ฉบับที่ 140 จับตาการจัดการปัญหา “คอนเทนต์ขยะ” จากทีวีดาวเทียม

หลังจากปล่อยให้คนไทยได้ลิ้มชิมรสชาติรายการจากทีวีดาวเทียมที่มี “คอนเทนต์ขยะ” (เนื้อหารายการแย่ๆ ทั้งขายสินค้าอันตราย สินค้าอวดอ้างสรรพคุณเกินจริง รายการขายเซ็กส์ ยาอวดอ้างสรรพคุณทางเพศ ฯลฯ) กันมาเนิ่นนานหลายปี ซึ่งมีคนเจ็บ ตายกันไปพอสมควรแล้ว ในที่สุด กสทช. ก็เตรียมคลอด ระเบียบการออกใบอนุญาตประกอบกิจการทีวีดาวเทียม เสียที ------------------------------------------------------------- เสพสื่อขยะกันมานาน...กว่ากลไกคุ้มครองจะมาถึง พฤติกรรมการเสพสื่อโทรทัศน์ในปัจจุบันเปลี่ยนไปจากอดีตมาก หลายรายการผู้ชมไม่ต้องรอเฝ้าหน้าจออีกแล้ว เพราะสามารถย้อนกลับมาดูได้ ด้วยการดูรายการย้อนหลังจากช่อง ยูทูป เพียงแค่มีอินเตอร์เน็ต และรายการยอดนิยมในปัจจุบันก็ไม่ได้จำกัดหรือผูกขาดเฉพาะแต่ในฟรีทีวีทั้ง 6 ช่องเท่านั้น แต่เป็นรายการโทรทัศน์ที่รับชมผ่านทีวีดาวเทียม (หรือเคเบิลทีวี ที่นำคอนเทนต์มาจากทีวีดาวเทียมอีกที)   ด้วยจำนวนช่องที่มีเป็นจำนวนมากถึง 200 ช่อง ทำให้ทีวีดาวเทียมต้อนรับผู้ผลิตรายการหน้าใหม่ที่เป็นใครก็ได้ โดยไม่จำกัดว่าต้องเป็น “ขาใหญ่” ในวงการเท่านั้น เรียกว่าใครๆ ก็สามารถสร้างคอนเทนต์เองได้ มีช่องรายการของตนเองได้ ซึ่งมีทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อดีคือ เกิดทางเลือกที่หลายหลายสำหรับผู้ชมรายการโทรทัศน์ เปิดโอกาสให้ผู้ชมได้รับชมรายการที่มีความแตกต่างจากฟรีทีวีปกติ รูปแบบรายการที่น่าสนใจ ใหม่ แนวและตรงกลุ่มเป้าหมาย แต่ขณะเดียวกันก็มีข้อเสีย ที่สำคัญคือ เปิดโอกาสผู้ชมเจอกับรายการที่ไม่เหมาะสม หลอกลวง ชวนเชื่อ งมงาย ตลอดจนรายการที่มุ่งแต่จะขายสินค้า และทำโฆษณาอย่างไร้จรรยาบรรณ  โดยรายการเหล่านี้สามารถออกอากาศซ้ำๆ (รีรัน) ได้มากกว่า 1 ครั้งในวันเดียวกันด้วย เรียกว่าเป็นสวรรค์สำหรับ รายการประเภทขายสินค้าหลอกลวงกันเลยทีเดียว ที่สำคัญไม่ต้องถูกควบคุมด้วยกฎ ระเบียบ ใดๆ ด้วย   หากมองจากฐานผู้ชมรายการโทรทัศน์ในปัจจุบัน คนไทยเปิดรับกับทีวีดาวเทียมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตัวเลขล่าสุด Penetration อัตราการเข้าถึงครัวเรือนไทยของจานดาวเทียมและเคเบิลทีวี จากการสำรวจของบริษัท AGB Nielsen ในรอบ 1 ปีที่ผ่านมาสิ้นสุดเดือน ส.ค.2555 จากเดิมในเดือนส.ค.ปีที่แล้ว อัตราการเข้าถึงเฉลี่ยทั่วประเทศประมาณ 50% เท่ากับ 10.5 ล้านครัวเรือนไทย เพิ่มเป็นประมาณอัตราการเข้าถึงประมาณ 60% ของครัวเรือนไทย หรือประมาณ 12 ล้านครัวเรือนแล้ว คาดว่าอีกประมาณ 3-4 ปีข้างหน้าครัวเรือนไทยเกินกว่า 90% น่าจะติดตั้งเคเบิลทีวีและจานดาวเทียมเรียบร้อยแล้ว คนไทยนิยมชมชอบการเสพสื่อโทรทัศน์มากกว่าสื่ออื่นๆ จาก "รายงานประเมินผลกระทบการออก หลักเกณฑ์วิธีการอนุญาตให้บริการโครงข่ายการให้บริการ สิ่งอำนวยความสะดวกและการให้บริการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์" ซึ่งเผยแพร่อยู่ในเว็บไซต์ของ กสทช. ระบุว่า การเข้าถึงสื่อต่างๆ ของคนไทย ทีวีเป็นสื่อที่เข้าถึงได้สูงสุดถึง 98% หรือประมาณ 63 ล้านคน วิทยุ 40 ล้านคน หนังสือพิมพ์ 12 ล้านคน (การเข้าถึงสื่อโทรทัศน์ของครัวเรือนไทยสูงกว่าค่าเฉลี่ยในกลุ่มประเทศเอเชีย แปซิฟิก ที่อยู่ในระดับประมาณ 84% ของครัวเรือน แต่อัตราการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารผ่านสิ่งพิมพ์ของไทย ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศในเอเชียแปซิฟิกถึง 3 เท่า) เมื่อผนวกกับเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว การเข้าถึงทีวีดาวเทียมของผู้ชมจึงรุดหน้าไปก่อน “การกำกับควบคุม” ซึ่งอยู่ภายใต้ พรบ. การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ยังทำอะไรไม่ได้จนกว่าจะมี คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ที่เพิ่งเกิดเมื่อ 20 ธันวาคม 2553 แต่...กว่าจะได้ คณะกรรมการ กสทช. ตัวจริง 11 คน ก็เดือนกันยายน 2554 ดังนั้นในช่วงเวลาก่อนที่จะมี กสทช.ตัวจริง จึงเป็นช่วงเวลาที่เรียกว่า สุญญากาศ คือใครใคร่ทำอะไรก็ได้ บางคนก็เรียกช่วงเวลานั้นว่า ช่วงเวลาสื่อเถื่อนเกลื่อนเมือง ทั้งทีวีดาวเทียมเถื่อน เคเบิลทีวีเถื่อน และสถานีวิทยุเถื่อน (จนตอนนี้ กันยายน 2555 ก็ยังเถื่อนอยู่เพราะยังไม่มีการออกใบอนุญาตตามกฎหมาย ประกอบกิจการฯ พ.ศ. 2551) ความที่เป็นสุญญากาศนี้เอง ทำให้โฆษณาและรายการโทรทัศน์ที่สร้างความเชื่อผิดๆ ให้ชาวบ้านเบ่งบานเต็มที่ แม้ในบางผลิตภัณฑ์เช่น อาหาร ยา เครื่องสำอาง ที่มีหน่วยงานอย่างสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กำกับดูแลการโฆษณาอยู่ ก็ทำอะไรได้ไม่มาก สั่งจับ สั่งปรับไม่ทันผู้ประกอบการที่ไร้จรรยาบรรณ ทำได้แค่เตือนผู้บริโภค ที่ส่วนใหญ่ก็ไม่ค่อยจะฟัง อย.เท่าไหร่เพราะเชื่อผู้จัดรายการมากกว่า ก็แหม...คนดังในสังคมทั้งนั้น ทั้งทนายความที่อ้างตัวว่าทำเพื่อชาวบ้าน ดารานางแบบที่ออกมาสอนเพศศึกษากันอย่างเปิดเผยจนน่าหวาดเสียว ต่างก็ร่วมกันช่วยขายสินค้าที่อวดอ้างว่าดีต่อสุขภาพ ฟื้นฟูสุขภาพ รักษาได้ทุกโรค แก้เซ็กส์เสื่อม เพิ่มประสิทธิภาพให้อวัยวะเพศ ทั้งชาย หญิง ทำให้ผอมเพรียวได้ในสามวัน เจ็ดวัน และอีกสารพัดด้วยตรรกะที่เหนือธรรมชาติ ผู้ประกอบการบางรายมีช่องรายการเพื่อขายสินค้าผิดกฎหมายเหล่านี้ ได้ถึง 4-5 ช่อง ทั้งวันก็เวียนรายการซ้ำไปซ้ำมา เพื่อเชิญชวนให้ซื้อสินค้า ซึ่งราคาแพงทั้งสิ้น (เขาว่าถ้าตั้งราคาถูกเกินไป คนจะไม่เชื่อถือ ของดีต้องแพงว่างั้น) ทำให้ผู้ประกอบการต่างก็ร่ำรวยกันไปถ้วนหน้า แค่เอาเศษผัก ผลไม้มาป่นขาย ก็ทำให้มีเงินขนาดซื้อทีมสโมสรฟุตบอลระดับไทยพรีเมียร์ลีกได้ และสรรพคุณที่ตอกย้ำซ้ำซากมานานหลายปี ก็ทำให้ชื่อสินค้าติดตลาดไปเรียบร้อย โดยสามารถเอาชื่อไปออกสื่อฟรีทีวีได้โดยไม่ต้องบอกสรรพคุณอีกแล้ว เป็นการยกระดับสินค้าไปอีกขั้น โดยกฎหมายก็ตามไปเอาผิดอะไรไม่ได้ ------------------------------------------------------------- ทำให้ถูกกฎหมายจะได้จัดการได้เสียที หลังจากปล่อยให้ฟอนเฟะกันมาหลายปี ก็ได้เวลาสำหรับการจัดระเบียบแล้ว ล่าสุด(กันยายน 2554) คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้อนุมัติ ร่างประกาศกสทช. ที่เกี่ยวกับโครงข่ายกิจการบรอดแคสติ้ง, สิ่งอำนวยความสะดวก, กิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์และกล่องรับสัญญาณทีวีดาวเทียมฯ รวม 4 ฉบับ ที่คงจะลงราชกิจจานุเบกษาบังคับใช้ในอีกไม่นาน (หากไม่มีกรณีฟ้องร้องจากฝั่งผู้ประกอบกิจการเสียก่อน) โดยรูปแบบการออกใบ อนุญาตประกอบกิจการนั้น จะเริ่มด้วย  การออกใบอนุญาตฯ ชั่วคราว 1 ปีก่อน เพื่อเร่งให้ช่องรายการต่างๆ ทั้งเคเบิลทีวีกว่า 1,000 รายและทีวีดาวเทียมกว่า 200 รายเข้าสู่กระบวนการกำกับดูแลก่อน จากนั้นจึงออกใบอนุญาตระยะ 4-14 ปี “เพราะหากออกใบอนุญาตฯ ระยะยาวแก่ผู้ประกอบการ จะต้องพิจารณาอย่างละเอียดและใช้เวลากว่า 1เดือนต่อการออกใบอนุญาต 1 ใบ ทำให้ขั้นตอนการนำผู้ประกอบการเข้าสู่กระบวนการกำกับดูแลจะล่าช้ายิ่งขึ้น อาจใช้เวลานานหลายปี” สุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการ กสทช. สายบรอดแคสติ้ง กล่าวกับสื่อมวลชน โดยหลังให้ใบอนุญาตฯ ชั่วคราว 1 ปีแล้ว การออกใบอนุญาตระยะที่ 2 จะพิจารณาจากการร้องเรียนของผู้บริโภคเป็นเงื่อนไขในการออกใบอนุญาต ซึ่งหากมีผู้ร้องเรียนมาก ระยะเวลาของใบอนุญาตระยะที่ 2 ก็จะสั้นลงหรือเพิกถอนใบอนุญาตก็เป็นได้ ส่วนการกำหนดผังรายการทีวีดาวเทียมแบบไม่บอกรับสมาชิก จะผ่อนผันให้สามารถรายงานผังรายการยืดหยุ่นได้มากกว่าฟรีทีวีภาคพื้นดิน (กรุงเทพธุรกิจ 10 กันยายน 2555) สรุปว่านับจากนี้ไปจะไม่มี "ทีวีเถื่อน" หลังจากที่เถื่อนกันมานาน และนับจากนี้ไปก็คงต้อง “จับตา” ดูกันล่ะว่า เมื่อผู้ประกอบการทั้งหลายเข้าสู่กฎ ระเบียบ แล้ว จะยังมีรายการขยะ โผล่ออกมาให้ประชาชนได้เสพกันอยู่อีกหรือไม่ และคงได้วัดกันไปว่า หน่วยงานทั้งหลายจะมีน้ำยาพอที่จะคุ้มครองผู้บริโภคได้มากน้อยแค่ไหน ------------------------------------------------------------- ปัจจุบันการรับชมรายการโทรทัศน์ในประเทศไทย ทำได้ 3 รูปแบบ คือ 1.ฟรีทีวี (ช่อง 3 5 7 9 11และไทยพีบีเอส) โดยผ่านเสาอากาศทีวี(แบบหนวดกุ้งหรือก้างปลา) หรือรับชมผ่านกล่องรับสัญญาณของเคเบิลทีวี หรือทีวีดาวเทียม อีกที 2.เคเบิลทีวี รับชมรายการผ่านกล่องรับสัญญาณที่มาทางสายเคเบิล เป็นการให้บริการแบบบอกรับสมาชิก ผู้ชมต้องจ่ายค่าแรกเข้าและบริการรายเดือน 3.ทีวีดาวเทียม รับชมผ่านกล่องรับสัญญาณดาวเทียม โดยครั้งแรกจะต้องมีการติดตั้งจานดาวเทียมพร้อมกล่องรับสัญญาณ หรือปัจจุบันมีขายเฉพาะกล่องสัญญาณ(โดยผ่านจานดาวเทียมอะไรก็ได้ที่ติดตั้งไว้ก่อนแล้ว) ส่วนใหญ่เมื่อติดตั้งครั้งแรกแล้ว จะไม่มีค่ารายเดือนอีก เว้นแต่มี คอนเทนต์พิเศษ ที่ต้องเข้ารหัสเก็บเงินค่าดู ------------------------------------------------------------- “เจนิฟู้ด จะขายเสียอย่าง ใครจะทำไม” แม้ อย.จะออกแถลงข่าวเรื่องการลงดาบ เจนิฟู้ด ดังนี้ อย. สั่งเชือดโฆษณาผลิตภัณฑ์เอนไซม์เจนิฟู้ด หลังดื้อแพ่งโฆษณาทางสื่อโทรทัศน์ดาวเทียม และเคเบิลทีวีอย่างต่อเนื่อง ทั้งที่มีคำสั่งให้ระงับโฆษณา ส่อเจตนาฝ่าฝืนกฎหมาย และทำธุรกิจอย่างไร้จริยธรรม หลอกลวงผู้บริโภคให้หลงเชื่อ อย. เอาจริง ลงโทษหนัก ทั้งโฆษณาเป็นเท็จ มีโทษจำคุก และโฆษณาโดยไม่ได้รับอนุญาตซึ่งจะปรับทุกครั้งที่พบการโฆษณาทั้งผู้โฆษณาและ สื่อที่เผยแพร่ พร้อมเตือนประชาชนอย่าหลงเชื่อ เพราะเป็นการเสียเงินไปโดยเปล่าประโยชน์ จากการที่มีผลิตภัณฑ์อาหาร “เอนไซม์ เจนิฟู้ด” นำเข้าโดย บริษัท เบสไฟว์ อินเตอร์เทรด จำกัด ซึ่งขอขึ้นทะเบียนกับ อย. เป็นเครื่องดื่มพืชผักผลไม้ผสม (ตราเจนิฟู้ด) เลขสารบบอาหาร 10-3-10838-1-0001 มีการโฆษณาอ้างว่าเป็น “เอนไซม์” ทางสื่อโทรทัศน์ดาวเทียมและเคเบิ้ลทีวีกว่า 10 ช่อง โดยมีข้อความโฆษณาอวดอ้างรักษาได้สารพัดโรค เช่น ป้องกัน ยับยั้งต่อต้าน ทำลายโรคต่าง ๆ เป็นทางเลือกที่ได้ผลสูง , รักษาแผลกดทับเนื่องจากอัมพฤกษ์, ใช้โรยแผลที่มีเนื้อมะเร็งแผลบวม มีหนองจะช่วยดูดซับสารพิษทั้งหมด ฯลฯ โดยนำบทสัมภาษณ์ผู้ป่วย อาทิ ผู้ป่วยโรคกระดูกพรุน เบาหวาน ความดัน มะเร็ง ไขมันอุดตัน มะเร็งเต้านม หัวใจตีบ ฯลฯ ที่รับประทานผลิตภัณฑ์เอนไซม์ดังกล่าวแล้วอาการป่วยดีขึ้น หรือหายจากอาการป่วย หรือนำผู้ที่มีชื่อเสียง เป็นที่รู้จักในสังคมมาโฆษณา เพื่อจูงใจให้ตัดสินใจซื้อผลิตภัณฑ์มาใช้ ซึ่ง อย. ได้มีคำสั่งระงับโฆษณาดังกล่าวแล้ว พร้อมทั้งแจ้งไปยังสถานีโทรทัศน์ดาวเทียมและเคเบิ้ลทีวีให้งดเผยแพร่ แต่จากการตรวจสอบพบว่า ยังมีการโฆษณาผลิตภัณฑ์อาหาร “เอนไซม์ เจนิฟู้ด” ทางสถานีโทรทัศน์ดาวเทียมและเคเบิลทีวีหลายช่อง ได้แก่ Home Channel, I Channel, OHO Channel, DooDee Channel, Nice Channel,MYTV, Thai Vision, เกษตร แชนแนล, MY MV5, Hi Channel, Star Channel และช่องลายไทย โดยการกระทำดังกล่าวถือว่าเจตนาละเมิดคำสั่งการระงับโฆษณา ซึ่ง อย. เตรียมดำเนินการอย่างเข้มงวด ตามนโยบายคุ้มครองความปลอดภัยผู้บริโภคของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข โดยจะดำเนินคดีตามกฎหมายในข้อหาโฆษณาด้วยข้อความอันเป็นเท็จ หลอกลวงให้เกิดความหลงเชื่อโดยไม่สมควร มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 3 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โฆษณาคุณประโยชน์ คุณภาพ หรือสรรพคุณของอาหารโดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษปรับไม่เกิน 5 พันบาท และฝ่าฝืนคำสั่งระงับโฆษณา มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และปรับเป็นรายวันวันละไม่น้อยกว่า 500 บาท แต่ไม่เกิน 1,000 พันบาท ตลอดเวลาที่ไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง นอกจากนี้ สื่อที่ทำการเผยแพร่โฆษณาดังกล่าว อันได้แก่ สถานีโทรทัศน์ดาวเทียมและเคเบิ้ลทีวี จะมีความผิดในข้อหาโฆษณาคุณประโยชน์ คุณภาพ หรือสรรพคุณของ ดังนั้นแม้ในความเป็นจริง ทั้ง อย.ได้สั่งลงโทษ และ กสทช.ได้มีคำสั่งแบนโฆษณา "เจนิฟู้ด" ไปแล้ว แต่ยังไม่มีผลในทางปฏิบัติ เพราะหาเจ้าภาพไปดำเนินการไม่ได้ ขณะเดียวกัน อาหารเสริม "เจนิฟู้ด" ได้เปิดช่องทีวีดาวเทียมทั้งระบบซีแบนด์ และเคยูแบนด์ 5 ช่องคือ เย็นใจ, เบาใจ, พอใจ, เพลินใจ และช่องทนายประมาณ ทำซีเอสอาร์ประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์ของตัวเองต่อไป มิเพียงเท่านั้น "เจนิฟู้ด" ได้รับการประสานงานมาจากมูลนิธิมิราเคิล ออฟ ไลฟ์ฯ ให้เข้ามาช่วยเหลือสโมสรฟุตบอลสมุทรสงคราม เอฟซี โดยเปลี่ยนชื่อเป็น "เจนิฟู้ด สมุทรสงคราม เอฟซี" ซึ่งเวลานี้ "นายพล คนขอนแก่น" กลายเป็นคนดังในวงการไทยพรีเมียร์ลีกไปโดยปริยาย ------------------------------------------------------------- ปัจจุบันผู้บริโภคไทยมีจำนวน 21 ล้านครัวเรือน ซึ่งเป็นผู้บริโภคที่รับชมผ่านจานดาวเทียม 10 ล้านครัวเรือน แบ่งเป็น จานดำ 6 ล้านครัวเรือน จานแดง 1.5 ล้านครัวเรือน จานเหลือง 1.5 ล้านครัวเรือน และจานส้ม 1 ล้านครัวเรือน ส่วนอีก 11 ล้านครัวเรือน จะดูผ่านเคเบิลทีวีท้องถิ่น 4 ล้านครัวเรือน และอีก 7 ล้านครัวเรือน ที่รับชมโทรทัศน์ผ่านเสาก้างปลา  ทั้งนี้ ประเมินว่าจากแนวโน้มดังกล่าว คาดว่าภายใน 3-4 ปีข้างหน้า เสาก้างปลาจะหมดไปจากตลาดของประเทศไทย เพราะผู้บริโภคจะหันมาติดจานดาวเทียมแทน ขณะที่ราคาการติดจานเคเบิลทีวี ในปัจจุบัน เริ่มต้นที่ 1,200 บาทเท่านั้น ถือว่ามีราคาลดลงต่อเนื่องเช่นเดียวกัน ขณะที่ปีหน้าจะมีดาวเทียมไทยคม 6 เกิดขึ้น คาดว่าจะมีช่องเคเบิลทีวีเกิดขึ้นใหม่ประมาณ 150-200 ช่อง เพราะดาวเทียมไทยคมมีช่องรับสัญญาณจำนวนมาก ขณะที่เม็ดเงินลงทุนในธุรกิจดาวเทียมต่อปีจะอยู่ที่ 3,000 ล้านบาท ที่มา http://www.thaipost.net/node/53665 ------------------------------------------------------------- อันตราย! สินค้าหลอกลวงเกลื่อนเมืองสื่อดาวเทียมตัวแพร่ระบาด ในท้องตลาดตอนนี้มีผลิตภัณฑ์เสริมอาหารอยู่มากมายและต่างก็มีกลเม็ดโฆษณา ทำการตลาดแตกต่างกันไป สิ่งที่เป็นจุดเดียวกันคือการมีสรรพคุณที่ดูดีเกินจริง โดยมักจะมีคำอธิบายในแบบของตัวเอง ซึ่งอาจสามารถแบ่งได้ 2 ประเภทใหญ่ๆ ด้วยกัน คือผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่อวดอ้างสรรพคุณด้านความงามและเรื่องเพศ กับผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่อวดอ้างสรรพคุณด้านสุขภาพหรือรักษาโรคเรื้อรัง ซึ่งผลของการใช้ผลิตภัณฑ์นั้นเป็นไปได้ที่ผู้ใช้ส่วนหนึ่งอาจได้ผลลัพธ์ที่พอใจ แต่ก็พบกรณีร้องเรียนมากมายถึงการโฆษณาอวดอ้างสรรพคุณซึ่งเป็นสิ่งที่ผิด กฎหมายไม่สามารถกระทำอวดอ้างได้ ทว่าปัญหาก็คือตอนนี้ยังไม่มีกลไกการลงโทษที่ทำให้โฆษณาเหล่านั้นหายไปเสียที คณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้รับการร้องเรียนมากกว่า 100 กรณีต่อ 1 เดือน ซึ่ง ภญ.ศรีนวล กรกชกร รองเลขาธิการ คณะกรรมการอาหารและยาเผยว่า จากข้อมูลที่แยกเป็นประเภทของลักษณะการทำผิดกฎของผลิตภัณฑ์เสริมอาหารพบว่า การโฆษณาอวดอ้างถือเป็นกรณีที่มีการร้องเรียนมากที่สุด ประเด็นเรื่องโฆษณานี่เยอะที่สุด สำหรับผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เพราะอาหารไม่ใช่ยา เราไม่ให้โฆษณาสรรพคุณทางยา แต่ส่วนใหญ่แล้วทำขึ้นมาจะต้องโฆษณาสรรพคุณใช้ป้องกันรักษาได้ ซึ่งก็จะโอ้อวดเกินจริงทั้งสิ้น ทั้งนี้มาตรการในการดำเนินการลงโทษนั้นมีตั้งแต่ระงับโฆษณา และดำเนินคดีเปรียบเทียบปรับ ซึ่งหากไม่หยุดโฆษณาก็จะมีโทษที่หนักขึ้น โดยโฆษณาเหล่านี้จะพบเห็นบ่อยตามช่องทีวีดาวเทียม และเคเบิลทีวี(ซึ่งส่วนใหญ่ก็นำเนื้อหามาจากทีวีดาวเทียม) ในทางปฏิบัติก็มีการร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม (กสทช.) ในการควบคุม ทว่ากลับไม่มีอำนาจมากนัก เพราะยังคงพบการฝ่าฝืนอย่างต่อเนื่อง ในประเด็นการควบคุมลงโทษนั้น สารี อ่องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เผยว่า แม้ อย.ร่วมกับ กสทช.สั่งห้ามโฆษณาเหล่านี้ในสื่อทุกประเภท ทว่าในทางปฏิบัติอย่างการเผยแพร่สัญญาณนั้นจำเป็นจะต้องได้รับความร่วมมือ จากบริษัท ไทยคม จำกัดในการตัดสัญญาณเพื่อปิดสถานีที่ฝ่าฝืนกฎ “มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเคยร่วมกับเครือข่ายที่ทำเรื่องคุ้มครองผู้บริโภค 16 จังหวัด สำรวจการโฆษณาผลิตภัณฑ์อาหาร และเสริมอาหารทั้งหลายที่ไม่เหมาะสม ผิดกฎหมาย ไม่ขออนุญาตโฆษณา ซึ่งพบว่า มันมีปัญหาเยอะ และทาง กสทช. ได้สั่งให้ห้ามโฆษณาแล้ว แต่ก็ยังพบว่ายังมีการโฆษณากันอยู่ เพราะทางไทยคมไม่สั่งระงับสัญญาณ ต้องไปขอความร่วมมือที่ไทยคม แต่ไทยคมมีความรับผิดชอบต่อกรณีนี้น้อยเกินไป โดยอ้างว่าตัวเองทำอะไรไม่ได้ แต่ความจริงแล้วหากไทยคมพบว่า สถานีต่างๆ ยังมีการโฆษณาโดยไม่ขออนุญาต หรือโฆษณาที่ไม่เป็นจริง ก็สามารถให้ปิดรายการหรือปิดสถานีได้เลย ไทยคมต้องดำเนินการตามนั้น หากไทยคมจะอ้างว่าตัวเองได้สัมปทานจากไอซีทีไม่ต้องทำตามกฎหมาย มันไม่ได้ เพราะว่าไทยคมเป็นคนดูแลหรือควบคุมโฆษณาของพวกนี้ ผ่านพวกช่องดาวเทียมโดยตรง ขณะเดียวกัน กสทช. ก็จะบอกว่าขณะนี้ยังไม่ได้มีกติกาที่กำกับดูแลเกี่ยวกับเรื่องนี้ จริงๆ เขาได้มีความร่วมมือกับ อย. ดังนั้น เคเบิลทีวี ทีวีดาวเทียม ที่เป็นเท็จหลอกลวง มันทำไม่ได้อยู่แล้ว ฉะนั้นเราก็อยากให้ไทยคมร่วมมือ สิ่งที่สำคัญ คือ อย.กับ กสทช. ต้องมีเครื่องมือในการบังคับลงโทษ หากมีเพียงคำสั่งห้ามแต่ไม่มีกลไกที่ในการติดตาม การดำเนินการก็ไร้ผล และโฆษณาที่ชวนเชื่อเกินจริงก็ยังคงอยู่”   ที่มา หนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการรายวัน ------------------------------------------------------------- ทุกข์ล้นเหลือเหยื่อโฆษณา จากการที่กลไกการควบคุมโฆษณานั้นไม่มีประสิทธิภาพ รวมถึงผู้ที่จ้องฉกฉวยโอกาสทางธุรกิจ ทำมาหากินบนการหลอกลวงหนทางที่เปิดกว้างให้เห็นกำไร และความสำเร็จชนิดตีหัวเข้าบ้าน ทำให้โศกนาฏกรรมอย่างการกินอาหารเสริมที่เชื่อว่าจะรักษาโรค กลับยิ่งทำให้โรครุมเร้าหนักขึ้นอาจถึงขั้นเสียชีวิตเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ ลอย เจ้ขี้เกียจพิมพ์ แนบ พีดีเอฟไฟล์ มาให้ เอาหน้า 9-12 ลงที นะ เป็นตัวอย่างกรณีดื่มเจนิฟู้ด แล้วอันตราย ดาวน์โหลดเอกสารได้ที่ : www.thaidrugwatch.org/download/books/adsvictim.pdf

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 139 One bans. All ban.เมื่อความเสี่ยงของผู้บริโภคไม่ใช่ชะตากรรม

การที่อาเซียนมุ่งสู่แนวทางเสรีนิยมทางเศรษฐกิจ (Economic Liberalization) โดยจะเปิดกว้างต่อการค้าระหว่างประเทศ การลงทุน การเงิน และการเคลื่อนย้ายแรงงาน ซึ่งจะปรากฏชัดเจนเป็นรูปธรรมในปี พ.ศ. 2558 หรือที่เรียกว่า “ประชาคมอาเซียน” นั้น จะทำให้เกิดมีการหมุนเวียนหลั่งไหลของสินค้าและบริการต่างๆ เพิ่มขึ้นอย่างมากมาย ซึ่งก็เป็นไปได้มากว่า สินค้าและบริการส่วนหนึ่งจะเป็นสินค้าและบริการที่ด้อยคุณภาพ หน่วยงานทั้งหลายที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภคจึงเตรียมตัวกันเต็มที่เพื่อสกัดกั้นปัญหาดังกล่าว กลไกสำคัญหนึ่งคือ การตั้งคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคอาเซียน (ASEAN Committee on Consumer Protection) ขึ้น ซึ่งมีสมาชิกจากสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคจากทุกประเทศ ปัจจุบันประเทศฟิลิปปินส์ดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการ โดยมีหน่วยแข่งขันทางการค้า กรมคุ้มครองผู้บริโภคและกรมทรัพย์สินทางปัญญาของเลขาธิการอาเซียนเป็นสำนักงานเลขานุการ คณะกรรมการฯ นี้จะทำหน้าที่สร้างระบบเตือน การเรียกคืนสินค้าและสินค้าอันตราย สร้างกลไกการแก้ไขปัญหาเยียวยาผู้บริโภค สร้างความเข้มแข็งของกลไก สร้างความตื่นตัวและพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค ขณะเดียวกันยังมีกลไก องค์กรสภาผู้บริโภคอาเซียน Southeast Asian Consumer Council (SEACC) อีกหนึ่งแห่งที่เกิดขึ้นคู่ขนานกับทางภาครัฐ โดยก่อตั้งขึ้นที่เมืองบาหลี อินโดนีเซีย เมื่อปี 2549 สมาชิกก่อตั้งเป็นองค์กรผู้บริโภคชั้นนำจากประเทศ บรูไน อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย สิงคโปร์ ไทยและเวียดนาม โดยการสนับสนุนของสหพันธ์ผู้บริโภคสากล ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เพื่อทำหน้าที่เป็นตัวแทนรักษาผลประโยชน์ของผู้บริโภคในภูมิภาคอาเซียน   และเมื่อวันที่ 4-5 กันยายน ที่ผ่านมา “สภาผู้บริโภคอาเซียน” ได้จัดงานประชุมขึ้นที่กรุงเทพฯ เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ของแต่ละประเทศสมาชิกอาเซียนในการรับมือกับสินค้า(ผลิตภัณฑ์) อันตราย ในหัวข้อ “เมื่อความเสี่ยงของผู้บริโภคไม่ใช่ชะตากรรม : ความจำเป็นในการสร้างความเข้มแข็งผู้บริโภคในประชาคมอาเซียน” ซึ่งฉลาดซื้อ ขอนำประเด็นสำคัญที่เกิดขึ้นในงานนี้มาเสนอเป็นความรู้พื้นฐานสำหรับผู้บริโภคในการเตรียมความพร้อมกับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนต่อไป   องค์การอิสระผู้บริโภคต้องเกิดเสียที ในเวทีประชุมสภาผู้บริโภคอาเซียน ณ โรงแรมเอเชีย กรุงเทพฯ ตัวแทนสมาชิกของประเทศต่างๆ ได้แก่ ไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์และสิงคโปร์ ได้นำเสนอข้อมูลในเรื่องอันตรายของผลิตภัณฑ์ที่หลายประเทศในอาเซียนได้สั่งห้ามยกเลิกการใช้และห้ามนำเข้าไปนานแล้ว แต่ยังพบในอีกหลายประเทศร่วมภูมิภาคอาเซียน นายเซีย เซ็งชุน (Mr. Seah Seng Choon) ผู้อำนวยการสมาคมผู้บริโภคแห่งสิงคโปร์  กล่าวว่า “ในสิงคโปร์การคุ้มครองผู้บริโภครุดหน้าไปมาก เมื่อสิบปีที่แล้วได้แบน แร่ใยหินหรือแอสเบสตอสไปแล้ว พอได้ฟังข้อมูลที่ประเทศไทยวันนี้ ที่กระทรวงอุตสาหกรรมเลื่อนการแบนไปอย่างน้อยห้าปี รู้สึกตกใจมากเพราะแม้ผลของโรคที่เกิดจากแร่ใยหินไม่ได้เห็นในเวลานี้ แต่ผลกระทบจากการสะสมเริ่มแล้วตั้งแต่วันนี้ ดังนั้นจึงเห็นด้วยว่าจะต้องแบนแร่ใยหินทันที เพราะจะได้ไม่มีผลร้ายมากขึ้นในอนาคต อย่างไรก็ตามในมุมมองเรื่องการแบนสินค้าที่เกิดขึ้นในประเทศของสิงคโปร์และประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเดียวกันนั้น หากขาดประเทศไทยที่เดียวที่ไม่มีการแบน ประเทศไทยก็ต้องเป็นแหล่งเดียวที่รับสินค้าอันตรายเช่นแร่ใยหินเข้าประเทศไทยแทนประเทศอื่นที่ได้สั่งแบนสินค้าไปแล้ว” นางสาวโมฮานา ปรียา (Ms. Mohana Priya) จากสหพันธ์องค์กรผู้บริโภคมาเลเซีย กล่าวว่า “ในมาเลเซียนั้น สารบีพีเอ ถูกแบนโดยไม่ยากนักเพราะมีข้อมูลวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ยืนยันชัดเจนว่า สารบีพีเอในขวดนม มีผลกระทบต่อสุขภาพทารกและเด็ก ซึ่งทำให้รัฐบาลมาเลเซียตัดสินใจอย่างไม่ยากเย็นในการห้ามใช้สารบีพีเอในขวดนม เพราะว่าเป็นเรื่องสำคัญต่อสุขภาพของอนาคตของชาติที่จะละเลยมิได้” ในขณะที่ ดร.วิทยา กุลสมบูรณ์   ผู้จัดการแผนงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ (คคส.) กล่าวว่า “จากประสบการณ์การจัดการปัญหาสินค้าไม่ปลอดภัย หน่วยงานราชการเกี่ยงกันไปมา ไม่มีหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรงเช่น กรณีของบีพีเอ หรือผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับแร่ใยหิน ทั้งที่มีหลักฐานทางวิชาการอย่างชัดเจนว่ามีอันตราย ดังนั้นจึงเห็นด้วยหากประเทศใดในอาเซียนแบนสินค้าใดสินค้าหนึ่ง ประเทศสมาชิกในกลุ่มอาเซียนควรแบนด้วย ไม่เช่นนั้น สินค้าอันตรายที่ถูกประเทศอื่นยกเลิกแล้วจะเข้ามาทุ่มตลาดในประเทศที่ยังไม่มีมาตรการเกี่ยวกับสินค้านั้น” และนางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ให้ความเห็นปิดท้ายว่า“นายกรัฐมนตรีนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตรและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ควรเร่งผลักดันให้เกิดองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค เพราะร่างกฎหมายฉบับนี้ ต้องให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เห็นชอบอีกครั้งก่อนที่จะเป็นกฎหมาย ซึ่งองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคจะเป็นกลไกใหม่ในการรักษาผลประโยชน์ของผู้บริโภคและเป็นตัวแทนในประเด็นต่างๆ ที่มีผลกระทบต่อผู้บริโภคในวงกว้างเช่น สินค้าอันตราย ไม่ว่าจะเป็นกรณีแร่ใยหิน หรือ สารบีพีเอในขวดนม ที่มีการยกเลิกการใช้ในหลายประเทศในอาเซียน ขณะที่ประเทศไทยไม่สามารถยกเลิกได้ เพราะไม่มีหน่วยงานที่อยากจะรับผิดชอบผู้บริโภคอย่างชัดเจนเบ็ดเสร็จได้” เมื่อจบการประชุมในวันแรก ตัวแทนจากองค์กรสภาผู้บริโภคอาเซียน ได้ร่วมในงานเลี้ยงต้อนรับที่ทางรัฐบาลจัดขึ้น ณ โรงแรม เดอะ สุโกศล จึงเป็นโอกาสอันดีที่ทางองค์กรผู้บริโภคอาเซียนเข้ายื่นจดหมายถึงนายกรัฐมนตรี  นางสาว ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ให้เร่งออก พรบ.  องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค เพื่อเป็นกลไกใหม่ในการเพิ่มประสิทธิภาพการคุ้มครองผู้บริโภค พร้อมเรียกร้องหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภค  ห้ามผลิต  และนำเข้าผลิตภัณฑ์อันตรายทั้งภูมิภาคอาเซียน   ถ้ามีการประกาศห้ามผลิต/นำเข้า ผลิตภัณฑ์ชนิดใดชนิดหนึ่งในประเทศสมาชิกอาเซียนด้วยกัน ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวจะต้องถูกห้ามผลิต/นำเข้าในประเทศอื่นๆ ที่เป็นสมาชิกอาเซียนด้วยเช่นเดียวกัน เพื่อให้เป็นมาตรฐานเดียวทั้งภูมิภาค   1 ประเทศแบน 10 ประเทศแบน One bans. All ban. ในส่วนการประชุมวันที่ 5 กันยายน 2555 องค์กรสภาผู้บริโภคอาเซียน ได้ประกาศ ปฏิญญากรุงเทพ โดยมีใจความสำคัญดังนี้ สภาผู้บริโภคอาเซียน ร่วมประกาศปฏิญญา SEACC กรุงเทพฯ 2555 “1 ประเทศแบน 10 ประเทศแบน” ปฏิญญา SEACC กรุงเทพฯ 2555 เพื่อเรียกร้องให้เกิดความร่วมมือในการทำงานคุ้มครองผู้บริโภคร่วมกันของรัฐบาลในอาเซียน เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับองค์กรผู้บริโภค ตัวแทนองค์กรผู้บริโภคต่างยืนยันที่จะร่วมมือกันคุ้มครองผลประโยชน์ ของผู้บริโภคในทุกภาคส่วน และเป็นตัวแทนของผู้บริโภคในกระบวนการตัดสินใจในเรื่องมาตรการและนโยบายที่มีผลกระทบต่อผู้บริโภคในอาเซียนให้มีมาตรฐานเดียวกัน   รองศาสตราจารย์ ดร. จิราพร ลิ้มปานานนท์ ประธานกรรมการอำนวยการสภาผู้บริโภคอาเซียน และประธานมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า “ปฏิญญาสภาผู้บริโภคอาเซียน กรุงเทพฯ 2555 ตกลงกันในการร่วมกันแบนสินค้า แอสเบสตอสและ บีพีเอ เช่นเดียวกับที่สิงคโปร์และมาเลเซียได้แบนสำเร็จแล้ว โดยยืนยันให้มีมาตรการอัตโนมัติที่ประเทศหนึ่งแบนสินค้าใด ประเทศอื่นในอาเซียนต้องแบนสินค้านั้นทันที ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีในการร่วมมือกันในครั้งนี้  การประชุมสภาอาเซียนผู้บริโภคนี้ ยังเป็นเวทีการแลกเปลี่ยนความรู้และความร่วมมือระหว่างกัน ดังเช่นที่ปฏิญญาได้ให้การสนับสนุนการเกิดขึ้นขององค์กรอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคในไทย นอกจากนี้ตัวแทนจากประเทศอินโดนีเซีย ก็ให้ความสนใจในประเด็นเรื่องข้อมูลผลกระทบ FTA ของไทย  และต้องการศึกษาผลกระทบในอินโดนีเซียเช่นกัน ก็สามารถร่วมมือกันได้ เพื่อหาวิธีร่วมกันในการจัดการปัญหาในระดับอาเซียน ซึ่งเป็นกลไกที่เสริมสร้างความเข้มแข็งให้ผู้บริโภคอย่างเท่าเทียมกัน”   นางสาวอินดา  สุขมานิวซิงค์ ประธานกรรมการบริหารสภาผู้บริโภคอาเซียน กล่าวต่อว่า “เมื่อค่ำวานนี้มีความยินดีที่ได้มีโอกาสพบตัวแทนรัฐบาลไทยซึ่งดูแลงานคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งตัวแทนรัฐบาลไทยได้ให้สัญญาณที่ดีในเรื่องที่จะทำงานร่วมกันเพื่อคุ้มครองผลประโยชน์ผู้บริโภคร่วมกัน  ไม่ว่าจะเกิดปัญหากับผู้บริโภคในประเทศไหนในภูมิภาคอาเซียน เราทุกคนควรมองว่าเป็นปัญหาร่วมกันไม่ใช่ของประเทศใดประเทศหนึ่ง”   นายเซีย เซ็งชุน ผู้อำนวยการสมาคมผู้บริโภคแห่งสิงค์โปร์ กล่าวว่า “ความร่วมมือระหว่างองค์กร สำคัญมาก เช่น งานประชุมนี้เราก็ได้มีโอกาสแชร์ประสบการณ์ทำให้รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นในประเทศไทยไหนบ้างอยากให้มีผู้บริโภคมาร่วมกันมากกว่านี้เวลาที่ออกไปให้ความรู้ผู้บริโภคจะได้รู้ว่าพวกเขาพิทักษ์สิทธิ์ผู้บริโภคกันอย่างไร หรือได้รู้ว่ากฎหมายที่ออกมาเช่น LEMON LAW ของสิงคโปร์ เป็นกฎหมายที่ให้ความคุ้มครองผู้บริโภคจากผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้มาตรฐาน”   นางสาวโมฮานา ปรียา สหพันธ์องค์กรผู้บริโภคมาเลเซีย กล่าวว่า “เราจะมีการประสานงานระหว่างหน่วยงานรัฐและแลกเปลี่ยนเรื่องการตัดสินใจของหน่วยงานรัฐซึ่งจะทำให้ผู้บริโภคได้เข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจต่างๆ เพื่อให้เกิดความเท่าทันในการเท่าทันปัญหาได้อย่างทันสถานการณ์” --------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------- ขอแนะนำ 1 ในสมาชิกผู้ก่อตั้ง สภาองค์กรผู้บริโภค หน่วยงานนี้มีชื่อว่า Badan Perlindungan Konsumen Nasional หรือ(National Consumer Protection Agency เขาเป็นองค์กรของรัฐ ซึ่งจัดตั้งขึ้นตามกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค ประเทศอินโดนีเซีย วิสัยทัศน์ของ BPKN ซึ่งตั้งขึ้นเมื่อ 11 ปีที่แล้วคือการเป็นองค์กรชั้นนำที่จะผลักดันให้ผู้ประกอบการมีความรับผิดชอบมากขึ้นพร้อมๆ กับการส่งเสริมให้ผู้บริโภคตระหนักในสิทธิของตัวเองมากขึ้นด้วย เขาเน้นการพัฒนาศักยภาพของผู้บริโภคผ่านหน่วยงาน ตั้งแต่กระทรวงต่างๆ ผู้ว่าการรัฐ สถาบัน/หน่วยงาน/คณะกรรมการที่เกี่ยวข้อง/ สถาบันการศึกษา สถาบันวิจัย ภาคธุรกิจ หน่วยงานคุ้มครองผู้บริโภคของภาครัฐ หน่วยงานจัดการข้อพิพาท องค์กรระหว่างประเทส องค์กรคุ้มครองผู้บริโภคในต่างประเทศ และภาคประชาสังคมที่ทำงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภค หน้าที่สำคัญของ BPKN ซึ่งประกอบด้วยหน่วยงาน 4 ฝ่าย (ฝ่ายวิจัยและพัฒนา ฝ่ายการศึกษาและสื่อสารสังคม ฝ่ายรับเรื่องร้องเรียน และฝ่ายสร้างความร่วมมือ) คือ ให้คำแนะนำแก่รัฐบาล ในการร่างนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภค โดยเฉพาะในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ ความปลอดภัย และความมั่นคง ของผู้บริโภค ศึกษาและประเมินกฎระเบียบต่างๆที่มีอยู่ในเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภค ทำวิจัยเรื่องความปลอดภัยของสินค้าและบริการ ส่งเสริมการจัดตั้งองค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภค เผยแพร่ข้อมูลการคุ้มครองผู้บริโภคผ่านสื่อ และส่งเสริมสิทธิของผู้บริโภค รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชน องค์กรพัฒนาเอกชน และ ภาคธุรกิจ ทำการสำรวจความต้องการของผู้บริโภคที่มีต่อสินค้าและบริการต่างๆ ตัวอย่าง งานด้านการศึกษาวิจัยของ BPKN ได้แก่ การศึกษามาตรฐานขั้นต่ำของบริการสายการบินสัญญามาตรฐาน  การทบทวนกฎหมายเรื่องมาตรวิทยา และการทบทวนกฎหมายการคุ้มครองผู้บริโภค BPKN ไม่เด่นในเรื่องการรับร้องเรียนเท่าไรนัก แต่ที่น่าสนใจคือการทำข้อเสนอต่อรัฐบาลอินโดนีเซียในเรื่องต่างๆ เช่น -          เสนอให้กระทรวงไอซีทีพิจารณาการห้ามส่งสแปมหรือ SMS ที่สร้างความรำคาญแก่ผู้บริโภค -          เสนอให้กระทรวงการคลังและการธนาคารควบคุมพฤติกรรมของบริษัททวงหนี้ -          เสนอให้กระทรวงศึกษาธิการดูแลให้สถาบันการศึกษาปรับปรุงการจัดการเรียนการสอน -          และที่เป็นข่าวฮือฮาเมื่อต้นปีคือข้อเสนอต่อกระทรวงคมนาคมให้มีการออกกฎให้มีการตรวจหายาเสพติดในกัปตันและลูกเรือทุกคน และให้มีการดำเนินการทางกฎหมายกับสายการบินที่จ้างกัปตันที่ติดยาเสพติดไว้ในสังกัดด้วย ---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------   ผู้อ่านฉลาดซื้ออาจสงสัยว่าสังคมเป๊ะเวอร์อย่างสิงคโปร์เขามีมาตรการจัดการกับสินค้าไม่ปลอดภัยอย่างไร  จากคำบอกเล่าของคุณเซีย เซ็ง ชุน ผู้อำนวยการสมาคมผู้บริโภคแห่งสิงคโปร์  ที่นั่นเขามีองค์กรชื่อว่า SPRING Singapore ทำหน้าที่ดูแลจัดการกับสินค้าไม่ปลอดภัย โดยเป้าหมายคือการยกระดับคุณภาพการผลิตของธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กในประเทศไปพร้อมๆกับการคุ้มครองผู้บริโภคนั่นเอง แรกเริ่มเดิมที่มีผลิตภัณฑ์อันตรายทั้งหมด 45 ประเภท (ส่วนใหญ่เป็นอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์) ที่รัฐกำหนดให้มาขึ้นทะเบียนกับ SPRING เพื่อทดสอบความปลอดภัยก่อนจะได้รับอนุญาตให้วางขายได้ ปัจจุบัน กฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคฉบับปรับปรุงใหม่กำหนดมีผลิตภัณฑ์ที่ต้องขึ้นทะเบียนกับ SPRING ถึง 15,000 รายการ (สินค้าที่เข้าข่าย ผลิตภัณฑ์อันตรายนี้ครอบคลุมตั้งแต่อาหารที่มีส่วนประกอบที่ผ่านการดัดแปรพันธุกรรม สารเคมีต่างๆ และสินค้าอุปโภคบริโภค) ค่าปรับของการขายผลิตภัณฑ์ที่ไม่ปลอดภัยนั้นอยู่ที่ 10,000 เหรียญสิงคโปร์ หรือประมาณ 250,000 บาท ใครยังจะกล้าขายก็ให้รู้กันไป ไหนๆ ก็แวะมาสิงคโปร์กันแล้ว จะไม่แถมเรื่อง Lemon Law ซึ่งสิงคโปร์ประกาศใช้ในเดือนกันยายนนี้ ก็ดูจะกระไรอยู่ กฎหมายนี้เราเคยเรียกร้องขอให้มีในกรณีของรถยนต์ เมื่อหลายปีก่อน (สมาชิกฉลาดซื้อคงยังจำกันได้ถึงเหตุการณ์ที่มีคุณผู้หญิงคนหนึ่งออกมาทุบรถออกสื่อ เพราะคับแค้นใจที่รถที่ทุ่มทุนซื้อมาหมาดๆ ดันเสียซ้ำเสียซ้อน แถมโชว์รูมก็ไม่ยอมเปลี่ยนคันใหม่ให้อีกต่างหาก) อิจฉากันได้เลย เพราะสิงคโปร์เขาล้ำหน้าไปถึงขั้นมีกฎหมายที่ระบุให้มีการเยียวยาให้กับผู้บริโภค เมื่อสินค้าที่ซื้อไปนั้นไม่เป็นไปตามสัญญา / โฆษณาที่ระบุไว้ขณะที่ซื้อ (ถ้าพบข้อบกพร่องของผลิตภัณฑ์ภายในเวลา 6 เดือนก็ให้ถือว่าเป็นความบกพร่องที่เกิดขึ้นในขณะที่ซื้อ) โดยผู้ขายจะต้องซ่อม เปลี่ยน คืนเงินทั้งหมด หรือบางส่วนให้กับผู้บริโภค ตามขั้นตอนคือให้ซ่อมหรือเปลี่ยนสินค้าบกพร่องนั้นก่อน ถ้าไม่สามารถทำได้ ผู้บริโภคมีสิทธิขอลดราคาสินค้านั้น หรือคืนสินค้าแล้วขอรับเงินคืน โดยผู้บริโภคต้องทำเรื่องร้องเรียนภายใน 6 เดือนหลังจากซื้อสินค้า ความจริงแล้วหลัง 6 เดือนก็ยังร้องเรียนได้ เพียงแต่ผู้บริโภคจะต้องรับภาระการพิสูจน์เอง และที่สำคัญ การติดป้ายว่า “สินค้านี้ซื้อแล้วไม่รับเปลี่ยนหรือคืน” ก็ไม่สามารถปกป้องผู้ขายจากความรับผิดชอบนี้ได้ ---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------   พฤติกรรมผู้บริโภคของประเทศอาเซียน (ASEAN-5) สิงคโปร์ • การตัดสินใจซื้อ: ด้วยกำลังซื้อที่ค่อนข้างสูง ทำให้ชาวสิงคโปร์มักนิยมเลือกซื้อสินค้าแบรนด์เนม เนื่องจากเป็นสินค้าที่มีชื่อเสียงและมีคุณภาพค่อนข้างสูง • รสนิยม: วัฒนธรรมไลฟ์สไตล์ทางตะวันตกมีอิทธิพลมากในสังคมสิงคโปร์ โดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่น นอกจากนี้ พฤติกรรมผู้บริโภคยัง อ่อนไหวต่อกระแสนิยมและแฟชั่นในตลาดโลกสูง จนได้ชื่อว่าเป็นตลาดแฟชั่นที่ทันสมัยที่สุดแห่งหนึ่งของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ • การบริโภค: ชาวสิงคโปร์ให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพมาก และนิยมทานอาหารเสริมเพื่อบำรุงร่างกาย นอกจากนี้ ผู้มีรายได้และ มีระดับการศึกษาสูงจะนิยมบริโภคอาหารออร์แกนิกมากขึ้น บรูไน • การตัดสินใจซื้อสินค้า: ชาวบรูไนมีกำลังซื้อค่อนข้างสูง และนิยมสินค้าแบรนด์เนม สินค้าหรูหรามูลค่าสูง และสินค้าฟุ่มเฟือย รวมทั้งให้ความสำคัญกับคุณภาพสินค้ามาก • รสนิยม: ชาวบรูไนมีข้อจำกัดจากทางด้านวัฒนธรรมและมีกฎระเบียบรวมถึงข้อห้ามที่เคร่งครัด ขณะเดียวกันมีรสนิยมที่ค่อนข้างทัน สมัยและอิงสไตล์ตะวันตก • การบริโภค: - พฤติกรรมการบริโภคสินค้าอาหารค่อนข้างใกล้เคียงกับมาเลเซีย โดยนิยมอาหารฮาลาลตามการยึดถือศาสนาอิสลาม - ชาวบรูไนค่อนข้างเชื่อถือคุณภาพสินค้า โดยเฉพาะสินค้าอาหาร จากสิงคโปร์และมาเลเซีย มาเลเซีย • การตัดสินใจซื้อ: ชาวมาเลเซียมีแนวโน้มเลือกซื้อสินค้าที่อำนวยความสะดวกสบายใน ชีวิตประจำวัน สินค้าฟุ่มเฟือยและสินค้าหรูหรามากขึ้น ขณะที่ กลุ่มวัยรุ่นค่อนข้างให้ความ สำคัญกับเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ สะท้อนจากการใช้จ่ายสินค้าไอทีที่มากเป็นอันดับแรกเมื่อเทียบกับการใช้จ่าย ด้านอาหารและการพักผ่อนอื่นๆ • รสนิยม: ผู้บริโภคมาเลเซียมีรสนิยมค่อนข้างหลากหลายตามกลุ่มเชื้อชาติ แต่กลุ่มผู้บริโภคที่มีระดับการศึกษาสูงและรายได้สูงมักมี รสนิยมอิงสไตล์ตะวันตก • การบริโภค: - ผู้บริโภคมาเลเซียนิยมบริโภคอาหารสด ขณะที่อาหารแปรรูปและอาหารบรรจุถุงมีแนวโน้มได้รับความนิยมมากขึ้นจากความ เร่งรีบในชีวิตประจำวัน - ชาวมาเลเซียรับประทานอาหารวันละ 3 ครั้ง และระหว่างวันจะมีช่วงพักดื่มน้ำชา และนิยมทานขนมขบเคี้ยว/บิสกิตเป็นอาหารว่างควบคู่ไปด้วย - ชาวมาเลเซียในวัยแรงงานนิยมบริโภคสินค้า Functional Food เช่น เครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ/ให้พลังงาน อินโดนีเซีย • การตัดสินใจซื้อ: ชาวอินโดนีเซียยังมีช่องว่างทางรายได้ค่อนข้างสูง และผู้บริโภคส่วน ใหญ่ยังค่อนข้างอ่อนไหวกับราคาสินค้า ทำให้ไม่ค่อยนิยมสินค้านำเข้าที่ราคาแพงหรือสินค้าที่มี บรรจุภัณฑ์ราคาสูง • รสนิยม: ผู้บริโภคที่มีรายได้ปานกลางขึ้นไปนิยมบริโภคสินค้านำเข้าจากต่างประเทศ ทั้งสินค้านำเข้าจากเอเชียและประเทศตะวัน ตก • การบริโภค: - ชาวอินโดนีเซียมีการใช้จ่ายเพื่อซื้อสินค้าอาหารค่อนข้างสูง (สัดส่วนประมาณร้อยละ 51 ของรายได้ทั้งหมด) - ชาวอินโดนีเซียนิยมใช้เวลาพักผ่อนร่วมกับเพื่อนและครอบครัวโดยการออกมารับประทานอาหารนอกบ้าน - พฤติกรรมการซื้อสินค้าอาหารเปลี่ยนจากซื้อวันต่อวันมานิยมซื้ออาหารสำเร็จ รูป อาหารพร้อมปรุง และอาหารพร้อมรับประทาน ที่เก็บไว้ได้นานขึ้น ขณะที่สินค้า กลุ่ม Cereal ยังเป็น อาหารหลักสำหรับทุกกลุ่มรายได้ นอกจากนี้ยังนิยมอาหารรสจัด - มีแนวโน้มใส่ใจกับการดูแลสุขภาพเพิ่มขึ้น ฟิลิปปินส์ • การตัดสินใจซื้อ: แม้ปัจจุบันกระแสไอทีได้เข้ามามีอิทธิพลต่อสังคมโลกมากขึ้น แต่ชาว ฟิลิปปินส์ไม่นิยมการซื้อสินค้าออนไลน์ แต่นิยมเดินเลือกซื้อสินค้าด้วยตนเอง (ยกเว้นสินค้า กลุ่มสื่อบันเทิง) นอกจากนี้ ชาวฟิลิปปินส์ส่วนใหญ่ไม่ค่อยยึดติดกับสินค้าแบรนด์เนม แต่นิยมสินค้า Private Label มากกว่า • รสนิยม: มีรสนิยมค่อนข้างหลากหลาย โดยทั่วไปเน้นความเรียบง่าย สะดวกและเหมาะสมกับระดับรายได้ • การบริโภค: - ชาวฟิลิปปินส์ใส่ใจกับการดูแลสุขภาพ และการดูแลความสวยงามและผิวพรรณ - ชาวฟิลิปปินส์ค่อนข้างผูกพันกับตราสินค้าเดิมที่เคยใช้และไม่เปลี่ยนตราสินค้าบ่อย - ชาวฟิลิปปินส์นิยมรับประทานอาหารนอกบ้านเป็นหลัก - เช่นเดียวกับผู้บริโภคในประเทศอาเซียนอื่นที่มีรายได้สูงขึ้น ชาวฟิลิปปินส์นิยมซื้อสินค้าที่อำนวยความสะดวกสบายมากขึ้น โดยเฉพาะรถยนต์และอุปกรณ์มือถือ   พฤติกรรมผู้บริโภคของประเทศอาเซียน (CLMV)   เวียดนาม พม่า / สปป.ลาว / กัมพูชา • การตัดสินใจซื้อ: พฤติกรรมชาวเวียดนามแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ของประเทศ กลยุทธ์การเข้าถึงตลาดจำเป็นต้องชัดเจนและ เหมาะสม อาทิ ทางตอนใต้พิจารณามูลค่าสินค้า เป็นสำคัญ ขณะที่ทางตอนกลางให้ความสำคัญกับคุณภาพสินค้า ส่วนทางเหนือจะค่อนข้างมัธยัสถ์และพิจารณาประโยชน์และความคงทนเป็นสำคัญ • รสนิยม: ผู้บริโภคชาวเวียดนามมีรสนิยมการบริโภคเปลี่ยนไปในทิศทางที่ต้องการสินค้าระดับกลางถึงบนมากขึ้น นอกจากนี้ กลุ่มวัย แรงงานของเวียดนามค่อนข้างอ่อนไหวต่อ กระแสความนิยมในตลาดโลก • การบริโภค: - ชาวเวียดนามในเมืองใหญ่มักนิยมสินค้าแฟชั่น สินค้าไอทีและการสื่อสารที่ทันสมัย - อาหารสไตล์ตะวันตกได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นมาก โดยเฉพาะอาหารฟาสฟู้ดที่เข้ามาในรูปแบบธุรกิจแฟรนไชส์ - ชาวเวียดนามนิยมอาหารสด ผักสดเป็นหลัก ขณะที่ความนิยมอาหารสำเร็จรูป อาหารพร้อมปรุงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และมีพฤติกรรมการจับจ่ายสินค้าประมาณ อาทิตย์ละครั้ง - พฤติกรรมทางสังคมที่มีการพบปะทางธุรกิจและสังสรรค์มากขึ้น ประกอบกับความสะดวกสบายและไม่เสียเวลาทำอาหารเอง ทำให้นิยมรับประทานอาหารนอก บ้านมากขึ้น - ระดับรายได้ที่สูงขึ้นทำให้ชาวเวียดนามนิยมซื้อสินค้าตกแต่งบ้าน/เครื่องใช้ ในบ้านมากขึ้น โดยยังนิยมสินค้าที่มีราคาไม่สูงนัก • การตัดสินใจซื้อ: ผู้บริโภคในพม่า/ สปป.ลาว / กัมพูชา ส่วนใหญ่ยังมีกำลังซื้อไม่สูงนัก ทำให้ การตัดสินใจซื้อส่วนใหญ่เน้นพิจารณาจากประโยชน์ของสินค้าเป็นสำคัญ และมักซื้อ สินค้าเท่าที่จำเป็น อย่างไรก็ดี สำหรับกลุ่มวัยรุ่นชาวลาว พบว่า กระแสแฟชั่นสมัยใหม่เข้ามามีอิทธิพลต่อการเลือกซื้อสินค้าค่อนข้างมาก โดยเฉพาสินค้าด้าน เครื่องแต่งกายและการ ดูแลสุขภาพ • รสนิยม: ประเทศเพื่อนบ้านทั้ง 3 มีรสนิยมค่อนข้างคล้ายคลึงกับไทย จากประเพณีและวัฒนธรรม และพรมแดนที่อยู่ติดกัน ทั้งยังนิยม เลียนแบบการบริโภคสินค้าผ่านสื่อโทรทัศน์ ของไทย • การบริโภค: - สินค้าจากประเทศเพื่อนบ้านมีอิทธิพลค่อนข้างมากในตลาดพม่า สปป.ลาว และกัมพูชา - สินค้าอุปโภคบริโภคในตลาดกลุ่มนี้ยังไม่หลากหลายนัก ส่วนใหญ่เป็นสินค้าจากไทย จีน และเวียดนาม - ผู้บริโภคทั้ง 3 ประเทศ ส่วนใหญ่ยังเน้นบริโภคสินค้าจำเป็นในชีวิตประจำวัน ขณะที่สินค้าฟุ่มเฟือยหรือสิ่งอำนวยความสะดวกยังได้รับความนิยมในวงจำกัด เฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้สูง / นักการเมือง - ชาวลาวได้รับอิทธิพลวัฒนธรรมทางอาหารจากฝรั่งเศสมาพอสมควร อย่างไรก็ดี อาหารท้องถิ่นของชาวลาวยังคงเป็นที่นิยมโดยทั่วไป   ที่มา ”พฤติกรรมผู้บริโภคในอาเซียน”...ตัวแปรสำคัญที่ SMEs ไทยควรรู้ก่อนก้าวสู่ AEC ศูนย์วิจัยกสิกรไทย กรกฎาคม 2554

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 138 เพิ่มค่าให้ “ขยะ” ด้วยภารกิจ “รีไซเคิล”

