ฉบับที่ 274 คุณภาพเน็ตมือถือถูกปรับลดในนามประโยชน์สาธารณะ

        ตั้งแต่ปลายปี 2566 ที่ผ่านมา เกิดเสียงบ่นจนเป็นกระแสทั้งในโลกออนไลน์และสื่อสาธารณะเกี่ยวกับปัญหาการใช้งานอินเทอร์เน็ตมือถือ ที่คุณภาพมีความเปลี่ยนแปลงไปในทางลบ นั่นคือ ความเร็วลดลง มีภาวะเน็ตอืดช้าหรือใช้การไม่ได้ ไม่เฉพาะการใช้งานลักษณะเข้มข้นหรือหนักหน่วง แม้แต่การใช้งานบางเบาอย่างการส่งข้อความทางไลน์ การใช้งานเฟซบุ๊ก ก็ยังมีความติดขัดหรือไม่อาจทำได้         คำอธิบายหรือข้ออ้างจากเอกชนผู้ให้บริการทั้งหลาย รวมถึงองค์กรกำกับดูแลอย่าง กสทช. ประเภทที่ว่า คุณภาพที่ลดลงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้เป็นปกติจากปัจจัยหลากหลาย เช่น เรื่องของปริมาณการใช้งานรวมในบางช่วงบางเวลาและบางพื้นที่มีความหนาแน่นเกินกว่าความจุโครงข่าย หรือ capacity  ปัจจัยเรื่องประสิทธิภาพอุปกรณ์ของผู้ใช้บริการแต่ละราย หรือรายการส่งเสริมการขายที่เลือกใช้ ฯลฯ ดูเหมือนจะฟังไม่ขึ้น เนื่องจากข้อมูลและเสียงสะท้อนของประชาชนผู้ใช้บริการจำนวนมาก ทำให้เห็นได้ว่า คุณภาพ “เน็ตมือถือ” ที่เปลี่ยนแปลงไปในทางลบนั้น เกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง ทั้งเชิงพื้นที่และเครือข่ายที่ให้บริการ (เอกชนทุกราย) อีกทั้งมีลักษณะที่ไม่ได้เกิดขึ้นอย่างเป็นธรรมชาติ         อย่างไรก็ตาม ประเด็นดังกล่าวย่อมเป็นเรื่องที่ประชาชนไม่อาจพิสูจน์เองได้ง่ายๆ ในขณะที่ กสทช. ตอบสนองล่าช้าและยังไม่มีทีท่าว่าจะหาทางพิสูจน์ความจริงอย่างเป็นกิจจะลักษณะ ทำเพียงมอบหมายคณะอนุกรรมการตรวจสอบบ้าง ให้เอกชนผู้ให้บริการรายงานเข้ามาบ้าง ประเด็นปัญหานี้จึงกลายเป็นอีกเรื่องที่ประชาชนได้แต่ “บ่นหาย” ยังไม่มีแววว่าจะเกิดมรรคผลและทางออกใดตามมา การบ่นได้แต่ซาลงตามกาลเวลาที่ล่วงไป         แต่ที่จริงแล้ว ความจริงส่วนหนึ่งได้ปรากฏชัดผ่านเรื่องร้องเรียนที่สำนักงาน กสทช. ได้รับ เนื่องจากในหนังสือตอบของบริษัทผู้ให้บริการต่อกรณีเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับปัญหาดังกล่าวมีการยอมรับว่าทางบริษัทได้มีการปรับลดความเร็วอินเทอร์เน็ตลง อันเนื่องมาจากการพบว่าผู้ร้องเรียนมีการถ่ายโอนข้อมูลปริมาณมากเป็นเวลานาน หรือที่เรียกว่าการใช้งานแบบ BitTorrent ตลอดจนมีการแชร์อินเทอร์เน็ตในลักษณะเป็นจุดให้บริการ หรือ Hotspot และ/หรือการใช้งานในเชิงพาณิชย์         บริษัทอ้างว่า การกระทำของบริษัทในเรื่องการปรับลดความเร็วเป็นไปตาม “นโยบายการจัดการบริหารเครือข่ายตามความเหมาะสม” ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อรักษามาตรฐานคุณภาพของบริการและเพื่อช่วยให้ผู้ใช้บริการโดยรวมสามารถใช้งานอินเทอร์เน็ตได้อย่างมีประสิทธิภาพ         นโยบายที่ว่านี้ หรือที่เรียกว่า FUP อันย่อมาจาก Fair Usage Policy คือมาตรการสากลที่ผู้ให้บริการมือถือในระดับโลกต่างก็นำมาใช้กัน นัยว่าเพื่อเป็นการรักษามาตรฐานการใช้งานอินเทอร์เน็ตมือถือในภาพรวมและป้องกันการใช้งานผิดประเภท ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดการแย่งพื้นที่การใช้งานของผู้ใช้คนอื่นในช่องสัญญาณนั้นๆ เปรียบเทียบง่ายๆ ให้เห็นภาพคือ เสมือนการใช้สัญญาณ Wi-Fi ภายในบ้านที่มีผู้เชื่อมต่อหลายคน หากมีคนหนึ่งคนใดดาวน์โหลด BitTorrent ขึ้นมา ก็จะทำให้ความเร็วอินเทอร์เน็ตเกือบทั้งหมดในบ้านนั้น ถูกดึงไปให้ผู้ใช้คนนั้น ทำให้คนที่เหลือได้ใช้อินเทอร์เน็ตที่มีความเร็วลดลง         ในหมู่ผู้ใช้เน็ตมือถือไทยรู้จักกับ FUP กันมานานแล้ว ซึ่งบังเอิญออกเสียงที่ให้ความหมายแบบไทยได้ตรงตามเรื่องว่า “ฟุบ” พอดิบพอดี โดยในการใช้งานเน็ตมือถือระยะแรกๆ รายการส่งเสริมการขายของบริการมือถือแบบมีอินเทอร์เน็ตเกือบทั้งหมดที่นำเสนอขายในฐานะ “เน็ตไม่อั้น” มักจะมีสิ่งที่เรียกว่า “ติดฟุบ” พ่วงควบมาด้วย กล่าวคือ ในแต่ละเดือน เมื่อใช้งานเน็ต ณ ความเร็วตามที่กำหนด (หน่วยนับคือ Mbps-Megabit per second หรือ Kbps-Kilobit per second) ไปจนครบจำนวนดาต้า (data) ที่ตกลงกันไว้ เช่น 1GB ทางบริษัทผู้ให้บริการก็จะจัดการปรับลดความเร็วในส่วนการให้บริการของผู้ใช้แต่ละรายลง         ปัญหาของ FUP ในยุคแรกคือ เน็ตที่ว่าใช้ได้ “ไม่อั้น” แท้จริงแล้วแทบไม่มีประโยชน์อะไร เนื่องจากระดับของความเร็วที่ปรับลดลงมักต่ำเตี้ยจนกระทั่งแทบใช้งานไม่ได้ ต่างกับ FUP ในต่างประเทศที่ลดแบบอยู่ในระดับมาตรฐาน         ปัญหาเรื่อง FUP-ฟุบ ในระลอกนั้นคลี่คลายลงบ้างเมื่อ กสทช. มีการกำกับความเร็วขั้นต่ำของ FUP ผ่านการวินิจฉัยเรื่องร้องเรียน แต่ปัจจัยที่ทำให้ปัญหาบรรเทาลงดูจะมาจากพัฒนาการของเทคโนโลยีมากกว่า         จุดเปลี่ยนที่ทำ FUP-ฟุบ ค่อนข้างลดบทบาทลงเกิดขึ้นหลังจากการประมูลคลื่นความถี่สำหรับบริการ 4G เมื่อปลายปี 2558 โดยบรรดาค่ายมือถือพากันออกรายการส่งเสริมการขายที่ให้บริการอินเทอร์เน็ตในปริมาณที่มากขึ้น เช่นสูงถึง 80 GB รายการส่งเสริมการขายหรือแพ็กเกจประเภท “เน็ตเต็มสปีด” หรือ “เน็ตไม่มี FUP” จึงเกิดขึ้น ซึ่งแท้จริงแล้วไม่ควรเรียกเช่นนั้น เนื่องจากความหมายจริงคือ รายการส่งเสริมการขายในยุคนี้เปลี่ยนมาเป็นการจำกัดปริมาณการใช้งานเป็นหลัก ส่วนเรื่องความเร็วก็จะมีการกำหนดรับรองไว้ว่ารายการส่งเสริมการขายนั้นๆ จะได้ความเร็วสูงสุดเท่าไร         ด้วยลักษณะดังกล่าวนี้ ปัญหาคุณภาพบริการที่ผู้ใช้บริการมักจะประสบจึงเป็นเรื่องของการได้รับความเร็วที่ไม่เป็นไปตามข้อตกลงหรือตามที่ได้โฆษณาไว้ ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องของ FUP แต่อย่างใด         อย่างไรก็ตาม การที่เอกชนค่ายมือถือกลับมาอ้างและใช้ FUP-ฟุบ อีกครั้ง ทั้งที่ข้อกำหนดของรายการส่งเสริมการขายระบุชัดเจนว่า เป็นประเภท “ไม่ลดสปีด” จึงเป็นการทำผิดสัญญาอย่างแน่ชัด ส่วนว่าเป็นเรื่องของประโยชน์สาธารณะจริงหรือไม่ ยังคงเป็นเรื่องที่ต้องพิสูจน์         ที่สำคัญคือ เรื่องเช่นนี้เกิดขึ้นภายหลังจากที่มีการควบรวมของสองค่ายมือถือ และเป็นส่วนหนึ่งของคำถามที่สังคมตั้งขึ้นด้วยความคลางแคลงว่า ใช่ผลกระทบด้านลบที่เกิดขึ้นให้ผู้บริโภคต้องแบกรับหรือไม่ ในขณะที่เอกชนได้ประโยชน์กันไปเรียบร้อยตามประสงค์         คำถามนี้เกิดขึ้นมาข้ามปีแล้ว และ กสทช. ยังไม่ได้ตอบด้วยประจักษ์หลักฐานให้กระจ่าง พร้อมๆ กับวิกฤติศรัทธาของประชาชนต่อองค์กรกำกับดูแลแห่งนี้ที่ยิ่งเพิ่มขึ้นกับกาลเวลาที่ผ่านไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 270 เขียวพอหรือยัง

        ในช่วงสองปีที่ผ่านมามีคดีฟ้องร้องผู้ประกอบการว่าด้วยการ “แอบอ้างว่าเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม” เพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการให้ข้อมูลที่เป็นเท็จหรือทำให้สังคมเข้าใจว่าบริษัทมีแผนรักษ์โลก ทั้งที่ยังไม่มีนโยบายที่ชัดเจนและไม่มีผู้รับผิดชอบด้านนี้โดยตรง         รายงานเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาวะอากาศและสิ่งแวดล้อม โดยสถาบันวิจัย Grantham แห่งลอนดอนระบุว่าตั้งแต่ปี 2015 เป็นต้นมา มีการฟ้องคดีลักษณะดังกล่าวทั้งโดยรัฐบาลและองค์กรด้านสิ่งแวดล้อมรวมกันไม่ต่ำกว่า 2,340 คดี ตัวอย่างเช่น ในอเมริกา เทศมณฑลมัลท์โนมาซึ่งมีประชากรหนาแน่นที่สุดในรัฐโอเรกอน ฟ้องบริษัทน้ำมันและถ่านหินอย่าง เชลล์ บีพี เชฟรอน โคโนโคฟิลิปส์ เอ็กซอนโมบิล และอีกไม่ต่ำกว่าห้าบริษัทเพื่อเรียกค่าเสียหาย 51,000 ล้านเหรียญ ฐานปล่อยมลพิษซึ่งเป็นหนึ่งในตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดโดมความร้อนที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 69 คน         บริษัท TotalEnergies ก็ถูกเทศบาลเมืองปารีสและนิวยอร์ก ร่วมกับองค์กรปกครองท้องถิ่นและสมาคมต่างๆ ฟ้อง ด้วยข้อกล่าวหา “ชกไม่สมศักดิ์ศรี” ในการต่อสู้เพื่อยับยั้งการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ แม้แต่หน่วยงานกำกับดูแลก็หนีไม่พ้น เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมามูลนิธิด้านสิ่งแวดล้อมได้กล่าวหาหน่วยงานกำกับดูแลตลาดของอังกฤษว่ากระทำการฝ่าฝืนกฎหมาย ด้วยการอนุญาตให้บริษัทก๊าซและน้ำมันเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ลอนดอน ทั้งที่ไม่สามารถอธิบายความเสี่ยงที่จะเกิดกับสภาพแวดล้อมได้         ไม่พียงธุรกิจด้านพลังงานเท่านั้น อุตสาหกรรมการบินก็กำลังถูกสังคมจับตามองเช่นกัน ไม่นานมานี้ผู้ประกอบการสายการบิน 17 บริษัท ถูกองค์กรผู้บริโภคแห่งสหภาพยุโรป (BEUC) ร้องเรียนเรื่องจริยธรรมการตลาด โฆษณาหรือสื่อประชาสัมพันธ์ของบริษัทเหล่านี้มักพูดถึง “โปรแกรมชดเชยการปล่อยมลพิษ” ที่ทำให้ผู้บริโภครู้สึกผิดน้อยลงจากการเดินทางโดยเครื่องบิน แต่ไม่มีแผนชัดเจนว่าจะชดเชยอย่างไร การกระทำดังกล่าวจึงถือว่าเข้าข่ายผิดกฎหมายของสหภาพยุโรปว่าด้วยการแข่งขันอย่างเป็นธรรมนั่นเอง         นอกจากนี้ BEUC ยังเรียกร้องให้สมาชิกสหภาพยุโรปและหน่วยงานคุ้มครองผู้บริโภคในแต่ละประเทศร่วมกันสอบสวนสิ่งที่เรียกว่า “ค่าธรรมเนียมสิ่งแวดล้อม” ที่บางสายการบินเรียกเก็บเพื่อเป็นการ “ชดเชยผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการเดินทางโดยเครื่องบิน” และยังเรียกร้องให้สายการบินคืนเงินดังกล่าวให้ผู้บริโภคด้วย         อีกตัวอย่างของการ “ฟอกเขียว” ในอุตสาหกรรมการบินคือกรณีของสายการบิน KLM ที่ชวนผู้บริโภคมาปลูกป่า หรือลงทุนในเชื้อเพลิงเครื่องบินที่ผลิตจากสาหร่าย น้ำมันใช้แล้ว ขยะทั่วไปและขยะการเกษตร ฯลฯ ที่นำมาผสมกับเชื้อเพลิงฟอสซิล จากข้อมูลบนเว็บไซต์ของบริษัท เชื้อเพลิงที่ว่านี้สามารถลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึงร้อยละ 80 แต่องค์กรผู้บริโภคมีข้อมูลที่ระบุว่ายังอีกนานกว่าเชื้อเพลิงนี้จะพร้อมเข้าตลาดและกฎหมายยุโรปก็ตั้งเกณฑ์สัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงทางเลือกไว้ต่ำมาก        ด้านวงการแฟชัน แม้จะทำได้ดีเมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมอื่นในเรื่องการใช้น้ำอย่างประหยัดทั้งในขั้นตอนการผลิตและการใช้งาน เช่น การนำเทคโนโลยีผลิตเส้นใยต้านจุลชีพมาใช้ในการผลิตที่ทำให้เรามีกางเกงยีนส์ที่ใส่ซ้ำได้หลายสัปดาห์ก่อนจะนำไปซัก เท่ากับการประหยัดน้ำในช่วงชีวิตการใช้งานไปได้ถึงร้อยละ 70 เลยทีเดียว         แต่เป้าหมาย “การสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียน” ที่ทุกอย่างสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้โดยไม่มี “ขยะผ้า” นั้นยังอีกห่างไกล ปัจจุบันเสื้อผ้าที่ใช้แล้วหรือขายไม่ได้ยังคงถูกนำไปถมทิ้งในบ่อหรือกองขยะ มีเพียงปริมาณน้อยเท่านั้นที่ถูกนำไปใช้ทำเป็นถุงมือหรือบรรจุในเบาะทำโซฟา         ถึงแม้จะยังไม่มีการฟ้องร้องแบรนด์แฟชัน แต่ก็มีรายงานที่ระบุว่าการนำของเสีย/ของเหลือใช้จากอุตสาหกรรมสิ่งทอมาใช้ใหม่ ยังอยู่ในขั้นตอนการ “ศึกษาวิจัย” เท่านั้น ยังต้องมีอีกหลายปัจจัยที่จะทำให้แผนนี้เป็นจริงได้ เช่น การตั้งโรงงานรีไซเคิลศักยภาพสูงในพื้นที่ หรือแม้แต่การมีนโยบายรีไซเคิลที่สอดคล้องกันในแต่ละประเทศ ก็ใช่ว่าจะไม่มีหวัง หลายแบรนด์เสื้อผ้าได้เริ่มใช้พลังงานทางเลือกในการจัดส่งสินค้ามาตั้งแต่ปี 2020 เรื่องนี้ยืนยันได้จากข้อมูลของ Maersk บริษัทจัดส่งสินค้าทางทะเลรายใหญ่อันสองของโลก ที่ระบุว่าร้อยละ 26 ของตู้สินค้า 24,000 ตู้ที่บริษัทจัดส่งด้วยเชื้อเพลิงชีวภาพ เป็นตู้สินค้าแฟชัน นอกจากนี้บริษัทค้าปลีกอย่าง Amazon และ Ikea ก็ให้คำมั่นว่าจะเปลี่ยนมาใช้การขนส่งแบบไร้คาร์บอนให้ได้ภายในปี 2040 เช่นกัน         ที่น่าจับตาคือความพยายามอย่างเป็นรูปธรรมที่จะลดการแอบอ้างความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม คณะกรรมการมาตรฐานความยั่งยืนนานาชาติ I(International Sustainability Standards Board หรือ ISSB) ได้กำหนดมาตรฐาน “การรายงานการปล่อยก๊าซเรือนกระจก” ของผู้ประกอบการที่จะเริ่มใช้ตั้งแต่ปี 2024 เป็นต้นไป         หนึ่งในมาตรฐานดังกล่าวคือ บริษัทต้องจัดให้บุคคลภายนอกเข้ามาตรวจสอบข้อมูลเรื่องการปล่อยมลพิษ (แบบเดียวกับการตรวจสอบบัญชี) นอกจากนั้น “มาตรการลดโลกร้อน” ของบริษัทก็ต้องได้รับการอนุมัติจากผู้บริหารสูงสุด ไม่ใช่เรื่องที่รับผิดชอบโดยฝ่ายการตลาดหรือฝ่ายสื่อสารองค์กรเหมือนที่ผ่านมา         แม้จะเป็นเพียงมาตรฐาน “สมัครใจ” แต่ก็เพิ่มความไว้วางใจและความมั่นใจให้กับผู้ประกอบการในการเปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืน ขณะเดียวกันก็ทำให้นักลงทุนมีข้อมูลที่ถูกต้องประกอบการตัดสินใจด้วย  เอกสารอ้างอิง        https://www.straitstimes.com/world/europe/climate-washing-lawsuits-jump-as-more-activists-challenge-corporate-claims-report-shows         https://www.dutchnews.nl/2023/06/klm-climate-claims-targeted-in-eu-wide-consumer-complaint/        https://www.scmp.com/business/article/3226112/green-jeans-hong-kong-maker-says-global-brands-improving-sustainability-circular-denim-lifecycle-far         https://www.scmp.com/news/world/europe/article/3226189/fashion-brands-driving-demand-green-shipping-fuels-industry-giant-says         https://www.reuters.com/sustainability/new-global-rules-aim-clamp-down-corporate-greenwashing-2023-06-26/

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 252 รู้เท่าทันโรคขาดธรรมชาติ

        เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม ถึง 12 พฤศจิกายน 2021 มีการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. 2564 (อังกฤษ: 2021 United Nations Climate Change Conference) หรือรู้จักในชื่อย่อว่า COP26  เป็นการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศครั้งที่ 26 จัดขึ้นที่กลาสโกว์ ประเทศสกอตแลนด์ สหราชอาณาจักร  เป้าหมายสำคัญของการประชุมคือ การคุมไม่ให้อุณหภูมิโลกสูงเกิน 1.5 องศาเซลเซียส         ปัจจุบัน ความรุนแรงของภัยธรรมชาติเกิดจากหายนะที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์ ไม่ใช่จากภัยธรรมชาติ การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกเพียงเล็กน้อยจะส่งผลทำให้เกิดหายนะอย่างรุนแรงไปทั่วโลก และมีผลทำให้ภูมิอากาศของแต่ละประเทศเปลี่ยนแปลงและไม่สามารถคาดเดาได้ พายุ น้ำท่วม ฤดูกาลที่เปลี่ยนแปลง น้ำทะเลขึ้นสูง ไฟไหม้ป่า ต่างๆ เหล่านี้จะทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ  และมนุษยชาติส่วนใหญ่จะยังไม่ตระหนักถึงภัยร้ายจนกว่าจะจะสายเกินแก้ไข         ผลกระทบต่อสุขภาพของอุณหภูมิโลกที่สูงขึ้น มีตั้งแต่ เรื่องความมั่นคงทางอาหาร น้ำดื่ม          ผู้สูงอายุ เด็ก สตรี ที่มีโรคเรื้อรัง และผู้ที่ต้องกินยาประจำบางชนิด จะเกิดความเสี่ยงสูงสุด โรคระบาดที่เกิดจากแมลงจะเพิ่มสูงขึ้น อาหารจะมีคุณค่าทางอาหารลดลง         อีกประเด็นหนึ่งที่ ธรรมชาติมีผลกระทบต่อสุขภาพของผู้คน และเริ่มมีการกล่าวถึงมากขึ้นในปัจจุบัน คือ อาการของโรคขาดธรรมชาติ          โรคขาดธรรมชาติเกิดจากการที่วิถีชีวิตของคนในปัจจุบันเริ่มห่างไกลหรือสัมผัสธรรมชาติน้อยลง วิถีชีวิตที่อยู่ในเมือง รวมถึงการไม่มีเวลาหรือไม่ใช้เวลาอยู่กับธรรมชาติ ทำให้เกิดอาการต่างๆ ได้แก่ ความเหนื่อยล้า การไม่มีสมาธิ ประสาทสัมผัสต่างๆ ลดลง การขาดความสุขและคุณค่าของชีวิต         เมื่อไปพบแพทย์เพื่อหาโรคหรือความผิดปกติ ก็อาจไม่พบอะไรทางกายภาพที่ผิดปกติ การตรวจเลือด เอกซเรย์ก็ไม่พบความผิดปกติ หมอก็อาจจ่ายยาลดความเครียด ยาบำรุง ทำให้ต้องพึ่งยาแผนปัจจุบันมากขึ้น จนเมื่อไม่กินยาก็ไม่มีความสุข         อาการของโรคขาดธรรมชาติเป็นที่รู้จักกันครั้งแรกเมื่อ ริชาร์ด ลุฟว์ ได้เขียนหนังสือเรื่อง Last Child in the Wood ในปีพ.ศ. 25485 ทำให้ผู้คนเริ่มให้ความสำคัญกับธรรมชาติมากยิ่งขึ้น หนังสือเล่มนี้ได้รับการแปลเป็นภาษาไทยชื่อ เด็กคนสุดท้ายในป่า ในปีพ.ศ. 2563 ทำให้คนไทยเริ่มรู้จักคำว่า โรคขาดธรรมชาติ         ต่อมา นายแพทย์ยามาโมโตะ ทัดสึทาเกะ ชาวญี่ปุ่น ซึ่งทำการรักษาผู้ป่วยชาวญี่ปุ่นที่มีอาการขาดธรรมชาติจำนวนมาก ได้เขียนหนังสือเรื่อง โรคขาดธรรมชาติ ปีพ.ศ. 2557 ซึ่งมูลนิธิเพื่อเด็กพิการร่วมกับสำนักพิมพ์โกมลคีมทอง แปลและจัดพิมพ์เป็นภาษาไทย ในปีพ.ศ. 2564 เพื่อเผยแพร่ให้รู้จักโรคนี้และการเยียวยารักษา         ธรรมชาติที่ผิดปกติ ภาวะที่โลกร้อนขึ้น ส่งผลทางมหภาคต่อโลกใบนี้อย่างรุนแรง ในขณะเดียวกัน การขาดและห่างเหินขาดธรรมชาติที่แท้จริง ก็ส่งผลต่อมนุษย์ทั้งทางกายภาพและจิตใจ         สุขภาวะของมนุษย์ในปีพ.ศ. 2565 ที่มาถึง นอกจากการฟื้นฟูสภาวะทางจิตใจที่บอบช้ำจากการระบาดของโควิด-19 แล้ว ยังต้องให้ความสำคัญในการฟื้นฟูธรรมชาติรอบตัวเราอีกด้วย เราต้องฟื้นฟูการปลูกป่า การไม่ตัดไม้ใหญ่ที่มีอยู่ การสร้างสวนป่า สวนสาธารณะ และหาเวลาอยู่กับธรรมชาติให้มากขึ้น

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 246 Plant-Based Food ทางเลือกของเรา ทางรอดของโลก

