ฉบับที่ 128 ใครกันแน่ที่เป็นคนผิดสัญญา

ปัญหาเรื่องว่าจ้างสร้างบ้านบนที่ดินของตัวเองหรือที่ดินในโครงการบ้านจัดสรร สิ่งที่ผู้บริโภคมักโดนกันบ่อยๆ คือ การถูกกล่าวหาจากบริษัทรับจ้างสร้างบ้านว่าเป็นฝ่ายผิดสัญญาและถูกริบเงินจองเงินมัดจำไป แต่ขอบอก...ปัญหาแบบนี้มีทางแก้ง่ายมาก ไม่อ่านเรื่องนี้เสียใจแน่

คุณอิศราได้ทำสัญญาจองสร้างบ้านกับบริษัทเพอร์เฟค บิลเดอร์ 2001 จำกัด โดยเซลล์ให้ข้อเสนอพิเศษเป็นส่วนลด 3% จากราคาบ้านตั้งแต่ 2 ล้านถึง 5 ล้าน แถมเดินท่อ PE และมีบริการกำจัดปลวกรับประกัน 3 ปี โดยต้องวางเงินจอง 50,000 บาทในวันทำสัญญา พร้อมกับชักชวนเพื่อนไปจองเพิ่มอีก 2 ราย ซึ่งก่อนวันทำสัญญาจองเซลล์ได้นำแบบบ้านคร่าวๆ มาให้ดู แต่จะต้องมีการเลือกแบบแปลนบ้านโดยละเอียดกันอีกครั้ง

คุณอิศราก็เหมือนผู้บริโภคทั่วไปที่ไม่ใส่ใจในรายละเอียดของสัญญาที่มีมากมายหลายหน้า แถมตัวหนังสือก็เล็กเสียจนมดตัวน้อยๆ ยังเดินแทรกไม่ได้ จึงทำให้ไม่รู้ว่าสัญญาที่ทำไปนั้นมีกับดักกินเงินจอง 50,000 บาทวางไว้อยู่

ระหว่างที่ดูแบบแปลนบ้านอยู่นั้น ก็ใช้เวลาพอสมควร จนผ่านไป 2 เดือน คุณอิศราก็ได้รับการติดต่อจากบริษัทฯให้เข้าไปพูดคุยกัน โดยแจ้งว่าเซลล์ได้ลาออกแล้ว และไม่สามารถให้ส่วนลด 3% ได้ เนื่องจากคุณอิศราผิดสัญญาการจองสร้างบ้าน

งง...บอกได้คำเดียวว่า งง นี่ฉันผิดสัญญาได้ไง

บริษัทฯ จึงงัดข้อความในสัญญาขึ้นมาอ่านให้ฟังว่า “ผู้จองต้องทำการสรุปแบบและเข้าทำสัญญาจ้างกับบริษัทฯ ภายใน 30 วัน นับแต่วันจอง”

กับอีกข้อบอกว่า“หากผู้จองได้วางเงินจองแล้ว แต่ไม่มีความประสงค์ที่จะทำสัญญาก่อสร้างบ้านกับบริษัทฯ ภายใน 30 วัน ผู้จองทราบดีว่า จะได้รับเพียงเอกสาร(ประกอบการขอจอง)จากทางบริษัทฯ เท่านั้น”

สรุปง่ายๆ คือ สัญญาบังคับให้ผู้จองต้องรีบสรุปแบบและเข้าทำสัญญาภายใน 30 วัน หากพ้นกำหนดไปก็จะได้รับแต่เอกสารกลับบ้าน ส่วนเงินจอง 50,000 บาทโครงการขอริบเข้ากระเป๋า

