ฉบับที่ 266 ระวัง “ไลฟ์ tiktok หลอกกินเงิน”

        แอพ tiktok นั้นฮิตติดลมบน มีคอนเทนต์น่าสนใจมากมาย แน่นอนคอนเทนต์ขายของก็มาด้วย เจอที่ดีก็ดีไป เจอแย่ๆ จะเสียใจเจ็บใจอย่างเช่นผู้ร้องรายนี้ ดังนั้นก่อนจะหลงคารมผู้ขาย ท่องไว้อย่ามือไวโอนเร็ว         “สวัสดี ทุกคน ผมบอสหนึ่งเรากำลังตามหาผู้โชคดีได้สิทธิ์ซื้อ iPHONE มือ 1 รุ่นล่าสุด ราคาถูกสุดๆ 499 บาท ถ้าคุณอยากได้ของดี ของถูกต้อง @ LINE มาหาเรา แจ้งความประสงค์ขอรับสิทธิ์ แล้วเราจะสุ่มเลือกผู้โชคดี”         ยังไม่สิ้นเสียงบอสหนึ่ง คุณสมชายผู้เสียหายของเรา LINE ไปทันที “บอสหนึ่งแจ้งรับโปร 499 จากนั้นแป๊บเดียวมีเสียงไลน์แจ้งเตือนเข้ามา แอดมินแจ้งว่า “คุณ (คุณสมชาย) เป็นผู้โชคดีได้ iPhone 13 Pro มือ 1 มูลค่าเกือบ 4 หมื่นบาท แต่คุณจ่ายเงินแค่ 499 บาท ก็รับของได้เลย”         คุณสมชายรู้สึกดีใจมากๆ “โหย โคตรโชคดี” (เขาคิดในใจ) ที่ตนเองเป็นผู้โชคดี ดังนั้นจึงส่งข้อความ “แอดมินส่งบัญชีรับโอนมาเลยครับ” ก็คนมันดีใจมากไม่ทันคิดอะไร จ่ายแค่เงินไป 499 บาท ได้ iPhone 4 หมื่นเลยนะ ทว่าทันทีที่ส่งสลิปโอนเงินเข้าไลน์ไป อีกฝั่งก็บล็อกไลน์คุณสมชายทันควัน ติดต่อไม่ได้อีกเลย         แน่ใจแล้วว่าตนเองโดนหลอกแน่ๆ หลังจากหลงกลจากคำเชิญชวนใน วันเกิดเหตุ 1 มีนาคม 2566  ไลฟ์ tiktok บัญชีที่ชื่อว่า steamedboss (บอสหนึ่ง) ไม่คิดเลยว่าจะถูกโกงไม่รู้จะเอาเงินคืนอย่างไร จึงอยากมาขอความช่วยเหลือ แนวทางการแก้ไขปัญหา         ฝากเตือนใจกันไว้ อย่าโอนไว กรณีนี้ “เป็นการสุ่มรับโทรศัพท์หลอกว่าจะได้โทรศัพท์...สุดท้ายไม่ได้รับอะไรเลย พฤติการณ์แบบนี้เจตนาโกงชัดเจน เพราะบล็อกทุกช่องทางการติดต่อเข้าข่ายฐานฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญา ดังนั้นผู้เสียหายต้องรีบไปแจ้งความกับตำรวจ โดยต้องบอกถึงพฤติการณ์ที่บ่ายเบี่ยงของผู้ขาย ซึ่งน่าจะเป็นแก๊งมิจฉาชีพ การร้องทุกข์นี้ต้องดำเนินการภายใน 3 เดือน มิฉะนั้นคดีอาญาจะขาดอายุความไม่สามารถนำตัวผู้กระทำผิดมารับโทษ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 266 สั่งของได้ไม่ตรงปก “ซื้อไอแพด แต่ได้ถ้วยกระเบื้องแทน”

        การสั่งซื้อสินค้าทางออนไลน์แล้วได้สินค้าไม่ตรงปก ปัจจุบันมีผู้บริโภคหลายคนคงจะเจอปัญหาเหล่านี้กันเยอะ  อาชญากรรมทางออนไลน์ ระหว่างเดือน มีนาคม  2565 – กุมภาพันธ์ 2566 มีสถิติการแจ้งความถึง  192,031 คดี และเสียหายสูงสุด 100 ล้านบาท และกลโกงอาชกรรมที่ติดอันดับแรกๆ คือ การลวงหลอกให้ซื้อสินค้าทางออนไลน์         เรื่องราวของผู้ร้องรายนี้ ก็เช่นกัน เกี่ยวกับการสั่งซื้อสินค้าออนไลน์แล้วได้ของไม่ตรงปก คุณน้ำตาลเธอได้เล่าให้ทางศูนย์พิทักษ์สิทธิ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคฟังว่า เมื่อต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา คุณน้ำตาลได้สนใจที่จะซื้อ “ไอแพดมือสอง” เพื่อที่จะเอามาไว้ใช้งาน จึงได้ลองเข้าไปค้นหาดูในเฟซบุ๊ก ซึ่งมักจะมีหลากหลายรุ่นให้เธอได้เลือกซื้อได้ พอเลือกไป เลือกมา คุณน้ำตาลก็เกิดสนใจในรุ่นไอแพด เจน 9 มือสอง ในราคา 3,600 บาท เธอเลยตกลงซื้อทันทีและเลือกแบบเก็บเงินปลายทางเอา         จากนั้นเธอก็รอวันที่สินค้ามาถึง  ผ่านไปไม่กี่วันสินค้าที่เธอสั่งก็มาถึงที่หมายและได้จ่ายเงินเรียบร้อย พร้อมเปิดพัสดุในกล่องทันที แต่...ก็ต้องตกใจอีกของที่ได้กับไม่ตรงกับที่สั่งเลยสักนิดเดียว เป็นเพียงถ้วยกระเบื้องจำนวน 4 ใบ แพ็คมาในกล่อง ยังไม่พอแถมถ้วยกระเบื้องที่ส่งมายังแตกไปอีก 2 ใบ อย่างไรก็ตาม คุณน้ำตาลยังใจดีสู้เสือ ลองติดต่อไปตามที่อยู่ข้างกล่องเพื่อจะได้เจรจากับผู้ขายได้ แต่สุดท้ายก็ไม่สามารถติดต่อได้ ทีนี้ล่ะเธอโดนหลอกแน่แท้แล้วสิ จึงได้ติดต่อมาทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเพื่อขอแนวทางในการแก้ปัญหา แนวทางการแก้ไขปัญหา         ศูนย์พิทักษ์สิทธิ  มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค มีคำแนะนำตามนี้         1. ซื้อสินค้าทางออนไลน์แล้วชำรุดบกพร่องหรือได้ไม่ตรงปก ให้ทางผู้ร้องลองติดต่อกับผู้ขายให้รับผิดชอบกับสิ่งที่เกิดขึ้น ได้แก่ การขอเปลี่ยนสินค้าหรือการขอเงินคืน         2. ถ้าได้ดำเนินการตามข้อมูลข้างต้นแล้วพบว่า ไม่สามารถตกลงกันได้หรือติดต่อทางร้านค้าไม่ได้ ผู้ร้องต้องดำเนินการโดยไปแจ้งความที่สถานีตำรวจในท้องที่ โดยนำหลักฐานที่เกี่ยวข้องไปด้วย เช่น            2.1 ใบสั่งซื้อสินค้า            2.2. ข้อมูลร้านค้า ที่อยู่และเบอร์โทรศัพท์หรืออื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับร้านค้า            2.3 ถ่ายรูปร้านค้าและเก็บสินค้าไว้เป็นหลักฐาน            2.5 หลักฐานในการโอนเงิน สลิปโอนเงิน เลขที่บัญชีของใคร                 3. หากเป็นการโอนเงินผ่านธนาคาร ผู้ร้องสามารถไปขอใบอายัดบัญชีที่มีรูปตราครุฑเพื่อไปอายัดบัญชีที่ธนาคารเพื่อไม่ให้คู่กรณีสามารถทำธุรกรรมทางการเงินได้         นอกจากนี้ ช่องทางหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถไปร้องเรียนได้โดยตรง มีดังนี้             ·     สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเลคทรอนิกส์ สายด่วน 1212             ·     สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สายด่วน 1599            ·     กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี สายด่วน 1195         ทั้งนี้ ยังสามารถฟ้องร้องทางออนไลน์ได้ทางเว็บไซต์ https://efiling3.coj.go.th/citizen/ โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 266 ผู้ใช้สิทธิ์บัตรทองไม่ต้องจ่ายเพิ่ม หากจำเป็นต้องใช้ยานอกบัญชีฯ ตามหมอสั่ง

        จากข้อมูลของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้เปิดเผยว่าในปี 2565 มีการร้องเรียนจากผู้ใช้สิทธิบัตรทอง กรณีถูกเรียกเก็บค่ายานอกบัญชียาหลักแห่งชาติ จำนวน 32 เรื่อง เป็นจำนวนเงิน 1,724,703 บาท         คุณบัวก็เป็นคนหนึ่งที่ต้องจ่ายค่ายานอกบัญชีฯ เองมากว่า 10 ปีแล้ว แต่เมื่อกลางเดือนกุมภาพันธ์นี้ เธอได้ส่งข้อความมาในไลน์ของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเพื่อขอคำปรึกษาว่า เมื่อเธอใช้สิทธิบัตรทองไปรับยารักษาโรค Anxiety Disorder ที่โรงพยาบาลรัฐชื่อดังแห่งหนึ่ง จำนวน 2 รายการ ยาที่เบิกได้ คือ SENOLAX TABLET 7.5 MG แต่ยา OLAPIN TABLET 5 MG ซึ่งหมอบอกว่าเป็นยาที่ไม่มีรายชื่ออยู่ในบัญชีฯ เธอจึงต้องจ่ายค่ายาเองในจำนวนเงินหลายพันบาท โดยแต่ละครั้งที่ทำการรักษาก็มีการขอใบส่งตัวจากต้นสังกัดทุกครั้ง ซึ่งคุณบัวจำเป็นต้องได้กินยาตัวนี้เพื่อรักษาอาการอย่างต่อเนื่อง เธอเริ่มกังวลว่าอาจจะแบกรับค่าใช้จ่ายตรงนี้ต่อไปไม่ไหว เธอจึงขอให้ทางมูลนิธิฯ ช่วยสอบถามไปยังสปสช.ว่า ถ้าหากการรักษายังคงมีต่อเนื่องในระยะยาว จะของดเว้นการชำระค่ายาตัวนี้ได้หรือไม่ แนวทางการแก้ไขปัญหา         ขอย้ำว่าแม้จะเป็นยานอกบัญชียาหลักแห่งชาติ แต่ถ้าแพทย์วินิจฉัยว่าให้ใช้ยานี้ ผู้ประกันตนในหลักประกันสุขภาพ(บัตรทอง) ไม่ต้องจ่ายเพิ่มแต่อย่างใด         ในการณีนี้ ทางมูลนิธิฯ โทร.ไปยัง 1330 และได้ความว่า คุณบัวไม่ต้องชำระเงินค่ายา เพราะมีความจำเป็นต้องรับการรักษาด้วยยาชนิดนี้ และแจ้งว่าถ้าคุณบัวมีนัดครั้งต่อไป ถ้าทางโรงพยาบาลเรียกเก็บเงินค่ายาให้โทร.มาแจ้งที่ 1330 ทางสปสช.จะประสานกับทางโรงพยาบาลให้งดเว้นการจ่ายเงิน         ทางมูลนิธิฯ ยังส่งหนังสือไปยังโรงพยาบาลแห่งนี้และได้รับคำชี้งแจงในกรณีนี้กลับมาว่า         "เบื้องต้นทางโรงพยาบาลขอชี้แจงเกี่ยวกับระเบียบการเบิกจ่ายยาของผู้ป่วยสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) โดยสิทธิประโยชน์จะครอบคลุมการจ่ายยาตามกรอบบัญชียาหลักแห่งชาติ ไม่คุ้มครองการจ่ายยานอกบัญชี ยกเว้นหากแพทย์มีข้อบ่งชี้ที่จำเป็นต้องใช้ยานอกบัญชี โดยพิจารณาแล้วว่าไม่มียาในบัญชียาหลักแห่งชาติทดแทนได้ จึงจะสามารถใช้สิทธิเบิกได้  ซึ่งในกรณีของผู้ร้องนั้น ทางแพทย์ผู้รักษาได้ชี้แจงว่าสามารถปรับเปลี่ยนชนิดยาเป็น  Antipsychotic drug ตัวอื่นตามบัญชียาหลักแห่งชาติได้ เพื่อที่จะได้ช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้ป่วย อนึ่งที่ผ่านมาผู้ป่วยไม่เคยแจ้งแพทย์ผู้รักษาเกี่ยวกับปัญหาค่าใช้จ่าย แพทย์จึงไม่ได้ปรับเปลี่ยนยาให้ซึ่งหลังจากนี้หากปรับเปลี่ยนยาแล้ว แพทย์จะมีการติดตามอาการและผลการรักษาอย่างใกล้ชิดเพื่อประโยชน์สูงสุดของผู้ป่วย "

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 266 จะไปซับพอร์ตนักร้องคนโปรด เจอผู้จัดโหดซะงั้น

        แฟนคลับนักร้องเกาหลีกลุ่มหนึ่งร้องเรียนมาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่า คอนเสิร์ต Mark TUAN the other side Asia Tour 2023 ซึ่งจัดที่ กรุงเทพฯและขอนแก่น (มาร์ก ต้วน เป็นหนึ่งในสมาชิกก็อตเซเวน บอยแบนด์เกาหลีใต้) ที่พวกเขาได้จ่ายเงินจองตั๋วไปนั้น ผู้จัดงานประกาศเปลี่ยนผังเวทีกะทันหัน อ้าวเฮ้ย... ที่จองและจ่ายเงินกันแพงๆ ก็เพราะอยากจะอยู่ในโซนที่พร้อมฟินกับนักร้องนะเฮ้ย ทำกันแบบนี้ได้อย่างไรละเมิดสิทธิกันชัดๆ         น้องแพรวหนึ่งในกลุ่มคนที่เสียหายไม่พอใจการทำงานของผู้จัดคอนฯ มาก จึงรวมตัวนับร้อยคนมาร้องเรียนกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค โดยให้ข้อมูลว่า ตนเองและเพื่อนซื้อบัตรคอนฯ รอบการเปิดขายบัตรรอบปกติวันแรก 2 เมษายน 2566 ที่ผ่านมา เป็นบัตรราคา 6,500 บาท ซึ่งเป็นบัตรยืนและจะได้ใกล้ชิดศิลปินแบบติดขอบเวที แต่พอวันที่ 4 เมษายน บริษัทผู้จัดงานกลับประกาศเปลี่ยนผังเวทีใหม่ ซึ่งผังเวทีใหม่นี้ทำให้ผู้ซื้อบัตรราคา 6,500 บาท ถูกร่นมาอยู่ด้านข้างแต่ผู้ซื้อบัตรราคา 5,500 บาท กลายเป็นผู้ที่ได้เลื่อนขึ้นมาอยู่ชิดกับศิลปินแทน (บัตรราคาข้างต้นเป็นรอบการแสดงที่จะจัดที่กรุงเทพฯ 5-7 พฤษภาคมนี้ เวลา 18.00 น. ณ อิมแพค อารีน่า เมืองทองธานี)         ดังนั้นพวกเขาจึงมาขอคำปรึกษาและขอให้ทางมูลนิธิฯ ช่วยเหลือ ทุกคนต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า รู้สึกไม่เป็นธรรมเพราะที่ตัดสินใจซื้อบัตรราคาแพง เพราะผังเวทีเป็นตัวจูงใจได้ใกล้ชิดศิลปิน แต่ผู้จัดเวทีกลับมาเปลี่ยนผังเวทีเมื่อวันที่ 4 เมษายน ที่ผ่านมา กลายเป็นว่าคนที่ซื้อตั๋วราคาแพง “ได้เห็นแต่ก้นของศิลปิน” แต่คนซื้อตั๋วราคา 5,500 บาท กลับได้อยู่ได้อยู่หน้าเวทีแทน ทั้งที่การจะจัดคอนเสิร์ตในแต่ละครั้งต้องผ่านการพูดคุยกับศิลปินและทีมงานจากต่างประเทศจนเบ็ดเสร็จหมดแล้วจึงค่อยเปิดขายตั๋วแต่นี่กลับมาลักไก่ทำแบบนี้ แนวทางการแก้ไขปัญหา         การซื้อตั๋วคอนเสิร์ตของศิลปินต่างชาติเป็นหนึ่งในเรื่องราวที่พบว่า ผู้บริโภคโดนละเมิดสิทธิมากขึ้นโดยเฉพาะความไม่พอใจที่เกิดจากผู้จัดคอนเสิร์ตไม่สามารถทำตามสัญญาที่ระบุในการขายตั๋วได้ เมื่อรับเรื่องราวจากผู้บริโภคแฟนคลับนักร้องดังท่านนี้ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจึงช่วยเหลือด้วยการช่วยเจรจากับผู้จัดคอนเสิร์ต Mark TUAN ( มาร์ก ต้วน ) ให้ผู้ซื้อบัตรที่ไม่พอใจการจัดเวทีรูปแบบใหม่ สามารถแจ้งเรื่องเพื่อรับเงินคืนได้         โดยมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้โทรศัพท์ไปสอบถามข้อมูลถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เพื่อเจรจาไกล่เกลี่ยให้กับผู้เสียหาย โดยสอบถามถึงสาเหตุที่เปลี่ยนผังเวทีโดยไม่แจ้งลูกค้าล่วงหน้า ทางเจ้าหน้าที่ของ brite_panther ที่เป็นผู้จัดคอนเสิร์ตอ้างว่า การจัดผังเวทีใหม่เป็นความต้องการของ Mark TUAN ที่ต้องการให้ใกล้ชิดศิลปินมากยิ่งขึ้น ทั้งจากเวทีกรุงเทพฯ และขอนแก่น จึงไม่สามารถเปลี่ยนแปลงไปจากนี้ ทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจึงยื่นข้อเสนอให้ผู้จัดฯ ควรออกประกาศคืนเงินให้กับผู้ซื้อตั๋วที่ไม่พอใจกับผังเวทีใหม่ซึ่งทางผู้จัดฯ รับปากดำเนินการ         ต่อมาวันที่ 12 เมษายน 2566 ผู้จัดฯ ได้ประกาศผ่านทวิตเตอร์และเฟซบุ๊ก Brite Panther โดยระบุข้อความว่า จากผลกระทบของการปรับผังเวทีต่อความรู้สึกของแฟนคลับที่ซื้อบัตรคอนเสิร์ต Mark Tuan ‘the other side’ Asia Tour 2023 in Thailand บัตรราคา 6,500 บาท ในรอบการแสดงที่กรุงเทพและบัตรราคา 4,500 บาท ในรอบการแสดงที่ขอนแก่น วันที่ 12-13 พฤษภาคมนี้ เวลา 18.00 น. ณ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ ขอนแก่น (KICE HALL) ทางผู้จัดได้มีการเปิดให้ผู้ประสงค์จะขอคืนเงิน ผู้จัดจะเปิดระบบให้ลงทะเบียน ได้ที่ https://forms.gle/2EBm5cTUdGQBjgnN8 ตั้งแต่วันที่ 12-18 เมษายน 2566 เวลา10.00 น - 20.00 น. นอกจากนี้ หากมีความประสงค์จะอัพเกรดที่นั่งผู้จัดจะเปิดระบบให้ลงทะเบียน ได้ที่ https://forms.gle/SHnC1Q29msDCYsoB9 ตั้งแต่วันที่ 12-18 เมษายน 2566 เวลา10.00 น - 20.00 น. ทั้งนี้ผู้บริโภคต้องอ่านข้อมูลเงื่อนไขให้ครบถ้วนก่อนทำรายการ         อย่างไรก็ตามผู้จัดฯ ระบุเงื่อนไขการคืนเงินต้องไปดำเนินการ ที่เซเว่น-อีเลฟเว่น เท่านั้น ซึ่งนี่เป็นประเด็นที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคมองว่า ทำไมไม่ดำเนินการโอนเงินเข้าบัญชีหรือพร้อมเพย์ของผู้ซื้อโดยตรง เพราะบางคนมีที่พักอยู่ไกล เช่น ในต่างจังหวัด ที่สำคัญการจัดทำผังเวทีหรือรูปแบบใดของการจัดคอนเสิร์ตต้องดำเนินการให้เบ็ดเสร็จและรอบคอบก่อนเปิดขายบัตรไม่ใช่มาเปลี่ยนรายละเอียดระหว่างทาง ซึ่งถือเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคและที่สำคัญการแจ้งให้ผู้คืนบัตรคอนเสิร์ตต้องมาลงทะเบียนผ่านช่องออนไลน์ อาจรับรู้ไม่ครอบคลุมทุกคนเพราะผู้ซื้อบัตรที่เป็นผู้ติดตามเพจเฟซบุ๊กและ ทวิตเตอร์มีน้อยมาก

