ฉบับที่ 148 โกจิเบอร์รี

อันที่จริงผลโกจิเบอร์รีนั้น ไม่ได้เป็นผลไม้มหัศจรรย์ที่ค้นพบใหม่แต่อย่างใดเลย บ้านเราก็กินกันมานานแล้ว จำเม็ดเล็กๆ แดงๆ ในถ้วยแกงจืดหรือพวกตุ๋นเนื้อ ตุ๋นไก่ที่เข้าเครื่องยาจีนได้ไหม... ใช่แล้ว โกจิเบอร์รี คือ เม็ดเก๋ากี้ นั่นเอง เก๋ากี้(จีนแต้จิ๋ว) มีชื่อในภาษาอังกฤษว่า Chinese Wolfberry เป็นผลไม้ตระกูลเบอร์รีชนิดหนึ่ง (ผลไม้ตระกูลเบอร์รีในทางพฤกษศาสตร์หมายถึงผลไม้ที่เนื้อและเมล็ดเกิดขึ้นจากรังไข่เดียว แต่โดยทั่วไป คำว่าเบอร์รีมักจะถูกใช้เรียกผลไม้ลูกเล็กๆ กลมๆ หรือเหลี่ยมๆ สีสันสดใส มีรสเปรี้ยวอมหวาน เช่น สตรอเบอร์รี บลูเบอร์รี แรสเบอร์รี ฯลฯ เสียมากกว่า) ถิ่นกำเนิดอยู่จีน ทิเบต แถบเทือกเขาหิมาลัย จัดเป็นสุดยอดผลไม้อายุวัฒนะมาแต่โบราณ นิยมรับประทานทั้งผลสดและแห้ง กล่าวกันว่า เป็นพืชสมุนไพร ที่คนทั่วโลกนิยมกินกันมากที่สุด เก๋ากี้มีสรรพคุณช่วยบำรุงเลือด หัวใจ ตับ และไต เมื่อกินเป็นประจำจะช่วย ให้สายตาดี ร่างกายกระฉับกระเฉง สดชื่น อารมณ์ดี สำหรับชื่อ โกจิเบอร์รี่ เป็นชื่อในเชิงการค้าเพื่อส่งเสริมให้เป็นอาหารเสริมชั้นดี และแน่นอนราคาแพง   ถ้าท่านพอมีปัจจัยดื่มน้ำผลไม้โกจิเบอร์รีก็ได้ประโยชน์แต่ให้ระวังเรื่องความหวาน กรุณาอ่านฉลากดูปริมาณน้ำตาลด้วย ส่วนเม็ดแห้งนำมาทำแกงจืดก็อร่อยดีเคี้ยวกินได้ทั้งเม็ด เพียงแต่ก่อนนำมาทำอาหารให้ล้างน้ำมากๆ หน่อย ลวกน้ำร้อนได้ยิ่งดี เพราะเม็ดเก๋ากี้แห้งนำเข้าจะพบปัญหาปนเปื้อนสารฟอกขาว (เพื่อป้องกันราแต่ไม่ป้องกันเรา) ในปริมาณสูง ซึ่งกินมากๆ อันตรายต่อร่างกายจ้ะ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 148 บริการ 10 โต๊ะ

จั่วหัวแบบนี้อย่าเข้าใจผิดว่า กำลังจะคุยเรื่องคุณภาพอาหารโต๊ะจีน หรือมูลนิธิจะระดมทุนด้วยการจัดโต๊ะจีนเพื่อหางบประมาณในการสนับสนุนการทำงานคุ้มครองผู้บริโภค หากเดาก็คงผิด บริการ 12 โต๊ะ เริ่มต้นจากโต๊ะที่ 1  ฝ่ายประชาสัมพันธ์ขององค์กรที่ใครไปใครมาต้องเข้าไปสอบถามว่าหากจะมารับเงินคืนจะต้องทำอย่างไร โต๊ะนี้ก็ให้คำแนะนำว่า คุณต้องเขียนคำร้อง เขียนคำร้องเสร็จแล้วไปโต๊ะที่สอง โต๊ะนี้ใช้เวลาไม่มากขึ้นอยู่กับความฉลาดว่าจะเข้าใจแบบคำร้องในช่องต่างๆ ที่จะต้องเขียนหรือไม่ โต๊ะนี้ขึ้นอยู่กับฝีมือของผู้บริโภค โต๊ะที่ 2 ยื่นคำร้องของโต๊ะที่ 1 ในตระกร้า เจ้าหน้าที่บอกว่าให้รอก่อน รอเรียกชื่อ นั่งรอ รับโทรศัพท์รอ อ่านอีเมล์ ดูเฟสบุกส์ อ่านไลน์ ไปหลายรอบประมาณ 20 นาที สุดท้ายก็ได้แฟ้มข้อมูลของตัวเอง เจ้าหน้าที่บอกไปโต๊ะที่ 3 ไปพบนิติกรชั้นสอง โต๊ะที่ 3 ไม่ต้องรอ เจ้าหน้าที่เพียงชี้ไปพบนิติกร นิติกรเปิดแฟ้ม เซ็นต์รับรองบนเอกสารในหน้าแรก และบอกว่าไปโต๊ะที่ 4 เพื่อคิดเงินว่าต้องคืนเท่าไหร่(โต๊ะนี้อยู่ชั้น 1)   โต๊ะที่ 4 รับเอกสารแล้วบอกให้นั่งรอจะเรียกชื่อ เอกสารถูกส่งไปโต๊ะที่ 5 คราวนี้โต๊ะนี้มีเรื่องสนุกหลายอย่าง หลังจากใช้เวลาไปประมาณ 30 นาทีก็ชะโงกหน้าเข้าไปถามว่าคิดเงินเสร็จแล้วยัง เจ้าหน้าที่ที่เคาน์เตอร์ก็ตะโกนว่า เอ๊า...ใครคิดเงินของคุณสารี ก็เห็นว่ามีคนยกมือ พร้อมน้องที่ตะโกนให้กำลังใจว่าเขากำลังคิดอยู่ รอหน่อยนะ ได้ยินคำตอบดังนั้นก็สบายใจนั่งรอ ใช้เวลาอ่านหนังสือพิมพ์ อ่านประกาศทุกอย่างของสำนักงาน เดินนับคนที่ใช้บริการในสำนักงานนี้ รอไปอีกจนประมาณ 11.15 น. ก็ทำหน้าใหม่เดินเข้าไปอีกรอบพร้อมบอกเจ้าหน้าที่ที่นั่งโต๊ะที่  6  อีกคนด้วยเสียงเบาว่า ต้องไปประชุมไม่รู้คิดเงินเสร็จแล้วยัง อ้าว ! คุณยื่นให้ใคร คุณยื่นแล้วเหรอ ใครคิดเงิน ตอนนี้เงียบ ไม่มียกมือ จะทำยังไงหลักฐานก็ไม่มี น้องที่ช่วยตะโกนก็ไม่ช่วยซะแล้ว ทั้งๆ ที่นั่งอยู่ใกล้กัน เลยเปลี่ยนเสียงที่เบาเป็นบอกว่าทำไมคุณไม่มีระบบได้ขนาดนี้ขอพบผู้บริหารหน่อย เขาบอกว่าผู้บริหารไปประชุม สุดท้ายหลังจากเถียงอยู่นานก็พบว่าแฟ้มถูกเอาไปวางไว้เฉยๆ ไม่ได้ทำอะไรที่โต๊ะที่ 7 ก็มีเจ้าหน้าที่นำไปคิดเงินให้ ใช้เวลาคิดเงินจริงๆ ไม่ถึง 3 นาที หลังจากคิดเสร็จ ส่งโต๊ะที่ 8 เจ้าหน้าที่บอกให้เขียนคำร้องขอรับเงิน และเอาไปให้นิติกรที่ชั้นสอง (โต๊ะที่ 9) เพื่อรับรองว่าต้องจ่ายเงินตามที่คิดเงินแล้วพี่ลงไปรับตังค์ที่โต๊ะที่ 10 นะ ชั้น 1 ลงมาชั้น 1 เขาบอกเซ็นรับเช็ค 2,398 บาท เงินที่เหลือจากการดำเนินการเมื่อ 10 ปีที่แล้ว โต๊ะที่ 10 ได้ปะทะสังสรรค์อีกเล็กน้อย ว่า เอ๊ะทั้งหมด 9 โต๊ะทำไมไม่ให้อยู่โต๊ะเดียว เขาบอกอย่างนี้แหละพี่ต้องทำใจระบบราชการ ลองเดากันเข้ามาว่าบริการ 10 โต๊ะที่เล่าสู่กันฟังเป็นของหน่วยงานใดที่ห่วยได้ใจขนาดนี้  ใครทายถูกรับบัตรกู่เจิงไปชมฟรี 1 ใบราคา 1,000 บาท และหากใครไม่ได้บัตรฟรีก็รบกวนช่วยสนับสนุนคอนเสิร์ตจันทร์กลางฟ้าทิพยสังคีตเครื่องสายจีน บรรเลงโดยนักดนตรีฝีมือชั้นครู อาจารย์หลี่หยางและอาจารย์หลี่ฮุยที่กรุณาจัดคอนเสิร์ตระดมทุนให้มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ในวันที่ 5-8 สิงหาคมนี้ เวลา 19.30 น. ที่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย (หอเล็ก)

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 148 คำนวณสกุลเงินกับ “SuperRichTH”

