ฉบับที่ 175 การเลือกซื้อรองเท้าสำหรับวิ่งออกกำลังกาย

โดย ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค ประธานอนุกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านสินค้าและบริการการวิ่งออกกำลังกายเป็นการลงทุนที่มีความสำคัญต่อสุขภาพ เพราะสุขภาพแข็งแรงเป็นสิ่งที่ไม่สามารถซื้อ แต่ต้องลงมือทำเอง ภาพคนวิ่งออกกำลังกายในสวนสาธารณะในกรุงเทพ และต่างจังหวัดเป็นสิ่งที่เราเห็นได้ทั่ว ๆ ไป สิ่งที่ควรคำนึงของนักวิ่งคือ เรื่องน้ำหนักร่างกายที่จะส่งผลต่อแรงกระแทกในขณะที่กำลังวิ่ง แรงที่กระแทกมีขนาดเท่ากับสองถึงสามเท่าของน้ำหนักตัว หากเราหนัก 60 กิโลกรัม แรงกระแทกที่กระทำต่อข้อเท้า เข่า อาจสูงถึง 180 กิโลกรัม คนที่ชอบวิ่งเป็นประจำ มีความจำเป็นที่จะต้องหารองเท้าสำหรับวิ่งที่เหมาะสม เพื่อลดแรงกระแทกและป้องกันปัญหาเรื่องการบาดเจ็บที่ข้อเท้า เข่าและสะโพกเสื่อมสภาพลงสิ่งที่ต้องคำนึงในการเลือกซื้อรองเท้าวิ่งโดยทั่วไป ได้แก่ ลักษณะของข้อเท้าในขณะที่วิ่ง กรณีที่เราวิ่ง การบิดของข้อเท้า น้อยหรือไม่มีเลย (normal pronation) เราควรจะเลือกรองเท้าวิ่งแบบ neutral running shoes ดูรูปที่ 1 aกรณีที่การบิดของข้อเท้ามาก เข้าด้านใน หรือ ออกด้านนอก (over pronation) ควรจะเลือกรองเท้าวิ่งแบบ stability running shoes ดูรูปที่ 1 b และ c (คำแนะนำ สำหรับนักวิ่งที่ต้องการทราบลักษณะการวิ่งของตัวเองว่า การบิดข้อเท้าเป็นอย่างไร ในต่างประเทศจะมีผู้เชี่ยวชาญทางด้านการวิ่งในร้านขายรองเท้าเฉพาะนักวิ่ง (specialist running shoe shop) ให้คำปรึกษาได้ แต่สำหรับนักวิ่งในประเทศของเราอาจต้องลองหาคำปรึกษาจากหมอเวชศาสตร์ฟื้นฟู หรือ หมอทางด้านออร์โธปิดิกส์) หรือต้องให้เพื่อนร่วมวิ่งช่วยสังเกตข้อเท้าของเราขณะที่วิ่งก็ได้ โดยคนสังเกตจะคอยวิ่งตามหลังเรา)    ความสามารถในการรับแรงกระแทกการพิจารณาสมบัติของรองเท้าวิ่งในข้อนี้จำเป็นต้องใช้การทดสอบในห้องแลป ทาง biomechanics โดยใช้เซนเซอร์วัดแรงกระแทกติดไว้ที่รองเท้าวิ่ง แต่อย่างไรก็ตามทีมงานฉลาดซื้อ ก็มีผลการทดสอบรองเท้าวิ่ง จากองค์กรทดสอบและวิจัยสินค้านานาชาติ ( International Consumer Research and Testing ICRT) มาเผยแพร่ให้สมาชิกฉลาดซื้อได้รับทราบเป็นระยะๆ สำหรับคอลัมน์นี้ขอนำผลการทดสอบขององค์กรทดสอบสินค้าเยอรมัน (Die Stiftung Warentest) มาเผยแพร่ผลการทดสอบรองเท้าวิ่ง ซึ่งผลการทดสอบในประเด็นความสามารถในการรับแรงกระแทกของรองเท้าที่ได้คะแนนดี- ดีมาก ได้แก่•    รองเท้ากลุ่ม neutral running shoes ได้แก่ ยี่ห้อ Asics รุ่น Gel-Cumulus 16, New Balance 880 V4, Mizuno Wave Ultima 6, Solomon X-Scream 3D•    รองเท้ากลุ่ม stability running shoes ได้แก่ ยี่ห้อ Asics GT-1000 3, Mizuno Wave Inspire 11 และยี่ห้อ Brooks Adrenaline GTS 15สำหรับนักวิ่งสมัครเล่นที่ซ้อมน้อย ยิ่งควรเลือกรองเท้าวิ่งที่มีความสามารถในการรับแรงกระแทกได้ดี เพราะจะช่วยป้องกัน ข้อเท้า และข้อเข่าได้ดีกว่า ช่วยลดปัญหาในการบาดเจ็บขณะวิ่งได้ เพื่อที่เราจะสามารถวิ่งออกกำลังกายเพื่อสุขภาพไปได้นานๆ (ที่มา: วารสาร Test ฉบับที่ 8/ 2015)  รูปที่ 1 ลักษณะการบิดข้อเท้าแบบต่างๆ ของนักวิ่ง a) การบิดของข้อเท้า น้อยหรือไม่มีเลย (normal pronation) b) การบิดของข้อเท้าแบบ เข้าด้านใน c) การบิดข้อเท้าออกด้านนอก

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 175 ใช้เครื่องสำอางยี่ห้อเดิมไม่เปลี่ยนเลย จะดีจริงหรือ

ฉลาดซื้อเคยเสนอเรื่องผู้ชายกับเครื่องสำอาง เพราะเชื่อว่าไม่ว่าใครจะชายหรือหญิงอย่างน้อยๆ ก่อนออกจากบ้านก็ต้องผ่านเครื่องสำอางกันไม่ต่ำกว่าคนละ 1 ชนิด อย่างไรก็ตามแม้เครื่องสำอางจะช่วยในการทำความสะอาด ส่งเสริมความงามหรือเปลี่ยนแปลงรูปลักษณะภายนอกได้ แต่ก็สามารถทำให้เราแพ้เครื่องสำอางจนต้องหาทางรักษากันให้วุ่นวาย ซึ่งอาการแพ้ต่างๆ ก็ไม่ได้จำกัดว่าจะเกิดขึ้นเมื่อเราซื้อเครื่องสำอางชนิดใหม่มาใช้เท่านั้น เพราะเครื่องสำอางชนิดเดิมที่เราคุ้นเคยก็อาจทำให้เราแพ้ได้เช่นกันเราแพ้เครื่องสำอางได้อย่างไรสำหรับเครื่องสำอางที่เราไม่เคยใช้ คนอื่นอาจจะรีวิวสินค้าว่าเขาไม่แพ้ แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะไม่แพ้เหมือนเขา เพราะแต่ละคนมีสภาพผิวที่แตกต่างกัน ยิ่งบางคนที่มีประวัติผิวแพ้ง่ายอยู่แล้ว อาการแพ้เครื่องสำอางก็สามารถเกิดขึ้นได้ง่ายเข้าไปอีก โดยเฉพาะการแพ้เครื่องสำอางที่มีส่วนประกอบของสารให้ความหอม (fragrances) และสารกันเสีย (parabens) หรือในบางประเภทก็ผสมสีที่อาจไม่ได้มาตรฐาน ดังนั้นเราจึงควรทดสอบเครื่องสำอางก่อนนำมาใช้จริงด้วยวิธีง่ายๆ เช่น ทาทิ้งไว้ในบริเวณบอบบางอย่างใต้ท้องแขนประมาณ 24 - 48 ชั่วโมง เพื่อทดสอบว่าเรามีอาการระคายเคืองหรือไม่ และไม่ควรเปลี่ยนยี่ห้อบ่อยๆ ดังที่ พญ.เยาวเรศ นาคแจ้ง แพทย์ผิวหนังผู้เชี่ยวชาญพิเศษสถาบันโรคผิวหนัง ได้คำแนะนำไว้ในบทความผื่นเพราะเครื่องสำอางว่า เมื่อใช้ยี่ห้อใดแล้วผิวหน้าสบายดี ก็ไม่ควรเปลี่ยนยี่ห้อใหม่ เพราะการเปลี่ยนยี่ห้อ ก็คือการเปลี่ยนชนิดของสารกันบูดและสารที่ก่อให้เกิดกลิ่นหอม ซึ่งทั้งสองชนิดนี้เป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดอาการแพ้ อย่างไรก็ตามสำหรับเครื่องสำอางยี่ห้อเดิมที่เราใช้ไปนานๆ แล้วค่อยพบอาการแพ้ก็เป็นเรื่องที่สามารถเกิดขึ้นได้เช่นกัน เพราะเครื่องสำอางนั้นอาจหมดอายุแล้ว หรือมีการใช้งานที่ไม่ถูกต้อง เช่น การใช้เครื่องสำอางร่วมกับผู้อื่น ทั้งนี้หากเรามั่นใจว่าเครื่องสำอางไม่ได้เสื่อมสภาพ หรือใช้งานถูกต้องแต่ก็ยังแพ้อยู่ สาเหตุอาจจะมาจากส่วนผสมที่เปลี่ยนไปก็ได้ ดังที่ นพ.ชูชัย ตั้งเลิศสัมพันธ์ แพทย์ผิวหนังโรงพยาบาลรามาธิบดี ได้ให้ความเห็นไว้ว่า เครื่องสำอางยี่ห้อเดียวกัน ชนิดเดียวกันเมื่อเปลี่ยนขวดใหม่อาจเกิดปัญหาได้ เพราะผู้ผลิตอาจเปลี่ยนสูตร หรือคุณภาพของส่วนผสมอาจไม่เหมือนเดิมสังเกตอย่างไรว่าเราแพ้เครื่องสำอางเข้าแล้วนอกจากจะแพ้เครื่องสำอางต่างชนิดกันแล้ว อาการเริ่มแพ้ของแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน เพราะบางคนอาจจะแพ้ตั้งแต่ครั้งแรกที่ใช้ หรือบางคนอาจจะเริ่มแพ้หลังจากใช้ไปแล้วช่วงระยะหนึ่ง อย่างไรก็ตามลักษณะอาการแพ้เครื่องสำอางที่เห็นได้ชัดเจนสามารถแบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ คือ1. การระคายเคืองจากการสัมผัส (Irritant Contact Dermatitis)เป็นอาการที่พบได้ง่ายโดยเกิดจากการเครื่องสำอางหรือผลิตภัณฑ์ที่ไม่เหมาะสมกับร่างกาย มักมีอาการยุบยิบบนผิวหนังที่สัมผัส หรือแสบร้อน คัน หรือเป็นผื่นแดง หากมีอาการมากขึ้นก็อาจกลายเป็นผื่นผิวหนังอักเสบได้ ควรระวังการใช้ในบริเวณผิวหนังมีความบางมากๆ เช่น หนังตา ขอบตา หรือบางกรณีอาจเกิดเป็นลมพิษ ที่มีอาการบวมแดงร่วมกับอาการคันและเป็นผื่น 2. การแพ้จากการสัมผัส (Allergic Contact Dermatitis)เป็นอาการแพ้ของผู้ที่แพ้สารเคมีเฉพาะที่อยู่ในเครื่องสำอางชนิดนั้นๆ ซึ่งอาจเกิดขึ้นหลังจากใช้ผลิตภัณฑ์ เป็นระยะเวลาหนึ่งแล้ว เพราะขึ้นอยู่กับภูมิคุ้มกันของร่างกายแต่ละคน โดยส่วนมากจะเริ่มต้นด้วยอาการคัน และอาจเป็นผื่นคัน บวม ผิวแตก หรือถึงกับผิวเปื่อยตามมาเลยก็ได้แนวทางป้องกันอาการแพ้เครื่องสำอางเพราะคนเราแพ้เครื่องสำอางได้จากหลายสาเหตุ จึงควรหมั่นป้องกันปัจจัยต่างๆ ที่อาจทำให้เราแพ้เครื่องสำอางได้เช่น อายุของเครื่องสำอาง การใช้เครื่องสำอางที่ไม่ถูกวิธี หรือปัจจัยจากสภาพผิวที่แตกต่างกัน ทำให้บางคนอาจจะไปเลือกใช้เวชสำอาง (เครื่องสำอางที่มีส่วนผสมยาเข้าไปด้วย) หรือการเลือกใช้เครื่องสำอางในกลุ่ม Hypo allergic หรือเครื่องสำอางที่มีโอกาสแพ้น้อย แต่เครื่องสำอางกลุ่มนี้ก็ไม่สามารถยืนยันว่าจะไม่แพ้ 100 เปอร์เซ็นต์ เพียงแค่ลดโอกาสในการแพ้ลงเท่านั้น  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 175 อ้างวัว อ้างควาย เพื่อขายของ

