ฉบับที่ 134 ผักหวานป่าต้มปลาย่าง

ตั้งแต่ช่วงกลางกุมภาพันธ์- ต้นมีนาคม ที่ผ่านมา ปัญหาควันไฟในภาคเหนือก็วนกลับมาสร้างปัญหาให้กับคนที่นั่นกันอีกหน  เช็คกระแสข่าวในประเทศไทยดู ก็พบว่าคนที่ถูกกล่าวหาว่ามีส่วนที่ทำให้เกิดควันจากไฟป่ามากที่สุด ก็หนีไม่พ้นคนที่อยู่กับป่า  โดยเฉพาะคนเก็บผักหวานป่าและเห็ดโคนมาขาย แต่ช้าก่อน...จริงหรือที่ ผักหวานป่าเป็นต้นตอของควันมหึมามหาศาลที่ก่อปัญหาอย่างที่สื่อพาให้เราเข้าใจไปแบบนั้น? ผักหวานป่า จากอาหารบ้านๆ แต่กลับกลายเป็นเมนูยอดนิยมในปัจจุบัน ก็เพราะมาจากชุดความรู้โดยคนกลุ่มหนึ่งที่ระบุว่า เป็นเมนูสุขภาพจากอาหารพื้นบ้าน  ดังนั้นจึงมีเมนูที่มีผักหวานร่วมอยู่ด้วยในหลายชนิดอาหาร เช่น แกงเห็ดผักหวานแบบอีสาน  ทั้งแบบปรุงสำเร็จตามร้านข้าวแกง  แบบกึ่งสำเร็จรูปในห้างสรรพสินค้าที่ผู้บริโภคนำมาปรุงเองที่บ้าน  และแบบที่ยืนสั่งรอจากร้านที่ปรุงให้ตามสั่งที่ผุดขึ้นมามากมายในตลาดนัดและริมฟุตบาทในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล โดยเฉพาะแหล่งที่มีคนงานอีสานอยู่หนาแน่น   ร้านก๋วยเตี๋ยวบางแห่งยังเลือกใช้ผักหวานป่าเป็น เมนูเรียกลูกค้า แข่งกับก๋วยเตี๋ยวตำลึงและก๋วยเตี๋ยวแบบดั้งเดิมที่ใช้ถั่วงอก ต้นคะน้า   ความนิยมต่อผักหวานป่าที่มีเพิ่มมากขึ้น แต่ข้อจำกัดสำคัญของผักหวานป่าที่มีให้กินได้เฉพาะหน้าแล้ง และมีขึ้นได้ในบางพื้นที่เท่านั้น ทำให้เกิดความพยายามที่จะทำการเพาะขยายพันธุ์ผักหวานป่าในแปลงเกษตรแทนการเก็บจากป่า ซึ่งมักมีขึ้นหลังจากป่าถูกเผา(ปัจจุบันมีนวัตกรรมการขยายพันธุ์ผักหวานได้หลายวิธี ทั้งการเพาะเมล็ด การชำไหล การตอน และการสกัดจากรากต้นผักหวานที่มีอายุมาก) ผักหวานป่าจึงกลายเป็นผักหวานป่าในแปลงเกษตรกรรมที่ทำรายได้ดีให้กับผู้ปลูกตาม demand ของผู้บริโภค และทำให้หาซื้อกินกันได้เกือบตลอดทั้งปี ดังนั้นสัดส่วนการหาผักหวานป่าของคนที่อยู่ป่าก็คงจะมีแต่น่าจะเป็นส่วนที่น้อยมากเมื่อเทียบกับกำลังการผลิตและบริโภคที่มีอยู่ในตลาดปัจจุบัน  เพราะไม่ใช่ว่าผักหวานป่าเกิดขึ้นได้ทุกจุดทั่วไปในป่า อย่างที่เจ้าหน้าที่รัฐยกขึ้นอ้างว่าเป็นเหตุสำคัญของการเกิดควันในช่วงดังกล่าว หากมองในมุมของคนที่ทำงานกับเกษตรกรมานาน ปัญหาการควันที่เกิดจากเผ่าพื้นที่การเกษตรน่าจะมาจากการเปลี่ยนระบบการปลูกพืชในป่าตามนโยบายของรัฐ  จากไร่หมุนเวียนมาเป็นพืชเศรษฐกิจอย่างสำหรับการปศุสัตว์ อย่างข้าวโพด ถั่วเหลือง ฯลฯ  มากกว่า เพราะในระยะไม่ถึงทศวรรษให้หลังมานี้ก็มีพืชอย่างยางพาราและปาล์มน้ำมันเข้ามาเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกของชาวบ้าน(อีกแหละก็ตามความต้องการที่มีมากขึ้นของผู้บริโภคเช่นกัน) ดังนั้นเราๆ ท่านๆ ก็มีส่วนในการเผาผลาญให้เกิดควันทั้งในบ้าน  บนถนน ในโรงงานอุตสาหกรรม  การผลิตไฟฟ้าด้วยถ่านหินและการท่องเที่ยวด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะการบินก็สร้างปัญหาควัน มลพิษ และภาวะโลกร้อนไม่แพ้กันกับการเผาที่เกิดขึ้นในแปลงเกษตร (อย่างไรก็ตามก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ที่ได้จากการเผาเศษซากใบไม้ สร้างปัญหาเรื่องพิษต่อการสูดดมเข้าสู่ร่างกายและโลกร้อนน้อยกว่า ก๊าซที่เผาไหม้เชื้อเพลิงจากน้ำมันใต้ผืนดินและถ่านหิน  อีกทั้งต้นไม้ยังทำให้คาร์บอนไดออกไซด์ นั้นหมุนเวียนกลับมาอยู่ในดินและต้นไม้ได้ด้วยกระบวนการสังเคราะห์แสงของต้นไม้) เดิมชาวบ้านในป่าภาคเหนือใช้ระบบการปลูกพืชหมุนเวียน แต่ก็ถูกนโยบายรัฐควบคุมโดยกล่าวหาว่าเป็นการทำลายป่าโดย ในนามว่า “ไร่เลื่อนลอย” ทั้งที่ระบบการปลูกพืชไร่หมุนเวียนนั้นเป็นระบบการจัดสรรพื้นที่ปลูกแบบยั่งยืน  ชาวบ้านจะเลือกเผาแปลงบางแปลง  แล้ววนกลับไปปลูกในแปลงที่เผาอีกครั้งในช่วงระยะเวลา 4-8 ปี หมุนเวียนกันไปในพื้นที่ที่จำกัดของแต่ละครอบครัว  ส่วนช่วงเวลาในการเผาจะเลือกในช่วงที่ไม่มีความกดอากาศสูงจากตอนใต้ของจีนแผ่เข้ามาในภาคเหนือของไทย เพราะต้องสัมพันธ์กับช่วงที่เหมาะสมกับฝนจะตกลงมาหลังการเผาป่าเพื่อการเพาะปลูกในรอบถัดไป ส่วนชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่ป่า ทำการเกษตร หากินและเก็บของป่าขาย  ทั้งในภาคเหนือ อีสาน และใต้ ต่างประสบปัญหารัฐประกาศที่อุทยาน พื้นที่ป่าสงวนทับที่ทำกิน  จนชาวบ้านในพื้นที่ป่าต้องคดีและขึ้นโรงขึ้นศาลนับหมื่นราย    จนทำให้ประชาชนหน้าหมอง ต่างสงสัยว่าการที่รัฐควบคุม โดยการละเมิดสิทธิที่พวกเขาเคยอยู่และทำกินมาก่อนการประกาศของนโยบายรัฐที่ดำเนินการมีข้าราชการเป็นผู้ชงขึ้นนั้น ใช้ได้เฉพาะกับชาวบ้านที่ด้อยอำนาจ แต่กับนายทุนและผู้มีอิทธิพลรายใหญ่ๆ  ที่มากอำนาจวาสนาบารมีทั้งหลายกับเพิกเฉยใช่ไหม  ทั้งที่บุคคลเหล่านั้นสร้างปัญหามากกว่าที่ชาวบ้านในป่าจะสร้างปัญหา “ทุบหม้อข้าวตัวเอง” จากการเผาป่าอย่างที่รัฐกล่าวหาพวกเขาเสียอีก --------------------------------------------------------------------------------------------------------- แกงผักหวาน  ส่วนประกอบที่ใช้มี พริกขี้สดหรือพริกขี้หนูแดง  5 – 7 เม็ด  ปลาสดย่าง  ½ ถ้วย   หอมแดง  3 – 5 หัว  กะปิ  1 ช้อนชา ( หรือปลาร้า 1 ช้อนโต๊ะ)  และผักหวาน 2 กำ    บางคนก็ใส่ทั้งกะปิและปลาร้า  และบางคนก็ไม่ใส่ทั้งกะปิและปลาร้าก็ได้ เลือกเอาตามอัธยาศัย วิธีทำ ระหว่างใส่น้ำลงในหม้อ 1 ถ้วย ตั้งให้น้ำเดือด เราเตรียมเครื่องแกงโดย ตำกะปิ พริกและหอมแดงให้เข้ากัน พอแหลกแล้วใส่ปลาย่างลงไปตำให้เข้ากัน   เมื่อน้ำเดือดดีแล้วตักเครื่องแกงใส่ลงในหม้อ  ต้มสักพัก  5 นาที ก็ใส่ผักหวานที่เด็ดเอาแต่ยอดอ่อน  ชิมรสและแต่งรสด้วยเกลือและน้ำปลาร้า  แล้วยกลง    บางบ้านนิยมใส่วุ้นเส้นและเห็ดลงไปด้วย   โดยจะใส่เห็ดในช่วงเดียวกับเครื่องแกงและใส่วุ้นเส้นพร้อมผักหวาน   สวนใครที่ชอบเผ็ดร้อนจะเติมเม็ดพริกไทยลงไปในช่วงโขลกน้ำพริกแกงด้วยก็ได้ ไม่ว่ากัน

