ฉบับที่ 217 ผลิตภัณฑ์สบู่เหลวล้างมือ

        การล้างมือเพื่อลดความเสี่ยงการติดหรือแพร่กระจายของเชื้อโรค เป็นสุขอนามัยที่ยอมรับกันมากขึ้นเรื่อยๆ เดิมเราอาจไม่ได้ให้ความสำคัญถึงขนาดต้องมีผลิตภัณฑ์สำหรับล้างมือโดยเฉพาะ เพียงแค่สบู่ก้อนกับน้ำสะอาดนับว่าเพียงพอ แต่ตลาดของผลิตภัณฑ์ชำระล้างร่างกายปัจจุบันมีความหลากหลายขึ้น จากสบู่ก้อน มาสู่สบู่เหลว ครีมอาบน้ำ ซึ่งในกลุ่มของสบู่เหลวยังแยกย่อยออกมาเป็น สบู่เหลวเพื่อการทำความสะอาดมือ ที่มีสัดส่วนในตลาดสบู่เหลวประมาณร้อยละ 3        ปัจจุบันสบู่ที่จำหน่ายในท้องตลาดแบ่งตามลักษณะของผลิตภัณฑ์เป็น 2 ลักษณะ คือ สบู่ก้อน(bar soaps) และสบู่เหลว(liquid soaps) ทั้งนี้มูลค่าการตลาดรวมของสบู่ในปี 2560 มีมูลค่าประมาณ 14,032 ล้านบาท แบ่งออกเป็นสบู่เหลว 4,912 ล้านบาท สบู่ก้อน 9,120 ล้านบาท (ที่มา...ประชาชาติธุรกิจ)        โดยทั่วไปสบู่เป็นผลิตภัณฑ์ที่ถูกคิดค้นขึ้นมาเพื่อใช้ในการฟอกทำความสะอาดผิว เป็นหนึ่งในสินค้าที่ผู้บริโภคไม่ค่อยยึดติดกับยี่ห้อมากนัก เพราะคุณสมบัติพื้นฐานไม่ต่างกัน ยี่ห้ออะไรก็ใช้แทนกันได้ ดังนั้นแต่ละยี่ห้อจึงต้องสรรหาจุดขายเพื่อสร้างความดึงดูดใจผู้บริโภค สบู่เหลวล้างมือก็เช่นกัน เป็นผลจากการแบ่งย่อยคุณสมบัติสินค้าให้เจาะจงยิ่งขึ้น สบู่เหลวล้างมือจึงมีการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ ที่ออกแบบให้เป็นหัวปั๊มใช้งานง่าย สามารถรีฟิล(refill) ได้ รวมทั้งการใส่สารผสมอย่างน้ำหอม สารให้ความชุ่มชื้น วิตามินต่างๆ หรือสารสกัดจากธรรมชาติ เพื่อสร้างความแตกต่าง แต่อย่างไรก็ตามในส่วนประกอบพื้นฐานยังคงเป็นสารเคมีเพื่อการชะล้างหรือทำความสะอาดผิว ซึ่งเป็นสารแบบเดียวกันหมดมีอะไรในสบู่ สบู่เหลว        1.ไขมันและน้ำมันจากพืชหรือสัตว์ เช่น น้ำมันปาล์ม น้ำมันมะพร้าว         2.ด่าง(alkali) เป็นตัวทำปฏิกิริยากับกรดไขมันและส่วนประกอบอื่นๆ ทำให้สารลดแรงตึงผิวและสารลดความกระด้างของน้ำทำงานมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ที่นิยมใช้มี 2 ชนิด คือ โซเดียมไฮดรอกไซด์ และโพแทสเซียมไฮดรอกไซด์         3.สารลดความกระด้างของน้ำ(builders) ใช้ลดความกระด้างของน้ำ เพื่อเพิ่มความสามารถในการทำความสะอาดและป้องกันการเสื่อมของผลิตภัณฑ์ เช่น สี กลิ่น เป็นต้น         4.สารลดแรงตึงผิวสังเคราะห์(synthic surfactants)         5.สารปรับสภาพ(conditioners) เพื่อให้ผิวเกิดความชุ่มชื้นและเกิดความระคายเคืองต่อผิวน้อยลง         6.สี ซึ่งจะต้องได้รับอนุญาตตามกฎหมายเครื่องสำอาง        7.น้ำหอม(fragrances) ทำหน้าที่ปกปิดกลิ่นของส่วนประกอบต่าง ๆ และให้กลิ่น        8.วัตถุกันเสีย เพื่อป้องกันการเสื่อมสภาพของสบู่  และ        9.สารต้านจุลินทรีย์(antimicrobial agents) ทำหน้าที่ฆ่าและยับยั้งการ เจริญเติบโตของจุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดเชื้อโรคและกลิ่นสารกลุ่มเสี่ยงที่ควรให้ความสนใจ          สารในกลุ่มที่มีการกล่าวถึงกันมากว่าอาจเป็นอันตรายทั้งต่อตัวผู้ใช้และสิ่งแวดล้อม คือ         ·        สารในกลุ่มลดแรงตึงผิว (Surfactant ) เป็นส่วนผสม ซึ่งมีทั้งหมด 4 ประเภท ได้แก่         1.สารลดแรงตึงผิวชนิดประจุลบ (anionic surfactant) มีคุณสมบัติทำความสะอาดได้ดี ทำให้เกิดฟองเร็ว มีราคาถูก และมีความแรงมากกว่าชนิดอื่น จึงอาจทำให้เกิดการระคายต่อผิวได้มาก เช่น sodium lauryl sulfate (SLS), Sodium Lauryl Ether Sulfate (SLES)         2.สารลดแรงตึงผิวชนิดประจุบวก (cationic surfactant) มักใช้ร่วมกับชนิดประจุลบในปริมาณไม่มากนัก แก้ไขจุดบกพร่องของผลิตภัณฑ์ ไม่ให้สบู่เหลวมีประจุลบมากเกินไป เช่น benzalkonium chioride polyquaternium 7, 10, 22 quaternary este        3.สารลดแรงตึงผิวชนิดประจุบวกและประจุลบ (amphoteric surfactant) กลุ่มนี้ให้ฟองปานกลางและระคายเคืองต่อผิวน้อย เช่น cocamidopropyl betaine         4.สารลดแรงตึงผิวชนิดไม่มีประจุ มีประสิทธิภาพในการชำระล้างได้ดี แต่มีฟองไม่มาก ระคายเคืองต่อผิวหนังน้อย เช่น nonyl phenol groups, polyxyethylene fatty alcoholsผลิตภัณฑ์สำหรับเด็กและสบู่เหลวสุตรอ่อนโยนต่อผิว มักใช้สารลดแรงตึงผิวประเภทที่ 3 และ 4 เป็นส่วนผสม เนื่องจากมีความอ่อนโยนกว่าประเภทอื่น        ·        สารกันเสีย (Preservative) คือสารเคมีที่ใส่เข้าไปในผลิตภัณฑ์ เครื่องสำอาง และผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดในครัวเรือน เพื่อยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อจุลินทรีย์ เพื่อยืดอายุผลิตภัณฑ์ แต่หากเราสัมผัสสารตัวนี้ในปริมาณมากเกินไปก็อาจส่งผลเสียต่อร่างกาย และสารบางชนิด เช่น สารกลุ่มพาราเบน มีการศึกษาวิจัยกันมากขึ้นว่า อาจเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดมะเร็งด้วย        ·        น้ำหอมสังเคราะห์ จัดเป็น 1 ใน 5 อันดับแรกของสารก่อภูมิแพ้ อยู่ในผลิตภัณฑ์แทบทุกชนิด หากใช้มากเกิน อาจก่อให้เกิดการระคายเคือง ภูมิแพ้ คำว่า น้ำหอม อาจใช้แทนสารเคมีกลุ่ม phthalates ซึ่งเป็นสารเคมีที่ใช้เป็นกลิ่นสังเคราะห์หรือน้ำหอมสังเคราะห์นั่นเอง โดยสารกลุ่มนี้จะรบกวนการทำงานของต่อมไร้ท่อจึงอาจก่อให้เกิดความอ้วน และอาจมีผลรบกวนระบบสืบพันธ์และการพัฒนาการได้ การหลีกเลี่ยงสารกลุ่ม phthalates การล้างมือที่ถูกวิธี          การเลือกใช้สบู่ก้อนหรือสบู่เหลว อาจเป็นเรื่องของความพึงพอใจในการใช้งาน แต่จริงๆ แล้ว การล้างมือถ้าทำได้ถูกวิธี ผลิตภัณฑ์ทั้งสบู่เหลวและสบู่ก้อนให้ผลไม่แตกต่างกัน ถ้าเช่นนั้นการล้างมือที่ถูกวิธี ต้องทำอย่างไร          1.ระยะเวลาในการล้างมือ อย่างน้อยต้อง 15 วินาทีขึ้นไป เพื่อให้เพียงพอในการขัดถูฝ่ามือ หลังมือ ถูซอกนิ้วมือ ซอกเล็บ รวมถึงบริเวณข้อมือด้วย           2.ควรล้างมือเมื่อเลอะคราบสิ่งสกปรก  ต้องเตรียมอาหารหรือกินอาหาร ใส่คอนแทคเลนส์ การทำแผล และควรล้างมือหลังกิจกรรมเหล่านี้ หลังเข้าห้องน้ำ เปลี่ยนผ้าอ้อม สั่งน้ำมูกใช้มือปิดปากเมื่อไอ จาม และสัมผัสกับสัตว์เลี้ยงหรือเก็บกวาดมูลสัตว์           3.จำเป็นไหมว่าต้องเป็นสบู่หรือสบู่เหลวที่ผสมยาฆ่าเชื้อ การล้างมือที่ถูกวิธีก็เพียงพอในการลดการสะสมของเชื้อโรคได้ ไม่จำเป็นต้องใช้สบู่เหลวที่ผสมสารฆ่าเชื้อ    