ใครที่ยังมอง “ขยะ” ว่าเป็นแค่ของไร้ค่าไม่มีราคา ทิ้งลงถังไปแล้วก็แล้วกัน ใครที่คิดแบบนั้นคงไม่ใช่ผู้บริโภค “ฉลาดซื้อ” ตัวจริง ถึงเวลาที่ต้องเปลี่ยนความคิดใหม่ อย่าปล่อยให้ขยะเป็นแค่ของที่ถูกทิ้งเพียงเพราะเราไม่ได้ใช้ประโยชน์ เพราะประโยชน์ของขยะยังมีอีกมากแต่เราเองกลับมองข้ามหรืออาจไม่เคยรู้มาก่อน ถึงเวลาที่ผู้บริโภคยุคใหม่ ต้องลุกขึ้นมาปฏิวัติ ปรับทัศนคติในการใช้ คิดใหม่ก่อนทิ้ง เติมคุณค่าให้ขยะ ไม่สร้างภาระให้โลก   สิ่งเล็กๆ ที่เรียกว่า “ขยะ” แต่สร้างปัญหาใหญ่ยักษ์ระดับโลก เราเคยถามตัวเองกันมั้ยว่า “แต่ละวันเราได้สร้างขยะทิ้งไว้บนโลกใบนี้มากน้อยแค่ไหน?” “เราได้ใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าแล้วหรือยัง?” “เรากังวลเรื่องภัยธรรมชาติ เฝ้าบ่นเรื่องปัญหาโลกร้อน แต่ตัวเราเองได้ลงมือช่วยดูแลโลกใบนี้บ้างหรือเปล่า?”   หลายคนยังคงคิดว่าขยะก็เป็นเพียงแค่ขยะไม่ได้มีค่าหรือมีความหมายอะไร เป็นแค่ของที่ถูกทิ้ง ไม่มีอะไรให้ต้องคิดถึง แต่เรื่องขยะไม่คิดไม่ได้ เพราะขยะถือเป็นปัญหาใหญ่ระดับโลก ยิ่งทุกวันนี้เราทิ้งขยะกันมากจนน่าเป็นห่วง ขยะยิ่งมากก็ยิ่งส่งผลเสียต่อธรรมชาติ ทั้งการสูญเสียทรัพยากรหลายอย่างในการจัดการกับขยะ ทั้งสิ้นเปลืองพลังงานในการเก็บรวบรวมและขนย้ายขยะมาไว้ในสถานที่ที่เหมาะสม หรือการเข้าไปรุกรานเบียดเบียนพื้นที่ของชาวบ้านชนบทเพื่อกองสุมขยะที่ยังไม่สามารถจัดการได้อย่างเหมาะสม ที่สำคัญแม้ขยะจำนวนหนึ่งถูกจัดเก็บไป แต่ยังมีขยะอีกจำนวนมากที่ตกหล่นไม่ได้รับการจัดเก็บไปไว้ในที่ที่เหมาะสม ซึ่งขยะเหล่านี้จะยิ่งก่อปัญหาลุกลามใหญ่โต ทั้งภาพที่ชวนรังเกียจและกลิ่นที่สุดทน รวมทั้งเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของสัตว์แมลงและเชื้อโรคที่ก่ออันตราย “ไม่เห็นเป็นไร ทุกวันก็มีพนักงานเก็บขยะอยู่แล้วนี่” หลายคนอาจคิดแบบนี้ เราไม่เห็นต้องทำอะไรก็ได้ ปล่อยให้พนักงานเขาเป็นคนจัดการไป แต่เรื่องจริงที่ควรรู้คือ ปริมาณขยะในบ้านเรามีเยอะมาก ไม่ว่าหน่วยงานไหน ก็ไม่สามารถจัดการเก็บขยะพร้อมทำลายได้อย่างสมบูรณ์ กรมควบคุมมลพิษ รายงานข้อมูลปริมาณขยะมูลฝอยที่ทางหน่วยงานดำเนินการจัดเก็บรวมทั่วทั้งประเทศเมื่อปี 2554 คือ 16 ล้านตัน ในจำนวนนี้มีเพียง 4.10 ล้านตันเท่านั้นที่ถูกนำกลับมาใช้ประโยชน์(ถูกนำไปรีไซเคิล 3.39 ล้านตัน ที่เหลือนำไปหมักทำปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยชีวภาพ ก๊าซชีวภาพ ประมาณ 0.59 ตัน ส่วนอีกแสนกว่าตันถูกนำไปผลิตพลังงานไฟฟ้าและเชื้อเพลิงทดแทน) ส่วนขยะที่เหลืออีกราว 12 ล้านตันยังกองเป็นภูเขาขยะที่ยังไม่ได้รับการจัดการ จากตัวเลขจะเห็นว่ามีขยะที่ถูกนำกลับไปใช้ประโยชน์ค่อนข้างน้อยมาก คือแค่ 26% ของปริมาณขยะทั้งหมดเท่านั้น ซึ่งเคยมีการตั้งเป้ากันไว้ว่าอย่างน้อยน่าจะมีขยะสัก 50% ที่เข้าสู่กระบวนแปรรูปเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ สำหรับเหตุผลที่การรีไซเคิลขยะในบ้านเรายังอยู่ในเกณฑ์ที่น่าเป็นห่วง คงเป็นเพราะพฤติกรรมการบริโภคของคนไทยที่ให้ค่าขยะว่าเป็นสิ่งของไร้ค่า ทิ้งแล้วก็แล้วกัน ไม่ให้ความสำคัญกับการแยกขยะหรือมองเรื่องการรีไซเคิลว่าเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการสำคัญของการช่วยกันดูแลสิ่งแวดล้อม ทั้งๆ ที่การแยกขยะเพื่อการรีไซเคิลเป็นเรื่องง่ายๆ ซึ่งทุกคนทำได้   8,939 ตัน คือปริมาณขยะต่อวันในกรุงเทพฯ 1,800 ตัน คือปริมาณขยะที่เป็นพลาสติก ซึ่งต้องใช้เวลาย่อยสลายมากกว่า 450 ปี 3 เท่า คือพื้นที่ที่ขยะพลาสติกใช้ในการฝั่งกลบมากกว่าขยะชนิดอื่นๆ 100 กิโลกรัม คือปริมาณขยะที่คนกรุงเทพฯ สร้างภายในเวลาแค่ 1 วินาที 7,000,000,000 (เจ็ดพันล้าน) กิโลกรัม คือปริมาณขยะมูลฝอยเฉลี่ยต่อปี ที่จะเกิดขึ้นในกรุงเทพฯ ในอีก 14 ปีข้างหน้า ถ้าหากคนกรุงเทพฯยังไม่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการสร้างขยะ 10% คือปริมาณขยะจริงๆ ที่ต้องจัดการด้วยการเผาหรือฝังกลบ ที่เหลือสามารถคัดแยกเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ใหม่หรือนำกลับมารีไซเคิลได้ ที่มา: เอกสาร “กรุงเทพฯเมืองสวรรค์” สำนักงานกรุงเทพมหานคร “รีไซเคิล” หนึ่งในวิธีการจัดการปัญหาการเพิ่มขึ้นของขยะ รู้กันหรือเปล่าว่าขยะแต่ละวันที่เราทิ้งกันนั้น กว่า 30% สามารถนำกลับมารีไซเคิล (Recycle) ได้ ขยะที่สามารถนำกลับมารีไซเคิลได้หลักๆ ก็จะเป็นขยะ 4 ชนิดที่เราคุ้นเคยกันดี คือ กระดาษ ขวดแก้ว พลาสติก และโลหะ “การสร้างนิสัยในการแยกขยะ” จึงเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคธรรมดาๆ อย่างเราทุกคนสามารถลงมือทำได้ทันทีและควรทำอย่างยิ่ง “การสร้างนิสัยในการแยกขยะ” เพราะขยะมีหลายประเภท แน่นอนขยะบางอย่างก็ไม่เหมาะนำกลับมาใช้ใหม่ หรือการนำไปรีไซเคิล เพราะฉะนั้นเราจึงต้องรู้จักที่จะแยกขยะที่สามารถนำไปรีไซเคิลได้ออกจากขยะชนิดอื่นๆ และถ้าจะให้ยิ่งดีก็ควรแยกขยะที่จะนำไปรีไซเคิลตามประเภทของขยะ เช่น กระดาษก็แยกรวมไว้ส่วนหนึ่ง ขวดแก้วก็รวมไว้อีกส่วนหนึ่ง ซึ่งขยะรีไซเคิลที่เราแยกไว้สามารถนำไปขาย เปลี่ยนขยะเป็นเงินได้ จะขายให้กับคนที่เขามารับซื้อตามบ้าน หรือจะไปขายเองโดยตรงกับร้านที่เขารับซื้อของเก่าก็ได้ หลายๆ คนอาจยังมีทัศนคติด้านลบเกี่ยวกับการขายขยะ ทั้งๆ ที่การแยกขยะเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็น เรื่องของเงินที่ได้จากการขายขยะที่สามารถรีไซเคิลได้นั้นเป็นเพียงแค่ผลพลอยได้เท่านั้น สิ่งที่เป็นหัวใจจริงๆ คือเราได้ช่วยลดขยะบนโลกใบนี้ ได้ทำหน้าที่ของผู้บริโภคที่ดี รู้จักที่จะใช้ รู้จักที่จะช่วย ใช้อย่างคุ้มค่า ใช้อย่างพอเพียง การแยกขยะทำให้ขยะแต่ละประเภทได้เดินทางต่อไปยังที่ที่มันควรจะเป็น ไม่ใช่ถูกทิ้งไว้เฉยๆ ไม่ถูกปล่อยให้เป็นเพียงแค่ภาระของโลก ซึ่งท้ายสุดก็จะกลายเป็นปัญหากลับมาหาเราทุกคนอยู่ดี ในถังขยะ 1 ใบ มีอะไรบ้าง 50% ขยะย่อยสลายได้ – พวกเศษอาหาร กิ่งไม้ใบไม้ 30% วัสดุรีไซเคิล – กระดาษ แก้ว โลหะ พลาสติก 19% ขยะทั่วไป – ขยะที่ย่อยสลายยาก เช่น ถุงพลาสติก โฟม เศษวัสดุก่อสร้าง อิฐ หิน 1% ขยะมีพิษ/ขยะอันตราย – ถ่านไฟฉาย หลอดไฟ แบตเตอรี่ ที่มา: “การใช้ประโยชน์จากขยะอย่างรู้ค่า พัฒนาคุณภาพชีวิต” กองนโยบายและแผนงาน สำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร เปลี่ยนขยะเป็นเงินด้วยการคัดแยกขยะ ขวดแก้ว การแบ่งชนิดของขวดแก้วเพื่อการคัดแยกนำไปรีไซเคิล จะแบ่งโดยดูองค์ประกอบหลักๆ 2 อย่าง คือ สีของขวดแก้ว กับ ชนิดของสิ่งที่บรรจุอยู่ในขวด เช่น เป็นขวดซอส ขวดยา ขวดเครื่องดื่ม ซึ่งการรีไซเคิลถ้าหากขวดยังอยู่ในสภาพดีไม่มีรอยแตกบิ่นเสียหาย ก็จะถูกนำไปล้างทำความสะอาดเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ (Reuse) ส่วนที่เป็นเศษแก้วแตก จะถูกนำไปบดให้ละเอียด กัดสีออก ล้างทำความสะอาด จากนั้นก็นำไปหลอมใหม่เพื่อผลิตเป็นขวดแก้ว กระดาษ กระดาษเป็นขยะที่ย่อยสลายได้ง่าย หากต้องจัดเก็บเพื่อนำไปรีไซเคิลก็ควรจัดเก็บในที่ที่ไม่เสี่ยงต่อการเปียกน้ำหรือความชื้น การแบ่งชนิดของกระดาษก่อนส่งรีไซเคิล นอกจากจะเพิ่มราคาในกรณีที่นำไปขายแล้ว ยังช่วยให้ง่ายต่อการนำรีไซเคิล การแบ่งตามชนิดของกระดาษและรูปแบบการใช้งาน เช่น กระดาษหนังสือพิมพ์ การดาษกล่องแข็งสีน้ำตาล กระดาษที่เป็นพวกนิตยสาร กระดาษที่ใช้พิมพ์เอกสารต่างๆ ฯลฯ พลาสติก ขยะพลาสติกถือว่ามีความหลากหลายค่อนข้างมาก บางชนิดไม่สามารถนำกลับมารีไซเคิลได้ อย่างเช่น ถุงพลาสติกหรือภาชนะและอุปกรณ์ต่างๆ ที่มีความแข็งตัวสูง ทนต่อความร้อน ซึ่งยากต่อการนำมาหลอมเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ โลหะ เป็นขยะที่มีความหลากหลายเช่นเดียวกับพลาสติก ซึ่งส่วนใหญ่สามารถนำกลับมารีไซเคิลได้ ไม่ว่าจะเป็น เหล็ก ทองเหลือง ทองแดง สแตนเลส ตะกั่ว ซึ่งการรีไซเคิลจะใช้วิธีนำไปหลอมเพื่อผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ   ขยะอื่นๆ ที่สามารถรีไซเคิลได้ ยังมีของอีกหลายอย่างที่เรามองว่าเป็นขยะ แต่สามารถนำไปขายเป็นสินค้ารีไซเคิลได้ เช่น ยางรถยนต์ อะลูมิเนียม น้ำมันพืชเก่า เศษน้ำตาเทียน แผ่นซีดี เครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ ฯลฯ   4 ขั้นตอนในการแยกขยะก่อนนำไปขาย เรารู้แล้วว่าขยะที่ขายได้หลักๆ มีอยู่ 4 ชนิด คือ กระดาษ ขวดแก้ว ขวดพลาสติก และ โลหะกับอลูมิเนียม ที่นี้เรามาลงมือแยกขยะไว้ขายเพื่อให้มันถูนำไปรีไซเคิลกันได้เลย ขั้นแรก หาถังหรือถุงขยะที่ไว้สำหรับแยกขยะทั้ง 4 ชนิดออกจากขยะชนิดอื่นๆ เพื่อเตรียมไว้สำหรับขายโดยเฉพาะ ขั้นที่สอง ต้องใส่ใจดูแลขยะที่เราจะขายด้วย พยายามให้อยู่ในสภาพดีที่สุดเพราะราคาก็จะดีด้วย เช่น กระดาษก็อย่าทิ้งให้เปียกหรือชื้น หรือถ้าเป็นขวดแก้วก็ต้องไม่รอยแตกรอยร้าว ที่สำคัญคือ ขยะในบ้านที่เรารวบรวมไว้สำหรับรีไซเคิลส่วนใหญ่จะเป็นพวกภาชนะบรรจุต่างๆ พวกน้ำดื่มบ้าง ซอสปรุงรสต่างๆ บ้าน หากล้างทำความสะอาดก่อนได้ก็จะดีมาก เพราะเมื่อนำไปขายราคาก็จะดีขึ้น แถมยังป้องกันไม่ให้เกิดกลิ่นหรือเชื้อโรค หากต้องเก็บไว้ปริมาณมากๆ หรือเป็นเวลานานๆ ขั้นที่สาม แม้จะเป็นขยะชนิดเดียวกันแต่ราคาไม่เหมือนกัน เช่น ขวดแก้ว ถ้าเป็นขวดใสก็ราคาหนึ่งขวดขุ่นก็อีกราคาหนึ่ง เทคนิคเพิ่มราคา เราจึงควรแยกตามลักษณะของขยะแต่ละชนิดด้วยเวลาที่เราจะนำไปขาย ขวดใสก็ขายรวมกับขวดใส ขวดขุ่นก็ขายรวมกับขวดขุ่น อย่าขายปนกัน ถ้าเป็นกระดาษก็ต้องแยกตามชนิด กระดาษหนังสือพิมพ์ กระดาษขาว A4 กระดาษลัง กระดาษนิตยสาร พวกนี้ราคาแตกต่างกันหมด ส่วนขวดน้ำพลาสติกก็ต้องแยกฝากับขวดออกจากกัน เพราะเป็นพลาสติกคนละชนิด คนละราคา ขั้นที่สี่ พอเราเก็บรวบรวมขยะได้ในปริมาณพอสมควรแล้ว ก็นำไปขายให้กับร้านรับซื้อของเก่า หรือบางที่อาจมีซาเล้งหรือรถกระบะขับมารับซื้อถึงหน้าบ้าน แต่ถ้าจะให้ดีก็ลองขอเบอร์คนที่เขารับซื้อขยะแล้วนัดหมายกันให้เขามารับซื้อในวันเราแยกเก็บขยะไว้ได้ในปริมาณที่พอจะขายก็สะดวกดี แค่นี้เราก็สามารถเปลี่ยนขยะธรรมดาให้กลายเป็นของมีค่าได้แล้ว แถมยังได้ช่วยดูแลโลกของเราอีกด้วย   (*เราสามารถดูราคากลางรับซื้อขยะรีไซเคิล ได้ที่เว็บไซต์ของสถาบันการจัดการบรรจุภัณฑ์และรีไซเคิลเพื่อสิ่งแวดล้อม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย www.tipmse.or.th และเว็บไซต์ของร้านรับซื้อขยะรีไซเคิลวงษ์พาณิชย์ www.wongpanit.com หรือสอบถามโดยตรงกับหน่วยรับซื้อใกล้บ้าน)   ----------------------------------------------------------------------------------- เปลี่ยนขยะเป็นทองคำ “มูลนิธิพุทธฉือจี้” ที่ไต้หวัน ถือเป็นหนึ่งในองค์กรสาธารณกุศลระดับโลกที่ให้ความสำคัญและมองเห็นคุณค่าของการรีไซเคิล ที่นี่สามารถเปลี่ยนขยะให้เป็นทองได้จริงๆ เรามาลองดูตัวอย่างความสำเร็จขององค์กรแห่งนี้กัน ขยะเลี้ยงทีวี" ความสำเร็จของฉือจี้ ในโลกยุคปัจจุบันนี้ มีองค์กรศาสนาขนาดใหญ่ของโลกองค์กรหนึ่ง ทำโครงการ"ขยะเลี้ยงทีวี" ได้สำเร็จ นั่นคือมูลนิธิฉือจี้ ขององค์กรพุทธฉือจี้ ในประเทศไต้หวัน สามารถนำรายได้จากขยะ มาเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินกิจการของสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมต้าอ้าย ภายใต้คำขวัญ เปลี่ยนขยะเป็นทองคำ สร้างทีวีคุณธรรมนำสังคม เดิมที ขยะเป็นปัญหาใหญ่ของไต้หวัน แต่ฉือจี้มองทะลุว่า หากเข้ามาบริหารจัดการด้านขยะ นอกจากจะช่วยแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมของไต้หวันแล้ว ยังจะเป็นแหล่งรายได้มหาศาล เมื่อรวบรวมพลังมหาชนมาตั้งใจทำแล้ว จะกลายเป็นขุมทรัพย์มหึมาทันที ดังนั้นโครงการขยะเลี้ยงทีวี จึงเริ่มเกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2533 ภายใต้การคิด และพานำทำของท่านธรรมจารย์เจิ้งเหยียน ผู้นำสูงสุดขององค์กรพุทธฉือจี้ กับภิกษุณี และฆราวาสอีกไม่กี่คนเท่านั้น สมัครเข้ามาเป็นสมาชิกจิตอาสา ช่วยกันทำงานด้านขยะ ช่วงแรกๆ มีรายได้จากขยะเพียงวันละ 200-300 บาท ต่อมามีสมาชิกจิตอาสาเข้าร่วมอุดมการณ์มากขึ้น จึงมีการขยายศูนย์รับบริจาคขยะที่เป็นวัสดุรีไซเคิล รวมทั้งของใช้ที่ผู้บริจาคไม่ใช้แล้วเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จวบจนถึงปัจจุบันกว่า 20 ปี จากวันเริ่มก่อตั้งโครงการ"ขยะเลี้ยงทีวี" ขณะนี้มีศูนย์รับบริจาคและสาธิตการแยกขยะของฉือจี้ กระจายอยู่ทั่วไต้หวัน 5,000 กว่าแห่ง มีการฝึกอบรมจนมีอาสาสมัครเป็นจิตอาสาทำงานด้านพิทักษ์สิ่งแวดล้อม ประมาณ 60,000 คน มีรายได้จากขยะมาเลี้ยงสถานีโทรทัศน์ต้าอ้าย ประมาณเดือนละ 20-50 ล้านบาท และยังมีเงินเหลือไปใช้ในกิจการการกุศลด้านอื่นๆ อีกหลายด้านด้วย(ข้อมูลจาก http://www.ioewm.blogspot.com/2009/08/tzuchi-success.html) ซึ่งกิจกรรมรีไซเคิลเพื่อสังคมของมูลนิธิพุทธฉือจี้ สร้างแรงบันดาลใจให้กับคนทั่วโลกที่ได้ไปเยี่ยมชมดูงานหรือรับรู้เรื่องราวดีๆ เช่นนี้ ในประเทศไทยเองก็หลายคนหลายองค์กรที่มีปณิธานแนวแน่เรื่องการจัดการกับปัญหาขยะเพราะมี “มูลนิธิพุทธฉือจี้” เป็นแม่แบบในดวงใจ รู้จักมูลนิธิพุทธฉือจี้ในไทยได้ที่ www.tzuchithailand.org/th/ หรือ ฉลาดซื้อ ฉบับที่ 135 พฤษภาคม 2555 -----------------------------------------------------------------------------------   ขยะที่กรุงเทพมหานครเก็บรวบรวมจากบ้านเรือนประชาชน จะถูกส่งต่อไปที่โรงงานกำจัดขยะซึ่งในกรุงเทพฯ มีอยู่ด้วยกัน 3 แห่ง คือ อ่อนนุช สายไหม และหนองแขม ซึ่งจะได้ขยะส่วนที่สามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ได้ กับส่วนที่ต้องนำไปฝั่งกลบ โดยเฉลี่ยแต่ละวันมีขยะที่ถูกนำไปฝั่งกลบถึง 8,700 ตัน ซึ่งจะถูกนำไปฝั่งในพื้นที่อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา กับอำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม มีขยะเพียงแค่ 1,100 ตันต่อวันเท่านั้น ที่จะถูกนำเข้าโรงคัดแยกเพื่อนำกลับมาใช้ประโยชน์ โดยในจำนวนนี้จะเป็นขยะอินทรีย์หรือขยะเศษอาหารประมาณ 600 ตัน เป็นขยะที่ไม่ย่อยสลายที่ต้องนำไปหมักต่อเพื่อรอคัดแยกเป็นปุ๋ยหมักอีกประมาณ 400 ตัน ส่วนขยะที่สามารถคัดแยกเพื่อนำไปสู่กระบวนการรีไซเคิลนั้นมีแค่ประมาณ 100 ตันเท่านั้น ที่มา: เอกสาร “กรุงเทพฯเมืองสวรรค์” สำนักงานกรุงเทพมหานคร

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 137 คลอดเหมาจ่าย เลือกยังไงให้ถูกใจคุณแม่

ฉลาดซื้อฉบับนี้มาพร้อมกับบรรยากาศอบอุ่นไอรักรับช่วง “วันแม่” ด้วยข้อมูลดีๆ สำหรับคนที่กำลังเตรียมตัวจะเป็นคุณแม่ กับการเลือกใช้บริการ “แพ็คเก็จคลอดเหมาจ่าย”   แพ็คเก็จคลอดเหมาจ่ายสำคัญอย่างไร การคลอดแบบเหมาจ่าย ถือเป็นบริการที่ช่วยให้คุณแม่รู้สึกสบายใจคลายกังวลเรื่องการคลอด เพราะทางโรงพยาบาลจะรวบรวมการบริการที่จำเป็นสำหรับการคลอดมาไว้ในแพ็คเก็จ ที่สำคัญคือมีการระบุราคาเอาไว้ให้เรียบร้อย ทำให้คุณแม่สามารถวางแผนค่าใช้จ่ายได้ตั้งแต่เนิ่นๆ ซึ่งปัจจุบันเกือบทุกโรงพยาบาลมีให้บริการการคลอดแบบเหมาจ่าย (โดยเฉพาะโรงพยาบาลเอกชน) ซึ่งแน่นอนว่าทุกที่ต่างแข่งขันกันเรื่องบริการและราคา ฉลาดซื้อจึงอยากนำเสนอคำแนะนำง่ายๆ สำหรับคุณแม่มือใหม่ที่กำลังตัดสินใจเรื่องใช้บริการแพ็คเก็จคลอดเหมาจ่าย สิ่งที่คุณแม่ต้องได้รับจากบริการคลอดแบบเหมาจ่าย 1.แพทย์ ซึ่งต้องเป็น สูติแพทย์ กุมารแพทย์ และวิสัญญีแพทย์ กรณีผ่าตัดคลอดแล้วมีการใช้ยาสลบ ซึ่งในบางโรงพยาบาล เราสามารถเลือกแพทย์ที่จะทำการคลอดได้ด้วย   2.ยาและเวชภัณฑ์ต่างๆ ที่จำเป็นในการคลอด ซึ่งในส่วนนี้คุณแม่ต้องดูรายละเอียดให้ดี เพราะบางโรงพยาบาลก็จัดยาและเวชภัณฑ์เฉพาะที่ใช้ภายในห้องคลอดหรือเกี่ยวกับการคลอดเท่านั้น หากเป็นยาอื่นๆ เช่น ยาแก้ปวด ยาลดไข้ อาจจะมีการคิดราคาเพิ่มนอกเหนือจากราคาที่ระบุไว้ในแพ็คเก็จ 3.ห้องคลอด ซึ่งรวมถึงเจ้าหน้าที่ที่คอยทำงานอยู่ในห้อง พยาบาล แพทย์ ผู้ช่วย อุปกรณ์ เครื่องไม้ เครื่องมือต่างๆ ซึ่งในบางโรงพยาบาลจะมีการพาคุณแม่ไปชมห้องคลอดก่อนการตัดสินใจเลือกใช้บริการ 4.ค่าห้องพักทั้งของคุณแม่และคุณลูก ซึ่งในแพ็คเก็จจะมีการแจ้งระยะเวลาเอาไว้ชัดเจน เช่น 2 หรือ 3 คืน หากพักเกิน ทางโรงพยาบาลจะคิดค่าบริการเพิ่มตามจำนวนวันที่เกินมา นอกจากนี้ด้วยความที่โรงพยาบาลเอกชนแข่งขันกันเรื่องบริการ การจัดทำห้องพิเศษต่างๆ ก็ถือเป็นเงื่อนไขอย่างหนึ่งที่ใช้จูงใจคุณแม่ที่อยากได้ความสะดวกสบาย ความมั่นใจ หรือความเป็นส่วนตัว เรียกว่าห้องพักโรงพยาบาลเอกชนเดี่ยวนี้ก็ไม่ต่างจากห้องพักตามโรงแรม 5 ดาว ซึ่งแน่นอนว่าความแตกต่างของห้องพักมีผลต่อความแตกต่างของราคา 5.การตรวจพื้นฐาน เช่น สุขภาพของคุณแม่ทั้งก่อนคลอดและหลังคลอด สุขภาพของลูกในท้องสภาวะการเต้นของหัวใจ ตรวจสุขของเด็กหลังคลอด ความผิดปกติทางสมอง การตรวจเลือด เพื่อหาระดับฮอร์โมนสัมพันธ์ธัยรอยด์ การตรวจหาเชื้อซิฟิลิส 6.การให้วัคซีนป้องกันโรคแก่ทารกแรกเกิด ซึ่งประกอบด้วย วัคซีนป้องกันโรคตับอักเสบบี วัคซีนป้องกันวัณโรค วิตามินเค รวมทั้งการยาหยอดตาเพื่อป้องกันตาอักเสบ และการตรวจคัดกรองการได้ยิน   แพ็กเก็จคลอดเหมาจ่าย ตารางแสดงตัวอย่างราคาแพ็คเก็จการคลอดของโรงพยาบาลต่างๆ โรงพยาบาล คลอดแบบธรรมชาติ ผ่าตัดคลอด ค่าคลอดธรรมชาติ จ่ายเพิ่มกรณีฉีดยาที่ไขสันหลัง (ลดการเจ็บปวด) เวลาที่ได้พักในโรงพยาบาล ค่าผ่าตัดคลอด เวลาที่ได้พักในโรงพยาบาล เกษมราษฎร์ บางแค   22,900 6,000 2 คืน 37,900 3 คืน ทักษิณ จ.สุราษฎร์ธานี 21,000 ตามค่าใช้จ่ายจริง 2 คืน 33,500 3 คืน บำรุงราษฎร์ 49,900 10,000 2 คืน 69,900 3 คืน ปิยะเวท 29,900 8,000 2 คืน 49,900 3 คืน พญาไท 37,000 6,000 2 คืน 51,000 3 คืน พระรามเก้า 39,000 6,000 2 คืน 59,000 3 คืน รามคำแหง 36,000   2 คืน 48,000 3 คืน ราษฎร์บูรณะ   20,000 4,000 2 คืน 34,000 3 คืน วิภาวดี 28,900 3,500 2 คืน 43,900 3 คืน นนทเวช 32,000 ตามค่าใช้จ่ายจริง 2 คืน 46,500 3 คืน ลาดพร้าว 29,900 ไม่ต้องจ่ายเพิ่ม 2 คืน 39,900 3 คืน เวชธานี 36,900 10,000 2 คืน 49,900 3 คืน สมิตเวช สรีนครินทร์ 44,900 ตามค่าใช้จ่ายจริง 2 คืน 68,700 3 คืน หัวเฉียว 39,000 ตามค่าใช้จ่ายจริง 3 คืน 50,000 4 คืน รามาธิบดี 4,000 – 5,000 ตามค่าใช้จ่ายจริง 2 คืน 8,000 – 10,000 3 คืน   *สำรวจเมื่อเดือนมิถุนายน 2555 *ราคาอาจมีการเปลี่ยนแปลงควรสอบถามไปยังโรงพยาบาลก่อนใช้บริการ *ตามค่าใช้จ่ายจริง คือค่าบริการมาตรฐานปกติของโรงพยาบาล ควรสอบถามราคาและเงื่อนไขก่อนใช้บริการ   รู้ไว้ก่อนใช้บริการคลอดแบบเหมาจ่าย -ราคาค่าบริการต่างๆ ที่ระบุไว้ในแพ็คเก็จ โรงพยาบาลอาจปรับเปลี่ยนได้โดยไม่ต้องแจ้งล่วงหน้า -คุณแม่ที่สามารถใช้บริการได้ต้องเป็นคุณแม่ที่มีสุขภาพแข็งแรง มีอายุครรภ์อย่างน้อย 36 สัปดาห์ ไม่มีภาวะแทรกซ้อนระหว่างการตั้งครรภ์ -คุณแม่ที่คลอดลูกแฝดหมดสิทธิใช้แพ็คเก็จ -ทางโรงพยาบาลมักจะขายพ่วงบริการอื่นๆ แถมไปกับแพ็คเก็จคลอด เช่น การทำหมัน ผ่าตัดไส้ติ่ง ซึ่งถ้าจะใช้บริการก็ต้องมีการจ่ายเพิ่มตามราคาที่แต่ละโรงพยาบาลกำหนด -หากหลังจากคลอดแล้วไม่ว่าจะแม่หรือเด็กเกิดภาวะแทรกซ้อนต้องได้รับการรักษาพยาบาลเพิ่มเติม ค่าบริการก็จะถูกบวกเพิ่มตามแต่อาการเจ็บป่วยและวิธีการรักษา ในบางโรงพยาบาลก็ใช้วิธีคิดค่าใช้จ่ายแยก เช่น หากในกรณีที่คลอดแล้วคุณแม่ปกติแต่ลูกมีภาวะแทรกซ้อน ก็ใช้วิธีคิดค่าบริการเฉพาะของแม่แล้วหักของลูกออก โดยจะนำไปคิดค่าใช้จ่ายรวมกับการรักษาพยาบาลในส่วนความผิดปกติที่เกิดขึ้นหลังคลอด -บางโรงพยาบาลมีการกำหนดเรื่องของเวลา เช่น หากคุณแม่เจาะจงเลือกคลอดบางช่วงเวลาก็ไม่สามารถใช้ราคาแพ็คเก็จได้ เช่น โรงพยาบาลนนทเวช แจ้งไว้ว่าหากคุณแม่คนไหนต้องการคลอดช่วง 21.00 - 07.00 น. จะไม่สามารถใช้แพ็คเก็จผ่าคลอดได้ ---------------------------------------------------------------------------------------   สิทธิที่เกี่ยวกับการคลอด สิทธิประกันสังคม สำหรับคุณแม่ที่ใช้สิทธิประกันสังคม จะได้รับเงินค่าคลอดบุตรจำนวน 13,000 บาท โดยสามารถใช้สิทธิได้ 2 ครั้ง (แต่ถ้าคุณพ่อก็ใช้ประกันสังคมเหมือนกันก็จะได้รับสิทธิเพิ่มอีก 2 ครั้ง) โดยสามารถฝากคลอดกับโรงพยาบาลใดก็ได้ นอกจากนี้คุณแม่คนใหม่ยังจะได้รับเงินชดเชยการหยุดงานเพื่อการคลอดบุตร โดยจะได้รับในอัตรา 50% ของเงินเดือนเฉลี่ย 90 วัน สิทธิประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) ใช้สิทธิคลอดบุตรได้ 2 ครั้ง โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายในโรงพยาบาลที่แจ้งสิทธิไว้ โดยสามารถขอรับบริการด้านสุขภาพการตั้งครรภ์ทั้งก่อนและหลังคลอด สิทธิข้าราชการ นอกจากจะสามารถเบิกค่าคลอดในโรงพยาบาลของรัฐ และโรงพยาบาลเอกชนบางแห่งได้แล้ว คุณแม่ยังมีสิทธิลาคลอดได้อีก 90 วัน และที่ตากต่างจากสิทธิ์อื่นๆ คือคุณพ่อที่เป็นข้าราชการยังสามารถลาไปช่วยคุณแม่เลี้ยงลูกได้ 15 วัน นอกจากนี้ใน พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ได้กำหนดไว้ลูกจ้างหญิงสามารถลาคลอดได้ 90 วัน โดยยังได้รับค่าจ้าง 45 วัน How to คุณแม่มือใหม่ เพราะการตั้งครรภ์ถือเป็นเรื่องยิ่งใหญ่ในชีวิตของลูกผู้หญิง แม้จะเป็นเรื่องที่น่าดีใจแต่ก็มีเรื่องที่ทำให้คุณแม่มือใหม่ (หรือแม้แต่คุณแม่มืออาชีพที่เคยมีประสบการณ์มาแล้ว) ต้องหนักใจด้วยเช่นกัน กลัวไปสารพัดอย่าง ดังนั้นขอเอาใจคนใกล้เป็นแม่ หรือเตรียมตัวเป็นคุณแม่ ด้วยเรื่องราวที่ควรรู้เบื้องต้น ดังต่อไปนี้ 1.การฝากครรภ์ ถือเป็นจุดเริ่มต้นสู่การเตรียมความพร้อมสำหรับการเป็นคุณแม่ ซึ่งในการฝากครรภ์กับสถานพยาบาลต่างๆ คุณหมอหรือแพทย์ที่ดูแลจะให้ทั้งคำแนะนำในการดูแลครรภ์ การดูแลคุณแม่ไม่ให้เสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนทั้งทางร่างกายและจิตใจที่อาจส่งผลต่อสุขภาพครรภ์ ที่สำคัญคือการตรวจสุขภาพของคุณแม่ว่ามีภาวะเสี่ยงที่อาจเป็นอันตรายต่อลูกในท้องหรือแม้แต่ตัวคุณแม่เองหรือไม่ ซึ่งหากตรวจพบความผิดปกติตั้งแต่ในระยะต้นก็อาจจะช่วยรักษาหรือหาทางแก้ไขที่อาจจะเกิดขึ้นได้ สำหรับระยะเวลาในการฝากครรภ์ที่เหมาะสม คือ ไปฝากครรภ์ทันทีเมื่อรู้ตัวว่าตั้งครรภ์ โดยในช่วงอายุครรภ์ 7 เดือนแรก (28 สัปดาห์) จะต้องมีการนัดพบกับคุณหมอผู้ดูครรภ์อย่างน้อยทุกๆ 4 สัปดาห์ หรือเดือนละครั้ง ในช่วงเดือนที่ 8 ให้เพิ่มเป็น 2 อาทิตย์ต่อครั้ง พออายุครรภ์ครบ 9 เดือน ต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดจากคุณหมออย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง จนกว่าจะถึงกำหนดคลอด   2.เลือกสถานพยาบาล สิ่งที่คุณแม่มือใหม่ส่วนใหญ่ให้ความสำคัญและน่าจะเป็นคำถามลำดับแรกๆ ในใจของหลายๆ คนก็คือ “การเลือกโรงพยาบาลสำหรับฝากครรภ์” ฉลาดซื้อมีคำแนะนำง่ายๆ ให้คุณแม่นำไปใช้เป็นข้อมูลในการตัดสินใจเลือกโรงพยาบาลเพื่อการคลอด   -ดูที่ความสะดวกในการไปใช้บริการ แน่นอนว่าการคลอดลูกเป็นเรื่องใหญ่เรื่องสำคัญ คุณแม่ทุกคนอยากให้ลูกที่จะคลอดออกมาได้รับการบริการและดูแลอย่างดีที่สุด คุณแม่ส่วนใหญ่ก็อยากจะไปฝากครรภ์กับโรงพยาบาลชื่อดังเพราะมั่นใจเรื่องการบริการ แต่ก่อนเลือกก็อย่าลืมดูเรื่องความเหมาะสม โดยเฉพาะเรื่องการเดินทาง ถ้าหากการไปพบหมอแต่ละครั้งนำมาซึ่งความยากลำบาก ยิ่งเมื่อคุณแม่ท้องใหญ่ขึ้นการเดินเหินไปไหนมาไหนก็ไม่ใช่เรื่องที่น่าสนุกแต่อย่างใด เพราะฉะนั้นหากจะเลือกโรงพยาบาลเพื่อฝากครรภ์ก็อย่าลืมช่างใจระหว่างโรงพยาบาลที่ไว้วางใจกับโรงพยาบาลที่เดินทางไปได้สะดวก เวลาที่เกิดเหตุฉุกเฉินคุณแม่จะได้ไปพบแพทย์ได้ทันท่วงที   -เปรียบเทียบค่าบริการ เรื่องของค่าบริการน่าจะเป็นเงื่อนไขในการตัดสินใจเรื่องแรกๆ ของหลายๆ คน ซึ่งถ้าหากจะเปรียบเทียบเรื่องของราคาให้เห็นภาพได้ง่ายที่สุด ก็ต้องแบ่งประเภทของโรงพยาบาลออกเป็น โรงพยาบาลของรัฐ กับ โรงพยาบาลของเอกชน ซึ่งแน่นอนว่าเรื่องของราคาจะมีความแตกต่างกันมาก ในโรงพยาบาลของรัฐค่าบริการเรื่องการคลอดก็จะอยู่ในหลักพันบาทจนไปถึงหมื่นต้นๆ แต่หากเป็นของโรงพยาบาลเอกชนก็จะขยับสูงขึ้นไปถึงระดับหลายหมื่นบาท เรียกว่าแตกต่างกันค่อนข้างมาก แน่นอนว่าความแตกต่างของราคาก็ย่อมมีผลกับเรื่องของการให้บริการ ในโรงพยาบาลของรัฐซึ่งจะผู้มาใช้บริการมากกว่าในโรงพยาบาลเอกชน การเข้าไปใช้บริการก็อาจต้องมีการรอคิวอยู่บ้าง คุณหมอที่มาตรวจก็อาจมีการสลับสับเปลี่ยนกันไป เพราะคุณหมอในโรงพยาบาลรัฐมักไม่ใช่คุณหมอที่อยู่ประจำ แต่ก็สามารถติดต่อนัดเป็นพิเศษได้ แต่หากเป็นในโรงพยาบาลของเอกชนเราสามารถเลือกที่จะตรวจกับคุณหมอที่เราต้องการได้ สามารถเลือกห้องที่ต้องการได้ ไม่ต้องรอคิว ส่วนความเชื่อที่ว่าโรงพยาบาลของเอกชนรักษาดีกว่าโรงพยาบาลของรัฐนั้น อาจไม่จริงเสมอไป เพราะเดี๋ยวนี้ทั้งบุคลากรทางการแพทย์และเครื่องมือเครื่องไม้ต่างๆ ที่ใช้อยู่ในโรงพยาบาลก็ไม่ได้มีความแตกต่างกันมากนัก เพราะฉะนั้นราคาที่แพงกว่าอาจไม่ได้เป็นเครื่องยืนยันว่าจะได้รับการบริการทีดีกว่า เอาเป็นว่าขอให้เป็นเรื่องของความสบายใจ ใครที่พอจะมีเงินอยู่บ้างแล้วรู้สึกว่าการคลอดโรงพยาบาลเอกชนน่าจะอุ่นใจสบายใจกว่าก็คงไม่เป็นปัญหาที่จะเลือกใช้บริการ แต่ถ้าใครไม่มีทุนทรัพย์มากพอหรืออยากใช้เงินอยากประหยัดจะเลือกใช้บริการของโรงพยาบาลของรัฐก็ไม่ต้องกังวลใจ ขอแค่ให้ศึกษาเรื่องบริการต่างๆ ให้เข้าใจ คำนวณค่าใช้จ่ายให้เหมาะสมอยู่ในเกณฑ์ที่รับได้ เมื่อเลือกแล้วก็ขอให้ทำจิตใจให้สบาย ปฏิบัติตามคำแนะนำของคุณหมอ ดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง เพียงแค่นี้ก็รับรองได้ว่าการคลอดก็จะเป็นไปอย่างปลอดภัยทั้งคุณแม่และลูกน้อย   -ศึกษารายละเอียดการให้บริการของแต่ละโรงพยาบาล ปัจจุบันนี้บรรดาโรงพยาบาลต่างๆ (โดยเฉพาะโรงพยาบาลของเอกชน) ได้จัดทำแพ็คเก็จการคลอดแบบเหมาจ่ายมาให้คุณแม่ได้เลือกใช้บริการ ซึ่งแน่นอนว่าจุดเด่นของโรงพยาบาลเอกชนก็คือเรื่องของการบริการ ดังนั้นหากคิดจะเลือกใช้บริการการคลอดแบบเหมาจ่ายกับโรงพยาบาลเอกชน คุณแม่ก็ต้องศึกษารายละเอียดบริการต่างๆ ที่จะได้รับให้ดี เพราะแต่ละที่ราคาไม่เท่ากัน (แถมราคาก็สูงมากด้วย) แม้บริการหลักๆ คือการทำคลอดเหมือนกัน แต่ในรายละเอียดปลีกย่อยอาจแตกต่างกัน เช่น ระยะเวลาในการพักรักษาตัวในโรงพยาบาล ประเภทของห้องที่พัก บริการเสริมอื่นๆ ที่บางโรงพยาบาลอาจมีการเพิ่มเข้าไป อย่างการอบรมการเลี้ยงลูกให้กับคุณแม่ เทคนิคการให้นมแม่ การฉีดวัคซีนป้องกันโรคต่างๆ ให้กับทารก ฯลฯ เพราะฉะนั้นคุณแม่ควรศึกษาเปรียบเทียบดูหลายๆ โรงพยาบาล เพื่อให้ได้รับการบริการที่คุ้มค่าคุ้มราคา ตรงตามความต้องการของคุณแม่ มั่นใจและปลอดภัยมากที่สุด   -สอบถามข้อมูลจากคนที่มีประสบการณ์ เป็นธรรมดาที่คุณแม่ท้องแรกหรือคุณแม่มือใหม่ จะมีความกังวลใจเรื่องการคลอด การสอบถามพูดคุยกับผู้มีประสบการณ์ถือเป็นตัวช่วยที่ดีที่จะทำให้คุณแม่มือใหม่คลายความสงสัยและคลายความกังวลใจ

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 136 A to Z

ว้าว !! ฉลาดซื้อ ขึ้นปีที่ 19 แล้ว สาวสะพรั่งกันทีเดียว โอกาสดีแบบนี้ เราเลยขอทบทวนเรื่องราวข่าวสารในแวดวงงานคุ้มครองผู้บริโภคที่ฉลาดซื้อและมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคหยิบจับ มาร้อยเรียงผ่านตัวอักษรภาษาอังกฤษทั้ง 26 ตัว เพื่อเป็นอภินันท์แก่ทุกท่านนะคะ         Asbestos-แร่ใยหิน แร่ใยหินชนิดไครโซไทล์ ในกลุ่มแร่ใยหินสีขาว คือตัวที่ 50 ประเทศทั่วโลกได้เลิกใช้ไปแล้ว แต่ประเทศไทยยังมีใช้กันอยู่ แร่ใยหินชนิดไครโซไทล์ เป็นองค์ประกอบสำคัญในสินค้าชนิดต่างๆ ที่ผู้เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมการก่อสร้าง เช่น กระเบื้องมุงหลังคา กระเบื้องปูพื้น ท่อซีเมนต์ และยังผสมในผ้าเบรกรถยนต์ ตลอดจนอุปกรณ์ทนไฟต่างๆ ด้วย ปัญหาที่ทำให้แร่ใยหินถูกห้ามในหลายประเทศคือ อนุภาคของแร่ใยหินสามารถฟุ้งกระจายสู่ปอด ทำให้เกิดโรคร้ายแรงต่างๆ ที่เกี่ยวกับปอด เช่น โรคปอดอักเสบจากแอสเบสตอส โรคมะเร็งปอด โรคมะเร็งเยื่อหุ้มปอด เมโสเทลีโอมา (Mesothelioma) ซึ่งเป็นโรคที่มีสาเหตุจากแร่ใยหินอย่างเจาะจง ถือเป็นภัยเงียบที่แฝงตัวมิดชิดอยู่ในบ้านเรือนของเรา   กรณีประเทศไทยยังต่อสู้กันอยู่ระหว่างฝ่ายผู้ผลิตที่พยายามให้ข้อมูลว่า การใช้แอสเบสตอสปลอดภัยกับกลุ่มนักวิชาการและเครือข่ายผู้บริโภคที่พยายามผลักดันให้เกิดนโยบายยุติการใช้และห้ามนำเข้าแร่ใยหิน จนเป็นเหตุให้ฝ่ายผู้ได้รับความเสียหายในเชิงธุรกิจจ้องจะฟ้องร้องนักวิชาการที่ทำงานเพื่อสังคม นับเป็นภัยอีกรูปแบบหนึ่งจากแร่ใยหินเช่นกัน   BMTA Bangkok Mass Transit Authority- องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพฯ (ขสมก.) เว็บไซต์ของ ขสมก. ระบุว่าเขาเป็นรัฐวิสาหกิจประเภทกิจการสาธารณูปโภค ภายใต้กระทรวงคมนาคม ที่เน้นให้ความช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยด้วยการจัดเก็บค่าโดยสารในราคาต่ำกว่าทุน เช่น รถเมล์ขาวแดง ต้นทุนต่อเที่ยวของเขาอยู่ที่ 933 บาท ก็เก็บเราแค่คนละ 6.50 บาท (หรืออาจไม่ต้องเสียเลย ถ้าเรี่ยวแรงและข้อเข่าดีพอที่จะไล่ตาม “รถเมล์ฟรี วิ่งหนีประชาชน” ได้ทัน) แต่ทั้งนี้ผู้มีรายได้น้อยจะต้องมีบ้านเรือนอยู่ในเส้นทางที่เขาจัดรถเมล์ให้ มิเช่นนั้นจะต้องนั่งรถตู้ที่ราคาไม่ต่ำกว่า 20 บาทต่อเที่ยว กรุงเทพฯ มี “มวลชน” ที่ต้องได้รับการขนส่งเกือบ 6 ล้านคน แต่การสำรวจ Asia Green City Index ซึ่งเป็นการประเมินเรื่องความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของเมืองใหญ่ในเอเชีย เมื่อปีที่แล้ว โดย the Economist Intelligence Unit พบว่ากรุงเทพฯ ถูกจัดอยู่ในกลุ่มเมืองหลวงที่มีถนนหนทางและสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อการขนส่งมวลชนอยู่ในระดับ “ต่ำกว่ามาตรฐาน” ในขณะที่กัวลาลัมเปอร์ และสิงคโปร์เพื่อนบ้านของเราถูกจัดไว้ในกลุ่ม “สูงกว่ามาตรฐาน” เดียวกับกรุงโซล และฮ่องกงซึ่งถือได้ว่ามีระบบขนส่งมวลชนที่ดีที่สุดในโลกไปแล้ว   Copyright ดีแน่ แต่ต้องสมดุล สหพันธ์ผู้บริโภคสากล หรือ Consumers International ได้ทำการสำรวจกฎหมายว่าด้วยทรัพย์สินทางปัญญาใน 30 ประเทศ เมื่อต้นปี 2012 เพื่อตามหาประเทศที่ส่งเสริมให้เกิดการเข้าถึงความรู้ในงานอันมีลิขสิทธิ์มากที่สุด ผลการสำรวจพบว่า แชมป์ใหม่ปีนี้ได้แก่ อิสราเอล ซึ่งขยับขึ้นจากเดิม 3 อันดับ ตามด้วยเพื่อนบ้านของเราอินโดนีเซีย ที่ขยับขึ้นมา 5 อันดับจากปีก่อนหน้า และอินเดียซึ่งรั้งตำแหน่งที่ 3 เหมือนเดิม ตามด้วยนิวซีแลนด์และอาร์เจนตินา ประเทศเหล่านี้มีการตีความคำว่า “การใช้อย่างเป็นธรรม” ได้กว้างขวาง และเอื้อให้เกิดการเข้าถึงข้อมูลความรู้มากที่สุด ส่วนประเทศไทยของเราที่แข็งขันเรื่องการปราบปรามการละเมิดลิขสิทธิ์นั้น ปีนี้ได้ที่ 4 จากท้าย (ตกจากเดิมลงมา 1 อันดับ) แต่ยังดีกว่าอังกฤษ อาร์เจนตินา และจอร์แดน   Disaster-ภัยพิบัติ หลังจากเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่เมื่อปลายปี 2554 ที่ผ่านมา เชื่อว่าหลายๆ คนคงมีมุมมองต่อภัยธรรมชาติที่เปลี่ยนไป โดยเฉพาะกับคน กทม. ที่อาจจะเคยคิดว่าภัยธรรมชาติเป็นเรื่องไกลตัว แต่ตอนนี้ทุกคนรับรู้แล้วว่ามันอยู่ใกล้ซะยิ่งกว่าใกล้ (ก็เล่นท่วมถึงห้องนอนไม่เรียกใกล้มากๆ แล้วจะเรียกว่าอะไร) ปีนี้ก็ยังคงต้องลุ้นกันอยู่ว่าน้ำจะมาอีกมั้ย ขณะที่การจ่ายเงินชดเชยเยียวยาผู้ประสบภัยก็ยังมีปัญหาอย่างที่เห็นเป็นข่าว   แต่ไม่ว่าจะยังไงเราทุกคนก็ควรเตรียมตัวเตรียมใจพร้อมรับกับภัยธรรมชาติที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งตอนนี้ก็มีเว็บไซต์ไว้ให้เราสามารถติดตามเฝ้าระวังหรือหาข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับภัยธรรมชาติที่จะเกิดขึ้นได้ ไม่ว่าจะเป็น ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ (www.ndwc.go.th), ศูนย์ข้อมูลเพื่อการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (www.thaiflood.com), มูลนิธิสภาเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ (www.paipibut.org) และ ระบบสารสนเทศเพื่อการเรียนรู้เกี่ยวกับอุทกภัย (www.flood.rmutt.ac.th)   Eco Design-ดีไซน์เพื่อสิ่งแวดล้อม ผลิตภัณฑ์ Eco Design  (Economic & Ecological Design) หรือผลิตภัณฑ์ที่ถูกออกแบบมาให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ถือเป็นนวัตกรรมที่ถูกคิดค้นเพื่อช่วยแก้ไขปัญหาโลกร้อนที่กำลังเป็นปัญหาใหญ่ของมวลมนุษยชาติ Eco Design เป็นสินค้าที่พึ่งพาหรือรบกวนสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด ทั้งลดการใช้พลังงาน ใช้วัสดุที่เป็นมิตรกับธรรมชาติหรือได้จากขบวนการรีไซเคิล เป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถใช้งานด้านอย่างคุ้มค่า ง่ายต่อการดูแลรักษาและซ่อมบำรุง ซึ่งหลายประเทศก็เริ่มให้การสนับสนุนผลิตภัณฑ์ Eco Design  กันมากขึ้น เพราะนอกจากจะดีต่อโลกของเราแล้ว ความเป็น Eco Design  ยังเป็นการช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีให้กับบรรดาผู้ผลิตด้วยเช่นกัน สำหรับบ้านเราสินค้า Eco Design อาจยังไม่มีให้เห็นหรือเป็นที่รู้จักมากนัก แต่ก็มีความพยายามในการส่งเสริม อย่างเช่นการจัดการประกวด Thailand Eco Design Award   โดยศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC) ซึ่งถือเป็นหน่วยงานที่พร้อมให้ความรู้และคำแนะนำเรื่อง Eco Design แก่บรรดาผู้ผลิตที่อยากช่วยโลก   Ft-ค่าไฟฟ้าผันแปร เดือน มิ.ย -ส.ค 55 จะเก็บเพิ่ม 30 ส.ต./หน่วย ค่าเอฟทีในบิลค่าไฟเคยสังเกตกันไหม ถ้าไม่มีอะไรเปลี่ยนก็หมายความว่า เราต้องจ่ายค่าไฟเพิ่มกันนะพี่น้อง บ้านใครใช้กี่หน่วยก็เอา 0.3 คูณเข้าไป นั่นคือราคาที่ต้องจ่ายเพิ่ม เช่นใช้ไฟอยู่ 300 หน่วย ก็จ่ายเพิ่มจากเดิมอีก 90 บาท ค่าเอฟทีคืออะไร ขอเรียกมันง่ายๆ ว่าการคิดกำไรสองชั้นของ(พ่อค้า)ไฟฟ้า ปกติเวลาใครจะขายสินค้าอะไรส่วนใหญ่เขาก็เอาต้นทุนคือพวกวัตถุดิบต่างๆ มาบวกกับค่าประกอบการ เช่น ราคาทุน 10 บาท ค่าประกอบการ 3 บาท แล้วขายในราคา 15 บาท คือเป็นกำไรสุทธิ 2 บาท แต่เอฟทีคือ เอาค่าประกอบการมาคิดใหม่ ให้ผันแปรไปได้ตามสถานการณ์ เช่น ราคาทุน 10 บาท กำไรสุทธิ 2 บาท แต่ค่าประกอบการ 3 บาทอาจไม่ใช่แล้ว เพราะจะผกผันไปได้ตลอด ดังนั้นราคาขายจริง อาจเป็น 15 บาท 16 บาท หรือ 18 บาทก็ได้ ถือเป็นกำไรชั้นที่สอง เรียกว่าพ่อค้าไม่ต้องรับผิดชอบอะไรกับค่าประกอบการเลย สินค้าอื่นทำแบบนี้ไม่ได้หรอก แต่กิจการไฟฟ้ามันถูกผูกขาดทำได้สบายอยู่แล้ว ค่าเอฟทีในบิลค่าไฟจะผันแปรไปตามต้นทุนของเชื้อเพลิงที่นำมาผลิตไฟฟ้า ซึ่งตอนนี้ ร้อยละ 70 เป็นก๊าซธรรมชาติ ที่ต้องซื้อจาก ปตท. เท่านั้นผูกขาดกันไปอีกชั้น ซื้อถูกก็ไม่ได้ เห็นแต่ซื้อแพงตลอด แต่การไฟฟ้าเขาไม่สนใจหรอกเพราะภาระตรงนี้มันส่งต่อมาที่ผู้บริโภคในรูปแบบของค่าเอฟทีแล้วไง แว่วว่าเดือน ก.ย. 55 ก็จะปรับเพิ่มอีก 8 สตางค์ ซ้ำเติมกันให้เต็มที่ท่าน อย่าได้เกรงใจ   GMO-พืชดัดแปรพันธุกรรม พืชดัดแปรพันธุกรรม หรือ จีเอ็มโอ (Genetically Modified Organisms- GMO) ประเทศไทยเราไม่อนุญาตตามกฎหมายให้มีการปลูกทดสอบในพื้นที่เปิดและผลิตจีเอ็มโอเชิงพาณิชย์ แต่การสำรวจ ระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2554 ถึงเดือนเมษายน 2555 ทั้งหมด 319 ตัวอย่าง ก็ยังพบการปะปนพืชจีเอ็มโอในฝ้าย 9 ตัวอย่าง ในมะละกอ 29 ตัวอย่าง ซึ่งเมล็ดพันธุ์พืชจีเอ็มโอยังถูกผูกขาดโดยบรรษัทข้ามชาติ ถ้าเมล็ดพันธุ์เหล่านี้หลุดออกไปอยู่ในมือเกษตรกรโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เจ้าของสิทธิบัตรย่อมมีสิทธิฟ้องร้องเกษตรกรได้ เรื่องฉลากจีเอ็มโอของกระทรวงสาธารณสุข  ได้กำหนดให้อาหารสำเร็จรูปที่มีถั่วเหลืองหรือข้าวโพดอยู่ใน 3 ส่วนประกอบแรกและถั่วเหลืองหรือข้าวโพดนั้นมีน้ำหนักตั้งแต่ 5% ของน้ำหนักผลิตภัณฑ์ขึ้นไป ถ้าตรวจพบจีเอ็มโอตั้งแต่ 5% ขึ้นไปถึงจะต้องแสดงฉลาก แต่บ้านเราต้องตาดีมากๆ ถึงจะเห็นฉลาก วันหนึ่งจีเอ็มโออาจจะเป็นม้าโทรจันเข้ามายึดครองทรัพยากรชีวภาพการเกษตร และความมั่นคงทางทางอาหารของไทย เราจึงต้องสร้างการเรียนรู้ร่วมกันของทุกฝ่าย   HPV-วัคซีนมะเร็งปากมดลูก ไวรัสก่อโรคมะเร็งปากมดลูกมีหลายร้อยสายพันธุ์ แต่ที่พบบ่อยนั้น มีสองสายพันธุ์ที่เขาทำวัคซีนออกมาใช้และได้ผลค่อนข้างดี ปัญหาคือ ถ้าจะฉีดควรฉีดตั้งแต่เด็กๆ ก่อนจะมีประสบการณ์ทางเพศสัมพันธ์ ถ้าโตแล้วและผ่านการมีเพศสัมพันธ์มาก่อน ผลในการป้องกันจะน้อยลงไป ปัญหาคือ เวลาเขาโฆษณาให้ฉีดเพื่อป้องกัน เจ้าของวัคซีนหรือโรงพยาบาลบางแห่ง มักสร้างข้อมูลผิดๆ คือ ทำให้เชื่อว่าป้องกันได้ผล 100% และตลอดชีวิต ซึ่งไม่จริง วัคซีนสองตัวที่ว่าดีข้างบนนั้นก็เพิ่งเก็บข้อมูลกันไปสิบกว่าปีเท่านั้น ตอนนี้ข่าวว่า ท่านรัฐมนตรีสาธารณสุขจะซื้อวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกมาฉีดให้เด็กไทย ซึ่งดูเหมือนจะใจเร็วด่วนได้ไปนิด เทียบกันแล้วอาจได้ไม่คุ้มราคาเพราะบริษัทเสนอราคาแพงเกินไป และใช่ว่าผู้หญิงทุกคนจะต้องเป็นมะเร็งปากมดลูก อีกทั้งท่านรัฐมนตรีก็ให้ข่าวชวนสร้างความเข้าใจผิดว่า ฉีดแล้วจะป้องกันได้ตลอดชีวิต คงต้องระวังหน่อยนะท่าน เกิดฉีดไปแล้วเป็นขึ้นมาภายหลังล่ะก็ ได้ฟ้องกันวุ่นวายแน่ เพราะโอกาสติดเชื้อจากไวรัสสายพันธุ์อื่นที่ไม่ใช่ตัวที่เป็นวัคซีนก็เยอะเช่นกัน   ดังนั้นใครเคยฉีดวัคซีนไปแล้วอย่าเพิ่งวางใจ ควรไปตรวจหาเซลล์มะเร็งปากมดลูกด้วยวิธีแป็ปสเมียร์ (pap smear) เช่นเดิมเพราะยังมีโอกาสอีกในการเกิดมะเร็งปากมดลูก   Instagram-อินสตาแกรม ภาพหนึ่งภาพมีค่าเท่ากับกี่ล้านคำพูดนั้นยังไม่สามารถระบุได้ชัดเจน แต่ที่แน่ๆ หนึ่งโปรแกรมแชร์ภาพถ่ายนั้น มีมูลค่าถึง 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ ภายในระยะเวลาไม่ถึง 2 ปีตั้งแต่อินสตาแกรมเปิดตัวมา โปรแกรมนี้มีผู้ใช้งานแล้วกว่า 31 ล้านคน แรกก็ใช้กันเฉพาะในหมู่ผู้มีไอโฟน แต่ต่อมาก็ขยายไปยังโทรศัพท์อื่นๆ ที่ใช้ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ ว่ากันว่าโปรแกรมนี้ใช้ง่าย  แถมได้ภาพถ่ายสวยงามประหนึ่งผลงานมืออาชีพ ปลอดโฆษณาและการอัพเดทสถานะ ที่สำคัญเขาเคยได้ตำแหน่ง แอพออฟเดอะเยียร์ มาแล้ว เรียกว่าเติบโตเร็วจนยักษ์ใหญ่อย่างเฟสบุ๊ครู้สึกร้อนๆหนาวๆ จนต้องรีบควักกระเป๋าซื้อหามาครอบครองให้ได้ก่อนใคร ด้วยราคาสูงถึง 30,000 ล้านบาท สาวกดั้งเดิมของอินสตาแกรม เริ่มวิตกว่าพื้นที่จัดแสดงภาพถ่ายฝีมือประณีตของตัวเอง อาจถูกโฆษณาเข้ามาบุกรุก หรืออาจจะเป็นแขกรับเชิญรายการ “ล้วงลับตับแตก” โดยไม่รู้ตัว หรือแย่ไปกว่านั้นคือกลัวว่าเฟสบุ๊คจะปิดการใช้โปรแกรมดังกล่าวไปดื้อๆ นั่นเอง   Jeans-ยีนส์ ฉลาดซื้อเคยลงบทความเรื่อง CSR กางเกงยีนส์ยี่ห้อดัง ที่นำเสนอเรื่องราวกว่าจะเป็นกางเกงยีนส์สักตัวต้องผ่านหลากหลายขั้นตอน ใช้ทั้งทรัพยากรธรรมชาติ ใช้ทั้งพลังงาน  ใครจะคิดว่าการผลิตกางเกงยีนส์ก็ส่งผลให้เกิดสภาวะโลกร้อนด้วยเหมือนกัน งานนี้กางเกงยีนส์เลยต้องขอทำหน้าที่กู้โลกกะเขาบ้าง ด้วยการแปลงโฉมเป็น “Eco Jean” หรือ “กางเกงยีนส์รักษ์โลก” เมื่อ ลีวายส์ (Levi’s) แบรนด์กางเกงยีนส์ชื่อดัง ผลิตกางเกงยีนส์รุ่นเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยควบคุมทุกขั้นตอนการผลิตให้รบกวนธรรมชาติน้อยที่สุด เริ่มตั้งแต่การใช้ฝ้ายที่ปลูกแบบเกษตรอินทรีย์มาผลิตกางเกง ใช้เปลือกมะพร้าวมาทำกระดุม สีที่ใช้ตกแต่งก็เป็นสีธรรมชาติ ส่วนป้ายที่บอกข้อมูลและราคาสินค้าแน่นอนว่าทำมาจากกระดาษรีไซเคิล ถึงเวลาเหล่าแฟชั่นตัวแม่แสดงพลังแก้ปัญหาโลกร้อนแล้ว...   Korea Fever-เคป็อป “เบื่อมั้ย?...เกาหลี” คำถามนี่อาจจะทั้งโดนใจและขัดใจหลายๆ คน แต่ก็ต้องยอบรับว่า “เกาหลีฟีเวอร์” มีอิทธิพลกับผู้บริโภคไทยในระดับที่มากถึงมากที่สุด ไม่ใช่แค่เพลงกับละครเท่านั้น ความเป็นเกาหลียังแพร่กระจายอยู่ในหลากหลายรูปแบบ ทั้งเรื่องอาหารการกิน เรื่องความสวยความงาม หรือแม้แต่การท่องเที่ยว แถมไม่ใช่แค่สินค้าจากเกาหลี (หรือแอบอ้างว่าเป็นเกาหลี) เท่านั้นที่ได้รับความนิยม เพราะเดี๋ยวนี้สินค้าไทยแท้ๆ ยังต้องจ้างดารา – นักร้องเกาหลีมาเป็นพรีเซนเตอร์ หวังเกาะกระแสเกาหลีฟีเวอร์ ทั้งๆ ที่สินค้าเหล่านั้นทำออกมาขายคนไทย แต่ทำไมต้องให้ดาราหรือนักร้องเกาหลีมาการันตีความดีของสินค้าเหล่านั้นก็ไม่เข้าใจเหมือนกัน ไม่ใช่จะมาบอกว่าดาราหรือสินค้าเกาหลีไม่ดี แต่อยู่ที่เราเลือกมองเลือกใช้อย่างไรมากกว่า ฝากถึงผู้ผลิตหรือคนที่นำเข้าสินค้า อย่าใช่แค่คำว่าเกาหลีมาเป็นจุดขาย เพราะของจะดีหรือไม่ดีเขาดูกันที่คุณภาพ Labeling – ฉลาก เป็นด่านหน้า ที่จะทำให้ผู้บริโภคได้รับข้อมูลที่จำเป็นของผลิตภัณฑ์นั้น ๆ แบ่งประเภทของฉลากตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภคได้เป็นสองกลุ่มคือ กลุ่มฉลากสินค้าทั่วไป และ กลุ่มฉลากยา อาหาร และผลิตภัณฑ์สุขภาพ ฉลากอาหารกลุ่มแรกอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ขณะที่กลุ่มที่สองอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) โดยมีจุดร่วมทางกฎหมายคือได้กำหนดให้เป็นหน้าที่และความรับผิดชอบของผู้ประกอบธุรกิจที่จะต้องให้ข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญเกี่ยวกับสินค้าเพื่อเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคที่จะได้รับทราบข้อมูลข่าวสาร รวมทั้งคำพรรณนาคุณภาพที่ถูกต้องและเพียงพอเกี่ยวกับสินค้านั้น ๆ โดยผู้บริโภคสามารถใช้เป็นข้อมูลประกอบในการพิจารณาเลือกซื้อหรือใช้สินค้าได้อย่างปลอดภัย เป็นธรรม และประหยัด ดังนั้นข้อความที่ปรากฏในฉลาก จึงต้องตรงต่อความจริง ไม่มีข้อความที่อาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับสินค้า และจะต้องเป็นภาษาไทย   Made in China-เมดอินไชน่า กว่าร้อยละ 50 ของรองเท้า เสื้อผ้า เครื่องใช้ในบ้าน ของเล่น เฟอร์นิเจอร์ หรือแม้แต่ของประดับต้นคริสต์มาส ล้วนแล้วแต่เดินทางออกจากประเทศจีนทั้งสิ้น แต่ร้อยละ 89 ของสินค้าไฮเทคที่จีนส่งออกไปขายต่างประเทศนั้น ผลิตจากโรงงานที่เจ้าของเป็นนายทุนต่างชาติ (มีไม่น้อยที่เป็นคนเกาหลีและไต้หวัน) แม้แรงงานจีนจะมีงานทำ มีรายได้ แต่ผลกำไรส่วนใหญ่นั้นตกอยู่ที่คนอื่น เช่น ไอโฟน 4S เครื่องหนึ่งที่มีต้นทุนชิ้นส่วนและการประกอบไม่เกิน 6,000 บาท (ค่าแรงในการประกอบต่อหนึ่งเครื่องอยู่ที่ไม่เกิน 50 บาท) แต่เมื่อมาถึงมือผู้บริโภค รวมค่าลิขสิทธิ์ซอฟท์แวร์ ค่าโฆษณา ฯลฯ แล้ว ก็อยู่ที่ประมาณ 20,000 บาท ทั้งนี้หลังจากตกเป็นข่าวบ่อยๆ เพราะมีคนงานฆ่าตัวตายอยู่เนืองๆ โรงงานฟอกซ์คอน (ซึ่งเจ้าของคือมหาเศรษฐีชาวไต้หวัน) ผู้ผลิตอุปกรณ์อิเลคทรอนิกส์ให้กับแบรนด์ชั้นนำต่างๆ รวมถึง Apple ประกาศว่ากำลังพิจารณาขึ้นค่าแรงจากปัจจุบัน 2,200 หยวน เป็น 4,400 หยวน (ประมาณ 22,000 บาท) ต่อเดือน ในปีหน้าด้วย อันนี้ไม่รู้ว่าพูดเป็นนัยๆ ให้ทราบโดยทั่วกันว่าต่อไปผลิตภัณฑ์พวกนี้จะราคาแพงขึ้นด้วยหรือเปล่า   19 -ฉลาดซื้อขึ้นปีที่ 19 ตั้งแต่พิมพ์ฉบับแรกเมื่อมิถุนายน 2537 ฉลาดซื้อเราลงเรื่องซ้ำไม่มาก เพราะปัญหาผู้บริโภคบ้านเรามันเกิดได้กับทุกสินค้า ส่วนเรื่องที่ลงซ้ำก็มักมีพัฒนาการปัญหาใหม่ๆ ให้วุ่นวายชี้แจงแถลงไขกันไม่หยุด อย่างขนมเด็กที่มีปัญหาเรื่องฉลากมาตั้งแต่เริ่มฉลาดซื้อ ผ่านไปสิบแปดปี ก็ยังมีปัญหาฉลากเหมือนเดิม พร้อมๆ กับการเติบโตของเทคโนโลยี สินค้าหลายชนิดถูกยกระดับการผลิตให้ดีขึ้น ขณะเดียวกันเทคโนโลยีก็ถูกใช้เป็นเครื่องมือหลอกหากินกับผู้บริโภคได้อย่างน่าเชื่อถือมากขึ้นด้วย ดังนั้นแล้วจะซื้ออะไรก็ขอให้ใส่ใจหาความรู้ให้มาก รู้ให้ทัน อย่าใจเร็วด่วนได้ ฉลาดซื้อกันนะคะ Olympic-โอลิมปิก มีใครก็ไม่รู้บอกว่า “โอลิมปิกเป็นกีฬาของมวลมนุษยชาติ” ในเมื่อโอลิมปิกเป็นกีฬาของทุกคนบนโลก มหานครลอนดอนจึงมีมาตรการสีเขียว แบบว่าจัดเต็มไม่น้อยหน้าครั้งที่ผ่านๆ มา ประมาณการว่ามหกรรมโอลิมปิก 2012 ในช่วง 17 วันของการแข่งขัน จะมีผู้เข้าชมการแข่งขันราว 6.5 ล้านคน ซึ่งจะก่อให้เกิดขยะจากบรรจุภัณฑ์ใส่อาหารถึง 3,300 ตันจะก่อให้เกิดขยะ 8,250 ตัน และมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดอ๊อกไซด์ 1.1 ล้านตัน คณะกรรมการจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิค 2012 ได้ตั้งเป้าว่าในช่วง 6 สัปดาห์ของการแข่งขันกีฬาโอลิมปิคจะต้องไม่มีขยะที่ต้องนำไปฝังกลบ และขยะที่ถูกทิ้งอย่างน้อย 70% จะต้องสามารถนำไป reuse หรือ recycle หรือต้องย่อยสลายได้ ส่วนบริษัทน้ำดำ สปอนเซอร์รายใหญ่ถึงกับให้คำมั่นสัญญาว่า ขวดพลาสติกแบบ PET ทุกใบที่ขายในการแข่งขัน ซึ่งคาดว่าจะมีจำนวนราว 80 ล้านใบ จะถูกนำมา recycle เป็นขวดใบใหม่    นอกจากนี้บรรจุภัณฑ์ใส่อาหาร ไม่ว่าจะเป็นถ้วยกระดาษใส่เครื่องดื่ม กระดาษห่ออาหารประเภท Fast Food และกล่องใส่แซนวิช จะต้องสามารถย่อยสลายได้   ก็ลองดูกันต่อไปว่าหลังจบการแข่งขันจะเป็นอย่างไร  …..ให้กำลังใจเจ้าภาพมา ณ โอกาส นี้   Photoshop-โฟโต้ชอป เดี๋ยวนี้มีเครื่องสำอางที่โฆษณาว่าช่วยดูแลผิวหน้า ลบเลือนริ้วรอย คืนความอ่อนเยาว์ เพิ่มความขาวกระจ่างใส ฯลฯ ถึงจะอยากสวยอยากใสแค่ไหน สาวๆ ฉลาดซื้อก็อย่าได้ปักใจเชื่อเด็ดขาด เพราะสิ่งที่เห็นในโฆษณาอาจเป็นเพียงภาพมายา เดี๋ยวนี้อะไรๆ ก็ถูกทำให้ดูดีได้ด้วยเทคนิคของโปรแกรมตกแต่งภาพยอดนิยมอย่าง “โฟโต้ชอป” (Photoshop) รอยย่น รอยตีนกา สิว ฝ้า จุดด่างดำ ของนางแบบในโฆษณา ถูกทำให้หายไปในพริบตา ไม่ใช่เพราะสรรพคุณของตัวผลิตภัณฑ์ แต่เป็นเพราะความมหัศจรรย์ของโฟโต้ชอปล้วนๆ ที่ประเทศอังกฤษ หน่วยงานมาตรฐานการโฆษณาของสหราชอาณาจักร เคยสั่งแบนโฆษณาแป้งรองพื้น ลังโคม (Lancome) ของเครื่องสำอางยี่ห้อดังอย่าง ลอริอัล (L’oreal) เพราะนักแสดงสาว จูเลีย โรเบิร์ต ซึ่งเป็นพรีเซนเตอร์ให้กับผลิตภัณฑ์ดังกล่าว มีใบหน้าที่เรียบเนียนเกินจริงดูแล้วไม่สมวัยซึ่งเกิดจากการรีทัชลบริ้วรอยออกไป แล้วแบบนี้ยังจะเชื่ออยู่มั้ยว่าใช้แล้วสวยสาวขาวใส ก็ขนาด จูเลีย โรเบิร์ต ยังต้องพึ่งโฟโต้ชอป!!!   Queue-คิว การเข้าคิวก็เหมือนการสื่อสารอย่างหนึ่ง ผู้คนพร้อมจะเข้าไปยืนในคิวก่อนที่จะรู้ด้วยซ้ำว่ากำลังจะมาซื้อสินค้าอะไร  ถ้าเป็นของกินแล้วคิวยาว แปลว่าของร้านนี้เขาคงอร่อยมากแน่ๆ คุณรู้หรือไม่ คนที่ไหนชอบเข้าคิวมากที่สุด  เฉลยว่าเป็นคนรัสเซีย ซึ่งว่ากันว่าสนุกกับการเข้าคิวมากกว่าการซื้อของเสียอีก เมื่อร้านฟาส์ตฟู้ดแห่งหนึ่งเปิดตัวที่มอสโควในปี 1990 นั้นมีคนมาเข้าคิวรอล่วงหน้านานกว่าคอนเสิร์ตเลดี้ กาก้า ที่บ้านเราอีก มีผลการสำรวจที่ระบุว่า รัสเซียเป็นที่ ที่คิวยาวที่สุดและขยับช้าที่สุดในยุโรป โดยเฉลี่ยแล้วคิวที่นี่ใช้เวลารอประมาณ 27 นาที ตามด้วยอันดับ 2 คืออิตาลี ที่ต้องเข้าคิวกัน 14 นาที ส่วนที่แทบจะไม่ต้องรอกันเลยคือ สวีเดน ที่เวลาเฉลี่ยในการเข้าคิวอยู่ที่ 2 นาทีเท่านั้น คนรัสเซียเขาเลยนิยมเทครัวกันไปซื้อของ ไม่ใช่เพราะต้องการความอบอุ่น แต่เพื่อจะได้กระจายกำลังกันไปเข้าคิวอื่นๆ เป็นการประหยัดเวลานั่นเอง เหตุที่คิวต่างๆ ยาวขึ้นนั้นเพราะภาวะเศรษฐกิจที่แย่ลง ทำให้สถานประกอบการต่างๆ ลดพนักงาน เพื่อลดต้นทุนนั่นเอง โดยเฉพาะสถานประกอบการของรัฐ ที่ทำการไปรษณีย์ ธนาคาร ที่ขายตั๋วรถไฟ และร้านรวงทั่วไป   Rich-ความร่ำรวย คนไทยส่วนใหญ่เป็นคนจน เชื่อมั้ย?? ถ้าดูจากจำนวนผู้ที่มีรายได้ที่ต้องแสดงแบบเพื่อเสียภาษี เมื่อปี 2554 มีเพียง 11.7 ล้านคน แต่จ่ายภาษีจริงหลังหักลดหย่อนเหลือแค่ 2.3 ล้านคน  (รายงานผลสำรวจของสำนักงานสถิตแห่งชาติในปี 2553 บอกว่าแรงงานของไทยทั้งหมดมีประมาณ 38 ล้านคน เป็นมนุษย์เงินเดือน 17 ล้านคน และกลุ่มอาชีพอิสระ เช่น หมอ วิศวกร ก่อสร้าง เกษตรกร แท็กซี่ หาบเร่แผงลอยอีก 21 ล้านคน) มองง่ายๆ มนุษย์ที่มีเงินเดือนเกิน 20,000 บาทขึ้นไปถึงเข้าข่ายเสียภาษี คือ 2.3 ล้านคนเท่านั้น เลยมีหลายคนให้ข้อสังเกตว่า อุตสาหกรรมหลายอย่างที่จับกลุ่มคนชั้นกลางจะไม่เติบโตมากในประเทศนี้ แต่กลุ่มอุตสาหกรรมที่สร้างเงินมหาศาลให้กับเจ้าของกิจการจะเป็นสินค้าสำหรับคนรากหญ้าหรือผู้ใช้แรงงาน ได้แก่ อุตสาหกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และเครื่องดื่มชูกำลัง ลองนึกถึงเศรษฐีอันดับต้นๆ ในประเทศนี้สิ ไม่ว่าจะเป็นคุณเฉลียว อยู่วิทยา(ที่เพิ่งเสียชีวิตไป) หรือคุณเจริญ สิริวัฒนภักดี ทั้งสองล้วนได้รับแรงสนับสนุนอย่างดีจากคนส่วนใหญ่ของประเทศนี้ จนติดอันดับเศรษฐีไม่เฉพาะของไทยแต่ของโลกเลยทีเดียว ดังนั้นถ้าอยากรวยรู้แล้วใช่ไหมว่าต้องขายอะไรกับใคร Sport-กีฬา 1 ในหลายรสชาติของการเชียร์กีฬาอย่างมีสีสัน  และสนุกไปกับเกม เสมือนเข้าไปนั่งเชียร์อัพให้กำลังใจทีมโปรดในสนาม ก็คือ การมีส่วนร่วม ไม่ว่าจะเป็นการฝึกร้องเพลงประจำทีม หรือการซื้อหาชุดกีฬาทีมมาสวมใส่ ในศึกยูโร 2012  ก็เช่นกันหลายๆ คนที่ซื้อหาเสื้อทีมชาติที่โปรดปรานมาครอบครองไว้แล้ว อาจจะร้อนๆ หนาวๆ ถ้ารู้ข่าวที่องค์กรคุ้มครองผู้บริโภคของยุโรป(บีอียูซี)  ออกมาแฉผลศึกษาเสื้อทีมฟุตบอล ในศึกยูโร 2012 ว่าเต็มไปด้วยสารเคมีอันตรายต่อมนุษย์  โดยมีเสื้อทีมฟุตบอล 9 ชาติ มีส่วนผสมของสารเคมีที่ใช้ในการผลิตอยู่ในระดับน่าเป็นห่วง และมี 6 ชาติ   จากจำนวนนั้น มีสารตะกั่วและโลหะหนักผสมอยู่ โดยในเสื้อทีมสเปน และ เยอรมนี มีสารตะกั่วสูงมากกว่าที่กฎหมายกำหนด ในเสื้อทีมชาติสเปนและอิตาลี  พบสาร โนลิเฟโนล ซึ่งส่งผลต่อระบบต่อมไร้ท่อ และถูกแบนจากการใช้ในกระบวนการบำบัดน้ำเสียเพราะมีอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม ส่วนเสื้อทีมโปรตุเกสและเนเธอร์แลนด์ มีสารนิคเกิล อยู่ด้วย ขณะที่เสื้อทีมโปแลนด์ เจ้าภาพร่วมอาการหนักกว่าเพื่อน เนื่องจาก มีส่วนผสมของ ออร์แกโนติน สารเคมีที่มีผลต่อระบบประสาท ในระดับสูงกว่าที่กฎหมายกำหนด จนองค์กรเพื่อผู้บริโภคของยุโรป เห็นว่า ควรจะถูกแบนจากร้านค้าโดยเด็ดขาด แฟนฟุตบอลจำนวนมาก ต้องจ่ายเงินมากกว่า 90 ยูโร หรือประมาณ 3,600 บาท ในการซื้อหาเสื้อทีมโปรดมาสวมใส่  เลยไม่รู้จะจะดีใจแทนคนไทยหรือไม่ที่ไม่ต้องเสี่ยงสารพิษ   แถมจ่ายเงินน้อยกว่าเพราะซื้อเสื้อบอลก็อปเกรดเอ จากร้านข้าง ๆ สนามศุภฯ ดี   Traffic Light Labeling – ฉลากโภชนาการแบบสีสัญญาณไฟจราจร เป็นฉลากโภชนาการแบบที่มีต้นกำเนิดจากประเทศอังกฤษ พิสูจน์แล้วว่า ช่วยให้ผู้บริโภคสามารถตัดสินใจเลือกอาหารที่ตนต้องการได้อย่างรวดเร็วเพียงการมองแค่ครั้งเดียวสำหรับผู้บริโภคทุกกลุ่มโดยเฉพาะเด็กและผู้ปกครองเด็ก ฉลากโภชนาการชนิดนี้ได้กำหนดให้แสดงคุณค่าสารอาหารจากกลุ่มสารอาหารที่มักก่อให้เกิดปัญหาต่อร่างกายเมื่อได้รับในปริมาณมากเป็นประจำ 5 รายการ ได้แก่ ค่าพลังงาน (Energy/ Calories) ไขมัน (Fat) ไขมันอิ่มตัว (Saturates Fat) น้ำตาล (Sugar) และ เกลือ (Salt) บนส่วนหน้าของฉลากอาหาร และกำหนดให้แสดงค่าสารอาหารโดยระบุปริมาณพร้อมใช้สีของสัญญาณไฟจราจร ได้แก่ สีเขียว สีเหลือง และสีแดง เป็นสัญลักษณ์ หมายถึงคุณค่าทางโภชนาการ ต่ำ ปานกลาง สูง  เพื่อให้ผู้บริโภคเข้าใจ เครือข่ายผู้บริโภคเราก็เคยเคลื่อนไหวให้ อย. เอาฉลากเขียวเหลืองแดงมาใช้กับขนม แต่ไปๆ มาๆ กลายเป็นฉลากจีดีเอ ทรงกระบอกข้าวหลามที่เข้าใจยากกว่าไปได้   Used-มือสอง ข้อมูลของกรมควบคุมมลพิษ ปี 2553 ระบุ ประเทศไทยของเรามีขยะเกิดขึ้นมากถึงวันละ 41,532 ตัน ต้องใช้ทั้งกำลังคนและงบประมาณในการจัดเก็บเป็นจำนวนมาก ซึ่งมองย้อนกลับไปดูสถิติที่ผ่านมา 5 ปี ปริมาณขยะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี แถมขยะหลายชนิดก็ยากแก่การย่อยสลาย ทั้ง กระป๋องอะลูมิเนียม ถุงพลาสติก โฟม ขยะเหล่านี้จะอยู่คู่โลกของเราไปอีกหลายร้อยปี ถึงเวลาแล้วที่เราทุกคนต้องช่วยกันลดปริมาณขยะ เริ่มง่ายๆ ด้วยการใช้ของทุกอย่างที่เราซื้อมาอย่างคุ้มค่ามากที่สุด ซื้อเท่าที่จำเป็น รู้จักนำกลับมาใช้ใหม่ ใช้ซ้ำ อันไหนถ้าไม่ใช้แล้วจริงๆ ก็แบ่งปันให้คนอื่น แปรเป็นของมือ 2 หรือเอาไปเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล ทำให้ของทุกอย่างมีค่ามากกว่าการเป็นแค่ขยะ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 135 พุทธฉือจี้ ต้นแบบขบวนการทำความดี