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 133 คำนั้น ฉันจำ

  เที่ยงแล้ว แต่สิ่งที่คิดว่าจะกินกลับไม่ใช่มื้อกลางวัน ฉันเดินไปร้านคนขายมะพร้าวเพียงอึดใจเดียวก็ถึง บอกแม่ค้าให้ช่วยเลือกมะพร้าวแก่ห้าวขนาดพอเหมาะมือ เพื่อกะเทาะเอากะลาและน้ำมะพร้าวออก เดินประคองมะพร้าวลูกนั้นมา เคาะปุๆ ดูอย่างครึ้มใจตลอดทาง ต้นชะพลูมีอยู่เขียวครึ้มใต้โคนมะม่วงใหญ่ ไม้เถากึ่งเลื้อย รูปทรงของใบสวย สีเขียวเข้มสด รสและกลิ่นของมันมีเฉพาะตัว แถมปลูกง่าย โตง่าย กระจายพันธุ์ได้ง่ายและรวดเร็วเพราะที่ข้อของต้นมักมีรากแตกแขนงออกมา วันนี้ฉันกับแม่จะทำ “เมี่ยงคำ” ตามประสาคนอยู่ใกล้ตลาด กลับถึงบ้านเอามะพร้าววางแล้วต้องวนกลับไปใหม่ คราวนี้เอาถั่วลิสง น้ำตาลปี๊บและมะนาวกลับมาด้วย ส่วนกะปิดีมีอยู่แล้วที่บ้าน กินข้าวกลางวันตอนบ่ายเสร็จ ฉันเริ่มกิจกรรมโปรดโดยปูเสื่อกลางบ้าน เตรียม ถาด มีด เขียง และมีดปอกผลไม้ และมะพร้าวแก่ลูกนั้นมาวางเคียงอย่างพร้อมเพรียง เพราะจากนี้ไปอีกสักราว 1 ชั่วโมงฉันจะไม่ไปไหนหรือทำอะไรทั้งสิ้นหากไม่จำเป็น ฉันผ่ามะพร้าวออกเป็น 2 ซีก แล้วเอามีดปอกผลไม้เถือไปตามขอบซีกมะพร้าวออกมาเป็นเส้นยาวๆ ทีละเส้น .... ทีละเส้น แม้มีดปอกผลไม้จะคม แต่มะพร้าวแก่ทำให้ต้องออกแรงสักหน่อย บางครั้งที่กะจังหวะไม่ดี สันมือก็เผลอไปกระแทกขอบเขียงขอบกะละมังเรียกสติแบบเจ็บๆ ได้เหมือนกัน หั่นมะพร้าวเป็นเส้นเพื่อจะซอยให้เป็นฝอยยิบย่อยด้วยมีดนั่นยากกว่านี้ และใช้เวลานานกว่านี้มาก จับมะพร้าวเส้นบางมาเรียงซ้อนๆ เพื่อซอยย่อยลงไปแบบเพลินๆ ...ก็จะไม่เพลินได้ไงในเมื่อมือ 2 ข้างจับมะพร้าวและมีดซอยอยู่นั้น ปากฉันก็เคี้ยวชิ้นมะพร้าวหงับๆ อย่างเมามัน แม่ว่าฉันเคี้ยวมันจนน้ำกะทิไหลแล้ว ซอยมะพร้าวเสร็จแล้ว เอาไปคั่วในกระทะ จนเสร็จแล้วเอาไปให้แม่ดู แม่ว่าใช้ไฟแรงไป มันเหลืองแต่ไม่กรอบ เลยต้องเคี่ยวไฟอ่อนๆ ใหม่จนได้ดีอย่างที่แม่ต้องการ คราวนี้แม่หว่านน้ำตาลทรายลงไปนิดหน่อยให้น้ำตาลเกาะมะพร้าวจะได้กรอบ พอใกล้จะเย็นจึงเทใส่ขวดเก็บไว้ ถั่วลิสงที่ต้องล้างก่อนคั่ว ต้องคั่วให้สุกไม่งั้นเดี๋ยวถั่วเป็นพิษ เสร็จเอาไปให้แม่ดู ฉันก็คั่วไฟแรงเกินไปอีกนั่นแหละ แม่ว่างั้น เรื่องเหลือจากนี้เป็นแม่เตรียมการ ได้แก่ ตั้งเคี่ยวน้ำตาลปี๊บกับกะปิและเกลือจนเหนียวหนืด หั่นขิง หั่นพริก เอากุ้งแห้งแช่น้ำแล้วสงขึ้นมา รวมถึงเด็ดใบชะพลูมาล้างเตรียมพร้อมการกินเมี่ยงไว้เสร็จสรรพ ปากกินเมี่ยงใบชะพลู แต่หัวกลับนึกไปถึงวัยเด็ก การกินเมี่ยงที่เมื่อจะกิน คนขายวางใบเรียงเต็มถาดตามที่คนกินแจ้งบอก จากนั้นก็เอาเครื่องเคราวางเป็นกองๆ ใครไม่กินหอม ไม่กินขิง ไม่กินพริก ก็จะร้องบอกคนขายไว้ล่วงหน้า จากนั้นก็ตักน้ำจิ้มมาเป็นถ้วยให้เติมเอง เจอแม่ค้าดีหน่อย ก็จะวางถั่ว กุ้งแห้ง พริก ขิง หอม มะนาวไว้ แล้วให้ตักมะพร้าวคั่วได้ตามใจชอบ พร้อมน้ำจิ้มที่เติมได้ไม่อั้น ระหว่างเคี้ยวคำมันๆ กลิ่นชะพลูทำให้ฉันนึกไปถึงกลิ่นใบทองหลางที่เอามาห่อกินเมี่ยงได้รสอร่อยไม่แพ้กันขึ้นมารำไร ทองหลางไม้ตระกูลถั่วที่พบได้ทั่วไปในสวนทุเรียนเมืองนนท์ ที่คนสวนว่ามันช่วยให้ดินดีและทำให้ทุเรียนนนท์มีรสอร่อย ไม่รู้ทั้งต้นทุนเรียนและต้นทองหลางจะเหลืออยู่สักกี่ต้นหลังน้ำลงแล้วในปีนี้ ฉันเล่าให้แม่ฟังถึงการขายเมี่ยงคำแบบใหม่(สำหรับแม่) ที่ตลาดจตุจักร ที่เสียบเมี่ยงคำที่ห่อสำเร็จพร้อมกินไว้กับไม้คล้ายซื้อลูกชิ้นกิน แม่ทึ่งมาก เมี่ยงคำ ทำกัน 2 คน ใช้เวลาเตรียมไม่เกินครึ่งวัน แต่ก็เก็บไว้กินไปได้หลายวัน อร่อยได้หลายคำ ตอนช่วงบ่ายๆ แม่บอกฉันว่า น้ำจิ้มที่ราดเมี่ยงเหนียวๆ หวานๆ เค็มๆ ที่เหลือเยอะแยะนั่น แม่จะเอาไปกินเป็นมะม่วงน้ำปลาหวาน ซะด้วยสิ!

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 132 ชูชิลุงจิโร่ : กับ(ดัก)ความซ้ำขั้นเทพ