        เมื่อปัญหาสุขภาพและสิ่งแวดล้อมเป็นโจทย์ใหญ่ของชาวโลก ผู้บริโภคต่างหันมาดูแลตัวเองในเรื่องอาหารการกินด้วยวิถีธรรมชาติกันมากขึ้น เน้นกินพืชผักและลดเนื้อสัตว์ ตามแนวทาง ’กินสู้โรค’ และ’กินเปลี่ยนโลก’ ในรูปแบบต่างๆ กัน อาหารทางเลือกจึงถูกพัฒนาให้มีความหลากหลาย อย่างล่าสุดกระแส plant-based food ที่กำลังมาแรงในตลาดอาหารสุขภาพ ก็ว่ากันว่าเป็นอาหารแห่งอนาคตฟีลกู๊ดที่ดีต่อเรา ดีต่อโลก และดีต่อใจด้วย         Plant-Based Food ผลิตภัณฑ์อาหารจากพืช         เนื้อทำจากขนุนอ่อน หมูสับจากเห็ดแครง เบค่อนจากเส้นใยเห็ด นมจากข้าวโอ๊ต ไข่จากถั่วเขียว         ผลิตภัณฑ์อาหารเหล่านี้คือตัวอย่าง plant-based food กลุ่มอาหารโปรตีนทางเลือกที่นำพืชโปรตีนสูง เช่น ถั่วและธัญพืชต่างๆ เห็ด สาหร่าย ข้าวโอ๊ต แอลมอนด์ เป็นต้น มาเป็นวัตถุดิบหลักใช้ผลิตอาหารให้มีลักษณะและรสชาติใกล้เคียงกับผลิตภัณฑ์จากสัตว์มากที่สุด โดยคิดค้นและผลิตขึ้นมาเพื่อลดปัญหาสิ่งแวดล้อม ลดปัญหาขาดแคลนอาหารในระยะยาว เป็นอาหารทางเลือกให้ผู้บริโภคที่ต้องการลดหรือลด ละ เลิกกินเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลทางศาสนา ความเชื่อ ความชอบ หรือความจำเป็นส่วนตัวใดๆ ก็ตาม กินได้อย่างสบายใจ มีทั้งในรูปแบบเนื้อสัตว์ นมและผลิตภัณฑ์จากนม ไข่ รวมถึงอาหารปรุงสำเร็จ           เนื้อไร้เนื้อ เปิดใจผู้บริโภค ปลุกเทรนด์อาหารจากพืช         ความก้าวหน้าของนวัตกรรมด้านวิทยาศาสตร์การอาหารในปัจจุบัน ทำให้ผู้ผลิตพลิกแพลงพืชผักผลไม้กลายมาเป็นอาหารที่คล้ายมาจากสัตว์จริงๆ มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะเนื้อสัตว์จากพืช (plant -based meat) ที่พัฒนาให้มีรูปลักษณ์ รสชาติ กลิ่น เนื้อสัมผัส และสีสัน เสมือนเป็นเนื้อวัว หมู ไก่ กุ้ง และอาหารทะเลต่างๆ จริงๆ นั้น เชิญชวนให้ผู้บริโภคเปิดใจลิ้มลอง สอดคล้องกับกลุ่มคนกินผักก็ดีกินเนื้อก็ได้ (Flexitrain) ที่มากขึ้น อย่างในไทยเอง 1 ใน 4 ของประชากร หันมาลดกินเนื้อสัตว์เพื่อสุขภาพ 65% เพื่อควบคุมน้ำหนัก 20% โดยส่วนใหญ่จะงดกินในวันพระหรือวันเกิด ประกอบกับแนวโน้มผู้บริโภคที่ดูแลสุขภาพ ใส่ใจสิ่งแวดล้ม และกังวลการปนเปื้อนในเนื้อสัตว์มีเพิ่มขึ้น จึงเป็นปัจจัยที่ปลุกตลาดอาหารจากพืชทั่วโลกให้คึกคัก โดยศูนย์วิจัยกรุงไทย COMPASS ประเมินไว้เมื่อปี 2563 ว่า ตลาดเนื้อจากพืชในไทยเติบโตเฉลี่ยปีละ 10% ต่อปี และคาดว่ามูลค่าตลาดอาจแตะที่ 4.5 หมื่นล้านบาทในปี 2567         ในช่าง 2-3 ปีที่ผ่านมา เนื้อสัตว์จากพืชได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น มีวางขายในซุปเปอร์มาร์เกตทั่วไป ในรูปแบบเป็นวัตถุดิบและอาหารสำเร็จรูป ปัจจุบันมีให้เลือกหลายยี่ห้อทั้งที่นำเข้าจากต่างประเทศและผลิตในไทย เช่น  BEYOND MEAT, OmniMeat, NEVER MEAT, Meat Avatar, Let’s Plant Meat, More Meat, OMG Meat, MEAT ZERO, VG for Love และ Healthiful เป็นต้น         โปรตีนทางเลือก...ดีต่อเรา         ทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ คนชรา ต่างต้องการโปรตีนเป็นองค์ประกอบในอาหารเพื่อช่วยเสริมสร้างกล้ามเนื้อและซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอของร่างกาย การกินเนื้อ นม ไข่ ที่ผลิตจากพืชจึงเป็นอาหารโปรตีนทางเลือกที่เหมาะต่อสุขภาพ โดยเฉพาะคนที่แพ้โปรตีนจากสัตว์ ทั้งยังย่อยง่าย มีใยอาหารสูง มีไขมันดี(ไขมันไม่อิ่มตัว) ให้พลังงานต่ำ มีคอเลสเตอรอลและไตรกลีเซอร์ไรด์ต่ำ จึงช่วยให้ระบบขับถ่ายดี ควบคุมน้ำหนัก ป้องกันและรักษาโรคได้ เช่น โรคอ้วน โรคหัวใจ หลอดเลือดหัวใจ เป็นต้น         พืชบางชนิดมีกรดอะมิโนจำเป็นอยู่น้อย  ผู้บริโภคควรเลือกกินอาหารจากพืชที่หลากหลายเพื่อให้มั่นใจว่าร่างกายจะได้รับโปรตีนเพียงพอ ในแต่ละวันคนทั่วไปควรได้รับโปรตีน 0.8-1 กรัม ต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ไม่อย่างนั้นอาจเสี่ยงต่อภาวะพร่องโปรตีน ร่างกายต้องสลายโปรตีนจากกล้ามเนื้อบางส่วนมาทดแทน ทำให้อาจเกิดอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงได้         สำหรับคนที่แพ้ถั่วควรเลี่ยง เพราะอาหารจากพืชส่วนใหญ่ใช้ถั่วและธัญพืชต่างๆ เป็นวัตถุดิบ รวมทั้งคนที่เป็นโรคโลหิตจางหรือมีอาการมือเท้าชา ควรกินอาหารอื่นๆ ที่มีธาตุเหล็กและวิตามินบี 12 เสริมด้วย เพราะในพืชมีธาตุเหล็กและวิตามินบี 12 น้อยกว่าเนื้อสัตว์         แม้ plant - based food จะเน้นคุณค่าทางโภชาการและความปลอดภัยเป็นสำคัญ คัดเลือกวัตถุดิบมาผลิตอย่างดีไม่ให้มีสารปนเปื้อนอันตราย เลี่ยงใช้พืชตัดต่อพันธุกรรม และพยายามคงคุณค่าของสารอาหารจากธรรมชาติไว้ให้ได้มากที่สุด แต่ถึงกระนั้นก็ยังได้ชื่อว่าเป็นอาหารแปรรูป หรือ Highly Process Food อย่างโบโลน่า เบอร์เกอร์ ไส้กรอก ที่ทำจากพืชนั้น ในบางผลิตภัณฑ์อาจมีสารปรุงแต่งรสสีผสมอาหาร และเกลือโซเดียมในปริมาณสูง          ลดก๊าซเรือนกระจก...ดีต่อโลก         ลดกินเนื้อสัตว์ ลดทำปศุสัตว์ ลดภาวะโลกร้อน         อุตสาหกรรมปศุสัตว์เป็นสาเหตุหนึ่งของการตัดไม้ทำลายป่าเพื่อขยายพื้นที่เลี้ยงสัตว์ ทำให้โลกสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ การใช้ที่ดินเพื่อทำปศุสัตว์เป็นต้นทางของก๊าซเรือนกระจกถึง 1 ใน 4 ของปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยจากการใช้ที่ดินทั้งหมดในโลก เราต้องใช้พื้นที่เลี้ยงสัตว์ถึง 77% ของพื้นที่เกษตรทั้งหมด เพื่อผลผลิตเพียง 17% ของอาหารที่มนุษย์บริโภค         ในขณะที่การผลิตเนื้อที่ทำจากพืชใช้ที่ดินน้อยกว่าเนื้อสัตว์จริง 47%-99% ใช้น้ำน้อยกว่าเนื้อสัตว์จริง 72%-99% ปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยกว่ากระบวนการผลิตเนื้อสัตว์จริง 30%-90% ดังนั้นการเปลี่ยนแนวทางมาบริโภคอาหารจากพืชแทนเนื้อสัตว์ จะช่วยประหยัดทรัพยากรธรรมชาติ และลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกได้         องค์การสหประชาชาติก็มีแนวทางส่งเสริมให้อุตสาหกรรมอาหารใช้ส่วนประกอบของพืชแทนเนื้อสัตว์ ผลิตอาหารออแกนิค เพื่อลดการปล่อยมลพิษ ตั้งเป้าสู่ “Net Zero” ให้คาร์บอนไดออกไซค์เป็นศูนย์ เพราะอุตสาหกรรมอาหารนั้นปล่อยคาร์บอนฯออกมากว่า 30-40% ของปริมาณคาร์บอนฯทั้งหมด         หากการใช้ที่ดินเพื่อเลี้ยงสัตว์ถูกแทนที่ด้วยแปลงผักเกษตรอินทรีย์เพื่อเป็นวัตถุดิบให้ผู้ผลิตอาหารจากพืช จะช่วยฟื้นฟูให้สภาพแวดล้อมกลับมาอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง ทั้งยังรักษาความหลากหลายทางชีวภาพของโลกและสัตว์ป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ได้ด้วย         สร้างความมั่นคงทางอาหาร...ดีต่อใจ         การกินอาหารจากพืชเป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยสร้างความมั่นคงทางอาหารไว้เป็นมรดกให้ลูกหลานได้         คาดการณ์กันว่าในปี พ.ศ.2593 ประชากรโลกจะมีจำนวนถึง 9.7 พันล้านคน ในขณะที่ทรัพยากรธรรมชาติมีจำกัดอยู่เท่าเดิม ซ้ำเติมด้วยภัยธรรมชาติร้ายแรงและโรคระบาดขั้นวิกฤติ การขาดแคลนอาหารจึงกลายเป็นความกังวลของคนทั่วโลก หลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับเรื่องปากท้องจึงมองว่าการผลิตอาหารจากพืชที่มีคุณค่าทางโภชนาการดี ในปริมาณมากพอและราคาที่คนทั่วไปเข้าถึง โดยใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า น่าจะเป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยแก้ปัญหาความมั่นคงทางอาหาร (food security) ได้         ผู้ผลิตอาหารส่วนใหญ่เริ่มคิดหาวิธีการทำให้อาหารเพียงพอต่อประชากรโลก พร้อมลดขั้นตอนการผลิตอาหารที่เป็นตัวทำลายสภาพแวดล้อม จนพบว่าการผลิตอาหารจากพืชทดแทนเนื้อสัตว์ การฟื้นฟูเกษตรกรรมตามวิถีธรรมชาติ และสนับสนุนการใช้วัตถุดิบในท้องถิ่นนั้น น่าจะช่วยเพิ่มปริมาณอาหารที่มีประโยชน์และปลอดภัยให้มากขึ้นและยั่งยืนได้ในอนาคต         อีกแนวคิดหนึ่งที่สร้างเนื้อจากพืชขึ้นมาก็เพื่อจะได้ไม่ต้องไปเบียดเบียนผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์ หรืออุตสาหกรรมที่สร้างความลำบากให้กับสัตว์ด้วย นอกจากนี้การกินอาหารจากสัตว์น้อยลงยังช่วยให้สุขภาพจิตดีขึ้นได้ โดยมีการวิจัยพบว่าผู้ที่เคยกินเนื้อสัตว์เป็นประจำทุกวันมีแนวโน้มอารมณ์ดีขึ้นและเครียดน้อยลงหลังจากกินมังสวิรัติได้เพียง 2 สัปดาห์ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะเนื้อสัตว์มีส่วนประกอบของกรดไขมันสายยาว (Long-chainofomega-6 fattyacid )ที่เกี่ยวข้องกับอาการซึมเศร้า จึงทำให้คนกินมังสวิรัติส่วนใหญ่มีสุขภาพจิตที่ดีกว่า (Nutrition Journal, 2010, 2012)        เมืองนวัตกรรมอาหาร หนุนผลิตภัณฑ์จากพืช        หลายหน่วยงานภาครัฐเองก็เข้ามาช่วยสนับสนุนผู้ประกอบการรุ่นใหม่ที่สนใจผลิตอาหารจากพืช ให้คิดค้นและสร้างนวัตกรรมใหม่ได้ง่ายขึ้นในต้นทุนที่ลดลง         เมืองนวัตกรรมอาหารที่ตั้งขึ้นโดยสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ได้ออกแบบแพลตฟอร์มให้บริการภาคเอกชนไว้ค่อนข้างครบวงจร ตั้งแต่การวิจัยและพัฒนา การผลิต การขอขึ้นทะเบียนกับองค์การอาหารและยา(อย.) และปัจจัยเรื่องการตลาด รวมทั้งตั้งโรงงานขนาดเล็กที่ช่วยสนับสนุนการผลิตให้ผู้ประกอบการรุ่นใหม่หรือสตาร์ทอัพด้วย โดยการผลิตอาหารโปรตีนทางเลือกนี้จะทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์         ทั้งนี้เพราะมองเห็นโอกาสของประเทศไทยที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ มีวัตถุดิบพื้นถิ่นอีกมากที่จะเลือกเป็นแหล่งโปรตีนใหม่จากพืชได้ เมื่อนำนวัตกรรมมาพัฒนาให้ตอบโจทย์เรื่องรสชาติ ลักษณะของผลิตภัณฑ์ การเก็บรักษา การนำไปทำอาหารได้สะดวก และถูกปากถูกใจผู้บริโภคแล้ว อุตสาหกรรมอาหารจากพืชนี้น่าจะเติบโตได้ดีทั้งตลาดในประเทศและตลาดโลก           ความปลอดภัยใน ‘อาหารใหม่’         อาหารจากพืชที่ผลิตด้วยนวัตกรรมใหม่นั้นส่วนใหญ่จัดเป็น ‘อาหารใหม่’ ซึ่งอาจมีความเสี่ยงด้านความปลอดภัยในการบริโภค หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในและต่างประเทศจึงกำหนดให้ผู้ประกอบการต้องส่งอาหารที่เข้าข่ายว่าเป็นอาหารใหม่มาประเมินความปลอดภัยก่อนนำออกจำหน่าย         เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2559 กระทรวงสาธารณสุขได้ออกประกาศ ฉบับที่ 376 เรื่อง อาหารใหม่ หรือ Novel food โดยกล่าวว่าในปัจจุบันนี้มีการนำวัตถุที่ไม่เคยบริโภคเป็นอาหารมาใช้เป็นอาหารหรือส่วนประกอบอาหาร อีกทั้งมีการพัฒนากระบวนการผลิตอาหารโดยใช้เทคโนโลยีที่ไม่เคยใช้มาก่อน จึงสมควรมีมาตรการการประเมินความปลอดภัยรองรับเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค โดยมีการให้ความหมายของอาหารใหม่ไว้ 3 ข้อ ดังนี้         1) อาหารใหม่ หมายถึง อาหารหรือส่วนประกอบของอาหาร ที่ปรากฏหลักฐานทางวิชาการว่ามีประวัติการบริโภคเป็นอาหารน้อยกว่า 15 ปี         2) อาหารใหม่ หมายถึง อาหารหรือส่วนประกอบของอาหาร ที่ได้จากกระบวนการผลิตที่มิใช่กระบวนการผลิตโดยทั่วไปของอาหารนั้นๆ ที่ทำให้ส่วนประกอบ โครงสร้างของอาหาร รูปแบบของอาหารนั้นเปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยสำคัญ ส่งผลต่อคุณค่าทางโภชนาการ กระบวนการทางเคมีภายในร่างกายของสิ่งมีชีวิต (Metabolism) หรือระดับของสารที่ไม่พึงประสงค์ (level of undesirable substances)         3) อาหารใหม่ หมายถึง ผลิตภัณฑ์อาหารที่มีวัตถุตามข้อ 1) และ ข้อ 2) เป็นส่วนประกอบ ทั้งนี้ ไม่รวมถึงวัตถุเจือปนอาหารและอาหารที่ได้จากเทคนิคการดัดแปรพันธุกรรม อาหารที่เข้าข่ายเป็นอาหารใหม่นี้จะต้องผ่านการประเมินความปลอดภัยและต้องส่งมอบฉลากให้สํานักงานคณะกรรมการอาหารและยาตรวจอนุมัติก่อนนําไปใช้         หน่วยงานที่ประเมินความปลอดภัยของอาหารใหม่ ได้แก่        1) ศูนย์ประเมินความเสี่ยงประเทศไทย สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล        2) สำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร สังกัดกระทรวงสาธารณสุข        3) สถาบันอาหาร สังกัดกระทรวงอุตสาหกรรม         อาหารใหม่ที่ผ่านการตรวจสอบและได้รับการรับรองจากหน่วยงานดังกล่าวแล้ว จะผลิตเพื่อจำหน่ายได้ตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป ในบางกรณีอาจมีกฎระเบียบเพิ่มเติมสำหรับการแสดงฉลากของอาหารใหม่ เช่น คำเตือนที่แสดงว่าอาหารใหม่นั้นไม่เหมาะกับกลุ่มผู้บริโภคที่จัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงสูง รวมถึงการกล่าวอ้างทางโภชนาการและสุขภาพต้องเป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องด้วยเช่นกัน          ในต่างประเทศ หน่วยงานความปลอดภัยด้านอาหารแห่งสหภาพยุโรป รวมถึงรัฐสภาและคณะกรรมการสหภาพยุโรป เป็นหน่วยงานต้นแบบที่ได้ออกกฎหมายเกี่ยวกับอาหารใหม่ มีหลักสำคัญในการสนับสนุนและส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ ด้านอาหาร โดยที่ยังทำให้ผู้บริโภคชาวยุโรปยังคงมั่นใจได้ถึงความปลอดภัยของอาหารและเพิ่มประเภทอาหารให้หลากหลายเพื่อเป็นทางเลือกในการบริโภค         นอกจากนี้สมาคมอาหารจากพืช (Plant Based Foods Association) ในสหรัฐฯ ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักรับผิดชอบดูแลตลาดการค้าสินค้าอาหารจากพืชในสหรัฐฯ ยังได้ริเริ่มโครงการแสดงตราสินค้า “Certified Plant Based” เพื่อรับรองสินค้าและสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคตั้งแต่ปลายปี 2561 โดยผู้ประกอบการยื่นเอกสารเพื่อขอใช้ตราสัญลักษณ์ได้ที่ The Public Health and Safety Organization         ล่าสุดองค์กร Chinese Institute of Food Science and Technology (CIFST) ได้ร่างมาตรฐานกลุ่มสำหรับผลิตภัณฑ์เนื้อจากพืช (T/CIFST 001-2020) เป็นมาตรฐานแบบสมัครใจให้ภาคอุตสาหกรรมได้นำไปใช้ในธุรกิจของตน โดยมาตรฐานดังกล่าวได้นิยามและข้อกำหนดต่าง ๆ ทั้งในแง่องค์ประกอบผลิตภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์และการติดฉลาก กำหนดประกาศใช้ในวันที่ 25 มิถุนายน 2564          ดูฉลากอย่างฉลาด        ข้อมูลจาก Krungthai COMPASS สำรวจพฤติกรรมการกินอาหารของคนไทยปี 2561 พบว่า 53% ต้องการลดการบริโภคเนื้อสัตว์ ขณะที่อีก 45% สนใจที่จะปรับเปลี่ยนไปกินอาหารแบบมังสวิรัติ วีแกน และอาหารจากพืชมากขึ้น         ไม่ว่าผู้บริโภคจะเลือกกินผลิตภัณฑ์อาหารจากพืชนี้ด้วยเหตุผลใดก็ตาม นอกจากความอร่อยที่ต้องพิสูจน์ด้วยรสนิยมส่วนตัวแล้ว ควรเลือกผลิตภัณฑ์ที่ให้คุณค่าทางโภชนาการและความปลอดภัยในราคาที่สมเหตุสมผล โดยพิจารณารายละเอียดบนฉลากสินค้าเป็นสำคัญ        1.ต้องมีสัญลักษณ์ อย. เพื่อแสดงว่าได้ผ่านมาตรฐานอาหารปลอดภัยมาแล้ว        2.ดูวันเดือนปีที่ผลิตและวันเดือนปีที่หมดอายุ โดยต้องเรียงวันเดือนปีตามลําดับ และมีข้อความว่า “ผลิต” “หมดอายุ” หรือ “ควรบริโภคก่อน” กํากับไว้ด้วย        3.ดูวัตถุดิบจากพืชที่นำมาผลิต ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นถั่วและเห็ดต่างๆ หากแพ้ควรเลี่ยง        4.ดูข้อมูลโภชนาการว่าให้ปริมาณโปรตีนมากพอที่ต้องการไหม มีพลังงานเท่าไหร่ รวมทั้งปริมาณโซเดียมและไขมันเท่าไร เพราะเนื้อสัตว์จากพืชก็มีโซเดียมและไขมันได้เหมือนกัน        5.ดูปริมาณคาร์โบไฮเดรตและน้ำตาลประกอบด้วย พืชบางชนิดให้แป้งมากกว่าโปรตีน        6.ถ้าระบุว่ามีสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ เช่น แคลเซียม ไฟเบอร์ หรือเพิ่มวิตามินและแร่ธาตุที่มักขาดในวัตถุดิบจากพืชด้วย เช่น วิตามินบี 12 วิตามินดี โอเมก้า-3 สังกะสี และเหล็ก เป็นต้น ก็เป็นตัวเลือกดีที่ช่วยเสริมคุณค่าทางโภชนาการในอาหาร        7.ควรเลือกผลิตภัณ์ที่เติมสารปรุงแต่งหรือผ่านกระบวนการแปรรูปน้อยที่สุด        8.ควรเลือกวัตถุดิบจากเกษตรอินทรีย์ และกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ถ้ามีการตอบแทนต่อสังคมด้วยก็ดี เช่น ใช้วัตถุดิบที่เอื้อให้เกษตรกรในท้องถิ่นมีรายได้ เป็นต้น         ปัจจุบันตลาด plant-based food มีการแข่งกันเสนอผลิตภัณฑ์อาหารทางเลือกใหม่ๆ เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ถือเป็นโอกาสดีที่ผู้บริโภคจะได้เลือกซื้ออาหารจากพืชที่หลากหลาย มีคุณภาพและราคาถูกลง  ทั้งยังน่าจะช่วยชะลอความรุนแรงของผลกระทบจากปัญหาสิ่งแวดล้อมต่างๆ เพื่อให้สิ่งมีชีวิตต่างๆ อยู่รอดปลอดภัยได้นานขึ้นอีกสักหน่อยด้วย    ข้อมูลอ้างอิงKrungthai COMPASS ฉบับตุลาคม 2020เว็บไซต์ สอวช. (https://www.nxpo.or.th)เว็บไซต์ สมอช. (https://warning.acfs.go.th)https://pharmacy.mahidol.ac.thhttps://workpointtoday.com/plant-based-food-warhttps://marketeeronline.co/archives/210350https://www.sarakadeelite.com/better-living/plant-based-meat/https://brandinside.asia/whole-foods-plant-based-protein/https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/945907

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 243 วันตรวจสอบข่าวลวงโลก ความท้าทายในการตรวจสอบข้อเท็จจริงร่วมกัน

        เครือข่ายองค์กรตรวจสอบข่าวสาร National Fact-Checking Network- IFCN ที่มีสมาชิกเป็นองค์กรตรวจสอบข้อมูลข่าวสารครอบคลุมในหลายประเทศทั่วโลก ได้จัดให้วันที่ 2 เมษายนของทุกปีเป็นวันตรวจสอบข่าวลวงโลก หรือ International Fact-Checking Day         ในวันที่ 2 เมษายน 2021 นี้ โคแฟค-เครือข่ายองค์กรตรวจสอบข่าวสารในประเทศไทย ได้จับมือกับภาคีเครือข่าย 39 องค์กร ซึ่งมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคก็เป็นหนึ่งในนั้นด้วย เราประกาศเจตนารมณ์ร่วมกันว่าในระหว่าง 1 ปีนับจากนี้ จะช่วยกันรณรงค์ให้พลเมืองรู้เท่าทันข้อมูลข่าวสารและสร้างผู้ตรวจสอบข่าวสาร (Fact-Checkers) ในสังคมยุคดิจิทัล เพื่อลดผลกระทบด้านลบจากข่าวลือข่าวลวงในโลกออนไลน์ที่นับวันจะมีมากและซับซ้อนขึ้น         โอกาสนี้ ได้จัดเวทีสัมมนาหัวข้อ “ความท้าทายในการตรวจสอบข้อเท็จจริงร่วมกัน” เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้และฉายภาพความคืบหน้ากิจกรรมต่างๆ ที่เชื่อมโยงกับกลไกการตรวจสอบและสร้างผู้ตรวจสอบข่าวสาร ที่แต่ละภาคส่วนกำลังขับเคลื่อนอยู่ เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ในประกาศเจตนารมณ์ต่อไป         การตรวจสอบความลวงในภาวะวิกฤติรอบโลก         จากประสบการณ์ทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริง(Fact-Checking) มากว่า 15 ปี วันนี้คุณ Baybars Orsek ในฐานะผู้อำนวยการเครือข่ายองค์กรตรวจสอบสากล ได้ย้ำว่าการขยายความร่วมมือระหว่างผู้ตรวจสอบข้อเท็จจริงในหลายประเทศทั่วโลกนั้นสำคัญและจำเป็นมาก โดยเฉพาะในวิกฤติโควิด-19 นี้ ที่การตรวจสอบแหล่งที่มาของข่าวลวงข่าวเท็จนั้นยากกว่าการหาต้นตอของโรคระบาดเสียอีก         “ความท้าทายยิ่งใหญ่ที่เรายังเผชิญอยู่ คือการค้นหาต้นตอของข้อมูลเท็จเหล่านั้น บางทีมันยากที่เราจะระบุว่าสิ่งนี้เป็นข้อมูลที่แท้จริงหรือไม่ นั่นคือสาเหตุว่าทำไมการตรวจสอบข้อเท็จจริงจึงจำเป็นต้องดำเนินงานกับหลายๆ หน่วยงาน ก็เพื่อให้เรามีคลังข้อมูล มีแหล่งข้อมูล และมีความรู้ที่มากขึ้น”         ในยุคดิจิทัลที่ข่าวสารมากมายอยู่รายล้อมตัวเรา ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ในแพลตฟอร์มต่างๆ ที่กระจายได้กว้างและเร็วมาก หากจะนั่งตรวจสอบข่าวทีละชิ้นๆ คงไม่ทันการณ์ ดังนั้นผู้ตรวจสอบข้อเท็จจริงยุคดิจิทัลจำเป็นต้องมีรูปแบบการทำงาน เครื่องมือ และเทคโนโลยี ที่หนุนเสริมให้ตรวจสอบข่าวลือข่าวลวงที่ต้นทางได้ทันท่วงที         คุณ Baybars ยกตัวอย่างว่าการหักล้างความคิดและความเชื่อที่ไม่ถูกต้อง (debunking) แล้วก็ตรวจสอบข้อเท็จจริงไปในขณะเดียวกันนั้น เป็นโมเดลที่ใช้รับมือกับข้อมูลที่บิดเบือน (disinformation) และข้อมูลเท็จ (misinformation) ได้ผลดี อีกทั้งยืนยันว่าทุกคนสามารถฝึกฝนทักษะการเป็นผู้ตรวจสอบข้อเท็จจริงได้         “บางทีคุณแค่ตรวจสอบข้อมูลบางอย่างเพื่อดูแลคนในครอบครัวเอง ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีแล้ว ถ้าคุณสงสัยว่าข่าวสารที่เห็นอาจก่อให้เกิดอันตรายกับบุคคลใดได้ ให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงทุกครั้ง เพราะคนบางกลุ่มเขาอาจหลงเชื่อข้อความลวงหรือข่าวปลอมได้ง่ายๆ ดังนั้นเราต้องร่วมกันตรวจสอบข้อเท็จจริงให้ได้ดีที่สุด”         โอกาสและอุปสรรคการตรวจสอบข้อเท็จจริงในประเทศไทย         พฤติกรรมการบริโภคสื่อของคนไทยที่ผ่านมา ส่วนใหญ่จะยึดติดกับแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียที่ตนใช้บ่อย และมักเชื่อข้อมูลที่ส่งต่อมาจากคนใกล้ชิด จึงแชร์โดยไม่เช็กให้ชัวร์ก่อน ในขณะเดียวกันกลไกการตลาดก็บังคับให้ผู้ผลิตสื่อออนไลน์ทั้งหลายต่างเร่งทำยอดผู้ชม แข่งกันสร้างเนื้อหาให้ถูกใจมากกว่าถูกต้อง จึงส่งผลให้เกิดการแพร่สะพัดของข่าวลือข่าวลวงได้เร็วในวงกว้าง         คุณพีรพล อนุตรโสตถิ์ ผู้จัดการศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ เผยความรู้สึกว่า         “วงจรการทำงานของแฟคต์เช็กเกอร์ คือ collect – choose – check – create ความท้าทายคือเรื่องเวลาและความเร็ว ตอนนี้ทุกคนให้มูลค่ากับการไลฟ์ ให้คุณค่ากับความสด ต้องรีบทำอะไรบางอย่างเพื่อให้คนแชร์ต่อ หรือทำให้คนอยากรู้อยากได้คำตอบตลอดเวลา อันนี้เป็นแรงกดดันหนึ่งของแฟคต์เช็กเกอร์ บางครั้งเราอึดอัดว่าเราไม่สามารถจะหยุดกระแสที่น่าเป็นห่วงด้วยข้อเท็จจริงได้ทัน”         การเข้าถึงแหล่งข้อมูลที่ถูกต้องและเชื่อถือได้ก็เป็นอุปสรรคสำคัญ แม้ ‘ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมประเทศไทย’ ได้ทำหน้าที่เป็นตัวกลางตรวจสอบข้อเท็จจริงจากหน่วยงานและองค์กรต่างๆ ที่ประชาชนอาจยังเข้าไม่ถึง นำมาเผยแพร่ต่อสาธารณชน แต่การเป็นหน่วยงานภาครัฐก็มีข้อกังขาถึงความเป็นกลาง ซึ่งคุณสันติภาพ เพิ่มมงคลทรัพย์ ชี้แจงว่า         “เราเปิดศูนย์นี้มาปีครึ่ง จะมีเรื่องสุขภาพและสมุนไพรมาให้ตรวจสอบค่อนข้างเยอะ เรามีเงื่อนไขว่าต้องทำข่าวให้เป็นกลางที่สุด ต้องมีข้อเท็จจริงที่พิสูจน์ได้ เรายอมรับว่าต้องมีไบแอสจากสังคมอยู่แล้ว แต่การจะลดไบแอสแล้วทำให้เรื่องเหล่านี้ขับเคลื่อนต่อไปได้คือ เราก็ต้องใช้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์”         คุณอภิญญา กลางณรงค์ ผู้ร่วมก่อตั้งภาคีโคแฟค ได้ตั้งข้อสังเกตถึงอุปสรรคเชิงโครงสร้างว่า         “ในเมืองไทยการเข้าถึงข้อมูลข่าวยังยากอยู่ ถ้าเทียบกับในอเมริกาที่เขาแฟคต์เช็กกันเรียลไทม์ได้ อ้างอิงข้อมูลเปิดได้ สิ่งที่สังคมไทยต้องทำมากขึ้นคือเรื่องโอเพ่นดาต้าและดิจิทัลโกเวอเมนต์ที่เราจะเช็กข้อมูลต่างๆ บนหน้าเว็บไซต์ได้ง่ายๆ ซึ่งล่าสุดมีดีเบตเรื่อง พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารเวอร์ชั่นใหม่กันอยู่ว่า จะนำไปสู่การปิดกั้นข้อมูลข่าวสารหรือเปล่า”         อย่างไรก็ตาม คุณระวี ตะวันธรงค์ นายกสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ (SONP) ชี้ให้เห็นความเปลี่ยนแปลงที่มีโอกาสจะลดข่าวปลอมลงได้ว่า         “ผมเห็นโซเชียลมีเดียมา 6-7 ปี ช่วงบูมๆ เขาจะไม่มีคัดกรองอะไร ทุกคนจะผลิตอะไรก็ได้ แต่วันนี้ยูทูป เฟสบุค ทวิตเตอร์ เริ่มมีการคัดกรอง ให้ความสำคัญกับคอนเทนต์ดีๆ ดังนั้นเราเห็นโอกาสแล้วว่าเมื่อทุกคนพยายามจะทำของที่ดี ก็จะไม่ผลิตเฟคนิวส์กันออกมา”         คุณณัฐกร ปลอดดี บรรณาธิการ Fact-Check สำนักข่าวเอเอฟพี ประจำประเทศไทย มองว่าสิ่งที่หน่วยงานตรวจสอบข้อเท็จจริงต่างๆ ได้ร่วมมือกันขับเคลื่อนมานั้นเดินถูกทางแล้ว         “ในช่วงที่ผ่านมาเราเห็นคนตระหนักถึงข้อมูลข่าวสารเท็จเพิ่มมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด จากที่ผมใช้สื่อสังคมออนไลน์ด้วย เห็นเขาก็มีการตรวจ มีการแย้งกันเองในโพสต์ต่างๆ วันนี้จึงเป็นก้าวสำคัญที่ทำให้สังคมของเราเสริมสร้างวัฒนธรรมการตั้งคำถามและตรวจสอบข้อเท็จจริงให้เกิดขึ้นแล้ว และกำลังแข็งแกร่งขึ้นทุกๆ วัน”         ข้อค้นพบเชิงวิชาการในประเด็นการสื่อสารในโลกออนไลน์         งานวิจัยเพื่อเปรียบเทียบประสิทธิภาพของการตรวจสอบข่าวปลอม ระหว่างนักข่าวมืออาชีพและคนทั่วไปที่ใช้สื่อออนไลน์ ทีมนักวิจัยใช้เทคโนโลยีทางวิศวกรรมศาสตร์มารวบรวมข้อมูลจากโซเชียลมีเดียและวิเคราะห์ร่วมกันในเชิงนิเทศศาสตร์ ได้ข้อสรุปว่าเมืองไทยยังมีช่องว่างในการตรวจสอบข้อเท็จจริงอยู่ บรรยากาศหลายๆ อย่างอาจทำให้นักข่าวไม่สามารถตรวจสอบได้เต็มที่ โดยเฉพาะข่าวการเมือง รวมทั้งอาจเป็นโอกาสให้หลายคนสถาปนาตัวเองขึ้นเป็นแฟคเช็กเกอร์ในเรื่องที่ตนสนใจและยังเป็นช่องว่างในประเทศไทยอยู่ ทั้งนี้ผู้วิจัยสังเกตว่าถ้าเป็นข่าวที่ชัดเจนว่าปลอม คนจะไม่ค่อยแชร์         โครงการพัฒนาทักษะนักการศึกษาข้อมูลเชิงลึกเพื่อรู้เท่าทันข่าวลวง ได้พัฒนาเป็นหลักสูตรออนไลน์ ที่เหมาะกับนักศึกษาและนักข่าวท้องถิ่น ให้ใช้โปรแกรมการจัดเรียง คัดกรอง และประมวลผลข้อมูลมานำเสนอเป็นข่าวอย่างถูกต้องในรูปแบบที่น่าสนใจได้ ซึ่ง ดร.จิรเวทย์ รักชาติ คณะการสื่อสารมวลชน ม.เชียงใหม่ เล่าว่า “บางครั้งเราใช้อารมณ์ในการเล่าเรื่อง ก็เลยมีข่าวเชิงอารมณ์เยอะ จึงนำไปสู่เฟคนิวส์ได้ เพราะฉะนั้นเราต้องมองหาวิธีการเล่าเรื่องด้วยข้อมูล ฝึกให้นักศึกษาเขาพร้อมมาอยู่ในโลกยุคใหม่ที่เราคุยกันด้วยข้อมูล”         ในส่วนบริบทความขัดแย้งและกระบวนการสันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ผศ.ดร.กุสุมา กูใหญ่ ที่ปรึกษา Deep South COFACT สรุปว่า “ปัญหาของจังหวัดชายแดนใต้คือ เมื่อเกิดประเด็นขัดแย้ง ไม่มีองค์กรอิสระที่มาตรวจความถูกต้องของข่าว มันก็เลยแพร่กระจายข่าวลือข่าวลวงไปได้ไกล ในฐานะนักวิชาการ ถ้าเรานั่งรอ เราจะเข้าไม่ถึงข้อมูล เพราะฉะนั้นเราต้องเข้าไปฝังตัวอยู่ในเพจต่างๆ ดูว่ามีข้อมูลอะไรในพื้นที่การสื่อสารนั้นบ้าง เพื่อที่เราจะนำข้อมูลนั้นมาวิเคราะห์”         สรุปบทเรียนของชุมชนโคแฟค         โคแฟคชายแดนใต้ (Deep South COFACT)         คุณมะรูฟ เจะบือราเฮง เล่าว่าทำงานในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอในจ.สงขลา ได้งบประมาณจากกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ร่วมมือกับเครือข่ายในภูมิภาคต่างๆ โดยใช้โมเดลในองค์กร digital for peace คือนำนวัตกรรมแบบเปิดที่มีหลายๆ ฝ่ายมาทำงานร่วมกัน ทั้งหน่วยงานรัฐที่อยู่ในพื้นที่ หน่วยงานวิชาการ องค์กรเอกชน สื่อท้องถิ่น แล้วก็หน่วยงานภาคประชาสังคม มีการเชื่อมโยงทั้งออนไลน์และออฟไลน์ ซึ่งไม่ได้ตรวจสอบแค่ข้อเท็จจริง แต่ยังมองไปว่าข้อเท็จจริงนั้นจะช่วยป้องกันอันตราย หรือช่วยทำนายเหตุการณ์ข้างหน้าได้อย่างไรอีกด้วย         อีสานโคแฟค (Esan COFACT)         คุณกมล หอมกลิ่น เล่าว่าได้ทุนจากกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เริ่มทำงานเมื่อตุลาคม 2563 โดยร่วมมือกับเครือข่าย 7 สถาบันการศึกษา 3 องค์กรด้านสื่อในพื้นที่ ใช้โมเดลที่ชวนให้ชาวบ้านตระหนัก ฉุกคิด แล้วใช้เครื่องมือตรวจสอบได้ เพื่อร่วมกัน “หยุดข่าวลวง ทวงความจริง” โดยพยายามกระจายกำลังคนให้อยู่ในเขตทั่วพื้นที่ภาคอีสานมากที่สุด ตั้งเป้า 120 คน จากนั้นจะขยับทำงานเชิงรุกมากขึ้น ให้ทีมงานเข้าไปในพื้นที่ ชวนชาวบ้านมองปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชุมชนแล้วตั้งคำถาม และหาความจริงร่วมกัน โดยใช้เครื่องมือโคแฟค เว็บไซต์อีสานโคแฟค.org และล่าสุดได้ตั้งศูนย์ตรวจสอบข่าวลวงชุมชนแห่งแรกของภาคอีสาน ที่ จ.อุดรธานี         โคแฟคภาคเหนือ         ผช.ศ.ดร.ณภัทร เรืองนภากุล เล่าว่าได้ทำงานกับโคแฟคมาเกือบ 1 ปีแล้ว การสร้างชุมชนผู้ตรวจสอบข้อเท็จจริงในพื้นที่ภาคเหนือมีกลุ่มเป้าหมายที่หลากหลาย โดยเข้าไปดูว่าแต่ละกลุ่มอ่อนไหวกับข้อมูลแบบไหน มีข้อมูลแบบไหนที่กำลังหลอกลวงพวกเขาอยู่ แล้วเลือกใช้วิธีที่เหมาะสมและตรงกับความสนใจของแต่ละกลุ่ม ได้แก่ กลุ่มนักเรียนนักศึกษา-จัดกิจกรรมสร้าง young fact- checker กลุ่มผู้บริโภคสื่อวิทยุและโทรทัศน์- ทำเทรนนิ่งเพื่ออัพสกิลและรีสกิลกับเครือข่ายในทุกภาค กลุ่มแรงงานข้ามชาติ-สอนตรวจสอบข้อเท็จจริงและผลิตสื่อในภาษาของตน(ไทยใหญ่,พม่า) ล่าสุดในกลุ่มผู้พิการทางการได้ยินและการพูด-สอนตรวจสอบข้อเท็จจริงบนฉลากโภชนาการ โดยแต่ละโครงการจะแบ่งผู้รับผิดชอบชัดเจน ซึ่งได้ผลลัพธ์และผลตอบรับจากทุกกลุ่มเป้าหมายเป็นอย่างดี         การรู้เท่าทันสื่อในผู้สูงอายุ         ผศ.ดร.นันทิยา ดวงภุมเมศ เล่าว่าในต่างประเทศมีการวิจัยว่าผู้สูงอายุเป็นคนแชร์ข่าวลือมากที่สุดแต่ในไทยยังไม่มีการสำรวจ ส่วนงานวิจัยเรื่องการรู้เท่าทันสื่อในผู้สูงอายุนี้ทำต่อเนื่องมา 3 ปีแล้ว โดยผ่านกลไกของโรงเรียนผู้สูงอายุ เป็นการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม ในพื้นฐานความคิดว่าผู้สูงอายุต้องพึ่งพาตัวเองจากการบริโภคสื่อและดูแลตัวเองได้ ความยากคือ หนึ่ง-ผู้สูงอายุไทยเกิดในยุคที่ไม่ถูกสอนให้ตั้งคำถาม สอง-เกิดในยุคที่สื่อมีไม่มากและสิ่งที่ออกมาผ่านสื่อถูกกรองมาแล้ว เชื่อถือได้ ดังนั้นแม้ผ่านการอบรมและได้คาถารู้ทันสื่อคือ “หยุด...คิด...ถาม...ทำ” ติดตัวไว้แล้ว ก็เพิ่งจะเห็นความเปลี่ยนแปลงชัดเจนขึ้นในปีนี้เอง คือกลุ่มผู้สูงอายุเริ่มถามกันเองในกลุ่มไลน์ว่าข่าวนี้จริงหรือเปล่า เริ่มรู้เท่าทันสื่อกันบ้างแล้ว สิ่งสำคัญคือกลุ่มผู้สูงอายุยังต้องการเครื่องมือที่ไว้เช็คข่าวลวงต่างๆ โดยเฉพาะในประเด็นสุขภาพ        เช็คให้ชัวร์ที่ ‘โคแฟค’        โคแฟค (COFACT THAILAND) เป็นองค์กรด้านตรวจสอบข้อเท็จจริงที่ก่อตั้งมาได้ 1 ปี มีแนวคิดที่จะใช้เทคโนโลยีภาคพลเมืองคู่ขนานกับวารสารศาสตร์ในการตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยมุ่งหวังส่งเสริมให้พลเมืองทุกคนเป็นแฟคต์เช็กเกอร์ คือรู้เท่าทันข่าวสารและใช้เทคโนโลยีดิจิตอลอย่างฉลาด        โคแฟคได้สร้างเครื่องมือออนไลน์ที่รวบรวมข้อมูลที่ผ่านการตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้วไว้ให้บริการสืบค้น หากใครได้รับข้อมูลที่ชวนสงสัย อย่าเพิ่งแชร์ ให้มาเช็กให้ชัวร์ที่โคแฟค โดยเข้าไปที่เว็บไซต์ cofact.org พิมพ์คีย์เวิร์ดเพื่อเช็กก่อนได้ ซึ่งในฐานข้อมูลจะแบ่งเป็น 5 หมวดหมู่ คือ จริง--ไม่จริง--จริงบางส่วน--มีความเห็นส่วนตัว--รอตรวจสอบ หรือส่งข้อมูล/รูปภาพมาในไลน์ @cofact แล้วทีมงานจะไปตรวจสอบให้แผนงานในปีนี้ โคแฟคจะเดินสายไปเทรนนิ่งในภูมิภาคต่างๆ เพื่อส่งเสริมให้ชุมชนและพลเมืองมีทักษะการเป็นแฟคต์เช็กเกอร์ต่อไป.

