ฉบับที่ 260 อาหารเสริมเกลือบิวทิเรต

        การศึกษาทางวิทยาศาสตร์สุขภาพนั้นทำให้มนุษย์สามารถดัดแปลงและปรุงแต่งการบริโภคอาหารให้เหมาะสมเพื่อลดโอกาสเกิดโรคได้ ตัวอย่างที่ชัดเจนเรื่องหนึ่งคือ การเพิ่มปริมาณผักและผลไม้ในมื้ออาหารให้อยู่ประมาณครึ่งหนึ่งของอาหารที่กินช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ให้ต่ำลง พร้อมกับลดความเสี่ยงที่จะเกิดโรคต่างๆ ที่มีสารอนุมูลอิสระเป็นปัจจัยก่อโรค เป็นต้น         ผลจากการศึกษาดังกล่าวข้างต้นนั้นทำให้ผู้ที่มีอาชีพในการค้นหาผลิตภัณฑ์ต่างๆ มาตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคมองเห็นว่า น่าจะมีรายได้งามจากการขายผลิตภัณฑ์บางชนิดแก่ผู้บริโภคที่ไม่ชอบกินผักและ/หรือผลไม้ ซึ่งมีลักษณะที่เห็นได้ชัดว่าเป็นผู้ที่สั่งก๋วยเตี๋ยวไม่ผักไม่งอก จนนำไปสู่การโฆษณาขายผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่เป็น “เกลือบิวทิเรต” (butyrate salt) ในแพลตฟอร์มขายของออนไลน์ใหญ่หลายแห่ง         บทความทางวิชาการที่เกี่ยวกับสุขภาพมากมายได้กล่าวถึงเกลือชนิดนี้ว่า เป็นผลที่เกิดจากการที่ผู้บริโภคกินใยอาหารชนิด soluble fiber (ซึ่งสามารถอุ้มน้ำได้ดี) แล้วเมื่อลงไปถึงลำไส้ใหญ่ แบคทีเรียที่ดีในลำไส้ใหญ่ได้กิน soluble fiber แล้วถ่ายเกลือชนิดนี้ออกมาซึ่งมีงานวิจัยพบว่า เกลือบิวทิเรตมีส่วนสำคัญในการลดความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่และทำให้สมองเสื่อมช้าด้วย ดังนั้นการหลายคนไม่ชอบกินอาหารที่มีใยอาหารชนิดที่อุ้มน้ำได้ดี (soluble fiber) จึงอาจมีเกลือบิวทิเรตในลำไส้ใหญ่ต่ำ การกินเกลือบิวทิเรตในรูปเม็ดผลิตภัณฑ์เสริมอาหารน่าจะดีเป็นแน่แท้...จริงหรือ         ก่อนอื่นเราควรทราบว่า ในธรรมชาติแล้วเกลือบิวทิเรตในลำไส้ใหญ่มนุษย์มาจากไหน ข้อมูลนี้หาได้ไม่ยาก เช่น ในบทความเรื่อง Intestinal Short Chain Fatty Acids and their Link with Diet and Human Health ในวารสารออนไลน์ Frontiers in Microbiology ของเดือนกุมภาพันธ์ 2016 ให้ข้อมูลว่า ใยอาหารชนิดที่อุ้มน้ำได้ดีมีบทบาทเป็นอาหารของแบคทีเรียในลำไส้ แล้วแบคทีเรียก็ถ่ายออกเป็นกรดไขมันสายสั้นคือ กรดบิวทิริคร้อยละ 15 (butyric acid มีคาร์บอน 4 อะตอม) กรดโปรปิโอนิคร้อยละ 25 (propionic acid มีคาร์บอน 3 อะตอม) และกรดอะซิติคร้อยละ 65 (acetic acid มีคาร์บอน 2 อะตอม) (ข้อสังเกตุคือ ในร่างกายมนุษย์นั้นสารที่มีความเป็นกรดมักถูกเปลี่ยนเป็น เกลือ เช่น กรดบิวทิริคไปเป็น เกลือบิวทิเรต เนื่องจาก pH ของอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายส่วนใหญ่เป็นกลางเช่น ประมาณ 7.4)         เซลล์ของผนังลำไส้ใหญ่ดูดซึมเกลือบิวทิเรตไปใช้เป็นพลังงานราวร้อยละ 70 เพื่อการดำรงชีวิต โดยมีสมมุติฐานว่า ในคนที่กินอาหารที่มีใยอาหารต่ำเซลล์ลำไส้ใหญ่อาจได้พลังงานจากบิวทิเรตเพื่อการดำรงชีวิตของเซลล์ไม่พอจนต้องทำการย่อยสลายตัวเอง (apoptosis) ซึ่งทำให้การทำงานของลำไส้ใหญ่ลดลงไปจากสภาวะปรกติ ส่งผลต่อสุขภาพของคนๆ นั้นไม่ดีตามควร ซึ่งเว็บ Wikipedia ได้ให้ข้อมูลประมาณว่า งานวิจัยหลายเรื่องกล่าวถึงศักยภาพของเกลือบิวทิเรตในการป้องกันและบำบัดอาการอักเสบของลำไส้ใหญ่และยับยั้งเซลล์มะเร็งลำไส้ใหญ่ โดยมีสมมุติฐานว่ แม้บิวทิเรตเป็นแหล่งพลังงานสำหรับเซลล์ปรกติของลำไส้ใหญ่แต่กลับทำให้เซลล์มะเร็งลำไส้ใหญ่กลับต้องตายตามหลักการของ Warburg effect         Warburg effect กล่าวว่า เซลล์มะเร็งนั้นอยู่ดำรงได้ด้วยพลังงานจากน้ำตาลกลูโคสที่ถูกเปลี่ยนเป็นพลังงานผ่านกระบวนการ glycolysis เพียงอย่างเดียว โดยไม่สามารถใช้เกลือบิวทิเรตเป็นแหล่งพลังงานได้ ทั้งนี้เพราะการเปลี่ยนแปลงเกลือบิวทิเรตไปเป็นพลังงานในเซลล์ปรกตินั้นจำต้องผ่านกระบวนการที่อยู่ใน “ไมโตคอนเดรีย”  แต่เซลล์มะเร็งนั้นเป็นเซลล์ที่ไม่มีการใช้ไมโตคอนเดรียในการสร้างพลังงานแต่อย่างใด จนนำไปสู่การสะสมของบิวทิเรตในนิวเคลียสส่งผลให้เกิดการยับยั้งเอ็นซัม histone deacetylase ซึ่งเป็นการยับยั้งการเพิ่มเซลล์มะเร็ง ดังกล่าวไว้ในบทความเรื่อง Histone deacetylase inhibitors: molecular mechanisms of action and clinical trials as anti-cancer drugs ในวารสาร American Journal of Translational Research ของปี 2011 ข้อมูลดังกล่าวนี้จึงเป็นเหตุผลที่ผู้ผลิตผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเกลือบิวทิเรตนำมาใช้เชิญชวนผู้บริโภคว่า ควรกินเกลือบิวทิเรต ?         งานวิจัยในสัตว์ทดลองพบว่า การกินใยอาหารชนิดอุ้มน้ำได้ดีนั้นมีผลต่ออวัยวะอื่นนอกเหนือไปจากลำไส้ใหญ่ด้วย โดยงานวิจัยของ Department of Animal Sciences ของ University of Illinois ตีพิมพ์ในวารสาร Frontiers in Immunology ในปี 2018 เรื่อง Butyrate and Dietary Soluble Fiber Improve Neuroinflammation Associated With Aging in Mice กล่าวว่า ใยอาหารน่าจะชะลอภาวะการอักเสบของสมอง (ที่เพิ่มขึ้นตามอายุ) ซึ่งส่งผลให้สมองทำงานได้ยาวนานขึ้น ในบทความนี้เล่าถึงผลการทดลองว่า เกลือบิวทิเรตในลำไส้ใหญ่ของหนูแก่ที่ได้กินอินูลิน (inulin) ได้ลดการทำงานของไซโตไคน์ (cytokine) ที่ออกฤทธิ์ที่เกี่ยวกับการชักนำให้เซลล์ไมโครเกลีย (microglia) ก่อการอักเสบในสมองของหนู ส่งผลให้สมองของหนูกลุ่มนี้มีสภาพดีกว่ากลุ่มหนูสูงวัยที่กินเซลลูโลสที่เป็นใยอาหารที่อุ้มน้ำไม่ดีซึ่งแบคทีเรียกินไม่ได้         ไมโครเกลียนั้นเป็นเซลล์ชนิดหนึ่งในระบบภูมิคุ้มกันที่สำคัญของสมองสัตว์ทั่วไป เซลล์นี้ทำหน้าที่กำจัดสิ่งที่ก่อปัญหาในสมองเช่น เซลล์ที่แก่หมดหน้าที่แล้วและเชื้อโรคต่างๆ เข้าใจกันว่าในผู้สูงอายุนั้นไมโครเกลียมีแนวโน้มในการก่อให้เกิดอาการสมาธิสั้น ส่วนการอักเสบเรื้อรังในสมองถ้ามีมากเกินไปก็น่าจะเป็นสาเหตุหลักของอาการความจำเสื่อมและการลดลงของความสามารถในการเข้าใจสิ่งต่างๆ ในวัยชรา ซึ่งมีงานวิจัยที่ดูว่าสนับสนุนสมมุติฐานนี้คือ บทความเรื่อง Posttraining systemic administration of the histone deacetylase inhibitor sodium butyrate ameliorates aging-related memory decline in rats ในวารสาร Behavioural Brain Research ของปี 2011 ซึ่งกล่าวในบทสรุปว่า เกลือบิวทิเรตที่เป็นผลพลอยได้จากการกินใยอาหารชนิดอุ้มน้ำได้ดีของแบคทีเรียในลำไส้ใหญ่สามารถปรับปรุงความจำและลดการอักเสบในสมองหนูได้         จากข้อมูลข้างต้นอาจทำให้หลายคนสรุปว่า การกินผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีเกลือบิวทิวเรตน่าจะดีต่อสมอง แต่ในความเป็นจริงแล้วสารอาหารเกือบทุกชนิดที่กินทางปากนั้นเมื่อผ่านลงสู่ลำไส้เล็กแล้วจะถูกดูดซึมผ่านผนังลำไส้เล็กไปสู่ตับด้วยระบบเส้นเลือดกลุ่มที่เรียกว่า hepatic portal vein ทั้งสิ้น ซึ่งในกรณีของเกลือบิวทิเรตที่ถูกนำเข้าสู่เซลล์ตับแล้วโอกาสที่จะหลุดรอดออกไปถึงเซลล์ลำไส้ใหญ่ย่อมเป็นไปได้ยาก เพราะตับมีระบบเอ็นซัมที่สามารถเปลี่ยนเกลือบิวทิเรตเป็นอะเซ็ตติลโคเอ็นซัมเอ (acetyl coenzyme A) ซึ่งถูกนำไปดำเนินการต่อกลายเป็นสารพลังงานสูงคือ เอทีพี (ATP) เพื่อใช้ในกิจกรรมต่าง ๆ ของเซลล์ ข้อมูลนี้ปรากฏในบทความชื่อ From the gut to the peripheral tissues: the multiple effects of butyrate ในวารสาร Nutrition Research Review ปี 2010         นอกจากนี้ในบทความเรื่อง Butyrate: A Double-Edged Sword for Health? ในวารสาร Advance Nutrition ของปี 2018 ให้ข้อมูลว่า การกินเกลือบิวทิเลตมากเกินไปจะส่งผลให้ตับมีการเปลี่ยนสารนี้ไปเป็น acetyl CoA ซึ่งเซลล์ตับสามารถนำไปสร้างเป็นกรดไขมันตลอดถึงคอเลสเตรอลได้เป็นอย่างดี จนผู้บริโภคนั้นสุ่มเสี่ยงต่อการเป็นโรคอ้วนและภาวะคอเลสเตอรอลในเลือดสูง         ดังนั้นจึงเห็นได้ว่าโอกาสที่เกลือบิวทิเรตที่ถูกกินเข้าไปทางปากจะไปถึงลำไส้ใหญ่และ/หรือไปต่อถึงสมองนั้นดูน่าจะเป็นไปได้ยาก ต่างจากบิวทิเรตที่สร้างโดยแบคทีเรียในลำไส้ใหญ่ ซึ่งเมื่อถูกดูดซึมด้วยเซลล์ของลำไส้ใหญ่แล้วโอกาสที่ส่วนเกินจากการถูกใช้เป็นพลังงานโดยเซลล์จะหลุดรอดไปตามกระแสเลือดสู่สมองได้บ้างย่อมเป็นไปได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 259 เมื่อโลกเผชิญวิกฤติอาหาร

        องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติร่วมกับ World Food Program องค์กรที่ให้ความช่วยเหลือด้านอาหารกับผู้ที่ขาดแคลน คาดการณ์ว่าในช่วงกลางปี 2022 มีผู้คนไม่ต่ำกว่า 222 ล้านคนใน 53 ประเทศ ต้องการความช่วยเหลือเร่งด่วน ในจำนวนนี้มีถึง 45 ล้านคน ใน 37 ประเทศที่ “ใกล้อดตาย” โดยหกประเทศที่น่าเป็นห่วงที่สุดได้แก่ อัฟกานิสถาน เยเมน โซมาเลีย เอธิโอเปีย ซูดานใต้ และไนจีเรีย ในโซนเอเชียแปซิฟิกยังมีศรีลังกาและปากีสถานที่น่ากังวลเช่นกัน         การขาดแคลนอาหารหรือภาวะอดอยากหิวโหยในประเทศเหล่านี้เกิดจากวิกฤติเศรษฐกิจ ภัยธรรมชาติ หรือการขาดเสถียรภาพทางการเมือง แต่ปัจจุบัน ภาวะโลกร้อน การระบาดของโควิด19 รวมถึงสงครามยืดเยื้อระหว่างสองประเทศผู้ส่งออกอาหารและปัจจัยการผลิตรายใหญ่ของโลกอย่างรัสเซียและยูเครน กำลังทำให้ประเทศอื่นๆ ต้องเตรียมรับมือกับ “ความไม่มั่นคงทางอาหาร” เช่นกัน         ประเทศจีนเตรียมรับมือกับวิกฤติอาหารตั้งแต่ก่อนเกิดโรคระบาดหรือสงครามด้วยซ้ำ ความมั่นคงทางอาหารเป็นสิ่งที่รัฐบาลให้ความสำคัญมาโดยตลอด ประธานาธิบดีสีจิ้นผิงย้ำเรื่องนี้ออกทีวีอยู่บ่อยๆ ตั้งแต่ขอให้เลิกกินทิ้งกินขว้าง ประกาศว่า “อาหารของคนจีน ต้องผลิตโดยคนจีนและเป็นเจ้าของโดยคนจีน” และมอบหมายให้ทุกคนในประเทศ (ประมาณ 1,400 ล้านคน) ร่วมกันสร้างความมั่นคงทางอาหาร          แต่จีนก็จะยังต้องพบกับความท้าทายอีกมากในช่วงสิบปีข้างหน้า ทั้งจากภัยแล้งรุนแรงที่ทำให้ผลผลิตตามฤดูกาลไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ในขณะที่ประชากรที่มีรายได้มากขึ้น ก็มีความต้องการบริโภคมากขึ้นด้วย มีการคาดการณ์กว่าในอีกแปดปีข้างหน้า ความสามารถในการผลิตอาหารของจีนจะอยู่ที่ร้อยละ 58.8 ของความต้องการในประเทศเท่านั้น         ที่ผ่านมาจีนได้ปฏิรูปสิทธิในที่ดินทำกิน ยกระดับความเป็นอยู่ของเกษตรกร ลงทุนในเทคโนโลยีประหยัดน้ำ และเทคโนโลยีการผลิตอาหาร รวมถึงเพิ่มการผลิตเมล็ดพันธุ์ กระทรวงเกษตรและการชนบทของจีนระบุว่าได้เปิดกิจการเมล็ดพันธุ์เพิ่มอีก 116 แห่ง (จากที่เคยมีอยู่ 100 แห่ง) นอกจากนี้ทั้งรัฐบาลและเอกชนของจีนยังออกไปกว้านซื้อที่ดินและกิจการผลิตอาหารในต่างประเทศด้วย         มาดูที่อินเดียซึ่งเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่อันดับสองของโลกกันบ้าง รัฐบาลกังวลว่าจะมีข้าวไม่พอต่อความต้องการของประชากร 1,380 ล้านคนในประเทศ เพราะปีนี้ผลผลิตข้าวลดลงไปประมาณ 10 – 12 ล้านตัน เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา อินเดียประกาศห้ามส่งออก “ปลายข้าว” ซึ่งเป็นข้าวที่มีราคาถูกกว่าและเป็นทางเลือกให้กับคนรายได้น้อย (ที่ผ่านมาปลายข้าวจะมีผู้รับซื้อจากต่างประเทศเพื่อนำไปใช้เป็นส่วนผสมในอุตสาหกรรมผลิตอาหารสัตว์) นอกจากนี้ยังเรียกเก็บภาษีร้อยละ 20 จากข้าวบางชนิดที่ส่งออกด้วย เรื่องนี้ส่งผลกระทบต่อ “ลูกค้า” ของอินเดีย (ปัจจุบันมี 133 ประเทศ) กลุ่มที่เป็นประเทศกำลังพัฒนาที่คาดหวังว่าจะซื้อข้าวได้ในราคาถูกด้วย         มาตรการลักษณะนี้อาจกลายเป็น “นิวนอร์มอล” เพราะภาวะอากาศสุดขั้วและฝนฟ้าที่คาดเดาไม่ได้ทำให้ผลผลิตทางการเกษตรของอินเดียไม่มีเหลือเฟือเหมือนที่เคย สองวันหลังประกาศว่าจะส่งออกข้าวสาลีให้ได้ 10 ล้านตันในปีนี้ อินเดียซึ่งเป็นผู้ส่งออกข้าวสาลีอันดับสามของโลกรองจากรัสเซียและยูเครน ก็กลับลำ ประกาศห้ามส่งออกข้าวสาลีโดยให้มีผลทันที (ยกเว้นในบางประเทศ) และอินเดียซึ่งเป็นผู้ส่งออกน้ำตาลรายใหญ่อันดับสองของโลกยังประกาศจำกัดการส่งออก เพื่อให้มีน้ำตาลเพียงพอต่อความต้องการในประเทศด้วย         ด้านยุโรปก็เตรียมรับมือกับภาวะขาดแคลนอาหารในช่วงฤดูหนาวเช่นกัน สืบเนื่องจากมาตรการแก้เผ็ดกลุ่มประเทศตะวันตกด้วยการปิดท่อส่งก๊าซของรัสเซีย         สหภาพเกษตรกร Copa-Cocega บอกว่าผลิตภัณฑ์เบเกอรีและผลิตภัณฑ์จากนมวัวจะได้รับผลกระทบมากที่สุด เพราะขั้นตอนการพาสเจอไรส์และการทำนมผงต้องใช้พลังงานมหาศาล ราคาเนยจึงแพงขึ้นร้อยละ 80 ในขณะที่นมผงก็แพงขึ้นร้อยละ 55         ขณะที่เนเธอแลนด์ ผู้ส่งออกสินค้าเกษตรรายใหญ่อันดับสองของโลกรองจากสหรัฐฯ ก็ประกาศหยุด/ลด การปลูกผัก ผลไม้ และดอกไม้ ในโรงเรือน เนื่องจากต้นทุนพลังงานในฤดูหนาวปีนี้แพงเกินไป เช่นเดียวกับ Nordic Greens Trelleborg ผู้ปลูกมะเขือเทศรายใหญ่สุดของสวีเดน ที่ยอมรับว่าหน้าหนาวปีนี้จะไม่มีผลผลิตมะเขือเทศออกสู่ตลาดเพราะ “สู้ค่าไฟไม่ไหว”           สถานการณ์นี้อาจทำให้ยุโรปกลับไปใช้แผนดั้งเดิม นั่นคือยุโรปเหนือจะไม่ผลิตพืชผักนอกฤดูกาล แต่จะยกให้เป็นหน้าที่ของแหล่งผลิตในยุโรปใต้ เช่นสเปน ซึ่งไม่ต้องพึ่งพาฮีทเตอร์ เพราะอากาศอบอุ่นอยู่แล้ว         แล้วประเทศไทยซึ่งเป็นผู้ส่งออกอาหารไปเลี้ยงชาวโลกเป็นอันดับต้นๆ พอจะวางใจเรื่องนี้ได้ไหม ทีมวิจัยจาก Economist Impact จัดอันดับให้ไทยมีความมั่นคงทางอาหารเป็นลำดับที่ 64 จาก 113 ประเทศที่เขาสำรวจ ขณะที่สิงคโปร์ซึ่งพึ่งพาอาหารนำเข้าเป็นหลักได้คะแนนเป็นอันดับที่ 28        เมื่อดูในรายละเอียดจะพบว่าจุดแข็งของเราคือ “ราคา/ความสามารถในการซื้อหาอาหาร” (83.7 คะแนน จากคะแนนเต็ม 100) แต่ในหมวดที่เหลือเราทำได้ไม่ดีนัก เช่น “ความสามารถในการผลิตอาหาร” เราได้ 52.9 คะแนน ด้าน “ความยั่งยืนและการปรับตัวรับความเสี่ยง” เราได้เพียง 51.6 คะแนน และเราสอบตกในเรื่อง “คุณภาพ (ความหลากหลายและคุณค่าทางอาหาร) และความปลอดภัย” ที่เราได้เพียง 45.3 คะแนน------ เอกสารอ้างอิง    https://www.fao.org/3/cc2134en/cc2134en.pdfhttps://asia.nikkei.com/Spotlight/The-Big-Story/Farming-out-China-s-overseas-food-security-questhttps://asia.nikkei.com/Politics/International-relations/India-clamps-down-on-rice-exports-as-global-food-worries-growhttps://www.dw.com/en/how-can-india-protect-its-food-security-under-extreme-weather-conditions/a-62011438https://www.businessinsider.com/food-energy-gas-crisis-europe-farmers-shut-operations-reduce-production-2022-9https://impact.economist.com/sustainability/project/food-security-index