“ฉือจี้” คำนี้เริ่มกลายเป็นคำคุ้นชินของบุคลากรทั้งในแวดวงการศึกษา ศาสนา สุขภาพ หรือแม้แต่องค์กรภาคเอกชนในประเทศไทยมากขึ้นทุกที ในฐานะองค์กรการกุศลที่มีชื่อเสียงโด่งดังระดับนานาชาติในนามเต็มว่า  “มูลนิธิพุทธฉือจี้” (Tzu Chi Foundation) องค์การกุศลที่มีชื่อเสียงมากที่สุดของไต้หวัน เมื่อเอ่ยนามไต้หวัน หลายๆ คนคงนึกออกแค่ภาพหมู่เกาะเล็กๆ ที่มีประชากรเชื้อสายจีนอาศัยอยู่ โดยมีลักษณะการปกครองที่เป็นตัวของตัวเองไม่ได้ขึ้นกับจีนแผ่นดินใหญ่  แต่ถึงแม้จะเล็ก ระดับความเจริญทางเศรษฐกิจและเสรีภาพในการเลือกนับถือศาสนาที่นี่ไม่น้อยหน้าชาติใดในโลก   ถ้ามีโอกาสไปไต้หวันคุณจะเห็นภาพนักบวช(ทั้งสตรีและบุรุษ) เดินปะปนไปกับผู้คนทั่วไปอย่างกลมกลืน รวมทั้งวัดจำนวนมากมายที่ไม่ได้จำกัดเพียงแค่วัดพุทธ เต๋าหรือขงจื้อ แต่ยังมีโบสถ์ของคริสต์และมัสยิดของอิสลามรวมอยู่ด้วย เพราะรัฐธรรมนูญของไต้หวันให้เสรีภาพกับประชาชนในการนับถือศาสนาโดยไม่มีองค์กรกลางด้านศาสนามากำกับดูแล ทำให้ความเชื่อและแนวปฏิบัติหลากหลายเติบโตได้อย่างเต็มที่ในดินแดนนี้ ที่จะต้องกล่าวถึงเป็นพิเศษคือ การให้โอกาสผู้หญิงบวชเป็น “พระภิกษุณี” ได้เท่าเทียมกับผู้ชาย ประมาณกันว่าพระในพระพุทธศาสนา(นิกายมหายาน) เป็นพระภิกษุ(ชาย) ราวร้อยละ 30 และภิกษุณี(หญิง) ร้อยละ 70 ซึ่งศาสนาพุทธนิกายมหายานเป็นที่ยอมรับมากที่สุด โดยมีประชากรราว 8 ล้านคนในไต้หวันเป็นศาสนิก เหตุที่ต้องเอ่ยถึงลักษณะพิเศษที่ประเทศนี้มีภิกษุณีจำนวนมาก ด้วยว่าเราจะเอ่ยถึงมูลนิธิพุทธฉือจี้ไม่ได้เลย หากไม่เอ่ยนามภิกษุณีท่านหนึ่ง ท่านธรรมาจารย์เจิ้งเหยียน ผู้ที่เป็นผู้นำสูงสุดทางจิตวิญญาณและเป็นผู้ก่อตั้งมูลนิธิพุทธฉือจี้   เริ่มจากเงินออมวันละ 50 เซนต์ มูลนิธิพุทธฉือจี้ ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2509 โดยท่านธรรมาจารย์เจิ้งเหยียน ร่วมกับลูกศิษย์ และผู้ร่วมอุดมการณ์ราว 30 คน ซึ่งได้แก่แม่บ้านที่อาศัยอยู่โดยรอบวัดจิงเส้อ ที่เมืองฮวาเหลียน เมืองทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของไต้หวัน ถือว่าเป็นดินแดนที่มีความทุรกันดารมากแห่งหนึ่ง งานเริ่มแรกของมูลนิธิพุทธฉือจี้คือการสงเคราะห์ผู้ตกทุกข์ ด้วยหลักธรรมแห่งพุทธมหายานนั้น มุ่งเน้นที่การช่วยเหลือผู้ตกทุกข์ได้ยากหรือบรรดาสรรพสัตว์ต่างๆ ให้หลุดพ้นจากห้วงกรรมเสียก่อน หรือพูดให้ง่ายก็คือ ต้องช่วยเหลือคนอื่นก่อน โดยเฉพาะคนยากไร้ คนที่ถูกทอดทิ้งไร้ที่พึ่งพิง กิจกรรมแรกของท่านธรรมาจารย์คือ ขอให้ลูกศิษย์ประหยัดค่ากับข้าวคนละ 50 เซนต์(เทียบแบบง่ายๆ ก็คือ 50 สตางค์) ต่อวัน โดยเก็บออมไว้ในกระบอกไม้ไผ่เพื่อนำมาช่วยเหลือสงเคราะห์ผู้คน  โดยเมื่อแรกก่อตั้งนั้นอาจช่วยเหลือผู้คนได้ไม่มาก แต่ปัจจุบันไม่น่าเชื่อว่า มูลนิธิพุทธฉือจี้สามารถช่วยเหลือผู้คนไม่เพียงในไต้หวันเท่านั้นแต่เป็นผู้คนทั่วโลกได้มากมายหลายล้านคน ในขณะเดียวกันผู้เข้าร่วมอุดมการณ์ฉือจี้ก็มีจำนวนไม่น้อยกว่า 10 ล้านคนทั้งในไต้หวันและต่างประเทศ ------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------ ภารกิจ 8 ประการของมูลนิธิพุทธฉือจี้ (1) งานการกุศล สงเคราะห์ผู้ยากไร้ (2) บรรเทาอุบัติภัย ทั้งระดับท้องถิ่นและสากล (3) บำบัดความเจ็บป่วยด้วยการแพทย์เปี่ยมจริยธรรม (4) การศึกษาที่ทำให้คนเป็นคนที่สมบูรณ์ มีความละเมียดละไมในการใช้ชีวิต (5) การสร้างสรรค์สังคมคุณธรรม (6) การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (7) ศูนย์ข้อมูลไขกระดูก (8) อาสาสมัครชุมชน ------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------   รูปธรรมของการขับเคลื่อนภารกิจทั้ง 8 ประการของมูลนิธิพุทธฉือจี้ ได้แก่ โรงพยาบาลฉือจี้ ที่มีมากถึง 7 แห่งในไต้หวัน ให้บริการการแพทย์ที่ทันสมัยและเปี่ยมด้วยหัวใจแห่งความเป็นมนุษย์ สถาบันการศึกษา ได้แก่ โรงเรียนแพทย์ มหาวิทยาลัย โรงเรียนมัธยม ประถมและอนุบาล ที่พร้อมปลูกฝังคุณธรรมและความเป็นผู้มีจิตเมตตา สถานีโทรทัศน์ต้าอ้าย สถานีโทรทัศน์น้ำดีที่ได้รับการโหวตจากผู้ชมชาวไต้หวันให้เป็นสถานีโทรทัศน์ที่ทรงอิทธิพลต่อผู้ชมมากที่สุด สถานีแยกขยะ(รีไซเคิลขยะ) ซึ่งตั้งอยู่ในชุมชนต่างๆ เพื่อจัดการกับขยะที่ดูเหมือนไร้ค่าให้กลายเป็นทองคำ งานบรรเทาทุกข์ผู้ประสบภัย ทั้งในประเทศและระดับสากล ด้วยคำขวัญไปถึงก่อนและกลับทีหลัง(เข้าไปเป็นกลุ่มแรกๆ และกลับออกมาเป็นกลุ่มสุดท้าย)  ธนาคารไขกระดูก เพื่อช่วยเหลือคนที่เป็นมะเร็งเม็ดเลือด งานสงเคราะห์ผู้ตกทุกข์ได้ยากและงานอาสาสมัครชุมชน  เพื่อขัดเกลาให้ชาวฉือจี้ได้ทำงานจิตอาสาอย่างสม่ำเสมอ พร้อมทั้งบ่มเพาะเมล็ดพันธุ์แห่งความดีในจิตใจให้งอกงาม ลดอัตตาและความเห็นแก่ตัวลง ปี 2553) มูลนิธิพุทธฉือจี้ได้รับสถานะ ที่ปรึกษาพิเศษ (special consultative status) ของคณะมนตรีเศรษฐกิจและสงคมแห่งสหประชาชาติ Economic and Social Council (ECOSOC) ขณะที่ท่านธรรมาจารย์เจิ้งเหยียนก็ได้รับรางวัลนานาชาติ เช่น เหรียญไอเซน ฮาวร์ (Eisenhower Medallion) และได้รับการเสนอชื่อเพื่อรับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ   เหตุแห่งความสำเร็จของมูลนิธิพุทธฉือจี้ 1.ความเป็นมืออาชีพ ไม่ว่าจะเป็นงานด้านใด ชาวฉือจี้จะมีระบบในการทำงานที่มีประสิทธิภาพ มีการวางแผนการทำงานอย่างเป็นขั้นตอน และมีวินัยอันเยี่ยมยอด 2.เป้าหมายร่วมที่เป็นหนึ่งเดียวกัน ชาวฉือจี้มุ่งมั่นในการทำความดีเพื่อประโยชน์สุขของผู้อื่น โดยละวางตัวตน ทำให้ไม่เกิดความท้อแท้เบื่อหน่ายเมื่อต้องเผชิญกับอุปสรรค 3.ศรัทธาอันแรงกล้าต่อผู้นำองค์กร ท่านธรรมาจารย์มีวัตรปฏิบัติที่สงบ งาม เป็นแบบอย่างอันดีให้แก่ชาวฉือจี้  สิ่งที่ท่านสอนเป็นสิ่งที่ท่านทำอย่างสม่ำเสมอมิเคยขาด ทำงานหนัก อยู่ง่าย กินง่าย เบียดเบียนผู้อื่นและโลกน้อยที่สุด 4.กิจกรรมทันสมัยไม่หนีห่างจากโลก กิจกรรมที่ชาวฉือจี้ปฏิบัติเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่และท้าทาย ทุกคนสามารถทำได้ เข้าถึงได้ ไม่มีใครที่เข้าร่วมขบวนการฉือจี้แล้วไม่มีอะไรทำ หรือรู้สึกสูญเปล่า 5.สมาชิกมีคุณภาพและเครือข่ายเข้มแข็ง ฉือจี้เน้นการปฏิบัติธรรมเป็นกลุ่ม บรรลุเป็นทีม ดังนั้นจะมีแนวทางหรือหลักสูตรที่ช่วยเพิ่มพูนประสิทธิภาพการทำงานให้กับสมาชิกและอาสาสมัคร 6.มีเงินทุนเป็นของตนเอง ทุกๆ เม็ดเงินที่มีผู้บริจาคเข้ามา หรือรายได้ที่เกิดจากกิจกรรมต่างๆ ทั้งการรีไซเคิลขยะ ขายของมือสอง ของที่ระลึก เงินทั้งหมดบริหารจัดการโดยมูลนิธิฯ ด้วยความโปร่งใสมากจนเป็นที่เชื่อถือของคนทั่วไป ทำให้แต่ละปีมีผู้บริจาคเงินเป็นจำนวนมาก เงินมาใช้ทำกิจกรรมต่างๆ อย่างมากมายไม่รู้จบสิ้น ประมาณการกันว่า เงินบริจาคที่มูลนิธิฯ ได้รับน่าจะมีมูลค่ารวมเป็นหมื่นเป็นแสนล้านเหรียญ 7.วัดไม่ยุ่งเกี่ยวกับเรื่องเงินบริจาค ในส่วนของวัดท่านธรรมาจารย์จะไม่ยุ่งเกี่ยวกับเงินบริจาคเลย ท่านธรรมาจารย์และลูกศิษย์ ถือคติ วันไหนไม่ทำงาน วันนั้นไม่กิน มาตั้งแต่เริ่มก่อตั้งวัด อาหารการกินมาจากแปลงผักในบริเวณวัดนี้เอง ผักเหล่านี้ภิกษุณีและอาสาสมัครฉือจี้จะช่วยกันปลูก เก็บ และนำมาประกอบอาหารเลี้ยงกันเองในวัด รวมทั้งเลี้ยงผู้มาเยือนซึ่งมีมาตลอดเวลา รวมทั้งการผลิตสินค้าอย่างเทียนไข รองเท้าสานจำหน่ายเพื่อเป็นรายได้ให้แก่ทางวัด การทำงานทั้งหมดนี้ถือว่าเป็นการปฏิบัติธรรม ดังนั้นจึงยิ่งสร้างศรัทธาให้แก่ผู้คน 8.การสื่อสารประชาสัมพันธ์ที่ต่อเนื่อง โดยมีรูปธรรมความสำเร็จที่ชัดเจน เช่น งานโรงพยาบาล งานวิทยาลัยแพทย์ งานบรรเทาทุกข์ ทำให้คนจำนวนมากสนใจและเข้าร่วมกิจกรรมมากมาย หรือแม้แต่การศึกษาดูงาน อาจกล่าวได้ว่า ถ้าไปไต้หวันใครๆ ก็อยากไปดูงานฉือจี้ 9.การสร้างคนรุ่นใหม่ ด้วยการปลูกฝังคุณธรรมให้กับนักเรียน นักศึกษาสถาบันการศึกษาของฉือจี้เอง รวมทั้งการถ่ายทอดเรื่องราวคุณธรรมต่างๆ ผ่านสถานีโทรทัศน์ที่ไม่เพียงสื่อสารกับคนในไต้หวันแต่ยังรวมถึงชาวจีนทั่วโลกด้วย 10.การสร้างพลังใจให้กับคนทำงาน มีการเก็บภาพข่าว ภาพกิจกรรม ความรู้ ประสบการณ์จากอดีตมาเสริมสร้างพลังใจในการทำงานอย่างต่อเนื่อง แม้เรื่องเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ก็ไม่ถูกมองข้าม การสื่อสารองค์กร ทำให้เกิดการเรียนรู้ในความสำเร็จและชื่นชมในความดีความงามของสมาชิกและอาสาสมัครตั้งแต่รุ่นแรกๆ จนถึงปัจจุบัน ช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้แก่ชาวฉือจี้ได้เป็นอย่างดี   การเข้าเป็นอาสาสมัครฉือจี้ การเข้าเป็นอาสาสมัครฉือจี้นั้นเป็นการมาโดยสมัครใจ  ไม่มีใครบังคับและทำการทุกอย่างด้วยความสมัครใจตามอรรถภาพที่แต่ละคนมีอยู่ และเปิดกว้างให้กับคนทุกชาติ  ศาสนา  เพราะการช่วยเหลือของมูลนิธิพุทธฉือจี้ เป็นการ ช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ทุกคนที่ตกทุกข์ได้ยากโดยไม่เลือกชาติ  ศาสนาหรือชนชั้น  เพศ  วัย  โดยถือว่าทุกคนในโลกใบนี้เป็นคนในครอบครัวเดียวกันเมื่อตกทุกข์ได้ยากก็ต้องช่วยเหลือกัน อาสาสมัครของฉือจี้มีหลายประเภท 1.อาสาสมัครชุดน้ำเงินขาว ผ่านการอบรมอย่างน้อย 2 ปี เพื่อพัฒนาขึ้นไปเป็นอาสาสมัครโรงพยาบาลและอาสาสมัครพ่อแม่อุปถัมภ์ 2.อาสาสมัครการศึกษา ผ่านการอบรมแนวคิดการเป็นครูแบบฉือจี้อย่างน้อย 2 ปี เพื่อพัฒนาขึ้นไปเป็นอาสาสมัครสมาคมครู 3.อาสาสมัครพิทักษ์สิ่งแวดล้อม ผ่านการอบรมอย่างน้อย 1 ปี ประจำอยู่ตามหน่วยสาธิตการเก็บแยกขยะทั่วเกาะไต้หวัน 4.อาสาสมัครแพทย์ฉือจี้ระหว่างประเทศ และยังมีอาสาสมัครในอาชีพอื่นๆ อีก เช่น ตำรวจ เป็นต้น   ทำความดีแบบฉือจี้ไม่มีเบื่อ หลายๆ คนอาจเคยได้ลองสัมผัสงานจิตอาสา โดยเฉพาะปลายปีที่แล้วที่บ้านเราพบเจอกับสถานการณ์น้ำท่วมใหญ่ภาคกลาง ในท่ามกลางความงดงามของความมีน้ำจิตน้ำใจที่คนหันมาช่วยเหลือกัน แต่ก็มีภาพและเสียงสะท้อน ที่บอกถึงความไม่เป็นมืออาชีพในการทำงานจิตอาสา หลายคนบ่นท้อแท้ หลายคนไม่ชอบใจที่ไปความตั้งใจดีแต่กลับพบความไม่มีระบบระเบียบในการดูแลเรื่องข้าวของบริจาค หรือถูกต่อว่าต่อขานโดยคนที่ตนเองเข้าไปช่วยเหลือ ฯลฯ อาจเพราะพวกเรายังใหม่ ส่วนใหญ่ก็มีแต่ใจที่อยากจะช่วย การมีแต่ใจแต่ขาดการจัดการ ส่วนใหญ่แล้วจะทำให้บั่นทอนกำลังใจลงไปเสียมาก จนหลายคนไม่อยากทำ หรือเบื่อหน่ายที่จะทำความดี รู้สึกว่าอยู่เฉยๆ ดีกว่า หรือบางคนก็มีศักยภาพที่สูงมากกว่าที่จะมานั่งแพ็กของ แพ็กกระสอบทราย แต่ที่ฉือจี้ อย่างที่ได้กล่าวไป ที่นี่ทำงานแบบมืออาชีพ งานอาสาสมัครหรือจิตอาสาของฉือจี้ ทำแล้วไม่มีเบื่อ ส่วนหนึ่งก็เพราะ 1.ทำด้วยความเข้าใจ พากเพียรไม่ลดละ 2.ผ่อนคลาย สมดุลทั้งกายและใจ 3.ให้เกียรติผู้ที่เข้าไปช่วยเหลือและละวางตัวตน 4.ได้รับการดูแลจากพี่เลี้ยง ไม่ปล่อยให้ทำงานลำพัง 5.ไม่หักโหม มีขั้นตอน มีพักผ่อน มีช่วงลงแรงแข็งขัน การทำงานอาสาสมัครของฉือจี้ จะเริ่มจากเรื่องง่ายๆ ใกล้ตัว นานๆ เข้าก็เลื่อนขั้นสูงขึ้น ได้ทำงานที่ได้ฝึกฝนตนเองมากขึ้น มีการดูแลจากพี่เลี้ยงไม่มีการทำเกินกำลัง จึงมีเวลาบ่มเพาะความเข้มแข็งทีละน้อย โดยไม่ต้องรู้สึกฝืนตัวตน จริงๆ ยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญ อาจเป็นเป็นข้อแรกเลยก็คือ ทุกคนมีความศรัทธาในตัวท่านธรรมาจารย์เจิ้งเหยียน จึงพร้อมละวางตัวตนได้อย่างง่ายดายและมีท่านเป็นแบบอย่างในการปฏิบัติตัว ท่านธรรมาจารย์สอนให้ชื่นชมผู้อื่น ไม่เน้นวิจารณ์หรือตำหนิติเตียน เพราะทั้งสองนี้เป็นที่มาของความขัดแย้ง ความไม่สบายใจและความแตกแยก ที่ฉือจี้สอนว่า หากเห็นผู้อื่นมีข้อบกพร่อง ก็จะยกให้กับกฎแห่งกรรมเป็นผู้ลงโทษ แล้วจะคิดไปในเชิงบวก “รู้จักพอเพียง เคร่งครัดที่ตน ผ่อนปรนผู้อื่น” เห็นความสำคัญของการให้เกียรติกันและให้อภัย ทำให้ความขัดแย้งทั้งภายนอกและภายในใจลดน้อยลง ในการให้ความช่วยเหลือ แม้เปี่ยมด้วยเมตตา แต่ก็ต้องใช้ปัญญากำกับเสมอ การดำเนินงานจึงจะถูกต้อง เช่น ครั้งหนึ่งเกิดแผ่นดินไหวใหญ่ในไต้หวัน นอกจากอาสาสมัครจะได้ออกไปช่วยเหลือบรรเทาทุกข์เพื่อผ่อนคลายความเดือดร้อนเฉพาะหน้าแล้ว ฉือจี้ยังสร้างอาคารเรียนหลังใหม่ให้แก่ชุมชนใหม่ถึง 51 แห่ง โดยกำหนดเป้าหมายสร้างอย่างแข็งแรงและทนแรงแผ่นดินไหวได้ถึง 7 ริกเตอร์เพื่อไม่ให้โรงเรียนพังลงมาทับเด็กจากเหตุแผ่นดินไหวอีก ทั้งที่ตอนที่พังลงมานั้นมีความแรงไม่ถึง 7 ริกเตอร์ แสดงให้เห็นถึงการมองถึงอนาคตเพื่อผู้ที่ได้รับความช่วยเหลือได้รับสิ่งที่ดีที่สุด ที่สำคัญทุกขั้นตอนมีการวางแผนบริหารจัดการอย่างดี การให้ความช่วยเหลือของฉือจี้จะเริ่มด้วยการประเมินสถานการณ์ก่อน ประเมินความต้องการ ดูเรื่องการขนส่ง การเข้าถึง การคำนึงถึงผู้ประสบภัยว่าต้องการสิ่งใดบ้าง เพื่อให้ของที่ไปถึงมือผู้รับไม่สูญเปล่าและตรงกับความต้องการ และมีการติดตามผล(ฉือจี้ไม่มีการนำข้าวสารไปให้ในพื้นที่ ที่ไม่สามารถหุงหาอาหารได้ ฉือจี้มีข้าวกึ่งสำเร็จรูปที่แค่แช่น้ำก็กินได้ นอกจากนั้นยังมีข้าวของจำเป็นอีกหลายอย่างที่ชาวฉือจี้พัฒนาขึ้นภายหลังการเรียนรู้จากการเข้าไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยทุกครั้ง) สนใจข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับมูลนิธิพุทธฉือจี้ สามารถเข้าไปดูเพิ่มเติมได้ที่ http://www.tzuchithailand.org   ข้อมูล วิชัย โชควิวัฒน์. ไปไหว้พระโพธิสัตว์ที่ไต้หวัน.สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ.กรุงเทพ,2553. พระเดิมแท้ ชาวหินฟ้า.พุทธฉือจี้ พุทธที่ไม่เคยเห็นมาก่อน.กองทุนสื่อพุทธฉือจี้,2551.   ------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------ ท่านธรรมาจารย์เจิ้งเหยียนผู้เป็นประมุขของชาวฉือจี้นั้น เกิดเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2480 ที่ตำบลชิงสุ่ย เมืองไทจุง ซึ่งอยู่ตอนกลางของไต้หวัน พ่อแม่ยกให้เป็นบุตรบุญธรรมของอา จึงนับถืออาเป็นเหมือนพ่อแม่ที่แท้จริง เมื่ออายุได้ 15 ปี แม่ป่วยด้วยโรคกระเพาะอาหาร ท่านอาจารย์ได้ตั้งจิตอธิษฐานขอให้มารดาหายป่วย โดยขอลดอายุของตนเองลง 12 ปี และจะกินมังสวิรัติเพื่อเป็นการสร้างกุศล แต่เมื่ออายุได้ 20 ปี บิดาของท่านก็ล้มป่วยด้วยโรคความดันโลหิตสูงและเสียชีวิตลงอย่างกะทันหัน ท่านอาจารย์มีความสะเทือนใจมาก ในที่สุดก็ตัดสินใจปลงผมตนเองถือบวช เร่ร่อนไปทางแถบตะวันออกของไต้หวันซึ่งเป็นเขตทุรกันดาร ผู้คนยากจนมาก ท่านไม่ออกรับบิณฑบาตจากชาวบ้านเพราะไม่ต้องการให้ชาวบ้านเดือดร้อน ดำรงชีวิตอย่างเรียบง่ายด้วยการเก็บถั่วลิสงและมันเทศที่หลงเหลือจากการเก็บเกี่ยวของชาวบ้านมาเป็นอาหาร จนกระทั่งปี พ.ศ. 2504 ท่านได้เดินทางมาพำนักที่เมืองฮวาเหลียน และได้พบกับพระอาจารย์ยิ่นซุ่นซึ่งรับเป็นพระอุปัชฌาย์บวชให้ โดยได้สั่งสอนหลักสั้นๆ ว่า “เมื่อบวชแล้ว จงทำทุกอย่างเพื่อพุทธศาสนาและมวลมนุษย์” หลังจากนั้นท่านธรรมาจารย์และผู้ร่วมอุดมการณ์ ได้มาสร้างกระท่อมเล็กๆ หลังวัดผู่หมิงที่ฮวาเหลียนเป็นที่พำนัก โดยมีศิษย์ไม่กี่คนติดตามมาด้วย ท่านอาจารย์และสานุศิษย์ทุกคนต้องทำงานอย่างหนัก ต่อสู้กับภัยธรรมชาติทุกรูปแบบ อยู่แบบอดมื้อกินมื้อ ตามกฎที่ท่านตั้งไว้ว่า “วันใดไม่ทำงาน วันนั้นจะไม่กิน” กล่าวคือ นอกจากจะปลูกผักไว้กินเองแล้ว ยังทำสินค้าออกจำหน่ายเพื่อหาเงินมาประทังชีวิตด้วย เช่น นำด้ายจากโรงงานที่เขาทิ้งแล้วมาถักเป็นเสื้อกันหนาว ถักรองเท้าเด็กขาย เย็บถุงสำหรับใส่อาหารสัตว์ เป็นต้น ปี พ.ศ. 2509 ท่านธรรมาจารย์ประสบเหตุอันทำให้กระทบกระเทือนใจอย่างรุนแรง เมื่อไปเยี่ยมอุบาสกผู้หนึ่งที่เข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลเอกชนที่ฟงหลิน ท่านไปพบกองเลือดกองใหญ่นองอยู่บนพื้น สอบถามได้ความว่าเป็นกองเลือดของผู้หญิงชนบทแท้งลูก ญาติพามาโรงพยาบาลใช้เวลาเดินทาง 7-8 ชั่วโมง แต่ต้องพากลับไปรักษาที่อื่นเพราะไม่มีเงิน 8,000  เหรียญสำหรับจ่ายค่ามัดจำก่อนที่แพทย์จะลงมือผ่าตัดช่วยชีวิต เหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้ท่านอาจารย์ตั้งปณิธานแน่วแน่ว่าจะต้องทำงานเพื่อหาทางช่วยเหลือผู้ยากไร้ที่ขาดที่พึ่งพิง และในที่สุดก็เกิดความคิดที่จะรวบรวมชาวพุทธเข้าด้วยกันเพื่อร่วมกันสร้างกุศลกรรมโดยการช่วยเหลือผู้ยากไร้อย่างเป็นรูปธรรมด้วยความเมตตากรุณาและไม่หวังผลประโยชน์ตอบแทน ซึ่งหากทำได้ ทุกคนก็จะเป็นพระโพธิสัตว์ได้ทันที ไม่ต้องรอสวดมนต์อ้อนวอนภาวนาต่อเจ้าแม่กวนอิมเพื่อให้ได้เป็นพระโพธิสัตว์ ความทุกข์ยากในสังคมและในโลกก็จะบรรเทาเบาบางลงไปได้ นพ. อำพล จินดาวัฒนะ http://www.sarakadee.com/web/modules.php?name=Sections&op=viewarticle&artid=660

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 134 เมื่อข้าวถุงขึ้นราคา...อย่าคิดว่าไม่สำคัญ

คนที่ชอบรับประทานข้าวหอมมะลิอาจจะต้องเตรียมใจ เมื่อ นายสมเกียรติ มรรคยาธร นายกสมาคมผู้ประกอบการข้าวถุงไทย ออกมาบอกว่าจำเป็นต้องปรับขึ้นราคาข้าวหอมมะลิชนิดบรรจุถุงเพิ่มขึ้นอีกถุงละประมาณ 10 บาท หลังสงกรานต์ปีนี้ เนื่องจากต้นทุนต่างๆ ในการผลิตปรับตัวสูงขึ้น ทั้งค่าวัตถุดิบ ค่าแรงงาน ค่าขนส่ง รวมทั้งนโยบายของภาครัฐซึ่งส่งผลกระทบในมุมของต้นทุนการผลิตด้วยเช่นกัน แม้ในยุคนี้หลายคนจะติดพฤติกรรมการกินข้าวนอกบ้านมากกว่าหุงข้าวกินเอง แต่ยังไงซะข้าวสารก็ยังเป็นของสำคัญที่ต้องมีไว้ในครัวที่บ้าน การที่ข้าวสารหอมมะลิบรรจุถุงปรับขึ้นราคานั้น แม้จะเป็นจำนวนเงินที่ไม่มากหากคิดในแง่ของปริมาณ ยิ่งเมื่อเทียบว่าข้าวถุงส่วนใหญ่วางขายอยู่ในตลาดนั้นจะมีความจุอยู่ที่ 5 กิโลกรับต่อถุง ซึ่งหนึ่งถุงนั้นหลายๆ ครอบครัวสามารถซื้อเก็บไว้กินได้นานเป็นเดือนๆ ก็อาจมองได้ว่าไม่น่าจะเป็นผลกระทบกับเราในฐานะผู้บริโภคมากนัก แต่เราในฐานะที่เราเป็นคนไทย ประเทศเกษตรกรรมซึ่งเกษตรกรมากกว่าครึ่งหนึ่งปลูกข้าวทำนา และที่สำคัญคือไม่ว่าจะยังไงข้าวก็ยังเป็นอาหารหลักของคนไทย สถานการณ์ต่างๆ ที่จะเกิดกับข้าวไทยของเราจึงเป็นเรื่องที่เราไม่ควรละเลย ----------------------   ข้าวถุงบุกทุกครัว!!! คุณแม่บ้าน คุณพ่อบ้านคนไหนที่เคยไปเลือกซื้อข้าวสารถุงตามห้างค้าปลีกขนาดใหญ่หรือแม้แต่ในร้านโชว์ห่วย น่าจะสังเกตเห็นว่าเดี๋ยวนี้มีข้าวถุงยี่ห้อต่างๆ วางขายแข่งขันกันอยู่เป็นจำนวนมาก เฉพาะข้าวหอมมะลิก็มีให้เลือกหลากหลายพันธุ์ เช่น ข้าวหอมสุรินทร์ ข้าวหอมแปดริ้ว ข้าวหอมสุพรรณ ข้าวหอมปทุม ฯลฯ ยังไม่รวมถึงการแบ่งตามลักษณะของข้าว ไล่ตั้งแต่ ข้าวหอมมะลิขัดขาว ข้าวหอมมะลิกล้อง และข้าวหอมมะลิอินทรีย์ ส่วนเรื่องราคาก็แตกต่างกันไป ข้าวสารถุง 5 กิโลกรัม ราคาก็มีตั้งแต่ 100 กว่าบาทไปจนถึง 200 กว่าบาท ตามคุณภาพของข้าว หลายคนคงคุ้นเคยกับการซื้อข้าวชนิดบรรจุถุง ทั้งขาวธรรมดาและข้าวหอม ด้วยความที่สะดวกหาซื้อง่ายเพราะมีวางขายตามร้างค้าปลีกทั่วไป บางคนก็คิดว่าข้าวสารบรรจุถุงน่าจะสะอาดและได้ข้าวที่คุณภาพดีกว่าข้าวสารที่แบ่งขายจากกระสอบ แต่ถ้าคิดในแง่ของราคา ข้าวสารแบบตวงขายจะถูกกว่าเมื่อดูจากรายงานราคาข้าวเปลือกและข้าวสารของกรมการค้าภายในเมื่อวันที่ 5 เมษายน 2555 ที่แจ้งราคาข้าวหอมมะลิ 100% แบบตวงขายอยู่ที่กิโลกรัมละ 35 - 38 บาท ขณะที่ข้าวหอมมะลิบรรจุถุง คิดราคาเฉลี่ยต่อ 1 กิโลกรัม จะอยู่ที่ 36 – 40 บาท ซึ่งก็ถือว่าเป็นราคาที่แตกต่างกันไม่มาก แต่ด้วยภาพลักษณ์ การโฆษณา บวกกับการออกแบบแพ็กเก็จที่ดูสวยงาม ทำให้ข้าวสารถุงถือเป็นตัวเลือกที่หลายครอบครัวนิยมมากกว่า แม้แต่ในต่างหวัดที่เคยนิยมซื้อข้าวแบบตวงขายมากกว่า ก็หันมาให้ความสนใจข้าวสารบรรจุถุงมากขึ้น เนื่องจากมีข้าวยี่ห้อใหม่ออกมาตีตลาดเป็นจำนวนมาก เหตุผลหนึ่งเป็นเพราะว่าการแข่งขันของข้าวในตลาดต่างประเทศมีความยากมากขึ้น ผู้ผลิตจึงหันกลับมาทำตลาดในประเทศไทย โดยเฉพาะตลาดในต่างจังหวัดที่ยังเปิดกว้าง หลายจังหวัดเกิดการปรับเปลี่ยนจากแต่ก่อนที่พื้นที่ส่วนใหญ่ทำการเกษตรปลูกข้าว ส่วนหนึ่งเอาไว้ขายอีกส่วนก็เก็บไว้กินเอง ปัจจุบันภาคอุตสาหกรรมรุกคืบเข้าไปแทนที่ภาคการเกษตร ทำให้ผู้บริโภคต้องเปลี่ยนพฤติกรรมหันมาซื้อข้าวไว้รับประทาน (แต่จากการสำรวจราคาข้าวหอมมะลิถุงที่ขายอยู่ในท้องตลาด พบว่าความจริงแล้วมีหลายยี่ห้อที่ขายสูงกว่าราคาที่กรมการค้าภายในสำรวจ แถมจากเดิมที่ข้าวถุงนิยมขายในปริมาณ 5 กิโลกรัมต่อ 1 ถุง แต่เดี๋ยวนี้มีการปรับขนาดเป็นแบบ 2 กิโลกรัมออกมาเป็นตัวเลือกให้ผู้บริโภค ซึ่งราคาของข้าวหอมถุงแบบ 2 กิโลกรัมจะอยู่ที่ 80 – 100 บาทต่อถุง ซึ่งถ้าคำนวณเป็นปริมาณ 5 กิโลกรัม ราคาก็จะสูงเกิน 200 บาทตามที่กรมการค้าภายในสำรวจมาแน่นอน) ตลาดข้าวถุงในประเทศมีมูลค่าอยู่ที่ประมาณ 1.5 แสนล้านบาท มีสินค้าอยู่ในตลาดกว่า 250 แบรนด์ โดยมี “ข้าวตราฉัตร” เป็นผู้นำส่วนแบ่งการการตลาดที่ 10% รองลงมาคือ “ข้าวมาบุญครอง” “ข้างหงส์ทอง” และ “ข้าวตราเกษตร” ที่มีส่วนแบ่งอยู่ที่ 6 – 7% ที่มา : สยามรัฐ แบรนด์บรรษัท ฉบับวันที่ 27-28 มิถุนายน 2554 -------------------------------------------------------------------------------   นโยบายรับจำนำข้าวกับการเปลี่ยนแปลงของราคา เรื่องของราคาข้าวนั้น ปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการปรับขึ้นราคาไม่ได้มีเพียงเฉพาะสภาวะต้นทุนการผลิตต่างๆ ที่ปรับตัวสูงขึ้นเท่านั้น แต่ยังมีสิ่งที่สำคัญยิ่งกว่า ที่สามารถชี้เป็นชี้ตายเรื่องของราคาข้าวรวมถึงเรื่องของผลกำไรรายได้ที่เกษตรกรจะได้ตอบแทนจากการทำนา คนที่มีอำนาจตัดสินชะตาชีวิตของชาวนาและราคาข้าวที่ผู้บริโภคอย่างเราต้องจ่ายไม่ใช่ใครที่ไหนไกล หน่วยงานใหญ่ที่มีหน้าที่ดูแลทุกความเคลื่อนไหวของประเทศอย่าง “รัฐบาล” นโยบาย ณ ปัจจุบันนี้ที่ภาครัฐนำมาใช้ในการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวก็คือ “นโยบายการรับจำนำข้าว” ซึ่งภาครัฐตั้งใจให้นโยบายนี้ช่วยเหลือเรื่องรายได้ให้กับเกษตรกร ซึ่งราคาจำนำข้าวที่รัฐบาลจ่ายถือว่าสูงมาก คือ หากเป็นข้าวเปลือกหอมมะลิจะอยู่ที่ 1 ตัน หรือ 1,000 กิโลกรัมเท่ากับ 20,000 บาท ส่วนข้าวชนิดอื่นๆ อย่าง ข้าวหอมจังหวัด ข้าวเจ้า ข้าวเหนียว ราคาก็จะแตกต่างลดหลั่นกันไปตามคุณภาพของข้าว   ตารางเปรียบเทียบราคารับจำนำข้าวเปลือกนาปี – นาปรังของรัฐกับราคาซื้อขายข้าวเปลือกเฉลี่ยในตลาดทั่วประเทศ ชนิดของข้าว *ราคารับจำนำข้าวเปลือกนาปี – นาปรังของรัฐ (บาท/ตัน) **ราคาซื้อขายข้าวเปลือกเฉลี่ยในตลาดทั่วประเทศ (บาท/ตัน) ข้าวเปลือกหอมมะลิ (42 กรัม) 20,000 15,651 ข้าวเปลือกหอมจังหวัด (40 กรัม) 18,000 14,875 ข้าวเปลือกปทุม (42 กรัม) 16,000 - ข้าวเปลือกเหนียว 10% เมล็ดยาว 16,000 12,882 ข้าวเปลือกเหนียว 10% เมล็ดสั้น 15,000 - ข้าวเปลือกเจ้า 100% 15,000 - ข้าวเปลือกเจ้า 5% 14,800 10,050 ข้าวเปลือกเจ้า 10% 14,600 10,064 ข้าวเปลือกเจ้า 15% 14,2 00 - ข้าวเปลือกเจ้า 25% 13,800 9,300   *ราคารับจำนำของรัฐปรับเพิ่ม – ลดจากราคาข้างต้นตามจำนวนกรัม ในอัตรากรัมละ 200 บาท **ข้อมูลจากศูนย์บริหารจัดการโครงการรับจำนำสินค้าเกษตร กรมการค้าภายใน เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2555   จริงที่ราคาจำนำข้าวที่รัฐจ่ายให้เกษตรกรนั้นเป็นตัวเลขที่สูงและน่าจะช่วยให้เกษตรกรมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น แต่การที่เปิดรับจำนำข้าวในราคาสูงกว่าราคาตลาดทั่วไป ซึ่งราคาเฉลี่ยของข้าวหอมมะลิในตลาดทั่วไปเฉลี่ยอยู่ที่ตันละ 15,000 บาทเท่านั้น (*ข้อมูลจากกรมการค้าภายใน เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2555) ทำให้ชาวนาส่วนใหญ่เลือกขายข้าวให้กับรัฐบาล ขณะที่พ่อค้าข้าวรายอื่นไม่สามารถให้ราคาแข่งกับรัฐบาลได้ จึงไม่มีข้าวขายต่อ หรือถ้าต้องการข้าวเพื่อนำมาส่งขายก็ต้องจ่ายในราคาสูงในระดับใกล้เคียงกับที่รัฐบาลจ่าย ซึ่งบรรดาพ่อค้าข้าวรายย่อยส่วนใหญ่คือผู้ค้าที่นำข้าวมาขายต่อให้กับผู้บริโภคในประเทศ ขณะที่ข้าวที่รัฐบาลรับจำนำไว้จะเป็นข้าวที่ไว้สำหรับส่งขายในต่างประเทศ แน่นอนว่าเมื่อข้าวถูกอัพราคาขึ้นด้วยนโยบายรับจำนำข้าวของรัฐบาล ทางออกของผู้ค้าข้าวรายย่อยคือต้องยอมซื้อข้าวจากเกษตรกรในราคาสูง ต้นทุนเพิ่มขึ้น นำไปสู่การปรับขึ้นราคาข้าวถุง โดยเฉพาะในส่วนของข้าวหอมมะลิถุงที่ตามข่าวบอกว่าเตรียมขึ้นราคาหลังสงกรานต์ ส่วนข้าวขาวธรรมดายังพอที่จะคงราคาเดิมไว้ได้ เนื่องจากเดือนเมษายน-พฤษภาคมเป็นช่วงเก็บเกี่ยวข้าวนาปรัง ทำให้ยังมีผลผลิตออกสู่ตลาดเป็นจำนวนมาก ไม่ใช่เพียงแต่นโยบายรับจำนำข้าวของรัฐบาลเท่านั้นที่ส่งผลให้เกิดการปรับราคาขึ้นของข้าวหอมถุง แต่ยังรวมถึงปัจจัยอื่นๆ ที่ภาครัฐมีส่วนเกี่ยวข้องซึ่งส่งผลต่อต้นทุนการผลิตเช่นเดียวกับสินค้าประเภทอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นราคาน้ำมันที่สูงขึ้นซึ่งมีผลต่อค่าขนส่ง และรวมถึงนโยบายการกำหนดค่าแรงขั้นต่ำรายวันที่ 300 บาท ที่เริ่มประกาศใช้เมื่อวันที่ 1 เมษายน ที่ผ่านมา แม้จะเป็นข้อกำหนดกับแรงงานเฉพาะในภาคอุตสาหกรรม ไม่นับรวมภาคเกษตรกรรม แต่ในภาพรวมย่อมส่งผลกระทบต่อเนื่องอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะการทำนาปลูกข้าวแรงงานยังเป็นสิ่งที่สำคัญ โดยเฉพาะในเกษตรกรรายเล็กๆ ที่มีพื้นที่ปลูกข้าวไม่มาก ยังไม่มีทุนมากพอที่จะใช้เครื่องจักรมาช่วยในการปลูกข้าวและเก็บเกี่ยว ในกรณีของเกษตรกรรายเล็กๆ ปัญหาของราคาน้ำมันและการปรับขึ้นค่าแรง อาจส่งผลกระทบมากถึงขนาดที่ราคาจำนำข้าวที่ตันละ 20,000 บาทของรัฐบาลยังได้ไม่คุ้มกับการลงทุน เพราะการรับจำนำข้าวของรัฐบาลเกษตรกรต้องดำเนินการด้วยตัวเอง ตั้งแต่ยื่นเรื่องลงทะเบียน ไปจนถึงนำข้าวไปยังจุดรับจำนำ ซึ่งเกษตรกรที่มีข้าวจำนวนไม่มาก เมื่อหักค่าการจัดการต่างๆ เงินที่ได้จากการจำนำข้าวก็อาจเหลือเป็นกำไรไม่มาก จึงทำให้เกษตรกรโดยเฉพาะรายเล็กๆ ยังเลือกที่ขายข้าวให้กับโรงสีที่ไม่ได้เข้าร่วมกับรัฐบาลหรือพ่อค้าข้าวรายอื่นๆ แม้จะได้ราคาต่ำกว่า แต่ตัดปัญหาต้นทุนค่าจัดการค่าขนส่ง เพราะโรงสีและพ่อค้าเหล่านี้ยินดีที่จะมารับซื้อข้าวถึงที่ คิดทบต้นทบดอกแล้วได้กำไรคุ้มค่ากว่า ---------------------------------------------------------------------------------------------------------------   เครื่องหมายรับรองมาตรฐานรูปมือพนม เป็นเครื่องหมายที่รับรองคุณภาพของข้าวหอมมะลิบรรจุถุงโดยกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ เพื่อเป็นช่วยการันตีให้ผู้บริโภคได้มีความมั่นใจถึงคุณภาพของข้าวหอมมะลิ โดยข้าวหอมมะลิที่ผ่านการตรวจสอบมาตรฐานและได้รับโลโก้รูปมือพนมจากกรมการค้าภายในมี 8 ชนิด ได้แก่ ข้าวขาวหอมมะลิ 100% ข้าวขาวหอมมะลิ 10% ข้าวหอมมะลิ 5% ข้าวขาวหักหอมมะลิเอวันเลิศ ข้าวขาวหักหอมมะลิเอวันเลิศพิเศษ ข้าวกล้องหอมมะลิ 100% ข้าวกล้องหอมมะลิ 10% และ ข้าวกล้องหอมมะลิ 5% โดยเครื่องหมายรับรองมาตรฐานรูปมือพนมจะอยู่ด้วยกัน 2 แบบ คือ “แบบรับรองมาตรฐานทั่วไป” กับ “แบบรับรองมาตรฐานดีพิเศษ” 78 ล้านไร่ คือ พื้นที่โดยประมาณที่ใช้ในการเพราะปลูกข้าวทั้งหมดในประเทศไทย 31ล้านตัน คือ ผลผลิตข้าวที่ได้ 458 กิโลกรัม คือ ปริมาณข้าวที่ได้ต่อไร่ 12,801 บาท คือ ราคาขายข้าวต่อ 1 ตันที่เกษตรกรได้รับ 400 ล้านบาท คือ มูลค่าของข้าวทั้งหมด ที่มา : ข้อมูลสถิติการเกษตรของประเทศไทย ในส่วนของข้าว ปี 2554 สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ---------------------------------------------------------------------------------------------------------------   คำแนะนำง่ายๆ ในการเลือกซื้อข้าวหอมมะลิ -ต้องมีกลิ่นหอมตามธรรมชาติ (กลิ่นของข้าวหอมจะคล้ายๆ กลิ่นของใบเตย) -ไม่มีแมลงปนเปื้อนอยู่ในข้าว -สังเกตที่ฉลากบรรจุภัณฑ์ ต้องแสดงข้อมูลที่สำคัญ เช่น ชนิดของข้าว ระดับคุณภาพของข้าว น้ำหนักสุทธิ ข้อมูลผู้ผลิต วัน เดือน ปี ที่ผลิต คำแนะนำในการหุงต้ม ฯลฯ -สังเกตเครื่องหมายรับรองมาตรฐานต่างๆ -------------------------------   ข้าวพื้นบ้าน(ต้อง)ช่วยกันรักษา เพราะประเทศไทยของเราเป็นประเทศเกษตรกรรมมาตั้งแต่ไหนแต่ไร ทำนาปลูกข้าวกันมาช้านาน พันธุ์ข้าวที่ปลูกกันมาก็มีหลากหลายสายพันธุ์ นับๆ รวมแล้วมีมากกว่า 5,000 สายพันธุ์ ซึ่งข้าวพื้นบ้านล้วนแล้วแต่มากด้วยคุณค่าทางอาหาร มีสรรพคุณป้องกันโรคได้ด้วยอีกต่างหาก แต่น่าเสียดายที่ในปัจจุบันข้าวที่วางขายตามตลาดทั่วไปมีข้าวให้เราเลือกกินอยู่ไม่กี่สายพันธุ์ แต่ก็ใช่ว่าเราจะหาข้าวพื้นบ้านกินกันไม่ได้ซะเลยทีเดียว เพราะยังมีหน่วยงานต่างๆ หลายกลุ่มหลายองค์กร ทั้งภาครัฐและเอกชน ที่พยายามรักษาพันธุ์พื้นบ้านเอาไว้ บางคนอาจจะเคยได้ยินหรือเคยกินข้าวพื้นบ้านอย่าง ข้าวสังข์หยด ข้าวหอมมะลิแดง ข้าวหอมนิล ฯลฯ ซึ่งเป็นเพราะยังมีเกษตรกรที่พร้อมจะรักษาข้าวพื้นบ้านซึ่งเป็นเหมือนสมบัติของชาติให้ยังคงอยู่ต่อไป เราในฐานะผู้บริโภคก็เป็นหนึ่งแรงสำคัญที่จะช่วยให้ข้าวพื้นบ้านยังคงดำรงอยู่ต่อไป ด้วยการช่วยกันสนับสนุนข้าวพื้นบ้านจากกลุ่มเกษตรกรทางเลือกตามจังหวัดต่างๆ หรือติดต่อสอบถามที่มูลนิธิขวัญข้าว จ.สุพรรณบุรี โทร. 035-597193 http://www.khaokwan.org/ , มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย)  โทร. 02-591-1195 http://sathai.org/ (***หาอ่านข้อมูลผลการเปรียบเทียบคุณค่าทางโภชนาการของข้าวพื้นบ้านพันธุ์ต่างๆ ได้ในฉลาดซื้อ ฉบับที่ 97) ----------------------------------------------------------------------------------------   ข้าวอินทรีย์ ทางเลือกที่ดีต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม หลายคนน่าจะเคยเห็น เคยได้ยิน หรืออาจจะได้ลองกิน “ข้าวอินทรีย์” กันอยู่บ้าง แต่ก็คงมีหลายคนเช่นกันที่ยังไม่รู้ว่าที่บอกว่าเป็นข้าวอินทรีย์นั้นแตกต่างจากข้าวทั่วไปยังไง ข้าวอินทรีย์ก็เป็นเช่นเดียวกันกับเกษตรอินทรีย์อื่นๆ คือ ข้าวที่มาจากกระบวนการผลิตที่ไม่มีการใช้สารเคมีสังเคราะห์ใดๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นปุ๋ยเคมี สารเคมีกำจัดศัตรูพืช รวมถึงในขั้นตอนการแปรรูป การสี การบรรจุ การเก็บรักษา ซึ่งการทำเกษตรอินทรีย์นอกจากจะปลอดภัยกับผู้บริโภคแล้ว ยังดีต่อสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศ รักษาความอุดมสมบูรณ์ของดิน ซึ่งตอนนี้ผู้บริโภคบ้านเราก็เริ่มให้ความสนใจเลือกรับประทานข้าวอินทรีย์กันมากขึ้นและเริ่มมีเกษตรกรปลูกข้าวอินทรีย์ออกมาสู่ตลาดเพิ่มขึ้นด้วย แต่ข้าวอินทรีย์ที่ปลูกในเมืองไทยส่วนใหญ่ถูกส่งขายไปต่างประเทศ คิดเป็น % มากกว่า 90% ซึ่งประเทศไทยเราถือเป็นประเทศที่ส่งออกข้าวอินทรีย์มากเป็นอันดับหนึ่งของโลก สาเหตุที่เกษตรกรผู้ปลูกข้าวอินทรีย์ต้องพึ่งพาตลาดต่างประเทศเป็นหลักเพราะในบ้านเรากลุ่มผู้บริโภคที่นิยมรับประทานข้าวอินทรีย์รวมสินค้าเกษตรอินทรีย์อื่นๆ ยังมีจำนวนไม่มาก ด้วยว่าสินค้าเกษตรอินทรีย์ยังไม่มีจำหน่ายแพร่หลายและด้วยราคาที่สูงกว่าสินค้าเกษตรทั่วๆ ไป เกษตรอินทรีย์ทำไมต้องแพง -แม้ฟาร์มเกษตรอินทรีย์มีขนาดเล็ก แต่ใช้แรงงานต่อหน่วยในการผลิตมากกว่าฟาร์มทั่วไป -สินค้ายังมีจำนวนจำกัดเมื่อเทียบกับความต้องการของผู้บริโภค -ปริมาณของสินค้าเกษตรอินทรีย์ค่อนข้างน้อย ทำให้ค่าใช้จ่ายในการกระจายสินค้าออกสู่ตลาดสูงกว่าผลผลิตทั่วไป -เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรให้มีได้รายได้ที่เป็นธรรมและพอเพียง พร้อมทั้งสร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรรายใหม่ๆ หันมาทำเกษตรอินทรีย์มากยิ่งขึ้น   ใน 1 ปี คนไทยกินข้าวอยู่ที่ประมาณ 2 ล้าน 6 แสนตัน ที่มา : หนังสือ “เรื่อง ข้าว ข้าว ที่เข้าปาก” แผนงานฐานทรัพยากรอาหาร มูลนิธิชีววิถี ขอขอบคุณข้อมูลจาก คุณวิฑูรย์ ปัญญากุล กรรมการและเลขาธิการ  มูลนิธิสายใยแผ่นดิน คุณวัลลภ พิชญ์พงศา  รองกรรมการผู้จัดการ บ.นครหลวงค้าข้าว จำกัด คุณธวัชชัย  โตสิตระกูล  ผู้เชี่ยวชาญเรื่องโรงสีชุมชน    รองประธานมูลนิธิสายใยแผ่นดิน

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 133 เทคนิค...เลือกรถโดยสารให้ปลอดภัย

