจากต่างประเทศ คุณภาพมาตรฐานการรักษาระดับ 5 ดาว ที่เจริญเติบโตอย่างไร้ขีดจำกัด มีการนำโรงพยาบาลเข้าตลาดหลักทรัพย์เพื่อปั่นมูลค่ากันมากมาย ถึงขนาดบางมหาวิทยาลัยเปิดหลักสูตรการแพทย์นานาชาติ เพื่อรองรับธุรกิจดังกล่าว จนเกิดเสียงเพรียกร้องจากประชาชน ที่ต้องการให้มหาวิทยาลัย ผลิตแพทย์มารักษาคนไทยให้เพียงพอก่อน แล้วค่อยคิดถึงคนต่างชาติ แต่หานำพาไม่จนมีคำถามที่ถามทีเล่นทีจริงว่าหากมีคนไทย(คนจน) กับคนต่างประเทศที่เจ็บเจียนตายเหมือนกัน โรงพยาบาลเอกชนจะเลือกรักษาใคร ? เออ..เนาะใครรู้ช่วยตอบหน่อยซิ กี่รัฐบาลมาแล้วที่ปล่อยปละละเลย..เรื่องนี้ แล้วสังคมไทยจะโทษหมอหรือบุคลากรทางการแพทย์ฝ่ายเดียวก็ไม่ได้เพราะคุณหมอก็ต้องทำงานบนข้อจำกัดมากมายเราอยากบอกคุณหมอดังๆ ว่าเราอยู่ข้างคุณหมอนะ เราเข้าใจความรู้สึกของคุณหมอ และเราก็เข้าใจความรู้สึกของผู้เสียหายเช่นกัน ก็ไม่รู้ว่าจะฝากเรื่องนี้ไว้ที่ใครดี คงต้องฝากคณะทำงานที่มีหน้าที่ปฏิรูปชุดต่างๆ ช่วยปฏิรูปเรื่องนี้ด้วย ไม่อย่างนั้นอาจต้องเขียนป้ายใหญ่ๆ ปิดไว้หน้าโรงพยาบาลว่า “การเข้ารับการรักษาพยาบาลในโรงพยาบาลนี้มีความเสี่ยงโปรดใช้วิจารณญาณในการเข้ารับการรักษา” ดีมั้ยท่านนา....ยกกกกก....

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 109 ผู้โดยสาร “นครชัยขนส่ง” ร้องกระเป๋าตังค์หาย

“ถ้าเป็นเงินของหนูเอง คงไม่ร้องหรอกค่ะ แต่เงินที่หายน่ะเป็นเงินของแม่ที่ขายมันสำปะหลังได้ 15,000 บาท แม่ฝากให้หนูเอาไปเข้าธนาคาร หนูสงสารแม่มาก หนูอยากได้เงินคืนค่ะ” เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในวันที่ 13 ตุลาคม 2552 วาสนาได้บอกลาผู้เป็นแม่เพื่อเดินทางกลับมาทำงานที่กรุงเทพฯ โดยแม่ได้ฝากเงินจำนวน 15,000 บาท ให้วาสนานำไปเข้าธนาคารในตัวเมืองจังหวัดนครราชสีมา วาสนาเก็บเงินจำนวนนั้นไว้ในกระเป๋าสตางค์และเก็บไว้ในกระเป๋าเป้สะพายอีกทีเวลาประมาณเที่ยงครึ่งของวันที่เกิดเหตุ วาสนาขึ้นรถโดยสารปรับอากาศ ป.2 ที่อำเภอพระทองคำบ้านเกิดซึ่งแล่นมาจากอำเภอเชียงคานมุ่งหน้าเข้าตัวจังหวัดนครราชสีมา เป็นรถของบริษัท นครชัยขนส่ง จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทเดียวที่วิ่งบริการในเส้นทางดังกล่าว“ตอนที่จะขึ้นรถ วาดจะสะพายเป้ขึ้นไปบนรถด้วย แต่พนักงานก็มาหยิบกระเป๋าที่วางอยู่ตรงเก้าอี้ตรงที่รอรถไป แล้วบอกว่าเอาไว้ข้างล่างนี่แหละ ข้างบนคนเยอะ”พูดจบพนักงานของรถก็นำกระเป๋าของวาสนาไปวางแหมะตรงที่เก็บกระเป๋าใต้ท้องรถ วาสนาจึงเอ่ยขอใบรับฝากกระเป๋า แต่พนักงานไม่ให้โดยให้เหตุผลว่าเป็นป้ายรายทางไม่ต้องมี แต่วาสนาจำได้ว่าทุกครั้งที่ขึ้นรถและมีการรับฝากกระเป๋าที่ผ่านมาก็จะได้รับใบรับฝากมาโดยตลอด แต่ต้องขึ้นรถไปเพราะโดนเร่ง และนั่งอยู่ในรถด้วยใจตุ้มต่อมพลางปลอบใจว่าคงไม่มีอะไรเพราะนั่งรถเข้าโคราชใช้เวลาไม่ถึงชั่วโมง พอรถแล่นมาถึง บขส.นครราชสีมา วาสนารีบลงไปรับกระเป๋า ปรากฏว่า “กระเป๋าเป้หายไปแล้ว”“เดินหาจนทั่วก็ไม่มี เลยไปขอให้บริษัทช่วยประชาสัมพันธ์ เขาก็ไม่ประชาสัมพันธ์ให้ จะไปขอดูกล้องวงจรปิดก็มีคนมาบอกว่าเขาคงไม่ให้ดู”วาสนา เดินตามหากระเป๋าของตัวเองจนค่ำมืด ไม่พบกระเป๋า และไม่ได้รับการช่วยเหลือจากบริษัทรถและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องใด ๆ ท้ายสุดจึงต้องไปแจ้งความไว้เป็นหลักฐานที่สถานีตำรวจแนวทางแก้ไขปัญหาถึงแม้ว่าจะมีข้อสันนิษฐานว่า วิญญูชนโดยทั่วไปมักจะเก็บสิ่งของมีค่าหรือกระเป๋าเงินไว้กับตัวไม่ยอมฝากไว้กับใครที่ไม่รู้จัก อย่างไรก็ดีเมื่อสืบค้นข้อมูลไปที่เว็บไซต์ของบริษัทขนส่งจำกัด(บขส.) พบว่ามีผู้โดยสารที่เก็บกระเป๋าสตางค์ไว้ในกระเป๋าเดินทางและฝากไว้ในที่เก็บของใต้ท้องรถอยูหลายรายเช่นกัน และพนักงานประจำรถของ บขส. ได้ให้ความช่วยเหลือผู้โดยสารติดตามคืนมาได้หลายรายจนมีการประกาศชื่อชมเชยพนักงานท่านเหล่านั้นก็เยอะแต่น่าเสียดายที่พฤติกรรมดี ๆ ของพนักงานเช่นนั้น ไม่ได้เกิดขึ้นกับพนักงานประจำรถในเที่ยวรถคันดังกล่าวของบริษัท นครชัยขนส่ง จำกัด ซึ่งกระทำผิดระเบียบของพนักงานหลายข้อด้วยกัน เช่น ผิดที่หนึ่ง คือ ไปหยิบดึงกระเป๋าของผู้โดยสารโดยที่ไม่ได้รับอนุญาตจากผู้โดยสาร ผิดที่สอง คือ รับฝากกระเป๋าผู้โดยสารแล้วไม่ออกใบรับฝากให้ผู้โดยสารเก็บไว้เป็นหลักฐาน ผิดที่สาม คือ ไม่ให้ความช่วยเหลือผู้โดยสารเมื่อได้รับการร้องขอ ผิดที่สี่ เมื่อผู้โดยสารร้องเรียนแล้วกลับเพิกเฉยทำเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้นจึงเป็นเรื่องที่บริษัทแห่งนี้ต้องรีบปรับปรุงการบริการของตนเองโดยด่วน ส่วนการเรียกร้องความเสียหายนั้นหากบริษัทยังเพิกเฉยต่อไป ผู้โดยสารมีสิทธิฟ้องเป็นคดีผู้บริโภคได้เช่นกันล่าสุดได้ข่าวแว่วว่า บริษัท นครชัยขนส่ง มีการปรับปรุงบริการในการรับฝากกระเป๋าด้วยการให้ใบรับฝากแก่ผู้โดยสารทุกราย และเวลารับกระเป๋าได้ให้ผู้โดยสารเข้ารับกระเป๋าอย่างมีระเบียบแล้ว เหลืออีกอย่างเดียวคือลองพิจารณาเยียวยาความเสียหายให้น้องวาสนาคนต้นเรื่องตามสมควรด้วยจักเป็นพระคุณยิ่ง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 108 รถหาย แต่ถูกขู่ว่ายักยอกทรัพย์