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 237 The World Day of Remembrance for Road Traffic Victims

        15 พฤศจิกายน นอกจากจะเป็นวันรำลึกถึงผู้สูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนน หรือ The World Day of Remembrance for Road Traffic Victims (WDR) แล้ว ยังเป็นการครบรอบ 15 ปี ของการกำเนิดวันรำลึกถึงผู้สูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนนอีกด้วย แต่ด้วยเพราะสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 กิจกรรมรณรงค์ร่วมรำลึกในปีนี้อาจจะดูเงียบเหงาขาดสีสันลงไปบ้าง คงมีเพียงมูลนิธิเมาไม่ขับที่เป็นแกนหลักในการจัดงานรำลึกถึงผู้สูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนนทุกปี ขณะที่หน่วยงานหลักของประเทศกลับไม่มีการแสดงออกถึงวาระสำคัญของโลกในวันนี้อีกเช่นเคย         เหมือนทุกปีที่วันรำลึกถึงผู้สูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนนหรือที่เราเรียกกันว่า “วันเหยื่อโลก” มีเป้าหมายเพื่อให้ทุกคนได้ร่วมกันรำลึกถึงผู้เสียชีวิตและผู้สูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนนทั่วโลก เพราะอุบัติเหตุทางถนนเกิดไม่ได้เลือกเกิดขึ้นเฉพาะคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่เกิดได้กับทุกคนไม่ว่าจะรวยล้นฟ้า ดารานักแสดงหรือแม้แต่คนเดินถนนทั่วไป         ตัวเลขอย่างไม่เป็นทางการของผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนตลอดปี พ.ศ. 2563 ผ่านการเบิกจ่ายค่าสินไหมทดแทนจากบริษัท กลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ ณ วันที่ 14 พฤศจิกายน 2563 มีผู้เสียชีวิตจำนวน 12,990 คน และบาดเจ็บ 855,415 คน ผ่านมาเกือบครบปีแล้ว แม้ตัวเลขผู้เสียชีวิตจะลดน้อยลง อาจเพราะผลสืบเนื่องจากสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ที่เกิดการล็อกดาวน์ประเทศ ส่งผลให้อัตราการเสียชีวิตในช่วงเดือนมีนาคม-พฤษภาคม มีจำนวนลดลง แต่เมื่อเวลาผ่านไปทุกอย่างเริ่มคลี่คลายทุกคนกลับมาใช้ชีวิตตามปกติ ตัวเลขผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนก็ดีดตัวกลับพุ่งขึ้นมาแรงเหมือนเดิม         โดยเฉพาะในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงสิงหาคมที่มีจำนวนผู้เสียชีวิตมากกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว และเมื่อสถานการณ์เป็นแบบนี้หลายฝ่ายคาดว่า หากไม่ทำอะไรจริงจัง ในช่วงปลายปีไตรมาสสุดท้ายจำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนอาจจะพุ่งแตะใกล้เคียงสองหมื่นคนเหมือนในปีที่ผ่านมาก็เป็นได้         ทั้งนี้ตัวเลขการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนจำนวน 12,990 คน ข้างต้นยังไม่ได้รวมกรณีเกิดเหตุแล้วไม่ใช้สิทธิ หรือ รถไม่มีประกัน พ.ร.บ. รวมถึงยังไม่ใช่ตัวเลขจากระบบ 3 ฐาน ที่ประกอบด้วย ข้อมูลจากมรณบัตรและหนังสือรับรองการตาย ที่เป็นระบบลงทะเบียนการตายของผู้เสียชีวิตทุกรายที่มีการแจ้งตาย ข้อมูลจากระบบ POLIS ที่เป็นระบบบันทึกข้อมูลคดี และข้อมูลจากระบบ E-Claim ที่เป็นระบบบันทึกข้อมูลสำหรับเบิกจ่ายเงินค่าสินไหมทดแทน เพื่อให้ได้ข้อมูลการตายที่มีความครอบคลุมมากที่สุด         เพราะหากกลับไปย้อนดูข้อมูลการเสียชีวิตของอุบัติเหตุทางถนนจากข้อมูล 3 ฐาน ย้อนหลัง 4 ปี ระหว่างปี พ.ศ. 2559 – 2562 พบว่า อัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนลดลงเล็กน้อย คือ 21,745 > 21,607 > 19,331 และ 19,904 คน ตามลำดับ แต่ที่น่าตกใจ คือ ยังอยู่ในระดับเกือบ 20,000 คน ต่อปี หรือคิดเป็นวันละ 55 คนทุกวัน และเกือบ 70% ของผู้เสียชีวิตเกิดจากอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์ ขณะที่อีกประมาณ 3,000 คน ต่อปีที่เสียชีวิตเป็นเด็กและเยาวชน หรือเท่ากับโรงเรียนขนาดใหญ่ปีละ 1 โรงเรียนที่หดหายไป         ในแต่ละปีประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนเกือบ 20,000 คน หากพิจารณามูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจ กรณีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บสาหัส ข้อมูลโดยสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) พบว่า การเสียชีวิตมีมูลค่าเท่ากับประมาณ 10 ล้านบาทต่อราย และการบาดเจ็บสาหัสมีมูลค่าเท่ากับประมาณ 3 ล้านบาทต่อราย และถ้าตัวเลขผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนในปี พ.ศ. 2562 มีผู้เสียชีวิตจำนวน 19,904 คน จะคิดเป็นมูลค่าความเสียหายมากถึง 119,040,000,000 (หนึ่งแสนหนึ่งหมื่นเก้าพันสี่สิบล้านบาท) และอาจถึง 200,000 ล้านบาท หากรวมมูลค่าความเสียหายทั้งบาดเจ็บสาหัสและเสียชีวิตไว้ด้วยกัน         ปัญหาอุบัติเหตุทางถนนจึงไม่ใช่เรื่องของใครคนใดคนนึง และไม่ใช่เรื่องที่ต้องฝากความหวังไว้กับรัฐบาลเพียงอย่างเดียว เพราะที่ผ่านมาสิบปีทศวรรษความปลอดภัยทางถนน (พ.ศ. 2554 - 2563) ตามข้อตกลงปฏิญญามอสโกที่รัฐบาลมีหน้าที่ต้องลดอัตราการเสียชีวิตลงครึ่งหนึ่ง หรือร้อยละ 50 ภายในปี พ.ศ. 2563 ประเทศไทยล้มเหลวไม่เป็นท่า          รัฐบาลมีโอกาสแก้ตัวต่อจากนี้อีกสิบปี กับการจัดการความปลอดภัยทางถนนภายใต้กรอบ “ปฏิญญาสตอกโฮล์ม” พ.ศ. 2564 – 3573 และเป้าหมายระดับโลกในการลดการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนลงให้ได้ครึ่งหนึ่ง หรือร้อยละ 50 ที่ต้องลดจำนวนผู้เสียชีวิตลงให้ได้เหลือ 10,000 คนต่อปีภายในปี พ.ศ. 2573 ซึ่งก็ได้แต่หวังว่าจะไม่ใช่แค่งานอีเว้นท์ประจำปีเน้นเทศกาลเหมือนที่ผ่านมา แต่จะเป็นการจัดการที่เข้มข้นและต่อเนื่องในทุกกลุ่มของผู้ใช้รถใช้ถนนอย่างที่ทุกคนต้องการ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 228 เมื่อนวดไทย เป็นมรดกของโลก

“เมื่อปลายปี 2019 คณะกรรมการร่วมระหว่างรัฐบาลเพื่อการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของยูเนสโก มีมติประกาศให้นวดไทยติด 1 ใน 15 มรดกโลกทางวัฒนธรรมของยูเนสโกประจำปี 2019 ซึ่งจัดประชุมครั้งที่ 14 ขึ้นที่โบโกตา ประเทศโคลอมเบีย มติของยูเนสโกให้ขึ้นบัญชี "นวดไทย" (Nuad Thai, traditional Thai massage) เป็นตัวแทนมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ (Representative List of the Intangible Cultural Heritage of Humanity) พร้อมกับมรดกวัฒนธรรมฯ จากประเทศอื่นๆ อีก 14 ประเทศ” ฉลาดซื้อจึงขอร่วมแสดงความยินดีกับเรื่องนี้ ด้วยการพา ดร. ภก.ยงศักดิ์ ตันติปิฎก หัวหน้าหน่วยวิจัยระบบภูมิปัญญาสุขภาพ สำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ เล่าถึงความดีงามของนวดไทย ว่าทำไมยูเนสโกเห็นว่าเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของโลก ทำไมยูเนสโกจึงเลือก “นวดไทย”         ทำไมยูเนสโกเขาคิดเรื่องว่าเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม หรือมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้   ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญอันหนึ่ง ก็คือว่าในโลกของยุคสมัยใหม่มันมีลักษณะการจดสิทธิ์ความเป็นเจ้าของ ของสิทธิ์ต่างๆ ในหลายลักษณะมากที่เขาเรียกว่าทรัพย์สินทางปัญญา แล้วก็การแสดงความเป็นเจ้าของมันก็ทำให้เกิดผลกระทบกับสิ่งที่เป็นวัฒนธรรม ซึ่งมีการสร้างสรรค์โดยมนุษย์ในอดีตที่ผ่านมาเยอะแยะ เพราะว่าถ้าเมื่อไรผูกขาดความเป็นเจ้าของโดยใครคนใดคนหนึ่งจะกระทบคนอื่นที่เขาเคยใช้ประโยชน์ อันนี้เป็นเหตุสำคัญอันหนึ่งที่ทำให้ต้องคิดถึงว่า แล้วจะปกป้องคุ้มครองสิ่งที่เป็นวัฒนธรรมเหล่านี้ เป็นความรู้เป็นการปฏิบัติที่คนเคยทำกันมาแล้วสืบทอดกันมาได้อย่างไร ไม่ให้ถูกฉกฉวยเอาไปเป็นจดสิทธิบัตรของที่โน่น ที่นี่ ที่นั่น จดสิทธิความเป็นเจ้าของ ของใครคนใดคนหนึ่ง อันนี้ก็เรียกว่าเป็นภัยคุกคามต่อเรื่องวัฒนธรรมของมนุษย์         เพราะฉะนั้นเขาก็เลยคิดว่ายูเนสโกควรมีบทบาทในการทำเรื่องนี้โดยการขึ้นทะเบียน ภาษาอังกฤษเขาเรียกว่า List Type ผมอยากจะแปลเป็นภาษาไทยว่าเป็นการประกาศจารึกไว้ว่า นี่มันเป็นสมบัติของมนุษยชาติ เพราะฉะนั้นเขาก็ใช้อนุสัญญาฉบับนี้เพื่อที่จะทำให้ประเทศต่างๆ มาทำเรื่องนี้ด้วยกัน เพราะฉะนั้น หัวใจของการที่ได้ขึ้นจารึกว่าเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมหรือมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติไม่ได้หมายความว่าสิ่งที่ขึ้นไปเป็นของประเทศนั้นประเทศนี้คนอื่นห้ามมาใช้ มันจะคนละ concept  คนละวิธีคิดกับเรื่องของสิทธิบัตรคนละเรื่องกันเลย มันไม่ใช่การแสดงความเป็นเจ้าของ แต่มันเป็นการแสดงว่าเป็นของมนุษยชาติที่โลกนี้มนุษย์ควรจะต้องช่วยกันดูแล ช่วยกันคุ้มครองอย่าให้มันสูญหาย ต้องช่วยกันดูแล concept ตรงนี้ ต้องเข้าใจกันให้ชัด เพราะว่าผมได้มีโอกาสไปคุยกับราชการบางส่วนที่พอเห็นว่า  นวดไทยขึ้นยูเนสโกแล้วอยากจะโหนกระแส โดยไม่เข้าใจ concept ของเขา แล้วก็จะบอกว่าถ้าเราได้ขึ้นยูเนสโกอย่างนี้เราก็จะไปขอจดสิทธิบัตรได้ไหม เพราะนี่เขารับรองเป็นมรดกโลกแล้ว ผมบอกไปว่าคนละเรื่องกัน ความต่างของนวดไทยกับนวดแบบอื่นๆ         ขอบเขตของนวดไทยไม่ใช่แค่นวดภาคกลางแต่หมายถึงนวดพื้นบ้านด้วย นวดพื้นบ้านที่อยู่ตามภูมิภาคต่างๆ มันมีภูมิปัญญาของเขาเกิดขึ้นมาเอง สัดส่วนของร่างกายในแต่ละภาคจะมีชื่อเรียกของเขา กระบวนการนวดรักษาแตกต่างกัน  ฤาษีดัดตนกับนวดไทยก็ไม่รวมกัน         คือเราบรรยายในเอกสารที่เราเสนอยูเนสโกว่า เรื่องของนวดไทยเราเป็นทั้งศาสตร์เป็นทั้งศิลปะในการดูแลสุขภาพของคนไทยที่ไม่ใช้ยา โดยใช้มือผสมกับกาลเวลา โดยมีตัวทฤษฎีที่เป็นหลักการสำคัญก็คือเรื่องของเส้นโดยเฉพาะเส้นประธาน 10 ในส่วนของตรรกะอาจจะมีส่วนที่ใกล้กับราชสำนัก(นวดแบบหนึ่ง) ก็จะมีองค์ความรู้ที่เป็นระบบมากหน่อย ก็จะมีเรื่องของเส้นประธาน 10 อย่างชัดเจน   ในส่วนที่แตกต่างกันไปตามหัวเมือง concept เรื่องเส้นกับลมก็ยังมีอยู่อย่างชัดเจน ไม่ต่างกัน แล้วก็เรื่องของธาตุที่เข้ามาเกี่ยวข้องคือ ธาตุทั้ง 4 คือเขาจะอยู่บนๆ เพียงแต่ว่าความลึกความละเอียดมันอาจจะมีความแตกต่างกัน แต่สุดท้ายก็ concept เดียวกันคือเรื่องเส้น เรื่องลม เรื่องธาตุที่จะมาจัดการกับความเจ็บป่วยโดยใช้มือกับส่วนต่างๆ ของร่างกายไม่เน้นใช้ยา         แล้วก็เราก็พยายามทำให้กระจ่างบอกว่า concept เรื่องเส้นประธานของเราก็ไม่ได้เหมือนกับทางจีนทางอินเดียเสียทีเดียว มันก็มีความแตกต่างกัน มีบางคนชอบพูดว่าเราเอามาจากอินเดียพอเราไปดูอินเดียก็ไม่เห็นมี นวดจีนก็เป็นอีกแบบก็มีเส้นลมปราณของเขา ซึ่งเราก็เคยเชิญอาจารย์จากปักกิ่งมา เขาก็มาสาธิตวิธีการนวดของเขาแลกเปลี่ยนกับของเรามันก็มีความแตกต่างอย่างชัดเจน ทฤษฎีเส้นประธาน 10 ของเราของเขาก็ไม่มี เขามี 12 14 เส้นของเขา ส่วนของอินเดียเขาก็มีจักรกะต่างๆ ซึ่งเป็นตำแหน่งของพลังงาน แต่ก็มีแนวดีที่คล้ายของเรา แนวอินทารา   แต่ก็ไม่ใช่ตรงกันเสียทีเดียวชื่ออาจจะพ้องกันสามเส้นสี่เส้นก็แล้วแต่ แต่ว่าทิศทางหรือการนำมาใช้ก็คนละเรื่องกัน พูดง่ายๆ คือคนละศาสตร์กัน         แต่ว่าของบางอย่างมันก็อาจจะมีบางอย่างที่คล้ายคลึงกันได้ เพราะมันก็อยู่บนร่างกายมนุษย์เหมือนกัน ซึ่งตรงนี้เราก็พยายามจะทำให้ชัดเจนว่ามันก็เป็นลักษณะที่มีความเฉพาะของไทยเรามีความเฉพาะเจาะจงพอสมควรเพื่อป้องกันว่าจะมีคนอ้างว่า เช่นนวดไทยเป็นของอินเดียเราไปเสนอได้อย่างไร อันนี้เพื่อจะเคลียร์ประเด็นพวกนี้ ต่อไปนี้เราจะไม่พูดว่านวดไทยมาจากอินเดียเพราะมันไม่มีหลักฐาน นวดไทยมาจากจีนมันไม่มีหลักฐาน พูดไปโดยไม่มีหลักฐานมันไม่เกิดผลดีอะไร เราควรจะพูดจากสิ่งที่ปรากฏแล้วเราก็อาจจะสันนิษฐานว่ามันมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกันในลักษณะไหน อาจจะเกิดการแลกเปลี่ยนกัน มันเป็นเรื่องปกติของวัฒนธรรมที่เวลาคนไปมาหาสู่กันก็แลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน แต่จะบอกว่าอันนี้มาจากที่นั่นที่นี่โดยตรงมันพูดยาก ยกเว้นบางเรื่องชัดๆ อย่างเช่น พุทธศาสนามาจากพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าอยู่ที่อินเดียตอนเหนือถึงแม้กระนั้นก็ตามก็ยังมีคนเถียงอยู่นะว่าไม่จริงหรอกอันนี้ก็ว่ากันไป วัฒนธรรมมันเป็นสิ่งที่สืบทอดกันมายาวนานใช้เวลา การจะพูดอะไรควรจะพูดจากหลักฐานที่มีอยู่พูดเกินเลยหลักฐานมันสร้างปัญหา แล้วอีกประเด็นหนึ่งก็คือว่า จริงๆ การทำงานชิ้นนี้ไม่ได้ต้องการแสดงสิทธิ์ความเป็นเจ้าของ เราต้องการบอกว่าของเหล่านี้มีคุณค่าต่อมนุษย์เท่านั้นเอง การนวดมีอันตรายไหม          คนที่นวด นวดไปทำไม นวดไปเพื่ออะไร จากที่ไหนคุณภาพเชื่อถือได้ไม่ได้อย่างไรตอนนี้เป็นปัญหาใหญ่ซึ่งราชการเขาก็พยายามทำอยู่ บางอย่างเช่น ทำให้นวดทั่วๆ ไปมีสถานที่ ที่ด้รับการรับรองแล้วคนนวดก็ผ่านการอบรมมาในระดับที่เขาพอยอมรับได้ แต่ว่านวดพวกนี้เป็นนวดที่ไม่ได้เน้นการรักษาโรคเป็นการนวดเพื่อผ่อนคลายเพื่อความสบาย แต่ว่าประชาชนที่ไปนวดบางทีเขาก็คาดหวังว่านวดแล้วมันก็ต้องแก้โน่นแก้นี่ให้เขาได้ เพราะฉะนั้นเขาก็ไปบางทีหมอก็อาจจะต้องทำในสิ่งที่เกินความสามารถของเขา บางทีก็ทำในสิ่งที่มันอาจจะยิ่งซ้ำเติมเพราะว่าความรู้กับประสบการณ์ก็อาจจะยังน้อยแต่ว่าไปทำในเรื่องที่เกินขีดความสามารถของตัวเอง แล้วก็อาจจะไปทำในสิ่งที่เป็นอันตรายเกิดขึ้น อันนี้มันก็ทำให้เกิดผลเสียโดยรวม         ในช่วงสักสองสามปีที่ผ่านมามันจะเจอเคสที่นวดแล้วเป็นอันตราย ซึ่งมันก็ปนๆ กันตอนนี้คนนวดอย่างที่ว่ามันหลากหลายมากเราก็ไม่รู้ว่าพวกไหนเป็นพวกไหน แต่ตอนนี้สิ่งที่ราชการเขาพยายามทำคือ ตะล่อมให้เข้าไปอยู่ในที่ทางที่เขาดูแลได้ นอกจากนั้นก็ถือว่าผิดกฎหมาย แต่ว่าที่ผิดกฎหมายที่ทำกันอยู่เยอะแยะที่ไม่ได้ขออนุญาตตามกฎหมาย  ก็ยังมีอยู่เยอะแยะแล้วก็อาจจะทำดีบ้างไม่ดีบ้างปนๆ เราก็ไม่รู้ไม่สามารถประกันอะไรได้ทั้งนั้น อาจจะมีคนมีฝีมืออยู่ในนั้นก็มี มีคนที่ตั้งตัวมาแล้วก็ทำในจุดในสิ่งที่อาจจะเกิดอันตรายร้ายแรงก็ได้ก็ไม่มีใครรู้ อันนี้ก็เป็นปัญหาที่ประชาชนเองก็ต้องระวัง แล้วก็อย่าคิดว่าการนวดมันจะเกิดผลดี ถ้านวดโดยคนที่ไม่มีความชำนาญมันก็เกิดผลเสียแล้วก็ในบางกรณีก็อาจจะเกิดอันตรายที่ร้ายแรงได้ โดยเฉพาะการนวดในข้อห้ามต่างๆ ที่ไม่ให้นวดกัน มันก็มีนะข้อห้ามในการนวดมันก็มีอยู่ ไปนวดก็เกิดอันตรายอาจจะถึงแก่ชีวิตได้ ตำแหน่งบางแห่งของร่างกายเราก็ไม่ให้นวดเพราะว่ามันมีความเสี่ยง เช่นอาจจะไปทำให้เกิดการบาดเจ็บของเส้นประสาท อาจจะทำให้เกิดอัมพาตตามมาก็ได้ ในบางที่ ในบางท่า แล้วก็อาจจะถึงแก่ชีวิตด้วยซ้ำในบางตำแหน่งเช่นไปกดประตูลมตรงท้อง โดยที่ไม่รู้ว่าผู้ป่วยเป็นโรคหลอดเลือดโป่งพองในท้องกดไปก็หลอดเลือดแตกทันทีเลย มันก็อันตรายพวกนี้ถ้าคนที่เขาเรียนมาเยอะพอเขาจะรู้ข้อระวังพวกนี้แล้วเขาจะต้องมีวิธีตรวจหรือต้องซักประวัติสอบถามจนแน่ใจว่าไม่เข้าข่ายที่จะเกิดอันตรายได้เขาถึงจะทำ         เพราะฉะนั้นการนวดมันก็มีสองด้านเรื่องความปลอดภัยก็เป็นเรื่องที่ต้องระวังมากๆ คนที่อบรมมาน้อยเรียนมาน้อยหรือว่าเรียนแบบงูๆ ปลาๆ ก็อาจจะไม่ค่อยเข้าใจเรื่องพวกนี้ก็กล้าทำในสิ่งที่ไม่ควรทำเพราะรู้น้อย หรือถ้าคนที่เรียนมากรู้มากขึ้นเขาก็จะรู้ข้อจำกัดตัวเองว่าทำอะไรได้มากน้อยแค่ไหน อันนี้ก็เป็นเรื่องที่เราต้องเข้าใจประชาชนที่จะไปใช้บริการเองก็ต้องเข้าใจว่าหมอมีหลากหลายมาก เรียนมาหลากหลายมากบางคนก็รู้น้อยบางคนก็อาจจะรู้มากมีประสบการณ์มากมันต้องพิจารณาให้ดีก็ไม่ง่ายที่จะไปพิจารณาว่าใครเป็นคนที่มีความรู้มีประสบการณ์ก็ไม่ได้ง่ายซะทีเดียว ขึ้นอยู่กับว่าตัวเราต้องช่างสังเกต เราจะสังเกตหมอนวดอย่างไร         ตอนนี้คือถ้าหากว่าไม่แน่ใจก็ต้องยังไม่เสี่ยงที่จะไปนวดกับคนที่เรายังไม่รู้จักไม่แน่ใจ อย่าคิดว่านวดมันมีแต่ผลดีอาจจะเกิดผลเสียแทรกซ้อนได้ ถ้าทำโดยคนที่ไม่รู้ ถ้าเราไม่แน่ใจก็อย่าให้เขานวด ส่วนหนึ่งมันจะมีการนวดที่อยู่ในคลินิกหรือในสถานพยาบาลอันนี้ก็จะถือว่าน่าเชื่อถือได้มากที่สุดแล้ว เพราะว่าการที่เขามีคลินิกเปิดคลินิกได้มันก็ต้องผ่านการรับรองโดยราชการต้องมาอนุญาตแล้วก็เขาต้องมีใบประกอบวิชาชีพ คนที่มีใบประกอบวิชาชีพต้องมีความรับผิดชอบสูงกว่าคนที่ไม่มี เพราะว่าถ้าเขาทำอะไรผิดพลาดเขาก็จะถูกถอนใบอนุญาตได้คือตัดอาชีพเขาเลย แล้วคนที่จะมาเปิดคลินิกรักษาโดยมากโดยส่วนใหญ่มักจะเป็นคนที่แน่ใจว่าตัวเองมีฝีมือพอสมควร   มีความรู้พอสมควรที่จะทำแล้วมีคนมาหาแล้วก็อยู่ได้อยู่รอด เพราะว่าการเปิดสถานพยาบาลหรือคลินิกมันต้องลงทุนมันมีค่าใช้จ่าย ถ้าไม่แน่ใจก็ไม่กล้าเปิด แต่ถ้าร้านนวดเล็กๆ นวดในที่ไม่ต้องอะไรมากมายก็การลงทุนก็อาจจะไม่เยอะก็ตั้งตัวขึ้นมาแล้วก็นวดๆ ไป นวดไทยมีบริการที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพหรือยัง         มีอยู่หลายตัวอย่างที่เขาทำๆ กันอยู่หลายที่แล้วเขาก็ทำกับชุมชนแล้ว รพ.สต ก็ไปสนับสนุนให้เขาอยู่ได้แล้วก็ดูแลกัน ก็มีพ่อหมอมาช่วยกันผลัดเปลี่ยนกันมาช่วยดูแลชาวบ้านช่วยกันดูแลผู้ป่วยอาจจะใช้สถานที่ในศาลาประชาคมของหมู่บ้าน บางที่เขาก็ใช้อย่างนั้นแต่ว่าก็ต้องมีการจัดการเพราะว่ามันก็ต้องมีคนมาช่วยจัดการถึงจะไปได้ แล้วก็บางทีก็ต้องหาเงินหาทุนมาสนับสนุนสิ่งของเครื่องใช้บางอย่างจะให้ชาวบ้านลงทุนเองทั้งหมดก็จะทำยาก เท่าที่ผมไปเห็นมาแล้วก็ราชการก็ลงมาสนับสนุนแล้วก็ช่วยดู ส่วนของเจ้าหน้าที่  ที่เป็นทางฝ่ายสาธารณสุขเขาก็จะเข้าใจในเรื่องสิ่งที่จะต้องระมัดระวังสิ่งที่อาจจะเกิดผลแทรกซ้อน ก็จะช่วยกันดูแลช่วยกันควบคุมดูแลกำกับกันให้อยู่ในกรอบไม่สร้างปัญหา ถ้าเกิดว่าทำอะไรที่มันล่อแหลมเกินไปอันตรายเกินไปก็ต้องคอยเตือนๆ กันว่าท่านี้นวดแบบนี้มันอาจจะเสี่ยงเกินไป มีคนช่วยกันดูก็จะทำให้มันลดปัญหาลงไปได้ ปัจจุบันมีการจัดระเบียบการควบคุมราคา เรื่องความปลอดภัยในการใช้บริการไหม         คือเราเสนอให้หน่วยงานรับผิดชอบจะต้องดูแลเรื่องนี้ให้เข้มงวดมากขึ้น ซึ่งเขาก็พยายามทำอยู่พยายามอยู่แต่ว่าเนื่องจากเรื่องการนวดมันกว้างขวางมันแพร่หลายมากก็เห็นใจว่ามันไม่ได้ง่าย แต่ว่าคนที่จะทำได้ก็คือราชการเพราะมีกลไกมีมือไม้ทุกจังหวัดอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าก็ต้องช่วยกันสอดส่องดูแลห้ามปรามกัน เพราะว่าถ้าทางราชการไม่ไปห้ามปรามไม่ไปดูแล  มีคนหนึ่งทำได้โดยผิดกฎหมายคนอื่นก็ทำตามเขาอ้างว่าคนนั้นก็ทำได้ฉันก็ทำบ้าง อันนี้ราชการเองก็ต้องคอยกวดขันห้ามปรามอาจจะต้องถึงขั้นจับกุมในบางกรณีเพื่อให้อยู่ในกรอบของกฎหมาย กฎหมายมันมีอยู่เรื่องพวกนี้แต่ว่าเราจะบังคับใช้กฎหมายพวกนี้มากน้อยแค่ไหน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 225 ด้ายแดง : เพราะเหรียญนั้นมีสองด้านเสมอ