เมื่อกระแสรักสุขภาพกลับมาบูมอีกครั้ง  น้ำคลอโรฟิลล์ที่เลิกฮิตไปนาน  จึงกลับมาผงาดอีกครั้ง  คราวนี้เจาะตลาดคนรักสุขภาพ  เชียร์ให้พกเป็นขวดไว้ดื่มหลังออกกำลังกาย  มีทั้งชนิดผงละลายน้ำ  ชนิดเป็นของเหลวเข้มข้น  อ้างว่าเป็นคลอโรฟิลล์ บริสุทธิ์100% ให้ผู้ซื้อนำไปผสมกับน้ำ โดยใช้เพียง 1 มิลลิลิตรผสมกับน้ำ 1.5 ลิตร ดื่มก่อนเข้านอน และตอนตื่นนอนด้วยตัวเองขึ้นทะเบียนเป็นอาหาร ดันอยากจะโฆษณาจนตัวสั่นว่ารักษาโรคได้ แต่ก็เกรงว่าจะโดนจับ ก็เลยอ้อมๆ แอ้มๆ กระมิดกระเมี้ยนเลี่ยงว่า “คลอโรฟิลล์ไม่ใช่ยานะ ตัวเราเป็นสารอาหารที่ได้จากใบไม้” แล้วอ้างต่อไปว่า “คลอโรฟิลล์เป็นสารอาหารที่สมบูรณ์ที่สุด  ลองดูซิ ช้าง ม้า วัว ควาย สัตว์เหล่านี้กินหญ้ากับน้ำเท่านั้น ทำไมมันตัวใหญ่ แข็งแรงกล้ามเนื้อเป็นมัด เพราะหญ้าที่มันกิน คือคลอโรฟิลล์นั่นเอง” ที่เด็ดกว่านั้น ดันบอกอีกว่า “เคยเห็นหมาเห็นแมวกินหญ้าบ้างไหม เวลาหมาแมวมันป่วยมันถึงจะกินหญ้า เพื่อให้มันอาเจียนออกมา นั่นแหละ มันกินหญ้าเพื่อขับสารพิษออกมา และที่สำคัญ ในหญ้าก็มีคลอโรฟิลล์นั่นไง” ผมเห็นโฆษณาแบบนี้ก็ได้แต่อนาถใจ จะหลบเลี่ยงกฎหมาย แต่ดันใช้วิธี อ้างช้างม้าวัวควาย หมาๆ แมวๆไปเรื่อย ผมคิดว่าคงไม่มีใครหลงเชื่อ  ที่ไหนได้ มันดันเล่นแฝงอวดอ้างสรรพคุณต่ออีก คราวนี้มาเป็นชุด เช่น “คนเลือดจางเลือดน้อยไม่ต้องกลัว ดื่มคลอโรฟิลล์แล้วมันจะเปลี่ยนเป็นเม็ดเลือดได้ทันที ถ้าเวียนหัวเมื่อเริ่มดื่มใหม่ๆไม่ต้องตกใจ มันคืออาการที่คลอโรฟิลล์กำลังไปสร้างกระดูก ส่วนคนที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ เบาหวาน โรคไต เลือดข้น เนื่องจากมีสารเคมีจากยาของโรงพยาบาลที่ได้รับมานาน ให้ดื่มน้ำคลอโรฟิลล์ขจัดไขมัน ขจัดน้ำตาล ขับพิษสารเคมีออกจากร่างกาย” ยังไม่หมด ยังอ้างไปถึงผลการรักษา อัมพฤกษ์ อัมพาต เกาต์ ไทรอยด์ ไซนัส สะเก็ดเงิน ต้อเนื้อ ต้อลม ฯลฯ จนหลายคนหลงเชื่อ บางคนเอาไปให้ทารกดื่มแทนนมแม่อีกด้วยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาเคยออกมาเตือนประชาชนว่า อย่าตกเป็นเหยื่อหลงเชื่อคำโฆษณาเชิญชวนที่เกินจริงเหล่านี้เพราะยังไม่มีข้อมูลยืนยันว่าได้ผลจริง  เคยมีการวิจัยพบว่าการบริโภคคลอโรฟิลล์อาจจะทำให้เกิดอาการแพ้ มีผื่นคัน ลิ้นเปลี่ยนสีเป็นเหลืองหรือดำ และยังทำให้สีของปัสสาวะและอุจจาระเปลี่ยนเป็นสีเขียวได้ หากรับประทานมากเกินวันละ 450 มิลลิกรัม ก็อาจจะทำให้ไตทำงานหนักและส่งผลระยะยาวในอนาคตได้ หนำซ้ำกุมารแพทย์ยังออกมาเตือนสำทับอีกว่า “โดยเฉพาะเด็กอายุต่ำกว่า 4 ปี ที่อวัยวะภายในยังทำงานไม่เต็มที่ ห้ามกินเด็ดขาด เพราะอาจเป็นอันตรายจนถึงแก่ชีวิตได้”ผู้ประกอบการรายใดที่โฆษณาผลิตภัณฑ์เกินจริง โอ้อวดสรรพคุณ จะต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ใครพบเห็น รีบสะกิดเจ้าหน้าที่ดำเนินการเลยครับ อย่าปล่อยให้โฆษณาหลอกลวง ล้วงเงินจากกระเป๋าแถมเอาเราสุขภาพไปเสี่ยงอีกเลย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 175 ยังผ่อนไม่หมด แต่รถหาย ใครต้องรับผิดชอบ?

สวัสดีครับผู้อ่านทุกท่าน วันนี้เราจะมาพูดถึงเรื่องรถกันบ้าง หลายคนคงมีความจำเป็นต้องใช้รถ เพื่อไว้ทำงาน และความสะดวกในการเดินทาง แต่ก็มีบางคนที่ยังผ่อนค่ารถอยู่ วันดีคืนดีรถหายโดยที่ไม่ได้ตั้งใจ ตัวเองก็เดือดร้อนอยู่แล้ว เมื่อรถสุดที่รักถูกขโมยไป ยังซ้ำร้ายถูกบริษัทไฟแนนซ์ตามทวงเงินค่าเช่าซื้อรถอีก หลายท่านก็สงสัย รถก็ไม่ได้ใช้ ควรผ่อนต่อไปหรือหยุดจ่าย ทำไมเรายังต้องรับผิดชอบอีก ประเด็นดังกล่าวนี้ เคยมีบริษัทไฟแนนซ์ ยื่นฟ้องผู้บริโภคซึ่งเป็นผู้เช่าซื้อที่รถหายต่อศาล และศาลฎีกาได้ตัดสินไว้เป็นบรรทัดฐานอย่างสำคัญ คือ การที่รถหายไปนั้น มีผลให้สัญญาเช่าซื้อระงับไป ดังนั้นผู้บริโภคไม่จำเป็นต้องจ่ายเงินค่างวดรถนับแต่วันที่รถสูญหาย ดั่งที่ปรากฏในคำพิพากษา ดังนี้ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10417/2551สัญญาเช่าซื้อว่าเริ่มชำระงวดแรกวันที่ 25 เมษายน 2540 เช่นนี้ เมื่อผิดนัดชำระค่าเช่าซื้องวดที่ 9 จึงเป็นงวดประจำวันที่ 25 ธันวาคม 2540 แต่โจทก์นำสืบว่าจำเลยที่ 1 ผิดนัดงวดที่ 9 นับแต่วันที่ 15 พฤษภาคม 2541 แสดงว่าโจทก์ยอมรับชำระค่าเช่าซื้อไม่ตรงตามงวดที่ระบุในสัญญา เช่นนี้ถือว่าโจทก์ จำเลยที่ 1 ไม่ถือเอากำหนดระยะเวลาการชำระค่าเช่าซื้อเป็นสาระสำคัญ หากโจทก์ประสงค์จะเลิกสัญญาจะต้องบอกกล่าวให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อภายในระยะเวลาอันควรก่อน การที่โจทก์บอกเลิกสัญญาเช่าซื้อทันทีเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2541 จึงไม่ชอบรถยนต์ที่เช่าซื้อได้สูญหายไปจริงก่อนโจทก์มีหนังสือบอกเลิกสัญญา และเนื่องจากสัญญาเช่าซื้อเป็นสัญญาเช่าทรัพย์รวมกับคำมั่นว่าจะขายทรัพย์สินที่ให้เช่า สัญญาเช่าซื้อจึงเป็นสัญญาเช่าทรัพย์ประเภทหนึ่ง เมื่อรถยนต์ที่เช่าซื้อสูญหาย สัญญาเช่าซื้อย่อมระงับไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 567 ดังนี้ สัญญาเช่าซื้อระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จึงเลิกกันนับแต่วันที่ 26 มีนาคม 2541 ซึ่งเป็นวันที่รถยนต์ที่เช่าซื้อสูญหาย เมื่อข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าการสูญหายเป็นเพราะความผิดของจำเลยที่ 1 โจทก์จะฟ้องเรียกค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระอยู่นับแต่วันที่รถยนต์ที่เช่าซื้อสูญหายไม่ได้ แต่ตามสัญญาเช่าซื้อ ข้อ 4. กำหนดให้ผู้เช่าซื้อต้องรับผิดเกี่ยวกับค่าเสียหายจากการใช้การเก็บรักษาทรัพย์ที่เช่าซื้อแม้เป็นเหตุสุดวิสัย และตามข้อ 7. ได้กำหนดให้ผู้เช่าซื้อต้องรับผิดเงินค่าเช่าซื้อ ค่าเสียหายใดๆ ในกรณีสัญญาเช่าซื้อได้ยกเลิกเพิกถอนไม่ว่าเหตุใดให้แก่ผู้ให้เช่าซื้อจนครบถ้วน ย่อมหมายความรวมถึงผู้เช่าซื้อต้องรับผิดต่อผู้ให้เช่าซื้อเกี่ยวกับค่าเสียหาย ค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระในกรณีสัญญาเช่าซื้อเลิกกันเพราะเหตุรถยนต์เช่าซื้อสูญหายด้วย ข้อกำหนดดังกล่าวเป็นการกำหนดค่าเสียหายไว้ล่วงหน้าในลักษณะเป็นเบี้ยปรับย่อมใช้บังคับได้ตามกฎหมายจากคำพิพากษาดังกล่าว เห็นได้ว่า สัญญาเช่าซื้อที่ทำกันนั้น ความจริงคือสัญญาเช่าประกอบกับคำมั่นว่าจะขายทรัพย์นั้นให้แก่ผู้เช่า จึงต้องนำบทกฎหมายเรื่องการเช่าทรัพย์มาใช้ด้วย ซึ่งตามกฎหมายเช่าทรัพย์กำหนดว่า หากทรัพย์ที่เช่าสูญหายไป สัญญาเช่าสิ้นสุดลง กรณีเช่าซื้อก็นำเรื่องนี้มาใช้ ดังนั้น เมื่อรถที่เช่าซื้อกันหายไป โดยไม่ใช่ความผิดของผู้เช่าซื้อจึงถือว่าสัญญาเช่าซื้อเลิกกันไป นอกจากนี้ ศาลได้ชี้ว่า มีข้อสัญญาที่เกี่ยวข้องกับความรับผิดของผู้เช่าซื้อ กรณีรถหายไว้ด้วย ซึ่งจะ ผู้ให้เช่าซื้อมักจะเอาเปรียบผู้บริโภค โดยการกำหนดไว้ในสัญญาว่า ให้ผู้เช่าซื้อต้องรับผิดในค่าเสียหาย และค่าเช่าซื้อ กรณีสัญญาได้ยกเลิกกันไปไม่ว่าเหตุใดๆ ซึ่งข้อสัญญานี้ ทำให้ผู้บริโภคเดือดร้อนเป็นอย่างมาก ซึ่งศาลก็มองว่า แม้สัญญาเช่าซื้อจะเลิกกัน แต่ที่ตกลงกันไว้ว่าหากทรัพย์สิน สูญหาย ผู้เช่าซื้อจะชดใช้ค่าเสียหายให้ ก็ถือว่าเป็นค่าเสียหายที่ตกลงกันไว้ล่วงหน้า ใช้บังคับกันได้ ในฐานะเบี้ยปรับ ซึ่งศาลสามารถปรับลดได้หากสูงเกินคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5819/2550 เมื่อรถยนต์ที่เช่าซื้อสูญหาย สัญญาเช่าซื้อย่อมระงับไปนับแต่วันที่รถยนต์สูญหายตาม ป.พ.