  ก่อนเข้าสู่เทศกาล สงกรานต์ ปีนี้ ฉลาดซื้อขอนำเรื่อง รถโดยสารประจำทาง มาย้ำเรื่องความปลอดภัยกันอีกครั้ง จะโดยสารรถทัวร์ รถตู้หรือแม้แต่การเหมารถ ขอได้โปรดพิจารณาให้รอบคอบก่อนตัดสินใจ ซึ่งเรามีวิธีการดีๆ มาฝาก และอย่างไรเสียหากเกิดปัญหาถูกละเมิด เราก็มีทางออกมานำเสนอด้วย ทั้งนี้เพื่อให้ผู้โดยสารหรือกำลังจะโดยสารทุกคน ได้เดินทางอย่าง “ปลอดภัย”   ฉลาดซื้อแนะ เมื่อจะใช้บริการรถโดยสารสาธารณะ 1.อย่าใช้บริการ รถผี รถเถื่อน ในช่วงเทศกาลความต้องการของผู้ใช้บริการมีสูง แต่จำนวนรถที่ให้บริการอาจมีไม่เพียงพอ จึงกลายเป็นช่องทางให้ผู้ที่ไม่หวังดีนำรถโดยสารที่ผิดกฎหมายไม่ได้รับการรับรองจากบริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) มาเปิดให้บริการ ผู้โดยสารที่ถูกล่อลวงให้ไปกับบริการรถผีและรถเถื่อนเหล่านี้ ก็มีทั้งแบบที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์ คือไม่รู้ว่าเป็นรถผิดกฎหมาย กับแบบที่รู้ทั้งรู้แต่ก็ยอมเลือกใช้บริการ เพราะจำเป็นต้องเดินทางและหารถโดยสารที่ถูกต้องตามกฎหมายไม่ได้แล้วจริงๆ ปัญหาที่คุณจะต้องเจอคือ การเรียกเก็บค่าเดินทางแพงเกินกว่ารถที่ให้บริการปกติ  และหากเกิดอุบัติเหตุก็ยากที่ได้รับการชดเชยช่วยเหลือ เพราะไม่รู้ที่มาที่ไปว่าใครเป็นคนรับผิดชอบ ใครเป็นเจ้าของรถหรือบริษัทผู้ดูแลเป็นใคร ปัญหานี้ทาง บขส. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็พยายามเร่งกวดขันจัดการรถผีที่แอบลักลอบให้บริการ พร้อมๆ กับการเพิ่มจำนวนรถโดยสารเพื่อรองรับการใช้บริการที่มากขึ้นในช่วงเทศกาล แต่อย่างไรก็แล้ว “ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน” เวลาที่ไปใช้บริการรถโดยสารตามสถานีขนส่งต่างๆ อย่าหลงเชื่อหากมีใครมาชักชวนให้ใช้รถที่ไม่น่าไว้วางใจหรือมาจากบริษัทผู้ให้บริการที่ตรวจสอบไม่ได้ 2.ไม่เลือกเก้าอี้เสริม หรือตั๋วเสริม ซึ่งก็ถือเป็นเรื่องอันตรายไม่แพ้การใช้บริการรถผี รถเถื่อน ถ้าหากรถเกิดอุบัติเหตุขึ้นผู้โดยสารที่นั่งในตำแหน่งเก้าอี้เสริม จากสถิติพบว่า จะได้รับบาดเจ็บมากกว่าคนที่นั่งในตำแหน่งปกติ เพราะที่นั่งเสริมไม่มีอุปกรณ์ป้องกันอย่างเข็มขัดนิรภัย ซึ่งรถโดยสารที่มีการเพิ่มเก้าอี้เสริม หรือตั๋วเสริมเกินจำนวนที่นั่งที่กฎหมายกำหนดนั้น ถือว่าผิดกฎหมาย 3.รถโดยสารที่เลือกใช้บริการ ต้องอยู่ในสภาพดี ไม่มีอุปกรณ์ชำรุดบกพร่อง ดูแล้วปลอดภัยไม่เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ สามารถโดยสารได้ด้วยความมั่นใจ ไร้กังวล นอกจากนี้อย่าลืมตรวจสอบข้อมูลสำคัญต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเลขทะเบียนรถ ชื่อพนักงานขับรถ เวลารถออก เวลาถึงจุดหมายปลายทาง เส้นทางที่รถวิ่ง จุดพักรถ ฯลฯ 4.เฝ้าระวังคนขับรถอันตราย ปฏิเสธไม่ได้ว่าสาเหตุส่วนใหญ่ของการเกิดอุบัติเหตุ มาจากความประมาทของพนักงานขับรถ ทั้งจากการที่พนักงานขับรถขาดความระมัดระวัง ขับรถด้วยความเร็วสูง หรือสมรรถภาพร่างกายไม่พร้อมสำหรับการขับรถ ในฐานะผู้ใช้บริการเราอาจไม่มีความสามารถขนาดที่จะรู้ล่วงหน้าหรือเลือกได้ว่าพนักงานคนไหนขับรถดีพนักงานคนไหนขับรถไม่ดี แต่อย่างน้อยเราก็สามารถสังเกตพฤติกรรมต่างๆ ของพนักงานขับรถในระหว่างที่เราโดยสารอยู่บนรถได้ ไม่ว่าจะเป็นการขับรถที่ปฏิบัติถูกต้องตามกฎจราจร มีการนำรถออกจากสถานีขนส่งตรงตามเวลาที่แจ้งไว้ มีการหยุดพักรถหรือเปลี่ยนพนักงานขับตามเวลาที่กฎหมายกำหนด (พนักงานขับรถสามารถขับติดต่อกันได้ไม่เกินสี่ชั่วโมง เว้นแต่ได้พักติดต่อกันเป็นเวลาไม่น้อยกว่าครึ่งชั่วโมง) ฯลฯ หากเราพบเห็นข้อสงสัยหรือเริ่มรู้สึกกังวลไม่ไว้ใจกับพฤติกรรมการขับรถของพนักงานประรถโดยสาร อันดับแรกควรพูดคุยสอบถามกับพนักงานผู้ดูแลบนรถ หากยังรู้สึกไม่มั่นใจในความปลอดภัย ให้โทรแจ้งไปยัง ศูนย์คุมครองผู้โดยสารรถสาธารณะ กรมการขนส่งทางบก โทร. 1584 5.อย่าลืมคาดเข็ดขัดนิรภัย เข็มขัดนิรภัยถือเป็นอุปกรณ์ตัวช่วยสำคัญ ที่ทำให้ความรุนแรงที่เกิดจากอุบัติเหตุลดลงได้มาก หากไม่ได้คาดเข็มขัดนิรภัยเมื่อเกิดอุบัติเหตุตัวของผู้โดยสารจะกระเด็นออกจากที่นั่งไปกระแทกกับผู้โดยสารคนอื่นหรือวัสดุต่างๆ ที่อยู่บนรถ หรือไม่ก็อาจกระเด็นหลุดออกนอกรถ ซึ่งยิ่งทำให้บาดเจ็บหนักและเสี่ยงต่อการเสียชีวิตสูง ข้อมูลจากกรมขนส่งทางบกบอกว่า แรงกระแทกของรถที่เกิดอุบัติเหตุขณะวิ่งด้วยความเร็ว 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง จะเท่ากับรถที่ตกจากที่สูงแล้วกระแทกพื้นในระยะประมาณ 14 เมตร หรือความสูงของตึก 5 ชั้น ยิ่งรถวิ่งด้วยความเร็วมากขึ้นแรงกระแทกที่จะเกิดขึ้นเมื่อรถประสบอุบัติเหตุหรือเบรกกะทันหันก็ยิ่งเพิ่มมากขึ้น การคาดเข็มขัดนิรภัยจึงมีส่วนสำคัญอย่างมากในการลดการบาดเจ็บที่เกิดจากแรงกระแทกขณะรถเกิดอุบัติเหตุ แถมเข็มขัดนิรภัยยังช่วยลดความรุนแรงของการบาดเจ็บที่อาจเกิดขึ้นบริเวณอวัยวะสำคัญอย่าง ศีรษะ ใบหน้า ลำคอ และทรวงอก เมื่อคาดเข็มขัดนิรภัยอวัยวะต่างๆ ที่กล่าวจะไม่ไปกระทบกับวัสดุที่อยู่ด้านหน้า ไม่ว่าจะเป็น พวงมาลัย กระจก หรือเบาะที่นั่งด้านหน้า 6.อย่ามองข้ามอุปกรณ์นิรภัยสำหรับใช้ในเหตุฉุกเฉิน ไม่ว่าจะเป็น ถังดับเพลิง และค้อนทุบกระจก เมื่อขึ้นไปนั่งอยู่บนรถแล้วเรียบร้อย อย่าลืมมองหาดูว่าอุปกรณ์สำคัญเหล่านี้ถูกจัดวางไว้อยู่ส่วนไหนของรถ และที่สำคัญก็คือต้องให้แน่ใจว่าอยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน อย่างน้อยๆ การที่เราได้รู้ว่ามีอุปกรณ์ช่วยเหลือต่างๆ เตรียมพร้อมไว้ใช้ในกรณีฉุกเฉิน น่าจะช่วยทำให้เรารู้สึกอุ่นใจในการเดินทางเพิ่มขึ้นได้อีกเยอะ 7.ที่สำคัญที่สุดก็คือเราต้องรู้หน้าที่ของตัวเอง ต้องนึกถึงเรื่องความปลอดภัยเป็นอันดับแรก ต้องปฏิบัติตามคำแนะนำเพื่อความปลอดภัย เช่น คาดเข็มขัดนิรภัย ไม่นั่งในที่นั่งอื่นๆ นอกเหนือบริเวณที่นั่งของผู้โดยสาร ถ้าพบอุปกรณ์ชำรุดหรือความผิดปกติจากรถที่เราโดยสารอยู่ ต้องแจ้งให้พนักงานประจำรถทราบ และเรามีสิทธิ์ที่จะไม่ใช้บริการถ้าหากรู้สึกถึงความไม่ปลอดภัยหรือได้รับการบริการไม่ตรงตามที่ได้แจ้งหรือตกลงกันไว้   เมื่อเจอปัญหาต้องกล้ารักษาสิทธิ์ เบอร์โทรสำหรับร้องเรียนปัญหาจากบริการรถโดยสาร1584 ศูนย์คุมครองผู้โดยสารรถสาธารณะ184 ศูนย์รับร้องเรียนขนส่งมวลชนกรุงเทพฯ1508 แจ้งร้องทุกข์เกี่ยวกับรถโดยสารของ บขส. และรถร่วม1193 ตำรวจทางหลวง02 - 248 – 3737 ศูนย์พิทักษ์สิทธิ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค   ปี 2554 มีอุบัติเหตุเกิดขึ้นกับรถโดยสารขนาดใหญ่ทั่วประเทศทั้งหมด  991 ครั้ง ส่วนอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับรถตู้โดยสารอยู่ที่ 916 ครั้งที่มา: สำนักงานตำรวจแห่งชาติ   อุบัติเหตุรถโดยสารเกิดจากอะไร? -พนักงานขับรถขับรถด้วยความประมาท หรือไม่ชำนาญเส้นทาง-พนักงานขับรถด้วยความเร็วสูง เมื่อเกิดอุบัติเหตุทำให้ไม่สามารถควบคุมรถได้ -โครงสร้างรถไม่มีความแข็งแรงพอ เมื่อเกิดอุบัติเหตุถูกชนหรือพลิกคว่ำ โครงสร้างของรถจะทำให้ผู้ที่โดยสารได้รับบาดเจ็บ เช่น ตัวรถฉีกขาดทำให้ผู้โดยสารกระเด็นออกจากรถ หรือส่วนประกอบของรถหลุดมากระแทกผู้โดยสาร-เบาะนั่งไม่ได้มาตรฐาน เมื่อเกิดอุบัติเหตุทำให้หลุดออกจากตัวรถ -สภาพเส้นทางเป็นโค้งลงเขาลาดชันวกไปมา ไม่เหมาะกับรถโดยสารที่มีขนาดสูง เช่นรถ 2 ชั้น-สภาพของถนนที่ไม่พร้อมใช้งาน พื้นถนนชำรุด ไม่มีป้ายแจ้งเตือน ไม่มีไฟส่องสว่าง ฯลฯ-สภาพอุปกรณ์ประกอบข้างทาง เช่น เครื่องกั้นไม่ได้ออกแบบมาสำหรับสำหรับรถขนาดใหญ่ซึ่งมักมีความสูงของจุดศูนย์ถ่วงเกินจากแนวกั้นทำให้ไม่สามารถป้องกันรถขนาดใหญ่ได้-หลายคนอาจจะชอบเลือกนั่งรถโดยสารที่มีกระจกกั้นไว้ตลอดแนวยาว เพราะดูสวยงามหรือดูแล้วรู้สึกโล่งๆ ไม่อึดอัด แต่ถ้าพูดถึงเรื่องความปลอดภัยรถโดยสารที่เป็นกระจกรอบด้านย่อมปลอดภัยน้อยกว่ารถที่เน้นโครงสร้างที่เป็นเหล็ก เพราะเมื่อเกิดอุบัติเหตุกระจกแตก ผู้โดยสารจะหลุดออกมานอกรถทำให้ได้รับบาดเจ็บหนัก ข้อมูลโดย: ผศ.ดร. สมประสงค์ สัตยมัลลี “ยกระดับคุณภาพ: รถโดยสารสาธารณะ”-----------   ความหวัง (?) ของคนไทยเรื่องความปลอดภัยของรถโดยสาร -กรมการขนส่งทางบกกำลังศึกษาเพื่อออกแบบโครงสร้างชิ้นส่วนของตัวรถโดยสารทั้งแบบ 1 ชั้น และ 2 ชั้น โดยจะเน้นเรื่องคุณภาพของโครงสร้างของตัวรถ ทดสอบจุดศูนย์ถ่วงเมื่อต้องวิ่งบนพื้นลาดเอียง และการกำหนดมาตรฐานความปลอดภัยของที่นั่ง โดยจะทำการสร้างต้นแบบเครื่องทดสอบที่นั่งประจำรถโดยสารที่ได้มาตรฐาน ซึ่งการทดสอบที่นั่งจะมีผลบังคับใช้กับรถโดยสารทุกบริษัทต้องนำเก้าอี้เข้ามาทดสอบการดึงสำหรับรถที่จดทะเบียนใหม่เริ่มวันที่ 1 มกราคม 2556 -รถโดยสารประจำทางทุกมาตรฐานจะต้องติดตั้งเข็มขัดนิรภัยได้มาตรฐานตามที่สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) โดยรถโดยสารประจำทางทุกมาตรฐานมีผลบังคับใช้วันที่ 1 ม.ค. 2556 ขณะที่รถตู้โดยสารประจำทางมีดีเดย์บังคับใช้ 1 เม.ย. 2555 นี้แล้ว -ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน. (ศวปถ.) ภายใต้มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) ได้จัดเวทีสาธารณะเพื่อหาข้อเสนอเชิงนโยบายเรื่องความปลอดภัยและมาตรฐานของรถโดยสาร โดยมีทั้งภาครัฐ ผู้ประกอบ และภาคประชาชนเข้าร่วม โดยได้ข้อเสนอที่น่าสนใจเพื่อความปลอดภัยของรถโดยสารที่ยั้งยืน แบ่งเป็นข้อๆ ดังนี้ 1.ต้องมีการกำหนดมาตรฐานเข็มขัดนิรภัยและบังคับใช้อย่างจริงจัง  2.มีการฝึกอบรมพัฒนาศักยภาพของพนักงานขับรถและกำหนดให้มีการออกใบประกอบวิชาชีพเฉพาะสำหรับพนักงานขับรถโดยสาร กำหนดเวลาการทำงานของพนักงานขับรถให้เหมาะสม 3.ควรมีการกำหนดความเร็วเฉพาะของรถโดยสารสาธารณะและกวดขันบังคับใช้จริงจัง (อัตราความเร็วของรถตามพ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 กำหนดความเร็วรถโดยสารไว้ที่ไม่เกิน  60  กม./ ชม. ขณะวิ่งในเมือง ถ้าวิ่งนอกเมืองไม่เกิน  80 กม./ชม.)4.ภาครัฐต้องให้ความสำคัญกับเรื่องความปลอดภัยของผู้ใช้บริการรถโดยสารอย่างจริงจังมากขึ้น โดยรัฐต้องช่วยส่งเสริมให้ผู้ประกอบการหันมาใช้รถโดยสารที่ปลอดภัยได้มาตรฐาน พร้อมไปกับการให้ข้อมูลกับผู้บริโภคให้รู้จักเลือกรถโดยสารที่ปลอดภัย คำนึงถึงชีวิตของตัวเองเป็นสำคัญ และต้องรู้ถึงสิทธิของตัวเอง-----------------------------------------------------------------   เหมารถทัวร์ อย่างไรให้ปลอดภัยที่สุดรถโดยสารไม่ประจำทางหรือรถโดยสารแบบเช่าเหมาคันเป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับคนที่นิยมเดินทางท่องเที่ยวกันเป็นหมู่คณะ ยิ่งในช่วงเทศกาลวันหยุดยาวยิ่งไม่ต้องพูดถึง มีคนติดต่อขอใช้บริการเป็นจำนวนมากแน่นอน  แต่การใช้บริการรถโดยสารเช่าเหมาคันแบบนี้ การระมัดระวังเรื่องความปลอดภัยก็ไม่แตกต่างจากรถโดยสารประจำทางทั่วไป เพราะที่ผ่านมาอุบัติเหตุที่เคยเกิดขึ้นกับรถประเภทนี้ก็มีให้เห็นกันเป็นประจำ เพราะฉะนั้นการเลือกใช้บริการก็ต้องมีเทคนิคที่ควรรู้เช่นกัน ก่อนทำสัญญา 1.การเลือกบริษัทรถ ต้องเลือกบริษัทที่เป็นนิติบุคคล ไม่ควรเลือกบริษัทรถที่เป็นตัวบุคคลรายเดี่ยว เพราะหากเป็นนิติบุคคลจะได้รับการดูแลจากสมาคมผู้ประกอบการรถโดยสารไม่จำทาง (สสท.) 2.รายละเอียดในการทำสัญญาต้องมีความชัดเจน ประกอบไปด้วย-ต้องระบุเส้นทางการเดินทาง ต้นทาง-ปลายทาง-หมายเลขทะเบียนรถคันที่จะให้บริการ-ชื่อพนักงานขับรถ ในกรณีที่ระยะทางเกิน 400 กิโลเมตรจะต้องมีพนักงานสับเปลี่ยนกัน 2 คน หรือหากมีพนักงานขับรถเพียงคนเดียวก็ต้องมีการระบุถึงจุดพัก หรือระยะเวลาการจอดพักรถไม่น้อยกว่า 30 นาทีทุก 4 ชั่วโมง-พนักงานขับรถต้องได้รับใบอนุญาตขับขี่จากกรมขนส่งทางบก ให้ขับรถประเภทรถสาธารณะ เท่านั้น-แนบใบตรวจสภาพรถยนต์จากกรมการขนส่งทางบกกับสัญญาว่าจ้างด้วย ซึ่งระยะเวลาที่ระบุไม่ควรเกิน 2 เดือน ภายหลังการตรวจสภาพ -แนบเอกสาร กรมธรรม์ทั้งภาคบังคับ ภาคสมัครใจ ของรถคันที่ว่าจ้าง ซึ่งผู้ว่าจ้างต้องตรวจสอบว่าถูกต้อง ตรงกับเลขทะเบียนรถหรือไม่ 3.สภาพของรถโดยสาร  ผู้ว่าจ้างต้องไปตรวจสอบสภาพรถด้วยตนเองว่ามีความเหมาะสม ปลอดภัยในการเดินทางหรือไม่ โดยที่ควรใช้งานต้องมีลักษณะดังต่อไปนี้-ต้องเป็นรถโดยสารชั้นเดียว-ต้องมีเข็มขัดนิรภัยทุกที่นั่ง-ต้องเป็นเบาะที่นั่งยึดโยงกับที่ ไม่เป็นแบบสไลด์ หรือถอดเข้าออกเพื่อเพิ่มปริมาณที่นั่ง-มีอุปกรณ์นิรภัยติดตั้งบนรถ เช่น ค้อนทุบกระจก ถังดับเพลิง เป็นต้น  ก่อนเดินทาง ต้องตรวจสอบว่าผู้รับจ้างปฏิบัติตรงกับที่ทำสัญญาหรือไม่ หากพบว่ามีสิ่งหนึ่งประการใดไม่เป็นไปตามข้อตกลง เช่น ไม่ใช้รถยนต์คันที่ตกลงในสัญญา ผู้ว่าจ้างสามารถยกเลิกสัญญาได้ทันที และสามารถเรียกร้องให้ผู้รับจ้างชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้นได้ด้วย  ระหว่างเดินทาง หากพบว่ามีการขับรถหวาดเสียว ขับเร็ว ขาดความระมัดระวัง หรือรู้สึกถึงความผิดปกติอื่นใดในตัวรถ ให้ทำการเตือนกับพนักงานขับรถ  หากไม่เชื่อฟังหรือไม่แก้ไข ผู้โดยสารควรแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือรีบแจ้งกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเช่น ศูนย์คุ้มครองผู้โดยสารรถสาธารณะ 1584 หรือสายด่วนกองบังคับการตำรวจทางหลวง 1193 หรือกับบริษัทรถที่ว่าจ้าง โดยทันที กรณีที่เกิดเหตุ สำหรับผู้เสียหายสามารถเรียกร้องการชดเชย เยียวยากับ พนักงานขับรถ เจ้าของบริษัทรถโดยสารคันที่เกิดเหตุ และบริษัทประกันภัย ทั้งค่ารักษาพยาบาล ค่าปลงศพในกรณีที่เสียชีวิต ความเสียหายของทรัพย์สิน ที่นำติดตัวไปในการเดินทาง  ขาดโอกาสหรือสูญเสียโอกาสในการทำงาน ขาดไร้ผู้อุปการะ  หรือตลอดจนความเสียหายทางด้านจิตใจ------------------------------------------------------------------------------------   รถตู้โดยสาร...ทางเลือกที่ต้องระวัง รถตู้ถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการเดินทางที่กำลังมาแรงทั้งกระแสในความต้องการของผู้บริโภค และเรื่องราวของอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนต้องมีการตั้งคำถามถึงความเหมาะในการนำรถตู้มาใช้ในการขนส่งผู้โดยสาร แต่ ณ วันนี้ถ้าจะให้หยุดการให้บริการของรถตู้โดยสารคงเป็นเรื่องที่แทบจะพูดได้เต็มปากเลยว่าเป็นไปไม่ได้ เพราะรถตู้กลายเป็นตัวเลือกหลักในการเดินทางของหลายๆ คนไปซะแล้ว เพราะฉะนั้นสิ่งที่ควรทำอย่างเร่งด่วนในเวลานี้ก็คือ การดูแลเรื่องความปลอดภัยในการใช้รถตู้โดยสาร โดยตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 55 เป็นต้นไป กรมการขนส่งทางบกจะดำเนินการติดตั้งเทคโนโลยี rfid (radio frequency identification) ในการตรวจจับความเร็วรถตู้โดยสารสาธารณะ หากตรวจพบรถตู้โดยสารสาธารณะที่ขับเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดจะถูกปรับทันที 5,000 บาท และหากพบการกระทำผิดซ้ำจะปรับ 10,000 บาท พร้อมกับไม่อนุญาตให้ใช้รถคันนั้นในการรับส่งผู้โดยสารอีก ใครที่อยากได้รับความคุ้มครองความปลอดภัยจากเจ้าเทคโนโลยีตรวจจับความเร็ว rfid ก็ต้องเลือกใช้บริการรถตู้ที่มีป้ายทะเบียนสีเหลืองเท่านั้น ส่วนด้านข้างรถก็ต้องมีเครื่องหมายแสดงการเข้าร่วมกับ ขสมก. หรือ บขส. พร้อมบอกชื่อเส้นทาง รถตู้ที่มีป้ายทะเบียนสีอื่นนอกจากสีเหลืองถือเป็นรถตู้โดยสารผิดกฎหมาย เสี่ยงอุบัติเหตุแถมยังยากต่อการติดตามตรวจสอบหากเกิดเหตุร้ายถ้าอยู่ๆ คนขับรถตู้กลายมาเป็นมิจฉาชีพ นอกจากนี้ วันที่ 1 เม.ย. กรมการขนส่งทางบก ก็เตรียมออกประกาศบังคับให้รถตู้ที่จดทะเบียนใหม่ทุกคัน ต้องติดตั้งเข็มขัดนิรภัยทุกที่นั่ง แต่น่าเสียดายที่ยังไม่มีกฎหมายออกมาบังคับให้ผู้โดยสารทุกที่นั่งต้องคาดเข็มขัดนิรภัย ก็ได้แต่หวังกันต่อไปว่าวัฒนธรรมการคาดเข็มขัดนิรภัยทุครั้งเมื่อใช้บริการรถตู้โดยสารจะเกิดขึ้นในบ้านเราได้สักที--------------------------------------------------------------------------------------------------------------- เรื่องต้องรู้  การคุ้มครองเมื่อเกิดอุบัติเหตุ เรื่องสำคัญเรื่องหนึ่งที่เราทุกคนควรรู้ หากเราประสบอุบัติเหตุจากการใช้บริการรถโดยสาร ก็คือ เรามีสิทธิ์ได้รับการชดเชยค่าเสียหาย ค่ารักษาพยาบาล จากพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 ซึ่งเราจะได้รับเป็นค่ารักษาพยาบาลรายละไม่เกิน 5 หมื่นบาท แต่ถ้าเป็นในกรณีเสียชีวิตหรือทุพพลภาพ จะได้เงินชดเชยสูงสุด 2 แสนบาท  นอกจากนี้ยังได้รับชดเชย 200 บาทต่อวัน รวมกันไม่เกิน 20 วัน สำหรับกรณีเข้ารักษาในสถานพยาบาลในฐานะคนไข้ใน สำหรับการขอรับสิทธิ์นั้น ตัวผู้ที่ได้รับความเสียหาย หรือทายาทจะต้องยื่นคำร้องขอรับค่าความเสียหายต่อบริษัทประกันภัย บริษัทกลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด หรือสำนักงานกองทุนทดแทนผู้ประสบภัย ภายใน 180 วัน นับจากวันที่เกิดเหตุ

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 132 พลิกแฟ้มประวัติศาสตร์ 10 ปี กับ “คดีฟ้อง” ของผู้บริโภค

  “ฟ้องร้อง” “ขึ้นโรงขึ้นศาล” ... แน่นอนว่า สำหรับประชาชนคนเดินดินธรรมดาๆ ย่อมไม่มีใครอยากข้องแวะกับเรื่องแบบนี้ ไม่ว่าจะในสถานะ “โจทก์” หรือ “จำเลย” ก็ตามที แต่เชื่อหรือไม่ว่า ในปีที่ผ่านมา “คดีผู้บริโภค” มีมากกว่า 3 แสนคดี!!! อะไรหรือที่ทำให้ผู้บริโภคอดรนทนไม่ได้จนต้องลุกขึ้นมา “ฟ้อง”? โจทย์ตั้งต้นที่ต้องไข ”ไฉนจึงต้องฟ้อง”? เมื่อไม่ได้รับความเป็นธรรม คนส่วนใหญ่มักเลือกที่จะเก็บเงียบไว้ บ่นกับเพื่อน หรือหากคิดว่าถ้าดำเนินการแล้วไม่คุ้มก็จะเลิกดำเนินการ การฟ้องคดี มักเป็นหนทางสุดท้ายที่ผู้บริโภคใช้เพื่อสร้างความเป็นธรรมให้กับตนเอง  หลังจากที่เริ่มต้นจากการคุยกับผู้ประกอบการ การร้องเรียนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยคาดหวังว่าหน่วยงานรัฐที่ทำหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภคจะเป็นตัวกลางในการเจรจา และช่วยเหลือให้ปัญหาถูกแก้ไขได้โดยเร็ว รวมทั้งพัฒนามาตรการในการป้องกันปัญหาเหล่านี้ แต่หลายครั้งกลับพบว่าหน่วยงานรัฐที่ทำหน้าที่ดูแลกำกับการใช้กฎหมายเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคไม่สามารถทำหน้าที่ปกป้องผู้บริโภคได้อย่างเต็มที่ ต้องประนีประนอมมากกว่าการจัดการขั้นเด็ดขาด การเจรจาแก้ไขปัญหาส่วนใหญ่จึงไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร หรือหากมีผลสำเร็จ ผู้บริโภคก็ต้องทนยอมรับมากกว่าจะต่อสู้เพื่อให้ได้สิ่งที่ดีที่สุดกลับมา นอกจากนี้ การให้องค์กรผู้บริโภคช่วยเหลือ มีหลายครั้งที่เจรจาไกล่เกลี่ยไม่สำเร็จ สภาพเหล่านี้นำมาซึ่งการตัดสินใจฟ้องร้องดำเนินคดีในที่สุด   ----------------------------------------------------------------------------------------------   “สิทธิสุดขอบฟ้า” มี...แต่คว้าไม่ถึง แม้ผู้บริโภคมีสิทธิได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย แต่การตัดสินใจฟ้องคดีกับการคลี่คลายปมไม่เป็นธรรมนั้นมีเส้นทางที่ห่างไกลกันอย่างยิ่ง ข้อมูลจากประสบการณ์รับเรื่องร้องทุกข์ของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค สะท้อนให้เห็นว่า เมื่อผู้บริโภคลุกขึ้นมาใช้สิทธิร้องเรียน ส่วนใหญ่จะต้องเจอกับอุปสรรคหลายประการ  จนทำให้การทวงถามความเป็นธรรมจากระบบยุติธรรมเป็นไปอย่างยากลำบาก ยากลำบากเพียงไร...ค้นหาคำตอบบางส่วนได้จากเรื่องจริงที่เกิดขึ้นกับ บังอร มีประเสริฐ ที่สรุปอย่างย่นย่อได้ดังนี้ ต้นเดือนเมษายน 2545 บังอร มีอาการอึดอัด แน่นท้อง และท้องโตขึ้นเรื่อยๆ  แต่เนื่องจากกินยาคุมกำเนิดอย่างต่อเนื่องมาเป็นระยะเวลาประมาณ 9 ปีเศษ โดยไม่มีประจำเดือนตลองช่วงเวลานั้น จึงไม่คิดว่าตนเองตั้งครรภ์ได้ สถานีอนามัยได้ตรวจวินิจฉัยโรคเบื้องต้น แต่เนื่องจากไม่มีอุปกรณ์ตรวจปัสสาวะเพื่อทดสอบการตั้งครรภ์ จึงใช้การคลำท้อง พบก้อนเนื้อ ซึ่งไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นเนื้องอกหรือตั้งครรภ์ จึงแนะนำให้ไปตรวจที่โรงพยาบาลให้ทราบผลแน่ชัด ที่โรงพยาบาล แพทย์ตรวจปัสสาวะ ตรวจปากมดลูก เอกซเรย์ปอด แล้ววินิจฉัยว่า เป็นเนื้องอก จึงนัดมาผ่าตัด เมื่อถึงวันผ่าตัด กลับพบว่า “ก้อนเนื้องอก” ในท้องเป็นทารกแฝด จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น บังอร ได้ร้องต่อกระทรวงสาธารณสุข ขอความเป็นธรรมให้ชดเชยความเสียหายที่ถูกผ่าท้องฟรี ตามสิทธิในพระราชบัญญัติความรับทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 โดยกระทรวงสาธารณสุขตั้งคณะกรรมการวินิจฉัย จำนวน 6 คน ซึ่งลงความเห็นและมีคำสั่งในขั้นสุดท้ายว่า “การผ่าท้องเป็นการวินิจฉัยโรค” หลังจากนั้น เธอฟ้องต่อศาลปกครองกลาง 2 ประเด็น ประเด็นแรกคือ การผ่าท้องเป็นการกระทำละเมิด ขอให้กระทรวงสาธารณสุขเยียวยาความเสียหาย ประเด็นที่สอง คือ ขั้นตอนที่กระทรวงสาธารณสุขพิจารณาข้อร้องเรียนไม่ให้โอกาสผู้เสียหายได้ชี้แจงและมีส่วนร่วมในกระบวนการ ผลคือ บังอรแพ้คดี เนื่องจากศาลปกครองมีคำสั่งว่า กระบวนการที่กระทรวงสาธารณสุขวินิจฉัยเรื่องนี้ดีแล้ว แต่ไม่ได้พิจารณาว่า เป็นการกระทำละเมิดหรือไม่ ต่อมา บังอร ได้อุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด โดยยืนยันว่า ความเสียหายที่เกิดขึ้นเกิดจากการกระทำละเมิดในการปฏิบัติหน้าที่    โดยศาลปกครองสูงสุด พิพากษาว่า คดีนี้เป็นการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่จริง แต่เรื่องนี้ไม่อยู่ในอำนาจศาลปกครอง ให้โอนคดีไปที่ศาลยุติธรรมหรือจังหวัดสมุทรสงครามแทน ขั้นตอนเพื่อพิสูจน์ว่าการผ่าตัดฟรีเป็นการกระทำละเมิดหรือไม่ ใช้เวลาถึง 7 ปี นับตั้งแต่ตั้งครรภ์ จนลูกแฝดไปโรงเรียนชั้นประถม และภาระต่างๆ ในการการพิสูจน์ความเสียหาย การหาข้อมูล หาพยานผู้เชี่ยวชาญ เพื่อปกป้องสิทธิอันพึงมีพึงได้ของผู้รับบริการจากระบบบริการสาธารณสุข ตกเป็นของบังอรแต่ผู้เดียว สภาพเช่นที่เกิดขึ้นกับบังอรเป็น “เรื่องธรรมดาสามัญ” ที่พบได้ในแฟ้มคดีผู้บริโภค นั่นคือ ก่อนฟ้องคดีมักเริ่มต้นจากไม่ได้รับความเป็นธรรมจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เมื่อฟ้องแล้ว ยังพบมีขั้นตอนมากมาย และใช้ระยะเวลานาน...โดยไม่เกิดอะไรขึ้นเลย นี่คือเหตุสำคัญอันนำไปสู่ผลที่สอดคล้องกับงานวิจัยของ สถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม ที่พบว่า การใช้สิทธิของผู้บริโภคมีเพียง ร้อยละ 2 เท่านั้น ที่มีการดำเนินการจนถึงกระบวนการสุดท้ายของการใช้สิทธิอันพึงมีพึงได้ของตน ---------------------------------------------------------------------------------------------- ถามหาความเป็นธรรม เส้นทางแสนทุรกันดาร ความทุกข์ของผู้บริโภคในการใช้ “สิทธิอันพึงมีพึงได้” นั้นมีอยู่มากมายหลายด้าน ซึ่งศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค ของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้ประมวลและสรุปออกมาได้ 5 ข้อหลัก ดังนี้ • ไม่รู้จะไปร้องที่ไหน ระบบการคุ้มครองผู้บริโภคที่เป็นมีหลายหน่วยงานรับผิดชอบ หรือแม้แต่หน่วยงานรับเรื่องร้องเรียนที่มีจำนวนมาก จนยากที่ผู้บริโภคธรรมดาจะรู้เท่าทันว่าจะต้องใช้สิทธิกับหน่วยงานใด • ไม่ใส่ใจนำพา ความไม่โปร่งใส ความไม่เป็นธรรม และไม่มีประสิทธิภาพของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการให้การช่วยเหลือเมื่อผู้บริโภคถูกละเมิดสิทธิ • ไม่มีปัญญาเดินเรื่อง การเข้าไม่ถึงกระบวนการยุติธรรมเนื่องจากภาระค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ และระยะเวลาในขั้นตอนต่าง ๆ ที่ล่าช้า ภาระในการพิสูจน์ความผิดความเสียหาย การเข้าถึงข้อมูลของผู้ผลิตและผู้ให้บริการ รวมทั้งขาดพยานผู้เชี่ยวชาญ (ก่อนมีพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551) • ไม่ได้รับการชดเชยความเสียหาย ถึงแม้จะชนะคดีก็ยังพบปัญหานี้บ่อยๆ  เช่น เมื่อซื้อบ้านแล้วเจ้าของโครงการล้มละลายบ้านนั้นถูกขายทอดตลาด นับว่ามีโอกาสน้อยมากที่ผู้บริโภคจะได้รับการชดเชยแถมบางคนถูกไล่ออกจากบ้านของตนเอง สามีติดคุกเพราะตนเองดื้อเพ่งที่จะอยู่บ้านที่ซื้อมากับมือ • ไม่ถือประโยชน์ผู้บริโภคใหญ่ ปัญหาความทุกข์ ความเสียหายของผู้บริโภคในปัจจุบัน มาจากหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาเศรษฐกิจมากกว่าการคุ้มครองผู้บริโภค เช่น รัฐคุ้มครองผู้ประกอบธุรกิจบริษัทสัมพันธ์ประกันภัยมากกว่าผู้บริโภค ทำให้ผู้บริโภคที่เสียหายจากบริษัทสัมพันธ์ประกันภัยจำกัดไม่น้อยกว่าล้านคน และเกิดผลต่อเนื่องทั้งผู้บริโภคทุกฝ่าย อู่คู่สัญญา และกลุ่มพนักงานบริษัท   “ฟ้องแทนผู้บริโภค” บทบาทอีกด้านของ มพบ. เมื่อปี 2544 ได้เกิดปัญหาและข้อร้องเรียนของผู้บริโภค กรณีการควบรวมกิจการของธุรกิจเคเบิ้ลทีวี 2 รายใหญ่ คือ บริษัท อินเตอร์เนชั่นแนล บรอดคาสติ้ง คอเปอร์เรชั่น จำกัด หรือ “ไอบีซี” และ บริษัทยูทีวี เคเบิ้ล เน็ตเวิร์ค จำกัด (มหาชน) หรือ “ยูทีวี” ได้รวมตัวเป็น กลุ่มบริษัท ยูไนเต็ด บรอดคาสติ้ง คอเปอร์เรชั่น จำกัด หรือ “ยูบีซี” ทำให้เกิดปัญหาข้อร้องเรียนเรื่องคุณภาพบริการ ราคาแพง และมีโฆษณาในผังรายการเหมาจ่ายรายเดือน มูลนิธิ ฯ จึงร่วมมือกับ โครงการสื่อสันติภาพ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร้องเรียนต่อ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และต่อมา เมื่อมีการจัดตั้งศาลปกครอง สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ก็ได้ส่งต่อข้อร้องเรียนนี้ไปยังศาลปกครองกลาง ข้อร้องเรียนกล่าวถึง องค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย (อสมท.) ทำให้เกิดผู้ให้บริการรายเดียว และ อสมท.ได้ประโยชน์จากการอนุมัติให้ขึ้นราคา เพราะได้ส่วนแบ่งรายได้โดยไม่ต้องหักค่าใช้จ่าย ข้อร้องเรียนนี้ ขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนการปรับเพิ่มราคาค่าสมาชิกของ อสมท. แม้ท้ายที่สุดศาลได้มีคำพิพากษาว่า เป็นอำนาจที่ อสมท.สามารถทำได้ และโจทย์เป็นฝ่ายแพ้คดี แต่ศาลปกครองกลางก็ได้พิพากษาให้มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเป็นผู้เสียหายในการฟ้องคดีแทนผู้บริโภคได้ กรณีที่เกิดขึ้นนี้คือจุดเริ่มต้น ที่ทำให้มูลนิธิฯ เริ่มต้นเดินหน้าในการ “ฟ้องคดีเพื่อผู้บริโภค” อย่างจริงจังมาจนถึงวันนี้ หรืออาจกล่าวได้ว่า คดีปฐมบท “พ่ายแพ้” แต่กลายเป็น “อิฐก้อนแรก”   404 คดี ประสบการณ์ที่ทรงคุณค่าหนึ่งทศวรรษที่ผ่านมา มูลนิธิฯ “ฟ้องคดีเพื่อผู้บริโภค” เป็นจำนวน 404 คดี แม้ดูเหมือนเป็นจำนวนไม่น้อย แต่หากพิจารณาคดีผู้บริโภคทั้งหมดที่มีอยู่ประมาณ 336,549 คดี  ในปีที่ผ่านมาของศาลแล้ว คดีที่มูลนิธิฯฟ้องแทนผู้บริโภค จำนวน 404 คดี คิดเป็นเพียง 0.1 เปอร์เซ็นต์ เท่านั้น! การดำเนินการฟ้องคดีแทนผู้บริโภคโดยส่วนใหญ่ของมูลนิธิฯ เกี่ยวข้องกับ ปัญหาที่เกิดขึ้นกับผู้บริโภคจำนวนมาก เช่น กรณีการถูกเรียกเก็บเงิน 107 บาท จากบริษัทโทรคมนาคม เมื่อผู้บริโภคไม่จ่ายค่าบริการโทรศัพท์ติดต่อกันสองเดือน อันจะทำให้ถูกตัดสัญญาณโทรศัพท์ ต่อเมื่อไปจ่ายค่าบริการและขอใช้บริการใหม่จะถูกเรียกเก็บเงินเพิ่มทันทีจำนวน 107 บาท ทั้งๆ ที่ประกาศมาตรฐานสัญญาในการให้บริการของ คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) เดิม ระบุไว้ชัดเจนว่า บริษัทฯ ไม่สามารถเก็บเงินเพื่อการนี้ได้ นอกจากนี้ มูลนิธิฯ ยังฟ้อง คดีที่เกี่ยวข้องกับการรณรงค์ปัญหาสาธารณะ อีกหลายต่อหลายคดี เช่น กรณีการรณรงค์เรื่องความปลอดภัยของบริการรถโดยสารสาธารณะ เพื่อสร้างความตื่นตัวให้แก่ผู้บริโภคจำนวนมากที่ยังไม่รับรู้สิทธิของตนเองในฐานะผู้ใช้บริการ และเมื่อเกิดปัญหา แทนที่จะได้รับการเยียวยาหรือชดเชยอย่างเป็นธรรม กลับมักถูกผู้ให้บริการรถโดยสารข่มขู่หรือหาทางปิดคดีโดยเร็ว รวมทั้ง การฟ้องคดีเพื่อให้ปรับปรุงมาตรการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค หรือยกระดับการคุ้มครองผู้บริโภค อีกทั้งยังมีการฟ้อง คดีสาธารณะเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของผู้บริโภค เช่น การอนุญาตให้เอกชนขึ้นค่าทางด่วนจาก 50 บาทเป็น 85 บาท โดยไม่ต้องขออนุญาตจากรัฐ หรือการฟ้องคดีเพื่อสนับสนุนการทำงานของขบวนการทำงานขององค์กรผู้บริโภคและเครือข่ายผู้ป่วย เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวีเอดส์ องค์กรพัฒนาเอกชนด้านเอดส์ในการกรณีการผลักดันการเข้าถึงยาจำเป็นต่อชีวิต เช่น การฟ้องศาลปกครองกลางกรณีคำสั่งสำนักงานแข่งขันทางการค้า กระทรวงพาณิชย์ ที่มีมติว่า การกระทำของบริษัท แอ๊บบอต ลาบอแรตอรีส จำกัด (มหาชน)(ABBOTT) จากสหรัฐอเมริกา ที่ได้ขอให้บริษัทในประเทศถอนทะเบียนยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพจำนวน 10 รายการจาก สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ไม่ขัดต่อกฎหมายแข่งขันทางการค้า เนื่องจากบริษัทไม่พอใจที่รัฐบาลไทยใช้มาตรการใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตร ทำให้สามารถมียาราคาถูกในบัญชียาหลักแห่งชาติเพิ่มขึ้น จึงเป็นเหตุในการถอนทะเบียนยา ปัจจัยในการฟ้องคดีต่างๆ ข้างต้น เกิดจากการละเมิดสิทธิผู้บริโภคโดยธุรกิจข้ามชาติ ผู้ประกอบธุรกิจขนาดใหญ่ หรือแม้แต่ผู้ประกอบธุรกิจในประเทศ แต่อีกส่วนหนึ่งเป็นข้อพิพาทของผู้บริโภค ที่ได้รับผลกระทบหรือได้รับความเสียหายจากนโยบายและการปฏิบัติหน้าที่ของหน่วยงานรัฐ ซึ่งกระทบต่อสาธารณประโยชน์ ทำให้มีผู้ได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมาก ประกอบกับข้อพิพาทส่วนใหญ่มีความสลับซับซ้อน ยากที่ผู้บริโภคที่ได้รับความเสียหายจะมีโอกาสและความสามารถเข้าถึงข้อเท็จจริงได้ด้วยตนเอง บางกรณีเป็นเรื่องผลกระทบที่เกิดจากผลประโยชน์ทางนโยบายของรัฐ นักการเมือง หรือภาคเอกชน ที่มีอำนาจและอิทธิพลเหนือผู้บริโภค และเป็นฝ่ายที่มีความรู้และสถานะที่เหนือกว่าในเรื่องข้อมูลข่าวสารและความเชี่ยวชาญ รวมถึงการพิสูจน์ข้อเท็จจริงแห่งคดี มากกว่าผู้บริโภค   “แพ้ชนะ” ไม่ใช่เป้าหมายสิ่งที่ได้คือก้าวไปข้างหน้า เมื่อถอดบทเรียนของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคในเรื่องของการฟ้องคดีของผู้บริโภค พบว่า ผลคดีไม่ว่าลงเอยด้วยการแพ้หรือชนะก็ตาม ได้สั่งสมเป็นคลังประสบการณ์ ที่ส่งผลในภาพรวมให้ขบวนการผู้บริโภคไทยก้าวไปข้างหน้าในหลายด้าน ที่เห็นได้ชัดคือ สามารถหยุดกระบวนการที่ทำให้รัฐและสาธารณะประโยชน์เสียหาย หรือเกิดผลเสียต่อผู้บริโภค รวมทั้งปกป้องรักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติ สาธารณะและประชาชน เช่น กรณีการฟ้องการแปลงสภาพการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่สามารถหยุดการกระจายหุ้น กฟผ.ในตลาดหลักทรัพย์ และทำให้ต้องยกเลิกนำการไฟฟ้าเข้าจำหน่ายในตลาดหลักทรัพย์ หรือการมีคำสั่งให้ บริษัท ปตท. แบ่งแยกทรัพย์สินที่ใช้อำนาจมหาชน รอนสิทธิ เวนคืนหรือใช้เงินลงทุนของรัฐคืนให้กับกระทรวงการคลัง ประการต่อมาคือ ทำให้สิทธิของผู้บริโภคได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายเป็นจริงมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในการได้รับการชดเชยความเสียหาย เช่น สิทธิของคนเล็กคนน้อยที่ใช้บริการรถโดยสารสาธารณะมักจะไม่รู้ว่าตนมีสิทธิ หรือหากลุกขึ้นมาใช้สิทธิก็จะต้องยุ่งยาก ที่สำคัญอย่างยิ่ง คือ เกิดบรรทัดฐานในการคุ้มครองผู้บริโภค ในกรณีที่ได้รับความเสียหายแบบเดียวกัน สำหรับผู้บริโภค นอกจากนี้ ยังทำให้ ผู้บริโภคเท่าทันข้อมูลและมาตรการที่เป็นประโยชน์กับผู้บริโภคถูกบังคับใช้อย่างเป็นรูปธรรม และไม่ถูกละเมิดสิทธิ เช่น การเก็บเงิน 107 บาท ในการต่อสัญญาณโทรศัพท์ หรือการรับรู้ว่าการขึ้นรถโดยสารสาธารณะเป็นผู้บริโภคสามารถฟ้องคดีโดยใช้กฎหมายวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค และตัวอย่างของการฟ้องคดีที่ประสบความสำเร็จ ภายใต้ พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 ยังทำให้ผู้บริโภคที่ถูกละเมิดสิทธิ กล้าที่จะลุกขึ้นหรือใช้สิทธิหรือใช้การฟ้องคดีในการดำเนินการเพื่อให้ได้รับการเยียวยาเพิ่มขึ้น เพราะขั้นตอนและการใช้สิทธิไม่ยุ่งยาก ไม่ต้องพิสูจน์ความเสียหาย ไม่ต้องใช้เงินในวางศาล และไม่จำเป็นต้องใช้ทนาย ส่งผลให้ผู้บริโภคเกิดความมั่นใจและมีความกล้าในการพิทักษ์สิทธิตนเอง ผลด้านอื่นๆ ก็คือ บทบาทในการตรวจสอบเจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานรัฐ ทำให้เกิดความระมัดระวังในการดำเนินงานของข้าราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น การฟ้องคดีปกครองกรุงเทพมหานคร และที่ไม่อาจมองข้ามได้ คือ บทเรียนการฟ้องคดีสาธารณะในหลายกรณี นำมาซึ่งการยกระดับนโยบาย มาตรการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค และการมีส่วนร่วมในการผลักดันให้เกิดมาตรการหรือกลไกการคุ้มครองผู้บริโภคอย่างเหมาะสมจริงจัง เช่น กรณีการฟ้องคดีเพื่อให้ปรับปรุงมาตรการการจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นเมื่อได้รับความเสียหายจากบริการสาธารณสุข หรือกรณีการถอนทะเบียนยาของบริษัท แอ๊บบอต ลาบอแรตอรีส จำกัด เป็นต้น   ประมวลอุปสรรคที่ผ่านมาเมื่อ “ฟ้องคดีแทนผู้บริโภค” การดำเนินการฟ้องคดีของมูลนิธิฯ แทนผู้บริโภค เป็นการพิจารณาของคณะกรรมการมูลนิธิ ฯ ดำเนินการโดยอาศัยความร่วมมือของเครือข่ายผู้บริโภค เครือข่ายองค์กรผู้บริโภค เครือข่ายนักวิชาการ นักกฎหมายและกลุ่มต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ที่ผ่านมา ประมวลปัญหา อุปสรรค เพื่อใคร่ครวญยกระดับงานด้านนี้ เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงความเป็นธรรมได้มากกว่าที่เป็นอยู่ได้ดังนี้ • แม้ว่ามูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจะมีบทบาทต่อสังคม ในฐานะองค์กรสาธารณะประโยชน์ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค ที่ดำเนินการปกป้องสิทธิผู้บริโภคในทุกๆด้าน รวมถึงการฟ้องคดีสาธารณะแทนผู้บริโภคได้อย่างชัดเจนและเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวาง แต่ในทางกฎหมายของพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522  มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคก็ยังไม่เป็นองค์กรที่สามารถฟ้องคดีได้แทน ตามมาตรา 40 ให้เป็นองค์กรหรือสมาคมให้มีสิทธิและอำนาจฟ้องคดีได้ตามมาตรา 41 แห่งพระราชบัญญัติเดียวกันหรือตามพระราชบัญญัติความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดจากสินค้าไม่ปลอดภัย พ.ศ. 2551 เป็นต้น • ขาดนักกฎหมายหรือทนายความที่ปฏิบัติงานภายในองค์กร มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค มีเจ้าหน้าที่ประจำไม่น้อยกว่า 20 คน แต่ไม่มีนักกฎหมายและทนายความในระดับเจ้าหน้าที่ ความเชี่ยวชาญด้านกฎหมาย เป็นระบบอาสาสมัครที่เข้ามาสนับสนุนการฟ้องคดีของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ทำให้เกิดความจำกัดในการดำเนินคดีด้วยตนเอง รวมทั้งขาดความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านในการดำเนินคดี เช่นการเงินการธนาคาร บริการสาธารณะ สื่อและโทรคมนาคม ผลิตภัณฑ์สุขภาพ บริการสุขภาพ เป็นต้น เพื่อสนับสนุนการดำเนินคดีให้ประสบความสำเร็จ • งบประมาณที่ไม่เพียงพอ เนื่องจากเป็นงบประมาณโครงการ ที่ไม่ต่อเนื่อง แต่ขณะที่การดำเนินคดีใช้ระยะเวลาที่ยาวนาน ถึงแม้มูลนิธิฯ จะใช้ระบบทนายอาสาที่ใช้ระบบค่าตอบแทนที่เป็นเพียงค่าตอบแทนวิชาชีพ แต่ต้องใช้งบประมาณจำนวนมากต่อปีในการดำเนินการ ไม่ว่าจะเป็นค่าตอบแทนวิชาชีพ การสืบค้นข้อมูลในการดำเนินคดี การคัดถ่ายเอกสาร ค่าพาหนะที่เกี่ยวข้อง รวมถึงขั้นตอนในการดำเนินคดี การวางแผนการประชุมผู้เชี่ยวชาญ และหากเป็นการดำเนินคดีสาธารณะ หรือผู้บริโภคที่ยากจนก็ต้องรับภาระในส่วนนี้แทนทั้งหมด • นโยบาย กฎหมาย และมาตรการต่างๆ ในการคุ้มครองผู้บริโภคที่ก้าวหน้าและทันสมัยยังขาดความเข้าใจและรับรู้โดยหน่วยงาน หรือบุคคลต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง  อาทิ พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 ที่มุ่งหมายจะก่อให้เกิดระบบการคุ้มครองผู้บริโภคที่สมบูรณ์ทั้งในด้านการป้องกันความเสียหาย และเยียวยาความเสียหาย เช่น การระงับการจำหน่ายสินค้าอันตราย ตลอดจนการมีส่วนร่วมในการคุ้มครองตนเองของผู้บริโภค การเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ไม่ต้องใช้ทนาย ไม่ต้องจ่ายค่าวางศาล การพิจารณาคดีเชิงลงโทษ ความสะดวกรวดเร็วในการดำเนินคดี แต่ข้อเท็จจริงในทางปฏิบัติกลับยังมีข้อติดขัดหลายประการ ที่ยังไม่สามารถใช้ได้จริงตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ หรือพระราชบัญญัติความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดจากสินค้าไม่ปลอดภัย พ.ศ. 2551 ถูกคัดค้านจากผู้ประกอบวิชาชีพ จนกระทั่งต้องออกพระราชกฤษฎีกายกเว้นการบังคับใช้กฎหมาย หรือรวมถึงปัญหาการยอมรับและการร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐหรือองค์กรเอกชนต่างๆ และการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารในการสนับสนุนข้อมูลหรือข้อเท็จจริงต่อการแก้ไขปัญหาผู้บริโภค ซึ่งล้วนแต่เป็นปัจจัยสำคัญในการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคนับแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน   แปลงปัญหา สู่ ปัญญานำพาพลังแห่งการ “ฟ้อง” จากประสบการณ์ การประมวลบทเรียนที่ผ่านมา และการวิเคราะห์ปัญหาและอุปสรรคที่มีอยู่ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มีข้อเสนอแนะต่อการฟ้องคดีสาธารณะเพื่อผู้บริโภคในอนาคต ดังนี้ ประการแรก เร่งให้เกิดองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ให้สอดคล้องกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 61 บัญญัติไว้ว่า “ สิทธิของบุคคลซึ่งเป็นผู้บริโภคย่อมได้รับความคุ้มครองในการได้รับข้อมูลที่เป็นจริง และมีสิทธิร้องเรียนเพื่อให้ได้รับการแก้ไขเยียวยาความเสียหาย รวมทั้งมีสิทธิรวมตัวกันเพื่อพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค ให้มีองค์การเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคที่เป็นอิสระจากหน่วยงานรัฐ ซึ่งประกอบด้วยตัวแทนผู้บริโภค ทำหน้าที่ให้ความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาของหน่วยงานของรัฐ ในการตราและบังคับใช้กฎหมายและกฎ และให้ความเห็นในการกำหนดมาตรการต่างๆ เพื่อคุ้มครองผู้บริโภครวมทั้งตรวจสอบและรายงานการกระทำหรือละเลยการกระทำอันเป็นการคุ้มครองผู้บริโภค ทั้งนี้ให้รัฐสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินการขององค์การอิสระด้วย ประการที่สอง องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคควรมีอำนาจในการฟ้องคดี เนื่องจากปัจจุบันการดำเนินคดีโดยผู้บริโภค องค์กรผู้บริโภค ยังขาดแคลนทั้งความเชี่ยวชาญ ทรัพยากรบุคคล และงบประมาณ    ด้วยเหตุผลดังกล่าว จึงจำเป็นที่จะต้องมีองค์การอิสระที่ทำหน้าที่คุ้มครองสิทธิผู้บริโภค ในการเยียวยาความเสียหาย ที่เป็นอิสระจากหน่วยงานรัฐหรือเอกชน ไม่อยู่ภายใต้ข้อจำกัดของหน่วยงานรัฐ ภาคเอกชน หรือนักการเมือง ที่จัดตั้งขึ้น และสามารถดำเนินการได้อย่างสะดวกรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ  และมีบทบาทในการดำเนินคดีแทนผู้บริโภคได้อย่างโปร่งใส และมีความเป็นธรรมแก่ผู้บริโภคได้อย่างแท้จริง เพื่อแก้ไขปัญหาการดำเนินคดีแทนผู้บริโภคที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์และการบังคับใช้ตามที่กฎหมายกำหนดไว้  และเป็นการยกระดับการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคให้มีสามารถคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคและผลประโยชน์ของสาธารณะได้จริง ไม่ใช่เป็นหน่วยงานที่ไม่มีอำนาจในการดำเนินการใด ๆ ประการที่สาม หน่วยงานรัฐสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการทำคดีผู้บริโภค ข้อเสนอระยะสั้น รัฐมีมาตรการที่ชัดเจนว่า หากมีการดำเนินคดีเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานใดๆ ของรัฐ เช่น สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ฯลฯ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับคดีนั้นควรสนับสนุนงบประมาณให้แก่ องค์กรผู้บริโภค หรือองค์กรสาธารณประโยชน์ที่เกี่ยวข้องกับการช่วยผู้บริโภคดำเนินการฟ้องร้องคดี ในอัตราที่เหมาะสม เพื่อสนับสนุนให้ผู้บริโภคได้รับการคุ้มครองสิทธิอันพึงมีพึงได้ และสนับสนุนให้องค์กรผู้บริโภคเกิดความเข้มแข็งและช่วยเหลือฟ้องคดีสาธารณะแทนผู้บริโภคที่ได้รับความเสียหาย ประการที่สี่ เร่งอุดช่องโหว่ปัญหาการบริหารกิจการของรัฐโดยไม่ตอบสนองประโยชน์สาธารณะอย่างแท้จริง จากกรณีคดีตัวอย่างที่กล่าวมาทั้งหมดสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาด้านมาตรการหรือนโยบายของรัฐ การกำกับดูแล และการใช้กฎหมายที่ถูกละเลย รวมถึงการไม่ให้ความสำคัญกับประโยชน์สาธารณะ ทั้งจากภาครัฐและเอกชน ที่มุ่งเน้นประโยชน์ของคนบางกลุ่มหรือผลประโยชน์กับธุรกิจบางประเภท   โดยที่หลายคดีทำให้เกิดความเสียหายต่อรัฐและประชาชนในประเทศอย่างมหาศาล   หรือเป็นคดีที่มีผลกระทบต่อคนบางกลุ่มบางประเภท แต่ภาพโดยรวมของความเสียหายแล้วเกิดได้กับคนทุกคน จะเห็นได้ว่า ปัญหาหรือข้อพิพาทต่างๆ ล้วนเกิดขึ้นจากการละเมิดสิทธิผู้บริโภค โดยองค์กรของรัฐเอง และส่งผลต่อระบบธรรมาภิบาลของการบริหารราชการแผ่นดิน และมีผลต่อทุกภาคส่วนในสังคมอย่างแท้จริง ไม่ว่าจะเป็นผลทางตรงหรือทางอ้อม ที่เป็นผลจากนโยบาย หรือการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐ ที่ละเลยการใช้กฎหมาย ที่มุ่งแต่ผลประโยชน์ส่วนตนมากกว่าประโยชน์สาธารณะ ประการสุดท้าย เผยแพร่บทเรียนสู่สังคมอย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายร่วมกันเผยแพร่บทเรียน ความสำเร็จในคดีสำคัญเพื่อช่วยสร้างความเข้มแข็งของผู้บริโภค เครือข่ายผู้บริโภค ให้เกิดความเข้าใจ ปลุกกระแสความตื่นตัว เป้าหมายปลายทาง คือ เพื่อให้เกิดความเท่าทันในการคุ้มครองตนเอง และให้ทุกๆ ฝ่ายมองเห็นปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างเป็นระบบ และร่วมกันตรวจสอบ นโยบายและการดำเนินการของรัฐ และหยุดการดำเนินการที่เกิดความเสียหายต่อสาธารณะ รวมถึง การยกระดับคุณภาพการให้บริการของภาคเอกชนที่มีผลต่อประโยชน์สาธารณะด้วย

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 131 ปัญหาราคาพลังงาน ความจริงที่ไม่เท่ากัน

  พลังงานราคาแพง ในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร 1.ปรับขึ้นราคาก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (เอ็นจีวี) อัตรา 50 สตางค์ต่อกิโลกรัมต่อเดือน ตั้งแต่วันที่ 16 มกราคมถึงธันวาคม 2555 รวม 6 บาทต่อกิโลกรัม ทำให้ราคาเอ็นจีวีสิ้นปีจะอยู่ที่ 14.50 บาทต่อกิโลกรัม จากปัจจุบัน 8.50 บาทต่อกิโลกรัม (เท่ากับปรับขึ้นสูงถึง 70%) 2. ปรับขึ้นราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลว (แอลพีจี) อัตรา 75 สตางค์ต่อกิโลกรัม ตั้งแต่วันที่ 16 มกราคมถึงธันวาคม 2555 หรือราคาหน้าโรงกลั่น รวม 9 บาทต่อกิโลกรัม ทำให้ราคาแอลพีจีสิ้นปีจะอยู่ที่ 27.13 บาทต่อกิโลกรัม จากปัจจุบัน 18.13 บาทต่อกิโลกรัม3. ปรับขึ้นราคาน้ำมันเบนซินทั้งระบบอัตรา 1 บาทต่อลิตร ทำให้เบนซิน 91 อยู่ที่ 31.09 บาทต่อลิตร เบนซิน 95 อยู่ที่ 42.42 บาทต่อลิตร แก๊สโซฮอล์ 91 อยู่ที่ 35.44 บาทต่อลิตร แก๊สโซฮอล์ 95 จะอยู่ที่ 37.19 บาทต่อลิตร และอี 20 อยู่ที่ 34.44 บาทต่อลิตร และราคาน้ำมันดีเซล อัตรา 60 สตางค์ต่อลิตร อยู่ที่ 31.09 บาทต่อลิตร เพื่อส่งเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (ยังไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) โดยน้ำมันทั้ง 2 ชนิดปรับขึ้นตั้งแต่วันที่ 16 มกราคม 2555 ส่วนการปรับขึ้นครั้งต่อไป กระทรวงพลังงานระบุว่าจะพิจารณาอัตราที่เหมาะสมและเสนอ กพช. พิจารณาอีกครั้ง ----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------- เมื่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายใต้การนำของ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มีมติเห็นชอบตามมติ กพช. ให้ปรับขึ้นราคาขายปลีกก๊าซเอ็นจีวีและแอลพีจี ด้วยเหตุผลเพื่อให้ราคาจำหน่ายสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง คำถามก็คือ ต้นทุนที่แท้จริง เป็นความจริงของใคร ต้นทุนพลังงานที่แท้จริง ?? จากผลการศึกษาและจากการจัดประชุมสัมมนาหลายครั้งที่ผ่านมาของคณะกรรมาธิการศึกษา ตรวจสอบเรื่องการทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา พบว่า นโยบายการลอยตัวเชื้อเพลิงทุกประเภทของรัฐบาล ซึ่งรวมถึงการประกาศให้ปรับขึ้นราคาก๊าซ LPG และ NGV ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงทางเลือก โดยอ้างถึงความต้องการให้ราคาเชื้อเพลิงสะท้อนถึงต้นทุนที่แท้จริงนั้น  ข้อเท็จจริงคือ รัฐบาลใช้ฐานข้อมูลที่ไม่ครบถ้วนรอบด้าน  และขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน ทั้งที่เรื่อง พลังงานแพงจะส่งผลกระทบต่อชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชนอย่างใหญ่หลวง ฉลาดซื้อฉบับนี้จึงขอนำ รายงานการศึกษา ของคณะกรรมาธิการฯ มาสรุปสาระสำคัญ เพื่อให้ประชาชนได้รับรู้ข้อมูลอีกด้าน ที่ไม่ค่อยมีสื่อใดจะนำไปเปิดเผย   รายงานศึกษาตรวจสอบ เรื่อง “ธรรมาภิบาลในระบบพลังงานของประเทศ” ของคณะกรรมาธิการศึกษา ตรวจสอบเรื่องการทุจริต และเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา   1.ประเทศไทยเป็นหนึ่งในกลุ่มประเทศที่มีแหล่งก๊าซธรรมชาติและน้ำมันดิบขนาดใหญ่หลายแหล่ง และมีการผลิตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา   ปัจจุบันประเทศไทยมีการขุดเจาะก๊าซธรรมชาติและน้ำมันดิบทั่วประเทศแล้วกว่า 5,000 หลุม  โดยมีแปลงสัมปทานทั้งสิ้น 81 แปลง แท่นผลิต 225 แท่น     เดือนมิถุนายนปี 2553 ไทยสามารถขุดเจาะน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติเหลวได้ 40 ล้านลิตรต่อวัน และก๊าซธรรมชาติ (เทียบเท่าน้ำมันดิบ) ปริมาณ 105 ล้านลิตรต่อวัน จากเอกสารรายงานประจำปี 2552 ของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน ระบุว่าปริมาณการขายปิโตรเลียมของประเทศไทยตั้งแต่ปี 2524 ถึงสิ้นปี 2552 รวมเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 2,628,647.50 ล้านบาท4 โดยกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ จัดเก็บค่าภาคหลวงได้เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 329,729.26 ล้านบาท เท่ากับร้อยละ 12.54 และตั้งแต่ปี 2528 ถึงปี 2551 มีการจัดเก็บภาษีเงินได้เป็นจำนวนเงิน 429,212.28 ล้านบาท5 หากรวมค่าภาคหลวงและภาษีเงินได้ที่จัดเก็บตั้งแต่ปี 2524-2552 โดยเทียบกับมูลค่าปิโตรเลียมที่ผลิตได้จากพื้นแผ่นดินไทย รายได้ที่รัฐจัดเก็บได้จากทรัพยากรปิโตรเลียมในประเทศเท่ากับร้อยละ 28.87 ของมูลค่าเท่านั้น ซึ่งจัดว่าต่ำมากเมื่อเทียบกับประเทศที่มีทรัพยากรปิโตรเลียมอื่น ๆ ในภูมิภาคเดียวกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเทศไทยมีสถิติในการผลิตปิโตรเลียมเพิ่มขึ้นทุกปี นับตั้งแต่ปี 2529 จนถึงปัจจุบัน  แผนภูมิปริมาณการผลิตน้ำมันดิบ  ก๊าซธรรมชาติ  และก๊าซธรรมชาติเหลว (เทียบเท่าน้ำมันดิบ)จำนวนล้านลิตรต่อปี (พ.ศ. 2529-2553) ที่มา : กระทรวงพลังงานจากฐานข้อมูลของสถาบัน Energy Information Administration (EIA) ของรัฐบาลสหรัฐฯ ในปี 2552 ประเทศไทยเป็นผู้ผลิตก๊าซธรรมชาติอันดับ 23 และเป็นประเทศผู้ผลิตน้ำมันดิบ1อันดับ 35 จากจำนวน 217 ประเทศของโลก2  ขณะที่กลุ่มโอเปค หรือ Organization of the Petroleum Exporting Countries (OPEC) ซึ่งเกิดจากการรวมตัวของกลุ่มผู้ผลิตพลังงานปิโตรเลียมขนาดใหญ่ของโลกจำนวน 12 ประเทศ จัดอยู่ในผู้ผลิตน้ำมันดิบอันดับที่ 31 แรกของโลก  ข้อมูลดังกล่าวของสถาบัน EIA จึงเป็นหลักฐานสำคัญที่ยืนยันว่า ประเทศไทยจัดอยู่ในกลุ่มประเทศผู้ผลิตพลังงานได้ปริมาณมาก แม้ว่าไทยจะไม่มีศักยภาพมากเท่าประเทศซาอุดิอาระเบียก็ตาม การผลิตปิโตรเลียมของไทยยังมีแนวโน้มดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง และด้วยมูลค่าของปิโตรเลียมที่สูงนี้เองทำให้ประเทศไทยมีความเสี่ยงสูงที่ต้องเผชิญกับปัญหาการบริหารจัดการรายได้จากทรัพยากรที่ไม่เหมาะสม การทุจริตคอร์รัปชั่นของเจ้าหน้าที่ระดับสูง การใช้อำนาจโดยมิชอบ และความขัดแย้งในสังคม   2. การขึ้นราคาก๊าซ NGV เป็นธรรมกับประชาชนหรือไม่ ?     บริษัท ปตท จำกัด(มหาชน) ได้ประชาสัมพันธ์ถึงต้นทุนที่แท้จริงของ NGV อยู่ที่ 14.96 บาท/ กิโลกรัมการขาย NGV ในราคา 8.50 บาท/กิโลกรัม จึงทำให้ ปตท ขาดทุน และต้องการให้รัฐบาลขึ้นราคา NGV   โครงสร้างราคา NGV ของ ปตท ต้นทุนเนื้อก๊าซ 8.39 บาท + ¬¬¬ค่าบริหารจัดการและขนส่ง 5.56 บาท + ภาษีมูลค่าเพิ่ม,ภาษีค่าการตลาด 1.01 บาท  รวม 14.96 บาท/กิโลกรัม   2.1 ต้นทุนเนื้อก๊าซ 8.39 บาท เป็นราคาที่สูงเกินจริง? โฆษณาของ ปตท. ระบุว่า “ต้นทุนเนื้อก๊าซที่ 8.39 บาท/ ก.ก. เป็นราคาเดียวกับที่ขายให้โรงไฟฟ้า” แต่ ปตท. ไม่เคยสดงข้อมูลต่อสาธารณะเลยว่า ราคาเนื้อก๊าซที่ ปตท. ซื้อจากปากหลุมก๊าซในอ่าวไทยนั้นราคาเท่าไหร่?  ซึ่งถือว่าเป็นต้นทุนที่แท้จริงโดยตรง คณะอนุกรรมาธิการเสริมสร้างธรรมาภิบาลด้านพลังงาน ในคณะกรรมาธิการศึกษา ตรวจสอบเรื่องการทุจริต และเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา พบข้อมูลว่า ปตท. ซื้อก๊าซจากปากหลุมก๊าซในอ่าวไทย ในราคาต่ำกว่าราคาตลาดโลกเกือบ 45-50% เช่น ในปี 2551 ราคาก๊าซธรรมชาติในตลาดสหรัฐ  ที่แหล่ง Henry Hub อยู่ที่ 8.79 เหรียญสหรัฐ/ล้านบีทียู แต่ราคาปากหลุมก๊าซในอ่าวไทย ปตท.ซื้ออยู่เพียง 4.85 เหรียญสหรัฐ/ล้านบีทียู (รายละเอียดตามตารางด้านล่าง) ปัจจุบัน (ตุลาคม 2554)  ราคาก๊าซธรรมชาติตลาดโลกถูกลงอย่างมาก ในแหล่ง Henry Hub ราคาอยู่ที่ 3.63 เหรียญสหรัฐ/ล้านบีทียูหรือเท่ากับ 4 บาท/กิโลกรัมเท่านั้น (คิดเทียบจากค่าความร้อน NGV จาก ปตท = 35,947 บีทียู/ก.ก.) ข้อมูลดังกล่าว เป็นข้อมูลที่รัฐบาลและ ปตท. ไม่มีการเปิดเผยต่อสาธารณชน ดังนั้น ประชาชนจึงต้องตั้งคำถามกับ รมต.พลังงานและรัฐบาลว่า ได้เคยตรวจสอบหรือไม่ว่า ปตท. มีต้นทุนค่าซื้อก๊าซจากปากหลุมในอ่าวไทยในราคา 2 บาท/กิโลกรัม จริงหรือไม่ ถ้าใช่ย่อมแสดงว่า ราคาเนื้อก๊าซ 8.39 บาท/กิโลกรัม ที่ ปตท. โฆษณาประชาสัมพันธ์และนำไปเสนอขอปรับขึ้นราคากับรัฐบาลนั้น ย่อมเป็นข้อมูลที่เป็นเท็จ และสูงกว่าราคาต้นทุนที่แท้จริงถึง 4 เท่าตัว 2.2 ต้นทุนปั๊ม NGV และค่าขนส่ง 5.56 บาท/กิโลกรัม  ต้นทุนที่สะท้อนถึงความไร้ประสิทธิภาพของ ปตท ? ก๊าซธรรมชาติที่ประเทศไทยผลิตได้ ส่วนใหญ่ใช้โดยตรงเป็นเชื้อเพลิงสำหรับผลิตกระแสไฟฟ้าในโรงไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(ปตท.)และโรงไฟฟ้าเอกชน และเมื่อนำไปอัดใส่ถังด้วยความดันสูงสามารถนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับรถยนต์ได้ (NGV) เนื่องจาก NGV เป็นก๊าซที่มีคุณสมบัติเบากว่าอากาศ และมีน้ำหนักเบากว่า LPG หลายเท่าตัวจึงมีแรงดันมหาศาล การขนส่งไปให้ถึงสถานีบริการอย่างปลอดภัยจึงเป็นปัญหาสำคัญ เพราะ NGV ไม่สามารถบรรจุลงถังเหล็กขนาดใหญ่แบบรถบรรทุกก๊าซ LPG ได้ จึงต้องใช้วิธีส่งตามท่อส่งก๊าซหรือบรรจุลงในถังก๊าซที่มีความแข็งแรงทนทานเป็นพิเศษเท่านั้น และจะมีสถานีบริการ NGV ทำหน้าที่จ่ายก๊าซ NGV ให้กับผู้ใช้รถยนต์ NGV ณ สิ้นเดือนสิงหาคม 2554 มีสถานีบริการ NGV จำนวน 453 สถานี จำหน่ายก๊าซ NGV 6,895 ตันต่อวัน และ สถานีบริการ NGV ที่มีอยู่แบ่งได้ 2 ลักษณะ คือ สถานีบริการ NGV แนวท่อส่งก๊าซฯ และสถานีบริการ NGV นอกแนวท่อส่งก๊าซฯ ข้อมูลจาก ปตท ณ วันที่ 30 กันยายน 2554 พบว่า มีสถานีบริการ NGV แนวท่อส่งก๊าซฯ เพียง 104 แห่งทั่วประเทศ (มีการใช้งานอยู่เพียงร้อยละ 54 ของกำลังการผลิตเท่านั้น)  ดังนั้นจึงมีสถานีบริการ NGV นอกแนวท่อส่งก๊าซฯมากถึงเกือบ 350 สถานี การตั้งสถานีบริการ NGV นอกแนวท่อส่งก๊าซฯ จำนวนมาก เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดการขาดทุนของก๊าซ NGV เนื่องจากสถานีบริการ NGV นอกแนวท่อฯ ส่วนใหญ่ตั้งอยู่บริเวณใกล้ชุมชนที่ไม่มีแนวท่อก๊าซธรรมชาติผ่าน จึงต้องพึ่งพารถบรรทุกพ่วง(Trailer) ขนส่ง NGV จากสถานีจ่ายก๊าซฯ หลัก ซึ่งการขนส่ง NGV ในแต่ละเที่ยวจะขนส่งในสถานะที่เป็นก๊าซจึงบรรจุได้ในปริมาณน้อย มีระยะเวลาที่ใช้ในการขนส่งนาน มีค่าใช้จ่ายที่สูง ทำให้สถานีบริการ NGV นอกแนวท่อฯ นี้มีปริมาณ NGV สำหรับบริการแก่ผู้ใช้รถ NGV ไม่ต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงที่ความต้องการใช้สูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ และผู้ใช้ NGV จะต้องรอจนกว่ารถ Trailer รอบถัดไปจะมาถึง สถานีบริการ NGV แนวท่อฯ เป็นสถานีฯ ที่ตั้งอยู่ตามแนวท่อส่งก๊าซฯ ซึ่งรับก๊าซธรรมชาติจากท่อส่งก๊าซฯ โดยตรง และสามารถจำหน่ายให้กับผู้ใช้รถ NGV ได้โดยตรง ดังนั้น สถานีบริการฯ ประเภทนี้จึงไม่ต้งพึ่งพารถ Trailer ในการขนส่ง NGV ทำให้ไม่มีข้อจำกัดเรื่องความต่อเนื่องของปริมาณก๊าซฯ สำหรับให้บริการผู้ใช้รถ NGV จึงได้รับความสะดวกในการเติม NGV ที่สถานีบริการ NGVตามแนวท่อฯ ด้วยเหตุผลทั้งหมดนี้ สถานีบริการ NGV จึงควรจะอยู่ตามแนวท่อส่งก๊าซ ซึ่งจะทำให้ไม่ต้องมีการบริหารสินค้าคงคลัง(Inventory) และไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการขนส่งทางรถบรรทุก เพราะก๊าซถูกส่งไปตามแนวท่ออยู่แล้ว แต่หากเพิ่มสถานีบริการ NGV นอกแนวท่อฯให้มีมากขึ้น ต้นทุนของค่าขนส่งก็จะสูงตามไปด้วย แทนที่ ปตท. จะแก้ปัญหาด้วยการเพิ่มสถานีบริการ NGV  แนวท่อฯ ให้มากขึ้น กลับแก้ปัญหาด้วยการปรับขึ้นราคาผลักภาระมาให้ผู้ใช้ก๊าซ NGV แทน จึงไม่ใช่วิธีแก้ปัญหาที่ถูกต้องและไม่เป็นธรรมกับผู้ใช้รถยนต์ NGV ทั้งหมดเป็นอย่างยิ่ง เมื่อคิดเทียบต้นทุนค่าปั๊ม ค่าขนส่งก๊าซที่ ปตท. แสดงอยู่ที่ 5.56 บาท/กิโลกรัม (ซึ่งไม่ควรจะสูงขนาดนี้หากเป็นสถานีบริการ NGV แนวท่อฯ) รวมกับราคาเนื้อก๊าซ NGV ที่ ปตท ใส่เข้ามาอีก 8.39 บาท/กิโลกรัม จะพบว่าต้นทุนค่าปั๊มและค่าขนส่งก๊าซมีสัดส่วนสูงถึง 40% ของราคาก๊าซทั้งหมดที่ยังไม่รวมภาษี แต่หากคิดเทียบจากต้นทุนราคาเนื้อก๊าซที่แท้จริงซึ่งซื้อจากหลุมก๊าซในอ่าวไทยที่ 2 บาท/กิโลกรัม จะพบข้อมูลที่น่าตกใจยิ่งกว่าว่า สัดส่วนของต้นทุนค่าปั๊ม ค่าขนส่งสูงถึง 73% ของราคาก๊าซทั้งหมดยังไม่รวมภาษี ใครที่ทำธุรกิจคงรู้ดีว่า...ถ้าต้นทุนค่าขนส่งมีสัดส่วนสูงขนาดนี้ หากไม่มีวิธีแก้ไขทางอื่น การเลิกทำธุรกิจน่าจะเป็นความคิดที่ดีที่สุด เพราะธุรกิจทั่วไปไม่สามารถผลักภาระขนาดนี้มาให้กับผู้บริโภคได้อย่างแน่นอน   3. การขึ้นราคาก๊าซ LPG เป็นธรรมกับประชาชนหรือไม่ ? ก๊าซ LPG เป็นก๊าซที่ผลิตได้จากโรงแยกก๊าซธรรมชาติและโรงกลั่นน้ำมัน โดยการนำเอาก๊าซโพรเพนกับก๊าซบิวเทนซึ่งเป็นส่วนประกอบของก๊าซธรรมชาติมาผสมกัน อัดใส่ถังก็จะเป็นก๊าซปิโตรเลียมเหลว (Liquefied Petroleum Gas - LPG) หรือที่เรียกว่า ก๊าซหุงต้ม สามารถนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงในครัวเรือน เชื้อเพลิงของรถยนต์ และนำไปใช้ในโรงงานอุตสาหกรรมบางประเภทได้อีกด้วย ความจริงที่ควรรู้คือ รถยนต์ LPG ไม่ใช่ต้นเหตุที่ทำให้ก๊าซ LPG ขาด และต้องเสียเงินนำเข้า จึงไม่ใช่เหตุผลที่รัฐบาลจะใช้เพื่อการปรับขึ้นราคา LPG ในปี 2553 ประเทศไทยสามารถผลิตก๊าซ LPG ได้ 4.4 ล้านตัน พบว่าภาคครัวเรือนใช้อยู่ที่ 2.4 ล้านตัน และรถยนต์ใช้ 6.8 แสนตัน รวมแล้วเท่ากับ 3.1 ล้านตันเท่านั้น ยังเหลือให้ภาคอุตสาหกรรมได้ใช้ถึง 1.3 ล้านตันโดยไม่ต้องนำเข้า สาเหตุสำคัญที่ทำให้ก๊าซ LPG ไม่พอเพียง เป็นเพราะกลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมีซึ่งเกือบทั้งหมดเป็นกลุ่มบริษัทในเครือของ ปตท. มีการใช้ LPG ในปริมาณที่สูงมากขึ้นอย่างต่อเนื่องจนทำให้ LPG ที่ผลิตได้ในประเทศไม่เพียงพอ ในปี 2551-2553 การใช้ก๊าซ LPG ของกลุ่ม อุตสาหกรรมปิโตรเคมีอยู่ที่ 9 แสนตัน , 1.28 ล้านตัน และ 1.59  ล้านตัน เรียงตามลำดับ เป็นปริมาณการใช้ที่เพิ่มสูงขึ้นโดยตลอด แม้แต่ข้อมูลที่กระทรวงพลังงานเสนอต่อที่ประชุม กพช. เพื่อขอปรับราคา LPG ที่ผ่านมา ยังแสดงให้เห็นว่า ภาคอุตสาหกรรมปิโตรเคมีมีสัดส่วนการใช้ LPG สูงเพิ่มขึ้นถึงเกือบ 68% ของปริมาณที่ประชาชนทั้งประเทศใช้ นี่จึงเป็นสาเหตุแท้จริงที่ทำให้ก๊าซ LPG ไม่เพียงพอ และเกิดภาระ การชดเชยจากการนำเข้าจาก ต่างประเทศ ตั้งแต่เดือนเมษายน 2551 – กันยายน 2554 คิดเป็นเงินประมาณ 57,339 ล้านบาท แทนที่รัฐบาลจะไปจัดเก็บเงินค่าก๊าซกับกลุ่มปิโตรเคมีเพิ่มขึ้น กลับกำหนดให้อุตสาหกรรมปิโตรเคมีที่ใช้ก๊าซเป็นวัตถุดิบ ส่งเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯ เพียงกิโลกรัมละ 1 บาทเท่านั้น ในขณะที่ภาคอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่ใช้ก๊าซ LPG ต้องจ่ายเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมัน ในอัตรากิโลกรัมละ 8 - 11 บาท (ในช่วงปี 2555 เป็นต้นไป) และยังผลักภาระมาให้ประชาชนด้วยการขึ้นราคา LPG อีก   ที่มา: สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน ข้อขี้แจงของ ปตท. ต่อกรณีต้นทุนราคาก๊าซเอ็นจีวี ปตท. ยืนยันว่าต้องปรับราคาก๊าซเอ็นจีวีขึ้นตามแผนที่วางไว้ เนื่องจากราคาก๊าซเอ็นจีวีที่ 8.50 บาท ต่อกิโลกรัม ต่ำกว่าต้นทุนมาก โดยราคากลางที่สถาบันปิโตรเลียมทำการศึกษาอยู่ที่ 15 บาท ต่อกิโลกรัม ซึ่งการที่ภาครัฐอุดหนุนราคามาโดยตลอดเป็นการบิดเบือนกลไกราคา ไม่สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง ทำให้ขณะนี้มีประชาชนออกรถใหม่ที่ใช้เอ็นจีวีเป็นเชื้อเพลิงมาวิ่งบนท้องถนนเพิ่มถึงวันละ 300 คัน ซึ่งสุดท้ายจะมาแย่งการเติมก๊าซเอ็นจีวีจากรถบรรทุกและรถขนส่ง ซึ่งหากปล่อยให้สถานการณ์เป็นเช่นนี้ จะทำให้ก๊าซเอ็นจีวีขาดแคลน และ ปตท.ต้องนำเข้าเพิ่มขึ้น และหากไม่ขึ้นราคาก็ต้องเข้าไปอุดหนุน โดยที่ผ่านมาตลอด 9 ปี ปตท. ขาดทุนสะสมแล้วกว่า 40,000 ล้านบาท การนำราคาก๊าซแอลเอ็นจีในสหรัฐฯมาอ้างอิงกับราคาของปตท. และพบว่าราคาที่สหรัฐฯถูกกว่า นั้น เป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง ไม่สามารถมาอ้างอิงได้ เนื่องจากเป็นคนละแหล่งกับที่ ปตท.นำเข้า ซึ่ง ปตท.นำเข้ามาจากพม่า จีน และยังต้องมีต้นทุนค่าขนส่งในระดับสูง นอกจากนี้ราคาก๊าซที่สหรัฐฯ ต่ำ เนื่องจากเป็นนโยบายภายในประเทศของรัฐบาลสหรัฐฯ นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด มหาชน   ต่อกรณีต้นทุนราคาก๊าซแอลพีจี ปตท. บริษัทที่กำลังจะถูกแปรรูปอีกครั้งได้ชี้แจงถึงราคาต้นทุกก๊าซแอลพีจีว่า  การคำนวณราคาก๊าซที่ทำโดยสถาบันปิโตรเลียม ซึ่งได้ประมาณการต้นทุนราคาแอลพีจีแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ  ต้นทุนโรงแยกก๊าซอยู่ที่ 14.10 บาท กิโลกรัม มีราคาขายปลีกจะอยู่ที่ 21.80 บาท กิโลกรัมซึ่งรัฐบาลยังไม่ได้ให้เงินชดเชยราคาก๊าซส่วนนี้ ทำให้ผู้ผลิตต้องรับภาระ 3.50 บาท กิโลกรัม หรือ 612 ล้านบาทต่อเดือน ส่วนที่สองต้นทุนโรงกลั่นอยู่ที่ 23.33บาท กิโลกรัม ซึ่งรัฐบาลจ่ายเงินชดเชย 12.88 บาท กิโลกรัม หรือ 955ล้านบาท/เดือน ส่วนที่สามคือ ต้นทุนการนำเข้าอยู่ที่ 29.28บาท กิโลกรัม ซึ่งรัฐบาลจ่ายชดเชย 19.22บาท กิโลกรัม หรือ 2,153 ล้านบาทต่อเดือน และจากโครงสร้างราคาก๊าซแอลพีจี และขอยืนยันว่าราคาขายปลีกก๊าซแอลพีจีปัจจุบันยังต่ำกว่าต้นทุนที่แท้จริงอยู่มาก และปัจจุบันรัฐบาลต้องนำเงินจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมาชดเชยการนำเข้าก๊าซแอลพีจีถึง 2 หมื่น 6 พันล้านบาท และชดเชยราคาให้โรงกลั่นน้ำมันอีก 1หมื่นล้านบาท นายวัชระ คุณาวัฒนาวุฒิ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ฝ่ายวางแผนหน่วยธุรกิจก๊าซ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) )   โครงสร้างราคาที่อิงประโยชน์ผู้ขาย โครงสร้างราคาก๊าซแอลพีจีกับเอ็นจีวียึดราคาที่ต่างกัน ขณะที่แอลพีจีไปยึดราคาตลาดโลกแต่เอ็นจีวียึดตลาดในประเทศ นอกจากนี้ยังพบว่าลูกค้ารายใหญ่ที่ซื้อก๊าซแอลพีจีคือการไฟฟ้าฝ่ายผลิต ต้องซื้อก๊าซในราคาที่สูงกว่าสหรัฐอเมริกาถึง 4 เท่าตัว  เมื่อราคาแอลพีจีสูงก็ไปยึดหลักอิงตามราคาตลาดโลก หลักอิงนี้จะได้ประโยชน์ต่อผู้ขายอย่างเดียว แต่เมื่อเป็นก๊าซเอ็นจีวีราคาตลาดโลกต่ำกว่า 3-4 เท่า เราไม่อิงตลาดเขาแต่ยึดตลาดในประเทศ (แสดงว่าจะใช้ราคาอะไรก็ได้ใช่หรือไม่)   นางสาวรสนา โตสิตระกูล ส.ว.กทม. รายชื่อผู้ถือหุ้นใหญ่10 อันดับแรกของ ปตท. ณ วันที่ 9 กันยายน 2554 ลําดับที่ รายชื่อ จํานวนหุน รอยละของจํานวน หุนทั้งหมด 1. กระทรวงการคลัง 1,459,885,575 51.145 2. กองทุนรวม วายุภักษ หนึ่ง โดย บลจ. เอ็มเอฟซี จํากัด (มหาชน) 217,900,000 7.634 3. กองทุนรวม วายุภักษ หนึ่ง โดย บลจ. กรุงไทย จํากั ด (มหาชน) 217,900,000 7.634 4. บริษัท ไทยเอ็นวีดีอาร จํากัด 88,919,503 3.115 5. CHASE NOMINEES LIMITED 42 72,840,201 2.552 6. HSBC (SINGAPORE) NOMINEES PTE LTD 57,254,742 2.006 7. STATE STREET BANK AND TRUST COMPANY 41,235,271 1.445 8. NORTRUST NOMINEES LTD 31,371,462 1.099 9. สํานักงานประกันสังคม (2 กรณี) 25,794,700 0.904 10. STATE STREET BANK EUROPE LIMITED ที่มา http://ptt-th.listedcompany.com/shareholdings.html   กําไรและที่มาของรายได้ของปตท.วิเคราะห ผลการดําเนินงาน แยกตามกลุมธุรกิจ ป กําไรกอนหัก ดอกเบี้ยและ ภาษี (ลานบาท) กําไรก่อนหัก ภาษีและดอก เบี้ย หนวยธุรกิจ กาซธรรมชาติ (ลานบาท) กําไรจาก ธุรกิจการ สํารวจ และผลิต ปโตรเลี่ยม (ปตท สผ) (ลานบาท) กําไร (ขาดทุน) จากธุรกิจ น้ำมัน (ลานบาท) จากการคา ระหวางประเทศ (ลานบาท) คาใชจายในการบริหาร (ลานบาท) คาตอบแทน กรรมการ (ลานบาท) กําไรสุทธิทั้งป (ลานบาท) กําไรตอหุน(บาท) 2551 109,882.83 48,505 74,643 (1,720) 4,310 18,190 389 66,535 18 2552 102,004.71 32,921 51,570 9,000 2,016 22,322 508 68,690 21 2553 139,037.13 37,617 64,348 9,402 2,338 24,196 697 99,930 29 2554 ถึง ก.ย. 54 137,367.382 เกาเดือนแรก 21,052 465 101,772 มค-กย 54 31 อ้างอิงจาก รายงาน 56-1 ประจําปี 2553 หน้า 306 , 311 รอบปีงบประมาณ 2554 (1 ต.ค. 2553 - 30 ก.ย. 2554) ปตท.ใช้งบประมาณว่าจ้างหน่วยงาน องค์กรเอกชน โฆษณาประชาสัมพันธ์โครงการและกิจกรรมต่างๆ รวม 44 รายการ วงเงินรวม 651.1 ล้านบาท เมื่อเทียบกับงบประมาณ 2553 ปตท.ได้ใช้เงินประชาสัมพันธ์ ผ่านบริษัทต่างๆ 34 รายการ รวมเม็ดเงิน 687.2 ล้านบาท รวม 2 ปี ปตท.หว่านเม็ดเงินเพื่อโฆษณาประชาสัมพันธ์สูงเกือบ 1,400 ล้านบาท

