ฉบับที่ 171 กระแสในประเทศ

สรุปความเคลื่อนไหว เดือนพฤษภาคม 2558 ห้ามแล้วเด็ดขาด!!! “เมโทมิล” ในยาฉีดแมลง อย. ปรับระดับการควบคุมวัตถุอันตราย “เมโทมิล” (methomyl) จากเดิมเป็นวัตถุอันตราย ชนิดที่ 3 ไปเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ห้ามใช้ในผลิตภัณฑ์ป้องกันกําจัดแมลงที่ใช้ในบ้านเรือนหรือทางสาธารณสุข ซึ่งผลจากการปรับระดับครั้งนี้ทำให้เมโทมิล เป็นสารที่ห้ามผลิต นำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครอง องค์การอนามัยโลกได้จัดให้สารเมโทมิลอยู่ในกลุ่ม สารกําจัดแมลงที่มีความเป็นพิษสูง เนื่องจากเป็นสารที่สามารถเข้าสู่ร่างกายได้โดยการดูดซึมผ่านทางผิวหนัง ทางเดินหายใจ และทางเดินอาหาร โดยเมโทมิลเป็นสารที่มีพิษเฉียบพลัน ลักษณะของผู้ที่ได้รับพิษจะมีอาการเหงื่อออก ปวดศีรษะ เพลีย วิงเวียน คลื่นไส้อาเจียน ปวดท้อง ตาพร่ามัว กล้ามเนื้อเกร็งและกระตุก ชัก โคม่า สูญเสียการควบคุมของกล้ามเนื้อหูรูด ความดันโลหิตต่ำ หัวใจทำงานผิดปกติ และอาจเสียชีวิตได้จากภาวะอัมพาตของกล้ามเนื้อในระบบทางเดินหายใจและการหดเกร็งของปอด   แม้ อย.จะปรับเมโทมิลในผลิตภัณฑ์ที่ใช้สำหรับกำจัดแมลงในบ้านเป็นสารอันตรายห้ามใช้เด็ดขาด แต่ในทางการเกษตร เมโทมิล ยังจัดเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ซึ่งควบคุมโดยกรมวิชาการเกษตร ดังนั้นจึงยังอาจพบเห็นเมโทมิลวางขายตามร้านจำหน่ายสินค้าการเกษตรได้ แต่ก็ไม่ควรซื้อมาใช้สำหรับกำจัดแมลงในบ้านเด็ดขาด --------------------------------------------------------------   รีบลงทะเบียนซิม ก่อน 31 ก.ค. 58 ใครที่ใช้โทรศัพท์มือถือแบบเติมเงินแล้วยังไม่ได้ลงทะเบียนซิม รีบไปทำลงทะเบียนซิมโดยด่วนภายในวันที่ 31 ก.ค. 2558 นี้ เพราะถ้าปล่อยให้พ้นกำหนดจะไม่สามารถใช้โทรออก ไม่สามารถใช้งานอินเทอร์เน็ต และไม่สามารถส่งข้อความได้ ทำได้แค่รับสายโทรเข้าอย่างเดียวเท่านั้น การลงทะเบียนซิมเป็นการระบุตัวตนของผู้ใช้งานซิมนั้นๆ เพื่อจะช่วยป้องกันการนำซิมไปใช้ในการกระทำผิดกฎหมาย นอกจากนี้ยังช่วยในการรักษาสิทธิประโยชน์ ในการรักษาเบอร์ให้เป็นของเรา เมื่อเลิกใช้บริการก็สามารถขอเงินคงเหลือคืนได้ และสามารถเรียกร้องสิทธิต่างๆ เมื่อเกิดปัญหาในการใช้งาน สำหรับวิธีการตรวจสอบว่าซิมที่ใช้อยู่ลงทะเบียนแล้วหรือยัง ทำได้โดย กด *151# และโทรออก ฟรีทุกเครือข่าย ส่วนการลงทะเบียนเพียงแค่นำบัตรประชาชน หรือพาสปอร์ต หรือบัตรรายงานต่างด้าว ตัวจริง และโทรศัพท์มือถือพร้อมซิมไปลงทะเบียนได้ที่ศูนย์บริการเครือข่ายที่ท่านใช้งานอยู่ หรือจุดที่มีสัญลักษณ์ “2 แชะ แวะลงทะเบียนซิม” ---------------------------------------------   นั่งทำงานนานระวัง “หมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อม” หนุ่ม – สาววัยทำงานที่ต้องนั่งเก้าอี้ติดหน้าจอคอมพิวเตอร์ติดต่อกันเป็นเวลานานๆ ระวังเสี่ยงเป็นโรค “หมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อม” โดยกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้ออกมาเตือนว่า การทำกิจกรรมซ้ำๆ เป็นเวลานานโดยไม่มีการเปลี่ยนอิริยาบถ รวมถึงการยกของหนัก หรือแม้แต่การสูบบุหรี่ ส่งผลทำให้เลือดไปเลี้ยงบริเวณหมอนรองกระดูกน้อยลง การเสื่อมของหมอนรองกระดูกสันหลังทำให้เกิดการทรุดตัวของโครงสร้างกระดูกสันหลัง ร่างกายจะตอบสนองโดยการสร้างกระดูกงอกหรือหินปูนขึ้นมา เพื่อต้านการทรุดตัว ซึ่งอาจทำกระดูกสันหลังไปกดทับเส้นประสาท จะทำให้เกิดอาการปวดร้าวไปตามเส้นประสาท ปวดขา ชาขา นอกจากนี้ หากกระดูกสันหลังมีการทรุดตัวมากขึ้นจะทำให้เกิดกระดูกสันหลังคดหรือเคลื่อน สำหรับแนวทางป้องกันหมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อมหรือเกิดอาการกดทับเส้นประสาท ทำได้โดยหมั่นเปลี่ยนอิริยาบถบ่อยๆ อย่านั่งอยู่กับที่นานติดต่อกันเกิน 1 ชั่วโมง โดยเฉพาะวัยทำงานที่มักนั่งทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์ตลอดเวลา ควรเปลี่ยนอิริยาบถ ด้วยการลุก ยืน เดิน มีการออกกำลังกายเพื่อเสริมสร้างกล้ามเนื้อรอบๆ หลัง และหน้าท้องให้แข็งแรงสม่ำเสมอ หลีกเลี่ยงการยกของหนัก รวมทั้งงดการสูบบุรี่ ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งทำให้กระดูกพรุน และหมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อมเร็วขึ้น ------------------------------------------------------------------     จี้ สตง. ตรวจสอบ ปตท. ให้บุคคลที่สามใช้ท่อส่งก๊าซ นางสาวรสนา โตสิตระกูล สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ด้านพลังงาน นางสาวสารี อ๋องสมหวัง ประธานกรรมาธิการปฏิรูปการคุ้มครองผู้บริโภค สภาปฏิรูปแห่งชาติ และ นางสาวบุญยืน ศิริธรรม ประธานสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค และอดีตสมาชิกวุฒิสภา เข้าพบ นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เพื่อให้ตรวจสอบ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กรณีเปิดให้ใช้หรือเชื่อมต่อระบบส่งก๊าซธรรมชาติบนบกแก่บุคคลที่สาม ในระหว่างตรวจสอบการแบ่งแยกทรัพย์สินส่วนที่ปตท.ยังคืนให้แก่รัฐไม่ครบถ้วน ถือเป็นการนำท่อส่งก๊าซธรรมชาติที่อยู่ในคำร้องไปทำสัญญากับบุคคลภายนอก ซึ่งอาจสร้างความเสียหายให้กับประเทศ เพราะอาจก่อให้เกิดภาระผูกพันแก่ท่อส่งก๊าซธรรมชาติที่เป็นสาธารณะสมบัติของแผ่นดิน ทำให้รัฐสูญเสียรายได้ หรือเสียประโยชน์ที่มีอยู่ในปัจจุบันและอาจเสียเปรียบในทางธุรกิจในอนาคตอีกหลายประการ บริษัท ปตท. ไม่ดำเนินการตามมติ ครม. วันที่ 18 ธันวาคม 2550 ในการแยกทรัพย์สินและโอนทรัพย์สินท่อก๊าซของปตท. จากปัญหาการตีมูลค่าทางบัญชี ณ วันที่ 30 กันยายน 2544 มูลค่า 46,000 ล้านบาท แต่เมื่อปตท.จ้างบริษัทเอกชนประเมินมูลค่าใหม่อีกครั้งปี 2551 จากการขยายอายุใช้งานของท่อส่งก๊าซ โดยเพิ่มอายุใช้งานขึ้นจากเดิมที่เคยประเมินไว้ที่ 25 ปีเป็น 40 ปี พบว่ามีมูลค่าท่อก๊าซสูงถึง 150,000 - 120,000 ล้านบาท นอกจากนี้ ปตท.ยังขออนุมัติขึ้นค่าผ่านท่อ ซึ่งคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) อนุมัติให้ปตท.ขึ้นได้ 2 บาทต่อหน่วย ทำให้ปตท.มีรายได้เพิ่มขึ้นทันทีปีละ 2,000 ล้านบาททุกๆ ปี ส่งผลให้ประชาชนต้องซื้อก๊าซแพงขึ้น --------------------------------------------------   ถึงเวลาควบคุมราคาค่ารักษาโรงพยาบาลเอกชน หลังจากที่เครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ นำโดย นางปรียนันท์ ล้อเสริมวัฒนา ประธานเครือข่ายฯ นำรายชื่อประชาชน 33,000 ชื่อ เข้ายื่นต่อประธานคณะกรรมาธิการปฏิรูปการคุ้มครองผู้บริโภค สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.