ฉบับที่ 231 โควิดตัวร้ายกับแอปพลิเคชันสั่งอาหาร

        เดือนที่ผ่านมาพวกเราต่างได้รับผลกระทบจากโรคโควิท 19 กันทุกคน รัฐบาลมีมาตรการล็อคดาวน์ มาตรการ Social Distancing และรณรงค์ให้อยู่บ้านหยุดเชื้อ เพื่อชาติ ร้านอาหารต่างๆ เปิดให้บริการเพียงแบบซื้อกลับบ้านเท่านั้น ทำให้บริการแอปพลิเคชันสั่งซื้ออาหารออนไลน์ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก ทั้งGrab Food, Food Panda, Lalamove, Line Man เมื่อผู้บริโภคใช้บริการมากก็จะมีความผิดพลาดเกิดขึ้นได้ เรามาดูกันว่าผู้บริโภครายนี้เขาเกิดความผิดพลาดอย่างไร และเขาจัดการปัญหานี้อย่างไร         คุณภูผาต้องทำงานที่บ้าน (Work from Home) ไม่สะดวกออกไปซื้ออาหาร ทำเองก็ไม่สะดวก เขาจึงสั่งอาหารร้านชื่อดังแห่งหนึ่งผ่าน Grab food โดยมีเมนูข้าวหมกไก่ กล่องละ 45 บาท 1 กล่อง ข้าวมันไก่ทอด กล่องละ 45 บาท 1 กล่อง ข้าวหมกเนื้อ กล่องละ  50 บาท 2 กล่อง และสเต๊ะเนื้อ 1 ชุด 95 บาท ค่าอาหาร 285 บาท และค่าส่งอีก 25 บาท รวมเป็น 310 บาท พอกดสั่งอาหารแล้วก็แอบยิ้มดีใจนิดๆ ว่าแอปฯ ให้ส่วนลดเป็น reward ตั้ง 10 บาท โดยชำระเงินผ่านบัตรเครดิต         เมื่อ Grab นำอาหารมาส่ง ภูผาก็ออกมารับของอย่างมีความสุข แต่มาเกิดเรื่องจนได้ตอนจะรับประทาน เพราะพบว่า ขาดข้าวหมกเนื้อไป 1 กล่อง จึงแจ้งไปยังศูนย์ขอความช่วยเหลือในแอปพลิเคชันพร้อมเล่ารายละเอียดคร่าวๆ ว่า ได้อาหารไม่ครบขาดข้าวหมกเนื้อ 1 กล่อง ราคา 50 บาท และส่งรูปภาพไปด้วย หลังจากนั้นประมาณ 10 – 15 นาที ก็มีอีเมล์ตอบกลับมาว่า ขออภัยและบอกว่าจะคืนเงินให้เป็น reward (reward คือการสะสมคะแนน เพื่อใช้เป็นส่วนลดหรือแลกสิ่งของ) จำนวน 50 บาท และให้แบ่งใช้ 2 ครั้ง 40 บาท และ 20 บาท โดยสามารถใช้ได้ในครั้งถัดไป อย่างไรก็ตามมีการกำหนดอายุการใช้งานของ Reward ด้วย         คุณภูผารู้สึกไม่พอใจ เขารู้สึกว่า Grab เอาเปรียบเขา ทำไม Grab ไม่คืนเงินเข้าไปในวงเงินบัตรเครดิต หรือตัดบัตรเครดิตเพียงแค่ยอดที่เขาได้รับของมาคือ 260 บาท(หักข้าวหมกเนื้อออก) และการที่คืนเป็น Reward อาจจะฟังดูเป็นบุญคุณไปอีก “ไม่โอเค อ่ะ” ความผิดพลาดเกิดจากการส่งอาหารไม่ครบของพนักงาน (Rider) เอง สำหรับการกำหนดอายุการใช้งานของ Reward ก็ยิ่งไม่ควรทำหากจะเลือกเยียวยาด้วยวิธีนี้ คุณภูผาคิดว่า ความผิดไม่ได้เป็นของผู้บริโภค (อาจพลาดที่ไม่ได้ตรวจก่อนว่ารับสินค้าครบไหม) ดังนั้น Grab ควรติดต่อร้านให้นำของมาส่งเพิ่มตามที่ขาดไปยังจะดีกว่า หรือคืนเงิน หรือคิดเงินเขาในราคาเท่ากับของที่เขาได้รับจริง จะโอเคที่สุด  ดังนั้นเขาจึงได้ทำเป็นข้อแนะนำเสนอต่อ Grab Food ไป และมาปรึกษาศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคว่า ควรทำอะไรเพิ่มอีก แนวทางการแก้ไขปัญหา         ศูนย์พิทักษ์สิทธิแนะนำว่า มีวิธีจัดการปัญหาเบื้องต้น 2 วิธี ดังนี้         1. ใช้ช่องทางผ่านตัวผู้ให้บริการแอป คือ ติดต่อไปยัง Grab Food อีกครั้ง โดยผ่านช่องทางศูนย์ขอความช่วยเหลือในแอป หรือโทรศัพท์ติดต่อไปยัง Grab เพื่อปฏิเสธการคืนเป็น reward และแสดงความต้องการขอรับคืนเป็นเงินสดหรือเป็นเงินคืนให้บัตรเครดิตเท่านั้น         2. ใช้ช่องทางบัตรเครดิต คือ ติดต่อไปยังธนาคารเจ้าของบัตรเครดิตว่า สั่งซื้อสินค้าแล้วได้สินค้าไม่ครบถ้วน โดยอ้างประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจบัตรเครดิตเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. 2542 ข้อ 3 (8) (ข) ของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค เพื่อให้ธนาคารคืนวงเงินเข้าบัตรเครดิต หรือให้ธนาคารเรียกเก็บเฉพาะส่วนที่ได้รับสินค้า ไม่เรียกเก็บส่วนที่ไม่ได้สินค้า         เมื่อรับคำแนะนำแล้ว ผู้ร้องได้ลองติดต่อไปยังตัวผู้ให้บริการผ่านช่องทางศูนย์ขอความช่วยเหลืออีกครั้งหนึ่ง โดยยืนยันว่าขอให้ Grab คืนวงเงินเข้าบัตรเครดิต เป็นจำนวนเงิน 50 บาท ปรากฎว่า คุณภูผาได้รับการแก้ไขปัญหาจากผู้ให้บริการด้วยการคืนวงเข้าบัตรเครดิตในวันรุ่งขึ้นทันที เขาจึงเสนอต่อ Grab เพิ่มว่า “ควรให้ลูกค้าเลือกใช้สิทธิว่าจะรับเป็น Refund, Reward, Re-Delivery ตั้งแต่แรกเลยจะจบแบบได้ใจลูกค้ามากกว่านี้”

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 230 รู้เท่าทันการอดอาหารวันละ 16 ชั่วโมง

        กระแสการอยากมีหุ่นเพรียว ลดน้ำหนัก ลดไขมัน เป็นที่นิยมทั่วโลก การลดน้ำหนักจึงมีมากมายหลายวิธี บางคนก็ใช้ผสมกันหลายวิธี การอดอาหารแบบ 16:8 หรืออดอาหารนาน 16 ชั่วโมง และกินอาหารไม่เกิน 8 ชั่วโมง กำลังเป็นที่นิยมอย่างรวดเร็ว หลายคนบอกว่าได้ผลดีกว่าวิธีอื่นๆ  เรามารู้เท่าทันกันเถอะอาหาร 16:8 คืออะไร         อาหาร 16:8 เป็นการอดอาหาร 16 ชั่วโมงติดต่อกันในแต่ละวัน เพื่อลดน้ำหนัก หรือให้สุขภาพดี เป็นวิธีการอดอาหารแนวใหม่ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในขณะนี้ เพราะคนทำรู้สึกว่า ทำง่าย สะดวก ยืดหยุ่น เข้ากับวิถีชีวิตของแต่ละคน  ในขณะที่การกินอาหารลดน้ำหนักวิธีการอื่นค่อนข้างยุ่งยาก เข้มงวด วิธีนี้สามารถทำซ้ำๆ ได้บ่อยเท่าที่ต้องการ เช่น สัปดาห์ละ 1 หรือ 2 ครั้ง ขึ้นกับแต่ละคน         การอดอาหารใน 16 ชั่วของแต่ละวัน ห้ามกินอาหาร ยกเว้นน้ำ เครื่องดื่มที่ไม่มีน้ำตาล ไม่หวาน เช่น กาแฟดำ ชา ส่วน 8 ชั่วโมงนั้น ให้กินอาหารและของว่างตามปกติ ส่วนใหญ่นิยมอดอาหารในเวลากลางคืน ซึ่งเป็นเวลานอน และกินอาหารในช่วงเที่ยงของวันรุ่งขึ้น อาหารที่กินก็เป็นอาหารปกติทั่วไปที่กิน แต่บางคนอาจกินอาหารคีโต อาหารมังสวิรัติ เพื่อลดน้ำหนักได้มากยิ่งขึ้นก็ได้         การอดอาหาร 16 ชั่วโมงในแต่ละวันอาจเป็นเรื่องใหม่สำหรับคนไทยและคนทั่วไป แต่จริงๆ แล้ว เป็นเรื่องที่บรรพบุรุษของเราทำกันมานาน การตื่นแต่เช้าไปล่าสัตว์ กินตอนสายๆ หรือเที่ยง นอนและอดอาหารตั้งแต่หัวค่ำจนถึงเช้า ประโยชน์และผลเสียของการอดอาหาร 16 ชั่วโมงต่อวัน         การอดอาหารวิธีนี้ เชื่อว่า ลดน้ำหนัก ลดน้ำตาลในเลือด ทำให้สมองทำงานดีขึ้น และช่วยให้อายุยืนยาว         ในขณะเดียวกัน การอดอาหารอาจทำให้บางคนเกิดความหิวและกินมากขึ้นในช่วงกิน 8 ชั่วโมง ทำให้อ้วนมากขึ้น ช่วงเริ่มอดอาหารใหม่ๆ อาจอ่อนเพลีย ไม่มีแรง ผลกระทบต่อผู้ชายและผู้หญิงแตกต่างกัน และอาจมีผลต่อการมีบุตร การอดอาหาร 16:8 ดีจริงหรือไม่                                                                                   A PubMed ทบทวนเอกสารวิจัย 6 รายงาน พบว่า การอดอาหารรูปแบบต่าง ๆ (การอดวันเว้นวัน สองวันติดต่อกัน หรือสี่วันต่อสัปดาห์) ระยะเวลา 3-12 เดือนมีประสิทธิผลมากกว่าการควบคุมอาหาร และการอดอาหารเป็นเวลาเป็นวิธีที่ดีในการบำบัดผู้ที่มีน้ำหนักมากและโรคอ้วน แต่เนื่องจากมีปริมาณการศึกษาน้อย จึงควรทำการศึกษาเพิ่มเติมเพื่อยืนยันประสิทธิผล            การทบทวนเอกสารของคอเครน จำนวน 40 รายงาน พบว่า การอดอาหาร 16: 8 ทำให้น้ำหนักลดลง 3.18 – 5 กิโลกรัมใน 40 สัปดาห์ แต่รูปแบบการอดอาหารมีหลายรูปแบบ ระยะเวลาที่ศึกษา จำนวนผู้เข้าร่วมการวิจัย รูปร่างของผู้อดอาหาร และเมื่อเปรียบเทียบกลุ่มที่อดอาหารเป็นระยะ กับกลุ่มที่ควบคุม/จำกัด ในระยะยาว ไม่พบความแตกต่างในเรื่องน้ำหนักตัว         การอดอาหารและควบคุม/จำกัดอาหาร ในผู้ที่เป็นโรคอ้วน พบว่าไม่แตกต่างกัน          สรุป  การอดอาหารแบบ 16 ชั่วโมงในแต่ละวันนั้น ช่วยลดน้ำหนักได้ในระยะเวลาสั้นๆ ซึ่งต้องการศึกษาในระยะยาวเพื่อยืนยันประสิทธิผลอย่างชัดเจน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 229 ใยอาหารกับความเสื่อมของสมอง