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 130 อาหารต้องมาก่อนเสมอ

  “หิวเมื่อไหร่ก็แวะมา เซเว่น อีเลฟเว่น” สโลแกนนี้ฝังอยู่ในหัวคนไทยจำนวนมาก และเขาก็ทำได้จริงเสียด้วย ผู้คนจำนวนไม่น้อยชื่นชมกับข้าวกล่อง ไส้กรอก ขนมจีบซาลาเปา ในร้านสะดวกซื้อแห่งนี้ แต่ทว่า ในช่วงวิกฤตอุทกภัยกว่าสองเดือนที่ผ่านมา ให้ตายเถอะ เข้าไปเซเว่นไหน ก็หาอะไรกินแทบไม่ได้ แม้แต่น้ำเปล่าสักขวด มันเกิดอะไรขึ้น แต่พลันที่หันหลังจากร้านที่เปิดตลอด 24 ชั่วโมงออกมาด้านนอก ร้านค้าของชาวบ้านธรรมดาๆ กลับมีน้ำดื่มวางขายให้ดื่มกินชื่นใจ พร้อมกับข้าวสารอาหารแห้งและบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่หายากยิ่งกว่าทองคำในช่วงเวลานั้น มันเกิดอะไรขึ้นสภาพขาดแคลนอาหารอย่างหนัก ภาพชั้นวางสินค้าที่ว่างเปล่า โดยเฉพาะในห้างร้านค้าปลีกขนาดใหญ่ ซูเปอร์มาร์เก็ตระดับยักษ์ ตลอดจนร้านสะดวกซื้อที่ว่ามีการจัดการกับระบบการกระจายสินค้าที่ยอดเยี่ยม  ทำไมจึงเน่าสนิทเมื่อเกิดภาวะวิกฤตขึ้นในบ้านเมืองแห่งนี้ ระบบอาหารของประเทศอยู่ในมือคนจำนวนน้อยที่ตัวอ้วนกลม ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา วัฒนธรรมการกินของเราเปลี่ยนไปมากโดยเฉพาะคนเมืองที่วิถีชีวิตเร่งรีบ คนจำนวนมากพึ่งพิงการซื้อสินค้าโดยเฉพาะอาหารจาก Modern Trade ไม่ว่าจะเป็นไฮเปอร์มาเก็ตขนาดยักษ์ ซูเปอร์มาร์เก็ต ดิสเคาน์สโตร์และร้านสะดวกซื้อที่เปิดอยู่ทุกมุมเมือง แล้วคุณรู้หรือไม่ว่า สินค้าที่ขายในห้างร้านเหล่านี้มากกว่า 50% (บางห้างก็ 100 %) เป็นอาหาร ถ้ามองในระดับโลก เราก็จะพบว่าห้างขนาดใหญ่อย่าง ไฮเปอร์มาร์เก็ต ซูเปอร์มาร์เก็ต ดิสเคาสโตร์ ร้านสะดวกซื้อ เป็นแหล่งกระจายอาหารหลัก ไฮเปอร์มาร์เก็ต  35 % เป็นอาหาร ซูเปอร์มาร์เก็ตสินค้ากว่า 70  % เป็นอาหาร  ดิสเคาน์สโตร์ 69 % เป็นอาหาร ร้านสะดวกซื้อ 58 %เป็นอาหาร ซึ่งการค้าอาหารในปัจจุบันถูกครอบครองในมือบริษัท  15  บริษัทของโลกนี้เท่านั้น   Leading retailers in global food market sales, by type of retail outlet, 2008 Global sales rank Supermarkets Hypermarkets Discounters   1 Kroger Co (United States) Wal-Mart Stores Inc (United States) Aldi Group (Germany)   2 Safeway Inc (United States) Carrefour SA (France) Schwarz Beteiligungs GmbH (Germany)   3 Tesco Plc (Uniked Kingdom) Tesco Plc (United Kingdom) Rewe Group (Germany)   4 Royal Ahold NV (Netherlands) Auchan Group SA (France) Supervalu Inc (United States)   5 Edeka Zentrale AG & Co KG (Germany) E Leclerc (France) Carrefour SA (France)   6 Rewe Group (Germany) J Sainsbury Plc (United Kingdom) Wal-Mart Stores Inc (United States)   7 Delhaize Group SA (Belgium) Casino Guichard-Perrachon SA (France) Tengelmann Group, The (Germany)   8 ITM Entreprises SA (France) Schwarz Beteiligungs GmbH (Germany) George Weston Ltd (Canada)   9 Carrefour SA (France) Royal Ahold NV (Netherlands) Dansk Supermarked A/S (Denmark)   10 Woolworths Ltd (United States) Metro AG (Germany) X5 Retail Group NV (Russia)   11 Supervalu Inc (United States) Target Corp (United States) Edeka Zentrale AG & Co KG (Germany)   12 Publix Super Markets Inc (United States) Meijer Inc (Japan) Reitan-Gruppen AS (Norway)   13 Internationale Spar Centrale BV (Netherlands) Shinsegae Department Store Co Ltd (South Korea) Norma Lebensmittel Filialbetrieb GmbH & Co KG (Germany)   14 Mercadona SA (Spain) Systeme U Central Nationale SA (France) Tander ZAO (Russia)   15 Casino Guichard-Perrachon SA (France) Louis Delhaize SA (Belgium) Jerónimo Martins SGPS SA (Portugal)   Sales share of top 15 30.6 percent 73.5 percent 68.8 percent     Source: Euromonitor, 2008.   การรุกคืบเข้ามาเป็นผู้ป้อนอาหารให้กับผู้คนจำนวนมาก แน่นอนว่าร้านค้ารายย่อย ร้านโชว์ห่วย และบรรดาพ่อค้าแม่ค้าตลาดสด คือกลุ่มคนแรกๆ ที่ต้องล้มหายตายจากไปเป็นจำนวนมาก เพราะไม่สามารถแข่งขันกับความทันสมัยด้วยเทคโนโลยีและทุนมหาศาลของค้าปลีกขนาดยักษ์ได้ และผู้บริโภคคือกลุ่มถัดมา ที่ค่อยๆ ถูกครอบงำวิถีการกินอยู่ อย่างช้าๆ ปรากฏการณ์ที่ผู้คนจำนวนมากแห่แหนกันไปไฮเปอร์มาเก็ตต่างๆ เพื่อระดมซื้อสินค้ามากักตุนยามวิกฤติหรือเดินเข้าร้านสะดวกซื้อเพื่อจะหาน้ำกินสักขวด สะท้อนให้เห็นว่า ผู้บริโภคเราคิดอะไรไม่ออก และเคยชินกับการพึ่งพิงค้าปลีกขนาดยักษ์ร้านสะดวกซื้อทันสมัยมากกว่าจะอุดหนุนร้านค้าหรือโชว์ห่วยใกล้บ้าน ยิ่งเจาะไปที่รายการสินค้าที่ซื้อมาเพื่อสะสมเป็นเสบียง ยิ่งบอกชัดถึงจินตนาการที่ตีบตันของผู้บริโภค คิดอะไรไม่ออก นอกจาก มาม่ากับปลากระป๋อง ผลก็คือ ทั้งสองสิ่งหายากยิ่งกว่าทองคำ ในห้วงเวลาวิกฤต   ระบบกระจายอาหารย้ายไปอยู่ในมือค้าปลีกขนาดยักษ์ได้อย่างไร ในอดีตเมื่อใครสักคนผลิตอาหารอะไรได้ ก็จะมีพ่อค้าขายส่งหรือที่เรียกว่า ยี่ปั๊ว มารับซื้อสินค้าแล้วไปกระจายยังร้านค้าปลีกเล็กๆ ที่ฝังรากอยู่ในท้องถิ่นต่างๆ ยี่ปั๊วจะรู้ว่าสินค้าอะไรเป็นที่ต้องการของร้านไหน การค้าขายอาศัยความไว้เนื้อเชื่อใจกันค่อนข้างสูง  ยี่ปั๊วที่มีสมาชิก(ร้านค้า) อยู่ในมือจำนวนมาก ก็จะมีอำนาจในการต่อรองกับผู้ผลิตสูง สามารถขอส่วนลดของแถมหรือเครดิตกับผู้ผลิตได้ ต่อมาโครงสร้างสังคมเปลี่ยน ความเจริญก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีต่างๆ รุดหน้าไปเรื่อยๆ เริ่มมีห้างร้านขนาดใหญ่ อย่างที่เราเรียกว่า ห้างสรรพสินค้าเกิดขึ้น ห้างฯ ที่ยิ่งกระจายตัวออกไปมากเท่าไหร่ คนก็นิยมเข้าไปซื้อหาสินค้าในห้างมากขึ้น เพราะเหตุปัจจัยหลายอย่าง เช่น ราคาที่มีโปรโมชั่นพิเศษ สินค้าที่ดูคัดเกรดมาอย่างดี มีแอร์เย็นฉ่ำหรือพนักงานต้อนรับที่อัธยาศัยดี ทำให้ห้างสรรพสินค้าเริ่มเข้ามามีอำนาจต่อรองกับผู้ผลิตมากกว่ายี่ปั๊วในระบบการค้าแบบเก่า เพราะเป็นแหล่งที่คนเข้าไปจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น แต่ก็ยังไม่ถึงกับแข่งขันกันมาก เพราะตัวสินค้าจะมีความแตกต่างกันสูง จนเมื่อห้างฯ เริ่มขยับตัวมาเป็นห้างค้าปลีกขนาดยักษ์และถูกทุนต่างชาติเข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ห้างค้าปลีกขนาดยักษ์ที่เรียกกันว่า Modern Trade นั้น กลายเป็นยักษ์ที่ทำลายระบบการค้าเดิมจนแทบจะอยู่ไม่ได้ พวกเขามีทุนมหาศาล มีหน้าร้านหรือสาขาที่กระจายออกไปทั่วประเทศ ทั้งขนาดเล็ก ขนาดใหญ่ จนเหลียวมองไปทางไหนก็เห็น ดังนั้น  Modern Trade จึงสามารถสั่งซื้อสินค้าจากผู้ผลิตได้โดยตรงโดยไม่ต้องผ่านยี่ปั๊วอีกต่อไป เท่ากับลดต้นทุนในการสั่งซื้อได้ ดังนั้นจึงไม่ต้องแปลกใจที่ ราคาสินค้าในห้างค้าปลีกขนาดยักษ์จะสามารถ ขายในราคาที่ถูกกว่าได้ เพราะส่วนต่างของราคาไม่ต้องผ่านคนกลางอีก ปรากฏการณ์นี้เกิดกับสินค้าทุกชนิดและแน่นอนว่า อาหาร ก็เป็นสิ่งที่  Modern Trade นำมาวางขายมากกว่า 50 % ของสัดส่วนสินค้าทั้งหมด เพราะอาหารเป็นปัจจัยสี่ที่คนไม่อาจขาดได้   จุดแข็งของ Modern Trade ใช้ไม่ได้ในยามวิกฤต ด้วยจำนวนหน้าร้านหรือสาขาที่มีเป็นจำนวนมาก การกระจายสินค้าเพื่อให้สินค้าไปถึงมือผู้บริโภคอย่างรวดเร็ว และไม่มีการสะสมไว้ในคลังสินค้าเป็นจำนวนมากๆ ถือเป็นหัวใจหลักที่การค้ายุคใหม่ให้ความสำคัญมาก ในการค้าแบบเดิม เมื่อผู้ผลิต ผลิตสินค้าได้ก็เตรียมสินค้าไว้ในคลังสินค้าก่อนเพื่อรอการจำหน่ายให้กับพ่อค้าส่ง พ่อค้าส่งเองก็อาจมีคลังสินค้าหรือที่เรียกว่า โกดัง ไว้เก็บสินค้าเพื่อรอกระจายไปให้กับร้านค้าปลีกในกลุ่มของตน ปัญหาคือ การบริหารให้สินค้าไม่ค้างในคลังสินค้ามากเกินไปจนเป็นภาระและไม่น้อยเกินไปจนอาจขาดแคลนเมื่อจำเป็นต้องส่งให้ร้านค้า จึงเป็นสิ่งสำคัญ  แต่ Modern Trade คือผู้ที่สามารถพัฒนาระบบคลังสินค้าให้มีประสิทธิภาพถึงขีดสุดได้ ด้วยสิ่งที่เรียกว่า ศูนย์กระจายสินค้า(Distribution Center) ศูนย์กระจายสินค้าก็คือ คลังสินค้าของ Modern Trade ที่ดำเนินการในการรวบรวมคำสั่งซื้อจากหลายๆ ที่แล้วรวบรวมเป็นคำสั่งซื้อเดียว และจัดส่งคำสั่งซื้อไปยังผู้ผลิต(Suppliers) เพื่อให้จัดส่งสินค้ามาในคราวเดียว จึงลดต้นทุน ลดระยะเวลาในการจัดส่ง และทำหน้าที่ในการแยกย่อยสินค้าไปบรรจุลงกล่องจัดส่งไปยังสาขาต่าง ๆ ของModern Trade ด้วยวิธีการที่ทันสมัยนี้ จะช่วยลดต้นทุน ลดการมีสินค้าคงคลังเกินความจำเป็น ลดระยะเวลาในการเก็บรักษาสินค้า เพราะไม่ต้องสั่งสินค้ามาเกินความจำเป็น ขณะเดียวกันก็สามารถส่งผ่านสินค้าออกไปยังหน้าร้านได้อย่างทันท่วงที ทำให้หน้าร้านเองก็ไม่จำเป็นต้องสต็อกสินค้าเอาไว้จำนวนมาก ผู้ผลิตเองก็ได้ประโยชน์เพราะรับรู้ได้ว่า สินค้าของตนขายไปได้เท่าไหร่ ต้องผลิตเพิ่มเติมในจำนวนเท่าไหร่ ลองมาดูกรณีตัวอย่างของค้าปลีกยักษ์ เทสโก้ โลตัส  เมื่อโลตัสได้ผุดสาขาแห่งแรกขึ้นที่ซีคอนสแควร์ เมื่อปี 2538  ก็ได้มีการสร้างศูนย์กระจายสินค้าครบวงจรที่วังน้อย อยุธยา เพื่อแก้ปัญหาการคอนโทรลสินค้าเข้าห้าง โดยเฟสแรกมีพื้นที่ 1.5 หมื่นตารางเมตร และต่อมาได้ขยายเฟส 2 อีก 2.5 หมื่นตารางเมตร ศูนย์กระจายสินค้า หรือ Distribution Center (DC.) แห่งนี้สามารถรองรับการขยายร้านได้ถึง 60 สาขา และยังมีแผนขยายพื้นที่ออกไปอีก กว่า2 หมื่นตารางเมตร  ศูนย์กระจายสินค้าของโลตัสที่วังน้อย ทำงาน 24 ชั่วโมงเพื่อจัดส่งสินค้าให้แก่สาขาต่างๆ ถือได้ว่าเป็นศูนย์กระจายสินค้าที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แบ่งเป็น 2 ส่วนหลัก คือ 1. คลังสินค้าประเภทไม่ต้องแช่เย็น ได้แก่ สินค้าอุปโภค บริโภค เครื่องใช้ไฟฟ้า และเสื้อผ้า ส่วนที่ 2. ได้แก่ ศูนย์กระจายสินค้าอาหารสด มีพื้นที่ 10,000 ตารางเมตร    ศูนย์กระจายสินค้าแห่งนี้จัดได้ว่าเป็นศูนย์แรกของเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ที่ใช้ระบบคอมพิวเตอร์ควบคุมการทำงานแบบครบวงจร ระบบลำเลียงสินค้าใช้ระบบบาร์โค้ดและระบบสายพานไฟฟ้าที่ทันสมัย ช่วยในการจัดเรียงและกระจายสินค้าด้วยความรวดเร็ว   ด้วยระบบดังกล่าวสินค้าที่คู่ค้าจัดส่งมายังศูนย์กระจายสินค้าจะถูกจัดส่งไปยัง เทสโก้ โลตัส สาขาต่าง ๆ ภายใน 12 ชั่วโมง โดยมีระบบคอมพิวเตอร์แจ้งจำนวนและตำแหน่งที่จัดเก็บสินค้าต่าง ๆ รวมทั้งระยะเวลาที่สินค้านั้นอยู่ในคลังจัดเก็บสินค้า   ทุกวันจะมีรถบรรทุกจำนวนตั้งแต่ 500-700 คันนำสินค้าอุปโภคบริโภคมาส่งที่นี่ โดยจะมีกล่องสินค้าทั้งหมดส่งผ่านศูนย์กระจายสินค้าแห่งนี้ประมาณ 300,000-800,000 กล่องเป็นประจำทุกวัน (ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 23 ฉบับที่ 1806 วันที่ 5-7 มิถุนายน 2546 หน้า 22 “เปิดหลังบ้านโลตัส สำรวจอาณาจักร 2,000 ล้านที่วังน้อย) ไม่เพียงเฉพาะโลตัส ระบบศูนย์กระจายสินค้ากลายเป็นหัวใจหลักของระบบค้าปลีกใน Modern Trade ทั้งหมด โดยพื้นที่ที่นิยมในการตั้งศูนย์กระจายสินค้า เพื่อจัดส่งสินค้าให้กับค้าปลีกในเขตกรุงเทพฯ และภาคกลาง คือ เขตอำเภอวังน้อย อยุธยา บางบัวทอง นนทบุรี เมื่อศูนย์กระจายสินค้าหลักๆ ของค้าปลีกยักษ์และร้านสะดวกซื้อไปอยู่ในพื้นที่น้ำท่วมหนัก ก็เป็นอันว่า สิ้นหวัง สินค้าในคลังถูกน้ำล้อมไว้หมด เส้นทางคมนาคมถูกตัดขาด สินค้าจึงขาดแคลน ชั้นวางของจึงว่างเปล่าอย่างที่เห็น โชว์ห่วยพระเอกตัวจริง ถ้าจะประมวลหาสาเหตุของสินค้าขาดแคลนในยามวิกฤตที่ผ่านมา อาจพอสรุปได้ 4 ประการ คือ 1. การผลิตสินค้าหลายชนิดทำไม่ได้ เนื่องจากโรงงานถูกน้ำท่วม ขณะที่ผลผลิตในภาคการเกษตรเสียหายทำให้ไม่มีวัตถุดิบในการผลิต 2. การขนส่ง และกระจายสินค้าทำไม่ได้ เพราะถนนถูกตัดขาด 3. การกักตุน ฉวยโอกาสขึ้นราคาของพ่อค้า แม่ค้า และกฎเกณฑ์การนำสินค้าวางขายที่ไม่ผ่อนปรนของ Modern Trade 4. การแห่กันกักตุนสินค้าของประชาชน ข้อ 1 และ 2 ต้องยอมรับว่าเกิดความเสียหายจริง แต่ก็ใช่ว่าจะทำให้สินค้าขาดแคลนทั้งหมด เพราะยังมีตัวเลือกรองๆ ให้ผู้บริโภคเลือกได้ อย่างกรณีน้ำดื่มบรรจุขวด แน่นอนว่าผู้ผลิตรายใหญ่ต่างถูกน้ำท่วมทั้งหมด (สองรายใหญ่ สิงห์ ช้าง โรงงานตั้งอยู่ในจังหวัดปทุมธานี ที่น้ำท่วมเกือบ 100 %) แต่ก็ยังมีผู้ผลิตน้ำดื่มอีกจำนวนมากที่อยู่ในพื้นที่ไม่ถูกน้ำท่วม ส่วนการคมนาคมยังมีเส้นทางรองให้สามารถจัดหาสินค้าเข้ามาขายได้ แม้ต้องเพิ่มต้นทุนในการขนส่ง ข้อ 4 อันนี้ไม่ควรกล่าวโทษกัน เพราะอาการตื่นตระหนักที่เกิดขึ้น เนื่องจากประชาชนไม่มีข้อมูลเพียงพอในการที่จะตัดสินใจได้ว่า จะต้องดูแลชีวิตตัวเองอย่างไร ดังนั้น การกักตุนสินค้าถือเป็นการประกันความเสี่ยงของผู้บริโภค ถ้ารัฐสามารถรับประกันหรือให้ความมั่นใจ ให้ข้อมูลกับประชาชนได้อย่างเพียงพอ ปัญหาการกักตุนก็จะไม่เกิดขึ้น ดังนั้น ข้อที่เราควรให้ความสำคัญมากที่สุดก็คือ ความแข็งตัวของ Modern Trade ดังที่ได้กล่าวไป สาขาของ Modern Tread ไม่มีการกักเก็บสินค้าไว้มาก เพราะเชื่อมั่นในระบบการกระจายสินค้าของตน และผู้ค้าที่จะเข้าไปวางสินค้าขายของใน Modern Tradeได้ ก็มีจำนวนจำกัด เพราะต้องเสียค่าจัดการสูง ด้วยความที่เป็นระบบใหญ่ การนำจัดหาสินค้ามาวางขายให้ทันกับความต้องการของผู้บริโภคในภาวะวิกฤตเลยทำได้ลำบาก ปัญหาสินค้าหมดเกลี้ยงจึงเกิดขึ้น แต่ในเวลาเดียวกันร้านค้าแบบดั้งเดิมที่ลดจำนวนลงอย่างรวดเร็ว จากการถูกรุกพื้นที่ทำมาหากินของ Modern Trade กลับเป็นที่พึ่งของผู้ประสบภัยเพราะสามารถหาสินค้าอุปโภคบริโภคมาให้แก่ชุมชนได้ตลอด แม้ในเขตที่มีน้ำท่วมหนัก ปรากฏการณ์นี้ชี้ให้เห็นว่าระบบการค้าแบบดั้งเดิมที่กำลังจะตายจากนั้นเป็นระบบที่มีประสิทธิภาพในการกระจายสินค้าและการเข้าถึงอาหารของประชาชนในภาวะฉุกเฉิน   เหตุใดระบบร้านค้าดั้งเดิมจึงสามารถทำให้ประชาชนเข้าถึงอาหารได้มากกว่าระบบค้าปลีกขนาดใหญ่ เมื่อการขนส่งหยุดชะงักเพราะน้ำท่วมเส้นทางและศูนย์กระจายสินค้า ระบบที่แข็งตัวของ Modern Trade ทำให้ไม่ค่อยกล้าเสี่ยงเข้าไปนำสินค้าออกมาจากศูนย์กระจายสินค้า เพราะต้นทุนจะสูงขึ้นแต่ราคาขายกลับต้องเป็นไปตามกติกาของรัฐ แม้ในภาวะวิกฤติห้างปลีกขนาดใหญ่ก็ยังใช้หลักการทำงานโดยการคำนวณจากกำไรและขาดทุนมากกว่าการช่วยเหลือชุมชน ที่เข้าไปตั้งสาขาทำมาหากิน ถ้าการนำสินค้าออกมาจากคลังสินค้าสร้างต้นทุนสูงขึ้น Modern Trade ไม่ยินดีทำ แต่หันมาสนับสนุนให้นำเข้าสินค้าจากต่างประเทศแทนทั้งๆ ที่ในคลังสินค้ายังมีสินค้าอีกมาก และผู้ผลิตสินค้าที่เป็นตัวเลือกรองก็มีอีกมาก เพียงพอที่จะบรรเทาภาวะขาดแคลนน้ำและอาหารModern Trade ไม่เลือกทางนั้น สิ่งนี้ ชี้ให้เห็นว่าธุรกิจค้าปลีกขนาดยักษ์ขาดความรับผิดชอบต่อสังคมไม่ว่าจะเป็นเรื่อง การเสียสละเพื่อชุมชนหรือการนำสินค้าที่ผลิตในประเทศจากจุดอื่นมาขายเพื่อบรรเทาความเดือดร้อน ระบบค้าปลีกดั้งเดิมนั้นมีการสต๊อกสินค้าไว้หลังร้านในจำนวนที่มากกว่า แม้ความหลากหลายของสินค้าอาจจะน้อยกว่าค้าปลีกขนาดใหญ่ แต่การสต็อกสินค้าที่ส่วนมากเป็นสินค้าพื้นฐานที่จำเป็นทำให้มีสินค้ารองรับกับความต้องการของผู้บริโภคได้มากกว่า อันที่จริงก็อาจจะมีบ้างที่ร้านค้าดั้งเดิมกักตุนสินค้า แต่ก็ใช่ว่าจะเป็นทุกร้าน และราคาก็ไม่ได้ขูดรีดเกินไป เพราะอย่างไรก็เป็นคนในชุมชนเดียวกัน ผู้ค้าส่ง(ยี่ปั๊ว) ที่ส่งของให้ร้านค้าแบบดั้งเดิมมีหลายเจ้ากว่าและผู้ค้าจะช่วยกัน แบ่งสต็อกให้จุดที่ขาดแคลนช่วยกันกระจายกันหลายๆ ทอดจนทำให้สินค้าเข้าไปใน ร้านโชว์ห่วยชุมชนได้ และทำให้ลดความเสี่ยงเรื่องการขาดแคลนอาหารและเครื่องอุปโภค ในขณะที่พนักงานร้านสะดวกซื้อเป็นลูกจ้างที่รับเงินเดือนประจำ พวกเขาจึงขาดความผูกพันกับชุมชนจึงไม่กระตือรือร้นที่จะหาอาหารหรือสินค้าที่ขาดแคลนมาให้ชุมชน แต่เจ้าของร้านค้าแบบดั้งเดิมมักจะมีหลักแหล่งในชุมชนมานานและมีความผูกพันต่อสมาชิกในชุมชนจึงขวนขวายออกไปนำเอาอาหารและน้ำดื่มจากที่อื่นเข้ามาขาย ให้ประชาชนแม้จะต้องรับภาระต้นทุนค่าขนส่งเพิ่มขึ้นก็ตาม ร้านสะดวกซื้อและค้าปลีกขนาดใหญ่มักจะมีการสั่งซื้อในปริมาณที่กำหนดไว้ก่อนแล้ว จึงขาดความยืดหยุ่นในการจัดหาสินค้าประเภทที่ขาดแคลนให้มีจำนวนมากพอกับความ ต้องการ ในขณะที่ร้านค้าแบบดั้งเดิมสามารถมีความยืดหยุ่นในการสั่งและสต็อกสินค้าจึงสามารถนำสินค้าที่ขาดแคลนมากที่สุดมาสนองความต้องการของประชาชนได้อย่างเพียงพอ   อาหารต้องมาก่อนเสมอ เมื่อเหตุการณ์น้ำท่วมผ่านไป Modern Trade คงต้องมีการปรับตัวขนานใหญ่เพื่อรับมือกับภัยพิบัติที่มีแนวโน้มคุกคามประเทศทุกปี และก็เชื่อว่า ผู้บริโภคส่วนใหญ่ก็ยังคงต้องพึ่งพากับระบบอาหารที่อยู่ในมือของModern Trade ต่อไปเพราะวิถีการกินใช่จะเปลี่ยนกันได้ง่ายๆ แต่ก็อีกนั่นแหละไม่ใช่ว่าจะเปลี่ยนไม่ได้เสียทั้งหมด ยังโชคดีที่เรายังพอมีทางเลือกอยู่บ้าง และเพื่อไม่ให้ผู้ค้ารายเล็กรายน้อยต้องหายไป ทั้งๆ ที่พวกเขาคือพระเอกในยามวิกฤต ฉลาดซื้อมีข้อเสนอดังนี้ 1.เราควรหันกลับมาใส่ใจกันสักนิด ว่าอาหารที่เรากินอยู่ทุกวันนี้ มีที่มาจากไหนและการบริโภคของเราจะไปสร้างผลกำไรให้กับใคร พ่อค้าตัวอ้วนใหญ่หรือคนเล็กคนน้อยเช่นเดียวกับเรา 2.เลือกซื้ออาหารจากตลาดสด ร้านค้ารายย่อย ร้านค้าใกล้บ้านในชุมชน โชว์ห่วยปากซอย เพื่อต่อลมหายใจให้กับธุรกิจเล็กๆ ให้มีที่ยืนในสังคม 3.ทำอาหารกินเองบ้างเพื่อให้ได้เกิดการสร้างสรรค์และก่อเกิดจินตนาการที่กว้างไกล มากกว่าจะนึกถึงแต่บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปและปลากระป๋อง เมื่อชีวิตเข้าสู่ภาวะวิกฤตจะได้มีตัวเลือกในการกินมากขึ้น 4.อะไรที่พอผลิตเองได้ ก็น่าลองเพื่อจะได้ไม่ต้องถูกผูกขาดอยู่ในวังวนของผู้ผลิตและผู้ประกอบการที่เอาเปรียบ   และข้อเสนอต่อรัฐเมื่อยามเกิดวิกฤตชาติ ระยะสั้นในภาวะฉุกเฉินรัฐต้อง : 1.ดึงศักยภาพของภาคประชาชนเข้ามาร่วมทำงานในการบริหารจัดการเรื่องการเข้าถึง อาหารในภาวะวิกฤติให้เกิดประสิทธิภาพ เพราะภาคประชาชนสามารถเข้าถึงปัญหาอย่างแท้จริงและสามารถแก้ปัญหาได้ตรงจุดกว่าหน่วยงานราชการ 2.ดึงศักยภาพของหน่วยงานรัฐที่มีกลไกและระบบในการขนย้ายลำเลียงในภาวะฉุกเฉินเช่น ทหารมาแทนที่ระบบเอกชนเพื่อลำเลียงอาหารจากแหล่งกระจายให้ถึงมือประชาชน อย่างทั่วถึง 3.จัดทำจุดยุทธศาสตร์คลังสินค้าอาหารที่ประชาชนสามารถเข้าถึงได้หรือเป็นจุด ที่ขนย้ายได้ใกล้กับเขตพื้นที่ภัยพิบัติโดยใช้พื้นที่สถานที่ราชการที่ใกล้ เคียงเพื่อมาทดแทนพื้นที่ของเอกชนในยามวิกฤติ 4.จัดระบบกระจายสินค้าจากมือเกษตรกรและผู้ผลิตอาหารไปสู่มือผู้บริโภคให้เหลือน้อยที่สุดสั้นที่สุดและเร็วที่สุด มาตรการระยะยาว 1. รัฐต้องสนับสนุนและสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบการค้าแบบดั้งเดิม ให้มีความสามารถในการแข่งขันกับระบบค้าปลีกขนาดใหญ่ เพื่อเป็นทางเลือกของประชาชนในยามวิกฤติ เพราะร้านค้าดั้งเดิมสามารถเข้าถึงและกระจายอาหารอย่างมีประสิทธิภาพ เมื่อระบบค้าปลีกสมัยใหม่ล่ม ควรมีมาตรการทางกฎหมายเพื่อไม่ให้การค้าในลักษณะค้าปลีกขนาดใหญ่ขยายตัวและครอบงำระบบการบริโภคมากไปกว่านี้ 2.จัดระเบียบการสำรองอาหารโดยการขอให้เอกชนกระจายจุดคลังสินค้าหลายๆ แห่งเพื่อลดความเสี่ยงต่อความขาดแคลนอาหาร 3.ปฏิรูปกฎหมายแข่งขันทางการค้าการผูกขาดทางการค้า และกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพราะมีผลกระทบโดยตรงต่อการเข้าถึงอาหาร เนื่องจากการเข้าถึงอาหารเกี่ยวข้องโดยตรงตั้งแต่ภาคเกษตรกรรม ภาคอุตสาหกรรมอาหาร ผู้ค้าส่ง ค้าปลีก ร้านสะดวกซื้อและร้านโชว์ห่วย ก่อนจะมาถึงมือประชาชน 4.สร้างกลไกการค้าที่คล่องตัวให้ประชาชนสามารถเข้าถึงอาหารได้ ด้วยการตัดขั้นตอนค้าส่งค้าปลีกลงให้มากที่สุดเพื่อลดต้นทุนค่าอาหารลง ในบางประเทศสนับสนุนให้ผู้ผลิตพบกับผู้บริโภคโดยตรง ด้วยการสร้างอาคารสถานที่ให้ แทนที่จะต้องพึ่งพาแต่สาขาของร้านค้าปลีกขนาดยักษ์ 5.สร้างระบบพึ่งพาตนเองของชุมชน ให้สามารถสร้างอาหารเองได้เมื่อเจอภาวะวิกฤต เช่น การสร้างจุดกรองน้ำสะอาดเพื่อการบริโภค หรือการทำแปลงผักชุมชนลอยฟ้า 6.สร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน เช่น กิจกรรมการร่วมมือทำงานเพื่อส่วนรวมเพื่อให้ชุมชนมีจิตสำนึกสาธารณะและช่วยเหลือกันเองยามวิกฤติ 7.ให้แต่ละชุมชนมีการฝึกซ้อมภัยพิบัติอย่างสม่ำเสมอเพื่อการอยู่รอดในภาวะวิกฤติ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 129 ตรวจสอบมาตรการช่วยเหลือจากธนาคาร เมื่อหนี้อาจเป็นภัยอย่างหนึ่งหลังน้ำท่วม

คงไม่มีใครคาดคิดว่าจะเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่ขึ้นในประเทศไทยเรา แม้ปัญหาน้ำท่วมจะเกิดขึ้นเป็นประจำทุกๆ ปีในหลายจังหวัด แต่หนนี้ต้องเรียกว่าเป็นภัยพิบัติขั้นรุนแรงจนหลายคนให้คำจำกัดความน้ำท่วมใหญ่ครั้งนี้ว่าเป็น "มหาอุทกภัย" เพราะน้ำท่วมในหลายพื้นที่ หลายจังหวัด น้ำท่วมสูงและท่วมเป็นเวลานานนับเดือน ไม่ว่าจะบนถนนหนทาง หรือบ้านเรือนตามตรอกซอกซอยต่างๆ ล้วนได้รับผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วม การดำเนินกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวันต้องหยุดชะงัก   การจัดการชีวิตให้สามารถรับมือกับภาวะน้ำท่วมและหาหนทางทำให้ปริมาณน้ำลดลงโดยเร็วที่สุดถือเป็นโจทย์ข้อแรกที่ทุกคนต้องช่วยกันคิดช่วยกันแก้ แต่หลังจากนี้เมื่อวิกฤติน้ำท่วมคลี่คลายอีกหนึ่งปัญหาใหญ่ที่ตั้งท่าเตรียมพร้อมสำหรับรอการแก้ไขก็คือ เรื่องของการฟื้นฟู การให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัย เพราะในช่วงที่น้ำท่วม หลายๆ คน หลายๆ ครอบครัว คงเจอกับปัญหา บ้านเรือน ข้าวของต่างๆ เสียหายเพราะจมอยู่ใต้น้ำ บางคนที่เอารถไปจอดหนีน้ำไม่ทัน ก็ต้องยอมทำใจรอน้ำลดเมื่อไหร่ค่อยหาทางซ่อม นอกจากนี้ในสถานการณ์ที่น้ำท่วมรุนแรงก็ทำให้หลายๆ คนขาดรายได้ กิจการงานต่างๆ ที่เคยทำก็ต้องหยุดชะงักยอมแพ้ต่อปริมาณน้ำที่มากมายมหาศาล ความเดือดร้อนที่กำลังรออยู่หลังน้ำลด ต้องอาศัยมาตรการที่ดีในการช่วยเหลือ โดยเฉพาะการช่วยเหลือในเรื่องของเงินทุนเพื่อนำไปใช้ในการซ่อมแซมและฟื้นฟูความเสียต่างๆ ที่เกิดจากน้ำท่วม แน่นอนว่าเงินช่วยเหลือส่วนหนึ่งรัฐต้องเป็นคนที่ทำหน้าที่ดูแลช่วยเหลือ แต่อีกส่วนที่ก็มีความสำคัญในฐานะแหล่งที่พึ่งเรื่องเงินๆ ทองๆ ก็คือ "ธนาคาร" แม้จะต้องแลกกับการจ่ายดอกเบี้ย แต่การกู้ยืมเงินจากธนาคารหรือสถาบันการเงินต่างๆ ก็เป็นทางเลือกที่ดีสำหรับผู้ที่ต้องการเงินสักก้อนเพื่อใช้เป็นต้นทุนในการทำธุรกิจหรือผ่อนชำระทรัพย์สินที่มีมูลค่าสูงอย่างบ้านหรือรถ ในช่วงที่วิกฤติน้ำท่วมสร้างความเดือดร้อนให้กับผู้คนเป็นจำนวนมาแบบนี้ ธนาคารต่างๆ ก็ได้เตรียมพร้อมความช่วยเหลือ ทั้งเรื่องการปรับลดหนี้สินและขยายเวลาการชำระหนี้ และเตรียมข้อเสนอพิเศษสำหรับลูกค้าของธนาคารที่ต้องการกู้เพิ่ม ลองมาดูกันสิว่าธนาคารแต่ละแห่งได้เตรียมมาตรการช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมเอาไว้อย่างไรกันบ้าง   ตารางแสดงมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ที่ประสบภัยน้ำท่วมของสถาบันการเงินต่างๆ ธนาคาร การปรับลด – ผ่อนปรนสินเชื่อเดิม การขอสินเชื่อเพิ่ม อื่นๆ ธนาคารพาณิชย์ กรุงเทพ ชำระเฉพาะดอกเบี้ยเป็นสูงสุด 12 เดือน หรือปรับลดยอดการผ่อนชำระรายเดือนลงสูงสุด 40% เป็นเวลา 1 ปี อัตราดอกเบี้ยผ่อนปรนพิเศษในปีแรก 5% ปีถัดไปคิดดอกเบี้ยในอัตรา 1MRR สามารถผ่อนชำระสินเชื่อที่กู้เพิ่มได้สูงสุด 5 ปี 1.ลดอัตราดอกเบี้ยบัตรเครดิตลง 50% จนถึงเดือนมิถุนายน 2555 2.ยกเว้นค่าธรรมเนียมและค่าบริการโอนเงินข้ามเขตแก่ลูกค้าที่โอนเงินไปยังบัญชีครอบครัวในพื้นที่ประสบภัย กรุงไทย พักชำระหนี้วงเงินกู้แบบมีระยะเวลาทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย เป็นระยะเวลา 6 เดือน หลังจากนั้นสามารถทยอยผ่อนชำระดอกเบี้ยที่พักไว้ สูงสุดภายใน 24 เดือน ผ่อนชำระนานสูงสุด 60 งวด ดอกเบี้ยปีแรกอัตรา MRR -1.75 % ต่อปี สำหรับลูกค้าสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย   กรุงศรีอยุธยา 1.สำหรับลูกค้าที่ได้รับผลกระทบโดยตรงผ่อนชำระดอกเบี้ยอย่างเดียวสูงสุด 6 เดือน และอัตราดอกเบี้ยพิเศษแล้วแต่กรณี 2.สำหรับลูกค้าที่ได้รับผลกระทบโดยอ้อม ให้ความช่วยเหลือผ่อนชำระดอกเบี้ยอย่างเดียว 3 เดือน และอัตราดอกเบี้ยพิเศษแล้วแต่กรณี     กสิกรไทย ลูกค้าสินเชื่อบ้านและสินเชื่อรถยนต์ ลดยอดผ่อนชำระรายเดือน 40-50% เป็นระยะเวลานานสูงสุด 1 ปี ลูกค้าสินเชื่อบ้านสามารถเลือกผ่อนชำระเฉพาะดอกเบี้ยเป็นระยะเวลา 6 เดือนได้ ส่วนลูกค้าสินเชื่อรถยนต์จะได้รับการขยายระยะเวลาผ่อนชำระออกไปนานสูงสุด 6 เดือน ลูกค้าสินเชื่อบ้านสามารถขอรับ 1.สินเชื่อบ้านเอนกประสงค์กสิกรไทย ขอเงินกู้เพิ่มสูงสุด 100% ของสินเชื่อบ้านที่ผ่อนชำระไปแล้ว  ดอกเบี้ย 0% นาน 6 เดือน ผ่อนสูงสุด 15 ปี อนุมัติวงเงินกู้เบื้องต้น 2 แสนบาทแรก ภายใน 48 ชั่วโมง หรือ 2.ขอสินเชื่อบ้านทวีทรัพย์กสิกรไทยโดยนำบ้านที่ปลอดภาระจำนองมาเปลี่ยนเป็นเงินกู้ โดยจะคิดอัตราดอกเบี้ย 0% นาน 3 เดือน ผ่อนสูงสุด 15 ปี หรือ 3.นำรถที่ปลอดภาระจำนองมาเปลี่ยนเป็นเงินกู้ รับดอกเบี้ย 0% ใน 3 เดือนแรก ระยะเวลาผ่อนชำระนานสูงสุด 72 เดือน 4.ลูกค้าสามารถขอสินเชื่อเงินสดทันใจกสิกรไทย (K-Express Cash) โดยสามารถอนุมัติและรับเงินก้อนเข้าบัญชีทันที่ ดอกเบี้ย 0% นาน 2 เดือน และ 5.ผู้ถือบัตรเครดิตกสิกรไทยสามารถขอเพิ่มวงเงินช่วยเหลือพิเศษได้อีก 1 เท่าของรายได้ อนุมัติภายใน 24 ช.ม. ผู้ถือบัตรเครดิตกสิกรไทยและผู้ใช้สินเชื่อเงินสด จะได้รับการผ่อนผันให้ชำระดอกเบี้ย 50% และปรับลดยอดผ่อนชำระขั้นต่ำให้เป็น 0-10% เกียรตินาคิน ลูกค้าเช้าซื้อรถยนตร์ พักชำระหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยสูงสุด 6 เดือน   บริการให้ทำรายการต่างสาขา และยืนยันการทำรายการผ่านทางโทรศัพท์ ซีไอเอ็มบี ไทย 1. พักชำระหนี้ให้สูงสุด 90 วัน 2. ขยายระยะเวลาผ่อนชำระหนี้ให้สูงสุด 12 เดือน 3.ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงจากอัตราดอกเบี้ยปัจจุบันของลูกค้า เป็นระยะเวลา 6 เดือน โดยลูกค้าสินเชื่อบุคคลมีหลักประกันจะได้ลดอัตราดอกเบี้ยสูงสุด 1.5% และลูกค้าสินเชื่อบุคคลไม่มีหลักประกันจะได้ลดอัตราดอกเบี้ยสูงสุด 7%     ทหารไทย 1.ลูกค้าที่มีค่างวดค้างชำระตั้งแต่ 1-30 วัน ชำระเฉพาะดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นโดยยังไม่ต้องชำระเงินต้นเป็นเวลา 6 เดือน และขยายระยะเวลาผ่อนชำระจากปัจจุบัน ออกไปอีก 6 เดือน 2.ลูกค้าสินเชื่อทีเอ็มบีแคชทูโก สามารถชำระเฉพาะดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นเป็นเวลา 3 เดือน และ ขยายระยะเวลาผ่อนชำระออกไปอีก 3 เดือน 3.ลูกค้าผู้ถือบัตรเครดิตทีเอ็มบี สามารถติดต่อขอชำระเงินเป็นรายเดือน เดือนละเท่าๆกัน เป็นเวลา 3 เดือน โดยขั้นต่ำชำระไม่น้อยกว่าจำนวนดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นในแต่ละเดือน 1.ลูกค้าสินเชื่อบุคคลทีเอ็มบีแคชทูโก ธนาคารจะพิจารณาให้กู้โดยให้วงเงินสินเชื่อเท่ากับวงเงินสินเชื่อเดิมที่มีอยู่กับธนาคาร และเพิ่มโบนัสพิเศษ ให้อีก 10% ของวงเงินสินเชื่อ ในวงเงินกู้ตั้งแต่ 10,000 บาท ถึง 1,000,000 บาท สูงสุด 5 เท่าของรายได้ เมื่ออนุมัติสินเชื่อแล้ว ธนาคารจะดำเนินการหักกลบลบหนี้สินเชื่อทีเอ็มบีแคชทูโก ที่มีอยู่เดิม และจะโอนเงินส่วนที่คงเหลือให้ลูกค้าต่อไป โดยลูกค้ายังไม่ต้องชำระค่างวดในช่วง 3 เดือนแรกนับจากวันอนุมัติ แต่จะเริ่มผ่อนชำระค่างวดตั้งแต่ เดือนที่ 4 เป็นต้นไป และนอกจากนี้ ธนาคารยังขยายระยะเวลาการผ่อนชำระค่างวดออกไปให้อีก 3 เดือน 2.ลูกค้าบุคคลที่ใช้ผลิตภัณฑ์อื่นๆของธนาคารอยู่แล้ว สามารถติดต่อขออนุมัติสินเชื่อทีเอ็มบีแคชทูโก เป็นกรณีพิเศษ ในวงเงิน ตั้งแต่ 20,000 -1,000,000 บาท สูงสุด  5 เท่าของรายได้ ลูกค้าไม่ต้องผ่อนชำระค่างวดคืนธนาคารใน 3 เดือนแรกนับจากวันอนุมัติ แต่จะเริ่มผ่อนชำระงวดแรกตั้งแต่ เดือนที่ 4 เป็นต้นไป นอกจากนี้ ธนาคารยังขยายระยะเวลาการผ่อนชำระให้เพิ่มอีก 3 เดือน ยกเว้นค่าธรรมเนียมทุกประเภทในกรณีที่ลูกค้าบุคคลที่ได้รับผลกระทบ เช่น ค่าธรรมเนียมกรณีผิดนัดชำระหนี้ ทิสโก้ 1.พิจารณาปรับโครงสร้างหนี้โดยการขยายระยะเวลาชำระหนี้และลดค่างวดลง 2. พิจารณามาตรการพักชำระหนี้ให้ลูกค้าทุกรายที่ประสบอุทกภัยเป็นเวลา 3 เดือน ในกรณีที่ลูกค้าได้รับผลกระทบรุนแรง จนไม่มีความสามารถชำระหนี้ในช่วงเวลาหนึ่ง 1.พิจารณาให้วงเงินสินเชื่อเพิ่ม หากลูกค้าต้องการวงเงินฉุกเฉินสำหรับไปใช้สอยในช่วงวิกฤติที่เกิดขึ้น โดยคิดอัตราดอกเบี้ยแบบลดต้นลดดอก และช่วงแรกชำระแต่ส่วนดอกเบี้ยเท่านั้น 2.แคมเปญเร่งด่วน “รับเงินวันนี้ ผ่อนปีหน้า” เมื่อติดต่อขอสินเชื่อทะเบียนรถยนต์ “ทิสโก้ ออโต้ แคช” วันนี้ สามารถเริ่มผ่อนชำระค่างวดได้ปีหน้า สำหรับผู้ที่เป็นเจ้าของรถยนต์ปลอดภาระ โดยจะได้รับการพิจารณาวงเงินและอัตราดอกเบี้ยให้เป็นพิเศษ 1.ยกเว้นค่าปรับล่าช้า และค่าติดตามทวงถาม ในช่วงเวลาที่เกิดภัยพิบัติ สำหรับลูกค้าที่ประสบภัย 2.ช่วยเหลือประสานงานในการเคลมประกันภัยสำหรับลูกค้าที่รถยนต์คันที่เช่าซื้อได้รับความเสียหายจากน้ำท่วมอีกด้วย โดยเปิดศูนย์ช่วยเหลือลูกค้าเรื่องประกันภัยตลอด 24 ชั่วโมง ไทยพาณิชย์ 1.สินเชื่อบ้าน- พักชำระหนี้สูงสุด 6 เดือน และลดดอกเบี้ยสูงสุด 50%  เป็นเวลา 3 เดือน- วงเงินเพิ่มสูงสุด 120% ของราคาประเมินเดิม ดอกเบี้ย 0% เป็นเวลา 3 เดือน 2.สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ - พักชำระหนี้สูงสุดเป็นเวลา 3 เดือน   พักชำระหนี้และลดดอกเบี้ย บัตรเครดิตและ Speedy Loan สูงสุด 50% เป็นเวลา 3 เดือน   ธนชาต 1.สินเชื่อบ้าน พักชำระหนี้สินเชื่อบ้าน เป็นเวลา 3 เดือน หรือ ลดค่างวดเป็นเวลา 12 เดือน 2.สินเชื่อรถ พักชำระหนี้ได้สูงสุด 90 วัน (นับวันที่ตามปฏิทิน) และสามารถขยายระยะเวลาการผ่อนชำระ เพิ่มสูงสุดได้อีก 12 งวด แต่ต้องไม่เกินงวดสูงสุดตามธนาคารกำหนด ดังนี้ สินเชื่อรถใหม่ทั่วไปสูงสุด 96 งวด สินเชื่อรถใช้แล้วสูงสุดไม่เกิน 84 งวด และสินเชื่อรถแลกเงินสูงสุดไม่เกิน 72 งวด ทั้งนี้เป็นไปตามประกาศธนาคารเรื่องหลักเกณฑ์การให้สินเชื่อรถยนต์     กรณีผ่อนชำระมาแล้วอย่างน้อย 1 ปี สามารถขอวงเงินสินเชื่อเคหะทวีสุข ด้วยอัตราดอกเบี้ยคงที่ปีแรก 4.50% หลังจากนั้น 2MLR-0.50% ของราคาประเมินเดิม ระยะเวลากู้สูงสุด 10 ปี 1.ยกเว้นค่าธรรมเนียมการโอนเงินข้ามเขตที่เครื่องเอทีเอ็มของธนาคารธนชาตทุกรายการ 2.กรณีทำรายการที่เครื่องเอทีเอ็มของธนาคารอื่น ธนาคารยกเว้นค่าธรรมเนียมสำหรับการถอนเงินสดต่างธนาคาร และการโอนเงินระหว่างบัญชีธนาคารธนชาตที่ผูกภายในบัตรเดียวกัน ผ่านเครื่องเอทีเอ็มต่างธนาคาร แต่ยังคงมีค่าธรรมเนียมทำรายการต่างธนาคารกรณีทำรายการตั้งแต่ครั้งที่ 5 ภายในเดือนเดียวกัน 3.กรณีบัตร ATM หรือบัตร Debit เสีย/สูญหาย จากเหตุการณ์น้ำท่วม ธนาคารยกเว้นค่าธรรมเนียมทำบัตรทดแทน และค่าธรรมเนียมรายปีแก่กลุ่มลูกค้าประสบภัยน้ำท่วม 4.ธนาคารยกเว้นค่าธรรมเนียมการฝากเช็คเข้าบัญชี / ขึ้นเงินสดเช็คต่างสาขาแบบไม่รอเรียกเก็บ 5.ธนาคารยกเว้นค่าธรรมเนียมเช็คคืน กรณีลูกค้าที่สั่งจ่ายเช็คแล้ว แต่ไม่สามารถนำเงินเข้าบัญชีกระแสรายวันของตัวเองได้ ยูโอบี เลื่อนการผ่อนชำระหนี้สูงสุด 3 เดือน ยอกเว้นดอกเบี้ยผิดนัด กรณีชำระล่าช้า ลดค่างวดผ่อนชำระสูงสุด 12 เดือน พักการผ่อนชำระเงินต้นสูงสุด 12 เดือน 1.ดอกเบี้ย 0% 6 เดือนแรก สำหรับลูกค้าเดิมที่ต้องการกู้เพิ่ม 2.ดอกเบี้ย 0% 3 เดือนแรก สำหรับลูกค้าใหม่ที่กู้สินเชื่อเอนกประสงค์ หลังจากนั้นอัตราดอกเบี้ยทั้ง 2 รายการจะปรับดอกเบี้ยเป็น MLR – 1.00% ตลอดสัญญากู้   สถาบันการเงินของรัฐ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) 1.สำหรับลูกค้าเดิมของธนาคาร กรณีหลักประกัน และ/หรือ รายได้ ได้รับผลกระทบ ธนาคารจะพักหนี้เป็นระยะเวลาไม่เกิน 6 เดือน (คิดอัตราดอกเบี้ย 0% ต่อปี) กรณีได้รับผลกระทบรุนแรง จะพักหนี้ต่อเป็นระยะเวลาอีกไม่เกิน 6 เดือน ( คิดอัตราดอกเบี้ย 0% ต่อปี2.กรณีลูกค้าเดิมได้รับอุบัติเหตุจากเหตุการณ์น้ำท่วมจนทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิงหรือเสียชีวิต ธนาคารจะลดดอกเบี้ยให้เหลือ 0.01% ต่อปี ตลอดระยะเวลากู้ที่เหลืออยู่ 3.กรณีลูกค้าเดิมที่อาคารที่อยู่อาศัยพังเสียหายทั้งหลังจนไม่สามารถอยู่อาศัยได้ จะได้รับการ ปลดภาระหนี้ตามยอดหนี้คงเหลือในส่วนของอาคาร โดยผู้กู้ผ่อนชำระหนี้ในส่วนของที่ดินที่คงเหลือ 1.สำหรับลูกค้าเดิมของและลูกค้าใหม่ ที่อาคารได้รับความเสียหายสามารถขอกู้เพิ่ม หรือ กู้ใหม่ เพื่อปลูกสร้างอาคารทดแทนอาคารเดิม( มีหลักประกัน (คิดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้คงที่ 2% ต่อปี นาน 5 ปี ( วงเงินกู้ 100% ของราคาประเมิน และภายในวงเงินต่อรายไม่เกิน 1 ล้านบาท) หลังจากนั้น คิดอัตราดอกเบี้ย   เท่ากับ  MRR-0.05% ต่อปี สำหรับรายย่อย และคิดอัตราดอกเบี้ย =MRR-1.00% ต่อปี สำหรับลูกค้าสวัสดิการ 2.กรณีกู้ซ่อมแซมอาคารที่ได้รับความเสียหาย ให้กู้รายละไม่เกิน 1 แสนบาท (ไม่มีหลักประกันด้วยอัตราดอกเบี้ยคงที่ 4% ต่อปี นาน 5 ปี (   ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) 1.กรณีที่เสียชีวิตจากอุทกภัย จะปลดหนี้พร้อมให้คู่สมรสหรือทายาทขึ้นทะเบียนเป็นลูกค้าแทนผู้เสียชีวิต และมอบเงินบำรุงขวัญให้กับคู่สมรสหรือทายาทครอบครัวละ 20,000 บาท 2.กรณีประสบภัยร้ายแรงหรือเสียหายจนเป็นเหตุให้รายได้ลดลงเกินกว่าร้อยละ 50 ของรายได้ปกติ จะพักชำระหนี้ 3 ปี ตั้งแต่ปีบัญชี 2554 - 2556 พร้อมงดคิดดอกเบี้ยเงินกู้ในช่วงที่พักชำระหนี้  หากพักชำระหนี้แล้วยังเป็นภาระหนักจะพิจารณาปรับโครงสร้างหนี้ให้สอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ และลดหย่อนหลักประกันเงินกู้ 3.กรณีจำนองอสังหาริมทรัพย์เป็นประกัน จากกู้ได้ไม่เกินครั้งหนึ่งเป็นกู้ได้ไม่เกินวงเงินจำนองและกรณีใช้กลุ่มลูกค้ารับรองรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกันตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป ขยายการค้ำประกันจากรายละไม่เกิน 150,000 บาท เป็นไม่เกิน 200,000 บาท ให้เงินกู้ใหม่รายละไม่เกิน 100,000 บาท ในอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าเงินกู้ปกติร้อยละ 3 ต่อปี   ออมสิน 1.พักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยไม่เกิน 6 เดือน ปรับลดเงินและ/หรือขยายระยะเวลาผ่อนชำระหนี้ ออกไปจากเดิมอีก ภายในระยะเวลาไม่เกิน 2 ปี สำหรับสินเชื่อบ้าน และไม่เกิน 1 ปี สำหรับสินเชื่อบุคคล 1. ให้กู้เพิ่มได้ไม่เกิน 10% ตามสัญญาเดิม และไม่เกิน 300,000 บาท 2. ชาระหนี้เงินกู้ไม่เกิน 5 ปี 3. อัตราดอกเบี้ย ปีที่ 1-3 = 3.45% ต่อปี ปีที่ 4-5 = MLR-0.50% ต่อปี 4. ไม่ต้องประเมินราคาหลักทรัพย์   *ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมและมีความประสงค์จะขอทำเรื่องผ่อนผัน – ผ่อนปรนการชำระหนี้ต่างๆ กับธนาคาร ควรรีบติดต่อไปยังธนาคารนั้นๆ เพื่อรักษาสิทธิ์ไม่ให้ตัวเองกลายเป็นผู้ผิดชำระหนี้และเสียประวัติทางการเงินของตัวเอง เพราะมาตรการทั้งหมดที่ออกมาของแต่ละธนาคารมีกำหนดเวลา 1MRR (Minimum retail rate) หมายถึง อัตราดอกเบี้ยต่ำสุดสำหรับลูกค้ารายย่อยชั้นดี2MLR (Minimum lending rate) หมายถึง อัตราดอกเบี้ยต่ำสุดสำหรับลูกค้าชั้นดีตรวจสอบอัตราดอกเบี้ยกับธนาคารทุกครั้งก่อนทำธุรกรรมทางการเงิน   ------------------------------------------------------------------------------------------------------------ ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ จ่ายหลังน้ำท่วมได้ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยครั้งนี้ด้วยการผ่อนผันการชำระค่าไฟฟ้าในช่วงเดือนที่ประสบปัญหาน้ำท่วมออกไปเป็นระยะเวลา 3 เดือน การประปานครหลวง (กปน.) ลดค่าน้ำประปาเดือนตุลาคม 2554 ลง 50% ให้กับผู้ใช้ในพื้นที่จังหวัดกรุงเทพฯ นนทบุรี และสมุทรปราการ ซึ่งประสบปัญหาน้ำท่วม แถมขยายเวลาการชำระค่าน้ำประปาในเดือนตุลาคม 2554 ออกไป 3 เดือน รวมทั้งหากตรวจสอบได้ว่ามีค่าน้ำส่วนเกินที่เกิดจากการแตกรั่วของท่อน้ำภายในบ้านช่วงน้ำท่วม กปน. จะไม่คิดค่าน้ำส่วนที่เกินมา องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย (ทีโอที) ยกเว้นค่าบริการโทรศัพท์บ้านและค่าบริการอินเตอร์เน็ตในพื้นที่ที่รัฐประกาศเป็นพื้นที่ภัยพิบัติ โดยผู้ประสบภัยต้องขอแจ้งความจำนงที่ศูนย์บริการลูกค้า ทีโอที ทั่วประเทศ สถานธนานุบาลกรุงเทพมหานคร หรือ โรงรับจำนำของ กทม. ได้ขยายเวลาในการตามคืนทรัพย์ที่จะหลุดจำนำในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน 2554 ออกไปเป็นจนถึงสิ้นเดือนธันวาคม 2554 บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร) ขอความร่วมมือไปยังสถาบันการเงินที่เป็นสมาชิก หากลูกหนี้ที่ประสบภัยที่เข้าโครงการผ่อนผัน-ผ่อนปรนของสถาบันการเงินนั้นๆ จะไม่มีการบันทึกในประวัติการเงินว่าค้างชำระหรือล่าช้าในการชำระหนี้ *ทุกมาตรการที่บอกมาผู้ที่ประสบภัยอย่าลืมไปแจ้งความจำนงขอเข้าร่วมในมาตรการช่วยเหลือ ไม่อย่างงั้นจะเสียสิทธิ์นะ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 128 ป้องกันภัย...เด็กตกตึก

  ศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก สังกัดภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี   กรณีข่าวการเสียชีวิตของเด็กเล็กที่ตกลงมาจากตึกสูง ไม่อาจมองเป็นเพียงแค่อุบัติเหตุที่น่าสลดใจเท่านั้น หากเมื่อได้ประมวลสถานการณ์และสภาพแวดล้อมแล้ว จะพบว่าเป็นอุบัติเหตุที่ป้องกันได้ ขอเพียงแต่ให้เป็นความรับผิดชอบร่วมกันของผู้ปกครอง ผู้ออกแบบ และเจ้าของอาคารสูงสำหรับพักอาศัย ตลอดไปถึงอาคารสูงสาธารณะ ที่พร้อมจะช่วยกันดูแลและปกป้องชีวิตน้อยๆ ให้อยู่รอด ปลอดภัย   เหตุการณ์จริง   กรณีที่ 1   คอนโดมิเนียมย่านเมืองทองธานี เด็กหญิง 4 ปี ตกระเบียงชั้น 12   เวลาราว 9 โมงเช้าของวันที่ 6  ก.พ. 2553  เด็กหญิงวัย 4 ปี ต้องอยู่ในห้องพัก(ชั้น12) โดยลำพัง เพราะคุณพ่อลงไปซื้อของกินของใช้ที่ร้านสะดวกซื้อ ที่ชั้นล่างของคอนโด ส่วนคุณแม่ซึ่งเป็นนางพยาบาลก็ต้องไปเข้าเวรตามกิจวัตร อาจเพราะด้วยความซุกซนตามวัย หรือตามหาคุณพ่อคุณแม่ จึงเดินไปเปิดประตูบานเลื่อนแล้วเข้าสู่ระเบียง(เพราะประตูห้องปิดล๊อกไว้)   แล้วเธอก็ปีนตู้แอร์(คอมเพรสเซอร์)ซึ่งจัดวางอยู่ติดระเบียง  พลัดตกลงมา บนพื้นปูนที่ชั้น 5 ซึ่งทำยื่นออกมาเพื่อเป็นที่ตั้งของสวนหย่อม –สระว่ายน้ำ-สนามเทนนิส   กรณีที่ 2   สถานที่คอนโดแห่งหนึ่ง ย่าน บางแค เด็กชาย 5 ปี ตกระเบียงชั้น 7  คุณพ่อปล่อยให้ลูกชายวัย 5 ปีนอนหลับโดยลำพัง โดยตนเองขับรถออกไปจากห้องพักเพื่อไปรับลูกสาวและภรรยาที่สถานีขนส่งหมอชิตใหม่  หลังจากคุณพ่อออกรถไปได้ไม่นาน เด็กชายตื่นขึ้น คาดว่าได้เดินไปเปิดที่ประตูกระจกบานเลื่อน แล้วออกมาที่หน้าระเบียง ซึ่งมีราวระเบียงสูงเพียง 70 ซ.ม. และมีช่องว่างระหว่างราวแต่ละช่องประมาณ 20 ซ.ม. เด็กได้ตกลงมาโดยไม่รู้ว่าเป็นการปีนป่าย หรือมุดลอดช่องห่างระหว่างราว  กรณีที่ 3   สถานที่คอนโดมิเนียมแห่งหนึ่ง ย่านพัทยา พ่อกินยาตาย หลังจากลูกชายวัย 4 ปีตกระเบียงชั้น 16   โค้ชสอนมวยไทย ชาวอเมริกัน วัย40 ปี ได้ตัดสินใจฆ่าตัวตายในห้องพัก โดยกินยาเกินขนาด 3 วันหลังจากลูกชายประสบอุบัติเหตุ เสียชีวิตจากการตกราวระเบียงจากห้องพักที่ชั้น 16 โดยทิ้งบันทึกไว้ว่า...I love my son   เหตุที่คล้ายคลึงกันและป้องกันได้ เมื่อเด็กพลัดตกจากที่สูงไม่ว่าจะบ้าน อาคารสูง คอนโด หรือที่สาธารณะ จุดที่ก่อให้เกิดการบาดเจ็บรุนแรงในเด็ก คือ การบาดเจ็บบริเวณศีรษะ เนื่องจากเด็กมีน้ำหนักศีรษะมาก เมื่อเปรียบเทียบกับผู้ใหญ่ ดังนั้นการตกลงมาของเด็กจะคล้ายลูกแบดมินตัน คือเอาส่วนหัวเป็นส่วนนำ หากไม่เสียชีวิตก็มีโอกาสพิการได้มาก ไม่เพียงแค่นั้น เด็กเล็กๆ คือศูนย์รวมจิตใจของพ่อ แม่ และผู้ดูแล การเสียชีวิตของเด็ก อาจก่อให้เกิดผลกระทบกระเทือนต่อสภาพจิตใจของผู้ปกครองอย่างรุนแรง เกิดความซึมเศร้า จนคิดทำร้ายตนเองตามมาได้ จะมีก็แต่ผู้ออกแบบ ผู้ประกอบการ ผู้รับผิดชอบควบคุมอาคารตามอำนาจหน้าที่ฝ่ายรัฐ เท่านั้น ที่อาจจะยังไม่รู้สึกเลยว่า การเสียชีวิตที่เกิดขึ้นนี้ ส่วนหนึ่งคือความรับผิดชอบของตนเองด้วย  จากการวิเคราะห์เหตุการณ์ตายของเด็กเล็กเหล่านี้พบว่า องค์ประกอบของเหตุมีจุดบกพร่องทั้งสามด้านคือพฤติกรรมของเด็ก การดูแลของผู้ปกครอง และการออกแบบสิ่งแวดล้อมไม่เหมาะสมกับเด็กที่เป็นผู้ใช้สถานที่ร่วมกับผู้ใหญ่  1.พฤติกรรมของเด็กเล็ก  เด็กวัยนี้ เป็นวัยซุกซน ชอบสำรวจ ขณะเดียวกันก็ยังไม่รับรู้ความเสี่ยงมากนักจนกว่าจะอายุหกปีขึ้นไป จึงเป็นเรื่องที่ป้องกันได้ยาก การดูแลของผู้ปกครองที่ประมาทแม้เพียงนิด เช่น การทอดทิ้งเด็กอายุน้อยกว่าหกปีให้อยู่ในสถานที่เสี่ยงตามลำพังนั้น ไม่เป็นไปตามมาตรฐานขั้นต่ำในการดูแลเด็ก จริงๆ แล้ว ถือว่า มีความผิดตาม พ.ร.บ. คุ้มครองเด็ก พ่อแม่ต้องเข้าใจเรื่องพัฒนาการเด็ก วิธีการดูแลที่ถูกต้องและสำคัญต้องไม่ปล่อยให้เด็กอยู่ตามลำพัง ในต่างประเทศมีการใช้กฎหมายเข้าแทรกแซงครอบครัวที่มีการเลี้ยงดูเด็กที่ไม่เหมาะสมเพื่อป้องกันปัญหาลักษณะนี้ แต่เมืองไทยยังไม่เคยเห็นการจัดการที่เป็นรูปธรรม  2. สถานที่  ความเสี่ยงสำคัญคือ  มีการออกแบบไม่เหมาะสมกับผู้ใช้ที่เป็นเด็ก ผิดพลาด โดยในประเทศเราไม่มีกฎหมายกำหนด แต่ในต่างประเทศมีการศึกษาและกำหนดสิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัยสำหรับเด็กอย่างชัดเจน ที่ประเทศออสเตรเลียมีงานวิจัยของ Dr. John F Culvenor ที่พบว่าในปี 1992-1993 มีเด็กได้รับบาดเจ็บจากการพลัดตกจากที่สูงถึง 6,642 คน ซึ่งในจำนวนนี้เป็นเด็กอายุน้อยกว่า 4 ปีถึงร้อยละ 33 ของการบาดเจ็บทั้งหมด โดยเหตุการณ์การตกส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นจากการตกจากเครื่องกั้นหรือราวกันตกที่สูงไม่เกิน 90 เซนติเมตรเท่านั้น! หรือไม่ก็เป็นการมุดลอดตามช่องของซี่ราวกันตก  ซึ่งมีความกว้างมากจนเด็กสามารถมุดลอดได้ โดยระบุว่าช่องว่างระหว่างราวระเบียงเป็นจุดที่ดึงดูดให้เด็กเข้าไปเล่นมาก เพราะเนื่องจากมีขนาดที่เหมาะต่อการสอดแขน ขา หรือศีรษะ หรืออีกพฤติกรรมหนึ่งของเด็กคือการปีนราวกันตกหรือที่กั้นกันตก (ซึ่งไม่แตกต่างจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่บ้านเราเลย) เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวนี้ต้องเริ่มต้นที่การออกแบบอาคาร โดยให้คำนึงถึงความปลอดภัยที่สามารถป้องกันได้ ซึ่งมีวิธีการตรวจสอบความเสี่ยงและสิ่งที่ต้องคำนึงถึงดังนี้  1) ราวหรือแผ่นกั้นกันตกควรมีความสูงจากพื้นถึงขอบราวไม่ต่ำกว่า 100 เซนติเมตร โดยอาคารตั้งแต่สามชั้นขึ้นไป (ซึ่งพบว่ามีการบาดเจ็บรุนแรงจากการตก) ต้องมีความสูงราวหรือแผ่นกันตก ไม่ต่ำกว่า 120 เซนติเมตร จากพื้น 2) ไม่มีจุดที่สามารถปีนป่ายได้ หมายถึง ต้องไม่มีโครงสร้างลักษณะที่เป็นแท่งในแนวนอนและมีช่องรูให้วางเท้าที่เอื้อต่อการปีนป่าย รวมไปถึงตำแหน่งการวางของที่ใกล้ราวกันตก ที่ทำให้สามารถปีนป่ายได้ เช่น ตู้แอร์(คอมเพรสเซอร์) ที่วางไว้บริเวณระเบียง เป็นต้น  3) ราวกั้นกันตก ควรเป็นลักษณะแนวตั้ง โดยช่องว่างระหว่างราวควรมีระยะห่างที่พอเหมาะไม่กว้างเกินกว่า 9 เซนติเมตร ซึ่งเป็นระยะที่แคบที่สุดที่เด็กเล็กจะสามารถมุดลอดโดยเอาเท้า ขา และลำตัวสอดเข้าไปได้แต่ศีรษะติดค้างเกิดการเสียชีวิตในลักษณะแขวนคอได้ หรือออกแบบให้เป็นแผ่นทึบแทนเช่น คอนกรีต โดยไม่เจาะช่องลมให้เป็นที่สอดเท้าเหยียบแล้วปีนป่ายได้  4) ซี่ราวแนวนอนซึ่งเป็นคานล่างของซี่ราวแนวตั้งนั้นมีได้ แต่ต้องอยู่สูงจากพื้นไม่เกิน 9 เซนติเมตร เช่นเดียวกันซี่ราวที่สูงเกินกว่า 100 เซนติเมตร นั้นมีซี่ราวแนวนอนเป็นคานยึดซี่ราวแนวตั้งได้ที่ระดับ 100 เซนติเมตรเป็นต้นไปเท่านั้น   ในประเทศไทยขณะนี้ยังไม่กฎหมายบังคับที่แน่ชัด แต่ในพระราชบัญญัติควบคุมอาคารของกระทรวงมหาดไทยระบุไว้แต่เพียงว่า ความสูงจากพื้นถึงขอบหน้าต่างไม่ควรต่ำกว่า 90 เซนติเมตร ไม่มีการกำหนดลักษณะระเบียง ราวกันตก ช่องห่าง การวางเฟอร์นิเจอร์ที่เพิ่มความเสี่ยงต่อการปีนป่าย ทั้งในบ้าน อาคาร และที่สาธารณะ  ซึ่งเรื่องดังกล่าวนี้สามารถแก้ไขได้ เพียงแค่ผู้บริหารบ้านเมืองกำหนดกฎหมายที่แน่ชัด ผู้ประกอบการให้ความสำคัญและคำนึงถึงความปลอดภัยควบคู่ไปกับผลประกอบการที่จะได้รับ และพ่อแม่ผู้ปกครองใสใจดูแลบุตรหลานอย่างใกล้ชิด เพียงเท่านี้ก็จะสามารถลดอัตราการบาดเจ็บจากการพลัดตกจากที่สูงได้ดีที่สุด   ข้อมูล จากการประชุมเวทีประชาชนเพื่อความปลอดภัยในเด็ก จัดโดย คณะแพทยศาสตร์สามสถาบัน (จุฬา-รามา-ศิริราช) ร่วมกับวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย และ สำนักงานกองทุนสร้างเสริมสุขภาพ วันที่ 18 มิถุนายน 2554 ณ อิมแพค คอนเวนชั่น เซนเตอร์ เมืองทองธานี

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 127 องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ก้าวสำคัญของงานผู้บริโภคไทย

  แม้จะพยายามใช้ชีวิตด้วยความระมัดระวังอย่างเต็มที่ แต่เราทุกคนคงยากที่จะหลีกเลี่ยงจากการถูกเอารัดเอาเปรียบได้ เนื่องด้วยอำนาจในการจัดการเกี่ยวกับวิถีการบริโภคนั้นไม่ได้อยู่ในมือของผู้บริโภค แต่ไปผูกพันกับระบบเศรษฐกิจ บรรษัทข้ามชาติ นักการเมืองและพ่อค้า คงมีก็แต่ผู้บริโภคที่แข็งแรงมากพอเท่านั้นที่จะมีโอกาสรอดได้ ซึ่งก็เป็นแค่คนส่วนน้อย ทุกวันนี้ประชาชนผู้บริโภคส่วนใหญ่ยังต้องเผชิญกับปัญหาการละเมิดสิทธิอย่างไม่มีทีท่าว่าจะลดลง   ความฝันของผู้บริโภค   ความฝัน ความจริง ของดี ราคาไม่แพง ของห่วย ราคาแพง อาหารสะอาด ปลอดภัย อาหารปนเปื้อนสารพิษ สารเคมี ไปไหนมาไหนสะดวก บริการขนส่งสาธารณะได้มาตรฐาน ไปไหนไม่ค่อยมีทางเลือก ราคาไม่คุ้มบริการ ตลอดปีมีแต่อุบัติเหตุ ค่าน้ำ ไฟ โทรศัพท์ สมเหตุสมผล มีการบริหารจัดการที่ดี ราคาขึ้นไม่มีเหตุผล คนส่วนใหญ่ไม่เคยรู้เรื่องโครงสร้างราคา   ความฝันกับความจริงมักจะสวนทางกัน ไม่ว่าผ่านมากี่ยุคสมัย ผู้บริโภคยังต้องดิ้นรนเพื่อให้รอดจากการถูกเอาเปรียบ   ทำไมงานคุ้มครองผู้บริโภคบ้านเราไม่มีประสิทธิภาพ ถ้าหากมองว่า ทางออกของการดูแลผู้บริโภคคือ กฎหมาย ประเทศไทยก็มีกฎหมายที่เกี่ยวกับผู้บริโภคเป็นจำนวนมาก แล้วทำไมผู้บริโภคจึงยังถูกเอาเปรียบ??? ก็เพราะกฎหมายมีข้อจำกัดที่ว่า ทำได้แค่ดูแลเฉพาะเรื่องที่กรอบกฎหมายของตนเองกำหนดไว้เท่านั้น โดยทุกกฎหมายเน้นการป้องกันที่ต้นทาง ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายอาหาร ยา ที่ดิน ประกันชีวิต ฯลฯ ซึ่งเน้นควบคุมที่ผู้ประกอบการหรือต้นน้ำ ด้วยแนวคิดที่ว่าถ้าผู้ประกอบการดีเสียอย่าง ผู้บริโภคก็ปลอดภัย ซึ่งในความเป็นจริง ไม่เป็นเช่นนั้น เพราะขีดความสามารถของหน่วยงานภาครัฐที่ดูแลกฎหมาย ไม่อาจทำได้ถึงขนาดที่จะควบคุมผู้ประกอบการทุกรายและทุกสินค้าหรือบริการ เพราะโลกทุกวันนี้อยู่ในสภาพการผลิตที่ล้นเกิน และการบริโภคที่มากเกินไป ถามว่า แล้วมีกฎหมายที่เน้นที่ตัวผู้บริโภคไหม ก็มีอยู่ 1 ฉบับที่ระบุถึงสิทธิอันพึงมีพึงได้ของผู้บริโภค คือ พ.ร.บ. คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 ที่มีสำนักงานหนึ่งเกิดขึ้นมาพร้อมกับ พ.ร.บ. นี้ คือสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคหรือ สคบ.   ทว่า สคบ.ก็ขับเคลื่อนงานผู้บริโภคได้ไม่มาก เพราะถูกจำกัดบทบาทด้วยกฎหมายเช่นกัน กล่าวคือ สคบ.ดูแลงานคุ้มครองผู้บริโภคได้เฉพาะเรื่องที่ไม่มีหน่วยงานหรือองค์กรใดของรัฐรับผิดชอบอยู่แล้ว เช่น เรื่องอาหาร ไม่ใช่บทบาทของ สคบ. แต่เป็นบทบาทของ อย. หรือเรื่องการเงินการธนาคารก็ไม่ใช่ สคบ. แต่เป็นบทบาทของธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นต้น ดังนั้นที่หลายคนเข้าใจว่า สคบ.เป็นหน่วยงานกลางของงานคุ้มครองผู้บริโภคจึงเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง อีกทั้ง สคบ. ก็มิได้มีบทบาทหน้าที่ที่จะไปกำหนดนโยบายหรือมาตรการการคุ้มครองผู้บริโภคของประเทศ นี่จึงเป็นประเด็นสำคัญที่ว่า ทำไมงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภคจึงมีข้อจำกัดอย่างมาก เมื่อหันกลับมามองที่ภาคประชาชน ก็ยิ่งพบสภาพการณ์ที่ย่ำแย่ ประชนชนทั่วไปยังเข้าใจในสิทธิผู้บริโภคน้อยเกินไป ยังขาดความรู้ความเข้าใจในการเลือกซื้อเลือกใช้ อาจเรียกได้ว่า “มีภูมิคุ้มกันต่ำมาก” ทีเดียว ส่วนใหญ่ถูกชวนเชื่อให้ลุ่มหลงไปกับคำโฆษณา การประชาสัมพันธ์และการตลาดที่รุกรานเข้าไปในพื้นที่ทุกช่วงเวลาของชีวิต ทั้งในรายการข่าว ในละคร บนรถเมล์ ในโรงภาพยนตร์  ฯลฯ ยิ่งผนวกรวมกับความรู้สึกไม่อยากจะใช้สิทธิหรือร้องเรียน เพราะกลัวปัญหายืดเยื้อเรื้อรัง จนปล่อยเลยตามเลย ก็เลยกลายเป็นจุดอ่อนให้ผู้ประกอบการยิ่งได้ใจเอารัดเอาเปรียบผู้บริโภคมาตลอด  เพราะคนจ้องจะเอาเปรียบมีมากเกินไปและแข็งแรงเกินไป หรืออาจเป็นเพราะผู้บริโภคเราอ่อนแอเกินไป รู้น้อยเกินไป เรื่องที่เกี่ยวข้องกับการบริโภคก็มีมากมายหลากหลายเสียเหลือเกินตั้งแต่เรื่องเล็กอย่างกระดาษทิชชู จนถึงเรื่องระดับประเทศอย่างน้ำมันเชื้อเพลิง เพราะฉะนั้นถ้าหวังให้หน่วยงานที่ทำหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภค คอยไล่ตามแก้ปัญหา ย่อมไม่ใช่ทางออกที่เหมาะสม ในระยะยาวถ้าหวังให้งานคุ้มครองผู้บริโภคเข้มแข็ง ก็ต้องส่งเสริมให้ผู้บริโภคเข้มแข็ง จนถึงขนาดมีอำนาจต่อรองกับภาคการผลิตได้ สามารถเข้าไปมีส่วนร่วมให้ความคิดเห็นในกฎ ระเบียบต่างๆ ที่กระทบกับการบริโภคได้ ไม่เป็นเพียงหน่วยย่อยเล็กๆ ที่ถูกกระทำดังเช่นทุกวันนี้   หน่วยพิทักษ์ผู้บริโภคกับการเดินทาง 14 ปี อันที่จริงเรื่องราวที่กล่าวมาข้างต้น ยังคงวนเวียนเขียนได้ไม่เคยเก่า ราวกับเป็นเรื่องธรรมดาของประเทศนี้ แม้เหตุการณ์จะผ่านไปหลายสิบปี รัฐบาลเปลี่ยนไปหลายชุด ผู้บริโภคก็ยังเป็นเหยื่อไม่เคยเปลี่ยน ถึงอย่างไร โลกนี้ก็ไม่สิ้นไร้ซึ่งความหวัง เมื่อปี พ.ศ. 2540 รัฐธรรมนูญ ฉบับที่ร่างโดยภาคประชาชนได้กล่าวถึงการคุ้มครองผู้บริโภคไว้ในมาตรา 57 โดยกำหนดไว้ว่า “ต้องมีองค์การอิสระ” ที่มีผู้แทนผู้บริโภคมาทำหน้าที่ให้ความเห็นในการตรากฎหมาย กฎและข้อบังคับต่างๆ เพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค แต่ด้วยความที่เป็นกลไกใหม่ “องค์การอิสระ” ทำให้เกิดข้อถกเถียงกันมากมาย โดยเฉพาะคำว่า “อิสระ” ว่าแค่ไหน อย่างไร รวมทั้งจุดอ่อนสำคัญที่ไม่ได้ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญให้แน่ชัดว่าต้องเกิดองค์การนี้ภายในระยะเวลากี่ปี สุดท้ายก็ตายจากไปพร้อมกับรัฐธรรมนูญปี 2540   แต่เพราะปัญหาผู้บริโภคเป็นเรื่องของคนทุกคน คำว่า “คุ้มครองผู้บริโภค” และ “องค์การอิสระเพื่อผู้บริโภค” จึงกลับมาในรัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2550 อีกครั้ง โดยคราวนี้ขยับไปที่ มาตรา 61 โดยแก้ไขจุดอ่อนที่มีในคราวรัฐธรรมนูญ 2540 โดยองค์การอิสระเพื่อผู้บริโภคในมาตรา 61 แสดงเจตนารมณ์อย่างชัดเจนว่า ต้องการให้เป็นองค์กรที่เป็น “อิสระ” จากหน่วยงานของรัฐจริงๆ ไม่ใช่อยู่ในกำกับของรัฐ และนำบทเรียนเรื่องกรอบเวลามาปรับให้เป็นรูปธรรม โดยเขียนบทเร่งรัดกำหนดกรอบเวลาไว้ในมาตรา 303 ว่า รัฐบาลชุดแรกหลังจากที่รัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ประกาศใช้ ได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภาแล้ว ต้องจัดทำกฎหมายองค์การอิสระเพื่อผู้บริโภคให้เสร็จและบังคับใช้ได้ภายใน 1 ปี ถ้าเหตุการณ์ไม่เปลี่ยนแปลง ปี 2554 นี้เราคงมีองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค เกิดขึ้นแล้ว แต่หลังจากรัฐธรรมนูญประกาศใช้ มีการเปลี่ยนรัฐบาลถึง 3 คณะใน 1 ปี เราถึงยังไม่มีองค์การอิสระฯ ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดเสียที   การขยับตัวของภาคประชาชน ในสมัยรัฐธรรมนูญ ปี 2540 องค์กรผู้บริโภคคึกคักกันพักใหญ่ เพราะเห็นทางรอดของผู้บริโภคไทย ที่รัฐธรรมนูญให้แนวทาง การกำเนิดขององค์กรใหม่ ที่จะมาทำหน้าที่ หน่วยพิทักษ์ผู้บริโภค ที่เป็นหน่วยงานกลางในเรื่องผู้บริโภคจริงๆ ไม่ใช่ตัวแทนเฉพาะเรื่องใดเรื่องหนึ่ง หน่วยงานที่จะทำหน้าที่หลักในการคุ้มครองผู้บริโภค เฝ้าระวังและให้ความเห็นในกฎหมายหรือมาตรการใดๆ ที่จะส่งผลกระทบสร้างความเดือดร้อนให้กับผู้บริโภค   สามปีแรก(2541 – 2543) เป็นงานเดินสายสร้างความเข้าใจกับผู้บริโภคและหน่วยงานต่างๆ มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลและแนวคิดเรื่อง ความเป็นอิสระ อำนาจ หน้าที่ ต่อมาก็มีการยกร่าง กฎหมายองค์การอิสระขึ้น และทำความเข้าใจกับเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคทั่วประเทศ จนถึงช่วงท้ายๆ ของอายุรัฐธรรมนูญปี 2540 สามารถรวบรวมรายชื่อประชาชนเพื่อเสนอกฎหมายได้ถึง 50,000 รายชื่อ แต่น่าเสียดาย ความหวังครั้งนั้นหายวับไปพร้อมกับเหตุรัฐประหาร 19 กันยายน 2549   แม้สิบปีจะยังไม่มีองค์การอิสระฯ เกิดขึ้น แต่ก็เหมือนกับได้เป็นการสร้างความพร้อม และปูพื้นฐานส่วนหนึ่งให้กับภาคประชาชน รวมทั้งหน่วยงานต่างๆ เมื่อรัฐธรรมนูญ ปี 2550 ถือกำเนิดขึ้นและบทบัญญัติที่เกี่ยวกับองค์การอิสระไม่ได้หายไป ภาคประชาชนก็เริ่มขยับตัวอีกครั้ง การผลักดันกฎหมายโดยภาคประชาชนการเข้าชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวน 10,000 คน เสนอ (ร่าง) พ.ร.บ. องค์การอิสระผู้บริโภค ฉบับประชาชน   15 มีนาคม 2551 เริ่มรณรงค์ครั้งใหม่ตามรัฐธรรมนูญ 50องค์กรภาคประชาชน ประกาศเจตนารมณ์ และรวบรวมรายชื่อประชาชน 10,000 รายชื่อ ในการเสนอกฎหมายองค์การอิสระผู้บริโภค และรณรงค์ในจังหวัดต่างๆ  19 กุมภาพันธ์ 2552 ยื่นรายชื่อ  12,208 ชื่อ ต่อนายชัย ชิดชอบ ประธานรัฐสภา   23 กุมภาพันธ์ – 2 มีนาคม 2552 รัฐสภาตรวจสอบรายชื่อ กระบวนการตรวจสอบรายชื่อ ความถูกต้องสมบูรณ์ รวมจำนวนที่ตรวจสอบได้  11,700  รายชื่อ   4 มีนาคม 2552 รัฐสภาส่งข้อมูลให้ กกต. ตรวจสอบสิทธิ 1 เมษายน 2552กกต. ส่งรายชื่อไปให้กรมการปกครองเป็นผู้ตรวจสอบ กรมการปกครองทำการส่งรายชื่อไปปิดประกาศในพื้นที่เพื่อร้องคัดค้าน เป็นเวลา 20 วัน   พฤษภาคม 2552กกต. ส่งกลับรายชื่อที่รับรองมาที่รัฐสภา     26  พฤษภาคม  2552รัฐสภาแจ้งผลการตรวจสอบ สรุปว่ามีผู้เข้าชื่อครบ 10,000 ชื่อ   1 มิถุนายน 2522 ประธานรัฐสภาวินิจฉัยว่าเป็นร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงิน ส่งให้นายกรัฐมนตรีลงนามให้คำรับรอง   หลังนายกรัฐมนตรีรับรอง ภาคประชาชนได้รับหนังสือจากเลขาธิการประธานรัฐสภา จะพิจารณาบรรจุเข้าวาระการประชุมของรัฐสภา   5 ตุลาคม 2553สภาผู้แทนราษฎร รับหลักการของร่างกฎหมาย 7 ฉบับรวมทั้ง พ.ร.บ.องค์การอิสระฯ ฉบับประชาชน โดยตั้งกรรมาธิการ 54  คน เป็นกรรมาธิการภาคประชาชน 18 คน   27 มกราคม 2554 พิจารณาร่างกฎหมายแล้วเสร็จ พร้อมเสนอให้รัฐสภาพิจารณาในวาระที่ 2 และ 3 ต่อไป   9 กุมภาพันธ์ 2554 บรรจุวาระร่างพระราชบัญญัติองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค วาระที่ 2   20 เมษายน 2554(ร่าง)พ.ร.บ.องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. .... ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 61 ได้ผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรทั้ง 3 วาระ 10 พฤษภาคม 2554  รัฐบาลประกาศยุบสภา การพิจารณากฎหมายของวุฒิสภาต้องหยุดชะงักไป เพื่อรอการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ ร่างกฎหมายฉบับนี้จะต้องได้รับความเห็นชอบจากนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี อีกครั้งหนึ่งภายใน 60 วันหลังการเรียกประชุมรัฐสภาครั้งแรกหลังการเลือกตั้ง วุฒิสภาจึงจะสามารถพิจารณาร่างกฎหมายนี้ต่อไปได้   องค์การอิสระฯ ตามมาตรา 61 ทางออกระยะยาวที่อยู่ใกล้แค่เอื้อม หลังผ่านการพิจารณาจากสภาผู้แทนราษฎร์ทั้ง 3 วาระ และรอลุ้นระทึกว่า รัฐบาลใหม่จะสานฝันให้ผู้บริโภคได้ทันหรือไม่ เรามาดูบทบาทหน้าที่ขององค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคนี้กันสักหน่อย องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคตามร่างกฎหมายฉบับนี้ มีบทบาทสำคัญ  8 ประการ ได้แก่ 1. ทำหน้าที่ให้ความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาของหน่วยงานรัฐในการตราและการบังคับใช้กฎหมายและกฎ และให้ความเห็นในการกำหนดมาตรการต่าง ๆ เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค 2. ตรวจสอบการกระทำหรือละเลยการกระทำอันเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคและรายงานไปยังหน่วยงานของรัฐที่รับผิดชอบ และอาจรายงานเรื่องดังกล่าวไปยังคณะรัฐมนตรี สภาผู้แทนราษฎร หรือวุฒิสภา รวมทั้งเผยแพร่เรื่องดังกล่าวต่อสาธารณชน  ทั้งนี้ ให้หน่วยงานของรัฐที่รับผิดชอบดังกล่าวรายงานผลการพิจารณาและการดำเนินการในเรื่องดังกล่าวต่อคณะกรรมการภายในระยะเวลาอันสมควร 3. ดำเนินการและสนับสนุนการเผยแพร่ข้อมูลที่เป็นจริง หรือแจ้งหรือโฆษณาข่าวสารเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายหรือเสื่อมเสียแก่สิทธิของผู้บริโภค ในการนี้จะระบุชื่อสินค้าหรือบริการ หรือชื่อของผู้ประกอบการด้วยก็ได้ 4. สนับสนุนการใช้สิทธิร้องเรียนของผู้บริโภคและองค์กรผู้บริโภคที่ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายอันเนื่องมาจากการกระทำของผู้ประกอบการ และดำเนินการให้มีการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทระหว่างผู้บริโภคและผู้ประกอบการ 5. ดำเนินคดีต่อศาลยุติธรรมหรือศาลปกครองเพื่อพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค ซึ่งคณะกรรมการเห็นว่าการดำเนินคดีนั้นจะเป็นประโยชน์แก่ผู้บริโภคเป็นส่วนรวม โดยคณะกรรมการมีอำนาจแต่งตั้งเลขาธิการหรือพนักงานขององค์การเพื่อให้มีหน้าที่ดำเนินคดี รวมทั้งมีอำนาจฟ้องเรียกทรัพย์สินหรือค่าเสียหายให้แก่ผู้บริโภคที่ร้องขอได้ด้วย  ทั้งนี้ การฟ้องและดำเนินคดีดังกล่าว ให้ได้รับยกเว้นค่าฤชาธรรมเนียมทั้งปวง แต่ไม่รวมถึงความรับผิดในค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นที่สุด  6. สนับสนุนและให้การช่วยเหลือแก่องค์กรผู้บริโภคในด้านต่าง ๆ เพื่อการพัฒนาและเสริมสร้างความเข้มแข็งขององค์กรผู้บริโภคดังกล่าว ตลอดจนประสานงานกับหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค  7. ส่งเสริมการศึกษาและการวิจัย  รวมทั้งจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นจากองค์กรผู้บริโภคหรือประชาชนเพื่อประโยชน์ในการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ  8. จัดให้มีการประชุมสมัชชาองค์กรผู้บริโภคอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้งเพื่อประเมินการดำเนินงานขององค์การ และติดตามตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐที่ทำหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภค เพื่อเสนอแนะแนวทางในการดำเนินการคุ้มครองผู้บริโภค   ถ้านับเวลาจากการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ก็เป็นเวลากว่าสี่ปีมาแล้ว แต่หากนับตั้งแต่รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 ที่มีการระบุให้จัดตั้งองค์การอิสระไว้ในมาตรา 57 ก็เป็นระยะเวลายาวนานถึง 14 ปี และหากรัฐบาลใหม่ภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร ไม่สนับสนุนร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว เพียงแค่ปล่อยให้เวลาผ่านเลยวันที่ 30 กันยายน 2554 การดำเนินการในการออกกฎหมายก็จะต้องเริ่มใหม่หมด นับเป็นการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ของผู้บริโภค อีกทั้งความตั้งใจและการดำเนินการที่ผ่านมาของภาคประชาชนจะกลายเป็นศูนย์ ต่อจากนี้ไป เราคงต้องมาร่วมลุ้นระทึกกันอีกครั้ง ว่าองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค จะกลับไปเริ่มต้นกันใหม่หรือดำเนินการต่อไปอย่างสง่าผ่าเผย ได้โปรดติดตาม

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 126 เมื่อ(คนทำงาน)ผู้บริโภคทั้งโลกมาเจอกัน

  ฉลาดซื้อฉบับนี้พาสมาชิกเปลี่ยนบรรยากาศไปย่ำฮ่องกงกันบ้าง เราไม่ได้พาคุณไปซอกแซกตามแหล่งช้อปปิ้งสินค้าแบรนด์เนม แต่เราจะพาคุณผู้อ่านไปเข้าร่วมขบวนการผู้บริโภคในระดับโลกในงานสมัชชาผู้บริโภคของสหพันธ์ผู้บริโภคสากล   * Consumers International World Congress 2011 ครั้งที่ 19 ที่จัดขึ้นที่ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้าฮ่องกง เมื่อช่วงต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา งานนี้มีผู้เข้าร่วมประชุมจากประเทศต่างๆ กว่า 700 คน มาแลกเปลี่ยนข้อมูลที่เป็นประโยชน์ ตั้งแต่การณรงค์เรื่องอาหารการกินให้ปลอดภัยไร้สิ่งปนเปื้อน รวมถึงไม่มีแป้ง น้ำตาล หรือเกลือมากเกินไป เรื่องลดผลกระทบของการบริโภคต่อสิ่งแวดล้อม ไปจนถึงการรณรงค์ให้บรรดาธนาคารหรือสถาบันการเงินต่างๆ เลิกเอาเปรียบผู้บริโภค และการร่วมกันหาทางออกเมื่อ “ลิขสิทธิ์” กลายเป็นสิ่งที่จำกัดการเข้าถึงข้อมูลความรู้ต่างๆ----------------------------------------------------------------------------------- สหพันธ์ผู้บริโภคสากล Consumers International คือใคร CI เป็นกระบอกเสียงของผู้บริโภคในระดับโลกมากว่า 50 ปี มีสมาชิกเป็นองค์กรผู้บริโภค 220 องค์กร ใน 115 ประเทศ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคและมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคก็เป็นสมาชิก ในการประชุม G 20 ในเดือนพฤศจิกายนที่จะถึงนี้ สหพันธ์จะเรียกร้องให้ประเทศกลุ่ม G 20 กำหนดกฎเกณฑ์ที่จะสามารถคุ้มครองผู้บริโภคที่ใช้บริการการเงิน การธนาคาร หรือการลงทุน ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น  คุณรู้หรือไม่ผู้นำระดับโลกคนแรกที่หยิบยกเรื่องของสิทธิผู้บริโภคขึ้นมาพูดถึงอย่างเป็นทางการคือ ประธานาธิบดีจอห์น เอฟ เคนเนดี้ เมื่อวันที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2506 ในที่ประชุมสภาคองเกรสของอเมริกา โดยเขาได้กล่าวถึงสิทธิผู้บริโภค 4 ประการ ได้แก่  และจากนั้นเป็นต้นมาวันที่ 15 มีนาคมของทุกปีจึงถือเป็นวันผู้บริโภคสากลด้วย -----------------------------------------------------------------------------------   HOT ISSUESการตลาดอาหารสำหรับเด็กที่แทรกซึมไปทั่วทุกภูมิภาคของโลก เป็นหนึ่งในเรื่องเร่งด่วนที่ต้องการความร่วมมือจากประเทศต่างๆ เพื่อรับมือกับบริษัทข้ามชาติที่ใช้กลยุทธ์ในการล่อลวงเด็กให้บริโภคอาหารที่อุดมไปด้วยเกลือ น้ำมัน และน้ำตาล กันจนอ้วนลงพุงก่อนวัยอันควร เมื่อบริษัทอาหารและบริษัทโฆษณาเป็นบริษัทข้ามชาติซึ่งทำการตลาดอาหารในลักษณะเดียวกันทั่วโลก  การผลักดันให้มีกฎหมายระหว่างประเทศเพื่อควบคุมการโฆษณาของบริษัทข้ามชาติเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่ง   องค์กรผู้บริโภคของเกาหลีใต้ Consumers Korea ก็มีการรณรงค์เรื่องนี้เข้มข้นคล้ายกับที่บ้านเรา เขาได้เสนอเรื่องฉลากสีสัญญาณไฟจราจร* (Traffic Light Label) ให้รัฐบาลพิจารณาแต่จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่ได้ยินสัญญาณตอบรับใดๆ (คล้ายกับที่บ้านเราเหมือนกัน) ขณะนี้มีเพียงประเทศอังกฤษประเทศเดียวที่มีฉลากไฟจราจรบนหีบห่ออาหาร จึงเป็นอีกเรื่องที่ท้าทายองค์กรผู้บริโภคในอีกหลายๆ ประเทศ   *(สีเขียว หมายถึงการมีเกลือ ไขมัน หรือน้ำตาลในปริมาณที่ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ สีเหลือง เมื่อมีสารอาหารดังกล่าวในปริมาณที่ค่อนข้างมาก และสีแดง เมื่อมีเกลือ ไขมัน หรือน้ำตาลในปริมาณที่มากเกินไป) 1. การทบทวนพฤติกรรมในการบริโภคของเราทั้ง 2,000 ล้านคนที่อาศัยอยู่บนโลกใบนี้ เมื่อการบริโภคของเราส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เราจึงต้องหันมาเลือกซื้อสินค้าหรือบริการโดยคำนึงถึงความรับผิดชอบต่อสังคมของผู้ประกอบการมากกว่าราคาหรือแบรนด์กันมากขึ้น ผู้บริโภคต้องร่วมมือกันกดดันให้บริษัทเปิดเผยข้อมูลเรื่องผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างตรงไปตรงมา   เรื่องนี้องค์กรทดสอบระหว่างประเทศ International Consumers Research & Testing จะทำหน้าที่เป็นผู้เสาะหาข้อมูลดังกล่าว จากการสำรวจนโยบายเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมของผู้ประกอบการต่างๆ โดยจะเผยแพร่ผ่านนิตยสารขององค์กรสมาชิกที่เป็นองค์กรเพื่อผู้บริโภคในแต่ละประเทศ เช่น นิตยสาร Which? ของอังกฤษ นิตยสาร Stiftung Warentest ของเยอรมนี นิตยสาร Consumers Report ของอเมริกา นิตยสาร CHOICE ของออสเตรเลีย และนิตยสารฉลาดซื้อ ของประเทศไทย เป็นต้น  2. เรื่องของบริการทางการเงิน การธนาคาร ซึ่งนาทีนี้ถือเป็นเรื่องที่ฮ็อตที่สุด เมื่อเศรษฐกิจของหลายประเทศมีอาการเข้าขั้นโคม่ากันไปตามๆ กัน เราเห็นธนาคารใหญ่ล้มละลายกันเป็นว่าเล่น จึงไม่ต้องสงสัยเลยว่าผู้บริโภคทั้งในประเทศที่พัฒนาแล้วและกำลังพัฒนาต่างก็ได้รับผลกระทบจากเรื่องนี้ เพราะเรายังไม่การคุ้มครองผู้บริโภคในเรื่องการเงินการธนาคารที่ดีนั่นเอง  ผู้บริโภคทั่วโลกถูกเอาเปรียบโดยสถาบันการเงินในรูปแบบคล้ายๆ กัน ธนาคารหรือสถาบันการเงินต่างๆ มีกำไรมากมายจากการคิดดอกเบี้ยหรือค่าธรรมเนียมจากเรา และเมื่อเกิดวิกฤตการเงินขึ้น รัฐบาลก็นำเงินภาษีของเราไปช่วยอุ้มธนาคารเหล่านั้นอีก  เราได้ยินเรื่องน่าสนใจจากองค์กรผู้บริโภค Consumentenbond จากเนเธอร์แลนด์ซึ่งมีประชากรประมาณ 15 ล้านคน ประเทศนี้มีบริษัททางการเงินไม่ต่ำกว่า 5,000 แห่ง (มากกว่าจำนวนร้านหมอฟันทั้งประเทศ) และเนื่องจากคนดัทช์ส่วนใหญ่มีฐานะทางการเงินค่อนข้างดี จึงทำให้มี “ผลิตภัณฑ์ทางการเงิน” ออกมาในตลาดค่อนข้างมาก และผลิตภัณฑ์เหล่านี้ก็ถูกออกแบบมาให้มีความซับซ้อนจนผู้บริโภคไม่สามารถเข้าด้วยตนเองได้ จึงต้องขอคำแนะนำจาก “ที่ปรึกษา” ซึ่งก็มักเป็นผู้ที่ได้ “ค่าคอมมิชชั่น” จากการผลิตภัณฑ์ที่ผู้บริโภคเลือกลงทุน ผู้บริโภคชาวดัทช์ก็ไม่ต่างกับผู้บริโภคบ้านเรา เมื่อไม่ชอบคิดมากจึงต้องจ่ายแพงเกินไปโดยไม่จำเป็น Consumentenbond จึงวางแผนว่าในอีก 2 ปีข้างหน้า จะรณรงค์ให้ยกเลิกค่าคอมมิชชั่นเพื่อให้ผู้บริโภคได้รับประโยชน์มากขึ้น เพราะเชื่อว่าที่ปรึกษาเหล่านั้นอาจไม่ได้แนะนำสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับเรา เพราะมีเรื่องผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง นอกจากนี้ยังจะรณรงค์ให้ผู้ประกอบการ นำเสนอผลิตภัณฑ์การเงิน ที่สามารถเข้าใจได้ง่าย ในราคาที่เหมาะสมและมีคุณภาพดีขึ้น   3. อีกประเด็นที่เขานำมาถกเถียงกันในงานสมัชชาครั้งนี้คือ เรื่องของสิ่งที่เรียกว่า “ทรัพย์สินทางปัญญา” ที่ดูเหมือนจะเป็นอุปสรรคทั้งต่อการเข้าถึงยา และการเข้าถึงความรู้   เราทราบกันดีแล้วว่าระบบสิทธิบัตรยา ทำให้ผู้บริโภคไม่สามารถเข้าถึงยาที่มีราคาแพงได้ โดยเฉพาะยาสำหรับโรคมะเร็ง เบาหวาน หรือโรคภูมิคุ้มกันบกพร่องซึ่งส่งผลต่อระบบสาธารณะสุขทั่วโลก เรื่องนี้ฟังแล้วชวนปวดตับอย่างยิ่ง คุณรู้หรือไม่ว่าการลงทุนวิจัยยาใหม่นั้นมีมูลค่าเพียงร้อยละ 10 -15 ของราคายาที่ขายเท่านั้น ที่เหลือเป็นมูลค่าการทำการตลาดทั้งสิ้น ยิ่งไปกว่านั้นร้อยละ 80 ของ”ยาใหม่” ไม่มีประโยชน์ในการรักษาเพิ่มเติมแต่อย่างใดด้วย   ในการประชุมครั้งนี้เมื่อผู้ประสานงานโครงการการเข้าถึงความรู้ สหพันธ์ผู้บริโภคสากล เปิดเผยผลสำรวจให้ผู้เข้าร่วมสมัชชาฟังว่า ประเทศไทยเป็นหนึ่งในกลุ่มที่ยอมให้ระบบคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญามาเป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงความรู้ นอกจากนี้ยังมีอีกหลายประเทศที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์จากสิ่งที่เรียกว่า “การใช้อย่างเป็นธรรม” หรือ Fair Use ในกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาเช่นกัน สรุปว่านี่เป็นอีกประเด็นที่องค์กรผู้บริโภคจะต้องร่วมกันขับเคลื่อนอย่างจริงจัง   โลกในยุคสังคมเครือข่าย ที่เราเป็นได้มากกว่าผู้บริโภค สุนทรพจน์ โดย เกิร์ด ลีออนฮาร์ด ผู้ได้รับการยกย่องจากหนังสือพิมพ์วอลสตรีต เจอร์นัล ว่าเป็นหนึ่งในนักอนาคตศาสตร์ชั้นนำของโลกในสาขาเทคโนโลยีการสื่อสาร ปัจจุบันเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารของสถาบัน The Future Agency และเป็นที่ปรึกษาให้กับบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่หลายแห่ง  “กว่าร้อยละ 90 ของสิ่งที่ผมจะนำมาเล่าให้ท่านฟังในวันนี้เป็นสิ่งที่ผมได้มาจากคนอื่น และผมต้องขอบคุณบุคคลเหล่านั้น ปัจจุบันเราควรจะอยู่ในโลกที่มีแต่การแบ่งปัน (Sharing) เรากลับต้องเผชิญกับการปิดกั้นมากขึ้น เราเคยอยากได้ Global Village ที่ประกอบไปด้วยความเป็นเอกภาพ ความสงบ และสันติ และทุกวันนี้สิ่งที่จะทำให้เกิดหมู่บ้านของคนทั้งโลกได้ควรจะเป็น “การเข้าไปมีส่วนร่วม” เพราะฉะนั้นการปิดกั้นจึงเท่ากับเป็นความล้มเหลวของระบบ ที่สำคัญเราต้องไม่ลืมว่าอีกไม่นานทุกสิ่งที่เรารู้ก็จะต้องถูก “ทำสำเนา” ต่อๆ กันไป   ทุกวันนี้เราไม่ได้เป็นแค่ผู้บริโภค  กว่าร้อยละ 70 ของเด็กอเมริกัน นำเรื่องราวของตัวเองขึ้นไป “แชร์” ในอินเตอร์เน็ต  ทุกวันนี้ “ผู้ใช้” หรือ User ก็ถือเป็น “เนื้อหา” บนอินเตอร์เน็ต เช่นกัน ปัจจุบันบริษัทต่างๆ สามารถลดต้นทุนในการทำการตลาดลงด้วยการปล่อยให้ “ผู้ใช้” เหล่านี้เป็นผู้ทำการตลาดแทน  อย่าลืมว่าสถานีกระจายข้อมูลที่ใหญ่ที่สุดในโลกปัจจุบันคือ Facebook ซึ่งเป็นกลไกในการเผยแพร่ข้อมูลที่ดีมาก ผู้บริโภคต้องใช้ประโยชน์จากอำนาจนี้ให้เต็มที่ เราสามารถแสดงความชื่นชมได้ แสดงความไม่พอใจก็ได้ ผู้ประกอบการพร้อมที่จะฟังการประเมินที่สร้างสรรค์จากผู้บริโภคเสมอ สังเกตได้จากผลรางวัลตอบแทนที่ให้เวลาที่เราให้ความร่วมมือในการตอบแบบสอบถามหรือแบบรับความคิดเห็น   เป้าหมายของธุรกิจวันนี้จึงต้องเปลี่ยนไป ไม่ใช่การสร้างเงิน สร้างผลกำไร หรือแม้แต่การสร้างอำนาจต่อรอง สิ่งที่ธุรกิจในยุคนี้จะต้องสร้างคือ “ความไว้วางใจ” จริงหรือไม่ที่การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาคือกุญแจนำไปสู่ความสำเร็จของสื่อบันเทิงดิจิตัลอย่างที่ค่ายธุรกิจบันเทิงเสนอไว้ ผมคิดว่าไม่น่าจะเป็นเช่นนั้น เพราะในปี ค.ศ. 2000 ผู้บริโภคมีการใช้จ่ายเพื่อธุรกิจบันเทิงคนละ 71 เหรียญ แต่เมื่อถึงปี ค.ศ. 2009 การใช้จ่ายของผู้บริโภคลดลงเหลือแค่คนละ 26 เหรียญ จึงถึงเวลาแล้วที่เราจะเปลี่ยนเป้าหมายจาก “การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา” มาเป็น “การเปิดโอกาสให้ผู้คนเข้าไปมีส่วนร่วม”  ปัจจุบันเราแทบจะใช้เวลากับหน้าจอคอมพิวเตอร์มากกว่าหนังสือกันแล้ว ข้อดีของการอยู่หน้าจอคือการที่เราสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมหรือแบ่งปันในชุมชนเสมือนนั้นๆ ได้  วันนี้เราควรสร้างระบบความสัมพันธ์แบบชนเผ่าขึ้นมา ต้องปรับเปลี่ยนแนวคิดจากเดิมที่เราต้องการ “ความเป็นอิสระ ไม่ต้องพึ่งพาใคร” มาเป็นการรับเอาแนวคิด “การพึ่งพาซึ่งกันและกัน” เข้ามาแทน จากแนวคิด “เครือข่าย” เฉยๆ เป็น “การเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่าย” หรือจากสิ่งที่เรียกว่า “ความเป็นเจ้าของ” เปลี่ยนเป็น “การเข้าถึง” เป็นต้น  แม้แต่เรื่องของการจัดการกับการละเมิดลิขสิทธ์ก็มีแนวคิดที่จะแก้ปัญหาด้วยการทำให้ทุกคนสามารถเข้าถึงสื่อนั้นได้โดยไม่ลำบาก ผมอยากนำเสนอรูปแบบการนำเสนอเนื้อหาแบบไม่คิดเงิน เพียงแค่ผู้ที่นำไปใช้เคารพสิทธิของผู้นำเสนอเนื้อหาด้วยการปฏิบัติตาม “เงื่อนไขการนำไปใช้” เท่านั้น”   สิทธิผู้บริโภค อดีต ปัจจุบัน และอนาคตโดย นายอันวา ฟาซาล  หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งสหพันธ์ผู้บริโภคสากลถ้าถามว่ากระดาษทิชชูที่คุณใช้อยู่มีความยาวเท่าไร คนส่วนใหญ่มักจะตอบไม่ได้ ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะเราเป็นเพียง “ผู้บริโภค” ธรรมดาๆ ซึ่งไม่ได้ใส่ใจกับเรื่องเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้ และนี่เองคือเหตุผลที่เราจะต้องมี “องค์กรผู้บริโภค” ขึ้นมา  ลองสมมติว่ามีคนจากกาแลกซีมาประเมินสภาวะของผู้บริโภคบนโลกใบนี้ เขาคงจะงงเหมือนกันว่านี่คือโลกชนิดไหนกันที่มีคนฆ่าตัวตายทุกๆ 40 วินาที มีคนถูกฆ่าตายทุกๆ 60 นาที และมีจำนวนคนเป็นโรคอ้วนมากกว่าคนอดอยาก  25 ปีก่อน เหตุการณ์โรงไฟฟ้าระเบิดที่เชอโนบิลทำให้เราต้องใช้เงินในการ “เก็บกวาด” ผลกระทบเป็นเงินถึงสองแสนกว่าล้านเหรียญ เราเคยตกลงกันแล้วว่าเหตุการณ์เช่นนี้จะต้องไม่เกิดขึ้นอีก แต่เราก็ลืมมันไปแล้ว จนกระทั่งเกิดอุบัติเหตุที่ฟุกุชิมะที่เราต้องใช้งบประมาณในการเก็บกวาดถึงสามแสนล้านเหรียญ น่าแปลกใจที่เรามีงบประมาณพอที่จะจัดการกับปัญหาเหล่านี้ แต่เรากลับไม่มีเงิน 2,500 ล้านเหรียญ ในการดูแลสุขภาพหรือจัดการศึกษาให้กับเด็กด้อยโอกาส ซึ่งจะว่าไปแล้วเงินจำนวนดังกล่าวเป็นจำนวนเงินที่คนอเมริกันใช้จ่ายไปกับการซื้อบุหรี่ เท่ากับจำนวนที่คนในสหภาพยุโรปซื้อเหล้าในเวลาหนึ่งเดือน การแก้ปัญหาของผู้บริโภค จะทำเหมือนการช่วยเด็กที่ถูกทิ้งลอยน้ำมาทีละคนไม่ได้ เราต้องหาเวลาไปจัดการกับคนที่โยนเด็กลงมาให้ได้ องค์กรผู้บริโภคต้องการคนที่มีวิสัยทัศน์มาร่วมกันทำงาน ในการทำงานนั้นมีระดับของวิสัยทัศน์อยู่ 3 ระดับด้วยกัน เช่น ในกลุ่มคนที่กำลังทำงานอย่างเดียวกัน ถ้าถามว่ากำลังทำอะไรอยู่ บางคนตอบว่า “กำลังก่ออิฐ” บางคนตอบว่า “กำลังสร้างโรงเรียน” ในขณะที่บางคนมองว่าตนเอง “กำลังสร้างอนาคตให้กับเด็ก” คนกลุ่มนี้คือคนที่เราต้องการ  องค์กรภาคประชาชน หรือพลังมวลชนคือความหวัง ผมขอเสนอสูตรใหม่ในการทำงานเรียกว่าสูตร  A B C นั่นคือเริ่มจาก A หมายถึง Agony คือความรู้สึกว่าเราทนต่อไปไม่ได้แล้ว และต้องทำอะไรซักอย่าง จากนั้นเราต้อง Brave คือกล้าพอที่จะท้าทายระบบ และจะต้อง Creative คือเสนอทางออกอย่างสร้างสรรค์ ในการเคลื่อนไหวในงานคุ้มครองผู้บริโภคนั้นเราจะต้องมีคนทั้งสองกลุ่ม ได้แก่กลุ่ม Ph D. ซึ่งผมหมายถึงผู้ที่มีความเชี่ยวชาญทางวิชาการ และกลุ่ม BSD (Blood, Sweat, Tears) ที่พร้อมจะทุ่มเททำงานด้วยเลือด หยาดเหงื่อและน้ำตา แต่ทั้งหมดนี้จะยังไม่ทำให้เราประสบความสำเร็จ จนกว่าเราจะมีปัจจัยที่เรียกว่า GTD > Getting things done! ซึ่งหมายถึงการลงมือทำจริง  ผมขอพูดถึงบาป 11 ประการ ที่นำไปสู่ปัญหาสังคมทุกวันนี้ ที่ผมขอเพิ่มจากบาป 7 ประการของมหาตมะ คานธี คือ 1. การเมืองที่ไม่มีหลักการ2. การมีความมั่งคั่งโดยไม่ต้องทำงาน3. การมีความสนุกสนานอย่างไร้สติ4. การมีความรู้แต่ไม่มีคุณสมบัติ5. การทำธุรกิจโดยไม่มีศีลธรรม6. วิทยาศาสตร์ที่ปราศจากมนุษยธรรม7. การมีศาสนาแต่ไม่มีความเห็นอกเห็นใจในเพื่อนมนุษย์8. การมีสิทธิแต่ไม่มีความรับผิดชอบ9. การมีอำนาจโดยไม่สามารถตรวจสอบได้ 10. การพัฒนาโดยปราศจากความยั่งยืน11. กฎหมายที่ไม่มีความยุติธรรม   เมื่อมองกลับไปในอดีตเราจะเห็นว่า ชาวฮิตไตท์มีกฎหมายผู้บริโภคใช้ตั้งแต่เมื่อ 3,500 ปีที่แล้ว โดยหลักๆ แล้วเป็นกฎหมายที่ว่าด้วยความปลอดภัยของอาหาร การห้ามการเอาเปรียบหรือหลอกลวงกัน  เอกสารฉบับแรกที่พูดถึงเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภคได้แก่ เอกสารขององค์กรแรงงานโลกที่ชื่อว่า“คำแนะนำเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภค” ซึ่งเป็นการให้ความรู้กับผู้ใช้แรงงานว่าจะมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีการใช้จ่ายอย่างสมเหตุสมผลได้อย่างไร  แต่ทั้งนี้เนื้อหาของคู่มือการคุ้มครองผู้บริโภคของสหประชาชาติซึ่งกำลังจะมีอายุครบ 25 ปีในเร็วๆ นี้แทบจะไม่ได้มีการปรับปรุงให้ทันสมัยขึ้นเลย เรื่องนี้เราต้องรณรงค์ให้เกิดขึ้นและผมขอชักชวนให้เรามาร่วมกันเรียกร้องให้สหประชาชาติประกาศ “วันสิทธิผู้บริโภคสากล” ในปี พ.ศ. 2555 ด้วย  และถ้ามองต่อไปในอนาคต ผมของเสนอทางออก 11 ประการ ให้กับผู้ที่สนใจงานคุ้มครองผู้บริโภคดังนี้1. เราต้องรีบจัดการกับคดีที่ก่อกับผู้บริโภค2. เราต้องทำรายงานสภาวะผู้บริโภคทุกปี เพื่อให้เห็นพัฒนาการ ความสำเร็จ และเป้าหมายที่จะต้องไปให้ถึง3. การสร้างศักยภาพให้กับคนรุ่นใหม่ที่จะขึ้นมาสืบสานงานต่อจากคนรุ่นเก่า4. เราใช้อินเตอร์เน็ตเป็นประตูไปสู่ฐานข้อมูลสำหรับผู้บริโภค รวบรวมเอกสาร และพร้อมที่จะเผยแพร่ออกไป 5. สร้างสายด่วนสำหรับผู้บริโภค ที่พร้อมจะตอบคำถามให้กับทุกคน6. การมอบรางวัล Consumers Champion Awards 7. การเปิดเผยข้อมูลเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมของผู้ประกอบการ8. การสร้างความสุขมวลรวมประชาชาติ Gross National Happiness9. การสร้างระบบเตือนภัย และระบบแลกเปลี่ยนเชื่อมโยงข้อมูลและการจัดการหรือ Consumer Interpol 10. การเข้าไปมีส่วนร่วมอย่างจริงจังในการประชุมว่าด้วยสิ่งแวดล้อม Rio 2012 ที่จะมีการประกาศ Rights of Mother Earth11. การกระจายพลัง เราจะต้องอาศัยพลัง 5 ประการ ได้แก่ พลังของคนแต่ละคน พลังของหลายๆ คนรวมกัน พลังของข่าวสารข้อมูล พลังแห่งความดีงาม และพลังจากการเผยแพร่ความสำเร็จ

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 125 รถตู้โดยสารดัดแปลง...ความปลอดภัยที่คุณเลือกได้

