ฉบับที่ 147 ยกเลิกคอร์สทำหน้าแล้ว แต่บัตรเครดิตยังเรียกเก็บเงิน

ขอความกรุณาช่วยแนะนำด้วยค่ะได้ทำเรื่องยกเลิกคอร์สทำหน้ากับคลินิกแห่งหนึ่ง(ยังไม่เคยไปใช้บริการเลยค่ะ) จ่ายไปจำนวนเงิน 30,000 บาทเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2555 ทางเจ้าหน้าที่ของคลินิกได้ออกเอกสารทำเรื่องคืนเงินเข้าบัตรมาให้ 2 ฉบับและดิฉันได้ไปทำเรื่องขอปฏิเสธการชำระเงินพร้อมกับแนบเอกสารที่คลินิกออกให้กับดิฉันให้ทางธนาคารด้วย  แต่พอใกล้ ๆ สิ้นเดือนตุลาคม มีจดหมายใบแจ้งหนี้ยอดบัตรเครดิตส่งมาให้ โทรสอบถามกับเจ้าหน้าที่ของธนาคารก็ได้รับคำตอบว่าในระหว่างดำเนินการตรวจสอบยอดจำนวนเงินที่ขอปฏิเสธการชำระไว้ ดิฉันต้องจ่ายเงินที่รูดไปให้กับทางธนาคารก่อน  ระยะเวลาในการตรวจสอบอาจนานถึง 120 วันดิฉันอยากจะถามว่าทำไมต้องตรวจสอบนานมากขนาดนั้นด้วยคะ ทั้ง ๆ ที่ดิฉันก็มีเอกสารที่ทางร้านค้าให้เป็นหลักฐานในการคืนเงินเข้าบัตรเครดิตแล้ว แล้วถ้าเกิดว่าทางร้านค้าไม่ยอมคืนเงินให้ดิฉันจะทำอย่างไรได้บ้าง โทรไปสอบถามกับทางธนาคารหลายทีแล้วว่าเรื่องได้ดำเนินการไปถึงไหนแต่ก็ไม่ได้รับคำตอบที่เป็นประโยชน์เลยค่ะ ดูเหมือนทางธนาคารจะไม่สนใจไม่ยอมช่วยเหลืออะไรดิฉันเลย กลุ้มใจมากค่ะ อยากขอความช่วยเหลือ ขอคำแนะนำด้วยนะคะ แนวทางแก้ไขปัญหาคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคได้ประกาศให้ ธุรกิจบัตรเครดิตเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา ซึ่งมีผลบังคับใช้มาตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2543 ในกรณีที่มีการชำระค่าสินค้าหรือค่าบริการผ่านทางบัตรเครดิต แล้วผู้บริโภคเกิดเปลี่ยนใจไม่ต้องการที่จะซื้อสินค้าหรือบริการนั้นอีกต่อไปและทางผู้ให้บริการยินดียกเลิกสัญญาการใช้บริการโดยไม่มีเงื่อนไข จึงถือว่าผู้บริโภคไม่ได้เป็นผู้ขอรับบริการอีกต่อไปประกาศฉบับนี้ได้ให้ความคุ้มครองกับผู้บริโภคในกรณีดังกล่าว ด้วยการบังคับให้บัตรเครดิตต้องมีข้อสัญญาว่า ถ้าผู้บริโภคทักท้วงว่าไม่ได้เป็นผู้สั่งซื้อสินค้าหรือไม่ได้เป็นผู้ขอรับบริการ จากผู้ขายหรือผู้ให้บริการดังกล่าว ผู้ประกอบธุรกิจจะระงับการเรียกเก็บเงินจากผู้บริโภคทันที หรือในกรณีที่เรียกเก็บเงินไปแล้วจะคืนเงินให้กับผู้บริโภคทันที เว้นแต่ผู้ประกอบธุรกิจจะพิสูจน์ได้ว่าภาระหนี้ที่เกิดขึ้นเป็นการกระทำของผู้บริโภคเองและใช้สิทธิเรียกคืนจากผู้บริโภคในภายหลังดังนั้น เมื่อผู้บริโภคได้ทักท้วงไปยังธนาคารที่ออกบัตรเครดิตว่า ไม่ได้เป็นผู้ขอรับบริการจากทางคลินิกแล้ว เมื่อธนาคารรับทราบแล้ว จะต้องปฏิบัติตามสัญญาควบคุมของคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้วยการระงับการเรียกเก็บเงินจากผู้บริโภคทันที หากมีการเรียกเก็บเงินไปแล้วก็จะต้องคืนให้กับผู้บริโภคทันทีเช่นกัน หากมิได้ดำเนินการโดยทันที ผู้บริโภคมีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากธนาคารได้ โดยอาจเทียบเคียงจากเบี้ยปรับการชำระเงินล่าช้าที่ธนาคารเรียกเก็บก็ได้นอกจากนี้ ประกาศฉบับดังกล่าว ยังให้ความคุ้มครองในสิทธิของผู้บริโภคในการยกเลิกการซื้อสินค้าหรือรับบริการอีกด้วย ด้วยการออกข้อบังคับให้สัญญาบัตรเครดิตต้องมีเงื่อนไขที่จะไม่ตัดสิทธิของผู้บริโภคที่จะขอยกเลิกการซื้อสินค้าหรือรับบริการภายในระยะเวลา 45 วัน นับตั้งแต่วันที่สั่งซื้อหรือขอรับบริการ หรือภายในระยะเวลา 30 วัน นับตั้งแต่วันถึงกำหนดการส่งมอบสินค้าหรือบริการ ในกรณีที่มีการกำหนดระยะเวลาส่งมอบสินค้าหรือบริการเป็นลายลักษณ์อักษร ถ้าผู้บริโภคพิสูจน์ได้ว่าไม่ได้รับสินค้า หรือไม่ได้รับบริการ หรือได้รับแต่ไม่ตรงตามกำหนดเวลาหรือได้รับแล้วแต่ไม่ครบถ้วน หรือชำรุดบกพร่อง หรือไม่ถูกต้องตรงตามวัตถุประสงค์โดยผู้ประกอบธุรกิจจะระงับการเรียกเก็บเงินจากผู้บริโภค หรือในกรณีที่เรียกเก็บเงินไปแล้ว ถ้าเป็นการสั่งซื้อสินค้าหรือบริการภายในประเทศ จะคืนเงินให้กับผู้บริโภคภายในระยะเวลา 30 วัน นับตั้งแต่วันที่ผู้บริโภคแจ้ง ถ้าเป็นการสั่งซื้อสินค้าหรือบริการจากต่างประเทศ จะคืนเงินให้กับผู้บริโภคภายในระยะเวลา 60 วัน นับตั้งแต่วันที่ผู้บริโภคแจ้ง  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 147 ตีค่าราคามนุษย์ เยียวยาความเสียหายหรือเอาเงินฟาดหัว?