พ. มาตรา 567 จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องส่งมอบรถยนต์คันที่เช่าซื้อคืนแก่โจทก์ แต่เมื่อปรากฏข้อตกลงตามสัญญาเช่าซื้อว่าในกรณีที่รถยนต์นั้นสูญหาย ผู้เช่าจะยอมชดใช้ค่ารถยนต์เป็นเงินจำนวนเท่ากับค่าเช่าซื้อส่วนที่เหลือที่ผู้เช่าจะต้องชำระทั้งหมดตามสัญญาเช่าซื้อทันที ถือว่าจำเลยที่ 1 ได้ตกลงจะชำระค่าเสียหายให้แก่โจทก์กรณีนี้ไว้ด้วย อันเป็นการกำหนดความรับผิดในการที่จำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้ล่วงหน้ามีลักษณะเป็นเบี้ยปรับ ซึ่งหากสูงเกินส่วนศาลชอบที่จะลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 383 วรรคแรก ส่วนค่าขาดประโยชน์นั้น เมื่อรถยนต์ที่เช่าซื้อสูญหายไปเป็นเหตุให้สัญญาเช่าซื้อเลิกกันแล้ว จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์แต่ความจริง เมื่อรถหาย ผู้ให้เช่าซื้อมักจะได้รับการเยียวยาความเสียหายจากบริษัทประกันภัย โดยผู้บริโภคเป็นผู้เสียเบี้ยประกันภัย และบริษัทไฟแนนซ์เจ้าของรถเป็นผู้รับผลประโยชน์ การที่บริษัทไฟแนนซ์ ได้รับเงินเยียวยาจากบริษัทประกันภัยแล้ว ยังมาเรียกเก็บเงินค่าเช่าซื้อกับผู้บริโภคอีก ถือว่าเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ซึ่งหากได้รับไว้แล้ว ต้องคืน คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4819/2549ตามสัญญาเช่าซื้อตกลงกันไว้ว่า กรณีรถยนต์ที่เช่าซื้อถูกลักไป จำเลยผู้ให้เช่าซื้อจะได้รับชดใช้ค่าสินไหมทดแทน 2 ทาง โดยได้จากโจทก์ผู้เช่าและจากบริษัทประกันภัย อันเป็นการเกินกว่าความเสียหายที่จำเลยได้รับ เมื่อโจทก์เป็นผู้เสียเบี้ยประกันภัยและจำเลยเป็นผู้รับประโยชน์ก็เพื่อโจทก์จะไม่ต้องเป็นภาระใช้ค่ารถให้แก่จำเลยจึงยอมเสียเบี้ยประกันภัย และจำเลยได้แสดงเจตนาขอค่าสินไหมทดแทนจากบริษัทประกันภัยแล้ว จนบริษัทประกันภัยอนุมัติให้จ่ายเงินให้จำเลย การที่จำเลยรับเงินค่าเช่าซื้อที่เหลือจากโจทก์หลังจากรถยนต์ที่เช่าซื้อถูกลักไปเป็นการใช้สิทธิไม่สุจริต ต้องคืนเงินค่าเช่าซื้อดังกล่าวให้โจทก์โดยสรุป ก็คือผู้บริโภคควรที่จะคุ้มครองสิทธิของตนเอง ตั้งแต่ตอนทำสัญญา ต้องอ่านข้อสัญญาให้ละเอียดด้วย หากเห็นว่าข้อไหนไม่เป็นธรรมก็ควรโต้แย้งหรือสอบถามตั้งแต่ตอนนั้นเลย เพื่อจะได้ให้เขาแก้ไข เพราะเมื่อเกิดปัญหาใครจะต้องรับผิดชอบแค่ไหน อย่างไร สุดท้ายก็ต้องมาเปิดดูสัญญากันอยู่ดี และเมื่อเกิดเหตุรถหาย ท่านจะต้องรีบแจ้งความเพื่อลงบันทึกไว้เป็นหลักฐานให้เร็วที่สุด จากนั้นจึงนำใบแจ้งความที่ได้ไปยื่นให้กับบริษัทประกันภัยที่ทำไว้รวมถึงบริษัทไฟแนนซ์ด้วย และที่สำคัญคือ “ ไม่ต้องไปจ่ายค่าเช่าซื้ออีก “ เพราะกฎหมายกำหนดไว้ว่าเมื่อรถหายไม่จำเป็นจะต้องผ่อนชำระค่างวดต่อ เนื่องจากสัญญาถูกระงับไปแล้ว นับแต่วันที่รถหาย แต่จะต้องมีการมาคำนวณค่างวดรถที่จ่ายแล้วเป็นเงินเท่าใด และบริษัทประกันได้จ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่บริษัทเป็นเงินเท่าใด ถ้า 2 จำนวนนี้รวมกันแล้วไม่เกินกว่าราคาที่ประกันจะต้องจ่าย ผู้เช่าซื้อก็ไม่ต้องรับผิดชอบ แต่หากเกินจำนวนที่ทำประกันรถหายก็จะต้องผ่อนชำระในส่วนที่เหลือแต่ในส่วนนี้ถ้ามีการนำคดีสู่ศาล ศาลมีอำนาจจะสั่งให้ผู้เช่าซื้อผ่อนชำระต่อหรือไม่ก็ได้ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของศาลโดยศาลจะกำหนดความเสียหายให้ตามสมควร 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 175 กระแสในประเทศ

สรุปความเคลื่อนไหวเดือนกันยายน 2558“Eco Sticker” คู่มือคนซื้อรถยนต์ตั้งแต่ 1 ตุลาคมนี้เป็นต้นไป รถยนต์ที่ผลิตขึ้นใหม่ทุกคันทั้งนำเข้าและผลิตเองในประเทศจะต้องติด “Eco Sticker” หรือป้ายแสดงข้อมูลรถยนต์ตามมาตรฐานสากล เพื่อให้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจก่อนซื้อรถยนต์ ข้อมูลที่แสดงอยู่บน Eco Sticker  จะบอกข้อมูลอัตราการใช้น้ำมันว่า มีปริมาณมากน้อยเพียงใด เรื่องของความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การสร้างมลพิษ และมาตรฐานเรื่องความปลอดภัยโดยเฉพาะเรื่องมาตรฐานการเบรก ซึ่งอิงกับเกณฑ์ระดับสากล Eco Sticker จะควบคุมดูแลโดยกระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวงการคลัง เชื่อว่าการออกข้อกำหนดให้รถยนต์รุนใหม่ๆ ที่จะวางจำหน่ายในประเทศทุกคันต้องติดป้าย Eco Sticker จะเป็นประโยชน์ต่อทั้งผู้บริโภคในการมีข้อมูลที่เป็นประโยชน์ไว้สำหรับเปรียบเทียบก่อนตัดสินใจซื้อรถยนต์สักคัน ส่วนทางฝั่งผู้ผลิตรถยนต์ก็จะพัฒนารถของตัวเองให้มีประสิทธิภาพที่ดีขึ้น ผลิตรถยนต์ที่มีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพราะต่อไปเชื่อว่านอกจากเรื่องสมรรถนะและความปลอดภัยแล้ว เรื่องของการประหยัดพลังงานและไม่ทำลายสภาพแวดล้อมจะเป็นอีกองค์ประกอบสำคัญที่ผู้บริโภคใช้เป็นข้อมูลก่อนตัดสินใจเลือกซื้อรถยนต์สักคัน “คีนัว” - “เมล็ดเชีย” คุณค่าทางอาหารเท่าธัญพืชไทยเพราะเดี๋ยวนี้คนไทยเรารักสุขภาพกันมากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องอาหารการกินที่หลายๆ คนให้ความสำคัญเป็นพิเศษ เรียกว่ามีอะไรใหม่ๆ มาที่เขาว่ากินแล้วดีต่อสุขภาพเป็นต้องหามาลองเพราะอยากจะมีสุขภาพดีอย่างที่เขาโฆษณาล่าสุดก็เกิดกระแสการบริโภค “คีนัว” และ “เมล็ดเชีย” ธัญพืชที่ว่ากันว่านำเข้ามากจากต่างประเทศ ส่วนใหญ่เป็นประเทศแถบอเมริกาใต้ ซึ่งมีคุณค่าทางอาหารหลายอย่าง ทั้ง โปรตีน คาร์โบไฮเดรต วิตามิน แร่ธาตุ และสารต้านอนุมูลอิสระ แม้จะฟังดูคุณค่าทางอาหารสูง แต่ว่าราคาที่ขายก็สูงด้วยเช่นกัน ซึ่ง ผศ.อาณดี นิติธรรมยง อาจารย์ประจำสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ออกมาเตือนคนไทยว่าอย่าตื่นตัวกับ ข้าวคีนัว และ เมล็ดเชีย มากกันจนเกินไป เพราะจริงๆ แล้วธัญพืชของไทยเราก็มีคุณค่าทางอาหารไม่ได้ด้อยไปกว่ากัน ไม่ว่าจะเป็น ลูกเดือย ถั่วแดง งา ข้าวไรซ์เบอรี่ ฯลฯ เพียงแต่หลายคนมองข้ามเพราะอาจจะมองว่าเป็นของที่อยู่ใกล้ตัวหาทานได้ทั่วไป ที่สำคัญคือราคาไม่แพงเมื่อเทียบกับข้าวคีนัว และ เมล็ดเชีย ใครที่พอมีทุนทรัพย์อยากจะหามารับประทานก็ตามความสะดวก แต่ยังไงการทานอาหารให้ได้ประโยชน์สูงสุดก็คือการรับประทานอาหารให้หลากหลายครบทั้ง 5 หมู่ ลาขาด SMS กวนใจหลังจากที่ปล่อยให้บรรดา SMS ขายของ ชิงโชค ดูดวง เป็นปัญหากวนใจคนใช้โทรศัพท์มือถือมานานแสนนาน ในที่สุด กสทช. ก็ได้ฤกษ์ออกประกาศห้ามผู้บริการสัญญาณโทรศัพท์มือถือทุกค่ายส่งข้อความโฆษณาที่สร้างความรำคาญหรือทำให้ต้องเสียค่าบริการเพิ่มกับผู้ใช้มือถือ นอกจากที่เป็นข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการใช้บริการโดยข้อห้ามดังกล่าวถูกกำหนดไว้ในประกาศของ กสทช. เรื่อง “การกระทำที่น่าจะเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม โดยอาศัยการใช้เครือข่ายหรือการโฆษณาอันมีลักษณะเป็นการค้ากำไรเกินควรหรือก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญ พ.