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 217 คู่มือบริโภคศึกษา

15 มีนาคมของทุกปี ถือเป็น “วันสิทธิผู้บริโภคสากล ซึ่งในปีนี้มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ซึ่งเป็นองค์กรสมาชิกของ สหพันธ์ผู้บริโภคสากล (Consumers International) ร่วมกับเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคทั่วประเทศ จัดสมัชชาผู้บริโภคประจำปี 2562 ขึ้นเมื่อวันที่ 14-15 มีนาคม ที่ผ่านมา โดยปีนี้เป็นการรณรงค์ต่อเนื่องจากปี 2561 ในประเด็นการสร้างความมั่นใจและความยุติธรรมแก่ผู้บริโภคในยุคดิจิทัล ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคต่อผลิตภัณฑ์อัจฉริยะในยุคดิจิทัล “Trusted Smart Product” นั้น เป็นความจำเป็นสำหรับผู้บริโภคในปัจจุบัน โดยเฉพาะเยาวชนที่จะเป็นพลังที่สำคัญของผู้บริโภคในวันข้างหน้า ฉลาดซื้อฉบับนี้ขอพาไปรู้จักกับคู่มือบริโภคศึกษา คู่มือสำหรับผู้บริโภควัยเยาว์ ผ่านมุมมองของนักสิทธิผู้บริโภครุ่นใหม่          รศ.รุจน์ โกมลบุตร ประธานคณะทำงานคู่มือบริโภคศึกษา รองประธานคณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน เล่าถึงความสำคัญและความจำเป็นของวิชาบริโภคศึกษาว่า เป็นกิจกรรมที่ริเริ่มขึ้นเพื่อส่งเสริมผู้บริโภคและมีความพยายามที่จะผลักดันเรื่องนี้เข้าไปสู่โรงเรียน โดยเริ่มจากการชวนเครือข่ายภาคประชาสังคมมาร่วมด้วยช่วยคิด ตั้งเป้าหมายว่าอยากจะเริ่มสอนในโรงเรียนก่อน จึงเริ่มทำร่างขึ้นมาประมาณ 16 หัวข้อ ต่อมาจึงชวนนักเรียนมาเข้าค่ายเป็นเวลา 3 วัน 2 คืนผ่านการทำกิจกรรม และนำมาสรุปผล หาจุดอ่อนจุดแข็งของร่างหลักสูตรนี้ เมื่อนำมาปรับให้เป็นหลักสูตรการสอนแล้วจึงนำร่องไปลองใช้สอนใน 7 โรงเรียน ซึ่งได้รับผลตอบรับที่ดีจากทั้งคุณครูและนักเรียน แต่อาจมีเรื่องที่คุณครูจะต้องเตรียมการสอนเพิ่มขึ้นอีก ส่วนนี้ก็นำคำติชมมาปรับปรุงแก้ไข และส่งให้โรงเรียนไปทดลองใช้จริงอีกครั้ง        “คล้ายๆ กับว่าเราทำงานผู้บริโภคในเชิงควบคุม ดูแลกำกับปรับปรุงนโยบายแบบนี้มันก็ทำแล้ว มันก็เหนื่อย เราก็ทำกับคนที่เป็นผู้ใหญ่แล้ว  ซึ่งก็ไม่ได้ผิดอะไร เพียงแต่ว่าฟังแล้วมันเหนื่อยจัง ผมก็รู้สึกว่าที่พวกเราช่วยกันคิด ก็คือเรื่องที่ทำจากตัวเยาวชนมาเลย ทำให้เขาเป็นผู้บริโภคที่ แข็งแรงสักวันเขาก็จะเป็นผู้ประกอบการ เป็นผู้ออกกฎระเบียบ  เป็นผู้ออกนโยบาย เป็นผู้กำกับ ดูแล เป็นอะไรแบบนี้ เขาก็จะมีเรื่องนี้เข้าไปอยู่ใความคิดของเขา  แล้วมันก็จะขยับได้ แต่มันไม่เร็วนะ มันก็ต้องนาน เพียงแต่เริ่มรู้สึกว่ามันจะเป็นทางในอนาคตแน่ๆ สักวันนึงมันก็จะออกดอกออกผลไง” การเรียนการสอนนี้จะพัฒนาต่อไปอย่างไร        ตอบแบบความจริงคือไม่รู้ ยังไม่ทราบแต่มีความหวัง จริงๆแล้วตอนที่ไปดูกับโรงเรียน ก็ชัดเจนว่า คุณครูก็ไม่ได้เห็นว่าเป็นเรื่องหนักหนาสำหรับเขา สังเกตเลยว่าบนเวที(วันที่ 14 มีนาคม) ฝากให้ทำอันโน้นทำอันนี้กัน แต่ผมรู้สึกว่าอันนี้เป็นสิ่งคุณครูรู้สึกว่าเป็นการรับฝากที่เขาไม่ได้รังเกียจอะไร แล้วก็อาจเป็นเพราะ เป็นเรื่องใกล้ตัว เป็นเรื่องที่ทุกคนประสบในชีวิตประจำวัน อาจเคยโดนโกงค่าโทรศัพท์ ค่าตั๋วเครื่องบิน รู้สึกว่าเป็นเรื่องที่ทุกคนก็ไม่ขัดข้องที่จะสอน        เรื่องนี้มันก็เลยทำให้เป็นเรื่องมีความหวังว่า มันควรที่จะทำต่อเนื่องให้ได้อย่างน้อยๆ เช่น มันควรทำให้ได้เรียนทุกปีไหม  ปีหนึ่งมีสองเทอมใช่ไหม ถ้าได้เรียนสักเทอมก็ยังดี  แต่ปัญหาตอนนี้คือ พวกเราคณะทำงานก็ต้องระดมหาทรัพยากรกัน ถ้าจะทำจริงก็แปลว่า ม.1 ต้องมีคู่มือหนึ่งเล่ม ม.2 ต้องมีหนึ่งเล่ม ม.3 ต้องมีหนึ่งเล่มจนถึง ม.6 เพราะว่าทุกปีต้องได้เรียนอะไรใหม่ๆ เป็นอันเดิมไม่ได้ แต่ตอนนี้เรามีแค่มัธยมต้น ซึ่งก็เอาคู่มือเดิมไปเรียนอีก อันนี้ก็เป็นความท้าทายของคณะทำงาน แล้วก็ภาคประชาสังคมจะว่ายังไงกันต่อ        ส่วนในเรื่องกลยุทธ์ ผมว่ากลยุทธ์ของเราคือ ใช้เครือข่าย เรามีเครือข่ายเกือบจะทุกจังหวัดแล้ว ณ ตอนนี้ หน้าที่เรา(คอบช.) คือทำหน้าที่เป็นส่วนกลางต้องสร้างแรงกระเพื่อม ทำให้เห็นว่านี่คืองานอย่างหนึ่ง การนำวิชาบริโภคศึกษานี้เข้าโรงเรียนคือ งาน ไม่ได้แปลว่าเรื่องรับร้องทุกข์ คืองาน มอนิเตอร์คืองาน การให้การศึกษา ก็คือ งาน  เช่นเดียวกัน ดังนั้นเดินเข้าไปในโรงเรียน  ในอำเภอในตำบล ในหมู่บ้าน ในโรงเรียน หาคนช่วยทำงานเพิ่ม อันนี้ก็เรื่องของเครือข่ายว่ามีค่าตอบแทนอะไรไป ก็เหมือนทำงานออฟฟิศอันหนึ่งใช่ไหม รับเรื่องราวร้องทุกข์ก็ได้รายได้ เข้าโรงเรียนก็ได้รายได้ แล้วเราก็จะได้คนที่จะมาช่วยทำงาน ช่วยเราที่เป็นเด็กรุ่นใหม่ ที่เข้าใจประเด็นนี้ไปเรื่อยๆ        งานเรามีอันเดียว คือพาเรื่องนี้เข้าโรงเรียนแค่นั้นเอง และส่วนกลางก็อัปเดตคู่มือให้ทันสมัย มีให้ครบทุกชั้นปี อันนี้ก็เป็นงานใหม่ๆ ที่จะต้องทำอีกงานหนึ่งเลย ถ้าทำก็หัวโต แต่ควรต้องทำ สอนเด็กรุ่นใหม่เพื่อให้เด็กตระหนักถึงเรื่องที่จำเป็นต่อชีวิตเขาที่จะให้มีคุณภาพ แล้วเขาก็ขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่ที่มีความกระตือรือร้นต่อเรื่องผู้บริโภคแบบนี้มันก็ช่วยได้ ทีนี้เวลาทำคู่มือแบบนี้ มองถึงเรื่องบูรณาการไหม ว่าทำไมมันไม่เป็นเล่มแบบนั้น ทำไมไม่บูรณาการแบบนี้ บูรณาการเป็นการเรียนรู้ที่น่าจะดีนะ  เพราะว่าจริงๆ มันไม่ได้จะให้ตั้งหน้าตั้งตาเรียนเป็นวิชาเดี่ยวๆ จะว่าไป อยู่กับวิชาเลขก็เจอ ไปอยู่กับวิชาภาษาอังกฤษก็เจอ  อยู่ภาษาไทยก็เจอเรื่องผู้บริโภค แต่วันนี้ เราในแง่ของการจัดการ เราจัดการแทบไม่ได้เลย เพราะเราไม่มีปัญญาไปตามคุณครูคณิตศาสตร์ว่าสอนให้เราหรือยัง คุณครูภาษาอังกฤษว่าสอนบทนี้ให้เราหรือยัง        เพราะฉะนั้น เราก็ทำวิธีที่เล่นท่าง่ายที่สุดคือ ทำให้เป็นหนึ่งวิชา แล้วให้คุณครูหนึ่งคน หรือกี่คนก็ไม่รู้ช่วยสอน  สอนให้ครบ 18 คาบ ตลอดหนึ่งเทอม แล้วเราตามไปดู ซึ่งเราจัดการง่ายสุด  แต่เมื่อกี้ที่บนเวทีบอกว่าเป็นการบูรณาการนี่ถือว่าเป็นสุดยอดเลยที่จะทำได้ แต่ว่าเราไม่มีความสามารถที่จะเอาไปขายให้คุณครูทุกคนเอาเข้าไปอยู่ในวิชาของท่าน แล้วสอนให้ด้วยนะ อย่าลืมสอนนะ แล้วเราก็ตามไปดูว่าสอนให้จริงหรือเปล่า แล้วก็ประเมินผลอีก อันนี้เรารับเงิน สสส.ใช่มั้ย เราก็ต้องสนใจเรื่องการประเมินผลว่าเราประเมินยังไง ซึ่งสอนเป็นหนึ่งเล่มเป็นหนึ่งวิชา ประเมินผลง่ายกว่าสำหรับเรา อันนี้คือท้ายที่สุดของชีวิตแต่ใส่ดอกจันทร์ ในความเป็นจริงคือ บูรณาการสำหรับกระทรวงศึกษาธิการไทย ก็ยังมีปัญหานะ เอาเข้าจริง คือมันสอนได้จริงหรือเปล่า ทำเสียสวยงาม         อาจารย์ดวงพร สมจันทร์ตา อาจารย์ผู้สอนวิชาบริโภคศึกษา โรงเรียนเสด็จวนชยางค์กูล จังหวัดลำปาง เป็นอีกหนึ่งท่านที่มาถ่ายทอดประสบการณ์การสอน        เดิมเป็นครูสอนวิชาวิทยาศาสตร์ ชีววิทยา สนใจเรื่องผู้บริโภคอยู่แล้ว เป็นเรื่องอาหารและสารอาหารที่เราสอนอยู่แล้ว เรื่องสารเคมี สารปนเปื้อนในอาหาร ที่เราสอนในบทนี้  ในบทเรื่องอาหารและสารอาหารตรงเลย เน้นเรื่องไขมัน  โรคต่างๆ ที่เกิดขึ้น เราสอนเรื่องระบบย่อยอาหารด้วย มันจะมีพวกนี้เข้ามาเกี่ยงข้องด้วย ถ้าเราสอนให้เด็กตื่นรู้เรื่องนี้ เรื่องการบริโภค เรื่องการอ่านฉลาก มันก็จะช่วยเรื่องสุขภาพของเขาด้วย เราก็พยายามยกตัวอย่างที่เจอในปัจจุบันยกผลงานวิจัย  การสำรวจโรคต่างๆ ที่เกิดขึ้นและในโรงเรียนนี่คือการสอนจะมีไปเรื่อยๆ ค่ะ ก็ปรับเปลี่ยนไปตามเด็กในแต่ละรุ่น แต่ละปัญหาที่เกิดขึ้น โครงการนี้น่าสนใจ คือเด็กถ้าเราให้ความรู้เขาตั้งแต่เด็ก มันก็เหมือนปลูกฝัง แล้วก็ได้ใช้งานต่อไปได้เรื่อยๆ มันสำคัญยังไง ที่เลือกเด็กเป็นกลุ่มเป้าหมายในการเรียนรู้เรื่องการคุ้มครองผู้บริโภค        จริงๆ ในการที่เราจะให้เด็ก  จะให้มันมีความยั่งยืนเราต้องมีการสร้างจิตสำนึก แล้วก็มีการสร้างความยั่งยืน คือ ด้วยความที่ตัวเด็กเเป็นเหมือนผ้าขาว คือถ้าเกิดเรามีการเรียนรู้แต่เด็กทำเป็นกิจวัตรประจำวัน หรือมีข้อมูลในการเรียกร้องสิทธิตั้งแต่เด็กๆ เนิ่นๆ มันทำให้เรามีความยั่งยืนในการจดจำ แล้วเด็กก็สามารถเอาบทเรียนที่เราสอนให้ไปประยุกต์ใช้ได้ในอนาคต        ตั้งแต่เริ่มโครงการสอนมา ก็ถือว่าบรรลุวัตถุประสงค์ เด็กมีความกล้า กล้าที่จะเรียกร้องสิทธิ เพราะว่าเดิมเด็กเขากลัวด้วย ก็จะมีการเรียนรู้ถึงสถานที่ หรือหน่วยงานที่ใช้เรียกร้องสิทธิ โดยบางครั้งเด็กเขาไม่รู้ว่าสิ่งที่เขาโดนอยู่นั้นเป็นเรื่องของการถูกละเมิด ต่อไปเด็กก็จะได้รู้ว่า อ้อแบบนี้ ครูหนูโดนละเมิดสิทธิ เดิมที่บอกว่า เด็กกลัว ไม่ใช่กลัวคนที่มาละเมิด แต่กลัวที่จะไม่ฟ้อง หมายถึงมีความกล้าที่จะฟ้องมากกว่า มีความกล้าที่จะปกป้องสิทธิตัวเองมากขึ้น จากเดิมที่คิดว่าเรื่องนี้เกี่ยวกับเราไหมไม่มีความมั่นใจ เหมือนเราจะโดนหลอกนะ เพราะเด็กหลายๆ คนก็เป็นอย่างนั้น ส่วนใหญ่ปัญหาการโดนละเมิดสิทธิของเด็กวัยนี้คืออะไร        ก็จะเป็นในเรื่องการซื้อของออนไลน์เป็นหลักเลย เด็กสมัยนี้ซื้อของเป็นแล้วนะคะ ม. 2 อย่าง เด็กผู้หญิงอาจจะซื้อเป็นเรื่องความสวยความงามของเขาก็โดนละเมิด ได้สินค้าไม่ตรงตามที่บอกไว้  เขาก็บอกว่าหนูจะไม่คุยกับร้านแล้ว หนูจะไม่เอาแล้ว  คือเด็กเขาก็จะมีความตระหนักมากขึ้น  ซึ่งเราเห็นก็โอเค         หรือเรื่องอื่นๆ ที่เห็นว่าได้ผลอีกอย่างคือ เด็กก็จะพูดในกลุ่มของเขาว่า ไปบอกแม่ก่อนว่าอย่าขึ้นรถโดยสารประจำทางที่ทำผิดนะ  เพราะมีกรณีหนึ่งที่เกิดกับเด็กคือ เขาถูกรถโดยสารประจำทางให้ลงก่อนถึงป้ายหรือปลายทางที่จะลง ก็รู้ว่าเดี๋ยวไปบอกแม่ก่อนไปฟ้องก่อน เด็กก็พูดในกลุ่มของเพื่อนๆ เขา ก็สอนเรื่องสิทธิ แต่ feedback ว่าพ่อแม่เขารู้ไหม ยังไม่ทราบจากเด็กเหมือนกันว่าเป็นอย่างไร มีการวางแผนการสอนอย่างไรในเทอมถัดไป        อันดับแรกเลยคือ จะเป็นการดูภูมิหลังของเด็กก่อนว่า เด็กปีนี้ที่เราเจอ  มีความคิดความอ่านประมาณไหน  เพราะว่าแต่ละปีไม่เหมือนกันแน่นอน  แล้วเราก็ปรับไปตามบริบทของนักเรียนในแต่ละห้อง  บางทีชั้นเดียวกันแต่คนละห้อง เรายังสอนไม่เหมือนกัน แต่เราก็ยังไม่ทิ้งสาระสำคัญที่มีในแต่ละบท  แต่เทคนิคการสอนมันต้องปรับเปลี่ยนไป  ก็อาจต้องศึกษาจากพฤติกรรมของนักเรียนก่อนจะมีการสอนในแต่ละห้อง  จากนั้นก็พยายามปรับบทเรียนโดยยังคงสาระสำคัญของบทเรียนนั้นๆ ไว้เนื้อหาในคู่มือมีการปรับเปลี่ยนบ้างไหม        เปลี่ยนบ้างค่ะ อย่างเช่นที่แนะนำไปไม่ว่าจะเป็นสิทธิ หรือการรักษาพยาบาลที่เปลี่ยนไปตลอดเวลา กฎหมายที่มันเปลี่ยนไปตลอดเวลา  ซึ่งตอนนี้ก็เปลี่ยน ไม่รู้ว่าเปลี่ยนรัฐบาลอะไรจะเปลี่ยนอีก คุณครูผู้สอนจะต้องติดตามข้อมูลข่าวสารต่างๆ ที่เกี่ยวข้องตลอดเวลาด้วย         อาจารย์พรศิริ เทียนอุดม จากโรงเรียนมักกะสันพิทยา กรุงเทพมหานคร กล่าวว่า เดิมสอนพิมพ์ดีดไทยด้วยคอมพิวเตอร์ในหมวดวิชาการงานอาชีพ และเมื่อมีคนแนะนำคู่มือฯ นี้มาให้ศึกษาก็ลองมานั่งอ่านด้วยตัวเองและพยายามคิดตามว่าคนเขียนหลักสูตรนี้ขึ้น เขาเขียนขึ้นมาเพื่ออะไร เมื่อเราเริ่มรู้แนวคิดนั้น อีกทั้งก็คิดว่าเป็นสิ่งที่จำเป็นกับการดำเนินชีวิต จึงเลือกนำคู่มือฯ นี้เข้ามาบูรณาการกับวิชาที่สอนอยู่ในตอนนั้นและเพื่อที่จะเปิดโลกทัศน์ให้กับนักเรียนด้วย เช่น จะสอนนักเรียนว่าขนมชิ้นหนึ่งไม่ใช่ดูแค่ราคาหรือสีสัน แต่จะให้ประเมินผลตามสภาพจริง รวมกับการนำเนื้อหามาปรับให้ทันสมัยมากขึ้น โดยใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์เข้ามาช่วยด้วย เช่น เว็บไซต์คาฮูท (Kahoot) ซึ่งเป็นเกมการเรียนรู้ซึ่งประกอบด้วย คำถามปรนัย เช่น การตอบคำถาม การอภิปราย หรือการสำรวจ โดยคำถามจะแสดงที่จอหน้าคอมพิวเตอร์และให้นักเรียนตอบคำถามผ่านเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน ช่วยให้นักเรียนสนุกกับการเรียนได้มีปัญหาอะไรบ้างในการนำไปสอนจริงและผ่านไปได้อย่างไร        คือ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ที่เพิ่งจะพ้นจากชั้นประถมมา ในบางบทเป็นเนื้อหาที่เข้าใจยาก เด็กจะไม่เข้าใจ เราต้องปรับเนื้อหาให้เหมาะสมกับนักเรียน ซึ่งก็จะปรับเป็นการทำกิจกรรมหรือสื่อที่น่าสนใจแทนการสอนแบบเน้นเนื้อหาหนักๆ นอกจากนี้จะเลือกสอนเฉพาะบทที่คิดว่าเขาจะสามารถเข้าใจได้ แต่หากบทไหนที่นักเรียนไม่เข้าใจ หรือไม่สามารถไปถึงจริงๆ ก็อาจจะตัดออก เพราะการพยายามบังคับ หรือสอนไปแบบนั้นอาจจะทำให้เขาเครียดและอาจจะไม่ชอบวิชานี้ได้        ส่วนคำแนะนำหรือการทำให้ยั่งยืน หรือเป็นที่แพร่หลายในโรงเรียนต่างๆ มากขึ้นนั้น โดยส่วนตัวมองว่าอาจจะไม่ต้องมีวิชาบริโภคศึกษาขึ้นเป็นหนึ่งวิชาก็ได้ แต่อาจจะนำเนื้อหาสาระจากวิชานี้ ที่เราอยากให้เด็กเรียนรู้มาบูรณาการกับวิชาต่างๆ ได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 217 ปัญหาผมสากแห้งจากแชมพูสมุนไพร