เมื่อนักท่องเที่ยวอย่างเราๆ ที่ชอบเดินทางในราคาประหยัดและไม่ชำนาญกับการคำนวณสกุลเงินมากนัก การเดินทางไปต่างประเทศในแต่ละครั้ง จึงมักมีปัญหากับการเปรียบเทียบตัวเลขของค่าเงินจากสกุลเงินประเทศนั้นๆ เป็นเงินบาท เพื่อให้ได้สิ่งของในราคาที่เหมาะสม แต่ปัญหาแรกคือ คนส่วนใหญ่มักจะสับสนกับวิธีการหรือคำเรียกในเรื่องการแลกเปลี่ยนสกุลเงินตราต่างประเทศกับสถาบันการเงิน อย่างคำว่า ราคาซื้อ ราคาขาย จนทำให้ต้องมาตั้งหลักทำความเข้าใจใหม่ทุกครั้งไป อย่างแรกเรามาทำความเข้าใจกับคำว่า ราคาซื้อและราคาขาย กันก่อน ราคาซื้อ หมายถึง ราคาที่ธนาคารรับซื้อเงินตราต่างประเทศเปลี่ยนเป็นเงินบาทไทย หรือจำง่ายๆ ว่าเราถือเงินต่างประเทศไปแลกเป็นเงินบาทไทย  ส่วนราคาขาย หมายถึง ราคาที่ธนาคารขายเงินตราต่างประเทศ หรือนำเงินบาทไทยไปแลกเงินตราต่างประเทศมา สรุปดังนี้ ธนาคารรับซื้อเงินต่างประเทศ หมายถึง ราคาซื้อ ส่วนธนาคารขายเงินตราต่างประเทศ หมายถึง ราคาขาย   สำหรับเรื่องปัญหาการเปรียบเทียบราคาของค่าเงินต่างประเทศกับเงินบาทไทย ผู้เขียนขอแนะนำชื่อสถานที่ที่ใครๆ จะแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ รู้จักกันดี คือ  ซุปเปอร์ริช นั่นเอง ซุปเปอร์ริชไทยแลนด์ มีแอพพลิเคชั่นเพื่อช่วยแก้ปัญหากับความไม่เชี่ยวชาญทางด้านการเงินของนักท่องเที่ยว ชื่อว่า “SuperRichTH” แอพพลิเคชั่นนี้จะคอยนำเสนอทุกความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท และอัตราแลกเปลี่ยนกว่า 30 สกุลทั่วโลกและอัพเดทข้อมูลตลอด ซึ่งสามารถติดตามตรวจสอบอัตราแลกเปลี่ยนเป็นเงินบาทได้อย่างใกล้ชิด เมื่อเปิดแอพพลิเคชั่นเข้าไป เราสามารถเลือกสกุลเงินของประเทศที่ต้องการ ต่อจากนั้นให้กรอกตัวเลขว่าต้องการได้เงินในสกุลต่างประเทศจำนวนเท่าไร โปรแกรมจะคำนวณมาให้เป็นผลลัพธ์ด้านล่างเป็นค่าเงินบาทไทย โดยให้สังเกตที่ลูกศรตรงคำว่า converter ถ้าลูกศรหันไปทางซ้าย หมายถึงต้องเปลี่ยนสกุลเงินตราต่างประเทศเป็นสกุลเงินบาทไทย ซึ่งตัวเลขจะปรับเปลี่ยนตามราคาซื้อ  และถ้าลูกศรหันไปทางขวา หมายถึงต้องเปลี่ยนสกุลเงินบาทไทยเป็นสกุลเงินตราต่างประเทศ  ซึ่งตัวเลขจะปรับเปลี่ยนตามราคาขาย นอกจากนี้ภายในแอพพลิเคชั่น “SuperRichTH” ยังมีแผนที่สถานที่ซุปเปอร์ริช และเบอร์โทรติดต่อ เพียงแค่คลิกก็สามารถโทรติดต่อได้ทันที ลองแอพพลิเคชั่นนี้ดู เผื่อสักวันหนึ่งการคำนวณเงินตราต่างประเทศระหว่างเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศ จะช่วยทำให้การช้อปปิ้งสะดวกรวดเร็วขึ้นกว่าเดิม หรือไม่ก็ช่วยให้เข้าใจระบบการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ ราคาซื้อ ราคาขาย ได้ดีขึ้น

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 148 สถานการณ์สารพทาเลต DEHP- อันตรายที่สามารถหลีกเลี่ยงได้

โดย ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค ประธานอนุกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านสินค้าและบริการบทความนี้ ได้ข้อมูลมาจากผลการศึกษาปริมาณของสาร DEHP ที่ปนเปื้อนอยู่ในประชากรชาวเยอรมนีที่ทำการศึกษาโดยสถาบันประเมินความเสี่ยงแห่งสหพันธ์ (Federal Institute for Risk Assessment) กับสำนักงานกำกับดูแลด้านสิ่งแวดล้อม (Federal Environment Agency) ซึ่งทางยุโรปได้ให้ความสำคัญกับการกำกับดูแลสารเคมีในกลุ่มพทาเลต ที่ผสมอยู่ในผลิตภัณฑ์ที่ทำจากพลาสติก โดยเฉพาะในผลิตภัณฑ์สำหรับเด็ก ในขณะที่หน่วยงานภาครัฐของประเทศไทย ยังไม่ได้ทบทวน และประกาศใช้มาตรฐานกำกับผลิตภัณฑ์ที่มีสารพทาเลตเป็นส่วนประกอบ ซึ่งในมิติของการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ถือเป็นความจำเป็นเร่งด่วนของหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็น สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคและผู้ประกอบการที่ใส่ใจต่อสุขภาพของและความปลอดภัยของผู้บริโภค ตลอดจนเป็นการจะช่วยสกัดกั้นป้องกันไม่ให้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นอันตรายหลุดเข้ามาสร้างปัญหาให้กับผู้บริโภคครับ   สาร DEHP คืออะไร สาร DEHP ย่อมาจาก di (2-ethyl hexyl) phthalate เป็นสารเคมีที่นิยมใช้ในการผลิตพลาสติก เพื่อให้พลาสติกมีความอ่อนตัว เหมือนกับสารพทาเลตตัวอื่นๆ อีกหลายตัว และสหภาพยุโรป (EU) ได้ประกาศให้สาร DEHP เป็นสารพิษที่มีผลกระทบต่อระบบการสืบพันธุ์ของมนุษย์ เนื่องจากมีการอ้างถึง การที่สาร DEHP มีผลต่อระบบสืบพันธ์ และส่งผลทางด้านลบต่อทารกที่อยู่ในครรภ์มารดาฅ สำหรับผู้ใหญ่การได้รับสาร DEHP ส่วนใหญ่ได้รับผ่านทางการกินอาหาร เข้าสู่ร่างกายซึ่งมีปริมาณน้อย และยังไม่มีรายงานเกี่ยวกับความเสี่ยงต่อสุขภาพ เนื่องจากปริมาณที่ผู้ใหญ่ได้รับสารเคมีนี้ยังน้อยกว่าปริมาณสูงสุดที่ยอมรับได้โดยไม่มีความเสี่ยงต่อสุขภาพ เนื่องจากในร่างกายของผู้ใหญ่สามารถที่จะกำจัดสาร DEHP นี้ออกจากร่างกายได้อย่างรวดเร็ว สำนักงานที่กำกับดูแลเรื่องความปลอดภัยของอาหารแห่งยุโรป (EFSA) ได้กำหนดปริมาณสาร DEHP สูงสุดที่  50 ไมโครกรัมต่อน้ำหนักมนุษย์ 1 กิโลกรัมต่อวัน ที่ร่างกายมนุษย์สามารถขับออกจากร่างกายได้ โดยที่ไม่มีผลเสียต่อสุขภาพ (TDI: Tolerable Daily Intake) สำหรับข้อมูลจากรายงานการสำรวจในประเทศเยอรมนี พบปริมาณสาร DEHP ที่คนเยอรมนีได้ขับถ่ายออกมาเฉลี่ยที่ปริมาณ 13-21 ไมโครกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม   อาหารประเภทไหนที่อาจมีสาร DEHP ปนเปื้อนอยู่ ? อาหารสำเร็จรูปและกึ่งสำเร็จรูปเช่น เนื้อสัตว์ ไขมัน น้ำมัน ธัญพืช ผลไม้ ผักสด นมและผลิตภัณฑ์จากนม ที่อยู่ในบรรจุภัณฑ์ เปรียบเทียบกับอาหารที่ไม่ได้อยู่ในบรรจุภัณฑ์ และอาหารที่ไม่ได้ผ่านกระบวนการแปรรูป จะมีการปนเปื้อนของ DEHP ในปริมาณสูง เพราะอาหารสามารถที่จะละลายสาร DEHP และพทาเลตตัวอื่นๆ ในระหว่างกระบวนการผลิตจนถึงกระบวนการบรรจุ ด้วยเหตุผลดังกล่าวมีการสั่งห้ามใช้สาร DEHP ในบรรจุภัณฑ์ที่ใส่อาหารที่มีไขมันในปี 2007 (พ.ศ. 2550) และในปี 2015 อียูก็ได้สั่งห้ามใช้สาร DEHP ในผลิตภัณฑ์อีกหลายตัว (consumer product) หากไม่ได้มีการพิสูจน์ตามมาตรฐานของ REACH ที่เป็นมาตรฐานในการควบคุมและกำกับการใช้สารเคมีที่เป็นอันตราย ในกรณีของเด็ก สาร DEHP ครึ่งหนึ่งของปริมาณสารเคมีที่ได้รับ ผ่านทางอาหาร ส่วนที่เหลือจะได้รับผ่านทางผลิตภัณฑ์อื่นๆ และของเล่น เนื่องจากเด็กจะใช้เวลาส่วนใหญ่ในการเล่นบนพิ้นห้อง ซึ่งอาจได้รับสาร DEHP เข้าสู่ร่างกายมากกว่าผู้ใหญ่ ในการศึกษาครั้งนี้ ประมาณกาณ์ว่า เด็กได้รับสาร DEHP ระหว่าง 15-44 ไมโครกรัมต่อน้ำหนักตัว1 กิโลกรัม แต่ก็ยังต่ำกว่าปริมาณค่าสูงสุดที่ยอมรับได้ (TDI-Value)   วิธีการป้องกันสาร DEHP เข้าสู่ร่างกายได้ดีคือ การรับประทานอาหารที่ปรุงสดใหม่ ลดการรับประทานอาหารสำเร็จรูป และกึ่งสำเร็จรูป ลดการบริโภคอาหารสำเร็จรูป ยี่ห้อเดียวกันเป็นประจำ หากจำเป็นต้องเปลี่ยนไปบริโภคยี่ห้ออื่นบ้าง เพราะแต่ละยี่ห้อก็จะมีปริมาณสาร DEHP ไม่เท่ากัน นอกจากนี้ควรหมั่นทำความสะอาดพิ้นสม่ำเสมอในกรณีที่มีเด็กเล็ก และปล่อยให้เด็กเล่นบนพื้นห้อง เลือกของเล่นสำหรับเด็กที่ไม่มีสารพทาเลตเป็นส่วนผสม ซึ่งในยุโรปมีกฎหมายห้ามใช้สาร DEHP ในผลิตภัณฑ์และของเล่นสำหรับเด็กตั้งแต่ปี 1999 (พ.ศ. 2542) ซึ่งยุโรปจะมีเวบไซต์แจ้งเตือนทุกๆสัปดาห์  (RAPEX: http://ec.europa.eu/consumers/dyna/rapex/rapex_archives_en.cfm ) เมื่อมีการตรวจพบผลิตภัณฑ์สำหรับเด็กที่มีสาร DEHP ผสมอยู่   ข้อมูลอ้างอิง Phthalate Contamination of the Population in Germany: Exposure-relevant sources, exposure paths and toxicokinetics using the example of DEHP and DINP, Federal Institute for Risk Assessment, Federal Environment Agency, ISSN 1862-4340, 2012