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 259 กินอย่างไรจึงอายุยืน

        นักวิทยาศาสตร์ได้ตั้งข้อสังเกตถึงการศึกษาด้านอาหารและโภชนาการที่เกี่ยวข้องกับ การควบคุมแคลอรีและโปรตีน ในอาหารว่า ความเหมาะสมของสารอาหารทั้งสองมีประโยชน์เกี่ยวกับช่วงอายุ (lifespan) ของสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาในสัตว์ที่มีอายุไขสั้น เช่น หนอน Caenorhabditis elegans ไปถึงสัตว์ที่ใหญ่กว่าเช่น หนู กระต่าย ลิง ตลอดจนการศึกษาทางระบาดวิทยาและการทดลองทางคลินิกขนาดใหญ่ในคน         มีการตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติมว่า สัดส่วนในอาหารของโปรตีนที่ถูกควบคุมปริมาณให้ไม่มากแต่ต้องเพียงพอต่อความต้องการของการดำรงชีวิต หรือเป็นการบริโภคโปรตีนจากพืชตระกูลถั่วในระดับแม้อาจสูงกว่าโปรตีนจากเนื้อสัตว์นั้นอาจเพิ่มช่วงอายุและก่อให้เกิดสุขภาพที่ดีโดยมีสมมุติฐานว่า เป็นการลดการบริโภคกรดอะมิโนบางชนิดซึ่งหมายถึง เมไทโอนีน (methionine) ทั้งนี้เพาะกรดอะมิโนเมไทโอนีนนั้นได้ถูกนำไปเชื่อมโยงกับกระบวนการที่เป็นวิถีทางของกระบวนการของการแก่ของเซลล์ต่างๆ ดังอธิบายไว้ในบทความเรื่อง Methionine Restriction Extends Lifespan in Progeroid Mice and Alters Lipid and Bile Acid Metabolism ในวารสาร Cell Reports ของปี 2018 โดยบทความนี้ได้ให้ข้อมูลที่ได้จากการศึกษาในหนู mouse ว่า การจำกัดปริมาณกรดอะมิโนเมไทโอนีนลงระดับหนึ่งช่วยลดการถอดรหัสของดีเอ็นเอเพื่อสร้างโปรตีนที่เป็นปัจจัยสำคัญต่อการเกิดการอักเสบและการตอบสนองเมื่อเกิดจากความเสียหายของ DNA และช่วยฟื้นฟูเซลล์เนื่องจากเกิดความผิดปกติของเมตาบอลิซึมที่เกี่ยวกับไขมันและกรดน้ำดี สำหรับคำว่า progeroid ที่อยู่ในบทความที่กล่าวถึงนั้นเป็นคำคุณศัพท์ที่ใช้อธิบายถึงกลุ่มอาการของความผิดปกติทางพันธุกรรมที่เกิดน้อยมากในคน ผู้ป่วยกลุ่มนี้มีลักษณะทางคลินิกที่คล้ายคนแก่ทั้งที่ยังหนุ่มสาว เช่น ผมร่วง รูปร่างเตี้ย ความหนาแน่นและลักษณะของผิวหนังเป็นแบบคนแก่ มักเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด และโรคกระดูกพรุน         ในประเด็นเกี่ยวกับการมีอายุยืนเพราะมีรูปแบบการกินอาหารเหมาะสมนั้น Wikipedia และเว็บไซต์ต่าง ๆ (ซึ่งมีเอกสารวิชาการอ้างอิงในแหล่งเหล่านั้น) กล่าวถึง ชาวโอกินาวา (Okinawa) ในญี่ปุ่น ชาวบาร์บาเกีย (Barbagia) ในอิตาลี และชาวโลมา ลินดา (Loma Linda) ในสหรัฐอเมริกา         ชาวโอกินาวา ซึ่งมักประกอบอาชีพประมงและเกษตรกรรมอื่นๆ ทางตอนใต้ของญี่ปุ่น มีอัตราการเป็นโรคหัวใจ มะเร็งเต้านม มะเร็งต่อมลูกหมาก รวมถึงภาวะกระดูกพรุนที่ต่ำกว่าคนญี่ปุ่นที่มีอายุ 90 ปีเท่ากัน สิ่งที่น่าสนใจคือ พบว่าการทํางานของสมองและร่างกายของคนญี่ปุ่นทั่วไปมักลดลงต่ำกว่า 50% ในขณะที่ชาวโอกินาวานั้น ยังมีสภาพร่างกายที่สามารถทํางานได้ราว 85 % ของเมื่อยังหนุ่มสาว โดยรูปแบบการกินของชาวโอกินาวา คือ        o  กินอาหารหลากหลายในแต่ละวันซึ่งตรงกับหลักการทางพิษวิทยาที่ว่า การได้รับสารเคมีทั้งธรรมชาติและสังเคราะห์ในอาหารนั้น ถ้าไม่จำเจนักร่างกายควรกำจัดทิ้งได้จนไม่เกิดการสะสม        o  กินอาหารในแต่ละมื้อให้รู้สึกอิ่มเพียง 80% เท่านั้น หรือแค่ให้ไม่รู้สึกหิว (เพราะหลังจากนั้นร่างกายจะปรับกระบวนการทางสรีระวิทยาที่จะส่งข้อมูลไปสมองว่า อิ่มแล้ว) เพื่อเป็นการป้องกันการกินเกินจนเป็นโรคอ้วน        o  กินอาหารทํามาจากถั่วเหลือง เช่น เต้าหู้ มิโซะ ซอสถั่วเหลือง เต้าเจี้ยว และถั่วหมักอื่น ๆ ซึ่งมีสารพฤกษเคมีช่วยลดความเสี่ยงมะเร็งเต้านม มะเร็งต่อมลูกหมาก และภาวะกระดูกพรุน        o  ดื่มน้ำมากกว่า 2 ลิตรต่อวัน เพื่อช่วยในการนำของเสียหรือสารพิษที่ร่างกายปรับเปลี่ยนเรียบร้อยแล้วออกจากร่างกาย        o  กินอาหารเช้าเป็นอาหารหลักเพื่อให้ร่างกายปฏิบัติภาระกิจได้เต็มที่หลังจากอดอาหารในช่วงการนอนหลับทั้งคืน โดยลดปริมาณอาหารมื้ออื่นๆ ให้ต่ำลงในด้านพลังงาน        o  ปลูกผักกินเองและเผื่อแผ่เพื่อนบ้านเพื่อเลี่ยงสารเคมีตกค้าง        o  กินอาหารทะเลซึ่งอุดมไปด้วยไขมันโอเมก้า-3 ซึ่งช่วยลดอาการอักเสบของอวัยวะต่างๆ ในร่างกาย ทั้งนี้เพราะมีงานวิจัยกล่าวว่า โอเมก้า-3 อยู่ในกระบวนการที่ลดการสร้างพรอสตราแกรนดิน (prostraglandin) ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการอักเสบ (inflammation) ของเนื้อเยื่อ         ชาวบาร์บาเกีย เป็นกลุ่มชนที่อาศัยในแคว้นซาร์ดิเนียของอิตาลีซึ่งเป็นเกาะขนาดใหญ่ในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ดังนั้นคนกลุ่มนี้จึงถือว่ากิน อาหารแบบเมดิเตอร์เรเนียน (ซึ่งต่างจากอาหารอิตาเลียนแทบจะโดยสิ้นเชิง) ทำให้มีอัตราเสี่ยงต่อโรคหัวใจน้อยที่สุดในโลก ซึ่งรูปแบบการกินของชาวบาร์บาเกีย คือ        o  กินอาหารมื้อเช้าเป็นหลัก โดยมีผักสด ผลไม้สด ธัญญาหาร ข้าวไม่ขัดสี เป็นองค์ประกอบหลักซึ่งช่วยลดความเสี่ยงของมะเร็งต่าง ๆ โดยเฉพาะมะเร็งลำไส้ใหญ่        o  ปรุงอาหารด้วยน้ำมันมะกอกซึ่งเป็นกรดไขมันที่ไม่อิ่มตัวตำแหน่งเดียว (ซึ่งมีโอกาสถูกเปลี่ยนให้เป็นอนุมูลอิสระน้อยมากต่างจากกรดไขมันไม่อิ่มตัวหลายตำแหน่ง (PUFA) ในน้ำมันถั่ว รำขาว และอื่น ๆ ซึ่งถึงมีประโยชน์สูงแต่ถ้ากินมากต้องกินร่วมกับพืชผักที่มีสารต้านอนุมูลอิสระสูงด้วย) และมีส่วนช่วยลดระดับคอเลสเตอรอล        o  กินอาหารที่มีถั่วเปลือกแข็งต่างๆ ซึ่งมีวิตามินอีและวิตามินอื่น ๆ สูงเป็นประจำ        o  ใช้สมุนไพรและเครื่องเทศในการปรุงอาหารกินเอง โดยหวังประโยชน์จากพฤกษเคมีในปริมาณที่เหมาะสม        o  ดื่มไวน์พร้อมอาหารมื้อเย็นไม่เกิน 2 แก้วไวน์ต่อวันสําหรับผู้ชาย และไม่เกิน 1 แก้วไวน์ต่อวันสําหรับผู้หญิง ซึ่งกล่าวกันว่าน่าจะส่งผลดีต่อร่างกายและลดอัตราการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดได้ (อย่างไรก็ดีสำหรับพุทธมามกะแล้วการดื่มน้ำองุ่นหรือน้ำผลไม้/น้ำผักที่มีสีเข้มหน่อย ก็ได้ประโยชน์แทบไม่ต่างจากการดื่มไวน์เลย แถมยังดีกว่าที่ไม่ต้องเสี่ยงต่อการเมาไร้สติ)        o  กินปลาและสัตว์ปีกโดยเลี่ยงการกินสัตว์ใหญ่ เลี่ยงการอาหารปรุงสำเร็จทางอุตสาหกรรมซึ่งส่วนใหญ่เค็ม        o  หลีกเลี่ยงการใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารซึ่งจริงแล้วคือ องค์ประกอบปรกติในอาหารแต่อยู่ในปริมาณ megadose ที่เพิ่มภาวะงานในการกำจัดทิ้งของตับและไตโดยไม่จำเป็น ยกเว้นแต่ว่าได้อยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับผู้ประกอบการขายสินค้า        o  กินอาหารเมื่อหิวอย่างช้าๆ และเคี้ยวอาหารให้ละเอียด โดยใช้เวลาในการกินแต่ละมื้ออย่างน้อย 30 นาที เพื่อให้เกิดความสุขไม่ต้องเร่งรีบจนเกิดความเครียดที่ไม่จำเป็น         ชาวโลมา ลินดา นั้นอาศัยในเมืองโลมา ลินดา ในเขตซานเบอร์นาดิโน รัฐแคลิฟอร์เนียของสหรัฐอเมริกา ชาวเมืองกลุ่มนี้ส่วนใหญ่นับถือศาสนาคริสต์นิกาย Seventh-day Adventist Church ซึ่งมีวิถีชีวิตและความเป็นอยู่ท่ามกลางมลภาวะของสิ่งแวดล้อมที่ไม่ได้ดีกว่าคนทั่วไปในสหรัฐฯ มีการใช้เครื่องอํานวยความสะดวก เครื่องมือสื่อสาร ใช้คอมพิวเตอร์เหมือนคนในเมืองใหญ่ทุกประการ มีเพียงรูปแบบการกินอาหารและแนวคิดในการดํารงชีวิตที่ดูแตกต่างคือ เป็นมังสวิรัติแบบกินไข่และนมและไปโบสถ์เป็นประจำ ซึ่งน่าจะเป็นปัจจัยทำให้มีอายุยืน เป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดรวมถึงโรคมะเร็งและโรคเบาหวานน้อยกว่าคนทั่วไปถึง 50 เปอร์เซ็นต์ โดยมีรูปแบบการกินอาหารคือ        o  กินอาหารเช้าเป็นมื้ออาหารหลักและลดปริมาณของอาหารมื้ออื่น        o  กินเนื้อสัตว์เฉลี่ยเดือนละไม่เกิน 2 ครั้งโดยประมาณ (ซึ่งคล้ายคนอินเดียวรรณะพราหมณ์ที่ต้องการกรดอะมิโนบางชนิดที่พืชผักมีต่ำไปหน่อย) หรือไม่กินเลยถ้ามีความรู้ในการจัดการอาหารให้มีคุณค่าครบตามที่ร่างกายต้องการ        o  กินถั่วเปลือกแข็งวันละประมาณ 1 กํามือทุกวัน เพื่อเป็นแหล่งของโปรตีน ไขมันไม่อิ่มตัว ใยอาหาร วิตามินอี ฯลฯ ซึ่งช่วยทําให้อิ่มได้นานขึ้น        o  หลีกเลี่ยงการปรุงแต่งเพื่อเพิ่มรสชาติของอาหาร (เลี่ยงหวาน มัน เค็ม)        o  ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะหาเครื่องดื่มอื่น ๆ ที่มีประโยชน์ทดแทนได้ไม่ยาก        o  กินอาหารช้า ๆ ร่วมกับผู้อื่นเพื่อสร้างความสุขและสัมพันธภาพที่ดี        o  หยุดกินทันทีเมื่อรู้สึกอิ่ม ซึ่งเหมาะมากสำหรับผู้ที่ไม่สนใจการกินอาหารแบบบุฟเฟ่ต์         โดยสรุปแล้วในกลุ่มคนที่ได้ชื่อว่ามีอายุยืนยาวที่สุดในโลกนั้น แม้ว่าถิ่นฐานที่อยู่อาศัย รูปแบบการดํารงชีวิตวัฒนธรรมแตกต่างกัน แต่สิ่งหนึ่งที่คล้ายคือ พฤติกรรมการบริโภคอาหารที่มาจากธรรมชาติคือ ผัก ผลไม้ ธัญพืชไม่ขัดสี ไม่กินอาหารจนอิ่มมากเกินไปโดยเน้นอาหารเช้าเป็นมื้อหลัก และดื่มน้ำเปล่าให้เพียงพอ ออกกําลังกายอย่างเป็นประจํา มีสุขภาพจิตที่ดีพอในการรับมือกับความเครียดได้ อารมณ์ดี ยิ้มแย้ม แจ่มใส มีสังคมเพื่อแบ่งปันความสุขให้แก่กันและกัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 259 เภสัชกรสาวตาใสกับคุณยายตามัว

        เสียงเคาะประตูห้องยาดังขึ้น เภสัชกรสาวตาใสวางมือจากกองยาหน้าเคาน์เตอร์ เมื่อเงยหน้าขึ้นภาพตรงหน้าคือคุณยายท่านหนึ่ง แกมาพร้อมอาการบวมที่ใบหน้า ในมือของแกถือผลิตภัณฑ์เสริมอาหารสารสกัดโกจิเบอรี่ยี่ห้อหนึ่ง จากการพูดคุยสอบถามพร้อมทั้งซักประวัติเพิ่มเติมทำให้ทราบว่าคุณยายมีโรคประจำตัวคือความดันโลหิตสูง อาการตอนนี้ นอกจากตัวบวมแล้ว ตายังพร่ามัวอีกด้วย         “ยายซื้อไอ้นี่จากรถเร่หมู่บ้านต่างอำเภอที่มาเร่ขายในหมู่บ้านของยายน่ะ คนขายเขาโฆษณาว่ากินแล้วจะช่วยให้ตามองเห็นชัดขึ้น ทีแรกยายก็ยังไม่ค่อยเชื่อนะ แต่เขาเอาเอกสารมาให้ดูเพิ่มเติม เห็นบอกว่าช่วยบำรุงดูแลดวงตาและรักษาโรคตาต้อต่างๆได้ แถมยังเน้นว่า ตามัวสั่งด่วน ตามองชัดแจ๋ว ต้อต่างๆ หาย ตาใสปิ้ง ดูแล้วก็น่าเชื่อถือดี”         “ยายอยากมองเห็นชัด เลยซื้อมากินหนึ่งกระปุก กระปุกละ 800 บาทยายก็ยอมนะ แต่พอยายกินไปได้ 7 วันเท่านั้นเอง ตัวยายก็เหมือนจะบวม หน้านี่บวมชัดเลย แถมยังผื่นขึ้นเต็มตัวอีก ตาก็ไม่ใสแต่กลับมัวมากขึ้น” คุณยายเล่าด้วยเสียงวิตก “ทำยังไงดี”         เภสัชกรสาวจึงรีบประเมินอาการพบว่า น่าจะเกิดจากการแพ้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร จึงแนะนำคุณยายให้หยุดใช้ผลิตภัณฑ์ชนิดนี้ทันทีและรีบแจ้งข้อมูลเจ้าหน้าที่ในพื้นที่เพื่อช่วยกันเตือนภัยและเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์เสริมอาหารยี่ห้อนี้ จากนั้นขอผลิตภัณฑ์ของคุณยายส่งตรวจวิเคราะห์ที่ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ เพื่อหาสารอันตรายที่อาจปลอมปนเข้ามาในผลิตภัณฑ์เสริมอาหารดังกล่าว ซึ่งกำลังรอผลวิคราะห์อยู่         “ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารไม่ใช่ยานะคะคุณยาย มันจึงไม่มีผลในการบำบัด บรรเทา หรือรักษาโรค และจากที่หนูตรวจสอบฉลากของผลิตภัณฑ์นี้ มันยังแสดงข้อมูลในฉลากไม่ครบถ้วนอีกด้วยค่ะ เพราะถ้าเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร กฎหมายกำหนดให้ต้องมีข้อความเตือนว่าไม่มีผลในการรักษาโรคด้วย นี่ถ้ามีผู้ป่วยหลงเชื่อซื้อมารับประทาน โดยหวังว่าจะรักษาโรคต่างๆ ของดวงตา นอกจากจะเสียเงินโดยเปล่าประโยชน์แล้ว ยังจะเสียโอกาสในการรักษาที่ถูกต้องด้วยนะคะ  หนูคิดว่าหากใครมีอาการทางดวงตา ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัย และรับการรักษาที่ถูกต้อง ดังนั้นขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อข้อมูลดังกล่าวนะคะ”         “การโฆษณาสรรพคุณของอาหารเป็นยารักษาโรค ถือว่าเป็นการโฆษณาคุณประโยชน์ คุณภาพหรือสรรพคุณของอาหารอันเป็นเท็จหรือเป็นการหลอกลวงให้เกิดความหลงเชื่อโดยไม่สมควร มีความผิดตามพระราชบัญญัติอาหารพ.ศ.2510 ผู้ฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินสามหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ... ยังไงฝากคุณยายช่วยกันเตือนคนอื่นๆ ในหมู่บ้านด้วยนะคะ”