                ธรรมชาติของเหรียญก็ต้องมีสองด้านเสมอ แต่ปัญหาก็คือ ถ้ามีเหรียญหนึ่งอันวางอยู่ คนเราก็มักจะมองเห็นเพียงด้านหนึ่งของ “หัว” หรือ “ก้อย” ที่หงายขึ้น โดยอาจจะหลงลืมไปว่า ยังมีอีกด้านของเหรียญที่คว่ำไว้โดยที่เรามองไม่เห็น เฉกเช่นเดียวกับโลกทัศน์หรือวิธีคิดของคนเราที่มีต่อโลก ก็เป็นประดุจดังเหรียญสองด้าน ซึ่งหากเราเลือกพลิกด้านหนึ่งของเหรียญหรือโลกทัศน์บางอย่างมามองดูโลกรอบตัวแล้ว เราก็มักไม่สำเหนียกว่า ยังมีเหรียญอีกด้านที่มองต่างมุมกันออกไป         ละครโทรทัศน์เรื่อง “ด้ายแดง” ก็คือ บทพิสูจน์การมีอยู่ของเหรียญที่มีสองด้านในความคิดของสังคมเช่นกัน โดยเริ่มต้นเปิดฉากขึ้นที่คฤหาสน์จีนหลังใหญ่ของตระกูลมหามงคล กับภาพของตัวละคร “เหม่ยอิง” คุณนายใหญ่ของบ้านที่นั่งถักทอ “ด้ายแดง” เพื่อเอาไว้มอบให้เป็นสิริมงคลแก่ “หลงเว่ย” ผู้เป็นบุตรชาย         เสียงก้องในห้วงคำนึงของเหม่ยอิงที่มีสีหน้าอิ่มเอิบ ในขณะที่ผูกสานเส้นด้ายสีแดงไว้ให้ลูกชาย เป็นคำพูดที่กล่าวขึ้นว่า “คนจีนเรามีคำพูดว่า ด้ายในมือแม่ไม่มีวันหมด เพราะคนเป็นแม่ต้องปะชุนเสื้อผ้าให้ลูกไปจนวันตาย แต่จริงๆ แล้ว ความหมายของคำๆ นี้มันลึกซึ้งกว่านั้น ในเมื่อเกิดมาเป็นแม่ลูกกันแล้ว แม่ก็ต้องปกป้องดูแลลูก ไม่ว่าจะนานแค่ไหน ความรักของแม่ก็เหมือนเส้นด้ายที่ยืดยาวไม่มีวันหมดสิ้น...ตลอดกาล...”         การเปิดฉากด้วยภาพเช่นนี้อาจตีความเป็นความหมายสองนัย โดยนัยหนึ่งก็สะท้อนให้เห็นว่า เส้นเรื่องหลักของละครได้ผูกรัดให้เราเห็นความสัมพันธ์ที่มารดาจะถักร้อยให้กับบุตรชายด้วยความรักแบบไม่มีวันสิ้นสุด        แต่โดยอีกนัยหนึ่งนั้น เบื้องหลังของคฤหาสน์จีนหลังใหญ่ซึ่งมีม่านประเพณีปฏิบัติกันมาช้านาน ก็บ่งบอกด้วยว่า ขณะที่แม่ผูกทอความสัมพันธ์มายังลูกชายนั้น ระบบค่านิยมที่สลักฝังอยู่ในพรมแดนของบ้าน ก็คืออีกตัวแปรหนึ่งที่เข้ามากำกับชีวิตของหลงเว่ยภายใต้เส้นด้ายสีแดงที่ร้อยรัดข้อมือของเขาไว้ด้วยเช่นกัน         ตามท้องเรื่องเดิมนั้น ตระกูลมหามงคลมี “เจ้าสัวหม่า” เป็นประมุขใหญ่ของบ้าน โดยมีภรรยาสองคนคือ “เลี่ยงจิน” ภรรยาหลวงหรือเป็นคุณนายใหญ่ที่คนในครอบครัวจีนรับรู้โดยทั่วไป กับตัวของเหม่ยอิงที่มีสถานภาพเป็นคุณนายรอง         ด้วยความเชื่อตามจารีตเดิมของครอบครัวจีนขนาดใหญ่นั้น มักยึดมั่นยึดติดกับเรื่องดวงชะตาที่กำหนดชีวิตของปัจเจกบุคคล ฉะนั้น เมื่อซินแส “สินอู่” ได้ทำนายดวงชะตาของหลงเว่ยว่าจะชงกับพี่ชายต่างมารดา และคำทำนายนั้นก็เกิดเป็นจริงขึ้นมา เพราะ “เทียนอี้” ลูกชายคนโตเสียชีวิตลงด้วยอุบัติเหตุความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของหลงเว่ย เจ้าสัวหม่าจึงส่งหลงเว่ยไปเรียนที่ฮ่องกงเพื่อให้ห่างไกลบ้านมหามงคล         ต่อมา เมื่อเจ้าสัวหม่าและคุณนายใหญ่เลี่ยงจินได้ถึงแก่กรรมลง เหม่ยอิงจึงได้ขึ้นครองเป็นคุณนายใหญ่แห่งบ้านมหามงคลแทน แต่เพราะผู้หญิงที่ไม่เคยถือครองอำนาจมาก่อน ต้องก้าวขึ้นมาเป็นใหญ่ในฐานะผู้นำของบ้าน คุณนายใหญ่คนใหม่ก็ต้องพบว่า ขนบธรรมเนียมที่ตระกูลมหามงคลและแม้แต่ตัวเธอเองยึดมั่นอยู่นั้น ต้องฝ่าแรงคลื่นพายุแห่งความเปลี่ยนแปลงที่เข้ามาปะทะถาโถมระลอกแล้วระลอกเล่าเพียงใด             โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อหลงเว่ยถูกเรียกตัวกลับมาเพื่อให้สืบทอดกิจการของตระกูล พลันที่เขาและ “ซูซี่” ภรรยาชาวฮ่องกงที่กำลังตั้งท้องอยู่ ได้ย่างเหยียบเข้ามาในคฤหาสน์หลังใหญ่ สงครามระหว่างตัวแทนแห่งม่านประเพณีอย่างเหม่ยอิง กับโลกทัศน์แบบเสรีนิยมหัวก้าวหน้าของซูซี่ ก็ได้เริ่มต้นฉากสัประยุทธ์ขึ้นทันที         แม้ว่าจริงๆ แล้ว บ้านมหามงคลจะปรับตัวต่อความเปลี่ยนแปลงอยู่เป็นระลอกๆ ตั้งแต่ตัวเรือนของบ้านที่ออกแบบให้ผสมผสานสไตล์ตะวันตก ตัวละครชายที่เลือกสวมเครื่องแต่งกายในชุดสากล หรือการพูดภาษาไทยโดยไม่ติดสำเนียงจีนแบบดั้งเดิม เหล่านี้ล้วนสะท้อนให้เห็นว่า ความเป็นจีนเองก็มีมุมที่ปรับปรนปรับเปลี่ยนตลอดเวลาอยู่แล้ว         แต่เมื่อต้องมาเผชิญคลื่นลมระลอกใหม่ๆ อย่างตัวละครซูซี่ผู้ “ไม่แคร์เวิร์ลด์” หรือมิได้ใส่ใจกับประเพณีปฏิบัติโบร่ำโบราณเท่าใดนัก ตั้งแต่การเมินเฉยต่อธรรมเนียมกินข้าวร่วมโต๊ะ การแต่งตัวที่ไม่ยึดติดขนบจารีตเดิม อากัปกิริยาสมัยใหม่ที่แสดงออกได้แม้แต่ในที่สาธารณะ ไปจนถึงการแต่งงานอยู่กินกันก่อนจะเข้าพิธียกน้ำชาให้ญาติผู้ใหญ่ แบบแผนปฏิบัติที่ขัดกับศีลาจารวัตรเดิมๆ ย่อมเป็นสิ่งที่เหม่ยอิงมิอาจยอมรับได้          และแน่นอน บททดสอบความแข็งแกร่งของวัฒนธรรมจีนที่สายอนุรักษนิยมสุดขั้วยึดมั่นมากที่สุด ก็คงหนีไม่พ้นแรงปะทะที่มีต่อความเชื่อในโชคชะตา ที่ฝังรากเอาไว้ในธรรมเนียมนิยมหลักของครอบครัวจีน ดังคำที่เหม่ยอิงพูดอยู่เสมอว่า “คนคำนวณ ไม่สู้ฟ้าลิขิต”         ดังนั้น อีกครั้งเมื่อซินแสสินอู่ได้ทำนายว่า ลูกในท้องของซูซี่จะเป็นกาลกิณีต่อหลงเว่ยผู้เป็นพ่อ เหม่ยอิงจึงทำทุกวิถีทางเพื่อขจัดลูกของซูซี่ และนำหลานในไส้ไปทิ้งศาลเจ้าให้ไกลจากบ้านมหามงคล เหมือนกับที่เธอพูดกับ “อาจู” สาวใช้คนสนิทว่า “ถ้าคนหนึ่งจะมา แล้วอีกคนจะไป คนที่จะไปต้องไม่ใช่ลูกฉัน”         จากนั้น ปฏิบัติการผลักไสให้ซูซี่ทิ้งหลงเว่ยกลับฮ่องกง และยัดเยียดให้ “เพ่ยเพ่ย” หญิงสาวอีกคนมาเป็นภรรยาของหลงเว่ยจึงอุบัติขึ้น โดยที่ทั้งหลงเว่ยและเพ่ยเพ่ยหาได้ยินยอมพร้อมใจแต่อย่างใดไม่        ระบบคิดแบบอนุรักษนิยมที่คอยจะจับวางใครต่อใครให้มาเป็นหมากเบี้ยบนกระดาน จึงไม่ต่างจากภาพที่คุณนายเหม่ยอิงหยิบเอาเส้นด้ายสีแดงมาถักทอร้อยรัดข้อมือบุตรชายเอาไว้ด้วยความรัก แต่ในท้ายที่สุด กลับนำไปสู่โศกนาฏกรรมที่เพ่ยเพ่ยเองได้กระทำอัตวินาตกรรม และหลงเว่ยก็รู้ความจริงว่า มารดาของตนอยู่เบื้องหลังการจับชีวิตเขาร้อยไว้ด้วยกฎเกณฑ์ทางประเพณีแบบไม่ให้ดิ้นหลุดได้เลย         ฉากที่หลงเว่ยกระชากด้ายแดงจนขาด เพื่อสลัดตนออกจากความขัดแย้งสองแพร่งของอุดมคติแบบอนุรักษนิยมและอุดมการณ์แบบเสรีนิยม จึงไม่ต่างจากประโยคที่เขากล่าวกับมารดาว่า “เลิกทำเพื่อผมเสียที ผมไม่ต้องการให้แม่มาดูแลปกป้องผมอีกแล้ว ความรักความห่วงใยของแม่มันรัดคอจนผมหายใจไม่ออกแล้ว สักวันผมคงจะต้องตายด้วยความหวังดีของแม่...”         จนมาถึงในเจนเนอเรชั่นรุ่นถัดมา ชะตากรรมของ “หลิงหลิง” หลานสาวในไส้ที่ถูกทิ้งไว้ที่ศาลเจ้าตั้งแต่แรกคลอด กับ “ป่อป้อ” ลูกติดท้องของเพ่ยเพ่ยก่อนแต่งงานมาเป็นสะใภ้เหม่ยอิง ก็ยิ่งสำทับภาพปัจเจกบุคคลที่ต้องมาอยู่กลางสนามรบของโลกทัศน์ความคิดที่สุดขั้ว ไม่ต่างจากที่รุ่นพ่อและแม่เคยเผชิญมาอีกเช่นกัน        จากรุ่นเก่าสู่รุ่นใหม่เช่นนี้ ตราบใดที่ “เหรียญสองด้าน” ของขั้วความคิดที่แตกต่าง ไม่ยอมลดทอนมิจฉาทิฐิลงเสียบ้าง ยังเป็นอนุรักษนิยมที่เพิกเฉยต่อโลกที่เปลี่ยนแปลง หรือเป็นเสรีนิยมที่ไม่ไยดีต่อธรรมเนียมปฏิบัติเดิมกันเลย บทสรุปของด้ายแดงที่ถูกสะบั้นขาดออกไปด้วยมือของหลงเว่ย ก็คงคุ้นๆ คล้ายๆ กับภาพสังคมการเมืองแบบที่เราก็เห็นอยู่ตรงหน้าทุกวัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 224 ลดโลกร้อนด้วยการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน

        เชื่อว่าทุกคนคงรู้จักกับคำว่าภาวะโลกร้อน ซึ่งผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากภาวะโลกร้อนนั้นมีหลายอย่าง เช่น ธารน้ำแข็งละลายทำให้ระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้น ความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ของสัตว์ ความเสี่ยงที่จะเกิดสภาพอากาศรุนแรง เช่น คลื่นความร้อน ความแห้งแล้ง น้ำท่วม และอุณหภูมิทั่วโลกที่กำลังสูงขึ้น         และการปล่อยก๊าซคาร์บอนสู่ชั้นบรรยากาศของทั่วโลกก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่มีผลทำให้เกิดภาวะโลกร้อนอย่างที่เป็นอยู่         จากการรายงานข่าวเมื่อสิ้นปี 2561 ที่ระบุว่าทั่วโลกมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนสู่ชั้นบรรยากาศมากกว่า 37,100 ล้านตัน ซึ่งถือว่ามีปริมาณมากที่สุดตั้งแต่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนมา และจากข้อมูลจาก Greenpeace เมื่อเดือนสิงหาคม 2562 รายงานว่าอุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกระหว่างเดือนมีนาคมถึงพฤษภาคมปีนี้สูงขึ้นถึง 1.5 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบอุณหภูมิเฉลี่ยในต้นศตวรรษที่ 19         จะเห็นได้ว่าระบบนิเวศบนโลกกำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก ด้วยเหตุนี้ทุกประเทศทั่วโลกจึงต้องกระตือรือร้นและพยายามที่จะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพื่อชะลอวิกฤตสภาพภูมิอากาศซึ่งน่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุดของมนุษย์ในขณะนี้         สำนักพัฒนาธุรกิจ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ได้พัฒนาแอปพลิเคชันที่มีชื่อว่า CF Calculator ที่มีคุณสมบัติในการช่วยคำนวณข้อมูลคาร์บอนฟุตพริ้นท์ (คาร์บอนฟุตพริ้นท์ หมายถึง ปริมาณการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก) โดยผู้ที่ใช้แอปพลิเคชันนี้จะสามารถทราบถึงปริมาณการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมประจำวัน และจะทำให้ผู้ใช้แอปพลิเคชันเรียนรู้ในการเปลี่ยนรูปแบบการใช้สินค้าหรือผลิตภัณฑ์ และเปลี่ยนวิธีการบริโภค เพื่อช่วยลดปริมาณการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่มีส่วนทำให้เกิดปัญหาโลกร้อนได้         ภายในแอปพลิเคชันจะให้ระบุพลังงานที่ใช้ในบ้านตั้งแต่ปริมาณของผู้อยู่อาศัยในบ้าน จำนวนหลอดไฟทุกชนิด จำนวนเครื่องปรับอากาศขนาดใหญ่และขนาดเล็ก จำนวนเครื่องคอมพิวเตอร์ จำนวนเครื่องใช้ไฟฟ้าชนิดต่างๆ ที่มีอยู่ในบ้าน รวมถึงพลังงานที่ใช้ในการเดินทางในชีวิตประจำวันและสำหรับการเดินทางท่องเที่ยวในแต่ละปี โดยจะให้ระบุระยะทางไปกลับและชนิดของรถที่โดยสาร และยังให้ระบุการบริโภคอาหารในแต่ละมื้ออีกด้วยหลังจากนั้นแอปพลิเคชันจะคำนวณข้อมูลออกมาว่าผู้ใช้แอปพลิเคชันมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนออกมาในปริมาณเท่าไร และควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมอย่างไร เพื่อให้มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนลดน้อยลง         ที่น่าสนใจมากกว่านี้ก็คือ ถ้าประชาชนคนใดต้องการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนสามารถเลือกซื้อผลิตภัณฑ์หรือบริการที่มีสัญลักษณ์ฉลากลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ หรือ ฉลากลดโลกร้อน (มีลักษณะเป็นตัว C ตัวใหญ่และเลข 2) ทดแทนการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์หรือบริการที่ไม่ได้ใส่ใจต่อการเกิดภาวะโลกร้อนได้เช่นกัน         ทั้งนี้ขณะนี้ทั่วโลกกำลังพยายามที่จะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนสู่ชั้นบรรยากาศแล้วหันมาใช้พลังงานสะอาดและมีความยั่งยืน เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม เป็นต้น เข้ามาแทนที่ ที่ในทุกด้าน แม้ว่าประชาชนอย่างเราจะเป็นแค่ฟันเฟืองเล็กๆ แต่ก็สามารถช่วยกันลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนสู่ชั้นบรรยากาศได้ส่วนหนึ่ง ซึ่งถือว่าได้มีส่วนช่วยให้บรรยากาศของโลกดีขึ้นได้เช่นกัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 217 โลกดิจิทัลที่ดีกว่า #Better Digital World

        ซื้อบัตรโดยสารรถไฟฟ้าแรบบิทของบีทีเอส จองตั๋วเครื่องบิน เปิดบัญชีธนาคาร ทำประกันชีวิต โหลดโปรแกรมแอปพลิเคชันฟรี ดูข้อมูลแนะนำเส้นทางในการเดินทาง ไปเจรจาไกล่เกลี่ยที่ศาลในการฟ้องคดี ต่างต้องการข้อมูลหมายเลข 13 หลักทั้งหมด การเพิ่มขึ้นของข้อมูลดิจิทัลในทุกด้านของชีวิตประจำวันของผู้บริโภค         การคุ้มครองผู้บริโภคควรขยายไปสู่บริการดิจิทัลทั้งหมดโดยไม่คำนึงว่า ผู้บริโภคจ่ายเงินในการใช้บริการหรือให้ข้อมูลเพื่อเข้าถึงบริการเหล่านั้นหรือไม่ การพัฒนาเทคโนโลยีและการตลาดในปัจจุบัน ทำให้การคุ้มครองผู้บริโภคล้าสมัยไปแล้ว กติกาเฉพาะด้านที่มีขึ้นมาใหม่ทับซ้อนกับกติกาในอดีต และกติกาใหม่ๆ ไม่ฉลาดพอ ไม่ครอบคลุม และไม่คำนึงถึงการพัฒนาเทคโนโลยีและการวิจัยล่าสุดเกี่ยวกับพฤติกรรมผู้บริโภค เช่น การซื้อสินค้าผ่านการตลาดทางสังคมออนไลน์ แกร็บแทกซี่ ที่พักบีเอ็นบี(Airbnb) หรือแม้แต่กรณีล่าสุดในการถ่ายทอดสดการกราดยิงผู้คนที่กำลังสวดมนต์ในสุเหร่าของนิวซีแลนด์ที่ใช้เวลานานกว่า FB จะสามารถจัดการได้         ความพยายามที่จะแก้ไขปัญหาเหล่านั้น ต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาความรู้ทางดิจิทัลของผู้บริโภคควรขยายการคุ้มครองผู้บริโภคไปยังบริการดิจิทัลทั้งหมดไม่ว่าผู้บริโภคจะชำระค่าบริการหรือไม่ ควรพิจารณาวิธีการทางเลือกอื่นๆ เช่น การกำกับกันเอง การกำกับร่วมกันระหว่างธุรกิจและผู้บริโภคในการพัฒนาวิธีแก้ปัญหาในอนาคต เช่น ในสหภาพยุโรป ที่มีกฎ กติกาเกี่ยวกับการเปิดเผยข้อมูลซึ่งเป็นรากฐานที่สำคัญของการคุ้มครองผู้บริโภคที่สอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้บริโภคจริง หน่วยงานคุ้มครองผู้บริโภคต้องสามารถกำหนดกติกาในอนาคตได้ และสำรวจข้อดีและข้อเสียของกฎการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล         ย้อนกลับมามองกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลที่เพิ่งผ่านสภานิติบัญญัติแห่งชาติปลายเดือนกุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ในมาตรา 4 ก็จะพบว่า การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ไม่ครอบคลุมไปถึงข้อมูลของบริษัทข้อมูลเครดิต และสมาชิกตามกฎหมาย ว่าด้วยการประกอบธุรกิจ ข้อมูลเครดิต ซึ่งทำให้สถาบันการเงินทั้งหมดอันได้แก่ ธนาคารพาณิชย์ บรษัทเงินทุน บริษัทหลักทรัพย์ บริษัทเครดิตฟองซิเอร์ บริษัทประกันวินาศภัย บริษัทประกันชีวิต นิติบุคคลที่ให้บริการบัตรเครดิต นิติบุคคลที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้นเพื่อดำเนินการทางการเงิน นิติบุคคลอื่นที่ประกอบกิจการให้สินเชื่อเป็นทางการค้าปกติ ตามที่คณะกรรมการประกอบธุรกิตข้อมูลเครดิตกำหนด        นอกจากนี้ยังไม่คุ้มครองในกรณี การดำเนินการของหน่วยงานรัฐ บุคคลหรือนิติบุคคลที่ทำการรวบรวมไว้เฉพาะเพื่อกิจการสื่อมวลชน สภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา และรัฐสภา รวมถึงคณะกรรมาธิการที่แต่งตั้งโดยสภาดังกล่าว การพิจารณาพิพากษาคดีของศาล ที่ไม่ต้องถูกใช้บังคับและไม่ต้องคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล น่าเป็นห่วงว่า การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลจะใช้บังคับกับใครเพราะดูจะยกเว้นไปทั้งหมด        หน่วยงานคุ้มครองผู้บริโภคจะสามารถกำหนดมาตรการลงโทษเมื่อจำเป็นได้อย่างไร หรือการคุ้มครองผู้บริโภคโดยการออกแบบไว้ล่วงหน้า สำหรับคอมพิวเตอร์จะทำได้อย่างไร แต่ท่ามกลางความไม่เท่าเทียมของกติกาในประเทศต่างๆ แต่ขณะที่การซื้อขายข้ามโลกเช่นนี้ อาจจะทำให้หลักการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลแบบสากลบังคับใช้ก็ได้ เพราะในยุโรปหากเกิดความเสียหายอาจจะไม่คุ้มกับค่าปรับที่สูงมากถึง 20 ล้านยูโร(800 ล้านบาท) หรือไม่เกิน 4% ของรายได้รวมทั่วโลก

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 217 สีทาผนังกันความร้อน

        ภาวะโลกร้อนเป็นสาเหตุที่ทำให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประเทศไทยซึ่งอยู่ในแนวเส้นศูนย์สูตร ได้รับผลกระทบอย่างชัดเจน และรุนแรง ช่วงเดือนเมษายน หน้าร้อน อุณหภูมิ อาจสูงถึง 45 องศาเลยทีเดียว ภาวะโลกร้อนดังกล่าวทำให้ชั้นบรรยากาศบางลง ทำให้สกัดกั้นรังสีความร้อนที่แผ่มาจากดวงอาทิตย์ได้น้อย        ด้วยอากาศที่ร้อนขึ้น การลดอุณหภูมิสะสมในตัวบ้าน อาคาร ให้ได้มากที่สุดมีความจำเป็นมากเพื่อลดพลังงานที่ใช้สำหรับเครื่องปรับอากาศ นอกจากจะประหยัดพลังงานแล้วยังลดค่าใช้จ่ายได้อีกด้วย        หลังคาจะเป็นส่วนที่รับความร้อนหลัก หากลดความร้อนสะสมใต้หลังคาแล้วด้วยแผ่นสะท้อนรังสีความร้อน ฉนวนบนฝ้าเพดานแล้ว ผนังบ้าน อาคาร จะเป็นส่วนที่รับความร้อนรองลงมา สีทาผนังประเภทที่มีความสามารถสะท้อนความร้อนได้จึงมีความจำเป็นที่จะซื้อหามาใช้งาน ซึ่ง ณ ปัจจุบันมีให้เลือกมากมายหลายระดับราคา บางยี่ห้อมีฉลากเบอร์ 5 การันตีประสิทธิภาพด้วย        ฉลาดซื้อจะเลือกนำเอาสีทาผนังอาคาร ที่มีความสามารถสะท้อนรังสีความร้อนได้ โดยสอบถามร้านค้าที่เป็นที่นิยม สามแห่ง ได้แก่ โฮมโปร บุญถาวร และไทวัสดุ ซึ่งพนักงานได้แนะนำสีที่มีความสามารถดังกล่าว และเป็นที่นิยม ได้มา 6 ยี่ห้อ โดยเลือกสีเป็นแบบกึ่งเงาสีขาว Base A ได้แก่ 1.TOA รุ่น SuperShield Advance2.Captain รุ่น ParaShield Cool max 3.Beger รุ่น BegerCool Diamond Shield4.Jotun รุ่น JOTASHIELD5.Dulux รุ่น Weathershield6.Nippon paint รุ่น WEATHERBOND flex         เบื้องต้น วิเคราะห์ข้อมูลจากฉลากพบว่า มาตรฐานอุตสาหกรรม ที่ตัวอย่างสีได้รับการรับรองจะมีอยู่สองหมายเลข ได้แก่             1.มอก.2321-2549 (สีอิมัลชันทนสภาวะอากาศ) พบทุกยี่ห้อ            2.มอก.2514-2553 (สีอิมัลชันลดความร้อนจากแสงอาทิตย์) พบบางยี่ห้อ         นอกเหนือจากมาตรฐานอุตสาหกรรมที่กล่าวมายังมีสัญลักษณ์ที่รับรอง แสดงบนฉลากอีกหลายอย่างโดยสรุปเป็นตารางได้ดังนี้ แนวทางการทดสอบ        เนื่องจาก ศูนย์ทดสอบและมาตรวิทยา สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย โดยห้องปฏิบัติการเคมีวิเคราะห์ เป็นหน่วยงานที่ทดสอบสีตามมาตรฐาน มอก.2321-2549 และ มอก.2514-2553 จึงขอความอนุเคราะห์ส่งทดสอบตัวอย่างสีที่เตรียมไว้ ในบางรายการที่เกี่ยวข้องได้แก่             -   กำลังซ่อนแสง เป็นการทดสอบความสามารถในการทาปิดทับ โดยปรับความหนืดของสีที่เตรียมไว้ให้เท่ากัน แล้วเคลือบฟิล์มสีตัวอย่างบนแผ่นทดสอบขณะเปียกที่ความหนา 100 ไมโครเมตร             -  การสะท้อนรังสีแสงอาทิตย์ (solar radiation reflectance)  ทดสอบตาม JIS R 3106 เตรียมตัวอย่างโดยเคลือบสีตัวอย่างบนกระจกให้มีความหนาขณะแห้ง 300 ไมโครเมตร  การทดสอบความร้อนสะสม และ การผ่านของ แสง/ รังสีความร้อน         ทดสอบโดยใช้ตู้ทดสอบ โดยเตรียมตัวอย่างด้วยการทาสีตัวอย่างด้วยแปรงทาสี 2 ชั้น เว้นระยะเวลาแต่ละชั้นห่างกัน 1 ชม. บนกระจก ขนาด  30x30 ซม. ทิ้งไว้ให้แห้งสนิทหนึ่งสัปดาห์ โดยยึดแนวคิดตามหลักปฏิบัติของช่างทาสีโดยทั่วไป หลังจากที่ตัวอย่างที่เตรียมไว้แห้งสนิทดีแล้ว นำไปวางบนตู้ทดสอบที่เตรียมไว้ ใช้หลอดฮาโลเจน และหลอดกำเนิดแสงยูวี เป็นแหล่งกำเนิดความร้อน เหนือกระจกที่ทาสีตัวอย่างไว้ แล้ววัดอุณหภูมิภายนอก และภายในตู้ทดสอบ โดยเริ่มจาก แผ่นกระจกเปล่าที่ไม่มีการทาสี เพื่อเป็นตัวควบคุมเปรียบเทียบ ผลของการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิที่เกิดขึ้น กระจกที่ทาสีตัวอย่าง นอกจากการวัดค่าอุณหภูมิแล้ว ยังวัดผลของสเปคตรัมของแสง/ รังสีความร้อน ที่ทะลุผ่านกระจกมาด้วย          ค่าอุณหภูมิแตกต่างที่ใช้ชี้วัดประสิทธิภาพของสีตัวอย่างนั้น ใช้วิธีการดูความสามารถต้านทานการแผ่รังสีความร้อน โดยวัดอุณหภูมิภายในตู้ทดสอบ ณ เวลาเดียวกัน โดยเวลาที่กำหนด จะใช้เวลาที่ได้จากการทดสอบด้วยกระจกใสแล้วทำให้ค่าอุณหภูมิภายในและภายนอกมีค่าเท่ากัน ซึ่งจะอยู่ที่นาทีที่ 8 (ทดสอบที่อุณหภูมิเริ่มต้น 24.5˚C) ตามภาพที่ 3          สำหรับเวลานาทีที่ 8 นั้นอุณหภูมิที่วัดได้จะอยู่ที่ 47.3 ˚C และเมื่อทำการทดสอบที่กระจกทาสีตัวอย่าง หากที่เวลานาทีที่ 8 ตัวอย่างสีใดที่ได้ค่าอุณหภูมิต่ำที่สุด ย่อมมีประสิทธิภาพต้านทานรังสีความร้อนดี         ผลของสเปคตรัมแสง ความร้อน ที่ผ่านกระจกทดสอบเข้ามา จะแบ่งเป็น UV แสงช่วงที่มองเห็น (visible) และ รังสีความร้อน (infrared) ผลที่ได้เป็นดังนี้  ผลการทดสอบ        หลังจากทดสอบทั้ง 3 วิธีแล้ว โดยได้จากการทดลอง ผลของความร้อนสะสม แสง/ รังสีที่ส่องผ่าน และผลทดสอบจาก ศูนย์ทดสอบและมาตรวิทยา ได้แก่ กำลังซ่อนแสง และ ค่า % สะท้อนรังสีความร้อน เป็นดังนี้ตารางที่ 2 ผลการทดสอบบทสรุป        จากตัวอย่างสีทั้งหมดลักษณะของเนื้อสี ความเข้มข้น ค่อนข้างใกล้เคียงกัน มีความสามารถในการทาปิดทับได้ดี ทาง่ายพื้นผิวสีที่ได้หลังจากทาด้วยแปรงสองครั้ง เรียบเนียนสวยงาม ผลของกำลังซ่อนแสง จะแสดงผลของการทาปิดทับที่ดี การทดสอบเนื้อสีจะถูกปรับความเข้มข้นให้เท่ากัน หากสีที่ได้รับมาตรฐาน มอก. 2321–2549 จะมีค่าของกำลังซ่อนแสงจะต้องไม่น้อยกว่า ร้อยละ 80 ซึ่ง ทุกสีตัวอย่างมีค่าของ กำลังซ่อนแสง มากกว่าร้อยละ 80  โดยค่าสูงสุดคือ Nippon paint มีค่า 94.53 %        การสะท้อนรังสีแสงอาทิตย์ ตาม มอก.2514-2553 สีตัวอย่างจะต้องมีความสามารถสะท้อนรังสีแสงอาทิตย์ได้ไม่น้อยกว่า ร้อยละ 80 ซึ่งสีทุกตัวอย่างมีความสามารถสะท้อนรังสีแสงอาทิตย์ ได้เกือบ 90 % โดยค่าสุงสุดคือ 91.2 % ได้แก่ TOA และ Nippon paint        ผลการทดลองการสะสมความร้อน และ การผ่านของ แสง/ รังสีความร้อน ที่นาที ที่ 8 หลังจากฉาย แสง/ รังสีความร้อน พบว่าสี Nippon paint จะมีค่าความร้อนภายในตู้ทดสอบ น้อยที่สุด ที่ 33.7 ˚C สอดคล้องกับ ผลของแสง/ รังสีความร้อนที่ส่องผ่านเข้ามาต่ำที่สุด        ผลทดสอบเชิงตัวเลขถือว่า สีตัวอย่างทุกยี่ห้อ มีความสามารถที่ลดความร้อนได้ใกล้เคียงกันมาก สามารถทดแทนกันได้ มีความสามารถลดพลังงานไฟฟ้าจากเครื่องปรับอากาศได้อย่างแน่นอน เลือกใช้ตามความเหมาะสม