                เพื่อนสาวสองคนไปงาน OTOP ได้แชมพูสมุนไพรมาคนละสองขวด(คนละแบรนด์) คนหนึ่งใช้แล้วเชียร์ว่าดี ผมนิ่ม รู้สึกสะอาด ส่วนอีกคนบ่นอุบว่า ผมทั้งแห้ง ทั้งสาก ใช้ครั้งเดียวเข็ดยังเหลืออยู่เต็มขวด รอจะยกให้เพื่อนอีกคนไปใช้ ฟังแล้วจึงขอผลิตภัณฑ์มาดู พร้อมมีคำอธิบายให้เพื่อนไปดังนี้        นิยามของแชมพูผสมสมุนไพร ตามมาตรฐานอุตสาหกรรม(มอก.) หมายถึง ผลิตภัณฑ์ที่มีลักษณะเป็นของเหลวประกอบด้วยสารลดแรงตึงผิวใช้กับเส้นผมเพื่อขจัดสิ่งสกปรกออกจากเส้นผมและหนังศีรษะ ผสมสารสกัดจากสมุนไพรหรือชิ้นส่วนสมุนไพร เช่น ดอกอัญชัน มะคำดีควาย ว่านหางจระเข้        ในการทำแชมพูผสมสมุนไพร โดยทั่วไปจะมีสารเคมีที่เรียกว่า สารลดแรงตึงผิว หรือที่เรียกกันภาษาชาวบ้านว่า หัวแชมพู หรือ N70 ผสมอยู่เป็นส่วนประกอบหลัก N70 มีชื่อทางเคมีว่า Sodium laureth sulfate (SLES) ซึ่งมีคุณสมบัติเป็นสารชำระล้างช่วยทำให้เส้นผมสะอาด ทำให้เกิดฟองได้เร็ว(ตัว SLES นี้จะอยู่ในผลิตภัณฑ์ชำระล้างเกือบทุกชนิด ทั้งสบู่เหลว ครีมอาบน้ำ น้ำยาล้างจาน ฯลฯ)         คุณสมบัติที่สามารถชำระล้างคราบไขมันหรือน้ำมันต่างๆ บนเส้นผมได้ดี แน่นอนว่าผมหลังการสระจะให้สัมผัสที่แห้งด้าน เพราะน้ำมันส่วนที่เคลือบผมอยู่หลุดออกไปหมด (จึงอาจต้องทดแทนด้วยการใช้ครีมนวดผม) ดังนั้นในบางสูตรของแชมพูผสมสารสมุนไพรจึงต้องเติมพวกสารเคลือบลงไป เช่น ลาโนลีน        ข้อมูลมาถึงตรงนี้ก็ได้ความเข้าใจตรงกันว่า แชมพูผสมสารสมุนไพรไม่ได้ทำให้คุณหลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีไปได้ เพราะมีสารชำระล้างเป็นส่วนประกอบหลัก แต่เมื่อได้ลองพิจารณาฉลากของแชมพูอีกแบรนด์หนึ่งที่ผู้ใช้ชื่นชม พบว่า ไม่มีส่วนประกอบของสารชำระล้าง เป็นการนำสมุนไพรมาบดคั้นจนน้ำมันหรือพฤกษเคมีแตกตัวออกมา ผสมเกลือ(โซเดียมคลอไรด์) ลงไปด้วยเพื่อเป็นสารกันบูด แน่นอนว่าแชมพูนี้ไม่มีฟอง การเกิดฟองต้องมีเคมีสังเคราะห์ผสมอยู่ในเนื้อแชมพู ดังนั้นแชมพูขวดนี้จึงเป็นแชมพูสมุนไพรแท้ๆ ข้อดีคือไม่ต้องกังวลเรื่องเคมีสังเคราะห์ แต่ข้อเสียคือ อายุการใช้งานจำกัด ความคงตัวของพฤกษเคมีไม่คงตัว บูดเสียง่าย และเวลาใช้สระผมไม่สะดวกเท่ากับแชมพูที่มีฟอง ฟองทำให้สระและล้างออกง่าย          ทางออกสำหรับผู้ที่ต้องการใช้แชมพูผสมสมุนไพร คือ การทำแชมพูสมุนไพรธรรมชาติใช้เอง ซึ่งไม่ยุ่งยากเท่าไร สวยอย่างฉลาดฉบับหน้าจะนำมาเสนอต่อไป        หรือการใช้แชมพูผสมสมุนไพรอย่างเข้าใจ เลือกที่มีส่วนผสมของสารบำรุงผมหรือใช้ครีมนวดผมเสริม จะช่วยให้รู้สึกผมนุ่มเบาขึ้นไม่แห้งสาก อีกทางเลือกหนึ่งคือ เลือกใช้แบรนด์ที่มีการคิดค้นและนำพืชสมุนไพรไปสกัดจนได้สารเคมีที่คงตัว ผสมกับสารชำระล้างที่ไม่ใช่สารประเภท SLES แต่แน่นอนว่าจะมีราคาที่แพงขึ้น