วันที่ 17 เมษายน 2556 วันสุดท้ายของโครงการ 7 วันอันตราย ตามนโยบายของรัฐบาลบนถนนสายหนึ่งในกรุงเทพมหานคร  หนุ่มสาวยังคงสนุกสนานกับการเล่นน้ำ ยิ่งรถติดยิ่งสนุกโครม!! เสียงรถเมล์สาย 15 ชนกับท้ายรถยนต์คันหนึ่ง แต่ไม่รุนแรงมากนัก ไม่มีใครได้รับบาดเจ็บ จึงมีการถ่ายผู้โดยสารจากรถเมล์ที่เกิดอุบัติเหตุมายังรถเมล์สายเดียวกันที่แล่นตามมา เมื่อรวมผู้โดยสารทั้งหมดมาอยู่ในคันเดียวกัน ทำให้เกิดความแออัดยัดเยียดเบียดกันมาถึงบริเวณด้านหน้ารถติดคนขับ“ผู้โดยสารด้านหน้าช่วยเขยิบด้วยครับ ผมมองกระจกข้างไม่เห็น” เสียงลุงคนขับรถเมล์ตะโกนบอกแต่ด้วยเสียงเครื่องยนต์ที่ดังทำให้ผู้โดยสารคนนั้นไม่ได้ยิน ลุงคนขับจึงขยับตัวเอื้อมมือไปสะกิดผู้โดยสารคนที่ยืนบังกระจกมองข้าง โดยที่รถยังแล่นด้วยความเร็ว และเรื่องไม่คาดคิดก็เกิดขึ้นโครม!!! ลุงคนขับล้มลง ทำให้มือที่จับพวงมาลัยอยู่นั้น หักเข้าชนต้นไม้ข้างทางเข้าอย่างจัง ผู้โดยสารได้รับบาดเจ็บกว่า 20 รายวันที่ 23 เมษายน 2556 บริษัทประกันภัยที่รับทำประกันไว้กับรถเมล์คันที่เกิดเหตุ ได้นัดผู้โดยสารที่ได้รับบาดเจ็บมาเจรจาค่าเสียหาย วันนั้นเป็นวันธรรมดาผู้บาดเจ็บแต่ละคนต้องลางานมา  เมื่อผู้จัดการบริษัทประกันภัยมาถึง“เอ้า .. ใครก่อนดีครับ?” ผู้จัดการบริษัทประกันภัยตะโกนร้องเรียกเหมือนมาแจกของที่โรงทาน“ชั้นก่อนละกัน เดี๋ยวต้องรีบไปเปิดร้านขายของต่อ” หญิงคนหนึ่งยกมือแสดงตัว “300 พอมั้ย” ผู้จัดการคนนั้นเสนอตัวเลข โดยไม่ถามถึงความเสียหาย หรืออาการบาดเจ็บเลยแม้แต่น้อย“บ้าเหรอ  300  ชั้นหน้าบวมปูดไปตั้งหลายวันนะ ไปทำงานก็ไม่ได้ ชั้นมีใบเสร็จนะ”“ใบเสร็จนี้มันใช้ไม่ได้ มันไม่ได้ลงวันที่ .. เอางี้ ผมให้ 1,000 บาท จบเรื่องเลย ถือว่าผมช่วยละกัน” ผู้จัดการคนเดิมตอบ“ 1,000 ก็ได้ ชั้นกลัวเสียเวลา” หญิงคนนั้นตอบเมื่อตกลงตัวเลขเงินค่าเสียหายกันได้ด้วยวิธีแบบที่ว่ามา ผู้จัดการบริษัทประกันภัย จะส่งเรื่องให้ลูกน้องอีก 2-3 คน ดำเนินการเรื่องการประนีประนอมยอมความ และจัดการให้ผู้เสียหายแต่ละรายลงลายมือชื่อยอมให้รับเงินและไม่ติดใจเอาความทางคดีทั้งแพ่งและอาญาต่อไป จากนั้นผู้จัดการบริษัทประกันภัยก็ทำสิ่งที่เรียกว่า การเจรจาเพื่อเยียวยาความเสียหายแก่ผู้บาดเจ็บ” แบบเดิมซ้ำๆ จนครบทั้ง 20 คนคำถามคือ มาตรฐานการชดเชยเยียวยาของประกันภัยในอุบัติเหตุรถโดยสารอยู่ตรงที่ไหน? อยู่ที่ความเขี้ยวของตัวแทนประกัน หรือควรอยู่บนที่ตั้งแห่งความเสียหายที่เกิดขึ้น แนวทางแก้ไขปัญหาดร.สุเมธ  องกิตติกุล  แห่งสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(ทีดีอาร์ไอ) ได้ทำการศึกษา “อุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะ : ผลกระทบ การประกันภัย การชดเชยเยียวยา” ร่วมกับ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และ ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน ได้เปิดเผยว่า การชดเชยเยียวยาต่อผู้ประสบอุบัติเหตุจากระบบประกันภัยนั้นพบว่า วงเงินค่าเสียหายยังไม่มีความเหมาะสมเท่าที่ควรนอกจากนั้น ยังพบปัญหาการขาดการเชื่อมโยงระหว่างบริษัทประกัน ผู้ประกอบการ และผู้ประกอบการที่ถือใบอนุญาตอย่างบริษัท ขนส่ง จำกัด(บขส.) และองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ(ขสมก.)  และบทบาทของบริษัทประกันมีอยู่น้อยในการสร้างระบบตรวจสอบ และป้องกันการเกิดอุบัติเหตุรถโดยสารจากการกำหนดเบี้ยประกัน ดังนั้นจึงเสนอให้มีการกำกับดูแลผู้ประกอบการ ทั้งผู้ประกอบการที่ถือใบอนุญาตและผู้ประกอบการที่ร่วมบริการอย่างเข้มงวด รวมถึงให้เข้มงวดในการให้ใบอนุญาตที่พิจารณาถึงประวัติด้านอุบัติเหตุด้วย นอกจากนี้ยังต้องสร้างกลไกของบริษัทประกันภัยในการกำหนดเบี้ยที่สะท้อนความเสี่ยงของผู้ประกอบการแต่ละรายด้วยนอกจากนี้ ดร.สุเมธได้เสนอให้มีการปรับปรุงเงินชดเชยเยียวยาความเสียหายสำหรับ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 หรือประกันภัยภาคบังคับที่รถยนต์ทุกคันต้องทำ โดยให้ความคุ้มครองค่ารักษาพยาบาลจากไม่เกิน 15,000 บาท เพิ่มเป็นไม่เกิน 150,000 บาท ส่วนค่าชดเชยกรณีเสียชีวิตหรือทุพพลภาพอย่างถาวร ให้กับจาก 200,000 บาทเพิ่มขึ้นเป็น 400,000 บาท และหากสูญเสียอวัยวะหรือพิการ ที่มีผลต่อการดำเนินชีวิตควรปรับให้ได้รับเงินช่วยเหลือเบื้องต้น 240,000 บาทและระบบประกันภัย ควรปรับปรุงแก้ไขอุปสรรคปัญหาในการเรียกร้องค่าเสียหายของผู้ประสบอุบัติเหตุ ได้แก่ ความล่าช้าในการพิสูจน์ถูก-ผิด และค่าใช้จ่ายในการเดินทาง การติดต่อประสานงานที่ไม่มีใบเสร็จ ทำให้ใช้เรียกร้องค่าเสียหายได้ยากด้วย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 147 กระแสต่างแดน