“สัญญาแบบนี้เป็นสัญญาไม่เป็นธรรม แบบแปลนบ้านยังไม่เสร็จสมบูรณ์ จะให้เข้าไปเซ็นสัญญาได้ไง” คุณอิศราโวย หลังจากนั้นจึงได้มีหนังสือบอกเลิกสัญญาและขอคืนเงินจอง ซึ่งบริษัทฯ ตกลงที่จะคืนเงินจองให้ แต่แจ้งว่าต้องมีการหักค่าใช้จ่ายบางส่วนออกไปเนื่องจากการทำงานและค่าภาษี เหลือเงินที่ต้องคืน 41,728 บาท และได้ออกเช็คให้

คุณอิศราใจเด็ด บอกไม่รับเงื่อนไขการคืนเงินแบบนี้ ต้องการให้บริษัทฯ คืนเต็มจำนวน 50,000 บาทเท่านั้น เพราะเพื่อนทั้งสองคนที่บอกเลิกสัญญาเหมือนกันก็ได้รับคืนเงินเต็มจำนวน จึงไม่เข้าใจว่าทำไมบริษัทฯ จึงมีการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายเฉพาะตนเท่านั้น

เมื่อคุยตกลงกันไม่ได้คุณอิศราจึงนำเรื่องมาร้องขอความช่วยเหลือจากมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค

แนวทางแก้ไขปัญหา

หัวใจของการแก้ปัญหาลักษณะนี้อยู่ที่การชิงทำหนังสือบอกเลิกสัญญา ใครทำก่อนย่อมได้เปรียบนิดๆ

เมื่อผู้บริโภคมีหนังสือบอกเลิกสัญญาไปแล้ว และบริษัทยอมคืนเงินให้แต่ขอกั๊กไว้ส่วนหนึ่งอ้างว่า มีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้นเป็นค่าภาษีกับค่าจ้างเหมา มูลนิธิฯ ก็อยากจะรู้ว่าเป็นความจริงมากน้อยแค่ไหน จึงได้มีหนังสือถึงกรรมการผู้จัดการบริษัท เพอร์เฟค บิวเดอร์ฯ เชิญร่วมประชุมเพื่อเจรจาไกล่เกลี่ย หากบริษัทฯ มีค่าเสียหายเกิดขึ้นจริงก็จะได้ช่วยคุยให้ผู้บริโภคได้เข้าใจ แต่ความปรารถนาดีของมูลนิธิฯ ถูกบริษัทฯ ตอบปฏิเสธ โดยแจ้งถึงเงื่อนไขข้อสัญญาต่างๆ และกล่าวหาว่าผู้บริโภคเป็นฝ่ายผิดสัญญาไม่เร่งไม่รีบดูแบบแปลนบ้านให้เรียบร้อยภายใน 30 วัน บริษัทฯ ได้พยายามติดต่อผู้บริโภคไปหลายครั้ง แต่ติดต่อไม่ได้ จนเวลาล่วงมาได้ 2-3 เดือนถึงสามารถติดต่อได้ บริษัทฯ มีสิทธิริบเงินมัดจำได้เต็มสิทธิของกฎหมาย

คำตอบแข็งทื่อมาแบบนี้ มูลนิธิฯ ก็จำเป็นต้องเตรียมจัดหนักเพื่อฟ้องเป็นคดีผู้บริโภคเรียกค่าเสียหายให้กับผู้บริโภคทันที แต่ในระหว่างนั้นก็พยายามเจรจากับบริษัทฯ บอกว่าเหตุที่ล่าช้าไม่ได้เป็นเพราะความบกพร่องของผู้บริโภค แต่เป็นเพราะความล่าช้าของบริษัทเองที่ไม่แก้แบบแปลนบ้านให้สมบูรณ์เรียบร้อยทันเวลาให้บริษัทตรวจสอบและกลับไปพิจารณาให้ถ้วนถี่อีกครั้ง

ส่วนคุณอิศรา เธอก็สุดยอดมาก เธอรู้จักกับเจ้าหน้าที่สรรพากร จึงขอให้ตรวจสอบว่า บริษัทฯ นี้มีการเสียภาษีเงินจองบ้านกันหรือไม่ ปรากฏว่าไม่มี และกรรมการผู้จัดการได้ถูกสรรพากรเรียกเข้าไปพูดคุยแล้ว

