ฉบับที่ 101 ฉลาดซื้อตะลุยโรงหนัง

เรื่องเด่นกองบรรณาธิการฉลาดซื้อตะลุยโรงหนังฉลาดซื้อ ฉบับนี้ตีตั๋วเข้าไปสังเกตการณ์โรงภาพยนตร์ชั้นหนึ่งในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล เพื่อพิสูจน์เสียงบ่น เสียงร้องเรียนจากบรรดาคอหนังในเรื่องปริมาณโฆษณา ราคาตั๋ว และแถมอีกเรื่องคือความปลอดภัย (ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีใครร้องเรียนเข้ามา แต่ก็อาจจะเริ่มวิตกกังวลกันอยู่บ้างหลังจากเกิดเหตุการณ์ไฟไหม้ที่ซานติก้าผับเมื่อต้นปี) ให้รู้กันไปว่าโรงไหนประกอบธุรกิจในแบบที่ผู้บริโภคอย่างเราพึงพอใจที่สุด ฉลาดซื้อส่งอาสาสมัครแยกย้ายกันเข้าไปชมภาพยนตร์เรื่อง “Terminator 4 : Salvation คนเหล็ก 4 มหาสงครามจักรกลล้างโลก” ซึ่งเข้าฉายเป็นสัปดาห์แรก ตามโรงภาพยนตร์ต่างๆ 20 โรง ในเขตกรุงเทพและปริมณฑล ในระหว่างวันที่ 30 – 31 พฤษภาคม 2552 (ยกเว้นที่ ลิโด้ และ เฮ้าส์ อาร์ซีเอ ซึ่งไม่ได้ฉายภาพยนตร์เรื่องดังกล่าว จึงให้อาสาสมัครเลือกดูเรื่องอื่นแทน) เพื่อเก็บข้อมูลทั้งที่เกี่ยวกับบริการของโรงภาพยนตร์และความเห็นของผู้บริโภค เหตุการณ์ตอนต่อไปเป็นอย่างไร เชิญ .... ??? จากการสำรวจความคิดเห็นของผู้บริโภค พบว่าปัญหาที่ผู้บริโภคพบมาก 5 อันดับแรก ได้แก่ 1. เสียงคนคุยกันขณะชมภาพยนตร์2. เข้าคิวรอนาน เพราะเปิดช่องขายตั๋วน้อยเกินไป3. การโฆษณาสินค้าหรือบริการก่อนฉายภาพยนตร์4. มีคนนำเด็กเล็กเข้ามาดูด้วย5. ราคาตั๋วหนังแพงเกินไป จะให้ดูโฆษณาหรือดูภาพยนตร์ ถ้าคุณไม่อยากดูโฆษณาในโรงภาพยนตร์ เราขอแนะนำโรงภาพยนตร์ต่อไปนี้- เฮ้าส์ อาร์ซีเอ และเมเจอร์ ฮอลลีวูด เป็นโรงภาพยนตร์ที่สำรวจไม่พบการฉายภาพยนตร์โฆษณาก่อนฉายเลย- ยูเอ็มจี มีโฆษณาก่อนฉายภาพยนตร์ต่อรอบเพียง 1 ชิ้น ซึ่งเป็นการรณรงค์เรื่อง “ง่วงไม่ขับ” ของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)- โรงภาพยนตร์ในเครือเอเพ็กซ์ (สกาล่า ลิโด้ และสยาม) มีการฉายโฆษณาก่อนฉายภาพยนตร์ต่อรอบเพียง 1 ชิ้น และเป็นสินค้าชนิดเดียวกันคือน้ำอัดลมยี่ห้อเป็ปซี่- หลายคนใช้วิธีเข้าโรงหนังช้ากว่าเวลาที่ระบุในตั๋ว เพื่อจะได้ไม่ต้องดูโฆษณา แต่ฉลาดซื้อไม่สนับสนุนวิธีนี้ เพราะนอกจากจะสร้างนิสัยไม่ตรงเวลาให้กับตัวเองแล้ว ยังเป็นการรบกวนคนที่เข้าตามเวลา ตอนที่ต้องเดินผ่านเข้าไปยังที่นั่งของตนเองด้วยแต่ถ้าจะไปชมภาพยนตร์ที่โรงต่อไปนี้ ก็ต้องเปิดใจกว้างขึ้นอีกนิด  - โรงภาพยนตร์เมเจอร์ ซีเนเพล็กซ์ มีการฉายภาพยนตร์โฆษณาก่อนฉายภาพยนตร์มากที่สุด โดยที่สาขารัชโยธินมีมากที่สุด คือ 15 ชิ้น รวมเป็นเวลามากกว่า 10 นาที รองลงมาคือ สาขาบางกะปิ จำนวน 13 ชิ้น รวมเป็นเวลามากกว่า 10 นาที เช่นกัน- โรงภาพยนตร์เมเจอร์ ซีเนเพล็กซ์ และโรงภาพยนตร์อีจีวี เป็น 2 เครือโรงภาพยนตร์ที่มีการฉายภาพยนตร์โฆษณาก่อนฉายภาพยนตร์มากกว่า 10 ชิ้นต่อหนัง 1 เรื่อง ซึ่งเมเจอร์ ซีเนเพล็กซ์และอีจีวี เป็นโรงภาพยนตร์ที่อยู่ภายใต้การบริหารงานของบริษัท เมเจอร์ ซีเนเพล็กซ์ กรุ๊ป - เอสพละนาด และพารากอน ซีเนเพล็กซ์ เป็นอีก 2 โรงภาพยนตร์ที่บริหารงานโดยบริษัท เมเจอร์ ซีนิเพล็กซ์ กรุ๊ป ซึ่งจากการสำรวจพบว่ามีการฉายภาพยนตร์โฆษณาก่อนฉายภาพยนตร์จำนวน 9 ชิ้นเท่ากัน คิดเป็นเวลา 8.26 นาที สำหรับเอสพลานาด และ 6.48 นาที สำหรับพารากอน ซีเนเพล็กซ์- โรงภาพยนตร์เอส เอฟ ซีเนม่า ทั้ง 4 สาขา ที่ทำการสำรวจ คือ งามวงศ์วาน, เซ็นทรัล เวิร์ลด์, มาบุญครอง และดิ เอ็มโพเรียม พบจำนวนการฉายภาพยนตร์โฆษณาก่อนฉายภาพยนตร์ต่อรอบใกล้เคียงกัน คือ 6 – 7 ชิ้น- หากรวมเวลาที่ใช้ไปกับการฉายภาพยนตร์โฆษณาและภาพยนตร์ตัวอย่างก่อนฉายภาพยนตร์ต่อรอบ พบว่าโรงภาพยนตร์เมเจอร์ ซีเนเพล็กซ์ บางกะปิ ใช้เวลาไปมากที่สุด ประมาณ 32.30 นาที รองลงมาคือ อีจีวี สาขารังสิต และอีจีวี สาขาสยามดิสคัฟเวอรี ใช้เวลาไปประมาณ 30 นาที- แม้ว่าเวลาที่เสียไปกับการชมภาพยนตร์ตัวอย่างจะมากกว่าเวลาที่เสียไปกลับการชมภาพยนตร์โฆษณา แต่ผู้ชมส่วนใหญ่ยินดีที่จะชมภาพยนตร์ตัวอย่าง ในขณะที่รู้สึกว่าภาพยนตร์โฆษณาสร้างความรำคาญและทำให้เสียเวลามากกว่าข้อสังเกตจากการ (ทน) นั่งชมโฆษณา-  มีการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ฉายในโรงภาพยนตร์ แม้จะถูกห้ามฉายทางโทรทัศน์ก็ตาม- การฉายภาพยนตร์ตัวอย่าง แม้จะมีเรื่องกระแสของการจำกัดอายุผู้ชมภาพยนตร์ เพื่อความเหมาะสม แต่ภาพยนตร์ตัวอย่างที่ฉายก่อนภาพยนตร์จริงกับถูกมองข้าม เพราะเคยมีตัวอย่างมาแล้วว่าหนังการ์ตูนที่มีเด็กเข้าไปชมเป็นจำนวนมากกับมีการฉายภาพยนตร์ตัวอย่างเป็นหนังสยองขวัญที่มีฉากการใช้ความรุนแรง ซึ่งไม่เหมาะสมอย่างมากสำหรับเด็ก “เมเจอร์ ซีเนเพล็กซ์ กรุ๊ปส์ มีสัดส่วนรายได้โฆษณาเฉลี่ย 15 -16% ของรายได้รวม หรือรายได้ไตรมาส 3 รวม 1,367 ล้านบาท แบ่งเป็นโฆษณา 216 ล้านบาท ขณะที่โรงภาพยนตร์เครือเอสเอฟ ซีเนม่า ซิตี้ มีรายได้หลัก 60% จากการจำหน่ายบัตรชมภาพยนตร์ จากกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม 20% และที่เหลือ 10% เป็นรายได้ที่มาจากโฆษณาจากเจ้าของสินค้าต่างๆ” *ที่มา: โพสต์ ทูเดย์ 18 พ.ย. 51* เสียงจาก สคบ. “โฆษณาประมาณ 3- 5 นาที ไม่มากเกินไป”แม้สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) จะไม่ถือว่าเรื่องของโฆษณาในช่วงก่อนฉายภาพยนตร์เป็นปัญหาเพราะยังมีผู้ร้องเรียนมาน้อยมาก แต่เรื่องร้องเรียนส่วนใหญ่ที่เกี่ยวกับบริการโรงภาพยนตร์ก็คือเรื่องของโฆษณานั่นเอง นายนิโรธ เจริญประกอบ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ได้เล่าให้ฟังถึงเรื่องของการแก้ปัญหาดังกล่าวว่า  “เราได้ขอร้องให้ผู้ประกอบธุรกิจติดประกาศแจ้งไว้หน้าโรงภาพยนตร์ว่า ในรอบที่ฉายภาพยนตร์จะมีการฉายโฆษณากี่นาที หนังตัวอย่างกี่นาที เริ่มฉายกี่โมง เลิกฉายเวลากี่โมง เพื่อให้ผู้บริโภคที่สิทธิเลือกได้ ถ้าหากไม่อยากชมภาพยนตร์โฆษณาก็รอเข้าเวลาที่หนังเริ่มฉาย ซึ่งเราก็ส่งเจ้าหน้าที่ไปสำรวจก็เห็นว่าผู้ประกอบการให้ความร่วมมือดี แต่เราไม่สามารถบอกให้เขาลดได้ เพราะยังไม่มีการออกกฎกระทรวงหรือข้อกำหนดใดๆ ในเรื่องนี้ และเราก็เห็นว่าการโฆษณาภาพยนตร์ตัวอย่างประมาณ 15 นาที โฆษณาประมาณ 3- 5 นาที ไม่มากเกินไป แต่ถ้ามีการร้องเรียนมา และเห็นว่าสร้างความเดือดร้อนรำคาญให้ผู้บริโภค เราก็จะเชิญผู้ประกอบการมาพูดคุยว่ามันเหมาะสมหรือไม่อย่างไร”   ราคาตั๋ว “ถ้ามันแพงไปก็ไม่ดู”ราคาตั๋วที่อาสาสมัครของเราจ่ายไปสำหรับการดูภาพยนตร์ในวันสุดสัปดาห์ นั้นมีตั้งแต่ 100 – 160 บาท (ทั้งหมดเป็นที่นั่งเดี่ยว) สำหรับบางโรงนั้นราคาตั๋วจะไม่แตกต่างระหว่างวันธรรมดากับวันเสาร์อาทิตย์ เช่น โรงภาพยนตร์เฮ้าส์ ยูเอ็มจี และโรงในเครือเอเพ็กซ์ ที่ราคา 100 บาท ทุกวัน ในขณะที่โรงอื่นๆ ราคาจะอยู่ที่ 100 บาท ในวันจันทร์ถึงพุธ และขึ้นเป็น 120 – 160 บาทในวันเสาร์อาทิตย์ นอกจากนี้ยังแตกต่างกันตามที่นั่งอีกด้วย เช่นที่นั่งแถวปกติ ที่นั่งพิเศษแถวบนสุด เป็นต้น ราคาที่ถูกกว่านั้น (60 หรือ 80 บาท) ก็ยังพอหาได้แต่มีเงื่อนไขว่า คุณต้องแสดงบัตรนักเรียน/นักศึกษา (ที่ยังไม่หมดอายุนะ ?) และเข้าชมภาพยนตร์ในวันธรรมดารอบก่อน 18.00 น. หรือบางครั้งสินค้าและบริการอื่นๆ ที่คุณเป็นลูกค้าอยู่อาจมีโปรโมชั่นให้คุณได้ดูภาพยนตร์ในราคาที่ถูกลงด้วยก็ได้ คอหนังส่วนใหญ่น่าจะไม่พลาด ประเทศอื่นเขาดูหนังกันที่ราคาเท่าไหร่??ราคาตั๋วหนังเฉลี่ยในสหรัฐอเมริกานั้นอยู่ที่ 7.18 เหรียญ (ข้อมูลจาก The National Association of Theatre Owners) หรือประมาณ 245 บาท ซึ่งก็เท่ากับราคาอาหารกลางวันหนึ่งมื้อโดยเฉลี่ยของที่นั่น น่าคิดเหมือนกันว่าอาหารกลางวันของเรามื้อละ 100 บาทเชียวหรือ???  หรือที่สิงค์โปร์ ราคาตั๋วหนังสำหรับเรื่องทรานสฟอร์เมอร์ ภาคล่าสุด อยู่ที่ 7.50 เหรียญ หรือประมาณ 175 บาท (ข้อมูลจากเว็บไซต์ของโรงภาพยนตร์โกลเด้น วิลเลจ) อาจดูเหมือนแพงกว่าบ้านเรา แต่อาหารหนึ่งมื้อของที่นั่นราคาประมาณ 5 เหรียญ หรือประมาณ 120 บาท เท่านั้น เรื่องราคาตั๋วนี้ ผู้ประกอบการให้ข้อมูลกับฉลาดซื้อว่า ในราคาตั๋วหนึ่งใบนั้น ผู้ประกอบการโรงภาพยนตร์จะได้เพียงครึ่งหนึ่ง อีกครึ่งหนึ่งนั้นเป็นของค่ายหนัง จึงต้องมีการเพิ่มรายได้ด้วยการรับโฆษณา และขายอาหารและเครื่องดื่มราคาพิเศษที่หน้าโรงด้วย โรงภาพยนตร์ปลอดภัยแค่ไหน“โรงหนังหรือโรงมหรสพ มีระเบียบกฎหมายที่เกี่ยวข้องมากำกับดูแลค่อนข้างละเอียด ถือได้ว่าเป็นอาคารประเภทที่มีกฎหมายดูแลมากที่สุดก็ว่าได้” ฉลาดซื้อได้รับการยืนยันจากคุณอุดม พัวสกุล อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง ว่าโรงภาพยนตร์ทั้ง 310 โรงในเขตกรุงเทพมหานครนั้นผ่านมาตรฐานความปลอดภัย นอกจากนี้ยังมีการสุ่มตรวจทุกสัปดาห์ๆ ละ 10 โรง อีกด้วย ส่วนเรื่องโรงเดี่ยว โรงบนห้าง โรงเก่า โรงใหม่ นั้นไม่แตกต่างกันในเรื่องระดับความปลอดภัย “เรามีมาตรฐาน จะบอกว่าโรงเดียวปลอดภัยกว่าโรงบนห้างไม่ได้ เพราทุกโรงต้องทำตามมาตรฐานระบบความปลอดภัย และต้องมีใบอนุญาต”แต่อย่างไรก็ตามผู้บริโภคสามารถช่วยกันเป็นหูเป็นตาให้กับทางกรมฯ หากรู้สึกว่าโรงภาพยนตร์ที่ไปใช้บริการนั้นไม่ปลอดภัย หรือมีการใช้อาคารผิดจุดประสงค์ ก็สามารถแจ้งได้ที่ http://www.dpt.go.th/wan/building/form_building.htm หรือโทรแจ้งที่ ศูนย์ดำรงธรรม กรมโยธาธิการและผังเมือง หมายเลขโทรศัพท์ 0-2299-4311-12   **โรงภาพยนตร์ซึ่งเป็นประเภทหนึ่งของโรงมหรสพนั้นอยู่ภายใต้การควบคุมของ พรบ. ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ซึ่งได้รับการแก้ไขเพิ่มเติมโดย พรบ. ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2543 ซึ่งผู้ประกอบการจะต้องยื่นขออนุญาตใช้อาคารเพื่อการประกอบกิจการโรงมหรสพ และจะมีเจ้าหน้าที่มาตรวจสอบอาคารและส่งให้คณะกรรมการพิจารณาอีกครั้ง เมื่อได้รับอนุญาตแล้วผู้ประกอบการจะต้องส่งสำเนาของกรมธรรม์ประกันภัย ภายใน 30 วัน ใบอนุญาตดังกล่าวมีอายุ 2 ปี   :: อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ >> คู่มือปฏิบัติการควบคุมโรงมหรสพ         คุยกับผู้ประกอบการคุณพงศ์นรินทร์ อุลิศ ผู้บริหารโรงภาพยนตร์เฮ้าส์  ความปลอดภัยของผู้เข้าชมภาพยนตร์ “ทำทุกๆ อย่างตามที่ควรจะเป็น”“เราต้องการทำโรงหนังที่มีคาแร็คเตอร์ของการฉายหนังต่างจากคนอื่น เราจึงคำนึงถึงตัวหนังที่จะมาฉายก่อน หลังจากนั้นเราก็จะมาคำนึงต่อว่าอะไรที่จะสะท้อนความเป็นเรา ก็เรื่องการออกแบบสถานที่ แล้วก็มาดูเรื่องความปลอดภัย เราจะคิดในแง่ที่ว่าให้คนที่มาดูได้รับความสะดวกปลอดภัยยังไง เช่น ดูว่าจะทำไงให้คนพิการมาดูได้ ไปดูเรื่องมาตรฐานทางเดิน ทางลาด ส่วนเรื่องมาตรฐานความปลอดภัย ไม่ได้คำนึงถึงอะไรเป็นพิเศษ ก็ดูตามที่กฎหมายบอก ตามที่มันจะเป็น ทำทุกๆ อย่างตามที่ควรจะเป็น” หนังโฆษณาก่อนฉายภาพยนตร์ ทุกวันนี้ไม่มีโฆษณา“เราอยากฉายโฆษณา เราไม่ได้มีนโยบายว่าจะไม่ฉายโฆษณา เราเคยฉายโฆษณาตั้งแต่เปิดโรงมา เต็มที่เราฉายโฆษณา 2 ตัวพร้อมกัน ใช้เวลาประมาณ 1 นาที ไม่เกินกว่านั้น เนื่องจากเรามีคนมาดูหนังจำนวนไม่มาก เพราะเราทำให้เพื่อคนที่เขาเบื่อหนังที่เขาดูที่ไหนก็ได้มาเลือกดูหนังที่เรา ซึ่งพอคนดูน้อยก็ทำการค้าการขายยาก ก็เลยเป็นคำตอบว่าทุกวันนี้เราเลยไม่มีโฆษณา”  ราคาตั๋ว “ถ้าเรารู้สึกว่าโรงนี้แพง... อย่าดู”“มองว่าเหมาะสม เพราะว่าเวลาเราจะขายอะไรก็ต้องดูว่าต้นทุนเราเป็นยังไง ซึ่งท้ายสุดผู้บริโภคมีสิทธิเลือก เลือกรับไม่รับ ถ้าราคาที่มีอยู่ในปัจจุบันเรารู้สึกว่ามันแพงไปก็ไม่ต้องดู เราไม่มีมาตรการที่จะไปห้ามโรงหนังว่าห้ามขายเกินเท่านี้ๆ เพราะเราอยู่ในโลกของธุรกิจ ราคาอาจจะแพงเพราะต้นทุนเขาแพงซึ่งถูกต้องมั้ยก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ก็ถือเป็นสิทธิของโรง ซึ่งถ้ามันแพงไปก็ไม่ดู ผู้บริโภคเลือกได้ แม้ว่าการเลือกไม่รับอาจก่อปัญหา แต่น่าจะเป็นทางเดียวที่แก้ปัญหาได้ตรงจุด ถ้าเรารู้สึกว่าโรงนี้แพง อย่าดู ตาต่อตาฟันต่อฟัน” คุณณัฐกิตติ์ เจริญศิริ ผู้จัดการอาวุโสการตลาดและพัฒนาธุรกิจ โรงภาพยนตร์เซ็นจูรี่ ความปลอดภัยของผู้เข้าชมภาพยนตร์ “เจ้าหน้าที่ก็ได้รับการอบรมทุกๆ ปี อย่างน้อยปีละครั้ง”“เรามีเจ้าหน้าที่มีหน้าที่คอยดูแลเรื่องความปลอดภัย ดูแลเรื่องสาธารณูปโภค ฝ่ายช่าง ฝ่ายวิศวกรรม เรามีเจ้าหน้าที่คอยเดินตรวจตรา ตั้งแต่โรงหนัง พื้นที่จอดรถ พื้นที่บุคคลภายใน มีกล้องวงจรปิด ในกรณีที่เกิดเหตุเพลิงไหม้ เรามีการอบรมทั้งร้านค้าและเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานอยู่เรื่อยๆ แน่นอนว่าสิ่งที่กฎหมายกำหนดให้มีก็ต้องทำ เช่นมีสัญญาณเตือนเมื่อเกิดไฟไหม้ เครื่องตรวจจับควัน สปริงเกอร์ จุดต่อท่อที่เชื่อมกับสายดับเพลิงต่างๆ เ รามีอยู่ทุกชั้น และเรามีโทรศัพท์ฉุกเฉินในทุกชั้นเจ้าหน้าที่ได้รับการอบรมทุกๆ ปี อย่างน้อยปีละครั้ง”  ภาพยนตร์โฆษณา “โฆษณาเรากำหนดไว้ไม่เกิน 4 ตัว” “เรากำหนดไว้ว่าจะให้เวลากับโฆษณา เพลงสรรเสริญฯ และทุกสิ่งทุกอย่างก่อนหนังฉายรวมแล้วไม่เกิน 30 นาที แต่ทุกวันนี้เราใช้อยู่ประมาณ 26 นาที ซึ่งเราปรับเปลี่ยนอยู่ตลอด ที่ต้องกำหนดเวลาอย่างนี้เพราะว่าในหนึ่งเดือนจะมีหนังเข้าเยอะ ซึ่งจะเป็นข้อตกลงที่เราต้องโปรโมทให้กับทางค่ายหนังตามสมควร เกี่ยวเนื่องกับหลักทางการตลาดในการแบ่งสัดส่วนของรายได้ แต่มองแล้วหากเปรียบเทียบกับรายอื่นๆ เวลา 30 นาทีผมคิดว่าไม่มากไม่น้อยไป โฆษณาเรากำหนดไว้ไม่เกิน 4 ตัว การจะตัดโฆษณาออกเลยคงทำไม่ได้ เพราะเรายังต้องมีเงินส่วนนี้มาอุดหนุน ส่วนเรื่องการแจ้งเวลาจริงที่หนังฉายเป็นไปได้ยากเพราะแต่ละโรงมีโฆษณาไม่เท่ากันแล้วทุกๆ สัปดาห์มีหนังฉายไม่เท่ากัน เวลาหนังแต่ละเรื่องไม่เท่ากัน เพราะฉะนั้นการบวกรอบเวลาของแต่ละรอบก็จะไม่เท่ากัน เราพยายามจะเพิ่มทีวีสแตนดี้ข้างนอก เพื่อที่จะเอาหนังที่มีเทรเลอร์ที่ล่วงหน้ามากๆ มาฉาย แล้วเราก็ตัดในโรงภาพยนตร์ออกไป ซึ่งมันจะเป็นการลดการยัดเยียดส่วนหนึ่ง”  การห้ามนำอาหารจากภายนอกเข้าไปในโรงภาพยนตร์ “เหตุผลเดียวคือ…สกปรก”“ที่ห้ามนำอาหารเข้าไปในโรงภาพยนตร์มีเหตุผลเดียวคือเรื่องความสกปรก เพราะเก้าอี้หนึ่งตัวราคาประมาณ 3-5 หมื่นบาท แพงมาก เพราะเป็นกำมะหยี่ ดังนั้นการรักษาความสะอาดเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด ไม่ว่าจะเรื่องกลิ่น หรือของเหลวที่เป็นซอสต่างๆ ค่าทำความสะอาดเป็นพันบาท อายุการใช้งานของเก้าอี้อยู่ได้ถึง 10 ปี แต่ก็ไม่มีที่ไหนปล่อยให้นานขนาดนั้น แต่ละที่ก็ต้องเปลี่ยนให้ดูใหม่เพื่อภาพลักษณ์ของตัวเองด้วย”คุณธงชัย พิริยบุณยานนท์ ผู้จัดการฝ่ายการตลาดและประชาสัมพันธ์ โรงภาพยนตร์เมเจอร์ฮอลลิวูด รามคำแหง ความปลอดภัยของผู้เข้าชม “มีเจ้าหน้าที่ประจำโรงคอยดูแล”“เราทำตามหลักมาตรฐาน ทั้งเรื่องระยะห่างของทางเดิน ความกว้างของประตูทางออก ซึ่งทุกโรงจะมีทางออก 2 ข้างทางด้านกับด้านหลัง เรื่องทางหนีไฟก็สะดวก ถังดับเพลิงของเราก็เป็นแบบที่มีคุณภาพ มีการทดลองปรับเปลี่ยนว่าใช้งานได้จริง มีเจ้าหน้าที่ฝ่ายอาคารคอยตรวจ มีเจ้าหน้าที่ประจำโรงคอยดูแลหากมีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้น พนักงานเกือบทุกคนจะพกวิทยุสื่อสารเพื่อการติดต่อรวดเร็ว แล้วเรายังประสานกับเจ้าหน้าดับเพลิง กรมพัฒนาฝีมือแรงงานเพื่อมาช่วยฝึกอบรมพนักงานเรื่องการดูแลความปลอดภัย” ภาพยนตร์โฆษณา “ไม่มีโฆษณา”“ทางเมเจอร์ ฮอลลีวูดเราไม่มีโฆษณา เรามีแค่ภาพยนตร์ตัวอย่าง ฉายแค่ประมาณ 4-5 เรื่อง รอไม่นานก็ได้ดูภาพยนตร์ ซึ่งทำให้ผู้บริโภคอยากมาดูที่เรา เพราะหนังฉายเร็วไม่ต้องเสียเวลา” แนวทางการดำเนินธุรกิจ“เราเน้นที่เรื่องของบริการ เมเจอร์ ฮอลลีวูดก่อนที่ตั้งราคาสินค้า ไม่ว่าจะเป็นราคาตั๋วชมภาพยนตร์ ราคาอาหารเครื่องดื่มที่ขายหน้าโรงเราจะสืบคู่แข่ง เราอาจจะขายเทียบเท่าคู่แข่งแต่ไม่แพงกว่าคู่แข่ง ซึ่งเราเชื่อว่าปัจจุบันนี้ตัวที่จะชี้วัดเรื่องรายได้ให้กับธุรกิจโรงภาพยนตร์มี 2 อย่าง อย่างแรกแน่นอนว่าคือตัวหนัง อย่างที่ 2 ที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือเรื่องของการบริการ ทั้งเรื่องสถานที่ ความสะดวกสบาย การดูแลของพนักงาน คือถ้าผู้บริโภคเขามาใช้บริการแล้วเกิดความประทับใจ เขาก็จะกลับมาใช้บริการในครั้งต่อๆ ไป คุณนันทา ตันสัจจา ผู้บริหารกลุ่มโรงภาพยนตร์ในเครือเอเพ็กซ์ (สกาล่า สยาม และลิโด้)ความปลอดภัยของผู้เข้าชม “เป็นไปตามมาตรฐาน”“เป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนด มีการตรวจสอบเป็นระยะ และมีเจ้าหน้าที่ดูแลความปลอดภัย พนักงานของที่นี่จะได้รับการอบรมอย่างสม่ำเสมอทั้งด้านการให้บริการและการดูแลความปลอดภัยของผู้ชม” ภาพยนตร์โฆษณา “ชิ้นเดียวเท่านั้น”“โรงภาพยนตร์ในเครือเอเพ็กซ์ จะมีโฆษณาหนึ่งชิ้นเท่านั้น ส่วนปริมาณหนังตัวอย่างนั้นขึ้นอยู่กับความยาวของหนังเรื่อง เช่นถ้าหนังเรื่องมีความยาวมากก็จะลดจำนวนหนังตัวอย่างลง” แนวทางการดำเนินธุรกิจ“สิ่งที่ผู้บริโภคต้องการเวลาที่มาชมภาพยนตร์คือ ความบันเทิง และเอเพ็กซ์มีทางเลือกให้กับผู้บริโภคมากขึ้น เพิ่มรสชาติแปลกๆให้กับการดูหนัง ไม่ใช่หนังฮอลลิวูดอย่างเดียว และเชื่อว่าหนังทางเลือกเริ่มมีแฟนมากขึ้น และถือว่าทางโรงเดินมาถูกทางแล้ว” **หมายเหตุ: เราไม่มีบทสัมภาษณ์จากผู้บริหารของโรงภาพยนตร์เอสเอฟ ซิเนม่า โรงภาพยนตร์เมเจอร์และโรงภาพยนตร์ในเครือ เนื่องจากทางโรงภาพยนตร์ดังกล่าวไม่สะดวกที่จะให้ข้อมูล โรงภาพยนตร์กับปรากฏการณ์โลกร้อน An Inconvenient Truth?     อย่างน้อยเราก็ได้ทราบว่าผู้ประกอบการณ์โรงภาพยนตร์ได้มีความพยายามที่จะเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ไขภาวะดังกล่าว เช่น โรงภาพยนตร์เซ็นจูรี่กำลังปรับเปลี่ยนแก้วน้ำจากพลาสติกมาเป็นแก้วกระดาษ โรงภาพยนตร์เมเจอร์ ฮอลลิวูดมีการควบคุมการไหลของน้ำในอ่างล้างมือ ล้างหน้า เพื่อการใช้น้ำที่ประหยัดขึ้น และการจัดพื้นที่สีเขียวให้กับบริเวณพื้นที่สาธารณะรอบๆ โรงภาพยนตร์ของเครือเอเพ็กซ์ เป็นต้น