บริการไม่เข้าป้ายฟังแล้วเฉยไว้ อย่าไปอิจฉาเขา … รถไฟที่อิตาลีเขามีการตรวจสอบคุณภาพกันอย่างสม่ำเสมอโดยองค์กรปกครองท้องถิ่นที่รถไฟวิ่งผ่านล่าสุดแคว้นทัสคานีเขาตรวจสอบแล้วได้ความว่าต้องสั่งปรับบริษัทเทรนอิตาเลียหรือการรถไฟอิตาลี เป็นเงิน 644,000 ยูโร (25 ล้านบาท) โทษฐานที่ฝ่าฝืนสัญญาจ้างหลายๆ เรื่อง ตั้งแต่การไม่จัดจำนวนตู้โดยสารให้เพียงพอกับจำนวนคน ไม่แจ้งข้อมูลแก่ผู้บริโภคเมื่อขบวนรถเกิดการล่าช้า ไม่มีป้ายหรือสัญลักษณ์ที่เพียงพอในตัวสถานี ไปจนถึงเรื่องห้องน้ำไม่สะอาด หรือระบบปรับอากาศไม่ทำงาน เป็นต้นนี่คือผลจากการตรวจทั้งหมด 14,000 ครั้ง เมื่อปีที่แล้ว แต่เท่านั้นยังไม่พอ รฟต. ยังถูกปรับเพิ่มอีก 4,000 ยูโร (150,000 บาท) เพราะไม่ยอมรับโทรศัพท์สายด่วนสำหรับร้องเรียนบริการ ปิดท้ายขบวนด้วยเรื่องความล่าช้าหรือยกเลิกการเดินทาง ที่ทำให้เทรนอิตาเลียโดนปรับเพิ่มอีก 4.3 ล้านยูโร หรือประมาณ 160 กว่าล้านบาท (นี่ขนาดสถิติการตรงเวลาเขาอยู่ที่ร้อยละ 90 นะ)สาเหตุของความล่าช้านั้น ข่าวบอกว่าเป็นเพราะความหนาแน่นที่สถานีฟลอเรนซ์ ตั้งแต่เริ่มมีระบบรถไฟความเร็วสูงในปี 2008 มาจนบัดนี้ การประสานงานเชื่อมต่อของรถไฟทั้งสองประเภทก็ยังไม่ลงตัวอ้าว ... ตกลงว่าถ้ามีรถไฟความเร็วสูงแล้ว รถไฟธรรมดาๆ จะต้องใช้เวลามากขึ้นหรือนี่ ?!! เสื้อผ้าดีๆมีที่ไหน? ถ้าผู้บริโภคต้องการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมด้วยการซื้อเสื้อผ้าที่ผลิตจากโรงงานที่มีสภาพการทำงานที่เป็นมิตรและปลอดภัยต่อลูกจ้าง เขาหรือเธอจะไปช้อปที่ไหน? อุตสาหกรรมเสื้อผ้าสำเร็จรูปทั่วโลกมีมูลค่าประมาณ 100,000 ล้านเหรียญสหรัฐ  แต่คุณทราบหรือไม่ว่ามีเพียงร้อยละ 1 เท่านั้น ที่เป็นการผลิตเสื้อผ้าด้วยกระบวนการผลิตที่ผ่านมาตรฐาน “จริยธรรม” จริงๆ ยกตัวอย่างที่บังคลาเทศเอง ซึ่งอุตสาหกรรมนี้มีมูลค่าถึง 20,000 ล้านเหรียญ โรงงานส่วนใหญ่ไม่มีมาตรฐาน ไม่มีทางหนีไฟ และมีความเสี่ยงที่จะถล่มลงมา ตัวอย่างเช่น ตึกรานา พลาซ่า ที่มีผู้เสียชีวิตเกือบ 700 คน เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ตึกดังกล่าวมีโรงงานผลิตเสื้อผ้าอยู่ทั้งหมด 5 โรง ที่ผลิตเสื้อผ้าให้กับแบรนด์ดังๆ จากสหรัฐฯ แคนาดา อังกฤษ อิตาลี เสปน เยอรมนี และเดนมาร์ค ความจริงแล้วแบรนด์เหล่านี้ได้กำหนดมาตรฐานโรงงานไว้แล้ว ขาดแต่การกำกับดูแลให้เป็นไปตามมาตรฐาน เพราะการตรวจสอบโรงงานในต่างประเทศจะทำให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น และที่สำคัญคือยังไม่ได้รับแรงกดดันมากพอจากผู้บริโภค แต่อุบัติเหตุครั้งใหญ่ๆ ที่ผ่านมา ก็ทำให้เราได้เห็นการเปลี่ยนแปลงในวงการค้าปลีกเสื้อผ้าอยู่บ้าง เช่น วอลมาร์ท ห้างค้าปลีกที่ใหญ่ที่สุดในโลก ประกาศเมื่อเดือนมกราคมว่าจะยกเลิกสัญญากับโรงงานที่ไม่ผ่านการตรวจสอบทันทีที่พบว่าฝ่าฝืนข้อตกลง (เปลี่ยนจากของเดิมคือแค่ตักเตือน) หรือกรณีของบริษัท The Gap ก็บอกว่าจะจ้างเจ้าหน้าที่มาตรวจสอบเรื่องของความเสี่ยงไฟไหม้ให้กับโรงงานที่รับจ้างผลิตเสื้อผ้าของบริษัททั้งหมดในบังคลาเทศ อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีเจ้าไหนยินดีลงนามรับข้อเสนอขององค์กรพัฒนาเอกชนและสหภาพแรงงานบังคลาเทศที่ต้องการยกระดับความปลอดภัยของโรงงานผลิตเสื้อผ้าในบังคลาเทศ เพราะเท่ากับเป็นการผูกมัดให้บริษัทต้องรับผิดเมื่อเกิดเหตุไฟไหม้รวมถึงต้องจ่ายเงินเพื่อการซ่อมแซมโรงงานด้วย เรื่องนี้ยังต้องติดตามตอนต่อไป .. แต่การระบุสถานที่ผลิตไว้ในฉลากสินค้าก็น่าจะช่วยให้ข้อมูลประกอบการตัดสินใจของผู้บริโภคได้บ้าง หรือว่านี่ก็ทำให้ต้นทุนเพิ่มอีก?   อวสานธุรกิจกระดาษ? การรณรงค์ลดการใช้กระดาษในประเทศฟินแลนด์เขาได้ผลจริงๆ หลักฐานคือการปรับตัวขนานใหญ่ของอุตสาหกรรมกระดาษในประเทศ อุตสาหกรรมนี้จ้างแรงงานถึง  40,000 คน และนี่คือตัวเลขที่ลดลงไป 3 เท่าแล้วในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา ปัญหานี้มีกันทั่วยุโรป เมื่อธุรกิจต่างๆ ตั้งแต่นิตยสาร ไปจนถึงตั๋วเครื่องบิน พากันทำทุกอย่างโดยไม่ง้อกระดาษ UPM-Kymmene Corp ผู้ผลิตกระดาษสำหรับแม็กกาซีนเจ้าใหญ่ที่สุดในโลก ลดการผลิตลงไป 850,000 ตันในปีนี้ ซึ่งการลดกำลังการผลิตลงร้อยละ 7 นี้ส่งผลกระทบต่อ โรงงานทั้งในฟินแลนด์ เยอรมนี และฝรั่งเศส ส่วน Stora Enso เจ้าใหญ่อีกรายหนึ่งก็ประกาศลดกำลังผลิตลงมาเหลือ 475,000 ตัน ทำให้ต้องปิดโรงงานในสวีเดนไป 2 โรง แต่เดี๋ยวก่อน ธุรกิจยังคงดำเนินต่อไป บริษัท UPM หันมาเอาดีทางด้านพลังงานทางเลือก ด้วยการลงทุน 150 ล้านยูโรสร้างโรงกลั่นแห่งแรกของโลกที่ผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพจากน้ำมันที่เป็นผลพลอยได้จากการนำต้นสนมาผลิตกระดาษ และเพราะความต้องการใช้กระดาษที่อื่นๆในโลกไม่ได้ลดลงเหมือนที่ฟินแลนด์ UPM จึงไปลงทุนสร้างโรงงานกระดาษในประเทศจีน เช่นเดียวกับ Stora Enso ที่ไปลงทุนสร้างโรงงานผลิตกระดาษกล่อง ในมณฑลกวางสี และร่วมทุนกับบริษัทจากชิลีเปิดโรงงานกระดาษในอุรุกวัย เป็นต้น   ประหยัดได้อีก จุดขายของรถนาทีนี้ ไม่มีอะไรแรงไปกว่าเรื่องของการประหยัดน้ำมันอีกแล้ว แต่ใครเลยจะรู้ว่าระยะทางที่วิ่งได้ต่อน้ำมันหนึ่งแกลลอนนั้นเป็นไปตามที่โฆษณาไว้หรือไม่? บังเอิญว่านิตยสารผู้บริโภคของอังกฤษ Which? เขามีทุนมากพอจะทดสอบได้ เลยพบข้อมูลที่น่าสนใจทีเดียว Which? ทดสอบรถเล็ก 2 รุ่น ที่อ้างว่าประหยัดน้ำมัน ได้แก่ ฟอร์ด เฟียสต้า 1.0 อีโคบู๊สต์ และ เรโนลด์ คลิโอ 0.9 TCE 90 และพบว่า ฟอร์ด เฟียสต้า 1.0 อีโคบู๊สต์ วิ่งได้น้อยกว่าที่โฆษณาไว้ถึง 9.2 ไมล์ต่อแกลลอน (โฆษณาบอกว่า วิ่งได้ 76.4 mpg สำหรับนอกเมือง แต่การทดสอบของ Which? พบว่าวิ่งได้ 65.7 mpg เท่านั้น) และค่าเฉลี่ยสำหรับการวิ่งในเส้นทางทุกประเภทอยู่ที่ 56.5 ไมล์ต่อแกลลอน ไม่ใช่ 65.7 เหมือนที่อ้างด้วย เมื่อลองคำนวณดู โดยใช้ราคาน้ำมันในปัจจุบัน และสมมุติระยะทางใช้รถไว้ที่ 12,000 ไมล์ต่อปี ก็หมายความว่า รถรุ่นนี้จะต้องใช้เงินค่าน้ำมันเกินกว่าที่ตั้งใจไว้ถึง 185 ปอนด์ (ประมาณ 8,400 บาท) ต่อปี เช่นเดียวกับ เรโนลด์ คลิโอ 0.9 TCE 90 ที่วิ่งได้น้อยกว่าโฆษณา 8.5 ไมล์ต่อแกลลอน ซึ่งหมายความว่าเจ้าของรถรุ่นนี้จะต้องใช้เงินค่าน้ำมันเกินกว่าที่ตั้งใจไว้ถึงปีละ 