ศ. 2558” ซึ่งในประกาศฉบับนี้ยังมีข้อกำหนดอื่นๆ ที่ห้ามไม่ให้ค่ายผู้ให้บริการมือถือเอาเปรียบผู้บริโภค ไม่ว่าจะเป็น ห้ามโฆษณาเกินจริง ห้ามกำหนดเงื่อนไขในการคิดค่าบริการที่ไม่เป็นธรรม จำกัดโอกาสการเลือกใช้บริการ ฯลฯ ซึ่งหากค่ายผู้บริการมือถือไม่ทำตามประกาศฉบับนี้จะมีโทษปรับทางปกครองสูงสุดถึง 5 ล้านบาท แล้วถ้ายังไม่ทำการแก้ไขก็จะมีโทษปรับอีกสูงสุดวันละ 1 แสนบาทโทลล์เวย์ต้องลดราคา หลังศาลบอกสัญญาไม่เป็นธรรมศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาให้มติที่ประชุมของคณะรัฐมนตรีปี 2549 และ 2550 ที่เห็นชอบให้แก้ไขสัญญาสัมปทานทางหลวง อนุญาตให้ บริษัท ทางยกระดับดอนเมือง จำกัด เก็บค่าผ่านทางเพิ่มพร้อมทั้งขยายอายุสัมปทานเพิ่มอีก 27 ปี เป็นมติที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่เป็นธรรมและเอาเปรียบผู้บริโภค สร้างภาระให้กับประชาชน เพราะในสัญญาเอื้อให้ บริษัท ทางยกระดับดอนเมือง จำกัด สามารถกำหนดราคาล่วง หน้า และขึ้นราคาได้โดยไม่ต้องขออนุญาต จากมติดังกล่าวของศาลปกครองกลาง มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจึงอยากเรียกร้องให้รัฐบาล ดำเนินการออกคำสั่งบังคับให้ บริษัท ทางยกระดับดอนเมือง จำกัด กลับไปใช้อัตราค่าผ่านทางเดิมก่อนแก้ไขสัญญา ที่ปรับเพิ่มขึ้นมา 5 – 15 บาท และให้เรียกเงินคืนเงินจากบริษัทที่สร้างภาระเกินสมควรกับผู้บริโภคจากการเรียกเก็บค่าผ่านทางเพิ่มจากมติที่ไม่ชอบดังกล่าวจำนวน  4 พันล้านบาท พร้อมขอให้รัฐบาลอย่าอุทธรณ์คำสั่งของศาลปกครองกลาง เพราะศาลได้พิจารณาแล้วว่าการทำสัญญาระหว่างภาครัฐกับเอกชนครั้งนี้ เป็นสัญญาที่ทำให้ประเทศชาติเสียผลประโยชน์และสร้างภาระอย่างมากให้กับประชาชนสั่งถอดโฆษณา “ประกันสุขภาพสูงวัย” ทำผู้บริโภคเข้าใจผิดศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้ให้ข้อมูลกับสื่อมวลชน ถึงความไม่ตรงไปตรงมาของการประกันสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุ ซึ่งมีการโฆษณาเชิญชวนให้ซื้อประกันผ่านสื่อต่างๆ โดยเฉพาะทางทีวีเป็นจำนวนมาก ในโฆษณาจะให้ข้อมูลแค่ว่าสมัครได้โดยไม่ต้องตรวจสุขภาพ จ่ายเบี้ยประกันเฉลี่ยวันละไม่กี่บาท ได้ผลตอบแทนจากวงเงินประกันสูง แต่กลับพบปัญหาเมื่อไม่สามารถเรียกร้องค่าชดเชยจากการรักษาพยาบาล เนื่องจากบริษัทประกันอ้างว่า ผู้เอาประกันเป็นโรคร้ายแรงมาก่อนจะสมัครซื้อประกัน แถมยังมีการยกเลิกสัญญาประกันตามมาด้วย เพราะบริษัทประกันอ้างว่าผู้ซื้อประกันปกปิดข้อมูล ซึ่งถือเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคอย่างชัดเจน หลังจากที่เรื่องดังกล่าวถูกเผยแพร่ไปยังสื่อต่างๆ ทำให้ผู้บริโภคตื่นตัวกับปัญหานี้เป็นอย่างมาก ทำให้สมาคมประกันชีวิตไทย ต้องออกมาประกาศให้บริษัทประกันชีวิตทุกบริษัทถอดโฆษณาขายประกันสำหรับผู้สูงอายุออกทั้งหมด แล้วให้ไปทำการปรับปรุงและเปลี่ยนเปลี่ยนแปลงข้อความในโฆษณาให้มีความชัดเจน โดยต้องมีการแจ้งให้ผู้จะซื้อประกันทราบด้วยว่า ถ้าเกิดกรณีผู้ประกันเสียชีวิตจากการเจ็บป่วยภายใน 2 ปีแรก บริษัทจะคืนเบี้ยประกันภัยพร้อมเงินเพิ่ม 2-5 เปอร์เซ็นต์ให้กับผู้เอาประกัน แต่ถ้าผ่านพ้นไปหลัง 2 ปีแล้วจะได้รับเงินคืนทั้งหมดตามทุนประกันที่ทำไว้กับบริษัทประกันชีวิต และต้องแจ้งเงื่อนไขในการทำประกันที่ว่าไม่ต้องตรวจสุขภาพนั้นมีเงื่อนไขอื่นแฝงอยู่หรือไม่ เช่นไม่จ่ายชดเชยกับโรคร้ายแรงบางโรคหรือมีเงื่อนไขในการจ่าย เพื่อไม่ให้เป็นปัญหากับผู้บริโภคในภายหลัง  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 175 กระแสต่างแดน

ของต้องห้ามกฎหมายอินโดนีเซียระบุให้สถานที่สาธารณะ สถานพยาบาล สถานศึกษา สนามเด็กเล่น สถานีขนส่ง และสถานที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา เป็นสถานที่ปลอดบุหรี่ แต่เรื่องราวมันไม่ง่ายอย่างนั้นคุณแม่รายหนึ่งโพสต์เล่าเรื่องของเธอในเว็บไซต์ www.change.org ว่าขณะที่เธอและลูกน้อยวัยขวบกว่าๆ กำลังนั่งทานอาหารอยู่ที่ร้านกาแฟเจโค ในห้างลิปโปมอลล์ กรุงจาการ์ตานั้น มีลูกค้าผู้ชายคนหนึ่งเข้ามาบอกให้เธอพาลูกไปนั่งที่อื่น เพราะเขาต้องการสูบบุหรี่ เธอแจ้งกับพนักงานร้านแต่กลับได้รับคำยืนยันว่า “ไม่ต้องห่วง การระบายอากาศของร้านเราดีเลิศ”เธอส่งคำร้องไปยังร้านกาแฟเจโค ห้างลิปโป รวมถึงผู้ว่าราชการเมืองจาการ์ตา ให้ลงมือทำอะไรสักอย่างได้แล้ว และคำร้องนี้มีคนร่วมลงชื่อไม่ต่ำกว่า 38,000 คน       และนั่นนำไปสู่การสำรวจของ Jakarta Environmental Management Agency ที่ได้ข้อค้นพบอันน่าตื่นตะลึงว่าร้อยละ 90 ของศูนย์การค้าและห้างร้านต่างๆ ในเมืองนี้ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายเรื่องการติดประกาศกำหนดพื้นที่ปลอดบุหรี่ อาจตื่นตัวช้าไปบ้าง แต่ขณะนี้ทางการได้ออกประกาศว่าจะเข้มงวดกับผู้ประกอบการที่ลืมติดป้าย “ห้ามสูบบุหรี่” ให้มากขึ้น และผู้ฝ่าฝืนซ้ำซากจะได้รับโทษหนักกว่าเดิมแน่นอน     Fast Fashion, Slow Recycling  เมื่อเสื้อผ้าราคาถูกลง ผู้บริโภคก็มีแนวโน้มจะซื้อเสื้อผ้าใหม่บ่อยขึ้น ปรากฏการณ์นี้ยืนยันได้ด้วยยอดขายเสื้อผ้าทั่วโลกที่เพิ่มสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์  คำถามคือ ในอนาคตเราจะมีวัตถุดิบ (ซึ่งส่วนใหญ่คือฝ้ายที่ต้องอาศัยน้ำและสารเคมีปริมาณมหาศาลในการปลูก) เพียงพอต่อความต้องการหรือไม่แบรนด์เสื้อผ้าหลายเจ้า เช่น Marks and Spencer และ H&M เริ่มแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมด้วยโครงการรับเสื้อผ้าเก่ากลับมารีไซเคิลแต่ปัญหาคือเทคโนโลยีการรีไซเคิลใยฝ้ายในปัจจุบันยังไม่ดีพอ มีเพียงร้อยละ 20 ของใยฝ้ายจากเสื้อผ้าสำเร็จรูปเท่านั้นที่นำมาใช้ในการผลิตเสื้อผ้าตัวใหม่ได้ เพราะกระบวนการตัดเพื่อรีไซเคิลทำให้ได้เส้นใยที่สั้นลง นี่ยังไม่นับว่าเรายังไม่มีวิธีจัดการกับเสื้อผ้าที่ประกอบขึ้นด้วยเส้นใยต่างชนิดกันด้วยคาร์ล โจฮาน เพอซัน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ H&M บอกว่าบริษัทจะตั้งงบประมาณปีละ 1 ล้านยูโรเพื่อการวิจัยหาเทคนิคใหม่ๆ ในการรีไซเคิลเส้นใยโดยไม่ทำให้มันเสื่อมคุณภาพอย่างไรก็ตามหลายฝ่ายมองว่านี่อาจเป็นการแก้ปัญหาที่ยังไม่ตรงประเด็น ... มันจะไม่ดีกว่าหรือถ้าเราออกแบบให้เสื้อผ้าให้สามารถใช้งานได้นานขึ้นก่อนจะเสื่อมสภาพหรือเสื่อมความนิยมไปถึงเวลาของ Slow fashion แล้วกระมัง ...      อาหารดีต้องมีที่มาถ้าได้รู้ว่าของกินที่ไหนอร่อย แม้ราคาจะสูงไปบ้าง ผู้บริโภคส่วนใหญ่ก็ยินดีจ่าย แต่ปัญหามันอยู่ที่ เราไม่มีโอกาสได้รู้นี่สิ สมาชิกคนหนึ่งเสนอร่างกฎหมายต่อวุฒิสภาออสเตรเลียว่าด้วยการให้ร้านอาหารเปิดเผยที่มาของวัตถุดิบอาหารทะเล เพื่อช่วยให้ผู้บริโภคได้สนับสนุนกิจการประมงในประเทศ และได้รู้ว่ากุ้ง หอย ปู ปลา ที่รับประทานนั้นสดสะอาด ได้มาด้วยวิธีที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมและไม่ผิดกฎหมายหรือไม่เรื่องนี้เรื่องใหญ่เพราะปัจจุบันคนออสเตรเลียนิยมบริโภคอาหารทะเลกันมากขึ้น และงานวิจัยก็พบว่าร้อยละ 70 ของคนออสซี่ชอบอาหารทะเลที่หาได้ในประเทศมากกว่าอาหารนำเข้า ความจริงแล้วไม่ใช่แค่เรื่องอาหาร ร้อยละ 90 ของผู้คนที่นั่นยินดีจะซื้อสินค้าที่ระบุว่า “ทำในออสเตรเลีย” มากกว่าสินค้านำเข้าด้วยน่าเสียดายที่ร้อยละ 75 ของอาหารทะเลที่ขายตามร้านอาหารในออสเตรเลียถูกนำเข้าจากต่างประเทศ เช่น ปลากะพงจากเวียดนาม อินโดนีเซีย และซาอุดิอาราเบีย  ปลาปนเปื้อนยาปฏิชีวนะจากเอเชีย (ข่าวไม่ได้ระบุว่าประเทศไหน) แล้วยังมีเนื้อปลาที่ขายในร้านฟิชแอนด์ชิปส์ที่ได้มากจากปลาฉลามอีก สุดท้ายแล้ววุฒิสมาชิกออสเตรเลียมีมติไม่เห็นด้วยกับการออกกฎหมายดังกล่าว “เมนูปลาวันนี้” จึงบอกอะไรผู้บริโภคไม่ได้เหมือนเดิม  สงครามแอพยานเด็กซ์ เว็บค้นหาข้อมูลอันดับหนึ่งของรัสเซียร้องเรียนต่อหน่วยงานต่อต้านการผูกขาดทางธุรกิจ ขอให้ตรวจสอบพฤติกรรมของกูเกิ้ลที่ใช้อำนาจการตลาดในรัสเซียเอาเปรียบคู่แข่งผ่านแอพฯเพราะทุกวันนี้ ผู้บริโภคที่ซื้อโทรศัพท์ที่มีระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ จะได้แอพลิเคชั่นจากกูเกิ้ลพ่วงไปด้วย ทำให้กูเกิ้ลถูกตั้งให้เป็นเว็บค้นหาหลักประจำเครื่องและมีไอคอนอยู่บนหน้าจอโดยอัตโนมัติ นั่นหมายความว่ายานเด็กซ์กำลังจะเสียลูกค้าให้กับกูเกิ้ลเป็นจำนวนไม่น้อย หน่วยงานดังกล่าวฟันธงแล้วว่า กูเกิ้ลกระทำผิดตามที่มีผู้ร้องเรียนจริง ความผิดดังกล่าวมีโทษปรับร้อยละ 15 ของรายได้ของกูเกิ้ลรัสเซียในปี 2014 ทั้งนี้เขายังไม่เปิดเผยรายได้ดังกล่าวเพราะถือเป็นความลับทางการค้า อย่างไรก็ตาม ในปี 2014 กูเกิ้ลมีรายได้รวมทั่วโลก 