เมื่อโดนบีบหลายทางเข้า และคงได้คิดว่าจะหวงทำไมกับเงินแค่ 8,000 กว่าบาท แล้วจะพาให้เสียหายไปมากขึ้น ท้ายสุดจึงยอมคายเงินจองให้ผู้บริโภคครบทั้ง 5 หมื่นบาท

“ตลอดเวลาที่เกิดข้อขัดแย้งระหว่างดิฉันกับบริษัทฯ มูลนิธิฯได้ช่วยประสานทำความเข้าใจและให้ความช่วยเหลือดิฉันเป็นอย่างดียิ่ง ดิฉันจึงขอขอบคุณมูลนิธิฯ เป็นอย่างสูงในความอนุเคราะห์ครั้งนี้

ขออาราธนาคุณพระศรีรัตนตรัยและสิ่งศักดิ์สิทธิทั้งหลายในสากลโลก ได้โปรดดลบันดาลประทานพรให้เจ้าหน้าที่ของมูลนิธิทุกท่านประสบแต่ความสุขสิริสวัสดิ์พิพัฒนมงคลสมบูรณ์พูนผลในสิ่งอันพึงปรารถนาทุกประการ และขอให้มูลนิธิเป็นองค์กรที่เป็นที่พึ่งของผู้บริโภคที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมตลอดไป”

เมื่อได้อ่านคำอวยพรนี้กันถ้วนหน้า บรรดาเจ้าหน้าที่มูลนิธิฯ ในส่วนศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค ต่างพากันก้มกราบรับพรด้วยความซาบซึ้งตื้นตัน พร้อมตั้งปณิธานไว้ในใจว่าสักวัน(บางคนขอเน้นวันที่ 1 กับวันที่ 16)  ขอให้สมปรารถนากับเขาบ้างสักครั้ง สาธุ


แหล่งข้อมูล: กองบรรณาธิการ

250 point

LINE it!





  เรื่องเกี่ยวข้อง: นิตยสารออนไลน์ บ้าน สร้าง ผิด สัญญา

ฉบับที่ 278 ลูกชิ้นปลา ทำฟันระเบิด!