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 266 "แฉเล่ห์! ผู้ค้าน้ำมันหากินกับส่วนต่างราคา"

หากินกับส่วนต่างราคาน้ำมัน, ปกปิดราคาอ้างอิงตลาดสิงคโปร์, ปกปิดข้อมูลสต็อกน้ำมันเหล่านี้คือสิ่งที่กระทรวงพลังงาน ไม่ยอมให้สังคมเห็นต้นตอทำราคาขายปลีกน้ำมันแพง         ผู้บริโภคเคยสงสัยกันไหมว่า น้ำมันดิบเวลาเอาไปกลั่นเป็นน้ำมันเบนซินและดีเซล กระทรวงพลังงาน ที่กำกับดูแล ปตท. (การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย )จึงอ้างอิงตลาดสิงคโปร์ เพราะฉะนั้น ราคาที่ปรับขึ้น-ลง ก็ควรเป็นตลาดสิงคโปร์ ใช่ไหม อ้าว ! แล้วทำไมเวลาประกาศปรับขึ้นราคาน้ำมันสำเร็จรูปถึงไปอ้างอิง OPEC ( Organizationof the Petroleum Exporting Countries องค์กรร่วมประเทศผู้ผลิตน้ำมันเพื่อการส่งออก )         ประเด็นต่อมา ถือว่าสำคัญสุดยอด ในเมื่อประเทศไทย ใช้สูตรอ้างอิงราคาน้ำมันสำเร็จรูปหน้าโรงกลั่นสิงคโปร์แต่ทำไม กระทรวงพลังงาน กลับไม่ยอมโชว์ตัวเลข โดยอ้างว่า เป็นข้อมูลลับ มีอะไรในกอไผ่ ! คุณอิฐบูรณ์ อ้นวงษา รองเลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค บอกกับ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้แฉข้อมูลเชิงลึกแบบละเอียดยิบ         “ราคาน้ำมันสำเร็จรูปปรับขึ้นหรือลง จะมีผลตามหลังราคาน้ำมันดิบ 1-2 วัน เช่นหากราคาน้ำมันดิบตลาดโลก ประกาศวันใดก็ตาม ให้นับเป็นวันแรก ถัดจากนั้น อีก 1-2 วัน ให้จับตาดูราคาน้ำมันสำเร็จรูป จะถูกประกาศลดหรือเพิ่มตามราคาน้ำมันดิบ ก็อย่างที่ผู้บริโภค ได้เห็นเวลาประกาศขึ้นราคาขายเอาซะเยอะเชียว แต่พอเวลาลดราคาขายกลับลงแค่นิดเดียว อันนี้แหละ ที่จะบอกให้ว่าผู้ค้าน้ำมันรายใหญ่ มักใช้ข้ออ้างเรื่องสต็อกน้ำมัน ที่มีต้นทุนสูงอยู่เดิมนั่นมันแค่การพูดให้ชาวบ้านสบายใจว่า ทุกอย่างเป็นไปตาม “กลไกราคาตลาด“ แต่ในความเป็นจริง ข้อมูลสต็อกน้ำมัน ไม่เคยถูกเปิดเผยต่อสาธารณชน คำถามคือทำไมต้องปกปิด “มีเรื่องที่ตลกมาก กระทรวงพลังงานไม่ยอมเปิดข้อมูล “ราคาน้ำมันสำเร็จรูปอ้างอิงหน้าโรงกลั่นตลาดสิงคโปร์”         ณ วันที่ออกประกาศขึ้นราคาขายปลีกน้ำมันสำเร็จรูปในไทย ลองไปหาดูกันสิ ไม่มีเว็บไซต์ไหน เอาขึ้นมาโชว์ เป็นไปได้อย่างไรที่หน่วยงานรัฐบาลซึ่งออกนโยบายว่าประเทศไทยอ้างอิงราคาน้ำมันสำเร็จรูปตลาดสิงคโปร์ แต่ไม่ยอมเอาข้อมูลมาเปิดเผยวันต่อวัน ...ผู้บริโภคเคยสังเกตไหมว่า ทำไมปตท. ถึงประกาศปรับราคาน้ำมันตอน 5 โมงเย็นทุกครั้ง มีเล่ห์กลที่ผู้บริโภคคาดไม่ถึงเลยทีเดียว!         “เวลาของสิงคโปร์เร็วกว่าไทย 1 ชั่วโมง ตลาดน้ำมันปิด “4 โมงเย็น จังหวะนี้แหละที่ผู้ค้าน้ำมันรายใหญ่ของไทย เห็นราคาล่วงหน้าจึงคำนวณได้ว่าหาก 5 โมงเย็นประกาศขึ้นหรือลดราคาน้ำมัน30 หรือ 60 สตางค์ /ลิตร ไม่เจ็บตัวเท่าไหร่ อ้าว! เห็นตัวเลขล่วงหน้าแบบนี้มันไม่ใช่กลไกตลาด แถมไม่ได้เห็นวันเดียวด้วยนะ เพราะคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ใช้วิธีคิดแบบถัวเฉลี่ยของราคาสิงคโปร์ย้อนหลังไปอีก 2 วัน เพื่อเอามาคำนวณกับวันที่ 3 ซึ่งใช้ประกาศ ลด -เพิ่ม ราคาน้ำมันสำเร็จรูป เพราะฉะนั้น เขาถึงบอกว่า วันนี้จะลดให้ 30 สตางค์หรือ 60 สตางค์ แต่พอเห็นจังหวะที่ไม่ส่งผลบวก ก็รีบชิงปรับขึ้นราคาล่วงหน้า 1 วัน ได้กำไรเฉพาะวันนั้น 300 ล้านบาท นี่แหละเป็นวิธีที่เขาเล่นกันแบบนี้! ผมเคยส่งเสียงเรียกร้องให้รัฐบาลเปิดข้อมูล“ราคาน้ำมันสำเร็จรูปอ้างอิงหน้าโรงกลั่นตลาดสิงค์โปร์” เพื่อเทียบเคียงกับ“โครงสร้างราคาน้ำมันของไทย “จะได้คิดย้อนทวนคำนวณราคาต่อลิตร”1 บาท หรือ 2 บาท แต่พอไม่ยอมเปิดข้อมูลมีปัญหาแล้ว แถมไม่เคยมีคำตอบอธิบายความใดๆ มีแต่ข้ออ้างที่ว่า “เปิดไม่ได้เพราะเป็นราคาที่เขาต้องซื้อข้อมูล” ขอถามกลับว่าตลาดอะไรต้องซื้อข้อมูล อย่างนี้ไม่เรียกว่าตลาดแล้ว ตลาดหมายถึงว่าเขาจะต้องประกาศที่หน้าป้ายอะไรสักอย่างหนึ่ง ที่เป็นสาธารณะให้ทั้งผู้ซื้อ-ผู้ขาย รับทราบด้วยกัน การปิดข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคแสดงให้เห็นถึงการ “ไม่มีธรรมาภิบาล” แต่กระทรวงพลังงานกลับได้คะแนนโหวตดีเด่นด้านความโปร่งใส         คุณอิฐบูรณ์บอกว่า ทุกวันนี้ต้องใช้ข้อมูล “วงใน” วันต่อวัน เพื่อดูราคาขายปลีกน้ำมันสำเร็จรูปที่รัฐบาลประกาศ โดยเขียนบทความแหย่เบาๆ เช่น “วันนี้พวกคุณโกงเรา, ไม่ยอมปรับลดราคา2วันแล้วนะ” อีกทั้งยังพบความผิดปกติจากราคาหน้าโรงกลั่นที่รัฐบาลเอามาแถลงอยู่บ่อยครั้งเพื่อทำให้ค่าการตลาดมันสูงขึ้นหรือ ดีดกลับแบบประหลาดๆ เหล่านี้ถือเป็นข้อมูลที่ผมต้องการสื่อสารไปถึงชาวบ้านให้รู้เท่าทัน และที่ยากที่สุดของการอิงราคาน้ำมันตลาดสิงคโปร์ มันคืออะไรรู้ไหม? มันคือ“ราคาค่าการกลั่น “บางทีคิดจากความต่างระหว่างราคาสิงคโปร์กับราคาน้ำมันดิบดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ยิ่งหากราคาสิงคโปร์ห่างจากราคาน้ำมันดิบดูไบก็จะยิ่งได้ค่าการกลั่น เพราะนี่คือกำไรขั้นต้นก่อนที่จะหักต้นทุนสุทธิออกมาเป็นกำไรสุทธิ ดังนั้น จึงมีขบวนการดันให้ราคาตลาดสิงคโปร์ เพิ่มขึ้นจากราคาน้ำมันดิบดูไบ ทำให้ค่าการกลั่นบางช่วงพุ่งไป 5 บาท ถึง 6 บาท ได้กำไรกันทีเป็นแสนล้านบาทเรียกว่า “หากินกับส่วนต่างราคาน้ำมัน” เพราะสิ่งนี้ ไม่ได้เกิดจากต้นทุนของโรงกลั่นที่แท้จริง แต่มันคือ ราคาที่ถูกสมมุติ รวมกันถึง 2 สมมุติ กระทั่งกลายร่างออกมาเป็นราคาน้ำมันหน้าโรงกลั่นแบบสมมุติแถม ยังบวกด้วย ค่าขนส่งสมมุติแล้วก็มาเก็บเงินเป็นราคาขายที่แพงเอากับประชาชน อย่างหลังสุดนี่คือของจริง หากยังมองไม่เห็นภาพ ผมขออธิบายความชัดๆ เริ่มจาก ราคาน้ำมันหน้าโรงกลั่นที่ถูกสมมุติเพราะฉะนั้นค่าการตลาด ก็เป็นสิ่งสมมุติ ซึ่งค่าการตลาดรัฐบาลกำหนดให้อยู่ที่ 2 บาท นี่ก็สมมุติเพราะไม่มีใครรู้เลยว่า ปตท. เอาต้นทุนร้านกาแฟ, ค่าพื้นที่เวิ้งว้างที่เอามาทำธุรกิจย่อมๆ, ร้านค้าปลีกต่างๆ, ธุรกิจโรงแรมธุรกิจถูกเอามารวมเป็นต้นทุน-ค่าโสหุ้ยของค่าการตลาดน้ำมันด้วยหรือเปล่า ผมเคยเสนอให้ ปตท. แยกบัญชี แต่กลับเห็นการเอาที่ดินทั้งแปลง มารวมเป็นค่าการตลาด แล้วก็มาอ้างเหตุผลว่า ได้ค่าการตลาด 2 บาทน้อยมากเลย ยังขาดทุนอยู่นะ ทั้งที่ความเป็นจริงผู้ค้าน้ำมันรายใหญ่ปรับราคาขายปลีกน้ำมันสำเร็จรูปช้าและลดราคาน้อยกว่าที่ควรเป็น ทำค่าการตลาดน้ำมันพุ่งสะสมขึ้นไปถึง3 บาทต่อลิตร สูงกว่าเกณฑ์ค่าการตลาดที่เหมาะสมที่คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.)ประกาศ และทำให้ผู้ใช้น้ำมันต้องเสียเงินกับค่าการตลาดสูงที่เกินควรร่วมกว่า 300 ล้านบาท ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2566         ดังนั้น จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนนโยบายการปล่อยลอยตัว ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงทีไร้การควบคุม, ต้องกำหนดเกณฑ์ค่าการตลาดที่เหมาะสมเป็นมาตรการบังคับ, ต้องตรวจสอบและเปิดเผยให้สาธารณชนทราบถึงต้นทุนการประกอบการและต้นทุนราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่โรงกลั่นขายให้ผู้ค้าน้ำมันที่มีส่วนแบ่งการตลาดน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศมากที่สุด 2 ลำดับแรก คือ บริษัทในกลุ่มบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท. และบริษัทบางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ซึ่งอาจอยู่ในระดับที่สูงกว่าราคาอ้างอิงของ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.)ตามที่ผู้ค้าน้ำมันกล่าวอ้าง เมื่อใดก็ตามที่รัฐบาลทำได้ตามนี้ จึงจะถือได้ว่าเห็นแก่ประโยชน์ของบริโภคอย่างแท้จริง! ผู้เขียน : นิชานันท์ ธัญจิราโชติ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 266 ผลสำรวจฉลากยาดมสมุนไพร