  8.30 น. -  “ได้แล้ว เนื้อกำลังกิน” แม่ยื่นจานกุ้งแม่น้ำย่างที่แกะเปลือกออกให้กับฉันเอาไปขยำข้าวร้อนๆ กับน้ำปลา-พริก(มีหอมซอยด้วย) ให้เป็นเมนูง่ายๆ ในเช้าวันเสาร์(หลังจากล่อข้าวกับกุ้งย่างน้ำปลาหวานสะเดาซ้ำๆ กันมา 3 – 4 มื้อในตอนเย็น) 2 – 3 วันมาแล้วที่แม่เพียรหาระดับอุณหภูมิและช่วงเวลาของเตาไมโครเวฟ เพื่อจะย่างกุ้งแม่น้ำตัวเขื่องที่ละ 2 ตัวให้ได้ “สุกพอดี” อย่างที่แม่ต้องการ หลังที่เตาปิ้งย่างไฟฟ้าเครื่องใหม่ที่แม่ใช้มัน “ไม่เวิร์ค” ครั้นแม่จะกลับไปก่อเตาไฟ ก็คร้านเกินกว่าวัยอย่างแม่จะทำ   09.18 น.  - เพื่อน ด็อกเตอร์ วันสุข โพสต์ ใน FB   - - Karl  Polanyi พูดถึงการใช้สถาบันทางสังคมมาควบคุมตลาดและกลไกทางเศรษฐกิจ แต่ไม่ได้บอกว่า ต้องเอาชุมชนมาควบคุม ของเราเอา Polanyi มาตัดต่อยีนส์ - - กลไกควบคุมอาจจะเป็นระบบภาคีหลายส่วน หรือองค์กรรูปแบบใหม่ๆ ก็ได้ แต่ของไทยมีแนวโน้มที่จะมองว่า "สิทธิชุมชน" คือสถาบันอันเดียว แถมยังมองสิทธิแบบ essentialist ไม่ใช่วาทกรรมที่สร้างเพื่อต่อรอง และยังหยุดแค่ชุมชน โดยไม่มองการจัดการร่วมระหว่างชุมชนกับส่วนอื่นที่กว้างกว่า  ฉันตอบเพื่อนสั้นๆ ว่าให้ไปฟังเพลง “หมู่บ้านในนิทาน” ของเต๋อ เรวัตร  เพลงฮิตที่เอาไว้ฟังปลอบใจตัวเองเมื่อเกือบ 20 ปีก่อน วันนั้น... ฉันฟังเพลงนี้จากเครื่องเล่นเทปคาสเซ็ต  หลังจากไปนั่งคุยกับเกษตรกรรายหนึ่ง ที่ตัดใจแล้วว่าจะเลิกที่จะทำเกษตรอินทรีย์ ไปทำโต๊ะจีนเป็นอาชีพเสริมรายได้หลัก และยังหาเวลากลับมาดูแลแปลงผักแบบเทคนิคเกษตรลดต้นทุน  ด้วยเหตุผลว่าการทำเกษตรอินทรีย์แม้จะให้ผลดีจริงแต่ก็ต้องลงทุนหนักมากในช่วงแรกในขณะที่ผลตอบแทนช่วงแรกก็ต่ำเกินค่าใช้จ่ายทางการศึกษาลูก และค่ารักษาพยาบาลเมีย  - เขายังบอกอีกว่า ลูกของเขาต้องไปได้ดีกว่าและไม่ต้องมาลำบากเป็นเกษตรกรแบบเขา เกษตรกรหลายคนที่ต้องหลุดไปจากวงการผู้ผลิตอินทรีย์ และก้าวไปสู่วิถีการผลิตแบบกล้าได้กล้าเสีย ล้วนมีเหตุผลที่แตกต่างไป  ฉันก็ตอบตัวเองไม่ได้เหมือนกันว่า “ชุมชนผู้บริโภคในฝัน” จะตอบโจทย์ของพวกเขาเหล่านั้นได้มากแค่ไหน   11.45 น. – น้องชายที่เป็นกุ๊กในโรงแรมแห่งหนึ่งก็โพสต์ลิ้งค์หนัง  “Jiro Dreams of Sushi” หนังสารคดีเชิงอัตชีวประวัติของกุ๊กญี่ปุ่นวัยกว่า 85 ปี ที่มุ่งมั่นฝึกฝนตนอย่างซ้ำซากจำเจจนเชี่ยวชำนาญมาตั้งแต่วัยเด็กจนกระทั่งเปิดร้านซูซิ  มีการันตีโดยยี่ห้อ 3 ดาว จากมิชชิลิน ที่เปิดให้ลูกค้าลิ้มรสจิตวิญญาณเซนของญี่ปุ่นเพียง 7 โต๊ะ ในราคาคอร์สละ 20 ชิ้น ในราคา 30,000 เยน ภาพเคลื่อนไหวของหนังตัวอย่างทำให้กระหายอยากดูหนังเต็มๆ เรื่อง หนังที่เกี่ยวกับวัฒนธรรมอาหารหลายๆ เรื่องที่เคยผ่านโสตประสาทนั้นล้วนอาศัยตากล้องและกลวิธีตัดต่อที่เรียงร้อยภาพให้เราได้เคลิ้มคล้อยและอินไปกับมันได้อย่างหมดจิตหมดใจ  ยังอากัปกิริยาอันคล่องแคล่วชำนาญการครัวของกุ๊กขั้นเทพอีกเล่า  ไหนจะกลเม็ดเคล็ดลับในการปรุงอาหารให้สุดเริ่ดอีก โอวววว...........   แต่  เอ๊ะ! อะไรนะ!  10 ปีเชียวหรือที่บรรดาสานุศิษย์ที่มาสมัครตนเพื่อจะเรียนวิชาซูชิจะต้องทนทำหน้าที่เตรียมวัตถุดิบอย่างเดียวถึง 10 ปีโดยไม่มีค่าจ้าง  แล้วจึงจะได้เริ่มต้นเรียนรู้วิธีย่างไข่ม้วนแบบเทพ! รายละเอียดในขั้นตอนการฝึกฝนซ้ำซากอย่างประณีต  ที่หนังบรรจงสร้างให้ได้ซึมซาบกับศิลปะการทำซูชิในวิถีเซนแห่งญี่ปุ่นกลับเหวี่ยงให้ฉันรู้สึกได้ถึงการปลดปล่อยจากความริษยาบรรดาผู้มีอันจะกิน โดยไม่ต้องนึกอนาถจิตในความน้อยวาสนาของตนอีกต่อไป ซูชิราคาหรูคำละ 500 บาท กับกระบวนการจ้างงานของลุงจิโร่?   หรือว่าบรรดาลูกจ้างในร้านของคุณปู่จิโร่ล้วนแล้วแต่เป็นลูกหลานของคนที่พอจะมีกะตังค์และฐานะมากพอที่เมื่อผ่านการฝึกฝนเคี่ยวกรำซ้ำซากจากขบวนการทำซูชิขั้นเทพของคุณปู่จิโร่ไป 20 ปี ก็จะมีกะตังค์ไปเปิดร้านซูชิศิษย์คุณปู่จิโร่ขั้นเทพสาขา 2 , 3 , 4 กันหว่า??   16.45 น. – ฉันเดินลากขาไปหาอะไรกินรองท้องที่ตลาดสด  หลังจากดูลิ้งค์ข่าว ดาราสาวชาวนาแต่งงานกับแฟนหนุ่มอเมริกันแบบสายฟ้าผ่า ที่เพื่อนด็อกเตอร์ วันสุข ถามฉันว่าเธอจะกลับมาทำนาอินทรีย์อีกหรือไม่  - ฉันไม่รู้  และสลัดเรื่องนี้ทิ้งตอนเดินไปซื้อตีนไก่ตุ๋นร้านยายต้อย ยายต้อย แม่ค้าก๋วยเตี๋ยวเรือน้ำตกที่เปิดขายเป็นประจำมากกว่า 25 ปี มีสูตรเด็ดที่ไม่ยอมบอกใคร   แม้จะคอยเพียรถามสูตรจากยายต้อยแค่ไหนก็ไม่ยอมบอกสูตร  แต่หากชวนยายต้อยคุยจนถูกคอแล้วละกอ เดี๋ยวแกก็แอบๆ แย้มออกมาเอง  แต่ก็ไม่เคยได้ครบสูตรจริงๆ สักที   17.30 น. – เดินแกว่งถุงตุ๋นตีนไก่ มาให้แม่  แกะแล้วเทใส่ชาม  ตีนไก่ 6 ชิ้นกลิ่นหอมเนื้อเปื่อยนิ่มชวนหลงใหลเรียงอยู่ในชามใบย่อมดูน่าเอร็ดอร่อยในราคาเพียง 30 บาท ที่ให้รสชาติอร่อยสม่ำเสมอได้ทุกครั้งได้ตามมาตรฐานแม่ค้าแผงลอยในตลาด แม่เคยตุ๋นตีนไก่หลังจากฉันลองซื้อไปให้แม่ชิมอยู่ครั้งหนึ่ง   และถึงแม้จะมีรสชาติการกินและปรุงที่แปลกต่างไปจากยายต้อย  แต่ฉันก็อดนึกไม่ได้ว่า แม่ต้องชิมและทดลองตุ๋นตีนไก่ยายต้อยไปอีกกี่เที่ยวหนอ  แม่ถึงจะตุ๋นได้รสชาติเทียบเคียงตีนไก่ของยายต้อยที่อร่อยในราคาย่อมเยา

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 131 เมนูกุ้งฝอย : ไข่เจียว กับ กุ้งฝอยคลุกกะปิ

