ฉบับที่ 218 โดนหลอกให้โอนเงิน ( อีกแล้ว)

        สวัสดีครับท่านผู้อ่าน ทนายโสภณ กลับมารายงานตัว ฉบับนี้ผมจะขอหยิบยกเรื่องราวที่คนมักจะพบเป็นข่าวกันบ่อยๆ เกี่ยวกับเรื่องของการหลอกให้โอนเงิน เชื่อว่าหลายท่านคงรู้ดีว่าปัจจุบันนี้ พวกมิจฉาชีพมักแฝงตัวมาในรูปแบบต่างๆ มากมาย  ส่วนหนึ่งอาศัยความโลภ ความอยากของคนเรามาใช้ประโยชน์ ทำให้ได้เงินหรือทรัพย์สินไป ซึ่งในเรื่องเหล่านี้มีแง่มุมทางกฎหมาย และมีคำตัดสินของศาลหลายๆ ส่วนที่น่าศึกษา และเห็นว่าเป็นประโยชน์ จึงเอามาบอกเล่ากับผู้อ่านทุกท่านครับ         คดีแรกที่เกิดขึ้น  เป็นเรื่องที่ผู้เสียหายถูกหลอกให้โอนเงิน เพราะหวังผลตอบแทนจากดอกเบี้ยต่อเดือนที่สูงกว่าปกติ(ร้อยละ 15 ต่อเดือน) โดยได้โอนเงินไปให้แก่จำเลยเกือบสองล้าน แน่นอนเพื่อให้เหยื่อตายใจ ในช่วงแรกก็มีการจ่ายดอกเบี้ยตามที่ตกลงกันจริง แต่พอสักพักก็ไม่จ่ายให้ หายไปติดต่อไม่ได้ ผู้เสียหายจึงรู้ตัวว่าโดนหลอกแล้ว จึงไปแจ้งความกับตำรวจ โดยตำรวจก็ได้ลงบันทึกประจำวันไว้ เพื่อดำเนินการ เมื่อคดีขึ้นสู่ศาล จำเลยก็อ้างว่า ที่ผู้เสียหายหรือโจทก์ไปแจ้งตำรวจเป็นเพียงข้อความที่โจทก์เล่าเรื่องที่เกิดขึ้นเพื่อโจทก์จะไปดำเนินการฟ้องร้องดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสามด้วยตนเองต่อไป ไม่ใช่การร้องทุกข์เพื่อให้ตำรวจดำเนินคดีตามกฎหมาย ซึ่งต่อมาศาลฎีกาก็ได้ตัดสินเป็นหลักไว้ว่า การที่โจทก์ไปแจ้งความที่สถานีตำรวจเพื่อลงประจำวันไว้เป็นหลักฐานโดยมีพนักงานสอบสวนเวรรับแจ้งไว้ตามประสงค์ของผู้แจ้ง เพื่อดำเนินการต่อไป ถือว่าโจทก์มีความประสงค์ที่จะให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีแก่ผู้กระทำความผิดให้ได้รับโทษในความผิดฐานฉ้อโกง ทั้งพนักงานสอบสวนเวรผู้รับแจ้งความก็รับว่าจะไปดำเนินการต่อไปตามความประสงค์ของโจทก์ จึงเป็นคำร้องทุกข์ตามกฎหมายแล้ว        คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6637/2558        รายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีมีข้อความว่า เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2555 ถึงวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2555 ร. ร่วมกับ ณ. และ อ. หลอกลวงให้โจทก์โอนเงิน 13 ครั้ง รวมเป็นเงิน 1,952,000 บาท โดยแจ้งว่าจะนำเงินที่โจทก์โอนให้ไปลงทุนหรือให้บุคคลอื่นกู้ยืม และจะให้ดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อเดือน ประกอบกับ ร. มากับ ส. เจ้าของรีสอร์ท ทำให้โจทก์หลงเชื่อ เป็นเหตุให้โจทก์โอนเงินเพื่อปล่อยกู้จำนวนดังกล่าว ช่วงแรก ร. โอนเงินดอกเบี้ยให้ร้อยละ 15 ต่อเดือนจริง ประมาณ 4 ครั้ง โจทก์จึงหลงเชื่อโอนเงินให้ แต่เมื่อ ร. กับพวกได้เงินแล้ว โจทก์ติดต่อไป ร. กับพวกกลับเงียบหาย โจทก์จึงทราบว่าถูกหลอกลวง การกระทำของ ร. กับพวก เป็นการฉ้อโกง โจทก์จึงมาที่สถานีตำรวจบ่อผุดเพื่อลงประจำวันไว้เป็นหลักฐานและเพื่อจะได้ดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป ซึ่งพันตำรวจโท พ. พนักงานสอบสวนเวร รับแจ้งไว้ตามประสงค์ของผู้แจ้ง เพื่อดำเนินการต่อไป แสดงให้เห็นแล้วว่าโจทก์ซึ่งเป็นผู้เสียหายได้กล่าวหาต่อพนักงานสอบสวนว่ามีผู้กระทำความผิดขึ้น ลักษณะแห่งความผิด พฤติการณ์ที่ความผิดนั้นได้กระทำลง ซึ่งกระทำให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ตลอดจนชื่อของผู้กระทำผิดและโจทก์มีความประสงค์ที่จะให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีแก่ผู้กระทำความผิดให้ได้รับโทษทั้งพนักงานสอบสวนเวรผู้รับแจ้งความก็รับว่าจะไปดำเนินการต่อไปตามความประสงค์ของโจทก์ จึงเป็นคำร้องทุกข์ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (7) และมาตรา 123 วรรคสอง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 และ พ.ร.บ.ให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ.2520 มาตรา 3 แล้ว หาใช่เป็นเพียงข้อความที่โจทก์เล่าเรื่องที่เกิดขึ้นเพื่อโจทก์จะไปดำเนินการฟ้องร้องดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสามด้วยตนเองต่อไปแต่อย่างใดไม่                คดีที่สอง เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 กับพวกร่วมกันโทรศัพท์หลอกลวงผู้เสียหายทั้ง 61 คนว่า ผู้เสียหายแต่ละคนมีสิทธิได้รับเงินภาษีคืนจากกรมสรรพากรบ้าง หรือได้รับเงินประกันสังคมคืนจากสำนักงานประกันสังคมบ้าง โดยจำเลยที่ 1 กับพวกร่วมกันแสดงตนว่าเป็นเจ้าหน้าที่ของกรมสรรพากรหรือเจ้าหน้าที่ของสำนักงานประกันสังคมแล้วแต่กรณี ทั้งนี้ จำเลยที่ 1 กับพวกร่วมกันอ้างว่าจะมีการโอนเงินภาษีหรือเงินประกันสังคมดังกล่าวคืนเข้าบัญชีเงินฝากธนาคารของผู้เสียหายซึ่งผู้เสียหายแต่ละคนสามารถใช้บัตรเอทีเอ็มที่ธนาคารออกให้ไปทำรายการที่ตู้รับฝากถอนเงินอัตโนมัติของธนาคาร (ตู้เอทีเอ็ม) ตามรายการขั้นตอนที่จำเลยที่ 1 กับพวกบอกซึ่งจะทำให้ผู้เสียหายทั้ง 61 คนได้รับคืนเงินค่าภาษีจากกรมสรรพากร และเงินประกันสังคมจากสำนักงานประกันสังคมด้วยวิธีการโอนเข้าบัญชีเงินฝากธนาคารของผู้เสียหายซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นความเท็จทั้งสิ้น จากการหลอกลวงของจำเลยที่ 1 กับพวกดังกล่าวทำให้ผู้เสียหายทั้ง 61 คนหลงเชื่อนำบัตรเอทีเอ็มที่ธนาคารออกให้ของแต่ละคนไปทำรายการที่ตู้รับฝากถอนเงินอัตโนมัติของธนาคารตามขั้นตอนที่จำเลยที่ 1 กับพวกหลอกลวงเป็นเหตุให้มีการโอนเงินออกจากบัญชีเงินฝากธนาคารของผู้เสียหายแต่ละคนทั้ง 61 คนไปเข้าบัญชีเงินฝากธนาคารของผู้มีชื่อหลายคนที่จำเลยที่ 1 กับพวกหลอกให้เปิดบัญชีเงินฝากไว้         จากนั้นจำเลยที่ 1 กับพวกร่วมกันใช้บัตรเอทีเอ็มที่ธนาคารออกให้แก่ผู้มีสิทธิใช้ในการเบิกถอนเงินสดทำการเบิกถอนเงินสดที่มีการโอนมาจากบัญชีเงินฝากของผู้เสียหายทั้ง 61 คน ทำให้จำเลยที่ 1 กับพวกได้เงินของผู้เสียหายทั้ง 61 คนไปในที่สุด ซึ่งคดีนี้มีข้อน่าสนใจว่าการที่จำเลยกับพวก อ้างตนเองเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ คือเป็นเจ้าหน้าที่ของกรมสรรพากรหรือเจ้าหน้าที่ของสำนักงานประกันสังคม ถือว่ามีการหลอกลวงโดยแสดงตนเป็นคนอื่น ซึ่งต้องรับโทษหนักขึ้นหรือไม่ ต่อมาศาลฎีกาก็ได้ตัดสินวางหลักไว้ว่า กรณีดังกล่าว เป็นเพียงการแสดงฐานะของตนเองอันเป็นเท็จ ไม่ใช่การแสดงตนเป็นคนอื่น จึงไม่เข้าองค์ประกอบความผิด จำเลยกับพวกจึงไม่ต้องรับโทษในความผิดดังกล่าว         คำพิพากษาฎีกาที่ 8145/2559        "ความผิดฐานฉ้อโกงตาม ป.อ. มาตรา 341 นั้น ถ้าผู้กระทำกระทำโดยแสดงตนเป็นคนอื่น จะต้องระวางโทษหนักขึ้นตามมาตรา 342          การที่จำเลยเพียงแต่แสดงฐานะของตนเองอันเป็นเท็จว่าเป็นเจ้าหน้าที่ของกรมสรรพากรหรือเจ้าหน้าที่ของสำนักงานประกันสังคม ไม่ใช่การแสดงตนเป็นคนอื่น จึงไม่ครบองค์ประกอบความผิด ตาม ป.อ. มาตรา 342 (1)"

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 218 รู้ทันตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ(ตอนที่1)

        แม้ว่าปัจจุบันนี้เราจะหาซื้อน้ำดื่มบรรจุในขวดหรือบรรจุในถังมาบริโภคได้ไม่ยาก แต่ในต่างจังหวัดหรือในชุมชนต่างๆ กลับพบว่ามีตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญมาติดตั้งมากมาย ตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญเหล่านี้ส่วนหนึ่งมาจากเงินกองทุนต่างๆที่ชุมชนเลือกดำเนินการ แต่เมื่อได้ติดตั้งตู้ฯ ไประยะหนึ่งแล้ว มักพบว่าตู้เหล่านี้เหมือนถูกทอดทิ้งชอบกล บางตู้ไม่มีผู้ดูแลประจำ บางตู้แม้มีการมอบหมายคนดูแล แต่คนดูแลก็ไม่ค่อยมาใส่ใจดูแลสม่ำเสมอ สุดท้ายผู้บริโภคที่มาหยอดเหรียญซื้อน้ำ เลยไม่รู้ว่าตนเองได้น้ำสะอาด หรือน้ำแถมเชื้อโรคกันแน่ ดังนั้นหากเราเป็นผู้บริโภคที่จะต้องเสียเงินซื้อน้ำจากตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญเพื่อนำมาบริโภคแล้ว เราควรรู้เท่าทันมัน จะได้คุ้มค่าและได้น้ำที่สะอาดจากตู้ฯ มาบริโภค         การผลิตน้ำดื่มจากตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญก็คล้ายๆ กับการย่อโรงงานผลิตน้ำดื่มให้เล็กลงแล้วยัดลงไปในตู้ หากมองจากภายนอก เราจะเห็นว่ามันมีช่องให้หยอดเหรียญ มีบริเวณให้วางภาชนะเพื่อรองรับน้ำที่ไหลออกมาจากหัวจ่าย  ดังนั้นอันดับแรกก่อนจะเสียเงิน ให้มองดูฮวงจุ้ยของตู้ฯ เสียก่อน ตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญที่ตั้งใกล้ถังขยะ ใกล้แหล่งน้ำขังน้ำเน่า หรือใกล้จุดที่มีฝุ่นละอองต่างๆ มาก ถือว่าเป็นอัปมงคลแห่งทรัพย์ที่จะเสีย เพราะย่อมมีความเสี่ยงที่สิ่งสกปรกเหล่านี้จะมาปนเปื้อนที่ตัวตู้ฯ อย่างแน่นอน ที่น่ากลัวคือบริเวณหัวจ่ายน้ำ หากพบว่าหัวจ่ายสกปรก มีคราบตะไคร่คราบฝุ่นติดมากมาย (ทดสอบโดยการนำเอากระดาษทิชชู่เช็ดที่หัวจ่าย) แสดงว่าสิ่งสกปรกเหล่านี้กำลังรอที่จะผสมลงไปในน้ำดื่มที่ตู้ฯ กำลังจะจ่ายให้เรา        เสร็จจากดูฮวงจุ้ยของตู้น้ำหยอดเหรียญแล้ว ถ้ามันผ่านก็อย่าเพิ่งรีบดีใจจนเนื้อเต้น ให้ตั้งสติหันมาดูรายละเอียดที่บริเวณด้านหน้าของตู้ฯด้วย เพราะ พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค  พ.