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 101 กระแสต่างแดน

น้ำขวดหรือจะสู้น้ำประปา บริษัทที่ขายน้ำดื่มในอเมริกานั้นทำกำไรได้ปีละหลายล้านเหรียญจากความเชื่อที่ว่าน้ำดื่มบรรจุขวดนั้นสะอาดบริสุทธิ์กว่าน้ำประปาบ้านๆ แต่หารู้ไม่ว่าการผลิตน้ำขวดดังกล่าวมีการควบคุมดูแลน้อยกว่าน้ำประปาด้วยซ้ำ รายงานที่นำเสนอในสภาคองเกรสของสหรัฐระบุว่าองค์การอาหารและยาของสหรัฐมีอำนาจน้อยมากในการกำกับดูแลความปลอดภัยของน้ำดื่มบรรจุขวด ในขณะที่ในบางมลรัฐที่พอจะมีอำนาจจัดการอยู่บ้างก็ให้ความสำคัญกับการควบคุมการผลิตน้ำประปามากกว่า บาร์ท สตูพัค ผู้แทนจากรัฐมิชิแกนบอกว่า คนอเมริกันยินดีจ่ายเงินซื้อน้ำบรรจุขวด ซึ่งมีราคามากกว่าน้ำจากก๊อกถึง 1,900 เท่า และใช้พลังงานมากกว่า 2,000 เท่าในการผลิตและการขนส่ง ในขณะที่มีน้ำดื่มบรรจุขวดถูกเรียกคืนเพราะมีการปนเปื้อนของสารหนู โบรเมท เชื้อรา และแบคทีเรีย อยู่เป็นระยะๆ ในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา   แม้แต่เดือนเมษายนที่ผ่านมาก็มีรายงานข่าวว่ามีเด็กนักเรียนนับสิบรายที่ป่วยหลังจากดื่มน้ำบรรจุขวดที่ซื้อจากตู้ขายน้ำอัตโนมัติ รายงานดังกล่าวยังระบุว่าองค์การอาหารและยาของสหรัฐไม่ได้ควบคุมปริมาณของสารประกอบ DEHP (ซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพ) ในน้ำดื่มบรรจุขวด ในขณะที่หน่วยงานที่ดูแลด้านสิ่งแวดล้อมมีการควบคุมปริมาณสารดังกล่าวในน้ำประปา แต่ทางสมาคมผู้ผลิตน้ำบรรจุขวดบอกว่า มีความเป็นไปได้น้อยมากที่จะมีสารนี้ในน้ำดื่มบรรจุขวดซึ่งผ่านการควบคุมมาหลายขั้นตอนแล้ว สมาคมฯ บอกว่าในปีที่ผ่านมา คนอเมริกันนั้นดื่มน้ำกันไปทั้งหมด 8,700 ล้านแกลลอน หรือ ประมาณคนละ 28.5 แกลลอน รายได้จากการขายน้ำดื่มบรรจุขวดในปีดังกล่าวสูงถึง 11,200 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณกว่า 380,000 ล้านบาท) ที่นี่ไม่มีน้ำขวดคราวนี้ข้ามทวีปมาที่ออสเตรเลียกันบ้าง มาดูปรากฏการณ์น่าสนใจที่เมืองบันดานูน ทางตะวันตกเฉียงใต้ของซีดนีย์ ประชากร (ซึ่งมีทั้งหมดประมาณ 2,500 คน) ของเมืองท่องเที่ยวแห่งนี้เห็นร่วมกันว่าควรจะกำจัดสิ่งที่เรียกว่า “น้ำดื่มบรรจุขวด” ออกไปจากเมืองเสียที เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากขั้นตอนการบรรจุขวดและการขนส่ง แต่ไม่ต้องกลัวว่าไปเที่ยวเมืองนี้แล้วจะไม่มีน้ำดื่มดับกระหายนะพี่น้อง เขามีขวดเปล่าเอาไว้ให้รองน้ำจากตู้กดน้ำที่ตั้งไว้ทั่วไปตามท้องถนนเอาไว้ดื่มกันให้เปรม ส่วนกับทางร้านค้านั้น เขาก็ไม่ได้บังคับขืนใจให้หยุดขายน้ำดื่มบรรจุขวดแต่อย่างใด ปล่อยให้เป็นความสมัครใจของร้านค้าต่างๆ ซึ่งมีอยู่ประมาณ 50 ร้าน การรณรงค์ครั้งนี้เกิดขึ้นเพราะมีบริษัทที่ชื่อว่า นอร์เล็กซ์ โฮลดิ้ง จะมาตั้งโรงงานเพื่อสูบเอาน้ำจากเมืองนี้แล้วส่งเข้าไปบรรจุขวดในโรงงานที่ซีดนีย์ ซึ่งอยู่ห่างออกไป 120 กิโลเมตร ผู้คนที่เมืองนี้คัดค้านแผนการดังกล่าว และขณะนี้บริษัทฯ ก็ยังอยู่ในระหว่างการอุทธรณ์ต่อศาล เป็นใครก็คงรับไม่ได้ ถ้าจะมีคนมาสูบน้ำไปจากบ้านเราแล้วเอาไปใส่ขวดกลับมาขายเราอีก การรณรงค์ของชาวเมืองบันดานูนนี้ถือว่าได้ผลทีเดียวเพราะรัฐนิวเซาท์เวลส์ก็รับลูกทันที ผู้ว่าการรัฐออกมาประกาศว่าต่อไปนี้ห้ามหน่วยงานของรัฐใช้เงินไปกับการซื้อน้ำดื่มบรรจุขวดเด็ดขาด คนออสซี่ก็ใช้เงินไปกับการซื้อน้ำดื่มบรรจุขวดไม่น้อย ถึงปีละ 500 ล้านเหรียญออสเตรเลีย (ประมาณ 13,000 กว่าล้านบาท) เลยทีเดียว ผู้หญิงเชิญตู้อื่น... นะครับใครจะไปนึกว่าวันหนึ่งคุณสุภาพบุรุษชาวญี่ปุ่นเขาจะออกมาเรียกร้องขอรถไฟตู้พิเศษสำหรับชายล้วน ในช่วงเวลาเร่งด่วนที่ต้องมีการเบียดเสียดกัน ทั้งนี้ทั้งนั้นไม่ใช่เพราะว่ากลัวจะโดนผู้หญิงแต๊ะอั๋งหรอกนะ แต่เป็นเพราะไม่อยากถูกกล่าวหาว่าไปลวนลามคุณสุภาพสตรีมากกว่า ก็รถมันแน่นซะขนาดนั้น จะทำตัวล่องหนก็วิทยายุทธ์ยังไม่แก่กล้าพอ จากข้อมูลของตำรวจญี่ปุ่น ในปี พ.ศ. 2550 มีคุณผู้ชายถูกจับข้อหาลวนลามสตรีเพศถึง 2,000 คนเลยทำให้บริษัทที่จัดการเรื่องรถไฟต้องมีการกำหนดให้ตู้โดยสารบางตู้เป็นเขตปลอดผู้ชาย ที่นี้เลยทำให้เกิดไอเดียสุดเจ๋งตามมา คือมีการขอตู้โดยสารสำหรับชายล้วนๆ บ้าง ผู้ที่เสนอไอเดียเรื่องตู้โดยสารสำหรับชายล้วนนี้ได้แก่ผู้ถือหุ้นจำนวนสิบคน (ข่าวไม่ได้ระบุว่าเป็นผู้ชายหรือผู้หญิง) ของบริษัทเซบุ โฮลดิ้ง ซึ่งเป็นผู้ประกอบการรถไฟในเขตโตเกียว ที่เสนอทางออกในการแก้ปัญหาหลังจากที่บริษัทได้รับเรื่องร้องเรียนจากคุณผู้หญิงจำนวนมากว่าถูกลวนลาม และในขณะเดียวกันก็ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้ชายที่ถูกกล่าวหาว่าไปลวนลามคนอื่นๆ ทั้งที่จริงแล้วไม่ได้ทำด้วย ว่าแล้วก็เลยเสนอว่าน่าจะจัดตู้พิเศษสำหรับชายล้วนด้วยมันถึงจะเท่าเทียม แต่คณะกรรมการเขาลงมติไม่รับข้อเสนอนี้ โดยให้เหตุผลว่าจนถึงขณะนี้มีผู้โดยสารชายออกมาโวยวายน้อยมาก ก็เลยต้องขอรบกวนให้นั่งตู้เดียวกับคุณผู้หญิงต่อไป งานนี้ไม่รู้ใครกลัวใครแล้ว ผิดด้วยหรือที่ไม่อยากโชว์แขน ร้านเสื้อผ้ายี่ห้อดัง อะเบอร์ครอมบี้แอนด์ฟิทช์ (Abercrombie & Fitch) ถูกพนักงานขายฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายเป็นเงิน 25,000 ปอนด์ หรือประมาณ 1.4 ล้านบาท โทษฐานที่เลือกปฏิบัติต่อเธอ พนักงานขายคนนี้ชื่อ เรียม ดีน เป็นนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยลอนดอน เธออายุ 22 ปีและใช้แขนเทียมมาตั้งแต่อายุ 3 ขวบ ตอนแรกที่รับเธอเข้าทำงานในตำแหน่งพนักงานขายนั้น ทางร้านอะเบอร์ครอมบี้ ในย่านหรูของลอนดอน อนุญาตให้ดีนใส่เสื้อแขนยาวเพื่อปกปิดแขนเทียมไว้ในขณะให้บริการลูกค้าได้ แต่ผ่านไปไม่กี่วันทางร้านก็บอกกับเธอว่าเธอต้องถอดเสื้อคลุมแขนยาวนั้นออกให้เหลือแต่เสื้อยืดตัวในเหมือนพนักงานคนอื่นๆ เมื่อเธอปฏิเสธที่จะทำเช่นนั้น จึงเท่ากับว่าเธอฝ่าฝืนนโยบายเรื่องการแต่งกายของบริษัท เธอจึงถูกย้ายเข้าไปทำงานในห้องเก็บสินค้า ทั้งนี้ผู้ใหญ่ของบริษัทให้เหตุผลว่าควรให้ดีนทำงานอยู่หลังร้านไปจนกว่าจะถึงฤดูหนาวที่พนักงานทุกจะได้ใส่เสื้อแขนยาวได้โดยไม่ผิดระเบียบ เมื่อมีข่าวเรื่องนี้ออกมา ทางร้านก็ปฏิเสธเสียงแข็งว่าดีนคงเข้าใจอะไรผิดไปแน่ๆ เพราะความจริงแล้วทางบริษัทมีนโยบายต่อต้านการเลือกปฏิบัติอย่างแข็งขันเลยทีเดียวนะ แต่ดีนอาจจะเข้าใจถูกก็ได้ เพราะในปี พ.