คุ้มครองผู้บริโภค) เสนอให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการควบคุมราคาโรงพยาบาลเอกชน เพื่อให้ทำหน้าที่แก้ไขปัญหาโรงพยาบาลเอกชนคิดค่ารักษาพยาบาลสูงเกินจริง ปัญหากลไกราคายาที่ไม่มาตรฐานราคากลาง ปัญหาผู้ป่วยฉุกเฉินที่โดนเรียกเก็บค่าบริการก่อนการรักษา ทั้งนี้มีงานวิจัยที่ชี้ให้เห็นว่าราคายาและเวชภัณฑ์ตามโรงพยาบาลเอกชนสูงกว่าของโรงพยาบาลศูนย์ สังกัดสำนักปลัดกระทรวงสาธารณสุขถึง 60-400 เท่า ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จึงได้เรียกประชุมเพื่อหาทางออกในเรื่องนี้เป็นการเร่งด่วน โดยในการประชุมหารือมีหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย กรมการค้าภายใน, กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.), อย., แพทยสภา, สปสช., สภาเภสัชกรรม และสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เบื้องต้นผลจากการหารือได้ข้อสรุปแนวทางแก้ปัญหาเป็น 3 ระยะ คือ 1. ระยะสั้น ให้รพ.เอกชน แสดงอัตราค่ารักษาพยาบาล รวมถึงค่าบริการต่างๆ เช่น ค่าห้อง ค่าเครื่องมือ ค่าเตียง ฯลฯ ขึ้นเว็บไซต์ของโรงพยาบาลเอง รวมถึงส่งให้แก่ สบส. ด้วย เพื่อรวบรวมแล้วขึ้นเว็บไซต์ของ สธ. เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลประกอบการตัดสินใจเลือกรับบริการ ทั้งนี้สถานพยาบาลเอกชนที่ไม่ดำเนินการประกาศอัตราค่ารักษาพยาบาลมีโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท หากแจ้งอัตราเป็นเท็จ เช่น ระบุรายการค่าใช้จ่ายที่ผู้ป่วยไม่ได้ใช้ ถือเป็นคดีอาญา มีโทษปรับ 40,000 บาท จำคุกไม่เกิน 2 ปี 2. ระยะกลาง จะตั้งคณะกรรมการแก้ปัญหาราคา รพ.เอกชนแพง ซึ่งจะมาจากทุกภาคส่วน ยาถือเป็นสินค้าควบคุม ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 ของกระทรวงพาณิชย์ โดยจะมีการกำหนดให้ชัดเจนว่า ยาแต่ละหมวด แต่ละกลุ่ม ควรมีราคากลางเท่าไร โดยคำนวณจากต้นทุน และกำไรสูงสุดที่จะบวกเพิ่มต้องไม่เกินเท่าไร และ 3.ระยะยาว คณะกรรมการที่จะตั้งขึ้นดังกล่าวจะพิจารณาค่ารักษาพยาบาลด้านอื่นๆ เช่น ค่าหัตถการ และจะประสานความร่วมมือกับ รพ.เอกชน ในการใช้ทรัพยากรบุคคลร่วมกับ รพ.รัฐ ในการดูแลสุขภาพประชาชนอย่างเหมาะสม ทั้งนี้ ยืนยันว่ามาตรการทุกระยะจะต้องมีการหารือกับ รพ.เอกชนก่อน

อ่านเพิ่มเติม >


ฉบับที่ 170 สีใน “กะปิ”

“กะปิ” ถือเป็นอีกหนึ่งวัตถุดิบหลักในการปรุงอาหารทีแทบทุกบ้านจะต้องมีติดครัวเอาไว้ เพราะหลากหลายเมนูอาหารไทย ล้วนแล้วแต่ต้องเพิ่งพาความอร่อยจากรสชาติอันเป็นเอกลักษณ์ของกะปิ ด้วยว่าประเทศไทยเรามีพื้นที่หลายส่วนที่ติดกับทะเล เมื่อบวกเข้ากับภูมิปัญญาแบบชาวบ้านของคนรุ่นปู่รุ่นย่า ที่นำเอาสัตว์ทะเลตัวเล็กๆ อย่าง “เคย” นำมาหมักรวมเข้ากับเกลือ ตากแดดทิ้งไว้จนเนื้อเคยและเกลือทำปฏิกิริยาเข้าด้วยกัน ได้เป็นกะปิของดีของอร่อย เป็นเครื่องปรุงหลักทั้งในน้ำพริกและเครื่องแกงต่างๆ แม้ขั้นตอนการทำกะปิดูเหมือนจะไม่ซับซ้อนและใช้เพียงแสงแดดจากดวงอาทิตย์บวกกับกำลังคนคอยหมั่นพลิกเนื้อกะปิให้สัมผัสแดดโดยทั่วถึงกัน แต่ที่ผ่านมาเราก็ยังได้ยินข่าวเรื่องการปนเปื้อนของสารเคมีหรือสิ่งแปลกปลอมในกะปิที่วางขายตามท้องตลาดอยู่เสมอ โดยเฉพาะเรื่องการใส่ “สี” ซึ่งกฎหมายควบคุมชัดเจนว่า “ห้ามใส่สี” ในกะปิ ซึ่งสีสังเคราะห์ที่ใช้อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพของคนกิน ฉลาดซื้อฉบับนี้จึงของอาสาสุ่มตรวจตัวอย่างกะปิจากตลาดและซูเปอร์มาร์เก็ตในกทม. เพื่อดูว่ากะปิที่เรากินกันอยู่นั้น ปลอดภัยจากสีผสมอาหารมากน้อยแค่ไหน       **** Update (17 ธันวาคม 2558) กะปิระยอง  มีข้อชี้แจงมาด้านล่างครับ          ผลทดสอบ -พบตัวอย่างกะปิที่ใส่สีสังเคราะห์จำนวน 5 ตัวอย่าง ประกอบด้วย 1.กะปิดี ร้านเจ๊ติ่ง ตลาดสี่มุมเมือง พบสี Erythrosine E127 ปริมาณ 47.84 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม (มก./ กก.), 2.กะปิตัวอย่างจากตลาดคลองเตย พบสี Erythrosine E127 ปริมาณ 18.84 มก./ กก., 3.กะปิระยอง ตราเรือใบ จาก ท๊อปส์ ซูเปอร์มาร์เก็ต สาขาฟิวเจอร์ปาร์ค รังสิต พบสี Erythrosine E127 ปริมาณ 6.04 มก./ กก., 4.กะปิร้านน้อยกุ้งแห้ง ตลาดโชคชัย 4 พบสี Erythrosine E127 ปริมาณ 4.55 มก./ กก. และ 5.กะปิกุ้งใหญ่ชุมพร ตลาดห้วยขวาง พบสี Erythrosine E127 ปริมาณน้อยกว่า 1 มก./กก. -สี Erythrosine E127 หรือ เออร์โธรซีน เป็นสีสังเคราะห์กลุ่มสีแดง เป็นชนิดของสีที่พบในทุกตัวอย่างกะปิที่มีการพบการใส่สี -กะปิ ถือเป็นอาหารที่ห้ามมีการใส่สีทุกชนิด ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 281) พ.ศ. 2547 เรื่อง วัตถุเจือปนอาหาร ซึงกำหนดเกณฑ์ตามมาตรฐานของโคเด็กซ์ หรือมาตรฐานอาหารสากล หรือตามประกาศสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ซึ่งเคยประกาศไว้ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 66 (พ.ศ.2525) เรื่องการใช้สีผสมอาหาร -การใส่สีลงไปในกะปิก็เพื่อให้กะปิมีสีที่ดูน่ารับประทานมากยิ่งขึ้น แต่สีสังเคราะห์ที่ใส่ลงไปอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพ แม้จะมีปริมาณไม่มากแต่ก็อาจสะสมส่งผลเสียในระยะยาว ทางที่ดีควรเลือกรับประทานกะปิที่ไม่ใส่สีใดๆ จะดีที่สุด   คำแนะนำในการเลือกซื้อกะปิ -สีของกะปิต้องเป็นที่ดูเป็นธรรมชาติ เช่น สีชมพู สีแดงออกม่วง ไม่ออกคล่ำและดูสีสดเกินไป -เนื้อของกะปิต้องละเอียดเป็นเนื้อเดียวกัน มีความสม่ำเสมอ เหนียว ไม่แห้งหรือเปียกเกินไป -มีกลิ่นหอมตามธรรมชาติของกะปิ ไม่มีกลิ่นคาวปลา หรือกลิ่นฉุนคล้ายสารเคมี ไม่เหม็นอับ -รสชาติเค็มพอดี ไม่มีรสขม -ไม่มีสิ่งแปลกปลอม เช่น แป้ง กรวด ทราย ฯลฯ ไม่มีเม็ดเกลือเป็นก้อนๆ -บรรจุในภาชนะที่สะอาด แห้ง และปิดไว้สนิท   สีในกะปิ...ก่อนหน้านี้ก็เคยมีมาแล้ว เมื่อปี 2555 กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข โดยศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 1 ตรัง ได้ทำการสุ่มตรวจตัวอย่างกะปิที่ผลิตใน 6 จังหวัดภาคใต้ ได้แก่ กระบี่ ตรัง พังงา ภูเก็ต ระนอง และสตูล  จำนวน 86 ตัวอย่าง เพื่อตรวจวิเคราะห์หาการปนเปื้อนของสี ผลที่ได้พบว่า 52.3% ของตัวอย่างกะปิมีการใส่สีสังเคราะห์ โดยชนิดของสีที่พบมีดังนี้ สีโรดามีน 50%, สีซันเซ็ต เย็ลโลว์ เอ็ฟซีเอ็ฟ 9.3%,  สีเอโซรูบีน 9.3%,  และสีปองโซ 4 อาร์  1.1% นอกจากนี้ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดระนอง ก็เคยตรวจวิเคราะห์หาเชื้อจุลินทรีย์ในตัวอย่างกะปิ พบว่ามีเชื้อจุลินทรีย์สาเหตุโรคอาหารเป็นพิษหลายชนิด โดยเฉพาะกะปิที่เก็บเอาไว้นาน เพราะฉะนั้นเพื่อความปลอดภัยต่อสุขภาพ กะปิควรทำให้สุกทุกครั้งก่อนรับประทาน       ....