ศ.  2522  ได้ออกประกาศคณะกรรมการว่าด้วยฉลาก ฉบับที่  31  (พ.ศ.  2553) กำหนดให้ตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญอัตโนมัติเป็นสินค้าที่ควบคุมฉลาก ซึ่งต้องแสดงรายละเอียด ติดไว้ที่ด้านหน้าของตู้ให้อ่านได้ชัดเจน คงทนถาวร และมีรายละเอียดครบถ้วนดังนี้         1. ข้อแนะนําในการใช้  ต้องระบุรายละเอียดอย่างน้อยดังต่อไปนี้                    (ก) ต้องดูความสะอาดของหัวจ่ายน้ำ                (ข) ต้องหลีกเลี่ยงการใช้บริการจากตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญอัตโนมัติที่มีลักษณะ ไม่ถูกสุขอนามัย                    (ค) ต้องใช้ภาชนะที่สะอาดในการบรรจุน้ำ                    (ง) ต้องหลีกเลี่ยงการดื่มน้ำจากตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญอัตโนมัติที่มีสีกลิ่นหรือรสผิดปกติ                    (จ) ไม่ควรนําภาชนะที่เคยบรรจุของเหลวชนิดอื่นมาบรรจุน้ำ        2. ระบุวัน  เดือน  ปี  ที่เปลี่ยนไส้กรอง  แต่ละชนิด        3. คําเตือน  ต้องระบุว่า  “ระวังอันตราย  หากไม่ตรวจสอบวัน  เดือน  ปีที่เปลี่ยนไส้กรอง  และตรวจสอบคุณภาพน้ำ”  โดยข้อความที่เป็น  “คําเตือน”  ต้องใช้ตัวอักษรหนาสีแดงขนาดไม่ต่ำกว่า  1  เซนติเมตร  บนพื้นสีขาว            ดังนั้นหากเราดูภายนอกแล้วพบว่าตู้น้ำหยอดเหรียญนี้ไม่แสดงฉลาก แสดงว่าตู้นี้เป็นตู้ที่ผิดกฎหมายตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค  พ.ศ.  2522   แจ้งเจ้าหน้าที่ สำนักงานจังหวัดที่รับผิดชอบงานคุ้มครองผู้บริโภค ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค  พ.ศ.  2522 ที่ศาลากลางจังหวัดที่ตู้นั้นตั้งอยู่ได้เลย        หากเราตรวจสอบลักษณะภายนอกของตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญดังข้างต้นแล้ว พบว่าถูกต้องครบถ้วน อย่าเพิ่งไว้ใจ ฉบับต่อไปเราจะชวนผู้บริโภคผ่าตู้ให้รู้ทันกันไปเลยว่าข้างในมีอะไร อย่าลืมติดตามอ่านในฉบับต่อไปนะครับ  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 218 จากขยะพลาสติกถึงไมโครพลาสติก ปัญหาใหญ่ที่ใกล้ตัวกว่าที่คิด

                การลดใช้ถุงพลาสติกเป็นกระแสที่ทั่วโลกกำลังตื่นตัว ในประเทศไทยมีการรณรงค์ประเด็นนี้อย่างต่อเนื่อง บริษัทห้างร้านต่างๆ ก็พยายามลดการใช้ถุงพลาสติกใส่สินค้าให้ลูกค้า นับเป็นเรื่องน่ายินดีแทนสิ่งแวดล้อมของโลกที่ป่วยหนักขึ้นทุกวัน ถึงกระนั้นก็ยังต้องอาศัยเวลาอีกไม่น้อยเพื่อลดการใช้พลาสติกลงอย่างมีนัยสำคัญ        นอกจากนี้ ยังมีการใช้ถุงพลาสติกที่ระบุว่าย่อยสลายได้ แต่มันเป็นอย่างนั้นจริงหรือเปล่า         ‘ฉลาดซื้อ’ ฉบับนี้จะพาไปสำรวจสถานการณ์สิ่งแวดล้อมที่กำลังถูกพลาสติกคุกคาม ซึ่งน่าจะเรียกได้ว่าอยู่ในขั้นวิกฤต อาจมีคำถามว่าวิกฤตอย่างไร? มันวิกฤตถึงขั้นว่า คุณ-หมายถึงคุณผู้อ่าน-อาจมีพลาสติกตกค้างอยู่ในร่างกายโดยไม่รู้ตัว ขยะพลาสติก: ความอลังการทางตัวเลข        - ตั้งแต่มีการคิดค้นพลาสติกขึ้นมาจนถึงปัจจุบัน คาดการณ์ว่ามีพลาสติกเกิดขึ้นแล้ว 8,000 ล้านตัน ตั้งแต่ทศวรรษที่ 1950 เทียบเท่ากับน้ำหนักของช้าง 1,000 ล้านเชือกที่อยู่บนโลกนี้        - มีการคาดการณ์ปริมาณขยะพลาสติกที่ลงสู่ท้องทะเลว่าสูงถึง 13 ล้านตันต่อปีหรือเทียบเท่ารถบรรทุก 1 คันขนขยะพลาสติกทิ้งลงทะเลทุกๆ 1 นาที         - ขยะพลาสติก 13 ล้านตันต่อปีก่อให้เกิดแพขยะพลาสติกขนาดใหญ่ในมหาสมุทรแปซิฟิกหรือ Great Pacific Garbage Patch มันใหญ่กว่าประเทศเยอรมนี สเปน และฝรั่งเศสรวมกัน หรือ 1.6 ล้านตารางกิโลเมตร หรือใหญ่กว่าประเทศไทย 3 เท่า         - ประเทศไทยถูกจัดให้อยู่ในอันดับ 6 ของประเทศที่ทิ้งขยะพลาสติกลงทะเลมากที่สุดในโลก ประมาณ150,000-400,000 ตันต่อปี รองจากประเทศจีน อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และศรีลังกา         - ประเทศไทยมีการผลิตและใช้ถุงพลาสติกกว่า 45,000 ล้านใบต่อปี         - ประเทศไทยในปี 2560 ปริมาณขยะพลาสติกประเภทถุงพลาสติกหูหิ้วเท่ากับ 517,054 ตัน แก้วน้ำพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว 241,233 ตัน หลอดพลาสติก 3,873 ตัน และกล่องโฟมบรรจุอาหาร 29,248 ตัน        - ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีขยะพลาสติกเพิ่มขึ้นร้อยละ 12 ของปริมาณขยะทั้งหมดหรือประมาณปีละ 2 ล้านตัน ในจำนวนนี้นำกลับมาใช้ประโยชน์ได้เพียงปีละ 0.5 ล้านตันหรือร้อยละ 25 ที่เหลืออีก 1.5 ล้านตันถูกนำไปกำจัดด้วยวิธีฝังกลบหรือเผา บางส่วนตกค้างในสิ่งแวดล้อม        - 5 อันดับปากแม่น้ำที่มีปริมาณขยะลอยน้ำไหลลงทะเลมากที่สุดคือ แม่น้ำเจ้าพระยา 1,425 ตันต่อปี 137,452,011 ชิ้นต่อปี แม่น้ำท่าจีน 361 ตันต่อปี 13,504,287 ชิ้นต่อปี แม่น้ำแม่กลอง 173 ตันต่อปี 12,603,264 ตันต่อปี แม่น้ำบางปะกง 166 ตันต่อปี 6,630,835 ชิ้นต่อปี และแม่น้ำบางตะบูน (เป็นสาขาของแม่น้ำเพชรบุรี) 48 ตันต่อปี 3,055,653 ชิ้นต่อปี พลาสติกที่มองเห็นและมองไม่เห็น        ตัวเลขข้างต้นฉายให้เห็นวิกฤตขยะพลาสติกที่กำลังคุกคามโลกอย่างเงียบๆ และมันยังคุกคามสิ่งมีชีวิตในทะเลดังที่มักเห็นเป็นข่าวอยู่เสมอ เช่น การพบขยะพลาสติกในกระเพาะของวาฬ ปลอกพลาสติกที่รัดกระดองของเต่าทะเลจนผิดรูป ภาพของปลาที่ติดตายอยู่ในถุงพลาสติก เป็นต้น เหล่านี้เป็นตัวอย่างของปัญหาขยะพลาสติกที่จับต้องได้                  ทว่า ยังมีขยะพลาสติกอีกรูปแบบหนึ่งที่มองไม่เห็นและกำลังเป็นที่สนใจศึกษามากขึ้น มันถูกเรียกว่าไมโครพลาสติก มันคืออะไร                  ไมโครพลาสติกคือพลาสติกหรือเศษพลาสติกที่มีขนาดเล็กกว่า 5 มิลลิเมตร ซึ่งแม้จะมีขนาดเล็กมากแล้ว แต่มันก็ยังเล็กได้อีกถึงระดับนาโนเมตร โดยเราสามารถแบ่งไมโครพลาสติกได้เป็น 2 ประเภทคือ Primary Microplastic หรือพลาสติกที่ถูกผลิตขึ้นมาให้มีขนาดเล็กตั้งแต่ต้น เช่น เม็ดพลาสติกที่เป็นวัสดุตั้งต้นของการผลิตพลาสติก หรือเม็ดพลาสติกที่อยู่ในเครื่องสำอางหรือไมโครบีดส์ ที่มักเรียกกันว่า เม็ดสครับ นอกจากนี้ ยังเกิดจากการถลอกหรือการขีดข่วนจากกระบวนการผลิตพลาสติกขนาดใหญ่ จากยางรถยนต์บนท้องถนน จนถึงเส้นใยสังเคราะห์จากเสื้อผ้า                  อีกชนิดคือ Secondary Microplastic หรือไมโครพลาสติกที่เกิดจากการหลุดลอก แตกหัก จากพลาสติกชนิดต่างๆ คงพอนึกภาพออก ถ้าทิ้งพลาสติกไว้กลางแจ้งนานๆ มันจะเกิดการล่อนและเปราะ จนแตกหักเป็นเศษพลาสติกได้       องค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติได้ทำการศึกษาปริมาณ Primary Microplastics ในทะเลเมื่อปี 2560 พบว่า Primary Microplastics ถูกพบในแม่น้ำและทะเลทั่วโลกในรูปแบบขยะประมาณ 0.8-2.5 ล้านตันต่อปี โดยร้อยละ 98 ของปริมาณที่พบเกิดจากกิจกรรมทางบก โดย Primary Microplastics มากกว่าครึ่งที่ลงสู่ทะเลคือเส้นใยสังเคราะห์จากการซักล้างหรือไมโครไฟเบอร์ (นึกถึงเสื้อที่ทำจากใยสังเคราะห์ เมื่อใช้ไปนานๆ เราจะพบขุยผ้าเป็นเส้นใยเล็กๆ) ร้อยละ 34.8 และจากยางรถยนต์ที่สึกหรอขณะขับขี่ร้อยละ 28.3                  ขณะที่รายงานของ Eunomia ระบุว่า พบ Primary Microplastics ในทะเลประมาณ 0.95 ล้านตัน โดย 3 อันดับแรกคือยางรถยนต์ที่สึกหรอขณะขับขี่ เม็ดพลาสติก และเส้นใยสังเคราะห์ ส่วนเส้นทางที่นำพวกมันลงสู่ท้องทะเลเรียงจากมากที่สุดถึงน้อยที่สุดคือ จากการชะล้างถนน ระบบบำบัดน้ำเสีย และการพัดพาของลม Oxo ถุงไม่รักโลก          ยังมีแหล่งกำเนิดไมโครพลาสติกอีกประเภทที่ผู้บริโภคอาจไม่รู้ เพราะมันถูกเคลือบด้วยภาพลักษณ์ของการรักษาสิ่งแวดล้อมโดยบอกว่าเป็นพลาสติกที่ย่อยสลายได้ แต่ความเป็นจริงแล้วไม่ใช่                 ก่อนอื่นต้องจำแนกแยกแยะเพื่อไม่ให้เกิดความเข้าใจผิด ปัจจุบันมีถุงพลาสติกเรียกว่า Biodegradable Plastic ซึ่งสามารถย่อยสลายทางชีวภาพตามธรรมชาติ เพราะใช้วัตถุดิบจากแป้งของอ้อย และมันสำปะหลัง และ Polybulyene succinate (PBS) ที่ดัดแปลงจากวัตถุดิบทางปิโตรเลียม กลุ่มนี้ไม่ใช่ปัญหา                  แต่มีพลาสติกอีกกลุ่มที่เรียกว่า Degradable Plastic ซึ่งไม่สามารถย่อยสลายได้ มันเพียงแค่แตกตัวเป็นชิ้นเล็กๆ จนกลายเป็นไมโครพลาสติก หรือที่รู้จักกันในชื่อ Oxo-degradable หรือที่เรียกสั้นๆ ถุง Oxo เจ้าถุงพลาสติกชนิดนี้เองที่ถูกใช้ตามห้างสรรพสินค้าและประกาศตัวว่าเป็นถุงพลาสติกที่ห่วงใยสิ่งแวดล้อม ทั้งที่ความจริงแล้วเป็นอีกหนึ่งต้นตอของปัญหาไมโครพลาสติก ดร.