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 217 ของแปลกๆ ในขวดน้ำอัดลม

        แม้ว่าการผลิตสินค้าทุกวันนี้จะทันสมัยมาก แต่ความผิดพลาดก็อาจเกิดขึ้นได้ เช่น กรณีพบของแปลกปลอมในผลิตภัณฑ์อาหารที่ปิดสนิท ดังนั้นสิ่งที่ควรทำคือ อย่าเพิกเฉย หากประสบปัญหาควรร้องเรียนเพื่อให้เกิดการปรับปรุงกระบวนการผลิตและถ้ามีผลกระทบต่อสุขภาพต่อจิตใจก็สามารถเรียกร้องสิทธิได้        คุณภูผา ชอบกินน้ำอัดลมรสโคล่าในขวดแก้วเอามากๆ  คือต้องดื่มทุกวัน จากร้านค้าเจ้าประจำจนคุ้นเคยกับเจ้าของร้านเป็นอย่างดี ขนาดที่ว่าสามารถเดินไปเปิดตู้แช่แล้วหยิบมาดื่มได้เลย สิ่งที่ทำให้คุณภูผาถูกใจที่สุดคือ ตู้แช่ร้านนี้จะเย็นจัดจนน้ำโคล่าในขวดแก้วกลายเป็นวุ้น        วันหนึ่งในเดือนที่อากาศร้อนมากๆ คุณภูผาเดินไปหยิบน้ำอัดลมจากร้านค้าตามปกติ แต่ที่ไม่ปกติคือ วันนั้นพอดูดวุ้นน้ำแข็งใกล้หมด สังเกตเห็นว่า มีสิ่งแปลกปลอมลักษณะแผ่นสีน้ำตาลแก่ๆ ดูแล้วคล้ายเป็นเศษใบตอง จึงสงสัยว่าสิ่งแปลกปลอมคืออะไรกันแน่ แล้วทำไมเข้าไปอยู่ในขวดน้ำอัดลมได้ ดื่มแล้วจะเป็นอันตรายไหม  จึงโทรศัพท์ไปแจ้งศูนย์ลูกค้าสัมพันธ์ตามเบอร์ที่แจ้งไว้ข้างขวด พนักงานของบริษัทรับเรื่องไว้และส่งเจ้าหน้าที่มารับตัวอย่างสินค้าไปตรวจสอบ พร้อมนำโค้ก 1 แพ็คมาเปลี่ยนให้แก่คุณภูผาเป็นการเยียวยาเบื้องต้น  อย่างไรก็ตามสิ่งนี้ไม่ใช่สิ่งที่คุณภูผาต้องการ ที่อยากรู้คือ มันเข้าไปอยู่ได้อย่างไร แต่จนผ่านไป 3 เดือนคุณภูผาก็ยังไม่ทราบข้อมูลใดๆ จากบริษัท จึงแจ้งมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค เพื่อให้ช่วยติดตามเรื่องให้แนวทางการแก้ไขปัญหา        ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค แนะนำว่าการกระทำของผู้ผลิตอาจเข้าข่ายการกระทำความผิดตาม พระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 มาตรา 25(1) เรื่องอาหารไม่บริสุทธิ์ โดยมีบทลงโทษอยู่ในมาตรา 58 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ และรับจะติดตามเรื่องให้        เมื่อติดต่อไปยังบริษัท พนักงานแจ้งว่าจะติดต่อกลับไปยังผู้ร้องคือคุณภูผาโดยเร็ว แต่เมื่อสอบถามคุณภูผาได้รับการแจ้งว่า ไม่มีการติดต่อใดๆ จากบริษัท ศูนย์ฯ จึงติดต่อประสานงานอีกครั้ง ต่อมาพนักงานของบริษัทติดต่อกลับมายังศูนย์พิทักษ์ว่า บริษัทได้ตรวจสอบสินค้าในรุ่นการผลิตเดียวกันกับที่พบสิ่งปนเปื้อนแล้ว ปรากฏว่าไม่พบสิ่งผิดปกติ และตรวจสอบระบบการผลิตและทดสอบแล้วพบว่า ไม่น่าจะมีสิ่งแปลกปลอมลงไปในขวดได้ ทั้งนี้ยินดีให้มูลนิธิเข้าร่วมตรวจสอบกระบวนการผลิต ทางศูนย์ฯ จึงแจ้งการนัดเจรจาไกล่เกลี่ยระหว่างผู้ร้องและบริษัท ซึ่งตัวแทนบริษัทอธิบายกระบวนการผลิตให้ผู้ร้องและมูลนิธิทราบ และให้ดูคลิปวีดีโอทดสอบระบบการผลิต ในกระบวนการเซ็นเซอร์ขณะล้างขวดแก้วที่พบปัญหา และแจ้งว่าที่ล่าช้าเนื่องจากพนักงานที่รับผิดชอบเกิดอุบัติเหตุ จึงหยุดงานเป็นเวลา 1 เดือน ทำให้ไม่ได้ติดต่อผู้ร้อง บริษัทได้กล่าวขออภัยผู้ร้อง และมอบหนังสือชี้แจงเหตุการณ์และการแก้ปัญหาไว้ที่มูลนิธิ ผู้ร้องไม่ได้ติดใจในกระบวนการผลิต อย่างไรก็ตามศูนย์ฯ มีข้อเสนอให้บริษัทชดเชยค่าเสียเวลาให้แก่ผู้ร้องเป็นจำนวน 5,000 บาท ซึ่งบริษัทยินดีชดเชยค่าเสียเวลาให้ผู้ร้องตามที่เสนอ เรื่องจึงเป็นอันยุติ พบปัญหาสิ่งปนเปื้อนในอาหารจัดการเบื้องต้นได้ดังนี้        1. ถ่ายรูปและเก็บตัวอย่างสินค้าไว้เป็นหลักฐาน กรณีมีใบเสร็จจากร้านค้าให้เก็บไว้เป็นหลักฐานด้วย        2.หากรับประทานเข้าไปแล้ว ควรไปพบแพทย์ เพื่อตรวจร่างกาย และขอใบรับรองแพทย์ พร้อมเก็บใบเสร็จรับเงินค่ารักษาพยาบาลไว้เป็นหลักฐาน        3. นำหลักฐานทั้งหมดแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษที่สถานีตำรวจท้องที่ เพื่อเป็นหลักฐาน        4. โทรแจ้งศูนย์ลูกค้าสัมพันธ์ (เบอร์โทรระบุไว้ที่ภาชนะบรรจุ) ซึ่งต้องคิดให้ดีว่า เราต้องการให้บริษัทดำเนินการอย่างไร เพื่อขอให้แก้ไขปัญหา พร้อมชดเชย เยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้น        5. ทำหนังสือยื่นข้อเสนอกับบริษัท ด้วยการบรรยายสรุปปัญหาที่พบ โดยส่งถึงประธานกรรมการบริหารหรือตำแหน่งอื่นที่เทียบเท่า และให้ระบุความต้องการที่ชัดเจน ซึ่งเป็นความเสียหายของผู้บริโภค เช่น ขอเปลี่ยนสินค้า ขอเงินคืน ชดเชยค่ารักษาพยาบาล จ่ายค่าเสียเวลา ค่าขาดประโยชน์ ค่าใช้จ่ายในการติดต่อกับผู้ประกอบการ ให้ทำหนังสือชี้แจงเหตุของสิ่งผิดปกติและขอโทษต่อผู้เสียหายและสาธารณะ เป็นต้น หมายเหตุ : หลักฐานตัวจริงทั้งหมดให้เก็บไว้ที่ตนเอง *ห้ามให้หน่วยงานหรือผู้ประกอบการโดยเด็ดขาด

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 217 ไฟแนนซ์ไม่อนุมัติสินเชื่อบอกเลิกสัญญาได้นะ