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 207 กินเปลี่ยนโลก กินทุกวันเปลี่ยนโลกทุกวัน

แก้วตา ธัมอิน ผู้ประสานงานโครงการกินเปลี่ยนโลก ผู้หลงรักเรื่องราวของอาหารและบทกวี เธอจะบอกเล่าถึงแหล่งที่มาของอาหารจากท้องถิ่นสู่เมืองกรุง ผ่านร้านชื่อเดียวกันกับโครงการ ซึ่งต้อนรับเราในเช้าวันต้นฤดูฝน ถึงที่มาของ Growing Diversity Shop&Cafe by Foodforchange ที่เปิดอย่างเป็นทางการในวันที่ 7 พ.ค.ที่ผ่านมา“กินเปลี่ยนโลก” เป็นโครงการที่เกิดตั้งแต่ปี 2553 ก็ประมาณ 8 ปีแล้ว เนื่องจากเราทำงานที่ผู้บริโภคเข้าตั้งคำถามเกี่ยวกับอาหารเป็นหลัก มาจากไหน อย่างไร และเราก็สนับสนุนให้ผู้บริโภคสนับสนุนเกษตรกรรายย่อย นอกจากเกษตรกรรายย่อยทั่วไปจะได้กระจายรายได้อุดหนุนคนที่หลากหลายแล้วนั้น หลักๆ เลยคือเราคิดว่าเขาคือทางเลือก เป็นทางออกในการซื้ออาหารก็คือเกษตรกรที่ทำเกษตรกรรมยั่งยืน เกษตรกรรมที่ไม่ใช้สารเคมี นอกจากได้สนับสนุนเกษตรกรรายย่อยแล้วยังได้อาหารที่ดีสำหรับผู้บริโภคด้วย แล้วก็เพิ่มกิจกรรมมาทำเกี่ยวกับเครื่องปรุงเพราะว่าเราก็ส่งเสริมการทำกินเอง พอเราได้ผลิตผลมาจากเกษตรกรรายย่อยแล้วเราก็อยากให้ผู้บริโภคทำอาหารกินเองเพราะว่า การทำกินเองมันง่ายกับการที่คุณจะเลือกของที่ดีมากกว่าไปซื้อคนอื่น เราสามารถเลือกของที่คุณภาพที่เราพึงพอใจได้ เพราะเราสนับสนุนเรื่องการทำกินเองแล้ว “กินเปลี่ยนโลก” เป็นโครงการที่เกิดตั้งแต่ปี 2553 ก็ประมาณ 8 ปีแล้ว เนื่องจากเราทำงานที่ผู้บริโภคเข้าตั้งคำถามเกี่ยวกับอาหารเป็นหลัก มาจากไหน อย่างไร และเราก็สนับสนุนให้ผู้บริโภคสนับสนุนเกษตรกรรายย่อย นอกจากเกษตรกรรายย่อยทั่วไปจะได้กระจายรายได้อุดหนุนคนที่หลากหลายแล้วนั้น หลักๆ เลยคือเราคิดว่าเขาคือทางเลือก เป็นทางออกในการซื้ออาหารก็คือเกษตรกรที่ทำเกษตรกรรมยั่งยืน เกษตรกรรมที่ไม่ใช้สารเคมี เราทำงานกับเกษตรกรรายย่อยที่มีผักเยอะแยะมากมาย ผักที่ดีไม่ใช้สารเคมี แล้วก็มีข้าวพื้นบ้านหลายสายพันธุ์ที่รสชาติดี แต่ว่ามันมาเจอปัญหาหรือ “ตัน” ตอนปรุงเพราะว่าเวลาเลือกเครื่องปรุงจากท้องตลาดมักจะเป็นเครื่องปรุงที่มีการเติมสารเคมี พวกสารกันบูด สารปรุงรส และช่วง 10 ปีที่ผ่านมาเราก็เห็นว่านวัตกรรมการปรุงรสมันค่อนข้างก้าวกระโดด อย่างเช่นจากที่เราโตมาจะมีผงชูรสตัวเดียว แต่ตอนนี้มีผงชูรส 5 - 6 ตัว เยอะมากและก็หลีกเลี่ยงว่าตัวเองเป็นผงชูรส สร้างความบิดเบือนให้กับผู้บริโภค “เราก็เลยคิดว่า อยากจะอุดช่องโหว่นี้โดยการให้ความรู้กับผู้บริโภคเรื่องเครื่องปรุงและสนับสนุนเกษตรกรรายย่อยและผู้ผลิตรายย่อยที่ทำเครื่องปรุงรสพื้นฐาน ไม่ว่าจะเป็นน้ำตาล น้ำปลา เรามีเครือข่ายเป็นผู้ผลิตน้ำตาลโตนดเยอะมาก แต่การผลิตก็น้อยลงมากเช่นกัน หมายถึงคนที่ยังสืบทอดอาชีพ การขึ้นตาลโตนด การเคี่ยวน้ำตาลโตนดก็น้อยลง ถึงแม้ว่าตลาดยังต้องการน้ำตาลโตนดที่เป็นน้ำตาลแว่น ที่หน้าตายังเป็นแบบนั้นอยู่ แต่ความจริงแล้วมันสอดไส้น้ำตาลทรายเป็นหลักเพราะว่าต้นทุนด้วย ความรู้ของคนกินด้วย เราก็เลยคิดว่าการขายเครื่องปรุงและให้ความรู้ว่าวัตถุดิบแท้ๆ มันควรเป็นอย่างไร น้ำตาลอ้อย น้ำตาลโตนด น้ำตาลมะพร้าวต่างกันอย่างไรรสชาติก็ต่างกัน เหมาะที่จะเอาไปปรุงอาหารต่างกันไป เกลือที่เราขายก็เลือกเกลือทะเลจากพื้นที่บางปะกง และเราก็อยากได้วัตถุดิบที่มีเรื่องราวด้วย เพราะเราเองก็อยากจะเป็นส่วนหนึ่งในการเล่าเรื่อง” นี่คือจุดเริ่มต้นของร้าน  กินเปลี่ยนโลก Growing Diversity Shop&Cafe by Foodforchangeเรื่องที่อยากเล่า การบริโภคของเรากระทบกับทุกสิ่งการเปลี่ยนแปลงหรือว่าผลกระทบที่เกิดจากโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ หรือว่าผลกระทบจากการพัฒนาภาพรวม อย่างเช่น พื้นที่ชายทะเลที่มันจะโดนเขตเศรษฐกิจบ้างหรือเปล่า การเจริญเติบโตของอุตสาหกรรมที่อยู่แนวชายทะเลมันก็เกิดการกว้านซื้อที่ดิน จากครอบครัวที่เขาทำเกลือแต่ก่อนจนแทบจะไม่เหลือครอบครัวที่เป็นเจ้าของที่ดินที่ยังทำนาเกลืออยู่ ที่เราเห็นทำนาเกลือกันเยอะๆ ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นที่ดินเช่า เพราะที่เคยเป็นของตัวเองขายไปแล้ว แล้วก็เช่าเขาทำ ส่วนเกลือที่เราเอามาจากบางปะกงนั้นเป็นครอบครัวที่เขายืนยันว่าจะรักษาที่ดินเอาไว้แล้วจะสืบทอดการทำนาเกลือและมีความตั้งใจที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือยกระดับเพิ่มมูลค่าให้กับมัน เราก็รู้สึกว่านอกจากเราจะขายสินค้าแล้วเราอยากขายเรื่องราวด้วยการบอกเล่า โดยใช้สินค้าเป็นตัวเล่าเรื่อง ที่มันเกิดขึ้นกับระบบอาหารของเราว่ามันมีอะไรมากกว่าสิ่งที่คุณเห็น อย่างเช่นเกลืออีสานที่เราไปเลือกมาก็เป็นเกลือที่ทำจากพื้นที่ริมน้ำมูล คือพื้นที่นี้ถ้าฤดูน้ำหลากน้ำจะท่วมแต่ถ้าหน้าแล้งก็จะมีขี้ทาเกลือ เราก็จะไปขูดมากรองแล้วก็ต้มเป็นเกลือสินเธาว์ แต่ว่าหลังจากมีเขื่อนปากมูลแล้ว ที่ที่เป็นแบบนั้นคือที่เวลาน้ำแห้งแล้วจะมีขี้เกลือมันถูกน้ำท่วมหมดเลย คนทำเกลือก็น้อยลง แต่เราก็พยายามไปหามาขาย สินค้าที่มันเป็นเรื่องราวเฉพาะ เราก็อยากให้คนได้รู้เรื่องราวที่มันเกิดขึ้นอยู่ในที่ต่างๆ ถึงผลกระทบที่พวกเขาได้รับด้วย นี่คือส่วนหนึ่งในการเล่าเรื่องแบบนั้นจากสินค้าหลายๆ ตัวที่เราดึงมา ก่อนจะซื้อเราก็อยากจะเล่าที่มาของสินค้าให้ทุกคนฟัง หอมแดงกับกระเทียมอันนี้ก็มาจากราษีไศล ซึ่งราษีไศลก็เป็นกลุ่มที่เขาทำเรื่องเขื่อนปากมูล แล้วก็เรื่องการเสียที่ดินทำกิน แต่พื้นที่ราศีไศลเป็นพื้นที่ที่ทำหอมกระเทียมกันอยู่แล้วดั้งเดิม ประมาณ 4 - 5 ปีที่แล้วถึงมาปรับเปลี่ยนระบบการผลิตให้เป็นหอมและกระเทียมอินทรีย์ซึ่งทำยากมากเพราะมันมีศัตรูพืชเยอะเลยค่อนข้างยาก แล้วมีคนที่ยอมเปลี่ยนน้อยแต่ก็ค่อยๆ ทำกัน เราก็เลยอยากจะช่วยอุดหนุนเพื่อให้คนที่ทำสามารถอยู่ได้ ให้เขาเห็นว่าถ้าคุณทำมาดีมันมีคนพร้อมสนับสนุน เป็นแรงจูงใจของผู้ผลิตที่จะเปลี่ยนซึ่งมันก็ดีกว่าจริงๆ นะ เพราะหอม กระเทียมทั่วไปพอมันเริ่มแก่แล้วใกล้จะเก็บเกี่ยวเขาจะฉีดยาฆ่าหญ้าเพื่อให้ใบมันแห้งสม่ำเสมอไม่อย่างนั้นจะเกิดเชื้อราวิถีผลิตที่น่าประทับใจชอบตอนไปหาน้ำปลามาก ตามหาน้ำปลาทั้งน้ำปลาทะเล น้ำปลาน้ำจืด ที่เป็นโรงงานพื้นบ้านหายากมาก เข้าถึงยาก หาข้อมูลว่ามันอยู่แถวไหนแล้วก็ลงไปถามหา บางทีก็ไปเจอแต่ว่าน้อยมากจนไม่สามารถเอาออกมาขายได้ เขาก็เล่าให้ฟังว่าโรงงานเล็กๆ เดี๋ยวนี้ก็เลิกผลิตไปเยอะแล้วพวกโรงงานที่เป็นธุรกิจท้องถิ่น แต่ก็สนุกทุกครั้งที่ลงไปหาวัตถุดิบ ไปเจอคนทำจริงๆ ไปดูกรรมวิธีการผลิต ตอนไปหาน้ำปลาที่กงไกรลาศก็สนุกมากได้ไปเจออำเภอหนึ่งที่มีโรงงานทำน้ำปลาน้ำจืดประมาณ 6 - 7 โรงงาน เป็นลานที่มีโอ่งเต็มไปหมด ข้างในก็มีแต่น้ำปลา มีเหมือนตะกร้าสอดไว้ในโอ่งเลย ตรงกลางก็เป็นน้ำใสใส เป็นน้ำปลาดิบแบบไม่ต้องไปต้ม กรองมาจากในโอ่งแล้ว ทำให้เราเข้าใจว่า ของที่เรากินไปหน้าตาแบบนี้ มันมาจากกระบวนการแบบไหนมากขึ้น ก็เลยคิดว่ามันสำคัญที่คนจะต้องจินตนาการออก บางทีไม่มีประสบการณ์เลยมันจินตนาการไม่ได้เลยว่าของสิ่งนี้มันมาอย่างไรเพราะฉะนั้นมันไม่สามารถโยงได้ว่ามันควรจะมีหรือไม่มีอะไร ควรจะใส่อะไรหรือไม่ใส่อะไร ถ้าเราไม่เข้าใจกระบวนการของมัน “เหมือนคนที่อยู่ห่างไกลระบบเกษตรก็จะนึกภาพไม่ออกเลยว่าผักพวกนี้กว่าจะได้มาคนปลูกต้องทำอย่างไร นอกจากจะไม่เข้าใจสิ่งที่กินเข้าไปแล้วนั้น ไม่เข้าใจคนอื่นด้วย ขาดความเห็นอกเห็นใจในสิ่งที่บางคนลงมือทำ” กลายเป็นไม่เห็นคุณค่าสิ่งของหรือคนอื่น ก็เลยไม่กลายเป็นส่วนหนึ่งของสังคม ฉันลอยอยู่เหนือปัญหาที่เป็นพื้นฐานมากเลย ที่เราควรจะเข้าใจเพื่อที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการที่จะจัดการ ถ้าพูดถึงในมุมของการเป็นพลเมือง คนยุคใหม่มันลอยออกจากสังคมจริงๆ มีให้ใช้ก็ใช้ ไม่ได้มาคิดว่ามันมาจากไหน อย่างไรอาหารคลีนที่แท้จริงคืออาหารคลีนในสังคมเรา ที่มันถูกถ่ายทอดโดยภาพที่เราเห็นกันอยู่ในสื่อต่างๆ มันกลายเป็นหน้าตาที่มาก่อนเนื้อแท้ของความหมายที่แท้จริง เป็นอะไรที่มีบล๊อคโคลี่หน้าตาเขียวๆ ผักลวกนิดหน่อยแล้วก็มีไก่ 1 ชิ้น ขาวๆ ซีดๆ จืดๆ แล้วก็ดูคลีน ความจริงแล้วอาหารคลีนน่าจะต้องดูที่กระบวนการผลิตไหม มันต้องคลีนตั้งแต่ที่มาเพราะถึงแม้ว่าคุณจะทำพะโล้ใส่ซีอิ๊วดำ ซึ่งดูสีเข้มเข้มมันก็เป็นอาหารคลีนได้ ถ้าคุณใช้หมูที่คุณเลี้ยงมาโดยไม่ใช้ยาปฏิชีวนะและก็ใช้ซีอิ๊วที่ไม่เป็น GMO ลดหวาน ลดเค็มด้วยตัวคุณเองก่อน แบบนี้ก็คลีนเหมือนกันผักก็ไม่ใช่ว่าสีเขียวๆ แล้วจะคลีน คุณต้องรู้ว่าปลูกมาอย่างไร ใช้สารเคมีหรือเปล่า เพราะฉะนั้นมันเหมือนเป็นมายาคติของคำว่าอาหารคลีนที่ทำให้คนก็ยังไปไม่ถึงอาหารหน้าตาพื้นบ้าน อย่างแกงเผ็ดมันดูร้อนแรงจะเป็นอาหารคลีนได้ไหมเพราะมันไม่ซีด เลยกลายเป็นว่าอาหารคลีนมาบล็อกกระแสอาหารท้องถิ่น จากที่อาหารท้องถิ่นมันจะยกระดับไปเป็นอาหารเพื่อสุขภาพได้ ก็ต้องอธิบายกันต่อไปเป็นสินค้าออแกนิคส่วนใหญ่แล้วผลผลิตที่เรารับมาจะเรียกว่าออแกนิค ออแกนิคคือการไม่ใช้สารเคมี แต่ว่าในเชิงการตลาดมันอาจจะไม่ใช่เพราะว่าออแกนิคที่สถาบันเขารับรองต้องมีเงื่อนไขข้อจำกัดเยอะแยะ เพราะฉะนั้นแล้วหลักๆ สินค้าที่เราได้มาก็จะเป็นระบบรับรองตัวเองใช้ระบบการรับรองอย่างมีส่วนร่วม ส่วนใหญ่ก็จะเป็นเครือข่ายที่เราทำงานด้วย แล้วได้ลงไปเห็นร้านที่มีมากกว่าการขายสินค้า ของกินเปลี่ยนโลกจะเป็นการทำอาหาร อาจจะเป็น Cooking class ต่างๆ อย่างวันนี้ที่เราอบรมทำซีอิ๊วกัน อยากให้คนหันมาพึ่งพาตัวเองในระบบอาหาร ก็อาจจะมีการชวนพ่อครัวแม่ครัวที่มีชื่อเสียงหน่อยมาร่วมกิจกรรม มาแชร์ ชวนพูดคุยกับเชฟอะไรต่างๆ แบบนี้ นอกนั้นก็อาจจะเป็นพวก Workshop เกี่ยวกับเรื่องการทำสวน การปลูกผักในเมืองอะไรประมาณนี้ ต่อไปสินค้าที่เราน่าจะมีเพิ่มมากขึ้นนอกจากอาหารก็จะเป็นของใช้ในชีวิตประจำวันพวกน้ำยาล้างจาน แชมพูเพื่อเป็นทางเลือก ก็อาจจะมีเป็น Workshop ด้วย สามารถติดตามได้ที่เพจกินเปลี่ยนโลกก็ได้ ส่วนคาเฟ่เราก็พยายามจะทำร้านนี้ให้มันเป็นพื้นที่ศึกษาในเรื่องที่เราอยากจะคุยอย่างเช่นเครื่องปรุงในเครื่องดื่ม คือทุกคนกินเครื่องดื่มที่หวานมาก และใช้ไขมันทรานส์เยอะมาก อย่างพวกนมข้นหวานหรือครีมเทียมก็ทำมาจากน้ำมันปาล์มเราก็รู้สึกว่ามันก็ไม่ได้ดีต่อสุขภาพมากนักแต่คุณก็ติดความหวานมันแบบนั้น จะทำอย่างไรที่เราจะเอาสิ่งที่ไม่ดีต่อสุขภาพเหล่านั้นออกไป ในเมนูเราก็เลยนำเสนอเฉพาะเมนูกาแฟ กาแฟจริงๆ ที่มีระบบการผลิตด้วยกระบวนการที่ดี มันอร่อยด้วยกาแฟของมันจริงๆ ใส่แต่นมสดแค่นั้น ใส่น้ำตาลที่มาจากชาวบ้าน ก็อาจจะเป็นอีกรสชาติหนึ่งที่นำเสนอ ที่มันก็อร่อยได้เหมือนกันสิ่งที่เปลี่ยนยากแต่เปลี่ยนได้ ที่ร้านเราก็จะฝึกพฤติกรรมไม่มีถุงพลาสติกให้ด้วย ไม่มีจริงๆ เราต้องแข็งใจมากเลยเวลามีคนขอถุง เพราะเราอยากให้ทุกคนจดจำได้เลยว่ามาที่นี่ต้องพกถุงมาเองถ้าต้องการถุงคุณต้องซื้อ เพื่อให้เขาเห็นว่ามันมีต้นทุน และมันยังมีต้นทุนทางสิ่งแวดล้อมด้วย ใช้ไปแล้วทิ้งก็เป็นภาระ เป็นขยะ เป็นมลพิษ เป็นสิ่งไม่สวยงามที่คุณก็ไม่อยากดูหลังจากที่คุณใช้แล้วก็ทิ้งไป เราก็ต้องปฏิเสธว่าไม่มีถุงให้แน่นอน แล้วก็ไม่มีแก้ว Take Away ถ้าอยากพกกาแฟออกไปกินก็ต้องเอาแก้วมาเองถ้าไม่มีแก้วมาก็นั่งกินในร้าน “กินเปลี่ยนโลก” เป็นโครงการรณรงค์อาหารท้องถิ่น มีกิจกรรมส่งเสริมเชื่อมโยงผู้ผลิตกับผู้บริโภค ให้สามารถสนับสนุนสินค้าของท้องถิ่น สนับสนุนเกษตรกรสร้างตลาดที่เป็นธรรม และสนับสนุนให้ผู้บริโภคเข้าถึงอาหารที่ดี ปลอดภัย เปิดร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์ เช่น ข้าวสาร น้ำตาลโตนด น้ำตาลอ้อย กะปิ น้ำปลา ฯลฯ โดยผลิตภัณฑ์เหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งในอาหารเล่าเรื่องราวของการปกป้องทรัพยากร การปกป้องพื้นที่ผลิตอาหารจากภัยคุกคามต่างๆ เช่น นโยบายการพัฒนาขนาดใหญ่ และความมั่นคงทางอาหารของชุมชน โดยรณรงค์เรื่องอาหารท้องถิ่น และระบบเกษตรกรรมยั่งยืน สามารถติดตามโปรแกรมดีๆ จากแฟนเพจ ร้านกินเปลี่ยนโลก Growing Diversity Shop&Cafe by Foodforchange3/12 สวนชีววิถี ซอยบางอ้อ2 หมู่ 6 ต.ไทรม้า อ.เมือง 11000 Nonthaburiโทรศัพท์ 02 985 3838https://www.facebook.com/GDShopByFoodforchangewww.food4change.in.th

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 196 ก้าวต่อไปของการคุ้มครองและยกระดับผู้บริโภคในโลกดิจิทัล