ในปัจจุบันต้องถือว่ารถจักรยานยนต์เป็นพาหนะที่ซื้อง่ายและหายก็คล่อง อย่างที่มีข่าวว่า มีการค้นพบสุสานโครงรถจักรยานยนต์ในคลองแห่งหนึ่งที่แก๊งค์ลักรถนำมาทิ้งไว้ ทำให้มีคำถามเข้ามามากว่า เมื่อรถหายแล้วผู้บริโภคที่เช่าซื้อรถคันนั้นมาจะต้องผ่อนกุญแจรถต่อไปหรือไม่ คำถามนี้มีคำตอบครับคุณนฤมลได้ร้องเรียนมาว่า ได้ทำสัญญาเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ 1 คัน ในราคา 41,000 บาท กับบริษัท อิออน ธนสินทรัพย์(ไทยแลนด์) จำกัด(มหาชน) โดยตกลงชำระเป็นงวด 36 งวด ๆ ละ 1,750 บาท คุณนฤมลได้ชำระมาถึงงวดที่ 19 ปรากฏว่ารถจักรยานยนต์สุดที่รักถูกขโมยหายไป ได้แจ้งความกับตำรวจไว้เป็นหลักฐานแล้ว แต่ปรากฏว่าบริษัทอิออนได้มีเอกสารมาแจ้งให้คุณนฤมลชำระเงินต่อให้หมดอีก 17 งวดที่เหลือ คุณนฤมลพยายามต่อรองขอส่วนลดกับอิออนโดยขอชำระส่วนที่เป็นเงินต้นที่ค้างอยู่ แต่ทางอิออนบอกว่า ไม่ได้ ต้องจ่ายให้หมด ไม่เช่นนั้นจะฟ้องร้องข้อหายักยอกทรัพย์อ้าว...! ไหงเป็นอย่างนี้ล่ะ คุณนฤมลร้อง อุตส่าห์ยอมที่จะผ่อนกุญแจรถให้แต่กลับถูกกล่าวหาว่าเป็นโจรไปเสียนี่ จึงอยากจะให้ทางมูลนิธิ ช่วยแนะนำแนวทางแก้ไขปัญหาว่าตามกฎหมายแล้ว ในฐานะผู้บริโภคจะสามารถจ่ายในส่วนของเงินต้นที่ค้างอยู่ได้หรือไม่ เพราะตอนนี้ฐานะทางการเงินของครอบครัวไม่ดีนัก รายรับไม่แน่นอน จึงอยากจะเก็บสะสมเงินก้อนเพื่อนำไปจ่ายหนี้สินให้กับทางอิออนให้หมดไป มารดาจะได้ไม่ต้องทุกข์ใจเมื่อทางเจ้าหน้าที่โทรและส่งจดหมายมาข่มขู่ว่าจะดำเนินคดีในข้อหายักยอกทรัพย์ แนวทางแก้ไขปัญหาอันว่าสัญญาเช่าซื้อรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ ไม่ว่าจะเป็นของไฟแนนซ์หรือลิซซิ่งไหนก็แล้วแต่ จะต้องอยู่ภายใต้การควบคุมสัญญาตามประกาศเรื่อง ให้ธุรกิจให้เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ.2543 ซึ่งประกาศฉบับนี้ได้คุ้มครองผู้บริโภคไม่ต้องผ่อนค่ากุญแจต่อไปจนครบสัญญาในกรณีที่รถหรือรถจักรยานยนต์ที่เช่าซื้อสูญหาย ถูกทำลาย ถูกยึด ถูกอายัด หรือถูกริบโดยมิใช่ความผิดของผู้เช่าซื้อ เพราะถือว่าสัญญาเช่าซื้อได้ระงับลงแล้วเมื่อทรัพย์สินที่เช่าซื้อได้สูญหายไปดังนั้น หากผู้บริโภคมั่นใจว่าการสูญหายของรถนั้นไม่ได้เกิดมาจากความประมาทหรือความจงใจของตนก็ให้ไปแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจโดยทันที และให้ส่งสำเนาหลักฐานการแจ้งความไปให้อิออนครับ ส่งทางไปรษณีย์ตอบรับ เก็บตัวจริงไว้เป็นหลักฐาน หากจะมีการกล่าวหาว่าผู้บริโภคเป็นผู้ยักยอกทรัพย์ที่เช่าซื้อนั้นเองฝ่ายผู้กล่าวหาก็ต้องมีพยานหลักฐานที่ชัดเจนเช่นกันครับ  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 100 ตกร่องน้ำในห้างดัง เรียกค่าเสียหายได้หรือไม่

พื้นที่ในห้างสรรพสินค้าถือเป็นพื้นที่ของเอกชนที่เปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไปเข้าใช้บริการได้ตามเวลาที่กำหนด ซึ่งเจ้าของพื้นที่มีหน้าที่ต้องดูแลรับผิดชอบความปลอดภัยให้กับผู้ใช้บริการอย่างเหมาะสม หากวันใดคุณเกิดอุบัติเหตุหกล้มหัวร้างข้างแตกเพราะทางห้างมิได้จัดอุปกรณ์ป้องกันภัยให้เหมาะสม ในฐานะผู้ใช้บริการสามารถใช้สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายได้ในเวลาเย็นย่ำของวันที่ 12 มกราคม 2550 ระหว่างที่คุณสุดา กำลังเดินทางจากกรุงเทพฯ เพื่อไปยังจังหวัดลำปาง เธอได้ขับรถยนต์แวะเข้าไปใช้บริการที่ห้างบิ๊กซีซูปเปอร์ สาขาลำปาง เพื่อซื้อเครื่องใช้ส่วนตัว ครั้นซื้อสินค้าเสร็จสิ้นและกำลังเดินทางกลับมาขึ้นรถที่บริเวณลานจอดรถ ตรงทางสามแยกปรากฏว่ามีรถยนต์คันหนึ่งวิ่งตรงมาตามทางเดินรถที่ไม่มีลูกระนาดด้วยความเร็วในระยะประชิด คุณสุดาตกใจเกรงว่าตนจะถูกรถชน จึงก้าวขึ้นไปบนเกาะกลางถนนที่ไม่มีไฟฟ้าส่องสว่างเพื่อหลบรถยนต์ที่วิ่งเข้าใส่“เฮ้อ....” คุณสุดา ถอนหายใจด้วยความโล่งอกที่ไม่ต้องถูกรถมาเชี่ยวชน เพื่อความปลอดภัยเธอจึงตัดสินใจหลบไปอีกด้านหนึ่งและก้าวลงจากเกาะกลางถนนด้านที่มืดสลัว โดยไม่ทันได้สังเกตว่าจุดที่ก้าวเท้าเหยียบลงไปนั้นเป็นร่องรางน้ำรูปตัววีที่ไม่มีฝาปิด ทำให้เท้าทั้งสองข้างลื่นไถลตกลงร่องรางน้ำรูปตัววีต่างระดับนั้นและเสียหลักลื่นล้มลงอย่างแรง กระดูกข้อเท้าขวาหลุดและแตกหัก อาการหนักพอดู....หลังเกิดเหตุคุณสุดาถูกนำตัวส่งเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลเขลางค์นครราม-ลำปาง แต่ถึงอาการจะหนัก เธอยังพอมีสติที่จะถามเรื่องที่เกิดขึ้นกับตัวแทนของห้างฯที่มาเยี่ยม “เอ่อ..ทางห้างฯ ต้องขอยอมรับกับสภาพที่เกิดเหตุที่มีปัญหาและจะเร่งแก้ไขนะครับ และสำหรับความเสียหายที่เกิดขึ้นทางห้างฯ จะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมดเองครับ โดยเราขอให้คุณพักรักษาตัวที่ลำปางนี้นะครับ” ตัวแทนของห้างแจ้งให้ทราบ ในขณะที่คุณสุดายังไม่ได้คิดอะไร เพราะมึนกับอาการบาดเจ็บวันต่อมาคุณสุดา ครุ่นคิดในใจหลังได้ปรึกษากับญาติและทีมแพทย์ของโรงพยาบาลพระมงกุฎฯที่กรุงเทพ ที่แนะนำให้มาฟื้นฟูร่างกายที่กรุงเทพฯ จะดีกว่า เนื่องจากเธอเป็นคนสูงอายุและไม่ใช่คนในพื้นที่ การที่ญาติจะมาดูแลย่อมเป็นเรื่องที่ลำบาก เธอจึงตัดสินใจแจ้งกับตัวแทนของห้างฯ เพื่อขอย้ายตัวมารักษาฟื้นฟูร่างกายที่กรุงเทพฯ แทน “ทางเรายังคงขอให้คุณรักษาตัวที่นี่ต่อไปนะครับ ห้างฯ สาขาลำปางไม่สามารถรับผิดชอบค่าใช้จ่ายนอกพื้นที่จังหวัดลำปางได้ครับ แต่ยังไงต้องขอนำข้อเสนอนี้กลับไปเรียนผู้บริหารอีกครั้งก่อน และจะแจ้งกลับมาให้ทราบอีกครั้งครับ “ ตัวแทนระดับหัวหน้าผู้ดูแลลูกค้าแจ้งให้ทราบคุณสุดา เฝ้ารอคำตอบจากห้างอยู่สองวันก็ยังไม่มีคำตอบใดๆ จึงตัดสินใจเดินทางเพื่อมารักษาตัวต่อที่โรงพยาบาลพระมงกุฎฯ กรุงเทพฯ ตามคำแนะนำของญาติและแพทย์ผู้ทำการผ่าตัดในเวลาเดียวกัน คุณโสภณเพื่อนของคุณสุดาที่อยู่ลำปางนั้นได้เข้าพบตัวแทนของห้างระดับผู้บริหารเพื่อรับฟังคำอธิบายถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งคำอธิบายที่ได้รับฟังนั้นสอดคล้องกับหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริงของห้างที่มีถึงคุณสุดาว่า บริษัทมีความมั่นใจโดยสุจริตว่า บริษัทมิได้มีส่วนที่ต้องรับผิดชอบต่อความบาดเจ็บทั้งหมด.....”