        รู้หรือไม่ว่า ประกาศของคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจการขายรถยนต์ที่มีการจองเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. 2551 นั้นได้กล่าวถึงเหตุที่ผู้บริโภคสามารถบอกเลิกสัญญาได้ เมื่อผู้ประกอบธุรกิจกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไปนี้ คือ        1.ปรับเปลี่ยนราคารถยนต์สูงขึ้น        2.ไม่ส่งมอบรถยนต์ให้ผู้บริโภคภายในระยะเวลาที่กำหนด        3.ไม่ส่งมอบรถยนต์ที่มี ยี่ห้อ รุ่น ปีที่ผลิต สีและขนาดกำลังเครื่องยนต์ตรงตามที่กำหนดในสัญญา        4.ไม่ส่งมอบรถยนต์ที่มีรายการอุปกรณ์ติดตั้งเพิ่มเติมและของแถม หรือสิทธิประโยชน์ต่างๆ ตามที่กำหนดในสัญญา        และ/หรือ ผู้บริโภคหรือผู้ประกอบการธุรกิจฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดมีสิทธิบอกเลิกสัญญา หากมีข้อเท็จจริงที่ผู้ประกอบธุรกิจได้รับทราบว่า ผู้บริโภคต้องขอสินเชื่อเพื่อการซื้อรถยนต์และผู้บริโภคไม่ได้รับอนุมัติสินเชื่อตามที่ขอภายในกำหนดเวลาตามกำหนดเวลาที่คาดว่าจะส่งมอบรถยนต์        กรณีตัวอย่างของคุณโดมินิค ที่ไปจองรถยนต์ BMW รุ่น 320d iconic ปี 2017 ในราคา 2,329,000 บาท กับบริษัท มิลเลนเนียม ออโต้ กรุ๊ป จำกัด โดยพนักงานขายแจ้งให้วางเงินจองไว้จำนวน 50,000 บาท และส่วนที่เหลือให้ทำสัญญาเช่าซื้อกับไฟแนนซ์ โดยมีกำหนดส่งมอบรถยนต์ในวันที่ 30 มิถุนายน 2561        ระหว่างเวลาก่อนส่งมอบนั้น มีงานมอเตอร์โชว์ ซึ่งคุณโดมินิคลองสอบถามกับพนักงานขายว่า จะมีข้อเสนอพิเศษเพิ่มขึ้นหรือไม่ หรือตนเองจะสามารถเปลี่ยนรถยนต์เป็นรุ่นที่สูงขึ้นได้หรือไม่ ซึ่งพนักงานได้แจ้งว่า หากต้องการข้อเสนอพิเศษหรืออุปกรณ์เสริมคือกล้องติดรถยนต์ ต้องขยับมารับรถยนต์ในเดือนเมษายน คุณโดมินิคตอบตกลงแต่ขอให้ส่งมอบรถยนต์ก่อนสงกรานต์ พนักงานจึงขอให้นำเอกสารมามอบให้ อย่างไรก็ตามเมื่อเข้าใกล้วันสงกรานต์ทางพนักงานไม่ติดต่อมา คุณโดมินิคจึงติดต่อกลับไปทำให้ทราบว่าบริษัทไฟแนนซ์หยุดยาวช่วงสงกรานต์แล้ว จนวันที่ 20 เมษายนทางพนักงานจึงติดต่อมาแจ้งว่า ไฟแนนซ์อนุมัติไม่เต็มวงเงิน คุณโดมินิคต้องจ่ายเงินดาวน์เพิ่ม 50,000 บาท แต่ไม่มีเอกสารจากทางไฟแนนซ์ยืนยัน บอกเพียงว่าเป็นการอนุมัติแบบพิเศษไม่มีเอกสาร ทำให้คุณโดมินิคไม่แน่ใจจึงบอกปฏิเสธการวางเงินดาวน์เพิ่มและขอยกเลิกสัญญา        เมื่อบอกเลิกสัญญาพนักงานขายได้แจ้งว่า ทางไฟแนนซ์ได้ยื่นเงื่อนไขใหม่ให้ แต่คุณโดมินิคก็ยังยืนยันขอยกเลิกสัญญาและขอเงินจองคืน ทำให้ผู้จัดการบริษัทติดต่อกับคุณโดมินิคโดยตรงเพื่อตกลงเงื่อนไขกันใหม่ ซึ่งคุณโดมินิคบอกซ้ำอีกครั้งว่าไม่ต้องการได้รถยนต์แล้ว  แต่ต่อมาวันที่ 30 เมษายน 2561 บริษัทกลับส่งหนังสือแจ้งการส่งมอบรถยนต์ที่ได้สั่งซื้อตามใบจองมาให้ คุณโดมินิคจึงทำหนังสือแจ้งขอคืนเงินมัดจำกลับไปในวันที่ 5 พฤษภาคม ซึ่งไม่ได้รับการติดต่อกลับใดๆ จากทางบริษัท คุณโดมินิคจึงขอคำปรึกษาว่าควรทำอย่างไรต่อไปแนวทางการแก้ไขปัญหา        จากเหตุที่เกิดขึ้น คุณโดมินิคสามารถบอกเลิกสัญญาได้ เนื่องจากไม่ได้รับอนุมัติสินเชื่อตามที่ขอ และมีสิทธิได้รับการคืนเงินมัดจำ ทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค โดยศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคจึงได้ทำหนังสือประสานงานให้ทั้งสองฝ่ายได้เจรจาไกล่เกลี่ย และท้ายที่สุดทางบริษัทตกลงคืนเงินจองให้กับผู้ร้องเรียนจำนวน 50,000 บาท แต่ขอหัก 3% ซึ่งเป็นค่าธรรมเนียมจากการใช้บัตรเครดิตที่ทางบริษัทถูกเรียกเก็บ เหลือคืนให้ผู้ร้อง 48,500 บาท ซึ่งผู้ร้องตกลงจึงเป็นอันยุติเรื่องร้องเรียน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 217 เลิกสัญญาอบรมคอร์สซื้อขายหุ้น

        การลงทุนในตลาดซื้อขายหุ้นหรือที่เรียกกันว่า เทรด เป็นสิ่งที่คนส่วนหนึ่งในสังคมปัจจุบันให้ความสนใจ เพราะถ้าลงทุนได้ดีก็ถือเป็นการสร้างรายได้ที่ให้ผลตอบแทนสูง ดังนั้นหลายคนจึงสนใจที่จะเรียนรู้ทั้งจากการทดลองด้วยตัวเอง หรือสมัครเข้าคอร์สอบรมต่างๆ ที่มีการนำเสนอในหลากหลายช่องทาง อย่างไรก็ตามการเข้าคอร์สอบรมเป็นวิธีหนึ่งในการเรียนรู้ แต่ไม่ได้รับประกันว่า ผู้เข้าอบรมจะสามารถเทรดได้เก่งอย่างที่หวัง และหลายครั้งการลงทุนเข้าคอร์สอบรมก็ถูกเรียกเก็บเงินในระดับที่สูงมากจนน่าตกใจ ดังนั้นก่อนตัดสินใจทำสัญญาอบรมควรพิจารณาให้ถี่ถ้วน        คุณมนันยา พบโฆษณาบนเฟซบุ๊คว่า มีงานสัมมนาฟรีของบริษัทหนึ่ง ซึ่งขอเรียกว่า บริษัทเอ็ม โดยมีหัวข้อที่ทำให้คุณมนันยาสนใจเข้าร่วมในงานสัมมนาดังกล่าว คือ “หุ้นเด็ดกำไร 10 เด้ง ด้วย OPTIONS” ที่โรงแรมแห่งหนึ่งในเมืองหาดใหญ่ จึงไปเข้าร่วมอบรมฟรีในวันที่ระบุบนโฆษณา หลังจบงานสัมมนา ทางผู้จัดงานคือ บริษัทเอ็มมีการนำเสนอขายคอร์สอบรม โดยหากสมัครเป็นสมาชิกในราคาปีละ 79,000 บาท จะสามารถอบรมในวันรุ่งขึ้นของการสัมมนาฟรีในวันนั้นได้ ในราคาเพียง 750 บาท และพิเศษไปอีกสำหรับ 10 คนแรก จะได้ส่วนลดถึง 10,000 บาท จากราคา 79,000 จะเหลือเพียง 96,000 บาทเท่านั้น        คุณมนันยา ซึ่งยังอยากจะอบรมต่อในวันถัดไป เพราะเหมือนที่อบรมฟรีไปนั้นยังไม่ค่อยโดนเท่าไร จึงสอบถามกับพนักงานที่ขายคอร์สอบรม ได้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ราคา 69,000 บาทนี้ สามารถผ่อนชำระได้ 0% ในเวลา 10 เดือน การเป็นสมาชิกแบบรายปีจะทำให้ประหยัดเงินเมื่อต้องการเข้าร่วมคอร์สอบรมต่างๆ จากราคาปกติที่ 3,000 บาทต่อครั้ง จะเหลือเพียงราคาแค่ 750 บาทเท่านั้น คุณมนันยาในขณะนั้นกำลังสนใจราคาที่ลดพิเศษถึง 10,000 บาท จึงรีบสมัครสมาชิกรายปีทันทีเพราะเกรงว่าจะไม่ได้อยู่ใน 10 คนแรก โดยชำระผ่านบัตรเครดิตธนาคารกรุงไทย        ต่อมาวันรุ่งขึ้นที่คุณมนันยาสามารถใช้สิทธิราคาพิเศษ 750 บาทได้นั้น คุณมนันยาได้มีเวลาคิดทบทวนจนรอบคอบแล้วพบว่า การลงทุนครั้งนี้อาจไม่คุ้มค่า จึงติดต่อธนาคารกรุงไทยเพื่อบอกยกเลิกสัญญาอบรมและไม่ให้เรียกเก็บเงินจำนวน 69,000 บาท พร้อมทั้งส่งหนังสือถึงบริษัทเอ็มเพื่อยกเลิกสัญญาพร้อมขอเงินคืน อย่างไรก็ตามคุณมนันยาไม่มั่นใจว่า การทำเรื่องยกเลิกดังกล่าวจะได้ผลหรือไม่ จึงปรึกษากับศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคแนวทางการแก้ไขปัญหา                ทางศูนย์ฯ ได้ดำเนินการดังนี้                1.แนะนำให้คุณมนันนยาทำหนังสือถึงบริษัทบัตรเครดิตเพื่อแจ้งการเลิกสัญญาซื้อคอร์สอบรม โดยจะชำระเฉพาะในส่วนที่ได้ใช้จ่ายไปจริงคือ การอบรมในวันที่ได้สิทธิพิเศษ แต่ไม่ชำระในส่วนที่ยกเลิกสัญญา คือ 69,000 บาท                2.เนื่องจากในการโฆษณาเรื่องการอบรม ทางบริษัทเอ็มให้ข้อมูลแก่ผู้บริโภคว่า เป็นบริษัทที่ปรึกษาการลงทุน ดังนั้นทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จึงทำจดหมายถึงสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(กลต.) เพื่อตรวจสอบใบอนุญาตของบริษัทเอ็ม ว่าเป็นจริงตามที่กล่าวอ้างหรือไม่                ต่อมาได้รับแจ้งจาก กลต.ว่า บริษัทเอ็มไม่ได้เป็นนิติบุคคลที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจใดที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ กลต. หากบริษัทเอ็มมีการประกอบธุรกิจที่มีการให้คำแนะนำเกี่ยวกับความเหมาะสมในการซื้อขายสัญญา ซื้อขายล่วงหน้า จะถือว่าผิดกฎหมาย และจะมีการนำชื่อของบริษัทลงในรายการ investor alert list ขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการตรวจสอบ                3.ประสานงานกับสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค(สคบ.) เรื่องการเรียกเก็บเงินของธนาคารเจ้าของบัตรเครดิต ทั้งที่มีจดหมายแจ้งบอกเรื่องยกเลิกสัญญาแล้ว                4.ประสานงานเรื่องการยกเลิกสัญญาและการขอเงินคืน ระหว่างผู้ร้องและบริษัทเอ็ม ในที่สุดสามารถช่วยผู้ร้องเรียนในการขอเงินคืนได้                การซื้อคอร์สอบรมใดๆ เพื่อนำไปใช้ในการเพิ่มความรู้เรื่องการลงทุน ก็มีความเสี่ยงเช่นเดียวกับการลงทุน ว่าอาจทั้งได้ผลดีและไม่ดี ดังนั้นควรพิจารณาให้รอบคอบถี่ถ้วนก่อนตัดสินใจ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 217 กระแสต่างแดน