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 148 อาตมาการันตี

“อาตมาขอรับรองยานี้เป็นของอาตมาจริง จึงขอความร่วมมือจากเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น โปรดให้ความสะดวกต่อเจ้าหน้าที่พนักงานเดินขาย” ข้อความข้างต้นนี้เป็นข้อความที่ปรากฏบนฉลากยาเม็ดทรงกระบอกเล็กๆ สีอิฐที่เจ้าหน้าที่ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลนำมามอบให้แผนกของผมตรวจสอบ พร้อมทั้งข้อมูลว่า มีผู้ป่วยกินยานี้แล้วหน้าบวม ยาดังกล่าวนี้ บรรจุในซองซิบใสๆ บรรจุในถุงพลาสติกซ้อนอีกชั้น ภายในถุงใส่ฉลากที่ถ่ายเอกสารจนลางๆ ระบุข้อความว่า “ยานี้ไม่มีขายตามร้านขายปลีก ยาขนานนี้ปรุงที่วัดถ้ำไซย้อย  บ้านหล่ม  ตำบลบ้านหล่ม  อำเภอดอกคำใต้  จังหวัดพะเยาว์  ท่านหลวงพ่อแก้ว  ธรรมโล  ผู้ปรุง” ผมจำได้ว่าคุ้นๆ กับชื่อหลวงพ่อ แต่ไม่ได้คุ้นในฐานะพระเกจิชื่อดังนะครับ แต่คุ้นว่าเคยเจอยาที่แสดงฉลากทำนองนี้มาแล้วเมื่อหลายปีในอดีต แต่ที่ดูแปลกๆ คือทำไมผู้จัดทำยานี้กลับสะกดแม้กระทั่งชื่อจังหวัดผิดไปจากที่คนทั่วไปรับรู้  เมื่อพลิกด้านหลัง ผมพบข้อความแสดงรายละเอียด “ยารวมว่านหัวใหญ่ สมุนไพรประดง  109  ยาแผนโบราณ สรรพคุณ ใช้รักษาโรคประดงเรื้อรัง  โรคเศรษฐี  เช่น  ปวดหลัง  ปวดเอว  ปวดเส้น  ปวดเมื่อยตามร่างกาย  ปวดข้อ  มึนชา  โรคเลือดทำพิษ  ตกใจง่าย  หัวใจสั่น  วิงเวียน  หน้ามืด  ตาลาย  สายตาสั้นและลดผื่นคันตามร่างกาย  ออกร้อนตามตัว  เสียวชา  โรคประสาท  ปวดหัวไม่มีไข้  ปวดหัวข้างเดียว และแมลงมีพิษกัดหรือต่อย  ธาตุพิการอาหารไม่ย่อย  เป็นยาเจริญอาหาร  ช่วยให้กินข้าวได้นอนหลับดี  ยานี้เป็นยาระบายด่อน  ยานี้ถ้าผู้ป่วยได้กินตั้งแต่ 100 เม็ดขึ้นไป  จะเป็นยาอายุวัฒนะ  ถ้ามากให้กินมาก  อาตมารับรองว่า  ยานี้เป็นยาหายขาด” เฮ้อ!...กว่าจะอ่านสรรพคุณหมด เล่นเอามึน ยาอะไรมันช่างวิเศษจนรักษาได้หลายโรคหลายอาการอย่างนี้  ถ้าดีจริงน่าเสนอให้บรรจุในบัญชียาแห่งประเทศไทยไปเลย  ใครเจ็บใครป่วยด้วยอาการเหล่านี้ ขอให้ใช้แต่ยาชนิดนี้ไปเลย  เริ่มจากผู้ผลิตยานี้ก่อนนั่นแหละ ดีมั้ยครับ แต่ที่ดูแปลกๆ อีกคือ ยานี้ดันแสดงเครื่องหมาย อย. แต่ภายในไม่มีตัวเลข หากมีตัวอักษรย่อ ผสม.10/2542 และยังระบุ ในอนุญาตที่ บ.ภ.2548/2538  แม่เจ้าโว๊ย...งัดเอาระบบไหนมาอนุญาตเนี้ย  มีทั้งเครื่องหมาย อย. เลขที่ใบอนุญาต แต่ไม่ยักมีเลขทะเบียนตำรับยา แถมฉลากก็ไม่ถูกต้องตามกฎหมายอีกด้วยซ้ำ และตามเคยครับ เมื่อตรวจด้วยชุดทดสอบเบื้องต้นของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พบว่ามีส่วนผสมของสารสเตียรอยด์ด้วย ตอนนี้ทางหน่วยงานของผมกำลังดำเนินการติดตามตรวจสอบหาแหล่งที่มาทั้งผู้ผลิตและผู้ที่กล้าการันตี เพื่อดำเนินการตามกฎหมายนะครับ ใครทราบเบาะแส แจ้งที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดได้ทุกจังหวัดเลยนะครับ ถือว่าช่วยป้องกันไม่ให้ผู้ป่วยอื่นๆ ตกเป็นเหยื่อนะครับ...สาธุ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 148 สระว่ายน้ำข้าฯ ใครอย่าแตะ

ฉบับนี้เป็นเรื่องของหมู่บ้านจัดสรรรุ่นเก่าชื่อโครงการหมู่บ้านเดอะวิลเลจ ถนนพัทยาสาย 3 ตำบลหนองปรือ อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี  ที่สร้างขายก่อนที่จะมี พระราชบัญญัติจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2543  ใช้บังคับ โดยขณะนั้นมีประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่286  ซึ่งประกาศ ณ วันที่ 24 พฤศจิกายน  2515  โดยจอมพลถนอม  กิตติขจร หัวหน้าคณะปฏิวัติเป็นผู้ประกาศ  หมู่บ้านดังกล่าวบริษัทเดอะวิลเลจ จำกัด ได้โฆษณาและจัดไว้เป็นสาธารณูปโภคที่ผู้อาศัยในหมู่บ้านเดอะวิลเลจใช้ประโยชน์ร่วมกันโดยสร้างเป็นสระน้ำ  คลับเฮ้าส์  สวนหย่อมและสนามเด็กเล่น   สร้างเสร็จและให้ผู้อาศัยในหมู่บ้านเข้าใช้ตั้งแต่ปี 2531 ต่อมาปี 2532  บริษัทเดอะวิลเลจ จำกัด ได้โอนที่ดินพิพาททั้งสองแปลง(ส่วนที่เป็นสาธารณูปโภค)เป็นชื่อบริษัทแกลลอรี่ อะวอร์ด จำกัด จนกระทั่งปี 2538   บริษัทแกลลอรี่ อะวอร์ด จำกัด ได้โอนขายที่ดินพิพาททั้งสองแปลงให้แก่จำเลย ( บริษัทพาเลซอินเตอร์เทรด จำกัด ) หลังจากนั้นในปี 2539  ทางราชการได้เวนคืนที่ดินพิพาททั้งสองแปลงบางส่วนเพื่อสร้างถนนพัทยาสาย 3 โดยเวนคืนที่ดินส่วนที่เป็นสระว่ายน้ำทั้งหมด คงเหลือคลับเฮ้าส์และเวนคืนส่วนที่เป็นสวนหย่อมและสนามเด็กเล่นไปบางส่วน ทำให้ที่ดินโฉนดเลขที่ 28666  เหลือเนื้อที่ 2 งาน 93.5  ตารางวา และที่ดินโฉนดเลขที่ เหลือเนื้อที่ 1 งาน 89.2  ตารางวา ทั้งนี้ โดยจำเลยได้รับเงินค่าเวนคืนสำหรับที่ดินส่วนที่ถูกเวนคืนไปเป็นเงิน  7,000,000  บาท แล้วจำเลยอ้างว่า  จำเลยเป็นบุคคลภายนอก  และที่ดินพิพาททั้งสองแปลงส่วนที่เป็นสระว่ายน้ำทั้งหมดและสวนหย่อมกับสนามเด็กเล่นบางส่วนถูกราชการเวนคืนแล้วไม่ยอมสร้างใหม่เพื่อทดแทน   พวกลูกบ้านที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านดังกล่าวจึงมาฟ้องศาล มาดูกันว่าข้อแก้ตัวของจำเลยศาลจะรับฟังหรือไม่ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1174/2555 ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า...ตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286  ข้อ 30  ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้อยู่ในขณะนั้น  ให้ถือว่าสาธารณูปโภคดังกล่าวตกอยู่ในภาระจำยอมแห่งที่ดินที่จัดสรรและให้เป็นหน้าที่ของผู้จัดสรรที่ดินหรือผู้รับโอนกรรมสิทธิ์ที่จะบำรุงรักษากิจการดังกล่าวให้คงสภาพดังเช่นที่ได้จัดทำขึ้นตลอดไปและจะกระทำการใดๆ  อันเป็นเหตุให้ประโยชน์แห่งภาระจำยอมลดไปหรือเสื่อมความสะดวกมิได้ เมื่อจำเลยรับโอนที่ดินพิพาททั้งสองแปลงมาจากบริษัท ก. ซึ่งรับโอนมาจากบริษัท ว. จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องดูแลรักษาและจะทำให้ประโยชน์แห่งภาระจำยอมในที่ดินพิพาททั้งสองแปลงลดหรือเสื่อมความสะดวกมิได้  จำเลยจะอ้างว่าเป็นบุคคลภายนอกไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับบริษัท ว. หาได้ไม่  ทั้งการตกอยู่ในภาระจำยอมของที่ดินพิพาททั้งสองแปลงก็มีการจดทะเบียนบันทึกในสารบัญจดทะเบียนหลังโฉนดที่ดินพิพาทว่า  ที่ดินอยู่ภายใต้การจัดสรรที่ดินมาก่อนที่จำเลยจะรับโอนซื้อที่ดินพิพาททั้งสองแปลงจากบริษัท ก. ซึ่งจำเลยสามารถตรวจสอบทราบได้ก่อนการซื้อที่ดินพิพาททั้งสองแปลง หลังจากทางราชการเวนคืนที่ดินพิพาททั้งสองแปลงไปบางส่วนก็ยังมีที่ดินพิพาททั้งสองแปลงที่ไม่ถูกทางราชการเวนคืนอยู่อีก 1 ไร่ 82.7 ตารางวา ที่ดินที่เป็นภาระทรัพย์ส่วนนี้จึงหาได้สลายไปไม่  ภาระจำยอมในที่ดินพิพาททั้งสองแปลงในส่วนนี้จึงยังมีอยู่และจำเลยมีหน้าที่ต้องดูแลรักษาและจะทำให้ประโยชน์แห่งภาระจำยอมในที่ดินพิพาททั้งสองแปลงลดหรือเสื่อมความสะดวกมิได้  แม้จำเลยจะอ้างว่าที่ดินพิพาททั้งสองแปลงส่วนที่เป็นสระว่ายน้ำทั้งหมดและสวนหย่อมกับสนามเด็กเล่นบางส่วนถูกทางราชการเวนคืนไปก็ตาม  แต่จำเลยก็ได้รับค่าชดเชยจากการเวนคืนที่ดินพิพาททั้งสองแปลงดังกล่าวเป็นเงินถึง 7,000,000 บาท  ซึ่งค่าชดเชยดังกล่าวรวมถึงในสระว่ายน้ำ สวนหย่อม และสนามเด็กเล่นที่ถูกเวนคืนอยู่ด้วย  จำเลยในฐานะผู้รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาททั้งสองแปลงจึงมีหน้าที่ต้องจัดให้โจทก์ทั้งสิบสองและผู้อยู่อาศัยในหมู่บ้าน ว. ทั้ง 180 หลังได้รับประโยชน์แห่งภาระจำยอมในที่ดินพิพาททั้งสองแปลงเช่นที่เคยได้รับ  จำเลยจึงต้องสร้างสระว่ายน้ำ สวนหย่อม และสนามเด็กเล่นบนที่ดินพิพาททั้งสองแปลงส่วนที่เหลือให้โจทก์ทั้งสิบสองและผู้ที่อยู่อาศัยในหมู่บ้าน ซ.ได้ใช้ประโยชน์ดังเดิมด้วยค่าใช้จ่ายของจำเลย...ฯลฯ พิพากษาให้จำเลยดำเนินการจดทะเบียนที่ดินโฉนดเลขที่ 28663  และ 28666   ตำบลหนองปรือ อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี พร้อมสระว่ายน้ำ สวนหย่อม สนามเด็กเล่นและคลับเฮ้าส์บนที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวตกเป็นภาระจำยอมบ้านและที่ดินของโจทก์ทั้งสิบสองและผู้ที่อาศัยในโครงการหมู่บ้านเดอะวิลเลจ หากจำเลยไม่ยอมจดทะเบียนภาระจำยอมให้แก่โจทก์ทั้งสิบสองให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนาแทนจำเลย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 148 ซื้อประกันสุขภาพ แค่ป่วยครั้งเดียว ถูกบอกเลิกสัญญาแล้ว