186 ปอนด์ (ประมาณ 8,450 บาท) Which? ยืนยันว่าวิธีการทดสอบของเขาใกล้เคียงกับการใช้รถจริงมากกว่าการทดสอบของ EU ด้วย   ทำงานที่นี่มีความสุข ความรับผิดชอบต่อสังคมของผู้ประกอบการเป็นเรื่องที่เราได้ยินกันมาระยะหนึ่งแล้ว แต่ที่ไต้หวันเขามีมุมมองใหม่ เขาจะใช้มันเพื่อเพิ่มระดับความสุขให้คนในประเทศ รัฐบาลไต้หวันให้ความเชื่อมั่นว่าถ้าคุณมีงานทำ คุณก็จะมีความสุข อย่างน้อยก็ใน 1,600 บริษัทที่ร่วมลงนามใน “คำประกาศว่าด้วยความสุขในที่ทำงาน” ร่วมกับหน่วยงานของรัฐ 6 กระทรวง กระทรวงเศรษฐกิจเขาบอกว่ารัฐบาลต้องการลดความเครียดของผู้คนในช่วงเศรษฐกิจขาลง และโครงการนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งของการทำ “ดัชนีความสุขในที่ทำงาน” ด้วย เขาเน้นเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมเป็นหลัก ตั้งแต่การมีส่วนร่วมพัฒนาชุมชน เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม การทำธุรกิจอย่างมีธรรมาภิบาล การคืนกำไรให้กับสังคมและร่วมดูแลผู้ด้อยโอกาส นอกจากนี้ยังเน้นเรื่องความปลอดภัยในที่ทำงาน การมีพื้นที่ทำงานที่สะดวกสบาย มีโอกาสได้รับการจ้างงานและได้รับความก้าวหน้าเท่าเทียมกัน มีเงินช่วยเหลือหลังเกษียณ ฯลฯ และต้องให้พนักงานได้มีสมดุลระหว่างเรื่องงานและชีวิตส่วนตัว มีวันหยุดเพียงพอ เลือกชั่วโมงทำงานได้ ฯลฯ  ที่สำคัญที่สุดคือการผลิตสินค้าหรือบริการที่ปลอดภัยและมีคุณภาพ เพราะความสุขจะกระจายออกไปถึงผู้บริโภคหรือพลเมืองทุกคนนั่นเอง //

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 147 กระแสในประเทศ

ประมวลเหตุการณ์เดือนเมษายน 2556 ดื่มน้ำแร่...อาจจะแย่ก็ได้ ใครที่คิดว่าดื่มน้ำแร่ทุกวันดีต่อสุขภาพคงจะต้องเปลี่ยนความคิดใหม่ เพราะกรมทรัพยากรน้ำบาดาล กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ออกมาเตือนคนที่ชอบนิยมดื่มน้ำแร่เป็นประจำว่า มีโอกาสเสี่ยงที่ร่างกายจะได้รับแร่ธาตุบางชนิดในปริมาณที่สูงเกินความจำเป็น ในน้ำแร่ซึ่งเป็นน้ำที่ได้จากใต้ดินจากแหล่งกำเนิดน้ำตามที่ต่างๆ เช่น บนภูเขา น้ำพุร้อนใต้ผิวโลก จะมีแร่ธาตุต่างๆ เป็นส่วนผสม เช่น ฟลูออไรด์ แมงกานีส ฯลฯ ซึ่งพวกแร่ธาตุเหล่านี้มีปริมาณที่เป็นมาตรฐานที่เหมาะสมกับร่างกาย อย่าง ฟูลออไรด์สำหรับดื่มค่ามาตรฐานไม่ควรเกิน 0.7 มิลลิลิตร/ลิตร หากเกินจากนี้อาจมีผลต่อกระดูกและฟัน ธาตุเหล็กไม่เกิน 0.5 มิลลิกรัม/ลิตร แมงกานีสไม่เกิน 0.3 มิลลิกรัม/ลิตร ทองแดงไม่เกิน 1.0 มิลลิกรัม/ลิตร และสังกะสีไม่เกิน 5.0 มิลลิกรัม/ลิตร   เพราะฉะนั้นก่อนดื่มน้ำแร่ครั้งต่อไปอย่าลืมอ่านฉลากดูปริมาณแร่ธาตุต่างๆ ให้ดี ที่สำคัญการดื่มน้ำแร่ราคาแพงๆ ก็ไม่ได้การรันตีว่าจะทำให้เรามีสุขภาพที่ดี ได้เท่ากับการที่เราเลือกดื่มน้ำสะอาดธรรมดาๆ และรับประทานอาหารครบ 5 หมู่เป็นประจำ เท่านี้ก็เพียงพอแล้วต่อการดูแลสุขภาพร่างกายของเรา ------------------------------------------------   รับฝากเงินพ่วงทำประกันชีวิตเพิ่มมั้ยค่ะ!? ใครที่เคยเจอปัญหาถูกเจ้าหน้าที่ธนาคารกล่อมให้ซื้อประกันหรือให้ลงทุนในหลักทรัพย์ต่างๆ เช่นซื้อกองทุน ตราสารหนี้ พ่วงกับการฝากเงินหรือทำธุรกรรมการเงินอื่นๆ โดยยกมาเพียงแต่ตัวเลขของผลตอบแทนที่ได้ แต่ไม่ได้ให้รายละเอียดด้านการลงทุนหรือความเสี่ยงอื่นๆ ซึ่งถือเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค จากนี้ไปเหตุการณ์แบบนี้จะต้องไม่เกิดขึ้นอีก เมื่อธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ออกประกาศเรื่อง แนวนโยบายการกำกับดูแลการขายผลิตภัณฑ์ด้านหลักทรัพย์และด้านประกันภัยผ่านธนาคารพาณิชย์ หลังจากพบว่ามีเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภคในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการขายผลิตภัณฑ์ด้านหลักทรัพย์และด้านประกันภัยของธนาคารพาณิชย์เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยประกาศนี้จะมากำกับดูแลการขายผลิตภัณฑ์ด้านหลักทรัพย์และประกันภัยผ่านธนาคารพาณิชย์ ที่ต้องคำนึงถึงสิทธิของผู้บริโภคมากขึ้น ทั้งการต้องเปิดเผยข้อมูลรายละเอียดของผลิตภัณฑ์ และผลตอบแทนที่ผู้บริโภคจะได้รับ ให้เห็นความแตกต่างระหว่างผลิตภัณฑ์หลักของธนาคารพาณิชย์ กับผลิตภัณฑ์ด้านหลักทรัพย์และด้านประกันภัย ซึ่งไม่ใช่เงินฝาก ที่อาจมีความเสี่ยงที่จะได้รับเงินต้นคืนไม่เต็มจำนวนเมื่อถอน ประเด็นสำคัญคือห้ามธนาคารพาณิชย์บังคับขายผลิตภัณฑ์ด้านหลักทรัพย์และด้านประกันภัยควบคู่กับผลิตภัณฑ์ของธนาคารพาณิชย์ รวมทั้งเรื่องการส่งเสริมการขายและการเสนอขายต่างๆ ก็ต้องไม่เป็นการรบกวนผู้บริโภคและโฆษณาเกินจริง ผู้บริโภคต้องมีสิทธิปฏิเสธไม่ขอรับบริการได้ ------------------------------------------   เรื่องที่คนซื้อทองต้องรู้ ช่วงนี้ร้านทองตามที่ต่างๆ กำลังคึกคักกันน่าดู หลังจากที่ราคาทองถูกปรับลดลงมา หลายๆ คนต่างก็ไปจับจองเป็นเจ้าของทองคำกันจนแน่นร้านทอง แต่จะซื้อทองทั้งทีก็ต้องให้มั่นใจว่าทองที่ซื้อเป็นของดีมีคุณภาพ เป็นทองคำแท้ ทางสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) จึงฝากคำแนะนำสำหรับคนที่กำลังคิดจะซื้อทอง ก่อนซื้อทองทุกครั้งต้องไม่ลืมดูน้ำหนักทองให้ดี ต้องมีการชั่งน้ำหนักทองก่อนซื้อทุกครั้ง ทองคำ 1 บาทต้องมีน้ำหนักไม่ต่ำกว่า 15.16 กรัม (ต้องเป็นทศนิยม 2 ตำแหน่ง) ที่สำคัญตราชั่งที่ใช้นั้นต้องมีความเสถียรที่ 0.00 หน่วย อย่าลืมสอบถามโรงงานที่ผลิตทองคำจากผู้ขาย เพราะในเนื้อทองคำต้องมีตราประทับของโรงงานที่ผลิต ซึ่งโรงงานที่ผลิตทองคำในประเทศไทยมีทั้งสิ้น 64 แห่ง อยู่ในกรุงเทพฯ 61 แห่ง จ.