ฉบับที่ 125 รถหายในคาร์ฟูร์ (ตอนจบ)

  มาว่ากันต่อเลยนะครับ... ...จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นเจ้าของห้างสรรพสินค้าคาร์ฟูร์  สาขาบางใหญ่ จังหวัดนนทบุรี  ได้จัดให้มีลานจอดรถสำหรับลูกค้าที่มาซื้อสินค้าโดยผู้ที่จะนำรถยนต์เข้าไปจอดในบริเวณลานจอดรถดังกล่าวจะต้องรับบัตรจอดรถจากพนักงานรักษาความปลอดภัย ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 เสียก่อน  และเมื่อจะนำรถยนต์ออกจากบริเวณลานจอดรถก็จะต้องมอบคืนบัตรจอดรถให้แก่พนักงานรักษาความปลอดภัยที่ทางออกเสียก่อนจึงจะนำรถยนต์ผ่านออกไปได้  หากไม่มีบัตรจอดรถพนักงานรักษาความปลอดภัยจะไม่อนุญาตให้นำรถยนต์ออกไปได้  รายละเอียดปรากฏตามข้อความด้านหลังบัตรจอดรถ แม้จะปรากฏข้อความที่ด้านหลังบัตรจอดรถข้อ 2 ว่า บัตรนี้เป็นบัตรผ่านสำหรับนำรถเข้าจอดบริเวณห้างคาร์ฟูร์เท่านั้น  บริษัทไม่รับผิดชอบกรณีสูญหายหรือเสียหายใดๆ ทั้งสิ้น และไม่มีการเก็บค่าบริการจอดรถก็ตาม  แต่พฤติการณ์ของจำเลยที่ 2 ดังกล่าว  ย่อมทำให้ผู้ที่มาใช้บริการจอดรถหรือลูกค้าของห้างคาร์ฟูร์โดยทั่วไปเข้าใจได้ว่า  บริเวณลานจอดรถดังกล่าว  จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นเจ้าของห้างคาร์ฟูร์จัดให้บริการรักษาความเรียบร้อยและความปลอดภัยสำหรับรถยนต์ของลูกค้าที่จะนำเข้ามาจอดขณะที่เข้าไปซื้อสินค้าที่ห้างสรรพสินค้าของจำเลยที่ 2 โดยมอบหมายให้จำเลยที่ 1 และพนักงานรักษาความปลอดภัยอื่นเป็นผู้ดูแลความสงบเรียบร้อยและความปลอดภัยทั้งขณะนำรถยนต์เข้าไปจอดและขณะนำรถยนต์ออกจากบริเวณลานจอดรถซึ่งผู้ที่มิใช่เจ้าของรถยนต์และไม่มีบัตรจอดรถจะลักลอบนำรถยนต์ออกไปไม่ได้ เพราะจะมีพนักงานรักษาความปลอดภัยคอยตรวจสอบก่อน  การกระทำที่จำเลยทั้งสองปฏิบัติมาดังกล่าวย่อมเป็นการก่อให้เกิดหน้าที่แก่จำเลยทั้งสองต้องดูแลรักษาความเรียบร้อยและความปลอดภัยแก่รถยนต์ที่นำเข้ามาจอด  โดยพนักงานรักษาความปลอดภัยที่ได้รับมอบหมายมีหน้าที่โดยตรงที่จะป้องกันไม่ให้ผู้ที่ไม่ใช่เจ้าของรถยนต์นำรถยนต์ออกไปจากบริเวณลานจอดรถหรือป้องกันการโจรกรรมด้วยการตรวจบัตรตรงช่องทางออก   ซึ่งหากจำเลยทั้งสองมีการตรวจตราอย่างเคร่งครัดและป้องกันอย่างดีมิให้ผู้ที่ไม่มีบัตรขับรถผ่านออกไปได้โดยง่ายก็ยากที่รถยนต์ของนายสรศักดิ์จะถูกคนร้ายลักไปได้  โดยเฉพาะอย่างยิ่งขณะที่คนร้ายขับรถยนต์ของนายสรศักดิ์ผ่านช่องทางออกนั้น  คนร้ายได้ขับผ่านจำเลยที่ 1 ซึ่งประจำอยู่ช่องทางออกโดยไม่ได้คืนบัตรจอดรถให้  จำเลยที่ 1 ได้เคาะรถยนต์เพื่อให้คืนบัตร  แต่คนขับรถนิ่งเฉยแล้วขับรถยนต์ออกไป   จำเลยที่ 1 จึงจดทะเบียนรถไว้คือ 7978 หรือ 7879 หลังจากนั้นจำเลยที่ 1ไม่ได้แจ้งทางวิทยุสื่อสารให้ศูนย์รักษาความปลอดภัยของห้างคาร์ฟูร์ทราบโดยอ้างว่าวิทยุสื่อสารของจำเลยที่ 1 แบตเตอรี่หมด   แสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 ไม่ได้ใช้ความระมัดระวังป้องกันความปลอดภัยให้แก่รถยนต์ของลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการอย่างเต็มที่ อันเป็นการงดเว้นการปฏิบัติหน้าที่เพื่อป้องกันการโจรกรรมรถยนต์เป็นผลโดยตรงทำให้รถยนต์ของนายสรศักดิ์ถูกคนร้ายลักไปและเป็นการประมาทเลินเล่อจึงเป็นการกระทำละเมิดต่อนายสรศักดิ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นการกระทำไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2  ดังนั้น  จำเลยที่ 2 ในฐานะนายจ้างจึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1ในผลแห่งละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา 425  โจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยตามสัญญาประกันภัยได้ชำระค่าสินไหมทดแทนในการที่รถยนต์สูญหายครั้งนี้เป็นจำนวนเงิน 430,000 บาท ให้แก่นายสรศักดิ์เรียบร้อยแล้ว  