ฉบับที่ 97 เขยิ้บ...เขยิ้บ...เขยิบ...เขยิบ...เข้ามาจิบ

มีอะไรใน โคด-สะ-นาสมสุข หินวิมาน “เขยิ้บ...เขยิ้บ...เขยิบ...เขยิบ เข้ามาสิ กระแซะ...กระแซะ...กระแซะ...กระแซะ เข้ามาสิ”แม้ว่านักร้องสาวราชินีลูกทุ่งอย่าง พุ่มพวง ดวงจันทร์ จะชีวิตล่วงลับไปแล้วเกินกว่าทศวรรษ แต่บทเพลงที่เธอเคยขับร้องขับขานเอาไว้ ก็ยังคงเป็น “ดวงจันทร์ในดวงใจ” ของคนไทยหลายๆ คน และมีเสน่ห์ชวนฟังจวบจนถึงปัจจุบัน ในทัศนะของผมแล้ว ความคลาสสิกของพุ่มพวง ดวงจันทร์ ไม่ใช่แค่ความสามารถทางน้ำเสียง ลีลา และอารมณ์ของราชินีเพลงเท่านั้นที่สามารถสะกดวิญญาณผู้ฟังได้ หากแต่ความงดงามของท่วงทำนองและเนื้อร้องของเพลงจำนวนมาก ที่ผู้ประพันธ์สามารถบรรจงเรียงร้อยถ้อยคำ ก็ยังสื่อถึงอารมณ์ความเป็นลูกทุ่งชนบทได้อย่างลึกซึ้งและมีความหมายยิ่งนัก ก็อย่างในเพลง “กระแซะเข้ามาสิ” ที่ผมยกมาให้ดูข้างต้น ผมจำได้ว่าในยุคหนึ่งสมัยหนึ่ง เพลงนี้ถือว่าดังมากๆ เพราะไม่เพียงแต่ลีลาของคุณพุ่มพวงเท่านั้นที่ทั้งร้องเต้นเล่นแสดงได้อย่างสุดยอด แต่ตัวเนื้อเพลงที่พูดถึงจริตแบบหญิงชนบทที่กล้าผูกสัมพันธ์กับชายหนุ่มผ่านเสียงเพลง หรือพูดง่ายๆ ก็คือ เป็นหญิงที่กล้าเชิญชวนให้ผู้ชายที่เขยิบและกระแซะเข้ามาแนบชิด แม้จริตจกร้านแบบนี้ อาจจะดูไม่เหมาะไม่ต้องสำหรับบรรดาคนชั้นกลางที่ใช้ชีวิตอยู่ในเมืองใหญ่ แต่สำหรับคนชนบทแล้ว เหตุการณ์แบบนี้ถือเป็นเรื่องปกติธรรมดา เพราะว่าแก่นแท้ของเพลงก็คือการผูกข้อต่อสัมพันธ์ระหว่างผู้คน ที่ไม่ว่าจะเป็นหญิงหรือชาย คนวัยไหน สูงต่ำดำขาวอย่างไร หากแต่ถ้าเป็นคนในสังคมเกษตรกรรมแล้ว “สายสัมพันธ์” ระหว่างกันและกัน ถือเป็นกลไกที่หล่อเลี้ยงและหล่อหลอมคุณค่าของสังคมชนบทเอาไว้นั่นเอง แต่เอาเข้าจริงๆ แล้ว แม้แต่ในสังคมเมืองอันทันสมัยเองก็เถอะ ใช่ว่าการพยายามต่อสายใยความสัมพันธ์ก็มิได้จางหายไปเสียเลย ผมเองกำลังสงสัยว่า การผูกสายสัมพันธ์ทำนองนี้ก็ยังมีอยู่ในสังคม เพียงแต่ว่าอาจไม่ได้แนบแน่นหรือกระแซะกันจนเข้ามาชิดกันขนาดนั้น หรืออีกนัยหนึ่ง