เป็นที่ยอมรับกันว่าประเทศไทยประสบผลสำเร็จในด้านทั้งการคุมกำเนิด  การสาธารณสุข  จนส่งผลให้อัตราการเกิดใหม่ลดลง   และผู้สูงอายุ   อายุยืนมากขึ้น  จนทำให้หลายฝ่ายออกมาแสดงความกังวลเรื่องที่ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเมื่อมีผู้สูงอายุมากขึ้น สิ่งที่ตามมาด้วยคือ ธุรกิจเกี่ยวกับผู้สูงอายุ เติบโตอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะธุรกิจด้านการประกันสุขภาพ  เราๆ ท่านๆ ก็คงเห็นเหมือนกันว่ามีการโฆษณาเกี่ยวกับธุรกิจประกันสุขภาพมากมาย  โดยแต่ละบริษัทออกแบบโฆษณาเพื่อเรียกลูกค้ากันแบบหมัดต่อหมัด เช่น ประกันสุขภาพไม่ต้องตรวจสุขภาพ  วงเงินที่จะได้รับสูงขึ้น  มีการกำหนดเวลา  หากไม่เป็นโรคคืนเงินปีสุดท้าย  เป็นต้นฟังแล้วก็ดีนะ! ประกันไว้เมื่อเจ็บป่วยจะได้ไม่เดือดร้อนลูกหลาน   แต่เรื่องจริงไม่เป็นเช่นนั้น   มีกรณีร้องเรียนการประกันสุขภาพเข้ามาที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคในภาคตะวันตก หลายเรื่องและเรื่องร้องเรียนคล้ายๆ กันคือ   ตอนจะซื้อประกันสะดวกมาก สามารถซื้อติดต่อกันได้ในหลายปี(หากยังไม่ป่วย)เหตุจะเกิดต่อเมื่อผู้ซื้อประกันเจ็บป่วยต้องเข้ารับการรักษาตัว(ซึ่งผู้สูงอายุเมื่ออายุสูงขึ้นก็ต้องป่วยมากขึ้น)และเมื่อเจ็บป่วยบริษัทประกันก็บริการจ่ายสินไหมค่ารักษาดีตามที่สัญญากำหนด  แต่...เหตุเกิดหลังจากนั้นคือ  หลังจากบริษัทจ่ายเงินค่ารักษาแล้ว ก็ตามมาด้วยเอกสารขอเลิกสัญญาการเอาประกันของผู้ซื้อประกัน  พร้อมข้อเสนอขอคืนเงินต้นที่ซื้อประกันในปีนั้นให้ทั้งหมด  ด้วยเหตุผลที่แตกต่างกัน   ทำให้ผู้ซื้อประกันมีความรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม  เพราะจ่ายเงินซื้อประกันไปฟรีๆหลายปีเพื่อต้องการการคุ้มครองยามเจ็บป่วย กลับถูกบอกเลิกสัญญาผู้เขียนได้มีโอกาสคุยกับ “ป้าประเทือง  พูลทั่วญาติ”  ก่อนจะคุยกันรู้เรื่องก็ได้เหนื่อย...กันเลยที่เดียว  คำพูดหนึ่งที่ป้าประเทืองพูดซ้ำหลายครั้งคือ  “ตอนนี้ใครมาชวนฉันซื้อประกัน ฉันจะด่ามันให้เจ๊ง..เลย.. ไม่เอาอีกแล้วประกันเนี่ย..มันเอาเปรียบ..ทีเงินเรามันจะเอา พอมันจะเสีย เสือก...บอกเลิกสัญญา” ดังนั้นเมื่อปัญหาคือบริษัทบอกเลิกสัญญา เมื่อผู้เอาประกันเริ่มเจ็บป่วย..    มันไม่น่าจะเป็นธรรม จึงลองหาข้อมูล  โดยโทรไปที่สายด่วน คปพ.(คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย) 1186   ก็ได้ข้อมูลมาว่า   การที่บริษัท บอกเลิกสัญญา กับผู้เอาประกันนั้น  ไม่ผิด บริษัทมีสิทธิบอกเลิกสัญญากับผู้ซื้อประกันได้ ทันทีที่บริษัทเห็นว่า “จะเกิดความเสี่ยงกับบริษัท”   โดยข้อกำหนดนี้เป็นไปตามกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ทั่วไปเขียนถึงตรงนี้ยิ่งรู้สึกรันทดใจ กับผู้ที่มาร้องเรียน   เพราะการโฆษณาไม่ได้บอกเหตุผลในการบอกเลิกสัญญา(มันผิด พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค  คือผู้บริโภคต้องได้รับข้อมูลที่ครบถ้วน) แต่ปัจจุบัน  มีแต่การโฆษณาชักจูง เพียงอย่างเดียว  เรื่องนี้ผู้เขียนได้หารือนอกรอบกับเลขา สคบ.คนปัจจุบัน  ถึงแนวทางการแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจัง      ว่าการทำสัญญาในลักษณะนี้   เข้าข่ายสัญญาเป็นสัญญาที่ไม่เป็นธรรม หรือไม่  ทำอย่างไรผู้บริโภคจะไม่ถูกหลอกลวงเช่นปัจจุบัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 148 ไฟใต้ดับ เหตุสุดวิสัยหรือไร้ประสิทธิภาพ