     จำกัดพื้นที่        มาเลเซีย ผู้ผลิตน้ำมันปาล์มรายใหญ่อันดับสองของโลกประกาศจำกัดพื้นที่ปลูกปาล์มไว้ที่ 37.5 ล้านไร่(ปลายปีที่แล้วมีอยู่ 36.5 ล้านไร่) แต่จะเพิ่มความสามารถในการผลิตต่อไร่แทน เรื่องดังกล่าวจะเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีในเดือนมีนาคม           ก่อนหน้านี้คณะกรรมาธิการยุโรปมีข้อเสนอให้ยกเลิกการใช้น้ำมันปาล์มในแผนการส่งเสริมเชื้อเพลิงชีวภาพและตั้งเป้าที่จะเลิกใช้น้ำมันปาล์มในที่สุด ด้วยเหตุผลว่ามันขัดแย้งต่อหลักการเรื่องความยั่งยืน            เสียงต่อต้านการทำสวนปาล์มมีมานานแล้วเพราะเชื่อกันว่ามันคือสาเหตุหลักของการทำลายป่าฝนเมืองร้อนซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าหายาก        อินโดนีเซีย มาเลเซีย และโคลัมเบียซึ่งเป็นผู้ผลิตร้อยละ 90 ของน้ำมันปาล์มในโลก มองว่าการจำกัดพื้นที่ปลูกปาล์มอาจส่งผลให้ผู้บริโภคหันไปพึ่งพาพืชน้ำมันชนิดอื่นที่ให้ผลผลิตต่อพื้นที่น้อยกว่าปาล์ม และอาจไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาเรื่องความยั่งยืน           รูปจาก https://www.foodnavigator-asia.comของมันต้องมี        Autorità Garante della Concorrenza e del Mercato องค์กรกำกับดูแลการแข่งขันของอิตาลีสั่งปรับสายการบินต้นทุนต่ำสัญชาติไอริช Ryanair เป็นเงิน 3 ล้านยูโร(ประมาณ 107 ล้านบาท) เพราะเรียกเก็บเงินเพิ่มจากผู้โดยสารอย่างไม่เป็นธรรม        Wizzair ของฮังการี ก็โดนปรับ 1 ล้านยูโร (ประมาณ 35.5 ล้านบาท) เช่นกัน        ตั้งแต่พฤศจิกายนปีที่แล้ว สองสายการบินนี้เริ่มเก็บค่าธรรมเนียมกระเป๋าเดินทางขนาดเล็กชนิดที่นำขึ้นเครื่องได้ในอัตรา 5 ถึง 25 ยูโร (ประมาณ 180 – 900 บาท)         AGCM บอกว่ากระเป๋าถือคือสิ่งที่ขาดไม่ได้ในการเดินทาง สายการบินต้องดำเนินการขนส่งให้ผู้โดยสารโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายเพิ่ม        นอกจากนี้ กฎหมายว่าด้วยการเดินทางทางอากาศของยุโรประบุว่า บริการที่จำเป็นและคาดการณ์ล่วงหน้าได้นั้นจะต้องรวมอยู่ในราคาของบริการพื้นฐานแต่แรก การเรียกเก็บค่าธรรมเนียมเพิ่มจึงถือเป็นการหลอกลวงผู้บริโภค        Ryanair กำลังเตรียมยื่นอุทรณ์ แต่ Wizzair ยังไม่แสดงท่าที        รูปจาก https://upgradedpoints.com พร้อมทำโลกเย็น        หากคุณกำลังสงสัยว่าผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภครายใหญ่ของโลกปรับปรุงตัวเองอย่างไรบ้างเรื่องการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การใช้น้ำ หรือการประกอบการที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม           องค์กรไม่แสวงกำไร Carbon Disclosure Project พบว่าสามบริษัทที่พร้อมที่สุดจาก 16 บริษัทที่พวกเขาทำการสำรวจ ได้แก่ Unilever  L’Oreal และ Danone        ยูนิลิเวอร์ ชัดเจนด้วยการเข้าซื้อกิจการ Seventh Generation และอีกหลายบริษัทที่เน้นการผลิตสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ขณะที่ลอรีอัลก็เลือกใช้ห่วงโซ่อุปทานที่ไม่ส่งผลเสียต่อสภาพอากาศและมีแผนใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์        ดานอน ก็ลงทุนพัฒนาแผนปรับปรุงสภาพดินและการใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงผลิตสินค้าโดยไม่ใช้ส่วนประกอบจากสัตว์ด้วย        สองแบรนด์ที่รั้งท้ายได้แก่ Kraft Heinz ซึ่งมีนวัตกรรมเรื่องการผลิตแบบคาร์บอนต่ำน้อยมาก และ Estee Lauder ที่ยังไม่แสดงความโปร่งใสเรื่องการใช้น้ำมันปาล์ม        รูปจาก https://www.seventhgeneration.comมากินด้วยกัน        รัฐบาลจีนออกข้อบังคับให้ผู้บริหารโรงเรียนตั้งแต่ระดับอนุบาลถึงมัธยม รับประทานอาหารกลางวันร่วมกับเด็กๆ ในโรงอาหารของโรงเรียนเพื่อให้แน่ใจว่าอาหารนั้นปลอดภัย        ผู้บริหารจะต้องทำบันทึกรายการอาหารโดยละเอียดและแก้ไขปัญหาที่อาจเกิดขึ้นโดยด่วน ทั้งนี้ผู้ปกครองก็สามารถมาร่วมรับประทานและให้ความเห็นได้        โรงอาหารที่จำหน่ายอาหารที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพจะถูกปรับ 5,000 – 30,000 หยวน (ประมาณ 24,000 – 140,000 บาท) ในขณะที่ผู้รับผิดชอบอาจได้รับโทษตั้งแต่ถูกตักเตือน ปลดจากตำแหน่ง ไปจนถึงจำคุกหากถูกจับได้ว่าพยายามยักยอกเงินด้วยการจัดซื้ออาหารคุณภาพต่ำ หรือละเลยหน้าที่จนทำให้นักเรียนหรือครูล้มป่วยเพราะอาหารไม่ปลอดภัย         ประกาศนี้ยังกำหนดให้ร้านขายอาหารว่างในโรงเรียนต้องมีใบอนุญาตและไม่ขายอาหารที่มีรสเค็มหรือหวานเกินไปด้วย        รูปจาก ww.china.org.cn กินไม่ทัน        นักศึกษาชาวเยอรมันสองคนถูกปรับ 225 ยูโร(ประมาณ 8,000 บาท) และต้องทำงานรับใช้สังคมอีกแปดชั่วโมงในความผิดข้อหาร่วมกัน “ขโมยอาหารที่ทิ้งแล้ว”          สองสาวถูกจับได้ขณะกำลังเก็บอาหารจากถังขยะของซูเปอร์มาร์เก็ตแห่งหนึ่งในเมืองมิวนิค ตามกฎหมายแล้ว อาหารเหล่านั้นยังถือเป็นทรัพย์สินของซูเปอร์มาร์เก็ตอยู่จนกว่ารถขยะจะมารับไป         สิ่งที่พวกเธอต้องการเพื่อให้คนเยอรมันช่วยกันลด “อาหารเหลือทิ้ง” คือการแก้ไขกฎหมายเพื่อให้ผู้คนสามารถเข้าไปเลือกเก็บอาหารที่ผ่าน “วันกำหนดขาย” ไปบริโภคได้นั่นเอง         ในขณะที่ฝรั่งเศสล้ำไปอีกก้าวเพราะมีกฎหมายระบุให้ซูเปอร์มาร์เก็ตที่มีขนาดเกิน 400 ตารางเมตร ต้องประสานให้องค์กรพัฒนาเอกชนมารับอาหารที่ขายไม่ทันไปทำการแจกจ่าย โดยกำหนดชัดเจนว่าอาหารชนิดไหนยังรับประทานได้เมื่อเลยกำหนด         ห้างไหนฝ่าฝืน ต้องจ่ายค่าปรับครั้งละ 3,750 ยูโร (ประมาณ 133,000 บาท)          รูปจาก www.npr.org

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 217 วิ่งยังไงไม่ให้ถูกเอาเปรียบและประหยัด