ผู้ผลิตและจำหน่ายกะปิระยอง ตราเรือใบ ขอเรียนชี้แจงและยืนยันว่า บริษัทฯ มีกรรมวิธีการผลิตกะปิที่ได้มาตรฐาน GMP ไม่มีการใส่สีและไม่มีสารกันบูด แต่เมื่อทางฉลาดซื้อพบว่ามีการปนเปื้อนของสีในรุ่นการผลิตที่เก็บตัวอย่าง เดือนเมษายน ทางบริษัทจึงได้ทดสอบผลิตภัณฑ์ในรุ่นการผลิตอื่นๆ และปัจจุบันไม่พบว่า มีการปนเปื้อนของสีในผลิตภัณฑ์ ทั้งนี้เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค จึงเรียนมาเพื่อทราบ...ฉลาดซื้อขอขอบคุณที่บริษัทฯ ใส่ใจและเข้มงวดในเรื่องการควบคุมคุณภาพสินค้าให้มีมาตรฐาน เนื่องจากปริมาณสีที่พบในรุ่นการผลิตที่ฉลาดซื้อทดสอบมีปริมาณน้อย จึงอาจเป็นไปได้ว่า มีการปนเปื้อนมาในส่วนของวัตถุดิบ ซึ่งทางบริษัทคงได้เข้มงวดในจุดนี้มากขึ้นจึงไม่พบการปนเปื้อนของสีซ้ำ จึงขอขอบคุณมา ณ โอกาสนี้ ที่บริษัทฯ เห็นความสำคัญของงานคุ้มครองผุ้บริโภค   

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 170 เช็คเดินทางหาย แต่ผู้เสียหายมีส่วนผิดด้วย ผลจะเป็นอย่างไร

คดีนี้เป็นเรื่องผู้บริโภคซื้อเช็คเดินทางของโจทก์ 50 ฉบับ สั่งจ่ายเงินรวม 50,000 ดอลลาร์สหรัฐ จากตัวแทนของโจทก์ โดยมีเงื่อนไขว่าจำเลยต้องลงลายมือชื่อในเช็คทุกฉบับที่ช่องด้านล่างทันทีที่ได้รับเช็ค หากไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขดังกล่าวโจทก์จะไม่คืนเงินให้ ต่อมาจำเลยแจ้งโจทก์ว่าเช็คเดินทางทั้งหมดหายไปโดยจำเลยลงลายมือชื่อในเช็คทุกฉบับที่ช่องด้านล่างไว้แล้ว โจทก์คืนเงินให้แก่จำเลยไป ต่อมามีผู้นำเช็คเดินทางดังกล่าวทั้งหมดไปขึ้นเงินกับธนาคารและสถาบันการเงินหลายแห่งโดยปรากฏว่าจำเลยมิได้ลงลายมือชื่อในเช็คเดินทางดังกล่าวไว้ตามที่แจ้งความเท็จแก่โจทก์ โจทก์จึงมาฟ้องศาลให้บังคับจำเลยให้คืนเงิน 50,000 ดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นเงินไทย 1,287,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมาย และเรียกค่าเสียหายอีก 100,000 บาท ศาลฎีกาโดยคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6235/2555 ได้วินิจฉัยว่า “...การที่มีการซื้อเช็คเดินทางซึ่งต้องยอมเสียเงินซื้อในอัตราร้อยละหนึ่ง ก็เพราะมีความปลอดภัยกว่าการนำเงินสดติดตัวไป และถ้าเช็คหายไปก็สามารถแจ้งให้ธนาคารระงับการจ่ายเงินตามเช็คได้ แต่เหตุที่มีผู้นำเช็คเดินทางของโจทก์ที่จำเลยซื้อ ไปเบิกเงินต่อธนาคารตามเช็คและธนาคารตามเช็คได้จ่ายเงินไป ทั้งๆ ที่จำเลยแจ้งโจทก์แล้วว่าเช็คเดินทางหายไปและโจทก์ได้จ่ายเงินจำนวนตามเช็คคืนให้จำเลยแล้วนั้น เป็นเพราะโจทก์ไม่ได้แจ้งธนาคารตามเช็คจึงเป็นความบกพร่องของโจทก์นั่นเอง  ส่วนเงื่อนไขการซื้อเช็คเดินทางที่กำหนดให้ผู้ซื้อเช็คลงลายมือชื่อผู้ถือที่ข้างล่างด้านซ้ายของเช็คแต่ละฉบับทันทีที่ได้รับเช็คนั้น เป็นเพียงเงื่อนไขที่จะทำให้ผู้ที่ได้รับเช็คดังกล่าวโดยไม่ชอบไม่สามารถเบิกเงินไปได้โดยง่าย เพราะจะมีการตรวจสอบเปรียบเทียบลายมือชื่อด้วย ดังนั้น แม้จำเลยจะไม่ได้ลงลายมือชื่อตามเงื่อนไขดังกล่าว โจทก์ก็ไม่อาจยกเป็นเหตุมาปฏิเสธไม่จ่ายเงินคืนจำเลยตามเงื่อนไขการซื้อเช็คไม่ได้ อย่างไรก็ตามการที่จำเลยไม่ได้ลงรายมือชื่อผู้ถือที่ข้างล่างด้านซ้าย แต่กลับแจ้งโจทก์ว่าลงลายมือชื่อแล้วย่อมเป็นเหตุให้โจทก์คาดว่าจะไม่มีใครนำเช็คดังกล่าวไปเบิกเงิน จึงไม่ได้แจ้งธนาคารให้ระงับการจ่ายเงินตามเช็ค และจำเลยทิ้งเช็คไว้ในกระเป๋าใส่กล้องถ่ายรูปซึ่งวางไว้ในรถเข็นกระเป๋าเดินทางหน้าห้องน้ำที่สนามบินสุวรรณภูมิโดยไม่นำติดตัวไปด้วยจึงทำให้หายไปถือได้ว่าจำเลยมิได้ระมัดระวังมิให้เช็คสูญหายหรือถูกลักขโมยเช่นเดียวกับที่จักต้องกระทำต่อเงินสดของตน ตามเงื่อนไขการซื้อในกรณีขอคืนเงิน จำเลยจึงมีส่วนก่อให้เกิดความเสียหาย จึงต้องร่วมรับผิดในความเสียหายด้วย โดยเห็นสมควรให้ร่วมรับผิดกึ่งหนึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 442  ประกอบมาตรา 223” คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินให้โจทก์ 947,000 บาท  พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ โจทก์ไม่ได้อุทธรณ์แสดงว่าพอใจในความเสียหายดังกล่าว จำเลยจึงต้องใช้เงินให้แก่โจทก์ครึ่งหนึ่งของค่าเสียหายดังกล่าวคิดเป็นเงิน 473,500 บาท พิพากษากลับว่า ให้จำเลยชำระเงิน 473,500 บาทพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (วันที่ 23 มิถุนายน 2540)เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 170 เกือบหยุดหายใจเพราะใบสั่งยาของแพทย์

เมื่อป่วยสิ่งที่คิดเป็นอันดับแรกคือไปหาหมอ  เพื่อให้หมอรักษาอาการป่วยให้ดีขึ้น  เช่นเดียวกับน้าสมัย(นามสมมุติ) อายุ 79 ปี ที่ป่วยหลายโรค ทั้งโรคหัวใจ  เบาหวาน  ความดัน  เรียกได้ว่าโรคมาเป็น ชุดๆ ตามอายุที่สูงขึ้น    น้าสมัยไปหาหมอ หมอก็เขียนใบสั่งยาให้ไปรับยาที่ห้องยา  โดยน้าสมัย ไม่รู้เลยว่าหมอสั่งยาอะไรมาให้กิน   เมื่อได้ยามาก็กินตามคำแนะนำของหมอทุกประการ   แม้มีอาการเหนื่อยง่ายมากขึ้น ก็ไม่ได้สงสัยอะไร  คิดว่าเป็นไปตามวัย  จนกระทั่งหมอโรคหัวใจนัดไปพบอีกครั้งที่โรงพยาบาล  จึงได้ทราบว่าหัวใจเต้นอ่อนมาก เพียง 20-30  ครั้งต่อนาที   หมอสั่งให้นอนโรงพยาบาลทันที  พร้อมบอกว่า เป็นภาวะอันตรายมาก  คนไข้พร้อมจะสิ้นลมได้ทุกเวลา โดยเฉพาะเวลานอนหลับลูกๆ ของน้าสมัย ทุกข์ใจกันมาก ต้องลางานมาดูแลพ่อ ต้องผลัดกันเฝ้าตลอดเวลา เพราะกลัวว่าพ่อจะนอนแล้วไม่ตื่น     แต่ไม่มีใครรู้ว่าสาเหตุที่ทำให้หัวใจเต้นอ่อนมากอะไร   จนกระทั่งหมอโรคหัวใจเรียกลูกๆ ของน้าสมัยเข้าไปพูดคุย  พร้อมแจ้งว่าที่หัวใจเต้นอ่อนสาเหตุเพราะ  ยารักษาความดันที่หมอสั่งให้กิน  ไปกดให้หัวใจเต้นช้าลง  บวกกับน้าสมัยอายุมาก ทำให้อาการเป็นมากขึ้น  หมอจะสั่งยาตัวใหม่ให้นะ เมื่อเปลี่ยนยาอาการของน้าสมัยดีขึ้นทันตาเห็น  สรุปว่าที่น้าสมัยเกือบตายเพราะยาที่หมอสั่งให้กินนั่นเอง สิ่งที่สงสัยคือ  คนไข้อายุเกือบ 80 ปี หมอจะสั่งยาให้ทำไมไม่ระมัดระวังมากกว่านี้   การสั่งยาผิดหรือยาแรงเกินไป  จากหมอที่รักษาก็อาจกลายเป็นฆาตกรได้ง่ายๆ เช่นกัน   เคสนี้ใช้สิทธิราชการ (ซึ่งมักได้ยามากกว่าสิทธิอื่นๆ) การจะเรียกร้องความเสียหายทำได้ทางเดียวคือ”ต้องฟ้อง”(ไม่เหมือนสิทธิในระบบหลักประกันที่มีกองทุนชดเชยความเสียหายที่เกิดจากการรักษาพยาบาล) ซึ่งส่วนใหญ่ก็ปล่อยเลยตามเลยไม่เรียกร้องอะไร   ที่เขียนเรื่องนี้เพราะต้องการให้ผู้บริโภคพึงระมัดระวัง  และสอบถามหมอมากขึ้น ”ก่อนรับยาต้องกล้าถาม” เพราะเมื่อเกิดอันตรายถึงชีวิต ก็ไม่อาจเยียวยาได้   ดังนั้นเพื่อความปลอดภัยขอตัวท่านและคนใกล้ตัว โปรดระวังว่า  “ยา” มีคุณอนันต์ก็มีโทษมหันต์ เช่นกัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 170 อันตรายจากการปรับปรุงพื้นที่ในห้างสรรพสินค้า