  ตั้งแต่หัวน้ำเริ่มลดลงหลังวันลอยกระทง กุ้งฝอยโผล่โฉมมาให้เห็นแบบยกขบวนมามากหน้าหลายตาอยู่หลายหน ทั้งในตลาดสด ตลาดนัด ทั้งรูปแบบปรุงเป็นอาหารแล้วและแบบสดๆ จะเพราะความคุ้นชินกับฐานทรัพยากรอาหารตัวนี้ที่มีติดตัวมาตั้งแต่จำความได้ ทั้งในแง่เหยื่อของปลาที่วิ่งไปซื้อในตลาดแทนการขุดไส้เดือนดิน – แมงกะชอน   และเหยื่อของคนในรูปตำรับอาหารต่างๆ ก็ไม่รู้ ไม่แน่ใจ ...  แต่จู่ๆ วันหนึ่งพลันนึกถึงว่าตัวเองกำลังกลายเป็นกุ้งซะงั้น  ประเภทกุ้งฝอยน้ำจืดที่คุ้นที่สุดนั่นแหละ อ่านข่าวเร่งพัฒนาแก้มลิงตามโครงการพระราชดำริ กว่า 3,000 แห่ง รับมือภัยน้ำท่วมที่จะมาในอนาคต , อิทธิพลลานิญาปี 55  และ ระบบปลูกข้าวใหม่ 3 รูปแบบ ตามนโยบาย ก.เกษตร ที่ยังดันทุรังผลักดันที่ต่อเนื่องจากปีที่แล้วแม้จะมีชาวนาในจังหวัดอยุธยาเข้าร่วมต่ำกว่าเป้ามโหฬาร และยิ่งมีตัวเลขต่ำลงอีกเมื่อนับพื้นที่นาที่ชาวนาทำจริงตามโครงการ แล้วอดไปได้ที่จะขับรถออกไปดูเวิ้งน้ำที่ยังเนืองนองในทุ่งต่างๆ รอบตัวอำเภอ ทำให้ฉันครุ่นคิดไปเองอีกแล้วว่า มันจะลดลงทันต้นมกราคมปีหน้าแล้วชาวนาเริ่มไถหว่านกันตั้งแต่ต้นปีอย่างที่รายงานข่าวสั้นในวิทยุประกาศนโยบายของกรมชลประทานไหม? ไม่รู้ว่าข้อมูลข่าวที่ไหลอวลอยู่ในหัว หรือยาที่ฉันเพิ่งอัพเข้าไปก่อนขับรถมาถึงทุ่งลาดชะโด ออกฤทธิ์  ฉันจอดรถแล้วลง เดินเซแถดๆ ไปที่ริมถนน 4เลนส์เส้นใหญ่ที่ใครๆ ก็ต้องบอกขอบคุณบรรหารที่สร้างและยกมันขึ้นสูงอีก 1.5 เมตร หลังน้ำท่วมใหญ่ปี 2549  เพราะมันเป็นเส้นทางเดียวที่คนในตลาดผักไห่ใช้เดินทางไปสุพรรณ และที่ใกล้เคียงที่น้ำยังไม่ท่วมได้  แต่นโยบายกระทรวงเกษตรนี่ทำเอาฉันอยากเปลี่ยนคนบริหารจัง รวงข้าวฟางลอยที่เพิ่งหว่านเมื่อพฤษภาคมเพิ่งอยู่ในช่วงน้ำนม ไม่รู้ว่าปีนี้ผลผลิตจะเป็นอย่างไร จะแย่กว่าปีที่แล้วที่ได้แค่ 2 ขีด/ไร่ ไหม?  และหากน้ำไม่ลดลงจนแห้งกลางเดือนมกราคม ชาวนาที่นี่คงได้เกี่ยวข้าวกลางน้ำกันอีกรอบหรือเปล่า?  ข่าวเรื่องน้ำท่วม โครงการแก้มลิง  ลานิญา ปัญหา กส.ยึดเงินชาวนาลูกหนี้ในโครงการจำนำข้าว และชาวนาสุพรรณกับชาวนาอยุธยาจะปิดถนนประท้วงเรื่องเงินชดเชยน้ำท่วมเมื่อวานนี้ที่ ถนนสาย 340 ช่วง อ.สาลี จะมีอิทธิพลต่อแผนการขยายพื้นที่นาปรังปี 55 อีกกว่า 100 ไร่ ในทุ่งแห่งนี้ที่ฉันรับรู้มาเมื่อช่วงตอนน้ำขึ้นขั้นพีคหรือเปล่าหนอ? ดงดอกผักบุ้งที่อยู่ในช่วงอุ้มลูกอุ้มดอกบานล้อลมแข่งกับดอกพงพลิ้วสวยไม่มีคำตอบให้ แต่แดดแรงๆ และลมเย็นกรรโชกทำให้ฉันเย็นใจ ผักบุ้งรอดมาช่วงฤดูกาลการจ้างฉีดพ่นยาฆ่าหญ้าในเดือนสิงหาคมมาได้ฉันใด ชีวิตคนปลูกข้าวก็คงอยู่ในครรลองเดียวกันกับเหล่าสิ่งชีวิตในทุ่งแห่งนี้ฉันนั้น อา... หรือว่ายาที่อัพมาเมื่อกี้มันหมดฤทธิ์อีกแล้ว ฉันถึงกลับมานึกว่าตัวเองเป็นกุ้งฝอยอีกครั้งเมื่อนึกว่าต้องกลับมาปั่นต้นฉบับ กุ้งฝอยสด 2 ขีด 25 บาท ถูกใส่กระชอนล้างน้ำที่ไหลจากก๊อกอย่างเหม่อๆ  แม้เลยกำหนดส่งต้นฉบับไป 1 วัน ฉันยังเย็นใจได้กับการนั่งตัดกรีกุ้ง และเฉือนเอาส่วนขี้ที่อยู่ในหัวออกไปทีละตัว ทีละตัว จนครบทุกตัวแล้วจับใส่กระชอนล้างน้ำอีกรอบ ตอกไข่ 2 ใบใส่ชาม ฝานมะนาว 1 ซีกลงชามนั้น จนสะดุ้งเฮือก ... มือที่พลาดไปถูกไอกรดกำจัดเชื้อราหลังทำความสะอาดบ้านที่บางบัวทองเมื่อสัปดาห์ที่แล้วทำเอาฉันตื่นขึ้นมาอีกครั้งจากฤทธิ์ยาที่เพิ่งอัพเข้าไปใหม่ ฉันพยายามตื่นฝืนฤทธิ์ยา  ตั้งใจตีไข่ในชาม  แล้ว ใส่หอมแดงซอย กุ้งฝอย 2 – 3 ช้อน และน้ำปลา  แล้วตั้งกระทะใส่น้ำมัน เจียวไข่ กุ้งฝอยหัวขาดที่เหลือ 3 ใน 5 ส่วน จากที่เตรียมไว้ เอามาผัดกับเครื่องปรุง คล้ายๆ กับเมนูที่คนใต้ใช้ผัดสะตอกับน้ำพริกก้นถ้วย แต่หลายวันมานี่ฉันกินแต่น้ำพริกแมงดากับปลาช่อนย่าง เลยต้องเตรียม กระเทียมบุบ-สับ 1 หัว พริกขี้หนูสวนบุบ 4- 5 เม็ด  กะปิดี 1 ช้อนชาละลายน้ำและใส่น้ำตาลทรายสัก 1 ช้อนชา ใบมะกรูด 2 ใบ หั่นเส้น  ถั่วพู 2 ฝัก   และมะนาวอีก 2 ชิ้นที่เหลือจากเจียวไข่ ตั้งกระทะ ใส่น้ำมันจนน้ำมันร้อน ใส่กระเทียมบุบลงไปผัดจนเหลืองหอม ใส่กุ้งฝอยหัวขาดผัดจนแดงระเรื่อแล้วใส่น้ำละลายกะปิกับน้ำตาลทราย  ผัดต่ออีกนิดจะยกลงใส่ถั่วพูหั่นแฉลบและพริกขี้หนูบุบ  ปิดเตา ตักใส่จาน ... ว้า! น้ำแห้งไปหน่อย มีแต่เนื้อๆ ถ่ายรูปจัดฉาก ชิม และเตรียมส่งงาน  แต่ไม่วายแว้บ... ดู FB อีกที เม้นท์ตอบ พรรคเพื่อนในแคมเปญฝ่ามืออากง...  ฮากับการไล่ไปอยู่ตปท.ของท่านแม่ทัพ  ฯ นาทีนี้ฉันก็นึกว่าตัวเองย้ายไปอยู่ที่เกาหลีเหนือเป็นวูบๆ ตามแรงของยาที่อัพเข้าไป ... มั้ง   ...เพลินกะจะโม้ถึงรสอร่อยที่เพิ่งกินให้เพื่อนฟัง ใบหน้าใจดีของหัวหน้ากองบก.ฉลาดซื้อก็ลอยเข้าไปได้ก็รีบละมาก่อน เฮ่อ!... นี่ฉันจะต้องผวานึกว่าเป็นกุ้งที่กินไปเมื่อกี้อีกกี่ครั้ง กว่าจะหมดฤทธิ์ยา  สวัสดีปี2555