ตรัง 1 แห่ง จ.สงขลา 1 แห่ง และ จ.ขอนแก่น 1 แห่ง โดยทั้ง 64 โรงงานนี้ สคบ. ได้เข้าไปตรวจสอบและให้การรับรองมาตรฐานของทองคำที่ผลิตว่าสัดส่วนทองคำที่ 96.5% และต้องเลือกร้านทองที่ได้มาตรฐาน มีการแสดงราคาขายทองแท่งและทองรูปพรรณของแต่ละวันชัดเจน มีการแสดงราคารับซื้อคืน รวมถึงค่ากำเหน็จ --------------     หนังสั้น “เล่าเรื่องผู้บริโภค” มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ) และแผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกันจัดกิจกรรมฉายหนังสั้น “เล่าเรื่องผู้บริโภค 6+1” เพื่อส่งต่อเรื่องราวสถานการณ์ด้านสิทธิผู้บริโภคไทยและการทำงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภคในส่วนของการผลักดันกฎหมายองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคของเครือข่ายผู้บริโภคภาคประชาชน โดยกิจกรรมมีขึ้นที่โรงภาพยนตร์ เอสเอฟ ซีเนม่า เซ็นทรัลเวิลด์ เมื่อวันที่ 27 – 28 เมษายนที่ผ่านมา กิจกรรมครั้งนี้ประกอบด้วยการฉายภาพยนตร์ให้ชมฟรีจำนวน 3 รอบ ซึ่งแต่ละรอบได้รับความสนใจจากผู้ชมเป็นจำนวนมาก เรียกได้ว่าแน่นโรงภาพยนตร์ทุกรอบ ก่อนฉายภาพยนตร์ยังมีการเสวนากับเหล่าผู้กำกับที่มาร่วมทำหนังสั้น พูดคุยถึงมุมมองและแรงบันดาลใจที่นำไปสู่การทำภาพยนตร์เพื่อผู้บริโภค ซึ่งผู้กำกับที่มาร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ได้แก่ อาจารย์ไพจิตร ศุภวารี, คุณมานุสส วรสิงห์, คุณชาญ รุ่งเรืองเดชวัฒนา, คุณบุญส่ง นาคภู่ และ คุณพัฒนะ จิรวงศ์ นอกจากนี้ภายในงานยังมีการมอบรางวัลผู้บริโภคใช้สิทธิยอดเยี่ยมแห่งปี 2555 ให้กับผู้บริโภคภาคประชาชนที่ออกมาทำหน้าที่พิทักษ์สิทธิของตัวเองและสังคม ผู้ที่ได้รับรางวัลประกอบด้วย นายแพทย์สงคราม ทรัพย์เจริญ, นางจิตรทิวา อินอิ่น และ นางสายลา เจ๊ะไบ๊ ซึ่งหลังจากนี้หนังสั้นทั้ง 6 เรื่อง กับอีก 1 คลิปวิดีโอ จะเดินทางไปฉายตามที่ต่างๆ ทั่วประเทศ เพื่อเป็นการเผยแพร่ข้อมูลเรื่องสิทธิและการคุ้มครองผู้บริโภคในประเทศไทย ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่เราทุกคนควรรู้ -----------     การแบนสารเคมีเกษตรยังไม่ถึงฝั่ง...เพราะมีใครบางคนขวางอยู่ เป็นเรื่องแปลกแต่จริง เมื่อสารเคมีเกษตรที่มีพิษร้ายแรง 4 ตัว คือ คาร์โบฟูราน เมโทมิล ไดโครโตฟอส และ อีพีเอ็น ที่ถูกประกาศโดยกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้เป็นวัตถุอันตรายห้ามผลิต นำเข้า และจำหน่ายในประเทศไทย แต่สุดท้ายประกาศกับยังไม่มีโอกาสได้ใช้ เพราะถูกที่ประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตรายที่มีปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธาน สั่งเบรก ไม่ยอมรับข้อมูลที่กรมวิชาการเกษตรเสนอให้ยกเลิก แถมยังมีการเปิดช่องให้ภาคเอกชนผู้นำเข้าสารเคมีสามารถนำข้อมูลมาเสนอเพื่อโต้แย้งโดยไม่มีการระบุระยะเวลาในการนำเสนอ เป็นเสมือนการเปิดช่องให้บรรดาผู้นำเข้าสารเคมีได้ขายสินค้าของตัวเองต่อไปได้เรื่อยๆ ทั้งๆ ที่หลายประเทศได้สั่งแบนสารเคมีทั้ง 4 ชนิดแล้ว สารเคมีเกษตรทั้ง 4 ตัว ถือเป็นสารที่มีพิษร้ายแรง ซึ่งจากการสำรวจของภาคประชาชนและนักวิชาการที่ผลักดันให้มีการแบนสารเคมีดังกล่าว พบว่าสถานการณ์ตอนนี้มีผู้ป่วยที่ได้รับพิษจากสารเคมีเกษตรดังกล่าวเพิ่มมากขึ้น ส่วนใหญ่เป็นเกษตรกร รวมทั้งผู้บริโภคเองก็มีความเสี่ยงสูงเช่นกัน จากนี้ไปเครือข่ายภาคประชาชนและนักวิชาการที่ผลักดันให้มีการแบนสารเคมีทั้ง 4 ชนิด ก็จะค่อยติดตามการทำงานของภาครัฐอย่างใกล้ชิด และผลักดันให้เกิดการแบนโดยเร็วที่สุด   //

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 147 441 บาท บทเรียนชีวิต

ข่าวการเสียชีวิตของพี่น้องสองคนที่จังหวัดพิษณุโลกเนื่องจากแม่ค้างค่าไฟฟ้า 441บาท ได้เกิดผลสะเทือนกับหลายคน ถึงแม้รัฐบาลจะมีนโยบายยกเว้นค่าไฟให้กับคนที่ใช้ไม่เกิน 50 หน่วย/เดือน และไม่ใช่ครัวเรือน ที่ใช้ไฟในการประกอบธุรกิจการค้า แต่นโยบายเหล่านี้มีเพียงมาตรการยึดตัวเลขการใช้ไฟขั้นต่ำแทนที่จะพิจารณาการใช้ไฟฟ้าของผู้มีรายได้น้อยอย่างจริงจัง เห็นได้จากเมื่อไม่มีเงินชำระค่าไฟก็ถูกตัดไฟ จนต้องใช้เทียนไขอ่านหนังสือจนเป็นเหตุถึงแก่ชีวิตของเด็กประถมและมัธยมสองคน ปกติการไฟฟ้ากำหนดให้ชำระค่าไฟฟ้าภายใน 7 วัน หากรวมวันในการแจ้งเตือนอีก 3 วันเป็น 10 วัน ตามที่ สคบ.กำหนดไว้ สามารถยืดเวลาอีก 3 วัน รวมระยะเวลา 13 วัน   จากการข้อมูลของหัวหน้าแผนกบัญชีและประเมินผล(ฝ่ายตัดกระแสไฟฟ้า) กล่าวว่า พนักงานของบริษัทที่ประมูลงานตัดกระแสไฟฟ้า ไม่ได้ไปเตือน ทั้งๆที่มีเงื่อนไขว่า การงดจ่ายไฟจะต้องให้ผู้ใช้บริการรับทราบก่อน แม้ว่า พนักงานจะได้รับค่าตัดรายละ 40 บาทก็ตาม หากเจ้าของบ้านไม่ยินยอม สามารถเรียกหนังสือคำร้องขอผ่อนผันไปอีก 1 วัน เพื่องดจ่ายไฟฟ้าก็ได้ และนำหลักฐานดังกล่าว มาแสดงต่อการไฟฟ้า กรณีหลังนี้บริษัทเอกชนจะได้รับเงินเพียง 20 บาทต่อราย การกำหนดให้บริษัทเอกชน ที่รับเหมาประมูลจากการไฟฟ้า มีรายได้ที่สูงกว่าจากการตัดไฟรายละ 40 บาทต่อหลัง มากกว่าการยื่นเอกสารผ่อนผันชำระหนี้ เพียง 20 บาทต่อหลัง ย่อมจูงใจให้เกิดการตัดกระแสไฟฟ้ากับผู้ที่ค้างชำระทันที แทนการผ่อนผัน สิทธิที่จะได้รับสินค้าและบริการที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต(THE