66,000 ล้านเหรียญ และรัสเซียเป็นตลาดใหญ่อันดับ 4 ของบริษัท นอกจากรัสเซียแล้ว กูเกิ้ลกำลังเผชิญกับข้อหาเดียวกันนี้ในสหภาพยุโรปเช่นกัน  “ติ๊งติ๊ง”ได้ไปต่อ ฮ่องกงก็ประสบปัญหารถติดเช่นเดียวกับเมืองใหญ่ทั้งหลาย ที่ปรึกษาด้านผังเมืองจึงเสนอให้ยกเลิกรถรางบางสายในย่านเซ็นทรัล บนเกาะฮ่องกง ด้วยเหตุผลว่ามันวิ่งช้าเกินไป และกีดขวางการจราจรเพราะต้องใช้พื้นที่มาก นอกจากนี้เครือข่ายรถไฟฟ้าไต้ดินก็เพียงพอที่จะให้บริการอยู่แล้ว แน่นอนแผนนี้มีผู้คนจำนวนไม่น้อยออกมาคัดค้านด้วยเหตุผลต่างๆ กันไป บ้างก็รู้สึกว่ารถรางซึ่งมีมากว่า 110 ปีนี้เป็นส่วนหนึ่งของความเป็นฮ่องกง  บ้างก็ไม่อยากสูญเสียรูปแบบการเดินทางสาธารณะที่ถูกที่สุดบนเกาะฮ่องกงไป (ค่าโดยสาร 2.30 เหรียญตลอดสาย และ 1 เหรียญสำหรับเด็กและผู้สูงอายุ) นอกจากนี้รถรางยังปล่อยมลพิษน้อย เหมาะสมกับยุคที่ต้องช่วยกันลดโลกร้อน และโดยเฉลี่ยแล้วผู้โดยสารรถรางใช้เนื้อที่ถนนน้อยกว่าผู้ขับขี่รถยนต์ถึง 19 เท่าส่วนนักวิชาการด้านการขนส่งก็ยืนยันว่าการยกเลิกรถรางสายนั้นออกไปคงไม่ช่วยลดปัญหารถติด เพราะเมื่อไม่มีรถราง ก็จะมีจำนวนรถยนต์เข้ามาแทนที่อยู่ดี ปัญหาที่แท้จริงคืออาคารในเขตเซ็นทรัลที่สร้างมานานแล้วไม่มีพื้นที่ให้รถบรรทุกเข้ามาจอดเทียบส่งของ ทำให้รถเหล่านี้ต้องใช้พื้นที่ถนนเป็นที่จอด จึงนำไปสู่ปัญหารถติด ถ้าจะแก้ก็น่าจะแก้ที่จุดนี้ หรือถ้าคิดในทางกลับกัน เมื่อรถไฟฟ้าใต้ดินมีโครงข่ายครอบคลุมแล้วทำไมไม่ประกาศให้เซ็นทรัลเป็นเขตปลอดรถยนต์ไปเสียเลยสุดท้ายบรรดาผู้ใช้รถรางกว่า 200,000 คนต่อวันก็โล่งใจได้ เพราะเจ้ารถ “ติ๊งติ๊ง” ที่ว่านี้จะยังคงให้บริการครบทุกเส้นทางตามเดิม พูดลอยๆ ตรงนี้เลย ว่าถึงแม้ค่าโดยสารรถรางจะถูกแสนถูก แต่บริการยังน่าประทับใจ และผลกำไรจากการประกอบการก็ยังคงดีงามเหมือนเคย …   

อ่านเพิ่มเติม >


ฉบับที่ 174 คอนโดมิเนียมแนวรถไฟฟ้า บนมิติความเหลื่อมล้ำ

ภายใต้การเร่งรัดของ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ที่ต้องการให้รถไฟฟ้าทั้ง 10 สายแล้วเสร็จภายในปี 2562 ลองมโนถึงวันที่โครงข่ายรถไฟฟ้าแผ่คลุมทั่วกรุงเทพ ชีวิตคนเมืองน่าจะสะดวกสบายกว่านี้ ไม่ต้องทุกข์ทนกับสภาพการจราจรอันเจ็บปวด มันเป็นภาพดีๆ ในอนาคตที่โครงสร้างพื้นฐานมอบให้เรา    ทว่า ยังมีอีกด้านของเหรียญที่ไม่ถูกพูดถึง ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะมันไม่ได้กระทบโดยตรงต่อปัจเจกในเวลาอันสั้น แต่มีแนวโน้มจะหมักหมมเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่บ่มเพาะความเหลื่อมล้ำและปัญหาด้านผังเมืองในอีกหลายปีข้างหน้า เรากำลังพูดถึงการกระจุกตัวของที่ดินตามแนวรถไฟฟ้าและการผุดคอนโดมิเนียมอย่างแทบจะไร้การควบคุม ซึ่งวันนี้เราเริ่มเห็นบ้างแล้วตามแนวรถไฟฟ้าทั้งเส้นเก่า เส้นใหม่ และเส้นที่กำลังจะสร้าง---------------------------------------------------------------------เส้นทางรถไฟฟ้า 10 สาย1.ชานเมืองสายสีแดงเข้ม เส้นทางหัวหมาก-บางซื่อ-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต2.ชานเมืองสายสีแดงอ่อน เส้นทางตลิ่งชัน-บางซื่อ-หัวหมาก3.ส่วนต่อขยายแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ เส้นทางพญาไท-บางซื่อ-ดอนเมือง4.สายสีม่วง เส้นทางบางใหญ่-บางซื่อ5.สายสีเขียว เส้นทางหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และแบริ่ง-สมุทรปราการ6.สายสีน้ำเงิน เส้นทางบางซื่อ-ท่าพระ และหัวลำโพง-บางแค7.สายสีส้ม เส้นทางศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี8.สายสีชมพู เส้นทางแคราย-ปากเกร็ด-มีนบุรี9.สายสีเหลือง เส้นทางลาดพร้าว-สำโรง10.สายสีเขียวเข้ม เส้นทางยศเส-สนามกีฬาฯ-สะพานตากสิน-บางหว้า---------------------------------------------------------------------รถไฟฟ้ามา ที่ดินราคาพุ่ง    จากการศึกษาของดวงมณี เลาวกุล และเอื้อมพร พิชัยสนิธ ในปี 2551 พบว่า พื้นที่รวมผู้ถือครองที่ดินเนื้อที่มากที่สุด 50 อันดับแรกในกรุงเทพฯ คือ 41,509.67 ไร่ ขณะที่พื้นที่รวมผู้ถือครองที่ดินเนื้อที่น้อยที่สุด 50 อันดับสุดท้ายมีเพียง 0.32 ไร่ เมื่อเทียบเป็นสัดส่วนการถือครองที่ดินมากที่สุด 50 อันดับแรกต่อ 50 อันดับสุดท้าย ช่องว่างนี้เท่ากับ 129,717.72 ไร่ แม้ตัวเลขนี้จะเป็นตัวเลขปี 2551 แต่ในภาวะที่ราคาที่ดินในกรุงเทพฯ ถีบตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตัวเลขข้างต้นน่าจะยังไม่ล้าสมัย     ปัจจัยหลักที่ทำให้ราคาที่ดินในกรุงเทพฯ ถีบตัวสูงขึ้นอย่างมหาศาลคือการเกิดขึ้นของรถไฟฟ้าและปริมาณที่ดินในเขตเมืองมีน้อยลง ยกตัวอย่างย่านรัตนาธิเบศร์ ปัจจุบันราคาที่ดินตารางวาละประมาณ 2.5-3 แสนบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2556 ประมาณร้อยละ 20 แต่ถ้าเทียบย้อนหลังไป 3 ปี พบว่าราคาขยับสูงขึ้นจากเดิมถึงร้อยละ 100-120การสำรวจการเปลี่ยนแปลงราคาที่ดินในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลปี 2558 ของ บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (AREA) ซึ่งมี ดร.โสภณ พรโชคชัย เป็นประธานกรรมการบริหาร พบว่า ในรอบ 16 ปี ตั้งแต่ปี 2541-2557 ราคาที่ดินเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 84 แต่ในเขตชั้นในกลับเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 158 เนื่องจากเขตใจกลางเมืองมีระบบขนส่งมวลชน ส่วนเขตชั้นนอกเพิ่มขึ้นร้อยละ 69-89 ขณะที่ในรอบ 5 ปี ตั้งแต่ปี 2552-2557 ราคาที่ดินปรับเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 55 ทำเลที่ราคาที่ดินเพิ่มสูงสูงสุดยังคงเป็นเขตชั้นใน เพิ่มขึ้นร้อยละ 75.8 เขตชั้นนอกเพิ่มขึ้นร้อยละ 39.9-49.9 โดยเฉพาะในศูนย์ธุรกิจ (CBD: Central Business District) ปรับตัวสูงสุดถึงร้อยละ 59.5-92.2ส่วนในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา พบว่า ที่ดินตามแนวรถไฟฟ้าปรับเพิ่มร้อยละ 3.5 ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ย โดยที่ดินตามแนวรถไฟฟ้าบีทีเอสเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.5 ส่วนต่อขยาย อ่อนนุช-แบริ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.9 ส่วนต่อขยายตากสิน-บางหว้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.0 ส่วนต่อขยายหมอชิต-สะพานใหม่เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.0ส่วนราคาที่ดินตามแนวรถไฟฟ้าใต้ดินหรือ MRT ราคาเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.5 แนวแอร์พอร์ต ลิงค์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 5 รถไฟฟ้าสายสีม่วง บางซื่อ-บางใหญ่ เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.8 สายสีน้ำเงิน บางซื่อ-ท่าพระ เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.6 และสายหัวลำโพง-บางแค เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.4 โดยราคาที่ดินแนวรถไฟฟ้าที่มีอัตราการเพิ่มต่ำสุดคือสายสีแดง บางซื่อ-ตลิ่งชัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.7    ถามว่า ราคาที่ดินบริเวณใด เพิ่มขึ้นมากที่สุดในการสำรวจของ AREA ครั้งนี้ คำตอบคือที่ดินบริเวณรถไฟฟ้าสยาม ชิดลม และเพลินจิต คิดเป็นตารางวาละ 1.75 ล้านบาท หรือไร่ละ 700 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2556 ที่ตารางวาละ 1.6 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.3 ทั้งยังคาดการณ์ว่า สิ้นปี 2558 ราคาที่ดินในบริเวณนี้จะเพิ่มขึ้นเป็น 1.9-2.0 ล้านบาท---------------------------------------------------------------------จำนวนคอนโดมิเนียมตามแนวรถไฟฟ้าข้อมูลจาก TerraBKK Research สำรวจคอนโดมิเนียมตามแนวส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าที่เปิดตัวตั้งแต่ปี 2010-2015 และกำลังเปิดขายในปัจจุบัน มีดังนี้ส่วนต่อขยายสายสีเขียวหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต จำนวน 12 โครงการ 4,253 ยูนิต ช่วงราคา 50,500-91,500 บาท/ตร.