        ฉลาดซื้อฉบับที่แล้ว นำเสนอผลสำรจฉลากยาดมในรูปแบบหลอด น้ำ และขี้ผึ้งกันไปแล้ว ฉบับนี้เราจะมาดูฉลากยาดมสมุนไพรกัน ซึ่งจะแตกต่างจากยาดมทั่วไปตรงที่มีชิ้นส่วนสมุนไพรแห้งที่มีกลิ่นหอมเติมลงไปในส่วนประกอบด้วย เช่น กานพลู ดอกจันทน์ พริกไทยดำ กระวาน และผิวผลส้มมือ เป็นต้น         ในปัจจุบัน กระแสการแพทย์ทางเลือกที่บำบัดอาการป่วยด้วยสมุนไพร เป็นส่วนหนึ่งที่ส่งเสริมให้ยาดมสมุนไพรได้รับความนิยมแพร่หลายมากขึ้น อีกทั้งมีขั้นตอนการผลิตไม่ยุ่งยากและมีต้นทุนที่ไม่สูง จึงมีผู้ประกอบการทั้งรายใหญ่รายย่อยผลิตยาดมสมุนไพรออกมากันหลายสูตรหลายกลิ่น ทำให้บางครั้งผู้บริโภคมองจนตาลายก็ยังตัดสินใจเลือกไม่ได้         นิตยสารฉลาดซื้อ และโครงการสร้างเสริมความเข้มแข็งระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก สสส. ได้สุ่มเลือก ยาดมสมุนไพร ที่มีคุณสมบัติเบื้องต้นไว้ใช้สูดดมแก้วิงเวียนและคัดจมูก ที่บรรจุทั้งในขวด/กระปุกแก้ว พลาสติกและโลหะ จำนวน 15 ตัวอย่าง 13 ยี่ห้อ เมื่อเดือนมีนาคม 2566 มาสำรวจการแสดงข้อความบนฉลาก ส่วนประกอบที่พึงระวัง และเปรียบเทียบราคา เพื่อนำเสนอเป็นข้อมูลให้ผู้บริโภคไว้ใช้ประกอบการตัดสินใจเลือกซื้อต่อไป ผลการสำรวจฉลาก         จากยาดมสมุนไพร 15 ตัวอย่าง แบ่งเป็นแบบบรรจุในกระปุกแก้วและพลาสติกอย่างละ 7 ตัวอย่าง และกระปุกโลหะ 1 ตัวอย่าง พบว่า        ·     ยาดมสมุนไพร ตราโบว์แดง (กระปุกพลาสติก) เป็นตัวอย่างเดียวที่มีข้อความที่ควรแสดงบนฉลากอยู่ครบ (ชื่อยา เลขทะเบียนตำรับยา ปริมาณของยาที่บรรจุ เลขที่หรืออักษรแสดงครั้งที่ผลิตยา วัน/เดือน/ปี ที่ผลิต คำว่า “ยาสิ้นอายุ” และวัน/เดือน/ปี ที่ยาสิ้นอายุ  ชื่อและปริมาณของส่วนประกอบ คำว่า “ยาแผนโบราณ” “ยาสามัญประจำบ้าน” และ “ยาใช้เฉพาะที่” )        ·     มี 9 ตัวอย่าง ระบุว่าเป็น “ยาสามัญประจำบ้าน” โดยปรากฏสัญลักษณ์  คิดเป็น 60% ของตัวอย่างทั้งหมด        ·     มี 6 ตัวอย่าง ระบุคำว่า “ยาแผนโบราณ” ได้แก่ ยาดมสมุนไพร ตราคุณเปรมา ตราวังว่าน  ตราราสยาน และตราโบว์แดง (ทั้งแบบกระปุกแก้ว กระปุกพลาสติก และสูตร 2)          ·     มี 4 ตัวอย่าง ระบุคำว่า “ยาสิ้นอายุ” พร้อมแสดงวัน/เดือน/ปีที่ยาสิ้นอายุ โดยระบุไว้ไม่เกิน 3 ปี ได้แก่    ยาดมสมุนไพร ตราคุณเปรมา ตราโบว์แดง(กระปุกแก้วและพลาสติก) และยาดมชุติภา        ·     เมื่อเปรียบเทียบราคาต่อปริมาณ 1 กรัม พบว่า ยาดมส้มมือ จรุงจิต ตรามงกุฎพญานาคคู่ แพงสุด คือ 32.50 บาท ส่วนยาดมผสมสมุนไพร ตราหงส์ไทย สูตร 2 (กระปุกพลาสติก) ถูกสุด คือ 0.70 บาทข้อสังเกต        ·     ตัวอย่างที่แสดงข้อความที่ควรมีบนฉลากไว้ไม่ครบ มีดังนี้            (1) ไม่มีชื่อทางการค้ากำกับไว้ ได้แก่ สมุนไพรดมโบราณ และสมุนไพรไม้หอมนานาพรรณ            (2) ไม่มีเลขทะเบียนตำรับยา ได้แก่ ยาดมกานพลู ตราหมอสิงห์, สมุนไพรดมโบราณ, ยาดมโบราณ ตราศรีษะอโศก, สมุนไพรไม้หอมนานาพรรณ และสมุนไพรดมโบราณ บ้านต้นอภัย            (3) ไม่ระบุปริมาณของยาที่บรรจุ ได้แก่ ยาดมชุติภา และยาดมกานพลู ตราหมอสิงห์            (4) ไม่ระบุเลขที่หรืออักษรแสดงครั้งที่ผลิตยา ได้แก่  5 ตัวอย่างที่ไม่มีเลขทะเบียนยา และยาดมสมุนไพร ตราโบว์แดง(กระปุกแก้ว)            (5) ไม่ระบุจังหวัดที่ตั้งสถานที่ผลิตยา ได้แก่ สมุนไพรดมโบราณ และยาดมโบราณ ตราศรีษะอโศก            (6) ไม่ระบุวัน/เดือน/ปีที่ผลิตยา ได้แก่ ยาดมกานพลู ตราหมอสิงห์, สมุนไพรไม้หอมนานาพรรณ และสมุนไพรดมโบราณ บ้านต้นอภัย            (7) ไม่ระบุคำว่า “ยาใช้ภายนอก” หรือ “ยาใช้เฉพาะที่” ด้วยอักษรสีแดงเห็นได้ชัด ได้แก่ ยาดมส้มมือ จรุงจิต ตรามงกุฎพญานาคคู่, ยาดมชุติภา, ยาดมกานพลู ตราหมอสิงห์, สมุนไพรดมโบราณ, สมุนไพร ไม้หอมนานาพรรณ และสมุนไพรดมโบราณ บ้านต้นอภัย        ·     ยาดมชุติภา ระบุอายุยาอยู่ที่ 33 ปี (วันผลิต 25/8/2022 ยาสิ้นอายุ 25/8/2055) น่าจะเป็นการพิมพ์ผิด        ·     ยาดมส้มมือ จรุงจิต ตรามงกุฎพญานาคคู่ และยาดมกานพลู ตราหมอสิงห์ ไม่ระบุส่วนประกอบไว้        ·     มี 7 ตัวอย่างที่ไม่ระบุปริมาณของส่วนประกอบไว้        ·     มี 5 ตัวอย่าง ที่ไม่ระบุว่ามี ‘การบูร’ ในส่วนประกอบ ได้แก่ ยาดมทีเอฟดี, ยาดมชุติภา, สมุนไพรดมโบราณ, สมุนไพรไม้หอมนานาพรรณ และสมุนไพรดมโบราณ บ้านต้นอภัย        ·     ยี่ห้อสมุนไพรไม้หอมนานาพรรณ มีหน่วยปริมาณเป็นซีซี ในขณะที่ตัวอย่างอื่นๆ ระบุเป็นกรัม        ·     ส่วนใหญ่จะมีพิมเสน การบูร เกล็ดสะระแหน่ และน้ำมันยูคาลิปตัส เป็นส่วนประกอบเหมือนยาดมทั่วไป ส่วนสมุนไพรอื่นๆ ที่นำมาใช้มากสุด 3 ลำดับแรก คือ กานพลู (กลิ่นหอมจัด น้ำมันหอมระเหยมาก ช่วยขับลม) ดอกจันทน์ (แก้ลม ขับลม) และผิวมะกรูด (มีน้ำมันหอมระเหย แก้ลม วิงเวียน)        ·     3 ใน 5 ของตัวอย่างที่ไม่มีเลขทะเบียนยา ใช้คำว่า ‘สมุนไพร’ นำหน้าชื่อผลิตภัณฑ์ ฉลาดซื้อแนะ        ·     ยาดมสมุนไพรจัดเป็นยาแผนโบราณ หากผลิตเพื่อจำหน่ายต้องทำการขึ้นทะเบียนเป็นตํารับยาแผนโบราณให้ถูกต้อง แต่ไม่บังคบหากเป็นในรูปผลิตภัณฑ์สมุนไพร อย่างไรก็ตามเนื่องจากมีส่วนประกอบและลักษณะการใช้สูดดมเพื่อแก้อาการวิงเวียน คัดจมูก คล้ายกัน ดังนั้นเพื่อความปลอดภัยในระดับหนึ่ง หากเลือกได้ผู้บริโภคควรเลือกยาดมสมุนไพรและผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่ใช้ดมที่มีเลขทะเบียนยาถูกต้องหรือมีสัญลักษณ์ยาสามัญประจำบ้าน หรืออย่างน้อยๆ ควรมีแหล่งผลิตที่ได้รับอนุญาตหรือซื้อจากแหล่งจำหน่ายที่น่าเชื่อถือได้          ·     การบูร เป็นสารกระตุ้นในระบบประสาทชนิดหนึ่งที่ทำให้เกิดการเสพติดได้ หากสูดดมกลิ่นที่เข้มข้นของการบูรบ่อยๆ อาจทำให้แพ้หรืออักเสบได้ จึงไม่ควรสูดดมติดต่อกันเป็นเวลานาน        ·     ระวังการสัมผัสถูกกับบริเวณริมฝีปาก รอบดวงตา หรือบริเวณผิวหนังอ่อน อาจทำให้ระคายเคืองได้ และควรเก็บให้พ้นจากมือเด็กด้วย        ·     การสูดดมนานๆ บ่อยๆ อาจทําให้เกิดอาการระคายเคืองจมูกและทางเดินหายใจได้ ควรใช้เท่าที่จำเป็นจริงๆ หากใช้แล้วเกิดความผิดปกติ ควรหยุดใช้ทันทีและรีบปรึกษาแพทย์        ·     มีคำแนะนำจากผู้ผลิตบางรายว่า หากกลิ่นยาดมสมุนไพรเริ่มจางแล้ว ให้นำไปตากแดด จะทำให้กลิ่นสมุนไพรกลับมาหอมขึ้นได้ (ผู้บริโภคลองทำตามดูว่าได้ผลจริงหรือไม่)

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 266 ผลทดสอบฟอร์มาลินในแมงกะพรุนดอง

        แมงกะพรุนเป็นอาหารทะเลชนิดหนึ่ง ที่คนไทยนิยมรับประทานนำมาประกอบอาหารได้หลากหลายทั้งยำหรือนำมาใส่ในก๋วยเดี๋ยวเย็นตาโฟ และยังเป็นที่ชื่นชอบของคอชาบู สุกี้ ด้วยสัมผัสที่กรุบกรอบ อย่างไรก็ตามเมื่อมีการสุ่มตรวจวการปนเปื้อนของฟอร์มาลิน ซึ่งเป็นสารต้องห้ามไม่ให้นำมาใช้กับอาหาร แต่ด้วยคุณสมบัติที่ช่วยรักษาสภาพของอาหารโดยเฉพาะอาหารทะเลซึ่งเน่าเสียง่าย ฟอร์มาลินจะช่วยคงสภาพให้อาหารทะเลไม่เน่าเสีย สดอยู่ได้นานๆ นั้น แมงกะพรุนติดอันดับท็อปเสมอคู่มากับหมึกกรอบ หมึกสด และกุ้ง (ติดตามผลทดสอบฟอร์มาลินในหมึกกรอบได้ใน ฉลาดซื้อ ฉบับที่ 265 มีนาคม 2566         ดังนั้นเพื่อเป็นการเฝ้าระวังสินค้าและบริการด้านสุขภาพ นิตยสารฉลาดซื้อ โครงการสร้างเสริมความเข้มแข็งระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ จากการสนับสนุนของ สสส. จึงได้สุ่มเก็บตัวอย่าง แมงกะพรุนดอง จำนวน 13  ตัวอย่าง จากแหล่งจำหน่ายสินค้า ได้แก่ ตลาดสด 7 แห่ง ห้างสรรพสินค้า ซูเปอร์มาร์เก็ต 4 แห่ง และร้านค้าออนไลน์ 2 แห่ง  แล้วนำส่งห้องปฏิบัติการที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน ISO 17025 สรุปผลการทดสอบ         จากแมงกะพรุนดอง จำนวน 13 ตัวอย่าง ไม่พบการปนเปื้อนทุกตัวอย่าง (ดูรายละเอียดในหน้าถัดไป)  ตารางผลทดสอบฟอร์มาลินในแมงกะพรุนดอง จำนวน 13 ตัวอย่างเก็บตัวอย่างเดือนเมษายน 2566ผลทดสอบเฉพาะตัวอย่างที่ส่งตรวจเท่านั้น

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 266 สายการบิน

ผลสำรวจความพึงพอใจสนามบินและสายการบิน         เพื่อความเข้าใจในสถานการณ์การเดินทางทางอากาศหลังการระบาดหนักของโรคโควิด 19 ในแต่ละประเทศ สมาชิกขององค์กรทดสอบระหว่างประเทศ (ICRT) ในยุโรป แคนาดา และไทย จึงได้ร่วมกันสำรวจความคิดเห็นของผู้บริโภคที่ใช้บริการสนามบินและสายการบินในช่วงหนึ่งปีก่อนช่วงเวลาตอบแบบสอบถาม (ระหว่างตุลาคมถึงพฤศจิกายนปี 2565) มีผู้ตอบแบบสอบถามจาก 11 ประเทศ รวมทั้งหมด 18,210 คน-----ผู้โดยสารของเราเป็นใครในภาพรวม มากกว่าร้อยละ 80 ของผู้ตอบแบบสอบถาม เดินทางด้วยตั๋วโดยสารชั้นประหยัด มากกว่าร้อยละ 60 เดินทางด้วยเที่ยวบินที่ใช้เวลาบินไม่เกินสามชั่วโมง ส่วนจุดประสงค์ในการเดินทางนั้น ร้อยละ 78 ใช้บริการสายการบินเพื่อการเดินทางท่องเที่ยว ที่เหลืออีกร้อยละ 22 เป็นการเดินทางเพื่อธุรกิจ  ผู้ตอบแบบสอบถามเป็นหญิงประมาณร้อยละ 34 เป็นชายร้อยละ 66 หากแยกดูตามอายุ...ร้อยละ 44       อายุระหว่าง 50-64 ปีร้อยละ 31       อายุมากกว่า 65 ปีร้อยละ 19.7    อายุระหว่าง 35-49 ปีร้อยละ 5.4      อายุระหว่าง 18-34แต่มีข้อมูลน่าสนใจจากบางประเทศเช่น ร้อยละ 47.7 ของผู้ตอบแบบสอบถามในเบลเยียม เป็นคนอายุมากกว่า 65 ปี  ในขณะที่ผู้ตอบแบบสอบถามในสโลวาเกียร้อยละ 48.6 เป็นคนวัย 35-49 และในกรณีของไทยมี เกือบร้อยละ 50 มีอายุระหว่าง 18-34เรามาดูกันว่าผู้บริโภคกลุ่มนี้พบปัญหาอะไร หรือมีความพึงพอใจกับบริการหรือสิ่งอำนวยความสะดวกของสนามบินและสายการบินในแต่ละด้านแตกต่างกันอย่างไร สายการบิน        ความพึงพอใจที่มีต่อเว็บไซต์หรือแอปฯ ของสายการบิน        ในภาพรวม ร้อยละ 54 ซื้อตั๋วผ่านเว็บหรือแอปฯ ของสายการบิน ผู้ตอบแบบสอบถามเกินครึ่งตอบว่าซื้อตั๋วโดยไม่ได้ดูเว็บหรือแอปฯ เปรียบเทียบราคาก่อนตัดสินใจ ซึ่งตรงข้ามกับผู้ตอบแบบสอบถามคนไทย ที่มีผู้ใช้บริการเว็บไซต์หรือแอปฯ เปรียบเทียบราคา เช่น Skyscanner  Kayak หรือ booking.com ถึงร้อยละ 88.6ในภาพรวม สิ่งที่ผู้ใช้งานเว็บไซต์หรือแอปในการจองตั๋วให้ความสำคัญอันดับหนึ่งคือ ความเป็นมิตรต่อผู้ใช้ ตามด้วยความโปร่งใสในการแสดงราคา (เช่น ภาษี ค่าธรรมเนียมต่างๆ) ตามด้วยความสะดวกในการซื้อตั๋วโดยสารแต่ในกรณีของไทย อันดับแรกเหมือนกับผู้คนจากอีกสิบประเทศที่ชอบความเป็นมิตรต่อผู้ใช้ แต่อันดับสองของเราคือการมีเที่ยวบินไปยังปลายทางที่ต้องการ ส่วนปัจจัยอื่นๆ เช่น ความโปร่งใสในการแสดงราคา ความสะดวกในการซื้อตั๋ว ได้คะแนนเท่าๆ กันทั้งนี้เว็บไซต์ของสายการบินที่ได้รับคะแนนความพึงพอใจระดับต้นๆ คือ ลุกซ์แอร์ เอมิเรตส์ สวิสแอร์ แอร์ทรานแซท บินเทอร์คานาเรียส นอร์วีเจียนแอร์ และ แอร์ฟรานซ์          ปัญหาส่วนใหญ่ที่พบจากการใช้บริการสายการบิน        ร้อยละ 19 เคยมีประสบการณ์เที่ยวบินถึงที่หมายล่าช้า ตามเกณฑ์การสำรวจครั้งนี้หมายถึง “เกินกำหนดมากกว่า 15 นาที” ในจำนวนนี้กว่าครึ่งพบความล่าช้าเกิน 1 ชั่วโมง หนึ่งในสี่ของไฟลท์ที่ดีเลย์ ผิดเวลาไปมากกว่า 2 ชั่วโมง และเมื่อเจาะลึกลงไปถึงสายการบินที่ใช้บริการจะพบว่า สายการบินที่มีปัญหาเรื่องไฟลท์ดีเลย์น้อยที่สุดคือ สายการบิน Etihad        ร้อยละ 6 ถูกยกเลิกเที่ยวบิน โดยร้อยละ 64 ของผู้ที่ถูกยกเลิกเที่ยวบิน ไม่ได้รับเงินคืน        ร้อยละ 5 พบปัญหาเกี่ยวกับสัมภาระชำรุดหรือสูญหาย และร้อยละ 71 ของคนกลุ่มนี้ไม่ได้เงินคืน จากข้อมูลการสำรวจ สายการบินที่ผู้โดยสารพบปัญหาเรื่องกระเป๋าน้อยที่สุดคือ บินเทอร์คานาเรียส และเอมิเรตส์หากดูเฉพาะกลุ่มตัวอย่างจากประเทศไทย จะพบว่าปัญหาส่วนใหญ่ที่ผู้บริโภคพบคือเที่ยวบินล่าช้า (ร้อยละ 70.2) ตามด้วยปัญหาสัมภาระเสียหาย (ร้อยละ 18) การร้องเรียน        ในภาพรวม ร้อยละ 59 ของผู้ที่ประสบปัญหา ร้องเรียนต่อสายการบินผ่านการกรอกแบบฟอร์ม ในกรณีของผู้ที่ถูกยกเลิกไฟล์ มีเพียงร้อยละ 56 เท่านั้นที่ร้องเรียนมีข้อสังเกตว่ากรณีของไทยมีผู้ยื่นเรื่องร้องเรียนกับสายการบินเพียงร้อยละ 20 เท่านั้น ในบรรดากลุ่มคนที่ร้องเรียน มีถึงร้อยละ 80 ที่ไม่ได้รับเงินคืน ปัจจัยที่ส่งผลต่อความพึงพอใจในสายการบิน        จากการให้ผู้ตอบแบบสอบถามให้คะแนนสายการบินในหัวข้อต่อไปนี้        บริการเช็คอินที่สนามบิน        บริการเช็คอินออนไลน์        ขั้นตอนการขึ้นเครื่อง        พนักงานต้อนรับบนเครื่อง        ความสบายของที่นั่งโดยสาร        พื้นที่เก็บสัมภาระเหนือศีรษะ        ความสะอาดของห้องน้ำ        คุณภาพอาหารตามราคาตั๋ว        ทางเลือกสำหรับผู้มีข้อจำกัดด้านอาหาร        คุณภาพอาหารเมื่อเทียบกับราคา        ความตรงต่อเวลาของเที่ยวบิน        ราคาตั๋วโดยสาร        เราพบว่าสิ่งที่มีผลต่อความพึงพอใจโดยรวมของผู้โดยสารต่อสายการบินอันดับต้นๆ ได้แก่ ความตรงเวลาของเที่ยวบิน ราคาตั๋วโดยสาร บริการเช็คอินที่สนามบิน/เช็คอินออนไลน์ พนักงานต้อนรับ และความบันเทิงบนเที่ยวบิน ตามลำดับอย่างไรก็ตามหากแยกดูความพึงพอใจของผู้โดยสารแต่ละประเทศ จะเห็นว่ามีความต้องการที่ค่อนข้างแตกต่างกัน เช่น คนแคนาดาให้ความสำคัญกับความสะอาดของห้องน้ำเป็นอันดับต้นๆ คนสโลเวเนียถูกใจสายการบินเพราะชอบความบันเทิงในเที่ยวบิน คนบราซิลและคนออสเตรียพิถีพิถันกับเรื่องอาหารเป็นพิเศษ ในขณะที่คนไทยเราจริงจังกับพื้นที่เก็บสัมภาระเหนือศีรษะ เป็นต้น         ปัจจัยลำดับ 1 ถึง 3 ที่ส่งผลต่อความพึงพอใจของผู้บริโภคในแต่ละประเทศที่มีต่อสายการบินมีทั้งเหมือนและต่างกันดังนี้ ปัจจัยที่ส่งผลต่อความพึงพอใจในสนามบิน        เมื่อเราขอให้ผู้โดยสารให้คะแนนสนามบินในประเด็นต่อไปนี้ ...         การเดินทางเข้า/ออกจากสนามบิน (โดยรถส่วนตัวและรถสาธารณะ)        บริการที่จอดรถ        ป้ายบอกทางในสนามบิน        การออกแบบพื้นที่ในสนามบิน        จอภาพแสดงสถานะเที่ยวบิน        สิ่งอำนวยความสะดวกในการเช็คอิน        จำนวนห้องน้ำ/ความพร้อมใช้งาน        ร้านจำหน่ายสินค้า        บาร์และร้านอาหาร        ที่นั่งและสิ่งอำนวยความสะดวก        ห้องรับรอง (เลาจน์)        บริการ WIFI        บริการจุดชาร์จไฟ        เวลาในการตรวจเช็คความปลอดภัย        เวลาในการผ่านพิธีการทางศุลกากร          เราพบว่าในภาพรวมสามปัจจัยอันดับต้นที่ส่งผลต่อความพึงพอใจสนามบินได้แก่ การออกแบบพื้นที่ในสนามบิน ขั้นตอนการตรวจเช็คความปลอดภัย และจำนวนห้องน้ำสนามบินนานาชาติที่ได้รับคะแนนความพึงพอใจอันดับต้นๆ ได้แก่สนามบินของเมืองดูไบ ซูริค มิวนิค เฮลซิงกิ และโดฮา ตามลำดับในขณะที่ท่าอากาศยานของมอลต้า และควิเบก ได้คะแนนสูงสุดด้านความเร็วในการผ่านขั้นตอนการตรวจเช็คความปลอดภัยด้านห้องน้ำต้องยกให้สนามบินฮามัด เมืองโดฮา ประเทศกาตาร์  ส่วนท่าอากาศยานออสเทนด์ ของเบลเยียม ได้คะแนนสูงสุดด้านการออกแบบพื้นที่ในสนามบิน         สิ่งที่ผู้โดยสารในแต่ละประเทศให้ความสนใจในอันดับต้นๆ ได้แก่  แผนการเดินทางในปี 2566         เพื่อตอบคำถามว่า การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ความแพร่หลายในการจัดประชุมสัมมนาผ่านระบบออนไลน์ รวมถึงการรับรู้เรื่องผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของการเดินทางโดยเครื่องบิน จะส่งผลให้ผู้คนเลือก “บิน” น้อยลงในปี 2566 หรือไม่? จากการตอบแบบสอบถามดังกล่าว เราพบว่าผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ยังคงเดินทางโดยเครื่องบินไม่น้อยกว่าปีก่อน โดยเฉพาะกลุ่มคนที่เดินทางเพื่อการท่องเที่ยวที่วางแผนว่าจะเดินทางไม่น้อยกว่าเดิม มีถึงร้อยละ 60   ผู้ที่เดินทางเพื่อธุรกิจ        ส่วนใหญ่ (ร้อยละ 51.4) จะเดินทางโดยเครื่องบินไม่น้อยกว่าปีที่แล้ว ในขณะที่ร้อยละ 32.2 ตอบว่าปีนี้จะเดินทางน้อยลง และมีถึงร้อยละ 16.4 วางแผนจะเดินทางมากกว่าเดิมด้วย และถ้าดูเฉพาะกรณีของไทยจะพบว่ามีถึงร้อยละ 48 ที่จะโดยสารเครื่องบินบ่อยขึ้นกว่าปีก่อน         เหตุผลที่สายประชุม/สัมมนา จะเดินทางโดยเครื่องบินน้อยลง          ร้อยละ 28.8    ตั๋วแพงขึ้น           ร้อยละ 23.8    ประชุมออนไลน์        ร้อยละ 22.9    ต้องการเก็บเงิน        ร้อยละ 7.8      ห่วงใยสิ่งแวดล้อม        ร้อยละ 3.2      วิตกสถานการณ์ยูเครน        ร้อยละ 3.1      กลัวติดเชื้อโควิด        ร้อยละ 1.8      กังวลกับมาตรการโควิด        (ร้อยละ 8.6 อื่นๆ) ผู้เดินทางเพื่อท่องเที่ยว        “สายเที่ยว” ส่วนใหญ่ (ร้อยละ 60.5) จะเดินทางมากพอๆ กับปีที่แล้ว ในขณะที่ร้อยละ 13.8 จะเดินทางน้อยลง และมีถึงร้อยละ 25.7 ที่จะเดินทางมากขึ้น ในกรณีของไทย มีคนวางแผนจะเดินทางด้วยเครื่องบินมากขึ้นถึงร้อยละ 83.4 เลยทีเดียว         เหตุผลที่สายเที่ยวจะเดินทางโดยเครื่องบินน้อยลง          ร้อยละ 32.3    ตั๋วแพงขึ้น           ร้อยละ 32       ต้องการเก็บเงิน        ร้อยละ 11.2    ห่วงใยสิ่งแวดล้อม        ร้อยละ 2.8      วิตกสถาณการณ์ยูเครน        ร้อยละ 2.5      กลังติดเชื้อโควิด        ร้อยละ 1.8      กังวลกับมาตรการโควิด        (ร้อยละ 17.3 อื่นๆ)  

