ฉบับที่ 179 สะใภ้จ้าว : ผู้หญิงอ่านหนังสือ เพื่อรื้อสร้างประวัติศาสตร์ของตน

มนุษย์เราเปลี่ยนแปลงหน้าประวัติศาสตร์ของตนได้หรือไม่?     นักคิดหลายคนที่เชื่อในพลังสองมือมนุษย์ต่างเห็นพ้องต้องกันว่า การเปลี่ยนแปลงหน้าประวัติศาสตร์ของมนุษย์นั้นเป็นไปได้ แต่มิใช่เป็นไปตามยถากรรม หากแต่ต้องมี “ตัวกลาง” หรือปัจจัยบางอย่างที่จะผลักดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวขึ้นมา     และหากมนุษย์ที่ลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงโฉมหน้าประวัติศาสตร์ชีวิตของตนเอง เกิดเป็น “มนุษย์ผู้หญิง” ด้วยแล้ว แม้จะเป็นเรื่องที่ยาก แต่ผู้หญิงก็สามารถขีดแต่งแปลงหน้าประวัติศาสตร์ของตนเองได้ แต่ก็ต้องมี “ตัวกลาง” ที่เป็นตัวแปรเอื้ออำนวยด้วยเช่นกัน     ประจักษ์พยานต่อข้อคำถามนี้ เห็นได้จากปมเรื่องหลักที่สองสาวพี่น้องตระกูลบ้านราชดำริอย่าง “ศรีจิตรา” กับ “สาลิน” ได้ถูกผูกโยงให้ต้องคลุมถุงชนเพื่อเป็น “สะใภ้จ้าว” ของ “คุณชายรอง” หรือ “ม.ร.ว.กิติราชนรินทร์” และ “คุณชายเล็ก” หรือ “ม.ร.ว.บดินทราชทรงพล” ตามลำดับ     เรื่องราวของละครเริ่มต้นจาก “สอางค์” และ “สร้อย” ผู้มีศักดิ์เป็นป้าของสองสาว พยายามผลักดันให้ศรีจิตราถูกคลุมถุงชนร่วมหอลงโรงกับ “คุณชายโต” หรือ “ม.ร.ว.ดิเรกราชวิทย์” แต่ทว่าคุณชายโตกลับรักใคร่ชอบพอและตกแต่งมีลูกกับ “จรวย” เมียบ่าวในวังวุฒิเวสน์แทน     เมื่อเป็นหม้ายขันหมากพลาดหวังจากคุณชายโต ศรีจิตราก็ถูกจับคู่ครั้งใหม่ให้กับคุณชายรอง ผู้ที่อีกด้านหนึ่งก็เพิ่งจะผิดหวังความรักจาก “หญิงก้อย ม.ร.ว.เทพีเพ็ญแสง” ซึ่งเลือกหนีแต่งงานไปอยู่ต่างประเทศกับ “อัศนีย์” มหาเศรษฐีผู้มั่งคั่งและร่ำรวยกว่า     แม้ในยุคหนึ่งนั้น การคลุมถุงชนจะถูกใช้อธิบายถึงการประสานประโยชน์และความเหมาะสมลงตัวในความสัมพันธ์ของบ่าวสาว แต่นั่นกลับไม่ใช่ชุดคำอธิบายเดียวกับที่สาลินนิยามเอาไว้ เพราะสาลินเห็นว่าการที่พี่สาวถูกโยนกลิ้งไปมาเป็นลูกบอลเพื่อจับคู่กับคนโน้นทีคนนี้ที ก็คือการที่สังคมพยายามเข้าไปกำหนดชีวิตของผู้หญิงคนหนึ่ง โดยที่ผู้หญิงคนนั้นไม่อาจมีปากเสียงหรือต่อสู้ได้แต่อย่างใด     เพราะสาลินเกิดในครอบครัวบ้านสวนที่บ่มเพาะให้เธอรักการอ่านหนังสือตั้งแต่เด็ก และโตขึ้นเธอก็ได้มาทำงานเป็นบรรณารักษ์ของห้องสมุดประชาชนอีก สาลินจึงเรียนรู้ว่า นางเอกในนวนิยายก็ไม่จำเป็นต้องลงเอยกับคู่หมายที่สังคมกำหนดหรือเชื่อว่าเหมาะสมเสมอไป นางเอกก็มีสิทธิและอำนาจที่จะเป็นผู้ “เลือก” หรือ “มีโอกาสเลือก” ในชีวิตได้เช่นกัน     ดังนั้น เมื่อพี่สาวต้องถูกบังคับให้แต่งงานครั้งแล้วครั้งเล่ากับผู้ชายที่ไม่เคยรู้จักมักจี่กันมาก่อน (แม้จะเป็นคุณชายก็เถิด) จนมาถึงคู่หมายคนล่าสุดที่เป็นคุณชายรอง (หรือที่เธอเรียกเขาแบบกระแนะกระแหนว่า “คุณชายชื่อยาว”) การคลุมถุงชนที่มีอีกด้านของเหรียญเป็นเสมือนการบังคับขืนใจผู้หญิงอย่างศรีจิตราให้จำยอม จึงเป็นสิ่งที่สาลินมิอาจรับได้เลย     ด้วยเหตุนี้ สาลินจึงขัดขวางการแต่งงานนี้ในทุกๆ ทาง และพยายามที่จะส่งเสริมให้คุณชายรองกลับไปคืนดีกับหญิงก้อย ด้วยหวังจะให้พี่สาวหลุดพ้นจากพันธการแห่งการคลุมถุงชนโดยไม่ยินยอม     แต่ก็เหมือนกับที่คำโบราณกล่าวไว้ว่า “เนื้อคู่กันแล้วก็คงไม่แคล้วกันไปได้” ถ้าสาลินถูกฟ้ากำหนดมาแล้วให้ต้องลงเอยกับคุณชายรอง จากที่เคยคิดว่าเขาเป็นพวกเจ้าชู้ไก่แจ้ หรือจากที่เคยเป็นพ่อแง่แม่งอนในยกแรกๆ ของความสัมพันธ์ สาลินก็เริ่มเรียนรู้และเข้าใจคำพูดของ “เสด็จพระองค์หญิง” ว่า “เวลาอ่านหนังสือ อย่าดูแต่เพียงหน้าปก” เพราะเนื้อในของคนก็เหมือนกับหนังสือที่ต้องใช้เวลาศึกษาเรียนรู้ทีละหน้าตั้งแต่ต้นจนกว่าจะอ่านจบเล่ม     ส่วนกรณีของศรีจิตรานั้น แม้เธอจะเป็นผู้หญิงเงียบๆ ที่ดูแล้วเหมือนจะไม่มีปากเสียงและยอมจำนนอยู่ใต้อาณัติความเป็นไปของสังคม แต่แท้จริงแล้ว ศรีจิตราก็ใช่ว่าจะไม่รู้สึกรู้ร้อนรู้หนาวกับการคลุมถุงชนแต่ละครั้งในชีวิตของเธอ     ดังนั้น เมื่อศรีจิตราค้นพบหัวใจของตัวเองแล้วว่า ถึงแม้จะถูกปฏิเสธและตกเป็นหม้ายขันหมากมาแล้วถึงสองครา เธอก็ไม่ได้เศร้าโศกเสียใจแต่อย่างใด เพราะลึกๆ แล้ว เธอเองก็หลงรักคุณชายเล็กคนสุดท้องของวังวุฒิเวสน์ หาใช่คุณชายโตหรือคุณชายรองไม่     ประโยคที่ศรีจิตราพูดกับ “อุ่นเรือน” ผู้เป็นมารดาว่า “จะผิดไหมถ้าหนูจะต่อสู้เพื่อหัวใจของหนูเอง” จึงเป็นวลีที่บอกเป็นนัยกับผู้ชมว่า ภายใต้อำนาจกฎเกณฑ์ทางสังคมที่เข้ามาขีดวงชีวิตของตัวละครหญิงผู้นี้ ศรีจิตราก็พร้อมจะลุกขึ้นมารื้อถอนและรื้อสร้างเพื่อขีดเขียนหน้าประวัติศาสตร์ชีวิตของเธอเองบ้างแล้ว     และเพราะอ่านหนังสืออยู่เป็นอาจิณ ศรีจิตราจึงลงมือทำตัวเป็นนางเซฮาราซาดผู้เล่านิทานอยู่ถึงพันหนึ่งราตรี ก็เพียงเพื่อพิชิตใจของคุณชายเล็ก ไล่เรียงตั้งแต่ตำนานของนางมัทนาผู้เจ็บช้ำจากความรักจนถูกสาปเป็นดอกกุหลาบในเรื่องมัทนะพาธา นางเงือกน้อยแอเรียลผู้พบจุดจบจากความรักในเรื่องลิตเติ้ลเมอร์เมด จนมาถึงการเผด็จศึกคุณชายเล็กด้วยฉากคาบดอกบัวจากวรรณกรรมนิทานเวตาล     บทบาทของการอ่านหนังสือ ที่แม้จะเป็นเพียงกระดาษเล่มเล็กๆ ที่ร้อยเรียงเรื่องราวของโลกเอาไว้ แต่ก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่ช่วยขยายประสบการณ์และอำนาจของผู้หญิงอย่างศรีจิตราและสาลิน ให้รู้ทันโลกและเข้าใจชีวิตมากยิ่งขึ้น ไม่ต่างไปจากตัวละครผู้หญิงอีกหลายๆ คนในท้องเรื่องอย่างเสด็จพระองค์หญิง อุ่นเรือน คุณยาย จนถึงคุณแม่นม ที่ต่างก็มีโลกทัศน์กว้างไกลออกไปเพราะการอ่านหนังสือนั่นเอง     แม้การจะได้เป็น “สะใภ้จ้าว” ในชีวิตจริง อาจเป็นเพียงโอกาสของผู้หญิงไม่กี่คนที่จะสมหวังได้เหมือนกับศรีจิตราและสาลิน แต่ทว่า โอกาสแห่งผู้หญิงที่จะลุกขึ้นมาขีดเขียนเปลี่ยนแปลงหน้าประวัติศาสตร์ชีวิตของตนเองนั้น สามารถบังเกิดขึ้นได้ เพียงแต่ว่าผู้หญิงเหล่านั้นจะอ่านหนังสือหรือเปิดหน้าต่างประสบการณ์ใหม่ๆ ผ่านโลกสัญลักษณ์และตัวอักษรที่บรรจงเขียนไว้ในทุกเส้นบรรทัด          

อ่านเพิ่มเติม >