สรุปง่ายๆ คือ ความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้นคุณสุดาทำเองไม่เกี่ยวกับมาตรฐานความปลอดภัยของห้างฯ เลย และจากคำชี้แจงฉบับลายลักษณ์อักษรของห้างฯ นับเป็นการแสดงความรับชอบแต่ไม่รับผิด ในฐานะผู้ประกอบการที่ปราศจากความระมัดระวังในการให้บริการประชาชนผู้บริโภคที่เข้ามาใช้บริการแต่อย่างใดคุณสุดา จึงแจ้งเรื่องเข้ามาที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค เพื่อขอเรียกร้องสิทธิทางกฎหมายและความรับผิดชอบจากทางห้าง และอยากให้เป็นตัวอย่างหนึ่งของการสู้เพื่อพิทักษ์สิทธิผู้บริโภคแนวทางแก้ไขปัญหาศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ ร่วมกับศูนย์ทนายความอาสาเพื่อผู้บริโภค ได้ดำเนินการสรุปเรื่องและส่งฟ้องบริษัทบิ๊กซีซูปเปอร์เซ็นเตอร์เป็นจำเลยในคดีต่อศาลแพ่งกรุงเทพใต้ เรียกค่าเสียหายจำนวน 1,231,205 บาท ในประเด็นความผิดพลาดและความประมาทในฐานะผู้ประกอบการที่มีพื้นที่ให้ประชาชนจำนวนมากเข้าใช้บริการ ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายต่อร่างกายของผู้ใช้บริการศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้นมีเหตุผลอันควรที่ผู้ประกอบการต้องรับผิดชอบ จากความประมาทและผิดพลาดในการจัดการพื้นที่ภายในห้างสรรพสินค้า ศาลจึงมีคำพิพากษาให้บริษัทบิ๊กซีซูปเปอร์เซ็นเตอร์ในฐานะจำเลยต้องชดใช้ค่าเสียหายให้กับคุณสุดาเป็นเงินจำนวน 405,808.50 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5% นับแต่วันที่ละเมิดจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้น และดอกเบี้ยถึงวันฟ้องไม่เกิน 81,275 บาทภายหลังสิ้นสุดคดีในศาลชั้นต้น คู่ความทั้งสองฝ่ายต่างใช้สิทธิอุทธรณ์ต่อศาล ทั้งนี้จำเลยได้ขอใช้สิทธิทุเลาการบังคับคดีเพื่อไม่ให้ต้องชำระเงินให้แก่โจทก์ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ซึ่งศาลได้ให้โอกาสจำเลยในการนำหลักทรัพย์มาวางประกันต่อศาล แต่จำเลยกลับประวิงเวลาไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของศาลในการนำหลักทรัพย์มาวางประกันในชั้นทุเลาบังคับคดี ดังนั้นศาลอุทธรณ์ จึงมีคำสั่งยกคำร้องขอทุเลาบังคับคดีของจำเลยเสีย.... ซึ่งแสดงว่า โจทก์ในคดีนี้สามารถตั้งเรื่องยึดทรัพย์บังคับคดีจำเลยตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นได้ในระหว่างอุทธรณ์นั่นเอง.... เป็นเวลาเกือบสองปีสำหรับการต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิของคุณสุดา “ประเด็นสำคัญของการใช้สิทธิทางกฎหมายคือ เราอยากให้เรื่องนี้เป็นประเด็นสาธารณะ ให้สังคมได้รับรู้ในสิ่งที่ห้างสรรพสินค้าในฐานะผู้ประกอบการจะต้องมีความรับผิดชอบที่ดีต่อประชาชนผู้บริโภค ซึ่งถือว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งที่ถูกต้อง“ คุณสุดากล่าวทิ้งท้าย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 101 กระแสต่างแดน

น้ำขวดหรือจะสู้น้ำประปา บริษัทที่ขายน้ำดื่มในอเมริกานั้นทำกำไรได้ปีละหลายล้านเหรียญจากความเชื่อที่ว่าน้ำดื่มบรรจุขวดนั้นสะอาดบริสุทธิ์กว่าน้ำประปาบ้านๆ แต่หารู้ไม่ว่าการผลิตน้ำขวดดังกล่าวมีการควบคุมดูแลน้อยกว่าน้ำประปาด้วยซ้ำ รายงานที่นำเสนอในสภาคองเกรสของสหรัฐระบุว่าองค์การอาหารและยาของสหรัฐมีอำนาจน้อยมากในการกำกับดูแลความปลอดภัยของน้ำดื่มบรรจุขวด ในขณะที่ในบางมลรัฐที่พอจะมีอำนาจจัดการอยู่บ้างก็ให้ความสำคัญกับการควบคุมการผลิตน้ำประปามากกว่า บาร์ท สตูพัค ผู้แทนจากรัฐมิชิแกนบอกว่า คนอเมริกันยินดีจ่ายเงินซื้อน้ำบรรจุขวด ซึ่งมีราคามากกว่าน้ำจากก๊อกถึง 1,900 เท่า และใช้พลังงานมากกว่า 2,000 เท่าในการผลิตและการขนส่ง ในขณะที่มีน้ำดื่มบรรจุขวดถูกเรียกคืนเพราะมีการปนเปื้อนของสารหนู โบรเมท เชื้อรา และแบคทีเรีย อยู่เป็นระยะๆ ในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา   แม้แต่เดือนเมษายนที่ผ่านมาก็มีรายงานข่าวว่ามีเด็กนักเรียนนับสิบรายที่ป่วยหลังจากดื่มน้ำบรรจุขวดที่ซื้อจากตู้ขายน้ำอัตโนมัติ รายงานดังกล่าวยังระบุว่าองค์การอาหารและยาของสหรัฐไม่ได้ควบคุมปริมาณของสารประกอบ DEHP (ซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพ) ในน้ำดื่มบรรจุขวด ในขณะที่หน่วยงานที่ดูแลด้านสิ่งแวดล้อมมีการควบคุมปริมาณสารดังกล่าวในน้ำประปา แต่ทางสมาคมผู้ผลิตน้ำบรรจุขวดบอกว่า มีความเป็นไปได้น้อยมากที่จะมีสารนี้ในน้ำดื่มบรรจุขวดซึ่งผ่านการควบคุมมาหลายขั้นตอนแล้ว สมาคมฯ บอกว่าในปีที่ผ่านมา คนอเมริกันนั้นดื่มน้ำกันไปทั้งหมด 8,700 ล้านแกลลอน หรือ ประมาณคนละ 28.5 แกลลอน รายได้จากการขายน้ำดื่มบรรจุขวดในปีดังกล่าวสูงถึง 11,200 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณกว่า 380,000 ล้านบาท) ที่นี่ไม่มีน้ำขวดคราวนี้ข้ามทวีปมาที่ออสเตรเลียกันบ้าง มาดูปรากฏการณ์น่าสนใจที่เมืองบันดานูน ทางตะวันตกเฉียงใต้ของซีดนีย์ ประชากร (ซึ่งมีทั้งหมดประมาณ 2,500 คน) ของเมืองท่องเที่ยวแห่งนี้เห็นร่วมกันว่าควรจะกำจัดสิ่งที่เรียกว่า “น้ำดื่มบรรจุขวด” ออกไปจากเมืองเสียที เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากขั้นตอนการบรรจุขวดและการขนส่ง แต่ไม่ต้องกลัวว่าไปเที่ยวเมืองนี้แล้วจะไม่มีน้ำดื่มดับกระหายนะพี่น้อง เขามีขวดเปล่าเอาไว้ให้รองน้ำจากตู้กดน้ำที่ตั้งไว้ทั่วไปตามท้องถนนเอาไว้ดื่มกันให้เปรม ส่วนกับทางร้านค้านั้น เขาก็ไม่ได้บังคับขืนใจให้หยุดขายน้ำดื่มบรรจุขวดแต่อย่างใด ปล่อยให้เป็นความสมัครใจของร้านค้าต่างๆ ซึ่งมีอยู่ประมาณ 50 ร้าน การรณรงค์ครั้งนี้เกิดขึ้นเพราะมีบริษัทที่ชื่อว่า นอร์เล็กซ์ โฮลดิ้ง จะมาตั้งโรงงานเพื่อสูบเอาน้ำจากเมืองนี้แล้วส่งเข้าไปบรรจุขวดในโรงงานที่ซีดนีย์ ซึ่งอยู่ห่างออกไป 120 กิโลเมตร ผู้คนที่เมืองนี้คัดค้านแผนการดังกล่าว และขณะนี้บริษัทฯ ก็ยังอยู่ในระหว่างการอุทธรณ์ต่อศาล เป็นใครก็คงรับไม่ได้ ถ้าจะมีคนมาสูบน้ำไปจากบ้านเราแล้วเอาไปใส่ขวดกลับมาขายเราอีก การรณรงค์ของชาวเมืองบันดานูนนี้ถือว่าได้ผลทีเดียวเพราะรัฐนิวเซาท์เวลส์ก็รับลูกทันที ผู้ว่าการรัฐออกมาประกาศว่าต่อไปนี้ห้ามหน่วยงานของรัฐใช้เงินไปกับการซื้อน้ำดื่มบรรจุขวดเด็ดขาด คนออสซี่ก็ใช้เงินไปกับการซื้อน้ำดื่มบรรจุขวดไม่น้อย ถึงปีละ 500 ล้านเหรียญออสเตรเลีย (ประมาณ 13,000 กว่าล้านบาท) เลยทีเดียว ผู้หญิงเชิญตู้อื่น... นะครับใครจะไปนึกว่าวันหนึ่งคุณสุภาพบุรุษชาวญี่ปุ่นเขาจะออกมาเรียกร้องขอรถไฟตู้พิเศษสำหรับชายล้วน ในช่วงเวลาเร่งด่วนที่ต้องมีการเบียดเสียดกัน ทั้งนี้ทั้งนั้นไม่ใช่เพราะว่ากลัวจะโดนผู้หญิงแต๊ะอั๋งหรอกนะ แต่เป็นเพราะไม่อยากถูกกล่าวหาว่าไปลวนลามคุณสุภาพสตรีมากกว่า ก็รถมันแน่นซะขนาดนั้น จะทำตัวล่องหนก็วิทยายุทธ์ยังไม่แก่กล้าพอ จากข้อมูลของตำรวจญี่ปุ่น ในปี พ.