ม.แนวรถไฟฟ้าสายสีเขียว กรุงธนบุรี-บางหว้า จำนวน 8 โครงการ 4,958 ยูนิต ช่วงราคาตั้งแต่ 61,000-28,000 บาท/ตร.ม. แนวรถไฟฟ้าสายสีเขียว บางจาก-แบริ่ง จำนวน 21 โครงการ 7,353 ยูนิต ช่วงราคาตั้งแต่ 60,000-127,500 บาท/ตร.ม.แนวรถไฟฟ้าสายสีชมพู แคราย-มีนบุรี จำนวน 17 โครงการ 7,943 ยูนิต ช่วงราคาตั้งแต่ 43,000-72,000 บาท/ตร.ม.ส่วนต่อขยายสายสีน้ำเงิน บางซื่อ-ท่าพระ และหัวลำโพง-บางแค จำนวน 20 โครงการ 16,857 ยูนิต ช่วงราคาตั้งแต่ 46,000-125,000 บาท/ตร.ม.สายสีม่วง เตาปูน–บางใหญ่ จำนวน 42 โครงการ 34,373 ยูนิต ช่วงราคาตั้งแต่ 45,000-85,000 บาท/ตร.ม.    ขณะที่ข้อมูลจากประชาชาติธุรกิจ (14 พฤษภาคม 2558) รายงานจำนวนโครงการตั้งแต่ช่วงแคราย-หลักสี่ พบจำนวนโครงการดังนี้       บริเวณแยกแคราย 4 โครงการ ได้แก่ เดอะ พาร์คแลนด์ 635 ยูนิต สร้างเสร็จและขายหมดแล้ว, ศุภาลัย ปาร์ค แคราย-งามวงศ์วาน 697 ยูนิต, เดอะ ไพรเวซี่ ติวานนท์ 156 ยูนิต และศุภาลัย วิสต้า 404 ยูนิตบริเวณแจ้งวัฒนะ 8 โครงการ ได้แก่ โครงการฮอลล์มาร์ค 427 ยูนิต, แอสโทร 484 ยูนิต, เดอะซี้ด 210 ยูนิต, เดอะ เบส 2 อาคาร 1,231 ยูนิต, โครงการกรีเน่ 376 ยูนิต, เรียล 837 ยูนิต, ศุภาลัย ลอฟท์ 435 ยูนิต และศุภาลัย ซิตี้ รีสอร์ท 752 ยูนิตโครงการใกล้ศูนย์ราชการ 3 โครงการ ได้แก่ โครงการมิกซ์ทาวน์ 38 ยูนิต, เรสต้า แจ้งวัฒนะ เฟส 1 80 ยูนิต เฟส 2 78 ยูนิต และรีเจนท์ โฮม รวม 1,358 ยูนิต---------------------------------------------------------------------อนาคตจะเห็นคอนโดฯ ตารางวาละ 3 แสนบาทแน่นอนว่า ราคาที่ดินที่พุ่งสูงขึ้นย่อมส่งผลกระทบลูกโซ่ต่อราคาคอนโดมิเนียมตามแนวรถไฟฟ้า ยิ่งใกล้สถานีมากเท่าไหร่ ราคาก็ยิ่งขยับสูงขึ้น เช่น คอนโดมิเนียม 2 แห่งที่กำลังก่อสร้างใกล้สถานีรถไฟฟ้าสะพานควายอย่าง The Signature และ The Editor ของพฤกษา แห่งแรกราคาเริ่มต้นที่ 4.9 ล้านบาท ส่วนแห่งที่ 2 ราคาเริ่มต้นที่ 4.29 ล้านบาท เรียกว่าเป็นราคาที่ซื้อบ้านเดี่ยวในเขตชานเมืองและต่างจังหวัดได้สบายๆผู้บริหารบริษัทอสังหาริมทรัพย์หลายแห่งยืนยันตรงกันในเรื่องนี้ว่า โครงข่ายรถไฟฟ้ามีส่วนสำคัญทำให้ที่ดินที่รถไฟฟ้าผ่านขยับตัวเพิ่มสูงขึ้นมากกว่าราคาประเมินของราชการ บางแห่งสูงขึ้นกว่าเท่าตัว ยิ่งถ้าเป็นที่ดินตามเส้นสุขุมวิทราคาที่ดินจะปรับสูงกว่าบริเวณอื่น 3-4 เท่า ซึ่งการที่ผู้ประกอบการคอนโดมิเนียมได้ที่ดินมาในราคาสูง จึงผลักให้ราคาขายคอนโดมิเนียมสูงตามเพื่อให้คุ้มกับต้นทุนราคาที่ดินเฉลี่ยแล้วราคาที่ดินจะปรับขึ้นปีละประมาณร้อยละ 8-20 โดยราคาเฉลี่ยคอนโดมิเนียมในกรุงเทพฯ ช่วงที่ผ่านมาอยู่ที่ประมาณ 9.4 หมื่นบาทต่อตารางเมตร ปรับขึ้นจาก 8.8 หมื่นบาทต่อตารางเมตรในปี 2556 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 7 และยังคาดว่าในอนาคต คนกรุงเทพฯ จะได้เห็นคอนโดมิเนียมราคา 3 แสนบาทต่อตารางเมตรอย่างเลี่ยงไม่ได้รถไฟฟ้ากับการจัดการที่ดิน    การเกิดขึ้นของโครงข่ายรถไฟฟ้าผูกโยงกับการพุ่งขึ้นของราคาที่ดินและราคาคอนโดมิเนียม หากมองในมิติเศรษฐกิจ มันก็ดูสมเหตุสมผลตามกลไกตลาดและกฎอุปสงค์-อุปทาน ใครมีกำลังซื้อย่อมสามารถเข้าถึงที่พักอาศัยตามแนวรถไฟฟ้า ซึ่งมีความสะดวกสบายในการเดินทางได้ ...ถือเป็นเรื่องปกติ    แต่จริงๆ แล้วไม่ปกติ ไม่ปกติตรงที่ โดยทั่วไปแล้ว การสร้างโครงสร้างพื้นฐานอย่างรถไฟฟ้าในเมืองจะต้องคิดควบคู่ไปกับการจัดการที่ดิน เนื่องจากรถไฟฟ้าทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการใช้ที่ดิน“บางครั้งการจัดการที่ดินที่ดีอาจไม่ต้องใช้รถไฟฟ้าก็ได้ หรือทำให้รถไฟฟ้านั้นมีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น การเปิดพื้นที่ให้รถไฟฟ้าวิ่งเข้าไปจุดหนึ่ง แล้วจัดรูปแบบการใช้ที่ดินให้ทุกคนเข้าถึงได้ ไม่ใช่มองแต่จะเอารถไฟฟ้าถมลงไปที่ปากซอยหรือมองว่าที่ดินเป็นเรื่องของเอกชน” ผศ.ดร.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ อาจารย์ประจำภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ และอาจารย์พิเศษ ภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวหลักการประการหนึ่งของการจัดการที่ดินก็เพื่อแบ่งปันผลประโยชน์ที่ได้ระหว่างเอกชนและชุมชน/สังคม เช่น คนที่รถไฟฟ้าผ่านที่ดินของตน ทำให้มูลค่าที่ดินเพิ่มขึ้น ดังนั้น ส่วนหนึ่งของมูลค่าที่ได้เพิ่มขึ้นจะต้องถูกจัดสรรคืนให้แก่สังคม อาจจะเป็นพื้นที่บางส่วน ผศ.ดร.พิชญ์ ตั้งข้อสังเกตว่า ทำไมสังคมไทยจึงคิดเรื่องการแบ่งปันที่ดินแค่ระหว่างคนจนแบ่งที่ดินกับราชการ แต่ไม่มีคนรวยในสมการนี้ ทั้งที่ถ้าพื้นที่หนึ่งแปลงได้กำไรมากมหาศาลจากรถไฟฟ้า ก็ควรเวนคืนครึ่งแปลงมาสร้างประโยชน์ให้คนอื่น เพราะพื้นที่ครึ่งแปลงเดิมก็ได้ประโยชน์อยู่แล้วทำไมต้องสนใจเรื่องนี้ทำไมเราต้องสนใจเรื่องรถไฟฟ้ากับการจัดการที่ดิน ทำไมเราต้องสนใจว่าราคาที่ดินตามแนวรถไฟฟ้าจะสูงขึ้นหรือไม่ ทำไมราคาคอนโดมิเนียมที่สูงถึงเกี่ยวข้องกับเรา มันเกี่ยวข้องกับเราๆ ที่เป็นผู้บริโภคอย่างไรในภาพเล็ก คอนโดมิเนียมที่ผุดขึ้นอย่างไร้การควบคุมย่อมส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมในละแวกนั้นๆ อย่างเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะการถ่ายเทอากาศและความร้อน กระทบต่อความปลอดภัยของผู้อยู่อาศัยและประชาชนใกล้เคียงหากเกิดเหตุไฟไหม้ แต่เพราะที่ดินมีราคาแพง ผู้ประกอบการจึงพยายามใช้สอยที่ดินให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งอาจหมายถึงการละเลยพื้นที่สำหรับให้รถดับเพลิงเข้าถึงจุดเกิดเหตุ ในที่นี้หมายถึงทั้งตัวคอนโดมิเนียมเองและที่อยู่อาศัยใกล้เคียงในเชิงมหภาค รถไฟฟ้ากำลังผลักไสผู้คนที่เป็นฟันเฟืองของเมืองจำนวนมากให้ออกห่างจากเมืองยิ่งขึ้น และหากคุณเป็นผู้บริโภคที่มีรายได้ปานกลาง การเข้าถึงที่พักอาศัยตามแนวรถไฟฟ้าก็คงเป็นสิ่งที่เกินเอื้อม และนี่คือความเหลื่อมล้ำครั้งแรกที่รถไฟฟ้าเกิดขึ้นเมื่อ 16 ปีก่อนในวันที่ 5 ธันวาคม 2542 วัตถุประสงค์หลักเพื่อบรรเทาปัญหาการจราจรในกรุงเทพฯ ณ เวลานั้น การจัดการที่ดินยังเป็นประเด็นที่ไม่มีใครกล่าวถึง แต่ผลของรถไฟฟ้าสายแรกเกิดขึ้นแล้วในปัจจุบันผศ.ดร.พิชญ์ อธิบายว่า ส่วนตัวแล้วไม่แน่ใจว่าภาครัฐไม่มีการวางแผนจัดการที่ดินหรือมีมุมมองในการวางแผนจัดการที่ดินในแบบที่ภาครัฐเข้าใจ แต่อาจไม่สอดคล้องกับผลประโยชน์ของสังคม เมื่อขาดกลไกการจัดการที่ดินที่ดีพอจึงทำให้ผลประโยชน์ไม่ตกแก่สังคมทั้งหมด โดยเฉพาะกับกลุ่มคนรายได้น้อยที่เป็นจักรกลสำคัญในการขับเคลื่อนเมือง ขณะที่มิติการแก้ไขปัญหาจราจร การไม่จัดรูปที่ดิน ยังส่งผลให้เกิดการกระจุกตัวของกิจกรรมในสถานีสุดท้าย“คำถามคือคนที่มีรายได้น้อยจะสามารถเข้าถึงรถไฟฟ้าได้มากน้อยแค่ไหน เขายังจะต้องต่อไปอีกกี่ต่อ เช่น รถเมล์ รถมอร์เตอร์ไซค์ รถสองแถว ที่อยู่อาศัยเดิมที่เขาเคยอยู่ราคาค่าเช่าอาจเพิ่มขึ้น จนเขาต้องขยับต่อไปอีก ส่วนพวกที่มีเงินก็ซื้อคอนโดฯ ปล่อยให้เช่า มีเก็บภาษีเขาไหม อันนี้ไม่นับการที่ขาดการวางแผนชุมชนที่ชัดเจนว่าจำนวนคอนโดฯ มากมายที่โถมถล่มลงมาในซอยบ้านแล้วมาแย่งพื้นที่ถนน พื้นที่กินข้าว หรือกระทั่งมาเปลี่ยนรูปแบการใช้ที่ดินเดิม มันจะส่งผลกระทบให้ชุมชนเดิมอย่างไร”กล่าวคือผู้ที่เข้าถึงคอนโดมิเนียมตามแนวรถไฟฟ้าเป็นชนชั้นกลางระดับบนขึ้นไปที่มีรายได้ค่อนข้างสูง มีความสามารถผ่อนจ่ายได้ และเมื่อที่พักอาศัยใกล้แนวรถไฟฟ้ามีราคาสูง ราคาค่าหอพักย่อมถีบตัวสูงตาม ภาระจึงตกอยู่บนบ่าของผู้ที่มีรายได้น้อย หากต้องการหอพักราคาย่อมเยาก็ต้องถอยห่างจากแนวรถไฟฟ้าออกไป กลายเป็นว่าจุดมุ่งหมายของรถไฟฟ้าที่ต้องการเป็นระบบขนส่งแก่คนทุกกลุ่ม ผู้ที่มีฐานะดีกลับได้ประโยชน์มากกว่าอย่างเห็นได้ชัดเมื่อผู้มีรายได้น้อยเข้าถึงที่พักอาศัยใกล้แหล่งงานในเมืองไม่ได้ พวกเขาก็ต้องขยับออกไปไกลขึ้น ค่าเดินทางสูงขึ้น ทั้งที่คนกลุ่มนี้คือกลุ่มแรงงานที่ขับเคลื่อนเมือง-ผู้ใช้แรงงาน, แม่บ้าน, เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย, พ่อค้าริมทาง เมื่อจักรกลสำคัญของเมืองเหล่านี้ถูกกระทบ ผู้คนที่อาศัยอยู่ในเมืองคงไม่สามารถเลี่ยงผลพวงที่ตามมาได้ นี้จึงเป็นความเหลื่อมล้ำเชิงโครงสร้างที่เกิดจากการขาดการวางแผนการจัดการที่ดินตามแนวรถไฟฟ้า แต่ส่งผลแผ่คลุมคนเมืองส่วนใหญ่ สิ่งที่พอทำได้กับอนาคตรถไฟฟ้า 10 สายถึงตรงนี้ บางคนอาจคิดว่าการจัดการที่ดินให้สอดคล้องกับแนวรถไฟฟ้าคงเป็นไปไม่ได้ในมหานครอย่างกรุงเทพฯ ซึ่งไม่จริง กรณีสิงคโปร์ถือเป็นต้นแบบความสำเร็จของการจัดการที่ดินกับระบบขนส่ง ในสิงคโปร์เราจะไม่เห็นที่พักอาศัยผุดเป็นดอกเห็ดตามแนวรถไฟฟ้า แต่ที่พักอาศัยจะขยับออกห่างจากแนวรถไฟฟ้าในระยะทางที่พอเดินถึง แต่อยู่ใกล้แนวรถเมล์มากกว่า ส่วนบริเวณที่มีรถไฟฟ้าก็มักจะเป็นจุดกระจายคนและท่ารถ“คำถามก็คือคุณจะวัดการประสบความสำเร็จจากอะไร? จากการที่คนมีบ้านอยู่ เข้าถึงรถไฟฟ้าได้ และมีทางเลือกในการจราจร หรือจะวัดจากการที่มีโครงการขึ้นมากมาย มีการเก็งกำไร และมีคนที่มีบ้านอยู่แล้วปล่อยคอนโดให้คนอื่นเช่า? คุณจะวัดความสำเร็จจากคนที่มีอาหารการกินที่ดีใกล้บ้าน หรือจะวัดจากโฆษณาตลกร้ายของคอนโดฯ หรูระยับที่ไม่เคยบอกเลยว่าพวกนี้หาข้าวหาปลากินที่ไหน ถ้าไม่ลงมาเบียดกับคนอื่นๆ บนถนนอยู่ดี” ผศ.ดร.พิชญ์ กล่าวอนาคตรถไฟฟ้า 10 สายในกรุงเทพฯ จึงไม่ได้มีภาพสวยงามของความสะดวกรวดเร็วในการเดินทางเพียงอย่างเดียว ผศ.ดร.พิชญ์ ประเมินสถานการณ์ข้างหน้าว่า คนจะต้องออกไปอยู่ไกลขึ้นเรื่อยๆ เพราะสู้ราคาไม่ได้ ดังนั้น จึงเป็นเรื่องปกติที่สถานีสุดท้ายของรถไฟฟ้าแต่ละเส้นทางจะมีคนกระจุกตัวเพื่อต่อรถ ส่วนกรณีคนที่ต้องการพักอาศัยในบ้านเดี่ยวก็จะต้องอยู่ออกไปไกลขึ้นเช่นกัน ทำให้ต้องเลือกขับรถเข้ามาในเมืองเหมือนเดิม อีกคำถามที่ ผศ.ดร.พิชญ์ ชวนให้ขบคิดต่อคือ ในพื้นที่ที่มีแต่คอนโดมิเนียมเหล่านั้น มีโรงเรียน โรงพยาบาล และสิ่งอำนาวยความสะดวกเพียงพอหรือไม่ และใครจะรับผิดชอบให้มีสวนสาธารณะส่วนประเด็นระยะยาว คือคอนโดมิเนียมเหล่านี้มีวันหมดอายุเมื่อใด เนื่องจากคอนโดมิเนียมไม่สามารถทุบได้ตามอำเภอใจเพราะมีเจ้าของร่วม หากไม่มีการเตรียมรับมือในประเด็นนี้ ในอนาคตยาวๆ คอนโดมิเนียมสวยงามในวันนี้อาจเป็นแหล่งเสื่อมโทรมลอยฟ้าทว่า ในสถานการณ์ที่แผนการก่อสร้างรถไฟฟ้าเดินหน้าไปแล้วโดยปราศจากแนวทางการจัดการที่ดินเช่นนี้ ยังพอมีหนทางใดที่จะบรรเทาปัญหาได้บ้าง ผศ.ดร.พิชญ์ แสดงทัศนะว่า ต้องเพิ่มอำนาจให้เขตต่างๆ เขตต้องมีอำนาจการจัดวางผังในระดับเขตโดยประชาชนมีส่วนร่วมมากขึ้น เพิ่มข้อบังคับการจัดหาพื้นที่สาธารณะให้เขตมากขึ้น“เขตในวันนี้ โครงสร้างขาดการมีส่วนร่วม เพราะผู้อำนวยการเขตเป็นข้าราชการแต่งตั้งมาจากส่วนกลางของ กทม. สมาชิกสภาเขตไม่มีอำนาจในการจัดทำงบประมาณ โครงการต่างๆ นอกจากจะต้องรับผิดชอบในพื้นที่ของตน จะต้องรับผิดชอบต่อส่วนรวมคือเขตด้วย จะสนใจแค่ค่าส่วนกลางของโครงการอย่างเดียวไม่ได้ ต้องมีเงินส่วนหนึ่งในการรับผิดชอบค่าส่วนกลางของเขต เพราะคุณเข้ามาเปลี่ยนสภาพที่ดินอย่างมากมาย ทำให้คนที่อยู่เดิมเดือดร้อน“หรือเราอาจต้องจัดรูปแบบใหม่ เช่น รถไฟฟ้าวิ่งเข้าไปในพื้นที่ราชการขนาดใหญ่ที่แปรสภาพเป็นที่พักอาศัยให้เช่า เป็นต้น และจากนั้นเราจะสามารถออกแบบชุมชนทุกอย่างได้ สิ่งนี้จะทำให้เรามองเรื่องการแก้ปัญหาการใช้ที่ดินในอีกรูปแบบหนึ่ง ไม่ใช่มองแค่ว่าใครจะโชคดีที่มีที่ติดรถไฟฟ้า มาสู่การเอาที่ติดรถไฟฟ้ามาเวนคืน แล้วแบ่งสรรประโยชน์ เช่น เป็นทั้งที่พักอาศัยและแหล่งธุรกิจ เอาผลกำไรจากธุรกิจมารองรับส่วนของที่พักอาศัย”ขณะเดียวกัน การจัดการที่ดินจะต้องเน้นคุณภาพชีวิตของผู้คนให้มาก เช่น ถ้าโครงการคอนโดมิเนียมแห่งใดเพิ่มความร้อนหรือเพิ่มมลพิษให้กับพื้นที่ โครงการนั้นก็จะต้องรับผิดชอบต่อผลกระทบที่เกิดขึ้น ด้าน รศ.ดร.ศักดิ์สิทธิ์ เฉลิมพงศ์ อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมขนส่ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความเห็นว่า การเก็บภาษีที่ดินรอบสถานีรถไฟฟ้าจะช่วยลดการเก็งกำไร และทำให้การใช้ประโยชน์ที่ดินมีประสิทธิภาพมากขึ้น และควรลดข้อกำหนดเกี่ยวกับที่จอดรถที่จะต้องมีสำหรับอาคารที่ก่อสร้างใกล้สถานี เพราะว่าในปัจจุบันนี้ แม้อาคารจะอยู่ติดสถานีรถฟ้า แต่ก็ยังต้องสร้างที่จอดรถเป็นจำนวนมาก ซึ่งไม่จำเป็นและทำให้ต้นทุนของผู้ประกอบการสูงโดยใช้เหตุ ทำให้ราคาอสังหาริมทรัพย์สูงเกินไป อีกทั้งทำให้คนที่ไม่ใช้รถแต่ต้องการซื้อทรัพย์สินใกล้สถานีต้องแบกรับต้นทุนในส่วนนี้โดยไม่จำเป็น และกล่าวเสริมว่า“โดยเฉพาะคนที่อยู่ใกล้สถานีบางส่วนกลับขับรถยนต์ ไม่ได้ใช้รถไฟฟ้า หรือพวกนักเก็งกำไร ซื้อแล้วไม่ได้อยู่ เป็นการเสียโอกาสที่จะใช้ประโยชน์จากที่พักอาศัยเหล่านั้น ขณะที่คนจนที่ต้องการใช้รถไฟฟ้าก็ไม่สามารถซื้อได้ รัฐจึงควรแทรกแซงโดยสร้างที่พักให้คนจน อาจไม่ต้องใกล้รถไฟฟ้ามาก เช่น ในรัศมี 1 กิโลเมตรก็พอ ไม่ต้องมีที่จอดรถ ทำทางเดินเท้าหรือจักรยานเชื่อมต่อให้ดี”ยังมีประเด็นน่าสนใจที่ ผศ.ดร.พิชญ์ ทิ้งท้ายเอาไว้ว่าด้วยเทคโนโลยีและอำนาจ กล่าวคือในนิวยอร์คมีพื้นที่บางส่วนที่รถไฟฟ้าเข้าไม่ถึงหรือเข้าถึงได้น้อย ทำให้เป็นแหล่งที่พักอาศัยของคนที่มีรายได้ไม่สูงนัก แต่ก็รัฐก็ยังสามารถจัดรูปที่ดินได้โดยใช้รถเมล์เข้าไปรองรับการเดินทาง วิธีคิดเรื่องการขนส่งจึงไม่จำเป็นต้องหมกมุ่นในเชิงเทคโนโลยีเท่านั้น แต่ต้องมองว่าเรื่องการจัดการเมือง การจัดความสัมพันธ์ทางอำนาจเช่นเดียวกับการจราจร รถเมล์ควรต้องไปก่อนรถยนตร์หรือรถยนต์ต้องไปก่อนรถเมล์ รถเมล์เร็วหลายเมืองในโลกใช้รถเมล์เร็วแทนรถไฟฟ้าโดยใช้หลักการง่ายๆ ว่าใครควรไปก่อนใคร แล้วจึงกั้นเลนให้รถเมล์วิ่ง“อำนาจสำคัญกว่าเทคโนโลยีครับ เทคโนโลยีต้องรองรับอำนาจ ถ้าเราไม่จัดการอำนาจ เทคโนโลยีก็รองรับคนที่มีอำนาจเดิมนั่นแหละ”    อาจกล่าวได้ว่า ทั้งหมดนี้คือผลกระทบที่เกิดจากการใช้เทคโนโลยีแก้ปัญหาการจราจรในเมือง โดยขาดการเชื่อมโยงกับมิติอื่นๆ –ที่ดิน คนเมือง แรงงาน การขนส่ง ฯลฯ  ผลลัพธ์ที่ได้ เมืองอาจดูทันสมัยและพัฒนา แต่ถึงที่สุดแล้ว ความเหลื่อมล้ำระหว่างคนมีและไม่มีกลับไม่เคยหดแคบลงเลยในมหานครกรุงเทพฯ แห่งนี้---------------------------------------------------------------------ซื้อคอนโดฯ อย่างไรไม่เจ็บตัว    คอนโดมิเนียมเป็นสินทรัพย์ที่มีราคาสูง มันอาจหมายถึงภาระผูกพันนานหลายสิบปี การซื้อคอนโดจึงจำเป็นยิ่งยวดที่ต้องมีสติพอๆ กับสตางค์ ไม่ว่าบริษัทที่ขายคอนโดมิเนียมให้คุณจะมีชื่อเสียงน่าเชื่อถือแค่ไหน หากคุณคิดจะซื้อคอนโดมิเนียมสักห้องเพื่ออยู่อาศัย สิ่งที่ นฤมล เมฆบริสุทธิ์ หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิ์ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค อธิบายต่อจากนี้ คุณควรทำโดยเคร่งครัดเพื่อรักษาประโยชน์ของผู้บริโภคเช่นคุณ1.ประเมินความสามารถในการผ่อนชำระ เป็นหัวใจสำคัญข้อแรกที่ต้องคำนึงถึง หากผ่านข้อนี้ได้จึงพิจารณาข้อต่อไป2.