อ่านเพิ่มเติม >



ฉบับที่ 266 กระแสต่างแดน

เหงาเมื่อไรก็แวะมา         การระบาดของโควิดทำให้ผู้คนมากมายรู้สึกโดดเดี่ยว บางคนก็ยังได้รับผลกระทบจากมันจนถึงวันนี้ งานวิจัยของสหภาพยุโรปพบว่าอัตราคนเหงาเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 12 เป็นร้อยละ 25         โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้สูงอายุที่อยู่ลำพัง ที่การออกไปซื้อของที่ซูเปอร์มาร์เก็ตอาจเป็นโอกาสเดียวที่จะได้มีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น         ซูเปอร์มาร์เก็ตบางแห่งในเยอรมนีจึงเริ่มเปิดให้บริการเคาน์เตอร์ชำระเงิน แบบ “จ่ายไปคุยไป” สำหรับลูกค้าที่ต้องการเพื่อนคุยแก้เหงา (แต่ถ้าใครรีบก็ไปต่อคิวที่เคาน์เตอร์ปกติ หรือจะใช้บริการตู้เช็คเอาท์ด้วยตัวเอง ก็ไม่ว่ากัน)        ห้าง Edeka เปิด “เคาน์เตอร์เพื่อนคุย” ระหว่าง 9:00 – 11:00 น. วันจันทร์ถึงพฤหัส ในขณะที่ห้าง Schweinfurt ก็มีโครงการลักษณะนี้สัปดาห์ละหนึ่งวัน วันละไม่น้อยกว่า 4 ชั่วโมง          ความเหงาส่งผลโดยตรงต่อสุขภาพ เพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคความดันเลือดสูง เส้นเลือดสมอง เบาหวาน รวมถึงโรคสมองเสื่อม บริการนี้จึงมาแรง ข่าวว่าสวิตเซอร์แลนด์ก็เริ่มมีแล้วเช่นกันแจกเงินไม่เวิร์ค         งานวิจัยเกาหลีใต้พบ การลงทุนขยายหรือปรับปรุงศูนย์เด็กเล็กช่วยเพิ่มอัตราการเกิดได้ดีกว่าการให้เงินช่วยเหลือเป็นรายหัว         อัตราการเกิดของเกาหลีใต้อยู่ที่ 0.78 ซึ่งเป็นอัตราที่ต่ำที่สุดในโลก รัฐบาลท้องถิ่นจึงพยายามเรียกร้องของบประมาณเพิ่มเพื่อให้พ่อแม่ใช้เป็นค่าเลี้ยงดูเด็กเกิดใหม่         รายงานจากสถาบันการคลังท้องถิ่นระบุว่าการให้เงินสนับสนุนหนึ่งล้านวอน (ประมาณ 26,000 บาท) ต่อเด็กหนึ่งคน จะทำให้อัตราการเกิดเพิ่มขึ้นเพียง 0.03  แต่ถ้าใช้งบประมาณต่อหัวในจำนวนเดียวกันเพื่อขยายศูนย์เด็กเล็ก อัตราการเกิดจะเพิ่มขึ้นถึง 0.098         นอกจากนี้ยังพบว่าการให้ “เงินคลอดบุตร” แบบจ่ายเป็นก้อน ได้ประโยชน์กว่าการจ่ายเป็นงวด และที่สำคัญถ้าเงินช่วยเหลือน้อยกว่า 2.5 ล้านวอน ( 64,000 บาท) ก็แทบจะช่วยอะไรไม่ได้         ข้อมูลดังกล่าวได้จากการวิเคราะห์นโยบายการดูแลเด็กที่รัฐบาลท้องถิ่น 226 แห่งได้ดำเนินการในช่วงระหว่างปี 2009 ถึง 2021 ไม่เหมือนที่พูด         ดิสนีย์ฮ่องกงต้องรับทัวร์คณะใหญ่ หลังปล่อยเซตผลิตภัณฑ์ฉลองครบรอบ 100 ปี ในขวดพลาสติกที่นำมาใช้ซ้ำไม่ได้ ทั้งที่บริษัทได้ประกาศบนเว็บไซต์ว่าจะใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อโลก         เซตดังกล่าวประกอบด้วยน้ำแร่บรรจุขวดขนาด 530 มล. มาคู่กับตุ๊กตาคาแรคเตอร์ของดิสนีย์ในขวดใส         หลังเกิดดราม่า สื่อฮ่องกงจึงซื้อมาทดสอบดู แล้วก็พบว่า “ขวดใส่ตุ๊กตา” ไม่สามารถใช้เป็นขวดน้ำได้ เพราะใส่แล้วน้ำซึมออกมาทางก้นขวดตรงบริเวณที่เปิดเอาตุ๊กตาออกมา         เนื่องจากสินค้าดังกล่าววางจำหน่ายใน 7/11 ผู้ประกอบการร้านสะดวกซื้อที่มีประมาณ 1,000 สาขา ก็เลยต้องรับทัวร์เช่นกัน หลังเคยประกาศต่อสังคมว่าจะลดขยะและลดการใช้พลังงาน และอุตส่าห์สร้างชื่อด้วยการรับบริจาคอาหารเหลือ และตั้งถังรับขยะรีไซเคิล           ตัวแทนจากกรีนพีซฮ่องกงบอกว่านี่เป็นเพียงส่วนเล็กๆ ของปัญหาที่ฮ่องกงประสบอยู่ ซึ่งก็คือการใช้บรรจุภัณฑ์เกินความเหมาะสมนั่นเองค่าแรงต้องขึ้น         ปัจจุบันร้อยละ 70 ของคนหนุ่มสาวไต้หวันมีรายได้อย่างต่ำ 27,000 เหรียญ (30,000 บาท) คนกลุ่มนี้ส่วนใหญ่ทำงานรับจ้างในอุตสาหกรรมบริการ ขณะที่คนจบปริญญาตรีจะได้ค่าแรงเดือนละ 39,000 เหรียญ (43,000 บาท)         นักเคลื่อนไหวสายแรงงานบอกว่า ค่าแรงอัตรานี้ต่ำเกินไปเมื่อเทียบกับค่าที่อยู่อาศัยที่แพงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก และค่าใช้จ่ายในการเรียนระดับปริญญาตรีที่ถือว่าสูงมาก         รัฐมนตรีกระทรวงแรงงานบอกว่าเหตุที่ค่าแรงต่ำก็เพราะแรงงานยังขาดทักษะที่อุตสาหกรรมหลักต้องการ เช่น การผลิตเซมิคอนดักเตอร์ ปัญญาประดิษฐ์ และการสื่อสารไฮเทค รัฐบาลจึงได้อนุมัติเงิน16,000 ล้านเหรียญ เพื่อรับมือกับปัญหาดังกล่าวและทำให้รายได้เฉลี่ยของเด็กจบใหม่ขึ้นมาเป็นเดือนละ 42,000 เหรียญ หรือ 46,000 บาท          รายงานยังบอกอีกว่าเด็กไต้หวันใช้เวลาอยู่ในระบบการศึกษานานเกินไปเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของประเทศในกลุ่ม OECD  

อ่านเพิ่มเติม >

ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อสุ่มวิเคราะห์ “หมึกกรอบ”ทั่วกรุงเทพและปริมณฑล พบกว่าร้อยละ 57 ปนเปื้อนฟอร์มาลิน

        วันนี้ ( 14 มิถุนายน 2566 ) ทัศนีย์ แน่นอุดร บรรณาธิการนิตยสารฉลาดซื้อ กล่าวว่า การสุ่มตรวจสอบ “หมึกกรอบ”  ปนเปื้อนฟอร์มาลิน เป็นหนึ่งในงานเฝ้าระวังสินค้าและบริการของ นิตยสารฉลาดซื้อ ตามโครงการสร้างเสริมความเข้มแข็งระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านสุขภาพ จากการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) เนื่องจากในทุกๆ ปีจะมีข่าวการพบสารฟอร์มาลินในอาหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอาหารทะเล         จากข้อมูลของกรมอนามัย ปีงบประมาณ 2563  พบว่า จากผลการตรวจวิเคราะห์ของกระทรวงสาธารณสุข จำนวนทั้งหมด 14,046 ตัวอย่าง พบการปนเปื้อนของฟอร์มาลิน 705 ตัวอย่าง โดยพบมากที่สุดใน หมึกกรอบ ร้อยละ 31.35 รองลงมาคือ หมึกสด  ร้อยละ 2.36  แมงกะพรุน ร้อยละ 1.55 และ กุ้ง ร้อยละ 0.14 ตามลำดับ ทั้งนี้ ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 391 (พ.ศ.2561) แห่งพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.2522 กำหนดให้สารละลายฟอร์มัลดีไฮด์หรือ ฟอร์มาลิน เป็นวัตถุห้ามใช้ในอาหาร ผู้ใช้สารนี้กับอาหาร หรือทำให้อาหารนั้นเกิดพิษภัยต่อผู้บริโภค จัดเป็นการผลิต จำหน่ายอาหารไม่บริสุทธิ์ และถ้าตรวจพบการกระทำดังกล่าวจะต้องถูกดำเนินการตามกฎหมาย มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ         สรุปผลการทดสอบ “หมึกกรอบ” จำนวน 14 ตัวอย่าง สุ่มเก็บจากแหล่งจำหน่ายสินค้าในเขตกรุงเทพและปริมณฑล ได้แก่ ตลาดสด 8 แห่ง , ห้างสรรพสินค้า ซูเปอร์มาร์เก็ต 4 แห่ง ,และ ร้านค้าออนไลน์ 2 แห่ง ส่งวิเคราะห์ที่ห้องปฏิบัติการที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน ISO 17025 ซึ่งดำเนินการช่วงเดือนเมษายน 2566 พบปนเปื้อนฟอร์มาลิน 8 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 57.14 โดยปริมาณฟอร์มาลิน พบตัวอย่างที่สั่งซื้อจากร้านค้าออนไลน์  สูงเป็นอันดับ 1 ส่วนอันดับ 2 และ 3  พบจากตลาดสด (  ดูผลทดสอบจากhttps://chaladsue.com/article/4269/ )          ดร. แก้ว กังสดาลอำไพ นักวิชาการอิสระ ที่ปรึกษาศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า หากถามว่า ฟอร์มาลินมีอันตรายอย่างไรต่อร่างกาย ข้อมูลที่พอเชื่อถือได้จากอินเทอร์เน็ตกล่าวโดยรวมว่า อาการระยะสั้นจากการสูดดมเข้าไปจะมีผลต่อระบบหายใจ คือ แสบจมูก เจ็บคอ ไอ หายใจไม่ออก หากสูดดมในปริมาณมากอาจทำให้ปอดอักเสบ น้ำท่วมปอด และอาจเสียชีวิตได้ หากสัมผัสกับฟอร์มาลินโดยตรงจะมีผลต่อระบบผิวหนังหลังสัมผัสคือ ทำให้เกิดผื่นคัน จนถึงผิวหนังอาจไหม้ หรือเปลี่ยนเป็นสีขาวได้ และหากกินอาหารที่ปนเปื้อนฟอร์มาลินเข้าไปในปริมาณมาก อาจมีอาการปวดศีรษะรุนแรง หัวใจเต้นเร็ว แน่นหน้าอก ปากและคอแห้ง คลื่นไส้อาเจียน ถ่ายท้อง ปวดท้องอย่างรุนแรง ปัสสาวะไม่ออก หมดสติ ถ้าปล่อยทิ้งไว้อาจเสียชีวิตเพราะระบบหมุนเวียนเลือดล้มเหลว         วิธีเลือกซื้อเนื้อสัตว์ให้ปลอดภัยจากฟอร์มาลิน สำหรับผู้บริโภคที่ต้องการซื้อเนื้อสัตว์ต่าง ๆ จากร้านค้าที่ไม่มีการแช่ในตู้เย็น สามารถใช้วิธีการดมกลิ่น ถ้าอาหารนั้นมีกลิ่นฉุนแสบจมูกให้สงสัยว่ามีฟอร์มาลินอยู่ (ปัญหามักเกิดกับอาหารทะเลซึ่งเหม็นคาว) ซึ่งมีนักวิชาการคนหนึ่งกล่าวว่า สามารถกำจัดฟอร์มาลินที่ปนเปื้อนบนเนื้อได้ด้วยการใช้น้ำด่างทับทิมหรือ potassium permanganate เพื่อเปลี่ยนฟอร์มาลดีไฮด์ในฟอร์มาลินให้เป็นกรดฟอร์มิคหรือกรดมดได้ แต่ควรคำนึงด้วยว่า เนื้อสัตว์ที่ชุบฟอร์มาลินนั้นมักไม่ถูกสุขอนามัยที่ดีมาก่อน จึงต้องใช้ฟอร์มาลินกลบเกลื่อนความไม่สด ดังนั้นจึงไม่สมควรนำเนื้อดังกล่าวมาบริโภคและไม่ควรโยนให้สัตว์เช่น หมาหรือแมวกิน         อ่านผลทดสอบฟอร์มาลินใน “หมึกกรอบ”เพิ่มเติมได้ที่ https://chaladsue.com/article/4269/