ไฟฟ้าดับเมื่อค่ำคืนของวันที่ 21 พฤษภาคม 2556 ถือเป็นเรื่องใหญ่มากๆ เพราะเป็นปัญหาไฟฟ้าดับทั่วทั้งภาคใต้ ครบถ้วนทั้ง 14 จังหวัดในค่ำคืนนั้นประชาชนที่อยู่อาศัยทางภาคใต้ต้องตระหนกอกสั่นกันถ้วนทั่ว โดยเฉพาะพี่น้องประชาชนที่อยู่ในสี่ห้าจังหวัดชายแดนภาคใต้ เมื่อพบว่าเมืองทั้งเมืองตกอยู่ในความมืดมิดโดยไม่มีใครรู้ถึงสาเหตุ หลายคนคิดเลิยเถิดว่าเป็นการก่อการร้ายครั้งใหญ่ของผู้ไม่หวังดีเลยทีเดียววันรุ่งขึ้น 22 พฤษภาคม 2556 นายสุทัศน์ ปัทมสิริวัฒน์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้เปิดเผยเป็นทางการว่า เมื่อเวลา 18.52 น. ของวันที่ 21 พฤษภาคม 2556 เกิดปัญหาไฟฟ้าดับในพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ เนื่องจากสายส่งไฟฟ้าแรงสูงเชื่อมโยงจากภาคกลางไปสู่ภาคใต้ช่วงจอมบึง-บางสะพาน 2 ขัดข้อง ทำให้ กฟผ. ไม่สามารถจ่ายไฟฟ้าจากภาคกลางสู่ภาคใต้ได้ผู้ว่าการ กฟผ. ได้ขยายรายละเอียดเพิ่มเติมว่า สายส่งที่จ่ายไฟฟ้าไปยังภาคใต้มี 4 เส้น คือ สายส่ง 500 KV จำนวน 2 เส้น และสายส่ง 230 KV จำนวน 2 เส้น โดยในช่วงเช้าเวลา 08.00 น. ของวันเกิดเหตุ กฟผ. ได้ปลดสายส่ง 500KV จำนวน 1 เส้น เพื่อทำการซ่อมบำรุง อย่างไรก็ตาม ในเวลา 17.26 น. สายส่ง 500 KV เส้นที่ 2 เกิดการชำรุดคาดว่าเกิดเนื่องจากฟ้าผ่า ทำให้ไม่สามารถจ่ายไฟฟ้าลงภาคใต้ได้ จึงจำเป็นต้องจ่ายไฟฟ้าผ่านสายส่งเส้น 230 KV ซึ่งมีขนาดเล็กกว่า ทำให้สายส่งจ่ายไฟฟ้าเกินกำลังส่งผลให้สายส่งหลุดจากระบบ ประกอบกับจากการที่ภาคใต้ไม่สามารถผลิตไฟฟ้าได้เพียงพอและต้องพึ่งพาการส่งไฟฟ้าจากภาคกลางผ่านสายส่งดังกล่าว โดยความต้องการใช้ไฟฟ้า ณ วันที่ 21 พ.ค. 2556 มีสูงถึง 2,200 เมกะวัตต์ ในขณะที่มีโรงไฟฟ้าภาคใต้เดินเครื่องอยู่ 1,600 เมกะวัตต์ ทำให้โรงไฟฟ้าอื่นในภาคใต้ อาทิ โรงไฟฟ้าขนอม โรงไฟฟ้าจะนะ และโรงไฟฟ้าเขื่อนรัชชประภา ถูกปลดออกจากระบบโดยอัตโนมัติเนื่องจากความถี่ไฟฟ้าลดลงต่ำกว่ามาตรฐาน 50 Hz (เฮิร์ต) เพื่อความปลอดภัยของโรงไฟฟ้ากฟผ. ได้เร่งแก้ไขสถานการณ์  ด้วยการผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าทุกโรงในภาคใต้อย่างเต็มกำลังการผลิต รวมทั้งยังเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าจากน้ำมันดีเซลที่ จ.สุราษฎร์ธานี และทางมาเลเซียได้ส่งไฟมาช่วยอีก 200 เมกะวัตต์ ทำให้สามารถจ่ายไฟให้ประชาชนได้ทั้งหมดเมื่อเวลา 23.00 น.ต่อมากระทรวงพลังงานได้จัดตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงในกรณีดังกล่าว ซึ่งได้มีผลสรุปออกมาเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2556 โดยนายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รมว.พลังงาน ได้เปิดเผยว่า คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง เห็นว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเหตุสุดวิสัย ซึ่งอยู่นอกเหนือการควบคุมของ กฟผ. เนื่องจากเจ้าหน้าที่การไฟฟ้าได้พยายามควบคุมการจ่ายไฟตามคู่มือปฏิบัติที่กำหนดไว้ทุกขั้นตอนแล้ว แต่ไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ สำหรับสาเหตุสรุปได้ 3 ประเด็น คือ 1.สายส่ง 500 เควี จอมบึง-บางสะพาน 2 วงจรที่ 2 ถูกปลดเพื่อบำรุงรักษาฉุกเฉิน (Unplanned) 2. เกิดฟ้าผ่าบนสายส่ง 500 เควี จอมบึง-บางสะพาน 2 วงจรที่ 1 และ 3. ระบบ HVDC ที่ กฟผ. รับไฟฟ้าจากประเทศมาเลเซียเกิดขัดข้องทำให้ระบบไฟฟ้าของภาคใต้ถูกแยกออกจากระบบไฟฟ้าหลักของประเทศ หลังจากนั้นก็เกิดไฟฟ้าดับทั้ง 14 จังหวัดในภาคใต้  ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นภายในระยะเวลาที่สั้นมาก คือประมาณ 5.2 วินาทีทั้งนี้ หลังเกิดเหตุการณ์ กฟผ. เริ่มทยอยนำสายส่งเชื่อมโยงระหว่างภาคกลางกับภาคใต้ ทั้งระบบ 500 เควี และ 230 เควี เข้าใช้งานตามลำดับ เพื่อใช้ในการเริ่มเดินเครื่องโรงไฟฟ้า สามารถเริ่มจ่ายไฟฟ้าให้กับสถานีไฟฟ้าแรงสูงหลังสวน จังหวัดชุมพรเป็นแห่งแรก ตั้งแต่เวลา 19.05 น. และสามารถทยอยจ่ายไฟฟ้าครบทุกสถานีไฟฟ้าแรงสูงในภาคใต้ของ กฟผ. ในเวลา 20.12 น. ซึ่งเจ้าหน้าที่ดำเนินการแก้ไขปัญหาตามคู่มือปฏิบัติที่กำหนดไว้ในทุกขั้นตอนขณะที่นายดิเรก ลาวัณย์ศิริ ประธานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) หรือเรกูเลเตอร์ กล่าวว่า การเกิดไฟฟ้าดับที่ภาคใต้ที่ผ่านมาถือเป็นเหตุสุดวิสัย ดังนั้นจึงไม่ต้องมีผู้รับผิดชอบ ส่วนความเสียหายที่เกิดจากการซื้อไฟฟ้าของมาเลเซียมาชดเชยชั่วคราว 380 เมกะวัตต์ คิดเป็นเงิน 13 ล้านบาทนั้น ต้องกลายเป็นภาระที่ประชาชนต้องแบกรับแทน โดยจะมาเกลี่ยเป็นค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (เอฟที) ในงวดถัดไป (ก.ย.-ธ.ค.2556) ซึ่งคิดเป็นค่าเอฟทีที่ประชาชนต้องจ่ายเพิ่มไม่ถึง 1 สตางค์ต่อหน่วย อย่างไรก็ตาม เรกูเลเตอร์ยังเหลือเงินค่าปรับที่เรียกเก็บจากหลายส่วนในหลายกรณีอีกกว่า 1,000 ล้านบาท ซึ่งทั้งหมดนี้จะนำมาเกลี่ยเป็นค่าเอฟทีของประชาชนในงวดหน้าทั้งหมด จบข่าว. ข้อค้นพบและข้อสังเกตแม้ว่าคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงของกระทรวงพลังงานจะมีผลสรุปว่าเป็นเหตุสุดวิสัย (สื่อบางสำนักบอกว่า เป็นผลสรุปที่เป็นไปตามคาด) แต่ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค มีข้อค้นพบและข้อสังเกตว่าปัญหาไฟฟ้าภาคใต้ดับทั่วทั้งภาคอาจไม่ใช่เหตุสุดวิสัย แต่จะเป็นความบกพร่องในการบริหารจัดการในการผลิตและการส่งไฟฟ้าหรือไม่นั้น ชวนมาร่วมพิจารณากัน สถานการณ์กำลังผลิตไฟฟ้า...ยืนยันว่า กำลังผลิตไฟฟ้าของภาคใต้มีเพียงพอต่อความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดของภาค ศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ ได้รวบรวมข้อมูลกำลังผลิตไฟฟ้าสำรองของภาคใต้ ทั้งจากเว็บไซต์ของ กฟผ. และกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงงาน และการยืนยันข้อมูลจาก อ.เดชรัต  สุขกำเนิด นักวิชาการที่ติดตามด้านกิจการไฟฟ้าอย่างใกล้ชิด พบว่า กำลังผลิตไฟฟ้าในภาคใต้มีทั้งหมด 2,494 เมกะวัตต์  ทั้งนี้ ยังไม่นับรวมกำลังไฟฟ้าจากสายส่งภาคกลาง 600 เมกะวัตต์ และจากมาเลเซีย 300 เมกะวัตต์ ซึ่งช่วยทำให้ระบบไฟฟ้ามีความมั่นคงขึ้น โดยเมื่อรวมกันแล้วจะมีกำลังไฟฟ้าสำรองทั้งหมด 3,394 เมกะวัตต์ เมื่อเทียบกับการใช้ไฟฟ้าสูงสุดของภาคใต้ที่ 2,424 เมกะวัตต์ ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2556  เมื่อเวลา 19.30 น.2. แม้ว่ากำลังผลิตไฟฟ้าของภาคใต้จะมีปริมาณที่เพียงพอต่อปริมาณการใช้ไฟฟ้าสูงสุดที่เคยเกิดขึ้นเมื่อเดือนเมษายน 2556 ตามที่กล่าวมา แต่นั่นก็เป็นเพียงตัวเลขและต้นทุนที่ประชาชนจ่ายผ่านค่าไฟฟ้าฐาน เพราะจากการรายงานของส่วนประชาสัมพันธ์ กฟผ. ผ่านเฟสบุ๊ค GG News และเอกสารประกอบการแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนของ กฟผ. ได้ให้รายละเอียดถึงโรงไฟฟ้าที่หยุดซ่อมทั้งตามแผนและซ่อมฉุกเฉิน รวมถึงปัญหาของสายส่งไฟฟ้าจากมาเลเซีย ทำให้ภาคใต้มีกำลังผลิตไฟฟ้าลดลงไปอย่างมากจนอยู่สถานะที่ไม่มั่นคง โดยก่อนเกิดเหตุการณ์ไฟดับโรงไฟฟ้าในภาคใต้มีการเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าหรือมีกำลังผลิตพร้อมจ่ายเพียง 1,662.2 เมกะวัตต์ หรือร้อยละ 67 ของกำลังผลิตติดตั้งทั้งหมดของภาคใต้ และเมื่อมีปริมาณการใช้ไฟฟ้าสูงสุดในแต่ละวันของภาคใต้ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 2,200 – 2,400 เมกะวัตต์ กฟผ. แก้ปัญหาด้วยการรับไฟฟ้าจากภาคกลางและจากมาเลเซียมาเสริม โดยก่อนเกิดเหตุการณ์ไฟดับได้รับไฟฟ้าจากภาคกลาง 430 เมกะวัตต์ และรับจากมาเลเซียเพียง 30 เมกะวัตต์  รายละเอียดของโรงไฟฟ้าภาคใต้ที่หยุดซ่อมทั้งตามแผนและนอกแผน รวมทั้งปัญหาระบบสายส่งจากมาเลเซีย มีดังนี้ 2.1            โรงไฟฟ้ากังหันก๊าซขนอม จ.