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 258 การสำรวจฉลากอาหารหรือขนมที่มีส่วนผสมของกัญชา กรุงเทพมหานคร เเละ จังหวัดนครปฐม

        ข่าวเด็กป่วยจากการกินขนมผสมกัญชา ซึ่งมีการเปิดเสรีให้นำมาผสมในอาหารได้นั้น ทำให้เกิดความกังวลในหมู่ผู้ปกครองว่าวันใดวันหนึ่งบุตรหลานของตนอาจจะต้องประสบกับปัญหาการบริโภคอาหารที่มีการผสมกัญชา โดยไม่สามารถป้องกันตัวเองได้เลย ไม่เพียงเท่านั้นการเปิดกว้างแบบเสรีของการอนุญาตให้ใช้กัญชา ทำให้ประชาชนสามารถการเข้าถึงได้ง่าย ทั้งนี้จะพบว่ามีการผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคสินค้าแปรรูปที่มีส่วนผสมของกัญชาวางขายในท้องตลาดทั่วไป เช่น ร้านสะดวกซื้อ ห้างสรรพสินค้า ตลาดนัด เป็นต้น  โดยสินค้าทั้งน้ำดื่ม เครื่องดื่มชูกำลัง ขนมต่างๆ ไม่ได้ระบุ ข้อห้ามของการจำหน่าย คำเตือนภัย อันตรายต่างๆ สำหรับการจำหน่ายสำหรับเด็ก อายุต่ำกว่า 20 ปี หญิงมีครรภ์ หญิงให้นมบุตร  จึงทำให้กลุ่มนี้สามารถเข้าถึงการบริโภคสินค้าดังกล่าวโดยไม่รู้โทษภัยของสินค้าหรือผลิตภัณฑ์นั้นๆ ได้         จึงเป็นที่มาของการร่วมกันทำงานระหว่าง สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล ศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี มูลนิธิสร้างเสริมความปลอดภัยในเด็ก และนิตยสารฉลาดซื้อ จากโครงการสร้างเสริมความเข้มแข็งระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ซึ่งสนับสนุนโดย สสส.  วิธีการศึกษา        ทำการสำรวจผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของกัญชาที่จำหน่ายในท้องตลาด โดยแบ่งการสำรวจเก็บตัวอย่างสินค้า เป็น 3 กลุ่ม ได้แก่  กลุ่มที่ 1 ห้างสรรพสินค้า ร้านสะดวกซื้อ กลุ่มที่ 2 ตลาดนัด ร้านค้าริมทาง และ กลุ่มที่ 3 ร้านค้าออนไลน์ กำหนดพื้นที่ในการสำรวจ เขตกรุงเทพมหานครและจังหวัดนครปฐม        สำรวจว่าผลิตภัณฑ์ที่วางจำหน่ายนั้น มีป้ายเตือน คำเตือนหรือฉลากเตือนหรือไม่  ทั้งนี้เพื่อป้องกันการบริโภคผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของกัญชาของเด็กและสตรีมีครรภ์ หญิงให้นมบุตร และจัดทำเป็นสื่อการเรียนการสอนสำหรับกลุ่มปฐมวัยในศูนย์พัฒนาเด็กปฐมวัยสาธิต ของสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว ม.มหิดลสำรวจเดือน กรกฎาคม 2565 ข้อเสนอ        1.ควรกำกับดูแลให้มีแสดงคำเตือนผู้บริโภคบนฉลากสินค้า  ตลอดจนฉลากคำเตือนและฉลากห้ามจำหน่ายในบริเวณหรือพื้นที่ ตามที่กฎหมายกำหนด   ได้แก่ ชั้นวางสินค้าหรือแคชเชียร์ หน้าจอแสดงสินค้าบนแอพพลิเคชันต่างๆ        2.หน่วยงานด้านการศึกษา ควรจัดให้มีมีกิจกรรมสอนให้เด็กได้ทำความรู้จักกับใบกัญชา เรียนรู้เรื่องโทษจากใบกัญชา มีกิจกรรมให้เด็ก ๆ ได้เรียนรู้วิธีการเลือกซื้อขนมที่ปลอดภัย ไม่มีส่วนผสมของกัญชา

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 258 แจ็กพอตเศษฝอยขัดหม้อในอาหารกล่อง

        ปัจจุบันการใช้บริการแอปพลิเคชันเดลิเวอรี่ในการทำธุระต่างๆ เพื่อความสะดวกสบาย มักเป็นตัวเลือกแรกของผู้บริโภคยุคใหม่ เรื่องราวของคุณน้ำตาลในครั้งนี้ ก็เช่นกันเป็นเรื่องเกี่ยวกับอาหารเดลิเวอรี่ ที่เธอได้เข้ามาเล่าให้เจ้าหน้าที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคฟัง เผื่อว่าจะเป็นข้อมูลให้กับผู้บริโภคอื่นๆ ได้ใช้เป็นแนวทางในการแก้ปัญหา         เหตุการณ์มีอยู่ว่าเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา  คุณน้ำตาลกำลังนั่งประชุมงานอย่างเคร่งเครียดกับเพื่อนร่วมงานทั้งอาวุโสกว่าและคนรุ่นราวคราวเดียวกัน และเมื่อใกล้ถึงเวลาพักเที่ยง ณ ที่ห้องประชุมทุกคนได้เริ่มกดโทรศัพท์เข้าแอปพลิเคชันเพื่อเลือกสั่งอาหารกันทันที        สำหรับคุณน้ำตาลเลือกไปเลือกมาก็ได้อาหารที่ถูกใจนั้นคือ “ข้าวไก่ข้นออนเซ็น” เมื่อคุณน้ำตาลเลือกเสร็จ และทำรายการสั่งอาหารเรียบร้อยแล้ว ก็อดคิดถึงอาหารเที่ยงที่กำลังจะมาไม่ได้สมาธิประชุมเริ่มลดลงเรื่อยๆ เมื่ออาหารมาถึงทุกคนต่างไม่รีรอจัดการกับอาหารตรงหน้าของตน คุณน้ำตาลก็เช่นกัน แต่คำแรกก็ได้เรื่อง ...ขณะนำเข้าปากเธอสังเกตเห็นเศษอะไรสักอย่างเส้นหยิกๆ ตกใจสิ เศษอะไร! มองไปมองมาดันคล้ายเศษฝอยขัดหม้อ เลยให้เพื่อนร่วมงานที่นั่งอยู่ที่โต๊ะช่วยกันดูทันทีว่ามันคืออะไร สุดท้ายแล้วก็สรุปได้ว่ามันจะเป็นเศษฝอยขัดหม้อที่น่าจะหลุดออกมาตอนล้างกระทะ และมันมีขนาดที่เล็กมาก แม่ครัวอาจจะมองไม่เห็น         อดกิน คุณน้ำตาลหิวข้าวจนต้องฝากให้แม่บ้านช่วยซื้อมาให้ใหม่จากร้านค้าใกล้ที่ทำงานแทน ต่อมาหลังจากนั้น เธอก็เริ่มกระบวนการตามที่เคยได้รับคำแนะนำมา คือ ถ่ายรูปอาหารและสิ่งแปลกปลอมเก็บเอาไว้เพื่อเป็นหลักฐาน  จากนั้นก็ติดต่อร้องเรียนในศูนย์ช่วยเหลือของทางแอปพลิเคชันที่เปิดไว้ให้ผู้ใช้บริการแจ้งเหตุต่างๆ หากได้รับความเสียหายจากการใช้บริการ ต่อมาทางแอปฯ ได้จัดการชดเชยค่าเสียหายให้กับทางคุณน้ำตาลโดยการคืนเงินให้ และยังให้ voucher แก่คุณน้ำตาลเพื่อใช้ในการลดราคาสินค้าในการสั่งครั้งต่อไป         เมื่อได้รับคำตอบที่พอใจจากทางแอปฯ คุณน้ำตาลก็ลดความโมโหหิวลงไปได้ และรับประทานข้าวกลางวันอย่างมีความสุขขึ้น         ข้อคิดจากเรื่องนี้ หนึ่งความผิดพลาดย่อมเกิดขึ้นได้ การบ่นอาจไม่มีประโยชน์แต่การใช้สิทธิเรียกร้องเพื่อเยียวยาสิ่งที่เกิดขึ้นสามารถช่วยคุณได้ และสองอาหารกล่องก่อนที่เราจะรับประทานควรมองหรือสังเกตสักหน่อยก่อนรับประทาน จะช่วยให้ปัญหาไม่บานปลายเป็นผลเสียแก่สุขภาพ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 258 กระแสต่างแดน

ปลูกข้าวกันเถอะ        รัฐบาลญี่ปุ่นต้องเร่งสร้างความมั่นคงทางอาหารโดยด่วน ...ตามความเห็นของนายโตชิยูกิ อิโตะ อดีตนายพลประจำกองกำลังป้องกันตนเองทางทะเลของญี่ปุ่น ปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำสถาบันเทคโนโลยีคานาซาว่า  หลายสิบปีที่ผ่านมาคนญี่ปุ่นบริโภคข้าวและปลาน้อยลงมาก ในขณะที่ขนมปังและเนื้อสัตว์อื่นๆ  ได้รับความนิยมมากขึ้น แม้แต่ปลาที่นิยมก็เป็นปลาแมคเคอเรลและแซลมอนที่นำเข้าจากนอร์เวย์หรือชิลี“ครัว” ของคนญี่ปุ่นปัจจุบันจึงพึ่งพาสินค้านำเข้าเป็นหลัก แม้แต่ธัญพืชอาหารสัตว์ก็นำเข้าแทบทั้งหมด  เรื่องเงินไม่ใช้ปัญหาใหญ่ เพราะผู้คนมีรายได้มากขึ้น แต่หากเส้นทางขนส่งทางเรือมีเหตุให้ถูกปิดลง  เพราะสงครามที่อาจปะทุขึ้นระหว่างจีนกับไต้หวัน คนญี่ปุ่นลำบากแน่วันนี้ญี่ปุ่นมีพื้นที่ผลิตข้าวน้อยลงมากเพราะดีมานต์ที่ลดลง ประกอบกับชาวนาอายุมากขึ้นและไม่มีลูกหลานสนใจสืบทอด คนรุ่นใหม่ที่เข้าวงการก็เลือกที่จะปลูกข้าวเพียงปีละครั้ง แม้สภาพดินฟ้าอากาศจะเอื้ออำนวยให้ปลูกได้ถึงปีละสองครั้งก็ตาม ประหยัดไฟ        ปริมาณการบริโภคไฟฟ้าของเดนมาร์กในช่วงเจ็ดเดือนแรกของปีนี้ ลดลงเกือบร้อยละสิบ เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2564 Energinet หรือ “การไฟฟ้าเดนมาร์ก” ให้ข้อมูลว่าการใช้ไฟฟ้าในช่วงเวลากลางวันลดลงไปอย่างเห็นได้ชัด สอดคล้องกับพฤติกรรม “นิวนอร์มอล” ของคนเดนมาร์กที่ประหยัดไฟด้วยการงดทำอาหารประเภทที่ต้องอบนาน ไม่ใช้เครื่องอบผ้า รวมถึงเปลี่ยนไปซักผ้า/ล้างจาน ในตอนกลางคืน และเลือกซัก/ล้างด้วยโปรแกรม “ประหยัด”  ค่าไฟในเดนมาร์กพุ่งขึ้นเป็น 7.72 โครนต่อกิโลวัตต์ชั่วโมง จาก 2.87 โครน ในช่วงต้นปี ผู้ใช้ไฟฟ้าจึงพากันดาวน์โหลด “แอปฯ มอนิเตอร์ค่าไฟ” เพื่อเป็นตัวช่วยให้รู้ช่วงเวลาที่ค่าไฟถูกก่อนหน้านี้รัฐบาลช่วยจ่ายค่าไฟให้กับผู้มีรายได้น้อย 400,000 ครอบครัว ในอัตราครัวเรือนละ 6,000 โครน (ประมาณ 30,000 บาท) ทั้งนี้เงินจะถูกโอนเข้าบัญชีสมาชิกครอบครัวที่อายุมากที่สุดโดยอัตโนมัติ  สองล้อกลับมาแล้ว        นโยบายโควิดเป็นศูนย์ของจีนสร้างความปวดหัวให้ผู้คนไม่น้อย แต่ผลพลอยได้คือการใช้จักรยานที่เพิ่มขึ้น หลังซบเซาไปนานเพราะผู้คนเปลี่ยนไปใช้รถยนต์หรือรถสาธารณะเช่น สถิติการใช้จักรยานพุ่งขึ้นเป็นประวัติการณ์ หลังหยุดยาวช่วงวันแรงงานที่รัฐบาลสั่งปิดระบบขนส่งมวลชนบางส่วนและขอให้ผู้คนงดออกจากบ้านเพื่อลดการกระจายเชื้อ หรือกรณี “เซี่ยงไฮ้ล็อคดาวน์” ที่ผู้คนต้องสัญจรไปมาด้วยจักรยาน เพราะรัฐอนุญาตให้คนที่ออกจากบ้านได้เดินทางด้วยจักรยานเท่านั้นจนถึงวันนี้ ย่านใจกลางกรุงปักกิ่งก็มีการใช้จักรยานเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 47.8 นอกจากนโยบายโควิดแล้วยังมีปัจจัยเรื่องราคาน้ำมัน และโครงสร้างพื้นฐานที่พร้อมรองรับการขับขี่จักรยานด้วยรายงานระบุว่าเรื่องนี้ส่งผลดีทั้งต่ออุตสาหกรรมผลิตจักรยานในประเทศจีน ซึ่งมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 12,000 ล้านเหรียญ ด้วยกำลังผลิตปีละ 76.4 ล้านคัน และผู้ผลิตจักรยานในอเมริกาและยุโรปซึ่งมีกลุ่มลูกค้าเป็นชนชั้นกลาง ที่ยินดีจ่ายค่าจักรยานได้ถึงคันละ 14,800 เหรียญ (ประมาณ 550,000 บาท) ขอคนช่วยเลี้ยง        สวัสดิการการเลี้ยงดูบุตรของเยอรมนีอาจดูน่าอิจฉาในสายตาของประเทศอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งกฎหมายที่กำหนดให้รัฐบาลจัดหาเดย์แคร์ หรือศูนย์รับเลี้ยง ให้กับเด็กวัย 3 ปีขึ้นไปที่พ่อแม่ต้องออกไปทำงาน   แต่ปัจจุบันศูนย์ฯ เหล่านี้มีไม่เพียงพอ และไม่มีใครสนใจอยากสมัครมาทำงาน เพราะเป็นตำแหน่งพาร์ทไทม์ที่ค่าตอบแทนน้อย และไม่มีโอกาสก้าวหน้า รายงานระบุว่าเยอรมนียังขาดแคลนบุคลากรด้านนี้อีกอย่างน้อย 160,000 คนเมื่อพ่อแม่ไม่อยากใช้เวลา 90 นาที ขับรถไปส่งลูกที่ “ศูนย์ใกล้บ้าน” จึงหาทางออกด้วยการฝากลูกไว้กับปู่ย่าตายาย ใช้บริการสถานรับเลี้ยงเด็กของเอกชน หรือจ้างพี่เลี้ยงไว้ที่บ้านหากเงินถึง และมี “คุณแม่” จำนวนไม่น้อยตัดสินใจอยู่บ้านเลี้ยงลูกเรื่องนี้ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของผู้หญิง เพราะเมื่อไม่ได้ทำงาน พวกเธอก็มีเงินสะสมน้อยและมีความเสี่ยงมากขึ้นที่จะ “จน” ในยามแก่ กินน้อยก็ปัง        คอนเทนต์ประเภท “โชว์กินดะ” จากเกาหลีใต้ได้รับความนิยมไปทั่วโลก จนคำว่า “ม็อกบัง” ได้ถูกนำไปบัญญัติไว้ในพจนานุกรมออกซ์ฟอร์ดในปี 2021 แต่เสียงวิพากษ์วิจารณ์ในหมู่ชาวเกาหลีเองก็มีไม่น้อยนอกจากการกินมากไปจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพ หรือกินทิ้งกินขว้างที่ทำให้เกิดขยะโดยไม่จำเป็นแล้ว พฤติกรรมบางอย่างในคลิปเหล่านี้ก็ไม่ถูกต้องตามธรรมเนียมเกาหลี เช่น การกัดเส้นบะหมี่ให้ขาดทั้งที่ยังไม่หมดคำ หรือการเขี่ยอาหาร ที่เชื่อกันว่าจะนำมาซึ่งโชคร้ายคนส่วนหนึ่งจึงหันไปสนใจ “โซซิกจวา” ซึ่งเป็นรายการที่พูดถึงพฤติกรรมการกินอาหารเพียงเล็กน้อย (เพราะเจ้าตัวรู้สึกว่าเพียงพอต่อความต้องการ ไม่ใช่เพื่อการลดน้ำหนัก) และการเคี้ยวอาหารแต่ละคำให้นานขึ้น ของเหล่าเซเล็บเกาหลีช่อง Unnies without Appetite ที่มีซานดารา พัค อดีตสมาชิกวงเกิร์ลกรุ๊ป 2NE1  มาแชร์ประสบการณ์ว่าเธออยู่ได้ทั้งวันด้วยการกินกล้วยเพียงหนึ่งผล ก็มีผู้ยอดเข้าชมมากกว่าหนึ่งล้านวิว    