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 266 คุณภาพ “สถานดูแลผู้สูงอายุ” รับ “Ageing Societies” เมืองไทย

        ปัจจุบันประเทศไทย เข้าสู่ “สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์” มีประชากรที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป เกิน 20% ของประชากรทั้งประเทศ ทำผู้เกี่ยวข้องต้องเร่งวางระบบการดูแลทั้งสุขภาพกายสุขภาพใจให้ผู้สูงอายุสามารถพึ่งพาตัวเองให้ได้มากที่สุด แต่ด้วยสภาพร่างกายที่เสื่อมถอยลงการต้องพึ่งพาผู้อื่นมากขึ้นนั้นไม่อาจหลีกเลี่ยง แต่ในขณะเดียวกันกับที่ลูกหลานซึ่งอยู่ในวัยทำงานยังมีภาระต้องทำมาหากิน ดังนั้นเวลาที่จะอยู่ดูแลผู้สูงอายุในบ้านจึงน้อยลงไปด้วย “สถานดูแลผู้สูงอายุ” จึงเข้ามาตอบโจทย์ตรงนี้ แต่ก็ต้องมีการกำกับดูแลเรื่องมาตรฐานให้ดีทั้งในด้านของสถานที่และบุคลากรที่จะมาดูแลผู้สูงอายุ “คุณภาพ มาตรฐานประเทศไทยและต่างประเทศ”         ทุกวันนี้ในเมืองไทยถือว่ามีสถานดูแลผู้สูงอายุมากขึ้นทั้งในส่วนของภาครัฐและภาคเอกชน ส่วนคุณภาพมาตรฐานต่างๆ ดังว่านั้นจะเป็นอย่างไร ทาง “ดร.วรชาติ เฉิดชมจันทร์” อาจารย์ประจำคณะกายภาพมหาวิทยาลัยรังสิต ได้สะท้อนให้ฟังว่า ถ้าพูดถึงจำนวนสถานดูแลผู้สูงอายุในประเทศไทยในปัจจุบันแม้จะมีมากขึ้นและมีหลายรูปแบบ  ซึ่งหลักๆ มี 3 รูปแบบใหญ่ คือ 1. เดย์แคร์ เช้าไปเย็นกลับ 2. Nursing Home ดูแลผู้สูงอายุที่ออกไปข้างนอกลำบาก หรือป่วยติดเตียง กลุ่มนี้จะอยู่นาน และ 3. เป็นเทรนด์มาใหม่คล้ายๆ คอนโดผู้สูงอายุ         ที่ว่ามานี้รวมๆ แล้วมีประมาณ 4,000 กว่าแห่ง ซึ่งมีการจดทะเบียนกับกรมสนับสนุนบริการสุขภาพจริงๆ แค่ประมาณพันกว่าแห่งเท่านั้น ที่เหลือเป็นการเกิดแบบธรรมชาติหรือนักวิชาชีพไปเปิดเองแต่ไม่ขึ้นทะเบียน แต่จำนวนเหล่านี้ก็ยังไม่เพียงพอเมื่อเทียบกับสัดส่วนของผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และที่สำคัญคือการเข้าถึงยังอยู่ในวงจำกัด ส่วนใหญ่เป็นผู้มีฐานะปานกลางหรือฐานะร่ำรวย         หากเทียบกับสถานดูแลผู้สูงอายุในต่างประเทศ เช่น ออสเตรเลีย เยอรมนี แคนาดา หรือญี่ปุ่น จะเห็นว่าของไทยยังมีข้อด้อยกว่าในหลายๆ ด้าน คือ        1. สัดส่วนสถานดูแลผู้สูงอายุที่ไม่เพียงพอ อย่างที่กล่าวในตอนต้น         2. คุณภาพ ซึ่งประเทศไทยจะเน้นเรื่องของสุขภาพเป็นหลัก แต่ก็ยังทำได้ไม่ดีพอ ในขณะที่ต่างประเทศจะเน้นทั้งเรื่องของสุขภาพและสร้างสังคม หรือ healthcare + Social Care         อย่างไรก็ตามจากข้อมูลเท่าที่ลงสำรวจ ถ้าพูดถึงคุณภาพตามข้อกำหนดของกรมสนับสนุนบริการสุขภาพถือว่าส่วนใหญ่ผ่านมาตรฐาน แต่ก็ต้องยอมรับว่ายังมีจำนวนหนึ่งที่ยังไม่ผ่านเกณฑ์ เนื่องจากหลักเกณฑ์ของกระทรวงสาธารณสุขออกมาใหม่ๆ เช่น การขยายประตู ทางเดินต่างๆ ต้องปรับกันพอสมควร ส่วนคนดูแลต้องไปสอบรับใบอนุญาตคล้ายๆ ใบประกอบการวิชาชีพ ดังนั้นเรื่องมาตรฐานถึงเราจะไม่พรีเมียม แต่ก็ไม่แย่นักและดีกว่าหลายๆ ประเทศในอาเซียน แต่ที่ยังสู้ประเทศที่เจริญแล้วไม่ได้เลยคือ การเอาเทคโนโลยีมาใช้ไม่ว่าจะเป็นระบบการบันทึกและติดตาม         นอกจากนี้ยังมีเรื่องของความหลากหลายของบุคลากรที่เข้าไปให้บริการดูแลผู้สูงอายุ  บ้านเรานั้นส่วนใหญ่อาจจะเป็นคุณพยาบาล เป็นผู้ช่วยที่ผ่านการอบรมเป็นส่วนใหญ่ บางแห่งอาจจะดีหน่อยมีหมอเป็นเจ้าของเองมาดูแลบางส่วน หลายๆ แห่งมีบริการที่มากขึ้นเช่นมีนักกายภาพด้วย แต่ในต่างประเทศจะมีอีกอาชีพหนึ่งที่เรียกว่าเป็น care worker หรือเป็นผู้ช่วยผู้สูงอายุในการทำกิจกรรมทางสังคมหลายๆ อย่าง ซึ่งประเทศไทยยังไม่มี ตรงนี้สำคัญมากๆ และที่จริงมหาวิทยาลัยรังสิตกำลังเปิดสอนปีนี้เป็นปีแรก          3. ระบบการเงิน ค่าบริการต่างๆ ในประเทศไทย ต่อให้บอกว่าเป็นสถานดูแลผู้สูงอายุ ในลักษณะสถานสงเคราะห์ อย่างบ้านบางแคก็ยังต้องมีการเสียค่าใช้จ่าย แถมยังต้องรอคิวนานเป็นปี นอกนั้นเป็นสถานดูแลผู้สูงอายุที่ประชาชนต้องจ่ายเอง แต่ในต่างประเทศจะมีระบบการร่วมจ่าย (copayment) รัฐบาลกลางจ่ายส่วนหนึ่ง ท้องถิ่นจ่ายส่วนหนึ่งและประชาชนร่วมใจอีกส่วนหนึ่ง ซึ่งพอได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐก็ทำให้เกิดการเกิดการกระจายตัว ประชาชนเข้าถึงง่ายขึ้นและทำให้การระบบการตรวจสอบ กำกับ ติดตามและมาตรฐาน หรือ (KPI) เพื่อนำไปเบิกจ่ายกับหน่วยงานต่างๆ ได้        “สมมุติว่าประเทศไทยทำเรื่องนี้ให้เป็นสิทธิประโยชน์ของผู้สูงอายุโดยตรง โดย สปสช. ยอมจ่าย แล้วไปจับมือกับท้องถิ่น ซึ่งจริงๆ มีกองทุนหลักประกันสุขภาพที่มีเงินอยู่เยอะมากที่ไม่เคยถูกนำมาใช้ ถ้าภาครัฐไปหยิบเงินจากตรงนี้มาแล้วไปวางกลไกการบริหารจัดการให้ดีของศูนย์จะทำให้เรามีระบบที่ดีมาก ซึ่งน่าจับตาเพราะตอนนี้พรรคการเมืองหลายๆ พรรคก็นำมาทำแคมเปญอยู่” “ระบบ 3 หมอ ดูแลผู้สูงอายุที่บ้าน ชุมชน”           ดร.วรชาติ ย้ำว่า จริงอยู่ที่ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับ สปสช. มีระบบ 3 หมอ ตลอดจนสิทธิประโยชน์ เช่น ผ้าอ้อมผู้ใหญ่ มีการเยี่ยมบ้านต่างๆ นานา ซึ่งถือว่าคล้ายกับแนวโน้มของต่างประเทศที่เริ่มระบบการดูแลผู้ป่วยที่บ้าน สร้างสังคมชุมชนที่ผู้สูงอายุสามารถเข้ามามีส่วนร่วมได้ เพราะต่างก็ตระหนักดีว่า สังคมผู้สูงอายุโตเร็วมาก การสร้างสถานดูแลผู้สูงอายุมากเท่าไหร่ก็ไม่เพียงพอ จึงเน้นที่การดูแลผู้สูงอายุที่บ้านให้มีคุณภาพ แต่จะเห็นว่าในต่างประเทศนั้นเน้นวางระบบคุณภาพมาตรฐานตั้งแต่การมีผู้ช่วยผู้สูงอายุ การปรับปรุงบ้านที่เหมาะสมในการใช้ชีวิตของผู้สูงอายุ           ในขณะที่ระบบ 3 หมอของไทย ซึ่งถือว่าเป็นรูปแบบที่ดี แต่จะเห็นว่าในทางปฏิบัติเหมือนเป็นเพียงการเยี่ยมบ้าน ให้กำลังใจ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียงเท่านั้น แต่ไม่สามารถทำให้ผู้สูงอายุมีชีวิตชีวา จัดกิจกรรมดูแลสุขภาพจริงจัง หลายครั้งเป็นเหมือนการไปเยี่ยมผู้ป่วยแล้วเอากระเช้าไปมอบเท่านั้น และเน้นเรื่องการสงเคราะห์ ซึ่งเป็นการดูแลสุขภาพแบบฉาบฉวยไม่ได้ทำให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดี อย่างหมอคนที่ 1 คือ “อสม” ก็มีภารกิจเยอะมาก ยังไม่รวมถึงเวลา คุณภาพ ความรู้ทัศนคติ รวมถึงทักษะการจัดบริการ  ส่วนหมอคนที่ 2 คือ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลก็มีภารกิจมากทำให้การดูแลแบบโฮมแคร์ยากขึ้นในประเทศไทย แต่หลายที่ก็ทำของแท้ได้โดยใช้กลไกชุมชนเข้ามาช่วยก็สามารถทำได้ดีระดับหนึ่ง ซึ่งเป็นการสนับสนุนจากสสส. เริ่มต้นคล้ายโมเดลผู้สูงอายุและใช้กลไกผู้สูงอายุมารวมตัวกัน แต่ตรงนี้ก็เน้นโซเชียลแคร์อย่างเดียว แต่ health care ยังไปไม่ถึง หรือทำให้ยังมีปัญหา “ขาดทั้ง 2 ฝั่ง” ฝั่งหนึ่งขาดบุคลากรมีความรู้ทางด้าน health care และ Social care ที่ทำงานร่วมกันได้ หากทำร่วมกันได้จะถือว่าเป็นระบบบริการใหม่ที่จะเป็นจุดแข็งของประเทศไทยได้ ก็ต้องยอมรับว่าเราเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเร็ว ในขณะที่เรายังจนอยู่ แต่เราก็ไม่ได้แย่ จึงอยากฝากว่าจากนี้ เรื่องของการดูแลผู้สูงอายุต้องสนใจ 3 เรื่องไปพร้อมกัน คือ        1. เรื่องสุขภาพ ในต่างประเทศจะใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยติดตามสุขภาพผู้สูงอายุสูงวัย เช่น นาฬิกาข้อมือที่สามารถรู้อัตราการเต้นของหัวใจ บางรุ่นดีมากๆ ถึงขนาดตรวจจับเรื่องของการเคลื่อนไหวที่เสี่ยงหกล้มได้ จากนั้นวางผังเชื่อมโยงกับโรงพยาบาลต้นสังกัด        2. สถานที่ บ้านต้องปรับปรุงให้เหมาะสมกับการใช้ชีวิตของผู้สูงอายุ ในต่างประเทศถือเป็นสิทธิประโยชน์ที่ต้องได้รับการปรับปรุงที่พักอาศัยด้วย และ         3. เรื่องสังคม คือจะต้องมีโอกาสให้ผู้สูงอายุได้สื่อสาร หรือมีกิจกรรมกับสังคมภายนอกได้มากขึ้น ทำให้ผู้สูงอายุมีความสุขกับการที่อยู่บ้านและสามารถสร้างสังคมผ่านเทคโนโลยีต่างๆ ได้  นอกจากนี้ อยากให้ทำระบบข้อมูลที่มีประสิทธิภาพ  “สภาพปัญหาและเรื่องร้องเรียน”         นายธนัช ธรรมิสกุล หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิ์ผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) ระบุว่า ที่ผ่านมา มีผู้ร้องเรียนปัญหาของสถานดูแลผู้สูงอายุเข้ามา ทั้งเรื่องคุณภาพ มาตรฐานต่างๆ แต่มีสิ่งที่น่าสังเกตคือการร้องเรียนถึงการ “หลอกลวง” โดยบริษัทนายหน้าจัดหาผู้ดูแลผู้สูงอายุ ที่จะส่งไปดูแลผู้สูงอายุตามบ้าน เช่น ส่งคนที่ไม่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญในการดูแลผู้สูงอายุ หรือดูแลเด็ก ส่วนใหญ่อยู่ไม่นานก็หายไป ซึ่งในเรื่องนี้ ทางมพบ.ได้ให้คำแนะนำในการขอคืนค่าบริการ ซึ่งบางรายก็ได้เงินคืนบ้าง แบบทยอยคืน บางกรณีก็ไม่ได้คืนจนต้องฟ้องร้องคดี แต่การต่อสู้คดีก็พบว่ามีปัญหาตามมา เพราะดูเหมือนว่าบริษัทเหล่านี้จะรู้ข้อกฎหมายดี ถึงได้ส่งคนมาทำงาน 3 วัน 5 วัน ทำให้กลายเป็นแค่คดีแพ่งเท่านั้น (จะเข้าข่ายเป็นเรื่องฉ้อโกงหรือคดีอาญาคือ การไม่ส่งพนักงานมาเลย)           บริษัทพวกนี้ใช้วิธีการเลี่ยงกฎหมาย อ้างว่าจดในชื่อของบริษัท แต่ก็อ้างว่าได้รับมอบอำนาจจากเจ้าของ ซึ่งจริงๆแล้ว คนที่เซ็นนั้นก็เป็นเจ้าของส่วนหนึ่งหรืออาจจะเป็นตัวแทนที่ถูกอุปโลกน์ขึ้นมาเป็นผู้รับมอบอำนาจ ซึ่งบางครั้งผู้บริโภคหรือประชาชนอาจจะไม่ได้ขอดูรายละเอียดหนังสือมอบอำนาจว่าถูกต้องหรือไม่ บางคนโฆษณาผ่านโซเชียลมีเดียไว้ดีมาก มีหน้าม้าเข้ามาแสดงความเห็นชมเชย รีวิวดีงาม ซึ่งทำให้ประชาชนหลงเชื่อ         ดังนั้น จึงขอเตือนผู้บริโภคที่ต้องการว่าจ้างคนไปดูแลผู้สูงอายุที่บ้าน ผ่านบริษัทนายหน้า ต้องตรวจสอบข้อมูลให้ละเอียด โดยตรวจสอบผ่านเว็บไซต์ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้าว่า จดทะเบียนถูกต้องหรือไม่ ใครเป็นเจ้าของ มีการส่งงบดุลหรือไม่ เพราะถ้าไม่ส่ง ให้สันนิษฐานว่าเป็นบริษัทลม คิดจับเสือมือเปล่า รอมีคนว่าจ้างแล้วจึงจัดหาคนไปดูแล แล้วก็เข้าลูปเดิมคือ ไปทำงาน 3 วัน 5 วันแล้วหายตัวไป นอกจากนี้อย่าหลงเชื่อการแสดงความเห็นชมเชยทางโซเชียลฯ (รีวิว) ให้ตรวจสอบหลายๆ แหล่ง ว่ามีคนแสดงความเห็นตรงกันหรือไม่          อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ไม่ควรโยนภาระให้ประชนเป็นผู้ตรวจสอบอย่างเดียว แต่หน่วยงานรัฐควรเข้ามากำกับดูแลด้วย โดยจัดให้มีหน่วยงานกลาง กำกับดูแลบริษัทจัดหาผู้ดูแลผู้สูงอายุ ผู้ดูแลเด็กตามบ้าน อย่างจริงจัง เหมือนกับที่มีหน่วยงานตรวจสอบ กำหนดมาฐานสถานดูแลผู้สูงอายุ สถานดูแลเด็ก ทั้งนี้หากพบว่ากระทำผิดต้องมีบทลงโทษจริงจัง เพราะที่ผ่านมา หลังจากมพบ.เข้าให้การช่วยเหลือประชาชน หลายหน่วยงานต่างก็โยนความรับผิดชอบไปให้อีกหน่วยงานหนึ่ง กลายเป็นว่าประชาชนไม่มีที่พึ่งต้องช่วยเหลือตนเอง          ในขณะที่สถานดูแลผู้สูงอายุและศูนย์ดูแลเด็กนั้น มีการร้องเรียนเข้ามาบ้าง เช่น สถานรับเลี้ยงตามชุมชน ตามหมู่บ้าน ในส่วนของผู้สูงอายุ ถ้ายกตัวอย่างคือสถานเลี้ยง ผู้สูงอายุบ้านบางแคและที่เปิดใหม่ที่ตรงบางปูของโรงพยาบาลรามาไปซื้อไม่ต่ำกว่าหลังละ 5 ล้านบาท เท่ากับว่าผู้ใช้บริการจะต้องไปซื้อหลังละไม่ต่ำกว่า 5 ล้านบาท ซ้ำยังมีค่าใช้จ่ายรายเดือน แถมยังมีเงื่อนไขว่า เมื่อเสียชีวิตก็ต้องคืนสิทธิ์นั้นให้กับเจ้าของเพื่อให้ผู้บริหารจัดการนำไปปล่อยขายต่อไป ซึ่งลักษณะเช่นนี้เหมาะกับคนที่มีฐานะดีมากจริงๆ   “ข้อกำหนดมาตรฐานตามกฎหมาย”        “นพ.สุระ วิเศษศักดิ์” อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) ในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องการกำหนดมาตรฐาน อธิบายว่า  หลักสูตรด้านการดูแลผู้สูงอายุของกรม สบส. มี 2 หลักสูตร 1. หลักสูตรผู้ดำเนินการการดูแลผู้สูงอายุหรือผู้มีภาวะพึ่งพิง 130 ชั่วโมง ซึ่งจะต้องมีการอบรมสร้างความรู้ความเข้าใจพื้นฐาน  มีคุณธรรมจริยธรรมและเจตคติที่ดี ในการดำเนินงานการดูแล มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมาย ระเบียบข้อบังคับและจรรยาบรรณที่เกี่ยวข้อง มีความรู้ความเข้าใจในการบริหารดำเนินงานและการให้บริการที่เกี่ยวข้อง จากนั้นก็ต้องอบรมเกี่ยวกับการส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค การปฐมพยาบาล การช่วยชีวิต ทั้งนี้ ผู้เรียนต้องอายุไม่ต่ำกว่า 20 ปี จบการศึกษาระดับปริญญาตรี ไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 21            2. หลักสูตรผู้ดูแลผู้สูงอายุ 420 ชั่วโมง  จะเป็นการอบรมให้มีทักษะสามารถทำงานได้จริง มีความสามารถในการส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค ประเมินภาวะวิกฤติ การช่วยชีวิต การปฐมพยาบาล การศึกษาสุขภาพองค์รวม โดยผู้เรียนต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปี จบการศึกษาภาคบังคับ มีสุขภาพร่างกายและจิตใจไม่เป็นอุปสรรคต่อการทำงาน เป็นต้น          ทั้งนี้ ข้อมูลล่าสุด มีผู้ผ่านหลักสูตรดูแลผู้สูงอายุหรือผู้มีภาวะพึ่งพิง 130 ชั่วโมง ทั้งหมด  663 คน อย่างไรก็ตาม ตามหลักเกณฑ์ระบุว่า สำหรับผู้ที่จบ 11 หลักสูตรไม่ต้องเข้ารับการอบรม ก็สามารถสอบเป็นผู้ดำเนินการได้ ดังนี้  หลักสูตรแพทยศาสตร์ หลักสูตรพยาบาลศาสตร์ หรือการพยาบาลและการผดุงครรภ์ชั้นสูง หลักสูตรทันตแพทยศาสตร์ หลักสูตรสาธารณสุขศาสตร์ หลักสูตรกายภาพบำบัด หลักสูตรการแพทย์แผนไทย หลักสูตรการแพทย์แผนไทยประยุกต์ หลักสูตรการแพทย์แผนจีน หลักสูตรวิทยาศาสตร์ สาขากิจกรรมบำบัด หลักสูตรวิทยาศาสตร์ สาขาจิตวิทยา และหลักสูตรเภสัชศาสตร์ โดยรวมแล้วตอนนี้มีใบอนุญาตเป็นผู้ดำเนินการ 2,328 คน (ข้อมูล 11 พ.ค. 2566)         ส่วนหลักสูตรผู้ดูแลผู้สูงอายุ 420 ชั่วโมง มีผู้ผ่านการอบรม 4,267 คน และมีผู้ที่จบ 5 หลักสูตรที่ไม่ต้องเข้ารับอารอบรม ก็สามารถขอขึ้นทะเบียนเป็นผู้ให้บริการในสถานดูแลได้เลย คือ หลักสูตรแพทยศาสตร์ หลักสูตรพยาบาลศาสตร์และการผดุงครรภ์ชั้นสูง หลักสูตรประกาศนียบัตรพยาบาลศาสตร์ ระดับต้น หลักสูตรประกาศนียบัตรผู้ช่วยพยาบาล หลักสูตรประกาศนียบัตรผู้ช่วยพยาบาล (การดูแลผู้สูงอายุ) และหลักสูตรประกาศนียบัตรพนักงานให้การดูแล  โดยสรุปมีผู้ได้รับใบรับรองเป็นให้บริการ ทั้งหมด 8,214 คน (ข้อมูล 11 พ.ค.2566)         นพ.สุระ ระบุเพิ่มเติมว่า ตามกฎกระทรวงกิจการการดูแลผู้สูงอายุหรือผู้มีภาวะพึ่งพิง ได้แบ่งลักษณะ การให้บริการออกเป็น 3 ลักษณะ คือ (1) การให้บริการดูแลผู้สูงอายุหรือผู้มีภาวะพึ่งพิงระหว่างวันที่มีการจัดกิจกรรมการดูแลส่งเสริมและฟื้นฟูสุขภาพแก่ผู้สูงอายุหรือผู้มีภาวะพึ่งพิง โดยไม่มีการพักค้างคืน (2) การให้บริการดูแลผู้สูงอายุที่มีการจัดกิจกรรมส่งเสริมและฟื้นฟูสุขภาพแก่ผู้สูงอายุ โดยจัดให้มีที่พำนักอาศัย ซึ่งในลักษณะที่ (1) และ (2) ไม่ได้มีการกำหนดสัดส่วนในการให้บริการไว้         ลักษณะที่ (3) การให้บริการดูแลและประคับประคองผู้สูงอายุหรือผู้มีภาวะพึ่งพิงที่มีการจัดกิจกรรมการดูแล ส่งเสริมและฟื้นฟูสุขภาพ โดยมีการพักค้างคืน โดยในลักษณะที่ (3) ได้กำหนดให้มีสัดส่วนของผู้ให้บริการ (ผู้ดูแลผู้สูงอายุ) 1 คนต่อผู้รับบริการ (ผู้สูงอายุ) ไม่เกิน 5 คน หรือ 1 : 5  ถ้าไม่เป็นไปตามสัดส่วนนี้จะไม่สามารถขอรับใบอนุญาต ประกอบกิจการได้ ซึ่งปัจจุบันมีสถานประกอบกิจการลักษณะ ที่ 3 ที่ได้รับอนุญาต 783 แห่ง         สำหรับหลักเกณฑ์มาตรฐานสถานดูแลผู้สูงอายุ จะกำหนดไว้หลักๆ 3 ด้าน ดังนี้ 1. มาตรฐานด้านสถานที่ 2. มาตรฐานด้านความปลอดภัย 3. มาตรฐานด้านการให้บริการ โดยผู้ประกอบการสามารถยื่นคำขออนุญาตประกอบกิจการได้ที่ Website : https://esta.hss.moph.go.th/ ซึ่งใบอนุญาตจะมีอายุ 5 ปี ผู้ขออนุญาตต้องชำระค่าธรรมเนียมรายปี และมีการต่ออายุทุก 5 ปี ทั้งนี้หากมาตรฐานไม่เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด จะมีบทลงโทษ ดังนี้         1. กรณีสถานที่ไม่เป็นไปตามที่กำหนด ซึ่งมาตรา 41 การใช้ชื่อ “สถานประกอบการเพื่อสุขภาพ” โดยไม่ได้รับอนุญาต ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 40,000 บาท มาตรา 42 การไม่ขออนุญาตประกอบกิจการ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ         2. กรณีบุคลากรไม่เป็นไปตามที่กำหนด ผู้ให้บริการที่ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามที่กำหนดในมาตรา 23 จะถูกลบชื่อออกจากทะเบียน โดยผู้ให้บริการต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามดังต่อไปนี้ ก. คุณสมบัติ 1) มีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์ 2) ได้รับวุฒิบัตรหรือประกาศนียบัตรด้านการบริการเพื่อสุขภาพที่ได้รับการรับรองจากกรมสบส. และ ข. ลักษณะต้องห้าม 1) เป็นบุคคลวิกลจริต คนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ  2) เป็นผู้เจ็บป่วยด้วยโรคติดต่ออันเป็นที่รังเกียจแก่สังคม โรคพิษสุราเรื้อรังหรือติดยาเสพติดให้โทษ         3. กรณีหากเกิดความเสียหายหรือสูญเสียในสถานดูแลผู้สูงอายุหรือจากบุคลากรตามกฎหมายสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ ไม่มีบทกำหนดโทษ ผู้ที่ได้รับความเสียหายจากการรับบริการสามารถใช้สิทธิเรียกร้องได้ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภคหรือใช้สิทธิตามกฎหมายอื่น         สำหรับ กรณี “บริษัทจัดหาผู้ดูแลผู้สูงอายุ” นั้นในการการจัดส่งคนไปดูแลที่บ้านจะเป็นไปตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง มาตรการควบคุมกำกับดูแลการประกอบกิจการให้บริการดูแลผู้สูงอายุที่บ้านของ ผู้รับบริการ พ.ศ. 2564 ผู้รับผิดชอบ คือ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข โดยผู้ที่ประสงค์จะดำเนินกิจการเพื่อให้บริการต้องขอรับใบอนุญาต ประกอบกิจการที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในเขตที่ผู้ดำเนินกิจการประกอบ กิจการในเขตท้องถิ่นนั้น โดยผู้ให้บริการต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังต่อไปนี้        1.มีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์         2.ไม่เป็นผู้เจ็บป่วยด้วยโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ โรคพิษสุราเรื้อรังหรือติดยาเสพติดให้โทษ         3.ไม่เป็นผู้มีร่างกายทุพพลภาพไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ไร้ความสามารถ หรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ         4. ไม่เป็นผู้มีความประพฤติเสื่อมเสีย หรือบกพร่องในศีลธรรมอันดี          5. ไม่เป็นผู้เคยต้องโทษในความผิดเกี่ยวกับเพศหรือทรัพย์ตามประมวล กฎหมายอาญา ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติด หรือความผิดตาม กฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปราม การค้าประเวณี เว้นแต่ได้พ้นโทษ มาแล้วไม่น้อยกว่า 2 ปี        6. ต้องมีความรู้หรือประสบการณ์เกี่ยวกับการดูแลผู้สูงอายุ และต้อง ผ่านการอบรมเกี่ยวกับการดูแลผู้สูงอายุที่กรมอนามัยรับรอง  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 266 ‘งบการเงิน’ ยุ่งและเยอะ แต่จำเป็นต้องเข้าใจ