RIGHT TO ACCESS) อันได้แก่ อาหาร น้ำ ไฟฟ้า เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย การเข้าถึงบริการสุขภาพ การศึกษาในระดับสากล ถือเป็นสิทธิผู้บริโภคขั้นพื้นฐานที่สำคัญทำให้บางประเทศ เช่นประเทศฝรั่งเศส มีการออกกฎหมายห้ามตัดน้ำตัดไฟ เพราะถือว่าเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้บริโภค การค้างชำระค่าไฟฟ้าให้ดำเนินการทวงหนี้เช่นเดียวกับหนี้ทางแพ่งทั่วไป การยกระดับการคุ้มครองผู้บริโภคในกรณีนี้ เห็นทีจะต้องช่วยกันผลักดันให้ยกเลิกมาตรการตัดไฟฟ้า ย่อมจะป้องกันปัญหาและป้องกันความเสียหายที่รุนแรงถึงแก่ชีวิต หรือมีการคิดดอกเบี้ยกับลูกค้าที่ไม่พร้อมชำระ อาจผ่อนชำระ 6 เดือนจึงค่อยตัดไฟฟ้า หวังว่าคณะกรรมการการไฟฟ้าภูมิภาค คณะกรรมการการไฟฟ้านครหลวง ที่รับผิดชอบให้บริการไฟฟ้าจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิต จะหาแนวทางหรือคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) จะมีมาตรการเรื่องนี้อย่างชัดเจนนอกเหนือจากการยกเลิก 107 บาทในกรณีที่ไม่ได้มีการตัดไฟ ไม่สามารถเก็บได้ ขออนุญาตแจ้งข่าวสมาชิกฉลาดซื้อและผู้อ่านทุกท่าน เดือนสิงหาคมนี้จะมีการจัดคอนเสิร์ต ‘เบิกอรุณ : ทิพยสังคีตเครื่องสายจีน’ โดยจะจัดขึ้นที่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย หอประชุมเล็ก  ในค่ำวันจันทร์ที่ 5 ถึงวันพฤหัสบดีที่ 8 สิงหาคม ศกนี้ เวลา 19.30 น. รวม 4 คืน 4 รอบ  รายได้หลังหักค่าใช้จ่ายทั้งหมด  มอบให้แก่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค

อ่านเพิ่มเติม >



ฉบับที่ 146 จอดที่ไหน? จ่ายเยอะสุด

  หลังจากการมาของนโยบายรถคันแรก รถราบนท้องถนนก็ดูเหมือนจะเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เมื่อรถเยอะขึ้นปัญหาที่ตามมาไม่ได้มีแค่รถติด แต่ยังมีอีกหนึ่งปัญหาใหญ่ที่เป็นความทุกข์ของคนมีรถนั้นก็คือ การหาที่จอด เพราะเดี๋ยวนี้ที่จอดรถไม่ได้หาง่ายๆ แถมที่สำคัญที่จอดรถส่วนใหญ่ไม่ได้มีไว้ให้จอดฟรีๆ ต้องมีการจ่ายค่าบริการ แต่ละที่ก็คิดราคาถูกแพงไม่เท่ากัน ฉลาดซื้อ จึงอยากช่วยประหยัดเงินในกระเป๋าของคนมีรถที่ต้องเดินทางไปทำธุระตามที่ต่างๆ อยู่เป็นประจำ ด้วยการสำรวจข้อมูลค่าบริการที่จอดรถของอาคารพาณิชย์ชื่อดังที่ตั้งอยู่ในย่านธุรกิจสำคัญๆ  ในกทม. ว่าแต่ละที่เขาคิดค่าบริการกันยังไง ราคาเท่าไหร่ จะได้เตรียมตังค์ เตรียมใจ ก่อนจะเอารถไปจอด   จอดฟรี แต่แค่ 15 นาทีนะ แม้ว่าในการสำรวจครั้งนี้ฉลาดซื้อได้พบว่า “ของฟรียังมีในโลก” แต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่น่าดีใจแต่อย่างใด เพราะแม้ที่จอดรถหลายๆ ที่จะมีเวลาให้จอดฟรี แต่ส่วนใหญ่ก็อนุโลมให้เฉพาะแค่ 10 – 15 นาทีแรกเท่านั้น เต็มที่ก็คือให้จอดฟรีได้ครึ่งชั่วโมง อาคารที่ให้จอดฟรีได้ครึ่งชั่วโมงก็มีอย่างเช่น อาคารบีบี Bangkok Business Building ถ.อโศก, อาคารสาทรสแควร์ ถ.สาทร, อาคารอิตัลไทย ทาวเวอร์ ถ.เพชรบุรี, อาคารเพลิตจิต ทาวเวอร์ และ อาคารเมืองไทย-ภัทร ถ.รัชดาภิเษก   ซึ่งการมีช่วงเวลาที่รถเข้าไปจอดในอาคารโดยไม่เสียค่าบริการ แม้จะเป็นแค่ช่วงเวลาสั้นๆ ก็ยังถือเป็นประโยชน์กับคนที่ใช้รถ โดยเฉพาะกับคนที่ไม่ได้จอดที่อาคารนั้นๆ เป็นประจำ คนที่ไม่เคยทราบราคาค่าที่จอดมาก่อน อย่างน้อยๆ ก็จะได้มีโอกาสตัดสินใจเมื่อเห็นราคา ว่าจะเลือกจอดที่นี่หรือย้ายไปจอดที่อื่น เพราะเป็นข้อกำหนดโดยกรมการค้าภายในอยู่แล้วว่า อาคารสถานที่ที่ให้บริการที่จอดรถต้องมีการแจ้งราคากับผู้ใช้บริการ โดยต้องแจงรายละเอียดการคิดราคาค่าบริการทั้งจัดทำเป็นป้ายให้อ่านชัดเจนและทำเป็นข้อมูลลงในบัตรจอดรถที่ต้องได้รับทุกครั้งเมื่อมาใช้บริการ จ่าย 100 ได้จอด 1 ชั่วโมง ใครที่ดีใจที่ได้มีรถไว้ใช้จากนโยบายรถคันแรก ก็อย่าลืมเตรียมใจว่าจากนี้ไปค่าใช้จ่ายต่างๆ กำลังเดินทางมาดูดเงินจากกระเป๋าคุณ ทั้งค่าผ่อนรถ ค่าน้ำมัน ค่าทางด่วน และที่หลายคนอาจลืมคิดไปแต่ถือเป็นรายจ่ายก้อนใหญ่ไม่น้อยก็คือ รายจ่ายค่าที่จอดรถ อาจจะดูน่าตกใจแต่ว่าเป็นเรื่องจริง ที่เดี๋ยวนี้ค่าบริการที่จอดรถมีราคาสูงถึงชั่วโมงละ 100 บาท ซึ่งจากการสำรวจเราพบหลายอาคารที่คิดค่าบริการจอดรถชั่วโมงละ 100 บาท ไม่ว่าจะเป็น อาคาร Interchange ถ.อโศก-สุขุมวิท, อาคาร Exchange Tower ถ.สุขุมวิท-รัชดาภิเษก, อาคาร Q House ถ.พระราม 4 และ อาคารสาทรสแควร์ ถ.สาทร ที่สำคัญคือเศษของชั่วโมงที่เกินมาก็ถือว่าเป็นหนึ่งชั่วโมง บัตรจอดรถเป็นของมีค่า...ต้องรักษาเท่าชีวิต ค่าจอดรถที่ว่าสูงแล้ว ยังไม่เท่าราคาบัตรจอดรถ ทั้งๆ ที่เป็นแค่กระดาษแผ่นเล็กๆ ใบหนึ่งแต่อาจมีค่าสูงถึง 500 บาท ในกรณีถ้าเราทำบัตรจอดรถที่ได้รับมาหายไป ซึ่งการที่บัตรจอดรถมีค่าสูงขนาดนี้เป็นเพราะนี่คือหลักฐานชิ้นสำคัญที่ไว้แสดงว่าได้มีการทำสัญญาร่วมกันระหว่างเจ้าของรถและอาคารที่ให้บริการที่จอดรถ เผื่อหากเกิดกรณีที่รถหายหรือทรัพย์สินที่อยู่ในรถถูกขโมย บัตรจอดรถจะช่วยยืนยันว่าเราในฐานะเจ้าของรถได้มาใช้บริการจริง นำไปใช้เป็นหลักฐานในการเรียกร้องความรับผิดชอบกับเจ้าของอาคารที่เราไปจอดรถ   ไม่ได้ประทับตรา ไม่ได้สิทธิ อาคารต่างๆ ที่ให้บริการที่จอดรถส่วนใหญ่เป็นอาคารพาณิชย์ ที่เป็นที่ตั้งของร้านค้าและสำนักงานเป็นจำนวนมาก ซึ่งใครที่มาจอดรถแล้วใช้บริการหรือติดต่อธุระต่างๆ ต้องอย่าลืมใช้สิทธิประทับตราลงบนบัตรจอดรถ เพราะมันจะช่วยให้เราสามารถจ่ายค่าที่จอดรถได้ถูกลง