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 258 กินให้อายุยืน

        ราว 440 ปีก่อนคริสตกาล แพทย์ชาวกรีกชื่อ ฮิปโปเครติส กล่าวว่า "จงยอมให้อาหารเป็นยาและปรับให้ยาของท่านเป็นอาหาร (Let food be thy medicine and let thy medicine be food)" ซึ่งปัจจุบันนี้มีผู้กล่าวถึงอย่างมาก แต่มักไม่ให้คำอธิบายเชิงวิชาการได้ว่า ทำไมจึงควรกินอาหารจานใดหรือรูปแบบใดเป็นประจำเพื่อให้มีอายุที่ยืนยาวกว่าที่น่าจะเป็น         Wikipedia ได้ให้ข้อมูลถึงพฤติกรรมการบริโภคของกลุ่มผู้ที่มีอายุยืนยาวที่สุด 3 กลุ่มในโลก ได้แก่ ชาวโอกินาวา ชาวบาร์บาเกียและชาวโลมา-ลินดา โดยเรียกคนใน 3 กลุ่มนี้ว่าอาศัยอยู่ใน “Blue Zone” ซึ่งหมายถึงบริเวณที่มีประชากรอายุมากเกินกว่า 100 ปีอาศัยอยู่เป็นจํานวนมาก ไม่ใช่เพียงแค่อายุยืนยาวเพียงอย่างเดียว แต่สุขภาพกายรวมถึงความจําและสุขภาพจิตก็ดีมากอีกด้วย         บทความทบทวนเอกสารเรื่อง Effect of Calorie Restriction on Mood, Quality of Life, Sleep, and Sexual Function in Healthy Non-obese Adults: The CALERIE 2 Randomized Clinical Trial ในวารสาร JAMA Internal Medicine ของปี 2016 ได้ระบุว่า การศึกษาหลายเรื่องเกี่ยวกับการมีอายุยืนนั้นได้แสดงให้เห็นถึงภูมิปัญญาในคำกล่าวที่ว่า มีการใช้อาหารเป็นยา ซึ่งได้มาจากการเฝ้าสังเกตทั้งปริมาณและประเภทอาหาร รวมถึงช่วงเวลาการกินหรือไม่กินอาหารก็ถูกระบุว่าเป็นปัจจัยสำคัญด้วย โดยปัจจัยที่สามเกี่ยวกับช่วงเวลาการกินนั้นได้ถูกกล่าวไว้ในบทความเรื่อง The role of intermittent fasting and meal timing in weight management and metabolic health ในวารสาร Proceedings of the Nutrition Society ของปี 2020 ที่ระบุว่า ความตั้งใจอดอาหารเป็นครั้งคราว (fasting-mimicking diet) นั้นมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการมีสุขภาพที่ดี         ข้อสังเกตประการหนึ่งจากบทความใน JAMA Internal Medicine ของปี 2016 ข้างต้นคือ มีคำแนะต่อการทำวิจัยในประเด็นนี้ว่า แทนที่จะมุ่งเป้าไปที่แคลอรี่ของอาหารเป็นสำคัญนั้น การทำวิจัยควรมุ่งเป้าไปที่รูปแบบอาหารที่ช่วยในการรักษาดัชนีมวลกายหรือ BMI ให้ต่ำกว่า 25 พร้อมทั้งรักษาระดับไขมันในร่างกายให้เป็นไปตามเพศและวัยที่เหมาะสม ซึ่งรวมถึงการมีร่างกายที่ดูดีไม่มีไขมันเกินด้วย อย่างไรก็ตามการกำหนดรูปแบบอาหารที่เหมาะสมแม่นยำแก่ผู้บริโภคแต่ละคนนั้นยังคงเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ โดยหลักฐานที่มีเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ นั้นบ่งชี้ว่า รูปแบบอาหารที่เหมาะสมอาจขึ้นอยู่กับปัจจัยทางสุขภาพต่างๆ ที่สัมพันธ์กัน รวมทั้งอายุ เพศ และพันธุกรรมของแต่ละคน         งานวิจัยเกี่ยวกับผลของอาหารต่อความยืนยาวของอายุนั้น มักเป็นการทบทวนการศึกษาด้านโภชนาการหลายร้อยเรื่องที่ศึกษาในห้องทดลองตั้งแต่ระดับเซลล์ไปจนถึงมุมมองทางระบาดวิทยา เพื่อระบุหา รูปแบบโภชนาการที่เป็นตัวร่วมของอาหารเพื่อการมีอายุยืนยาวพร้อมมีสุขภาพดี โดยส่วนใหญ่แล้วพบว่า การกินอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตไม่ขัดสี (เช่น ข้าวกล้อง ข้าวซ้อมมือ ข้าวสาลีไม่ขัดสีที่ใช้ทำขนมปังโฮลวีท) ในระดับกลางถึงสูง กินโปรตีนจากพืชในปริมาณที่ไม่ต้องมากนักเพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย และการกินปลาเป็นประจำนั้นเชื่อมโยงกับอายุขัยที่เพิ่มขึ้น         พื้นฐานของอาหารที่น่าจะช่วยให้อายุยืนควรเป็นอย่างไร         บทความเรื่อง Nutrition, longevity and disease: From molecular mechanisms to interventions ในวารสาร Cell ของปี 2022 ได้วิเคราะห์การศึกษาหลายร้อยชิ้นที่ตรวจสอบผลของภาวะโภชนาการต่อการแก่ที่ช้าลงในสัตว์ทดลองที่มีช่วงอายุสั้น ในแง่การตอบสนองต่อสารอาหารที่สนใจศึกษา การจำกัดแคลอรี่ การอดอาหาร และการกินอาหารที่มีธาตุอาหารหลักในระดับที่ต่างกัน โดยที่งานวิจัยเหล่านั้นได้วิเคราะห์ภาวะโภชนาการและอาหารจากหลายแง่มุม ตั้งแต่การศึกษาในระดับเซลล์ ต่อไปถึงในสัตว์ทดลอง ก่อนขยายไปถึงการวิจัยทางคลินิกและทางระบาดวิทยาที่ศึกษาวิถีชีวิตของกลุ่มชนใดๆ ในช่วงร้อยปีที่ผ่านไป จนท้ายที่สุดนักวิจัยพบว่า อาหารที่ควรทำให้อายุยืนประกอบด้วย        1. อาหารที่อุดมด้วยพืชตระกูลถั่วและธัญพืชไม่ขัดสีเช่นที่กลุ่มมังสวิรัติ และ Pescatarian (มังสวิรัติที่งดเว้น ไข่ นมและผลิตภัณฑ์จากนม เนื้อสัตว์ทุกชนิดแต่กินปลา) กินในชีวิตประจำวัน        2. ร้อยละ 30 ของพลังงานได้มาจากไขมันพืช (น่าจะหมายถึงกรดไขมันไม่อิ่มตัว) เช่น ถั่ว น้ำมันมะกอก และธัญพืชต่างๆ        3. กินอาหารโปรตีนต่ำแต่เพียงพอจนถึงอายุ 65 แล้วจึงบริโภคโปรตีนในระดับปานกลาง (โดยอาหารที่มีโปรตีนสูงคือ อาหารที่ให้แคลอรีจากโปรตีนรวมร้อยละ 20 หรือมากกว่าต่อวัน)        4. อาหารมีน้ำตาลต่ำ ซึ่งจริงแล้วคงคลุมไปถึงอาหารที่ไม่หวาน มัน เค็ม        5. เลี่ยงการบริโภคเนื้อแดง (เนื้อที่ต้มแล้วยังมีสีแดงเนื่องจากมีมัยโอกลอบินสูง ส่วนเนื้อขาวนั้นเช่น อกไก่ ซึ่งพอต้มแล้วจะซีด) หรือเลี่ยงเนื้อแปรรูปเช่น แฮม เบคอน ไส้กรอก โดยเน้นให้กินเนื้อขาวแค่พอเพียง        6. ในวันหนึ่งให้กินอาหารในช่วง 12 ชั่วโมงและอดอาหาร 12 ชั่วโมงต่อวัน ซึ่งน่าจะเป็นการลดการกินอาหารเกินความต้องการของร่างกาย        7. ปฏิบัติตนตาม fasting-mimicking diet ซึ่งเป็นการวางโปรแกรมอาหารที่จำลองการอดอาหารโดย จำกัดแคลอรี่ให้ไม่เกิน 770 - 1,100 Kcal/วัน โดยเน้นโปรตีนที่มาจากพืช (ถั่วลันเตา ถั่วเหลือง เมล็ดธัญพืช) เลือกคาร์โบไฮเดรตที่มีดัชนีน้ำตาลต่ำ (Low glycemic index) เช่น ข้าวกล้องและข้าวซ้อมมือ ปฏิบัติการในลักษณะนี้ทำเพียง 5 วันติดต่อกันในแต่ละเดือน (25 วันที่เหลือ เลือกกินให้ดีที่สุด) เป็นระยะเวลา 3 เดือนติดต่อกัน การปรับรูปแบบการกินอาหารนั้นมีลักษณะเป็นหลักตายตัวหรือไม่         อาหารนั้นควรถูกปรับให้เข้ากับความต้องการของแต่ละบุคคล โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไปต้องระวังการขาดสารอาหารหลัก ตัวอย่างเช่น ผู้ที่มีอายุมากกว่า 65 ปี บางคนอาจมีร่างกายที่อ่อนแอลงถ้ายังกินอาหารที่มีโปรตีนต่ำแต่พอเพียงแบบช่วงชีวิตหนุ่มสาว (โปรตีนต่ำมักนำไปสู่การขาดสารอาหารจำเป็นปริมาณน้อยหรือ micronutrients ด้วยเพราะสารกลุ่มนี้แทบทุกชนิดอยู่ในเซลล์ของเนื้อสัตว์) ดังนั้นจึงควรเข้าใจในการประเมินว่า ร่างกายของผู้สูงอายุนั้นอยู่ในสภาวะมีสุขภาพดีหรือไม่ โดยดูง่าย ๆ ว่า ถ้ายังคงกินอาหารแบบเดิมแล้วในหนึ่งปีเป็นหวัดบ่อยหรือไม่ คำแนะนำนี้อาศัยหลักว่า ไข้หวัดมักเกิดเมื่อภูมิต้านทานของร่างกายต่ำลงกว่าที่ควร ซึ่งมักเกิดเนื่องจากการได้รับโปรตีนและสารอาหารสำคัญที่ต้องการในปริมาณน้อยเช่น สังกะสี ในเนื้อสัตว์ต่ำไป พร้อมไปกับการได้รับวิตามินเอจากเนื้อสัตว์หรือเบต้าแคโรทีนจากผักผลไม้ต่ำกว่าควร สำหรับผู้ที่ไม่มีภาวะดื้อต่ออินซูลินหรือเป็นโรคอ้วนก็ยังจำเป็นต้องบริโภคคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อนสูงเพื่อให้ได้พลังงานโดยไม่เพิ่มการหลั่งอินซูลิน         สำหรับในฉลาดซื้อฉบับต่อไป ของฝากจากอินเทอร์เน็ต จะกล่าวถึงกลุ่มชน 3 กลุ่มคือ ชาวโอกินาวา ชาวบาร์บาเกียและชาวโลมา-ลินดา ซึ่งมีงานวิจัยทำการศึกษาแบบเป็นเรื่องเป็นราวถึงรูปแบบการกินอาหารแล้วว่า น่าจะช่วยให้สุขภาพดีและมีอายุยืนนาน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 257 Cookpad ศูนย์รวมสูตรอาหารของผู้ชื่นชอบการทำอาหาร

        แม่บ้านแทบจะทุกคนต้องเคยเจอกับปัญหาเรื่องการคิดเมนูกับข้าวแน่นอน เพราะในแต่ละวันเรื่องสำคัญที่สุดนั่นก็คือการเตรียมอาหาร 3 มื้อให้กับครอบครัว ถ้าเทียบเมนูกับข้าวมื้อละ 3 อย่าง วันละ 3 มื้อ ภายใน 1 วัน แม่บ้านแต่ละครอบครัวก็ต้องคิดหาเมนูมากถึง 9 เมนู ซึ่งไม่แปลกเลยที่เมนูจะวนไปวนมาจนไม่รู้จะทำกับข้าวอะไรให้กับคนที่บ้านแล้ว อาจจะส่งผลให้ครอบครัวรู้สึกเบื่ออาหารเดิมๆ ดังนั้นเพื่อไม่ให้ความรู้สึกแบบนี้เกิดขึ้น แม่บ้านทุกคนต้องพยายามคิดค้นหาเมนูใหม่ๆ มาตลอดเวลา         ถ้าหากกำลังมองหาวิธีใหม่ๆ เพื่อปรับสูตรเมนูของครอบครัว หรือเพิ่มเติมเมนูแปลกใหม่ มาลองรู้จักกับแอปพลิเคชั่นที่มีชื่อว่า Cookpad กันดู เพราะแอปพลิเคชั่นเกิดขึ้นมาตอบโจทย์ผู้ที่ต้องการเข้าค้นหาเมนูเพื่อนำมาทำอาหารและเป็นพื้นที่สำหรับแชร์สูตรอาหารด้วย นอกจากมีแอปพลิเคชั่นเพื่อให้สามารถใช้งานได้สะดวกบนสมาร์ทโฟนแล้ว ยังมีเว็บไซต์ https://cookpad.com อีกด้วย         การทำอาหารเป็นงานสร้างสรรค์อย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นการสร้างสรรค์ด้านอาหาร แอปพลิเคชั่นนี้จึงเหมาะกับทั้งคนที่รักการทำอาหาร และผู้ที่เพิ่งเริ่มทำอาหาร เพราะภายในแอปพลิเคชั่นจะมีบอกถึงรายละเอียดส่วนผสม พร้อมวิธีทำเป็นขั้นตอนอย่างละเอียด หรือแม้กระทั่งเคล็ดลับต่างๆ ที่ควรรู้ โดยมีผู้ที่ชื่นชอบการทำอาหารได้แบ่งปันไว้ ดังนั้นถือได้ว่าแอปพลิเคชั่นนี้เป็นตัวกลางในการรวบรวมเมนูอาหาร สูตรอาหาร และวิธีการทำอาหารของแต่ละคนมาไว้ด้วยกัน         วิธีการใช้งานเพียงแค่ค้นหาชนิดอาหารที่ต้องการภายในแอปพลิเคชั่น ไม่ว่าจะเป็นอาหารคาว ทั้งอาหารไทย อาหารฮาลาล อาหารเกาหลี อาหารญี่ปุ่น ฯลฯ อาหารหวาน เช่น ขนมเค้กเนยสดแตงไทย ขนมบ้าบิ่น ขนมเปียกปูน ขนมแตงไทย ขนมกล้วย เค้กไข่ คุกกี้ เป็นต้น อาหารทานเล่น อย่างเกี๊ยวกรอบไส้หมูสับ ปอเปี๊ยะ ขนมปังหน้ากุ้ง ฯลฯ หรือต้องการหาเมนูอาหารใหม่ๆ เมนูที่ยังไม่เคยกินยังไม่เคยลองทำ หรือแม้แต่อาหารคลีน อาหารคีโต ก็มีเช่นกัน         นอกจากค้นหาเมนูต่างๆ ได้แล้ว แอปพลิเคชั่นได้แบ่งหมวดการเรียนรู้เพื่อให้ง่ายต่อความต้องการ ได้แก่ หมวดเมนูต้มจืด หมวดวัตถุดิบตามฤดูกาล เพื่อให้สามารถหาวิธีจัดการกับวัตถุดิบที่มีอยู่ในบ้านหรือมีอยู่ในท้องถิ่น หมวดท้าทายให้ลองทำ หมวดเคล็ดลับใหม่ หมวดล่าสุด สำหรับเมนูอาหารที่ได้แบ่งปันล่าสุด ทั้งนี้ผู้ใช้แอปพลิเคชั่นยังสามารถเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมแบ่งปันสูตรอาหารได้ด้วย         ไอเดียเมนูอาหารภายในแอปพลิเคชั่น Cookpad ผู้ใช้สามารถทำตามได้ง่าย สามารถทำกินได้เองทุกบ้านแน่นอน งั้นขอตัวไปหาสูตรอาหารเพื่อทำซุปเต้าหู้กิมจิก่อนนะคะ

อ่านเพิ่มเติม >


ฉบับที่ 256 ฉันก็สั่งตามหน้าเพจทำไมได้ราคาไม่ตรงตามแจ้ง

        เวลาเห็นโปรโมชันไม่ว่าจะเป็นอาหาร เสื้อผ้า หรือข้าวของใดก็ตาม แม้บางทีไม่ได้อยากได้ อยากซื้อแต่ก็พบว่า อืม...ราคาดีแฮะ ลองสั่งมาดีไหม เราเชื่อว่าหลายๆ คนเป็นแบบนี้         คุณภูผา ก็เป็นเช่นเดียวกับคนส่วนใหญ่ ปกติไม่ได้ชอบกินขนมหวานอะไรมากนัก แต่ก็ติดตามเพจร้านขนมชื่อดังร้านหนึ่งอยู่ แล้ววันหนึ่งก็พบว่า มีขนมตัวดังตัวหนึ่งของร้าน ลดราคา โอ้วมันช่างน่าสนใจ ปกติขนมชิ้นนี้จะขายในราคาแพ็กละ 65 บาท แต่โปรที่ขึ้นบนหน้าเพจคือ 50 บาท เมื่อราคาดีขนาดนี้ คุณภูผาจึงสั่งทันทีโดยใช้บริการผ่าน ดิลิเวอรี่ที่ระบุในข้อความที่โฆษณา ตอนที่ถามกับทางดิลิเวอรี่ก็ถามแล้วว่า โปรฯ นี้ใช้ได้ใช่ไหม  ทางดิลิเวอรี่ก็ตอบว่า “ได้ค่ะ” แต่พอได้รับสินค้า ตอนจะจ่ายเงิน สองร้อยบาท (ภูผาสั่งมาสี่กล่อง) กลับเป็นราคาปกติคือ 260 บาท (65x4) ไหงเป็นงั้น         คุณภูผาคาใจจึงอินบอกซ์ไปถามทางเพจร้านขนม แอดมิน บอกว่า โปรโมชันนี้หมดไปตั้งแต่สัปดาห์ก่อน คุณลูกค้าสั่งสินค้าวันนี้เป็นราคาปกติค่ะ แต่คุณภูผายืนยันว่า นี่ไงผมสั่งตามที่หน้าเพจลงไว้เมื่อตอนเช้าวันนี้นะ ไม่มีบอกว่าเป็นโปรฯ เมื่อสัปดาห์ก่อน อย่างนี้ทางเพจจะไม่รับผิดชอบหรือ คุยกันไปมาเมื่อไม่ได้รับคำตอบที่แสดงความรับผิดชอบ คุณภูผาจึงโทรมาปรึกษากับทางฝ่ายพิทักษ์สิทธิ มพบ. ว่าเขาจะทำอะไรได้บ้าง แนวทางการแก้ไขปัญหา         ฝ่ายพิทักษ์สิทธิ ตรวจหน้าเพจร้านขนมแล้วพบว่า โฆษณาที่บอกเรื่องโปรโมชันได้ถูกลบไปแล้ว แต่ทางคุณภูผายังบันทึกภาพเก็บไว้ จึงได้นำภาพแสดงหลักฐานกับทางเพจเพื่อขอให้รับผิดชอบตามที่โฆษณาคือ ขายสินค้าในราคาโปรโมชันกับคุณภูผา เพราะเป็นสิทธิของผู้บริโภคที่พึงได้และแม้จะเป็นความผิดพลาดของทางเพจที่ไม่ตั้งใจนำภาพโฆษณาดังกล่าวโพสต์ทางหน้าเพจ แต่ก็ต้องรับผิดชอบต่อสิ่งที่ทางเพจได้แจ้งแก่ผู้บริโภค ต่อมาคุณภูผาก็แจ้งมาว่า ทางร้านค้าจะคืนเงิน 60 บาทให้กับทางคุณภูผา ก็จบกันไปด้วยดี

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 256 แค่มันทอด จะอะไรกันนักกันหนา