        คนที่คิดจะลงทุนหุ้น พอทำความเข้าใจตัวเองแล้วและคิดว่าจะเอาดีทางสายวีไอหรือการลงทุนแบบเน้นคุณค่า (value investment) หมายถึงการเลือกซื้อหุ้นบริษัทที่ดี ทำธุรกิจที่มีอนาคต มีแนวโน้มการเติบโต และถือหุ้นระยะยาวไปจนกว่าพื้นฐานของบริษัทนั้นจะเปลี่ยน (เดี๋ยวนี้ก็มีสาย hybrid ที่ดูทั้งพื้นฐานและจับจังหวะการลงทุน ไม่ได้ถือยาวชั่วลูกชั่วหลาน แต่จะขายเมื่อราคาถึงเป้าหมาย)         ทุกเพจ ทุกเว็บ ทุกโค้ช ทุกเล่มจะบอกสิ่งที่คุณจำเป็นต้องเรียนรู้ ต้องทำ ต้องอ่านเหมือนกันนั่นก็คือ งบการเงิน         งบการเงินก็เหมือนสมุดรายงานสุขภาพของบริษัทว่าแข็งแรงหรือเปล่า อ้วนหรือผอมเกินไป มีไขมันเลวแค่ไหน งบการเงินเป็นเรื่องชวนปวดหัวอยู่เหมือนกันเพราะค่อนข้างเยอะและยุ่ง         ถ้าเป็นเมื่อก่อน หนังสือสอนการลงทุนอธิบายว่างบการเงินจะประกอบด้วย 3 ส่วน แต่เดี๋ยวนี้เพิ่มเป็น 5 แล้ว ได้แก่ งบดุล งบกำไร-ขาดทุน งบกระแสเงินสด งบแสดงการเปลี่ยนแปลงส่วนของผู้ถือหุ้น และหมายเหตุประกอบงบการเงิน แต่จะขอพูดถึงงบ 3 ตัวแรกพอ         งบดุลเป็นตัวบอกภาพใหญ่ของบริษัท มีทรัพย์สินเท่าไหร่ ส่วนของผู้ถือหุ้นเท่าไหร่ มีหนี้อยู่เท่าไหร่ แล้วก็ตามชื่อ มันควรสมดุลกัน เช่น ถ้ามีหนี้สินระยะสั้นเยอะ แต่มีเงินสดหรือทรัพย์สินสภาพคล่องต่ำ แบบนี้มีจะปัญหา         งบกำไร-ขาดทุน อันนี้ก็ตรงตัว บริษัทมีต้นทุนทำธุรกิจเท่าไหร่ ปีหนึ่งๆ ค้าขายได้ยอดขายแค่ไหน หักลบแล้วเหลือกำไรเท่าไหร่         งบกระแสเงินสด เป็นงบที่บอกว่าบริษัทมีเงินสดในมือมากน้อยแค่ไหน บอกรายรับ-รายจ่ายของบริษัทในแต่ละปี เพราะสภาพคล่องเป็นเรื่องสำคัญของการทำธุรกิจ (เหมือนในชีวิตประจำวันนั่นแหละ) แต่ต้องดูดีๆ การมีกระแสเงินสดเยอะๆ อาจไม่ดีเสมอไป มันมีรายละเอียดต้องใส่ใจ ยกตัวอย่างเงินสดในมือมาจากไหน มันอาจมาจากการกู้เงินก็ได้         บริษัทที่ไม่มีหนี้เลยก็ใช่ว่าจะสมบูรณ์แบบเพราะมันอาจบอกเป็นนัยๆ ว่าบริษัทนั้นไม่มีการขยายการลงทุนก็ได้ เว้นเสียว่าจะใช้เงินในมือตัวเอง         เห็นมั้ยว่าเยอะและยุ่งขนาดไหน อย่างไรก็ตามถ้ารักจะเดินทางนี้ก็ต้องอ่านงบการเงินให้เป็น วิเคราะห์ให้ได้เพราะมันต้องดูประกอบกันทั้งหมด         ถ้าขี้เกียจ...เหมือนเดิม ซื้อกองทุนรวมจะเวิร์คกว่า

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 266 ว่าด้วยเรื่องยุ่งยากของการ “เลิก”