จึงรับช่วงสิทธิที่จะไล่เบี้ยเอาแก่จำเลยทั้งสองได้  จำเลยทั้งสองต้องร่วมกันรับผิดตามจำนวนเงินดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยต่อโจทก์ตามฟ้อง  ที่ศาลล่างพิพากษายกฟ้องโจทก์นั้นศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย  ฎีกาโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น คดีไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาข้ออื่นของโจทก์ต่อไป”  พิพากษากลับ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นจำนวนเงิน 430,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 22 ธันวาคม  2542 จนกว่าจะชำระเสร็จ แต่ดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้องมิให้เกินกว่า 2,678 บาท ตามที่โจทก์ขอ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ   หมายเหตุผู้เขียน  คดีมันพลิกครับท่าน  และปัจจุบันนี้ตามห้างต่างๆ ก็เลิกแจกบัตรก็เพราะเหตุนี้  และก็ยังมีรถหายอยู่เรื่อยๆ หายแบบว่าไม่มีบัตร   ตอนนี้มีคดีฟ้องห้างดอกบัว คดียังอยู่ศาลชั้นต้น  คงต้องรอฟังศาลฎีกาต่อไปว่าจะออกอย่างไรแล้วจะนำมาแจ้งให้ทราบ  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 124 รถหายในคาร์ฟูร์

  ฉบับนี้เป็นเรื่องของผู้บริโภคที่ไปซื้อของในห้างคาร์ฟูร์ พอซื้อเสร็จออกมาพบว่ารถหาย โชคดีหน่อยที่ผู้บริโภครายนี้ได้ทำประกันภัยไว้ บริษัทประกันภัยได้จ่ายค่าสินไหมทดแทนให้กับผู้บริโภคแล้ว ช่วงสิทธิมาฟ้องตั้งแต่พนักงานรักษาความปลอดภัยจนกระทั่งเจ้าของห้าง ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ยกฟ้องโจทก์ โจทก์ก็ไม่ย่อท้อสู้ขาดใจยื่นฎีกา ซึ่งผู้เขียนจะนำคำพิพากษาศาลฎีกาฉบับล่าสุดนี้ จัดเต็มให้ เพราะมีประเด็นที่น่าสนใจหลายประเด็น  คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3100/2543 คดีระหว่าง บริษัทวิริยะประกันภัย จำกัด โจทก์ กับ นายธนพล วอนวงศ์ กับพวก จำเลย โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันส่งมอบรถยนต์คันดังกล่าวคืนให้แก่โจทก์หากไม่สามารถส่งมอบคืนได้ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 430,000 บาทแก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 22 ธันวาคม 2542 ถึงวันฟ้องเป็นจำนวนเงิน 2,687 บาท รวมเป็นเงินจำนวน 432,678 บาท กับขอให้ร่วมกันชำระดอกเบี้ยอัตราเดียวกันนับถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระราคาเสร็จแก่โจทก์  จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง  ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์และจำเลยทั้งสองให้เป็นพับ  โจทก์อุทธรณ์  ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์เป็นพับ  โจทก์ฎีกา ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า “...พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังยุติว่า จำเลยที่ 2 ประกอบธุรกิจเป็นเจ้าของห้างสรรพสินค้าคาร์ฟูร์ มีจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างทำหน้าที่เป็นพนักงานรักษาความปลอดภัย เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2542 เวลา 19 นาฬิกาเศษ นายสรศักดิ์ จันทร์แสงวัฒนา ขับรถยนต์กระบะยี่ห้อโตโยต้า หมายเลขทะเบียน บจ 7978 นนทบุรี ไปจอดที่ลานจอดรถของห้างสรรพสินค้าคาร์ฟูร์ สาขาบางใหญ่ จังหวัดนนทบุรี ซึ่งเป็นกิจการของจำเลยที่ 2 โดยรับบัตรจอดรถแล้วนายสรศักดิ์ขึ้นไปซื้อของในห้างเป็นเวลาหนึ่งชั่วโมงเศษ ต่อมามีคนร้ายลักรถยนต์ของนายสรศักดิ์ขับรถหลบหนีผ่านจุดทางออกของลานจอดรถที่จำเลยที่ 1ประจำอยู่โดยไม่มีบัตรจอดรถคืนแก่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นพนักงานรักษาความปลอดภัย คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยทั้งสองต้องรับผิดคืนรถยนต์หมายเลขทะเบียน บจ 7978 นนทบุรี