“เมื่อถึงวันที่ 15 มีนาคมของทุกปี เราก็กลับมาพบกันอีกครั้งกับวันสิทธิผู้บริโภคสากล ซึ่งเป็นอีกหนึ่งวันสำคัญที่จัดขึ้นเพื่อเตือนให้ผู้บริโภคทุกคนตระหนักถึงสิทธิขั้นพื้นฐานของตนเอง รวมทั้งส่งเสริมให้มีการเคารพและปกป้องสิทธิของผู้บริโภคอย่างทั่วถึงทั้งโลก โดยสำหรับในปี พ.ศ. 2560 นี้มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ซึ่งเป็นหนึ่งในสภาองค์กรผู้บริโภคอาเซียนก็ได้มีโอกาสข้ามน้ำทะเลไปร่วมงานประชุมผู้บริโภคสากลที่กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี ภายใต้ประเด็นหลักคือการคุ้มครองและยกระดับผู้บริโภคในโลกดิจิทัล ซึ่งจะมีข้อมูลน่าสนใจอะไรบ้าง เราลองไปดูกันเลยทำความรู้จักวันสิทธิผู้บริโภคสากลกันสักนิดแม้ว่าในแต่ละประเทศจะกำหนดกฎหมายเกี่ยวกับสิทธิของผู้บริโภคไว้มากน้อยแตกต่างกัน แต่แนวทางหลักๆ ที่ถูกนำมาใช้เป็นกรอบแนวคิดในการกำหนดกฎหมาย ต่างมีที่มาจากหลักสิทธิผู้บริโภคสากลขั้นพื้นฐาน 8 ประการ ได้แก่ 1. สิทธิที่จะได้รับสินค้าและบริการที่จำเป็นขั้นพื้นฐาน 2. สิทธิที่จะได้รับความปลอดภัยจากการใช้สินค้าและบริการ 3. สิทธิที่จะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องครบถ้วนที่จำเป็นเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการ 4. สิทธิที่จะเลือกซื้อสินค้าและบริการได้อย่างอิสระในราคายุติธรรม 5. สิทธิที่จะร้องเรียนเพื่อความเป็นธรรม 6. สิทธิที่จะได้รับการพิจารณาและค่าชดเชยความเสียหาย 7. สิทธิที่จะได้รับความรู้เกี่ยวกับการบริโภค และ 8. สิทธิที่จะดำรงชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดีและปลอดภัย ซึ่งถูกบัญญัติไว้โดยสหพันธ์องค์กรผู้บริโภคสากล (Consumers International หรือ CI) นั่นเองสหพันธ์องค์กรผู้บริโภคสากล เป็นกลุ่มองค์กรอิสระที่ก่อตั้งมานานกว่า 50 ปี มีประเทศสมาชิกในเครือข่ายองค์กรกว่า 240 องค์กรใน 120 ประเทศทั่วโลก ซึ่งบ้านเราก็เป็นหนึ่งในสมาชิกที่อยู่ในกลุ่มสภาองค์กรผู้บริโภคประเทศอาเซียน หรือในกลุ่มประเทศมาเลเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์และอินโดนีเซีย โดยสหพันธ์องค์กรผู้บริโภคสากลมีเป้าหมายเพื่อทำงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภคทั่วโลกโดยไม่แสวงหาผลกำไร และรับรองให้ทุกวันที่ 15 มีนาคมของทุกปีเป็นวันสิทธิผู้บริโภคสากล ซึ่งในวันดังกล่าวจะมีการจัดเวทีประชุมเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลปัญหาของผู้บริโภค รวมทั้งมีการกำหนดประเด็นในการรณรงค์ร่วมกันของกลุ่มประเทศสมาชิก เช่น ในปีที่ผ่านมาได้มีการร่วมรณรงค์ต่อยาปฏิชีวนะในอาหาร เนื่องจากพบว่าสามารถทำให้เกิดปัญหาเชื้อดื้อยา รวมทั้งเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตจากภาวะติดเชื้อและการเจ็บป่วยเล็กน้อยได้ การคุ้มครองผู้บริโภคในโลกดิจิทัลสำคัญอย่างไรแม้ประเด็นปัญหาของผู้บริโภคจะมีมากมายแตกต่างกันไป แต่หนึ่งปัญหาใหญ่ที่ผู้บริโภคทั่วโลกต้องเผชิญร่วมกันในยุคนี้ก็หนีไม่พ้นเรื่องเกี่ยวกับเทคโนโลยีดิจิทัล เพราะดิจิทัลได้เข้ามาเปลี่ยนวิถีชีวิตของผู้บริโภคทั่วโลก โดยช่วยทำให้เข้าถึงและดำเนินการด้านข้อมูลต่างๆ ได้อย่างสะดวกรวดเร็วขึ้น ซึ่งเป็นการเพิ่มทางเลือกและการแข่งขัน รวมทั้งกระตุ้นให้มีการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ในโลกธุรกิจ เช่น การซื้อขายสินค้าและบริการออนไลน์ หรือการทำธุรกรรมต่างๆ ผ่านโทรศัพท์มือถือ อย่างไรก็ตามข้อมูลอีกด้านหนึ่งกลับว่า โลกดิจิทัลได้สร้างอุปสรรคและความเสี่ยงต่างๆ ให้ผู้บริโภคจำนวนมาก ซึ่งปัญหาที่ส่งผลกระทบมากที่สุดคือยังมีผู้บริโภคบางส่วนเข้าไม่ถึงอินเทอร์เน็ต และผู้บริโภคส่วนใหญ่ก็ยังไม่เชื่อมั่นในระบบความปลอดภัยของโลกออนไลน์ เพราะต่างกลัวว่าข้อมูลส่วนตัวจะถูกนำไปใช้ในทางที่ผิด หรือจะตกเป็นเหยื่อของการหลอกลวงในโลกออนไลน์ ดังนั้นเพื่อแก้ไขปัญหาและส่งเสริมให้ผู้บริโภคทุกภาคส่วนของโลกสามารถเข้าถึงโลกดิจิทัลได้อย่างครอบคลุม สหพันธ์องค์กรผู้บริโภคสากลจึงผลักดันให้ปัญหาดังกล่าวให้กลายเป็นประเด็นหลักสำหรับในปีนี้ โดยกำหนดชื่อการชุมประชุมว่า “Building a Digital World Consumers Can Trust” หรือการสร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภคในโลกดิจิทัล อุปสรรคและความเสี่ยงของโลกดิจิทัลส่งผลกระทบอย่างไรบ้างจากปัญหาของผู้บริโภคข้างต้น ได้เผยผลสำรวจในงานประชุมผู้บริโภคสากลครั้งนี้ว่าอุปสรรคและความเสี่ยงต่างๆ ได้ส่งผลกระทบด้านลบโดยตรงต่อเศรษฐกิจทางดิจิทัล ทำให้ไม่เจริญเติบโตเท่าที่ควร โดยมีงานวิจัยหลายชิ้นชี้ว่า ความเชื่อใจของผู้บริโภคเป็นปัจจัยสำคัญต่อการซื้อ (demand) ซึ่งจะทำให้ตลาดดิจิทัลเจริญเติบโตทางด้านกำลังขาย (supply) ดังนั้นหากปราศจากความเชื่อใจของผู้บริโภค การเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลอาจจะไม่มีทางเป็นไปได้ ทั้งนี้หากต้องการให้ผู้บริโภคเกิดความเชื่อใจนั้น ต้องมีกฎหมายที่คลอบคลุมเพื่อสร้างความมั่นใจในหลายๆ ด้าน เช่น ด้านความเป็นส่วนตัว การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลหรือด้านการชดเชยเยียวยา นอกจากนี้ในทุกประเทศควรมีองค์กรที่ทำหน้าที่สร้างความตระหนักและให้ความรู้กับผู้บริโภค เพื่อยกระดับความสามารถของผู้บริโภคการเข้าถึงข้อมูลดิจิทัลได้อย่างปลอดภัย อย่างองค์กรอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคเป็นต้น แนวทางแก้ปัญหาเพื่อคุ้มครองและยกระดับผู้บริโภคในโลกดิจิทัลเพื่อให้การพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลให้เข้มแข็งขึ้นกว่าเดิม รวมทั้งเพื่อทำให้ผู้บริโภคเกิดความไว้วางใจในโลกดิจิทัลมากขึ้น หลายประเทศต่างๆ ทั่วโลกในกลุ่ม G20 (Group of Twenty) หรือกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำและประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ 20 แห่ง ได้แก่ อาร์เจนตินา, ออสเตรเลีย, บราซิล, แคนาดา, จีน, ฝรั่งเศส, เยอรมนี, อินเดีย, อินโดนีเซีย, อิตาลี, ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, เม็กซิโก, รัสเซีย, ซาอุดิอาระเบีย, แอฟริกาใต้, ตุรกี, อังกฤษ, สหรัฐอเมริกาและองค์กรสหภาพยุโรป ซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจรวมกันเท่ากับร้อยละ 90 ของเศรษฐกิจโลก และมีประชากรรวมกันประมาณ 2 ใน 3 ของโลก จึงร่วมมือกันหาแนวทางคุ้มครองและยกระดับผู้บริโภคในโลกดิจิทัล ซึ่งได้นำแนวทางของ UNGCP (UN Guidelines for Consumer Protection) หรือแนวทางของสหประชาชาติในการคุ้มครองผู้บริโภคมาเป็นกรอบแนวคิดเพื่อแก้ไขปัญหา โดยสามารถสังเคราะห์ออกมาได้เป็น 8 มิติที่ครอบคลุมประเด็นปัญหาต่างๆ เช่น การขยายการเข้าถึงบอร์ดแบรนด์ การปรับปรุงคุณภาพ การพัฒนาทักษะหรือความสามารถของผู้บริโภคในการเข้าถึงโลกออนไลน์กรอบคิดของ UN ในการคุ้มครองผู้บริโภคในโลกดิจิทัลมีอะไรบ้าง8 มิติของการแก้ปัญหาที่กลุ่ม G20 ร่วมกันวางกรอบแนวคิดไว้ มีการกำหนดตัวบ่งชี้ที่สามารถอธิบายและวัดความก้าวหน้าได้ เพื่อทำให้การแก้ปัญหามีความเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน ดังนี้1. ด้านการเข้าถึงเพื่อลดช่องว่างของการเข้าถึงข้อมูลบนโลกดิจิทัล จำเป็นต้องมีตัวชี้วัดที่สามารถบ่งบอกได้ว่าผู้บริโภคจะได้รับการส่งเสริมด้านใดบ้าง ซึ่งสามารถวิเคราะห์ได้จากสัดส่วนของประชากรได้รับบริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่หรือสัดส่วนของผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ต และวัดความพึงพอใจในคุณภาพและราคาที่ต้องเสียไปเมื่อมีการเข้าถึงข้อมูลดิจิทัลต่างๆ 2. ด้านประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ควรมีกฎหมายด้านการแข่งขันทางการค้าสำหรับโลกดิจิทัล เพื่อป้องกันผู้บริโภคถูกเอาเปรียบด้านราคา รวมทั้งต้องให้ผู้บริโภคมีความสามารถที่จะเปลี่ยนผู้ให้บริการ ICT ได้หากไม่พึงพอใจการให้บริการออนไลน์3. ความปลอดภัยด้านสินค้าและความรับผิด โลกดิจิทัลควรมีความปลอดภัย ซึ่งสามารถชี้วัดได้จำนวนและความรุนแรงของการรายงานเหตุสินค้าและบริการดิจิทัลที่ไม่ปลอดภัย โดยต้องพัฒนากฎหมายด้านความปลอดภัยและความรับผิด รวมทั้งควรมีหน่วยงานกำกับ ดูแล ควบคุมหรือสินค้าและบริการดิจิทัล นอกจากนี้ภาคธุรกิจก็ควรร่วมมือด้วยการยึดมั่นในมาตรฐานความปลอดภัยก่อนวางตลาด หรือติดตาม ตรวจสอบสินค้าของตนเองหลังการวางจำหน่ายในตลาด และเรียกคืนสินค้าที่ไม่มีคุณภาพ4. ความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยด้านข้อมูล เพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยด้านข้อมูล ควรมี Internet server ที่ปลอดภัย และพัฒนากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับปัญหาดังกล่าว5. ข้อมูลและความโปร่งใสควรมีองค์กรอิสระเพื่อผู้บริโภคเพื่อให้คำแนะนำก่อนทำการซื้อขาย หรือมีหน่วยงานทดสอบเปรียบเทียบสินค้าหรือบริการออนไลน์ต่างๆ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้บริโภคก่อนตกลงซื้อ6. การศึกษาและจิตสำนึกเพื่อทำให้ผู้บริโภคมีความรู้เท่าทันโลกดิจิทัล จำเป็นต้องเพิ่มทักษะด้านการใช้งานหรือสามารถแก้ไขปัญหาได้ หากพบว่าตนเองถูกหลอกลวงในโลกออนไลน์ เช่น วิธีการร้องเรียนไปยังหน่วยงานคุ้มครองผู้บริโภคต่างๆ  7. การแก้ปัญหาข้อพิพาทและการเยียวยาความเสียหายตัวชี้วัดสำหรับมิตินี้ สามารถพิจารณาได้จากสถานะของการดำเนินการระงับข้อพิพาทและการเยียวยาความเสียหาย รวมทั้งความพึงพอใจของผู้บริโภคเมื่อได้รับการแก้ปัญหา โดยควรพัฒนากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการระงับข้อพิพาทและการเยียวยาความเสียหายให้มากขึ้น รวมทั้งทำให้ระบบจัดการเรื่องร้องเรียนมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น8. ธรรมาภิบาลและความมีส่วนร่วมหน่วยงานของรัฐสามารถสร้างความเชื่อใจของผู้บริโภคในด้านการคุ้มครองสิทธิทางดิจิทัล ด้วยการออกกฎหมายเกี่ยวกับการคุ้มครองและยกระดับผู้บริโภคในโลกดิจิทัล หรือให้มีองค์กรเพื่อผู้บริโภคเข้ามามีส่วนร่วมในการออกกฎหมายและบังคับใช้กฎหมาย และให้หน่วยงานเพื่อผู้บริโภคมีอำนาจในการฟ้องคดีกลุ่มแทนผู้บริโภค นอกจากนี้หน่วยงานที่ทำหน้าที่กำกับดูแลด้าน ICT ต้องมีความโปร่งใสนอกจากนี้เพื่อให้ได้เพื่อผลลัพธ์ที่มีประสิทธิภาพที่สุด สหพันธ์องค์กรผู้บริโภคสากลก็ได้เสนอแนะให้กลุ่ม G20 ริเริ่มกระบวนการที่สามารถใช้เพื่อประเมิน หรือตรวจสอบสถานะของการคุ้มครองและยกระดับผู้บริโภคในโลกดิจิตัลทั้งในระยะกลางและระยะยาว รวมทั้งควรร่วมมือกันในการพัฒนาเครื่องมือกลไกสำหรับการจัดทำนโยบายและดำเนินการตามแผนนโยบายดังกล่าวเพิ่มเติม เช่น จัดตั้งคณะทำงานหรือมีองค์กรระหว่างประเทศที่ดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นทางการ หรือมีโครงการทดลองนำร่องเพื่อแก้ปัญหาและมีการประเมินผล แนะแนวทางเบื้องต้นสำหรับปกป้องข้อมูลของตัวเองบนออนไลน์นอกเหนือจากไปกรอบแนวคิดที่กลุ่ม G20 ได้ร่วมกันเสนอเพื่อคุ้มครองและยกระดับผู้บริโภคในโลกดิจิทัลแล้ว ก่อนจบการประชุมครั้งนี้สหพันธ์องค์กรผู้บริโภคสากลก็ได้นำเสนอ 10 วิธีเบื้องต้นที่จะทำให้ผู้บริโภคสามารถปกป้องข้อมูลของตัวเองบนออนไลน์ได้ ซึ่งมีดังนี้1. ใช้รหัสผ่านที่ต่างกันในแต่ละบัญชีผู้ใช้ รวมทั้งเปลี่ยนแปลงรหัสผ่านเสมอเพื่อป้องกันการถูกล้วงข้อมูล 2. ใช้การตั้งค่าความปลอดภัย หรือความเป็นส่วนตัวบนอุปกรณ์ที่ใช้สำหรับเชื่อมต่อโลกออนไลน์เสมอ 3. ระวังสิ่งที่แบ่งปันในโลกออนไลน์ โดยเฉพาะการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลในพื้นที่ที่ทุกคนเข้าถึงได้ง่าย 4. ตั้งค่ารหัสผ่าน Wi-Fi เพื่อจำกัดการเข้าถึงเครือข่ายที่เราใช้งานอยู่ 5. อย่าหลงกลอีเมลหลอกลวงที่มักให้เรากดเข้าไปดูและกรอกรายละเอียดส่วนตัว 6. หลีกเลี่ยงการเปิดไฟล์แนบอีเมลหรือลิงก์ที่ผิดปกติ  7. ควรมีบัญชีอีเมลมากกว่า 1 บัญชี ซึ่งช่วยป้องกันการระบุที่อยู่อีเมลที่แท้จริงเมื่อต้องสมัครลงชื่อใช้บริการในเว็บไซต์ต่างๆ 8. ชำระเงินกับเว็บไซต์ที่ปลอดภัย โดยสามารถตรวจสอบได้จากที่อยู่ของเว็บดังกล่าว ซึ่งควรขึ้นต้นด้วย “https: //” ไม่ใช่แค่ 'http' หรือมีเครื่องหมายเป็นรูปกุญแจล็อคสีเขียวที่ด้านซ้ายหรือด้านขวาข้างๆ ที่อยู่ดังกล่าว 9. อัปเดตซอฟต์แวร์เสมอ เพื่อให้ระบบรักษาความปลอดภัยบนอุปกรณ์การเชื่อมต่อมีความทันสมัย 10. ติดตั้งโปรแกรมป้องกันไวรัสที่มีประสิทธิภาพ *ข้อมูลอ้างอิงบางส่วนจากเว็บไซต์: http://www.consumersinternational.org/wcrd-2017-resource-pack/

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 190 กระแสต่างแดน

ขอแชร์เรื่องร้อนข้อมูลมหาศาลจากกิจกรรมออนไลน์ของเราไม่ได้ถูกเก็บในก้อนเมฆอย่างที่เราเรียกกัน จริงๆ แล้วมันอยู่ในเซิร์ฟเวอร์ของผู้ให้บริการเจ้าต่างๆ อาจเป็นห้องเล็กๆ หรืออาคารขนาด 15 สนามฟุตบอลที่ไหนสักแห่งในโลกนี้ และมันบริโภคร้อยละ 3 ของพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตได้ งานวิจัยของมหาวิทยาลัยลีดส์ ในอังกฤษระบุว่าการแชะ แชร์ ช้อปและอื่นๆ บนอุปกรณ์สื่อสารของเราจะทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้นถึง 300 เท่าอีก 10 ปีข้างหน้า บริษัทข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์จึงต้องรีบทำตัวให้ “เขียว” เช่น Facebook เลือกสร้างศูนย์ข้อมูลไว้ทางตอนเหนือของสวีเดน 70 ไมล์จากวงแหวนอาร์กติกเพื่อลดความร้อนของเซิร์ฟเวอร์ (แต่ก็ยังต้องใช้พัดลมยักษ์ช่วยถึง 500 ตัว) ในขณะที่ค่าย Ericsson ส่งลมร้อนที่เกิดขึ้นไปให้ความอบอุ่นกับผู้คนในเมืองเคอโดนูมี ทางตอนใต้ของฟินแลนด์ด้าน Google และ Apple เริ่มหันไปใช้พลังงานหมุนเวียน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Google ที่มีแผนจะใช้พลังงานสะอาดในศูนย์ข้อมูลทั้งหมดของบริษัทภายในปี 2017ขอคืนด้วยคนเยอรมันรักการดื่มกาแฟไม่แพ้ชาติใดในโลก มีผู้คนถึงร้อยละ 70 ที่นิยมซื้อกาแฟใส่แก้วไปทานนอกร้าน ทำให้สถิติการใช้แก้วกระดาษของเขาอยู่ที่ชั่วโมงละ 320,000 ใบ หรือปีละ 3,000 ล้านใบ ทำให้เกิดคาร์บอนไดออกไซด์ปีละ 83,000 ตัน และเนื่องจากเยอรมนีเคร่งครัดเรื่องความปลอดภัยของภาชนะบรรจุอาหาร ผู้ผลิตจึงไม่นิยมนำวัสดุรีไซเคิลมาใช้ จึงมีต้นไม้ถูกตัดปีละ 43,000 ต้น สมาคมพิทักษ์สิ่งแวดล้อมเยอรมนีบอกว่าถ้ากาแฟ “ทูโก” จะเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิต ก็ควรมีแก้วกาแฟแบบใช้ซ้ำไว้เป็นทางเลือกบ้าง โปรเจค “ไฟร์บูร์กคัพ” เริ่มขึ้นในเดือนที่ผ่านมาและมีทีท่าว่าจะไปได้สวย ขณะนี้มีผู้ประกอบการร้านกาแฟเข้าร่วม 56 ราย และมีแก้วกาแฟที่ล้างแล้วใช้ซ้ำได้ถึง 400 ครั้งหมุนเวียนอยู่ในเมือง 15,000 แก้ว (แต่แมคโดนัลด์และสตาร์บัคส์ ไม่ร่วมด้วยเพราะไม่ต้องการใช้แก้วที่ไม่มีสัญลักษณ์แบรนด์ตัวเอง)ผู้ซื้อจ่ายค่ามัดจำแก้ว 1 ยูโร (38 บาท) ไปพร้อมค่ากาแฟ เมื่อดื่มหมดแล้วก็นำแก้วไปขอรับเงินคืนจากสาขาใดก็ได้ของร้านดังกล่าว เจ้าของร้าน Cafe Aspekt บอกว่าขณะนี้ร้อยละ 30 ของลูกค้าเปลี่ยนมาใช้ “ไฟร์บูร์กคัพ” แล้วแอปหมูๆชาวโฮจิมินห์มีตัวช่วยในการเลือกซื้อเนื้อหมูในตลาดสดแล้ว ตั้งแต่วันที่ 10 ธันวาคม เป็นมา ผู้บริโภคจะสามารถโหลดแอปจาก www.te-food.com ลงในสมาร์ตโฟนเพื่อใช้สแกนข้อมูลเกี่ยวกับพันธุ์ ฟาร์มเลี้ยง โรงฆ่า ไปจนถึงตลาดที่จำหน่าย จากตราประทับอิเล็กทรอนิกส์ที่ติดอยู่ที่เนื้อหมูได้ขณะนี้มีฟาร์มประมาณ 1,000 แห่ง โรงฆ่า 11 โรง และตลาดอีก 60 แห่งสนใจเข้าร่วมโครงการนำร่อง ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างหน่วยงานรัฐที่ดูแลด้านอุตสาหกรรมและการค้า การเกษตร การพัฒนาชนบท และเทคโนโลยี งานนี้เขารับประกันว่าผู้บริโภคส่วนใหญ่จะเข้าถึงเนื้อหมูคุณภาพได้ เพราะตลาดขายส่งสองแห่งที่ร่วมโครงการ(ตลาดบินเตียนและตลาดฮกมน) ก็เป็นแหล่งจำหน่ายเนื้อหมูถึงร้อยละ 80 แล้วโครงการฉบับเต็มจะเริ่มในเดือนมีนาคมปีหน้า และจะขยายต่อไปยังเนื้อสัตว์ชนิดอื่น รวมถึงผัก และผลไม้ เพราะถึงเวลาแล้วที่เทคโนโลยีต้องช่วยให้เรากินดีอยู่ดีหนี้เหนือระบบแพลตฟอร์มการกู้ยืมเงินออนไลน์กำลังเป็นที่นิยมมากในหมู่หนุ่มสาวชาวจีน เพราะเจ้าหนี้และลูกหนี้สามารถตกลงเรื่องจำนวนเงิน การค้ำประกัน และดอกเบี้ยได้โดยไม่ต้องพบเจอกัน การหาเงินกู้มันจะสะดวกสบายอะไรปานนั้น แต่มันอาจต้องแลกมาด้วยความอับอาย ในปลายเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมามีรูปนู้ดของสาวๆ จำนวนมากถูกแชร์ออกมาในอินเตอร์เน็ต ผู้หญิงในรูปก็คือบรรดาลูกหนี้ที่ค้างจ่าย และคนที่นำรูปมาเผยแพร่ก็คือเจ้าหนี้ดอกเบี้ยโหดนั่นเอง เจ้าหนี้และลูกหนี้เป็นผู้ใช้บริการเว็บไซต์ Jiedaibao ซึ่งออกตัวว่าไม่สามารถเข้าไปแทรกแซงข้อตกลงระหว่างผู้ใช้บริการได้ เจ้าหนี้กลุ่มนี้ (ซึ่งปล่อยกู้ให้กับนักศึกษาโดยเฉพาะ) เลือกใช้หลักประกันเป็นรูปถ่ายหวิวของลูกหนี้ขณะถือบัตรประจำตัว และลูกหนี้ซึ่งเป็นนักศึกษาหญิงอายุระหว่าง 19 – 23 ปีก็ยินยอมให้เผยแพร่ได้หากชำระเงินไม่ตรงเวลาพร้อมหรือยังเมื่อโดนัลด์ ทรัมพ์บอกว่าเขาจะฟื้นอุตสาหกรรมสิ่งทอในสหรัฐและนำเม็ดเงินกลับมาเข้ากระเป๋าคนอเมริกัน ในการหาเสียงที่กรีนส์โบโร ในอริโซนา(อดีตฐานการผลิตสิ่งทอของสหรัฐฯ) ... หลายฝ่ายเกิดความสงสัยโรงงานผลิตเสื้อผ้าขนาดใหญ่ในอเมริกาปิดกิจการไปหมดแล้วในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา เพราะแบรนด์แฟชั่นต่างๆ ย้ายไปใช้โรงงานในประเทศจีนกันหมด คนอเมริกันเองก็คุ้นชินและคาดหวังเสื้อผ้าคุณภาพดีราคาถูกที่นำเข้าจากต่างประเทศกันหมดแล้ว ปัจจุบันมีเพียงร้อยละ 2 ของเสื้อผ้าเท่านั้นที่ผลิตในอเมริกา ร้อยละ 20 นำเข้าจากเม็กซิโก ที่เหลือก็มาจากแถวใกล้ๆ บ้านเรานี่เองแม้แต่แบรนด์เสื้อผ้า IVANKA TRUMP มูลค่า 135 ล้านเหรียญของลูกสาวเขาเองก็ใช้ฐานการผลิตในจีนและเวียดนาม ก่อนจะโน้มน้าวใครให้หันกลับมาสร้างงานให้คนอเมริกัน ทรัมพ์คงต้องคุยกับลูกสาวตัวเองก่อน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 102 ช้อปช่วยโลก ซื้อของห้างไหนช่วยลดใช้ถุงพลาสติก

ฉลาดซื้อ ขอเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยกระตุ้นให้ทุกคนหันมาสนใจปัญหาโลกร้อนกันอย่างจริงจัง เราจึงอยากชวนทุกคนมาช่วยกันลดขยะถุงพลาสติก ซึ่งเป็นขยะที่ย่อยสลายยาก สิ้นเปลืองพลังงานในการผลิต แถมยังสร้างมลพิษให้กับสิ่งแวดล้อม เมื่อเรากำจัดมันไม่ได้ (เพราะถ้าเผาก็จะไปทำลายชั้นบรรยากาศ ถ้าฝังดินก็จะทำให้ดินเสื่อมสภาพ) เราก็ลองมาหาวิธีลด-ละ-เลิกการใช้ถุงพลาสติกกันดีกว่า   ในชีวิตประจำวันของเราคงเป็นเรื่องยากที่จะหลีกเลี่ยงการใช้ถุงพลาสติก เพราะร้านค้าเกือบแทบจะทุกแห่งต่างก็ใช้ถุงพลาสติกใส่ของให้กับลูกค้า ไม่ว่าจะเป็นในตลาดสด ร้านสะดวกซื้อ ห้างสรรพสินค้า หรือซูเปอร์มาร์เก็ต วงจรชีวิตการใช้งานของถุงพลาสติกนั้นสั้นมากๆ คือเมื่อของที่ใส่ถุงพลาสติกมาถูกนำไปใช้ ถุงพลาสติกก็จะถูกทิ้งให้กลายเป็นขยะ มีบ้างที่เก็บไว้สำหรับใส่ของอื่นๆ (ซึ่งส่วนมากก็มักจะเป็นขยะ) ซึ่งเมื่อเก็บรวมกันไว้มากๆ เป็นเวลานานๆ แล้วไม่ได้ถูกนำไปใช้ประโยชน์อะไร สุดท้ายถุงพลาสติกทั้งหลายก็ต้องแปรสภาพกลายเป็นขยะอยู่ดี   ฉลาดซื้อ อยากชวนทุกคนมาลดการใช้ถุงพลาสติก เราเลยลองสุ่มสำรวจซูเปอร์มาร์เก็ตและห้างค้าปลีกต่างๆ ทั่วกรุงเทพฯ ว่าแต่ละที่มีวิธีการจัดสรรถุงพลาสติกใส่ของให้กับลูกค้าอย่างไรบ้าง โดยเราได้กำหนดรายการสินค้าจำนวน 20 รายการ โดยเลือกสินค้าที่คนส่วนใหญ่ต้องซื้อใช้อย่างน้อยๆ ก็น่าจะเดือนละครั้ง อย่าง ผงซักฟอก น้ำยาล้างจาน น้ำยาถูพื้น กระดาษชำระ กาแฟ นม น้ำตาล เสริมด้วยพวกของสด อย่าง ผัก และลูกชิ้น เพื่อเพิ่มความหลากหลายของประเภทและลักษณะแพ็คเก็จบรรจุภัณฑ์ของสินค้า ซึ่งถือเป็นเงื่อนไขหนึ่งในการจัดสินค้าใส่รวมลงในถุงพลาสติก ฉลาดซื้อ อยากรู้ว่าซูเปอร์มาร์เก็ตไหนให้ถุงพลาสติกกับเราน้อยที่สุด ตารางแสดงผลสุ่มสำรวจการใช้ถุงพลาสติกของห้างค้าปลีกและซุปเปอร์มาร์เก็ต(รายชื่อสินค้า 1. ผงซักฟอก โอโมพลัส ดีโอเฟรช 1,100 กรัม 2.น้ำยาทำความสะอาดพื้น มาจิคลีน 900 มิลลิลิตร 3.น้ำยาล้างห้องน้ำ วิกซอล 900 มิลลิลิตร 4.น้ำยาซักผ้าขาว ไฮเตอร์ 600 ซีซ๊ 5.น้ำยาล้างจาน ซันไลต์ 600 ซีซี x 3 6.เนสกาแฟ เรดคัพ (ถุงเติม) 200 กรัม 7.ครีมเทียม .คอฟฟี่เมต 450 กรัม 8.น้ำตาล มิตรผล 1 กิโลกรัม 9.นม UHT โฟร์โมสต์ 225 มิลลิลิตร x 6 10.น้ำสละ เฮลส์ บลู บอย 710 ซีซี 11.กระดาษเช็ดหน้า เลดี้สก็อตต์ กล่อง 150 ชิ้น 12.กระดาษชำระ สก็อตต์เอ็กซ์ตร้า แพ็ค 6 ม้วน x 2 13 ผ้าอนามัน ลอริเอะซูเปอร์อัลตร้าสลิม 20 ชิ้น 14.บะหมี่คัพ มาม่า 60 กรัม x 3 15.มันฝรั่งทอดกรอบ เลย์ 125 กรัม 16.แฮม ซีพี แพ็ค 150 กรัม 17.ไข่เค็ม 18.อาหารสด 19.ผักสด)  *หมายเหตุ: เป็นการทดสอบสุ่มซื้อในช่วงวันที่ 16 – 22 กรกฎาคม 2552 ห้างเขาก็ใส่ใจเรื่องลดใช้ถุงพลาสติก“โลกร้อน” เป็นปัญหาของทุกคนบนโลกใบนี้ เราจึงต้องช่วยกันคนละไม้คนละมือ ซึ่งบรรดาผู้ประกอบการห้างค้าปลีกและซูเปอร์มาร์เก็ตทั้งหลายก็ไม่ได้ใจร้าย ปล่อยให้ผู้บริโภคอย่างเราต้องหาวิธีลดใช้ถุงพลาสติกกันอยู่ฝ่ายเดียว เพราะแต่ละที่ก็คิดว่าวิธีการดีๆ เพื่อลดปริมาณการใช้ถุงพลาสติกในสถานประกอบการของตัวเอง วิธีที่ฮิตที่สุด คงหนีไม่พ้น “ถุงผ้าฟีเวอร์” ซึ่งก็มีอยู่หลายห้างที่ขานรับวิธีนี้ ซึ่งการแจกหรือจำหน่ายถุงผ้าของห้างค้าปลีกหรือซูเปอร์มาร์เก็ตต่างๆ เป็นวิธีการที่ช่วยกระตุ้นและสร้างความรู้สึกของการช่วยกันลดใช้ถุงพลาสติกให้กับผู้ที่มาซื้อสินค้าได้ชัดเจนที่สุด เช่น บิ๊กซี ที่มีแคมเปญให้ ซื้อถุงผ้าที่ห้างทำขึ้น จะได้รับค่าโทรศัพท์ฟรี 10 บาท หรือ คาร์ฟูร์ ที่มีการจำหน่ายถุงผ้าซึ่งผลิตจากสารที่ได้จากการรีไซเคิลขวดพลาสติก เพื่อให้ลูกค้านำมาใช้แทนถุงพลาสติก เป็นต้น บางห้างไม่ได้ทำออกมาแค่เพียงถุงผ้า แต่ยังผลิตถุงกระดาษออกมาใช้ด้วย เช่น เซ็นทรัล ฟู้ดส์ ฮอลล์ และ ท็อปส์ ซูเปอร์มาร์เก็ต ที่อยู่ในเครือ เซ็นทรัล รีเทล บางที่ก็ใช้วิธีให้ส่วนลดสำหรับคนที่หิ้วถุงผ้ามาซื้อสินค้า หรือจัดแคมเปญกระตุ้นจิตสำนึกเรื่องภาวะโลกร้อน เช่น Think Green ของเดอะ มอลล์ กรุ๊ปส์ (โฮม เฟรช มาร์ช และ กรูเมต์ มาร์เก็ต) ที่เป็นโครงเพื่อสิ่งแวดล้อม อย่างการจัดกิจกรรมให้ลูกค้าที่บอกไม่รับถุงพลาสติก 1 ใบ เท่ากับได้ร่วมปลูกต้นไม้ 1 ต้น หรืออย่าง ตั้งฮั้วเส็ง ที่เคยร่วมกับเขตหลักสี่ ส่งวิทยากรมาสาธิตประดิษฐ์และตกแต่งถุงผ้าในโครงการรณรงค์ใช้กระเป๋าผ้าลดภาวะโลกร้อน แถมแต่ละห้างที่เราสำรวจในครั้งนี้ก็เข้าร่วมในโครงการ “45 วัน รวมพลัง ลดถุงพลาสติก ลดโลกร้อน” ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ถ้าการลดการใช้ถุงพลาสติกเป็นเรื่องยาก ก็มีอีกหนึ่งทางเลือก คือ ถุงพลาสติกที่ย่อยสลายได้ หรือ oxo-biodegradable plastic bag ซึ่งถุงพลาสติกชนิดนี้สามารถย่อยสลายได้ด้วยความร้อนจากแสงอาทิตย์ และออกซิเจนในอากาศ ภายในระยะเวลา 1 - 2 ปี (แตกต่างจากถุงพลาสติกทั่วไปที่มีอายุยาวนานหลายร้อยปี) สาเหตุที่ถุงพลาสติกย่อยสลายได้ยังไม่ค่อยแพร่หลาย คงเป็นเพราะต้นทุนที่สูงกว่าถุงพลาสติกทั่วไปประมาณ 5 – 10% ห้างค้าปลีกและซูเปอร์มาร์เก็ตที่ใช้ถุงพลาสติกชนิดนี้ ก็อย่างเช่น วิลล่า มาร์เก็ต, โฮม เฟรช มาร์ช กับ กรูเมต์ มาร์เก็ต ในเครือ เดอะ มอลล์ กรุ๊ปส์ และ เซ็นทรัล ฟู้ดส์ ฮอลล์ กับ ท็อปส์ ซูเปอร์มาร์เก็ต ในเครือ เซ็นทรัล รีเทล   ไม่ใช้ถุงพลาสติก เราทุกคนทำได้-ถุงผ้ารักษาโลก –ถุงผ้าไม่ได้มีไว้สะพายตามแฟชั่นเท่านั้น แต่ประโยชน์ของมันคือการนำมาใช้แทนถุงพลาสติก ไม่ว่าจะซื้ออะไรก็เอามาใส่ไว้ในถุงผ้า แบบนี้ลดใช้ถุงพลาสติกได้แน่นอน-ถือเอาเลยก็ได้ ถ้าซื้อไม่กี่ชิ้น – ซื้อชิ้น 2 ชิ้น จะใส่ถุงทำไมให้เป็นขยะทำลายโลก ถือกลับมาเลยดีกว่า ไม่น่าจะลำบาก-ขับรถมาอย่าพาถุงไป –ใครที่ขับรถยนต์ไปซื้อของ ก็บอกกับห้างได้เลยว่าไม่เอาถุง แค่ใส่ของที่ซื้อมาลงในรถเข็นแล้วค่อยหยิบมาใส่ไว้ในรถได้เลย-รวมกันได้ในถุงใบเดียว – ถุงพลาสติกมีความยืดหยุ่นและทนทาน สามารถรองรับน้ำหนักได้ดี ถ้ามีของมากสามารถใส่ถุงเดียวกันได้ ก็บอกให้พนักงานเขาใส่รวมกันได้เลย-บอกอย่างมั่นใจ ว่าไม่เอาถุง – พยายามฝึกให้เป็นนิสัย ถ้าไม่จำเป็นก็ไม่ต้องใช้ถุงพลาสติก ซื้อของคราวหน้า บอกไปเลยว่า “ไม่เอาถุง”-ลดการซื้อ = ลดใช้ถุง – ซื้อเท่าที่ใช้ ใช้เท่าที่จำเป็น ทั้งช่วยโลกแล้วยังช่วยประหยัดอีกต่างหาก แถมจ้า! ตารางเปรียบเทียบราคาสินค้าจากการทดสอบการใช้ถุงพลาสติกของห้างค้าปลีกและซูเปอร์มาร์เก็ต*หมายเหตุ: เป็นราคาในช่วงระหว่างวันที่ 16 – 22 กรกฎาคม 2552 ประเทศไทยมีปริมาณขยะต่อวันเท่ากับ 40,000 ตันเฉพาะในกทม.มีปริมาณขยะต่อวันเท่ากับ 8,500 ตันขยะถุงพลาสติกเฉพาะในกทม.ต่อวันเท่ากับ 1,800 ตันเสียค่าใช้จ่ายในการเก็บขนขยะต่อวันเป็นเงิน 1.78 ล้านบาท แต่ถ้าหากเราสามารช่วยกันลดการใช้ถุงพลาสติกลงได้ จะประหยัดค่าใช้จ่ายในการเก็บขนขยะได้ถึง 650 ล้านบาทต่อปี และยังช่วยลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เป็นสาเหตุของภาวะเรือนกระจกได้ถึง 1 ล้านตันต่อปี(ข้อมูลจาก กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม)