        เวลาพูดถึงใยอาหารเรามักคิดกันว่า มันเป็นเรื่องของความสบายเมื่อต้องเข้าห้องน้ำหลังตื่นนอน ทั้งนี้เพราะใครก็ตามที่กินผักและผลไม้ในปริมาณที่เหล่าหน่วยงานที่ดูแลสุขภาพประชาชนทั้งไทยและเทศแนะนำคือ ราวครึ่งหนึ่งของมื้ออาหาร ย่อมได้ใยอาหารซึ่งมีผลโดยตรงคือ ช่วยในการขับถ่ายอุจจาระได้สะดวก และผลโดยอ้อมคือ ช่วยลดความเสี่ยงมะเร็งลำไส้ใหญ่และลดโอกาสมีน้ำหนักเกิน        อย่างไรก็ดีมีงานวิจัยหลายชิ้นได้ศึกษาถึงผลของใยอาหารชนิดที่อุ้มน้ำได้ดี (soluble fiber) ที่มีผลถึงอวัยวะสำคัญอื่นๆ คือ สมอง (ซึ่งจะกล่าวต่อไป) โดยใยอาหารกลุ่มนี้มีบทบาทเป็น prebiotic คือ เป็นอาหารของแบคทีเรียในลำไส้ ซึ่งทำหน้าที่เป็น probiotic กินใยอาหารแล้วปล่อยกรดไขมันสายสั้นโดยประมาณคือ กรดบิวทิริคร้อยละ 15 กรดโปรปิโอนิคร้อยละ 25 และกรดอะซิติคร้อยละ 65 เป็นผลพลอยได้ (โดยปรกติแล้วในสิ่งมีชีวิตนั้น กรดเหล่านี้จะอยู่ในรูปของเกลือ) ซึ่งเซลล์ของผนังลำไส้ใหญ่ดูดซึมกรดบิวทิริคในรูปเกลือบิวทิเรตไปใช้เป็นพลังงานได้ รายละเอียดดูได้ฟรีในบทความเรื่อง Intestinal Short Chain Fatty Acids and their Link with Diet and Human Health ในวารสารออนไลน์ Frontiers in Microbiology ของเดือนกุมภาพันธ์ 2016 (โดยอาศัย google นำทาง)         กล่าวกันว่าในกรณีของบิวทิเรตนั้น เซลล์ผนังลำไส้ใหญ่ใช้สารนี้เป็นพลังงานราวร้อยละ 70 เพื่อการดำรงชีวิต ดังนั้นในคนที่กินอาหารที่มีใยอาหารต่ำเซลล์ลำไส้ใหญ่อาจมีพลังงานเพื่อดำรงชีวิตของเซลล์ไม่พอ จนต้องทำการย่อยสลายตัวเอง (apoptosis) ปรากฏการลักษณะนี้จะทำให้การทำงานของลำไส้ใหญ่ลดลงจากสภาวะปรกติซึ่งส่งผลต่อสุขภาพของคนๆ นั้นไปเป็นภาวะไม่ปรกติ        Wikipedia ให้ข้อมูลประมาณว่า งานวิจัยหลายเรื่องกล่าวถึงศักยภาพของบิวทิเรตในการป้องกันและบำบัดอาการอักเสบของลำไส้ใหญ่และกำจัดเซลล์มะเร็งลำไส้ใหญ่ ในประเด็นหลังมีการให้เหตุผลว่า แม้บิวทิเรตเป็นแหล่งพลังงานสำหรับเซลล์ปรกติของลำไส้ใหญ่แต่กลับทำให้เซลล์มะเร็งลำไส้ใหญ่ตายตามหลักการของ Warburg effect (ซึ่งกล่าวประมาณว่า เซลล์มะเร็งนั้นดำรงอยู่ได้ด้วยพลังงานน้ำตาลกลูโคสที่ถูกเปลี่ยนเป็นพลังงานผ่านกระบวนการ glycolysis เพียงอย่างเดียว) ซึ่งทำให้เซลล์มะเร็งไม่สามารถใช้บิวทิเรตเป็นแหล่งพลังงานได้ เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงบิวทิเรตไปเป็นพลังงานนั้นจำต้องผ่านกระบวนการใน ไมโตคอนเดรีย ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญในเซลล์เกี่ยวกับการผลิตพลังงานหลักของเซลล์ปรกติ แต่เซลล์มะเร็งนั้นไม่ใช้ไมโตคอนเดรียในการสร้างพลังงานแต่อย่างใด ซึ่งนำไปสู่การสะสมของบิวทิเรตในนิวเคลียสส่งผลให้เกิดการยับยั้งเอ็นซัม histone deacetylase ซึ่งมีบทบาทอย่างสูงในกระบวนการเพิ่มจำนวนของเซลล์มะเร็ง กระบวนการนี้ค่อนข้างซับซ้อนเกินขอบเขตของบทความนี้ แต่กล่าวได้โดยสรุปว่า บิวทิเรตน่าจะช่วยลดความเสี่ยงของมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้         ประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับใยอาหาร ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญของอาหารเพื่อสุขภาพที่ดีคือ ได้มีงานวิจัยใหม่กล่าวว่า ใยอาหารน่าจะชะลอภาวะการอักเสบของสมองที่เพิ่มขึ้นตามอายุ ซึ่งส่งผลให้สมองทำงานได้ยาวนานขึ้น ดังมีงานวิจัยของ Department of Animal Sciences ของ University of Illinois ตีพิมพ์ในวารสาร Frontiers in Immunology ในปี 2018 เรื่อง Butyrate and Dietary Soluble Fiber Improve Neuroinflammation Associated With Aging in Mice ซึ่งบทความนี้แสดงให้เห็นว่า บิวทิเรตซึ่งเกิดในลำไส้ใหญ่ของหนูสูงอายุที่ได้กินใยอาหารชนิดอินูลิน (inulin) ได้ลดการทำงานของไซโตไคน์ (cytokine) ที่ออกฤทธิ์เกี่ยวกับการชักนำให้เซลล์ไมโครเกลีย (microglia) ก่อการอักเสบในสมองของหนู ส่งผลให้สมองของหนูกลุ่มนี้มีสภาพดีกว่ากลุ่มหนูสูงวัยที่กินเซลลูโลสซึ่งเป็นใยอาหารที่แบคทีเรียใช้ทำอะไรไม่ได้         ไมโครเกลียเป็นเซลล์ชนิดหนึ่งในระบบภูมิคุ้มกันที่สำคัญของสมองสัตว์ทั่วไป เซลล์นี้ทำหน้าที่กำจัดสิ่งที่ก่อปัญหาในสมองเช่น เซลล์ที่แก่หมดหน้าที่แล้วและเชื้อโรคต่างๆ อย่างไรก็ดีในผู้สูงอายุนั้นไมโครเกลียมีแนวโน้มในการก่ออาการสมาธิสั้นและการอักเสบเรื้อรังในสมอง ถ้ามีการทำงานมากเกินไป สมมุติฐานนี้ดูเป็นสาเหตุหลักของอาการความจำเสื่อมและการลดลงของความสามารถในการเข้าใจสิ่งต่างๆ ในวัยชรา         งานวิจัยที่ดูว่าสนับสนุนสมมุติฐานนี้คือ บทความเรื่อง Posttraining systemic administration of the histone deacetylase inhibitor sodium butyrate ameliorates aging-related memory decline in rats ในวารสาร  Behavioural Brain Research ของปี 2011 ซึ่งกล่าวในบทสรุปประมาณว่า บิวทิเรตที่เป็นผลพลอยได้จากการกินใยอาหารชนิดที่อุ้มน้ำได้ดี (soluble fiber) ของแบคทีเรียในลำไส้ใหญ่สามารถปรับปรุงความจำและลดการอักเสบในสมองหนูได้         ดังนั้นการเพิ่มขึ้นของจำนวนแบคทีเรียที่ผลิตบิวทิเรตในลำไส้ใหญ่ ย่อมส่งผลถึงการป้องกันไม่ให้ไมโครเกลียทำงานเกินจำเป็นเมื่อสัตว์มีอายุมากขึ้น ที่น่าสนใจคือ ผลการศึกษานี้เห็นได้ชัดเจนเฉพาะในหนูแก่ (ซึ่งเริ่มมีปัญหาเกี่ยวกับสมองแล้ว) ส่วนหนูวัยรุ่นหนุ่มสาวนั้นไม่ชัดเจน จึงกล่าวได้ว่าการกินอาหารที่อุดมด้วยใยอาหาร โดยเฉพาะส่วนนิ่มของใบผัก เช่น บรอกโคลี คะน้า ผักกาดขาว ฯลฯ ถั่ว ข้าวโอ๊ต แตงต่างๆ ผลไม้ตระกูลส้ม และขนมปังธัญพืชไม่ขัดสี น่าจะช่วยชะลอความแก่ของสมองของผู้สูงอายุได้ดี สำหรับส่วนแข็งของใบผักเช่น ก้าน นั้นมีประโยชน์ในด้านการอุ้มน้ำของอุจจาระจึงทำให้ถ่ายสะดวก และการจับสารพิษที่อาจก่ออันตรายแก่ลำไส้ใหญ่ออกไปจากร่างกาย ซึ่งสอดคล้องกับข่าวหนึ่งในมติชนออนไลน์ประจำวันที่ 24 มกราคม 2563 ที่กล่าวว่า สมาคมสภาผู้สูงอายุจังหวัดพะเยาในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีได้ลงพื้นที่เก็บข้อมูลเกี่ยวกับผู้สูงอายุทั้งหญิงและชายที่มีอายุยืนยาวกว่า 100 ปีแล้วพบว่า ผู้สูงอายุนั้นต่างก็กินอาหารแบบพื้นบ้านล้านนาที่เป็นอาหารประเภทผักที่ปลูกเองกับน้ำพริก ปลา กล้วยน้ำว้า แตงกวา และพืชใบเขียวทั่วไปที่ไม่ใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช        ประเด็นที่ท่านผู้อ่านควรทำความเข้าใจคือ การที่ผู้ค้าผลิตภัณฑ์เสริมอาหารซึ่งมีเกลือบิวทิเรตสังเคราะห์เป็นองค์ประกอบร่วมกับสารอาหารอื่นๆ ในรูปแคปซูลได้มีการประชาสัมพันธ์ว่า ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวนั้นสามารถช่วยทำให้สุขภาพลำไส้ใหญ่ดีขึ้น มีประเด็นที่ผู้เขียนเสนอให้พิจารณาก่อนตัดสินใจซื้อคือ สารอาหารอะไรก็ตามที่กินทางปากนั้นเมื่อผ่านลงสู่ลำไส้เล็กแล้วจะถูกดูดซึมผ่านผนังลำไส้เล็กไปสู่ตับด้วยระบบเส้นเลือดกลุ่มที่เรียกว่า hepatic portal vein ทั้งสิ้น ซึ่งในกรณีของบิวทิเรตที่ถูกนำเข้าสู่เซลล์ตับแล้วโอกาสที่จะหลุดรอดออกไปถึงเซลล์ลำไส้ใหญ่ย่อมเป็นไปได้ยาก เพราะตับมีระบบเอ็นซัมที่เปลี่ยนบิวทิเรตเป็นอะเซ็ตติลโคเอ็นซัมเอ (acetylcoenzyme A) ซึ่งจะถูกนำไปสร้างเป็นสารพลังงานสูงคือ เอทีพี (ATP) เพื่อใช้ในกิจกรรมต่าง ๆ ของเซลล์ อย่างไรก็ดีในสถานะการณ์ที่เอทีพีในเซลล์มีมากเกินพอแล้ว ตับจะเลือกใช้อะเซ็ตติลโคเอ็นซัมเอเป็นสารตั้งต้นในการสังเคราะห์กรดไขมันต่าง ๆ (ซึ่งมีขนาดโมเลกุลใหญ่กว่าบิวทิเรต) ตามความต้องการของร่างกาย ข้อมูลนี้ปรากฏในบทความชื่อ From the gut to the peripheral tissues: the multiple effects of butyrate ในวารสาร Nutrition Research Review ปี 2010 ดังนั้นจะเห็นว่า โอกาสที่บิวทิเรตที่กินเข้าไปทางปากจะไปถึงลำไส้ใหญ่หรือต่อไปถึงสมองนั้นดูน่าจะเป็นไปได้ยาก ต่างจากบิวทิเรตที่สร้างโดยแบคทีเรียในลำไส้ใหญ่ซึ่งเมื่อถูกดูดซึมด้วยเซลล์ของลำไส้ใหญ่ โอกาสที่ส่วนเกินจากการถูกใช้เป็นพลังงานอาจรอดไปสู่ระบบเลือด ซึ่งไปถึงสมองได้บ้างดังสมมุติฐานของงานวิจัยข้างต้นที่ว่า การกินผักผลไม้เพื่อให้ได้ใยอาหารนั้นอาจช่วยให้สมองมีสุขภาพที่ดีได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 229 4 เรื่องเล่า เฝ้าระวัง

เมื่อยุคโลกอยู่ใกล้กัน (แต่ตอนนี้ควรห่างกันสักพัก) ผลิตภัณฑ์สุขภาพที่เสี่ยงทั้งในและนอกประเทศ จึงเดินเข้าหาผู้บริโภคได้ไม่ยาก        1. น้องเภสัชกรจากจังหวัดนราธิวาสท่านหนึ่งเล่าให้ฟังว่า เธอพานักเรียน อย.น้อยไปเยี่ยมผู้ป่วยโรคเรื้อรังตามบ้าน เมื่อไปถึงบ้านคุณยายท่านหนึ่ง พบผลิตภัณฑ์สุขภาพชนิดหนึ่งในบ้าน ดูจากฉลากแล้วไม่มีภาษาไทย แต่เป็นฉลากภาษาอาหรับ จึงสอบถามได้ความว่า คุณยายมีเพื่อนไปแสวงบุญที่ต่างแดนแล้วซื้อผลิตภัณฑ์ชนิดนี้กลับมาฝาก คุณยายคิดว่าน่าจะเป็นของดีเพราะเป็นของจากต่างประเทศและเมื่อรับประทานแล้วก็ได้ผลดี อาการปวดเมื่อยหายเร็วมาก น้องเภสัชกรสงสัยว่า ผลิตภัณฑ์นี้น่าจะมีส่วนผสมของสารสเตียรอยด์จึงใช้ชุดทดสอบตรวจได้ผลว่าผลิตภัณฑ์จากต่างแดนนี้ มีส่วนผสมของสเตียรอยด์จริงๆ อย่างที่สงสัย จึงรีบแนะนำคุณยายให้หยุดรับประทาน และรีบดำเนินการเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์อันตรายในชุมชนนี้         2. ผู้บริโภคนำผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางมาแจ้งที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสมุทรสงคราม โดยให้ข้อมูลว่าตนซื้อเครื่องสำอางจากตลาดนัดแห่งหนึ่ง ผู้ขายชักชวนให้ซื้อแล้วจะได้คูปองชิงโชค ตนเห็นราคาถูก ตรวจสอบแล้วมีฉลากครบถ้วนจึงซื้อมา เมื่อถึงบ้านตรวจสอบที่เว็บของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา พบว่าผลิตภัณฑ์นี้ถูกยกเลิกแล้ว จึงรีบนำมาแจ้งเจ้าหน้าที่พร้อมนำเอกสารหลักฐานต่างๆ มาให้ดูด้วย เมื่อเจ้าหน้าที่ตรวจสอบแล้วพบว่าผลิตภัณฑ์นี้ผลิตที่จังหวัดจันทบุรี และมีตัวแทนจำหน่ายรายใหญ่ในจังหวัดเพชรบุรี จึงได้แจ้งเรื่องต่อไปยังจังหวัดจันทบุรีและเพชรบุรี เพื่อดำเนินการติดตามตรวจสอบต่อไป         3. เจ้าหน้าที่กลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภค สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดหนึ่งเล่าให้ฟังว่า คุณแม่ของตนเห็นดาราชายสูงวัยเสียงนุ่มท่านหนึ่งโฆษณารับรองผลิตภัณฑ์เสริมอาหารในโทรทัศน์และเฟซบุ๊ค อ้างว่ารับประทานเป็นประจำแล้วสุขภาพดี จึงตัดสินใจจะสั่งซื้อมารับประทาน ตนทราบเรื่องจึงรีบห้ามทัน เพราะสรรพคุณที่โฆษณานั้นโอ้อวดมากจนเกินจริง         4. น้องเภสัชกรโรงพยาบาลชุมชนแห่งหนึ่งในจังหวัดระยอง เล่าให้ฟังว่ามีผู้ป่วยหญิงร่างท้วมเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลด้วยอาการแน่นหน้าอกหายใจไม่ออก จากการสอบถามข้อมูลเบื้องต้นได้ข้อมูลว่า ผู้ป่วยเห็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารชนิดนี้โฆษณาขายทางเฟซบุ๊ค มีเลข อย แล้ว จึงสั่งซื้อมารับประทาน หลังจากรับประทานไประยะหนึ่งเริ่มมีอาการดังกล่าวจึงรีบมาโรงพยาบาลตอนนี้ยังเหลืออยู่ 6 แคปซูล น้องเภสัชกรจึงรวบรวมหลักฐานต่างๆ เพื่อส่งตรวจวิเคราะห์และแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการต่อไป        จะเห็นว่าผลิตภัณฑ์เสี่ยงอันตรายเหล่านี้เข้าถึงผู้บริโภคได้ไม่ยาก แต่หากเจ้าหน้าที่รับทราบข้อมูลพร้อมได้รับเอกสารหรือหลักฐานต่างๆ ได้อย่างละเอียดและรวดเร็วแล้วก็สามารถจะจัดการผลิตภัณฑ์เหล่านี้ได้ทั้งระบบ ซึ่งจะเป็นผลดีเพราะมันจะได้ไม่ไปเสี่ยงในพื้นที่อื่นๆ ด้วย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 227 เครื่องปั่นผสมอาหาร/เครื่องดื่ม

        สายสุขภาพเชิญทางนี้ ฉลาดซื้อมีผลทดสอบเครื่องปั่นผสมอาหารและเครื่องดื่มมาให้คุณได้เลือกกันถึง 20 รุ่น (กำลังไฟตั้งแต่ 300 ถึง 2000 วัตต์) ที่สมาชิกขององค์กรทดสอบระหว่างประเทศได้ร่วมกันทำไว้ด้วยต้นทุนทดสอบ 400 – 500 ยูโร (ประมาณ13,500 ถึง 17,000 บาท) ต่อหนึ่งตัวอย่าง         คะแนนรวม 100 คะแนน คิดจากประสิทธิภาพ (50 คะแนน) ความสะดวกในการใช้งาน (30 คะแนน) การทำงานโดยไม่ส่งเสียงดังเกินไป (10 คะแนน) และความแข็งแรงทนทาน (10 คะแนน) ส่วนการทดสอบด้านการประหยัดพลังงานนั้น ทีมทดสอบให้คะแนนไว้แต่ไม่ได้นำมาประมวลผลด้วย          เป็นที่น่าสังเกตว่าแม้ความปลอดภัยของทุกรุ่นจะอยู่ในระดับ 5 ดาว แต่ในแง่ประสิทธิภาพและการใช้งานซึ่งวัดจากการทำสมูตตี้ผักและผลไม้ บดน้ำแข็ง และเตรียมอาหารเหลว ทีมทดสอบพบว่าไม่มีรุ่นไหนได้คะแนนถึง 70 ทั้งนี้รุ่นที่ได้คะแนนดีที่สุดในกลุ่มคือ Princess ไฮสปีด เดอลุกซ์เบลนเดอร์ (ราคา 2,760 บาท) และเช่นเคย รุ่นที่แพงที่สุดไม่ใช่รุ่นที่ดีที่สุด เราพบว่าหลายรุ่นที่ราคาแพงมีประสิทธิภาพด้อยกว่ารุ่นที่ราคาปานกลางหรือราคาถูก อยากรู้ว่าเราหมายถึงยี่ห้อไหน พลิกหน้าถัดไปได้เลย·        หมายเหตุ ราคาที่แจ้งเป็นราคาที่แปลงจากหน่วยเงินยูโรที่เพื่อนสมาชิกองค์กรทดสอบระหว่างประเทศ ซื้อจากร้านค้าในประเทศตนเอง โปรดตรวจสอบอีกครั้งก่อนตัดสินใจ

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 228 เปลี่ยนวิกฤตในอากาศ...เป็นอาหาร