ศ. 2547 เพียงปีเดียว บริษัทนิว อัลบานี เจ้าของแบรนด์ดังกล่าว ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่รัฐโอไฮโอ สหรัฐอเมริกา ก็เคยถูกฟ้องร้องเพราะการเลือกปฏิบัติ และต้องจ่ายเงินชดเชยให้กับพนักงานเป็นจำนวนถึง 50 ล้านเหรียญ (ประมาณ 1,700 ล้านบาท) มาแล้ว อัจฉริยะที่ไม่ค่อยฉลาดภายในปี พ.ศ. 2555 กว่า 1.3 ล้านครัวเรือนในนิวซีแลนด์ จะต้องติดตั้งมิเตอร์ไฟฟ้าอัจฉริยะ เพื่อช่วยให้เกิดการสื่อสารระหว่างผู้อยู่อาศัยกับบริษัทที่ให้บริการไฟฟ้า และช่วยให้ผู้บริโภคสามารถประหยัดเงินค่าไฟได้ นี่ย่อมเป็นเรื่องดีเห็นๆ แต่ปัญหามันอยู่ที่รัฐบาลปล่อยให้บรรดาผู้ให้บริการไฟฟ้า (ซึ่งในนิวซีแลนด์มีอยู่ถึง 11 บริษัท) เป็นผู้ที่รับผิดชอบติดตั้งมิเตอร์เหล่านี้กันเอง โดยไม่มีการควบคุมดูแล แจน ไรท์ กรรมาธิการด้านสิ่งแวดล้อมของรัฐสภานิวซีแลนด์ออกมาเปิดเผยว่า ขณะนี้บรรดาผู้ประกอบการเหล่านั้น พยายามหลีกเลี่ยงการตั้งการทำงานของมิเตอร์ดังกล่าวในทางที่จะเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค ซึ่งคุณไรท์ก็บอกว่าไม่น่าแปลกใจ เพราะการใช้ไฟมากขึ้นย่อมหมายถึงผลกำไรที่เพิ่มขึ้นสำหรับผู้ประกอบการนั่นเอง ความจริงแล้วมิเตอร์อัจฉริยะที่ว่านี้นอกจากจะทำให้บริษัทสามารถรู้ปริมาณการใช้ไฟของแต่ละครัวเรือนโดยไม่ต้องส่งคนมาเดินจดแล้ว ยังช่วยให้ผู้บริโภคประหยัดเงินและสามารถใช้ไฟฟ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ด้วยการแจ้งให้ผู้บริโภคทราบว่าอัตราค่าไฟในขณะนั้นเป็นเท่าไร และช่วงไหนเป็นช่วงที่มีการใช้ไฟฟ้ากันมาก โดยไมโครชิพในมิเตอร์จะทำหน้าที่ควบคุมอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าแบบอัจฉริยะที่จะมีออกมาจำหน่ายในอนาคตอันใกล้นี้ มิเตอร์ที่ว่าจะปิดเครื่องใช้ไฟฟ้าอัจฉริยะได้โดยอัตโนมัติ ในช่วงที่มีการใช้ไฟสูง แต่บริษัทกลับไม่ได้ใส่ไมโครชิพที่ว่าให้กับมิเตอร์ที่กำลังติดตั้งกันอยู่ในขณะนี้ให้กับ 800,000 ครัวเรือน และมิเตอร์เหล่านั้นก็ไม่มีระบบแสดงข้อมูลตามเวลาจริงเพื่อช่วยในการตัดสินใจของผู้บริโภคด้วย เช่น บางคนอาจจะยังเปิดเครื่องทำน้ำอุ่นในสระว่ายน้ำไว้เพราะไม่รู้ตัวว่าค่าไฟได้ขึ้นราคาไปแล้ว เป็นต้น คุณไรท์ตั้งคำถามว่า ถ้าไม่ติดตั้งไมโครชิพที่ว่านี้ ก็ไม่รู้ว่าจะทำอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าอัจฉริยะออกมาขายทำไม และถ้าจะติดตั้งเพิ่มในภายหลังก็จะมีค่าใช้จ่ายอีกถึง 60 ล้านเหรียญนิวซีแลนด์ (ประมาณ 1,300 ล้านบาท) อีกด้วย สรุปว่าถ้ารัฐบาลยิ่งปล่อยให้เป็นไปอย่างนี้ ก็จะยิ่งทำให้ผู้บริโภคต้องติดตั้งมิเตอร์อัจฉริยะที่ไม่ค่อยฉลาดกันไปโดยไม่รู้ตัว

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 101 ความรับผิดชอบแบบนี้มีมั้ย

บทบรรณาธิการโดยสารี อ๋องสมหวังsaree@consumerthai.org ใครเป็นแฟนพันธุ์แท้ฉลาดซื้อคงจำได้ว่าเคยเล่าให้ฟังถึงสาเหตุการไม่ขายอาหารดัดแปรพันธุกรรม(จีเอ็มโอ) ในประเทศอังกฤษ เนื่องมาจากผู้บริโภคที่ตั้งคำถามกับผู้จัดการของห้างมาร์ค แอนสเป็นเซอร์ว่า ทำไมห้างของคุณยังมีการจำหน่ายอาหารจีเอ็มโอทั้งๆ ที่ยังมีข้อถกเถียงเรื่องความปลอดภัย ผู้จัดการกล่าวขอบคุณผู้บริโภค หลังจากนั้นไม่นานห้างดังแห่งนี้ก็ประกาศนโยบายไม่ขายอาหารจีเอ็มโอในห้างสรรพสินค้าของตนเองเล่าเรื่องนี้ให้ใครฟังก็มักจะบอกว่า จริงหรือเปล่า กุเรื่องขึ้นมาเพื่อสร้างชื่อเสียงให้กับห้างของตนเองหรือไม่ คนเล่าก็ได้แต่บอกเพียงว่า ก็ฟังเพื่อนจากองค์กรผู้บริโภคเล่าให้ฟังอีกที แต่ที่กำลังจะเล่าต่อไปนี้ได้มีโอกาสไป “เห็นมากับตา” และเกิดขึ้นกับตนเองไปถึงลอนดอนตอนเช้า ประมาณ 11 โมงหิวเล็กน้อยก็เกิดความคิดรวบมื้อเช้ากับมื้อกลางวันเข้าด้วยกันด้วยความประหยัด เดินหาร้านอาหารผ่านไปหลายร้านก็ยังไม่เปิดขายจนกว่าจะถึงเที่ยงตรง เลยตัดสินใจหยุดกินน้ำที่ร้านกรีนแอนส์บีน(Green & Bean) ซึ่งเป็นร้านอาหารเล็กๆ แถวสถานีรถไฟยูสตัน แต่เมื่อเข้าไปนั่งในร้านก็พบว่า เขาขายอาหารมังสวิรัติด้วย ซึ่งเปิดมาได้ซักประมาณ 4 ปี แล้ว เป็นร้านที่ราคาอาหารปานกลางไม่แพงมากนัก บุฟเฟ่ต์อาหารกลางวันตกราคาประมาณ 6.50 ปอนด์ คิดเป็นเงินไทยประมาณ 350 บาท ระหว่างที่รอเวลาอาหารกลางวันด้วยการสั่งน้ำปั่นกินฆ่าเวลาก็ฉวยโอกาสสำรวจร้านอาหารพบว่า มีผลิตภัณฑ์เสริมอาหารตระกูลถั่วขาย ที่น่าสนใจข้างกระป๋องของอาหารเสริมนี้ เขียนว่า “ GMO test Free” แต่เมื่ออ่านฉลากก็พบว่า อาหารเสริมชนิดนี้ทำจากถั่วจีเอ็มโอ เลยได้โอกาสบอกเจ้าของร้านว่า สินค้านี้ไม่ตรงไปตรงมา เพราะทำให้เราเข้าใจผิด คิดว่าไม่มีจีเอ็มโอ แต่จริงๆ วัตถุดิบมาจากจีเอ็มโอ แต่ตรวจจีเอ็มโอไม่เจอต่างหาก เจ้าของร้านขอบคุณและเก็บสินค้านั้นทันทีที่คุยกับเรา แถมโทรศัพท์ไปบอกคนจำหน่ายสินค้าว่าอาหารเสริมชนิดนี้ใช้ไม่ได้เพราะทำมาจากถั่วที่เป็นจีเอ็มโอ ความผิดพลาด ความบกพร่องเป็นเรื่องปกติ แต่ความรับผิดชอบแบบนี้ในร้านค้าบ้านเรามีมั้ย เจอของจริงเข้ากับตัวเองก็เป็นปลื้มไปนาน คุยทั้งที่อังกฤษ กลับมาเมืองไทยคุยกับทุกคน ยังไม่พอต้องเขียนมาคุยให้กับผู้อ่านทุกคนได้รับรู้เรื่องนี้และผลักดันเรื่องนี้ร่วมกัน

อ่านเพิ่มเติม >

บทบาทขององค์กรทดสอบและประเมินสินค้า สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี

บทความพิเศษบทบาทขององค์กรทดสอบและประเมินสินค้า สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี โดย ศลิษา เตรคุพ เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภคในประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น ประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี องค์กรที่มีหน้าที่ทดสอบและประเมินสินค้าไม่ใช่ของใหม่ เนื่องจากภาครัฐได้คำนึงถึงความสำคัญของผู้บริโภคที่ควรจะมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับสินค้าและบริการ ตลอดจนได้รับสินค้าและบริการที่คุ้มค่ากับเงินที่จ่ายไป แม้ในช่วงเวลาที่ผ่านมา องค์กรดังกล่าวในประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีจะประสบปัญหาและอุปสรรคโดยเฉพาะด้านข้อกฎหมายอยู่บ้าง แต่ก็ยังคงยืนหยัดปฏิบัติหน้าที่อย่างเที่ยงตรงมาโดยตลอด ดังที่ท่านจะได้รับทราบจากประวัติการก่อตั้งและการดำเนินงานขององค์กร รวมถึงกรณีศึกษาจากการทดสอบสินค้าต่างๆ   ปัจจุบันมีสินค้าวางจำหน่ายในท้องตลาดเป็นจำนวนมาก ทำให้สินค้าชนิดหนึ่งๆมีความหลากหลายไม่ว่าจะเป็นด้านปริมาณหรือคุณภาพ ส่งผลให้มีการแข่งขันแย่งชิงส่วนแบ่งทางการตลาดอย่างดุเดือดของผู้ผลิตสินค้าต่างๆ กลยุทธ์หนึ่งที่ผู้ผลิตมักนำมาใช้คือการโฆษณาประชาสัมพันธ์ที่ให้ข้อมูลเฉพาะด้านดีของสินค้า หรือ การให้ข้อมูลสินค้าไม่ครบ ผู้บริโภคจึงตกอยู่ในฐานะที่เสียเปรียบอยู่เนืองๆ ด้วยเหตุนี้ กลุ่มนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่างๆในประเทศไทยได้รวมตัวกันจัดตั้ง “เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภคขึ้น เพื่อดำเนินการทดสอบสินค้าและบริการต่างๆในประเทศไทยตามหลักวิชาการอย่างเป็นกลางและเป็นธรรม ตลอดจนเผยแพร่ข้อมูลและให้ข้อคิดเห็นเชิงวิชาการเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์แก่สาธารณชน รวมถึงหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องกับผู้บริโภค เพื่อประโยชน์ต่อสาธารณชนเช่นเดียวกับที่มูลนิธิองค์กรทดสอบสินค้าในประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี หรือ STIFTUNG WARENTEST ได้ดำเนินการมาแล้วเกือบครึ่งศตวรรษ ประวัติการก่อตั้งและการดำเนินงานขององค์กรฯปี 1962 ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 นาย Konrad Adenauer นายกรัฐมนตรีคนแรกของสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมัน ได้เสนอความคิดในการจัดตั้งองค์กรทดสอบคุณภาพสินค้าที่เป็นกลางขึ้นต่อรัฐสภา หลังจากที่กระทรวงเศรษฐกิจได้วางแผนสร้างองค์กรนี้เป็นเวลาถึง 12 ปี ต่อมา ในการประชุมรัฐสภา เมื่อ วันที่ 2 ธันวาคม ค.ศ. 1964 รัฐสภา (สภาบุนเดสทาก) มีมติเป็นเอกฉันท์รับคำร้องของคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจ ที่ขอจัดตั้งองค์กรทดสอบคุณภาพสินค้าในรูปของมูลนิธิ ภายใต้ชื่อ STIFTUNG WARENTEST (ชติ๊ฟทุ่ง วาเร่นเทสท์) โดยมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ ณ กรุงเบอร์ลิน และใน วันที่ 4 ธันวาคม ค.ศ. 1964 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจได้ทำพิธีเปิดมูลนิธิองค์กรทดสอบสินค้านี้อย่างเป็นทางการ พร้อมทั้งร่วมกำหนดระเบียบแบบแผนในการดำเนินงาน ภายใต้การสนับสนุนของรัฐบาลกลางสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ปี 1966 STIFTUNG WARENTEST ได้จัดจำหน่ายวารสาร test ฉบับปฐมฤกษ์ตามร้านค้าทั่วไปในราคาเล่มละ 1.50 มาร์ค รวมทั้งจัดจำหน่ายวารสารในรูปแบบของสมาชิกอีกด้วย โดยสินค้าแรกๆ ที่ถูกนำมาทดสอบคือ จักรเย็บผ้าและเครื่องผสมอาหาร ส่วนผลการทดสอบสินค้าในวารสารฉบับแรกๆ นั้นจะเป็นการบรรยายความคิดเห็นโดยรวมเท่านั้น จนกระทั่งมีการพัฒนาผลการทดสอบให้อยู่ในรูปของค่าคะแนนและจัดอันดับระดับคุณภาพสินค้า ตั้งแต่ระดับ ‘ดีมาก’ ‘ดี’ ‘ปานกลาง’ ‘พอใช้’ ไปจนถึง ‘คุณภาพต่ำ’ ค่าคะแนนและการจัดอันดับนี้บริษัทผู้ผลิตสินค้าต่างๆ (ที่ได้รับคะแนนดี!) สามารถนำไปใช้โฆษณาสินค้าของตนได้ แต่จะต้องเป็นไปตามรูปแบบที่มูลนิธิกำหนดไว้เท่านั้น จวบจนทุกวันนี้ STIFTUNG WARENTEST ก็ยังคงจำหน่ายวารสารดังกล่าวอยู่ ในราคา 4.20 ยูโร ซึ่งในแต่ละฉบับก็จะมีการทดสอบสินค้าและบริการที่แตกต่างกันออกไป ผลจากการดำเนินงานที่น่าเชื่อถือของ STIFTUNG WARENTEST ทำให้บริษัทเพื่อการวิจัยทางสังคมศาสตร์และการวิเคราะห์ทางสถิติ Forsa (Forsa: Gesellschaft f?r Sozialforschung und statistische Analysen mbH) สรุปผลการวิจัยในปี 2000 ว่า ชาวเยอรมันจำนวนถึง 96 % รู้จัก STIFTUNG WARENTEST และหนึ่งในสามของกลุ่มประชากรจะยึดผลการทดสอบประกอบการตัดสินใจซื้อสินค้า ต่อไปนี้ คือ ตัวอย่างเรื่องราวของกรณีศึกษาซึ่งเกี่ยวกับข้อพิพาททางกฎหมายที่ผ่านมาของมูลนิธิฯ และคำพิพากษาของศาลล้วนแล้วแต่ถูกนำไปใช้เป็นบรรทัดฐานในการพิจารณาคดีต่างๆ ในเวลาต่อมาทั้งสิ้น กรณีศึกษาที่ 1 : การทดสอบอุปกรณ์ยึดรองเท้าสกี (1975)เกิดข้อพิพาททางกฎหมายระหว่าง STIFTUNG WARENTEST กับบริษัทผู้ผลิตอุปกรณ์ยึดรองเท้าสกี จึงทำให้ศาลยุติธรรมสูงสุดแห่งสหพันธ์ (Bundesgerichtshof) ณ เมือง คาร์ลสรูเฮ่อ (Karlsruhe)ได้เข้ามาพิจารณาการทำงานของมูลนิธิเพื่อการทดสอบสินค้าเป็นครั้งแรก และให้คำพิพากษาที่เป็นบรรทัดฐานแก่มูลนิธิ โดยศาลฯได้เน้นย้ำถึงหน้าที่อันจำเป็นต่อเศรษฐกิจโดยรวมและความสำคัญขององค์กรนี้ ตลอดจนได้ให้อำนาจแก่ STIFTUNG WARENTEST เพื่อพิจารณากำหนดขั้นตอนการทดสอบสินค้า การประเมินคุณภาพ และการแสดงผลการทดสอบเองอีกด้วย   กรณีศึกษาที่ 2: เครื่องย่อยขนาดขยะธรรมชาติ (1987)ศาลยุติธรรมสูงสุดแห่งสหพันธ์ได้พิพากษากรณีข้อพิพาททางกฎหมายระหว่าง STIFTUNG WARENTEST กับบริษัทผู้ผลิตเครื่องย่อยขนาดขยะธรรมชาติแห่งหนึ่ง ข้อพิพาทนี้เกี่ยวเนื่องกับข้อสงสัยที่ว่า การทดสอบความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์โดยมูลนิธินั้นทำให้สินค้าต้องมีมาตรฐานสูงเกินกว่ามาตรฐานที่สถาบันเพื่อการวางมาตรฐานแห่งเยอรมันหรือ สถาบันมาตรฐานสินค้า DIN (DIN: Deutsches Institut f?r Normung) กำหนดไว้หรือไม่ โดยศาลฯพิจารณาเห็นว่า การกระทำดังกล่าวถือเป็นภาระหน้าที่ของมูลนิธิที่จะต้องทำการเปิดเผยสิ่งที่เห็นว่าเป็นข้อบกพร่องหรือตำหนิของสินค้าให้สาธารณชนรับรู้รับทราบ ทั้งนี้รวมถึงข้อบกพร่องของมาตรฐาน DIN ด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในจุดที่เกี่ยวข้องกับการใช้ประโยชน์จากเครื่องมืออย่างไร้ความเสี่ยงต่ออันตรายใดๆ อย่างไรก็ดี การเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวนี้มีวัตถุประสงค์ให้ผู้เกี่ยวข้องดำเนินการปรับปรุงแก้ไขข้อบกพร่องนั้นๆ เสีย อันจะเป็นประโยชน์ในการคุ้มครองผู้บริโภคต่อไป กรณีศึกษาที่ 3 : ครีมบำรุงผิวหน้า (2005-2006)เกิดคดีพิพาทระหว่างบริษัทผู้ผลิตครีมบำรุงผิวหน้ายี่ห้อ Hautnah (เฮ้าท์นา) ที่มีดาราหญิงยอดนิยมรุ่นใหญ่ ชื่อ อุ๊ชชี่ กลาส (Uschi Glas)เป็นพรีเซนเตอร์ โดยได้เป็นโจทก์ได้ยื่นฟ้อง STIFTUNG WARENTEST ต่อศาลชั้นต้น เนื่องจากทางมูลนิธิได้ทดสอบคุณภาพผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางขายตรงต่างๆ และให้ผลการประเมินครีมชนิดนี้ว่า ‘คุณภาพต่ำ’ เพราะอาจทำให้ระคายเคืองผิวได้ คดีนี้เป็นที่สนใจของสื่อมวลชนอย่างมาก แม้ต่อมาศาลแขวงกรุงเบอร์ลินจะพิจารณาเพิกถอนคำร้องของโจทก์ แต่บริษัทผู้ผลิตก็ไม่ละความพยายามและยื่นคำร้องขออุทธรณ์เพื่อให้ศาลพิจารณาคดีอีกครั้ง ทว่าศาลสูงกรุงเบอร์ลินก็เพิกถอนคำร้องดังกล่าวซึ่งทำให้คดียุติลงได้ในที่สุด จากข้อมูลที่กล่าวมาข้างต้นทั้งหมด ผู้เขียนหวังเป็นอย่างยิ่งว่าผู้อ่านทุกท่านจะตระหนักถึงความจำเป็นและประโยชน์ขององค์กรทดสอบสินค้าและบริการ ซึ่งทางกลุ่ม “เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค สนใจและเห็นความสำคัญ ในการทดสอบสินค้า ตลอดจนให้ความรู้และข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคในประเทศไทย เพราะนโยบายการคุ้มครองผู้บริโภคที่มีประสิทธิภาพดีที่สุด ที่ประสบความสำเร็จในประเทศเยอรมนีและยุโรป คือการให้ความรู้และข้อมูลแก่ผู้บริโภค นั่นเอง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 101 แบงค์จ่ายเงินให้เช็คปลอม ขอรับผิดครึ่งเดียว