        สารปนเปื้อนในอาหารนั้นมีผลกระทบต่อคุณภาพและความปลอดภัยของอาหารตลอดห่วงโซ่อาหารของมนุษย์ โดยเริ่มตั้งแต่อาหารดิบไปจนถึงอาหารปรุงสุกและ/หรือแปรรูป ประเด็นที่น่าวิตกนี้ได้กล่าวไว้ในบทความเรื่อง Fried potato chips and French fries-Are they safe to eat? ในวารสาร Nutrition ของปี 2011 ซึ่งให้ข้อมูลประมาณว่า ปริมาณอะคริลาไมด์ (acrylamide) ในมันฝรั่งทอดเพิ่มขึ้นอย่างน่ากังวลเมื่ออุณหภูมิในการทอดเพิ่ม สารอะคริลาไมด์นั้นมีผลเสียต่อสุขภาพหลายประการซึ่งรวมถึงความเป็นพิษต่อระบบประสาท ความเป็นพิษต่อระบบสืบพันธุ์ ความเป็นพิษต่อหน่วยพันธุกรรมรวมถึงการก่อมะเร็ง         ในทางอุตสาหกรรมอะคริลาไมด์ผลิตได้จากการสังเคราะห์และถูกใช้ในการผลิตโพลีอะคริลาไมด์ ซึ่งส่วนใหญ่ใช้ทำเรซินของไส้กรองเครื่องกรองน้ำสำหรับผลิตน้ำดื่ม ดังนั้นมนุษย์จึงมีโอกาสได้รับอะคริลาไมด์บ้างไม่มากก็น้อย         ผู้บริโภคได้รับอะคริลาไมด์ที่เกิดตามธรรมชาติจากการปรุงอาหารที่อุณหภูมิสูง เมื่อใช้วัตถุดิบเช่น มันฝรั่ง หรือวัตถุดิบอื่นที่มีกรดอะมิโนแอสปาราจีนสูง ผลิตภัณฑ์อาหารที่มีอะคริลาไมด์ปนเปื้อนในระดับที่วิเคราะห์พบเสมอนั้น Wikipedia ให้ข้อมูลว่า ได้แก่ มันฝรั่งทอด แครกเกอร์ บิสกิต และการศึกษาในระยะหลังได้พบอะคริลาไมด์ในมะกอกดำ ลูกพลัมแห้ง ลูกแพร์แห้ง กาแฟคั่ว และถั่วลิสงคั่ว และพบเป็นองค์ประกอบในควันบุหรี่ด้วย อย่างไรก็ดีแม้ว่าปริมาณที่ผู้บริโภคได้รับสารพิษนี้เข้าไปในปริมาณต่ำอาจไม่มีนัยสำคัญ แต่ความถี่ของการบริโภคอาจทำให้เกิดคำถามเกี่ยวกับผลกระทบต่อสุขภาพที่อาจเป็นอันตรายในระยะยาวจากการสะสม เมื่อผู้บริโภคมีอวัยวะภายในเช่น ตับและไต ไม่แข็งแรง         ประเด็นที่เริ่มน่ากังวลคือ อะคริลาไมด์ถูกวิเคราะห์พบเป็นสารปนเปื้อนในอาหารสำหรับทารกและเด็ก บทความเรื่อง Toxicity of acrylamide and evaluation of its exposure in baby foods ในวารสาร Nutrition Research Reviews ของปี 2010 คาดว่า ทารกและเด็กได้รับสารพิษนี้จากการบริโภคที่มากกว่าผู้ใหญ่สองถึงสามเท่าเมื่อคำนึงถึงน้ำหนักตัว ดังนั้นจึงเป็นไปได้ที่ความเป็นพิษของอะคริลาไมด์น่าจะสูงขึ้นในเด็ก และเนื่องจากทุกวันนี้การสัมผัสกับอะคริลาไมด์เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้นการปกป้องทารกและเด็กจึงเป็นสิ่งสำคัญ ถ้าเราต้องการประชากรวัยทำงานในอนาคตที่มีคุณภาพดี         นอกจากอะคริลาไมด์เป็นสารก่อมะเร็งในสัตว์ทดลองแล้วนักวิทยาศาสตร์ยังพบว่า สารพิษนี้เป็นสารก่อลูกวิรูป (Teratogen) ที่ส่งผลต่อความผิดปรกติของทารกในครรภ์เมื่อแม่สัมผัสกับสารพิษนี้จากอาหาร งานวิจัยในสัตว์ทดลองพบว่า ตัวอ่อนในท้องมีการเจริญเติบโตลดลงซึ่งเป็นผลมาจากปัจจัยลบด้านอาหารที่แม่กิน ดังกล่าวไว้ในบทความเรื่อง Importance of growth for health and development ซึ่งอยู่ในหนังสือที่รวบรวมบทความวิจัยของการประชุม 65th Nestlé Nutrition Institute Workshop, Pediatric Program, Kuala Lumpur, March 2009 หนังสือนี้พิมพ์โดยสำนักพิมพ์ Karger, Basel ในปี 2010 ซึ่งได้ให้ข้อมูลพื้นฐานว่า จำนวนการเกิดลูกวิรูปในสังคมมนุษย์เป็นเครื่องบ่งชี้คุณภาพของสิ่งแวดล้อมของทารกในครรภ์ ซึ่งรวมถึงปัจจัยต่างๆ ในอาหารของแม่ที่ส่งผลถึงสมองที่กำลังพัฒนาของทารกในครรภ์และหลังคลอด         ปรกติแล้วอันตรายต่อสมองและระบบประสาทของทารกในท้องแม่มักเกิดจากสารพิษที่มีอยู่ในอาหาร ยา หรือการติดเชื้อโรค และในปัจจุบันเป็นที่ทราบกันดีว่า อันตรายต่อสมองและระบบประสาทยังคงเป็นหนึ่งในภาวะแทรกซ้อนที่ก่อให้เกิดความบกพร่องต่อการพัฒนาการของระบบประสาทส่งผลให้เด็กมีการรับรู้ล่าช้าและความพิการตลอดชีวิต ส่งผลต่อการทำงานต่างๆ ของร่างกาย ทักษะการปรับตัวของกล้ามเนื้อในภาพรวม ระบบการคิดรับรู้ของสมอง การใช้ภาษา การใช้เหตุผลและความจำ การมีสมาธิ และความสนใจในสิ่งรอบตัว         บทความเรื่อง Structural and ultrastructural evidence of neurotoxic effects of fried potato chips on rat postnatal development ในวารสาร Nutrition ของปี 2011ให้ประเด็นที่มีคุณค่าอย่างยิ่งเพราะเป็นการนำเสนอหลักฐานการทดลองเกี่ยวกับผลกระทบต่อระบบประสาทของมันฝรั่งทอดที่มีอะคริลาไมด์ในระหว่างการพัฒนาของทารกก่อนคลอดและหลังคลอด งานวิจัยนี้ระบุว่า การที่แม่หนูกินมันฝรั่งทอดซึ่งมีอะคริลาไมด์ทำให้เกิดความเสื่อมของสมองน้อยหรือซีรีเบลลัม (cerebellum) และพัฒนาการที่ด้อยลงของกล้ามเนื้อน่องของลูกหนูหลังคลอด ในการศึกษานี้หนูทดลองได้แสดงให้เห็นว่าการเจริญเติบโตที่ช้าและน้ำหนักร่างกายและสมองต่ำกว่าควรนั้นเกิดจากการให้แม่หนูกินอาหารที่มีอะคริลาไมด์ผสมอยู่ ดังนั้นจึงเห็นได้ชัดว่า การบริโภคอะคริลาไมด์เช่นที่มีในมันฝรั่งทอดเป็นประจำระหว่างตั้งครรภ์น่าจะส่งผลเสียต่อพัฒนาการของเด็กในท้องตลอดจนในเด็กปฐมวัย ซึ่งรวมถึงอันตรายต่อการเจริญเติบโตของกระดูก ข้อมูลในบทความเรื่อง Acrylamide: increased concentration in homemade food and first evidence of its variable absorption from food, variable metabolism and placental and breast milk transfer in humans ในวารสาร Chemotherapy ของปี 2002 ได้กล่าวถึงผลในทำนองเดียวกันที่เป็นหลักฐานสำหรับผลกระทบที่เป็นอันตรายเนื่องจากการบริโภคอาหารทอดที่มีปริมาณอะคริลาไมด์เพิ่มขึ้น         ดังนั้นการได้รับอะคริลาไมด์ในอาหารจึงเป็นหัวข้อที่เหมาะสมและสำคัญสำหรับนักวิจัยด้านสุขภาพที่สนใจในการศึกษาเกี่ยวกับการพัฒนาของเด็กก่อนคลอดและหลังคลอด จากการศึกษาต่างๆ ได้แสดงให้เห็นว่า อะคริลาไมด์ที่มีอยู่ในผลิตภัณฑ์แป้งทอดหรือผลิตภัณฑ์ขนมอบกรอบนั้นอาจมีผลต่อระบบประสาทของประชากร เพราะปัจจุบันการบริโภคอาหารแป้งทอด เช่น เฟรนช์ฟรายส์นั้นเป็นแหล่งอาหารแป้งอันดับต้นๆ ในประเทศอุตสาหกรรมและประเทศกำลังพัฒนา พฤติกรรมการบริโภคอาหารประเภทนี้อาจส่งผลให้คุณภาพชีวิตของเด็กที่เกิดใหม่ต่ำลง         งานวิจัยหลายเรื่องกล่าวประมาณว่า อะคริลาไมด์สามารถทำให้เกิดการตายของเซลล์ต้นกำเนิดของระบบประสาทและส่งผลต่อการสร้างเซลล์ประสาทของฮิบโปแคมปัส ตัวอย่างเช่นในบทความเรื่อง Acrylamide induces cell death in neuronal progenitor cells and impairs hippocampal neurogenesis. ในวารสาร Toxicology Letter ของปี 2010 ซึ่งกล่าวถึงแนวโน้มว่า อะคริลาไมด์อาจมีผลเสียต่อการซ่อมแซมตัวเองของสมอง การที่สมองสามารถฟื้นตัวและปรับโครงสร้างตัวเองได้หลังจากอาการบาดเจ็บหรือการเสื่อมสภาพของเซลล์และการฟื้นตัวในการทำงานของเซลล์สมอง ประเด็นที่กล่าวนี้เป็นสิ่งสำคัญสำหรับการพัฒนากลยุทธ์การป้องกันและป้องกันระบบประสาทอย่างมีเหตุผล เพื่อลดปัญหาของการพัฒนาสมองต่ำกว่าที่ควร ซึ่งอาจทำให้การทำงานและแสดงผลลัพธ์ด้านพฤติกรรมที่ไม่ดีในประชากร         จากหลักฐานดังกล่าวเป็นที่ชัดเจนว่า ความกังวลด้านความปลอดภัยเกี่ยวกับการบริโภคอาหารแป้งทอด เช่น มันฝรั่งทอดที่มีอะคริลาไมด์นั้น ชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นในความร่วมมืออย่างใกล้ชิดระหว่างผู้บริโภค ผู้ผลิตอาหาร และผู้ที่ทำงานดูแลความปลอดภัยในการกินอาหาร ตลอดจนการเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบที่เป็นอันตรายจากการกินให้มากขึ้น ยิ่งไปกว่านั้นผู้บริโภคทั่วไปควรรู้ว่า อาหารปรุงเองโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อได้รับความร้อนอย่างไม่เหมาะสมอาจเต็มไปด้วยสารพิษจากการปรุงอาหารเช่น อะคริลาไมด์         ผู้เขียนเข้าใจว่า ประชาชนส่วนน้อยเท่านั้นที่มีความรู้หรือสนใจรู้ในปัญหาของการสัมผัสและผลกระทบต่อระบบประสาทของอะคริลาไมด์ในอาหาร ข้อมูลงานวิจัยใหม่ในปัจจุบันนั้นแนะนำว่า ควรตรวจสอบอาหารสำหรับทารกและอาหารทอดทางอุตสาหกรรมเป็นประจำเพื่อควบคุมระดับการปนเปื้อนของอะคริลาไมด์ นอกจากนี้การบังคับใช้กฎหมายที่เข้มงวดควรดำเนินการเกี่ยวกับระบบการผลิตอาหารทางอุตสาหกรรมที่ดี ซึ่งควรมีการตรวจหาสารปนเปื้อนที่สามารถเกิดได้ทั้งหมด

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 255 ไขข้อข้องใจ “กัญชา” กิน – ใช้อย่างไร ได้ประโยชน์

        เดิมทีประเทศไทยได้มีการปลดล็อคให้ใช้กัญชาทางการแพทย์ จนถึงขณะนี้ มีการอนุญาตราวๆ 3 กลุ่มโรค คือ กลุ่มที่ได้ประโยชน์ กลุ่มที่น่าจะได้ประโยชน์ และกลุ่มที่อาจจะได้ประโยชน์ในอนาคต รวมถึงระยะหลังได้เริ่มมีการอนุญาตให้สามารถนำไปเป็นส่วนประกอบในอาหารและผลิตภัณฑ์สุขภาพได้ แต่อยู่ภายใต้การควบคุมผลิตภัณฑ์ และแหล่งที่มาของกัญชาที่ทำมาใช้ แต่ล่าสุดประกาศกระทรวงสาธารณสุข ปลดล็อคกัญชาออกจากยาเสพติดให้โทษประเภท 5  มีผลตั้งแต่วันที่ 9 มิ.ย. 2565 เป็นต้นมา สามารถนำมาใช้ปรุงอาหาร เครื่องดื่มได้คล่องมากขึ้น หรือที่หลายฝ่ายเรียกว่า “กัญชาเสรี”         อย่างไรก็ตาม หลายฝ่ายยังมีข้อกังวล เพราะต่างรู้ว่ากัญชามีประโยชน์ก็จริง แต่ “โทษ” ยังไม่หายไป ถ้าเช่นนั้นแล้วประชาชนจะใช้อย่างไรให้ได้รับประโยชน์จากกัญชาอย่างแท้จริง โดยเฉพาะการบริโภคอาหารและเครื่องดื่มในชีวิตประจำวัน นายแพทย์เอกชัย เพียรศรีวัชรา รองอธิบดีกรมอนามัย ได้ไขข้อข้องใจกับ นิตยสารฉลาดซื้อ ดังนี้....   กลุ่มที่ห้ามรับประทาน หรือใช้กัญชาคือใครบ้าง         กัญชามีประโยชน์ แต่หากใช้ไม่ถูกก็เกิดอันตรายได้ ซึ่งกลุ่มที่ไม่ควรรับประทาน หรือใช้กัญชาเลยคือ สตรีมีครรภ์ หญิงที่กำลังให้นมบุตร ผู้ป่วยมีโรคประจำตัว อาทิ โรคหัวใจ โรคตับ และผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี เพราะกัญชาจะส่งผลต่อพัฒนาการทางสมอง ทำให้ไอคิวลดลง กระทบเซลล์สมอง ซึ่งมีการทดลองในหนู พบว่าสาร THC ซึ่งเป็นสารที่ทำให้เกิดการเสพติดนั้น จะทำให้เซลล์สมองเสื่อมได้ จึงห้ามเด็ดขาดในเด็ก   การควบคุมอาหารที่ใส่กัญชา         ขณะนี้กรมอนามัยได้ออกประกาศกรมอนามัย เรื่อง การนำใบกัญชามาใช้ในการทำ ประกอบ หรือปรุงอาหาร ในสถานประกอบกิจการอาหาร (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2565 เมื่อวันที่ 9 มิ.ย. 2565 ที่ผ่านมา โดยกำหนดให้สถานประกอบกิจการอาหาร ที่ใช้กัญชาจะต้องปฏิบัติดังนี้ 1.จัดทำข้อความที่แสดงข้อมูลเป็นสถานประกอบกิจการอาหารที่มีการใช้กัญชา 2.แสดงรายการอาหารที่มีการใช้ใบกัญชาทั้งหมด 3.แสดงข้อมูลปริมาณการใช้ใบกัญชาเป็นส่วนประกอบต่อรายการอาหารตามประเภทการทำ เช่น อาหารทอด แนะนำการใช้ใบกัญชาสด 1-2 ใบสดต่อเมนู สำหรับอาหารประเภทผัด แกง ต้ม ผสมในเครื่องดื่มแนะนำการใช้ใบกัญชาสด 1 ใบสดต่อเมนู เป็นต้น 4.แสดงข้อแนะนำเพื่อความปลอดภัยในการบริโภคอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีใบกัญชาเป็นส่วนประกอบ 5.แสดงคำเตือนรายการอาหารที่มีการใช้ใบกัญชาให้กลุ่มเสี่ยงทราบ เช่น ระบุข้อความ "เด็กและวัยรุ่นช่วงอายุน้อยกว่า 18 ปี ควรหลีกเสี่ยงการบริโภคอาหารที่มีส่วนผสมของกัญชา เช่น ขนม อาหารและเครื่องดื่ม สตรีมีครรภ์ และสตรีให้นมบุตร ไม่ควรรับประทาน" "หากมีอาการผิดปกติ ควรหยุดรับประทานทันที" "ผู้ที่แพ้หรือไวต่อสาร THC หรือสาร CBD ควรระวังในการรับประทาน" ... "อาจทำให้ง่วงซึมได้ ควรหลีกเสี่ยงการขับขี่ยานพาหนะ หรือทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักรกล" และ 6.ห้ามแสดงข้อความหรือโฆษณาสรรพคุณในการป้องกันหรือรักษาโรค ส่วนใดของกัญชา กัญชง ที่สามารถนำมาประกอบอาหารได้บ้าง แต่ละเมนูมีข้อแนะนำอย่างไร         ต้องบอกว่าการที่ร้านอาหารนำกัญชามาเป็นส่วนประกอบนั้น เป็นความเชื่อว่ากัญชาจะช่วยเพิ่มรสชาติอาหารให้ดีขึ้น เพราะในกัญชาจะมีสารกลูตามิกแอซิด คล้ายๆ กับผงชูรส แต่ต้องมีการใช้กัญชาปริมาณเยอะมากถึงจะได้รสชาติที่ว่านั้น แต่สิ่งที่เราไม่ปรารถนาคือ จะทำให้ สาร THC จะออกมาด้วย ดังนั้นคำแนะนำในการปรุงอาหารตอนนี้ คือ ใช้เฉพาะ “ใบสด” เท่านั้น ส่วน ช่อดอก หรือ ดอก ไม่แนะนำ เพราะมีสาร THC สูงเกินไป และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ยังกำหนดให้ใช้ช่อดอก และดอกสำหรับผลิตยาทางการแพทย์เท่านั้น         ทั้งนี้ ปริมาณที่ใช้ ตลอดจนวิธีการปรุงอาหารหรือเครื่องดื่มนั้นจะให้สาร THC, CBD แตกต่างกัน คำแนะนำเบื้องต้นคือ แต่ละเมนูไม่ควรใช้ใบสดเกิน 2 ใบ และใน 1 มื้อไม่ควรกินเกิน 2 เมนู หากต้องการบริโภคเกิน 2 เมนู ต่อวัน แนะนำว่าแต่ละเมนู ควรบริโภคเพียง 3 ช้อนกินข้าว เพื่อลดการได้รับ THC มากเกินไป เพราะความไวต่อสาร THC ของแต่ละคนแตกต่างกัน บางคนรับเพียงเล็กน้อยก็มีอาการได้ หากเป็นเรื่องดื่มใช้ 1 ใบสดต่อ 1 แก้ว ดื่มไม่เกินวันละ 2 แก้ว ทั้งนี้ใน 1 วัน โดยสรุป 1 วันบริโภคอาหาร และเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของกัญชาได้ไม่ควรเกิน 2 เมนู และขอย้ำว่าไม่ควรรับประทานต่อเนื่องกันทุกวัน         “ควรหลีกเลี่ยงการกินอาหารประเภททอดกับทอด หรือ ทอดกับผัด หรือผัดกับผัด เพราะในน้ำมันจะดูดซึมสาร THC ได้ดี จะทำให้ได้รับสาร THC เกินปริมาณที่กำหนด ซึ่งตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่ 427/2564 กำหนดหน่วยบรรจุมีสาร THC ได้ไม่เกิน 1.6 มิลลิกรัม” คำแนะนำสำหรับผู้บริโค        กรณี “คนที่ไม่เคยรับประทานมาก่อน” ควรเริ่มในปริมาณน้อย ประมาณครึ่งใบ - 1 ใบ ต่อวัน ซึ่งการรับประทานสัดส่วนนี้จะมีปริมาณสาร THC ราวๆ 1-2.5 มิลลิกรัม และควรรอดูผลหลังรับประทานภายใน 2 ชั่วโมง หากพบว่ามีผลข้างเคียงแนะนำให้หยุดทันที แล้วดื่มน้ำตามมากๆ         สำหรับ “บุคคลทั่วไป” ก็ควรบริโภคในปริมาณน้อย ไม่เกินวันละ 5 ใบ หากรับประทานมากกว่า 5 ใบ อาจทำให้เกิดอาการใจสั่น หัวใจเต้นเร็ว ปากแห้ง คอแห้ง ง่วงนอน มึนงง วิงเวียน และปวดหัวได้ ทั้งนี้ จะต้องสังเกตอาการหลังจากรับประทานไปแล้วประมาณ 30 - 60 นาที แต่อาการจะเด่นชัดขึ้นเมื่อผ่านไปแล้วประมาณชั่วโมงครึ่ง - 3 ชั่วโมง  ดังนั้นทางที่ดีจึงควรรอดูผลหลังจากบริโภคไปแล้วภายใน 2 ชั่วโมง         “ถ้าคนแพ้กัญชาใน 60 นาทีแรกเห็นผลเลย คือ คอแห้ง ปากแห้ง คลื่นไส้ อาเจียน เวียนหัว ถ้าเป็นมากคือใจสั่น และหากใจสั่นมาอาจจะหมดสติ ช็อคได้ ดังนั้นหากมีอาการหากคอแห้ง ปากแห้ง ให้ดื่มน้ำมากๆ จะช่วยขับออกมาได้  ถ้ารู้สึกเวียนหัว ให้ใช้น้ำมะนาวผสมน้ำผึ้ง เกลือเล็กน้อย หรือน้ำขิงเพื่อแก้อาการเมา แต่หากที่กล่าวมายังไม่ดีขึ้น ให้ไปพบแพทย์”         และที่สำคัญเลย เราพบว่าคนที่อยากรับประทานเมนูกัญชาเพราะเชื่อว่าฤทธิ์เล็กน้อยจะทำให้รู้สึกผ่อนคลาย สบาย แต่หากรับประทานมากเกินไป จะไปกดสมองส่วนกลางทำให้ง่วงนอนได้ แต่อย่างที่บอกว่าผลที่เกิดกับแต่ละคนไม่เหมือนกัน บงคนออกฤทธิ์ทันที บางคนไปอกฤทธิ์ภายหลัง ซึ่งฤทธิ์ของกัญชานั้นจะอยู่ในร่างกายได้นานถึง 6 ชั่วโมง ดังนั้นจึงต้องเตือนคนที่ขับยานพาหนะ และทำงานกับเครื่องจักรไม่ควรรับประทานเพราะแรก ๆ อาจจะยังไม่รู้สึก แต่มาออกฤทธิ์ภายหลัง อาจจะทำให้ประสิทธิภาพในการขับยานพาหนะลดลง เกิดอุบัติเหตุได้ และห้ามกินร่วมกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะจะทำให้มีฤทธิ์ทั้งกดประสาท และกระตุ้นประสาท ส่งให้การหายใจผิดปกติ กระตุ้นหัวใจ หัวใจเต้นเร็วเกินไป   อาหารที่ห้ามมีส่วนผสมของกัญชา กัญชงโดยเด็ดขาด         ข้อยกเว้นอาหารที่ไม่ให้ใช้กัญชาเป็นส่วนผสมตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 427) พ.ศ. 2564 ได้แก่ อาหารทารกและอาหารสูตรต่อเนื่องสำหรับทารกและเด็กเล็กนมดัดแปลงสำหรับทารกและนมตัดแปลงสูตรต่อเนื่องสำหรับทารกและเด็กเล็ก อาหารเสริมสำหรับทารกและเด็กเล็ก เครื่องดื่มที่ผสมกาเฟอีน อาหารอื่นที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดเพราะหากเด็กได้รับสาร THC บ่อยอาจจะทำให้เด็กมีการพัฒนาทางด้านสมองช้า เนื่องจากสาร THC จะไปทำลายเนื้อเยื่อสมองของเด็ก กรณีสารสกัดในกัญชา CBD และ THC สามารถใช้ประกอบอาหารได้แค่ไหน         การใช้สารสกัด CBD และ THC ในการประกอบอาหารตามประกาศกระกรวงสาธารณสุข 427 โดย อย. กำหนดให้สามารถใช้สารสกัด THC ไม่เกิน 1.6 มิลลิกรัมต่อหน่วยบรรจุ และ CBD ไม่เกิน 1.41 มิลลิกรัมต่อหน่วยบรรจุ            นอกจากการรับประทานในอาหารแล้ว ขณะนี้พบว่ามีการใช้สันทนาการด้วย ในส่วนนี้มีการควบคุมกำกับอย่างไร          ได้มีการออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง กำหนดให้การกระทำให้เกิดกลิ่น หรือควันกัญชา กัญชง หรือพืชอื่นใด เป็นเหตุรำคาญ พ.ศ. 2565 ซึ่งมีผลบังคับใช้ใช้ตั้งแต่วันที่ 15 มิ.ย. 2565 เป็นต้นไป เนื้อหาในประกาศกำหนดให้การกระทำให้เกิดกลิ่น หรือควันกัญชา กัญชง หรือพืชอื่นใด เป็นเหตุรำคาญ เนื่องจากการใช้กัญชา กัญชง หรือพืชอื่นใด ในทางที่ไม่เหมาะสม เช่น สันทนาการ อาจส่งผลกระทบต่อสภาวะความเป็นอยู่โดยปกติสุข หรืออาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ โดยควันของพืชดังกล่าว จะมีอนุภาคขนาดเล็กที่สามารถเข้าสู่ปอดได้ด้วยการหายใจเอาควันเข้าไป ทำให้มีความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วย เช่น โรคปอด หอบหืด หลอดลมอักเสบ         อย่างไรก็ตาม เราไม่แนะนำให้มีการใช้กัญชาเพื่อสันทนาการ หรือใช้ที่ไม่เหมาะสม เพราะส่งผลกระทบต่อสุขภาพ คือ 1.กระตุ้นให้เกิดอาการป่วยทางจิตรุนแรง โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยงที่มีประวัติซึมเศร้า หรือป่วยด้วยโรคจิตเภทอยู่เดิม 2. ควันกัญชา ทำให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหอบหืด หลอดลมอักเสบ โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง 3.เด็กและทารกที่สัมผัสควันกัญชามือสอง อาจได้รับผลกระทบทางจิตประสาทเช่นเดียวกับผู้สูบ 4. มีผลการศึกษาระบุว่า กัญชาแบบพันลำ มีอัตราการปล่อย PM 2.5 เฉลี่ย 3.5 เท่าของบุหรี่แบบธรรมดา         ทั้งนี้ ประชาชนกลุ่มเสี่ยง เช่น เด็ก ทารก สตรีมีครรภ์ ผู้ที่มีประวัติซึมเศร้า หรือป่วยด้วยโรคจิตเภท ให้หลีกเลี่ยงใช้ หรือสัมผัสควันกัญชา สำหรับสถานบริการ สถานบันเทิง ผับ บาร์ หรือสถานที่อื่นใด หลีกเลี่ยงส่งเสริมหรือจัดให้มีการรวมกลุ่มเพื่อใช้กัญชาในทางที่ไม่เหมาะสม หรือเพื่อสันทนาการ         กรณีถูกร้องเรียนเรื่องการสร้างความรำคาญ จะมีโทษปรับ 25,000 บาท จำคุกสูงสุด 3 เดือน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 255 สำรวจฉลากส่วนประกอบในแยมส้มและมาร์มาเลดส้ม