ก็อาจเป็นเพียงสายสัมพันธ์แบบที่มีจริตบางชนิดบางอย่าง อันแตกต่างไปจากที่สัมผัสได้จากผู้คนในวิถีเกษตรดั้งเดิม ผมเห็นงานโฆษณาโทรทัศน์ชิ้นหนึ่งที่พยายามบอกคนดูเหมือนกันว่า แม้แต่ในเมืองอุตสาหกรรมสมัยใหม่ สายสัมพันธ์ทางสังคมอาจมีความเปราะบางลงไปบ้าง แต่มนุษย์เราก็ยังดิ้นรนที่จะสานสายใยบางๆ บางอย่างเข้าหากันเอาไว้ โฆษณาผลิตภัณฑ์กาแฟชิ้นนี้ เปิดฉากมาด้วยภาพของชายหนุ่มเสื้อลายหน้าตาฝรั่ง เดินก้าวเข้ามาสู่ลิฟต์ที่มีหญิงสาวเสื้อแดงยืนอยู่ท่ามกลางกลุ่มคนในลิฟต์ และเมื่อเขาเริ่มโปรยยิ้มให้เธอ เพลงจิงเกิ้ลโฆษณาก็เริ่มต้นขึ้นว่า “นิดหนึ่ง เพียงแค่เรากระเถิบมานิดหนึ่ง หอมและมีโอกาสที่เธอกับฉันได้ลองเข้ามาชิดกัน อยู่ใกล้กัน นิดหนึ่ง เพียงแค่เธอขยับมานิดหนึ่ง หอมฉันหอมกลิ่นความรัก...รักจากเธอ.....” จากนั้น หญิงชายคู่นี้ต่างก็เดินเข้ามาในออฟฟิศ นั่งที่โต๊ะทำงาน และสัมผัสกับแป้นคอมพิวเตอร์ เริ่มเข้าสู่วังวนแห่งโลกการทำงานแบบโต๊ะใครโต๊ะมัน หญิงสาวทำงานไปได้สักพักก็เริ่มหาวง่วงนอน ฝ่ายชายหนุ่มก็แสร้งสัพยอกหยอกเอิน แกล้งหาวขึ้นบ้าง โดยมีเครื่องบินที่บินอยู่บนฟ้าเป็นแบ็คกราวนด์อยู่นอกหน้าต่าง แถมทำมือล้อเลียนท่ายกหูโทรศัพท์มาคุยกัน และต่อด้วยการชูนิ้วมือเป็นสัญลักษณ์ไอเลิฟยูสื่อถึงเจ้าหล่อน แต่จะหยอกล้ออย่างไร หญิงสาวก็ดูจะยังไม่ยอมกระเถิบหรือขยับเข้ามาหาเลยสักกระผีกหนึ่ง ท้ายสุดชายหนุ่มก็เลยใช้ยุทธศาสตร์ชงกาแฟผงโชยกลิ่นยั่วยวนมาแต่ไกล ด้านหนึ่งก็คงเป็นเพราะว่ากาแฟเองก็มีสารคาเฟอีนที่เชื่อกันว่าน่าจะคลายง่วงให้ผู้ดื่มได้ แต่อีกด้านหนึ่ง หนุ่มหน้าใสก็คงต้องการใช้กลิ่นกาแฟเพื่อโชยอุ่นไอรัก และพัดพามาถึงสาวเจ้าที่กำลังหาวง่วงอยู่ในช่วงเวลางาน แล้วก็ได้ผล เมื่อสาวหน้ามนก็กลายเป็นปลาที่ต้องเหยื่อติดเบ็ด ตามลมดมกลิ่นกาแฟ กระแซะเขยิบเข้ามาประชิดตัวชายหนุ่ม และมิเพียงเท่านั้น กลิ่นกาแฟก็ยังซัดพาเอาคนอื่นๆ ที่อยู่ในออฟฟิศนั้น ต่างพากันกระเถิบเข้ามากินลมชมชื่นจิบรสกาแฟคนละถ้วยสองถ้วย และปิดท้ายด้วยเสียงเพลงที่จบลงด้วยวลีที่ว่า “...