บางที่ก็ให้สิทธิจอดฟรีได้นานขึ้นเป็น 1 ชั่วโมง – 2 ชั่วโมง เพราะฉะนั้นเวลาไปจอดรถไม่ว่าที่ไหนอย่าลืมมองหาจุดประทับตราเพื่อจะได้ช่วยประหยัดค่าจอดรถ สคบ. ขอความร่วมมือ ให้จอดฟรี 1 ชั่วโมง 15 นาที เรื่องของการคิดราคาค่าบริการที่จอดรถนั้น ในบ้านเราไม่ได้มีกฎหมายใดๆ กำหนดเกณฑ์มาตรฐานเอาไว้ จึงทำให้แต่ละที่มีการคิดราคาแตกต่างกันไป แต่เมื่อปลายปีที่แล้วมีข่าวว่าทางสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ร่วมกับ กรมการค้าภายใน และ กระทรวงพาณิชย์ ได้มีการขอความร่วมมือไปยังห้างสรรพสินค้าและผู้ให้บริการที่จอดรถของเอกชนทั่วประเทศ ว่าต้องอนุญาตให้ผู้ใช้รถสามารถจอดรถได้ฟรีเป็นเวลา 1 ชั่วโมงกับอีก 15 นาที หลังจากนั้นจึงค่อยมีการคิดค่าบริการ แต่จากผลสำรวจจะเห็นว่าที่จอดรถทุกแห่งที่เราทำการสำรวจ ไม่ได้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่ สคบ.เรียกร้องเลยแม้แต่แห่งเดียว (นอกเสียจากจะเป็นการคิดค่าบริการจอดรถที่มีการประทับตรา) เนื่องจากหลักเกณฑ์ที่ออกมานั้นไม่ได้เป็นข้อกฎหมายหรือข้อบังคับ แต่เป็นเพียงแต่ขอกำหนดแบบสมัครใจเท่านั้น   มาตรฐานสถานที่จอดรถ -อาคารจอดรถยนต์ต้องสร้างด้วยวัตถุทนไฟทั้งหมด -อาคารจอดรถยนต์ให้สร้างได้สูงไม่เกินสิบชั้นจากระดับพื้นดิน -อาคารจอดรถยนต์ที่สูงเกินหนึ่งชั้น ต้องมีการเปิดโล่งอย่างน้อยสองด้าน ส่วนเปิดโล่งต้องมีพื้นที่ไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของพื้นที่ผนังด้านนั้น -อาคารจอดรถยนต์ที่อยู่ต่ำกว่าระดับพื้นดิน ต้องจัดให้มีเครื่องระบายอากาศภายในชั้นนั้นๆ -ทุกส่วนของอาคารจอดรถยนต์ต้องให้มีแสงสว่างแลเห็นได้ชัดทั้งกลางวันและกลางคืน -ต้องมีอุปกรณ์ดับเพลิงที่เพียงพอ หนึ่งเครื่องต่อจำนวนที่จอดรถยนต์ทุกๆ ห้าสิบคัน -พื้นที่สำหรับจอดรถ 1 คัน ถ้าเป็นแบบที่จอดขนานกับแนวเดินรถ ต้องมีความกว้างไม่น้อยกว่า 2.4 เมตร และยาวไม่น้อยกว่า 6 เมตร ส่วนถ้าเป็นแบบพื้นที่จอดที่ขนานกับแนวเดินรถ ต้องมีความกว้างไม่น้อยกว่า 2.4 เมตร และยาวไม่น้อยกว่า 5 เมตร -ที่จอดรถแต่ละคัน ต้องมีเครื่องหมายแสดงลักษณะและขอบเขตของที่จอดรถไว้ให้ปรากฏบนพื้น ที่มา : ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง อาคารจอดรถยนต์ พ.ศ. 2521 และ กฎกระทรวง พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 เมื่อ “รถหาย” สถานที่ที่รับจอดรถต้องรับผิดชอบหรือไม่? ถ้าลองสังเกตในบัตรจอดรถ จะเห็นข้อความประมาณว่า “บัตรนี้ไม่ถือเป็นการรับฝากรถ อาคารไม่รับผิดชอบใดๆ กรณีเกิดการสูญหายหรือเสียของรถและทรัพย์สินใดๆ” ทำให้หลายคนมีข้อกังวลว่าถ้าหากนำรถไปจอดแล้วรถหายหรือทรัพย์สินในรถถูกขโมยจะสามารถเรียกร้องความรับผิดชอบจากเจ้าของอาคารได้หรือไม่ ซึ่งแม้เจ้าของอาคารจะมีการระบุข้อความที่ไม่ขอแสดงความรับผิดชอบใดๆ เอาไว้ แต่ในทางกฎหมายเราสามารถเรียกร้องค่าเสียหายได้ เพียงแต่ต้องมีหลักฐานที่ใช้ยืนยันว่าเราได้นำรถไปจอดที่สถานที่ดังกล่าวจริง เช่น บัตรจอดรถ หรือใบเสร็จจากการซื้อสินค้าหรือใช้บริการภายในอาคารนั้นๆ ซึ่งเราสามารถแจ้งเรื่องไปยัง สคบ. ให้ช่วยดำเนินการเรียกร้องตามกฎหมายได้   ข้อมูลสำรวจอัตราค่าบริการที่จอดรถยนต์ของอาคารพาณิชย์ชื่อดังใน กทม. 1. อาคารจัตุรัสจามจุรี สามย่าน ชั่วโมงละ 20 บาท ฟรี 2 ชั่วโมงแรก   2. อาคารเมืองไทย-ภัทร ถ.รัชดาภิเษก 1 ชั่วโมง 10 บาท 2 ชั่วโมง 30 บาท 3 ชั่วโมง 70 บาท ชั่วโมงที่ 4 เป็นต้นไป คิดเพิ่มชั่วโมงละ 50 บาท ฟรี 30 นาทีแรก 3. อาคารเพลินจิต ทาวเวอร์ ชั่วโมงละ 20 บาท ฟรี 30 นาทีแรก ถ้ามีประทับตรา ได้รับส่วนลด (ไม่มีการแจ้งรายละเอียด) 4. อาคารบางกอกทาวเวอร์ ถ.เพชรบุรี เวลา 07.01 – 19.00 น. ชั่วโมงละ 20 บาท เวลา 19.01 – 24.00 น. ชั่วโมงละ 60 บาท เวลา 24.01 – 07.00 น. ชั่วโมงละ 120 บาท   5. อาคารอิตัลไทย ทาวเวอร์ ถ.เพชรบุรี ชั่วโมงละ 30 บาท ฟรี 30 นาทีแรก ถ้ามีตราประทับ  ชั่วโมงละ 20 บาท ฟรี 2 ชั่วโมงแรก   6. อาคารยูไนเต็ด เซ็นเตอร์ ถ.สีลม ชั่วโมงละ 30 บาท ฟรี 15 นาทีแรก ถ้ามีตราประทับ ชั่วโมงละ 30 บาท ฟรี 1 ชั่วโมงแรก   7. อาคารสีบุญเรือง ถ.สีลม ชั่วโมงละ 35 บาท ฟรี 10 นาทีแรก ถ้ามีประทับตรา ได้รับส่วนลด (ไม่มีการแจ้งรายละเอียด)   8. อาคารเสริมมิตร ทาวเวอร์ ถ.อโศก ชั่วโมงละ 40 บาท ฟรี 10 นาทีแรก จอดเกิน 8 ชั่วโมง คิดชั่วโมงละ 50 บาท ถ้ามีประทับตรา จอดฟรี   9. อาคารบีบี (Bangkok Business Building) ถ.อโศก ชั่วโมงละ 40 บาท ฟรี 30 นาทีแรก ถ้ามีประทับตรา ลดราคา 50%   10. อาคารลุมพินี ถ.พระราม 4 ชั่วโมงละ 40 บาท ฟรี 15 นาทีแรก ถ้ามีตราประทับ 1 ครั้ง ชั่วโมงแรกฟรี ชั่วโมงต่อไป 20 บาท ถ้ามีตราประทับ 2 ครั้ง จอดฟรี (บริษัทเจ้าของตราประทับนั้นเป็นผู้จ่าย) *หมายเหตุ ตราประทับ 2 ครั้ง ต้องมาจากบริษัทเดียวกัน 11. ที่จอดรถเท็กซัส เยาวราช ชั่วโมงแรก 40 บาท ทุกๆ ครึ่งชั่วโมง ถัดไป 20 บาท   12. อาคารกาญจนทัต ทาวเวอร์ เยาวราช ชั่วโมงละ 50 บาท ถ้ามีประทับตรา ได้รับส่วนลด (ไม่มีการแจ้งรายละเอียด)   13. อาคาร Park Ventures ถ.วิทยุ ชั่วโมงละ 50 บาท ฟรี 15 นาทีแรก   14. อาคารสาทรสแควร์ ถ.สาทร ชั่วโมงละ 100 บาท ฟรี 30 นาทีแรก ถ้ามีประทับตรา ฟรี 1 ชั่วโมงแรก ชั่วโมงต่อไปขึ้นอยู่กับประเภทของตราประทับ   15. อาคาร Exchange Tower ถ.สุขุวิท-รัชดาภิเษก ชั่วโมงแรก 100 บาท ทุกๆ ครึ่งชั่วโมงถัดไป 50 บาท ฟรี 15 นาทีแรก   16. อาคาร Interchange ถ.อโศก-สุขุมวิท ชั่วโมงละ 100 บาท ฟรี 10 นาทีแรก ถ้ามีประทับตรา ชั่วโมงละ 50 บาท ฟรี 1 – 2 ชั่วโมงแรก (ขึ้นอยู่กับประเภทของตราประทับ)   17. อาคารQ House ถ.พระราม 4 ชั่วโมงละ 100 บาท ฟรี 15 นาทีแรก ถ้ามีประทับตรา ได้รับส่วนลด (ขึ้นอยู่กับประเภทของตราประทับ)  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 146 น้ำแข็งไส