        ลูกชิ้นหมู ลูกชิ้นเนื้อ ลูกชิ้นปลา ของกินสุดแสนอร่อยที่ใครหลายคนชื่นชอบ มีขายอยู่ทั่วเกือบทุกพื้นที่ของประเทศไทย ถึงขนาดปัจจุบันก็มีร้านเฟรนไชส์ขายลูกชิ้นกันให้เกลื่อนเต็มไปหมด ซึ่งถ้าพูดถึงร้านเฟรนไชส์เราก็คงจะคาดหวังว่าอาหารที่เราจะซื้อคงจะสะอาดปลอดภัย ถูกสุขอนามัยทุกขั้นตอนใช่ไหมล่ะ (เป็นมาตรฐานที่ควรจะมีสำหรับการขายอาหารอยู่แล้ว) แต่ดันไม่ใช่กับเคสของคุณจุ๊บ        คุณจุ๊บเข้ามาร้องเรียนกับทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่า เธอซื้อลูกชิ้นปลาร้านเฟรนไชส์เจ้าหนึ่งมารับประทาน จำนวน 1 ถ้วย ราคา 55 บาท พอได้รับสินค้ามาแล้วเธอก็รับประทานทันที แต่ในระหว่างที่กำลังเคี้ยวอยู่นั้น ก็เหมือนกับเจออะไรแข็งๆ โดนที่ฟัน ซึ่งพอเอาออกมาดูก็พบกับเศษเหล็กและฟันกรามของเธอที่แตกหักเสียหาย เธอจึงติดต่อไปยังเฟรนไชส์ดังกล่าวให้รับผิดชอบค่าเสียหายทั้งหมด เช่น ค่ารักษาพยาบาล ค่าเสียเวลาทำงานและอื่นๆ เป็นเงินจำนวน 69,300 บาท         ทั้งนี้ จากที่คุณจุ๊บติดต่อไปยังบริษัทเฟรนไชส์ลูกชิ้นปลาดังกล่าว ทางบริษัทก็ได้มารับชิ้นส่วนดังกล่าวไปตรวจสอบ หลังจากนั้นทางบริษัทก็ได้ติดต่อผู้เสียหายมาว่าทางบริษัทได้ให้ทางโรงงานที่ผลิตตรวจสอบแล้ว ไม่พบชิ้นส่วนเหล็กดังกล่าว อย่างไรก็ตามจะขอชดเชยค่าเสียหายดังกล่าวเป็นจำนวนเงิน 40,000 บาท แทน คุณจุ๊บเองนั้นไม่โอเคกับขอเสนอดังกล่าวเนื่องจากเธอนั้นตั้งครรภ์อยู่จึงไม่สามารถทำฟันได้ทันที และการที่เธอได้รับประทานลูกชิ้นดังกล่าวไปในขณะตั้งครรภ์อยู่ทำให้ไม่สบายใจเป็นอย่างมาก พร้อมกับหน้าที่การงานของเธอนั้นต้องใช้หน้าตาในการให้บริการลูกค้า ซึ่งตั้งแต่เกิดเรื่องเธอต้องถือเอาเรื่องโควิดมาช่วยแก้สถานการณ์ในการทำงานโดยต้องใส่แมสก์ตลอดเวลา เพราะไม่มั่นใจ ไม่กล้ายิ้มหรือพูดคุยได้เหมือนปกติ ที่สำคัญอีกอย่างคือค่าเสียหายทั้งหมดที่เธอต้องเสียไปในการรักษาพยาบาลก็มากกว่าจำนวนเงินที่ทางบริษัทเสนอมาอีกด้วย แนวทางการแก้ไขปัญหา         เพื่อติดต่อขอรายละเอียดเพิ่มเติม ทางมูลนิธิฯ ได้ติดต่อไปยังคุณจุ๊บอีกครั้ง ทำให้ได้ทราบว่าคุณจุ๊บมีการเจรจากับทางบริษัทอีกครั้ง โดยทางบริษัทฯ เจ้าของเฟรนไชส์ลูกชิ้นปลาได้มีการส่งตัวแทนเข้าไกล่เกลี่ยและยื่นข้อเสนอเป็นเงินชดเชยจำนวน 50,000 บาท ทางคุณจุ๊บยินยอมรับข้อเสนอดังกล่าว เป็นอันว่าจบไปได้ด้วยดี         ก่อนจะเข้าร้องเรียนที่มูลนิธิฯ คุณจุ๊บเองได้มีการไปแจ้งความลงบันทึกประจำวันเพื่อเป็นหลักฐาน พร้อมกับตรวจเช็กร่างกายนำใบเสร็จและใบรับรองแพทย์มาเป็นหลักฐาน ซึ่งเป็นขั้นตอนที่สำคัญของการรวบรวมหลักฐานเพื่อเรียกร้องค่าเสียหาย อย่าลืมถ่ายรูปอาหารที่มีสิ่งแปลกปลอมหรือความเสียหายที่เกิดขึ้น ทั้งนี้ใบเสร็จหรือสลิปโอนเงินก็เป็นหลักฐานอย่างดีว่าเราซื้อหรือใช้บริการจริง ผู้บริโภคทุกคนควรใส่ใจ  

