ฉบับที่ 109 ไทยแอร์เอเซีย ชดใช้ผู้บริโภคเหตุเครื่องบินดีเลย์

เรื่องนี้...เป็นเรื่องยาวข้ามประเทศครับคุณรุจน์ และภรรยา มีกิจธุระที่ต้องเดินทางจากกรุงเทพฯ ไปจาการ์ตา เมืองหลวงของอินโดนีเซีย และเลยไปท่องเที่ยวยังเมืองที่ชื่อว่า ย๊อกยาการ์ตา ซึ่งอยู่ในประเทศอินโดนีเซียเช่นกันทั้งสองสามีภรรยาเลือกใช้บริการสายการบินราคาประหยัดไทยแอร์เอเซีย โดยซื้อตั๋วจากเว็บไซต์ของสายการบินแห่งนี้ ได้ตั๋วขาไปออกเดินทางในวันที่ 21 มีนาคม 2552 ออกจากกรุงเทพฯ เวลา 20.15 น. และถึงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซียเวลา 23.45 น. และตั๋วขากลับเครื่องบินจะออกจากจาการ์ตาในวันที่ 29 มีนาคม 2552 เวลา 16.20 น. และถึงกรุงเทพฯ เวลา 19.45 น. ทั้งนี้เพื่อจะกลับมาทำงานที่กรุงเทพฯ ให้ทันในเช้าวันรุ่งขึ้นอย่างไรก็ดี ในวันที่ 29 มีนาคมซึ่งเป็นวันที่ต้องเดินทางกลับนั้น สองสามีภรรยายังอยู่ที่เมืองย๊อกยาการ์ตา เพื่อไม่ให้พลาดเที่ยวบินขากลับจากจาการ์ตาไปกรุงเทพฯ ทั้งสองจึงได้ซื้อตั๋วจากไทยแอร์เอเซียเที่ยวบินจากย๊อกยาการ์ตามาถึงจาการ์ตาในเวลา 12.45 – 13.45 น. อีกด้วยคุณรุจน์และภรรยาทราบจากโฆษณาว่า สายการบินแอร์เอเซีย เป็นสายการบินที่ให้บริการแบบ “จุดต่อจุด” ไม่ได้ให้บริการเที่ยวบินต่อเนื่อง ผู้โดยสารต้องรับผิดชอบตัวเองในการไปเช็คอินให้ทันเที่ยวบินถัดไป คุณรุจน์จึงไม่ประมาทเพราะกลัวตกเครื่องบิน ก่อนออกเดินทางคุณรุจน์และภรรยาจึงช่วยกันเข้าอินเทอร์เน็ตเพื่อรวบรวมข้อมูลเที่ยวบินของสายการบินอื่นๆ ที่ให้บริการในเส้นทางย๊อกยาการ์ตา – จาการ์ตา ในเวลาใกล้เคียงกันกับเที่ยวบินของไทยแอร์เอเซียไว้เผื่อเหนียว ขาไปไม่มีปัญหาอะไร ทำธุระและท่องเที่ยวอยู่ในอินโดนีเซียจนถึงวันที่ 26 มีนาคม 2552 จึงได้เดินทางมาถึงเมืองย๊อกยาการ์ตา ก่อนออกจากสนามบินย๊อกยาการ์ตาจึงได้นำตั๋วเครื่องบินเส้นทางย๊อกยาการ์ตา – จาการ์ตา และ จาการ์ตา – กรุงเทพฯ ที่ซื้อไว้แล้วไปยืนยันการเดินทางกับพนักงานไทยแอร์เอซีย พนักงานก็จิ้ม ๆ ดูข้อมูลในคอมพิวเตอร์แล้วบอกว่าเที่ยวบินที่สำรองที่นั่งไว้ไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ คุณรุจน์และภรรยาจึงออกจากสนามบินไปท่องเที่ยวและทำธุระในเมืองย๊อกยาการ์ตาอย่างสบายใจพอถึงวันเดินทางกลับในวันที่ 29 มีนาคม 2552 ซึ่งจะต้องบินออกจากย๊อกยาการ์ตาไปจาการ์ตาในเวลา 12.45 น. คุณรุจน์และภรรยา จึงรีบเก็บเสื้อผ้าใส่กระเป๋า เดินทางมาถึงสนามบินย๊อกยาการ์ตา และเช็คอินในเวลา 10.30 น. ได้ถามพนักงานไทยแอร์เอเซียว่าเที่ยวบิน “ตรงเวลา” หรือเปล่า ได้รับคำตอบจากพนักงานยืนยันว่าเที่ยวบินนี้ตรงเวลาจนถึงเวลา 12.15 น. พนักงานของท่าอากาศยานได้ประกาศเรียกให้ผู้โดยสารของสายการบินไทยแอร์เอเซียเที่ยวบินที่จะไปจาการ์ตาเข้าไปรอที่หน้าประตูทางออก คุณรุจน์และภรรยาก็เบาใจว่าได้ขึ้นเครื่องบินตรงเวลาแน่ จึงได้ผ่านกระบวนการซื้อสิทธิการใช้ท่าอากาศยานและผ่านการตรวจค้นอาวุธเพื่อไปรอที่ประตูทางออกรอกันอยู่ที่ประตูทางออกจนถึงเวลาที่เครื่องบินจะต้องออกคือเวลา 12.45 น. ไม่เห็นวี่แววจะมีเครื่องบินของไทยแอร์เอเซียมารับไปจาการ์ตาเสียที มองไปที่ลานบิน เห็นเครื่องบินของสายการบินอื่นที่ได้เล็งไว้เผื่อเป็นเที่ยวบินสำรองเวลามีเหตุฉุกเฉิน ก็ทยอยโผผินบินไปทีละลำๆโอย...