ห้างสรรพสินค้า แทบจะเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตปัจจุบัน ซึ่งก็มีเรื่องให้ต้องระวังมาก นอกจากจะระวังการซื้อสินค้าแล้ว การใช้บริการอุปกรณ์ต่างๆ เช่น ลิฟต์  บันไดเลื่อน หรือแม้แต่ทางเดินปกติ ก็อาจเกิดอันตรายได้ เพราะห้างสรรพสินค้า เมื่อมีการจัดแสดงหรือจัดงานต่างๆ  เพื่อดึงดูดลูกค้า อาจต้องมีการปรับปรุงพื้นที่ให้บริการ ซึ่งทำให้แม้จะเดินในเส้นทางที่ใช้ตามปกติ ก็ยังอาจเกิดอันตรายและบาดเจ็บได้อย่างคาดไม่ถึงคุณดวงพรและครอบครัว ได้ไปใช้บริการที่ห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งในเขตบางแค  ปรากฏว่าระหว่างที่เดินหาร้านเพื่อรับประทานอาหาร คุณดวงพรพลาดเดินไปสะดุดกับรางรถทามิย่า ที่ห้างสรรพสินค้าได้ให้ร้านค้าเช่าพื้นที่เข้ามาจัดทำเป็นสนามแข่งรถทามิย่า โดยที่ห้างสรรพสินค้าเองไม่ได้กั้นเขต หรือปิดป้ายประกาศเตือนไว้แต่อย่างใด เป็นเหตุให้คุณดวงพร ซึ่งมีอายุมากแล้วและสายตาไม่ดี พลาดไปเดินสะดุดกับรางรถทามิย่านี้เข้า ในขณะที่กำลังมองหาสามี ซึ่งเดินตามมาทีหลังเพราะไปหาที่จอดรถอยู่ การสะดุดล้มครั้งนี้ เป็นเหตุให้กระดูกแขนร้าว 1 ข้าง  หัก 1 ข้าง  ขนาดต้องผ่าตัดใส่โลหะด้ามกระดูก และมีรอยแผลบวมช้ำที่เบ้าตาขวา หลังจากไปรับการรักษาพยาบาลแล้ว คุณดวงพรจึงมาทราบภายหลังว่า ทางห้างฯ จึงค่อยมีการจัดหาที่กั้น มากันพื้นที่ในบริเวณที่จัดวางรางรถทามิย่า แนวทางแก้ไข คุณดวงพรได้มาคุยกับทีมศูนย์พิทักษ์สิทธิ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เพื่อขอคำปรึกษา โดยก่อนหน้านั้น ทางคุณดวงพร ได้มีเจรจาไกล่เกลี่ยกับทางห้างฯ แล้ว แต่ก็ได้รับการปฏิเสธว่า ไม่ได้เป็นความผิดของห้างฯ โดยบ่ายเบี่ยงว่า คุณดวงพรตั้งใจเดินข้ามเข้าไปเอง แล้วสะดุดรางล้มเอง ซึ่งกล้องวงจรปิดไม่สามารถจับภาพเอาไว้ได้ แต่ห้างฯ จะให้ความช่วยเหลือเป็นจำนวนเงิน 20,000 บาท ขณะที่คุณดวงพรต้องเสียค่ารักษาพยาบาลไปแล้วถึง  169,792 บาท และหลังออกจากโรงพยาบาลก็ยังต้องมีการรักษาตัวอย่างต่อเนื่องด้วย ทางคุณดวงพรต้องการให้ห้างฯ และผู้ประกอบการที่ดูแลพื้นที่การจัดวางรางรถทามิย่า ช่วยเรื่องค่ารักษาพยาบาล เป็นจำนวน 100,000 บาท และได้ยื่นข้อเสนอนี้เมื่อมีการเจรจาไกล่เกลี่ยร่วมกันที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิ แต่ทางห้างฯ ยังคงยืนกราน ไม่ยินยอมช่วยเหลือในเงินจำนวนดังกล่าวเช่นเดิม  เมื่อทางห้างฯ ไม่ยินดีช่วยเหลือตามข้อเสนอ จึงอยู่ในระหว่างการพิจารณาว่า อาจต้องฟ้องร้องดำเนินคดีกันต่อไป เหตุเกิดในห้างสรรพสินค้าคราวนี้ อาจเทียบเคียงได้กับกรณีที่ผู้ร้องทุกข์รายหนึ่ง ซึ่งเดินตกร่องน้ำที่ไม่มีฝาปิดบริเวณห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่ง จนได้รับบาดเจ็บกระดูกข้อเท้าขวาหลุดและแตก เสียค่ารักษาและค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องไปหลายบาท แต่ห้างฯ ปฏิเสธความรับผิดชอบเช่นเดียวกัน สุดท้ายจึงจบลงที่การฟ้องร้องเป็นคดีผู้บริโภคในครั้งนั้นศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ห้างสรรพสินค้าซึ่งเป็นเจ้าของสถานที่ เป็นผู้ทำรางระบายน้ำรูปตัววีและเกาะกลางถนนเอง ควรจะทราบถึงความเป็นไปได้ในการที่จะเกิดอุบัติเหตุขึ้นแก่ผู้ที่เข้าไปใช้บริการห้างสรรพสินค้าในการเดินผ่านบริเวณที่เกิดเหตุ ห้างฯ ควรดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อป้องกันหรือบรรเทาอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นจากการเดินผ่านบริเวณที่เกิดเหตุ เช่น การติดไฟส่องสว่าง การติดป้ายเตือนให้ระมัดระวังในการเดินในพื้นต่างระดับที่ติดต่อกับรางระบายน้ำรูปตัววีที่ห้างฯ ทำขึ้น แต่ห้างฯ กลับไม่ได้กระทำการดังกล่าว เพิกเฉย ละเลยในการป้องกันหรือบรรเทาอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้น การกระทำของห้างฯ จึงเป็นการกระทำโดยประมาท และละเมิดต่อโจทก์ ที่เดินผ่านบริเวณที่เกิดเหตุแล้วประสบอุบัติเหตุลื่นล้มจนได้รับบาดเจ็บ โจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากห้างฯ ได้ และศาลพิพากษาให้ห้างฯ จ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลตามที่โจทก์ร้องขอ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 170 นับถอยหลัง 180 วัน พรบ.ทวงหนี้

จากปัญหาการร้องเรียนพฤติกรรมของเจ้าหนี้และคนที่ติดตามหนี้มีมากมาย  เช่น การข่มขู่  การประจาน  ทวงหนี้ไม่เป็นเวลา  ทวงหนี้กับญาติพี่น้อง  ฯลฯ  สร้างแรงกดดันให้ลูกหนี้  ทั้งหน่วยงานกำกับดูแล ก็ยังไม่สามารถควบคุมพฤติกรรมการติดตามทวงถามหนี้ ได้    หลังจาก  คสช.ได้หยิบร่าง พ.ร.บ. ทวงถามหนี้ พ.ศ. ..   มาปัดฝุ่นใหม่  ส่งให้สภานิติบัญญัติไปแก้ไขร่างให้ครอบคลุมทั้งหนี้ในระบบและนอกระบบเมื่อเดือนสิงหาคม 57     หลังจากที่รอคอยกันมาหลายปี   คงต้องนับถอยหลังจากวันที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2558   ไปอีก 180  วัน“พระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ พ.ศ. 2558” จะมีผลบังคับใช้ควบคุมพฤติกรรมของเจ้าหนี้และคนติดตามทวงหนี้ ลูกหนี้ที่รอคอยกฎหมายฉบับนี้คงได้เฮ กันอย่างถ้วนหน้า  ที่จะเห็นคนติดตามทวงหนี้มีมารยาทดีขึ้น  วันนี้ พ.ร.บ.ฉบับนี้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว  เนื้อหาเป็นอย่างไร คงต้องมาดูกัน ว่าฝันของลูกหนีจะเป็นจริงหรือไม่เนื้อหาสาระสำคัญ ของ พ.ร.บ. ทวงถามหนี้  พ.