ศ. 2550 มีคุณผู้ชายถูกจับข้อหาลวนลามสตรีเพศถึง 2,000 คนเลยทำให้บริษัทที่จัดการเรื่องรถไฟต้องมีการกำหนดให้ตู้โดยสารบางตู้เป็นเขตปลอดผู้ชาย ที่นี้เลยทำให้เกิดไอเดียสุดเจ๋งตามมา คือมีการขอตู้โดยสารสำหรับชายล้วนๆ บ้าง ผู้ที่เสนอไอเดียเรื่องตู้โดยสารสำหรับชายล้วนนี้ได้แก่ผู้ถือหุ้นจำนวนสิบคน (ข่าวไม่ได้ระบุว่าเป็นผู้ชายหรือผู้หญิง) ของบริษัทเซบุ โฮลดิ้ง ซึ่งเป็นผู้ประกอบการรถไฟในเขตโตเกียว ที่เสนอทางออกในการแก้ปัญหาหลังจากที่บริษัทได้รับเรื่องร้องเรียนจากคุณผู้หญิงจำนวนมากว่าถูกลวนลาม และในขณะเดียวกันก็ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้ชายที่ถูกกล่าวหาว่าไปลวนลามคนอื่นๆ ทั้งที่จริงแล้วไม่ได้ทำด้วย ว่าแล้วก็เลยเสนอว่าน่าจะจัดตู้พิเศษสำหรับชายล้วนด้วยมันถึงจะเท่าเทียม แต่คณะกรรมการเขาลงมติไม่รับข้อเสนอนี้ โดยให้เหตุผลว่าจนถึงขณะนี้มีผู้โดยสารชายออกมาโวยวายน้อยมาก ก็เลยต้องขอรบกวนให้นั่งตู้เดียวกับคุณผู้หญิงต่อไป งานนี้ไม่รู้ใครกลัวใครแล้ว ผิดด้วยหรือที่ไม่อยากโชว์แขน ร้านเสื้อผ้ายี่ห้อดัง อะเบอร์ครอมบี้แอนด์ฟิทช์ (Abercrombie & Fitch) ถูกพนักงานขายฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายเป็นเงิน 25,000 ปอนด์ หรือประมาณ 1.4 ล้านบาท โทษฐานที่เลือกปฏิบัติต่อเธอ พนักงานขายคนนี้ชื่อ เรียม ดีน เป็นนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยลอนดอน เธออายุ 22 ปีและใช้แขนเทียมมาตั้งแต่อายุ 3 ขวบ ตอนแรกที่รับเธอเข้าทำงานในตำแหน่งพนักงานขายนั้น ทางร้านอะเบอร์ครอมบี้ ในย่านหรูของลอนดอน อนุญาตให้ดีนใส่เสื้อแขนยาวเพื่อปกปิดแขนเทียมไว้ในขณะให้บริการลูกค้าได้ แต่ผ่านไปไม่กี่วันทางร้านก็บอกกับเธอว่าเธอต้องถอดเสื้อคลุมแขนยาวนั้นออกให้เหลือแต่เสื้อยืดตัวในเหมือนพนักงานคนอื่นๆ เมื่อเธอปฏิเสธที่จะทำเช่นนั้น จึงเท่ากับว่าเธอฝ่าฝืนนโยบายเรื่องการแต่งกายของบริษัท เธอจึงถูกย้ายเข้าไปทำงานในห้องเก็บสินค้า ทั้งนี้ผู้ใหญ่ของบริษัทให้เหตุผลว่าควรให้ดีนทำงานอยู่หลังร้านไปจนกว่าจะถึงฤดูหนาวที่พนักงานทุกจะได้ใส่เสื้อแขนยาวได้โดยไม่ผิดระเบียบ เมื่อมีข่าวเรื่องนี้ออกมา ทางร้านก็ปฏิเสธเสียงแข็งว่าดีนคงเข้าใจอะไรผิดไปแน่ๆ เพราะความจริงแล้วทางบริษัทมีนโยบายต่อต้านการเลือกปฏิบัติอย่างแข็งขันเลยทีเดียวนะ แต่ดีนอาจจะเข้าใจถูกก็ได้ เพราะในปี พ.ศ. 2547 เพียงปีเดียว บริษัทนิว อัลบานี เจ้าของแบรนด์ดังกล่าว ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่รัฐโอไฮโอ สหรัฐอเมริกา ก็เคยถูกฟ้องร้องเพราะการเลือกปฏิบัติ และต้องจ่ายเงินชดเชยให้กับพนักงานเป็นจำนวนถึง 50 ล้านเหรียญ (ประมาณ 1,700 ล้านบาท) มาแล้ว อัจฉริยะที่ไม่ค่อยฉลาดภายในปี พ.ศ. 2555 กว่า 1.3 ล้านครัวเรือนในนิวซีแลนด์ จะต้องติดตั้งมิเตอร์ไฟฟ้าอัจฉริยะ เพื่อช่วยให้เกิดการสื่อสารระหว่างผู้อยู่อาศัยกับบริษัทที่ให้บริการไฟฟ้า และช่วยให้ผู้บริโภคสามารถประหยัดเงินค่าไฟได้ นี่ย่อมเป็นเรื่องดีเห็นๆ แต่ปัญหามันอยู่ที่รัฐบาลปล่อยให้บรรดาผู้ให้บริการไฟฟ้า (ซึ่งในนิวซีแลนด์มีอยู่ถึง 11 บริษัท) เป็นผู้ที่รับผิดชอบติดตั้งมิเตอร์เหล่านี้กันเอง โดยไม่มีการควบคุมดูแล แจน ไรท์ กรรมาธิการด้านสิ่งแวดล้อมของรัฐสภานิวซีแลนด์ออกมาเปิดเผยว่า ขณะนี้บรรดาผู้ประกอบการเหล่านั้น พยายามหลีกเลี่ยงการตั้งการทำงานของมิเตอร์ดังกล่าวในทางที่จะเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค ซึ่งคุณไรท์ก็บอกว่าไม่น่าแปลกใจ เพราะการใช้ไฟมากขึ้นย่อมหมายถึงผลกำไรที่เพิ่มขึ้นสำหรับผู้ประกอบการนั่นเอง ความจริงแล้วมิเตอร์อัจฉริยะที่ว่านี้นอกจากจะทำให้บริษัทสามารถรู้ปริมาณการใช้ไฟของแต่ละครัวเรือนโดยไม่ต้องส่งคนมาเดินจดแล้ว ยังช่วยให้ผู้บริโภคประหยัดเงินและสามารถใช้ไฟฟ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ด้วยการแจ้งให้ผู้บริโภคทราบว่าอัตราค่าไฟในขณะนั้นเป็นเท่าไร และช่วงไหนเป็นช่วงที่มีการใช้ไฟฟ้ากันมาก โดยไมโครชิพในมิเตอร์จะทำหน้าที่ควบคุมอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าแบบอัจฉริยะที่จะมีออกมาจำหน่ายในอนาคตอันใกล้นี้ มิเตอร์ที่ว่าจะปิดเครื่องใช้ไฟฟ้าอัจฉริยะได้โดยอัตโนมัติ ในช่วงที่มีการใช้ไฟสูง แต่บริษัทกลับไม่ได้ใส่ไมโครชิพที่ว่าให้กับมิเตอร์ที่กำลังติดตั้งกันอยู่ในขณะนี้ให้กับ 800,000 ครัวเรือน และมิเตอร์เหล่านั้นก็ไม่มีระบบแสดงข้อมูลตามเวลาจริงเพื่อช่วยในการตัดสินใจของผู้บริโภคด้วย เช่น บางคนอาจจะยังเปิดเครื่องทำน้ำอุ่นในสระว่ายน้ำไว้เพราะไม่รู้ตัวว่าค่าไฟได้ขึ้นราคาไปแล้ว เป็นต้น คุณไรท์ตั้งคำถามว่า ถ้าไม่ติดตั้งไมโครชิพที่ว่านี้ ก็ไม่รู้ว่าจะทำอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าอัจฉริยะออกมาขายทำไม และถ้าจะติดตั้งเพิ่มในภายหลังก็จะมีค่าใช้จ่ายอีกถึง 60 ล้านเหรียญนิวซีแลนด์ (ประมาณ 1,300 ล้านบาท) อีกด้วย สรุปว่าถ้ารัฐบาลยิ่งปล่อยให้เป็นไปอย่างนี้ ก็จะยิ่งทำให้ผู้บริโภคต้องติดตั้งมิเตอร์อัจฉริยะที่ไม่ค่อยฉลาดกันไปโดยไม่รู้ตัว

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 175 ยังผ่อนไม่หมด แต่รถหาย ใครต้องรับผิดชอบ?