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 174 กระแสต่างแดน

ยังไม่พร้อมความพร้อมในการอพยพผู้อยู่อาศัยในบริเวณรอบๆ โรงไฟฟ้าเซนได(ซึ่งคาดว่าจะกลับมาใช้งานได้ตั้งแต่วันที่ 10 สิงหาคม) ยังคงต่ำกว่าระดับค่าเฉลี่ยของญี่ปุ่นทั้งประเทศการสำรวจโดยหนังสือพิมพ์อาซาฮีพบว่า มีสถานพยาบาล 2 แห่งจาก 85 แห่ง และศูนย์พักฟื้น 15 แห่ง จาก 159 แห่งในรัศมี  30 กิโลเมตรจากโรงไฟฟ้าดังกล่าวเท่านั้นที่เตรียมพร้อมแผนอพยพในกรณีฉุกเฉินถ้ารวมความพร้อมในเขตโรงงานนิวเคลียร์ทั้งประเทศจะพบว่า มีเพียงร้อยละ 34 เท่านั้นจัดทำแผนอพยพแล้ว ในปี 2012 รัฐบาลญี่ปุ่นขยายเขตการเตรียมตัวเมื่อเกิดภัยพิบัติ จากรัศมี 8 – 10 กิโลเมตรเป็น 30 กิโลเมตร และกำหนดให้สถานพยาบาลต่างๆ ระบุสถานที่พักสำหรับคนไข้ เส้นทางการอพยพ รูปแบบการเดินทางขนส่งที่จะใช้ เพื่อไม่ให้เกิดความล่าช้าในการอพยพผู้ป่วยและชาวบ้านเหมือนเหตุการณ์ที่เมืองฟุกุชิมะนอกจากนี้ยังกำหนดให้เมืองและหมู่บ้าน 135 แห่งในรัศมี 30 กิโลเมตรของโรงไฟฟ้าทุกโรง รวบรวมรายชื่อผู้ที่ไม่สามารถอพยพด้วยตนเองได้เอาไว้ด้วย แต่การสำรวจพบว่า 1 ใน 4 ของหมู่บ้านเหล่านี้ยังไม่ได้ทำ ปัจจุบันเตาปฏิกรณ์ปรมาณูทุกตัวในญี่ปุ่นถูกพักงาน แต่บริษัทคิวชู อิเล็กทริก พาวเวอร์ กำลังผลักดันให้เซนไดเป็นโรงงานแรกที่เริ่มใช้งานเตาดังกล่าวอีกครั้ง ภายใต้มาตรการความปลอดภัยที่เข้มงวดขึ้น และในอนาคตอัน โรงไฟฟ้าทากาฮามาและโรงไฟฟ้าอิคาตะก็จะเริ่มเดินเครื่องเตาเหล่านี้เช่นกัน   ระวัง “ของนอก” อาหารปลอมจากจีนระบาดไปหลายประเทศ จึงไม่แปลกที่เราจะได้ยินข่าวว่าคนจีนก็ไม่ไว้ใจอาหารในประเทศตัวเองผู้ประกอบการหลายเจ้าจึงไม่ยอมพลาดโอกาสจัดหาสินค้าแบรนด์นอกเข้ามาสนองความต้องการของผู้บริโภคที่ต้องการอาหาร “ปลอดภัยและมีคุณภาพ”  นมผงสำหรับทารกเป็นหนึ่งในสินค้าที่ว่า บรรดาผู้ผลิตนมผงยี่ห้อที่ได้รับความน่าเชื่อถือในต่างประเทศต้องกำหนดโควตาการส่งออกไปยังประเทศจีน เพื่อไม่ให้เกิดการขาดแคลนในประเทศตัวเอง แม้แต่นักท่องเที่ยวที่ถือโอกาสไปหิ้วมาด้วยตนเองก็เริ่มพบอุปสรรค เพราะต้นทางเขาจำกัดจำนวนซื้อ (ฮ่องกงอนุญาตให้นักท่องเที่ยวจีนซื้อได้คนละ 2 กระป๋อง ออสเตรเลียให้ซื้อได้คนละ 4 กระป๋อง) โอกาสใหม่สำหรับพ่อค้าหัวใสจึงบังเกิด เขาเอาใจผู้นิยมของนอกด้วยการ “จ้าง” โรงงานในประเทศที่มีชื่อเสียงด้านผลิตภัณฑ์นม อย่างออสเตรเลีย เป็นผู้ผลิตให้ บนกระป๋องมีฉลากที่ระบุว่า “มาจากออสเตรเลีย” และ “ได้รับการรับรองโดยหน่วยงานที่ดูแลผลิตภัณฑ์นมของออสเตรเลีย” แล้วขายออนไลน์ในราคาถูกจนไม่น่าเชื่อขนาดรวมค่าจัดส่งแล้ว นมผงกระป๋องขนาด 1,800 กรัม ราคาประมาณ 600 บาทเท่านั้นมันเป็นสินค้า “จากออสเตรเลีย” ที่คุณหาซื้อไม่ได้ในออสเตรเลียแน่ๆ แล้วก็ได้แต่สงสัยว่ามัน “ผลิตในออสเตรเลีย” จริงหรือเปล่า  อยากรู้ ต้องได้รู้กฎหมายที่กำหนดให้ไม่ต้องมีการติดฉลากอาหารที่มีส่วนประกอบผ่านการดัดแปรพันธุกรรม หรือ  Safe and Accurate Food Labeling Act กำลังจะเข้าสู่การพิจารณาโดยวุฒิสภาอเมริกันเร็วๆ นี้ร่างกฎหมายนี้มีคนตั้งชื่อให้ว่า DARK Act หรือ Denying Americans the Right–to-Know Act เพื่อประชดที่กฎหมายดังกล่าวละเมิดสิทธิที่ผู้บริโภคจะได้รู้ว่ามีอะไรอยู่ในอาหารที่พวกเขารับประทาน Just Label It หนึ่งในองค์กรที่คัดค้านร่างกฎหมายดังกล่าวระบุว่า ร้อยละ 90 ของคนที่พวกเขาสอบถาม เห็นด้วยกับการติดฉลาก และยังมีอีกกว่า 200,000 คนที่ลงชื่อออนไลน์ว่าไม่เห็นด้วยกับ “พรบ. มืด” ดังกล่าว ดาราสาวกวินเน็ธ พาลโทรว์ ก็เป็นหนึ่งในนั้น เธอมาร่วมประท้วงในฐานะคุณแม่ที่ต้องการให้ลูกๆได้สิ่งที่ดีและสมควรได้รู้ว่าเธอกำลังให้พวกเขารับประทานอะไร  คุณแม่ของเธอก็มาด้วยเพราะเชื่อว่ายังมีเรื่องที่ต้องพิสูจน์อีกมากเกี่ยวกับความปลอดภัยของอาหารดัดแปรพันธุกรรม ด้านอุตสาหกรรมอาหารอ้างว่า การติดฉลากจะทำให้ผู้บริโภคสับสน แถมยังต้องจ่ายเงินมากขึ้นถึงปีละ 500 เหรียญ (17,500 บาท) ต่อครัวเรือน แถมยังแขวะดาราสาวว่าหาเรื่องเกาะกระแสแก้ตกเทรนด์หรือเปล่า    ปัจจุบัน จีน บราซิล รัสเซีย ออสเตรเลีย ประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรป และประเทศอื่นๆ รวม 64 ประเทศ มีกฎหมายบังคับการติดฉลากระบุว่ามีส่วนผสมที่ผ่านการดัดแปรพันธุกรรมแล้ว    โดนเรียกคุยหลังจากชาวเน็ตในสิงคโปร์พากันแชร์รูปพนักงานร้าน BreadTalk เทนมถั่วเหลืองยี่ห้อ Yeo’s ลงในขวดแบ่งของทางร้าน ที่ติดฉลากว่า “freshly prepared” (ซึ่งทำให้ผู้บริโภคเข้าใจว่าทางร้านทำเองทุกวัน)ทางร้านออกมาขอโทษและหยุดขายผลิตภัณฑ์ดังกล่าวแล้ว BreadTalk ยอมรับว่าเขาแบ่งนมถั่วเหลืองพาสเจอไรส์ยี่ห้อเย่วอี้มาใส่ขวดขายในร้านจริง ซึ่งก็เป็นเรื่องปกติที่ร้านอาหารนิยมทำ(แต่ร้านอื่นเขาไม่ได้ติดฉลากที่ว่านะคุณ)ร้านให้เหตุผลว่าปกติแล้วขวดเหล่านั้นเป็นขวดสำหรับใส่น้ำผลไม้คั้นสด ไม่ได้ใช้สำหรับนมถั่วเหลือง และจะดูแลไม่ให้เกิดเรื่องแบบนี้ขึ้นอีก  แต่นั่นยังไม่เพียงพอ สมาคมผู้บริโภคแห่งสิงคโปร์ CASE – Consumers Association of Singapore บอกว่าการกระทำดังกล่าวถือเป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้ และเรียกร้านขนมปังเจ้าดังสัญชาติสิงคโปร์ (ซึ่งมีสาขาอยู่ในบ้านเราด้วย) เข้ามาพูดคุยปรับความเข้าใจเนื่องจากฉลากทำให้เข้าใจได้ว่าทางร้านเป็นผู้ผลิตนมถั่วเหลืองเองทุกวัน ซึ่งสอดคล้องกับการมีราคาสูงกว่านมถั่วเหลืองที่เทจากกล่อง ผู้บริโภคจึงมีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากการกระทำดังกล่าวได้   บอลลิวูดลดโลกร้อนอุตสาหกรรมภาพยนตร์ก็ไม่ต่างจากอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่ใช้พลังงานมหาศาลและสร้างผลกระทบมากมายต่อสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นการเดินทางของทีมงาน นักแสดง การใช้แสง สี เสียง และเอฟเฟคต่างๆ รวมถึงอาหารการกิน ไหนจะวัสดุต่างๆที่นำมาสร้างฉากอีก ทั้งหมดนี้ล้วนทำให้เกิด “รอยเท้าคาร์บอน” ภาพยนตร์เรื่อง “Aisa Yeh Jahaan” เป็นภาพยนตร์อินเดียเรื่องแรกที่มีการบันทึกข้อมูลรอยเท้าคาร์บอน การถ่ายทำภาพยนตร์ดรามาเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมเรื่องนี้ สร้างคาร์บอนไดออกไซด์ 78.47 ตัน คิดจากการใช้พลังงานทั้งทางตรง (ไฟฟ้าที่ใช้) และทางอ้อม (อาหาร การเดินทาง ฯลฯ)  เพื่อเป็นการชดเชยมลพิษที่สร้างขึ้น ผู้สร้างต้องปลูกต้นไม้ทั้งหมด 560 ต้น แนวทางการวัดและจัดการร้อยเท้าคาร์บอนสำหรับอุตสาหกรรมภาพยนตร์ ถูกกำหนดขึ้นโดยสมาคมผู้ผลิตภาพยนตร์ BAFTA ของอังกฤษ และ PGA ของอเมริกา ที่ผ่านมาพบว่าหนังค่ายเล็กๆ จะสร้างคาร์บอนฯประมาณ 100 ตัน แต่ถ้าเป็นหนังฟอร์มยักษ์ ก็อาจสร้างคาร์บอนฯ ได้มากถึง 10,000 ตันอุตสาหกรรมภาพยนตร์ของลอนดอนเจ้าเดียวก็ทำให้เกิดคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 125,000 ตัน ต่อปี (เทียบเท่ากับปริมาณจากบ้าน 24,000 หลังเลยทีเดียว)  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 166 กระแสต่างแดน

เมาได้... แต่จ่ายด้วยทุกปีในช่วงเทศกาลปีใหม่ที่เมืองออลีนส์ ประเทศฝรั่งเศส จะมีคนถูกตำรวจจับ 250 ถึง 300 คนเพราะเมาแล้วสร้างความไม่สงบหรือสร้างความรู้สึกไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินเพื่อจับตาดูพฤติกรรมของพวกที่เมาข้ามปี เทศบาลเขาต้องจ้างตำรวจพร้อมรถลาดตระเวนเพิ่มเป็นพิเศษ ปัญหาคือ ใครควรเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายดังกล่าว รวมถึงค่าจ้างหน่วยกู้ภัย หรือรถพยาบาลด้วยคิดสะระตะแล้ว เทศบาลเมืองนี้จึงออกประกาศให้นักดื่มได้ทราบโดยทั่วกันว่า พวกเขาอาจโดนเรียกเก็บค่าปรับ 120 ยูโร(เกือบ 5,000 บาท) ถ้าถูกพบเห็นว่าออกมาเดินเปะปะตามถนนค่าปรับนี้รวมเฉพาะค่ารถพยาบาลและรถตำรวจ ถ้าต้องเรียกหมอมาดูอาการด้วย เขาก็จะคิดเพิ่มเป็น 150 ยูโร (ประมาณ 6,000 บาท) แต่ไม่ใช่แค่เสียค่าปรับแล้วจบนะ บางรายยังได้แถมโทษจำคุกอีกสาธารณสุขของฝรั่งเศสยอมรับว่าปัจจุบันเยาวชนหันมาเป็นนักดื่มมากขึ้น และไม่ใช่ดื่มแบบค่อยเป็นค่อยไป พวกนี้รีบดื่มรีบเมาตามกระแสยอดฮิตจากเกมออนไลน์ เน็คนอมิเนชั่น (Neknomination)ร่างกฎหมายใหม่จึงเสนอให้ผู้ที่ชักชวนบุคคลที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะให้ดื่มแอลกอฮอล์ มีโทษจำคุก 1 ปี และโทษ 15,000 ยูโร(ประมาณ 609,000 บาท)  เขียวได้อีก การมีโรงผลิตไฟฟ้าด้วยเซลล์แสงอาทิตย์ในยุโรปนั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ที่กรุงเวียนนานี่เขาล้ำไปอีกขั้นด้วยการยกระดับตัวเองขึ้นเป็นแหล่งอนุรักษ์สิ่งมีชีวิตหายาก เช่น ตั๊กแตน จิ้งหรีด หอยทาก จิ้งเหลน แมงมุม แมงเม่า แมลงเต่าทอง (ยุโรปเขาหายากจริงนะ)นอกจากจะผลิตกระแสไฟฟ้าเพื่อรองรับบ้าน 400 หลังคาเรือนแล้ว พื้นที่ประมาณ 2 สนามฟุตบอลของโซล่าฟาร์มแห่งนี้ยังเป็นที่อยู่ของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็กที่ใกล้สูญพันธุ์อีกด้วยการทำให้ฟาร์มนี้น่าอยู่ก็ไม่มีอะไรมาก เพราะร่มเงาและช่องว่างระหว่างแผงมีเหลือเฟือ ที่ต้องเพิ่มคือเทคนิคการตัดหญ้าแบบไม่ธรรมดาที่คงความน่าอยู่สำหรับสัตว์หรือแมลงเล็กๆ เหล่านั้นเวียนนามุ่งมั่นจะเป็นมหานครสีเขียว ซีอีโอของโซล่าฟาร์มแห่งนี้บอกว่า 5 ปีจากนี้ไป บริษัทจะลงทุนเพิ่มอีก 800 ล้านยูโร (ประมาณ 32,600 ล้านบาท) และเกินครึ่งของเงินดังกล่าวจะใช้เพื่อการลงทุนในพลังงานหมุนเวียน สมาคมสิ่งแวดล้อมออสเตรียกล่าวว่า ร้อยละ 55 ของพื้นที่หลังคาในเวียนนาสามารถรองรับการติดตั้งแผงโซล่าเซลล์ได้ ชาวเวียนนาสามารถซื้อแผงโซล่าเซลล์จากบริษัทได้คนละ 10 แผง ในราคาแผงละ 950 ยูโร (ประมาณ 40,000 บาท) จากนั้นให้บริษัทเช่าแผงดังกล่าวในราคา 29.45 ยูโร (1,200 บาท) ต่อแผงต่อปี เป็นเวลาอย่างต่ำ 5 ปี และเมื่อครบ 25 ปี บริษัทจะซื้อแผงคืนทั้งหมด ถอนทุนลดโลกร้อน โครงการสร้างท่าเรือน้ำลึกแอบบ็อต พอยนท์ ในรัฐควีนส์แลนด์ เพื่อรองรับการขนส่งถ่านหิน เป็นที่ถกเถียงกันมากเพราะมันอาจเป็นผลเสียต่อแนวปะการัง “เกรท แบเรีย รีฟ” ที่คนทั้งโลกรู้จัก เนื่องจากเป็นโครงการ “ร้อน” บรรดาธนาคารข้ามชาติ (เช่น ซิตี้กรุ๊ป เจพีมอร์แกนเชส ดอยท์ชแบงค์ โกลด์แมนแซคส์ และเอชเอสบีซี) ต่างก็พากันถอนตัวจากการให้กู้ แต่ธนาคารสัญชาติออสเตรเลีย 4 แห่ง ได้แก่ เนชั่นแนลออสเตรเลีย คอมมอนเวลท์ เอเอ็นเซด และเวสแพค กลับตัดสินใจปล่อยกู้ให้กับโครงการนี้ รวมๆ แล้ว ธนาคารเหล่านี้ให้เงินกู้กับธุรกิจพลังงานฟอสซิลไปกว่า 19,000 ล้านเหรียญออสเตรเลีย (ไม่ต่ำกว่า 500,000 ล้านบาท) แล้ว ลูกค้าที่ไม่เห็นด้วยกับนโยบายการลงทุนของธนาคารจึงพากันไปปิดบัญชี แล้วย้ายไปอยู่กับธนาคารที่มีพฤติกรรมการให้กู้ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากกว่า ถึงวันนี้มีคนมาปิดบัญชีไปแล้วเป็นมูลค่า 450 ล้านเหรียญ (12,000 ล้านบาท) นักวิเคราะห์บอกว่า คนกลุ่มนี้น่าจะคิดถูกแล้ว เพราะแม้ว่าออสเตรเลียจะเป็นผู้ส่งออกถ่านหินรายใหญ่อันดับสองของโลกและกำลังเปิดเหมืองเพิ่มอีก 120 แห่ง แต่ทั้งราคาถ่านหินกำลังและความต้องการใช้ถ่านหินกลับน้อยลง จีนซึ่งเป็นลูกค้ารายใหญ่ที่สุดของออสเตรเลียก็มีแผนจะปิดโรงงานถลุงเหล็กเพื่อลดมลภาวะในประเทศ ภาคการเงินการธนาคารเป็นเสาหลักของเศรษฐกิจขนาด 15,000 ล้านเหรียญ (405,000 ล้านบาท) ของออสเตรเลีย และยักษ์ใหญ่ทั้งสี่ก็อยู่ในกลุ่มธนาคารที่ทำกำไรได้มากที่สุดในโลก เพราะสามารถดึงดูดลูกค้าได้มากจากผลตอบแทนที่สูง เงินอย่างเดียวไม่พอ เวเนซูเอล่ามีรายได้จากการขายน้ำมันถึง 114,000 ล้านเหรียญ (3,700,000 ล้านบาท) ต่อปี แต่ประชากรในประเทศกลับขาดแคลนสินค้าอุปโภคบริโภค สถานการณ์นี้รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ จนรัฐบาลต้องจำกัดการซื้อเหมือนที่คิวบาและเกาหลีเหนือ ก่อนเข้าซูเปอร์มาร์เก็ต ลูกค้าจะต้องถูกสแกนนิ้วมือ (บางร้านใช้บัตรประจำตัวประชาชน) เพราะรัฐต้องการควบคุมไม่ให้เกิดการซื้อเกินหนึ่งรอบต่อวัน ใครต้องการซื้อผ้าอ้อมสำเร็จรูปก็ต้องนำสูติบัตรของลูกมาแสดงด้วย หรือสินค้าที่มีค่าดั่งทอง อย่างนมผง รัฐก็กำหนดให้ซื้อได้สัปดาห์ละ 1 กิโลกรัมเท่านั้น รัฐบาลบอกว่ามาตรการสแกนนิ้วมือนี้ออกมาเพื่อดัดหลังพวกที่ซื้อสินค้าควบคุมราคาเหล่านี้แล้วนำข้ามชายแดนไปขายทำกำไรที่ประเทศโคลัมเบีย ประธานาธิบดีของเขาให้ข้อมูลว่าร้อยละ 40 ของสินค้าจากเวเนซูเอลาไปปรากฏตัวอยู่ในตลาดโคลัมเบีย (... แต่นักเศรษฐศาสตร์บอกว่าร้อยละ 10 นะ) เรื่องของเรื่อง เวเนซูเอลาประกาศให้สินค้าจำเป็นหลายชนิดเป็นสินค้าควบคุมราคา เช่น นม น้ำมัน ข้าว เนื้อไก่ กาแฟ ยาสีฟัน และผงซักฟอก แต่ปัจจุบันร้านค้าต่างๆ กลับมีของเหล่านี้เพียงร้อยละ 30 ของสต็อคปกติเท่านั้น และด้วยเหตุผลเดียวกัน รัฐบาลอนุญาตให้เติมน้ำมันได้ไม่เกิน 2 ครั้งต่อสัปดาห์ โดยควบคุมผ่านบาร์โค้ดที่กระจกหน้ารถ เพราะกลัวน้ำมันจะไหลไปที่โคลัมเบียหมด น้ำมันที่เวเนซูเอล่าราคาไม่ถึง 1 เซนต์ต่อแกลลอน แต่ถ้าในโคลัมเบียที่ชายแดนติดกันนั้น น้ำมันราคาเกือบ 4.5 เหรียญต่อแกลลอน) ยังไม่หมดนะ รัฐบาลเขาควบคุมการ “ใช้” น้ำด้วยการหยุดปล่อยน้ำสัปดาห์ละ 108 ชั่วโมงด้วย ทั้งนี้ชาวบ้านบอกว่า การควบคุมพวกนี้ไม่เห็นจะช่วยแก้ปัญหาขาดแคลนได้ตรงไหน จริงๆ แล้วควรยกเครื่องเศรษฐกิจทั้งประเทศต่างหาก ลดเปลือก ปีหนึ่งๆ สินค้าต่างๆ ถูกบรรจุอยู่ในหีบห่อซึ่งมีน้ำหนักรวมกันกว่า 207 ล้านตัน และถ้ายังไม่มีความพยายามใดๆ เพิ่มเติม บวกกับกำลังซื้อของคนชั้นกลางที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและพฤติกรรมใช้ของอย่างไม่ค่อยคุ้มค่าของผู้บริโภค การใช้บรรจุภัณฑ์จะเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 47 เมื่อถึงปี 2025 ตัวเลขนั้นอาจคิดตามยาก เอาเป็นว่า 1 ใน 3 ของขยะในเมืองหลวงก็คือบรรจุภัณฑ์นั่นเอง บรรดาบริษัทผู้ผลิตก็กำลังหาทางลดเจ้าหีบห่อพวกนี้ด้วยการออกแบบให้ใช้ทรัพยากรเท่าที่จำเป็น เพราะสามารถลดต้นทุนการผลิตได้ด้วยการจัดซื้อวัตถุดิบน้อยลงและเสียค่าขนส่งน้อยลง เช่น ซิสโก้สามารถลดบรรจุภัณฑ์ลงได้ 855,000 กิโลกรัม เดลล์ก็หันมาใช้ฟางและวัสดุที่ทำจากเห็ดเป็นตัวกันกระแทกในกล่องชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ แม้แต่ยูนิลิเวอร์ก็ให้คำมั่นว่าจะลดบรรจุภัณฑ์ลงให้ได้ 1 ใน 3 ภายในปี 2020 หรือแม้แต่ขวดแก้วบรรจุเครื่องดื่มก็กำลังจะเปลี่ยนโฉมไป เราจะได้เห็นขวดรูปร่างผอมสูงกันมากขึ้น เพราะมันใช้วัตถุดิบในการผลิตน้อยกว่าขวดเตี้ยสั้น แถมมีน้ำหนักเบากว่าด้วย การออกแบบบรรจุภัณฑ์ในอนาคตจะเน้นการมีมากกว่าหนึ่ง “ชีวิต” เพื่อส่งเสริมการนำกลับมาใช้ใหม่ แต่เป้าหมายสูงสุดคือการไม่ต้องผลิตมันออกมาแต่แรกนั่นเอง เพราะมันดีกว่าการตามไปเก็บตอนหลังเห็นๆ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 159 กระแสต่างแดน