หรือชดใช้ราคาแทนเป็นเงิน 430,000 บาท แก่นายสรศักดิ์หรือไม่ เพียงใด และโจทก์เข้ารับช่วงสิทธิจากนายสรศักดิ์มาฟ้องลาเบี้ยจากจำเลยทั้งสองได้หรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่า เป็นหน้าที่ของจำเลยทั้งสองต้องตรวจตรารถยนต์เข้าออกว่าจะต้องคืนบัตรจอดรถเมื่อมีคนขับรถยนต์ออกไปจากลานจอดรถและบัตรนั้นต้องมีหมายเลขทะเบียนตรงกับหมายเลขทะเบียนที่พนักงานรักษาความปลอดภัยเขียนไว้ในบัตรจอดรถขณะที่ขับรถเข้ามาจอด หากไม่มีบัตรจำเลยที่ 1 ก็ย่อมจะไม่อนุญาตให้ลูกค้านำรถยนต์ออกไปได้ จนกว่าจะแสดงหลักฐานการเป็นเจ้าของรถ  เห็นว่าตามข้อเท็จจริงที่โจทก์และจำเลยนำสืบฟังได้....ว่า คดีนี้ไม่อยากตัดทอน เพราะเป็นที่มาที่ห้างในปัจจุบันไม่มีบัตรเข้าออกแบบนี้อีก ไปตามต่อกันฉบับหน้านะครับ  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 116 ฟังเสียงหัวใจ ผู้เสียหายทางการแพทย์

จาก 2516 ถึง 2552 เหตุการณ์ไม่เปลี่ยนแปลง“พ่อออกมาจากห้องไอซียู ไม่เกิน 48 ชั่วโมงแบบที่หมอบอก พ่อก็จากพวกเราไปอย่างสงบ” ครอบครัวตันทวีวงศ์ เสียบุคคลอันเป็นที่รักไปเมื่อ 5 เมษายน 2552 หากย้อนไปเมื่อปี 2516 ครอบ ครัวตันทวีวงศ์ก็เคยเสียบุคคลอันเป็นที่รักในฐานะแม่ไปด้วยสาเหตุคล้ายๆ กัน “ตอนนั้นแม่ไม่ได้ป่วยอะไรเลยนะ เพียงแค่แม่ต้องการไปเช็คสุขภาพเท่านั้นที่โรงพยาบาลเพราะแม่เป็นโรคหอบหืด หมอเลยทำการเช็คหัวใจด้วย เพราะอาจจะเป็นโรคหัวใจโตได้ แม่ก็นอนที่โรงพยาบาลเพื่อจะเช็คหัวใจให้ละเอียด พอเช้าวันรุ่งขึ้นโรงพยาบาลก็ทำการฉีดสีเพื่อตรวจหัวใจ แล้วแม่ก็ช็อคเพราะแม่แพ้และจากไปในวันนั้น ซึ่งทำให้ทุกคนช็อคมาก เพราะด้วยวัยและสุขภาพของแม่ที่แข็งแรงดี แค่การเข้าไปตรวจสภาพร่างการเท่านั้น ทำให้ครอบครัวต้องเสียโอกาสในชีวิตไปหมด” อภิญญา ตันทวีวงศ์ เผยลิ้นชักความทรงจำถึงการจากไปของแม่ด้วยอายุเพียง 34 ปี หลังจากมีลูกสาวให้พ่อได้เชยชม 3 คนในวัยไล่เลี่ยกันพี่สาวคนโต 9 ขวบ น้องสาววัย 3 ขวบ และเธอ 6 ขวบ พ่อจึงกลายเป็นแม่ในอีกบทบาทหนึ่งของครอบครัว และเลี้ยงลูกมาโดยลำพัง และเธอยอมรับว่าเหตุการณ์ครั้งนั้นนำความทุกข์ และชิงโอกาสต่างๆของคำว่าครอบครัวไปจากเธอ เมื่อเธอเติบโตขึ้นเธอเคยถามพ่อว่า ‘เคยคิดที่จะฟ้องหมอไหม’ พ่อตอบว่าเคยคิด แต่ครั้นปรึกษาผู้ใหญ่แล้ว การยื่นฟ้องศาลถือเป็นเรื่องใหญ่มาก และองค์การด้านสิทธิผู้บริโภคก็ยังไม่เกิด การฟ้องรังแต่จะสร้างภาระให้กับครอบครัวเพิ่มมากขึ้น พ่อจึงไม่เอาความหมอแต่ความทุกข์นั้นก็ไม่ได้หายไปจากใจของพ่อ และทำหน้าที่ทั้งพ่อและแม่เลี้ยงลูกจนเติบโตทั้งสามคน หลังจากล้มเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2551 ด้วยวัย 81 ปี พ่อของอภิญญาเส้นเลือดในสมองซีกซ้ายแตก ครอบครัวพาพ่อส่งโรงพยาบาลที่พ่อมีสิทธิประกันสังคม ซึ่งถึงแม้พ่อจะออกจากงานแล้วก็ส่งมาตลอด ระหว่างนั้นลูกๆ ก็เฝ้าพยาบาลพ่อจนออกจากโรงพยาบาลมาพักฟื้นที่บ้านได้ จากนั้นก็ฟื้นฟูด้วยการพาไปทำกายภายบำบัดอยู่เสมอๆ จนเดือนสิงหาคมปีเดียวกัน พ่อของเธอมีการเกร็ง กระตุก และชัก เธอจึงพาพ่อส่งโรงพยาบาลอีกครั้ง ครั้นถึงโรงพยาบาล แพทย์มองว่าพ่ออยู่ในภาวะวิกฤตจึงนำตัวเข้าห้องไอซียู และติดตามดูอาการในห้องไอซียู 48 ชม.เพื่อป้องกันการชักซ้ำ ซึ่งอาจทำให้สมองขาดออกซิเจนได้ในขณะชัก หลังจากนั้นพ่อก็กลับไปพักฟื้นที่บ้านโดยทุกคนในครอบครัวช่วยกันดูแลใกล้ชิดพ่อตลอดเวลา ซึ่งถึงแม้พ่อจะไม่กลับมาเดินได้อีกครั้งแต่พ่อก็รู้สึกตัว มีสติ จำทุกคนได้หมด จนพ่อมีอาการเกร็งกระตุก อีก 2 ครั้ง ในเดือนกันยายนและตุลาคมซึ่งก็ได้รับการดูแลที่ดีจากโรงพยาบาลมาโดยตลอด ปลายปี 2551 โรงพยาบาลแห่งนี้ก็จะออกจากประกันสังคม ทางครอบครัวจึงมองหาโรงพยาบาลใกล้บ้านไว้เพราะหมอได้บอกไว้ว่า อาการพ่อของเธอนั้นเมื่อเกิดอาการชัก เกร็ง ซึ่งเป็นลักษณะอาการของคนที่เส้นเลือดในสมองแตก