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 130 กินกลางน้ำ

  ปัญหาที่ชาวบ้านไปพังคลองสามวา และรื้อบิ๊กแบ๊กที่ดอนเมืองที่ถูกโหมประโคม มาก่อนหน้านี้ไม่นาน  ข่าวดีเริ่มมีให้ได้ยินอย่างการรวมตัวทำความสะอาดเกาะเมืองอโยธยา เขตพื้นที่ชั้นในกรุงเทพน้ำเริ่มลดลงและมีพื้นที่แห้งเพิ่มมากขึ้น  แต่น้ำที่เอ่อท่วมของชาวบ้านริมแม่น้ำน้อย อยุธยาที่ท่วมมาตั้งแต่ปลายกรกฎาคม ก็อยู่ในสภาพที่ ค่อยๆ ลดลงอย่างช้าๆ  เพราะประตูปิดน้ำที่ อ.บางไทร ยังกั้นไม่ให้น้ำในแม่น้ำน้อยไหลลงตามแรงโน้มถ่วงไปรวมกับแม่น้ำเจ้าพระยา  น้ำที่ปทุมธานี และนนทบุรีจึงยังคงระดับท่วมขังไม่ต่ำกว่าเดิมไปสักเท่าไหร่ เพื่อนพ้องที่อยู่ในพื้นที่เหนือบิ๊กแบ๊กขึ้นไปหลายคนรำพึงว่า   สื่อทำราวกับว่า  กรุงเทพมหานครชั้นใน คือประเทศไทย   แต่จะว่าไปแล้ว บ้านฉันที่นนท์นั่นก็เป็น 1 ในกลุ่มหมู่บ้านจัดสรรที่สร้างขวางแนวระบายน้ำที่ไหลบ่ามาจากนครสวรรค์ ชัยนาท ลพบุรี อ่างทอง อยุธยา และปทุมธานีอยู่เหมือนกัน กลุ่มนายพรานน้ำจืดดูจะทุกข์น้อยกว่าใครในช่วงนี้  พื้นที่แถวสะพานและประตูกั้นน้ำตามแนวถนนคันกั้นน้ำหลายแห่ง  กลายเป็นแหล่งชุมนุมของพวกเขา  นักล่าต่างรุ่นที่มีตั้งแต่มืออาชีพ มือสมัครเล่น และมือใหม่หัดตวัด(เบ็ด)   สำหรับบางคนมันเป็นการใช้เวลายามว่างแก้เครียดเมื่อน้ำมา  แต่กับอีกหลายคนมันเป็นรายได้ชดเชยหลังจากน้ำนำความเสียหายมาสู่ ข้าวเปลือกที่เร่งเกี่ยวก่อนน้ำท่วมเมื่อต้นกันยายนปีนี้มีราคาดีกว่าปีที่แล้ว  โดยปัจจัยดึงดูดจากนโยบายจำนำข้าวของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ที่ดึงราคาข้าวที่เปียกน้ำขายกันได้ในราคา 6,400 – 8,300 บาท/ตัน ในขณะที่ปีที่แล้วโครงสร้างการช่วยเหลือชาวนาในระบบประกันรายได้ชาวนาทำให้ราคาข้าวที่ชาวนาขายถูกกดลงไม่มีราคา   แต่การประกาศเริ่มโครงการจำนำข้าวเมื่อ 7 ตุลาคม 54 – 29  กุมภาพันธ์ 2555 ก็ทำให้ชาวนาปรังที่เกี่ยวก่อนโครงการฯ เสียประโยชน์ไป แม้รัฐจะประกาศยอมจ่ายค่าชดเชยให้ชาวนาในช่วงระหว่างรอยต่อโครงการเก่ากับโครงการใหม่ รายได้จากการขายข้าวก็ยังไม่ถึงตันละ 11,000 บาท อย่างที่พวกเขาหวัง นั่นทำให้ชาวนาเครียดไม่น้อยอยู่แล้ว  ยังมาโดนข้อกล่าวหาอีกว่าชาวนาเป็นสาเหตุให้กรมชลเก็บกักน้ำไว้ให้พวกเขาเกี่ยวข้าวจนปัญหาน้ำท่วมบานปลาย    โดยที่สังคมส่วนใหญ่ไม่เคยมารับรู้ว่า ตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมา ชาวนาบางพื้นที่ต้องตั้งเครื่องวิดน้ำออกจากนาไปกันกี่เที่ยว ไม่ว่าจะเป็นช่วงหว่านข้าวเริ่มปลูกหรือช่วงเก็บเกี่ยว พอเห็นเมฆตั้งเค้ามืดทะมึนนั่น ก็อกสั่นเพราะมันเป็นการส่งสัญญาณความเสียหายที่จะเกิดขึ้นแล้วในแปลงนา   ในขณะที่ชาวนาบางพื้นที่ก็ไม่มีน้ำทำนาและถูกกรมชลประทานประวิงเวลาให้ปลูกข้าวช้าไปกว่าเดิมเพราะภัยแล้ง และควบคุมให้ปลูกต่อเนื่องเพื่อป้องกันปัญหาเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลจนต้องมาเกี่ยวข้าวกลางน้ำกันอีก โดนกล่าวหากันแบบนี้  ทำให้ชาวนาหลายคนอดคิดไม่ได้ว่า   น้ำท่วม ภัยแล้ง เพลี้ยกระโดดแพร่ระบาด จึงเป็นปัญหาเฉพาะของคนทำนา ไม่ใช่ปัญหาของคนกินข้าว เพื่อนสาวชาวนาถอนใจบอกให้ฉันปล่อยแพะให้ลอยไปกับสายน้ำ แล้วโชว์ปลาไหลตัวเขื่อง พร้อมคุยโอ่ว่าจะทำเมนูผัดเผ็ดจากปลาไหลให้ฉันกินแก้เครียด  เพราะว่าปลาไหลช่วงนี้เนื้อดีไม่มีกลิ่นโคลนคาว เธอเกี่ยวเบ็ดที่ปากปลาไหล ผูกสายเบ็ดไว้กับเสาแล้วเอาใบข่อย หยาบๆ สากๆ รูดลำตัวตลอดหัวจรดหางกำจัดเมือกลื่นๆ นั่นอยู่หลายเที่ยว  แล้วจึงเอาเกลือป่นโรยขยำล้างน้ำออกอีกหลายรอบเพื่อให้หมดเมือก จากนั้นจึงผ่าท้องควักไส้ แล้วหั่นเป็นท่อนๆ  แล้วเอาไปล้างเลือดออก   ฉันเห็นเลยนึกเตลิดไกล หรือจะเปลี่ยน รมต. กระทรวงเกษตรเสียใหม่  ก็พรรคชาติไทยพัฒนาดูแลกระทรวงนี้ต่อเนื่องมาตั้งหลายปีหลายสมัย เธอจับกระทะตั้งไฟ ใส่น้ำมัน แล้วเอาพริกแกงเผ็ดลงผัดจนกลิ่นเครื่องแกงหอมฉุนลอยเตะจมูก  แล้วจึงเอาปลาไหลหั่นท่อนใส่ลงไปคลุกๆ  เติมน้ำนิดหน่อยพอขลุกขลิก แล้วเร่งไฟ เสียงเครื่องแกงในกระทะดังคลั่กๆ แทรกสลับกับเสียง ฉ่าๆ กลิ่นน้ำปลาปนกับเครื่องแกงลอยฟุ้ง ตัดรสด้วยน้ำตาลทราย 1 ช้อน แล้วเธอก็จับสารพัดผักเครื่องแกงที่เตรียมไว้ใส่ลงไป ทั้งกระชายซอยเส้น ใบมะกรูด  พริกชี้ฟ้า ใบกะเพรา จะขาดก็แต่เม็ดพริกไทยสดเท่านั้น  เธอว่าผักสำคัญที่ขาดไปแล้วทำให้ผัดเผ็ดปลาไหลเสียรสก็คือลูกมะเขือขื่นสีเหลืองๆ ขูดขนออกแล้วซอยบางๆ กับมะระขี้นก ซึ่งจะใช้ยอดหรือลูกก็ได้เช่นกัน กำจัดข้าวร้อนๆ กับปลาไหลผัดเผ็ดจานเด็ดไปอย่างรวดเร็วว่องไว  เธอก็พาฉันไปปั้นก้อน EM Ball โดยไม่ปล่อยให้ข้าวในท้องเรียงเม็ด สูตรที่ปั้นกันนี้ของมูลนิธิข้าวขวัญ  เธอโอ่ว่าเคยประสบความสำเร็จมาแล้วในการย่อยสลายฟางในนาและน้ำในโรงงานใหญ่มากแห่งหนึ่งมาเกือบ 10 ปี  มีการันตีล่าสุดจากผลที่นำไปใช้ที่ ม.ธรรมศาสตร์รังสิต EM ball  ที่ตอนหลังมีนักเขียนเข้าชิงรางวัลซีไรต์นิยามความหมายเสียใหม่ในโพสต์บน FB ว่าเป็น Emotional Ball หลังการโต้เถียงกันถึงประสิทธิภาพของกลุ่มจุลินทรีย์ที่ใช้ในการกำจัด-บำบัดน้ำเสีย  จนทำให้ฉันนั่งนึกต่อไปได้อีกว่า  น้ำเสียและอารมณ์เสียจากน้ำท่วมใหญ่ปีนี้จนมีน้ำเน่าขัง ก็ยังมี EM Ball ช่วยกันได้  แต่น้ำเอย...น้ำใจที่ขาดหายไปในช่วงน้ำท่วมแบบนี้นี่สิ  ที่ทำให้เราคงต้องหันมาคิดค้นผลิตภัณฑ์ใหม่มากไปกว่าเรียกร้องความรักสามัคคีแบบไทยๆ ผ่านเมโลดี้และวลีคมคาย   เพราะหากปล่อยให้ทุกข์ของการจัดการน้ำในอดีตที่มีปัญหาหมักหมมและสั่งสมมานานยังดำเนินต่อไป  เราคงได้เห็นคนไทยทะเลาะกันมากขึ้นอีกในน้ำท่วมเที่ยวหน้าแน่ๆ เชียว