นครศรีธรรมราช ปลดเครื่องบางส่วนออกจากระบบเพื่อซ่อมบำรุงตามแผนตั้งแต่วันที่ 14 เม.ย. - 13 มิ.ย. 56 กำลังไฟฟ้าที่ผลิตไม่ได้ 100 เมกะวัตต์ 2.2            โรงไฟฟ้าพลังความร้อนกระบี่ ปลดเครื่องออกจากระบบเพื่อทำการบำรุงรักษาตามแผน ตั้งแต่วันที่ 17 เม.ย. - 25 พ.ค. 56 กำลังผลิตไฟฟ้าหายไป 340 เมกะวัตต์ 2.3            โรงไฟฟ้ากังหันก๊าซสุราษฎร์ฯ ได้ปลดเครื่องออกจากระบบส่วนหนึ่ง เพื่อทำการบำรุงรักษาฉุกเฉิน เมื่อวันที่ 19 พ.ค. 56 เป็นต้นมา (ก่อนเกิดเหตุไฟดับเพียง 2 วัน)ทำให้กำลังผลิตไฟฟ้าหายไปราว 100 เมกะวัตต์ 2.4            โรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนบางลาง จ.ยะลา  จำนวน 1 หน่วยจาก 3 หน่วย ไม่พร้อมเดินเครื่อง ตั้งแต่วันที่ 2 พ.ค. 56 ทำให้กำลังผลิตไฟฟ้าหายไป 24 เมกะวัตต์ 2.5            การรับซื้อไฟฟ้าจากมาเลเซียผ่าน HVDC 300 เมกะวัต์และ HVAC 85 เมกะวัตต์ ไม่ได้รับเต็มที่ 385 MW ตามที่ทำสัญญาฯ โดยรับ-ส่งเพียงพลังไฟฟ้าขั้นต่ำคือ HVDC 30 MW เท่านั้นต่อเนื่องมาเป็นเวลาหลายวันแล้ว GG News ให้ข้อมูลว่าอาจเกิดจาก TNB หรือการไฟฟ้ามาเลเซีย แจ้ง Shortfall (กำลังผลิตไฟฟ้าพร้อมจ่ายไม่พอ) หรือไม่พร้อมขายให้ไทย… 2.6            รายงานของ กฟผ. และกระทรวงพลังงาน กล่าวถึงการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนขนาดเล็กเพียงแค่ 20.2 เมกะวัตต์เท่านั้น  โดยไม่ให้รายละเอียดว่า เหตุใดจึงไม่มีการรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าก๊าซชีวภาพและโรงไฟฟ้าชีวมวล ที่มีกำลังผลิตรวมกันกว่า 128 เมกะวัตต์ เข้ามาใส่ระบบไฟฟ้าของภาคใต้3. เมื่อสถานการณ์กำลังผลิตไฟฟ้าของภาคใต้ขาดความมั่นคง โดยสาเหตุหลักใหญ่มาจากมีโรงไฟฟ้าหยุดซ่อมเป็นจำนวนมาก ตามที่กล่าวมาในข้อ 2 ดังนั้น การถ่ายเทไฟฟ้าจากภาคกลางลงสู่ภาคใต้โดยอาศัยสายส่งไฟฟ้าขนาดใหญ่ จึงเป็นตัวช่วยสำคัญที่จะทำให้ระบบไฟฟ้าภาคใต้มีความมั่นคง โดยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา กฟผ. ได้ทำการปรับปรุงระบบสายส่งจาก 115 กิโลโวลต์เป็น 230 กิโลโวลต์ และเพิ่มสายส่งขนาด 500 กิโลโวลต์(KV) เข้ามาอีก 2 เส้น เพื่อให้สามารถถ่ายเทพลังงานไฟฟ้าภาคกลาง-ภาคใต้ได้ในปริมาณที่เพิ่มมากขึ้นตามความต้องการใช้  ดังนั้น การปลดและซ่อมสายส่งที่ลงสู่ภาคใต้ขนาด 500 กิโลโวลต์(KV) จำนวน 1 เส้น ในช่วงเช้าเวลา 08.00 น.ของวันที่ 21 พฤษภาคม 2556 โดยปล่อยกระแสไฟฟ้าเข้าสู่ระบบสายส่งเส้นใหญ่ที่เหลืออยู่โดยไม่มีมาตรการหรือแผนรองรับหากเกิดเหตุฉุกเฉินทั้งโดยมนุษย์หรือธรรมชาติ นับว่าเป็นการปฏิบัติการที่ประมาทเป็นอย่างยิ่ง ด้วยเหตุผลดังนี้ 3.1            เป็นที่ทราบกันดีว่า พื้นที่ภาคใต้มีเหตุการณ์ความรุนแรงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเคยมีการเผาหรือวางระเบิดระบบสายส่งเกิดเป็นข่าวอยู่บ่อยครั้ง 3.2            เคยมีประวัติเกิดข้อขัดข้องในระบบส่งไฟฟ้าอยู่บ่อยครั้ง จากรายงานประจำปี 2555 ของ กฟผ. ระบุว่า ในปี 2555 เกิดข้อขัดข้องในระบบส่งไฟฟ้า ทำให้เกิดไฟฟ้าดับด้วยสาเหตุต่างๆ ที่เป็น Forced Outage (สายส่งหลุดออกจากระบบ) รวม 73 ครั้ง โดยเป็นเหตุขัดข้องจากสายส่ง 14 ครั้ง 3.3            ที่ภาคใต้มีประวัติเคยเกิดเหตุการณ์ไฟดับใหญ่มาแล้ว จากรายงานประจำปี 2555 ของ กฟผ. ระบุว่า วันที่ 22 พฤษภาคม 2555 เวลา 15.56 น. เกิดเหตุการณ์ Partial Blackout (ไฟดับทั่วทั้งจังหวัดหรือทั้งภาค) ที่ภาคใต้ตอนล่างรวม 5 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดสงขลา ยะลา ปัตตานี นราธิวาส และสตูล รวมมีไฟดับทั้งหมด 641.4 เมกะวัตต์ นานที่สุด 26 นาที 3.4            แม้จะมีสายส่งไฟฟ้าขนาด 500 กิโลโวลต์เหลืออยู่ 1 เส้น และมีสายส่งไฟฟ้าขนาด 230 กิโลโวลต์เป็นตัวช่วย แต่สายส่งไฟฟ้าเส้นรองลงมานี้สามารถรับกระแสไฟฟ้าได้ไม่เกิน 400 เมกะวัตต์เท่านั้น จึงอาจมีปัญหาแรงดันที่แตกต่างกันได้ อีกทั้งไฟฟ้าที่ป้อนสู่ภาคใต้ในวันที่เกิดเหตุก็สูงกว่าคืออยู่ที่ 430-470 เมกะวัตต์4. เมื่อจะมีการซ่อมสายส่งไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่ภาคกลางและอาจทำให้ต้องลดกำลังส่งไฟฟ้าลงมาเพื่อความปลอดภัยของระบบสายส่งไฟฟ้า เหตุใด กฟผ. จึงไม่มีการเตรียมการรับซื้อไฟฟ้าจากมาเลเซียเพิ่มขึ้น กลับยังคงใช้ไฟฟ้าจากมาเลเซียเพียงแค่ 30 เมกะวัตต์ นับเป็นความเสี่ยงที่สำคัญอีกประการหนึ่ง เรื่องนี้การชี้แจงจากผู้เกี่ยวข้องยังไม่กระจ่าง  จากการตรวจสอบข้อมูลพบว่า ปัจจุบันมีการซื้อขายแลกเปลี่ยนพลังงานไฟฟ้าระหว่าง กฟผ. กับการไฟฟ้ามาเลเซีย (Tenaga Nasional Berhad : TNB) ภายใต้โครงการแลกเปลี่ยนไฟฟ้าผ่านจุดเชื่อมโยงไฟฟ้า 2 จุดด้วยกัน 4.1            ระบบส่งเชื่อมโยง HVAC จำนวน 85 เมกะวัตต์ เป็นการซื้อขายไฟฟ้าในลักษณะที่ทั้งสองฝ่ายตกลงทำข้อเสนอราคาขายไฟฟ้าล่วงหน้าเดือนต่อเดือนที่ 3 ระดับราคา คือ Price A (ราคาต่ำ) Price B (ราคาปานกลาง) และ Price C (ราคาสูง) ในช่วงที่เกิดเหตุ กฟผ. ไม่ได้ใช้จาก HVAC เลย 4.2            ระบบเชื่อมโยง HVDC ปริมาณซื้อขายสูงสุด 300 เมกะวัตต์ โดยเป็นการซื้อขายไฟฟ้าแบบ Non-Firm ในลักษณะ Bulk Energy โดยอัตรารับซื้อไฟฟ้าคิดเป็น Tier ในปริมาณ Tier ละ 25-30 ล้านหน่วย โดยจะมีราคาลดหลั่นลงตามลำดับ ทำให้การรับซื้อไฟฟ้าปริมาณมากมีราคาเฉลี่ยถูกลง แต่ปัจจุบันรวมถึงตอนที่จะปลดสายส่งเพื่อซ่อมบำรุงในวันที่เกิดเหตุ กฟผ. กลับรับซื้อเพียง 30 เมกะวัตต์เท่านั้น และเมื่อเกิดไฟฟ้าดับทั่วทั้งภาค กฟผ. ต้องย้อนกลับไปขอซื้อไฟฟ้าจากมาเลเซียอย่างฉุกเฉินทำให้ถูกคิดค่าไฟที่ราคาแพงมาก (บางแหล่งข่าวบอกว่าสูงถึง 16 บาท/หน่วย)   บทสรุปแม้ว่าคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงจะมีบทสรุปออกมาเรียบร้อยแล้วว่า เป็นเหตุสุดวิสัย ไม่ต้องมีใครรับผิดชอบ ไม่ว่าจะเป็นการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯหรือคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานในฐานะเรกูเลเตอร์ แต่ข้อค้นพบและข้อสังเกตที่กล่าวมาทั้งหมด จะเห็นว่าบทสรุปดังกล่าว ไม่มีการกล่าวถึง ความบกพร่องในการซ่อมระบบสายส่งไฟฟ้าเส้นหลักภาคกลาง-ภาคใต้ ที่ไม่มีมาตรการรองรับหากเกิดเหตุฉุกเฉินอย่างใดอย่างหนึ่งจากมนุษย์หรือจากธรรมชาติเลย  อีกทั้งยังชี้ให้เห็นจุดโหว่ในการจัดการปัญหาไฟฟ้าดับทั้งภาคหรือทั้งประเทศอย่างเด่นชัด ว่ายังมีความบกพร่องอยู่มากและห่างไกลจากการกล่าวอ้างในโฆษณาประชาสัมพันธ์ค่อนข้างมาก  ปัญหาเหล่านี้หากไม่มีการตรวจสอบแก้ไขกันอย่างจริงจังและจริงใจ แล้วพยายามไปแก้ไขด้วยการสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่มขึ้นที่ภาคใต้ แม้จะมีกำลังผลิตไฟฟ้าล้นเหลือแต่หากบริหารจัดการไม่ดี ปัญหาไฟฟ้าดับทั่วทั้งภาคหรือทั้งประเทศก็อาจเกิดขึ้นอีกได้ไม่ยากเย็นนัก  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 148 กระแสต่างแดน