นี่มันเหตุฉุกเฉินแล้วนี่ คุณรุจน์และภรรยามองหน้ากันเลิ่กลั่ก และทำสิ่งที่อาจหาญที่สุดเท่าที่เคยทำในชีวิตที่ผ่านมาด้วยการ ขออนุญาตพนักงานรักษาความปลอดภัยของสนามบินวิ่งย้อนออกไปถามข้อมูลเรื่องความล่าช้าของเที่ยวบินกับพนักงานไทยแอร์เอเซียกระทั่งเวลาบ่ายโมงเศษถึงได้รับข้อมูลว่า เครื่องบินที่จะใช้เดินทางนั้นเกิดความล่าช้าในการบินจากสนามบินสิงคโปร์มาสนามบินย๊อกยาการ์ตา ทำให้ต้องเลื่อนการเดินทางออกจากย๊อกยาการ์ตาเป็นเวลา 15.00 น. และถึงจาการ์ตา เวลา 16.00 น.การที่พนักงานไทยแอร์เอเซียเพิ่งมาบอกข้อมูลการดีเลย์ของเที่ยวบิน ทำให้คุณรุจน์และภรรยาหมดสิทธิที่จะไปเช็คอินเที่ยวบินจาการ์ตา – กรุงเทพฯ ได้ทัน เพราะเครื่องบินจะออกเวลา 16.20 น. แต่ต้องเช็คอินก่อนเครื่องบินออกอย่างน้อย 45 นาที สองสามีภรรยาจึงได้แต่นั่งทำใจหลังจากนั่งทำใจอยู่ในสนามบินย๊อกยาการ์ตาจนเบื่อแล้วเบื่ออีก ท้ายที่สุด คุณรุจน์และภรรยาได้ขึ้นเครื่องจากย๊อกยาการ์ตาในเวลา 15.30 น. ล่าช้าไปกว่ากำหนดการเดิม 2 ชั่วโมงครึ่ง และถึงจาการ์ตาเวลา 16.30 น. ซึ่งเที่ยวบินที่ซื้อจองไว้โบยบินไปกรุงเทพฯ เรียบร้อยแล้วทำให้คุณรุจน์และภรรยาต้องควักเงินซื้อตั๋วเครื่องบินหาทางกลับกรุงเทพฯ ใหม่ทั้งหมด และกลับมาถึงกรุงเทพฯ เกือบเที่ยงคืน นับเป็นการเดินทางที่ต้องใช้ความพยายามอย่างแสนสาหัสและต้องจดจำไปอีกนานแนวทางการแก้ไขปัญหาหลังเกิดปัญหา คุณรุจน์และภรรยา ได้พยายามติดต่อไปที่ไทยแอร์เอเซียเพื่อให้แสดงความรับผิดชอบใช้เวลาไปอีก 26 วัน ถึงจะได้คำตอบว่า ไทยแอร์เอเซีย ไม่จ่ายค่าชดเชยให้ โดยอ้างว่าความล่าช้าของเที่ยวบินที่เกิดขึ้น เป็นความล่าช้าจากระบบของสนามบินสิงคโปร์ที่ขัดข้องอย่างกะทันหัน ทำให้เครื่องบินของไทยแอร์เอเซียจากสิงคโปร์ไม่สามารถบินมารับผู้โดยสารที่ย๊อกยาการ์ตาได้ตรงตามเวลาเมื่อเห็นการปัดความรับผิดชอบเช่นนั้น คุณรุจน์และภรรยาจึงอีเมลล์ไปสอบถามข้อเท็จจริงกับทางท่าอากาศยานสิงคโปร์ ไม่นานได้รับคำตอบกลับมาว่า เหตุล่าช้าของเที่ยวบินเจ้าปัญหานั้น เกิดความบกพร่องของสายการบินไทยแอร์เอเซียเอง ไม่ใช่ความผิดพลาดของสนามบินสิงคโปร์ คำตอบดังกล่าวทำให้ลิมิตความอดทนของคุณรุจน์และภรรยาขาดสะบั้น แบกความชอกช้ำระกำใจจูงมือกันมาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเพื่อให้ช่วยทำเรื่องฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายกับไทยแอร์เอเซียให้หลาบจำเสียทีศูนย์ทนายความอาสาเพื่อผู้บริโภค ของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้รับมอบอำนาจจากผู้ร้องทั้งสอง ยื่นฟ้องเป็นคดีผู้บริโภคเรียกค่าเสียหายกับไทยแอร์เอเซีย โทษฐานผิดสัญญาการให้บริการ รวมเป็นเงิน 65,000 บาทเศษศาลได้นัดเจรจาไกล่เกลี่ย ท้ายที่สุดไทยแอร์เอเซีย ยอมชดใช้ค่าเสียหายในส่วนที่เป็นค่าตั๋วเครื่องบิน ค่ารถแท๊กซี่ ในการที่ต้องวิ่งวุ่นไปมา ตามจำนวนที่ถูกเรียกร้องมาทั้งหมดคือ 15,844 บาท และยังยอมชดใช้ค่าเสียความรู้สึกอีกเป็นเงิน 30,000 บาท จากที่เรียกร้องไปในส่วนนี้ 50,000 บาท ทำให้คุณรุจน์ได้รับการเยียวยาความเสียหายจากการเดินทางด้วยความทรมานของสายการบินไทยแอร์เอเซียเป็นเงินทั้งสิ้น 45,844 บาทถือเป็นบรรทัดฐานสำหรับผู้โดยสารอื่นๆ ว่า ปัญหาเที่ยวบินดีเลย์แล้วไม่รับผิดชอบนั้น อย่าปล่อยให้สายการบินลอยนวลโดยเด็ดขาด  

อ่านเพิ่มเติม >