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 129 ลาบปลากราย

  ตอนที่กำลังปั่นต้นฉบับส่ง บ.ก. นี้ เป็นช่วงที่หลายคนยังเกาะติดสถานการณ์วิกฤติน้ำท่วมเกาะเมืองอโยธยา และเขตอุตสาหกรรมโรจนะซึ่งจมน้ำไปเรียบร้อยแล้ว     โดยที่ก่อนหน้านั้นชาวบ้านและชาวนาแถบบ้านฉันมีการปะทะกันเล็กๆ อย่างที่รายงานไปแบบรวบรัดในฉบับที่แล้ว ย้อนกลับไปพื้นที่วิจัยในทุ่งลาดชะโดเมื่อสัปดาห์ก่อน ฉันขับรถเข้าไปหาคำตอบจาก  "สารเร่งเหลือง" ที่ชาวนานิยมใช้ฉีดข้าวเพื่อเร่งให้ข้าวเกี่ยวทันน้ำหลังชาวบ้านริมน้ำประท้วงให้เปิดประตูระบายน้ำลงทุ่งอีกที  คราวนี้แน่ใจได้ว่าสารเร่งเหลือง "ซู่ซ่า" นั้นเป็นเพียงปุ๋ยน้ำชนิดหนึ่ง ไม่ใช่ยาฆ่าหญ้า ข้างกล่องผลิตภัณฑ์ที่มียอดจำหน่ายพุ่งขึ้นสูงในช่วงนั้น ระบุสั้นๆ แค่สรรพคุณ และวิธีใช้ ไม่บอกรายละเอียดอะไรเกี่ยวกับองค์ประกอบทางเคมีของผลิตภัณฑ์ มีเพียงคำสั้นๆ ที่รู้กันทางเทคนิค ว่าเป็น "คีเลท" ซึ่งหมายถึง ปุ๋ยอาหารเสริมหรือปุ๋ยจุลธาตุ  ที่อยู่ในรูปสารละลาย มักใช้ทางใบ ส่วนใหญ่จึงใช้ร่วมกับสารจับใบ  ซึ่งหากจะหวังผลในการใช้ให้เกิดประสิทธิภาพ ก็ควรใช้ในช่วงข้าวตั้งท้อง ตอนอายุ 40 - 60 วัน หรือช่วงติดรวง คือ  60 - 80 วัน  ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมชาวนาที่นำผลิตภัณฑ์นี้มาใช้ช่วงก่อนเกี่ยวข้าวตามคำแนะนำของร้านค้าจึงใช้ไม่ได้ผล การตัดสินใจของชาวนาเพื่อรับมือกับความเสี่ยงภัยน้ำท่วมท่ามกลางแรงกดดันโดยวิธีการแบบนี้  คนนอกที่มองดูด่วนตัดสินได้ง่ายๆ ว่าพวกเขาขาดความรู้ โลภ และโง่ ซึ่งเป็นคำคุ้นๆ ที่มักได้ยินจากเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรทั้งจากหน่วยงานรัฐและนักพัฒนา  แต่ก่อนที่จะกล่าวว่าเช่นนั้น น่าจะย้อนกลับมามองดูว่า ผู้กล่าวหานั้นไฉนจึงมีช่องว่างที่ห่างไกล จนชาวนาเหล่านั้นเลือกที่จะไปปรึกษาร้านค้าตัวแทนผู้จำหน่ายผลิตภัณฑ์แทนตนเอง การคาดหวังจะให้ชาวนามีระบบการผลิตข้าวที่ดีโดยการมุ่งเน้นที่ การเรียกร้อง "จิตสำนึก" และค่านิยม "พอเพียง" ของผู้ผลิตฝ่ายเดียว นั้นเป็นเพียงแค่คำหรูที่หลงสร้างขึ้นมาเพื่อขีดเส้นแบ่งและกดทับชาวนาที่ยังเข้าไม่ถึงการทำนาอินทรีย์   ระบบการทำนาอินทรีย์ที่ไม่อาจเปลี่ยนแปลงได้ง่ายและไวผ่านกระบวนการใช้สื่อสารพัดชนิด อย่างที่ผู้บริโภคแบบเราๆ ฝันและหวังกัน  ตราบเท่าที่ผู้ผลิตต้องแบกภาระเผชิญความเสี่ยงตั้งแต่เริ่มทำการไถหว่านยันเก็บเกี่ยวผู้เพียงฝ่ายเดียว    โดยที่พวกเขาไร้อำนาจต่อรองด้านราคาปัจจัยการผลิตและการขายผลผลิต แม้ข้าวนาปรังจะเกี่ยวขายกันไปแล้ว ท่ามกลางเสี่ยงก่นด่าชาวนาของชาวบ้านน้ำท่วมริมคลอง  ก่อนที่รัฐบาลจะยอมจ่ายเงินช่วยเหลือระหว่างรอยต่อโครงการจำนำข้าวและโครงการประกันรายได้ชาวนาหลังการชุมนุมกดดันของกลุ่มชาวนา 2 - 3 ครั้ง   ยังดีที่กระแสจำนำข้าวมาตั้งแต่ยังไม่ทราบผลเลือกตั้ง ได้ดึงราคาข้าวขึ้นสูงอย่างต่อเนื่องเมื่อเทียบจากช่วงเวลาเดียวกันนี้เมื่อปีที่แล้ว ทำให้การจ่ายค่าชดเชยของรัฐ เพียง 1,437 บาท/ตัน (ต่ำกว่าเกือบครึ่งจากที่รัฐจ่ายในโครงการประกันฯ) ซึ่งทำให้ชาวนาพอใจขึ้นมาบ้าง นาในทุ่งยังเหลือข้าวฟางลอยไว้ให้ชาวนาลุ้นกันอีกว่าจะได้เกี่ยวเข้าโครงการจำนำข้าวหรือเปล่า?  เพราะข้าวฟางลอยที่เหลือปลูกอยู่ มีเพียงแค่ 3 สายพันธุ์ที่แม้จะโตทันน้ำลึกถึง 2 เมตรกว่าได้ แต่ข้าวนั้นไม่ทนเพลี้ยกระโดดเสียแล้ว ปีที่แล้วน้ำท่วมชาวนาบางคนทำนา 10 ไร่ ได้ข้าวแค่เพียง 1 ถัง  ปีนี้น้ำมากกว่าและท่วมสูงวันละ 3 ซม. ชาวนาก็ห่วงอีกว่าข้าวเอาแต่ยืดตัวจะไม่มีแรงเหลือไว้ตั้งท้องและออกรวง!! ขณะที่ทางเข้าออกจากตัว อ.ผักไห่ เส้นเสนาเพิ่งปิดตัวลงเมื่อเช้านี้  ส่วนเส้นบางบาลถูกปิดไปเกือบเดือนหนึ่งแล้วกระมัง  เหลือเส้นทางสะดวกสายเดียวคือต้องอ้อมผ่านทางสุพรรณบุรี   แต่ฉันยังหาเส้นทางที่จะนำพาความเข้าใจในภาระและความคาดหวังร่วมกันระหว่างชนชั้นชาวนาเคมีและชาวนาอินทรีย์ที่ต้องฝ่าด่านแรงกดดันจากโครงสร้างตลาดที่กดพวกเขาไว้ทั้งหมดไว้ไม่เจอ ฉันเศร้าจนต่อมรับอาหารไม่ทำงาน   เดือดร้อนเพื่อนสาวชาวนาที่สุพรรณต้องอาสาตัวว่าจะไปจ่ายตลาดนัดทำลาบปลาสูตรที่ 3 ตามตำรับของครอบครัวชาวกำแพงเพชรให้กิน เครื่องปรุง ปลากรายขูด 2 ขีด , ปลาร้าปลากระดี่ 1 ช้อน  , หอมแดงซอย , ใบมะกรูด  ต้นหอม ผักชีซอย , ข้าวคั่วป่น   และ พริกขี้หนูคั่วป่น วิธีทำ ตวงน้ำสัก 1 ถ้วยในหม้อ ต้มปลาร้าปลากระดี่จนสุกแล้วดับไฟ  กรองเอาแต่น้ำปลาร้า คนให้เย็น  จากนั้นใส่ปลากรายขูดลงในชามอ่าง ค่อยๆ ใส่น้ำปลาร้าสุกที่เย็นแล้วที่ละน้อยลงในชาม  คนน้ำปลาร้ากับเนื้อปลาให้เข้ากัน  ขั้นตอนนี้ค่อนข้างพิถีพิถัน  เธอให้สังเกตดูว่าเนื้อปลากรายขูดจะใสขึ้น และพองตัวเป็นลูกเหนียว  แล้วจึงเติมเครื่องปรุงที่เหลือลงไป  เคล้าให้เข้ากัน ตั้งไฟรวนให้สุก หรือถ้าใจเย็นพอให้ห่อใบตองเอาไปงบไฟให้สุกหอม แล้วเสิร์ฟคู่กับเพกาหรือลิ้นฟ้าที่ย่างไฟลอกเปลือกออก หั่นเป็นท่อนๆ  ถ้าหาเพกาไม่ได้ ก็ยอดปีบนั่น เอามาฟาดไฟบนเตาถ่าน 2 - 3 ที  เป็นอันอร่อยขมขื่นกันอีกมื้อ