                มีการพยากรณ์มานานพอควรแล้วว่า มนุษย์บนโลกน่าจะเพิ่มเป็นประมาณหมื่นล้านคนในปี 2050 ซึ่งทำให้นักบริหารระดับสูงขององค์กรระหว่างประเทศหลายคนกังวลว่า โลกอาจกำลังเดินเข้าสู่สถานการณ์ที่ไม่สามารถผลิตอาหารได้เพียงพอเลี้ยงมนุษย์ที่มีอยู่ด้วยกระบวนการเกษตรแบบดั้งเดิม         สมัยที่ผู้เขียนยังเด็กเคยได้ยินข่าวหนึ่งว่า องค์การอนามัยโลกหรือ WHO ได้มีความพยายามนำเอาสาหร่าย spirulina ซึ่งก็คือ สาหร่ายสีน้ำเงินแกมเขียวที่มีขึ้นทั่วไปทั้งน้ำเค็มและน้ำจืดมาเป็นแหล่งของโปรตีนแก่ประเทศยากจน แต่ปรากฏว่าระหว่างการประเมินความปลอดภัยในหนูทดลองนั้น มีผลการศึกษาบางประเด็นที่ส่อถึงปัญหาบางประการ องค์การอนามัยโลกจึงได้หันความสนใจในภารกิจหาโปรตีนให้ประเทศยากจนไปยัง ถั่วเหลือง ซึ่งเป็นพืชที่อุดมทั้งโปรตีนและมีกรดไขมันไม่อิ่มตัวสูง อีกทั้งข้อความใน Wikipedia ที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับสาหร่ายประเภทนี้กล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า U.S. National Institutes of Health ยังมีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์สุขภาพไม่พอจะแนะนำให้กินสาหร่ายชนิดนี้เป็นแหล่งโปรตีนหลักของมนุษย์เช่นกัน         ผ่านไปกว่า 50 ปี ความพยายามค้นหาแหล่งโปรตีนราคาถูกยังคงเป็นเป้าหมายสำคัญของนักวิทยาศาสตร์หลายกลุ่ม จนล่าสุดก็มีข่าวเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ในอนาคตชื่อ Air Protein ของบริษัท startup (ชื่อเดียวกันกับผลิตภัณฑ์) ในเมือง Berkeley รัฐแคลิฟอร์เนียปรากฏขึ้นในอินเทอร์เน็ต บริษัทนี้คุยว่า สามารถใช้เทคโนโลยีชีวภาพอาศัยจุลินทรีย์สายพันธุ์พิเศษเปลี่ยนก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากอากาศรอบตัวมนุษย์ให้กลายเป็นโปรตีน และอาจถึงการผลิตเป็นไขมัน วิตามินและผลิตภัณฑ์ชีวภาพอื่นๆ เพื่อการบริโภคของมนุษย์         คาร์บอนไดออกไซด์นั้นเป็นปัจจัยร่วมสำคัญในการทำให้โลกร้อนขึ้น ผู้เขียนโชคดีได้พบเว็บบนอินเทอร์เน็ตหนึ่งที่มีสารคดีออนไลน์เรื่อง Decoding the Weather Machine ซึ่งผลิตโดย NOVA PBS (ราคา DVD สารคดีนี้ขายอยู่ที่ประมาณ $15.45) จึงเริ่มเข้าใจได้ว่า ทำไมก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จึงทำให้โลกร้อนขึ้นทุกวัน ดังนั้นการลดการปล่อยหรือกำจัดคาร์บอนไดออกไซด์จากอากาศ จึงกำลังเป็นสิ่งที่หลายประเทศที่พัฒนาแล้วกำลังทำอยู่ ส่วนประเทศที่พัฒนาได้แค่ที่เป็นอยู่ ซึ่งมักมีงบการวิจัยต่ำกว่า 1% GDP ก็ดูคนอื่นทำต่อไปข่าวเกี่ยวกับความสามารถในการสร้างโปรตีนจากอากาศ         ความสามารถในการสร้างโปรตีนจากองค์ประกอบของอากาศที่ปรากฏตามสื่อต่างๆ ก่อให้เกิดความสงสัยแก่ผู้เสพข่าวบางคนว่า เป็นไปได้จริงหรือที่จะสร้างโปรตีนจากคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศ ข้อมูลที่ได้หลังจากการสืบค้นทางอินเทอร์เน็ตพบว่า เป็นการอาศัยจุลินทรีย์กลุ่ม hydrogenotroph (ซึ่งจริงแล้วมีในธรรมชาติรวมถึงในลำไส้ของมนุษย์) เปลี่ยนคาร์บอนไดออกไซด์ให้เป็นโปรตีน กล่าวอีกนัยหนึ่งประมาณว่า ในขณะที่พืชดูดซับเอาคาร์บอนไดออกไซด์ไปผ่านกระบวนการสังเคราะห์แสงที่ใช้แสงแดดเป็นแหล่งพลังงานขับเคลื่อนการเปลี่ยนคาร์บอนไดออกไซด์ไปเป็นสารอาหารและองค์ประกอบอื่นที่พืชต้องการ จุลินทรีย์กลุ่ม hydrogenotroph ใช้แหล่งพลังงานอื่นในกระบวนการที่ต่างกันแต่ได้ผลในแนวทางเดียวกัน ดังที่ Dr. Lisa Dyson ผู้เป็น CEO ของ Air Protein (และเป็นผู้ร่วมตั้งบริษัทแม่ชื่อ Kiverdi ซึ่งดำเนินกิจการเกี่ยวกับการจัดการสิ่งแวดล้อม) คุยไว้ในคลิปที่บรรยายให้ TEDx Talks ชื่อ A forgotten Space Age technology could change how we grow food (www.youtube.com/watch?v=c8WMM_PUOj0)         Hydrogenotroph นั้นเป็นสิ่งมีชีวิตที่สามารถใช้ไฮโดรเจนเป็นองค์ประกอบสำคัญในกระบวนการสร้างพลังงานที่ได้จากการรีดิวส์คาร์บอนไดออกไซด์ในสภาวะที่ไม่มีออกซิเจนไปเป็น ก๊าซเม็ทเตน กระบวนการดังกล่าวส่งผลให้เกิดความต่างศักย์ด้านอีเล็คโตรเคมิคอลเพื่อใช้การสร้างสารพลังงานสูงคือ ATP ซึ่งถูกนำไปใช้ในกิจการสร้างสารชีวเคมีต่างๆ ซึ่งรวมถึงการสร้างโปรตีน ดังนั้นเมื่อปริมาณของเซลล์แบคทีเรียเพิ่มขึ้นมากพอ ผู้เลี้ยงจึงสามารถใช้กระบวนการทางชีวเคมีในการสกัดเอาโปรตีนออกมาได้ความจริง Lisa Dyson ได้ยอมรับในการบรรยายต่างๆ ว่า แนวคิดเรื่องโปรตีนจากอากาศนั้นได้รับแรงบันดาลใจจากงานวิจัยของ NASA ที่ทำตั้งแต่ทศวรรษ 1960 ในความพยายามมองหาวิธีผลิตอาหารสำหรับภารกิจในอวกาศของนักบินในอนาคตที่ต้องไปยังต่างดาวที่มีทรัพยากรจำกัดในการประทังชีวิต ด้วยแนวคิดที่เรียกว่า "ระบบวงปิดของคาร์บอน หรือ the close loop carbon cycle" ที่มีจุลินทรีย์ทำหน้าที่แปลงองค์ประกอบจากอากาศที่หายใจออกมาเป็นอาหารให้นักบินอวกาศกิน และเมื่อมีสิ่งขับถ่ายต่างๆ ออกมา ซึ่งโดยหลักคือ คาร์บอนไดออกไซด์ในลมหายใจออกนั้นจะถูกส่งเข้าสู่วงจรการผลิตใหม่ แต่เมื่อพิจารณาให้ดีแล้ว วงจรดังกล่าวไม่ใช่วงจรปิดเสียทีเดียว เพราะต้องมีการเติมบางสิ่งบางอย่างเข้าไปช่วยให้วงจรเดินหน้าได้ พร้อมกำจัดบางสิ่งที่ไม่ต้องการออกทิ้ง         ข้อมูลหนึ่งซึ่งสำคัญมากเพราะ Lisa Dyson ได้พยายามกล่อมให้ผู้ฟังคล้อยตามคือ ผลพลอยได้จากการสร้างโปรตีนด้วยคาร์บอนไดออกไซด์จากอากาศนั้นน่าจะเป็นประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของมนุษย์ เพราะกระบวนการนี้ช่วยลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศ ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วถ้ามีการปลูกป่าบนพื้นโลกให้มากขึ้น พืชจะช่วยดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ด้วยประสิทธิภาพดีกว่าและประหยัดกว่า แถมยังเป็นการผลิตสิ่งต่างๆ เพื่อการอุปโภคและบริโภคในชีวิตประจำวันของมนุษย์ด้วยผลกระทบที่อาจถูกละเลยไปอย่างตั้งใจ         สิ่งหนึ่งซึ่งไม่ควรละเลยคือ ผู้ผลิต Air Protein ได้ทำเป็นลืมที่จะกล่าวถึงการประเมินในลักษณะ Cost/Benefit ของกระบวนการ ซึ่งควรจะเป็นส่วนที่แสดงถึง ความคุ้มทุนของการดำเนินการของบริษัทในการผลิต เพราะเท่าที่ผู้เขียนตามดูในการบรรยายของ Lisa Dyson นั้นไม่ได้ระบุว่า  มีการใช้น้ำ แร่ธาตุ และพลังงานมากน้อยเพียงใดในกระบวนการผลิต         สิ่งสำคัญที่น่าสนใจคือ Air Protein นั้นไม่ได้เป็นบริษัท startup เพียงแห่งเดียวที่คุยว่า สามารถใช้อากาศในการผลิตโปรตีน เพราะก่อนหน้านั้นเพียงไม่กี่เดือน บริษัทสัญชาติฟินแลนด์หนึ่งที่ชื่อว่า Solar Foods ก็ได้ประชาสัมพันธ์ว่า กำลังสร้างสารอาหารคือ โปรตีนจากอากาศซึ่งตั้งชื่อว่า Solein (ซึ่งน่าจะมาจากการสมาสคำ solar และ protein) โดยที่กระบวนการของบริษัทนี้ได้เลยจากการพิสูจน์ความเป็นไปได้แล้ว เพราะ Solar Foods คุยว่า สามารถผลิตโปรตีนออกมาได้ในปริมาณ 1 กิโลกรัมต่อวัน ทำให้ขณะนี้ได้เตรียมที่จะผลิตในขนาดของอุตสาหกรรมพร้อมทั้งขอจดสิทธิบัตรและทำการระดมทุนได้ราว 2 ล้านยูโรผ่านการจัดการของ Lifeline Ventures โดยหวังว่าจะกระจายสินค้าคือ Solein ในปี 2021 และในปี 2022 ตั้งเป้าจะผลิตโปรตีนสำหรับอาหาร 50 ล้านมื้อ (ข้อมูลจากบทความชื่อ The Future of Protein Might be ‘Gas Fermentation,’ or Growing Food Out of Thin Air ในเว็บ https://thespoon.tech วันที่ 26 เมษายน 2019)          สิ่งที่น่ากังวลเกี่ยวกับการสร้างอาหารจากอากาศคือ การดูดซับเอาคาร์บอนไดออกไซด์นั้น มีความยากง่ายขึ้นกับสถานที่เลือกทำการผลิต เพราะถ้าเป็นอากาศจากชุมชนที่มีปริมาณฝุ่นพีเอ็ม 2.5 สูงนั้น ความจำเป็นในการกำจัดสิ่งปนเปื้อนออกไปจากอากาศก่อนเพื่อให้ได้คาร์บอนไดออกไซด์บริสุทธิ์คงต้องลงทุนสูงพอดู นอกจากนี้เมื่อการผลิตโปรตีนนั้นไม่ต้องการพื้นที่มากนักและคงควบคุมการผลิตได้ด้วยระบบอัตโนมัติแล้ว การลดของจำนวนตำแหน่งงานทางด้านปศุสัตว์อย่างมากมายคงไม่ยากที่จะคาดเดาได้ และที่น่าสนใจคือ นอกจากความพยายามผลิตโปรตีนจากอากาศแล้ว ยังมี startup อีกมากมายที่มุ่งเน้นในการปฏิวัติกระบวนการผลิตอาหารอื่นๆ ในลักษณะที่เป็นอุตสาหกรรมทันสมัย จนอาจทำให้ไม่เหลือที่ยืนแก่เกษตรกรในหลายประเทศที่ยังไม่ปรับตัวมัวแต่ประท้วงเรื่องการห้ามใช้วัตถุอันตราย ทั้งที่กระบวนการผลิตอาหารในอนาคตนั้นน่าจะเป็นกระบวนการปิดที่ไม่ต้องใช้วัตถุอันตรายช่วยเหลือการผลิตแล้ว

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 228 รู้เท่าทันการบำบัดฝุ่นละออง PM2.5 ด้วยอาหารและสมุนไพร

        ขณะนี้ ปัญหาสุขภาพที่กระทบกับคนไทยและทั่วโลกคงไม่มีอะไรเกินกว่าโรคปอดอักเสบจากโคโรนาไวรัส และฝุ่นละออง PM2.5  ประเทศที่ครองแชมป์ PM2.5 ยังคงเป็นประเทศจีน ส่วนไทยก็ยังติดอันดับต้นๆ ของโลกเช่นเดียวกัน คนไทยคงต้องเผชิญกับปัญหาฝุ่นละอองไปอีกหลายปี แพทย์ทางเลือกออกมาพูดว่า การกินน้ำปั่นบร็อคโคลีสด จะบำบัดพิษภัยของ PM2.5 ได้ รวมทั้ง รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศรก็แนะนำให้กินสมุนไพร 5 ชนิดเพื่อรักษาอันตรายจาก PM2.5 เรามารู้เท่าทันกันเถอะ  ฝุ่นละออง PM2.5 กระทบต่อร่างกายอย่างไร         PM2.5 คือฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน เทียบขนาดประมาณ 1 ใน 25 ของเส้นผ่านศูนย์กลางของเส้นผมมนุษย์ ขนจมูกของมนุษย์ไม่สามารถกรองได้ PM2.5 จึงสามารถแพร่กระจายเข้าสู่ทางเดินหายใจ กระแสเลือด และแทรกซึมสู่อวัยวะในระบบทางเดินหายใจได้โดยตรง ทะลุถึงถุงลมปอดได้ทันที เกิดการระคายเคืองและมีผลต่อทางเดินหายใจ ทำลายอวัยวะระบบทางเดินหายใจโดยตรง เกิดการระคายเคืองตา ระคายคอ แน่นหน้าอก หายใจถี่ หลอดลมอักเสบ เกิดอาการหอบหืด ถุงลมโป่งพอง  น้ำบร็อคโคลี่ปั่นสดบำบัดพิษภัยของ PM2.5 ได้จริงหรือ         มีการศึกษาวิจัยจำนวนมากพอควรเกี่ยวกับ อาหารและวิตามินต่าง ๆ ในการลดพิษภัยของมลพิษและฝุ่นละออง  งานวิจัยชิ้นหนึ่งทำการศึกษาในประเทศจีน พบว่า บร็อคโคลีมีสาร กลูโคไซโนเลท กลูโคราฟานิน ซึ่งช่วยป้องกันสารเคมีต่าง ๆ และมีซัลโฟราเฟน (sulforaphane) ที่กระตุ้นให้เกิดการสร้างเอนไซม์กลูตาไทโอนทรานส์เฟอเรส[1] เมื่อให้ประชากรจำนวน 291 คนกินน้ำบร็อคโคลีปั่นสดเป็นเวลา 12 สัปดาห์ จะมีการขับสาร mercapturic acid จากมลพิษต่างๆ  เบนซีน และอื่นๆ การกินน้ำบร็อคโคลีปั่นสดจึงช่วยขับสารพิษจากมลภาวะต่างๆ ทางอากาศ และอาจเป็นแนวทางในการเสริมสร้างสุขภาพและลดความเสี่ยงด้านสุขภาพระยะยาวได้ [1] กลูตาไทโอนเป็นสารที่พบได้ทั่วไปในผักและเนื้อสัตว์  โรคบางชนิดเกิดจากเซลล์ถูกทําลายโดยอนุมูลอิสระ (free radical) ทั้งนี้ กลูตาไทโอนเป็นสารต้านออกซิเดชัน (antioxidant) ที่มีฤทธิ์กําจัดอนุมูลอิสระ ดังนั้นการเพิ่มระดับกลูตาไทโอนในร่างกายจึงอาจช่วยบรรเทาอาการของโรคต่าง ๆ ได้           นอกจากนี้ ยังมีการศึกษาวิจัยจำนวนมากที่แสดงว่า วิตามินบี ซี อี ดี และโอเมก้า-3 มีผลในการป้องกันการทำลายจาก PM2.5 ในสภาพอากาศที่มีมลภาวะ การกินอาหารสุขภาพที่มีสารอาหารจำเป็นอาจป้องกันโรคเรื้อรัง โดยเฉพาะโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคทางเดินหายใจ สมุนไพรสู้ฝุ่นของอภัยภูเบศรสู้ได้จริงหรือไม่         แม้ว่าจะยังไม่มีงานวิจัยคลินิกรองรับ แต่ในแง่ของสารต้านอนุมูลอิสระปริมาณมากในมะขามป้อม และขมิ้นชัน สามารถช่วยการทำลายเซลล์จากมลภาวะและความเสื่อมได้ ดังนั้นก็จัดอยู่ในสารอาหารธรรมชาติที่ป้องกันการทำลายเซลล์จากมลพิษต่าง ๆ ฟ้าทะลายโจร ก็ช่วยในการรักษาไข้หวัด ทางเดินหายใจ รางจืด ก็ช่วยในการขับสารพิษจากสารเคมีฆ่าแมลงได้เป็นอย่างดี       อย่างไรก็ตาม การป้องกันและลดพิษภัยจาก PM2.5 ที่ดีที่สุดคือ การใส่หน้ากากป้องกันฝุ่นละออง การหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่กลางแจ้งเป็นเวลานาน การออกกำลังกายในสถานที่ที่มีฝุ่นละอองน้อย และการกินอาหารธรรมชาติที่ดีต่อสุขภาพ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 226 ข้อคิดจากการสวยตามเทรนด์