สเปนจะเริ่มสปาย รัฐบาลสเปนเตรียมแผนเก็บข้อมูลบัญชีธนาคารของชาวสเปนทั้งหมด 34 ล้านบัญชี เพื่อจัดการขั้นเด็ดขาดกับขบวนการคอรัปชั่น การฟอกเงินและการก่อการร้าย และแผนนี้ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการกฤษฎีกาและหน่วยงานที่ดูแลด้านการคุ้มครองข้อมูลแล้ว ตามแผนที่ว่า ธนาคารต่างๆ จะต้องส่งข้อมูลบัญชีออมทรัพย์ กระแสรายวัน และบัญชีฝากประจำ ทั้งของบุคคลและนิติบุคคลให้กับหน่วยงานของรัฐ เพื่อให้สรรพากร กองทัพ ศาล และหน่วยสืบราชการลับสามารถเข้ามาตรวจสอบได้สะดวก ใครที่โอนเงินมากกว่า 1,000 ยูโร (ประมาณ 44,500 บาท) และดูมีพิรุธจะถูกจับตา ส่วนการโอนมากกว่า 30,000 ยูโร (ประมาณ 1,335,500 บาท) จะถูกตรวจสอบทุกกรณี และถ้าใครมียอดเงินโอนมากกว่า 3,000 ยูโรต่อเดือนก็จะถูกตรวจสอบ นอกจากนี้การทำธุรกรรมของนักการเมืองและข้าราชการระดับสูงจะถูกจับตาดูอย่างใกล้ชิด แต่ใช่ว่าทุกคนจะเห็นด้วย บรรดาธนาคารต่างๆ ยังไม่มั่นใจเรื่องการรั่วไหลของข้อมูลลูกค้า ด้านผู้พิพากษาก็ให้ความเห็นว่าข้อมูลดังกล่าวอาจถูกนำไปใช้เพื่อผลทางการเมืองได้ และในการสืบสวนคดีที่เกี่ยวข้องกับการเลี่ยงภาษี ถ้ามีคำสั่งศาลก็สามารถขอข้อมูลการเงินจากสรรพากรได้อยู่แล้ว องค์กรผู้บริโภคมองว่าไม่น่าจะมีอะไรเปลี่ยนแปลง เพราะบริษัทใหญ่ๆ ของสเปนก็พากันไปตั้งบริษัทย่อยในดินแดนปลอดภาษีกันหมดแล้ว คงไม่เจออะไรในบัญชีที่มีอยู่ในสเปนหรอก ที่สำคัญใครจะเป็นคนรับประกันว่าหน่วยสืบราชการลับจะไม่ร่วมมือกับรัฐบาลหาประโยชน์จากข้อมูลของผู้บริโภค     อีเวนท์ที่ต้องเว้น โศกนาฎกรรมเรือเซวอล ที่มีผู้เสียชีวิตกว่า 300 คนซึ่งส่วนใหญ่เป็นเด็กนักเรียนนั้นส่งผลกระทบอย่างมากต่อการบริโภคของประชากรเกาหลี แม้แต่กิจกรรมการตลาดเพื่อเกาะกระแสบอลโลกในเดือนมิถุนายนที่เตรียมกันไว้ก็ยังมีอันต้องพับไป ผู้เชี่ยวชาญฟันธงว่า ถ้าใครบังอาจจัดงานรื่นเริงตอนนี้ จะได้ผลในทางตรงกันข้ามต่อแบรนด์ของตัวเองแน่นอน แม้แต่ฮุนไดมอเตอร์ ผู้สนับสนุนอย่างเป็นทางการของสหพันธ์ฟุตบอลระหว่างประเทศ (FIFA) ที่เตรียมจัดงานส่งเสริมการตลาดมากมายเช่น เกมส์ชิงรางวัลตั๋วฟรีไปดูนัดที่เกาหลีใต้ลงแข่ง การแจกลูกฟุตบอล หรือผลิตภัณฑ์ที่มีตราสัญลักษณ์ World Cup ก็ต้องงดไปหลายงาน โฆษณาของฮุนไดที่ทำออกมาเป็นแนวขำขันเพื่อสร้างความคึกคักในช่วงเทศกาลบอลโลกและเป็นความหวังของบริษัทที่จะกระตุ้นยอดขายในวันที่รถเกาหลีกำลังถูกรถจากต่างประเทศเข้ามาแย่งตลาด ก็ยังถูกเลื่อนการออกอากาศไปโดยไม่มีกำหนด บริษัทโทรคมนาคมรายใหญ่อันดับสองของเกาหลี K2 ซึ่งเป็นสปอนเซอร์หลักของทีมฟุตบอลโสมขาว ยักษ์ใหญ่อย่างซัมซุงอิเล็กทรอนิกส์ และแฟรนไชส์ร้านกาแฟ Caffe Bene ก็เช่นกัน ผู้เชี่ยวชาญบอกว่าโศกนาฏกรรมครั้งนี้ส่งผลต่อการบริโภคมากกว่าเหตุการณ์ครั้งใดๆ ที่ผ่านมา เป็นปัจจัยที่ทำให้ผู้คนไม่ต้องการจับจ่ายใช้สอย มีส่วนร่วมในกิจกรรมบันเทิง หรือเดินทางท่องเที่ยว เห็นได้จากยอดใช้บัตรเครดิตก็ลดลงอย่างเห็นได้ชัดในช่วงวันที่ 16 ถึง 22 เมษายน และคงจะเป็นเช่นนี้ไปถึงไตรมาสที่สาม รุ่นใหม่ประหยัดไฟกว่า ในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา นิวซีแลนด์ต้องเผชิญกับสถานการณ์ไฟฟ้าดับเป็นเวลานานอยู่หลายครั้ง จากการเกิดภัยธรรมชาติ แต่ผลการสำรวจพบว่าผู้คนยังไม่ตื่นตัวเท่าที่ควรในการเตรียมรับมือสถานการณ์ดังกล่าว การสำรวจของผู้ให้บริการไฟฟ้า Canstar Blue พบว่า ชาวเมืองโอคแลนด์มีการเตรียมพร้อมน้อยที่สุด ร้อยละ 43 ยังไม่ได้เตรียมระบบไฟสำรองไว้ใช้ เช่นเดียวกับเมืองเวลลิงตันและเมืองแคนเทอบรี ที่ร้อยละ 35 และร้อยละ 29 ของประชากรก็ยังไม่พร้อมรับมือกับเหตุฉุกเฉินเช่นกัน ผลสำรวจที่น่าสนใจอีกอย่างคือ การเปลี่ยนเจ้าผู้ให้บริการไฟฟ้าของผู้บริโภค เพื่อหาเจ้าที่คุ้มค่าและเหมาะกับการใช้ของตัวเองมากที่สุด (นิวซีแลนด์มีผู้ประกอบการหลายเจ้า และมีหลายโปรโมชั่น คล้ายๆ กับโทรศัพท์มือถือ) ไม่ได้เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วมากนัก มีร้อยละ 30 คิดอยากจะเปลี่ยนแต่ยังไม่ลงมือทำจริงๆ และปีนี้ก็มีคนคลิ๊กเข้าไปใช้เครื่องมือในอินเตอร์เน็ทเพื่อเปรียบเทียบราคาค่าไฟของผู้ประกอบการแต่ละเจ้าน้อยลงด้วย แต่เดี๋ยวก่อนข่าวดียังมีอยู่ ... เขาพบว่าชาวกีวีที่อยู่ในเจนวาย (อายุระหว่าง 18 – 29 ปี) เป็นกลุ่มที่มีแนวโน้มจะใช้ไฟฟ้าอย่างประหยัดที่สุด และเป็นกลุ่มที่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อมมากกว่ากลุ่มอายุอื่นๆ ด้วย   ผู้บริโภคเตรียมรับเละ ใครมีแผนจะไปซื้อทัวร์ในบราซิลโปรดฟังทางนี้ หลังจากผลักดันกันมากว่า 12 ปี ร่างกฎหมายกำกับดูแลอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในบราซิลฉบับใหม่ผ่านการพิจารณาในเบื้องต้นแล้ว เหลือเพียงการรับรองโดยประธานาธิบดีเท่านั้น กฎหมายอันว่าด้วยความรับผิดชอบของบริษัททัวร์ที่มีต่อลูกค้า มีทั้งหมด 28 มาตรา มีมาตราหนึ่งระบุว่าถ้าการส่งมอบบริการซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแพคเก็จท่องเที่ยว เช่น โรงแรม สายการบิน โปรแกรมทัวร์ชมเมือง ไม่เป็นที่พอใจของลูกค้า ค่าใช้จ่ายในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวจะถือเป็นภาระของผู้บริโภค ไม่บอกคุณก็คงรู้ว่าร่างนี้ผลักดันโดยสมาคมผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวแห่งบราซิล (เขาอ้างว่าที่ผ่านมาไม่ว่าจะเป็นความผิดของใคร บริษัทก็ต้องเป็นคนจ่ายทุกที อย่างนี้ขาดทุนซ้ำซาก ลืมตาอ้าปากไม่ได้ซักที) แม้ผู้บริโภคจะยังมีสิทธิที่จะนำเรื่องฟ้องศาลเพื่อการเรียกร้องค่าเสียหาย แต่ก็ต้องเป็นฝ่ายพิสูจน์ให้ได้ว่าความเสียหายนั้นเกิดจากความผิดพลาดของบริษัท (แล้วใครจะอยากฟ้องล่ะนี่) ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายผู้บริโภคบอกว่า ถ้ากฎหมายนี้ผ่านจริง นี่จะเป็นหนึ่งในอุปสรรคที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในงานคุ้มครองผู้บริโภค ที่สำคัญมันขัดต่อกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคและรัฐธรรมนูญที่ระบุไว้รัฐมีหน้าที่ส่งเสริมการคุ้มครองผู้บริโภค   กังหันลมประจำบ้าน ข่าวดีสำหรับชาวดัทช์ เดี๋ยวนี้เขาสามารถซื้อกังหันลมขนาดเล็กมาติดหลังคาบ้าน (แบบเดียวกับที่เราติดจานดาวเทียมบนหลังคานั่นแหละ) เพื่อผลิตพลังงานไฟฟ้าไว้ใช้เองในครอบครัว บริษัทอาคิมิดิส ผู้ผลิตกังหัน Liam F1 Wind บอกว่ากังหันหนึ่งตัวสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ประมาณครึ่งหนึ่งของความต้องการใช้ไฟฟ้าในครัวเรือนทั่วไปและมันจะไม่ทำเสียงดังสร้างความรำคาญให้ผู้อยู่อาศัย ด้วยสนนราคา 4,000 ยูโร (ประมาณ 180,000 บาท) จุดคุ้มทุนจะอยู่ที่ประมาณ 8 – 15 ปี บริษัทบอกว่าเจ้ากังหันมินิที่มีความสูง 1.5 เมตร หนัก 75 กรัม จะมีหลายสีให้เลือกเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่ต้องการอุปกรณ์ประหยัดไฟที่ช่วยสร้างสีสันให้กับบ้านไปพร้อมๆ กัน ข่าวบอกว่าเขาจะทำสีทองไปขายในตะวันออกกลางด้วยนะ แต่ข่าวไม่ได้บอกว่าเขาจะทำมาขายเมืองไทยหรือไม่ รู้กันไว้ให้น้ำลายไหลเล่นๆ ในวันที่บ้านเรายังไม่มีการพูดถึงการพึ่งพาตัวเองด้านพลังงานของแต่ละครัวเรือน  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 143 กระแสต่างแดน

  ของขวัญต้อง “เป็นกลาง” ของขวัญที่เด็กๆ คาดหวังจะได้ในวันคริสต์มาสหรือปีใหม่ คงจะหนีไม่พ้นของเล่น ผู้ใหญ่อย่างเราก็มักจะซื้อหาของขวัญที่นอกจากจะไม่เป็นอันตรายแล้ว ยังต้องเลือกให้เหมาะกับเด็กหญิงหรือเด็กชายด้วย ว่าแต่มันต้องเป็นเช่นนั้นด้วยหรือ? ห้างค้าปลีกแห่งหนึ่งในสวีเดน (ในเครือบริษัททอยส์อาร์อัส) สร้างความแปลกใหม่ให้กับวงการด้วยการนำเสนอภาพเด็กผู้หญิงถือปืนของเล่น และเด็กผู้ชายกอดตุ๊กตา ในแคตาล็อกของเล่นสำหรับเทศกาลคริสต์มาสที่ผ่านมา เพราะเชื่อว่าการตลาดต้องตอบสนองกระแสสังคม องค์กรเฝ้าระวังการโฆษณาและการทำการตลาดสินค้าสำหรับเด็กของสวีเดน ออกมาชื่นชมว่าเป็นก้าวที่สำคัญมาสำหรับสังคมสวีเดนซึ่งส่งเสริมบทบาทและความเท่าเทียมระหว่างหญิงและชายอยู่แล้ว ถนนหนทางในเมืองใหญ่อย่างสต็อคโฮล์ม หรือโกเตนเบิร์ก คุณจะเห็นบรรดาคุณพ่อเข็นรถเข็นพาลูกออกไปเดินเล่น มากพอๆ กับคุณแม่ เพราะที่นี่พ่อได้รับสิทธิหยุดงานมาเลี้ยงลูกได้ถึง 60 วัน องค์กรดังกล่าวเห็นด้วยอย่างยิ่งว่าสื่อต่างๆ ไม่ควรตอกย้ำบทบาทหญิงชายแบบที่เป็นการเหมารวม ในโฆษณาหรือในแคตาล็อคสินค้า (เช่น มีแต่เด็กผู้หญิงเท่านั้นที่เล่นแต่งตัวตุ๊กตา หรือเด็กผู้ชายเท่านั้นที่จะเล่นรถหรือปืน เป็นต้น) สื่ออังกฤษและอเมริกันไม่เห็นด้วยกับเรื่องนี้ หนังสือพิมพ์เดอะเทเลกราฟของอังกฤษมีบทความที่ตั้งข้อสังเกตว่าสังคมสวีเดนคงเพี้ยนไปแล้ว และเด็กผู้ชายอาจจะมีความเบี่ยงเบนทางเพศมากขึ้น ขณะเดียวกันคอลัมนิสต์ชาวอเมริกันก็ประชดประชันว่าวิทยาศาสตร์ไม่สำคัญอีกต่อไปแล้ว สวีเดนสามารถใช้กระบวนการ “วิศวกรรมสังคม” ทำให้เด็กชายและเด็กหญิงเหมือนกันได้ ไม่แน่ ... สวีเดนอาจจะมาถูกทางแล้วก็ได้ สมัยนี้อะไรๆ ก็ต้องเป็นกลางไว้ก่อน ... จริงมั้ยพี่น้อง?      อาจไม่มี “วันสิ้นโรค” หลายคนโล่งอกที่เราผ่านพ้น “วันสิ้นโลก” ในปี 2012 มาได้ แต่คุณรู้หรือไม่ว่ายังมีสิ่งที่น่ากลัวกว่านั้นให้เราได้ลุ้นกันอีก ทุกวันนี้เราเชื่อมั่นว่าความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่มีอยู่และกำลังจะมีต่อไปจะช่วยให้เราสามารถผลิตยาออกมารักษาอาการเจ็บป่วยได้ทุกชนิด แต่คุณรู้หรือไม่? งานวิจัยที่คิดค้นยาปราบเชื้อโรคตัวใหม่ๆ นั้น จัดว่าล้าหลังอยู่ไม่ต่ำกว่า 10 ปี และยาทุกตัวที่มีอยู่ขณะนี้ ยังไม่สามารถฆ่าเชื้อแบคทีเรียบางชนิดได้  ง่ายๆ ก็คือถ้าเราบังเอิญล้มป่วยด้วยแบคทีเรียตัวที่ว่าเข้า มันก็คงจะเป็น “วันสิ้นเรา” สถาบันสุขภาพแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านการรักษาโรคใหม่ๆ ยังสามารถรักษาโรคติดเชื้อได้สำเร็จเพียงแค่ 2 ใน 3 ของคนไข้ที่เข้ารับการรักษาเท่านั้น  ส่วนคนไข้ที่เหลือนั้นมีอาการดื้อยา ทำให้เสี่ยงต่อการเสียชีวิตเพราะยาปฏิชีวนะที่มีอยู่ ไม่สามารถกำจัดเชื้อโรคตัวดังกล่าวได้ ปัญหาเรื่องเชื้อโรคดื้อยานี้ถูกจัดให้เป็นหนึ่งในความเสี่ยงที่มนุษย์ต้องเผชิญในปี 2013 (นอกเหนือจากปัญหาโลกร้อน ความเหลื่อมล้ำของรายได้ การขาดแคลนน้ำใช้ ภาวะสังคมสูงวัย ภัยจากการเชื่อมต่อในโลกออนไลน์ ฯลฯ) ตามรายงานของ World Economic Forum ประเทศที่ยากจนอาจมีส่วนทำให้เกิดการแพร่กระจายของเชื้อโรคด้วยปัญหาด้านสุขอนามัย การขาดแคลนน้ำสะอาด ความเป็นอยู่ที่แออัด หรือความขัดแย้งทางการเมือง ในขณะที่ประเทศที่ร่ำรวยก็ยังไม่สามารถแก้ความเข้าใจผิดของประชาชนเกี่ยวกับการใช้ยาปฏิชีวนะพร่ำเพรื่อได้ การสำรวจในยุโรปพบว่าคนฝรั่งเศสมากกว่าครึ่งเข้าใจว่าต้องใช้ยาปฏิชีวนะ หรือที่บ้านเรานิยมเรียกว่า “ยาแก้อักเสบ” เพื่อรักษาไข้หวัด หรือในบางประเทศแพทย์จะนิยมสั่งยาให้แบบค็อคเทล (จัดไปหลายๆ ตัวทีเดียวเลย) เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกฟ้องร้องจากความล่าช้าในการรักษา เพราะยังไม่สามารถวินิจฉัยได้ว่าเป็นการติดเชื้อจากไวรัสหรือแบคทีเรีย หรือชี้ชัดลงไปไม่ได้ว่าเป็นไวรัสหรือแบคทีเรียชนิดใด ความเสี่ยงนี้สามารถเกิดขึ้นคุณได้ไม่ว่าคุณจะอยู่ที่ใด และมันอาจส่งผลต่อการขาดแคลนอาหาร  เนื่องจากการติดเชื้อที่ไม่สามารถรักษาได้ ในปศุสัตว์ หรือเกิดการกีดกันการนำเข้าอาหาร เพราะกลัวการติดเชื้อจากนอกประเทศ  นอกจากนี้รัฐบาลประเทศต่างๆ อาจจะเพิ่มมาตรการควบคุม/จำกัดการเดินทาง หรือการย้ายถิ่นที่อยู่ของประชากรด้วย ทางที่ดีเราต้องเลิกการใช้ยาปฏิชีวนะพร่ำเพรื่อกันตั้งแต่วันนี้ เพื่อไปให้ถึง “วันสิ้นโรค” ให้จงได้     ค่าธรรมเนียมกำจัดซาก ใดๆ ในโลกล้วนอนิจจัง เมื่อรถที่เราใช้ต้องเก่าผุพังเสื่อมสภาพไปตามกาลเวลา แล้วเราจะทำอย่างไรกับขยะรถเหล่านี้? หลายประเทศเริ่มใช้วิธีการเก็บค่าธรรมเนียมการกำจัดซากรถจากผู้ผลิตและผู้นำเข้ารถยนต์ อย่างกรณีของรัสเซียเขาก็เพิ่งจะประกาศกฏหมายใหม่ที่ระบุให้มีการเก็บค่าธรรมเนียมดังกล่าวจากรถทุกคันที่ผลิตขึ้นหลังวันที่ 1 กันยายน ปี 2555 สนนราคาสำหรับรถเล็กอยู่ที่ 20,000 รูเบิล (ประมาณ 20,000 บาท) ต่อคันเป็นอย่างต่ำ ส่วนรถบรรทุก รถบัส อย่างต่ำอยู่ที่คันละ150,000 รูเบิล (ประมาณ 150,000 บาท) ทางการบอกว่าเงินที่เก็บมาก็เพื่อใช้ในการสร้างโรงงานรีไซเคิลรถยนต์ ผู้ผลิตเจ้าไหนมีแผน “รับกลับ” สำหรับรถที่ตนเองผลิต ก็ไม่ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมดังกล่าว ทั้งนี้กฎหมายกำหนดให้ผู้ผลิตมีโรงงานรีไซเคิลรถเก่าในทุกภูมิภาคของประเทศ และในเมืองที่มีประชากรมากกว่า 500,000 คน งานนี้น่าจะหมายถึงราคารถที่สูงขึ้น เพราะผู้ผลิตอาจเลือกวิธีผลักภาระต่อมาที่ผู้บริโภค แต่ตัวแทนอุตสาหกรรมผลิตรถยนต์เขาบอกว่าไม่น่าเป็นอย่างนั้น  เพราะผู้ผลิตน่าจะเอาไปถัวกับภาษีนำเข้าอะไหล่ที่ลดลงหลังจากรัสเซียเข้าเป็นสมาชิก WTO หรือองค์กรการค้าโลก คนรัสเซียคงอิจฉาเราแย่เลย เพราะนอกจากจะไม่ต้องจ่ายค่ารีไซเคิลรถแล้วรัฐยังคืนภาษีให้อีกต่างหาก   หวานไม่หยุด หลายคนอาจจะตั้งใจแน่วแน่ว่าปีใหม่นี้จะต้องลดน้ำหนักให้ได้ แต่ส่วนใหญ่มักไม่ประสบความสำเร็จ ...อย่าได้ท้อใจเด็ดขาด ทุกอย่างแก้ไขได้ด้วยข้อมูล(เกี่ยวกับน้ำตาล) และทักษะการอ่าน(ฉลาก) นักวิจัยเขาแนะนำให้ระวังส่วนผสมในอาหารแปรรูปและเครื่องดื่ม ตัวที่ชื่อว่า Corn Syrup หรือน้ำเชื่อมข้าวโพดเพราะมันมีน้ำตาลฟรุคโตสสูงการทดลองครั้งนี้ ใช้เครื่องสแกน MRI (magnetic resonance imaging) ติดตามการไหลเวียนของเลือดในสมอง ในคนหนุ่มสาว 20 คน ที่มีน้ำหนักตัวปกติ หลังจากดื่มเครื่องดื่มที่มีกลูโคสหรือฟรุคโตสเข้าไป ภาพสแกนแสดงให้เห็นว่า กลูโคสจะปิดหรือยับยั้งกิจกรรมในบริเวณของสมองที่ควบคุมความอยากรับประทานอาหาร ในขณะที่ฟรุคโตสไม่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว  ความอยากอาหารจึงยังคงมีอยู่ ... และส่งผลให้เรากินอาหารมากเกินไป ภาพสแกนที่ว่านี้สอดคล้องกับความรู้สึกหิวของผู้ที่เข้ารับการทดสอบด้วย ทางออกของผู้ที่ต้องการลดน้ำหนักคือ การทำอาหารทานเองและลดการบริโภคเครื่องดื่มหรืออาหารสำเร็จรูปที่มีฟรุคโตสลง (อย่าลืมพกแว่นขยายไปด้วยล่ะ เดี๋ยวจะหาว่า ฉลาดซื้อ ไม่เตือน) และอย่าลืมป่าวประกาศให้เพื่อนฝูงได้ทราบโดยทั่วกันว่าคุณจะลดน้ำหนักให้ได้กี่กิโลกรัม ภายในเวลาเท่าไร ที่สำคัญอย่าได้นำรูปนางแบบผอมไม่มีใส้ หรือนายแบบซิกซ์แพคมาติดตู้เย็น (หรือที่ไหนก็ตาม) เพื่อเป็นแรงบันดาลใจในการลดน้ำหนักเด็ดขาด งานวิจัยจากเนเธอร์แลนด์เขายืนยันแล้วว่า พวกที่เห็น “รูปสร้างแรงบันดาลใจ” เหล่านี้คืออุปสรรคตัวสำคัญที่ทำให้เราแอบกินจุบจิบ และล้มเลิกความตั้งใจจะลดน้ำหนักไปในที่สุด ในขณะที่พวกที่ไม่ได้เห็นรูปดังกล่าวสามารถลดน้ำหนักได้จริงๆ   วันนี้คุณมีความสุขแล้วหรือยัง? ศาสตราจารย์ชอยอินโชล จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติโซลพร้อมทีมงานได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของคนในวัยระหว่าง 20 ถึง 39 ปี จำนวน 1,000 คน (หญิง 491 คน ชาย 509 คน) ว่าพวกเขามีความสุขมากน้อยแค่ไหนปรากฏว่า 1 ใน 10 ของผู้ตอบแบบสำรวจบอกว่าพวกเขาไม่รู้สึกว่าตัวเองมีความสุขเลยแม้เพียงสักครั้งในหนึ่งสัปดาห์ สาเหตุหลักเพราะรายได้ไม่พอใช้เรามาแจกแจงสาเหตุของความทุกข์กันดูบ้าง -- ร้อยละ 3.3 ตอบว่าเป็นทุกข์เพราะเรื่องเพื่อน  ร้อยละ 15.6 บอกว่ามีปัญหาชีวิตรัก และมีถึงร้อยละ 36.8 ตอบว่าทุกข์หนักเพราะปัญหาการเงินรุมเร้า กลุ่มที่มีรายได้มากกว่า 40 ล้านวอนต่อปี (ประมาณ 1,100,000 บาท) มีความสุขสัปดาห์ละ 3.5 ครั้ง ในขณะที่กลุ่มที่มีรายได้ ระหว่าง 20 – 40 ล้านวอน (560,000 - 1,100,000 บาท)  มีความสุขสัปดาห์ละ 3 ครั้ง และกลุ่มที่หาเงินได้ระหว่าง 10 – 20 ล้านวอน ( 280,000 – 560,000 บาท) มีความสุขเพียง 2.8 ครั้งต่อสัปดาห์การศึกษาก็พอช่วยได้บ้าง เขาพบว่าหนุ่มสาวกลุ่มที่จบมหาวิทยาลัยมีความสุข 3.2 ครั้งต่อสัปดาห์ ในขณะที่กลุ่มที่จบชั้นมัธยมปลายมีความสุข 2.4 ครั้งต่อสัปดาห์แล้วกันไปนะ ไม่มีความสุขเพราะเงินไม่พอใช้ก็พอเข้าใจได้ นึกว่าเขาจะไม่มีความสุขเพราะหน้าตาไม่เป๊ะเวอร์เหมือนดาราเสียอีก

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 123 กระแสต่างแดน

  ค่าเทอมสุดโหดที่อังกฤษ รัฐบาลอังกฤษประกาศตัดงบอุดหนุนที่เคยให้กับมหาวิทยาลัย จึงทำให้สถาบันเหล่านี้ต้องดิ้นรนเพื่อความอยู่รอดด้วยการขึ้นค่าเล่าเรียน เพดานเดิมที่เคยเก็บสูงสุดปีละ 3,290 ปอนด์ (ประมาณ 160,000 บาท) นั้นไม่เพียงพอแล้ว   รัฐบาลก็รับลูกด้วยการอนุญาตให้มหาวิทยาลัยเก็บค่าเล่าเรียนได้สูงสุดถึงปีละ 6,000 ปอนด์ (ประมาณ 294,000 บาท) ได้ โดยมีเงื่อนไขว่าจะต้องมีโควตารับนักเรียนจากครอบครัวที่รายได้ยากจนตามจำนวนที่รัฐกำหนด ใครผิดเงื่อนไขจะปรับถึง 500,000 ปอนด์ (24.5 ล้านบาท) กันทีเดียว  นอกจากนี้มหาวิทยาลัยจะต้องเป็นสมาชิกกองทุนเพื่อการศึกษา National Scholarship Programme ที่จะให้เงินช่วยเหลือแก่นักศึกษาจากครอบครัวที่มีรายได้ต่อปีต่ำกว่า 25,000 ปอนด์ (1.2 ล้านบาท) ปีละ 3,000 ปอนด์ (147,000 บาท) ด้วย มหาวิทยาลัยก็ไม่ได้คัดค้านเงื่อนไขเหล่านี้ เพียงแต่ออกมาตอบโต้ว่าตัวการที่ทำให้ต้องขึ้นค่าเล่าเรียนที่แท้จริงคือรัฐบาล ซึ่งกำลังพยายามบิดเบือนให้ดูเหมือนเป็นความผิดของมหาวิทยาลัย ส่วนเรื่องการให้โควต้าหรือการให้ทุนนั้น มหาวิทยาลัยเขาก็ทำกันอยู่แล้วโดยไม่ต้องมีการบังคับจากรัฐด้วยซ้ำ อังกฤษก็มีปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาระหว่างเด็กรวยกับเด็กยากจนเช่นกัน ปัจจุบันมีเพียงร้อยละ 7 ของเด็กในอังกฤษที่เข้าเรียนในโรงเรียนเอกชน(ซึ่งแปลความได้ว่าเป็นเด็กจากครอบครัวฐานะดี) แต่เด็กกลุ่มนี้กลับมีสัดส่วนถึงร้อยละ 50 ของนักศึกษาในมหาวิทยาลัยชั้นนำของอังกฤษอย่าง     อ็อกซฟอร์ด หรือเคมบริดจ์  วิบากกรรมของนักศึกษาที่นั่นยังไม่จบ เพราะข่าวบอกว่าปีหน้าค่าเล่าเรียนอาจเพิ่มสูงขึ้นถึง 9,000 ปอนด์ (ประมาณ 440,000 บาท) เล่นเอาหลายคนอยากไปเกิดใหม่ในสก๊อตแลนด์ เพื่อจะได้สิทธิ์เรียนฟรีกันเลยทีเดียว   รู้มั้ย พ่อกูเป็นใคร? ถ้าใครเจอคำถามนี้เข้าไปก็ไม่ต้องงงอีกแล้ว เพราะวันนี้คุณสามารถหาซื้อชุดทดสอบ “ความเป็นพ่อ” ได้ตามร้านบูทส์ทั่วอังกฤษในสนนราคาชุดละ 30 ปอนด์ (1,500 บาท) ตามด้วยค่าธรรมเนียมห้องแล็บอีก 129 ปอนด์ (6,400 บาท) ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ราคา แต่การเปิดตัวของผลิตภัณฑ์ดังกล่าวได้สร้างกระแสในสังคมขึ้นไม่น้อย  ทางผู้ผลิตบอกว่าเหตุที่ต้องมีบริการนี้ออกมาก็เพราะมีงานวิจัยที่ระบุว่า มี “คุณพ่อ” ในอังกฤษและอเมริกาอย่างน้อยร้อยละ 4 ไม่ใช่พ่อที่แท้จริงของ “ลูก” ตนเอง แถมยังบอกว่าในสหรัฐฯ นั้น ร้อยละ 31 ของผู้ชายที่ใช้บริการตรวจดังกล่าว พบว่าตนเองไม่ใช่พ่อของเด็กอีกด้วย  ในการใช้บริการดังกล่าวนั้น ทั้งพ่อ แม่ และเด็กที่อายุ 16 ปีขึ้นไป จะต้องเซ็นสัญญาให้ความยินยอมก่อน หรือมารดาเป็นฝ่ายเซ็นแทนในกรณีของเด็กเล็ก (ตามกฎหมายอังกฤษแล้ว การนำดีเอ็นเอของผู้ใดไปใช้ ต้องได้รับอนุญาตจากผู้นั้นก่อน)  X  ห้องแล็บที่ให้บริการดังกล่าว ระบุว่าแต่ละปีเขาทำการทดสอบไม่ต่ำกว่า 3000 ครั้ง และยืนยันว่าการทดสอบดังกล่าวมีระดับความถูกต้องไม่ต่ำกว่าร้อยละ 99.9 เขายืนยันว่าผลทดสอบของเขาช่วยให้ครอบครัวที่มีปัญหา สามารถใช้ชีวิตต่อไปได้อย่างเป็นปกติสุข (แต่ไม่ได้บอกว่าร้อยละเท่าไร)  แต่ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยมองว่าผลิตภัณฑ์และบริการดังกล่าวอาจถูกใช้เป็นเครื่องมือในการตอบโต้กันระหว่างผู้ใหญ่ และทำให้เกิดผลกระทบทางอารมณ์ที่รุนแรงเกินกว่าเด็กจะรับได้ด้วย  ในอังกฤษ แต่ละปีมีเด็กเกิดใหม่ประมาณ 50,000 คน ที่ไม่ชื่อของบิดาบันทึกในสูติบัตร   มั่งคั่งแต่ไม่มั่นคง รัฐบาลจีนเขากำหนดเป้าหมายของแผน 5 ปี ฉบับที่ 12 ว่า จีนจะเปลี่ยนเป้าหมายทางเศรษฐกิจจากที่เคยเน้นเรื่องการเพิ่มผลผลิตหรือเพิ่มรายได้ต่อหัว มาเป็นการเพิ่มความสุขให้กับประชากรแทน   ว่าแล้วสถาบันสังคมศาสตร์ของจีนได้ทำการสำรวจระดับความสุขของผู้คนในเมืองต่างๆ ทั้งในจีนแผ่นดินใหญ่ ฮ่องกง มาเก๊า และไต้หวัน  ผลปรากฏว่าเมืองที่มีศักยภาพในการแข่งขันสูงสุดถึง 6 ปีซ้อนอย่างฮ่องกง กลับมีระดับความสุขลดลงมา 73 อันดับ จนปัจจุบันอยู่ที่อันดับ 271 จากเมืองที่ทำการสำรวจทั้งหมด 294 เมือง  เมืองที่อยู่แล้วมีความสุขที่สุดตามข่าวนี้ได้แก่เมืองหลวงของมณฑลเหอเป่ย ชื่อเมืองสือเจียจวง ซึ่งตกเป็นข่าวไปทั่วโลกเมื่อ 4 ปีก่อน เพราะเป็นที่ตั้งของบริษัทที่ผลิตนมผสมเมลามีน ที่ทำให้เด็กทารกป่วยถึง 360,000 รายมาแล้ว   การจัดอันดับดังกล่าวนั้นดูจากปัจจัย 4 ประการคือ ความรู้สึกมั่นใจในอนาคตของตนเอง สภาพความเป็นอยู่ ภาวะการจ้างงาน และสวัสดิการสังคม  กุ้ยหลิน หางโจว และซูโจว หรือ “สวรรค์บนดิน” ที่คนไทยนิยมไปเที่ยวกันก็พากันรั้งอยู่ท้ายๆ ที่ อันดับ 291 289 และ 276 ตามลำดับ  ไม่แน่ใจว่านักท่องเที่ยวไทยเราเป็นปัจจัยฉุดระดับความสุขของเขาหรือเปล่า เพราะดูๆเหมือนว่าที่ไหนที่เราชอบไป ระดับความสุขของเขาจะลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญ    ภาพประกอบ การ์ตูนจากหนังสือพิมพ์ South China Morning Post ฉบับวันที่ 7 พฤษภาคม 2554   อิสระบนโลกออนไลน์นี่ก็เป็นอีกผลสำรวจที่นำมาฝากกัน องค์กรพัฒนาเอกชน Freedom House ได้จัดอันดับอิสรภาพทางอินเตอร์เน็ตของ 37 ประเทศทั่วโลก จากข้อมูลเรื่องการจำกัดการปล่อยสัญญาณ การบล็อก การเซ็นเซอร์ การเฝ้าระวัง หรือการดำเนินคดีกับผู้ใช้อินเตอร์เน็ตในแต่ละประเทศ เอสโตเนีย ประเทศที่มีประชากร 1,300,000 คน คว้าตำแหน่งประเทศที่ให้อิสระบนโลกออนไลน์สูงสุด ทั้งนี้เพราะรัฐบาลของประเทศที่เคยอยู่ภายใต้สหภาพโซเวียตแห่งนี้ เขามีการใช้อินเตอร์เน็ตให้การบริการกับประชากรอย่างทั่วถึงและสร้างสรรค์ ประชากรส่วนใหญ่ของเขาสามารถเข้าถึงโลกออนไลน์ได้ และยังสามารถทำกิจกรรมต่างๆ ผ่านระบบออนไลน์ได้โดยสะดวก โดยแทบจะไม่มีการแทรกแซงจากรัฐเลย  สหรัฐอเมริกา เข้ามาเป็นอันดับสอง เพราะแม้ว่าจะมีการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตสูงมากแต่ก็เสียคะแนนตรงที่ยังมีการเข้าแทรกแซงการพื้นที่บนอินเตอร์เน็ต ด้วยเหตุผลด้านความมั่นคงและการรับมือกับการก่อการร้าย  ตามด้วยเยอรมนี ที่ยังรัฐบาลยังต้องเข้าแทรกแซงเพื่อจับตาดูความเคลื่อนไหวของกลุ่มนาซีใหม่บน โลกออนไลน์ประเทศที่รั้งดันดับท้ายสุดในการสำรวจครั้งนี้ได้แก่ อิหร่าน ตามด้วยเมียนม่า คิวบา และจีน ส่วนไทยเรานั้นรั้งอันดับที่ 27  

อ่านเพิ่มเติม >