อ่านเรื่องนี้แล้วคุณคงนึกถึงนิทานเรื่อง “ชาวนากับงูเห่า” คุณโส่ยเป็นผู้มีอันจะกิน ได้รับเลี้ยงเด็กชายคนหนึ่งไว้เป็นลูกบุญธรรมเลี้ยงจนโตเป็นหนุ่ม เฝ้าฟูมฟักรักถนอมและให้ความไว้วางใจเหมือนลูกในไส้ แต่บุญคุณที่ให้ไปกับลูกบุญธรรมดูเหมือนน้ำที่เติมลงในถังที่มีรูรั่วเต็มไปหมด เติมเท่าไหร่ไม่เคยพอ จนสร้างความทุกข์ใจให้คุณโส่ยและครอบครัวตลอดมา ท้ายสุดของจุดแตกหักที่คุณโส่ยไม่อาจให้อภัยได้ เมื่อรู้ว่าลูกบุญธรรมแอบย่องเบาเข้าไปในห้องนอนและไปเปิดลิ้นชักลักขโมยเช็คเปล่าของคุณโส่ยออกไปทีละฉบับๆ หายไปถึง 31 ฉบับ ช่างมีความอุตสาหะกระทำการย่องเบาขยันลักเช็คทั้งกลางวันและกลางคืนในช่วงที่ไม่มีคนอยู่เมื่อคุณโส่ยไปตรวจสอบเงินในบัญชีที่ฝากไว้กับธนาคารกสิกรไทย สาขาสมุทรสาคร พบว่ามีเงินหายไปจำนวนมาก หลายกรรม หลายวาระ ในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงเดือนพฤศจิกายน 2551ส่วนใหญ่จะหายไปครั้งละ 20,000-30,000 บาท ทุกครั้งล้วนเป็นฝีมือของเจ้าลูกเนรคุณทั้งสิ้น โดยเป็นผู้สวมลายมือปลอมลายเซ็นของคุณโส่ยสั่งจ่ายเงินตามตัวเลขที่กรอกเอาตามอำเภอใจแล้วนำไปขึ้นเงินกับพนักงานของธนาคารเมื่อคุณโส่ยเห็นลายเซ็นไม่ได้มีความเหมือนกับลายเซ็นของตัวเอง ก็เฝ้าถามธนาคารว่าปล่อยเงินออกไปได้อย่างไรถึง 20 ฉบับเป็นเงินกว่า 710,000 บาท นี่หากรู้ความจริงช้ากว่านี้คุณโส่ยอาจต้องสูญเงินเพิ่มอีกหลายแสนแน่เพราะยังมีเช็คที่ถูกลักไปเหลืออยู่ในมือลูกเนรคุณอีก 11 ฉบับคุณโส่ยทั้งช้ำทั้งแค้นเมื่อรู้ความจริง จึงไล่ลูกเนรคุณออกจากบ้านและแจ้งความร้องทุกข์กับเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อให้ดำเนินคดีให้ถึงที่สุด ตำรวจได้ออกหมายจับและสามารถติดตามจับกุมนำตัวลูกบุญธรรมคนนี้มาขึ้นศาลได้ และศาลได้พิพากษาให้ต้องรับโทษจำคุกถึง 22 ปีฐานความผิดปลอมเอกสาร ความผิดใช้เอกสารปลอมและความผิดฐานลักทรัพย์ในเวลากลางคืน แต่เนื่องจากจำเลยให้การรับสารภาพศาลจึงลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 11 ปี และให้ชดใช้ราคาเช็ค 20 ใบเป็นเงิน 300 บาทแก่ผู้เสียหาย ถือเป็นคดีลักทรัพย์เล็ก ๆ แต่โทษสูงมากทีเดียวครับแต่เรื่องนี้ยังไม่จบครับเพราะเงินในบัญชีกว่า 7 แสนบาทที่หายไปจะทำอย่างไร ใครควรรับผิดชอบ ตัวคุณโส่ยหรือธนาคารแนวทางแก้ไขปัญหาเรื่องแบบนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วครับซึ่งศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาออกมาเป็นแนวไว้ตามฎีกาที่ 6280/2538 ว่า จำเลยประกอบธุรกิจธนาคาร การจ่ายเงินตามเช็คที่มีผู้มาขอเบิกเงินเป็นธุรกิจอย่างหนึ่งของจำเลยซึ่งต้องปฎิบัติอยู่เป็นประจำ จำเลยย่อมมีความชำนาญในการตรวจสอบลายมือชื่อในเช็คว่าเป็นลายมือชื่อของผู้สั่งจ่ายหรือไม่ยิ่งกว่าบุคคลธรรมดา ทั้งจำเลยจะต้องมีความระมัดระวังในการจ่ายเงินตามเช็คยิ่งกว่าวิญญูชนทั่วๆ ไป การที่จำเลยจ่ายเงินตามเช็คพิพาทให้แก่ผู้นำมาเรียกเก็บเงินไปโดยที่ลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายไม่ใช่ลายมือชื่อโจทก์ ทั้งที่มีตัวอย่างลายมือชื่อโจทก์ที่ให้ไว้แก่จำเลยกับมีเช็คอีกหลายฉบับที่โจทก์เคยสั่งจ่ายไว้อยู่ที่จำเลย จึงเป็นการขาดความระมัดระวังของจำเลย เป็นการกระทำละเมิดและผิดสัญญาฝากทรัพย์ต่อโจทก์ จำเลยจะยกข้อตกลงยกเว้นความรับผิดตามที่ระบุไว้ในคำขอเปิดบัญชีกระแสรายวันมาอ้างเพื่อปฏิเสธความรับผิดไม่ได้ตามแนวฎีกานี้มูลนิธิฯ จึงได้ทำจดหมายเรียกร้องต่อธนาคารเพื่อให้แสดงความรับผิดชอบในฐานะผู้ประกอบธุรกิจที่ดีที่มีความรับผิดชอบต่อผู้บริโภคก่อนเป็นเบื้องต้น หากมามุขปฏิเสธหรือประวิงเวลาผู้บริโภครายนี้สามารถฟ้องเป็นคดีผู้บริโภคเรียกค่าเสียหายต่อไปได้ครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 101 อพาร์ตเม้นท์อมเงินประกัน

คุณเจนรวี เป็นนักศึกษาของสถาบันราชภัฏจันทรเกษม ปีสุดท้าย เข้าทำสัญญาขอเช่าห้องพักกับเอกอาทิตย์อพาร์ตเม้นท์เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2551และสิ้นสุดสัญญาในวันที่ 1 มีนาคม 2552ก็เหมือนกับนักศึกษาที่กำลังเดินหาหอพักทั่วไปล่ะครับไม่ค่อยได้อ่านสัญญากันหรอก เห็นมีห้องว่างให้เช่า ราคาห้องไม่แพงพอสู้ไหว ทิศทางลม ทำเล ความสะดวกปลอดภัยเหมาะสม มีเงินค่าเช่าห้องล่วงหน้าพร้อมเงินประกันก็คิดว่าไม่น่ามีปัญหาอะไรตกลงเซ็นสัญญาไป มันก็แค่เรื่องเช่าห้องพัก ...“ก็เห็นว่าเป็นสัญญาเช่าแค่ปีเดียวค่ะ กะว่าจะเช่าแค่นั้น พอครบปีเราเรียนจบรับปริญญาพอดี พอถึงตอนนั้นก็ไปขอคืนห้อง เอาเงินประกันคืนคงไม่มีอะไรวุ่นวาย วางเงินประกันไว้ 5,000 บาทค่ะ” คุณเจนรวีให้ข้อมูล ล่วงมาถึงเดือนกันยายน 2551 อพาร์ตเม้นท์แห่งนี้ได้ติดตั้งเคเบิลทีวีบริการให้กับผู้เช่าพักอาศัย โดยจะคิดค่าบริการเพิ่มจากค่าห้องอีกเดือนละ 200 บาท และได้จัดโปรโมชั่นให้ชมฟรี 4 เดือนแรกก่อนคิดค่าบริการจริง ๆ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2552 เป็นต้นไป แต่หากผู้เช่าห้องรายใดมาทำการต่อสัญญาใหม่เพื่อยืนยันการเช่าพักอาศัยต่อ ทางอาร์ตเม้นท์จะยกเว้นค่าบริการเคเบิ้ลให้ตลอดอายุสัญญาฉบับใหม่รวมระยะเวลา 1 ปีคุณเจนระวีเล่าว่าตอนที่ผู้ดูแลอพาร์ตเม้นท์มาแจ้งรายละเอียดของโปรโมชั่นนี้ ตอนนั้นกำลังวุ่นอยู่กับการขยำขยี้เสื้อผ้าอยู่หลังห้องพอดี“เขาบอกว่าให้เอาสัญญาเช่าห้องมาให้เขา แล้วจะได้ส่วนลดค่าเคเบิ้ลทีวีเดือนละ 200 บาท เราอยากได้ก็เลยส่งสัญญาให้เขาไป หายไปสักอาทิตย์หนึ่งเขาก็เอาสัญญามาคืนให้ตอนนั้นจำไม่ได้ค่ะว่าเราได้เซ็นลายมือชื่ออะไรเพิ่มเติมไปหรือเปล่า และไม่ได้เอะใจหรอกค่ะว่ามีการแก้ไขวันเริ่มสัญญาเช่าห้องกันใหม่ ตอนที่รับสัญญาคืนเขาก็มาตอนที่เรากำลังซักผ้าอยู่พอดี” พอถึงเดือนกุมภาพันธ์จึงได้ไปติดต่อขอคืนห้องล่วงหน้าก่อนหมดสัญญาและขอคืนเงินประกันจำนวน 5,000 บาท แต่ทางอพาร์ตเม้นท์แจ้งว่าจะไม่คืนเงินประกันให้เนื่องจากคุณเจนรวีแจ้งการย้ายออกผิดเงื่อนไขเนื่องจากพักอาศัยยังไม่ครบ 12 เดือน“เราก็เถียงเขาใหญ่เลยค่ะว่าเราอยู่มาตั้งแต่เดือนมีนาคมปีที่แล้ว จะออกในเดือนมีนาคมปีนี้ทำไมถึงไม่ครบ 12 เดือน แต่พอเขาให้เราเอาสัญญาขึ้นมาดูก็ตกใจค่ะ เพราะสัญญาที่เราถือไว้มันถูกแก้ไขวันเริ่มสัญญาใหม่เป็นวันที่ 1 มกราคม 2552 ซึ่งก็มีลายเซ็นของเราลงไว้เรียบร้อยเลย ตอนที่เราอยากได้เคเบิ้ลฟรี”คุณเจนรวีพยายามเจรจาต่อรองต่างๆ นานาแต่ท้ายที่สุดทางอพาร์ทเมนท์ยืนกระต่ายขาเดียว ให้คุณเจนรวีจ่ายค่าห้องและค่าใช้จ่ายที่ค้างอยู่ ส่วนเงินประกันขอยึด เมื่อไม่มีทางออกสุดท้ายจึงต้องมาร้องเรียนกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคแนวทางแก้ไขปัญหาสาระสำคัญของสัญญาที่อพาร์ทเม้นท์ทำกับคุณเจนรวีและใช้เป็นเหตุในการริบเงินมัดจำได้กำหนดไว้ว่า ระยะเวลาการเช่าต้องไม่น้อยกว่า 12 เดือน ถ้าผู้เช่าบอกเลิกสัญญาก่อนครบกำหนด ผู้ให้เช่าสามารถริบเงินที่ชำระไว้ทั้งหมด โดยผู้เช่าไม่มีสิทธิโต้แย้งหรือเรียกร้องใด ๆ ทั้งสิ้น ในส่วนของเงินค่าประกันห้องนั้นได้กำหนดว่า เงินค่าประกันห้องที่เหลือจากการหักค่าทำความเสียหายแล้ว จะคืนให้หลังจากที่ผู้เช่าได้ย้ายออกจากหอพักเป็นเวลา 30 วัน ....ซึ่งสัญญาลักษณะนี้หอพัก หรืออพาร์ทเม้นท์หลายแห่งได้ถ่ายแบบใช้เป็นเงื่อนไขเพื่องับเงินมัดจำค่าห้องของเด็กนักศึกษาจำนวนมากแต่เรื่องนี้มีทางออกครับ เนื่องจากคณะกรรมการว่าด้วยสัญญาซึ่งอยู่ภายใต้คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคได้ประกาศให้ธุรกิจการให้เช่าที่อยู่อาศัยที่เรียกเงินประกันเป็นธุรกิจที่ควบคุมรายการในหลักฐานการรับเงิน ประกาศนี้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2550ดังนั้นสัญญาที่คุณเจนรวีทำใหม่กับอพาร์ตเม้นท์เมื่อ 1 มกราคม 2552 จึงต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของประกาศฉบับนี้ด้วย โดยในส่วนของเงินประกันตามประกาศฉบับนี้ สัญญาการเช่าที่พักอาศัยทุกฉบับจะต้องมีข้อความว่า ผู้เช่ามีสิทธิได้รับคืนเงินประกันทันทีเมื่อสิ้นสุดระยะเวลาเช่าที่อยู่อาศัยหรือเมื่อสัญญาเช่าที่อยู่อาศัยเลิกกัน เว้นแต่กรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจประสงค์จะตรวจสอบความเสียหายที่ผู้เช่าต้องรับผิดชอบ หากผู้เช่ามิได้ทำความเสียหาย ให้ผู้เช่ามีสิทธิได้รับคืนเงินประกันภายใน 7 วัน โดยให้ผู้ประกอบธุรกิจรับภาระค่าใช้จ่ายในการนำส่งคืนเงินประกันนั้น ตามที่ผู้เช่าแจ้งให้ทราบ ดังนั้นจึงถือว่าสัญญาที่เอารัดเอาเปรียบผู้เช่าของอพาร์ตเม้นท์ในกรณีนี้จึงขัดต่อประกาศดังกล่าวและถือว่าไม่มีข้อความส่วนนี้ในสัญญา ดังนั้นผู้ให้เช่าห้องพักต้องคืนเงินค่ามัดจำให้กับผู้บริโภคโดยไม่มีเงื่อนไขครับ  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 101 ฮะจิบังเสนอเงินลูกค้า 5 หมื่น จบเรื่องอาหารทำพิษ