จำเป็นต้องได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที ไม่เช่นนั้นอาจจะทำให้สมองได้รับความเสียหายและอาจเสียชีวิตได้ ทางครอบครัวจึงเลือกโรงพยาบาลแห่งหนึ่งในสังกัดประกันสังคม ย่านถนนรามคำแหง ซึ่งใช้เวลาเดินทางเพียง 15 – 20 นาทีก็ถึงโรงพยาบาล และด้วยความเป็นห่วงพ่อ ทางครอบครัวจึงพาพ่อไปหาหมอที่โรงพยาบาลแห่งใหม่ดังกล่าว เพื่อจะได้มีการทำประวัติและบันทึกอาการของพ่อของเธอไว้เป็นข้อมูลพื้นฐาน เพื่อเตรียมการในกรณีป่วยฉุกเฉิน แล้วภาวะนั้นก็มาถึง วันที่ 19 มีนาคม 2552 พ่อของเธอชักอีกครั้ง และนั่นเป็นครั้งแรกและครั้งสุดท้ายที่ได้ใช้สิทธิที่โรงพยาบาลแห่งใหม่ “พ่อชัก เกร็งกระตุก ด้วยอาการแบบนี้ เราก็รีบนำตัวพ่อส่งโรงพยาบาล พอถึงโรงพยาบาลเวลา 9.45 น. ก็ถูกนำตัวเข้าห้องฉุกเฉินและฉีดยากันชักให้ พร้อมห่มผ้าให้พ่ออย่างหนา ซึ่งทำให้เราไม่เห็นว่าพ่อยังชักอยู่ไหม ยังมีการเกร็งอยู่หรือเปล่า แล้วก็วัดความดันเป็นครั้งคราว เราก็ยืนอยู่ข้างเตียงพ่อแล้วก็ถามว่าจะรักษาพ่อต่ออย่างไร เขาบอกต้องทำซีทีสแกนสมองก่อน สักพักเวลา 10.30 น. เขาก็พาพ่อไปทำซีทีสแกนและส่งขึ้นหอผู้ป่วยตอน 11 โมงแล้วก็ตรวจวัดความดันอีกเช่นเดิม ไม่มีหมอมาตรวจ มีเพียงพยาบาลและผู้ช่วยพยาบาลเท่านั้น สักเที่ยงก็เลยไปถามพยาบาลว่า ‘เมื่อไรหมอประจำวอร์ดจะมาดูอาการ’ พยาบาลบอกว่าหมอไปทำธุระที่ศูนย์หนังสือจุฬาฯ จะเข้ามาดูอาการหลังบ่าย 3 แต่หมอสั่งยาทางโทรศัพท์ไว้แล้ว ไม่ต้องห่วง เราก็กังวลละสิทีนี้ ระหว่างนั้นเราก็ทำอะไรไม่ได้เลย ต้องรออย่างอดทน สักบ่าย 2 บุรุษพยาบาลก็มาวัดความดันพ่ออีกครั้ง ครั้งนี้ความดันพ่อสูงเกิน 200 แต่พยาบาลก็ไม่ได้ทำอะไร ได้แต่บอกว่าเป็นเรื่องปกติของผู้ป่วยแบบนี้ สักพักพ่อก็ตาค้าง ไม่มีสติ เราก็ขอร้องให้พยาบาลตามหมอมาที พยาบาลก็โทรไปหาหมอเล่าอาการของพ่อ แล้วหมอก็สั่งให้พยาบาลฉีดยาให้กับพ่อเพิ่ม พ่อก็ยังเกร็ง และกระตุกอยู่ จนบ่ายสามโมงครึ่ง หมอก็มาดูอาการของพ่อ บอกว่าผลซีทีสแกนออกมาแล้ว พ่อมีน้ำคั่งในโพรงสมอง แต่เขาช่วยอะไรไม่ได้ เพราะเขาเองเป็นหมออายุรกรรมทั่วไป ต้องให้หมอด้านสมองมาดู ซึ่งหมอสมองนี่ก็เป็นคุณหมอพาร์ทไทม์อีก ไม่รู้จะมาเมื่อไร เราก็โห...นี่รอหมอมาครึ่งค่อนวัน แล้วยังช่วยอะไรไม่ได้อีก” เมื่อรู้ว่าการรอคอยอย่างอดทนกว่า 7 ชั่วโมง ที่มีชีวิตของพ่อเป็นเดิมพันไม่มีสัญญาณที่ดี เธอจึงขอย้ายพ่อไปรักษาอีกโรงพยาบาลในย่านเดียวกัน ก่อนจะย้ายทางโรงพยาบาลนั้น หมอบอกกับเธอว่าพ่อของเธออยู่ในภาวะวิกฤตต้องใช้เครื่องช่วยหายใจขณะย้าย ซึ่งอาจจะเกิดอันตรายได้ พร้อมส่งเอกสารให้เธอเซ็น 1 ฉบับ ถึงแม้จะอยู่ในช่วงชุลมุนเธอก็ยังมีสติที่จะอ่าน ซึ่งใจความบอกว่า จะไม่เอาความและไม่ฟ้องร้องโรงพยาบาลหากเกิดความเสียหายเกิดขึ้น และเธอก็ใช้นาทีชุลมุนเก็บเอกสารนั้นมาด้วย เพราะเธอมองว่ามันไม่ยุติธรรมเลยที่โรงพยาบาลจะทำแบบนี้ ถ้าหากเป็นญาติผู้ป่วยรายอื่นๆ อาจจะเซ็นไปแล้วก็ได้เพราะเวลานั้นเป็นช่วงเวลาเร่งรีบและอาจเกรงว่าถ้าไม่เซ็นโรงพยาบาลจะไม่ให้พาตัวออกไปก็เป็นได้ บ่ายสี่โมงครึ่ง พ่อของเธอก็ถึงอีกโรงพยาบาล ซึ่งขณะนั้นพ่อของเธออยู่ในภาวะหัวใจวาย และโคม่า จึงถูกนำตัวเข้าห้องไอซียู และต้องใส่เครื่องช่วยหายใจตลอดเวลา  ตลอด 15 วันที่พ่อนิ่งสนิทไม่รู้สึกตัว เธอและครอบครัวอยู่ดูแลไม่ห่างถึงแม้จะเข้ามาเยี่ยมได้บางเวลาเท่านั้น แต่ก็อยู่ที่หน้าห้องไอซียูเสมอ การงานที่เคยทำของลูก หนังสือที่เคยเรียนของหลาน ความกังวลใจต่างๆ นานา ถาโถมเข้าสู่ครอบครัวตันทวีวงศ์อีกครั้ง ทำให้เธอเกิดคำถามว่าเกิดอะไรขึ้นกับระบบการรักษาพยาบาล เมื่อคราวแม่และเมื่อคราวของพ่อ ที่ระยะเวลาห่างกันถึง 37 ปี แต่เหตุการณ์คล้ายๆ กันก็ยังเกิดขึ้น “หมอเรียกพวกเราไปคุยและบอกว่าพ่อจะไม่กลับมาเหมือนเดิมแล้วนะ ถึงแม้พ่อจะฟื้นขึ้นมา