แค่นี้ดหนึ่ง” จะว่าไปแล้ว บทเพลง “นิดหนึ่ง...” ที่อยู่ในโฆษณาชิ้นนี้ ก็ฟังดูคล้ายๆ กับเนื้อหาเพลง “กระแซะเข้ามาสิ” แบบที่คุณพุ่มพวงเธอเคยขับร้องเอาไว้ เพียงแต่ภาพที่โฆษณาสร้างมากำกับเนื้อหาเอาไว้ อาจจะมีความหมายบางอย่างที่ดูแตกต่างออกไป ตามหลักทฤษฎีทางสังคมวิทยา จะมีความคิดความเชื่อเกี่ยวกับความเป็นมนุษย์อยู่ประการหนึ่งว่า คนเรามีความปรารถนาไม่มากก็น้อยที่จะผูกสายสัมพันธ์กับผู้อื่นด้วยกันทั้งสิ้น นักทฤษฎีสังคมวิทยาเกือบจะทุกสำนักมักให้ข้อสรุปร่วมกันว่า “มนุษย์เป็นสัตว์สังคม” คำอธิบายแบบนี้มีนัยยะที่สำคัญว่า มนุษย์เราไม่มีใครที่เกิดจากกระบอกไม้ไผ่ แต่ก่อรูปอยู่ในสถาบันที่เล็กที่สุด ตั้งแต่สถาบันครอบครัวไปจนถึงสถาบันสังคมอื่นๆ ที่ใหญ่กว่านั้น หรือมนุษย์เราเป็นสัตว์โลกที่ล้วนต้องพึ่งพาอาศัยกันและกัน เราจึงต้องอยู่กันเป็นแบบ “สัตว์สังคม” ด้วยเหตุฉะนี้ ทั้งในเนื้อเพลง “กระแซะเข้ามาสิ” และในจิงเกิ้ลของโฆษณา จึงมีจุดร่วมกันที่พูดถึงความสัมพันธ์ของมนุษย์ที่เป็น “สัตว์สังคม” ที่ต้องการผูกสายสัมพันธ์เชื่อมโยงระหว่างกันและกันนั่นเอง ไม่ว่าจะผ่านมาในรูปของการ “กระแซะเข้ามาสิ” แบบคนลูกทุ่งชนบท หรือการ “กระเถิบเข้ามานิดหนึ่ง” แบบพนักงานออฟฟิศในสังคมเมือง แต่อย่างไรก็ดี ในอีกทางหนึ่ง หากเราอ่านระหว่างบรรทัดของภาพสายสัมพันธ์แบบชนบทกับเมืองแล้ว มีข้อเท็จจริงบางอย่างที่แตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัดเจน กล่าวคือ หากเป็นคนในสังคมชนบทนั้น สายสัมพันธ์ที่หญิงหนึ่งชายหนึ่งจะกระแซะเข้ามาหากัน มักต้องเกิดเนื่องมาแต่ความสัมพันธ์ที่รู้จักมักจี่กันมาก่อนหน้านั้นแล้ว สังคมชนบทที่ก่อรูปมาจากชุมชนหมู่บ้าน เป็นชุมชนที่อยู่กันเป็นคุ้ง เป็นบาง เป็นหมู่ หรือเป็นสายเครือญาติพี่น้อง สังคมแบบนี้ ผู้คนในคุ้งในบางในหมู่บ้าน ก็อาจถือได้ว่ามีสายสัมพันธ์บางเส้นที่ถูกสร้างขึ้นไว้ก่อน เพราะฉะนั้น การจะกระแซะเข้ามาแนบชิดกันนั้น จึงมีเป้าหมายเพื่อกระชับให้เส้นความสัมพันธ์ดั้งเดิมนั้นเข้มแข็งแนบแน่นขึ้นเป็นหลัก ผิดแผกไปจากสังคมเมืองสมัยใหม่ ผู้คนทำงานในออฟฟิศที่แม้จะทันสมัย แต่ทว่าคนเหล่านั้น ต่างก็มีที่มาที่ไประหว่างกัน หรือถ้าพูดง่ายๆ ก็คือ ขาด “ราก” ที่ร่วมกันระหว่างคนกับคน ก็เหมือนกับในโฆษณานั่นแหละครับ กับวิถีชีวิตในออฟฟิศ ผู้คนที่ขึ้นลงลิฟต์ตัวเดียวกัน ก็อาจจะไม่เคยรู้จักกันมาก่อน ห้องทำงานก็เป็นแบบโต๊ะใครโต๊ะมัน หรืออุปกรณ์แบบคอมพิวเตอร์ก็ตัดคนให้มีความสัมพันธ์กับหน้าจอและแป้นพิมพ์ข้างหน้าตนเท่านั้น เทคโนโลยีเหล่านี้จึงไม่ต่างอะไรไปจากสัญลักษณ์อันแสดงความเป็นปัจเจกบุคคลตัวใครตัวมันแทบทั้งสิ้น แต่ด้วยเหตุที่มนุษย์เราต่างต้องอยู่กันเป็น “สัตว์สังคม” ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจที่หนุ่มหน้าหวานจะทั้งส่งสายตาเอย ทำท่ายั่วยิ้มหยอกเอินเอย หรือทำทุกวิถีทางที่จะส่งสัญญาณไปยังสาวหน้ามนว่า ถึงห้องทำงานและอาคารตึกจะดูทันสมัย แต่ก็ร้างเลือนความรู้สึกอบอุ่นดีๆ ให้แก่กัน ถ้าเช่นนั้น ก็มาผูกสานสัมพันธ์ระหว่างกันและกันสัก “นิดหนึ่ง” เถอะ สำหรับคนในสังคมที่ “งานคือเงิน เงินคืองาน บันดาลสุข” แล้ว แนวโน้มความสัมพันธ์ของคนทำงาน มักจะแปลกแยกและถูกตัดขาดความสัมพันธ์ระหว่างกัน คนทำงานในตึกอาคารเดียวกัน บางครั้งก็แทบจะไม่รู้จักกันเลย หรือแม้แต่นั่งโต๊ะทำงานติดกัน แต่ชีวิตกลับผูกพันกับหน้าจอคอมพิวเตอร์มากกว่าจะผูกพันกับ “เพื่อน” ที่อยู่ข้าง ๆ เพราะเพื่อนเหล่านั้นก็มีสถานะเป็นแค่เพียงเพื่อนที่ “ร่วมงาน” เท่านั้น เพราะฉะนั้น บทสรุปลงท้ายของโฆษณาชิ้นนี้จึงไม่น่าประหลาดใจแต่อย่างใด เพราะหากมนุษย์เราไม่เคยมีสายสัมพันธ์กันมาก่อน จะให้คนทำงานมามัวแต่สัพยอกหยอกล้อเพื่อสร้างสายใยระหว่างกันก็คงเป็นไปได้ยาก โฆษณาจึงให้คำตอบว่า ความพยายามของคนยุคนี้ที่จะสลัดหลุดพ้นไปจากความแปลกแยก ก็ต้องอาศัยอาศัย “วัตถุ” บางอย่าง เช่น กาแฟชงกับกลิ่นโชยมา เพื่อกลายมาเป็นข้อต่อข้อใหม่ที่ผูกโยงคนกับคนขึ้นมา วันนี้ ถ้าคุณชงกาแฟจิบดื่มสักแก้ว ก็อย่าลืมถามหาสายสัมพันธ์ที่ขาดหาย กับสายใยเส้นใหม่ที่คุณกำลังสานสร้างกับเพื่อนรอบตัวขึ้นมาด้วยนะครับ...