สวัสดีครับผู้อ่านทุกท่าน วันนี้เราจะมาพูดถึงเรื่องรถกันบ้าง หลายคนคงมีความจำเป็นต้องใช้รถ เพื่อไว้ทำงาน และความสะดวกในการเดินทาง แต่ก็มีบางคนที่ยังผ่อนค่ารถอยู่ วันดีคืนดีรถหายโดยที่ไม่ได้ตั้งใจ ตัวเองก็เดือดร้อนอยู่แล้ว เมื่อรถสุดที่รักถูกขโมยไป ยังซ้ำร้ายถูกบริษัทไฟแนนซ์ตามทวงเงินค่าเช่าซื้อรถอีก หลายท่านก็สงสัย รถก็ไม่ได้ใช้ ควรผ่อนต่อไปหรือหยุดจ่าย ทำไมเรายังต้องรับผิดชอบอีก ประเด็นดังกล่าวนี้ เคยมีบริษัทไฟแนนซ์ ยื่นฟ้องผู้บริโภคซึ่งเป็นผู้เช่าซื้อที่รถหายต่อศาล และศาลฎีกาได้ตัดสินไว้เป็นบรรทัดฐานอย่างสำคัญ คือ การที่รถหายไปนั้น มีผลให้สัญญาเช่าซื้อระงับไป ดังนั้นผู้บริโภคไม่จำเป็นต้องจ่ายเงินค่างวดรถนับแต่วันที่รถสูญหาย ดั่งที่ปรากฏในคำพิพากษา ดังนี้ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10417/2551สัญญาเช่าซื้อว่าเริ่มชำระงวดแรกวันที่ 25 เมษายน 2540 เช่นนี้ เมื่อผิดนัดชำระค่าเช่าซื้องวดที่ 9 จึงเป็นงวดประจำวันที่ 25 ธันวาคม 2540 แต่โจทก์นำสืบว่าจำเลยที่ 1 ผิดนัดงวดที่ 9 นับแต่วันที่ 15 พฤษภาคม 2541 แสดงว่าโจทก์ยอมรับชำระค่าเช่าซื้อไม่ตรงตามงวดที่ระบุในสัญญา เช่นนี้ถือว่าโจทก์ จำเลยที่ 1 ไม่ถือเอากำหนดระยะเวลาการชำระค่าเช่าซื้อเป็นสาระสำคัญ หากโจทก์ประสงค์จะเลิกสัญญาจะต้องบอกกล่าวให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อภายในระยะเวลาอันควรก่อน การที่โจทก์บอกเลิกสัญญาเช่าซื้อทันทีเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2541 จึงไม่ชอบรถยนต์ที่เช่าซื้อได้สูญหายไปจริงก่อนโจทก์มีหนังสือบอกเลิกสัญญา และเนื่องจากสัญญาเช่าซื้อเป็นสัญญาเช่าทรัพย์รวมกับคำมั่นว่าจะขายทรัพย์สินที่ให้เช่า สัญญาเช่าซื้อจึงเป็นสัญญาเช่าทรัพย์ประเภทหนึ่ง เมื่อรถยนต์ที่เช่าซื้อสูญหาย สัญญาเช่าซื้อย่อมระงับไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 567 ดังนี้ สัญญาเช่าซื้อระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จึงเลิกกันนับแต่วันที่ 26 มีนาคม 2541 ซึ่งเป็นวันที่รถยนต์ที่เช่าซื้อสูญหาย เมื่อข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าการสูญหายเป็นเพราะความผิดของจำเลยที่ 1 โจทก์จะฟ้องเรียกค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระอยู่นับแต่วันที่รถยนต์ที่เช่าซื้อสูญหายไม่ได้ แต่ตามสัญญาเช่าซื้อ ข้อ 4. กำหนดให้ผู้เช่าซื้อต้องรับผิดเกี่ยวกับค่าเสียหายจากการใช้การเก็บรักษาทรัพย์ที่เช่าซื้อแม้เป็นเหตุสุดวิสัย และตามข้อ 7. ได้กำหนดให้ผู้เช่าซื้อต้องรับผิดเงินค่าเช่าซื้อ ค่าเสียหายใดๆ ในกรณีสัญญาเช่าซื้อได้ยกเลิกเพิกถอนไม่ว่าเหตุใดให้แก่ผู้ให้เช่าซื้อจนครบถ้วน ย่อมหมายความรวมถึงผู้เช่าซื้อต้องรับผิดต่อผู้ให้เช่าซื้อเกี่ยวกับค่าเสียหาย ค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระในกรณีสัญญาเช่าซื้อเลิกกันเพราะเหตุรถยนต์เช่าซื้อสูญหายด้วย ข้อกำหนดดังกล่าวเป็นการกำหนดค่าเสียหายไว้ล่วงหน้าในลักษณะเป็นเบี้ยปรับย่อมใช้บังคับได้ตามกฎหมายจากคำพิพากษาดังกล่าว เห็นได้ว่า สัญญาเช่าซื้อที่ทำกันนั้น ความจริงคือสัญญาเช่าประกอบกับคำมั่นว่าจะขายทรัพย์นั้นให้แก่ผู้เช่า จึงต้องนำบทกฎหมายเรื่องการเช่าทรัพย์มาใช้ด้วย ซึ่งตามกฎหมายเช่าทรัพย์กำหนดว่า หากทรัพย์ที่เช่าสูญหายไป สัญญาเช่าสิ้นสุดลง กรณีเช่าซื้อก็นำเรื่องนี้มาใช้ ดังนั้น เมื่อรถที่เช่าซื้อกันหายไป โดยไม่ใช่ความผิดของผู้เช่าซื้อจึงถือว่าสัญญาเช่าซื้อเลิกกันไป นอกจากนี้ ศาลได้ชี้ว่า มีข้อสัญญาที่เกี่ยวข้องกับความรับผิดของผู้เช่าซื้อ กรณีรถหายไว้ด้วย ซึ่งจะ ผู้ให้เช่าซื้อมักจะเอาเปรียบผู้บริโภค โดยการกำหนดไว้ในสัญญาว่า ให้ผู้เช่าซื้อต้องรับผิดในค่าเสียหาย และค่าเช่าซื้อ กรณีสัญญาได้ยกเลิกกันไปไม่ว่าเหตุใดๆ ซึ่งข้อสัญญานี้ ทำให้ผู้บริโภคเดือดร้อนเป็นอย่างมาก ซึ่งศาลก็มองว่า แม้สัญญาเช่าซื้อจะเลิกกัน แต่ที่ตกลงกันไว้ว่าหากทรัพย์สิน สูญหาย ผู้เช่าซื้อจะชดใช้ค่าเสียหายให้ ก็ถือว่าเป็นค่าเสียหายที่ตกลงกันไว้ล่วงหน้า ใช้บังคับกันได้ ในฐานะเบี้ยปรับ ซึ่งศาลสามารถปรับลดได้หากสูงเกินคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5819/2550 เมื่อรถยนต์ที่เช่าซื้อสูญหาย สัญญาเช่าซื้อย่อมระงับไปนับแต่วันที่รถยนต์สูญหายตาม ป.พ.พ. มาตรา 567 จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องส่งมอบรถยนต์คันที่เช่าซื้อคืนแก่โจทก์ แต่เมื่อปรากฏข้อตกลงตามสัญญาเช่าซื้อว่าในกรณีที่รถยนต์นั้นสูญหาย ผู้เช่าจะยอมชดใช้ค่ารถยนต์เป็นเงินจำนวนเท่ากับค่าเช่าซื้อส่วนที่เหลือที่ผู้เช่าจะต้องชำระทั้งหมดตามสัญญาเช่าซื้อทันที ถือว่าจำเลยที่ 1 ได้ตกลงจะชำระค่าเสียหายให้แก่โจทก์กรณีนี้ไว้ด้วย อันเป็นการกำหนดความรับผิดในการที่จำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้ล่วงหน้ามีลักษณะเป็นเบี้ยปรับ ซึ่งหากสูงเกินส่วนศาลชอบที่จะลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 383 วรรคแรก ส่วนค่าขาดประโยชน์นั้น เมื่อรถยนต์ที่เช่าซื้อสูญหายไปเป็นเหตุให้สัญญาเช่าซื้อเลิกกันแล้ว จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์แต่ความจริง เมื่อรถหาย ผู้ให้เช่าซื้อมักจะได้รับการเยียวยาความเสียหายจากบริษัทประกันภัย โดยผู้บริโภคเป็นผู้เสียเบี้ยประกันภัย และบริษัทไฟแนนซ์เจ้าของรถเป็นผู้รับผลประโยชน์ การที่บริษัทไฟแนนซ์ ได้รับเงินเยียวยาจากบริษัทประกันภัยแล้ว ยังมาเรียกเก็บเงินค่าเช่าซื้อกับผู้บริโภคอีก ถือว่าเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ซึ่งหากได้รับไว้แล้ว ต้องคืน คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4819/2549ตามสัญญาเช่าซื้อตกลงกันไว้ว่า กรณีรถยนต์ที่เช่าซื้อถูกลักไป จำเลยผู้ให้เช่าซื้อจะได้รับชดใช้ค่าสินไหมทดแทน 2 ทาง โดยได้จากโจทก์ผู้เช่าและจากบริษัทประกันภัย อันเป็นการเกินกว่าความเสียหายที่จำเลยได้รับ เมื่อโจทก์เป็นผู้เสียเบี้ยประกันภัยและจำเลยเป็นผู้รับประโยชน์ก็เพื่อโจทก์จะไม่ต้องเป็นภาระใช้ค่ารถให้แก่จำเลยจึงยอมเสียเบี้ยประกันภัย และจำเลยได้แสดงเจตนาขอค่าสินไหมทดแทนจากบริษัทประกันภัยแล้ว จนบริษัทประกันภัยอนุมัติให้จ่ายเงินให้จำเลย การที่จำเลยรับเงินค่าเช่าซื้อที่เหลือจากโจทก์หลังจากรถยนต์ที่เช่าซื้อถูกลักไปเป็นการใช้สิทธิไม่สุจริต ต้องคืนเงินค่าเช่าซื้อดังกล่าวให้โจทก์โดยสรุป ก็คือผู้บริโภคควรที่จะคุ้มครองสิทธิของตนเอง ตั้งแต่ตอนทำสัญญา ต้องอ่านข้อสัญญาให้ละเอียดด้วย หากเห็นว่าข้อไหนไม่เป็นธรรมก็ควรโต้แย้งหรือสอบถามตั้งแต่ตอนนั้นเลย เพื่อจะได้ให้เขาแก้ไข เพราะเมื่อเกิดปัญหาใครจะต้องรับผิดชอบแค่ไหน อย่างไร สุดท้ายก็ต้องมาเปิดดูสัญญากันอยู่ดี และเมื่อเกิดเหตุรถหาย ท่านจะต้องรีบแจ้งความเพื่อลงบันทึกไว้เป็นหลักฐานให้เร็วที่สุด จากนั้นจึงนำใบแจ้งความที่ได้ไปยื่นให้กับบริษัทประกันภัยที่ทำไว้รวมถึงบริษัทไฟแนนซ์ด้วย และที่สำคัญคือ “ ไม่ต้องไปจ่ายค่าเช่าซื้ออีก “ เพราะกฎหมายกำหนดไว้ว่าเมื่อรถหายไม่จำเป็นจะต้องผ่อนชำระค่างวดต่อ เนื่องจากสัญญาถูกระงับไปแล้ว นับแต่วันที่รถหาย แต่จะต้องมีการมาคำนวณค่างวดรถที่จ่ายแล้วเป็นเงินเท่าใด และบริษัทประกันได้จ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่บริษัทเป็นเงินเท่าใด ถ้า 2 จำนวนนี้รวมกันแล้วไม่เกินกว่าราคาที่ประกันจะต้องจ่าย ผู้เช่าซื้อก็ไม่ต้องรับผิดชอบ แต่หากเกินจำนวนที่ทำประกันรถหายก็จะต้องผ่อนชำระในส่วนที่เหลือแต่ในส่วนนี้ถ้ามีการนำคดีสู่ศาล ศาลมีอำนาจจะสั่งให้ผู้เช่าซื้อผ่อนชำระต่อหรือไม่ก็ได้ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของศาลโดยศาลจะกำหนดความเสียหายให้ตามสมควร 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 174 รถยนต์หายในห้างฯ บิ๊กซี