เพราะสมองของพ่อขาดออกซิเจนนานเกินไปแล้วตั้งแต่ก่อนเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลนี้ ต้องเป็นผู้ป่วยนอนเตียงเวลากินก็กินทางสายยาง การรับรู้ก็น้อยมากเพราะสมองเสียหายไปมากตั้งแต่ตอนเริ่มชัก และทางเลือกที่มีอยู่ก็คือการเจาะคอเพื่อที่จะให้อาหารและให้อากาศ เพื่อให้พ่อมีชีวิตอยู่ได้ พอได้ฟังแบบนั้นเราก็ปรึกษากัน หาข้อมูลต่างๆ ว่าจะทำอย่างไร เราจะยอมให้พ่อตื่นขึ้นมาทุกครั้งแล้วอยู่กับความเจ็บปวดไหม ของที่ชอบก็ไม่ได้กิน หายใจเองก็ยังทำไม่ได้ สุดท้ายพวกเรายอมให้พ่อจากไป ยอมให้หมอถอดเครื่องช่วยหายใจและย้ายพ่อมารักษาที่ห้องพักฟื้นผู้ป่วย ไม่เกิน 48 ชั่วโมง พ่อก็จากไปอย่างสงบท่ามกลางลูกหลานครบทุกคน” เธอเล่าถึงนาทีสุดท้ายที่ได้อยู่กับพ่อ หลังการจากย้ายโรงพยาบาลมาอยู่โรงพยาบาลใหม่ อภิญญาบอกว่าทางโรงพยาบาลเดิมก็มาเยี่ยม และส่งเจ้าหน้าที่มาเจรจา เพราะเธอไม่ได้ส่งใบสัญญานั้นคืนให้โรงพยาบาล  ด้วยหลักฐานต่างๆ ที่เธอมีมันพร้อมที่จะเอาผิดโรงพยาบาลได้ แต่เธอเลือกที่จะไม่ฟ้องหมอหรือโรงพยาบาล เธอหวังเพียงจะให้เกิดการรักษาพยาบาลที่ได้มาตรฐาน และเพื่อปกป้องผู้ประกันตนคนอื่นๆ อยากให้เกิดการกำกับดูแลมาตรฐานโรงพยาบาลนั้นที่มีการบันทึกเวชระเบียนที่เป็นเท็จหลังจากเธอยื่นขอเวชระเบียนไป เหตุการณ์นี้ทำให้เธอนำเรื่องเข้าร้องเรียนต่อประกันสังคม สุดท้ายหลังการเจรจา ทางโรงพยาบาลยอมจ่ายค่ารักษาพยาบาลที่เกิดขึ้นทั้งหมดราวๆ 340,000 บาท “ญาติที่ฟ้องหมอหรือโรงพยาบาล จริงๆ แล้วไม่ได้ต้องการเงิน แต่ต้องการเห็นอะไรบางอย่างต้องการความรับผิด ต้องการการดูแลที่ดีจากโรงพยาบาล ต้องการวัดใจกันว่าทางโรงพยาบาลรู้สึกสำนึกไหมกับสิ่งที่ทำลงไปไหม ก็รู้สึกเสียใจที่พาพ่อส่งโรงพยาบาลผิด ถ้าเราพาพ่อส่งโรงพยาบาลถูกพ่อก็จะอยู่กับเราต่อ ถึงแม้ญาติๆ จะมีความรู้บ้างแต่ถึงที่สุดแล้วความรู้ความเชี่ยวชาญจริงๆ ก็ต้องเป็นหมอ และอีกอย่างการรักษาพยาบาลก็ไม่ใช่การซื้อของที่ไม่พอใจก็ไปซื้อที่อื่น ในขณะที่พ่อชักอยู่ก็พาพ่อขึ้นรถไปโรงพยาบาลอื่น มันไม่ใช่ เราไม่ฟ้องหมอหรือโรงพยาบาล เราเพียงแค่อยากให้มีการควบคุมดูโรงพยาบาล อยากให้ประกันสังคมเข้าไปควบคุมดูแลให้สมกับเงินที่จ่ายให้ประกันสังคมทุกเดือนๆ หน่อย เราไม่อยากให้เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นกับใครอีก อยากให้เรื่องของพ่อเป็นบทเรียนในการปรับปรุงบริการ ถ้าหมอมองว่าผู้ป่วยจะใช้โอกาสที่เขาพลาดเพื่อฟ้องเรียกเงิน 10 ล้าน 20 ล้าน มันไม่ใช่เลย ความสูญเสียต่างๆ มันเกิดขึ้น อย่างโรงพยาบาลทำแม่ตาย ถ้ามองว่าเราสูญเสียอะไรบ้าง เราเสียโอกาสการได้รับการเลี้ยงดูที่ดี เสียคุณภาพชีวิต เสียแม่ ซึ่งถ้าหากจะคิดเป็นตัวเงินเพื่อฟ้องร้องตอนนั้นมันก็มีเหตุผลที่ฟ้องร้องกันได้ ถ้าเทียบกับกรณีของพ่อ ค่ารักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลต้องจ่ายมันเป็นเรื่องจิ๊บจ๊อยมากๆ “พอเห็นหน้าเขาก็ดีใจนะ ดีใจที่เขาเกิดมาปกติ ไม่พิการ” เนื้องอกที่มีหัวใจ ของบังอร มีประเสริฐ “แม่ใครน่ะ ใครเหรอ” น้องอาร์มแฝดคนน้องเซ้าซี้ถามบังอร มีประเสริฐ ผู้เป็นแม่ด้วยความใคร่รู้ว่าแม่พูดโทรศัพท์กับใคร ส่วนน้องอั้มแฝดคนพี่ นั่งคลอเคลียไม่ห่างแม่  ลูกชายแฝดวัย 8 ขวบของบังอร  ที่ครั้งหนึ่งหมอมีคำวิจฉัยว่าเขาสองคนเป็นเนื้องอกในมดลูกของบังอรเมื่ออยู่ในท้องได้ 6 เดือน ย้อนไปเมื่อปี 2545 เดือนเมษายน บังอร มีประเสริฐ รู้อึดอัดแน่นท้อง อีกทั้งท้องก็โตขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งหลังจากเธอมีลูกชายให้สามีได้เชยชมแล้ว 1 คน บังอรก็กินยาคุมมาตลอด 9 ปี จึงแน่ใจว่าไม่ได้ตั้งท้องอย่างแน่นอน แต่อาการผิดปกติทำให้กังวล เธอจึงให้สาธิต  นาคขันทอง ผู้เป็นสามี พาไปตรวจที่สถานีอนามัยปากมาบ แต่ด้วยความจำกัดด้านอุปกรณ์ หมออนามัยจึงใช้การคลำท้องและพบว่ามีก้อนเนื้อภายในท้อง แต่ไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นเนื้องอกหรือว่าบังอรตั้งท้องกันแน่ จึงแนะนำให้ไปตรวจที่โรงพยาบาล ผลการตรวจของโรงพยาบาลซึ่งตรวจด้วยชุดทดสอบการตั้งครรภ์ พบว่าบังอรไม่ได้ท้อง หมอจึงวินิจฉัยว่าเหตุที่บังอรท้องโตนั้นเกิดจากเนื้องอก ดังนั้นทางโรงพยาบาลจึงทำการผ่าตัดเพื่อผ่าตัดเนื้องอกในท้องของบังอร แต่แล้วหลังการผ่าตัดที่หมอวินิจฉัยว่าเป็น “เนื้องอก” นั้นแท้จริงแล้วเป็นเด็กแฝด 2 คนอยู่ในมดลูกของบังอรที่ขณะนี้มีอายุครรภ์ถึง 6 เดือนแล้วหลังการผ่าตัดคุณหมอได้ออกมาแสดงความยินดีกับครอบครัวของบังอรที่หน้าห้องผ่าตัดว่า ‘ยินดีด้วย เพราะบังอรไม่ได้เป็นเนื้องอกในท้อง แต่บังอรท้องเด็กแฝด’ กลับไปพักฟื้นที่บ้านได้ ไม่มีอะไรต้องกังวล ‘ไม่มีอะไรต้องกังวล’ แต่กลับเป็นเรื่องที่สร้างความกังวลและความลำบากให้กับครอบครัวของบังอรเป็นอย่างมาก การตั้งท้องดูจะเป็นเรื่องยากเย็นที่สุดของผู้หญิงแล้ว แต่บังอรอุ้มท้องลูกแฝด  ซ้ำร้ายกว่านั้นเป็นท้องที่มีแผลผ่าตัดที่ยาวกว่าคืบ การจะพลิกตัวแต่ละครั้งจึงเป็นเรื่องที่แสนสาหัสสำหรับบังอร  อีกทั้งกังวลว่าแผลจะปริออกด้วยเพราะท้องเธอก็โตขึ้นทุกวันๆ  ตลอดระยะ 3 เดือน ที่รักษาแผลให้หายจนผ่าตัดคลอด สามีจึงต้องคอยอยู่ดูแลบังอรเกือบจะตลอดเวลา งานรับจ้างและทำประมง ด้วยรายได้ 2 คนที่ตกวันละ 200 – 300 บาท จึงมีอันต้องหยุดลง และประทังชีวิตครอบครัวด้วยการหยิบยืมเงินเพื่อนบ้านเพื่อเลี้ยงปากท้อง ในเดือนกรกฎาคม 2545 น้องอั้มและน้องอาร์ม ลูกชายฝาแฝด ของบังอรก็ลืมตาดูโลก ร่างกายสมบูรณ์ดีด้วยน้ำหนัก 3 ก.ก. กรัม เมื่อแรกคลอดทั้งคู่ ซึ่งเข้ารับการผ่าตัดที่โรงพยาบาลเดิม หากแต่ว่าเปลี่ยนหมอในการผ่าตัด “พอเห็นหน้าเขาก็ดีใจนะ ดีใจที่เขาเกิดมาปกติ ไม่พิการ” ความกังวลของบังอรหมดไป 1 เปาะ แต่มีอีกเปาะที่เธอยอมรับว่าท้อเหลือเกินในการต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งการเยียวยา ความผิดพลาดของทางโรงพยาบาล 23 พฤษภาคม 2545 บังอรได้ได้ยื่นเรื่องต่อปลัดกระทรวงสาธารณสุข เพื่อให้พิจารณาชดเชยค่าสินไหม ตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2535 เพราะเธอถูกผ่าท้องฟรีและได้สร้างความวิตกกังวลว่า การผ่าท้องที่เกิดขึ้นจะทำให้ส่งผลกระทบต่อลูกแฝดในท้องหรือไม่ เธอเฝ้ารอผลการร้องเรียนด้วยใจหวัง แต่แล้ววันที่ 5 พฤศจิกายน 2545 ผลที่ออกมาทำให้เธอถึงกับเข่าอ่อน นั่นเพราะว่าสำนักปลัดกระทรวงสาธารณสุขบอกว่าการผ่าตัดของหมอนั้นเหมาะสมแล้ว และนั่นเป็นการผ่าท้องเพื่อวินิจฉัยโรค ไม่ใช่การรักษาโรค ทำให้เธอสงสัยว่าเดี๋ยวนี้เขาวินิจฉัยโรคกันอย่างนี้เลยหรือ หลังจากได้ฟังคำตอบจากสำนักปลัดกระทรวงสาธารณสุขแล้ว เธอไม่เชื่อว่านั่นเป็นการวินิจฉัยโรค เธอยังคงตามหาความเป็นธรรมต่อไปด้วยการยื่นเรื่องต่อศาลปกครองเมื่อต้นปี 2546 เพื่อขอให้เพิกถอนคำสั่งของสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข และขอให้หมอที่ทำการผ่าตัดเธอ และโรงพยาบาลร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้กับครอบครัวของเธอเป็นเงิน 500,000 บาท แต่เธอก็ต้องผิดหวังอีกครั้ง เพราะวันที่ 18 มีนาคม 2546 ศาลปกครองกลางไม่รับฟ้อง ในเรื่องให้มีการชดใช้ค่าเสียหาย แต่ก็ทำให้ใจเธอชื้นขึ้นมาบ้างเพราะศาลยอมรับคำฟ้องในข้อหาขอให้ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาเพิกถอนคำสั่งของสำนักงานปลัดฯ 3 ปีผ่านไป บังอรกลับมาใช้ชีวิตด้วยอาชีพรับจ้าง และทำประมง เลี้ยงครอบครัวดังเช่นปกติ โดยคดีของเธอยังคงดำเนินต่อไป และวันที่ 31 พฤษภาคม 2549 ผลการรับคำฟ้องไปเมื่อ 3 ปีก็ออกมาว่าศาลยกฟ้อง เพราะกระบวนการในการออกคำสั่งของสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขนั้นชอบด้วยกฎหมายแล้ว 29 มิถุนายน 2549 เธอจึงยื่นอุทธรณ์คดีต่อศาลปกครองสูงสุด และการรอคอยก็ผ่านไปอีก 1 ปี 15 สิงหาคม 2550 ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาออกมาว่า การผ่าตัดเธอนั้นถือเป็นการกระทำละเมิด และให้โอนคดีของเธอกลับไปยังศาลยุติธรรม จังหวัดที่เกิดเรื่องนั่นก็คือที่จังหวัดสมุทรสงคราม  วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2551 เธอจึงยื่นเรื่องฟ้องศาลใหม่อีกครั้ง ในที่สุด 15  พฤษภาคม 2551 ก็มีการนัดเจรจาไกล่เกลี่ยเกิดขึ้นระหว่าง ครอบครัวของบังอร โดยมีเจ้าหน้าที่ของศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคไป ร่วมเจรจาไกล่เกลี่ย ซึ่งทราบว่าหมอที่ทำการผ่าตัดบังอรได้เสนอค่าเยียวยาเธอมาเป็นจำนวนเงิน 80,000 บาท ซึ่งการฟ้องครั้งนี้ทางศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคและบังอร ต้องการให้สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้รับผิดชอบ ไม่ได้ต้องการรับค่าเสียหายจากหมอ จึงยื่นข้อเสนอสำนักงานปลัดจ่ายไม่ต่ำกว่า 200,000 บาท วันที่ 23 พฤษภาคม 2551 จึงมีการเจรจาไกล่เกลี่ยอีกครั้ง โดยแพทย์ที่ทำการผ่าตัดยินดีที่จะรับผิดชอบแทนสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข และอยากจะยุติเรื่องราวทั้งหมด เพราะส่วนตัวแล้วหมอเองก็รู้สึกเสียใจกับเรื่องที่ผ่านมา จึงยินดีช่วยเหลือเยียวยาค่าเสียหายและเป็นทุนการศึกษาให้กับลูกชายทั้งสองของบังอร เป็น 120,000 บาท  สุดท้ายวันที่ 9 กรกฎาคม 2551 บังอรได้รับการชดเชยเยียวยาจำนวนเงิน 140,000 บาท กว่า 6 ปีของเส้นทางการตามหาความยุติธรรมของบังอร เธอบอกว่าระยะเวลาการต่อสู้นานขนาดนี้ ทำให้เธอท้อมาก “พอเห็นหน้าเขาก็ดีใจนะ ดีใจที่เขาเกิดมาปกติ ไม่พิการ” แต่ยาใจสำคัญที่ทำให้เธอมีแรงสู้ต่อก็คือ “ลูก” ของเธอนั่นเอง และเธอหวังว่า พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข ซึ่งกำลังรอพิจารณาอยู่ในสภาฯ ขณะนี้จะมีส่วนในการช่วยลดความขัดแย้งระหว่างหมอกับผู้ป่วย และจะมีกระบวนการเยียวยาที่รวดเร็ว รวมถึงน่าจะช่วยพัฒนาระบบสาธารณสุขไทยด้วยเช่นกัน -------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------- เรื่องเล่าจากหัวใจพ่อ กลางดึกวันที่ 6 กรกฎาคม 2552 ขวัญอุทัย แสนทายก ในฐานะพ่อ กำลังส่งใจไปยื้อหัวใจลูกสาวคนเล็ก “น้องครีม” วัย 1 ขวบ 22 วัน ที่เต้นแผ่วลงทุกทีๆ ในห้องรักษาของโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง ในขณะเดียวกันเขาก็ต้องยื้อหัวใจที่ยังเต้นตุบๆ หากแต่ว่าสลายไปแล้วของ สริชญา ติดสันโดษ  ภรรยาของเขา ที่ร่ำไห้ปานจะขาดใจอยู่หน้าห้อง “หมอบอกว่าลูกเราจะไม่เป็นไร แต่ทำใจดีๆ ไว้นะ” คำปลอบของเขากลับทำให้ภรรยาร้องไห้หนักขึ้น ด้วยคำว่า “ทำใจดีๆ” และนั่นเป็นถ้อยคำที่ดีที่สุดแล้วของเขา  ย้อนไปเมื่อเช้าของวันที่ 6 กรกฎาคม ย่าพาน้องครีมมาหาหมอด้วยอาการอาเจียนและถ่ายท้องอย่างหนัก หลังหมอตรวจอาการแล้ว บอกว่าเป็นไวรัสลงกระเพาะ ไม่เป็นอะไรมากให้กลับไปพักที่บ้านได้ ในขณะที่ขวัญอุทัย ซึ่งลางานมาเฝ้า “น้องคริส” ลูกสาวแฝดผู้พี่ที่เข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลอยู่ก่อนหน้า 2 วันแล้วด้วยอาการเดียวกัน รู้สึกเบาใจขึ้นมาบ้างหลังรู้ว่าลูกสาวคนเล็กไม่เป็นอะไรมาก ทว่าตกเย็นวันนั้น “น้องครีม” อาการทรุดลงขึ้นจึงถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลอีกครั้งหนึ่ง โดยโรงพยาบาลนำตัวไปที่ห้องฉุกเฉินและปล่อยให้รออย่างนั้นกว่า 1 ชั่วโมง โดยไม่มีการตรวจรักษา ขวัญอุทัยจึงขอปรอทจากพยาบาล มาวัดไข้ลูกเองซึ่งปรอทขึ้นถึง 38 องศา ทำให้เขากังวลว่าน้องครีมจะช้อคเพราะน้องเคยช้อคมาครั้งหนึ่งแล้วเมื่อไข้ขึ้นถึง 39 องศา หลังวัดไข้เสร็จ “น้องครีม” ก็เปลี่ยนจากการงอแง เป็นเริ่มนิ่งแบบไม่ตอบสนอง เขาจึงขอให้หมอและพยาบาลช่วยรักษาให้หน่อย