สุจิตรา วาสนาดำรงดี นักวิจัยชำนาญการ สถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า                  “ถุง Oxo ไม่ถูกยอมรับว่าเป็นอีดีพี (Environmentally Degradable Plastic: EDP) หรือพลาสติกที่ย่อยสลายได้ในสภาวะธรรมชาติ ซึ่งจริงๆ แล้วคำว่า อีดีพี คือ พลาสติกที่ย่อยสลายได้ในทางชีวภาพซึ่งสามารถทำเป็นปุ๋ยได้ ต้องได้มาตรฐานการทำเป็นปุ๋ย ซึ่งถุง Oxo ไม่ผ่านมาตรฐานนี้ กระบวนการของมันคือการเติมสารเติมแต่งประเภทแป้งลงไปในเนื้อพลาสติก                 “ขณะที่ถุงพลาสติกที่ได้มาตรฐานทำปุ๋ยได้ มีผู้ผลิตอยู่ แต่ขายไม่ได้เพราะราคาแพงกว่าพลาสติกทั่วไป 3-4 เท่า ผู้ผลิตก็ส่งออก แต่เจ้า Oxo ที่บอกว่าเป็นถุงรักษ์โลก แพงกว่าพลาสติกทั่วไปประมาณร้อยละ 20 ทำให้ทุกคนมาซื้อ ซึ่งยิ่งเร่งให้เกิดไมโครพลาสติก เพราะมันแตกสลายเร็วกว่าพลาสติกทั่วไป” ไมโครพลาสติก จากทะเลถึงกระเพาะ                  คำถามก็คือทำไมเราจึงต้องใส่ใจกับปัญหาไมโครพลาสติก แค่ขยะพลาสติกอย่างเดียวก็ชวนปวดหัวแล้ว ที่ต้องใส่ใจก็เพราะมันเป็นพลาสติกที่กำจัดยาก ดร.สุจิตรา อธิบายว่า ถ้าไมโครพลาสติกลงไปในแหล่งน้ำหรือทะเลจะไม่สามารถบำบัดได้ เพราะมันมีขนาดเล็กมาก ล่องลอยอยู่ในมหาสมุทรทั่วโลก ถ้าจะเก็บมันขึ้นมาก็ต้องหาตะแกรงที่รูเล็กมากๆ มาตัก ซึ่งสัตว์ทะเลต่างๆ ก็จะถูกตักขึ้นมาด้วย มันจึงยากมากที่จะกำจัดไมโครพลาสติกในทะเล                  ที่สำคัญ ณ เวลานี้ มนุษย์โลกจำนวนหนึ่งมีไมโครพลาสติกอยู่ในร่างกายแล้ว นั่นอาจรวมถึงตัวเราด้วย นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยการแพทย์แห่งกรุงเวียนนา (Medical University of Vienna) และสำนักสิ่งแวดล้อมของออสเตรีย ได้เก็บตัวอย่างอุจจาระของกลุ่มตัวอย่างไปทำการตรวจสอบและพบว่า ตัวอย่างอุจจาระทุกตัวอย่างของผู้เข้าร่วมการศึกษาพบพลาสติกที่แตกต่างกันถึง 9 ชนิด มีขนาดตั้งแต่ 50-500 ไมโครเมตร โดยพบโพลิโพรไพลีน (Polypropylene: PP) และโพลิเอทิลีน (Polyethylene Terephthalate: PET) มากที่สุด                  อีกงานวิจัยที่ศึกษาปัญหาขยะพลาสติกในทะเลยังพบด้วยว่า 3 ใน 4 ของปลาทะเลชนิดต่างๆ รวมทั้ง ปลาหมึก และปลากระโทงดาบที่ขายในตลาดทั่วโลกพบไมโครพลาสติกอยู่ภายใน              ถึงจุดนี้ คุณผู้อ่านคงเริ่มตกใจและสงสัยว่าเจ้าไมโครพลาสติกที่ว่ามันเข้าไปอยู่ในร่างกายมนุษย์ได้อย่างไร ธรณ์ ธํารงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ตอบว่า เป็นไปได้ว่าเราอาจมีไมโครพลาสติกอยู่ในร่างกายอยู่แล้ว เนื่องจากไมโครพลาสติกมีแพร่กระจายอยู่ในธรรมชาติ แต่จุดที่ต้องให้ความสำคัญคือ ห่วงโซ่อาหาร หมายความว่าแพลงตอนหรือสัตว์ทะเลที่กินไมโครพลาสติกเข้าไป และถูกกินต่อมาเรื่อยๆ ตามห่วงโซ่อาหาร จนกระทั่งมันถูกจับขึ้นมาเป็นอาหารของมนุษย์ แล้วมนุษย์ก็กินทั้งเนื้อปลาและไมโครพลาสติกเข้าไปด้วย                  “การมีสารประกอบพลาสติกอยู่ในร่างกายก็ยังไม่มีใครชี้ชัดได้ว่าทำให้เกิดโรคอะไร เพียงแต่องค์การอนามัยโลกชี้ว่ามันมีภาวะเสี่ยงต่อการเกิดโรค ซึ่งตอนนี้ยังไม่สามารถระบุฟันธงได้” ดร.ธรณ์ กล่าว                 แล้วเกณฑ์มาตรฐานที่ควรจะเป็นของปริมาณไมโครพลาสติกในแหล่งน้ำ ในสัตว์ หรือในร่างกายมนุษย์คือเท่าไหร่ ดร.ธรณ์ กล่าวว่า เนื่องจากเรื่องนี้ยังเป็นเรื่องใหม่ ยังอยู่ในช่วงการเร่งศึกษาเพื่อสร้างองค์ความรู้ ทำให้ยังไม่มีเกณฑ์มาตรฐานพอจะกำหนดได้                อย่างไรก็ตาม ดร.สุจิตราให้ข้อมูลว่า แม้ตัวพลาสติกไม่ใช่สารอันตรายเพราะเป็นโพลีเมอร์และมีความเฉื่อย แต่ผู้ผลิตพลาสติกมักจะใส่สารเติมแต่งลงไป ซึ่งสารบางตัวก็เป็นอันตราย อีกประการหนึ่งคือพลาสติกสามารถดูดซับมวลสารอื่นๆ ที่ปนเปื้อนอยู่ในแหล่งน้ำ เช่น โลหะหนัก สารมลพิษที่ตกค้างยาวนาน และนี่ทำให้มันเป็นตัวอันตราย ลด ละ เลิก และมาตรการต่างๆ                  ปลายปี 2561 คณะอนุกรรมการบริหารจัดการขยะพลาสติกมีมติต่อร่างแผนพลาสติก 20 ปี ซึ่งกรมควบคุมมลพิษได้ปรับลดระยะเวลาในโร้ดแม็ปเป็น 13 ปี โดยกำหนดเป้าหมายในการลดเลิกใช้ผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์พลาสติกจำนวน 7 ประเภท                 Cap Seal หรือพลาสติกหุ้มฝาขวดน้ำดื่ม, ผลิตภัณฑ์พลาสติกที่มีส่วนผสมของสารประเภท Oxo และไมโครบีสด์ จะเลิกใช้ในปี 2562               ถุงพลาสติกหูหิ้วขนาดความหนาน้อยกว่า 36 ไมครอน กล่องโฟมบรรจุอาหาร แก้วน้ำพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง และหลอดพลาสติกจะเลิกการใช้ในปี 2565                  ถือเป็นความเคลื่อนไหวที่น่าจับตาว่าจะเกิดผลเป็นรูปธรรมได้หรือไม่ ดร.ธรณ์ กล่าวว่า                  “ผมคิดว่าในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา ประเทศไทยค่อนข้างกระตือรือร้นกับขยะพลาสติกและขยะทะเล เราไปประกาศกับยูเอ็นว่าเราสนใจเรื่องนี้เป็นพิเศษ มีการจัดประชุมระดับอาเซียนเมื่อเดือนมีนาคม เสนอประเด็นนี้ขึ้นมาเป็นปฏิญญากรุงเทพ ต่อสู้กับขยะพลาสติกในทะเล แล้วก็จะเข้าที่ประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนในเดือนมิถุนายน บทบาทของส่วนกลางทั้งในระดับภูมิภาคและนานาประเทศ เราทำค่อนข้างเยอะ”                  แต่เพียงพอหรือไม่ที่จะยับยั้งปัญหาขยะพลาสติก ดร.สุจิตรา กล่าวว่า                      “ทางออกคือการลดตั้งแต่กระบวนการผลิตและการลดการบริโภค ถ้าให้ดีต้องออกกฎหมายให้ลดการใช้พลาสติกใหม่และส่งเสริมการใช้พลาสติกที่นำกลับมาใช้ใหม่ (รีไซเคิล) เพิ่มสัดส่วนวัสดุรีไซเคิลในผลิตภัณฑ์ที่ต้นทาง อีกส่วนต้องลดการผลิตและบริโภคพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง หามาตรการต่างๆ เช่นการเก็บภาษี ค่าธรรมเนียม เพื่อลดทอนความต้องการพลาสติก                  “อีกด้านหนึ่ง รัฐต้องมีระบบการจัดการขยะที่ดี มีการแยกขยะที่ต้นทาง ขยะพลาสติกที่แยกได้นำกลับไปรีไซเคิล หรือนำไปผลิตสิ่งของต่างๆ ไปทำถนน เป้าหมาย คือ ลดการตกค้างของขยะพลาสติกในสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด ข้อมูลการทิ้งขยะพลาสติกลงทะเลคาดการณ์จากระดับการจัดการขยะของประเทศที่ต้องทำให้ดีขึ้น ทำไมไทยติดอันดับ 6 ก็เพราะเรามีการจัดการขยะที่ไม่ถูกต้องบนบกค่อนข้างเยอะ ขาดวินัยในการทิ้งขยะให้ลงถังและการแยกขยะ ทั้งที่จริงๆ แล้วเราผลิตขยะพลาสติกน้อยกว่าประเทศที่พัฒนาแล้ว ในยุโรปหรือญี่ปุ่นสร้างขยะเยอะกว่าเรา แต่เขามีการแยกขยะ แล้วปลายทางก็เอาไปเผา ฝังกลบ ปรับวินัยของประชาชน จึงไม่มีหลุดรอดลงทะเลเท่าไหร่”                  แหล่งของขยะพลาสติกในทะเลมาจากบนบกถึงร้อยละ 80 ดังนั้น การจะลดปัญหาจึงต้องเริ่มตั้งแต่บนแผ่นดิน มาตรการทางเศรษฐศาสตร์อย่างการจัดเก็บภาษีผู้ผลิตหรือผู้นำเข้าถุงพลาสติก และเพื่อให้มาตรการทางภาษีมีประสิทธิภาพในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม อัตราภาษีจะต้องถูกผ่องถ่ายจากผู้ผลิตไปยังผู้จัดจำหน่ายจนถึงผู้บริโภค หรือจัดเก็บค่าธรรมเนียมผลิตภัณฑ์ เช่น ค่าถุงพลาสติก เพื่อให้ผู้บริโภคปรับพฤติกรรม ควบคู่ไปกับการจัดการขยะที่ดีและมีประสิทธิภาพ รวมถึงการสร้างจิตสำนึกแก่ผู้บริโภคให้เกิดการตระหนักรู้ว่าการบริโภคของตนส่งผลต่อโลกที่เราอยู่อย่างไร มูลนิธิโลกสีเขียวแนะใช้ชีวิตอย่างมีสติ ช่วยลดการใช้พลาสติก                  มูลนิธิโลกสีเขียวซึ่งทำงานด้านการให้การศึกษา เฝ้าระวังต้นน้ำ ชายหาด พบว่าปัญหาขยะเป็นปัญหาใหญ่มาเนิ่นนาน มีการใช้พลาสติกสูงมากๆ นิตยา วงษ์สวัสดิ์ เลขาธิการมูลนิธิโลกสีเขียว กล่าวว่า                  “แต่ปัญหาไม่ลดลง มีแต่เพิ่มขึ้น ถามใคร ใครไม่รู้บ้างเรื่องปัญหาขยะพลาสติก แต่รู้แล้วยังไง จะทำอะไรต่อ เปลี่ยนแปลงตัวเองหรือไม่ ประกอบกับนโยบายก็ไม่ชัดเจนที่จะออกกฎกติกาในการทำให้ลดลง เป็นการขอความร่วมมือเสียส่วนใหญ่ เลยไม่ค่อยเห็นผลที่ชัดเจนมากนัก แต่มันก็อาจจะดีขึ้น เพราะห้างร้าน ร้านค้าปลีกก็เห็นความสำคัญ เริ่มทำด้วยตัวเอง แต่ถ้าภาครัฐออกมาชัดเจน มีการลดภาษีให้กับหน่วยงานที่ลดใช้ถุงพลาสติกก็จะช่วยได้เยอะ มันต้องนโยบายทั้งจูงใจและบังคับ                  “บางทีเรานึกภาพไม่ออกว่าขยะที่เราทิ้งมันไปสู่ทะเลได้ยังไง ลองนึกภาพว่าคนเมืองเอาขยะใส่ถุงพลาสติกมาทิ้งถังใหญ่ริมถนนเพื่อให้ กทม. มาจัดเก็บ แต่พอมันลับสายตาแล้ว มันไม่ได้ไปตามกระบวนการของมัน เช่น ถ้าเก็บไม่ดี ฝนตกมันก็หลุดร่วง หรือถังขยะล้ม ฝนก็ชะขยะลงท่อ บ้านเราไม่ได้มีการบำบัดทั้งหมด มันก็หลุดรอดลงทะเล               “เราต้องมีสติในการใช้ชีวิตประจำวัน มีถุงผ้า ขวดน้ำ กล่องข้าว ลดหลอด แต่ถ้าไม่สะดวกก็ต้องหาวิธีใช้ให้น้อยที่สุด ลองนับก็ได้ว่าวันหนึ่งผลิตขยะกี่ชิ้น”

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 218 โรงพยาบาลพลังแสงอาทิตย์แห่งแรกของประเทศไทย ด้วยพลังจากผู้บริโภค