        ฉลาดซื้อฉบับที่ 234 ได้เคยนำเสนอเรื่องปริมาณเนื้อผลไม้ในแยมสตรอว์เบอร์รีมาแล้ว คราวนี้ขอเอาใจคนที่ชื่นชอบรสชาติของ “แยมส้ม” และ”มาร์มาเลดส้ม” กันบ้าง          “แยมส้ม” จะมีส่วนประกอบหลักคือ เนื้อส้ม น้ำส้ม และน้ำตาล เนื้อเนียนละเอียด รสหวานนำ ส่วน ”มาร์มาเลดส้ม” จะใส่ผิวส้มเพิ่มเข้าไปด้วย จึงเจือรสขมผสมกับรสหวานอมเปรี้ยว เนื้อหยาบกว่ากินแล้วสัมผัสได้ถึงผิวส้มและเนื้อส้ม หอมกลิ่นส้มในปาก         นิตยสารฉลาดซื้อ และโครงการสร้างเสริมความเข้มแข็งระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก สสส. ได้สุ่มเลือกผลิตภัณฑ์แยมส้มและมาร์มาเลดส้มจำนวน 18 ตัวอย่าง ทั้งที่ผลิตในประเทศและนำเข้าจากต่างประเทศ จากห้างค้าปลีกและร้านค้าทั่วไปในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล เมื่อเดือนพฤษภาคม 2565 โดยสำรวจฉลากเพื่อพิจารณา สัดส่วนของปริมาณส้ม (เนื้อส้ม น้ำส้มและผิวส้ม) และปริมาณน้ำตาล พร้อมกับเปรียบเทียบราคาต่อน้ำหนัก 1 กรัม เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจให้ผู้บริโภคเลือกว่ายี่ห้อไหนจะมีรสชาติถูกปาก คุ้มค่าและปลอดภัยสำหรับคุณ ผลการสำรวจ         จากการสำรวจฉลากส่วนประกอบของแยมส้มและมาร์มาเลดส้มทั้ง 18 ตัวอย่าง พบว่า         1. สัดส่วนของปริมาณส้มรวม (เนื้อส้ม น้ำส้มและผิวส้ม) => ยี่ห้อดาโบ มีมากที่สุดคือ 70% ส่วนยี่ห้อเบสท์ ฟู้ดส์ มีน้อยที่สุดคือ 20%         2.สัดส่วนของปริมาณน้ำตาลรวม (รวมน้ำตาลที่ให้ความหวานและพลังงานทุกชนิด) => ยี่ห้อแม็คเคย์ มีมากที่สุด คือ 72% ส่วนยี่ห้อทิพทรี มีน้อยที่สุดคือ 10%         3.สัดส่วนของปริมาณน้ำตาลที่ระบุว่าเป็น “น้ำตาล” => ยี่ห้อแม็คเคย์ มีมากที่สุด คือ 72% ส่วนยี่ห้อสตรีมไลน์ มีน้อยที่สุดคือ 9%         4.เมื่อเปรียบเทียบราคาต่อน้ำหนัก 1 กรัม => ยี่ห้อทิพทรี แพงสุดคือ 1.23 บาท ส่วนยี่ห้อเอ็มไพร์ ถูกสุดคือ 0.20 บาท  ข้อสังเกต        - ยี่ห้อเซนต์ดาลฟูร์ ไม่ระบุว่ามีน้ำตาลชนิดใดๆ เพิ่มเข้าไปในส่วนประกอบ แต่เมื่อดูที่ฉลากโภชนาการระบุว่ามีปริมาณน้ำตาลต่อหนึ่งหน่วยบริโภค(1 ช้อนโต๊ะ = 15 กรัม) อยู่ 8 กรัม ซึ่งเป็นน้ำตาลจากน้ำผลไม้        - ยี่ห้อสทิ้ว ระบุว่า ‘no sugar added’ ไม่ใส่น้ำตาล แต่ใช้ซอร์บิทอล(วัตถุให้ความหวานแทนน้ำตาล)        - มี 4 ยี่ห้อ เป็นสูตรลดน้ำตาล (Reduce Sugar) ได้แก่ มายช้อยส์, บอนน์ มาม็อง, สตรีมไลน์ และทิพทรี        - ยี่ห้อดอยคำ ปริมาณ 130 กรัม เป็นแบบหลอดบีบที่น่าจะช่วยลดการปนเปื้อน และใส่วัตถุกันเสีย มีคำแนะนำให้เปิดแล้วควรเก็บไว้ในตู้เย็นและบริโภคให้หมดภายใน 2 สัปดาห์        - มี 8 ยี่ห้อระบุว่าใส่วัตถุกันเสีย มี 6 ยี่ห้อแต่งกลิ่น และมี 5 ยี่ห้อแต่งสี ฉลาดซื้อแนะ        - ถ้าใครไม่ชอบรสขม ลองเลือกมาร์มาเลดส้มที่มีผิวส้มน้อยหน่อย        - ใครที่ชอบรสหวานแต่ไม่อยากอ้วน ลองเลือกแยมส้มที่ให้ความหวานจากน้ำผลไม้ น้ำเชื่อมข้าวโพด หรือสารให้ความหวานแทนน้ำตาลอื่น ๆ  ซึ่งมีรสหวานและให้พลังงานน้อยกว่าน้ำตาลปกติ แต่ถ้ากินเพลินจนเยอะเกินก็เสี่ยงน้ำหนักเพิ่มขึ้นได้        - เปิดขวดแยมแล้วให้แช่ในตู้เย็น ควรใช้ช้อนสะอาดตักแบ่งใส่ถ้วยก่อนทาขนมปัง เพื่อลดการปนเปื้อน        -จดวันที่ที่เปิดขวดแยมส้มครั้งแรกไว้ แยมส่วนใหญ่จะหมดอายุหลังจากเปิด 3 เดือน หรือดูที่ฉลากแนะนำ        - ถ้าใครกินไม่บ่อยและไม่ค่อยเยอะ ซื้อขวดเล็กก็พอ จะได้กินหมดก่อนวันหมดอายุ แต่ถ้าใครกินเป็นประจำทุกวันให้ซื้อขวดใหญ่จะคุ้มค่ากว่า        - หลายคนเลือกซื้อแยมส้มที่รสชาติอร่อยถูกปากและความคุ้มค่า แต่ก็อย่าลืมคำนึกถึงความปลอดภัยต่อสุขภาพด้วย ลองเลือกที่มีส้มเยอะ มีน้ำตาลน้อยหรือไม่มีเลย ไม่ใส่วัตถุกันเสีย ไม่แต่งกลิ่นแต่งสี ก็น่าจะดี ข้อมูลอ้างอิงhttps://bestreview.asia/best-orange-jams/ 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 255 ซื้อไข่จากห้างใหญ่มาพบว่า เน่ายกแผง

        “เราจะ​ไม่​ซื้อ​อาหาร​ตาม​ร้าน​ค้า​ทั่วๆ​ ไป​ที่​ไม่ได้มาตรฐาน​ความ​ปลอด​ภัย​ค่ะ และเรา​ก็เชื่อ​มั่น​​เสมอ​ว่าจะ​ได้สินค้า​ที่ดี​จากห้างนี้ค่ะ”         คุณแพรวคิดแบบนี้มาตลอดตั้งแต่ก่อนที่จะมา​เป็นสมาชิก​ของห้างค้าปลีกแห่งนี้ซะอีก จนกระทั่งความไว้เนื้อเชื่อใจนี้เองที่ทำให้เธอต้องซื้อ”ไข่เน่ายกแผง” กลับมาบ้าน         คุณแพรวเล่าให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายพิทักษ์สิทธิ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคฟังว่า  ครอบครัว​เธอ​เป็น​ลูกค้า​ประจําที่ห้างค้าปลีกใหญ่ในกรุงเทพฯ​ นี้ โดยทุกอาทิตย์จะต้องไปจับจ่ายซื้อ​ของ​สดของแห้งเข้า​บ้าน​ วันเกิดเหตุนั้นเธอหยิบไข่ 1 แผง มี 30 ฟอง ใส่รถเข็นรวมไปกับของอื่นๆ โดยไม่ได้พิเคราะห์อะไรมากเพราะ​​เชื่อ​ใจ​ใน​มาตรฐาน​ด้าน​ความ​สด​ ใหม่​ สะ​อาด​ ใน​สินค้า​​ห้างนี้อยู่แล้ว ​ก็เลยไม่ได้ตรวจ​เช็กอะไรมากนัก ​แต่เมื่อกลับถึงบ้านพอเปิดฝาครอบแผงไข่ออกมาก็ได้กลิ่นเหม็นมาก แล้วก็ต้องผงะตกใจกับกองทัพ​หนอน​ไต่​ยั้วเยี้ย​อยู่ในไข่เน่าแผงนั้น เธอจึงรีบนำไปทิ้ง จนลืมดูวันหมดอายุที่ติดอยู่บนฝาครอบนั้นไปด้วย           ถึงจะเสียความมั่นใจไปบ้าง แต่คุณแพรวคิดว่าต้องมีความรับผิดชอบจากผู้ขายนะ เธอจึงรีบโทรศัพท์​ไปตามเบอร์ของ​สาขา​ที่​ให้​ไว้​บน​ใบ​เสร็จทันที แต่...ไม่มีใครรับสาย ก็เลยไปค้นหาเฟซบุ๊ก​ของห้างใหญ่​สาขาที่ประสบปัญหา​นี้​ เจอแล้ว ทักแล้ว แต่...ไม่มี​แอด​มิ​นเพจ​ทํางาน ​ในที่สุดเธอก็ขวนขวายจนหาเบอร์ติด​ต่อเพื่อร้องเรียนได้ที่ 1756 ซึ่งพนักงานคอลเซนเตอร์​ได้รับ​เรื่อง​​ไว้และแจ้งคุณแพรวว่า “จะประสาน​ไป​ที่​สา​ขาให้นะคะ​ คุณลูกค้ารอเลยค่ะจะ​มี​เจ้าหน้าที่​ติดต่อ​กลับ​แน่นอน” ทว่าสิ่งที่ได้ในวันนั้นคือความเงียบจากห้าง เหลือเพียงความเดือดเนื้อร้อนใจของคุณแพรวเท่านั้น​ ​         อย่างไรก็ตามในวันรุ่งขึ้น​ พนักงาน​ประจําสาขาห้างค้าปลีกนี้​ติดต่อ​​มาบอกว่า ไข่แผงนั้นน่า​จะหลุด QC ​ให้เธอนําไข่มา​เปลี่ยน​คืน​หรือ​จะ​รับ​เงิน​คืน​ก็​ได้ แต่คุณแพรว​แจ้ง​​ไป​ว่า​ไม่สะดวก​ เพราะเธอเพิ่งกลับจากขับรถออกไปซื้อไข่จากห้างอื่นมาเอง พนักงาน​เลย​บอก​ว่า​ถ้างั้นวัน​ไหนเธอจะ​เข้า​มา​ให้โทร.​แจ้ง​ก่อน​แล้ว​จะชดเชยให้เธอด้วยไข่แผงใหม่กลับ​ไป​         คุณแพรวจึงเขียนเล่าเรื่องนี้มาในเฟซบุ๊กของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเพื่อขอคำปรึกษา   แนวทางการแก้ไขปัญหา         ในกรณีนี้คือสินค้า​ที่​ซื้อ​มาอาจหมด​อายุ​หรือ​มี​สิ่ง​แปลก​ปลอม​ สิ่งแรกที่ต้องทำคือถ่าย​รูปตัวสินค้าและฉลาก​(​เน้นวัน​ผลิต​-วัน​หมด​อายุ)​ ​เก็บ​บรรจุ​ภัณฑ์ของ​สินค้า​และ​ใบ​เสร็จ​จาก​ร้าน​ที่​ซื้อ​ไว้เป็น​หลักฐาน​ (ถ่าย​สําเนา​​เก็บ​ไว้​ด้วย​) จากนั้นติดต่อ​ร้าน​ที่​ซื้อ​มา​และ​แจ้งว่าเราต้องการ​ให้​เขา​ดําเนิน​การ​อย่าง​ไร​ เพื่อ​แก้ไข​ปัญหา​พร้อม​ชด​เชย​ เยียวยาความ​เสีย​หาย​ที่​เกิด​ขึ้น​ เช่น ขอ​เปลี่ยน​สิน​ค้า ขอ​เงิน​คืน ขอให้จ่าย​ค่า​เสีย​เวลา​ ค่า​ขาด​ประ​โยชน์​ และ​ค่า​ใช้จ่าย​ใน​การ​ติดต่อ​กับ​ผู้ประกอบ​การ แนะนำให้​ทําเป็นหนังสือ​ชี้แจง​เหตุ​ของ​สิ่ง​ผิด​ปกติ​และควรขอให้แสดงคำ​ขอโทษ​ต่อผู้​เสีย​หาย​และ​สา​ธารณะ​ เป็น​ต้น แต่หาก​ตกลงกันไม่ได้​ ให้​ทําหนังสือ​ยื่น​กับ​ผู้ประกอบ​การ​ เล่า​สรุป​ปัญหา​ที่​พบ​ พร้อม​ข้อ​เรียก​ร้อง​ โดย​ส่ง​ถึง “​เจ้าของ​ร้าน​ค้า” หรือกรณีนี้คือผู้บริหารห้างค้าปลีกดังกล่าว ซึ่งขณะนี้คุณแพรวกำลังพิจารณาว่าตนเองต้องการให้ทางห้างชดเชยอย่างไรเพื่อส่งเป็นข้อเสนอกลับไป         จากกรณีนี้ขอแนะนำว่า แม้มั่นใจกันมากแค่ไหน แต่ทุกครั้งที่ซื้อสินค้า ผู้บริโภคก็ควรพิจารณาสินค้าให้ถี่ถ้วน โดยเฉพาะสิ่งที่สามารถมองเห็นหรือจับสังเกตได้ง่าย ถ้าพบเจอขณะซื้อสินค้าควรรีบแจ้งให้ทางร้านค้าดำเนินการจัดเก็บออกไปจากชั้นวาง แต่หากเผลอซื้อมาแล้ว ผู้บริโภคต้อง​เก็บ​ใบเสร็จรับ​เงิน​ไว้ เผื่อใช้​เป็น​หลัก​ฐาน​ยืนยัน​การ​ซื้อ​และ​ระบุตัว​ตนได้ว่า​เป็น​ผู้​เสีย​หาย ซึ่งทางร้านค้าก็ยากจะปฏิเสธความรับผิดชอบ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 255 ตรวจสารมารดำ กลับเจอสารมารขาว