ฉบับนี้เป็นเรื่องรถยนต์หายอีกครั้ง ในฉบับก่อนๆ ผู้เขียนเคยเขียนถึงกรณีรถยนต์หายในห้างฯ แห่งหนึ่ง   เดิมแต่ละห้างฯ ใช้วิธีการแจกบัตรจอดรถสำหรับรถของลูกค้า ซึ่งเป็นวิธีที่มีการตรวจสอบการเข้าออกของรถยนต์ที่เข้ามาใช้บริการในห้างสรรพสินค้า โดยพนักงานของห้าง และค่อนข้างรัดกุม เพราะหากไม่มีบัตรผ่านเข้าออก กรณีจะนำรถยนต์ออกไปจะต้องถูกตรวจสอบโดยพนักงานของห้างฯ  ต่อมามีรถยนต์ของลูกค้าหายโดยที่บัตรเข้าออกยังอยู่ที่ตัวลูกค้า  ในคดีนั้น ต่อมามีการฟ้องร้องต่อศาลให้ห้างฯ และบริษัทฯ รปภ. ซึ่งห้างฯ จ้างมาดูแลความปลอดภัยในบริเวณห้างฯ ให้ร่วมกันรับผิดชดใช้เงินค่ารถยนต์คันที่หาย  ในคดีดังกล่าวศาลฎีกาได้วินิจฉัยว่า หากพนักงาน รปภ.ใช้ความระมัดระวังตรวจสอบตรวจสอบบัตรเข้าออกโดยละเอียดรอบคอบแล้วคนร้ายก็ไม่สามารถโจรกรรมรถยนต์ออกไปจากห้างได้  จึงพิพากษาให้ห้างฯกับบริษัท รปภ. ร่วมกันรับผิดชดใช้เงินค่ารถยนต์ให้แก่ลูกค้า  จากผลของคำพิพากษาของศาลฎีกาในคดีดังกล่าวเป็นเหตุให้บรรดาห้างสรรพสินค้าทั้งหลายเลิกแจกบัตรเข้าออกรถยนต์ที่เข้ามาใช้บริการในห้าง(คงคิดว่าไม่แจกบัตรเข้าออก ก็ไม่ต้องตรวจบัตร จะได้ไม่มีกรณีที่จะอ้างว่าห้างประมาทเลินเล่ออีก)ต่อมามีผู้บริโภคไปใช้บริการของห้างฯ บิ๊กซี แล้วรถยนต์หาย  บริษัทประกันของลูกค้าชดใช้ค่าสินไหมทดแทนค่ารถยนต์ให้แก่ลูกค้าไปแล้วช่วงสิทธิมาฟ้องห้างฯ บิ๊กซี กับ บริษัท รปภ. เป็นจำเลยร่วม ให้ ร่วมกันรับผิด  ซึ่งศาลฎีกาได้พิพากษาไว้ในคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7471/2556 คดีระหว่าง บริษัทสินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) โจทก์ กับ บริษัทบิ๊กซี ซูปเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด จำเลย บริษัทพีเคเอฟเซฟตี้การ์ด จำกัด จำเลยร่วม ดังนี้ ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “....พิเคราะห์แล้ว ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่า การที่รถยนต์ของนายวินัยสูญหายเกิดจากการกระทำละเมิดของจำเลยหรือไม่ เห็นว่า จำเลยมีฐานะเป็นบริษัทจำกัด(มหาชน) มีวัตถุประสงค์ในการประกอบกิจการห้างสรรพสินค้าขายปลีกและขายส่งสินค้าอุปโภคและบริโภคต่างๆ ดังนี้ ลูกค้าที่มาใช้บริการยังสาขาต่างๆ ของจำเลยรวมทั้งสาขาลำลูกกาที่เกิดเหตุ  ซึ่งเป็นผู้ที่มาอุดหนุนสินค้าของจำเลย จำเลยย่อมต้องให้ความสำคัญด้านบริการไม่ว่าจะเป็นเรื่องสินค้า ความปลอดภัย ความสะดวกสบายเพื่อสร้างความพึงพอใจและดึงดูดให้ลูกค้ามาใช้บริการและซื้อสินค้า หรือใช้บริการอื่นๆ หรือไม่  หากจำเลยจัดสถานที่จอดรถไว้กว้างขวางมีปริมาณเพียงพอสะดวกสบาย ย่อมดึงดูดลูกค้าให้เข้าไปซื้อสินค้าหรือใช้บริการ ทั้งตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 มาตรา 8(9) , 34 ยังได้บัญญัติให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคารต้องมีพื้นที่จอดรถ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่การจราจร จำเลยก็ต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวเช่นกัน ซึ่งจำเลยเองก็ยอมรับว่า การจัดสถานที่จอดรถของจำเลยเป็นไปตามพระราชบัญญัติดังกล่าว  แต่อย่างไรก็ดีจำเลยต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของลูกค้าทั้งในชีวิตและทรัพย์สิน และมีหน้าที่ดูแลด้วยตามสมควร มิใช่ปล่อยให้ลูกค้าระมัดระวังหรือเสี่ยงภัยกันเอาเอง ได้ความจากนายชานุ หัวหน้าฝ่ายป้องกันความสูญหายของจำเลยสาขาลำลูกกาเบิกความว่า รถยนต์ของนายวินับหายไปขณะจอดอยู่ในลานจอดรถของจำเลยเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2552  เวลาประมาณ 15.00 นาฬิกา และเบิกความตอบคำถามค้านทนายโจทก์ว่า ก่อนเกิดเหตุคดีนี้ จำเลยได้จัดให้มีการแจกบัตรสำหรับสำหรับรถของลูกค้าที่เข้ามาในห้างของจำเลย แต่ขณะเกิดเหตุยกเลิกไปแล้ว โดยใช้กล้องวงจรปิดแทน แสดงให้เห็นว่าจำเลยเคยใช้วิธีการแจกบัตรสำหรับรถของลูกค้า ซึ่งเป็นวิธีการตรวจสอบการเข้าออกของรถยนต์ที่เข้ามาใช้บริการในห้างสรรพสินค้าของจำเลยโดยพนักงานและค่อนข้างรัดกุมเพราะหากไม่มีบัตรผ่านเข้าออก กรณีจะนำรถยนต์ออกไปจะต้องถูกตรวจสอบโดยพนักงานของจำเลย  แต่จำเลยกลับยกเลิกวิธีการดังกล่าวเสียเป็นเหตุให้คนร้ายสามารถเข้าออกจากลานจอดรถห้างสรรพสินค้าของจำเลยและโจรกรรมรถได้ง่ายยิ่งขึ้น  การที่รถยนต์ของนายวินัยสูญหายขณะที่จอดอยู่บริเวณลานจอดรถของจำเลยจึงเกิดจากความประมาทเลินเล่อของจำเลย  และที่จำเลยปิดประกาศไว้ว่า จะไม่รับผิดชอบต่อการสูญหายหรือเสียหายใดๆ ก็เป็นเรื่องข้อกำหนดของจำเลยฝ่ายเดียว ไม่มีผลเป็นการยกเว้นความรับผิดในการกระทำละเมิดของจำเลย และการที่นายวินัยหรือลูกค้าซึ่งทราบถึงการยกเลิกการแจกบัตรจอดรถ แต่ยังคงเข้ามาจอดรถเพื่อซื้อสินค้าหรือใช้บริการอื่นที่ห้างสรรพสินค้าของจำเลยจะถือว่าเป็นการเสี่ยงภัยเองของนายวินัยดังที่จำเลยอ้างมาในฎีกานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา พยานหลักฐานโจทก์นำสืบมีน้ำหนักให้รับฟังได้มากกว่าพยานหลักฐานของจำเลย ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าการที่รถยนต์ของนายวินัยสูญหายไปเกิดจากความประมาทเลินเล่อของจำเลย ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้นพิพากษายืน ( ให้ใช้ราคารถยนต์แก่โจทก์)

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 170 เช็คเดินทางหาย แต่ผู้เสียหายมีส่วนผิดด้วย ผลจะเป็นอย่างไร