รายงานความคืบหน้า กรณีลูกค้าฮะจิบังร้องเรียนว่ามีอาการท้องเสียอย่างรุนแรงหลังรับประทานอาหารที่ร้านฮะจิบัง ราเมน สาขาเทสโก้ โลตัส พระราม 3จากความเดิมต่อจากฉบับที่แล้ว กรณีคุณแพรวพรรณ(นามสมมติ) และครอบครัวไปนั่งรับประทานอาหารที่ร้านฮะจิบังสาขาดังกล่าวแล้วเกิดท้องเสียอย่างรุนแรง เหตุเกิดเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2552 หลังจากที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้ทำหนังฟสือแจ้งไปยังบริษัท ไทยฮะจิบัง จำกัด เพื่อขอให้บริษัทพิจารณาเยียวยาความเสียหายให้กับผู้บริโภคด้วยความเป็นธรรมตามสมควร ต่อมาในวันที่ 2 มิถุนายน 2552 บริษัทไทยฮะจิบัง จึงได้มีหนังสือตอบกลับมาที่มูลนิธิฯ ใจความสรุปได้ว่า ในวันเกิดแหตุที่ผู้บริโภคได้ร้องเรียนนั้น ร้านฮะจิบังสาขาดังกล่าว ได้จำหน่ายอาหารชนิดเดียวกันกับที่ผู้ร้องเรียนและครอบครัวรับประทานให้แก่ลูกค้าอื่นอีกเป็นจำนวนมาก ไม่ปรากฏว่ามีลูกค้ารายใดมีอาการท้องร่วงอย่างรุนแรงเช่นเดียวกับรายของผู้ร้องเรียนและครอบครัวแต่อย่างใด หากการเจ็บป่วยของผู้ร้องเรียนและครอบครัวเกิดจากอาหารที่รับประทานจากร้านของบริษัทจริง ลูกค้ารายอื่น ๆ จะต้องมีอาการท้องร่วงอย่างรุนแรงด้วย ดังนั้น อาการท้องร่วงของนางสาวพรรณราย และครอบครัวอาจเกิดจากการได้รับเชื้อโรคบิดชนิดเฉียบพลันจากที่อื่นก่อนมารับประทานอาหารที่ร้านฮะจิบัง ราเมน เมื่อยังไม่ได้พิสูจน์ว่าเชื้อโรคบิดชนิดเฉียบพลันเกิดจากการรับประทานอาหารของร้านฮะจิบังราเมน บริษัทฯจึงยังไม่อาจพิจารณาเยียวยาค่าเสียหายได้ อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ ยินดีที่จะพิสูจน์หาความจริงจนเป็นที่แน่ชัดเสียก่อนล่าสุดเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2552 ที่ผ่านมา ตัวแทนของบริษัท ไทยฮะจิบัง ได้เข้าเจรจากับผู้ร้องเรียนที่สำนักงานเขตยานนาวา โดยผู้ร้องเรียนได้เสนอเรียกค่าเสียหายไปทั้งสิ้น 168,000 กว่าบาท แต่ทางบริษัทฯ ยินดีที่จะจ่ายเพื่อเป็นการแสดงความมีน้ำใจให้กับลูกค้าที่อาจเกิดความเข้าใจผิดในบริการของร้านฮะจิบัง ราเมนเป็นเงิน 50,000 บาทถ้วน และขอให้ยุติเรื่องพิพาททั้งหมด ผู้ร้องเรียนปฏิเสธและขอเดินหน้าที่จะฟ้องเป็นคดีผู้บริโภคต่อไป ความคืบหน้าในการตรวจสอบด้านความปลอดภัยของอาหารในร้านฮะจิบัง ราเมน สำนักงานเขตยานนาวา ได้ดำเนินการตรวจสอบสุขลักษณะของร้านฮะจิบัง ราเมน สาขาเทสโก้ โลตัส พระราม 3 และทำการสุ่มเก็บตัวอย่างอาหาร น้ำแข็ง และน้ำดื่ม ไปเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2552 หลังเกิดเหตุประมาณ 3 สัปดาห์ ผลการตรวจวิเคราะห์พบอาหารจำนวน 8 จาก 11 รายการที่ไม่อยู่ในมาตรฐาน โดยส่วนใหญ่พบเชื้อแบคทีเรียโคลิฟอร์ม เกินค่ามาตรฐานที่กำหนด ทั้งในน้ำแข็งและอาหารที่สุ่มตรวจ โดย 1 ตัวอย่างพบเชื้อแบคทีเรียอีโคไลเกินค่ามาตรฐานที่กำหนดสำหรับอาหารปรุงสุก สำนักงานเขตจึงมีคำสั่งให้ร้านอาหารแห่งนี้มีการปรับปรุงแก้ไขกระบวนการผลิตอาหารให้ได้มาตรฐานและมีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค อาทิเช่น การมีคำสั่งให้ไม่แช่สิ่งของอื่นใดในภาชนะที่บรรจุน้ำแข็งที่ใช้ดื่ม ให้ทำความสะอาดวัตถุดิบด้วยน้ำสะอาดทุกครั้งก่อนนำมาปรุงประกอบอาหาร ให้ผู้ที่สัมผัสอาหารทุกคนล้างมือก่อนและหลังสัมผัสอาหาร เป็นต้นต่อมาในวันที่ 28 เมษายน 2552 สำนักงานเขตยานนาวาได้เข้าตรวจสอบสุขลักษณะของร้านฮะจิบัง ราเมนแห่งนี้อีกครั้ง เพื่อติดตามผลการปฏิบัติตามคำสั่งและสุ่มเก็บตัวอย่างอาหาร รวม จำนวน 11 รายการเพื่อส่งตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการ ผลการตรวจครั้งนี้พบว่ายังมีการปนเปื้อนของเชื้อโคลิฟอร์มแบคทีเรียในผักโรยหน้าและน้ำแข็ง ส่วนอาหารชนิดอื่นไม่พบปัญหาใด ๆ สำหรับผลการตรวจสุขภาพของพนักงานในร้าน พบว่า เป็นใบรับรองแพทย์ที่ส่งให้เจ้าหน้าที่มาจากคลินิกเอกชน เจ้าหน้าที่จึงให้ตรวจสุขภาพใหม่ โดยให้เข้ารับการตรวจสุขภาพที่สถานพยาบาลของรัฐ และแนบผลการตรวจ Lab ส่งต่อเจ้าหน้าที่ด้วยทุกคน ซึ่งสำนักงานเขตยานนาวาได้รายงานผลการดำเนินการเฝ้าระวังทั้งหมดนี้ให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) ไปด้วยแล้ว

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 101 สิ่งนี้หรือคือเสรีภาพของสื่อมวลชน

หมีแพนด้า หมีแพนด้า หมีๆ แพนด้า...ช่วงนี้พูดได้ว่า ไม่มีข่าวอะไรที่ฮิตฮอต เกินข่าวแพนด้าตัวน้อยที่น่ารัก น่าชัง กับแม่หลินฮุ่ย ที่เล่นเอาพ่อช่วงช่วง ตกกรอบข่าวไปจนหาไม่เจอเลยทีเดียว ความน่ารักของแพนด้าน้อยคงช่วยทำให้ผู้ที่ได้ชมนั่งอมยิ้มทุกครั้งที่ได้เห็นภาพ ความรักความผูกพันระหว่างแม่หมีกับลูกหมี (ถึงแม้เป็นการเห่อตามกระแสก็เถอะ) แต่ก็ถือได้ว่าข่าวแพนด้ายังเป็นข่าวที่ทำให้ผู้รับข่าวสารอ่านแล้ว ดูแล้วมีความสุขพอสมควรตรงกันข้ามกับอีกข่าวหนึ่ง ดังไม่แพ้กัน แต่กี่ครั้งที่เห็นก็อดที่จะสะท้อนใจไม่ได้และรู้สึกไม่สบายใจ นั่นคือข่าวที่พ่อ-ลูก ของอดีตนักร้องลูกทุ่งชื่อดังออกมาทะเลาะกันเป็นเวลาติดต่อกันหลายอาทิตย์ที่ผ่านมา ทั้งสองข่าวนี้ดังไม่แพ้กัน ต่างกันอยู่ที่ข่าวแพนด้า(ข่าวของสัตว์)นำเสนอให้เห็นมุมของความรักความผูกพันระหว่างแม่หมีกับลูกหมี ที่มีความผูกพันกันอย่างลึกซึ้ง แต่ข่าวหลัง(ข่าวของคน) เป็นการนำเสนอความขัดแย้งกันอย่างรุนแรงระหว่างลูกกับพ่อ ผู้เขียนในฐานะผู้บริโภคข่าวสารไม่เข้าใจเลยว่า การสื่อสารเรื่องนี้(ของคน)สู่สังคม สื่อต้องการสื่อสารอะไร การที่ลูกกับพ่อออกมาทะเลาะกัน ไม่ว่าใครจะผิดจะถูกอย่างไรก็ตาม ทั้งคู่ก็คือผู้เสียหายและตกเป็นจำเลยของสังคมโดยไม่มีทางหลีกเลี่ยง ดังนั้นมันเป็นการสมควรแล้วหรือ ที่ต้องนำข่าวนี้ออกมาเผยแพร่ แบบเจาะลึกชอนไช ทุกซอกทุกมุมแบบนี้ เรียกได้ว่ามีการเผยแพร่ข่าวสารแบบครบวงจรกันเลยทีเดียวทั้งทางข่าวทีวี ข่าวจากสื่อสิ่งพิมพ์ ไม่เว้นแม้แต่รายการทอล์คโชว์ต่างๆ ดังเสมือนว่า พ่อ-ลูก คู่นี้เป็นเหยื่ออันโอชะ เป็นแหล่งทำมาหากินของวงการข่าวสารของไทยก็ว่าได้ โดยไม่เว้นเวลาให้เขาหายใจหายคอกันเลยทีเดียวสื่อที่เห็นส่วนใหญ่มักทำตัวเป็นบ่างช่างยุ ถามทางโน้นที ยั่วทางนี้ที เหมือนว่ามีความสุขมากมายที่ได้เสนอข่าวนี้ออกไป(หรือว่าเพื่อเงินทำได้หมด) ทั้งๆ ที่ข่าวแบบนี้ ไม่มีใครได้ประโยชน์ใดๆ ทั้งพ่อทั้งลูกก็เสียหาย คนอ่านก็ไม่ได้เรียนรู้อะไรที่ประเทืองปัญญา ดีไม่ดีเกิดการเลียนแบบขึ้นมาอีก การเสนอข่าวนี้ยิ่งจะเป็นการตอกย้ำจารึกรอยแผล แห่งความล่มสลายของครอบครัวไว้ในสังคม(ต้องการอย่างนั้นกันหรือ) ซึ่งผู้เขียนไม่เข้าใจจริงๆ ว่าวงการข่าวสารไทย ที่ออกมาเรียกร้องว่าผู้สื่อข่าวต้องมีอิสระในการนำเสนอข่าว ปราศจากการแทรกแซงใดๆ (ซึ่งก็เห็นด้วย) แต่ตัวเองอิสระแล้วยังไงล่ะ พวกเขาเคยคิดบ้างไหมที่จะปล่อย(เหยื่อ)พ่อ-ลูกคู่นี้ให้เขาได้มีอิสระที่จะแก้ปัญหาความขัดแย้งในครอบครัวเขาเองได้บ้างหรือเปล่า ผู้เขียนซึ่งเป็นผู้บริโภคข่าวคนหนึ่งหวังอย่างยิ่งว่าวงการข่าวสารของไทยจะพัฒนามากขึ้น เสนอข่าวสารอย่างมีสติ จะนำความจริงที่จะเกิดประโยชน์ต่อสังคม ตีแผ่ความฉ้อฉล สร้างการเรียนรู้ที่สามารถพัฒนาสังคมได้มากขึ้น ไม่ใช่เสนอข่าวตามกระแสตลาดอย่างเดียวเหมือนทุกวันนี้ โดยเห็นความจ็บปวดของแหล่งข่าวเป็นอาหารอันโอชะ ก็ไม่รู้ว่าจะฝากเรื่องนี้ไว้กับใคร ผู้บริโภคอย่างเรายังคงต้องบริโภคข่าวแบบไม่มีทางเลือกต่อไป นี่คือเสียงหนึ่งของผู้บริโภคที่อยากบ่นดังๆ ให้ผู้ที่เกี่ยวข้องตื่นๆๆ กันเสียที เฮ้อ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 101 ขายคอนโดฯ แบบยัดเยียด บอกเลิกสัญญาได้หรือไม่