“กองทุนแสงอาทิตย์(Thailand Solar Fund) หรือ กองทุนเพื่อความเป็นธรรมด้านพลังงาน” เกิดขึ้นจากความร่วมมือของหลายองค์กร ได้ตั้งเป้าหมายติดตั้งโซลาร์เซลล์ให้กับโรงพยาบาลในโครงการฯ โดยการ ขอรับบริจาคจากประชาชน (ใช้งบดำเนินการประมาณ 1.1 ล้านบาทต่อโรงพยาบาล รวม 7 โรงพยาบาล จะเป็นเงินที่ขอรับบริจาคทั้งสิ้น 7.7 ล้านบาท) ซึ่งเมื่อได้รับบริจาคครบ 7.7 ล้านบาทแล้ว กองทุนแสงอาทิตย์จะปิดรับบริจาคทันที ในเฟสที่ 1         ทั้งนี้เมื่อได้เงินบริจาค 1.1 ล้านบาทแรกแล้ว กองทุนแสงอาทิตย์จะทยอย ติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคาของโรงพยาบาลแห่งแรกทันที ซึ่งเมื่อวันที่ 3 เมษายนที่ผ่านมากองทุนได้ไปส่งมอบและทำการติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคาของโรงพยาบาลแก่งคอย จ.สระบุรี โดยท่านพระครูวิมล ปัญญาคุณ เจ้าอาวาสวัดป่าศรีแสงธรรม จ.อุบลราชธานีผู้ก่อตั้งโรงเรียนศรีแสงธรรมโรงเรียนพลังงานแสงอาทิตย์ และประธานกองทุนแสงอาทิตย์  มีเมตตาเล่าถึงที่มาของกองทุนว่ามีความสำคัญ และมีแนวความคิด นี้ได้อย่างไร        กองทุนนี้เริ่มมาจากกลุ่มของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค     แล้วก็เครือข่ายที่ร่วมกันประมาณสิบเครือข่าย 10องค์กร เห็นความสำคัญของพลังงานแสงอาทิตย์ ที่ได้มีแนวคิดมีอะไรผลักดันกันไปเรื่อยๆ ก็ยังไม่เป็นเม็ดเป็นผล ยังไม่เป็นรูปเป็นร่าง มีแต่พูดมันก็ไม่ดี เราก็น่าจะทำด้วย ก็เลยคิดว่าถ้าเรารวมตัวกันทำขึ้นมา เป็นองค์กรขึ้นมา เป็นหน่วยงาน เรียกว่ากองทุนใช่ไหม เป็นกองทุนขึ้นมา และก็ติดตั้งให้กับโรงพยาบาลที่ยินดีเข้าร่วม ซึ่งกระจัดกระจายไปตามภูมิภาคต่างๆ ให้ทั่วประเทศ ซึ่งเบื้องต้นก็ใช้ 7 โรงพยาบาลเป็นหลัก คือโครงการแรกเราจะใช้ 7 โรงพยาบาล แล้วก็ตั้งเป้าไว้ที่ 30 กิโลวัตต์ เพื่อจะให้ลดค่าไฟลง เดือนละประมาณ18,000 บาท หรือว่าปีละสองแสนกว่าบาท อันนี้ก็เป็นแนวคิดขึ้นมา แล้วก็มีคณะกรรมการก็ประชุมปรึกษาหารือกันแล้วก็มาวางแผนคัดเลือกว่าลงโรงพยาบาลไหน ก็ได้มาลงที่โรงพยาบาลแก่งคอยเป็นแห่งแรก ที่นี้ก็มีผู้มีจิตศรัทธาขอบริจาค แล้วก็ระบุว่ามาลงที่โรงพยาบาลแก่งคอยเป็นหลัก อันนี้ก็เลยได้เริ่มอันดับที่หนึ่ง ส่วนอันดับถัดไปก็จะเรียงลำดับเรื่อยๆ ถ้าครบ ถ้างบประมาณเราครบที่สองเราก็จะลงแห่งที่สองแห่งที่สามไปเรื่อยๆ คือก็จะรอเงินบริจาคเป็นหลัก ทำไมถึงต้องเลือกเป็นโรงพยาบาล ทำไมไม่เลือกเป็นสถานที่อื่นๆ เช่น โรงเรียน         ด้วยข้อจำกัดของเรื่องของงบประมาณ ซึ่งเราต้องพึ่งเงินของบริจาคอย่างเดียว จริงๆ มันทุกที่ๆ ใช้ไฟเป็นหลัก  ก็คือหน่วยงานของราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือว่าที่ไหนที่ใช้ไฟกลางวันเป็นหลัก อันนี้จุดคุ้มค่าหรือความคุ้มค่าของระบบโซลาร์เซลล์  ระบบผลิตไฟฟ้าใช้เองจะคุ้มมาก แต่ว่าโรงพยาบาล รู้สึกว่าจะเป็นเป้าหมายหลัก เพราะว่าอย่างการที่ระดมทุนวิ่งสนับสนุนหาทุนช่วยโรงพยาบาล ต่างคนก็ต่างช่วยกันถ้าเราทำแสงอาทิตย์เข้าไปอีกก็จะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายของโรงพยาบาลลงบางส่วน และก็จะสามารถนำไปพัฒนาหรือว่าไปปรับปรุงบริการหรือว่าไปลดไปเติมค่าใช้จ่ายอื่นๆ ของโรงพยาบาลได้ ซึ่งก็มาเน้นทีโรงพยาบาล ส่วนหน่วยงานอื่นอาจจะเดือดร้อนเหมือนกัน แต่ว่าระดับความสำคัญแล้วโรงพยาบาลจะหนักสุด ก็เลยคัดเลือกโรงพยาบาลก่อน ไม่ใช่ว่าหน่วยงานอื่นไม่ทำนะ อันอื่นก็จะทำแต่ว่าขอดูโรงพยาบาลก่อนเพราะว่าด้วยโครงการที่เปิดตัวใหม่ แล้วก็ยังไม่เคยมีมาก่อนก็ทำให้การระดมทุนการบริจาค ก็อาจจะช้านิดหน่อยแล้วการลงทุนหนึ่งครั้ง ในหนึ่งโรงพยาบาลใช้ได้ประมาณนานไหมครับ         ถ้าอายุของอุปกรณ์ แผ่นโซลาร์เซลล์เป็นหลัก  แล้วก็มีตัวอินเวอร์เตอร์  แผ่นโซล่าเซลล์จะอยู่ได้ 25 ปี อายุการ ใช้งาน แล้วจะค่อยลดลงปีละ 2 เปอร์เซ็นต์ ถ้าประมาณ 25 ปี ยังมากกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ยังใช้ได้ ส่วนอุปกรณ์สำคัญอันดับที่สองก็คือตัวแปลงไฟ หรือว่าอินเวอร์เตอร์เขาจะรับประกัน 12 ปี หมายความว่า 12 ปี เราก็ต้องเปลี่ยนครั้งหนึ่ง อยู่ที่ประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ของค่าใช้จ่าย ส่วนการซ่อมบำรุง ก็มีครั้งเดียวก็คือเปลี่ยน นอกจากนั้นก็คือการบำรุงรักษา คือรักษาความสะอาดไม่ให้แผ่นมีฝุ่น มีอะไรแค่นั้นเอง ไม่มีการบำรุงรักษาอย่างอื่น  เหตุที่เลือกโรงพยาบาลแก่งคอยเป็นแห่งแรก        แก่งคอยก็อยู่ในเป้าหมาย แล้วก็มีผู้มีจิตศรัทธาอยู่ในพื้นที่ คือมีคนในพื้นที่ขอบริจาค และก็ระบุว่าให้ติดตั้งที่โรงพยาบาลแก่งคอย เราก็ทำตามเจตนารมณ์ของผู้บริจาค ถ้ามีโรงพยาบาลอื่นติดต่อขอเข้ามาลักษณะเดียวกันนี้ เราก็จะทำให้เขาก่อน จะมีโครงการต่อเนื่องหลังจากนี้เป็นอะไรบ้างครับ     สถานที่เป้าหมายต่อไป โรงพยาบาลต่อไปก็จะเป็นที่โรงพยาบาลหลังสวน  ส่วนอันดับที่สามก็จะไป  สังขละบุรี อันนี้ก็จะไล่ๆ กันไปตามลำดับ คือมีเงินบริจาคครบทำได้ตามเป้าหมายคือ 30 กิโลวัตต์   33 กิโลวัตต์ เราก็ทำให้ ทำให้ตามลำดับไป เราก็ตั้งเป้าไว้ที่ประมาณล้านเอ็ด (1.1 ล้านบาทต่อโรงพยาบาล) แต่จริงๆ แล้วทางผู้ติดตั้งผู้รับเหมาเขาก็ลดราคาให้นะ มีส่วนบริจาคก็คือทำช่วยกัน ไม่คิดกำไร ประมาณนี้ งบจริงๆ ต่ำกว่าล้าน ได้การตอบรับดีไหมในการรับบริจาค การลงทุนเพื่อโรงพยาบาล     ประชาชนให้การเป็นสมาชิกในแฟนเพจ หรือว่าเฟซบุ๊คมันก็ยังไม่เปิดกว้าง เพราะสื่อหลักๆ ก็ยังไม่ค่อยกระจายไปมาก คนยังไม่รู้จักหน้าเฟซของโครงการฯ  ถ้าโครงการนี้คนรู้จักมาก อาจจะมีการช่วยเหลือ มีการระดมทุนเข้ามาช่วย แต่ก็ขยับไปก่อน เหมือนว่าเรามีกำลังแค่นี้เราก็ทำไปก่อน ถ้าครบโรงพยาบาลทั้ง 7 แห่งแล้วมีเป้าหมายที่จะทำโรงเรียนต่อไปนพ.ประสิทธิ์ชัย มังจิตร์ผู้อำนวยการโรงพยาบาลแก่งคอย จังหวัดสระบุรี เกณฑ์ในการคัดเลือกโรงพยาบาลร่วมโครงการ        ก็เอาโรงพยาบาลที่สนใจเรื่องพลังงานแสงอาทิตย์ก่อน แล้วก็คิดว่ามีประโยชน์กับโรงพยาบาลก็เชิญชวนโรงพยาบาลที่สนใจเข้ามาร่วมโครงการ ตรงนี้อาจจะเป็นธีมที่ว่า  หนึ่งก็คือเพื่อลดค่าใช้จ่ายโรงพยาบาล  ช่วยกระตุ้นให้เจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลรู้จักคุณค่าของพลังงาน แล้วก็เป็นพลังงานที่สะอาด ที่จะมาใช้ตรงนี้นะครับ คือถ้าเราสามารถทำตรงนี้ได้ โดยการระดมทุนจากประชาชน ประชาชนก็จะมีความตระหนักเรื่องนี้ด้วย เข้าใจถึงโซลาร์เซลล์มากขึ้น และประชาชนก็จะได้บุญจากการมาบริจาคให้โรงพยาบาล โรงพยาบาลก็จะไม่ต้องไปจ่ายค่าไฟเยอะ ก็จะสามารถที่จะมีงบประมาณใช้จ่ายในการซื้อครุภัณฑ์อุปกรณ์ทางการแพทย์มาดูแลผู้ป่วยได้อีกมากขึ้น โซลาร์เซลล์จะช่วยประชาชนและผู้ป่วยในด้านใดบ้าง         ตรงๆ เลยว่าบริจาคมา อย่างเช่นที่นี่บริจาคมา 33 กิโลวัตต์   ก็ช่วยลดค่าใช้จ่ายได้เดือนละประมาณสองหมื่น ปีละประมาณสองแสน แล้วสองแสนนี่เราก็ย้อนกลับไปในการซื้อยา ซื้อเวชภัณฑ์ อุปกรณ์ครุภัณฑ์ทางการแพทย์มาดูแลผู้ป่วยได้ อันนี้ตรงๆ เลยที่ได้จากตรงนี้ที่แก่งคอย 33.75 กิโลวัตต์ คือติดตั้งเรียบร้อยแล้ว พร้อมใช้ทุกอย่าง เปิดใช้งานวันนี้นะครับ (3 เมษายน 2562) สมมติว่าเราจะต่อขยายเพิ่มไปในอนาคตอีกได้ไหมครับ         เอาจริงๆ ที่นี่ก็ 33 กิโลวัตต์คงจะไม่เพียงพอสำหรับในส่วนโรงพยาบาลแก่งคอย จริงๆ ต้องใช้อีก อีกสักประมาณ 15 เท่า เพราะเราใช้ค่าใช้จ่ายไฟเดือนละประมาณสี่แสน ถ้าใช้ตรงนี้ก็ต้องใช้อีกประมาณสิบกว่าชุด เราก็ค่อยๆ พยายามขยายจุดต่ออื่นๆ อีกต่อๆ ไป ยิ่งขยายได้เยอะเราก็มีค่าใช้จ่ายที่ลดลง แล้วสามารถมาดูแลผู้ป่วยได้ดีขึ้น สำหรับคนที่อยากบริจาคเพิ่มเติม คุณหมอจะฝากข้อความอะไรบ้างไหมครับ        การบริจาคอันนี้เป็นการทำบุญที่เป็นการทำบุญต่อยอด คือ        บริจาคเสร็จเรียบร้อยไม่ได้ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง บริจาคครั้งเดียวมีการใช้งานได้ถึง 25 ปี  ตรงนี้ก็จะเป็นการสะสมบุญ บริจาคทีเดียวก็คือมีบุญไปถึง 25 ปี อันนี้ก็จะเป็นส่วนที่เกิดประโยชน์กับโรงพยาบาลแล้วเราก็คิดว่ากระตุ้นที่จะทำให้ประชาชนเห็นคุณค่าของพลังงานมากขึ้นด้วยครับ        หนึ่งก็คือ โรงพยาบาลก็เป็นส่วนที่ให้บริการประชาชน ถ้าเกิดสามารถมาบริจาคให้โรงพยาบาลแก่งคอยหรือโรงพยาบาลอื่นได้ ก็จะทำให้โรงพยาบาลลดค่าใช้จ่าย แล้วมีเงินไปใช้จ่ายดูแลประชาชน คนเจ็บป่วยได้ดีขึ้น อย่างที่สองเราคงต้องมาช่วยกันประหยัดพลังงานให้มากขึ้น ทำให้ลดภาวะโลกร้อน ลดการใช้พลังงานจากส่วนที่ไม่ได้อยากตัดออกจากธรรมชาติ จากถ่านหิน หรือจากส่วนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งก็จะเป็นผลระยะยาว PM 2.5 ก็ลดลง  โรคภัยไข้เจ็บก็ลดลง หมายเหตุ        “กองทุนแสงอาทิตย์(Thailand Solar Fund) กองทุนเพื่อความเป็นธรรมด้านพลังงาน” เกิดขึ้นจากความร่วมมือของหลายส่วนประกอบด้วย คณะอนุกรรมการด้านบริการสาธารณะ คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน(คอบช), สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ), เครือข่ายองค์กรผู้บริโภค, สมาคมประชาสังคมชุมพร ,มูลนิธิป่า-ทะเลเพื่อชีวิต, บริษัทศูนย์บ่มเพาะวิศวกร จำกัด , Solarder, โรงเรียนศรีแสงธรรม, มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก(มพด), เครือข่ายสลัม4ภาค, มูลนิธิภาคใต้สีเขียว, เครือข่ายลันตาโกกรีน Lanta Goes Green, มูลนิธิสุขภาพไทยและ กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้  ต้องการบริจาคสนับสนุนกองทุนร่วมบริจาคกับกองทุนแสงอาทิตย์ได้ที่ บัญชีธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด(มหาชน) สาขาเซ็นเตอร์วัน ช้อปปิ้งพลาซ่า ชื่อบัญชี “กองทุนแสงอาทิตย์ โดยมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค” เลขที่บัญชี 429-017697-4 การบริจาคเงินสามารถใช้ในการลดหย่อนภาษีประจำปีได้ ด้วยมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เป็นองค์กรสาธารณะประโยชน์ ลำดับที่ 576 ตามประกาศกระทรวงการคลัง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 218 เช็คสภาวะจิตใจกับแอปพลิเคชัน “สบายใจ”