      ถ้าคุณเดินได้ คุณก็วิ่งได้ สโลแกนที่นักวิ่งมักพูดกันเป็นคติประจำใจ และถ้าคุณวิ่งได้ คุณก็มีโอกาสที่จะพิชิตระยะทาง 42.195 กิโลเมตรได้ถ้าซ้อมถึง        แน่นอนว่าการพิชิตมาราธอน ใช่ว่าคิดจะวิ่งก็วิ่งเลย แต่คุณต้องเข้าร่วมงานวิ่งที่มีการจัดการ ‘อย่างดี’ เพราะการจัดการอย่างดีจะช่วยให้คุณวิ่งได้อย่างปลอดภัย ถ้าวิ่งแล้วชนกำแพง(Hit the Wall) หมายถึงหมดแรงก่อนจะถึงเส้นชัยหรือบาดเจ็บระหว่างวิ่ง คุณสามารถรู้แน่ชัดว่าจะมีทีมพยาบาลมาคอยช่วยเหลือ        แต่ถ้าคุณโชคร้ายไปงานวิ่งที่การจัดการไม่ดี ความสนุกสนาน ความท้าทาย อาจกลายเป็นหนังคนละม้วน จนทำให้คุณรู้สึกว่าการจ่ายเงินเพื่อร่วมงานวิ่งครั้งนี้ช่างไม่คุ้มค่าเอาเสียเลย เช่นข่าวที่เคยเกิดขึ้นกับงานวิ่งครั้งหนึ่งที่ไม่มีน้ำดื่มเพียงพอสำหรับนักวิ่ง หรือมีแม้กระทั่งนักวิ่งเสียชีวิตระหว่างการแข่งขัน ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้น เพราะความปลอดภัยในระหว่างวิ่งถือเป็นความสำคัญอันดับต้นๆ        ฉบับนี้ ‘ฉลาดซื้อ’ ชวนนักวิ่งให้ย้อนกลับมาดูตัวเองในฐานะ ‘ผู้บริโภค’ คนหนึ่งว่า เราควรเลือกงานวิ่งอย่างไรจะได้ไม่ถูกเอาเปรียบ และควรต้องมีอุปกรณ์ใดบ้างถึงจะพอดีกับตัวเรา ไม่มากเกินไปจนต้องจ่ายแพงเกินความจำเป็น เศรษฐศาสตร์งานวิ่ง        บทความเรื่อง ‘เศรษฐศาสตร์ว่าด้วยการจัดงานวิ่ง’ ที่เผยแพร่ในหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ศึกษาโดย ดร.วัชรพงศ์ รติสุขพิมล คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีข้อมูลที่น่าสนใจดังนี้        ปี 2559-2560 พบว่ามีการจัดงานวิ่งทั่วประเทศ 1,305 รายการ เฉลี่ยเดือนละ 54 รายการ สัปดาห์ละ 12 รายการ จัดขึ้นเกือบครบทุกจังหวัดในประเทศ โดยเดือนที่มีการจัดงานวิ่งมากที่สุดคือเดือนธันวาคมและพฤษภาคม เดือนละประมาณ 160 รายการ วันที่มีการจัดงานวิ่งมากที่สุดคือวันอาทิตย์ มีจำนวน 940 รายการ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 71 ของงานวิ่งทั้งหมด        จังหวัดที่มีการจัดงานวิ่งมากที่สุดคือกรุงเทพมหานคร จำนวน 386 รายการ เฉลี่ยเดือนละ 16 รายการ อันดับถัดๆ มาคือสกลนคร เชียงใหม่ ชลบุรี ภูเก็ต และสงขลา ถ้าพิจารณาเฉพาะงานวิ่งที่จัดในกรุงเทพฯ สถานที่นิยมจัดงานวิ่งมากที่สุด 3 อันดับคือสวนลุมพินี, สวนหลวง ร.9 และสวนวชิรเบญจทัศหรือสวนรถไฟ        งานวิ่งส่วนใหญ่แบ่งการแข่งขันเป็น 4 รูปแบบคือ Fun Run เป็นการวิ่งเพื่อความสนุกสนานระยะทางประมาณ 3-5 กิโลเมตร, Mini Marathon ระยะทางประมาณ 10 กิโลเมตร, Half Marathon ระยะทางประมาณ 21 กิโลเมตร และ Full Marathon ระยะทางประมาณ 42 กิโลเมตร โดยค่าสมัครจะเพิ่มขึ้นตามระยะทาง ในช่วง 2 ปีที่เก็บข้อมูล ค่าเฉลี่ยของค่าสมัครในการวิ่งประเภท Fun Run อยู่ที่ 312 บาท Mini Marathon อยู่ที่ 365 บาท Half Marathon 583 บาท และ Full Marathon 841 บาท        บทความยังกล่าวอีกว่า กระแสงานวิ่งที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ บวกกับกระแสการดูแลสุขภาพ งานวิ่งจะยังเป็นธุรกิจที่มีโอกาสเก็บเกี่ยวผลกำไรได้ต่อไปในอนาคตประสบการณ์เลวร้ายจากงานวิ่ง        จากเว็บไซต์ positioningmag.com ระบุว่าปัจจุบันราคาเฉลี่ยต่องานวิ่งอยู่ที่ 500-900 บาท โดยรายได้หลังหักต้นทุนแล้วจะเหลือกำไรเฉลี่ยมากกว่าร้อยละ 50 เมื่อกำไรสูงเพียงนี้ นักวิ่งก็ควรได้รับบริการที่คุ้มค่ากับเงินที่เสียไป        “วิ่ง 21 กิโลเมตรครั้งแรก โฆษณาไว้ดีมาก แต่พอวันจริงพบว่าปล่อยตัวช้า น้ำหมดตั้งแต่กิโลเมตรแรก จนต้องซื้อน้ำข้างทางกิน ป้ายบอกทางไม่มี 21 กิโลต้องไปทางไหน 10 กิโลต้องไปทางไหน วิ่งกันตามมีตามเกิด หรือถ้าเจอจุดให้น้ำก็ไม่มีแก้ว ต้องใช้ปากหรือฝาขวดน้ำรองกิน ค่อนข้างเลวร้ายมาก        อีกงานเป็นงานที่จัดตอนกลางคืนอย่าง สตาร์วอร์ รัน เป็นงานในตำนานที่ทุกคนเจ็บปวด ราคาแพงมากเพราะไปซื้อลิขสิทธิ์การวิ่งจากต่างประเทศ แต่สิ่งที่ได้รับกลับมาไม่คุ้มค่า ปล่อยตัวช้ามาก แทนที่จะเน้นกิมมิกที่โฆษณาไว้ตลอดเส้นทาง ไม่มี หรือมีแบบไม่ลงทุน เพราะไปลงทุนกับคอนเสิร์ตก่อนวิ่ง คอนเสิร์ตจบไปนานแล้วก็ยังไม่ปล่อยตัวเสียที บอกปล่อยตัว 4 ทุ่ม แต่ปล่อยจริงๆ อีก 15 นาทีเที่ยงคืน แล้วผู้จัดก็ไม่อธิบายอะไรเลย เหรียญที่ได้ก็ไม่ตรงกับที่โฆษณาจนมีการเรียกร้องให้เปลี่ยน เขาก็ทำใหม่ แต่ใช้เวลาค่อนข้างนาน และการเปลี่ยนก็ค่อนข้างจุกจิก ต้องรอเกือบ 2 เดือนกว่าจะได้เหรียญใหม่”        เรียกว่าเป็นประสบการณ์การวิ่งที่เลวร้ายที่นักวิ่งอย่างนลินี เรืองฤทธิศักดิ์ ต้องเจอ ในฐานะที่เริ่มวิ่งมาห้าหกปี เธอเตือนสตินักวิ่งหน้าใหม่(หรือแม้แต่หน้าเก่า) ว่าก่อนกดสมัครลงงานวิ่งใดๆ ควรตรวจสอบชื่อผู้จัดงานก่อน ถามว่าแล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าผู้จัดงานเจ้าใดบริหารจัดการงานวิ่งได้ดี เธอตอบว่าปัจจุบันมีชุมชนของนักวิ่งตามเพจต่างๆ ที่มีการให้ข้อมูลและจัดอันดับงานวิ่งให้นักวิ่งเข้าไปศึกษาหาข้อมูล ซึ่งถือว่าช่วยให้ไม่พลาดท่าเสียทีได้พอสมควร        นลินียังแนะนำว่า นักวิ่งบางคนเลือกงานวิ่งจากความสวยงามของเสื้อและเหรียญรางวัล ซึ่งก็ไม่ผิด แต่อยากให้ดูรายละเอียดอื่นๆ ด้วย การจัดการงานวิ่งที่ดีมักให้ข้อมูลนักวิ่งไว้ค่อนข้างละเอียด ตั้งแต่เส้นทางวิ่ง จุดให้น้ำ จุดปฐมพยาบาล และควรเปรียบเทียบสถานที่กับจำนวนนักวิ่งว่าได้สัดส่วนเหมาะสมหรือไม่ เพราะสถานที่จัดงานจำกัด แต่มีนักวิ่งเข้าร่วมจำนวนมากอาจเกิดการเบียดเสียด ชน หรือล้ม ซึ่งอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุไม่คาดฝันได้ เหล่านี้เป็นสิ่งที่นักวิ่งควรตรวจสอบก่อนการสมัคร        ความปลอดภัยคือสิ่งแรกที่งานวิ่งที่ดีต้องคำนึงถึง        ทีนี้มาลงรายละเอียดกันให้มากขึ้น คุณหมอนักวิ่งอย่าง นพ.ภัทรภณ อติเมธิน แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู ประจำ Running Clinic โรงพยาบาลสมิติเวช สุขุมวิท ตอบเรื่องงานวิ่งที่ดีจาก 2 สถานะ คือนักวิ่งและแพทย์ ถ้าในฐานะนักวิ่ง สิ่งที่ขาดไม่ได้คือการบริการน้ำ ความปลอดภัย การปิดถนนซึ่งอาจไม่ต้อง 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ต้องปลอดภัย เพราะบางงานรถแล่นไปมาข้างๆ นักวิ่งก็มีให้เห็นมาแล้ว หรือบางงานมีเส้นทางวิ่งอยู่ใต้สะพานหรือใต้ทางด่วนซึ่งเป็นสภาพแวดล้อมที่ค่อนข้างอึดอัด        “แต่ถ้าตอบในฐานะหมอ มันมีมาตรฐานงานวิ่งของสหพันธ์สมาคมกรีฑานานาชาติ (International Association of Athletics Federations: IAAF) ซึ่งสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญเป็นอันดับ 1 คือทีมแพทย์ในงานวิ่ง ถ้าทีมแพทย์ไม่โอเค เขาก็จะไม่รับรองมาตรฐานให้ เพราะความปลอดภัยของนักวิ่งเป็นสิ่งสำคัญที่สุด เขามาวิ่งเพื่อสุขภาพ ไม่ได้วิ่งเพื่อมีความเสี่ยง แต่ในเมืองไทยของเราจะขาดเรื่องนี้ไปมากๆ”        นพ.ภัทรภณ กล่าวว่างานวิ่งในเมืองไทยมักจะเน้นผิดจุด คือไปเน้นที่อาหารหลังงานวิ่งเป็นหลัก ต่างจากงานวิ่งในต่างประเทศที่หลังวิ่งอาจมีแค่น้ำ เกลือแร่ กับแซนด์วิช 1 ชิ้นเท่านั้น งบประมาณที่เหลือจะไปทุ่มเทให้กับการบริหารจัดการต่างๆ ในระหว่างการวิ่ง การมีทีมปฐมพยาบาลและการติดต่อสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ        ทำไมต้องมีการติดต่อประสานงานที่มีประสิทธิภาพ?        ชลชัย อานามนารถ ผู้ช่วยคณบดีและอาจารย์ประจำวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการกีฬา มหาวิทยาลัยมหิดล เฉลยว่า เพราะโดยทั่วไปหากว่ากันตามหลัก First Aid เมื่อเกิดเหตุใดๆ ขึ้น ทีมแพทย์ต้องสามารถเข้าถึงนักวิ่งได้ภายในเวลา 4 นาทีเพื่อให้ความช่วยเหลือและส่งโรงพยาบาลได้ทันท่วงที ดังนั้นงานวิ่งที่ดีจะต้องมีการวางแผนกำลังคนของทีมแพทย์อย่างรัดกุม        ความปลอดภัยของนักวิ่งจึงต้องมาก่อนอาหารที่หลากหลายและความเอร็ดอร่อย จากนั้นจึงมาดูที่การบริหารจัดการต่างๆ เช่น การรับสมัครที่สะดวก ไม่ยุ่งยาก การรับเสื้อและเบอร์วิ่งที่มีระบบ จุดฝากของมีหรือไม่ มีกี่จุด จุดจอดรถอยู่ตรงไหน ชลชัยแนะนำว่างานวิ่งที่มีการจัดการที่ดีมักบอกรายละเอียดเหล่านี้ให้นักวิ่งได้รับรู้ก่อนเสมอ        สายอุปกรณ์        เมื่อคุณวิ่งไปสักระยะหนึ่ง คุณน่าจะเคยได้ยินคำว่า ‘สายอุปกรณ์’ หมายถึงนักวิ่งที่จัดหนัก จัดเต็ม กับอุปกรณ์สารพัดอย่าง บางคนเกิดคำถามในใจว่าจำเป็นแค่ไหน หรือบางคนเห็นเพื่อนมีก็อยากมีบ้าง ต้องตอบว่าไม่มีคำตอบตายตัวสำหรับเรื่องนี้ เพราะด้านหนึ่งก็เป็นความพึงพอใจของนักวิ่งที่มีกำลังซื้อ คงห้ามปรามกันไม่ได้ แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีแนวทางในการเลือกอุปกรณ์อยู่เลย        สิ่งที่ต้องใส่ใจเป็นอันดับแรกคือรองเท้า เพราะรองเท้าที่ดีช่วยลดอาการบาดเจ็บได้จริง นพ.ภัทรภณ กล่าวว่า แต่รองเท้าที่ดีของแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน ไม่มีรองเท้าใดที่ดีกับทุกคน เพราะสรีระรูปเท้า วิธีการวิ่งของแต่ละคนไม่เหมือนกัน คำแนะนำที่ดีที่สุดในการเลือกซื้อรองเท้าคือให้ทดลองใส่วิ่งแล้วดูว่ารู้สึกสบายหรือไม่        “มีงานวิจัยว่ารองเท้าที่ช่วยลดอาการบาดเจ็บได้ดีที่สุดคือรองเท้าที่ใส่แล้วรู้สึกสบายที่สุด แค่นั้นเลยครับ แต่ที่บอกว่าเท้าแบน อุ้งเท้าสูง มันก็มีงานวิจัยที่รองรับแค่อย่างเดียวคือเท้าแบน ถ้าเท้าแบนแล้วใส่รองเท้าที่เรียกว่าโมชั่น คอนโทรล ล็อกข้อเท้าหน่อยกันไม่ให้เท้าล้ม อันนี้จะช่วยได้สำหรับคนที่เท้าแบน แต่รองเท้าพวกนี้ไม่ได้สวยมาก เทอะทะนิดหนึ่ง เวลาแนะนำคนไข้ผมก็จะบอกว่ารองเท้าอะไรก็ได้ แต่หาแผ่นรองที่ล็อกข้อเท้ามาใส่”        ถุงเท้า-เดี๋ยวนี้ถุงเท้าสำหรับนักวิ่งบางยี่ห้อราคาสูงถึงคู่ละ 500-600 บาท เช่นกัน มันเป็นเรื่องของกำลังซื้อและวัตถุประสงค์ในการวิ่ง คำแนะนำคือควรเลือกถุงเท้าที่ทำจากใยสังเคราะห์ที่ไม่อุ้มน้ำ ถ้าวิ่งระยะไกลหรือวิ่งเทรล(การวิ่งแบบผจญภัยบนพื้นที่ธรรมชาติ) ก็อาจเลือกถุงเท้าที่มีปุ่มบริเวณพื้นเท้าเพื่อป้องกันการลื่นซึ่งมีราคาสูง และถ้าคุณมีปัญหาเท้าพองระหว่างวิ่ง การซื้อถุงเท้าแบบแยกนิ้วก็จะช่วยได้        รองเท้ากับถุงเท้าน่าจะเป็นอุปกรณ์หลักๆ ที่ต้องใส่ใจเป็นพิเศษ แล้วนอกนั้นล่ะ? คำตอบแบบกว้างๆ คือขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของผู้วิ่ง        เสื้อ-กางเกงแบบรัดรูป เป้สะพายสำหรับใส่น้ำดื่ม นาฬิกาแบบสมาร์ท และอื่นๆ จำเป็นแค่ไหน เพราะถ้าใครเคยดูการแข่งขันวิ่งมาราธอนระดับโลก จะพบว่านักวิ่งระดับอีลีทก็ใส่เพียงเสื้อยืด กางเกงขาสั้น และรองเท้า...แค่นั้น ชลชัยมีคำแนะนำว่า การจะใช้อุปกรณ์ใดต้องย้อนกลับไปดูว่าเราวิ่งเพื่ออะไรและสภาพร่างกายของเราเป็นอย่างไร        “เช่นนักวิ่งมือใหม่ที่มีข้อจำกัดด้านสุขภาพ นาฬิกาแบบสมาร์ทก็ช่วยให้รู้อัตราการเต้นของหัวใจที่ไม่หนักเกินไป ถ้าเกินจะมีการร้องเตือน หรือถ้ามีน้ำหนักตัวเยอะ แต่ไม่ลงทุนกับรองเท้าเลยก็อาจทำให้เกิดปัญหากับหัวเข่า แต่ละคนมีเหตุผลที่ต่างกัน จุดแรกต้องดูก่อนว่าถ้าคุณมีข้อจำกัดด้านสุขภาพ มีความเสี่ยง คุณอาจต้องลงทุนในระดับหนึ่งเพื่อให้ตัวเองปลอดภัยมากขึ้น        ส่วนกลุ่มนักวิ่งที่จริงจังขึ้น ต้องการพัฒนาการวิ่ง ถ้าใส่รองเท้าธรรมดา คนที่ความเร็วเท่ากัน รองเท้าดีกว่าก็เซฟแรงมากกว่า หรือนาฬิกาแทนที่จะบอกแค่อัตราการเต้นของหัวใจ บอกแคลลอรี่ แต่สามารถบอกระยะทางได้ คุมฮาร์ทเรทโซนได้ บอกความเร็วเฉลี่ย ช่วงก้าวขวาซ้าย ทำให้ประสิทธิภาพการวิ่งดีขึ้น แต่ต้องใช้ให้เป็นนะ ถ้าใช้ไม่เป็นก็ซื้อแบบถูกๆ ก็เพียงพอ”        ส่วนชุดรัดกล้ามเนื้อ นพ.ภัทรภณ บอกว่าช่วยในเรื่องการฟื้นตัวหลังวิ่ง แต่ไม่ได้เพิ่มประสิทธิภาพในการวิ่ง ไม่ได้ป้องกันอาการบาดเจ็บ จึงไม่จำเป็นต้องใส่        “แต่ใส่แล้วมีผลเสียอะไรมั้ย ก็ไม่มี ใส่ได้ เพราะทุกอย่างมันมีผลทางใจ ใส่แล้วรู้สึกโอเค ไม่มีผลเสียอะไร ส่วนอุปกรณ์เสริมอื่นๆ ก็แล้วแต่คนว่าจะใส่เยอะขนาดไหน” เป็นคำตอบจากแพทย์ด้านการวิ่ง        ถึงตอนนี้ใครที่อยากวิ่ง อยากลงสนามก็คงจะพอเห็นแนวทางแล้วว่า จะตรวจสอบสนามแข่ง ตรวจสอบผู้จัดงานได้ที่ไหน อย่างไร ควรจะเลือกรองเท้า ถุงเท้าแบบไหน จะสวมใส่อุปกรณ์อะไรบ้าง ทั้งหมดคงต้องดูที่วัตถุประสงค์ว่าคุณวิ่งเพื่ออะไร มีงบประมาณเท่าไหร่ แล้วลองหาสิ่งที่ตอบโจทย์ให้ได้มากที่สุด        แล้วคุณจะมีความสุขกับการวิ่ง