หน้าที่และความรับผิดของผู้จะขายนั้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 466 วรรคแรกนั้นระบุว่า “ในการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์นั้น หากว่าได้ระบุจำนวนเนื้อที่ทั้งหมดไว้ และผู้ขายส่งมอบทรัพย์สินน้อยหรือมากไปกว่าที่สัญญาไซร้ ท่านว่าผู้ซื้อจะปัดเสีย หรือรับเอาไว้และใช้ราคาตามส่วนก็ได้ตามแต่จะเลือก“ และวรรคสองระบุว่า “ อนึ่ง ถ้าขาดบกพร่องหรือล้ำจำนวนไม่เกินกว่าร้อยละห้าแห่งเนื้อที่ทั้งหมดอันได้ระบุไว้นั้นไซร้ ท่านว่าผู้ซื้อจำต้องรับเอาไว้แล้วใช้ราคาตามส่วน แต่ว่าผู้ซื้ออาจเลิกสัญญาเสียได้ในเมื่อขาดตกบกพร่องหรือล้ำจำนวนถึงขนาดซึ่งหากผู้ซื้อได้ทราบก่อนแล้วคงจะมิได้เข้าทำสัญญากัน“ มาลองดูกรณีศึกษากันเป็นเรื่องผู้ประกอบธุรกิจขายคอนโดฯ ระดับยักษ์ใหญ่ แถวเมืองทองธานี เอาเปรียบผู้บริโภคโดยจะยัดเยียดซอกมุมห้องที่ไร้ประโยชน์ให้ในราคาแพง ผู้บริโภคจึงไม่ยอมรับโอนและบอกเลิกสัญญาเรียกเงินที่ชำระไปแล้วคืนพร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมาย มาดูกันซิว่าจะเรียกเงินคืนได้ไหม คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 975/2543 ป.พ.พ. มาตรา 466 วรรคสอง มิใช่กฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน คู่กรณีจึงอาจกำหนดไว้ในสัญญาเป็นการแตกต่างกับบทบัญญัตินี้ได้ โจทก์และจำเลยได้ทำสัญญาซื้อขายอาคารชุดที่พักอาศัยในราคา 2,865,000 บาท สัญญาดังกล่าว ได้กำหนดไว้ว่า “ห้องชุดผู้ซื้อจะมีพื้นที่ประมาณ 94.5 ตารางเมตร ทั้งนี้โดยขึ้นอยู่กับการปรับขนาดพื้นที่ตามการก่อสร้างที่เป็นจริงและการจดทะเบียนที่สำนักงานที่ดิน ถ้าพื้นที่จริงห้องชุดผู้ซื้อมีมากกว่าหรือน้อยกว่าที่ระบุไว้ข้างต้นคู่สัญญายังคงต้องผูกพันตนตามสัญญานี้ แต่ถ้าแตกต่างตั้งแต่ร้อยละห้าหรือมากกว่านั้น ราคาที่ต้องชำระตามสัญญานี้จะต้องปรับเพิ่มหรือลดลงตามส่วนโดยการปรับราคาจะกระทำในการชำระเงินงวดสุดท้ายของราคา “แม้ข้อสัญญาดังกล่าวไม่ขัดต่อกฎหมาย และใช้บังคับได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 151 แต่ศาลก็ต้องตีความสัญญาให้เป็นไปตามความประสงค์ของคู่สัญญาในทางสุจริต โดยพิเคราะห์ถึงปกติประเพณีกล่าวคือ เจตนาของคู่สัญญาที่กระทำโดยสุจริตซึ่งพิเคราะห์ถึงปกติประเพณีประกอบแล้ว คงมิได้หมายความขนาดที่ว่าไม่ว่าเนื้อที่ของอาคารชุดจะแตกต่างมากกว่าร้อยละห้าสักเพียงใดก็ตาม โจทก์ก็ต้องรับโอนกรรมสิทธิ์ในอาคารชุดโดยไม่อาจปฏิเสธได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อาคารชุดพิพาทมีเนื้อที่ล้ำจำนวนถึง 29.98 ตารางเมตร คิดเป็นร้อยละ 31.7 ซึ่งโจทก์จะต้องชำระเงินเพิ่มอีกประมาณ 900,000 บาท รวมทั้งจำเลยได้บังคับให้โจทก์รับมอบซอกมุมห้องที่ติดกันซึ่งมีเนื้อที่อีก 30 ตารางเมตร โดยมีฝากั้นห้อง ระหว่างเนื้อที่ 96.5 ตารางเมตร กับ 30 ตารางเมตร เป็นฝากั้นซึ่งเป็นคานรับน้ำหนักของตัวอาคาร โดยจำเลยได้ทำช่องให้เข้าไปได้ทางด้านหลังเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ส่วนที่ล้ำจำนวนเป็นส่วนของเนื้อที่ซอกมุมห้องที่ติดกัน ซึ่งหากพิจารณาถึงความประสงค์ในทางสุจริต โดยพิเคราะห์ถึงปกติประเพณีแล้ว ก็หาควรบังคับให้โจทก์ต้องจ่ายเงินเพิ่มเป็นจำนวนมากเพื่อรับเอาเนื้อที่ล้ำจำนวนที่ไร้ประโยชน์ดังกล่าวนั้นหรือไม่ เพราะหากโจทก์ได้ทราบก่อนแล้วคงมิได้เข้าทำสัญญานั้นอย่างแน่นอน อีกประการหนึ่งเมื่อคำนึงถึงมาตรา 11 แห่ง ป.พ.พ. ด้วยแล้วในกรณีเช่นว่านี้เมื่อสัญญามีข้อสงสัยว่าโจทก์ต้องผูกพันตามสัญญาดังกล่าวนี้หรือไม่ ศาลย่อมต้องตีความให้เป็นคุณแก่โจทก์ผู้ต้องเสียในมูลหนี้ โจทก์จึงมีสิทธิบอกเลิกสัญญานี้ได้ในเมื่อล้ำจำนวนถึงขนาด ซึ่งหากโจทก์ได้ทราบก่อนแล้วคงมิได้ทำสัญญานั้นตามมาตรา 466 วรรคสอง อันเป็นผลให้คู่กรณีต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิมตามมาตรา 391 พิพากษายืนให้จำเลยคืนเงินที่รับไว้จากโจทก์ทั้งหมดพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่จำเลยได้รับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 101 ลดความอ้วน โดยไม่ต้องพึ่งยา…เป็นไปได้หรือ?

สวยอย่างฉลาดรศ. ดร. พิมลพรรณ พิทยานุกุล คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล ลดความอ้วนแบบไม่ต้องใช้ยา ลดได้จริงหรือ สารพัดสถานลดความอ้วนทำอย่างไร ลดความอ้วนแบบประหยัดทำอย่างไร ลองอ่านค่ะ คุณอ้วนแบบไหนความอ้วนมี 2 แบบ คือผู้ที่อ้วนโดยมีสาเหตุจากโรคทางพันธุกรรม และอ้วนจากการบริโภคอาหารมากเกินความต้องการของร่างกาย อ้วนประเภทแรก คงต้องพึ่งแพทย์ให้ช่วยเยียวยาหากกระทบต่อการดำเนินชีวิต เช่น เคลื่อนไหวลำบาก ส่วนประเภทที่ 2 คือผู้ที่เจริญอาหารมากเกินไป ร่างกายสะสมพลังงานแต่เผาผลาญน้อยเกินไป ทำให้เกิดการสะสมของอาหารส่วนเกินตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย เช่น หน้าท้อง สะโพก กล้ามเนื้อแขน ขา เป็นต้นผู้ที่ต้องการลดความอ้วนโดยไม่ต้องพึ่งยาอันตรายและไม่ต้องไปพึ่งศูนย์ความงามที่ต้องเสียเงินมากๆ ต้องมีความหนักแน่นและมั่นคง มีวินัยในตัวเองในวิถีการดำเนินชีวิต มีเป้าหมายที่ชัดเจน เช่น ต้องการลดความอ้วนเพื่อสุขภาพ ป้องกันโรคแทรกซ้อนของ เบาหวาน หัวใจ หรือให้มีหุ่นสวยเฉกเช่นดาราหนัง เป็นต้น ผู้คนที่ประสพความสำเร็จโดยไม่ต้องพึ่งศูนย์ลดความอ้วนหรือไม่ต้องพึ่งแพทย์มีให้เห็นมากมาย หลักง่ายๆ ลดน้ำหนักอย่างปลอดภัย1. ควบคุมอาหาร วินัยข้อนี้สำคัญมากที่สุด หลีกเลี่ยงอาหารประเภททอดน้ำมัน และมีไขมันสูง ควรเลือกชนิดนึ่งหรือย่าง แม้กระนั้นก็ควรจำกัดปริมาณที่รับประทานในแต่ละมื้อ เคล็ดลับง่ายๆ ให้ดื่มน้ำแก้วใหญ่ก่อนการรับประทานอาหาร น้ำจะทำให้เราอิ่มเร็ว และรับประทานอาหารได้ลดลง อาหารรสจัด จะทำให้เราต้องรับประทานข้าวหรือแป้งมากขึ้น ดังนั้น ควรงดอาหารรสจัด นอกจากนี้อาหารที่มีน้ำตาลสูง เช่น เค้ก ขนมนมเนยและชีส ควรหลีกหนีให้ไกล ให้รับประทานผักสดและผลไม้สดมากๆ แทนเทคนิคที่มีหลายท่านทำได้สำเร็จในการลดปริมาณอาหารแต่ละมื้อ เช่น กินแตงโมเป็นลูกก่อนการรับประทานอาหารมื้อหลัก จะทำให้รับประทานอาหารลดลงอย่างมาก อาจใช้กล้วยน้ำว้า หรือผลไม้อื่นที่มีน้ำมากๆ แทนก็ได้เช่นกัน2. ต้องอย่าเผลอแพ้ใจตนเองในการตามใจปากครั้งแล้วครั้งเล่า หมั่นสอนใจตัวเองบ่อยๆว่า ต้องชนะใจตนเองให้ได้ในครั้งนี้ และครั้งต่อๆ ไปก็จะชนะตลอดไป แต่ถ้าแพ้ครั้งแรก โอกาสจะแพ้ใจตัวเองตลอดไปจะมีสูง3. ต้องมีวินัยในการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ จะช่วยเผาผลาญพลังงานส่วนเกินออกไป ปัจจุบันมีวิธีออกกำลังกายที่เพลิดเพลินได้พร้อมกับการฟังเพลงโปรดหรือดูทีวี จะช่วยให้การออกกำลังไม่เป็นสิ่งที่น่าเบื่อหน่าย 4. พยายามหางานอดิเรกหรือกิจกรรมต่างๆ ทำในวันหยุด เพื่อให้ตนเองยุ่งตลอดเวลาจนไม่มีใจคิดถึงการออกไปหาอาหารอร่อยรับประทาน5. ควรมีเวลานอนหลับพักผ่อนที่เพียงพออย่างน้อยวันละ 7-8 ชั่วโมง ข้อนี้จะช่วยให้อารมณ์แจ่มใส ไม่หงุดหงิด พร้อมที่จะต่อสู้กับภารกิจในวันใหม่ นอกจากนี้อาจผ่อนคลายด้วยการเสริมสวย เช่น เข้าร้านจัดแต่งทรงผมใหม่ เข้ารับบริการนวดหน้า ทำสปา เพื่อให้อารมณ์ผ่อนคลาย ผิวพรรณผ่องใส เป็นการให้กำลังใจตนเอง6. ทำตัวให้สดใสร่าเริงโดยการแต่งชุดสวยที่ตนเองชื่นชอบ เป็นการให้กำลังใจตนเองและท้าทายเส้นชัยของการลดความอ้วน อย่าพยายามเลือกใส่เสื้อผ้าที่หลวมเพื่อปกปิดพุงหรือส่วนเกิน เพราะจะเปิดโอกาสให้รับประทานอาหารได้มากขึ้น7. เมื่อไรก็ตามที่เผลอแพ้ใจตนเอง ให้ลองคิดถึงผู้ที่เป็นเหยื่อของยาลดความอ้วนทั้งหลาย บางรายถึงตายก็มีให้เห็นตามหน้าหนังสือพิมพ์และสื่อทางทีวี บางรายเสียเงินมากมายเมื่อเริ่มลดได้เพราะกินยาลดความอ้วน เมื่อหยุดยาก็มักเกิด ‘โยโย้เอฟเฟค’ คืออ้วนมากกว่าเก่าอีก นอกจากนี้ยังทำให้ร่างกายสะสมสารพิษ เสี่ยงต่อสารพัดโรค  

อ่านเพิ่มเติม >