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 128 ลาภปาก ลาบปลา

  นี่ถ้าบ้านฉันน้ำท่วม เมนูตอนนี้ที่นึกได้ คงจะเป็นเมนูต้นฉบับเป็นอาหารดัดแปลงจากมาม่า และปลากระป๋องแน่ๆ เดชะบุญที่บ้านที่ฉันกับแม่มาอาศัยเขาอยู่ เป็นที่ดอนกว่าใครในตลาด มิฉะนั้นแล้วฉันคงไม่วายต้องเดินลุยน้ำย่ำโคลน เจออีกสารพัดปัญหาจากน้ำท่วมบ้านอย่างกับอีกหลายคนในตลาดผักไห่  ปีนี้ข่าวน้ำท่วมที่นี่ดูจะหนักหนากว่าปีที่แล้วและมีข่าวดังออกมาปรากฏอย่างแพร่หลายทั้งสื่อทีวี หนังสือพิมพ์ ไล่เรียงมาตั้งแต่ข่าวชาวบ้านริมน้ำทะเลาะกับชาวนา เพื่อให้เปิดประตูน้ำระบายหลังจากน้ำท่วม ข่าวนี้ดังอยู่ 3 วันติดต่อกันโดยเริ่มตั้งแต่วันแรกของเดือนกันยายนที่ผ่านมา  วันแรก ชาวนาลาดชะโด 100 คน พากันมาต้านกำลังกลุ่มชาวบ้านริมน้ำใน อ.ผักไห่หลายตำบลรวมกันราว 300 คน ซึ่งกลุ่มหลังนี่ต้องการให้ชลประทานเปิดประตูน้ำให้น้ำที่ท่วมบ้านเรือนริมคลองแม่น้ำน้อยได้ผ่อนระดับลงหลังจากน้ำท่วมมากว่า 2 สัปดาห์ ส่วนฝ่ายแรกขอประวิงเวลาเพราะว่าข้าวยังเขียวไม่ได้อายุเกี่ยว แม้การเจรจาวันแรกจะมีการโต้คารมกันอย่างดุเดือด นานกว่า 2 ชั่วโมง สุดท้ายก็ตกลงกันได้ที่จะเปิดประตูน้ำระบายลงนาในระดับที่ชาวนายังไม่ได้รับผลกระทบเสียหาย  หลังจากเจรจาวันแรกผ่านไป ชาวนาหลายคนที่ใกล้เกี่ยวข้าวตัดสินใจเกี่ยวข้าวเขียวไปก่อนเพราะกลัวน้ำมา อย่างกรณีของ สมยศ เขายอมเกี่ยวข้าว 8 ไร่ที่ยังเขียวในคืนวันนั้นและขายได้เพียงตันละ 6,500 บาท ถูกกว่าที่ควรจะได้ในราคา 9,300 – 10,000 บ. หากข้าวเหลืองตามกำหนดเดิม ซึ่งต้องรออีกราว 1 สัปดาห์ หรือในกรณีหญิงอีกรายที่นา 15 ไร่ กำหนดเกี่ยว 8 กันยายน แต่เมื่อข้อตกลงจะปล่อยน้ำเข้ามาเป็นอย่างนั้น เธอตัดสินใจคว้าสารเคมีที่โฆษณาว่าเป็น “สารเร่งเหลือง” มาใช้ร่วมกับยาจับใบในวันรุ่งขึ้น ที่ฟ้าครึ้มทะมึน เพื่อที่เธอจะสามารถได้เกี่ยวข้าวได้ไวขึ้นภายใน 3 วัน เธอต้องลงทุนเพิ่มอีกทั้งค่ายาราว 1,000 บาท กับค่าจ้างฉีดในอัตราไร่ละ 50 บาท ของเธอ ไม่อย่างนั้นแล้วทุนและแรงที่ลงไปก่อนหน้านี้คงจะล่มจมและละลายไปกับน้ำ   พอดีกว่า ชีวิตชาวนาธรรมดาๆ รันทด ดราม่า มีให้เรารับรู้มาเยอะแล้ว พอๆ กับเหตุน้ำท่วมซ้ำซากรอบกรุงเทพฯ และถึงแม้ฉันจะอยากให้พวกเขาชาวนามีชีวิตที่ดีกว่านี้ แต่ฉันก็รับรู้เงื่อนไขในการเปลี่ยนแปลงไปสู่การทำนาอินทรีย์ดีว่ามันไม่ใช่เรื่องง่ายๆ แค่ความคิดอยากจะเปลี่ยนอย่างเดียวมันยังทำอะไรไม่ได้ เพราะใครๆ ก็รู้ว่าระบบทุนมีอิทธิพลมากมายแค่ไหนในการลงแรงลงใจไปกับการปฏิวัติรูปแบบการทำนา ในขณะที่ช่องทางการค้าข้าวของชาวนากลุ่มที่ไม่เป็นที่รู้จักและเดินได้อย่างเชิดหน้าชูตาในตลาดกรีนของพวกเขาก็มีเพียงจุดประเล็กๆ ไม่ได้เป็นเส้นกว้างทางโล่งอย่างชาวนาเซเลบหรือชาวนาอินทรีย์ดั้งเดิมที่ทำกันมาก่อนหน้านี้จนเป็นที่รู้จัก  เอาเถอะ จะเขียนลาบปลา ไม่ใช่ว่าจะมาลาบเลือดสักหน่อย  เพื่อนเลิฟชาวนาของฉัน เธอทำนาต้นทุนต่ำเพราะขี้เกียจแข่งกับตลาดกรีนและมีปัญหาในการหาแรงงานในการจัดการหญ้าได้ยากเสมอ ดูเธอจะปล่อยวางเรื่องนี้ได้มากกว่าฉันที่เป็นเพียงผู้เฝ้าสังเกตชาวนาเสียอีก เธอเป็นคนแนะนำเมนูลาบปลานี้ให้ มี 2 แบบ แบบที่ 1 เป็นลาบปลาช่อน ใช้ปลาช่อนแร่เอาแต่เนื้อ เลาะก้าง กระดูกออก แล้วทอดให้กรอบ พักไว้ จากนั้นเตรียมเครื่องปรุงลาบ เครื่องลาบมีพริกขี้หนูคั่วป่น ข้าวคั่วป่น มะนาว น้ำปลา ซอยหอมแดง ผักชีใบยาว ใบมะกรูด และที่ขาดไม่ได้คือต้นตะไคร้ซอย เธอยังบอกอีกว่า ถ้าเปลี่ยนน้ำปลาเป็นน้ำปลาร้าต้มก็จะให้รสอร่อยแบบนัวได้อย่างตรงใจเธอมากกว่าโดยไม่ต้องพึ่งพาผงชูรส ตอนจะกินเอาปลาช่อนทอดแล้วเรียงให้เหมาะใจในจานใบสวยแล้วปรุงเครื่องราด เท่านี้ก็พร้อมกินอร่อยได้แล้ว เลือกเอากันเองละกันนะคะว่าจะใช้แบบที่ 1.1 ที่ปรุงรสเค็มด้วยน้ำปลา หรือจะเลือกแบบ 1.2 ที่ใช้น้ำต้มปลาร้านัวๆ ตามสไตล์ใครสไตล์มัน แบบที่ 2 ลาบปลาดุก ฉันรีเควสท์สูตร ที่กินบ่อยๆ ในร้านส้มตำ เธอว่า เครื่องปรุงลาบก็มี พริกขี้หนูคั่วป่น น้ำปลาร้า ซอยผักชีใบยาว และต้นหอม ส่วนหอมแดงที่เมนูเมื่อกี้ใช้สด แต่แบบที่ 2 นี้ต้องเอาไปเผา เผาไฟอ่อนพร้อมๆ กันกับข่าและพริกขี้หนูแห้ง วิธีปรุง ใส่หอมเผา 3 – 4 หัว ลงครก หั่นข่าเผาเป็นแว่นสัก 3 – 4 แว่นลงไปตำคู่กันพอแหลก แล้วแกะเอาแต่เนื้อปลาดุกย่างตัวเขื่องใส่ลงไป ตำคลุกเคล้าให้เข้ากัน ปรุงรสด้วย พริกขี้หนูคั่วป่น มะนาว น้ำปลาร้า ใส่ผักชีใบยาวและต้นหอมซอย บอกเคล็ดอร่อยอีกนิดก่อนที่ฉันจะไปกินลาบสูตรของเพื่อนชาวนา เธอว่าปลาร้ากระดี่ที่ซื้อมา เทใส่หม้อเล็กๆ แล้วเจือน้ำตั้งไฟต้ม ก่อนต้มตำใบหม่อนใส่ลงไปสัก 2 – 3 ใบ ต้มไว้สัก 5 นาที คราวนี้ก็มีน้ำสต็อกแบบลาวๆ ไว้ปรุงรสอร่อยสมใจแล้วล่ะคะคุณขา

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 127 กินแก้วิกฤติหอย

วิกฤติหอย!สาวปูโพสต์บนกระดาน FB อย่างกลุ้มอกกลุ้มใจ ใครอยู่ใกล้ชายทะเลแถวอ่าวไทย คงจะนึกไปถึงหอยแถวหัวหิน เพชรบุรี ประจวบ แหล่งท่องเที่ยวใกล้กรุงเทพแหล่งสำคัญที่ผู้คนบางกลุ่มเลือกเป็นแหล่งสันทนาการหลากกิจกรรม และมีอะไรให้ทำเยอะแยะมากกว่าการนั่งดูหอย แหล่งท่องเที่ยวสำคัญจนมีใครบางคนเสนอแผนทำถนนลัดอ่าวไทย เพื่อความสะดวก รวดเร็วและหวังผลในการเที่ยวและเศรษฐกิจการค้า จนลืมนึกไปว่าคนที่หากินกับท้องทะเลไทยรอบอ่าวนั้นเขาคิดกันยังไง   ขยายความต่อไปอีกหน่อยว่า  “หอย” ที่สร้างความกังวลใจให้กับ ปู 2 ขา นั้นเป็นหอยต่างถิ่นที่อยู่ในนาอินทรีย์ที่พื้นที่นาทามริมมูล จ.อุบลราชธานี  “มันร้ายมากเลยนะคะ ทำลายและกินทุกอย่าง สามารถมีชีวิตรอดและกินต้นข้าวได้ทั้งหมด ดำไว้ตอนกลางวัน ตื่นเช้ามาอีกวัน ข้าวหายทั้งแปลง มันน่าเจ็บใจนะคะ อีกอย่าง เมื่อมันไปผสมพันธุ์กับหอยบ้านเรา ลูกที่ออกมากลายเป็นหอยเชอรี่หมด”    น้องปูแจ้งเหตุวิกฤติหอยต่างถิ่นที่เข้ามารุกรานในกระดาน FB อย่างตื่นตระหนก   ฉัน – ประสาพี่ ได้แต่ปลอบโยนน้องไปว่า จะเดียดฉันท์หอยนั้นว่าต่างถิ่นไปใย   แม้มันจะอพยพมาจากแดนไกลแต่มันก็หาได้ตั้งใจจะมาตั้งรกรากในแหล่งน้ำห้วยหนองคลองนาไม่ กลับเป็นหอยจำยอมจำทนจากสิ่งที่คนกระทำด้วยความรู้ไม่เท่าทันคนนั้นต่างหาก ที่ปล่อยให้หอยต้องระหกระเหินสะเทินน้ำสะเทินบกไร้คนเลี้ยงดูอย่างแต่ก่อนที่เคยอยู่ในตู้กระจก  ชะรอยที่มันเป็นหอยน้ำอดน้ำทน และกินพืชทุกอย่างที่ขวางหน้าได้นั่นแหละ ถึงได้เพาะพันธุ์แพร่ขยายได้มากมายใหญ่โต  จากแหล่งน้ำธรรมชาติสู่ทุ่งนาภาคกลางเมื่อกว่า 10 ปีที่แล้ว ซึ่งตอนนี้ก็ยังแพร่พันธุ์กลายเป็นลูกผสมไปทั่วทั้งทุ่งนาไม่ว่าภาคไหน เราควรทำใจยอมยกสัญชาติไทยเชื้อสายต่างแดนให้มันไปซะเลยจะดีกว่า แล้วค่อยมาหาลู่ทางทำมาหากินจากหอยเชอร์รี่  - - อ๊ะ! ฟังชื่อหอยก็ดูดีน่ากินหยอกใคร พูดจริงๆ นะ… ไม่ได้อำ    ก็ไหนๆ มันแพร่พันธุ์ลูกหลานออกมาเต็มบ้านเต็มเมืองอย่างนี้ ทางที่ดีมาลองมองจ้องหอยมุมใหม่ให้พลิกกลับมารับใช้อุดมคติในการกินแก้วิกฤติกันดีกว่า   อิฉันยังจำคำชี้แนะของ อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ ได้ว่าอยากให้อะไรมันคงอยู่ ก็โยนมันเข้าไปในตลาด  ระบบทุนนิยมจะเป็นแรงส่งให้กับมันเองถ้ามันติดตลาด  ผักพื้นบ้าน อาหารท้องถิ่น  กับอารมณ์หวนถวิลคิดถึงบ้านของคนทำงานไกลถิ่นเกิด  จะแปลงหอยเอเลี่ยน (Alien specie ) ให้มาเป็นอาหารท้องถิ่นแบบไทย อย่างที่ตอนนี้คนไทยแสนจะภูมิใจกับมัสมั่นไทย ที่ดังไปไกลถึงระดับโลกตามที่ สื่อไทย-ไทย กำลังโหมประโคมกันอยู่ตอนนี้ก็ยังได้  (อุ อุ... ใน FB มีเพื่อนที่ฮาวายของอิฉันแอบเม้าท์ว่ามัสมั่นแบบอินเดียที่กำลังเปิดร้านสาขากันอย่างแพร่หลายในอเมริกา  ฝ่ายเพื่อนนักประวัติศาสตร์อีกคนก็ Reply post แบบทันควันว่ามัสมั่นมันเป็นของไทยมาตั้งแต่เมื่อไหร่?) รส และสัมผัสของหอยเชอร์รี่ใช่ว่าจะอร่อยน้อยเป็นรองใคร  เนื้อนุ่มหยุ่น และเต็มปากเต็มคำกว่าหอยจุ๊บเสียอีก  มีกฎข้อเดียวสำหรับการกินหอยน้ำทุกประเภท คือต้องทำให้สุกก่อนกินแค่นั้น  ส่วนเมนูจะปรุงแต่งรส กลิ่น รูปแบบ กันอย่างไหนก็ตามอัธยาศัย  ใครเอาหอยเชอร์รี่ไปแปลงเมนูเด็ดแบบไหน ให้แชร์มาสู่กันบ้างก็น่าสนุกดี  เอาแบบ ไข่มดแดง หนอนรถด่วน และอีกจิปาถะแมลง ก็ได้ ที่ไม่ใช่แค่กินแต่ในเมืองไทย  แต่กลับโด่งดังไกลไปถึงระดับอินเตอร์  ก้อยหอยเชอร์รี่สูตรน้องปู :  หอยเชอร์รี่ลวกสุก หั่นเป็นชิ้นพอคำ  ต้นหอม ผักชีใบยาว ใบสะระแหน่ พริกขี้หนูแห้งคั่วป่น  ข้าวคั่วป่น  น้ำปลา มะนาว  ทุกอย่างใส่คลุกเคล้าเข้ากันแซ่บนัวสไตล์อีสาน