ใครๆ ก็ไม่รักเด็ก ด้วยอัตราการเกิดที่ต่ำมากของญี่ปุ่น ทำให้เด็กๆ ที่นั่นกลายเป็น “ชนกลุ่มน้อย” ที่ผู้คนไม่ค่อยได้พบเห็นบ่อยนัก  และไม่ชินกับเสียงร้อง หรือเสียงหัวเราะเล่นกันของพวกเขา เด็กญี่ปุ่นยุคนี้จึงอยู่ยากขึ้นทุกวัน น่าประหลาดที่สังคมนิยมเสียงอย่างญี่ปุ่น -- เสียงปิ๊งป่องต้อนรับที่ร้านสะดวกซื้อ หรือเสียงตะโกนหา เสียงผ่านโทรโข่งตามสถานีรถไฟ – กลับรับเสียงเด็กๆ ไม่ได้ ข่าวบอกว่ามีเรื่องร้องเรียนเรื่องเด็กเสียงดังทุกวัน เดี๋ยวนี้ศูนย์รับเลี้ยงเด็กต้องสร้างกำแพงกั้นเสียงไม่ให้ไปรบกวนเพื่อนบ้าน และจำกัดเวลาที่เด็กจะเล่นในสนามไว้ที่วันละไม่เกิน 45 นาที และถ้าจะมีงานเทศกาลอะไรก็ตามที่มีผู้ร่วมงานเป็นเด็ก เขาก็จะนิยมจัดในอาคารกัน แทนที่จะจัดกลางแจ้งเหมือนเมื่อก่อน แม้แต่นักเรียนมัธยมต้นที่เคยซ้อมวิ่งพร้อมออกเสียงเพื่อสร้างความฮึกเหิม เดี๋ยวนี้ยังต้องเจียมเนื้อเจียมตนวิ่งกันไปเงียบๆ   ก่อนหน้านี้มีศูนย์เด็กเล็กแห่งหนึ่งถูกเพื่อนบ้านขี้รำคาญฟ้องร้องโทษฐานส่งเสียงดังรบกวน จึงต้องเสียค่าปรับเป็นเงิน 5 ล้านกว่าบาท ปัญหานี้ไม่ได้มีสาเหตุจากเรื่องอัตราการเกิดต่ำเท่านั้น แต่ยังหมายถึงความแออัดของที่อยู่อาศัยในเขตเมืองและเศรษฐกิจที่ค่อนข้างฝืดที่ทำให้ผู้สูงอายุใช้เวลาอยู่บ้านกันมากขึ้นด้วย กลุ่มคนรักเด็กให้ความเห็นว่า ผู้สูงอายุหรือคนที่ไม่มีลูกที่หงุดหงิดรำคาญเด็กๆ เหล่านี้หลงลืมกันไปหรือเปล่าว่าเด็กเหล่านี้คือแรงงานสำคัญของญี่ปุ่นในอนาคต พวกเขาจะต้องทำงานหนักขึ้นเพื่อจ่ายภาษีให้รัฐบาลนำมาเลี้ยงดูตนเอง ที่สำคัญค่าใช้จ่ายนี้กำลังเพิ่มสูงขึ้น เพราะประชากรในวัยทำงานมีจำนวนน้อยกว่าวัยสูงอายุ จากประชากรทั้งหมด 128 ล้านคนของญี่ปุ่น มีถึง 1 ใน 4 ที่อายุมากกว่า 65 ปี ในขณะที่เด็กวัยต่ำกว่า 14 ปีนั้นเป็นเพียงร้อยละ 13.2  ของประชากรเท่านั้น อัตราการเกิดของญี่ปุ่นนั้นอยู่ที่แม่ 1 คน ต่อเด็ก 1.39 คน อัตราเฉลี่ยของโลกอยู่ที่แม่หนึ่งคน ต่อเด็ก 2.52 คน และของประเทศไทยขณะนี้อยู่ที่ 1.6 คน ... เอ หรือว่าเราจะมีปัญหาเดียวกันในอนาคต   การเกษตรต้องมาก่อน ไม่แน่ใจว่าราคาไข่ที่มาเลเซียจะแพงเว่อร์เหมือนบ้านเราหรือเปล่า แต่ที่แน่ๆ โดยรวมแล้วอาหารที่มาเลเซียก็แพงเหมือนกัน สาเหตุของอาหารแพงนั้น องค์กรผู้บริโภค FOMCA ของเขาบอกว่าหลักๆ แล้วเป็นเพราะรัฐบาลไม่ค่อยสนับสนุนการลงทุนด้านการเกษตร จากที่เคยให้งบประมาณร้อยละ 22 เพื่อการพัฒนาการเกษตรในปี 1980 กลับลดเหลือเพียงร้อยละ 3.8 เท่านั้น เมื่อถึงปี 2007 และถ้าดูจากผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (GDP) แล้ว จะเห็นว่าสินค้าเกษตร ซึ่งเคยมีส่วนแบ่งถึงเกือบร้อยละ 23 แต่ในปี 1980 กลับลดเหลือเพียงแค่ร้อยละ 7.7 ในปี 2007 ผลก็คือมาเลเซียต้องพึ่งการนำเข้าวัตถุดิบอาหารมากขึ้น มูลค่าการนำเข้าในปี 2007 สูงถึงสองแสนกว่าล้านบาท เพิ่มขึ้นเป็นอีกเท่าตัวจาก 4 ปีก่อนหน้า FOMCA มีข้อเสนอให้รัฐให้ความช่วยเหลือกับเกษตรมากกว่านี้ และเรียกร้องให้รัฐมีแผนชัดเจนในการใช้พื้นที่ว่างเปล่าซึ่งมีถึง 34,300 เฮคตาร์ หรือสองแสนกว่าไร่ มาเพาะปลูกพืชไว้เพื่อการบริโภคในประเทศ แต่ปัจจัยที่ทำให้อาหารแพงยังรวมถึงปัจจัยระดับโลกนั่นคือ การจำนวนประชากรที่ไม่สมดุลกับปริมาณอาหารที่ผลิตได้ เพราะสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง ประกอบกับพื้นที่เพาะปลูกและแหล่งน้ำที่มีจำกัด นอกจากนี้มาเลเซียยังมีเรื่องของการผูกขาดในธุรกิจอาหาร ที่มีผู้เล่นน้อยราย จึงทำให้สามารถตั้งราคากันได้ตามใจชอบ และยังมีเรื่องของความยากลำบากในการขอใบอนุญาตทำกิจการอาหารอีกด้วย     ปฏิบัติการยึดบ้านบาร์บี้ เปิดตัวไปแล้วเมื่อกลางเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา สำหรับคฤหาสน์ในฝันของสาวบาร์บี้ที่ใช้ชื่อทางการค้าว่า Barbie The Dreamhouse Experience ที่เบอร์ลินตะวันออก ใกล้ๆ กับย่านช้อปปิ้งของเมือง โดยแห่งแรกเปิดตัวไปก่อนหน้านั้นเมื่อต้นเดือนพฤษภาคมที่เมืองไมอามี รัฐฟลอริด้า คฤหาสน์สีชมพูหลังนี้มีพื้นที่ประมาณ 2,500 ตารางเมตร ตั้งอยู่ระหว่างทางรถไฟและตึกแถวยุคคอมมิวนิสต์ การตกแต่งภายในและเฟอร์นิเจอร์ทุกอย่างก็เป็นสีชมพูเพื่อเอาใจเด็กผู้หญิงที่สามารถเข้าไปอบคัพเค้ก เข้าตู้เสื้อผ้าแบบวอล์คอิน หรือจะนั่งชิลในห้องนั่งเล่นสีชมพูก็ไม่ว่ากัน งานนี้ไม่ได้มีแต่คนชื่นชม กลุ่มต่อสู้เพื่อสิทธิสตรีออกมาต่อต้านการเปิดตัวของคฤหาสน์แห่งนี้ บ้างก็รับไม่ได้กับการส่งเสริมความงามที่ฉาบฉวยและไม่เป็นจริงให้กับพวกเด็กๆ บ้างก็บอกว่ามันเป็นเรื่องน่าเศร้าที่เด็กๆ ต้องเล่นกับตุ๊กตาที่เป็นโรคขาดอาหาร ที่มีชีวิตอยู่เพื่อนั่งรอชายหนุ่มชื่อเคนอยู่ในรถเปิดประทุน ว่าแล้วก็ชักชวนผู้คนที่ไม่เห็นด้วยกับการปลูกฝังแนวคิดให้เด็กผู้หญิงเป็นอย่างบาร์บี้ มาเข้าร่วมกระบวนการ Occupy Barbie Dreamhouse ซึ่งขณะนี้มีสมาชิกแล้ว 1,000 คน ทางด้านบริษัท Mattel ผู้ผลิตตุ๊กตาบาร์บี้ออกมายืนยันว่าเขาได้ปรับภาพลักษณ์ของบาร์บี้แล้ว นอกจากบาร์บี้ในชุดบิกินี่แล้ว เด็กๆ สามารถซื้อบาร์บี้ที่เป็นศัลยแพทย์ หรือบาร์บี้ที่สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีด้วย เผื่อคุณอยากทราบ คฤหาสน์ที่ว่ามีอัตราค่าเข้าชมดังนี้ สำหรับผู้ใหญ่ (14 ปีขึ้นไป) ค่าเข้าชม 15 ยูโร หรือประมาณ 600 บาท  เด็กระหว่าง 4 ถึง 13 ปี 12 ยูโร หรือประมาณ 480 บาท  หรือจะเป็นแพคเก็จครอบครัว (ผู้ใหญ่ 2 คน เด็กไม่เกิน 3 คน) ก็ 49 ยูโร หรือประมาณ 2,000 บาท แต่ถ้าลูกของคุณอยากจะลองประสบการณ์การเดินแบบบนแคทวอล์ค หรือขึ้นเวทีเป็นซุปตาร์ ก็จ่ายเพิ่มอีกประสบการณ์ละ 10 ยูโร หรือประมาณ 400 บาท ควรมิควรก็แล้วแต่ผู้ปกครองจะพิจารณา ...     มาตรการลดขยะ เดือนมิถุนายนนี้ เกาหลีใต้เริ่มใช้กฎระเบียบใหม่เพื่อเป็นการลดปริมาณขยะอาหาร ด้วยการคิดค่าบริหารจัดการขยะอาหารจากครัวเรือนและร้านอาหาร โดยเริ่มจาก 129 เทศบาลก่อน แต่ข่าวบอกว่าสิ้นปีนี้จะครอบคลุมทั้งหมด 144 เขต กระทรวงสิ่งแวดล้อมเขาประเมินแล้วว่า ระบบนี้จะช่วยประหยัดเงินของรัฐในการจัดการขยะที่เป็นอาหารสดได้ถึง 160,000 ล้านวอน (4,400 ล้านบาท) แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือเขาตั้งเป้าว่าจะต้องลดขยะอาหารทั่วประเทศลงให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 20 ทั้งนี้เพราะโครงการนำร่องที่ทดลองทำไปก่อนหน้านี้สามารถลดปริมาณขยะลงได้ถึงร้อยละ 28.7 เรียกว่าสามารถทำให้แต่ละครัวเรือนมีขยะอาหารเหลือทิ้งเพียงแค่วันละ 620 กรัมเท่านั้น แต่ร้านอาหารอาจต้องรับภาระหนักหน่อย เพราะมีขยะมากกว่าบ้านเรือนธรรมดา แต่กระทรวงสิ่งแวดล้อมบอกว่าให้ถือเป็นโอกาสดีที่ทางร้านจะได้คิดหาไอเดียการปรุงอาหารให้เกิดของเหลือทิ้งน้อยที่สุด ระบบการคิดเงินขยะอาหารนั้นมีอยู่ 3 ระบบ ข่าวบอกว่าแบบที่นิยมมากที่สุดคือการซื้อสติ๊กเกอร์ ดวงละ 41 วอน (1 บาทกว่าๆ) สำหรับขยะ 1 ลิตร แบบที่สองเป็นระบบไฮเทค RFID ที่จะชั่งน้ำหนักตามจริงเมื่อเรานำไปทิ้งในถังที่รัฐจัดไว้ให้ สนนราคาแพงขึ้นมาอีกนิดที่ลิตรละ 42 วอน หรือใครจะชอบแบบที่สาม คือการซื้อถุงขยะ (ซึ่งเขารวมค่าจัดการขยะไปแล้ว) มาใช้ก็ได้     กลัวไม่มีคู่แข่ง ซุปเปอร์มาร์เก็ตวูลเวิร์ธมีอันต้องเซ็งเป็ด เพราะคณะกรรมการการแข่งขันและการคุ้มครองผู้บริโภคแห่งออสเตรเลียไม่อนุญาตให้เปิดสาขาเพิ่มในเขตเกลนมอร์ ริดจ์ ทางตะวันตกของเมืองซิดนีย์ โดยให้เหตุผลว่ามีวูลเวิร์ธอยู่แล้วหนึ่งสาขาในเขตดังกล่าว และในเขตเพนริธที่อยู่ติดกันก็มีห้างวูลเวิร์ธอยู่แล้วเช่นกัน ดังนั้นจึงไม่อนุญาตให้วูลเวิร์ธมาเปิดสาขาเพิ่มในเมืองนี้ จนกว่าจะมีห้างอื่นมาเปิดเพื่อเป็นตัวเลือกให้ผู้บริโภค ซึ่งตามข่าวบอกว่าเร็วที่สุดก็คงต้องเป็นปีหน้า ที่จะมีห้าง Aldi มาเปิดในเขตนี้ ทั้งนี้เขาสกัดตั้งแต่ตอนที่วูลเวิร์ธทำเรื่องขออนุญาตซื้อที่ดินเพื่อก่อสร้างห้าง คณะกรรมการดังกล่าวทำหน้าที่ดูแลไม่ให้เกิดการผูกขาด เพราะมันหมายถึงการทำให้สินค้าราคาแพงขึ้นและทำให้ผู้ผลิตไม่มีความจำเป็นต้องสร้างทางเลือกใหม่ให้กับผู้บริโภค ก่อนหน้านี้เขาก็สกัดบริษัทอาหารยักษ์ใหญ่อย่างไฮนซ์ ไม่ให้เข้ามาซื้อกิจการของบริษัทสัญชาติออสซี่ ซึ่งเป็นผู้ผลิตอาหารสำหรับเด็กทารก ยี่ห้อ Rafferty’s Garden มาแล้ว โดยให้เหตุผลว่า การควบรวมกิจการดังกล่าวจะทำให้บริษัทไฮนซ์ครอบครองถึงร้อยละ 80 ของตลาดอาหารเด็กทารก และร้อยละ 70 ของซีเรียลและขนมกรุบกรอบในออสเตรเลีย เข้มจุงเบย ... ไม่เหมือนบางที่ ใครจะซื้อใครเขาก็เฉยๆ นะ   //