        ผลพวงหนึ่งของโควิด-19 ที่ก่อปัญหาให้กับผู้บริโภค ในเรื่องการใช้บริการมือถือ ก็คือการต้องถูกยกเลิกบริการและต้องสูญเสียเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่หรือสูญเสียเบอร์ไปโดยไม่เต็มใจ ซึ่งผลกระทบของการสูญเสียเบอร์มือถือในยุคนี้ไม่ใช่แค่เรื่องพลาดการติดต่ออีกต่อไป แต่อาจกระทบทั้งเรื่องการรับ-จ่ายเงิน การยืนยันตัวตนเพื่อใช้บริการหรือซื้อ-ขายสินค้า หรือแม้แต่การเข้าถึงสิทธิประโยชน์บางอย่าง ฯลฯ         ไม่ว่าจะเป็นผู้ใช้บริการแบบจ่ายรายเดือนหรือแบบเติมเงิน ต่างประสบปัญหาคล้ายคลึงกัน อันเนื่องมาจากเกิดความไม่สะดวกหรือลืมที่จะเติมเงินเข้าระบบ/ไปชำระค่าบริการในแต่ละรอบเดือน และเมื่อ “วันหมด” หรือ “ค้างชำระเกิน 2 เดือน” ปัญหา “การถูกเลิก” ก็จะตามมา         เนื่องจากตามกติกาที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. กำหนด มีการอนุญาตให้ผู้ให้บริการเป็นฝ่ายยกเลิกการให้บริการโทรคมนาคมตามสัญญาได้ ในกรณีที่ “ผู้ใช้บริการผิดนัดชำระค่าธรรมเนียมและค่าบริการเกินกว่าระยะเวลาที่กำหนดในสัญญาสองคราวติดต่อกัน...” ดังนั้น สำหรับผู้ใช้บริการมือถือแบบจ่ายรายเดือน เมื่อมีการค้างชำระค่าบริการเกิน 2 รอบบิล ผู้ใช้บริการบางรายจึงอาจถูกตัดสัญญาณ ทำให้เกิดการสูญเสียเบอร์ตามมา         ส่วนกติกาทางด้านของการใช้บริการแบบเติมเงิน เนื่องจาก กสทช. อนุญาตให้ผู้ให้บริการกำหนดอายุหรือระยะเวลาของเงินที่เติมเข้าระบบในแต่ละครั้งไว้เพียงว่าจะต้องไม่น้อยกว่า 30 วัน ดังนั้นทุกๆ จำนวนเงินที่เติมและสะสมในแต่ละเบอร์จึงมีวันหมดอายุ ซึ่งหากอายุหมด แม้จำนวนเงินที่สะสมไว้ยังคงเหลือ ผู้ให้บริการก็มีสิทธิที่จะระงับบริการหรือยกเลิกบริการได้ จากนั้นเลขหมายหรือเบอร์ของผู้บริโภคก็อาจหลุดมือไป         แท้จริงแล้ว ตามกติกาที่ กสทช. กำหนด ซึ่งอยู่ในรูปของประกาศเรื่อง มาตรฐานของสัญญาให้บริการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549 ได้กำหนดเรื่องการยกเลิกสัญญาให้บริการโทรคมนาคมไว้ในลักษณะให้สิทธิผู้ใช้บริการ โดยระบุไว้ในข้อ 32 ว่า         “ผู้ใช้บริการมีสิทธิเลิกสัญญาในเวลาใดก็ได้ด้วยการบอกกล่าวเป็นหนังสือให้แก่ผู้ให้บริการทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่าห้าวันทำการ” ภายใต้เงื่อนไขที่ว่า “ผู้ใช้บริการจะต้องชำระค่าบริการครบถ้วนแล้วจนถึงวันที่การยกเลิกสัญญามีผลบังคับ” ขณะเดียวกันก็ได้กำหนดเหตุที่ผู้ใช้บริการอาจใช้สิทธิยกเลิกสัญญาได้ทันทีไว้ 4 ประการ เช่น ผู้ใช้บริการไม่สามารถรับบริการจากผู้ให้บริการได้ด้วยเหตุที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและอยู่นอกเหนือการควบคุมของผู้ใช้บริการ ผู้ให้บริการได้ละเมิดข้อตกลงอันเป็นสาระสำคัญของสัญญา        ตามข้อกฎหมายดังกล่าว แม้ว่าข้อความขึ้นต้นจะระบุชัดเจนว่า “ผู้ใช้บริการมีสิทธิเลิกสัญญาในเวลาใดก็ได้...” แต่ภายในสำนักงาน กสทช. ก็ยังมีปัญหาการตีความในส่วนของข้อความที่ตามมา ในเรื่องการบอกกล่าวเป็นหนังสือ โดยเห็นว่า สิทธิดังกล่าวจะมีผลชอบด้วยกฎหมายก็ต่อเมื่อมีการขอยกเลิกสัญญาอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรเท่านั้น หากเป็นเพียงการแจ้งด้วยวาจาก็เท่ากับไม่เกิดผลในทางกฎหมาย         เมื่อตีความเช่นนี้ ข้อ 32 ของประกาศมาตรฐานของสัญญาฯ จึงเปลี่ยนบทบาทจากการรับรองหรือให้สิทธิแก่ผู้ใช้บริการ มาเป็นการให้สิทธิแก่ผู้ให้บริการมากกว่า เนื่องจากในทางปฏิบัติจริง ผู้บริโภคทั่วไปย่อมไม่ลุกขึ้นมาร่างหนังสือเพื่อแจ้งขอยกเลิกสัญญา/บริการโทรคมนาคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับบริการมือถือ ประกอบกับทางฝ่ายผู้ให้บริการเองก็มิได้มีแบบฟอร์มหรือแบบหนังสือขอเลิกบริการไว้ให้กรอกง่ายๆ ดังนั้น แม้แต่ในกรณีที่ผู้ใช้บริการไปหาถึงร้านหรือศูนย์บริการของผู้ให้บริการ ในความเป็นจริง ก็ยังแจ้งยกเลิกบริการเพียงด้วยวาจาเท่านั้น         เรื่องจึงกลายเป็นว่า หากสามารถเจรจาหรือสนทนากันเป็นที่เข้าใจและเห็นพ้องก็แล้วไป แต่ถ้าฝ่ายผู้ให้บริการไม่ยินดีหรือไม่ยินยอม ปัญหาการตามเรียกเก็บบริการก็จะเกิดขึ้น และเมื่อตีความตามแนวทางของเจ้าหน้าที่สำนักงาน กสทช. หากผู้บริโภคมิได้ทำหนังสือขอเลิกสัญญาก็เท่ากับสัญญายังมีผล และผู้บริโภคมีหน้าที่ต้องจ่ายค่าบริการที่ผู้ให้บริการเรียกเก็บต่อไป         อย่างไรก็ตาม ถ้าพิจารณาข้อกฎหมายดังกล่าวในอีกแนวทางหนึ่ง ว่า เรื่องการ “บอกกล่าวเป็นหนังสือ” เป็นเพียงวิธีการ มิใช่สาระสำคัญที่ถึงกับจะทำให้สิทธิต้องเสียไปหากวิธีการไม่ถูกหรือไม่สมบูรณ์ ในยามที่เกิดข้อโต้แย้งเรื่องการเรียกเก็บค่าบริการหลังจากผู้บริโภคขอยกเลิกสัญญาแล้ว ก็สามารถพิจารณาข้อเท็จจริงในแง่ของการใช้บริการ ว่าในช่วงเวลาเหล่านั้นได้มีการใช้งานหรือไม่ ซึ่งหากมีการใช้งานก็ย่อมต้องชำระค่าบริการ แต่หากไม่ได้ใช้งาน เจตนาการยกเลิกก็ย่อมชัดเจน และไม่ควรที่จะยอมให้มีการเรียกเก็บเงินเพียงเพราะขาดหนังสือขอเลิกสัญญา         เขียนมาถึงตรงนี้ ประเด็นสำหรับผู้บริโภคก็คือ ถ้าจะเลิกสัญญาโทรคมนาคมแบบไม่มีช่องโหว่ก็ควรต้องทำเป็นหนังสือ อาจเขียนเองง่ายๆ ก็ได้ ขอเพียงมีเนื้อหาชัดในเรื่องการแจ้งความจำนง ลงวันที่ และลงชื่อ ทั้งนี้เพื่อไม่ต้องเถียงกับผู้ให้บริการในภายหลัง รวมถึงสำนักงาน กสทช. ด้วย เพราะแนวคิดไปในทิศทางเดียวกันอย่างยิ่ง         ส่วนสำนักงาน กสทช. หากปักใจที่จะขีดเส้นในทางกฎหมายเช่นนี้ ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลกิจการ ด้านหนึ่งก็ควรที่จะกำชับให้ผู้ให้บริการมีแบบฟอร์มเพื่ออำนวยความสะดวกผู้ใช้บริการ ขณะเดียวกันก็ควรที่จะประชาสัมพันธ์หรือรณรงค์ให้ความรู้และบอกสิ่งที่ควร/ไม่ควรทำแก่ผู้บริโภคด้วย เพื่อประโยชน์ในด้านการพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภค         กลับมาว่าด้วยการยกเลิกบริการ/สัญญาจากฝั่งผู้ให้บริการอีกครั้ง ทางด้านนี้ หากผู้บริโภคไม่อยากประสบปัญหา ก็ต้องระมัดระวังกับเรื่องการชำระค่าบริการ และในการเติมเงินต้องให้ความสำคัญกับจำนวนวันที่เหลือ ซึ่งอายุของเงินจะได้มาตามจำนวนครั้งการเติมเงิน แม้เติมจำนวนน้อยก็จะต้องได้ 30 วันเป็นขั้นต่ำ ดังนั้นความถี่จึงอาจสำคัญกว่ายอดเงินที่เติม         เมื่อหน่วยงานกำกับดูแลค่อนข้างคิดเห็นไปในทิศทางเดียวกับผู้ประกอบการ ผู้บริโภคก็จำเป็นต้องดูแลคุ้มครองตนเอง...เช่นนี้แล

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 266 พาวเวอร์เจลให้พลังงาน : กินไม่เกิดโรค รู้บริโภคปลอดภัย

        Power Gel หรือ Energy Gel เป็นอาหารชนิดหนึ่งที่อยู่ในรูปของเจลคาร์โบไฮเดรต โดยแต่งเติมกลิ่นและรสชาติเข้าไปเพื่อให้สะดวกแก่การรับประทาน         Power Gel เป็นแหล่งให้พลังงานสูงทำให้ร่างกายฟื้นฟูสภาพได้ในระยะเวลาอันรวดเร็ว โดยสารอาหารจะถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดอย่างรวดเร็ว เป็นแหล่งพลังงานของร่างกายและช่วยเพิ่มระดับน้ำตาลในเลือดโดยทั่วไป Power Gel จะไม่มีไขมัน มีโปรตีนไฟเบอร์เป็นส่วนประกอบเพื่อช่วยระบบย่อยและดูดซึมอาหารทำงานได้เร็วที่สุด         กลุ่มนักกีฬาประเภทที่ใช้พลังงานต่อเนื่องเป็นเวลานานอย่างวิ่งมาราธอน ว่ายน้ำ มักจะหา Power Gel ชนิดและยี่ห้อต่างๆ มาใช้และมีความนิยมกันเป็นอย่างมาก อย่างไรก็ตามผลิตภัณฑ์กลุ่มนี้มีข้อที่ต้องระมัดระวังในการใช้อยู่ด้วย ดังนั้นผลิตภัณฑ์ต้องได้มาตรฐานต้องเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ชนิดและประเภทที่เหมาะกับตนเอง         เมื่อปี 2019 สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของประเทศหนึ่งได้ออกประกาศเตือนภัยให้แก่ผู้บริโภคในประเทศของตนให้หลีกเลี่ยงการซื้อและบริโภคผลิตภัณฑ์ Power Gel ที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียน หากจะเปรียบเทียบในประเทศเราก็คือประกาศแจ้งเตือนของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ให้หลีกเลี่ยงการใช้และบริโภคผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีเครื่องหมาย อย. ไม่มีข้อความแสดงในฉลากเป็นภาษาไทย เพราะเมื่อบริโภคจะมีความเสี่ยงสูงที่ทำให้เกิดอันตรายต่อร่างกายจากส่วนประกอบที่อาจมีอันตรายหรือไม่ได้มาตรฐานและอาจเกิดพิษสะสมเมื่อรับประทานต่อเนื่องเป็นเวลานาน ซึ่งปัจจุบันพบผลิตภัณฑ์เหล่านี้เป็นจำนวนไม่น้อยในงานวิ่งรายการต่างๆ ร้านค้าออนไลน์         นอกจากนี้ยังมี Power Gel อีกกลุ่มหนึ่งที่ต้องระมัดระวังในการบริโภคคือ Power Gel ที่มีส่วนประกอบของคาเฟอีน ที่ใส่เข้าเพิ่มมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดการตื่นตัว รู้สึกตื่นตัว เชื่อว่าช่วยให้ร่างกายทนทานต่อความเมื่อยล้าเพิ่มมากแต่อาจไม่เหมาะกับบางคนรวมถึงเด็กเล็ก  เพราะผลข้างเคียงให้เกิดอาการปวดหัวหรือกระวนกระวายใจได้ในบางคน องค์กร European Food Safety Authority แนะนำว่าปริมาณการบริโภคคาเฟอีนของผู้ใหญ่แต่ละครั้งไม่ควรเกิน 200 mg. และต่อวันไม่ควรเกิน 400 mg (ต้องกิน Power Gel ถึง 8 ซอง) แต่ในบางคนที่ไวต่อการกระตุ้น เช่น เด็ก หรือผู้ที่มีโรคประจำตัวเกี่ยวข้องกับความดัน หัวใจ แม้การกินคาเฟอีนที่ปริมาณไม่เกินกำหนดก็อาจทำให้เกิดหัวใจเต้นผิดจังหวะ ใจสั่นได้ง่ายขึ้นได้ทันทีหรือความดันอาจจะเพิ่มขึ้นได้บ้าง โดยเฉพาะคนที่ไม่ได้กินเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมคาเฟอีนเป็นประจำ นอกจากนี้ก็มีฤทธิ์เป็นยาระบายและยาขับปัสสาวะผลต่อการขับปัสสาวะที่บ่อยขึ้นเกิดผลให้ร่างกายสูญเสียน้ำ         นักกีฬาที่จะหา  Power Gel มาทานจึงควรใส่ใจ อ่านฉลากซองผลิตภัณฑ์ให้ละเอียด 1) มีเลข อย. และมีข้อความภาษาไทย ระบุแหล่งผลิต วันเดือนปีที่หมดอายุ 2) ตรวจสอบส่วนประกอบในฉลากว่า มีส่วนผสมของคาเฟอีนหรือไม่ โดยพิจารณาให้เหมาะสมกับตัวเอง และ 3) เลือกชนิดและประเภทของ Power Gel ที่เหมาะกับสภาพร่างกายของตนเอง ซึ่งสามารถปรึกษากับเภสัชกรที่ร้านยาทุกแห่งหรือผู้เชี่ยวชาญผลิตภัณฑ์ Power Gel

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 266 รู้ทัน กล่องสุ่ม ใครได้ ใครเสีย

        กล่องสุ่ม (Mystery box) คือ กล่องที่มีการนำสินค้าหลายๆ อย่าง คละแบบ/ราคา ใส่ไว้ในกล่อง และมีการนำมาขาย โดยที่ผู้ซื้อไม่ทราบว่าสินค้าในกล่องมีอะไรบ้าง รู้เพียงราคาของกล่องที่ซื้อว่าเท่าไรเท่านั้น ซึ่งตามหลักแล้วถือเป็นกลยุทธ์ในการทำการตลาดแบบหนึ่ง เป็นการกระตุ้นยอดขายและทำให้ลูกค้ารู้จักร้านมากขึ้น         ทุกวันนี้หลายคนคงรู้จักกล่องสุ่มมากขึ้น เพราะมีการโฆษณาขายอยู่บนโลกออนไลน์อย่างแพร่หลาย และบวกกับคุณสมบัติของกล่องสุ่มที่ทำให้ผู้ซื้ออย่างเราๆ ได้ลุ้นว่าจะได้ของอะไรบ้าง ซึ่งตรงกับนิสัยคนไทยบางส่วนที่ชอบการเสี่ยงโชค เสี่ยงดวง ทำให้กล่องสุ่มได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว มีอินฟลูเอนเซอร์หรือดาราหลายคนหันมาขายกล่องสุ่ม แต่อย่างไรก็ตามก็มีข่าวออกมาอยู่เป็นระยะว่ามีผู้บริโภคจำนวนไม่น้อยที่โดนหลอกลวงจากกล่องสุ่ม เนื่องจากมีการชวนเชื่อว่าซื้อไปแล้วในกล่องมีโอกาสได้ของราคาแพง มีโอกาสสร้างกำไรจากกล่องสุ่ม เสมือนเป็นการพนันขันต่อที่มีทั้งคนได้และคนเสีย  จึงเป็นที่สงสัยกันมากว่า ตกลงกล่องสุ่มที่มีอยู่เต็มไปหมดในโลกออนไลน์ เป็นสินค้าที่ผิดกฎหมายไหม           ในประเด็นนี้ หากมองมุมของกฎหมายก็ตอบได้ทันทีว่า การขายกล่องสุ่มเป็นสิ่งที่ทำไม่ได้ ผิดกฎหมายเพราะมีลักษณะเป็นการพนัน แต่หากกล่องสุ่มนั้นมาในรูปแบบของชิงโชค เช่น ซื้อสินค้าในห้างสรรพสินค้าหรือในตลาดออนไลน์ครบ 1,000 บาท ได้บัตรแลกกล่องสุ่มหนึ่งใบ กล่องสุ่มแบบนี้สามารถทำได้เพียงแต่ต้องขออนุญาตต่อกรมการปกครอง เช่นเดียวกับพวกลุ้นใต้ฝาเครื่องดื่มชูกำลังในสมัยก่อนหรือร้านค้าที่เปิดให้สอยดาวต่างๆ เหล่านี้ เป็นกลุ่มที่เรียกว่ารับชิงโชคต้องมีการขออนุญาตทั้งสิ้น  เป็นไปตาม มาตรา 8 และมาตรา 12 พระราชบัญญัติการพนัน พ.ศ. 2478         มาตรา 8 พระราชบัญญัติการพนัน พ.ศ. 2478         “การจัดให้มีการแถมพกหรือรางวัลด้วยการเสี่ยงโชค โดยวิธีใด ๆ ในการ ประกอบกิจการค้าหรืออาชีพ จะต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานผู้ออกใบอนุญาตก่อนจึงจะทำได้”         หากฝ่าฝืนระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับตั้งแต่ 50 บาท ขึ้นไปจนถึง 2,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามพระราชบัญญัติการพนัน พ.ศ. 2478 มาตรา 12 พระราชบัญญัติการพนัน พ.ศ. 2478         “ ผู้ใดจัดให้มีการเล่น หรือทําอุบายล่อ ช่วยประกาศโฆษณาหรือชักชวน โดยทางตรงหรือทางอ้อมให้ผู้อื่นเข้าเล่นหรือเข้าพนันในการเล่นซึ่งมิได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงาน หรือรับอนุญาตแล้วแต่เล่นพลิกแพลง ”         หากฝ่าฝืนระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 เดือนขึ้นไปจนถึง 3 ปี และปรับตั้งแต่ 500 บาทขึ้นไป จนถึง 5,000 บาท         สรุปได้ว่า การขายกล่องสุ่ม ถ้ามีลักษณะที่ทำให้ผู้ซื้อต้องลุ้นว่าจะได้หรือเสีย กล่าวคือ ของในกล่องสุ่มอาจมีราคาสูงหรือต่ำกว่าเงินที่จ่ายค่ากล่อง เช่นนี้ มีลักษณะเป็นการพนัน การเสี่ยงโชค ผิดกฎหมายพนัน แต่หากการขายกล่องสุ่มของที่อยู่ในกล่องรวมกัน ราคามากกว่าเงินที่ผู้ซื้อจ่ายเพียงแต่ละคนอาจได้ของมูลค่ามากน้อยแตกต่างกันไป เช่นนี้ ถือว่าไม่มีการได้การเสีย ไม่มีลักษณะการพนันสามารถทำได้         อย่างไรก็ตาม ในมุมกฎหมายการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคก็มีประเด็นเกี่ยวกับการระบุข้อมูลของสินค้าที่อยู่ในกล่องสุ่ม ซึ่งพบว่าที่ผ่านมาบางร้านขายกล่องสุ่มโดยกล่องสินค้ามีเพียงการแจ้งประเภทสินค้า เช่น เครื่องสำอางหรือของใช้ โดยไม่ได้ระบุรายละเอียดสำคัญของสินค้า ทั้งฉลากและราคา เช่นนี้ ถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิผู้บริโภค มีความผิดตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภคเกี่ยวกับสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้บริโภคต้องได้รับข้อมูลข่าวสาร รวมทั้งคำพรรณนาของสินค้าที่ถูกต้องครบถ้วน   เนื่องจากผู้บริโภคควรได้รับข้อมูลที่เพียงพอก่อนตัดสินใจซื้อ เพื่อป้องกันปัญหาสินค้าไม่ตรงปก หรือไม่ครบตามที่มีการโฆษณา         ดังนั้นในฐานะผู้บริโภคเวลาจะซื้อสินค้าหรือบริการใด ก็ต้องตรวจสอบข้อมูลผู้ขาย ดูรีวิว คอมเม้น  และหลีกเลี่ยงสินค้าที่มีความเสี่ยง อย่างเช่นกล่องสุ่มก็เป็นสินค้าอีกประเภทที่เราต้องเท่าทัน อย่าหลงเชื่อคำโฆษณาจ่ายน้อยได้มาก เพราะส่วนมากคือเป็นกลโกงของมิจฉาชีพเพื่อหลอกเอาเงินเรา  เราควรใช้เงินอย่างคุ้มค่าเพื่อให้ได้มาซึ่งของที่เราต้องการจริงๆ  มากกว่าการซื้อสินค้าอย่างกล่องสุ่มที่ไม่รู้จะได้อะไรมา ไม่ได้ใช้ประโยชน์ และโดนหลอกจนสูญเงินอย่างเปล่าประโยชน์