อ่านเพิ่มเติม >


ฉบับที่ 217 ล่อลวงล่อหลอก

ยุคนี้ใครๆ ก็ใช้อินเทอร์เน็ตกันเป็น ข้อมูลข่าวสารดีๆ เราสามารถค้นหาได้ในเน็ต แต่หลายครั้งก็พบว่าเมื่อเราตามไปอ่านข่าวสารต่างๆที่สนใจเหล่านั้น บางทีเราก็จะพบข้อมูลแปลกๆแทรกในหน้าข่าวต่างๆ โดยชักจูง ล่อลวงให้เราตามไปอ่านอย่างแนบเนียนจนเราไม่รู้สึกตัว        ในช่วงที่ผ่านมา คนกำลังตื่นตัวและหวาดกลัวกับปัญหาฝุ่น 2.5 สื่อโซเชียลหลายเว็บนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับฝุ่น 2.5 แต่เมื่อลองตามเข้าไปอ่าน กลับพบว่าในบางเว็บมีผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่เป็นเครื่องดื่ม แต่ฉวยโอกาสว่า ดื่มแล้วจะมีสารต้านฝุ่น 2.5 ในร่างกาย แทรกในท้ายๆของข่าวสาร หรือในเว็บที่ให้ความรู้เกี่ยวกับสายตา เมื่อตามไปอ่านกลับพบว่าเป็นการโฆษณาผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ที่อ้างว่าช่วยรักษาสารพัดปัญหาตาได้อีกด้วย        ล่าสุดผมตามไปอ่านเว็บเกี่ยวกับสมุนไพร อ่านไปได้ครึ่งหน้ากลับมี ข้อความแปลกๆ โผล่ขึ้นมา เช่น ย้อนวัยทั้งคืน ทีแรกก็ยังงงๆ กับข้อความกำกวมดังกล่าว แต่พอกดลิงค์ตามเข้าไปดู กลับกลายเป็นข้อความ บรรยายว่า “ผลิตภัณฑ์บำรุงร่างกาย ชนิดนี้ เป็นสินค้าที่นำเอาตำรับยาสมุนไพรจีน มาพัฒนาโดยใช้วิทยาการและเทคโนโลยีที่ทันสมัย มีส่วนช่วยบำรุงและกระตุ้นการทำงานของตับและไต ให้มีประสิทธิภาพดีขึ้น ทำให้ระบบของเหลวในร่างกายมีความสมดุล ช่วยเพิ่มฮอร์โมนในเลือด” มีการอ้างต่อว่า “มีส่วนผสมของ ราชาแห่งสมุนไพร (ถังเช่า) ด้วย” หลังจากนั้นก็ไม่ปิดบังอะไรแล้ว เพราะมีการใช้ข้อความโต้งๆ กันไปเลยว่า “แต่ก่อนเป็นกล้วยไข่  เดี๋ยวนี้เป็นกล้วยหอม อาหารเสริมสำหรับผู้ชาย ใหญ่ อึด ถึก ทน ต่อรอบได้” ตามด้วยการระบุว่าสินค้านี้มีเลข อย. รวมทั้งแจ้งการสั่งซื้อทางไลน์        สอดคล้องกับเรื่องที่ผู้บริโภคร้องเรียนที่มาที่แผนกผมในระยะหลังๆ พบว่ามีผู้บริโภคหลายรายที่สั่งซื้อสินค้าทางออนไลน์จากเฟซบุ๊ค ไลน์ อินสตราแกรม ฯลฯ พอใช้ไปได้สักระยะหนึ่ง ก็พบว่าไม่ได้ผล หรือมีอาการแปลกๆ จึงมาร้องเรียน หลังจากนั้นไม่นาน ก็จะไปซื้อผลิตภัณฑ์ตัวใหม่มาใช้อีก แล้วก็มาร้องเรียนอีก วนเวียนไปมาเรื่อยๆ        เจ้าของผลิตภัณฑ์หรือผู้ขายที่มีปัญหา มักจะใช้หลากหลายกลวิธีล่อลวงล่อหลอก ผู้บริโภคในยุคนี้จำเป็นต้องพัฒนาให้เป็นผู้บริโภคที่ฉลาดเท่าทัน Smart Consumer หากจะเลือกซื้อสินค้าออนไลน์จากเน็ต ขอให้ตรวจสอบข้อมูลหลายๆ ทาง หากเป็นผู้ขายหน้าใหม่ เราไม่รู้จัก อย่าเพิ่งรีบซื้อ พยายามศึกษาและตรวจสอบสินค้าในเว็บตลอดจนข้อความโฆษณาว่ามันถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่  หากไม่แน่ใจให้สอบถามเจ้าหน้าที่  หรือหากพลาดตัดสินใจซื้อสินค้าไปแล้ว ขอให้เก็บหลักฐานการสั่งซื้อให้ดี เช่น บันทึกภาพหน้าจอหรือข้อความที่ได้พูดคุยโต้ตอบ ใบสร็จรับเงิน หรือใบส่งของ สิ่งเหล่านี้จะมีประโยชน์ตอนมาร้องทุกข์ และจะทำให้ติดตามผู้จำหน่ายได้ง่ายขึ้น        อยากให้นึกไว้เสมอว่าผลิตภัณฑ์เทวดาที่โฆษณาว่ามีสรรพคุณมหัศจรรย์ไม่มีในโลก หากผลิตภัณฑ์ใดโฆษณาโอเวอร์ ถึงจะอ้างว่ามีเลขที่ได้รับอนุญาตจากหน่วยงานที่ดูแลแล้ว ก็อย่าเพิ่งเชื่อ ตรวจสอบให้แน่ใจก่อนดีกว่าครับ

อ่านเพิ่มเติม >