               ช่วงนี้เดินทางไปทำงานหรือไปทำธุระต่างๆ ที่ต้องอยู่บนท้องถนนต้องยอมรับเลยว่าอากาศร้อนมากถึงมากที่สุด และด้วยสภาพอากาศที่ร้อนจัดขนาดนี้ อีกทั้งสภาวะการเมืองในประเทศไทยที่ร้อนแรงอย่างต่อเนื่อง ย่อมส่งผลกระทบต่อสภาพร่างกายและจิตใจ ทำให้เกิดความหงุดหงิดได้ง่าย หรืออาจเกิดสภาวะการหมกหมุ่นในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ทำให้เกิดความเครียด ความวิตกกังวล จนอาจนำไปสู่ความเสี่ยงต่างๆ ที่สามารถทำให้เกิดการทำร้ายตนเองได้         จากข้อมูลของกรมสุขภาพจิต (ที่มา https://news.thaipbs.or.th/content/279048) แจ้งว่ารายงานสถิติการให้บริการปรึกษาปัญหาสุขภาพจิตทางโทรศัพท์ทางสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ในรอบเดือนกุมภาพันธ์ถึงมีนาคม 2562 พบว่ามีการให้บริการปรึกษาปัญหาสุขภาพจิตที่มากที่สุด 5 อันดับแรก เป็นเรื่องปัญหาทางจิตเวช ความเครียดวิตกกังวล และปัญหาซึมเศร้า รวมอยู่ด้วย         ด้วยเหตุนี้ผู้อ่านควรรู้เท่าทันสภาวะจิตใจของตนเองว่าอยู่ในระดับใด เพื่อให้สามารถรับมือได้อย่างถูกต้อง ซึ่งทางภาควิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้ร่วมมือกับโรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์ กรมสุขภาพจิต พัฒนาแอปพลิเคชันที่มีชื่อว่า SabaiJai (สบายใจ) ขึ้นเพื่อป้องกันและช่วยเหลือผู้ที่มีความเสี่ยงที่จะทำร้ายตนเอง         ภายในแอปพลิเคชันจะมีแบบคัดกรองผู้ที่เสี่ยงต่อการพยายามทำร้ายตนเอง โดยลักษณะคำถามจะแบ่งแยกเพศและช่วงวัยเพื่อง่ายต่อการวิเคราะห์ผลความเสี่ยงที่เกิดขึ้น เมื่อตอบคำถามครบ 9 ข้อแล้วแอปพลิเคชั่นจะแสดงผลการทำแบบคัดกรองว่ามีความเสี่ยงต่อการทำร้ายตนเองหรือไม่ ซึ่งถ้ามีความเสี่ยงต่อการทำร้ายตนเองจะมีคำแนะนำในการปฏิบัติตัวให้ถูกต้องสำหรับตนเองและบุคคลใกล้ชิด         หรือต้องการหาข้อมูลที่เกี่ยวกับแนวโน้มการฆ่าตัวตาย ความทุกข์ใจ พฤติกรรม สัญญาณเตือนที่เกิดขึ้น การป้องกัน การแก้ไขปัญหาต่างๆ ก็สามารถศึกษาข้อมูลได้ภายในแอปพลิเคชันนี้ได้เลย นอกจากนี้ยังมีหมวดการเติมกำลังใจเป็นการให้คำสอน แง่คิด และสามารถเพิ่มรายชื่อ เบอร์โทรศัพท์ของบุคคลสำคัญที่ต้องการพูดคุยหรืออาจขอคำปรึกษาผ่ายสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ได้ทันที         ช่วยกันสังเกตตนเองและบุคคลใกล้ชิดว่ามีความเสี่ยงหรือมีความเครียดความวิตกกังวลอะไรบ้างมากน้อยเพียงใด ถ้าเห็นว่ามีความเสี่ยงเกิดขึ้นแนะนำให้ลองโหลดแอปพลิเคชั่น SabaiJai (สบายใจ) นี้มาทดสอบตนเองกันเลย เพราะแอปพลิเคชันนี้ถือว่าเป็นช่องทางเลือกที่จะช่วยแก้ไขและป้องกันความเสี่ยงที่จะพยายามทำร้ายตนเองได้ในระดับหนึ่ง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 218 แชมพูสมุนไพรแท้ๆ แบบไม่มีสารชำระล้าง

               เล่มที่แล้วเล่าถึงแชมพูสมุนไพร ที่ไม่ได้ห้ามการใส่สารชำระล้างหรือเรียกง่ายๆ ว่าหัวแชมพู ดังนั้นหลายคนเจอสารชำระล้างแรงๆ เข้าผมก็ฟูฟ่อง สากกระด้างได้ คราวนี้จะนำเสนอแชมพูสมุนไพรสูตรไร้สารชำระล้าง แบบทำเองได้ง่ายๆ สำหรับใช้กันในครอบครัว ซึ่งควรทำคราวละน้อยๆ เพราะสูตรแชมพูแบบไร้สารนั้น ตัวพฤกษเคมีจะไม่ค่อยคงตัว เก็บไว้นานประโยชน์จะน้อยลง ขณะเดียวกันอากาศร้อนๆ แบบเมืองไทย โอกาสบูดเสียเกิดได้ง่าย การทำแชมพูสมุนไพรแชมพูสมุนไพรจากมะกรูดช่วยให้ผมสะอาด แก้คันศีรษะ         สูตรที่ 1 วัตถุดิบมะกรูด 1 กิโลกรัม น้ำสะอาด 1 ลิตร         วิธีทำ ล้างมะกรูดให้สะอาด ผ่าเอาเมล็ดออกและฝานเป็นชิ้นเล็กๆ ต้มกับน้ำด้วยไฟอ่อนสัก 1 ชั่วโมง ทิ้งไว้ให้เย็นแล้วปั่นด้วยเครื่องปั่นให้ละเอียดกรองเอาแต่น้ำ นำไปเคี่ยวไฟซ้ำจนเดือด เมื่อเย็นแล้วบรรจุลงในขวดที่มีฝาปิดสนิท ใช้ได้นานประมาณสองสัปดาห์         สูตรที่ 2 มะกรูด 3-4 ลูก ย่างด้วยเตาถ่านจนมีน้ำมันออกมาที่เปลือก จากนั้นหั่นเป็นชิ้นเล็กๆ และปั่นด้วยเครื่องปั่น กรองเอาแต่น้ำนำมาสระผม ทำครั้งต่อครั้ง แชมพูสมุนไพรจากมะกรูด อัญชัน ขิงช่วยแก้ปัญหาผมร่วง         วัตถุดิบยังคงใช้มะกรูดเป็นหลัก เพิ่มด้วยอัญชันและขิง ในสัดส่วน 3:1:1 ต้มกับน้ำสะอาดจนเปื่อยยุ่ย(ประมาณ 3 ชั่วโมง) จากนั้นทิ้งให้เย็น กรองด้วยผ้าขาวบางหรือตะแกรง และกรอกแชมพูลงในขวดปิดสนิท เก็บรักษาได้ประมาณ 2 สัปดาห์         สูตรนี้สามารถปรับจากอัญชัน ขิง เป็นขมิ้นชันแทนได้ ในสัดส่วน มะกรูด 5 ขมิ้นชัน 1 และถ้าต้องการเก็บรักษาให้นานขึ้น ในขั้นตอนที่ต้มกับน้ำ เติมเกลือเข้าไปด้วยจะช่วยให้เก็บได้นานขึ้นประมาณ 2-3 เดือน เคล็ดลับในการทำแชมพูสมุนไพร        1.ไม่ใช้ไฟแรง ควรค่อยๆ เคี่ยวด้วยไฟอ่อน        2.วัตถุดิบต้องล้างให้สะอาด        3.หาขวดที่เป็นหัวปั๊มมาใส่แชมพูจะช่วยให้ใช้งานได้ง่ายขึ้น        4.ในตอนที่จะสระผม บางคนมีเคล็ดลับ นำแชมพูสมุนไพรผสมกับเบคกิ้งโซดาประมาณ 1 ช้อนชา ช่วยให้สระผมได้ง่ายขึ้น บางคนก็หมักแชมพูกับผมประมาณครึ่งชั่วโมง ก่อนล้างออกด้วยน้ำสะอาด ซึ่งการปรับใช้ขึ้นอยู่กับแต่ละคน และผลที่ได้ส่วนใหญ่น่าพอใจ เว้นแต่ระยะแรกอาจไม่ค่อยชินเพราะแชมพูสมุนไพรแบบนี้จะไม่มีฟอง และเวลาล้างออกต้องล้างออกให้หมดไม่เหลือพวกกากสมุนไพรทิ้งไว้        5.ถ้าเก็บไว้ได้ระยะหนึ่งแล้วพบว่า แชมพูมีการเปลี่ยนแปลงของสี กลิ่นก็ไม่ควรใช้แชมพูผสมสมุนไพร หมายถึง ผลิตภัณฑ์ที่มีลักษณะเป็นของเหลวประกอบด้วยสารลดแรงตึงผิวใช้กับเส้นผมเพื่อขจัดสิ่งสกปรกออกจากเส้นผมและหนังศีรษะผสมสารสกัดจากสมุนไพรหรือชิ้นส่วนสมุนไพร เช่น ดอกอัญชัน มะคำดีควาย ว่านหางจระเข้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 218 ตุ๊กตาผี : เด็กดีผีคุ้ม

                ความเชื่อเรื่อง “ผี” ไม่เคยห่างเหินและสูญหายไปจากระบบคิดของสังคมไทย        เหตุผลที่ผียังคงสถิตอยู่เป็นความเชื่อของคนไทยก็น่าจะเป็นเพราะว่า ผีมีบทบาทหน้าที่กำกับควบคุมความเป็นไปในสังคม สำนวนที่ว่า “คนดีผีคุ้ม” นั้น ย่อมบ่งบอกได้อย่างชัดเจนว่า หากใครมีความประพฤติปฏิบัติที่ดี และเป็นไปตามข้อตกลงร่วมในสังคมไทย ภูตผีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ก็ย่อมจะอภิบาลคุ้มครอง ไม่เว้นแม้แต่ “เด็กดี” ที่ “ผีย่อมต้องคุ้ม” ด้วยเช่นกัน        โดยปกติแล้ว สถาบันแรกสุดที่ถูกสังคมมอบหมายบทบาทและความชอบธรรมให้คุ้มครองชีวิตและความเป็นไปของเด็กๆ ก็คือ สถาบันครอบครัว แต่ทว่า ในละครโทรทัศน์เรื่อง “ตุ๊กตาผี” นั้น ตัวละครเด็กอย่าง “แป้งร่ำ” ต้องมีเหตุให้ครอบครัวมิอาจดูแลคุ้มครองชีวิตของหนูน้อยจากภยันตรายรอบตัวได้เต็มที่นัก        เปิดฉากมาของเรื่องละคร เด็กหญิงแป้งร่ำได้เห็น “ธาดา” เจ้าของบริษัททิพย์พิมานผู้เป็นบิดาของเธอ ถูก “พิชิต” ทนายประจำบริษัทยิงตายต่อหน้าต่อตา แม้เด็กหญิงจะจำได้ว่ามือปืนก็คือพิชิต แต่หลังจากเห็นบิดาถูกฆาตกรรม เธอก็ไม่ยอมพูดจากับใครอื่นนอกจาก “ตุ๊กตาวาวา” ตุ๊กตาที่พ่อซื้อให้ก่อนจะเสียชีวิต        และในเวลาต่อมา “นวลทิพย์” มารดาของแป้งร่ำตกลงแต่งงานกับพิชิต โดยหารู้ไม่ว่าเขาคือฆาตกรฆ่าสามี แต่กลับเชื่อว่า เขาจะช่วยดูแลบริหารงานของบริษัทและดูแลแป้งร่ำไปด้วยในเวลาเดียวกัน หากแต่ว่าพิชิตกลับหวังที่จะปอกลอก และพยายามวางแผนเพื่อถือครองมรดกของนวลทิพย์และธาดามาเป็นของเขาแทน        จนเมื่อความโลภดำเนินไปถึงขีดสุด พิชิตก็หันไปร่วมมือกับ “เริงวุฒิ” เจ้าของกิจการคู่แข่ง ที่หวังจะกำชัยทางธุรกิจเหนือบริษัททิพย์พิมาน รวมทั้งต้องการครอบครอง “ตุ๊กตาหยก” ของศักดิ์สิทธิ์มีค่าประจำตระกูลของนวลทิพย์ ซึ่งเธอแอบซ่อนตุ๊กตาหยกนี้ไว้ในตัวตุ๊กตาวาวาของแป้งร่ำ และนั่นก็เป็นอีกครั้งหนึ่งที่เด็กน้อยแป้งร่ำได้เห็นมารดาถูกฆาตกรรมต่อหน้า เนื่องเพราะความโลภของบรรดาผู้ใหญ่รอบตัวนั่นเอง        เมื่อขาดซึ่งพ่อแม่บุพการีที่จะคอยเป็นร่มโพธิ์ร่มไทรดูแลคุ้มครองลูก เด็กน้อยอย่างแป้งร่ำจึงมีสถานะไม่ต่างจาก “เหยื่อ” ที่ตัวละครผู้ใหญ่ตัวโตทั้งหลายพยายามเข้ามาช่วงชิงผลประโยชน์จากเด็กที่ตัวเล็กกว่า        เริ่มตั้งแต่พิชิตที่มุ่งหมายจะครอบครองสิทธิ์ในมรดกทั้งหมดของแป้งร่ำ หรือ “ม่านฟ้า” ภรรยาใหม่ของพิชิตที่อีกด้านหนึ่งก็คือเมียลับๆ ของเริงวุฒิที่ต่างร่วมมือกันวางแผนชิงตุ๊กตาหยกมาเป็นของตน ไปจนถึงบรรดาเครือญาติอีกมากมายของพิชิตที่แห่กันเข้ามาอาศัยร่วมชายคาเดียวกันในบ้านหลังใหญ่ของแป้งร่ำ        ไม่ว่าจะเป็นตัวละครอย่าง “พุด” พ่อที่ติดการพนันงอมแงมจนหมดตัว “จัน” แม่ที่ติดหรูแบบจมไม่ลง “พิชัย” น้องชายที่หลักลอยไม่ทำงานการใดๆ “ละม่อม” สาวใช้ตัวร้ายของพุดและจัน รวมถึง “อาจารย์สมิง” หมอผีชื่อดังที่ใช้อาคมสะกดวิญญาณของธาดาเอาไว้ตั้งแต่ต้นเรื่อง        เพราะเด็กมักถูกรับรู้ว่าเป็นมนุษย์ตัวเล็กที่ “มีอำนาจน้อย” หรือ “ไร้ซึ่งอำนาจ” จะต่อรอง ดังนั้น บรรดาตัวละครผู้ใหญ่ที่เปี่ยมไปด้วยความโลภและมิจฉาทิฐิดังกล่าว ก็คอยตั้งท่าจะเอารัดเอาเปรียบและขูดรีดเพื่อพรากเอาทรัพย์สินผลประโยชน์ของแป้งร่ำให้กลายมาเป็นผลประโยชน์เฉพาะส่วนตน        อย่างไรก็ตาม เนื่องจากแป้งร่ำเป็น “เด็กดี” และไม่เคยทำร้ายใครก่อน ด้านหนึ่งเด็กหญิงก็เลยมีผู้ใหญ่ที่ดีกลุ่มเล็กๆ กลุ่มหนึ่งคอยให้ความช่วยเหลืออยู่เป็นระยะๆ ซึ่งในท้องเรื่องก็คือ “ธนิดา” หลานสาวของธาดา กับ “อติรุจ” แฟนหนุ่มของเธอ รวมไปถึง “ป้าสาย” และ “ปลา” ญาติสนิทของนวลทิพย์ ที่คอยดูแลเด็กหญิงหลังจากสูญเสียพ่อแม่ไป        แม้ความเป็นจริงที่ว่า เด็กคือกลุ่มคนตัวเล็กที่ “มีอำนาจน้อย” อาจจะถูกต้องอยู่บ้างไม่มากก็น้อย แต่ก็ไม่ได้แปลว่า เด็กตัวเล็กๆ จะกลายเป็นปัจเจกบุคคลหรือมนุษย์ที่ “ไร้ซึ่งอำนาจ” โดยสิ้นเชิง เพราะในขณะที่เด็กหญิงแป้งร่ำถูกกระทำทารุณต่อทั้งกายวาจาและจิตใจอยู่อย่างต่อเนื่อง แต่กลไกทางสังคมบางอย่างก็คอยเสริมให้หนูน้อยมีศักยภาพหรือ “มีอำนาจ” ที่จะต่อกรกับผู้ใหญ่เหล่านั้นเอาไว้ได้เช่นกัน        หากดูผิวเผินแล้วเด็กก็อาจจะไม่มีอำนาจปะทะต่อสู้กับผู้ใหญ่ที่ตัวโตกว่าได้ แต่ถ้าเด็กคนหนึ่งยึดมั่นในความดี ข้อเท็จจริงที่ว่า “เด็กดีแล้วผีจะคุ้ม” ก็เป็นบทพิสูจน์ให้เห็นจากกรณีของเด็กหญิงแป้งร่ำที่มีผีหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์คอยปกป้องเธอจากผู้ใหญ่ตัวร้ายที่ยกขบวนกันมาแย่งชิงผลประโยชน์จากเธอ        ด้วยเหตุดังกล่าว “เด็กดีๆ” แบบแป้งร่ำจึงได้รับการดูแลจาก “ผีคุ้ม” ซึ่งก็คือเหล่าตุ๊กตาของหนูน้อยเอง ที่ภายหลังมีวิญญาณอันเป็นกัลยาณมิตรมาสิงสู่อยู่ในนั้น ไม่ว่าจะเป็นตุ๊กตาผีเจ้าสาว ตุ๊กตาผีกุ๊กผู้หญิง ตุ๊กตาผีตัวตลก ตุ๊กตาผีตำรวจ ตุ๊กตาผีช่างฟิตหนุ่ม ตุ๊กตาผีคู่กุมารหญิงและชาย และรวมไปถึงวิญญาณผีนวลทิพย์ที่ภายหลังก็มาร่วมสมาคมกับตุ๊กตาผีกลุ่มนี้ เพื่อคอยคุ้มครองป้องภัยให้กับบุตรสาวของเธอ        จากเด็กตัวเล็กอย่างแป้งร่ำที่เคย “ไร้ซึ่งอำนาจ” ก่อกลายมาเป็นเด็กที่ “มีอำนาจ” มาต่อสู้กับผู้ใหญ่ได้ ก็เมื่อหนูน้อยมีพันธมิตรที่เป็นบรรดาตุ๊กตาผีหลายตนมาคอยให้การปกป้องคุ้มครอง        จะว่าไปแล้ว ความคิดเรื่องตุ๊กตาที่มีผีมาสิงสถิตและคอยช่วยเหลือเด็กๆ ก็หาใช่เรื่องที่แปลกใหม่ในโลกทัศน์ของคนไทย เด็กไทยสมัยก่อนเคยมีความเชื่อเรื่องการเลี้ยงตุ๊กตารักยมให้เป็นทั้งพี่และเพื่อนในจินตนาการต่อสิ่งเหนือธรรมชาติของเด็ก และที่สำคัญ ในจินตนาการเรื่องเล่าของตุ๊กตาผีแบบนี้เองที่ “อำนาจ” จะถูกผกผันกลับหัวกลับหางให้เด็กมีพลังที่จะต่อสู้ต่อกรกับผู้ใหญ่ที่ตัวโตกว่าได้        ดังนั้น ฉากที่พันธมิตรตุ๊กตาผีของเด็กหญิงแป้งร่ำได้ใช้ความน่ากลัวของ “ความฝัน” สร้างจินตนาการเพื่อลงโทษกักขังทารุณกรรมพิชิตและวงศาคณาญาติของเขาเป็นการสั่งสอน โดยที่พิชิตและม่านฟ้าถูกจับขังและเผาไว้ในโลงศพ ขณะเดียวกับที่คนอื่นก็ถูกหลอกหลอนจนแทบไม่เป็นผู้เป็นคน ก็ทำให้เราเห็นว่า อำนาจนั้นไม่เข้าใครออกใคร แม้แต่มาอยู่ได้ในมือของเด็กตัวเล็กๆ เช่นกัน        หากความเชื่อเรื่องผีคือกลไกที่สังคมใช้ควบคุมคนดี และหาก “เด็กดีผีย่อมคุ้ม” ด้วยแล้ว กับบรรดาผู้ใหญ่ที่เลือกทำตนไม่ดีนั้น ผีและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ก็คงไม่เลือกอภิบาลปกป้องคนไม่ดีดังกล่าว เหมือนกับที่ธนิดาเคยพูดกระทบกระเทียบกับพิชิตว่า “ถ้าคนไม่ได้คิดร้ายกับผี ก็ไม่ต้องกลัวผีมาหลอกหรอก”        เพราะในท้ายที่สุดแล้ว ต่อให้หนูน้อยแป้งร่ำไม่ได้เลือกจะทำร้ายผู้ใหญ่ที่มุ่งร้ายต่อเธอก็จริง แต่ก็เป็นบรรดาตุ๊กตาผีกัลยาณมิตรที่จะทำหน้าที่รักษากฎกติกาทางสังคม และลงโทษทัณฑ์คนร้ายและคนโลภเหล่านั้นทั้งในจินตนาการเหนือธรรมชาติและที่สัมผัสได้ในโลกความจริง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 218 เรื่องบ่นหลังเทศกาล คุณสามารถจัดการได้

               พ้นช่วงหยุดยาวมหาสงกรานต์กันไปแล้ว นับเป็นเทศกาลที่ผู้คนจำนวนมากต่างเดินทางเพื่อกลับไปบ้านเกิดเมืองนอนกันเป็นจำนวนมหาศาล ระดับกรุงเทพฯ ร้างกันทีเดียว หลายคนโชคดีเดินทางถึงบ้านด้วยความปลอดภัย ขณะที่อีกหลายคนต้องพบเจออุปสรรคต่างๆ นานา กว่าจะถึงบ้านก็เล่นเอาเสียเวลาเสียความรู้สึกกันไปจนเกือบจะหมดสนุก         คนที่พบเจอปัญหาหลายคน ต่างก็มาบ่นและแชร์กันไปมากมายในสื่อโซเชียล ซึ่งความจริงแล้วอยากให้ทุกท่านที่พบเจอปัญหา ได้ทดลองใช้บริการรับเรื่องร้องทุกข์ของ กรมการขนส่งทางบก ซึ่งผลของข้อมูลและการดำเนินการต่างๆ จะได้ถูกเก็บบันทึกไว้เป็นระบบ เพื่อให้เกิดมาตรการแก้ไขต่อไป หรือกับปัญหาเฉพาะหน้า ทางหน่วยงานรัฐจะได้มีบทบาทในการลงโทษคนผิดให้หลาบจำ         ดังนั้นในครั้งนี้ จะรวบรวมเสียงบ่นจากทางโซเชียลมีเดียมานำเสนอกันสักนิดนะครับ เป็นปัญหาโลกแตกที่พบเจอกันแทบทุกเทศกาล และเพื่อแสดงให้เห็นว่าทุกการร้องเรียนของผู้โดยสารมีความสำคัญ และนำไปสู่การพัฒนาการให้บริการของผู้ประกอบการได้         ถาม : ผู้โดยสารรายหนึ่งต้องการเดินทางจากกรุงเทพไปแม่สอด จังหวัดตาก โดยใช้บริการรถโดยสารประจำทางของบริษัทแห่งหนึ่ง ปรากฎว่ากว่ารถจะมารับที่สถานีก็ช้าไปเกือบชั่วโมงแล้ว แถมระหว่างทางยังจอดทิ้งผู้โดยสารที่วังเจ้าตาก ห่างจากปลายทางที่แม่สอดกว่า 80 กิโลเมตร แล้วให้เปลี่ยนรถซื้อตั๋วใหม่ อ้างไม่กล้าขับรถขึ้นเขาขึ้นดอย เจอแบบนี้จะทำยังไงดี         ตอบ : กรณีทิ้งผู้โดยสารกลางทางแบบนี้ ทั้งที่ผู้โดยสารได้จ่ายค่าโดยสารครบถ้วนแล้ว ถ้าข้อเท็จจริงปรากฎตามที่ร้องเรียน พนักงานขับรถโดยสารจะมีความผิดตามกฎหมาย พ.ร.บ.การขนส่งทางบก ฐานปล่อยผู้โดยสารลงก่อนถึงจุดหมายปลายทาง ตามมาตรา 104 ประกอบมาตรา 127 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท ด้านผู้ประกอบการไม่พ้นผิดต้องมีความผิดด้วย ฐานไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขในใบอนุญาตประกอบการ เนื่องจากไม่ควบคุมการเดินรถให้เป็นไปตามเส้นทางที่กำหนด ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 50,000 บาท         ถาม : ผู้โดยสารรายหนึ่งต้องการเดินทางจากกรุงเทพ ไปจังหวัดลพบุรี โดยใช้บริการรถตู้โดยสารประจำทาง  แต่ปรากฎว่าระหว่างทางพนักงานขับรถโดยสารกลับรับผู้โดยสารรายทางและรับมาเรื่อยๆ จนมีผู้โดยสารยืนบนรถตู้โดยสาร เจอแบบนี้จะทำยังไงดี         ตอบ : กรณีเอาเปรียบผู้โดยสารด้วยการบรรทุกผู้โดยสารเกินกว่าจำนวนที่นั่งบนรถ ถ้าข้อเท็จจริงปรากฏตามที่ร้องเรียน พนักงานขับรถโดยสารจะมีความผิดตามกฎหมาย พ.ร.บ.การขนส่งทางบก ในข้อหารับบรรทุกผู้โดยสารเกินจำนวน ตามมาตรา 107 ประกอบมาตรา 127 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท พร้อมทั้งส่งตัวเข้ารับการอบรม บันทึกประวัติความผิด และกำชับมิให้กระทำความผิดซ้ำ และสำหรับผู้ประกอบการที่เป็นผู้ได้รับใบอนุญาต เปรียบเทียบปรับตามมาตรา 31(4) ประกอบมาตรา 131 ที่ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขเกี่ยวกับจำนวนที่นั่งต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 50,000 บาท         ถาม : ผู้โดยสารรายหนึ่งต้องการเดินทางจากกรุงเทพไปจังหวัดขอนแก่น โดยใช้บริการรถทัวร์โดยสารประจำทาง  แต่ปรากฏว่ามีการคิดราคาค่าโดยสารแพงกว่าปกติ เจอแบบนี้จะทำยังไงดี        ตอบ : กรณีเอาเปรียบผู้โดยสารด้วยการเก็บค่าโดยสารเกินกว่าปกติ ถ้าข้อเท็จจริงปรากฎตามที่ร้องเรียน พนักงานจำหน่ายตั๋วโดยสารจะมีความผิดตามกฎหมาย พรบ.การขนส่งทางบก ในข้อหาเรียกเก็บค่าโดยสารเกิน ตามมาตรา 159  ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท และสำหรับผู้ประกอบการที่เป็นผู้ได้รับใบอนุญาตจะมีความผิดฐานเพิ่มค่าบริการค่าโดยสารโดยไม่ได้รับอนุญาต ตามมาตรา 38 ประกอบมาตรา 135 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท        เห็นกันแล้วใช่ไหมครับว่า การร้องเรียนของผู้โดยสารทุกคนมีความหมาย นอกจากจะเป็นการป้องปรามพนักงานขับรถและผู้ประกอบการให้ต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบอย่างเคร่งครัดแล้ว ยังเป็นการยกระดับการให้บริการของผู้ประกอบการให้มีความรอบคอบเพื่อมาตรฐานความปลอดภัยเพิ่มขึ้นด้วย เพราะฉะนั้นถ้าใครเจอปัญหาแบบนี้ ไม่อยากให้เงียบเฉยกัน อย่าลืมว่าทุกเสียงทุกปัญหา สามารถเริ่มต้นแก้ไขได้ด้วยตัวเราเอง “ ร้องทุกหนึ่งครั้งดีกว่าบ่นพันครั้ง ” ครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 218 ฉลาดซื้อร่วมกับบ้านสมเด็จโพลล์ พบว่า 70.4 % อยากให้บริการขนส่งสินค้ามีความปลอดภัย