จึงได้รับการตอบสนองโดยพยาบาลนำตัวน้องครีมไปเช็ดตัว จนน้องเริ่มตัวเย็นลงแล้วก็ให้มาอุ้มไว้เช่นเดิม จนเวลา 4 ทุ่ม ทางโรงพยาบาลจึงให้เข้าพักรักษาตัว และพักอยู่เตียงใกล้ๆกับ “น้องคริส” แฝดผู้พี่ “มันเป็นช่วงเวลาการรอคอยที่ยาวนานมากครับ ไปตั้งแต่ 5 โมงเย็น กว่าจะได้ขึ้นไปห้องผู้ป่วยในก็ 4 ทุ่ม แต่ก็อุ่นใจครับเพราะเตียงอยู่ใกล้ๆกันกับพี่สาวของเขา ทำให้ดูแลได้ง่ายขึ้น น้องครีมจะแข็งแรงกว่าพี่สาว อย่างครั้งนี้ก็เหมือนกันพี่สาวเขาเป็นหนักกว่า” ขวัญอุทัยย้อนเล่าเหตุการณ์ที่เขาไม่อาจลืมได้ แต่แล้วขณะแม่น้องครีมกำลังให้นมอยู่กับอก ไข้ขึ้นสูงและเกิดอาการช็อค นักศึกษาแพทย์ที่กำลังจะเช็ดตัวให้ ก็รีบนำตัวเข้าห้องรักษา นักศึกษาแพทย์ก็กรูกันเข้าไปช่วยกัน โดยไม่มีหมอประจำการอยู่ที่นั่น จนเวลาผ่านไปกว่า 45 นาที ที่นักศึกษาแพทย์ช่วยกันปั๊มหัวใจ สักครู่ก็มีคนเข้ามา และบอกให้เขาทำใจ… สุดท้ายน้องครีมจากไป เวลาตี 1 วันอังคารที่ 7 กรกฎาคม 2552 ด้วยสาเหตุระบุว่า “หัวใจล้มเหลว” “คือเหมือนหัวใจผมมันสลายไปแล้ว" ตอนแรกผมก็อุ่นใจเพราะที่นี่เป็นโรงพยาบาล เกิดอะไรขึ้นก็จะช่วยเหลือได้ทัน แต่พอถึงเวลาฉุกเฉินจริงๆ กลับช่วยเหลือไม่ได้เลย ผมเชื่อว่าลูกผมไม่ได้ตายเพราะโรค เพราะครั้งหนึ่งน้องเคยช้อคมาครั้งหนึ่งแล้วแต่ได้รับการช่วยเหลือทัน แต่ครั้งนี้ กดกันจนหน้าอกช้ำแล้วหมอก็ไม่มีอยู่เวร การเยียวยาหลังการเสียชีวิตของน้องครีมครอบครัวของขวัญอุทัย ขอพบผู้อำนวยการโรงพยาบาล ซึ่งตอนนั้นคิดไว้ว่าหากไม่ยอมดำเนินการอะไรต่อเรื่องการเสียชีวิตของ “น้องครีม” ทางครอบครัวก็ตกลงกันว่าจะฟ้องร้องให้ถึงที่สุด ด้วยหวังว่าอยากให้ทางโรงพยาบาลปรับปรุงบริการ และดูแลเอาใจใส่คนอื่นๆให้ดีขึ้น ไม่ว่าจะแสดงอาการเจ็บป่วยหรือไม่ ก็ควรจะดูแลไม่ควรที่จะเพิกเฉยต่อการรักษาและควรจะมีทีมหมอพร้อมถึงแม้จะเป็นวันหยุดยาว ไม่ใช่ปล่อยไปแบบนี้ พร้อมเรียกค่าเยียวยาและค่าเลี้ยงดูไป 290,000 บาท ในวันที่ 17 กรกฎาคม 2552 ซึ่งขณะนั้นลูกสาวคนโตยังรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล หลังการเข้าพบทางโรงพยาบาลมีการเรียกประชุมผู้บริหาร และเข้าเจรจากับครอบครัวขวัญอุทัย พร้อมให้การดูแลน้องคริสเป็นอย่างดี และชดเชยเยียวยาค่ารักษาพยาบาลเต็มจำนวนที่เรียกไปในวันที่ 22 ตุลาคม 2552 “ผมว่าถ้าเขาดูแลน้องครีมดีแบบนี้ตั้งแต่ตอนแรก การสูญเสียทั้งสองฝ่ายก็ไม่เกิดขึ้น เพราะเงินที่นำมาชดเชยให้ผมก็เป็นเงินจากภาษีประชาชนนั่นเอง และเงินจำนวนเพียงเท่านี้ถ้าเทียบกับชีวิตของลูกสาวผม มันเทียบกันไม่ได้เลย” นอกจากการได้รับการเยียวยาจากทางโรงพยาบาลแล้ว ครอบครัวของขวัญอุทัย ได้ใช้สิทธิตามมาตรา 41 ของพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ยื่นเรื่องไปที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ในเดือนเดียวกันและได้รับการเยียวยาในวันที่ 21 มกราคม 2553 จำนวนเงิน 200,000 บาท อีกหนึ่งชีวิตที่ยังเหลืออยู่ เมื่ออีกหนึ่งชีวิตจากไป อีกสามชีวิตที่อยู่จะอยู่ต่ออย่างไร แม่น้องครีมบอกเพียงว่า ไม่อยากจะพูดถึง เธอบอกได้เพียงเท่านั้น หยาดน้ำตาก็รื้นขึ้นมาเล่าเรื่องราวแทนถ้อยคำ “มันพูดยากครับ เพราะเขาสองคนเคยเล่นอยู่ด้วยกัน กินด้วยกัน นอนด้วยกัน แล้วชีวิตคู่แฝดเขาจะมีความสัมพันธ์กัน เขาก็จะไปเล่นกับลูกของเพื่อนบ้าน มีอะไรเขาก็แบ่งปันให้ เขาคงคิดว่าเป็นน้องของเขาเวลาเห็นหน้าน้องคริส แล้วจะคิดถึงน้องครีมตลอด คือเราจะคิดว่าถ้าน้องครีมยังอยู่นะโตเท่านี้แล้วนะ พ่ออุ้มคนนั้น แม่อุ้มคนนี้ คือมัน…ขาดไปหลายอย่าง อืม…ไม่รู้จะอธิบายอย่างไรดีครับ” เขาหยุดผ่อนลมหายใจอีกครั้งและนั่นเป็นการอธิบายที่ดีแล้วสำหรับเขา ถึงแม้จะผ่านไปกว่า 1 ปีแล้ว แต่ทุกอย่างยังคงชัดเจนสำหรับเขาเสมอ

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point