        การทำงานคุ้มครองผู้บริโภค บางครั้งก็เจออะไรแปลกๆ คาหนังคาเขาโดยไม่ตั้งใจ เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อเจ้าหน้าที่ทีมปกครองอำเภอ เทศบาล ผู้นำชุมชนและทีมรพ.สต กำลังทำหน้าที่ตรวจปัสสาวะเพื่อเฝ้าระวังหาสารเสพติดในร่างกายของประชาชน ปรากฎว่าผลตรวจปัสสาวะของพนักงานเทศบาลชายอายุ 28 ปีพบว่าเป็นสีม่วง ซึ่งหมายถึงอาจจะมีการใช้สารเสพติด แต่เมื่อแจ้งสอบสวนเพิ่มเติมพนักงานท่านนี้ตกใจ เนื่องจากตนเองไม่เคยยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด         เจ้าหน้าที่จึงสวมวิญญาณนักสืบ สอบถามข้อมูลมากขึ้นจึงทราบว่าพนักงานรายนี้ใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารยี่ห้อหนึ่ง ที่สั่งซื้อจากทางออนไลน์ ราคาก็ไม่ธรรมดาซะด้วย เพราะแพงถึงเม็ดละ 100 บาท เมื่อใช้แล้วเกิดความรู้สึกไม่อยากอาหาร ตนใช้วันละ 1 เม็ด ก่อนอาหาร จนหมด 2 กล่อง ปรากฎว่าน้ำหนักลดลงถึง 10 กิโลกรัม         พนักงานเจ้าหน้าที่จึงประสานมายังกลุ่มงานเภสัชกรรมฯ เพื่อส่งตรวจหารสารในผลิตภัณฑ์เสริมอาหารยี่ห้อนี้ ซึ่งผลตรวจจากศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์พบว่ามีสารไซบูทรามีนผสมอยู่ จึงแจ้งกลับมาเพื่อติดตามสอบถามแหล่งที่มาและส่งต่อข้อมูลไปยังสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดที่เป็นแหล่งผลิตเพื่อทำการดำเนินการต่อไป         ไซบูทรามีนเป็นสารที่มีโครงสร้างคล้ายกับแอมเฟตามีน จึงทำให้ผลตรวจปัสสาวะของคนที่ได้รับสารไซบูทรามีนมีสีม่วงเหมือนกับคนที่ใช้สารแอมเฟตามีน สารไซบูทรามีน (Sibutramine) จะออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทส่วนกลางทำให้รู้สึกไม่อยากอาหารและส่งผลข้างเคียงกับคนที่เป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดต่างๆ ทำให้เกิดผลข้างเคียงรุนแรงต่อผู้บริโภคบางรายถึงขั้นเสียชีวิต กระทรวงสาธารณสุขประกาศให้ไซบูทรามีนจัดเป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทประเภทที่ 1 ผู้ใดผลิต นำเข้าหรือส่งออกผลิตภัณฑ์ที่มีไซบูทรามีนเป็นส่วนผสมจะมีความผิดตามกฎหมาย มีทั้งโทษถึงจำคุก         มีวิธีเบื้องต้นในการสังเกตผลิตภัณฑ์ลดน้ำหนักที่สงสัยว่าจะผสม Sibutramine ดังนี้        1. มีคำโฆษณาโอ้อวดสรรพคุณเกินจริง เช่น ลดน้ำหนักได้ภายใน 7 วัน        2. ไม่มีฉลากภาษาไทย หรือแสดงฉลากไม่ครบถ้วน เช่น ไม่ระบุสถานที่ผลิต        3. ไม่มีเลขที่ขึ้นทะเบียนอย. เป็นต้น         อย่าลืมว่าผลิตภัณฑ์เสริมอาหารไม่สามารถลดความอ้วนได้ หากมีการโฆษณาว่าสามารถช่วยรักษาโรค ลดความอ้วน ขอให้สงสัยไว้ก่อนว่าอาจมีส่วนผสมของสารอันตราย จะได้ไม่เอาชีวิตไปเสี่ยง         หากผู้บริโภคพบเห็นเบาะแสการโฆษณา การผลิต/จำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่ผิดกฎหมาย ขอให้แจ้งมาได้ที่สายด่วน อย. 1556 หรือกลุ่มงานเภสัชกรรม ของโรงพยาบาล หรือกลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภค สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดอย่างเข้มงวดต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 254 อาหารนำเข้าจากจีนในสายตาฝรั่ง

        จีนเป็นผู้ส่งออกสินค้าประเภทต่าง ๆ รายใหญ่ของโลก แต่น่าเศร้าใจที่บางครั้งคนจีนหลายคนหัวไวมากในการพัฒนากระบวนการผลิตแบบที่นักวิชาการเกษตรต้องอ้าปากค้าง เพราะมีการใช้เทคนิคที่คิดขึ้นเองเร่งการผลิตให้เพิ่มขึ้นเพื่อขายในราคาที่ต่ำลงจนส่งผลถึงคุณภาพของผลิตภัณฑ์ หลายเว็บไซต์ของฝรั่งในสหรัฐอเมริกา แคนาดา และหลายประเทศในสหภาพยุโรปมีบทความเกี่ยวกับคำแนะนำผู้บริโภคให้เลี่ยงการซื้ออาหารนำเข้าจากจีน ตัวอย่างหัวข้อบทความในลักษณะนี้ เช่น Warning! Think Twice Before Eating These Foods From China (https://m.blog.daum.net), Warning! Don’t Eat These Foods Imported From China (https://betterbe.co) และ 20 Foods Imported From China That People Should Avoid At All Costs For Their Own Health (https://viralzergnet.com) เป็นต้น ซึ่งว่าไปแล้วข้อกล่าวหาเหล่านี้อาจดูไม่ยุติธรรมต่อผู้ผลิตอาหารในจีน เนื่องจากเนื้อหาในบทความทั้งหลายขาดเอกสารทางวิชาการสนับสนุน แต่ในสายตาของชาวตะวันตก อาหารเป็นสินค้าที่มีความผิดพลาดเกี่ยวกับความปลอดภัยไม่ได้ อีกทั้งข่าวในอดีตก็เป็นภาพลักษณ์ที่ไม่ดีของอาหารจากจีน ซึ่งรัฐบาลจีนดูเหมือนว่ายังไม่สามารถแก้ภาพดังกล่าวได้         เว็บ www.insider.com (ซึ่งเป็นเว็บของบริษัทในสหรัฐอเมริกา จึงต้องฟังหูไว้หู) มีบทความเกี่ยวกับความรู้สึกของผู้บริโภคชาวจีนต่ออาหารในห้างสรรพสินค้า เรื่อง Scarred by a deadly milk scandal and fearing cooking oil cut with raw sewage, China's middle class is skipping the supermarket and buying straight from the farm ซึ่งบางส่วนของบทความกล่าวว่า เกือบ 50% ของประชากรจีนซึ่งอยู่ในกลุ่มรายได้ที่จัดเป็นชนชั้นกลางมีความกังวลเกี่ยวกับคุณภาพอาหารที่ขายในห้างสรรพสินค้า ผู้บริโภคในเฉิงตู (Chengdu) 45 ปี คนหนึ่งวัย ไปเดินดูสินค้าในห้างสรรพสินค้าในละแวกบ้านแล้วแนะนำผู้บริโภคว่า ควรอยู่ห่างจากผลไม้และผักที่ดูดีที่สุด ถ้าใหญ่หรือสวยถือว่าไม่ปกติ หากไม่มีรูหรือรอยแมลงกัดกินจำต้องหลีกเลี่ยง เพราะผักที่นำมาจัดแสดงในห้างสรรพสินค้านั้นยังมีสารกำจัดศัตรูพืชและสารเคมีอื่นๆ อยู่ด้วย ผู้บริโภคต้องอาศัยประสบการณ์ค่อนข้างสูงในการตัดสินใจว่าควรซื้ออะไรได้บ้าง"บทความกล่าวต่อว่า ผู้บริโภคหลายล้านคนในประเทศจีนไม่ไว้วางใจในผลิตผลทางการเกษตร เนื่องจากในอดีตผลิตภัณฑ์นมสำหรับทารกถูกเจือด้วยเมลามีน ซึ่งใช้ในการผลิตพลาสติกและปุ๋ย ทารกเกือบ 300,000 คนล้มป่วยหลังจากบริโภคนมที่ถูกปลอมแปลงอย่างน้อย 50 คนเสียชีวิตเนื่องจากเกิดนิ่วในไต สิ่งที่น่ากังวลคือ แม้ว่าเรื่องอื้อฉาวเกี่ยวกับนมได้ผ่านไปกว่าทศวรรษแล้ว แต่มีงานวิจัยในปี 2558 ซึ่งได้สำรวจ 1,210 ครัวเรือนในเมืองหนานจิงยังพบว่าร้อยละ 74 ของผู้ถูกสำรวจกล่าวว่า ยังคงกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัยของอาหารทุกวัน         นักวิชาการอเมริกันบางคนให้ข้อมูลต่อผู้เขียนบทความใน Insider ว่า ในประเทศจีนนั้นการซื้ออาหารที่มีชื่อตราสินค้าพร้อมคำกำกับที่ควรเชื่อถือได้ เช่น สีเขียว (Green) ท้องถิ่น (Local) หรือ อินทรีย์ (Organic) นั้นกลับไม่ทำให้ผู้บริโภคแน่ใจได้ว่า ผลิตภัณฑ์นั้นได้รับการปลูกและแปรรูปตามที่โฆษณา ดังนั้นจึงกล่าวกันว่า มีฟาร์มในหมู่บ้านมากกว่า 500 แห่งในประเทศจีนที่ส่งมอบผลผลิตของพวกเขาไปยังหน้าประตูของผู้บริโภค ซึ่งเป็นการขายตรงของสินค้าจากผู้ผลิตโดยไม่ผ่านคนกลาง เนื่องจากในปี 2019 นั้นไข้หวัดหมูแอฟริกันสายพันธุ์ที่ร้ายแรงได้ส่งผลถึงการเลี้ยงหมูในประเทศจีน ครอบครัวชาวจีนหลายครอบครัวจึงเปลี่ยนพฤติกรรมการกินเนื้อหมูไปกินเนื้อไก่ผ่านการซื้อตรงจากเกษตรกรที่พบทางออนไลน์         ตัวอย่างอาหารจากจีนซึ่งมีภาพลักษณ์ดูแย่ในสายตาฝรั่ง (ที่เผยแพร่บนอินเทอร์เน็ต) คือ แตงโม ในแง่การใช้สารกำจัดศัตรูพืชปริมาณสูง น้ำแอบเปิ้ล ที่อาจมีสารกำจัดศัตรูพืชหลงเหลือ ปลาค็อดและปลานิล ที่เลี้ยงในน้ำที่เต็มไปด้วยขยะและกินขยะเหล่านั้น เส้นก๋วยเตี๋ยว ที่ฟอกขาวด้วยซัลเฟอร์ไดออกไซด์ เนื้อแกะ ซึ่งอาจมีเนื้อหนูผสมโดยตั้งใจดังเคยเป็นข่าวในอดีต เนื้อวัว ซึ่งมีการปลอมเนื้อหมูผสมบอแรกซ์เพื่อให้มีลักษณะสัมผัสคล้ายเนื้อวัว เห็ด มีการปนเปื้อนสารพิษในการผลิต ข้าว ทำขึ้นจากมันฝรั่งและสารสังเคราะห์ ซึ่งในบทความเรียกว่า plastic rice นม ซึ่งอาจมีการเติม melamine ไข่ ซึ่งประดิษฐ์ขึ้นจากองค์ประกอบหลายชนิด เกลือแกง (Table salt) ซึ่งมีการปนเปื้อนของโลหะต่างๆ น้ำมันพืช ที่ทำจากน้ำมันใช้แล้วถูกฟอกสี ไก่ ซึ่งมีไวรัสหวัดนก ชาจีน ซึ่งมักมีสารกำจัดศัตรูพืช ข้าวโพด เติมไซคลาเมตเพื่อปรับปรุงรสชาติและคงสีเหลือง ถั่วลันเตาและถั่วเหลือง ทำปลอมจากถั่วอื่น กระหล่ำปลี อาบฟอร์มาลีน ก๋วยเตี๋ยว จากแป้งมันเทศ (sweet potato) ที่ย้อมสี ซีอิ๊ว มีสารก่อมะเร็งที่เรียกว่า 4-methylimidazole ซึ่งเคยเป็นข่าวในฮ่องกง ขิงและโสม ซึ่งอาจมีสารกำจัดศัตรูพืช aldicarb (GreenPeace กล่าวว่าตรวจพบในทุกตัวอย่าง) พีชกระป๋อง ซึ่งอาจมีตะกั่วสูง (ข่าวการทดสอบพบในออสเตรเลีย) ทูนา ซึ่งมีสารปนเปื้อน กุ้งแช่แข็ง ปนเปื้อนยาปฏิชีวนะหรือยาอันตราย น้ำผึ้ง ซึ่งมักปลอมหรือดัดแปลง มันฝรั่ง ดัดแปลงสีให้ดูสด และอาหารอีกหลายอย่างที่เว็บดังกล่าวข้างต้นไม่ได้บอกว่าทำไมไม่ควรซื้อกิน ได้แก่ ปวยเล้งแช่แข็ง กระเทียม พริกไทยดำ ไวน์จีน อาหารสุนัข ถั่ววอลนัท ซาลาเปาแช่แข็ง ผักดอง ซุปหม้อไฟ อาหารทารก เม็ดสาคูยักษ์ จากแป้งมันสำปะหลังสำหรับชาไข่มุก และเต้าหู้         สำหรับประเด็นอาหารนำเข้าจากจีนสำหรับคนไทยนั้น เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2564 เว็บ prachachat.net มีบทความเรื่อง รถไฟจีน-ลาวทำขาดดุลเพิ่ม สินค้าทะลัก 200 ตู้ถล่มไทย ได้โปรยข่าวตอนหนึ่งว่า “รถไฟลาว-จีนป่วนไทยไม่หยุด ม.หอการค้าไทยคาดการณ์ปีหน้าสินค้าจีนเดือนละ 200 ตู้คอนเทนเนอร์มูลค่า 20,000 ล้านบาทมาแน่ ทำให้ไทยขาดดุลการค้ากับจีนเพิ่มขึ้น”…นอกจากนี้ตอนหนึ่งของเนื้อข่าวได้กล่าวว่า “สมาคมผู้ส่งออกผักผลไม้ไทยหวั่นอนาคตไทยจะกำหนดราคาขายผลไม้เองไม่ได้ พร้อมคำแนะนำว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กรมวิชาการเกษตร และสำนักงานมาตรฐานสินค้าอุตสาหกรรม (สมอ.) จะต้องมาร่วมกันทำจุดเบ็ดเสร็จในการตรวจสอบสินค้าให้เป็นไปตามมาตรฐานและต้องยึดโยงกับจีนให้จริงจังขึ้น”         ก่อนหน้านั้น ผู้จัดการออนไลน์เมื่อ 5 ธ.ค. 2564 มีบทความเรื่อง จับตา “ผัก-ผลไม้จีน” ทะลักไทย หลังเปิดรถไฟ “คุนหมิง-เวียงจันทน์” โดยเนื้อความบางส่วนกล่าวว่า “เกษตรกรไทยต้องเผชิญกับความยากลำบากมากกว่าเดิมหลังจากก่อนหน้านี้ได้รับผลกระทบจากข้อตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีนปี 2546 ซึ่งแม้ไทยส่งออกพืชผลทางการเกษตรไปขายยังจีนได้มากขึ้น แต่จีนก็ส่งสินค้าเกษตรมาขายยังไทยได้จำนวนมหาศาล โดยเฉพาะพืชผักเมืองหนาวชนิดเดียวกับที่ปลูกในประเทศไทย”         มาตรการตรวจสอบผักผลไม้จากต่างประเทศทั้งเรื่อง คุณภาพและสารเคมีตกค้างที่มีปริมาณเพิ่มมากขึ้นนั้น ไทยมีประสิทธิภาพเพียงพอหรือไม่ ในประเด็นนี้ข่าวเดียวกันของผู้จัดการออนไลน์ได้ให้ข้อมูลว่า “รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ตรวจเยี่ยมการดำเนินงานของด่านอาหารและยาหนองคายแล้วระบุว่า การทำงานของเจ้าหน้าที่ยืนยันว่า มีการตรวจสอบอย่างละเอียดก่อนจะอนุญาตให้นำเข้าประเทศ โดยตามหลักเกณฑ์การตรวจสอบผัก ผลไม้ จะมีมาตรการคุมเข้ม ด้วยการตรวจสอบหนังสือรับรองมาตรฐานระบบการผลิตอาหาร การสุ่มตรวจผักผลไม้โดยใช้เกณฑ์ความเสี่ยงที่อาจจะเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค หากพบว่ามีผักผลไม้เคยมีประวัติตกมาตรฐานจะกักกันสินค้าไม่ให้เข้าประเทศ และตรวจสอบว่ามีสารเคมีอันตรายตกค้างหรือไม่ หากพบว่าไม่มี จึงจะตรวจปล่อยสินค้า แต่หากพบมีการปนเปื้อนสารตกค้างจะไม่อนุญาตให้นำเข้าและจะมีการดำเนินคดีตามกฎหมาย ขั้นตอนการตรวจสอบใช้เวลา 5 - 7 วัน ตลอดจนมีการทำงานเชิงรุกโดยพัฒนาห้องปฏิบัติการตรวจวิเคราะห์เบื้องต้นที่ด่านอาหารและยาหนองคาย เพื่อใช้คัดกรองความเสี่ยงของผักผลไม้ อำนวยความสะดวกในการนำเข้าสินค้าประเภทผักผลไม้ได้รวดเร็วขึ้นควบคู่กับการคุ้มครองความปลอดภัยแก่ผู้บริโภค”จากข้อมูลของผู้จัดการออนไลน์ทำให้ผู้เขียนได้เข้าใจแล้วว่า 1.) จริงแล้ว อย. นั้นดูแลการนำเข้าอาหารดิบเช่น ผักและผลไม้ที่ผ่านแดนด้วย 2.) การดูแลนั้นเป็นการตรวจดูเอกสารเป็นหลัก ยกเว้นถ้าสงสัยจึงทำการสุ่มตัวอย่างมาทดสอบ ซึ่งอาหารและวัตถุดิบจากจีนมีภาพพจน์อย่างใดในการค้าโลกนั้นย่อมเป็นที่รู้กันในหมู่แม่บ้านทันสมัยว่า ในกรณีที่มีทางเลือกควรตัดสินใจอย่างไรในการหยิบผักและผลไม้ที่ผลิตในประเทศหรือนำเข้าจากประเทศไหนใส่ตระกร้าหรือรถเข็น         บทความเรื่องนี้ผู้เขียนประสงค์เพียงเพื่อให้ข้อมูลเบื้องต้นแก่ผู้บริโภคเป็นแง่คิดในการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าอาหารนำเข้าหลังจากที่ท่านไปสืบหาความจริงว่า ที่ฝรั่งเขาเตือนกันนั้นจริงหรือไม่ โดยไม่ดูเพียงว่าสินค้านั้นมีราคาถูกแล้วซื้อ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 254 กระแสต่างแดน