  ไส หมายถึง การผลักไป รุนไป ไสน้ำแข็ง ก็คือการที่นำก้อนน้ำแข็งวางบนเครื่องไส ที่แบบบ้านๆ จะเป็นโต๊ะไม้เล็กๆ ที่มีใบมีดคมๆ หงายอยู่ตรงกลาง แล้วไถก้อนน้ำแข็งไปมาผ่านคมมีดเพื่อให้ได้เกล็ดน้ำแข็งฝอยๆ สำหรับกินกับ แตงไทย  เผือกลอดช่อง วุ้น เฉาก๊วย ขนมเชื่อมต่างๆ  อย่างลูกชิด มันเชื่อม หรืออื่นๆ แล้วราดด้วยน้ำเชื่อมหรือน้ำกลิ่นผลไม้ต่างๆ ขนมแบบนี้แหละที่เราเรียกมันว่า ขนมน้ำแข็งไส ประเทศร้อนๆ อย่างเมืองไทยของเรา คนสมัยก่อนคงนึกไม่ออกว่า น้ำจะเป็นตัว ได้อย่างไร แต่กับคนในบ้านเมืองที่มีอากาศหนาวเย็นติดลบ น้ำแข็งไม่ใช่ของแปลก และการนำน้ำแข็งมาใช้ทั้งกินและถนอมอาหารก็ทำกันมานานเป็นพันปีแล้ว เมื่อการค้าจากชาติที่มีทั้งอากาศหนาวเย็นและวัฒนธรรมการกินน้ำแข็งมาเยือนถึงถิ่นดินแดนเขตร้อน ราวศตวรรษที่ 19 น้ำแข็งจึงจัดเป็นสินค้าสำหรับชนชั้นสูงเท่านั้นเพราะขนส่งมาไกลข้ามน้ำข้ามทะเลกันมาหลายเดือน คนไทยเราสั่งนำเข้าน้ำแข็งมาครั้งแรกในสมัยรัชกาลที่ 4 จากประเทศสิงคโปร์เพื่อถวายพระมหากษัตริย์และเจ้านายชั้นสูง ต่อมาจึงกลายเป็นของกินที่ทั้งแปลกและหรูหราในสมัยนั้น น้ำแข็งมากลายเป็นของธรรมดาก็เมื่อมีคนคิดค้นการผลิตน้ำแข็งขึ้นได้(ยุคแรกน้ำแข็งที่ใช้บริโภคเป็นน้ำแข็งที่เกิดตามธรรมชาติ) โรงงานน้ำแข็งแห่งแรกในประเทศไทยเป็นเจ้าเดียวกับคนที่ทำรถเมล์เจ้าแรก คือ นายเลิศ(พระยาภักดีนรเศรษฐ) ชื่อว่า น้ำแข็งสยาม ณ เวลานี้  แม้น้ำแข็งไสแบบเดิมยังคงได้รับความนิยมอยู่ แต่สำหรับคนรุ่นใหม่ น้ำแข็งไส หรือ น้ำแข็งใส ได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบให้ทันสมัยมากขึ้น เกล็ดน้ำแข็งที่ผ่านเครื่องไสแบบสมัยใหม่จะละเอียดจนเรียกว่า ปุยนุ่นหรือเกล็ดหิมะ แบบตักใส่ปากก็ละลายโดยไม่ต้องเคี้ยว และยังมีท้อปปิ้งหน้าตาสวยงามให้เลือกหลากหลาย แน่นอนราคาก็ไม่ธรรมดาตามไปด้วย บางเจ้าราคาไม่ต่ำกว่า 100 บาทด้วยซ้ำ ว่าแต่...ร้อนๆ แบบนี้ได้น้ำแข็งไสสักถ้วยคงดีไม่น้อยนะ ว่าไหม?

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 146 มุขเดิมๆ แบ่งแยกแล้วปกครอง

  นับเป็นปรากฏการณ์หลายครั้งของการเคลื่อนไหวรณรงค์ของกลุ่มองค์กรผู้บริโภค หลังจากสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค ยื่นหนังสือ กสทช. เรียกร้องให้ คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม(กทค.) ทบทวนมติที่อนุญาตให้ผู้ประกอบการ กำหนดวันหมดอายุบัตรเติมเงินได้ใหม่เป็นเวลา 30 วัน เมื่อกลางเดือนที่ผ่านมา ได้มีกลุ่มผู้บริโภคในนามสมาพันธ์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคแห่งประเทศไทย มาให้กำลังใจและขอบคุณที่กทค.กำหนดวันหมดอายุ 30 วัน ถือว่าเหมาะสมแล้ว และได้ทำเช่นเดียวกันกับการคัดค้านเงื่อนไขการประมูลระบบ 3 จีเมื่อปีที่แล้ว   หรืออีกกรณีที่บริษัทปตท. ให้สมาคมพัฒนาผู้บริโภคไทย รับจัดเวทีชำแหละราคาพลังงานไทย 4 ภูมิภาค ครั้ง 1 อุดรธานี ครั้งที่ 2 เชียงราย ครั้งที่ 3 หาดใหญ่ และครั้งที่ 4 กทม. เกิดขึ้นหลังจากการให้ข้อมูลในสังคมออนไลน์และรณรงค์อย่างต่อเนื่องด้วยการขี่จักรยานไม่ให้ขึ้นราคาก๊าซ LPG ของกรรมาธิการธรรมาภิบาล ฯ วุฒิสภา กลุ่มกูสู้โกง และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคพร้อมเรียกร้องให้ปรับปรุงโครงสร้างราคาก๊าซในประเทศให้เป็นธรรมกับผู้บริโภคและหยุดสนับสนุนธุรกิจปิโตรเคมี   แม้แต่เรื่องใกล้ตัวอีกเรื่องการห้ามใช้แร่ใยหินในประเทศไทยตามมติคณะรัฐมนตรี ที่กระทรวงอุตสาหกรรมมีความพยายามให้ทำงานวิจัยใหม่ว่าแร่ใยหินไม่เป็นอันตราย หรือท่าทีที่เปลี่ยนแปลงไปของกระทรวงสาธารณสุขที่ต้องการทบทวนมติของตนเองว่ายังไม่มีหลักฐานการตายของคนในประเทศไทย   คิดในแง่ดีคงเป็นเพราะกลุ่มผู้บริโภค นักวิชาการ หรือกลุ่มต่างๆ ทำงานเรื่องนั้นได้ประสบความสำเร็จ จนยากที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะคัดค้านหรือตอบข้อเท็จจริงให้สังคมคลายข้อสงสัยหรืออธิบายให้สาธารณะเข้าใจ แต่ง่ายกว่าที่จะเอากลุ่มผู้บริโภค(ที่ไม่ได้ทำงานอย่างต่อเนื่อง) จัดม็อบสนับสนุนถือช่อดอกไม้หรือป้ายชมเชยว่า ไม่ได้มีกลุ่มผู้บริโภคกลุ่มเดียว   เหมือนกับหน่วยงานรัฐอื่นๆ ประสบความสำเร็จมาแล้วในการใช้ยุทธศาสตร์แยกมวลชนที่คัดค้านและสนับสนุน ทำให้สามารถทำโครงการขนาดใหญ่ การสร้างเขื่อน หรือจัดการความขัดแย้งอีกจำนวนมากในสังคมไทย   ช่วยกันรณรงค์ให้ใช้หลักฐานหรือ Evidence หรือข้อมูลในการแก้ปัญหาสังคม ปัญหาของบ้านเมือง ไม่ใช่ป้ายสีป้ายกลุ่ม ยึดถือข้อมูล ยึดถือความจริง ยึดถือความถูกต้อง เพื่อกำหนดหรือเปลี่ยนแปลงนโยบายสาธารณะ   แต่ท่ามกลางความสับสนหรือนโยบายที่ให้ความสำคัญกับการเติบโตทางเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว จนละเลยการมีกระบวนการที่ดี การมีตัวแทนผู้บริโภคในการให้ความเห็น การมีส่วนร่วมเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค(มาตรา 61) เวลานี้ ผู้บริโภคเป็นกำลังสำคัญในการคุ้มครองตนเอง การใช้สิทธิ การยึดหลักป้องกันไว้ก่อน เป็นเรื่องที่จำเป็นต้องทำ  

อ่านเพิ่มเติม >