ตรวจสอบว่าคอนโดมิเนียมแห่งนั้นก่อสร้างหรือยัง ตรวจสถานะของผู้ประกอบการให้ชัดเจนว่ามีความมั่นคงมากพอที่จะก่อสร้างคอนโดมิเนียมหรือไม่ ถ้าก่อสร้างแล้ว จะแล้วเสร็จประมาณเมื่อไหร่“ถ้าคุณซื้อคอนโดฯ ที่มีแต่ที่ดินก็มีโอกาสเสี่ยงที่คอนโดฯ อาจไม่สร้าง เคยมีกรณีแบบนี้เกิดขึ้น เพราะการก่อสร้างคอนโดฯ มีกรอบกำหนดว่า การจะประกาศขายคอนโดฯ ได้ต้องผ่านการขออนุญาตก่อสร้างให้เรียบร้อย แต่ผู้ประกอบการบางรายลักไก่ขายเพื่อเอาเงินดาวน์มาสร้างบางส่วนก่อน ถ้าตรงไหนกฎหมายบอกว่าผิดก็ค่อยไปแก้ ทั้งที่ที่ดินตรงนั้นอาจสร้างไม่ได้ เพราะเป็นที่ดินที่ไม่เหมาะกับการก่อสร้างอาคารสูง”3.แบบของสัญญาที่ใช้ถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ แบบสัญญาดังกล่าวเรียกว่า อช.22 ซึ่งจะมีการระบุรายละเอียดสำคัญและสิทธิของผู้บริโภคตามแนวทางที่กรมที่ดิน เช่น กำหนดความรับผิดของผู้ประกอบการว่า ถ้าไม่ส่งมอบตามระยะเวลา ผู้บริโภคมีสิทธิ์เลิกสัญญาหรือใช้สิทธิ์เรียกค่าปรับ เป็นต้น ซึ่งถึงแม้ว่ากฎหมายจะกำหนดให้ผู้ประกอบการทุกรายต้องใช้แบบสัญญานี้ มิเช่นนั้นจะถือว่าโมฆะ ผู้บริโภคก็ควรตรวจดูให้แน่ใจ อย่างน้อยจะได้ไม่ต้องเสียเวลาภายหลัง4.ขั้นตอนที่สำคัญที่สุดคือการตรวจสภาพห้องก่อนรับโอน มีผู้บริโภคหลายรายที่ต้องประสบปัญหาห้องไม่ได้คุณภาพ อันเนื่องจากความเผลอเรอในจุดนี้ นฤมล แนะนำว่า ก่อนจะทำสัญญารับโอน ผู้บริโภคต้องตรวจสภาพห้องอย่างละเอียด ควรมีลิสต์รายการที่ต้องตรวจรับและช่างส่วนตัวร่วมตรวจสอบด้วย เช่น หลอดไฟสามารถใช้ได้ทุกดวงหรือไม่ ห้องน้ำมีจุดไหนชำรุดหรือเปล่า มีการติดตั้งสายดินเรียบร้อยหรือไม่ ฯลฯ หากตรวจภายในวันเดียวไม่เสร็จ ก็ต้องยอมเสียเวลาตรวจต่อวันที่ 2เมื่อพบจุดบกพร่องให้แจ้งผู้ประกอบการดำเนินซ่อมแซมแก้ไข โดยทำเป็นลายลักษณ์อักษรให้ชัดเจน ผู้บริโภคควรเก็บสำเนาไว้ที่ตนเอง 1 ฉบับ หากผู้ประกอบการไม่ดำเนินการแก้ไขให้เป็นที่เรียบร้อย อย่ารับโอนเด็ดขาดนฤมล อธิบายว่า ปกติแล้วการซื้อคอนโดมิเนียมจะมีการรับประกันตัวโครงสร้าง 5 ปีและส่วนควบ 2 ปี ซึ่งอายุการรับประกันจะเริ่มต้นเมื่อเกิดการโอนกรรมสิทธิ์ ดังนั้น หากผู้บริโภครับโอนกรรมสิทธิ์ตั้งแต่ยังสร้างไม่เสร็จหรือรับโอนกรรมสิทธิ์โดยไม่ตรวจสภาพห้องอย่างถี่ถ้วน ผู้บริโภคอาจได้รับความเสียหายเมื่อห้องมีความชำรุดบกพร่อง กรณีที่มักเกิดขึ้นเสมอๆ คือผู้ประกอบการอ้างว่า ผู้รับยินยอมรับโอนห้องในสภาพนั้นเองหรือไม่ก็อ้างว่าความเสียหายส่วนหนึ่งเป็นเพราะผู้บริโภคหลังจากที่เข้าอยู่อาศัยแล้วนอกจากนี้ การซ่อมแซมบางครั้งอาจยืดเยื้อเกินกว่าที่คาดไว้หรือผู้ประกอบการผัดผ่อนจนครบกำหนดการรับประกัน ถึงตอนนี้ผู้ประกอบการสามารถบอกปัดความรับผิดชอบได้ ค่าใช้จ่ายต่างๆ ผู้บริโภคจะกลายเป็นผู้รับภาระเอง เหตุนี้การตรวจสภาพห้องก่อนการรับโอนจึงถือว่าเป็นสิ่งสำคัญมากในการซื้อคอนโดมิเนียม“ถ้าเป็นคอนโดฯ มือสองมือสามก็ทำเหมือนกัน ไปเรียกร้องกับผู้ขายที่เป็นเจ้าของห้องเดิมให้จัดการห้องให้เรียบร้อยก่อนรับโอน แต่กรณีซื้อต่อมือสองจะแตกต่างอยู่ตรงที่ว่า มันเป็นเรื่องที่สองฝ่ายจะตกลงกัน ผู้ขายอาจขายซากห้องก็ได้ ถ้าผู้ซื้อพอใจหรือต้องการตกแต่งเองก็สามารถทำได้ เป็นข้อตกลงระหว่างผู้ซื้อ-ผู้ขาย”  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 174 อย่าให้ซ้ำรอยเดิม

เห็นแผนการประมูลคลื่นความถี่ 4G ของกสทช. แล้ว ปวดหัว เพราะทำท่าจะเข้าตำราเดิมในการประมูล 3G ที่ผ่านมา เพราะราคาตั้งต้นประมูลเพิ่มเพียง 0.32% ของคลื่น 3G ราคาตั้งต้นที่กำหนด 13,920 ล้านบาทต่อคลื่นความถี่ 1 ชุด (2 x 15 MHz) ของคลื่นระบบ 1800 MHz อนุญาตให้ใช้คลื่นนาน 15 ปี หรือเพียง 928 ล้านบาทต่อปี จากประมูล 3G เดิมที่ราคา 925 ล้านบาทต่อปีมากขึ้นเพียง 3 ล้านบาทต่อปีเท่านั้นเองปัญหาสำคัญในการประมูลคราวที่แล้ว คือ บริษัทประมูลคลื่นไปใช้งานในราคาต่ำ แต่ผู้บริโภคใช้บริการราคาแพงเท่าเดิม ความเร็ว 3G ต่ำไม่เร็วจริง คุณภาพบริการโดยรวมไม่ดีขึ้น ร้องเรียนยาก รอสายนาน เสาโทรคมนาคมเต็มบ้านเต็มเมือง ทั้งๆ ที่กสทช.มีกติกาให้ลดราคา 15% รับประกันความเร็วไว้ 345 กิโลบิทส์ต่อวินาที(kbps) สายร้องเรียนโทรฟรี หรือให้มีกติกาการใช้เสาโทรคมนาคมร่วมกันปัญหาราคาประมูลที่ได้จำนวน  41,625 ล้านบาท จากราคาตั้งต้น 40,500 ล้านบาท เพิ่มเพียง 2.7% เพราะมี 3 บริษัทเข้าร่วมประมูลเท่ากับจำนวนคลื่นจำนวน 3 ชุด ยังคงพอจำภาพประมูลคลื่น 3G ที่เคาะเพียง 7 ครั้งกันได้ดี ว่า บริษัทดีแทคและบริษัท ทรู ไม่ได้เคาะราคาประมูลเพิ่มเลยทำให้ได้คลื่นไปใช้ในราคาตั้งต้นที่ 13,500 ล้านบาทต่อ 15 ปี หรือราคา 900 ล้านบาทต่อปี ยกเว้นบริษัทเอไอเอส ที่เคาะเพิ่มอีก 1,225 ล้านบาท ทำให้ได้คลื่นไปในราคา 14,625 ล้านบาท หรือราคา 975 ล้านบาทต่อปีถึงแม้เที่ยวนี้ในการประมูล 4G จะมีการกำหนดกติกาสองชั้นในแต่ละคลื่น กรณีมีคนประมูลน้อยกว่าหรือเท่ากับชุดคลื่น (ใบอนุญาต) จะมีการตั้งต้นที่ราคา 100% ของราคาประเมิน แต่ถ้ามีจำนวนผู้เข้าร่วมประมูลมากกว่าชุดคลื่นราคาตั้งต้นจะเริ่มที่ 70% ในคลื่น1800 MHz หรือราคาเริ่มต้นเพียง 13,920 ล้านบาทต่อ 15 ปี ซึ่งเป็นราคาที่เพิ่มเพียง 0.32 % ความคาดหวังที่ต้องการเห็นหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับใบอนุญาตประมูลคลื่น 4 G ในครั้งนี้ ต้องกำหนดให้ครบถ้วน สมบูรณ์ บังคับได้จริง ไม่ว่าจะเป็นราคาตั้งต้นที่ประเทศได้ประโยชน์ ความเร็วที่คนหูหนวกสามารถใช้งานได้จริงปกติความเร็วในระบบ 4G จะมากกว่า 3G จำนวน 10 เท่า ความเร็วที่รับประกันควรจะเพิ่มเป็น 3.5 Mbps ไม่ใช่กำหนดไว้ 345 kbps จึงถือได้ว่าเป็นมาตรฐานที่ต่ำมาก ซึ่งเมื่อเทียบกับความเร็วมาตรฐานของบริการ 4G ที่สามารถรับส่งข้อมูลได้ถึง 100 Mbps รวมทั้งปัญหาเรื่องเสาโทรคมนาคมที่มีความขัดแย้งทั่วประเทศ ก็ควรกำหนดไม่ให้ตั้งในพื้นที่อ่อนไหว เช่น โรงเรียนโรงพยาบาลและชุมชนหรือหากจำเป็นก็ควรห่างไม่น้อยกว่า 400 -1,000 เมตร ส่วนราคาที่เป็นธรรมกับผู้บริโภคก็ควรลดไปตามสัดส่วนของ3G อย่างเป็นระบบและควรเริ่มระบบการคิดค่าโทรศัพท์ตามการใช้งานจริงหรือไม่ปัดเศษวินาทีหากการประมูลครั้งนี้ ไม่ได้กำหนดเงื่อนไขไว้ให้ดีในใบอนุญาต ก็น่าจะเจอปัญหาซ้ำรอยเดิม คงต้องถามไว้ก่อนว่าใครจะรับผิดชอบ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 174 แกงเลียง

แกงตำรับไทยแท้ๆ ที่ทำง่าย แต่เป็นอะไรที่คนสมัยใหม่ชอบทำให้มันยาก    ดั้งเดิมเลยแกงเลียงนั้น เครื่องแกงหลักมีแค่ พริกไทย หอมแดง และกะปิ ตำพอแหลกแล้วละลายกับน้ำเดือดเป็นน้ำแกงใส่ผักริมรั้วหากินง่ายอย่าง ตำลึง ยอดฟัก บวบ หัวปลี แล้วแต่มี เมื่อผักสุกดีแล้วก็ใส่ใบแมงลักลงไป เป็นอันเสร็จ และถ้าอยากจะพิเศษให้น้ำแกงข้นขึ้นมาหน่อย ก็ตำกุ้งแห้งหรือกุ้งต้มละลายลงในน้ำแกง บางบ้านอาจใช้เนื้อปลาย่าง ซึ่งหากเป็นน้ำแกงจากเนื้อปลาก็ต้องตำกระชายตามไปเพื่อดับกลิ่นคาว แต่ธรรมดาครัวโบราณไม่นิยมนำปลาย่างมาแกงเลียงไปแกงอย่างอื่นดีกว่า     การทำแกงเลียงเดิมจะไม่ใส่ผักหลากหลายชนิดเพราะจะทำให้กลิ่นรสของผักตีกันเอง ไม่อร่อย เว้นแต่ตัวหลักคือใบแมงลักที่ขาดไม่ได้ แต่สมัยใหม่จะมีการเติมผักสารพัดชนิดเข้าไปในแกงเลียงทำให้รสชาติผิดเพี้ยนไปจากเดิม สำคัญคือมีการตำพริกขี้หนูสดใส่ไปด้วย จริงๆ แล้วไม่มีความจำเป็นเพราะแกงเลียงไม่ได้ต้องการความเผ็ดจัดจ้านแบบพริกขี้หนู แต่เป็นเผ็ดแบบพริกไทย ซึ่งช่วยทำให้กินผักได้ง่ายขึ้น พริกขี้หนูจะทำลิ้นรับรสเผ็ดเกินไปจนสัมผัสความอร่อยของรสแกงและรสผักไม่ได้       แกงเลียงเป็นอาหารไทยโบราณชนิดหนึ่งที่เหมาะที่จะนำมาบริโภคเป็นประจำ  เพราะทำง่าย ให้พลังงานไม่สูงมากนัก สามารถรับประทานได้บ่อย ให้ใยอาหาร วิตามิน แร่ธาตุ ตลอดจนสารต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย

อ่านเพิ่มเติม >