รู้ว่าเสี่ยง        เป็นที่รู้กันว่าใครที่ไว้ผมหรือสวมใส่เสื้อผ้าในสไตล์ที่ “ผิดระเบียบ” ไปจากที่ทางการของเกาหลีเหนือกำหนด อาจถูกตำรวจควบคุมตัว สอบปากคำ ทุบตี หรือแม้แต่จับเข้าคุก         แต่ปัจจุบันเกาหลีเหนือยังไม่ประสบความสำเร็จในการปราบปรามการลักลอบนำเข้าเทปรายการทีวีหรือภาพยนตร์จากต่างประเทศ จึงมีคนรุ่นใหม่ที่ชื่นชอบในสิ่งที่พวกเขาได้เห็น และเริ่มแสดงความเป็นตัวของตัวเองผ่านทรงผมและเสื้อผ้าการแต่งกายแบบ “ชาวต่างชาติ”         ผู้เชี่ยวชาญบอกว่า ถ้าดูจากจำนวนเรือนจำและค่ายกักกันแรงงานที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีความเป็นไปได้ว่าจำนวนคนที่กล้าเสี่ยงกระทำ “อาชญากรรมแฟชั่น” เช่น แต่งหน้า ทำสีผม สวมกางเกงยีนส์ หรือเลกกิ้งแนบเนื้อ นั้นมีมากขึ้นนั่นเอง          ผู้กล้าเหล่านี้รู้ดีว่าตนเองเสี่ยงต่อการถูกตำรวจถ่ายคลิปไปประจานในสถาบันการศึกษา ถูกจับกุมและบังคับให้เขียนคำสารภาพ หรืออาจได้ของแถมเป็นการถูกส่งตัวไปทำงานสร้างถนนในพื้นที่ห่างไกลด้วย ปรับปรุงด่วน        รัฐบาลเนเธอร์แลนด์เล็งจัดการกับผู้ให้บริการ “จัดส่งด่วน” ภายในในฤดูใบไม้ร่วงที่จะถึงนี้ หลังการสืบสวนพบว่าบริษัทเหล่านี้ทำผิดกฎหมายแรงงานซ้ำซาก และพนักงานระดับซูเปอร์ไวเซอร์ไม่มีความรู้เรื่องพื้นฐาน เช่น ชั่วโมงทำงาน ชั่วโมงพัก หรือแม้แต่การตรวจเช็คใบอนุญาตทำงานของคนต่างชาติ         รายงานระบุว่าสถานที่ที่ใช้เป็น “ศูนย์กระจายสินค้า” ที่บรรดาไรเดอร์มารวมตัวรอรับสินค้าออกไปส่ง มักเป็นอาคารเก่าที่มีสภาพทรุดโทรมเกินว่าที่จะใช้เป็นโกงดังเก็บสินค้าด้วยซ้ำ สภาพแวดล้อมนี้เป็นอันตรายต่อชีวิตและสุขภาพของคนทำงาน         ความคาดหวังในเรื่องความเร็ว ยังทำให้ไรเดอร์เสี่ยงต่ออุบัติเหตุหรือการทะเลาะวิวาทระหว่างทาง ยังไม่นับน้ำหนักของเป้ขนาดใหญ่ที่ต้องแบก         เขายังพบว่าไรเดอร์บางส่วนรับงานโดยไม่มีสัญญาจ้าง พวกเขาจึงไม่มีสิทธิเรียกร้องเมื่อเจ็บป่วยหรือได้รับอุบัติเหตุ และคนต่างชาติที่ไม่เข้าใจภาษาดัทช์ ก็รับงานโดยไม่มีความเข้าใจกฎหมายของเนเธอร์แลนด์ด้วย  เปิดปุ๊ปหลอกปั๊บ        โควิด-19 ในอังกฤษอยู่ในช่วงขาลง แต่ที่กำลังไต่ระดับขึ้นมาอย่างรวดเร็วในขณะนี้คือ “โรคระบาด” ชนิดใหม่ที่สื่ออังกฤษเรียกรวมๆ ว่า “ฮอลลิเดย์ สแกม”         เมื่อผู้คนเริ่มค้นหา “ข้อเสนอดีๆ” จากโรงแรม สายการบิน หรือบริษัททัวร์  มิจฉาชีพที่จับจ้องความเคลื่อนไหวเหล่านี้อยู่ก็ปล่อย “โฆษณาปลอม” ที่ดูเหมือนมาจากผู้ประกอบการตัวจริง เข้ามาทางโซเชียลมีเดียหรือเว็บค้นหา พร้อมให้ลิงก์เพื่อคลิกเข้าไปจองและจ่ายเงิน           จากสถิติที่เปิดเผยโดยธนาคาร Lloyds Bank การถูกหลอกให้จองตั๋วเครื่องบินจาก “เว็บปลอม” ทำให้ผู้บริโภคสูญเงินเฉลี่ยคนละ 3,000 ปอนด์  ตามด้วย “แพ็คเก็จทัวร์ปลอม” ที่หลอกเอาเงินจากผู้เสียหายไปได้เฉลี่ยรายละ 2,300 ปอนด์  “ที่พักปลอม” ก็ไม่น้อยหน้า หลอกต้มเอาเงินคนอังกฤษไปได้รายละ 1,200 ปอนด์ ในขณะที่การเช่า “รถบ้านปลอม” นั้น เกิดขึ้นบ่อยที่สุด แม้จะสูญเงินต่อรายเพียง 374 ปอนด์ก็ตาม         ธนาคารแนะนำให้จ่ายเงินผ่านบัตรเดบิตหรือเครดิต หากปลายทางยืนยันให้โอน ก็ให้สงสัยไว้ก่อนว่าเป็นมิจฉาชีพ ไม่ต้องห่อ        กรีนพีซไต้หวันเรียกร้องให้รัฐบาลออกกฎจำกัดการใช้วัสดุพลาสติกในการห่อหุ้มผัก ผลไม้สด ซึ่งมีการจำหน่ายถึงปีละ 100 ล้านชิ้น         จากการสำรวจร่วมกับมหาวิทยาลัยแห่งชาติเฉิงกง กรีนพีซพบว่าร้อยละ 90 ของสินค้าสดที่จำหน่ายในไต้หวัน ล้วนถูกห่อหุ้มด้วยพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง         ในปี 2021 มีสินค้าจาก 10 หมวด (เช่น ไข่ ผัก ผลไม้ น้ำดื่มบรรจุขวด ผลิตภัณฑ์ซักผ้า) ถูกจำหน่ายออกไปถึง 1,800 ล้านชิ้น ทำให้มีพลาสติกถูกทิ้งเป็นขยะถึง 15,000 ตัน            ตัวเลขจากการคำนวณระบุว่า ถ้าลดการห่อหุ้ม (โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลไม้) หรือใช้วัสดุที่ใช้ซ้ำได้ หรือแม้แต่ขอให้ลูกค้านำถุงมาเอง ไต้หวันจะลดขยะชนิดนี้ลงได้มากกว่าครึ่ง  รัฐบาลจึงควรเร่งหาแนวทางที่อ้างอิงเหตุผลทางวิทยาศาสตร์ มาช่วยให้ร้านค้าสามารถจำหน่ายผัก ผลไม้สด ได้โดยไม่ช้ำและไม่สร้างปัญหาสิ่งแวดล้อม ที่บ้านทำไม่ได้        เมื่อชายแดนกลับมาเปิดตามปกติ ผู้คนที่ยะโฮร์บาห์รู ในมาเลเซีย ก็ปลื้มที่ได้เปิดร้านค้า ร้านอาหาร รองรับลูกค้ากระเป๋าหนักจากสิงคโปร์อีกครั้ง         แต่จะไม่ถูกใจก็ตรงที่คนสิงคโปร์มา “ฉวยโอกาส” เติมน้ำมัน RON-95 ในราคาลิตรละ 2.05 ริงกิต กลับไปด้วย (น้ำมันชนิดเดียวกันที่สิงคโปร์ ราคาลิตรละ 9.30 ริงกิต)         การกระทำดังกล่าวถือเป็นเรื่องผิดกฎหมาย เพราะน้ำมันชนิดดังกล่าวได้รับการอุดหนุนจากรัฐบาลมาเลเซีย และสงวนไว้จำหน่ายให้กับคนในประเทศเท่านั้น ปั๊มที่จำหน่าย RON-95 ให้กับคนต่างชาติมีโทษปรับสูงสุดถึงสองล้านริงกิต และรัฐบาลสิงคโปร์ก็ห้ามไม่ให้รถที่มีน้ำมันไม่ถึงร้อยละ 75 ในถัง ข้ามแดนมายังมาเลเซีย         นอกจากนี้คนมาเลเซียยังหงุดหงิดกับแก๊ง “รถซิ่ง” จากสิงคโปร์ ที่ยกพวกกันมายืดถนนขับแข่งกันในบ้านของเขา ที่สำคัญคือคนสิงคโปร์เข้ามาทำผิดกฎจราจรมากมายบนท้องถนนมาเลเซีย แล้วก็เหนียวหนี้ไม่จ่ายค่าปรับ ปัจจุบันมีใบสั่งที่ค้างจ่ายจากคนสิงคโปร์อยู่ถึง 108,750 ใบ   

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 254 บริโภคอย่างปลอดภัย เฝ้าระวังง่ายๆ ด้วยตนเอง

        ในชีวิตประจำวัน ผู้บริโภคล้วนต้องรับประทานอาหาร ยา ใช้เครื่องสำอาง และผลิตภัณฑ์สุขภาพต่างๆมากมาย  แต่เมื่อผู้บริโภคเสงสัยว่าผลิตภัณฑ์ที่ตนบริโภคนั้นจะปลอดภัยหรือไม่ สิ่งแรกที่มักจะคิดกันก็คือ จะส่งไปให้ใครตรวจสอบคุณภาพความปลอดภัยได้บ้าง ซึ่งในความเป็นจริง เราคงไม่สามารถส่งผลิตภัณฑ์ไปให้ใครตรวจสอบคุณภาพก่อนใช้ได้ทุกครั้ง  และคงไม่มีหน่วยงานใดที่จะสามารถติดตามตรวจสอบคุณภาพผลิตภัณฑ์ในท้องตลาดได้ทุกชิ้นเช่นกัน  แล้วผู้บริโภคอย่างเราจะมีวิธีการประเมินความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ได้อย่างไร?          เราอาจใช้แนวทางคร่าวๆในการตรวจสอบผลิตภัณฑ์ที่สงสัย เพื่อความปลอดภัยในการบริโภคของเราเอง ดังนี้         1. ตรวจสอบจากฉลาก        1.1 ตรวจสอบว่าผลิตภัณฑ์นี้มีฉลากหรือไม่        1.2  ถ้ามีฉลาก  ตรวจสอบว่าเป็นฉลากภาษาไทยหรือไม่        1.3 ถ้ามีฉลากภาษาไทยแล้ว  ให้ตรวจสอบว่ามีเลขที่แสดงการได้รับอนุญาตจาก อย.หรือไม่          1.4 ถ้ามีเลขที่แสดงการได้รับอนุญาตจาก อย.แล้ว อย่าเพิ่งไว้ใจ พวกหลอกลวงมันยังมี ให้เข้าไปที่เว็บไซต์ของ อย.เพื่อตรวจสอบว่าเป็นเลขที่นั้น ตรงกับเลขที่ของผลิตภัณฑ์ในระบบข้อมูลหรือไม่         หากตรวจสอบตามที่แนะนำข้างต้นแล้ว พบว่าไม่ถูกต้องหรือไม่ตรงตามที่ระบุ แสดงว่าผลิตภัณฑ์นี้ยังไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมาย        2. ตรวจสอบข้อมูลความไม่ปลอดภัย        2.1 หากยังไม่แน่ใจ ลองตรวจสอบเพิ่มเติมว่า เคยมีใครรายงานข้อมูลความไม่ปลอดภัยหรือไม่  โดยตรวจสอบจากแหล่งต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ เช่น เว็บไซต์ของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.แจ้งเตือนภัย)  เว็บไซต์กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ (หน้าต่างเตือนภัยสุขภาพ)  เว็ปไซต์ของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ฯลฯ         2.2 ถึงแม้จะไม่พบรายงานความไม่ปลอดภัย  แต่เมื่อเรานำมาบริโภคแล้วมีอาการผิดปกติ เช่น        ·     รับประทานแล้วน้ำหนักลดอย่างรวดเร็ว (อาจใส่ยาลดน้ำหนัก)          ·     รับประทานแล้วหายปวดเมื่อยทันที  นอนหลับ  และกินข้าวได้อย่างดี (อาจใส่สเตียรอยด์ปนเปื้อน)        ·     ใช้แล้วผิวขาวอย่างรวดเร็ว  และเมื่อไม่ได้ใช้มักจะเกิดผิวอักเสบหรือผิวคล้ำตามมา (อาจจะใส่สารอันตรายที่ทำให้หน้าขาว เช่น  ไฮโดรควิโนน  กรดวิตามินเอ  ปรอท  สเตียรอยด์)        ·     รับประทานสมุนไพรแล้วกระตุ้นสมรรถนะทางเพศ (อาจใส่ยากระตุ้นทางเพศ) หากมีอาการผิดปกติดังที่ยกตัวอย่างมานี้ แสดงว่าผลิตภัณฑ์นี้อาจจะมีสารอันตรายผสมอยู่         2.3 เราอาจใช้ชุดตรวจสอบเบื้องต้นที่มีขายในท้องตลาดมาตรวจสอบดูด้วยตนเอง หรือนำผลิตภัณฑ์ที่สงสัย ไปปรึกษาเภสัชกรในโรงพยาบาลชุมชนหรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด  เพื่อตรวจสอบเพิ่มเติมต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 253 น้ำส้มกล่องหมดอายุ

        มินิมาร์ท หรือร้านสะดวกซื้อ ทำให้เราสามารถหาซื้อสินค้าได้ง่ายขึ้น เราก็สะดวกด้วย อยากได้อะไรก็สามารถเข้าไปซื้อได้เลย แต่บางทีความสะดวก ง่าย รวดเร็ว อาจไม่ได้หมายถึงว่า เราควรจะวางใจจนไม่รอบคอบ ทั้งในฝ่ายของผู้ประกอบการและผู้ซื้อ เรามาดูกรณีนี้กัน         ภูผา อยากดื่มน้ำส้มหวานๆ เย็นๆ ให้ชื่นใจสำหรับหน้าร้อนอันแสนทรมาน จึงแวะเข้าร้านสะดวกซื้อระหว่างเดินไปทำงาน ด้วยความรีบ (เพราะสายแล้ว) เขาเดินปรี่เข้าไปหยิบน้ำส้มในตู้แช่มา 1 กล่อง แล้วรีบไปจ่ายเงินโดยความรวดเร็ว พอถึงสำนักงานหลังจากสแกนนิ้วเข้าสถานที่ทำงานได้เรียบร้อย ก็เจาะกล่องน้ำส้มดูดอย่างว่องไว แต่แล้วก็ต้องหน้าเบ้เพราะพบว่ารสชาติแปลกๆ เขาจึงหมุนกล่องไปดูวันหมดอายุที่นี้แหละรู้เลยว่าทำไม น้ำส้มถึงรสชาติแปลกๆ นั่นก็เพราะว่า น้ำส้มกล่องนี้หมดอายุไปแล้ว 2 วัน “อ้าว หมดอายุแล้วเอามาวางขายได้ไง”  ภูผาไม่เข้าใจว่าทำไมร้านสะดวกซื้อถึงเอาสินค้าหมดอายุมาขายให้เขา ร้านสะดวกซื้อน่าจะตรวจสอบให้ดีกว่านี้นะ ออกจะเป็นร้านมากสาขาใหญ่เสียขนาดนั้น แม้ราคาน้ำส้มกล่องไม่กี่บาท แต่เขาไม่รู้ว่าเขาจะสามารถทำอย่างไรได้บ้างไหม เพราะว่าไม่อยากให้เรื่องนี้กลายเป็นเรื่องธรรมดาๆ ไป จึงมาขอคำปรึกษามูลนิเพื่อผู้บริโภค แนวทางการแก้ไขปัญหา        ศูนย์พิทักษ์สิทธิ แนะนำว่าผู้ร้องสามารถดำเนินการแก้ไขปัญหาเบื้องต้นได้ดังนี้        1. ถ่ายรูปกล่องน้ำส้ม ถ่ายให้เห็นฉลากสินค้าวันผลิต – วันหมดอายุ ล็อตการผลิต พร้อมเก็บกล่องน้ำส้มและใบเสร็จจากร้านสะดวกซื้อไว้เป็นหลักฐาน (ให้ถ่ายสำเนาใบเสร็จเก็บไว้ด้วยป้องกันใบเสร็จลบเลือน)         2. นำหลักฐานทั้งหมดแจ้งความ ร้องทุกข์กล่าวโทษ ที่สถานีตำรวจบริเวณใกล้ที่ทำงาน เพื่อเป็นหลักฐาน         3. ให้ติดต่อร้านสะดวกซื้อที่ซื้อน้ำส้มมา ขอให้ทางร้านแก้ไขปัญหา พร้อมชดเชย เยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้น โดยต้องคิดให้ดีว่าจะให้ร้านสะดวกซื้อรับผิดชอบอย่างไร เช่น ขอเปลี่ยนสินค้า, ขอเงินคืน, จ่ายค่าเสียเวลา, ค่าขาดประโยชน์, ค่าใช้จ่ายในการติดต่อกับผู้ประกอบการ หรือให้ทำหนังสือชี้แจงเหตุของสิ่งผิดปกติและขอโทษต่อผู้เสียหายและสาธารณะ เป็นต้น         4. ถ้าไม่สามารถตกลงกับร้านสะดวกซื้อสาขาที่เกิดเหตุได้ ให้ทำหนังสือยื่นกับบริษัท (สำนักงานใหญ่) โดยบรรยายสรุปปัญหาที่พบ พร้อมข้อเรียกร้อง โดยส่งถึงประธานกรรมการบริหารหรือตำแหน่งอื่นที่เทียบเท่า        กรณีจำหน่ายอาหารหมดอายุ เป็นการกระทำความผิดตามมาตรา 25 (4) ประกอบมาตรา 29 แห่งพระราชบัญัติอาหาร พ.ศ. 2522 ซึ่งถือได้ว่าการจำหน่ายอาหารหมดอายุ เป็นอาหารที่ไม่ปลอดภัยในการบริโภค และบทลงโทษอยู่ในมาตรา 61 ระบุให้ระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปีหรือปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

อ่านเพิ่มเติม >