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 96 “แม่ต้อย”: จาก “ข้อยกเว้น” สู่ “กฏทั่วไป”

มีอะไรใน โคด-สะ-นา สมสุข หินวิมาน เมื่อช่วงสามถึงสี่เดือนที่ผ่านมา มีคำถามข้อหนึ่งที่เพื่อนหลายคนรอบตัวผมสงสัยยิ่งนัก นั่นก็คือคำถามที่ว่า “แม่ต้อย” มีตัวตนเป็นๆ จริงหรือ? หรือว่าจะมีก็แต่เพียงในโลกของโฆษณาเท่านั้น? เพื่อทบทวนความทรงจำกันสักนิดว่า แล้วแม่ต้อยคนนี้คือใคร ผมจะขออนุญาตสืบสาวท้าวย้อนตำนานชีวิตของแม่ต้อยกันสักนิดนะครับ แม่ต้อยก็คือผู้หญิงคนหนึ่งที่ถูกสร้างขึ้นมาเป็นพรีเซ็นเตอร์ในโฆษณาบริษัทประกันชีวิตยี่ห้อหนึ่ง ตามความในโฆษณานั้น จะมีเสียงผู้บรรยายชายพากย์เอาไว้ว่า ผู้หญิงที่ชื่อต้อย อาศัยอยู่ในสลัม ยากจน สามีทิ้ง แต่กระนั้นเธอก็ยังมีน้ำใจเก็บเด็กสามคนมาเลี้ยง อันได้แก่ คิตตี้เด็กหญิงบ้านแตก แบ็คเด็กชายที่เป็นโปลิโอ และเฮียโตที่เป็นขี้ขโมย แม้เด็กๆ จะมีพื้นเพพื้นฐานต่างกัน แต่เด็กทุกคนก็มีแม่คนเดียวกัน นั่นก็คือ “แม่ต้อย” เสียงพากย์ของผู้ประกาศชายตัดสลับกับภาพของแม่ต้อยที่ผัดผักไฟแดงเลี้ยงน้องๆ สามคนในสลัม ภาพของแม่ต้อยที่ให้กำลังใจน้องแบ็คที่แม้จะเป็นโปลิโอ แต่ก็ยังลุกขึ้นสู้มาเตะฟุตบอล ภาพของแม่ต้อยที่ดีดกีตาร์กล่อมเด็กๆ จนนอนหลับ กับภาพของแม่ต้อยสวมหมวกสีชมพูหวาน จูงมือพาเด็กๆ ไปเที่ยวทะเล และวิ่งรี่เข้าไปโต้คลื่นเพราะเห็นทะเลเป็นครั้งแรกในชีวิต ภาพของผู้หญิงชนชั้นล่างแบบแม่ต้อยที่ดูแลเด็กๆ เหล่านี้ ถูกเปิดเสียงดนตรีคลอแบบ easy-listening เพื่อสื่อความหมายว่า เป็นชีวิตที่มีความสุขยิ่งในท่ามกลางความยากจน แบบที่เขาว่า “จนเงินอาจไม่ได้แปลว่าจนใจเสมอไป” แต่แล้วในท่ามกลางความสุขแบบจนๆ ก็เหมือนกับโชคชะตาฟ้าดินจะกลั่นแกล้งแม่ต้อย เมื่อโฆษณาผูกเรื่องให้เธอป่วยเป็นโรคมะเร็ง และจะมีชีวิตอยู่ได้ไม่เกินอีกสองปี แต่ผู้บรรยายก็บอกคนดูว่า สำหรับแม่ต้อยแล้ว นั่นคืออีกสองปีที่เธอกลับถือว่าโชคดีจัง เป็นสองปีที่ยังทำอะไรได้อีกมากมาย