ฉลาดซื้อร่วมกับบ้านสมเด็จโพลล์พบว่า 70.4 % อยากให้บริการขนส่งสินค้ามีความปลอดภัย         นิตยสารฉลาดซื้อร่วมกับศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ได้ดำเนินโครงการสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับการบริการขนส่งสินค้า โดยเก็บจากกลุ่มตัวอย่างจากประชาชนที่อาศัยอยู่ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร จำนวนทั้งสิ้น 1,183 กลุ่มตัวอย่าง เก็บข้อมูลในวันที่ 3 - 6 มีนาคม 2562 ซึ่งกลุ่มตัวอย่างในการสำรวจครั้งนี้ใช้เกณฑ์ตารางสำเร็จรูปของ Taro Yamane กำหนดว่าประชากรเกิน 100,000 คนต้องการความเชื่อมั่น 95% และความผิดพลาดไม่เกิน 3% ต้องใช้กลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,111 กลุ่มตัวอย่าง         ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. สิงห์ สิงห์ขจร ประธานคณะกรรมการศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ กล่าวว่า ผลการสำรวจในครั้งนี้ต้องการสะท้อนความคิดเห็นในเรื่องการบริการขนส่งสินค้า ที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็วจากผลของการซื้อสินค้าทางออนไลน์ที่มีการส่งสินค้าผ่านการบริการขนส่งสินค้า ในปัจจุบันมีการแข่งขันสูงในการให้บริการขนส่งสินค้า แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นจากการใช้บริการขนส่งสินค้า ตั้งแต่การส่งสินค้าล่าช้า การสูญหายจากการส่งสินค้า สินค้าที่ส่งเกิดความเสียหาย กล่อง / บรรจุภัณฑ์ เสียหาย การส่งสินค้าโดยไม่มีการเซ็นรับสินค้า การนัดหมายในการส่งสินค้าไม่ตรงเวลา ความคิดเห็นของประชาชนต่อการบริการขนส่ง โดยมีข้อมูลที่น่าสนใจดังต่อไปนี้ ความคิดเห็นของประชาชนต่อการบริการขนส่งสินค้า ในเขตกรุงเทพมหานคร โดยมีข้อมูลดังต่อไปนี้ส่วนที่ 1 การบริการขนส่งสินค้า1.   ท่านเคยใช้บริการขนส่งสินค้าหรือไม่            เคย                                                          ร้อยละ   97.3            ไม่เคย                                                      ร้อยละ   2.72.   ท่านเคยใช้บริการขนส่งสินค้าของผู้ให้บริการใดบ้าง (ตอบได้มากกว่า 1 ข้อ)            ไปรษณีย์ไทย                                         ร้อยละ   87.2            เคอรี่ เอ็กซ์เพรส                                      ร้อยละ   75.2            เอสซีจี เอ็กซ์เพรส                                   ร้อยละ   12.2            ดีเอชแอล                                               ร้อยละ   11.1            ลาล่ามูพ                                                 ร้อยละ   19.7            ไลน์แมน                                                 ร้อยละ   37.5            นิ่มเอ็กซ์เพรส                                          ร้อยละ   11.6            อื่นๆ                                                        ร้อยละ   2.1    3.   ท่านเคยพบปัญหาในการใช้บริการขนส่งสินค้าหรือไม่            เคย                                                        ร้อยละ   89.9            ไม่เคย                                                    ร้อยละ   10.14.   ท่านเคยพบปัญหาใดบ้างในการใช้บริการขนส่งสินค้า            การส่งสินค้าล่าช้า                                     ร้อยละ   31.8              การสูญหายจากการส่งสินค้า                      ร้อยละ   8.3                สินค้าที่ส่งเกิดความเสียหาย                      ร้อยละ   12.4              กล่อง / บรรจุภัณฑ์ เสียหาย                       ร้อยละ   19.9            การส่งสินค้าโดยไม่มีการเซ็นรับสินค้า         ร้อยละ   5.9                การนัดหมายในการส่งสินค้าไม่ตรงเวลา      ร้อยละ   13.2            อื่นๆ                                                        ร้อยละ   8.55.   ท่านเคยร้องเรียนปัญหาการใช้บริการขนส่งสินค้าต่อหน่วยงานคุ้มครองผู้บริโภคหรือไม่            ใช่                                                             ร้อยละ   67.2            ไม่ใช่                                                         ร้อยละ   32.86.   หน่วยงานคุ้มครองผู้บริโภคที่ท่านเคยร้องเรียนปัญหาการใช้บริการขนส่งสินค้าได้แก่ (เลือกได้มากกว่าหนึ่งข้อ)            สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.)           ร้อยละ   38.5            มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค                                                      ร้อยละ   35.1            หน่วยงานอื่น                                                              ร้อยละ   5.8            ไม่เคย                                                                        ร้อยละ   20.67.     ท่านมีการใช้บริการขนส่งผ่านช่องทางใดมากที่สุด            การไปใช้บริการยังที่ตั้งของบริษัท                             ร้อยละ   27.9            การใช้บริการผ่านช่องทางออนไลน์                           ร้อยละ   54.9            การใช้บริการผ่านทางโทรศัพท์                                 ร้อยละ   11.6            อื่นๆ                                                                       ร้อยละ   5.68.     ท่านเคยใช้บริการขนส่งสินค้าโดนสินค้าที่ส่งมีมูลค่าสูงสุดเท่าใด            น้อยกว่า 100 บาท                                                   ร้อยละ   6.5            101 – 500 บาท                                                      ร้อยละ   27.5            501 – 1,000 บาท                                                   ร้อยละ   37.9            1,000 – 5,000 บาท                                                ร้อยละ   21.4            5,001 – 10,000 บาท                                              ร้อยละ   6.5                มากกว่า10,000 บาท                                               ร้อยละ   0.29.   หากท่านพบปัญหาการใช้บริการขนส่งสินค้า ท่านติดต่อไปยังผู้ให้บริการและได้รับความสะดวกรวดเร็วหรือไม่            ใช่                                                                            ร้อยละ   56.8            ไม่ใช่                                                                        ร้อยละ   43.210.             ท่านคิดว่าการใช้บริการขนส่งสินค้ามีความปลอดภัย หรือไม่            มี                                                                              ร้อยละ   70.4            ไม่มี                                                                          ร้อยละ   29.611.           ท่านคิดว่าในปัจจุบันควรมีการบังคับใช้กฎหมายในการแสดงบัตรประชาชนในการใช้บริการขนส่งสินค้าหรือไม่            เคย                                                                       ร้อยละ   85.0            ไม่เคย                                                                   ร้อยละ   15.012.           ท่านอยากให้การให้บริการขนส่งสินค้าควรมีการปรับปรุงในด้านในมากที่สุด            ความรวดเร็ว                                                          ร้อยละ   29.2            ค่าบริการ                                                               ร้อยละ   26.6            ความปลอดภัย                                                       ร้อยละ   38.0            อื่นๆ                                                                      ร้อยละ   6.2 13.           ท่านมีความพึงพอใจในการใช้บริการขนส่งสินค้าของผู้ให้บริการใดมากที่สุด            ไปรษณีย์ไทย                                                        ร้อยละ   28.0            เคอรี่ เอ็กซ์เพรส                                                    ร้อยละ   52.4            เอสซีจี เอ็กซ์เพรส                                                 ร้อยละ   2.3            ดีเอชแอล                                                             ร้อยละ   1.5            ลาล่ามูพ                                                               ร้อยละ   5.4            ไลน์แมน                                                               ร้อยละ   7.9            นิ่มเอ็กซ์เพรส                                                        ร้อยละ   1.4            อื่นๆ                                                                      ร้อยละ   1.1    14.           ท่านมีความพึงพอใจกับความรวดเร็วในการใช้บริการขนส่งสินค้าของผู้ให้บริการใดมากที่สุด            ไปรษณีย์ไทย                                                       ร้อยละ   24.4            เคอรี่ เอ็กซ์เพรส                                                    ร้อยละ   49.6            เอสซีจี เอ็กซ์เพรส                                                 ร้อยละ   2.5            ดีเอชแอล                                                             ร้อยละ   1.2            ลาล่ามูพ                                                               ร้อยละ   7.1            ไลน์แมน                                                               ร้อยละ   12.1            นิ่มเอ็กซ์เพรส                                                        ร้อยละ   1.9            อื่นๆ                                                                      ร้อยละ   1.2    15.           