ชีวิตสังคมเมืองที่เต็มไปด้วยความเร่งรีบทั้งในด้านการใช้ชีวิต รวมไปถึงเรื่องการเดินทาง ประกอบกับภาวะวิกฤติการน้ำมันเชื้อเพลิงมีการปรับราคาสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ผู้ที่ต้องเดินทางในเขตกรุงเทพมหานคร หรือปริมณฑลจำนวนมากลดการใช้ยานพาหนะส่วนตัวลงและเลือกที่จะเดินทาง โดยใช้รถตู้บริการโดยสารสาธารณะกันมากขึ้น อุบัติเหตุบนท้องถนนที่เกิดขึ้นกับรถตู้โดยสารสาธารณะบ่อยครั้ง ได้นำมาซึ่งความเสียหายต่อทรัพย์สินและสูญเสียชีวิตที่มิอาจจะประมาณมูลค่าได้   บ่อยครั้งที่มีคำถามเกิดขึ้นมากมายว่า เหตุการณ์เหล่านี้สามารถหลีกเลี่ยงได้หรือไม่ ผู้ที่เกี่ยวข้องมีมาตรการหรือแนวทางอะไรที่จะช่วยเพิ่มความปลอดภัย ให้เกิดขึ้นได้จริงกับการโดยสารรถตู้ ซึ่งจากข้อมูลเบื้องต้นที่มีอยู่ สำหรับแนวทางหรือมาตรการด้านระเบียบการบริหารจัดการนั้น ผู้ที่มีส่วนรับผิดชอบก็พยายามเร่งรัดหาแนวทางกันมาต่อเนื่อง และคาดว่าน่าจะมีความเคลื่อนไหวเพิ่มเติมในทางบวกอีกในอนาคตอันสั้น  รถตู้โดยสารกับมาตรฐานที่มีอยู่(จริง) ทุกครั้งที่เกิดอุบัติเหตุอันน่าสลดใจกับรถตู้โดยสารสาธารณะ อย่างล่าสุดที่รถตู้โดยสารขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพประสบอุบัติเหตุบนทางยกระดับดอนเมืองโทลล์เวย์ เมื่อวันที่ 27 ธ.ค. 2553 ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตรวม 9 ราย หรือเหตุการณ์เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2553 ที่ได้เกิดอุบัติเหตุรถตู้โดยสารรับจ้างที่มีผู้โดยสารเต็มคัน ชนหัวเกาะบริเวณทางแยกและเสียหลักตกจากทางพิเศษลงไปบนถนนพระราม 6 นั้น ทำให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องหลายๆ ฝ่าย ได้กลับมาตระหนักถึงความปลอดภัยและคุณภาพของการให้บริการรถตู้โดยสารกันทุกครั้ง หลายๆ เสียง หลายๆ สื่อ ก็ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ว่า “เมื่อไหร่จะมีมาตรฐานรถตู้ในบ้านเราสักที”  ในความเป็นจริงนั้น ที่ผ่านมาก็ได้มีผู้ที่มีส่วนรับผิดชอบ ริเริ่มพยายามจะหามาตรการ เพื่อหลีกเลี่ยงหรือลดอุบัติเหตุ จากการโดยสารรถตู้สาธารณะมาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการที่กรมการขนส่งทางบก ได้ประกาศแจ้งกำหนด ให้มีการควบคุมคุณภาพรถตู้บริการให้เป็นประเภทมาตรฐาน 2 (จ)*   ตั้งแต่วันที่ 17 ธันวาคม 2551 ซึ่งมีมติให้รถตู้โดยสารที่ใช้ก๊าซธรรมชาติอัด (CNG) เป็นเชื้อเพลิงควบคู่กับน้ำมันมีสภาพอายุการใช้งานไม่เกิน 10 ปี มีการควบคุมระยะห่างระหว่างเก้าอี้โดยสาร (ดังที่แสดงในภาพที่ 1) มีการกำหนดให้ใช้รถที่มีหลังคาสูงและนอกเหนือจากนี้ ยังมีการควบคุมการตรวจสภาพรถทุกๆ 6 เดือน เพื่อตรวจเช็คระบบความปลอดภัย ระบบไฟส่องสว่าง การแข็งแรงของการยึดที่นั่งผู้โดยสารกับตัวรถหรือประตูรถ และมีการควบคุมมลพิษ ซึ่งจากข้อมูล ณ วันที่ 23 เมษายน 2553 ที่ผ่านมานั้น ได้มีรถตู้ส่วนบุคคลมาจดทะเบียน จำนวนทั้งสิ้นแล้วกว่า 9,000 คันแล้ว (ที่มา: กรมการขนส่งทางบก)   ภาพที่ 1 การควบคุมระยะที่นั่งผู้โดยสารตามมาตรฐาน 2(จ) (ที่มา: กรมการขนส่งทางบก)   อุบัติเหตุลดลง ความรุนแรงไม่ลดตาม อะไรคือสาเหตุ ?จากการที่หลายๆ ฝ่ายที่ผลักดันมาตรการต่างๆ เพื่อความปลอดภัยให้แก่ผู้โดยสารรถตู้สาธารณะอย่างเข้มข้น ผลปรากฏว่า ในปี พ.ศ. 2553 ที่ผ่านมา ได้เกิดอุบัติเหตุที่มีรถตู้โดยสารสาธารณะเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้อง ทั้งหมด 1,253 ครั้ง ลดลงจากปี พ.ศ. 2552 ไปได้ 20 เปอร์เซ็นต์ (1,549 ครั้ง - ที่มา:  ศูนย์อำนวยความปลอดภัยทางถนน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย) นับว่าเป็นแนวโน้มที่ดีขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม เป้าหมายที่แท้จริงของแต่ละมาตรการก็ยังคงเป็นการเลี่ยงอุบัติเหตุไม่ให้เกิดขึ้น (Active safety) และลดความรุนแรงในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุขึ้นแล้ว (Passive safety) ซึ่งโดยทั่วไปนั้น  ปัจจัยหลัก ที่มีผลกระทบโดยตรงต่อความปลอดภัยในการจราจร มีดังต่อไปนี้  1) มนุษย์ - พฤติกรรม วินัย มารยาทในการใช้รถและถนนของมนุษย์ ซึ่งประกอบด้วย ผู้ขับขี่รถ ผู้ร่วมใช้ถนน และผู้โดยสารรถ เป็นอีกหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่สุด ที่มีผลต่อความปลอดภัยบนท้องถนน ไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรมการขับขี่ การเคารพกฎจราจรของผู้ขับขี่เอง หรือการตระหนักถึงความปลอดภัยด้วยตนเองของผู้โดยสาร เช่น การคาดเข็มขัดนิรภัย หรือไม่โดยสารรถที่มีจำนวนผู้โดยสารมากกว่าที่นั่งที่มีอยู่ เป็นต้น 2) ยานพาหนะ - นอกเหนือจากสภาพของรถโดยสารที่สัมพันธ์กับอายุการใช้งานของตัวรถแล้วนั้น การดัดแปลงด้วยการเพิ่มที่นั่งผู้โดยสารและติดตั้งระบบแก๊สเป็นเชื้อเพลิง ซึ่งส่งผลให้น้ำหนักรวมและสมดุลน้ำหนักตัวรถเปลี่ยนแปลงจากตัวรถตู้แบบเดิม ก็มีผลกระทบโดยตรงต่อความปลอดภัยในการขับขี่ ในสถานการณ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการเบรกรถโค้งที่ความเร็วสูง หรือการเบรกกะทันหัน เป็นต้น เพื่อเพิ่มระดับความปลอดภัยในการขับขี่ของรถตู้ ในปัจจุบันผู้ผลิตหลายราย ได้ทำการติดตั้งอุปกรณ์เพื่อเพิ่มความปลอดภัยหลายชนิดเป็นอุปกรณ์พื้นฐาน ไม่ว่าจะเป็นระบบควบคุมเพื่อหลีกเลี่ยงอุบัติเหตุ(Active Safety) เช่น ระบบ ABS หรือ ESP หรืออุปกรณ์ที่จะช่วยลดความรุนแรงของอุบัติเหตุต่อผู้โดยสาร(Passive Safety) อาทิ เข็มขัดนิรภัย หรือระบบถุงลมนิรภัย เป็นต้น 3) สิ่งแวดล้อม - อีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดความไม่ปลอดภัยในการจราจร ก็คือ สภาพของถนนที่ชำรุดผุผัง เป็นหลุมเป็นบ่อ มีสิ่งกีดขวางการจราจร ทำให้ที่รถต้องชะลอความเร็วหรือเปลี่ยนเส้นทางโดยกะทันหัน รวมถึง สัญญาณจราจรที่ไม่ชัดเจน อาทิ ป้ายจราจร เส้นแบ่งทางเดินรถ สิ่งเหล่านี้เป็นชนวนสำคัญที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุ บ่อยครั้ง ซึ่งผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่ายจะมองข้ามไม่ได้เป็นอันขาด   แนวคิดและการวิเคราะห์สถานการณ์ในการขับขี่ที่เป็นอันตราย ต่อไปจะขอนำเสนอแนวคิดและการวิเคราะห์สถานการณ์ในการขับขี่ที่เป็นอันตราย เสี่ยงต่อการทำให้เกิดอุบัติเหตุกับรถตู้ที่ได้รับการดัดแปลงเพื่อเป็นรถโดยสารด้วยหลักพลศาสตร์ยานยนต์ (Vehicle dynamics) และเสนอแนะแนวทางเชิงปฏิบัติที่สามารถทำได้จริง เพื่อหลีกเลี่ยงอุบัติเหตุและเพิ่มความปลอดภัยของการโดยสารรถตู้บริการ โดยยกตัวอย่างการวิเคราะห์จากกรณีศึกษาดังต่อไปนี้  “หลุดโค้ง ท้ายปัด ล้อล็อคไถล” ของรถตู้ เกิดขึ้นได้อย่างไร  ในกรณีศึกษานี้จะนำตัวอย่างจาก รถตู้ดัดแปลงตามประเภทมาตรฐาน 2(จ) มาพิจารณาและเสนอแนะแนว ทางแก้ไขปรับปรุงที่เป็นไปได้ เพื่อเพิ่มสมรรถนะในการขับขี่และความปลอดภัยในการโดยรถตู้ให้มากยิ่งขึ้น โดยกำหนดให้  • มีคนขับและผู้โดยสาร ในรถรวมทั้งหมด 15 คน  • ผู้โดยสารมีน้ำหนักเฉลี่ย 68 กิโลกรัมต่อคน • มีการติดตั้งถังแก๊ส CNG ขนาด 90 ลิตรที่ห้องสัมภาระทั้งหมด 2 ถัง• มีแก๊สบรรจุอยู่ประมาณครึ่งถัง   • การติดตั้งระบบเชื้อเพลิงโดยใช้ ก๊าซธรรมชาตินั้นได้คุณภาพผ่านข้อกำหนดแล้ว ซึ่งถือว่าเป็นข้อ กำหนดที่สำคัญต่อความปลอดภัยจากการติดตั้ง ไม่เกี่ยวข้องกับสมรรถนะของรถ  ผลกระทบโดยตรงที่เกิดขึ้นจากการดัดแปลงในกรณีนี้คือ ปริมาณน้ำหนักรวมและสมดุลน้ำหนักของรถที่เปลี่ยนแปลงไป โดยสามารถเปรียบเทียบน้ำหนักของรถตู้โดยสารโครงสร้างเดิมและแบบที่มีการดัดแปลงได้ดังแสดงตารางที่ 1 ซึ่งจากตารางข้างต้นจะพบว่า รถตู้ที่ได้รับการดัดแปลงในกรณีที่ศึกษานั้น มีจะน้ำหนักของรถรวมถึง 3,350 กิโลกรัม เพิ่มจากประเภทที่ไม่ได้ดัดแปลงประมาณ 400 กิโลกรัม  นอกเหนือจากนี้ ภาพที่ 2 จะแสดงให้เห็นว่า น้ำหนักส่วนใหญ่ที่เพิ่มขึ้นของตัวรถตู้จากการดัดแปลงนั้นจะอยู่ที่ตำแหน่งส่วนท้ายของรถ ซึ่งทำให้สัดส่วนการกระจายน้ำหนักหรือแรงกดของเพลาหน้าและเพลาท้ายของรถตู้หลังการดัดแปลงนั้น แตกต่างจากสภาพเดิมของรถ ตัวอย่าง เช่น จากอัตราส่วน 56% ต่อ 44% เปลี่ยนเป็น 47% ต่อ 53% ซึ่งหมายความว่า สัดส่วนแรงกดที่ล้อหน้าทั้งสองล้อต่อน้ำหนักรวมจะลดลงไปกว่าเดิม ในขณะที่แรงกดที่ล้อหลังจะเพิ่มขึ้น ซึ่งจากข้อมูลนี้จะสามารถวิเคราะห์ผลกระทบต่อความปลอดภัย รวมถึงสมรรถนะของรถในการออกตัว การเร่ง หรือการเบรก ทั้งทางตรงและทางโค้งได้เป็นกรณีต่างๆ ดังต่อไปนี้     น้ำหนักรถรวมกรณีที่มีผู้โดยสารเต็มคัน 2,926 กิโลกรัม 3,350 กิโลกรัมตารางที่ 1: เปรียบเทียบน้ำหนักรถโดยสารตู้ประเภทที่ศึกษาก่อนและหลังการดัดแปลง   ภาพที่ 2 สัดส่วนน้ำหนักที่เพลาหน้าและหลังของรถตู้ที่ทำการศึกษา ก่อนและหลังดัดแปลงติดตั้งถังแก๊ส  กรณีที่ 1) รถตู้หลุดโค้งการเลี้ยวโค้งของรถเป็นหนึ่งในสถานการณ์ระหว่างการขับขี่และจราจรที่เกิดขึ้นบ่อยที่สุด และหนึ่งในประเภทของอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นบ่อยที่สุดก็คือ การที่รถเสียหลักหลุดโค้ง ซึ่งมีสาเหตุมาจากหลายๆ ปัจจัย หนึ่งในปัจจัยหลักก็คือการที่น้ำหนักหรือแรงกดของรถที่ล้อหลังมีมากกว่าที่ล้อหน้าในปริมาณที่มาก ดังที่แสดงในภาพที่ 2 จะพบว่าปริมาณของแรงกดที่ล้อหลังทั้งสองล้อ ได้เพิ่มขึ้นจากเดิมถึง 7 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่แรงกดที่ล้อหน้าทั้งสองล้อได้ลดลงไปจากเดิม ซึ่งตามทฤษฏีพลศาสตร์ยานยนต์แล้วนั้น ในกรณีรถที่มีการกระจายน้ำหนักที่ล้อหลังมากกว่าล้อหน้า แล้วถูกขับเลี้ยวเข้าโค้งด้วยความเร็วสูง(หรือที่เรียกว่า “การเลี้ยวเร็ว“) รถจะมีแนวโน้มของการเคลื่อนที่ที่เรียกว่า  ”อันเดอร์สเตียริง” (Understeering) หรือ “การหลุดโค้ง“ ซึ่งมีแนวโน้มจะเกิดขึ้นได้ง่ายกับรถยนต์ประเภทขับเคลื่อนล้อหลัง หรือรถที่มีสัดส่วนน้ำหนักส่วนท้ายมากกว่าด้านหน้า ดังที่แสดงในภาพที่ 3 เหตุการณ์ “อันเดอร์สเตียริง” จะเกิดขึ้นในขณะที่เริ่มเลี้ยวเข้าโค้ง โดยที่คนขับบังคับเลี้ยวจากการหักเลี้ยวของพวงมาลัยตามรัศมีการโค้งของถนน ในขณะที่ล้อหลังของรถทั้งสองข้าง พยายามที่จะเคลื่อนที่ต่อไปในทิศทางเดิมก่อนที่จะเข้าโค้ง ผลที่เกิดขึ้นกับสมรรถนะของรถโดยที่ผู้ขับขี่ก็จะสามารถรู้สึกได้คือ ช่วงท้ายรถจะมีลักษณะหน่วงฝืนทิศทางการเลี้ยว หากคนขับไม่แก้ไขสถานการณ์หรือไม่มีอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ช่วย ก็อาจจะทำให้รถ ”หลุดโค้ง” ได้ ภาพที่ 3 ปรากฏการณ์อันเดอร์สเตียริง (Understeering) หรือ การหลุดโค้งของรถ   การเคลื่อนที่ของรถอีกประเภทที่ถือว่ามีอันตรายมากกว่านั้นจะเรียกว่า “โอเวอร์สเตียริง” (Oversteering) หรือ “การท้ายปัด“ ซึ่งมีแนวโน้มจะเกิดขึ้นได้บ่อยกับรถประเภทขับเคลื่อนล้อหน้า โดยสามารถอธิบายได้จากสถานการณ์ที่ส่วนท้ายของรถนั้น ถูกหมุนปัดในทิศทางที่ทำให้รถเสียการทรงตัวเป็นมุมมากกว่าความรัศมีความโค้งของถนน ในขณะที่ส่วนหน้าของรถถูกบังคับเลี้ยวปกติ (รูปที่ 4)   ภาพที่ 4 ปรากฏการณ์โอเวอร์สเตียริง (Oversteering) หรือ การท้ายปัดของรถ  แนวทางการแก้ไขสำหรับการแก้ไขปรากฏการณ์ “อันเดอร์สเตียริง“ หรือ “การหลุดโค้ง” ซึ่งจะเป็นกรณีที่จะเกิดขึ้นได้บ่อยกับรถตู้โดยสารที่มีน้ำหนักด้านท้ายสูงนั้น สามารถทำได้ด้วยบังคับหมุนพวงมาลัยในทิศทางเข้าโค้งให้มากยิ่งขึ้นไปจากเดิม เพื่อบังคับดึงให้ตัวรถทั้งคันเลี้ยวเข้าสู่รัศมีความโค้งที่ต้องการ ซึ่งเป็นการแก้ไขได้ด้วยผู้ขับขี่เอง นอกเหนือจากนี้ ในปัจจุบันผู้ผลิตรถหลายรายได้ติดตั้งอุปกรณ์ชนิด Active Safety เพื่อควบคุมการเคลื่อนที่ของรถให้ปลอดภัย ด้วยการควบคุมการเบรกของล้อรถทั้งสี่ล้อโดยอิสระต่อกันด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ที่เรียกว่า Electronic Stability Control (ESC) ซึ่งจะทำหน้าที่ป้องกันการล็อคไถลและเสียหลักของรถที่มีผลต่อความปลอดภัยเป็นอย่างมาก อย่างไรก็ตามด้วยราคาที่ยังสูง อุปกรณ์นี้จึงไม่ได้มีติดตั้งอยู่ในรถตู้โดยสารทั่วไป  กรณีที่ 2) ล้อหน้าล็อคไถล ระหว่างเบรกทางตรง ในการวิเคราะห์สมรรถนะของการเบรกทางตรงของรถนั้น สามารถนำทฤษฏีแรงเสียดทานมาใช้พิจารณาได้ โดยแรงเบรกที่ล้อรถนั้นจะเป็นแรงเสียดทาน(friction) ที่เกิดขึ้นระหว่างยางรถทั้งสี่ล้อกับพื้นถนน ซึ่งคำนวณได้จากผลคูณของน้ำหนักหรือแรงกดที่ล้อนั้นๆ (Normal force) กับค่าสัมประสิทธิ์แรงเสียดทาน(Friction coefficient) โดยค่าของตัวแปรนี้จะขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ เช่น สภาพความขรุขระของถนน ความชื้นของพื้นถนน หน้าผิวสัมผัสของยางรถยนต์ แรงดันลมของล้อรถ เป็นต้น   ภาพที่ 5 แรงเบรกและแรงกดที่ล้อหน้าและหลังระหว่างการเบรกของรถ  จากรูปที่ 5 ในขณะที่รถถูกเบรกนั้น จะเกิดแรงฉุดหรือแรงหน่วงที่เกิดขึ้นจะกระทำที่จุดศูนย์ถ่วงของรถ ซึ่งทางฟิสิกส์จะเรียกว่า “แรงปฏิกิริยา” (Reaction) ซึ่งเป็นผลลัพธ์ที่เกิดจาก “แรงกิริยา” (Action) หรือแรงเบรกที่ล้อทั้งสี่ข้าง แรงฉุดระหว่างการเบรกนี้จะเป็นทำให้เกิดแรงกดที่ล้อหน้า และแรงยกที่ล้อหลังของรถเป็นปริมาณที่เท่ากัน ส่งผลให้น้ำหนักหรือแรงกดที่ล้อทั้งสี่ข้างเปลี่ยนแปลง(แรงกดที่ล้อหน้าเพิ่มขึ้น แรงกดล้อหลังที่ลดลง) ซึ่งจากสมการการคำนวณแรงเบรกที่ล้อดังที่ได้กล่าวไปนั้น จะสามารถพิจารณาได้ว่า กรณีที่ค่าสัมประสิทธิ์แรงเสียดทานคงที่ แรงเบรกที่ล้อจะแปรผันตรงกับแรงกดที่ล้อ โดยจากแรงกดที่ล้อหน้าที่เพิ่มขึ้นนั้นจะทำให้แรงเบรกของรถที่ล้อหน้านั้นเพิ่มขึ้น ในขณะที่แรงเบรกของรถที่ล้อหลังน้อยลง สำหรับกรณีรถตู้ดัดแปลง ที่มีน้ำหนักที่ท้ายรถเพิ่มขึ้นประมาณ 400 กิโลกรัม จากน้ำหนักถังแก๊ส หรือเทียบได้กับแรงกดประมาณ 3,924 นิวตัน ซึ่งตามทฤษฏีนั้นล้อหลังทั้งสองข้างของรถจะสามารถสร้างแรงเบรกได้มากขึ้นกว่ารถที่ไม่ได้รับการดัดแปลง เนื่องจากสัดส่วนแรงกดที่ล้อหน้าลดลง สัดส่วนความต้องการแรงเบรกล้อหน้าก็จะลดลงไปด้วยเมื่อเทียบกับที่ล้อหลัง ซึ่งในทางปฏิบัตินั้น ในขณะที่คนขับเหยียบแป้นเบรกเพื่อทำการลดความเร็วรถ น้ำมันเบรกยังคงถูกส่งกระจายไปที่เบรกล้อหน้าในปริมาณเท่าเดิม ซึ่งก็จะส่งผลให้ล้อหน้าสามารถล็อคหรือไม่หมุนได้ชั่วขณะ และเกิดการไถลไปกับพื้นถนนในที่สุด ซึ่งสถานการณ์ที่เรียกว่า “ล้อหน้าล็อค” นี้ จะทำให้คนขับไม่สามารถบังคับทิศทางการเลี้ยวของรถได้  แนวทางการแก้ไขเนื่องจากกรณีที่พิจารณาเป็นการเบรกรถที่ทางตรง การควบคุมทิศทางรถไม่ได้ชั่วขณะจึงถือว่าไม่ถึงขั้นเป็นอันตรายสูง การปล่อยและสัมผัสแป้นเบรกอีกครั้งของคนขับ ก็สามารถทำให้ล้อหมุนระหว่างการเบรกและไม่ถูกล็อคได้ ทำให้สามารถควบคุมการบังคับเลี้ยวได้อีกครั้ง ในปัจจุบันเพื่อให้สามารถใช้ข้อดีของน้ำหนักหรือแรงกดที่ล้อในกรณีที่มีการบรรทุกหรือกระจายน้ำหนักที่ตัวรถแบบต่างๆ ให้ได้ประสิทธิภาพสูงขึ้นและมีความปลอดภัยมากขึ้น ผู้ผลิตรถยนต์หลายๆ รุ่น ได้ทำการติดตั้งระบบควบคุมการกระจายน้ำมันเบรกไปยังล้อต่างๆ ของรถ หรือแบ่งสัดส่วนแรงเบรกที่ล้อหน้าและหลังของรถ ให้เหมาะสมกับน้ำหนักที่บรรทุก (หรือที่เรียกว่า “Electronic Brake Force Distribution, EBD”) ซึ่งเป็นระบบที่เสริมเข้ากับระบบป้องกันการล็อคของล้อ (Anti-Lock Braking System, ABS) เพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการเบรกตามน้ำหนักบรรทุกของรถ ป้องกันการล็อคของล้อและไถลเสียหลักของรถได้  กรณีที่ 3) รถเสียหลักระหว่างเบรกทางโค้ง จากที่ได้กล่าวในหัวข้อที่ 2 แล้วนั้น แนวโน้มของการเคลื่อนที่เลี้ยวโค้งของรถที่ช่วงท้ายมีน้ำหนักมากคือ เหตุการณ์ “อันเดอร์สเตียริง” ซึ่งสามารถแก้ไขได้โดยการหมุนพวงมาลัยไปในทิศทางการเข้าโค้งเดิมให้มากยิ่งขึ้น เพื่อดึงให้ตัวรถกลับสู่องศาการเลี้ยวโค้งเดิม  ในกรณีที่ศึกษานี้ รถตู้จะถูกเบรกกะทันหันจากความเร็วสูงระหว่างการเลี้ยวโค้ง (ภาพที่ 6)  จากการที่ผู้ขับขี่เหยียบแป้นเบรกด้วยความแรงและรวดเร็ว จะส่งผลให้จานเบรกจับหรือดุมเบรกถูกจับด้วยแรงปริมาณมาก ทำให้ล้อที่ถูกเบรกหยุดหมุนไปชั่วขณะที่เรียกว่า “ล้อล็อค” และไถลโดยไม่หมุนไปกับพื้นถนน ซึ่งในระหว่างนี้เอง ล้อหลังที่หยุดหมุนไปชั่วขณะ ล้อจะไม่สามารถสร้างแรงต้านแรงกระทำภายนอกจากด้านข้าง(Lateral force) ใดๆ  ที่เกิดขึ้นในเวลานั้นๆ ได้ เช่น แรงที่เกิดจากลมพัด ผลที่เกิดขึ้นก็คือล้อหลังของรถจะปัด รถจะไถลไปในทิศทางตามแรงกระทำนั้นๆ และเสียการทรงตัวหรือไถลออกจากรัศมีเลี้ยวโค้งของถนน และเกิดอุบัติเหตุได้ในที่สุด สถานการณ์นี้ถือว่าเป็นสถานการณ์ที่เป็นอันตรายมาก และมีแนวโน้มจะเกิดขึ้นได้บ่อย โดยเฉพาะกับรถที่มีน้ำหนักหรือแรงกดที่ล้อหลังมาก อย่างรถตู้โดยสารสาธารณะ   ภาพที่ 6 การล็อคของล้อหลังและเสียหลักระหว่างการเบรกของรถ  แนวทางการแก้ไขโดยทั่วไป เหตุการณ์ล้อหลังล็อคและไถล จะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วเพียงเวลาไม่กี่วินาที ซึ่งเป็นการยากที่ผู้ขับขี่จะสามารถแก้ไขสถานการณ์ได้ทัน แนวทางป้องกันที่พอจะสามารถบรรเทาความรุนแรงได้ ก็คือจะเป็นการติดตั้งระบบ Electronic Stability Control (ESC) ซึ่งจะทำหน้าที่ควบคู่กับระบบ Anti-Lock Braking System (ABS) เพื่อป้องกันการล็อคไถลและเสียหลักของรถ รวมไปถึงการติดตั้งอุปกรณ์นิรภัย ประเภท Passive safety อย่างถุงลมนิรภัย เป็นต้น จากที่ได้บรรยายในบทความมาแล้วนั้น จะเป็นสถานการณ์เสี่ยงที่สามารถเกิดขึ้นได้กับรถยนต์ทุกประเภท โดยเฉพาะกับรถตู้โดยสารในกรณีที่ศึกษา รวมไปถึงแนวทางแก้ไขเชิงเทคนิคและในด้านการจัดการจากทัศนะของผู้เขียน ซึ่งแสดงในตารางที่ 2  หากมีผู้ตั้งถามว่าจะสามารถลดอุบัติเหตุลงได้จริงหรือไม่นั้น ก็ขอตอบว่าตามทฤษฏีแล้วสามารถทำได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากได้รับการสนับสนุนด้วยการเริ่มต้นแก้ไขตรงที่ปัจจัยหลักสามประการ ได้แก่ มนุษย์ ยานพาหนะ และสิ่งแวดล้อม   ตารางที่ 2: แนวทางการสร้างความปลอดภัยในการโดยสารรถตู้สาธารณะตามเกณฑ์การพิจารณาต่างๆ   จากข้อมูลข้างต้นสิ่งที่น่าจะเริ่มต้นได้ง่ายที่สุด เร็วที่สุด โดยไม่ต้องลงทุนลงแรงอะไร เมื่อเทียบกับแนวทางอื่นๆ และยังมีผลกระทบสูงมาก ก็คือการแก้ไขปัจจัยเสี่ยงที่เกิดจาก “มนุษย์” ไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรมคนขับหรือผู้โดยสารนั่นเอง ส่วนในทางปฏิบัตินั้น ย่อมไม่ใช่เรื่องง่ายอย่างแน่นอน   สำหรับผู้ที่โดยสารรถตู้เองนั้น “การเลือกความปลอดภัย” ในการโดยสารรถตู้สาธารณะ เริ่มพิจารณาได้ ตั้งแต่ก่อนที่จะขึ้นรถตู้โดยสารแต่ละคัน เช่น เลือกรถตู้ที่สภาพภายนอกดูไม่เก่าหรือมีอะไรชำรุด อย่าเลือกโดยสารรถตู้ที่จอดไม่ตรงจุด ไม่โดยสารรถตู้ที่รับผู้โดยสารเกินจำนวนเก้าอี้ ไม่โดยสารรถตู้ที่ไม่มีเข็มขัดนิรภัยในแต่ละที่นั่ง หลังจากที่ขึ้นรถแล้วก็คาดเข็มขัดนิรภัยและล็อคประตูข้างเสมอ   ในกรณีที่เป็นผู้ขับขี่ก็ควรให้คำแนะนำแก่ผู้โดยสาร อย่างไรก็ตามแม้ว่าแนวทางดังที่กล่าวนี้จะเป็นสิ่งที่ทำได้ง่าย แต่ในทางปฏิบัติจริง ยังมีคนจำนวนน้อยคำนึงถึงหรือปฏิบัติตาม ทั้งๆ ที่ความปลอดภัยนั้น เป็นสิ่งที่คุณหรือใครๆ ก็เลือกได้ เพียงแต่ว่าคุณจะเริ่มเมื่อไหร่เท่านั้นเอง   ข้อมูลและภาพประกอบอ้างอิง1. กรมการขนส่งทางบก 2. ศูนย์อำนวยความปลอดภัยทางถนนกรมป้องกันและบรรเทา สาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย3. Heißing, Bernd; Ersoy, Metin: Fahrwerkhandbuch - Grundlagen, Fahrdynamik, Komponenten, Systeme, Mechatronik, Perspektiven. Wiesbaden: Vieweg/Teubner, 2008.

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 124 ผู้แทนยา ปิดยอดให้ได้ อะไรก็ทำ

  7.30 นาฬิกา “กวาง” หญิงสาวบุคลิกดี แต่งตัวสวย ท่าทางมั่นใจถือถุงบรรจุแก้วกาแฟเดินเข้าไปในห้องตรวจโรคแผนกอายุรกรรม วางแก้วกาแฟลงบนโต๊ะพร้อมห่อกระดาษทิชชูที่มีชื่อยาของบริษัทเธอไว้ข้างๆ เพื่อให้แพทย์รู้ว่าใครเป็นผู้มี “น้ำใจ” หลังจากนั้นก็มายืนที่บริเวณทางเดินไปห้องตรวจโรคของแพทย์ในโรงพยาบาลเพื่อคอย “รีมายด์” หรือบอกชื่อยาของบริษัทพร้อมทั้งสรรพคุณสั้นๆ ว่ายาของเธอดีกว่ายาของบริษัทคู่แข่งอย่างไรแก่แพทย์ที่เดินผ่านไปมา ถุงกระดาษประทับชื่อยาที่วางอยู่บนพื้นเต็มไปด้วยของกระจุกกระจิกที่ประทับชื่อยาหรือชื่อบริษัท เช่น ปากกา เครื่องคิดเลข กระดาษทิชชู สมุด ไดอารี เพื่อใช้เป็นกุญแจนำเข้าบทสนทนาและให้แพทย์คุ้นชินกับชื่อยา ไม่นับรวมช่วงเทศกาลต่างๆ ที่เธอต้องหอบถุงกระดาษบรรจุของขวัญเพื่อมากำนัลแก่แพทย์ หวังให้เกิดความประทับใจและส่งผลให้ช่วยใช้ยาที่เธอขาย  “ผู้แทนยา” คืออาชีพของเธอ อาชีพที่หนุ่มสาวหลายคนอยากจะเข้ามาทำ เนื่องจากอิสระ ไม่มีเวลาการทำงานที่แน่นอน ขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการ ถ้า “ปิดยอด” หรือทำได้ถึงเป้าของบริษัทเร็ว เดือนนั้นก็ไม่ต้องไปทำงานเลยก็ได้ และที่สำคัญเงินเดือนดี ผู้แทนยาน้องใหม่บางคนหากขยันก็ทำเงินค่าคอมมิชชันได้ถึงหลักแสนในเดือนแรก แต่ไม่ใช่ว่าใครๆ ก็มาทำอาชีพนี้ได้ เพราะต้องมีบุคลิกและหน้าตาดี ถ้าให้ง่ายก็บวกเส้นสายอีกนิดหน่อย ส่วนกวางเข้ามาทำงานนี้ได้เพราะรุ่นพี่แนะนำให้ ส่วนจะเรียนจบเภสัชศาสตร์หรือสายวิทยาศาสตร์มาหรือไม่นั้น ไม่สำคัญเท่าไหร่ เพราะสิ่งที่สำคัญสำหรับอาชีพผู้แทนยาคือ ต้อง“คุย” กับแพทย์รู้เรื่อง ไม่นานนักแพทย์ก็เริ่มทยอยกันเดินผ่านทางเดิน ด้วยความที่แพทย์มีเวลาแค่เล็กน้อย ประกอบกับเพื่อนร่วมอาชีพที่รออยู่บริเวณนั้นมีจำนวนมากเช่นกัน ทำให้แพทย์ไม่สามารถจะหยุดคุยกับผู้แทนยาทุกคนได้ เธอจึงต้องใช้วิธีวิ่งเข้าไปหาแพทย์ ยื่นปากกาให้ รีบรีมายด์สั้นๆ พร้อมทั้งประโยคสำคัญ  “อาจารย์ขา ฝากยาของหนูด้วยนะคะ”แพทย์พยักหน้า แล้วรีบเดินจากไป เป็นโอกาสของผู้แทนยาหนุ่มสาวที่ยืนรออยู่ข้างหน้า  แม้จะเป็นการกระทำที่ซ้ำๆ ต้องพูดประโยคเดิมๆ ทุกวัน เหมือนเป็นสิ่งที่ไม่จำเป็นและไม่สำคัญ แต่ผู้แทนยาทุกคนก็รู้ว่าการรีมายด์ยาสำคัญมาก เธอรู้ว่าแพทย์บางคนต้องการเห็นผู้แทนยามาทำงานจึงจะสั่งใช้ยา โดยผู้แทนยาต้องมายืนเรียงแถวให้แพทย์เห็นหน้า เรียกว่า “เช็คชื่อ” โดยเฉพาะยาของสองบริษัทที่เหมือนกัน  หากแพทย์มีเวลาให้เธอสัก 5-10 นาที เธอก็จะเข้าไปคุยให้ข้อมูลรายละเอียดเรื่องยาในห้องตรวจหรือ “ฟูลเปเปอร์” แม้จะน่าอึดอัดเล็กน้อยเพราะคนไข้ที่รอตรวจจะมองเธอด้วยสายตาสงสัย หรือบางคนอาจจะชักสีหน้าด้วยความไม่พอใจที่เธอทำให้ต้องเสียเวลารอ...ทำไงได้ นี่คืองานของเธอ แต่วันนี้ทุกอย่างช่างวุ่นวาย เพราะเธอต้องไปเตรียมจัดเลี้ยงอาหารกลางวันให้แก่แพทย์และแพทย์ประจำบ้านที่ห้องประชุมอีก  เกือบ 11 นาฬิกาหลังจากที่แพทย์ทุกคนเข้าห้องตรวจ ก็ถือเป็นเวลาพักของพวกผู้แทนยา กวางและเพื่อนร่วมอาชีพเดินไปทานข้าวที่โรงอาหารของโรงพยาบาล นั่งคุยถึงเรื่องสัพเพเหระ หรือทำกิจกรรมต่างๆ นานา เธอไม่ลืมที่จะโทรไปสั่งอาหารกล่องของภัตตาคารอาหารญี่ปุ่นกลางห้างดัง ติดต่ออาจารย์แพทย์ที่จะมาบรรยายเรื่องยาอีกครั้ง และภารกิจอื่นๆ อีกมากมายที่เธอต้องบริการแพทย์ซึ่งเป็น “ลูกค้า” เมื่ออยู่ในอาชีพผู้แทนยา   เรื่องธรรมดาในโรงพยาบาล ? กิจวัตรประจำวันของผู้แทนยาเช่น “กวาง” เป็นสิ่งที่คุ้นตาและเกิดขึ้นจริงในโรงพยาบาล นอกจากนี้ผู้แทนยายังมีความเห็นว่า การอำนวยความสะดวกต่างๆ แก่แพทย์ เช่น ลงชื่อเข้าประชุมวิชาการ จองห้องพักโรงแรมให้เมื่อมีประชุม ขับรถรับส่งไปประชุมทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด จัดเลี้ยงอาหารหรือกาแฟยามเช้า หรือแม้แต่ไปจัดการธุระที่ธนาคารให้แก่แพทย์ เหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งจำเป็นต่อการทำงาน และเป็นการแสดงน้ำใจ ซึ่งจะทำให้แพทย์ช่วยใช้ยา   “มันเหมือนกับเป็นการเซอร์วิส มายด์ค่ะ เหมือนกับน้ำพึ่งเรือเสือพึ่งป่า อย่างแพทย์ในช่วงเวลาที่เขาเร่งรีบ เขาก็ “อ่ะ ไปแบงค์ให้ผมหน่อยซิ” หรือ “ไปส่งผมตรงนี้หน่อย” “ไปส่งสนามบินหน่อย” อันนี้ก็เป็นการเซอร์วิส เพราะว่าเขาอาจจะไม่มีเวลาหรือกำลังรีบ เพราะว่าหมอเนี่ย เขาจะมีเวลาไม่ค่อยเพียงพออยู่แล้ว เขาก็จะไหว้วานเรา เขาอยู่โรงพยาบาล ที่จอดรถก็ไม่ค่อยมี หรือไม่งั้นตอนเย็นเขาจะไปประชุม แล้วบริษัทนี้สนับสนุนวิชาการโดยการลงทะเบียนให้เขา ผู้แทนบริษัทนี้ต้องเซอร์วิสโดยการที่ไปส่งหมอ” ซี ผู้แทนยาสาวจากบริษัทยาต่างชาติกล่าว  เช่นเดียวกับน้ำ ผู้แทนยาจากบริษัทยาต่างชาติอีกคนที่มีความเห็นในทำนองเดียวกัน “หมอบางคนทำงานจนดึก ต้องเข้ามาตรวจคนไข้แต่เช้า ตรวจแต่ละครั้งก็ต้องอธิบายให้คนไข้ฟัง หมอก็เหนื่อย เพลีย คอแห้ง แล้วก็ไม่มีคนเอาน้ำไปให้ แล้วใครจะทำ เราก็ทำให้เพราะเป็นการแสดงน้ำใจแก่หมอ เรื่องการประชุมบางครั้งต้องให้บริษัทยาลงชื่อเข้าให้ ถึงหมอมีเงินแค่ไหน แต่ถ้าลงเองก็ลงไม่ได้ แล้วหมอก็ต้องทำงานทั้งวัน จะเอาเวลาที่ไหนไปจองห้องพัก สายการบิน เวลาไปเมืองนอก หมอจะรู้ได้ยังไง บริษัทยาก็ต้องทำให้ ส่วนเรื่องการขับรถรับส่ง หมอไม่มีเวลา บางทีเลิกดึก ก็ต้องขับรถไปรับไปส่ง เวลาหมอเดินทาง ขึ้นเครื่องบินแล้วจะเอารถไปไว้ที่ไหน ก็ต้องไปส่งหมอ เป็นน้ำใจ” เธอกล่าวโดยเน้นย้ำว่าเป็นการแสดง “น้ำใจ” เท่านั้น   สายสัมพันธ์สีเทาในความสัมพันธ์ระหว่างผู้แทนยาและแพทย์ การแสดงถึง “น้ำใจ” เป็นสิ่งที่เหมาะสมหรือไม่ เพราะยิ่งผู้แทนยาคนไหนแสดง “น้ำใจ” มากเท่าไหร่ ก็ยิ่งมีโอกาสที่แพทย์จะใช้ยาของผู้แทนยาคนนั้น ซึ่งถือเป็นการ“แสดงน้ำใจกลับคืน”มากเท่านั้น เช่นที่อาจารย์แพทย์ภาควิชาศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิคส์และกายภาพบำบัดของโรงพยาบาลในโรงเรียนแพทย์แห่งหนึ่งกล่าวไว้ว่า   “เราไม่ได้เป็นเบี้ยล่างคนขายยา เราไม่จำเป็นต้องซื้อยาเขา เขาไม่ใช่พ่อแม่ แต่ถ้าเรามีบริษัทยาเข้ามาก็มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เช่น มีคนมาให้ไม้บรรทัดเรา ไม่ต้องไปซื้อเอง ปากกาไม่ต้องซื้อเอง มีข้าวกินตอนเที่ยง น้ำพึ่งเรือเสือพึ่งป่า เป็นความสัมพันธ์แบบวินวิน เขาขายยาได้ แล้วก็ช่วยเราบ้างตามความสมควร”   “ถ้ายาตัวนั้นเข้าโรงพยาบาลแล้วผู้แทนยาจะพามาเลี้ยงอาหาร เลี้ยงขนม พอยาเข้าโรงพยาบาลมันจะมีส่วนลด ส่วนเปอร์เซ็นต์ ซึ่งเขาจะเอาส่วนลดเปอร์เซ็นต์นี้มาเลี้ยงข้าวพวกหมอผู้ใช้ยา คล้ายๆ กับเป็นการตอบแทนที่ใช้ยาเขา อะไรทำนองนี้” นายแพทย์คลินิกโรคกระดูกและข้ออีกคนในโรงพยาบาลเดียวกันกล่าว   แต่แพทย์คนหนึ่งของโรงพยาบาลในโรงเรียนแพทย์ที่ไม่เห็นด้วยกับการกระทำของผู้แทนยากล่าวว่า   “ผู้แทนยาจะยืนเกะกะตามทางเดินก่อนถึงห้องตรวจคนไข้ คอยยื่นเอกสารและของแจกพร้อมโฆษณากับแพทย์ว่าอย่าลืมช่วยใช้ยาเขาเป็นที่เอิกเกริก คนไข้ที่นั่งรอก็เห็นกันทั้งนั้น คอยวิ่งตามลงบันไดเพื่อโฆษณาและรีบยัดของฝากใส่มือแพทย์ ชาวบ้านที่เห็น เขาใช้คำว่า นอกจากเกะกะกีดขวางแล้ว ยังทำตัวน่าเกลียดมาก เหมือนเปรตมารอขอส่วนบุญเป็นโขยง”   ที่มากกว่านั้น แพทย์หญิงคนหนึ่งยังกล่าวว่า “เท่าที่ได้ยินเรื่องหมอหนุ่มกับผู้แทนสาวมีเรื่อยๆ เช่น ผู้แทนต้องการให้ยาตัวเองทำยอดให้ได้ภายในเดือนนี้ ไม่เช่นนั้นอาจต้องถูกออกหรือตัดเงินเดือน ทำให้ต้องยอมทำอย่างไรก็ได้ให้แพทย์ยอมใช้ยาของตัวเอง เพื่อให้ยอดขึ้น บางรายก็ยอมมีความสัมพันธ์ส่วนตัวหรือเพศสัมพันธ์เพื่อแลกกับยอดการใช้ยา อันนี้ยังมีอยู่ให้ได้ยินและเป็นที่รู้กันในบางรายที่ทำเป็นประจำ”  จะเห็นได้ว่าผู้แทนยาพยายามทำสิ่งต่างๆ ให้แก่แพทย์ เพื่อให้เกิด “ความคุ้นเคย” ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้แทนยาหวังให้เกิดขึ้น เพราะจะส่งผลให้แพทย์ “ช่วย” ใช้ยา  “หมอใช้ยาโดยเสน่หาอยู่แล้ว ถ้ายาเหมือนกัน สรรพคุณเหมือนกัน แต่ถ้าให้เลือกสั่งยากับผู้แทนยาที่มามีน้ำใจ ช่วยเหลือ กับคนที่ไม่ทำอะไรให้เลย จะเลือกใครล่ะ” พลอย ผู้แทนยาสาวที่ทำงานกับบริษัทยาต่างชาติมากว่าสิบปีกล่าว เช่นเดียวกับความเห็นของปลา ผู้แทนยาจากบริษัทต่างชาติอีกคน “บางทียามันเข้าในโรงพยาบาลทีนึงหลายตัว แต่หมอสามารถใช้ตัวไหนก็ได้ ถ้าเขาเห็นเรา ตอนเย็นเราไปนั่งรอ เขาเห็นความขยันของเราปุ๊บเนี่ยนะ มีผล คือหมอเขาจะช่วยใช้ยาของเรามากขึ้น นึกถึงยาเราก่อน เขาเรียกว่าความขยัน ความเห็นอกเห็นใจ เหมือนกับความสัมพันธ์ อะไรอย่างนี้”  แพทย์ผู้สั่งยาก็มีความเห็นไปในทำนองเดียวกัน โดยนายแพทย์คลินิกโรคกระดูกและข้อของโรงพยาบาลในโรงเรียนแพทย์แห่งหนึ่งให้ความเห็นสั้นๆ ว่า “ใครมาบ่อยก็ใช้ของเขา ใครไม่มาก็ไม่ใช้ของเขา” หรือความเห็นจากนายแพทย์อีกคนในแผนกเดียวกัน “ผู้แทนยาคนไหนที่เข้ามาประจำ เราคุ้นเคยไง เราก็อาจจะโน้มเอียงมาทางคนคุ้นเคย คนหนึ่งนานๆ โผล่หน้ามาที ทั้งที่ยาดีกว่าแต่ว่าเราไม่คุ้นเคย เราก็อาจจะโน้มเอียงมาทางคนคุ้นเคย เพราะฉะนั้นความสม่ำเสมอมีผลต่อยอดของยา”  “ก็มีผลสิ จะเลือกยาของคนที่คุ้นเคยมากกว่า มีผลนะ ชัดเจน แต่ไม่ถึงขั้นว่าเห็นคนนี้แล้วเป็นคะแนนสงสารหรืออะไร ไม่เกี่ยวกัน เพราะเวลาที่เราเห็นคนนี้ ก็เหมือนกับเป็นสัญลักษณ์ ถูกไหม สัญลักษณ์ของยี่ห้อนี้ พอเวลาเราเจอคนไข้ปุ๊บ เราก็จะนึกถึงอันนี้ก่อน เช่น คนไข้คนนี้เหมาะกับยากลุ่มนี้ แต่กลุ่มนี้มีสามตัว เรานึกอะไรได้ก่อนล่ะ ความเคยชินเราชินอะไรก่อน ก็คืออันนั้นแหละ” แพทย์หญิงแผนกอายุรกรรมของโรงพยาบาลในโรงเรียนแพทย์แห่งหนึ่งกล่าว  ส่วนแพทย์หญิงภาควิชาอายุศาสตร์ของโรงพยาบาลในโรงเรียนแพทย์แห่งหนึ่งก็ให้ความเห็นว่า “มีบางครั้งที่ผู้แทนยาทำตัวไม่เหมาะสม เช่น ก้าวก่ายเรื่องส่วนตัวเกินไปนิดนึง หรือวางตัวแบบ...ถ้าใช้คำว่าเสมอมันก็น่าเกลียดไปเนอะ แต่มันเป็นอย่างนั้น ทำตัวสนิทสนมจนเกินไป มันก็มีบ้าง” หัวหน้าพยาบาลของโรงพยาบาลในโรงเรียนแพทย์ที่ทำงานมากว่า 20 ปีให้ความเห็นว่า “ผู้แทนยานำเสนอในลักษณะที่ตื้อเหลือเกิน มันไม่ได้เป็นการขายของทั่วไป มันไม่ได้ขายของที่ใช้สำหรับส่วนตัวที่คุณจะต้องมาตื้อหรือว่าอะไร เพราะจริงๆ มันน่าจะแข่งขันกันด้วยคุณภาพที่ไม่ต้องใช้กลยุทธพวกนี้มากนัก และส่วนตัวมองว่าผู้แทนยาก็ทำหน้าที่ในการนำเสนอยาที่เกินบทบาทของผู้แทนมาก ซึ่งก็เป็นความคิดเห็นของคนส่วนใหญ่ด้วย อย่างเช่น การแต่งกาย รูปร่างหน้าตา ที่นำเสนอยามันไม่จำเป็นต้องขนาดนี้ มันยิ่งกว่าแอร์โฮสเตส ยิ่งกว่าอะไรซะอีก นี่มันสวยเหมือนไม่ใช่มาขายยาน่ะ มันไม่ได้พูดกันลักษณะมืออาชีพที่จะมาขายของที่มีคุณประโยชน์ มันใช้กลยุทธอื่นมากเกินไปจนทำให้เราคิดได้ว่ามันไม่น่าจะตรงไปตรงมา เช่นการแต่งกาย หน้าตาที่จะต้องคัด จะต้องสวย และสิ่งของที่เอามานำเสนอที่มากกว่าตัวยา”   บริการยกระดับ “มันไม่ใช่แค่เรื่องส่วนตัว”นอกจากการกระทำในระดับส่วนตัวแล้ว ผู้แทนยายังเข้าไปให้ผลประโยชน์ในระดับแผนกหรือภาควิชาต่างๆ ของโรงพยาบาลอีกด้วย เช่น จัดเลี้ยงให้แพทย์ในภาควิชาต่างๆ ของโรงพยาบาลช่วงเที่ยง มีประชุมวิชาการย่อยที่เกี่ยวข้องกับยาโดยผู้แทนยาเอง หรือที่นิยมคือการเชิญอาจารย์แพทย์ที่มีชื่อเสียงในเรื่องที่ต้องการขายยามาบรรยายให้ฟังว่ายาใหม่ดีอย่างไร มีข้อแนะนำใหม่ๆ ว่าให้เริ่มใช้ยานี้อย่างไร ซึ่งการกระทำเช่นนี้ไม่มีข้อจำกัดแน่นอน ขึ้นอยู่กับภาควิชา บางภาควิชาก็จะกำหนดว่าให้มาได้วันใดบ้าง เช่น ทุกวันศุกร์ บางภาควิชาให้มาวันใดก็ได้ เช่น ภาควิชาอายุรกรรมในโรงพยาบาลแห่งหนึ่งกลางกรุงเทพฯ มีสมุดให้ผู้แทนยาลงชื่อขอเลี้ยงอาหารเที่ยง ซึ่งทุกวันจะมีผู้แทนยาลงชื่อเลี้ยงเต็มไปจนถึงปีหน้า  “แต่ละภาควิชา มีการใช้ยาที่แตกต่างกัน ผู้แทนยาจะขอเข้ามานำเสนอยาโดยแลกเปลี่ยนกับการแจกข้าวประชุม ไม่ว่าจะเป็นเช้า กลางวันหรืออาหารว่างตามแต่มื้อ หมอจะได้กินข้าวฟรี โดยเฉพาะภาควิชาหรือหน่วยงานใหญ่ๆ ที่ใช้ยาราคาแพงเป็นประจำ จะมีข้าวกลางวันเจ้าอร่อยกินฟรีตลอด” แพทย์หญิงภาควิชาอายุรศาสตร์ของโรงพยาบาลในโรงเรียนแพทย์แห่งหนึ่งกล่าว  ดาว ผู้แทนยาจากบริษัทยาต่างชาติเล่าว่า “จะมีการประชุม ซึ่งทางเราจะมีการสนับสนุนให้กับแพทย์ เหมือนอย่างแพทย์จะมีการประชุมตอนเช้า ส่วนใหญ่เกือบทุกที่จะมีการเรียนการสอนโดยแพทย์ที่เป็นระดับอาจารย์ซึ่งจบเฉพาะทางแล้ว เขาจะมาสอนเด็กกันตอนเช้า ซึ่งเด็กนี่จะเป็นพวกเรสิเดนท์ที่มาจากนักศึกษาแพทย์เทิร์นขึ้นมาเรียนเฉพาะทาง ก็จะมีการสอนกันตอนเช้า ทางเราก็จะมีการสนับสนุนวิชาการ โดยอาจจะมีการจัดประชุมให้โดยการสนับสนุนพวกเอกสาร ห้องประชุม อาหารเช้า อะไรอย่างนี้”  “นอกจากงบของโรงพยาบาลและงบประมาณแผ่นดินแล้ว ก็จะมีส่วนของบริษัทยาสนับสนุน เช่น น้ำหรืออาหาร เพราะว่าโดยปกติ งบของทางราชการได้มาแค่ส่วนหนึ่ง แล้วถ้าเกิดจะให้ประชาชนหรือคนอื่นเข้ามาเนี่ย ในส่วนค่าอาหารเขาอาจจะจำเป็นต้องจ่ายเอง ก็ไม่ค่อยมีใครอยากจะเข้ามาเท่าไหร่ แต่ถ้าเรามีเงินสนับสนุนตรงนี้ก็โอเค เป็นเหมือนกับการที่ทำให้คนเข้ามาเยอะขึ้น” นายแพทย์คลินิกโรคกระดูกและข้อโรงพยาบาลในโรงเรียนแพทย์แห่งหนึ่งกล่าว ส่วนนายแพทย์อีกคนในโรงพยาบาลและแผนกเดียวกันให้ความเห็นว่า “ถ้ายาตัวไหนที่เข้าโรงพยาบาลแล้วยอดใช้เยอะ ทางบริษัทยาก็จะให้งบสนับสนุนกลุ่มงานหรือสนับสนุนแผนก ไม่ได้ให้เป็นรายส่วนตัว เช่น สมมติว่าแผนกศัลยกรรม ก็ให้งบช่วยเหลืองานปีใหม่ เท่านี้ครับ นอกจากนั้นก็จะมีทางแผนกไปรบกวนบริษัทเขา คือขอเขา เช่นมีงานประชุมวิชาการเกี่ยวกับยา เช่นยารักษาโรคกระดูกพรุน มีประชุมวิชาการเกี่ยวกับกระดูกพรุน แล้วก็มีสปอนเซอร์เกี่ยวกับบริษัทนี้อยู่ คือบริษัทยาตัวนี้เกี่ยวข้องอยู่ เราก็ขอไปประชุมได้ไหม ก็มีทั้งในและต่างประเทศ”   ไม่เว้นแม้แต่การเข้าไปช่วยจัดงานเลี้ยงให้กับแผนกเภสัชกรรม “แผนกเภสัชมีคนทำงานหลายคน ใครก็อยากมีโบนัส อยากจัดงานเลี้ยงปีใหม่ แต่โรงพยาบาลรัฐจะเอาเงินมาจากไหน บริษัทยาก็เข้าไปช่วยทำให้” ทราย ผู้แทนยาสาวจากบริษัทยาต่างชาติกล่าว   ผลประโยชน์ทับซ้อน แล้วคนไทยจะไปทางไหนข้อมูลจากเอกสารหลัก ยุติการส่งเสริมการขายยาที่ขาดจริยธรรมฯ สมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 2 กล่าวว่า ประเทศไทยประสบกับปัญหาค่าใช้จ่ายด้านรักษาพยาบาลในส่วนที่เป็นค่าใช้จ่ายด้านยาเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายการรักษาพยาบาลในระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลของข้าราชการประมาณ 5 ล้านคน พบว่าเพิ่มสูงขึ้นเป็นสองเท่า หรือคิดเป็นมูลค่ากว่า 55,000 ล้านบาทในปี พ.ศ. 2551 ในขณะที่ค่าใช้จ่ายในระบบประกันสังคมและระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า ทั้งสองระบบรวม 57 ล้านคน มีมูลค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลในปีเดียวกันคิดเป็นเงินรวมเพียง 97,700 ล้านบาทเท่านั้น  ทั้งนี้ส่วนหนึ่งเป็นเพราะระบบการสั่งใช้ยาในระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลของข้าราชการเป็นแบบปลายเปิด จ่ายตามเบิก จึงเป็นเหตุให้ไม่เป็นไปตามหลักการใช้ยาอย่างสมเหตุสมผล ด้วยการส่งเสริมการขายยาที่ขาดจริยธรรม  มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติได้เสนอแนวทางการแก้ปัญหาที่น่าสนใจหลายทาง เช่น จัดตั้งองค์การอิสระให้ทำหน้าที่รับผิดชอบ จัดระบบ ตรวจสอบ รวบรวมและรายงานสถานการณ์การใช้ยาและการส่งเสริมการขายยาที่ขาดจริยธรรมในระดับประเทศ โดยมีองค์ประกอบจากทุกภาคส่วนและภาคประชาสังคมร่วมตรวจสอบ และเสนอยุทธศาสตร์ยุติการส่งเสริมการขายยาที่ขาดจริยธรรม โดยต้องอาศัยความร่วมมือทั้งจากเครือข่ายสถาบันการศึกษาและสถานพยาบาลที่ต้องพัฒนาหลักเกณฑ์จริยธรรมด้านการส่งเสริมการขายยาที่เป็นของแต่ละสถาบัน บังคับใช้ และปรับปรุงหลักเกณฑ์อย่างต่อเนื่องให้ทันต่อสถานการณ์  และสถานพยาบาลก็ต้องร่วมผลักดันให้เกณฑ์จริยธรรมว่าด้วยการส่งเสริมการขายเป็นหนึ่งในการพิจารณามาตรฐานโรงพยาบาลควบคู่กับเกณฑ์มาตรฐานในเรื่องการใช้ยาที่เหมาะสม เสนอให้ผู้อำนวยการโรงพยาบาลต่างๆ แจ้งรายงานผลการสั่งจ่ายยาที่ผิดปกติเพื่อให้แพทย์ผู้สั่งใช้ยารับทราบและแก้ไขปรับปรุงเป็นรายปี โดยอาจพิจารณาเชื่อมโยงกับความถี่ของการเข้าพบผู้แทนยา องค์กรวิชาชีพด้านสุขภาพ เช่น แพทยสภา สภาเภสัชกรรม ต้องพัฒนาหลักเกณฑ์จริยธรรมด้านการส่งเสริมการขายยาให้เป็นส่วนหนึ่งของจริยธรรมหรือจรรยาบรรณวิชาชีพของผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพแต่ละสาขา ร่วมดำเนินการเผ้าระวังการส่งเสริมการขายยาที่ขาดจริยธรรม จัดให้มีบทลงโทษหนัก กรณีพบว่ามีส่วนร่วมในขบวนการส่งเสริมการขายยาที่ขาดจริยธรรม เช่น การรับ-ให้ของขวัญ ของชำร่วย การเลี้ยงรับรองโดยมีผลประโยชน์ทับซ้อนกับการสั่งใช้ยา เป็นต้น และนำมาตรการเชิงบวกมาใช้เพื่อสนับสนุนการประกอบวิชาชีพตามหลักการใช้ยาที่เหมาะสม ด้านสื่อมวลชนและภาคีทุกภาคส่วนก็ต้องร่วมกันสนับสนุนการทำงานของคณะกรรมการเภสัชกรรมและการบำบัดของโรงพยาบาลและสนับสนุนให้เกิดกลไกตั้งแต่การคัดเลือกยา การติดตามและประเมินการใช้ยา สนับสนุนระบบติดตามการใช้ยาภายในโรงพยาบาลเพื่อเป็นเครื่องมือให้เกิดการใช้ยาที่เหมาะสม และพัฒนาเกณฑ์มาตรฐานการรักษา ส่วนภาคประชาชนสามารถร่วมแก้ปัญหานี้ได้โดย ร่วมกันสนับสนุนการรวมตัวของภาคประชาชนในการติดตาม ตรวจสอบ และเฝ้าระวังการส่งเสริมการขายยาที่ขาดจริยธรรม และนำมาเปิดเผยต่อสาธารณะ ทั้งนี้ให้จัดงบประมาณสนับสนุนจากรัฐเพื่อให้ภาคประชาสังคมมีส่วนร่วมเฝ้าระวังด้วย จัดทำแผนการเฝ้าระวังปัญหาและติดตามการดำเนินงานเพื่อแสดงความก้าวหน้าของการดำเนินงาน และประเมินผล โดยนำเสนอผลสู่สาธารณะอย่างต่อเนื่อง  ทุกภาคส่วนร่วมกันจัดทำแผนการเฝ้าระวังปัญหาและติดตามการดำเนินงานเพื่อแสดงความก้าวหน้าของการดำเนินงาน และประเมินผล โดยนำเสนอผลสู่สาธารณะอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ต้องจัดให้มีงบประมาณเพื่อให้ภาคประชาสังคมมีส่วนร่วมเฝ้าระวัง  และสุดท้าย สื่อมวลชนมีบทบาทร่วมกับภาคประชาสังคมในการให้ความรู้ประชาชนเพื่อส่งเสริมการใช้ยาที่เหมาะสมและสร้างความเท่าทันต่อขบวนการส่งเสริมการขายยาที่ขาดจริยธรรม การขายยาจะเทียบกับอาชีพขายของทั่วไปที่ต้องมีการทำโปรโมชั่นไม่ได้ เพราะยานั้นเป็นสินค้าที่เกี่ยวข้องกับชีวิตของคน กินมากไม่ได้แค่ทำให้อ้วนเหมือนกินขนม ใช้มากไม่ได้ทำให้แค่เปลืองเหมือนกระดาษชำระ เลือกยี่ห้อที่ชอบ ไม่ได้ต่างแค่ความพอใจที่ได้...แต่ผลอาจถึงขั้นเสียชีวิต

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 123 ซอฟท์แวร์ / สื่อบันเทิง: ถูกก็ได้ ทำไมต้องแพง

  สองทศวรรษที่ผ่านมา การรับรู้ของเราในเรื่อง “การละเมิดลิขสิทธิ์” ที่เกิดขึ้นกับสื่อบันเทิงและซอฟท์แวร์นั้น มักผ่านมุมมองและการให้ข้อมูลของอุตสาหกรรมบันเทิงที่ทุ่มทุนมหาศาลเพื่อทำงานวิจัยหรือการสำรวจในเรื่องดังกล่าว หลายคนจึงอาจสงสัยว่าข้อมูลเหล่านี้เป็นเครื่องมือของธุรกิจในการสร้างความเข้าใจของสังคมให้เป็นไปในแบบที่ธุรกิจเหล่านี้ต้องการ ซึ่งเป็นการคิดคำนวณเฉพาะเรื่องความเสียหายของผู้เป็นเจ้าของสิทธิ์ แต่ไม่เคยมีการประเมินบทบาทหรือผลกระทบของ “การละเมิดลิขสิทธิ์” ที่มีต่อสังคมโดยรวม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศที่กำลังพัฒนา ฉลาดซื้อ เล่มนี้จึงขอนำเสนองานวิจัยของสภาวิจัยสังคมศาสตร์ (Social Science Research Council) เรื่อง Media Piracy in Emerging Economies ซึ่งเป็นงานวิจัยชิ้นแรกที่ทำการศึกษาเรื่องการละเมิดลิขสิทธิ์เพลง ภาพยนตร์ และซอฟท์แวร์ ในกลุ่มตลาดเกิดใหม่อย่าง บราซิล รัสเซีย อินเดีย อัฟริกาใต้ เม็กซิโก และโบลิเวีย ทีมนักวิจัย 35 คน ใช้เวลากว่า 3 ปี ในการเก็บข้อมูลเรื่องการเติบโตของการละเมิดลิขสิทธิ์ในยุคที่ ใครๆ ก็มีเทคโนโลยีดิจิตัลราคาถูกไว้ใช้ รวมถึงการเคลื่อนไหวของอุตสาหกรรมบันเทิง/ซอฟท์แวร์ เพื่อให้รัฐบาลในแต่ละประเทศปรับแก้กฎหมายและการบังคับใช้กฎหมายที่ว่าด้วยการละเมิดลิขสิทธิ์ให้มีความเข้มข้นขึ้น การละเมิดลิขสิทธิ์ มีบทบาทอย่างไรในตลาดแต่ละประเทศหรือตลาดโลก มันตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคอย่างไร มีการละเมิดมากน้อยแค่ไหน การบังคับใช้กฎหมายได้ผลหรือไม่ การให้การศึกษาช่วยได้หรือไม่ มาเฟียมีบทบาทในเรื่องนี้มากน้อยแค่ไหน --------------------------------------------------------------------------------------------------------------งานวิจัยนี้พบว่าความพยายามในการปราบปรามการละเมิดลิขสิทธิ์ในกลุ่มประเทศดังกล่าวนั้นไม่ประสบความสำเร็จ และเสนอว่าปัญหาลิขสิทธิ์นั้นควรถูกมองว่าเป็นความล้มเหลวในการเข้าถึงสื่อบันเทิงที่ถูกกฎหมาย และปัญหาที่เกิดขึ้นก็ควรเรียกว่าปัญหาของการตั้งราคา แทนที่จะมองว่าเป็น ปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์   --------------------------------------------------------------------------------------------------------------  HILIGHT จากงานวิจัย• ราคาที่สูงเกินสอยสินค้าประเภทสื่อบันเทิงนั้นถูกตั้งราคาไว้สูง ในขณะที่ประชากรส่วนใหญ่ของประเทศเหล่านี้ยังมีรายได้น้อย และเทคโนโลยีดิจิตัลก็มีราคาถูก เมื่อพิจารณารายได้ของคนในบราซิล รัสเซีย หรืออัฟริกาใต้แล้ว จะพบว่าราคาขายปลีกของซีดี ดีวีดี หรือโปรแกรมไมโครซอฟต์ออฟฟิศ แพงกว่าในยุโรปหรืออเมริกา 5 ถึง 10 เท่า   • จะให้ดีต้องมีการแข่งขัน ตัวแปรที่จะทำให้สินค้าลิขสิทธิ์มีราคาที่ถูกลงได้แก่ การแข่งขันกันเองระหว่างผู้ประกอบการในประเทศเพื่อแย่งส่วนแบ่งตลาด เพราะโดยส่วนมากแล้ว ทั้งในธุรกิจภาพยนตร์ เพลง และโปรแกรมซอฟท์แวร์ ในประเทศกำลังพัฒนา มักถูกครองตลาดโดยบริษัทข้ามชาติ   • การศึกษาช่วยอะไรไม่ได้ แม้อุตสาหกรรมบันเทิงจะพยายามบอกกับผู้บริโภคว่า “การละเมิดลิขสิทธิ์” นั้นเป็นสิ่งที่ไม่พึงกระทำด้วยสาเหตุนานาประการ แต่งานวิจัยชิ้นนี้พบว่าประชากรของกลุ่มประเทศที่เข้าไปทำการสำรวจนั้นไม่ได้มีความรู้สึกรังเกียจพฤติกรรมการละเมิดแต่อย่างใด และที่สำคัญการละเมิดลิขสิทธิ์ยังเป็นสิ่งที่ทำกันเป็นปกติทั่วไปและมีแนวโน้มจะมากขึ้นด้วย   • เปลี่ยนพฤติกรรมไม่ง่ายเหมือนเปลี่ยนกฎหมาย ภาคธุรกิจประสบความสำเร็จในงานล็อบบี้เพื่อทำให้การละเมิดลิขสิทธิ์เป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย แต่กลับล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงในการทำให้รัฐบาลประเทศต่างๆลงมือใช้กฎหมายเหล่านั้นจริงๆ งานวิจัยพบว่าไม่มีวิธีการที่จะปรับให้เกิดสมดุลระหว่างการบังคับใช้กฎหมายและหลักความชอบธรรม • มาเฟียไม่มี แต่ “มาฟรี” นี่สิมาแรงไม่พบว่ามีความเชื่อมโยงระหว่างการละเมิดลิขสิทธิ์กับมาเฟียหรือผู้ก่อการร้ายในประเทศที่เข้าไปทำวิจัย และทุกวันนี้บรรดาพวกที่แอบทำสำเนางานเหล่านี้เพื่อขาย และพวกที่แอบลักลอบนำสินค้าไปขายในประเทศอื่นก็เจอโจทย์เดียวกันกับบรรดาค่ายหนังหรือเพลง นั่นคือปัญหา “ของฟรี” ที่บรรดาคอหนัง คอเพลง เขาแบ่งปันกันผ่านอินเตอร์เน็ตนั่นเอง   • การปราบปรามไม่ได้ผล หลังจากมีการปราบปรามการละเมิดลิขสิทธิ์อย่างเข้มข้นมากว่าทศวรรษ ทีมวิจัยก็ยังไม่พบว่ามันทำ การค้าเทปผี ซีดีเถื่อนพวกนี้ลดน้อยลงเลย   นโยบาย Global Pricingระบบราคาเดียว เสียวทั่วโลกงานวิจัยฉบับนี้เสนอว่าระบบการตั้งราคาแบบที่เรียกว่า Global Pricing ที่ยึดการตั้งราคาตามบริษัทแม่ (ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในสหรัฐอเมริกา หรือสหภาพยุโรป) เป็นหลัก โดยไม่ได้คำนึงถึงค่าครองชีพของผู้บริโภคในประเทศกำลังพัฒนา น่าจะเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ผู้บริโภคใน รัสเซีย บราซิล อัฟริกาใต้ อินเดีย หรือเม็กซิโก (หรืออาจจะประเทศไทยด้วย) พากันหันไปหาทางเลือก “แผ่นผี”  งานวิจัยระบุว่า อุตสาหกรรมบันเทิงเองก็คาดการณ์ไว้ว่าจะมีการละเมิดลิขสิทธิ์ภาพยนตร์ถึงร้อยละ 90 ของตลาดในอินเดีย ในขณะที่จะมีการละเมิดลิขสิทธิ์เพลงประมาณร้อยละ 82 ของตลาดในเม็กซิโก และจะมีการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟท์แวร์ประมาณร้อยละ 68 ในตลาดรัสเซีย  เรามาดูตัวอย่างการเปรียบเทียบราคาดีวีดีภาพยนตร์ เรื่อง The Dark Knight   ราคาขายในแต่ละประเทศ (บาท) ราคาที่คำนวณตามกำลังซื้อของคนอเมริกัน ราคา “แผ่นผี” ราคา “แผ่นผี”คำนวณตามกำลังซื้อของคนอเมริกัน อเมริกา 720 - - - รัสเซีย 450 2,250 150 750 บราซิล 450 2,565 105 600 อัฟริกาใต้ 420 3,360 84 672 อินเดีย 427.75 19,230 36 1,620 เม็กซิโก 810 4,620 22.5 127.50   ราคาซีดีเพลง อัลบัม Viva La Vida ของวง Coldplay   ราคาขายในแต่ละประเทศ (บาท) ราคาที่คำนวณตามกำลังซื้อของคนอเมริกัน ราคา “แผ่นผี” ราคา “แผ่นผี”คำนวณตามกำลังซื้อของคนอเมริกัน อเมริกา 510 - - - รัสเซีย 330 1,650 150 750 บราซิล 420 2,400 75 420 อัฟริกาใต้ 615 4,920 81 660 อินเดีย 255 11,550 36 1,620 เม็กซิโก 420 2,415 30 172.50   ราคาโปรแกรม Microsoft Office 2007 Home and Student Edition   ราคาขายในแต่ละประเทศ (บาท) ราคาที่คำนวณตามกำลังซื้อของคนอเมริกัน ราคา “แผ่นผี” ราคา “แผ่นผี”คำนวณตามกำลังซื้อของคนอเมริกัน อเมริกา 4,470 - - - รัสเซีย 4,470 22,350 - - บราซิล 3,270 18,630 - - อัฟริกาใต้ 3,420 27,360 - - อินเดีย 3,000 135,000 60 2,700 เม็กซิโก 4,650 26,490 30 120   *ราคา คิดเป็นเงินบาทด้วยอัตรา 30 บาทต่อ 1 เหรียญสหรัฐ   เหตุที่ของแท้ ราคาไม่ถูก งานวิจัยชิ้นนี้ระบุว่าการตั้งราคาของบริษัทข้ามชาติ นั้นมีจุดประสงค์หลักสองประการคือ• เพื่อปกป้องโครงสร้างราคาในประเทศที่ประชากรมีรายได้สูง ซึ่งเป็นแหล่งรายได้หลักของบริษัท• เพื่อรักษาตำแหน่งผู้ครองตลาดในประเทศกำลังพัฒนาไว้ ในขณะที่รายได้ของประชากรกำลังเพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ   ทั้งสองอย่างเป็นกลวิธีการสร้างกำไรสูงสุดสำหรับตลาดทั้งโลก ไม่ใช่ตลาดของแต่ละประเทศ ซึ่งสิ่งนี้เองที่เป็นอุปสรรคขัดขวางทำให้ไม่เกิดการแข่งขันทางราคาอย่างแท้จริงในกลุ่มประเทศที่มีรายได้ปานกลางและรายได้ต่ำ แต่ข้อบกพร่องของแนวคิดนี้คือ ปัจจุบันเทคโนโลยีนั้นมีราคาถูกลงอย่างรวดเร็ว เร็วกว่าการเพิ่มขึ้นของรายได้หลายเท่า จึงทำให้เกิดการบริโภคสื่อดิจิตัลในรูปแบบใหม่ๆ ที่บริษัทยักษ์ใหญ่บันเทิงเหล่านี้ ยังไม่ได้ให้ความสนใจเท่าที่ควร ซึ่งเรารู้ๆ กันอยู่ว่าเทคโนโลยีนี้เองที่เป็นตัวแปรสำคัญที่ส่งเสริมให้เกิดการ “ละเมิดลิขสิทธิ์” งานวิจัยชิ้นนี้ฟันธงว่า ถ้าอุตสาหกรรมบันเทิงไม่ยอมลงมาแข่งขันกันในตลาดล่าง ก็ต้องยอมรับความแตกต่างระหว่างสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ราคาถูกกับฉบับถูกลิขสิทธิ์ที่ราคาแพงต่อไป --------------------------------------------------------------------------------------------------------3 ปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดการละเมิดลิขสิทธิ์ >> ราคาของสินค้าบันเทิงที่สูงเกินไป >> รายได้ของประชากรส่วนใหญ่ยังต่ำอยู่>> ความแพร่หลายของเทคโนโลยีราคาถูก-------------------------------------------------------------------------------------------------------- อย่างไรจึงจะเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์เชื่อหรือไม่ว่า “การละเมิดลิขสิทธิ์” ที่เราได้ยินกันบ่อยๆ นั้น ยังไม่เคยมีใครให้ความหมายหรือขอบเขตที่ชัดเจน งานวิจัยนี้ระบุว่า ความไม่ชัดเจนที่ว่าเกิดขึ้นโดยจงใจ เพราะไม่ต้องการให้เกิดการแยกแยะระหว่างการทำสำเนาด้วยเจตนาต่างๆ กัน ตั้งแต่การกระทำที่ชัดเจนว่าผิดกฎหมาย เช่น การทำสำเนาเพื่อขาย การทำสำเนาภายในขอบเขตของข้อยกเว้นตามกฎหมาย ไปจนถึงการทำสำเนาเพื่อใช้ส่วนตัวซึ่งเมื่อก่อนนี้ถือว่าทำได้ไม่ต้องวิตกว่าจะถูกดำเนินคดี แต่ที่แน่ๆ แม้การการละเมิดลิขสิทธิ์ทำให้ผู้ผลิตและผู้จัดจำหน่ายต้องสูญเสียรายได้บางส่วนไป แต่ในขณะเดียวกัน มันเป็นช่องทางในการเข้าถึงสินค้าบันเทิงรวมถึงซอฟต์แวร์ของผู้คนในประเทศกำลังพัฒนาด้วย --------------------------------------------------------------------------------------------------------ความเสียหายอันประเมินค่าไม่ได้สมาพันธ์ซอฟท์แวร์ทางธุรกิจ ได้ประเมินมูลค่าความเสียหายอันเกิดจากการละเมิดลิขสิทธิ์ไว้ที่จำนวนมหาศาลถึง 51,000 ล้านเหรียญ (ประมาณ 1.5 แสนล้านบาท) ในปี พ.ศ. 2552 และยังระบุว่าการละเมิดลิขสิทธิ์ทำให้ผู้คนกว่า 750,000 คนต้องตกงาน และทำให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจถึงปีละ 2 แสนล้านเหรียญ (กว่า 6 ล้านล้านบาท)  ข้อมูลนี้ฟังดูน่าตกใจและได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนอย่างท่วมท้น แต่เอาเข้าจริงไม่มีใครทราบว่าตัวเลขเหล่านี้มีที่มาที่ไปอย่างไร  บางครั้งก็มีการใช้ข้อมูลยอดขายของสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์มาแสดงถึงความเสียหายของธุรกิจของตนเอง เช่น สมาคมซอฟท์แวร์เพื่อความบันเทิงของสหรัฐฯ ระบุว่าในปี พ.ศ. 2550 นั้นธุรกิจของตนได้รับความเสียหายเป็นมูลค่า 3 พันล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 90,000 ล้านบาท) ซึ่งงานวิจัยเล่มนี้พบว่าเป็นการใช้ตัวเลขจากยอดขายสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์นั่นเอง  ทั้งนี้ยังเป็นที่ถกเถียงกันว่าการที่เราซื้อดีวีดีภาพยนตร์ละเมิดลิขสิทธิ์มาหนึ่งแผ่น มันหมายถึงการที่ผู้ประกอบการ (ในที่นี้คือเจ้าของลิขสิทธิ์) ขาดโอกาสในการขายดีวีดีลิขสิทธิ์ของตนเองเสมอไปหรือไม่ พูดง่ายๆ มันก็มีความเป็นไปได้ไม่ใช่หรือ ที่แม้ว่าจะไม่มีแผ่นผีให้ซื้อ เราก็จะไม่ซื้อดีวีดีลิขสิทธิ์ที่มีราคาแพงอยู่ดี --------------------------------------------------------------------------------------------------------   ของแท้ ราคาถูก เป็นไปได้ เรามักได้ข้อมูลจากภาคธุรกิจว่า การมีกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาที่เข้มงวดมากขึ้นจะนำไปสู่การเพิ่มการลงทุนในอุตสาหกรรมบันเทิงหรือซอฟท์แวร์ นอกจากนี้ยังทำให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจ เพิ่มอัตราการจ้างงาน ส่งเสริมการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ซึ่งจะทำให้ผู้คนในประเทศกำลังพัฒนามีโอกาสในการเข้าถึงสินค้าที่มีลิขสิทธิ์ได้มากขึ้นไปเองโดยปริยาย   นี่คือเหตุผลที่ทำให้เรื่องของทรัพย์สินทางปัญญาเป็นหัวข้อในการเจรจาการค้าระหว่างประเทศตั้งแต่ช่วงปี 1980 เป็นต้นมา   แต่อุตสาหกรรมบันเทิงไม่เคยพูดถึงเรื่องของการแก้ปัญหาเหล่านี้ด้วยระบบการตั้งราคา   งานวิจัยชิ้นนี้เสนอว่าโลว์คอสต์โมเดล น่าจะเป็นไปได้ถ้ามีบริษัทที่แข่งขันกันด้านราคาและบริการในตลาดท้องถิ่น ซึ่งการแข่งขันลักษณะนี้มีอยู่แพร่หลายทั้งในอเมริกาและยุโรป ซึ่งมีการจำหน่ายสื่อบันเทิงราคาถูกผ่านช่องทางดิจิตัล   ในอินเดียก็ค่อนข้างประสบความสำเร็จ เพราะที่นั่นบริษัทภาพยนตร์และค่ายเพลงท้องถิ่นครองตลาด และเป็นผู้ตั้งราคาที่ดึงดูดใจผู้คนทุกระดับรายได้ เรียกว่าราคาของแท้ที่นั่นสามารถแข่งกับฉบับละเมิดลิขสิทธิ์ได้เลย   บางแห่งก็ใช้วิธีสนับสนุนการมีซอฟท์แวร์แบบโอเพ่นซอร์ส ซึ่งช่วยจำกัดอำนาจและการตั้งราคาของซอฟท์แวร์ที่จัดจำหน่ายโดยบริษัทได้   งานวิจัยนี้ย้ำว่าผู้ประกอบการในท้องถิ่นนี้เองที่เป็นตัวแปรสำคัญ เพราะบริษัทเหล่านี้จะยอมลดราคาลงเพื่อจับลูกค้าในตลาดล่างให้มากขึ้น เมื่อมีบริษัทพวกนี้มาลงแข่งเพื่อแย่งชิงตลาดผู้บริโภคในท้องถิ่น การแข่งขันจึงสูงตามไปด้วย   ติดตามตอนต่อไป   “การละเมิดลิขสิทธิ์” นั้นนับวันมีแต่จะเพิ่มขึ้น ด้วยปัจจัยภายนอกที่กล่าวมาแล้วข้างต้น – ราคาที่แพงเกินรายได้ เทคโนโลยีราคาถูกที่มีแพร่หลาย และพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว  แต่ที่ผ่านมายังไม่เคยมีการถกเถียงกันให้ตกว่าทางออกของเรื่องนี้อยู่ที่ไหน การบังคับใช้กฎหมายที่เข้มงวดขึ้นทั้งในรูปแบบของการปราบปรามทางอินเตอร์เน็ตหรือการตรวจจับอย่างเข้มงวดโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจจะนำไปสู่ผลเช่นใด และยังไม่เห็นความพยายามจากภาคอุตสาหกรรมในการตั้งเป้าว่า อย่างไรจึงจะถือเป็นความสำเร็จ ต้องใช้อำนาจแค่ไหน หรือจะต้องลงทุนต่อสังคมมากน้อยเพียงใด   แม้แต่ความพยายามในการให้การศึกษากับเด็กรุ่นใหม่ในเรื่องวัฒนธรรมของลิขสิทธิ์ทางปัญญา  ก็ยังไม่มีหลักฐานใดจากการสำรวจความคิดเห็นของผู้บริโภค ที่บ่งชี้ว่าจะเด็กรุ่นใหม่จะปฏิเสธการทำสำเนาเพื่อใช้ส่วนตัว หรือจะไม่ซื้อสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 122 ใครๆ ก็อยากมีรถโดยสารที่มีคุณภาพ