                รูปแบบของความสวยงามนั้น อันที่จริงแล้วมันไม่มีนิยามตายตัว ส่วนใหญ่จะขึ้นอยู่กับค่านิยมของสังคมและยุคสมัย ดังนั้นแต่ละปีก็จะมีคนมาบอกเราว่า ปีหน้าเขาจะนิยมรูปแบบความงามแบบไหน เราต้องดูแลหรือเตรียมการอย่างไร เพื่อให้เข้ากับยุคสมัย ซึ่งปีหน้า 2563 นี้หลายกูรูยังฟันธงว่า เทรนด์สวยธรรมชาติและเครื่องสำอางจากส่วนผสมธรรมชาติยังคงความแรงต่อเนื่อง         ผิวพรรณแบบกระจ่างใสดังกระจกหรือ Glass Skin ยังคงได้รับความนิยม         ผิวแบบ Glass Skin  คือผิวพรรณที่ผุดผ่องมีน้ำมีนวล บ่งบอกถึงสุขภาพดีจากภายใน ผิวแบบ Glass Skin นั้น  ขอให้ลองคิดถึงซีรีย์เกาหลี ที่สาวๆ ในเรื่องจะมีผิวใสๆ ดูอิ่มเอิบฉ่ำวาวดังแก้ว แบบนั้นแหละที่เรียกว่า Glass Skin ซึ่งผู้ก่อกระแสนี้คือ บิวตี้บล็อกเกอร์ชื่อดังชาวเกาหลีนั่นเอง เมื่อฮิตขึ้นมาแล้วก็ฮิตต่อกันไปยาวๆ ข้ามปี หลักๆ ของเทรนด์ผิวใสดั่งแก้วนี้ คือ เน้นที่การทำความสะอาดให้หมดจด บำรุงผิวทั้งจากภายนอกและภายในเพื่อให้ผิวเปล่งประกายอย่างคนที่สุขภาพดี และเสริมด้วยการแต่งหน้าให้ดูกระจ่างใสโชว์ความเปล่งปลั่งสดใสของผิว         อย่างไรก็ตามเมืองไทยนั้นสภาพอากาศต่างจากเกาหลีจะให้ทันกับเทรนด์นี้ ก็ต้องปรับให้เหมาะสมจะสำเนามาทั้งหมดคงไม่เหมาะ ส่วนที่สามารถทำได้เลยและดีมากเสียด้วย คือ หลักของการทำความสะอาดและการบำรุง         ขั้นตอนที่แนะนำหลักๆ คือ เมื่อแต่งหน้าแล้วต้องไม่ละเลยการทำความสะอาดอย่างหมดจด ให้เกิดการตกค้างของสารเคมีบนผิวน้อยที่สุด ดื่มน้ำให้มาก รับประทานอาหารที่ดี และบำรุงผิวด้วยครีมบำรุงที่เหมาะกับสภาพผิว ซึ่งผู้นำเทรนด์เสนอว่าควรสครับ(ขัดถูหน้าเพื่อให้เกิดการผลัดผิวที่เร็วขึ้น) และมาสก์หน้าเมื่อว่างจากกิจกรรมปกติ   และหากจะให้เป๊ะสำหรับอากาศร้อนและแดดแรงๆ แบบเมืองไทย การปกป้องผิวด้วยครีมกันแดดคือสิ่งที่ขาดไม่ได้เช่นกัน                เทรนด์ความเป็นธรรมชาติที่ช่วยให้ผู้บริโภคมีสุขภาพผิวที่ดี        เครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์เสริมอาหารในลุคธรรมชาติและเครื่องสำอางที่ปกป้องคุณจากมลภาวะ คือสิ่งที่คาดว่าจะมาแรงในปี 2563 สารสกัดจากธรรมชาติที่ถูกผสมในเครื่องสำอางหรือนำมาเป็นอาหารเสริมนั้น ยังคงจะได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง แต่ที่ต้องเพิ่มขึ้นคือ ความต้องการสินค้าแบบเฉพาะกลุ่มและตอบโจทย์เรื่องมลภาวะ         สิ่งที่ต้องระวังในกรณีของสินค้าที่เคลมเรื่องสุขภาพผิวสวยคือ กรณีของเครื่องสำอาง ทางหน่วยงานที่กำกับดูแลจะไม่ได้มีการทดสอบเรื่องความปลอดภัยอย่างเข้มงวด เพียงรับจดแจ้งเพื่อเป็นข้อมูลทั่วไปสำหรับผู้บริโภคเท่านั้น ดังนั้นการเสี่ยงกับอาการแพ้ยังคงต้องได้รับความสนใจเป็นอันดับแรกๆ โดยควรทดสอบกับผิวในบริเวณที่ไม่ใช่เป้าหมายหลักก่อนใช้ และอย่าคาดหวังกับสินค้าจนเกินไป นอกจากนี้การช่วยกันเฝ้าระวังสินค้าที่ไม่ปลอดภัยโดยการแจ้งต่อหน่วยงานที่กำกับดูแลจะช่วยให้เกิดความปลอดภัยในวงกว้าง         ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางในหลักการคือ การทำความสะอาดและปกปิดเสริมแต่ง ดังนั้นไม่ควรคาดหวังถึงขนาดแก้ไขหรือฟื้นฟูสภาพผิว        กรณีของผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร อาจมีการโฆษณาจนเกินเลย ให้สรรพคุณที่มากกว่าการบำรุง แต่เป็นโชว์สรรพคุณรักษาโรค ซึ่งถือว่าผิด และเราไม่ควรตกเป็นเหยื่อของสินค้าเหล่านี้ ขณะเดียวกันผลิตภัณฑ์เสริมอาหารบางผลิตภัณฑ์ผลิตขึ้นมาเพื่อสร้างการตลาดแบบ แชร์ลูกโซ่ ไม่ได้มีสรรพคุณอะไรมากไปกว่าอาหารธรรมดา ผู้บริโภคต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ ไม่ให้ความโลภชักนำให้ขาดความรอบคอบในการใช้สินค้า         การพยายามสวยตามแฟชั่นหรือเทรนด์ไม่ได้เป็นสิ่งผิดปกติ ใครๆ ก็อยากจะได้ชื่อว่าทันสมัย แต่เราควรรอบคอบไม่ตกเป็นเหยื่อของผู้ผลิต ผู้ประกอบการที่ไม่มีความรับผิดชอบ ทำสินค้าที่ไม่ปลอดภัยหรือฉาบฉวยเพียงเพื่อจะหาผลประโยชน์ทางการเงิน สวยตามเทรนด์ได้แต่ต้องเท่าทันข้อมูลด้วย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 226 ปัญหาของการทำประมงในอียู และบทบาทของผู้บริโภค

สำหรับประชาชนที่อยู่ในประเทศไทย มักได้ยินข่าวเกี่ยวกับเรื่องปัญหาการทำประมงในบ้านเรา ที่เคยถูกอียูแบนสินค้าประมงที่เรียกว่า IUU (Illegal, Unreported und Unregulated ) ซึ่งเป็นมาตรการและนโยบายของทางอียู ในการที่จะรักษาทรัพยากรสัตว์น้ำในทะเล ให้มีความยั่งยืนไม่ให้เกิดการสูญพันธุ์ของสิ่งมีมีชีวิตในทะเล ซึ่งนโยบายของอียูที่เคยให้ใบเหลืองแก่ประเทศไทย ในอดีตเมื่อไม่นานมานี้จนกระทั่งรัฐบาลไทย ได้แสดงความเจตจำนงและตั้งใจในการแก้ปัญหาดังกล่าวจนกระทั่งสามารถแก้ปัญหาได้ลุล่วงได้ในที่สุด         ถึงแม้ว่าอียูจะมีมาตรการในการป้องกันไม่ให้เกิดการขูดรีดทรัพยากรจากท้องทะเลมากเกินไปก็ตาม แต่สถานการณ์เรื่องนี้ในกลุ่มประเทศอียูก็ไม่ได้ดีขึ้น องค์กรผู้บริโภค ต่างก็ยังคงมีข้อกังวลในเรื่องนี้ ในกรณีของประเทศเยอรมนี โดยเฉพาะปลาแซลมอน ปลาซาร์ดีน และปลาแฮริง ที่เป็นที่นิยมของบริโภคชาวเยอรมัน สถิติการบริโภคปลาและอาหารทะเลของคนเยอรมัน คือ 13.7 กิโลกรัมต่อประชากร 1 คน และมีแนวโน้มว่าจะมีสัดส่วนการบริโภคที่เพิ่มขึ้นทุกปี ในรอบ 10 ปี ที่ผ่านมานี้ ปลาทุกชนิดได้ถูกจับขึ้นมาในอัตราความเร็วที่สูงกว่าจนการเกิดและการเติบโตของปลาไม่ทันกับการบริโภค         เมื่อสถานการณ์เป็นอย่างนี้ทางคณะกรรมาธิการยุโรป อียู จึงได้กำหนดมาตรการ และจำกัดปริมาณการจับปลาในทะเลแอตแลนติก เหนือ และแอตแลนติกตะวันออก (North- East Atlantic Sea)  ทะเลเหนือ (North Sea) และทะเลตะวันออก (East Sea) ปริมาณที่กำหนดในการจับมาจากคำแนะนำขององค์กรทางวิชาการระดับนานาชาติอย่าง International Council for the Exploration of the Sea: ICES) ซึ่งมีเป้าหมายที่จะให้ปริมาณสัตว์น้ำ ฟื้นตัวได้ทันก่อนปี 2020 ซึ่งเป็นเป้าหมายที่คาดว่าไม่สามารถบรรลุได้ทันตามคำคาดการณ์ของที่ปรึกษานโยบายการประมงของสหภาพยุโรป องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF)1         (1https://www.test.de/Ratgeber-Fischkauf-Arten-schuetzen-Qualitaet-erkennen-1746195-0/) มีปลาหลายชนิดที่องค์กรอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่าง กรีนพีซและWWF แนะนำให้ผู้บริโภคสามารถรับประทานได้ และบางชนิดควรหลีกเลี่ยง เพราะจะไปสนับสนุนการจับปลาแบบทำลายล้าง ซึ่งได้ทำเป็นคู่มือ2 และ application ให้กับผู้บริโภคที่ใส่ใจในเรื่อง การบริโภคที่ยั่งยืน และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (2https://issuu.com/greenpeacede/docs/greenpeace_fischratgeber_2016)         ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ก็เป็นอีกปัญหาหนึ่งที่สร้างผลกระทบกับปริมาณปลาจากแหล่งน้ำธรรมชาติในทะเล ก๊าซเรือนกระจกส่งผลให้อุณหภูมิของน้ำทะเลเพิ่มขึ้น ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น และเกิดสภาพความเป็นกรดมากขึ้นส่งผลให้ปะการังตาย ซึ่งปะการังเป็นแหล่งอาศัยของปลาและสิ่งมีชีวิตในทะเลที่สำคัญ การตายของปะการังเป็นสัญญาณเตือนภัยพิบัติที่อาจเกิดขึ้นกับระบบนิเวศน์ในทะเล และแน่นอนว่าย่อมส่งผลต่อปริมาณอาหารของมนุษย์ที่มีแหล่งกำเนิดจากท้องทะเลที่ลดลง         การทำประมงแบบ Aqua Culture (การเลี้ยงปลาในทะเล) จะมีบทบาทที่สำคัญในการทำประมงยุคใหม่ จากรายงานล่าสุดขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ได้ระบุว่า ปลาที่ขายอยู่ในท้องตลาด ปัจจุบันนี้ครึ่งหนึ่งเป็นปลาที่ได้มาจากการเพาะเลี้ยง แบบ Aqua Culture และมีอัตราการขยายตัวของการเลี้ยงปลาแบบนี้ ปีละ 6 % การเลี้ยงปลาในทะเลแบบนี้ ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทางทะเลด้วยเช่นกันไม่ว่าจะเป็นการทำลายป่าชายเลนหรือการทำลายสภาพแวดล้อมตามธรรมชาติที่จำเป็นในการดำรงชีพของสัตว์น้ำบางชนิด ทำให้เกิดความเสียหายในประเด็นความหลากหลายทางชีวภาพ และ มีปัญหาในด้านสารเคมีตกค้างหรือการตกค้างของยาปฏิชีวนะในสิ่งแวดล้อม         จากกรณีปัญหาเรื่องการประมงนี้ในฐานะผู้บริโภค คงต้องกลับมามีสติและบริโภคทรัพยากรอย่างมีเหตุมีผลและต้องช่วยกันรณรงค์บริโภคทรัพยากรอย่างคุ้มค่าเพื่ออนุรักษ์โลกที่เราอาศัยอยู่นี้  เพื่อส่งมอบให้กับลูกหลานของเราต่อไป (แหล่งข้อมูล วารสาร Test 12/2019)

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 225 ถูกหลอกให้เข้าร่วมธุรกิจ ขายยาลดความอ้วน