แล้วโฆษณาก็ตัดสลับมาที่ภาพของแม่ต้อยที่ป่วยเป็นมะเร็งและนั่งอยู่บนเตียงในโรงพยาบาล แต่ก็ยังสู่อุตส่าห์ลุกขึ้นมาเล่นกีตาร์สนุกสนานกับเด็กๆ เสียงกีตาร์ของเธอช่วยทำให้ทั้งนางพยาบาล เด็กๆ ไปจนถึงคนไข้โรคมะเร็งคนอื่น ๆ มีกำลังใจลุกขึ้นมาต่อสู้กับชีวิตต่อไป โดยมีเสียงผู้บรรยายชายพูดปิดท้ายว่า “…เธอ(แม่ต้อย)สอนเด็ก ๆ ว่าชีวิตที่มีค่า ไม่ใช่ชีวิตที่ร่ำรวย มีเกียรติ หรืออายุยืน แต่ชีวิตที่มีค่าคือชีวิตที่ตัวเราเป็นคนมีคุณค่า และทำให้ชีวิตคนอื่นมีค่า” จากนั้นเสียงเพลงแห่งความสุขก็บรรเลงคลอจนโฆษณาชิ้นนี้จบลง หากจะถามว่า แก่นหรือธีมหลักของโฆษณาบริษัทประกันชีวิตชิ้นนี้คืออะไร คำตอบก็คงเดาได้ไม่ยากว่า เป็นการดึงคุณค่าของมนุษย์กลับคืนมา จากมนุษย์ผู้ที่มักจะเห็นแต่ตัวของตนเอง มาสู่มนุษย์ที่รู้จักทำอะไรให้กับผู้อื่น และทำให้ชีวิตของคนอื่นมีคุณค่าขึ้นมา หรือพูดง่ายๆ ก็คือ การทำมนุษย์ให้เป็นมนุษย์นั่นเอง แต่หากจะถามต่อไปด้วยว่า แล้วชีวิตที่รู้จักทำให้คนอื่นมีคุณค่าเช่นนั้น จะเกี่ยวพันอันใดกับการโฆษณาองค์กรประกันชีวิตกันด้วยเล่า กับความข้อนี้ผมขอเดาเอาว่า ก็เพราะการดำรงอยู่ของธุรกิจประกันชีวิตจะเกิดขึ้นได้ ก็ด้วยการเน้นขายความรู้สึกที่มนุษย์เราอยากจะทำอะไรให้กับผู้อื่น โดยเฉพาะทำอะไรเพื่อเด็กๆ ลูกๆ ที่ใกล้ชิดกับชีวิตของเรานั่นเอง ภายใต้สังคมที่เต็มไปด้วยความเสี่ยงนั้น การจัดการความเสี่ยงที่สำคัญอย่างหนึ่งก็คือ การสร้างหลักประกันความอยู่รอดของทั้งตัวคุณและคนที่อยู่รอบตัวคุณ แต่อย่างไรก็ดี ก็คงคล้ายๆ กับที่ผมเคยเขียนเอาไว้ในนิตยสารฉลาดซื้อเมื่อหลายเล่มก่อนว่า แม้บริษัทประกันจะไม่สามารถรับประกันความปลอดภัยในชีวิตของผู้ทำประกันได้ (เฉกเช่นเดียวกับแม่ต้อยที่อยู่ดีๆ ก็ต้องกลายเป็นโรคมะเร็งขึ้นมา) แต่บริษัทดังกล่าวก็อาจจะช่วยสร้างหลักประกันความอยู่รอดปลอดภัยของอนุชนลูกหลานผู้ทำประกันได้บ้างเป็นการทดแทน (หรือในกรณีนี้ก็คงเป็นการมอบหลักประกันชีวิตให้กับคิตตี้ แม็ค และเฮียโตนั่นเอง) ทีนี้ หากเราจะลองย้อนกลับไปสู่คำถามแรกที่ว่า