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค(มพบ.) ร่วมกับเครือข่ายผู้บริโภค 24 จังหวัด โดยการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้ดำเนินการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อการใช้บริการรถโดยสารสาธารณะประจำทางในท้องถิ่นเส้นทางภายในจังหวัดและเส้นทางระหว่างจังหวัด ในช่วงระหว่างวันที่ 26 มีนาคม – 8 เมษายน 2554 พบว่า ผู้บริโภคมีปัญหาเรื่องพนักงานขับรถ ขับเร็ว หรือขับรถหวาดเสียว และพนักงานขับรถโดยสารใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่สนทนาระหว่างปฏิบัติหน้าที่สูงสุด นอกจากนี้ยังพบว่า เวลาที่ผู้บริโภคจะคืนตั๋วเมื่อไม่สามารถเดินทางได้ เกือบ 50 % ไม่ได้เงินคืน แต่...ผู้บริโภคเกือบ 90 % ไม่เคยใช้สิทธิร้องเรียนเมื่อเกิดปัญหาจากคุณภาพและงานบริการของรถโดยสารเลย   ผลสำรวจความคิดเห็น • รถประจำทางวิ่งในจังหวัด1.บริการยอดนิยม อันดับหนึ่ง รถสองแถว 44.8 % ตามมาด้วย รถทัวร์โดยสารปรับอากาศ 35.4 % รถเมล์(ไม่ปรับอากาศ) 33.9 % และรถตู้ 24.4 %   2.คุณภาพงานบริการ 2.1 ความถี่ในการรับตั๋วหลังจ่ายค่าโดยสาร ใน 100 คน ไม่เคยได้ตั๋วเลย 9 คน ผลสำรวจ ไม่เคยได้รับตั๋วโดยสารหรือไม่มีบัตรอื่นใดให้เลย 35 % ได้รับตั๋วโดยสารทุกครั้ง 34.4 % ได้รับเป็นบางครั้ง 22.1 % และไม่ได้รับตั๋ว แต่ได้รับเป็นบัตรหมายเลขแทน 8.5 %2.2 การระบุราคาและหมายเลขที่นั่งไว้อย่างชัดแจน ใน 100 คน มี 21 คนที่ไม่เคยเห็นราคาและเลขที่นั่งบนตั๋ว ผลสำรวจ มีการระบุราคาและหมายเลขที่นั่ง 37 % มีการระบุราคาแต่ไม่ระบุหมายเลขที่นั่ง 32.3 % ไม่มีการระบุราคาและไม่ระบุหมายเลขที่นั่ง 20.5 % ไม่มีการระบุราคาแต่ระบุหมายเลขที่นั่ง 10.2 %2.3 การเก็บค่าโดยสาร ครึ่งหนึ่ง โอเคและคิดว่าเหมาะสม มี 19 % ที่บอกแพงเกินไปผลสำรวจ เห็นว่า ถูกต้อง เหมาะสม 50.6 % ไม่แน่ใจเพราะ ไม่ทราบว่าอัตราค่าโดยสารเป็นเท่าไหร่ 30.9 % ถูกต้อง แต่ไม่เหมาะสมเพราะแพงเกินไป 18.5 % 2.4 การขอเงินค่าโดยสารคืนเมื่อจ่ายเงินค่าโดยสารแล้ว แต่ไม่สามารถเดินทางได้ มีถึง 46 % บอกว่า ไม่เคยขอคืนได้เลย ผลสำรวจ ขอไม่ได้เลย 46.1 % ขอได้และได้เงินคืนครบถ้วน 30.6 % ขอได้เหมือนกัน แต่ได้เงินคืนไม่ครบ 23.3 %2.5 การติดประกาศแจ้งถึงข้อมูล เงื่อนไขในการให้บริการของรถโดยสาร ณ จุดพักรถ เกือบครึ่งหนึ่ง ไม่เคยเห็นประกาศใดๆ เลยผลสำรวจ ไม่มีการติดประกาศ 43.3 % มีติดประกาศ ในบริเวณที่เห็นได้ในชัดเจน 32.8 % มีติดประกาศ แต่ไม่อยู่ในบริเวณที่จะเห็นได้อย่างชัดชัดเจน 23.9 % 2.6 บริการของพนักงานประจำรถโดยสาร มากกว่าครึ่งหนึ่ง พอรับได้ (สงสัยชิน)ผลสำรวจ พึงพอใจปานกลาง 64.9 % พึงพอใจน้อย 21.3 % พึงพอใจมาก 10.6 % และไม่พึงพอใจเลย3.2 % 2.7 เคยโดยพนักงานประจำรถ แสดงกริยาไม่สุภาพ เช่น ลวนลาม เสียดสี ข่มขู่ กรรโชก ใน 100 คน มี 35 คนที่เคยโดนมาแล้ว ผลสำรวจ เคย 34.8 % ไม่เคย 65.2 %   3. ความปลอดภัยและการเยียวยาความเสียหาย เรื่องของพนักงานขับรถ 3.1 พนักงานขับรถโดยสาร มีการแสดงป้ายใบอนุญาตการขับขี่ไว้ในรถโดยสารสาธารณะหรือไม่ ใน 100 คน มี 35 คน ตอบว่า ไม่แน่ใจ ผลสำรวจ มี 38.1 % ไม่แน่ใจ 35.2 % ไม่มี 26.7 % 3.2 เคยเห็นพนักงานขับรถเม้าท์มือถือระหว่างขับรถไหม 80 % เห็นมากับตา ผลสำรวจ เคยพบ 80.8 % ไม่เคยพบ 19.2 % เคยพบใช้โทรศัพท์สนทนาโดยใช้มือจับ  53.4 % เคยพบใช้ในขณะที่รถจอด  13.2 % เคยพบใช้โดยเสียบผ่านหูฟัง (Small talk)  11.6 % และ ไม่แน่ใจ 2.7 % 3.3 เคยเจอพนักงานขับรถ ขับเร็ว น่ากลัว หวาดเสียวไหม ผู้บริโภค 75 % มีประสบการณ์ระทึกมาแล้ว ทั้งนั้น โดยมี 28 % เจอประจำ ผลสำรวจ เคย 75.2 % ไม่เคย 20.8 % เคยเป็นบางครั้ง 36.3 % เคยบ่อยมาก 28 % เคยนานๆครั้ง 14.4 % และไม่แน่ใจ  4 % (สงสัยว่าหลับ) 3.4 เคยเจอพนักงานขับรถเมาขณะขับรถไหม 63 % ไม่เคยเห็นคนขับเมาเลย ผลสำรวจ เคยพบ 15.7 % ไม่เคยพบ 62.7 % และไม่แน่ใจ 21.6 % (คงเนียนมาก) 3.5 เคยเจอคนขับรถสูบบุหรี่ขณะขับไหม เกือบ 40 % เคยเจอเหมือนกัน ผลสำรวจ เคยพบ 39 % ไม่เคยพบ 47.4 % ไม่แน่ใจ 13.6 % 3.6 เคยพบพนักงานขับรถมีอาการง่วงหรือหลับในขณะขับรถหรือไม่ มากกว่าครึ่งหนึ่งยังไม่เคยเจอ (โชคดีจัง) ผลสำรวจ เคยพบ 18 % ไม่เคยพบ 54.2 % ไม่แน่ใจ 27.8 % 3.7 เคยพบรถโดยสารที่จอดรับผู้โดยสารนอกจุดรับส่งที่กำหนดหรือไม่ ผลสำรวจ เคยพบ 53.3 % ไม่เคยพบ 25.5 % ไม่แน่ใจ เพราะไม่รู้ตำแหน่งจุดจอดที่กำหนด 21.2 % 3.8 เคยพบรถโดยสารที่ขับช้าเกินควรหรือขับกีดขวางทางรถคันอื่นไหม ขับเร็วก็เจอมาแล้ว ขับช้าก็ต้องมีบ้าง เกือบครึ่งหนึ่งก็เจออยู่บ้าง ผลสำรวจ เคยพบ 48.2 % ไม่เคยพบ 51.8 % เรื่องสภาพรถโดยสาร3.9 รถโดยสารที่ท่านใช้บริการมีเข็มขัดนิรภัย หรือไม่ ผลสำรวจ พบว่า มี 57.6 % ไม่มี 42.4 % 3.10 เข็มขัดนิรภัยอยู่ในสภาพที่เหมาะสมกับการใช้งานหรือไม่ ผลสำรวจ เหมาะสม 55.2 % ไม่เหมาะสม (พันไว้หลังที่นั่ง , สายสั้น ,สายขาด , ไม่มีหัวคาด ฯลฯ) 44.8 % 3.11  เคยพบรถโดยสารที่ผู้โดยสารต้องยืนโดยสารเพราะไม่มีที่นั่งพอหรือไม่ผลสำรวจ เคย 74.4 % ไม่เคยพบ 25.6 % 3.12 เห็นด้วยหรือไม่ที่ผู้โดยสารต้องยืนโดยสารบนรถโดยสารผลสำรวจ ไม่เห็นด้วย 79 % เห็นด้วย 16.5 % และ ไม่แน่ใจ 0.5 % 3.13 รู้ไหมว่า ป้ายทะเบียนของรถโดยสารสาธารณะจะต้องใช้ป้ายทะเบียนสีเหลืองตัวอักษรสีดำตามกฎหมายกำหนดเท่านั้นผลสำรวจ รู้ 60 % ไม่รู้ 40 % 3.14 แล้วรถโดยสารที่ท่านใช้บริการส่วนใหญ่เป็นป้ายทะเบียนสีเหลือง สำหรับขนส่งผู้โดยสารใช่หรือไม่ ผลสำรวจ ใช่ 57.8 % ไม่ใช่ 34.5 % ไม่แน่ใจ 7.7 % 3.15 สภาพรถโดยสารที่ท่านใช้บริการส่วนใหญ่ มีสภาพมั่นคงแข็งแรงหรือไม่ผลสำรวจ สภาพมั่นคงแข็งแรง เหมาะสมกับการใช้งาน 70.0 % สภาพเก่า ทรุดโทรม ไม่เหมาะกับการใช้งาน 30.0 % 3.16 รถโดยสารที่ท่านใช้บริการส่วนใหญ่ มีสภาพภายใน สะอาด ไม่มีกลิ่นเหม็น เหมาะสมกับการใช้บริการหรือไม่ ส่วนใหญ่สะอาดใช้ได้เลย ผลสำรวจ สะอาด ไม่มีกลิ่นไม่พึงประสงค์ 70.3 % ไม่สะอาด สกปรก ทรุดโทรม มีกลิ่นไม่พึงประสงค์ 29.7 %   เรื่องการชดเชยเยียวยาความเสียหาย 3.17 เคยประสบอุบัติเหตุจากการใช้บริการรถโดยสารวิ่งในจังหวัดหรือไม่ ผลสำรวจ ไม่เคย 89 % เคย 11 % 3.18 เคยเจอรถเสียระหว่างเดินทางไหม ผลสำรวจ ไม่เคย 59.9 % เคยสิ 40.1 % 3.19 ถ้าเกิดปัญหาจากการใช้บริการ เคยร้องเรียนไหม เกือบ 88 % ไม่เคยใช้สิทธิเลย(เศร้าจัง) ผลสำรวจ ไม่เคย 87.5 % เคย 12.5 % 3.20 ช่องทางที่ผู้บริโภครู้ว่า ถ้าเกิดปัญหาเรื่องรถโดยสารจะร้องเรียนได้ที่ไหน ผลสำรวจ ผู้ประกอบการ  68.6 % บริษัทประกันภัย 45.5 % กรมการขนส่งทางบก 43 %โรงพยาบาล 11.6 % มูลนิธิ องค์กรทางสังคม 10.9 % และสื่อมวลชน 6.8 % 3.21 รถโดยสารที่ท่านโดยสารมานั้นได้มีการแจ้งความคุ้มครองในการประกันภัยตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ หรือไม่ผลสำรวจ ไม่แจ้ง 60.8 % แจ้ง 39.2 % 3.22 รถโดยสารที่ท่านโดยสารมานั้นได้มีการแจ้งความคุ้มครองในการประกันภัยตามประกันภัยรถเพิ่มเติม หรือไม่ผลสำรวจ ไม่มีแจ้ง 65.9 % มีแจ้ง 34.1 %   4.การกำกับดูแล การมีส่วนร่วมของภาคประชาชน 4.1 คิดว่าการกำกับดูแลคุณภาพบริการรถโดยสารสาธารณะของหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องมีประสิทธิภาพมากน้อยเพียงใดผลสำรวจ ปานกลาง 52.7 % น้อย 31.5 % มาก 15.8 % 4.2 คิดว่า ควรเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการกำกับคุณภาพบริการรถโดยสารสาธารณะหรือไม่ผลสำรวจ สมควร 94.4 % ไม่สมควร 5.6 % 4.3 คิดว่า ประชาชนสามารถมีส่วนร่วมในการกำกับดูแลด้านคุณภาพและความปลอดภัยของบริการรถโดยสารด้วยช่องทางใดบ้าง ผลสำรวจ จัดตั้งศูนย์รับเรื่องร้องเรียน 75.9 % จัดตั้งหน่วยเฝ้าระวัง และรายงาน พฤติกรรมของผู้ประกอบการเจ้าของรถ พนักงานขับรถ พนักงานเก็บเงิน 60.7 % มาร่วมกำหนดนโยบาย มาตรการ เช่น บทลงโทษผู้กระทำความผิดซ้ำ และไม่แก้ไข 53.2 % เป็นอาสาสมัคร ให้ข้อมูลเรื่องสิทธิของผู้ใช้บริการรถโดยสารสาธารณะ 40.4 % --   • รถประจำทางวิ่งระหว่างจังหวัด1.บริการยอดนิยม อันดับหนึ่ง รถทัวร์โดยสารปรับอากาศ 54.3 % รถตู้ 36.2 % รถเมล์ (ไม่ปรับอากาศ) 33.7 %รถสองแถว 17.1 %   2.คุณภาพงานบริการ 2.1 ความถี่ในการรับตั๋วหลังจ่ายค่าโดยสาร ใน 100 คน ไม่เคยได้ตั๋วเลย 13 คน ผลสำรวจ ได้รับตั๋วโดยสารทุกครั้ง  58.6 % ได้รับเป็นบางครั้ง 24.7 % ไม่เคยได้รับตั๋วโดยสารหรือไม่มีบัตรอื่นใดให้เลย 12.3 % ไม่ได้รับตั๋ว แต่ได้รับเป็นบัตรหมายเลขแทน 4.4 %2.2 การระบุราคาและหมายเลขที่นั่งไว้อย่างชัดแจน ผลสำรวจ มีการระบุราคา และหมายเลขที่นั่ง 47.9 % มีการระบุราคา แต่ไม่ระบุหมายเลขที่นั่ง 34.2 % ไม่มีการระบุราคา และไม่ระบุหมายเลขที่นั่ง 11 % ไม่มีการระบุราคา แต่ระบุหมายเลขที่นั่ง 6.9 %2.3 การเก็บค่าโดยสาร ครึ่งหนึ่ง โอเคและคิดว่าเหมาะสม ผลสำรวจ ถูกต้อง เหมาะสม 55.1 % ถูกต้อง แต่ไม่เหมาะสมเพราะแพงเกินไป 15.6 % ไม่แน่ใจเพราะ ไม่ทราบว่าอัตราค่าโดยสารเป็นเท่าไหร่ 29.3 % 2.4 การขอเงินค่าโดยสารคืนเมื่อจ่ายเงินค่าโดยสารแล้ว แต่ไม่สามารถเดินทางได้ มีถึง 40 % บอกว่า ไม่เคยขอคืนได้เลย ผลสำรวจ ขอไม่ได้เลย 39.2 % ขอได้และได้เงินคืนครบถ้วน 31.9 % ขอได้ แต่ได้เงินคืนไม่ครบถ้วน 28.9 % 2.5 การติดประกาศแจ้งถึงข้อมูล เงื่อนไขในการให้บริการของรถโดยสาร ณ จุดพักรถ เกือบครึ่งหนึ่ง เคยเห็นประกาศใดๆ เลยผลสำรวจ มีติดประกาศ ในบริเวณที่เห็นได้ในชัดเจน 42.7 % ไม่มีการติดประกาศ 31.3 % มีติดประกาศ แต่ไม่อยู่ในบริเวณที่จะเห็นได้อย่างชัดชัดเจน 26 % 2.6 บริการของพนักงานประจำรถโดยสาร 72.5 พอรับได้ (สงสัยชิน)ผลสำรวจ พึงพอใจปานกลาง 72.5 % พึงพอใจน้อย 13.8 % พึงพอใจมาก 10.9 % ไม่พึงพอใจเลย 2.8 % 2.7 เคยโดยพนักงานประจำรถ แสดงกริยาไม่สุภาพ เช่น ลวนลาม เสียดสี ข่มขู่ กรรโชก ใน 100 คน มี 35 คนที่เคยโดนมาแล้ว ผลสำรวจ เคย 35 % ไม่เคย 65 % 3. ความปลอดภัยและการเยียวยาความเสียหาย เรื่องของพนักงานขับรถ 3.1 พนักงานขับรถโดยสาร มีการแสดงป้ายใบอนุญาตการขับขี่ไว้ในรถโดยสารสาธารณะหรือไม่ ใน 100 คน มี 40 คน ตอบว่า ไม่แน่ใจ ผลสำรวจ มี 42.7 % ไม่แน่ใจ 39.9 % ไม่มี 17.4 % 3.2 เคยเห็นพนักงานขับรถเม้าท์มือถือระหว่างขับรถไหม เกือบ 80 % เห็นมากับตา ผลสำรวจ เคยพบ 78.9 % ไม่เคยพบ 21.1 % เคยพบใช้โดยเสียบผ่านหูฟัง (Small talk) 11.9 % เคยพบใช้ในขณะที่รถจอด 10.5 % เคยพบใช้โทรศัพท์สนทนาโดยใช้มือจับ 53 % ไม่แน่ใจ 3.5 % 3.3 เคยเจอพนักงานขับรถ ขับเร็ว น่ากลัว หวาดเสียวไหม ผู้บริโภค 73 % มีประสบการณ์ระทึกมาแล้ว ทั้งนั้น ผลสำรวจ เคย 72.9 % ไม่เคย 27.1 % เคยเป็นบางครั้ง 34.5 % เคยบ่อยมาก 19.5 % เคยนานๆ ครั้ง 14.4 % ไม่แน่ใจ 4.6 % 3.4 เคยเจอพนักงานขับรถเมาขณะขับรถไหม 67 % ไม่เคยเห็นคนขับเมาเลย ผลสำรวจ เคยพบ 14.5 % ไม่เคยพบ 66.8 % ไม่แน่ใจ 18.7 3.5 เคยเจอคนขับรถสูบบุหรี่ขณะขับไหม 33.5 % เคยเจอเหมือนกัน ผลสำรวจ เคยพบ 33.5 % ไม่เคยพบ 56.6 % ไม่แน่ใจ 9.9 % 3.6 เคยพบพนักงานขับรถมีอาการง่วงหรือหลับในขณะขับรถหรือไม่ ผลสำรวจ เคยพบ 15.9 % ไม่เคยพบ 61.8 % ไม่แน่ใจ 22.3 % 3.7 เคยพบรถโดยสารที่จอดรับผู้โดยสารนอกจุดรับส่งที่กำหนดหรือไม่ ผลสำรวจ เคยพบ 49.7 % ไม่เคยพบ 30.2 % ไม่แน่ใจ เพราะไม่รู้ตำแหน่งจุดจอดที่กำหนด 20.1 % 3.8 เคยพบรถโดยสารที่ขับช้าเกินควรหรือขับกีดขวางทางรถคันอื่นไหม ขับเร็วก็เจอมาแล้ว ขับช้าก็ต้องมีบ้าง ผลสำรวจ เคยพบ 36.6 % ไม่เคยพบ 63.4 % เรื่องสภาพรถโดยสาร3.9 รถโดยสารที่ท่านใช้บริการมีเข็มขัดนิรภัย หรือไม่ ผลสำรวจ พบว่า มี 66.4 % ไม่มี 33.4 %3.10 เข็มขัดนิรภัยอยู่ในสภาพที่เหมาะสมกับการใช้งานหรือไม่ ผลสำรวจ เหมาะสม 52.8 % ไม่เหมาะสม (พันไว้หลังที่นั่ง , สายสั้น ,สายขาด , ไม่มีหัวคาด ฯลฯ) 47.2 %3.11  เคยพบรถโดยสารที่ผู้โดยสารต้องยืนโดยสารเพราะไม่มีที่นั่งพอหรือไม่ผลสำรวจ เคยพบ 71.1 % ไม่เคยพบ 28.9 %3.12 เห็นด้วยหรือไม่ที่ผู้โดยสารต้องยืนโดยสารบนรถโดยสารผลสำรวจ ไม่เห็นด้วย 83.5 % เห็นด้วย 11.3 % ไม่แน่ใจ 5.1 %3.13 รู้ไหมว่า ป้ายทะเบียนของรถโดยสารสาธารณะจะต้องใช้ป้ายทะเบียนสีเหลืองตัวอักษรสีดำตามกฎหมายกำหนดเท่านั้นผลสำรวจ ทราบ 62.7 % ไม่ทราบ 37.3 %3.14 แล้วรถโดยสารที่ท่านใช้บริการส่วนใหญ่เป็นป้ายทะเบียนสีเหลือง สำหรับขนส่งผู้โดยสารใช่หรือไม่ ผลสำรวจ ใช่ 59.9 % ไม่ใช่ 8.0 % ไม่แน่ใจ 32.1 %3.15 สภาพรถโดยสารที่ท่านใช้บริการส่วนใหญ่ มีสภาพมั่นคงแข็งแรงหรือไม่ผลสำรวจ มั่นคงแข็งแรง เหมาะสมกับการใช้งาน 72.1 % สภาพเก่า ทรุดโทรม ไม่เหมาะกับการใช้งาน 24.2 % 3.16 รถโดยสารที่ท่านใช้บริการส่วนใหญ่ มีสภาพภายใน สะอาด ไม่มีกลิ่นเหม็น เหมาะสมกับการใช้บริการหรือไม่ ส่วนใหญ่สะอาดใช้ได้เลย ผลสำรวจ สะอาด ไม่มีกลิ่นไม่พึงประสงค์ 71.8 % ไม่สะอาด สกปรก ทรุดโทรม มีกลิ่นไม่พึงประสงค์ 27.1 %   เรื่องการชดเชยเยียวยาความเสียหาย 3.17 เคยประสบอุบัติเหตุจากการใช้บริการรถโดยสารวิ่งในจังหวัดหรือไม่ ผลสำรวจ ไม่เคย  89.4 % เคย 10.6 % 3.18 เคยเจอรถเสียระหว่างเดินทางไหม ผลสำรวจ ไม่เคย  59.9 % เคย 40.1 % 3.19 ถ้าเกิดปัญหาจากการใช้บริการ เคยร้องเรียนไหม เกือบ 89 % ไม่เคยใช้สิทธิเลย(เศร้าจัง) ผลสำรวจ ไม่เคย 88.8 % เคย 11.2 % 3.20 ช่องทางที่ผู้บริโภครู้ว่า ถ้าเกิดปัญหาเรื่องรถโดยสารจะร้องเรียนได้ที่ไหน ผลสำรวจ ผู้ประกอบการ 69.1 % กรมการขนส่งทางบก 46.8 % มูลนิธิ องค์กรทางสังคม 7.2 %โรงพยาบาล 6.6 % บริษัทประกันภัย 42 % สื่อมวลชน 4 %3.21 รถโดยสารที่ท่านโดยสารมานั้นได้มีการแจ้งความคุ้มครองในการประกันภัยตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ หรือไม่ผลสำรวจ ไม่แจ้ง 59.4 % แจ้ง 40.6 %3.22 รถโดยสารที่ท่านโดยสารมานั้นได้มีการแจ้งความคุ้มครองในการประกันภัยตามประกันภัยรถเพิ่มเติม หรือไม่ผลสำรวจ ไม่มีแจ้ง 67.8 % มีแจ้ง 32.2 % 4.การกำกับดูแล การมีส่วนร่วมของภาคประชาชน 4.1 คิดว่าการกำกับดูแลคุณภาพบริการรถโดยสารสาธารณะของหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องมีประสิทธิภาพมากน้อยเพียงใดผลสำรวจ ปานกลาง 59.1 % น้อย 28.1 % มาก 12.7 % 4.2 คิดว่า ควรเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการกำกับคุณภาพบริการรถโดยสารสาธารณะหรือไม่ ผลสำรวจ สมควร 92.8 % ไม่สมควร 7.2 % 4.3 คิดว่า ประชาชนสามารถมีส่วนร่วมในการกำกับดูแลด้านคุณภาพและความปลอดภัยของบริการรถโดยสารด้วยช่องทางใดบ้าง ผลสำรวจ จัดตั้งศูนย์รับเรื่องร้องเรียน 72.6% จัดตั้งหน่วยเฝ้าระวัง และรายงาน พฤติกรรมของผู้ประกอบการ เจ้าของรถ พนักงานขับรถ พนักงานเก็บเงิน 68.4 % ร่วมกำหนดนโยบาย มาตรการ เช่น บทลงโทษผู้กระทำวามผิดซ้ำ และไม่แก้ไข 51.6 % เป็นอาสาสมัคร ให้ข้อมูลเรื่องสิทธิของผู้ใช้บริการรถโดยสารสาธารณะ 35.8 %   วิธีการสำรวจ เนื้อหาของแบบสำรวจส่วนที่ 1 ข้อมูลทั่วไปของผู้ตอบแบบสอบถาม ส่วนที่ 2 คุณภาพบริการและมาตรฐานรถโดยสารสาธารณะส่วนที่ 3 สิทธิเรื่องความปลอดภัยและการเยียวยาความเสียหาย ส่วนที่ 4 การกำกับดูแล และการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ส่วนที่ 5 ข้อเสนอแนะเพิ่มเติม  โดยผู้ตอบจะต้องมีอายุ 18 ปีขึ้นไป อาศัยอยู่ในเขตจังหวัดเป้าหมายที่ทำการสำรวจ และเป็นผู้ใช้บริการรถโดยสารสาธารณะ  จังหวัดที่ทำการสำรวจจำนวน 24 จังหวัด ใน 5 ภูมิภาค ได้แก่ ภาคเหนือ 7 จังหวัด คือ เชียงใหม่ พะเยา ลำปาง เชียงราย แพร่ เพชรบูรณ์ พิจิตร ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 5 จังหวัด คือ ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ สกลนคร ภาคใต้ 6 จังหวัด คือ ชุมพร สุราษฎร์ธานี ตรัง สตูล สงขลา พัทลุง ภาคกลาง ตะวันออก ตะวันตก รวม 7 จังหวัด คือสระบุรี ตราด สมุทรสงคราม สมุทรสาคร ประจวบคีรีขันธ์ ราชบุรี และกาญจนบุรี  ทำการสำรวจทั้งสิ้นจำนวน 1,310 ชุด โดยเป็นการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนที่ใช้บริการรถโดยสารประจำทางที่วิ่งในจังหวัดจำนวน 562 คน และเป็นเส้นทางระหว่างจังหวัด 748 คน -------------------------------------------------------------------- สิทธิของผู้บริโภคบริการรถสาธารณะ1. ผู้โดยสารมีสิทธิร้องเรียนหรือฟ้องร้องเพื่อให้ผู้ให้บริการหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการแก้ไขปัญหา เยียวยา หรือชดใช้ความเสียหายที่เกิดขึ้น 2. ผู้โดยสารมีสิทธิที่จะได้รับการชดใช้ความเสียหายจากการประกันภัยโดยไม่มีการประวิงเวลา หรือบังคับให้ประนีประนอมยอมความ 3. ผู้โดยสารมีสิทธิที่จะได้รับการชดใช้ความเสียหายทั้งทางร่างกาย อนามัย เสรีภาพ ทรัพย์สิน และสิทธิอื่น ๆ ที่ถูกละเมิด 4. ผู้โดยสารมีสิทธิที่จะได้รับการชดใช้ความเสียหายด้วยหลักแห่งพฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิด 5. ผู้โดยสารมีสิทธิที่จะรวมตัวกันเพื่อพิทักษ์สิทธิของตนและของผู้อื่น 6. ผู้โดยสารมีสิทธิที่จะได้รับความปลอดภัยจากการใช้บริการรถโดยสาร 7. ผู้โดยสารมีสิทธิที่จะได้รับการบริการจากรถโดยสารและผู้ให้บริการที่มีคุณภาพมาตรฐาน 8. ผู้โดยสารมีสิทธิที่จะได้รับข้อมูลข่าวสารรวมทั้งคำพรรณนาคุณภาพเกี่ยวกับบริการรถโดยสาร รวมทั้งความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัย ที่ถูกต้องเป็นจริง ครบถ้วน เพียงพอต่อการตัดสินใจใช้บริการ 9. ผู้โดยสารมีสิทธิที่จะได้รับความเป็นธรรมในด้านสัญญา และราคาค่าบริการ 10. ผู้โดยสารมีอิสระในการเลือกใช้บริการรถโดยสารด้วยความสมัครใจ และปราศจากการชักจูงใจอันไม่เป็นธรรม --------------------------------------------------------------------

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 121 ถึงเวลาคนไทยใช้ระบบประกันสุขภาพมาตรฐานเดียวกัน

  “จะดีไหม!?...ถ้า 0.88% ของเงินเดือนที่เราและนายจ้างต้องจ่ายให้ระบบประกันสังคมในกรณีเจ็บป่วย ถูกนำไปเพิ่มเป็นเงินบำนาญหลังเกษียณ ส่วนเรื่องการรักษาพยาบาลเวลาเจ็บป่วยก็เปลี่ยนให้ไปใช้บัตรทองซึ่งให้สิทธิรักษาฟรีกับคนไทยทั่วประเทศอยู่แล้ว...”   ผู้ประกันตนระบบประกันสังคมฟังทางนี้!!! เรารู้จักสิทธิของตัวเองดีพอหรือยัง? คงยังมีหลายคนที่สงสัยว่า “ผู้ประกันตน” ที่ว่านี้หมายถึงใคร ?  ผู้ประกันตน ก็คือ พวกเราเหล่ามนุษย์เงินเดือนที่ต้องจ่ายเงินให้กับประกันสังคม โดยการหักจากเงินเดือน (แบบอัตโนมัติ) ทุกเดือนเดือนละ 5% สำหรับเป็นเงินไว้สำหรับสมทบเพื่อสิทธิประโยชน์ เวลาที่เราเจ็บป่วยแล้วใช้บริการที่สถานพยาบาล หรือเป็นเงินช่วยเหลือตอนตกงาน รวมทั้งจะได้มีเงินบำนาญไว้ใช้ตอนอายุมาก ซึ่งก็ถือเป็นเรื่องที่ดีที่จะได้มีเงินส่วนหนึ่งไว้ค่อยช่วยเหลือเวลาที่เราลำบาก โดยไม่ใช่แค่เราเท่านั้นที่ต้องจ่ายเงินสมทบให้กับประกันสังคม แต่นายจ้างและรัฐก็ร่วมจ่ายสมทบเพื่อสิทธิของเราด้วย โดยนายจ้างจ่าย 5% ของเงินเดือนของเรา ส่วนรัฐช่วยน้อยลงมาหน่อยที่ 2.75% ไม่ว่าจะเต็มใจหรือไม่เต็มใจ เหล่ามนุษย์เงินเดือนก็ต้องจ่าย 5% ของเงินเดือน เข้าสู่กองทุนประกันสังคม หลายคนอาจจะตั้งข้อสงสัยว่า  “นานทีปีหนถึงจะได้เข้าโรงพยาบาล แล้วแบบนี้ทำไมต้องมาจ่ายเงินให้ประกันสังคมด้วย”  ไขข้อข้องใจ ที่เราต้องจ่ายก็เพราะว่าหลักการของประกันสังคมคือเรื่องของการ “เฉลี่ยทุกข์ เฉลี่ยสุข” เงินของเราที่ถูกหักให้ประกันสังคมทุกๆ เดือนนั้นจะกลายไปเป็นเงินกองกลางสำหรับบริหารจัดการดูแลทุกๆ คนที่อยู่ในระบบประกันสังคมร่วมกับเรา ใครป่วยต้องรักษาพยาบาลก็ได้รับการดูแล วันหนึ่งถ้าเราไปหาหมอก็จะได้รับการดูแลเช่นกัน หรือถ้าวันหนึ่งเราตกงานหรือเกษียณก็จะมีเงินชดเชยให้ ซึ่งก็คือเงินของเราที่ถูกหักไปทุกๆ เดือนนั้นแหละ   5% ของเงินเดือนที่เราจ่ายให้ประกันสังคมถูกใช้ไปทำอะไรบ้าง   %ของเงินเดือนที่จ่าย สิทธิประโยชน์ สิทธิที่ได้รับ เงื่อนไขการใช้สิทธิ 0.88% กรณีเจ็บป่วย *รักษาฟรีที่ รพ.ตามสิทธิที่เลือกไว้ *เงินทดแทนการขาดรายได้ ส่งเงินสมทบไม่น้อยกว่า 3เดือน ภายใน 15 เดือนก่อนใช้สิทธิครั้งแรก 0.12% กรณีคลอดบุตร ผู้ประกันตนหญิง *ได้เงินทดแทน 13,000 บาทต่อครรภ์ ได้ไม่เกิน 2 คน *เงินทดแทนการขาดรายได้ 50% ไม่เกิน 90 วัน ผู้ประกันตนชาย *ได้เงินทดแทน 13,000 บาท ต่อครรภ์ ได้ไม่เกิน 2 คน ส่งเงินสมทบไม่น้อยกว่า 7 เดือน ภายใน 15 เดือนก่อนคลอดบุตร 0.44% กรณีทุพพลภาพ *ใช้บริการ รพ.ของรัฐฟรี *หากเป็น รพ.เอกชน -ผู้ป่วยในเดือนละ 4,000 บาท -ผู้ป่วยนอกเดือนละ 2,000 บาท *เงินทดแทนการขาดรายได้ 50% ของค้าจ้างรายเดือนไปตลอดชีวิต *อวัยวะเทียมที่จำเป็นฟรี ส่งเงินสมทบไม่น้อยกว่า 3 เดือน ภายใน 15 เดือนก่อนทุพพลภาพ 0.06% กรณีตาย เงินสงเคราะห์ และค่าปลงศพ 40,000 บาท *หากส่งสมทบมาแล้วมากกว่า 3 ปี แต่ไม่ถึง 10 ปี จะได้เงินสงเคราะห์ เท่ากับค่าจ้าง 1 เดือนครึ่ง *หากสมทบมากกว่า 10 ปี เงินสงเคาระห์เท่ากับค่าจ้างของผู้ประกันตน 5 เดือน ส่งเงินสมทบไม่น้อยกว่า 1 เดือน ภายใน 6 เดือนก่อนตาย 3% กรณีชราภาพ *จะได้รับบำนาญ 20% ของเงินเดือนเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย หากส่งสมทบมามากกว่า 180 เดือน *หากส่งสมทบมาไม่ถึง 180 เดือน จะได้รับบำเหน็จเท่ากับเงินสมทบทั้งหมดบวกกับดอกเบี้ยตามอัตราที่สำนักงานประกันสังคมประกาศในแต่ละปี อายุ 55 ปี บริบูรณ์ และความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลง 0% (เพราะรัฐออกให้) กรณีสงเคราะห์บุตร *เดือนละ 400 บาท ไปจนบุตรอายุ 6 ปี และได้ครั้งละ 2 คน ส่งเงินสมทบไม่น้อยกว่า 12 เดือน ภายใน 36 เดือนก่อนได้รับสิทธิ 0.5% กรณีว่างงาน *หากถูกให้ออกโดยไม่ใช่ความผิดของลูกจ้างจะได้ 50% ของค่าจ้างรายวันไม่เกิน 6 เดือน *หากลูกจ้างลาออกหรือหมดโครงการจะได้ 30% ของค่าจ้างรายวันไม่เกิน 3 เดือน ส่งเงินสมทบไม่น้อยกว่า 6 เดือน ภายใน 15 เดือนก่อนว่างงาน   ความจริงเรื่องประกันสุขภาพ ประเทศไทยเรา ไม่ได้มีระบบประกันสุขภาพสำหรับดูแลเรื่องความป่วยไข้ของคนไทยแค่ระบบประกันสังคมเท่านั้น แต่ยังมีอีก 2 ระบบสำคัญที่ค่อยเป็นที่พึ่งเรื่องสุขภาพของคนไทย นั้นคือ ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือที่เราคุ้นเคยกันในชื่อที่ว่า “ระบบบัตรทอง” ซึ่งเป็นระบบที่รัฐดูแลจัดการ ถือเป็นสวัสดิการให้กับคนไทยทุกคน ที่ไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคม หรือระบบประกันสุขภาพอื่นๆ ซึ่งปัจจุบันมีคนไทยที่ได้รับการดูแลเรื่องการรักษาพยาบาล ค่ายา ประมาณ 47 ล้านคน งบประมาณที่ใช้ก็มาจากเงินภาษีของเรานี่แหละ  คิดเป็นตัวเลขก็ประมาณ 1 แสนล้านบาท โดยค่ารักษาพยาบาลเหมาจ่ายต่อคนที่รัฐออกให้อยู่ที่ประมาณ 2,401.33 บาท อีกระบบ คือ ระบบสวัสดิการข้าราชการ/รัฐวิสาหกิจ สำหรับดูแลข้าราชการและครอบครัว ซึ่งมีประมาณ 5 ล้านคนทั่วประเทศ งบประมาณที่ใช้ก็มาจากเงินภาษีของเราอีกนั้นแหละ ซึ่งให้งบประมาณดูแลสูงถึง 7 หมื่นล้านบาท ค่ารักษาพยาบาลเหมาจ่ายรายต่อคนประมาณ 10,000 บาท  ส่วนระบบประกันสังคม ซึ่งดูแลเหล่าลูกจ้างและมนุษย์เงินเดือนซึ่งมีอยู่ประมาณ 9 ล้านคน โดยงบประมาณที่นำมาใช้ดูแลสุขทุกข์ก็มาจากเงินที่เราถูกหักจากเงินเดือนทุกๆ เดือน บวกกับนายจ้างและรัฐช่วยสมทบให้ ซึ่งเงินที่เราจ่ายไปถูกนำไปเฉลี่ยสำหรับการดูแลคุ้มครองหลายๆ ส่วน (อย่างที่เราแจกแจงให้ดูในตารางก่อนหน้านี้) ซึ่งถ้าดูเฉพาะส่วนของค่ารักษาพยาบาลเราจะมีงบประมาณดูแลอยู่ที่ประมาณ 2 หมื่น 2 พันล้านบาท คิดเป็นค่ารักษาพยาบาลเหมาจ่ายที่คนละ 2,105.26 บาท  “น่าคิดมั้ย?...ทำไมระบบประกันสังคมถึงเป็นระบบประกันสุขภาพระบบเดียว ที่ผู้ประกันตนต้องจ่ายเงินสมทบเอง”   ทั้ง ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และ ระบบสวัสดิการข้าราชการ/รัฐวิสาหกิจ ใช้เงินจากรัฐซึ่งก็มาจากเงินภาษีของเราเองในการดูแลเรื่องสุขภาพของคนที่อยู่ในระบบ แต่ระบบประกันสุขภาพในระบบประกันสังคน ผู้ประกันตนต้องเป็นคนจ่ายสมทบเอง ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าแปลก ว่าทำไมรัฐจึงไม่ดูแลเรื่องสุขภาพของคนไทยให้เหมือนกันเป็นระบบเดียว เพราะเมื่องบประมาณที่ใช้ดูแลก็มาจากเงินภาษีของคนไทยทุกคนอยู่แล้ว ทำไมเรายังต้องจ่ายเพิ่มอีก?!  จริงอยู่ที่ว่าระบบประกันสังคม เป็นระบบการดูแลคุ้มครองความมั่นคงของชีวิตที่ดีและมีประโยชน์ คือมีทั้งเรื่องการช่วยเหลือซึ่งกันและในแบบเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุข และยังเป็นการออมเพื่ออนาคต แต่หากสามารถนำหลักการเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุขในเรื่องของการดูแลสุขภาพให้เท่าเทียมเป็นมาตรฐานเดียวกันทุกระบบก็น่าจะเป็นเรื่องที่ดีกว่ามั้ย?   มาเปลี่ยนเป็นระบบสุขภาพที่เท่าเทียมกันเถอะ“ถ้าเปลี่ยนให้ผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมได้รับการดูแลเรื่องสุขภาพในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ แต่ว่ายังจ่ายสมทบเท่าเดิม แล้วนำเงินที่ต้องจ่ายกรณีเจ็บป่วยไปเพิ่มให้กรณีชราภาพ น่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกันตนมากกว่า”ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ ระบบบัตรทอง ทำหน้าที่ดูแลเรื่องสุขภาพคนไทยส่วนใหญ่ของประเทศอยู่แล้ว หากจะเพิ่มการดูแลให้กับกลุ่มผู้ใช้แรงงานเหล่ามนุษย์เงินเดือนที่เป็นผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม ก็คงไม่น่าจะเป็นเรื่องแปลกหรือยุ่งยากอะไร ถือเป็นการช่วยเหลือผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมที่ยังเป็นเพียงคนกลุ่มเดียวที่ต้องจ่ายเงินในการดูแลรักษาสุขภาพยามเจ็บป่วย ถึงแม้จะเปลี่ยนไปรับความคุ้มครองในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ แต่ก็เชื่อว่าผู้ประกันตนส่วนใหญ่ก็ยังยินดีที่จะจ่ายสมทบในระบบประกันสังคม เพราะยังมีข้อดีในส่วนของการออมเพื่ออนาคต ทั้งการช่วยเหลือตอนว่างงาน และเงินบำเหน็จบำนาญตอนเกษียณ  ซึ่งถ้าหากได้รับการดูแลเรื่องสุขภาพจากระบบบัตรทองแล้ว เงินที่เคยจ่ายให้ประกันสังคมกรณีเจ็บป่วย 0.88% ของเงินเดือน ก็น่าจะถูกไปเพิ่มในส่วนของเงินชราภาพ ตอนเกษียณอายุเราจะได้มีเงินใช้เพิ่มมากขึ้น โดยปัจจุบันเราได้เงินบำนาญจากการจ่ายเงินสมทบให้ประกันสังคมอยู่ที่ 20% ของเงินเดือนเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย ถ้าหากได้อีก 0.88% ของเงินเดือนไปเพิ่ม %เฉลี่ยของเงินที่จะได้เป็นบำนาญก็จะสูงขึ้น หรือถ้าเป็นเงินบำเหน็จ ซึ่งปัจจุบันใช้เกณฑ์คิดจากเงินสมทบทั้งหมดที่เราจ่าย + กับอัตราดอกเบี้ยอีกนิดหน่อย ถ้าได้ 0.88% ของเงินเดือนไปเพิ่มก็จะทำให้ได้บำเหน็จเยอะขึ้นจากเดิมทันที (อย่าคิดว่า 0.88% ของเงินเดือนเป็นเงินไม่กี่บาท ถ้าหากเราเงินเดือนเดือนละ 10,000 บาท แต่ละเดือนเราก็จ่ายสมทบไป 88 บาท 1 ปี เราจะจ่ายไป 1,056 บาท และถ้าเป็น 10 ปี ก็เท่ากับเงิน 10,560 บาทเลยนะ)  และยิ่งถ้าเรานำเงินสมทบให้ระบบประกันสังคมจาก กรณีคลอดบุตร 0.12% ของเงินเดือน และ กรณีทุพพลภาพ 0.44% ของเงินเดือน ซึ่งระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติก็ให้ความดูแลคุ้มครองตรงนี้ด้วยเช่นกัน ไปเพิ่มให้เงินสมทบสำหรับกรณีชราภาพอีก ตัวเงินหรือสิทธิที่เราจะได้รับการดูแลหลังเกษียณในฐานะผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมก็น่าจะยิ่งเพิ่มมากขึ้นไปอีก  ***แต่ที่เล่ามาทั้งหมดยังเป็นแค่ความฝันและความหวัง ของเหล่าผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมที่อยากเห็นเรื่องนี้เกิดขึ้นจริง เพราะเป็นประโยชน์ต่อทั้งตัวผู้ประกันตนและสังคมโดยรวม งานนี้ก็คงต้องวิงวอนภาครัฐและบรรดาผู้ใหญ่ที่เกี่ยวข้อง ช่วยทำให้ฝันเล็กๆ ของลูกจ้าง ผู้ใช้แรงงาน และมนุษย์เงินเดือนในระบบประกันสังคมเป็นจริงด้วยเถิด*** ************************************************** “ชมรมพิทักษ์สิทธิผู้ประกันตน” มาร่วมกันสร้างระบบหลักประกันสุขภาพให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน ชมรมพิทักษ์สิทธิผู้ประกันตน อยากเชิญชวนผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมทุกคนมาร่วมกันสร้างระบบหลักประกันสุขภาพที่เท่าเทียม สิทธิประโยชน์ที่ดีและเหมาะสมสำหรับพวกเราผู้จ่ายเงินสมทบในระบบประกันสังคม เพราะเงินทุกบาทที่เราจ่ายไปมีความหมาย ประกันสังคมต้องสามารถเป็น “หลักประกันให้สังคมได้อย่างแท้จริงและมีประสิทธิ”  ผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม สามารถเข้าร่วม หรือติดตามข่าวสาร ข้อมูลต่างๆ ของการประกันสังคม ได้ที่หน้า facebook ของ “ชมรมพิทักษ์สิทธิผู้ประกันตน” **************************************************  ตัวอย่างสิทธิประโยชน์การบริการทางการแพทย์ที่แตกต่างกันของระบบประกันสังคมและระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ***(O) = คุ้มครอง   (X) = ไม่คุ้มครอง   ลักษณะการบริการ ระบบประกันสังคม ระบบประกันสุขภาพแห่งชาติ โรคเดียวกันที่ต้องรักษาในโรงพยาบาลเกิน 180 วัน X   O กรณีมีความจำเป็นต้องรักษาต่อเนื่องจากภาวะแทรกซ้อนหรือข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ เจ็บป่วยฉุกเฉิน แล้วไม่สามารถใช้บริการ รพ. ที่ลงทะเบียนไว้ได้ O ไม่เกิน 2 ครั้งต่อปี O ไม่จำกัดจำนวนครั้ง โรคหรือประสบอันตรายจากการใช้สารเสพติด X O เฉพาะหน่วยงานที่ได้รับอนุญาตจากกระทรวงสาธารณสุข ได้รับอันตรายหรือทุพพลภาพจากการที่ตัวเองตั้งใจให้เกิด (กรณีพยายามฆ่าตัวตาย) X O การบริการรักษาตัวเองหรือฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์ที่บ้านหลังออกจาก รพ. X O การส่งต่อผู้ป่วยไปยังหน่วยบริการที่มีศักยภาพสูงกว่าทางอากาศยาน (เฮลิคอปเตอร์) X O ไม่เกิน 60,000 บาทต่อครั้ง การช่วยเหลือเบื้องต้นให้แกผู้รับบริการและผู้ให้บริการที่ได้รับความเสียหายทางการแพทย์ X O 1.เสียชีวิตหรือทุพพลภาพอย่างถาวร จ่ายเงิยช่วยเหลือไม่เกิน 200,000 บาท 2.สูญเสียอวัยวะหรือพิการ จ่ายเงินช่วยเหลือไม่เกิน 120,000 บาท 3.บาดเจ็บหรือเจ็บต่อเนื่อง จ่ายเงินช่วยเหลือไม่เกิน 50,000 บาท การให้ยาไวรัสโรคเอดส์ เพื่อป้องกันการติดเชื้อหลังสัมผัส เช่น ถูกข่มขืน หรือติดเชื้อระหว่างปฏิบัติงาน เช่น แพทย์ พยาบาล X O การบริการแพทย์แผนไทยหรือแพทย์ทางเลือก X O ข้อมูลประกอบบทความ : “สู่ระบบสุขภาพมาตรฐานเดียว สู่หลักประกันทั้งสังคม”.เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ, “รายงานการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ประจำปี 2552”, “รายงานประจำปีสำนักงานประกันสังคม 2552”, “คู่มือบัตรทองสำหรับอาสาสมัครสาธารณะสุข”, “สรุปสาระสำคัญพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่2) พ.ศ. 2537 (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2542”, บทความ “ระบบหลักประกันสุขภาพในประเทศไทย” สำนักงานวิจัยเพื่อการพัฒนาหลักประกันสุขภาพไทย, http://www.posttoday.com/ข่าว/อาชญากรรม-สังคม/72522/เทียบผลประโยชน์-บัตรทองดีกว่าประกันสังคมทุกด้าน/page-1/   เปรียบเทียบบริการทางการแพทย์ของระบบประกันสังคมและระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ   ระบบประกันสังคม ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กรณีประสบอันตราย/อุบัติเหตุ ขอรับค่าบริการได้โดยไม่จำกัดจำนวนครั้ง ทดรองจ่ายค่ารักษาพยาบาลก่อน สามารถเบิกคืนจากสำนักงานประกันสังคมในอัตราที่กำหนดดังนี้ 1.สถานพยาบาลของรัฐ -ผู้ป่วยนอก สามารถเบิกค่ารักษาพยาบาลได้ เท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็น -ผู้ป่วยใน สามารถเบิกค่ารักษาพยาบาลได้ เท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็น ภายในระยะเวลาไม่เกิน 72 ชั่วโมง ยกเว้น ค่าห้อง และค่าอาหารเบิกได้ไม่เกินวันละ 700 บาท 2.สถานพยาบาลของเอกชน *ผู้ป่วยนอก สามารถเบิกค่ารักษาพยาบาลได้ เท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 1,000 บาท และสามารถเบิกค่ารักษาพยาบาล เท่าที่จ่ายจริงเกิน 1,000 บาทได้ ตามหลักเกณฑ์และอัตราที่กำหนด **ผู้ป่วยใน สามารถเบิกค่ารักษาพยาบาลได้ ตามหลักเกณฑ์และอัตราที่กำหนด กรณีที่ใช้บริการที่หน่วยบริการซึ่งขึ้นทะเบียนไว้ตามกฎหมายว่าด้วยหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ผู้รับบริการไม่ต้องเสียค่าบริการหรือค่าใช้จ่าย และสามารถใช้สิทธิใช้บริการเจ็บป่วยฉุกเฉินได้ตามความจำเป็นโดยไม่จำกัดจำนวนครั้ง กรณีใช้บริการที่สถานบริการอื่น ผู้รับบริการต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเฉพาะส่วนที่เกินจากที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติจ่ายให้สถานบริการ โดยสถานบริการดังกล่าวจะต้องแจ้งให้ผู้ป่วยและญาติทราบก่อนการให้บริการทุกครั้ง   การคลอดบุตร ผู้ประกันตนมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทน ในกรณีคลอดบุตรสำหรับตนเองหรือคู่สมรส มีสิทธิได้รับค่าบริการทางการแพทย์ในการคลอดบุตรคนละ 2 ครั้ง รวมถึงประโยชน์ทดแทนในกรณีคลอดบุตร ได้แก่ ค่าตรวจรับฝากครรภ์ ค่าบำบัดทางการแพทย์ ค่ายาและเวชภัณฑ์ ค่าทำคลอด ค่ากินอยู่และรักษาพยาบาลในสถานพยาบาล ค่าบริการและค่ารักษาพยาบาลทารกแรกเกิด ค่ารถพยาบาลหรือค่าพาหนะรับส่งผู้ป่วย ค่าบริการอื่นที่จำเป็น ทั้งนี้ตามหลักเกณฑ์และอัตราที่คณะกรรมการการแพทย์กำหนด โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ โดยจะได้รับเงินเหมาจ่ายค่าคลอดบุตร จำนวน 13,000 บาท สำหรับการคลอดบุตร (อายุครรภ์ 28 สัปดาห์ขึ้นไป) ของผู้ประกันตนหรือภริยาของผู้ประกันตน หรือหญิงซึ่งอยู่กินฉันสามีภริยากับผู้ประกันโดยเปิดเผยกรณีผู้ประกันไม่มีภริยา *กรณีผู้ประกันหญิง สามารถคลอดบุตรที่สถานพยาบาลใดก็ได้ จะได้รับเงินเหมาจ่ายค่าคลอดบุตร จำนวน 13,000 บาท และยังจะได้รับเงินสงเคราะห์การหยุดงานเพื่อการคลอดบุตรอีก ในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างที่นำส่งเงินสมทบเฉลี่ยเป็นเวลา 90 วัน และสามารถหยุดงานเพื่อการคลอดบุตรครั้งหนึ่ง ไม่เกิน 60 วัน *กรณีผู้ประกันตนชายที่มีภรรยาจดทะเบียนสมรส หรือหญิงซึ่งอยู่กินฉันสามีภรรยาแต่มิได้จดทะเบียนสมรส สามารถคลอดบุตรที่สถานพยาบาลใดก็ได้ จะได้รับเงินเหมาจ่ายค่าคลอดบุตร จำนวน 13,000 บาท แต่ไม่มีสิทธิได้รับเงินสงเคราะห์การหยุดงานเพื่อการคลอดบุตร *กรณีเป็นผู้ประกันตนทั้งสามีและภรรยา ผู้ประกันตนสามารถใช้สิทธิได้คนละ 2 ครั้ง รวมกันได้ไม่เกิน 4 ครั้ง โดยบุตรที่นำมาใช้สิทธิเบิกค่าคลอดบุตร ไม่สามารถนำมาขอรับค่าคลอดบุตรได้อีก และแนะนำให้ใช้สิทธิของภรรยาก่อนเนื่องจากจะได้รับเงินสงเคราะห์การหยุดงานเพื่อการคลอดบุตรด้วยนอกเหนือจากค่าคลอดบุตร จำนวน 13,000 บาท สนับสนุนค่ารักษาพยาบาลตามกลุ่มวินิจฉัยโรคร่วม จำนวนไม่เกิน 2 ครั้ง (กรณีบุตรมีชีวิตอยู่) ครอบคลุมถึงค่าตรวจและรับฝากครรภ์ โดยไม่จำกัดจำนวนครั้ง จนสิ้นสุดการตั้งครรภ์ และการตรวจเยี่ยมดูแลหลังคลอด และจะได้รับวัคซีนทุกชนิดวัคซีนตามตารางแผนการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคด้วยวัคซีน (EPI) ของกรมควบคุมโรค *คุ้มครองถึงหญิงตั้งครรภ์ที่เป็นผู้ประกันตนสิทธิประกันสังคมที่ส่งเงินสมทบไม่ครบ 7 เดือน โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย บริการทันตกรรม 1. กรณีถอนฟัน อุดฟัน ขูดหินปูน ใส่ฟันเทียมชนิดถอดได้ฐานอคริลิก และรากฟันเทียม 2.การผ่าตัดเพื่อรักษาภาวะปากแหว่งเพดานโหว่ กรณีผู้ประกันตนไม่มีปัญหาด้านการกลืน แต่ช่องเพดานโหว่มีเพดานกว้างพอประมาณ ครอบคลุมอยู่ในเงินเหมาจ่ายรายหัว หมายเหตุ: 1) ผู้ประกันตนมีสิทธิเข้ารับการบริการสถานพยาบาลใดก็ได้ในกรณี ถอนฟัน อุดฟัน ขูดหินปูน โดยสำรองเงินจ่ายไปก่อนและนำหลักฐานมาขอเบิกเงินคืนได้ในอัตราไม่เกิน 300 บาทต่อครั้ง ปีละไม่เกิน 600 บาท และมีสิทธิใส่ฟันเทียมชนิดถอดได้ฐานอคริลิก (พลาสติก) 1-5 ซี่ ในวงเงินไม่เกิน 1,200 บาท ตั้งแต่ 6 ซี่ขึ้นไปจะเบิกได้ไม่เกิน 1,400 บาท ภายในระยะเวลา 5 ปี ตั้งแต่วันที่ใส่ฟันเทียมชนิดถอดได้ฐานอคริลิก 2) ผู้ประกันยังต้องร่วมจ่ายในกรณีที่วงเงินเกินกำหนด โดยสามารถไปใช้บริการที่ใดก็ได้ 1.กรณีถอนฟัน การผ่าตัดช่องปาก (oral surgery) อุดฟัน ขูดหินปูน การเกลารากฟัน (root planing) ฟันเทียมฐานพลาสติก และทันตกรรมประดิษฐ์ 2.การรักษาโพรงประสาทฟันน้ำนมสำหรับเด็กเคลือบหลุมร่องฟัน (ในกลุ่มอายุไม่เกิน 15 ปี) นอกจากนั้นยังมีงานทันตกรรมเพิ่มทวีที่ดูแลเด็กชั้นประถมปีที่ 1 ทุกคนอย่างครบวงจร 3.ทันตกรรมรักษาในเด็กและหญิงตั้งครรภ์ 4.การส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคในช่องปาก ได้แก่ การตรวจสุขภาพช่องปาก การแนะนำด้านทันตสุขภาพ 5.การให้ฟลูออไรด์เสริมในกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อโรคฟันผุ เช่น กลุ่มเด็ก ผู้สูงอายุ 6.การผ่าตัดแก้ไขความพิการผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ รวมถึงการจัดฟัน และแก้ไขปัญหาด้านการพูด (สำหรับเด็ก) โดยค่าผ่าตัดสามารถรับค่าใช้จ่ายตามกลุ่มวินิจฉัยโรคร่วม ตามหลักเกณฑ์ วิธีการและอัตราที่กำหนด ค่าเพดานเทียมในอัตรา 500 บาทต่อชิ้น ค่าอรรถบำบัด/แก้ไขการพูด จ่าย 3,850 บาทต่อรายต่อปี ค่าทันตกรรมบำบัด (ฟื้นฟู) จ่าย 12,000 บาทต่อรายต่อปี หมายเหตุ: ผู้มีสิทธิไม่ต้องร่วมจ่ายในกรณีที่วงเงินเกินกำหนด การส่งต่อผู้ป่วยไปหน่วยบริการที่มีศักยภาพสูงกว่า กรณีมีความจำเป็น ต้องรับหรือส่งตัวผู้ป่วยไปตรวจวินิจฉัยหรือรักษาต่อยังสถานพยาบาลอีกแห่งหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่สถานพยาบาลตามบัตรรับรองสิทธิฯ ภายในระยะเวลา 72 ชั่วโมง สามารถเบิกค่าพาหนะตามอัตรา ดังนี้ 1.ภายในเขตจังหวัดเดียวกัน สำหรับค่ารถพยาบาลหรือเรือพยาบาลจ่ายตามจำนวนที่จ่ายจริงไม่เกิน 500 บาทต่อครั้ง และ 300 บาทต่อครั้งสำหรับพาหนะรับจ้างหรือส่วนบุคคล 2.กรณีข้ามเขตจังหวัดจ่ายเพิ่มจากกรณีภายในเขตจังหวัดเดียวกันอีกตามระยะทางกิโลเมตรละ 6 บาท (ตามระยะทางกรมทางหลวง) ให้จ่ายตามราคาเรียกเก็บแต่ไม่เกินราคากลางที่กำหนดในแต่ละประเภทพาหนะและระยะทาง ดังนี้ 1.ค่าบริการรับส่งต่อทางรถยนต์ เป็นไปตามระยะทาง ถ้าไม่เกิน 50 กิโลเมตร ให้เบิกตามค่าใช้จ่ายจริงในอัตราไม่เกิน 500 บาท แต่ถ้ามากกว่า 50 กิโลเมตรขึ้นไป ให้เบิกจ่ายค่าชดเชยครั้งละ 500 บาท และให้ได้รับค่าชดเชยเพิ่มอีกกิโลเมตรละ 4 บาทต่อระยะทางจากหน่วยบริการต้นทางถึงหน่วยบริการปลายทาง (ตามระยะทางกรมทางหลวง) 2.ค่าบริการรับส่งต่อทางเรือ เป็นไปตามประเภทเรือ และระยะทางอัตราจ่ายไม่เกิน 35,000 บาทต่อครั้ง โรคไต 1) การล้างช่องท้องด้วยน้ำยาแบบถาวร เหมาจ่ายให้แก่สถานพยาบาลในความตกลง และจ่ายในอัตราเท่าที่จ่ายจริงไม่เกินเดือนละ 15,000 บาท และเบิกค่าวางท่อพร้อมอุปกรณ์ได้ไม่เกิน 20,000 บาทต่อรายต่อ 2 ปี 2) การฟอกเลือด เหมาจ่ายให้แก่สถานพยาบาลในความตกลง และเบิกได้ครั้งละไม่เกิน 1,500 บาทต่อครั้ง และไม่เกิน 3,000 บาทต่อสัปดาห์ ค่าเตรียมเส้นเลือด (Shunt) อัตรา 20,000 บาทต่อรายต่อ 2 ปี 3) การปลูกถ่ายไต ค่าใช้จ่ายก่อนการปลูกถ่ายไต เหมาจ่ายให้สถานพยาบาลไม่เกิน 30,000 บาทต่อราย ค่าใช้จ่ายระหว่างปลูกถ่ายไต เหมาจ่ายให้สถานพยาบาลไม่เกิน 230,000 บาทต่อราย โดยครอบคลุมผู้ประกันตนและผู้บริจาคไตเป็นเวลา 60 วัน นับแต่วันที่ทำการผ่าตัดปลูกถ่ายไตรวมทั้งการรักษาภาวะสลัดไตอย่างเฉียบพลันของผู้ประกันเป็นเวลา 2 ปี นับแต่วันที่ทำการปลูกถ่ายไต ค่าใช้จ่ายหลังการปลูกถ่ายไต สำหรับสถานพยาบาลที่ปลูกถ่ายไตผู้ประกันตนที่มีสิทธิโดยครอบคลุมการตรวจรักษา ยากดภูมิคุ้มกัน ตรวจทางห้องปฏิบัติการ ตรวจปัสสาวะ ตรวจระดับยากดภูมิภูมิคุ้มกัน เหมาจ่ายในอัตรา ดังนี้ ปีที่ 1 เดือนที่ 1-6 เดือนละ 30,000 บาท เดือนที่ 7-12 เดือนละ 20,000 บาท ปีที่ 2 เดือนที่ 1-6 เดือนละ 15,000 บาท ปีที่ 3 เป็นต้นไป เดือนละ 10,000 บาท หมายเหตุ: การปลูกถ่ายไต จะไม่ได้รับคุ้มครองเมื่อผู้ป่วยเป็นไตวายเรื้อรังก่อนเป็นผู้ประกันตน 1) การล้างช่องท้องด้วยน้ำยาแบบถาวร เหมาจ่ายค่าบริการให้โรงพยาบาล 220,000 บาทต่อรายต่อปี หรือ 18,320 บาทต่อรายต่อเดือน (ค่าน้ำยา 14,100 บาท ร่วมกับ ค่าดูแลครบวงจร) 2) การฟอกเลือด ผู้ป่วยลงทะเบียนก่อน 1 ต.ค. 51 1,000 บาทต่อครั้ง+ผู้ป่วยร่วมจ่าย 500 บาท 1,200 บาทต่อครั้ง (อายุเกิน 60 ปี+มีโรคเรื้อรัง) +ผู้ป่วยร่วมจ่าย 500 บาท ผู้ป่วยลงทะเบียนหลัง 1 ต.ค. 51 1,500 บาทต่อครั้ง 1,700 บาทต่อครั้ง (อายุเกิน 60 ปี+มีโรคเรื้อรัง) ค่าเตรียมเส้นเลือด (Shunt) จ่ายตามจริงแต่ไม่เกิน 20,000 บาทต่อรายต่อ 2 ปี 3) การปลูกถ่ายไต ค่าใช้จ่ายก่อนการปลูกถ่ายไต ให้สิทธิผู้ป่วยที่สามารถหาไตบริจาคได้ โดยได้รับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายคือ (1) ค่าเตรียมผู้รับบริจาคก่อนเข้ารับการผ่าตัดที่สมองตาย 40,000 บาท (2) ค่าเตรียมผู้รับบริจาคก่อนเข้ารับการผ่าตัดที่มีชีวิต ก่อนเข้ารับการผ่าตัด 40,000 บาท (จ่ายไม่เกิน 2 ครั้ง) ระหว่างเข้ารับการผ่าตัด 32,800 บาท ส่วนค่าใช้จ่ายสำหรับเตรียมผู้ป่วยก่อนเข้ารับการผ่าตัด 31,300 บาทและค่าเตรียมผู้รับบริจาคระหว่างรอผู้บริจาคที่สมองตาย ทุก 3 เดือน ครั้งละ 1,800 บาท ค่าใช้จ่ายระหว่างปลูกถ่ายไต จ่ายตามความเสี่ยง ตั้งแต่ Protocol I-IV โดยมีค่าใช้จ่ายต่ำสุดคือ 143,000 บาท และสูงสุดคือ 292,000 บาท กรณีมีภาวะแทรกซ้อนจ่ายตาม Protocol ทั้งสิ้น 7 Protocol โดยมีค่าใช้จ่ายเหมาจ่ายตั้งแต่ 23,000 บาทและสูงสุดคือ 493,000 บาท ค่าใช้จ่ายหลังปลูกถ่ายไต สนับสนุนค่าใช้จ่าย ยากดภูมิ ตรวจทางห้องปฏิบัติการตรวจปัสสาวะ ตรวจระดับยากดภูมิคุ้มกัน เหมาจ่าย ดังนี้ ปีที่ 1 เดือนที่ 1-6 เดือนละ 30,000 บาท เดือนที่ 7-12 เดือนละ 25,000 บาท ปีที่ 2 เดือนละ 20,000 บาท ปีที่ 3 เป็นต้นไป เดือนละ 15,000 บาท

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point