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 148 กระแสในประเทศ

ประมวลเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม 2556 “รถคันแรก” เริ่มมีปัญหา โครงการรถยนต์คันแรกเริ่มส่งสัญญาณของปัญหา เมื่อสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ออกมายอมรับว่าตอนนี้ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับรถยนต์มียอดร้องเรียนเข้ามาเป็นอันดับ 1 ส่วนใหญ่เป็นเรื่องเกี่ยวกับสัญญา ทั้งการจองรถแล้วไม่ได้รถตามกำหนด การเรียกยึดรถอย่างไม่เป็นธรรม รวมทั้งความล่าช้าในการส่งมอบรถและคืนเงินในโครงการรถคันแรก กรณีผู้ซื้อรถรอระยะเวลาการส่งมอบรถยนต์ไม่ไหว จึงต้องการขอยกเลิกสัญญาและขอเงินจองคืน ซึ่งมีประชาชนร้องเรียนเข้ามาจำนวนมาก สคบ. ได้รับเรื่องและขอระยะเวลาเจรจากับบริษัทรถยนต์อีกครั้ง เชื่อว่า จะสามารถเจรจาแก้ไขระหว่าง 2 ฝ่ายได้ ส่วนกรณีผู้ซื้อรถยนต์ต้องการขอยกเลิกสัญญาและขอเงินจองคืนด้วยเหตุผลอาจจะผ่อนส่งไม่ได้ หรือไม่ต้องการรถ ตามกฎหมายผู้รับจองมีสิทธิยึดเงินจองได้ เช่นเดียวกับกรณีผู้แทนจำหน่ายรถยนต์มีรถยนต์พร้อมส่งมอบแล้ว แต่ผู้ซื้อไม่ไปรับรถตามสัญญา ผู้แทนจำหน่ายมีสิทธิยึดเงินจองคืนได้ไม่ผิดกฎหมาย นอกจากนี้ สคบ. ฝากเตือนคนที่ซื้อรถอย่าขาดส่งค่างวดติดต่อกันเกิน 3 งวด มีสิทธิ์ถูกยึดรถ และถ้าเข้าร่วมโครงการรถคันแรก ผู้ซื้อยังต้องคืนเงิน 100,000 บาทให้กับรัฐด้วย     เครื่องไฟฟ้าต้องติดฉลาก ประหยัดไฟจริงไม่จริง สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค หรือ สคบ.เตรียมออกประกาศคณะกรรมการว่าด้วยฉลาก ควบคุมให้ผู้ประกอบการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าต้องแสดงรายละเอียดค่าประสิทธิภาพการใช้พลังงานของเครื่องใช้ไฟฟ้าว่าแต่ละชนิดใช้พลังงานเท่าไหร่ ประหยัดมากน้อยเพียงใด หลังจากที่ผ่านมาได้หารือกับกระทรวงพลังงาน และผู้ประกอบการเครื่องใช้ไฟฟ้า พบว่าปัจจุบันผู้ประกอบการส่วนใหญ่ได้แสดงฉลากประหยัดไฟเพียงเบอร์ 5 อย่างเดียว แต่เบอร์อื่น ๆ ไม่ได้แสดงให้ผู้บริโภครับทราบ ดังนั้นเพื่อไม่ให้เป็นการเอาเปรียบ และแสดงความชัดเจนให้ผู้บริโภคตัดสินใจเลือกซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าแต่ละชนิดได้อย่างเป็นธรรม จึงจำเป็นต้องออกกฎหมายควบคุม คาดว่าจะมีผลบังคับใช้ได้ภายในกลางเดือน มิ.ย.นี้ การแสดงฉลากประหยัดไฟครั้งใหม่นี้ ผู้ประกอบการจะต้องแสดงรายละเอียดของเครื่องใช้ไฟฟ้าแต่ละประเภทให้ชัดเจน โดยใช้ข้อมูลจริงที่กระทรวงพลังงานตรวจสอบเครื่องใช้ไฟฟ้าว่ามีค่าการใช้พลังงานอยู่ที่เท่าใด จากนั้นจึงกำหนดว่า เครื่องใช้ไฟฟ้าชนิดนั้น สมควรที่จะติดฉลากประหยัดไฟเบอร์ใด เพื่อแสดงเป็นข้อมูลให้กับผู้บริโภค     อย.ไม่ให้ขาย “ชาเจสันวินเทอร์ที” สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. ตรวจพบผลิตภัณฑ์ ชาเจสันวินเทอร์ที (Jason Winters Tea) ซึ่งนำเข้าโดย บริษัท เอส-คลาส อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด มีส่วนประกอบที่ไม่ปลอดภัยในการบริโภค คือ Special spice, Red clover และ Chaparral ซึ่งเป็นส่วนประกอบของอาหารใหม่ที่ต้องผ่านการประเมินความปลอดภัย เพราะอาจมีความเสี่ยงที่จะเกิดพิษต่อตับ นอกจากนี้ ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวยังแสดงชนิดของส่วนประกอบไม่ตรงตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 280) พ.ศ. 2547 เรื่อง ชาสมุนไพร จึงเข้าข่ายเป็นอาหารปลอม แสดงฉลากลวงทำให้ผู้ซื้อเข้าใจผิด ซึ่งถือว่าไม่ปลอดภัยในการบริโภค อย.จึงได้ยกเลิกเลขสารบบอาหารผลิตภัณฑ์ชาเจสันวินเทอร์ทีดังกล่าว มีผลทำให้ผู้นำเข้าต้องหยุดการนำเข้าผลิตภัณฑ์ทันที และให้เก็บผลิตภัณฑ์ออกจากท้องตลาด และขอให้ร้านค้าที่มีผลิตภัณฑ์ดังกล่าวจำหน่าย เร่งส่งคืนผลิตภัณฑ์ไปยังผู้นำเข้า หากพบว่ายังมีการลักลอบจำหน่ายผลิตภัณฑ์ดังกล่าว อย. จะดำเนินการทางกฎหมายต่อไป     คนใช้ทางด่วนเตรียมจ่ายเงินเพิ่ม คณะกรรมการการทางพิเศษ(กทพ.)  เตรียมขึ้นค่าผ่านทางพิเศษเฉลิมมหานคร(ทางด่วนขั้นที่ 1) ทางพิเศษศรีรัช(ทางด่วนขั้นที่ 2) ทางพิเศษบูรพาวิถี(บางนา-ชลบุรี) และทางพิเศษอุดรรัถยา(บางปะอิน-ปากเกร็ด) ตั้งแต่ 5-10 บาท เริ่ม 1 กันยายนนี้เป็นต้นไป ทั้งนี้ การปรับอัตราค่าผ่านทางพิเศษเป็นไปตามสัญญาโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 2 ซึ่งกำหนดให้วันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2541 และทุกระยะเวลา 5 ปี นับจากนั้น ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการปรับอัตราค่าผ่านทางมาแล้ว 3 ครั้ง ในปี พ.ศ. 2541, 2546 และ 2551 สำหรับอัตราค่าผ่านทางใหม่ ของโครงข่ายในเขตเมือง (ทางพิเศษเฉลิมมหานคร : ดินแดง-ท่าเรือ, บางนา-ท่าเรือ, ดาวคะนอง-ท่าเรือ, ทางพิเศษศรีรัช ส่วน A และ B : พญาไท-พระราม 9, พญาไท-บางโคล่) จะปรับอัตรา ค่าผ่านทางสำหรับรถ 4 ล้อ จากเดิม 45 บาท เป็น 50 บาท รถ 6-10 ล้อ จากเดิม 70 บาท เป็น 75 บาท และรถมากกว่า 10 ล้อ จากเดิม 100 บาท เป็น 110 บาท ตามลำดับ ส่วนโครงข่ายนอก เขตเมือง (ทางพิเศษศรีรัช ส่วน C และ D) จะปรับเฉพาะทางพิเศษศรีรัช ส่วน D (ถนนพระราม 9-ถนนศรีนครินทร์) สำหรับ รถ 6-10 ล้อ จากเดิม 50 บาท เป็น 55 บาท และรถมากกว่า 10 ล้อ จากเดิม 70 บาท เป็น 75 บาท ตามลำดับ โดยรถ 4 ล้อ ยังไม่ปรับราคา สำหรับทางพิเศษอุดรรัถยาและทางพิเศษบูรพาวิถี จะพิจารณาตามหลักเกณฑ์และสัญญาที่เกี่ยวข้อง     คนไทยป่วยโรคความดันเพิ่มขึ้น 5 เท่า มีข้อมูลจากกรมควบคุมโรค พบสถานการณ์ผู้ป่วยความดันโลหิตสูงเข้ารับการรักษาในสถานบริการสาธารณสุขของกระทรวงสาธารณสุขมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเกือบ 5 เท่าตัว ตลอดช่วงปี 2544-2554 ที่ผ่านมา ซึ่งโรคความดันโลหิตสูงส่งผลกระทบรุนแรงต่อสุขภาพ ทำให้เส้นเลือดแดงแข็งขึ้น ลดความเร็วการไหลเวียนเลือดและออกซิเจนไปสู่หัวใจ เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคไม่ติดต่ออื่นๆ เช่น โรคหัวใจขาดเลือด หัวใจล้มเหลว หลอดเลือดสมองแตก/ตีบ โรคเบาหวาน และโรคไตวาย กลุ่มเสี่ยงโรคความดันโลหิตสูง คือ ผู้ที่ชอบบริโภคอาหารรสเค็ม บริโภคผักผลไม้น้อย คนอ้วน ไม่ออกกำลังกาย ผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์มาก สูบบุหรี่ หรือสูดดมควันบุหรี่มือสอง และผู้มีความเครียดเรื้อรังที่จัดการไม่ได้ สำหรับผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง สามารถสังเกตอาการผิดปกติได้ดังนี้ เจ็บแน่นหน้าอกเหมือนมีอะไรมากดทับ หายใจลำบาก บวมปลายมือปลายเท้า หรือมีอาการเหล่านี้เกิดขึ้นอย่างทันทีทันใด ได้แก่ ปากเบี้ยว แขน ขาอ่อนแรงหรือชาครึ่งซีก ตามองไม่ชัด มีปัญหาด้านการพูด ถ้าหากหมดสติต้องรีบนำส่งโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุดไม่เกิน 3 ชั่วโมง จะช่วยรักษาชีวิตและสามารถฟื้นฟูกลับมาเป็นปกติได้หรือใกล้เคียงคนปกติมากที่สุด //

อ่านเพิ่มเติม >