        กรณีนี้ ทางศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นเครือข่ายองค์กรภาคีของทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้แบ่งปันเรื่องราวเพื่อเป็นอุทาหรณ์ โดยทางศูนย์ฯ อยุธยา ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภค ที่ได้รับความเสียหายจากการถูกหลอกให้เข้าร่วมธุรกิจขายผลิตภัณฑ์ที่อ้างว่าเป็นอาหารเสริม         คุณเอกภพ เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง เมื่อไม่สบายคุณเอกภพจะใช้บริการของคลินิกแห่งหนึ่ง ซึ่งอยู่ใกล้บ้าน เขาเข้าใช้บริการอยู่บ่อยจนคุ้นเคยกับบุคลากรในคลินิก วันหนึ่งแพทย์ที่คลินิกได้ชักชวนคุณเอกภพให้มาเป็นตัวแทนจำหน่ายผลิตภัณฑ์เสริมอาหารลดน้ำหนักยี่ห้อหนึ่ง โดยแพทย์คนดังกล่าวอ้างว่า ตนเป็นเจ้าของธุรกิจ ทั้งยังโน้มน้าวให้คุณเอกภพเชิญชวนนักศึกษาในมหาวิทยาลัยมาสมัครเป็นตัวแทนจำหน่ายอีกด้วย         หลังจากนั้นไม่นานคุณเอกภพก็ถูกเชิญให้เข้าเป็นสมาชิกในกลุ่มไลน์ตัวแทนขาย ทำให้รู้จักตัวแทนคนอื่นๆ อย่างไรก็ตาม คุณเอกภพเองสนใจในผลิตภัณฑ์ฯ ว่าจะดีจริงอย่างที่มีการส่งเสริมการขายหรือไม่ จึงได้ลองรับประทานผลิตภัณฑ์ที่อ้างว่าเป็นอาหารเสริมลดน้ำหนัก ปรากฎว่า เกิดอาการท้องเสียรุนแรง ใจสั่น ปากและคอแห้ง จึงตกใจและเลิกใช้ผลิตภัณฑ์ทันที พร้อมรีบสอบถามเพื่อนสมาชิกคนอื่นๆ ในกลุ่มไลน์ ทำให้ทราบว่ามีผู้ที่เกิดอาการแบบเดียวกันมากกว่า 20 คน คุณเอกภพจึงอนุมานว่า ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวน่าจะไม่ปลอดภัยสำหรับผู้บริโภค จึงตัดสินใจชวนเพื่อนสมาชิกในกลุ่มไลน์ที่ได้รับความเสียหายจากการบริโภคผลิตภัณฑ์ฯ เข้าร้องเรียนกับ ศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพื่อขอให้ช่วยตรวจสอบผลิตภัณฑ์ที่อ้างว่าเป็นอาหารเสริมลดน้ำหนักดังกล่าว ว่ามีความปลอดภัยหรือไม่ แนวทางการแก้ไขปัญหา         ทางศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้ส่งเรื่องร้องเรียนของคุณเอกภพและเพื่อนๆ ต่อไปยังสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดฯ เพื่อขอให้ตรวจสอบผลิตภัณฑ์ดังกล่าว ต่อมาพบว่า ผลิตภัณฑ์ที่อ้างว่าเป็นอาหารเสริมลดน้ำหนักนั้น มีส่วนผสมของตัวยาลดน้ำหนักที่อนุญาตให้ใช้ได้เฉพาะภายใต้ความดูแลของแพทย์เท่านั้น ดังนั้นผลิตภัณฑ์ดังกล่าวจึงไม่ใช่อาหารเสริม แต่คล้ายกับว่าคุณเอกภพและตัวแทนขายคนอื่นๆ ถูกหลอกให้ใช้และขายยาลดน้ำหนักนั่นเอง ซึ่งทาง สสจ.อยุธยาจะได้ดำเนินการทางคดีกับนายแพทย์ท่านนั้นต่อไป         ข้อแนะนำสำหรับผู้บริโภค         เมื่อมีผู้มาชักชวนให้ซื้อผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ผู้บริโภคควรตรวจสอบ เลข อย. ก่อนทุกครั้ง โดยสามารถตรวจจากเว็บไซต์ของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ว่าผลิตภัณฑ์ดังกล่าว มีการจดทะเบียนถูกต้องหรือไม่         กรณีที่พบว่า ผลิตภัณฑ์นั้นมีเลข อย.ที่จดทะเบียนถูกต้อง แต่เมื่อรับประทานแล้วมีอาการแพ้หรือเกิดผลข้างเคียง ก็ควรรีบแจ้งให้ทางหน่วยงานสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด หรือ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ดำเนินการตรวจสอบโดยทันที         ทั้งนี้ การจำหน่ายผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ไม่มีเลข อย. และกล่าวอ้างว่ามีคุณสมบัติในการลดน้ำหนักได้ นั้นเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 225 รู้เท่าทันผลิตภัณฑ์เสริมอาหารบำรุงตับ

        ระยะนี้มีการโฆษณาทางโทรทัศน์และสื่อออนไลน์เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์เสริมอาหารกันมากมาย  มีการนำดารา ศิลปิน นักกีฬามาเป็นพรีเซ็นเตอร์ผลิตภัณฑ์แต่ละอย่าง เพราะผู้บริโภคมีความเชื่อว่า พรีเซนเตอร์เหล่านี้มีชื่อเสียง ฐานะดี คงไม่มาหลอกลวงเอาผลิตภัณฑ์ที่ไม่ดีมาโฆษณาอย่างแน่นอน ผลิตภัณฑ์ที่มาแรงเพราะเอาพระเอกที่คนไทยชื่นชอบมาเป็นพรีเซนเตอร์ได้แก่ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารบำรุงตับ เรามารู้เท่าทันกันเถอะ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารบำรุงตับ    ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารสำหรับตับกำลังมาแรง เพราะภาวะตับอักเสบ ไขมันสะสมในตับทั้งจากแอลกอฮอล์และไม่เกี่ยวกับแอลกอฮอล์กำลังพบมากขึ้น ทำให้ผู้คนบริโภคผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ช่วยฟื้นฟูและป้องกันตับจากภาวะดังกล่าว        เมื่อดูในเว็บไซต์ต่างๆ ในประเทศไทย พบว่า มีผลิตภัณฑ์เสริมอาหารบำรุงตับอย่างน้อย 4-5 รายการที่มีการโฆษณาขายในเมืองไทย ในต่างประเทศก็มีการขายกันในโลกออนไลน์มากกว่า 10 รายการขึ้นไป มีการโฆษณาต่าง ๆ นานาว่าเป็นการ “ปกป้องตับ ฟื้นตับ ดีท็อกซ์ตับ คลีนตับ ขับสารพิษในตับ ตับสะอาด ขับของเสียจากแอลกอฮอล์ ไม่เมาค้าง” เป็นต้น  ทำให้ตับกลับคืนส่สภาพเดิม รู้สึกดีขึ้น  ในบ้านเราเน้นไม่เมาค้าง ทำให้สายดื่มได้เฮกันเพราะจะได้ดื่มมากขึ้น ผลิตภัณฑ์บำรุงตับมีอะไรบ้าง         ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารบำรุงตับนั้นจะใช้สมุนไพรหลักๆ 3 ตัว ได้แก่ มิลค์ ทิสเทิล (milk thistle)  ใบอาร์ทิโชก รากแดนดิไลออน[1]           สมุนไพรทั้ง 3 ชนิดมีประโยชน์อย่างไรต่อตับ?        ในมิลค์ ทิสเทิล จะมีสารไซลิมาริน ซึ่งเป็นสารเคมีในพืช ในห้องปฏิบัติการพบว่า สารไซลิมารินทำหน้าที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยสร้างเซลล์ตับ ลดการอักเสบ ป้องกันเซลล์ตับ จึงทำให้มีการนำสมุนไพรนี้มาทำเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเพื่อบำรุงตับ       ใบอาร์ติโชคมีคุณสมบัติต้านอนุมูลอิสระ ปกป้องเซลล์ตับ การศึกษาในสัตว์ทดลองพบว่าช่วยสร้างเซลล์ตับได้ มีงานวิจัยบางชิ้นพบว่าช่วยลดการทำลายตับลงได้เมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุม แต่ต้องมีการศึกษาในทางคลินิกต่อไป        รากของแดนดิไลออนนั้นมีการนำมาใช้ในการรักษาโรคตับมานาน แต่ต้องการการศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับความปลอดภัยและประสิทธิผล        ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารบำรุงตับชนิดต่าง ๆ มีการผสมสมุนไพรเพิ่มเติม เช่น โกจิเบอร์รี่ สมอพิเภก บ๊วย เป็นต้น ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารบำรุงตับมีสรรพคุณตามโฆษณาจริงหรือ         เมื่อทบทวนการศึกษาวิจัยพบว่า การวิจัยสมุนไพรหลัก 3 ชนิดในคนยังไม่มีและคุณภาพงานวิจัยยังไม่ดีพอ ต้องทำการศึกษาทางคลินิกเพิ่มเติม ส่วนการศึกษาเรื่องผลิตภัณฑ์เสริมอาหารกับโรคตับต่าง ๆ นั้น พบว่า ยังไม่มีหลักฐานที่จะสนับสนุนหรือปฏิเสธว่า ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ต้านอนุมูลอิสระจะมีประโยชน์ต่อผู้ป่วยที่เป็นโรคตับ และอาจทำให้เอนไซม์ตับมีค่าสูงขึ้น เราจะดูแลตับให้ดีได้อย่างไร         เราสามารถดูแลตับให้แข็งแรงได้โดย การลดไขมันในอาหาร ลดสารพิษ เช่นยา สารเคมี ลดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพิ่มการออกกำลังกาย กินผักผลไม้ที่ปลอดสารเคมีอันตรายมากขึ้น สรุป ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารบำรุงตับนั้น ส่วนใหญ่เป็นสมุนไพรซึ่งมีความปลอดภัย แต่สรรพคุณนั้นยังต้องการการศึกษาทางคลินิกเพิ่มเติม[1] สมุนไพรทั้ง 3 ชนิดพบในเขตหนาว ไม่พบในบ้านเรา ยกเว้นอาร์ติโชค มีการนำมาปลูกโดยโครงการหลวง แต่ไม่เป็นที่นิยม

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 225 พิษร้ายของอาหารขยะ

        ช่วงหนึ่งที่ผู้เขียนมีโอกาสได้ฝึกฝนภาษาอังกฤษที่ A.U.A เพื่อเตรียมตัวไปศึกษาต่อนั้น มีคำศัพท์ภาษาอังกฤษสองคำที่อาจารย์ผู้สอนยกขึ้นมาเป็นตัวอย่าง เพื่อแสดงให้เห็นความแตกต่างของคำที่ต้องใช้ให้เหมาะสม เช่น กรณีที่ต้องการอธิบายถึงการที่บุคคล 2 คน ที่พลั้งพลาดทำผิดในเรื่องเดียวกัน แต่คำศัพท์ภาษาอังกฤษที่อธิบายพฤติกรรมที่เป็นเหตุในการกระทำต่างกัน คำสองคำนั้นคือ stubborn และ ignorant ซึ่งคำทั้งสองนี้ผู้เขียนใคร่ขอนำมาตั้งเป็นประเด็นว่า ข้อมูลข่าวซึ่งจะเขียนถึงในบทความนี้ เป็นความเกี่ยวพันกันระหว่างการเจ็บป่วยทางกายและความรู้ด้านอาหารและโภชนาการซึ่งพบในอินเทอร์เน็ทนั้น ควรใช้คำศัพท์ภาษาอังกฤษใดในการสรุปถึงลักษณะของผู้เคราะห์ร้ายรายนี้   การกินอาหารให้ครบสมบูรณ์แบบที่มนุษย์ควรกิน         ตามความรู้ที่เรามีในปัจจุบัน เพื่อให้ร่างกายดำรงอยู่ในสภาวะสุขภาพดี(ไม่แสดงอาการของโรคใด ๆ) นั้น เป็นเรื่องจำเป็นที่มนุษย์ทุกคนควรรู้ แต่ก็ยังมีทั้งคนที่ไม่ใส่ใจรู้ทั้งที่มีโอกาสรู้ตลอดไปถึงคนที่ไม่มีโอกาสรู้เลย โดยลักษณะแรกนั้นอาจเป็นเพราะความดื้อด้าน(stubborn) ไม่ยอมทำตามสิ่งที่ได้รู้มา แต่ลักษณะหลังอาจจัดเป็นความโฉดเขลา(ignorant) ซึ่งความโฉดเขลานั้นเป็นเรื่องที่น่าเห็นใจว่า ทำไมมนุษย์บางคนจึงขาดโอกาสเรียนรู้เพื่อขจัดความโฉดเขลา        บทความที่นำมายกเป็นตัวอย่างว่า ควรใช้ศัพท์ภาษาอังกฤษคำใดในสองคำที่ยกขึ้นมาข้างต้นกับมนุษย์ผู้เป็นข่าว คือ Blindness Caused by a Junk Food Diet ตีพิมพ์ในวารสาร Annals of Internal Medicine 2019 ซึ่งนิพนธ์โดยแพทย์นักวิจัยของ University Hospitals Bristol NHS Foundation Trust, Bristol, United Kingdom และทำนองเดียวกันได้เผยแพร่ในเว็บอื่น ๆ อีกมากมาย จนถึงขนาดที่ข้อมูลดังกล่าวถูกนำไปเผยแพร่ต่อโดย CBS, TIME, NBC, USA Today, The Guardian, WebMD, Newsweek และองค์กรข่าวอื่นๆ อีกนับไม่ถ้วน ซึ่งผู้เขียนเข้าใจเอาเองว่า แหล่งข่าวต่างๆ นั้นต้องการยกเรื่องนี้ให้เป็นประเด็นตัวอย่าง เพื่อเตือนใจแก่มนุษย์บนโลกนี้ให้เข้าใจถึงความสำคัญในเรื่องของสภาวะโภชนาการที่เกี่ยวกับสาเหตุของความเจ็บป่วยของคน ที่เป็นข่าว         เด็กหนุ่มชาวสหราชอาณาจักรชื่อ Jasper ผู้ซึ่งไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ไม่สูบบุหรี่และไม่ใช้ยาเสพติด และสถานภาพของร่างกาย ซึ่งดูจากภายนอกไม่เลวนัก มีดัชนีมวลกายอยู่ในระดับปกติ คือ 22 (ความสูงคือ 172.9 ซม. และน้ำหนักเฉลี่ย 65.7 กก.) แต่ต้องประสบเคราะห์หามยามร้ายถึง “ตาบอด”         บทความกล่าวว่า เมื่อแพทย์ทำการสอบถามผู้ป่วยในระดับลึกแล้วพบว่า ผู้ป่วยได้ละเลยไม่กินอาหารบางอย่างที่ไม่ชอบตั้งแต่สมัยเรียนชั้นประถม โดยสิ่งที่เขาชอบกินเป็นชีวิตจิตใจเพื่อดำรงชีวิตคือ มันฝรั่งทอด และขนมขบเคี้ยวอื่นๆ ทุกวัน นอกจากนี้เขายังชื่นชอบขนมปังที่ทำจากแป้งฟอกขาว แฮมและไส้กรอก ซึ่งข้อมูลเหล่านี้แสดงให้เห็นว่า เขาเป็นแฟนพันธุ์แท้ของอาหารขยะ ดังนั้นจึงไม่น่าประหลาดใจที่การตรวจเลือดแสดงออกมาว่า เขามีระดับวิตามินบี 12 และวิตามินดีต่ำพร้อมมวลกระดูกที่ต่ำกว่าปรกติ แม้ว่าผลการตรวจชิ้นเนื้อที่ตัดจากระบบทางเดินอาหารนั้น ยังแสดงความเป็นปรกติอยู่ มีระดับทองแดงและซีลีเนียมต่ำ แต่ระดับสังกะสีสูง ซึ่งผู้เขียนคาดเอาว่า การที่ระดับสังกะสีสูงนั้นเป็นเพราะผู้ป่วยได้โปรตีนจากอาหารน้อยกว่าที่ควร ซึ่งโดยปรกติแล้วสังกะสีเป็นธาตุที่มักถูกร่างกายนำไปใช้ทำหน้าที่เป็นโคแฟกเตอร์ของเอ็นซัม ซึ่ง เป็นโปรตีนโดยธรรมชาติ หรือเป็นองค์ประกอบสำคัญในโปรตีนอื่น ๆ อีกมากมาย ดังนั้นจากรูปแบบการกินอาหารของผู้ป่วยนั้นย่อมต้องมีการขาดโปรตีน จึงทำให้ไม่สามารถสร้างเอ็นซัมหรือโปรตีนอะไรที่ต้องการสังกะสีได้มากนัก จึงมีเหลือเป็นอิสระอยู่ในเลือด         ย้อนหลังไปดูประวัติการพบแพทย์ของเด็กหนุ่มซึ่งเริ่มต้นเมื่ออายุ 14 ปี ที่เขาเริ่มรู้สึกเหนื่อยล้าแล้ว เมื่อตรวจเลือดก็พบว่ามีอาการ macrocytic anemia หรืออาการโลหิตจางเพราะเม็ดเลือดแดงใหญ่กว่าปรกติจนทำงานไม่ได้ แม้ว่าจำนวนเม็ดเลือดอาจไม่ต่ำกว่าปรกติก็ตาม เนื่องจากขาดวิตามินโฟเลตซึ่งช่วยในการสร้างเม็ดเลือดให้สมบูรณ์ โฟเลตนั้นควรได้จากผักใบเขียว เนื้อสัตว์ ถั่วทั้งเมล็ด ผลไม้อีกหลายชนิด เป็นต้น         จากนั้นในปีต่อมาแพทย์เริ่มสังเกตพบสัญญาณของการสูญเสียการได้ยินและการมองเห็น แพทย์จึงสั่งจ่ายวิตามินและผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ซึ่งก็ไม่ได้แก้ปัญหาแต่อย่างไร เพราะการมองเห็นของเขายังแย่ลงเรื่อยๆ ซึ่งถ้าดูจากพฤติกรรมการกินอาหารแล้วนั้น สภาวะทางโภชนาการของเขายังขาดการกินอาหารโปรตีนอยู่ วิตามินและแร่ธาตุต่างๆ ที่กินเข้าไปจึงไม่ถูกนำไปใช้ให้เป็นประโยชน์นัก        พออายุได้ 15 ปี Jasper เริ่มมีการสูญเสียการได้ยินมากขึ้น สุดท้ายเขาได้ถูกส่งต่อไปยังแพทย์หูคอจมูก ซึ่งได้ทำการเอ็กซ์เรย์ด้วยคลื่นสนามแม่เหล็ก (MRI) แต่ก็ไม่พบความผิดปกติใดในโครงสร้างของร่างกาย อย่างไรก็ดีหลังจากนั้นไม่นานเขาก็เริ่มมีอาการผิดปรกติในการมองเห็นที่จักษุแพทย์หาสาเหตุไม่ได้ สุดท้ายเมื่ออายุได้ 17 ปี ระดับการสูญเสียในการมองเห็นเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนต้องถูกส่งตัวไปพบจักษุแพทย์ ซึ่งเชี่ยวชาญด้านระบบประสาทตาและได้พบว่า มีความผิดปรกติเกิดขึ้นกับส่วนปลายเส้นประสาทที่เกี่ยวข้องในการมองเห็น พร้อมกับการที่เขามีข้อบกพร่องของจอประสาทตาส่วนกลางทั้งสองข้าง ความเสียหายในการมองเห็นที่ถาวรจึงได้เริ่มแสดง ซึ่งน่าจะเป็นการส่งผลเนื่องมาจากสภาวะโภชนาการที่ไม่ดีเพราะกินไม่ดี         อาหารขยะของ Jasper นั้นทำให้เขาได้รับวิตามินและแร่ธาตุในปริมาณจำกัด ส่งผลให้เกิดการอักเสบของเส้นประสาทตา ซึ่งสำคัญต่อการมองเห็น มันเป็นภาวะแทรกซ้อนที่บำบัดยาก และเป็นตัวอย่างของการก่อปัญหาทางสุขภาพเนื่องจากการขาดสารอาหารหลายชนิดพร้อมกัน พิษร้ายของอาหารขยะ         อาหารขยะที่ Jasper นิยมชมชื่นนั้น ส่งผลให้ร่างกายเขาได้รับวิตามินและแร่ธาตุไม่พอจนเด็กหนุ่มมีอาการทางระบบประสาทตาเสื่อม สภาพการณ์ในลักษณะนี้อาจแพร่หลายมากขึ้นในอนาคตเนื่องจากการบริโภคอาหารขยะกำลังเป็นที่แพร่หลายในกลุ่มเด็กวัยรุ่นตลอดไปถึงรุ่นแย้มฝาโลงที่ไม่สนใจดูแลตัวเองเรื่องการกิน แม้มีความรู้เกี่ยวกับรูปแบบอาหารที่ช่วยให้สภาวะโภชนาการของร่างกายดี เพราะใจนั้นทุ่มเทให้กับการเขี่ยสมาร์ทโฟนและ/หรือการเล่นเกมส์ที่เป็น e-sport แล้วถ้ายังปราศจากการแก้ไขปรากฏการณ์ดังกล่าว แถมส่งเสริมกันต่อไปในสภาพเหมือนผู้รับผิดชอบตาบอดด้านคุณภาพของประชากร มองไม่เห็นปัญหาที่จะเกิดในอนาคต ประเทศที่มีประชากรในลักษณะนี้คงเข้าสู่ภาพ the aging society along with poor quality citizen ซึ่งคงดูไม่จืดแน่