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 266 แอปพลิเคชั่น Alljit เพื่อนดูแลใจ

        เมื่อเกิดภาวะความเครียดขึ้นภายในใจ ซึ่งอาจมีสาเหตุมาจากหลายปัจจัยที่แตกต่างกันไปตามแต่ละบุคคล จนทำให้เกิดความกดดันในการดำเนินชีวิตได้ไม่มากก็น้อย ทั้งนี้เมื่อเกิดความเครียดจนถึงระดับหนึ่ง การปล่อยวางและหาวิธีขจัดความเครียด ความกดดันเหล่านั้นจึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างหนึ่ง เพื่อลดระดับความเครียด โดยควบคุมให้ความเครียดนั้นอยู่ในระดับที่รับได้จนไม่ก่อนให้เกิดอันตรายกับตนเอง         ความเครียดสะสม ก่อให้เกิดภาวะอันตรายทำลายสุขภาพ เช่น มีโอกาสเกิดความดันโลหิตสูง ผลต่อเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจ ก่อให้เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตามมา โรคเครียดลงกระเพาะ กระทบต่อการนอนหลับ หรือหากนอนหลับก็หลับไม่สนิท ทำให้มีอาการอ่อนเพลีย หงุดหงิดง่าย เกิดอาการปวดหัวไมเกรน ภาวะความเครียดที่เกิดขึ้นนานๆ อาจกลายเป็นภาวะซึมเศร้าได้ ซึ่งส่งผลต่อทางด้านร่างกาย และจิตใจ         ฉบับนี้จึงขอมาให้กำลังใจและแนะนำตัวช่วยผ่านแอปพลิเคชันที่มีชื่อว่า Alljit (ออลจิต) ผู้ช่วยที่คอยให้คำปรึกษาปัญหาด้านจิตใจในทุกเรื่อง ทั้งเรื่องส่วนตัว ครอบครัว การเงิน การงาน หรือความรัก โดยสามารถเลือกรูปแบบความต้องการได้ ได้แก่ การประเมินความรู้สึกด้วยตนเอง ความต้องการกำลังใจ การแลกเปลี่ยนเรื่องราว การฟังพอตแคสต์ (Podcast คือ ข้อความเสียงประเภทหนึ่งที่คล้ายกับการจัดรายการวิทยุโดยจะมีผู้ดำเนินรายการเพียงคนเดียวหรือหลายคนมาแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ในด้านต่างๆ) และพูดคุยกับแอดมิน         การประเมินความรู้สึกด้วยตนเอง แบ่งออกเป็น 3 หมวด คือ ความเครียด ความเศร้า และการหมดไฟการทำงาน ที่ลักษณะการประเมินความรู้สึกด้วยคำถาม ส่วนความต้องการกำลังใจ แบ่งเป็นหมวดแชทเล่าความในใจ โดยสามารถเลือกคู่แชทและปิดบังตัวตนได้ เพื่อพูดคุยความในใจที่เกิดขึ้น หมวดกลุ่มพูดคุย ซึ่งเป็นการพูดคุยในรูปแบบกลุ่ม         การแลกเปลี่ยนเรื่องราว จะเป็นการเขียนข้อความตามที่ต้องการและเผยแพร่ทั่วไป โดยทุกคนที่เข้ามา สามารถแสดงความคิดเห็นได้ และการฟังพอตแคสต์ (Podcast) ผ่านหมวดหมู่หนังและซีรีย์ รีวิวหนังสือ อารมณ์และความรู้สึก ชีวิตในวัยรุ่น ดนตรี คุยกับนักจิตวิทยา จิตวิทยาชีวิตคู่ และฟังก่อนนอน ซึ่งแต่ละหมวดจะมีนักจิตวิทยาที่เชี่ยวชาญเฉพาะมาแบ่งปันให้ฟังเพื่อช่วยเยียวจิตใจในช่วงที่อ่อนแอ         ลองสำรวจตนเองสม่ำเสมอ เพื่อให้รู้เท่าทันอารมณ์และควบคุมอารมณ์ของตนเองได้ ให้สังเกตว่าถ้าหากคุณมีอาการอารมณ์แปรปรวน รู้สึกกลัว เครียด กังวล เบื่อ เฉยชา หงุดหงิดง่าย นอนไม่ค่อยหลับ หลับไม่สนิท รู้สึกไม่กระปรี้กระเปร่า ไม่สดชื่น เฉื่อยชาลง ขาดสมาธิในการทำงาน มีอาการหลงๆ ลืมๆ รู้สึกท้อแท้หมดหวัง รู้สึกไร้ค่า หรืออาการอื่นใดที่ใกล้เคียง ให้รีบลดระดับความเครียดทันที

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 266 บขส.วางเงินจ่าย 15 ล้าน คดี 11 ชีวิตอุบัติเหตุรถตู้จันทบุรี

        “ถ้าเราไม่มีมูลนิธิเข้ามาช่วยเหลือ เราไม่มีใครเข้ามาช่วยเหลือเลย เราสูญเสียลูกไป แล้วใครต้องรับผิดชอบบ้าง  ประชาชนทั่วไปไม่รู้ เราอยากให้สังคมมีระบบที่รับผิดชอบชีวิตของประชาชนผู้บริสุทธิ์มากกว่านี้”         วันที่ 2 มกราคม 2560 เกิดอุบัติเหตุรถตู้โดยสาร สาย จันทบุรี – กรุงเทพ หมายเลขทะเบียน 15-1352 กรุงเทพมหานคร พุ่งข้ามเลนไปชนรถกระบะที่แล่นสวนทางมาอย่างรุนแรง จนเกิดเพลิงลุกไหม้รถทั้งสองคัน ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตจากรถตู้โดยสารทั้งหมด 14 ราย ผู้โดยสารในรถกระบะเสียชีวิต 11 ราย รวมมีผู้เสียชีวิตที่เกิดเหตุทั้งหมด 25 ราย           นี่คืออุบัติเหตุครั้งสำคัญในช่วงปีใหม่ของปี 2560 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคมองว่า ครอบครัวผู้สูญเสียควรได้รับความเป็นธรรมมากกว่าที่เป็นอยู่ เพราะอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นมีส่วนสำคัญมาจากบริษัทเจ้าของรถยนต์ เจ้าของบริษัท และบริษัทขนส่งจำกัด ไม่กำกับดูแลให้การเดินทางมีความปลอดภัยอย่างเข้มข้นในช่วงเทศกาลปีใหม่นำมาสู่การฟ้องคดีทั้ง 3 หน่วยงานตั้งแต่ปี 2560 ในวันที่ 10 มกราคม 2566 ที่ผ่านมาคดีความได้ถึงที่สิ้นสุด ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาให้ บริษัทขนส่งจำกัด ชดเชยค่าเสียหายให้กับครอบครัวผู้เสียชีวิตกว่า10 ครอบครัวที่รวมกันฟ้องคดีกับมูลนิธิฯ  หนึ่งในนั้นคือครอบครัวของ คุณเกษมสันต์ และ เกศรา ไทยตรง พ่อและแม่ ที่ได้สูญเสียลูกชายจากอุบัติเหตุสุดสลดใจครั้งนี้ ตลอดระยะ 6 ปีที่รอความยุติธรรม นี่คือเรื่องราวเพียงส่วนหนึ่งของครอบครัวผู้สูญเสียที่ยืนหยัดต่อสู้จนถึงวันที่คดีความสิ้นสุด ช่วยเล่าถึงสถานการณ์ในตอนนั้น         อุบัติเหตุครั้งนี้ ครอบครัวพี่สูญเสียลูกชาย คือน้องคิว กันตินันท์ อายุ 23 ปี  พี่มีลูกทั้งหมด  2 คน คนที่เสียเป็นคนโต  เขาไปเรียนอยู่กรุงเทพ ครอบครัวก็ส่งเสีย พอเรียนจบเข้าได้ทำงาน ที่ธนาคารเกียรตินาคินฯ อยู่ที่กรุงเทพต่อและเขาดูแลตัวเอง และส่งเงินมาให้พ่อแม่ และน้อง  พอเขาเสีย เราไม่มีรายได้จากตรงนั้น ตอนนี้คุณพ่อก็ไม่ได้ทำงานแล้ว           วันที่เกิดอุบัติเหตุ คือวันที่ 2 มกราคม ปี 2560  มีคนโทรมาบอกช่วงบ่าย ตอนแรกไม่เชื่อแต่พอได้ดูกล้องวงจรปิดของบริษัทรถตู้ ตอนที่เขาไปขึ้นรถตู้ที่อำเภอเมือง จันทบุรี  เลยรู้ว่าลูกชายเราขึ้นรถตู้คันนั้นไปด้วย จุดเริ่มต้นของการฟ้องคดี เริ่มได้อย่างไร         พอเกิดเรื่อง เราเสียใจมากๆ ทุกครอบครัวก็เหมือนกัน เป็นความสูญเสียที่ไม่มีอะไรมาทดแทนได้ พี่ไม่ได้เริ่มต้นอะไร เราสูญเสียแต่เราไม่รู้ว่า จะเรียกร้องตรงนี้ได้จากใคร  เราคิดว่าสิทธิของเราอยู่แค่นั้นคือมีบริษัทจากประกันรถยนต์เขาเข้ามาชดเชยให้ ตอนแรกเราไม่ได้เริ่มต้นที่จะรวมตัวแล้วไปเรียกร้อง เพราะเราไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นอย่างไร แล้วเรามีสิทธิ์อะไรนอกจากนี้         จนมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเข้ามาเสนอ ให้คำแนะนำ มูลนิธิมองว่า เราควรจะได้รับการเยียวยา ช่วยเหลือมากกว่านี้  เราไม่รู้จักมูลนิธิเลย มูลนิธิฯ ลงมาหาครอบครัวผู้เสียหายหลายครั้ง ให้ความช่วยเหลือ เราก็คิดว่าเราไม่มีอะไรจะเสียไปมากกว่านี้แล้ว เมื่อมูลนิธิเข้ามาช่วยเหลือ แล้วถ้าเรามีสิทธิ์จริง เราคงจะทำเองไม่ได้นะ  เรามีกำลังใจขึ้นมาจึงตัดสินใจดำเนินการ มูลนิธิฯ ดำเนินการให้ทั้งหมด เพราะกลุ่มผู้เสียหายเราไม่รู้จักกันเลยตอนแรก มูลนิธิเริ่มรวบรวมแต่ละครอบครัวๆ เราเลยได้รู้จักมูลนิธิจากตรงนี้  อุบัติเหตุเกิดต้นปี 60 ภายในปีเดียวกัน เราก็ฟ้องคดี ระหว่างการต่อสู้ทางคดี ครอบครัวประสบกับอะไรบ้าง  มีปัญหาอุปสรรคอะไรไหม         มีหลายอย่างมากๆ  เรามีความไม่สะดวกหลายเรื่อง ทั้งเรื่องการเดินทาง  ต้องลางาน    สำหรับพี่นะ แล้วในกลุ่มแต่ละคนก็หลากหลายมาก  คนอื่น เขาก็อยู่ไกลกว่าพี่ เขาเดินทางลำบาก เพราะเราไม่ได้อยู่ที่เดียวกัน บางคนอยู่ต่างอำเภอ บางคนอยู่สวนลึกๆ เขาไม่สะดวก เขาไม่มีรถยนต์ เขาเดินทางลำบากมาก  แต่ละครั้งเราก็มาตามที่ศาลนัดกันครบ  ระหว่างที่รอคอยการสิ้นสุดคดี มีปัญหาตรงที่ เราไม่รู้ว่าคดีจะจบลงอย่างไรด้วย  ทางฝั่งจำเลย เราคิดว่าเขายื้อคดี เพราะเขาไม่มาศาลบ่อยมาก แล้วเขาสู้จนถึงศาลฎีกา ทำให้ระยะเวลามันยาวนานมาก  เรารอคอย คอย ถึงเวลาที่ไปศาลเราก็รวมตัวกันไป ปีแล้ว ปีเล่า เราคอยด้วยความหวัง แต่เราไม่รู้ว่ามันจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่  รอคอยมา 6 ปี คิดว่านี่คือเรื่องสำคัญ แม้ดูเลือนลางแต่ลึกๆ เราต้องรอคอยด้วยความหวัง   แต่ในที่สุด ทุกคนในกลุ่มรวมกลุ่มอยู่ด้วยกันจนถึงวันที่คดีสิ้นสุด          เราก็สู้มาตลอดเลย  มูลนิธิให้กำลังใจว่าอย่าท้อ  จริงๆ เราในกลุ่มหลายคน เราเริ่มท้อกันตั้งแต่ปีที่ 2 ปีที่ 3 แล้ว  หลายคนเราไม่มีเงินไปศาล ต้องไปหยิบยืมเงินคนอื่น แล้วไปศาลแล้วต้องไปอีกกี่ปี ก็มีความคิดแบบนี้ แต่ถึงที่สุดแล้ว เราก็อยู่กันจนครบ ต้องบอกว่าเรามี 2 กลุ่ม กลุ่มที่เราฟ้องกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเรายังอยู่กันจนครบ ทั้งหมด เรามีกัน 14 คน รวมทั้งพ่อแม่ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เข้ามาช่วยเหลืออย่างไรบ้าง         เรื่องค่าใช้จ่ายในการทำคดีต่างๆ ไม่มีเลย ไม่มีค่าใช้จ่าย มูลนิธิไม่เรียกร้องเลยออกให้หมดเลย  เขาไม่เรียกร้องอะไรเลย เวลาเดินทาง กรณีพี่นะเราต่างคนต่างไป เรานัดเจอกันที่ศาล พี่ยังสะดวกว่าบ้านพี่อยู่ในตัวเมืองและขึ้นศาลที่ตัวจังหวัดจันทบุรี แต่คนอื่นๆ ต้องออกมาจากสวน หรือเขาอยู่ในอำเภอที่ไกลๆ ก็จะลำบาก อยากฝากอะไรถึงสังคม หรือประชาชน         พี่ว่าควรมีหน่วยงานที่ออกมารับผิดชอบเมื่อเกิดเหตุแบบนี้ขึ้น เพราะ บางครอบครัวเขาไม่รู้ว่าควรเริ่มต้นจากตรงไหน หน่วยงานควรจะออกมช่วยเหลือ แนะนำว่าเราควรทำอะไร สิทธิของเรามีอะไรบ้าง  เรียกร้องค่าเสียหายจากใครก็ได้ ถ้าเราไม่มีมูลนิธิเข้ามาช่วยเหลือ เราไม่มีใครเข้ามาช่วยเหลือเลย เราสูญเสียลูกไป แล้วใครต้องรับผิดชอบบ้าง  ประชาชนทั่วไปไม่รู้ เราอยากให้สังคมมีระบบที่รับผิดชอบชีวิตของประชาชนผู้บริสุทธิ์มากกว่านี้ เพราะขนาดเรามีกลุ่มมูลนิธิมาช่วย  เรายังต้องคอยมาถึง 6 ปี  บางครอบครัว 6 ปี นานมาก เขาสูญเสียคนที่หารายได้ เลี้ยงดูครอบครัว แล้วยังไปขอยืมกู้หนี้ ยืมสินมาสำรองระหว่างที่เราต้อสู้คดี  เวลาที่รอคอยมีค่าใช้จ่ายหลายอย่าง อยากให้รับผิดชอบกับชีวิตประชาชนให้มากกว่านี้ อาจเป็นรูปแบบกองทุน เพื่อสำรองจ่ายให้บางครอบครัว  เขาไม่ได้มีเงิน แต่ถ้ามีกองทุนสำหรับช่วยเหลือตรงนี้ สำรองจ่ายให้แต่ละครอบครัว ไม่ใช่ว่า ให้เราดำเนินการเอง 

อ่านเพิ่มเติม >