อ่านเพิ่มเติม>

ฉบับที่ 278 อย่ายอม ! หากโรงแรมให้ไปจอดรถในที่มืดๆ

        โรงแรมเป็นสถานที่พักที่ต้องจัดให้บริการให้เป็นไปมาตรฐานที่ทั้งต้องอำนวยความสะดวกให้ผู้เข้าพัก มีความสะอาด ปลอดภัย หากไม่เป็นไปตามนี้อาจเสี่ยงทำให้ทรัพย์สินของผู้มาใช้บริการเสียหายได้ เช่นเรื่องราวของคุณนัท         เรื่องราวคือ คุณนัทได้เข้าไปใช้บริการโรงแรมมีชื่อแห่งหนึ่งย่านรัชดา เมื่อวันที่ 10 ก.พ. ในเวลา 19.40 น. โดยได้ติดต่อขอใช้บริการห้องพักชั่วคราวกับโรงแรมเป็นเวลา 2 ช.ม. และได้ชำระเงิน 600 บาท โดยเป็นค่าห้องพัก 300 บาท และค่ามัดจำกุญแจ 300 บาท หลังชำระเงินเสร็จแล้ว จึงค่อยมาทราบทีหลังว่าไม่สามารถนำรถไปจอดหน้าห้องพักตามปกติได้ทั้งที่คุณนัทเคยมาใช้บริการก่อนหน้านี้สามารถนำรถมาจอดหน้าห้องพักได้เลย         ในครั้งนี้พนักงานให้คุณนัทนำรถไปจอดฝั่งตรงข้ามโรงแรม  คุณนัทจึงได้ขอยกเลิกคืนเงินในทันทีแต่โดนปฏิเสธการคืนเงิน จึงจำใจต้องใช้บริการแต่เมื่อทำเลื่อนรถไปจอดฝั่งตรงข้าม พนักงานยังไม่มีแจ้งสถานที่จอดรถที่ชัดเจน ทั้งยังไม่มีป้ายบอกหรือแสดงข้อความที่ชัดเจนว่าต้องเข้าจอดตรงไหน ตลอดจนไปที่จะให้ความสว่างก็มีไม่เพียงพอ เรียกว่าเกือบมืดเลยแหละ คุณนัทไม่รู้ว่าจะจอดรถอย่างไร พนักงานจึงเดินมาบอกให้ขับเข้าไปจอดด้านในมืดๆ         คราวนี้คุณนัทรู้สึกว่าไม่ปลอดภัยจึงตัดสินใจยอมทิ้งค่าห้องพัก ไม่พักแล้ว เพราะบริการของโรงแรมไม่ได้มาตรฐานและหากต้องจอดรถในที่มืด ไม่มีระบบป้องกันความปลอดภัยใดๆ รถก็เสี่ยงเสียหายได้ คุณนัทจึงตัดสินใจเชคเอ้าท์ออกในเวลา 19.53 โดยได้รับเงินค่ามัดจำกุญแจคืน จำนวน 300 บาท และจ่ายค่าห้องพัก 2 ช.ม. ไปฟรี 300 บาท โดยที่ไม่ได้เข้าพัก         คุณนัทจึงมาร้องเรียนกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เพราะการบริการของโรงแรมดังกล่าวไม่ปลอดภัยต่อทรัพย์สินของผู้ใช้บริการ ไม่ได้เป็นไปตามาตรฐานของโรงแรงตามที่ควรเป็นหลายประการ  แนวทางการแก้ไขปัญหา         