ศ. 25581. ขอบเขตการใช้บังคับเจ้าหนี้ซึ่งเป็นผู้ให้สินเชื่อ ทั้งนี้ ไม่ว่าหนี้ดังกล่าวจะชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ก็ตาม และให้รวมถึง ผู้รับมอบอำนาจจากเจ้าหนี้ดังกล่าว ผู้รับมอบอำนาจช่วงในการทวงถามหนี้ ผู้ประกอบธุรกิจทวงถามหนี้ และ ผู้รับมอบอำนาจจากผู้ให้สินเชื่อในการทวงหนี้2. กำหนดให้มีการจดทะเบียนของผู้ประกอบธุรกิจทวงถามหนี้ผู้ประกอบธุรกิจทวงถามหนี้ต้องจดทะเบียนตามกฎหมาย  หากเป็นทนายความให้ดำเนินการจดทะเบียนได้ที่สภาทนายความ 3. การติดตามทวงถามหนี้ ห้ามผู้ทวงถามหนี้ติดต่อกับบุคคลอื่นซึ่งมิใช่ลูกหนี้เพื่อการทวงถามหนี้เว้นแต่บุคคลซึ่งลูกหนี้ได้ระบุไว้ การติดต่อกับบุคคลอื่น ให้กระทำได้เพื่อสอบถามหรือยืนยันข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่ติดต่อลูกหนี้หรือบุคคลซึ่งลูกหนี้ได้ระบุไว้เพื่อการทวงถามหนี้เท่านั้น โดยผู้ทวงถามหนี้ต้องปฏิบัติดังต่อไปนี้(1) แจ้งให้ทราบชื่อตัว ชื่อสกุล และแสดงเจตนาว่าต้องการสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่ติดต่อลูกหนี้หรือบุคคลซึ่งลูกหนี้ได้ระบุไว้เพื่อการทวงถามหนี้(2) ห้ามแจ้งถึงความเป็นหนี้ของลูกหนี้ เว้นแต่ในกรณีที่บุคคลอื่นนั้นเป็นสามี ภริยา บุพการี หรือผู้สืบสันดานของลูกหนี้ และบุคคลอื่นดังกล่าวได้สอบถามผู้ทวงถามหนี้ถึงสาเหตุของการติดต่อ ให้ผู้ทวงถามหนี้ชี้แจงข้อมูลเกี่ยวกับหนี้ได้เท่าที่จำเป็นและตามความเหมาะสม(3) ห้ามใช้ข้อความ เครื่องหมาย สัญลักษณ์ หรือชื่อทางธุรกิจของผู้ทวงถามหนี้บนซองจดหมาย ในหนังสือ หรือในสื่ออื่นใดที่ใช้ในการติดต่อสอบถาม ซึ่งทำให้เข้าใจได้ว่าเป็นการติดต่อเพื่อทวงถามหนี้ของลูกหนี้(4) ห้ามติดต่อหรือแสดงตนที่ทำให้เข้าใจผิดเพื่อให้ได้ข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่ติดต่อลูกหนี้ หรือบุคคลซึ่งลูกหนี้ได้ระบุไว้เพื่อการทวงถามหนี้ การทวงถามหนี้ ให้ผู้ทวงถามหนี้ปฏิบัติดังต่อไปนี้(1) สถานที่ติดต่อ ในกรณีที่ติดต่อโดยบุคคลหรือทางไปรษณีย์ ให้ติดต่อตามสถานที่ที่ลูกหนี้หรือบุคคลซึ่งลูกหนี้ได้ระบุไว้เพื่อการทวงถามหนี้ได้แจ้งให้เป็นสถานที่ติดต่อ ในกรณีที่บุคคลดังกล่าวไม่ได้แจ้งไว้ล่วงหน้าหรือสถานที่ที่ได้แจ้งไว้ไม่สามารถติดต่อได้ โดยผู้ทวงถามหนี้ได้พยายามติดต่อตามสมควรแล้ว ให้ติดต่อตามภูมิลำเนา ถิ่นที่อยู่ หรือสถานที่ทำงานของบุคคลดังกล่าว หรือสถานที่อื่นตามที่คณะกรรมการประกาศกำหนด(2) เวลาในการติดต่อ การติดต่อโดยบุคคล โทรศัพท์ สื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือสื่อเทคโนโลยีสารสนเทศ ประเภทอื่น ในวันจันทร์ถึงวันศุกร์ ให้ติดต่อได้ตั้งแต่เวลา 08.00 นาฬิกา ถึงเวลา 20.00 นาฬิกาและในวันหยุดราชการ เวลา 08.00 นาฬิกา ถึงเวลา 18.00 นาฬิกา หากไม่สามารถติดต่อตามเวลาดังกล่าวได้หรือช่วงเวลาดังกล่าวไม่เหมาะสม ให้ติดต่อได้ในช่วงเวลาอื่นตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่คณะกรรมการประกาศกำหนด(3) จำนวนครั้งที่ติดต่อ ในช่วงเวลาตาม (2) ให้ติดต่อตามจำนวนครั้งที่เหมาะสมและคณะกรรมการอาจประกาศกำหนดจำนวนครั้งด้วยก็ได้(4) ในกรณีที่เป็นผู้รับมอบอำนาจจากเจ้าหนี้ ผู้รับมอบอำนาจช่วงในการทวงถามหนี้ผู้ประกอบธุรกิจทวงถามหนี้ หรือผู้รับมอบอำนาจจากผู้ประกอบธุรกิจทวงถามหนี้ ให้ผู้ทวงถามหนี้แจ้งให้ทราบถึงชื่อตัวและชื่อสกุล หรือชื่อหน่วยงานของตนและของเจ้าหนี้ และจำนวนหนี้ และถ้าผู้รับมอบอำนาจดังกล่าวทวงถามหนี้ต่อหน้า ให้แสดงหลักฐานการมอบอำนาจให้ทวงถามหนี้ด้วย ในกรณีที่ผู้ทวงถามหนี้ขอรับชำระหนี้ ผู้ทวงถามหนี้ต้องแสดงหลักฐาน การรับมอบอำนาจให้รับชำระหนี้จากเจ้าหนี้ต่อลูกหนี้หรือบุคคลซึ่งลูกหนี้ได้ระบุไว้เพื่อการทวงถามหนี้ด้วยและเมื่อลูกหนี้ได้ชำระหนี้แก่ผู้ทวงถามหนี้แล้ว ให้ผู้ทวงถามหนี้ออกหลักฐานการชำระหนี้แก่ลูกหนี้ด้วยหากลูกหนี้ได้ชำระหนี้แก่ผู้ทวงถามหนี้โดยสุจริต ให้ถือว่าเป็นการชำระหนี้แก่เจ้าหนี้โดยชอบ ทั้งนี้ ไม่ว่าผู้ทวงถามหนี้จะได้รับมอบอำนาจให้รับชำระหนี้จากเจ้าหนี้หรือไม่ก็ตาม ห้ามผู้ทวงถามหนี้กระทำการทวงถามหนี้ในลักษณะดังต่อไปนี้(1) การข่มขู่ การใช้ความรุนแรง หรือการกระทำอื่นใดที่ทำให้เกิดความเสียหายแก่ร่างกาย ชื่อเสียง หรือทรัพย์สินของลูกหนี้หรือผู้อื่น(2) การใช้วาจาหรือภาษาที่เป็นการดูหมิ่นลูกหนี้หรือผู้อื่น(3) การแจ้งหรือเปิดเผยเกี่ยวกับความเป็นหนี้ของลูกหนี้ให้แก่ผู้อื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับการทวงถามหนี้ เว้นแต่เป็นกรณีตามมาตรา 8 วรรคสอง (2)(4) การติดต่อลูกหนี้โดยไปรษณียบัตร เอกสารเปิดผนึก โทรสาร หรือสิ่งอื่นใด ที่สื่อให้ทราบว่าเป็นการทวงถามหนี้อย่างชัดเจน เว้นแต่กรณีการบอกกล่าวบังคับจำนองด้วยวิธีการประกาศหนังสือพิมพ์ ซึ่งเจ้าหนี้ไม่สามารถติดต่อลูกหนี้โดยวิธีการอื่น หรือกรณีอื่นใดตามที่คณะกรรมการประกาศกำหนด(5) การใช้ข้อความ เครื่องหมาย สัญลักษณ์ หรือชื่อทางธุรกิจของผู้ทวงถามหนี้บนซองจดหมายในการติดต่อลูกหนี้ที่ทำให้เข้าใจได้ว่าเป็นการติดต่อเพื่อการทวงถามหนี้ เว้นแต่ชื่อทางธุรกิจของผู้ทวงถามหนี้ไม่ได้สื่อให้ทราบได้ว่าเป็นผู้ประกอบธุรกิจทวงถามหนี้(6) การทวงถามหนี้ที่ไม่เหมาะสมในลักษณะอื่นตามที่คณะกรรมการประกาศกำหนดความใน (5) มิให้นำมาใช้บังคับกับการทวงถามหนี้เป็นหนังสือเพื่อจะใช้สิทธิฟ้องคดีต่อศาล ห้ามผู้ทวงถามหนี้กระทำการทวงถามหนี้ในลักษณะที่เป็นเท็จ หรือทำให้เกิดความเข้าใจผิดดังต่อไปนี้(1) การแสดงหรือการใช้ข้อความ เครื่องหมาย สัญลักษณ์ หรือเครื่องแบบที่ทำให้เข้าใจว่าเป็นการกระทำของศาล เจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือหน่วยงานของรัฐ(2) การแสดงหรือมีข้อความที่ทำให้เชื่อว่าการทวงถามหนี้เป็นการกระทำโดยทนายความสำนักงานทนายความ หรือสำนักงานกฎหมาย(3) การแสดงหรือมีข้อความที่ทำให้เชื่อว่าจะถูกดำเนินคดี หรือจะถูกยึดหรืออายัดทรัพย์หรือเงินเดือน(4) การติดต่อหรือการแสดงตนให้เชื่อว่าผู้ทวงถามหนี้ดำเนินการให้แก่บริษัทข้อมูลเครดิตหรือรับจ้างบริษัทข้อมูลเครดิตมาตรา 13 ห้ามผู้ทวงถามหนี้กระทำการทวงถามหนี้ในลักษณะที่ไม่เป็นธรรมดังต่อไปนี้(1) การเรียกเก็บค่าธรรมเนียมหรือค่าใช้จ่ายใด ๆ เกินกว่าอัตราที่คณะกรรมการประกาศกำหนด(2) การเสนอหรือจูงใจให้ลูกหนี้ออกเช็คทั้งที่รู้อยู่ว่าลูกหนี้อยู่ในฐานะที่ไม่สามารถชำระหนี้ได้ ห้ามเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการดังต่อไปนี้(1) ประกอบธุรกิจทวงถามหนี้(2) ทวงถามหนี้หรือสนับสนุนการทวงถามหนี้ซึ่งมิใช่ของตน เว้นแต่ในกรณีที่เป็นหนี้ของสามี ภริยา บุพการี หรือผู้สืบสันดานของตน หรือในกรณีที่เจ้าหน้าที่ของรัฐนั้นมีอำนาจกระทำได้ตามกฎหมาย 4. การกำกับดูแลและตรวจสอบ คณะกรรมการคณะหนึ่งเรียกว่า “คณะกรรมการกำกับการทวงถามหนี้” ประกอบด้วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเป็นประธานกรรมการปลัดกระทรวงการคลังเป็นรองประธานกรรมการคนที่สองปลัดกระทรวงกลาโหม ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ปลัดกระทรวงยุติธรรม ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยนายกสภาทนายความ เป็นกรรมการโดยตำแหน่ง และผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยแต่งตั้งจำนวนไม่เกินห้าคนเป็นกรรมการ ให้อธิบดีกรมการปกครองเป็นกรรมการและเลขานุการ และให้คณะกรรมการแต่งตั้งข้าราชการของกรมการปกครองสองคนเป็นผู้ช่วยเลขานุการกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยแต่งตั้งตามวรรคหนึ่งต้องมีความรูความเชี่ยวชาญ หรือประสบการณ์ในด้านการเงินการธนาคาร ด้านกฎหมายหรือด้านการคุ้มครองผู้บริโภค อย่างน้อยด้านละหนึ่งคน ทั้งนี้ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการคุ้มครองผู้บริโภคนั้น ให้แต่งตั้งจากผู้แทนองค์กรพัฒนาภาคเอกชนในด้านการคุ้มครองผู้บริโภค โดยมีวาระอยู่ในตำแหน่งคราวละสามปีและอาจได้รับแต่งตั้งใหม่อีกได้ แต่ห้ามอยู่ในตำแหน่งติดต่อกันเกินสองวาระ คณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่ (1) ออกประกาศหรือคำสั่งเพื่อปฏิบัติการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้ (2) ออกข้อบังคับกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการพิจารณาวินิจฉัยเรื่องร้องเรียนของคณะกรรมการตามมาตรา 27 และกำกับดูแลการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการดังกล่าว (3) พิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์คำสั่งให้ชำระค่าปรับทางปกครองและคำสั่งเพิกถอนการจดทะเบียนการประกอบธุรกิจทวงถามหนี้ตามมาตรา 38 (4) กำหนดหลักเกณฑ์การเปรียบเทียบและระยะเวลาการชำระค่าปรับตามคำเปรียบเทียบ (5) เสนอแนะหรือให้คำแนะนำแก่รัฐมนตรีในการปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้ (6) เสนอแนะคณะรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีเกี่ยวกับมาตรการในการคุ้มครองหรือช่วยเหลือลูกหนี้ในด้านอื่น (7) ปฏิบัติการอื่นใดตามที่มีกฎหมายกำหนดหรือตามที่รัฐมนตรีมอบหมาย ให้มีคณะกรรมการกำกับการทวงถามหนี้ประจำจังหวัดประกอบด้วยผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานกรรมการ มีอำนาจหน้าที่ภายในเขตพื้นที่ที่รับผิดชอบดังต่อไปนี้ (1) พิจารณาวินิจฉัยเรื่องร้องเรียนตามพระราชบัญญัตินี้ (2) สั่งเพิกถอนการจดทะเบียนของผู้ประกอบธุรกิจทวงถามหนี้ (3) แต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาหรือปฏิบัติการอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่คณะกรรมการ (4) รายงานการปฏิบัติหน้าที่ รวมทั้งปัญหา อุปสรรค และข้อเสนอแนะต่อคณะกรรมการทุกสามเดือน (5) ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่คณะกรรมการมอบหมาย ในการรับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการทวงถามหนี้ให้ที่ว่าการอำเภอและสถานีตำรวจ ให้ที่ทำการปกครองจังหวัดและกองบัญชาการตำรวจนครบาลมีอำนาจในเขตพื้นที่รับผิดชอบดังต่อไปนี้ (1) เป็นสำนักงานทะเบียนรับจดทะเบียนการประกอบธุรกิจทวงถามหนี้ (2) รับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการทวงถามหนี้เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการกำกับการทวงถามหนี้ประจำจังหวัดหรือคณะกรรมการกำกับการทวงถามหนี้ประจำกรุงเทพมหานครแล้วแต่กรณี (3) ติดตามสอดส่องพฤติการณ์ของผู้ทวงถามหนี้หรือกำกับดูแลการปฏิบัติของผู้ประกอบธุรกิจทวงถามหนี้ (4) ประสานกับหน่วยงานของรัฐซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในการกำกับดูแลหรือตรวจสอบผู้ทวงถามหนี้หรือบุคคลอื่นใดที่เกี่ยวข้องกับการทวงถามหนี้ (5) รณรงค์ ประชาสัมพันธ์ และอบรมวิธีการทวงถามหนี้ที่ถูกต้องและเหมาะสม (6) ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่คณะกรรมการ และคณะกรรมการกำกับการทวงถามหนี้ประจำจังหวัดหรือคณะกรรมการกำกับการทวงถามหนี้ประจำกรุงเทพมหานครแล้วแต่กรณี มอบหมาย   5. บทกำหนดโทษ 5.1 โทษทางปกครอง คณะกรรมการกำกับการทวงถามหนี้ประจำจังหวัดมีอำนาจสั่งให้ระงับการกระทำที่ฝ่าฝืนหรือปฏิบัติให้ถูกต้องหรือเหมาะสมภายในระยะเวลาที่กำหนดหากผู้ทวงถามหนี้ไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง คณะกรรมการฯมีคำสั่งลงโทษปรับทางปกครองไม่เกินหนึ่งแสนบาท   5.2 โทษอาญา บุคคลใดใช้วาจาดูหมิ่น  เปิดเผยหนี้  ติดต่อกับลูกหนี้ด้วยจดหมายเปิดผนึก ไปรษณียบัตร โทรสาร หรือใช้สัญลักษณ์หรือชื่อทางธุรกิจบนซองจดหมาย  ที่สื่อให้ทราบว่าเป็นการทวงถามหนี้อย่างชัดเจน    ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ การแสดงหรือมีข้อความที่ทำให้เชื่อว่าการทวงถามหนี้เป็นการกระทำโดยทนายความ สำนักงานทนายความ หรือสำนักงานกฎหมายหรือมีข้อความที่ทำให้เชื่อว่าจะถูกดำเนินคดี หรือจะถูกยึดหรืออายัดทรัพย์หรือเงินเดือน  หรือการแสดงตนให้เชื่อว่าผู้ทวงถามหนี้ดำเนินการให้แก่บริษัทข้อมูลเครดิต หรือรับจ้างบริษัทข้อมูลเครดิต  ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปีหรือปรับไม่เกินสามแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ บุคคลใดทำการข่มขู่ การใช้ความรุนแรง หรือการกระทำอื่นใดที่ทำให้เกิดความเสียหาย แก่ร่างกาย ชื่อเสียง หรือทรัพย์สินของลูกหนี้หรือผู้อื่น  หรือ การแสดงหรือการใช้ข้อความ เครื่องหมาย สัญลักษณ์ หรือเครื่องแบบที่ทำให้เข้าใจว่าเป็นการกระทำของศาล เจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือหน่วยงานของรัฐต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินห้าแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เจ้าหน้าที่ของรัฐประกอบธุรกิจทวงถามหนี้   ทวงถามหนี้หรือสนับสนุนการทวงถามหนี้ซึ่งมิใช่ของตน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปีหรือปรับไม่เกินห้าแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ บุคคลใดไม่ปฏิบัติตามคำสั่งคณะกรรมการ  มาให้ข้อเท็จจริง หรือส่งเอกสารหรือหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับ การทวงถามหนี้มาเพื่อประกอบการพิจารณา  หรือมาให้ถ้อยคำ   แสดงข้อมูลหรือส่งสมุดบัญชี  เอกสาร ดวงตราหรือสิ่งอื่นอันเกี่ยวกับกิจการ สินทรัพย์ และหนี้สินของผู้ทวงถามหนี้     ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามเดือน หรือปรับไม่เกินสามหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ ในกรณีที่ผู้กระทำความผิดซึ่งต้องรับโทษอาญาตามพระราชบัญญัตินี้เป็นนิติบุคคล ถ้าการกระทำความผิดของนิติบุคคลนั้นเกิดจากการสั่งการหรือไม่สั่งการ หรือการกระทำการหรือไม่กระทำการอันเป็นหน้าที่ที่ต้องกระทำของกรรมการ ผู้จัดการ หรือผู้มีอำนาจในการจัดการแทนนิติบุคคลนั้น บุคคลดังกล่าวต้องรับโทษตามที่บัญญัติไว้สำหรับความผิดนั้น ๆ ด้วย เมื่อคณะกรรมการเปรียบเทียบได้ทำการเปรียบเทียบกรณีใด และผู้ต้องหาได้ชำระค่าปรับตามคำเปรียบเทียบภายในระยะเวลาที่คณะกรรมการกำหนดแล้ว ให้ถือว่าคดีนั้นเป็นอันเลิกกัน  กฎหมายฉบับนี้ออกมามีเจตนาเพื่อควบคุมพฤติกรรม  ของผู้ทวงถามหนี้ เท่านั้น     มิได้ครอบคลุมเรื่องการชำระหนี้    ดังนั้นเมื่อลูกหนี้ไปกู้ยืมเงิน  ต้องมีหน้าที่ชำระหนี้ตามปกติ  หากลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้     เจ้าหนี้มิสิทธิที่จะดำเนินการฟ้องร้อง เรียกหนี้สินคืนได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 170 บ้านศิลาแดง : การกลับมาแก้แค้นอีกครั้งของ “แรงเงา”