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 223 โอ้ละหนอ ... ดวงตาเอย

        ปัจจุบันเราใช้สายตาผ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์ มือถือสมาร์ทโฟน และแท็บเล็ตกันมาก ทำให้หลายคนอาจเกิดปัญหาต่างๆ ทางสายตามากขึ้น  จึงเป็นโอกาสทองของผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่จะเข้ามาแทรกตรงนี้เพื่อให้ผู้บริโภคเคลิบเคลิ้มจนเสียเงินอย่างไม่จำเป็น โดยสารสำคัญล่าสุดที่ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ยกมาอ้างถึงประโยชน์คือ “ลูทีน”         ในเว็บขายสินค้าทางอินเทอร์เน็ต พบว่ามีผลิตภัณฑ์เสริมอาหารหลายชนิด ที่แจ้งว่ามีส่วนผสมของลูทีนและวิตามินต่างๆ แต่ที่เหมือนๆ กันคือ ทุกชนิดจะอ้างว่าตนเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารบำรุงรักษาดวงตา บางผลิตภัณฑ์มีการนำผลการวิจัยที่มีตัวเลขต่างๆ มาอ้างอิงเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือในการรักษา เหมือนว่าเพิ่มความขลัง แรกๆ ก็อ้างว่าสามารถรักษาโรคจอประสาทตาเสื่อมได้ แต่ลองอ่านไปเรื่อยๆ ก็พบว่ามีการอ้างว่ารักษาโรคต่างๆ มากขึ้นไปอีก ประหนึ่งว่ามันคือ อาหารเทวดา เช่น ความจำเสื่อมในผู้สูงอายุ  อาการหลอดเลือดแข็ง ลดไขมัน ทำให้ผิวพรรณสดใส ฯลฯ แต่ที่หาไม่เจอคือ ข้อมูลแสดงที่มาของการวิจัยว่าเป็นหน่วยงานทางวิชาการที่ไหนทำ หรือพูดภาษาบ้านๆ คือ ยกเมฆเอาข้อมูลมาอวดอ้าง แต่ไม่บอกแหล่งที่มาว่าใครวิจัย ดีที่ไม่อ้างว่าเทวดาวิจัย(ฮา)         เมื่อตามเข้าไปดูในเฟซบุ๊คของผลิตภัณฑ์แต่ละชนิด ยิ่งหนักขึ้นไปอีก มีการนำภาพผ้สูงอายุมาประกอบการโฆษณา โดยมีข้อความชวนตะลึงเข้าไปอีก เช่น “ทานต่อเนื่อง 3 กล่อง ต้อเนื้อหลุด ตาพร่ามัวดีขึ้น มองชัด” ผลิตด้วยเทคโนโลยีนาโน และยังแทคข้อความแฝงสรรพคุณต่างๆ เช่น #แสบตา #เคืองตา #น้ำตาไหล #ตาพร่ามัว #แพ้แสง #แพ้ลม #มองไม่ชัด#ภาพซ้อน #หยากไย่ลอยไปลอยมา #ตาบอดกลางคืน #ต้อลม #ต้อกระจก#ต้อเนื้อ #ต้อหิน ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีภาพกล่องพัสดุที่เตรียมส่งไปรษณีย์กองใหญ่ รวมทั้งโชว์ภาพใบส่งของไปรษณีย์ที่ยาวเหยียดมากมาย เหมือนโชว์ว่าสินค้านี้มีผู้สั่งซื้อจำนวนมาก         อันที่จริง ลูทีน เป็นสารอาหารในกลุ่มเดียวกับ เบต้าแคโรทีนและวิตามินเอ พบได้มากในผักและผลไม้หลายชนิด เช่น ผักปวยเล้ง บร็อคโคลี่ คะน้า ข้าวโพด กีวี องุ่น ส้ม ฯลฯ ดังนั้นไม่จำเป็นเลยที่จะต้องไปเสียเงินเสียทองซื้อผลิตภัณฑ์เสริมอาหารแพงๆ มากิน หากใครติดตามข่าวจะพบว่าแม้กระทั่งจักษุแพทย์ เช่น ผศ.นพ.ศักดิ์ชัย วงศกิตติรักษ์ หัวหน้าภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ยังเคยออกมาเตือนผ่านทางสื่อต่างๆ ว่า โรคตาแต่ละชนิดมีแนวทางการรักษาที่แตกต่างกัน เช่น ถ้าเป็นต้อกระจกต้องผ่าตัดต้อกระจก หากเป็นต้อหินก็ต้องให้ยาลดความดันลูกตา ไม่สามารถใช้วิตามินกินแล้วบอกว่ารักษาทุกโรคได้         สารลูทีนและซีแซนทีน เป็นกลุ่มวิตามิน ซึ่งมีการศึกษาที่พิสูจน์ว่าได้ประโยชน์เฉพาะผู้ป่วยจอประสาทตาเสื่อมในผู้สูงอายุบางประเภท “ที่ต้องได้รับการวินิจฉัยจากจักษุแพทย์ก่อน” จึงจะสามารถใช้ยาได้ “ดังนั้นการโฆษณาว่ารักษาโรคตาได้ทุกโรคนั้นไม่เป็นความจริง เป็นการโฆษณาชวนเชื่อ หนำซ้ำจะทำให้เกิดอันตราย ขาดโอกาสในการรักษาที่ถูกต้อง ทำให้โรครุนแรงขึ้นจนถึงขั้นตาบอดได้” เช่น ถ้าเป็นต้อเนื้อ ก็จะลุกลามจนบังการมองเห็น ถ้าเป็นต้อกระจกก็จะทำให้อาการรุนแรงเกิดผลแทรกซ้อนกลายเป็นต้อหินและตาบอดในที่สุด ยิ่งถ้าเป็นต้อหินอยู่เดิมแล้วไม่ได้รับการรักษาด้วยยาลดความดันลูกตาอาจจะทำให้ตาบอดได้ บางคนอาจจะใช้เวลาเพียง 1-2 เดือนก็ทำให้ตาบอดได้        ทราบข้อมูลขนาดนี้แล้ว ช่วยๆ กันเตือนคนที่เรารัก ให้เท่าทัน หากมีปัญหาเรื่องตา ควรไปหาจักษุแพทย์ตรวจรักษาอย่างถูกวิธีดีกว่า อย่าไปหลงเป็นเหยื่อ ให้ผลิตภัณฑ์พวกมา...โอ้ละหนอ หลอกดวงตาจนอาจจะบอดเอย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 223 กระแสต่างแดน

แหล่งน้ำเลอค่า        เมื่อพูดถึงนิวซีแลนด์คนส่วนใหญ่จะนึกถึงภูมิประเทศที่งดงามเขียวสดในสภาพอากาศที่แสนบริสุทธิ์ แต่การท่องเที่ยว “แบบไม่ยั่งยืน” และการเกษตรแบบเข้มข้น กำลังทำลายภาพนี้ไปอย่างรวดเร็วจากรายงานของกระทรวงสิ่งแวดล้อม จำนวนโคนมเพิ่มเป็นสองเท่าจากช่วงปี 90 และการใช้ปุ๋ยไนโตรเจนก็เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 600 แม่น้ำ ทะเลสาบ และพื้นที่ชุ่มน้ำ ถูกละเลยมานาน การสำรวจในปี 2014 พบว่าร้อยละ 60 ของแหล่งน้ำในนิวซีแลนด์ไม่เหมาะกับการลงว่ายรัฐบาลจึงออกมาตรการควบคุมแนวปฏิบัติของเกษตรกร การเปลี่ยนที่ดินเพื่อทำฟาร์มโคนม รวมถึงการใช้ปุ๋ยไนโตรเจน และกำหนดมาตรฐานความสะอาดของน้ำให้สูงขึ้นในจุดที่มีผู้คนมาท่องเที่ยวพักผ่อนเขาตั้งเป้าว่าต้องเห็นความเปลี่ยนแปลงภายในห้าปี เพราะแหล่งน้ำที่สะอาดเป็นสิ่งจำเป็นต่อเศรษฐกิจ และต่อ “แบรนด์” ของประเทศ เจไม่จริงใจ        จากการเก็บตัวอย่าง “เนื้อเทียม” สำเร็จรูปจำนวน 32 ตัวอย่างมาทดสอบ องค์กรผู้บริโภคฮ่องกงพบว่าผลิตภัณฑ์ทั้งหมดไม่ผ่านมาตรฐานการติดฉลากร้อยละ 60 ของตัวอย่าง มีปริมาณเกลือมากกว่า 600 มิลลิกรัมต่ออาหาร 100 กรัม และมี 3 ตัวอย่างที่พบปริมาณโปรตีนต่ำกว่าที่เคลมไว้บนฉลาก เช่น “กุ้งวีแกน” ยี่ห้อเบตาต้ากรีน ติดฉลากว่ามีโปรตีนร้อยละ 2.3 แต่จริงๆ แล้วไม่มี นอกจากนี้ยังมี 6 ผลิตภัณฑ์ที่ไส่สารกันบูดแต่ไม่แจ้งผู้บริโภคเขายังพบ 4 ตัวอย่างที่มีส่วนผสมจากสัตว์ปะปนอยู่ด้วย เช่น “ลูกชิ้นปลาเจ” ยี่ห้อ Saturday ที่มีส่วนผสมของหมูและปลา ซึ่งผู้ผลิตชี้แจงว่าใช้สายการผลิตร่วมกับผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์ตามปกติ จึงรับประกันไม่ได้ว่าจะมีหรือไม่ และอ้างว่าบริษัทมีข้อความ “หากไม่แน่ใจ โปรดหลีกเลี่ยงการบริโภค” บนฉลากแล้วตามกฎหมาย การโฆษณาที่ทำให้เข้าใจผิดในสาระสำคัญของอาหาร มีค่าปรับ 500,000 เหรียญฮ่องกง หรือ (ประมาณ 1.95 ล้านบาท)   ไม่เสิร์ฟไม่ว่า        สำนักงานการบินพลเรือนประเทศจีน เตรียมเสนอร่างระเบียบใหม่ให้สายการบินมีอิสระในการให้หรือไม่ให้บริการอาหารบนเครื่องคาดกันว่าคงเป็นเหตุผลด้านความปลอดภัย เพราะที่ผ่านมาเกิดเหตุพนักงานต้อนรับและผู้โดยสารได้รับบาดเจ็บในช่วงที่เครื่องบินตกหลุมอากาศระหว่างการเสริ์ฟอาหารในช่วง 30 นาทีก่อนเครื่องลง  เรื่องนี้ไม่แน่ว่าจะถูกใจผู้โดยสารหลายคนที่เริ่มสงสัยว่าสารการบินแอบลดต้นทุนหรือเปล่า เพราะดูเหมือนอาหารที่จัดให้นั้นจะลดลงทั้งปริมาณและคุณภาพข่าวระบุว่าค่าใช้จ่ายด้านอาหารคิดเป็นร้อยละ 3 – 5 ของต้นทุนสายการบิน และยังยกตัวอย่างข้อมูลการเงินย้อนหลังของสายการบินไชน่าอิสเทิร์น ที่บันทึกว่าค่าใช้จ่ายด้านนี้ของบริษัทลดลงเหลือร้อยละ 3.3 ในปี 2018 จากร้อยละ 3.42 ในปีก่อนหน้าตั้งแต่เดือนตุลาคมปีที่แล้ว เทียนจินแอร์ ประกาศยกเลิกบริการอาหารสำหรับที่นั่งชั้นประหยัด พร้อมกับลดราคาตั๋วลงด้วย ร้อนต้องเลิก        จะเกิดอะไรขึ้นเมื่อผู้คนในเยอรมนีต้องประสบกับอากาศที่ร้อนระอุโดยที่อาคารส่วนใหญ่ไม่มีเครื่องปรับอากาศเยอรมนีมีข้อกำหนดตั้งแต่ปี 1892 ให้โรงเรียนและสถานที่ทำงานอนุญาตให้นักเรียนหรือพนักงานกลับบ้านก่อนเวลาเลิกเรียนหรือเลิกงานได้ถ้าอากาศร้อนเกินไป  กฏหมายแรงงานกำหนดให้อุณหภูมิในสถานที่ทำงานต้องไม่เกิน 26 องศาเซลเซียส หากพนักงานต้องทำงานในที่ร้อนเกิน 30 องศา นายจ้างจะต้องจัดหาวิธีการมาดูแลพนักงานเป็นพิเศษข้อกำหนดทางเทคนิคยังระบุว่านายจ้างต้องติดตั้งอุปกรณ์ปรับอุณหภูมิ ป้องกันความร้อน  หรือลดเวลางานให้ หากสถานที่นั้นร้อนเกิน 35 องศาสำหรับโรงเรียน แต่ละรัฐจะกำหนดมาตรการเอง เช่น ถ้าอุณหภูมิห้องเรียน 25 ถึง 27 องศา โรงเรียนอาจเลิกเร็วขึ้น บางโรงเรียนกำหนดว่าถ้าอุนหภูมิในร่มช่วงก่อน 10 โมงเช้าสูงเกิน 25 องศา ก็ให้คุณครูย้ายที่เรียน พาเด็กไปทัศนศึกษาใกล้ๆ หรือส่งเด็กกลับบ้านได้จิบแล้วหนาว        ชาเป็นเครื่องดื่มยอดนิยมอันดับหนึ่งของโลก และร้อยละ 96 ของชาที่ดื่มเป็นชาบรรจุซองซองหรือถุงเหล่านี้อาจดูเหมือนทำจากกระดาษล้วน แต่ความจริงแล้วมีส่วนผสมของพลาสติกโพลีโพรพิลีนเพื่อซีลและทำให้มันคงรูปร่างด้วยเพื่อตอบคำถามว่าชาที่เราดื่มมีพลาสติกปนอยู่ด้วยหรือไม่ นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแมคกิล ประเทศแคนาดา จึงทดลองนำถุงชา (ทั้งหมด 4 ยี่ห้อ) มาแช่ลงในภาชนะบรรจุน้ำแล้วให้ความร้อนเหมือนการเตรียมชาทีมวิจัยพบว่าถุงชาหนึ่งถุงสามารถปล่อยไมโครพลาสติกได้ถึง 11,600 ล้านชิ้นและนาโนพลาสติก 3,100 ล้านชิ้นลงในน้ำร้อน ซึ่งสูงกว่าที่เคยพบมาในอาหารประเภทอื่น นอกจากนี้ยังพบความผิดปกติทางกายภาพและพฤติกรรมของไรน้ำที่ได้รับพลาสติกเหล่านี้เช่นกันงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Environmental Science & Technology ระบุว่าต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมถึงผลกระทบของพลาสติกเหล่านี้ต่อสุขภาพมนุษย์ด้วย   