แล้วคนอย่างแม่ต้อยที่เสียสละและทำอะไรเพื่อคนอื่นแบบนี้ ยังมีอยู่จริงบนโลกใบนี้จริงหรือ? ผมเองก็ขออนุญาต “ฟันธง” และ “คอนเฟิร์ม” ไปพร้อมๆ กันว่า ก็คงมีคนเช่นนี้อยู่บ้างแหละครับ แต่ที่สำคัญ ถ้าจะถามในเชิงปริมาณต่อไปว่า แล้วที่ว่ามีคนแบบแม่ต้อยอยู่นั้น จะมีกันอยู่ในปริมาณมากน้อยเพียงใด คุณผู้อ่านหลายท่านก็จะมาร่วมตอบกันได้ทันทีว่า ไม่น่าจะมีมากนักในยุคนี้สมัยนี้ ไม่ต้องไปดูอื่นใดให้ไกลนักนะครับ ทุกวันนี้แค่พอเราขึ้นรถโดยสารประจำทางไปไหนต่อไหน เราก็จะเห็นป้ายประกาศเตือนสติในทำนองที่ว่า “โปรดเอื้อเฟื้อแก่เด็ก สตรี และคนชรา” ข้อความทำนองนี้เป็นนัยในทางกลับกันว่า ถ้าต้องมาติดประกาศขอความร่วมมือกันแล้ว ก็คงจะแปลความได้ว่า สมัยนี้ความเอื้อเฟื้ออนาทรระหว่างเพื่อนมนุษย์เรา ท่าทางจะหดหายมลายเลือนไปเกือบหมดสิ้นแล้ว เพราะฉะนั้น ถ้าจะมีใครสักคนเก็บเด็กด้อยโอกาสมาเลี้ยงในสลัม หรือใครคนนั้นที่กำลังป่วยเป็นมะเร็งระยะเกือบ ๆ สุดท้าย แต่ก็ยังมีกะจิตกะใจมาเกาดีดกีตาร์ประโลมขวัญกำลังใจให้มนุษย์โลก คนๆ นั้นก็คงเป็นเพียงคนกลุ่มเล็กๆ เพียงไม่กี่คน หรือถ้าจะพูดให้จำเพาะเจาะจงก็คือ คงเป็นบางจำนวนคนที่มีสถานะเป็นเพียง “ข้อยกเว้น” ของสังคมเท่านั้น แต่ที่น่าสนใจยิ่งขึ้นก็คือ ถ้าแม่ต้อยเป็นเพียง “ข้อยกเว้น” เช่นนี้แล้ว โฆษณามีกระบวนการเสกสร้างชีวิตของแม่ต้อยออกมาสู่ผู้ชมกันเช่นไร? สำหรับผมนั้น พบว่า แม้แม่ต้อยจะเป็นเพียง “ข้อยกเว้น” แต่โฆษณาก็ทำให้ชีวิตของเธอกลายเป็น “กฎทั่วไป” ของคนในสังคม กล่าวคือแม้เราจะยอมรับความจริงที่ว่า คนอย่างแม่ต้อยช่างเป็นบุคลากรที่หาได้ยากยิ่งในสามโลกของเราก็ตาม แต่ว่าโฆษณาก็พยายามทำให้เรากลับคิดไปว่า ชีวิตแบบแม่ต้อยเป็นชีวิตที่ธรรมดาสามัญชนทั่วไปรู้สึกดีๆ และรู้สึกอยากเป็น และยิ่งเมื่อทาบกับหลักการของนักโฆษณาที่ว่า จะต้องทำให้ผู้ชมได้เห็นชิ้นงานโฆษณาดังกล่าวถี่ๆ บ่อยๆ และต่อเนื่องเรื่อยมา (แม้ในขณะที่ผมกำลังนั่งปั่นต้นฉบับอยู่เช่นนี้) ก็ยิ่งทำให้เราเข้าใจไปด้วยว่า คนแบบแม่ต้อยที่เราเห็นกันถี่ ๆ ซ้ำ ๆ บ่อยๆ ก็กลายเป็นคนแบบที่ปุถุชนธรรมดาทั่วไปเขาน่าจะเป็นกัน (ทั้ง ๆ ที่เราเองก็อาจจะรู้อยู่ลึกๆ ว่า จะเป็นได้แบบนี้ก็ช่างยากยิ่งยากเย็นเสียเหลือเกิน) แล้วเหตุใดโฆษณาจึงต้องทำให้ “ข้อยกเว้น” กลายเป็น “กฎทั่วไป” แบบนี้? คำตอบก็คงเป็นเพราะว่า โลกจินตนาการอย่างโฆษณา มีหน้าที่บางอย่างที่มากไปกว่าแค่การขายสินค้าและบริการ นั่นคือหน้าที่ในการเติมเต็มสิ่งที่แร้นแค้นขาดหายไปแล้วจากโลกความจริง กล่าวกันว่า ปัญหาอันใดก็ตามที่มนุษย์เราไม่สามารถแก้ไขบรรเทาได้ในโลกจริงนั้น โฆษณาจะช่วยสร้างภาพที่ขจัดปัดเป่าปัญหาเหล่านี้ในลักษณะเติมเต็มความรู้สึกดีๆ กลับคืนมา การเติมเต็มดังกล่าวจึงเป็นการเปิดโอกาสให้มนุษย์ได้เยียวยาปัญหาความคับข้องใจต่างๆ ในโลกจินตนาการกัน ก่อนที่จะมาเผชิญหน้ากับปัญหาเช่นนั้นอีกครั้งในโลกความเป็นจริง และที่ชวนประหลาดใจยิ่งไปกว่านั้นก็คือ โดยปกติแล้ว คนที่เป็นลูกค้าหลักของบริษัทประกันชีวิตก็มักจะเป็นคนชั้นกลางที่ใช้ชีวิตอยู่ในเมืองใหญ่ๆ แต่ก็ดูเหมือนว่า โฆษณากลับเลือกพรีเซ็นเตอร์อย่างแม่ต้อยให้เป็นคนชั้นล่าง ที่วิถีชีวิตของเธอไกลห่างยิ่งจากลีลาชีวิตแบบคนชั้นกลางเหล่านั้น ไม่ว่าจะเป็นชีวิตแบบที่ไม่เคยไปเหยียบน้ำทะเลยเลยในชีวิต หรือจะเป็นชีวิตที่ต้องผัดผักไฟแดงเลี้ยงเด็กสลัม แต่ชีวิตแบบคนชั้นล่างเหล่านี้ก็ถูกโฆษณาทำให้กลายเป็น “กฏทั่วไป” ในชีวิตของคนชั้นกลางได้ในที่สุด ด้วยเหตุดังกล่าวนี้ แม้ผู้ชมทางบ้านอีกเป็นแสนเป็นล้าน จะยังไม่ได้เป็นโรคมะเร็งแบบแม่ต้อยในวันนี้ แต่โฆษณาก็เริ่มต้นบอกเราแล้วว่า หากสักวันหนึ่ง เราเกิดโชคชะตาฟ้าเล่นตลก เป็นโรคร้ายขั้นสุดท้ายเช่นนี้แล้ว ในสองหรือสามปีที่เหลืออยู่ของเรานั้น จะเผชิญหน้ากับสภาวะดังกล่าวอย่างมีคุณค่าและเปี่ยมด้วยความหวังกันเช่นไร ทั้งนี้ก็เพราะว่า ชีวิตแบบ “ข้อยกเว้น” ก็มีสิทธิกลายมาเป็น “กฏทั่วไป” ในชีวิตของคุณหลายๆ คนขึ้นมาได้ ไม่วันใดก็วันหนึ่ง...

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point