เมื่อราวสองปีก่อน สังคมไทยได้เกิดปรากฏการณ์ “วันแรงเงาแห่งชาติ” ที่ละครโทรทัศน์เรื่อง “แรงเงา” ได้ออกอากาศ และกระชากเรตติ้งจนทำให้สรรพชีวิตหยุดการเคลื่อนไหวชั่วคราว เพียงเพื่อรอรับชมละครเรื่องดังกล่าวที่หน้าจอโทรทัศน์ ในครั้งนั้น เรื่องราวได้ผูกให้ “มุตตา” หญิงสาวโลกสวยแต่ถูกผู้ชายอย่าง “ผอ.เจนภพ” หลอกให้รักและหลง จนในที่สุดเธอก็ได้กระทำอัตวินิบาตกรรม เพราะไม่อาจทนอยู่ในสภาพภรรยาน้อยที่ถูกคุกคามจากภรรยาหลวงอย่าง “นพนภา” ได้อีกต่อไป และนั่นก็เป็นที่มาของการแก้แค้นของ “มุนินทร์” พี่สาวฝาแฝดที่ปลอมตัวมาเป็นน้องสาวเพื่อทำลายครอบครัวของ ผอ.เจนภพ และนพนภาเป็นการเอาคืน และเป็นจุดกำเนิดของตำนานฉาก “ตบน้อยหน้ากระทรวง ตบหลวงหน้ากอง” อันเลื่องชื่อ สองไปผ่านไป (ไวเหมือนโกหกจริงๆ) ปรากฏการณ์แบบแฝดพี่แฝดน้องสลับตัวเพื่อแก้แค้นในลักษณาการเช่นนี้ ก็ได้หวนวนกลับมาซ้ำรอยอีกคำรบหนึ่งในละครเรื่อง “บ้านศิลาแดง” เรื่องราวเปิดฉากขึ้นมาที่คฤหาสน์บ้านศิลาแดง เมื่อ “พรเพ็ญ” ลูกสาวของ “เอกรินทร์” ซึ่งนอนป่วยเป็นอัมพาตอยู่บนเตียง ได้ถูกกลั่นแกล้งจากแม่เลี้ยงใจร้ายอย่าง “สโรชา” ร่วมกับ “ณัฐพงศ์” และ “อาภาพร” พี่น้องลูกติดและเป็น “ลูกไม้หล่นใต้ต้น” ของสโรชานั่นเอง แม้จะมีศักดิ์เป็นลูกสาวเจ้าของบ้านศิลาแดงก็ตาม แต่พรเพ็ญก็ถูกเลี้ยงดูมาประหนึ่งคนรับใช้ และเรียนจบแค่ชั้น ม.3 เพราะสโรชาไม่ต้องการให้เธอฉลาดและเผยอทัดเทียมลูกทั้งสองคนของเธอ จึงกดขี่พรเพ็ญไว้เยี่ยงทาส กับอีกด้านหนึ่งก็เพื่อจะหาทางครอบครองเป็นเจ้าของบ้านศิลาแดงกับฮุบสมบัติของเอกรินทร์เอาไว้ทั้งหมด   ในขณะเดียวกัน “เพ็ญพร” หญิงสาวปราดเปรียวทายาทเจ้าของบริษัทสวนเสาวรส ได้เรียนจบวิชาบริหารจากต่างประเทศกลับมา เพ็ญพรไม่เคยรู้มาก่อนเลยว่าตนเองมีพี่สาวฝาแฝดอยู่อีกคน แต่กระนั้น ลึกๆ ในจิตใจเธอก็รู้สึกได้ถึงความผูกพันกับพี่สาวที่ไม่เคยเจอหน้าค่าตากันมาก่อน และทุกครั้งที่พี่สาวถูกแม่เลี้ยงข่มเหงทำร้าย เพ็ญพรก็จะสัมผัสได้ถึงความรู้สึกทุกข์ทรมานไม่ต่างกัน ด้วยเหตุดังกล่าว เพ็ญพรจึงเริ่มสืบสาวราวเรื่องเหตุการณ์และเหตุปัจจัยที่เธอมีความรู้สึกผูกพันกับชะตากรรมของใครบางคนอยู่ตลอดเวลา จนในที่สุด เมื่อสองพี่น้องได้โคจรมาพบกัน ปฏิบัติการสลับร่างสวมรอยของฝาแฝดทั้งสองคนจึงเริ่มต้นขึ้น พี่สาวที่หัวอ่อนยอมคนก็ได้มีโอกาสเข้ามาใกล้ชิดกับ “เดือนฉาย” มารดาที่พลัดพรากจากกันไปนาน ในขณะที่น้องสาวผู้แข็งแกร่งกว่า ก็ได้เข้าไปดูแลบิดาที่ป่วย และกลั่นแกล้งแก้แค้นแม่เลี้ยงใจร้าย เพื่อช่วงชิงความเป็นเจ้าของบ้านศิลาแดงกลับคืน พร้อมๆ กับการสลับตัวไปมาจนสร้างความสับสนให้กับนายตำรวจอย่าง “ตรัย” และนักธุรกิจหนุ่มอย่าง “วิทวัส” ชายหนุ่มสองคนผู้เป็นพระเอกของเรื่องไปในเวลาเดียวกัน ในขณะที่ย้อนกลับไปในละครเรื่อง “แรงเงา” นั้น ตัวละครอย่างมุตตาผู้เป็นน้องสาวฝาแฝดต้องเสียชีวิตก่อน “แรง” แห่ง “เงา” ของมุนินทร์ผู้พี่สาวจึงค่อยสวมรอยกลับมาทวงหนี้แค้นคืน ทว่า ในเรื่อง “บ้านศิลาแดง” วิธีการผูกเรื่องกลับต่างออกไป เพราะน้องสาวอย่างเพ็ญพรไม่ต้องรอให้เกิดโศกนาฏกรรมกับชีวิตพี่สาวพรเพ็ญเสียก่อน แต่เธอกลับเลือกเข้ามาสวมบทบาทสลับร่างแก้แค้นแม่เลี้ยงใจร้ายไปตั้งแต่ต้นเรื่องเลย แล้วเหตุอันใดเล่าที่ทำให้ตัวแสดงอย่างเพ็ญพรและพรเพ็ญ จึงเลือกกระทำการแตกต่างไปจากฝาแฝดมุตตากับมุนินทร์? คำตอบก็น่าจะอยู่ที่ปมหลักของความขัดแย้งที่ต่างกันไปในชีวิตของคู่แฝดทั้งสองคู่ ในขณะที่ปมปัญหาหลักของมุตตาหญิงสาวอ่อนโลกมาจากเหตุปัจจัยเรื่อง “รักๆ ใคร่ๆ” ซึ่งในทัศนะของคนชั้นกลางทั่วไปมองว่าเป็นเรื่องส่วนตัวและของใครของมันที่จะต้องจัดการกันเอาเอง แต่กับกรณีของเพ็ญพรและพรเพ็ญนั้น ปมความขัดแย้งใหญ่ของเรื่องกลับอยู่ที่ “บ้านศิลาแดง” อันเป็นมรดกที่สืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น จากรุ่นของบรรพชนมาจนถึงเอกรินทร์ผู้เป็นบิดา และมีแนวโน้มว่ามรดกทั้งบ้าน ที่ดิน และศฤงคารทรัพย์เหล่านี้ ก็น่าจะสืบต่อมาอยู่ในมือของคู่แฝดอย่างพวกเธอ หากมองผาดดูแบบผิวเผิน มรดกก็คือสินทรัพย์ที่พ่อแม่ปู่ย่าตายายสืบทอดและมอบต่อให้กับลูกหลานที่อยู่ในสายตระกูลของตน แต่อันที่จริงแล้ว อีกด้านหนึ่งของมรดก ก็มีสถานะเป็น “ปัจจัยการผลิตทางเศรษฐกิจ” ที่สำคัญของคนชั้นกลางในยุคปัจจุบัน หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง ทั้งสังหาริมทรัพย์และอสังหาริมทรัพย์ต่างถือเป็น “ทรัพย์สิน” ที่คนชั้นกลางมีศักยภาพที่จะแปลงให้มันกลายเป็น “ทุน” เพื่อจะได้ใช้ต่อยอดผลิดอกออกผลต่อไปได้ในอนาคต เพราะฉะนั้น มรดกโภคทรัพย์ดังกล่าวจึงถือเป็นปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิตของคนกลุ่มนี้ เพราะฉะนั้น เมื่อไรก็ตามที่คนชั้นกลางเริ่มรู้สึกหวั่นไหวว่า มรดกบ้านและที่ดินทั้งหลายของตนมีแนวโน้มจะถูกครอบครองหรือพรากส่วนแบ่งไปด้วยอำนาจของผู้อื่น คนกลุ่มนี้ก็จะเริ่มเข้ามาต่อสู้ต่อกรกับอำนาจดังกล่าวนั้น (ซึ่งก็คงคล้ายๆ กับภาพความขัดแย้งจริงๆ ที่กำลังปะทุอยู่ในเรื่องภาษีมรดก ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง หรือแม้แต่เหตุการณ์ทางสังคมที่พี่น้องเข่นฆ่ากันได้เพียงเพื่อแย่งสมบัติประจำตระกูล) ทั้งนี้ ยังไม่นับรวมถึงเรื่องชื่อเสียง เกียรติยศ หน้าตา บารมี และทุนทรัพย์แบบนามธรรมอื่นๆ ที่ถือเป็นปัจจัยการผลิตอันพ่วงแนบมากับมรดกคฤหาสน์และที่ดินของบ้านศิลาแดงอีก ที่ฝาแฝดพี่น้องทั้งสองต้องพิทักษ์สิทธิ์และผลประโยชน์เอาไว้อย่างเต็มที่ ด้วยเหตุปัจจัยจากความขัดแย้งในมรดกนี่เอง ตัวละครอย่างเพ็ญพรและพรเพ็ญจึงยอมไม่ได้ หากแม่เลี้ยงสโรชาและบรรดาสหพรรคพวกของเธอจะมาผลาญพร่า “ชุบมือเปิบ” ไปแต่โดยง่าย เหมือนกับประโยคที่เพ็ญพรมักจะพูดกับสโรชาและลูกของเธออยู่เป็นประจำว่า “จะผลาญสมบัติพ่อของฉันกันอีกแล้วเหรอ...” ครั้งหนึ่งคนชั้นกลางไทยอาจจะมีความคิดว่า “มีทองเท่าหนวดกุ้ง ยังนอนสะดุ้งจนเรือนไหว” แต่มาถึงยุคนี้ หากจะต้องเสียทั้งทองและทรัพย์สมบัติมรดกที่สั่งสมผ่านสายตระกูลกันมา คงจะเป็นเงื่อนไขที่คนกลุ่มนี้ยอมรับไม่ได้อย่างแน่นอน ก็เหมือนกับชีวิตตัวละครพี่น้องเพ็ญพรและพรเพ็ญนั่นแหละ ที่ต้องจัดการปัญหาเรื่องมรดกอันเป็นปัจจัยการผลิตหลักของตนให้ได้เสียก่อน ส่วนเรื่องรักๆ ใคร่ๆ กับพระเอกหนุ่มของเรื่อง ค่อยมาแฮปปี้เอนดิ้งในภายหลัง หรือเรียกง่ายๆว่า ให้ “lucky in game” ก่อน แล้วเรื่อง “lucky in love” ค่อยมาว่ากันอีกครั้งหนึ่ง  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 170 ลูกอมคลอโรฟีลแบบนี้ คุณย่าอย่ามายิ้ม