เมื่อมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้รับเรื่องร้องเรียนแล้ว ได้ติดต่อกับโรงแรมดังกล่าว สอบถามถึงข้อปัญหาที่บกพร่อง ต่อมาเจ้าของหน้าที่ของโรงแรมได้ประสานและรายงานแสดงผลกับมูลนิธิฯ ว่าได้ปรับปรุงจุดที่มีปัญหาแล้ว คือได้ทำให้ไฟหน้าห้องพักใช้งานได้ตามปกติ  ติดตั้งป้ายและไฟในที่จอดรถแล้ว และได้โทรศัพท์แจ้งผลการปรับปรุงให้คุณนัททราบด้วย คุณนัทจึงพึงพอใจไม่ติดใจโรงแรมอีก         มาตรฐานของโรงแรมแล้วนั้น กฎกระทรวงกำหนดประเภทและหลักเกณฑ์การประกอบธุรกิจโรงแรมพ.ศ. 2551 โดยมีรายละเอียดสำคัญดังนี้           1.ให้มีโทรศัพท์หรือระบบการติดต่อสื่อสารต้องมีจำนวนเพียงพอ        2. การปฐมพยาบาลเบื้องต้นเพื่อส่งไปยังสถานพยาบาลใกล้เคียง         3. ระบบรักษาความปลอดภัยอย่างทั่วถึงตลอด 24 ชั่วโมง         4. จัดให้มีห้องน้ำและห้องส้วมในส่วนที่ให้บริการสาธารณะโดยจัดแยกชายและหญิง          5. มีการรักษาความสะอาด มีการจัดแสงสว่างอย่างเพียงพอ และมีระบบระบายน้ำ บำบัดน้ำเสีย และระบบระบายอากาศที่ถูกสุขลักษณะ         6. ทุกชั้นต้องติดตั้งเครื่องดับเพลิงแบบมือถือไม่น้อยกว่าชั้นละ 1 เครื่อง และเครื่องดับเพลิงต้องอยู่ในสภาพที่ใช้งานได้ตลอดเวลา         7. ต้องติดตั้งระบบสัญญาณเตือนเพลิงไหม้         8. ต้องมีทางหนีไฟหรือบันไดหนีไฟตามหลักเกณฑ์ 9. ต้องจัดให้มีระบบจ่ายพลังงานไฟฟ้าสำรองสำหรับกรณีฉุกเฉิน ใช้ได้อัตโนมัติเมื่อระบบจ่ายพลังงานไฟฟ้าปกติหยุดทำงาน 10. ต้องอยู่ห่างจากแม่น้ำ คู คลอง หรือแหล่งน้ำสาธารณะไม่น้อยกว่า 10 เมตร         นอกจากนี้ ยังมีอุปกรณ์ที่จะช่วยทำให้มาตรฐานความปลอดภัยถูกยกระดับมากยิ่งขึ้น อีกหลายประการ เช่น กล้องวงจรปิด ,บัตรผ่านจอดรถ ,คีย์การ์ด ,สัญญาณกันขโมย ,ไม้กั้นอัตโนมัติ เป็นต้น         หากผู้บริโภคท่านอื่นๆ พบเจอปัญหาเช่นคุณนัท ก็สามารถร้องเรียนได้ เพราะมาตรฐานการบริการของโรงแรมมีกฎหมายกำหนดไว้อย่างเข้มงวด ชัดเจน 