ท่านมีความพึงพอใจกับค่าบริการในการใช้บริการขนส่งสินค้าของผู้ให้บริการใดมากที่สุด            ไปรษณีย์ไทย                                                        ร้อยละ   39.5            เคอรี่ เอ็กซ์เพรส                                                     ร้อยละ   38.2            เอสซีจี เอ็กซ์เพรส                                                  ร้อยละ   1.9            ดีเอชแอล                                                              ร้อยละ   0.9            ลาล่ามูพ                                                                ร้อยละ   4.9            ไลน์แมน                                                               ร้อยละ   11.7            นิ่มเอ็กซ์เพรส                                                        ร้อยละ   1.7            อื่นๆ                                                                      ร้อยละ   1.2    16.           ท่านมีความพึงพอใจกับการให้บริการในการใช้บริการขนส่งสินค้าของผู้ให้บริการใดมากที่สุด            ไปรษณีย์ไทย                                                        ร้อยละ   26.1            เคอรี่ เอ็กซ์เพรส                                                     ร้อยละ   48.5            เอสซีจี เอ็กซ์เพรส                                                  ร้อยละ   2.4            ดีเอชแอล                                                              ร้อยละ   1.2            ลาล่ามูพ                                                                ร้อยละ   7.0            ไลน์แมน                                                                ร้อยละ   11.1            นิ่มเอ็กซ์เพรส                                                         ร้อยละ   2.2            อื่นๆ                                                                       ร้อยละ   1.5      ข้อมูลด้านประชากรศาสตร์1. เพศ           ชาย                ร้อยละ   45.3  หญิง               ร้อยละ   54.72. อายุ           ต่ำกว่า 20 ปี    ร้อยละ   2.3    21 – 25  ปี      ร้อยละ   15.0                      26 – 30  ปี      ร้อยละ  12.4   31 – 35  ปี      ร้อยละ   17.5                        36 – 40  ปี      ร้อยละ  26.7   41 -  45 ปี       ร้อยละ   8.1                          46 -  50 ปี      ร้อยละ  12.0   มากกว่า 50 ปี   ร้อยละ   6.03. อาชีพ      นักเรียน / นิสิต / นักศึกษา                                       ร้อยละ 12.6                       ข้าราชการ/พนักงานของรัฐ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ        ร้อยละ 13.1                   พนักงานบริษัทเอกชน                                             ร้อยละ 27.6                   นักธุรกิจ/เจ้าของกิจการส่วนตัว                                 ร้อยละ 16.9                   แม่บ้าน/พ่อบ้าน                                                      ร้อยละ 10.6                       รับจ้างทั่วไป                                                           ร้อยละ 18.9    

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 218 กระแสต่างแดน

มูลค่าความเขียว        บริษัทด้านไอทีอย่าง facebook  Apple และ Google ต้องใช้พลังงานมหาศาลเพื่อการทำงานของศูนย์ข้อมูล พวกเขาจึงเลือกที่จะตั้งศูนย์ดังกล่าวในประเทศเดนมาร์ก ซึ่งผลิตพลังงานทางเลือกได้เหลือเฟือ        รัฐบาลเดนมาร์กเรียกเก็บภาษีจากบริษัทเหล่านี้ได้ปีละไม่ต่ำกว่า 400 ล้านโครน (1,900 ล้านบาท) แต่เงินจำนวนนี้ถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับเงินที่ใช้ลงทุนเพิ่มกำลังผลิตไฟฟ้าจากฟาร์มกังหันลมในทะเล         และในอนาคตเดนมาร์กอาจมีพลังงานทางเลือกไม่เพียงพอกับความต้องการใช้ในประเทศและต้องกลับไปพึ่งพาพลังงานฟอสซิล มีการคาดการณ์ว่าศูนย์ฯ เหล่านี้จะบริโภคร้อยละ 17 ของพลังงานไฟฟ้าในประเทศในปี 2030        พรรคฝ่ายค้านออกมาเรียกร้องให้รัฐบาล “แบน” ศูนย์ข้อมูลเหล่านี้จนกว่าจะมีกฎหมายที่สร้างความมั่นใจได้ว่า จะไม่มีผู้ประกอบการต่างชาติมาอาศัยชุบตัวด้วยภาพลักษณ์ “เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม” ไปฟรีๆ ด้วยภาษีคนเดนมาร์ก ระวังถูกเท        ธุรกิจที่มีผู้ร้องเรียนมากที่สุดในสิงคโปร์ในปี 2018 ได้แก่ธุรกิจความงามและสุขภาพ สมาคมผู้บริโภคของสิงคโปร์(CASE) ได้รับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับบริการนี้เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าถึงร้อยละ 30         กว่าครึ่งของเรื่องร้องเรียน 1,829 เรื่อง เป็นกรณีที่ผู้ร้องถูกลอยแพโดยธุรกิจที่ปิดตัวกะทันหัน และผู้ที่ถูก “หลอกขาย” หรือทำให้เข้าใจผิดเรื่องค่าบริการ        ตัวอย่างเช่น มูลค่าความเสียหายจากการปิดกิจการของแฟรนไชส์ร้านนวด Traditional Javanese Massage Hut อยู่ที่ 200,000 เหรียญ(4.7 ล้านบาท)        อีกกรณีหนึ่ง ผู้บริโภคถูกหลอกให้เซ็นใบเรียกเก็บค่าบริการ 2,800 เหรียญ(66,000 บาท) ขณะสาละวนสวมเสื้อผ้าหลังรับบริการที่เข้าใจว่ามูลค่าเพียง 28 เหรียญ        สมาคมสปาและสุขภาพของสิงคโปร์บอกว่า ธุรกิจนี้มีการแข่งขันสูงและมีต้นทุนการดำเนินการค่อนข้างมาก แต่ก็มีผู้เล่นหน้าใหม่ ซึ่งเป็นกิจการขนาดเล็กเพิ่มขึ้นตลอดเวลา ประหยัดผิดจุด         ทางการเยอรมนีตรวจสอบพบว่าผู้ประกอบการรถบรรทุกหลายร้อยคันแอบใช้ตัวช่วย “ปิด” ระบบบำบัดไอเสียเพื่อลดต้นทุน         จากรถบรรทุก 13,000 คันที่ตรวจสอบ เขาพบ “ความผิดปกติ” 300 คัน และจากเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว  เขาพบ “รถผิดปกติ” ถึง 132 คัน ที่น่าตกใจคือมีถึง 84 คันที่ผิดพลาดโดยจงใจ           การติดตั้งอุปกรณ์ขนาดเล็กจิ๋วและการใช้ซอฟต์แวร์ที่ซับซ้อนยากแก่การตรวจจับ ทำให้ผู้ประกอบการประหยัดค่าใช้จ่ายได้ถึงหนึ่งในสามของต้นทุนการวิ่งรถตามมาตรฐานยูโร 5 หรือ 6         อุปกรณ์ที่ว่านี้บ้างก็หลอกซอฟท์แวร์ควบคุมเครื่องยนต์ให้เข้าใจว่าคาตาแลคติกคอนเวอร์เตอร์ยังทำงานอยู่ บ้างก็ขึ้นผลอุณหภูมิหลอกๆ เพื่อปิดระบบการบำบัดไอเสียที่อุนหภูมิต่ำกว่า -11 เซลเซียส         เมื่อระบบถูกปิด รถเหล่านี้จึงสามารถปล่อยมลพิษออกมาได้มากกว่าปกติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งไนโตรเจนไดออกไซต์ที่เป็นอันตรายต่อระบบทางเดินหายใจและหลอดเลือดระวังติดไฟ        หลังเหตุการณ์แผ่นดินไหวและสึนามิในปี 2011 ที่เมืองฟุกุชิมะ คนญี่ปุ่นเริ่มหันมานิยมใช้หลอดไฟ LED กันมากขึ้นเพราะประหยัดไฟและใช้ได้นานกว่า        แต่สถิติอุบัติเหตุที่เกี่ยวข้องกับหลอดดังกล่าวก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน  สิบปีที่ผ่านมามีอุบัติเหตุดังกล่าวถึง 328 ครั้ง และมักเกิดขึ้นขณะที่ทำการเปลี่ยนหลอดไฟ ไม่ว่าจะเปลี่ยนจากหลอดแบบฟลูโอเรสเซนท์มาเป็นหลอด LED หรือเปลี่ยนหลอดไฟ LED หลอดใหม่        โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเต้าเดิมเป็นแบบที่ปรับความสว่างได้ หลอด LED จะร้อนจัดจนเกิดควันหรือเกิดไฟลุกขึ้นได้ จาก 328 ครั้ง มีถึง 23 ครั้งที่ทำให้เกิดไฟไหม         สำนักงานกิจการผู้บริโภคของญี่ปุ่นจึงออกประกาศเตือนและเรียกร้องให้ผู้บริโภคอ่านฉลากให้ดีว่าควรใช้กับขั้วแบบไหนและย้ำว่าหากมีข้อสงสัยให้สอบถามกับทางร้านก่อนลงมือเปลี่ยน ขอใบเสร็จด้วย        สมาคมผู้บริโภคแห่งประเทศจีนเรียกร้องให้บริการไฟแนนซ์รถมีความโปร่งใสมากขึ้นและบรรดาตัวแทนขายรถควรมีมาตรการคุ้มครองผู้บริโภคที่ดีขึ้น        ที่ผ่านมาพบการอุปโลกน์ค่าใช้จ่ายเพื่อเพิ่มยอดหนี้ บางเจ้าบังคับให้ผู้บริโภคซื้อประกันรถยนต์โดยไม่ออกใบเสร็จ และบางเจ้าก็เรียกเก็บ “ค่าบริการ” ซึ่งผู้บริโภคไม่ทราบว่าเป็นค่าบริการอะไร เพราะไม่ได้รับใบเสร็จ           สมาคมฯ ย้ำว่าตัวแทนจำหน่ายมีหน้าที่จัดหาสินค้ามีคุณภาพ และหากไม่ปฏิบัติตามและไม่แสดงความรับผิดชอบก็ควรได้รับโทษตามกฎหมาย        ก่อนหน้านี้มีสาวจีนโพสต์บอกชาวเน็ตว่ารถเบนซ์ CLS300 ที่เธอเพิ่งจะซื้อเมื่อปลายเดือนมีนาคมมีปัญหาเครื่องยนต์แต่ตัวแทนขายไม่สามารถขอเงินคืนหรือขอเปลี่ยนรถได้        เธอคนนี้ก็โดนเรียกเก็บ “ค่าธรรมเนียม” ลึกลับ ไป 15,000 หยวน(71,000 บาท) เหมือนกัน

อ่านเพิ่มเติม >