ร้านขายผลิตภัณฑ์สุขภาพ มักจะเป็นแหล่งที่ผู้ผลิตบางรายนำผลิตภัณฑ์สุขภาพที่โอ้อวดสรรพคุณเกินจริง มาแอบแฝงวางปะปน เพื่อจำหน่ายแก่ผู้บริโภคที่ตื่นตัวในการดูแลสุขภาพ ดังเช่น ลูกอมที่หุ้มด้วยพลาสติกสีเขียว ที่ผมได้รับแจ้งข้อมูลจากเครือข่ายเภสัชกรที่ทำงานด้านคุ้มครองผู้บริโภคกลุ่มหนึ่ง หากเป็นลูกอมธรรมดาคงไม่เท่าไหร่ แต่ลูกอมชนิดนี้ที่แสดงฉลากว่า “ลูกอมสมุนไพรย่ายิ้ม” ดันโฆษณาชัดเจนว่า “ล้างพิษ ปรับสมดุล” มีเครื่องหมาย อย. โชว์อีกด้วย แถมมีข้อความ “ทาน ศีล ภาวนา” เติมเพิ่มมาจนดูน่าเลื่อมใสมากขึ้นไปอีก ผมไม่ทราบว่าย่ายิ้มเป็นชื่อคุณย่าของใคร หรือผู้ผลิตจะบอกใบ้เป็นความนัยว่าลูกอมสมุนไพรชนิดนี้มันมหัศจรรย์พันลึก สามารถล้างพิษ ปรับสมดุล ขนาดคุณย่ายังลุกขึ้นมายิ้มหรือเปล่า แต่ที่เป็นเรื่องราวให้ต้องมาเล่าเพื่อเฝ้าระวังกัน ก็เพราะลูกอมชนิดนี้แสดงฉลากแบบมีพิรุธ เพราะฉลากไม่ถูกต้อง คือไม่มีส่วนประกอบตามแบบที่กฎหมายกำหนด บอกแต่เพียงว่ามีส่วนประกอบของสมุนไพรชนิดต่างๆ รวมทั้งมีคลอโรฟีลด้วย เล่นเอางง เพราะเจ้าคลอโรฟีลมันไม่ใช่สมุนไพร ทำไมจู่ๆ มันโผล่มาอยู่ในกลุ่มสมุนไพรแบบผิดพวกอย่างนี้ และที่ต้องรีบมาเตือนเพราะ ฉลากลูกอม ห่อละ 35 บาทนี้ ยังโอ้อวดสรรพคุณเกินจริง ด้วยการแสดงข้อความ “ล้างพิษ ปรับสมดุล สุขภาพดี อารมณ์ดี ผิวพรรณดี” วิธีรับประทานก็หลากหลายแบบ อมหรือเคี้ยวอย่างน้อยวันละห้าเม็ด แต่ถ้าไม่อยากอมก็ให้นำลูกอมสิบเม็ดใส่ในน้ำร้อนหนึ่งแก้ว คนให้ละลายแล้วดื่ม หรือ ใส่ในน้ำผลไม้ปั่น หนึ่งลิตรต่อลูกอมห้าเม็ด เพื่อสุขภาพและเพิ่มรสชาติ จากข้อมูลที่น้องๆ เภสัชกรเขาช่วยสืบค้นมาให้ ลูกอมเหล่านี้เท่าที่ทราบ เป็นลูกอมขิงธรรมดาๆ แต่จะมีผู้รับจากผู้ผลิตมาขายต่อ ทำฉลากกันเอง โดยเอาเลข อย.เดิมมาเติมข้อความให้เกี่ยวข้องกับสุขภาพ มีขายตามร้านที่ขายผลิตภัณฑ์สินค้าสุขภาพ หรือร้านชีวจิตหลายแห่ง เท่าที่ทราบ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาก็เคยออกมาเตือนผู้บริโภคมิให้หลงเชื่อ ส่วนรายนี้ทราบว่า เภสัชกรจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ได้ลงไปจัดการเรียบร้อยแล้ว อุตส่าห์เข้ามาหาผลิตภัณฑ์สุขภาพในร้านสุขภาพแล้ว ยังมาเจอผลิตภัณฑ์โอ้อวดสรรพคุณเกินจริงอีก ยังไงก็ฝากผู้อ่านช่วยกันเป็นหูเป็นตา และช่วยกันเตือนผู้บริโภคท่านอื่นๆ ด้วยนะครับ คุณย่าจะได้ยิ้มแบบถูกกฎหมายเสียที

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 170 มาช่วยร้องเรียนแท็กซี่กันเถอะ

ช่วงนี้ข่าวคราวเรื่องการใช้บริการแท็กซี่เป็นที่พูดกันบ่อยมาก เมื่อช่วงเดือนมกราคมประเทศไทยได้มีข่าวฮิตในโลกออนไลน์ในเรื่องการให้บริการแท็กซี่  ที่มีนักธุรกิจชาวญี่ปุ่น ได้เดินทางมาประเทศไทยเป็นประจำ เพื่อแจกขนมและของเล่นให้กับเด็กๆ ผู้ด้อยโอกาสภายในประเทศไทย  และได้ใช้บริการแท็กซี่ของสนามบินสุวรรณภูมิ โดยรู้สึกไม่พึงพอใจกับการได้รับบริการนั้น จนทำให้เกิดการโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กของตนเองว่า “สนามบินสุวรรณภูมิคือความอับอายของประเทศไทย ทั้งการบริการที่แย่ เจ้าหน้าที่ไม่เต็มใจให้บริการ และยังถูกแท็กซี่โกงค่าโดยสาร”  ซึ่งเรื่องนี้ได้ถูกส่งต่อไปทั่วโลกออนไลน์  จนนำไปสู่การจัดระเบียบแท็กซี่สุวรรณภูมิ แต่เมื่อไม่นานมานี้นักธุรกิจชาวญี่ปุ่นคนดังกล่าวยังได้มีการโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กอีกครั้ง ในเรื่องการบริการของแท็กซี่สนามบินสุวรรณภูมิที่เก็บค่าโดยสารเกินจริง และยังกล่าวด้วยว่าเป็นเรื่องที่น่าอายของประเทศไทย หลังจากได้อ่านข่าวนี้ หลายคนคงคิดอยู่ในใจว่า ไม่ใช่แต่นักท่องเที่ยวต่างชาติเท่านั้นที่โดนรู้สึกแย่กับการใช้บริการแท็กซี่หรอก คนไทยอย่างเราก็โดนเช่นกัน แม้ว่ารัฐบาลจะพยายามหามาตรการในการควบคุมการให้บริการของแท็กซี่มากแค่ไหน แต่ดูจะไม่ได้ผลมากนัก ทั้งเรื่องสนับสนุนให้มีการร้องเรียน จนทำให้เกิดสายด่วน แอพพลิเคชั่นต่างๆ ที่อำนวยความสะดวกให้กับประชาชนผู้ใช้บริการ ล่าสุดกรมการขนส่งทางบก ได้ออกแอพพลิเคชั่น “DLT Check-In” เป็นแอพพลิเคชั่นสำหรับให้ประชาชนผู้ใช้บริการได้เข้ามาร้องเรียน โดยได้ปรับรูปแบบการใช้งานให้มีความสะดวกมากขึ้น  ซึ่งหวังว่าจะมีผู้ใช้บริการแท็กซี่ทั้งที่มีปัญหาในการใช้บริการและมีความพึงพอใจในการใช้บริการ แจ้งร้องเรียนต่างๆ และรายงานเรื่องที่เกิดขึ้น เข้ามายังกรมการขนส่งทางบก ภายในแอพพลิเคชั่น จะให้กรอกหมายเลขโทรศัพท์ของเจ้าของเครื่อง เพื่อนำเป็นข้อมูลเผื่อมีการติดต่อสอบถามกลับถึงรายละเอียดที่เกิดขึ้น และเพิ่มความสะดวกในการร้องเรียนได้รวดเร็วขึ้น  เมื่อมีการกรอกหมายเลขโทรศัพท์เรียบร้อยแล้ว ให้คลิกลงทะเบียนการใช้แท็กซี่ จากนั้นแอพพลิเคชั่นจะมีวิธีการให้เลือก  2 รูปแบบ คือ ให้กรอกทะเบียนรถแท็กซี่ หรือ ให้ถ่ายรูปทะเบียนแท็กซี่ ต่อจากนั้นแอพพลิเคชั่นจะมีแบบสอบถามให้กรอกรายละเอียดต่างๆ ถึงความพึงพอใจในการใช้แท็กซี่ และมีช่องข้อเสนอแนะเพิ่มเติม เพื่อให้ผู้ใช้บริการสามารถกรอกรายละเอียดนอกเหนือจากแบบสอบถามนั้นได้ จากข่าวที่สร้างความเสียหายให้กับประเทศไทยในเรื่องการให้บริการของแท็กซี่นั้น คิดว่าคงทำให้คนไทยอย่างเรารู้สึกเสียหน้ากันพอสมควร แม้ว่าเหตุการณ์การให้บริการของแท็กซี่ที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสมก็เกิดขึ้นกับคนไทยเองเช่นกัน แต่ถ้าทุกคนพยายามที่จะร่วมมือกันเพื่อปรับปรุงพฤติกรรมไม่เหมาะสมนั้น โดยใช้วิธีการร้องเรียนผ่านแอพพลิเคชั่น หรือผ่านสายด่วนของศูนย์คุ้มครองผู้โดยสารรถสาธารณะ ก็อาจจะทำให้การปรับเปลี่ยนให้การให้บริการของแท็กซี่ได้ผลในระดับหนึ่งก็เป็นได้

อ่านเพิ่มเติม >