อ่านเพิ่มเติม >


ฉบับที่ 221 เลขสารบบอาหารไม่ครบก็ได้เหรอ

ทุกวันนี้เรากินอาหารจากผลิตภัณฑ์ที่บรรจุสำเร็จกันมากขึ้น ซึ่งอาหารในบรรจุภัณฑ์ประเภทนี้ได้รับการควบคุมดูแลเรื่องฉลากเพื่อให้สามารถติดตามได้หากเกิดปัญหา ดังนั้นอย่างน้อยผู้บริโภคควรใส่ใจที่จะอ่านฉลาก ซึ่งบ่งบอกรายละเอียดของสินค้า และหากพบความผิดปกติท่านสามารถร้องเรียนต่อหน่วยงานเพื่อให้มีการแก้ไขปัญหาได้        คุณพิมลอาศัยอยู่จังหวัดนนทบุรี ย่านบางกรวย วันหนึ่งไปซื้อก๋วยเตี๋ยวที่ตลาดเจ้าพระยาเพื่อกลับมารับประทานที่บ้าน ขณะกำลังจะฉีกซองพริกป่น น้ำตาล ที่แม่ค้าให้มาก็สังเกตว่า พริกป่นในซองจับตัวกันเป็นก้อน จึงเพ่งมองที่ฉลากบนซองแล้วพบสิ่งผิดสังเกตคือ เลขสารบบอาหาร(เลข อย.) บนซองนั้น มีแค่เลขแปดตัวเท่านั้น ซึ่งคุณพิมลเคยทราบมาว่าเลขสารบบอาหารนั้น ต้องมีทั้งหมด 13 ตัวหรือ 13 หลัก  อีกทั้งบนซองยังไม่มีการบอกวันหมดอายุหรือวันผลิต จึงสงสัยมีการปลอมเลข อย.หรือไม่ จึงแจ้งมาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเพื่อขอให้ตรวจสอบ แนวทางการแก้ไขปัญหา          เมื่อพบความผิดปกติเกี่ยวกับอาหารในบรรจุภัณฑ์สำเร็จรูป ควรเร่งแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ดำเนินการตรวจสอบ ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค จึงทำหนังสือถึงสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ว่าผู้ผลิตอาหารดังกล่าวตามชื่อที่ปรากฏบนซองเป็นผู้ผลิตสินค้าดังกล่าวจริงหรือไม่ ซึ่งต่อมาทราบว่าทาง สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนนทบุรีได้ออกตรวจร้านค้าที่จำหน่ายอาหารตามที่คุณพิมลแจ้งมา รวมทั้งร้านค้าอื่นๆ อีก 13 ร้านแต่ไม่พบผลิตภัณฑ์พริกป่นยี่ห้อตามที่คุณพิมลแจ้งมา           อย่างไรก็ตามเมื่อทาง อย.ได้สอบถามกับผู้ผลิตตามชื่อที่ปรากฏบนซอง ทางบริษัทดังกล่าวปฏิเสธว่าสินค้าดังกล่าวไม่ใช่ของตน เป็นการถูกแอบอ้างชื่อบริษัท จึงไม่สามารถดำเนินการแจ้งความกับบริษัทได้ นอกจากจะมีหลักฐานการซื้อขายว่าสินค้าดังกล่าวมาจากบริษัทนั้นจริง          ศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ ได้แจ้งให้คุณพิมลทราบ ผู้ร้องไม่ติดใจ เพียงแต่อยากฝากเรื่องไว้ให้ช่วยเผยแพร่เพื่อให้ผู้บริโภคท่านอื่นได้ระมัดระวัง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 221 ทำอย่างไรให้ร่างกายหอมสดชื่นทั้งวัน

                อยู่เมืองไทยไม่มีเหงื่อคงเป็นเรื่องแปลก เหงื่อไม่เพียงทำให้เนื้อตัวเหนอะหนะ ยังทำให้เกิดปัญหากลิ่นกายไม่หอมสดชื่นด้วย นอกจากนี้ยังมีอีกหลายปัจจัยที่ทำให้ “ตัวไม่หอม” จนบางครั้งเราก็คงนึกสงสัยว่าทำไมนะ บางคนถึงตัวหอมสดชื่นทั้งวัน เราจะเป็นแบบนั้นบ้างได้ไหม         สิ่งสำคัญที่ควรใส่ใจ        1.สะอาดเสมอ        ·  อาบน้ำอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง หรือมากกว่านั้น ขึ้นอยู่กับกิจกรรม เช่น หลังออกกำลังกายก็ควรอาบน้ำชำระเหงื่อไคล และควรใช้สบู่ชำระล้างในส่วนที่เป็นจุดอับของร่างกาย เช่น รักแร้ ซอกคอ ข้อพับ มือเท้า สาวๆ ที่มีรูปร่างอวบอัด อาจรวมถึงหน้าท้องที่ยื่นจนเกิดเป็นซอกหลืบ เพราะบริเวณดังกล่าวจะเป็นจุดที่เกิดการหมักหมมของเหงื่อไคล        ·  สระผมให้สะอาด หากสระผมกลางคืนไม่ควรนอนไปทั้งที่ผมยังชื้นอยู่ หรือบางคนไม่ชอบสระผมทุกวัน อาจใช้การสระแบบแห้งซึ่งมีน้ำยาทำความสะอาดผมแบบเป็นสเปรย์ฉีดผมที่ช่วยแก้ปัญหาได้        ·  ใส่เสื้อผ้าที่สะอาด เสื้อผ้าที่ซักและตากไม่แห้งหรือโดนน้ำฝนมักมีกลิ่นซึ่งเกิดจากการขยายตัวของเชื้อโรค ซึ่งไม่เพียงมีกลิ่นอับที่ชวนให้ชวนอึดอัด ยังอาจก่อให้เกิดปัญหากับสุขภาพด้วย การใช้เสื้อผ้าซ้ำๆ หลายๆ วันก็จะทำให้คุณมีกลิ่นเช่นกัน        ·  อย่าให้เท้ามีกลิ่น หากคุณกังวลว่าเท้าจะมีกลิ่น ก็ควรขัดถูเท้าตอนอาบน้ำ เช็ดให้แห้ง และทาแป้งก่อนที่จะใส่ถุงเท้าและรองเท้า พกถุงเท้าคู่ใหม่ไปเปลี่ยนระหว่างวัน ต้องมั่นใจด้วยว่ารองเท้าของคุณก็สะอาด รองเท้าเก่าๆ มักจะมีกลิ่นเสมอ        ·  ดูแลสุขภาพช่องปาก อย่าปล่อยให้เกิดปัญหาสะสมเพราะจะทำให้เกิดกลิ่นปาก หรือหลังรับประทานอาหารกลิ่นแรงควรบ้วนปากหรือแปรงฟัน หรือเคี้ยวหมากฝรั่งก็พอช่วยแก้ไขปัญหาชั่วคราวได้         2.เลี่ยงอาหารกลิ่นแรงและบุหรี่        ·  พยายามหลีกเลี่ยงหรือลดปริมาณอาหารที่มีกลิ่นแรง เช่น กระเทียม หัวหอม เนื้อสัตว์ และอาหารรสจัด รวมไปถึงผักจำพวกกะหล่ำ เช่น บรอกโคลี เพราะอาหารเหล่านี้เมื่อถูกย่อยจะทำให้เกิดกลิ่นตัวและกลิ่นปากได้ง่าย        ·  ไม่สูบบุหรี่ การสูบบุหรี่ส่งผลให้เกิดปัญหาสุขภาพมากมาย รวมไปถึงปัญหาเรื่องกลิ่นตัวอีกด้วย คนที่สูบบุหรี่จัด ๆ จะมีกลิ่นบุหรี่ติดตัวทั้งในปากและตามรูขุมขน ถึงแม้ว่าตอนนั้นจะยังไม่ได้สูบบุหรี่อยู่ก็ตาม        ·  รับประทานอาหารดีมีประโยชน์ ออกกำลังกายเพื่อให้ร่างกายสดชื่น อีกอย่างที่สามารถช่วยได้ดีคือการอบซาวน่า ซึ่งช่วยให้ขับเหงื่อได้ดี         3.ใช้ตัวช่วย        ·   โรลออน ที่ช่วยระงับกลิ่นตัว        ·  น้ำหอม เลือกกลิ่นเฉพาะตัวและไม่ควรใช้หลายกลิ่นในครั้งเดียว จุดที่นิยมให้การฉีดหรือแตะน้ำหอมบนร่างกายคือ ข้อพับแขน ข้อมือ ซอกคอ หรือบริเวณกลางหน้าอก จะช่วยให้กลิ่นหอมฟุ้งทั่วทั้งตัว        ·  ทาแป้ง ก็อาจช่วยได้หากคุณเป็นควรเหงื่อออกง่าย        ·  โลชั่น สบู่ที่มีกลิ่นหอม แต่หากโลชั่นมีกลิ่นแรง คุณไม่ควรใช้น้ำหอมเพิ่ม         4.ดูแลสิ่งแวดล้อมรอบตัว        ·  รักษาความสะอาดของสิ่งรอบตัว เตียง หมอน ชุดเครื่องนอน ฯลฯ ของคุณสะอาดไหม อย่าปล่อยให้มีกลิ่นอับ        ·  รถของคุณและที่อื่นๆ ที่คุณใช้เวลาอยู่ที่นั้นนานๆ เช่น ร้านสุกี้ ร้านชาบู  หรือที่ๆ มีคนสูบบุหรี่ กลิ่นเหล่านี้ติดทนบนตัวคุณได้ดีทีเดียว

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 221 อาหารจากการแก้ไขจีโนม ตอนที่ 1