อ่านเพิ่มเติม>

ฉบับที่ 278 ผู้โดยสารร้องแท็กซี่ไม่กดมิเตอร์ ปล่อยลงกลางทาง

        แม้หลายคนจะเคยได้รับรู้ข่าวปัญหาจากการเดินทางด้วยรถแท็กซี่ตามหน้าสื่อต่างๆ ว่าผู้โดยสารบางคนโบกแล้วแท็กซี่ไม่จอด จอดแล้วไม่ไปบ้าง ขับพาอ้อมบ้าง ไม่กดมิเตอร์บ้าง โก่งราคาบ้าง หรือกระทั่งถูกปล่อยทิ้งกลางทาง แต่คงไม่มีใครคาดคิดว่าตัวเองจะเจอปัญหานี้ คุณริต้าก็เช่นกัน แต่เธอก็เจอแจ็กพ็อตจนได้         ในเช้าวันหนึ่ง คุณริต้ามีธุระต้องเดินทางไปดอนเมือง เธอมายืนเรียกแท็กซี่อยู่ที่หน้าสถานีรถไฟฟ้า BTS สนามเป้า รอสักพักก็มีรถแท็กซี่คันหนึ่งผ่านมาและจอดรับ เธอขึ้นรถตอนเจ็ดโมงกว่าๆ เกือบแปดโมงเช้า คุณโชเฟอร์เขาขับรถออกไปโดยไม่ได้กดมิเตอร์ตามปกติ แต่กลับหันมาเรียกเก็บค่าโดยสารจำนวน 600 บาทแทน คุณริต้าตกใจ แต่ก็มีสติพอที่จะไม่จ่ายให้เพราะรู้สึกว่าแพงเกินไป         เมื่อผู้โดยสารปฎิเสธ คนขับแท็กซี่ก็เลยจอดรถและให้เธอลงกลางทางที่หน้าปากซอยพหลโยธิน 2 แล้วมุ่งหน้าไปยังถนนวิภาวดี เรียกว่าปล่อยเธอไว้กลางทาง ตอนนั้นเธอรู้สึกไม่พอใจ แต่ก็ทำอะไรไม่ได้ นอกจากเรียกแท็กซี่คันใหม่ในบริเวณนั้นให้ไปส่งที่ดอนเมืองแทน เมื่อถึงปลายทางเธอจ่ายค่าโดยสารไปเพียง 163 บาท ทำให้เธอเชื่อว่าแท็กซี่คันแรกนั้นต้องจ้องจะเอาเปรียบผู้โดยสารแน่ๆ เธอจึงร้องเรียนมายังมูลนิธิฯ เพื่อขอให้ดำเนินการตามกฎหมายกับคนขับแท็กซี่ที่ไม่กดมิเตอร์ เรียกเก็บค่าโดยสารแพงเกินจริงและทิ้งผู้โดยสารไว้กลางทางรายนี้    แนวทางการแก้ไขปัญหา         หลังจากทางมูลนิธิฯ ได้ติดต่อเพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมและตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลแล้วก็ได้ประสานไปที่กรมการขนส่งทางบก เพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป โดยทำหนังสือถึงอธิบดีกรมขนส่งทางบก ขอให้ดำเนินการตรวจสอบแก้ไขปัญหาในกรณีนี้ ซึ่งจากการสอบถามเจ้าหน้าที่กรมขนส่งฯ กรณีมีการแจ้งให้ตรวจสอบแท็กซี่จากหน่วยงาน หากในหนังสือระบุข้อมูลเบอร์ติดต่อผู้เสียหาย ทางกรมขนส่งฯ จะติดต่อผ่านผู้เสียหายเองเพื่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม หากมีข้อมูลตกหล่นหรือหากต้องการข้อมูลเพิ่มสิ่งสำคัญอย่างหนึ่งเมื่อโดยสารรถแท็กซี่คือ ผู้โดยสารควรจดจำทะเบียนรถหรือชื่อคนขับรถแท็กซี่ไว้ เผื่อเกิดปัญหาอะไรขึ้นจะได้ติดต่อตามตัวมาได้อย่างรวดเร็ว  และสายด่วนเพื่อร้องเรียนพฤติกรรมของผู้ให้บริการรถโดยสารสาธารณะ คือ สายด่วน 1584 กรมการขนส่งทางบก