คดีนี้เป็นเรื่องผู้บริโภคซื้อเช็คเดินทางของโจทก์ 50 ฉบับ สั่งจ่ายเงินรวม 50,000 ดอลลาร์สหรัฐ จากตัวแทนของโจทก์ โดยมีเงื่อนไขว่าจำเลยต้องลงลายมือชื่อในเช็คทุกฉบับที่ช่องด้านล่างทันทีที่ได้รับเช็ค หากไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขดังกล่าวโจทก์จะไม่คืนเงินให้ ต่อมาจำเลยแจ้งโจทก์ว่าเช็คเดินทางทั้งหมดหายไปโดยจำเลยลงลายมือชื่อในเช็คทุกฉบับที่ช่องด้านล่างไว้แล้ว โจทก์คืนเงินให้แก่จำเลยไป ต่อมามีผู้นำเช็คเดินทางดังกล่าวทั้งหมดไปขึ้นเงินกับธนาคารและสถาบันการเงินหลายแห่งโดยปรากฏว่าจำเลยมิได้ลงลายมือชื่อในเช็คเดินทางดังกล่าวไว้ตามที่แจ้งความเท็จแก่โจทก์ โจทก์จึงมาฟ้องศาลให้บังคับจำเลยให้คืนเงิน 50,000 ดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นเงินไทย 1,287,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมาย และเรียกค่าเสียหายอีก 100,000 บาท ศาลฎีกาโดยคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6235/2555 ได้วินิจฉัยว่า “...การที่มีการซื้อเช็คเดินทางซึ่งต้องยอมเสียเงินซื้อในอัตราร้อยละหนึ่ง ก็เพราะมีความปลอดภัยกว่าการนำเงินสดติดตัวไป และถ้าเช็คหายไปก็สามารถแจ้งให้ธนาคารระงับการจ่ายเงินตามเช็คได้ แต่เหตุที่มีผู้นำเช็คเดินทางของโจทก์ที่จำเลยซื้อ ไปเบิกเงินต่อธนาคารตามเช็คและธนาคารตามเช็คได้จ่ายเงินไป ทั้งๆ ที่จำเลยแจ้งโจทก์แล้วว่าเช็คเดินทางหายไปและโจทก์ได้จ่ายเงินจำนวนตามเช็คคืนให้จำเลยแล้วนั้น เป็นเพราะโจทก์ไม่ได้แจ้งธนาคารตามเช็คจึงเป็นความบกพร่องของโจทก์นั่นเอง  ส่วนเงื่อนไขการซื้อเช็คเดินทางที่กำหนดให้ผู้ซื้อเช็คลงลายมือชื่อผู้ถือที่ข้างล่างด้านซ้ายของเช็คแต่ละฉบับทันทีที่ได้รับเช็คนั้น เป็นเพียงเงื่อนไขที่จะทำให้ผู้ที่ได้รับเช็คดังกล่าวโดยไม่ชอบไม่สามารถเบิกเงินไปได้โดยง่าย เพราะจะมีการตรวจสอบเปรียบเทียบลายมือชื่อด้วย ดังนั้น แม้จำเลยจะไม่ได้ลงลายมือชื่อตามเงื่อนไขดังกล่าว โจทก์ก็ไม่อาจยกเป็นเหตุมาปฏิเสธไม่จ่ายเงินคืนจำเลยตามเงื่อนไขการซื้อเช็คไม่ได้ อย่างไรก็ตามการที่จำเลยไม่ได้ลงรายมือชื่อผู้ถือที่ข้างล่างด้านซ้าย แต่กลับแจ้งโจทก์ว่าลงลายมือชื่อแล้วย่อมเป็นเหตุให้โจทก์คาดว่าจะไม่มีใครนำเช็คดังกล่าวไปเบิกเงิน จึงไม่ได้แจ้งธนาคารให้ระงับการจ่ายเงินตามเช็ค และจำเลยทิ้งเช็คไว้ในกระเป๋าใส่กล้องถ่ายรูปซึ่งวางไว้ในรถเข็นกระเป๋าเดินทางหน้าห้องน้ำที่สนามบินสุวรรณภูมิโดยไม่นำติดตัวไปด้วยจึงทำให้หายไปถือได้ว่าจำเลยมิได้ระมัดระวังมิให้เช็คสูญหายหรือถูกลักขโมยเช่นเดียวกับที่จักต้องกระทำต่อเงินสดของตน ตามเงื่อนไขการซื้อในกรณีขอคืนเงิน จำเลยจึงมีส่วนก่อให้เกิดความเสียหาย จึงต้องร่วมรับผิดในความเสียหายด้วย โดยเห็นสมควรให้ร่วมรับผิดกึ่งหนึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 442  ประกอบมาตรา 223” คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินให้โจทก์ 947,000 บาท  พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ โจทก์ไม่ได้อุทธรณ์แสดงว่าพอใจในความเสียหายดังกล่าว จำเลยจึงต้องใช้เงินให้แก่โจทก์ครึ่งหนึ่งของค่าเสียหายดังกล่าวคิดเป็นเงิน 473,500 บาท พิพากษากลับว่า ให้จำเลยชำระเงิน 473,500 บาทพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (วันที่ 23 มิถุนายน 2540)เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 169 ประกาศ “ไม่รับผิดชอบในการสูญหายของทรัพย์สิน” มีผลตามกฎหมายหรือไม่ ?

สวัสดีครับ ผู้อ่านทุกท่าน  วันนี้เราจะมาว่ากันถึงเรื่อง ป้ายต่างๆ ที่ชอบมีติดตามโรงแรม หรือตามที่จอดรถ ว่า “ ไม่รับผิดชอบในการสูญหายของทรัพย์สิน “ เคยสงสัยกันไหมครับว่าป้ายพวกนี้ มีผลทางกฎหมายมากน้อยเพียงใด อย่างแรกที่เรารู้กันคือป้ายพวกนี้ คนที่ทำขึ้นมักจะเป็นทางเจ้าของโรงแรม หรือ ห้างร้านต่างๆ ที่เราเข้าไปใช้บริการ เวลาเราไปใช้บริการพักในโรงแรมต่างๆ บ่อยครั้งต้องเดินทางไปหลายที่จึงต้องมีกระเป๋าเดินทาง เสื้อผ้า และทรัพย์สินอีกมากมาย ที่ต้องใช้ติดตัวในการเดินทาง แน่นอนว่า เราต้องนำสิ่งของ สัมภาระต่างๆ เหล่านี้ เก็บไว้ในห้องพัก หรือต้องนำรถยนต์มาจอดไว้ในโรงแรม ระหว่างที่เราเข้าพักหรือเราต้องเดินทางออกไปข้างนอก ในความเข้าใจของผู้บริโภคที่เข้าใช้บริการโรงแรม ย่อมเข้าใจว่า  หน้าที่ของโรงแรมไม่ใช่เป็นเพียงเปิดห้องพักเพื่อหลับนอนชั่วคราวเท่านั้น แต่ควรช่วยดูแลรักษาทรัพย์สินให้แก่ผู้เข้าพักด้วย   แต่หลายโรงแรมก็มักชอบติดป้ายประกาศ เพื่อยกเว้นความรับผิดของตนเอง ในทำนองว่า “ไม่รับผิดชอบในการสูญหายของทรัพย์สิน” เช่นนี้ ผู้บริโภคที่ใช้บริการจะได้รับความคุ้มครองอีกหรือไม่ ในเรื่องนี้ได้มีการโต้เถียงกันจนเป็นคดีขึ้นสู่ศาล เป็นคดีที่ ผู้บริโภคไปใช้บริการในโรงแรมแห่งหนึ่งแล้วได้จอดรถไว้ที่ลานจอดรถของโรงแรม มีการล็อครถอย่างดี แต่เมื่อเสร็จธุระในโรงแรม กลับมาปรากฎว่ารถหายไป จึงฟ้องร้องโรงแรมให้รับผิดชอบ ซึ่งศาลได้ตัดสินไว้อย่างน่าสนใจ ดังนี้ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7790/2544 ลานจอดรถเป็นของจำเลยจัดให้ผู้มาพักโรงแรมของจำเลยได้จอดรถ น. ซึ่งเป็นคนเดินทางจึงมีสิทธิโดยชอบธรรมที่จะนำรถยนต์เข้าไปจอดภายในบริเวณลานจอดรถดังกล่าว ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของจำเลย ส่วนที่จำเลยปิดประกาศไม่รับผิดชอบหากเกิดการสูญหายของทรัพย์สิน ก็ไม่ปรากฏว่า น. ได้ตกลงด้วยโดยชัดแจ้งในการยกเว้นความรับผิดตามประกาศดังกล่าว กรณีนี้จึงไม่ต้องด้วยข้อยกเว้นความรับผิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 677 และในการจอดรถ น. ได้ปิดล็อกประตูรถทุกบานแล้วเพราะเป็นระบบเซ็นทรัลล็อก ย่อมถือได้ว่า น. มิได้ประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้รถยนต์สูญหาย กรณีไม่ต้องด้วยข้อยกเว้นความรับผิดตามมาตรา 675 วรรคสาม รถยนต์เป็นเพียงทรัพย์สินธรรมดาทั่ว ๆ ไป เท่านั้น ถึงแม้ราคาจะค่อนข้างสูงก็ตาม ยังถือไม่ได้ว่ามีลักษณะเป็นของมีค่าตามมาตรา 675 วรรคสอง น. ไม่จำต้องแจ้งฝากรถยนต์ไว้ต่อจำเลย จากคำพิพากษาฏีกานี้ ทำให้เราเห็นว่า  ป้ายประกาศของทางโรงแรม ที่มีข้อความยกเว้นความรับผิด กรณีทรัพย์สินสูญหายนั้น ไม่มีผลใช้บังคับ เพราะเป็นป้ายที่ทางโรงแรมเป็นผู้กำหนดไว้เพียงฝ่ายเดียว ทางผู้บริโภคที่เข้าใช้บริการ เขาไม่ได้ตกลงยินยอมด้วย เป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา 677 ที่บัญญัติว่า “ถ้ามีคำแจ้งความปิดไว้ในโรงแรม โฮเต็ล หรือสถานที่ อื่นทำนองเช่นว่านี้ เป็นข้อความยกเว้นหรือจำกัดความรับผิดของเจ้าสำนักไซร้ท่านว่าความนั้นเป็นโมฆะ เว้นแต่คนเดินทางหรือแขกอาศัยจะได้ตกลงด้วยชัดแจ้งในการยกเว้นหรือจำกัดความรับผิดดั่งว่านั้น” อย่างไรก็ตาม มีข้อสังเกตอีกนิดว่า ถ้าเป็นทรัพย์สิน ของมีค่า ผู้เข้าพักต้องแจ้งให้ทางโรงแรมทราบและฝากไว้กับทางโรงแรม   โดยศาลมองว่า รถยนต์ เป็นเพียงทรัพย์สินที่มีราคาค่อนข้างสูงจริง แต่ยังไม่ถือว่าเป็นของมีค่า ซึ่งทรัพย์สินที่มีค่าในที่นี้ คือ เงินทองตรา ธนบัตร ตั๋วเงิน พันธบัตร ใบหุ้นกู้ ประทวนสินค้า อัญมณี หรือของมีค่าอื่นๆ หากแขกพักอาศัยหรือคนเดินทางนำเข้ามาในโรงแรมแล้วเก็บรักษาไว้เองและเกิดการสูญหายหรือเสียหายไปเจ้าสำนักโรงแรมจำกัดความรับผิดไว้เพียง 5,000 บาท ทั้งนี้แม้ว่าของมีค่านั้นจะมีราคาเกินกว่า  5,000 บาทก็ตาม แต่หากสิ่งของมีค่ามีราคาไม่ถึง 5,000 บาท เจ้าของสำนักย่อมรับผิดตามแต่เพียงราคาของสิ่งนั้น มิใช่รับผิด 5,000 บาท     แต่อย่างไรก็ตาม มิใช่ว่าเจ้าของโรงแรมจะต้องรับผิดไปเสียทุกกรณี  เพราะหากความสูญหายนั้น เกิดจากเหตุสุดวิสัย หรือสภาพของทรัพย์สินนั้นเอง อันเกิดจากคนเดินทาง เจ้าของทรัพย์สินหรือบริวารที่พามาด้วย เป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 675 ที่บัญญัติว่า “เจ้าสำนักต้องรับผิดในการที่ทรัพย์สินของคนเดินทางหรือแขกอาศัยสูญหายหรือบุบสลายไปอย่างใดๆ แม้ถึงว่าความสูญหายหรือบุบสลายนั้นจะเกิดขึ้นเพราะผู้คนไปมาเข้าออก ณ โรงแรม โฮเต็ล หรือสถานที่เช่นนั้นก็คงต้องรับผิด ความรับผิดนี้ ถ้าเกี่ยวด้วยเงินทองตรา ธนบัตร ตั๋วเงิน พันธบัตร ใบหุ้น ใบหุ้นกู้ ประทวนสินค้าอัญมณี หรือของมีค่าอื่นๆ ให้จำกัดไว้เพียงห้าพันบาท เว้นแต่จะได้ฝากของมีค่าเช่นนี้ไว้แก่เจ้าสำนักและได้บอกราคาแห่งของนั้นชัดแจ้ง แต่เจ้าสำนักไม่ต้องรับผิดเพื่อความสูญหายหรือบุบสลาย อันเกิด แต่เหตุสุดวิสัยหรือแต่สภาพแห่งทรัพย์สินนั้นหรือแต่ความผิดของคนเดินทางหรือแขกอาศัยผู้นั้นเองหรือบริวารของเขาหรือบุคคลซึ่งเขาได้ต้อนรับ” กรณีนี้ หากผู้บริโภคเห็นป้ายแล้วไม่เกิดความสงสัย เชื่อตามข้อความดังกล่าว ก็จะไม่กล้าเรียกร้องให้โรงแรมรับผิด  ดังนั้นผู้บริโภคต้องมีความเท่าทันในเรื่องเหล่านี้ เพื่อไม่ให้ถูกเอาเปรียบจากการซื้อสินค้าและบริการ  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 158 สัญญาฝากทรัพย์ กรณีรถหายในอู่ซ่อม

สัญญาฝากทรัพย์เป็นเอกเทศสัญญาชนิดหนึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  ลักษณะ 10 หมวด 1 โดย มาตรา 657 ได้ให้ความหมายของสัญญาฝากทรัพย์ว่า “อันว่าฝากทรัพย์นั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่าผู้ฝาก  ส่งมอบทรัพย์สินให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง  เรียกว่าผู้รับฝากและผู้รับฝากตกลงว่าจะเก็บรักษาทรัพย์สินนั้นไว้ในอารักขาแห่งตนแล้วจะคืนให้” ในการรับฝากทรัพย์นั้นมีทั้งเป็นการรับฝากทรัพย์เป็นการให้เปล่าไม่มีบำเหน็จ  และมีทั้งการรับฝากทรัพย์มีบำเหน็จค่าฝาก  ซึ่งผลของรับฝากทรัพย์เป็นการให้เปล่าไม่มีบำเหน็จและมีบำเหน็จค่าฝากมีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะใช้ระดับความระมัดระวังสงวนทรัพย์สินต่างกัน  ยิ่งผู้รับฝากเป็นผู้มีวิชาชีพเฉพาะกิจการค้าขายหรืออาชีวะอย่างหนึ่งอย่างใด ก็ต้องมีระดับความระมัดระวังสงวนทรัพย์สินสูงเพิ่มขึ้นไปอีก โดย มาตรา 659 บัญญัติว่า “ถ้าการฝากทรัพย์เป็นการทำให้เปล่าไม่มีบำเหน็จไซร้ ท่านว่าผู้รับฝากจำต้องใช้ความระมัดระวังสงวนทรัพย์สินซึ่งฝากนั้นเหมือนเช่นเคยประพฤติในกิจการของตนเอง ถ้าการรับฝากทรัพย์นั้นมีบำเหน็จค่าฝาก  ท่านว่าผู้รับฝากจำต้องใช้ความระมัดระวังและใช้ฝีมือเพื่อสงวนทรัพย์สินนั้นเหมือนเช่นวิญญูชนจะพึงประพฤติโดยพฤติการณ์ดั่งนั้น  ทั้งนี้ย่อมรวมทั้งการใช้ฝีมืออันพิเศษเฉพาะการในที่จะพึงใช้ฝีมือเช่นนั้นด้วย ถ้าและผู้รับฝากเป็นผู้มีวิชาชีพเฉพาะกิจการค้าขายหรืออาชีวะอย่างหนึ่งอย่างใด  ก็จำต้องใช้ความระมัดระวังและใช้ฝีมือเท่าที่ เป็นธรรมดาจะต้องใช้และสมควรจะต้องใช้ในกิจการค้าขายหรืออาชีวะอย่างนั้น” มาดูตัวอย่างกรณีศึกษากันหน่อย คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1008/2551 วินิจฉัยว่า การที่จะพิจารณาว่าจำเลยในฐานะผู้รับฝากรถยนต์คันพิพาทไว้โดยมีบำเหน็จค่าฝากได้ใช้ความระมัดระวังและใช้ฝีมือเพื่อสงวนทรัพย์สินนั้นเหมือนเช่นวิญญูชนพึงประพฤติโดยพฤติการณ์ดังนั้นหรือไม่นั้นจะต้องพิจารณาเปรียบเทียบกับคนทั่วๆ ไป ในภาวะเช่นนั้นว่าควรจะพึงใช้ความระมัดระวังเช่นไร  ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า  จำเลยจอดรถยนต์คันพิพาทไว้บริเวณด้านหน้าอู่ซ่อมรถของจำเลยโดยได้ล็อกประตูและล็อกพวงมาลัยรถยนต์คันพิพาท ส่วนตัวจำเลยก็นอนอยู่ภายในอู่ดังกล่าว เมื่อได้ยินเสียงเครื่องยนต์รถดังขึ้นก็ได้ลุกขึ้นดู  ปรากฏว่ารถยนต์คันพิพาทหายไปก็ได้แจ้งให้เจ้าพนักงานตำรวจสายตรวจที่ผ่านมาทราบและออกติดตามคนร้ายกับเจ้าพนักงานตำรวจด้วย ตามพฤติการณ์ดังกล่าวถือว่าจำเลยได้ใช้ความระมัดระวังและใช้ฝีมือเพื่อสงวนทรัพย์สินนั้นเหมือนเช่นวิญญูชนจะพึงประพฤติโดยพฤติการณ์ดังนั้นแล้ว อู่ซ่อมรถของจำเลยเป็นห้องแถวและเป็นอู่ขนาดเล็ก  บริเวณด้านหน้าของอู่ตั้งประชิดติดกับขอบถนน ย่อมเป็นไปได้ยากที่จะมีการกั้นรั้วหรือจัดหายามมาคอยระแวดระวังในเวลากลางคืน ดังนั้น การที่จำเลยจอดรถยนต์คันพิพาทไว้บริเวณด้านหน้าของอู่จะถือว่าจำเลยไม่ได้ใช้ความระมัดระวังและใช้ฝีมือเพื่อสงวนทรัพย์สินนั้นเหมือนเช่นวิญญูชนจะพึงประพฤติโดยพฤติการณ์ดังนั้นหาได้ไม่ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 520/2554 วินิจฉัยว่า  โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยรับผิดตามสัญญาฝากทรัพย์ โดยจำเลยเป็นนิติบุคคลประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์มีวัตถุประสงค์ว่ารับฝากเงิน  จำเลยจึงเป็นผู้รับฝากผู้มีวิชาชีพเฉพาะกิจการค้าขายหรืออาชีวะอย่างหนึ่งอย่างใดจึงต้องใช้ความระมัดระวังและฝีมือเท่าที่เป็นธรรมดาจะต้องใช้และสมควรจะต้องใช้ในกิจการค้าขายหรืออาชีวะอย่างนั้นตามบทบัญญัติมาตรา 659  วรรคสาม แห่ง ป.พ.พ. อันเป็นการกำหนดมาตรฐานในการระมัดระวังในการปฏิบัติตามสัญญาในขั้นสูงสุดเยี่ยงผู้มีวิชาชีพเช่นนั้นจะพึงปฏิบัติในกิจการที่กระทำ  เมื่อปรากฏว่า พนักงานของจำเลยทุจริตลักลอบเบิกถอนเงินจากบัญชีเงินฝากของลูกค้าต่างๆ จำนวน 34 บัญชี รวมทั้งรายบัญชีของโจทก์  แสดงว่าจำเลยมิได้ใช้ความระมัดระวังในการดูแลบัญชีเงินฝากของโจทก์ อันเป็นการปฏิบัติผิดสัญญา  ได้ความว่าโจทก์ฝากเงินประเภทประจำ 3 ปี กรณีเป็นเรื่องปกติวิสัยที่เจ้าของบัญชีจะอุ่นใจมิได้ติดตามผลในบัญชีเงินฝากจนกว่าจะครบกำหนดตามระยะเวลาที่กำหนด การที่โจทก์ไม่ได้ไปติดต่อรับดอกเบี้ย จึงไม่ใช่เรื่องผิดปกติวิสัยและไม่ใช่ความผิดของโจทก์ เนื่องจากโจทก์เป็นลูกค้าของจำเลย มิใช่ผู้มีหน้าที่ระมัดระวังทรัพย์สินที่ตนฝาก  เมื่อจำเลยผิดสัญญาฝากเงินไม่ได้ใช้ความระมัดระวังและฝีมือเท่าที่เป็นธรรมดาจะต้องใช้และสมควรจะต้องใช้ในกิจการค้าขายหรืออาชีวะอย่างนั้นในการดูแลเงินฝากของโจทก์ เมื่อเงินฝากของโจทก์ถูกเบิกถอนไปจนหมด  จำเลยจึงต้องรับผิดชดใช้เงินจำนวนดังกล่าวคืนแก่โจทก์ หมายเหตุผู้เขียน สิทธิเรียกร้องให้คืนเงินตามสัญญาฝากทรัพย์ มิได้มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 (ฎ. 2542/2549)     //

อ่านเพิ่มเติม >