        คนไทยหลายคนคงลืมแล้วว่า เมื่อไม่กี่ปีมานี้เรามีข่าวความกังวลของสังคมเกี่ยวกับ อาหารจีเอ็มโอ หรือที่มีคำเต็มว่า อาหารซึ่งได้จากสิ่งมีชีวิตที่ดัดแปรพันธุกรรม อย่างไรก็ดีในอนาคตอันใกล้คนไทยอาจได้เลิกกังวลเรื่องเกี่ยวกับอาหารจีเอ็มโอแล้ว เพราะกำลังจะมีอาหารในรูปแบบใหม่เข้ามาสร้างความกังวลในชีวิตเรา คือ gene edited food ซึ่งน่าจะแปลเป็นไทยว่า อาหารที่ถูกแก้ไขจีโนม (จีโนมเป็นคำเดียวกับคำว่า ยีน)         เว็บ www.businessinsider.com ได้ลงข่าวที่น่าสนใจเรื่อง We'll be eating the first Crispr'd foods within 5 years, according to a geneticist who helped invent the blockbuster gene-editing tool ในวันที่ 20 เมษายน 2019 ซึ่งเนื้อข่าวโดยสรุปคือ Jennifer Doudna แห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย แห่งเมืองเบิร์กลีย์ ผู้เป็นหนึ่งในกลุ่มผู้พัฒนาระบบการแก้ไขจีโนมกล่าวว่า ภายในห้าปีข้างหน้าผลกระทบที่ชัดเจนของเท็คนิคการแก้ไขจีโนมต่อชีวิตประจำวันคนบนโลกนี้จะปรากฏในพืชผลของภาคเกษตรกรรม          ความเป็นจริงแล้วสิ่งที่ Jennifer Doudna พูดนั้นได้เกิดขึ้นก่อนหน้าแล้ว โดยในวันที่ 20 มีนาคม 2019 เว็บ www.wired.com ได้ตีพิมพ์บทความเรื่อง The First Gene-Edited Food Is Now Being Served ซึ่งมีใจความว่า แม้ผู้บริโภคยังไม่สามารถหาซื้อน้ำมันจากถั่วเหลืองที่ได้รับการแก้ไขจีโนมเพื่อให้ถั่วนั้น ผลิตไขมันอิ่มตัวน้อยลงกว่าเดิมและมีไขมันทรานส์เป็นศูนย์ก็ตาม แต่ซีอีโอของบริษัท Calyxt ได้กล่าวว่า ผู้บริโภคชาวอเมริกันกำลังกินน้ำมันดังกล่าวอยู่แล้ว(โดยไม่รู้ตัว) จากร้านอาหารที่เป็นลูกค้าสั่งซื้อน้ำมันถั่วเหลืองจาก Calyxt โดยร้านอาหารเหล่านี้อยู่ในตะวันตกกลางของสหรัฐ (ได้แก่ นอร์ทดาโกตา เซาท์ดาโกตา เนบราสกา มินเนสโซตา ไอโอวา มิสซูรี วิสคอนซิน อิลลินอยส์ แคนซัส มิชิแกน อินเดียนา และโอไฮโอ) ซึ่งได้เริ่มใช้น้ำมันดังกล่าวแล้วในการทอดอาหาร ทำซอสปรุงรสและน้ำมันสลัดต่างๆ เพื่อบริการแก่ลูกค้า ประเด็นที่น่าสนใจคือ ผู้บริหารของ Calyxt นั้นกล่าวอย่างมั่นใจว่า ถั่วเหลืองที่ใช้ผลิตน้ำมันนั้น “ไม่ใช่จีเอ็มโอ” อาหารแก้ไขจีโนมคืออะไร         อาหารในลักษณะนี้ใช้หลักการการเปลี่ยนชนิดขององค์ประกอบ ส่วนใดส่วนหนึ่งของดีเอ็นเอ ซึ่งเป็นหน่วยพันธุกรรมของสิ่งมีชีวิตให้เป็นไปตามความต้องการของผู้ผลิต ซึ่งเมื่อทำสำเร็จแล้วการแสดงออกของสิ่งมีชีวิตซึ่งเป็นลักษณะที่เห็นได้ด้วยตา คือ ฟีโนไทป์ (phenotype) นั้นจะเปลี่ยนแปรไปตามที่หน่วยพันธุกรรมที่เปลี่ยนไป ตัวอย่างเช่น สีของสิ่งมีชีวิตนั้นอาจเปลี่ยนไปจากปรกติที่เคย แดงเป็นดำ ขาวเป็นเขียว โดยที่การเปลี่ยนแปรนั้นถ่ายทอดไปถึงลูกหลานด้วย         การแก้ไขจีโนมนั้นเป็นการใช้เทคนิคที่เรียกว่า Crispr/cas9(อ่านออกเสียงว่า คริสเปอร์/คาสไนน์) หรือเรียกสั้นๆ ว่า Crispr ซึ่งเป็นวิธีที่ดูแล้วน่าศรัทธามาก เพราะค่าใช้จ่ายถูกกว่าและสะดวกกว่าวิธีการผสมพันธุ์แบบดั้งเดิมซึ่งรวมถึงการผลิตพืชดัดแปรพันธุกรรม อีกทั้งกล่าวกันว่ามีความแม่นยำสูงในการทำให้สิ่งมีชีวิตกลายไปตามต้องการโดย(อาจ) ไม่ทิ้งร่องรอยอะไรไว้ให้ตรวจจับได้         สิ่งที่สำคัญของเทคนิคนี้ประการแรกคือ ต้องรู้ตำแหน่งของจีโนมหรือยีนที่ต้องการแก้ไข จากนั้นต้องมีกระบวนการทำให้โปรตีนต่างๆ ที่ห่อหุ้ม DNA ของเซลล์สิ่งมีชีวิตเป้าหมาย ตรงตำแหน่งที่ต้องการแก้ไขหน่วยพันธุกรรมหลุดออกก่อน แล้วจึงทำให้ DNA คลายตัวจากการพันกันเป็นเกลียวเพื่อแยกเป็นอิสระจากกัน ซึ่งเป็นการเปิดทางให้องค์ประกอบของระบบเข้าไปดำเนินงานต่อ         ส่วนสำคัญที่เป็นหลักคือ ตัว Crispr (clusters of regularly interspaced short palindromic repeats.) ซึ่งเป็นกรดนิวคลิอิกชนิดที่เรียกว่า RNA ที่บางส่วนของสายมีการเรียงตัวของเบสหรือนิวคลิโอไทด์ที่สามารถประกบกับส่วนของ DNA ซึ่งเป็นจีโนม(ยีน) ที่ต้องการแก้ไข สำหรับองค์ประกอบส่วนที่สองของระบบนี้คือ cas9 ซึ่งเป็นโปรตีนที่มีฤทธิ์เป็นเอ็นซัมที่สามารถตัดสาย DNA ออกได้เสมือนเป็นกรรไกรตรงตำแหน่งที่ RNA ได้ประกบไว้ ซึ่งเมื่อตัดเสร็จแล้วจะมีการนำชิ้นส่วนของ DNA (ซึ่งเป็นยีนที่สามารถแสดงออกซึ่งลักษณะที่ต้องการเปลี่ยน) ที่เตรียมขึ้นในห้องปฏิบัติการส่งเข้าไปแทนที่ DNA ส่วนที่ถูกตัดออกไป จากนั้นจึงใช้เอ็นซัม (ที่เรียกว่า DNA ligase) เชื่อมต่อให้ชิ้น DNA ใหม่ต่อเข้าได้กับส่วนของ DNA เดิมทั้งสาย และถ้าทุกขั้นตอนสำเร็จเซลล์นั้นจะมีหน่วยพันธุกรรมที่เปลี่ยนไป ซึ่งเมื่อถูกพัฒนาต่อก็จะเจริญเติบโตไปเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีการแสดงออกของฟีโนไทป์ใหม่ที่สามารถสืบต่อลักษณะใหม่นั้นในลูกหลานต่อไป         มีการนำเทคนิคของการแก้ไขจีโนมนี้มาใช้ในการปรับปรุงพันธุ์ข้าวที่ปลูกในสหรัฐอเมริกา โดยหวังว่าจะได้พันธุ์ข้าวที่มีคุณภาพดีและได้ข้าวปริมาณสูง ซึ่งสามารถทนต่อผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศที่เพิ่มความเลวร้ายขึ้นเรื่อยๆ และได้รายงานผลการวิจัยในบทความเรื่อง CRISPR mediated genome engineering to develop climate smart rice: Challenges and opportunities ที่ปรากฏในวารสาร Seminars in Cell and Developmental Biology ในปี 2019 โดยการวิจัยนี้ได้วิเคราะห์ฟีโนไทป์ ซึ่งเป็นที่ต้องการและปัจจัยทางพันธุกรรมของข้าว แล้วนำมาใช้ในการพัฒนาความทนทานต่อความวิกฤตดังกล่าวที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศซึ่งเกิดขึ้นทั่วโลก         โดยปรกติแล้วพืชหลายชนิดที่ปลูกขึ้นเพื่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจนั้น มักอ่อนแอต่อการรุกรานจากไวรัส เห็นได้จากเมื่อปลูกไปไม่นานเท่าไรมักเกิดโรค เพราะไวรัสสามารถแทรกจีโนมของมันเข้าไปซ่อนในจีโนมของพืชนั้น แล้ววันหนึ่งเมื่อสภาวะภูมิอากาศแห้งแล้งได้ที่ ไวรัสที่ซ่อนอยู่ก็แสดงตัวออกฤทธิ์ได้ มีตัวอย่างงานวิจัยที่นักวิจัยของ International Institute of Tropical Agriculture ในเคนยาได้ใช้วิธีการแก้ไขจีโนมเพื่อตัด DNA ของไวรัสภายในจีโนมของกล้วยสายพันธุ์ Gonja Manjaya ออก  จนได้กล้วยที่ปลอดไวรัสแล้วแจกจ่ายพันธุ์ที่ปลอดโรคแก่เกษตรกรของประเทศ ข่าวนี้ได้ปรากฏในเว็บ www.newscientist.com เรื่อง Virus lurking inside banana genome has been destroyed with Crispr เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2019         ผู้ที่เลี้ยงสัตว์เนื้อส่งสู่ตลาดมักมีปัญหารำคาญใจที่สัตว์มีเขามักทำร้ายกันเอง จนต้องมีการตัดเขาให้สั้นหรือใช้วิธีเอาไฟฟ้าจี้บริเวณที่เขาจะงอกตั้งแต่สัตว์ยังเล็ก ซึ่งทำให้สัตว์ทรมาน จนผู้เลี้ยงสัตว์ถูกโจมตีเกี่ยวกับสิทธิของสัตว์ ดังนั้นถ้าวัวไม่มีเขาจะส่งผลให้การดูแลง่ายขึ้น แล้วความฝันของคาวบอยก็เป็นจริงเมื่อมีบทความเรื่อง Production of hornless dairy cattle from genome-edited cell lines. เผยแพร่ในวารสาร Nature Biotechnology ชุดที่ 34(5) หน้า 479-481 ของปี 2016 โดยผลงานนี้เป็นความร่วมมือของนักวิจัยจากสองมหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกาคือ University of Minnesota และ Texas A&M University         เทคนิค Crispr ได้ถูกพัฒนาต่อยอดไปอีก เช่น นักวิทยาศาสตร์ของบริษัท Syngenta ในเมือง Durham รัฐ North Carolina ได้คิดค้นกระบวนการใหม่ชื่อ haploid induction-edit หรือ HI-edit เพื่อทำให้เทคนิคการปรับแก้จีโนมของพืชง่ายขึ้นโดยรวมสองวิธีการคือ การเหนี่ยวนำให้เซลล์มีโครโมโซมชุดเดียว(haploid induction technology) และการแก้ไขจีโนม(gene edited technology) เพื่อทำให้พืชมีเกสรตัวผู้(pollen) พิเศษที่มีชุด Crispr ในเซลล์ จึงเรียกว่า Crispr pollen technique ซึ่งอ้างว่าจะไม่มีการแพร่กระจายไปดัดแปลงพืชอื่นในธรรมชาติที่ไม่ใช่เป้าหมาย เพราะระบบ Crispr ที่ใส่ไว้ในเกสรตัวผู้จะหายไปเอง หลังการปฏิสนธิระหว่างเกสรตัวผู้และเกสรตัวเมีย ทำให้พืชที่เป็นผลผลิตไม่ควรถูกควบคุมในลักษณะของจีเอ็มโอ ผลงานนี้ได้เผยแพร่ในรูปบทความวิจัยชื่อ One-step genome editing of elite crop germplasm during haploid induction ในวารสาร Nature Biotechnology ชุดที่ 37 หน้าที่ 287–292 ของเดือนมีนาคม 2019         นอกจากการปรับปรุงพันธุ์พืชและสัตว์แล้ว เทคโนโลยี Crispr สามารถถูกใช้แก้ไขข้อบกพร่อง ซึ่งก่อโรคทางพันธุกรรมในมนุษย์ ตลอดจนการบำบัดและป้องกันการแพร่กระจายของโรค ฯลฯ แต่ก็มีนักวิทยาศาสตร์อีกหลายคนที่มีความกังวลในการปรับแต่งจีโนมว่า มันแม่นยำมากดังที่กล่าวอ้างนั้นจริงหรือ คำตอบนั้นสามารถติดตามได้ในฉลาดซื้อฉบับหน้า

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 221 กระแสต่างแดน

ไม่มีเซอร์ไพรซ์        ลูกค้าเว็บจองโรงแรม แอร์บีเอ็นบี ในยุโรป สามารถจองห้องได้อย่างสบายใจ เพราะต่อไปนี้เขาจะแจ้งค่าธรรมเนียมทุกอย่าง (รวมถึงค่าทำความสะอาดและภาษีท้องถิ่น) ไว้ในหน้าแรก         ผู้บริโภคยังจะได้ทราบด้วยว่าเจ้าของห้องพักดังกล่าว เป็นชาวบ้านทั่วไปที่แบ่งห้องให้เช่าหรือผู้ประกอบการด้านที่พักโดยตรง ในกรณีที่เกิดปัญหาก็มีลิงก์ไปยังแพลทฟอร์มที่ผู้บริโภคสามารถส่งเรื่องร้องเรียนได้ทันที         นอกจากนี้ผู้ใช้สามารถฟ้องร้องต่อศาลในประเทศที่ตนเองอยู่อาศัย และไม่เสียสิทธิในการฟ้องร้อง “เจ้าบ้าน” ในกรณีที่เกิดอันตรายหรือความเสียหายอื่นๆ กับตนเอง             บริษัทบอกว่าจะไม่เปลี่ยนแปลงเงื่อนไขใดๆ โดยไม่แจ้งให้ผู้ใช้ทราบอย่างชัดเจน และไม่ปิดโอกาสผู้ใช้ในการปฏิเสธสัญญา         เหตุที่บริษัทสัญชาติอเมริกันยอมทำตามข้อกำหนดของคณะกรรมาธิการยุโรป ก็เพื่อหลีกเลี่ยงค่าปรับหลายล้านยูโรนั่นเองเค็มแถวหน้า        จีนเป็นประเทศที่มีอัตราการบริโภคเกลือสูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก งานวิจัยโดยมหาวิทยาลัยควีนแมรี่แห่งลอนดอนพบว่าในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา ผู้ใหญ่ชาวจีนบริโภคเกลือเฉลี่ยวันละมากกว่า 10 กรัม ในขณะที่เด็กวัย 6 ปีขึ้นไป ก็บริโภคเกลือวันละเกือบ 9 กรัม         มีเพียงเด็กเล็กวัย 3 ถึง 6 ปีที่บริโภคเกลือวันละ 5 กรัม (ซึ่งเป็นปริมาณการบริโภคเกลือที่องค์การอนามัยโลกแนะนำ)         นักวิจัยพบว่าอัตราการบริโภคเกลือในหมู่ประชากรทางเหนือของประเทศมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะมีผักสดให้รับประทานตลอดทั้งปีจึงไม่ต้องพึ่งพาผักดอง         แต่กลับพบการบริโภคเกลือที่สูงขึ้นทางตอนใต้ของประเทศ เพราะผู้คนนิยมรับประทานอาหารแปรรูปและซื้ออาหารนอกบ้านทานมากขึ้น         นักวิจัยตั้งข้อสังเกตว่าเด็กที่ชอบทานเค็มจะโตเป็นผู้ใหญ่ที่ชอบเค็มด้วย สถิติยังระบุว่าร้อยละ 40 ของสาเหตุการตายในหมู่ประชากรจีนเกี่ยวข้องกับโรคหัวใจและความดันสูงที่เกิดจากการบริโภคเกลือมากเกินไปด้วย  “เมดอินเวียดนาม”        บริษัทผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน Asanzo ของเวียดนาม มีเรื่องต้องอธิบายผู้บริโภค เมื่อถูกเปิดโปงว่าเครื่องรับโทรทัศน์ที่ “ผลิตในเวียดนาม” ของบริษัท มีส่วนประกอบถึงร้อยละ 80 ที่ผลิตมาจากจีนก่อนหน้านี้ผู้ผลิตกุญแจยี่ห้อ “มินไค” ซึ่งเป็นที่รู้จักของคนเวียดนามมานานกว่า 30 ปี ได้เริ่มนำเข้ากุญแจจากประเทศจีนมาติดฉลากเป็นยี่ห้อตนเอง ประทับตรา “ISO 9000-2000” และ “สินค้าคุณภาพสูงจากเวียดนาม”         ปลายปี 2017 “ไคซิลค์” ก็ออกมายอมรับว่านำเข้าผ้าไหมจากจีนเข้ามาตีตราขายเป็นสินค้าแบรนด์ตัวเองในเวียดนามมาเป็นสิบปีแล้ว ความแตกเพราะลูกค้าที่ซื้อผ้าพันคอไป 60 ชิ้น (ในราคาชิ้นละประมาณ 850 บาท) พบว่าผ้าผืนหนึ่งมีทั้งฉลาก “ผลิตในประเทศจีน” และฉลาก “ผลิตในเวียดนาม”         ทั้งหมดนี้สร้างความขุ่นเคืองให้ผู้บริโภคที่เวียดนามอย่างมาก ผู้เชี่ยวชาญด้านการค้าบอกว่าเรื่องนี้ทำกันทั้งผู้ผลิตรายใหญ่และรายย่อย เพราะปัจจุบันไม่มีเกณฑ์ว่าอย่างไรถึงจะเข้าข่ายเป็น “ผลิตภัณฑ์คุณภาพสูง” และ “ผลิตในเวียดนาม”“ไม่เอาหลอด”        กฎหมายว่าด้วยการจัดการขยะในครัวเรือนทำให้ชาวเซี่ยงไฮ้ต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการสั่งอาหาร/เครื่องดื่มออนไลน์ เพื่อลดภาระในการคัดแยกขยะ เอเลมี ผู้ให้บริการส่งอาหารบอกว่าตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคมที่ผ่านมา มีถึง 4,100 คำสั่งซื้อที่มีข้อความกำกับมาด้วย หนี่งในสี่ของคำสั่งซื้อระบุว่า “ขอซุปน้อยลง” ที่เหลือก็เป็นทำนอง “ขอข้าวน้อย” “ไม่เอาพริกไทยซอง” “แกะย่างไม่เอาไม้เสียบ” เป็นต้น         เหม่ยถวน ผู้ให้บริการอีกเจ้าหนึ่งระบุว่ามีคำสั่งซื้อที่ระบุว่า “ไม่เอาช้อน/ซ้อม/ตะเกียบ” เพิ่มขึ้นจากเดิมถึงสี่เท่า และ “หลอด” ทั้งที่เป็นกระดาษและพลาสติกก็เป็นที่รังเกียจเช่นกันยกตัวอย่างกรณีชานมไข่มุก หากกินไม่หมดก็ต้องเทน้ำชาลงซิงค์ ทิ้งเม็ดไข่มุกลงในถังขยะเปียก และนำแก้วไปทิ้งในถังรีไซเคิล         เว็บไซต์ Caijing.com พบว่ากว่าครึ่งหนึ่งของผู้ตอบแบบสอบถาม 50,000 คน จะเลิกกินชานมเพราะขั้นตอนการแยกขยะที่ยุ่งยากซับซ้อนรอได้ก็เขียวได้         ในทางทฤษฏี อีคอมเมิร์ซเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพราะการขับรถบรรทุกออกมารอบเดียวแต่ส่งของให้กับผู้คนได้มากมายมันย่อมดีกว่าให้แต่ละคนขับรถไปห้างกันเอง  งานวิจัยของมหาวิทยาลัยวอชิงตันในปี 2012 ก็ยืนยันว่าการสั่งซื้อแบบนี้สามารถลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ได้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 80         แต่ขณะเดียวกันก็มีงานวิจัยที่พบว่าถ้ารถส่งของนำสินค้าไปส่งให้ผู้สั่งซื้อน้อยกว่า 6 รายต่อเที่ยว มันจะไม่ช่วยอะไร ยิ่งถ้าต้องนำส่งแบบทันทีโดยไม่รอรวมกับใครก็ยิ่งแล้วใหญ่ เฉลี่ยแล้วถ้ารถต้องออกไปโดยมีของส่งเพียงหนึ่งชิ้น ปริมาณคาร์บอนที่เกิดขึ้นจะมากกว่ากรณีที่มีของเต็มรถถึง 35 เท่า         นอกจากนี้ผู้บริโภคยังไม่รู้ถึงค่าใช้จ่ายที่แท้จริงในการเลือกรับสินค้า “ภายในวันเดียว” เนื่องจากเห็นว่าเป็นบริการฟรี (เพราะบริษัทแบกรับต้นทุนไว้) ทั้งที่อาจจะไม่ได้รีบใช้        ผู้เชี่ยวชาญเสนอทางออกเป็นปุ่ม “จัดส่งแบบเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม” ให้ผู้บริโภคเลือกคลิก เพราะมีงานวิจัยที่พบว่าผู้บริโภคกว่าร้อยละ 50 ยินดีที่จะรอ หากช่วยลดภาระต่อสิ่งแวดล้อมได้

อ่านเพิ่มเติม >