อ่านเพิ่มเติม>

ฉบับที่ 278 นั่งกินหมูกระทะแต่กลับได้แผลกลับบ้าน

        มาตรฐานของร้านอาหารนอกจากเรื่องความสะอาดและสุขอนามัยในอาหารแล้ว ความปลอดภัยของสภาพแวดล้อมในการรับประทานอาหารทั้งโต๊ะ เก้าอี้ อุปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้ในการปรุงอาหารก็มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน เพราะไม่อย่างนั้น แค่เพียงไปนั่งรับประทานหมูกระทะก็อาจจะได้แผลกลับมาเหมือนเรื่องของคุณสุดเขตต์         เรื่องราวเริ่มเมื่อคุณสุดเขตต์ไปรับประทานหมูกระทะกับแฟน ในวันที่ 1 มีนาคมที่ผ่านมา คุณสุดเขตต์ก็นั่งรับประทานตามปกติ แต่แค่เพียงขยับขาเปลี่ยนท่านั่งเข่าก็ไปชนกับ ก้นของเตาเข้าอย่างจังจนทำให้สะดุ้ง ชักขากลับแทบไม่ทัน         แม้ขาจะชนขอบเตาเพียงไม่นานแต่ก็เกิดเป็นแผล เริ่มแรกเป็นเพียงรอยแดงถลอก ต่อมาไม่กี่ชั่วโมงจึงเริ่มพุพอง         “เตาหมูกระทะของร้านนั้น เขาติดตั้งแบบเขาเจาะหลุมกลางโต๊ะ แล้วก็หย่อนตัวเตาลงไป ก้นเตาที่อยู่ด้านล่าง มันยาวกว่า 20 เซ็นได้ แล้วเตามันก็ใหญ่ มันทำให้ชิดกับขาของคนนั่ง ตอนแรกที่นั่ง ยังไม่รู้ เพราะยังไม่ได้ทันสังเกตแต่พอโดนเข้าแล้วแบบนี้ เราก้มดู ติดตั้งเตาแบบนี้อันตรายมาก ใครนั่งก็โดน เด็กๆ มานั่งยิ่งโดนไม่ปลอดภัยจริงๆ ”         หลังจากรับประทานหมูกระทะในวันนั้น คุณสุดเขตต์ได้เข้าโรงพยาบาลเพื่อรักษาแผลพุพองที่ได้จากการไปกินหมูกระทะ และกลายเป็นแผลที่เข่าขนาดกว้าง ยาวกว่า 1 นิ้ว รักษาอยู่ต่อเนื่อง 4 – 5 วันจึงค่อยหายดีแล้วคุณสุดเขตต์จึงมาร้องเรียนที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่าจะสามารถเรียกร้องสิทธิอะไรได้บ้าง   แนวทางการแก้ไขปัญหา         เมื่อประชาชนพบเจอปัญหาเช่นคุณสุดเขตต์ คือได้รับความไม่ปลอดภัยจากร้านอาหารให้ดำเนินการ สองแนวทาง คือ หนึ่งเข้าร้องเรียนกับหน่วยงานที่กำกับดูแลร้านอาหาร เช่น กรุงเทพฯ ให้เข้าร้องเรียนที่สำนักงานเขตที่ร้านอาหารนั้นตั้งอยู่ โดยกรุงเทพมหานครได้มีสำนักงานสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อม สำนักอนามัย กรุงเทพมหานครประจำอยู่ในแต่ละสำนักเขตพื้นที่ มีอำนาจหน้าที่คือตรวจสอบมาตรการความปลอดภัยร้านอาหารในพื้นที่ และออกคำสั่งให้ร้านปรับปรุงให้ได้ตามมาตรฐาน  สำหรับต่างจังหวัดคือเทศบาลของแต่ละพื้นที่         สอง รวบรวมหลักฐาน ทั้งหลักฐานการจ่ายเงินว่าได้เข้ารับประทานอาหารในร้านดังกล่าวจริง รูปถ่ายความเสียหายและเอกสารจากการเข้ารับการตรวจรักษา เพิ่มเติมด้วยการเข้าบันทึกประจำวันที่สถานีตำรวจ และเจรจาเรียกร้องค่ารักษาพยาบาลกับทางร้านอาหาร  กรณีของคุณสุดเขตต์ ซึ่งเข้าร้องเรียนกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคนั้น ขณะนี้กำลังประสานงานเพื่อจะดำเนินการเรียกร้องสิทธิให้กับผู้บริโภค เพื่อให้ร้านอาหารเยียวยาค่าเสียหายให้กับผู้เสียหายต่อไป

อ่านเพิ่มเติม>

ความคิดเห็น (0)