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 126 ปลาตะเพียนกรอบราดเต้าเจี้ยว

  ช่วงจะเข้าพรรษา มีฝนตกหนักใหญ่ๆ หลายครั้งกระจายอย่างทั่วถึงทั้งในบริเวณตลาดผักไห่ และหมู่บ้านรายรอบ  ชาวนาบ้านหนองน้ำใหญ่ในพื้นที่ศึกษาระยะสั้นเกี่ยวกับการปรับตัวของชาวนาข้าวฟางลอยของฉัน เปลี่ยนจากการสู้รบกับเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลเมื่อฤดูปลูกข้าวนาปรังครั้งแรกมาเป็นการตั้งเครื่องสูบน้ำพญานาคเพื่อวิดน้ำออกจากนาปรังครั้งที่ 2 ของพวกเขาแทน ฝน ไม่ได้พาแต่ความเย็นชุ่มฉ่ำให้กับชาวนา เมื่อระบบการทำนาเปลี่ยนไปพึ่งน้ำคลองที่ควบคุมโดยชลประทาน หากแต่ฝนยังนำความกังวลใจมาตั้งแต่เริ่มหว่านข้าวลงนาว่าเมล็ดข้าวที่หว่านลงไปจะเน่าเสียหายเพราะน้ำฝนและฟ้าครึ้มไหม  ครั้นข้าวงอกโตขึ้นมาได้เป็นต้นกล้า ก็ต้องวิดน้ำออกไปให้ได้ระดับไปจนถึงช่วงข้าวตั้งท้องถึงออกรวง  หากฝนตกมากและถี่ ทั้งในบริเวณที่นาของตัวเองและและบริเวณจังหวัดที่อยู่ทางตอนเหนือของหมู่บ้านขึ้นไปมากๆ ชาวนาก็ต้องคอยลุ้นกันว่าน้ำจะถูกปล่อยลงคลองมาท่วมนาก่อนหรือหลังข้าวจะได้เกี่ยวหรือไม่  ถ้าทันเกี่ยวก็ดีไปและไปเปลี่ยนเรื่องลุ้นใหม่หลังได้ผลผลิตแทนเช่นราคาข้าว  หากแต่ไม่ทันและต้องเกี่ยวข้าวกลางน้ำทั้งที่รวงยังเขียว ก็คงหน้าซีดปากเหี่ยวและกัดฟันสู้กันใหม่ในการทำนารอบหน้า  รอบที่ต้องรออีกสัก 4 เดือนให้น้ำในนาลดลงไปอยู่ในคลองเสียก่อน  ฉันถามชาวนาหนองน้ำใหญ่หลายคนว่าช่วงหลังนาพวกเขาทำอะไร  ฉันเองก็คิดตามประสาว่าผืนนากว่า 2,000 ไร่ ที่น้ำท่วมตั้งแต่เดือนกันยายนไปจนถึงสิ้นปีแบบนี้ชาวนาน่าจะมีรายได้จากการจับปลา  แต่เปล่าเลย มีแค่ไม่กี่คนเท่านั้นที่จับปลาหากินเป็นรายได้ มีเพียงบางรายที่หาปลาเองเพราะความชอบ แต่ส่วนใหญ่กับใช้วิธีการซื้อจากคนหาปลาในหมู่บ้าน หรือซื้อจากตลาดเสียมากกว่า  “หาปลาลำบาก ต้องอดทนมาก เราไม่มีความชำนาญ หาได้ก็ไม่คุ้มเวลา ซื้อเขาสะดวกกว่า” พี่จุก ชาวนาวัย 46 ปีบอก และเล่าให้ฟังว่าหลังนาปรังรอบ 2 ช่วงน้ำท่วม 4 เดือนนั้นเขาจะกลายเป็นพ่อค้าเร่ขายของเล่นเด็กตามตลาดนัด แม้จะต้องมีการลงทุนซื้อของและเร่ออกขาย ซึ่งมีรายได้ดีบ้างไม่ดีบ้าง เขาก็ว่ายังดีกว่าอยู่บ้านเฉยๆ ส่วนในช่วงฤดูนาปรังทั้ง 2 ครั้ง หรือ 8 เดือนใน 1 ปี พี่จุกใช้วิธีเช่านาเพื่อนบ้านทำ และรับจ้างฉีดยาหว่านปุ๋ย และช่วยน้องสาวทำหูกระเป๋าให้กับโรงงานที่จ้างเหมาแบบราคาถูก ที่ตลาดนัดเช้าวันจันทร์  ฉันกวาดตามองหาชายคนจับปลาคนที่ฉันเคยซื้อปลาช่อนของเขาหลังจากพูดคุยสั้นๆ และขอถ่ายรูปไปเมื่อ 3 สัปดาห์ก่อน   แต่ 2 สัปดาห์แล้วสินะที่ฉันตามหานักจับปลามืออาชีพคนนั้นไม่เจอ เดินวนหารอบตลาดก็ไม่พบหรือว่าแม่ค้าปลาคนใดคนหนึ่งเป็นคนที่มาขายแทนแก วูบหนึ่งฉันนึกถึงเรื่องที่ตำรวจที่อยู่ในแฟลตตำรวจหน้าบ้านคุยกัน เรื่องการเพิ่งจับปรับคนจับปลาที่เอาลอบไปวางในคลองในช่วงฤดูหวงห้ามเพราะเป็นช่วงปลาตั้งท้องวางไข่ แล้วต้องสลัดความอยากรู้แบบฟุ้งซ่านทิ้งไปอย่างรวดเร็ว  อีกหลายวันถัดมา ฉันมานั่งอยู่ที่เถียงนาของพี่สุภาพ ชาวนาสุพรรณ วัย 49 ปี ที่ย้ายข้ามเขตมาเช่าที่นาแถว ต.หน้าโคก ทำนา  คุยกันหลายเรื่องตั้งแต่เพลี้ยกระโดดรุมทำลายนาเสียหาย  กับปริมาณผลผลิตที่จะเกี่ยวลดลงไปเพราะต้นข้าวล้มระเนนระนาด เนื่องจากลมฝนหอบใหญ่เมื่อวันก่อน  ไปยันเรื่องที่นาที่ลูกพี่ลูกน้องของแก ที่เคยเช่าทำถูกคนดูแลที่ดินไล่ที่ไม่ให้ทำนา โดยไม่จ่ายค่าชดเชยให้ทั้งๆ ที่มีสัญญาเช่าทำถึง 6 ปี และยังทำนาได้ไม่ครบปีตามสัญญา   สาเหตุเพราะเจ้าของนาที่เปลี่ยนมือไป ซื้อที่นาไว้เพื่อจะมาทำนาเอง  จนกระทั่งมาถึงคำถามที่ทำให้ฉันต้องอึ้งกับคำตอบของเธอที่พูดไปเรื่อยๆ ราวกับเหตุการณ์เหล่านี้เป็นเรื่องปกติเต็มประดา “บ่อปลานี่นะเหรอ ก็ต้องจ่ายค่าเช่าบ่อด้วย จ่ายไม่น้อยเชียวนา  ไม่รวมกับค่าที่เช่านา วันก่อนจะจับปลาก็ต้องใช้หม้อไฟฟ้าช็อต เพราะมันลึกและเราลงไปจับไม่ได้  จ้างเขาก็ต้องจ่ายเยอะ แต่ไม่รู้มีใครไปแจ้งตำรวจ มันมาจับก็เลยเสียค่าปรับไป 3,000 กว่าบาท ...” เธอว่าพร้อมส่ายหัว ฉันได้แต่ยิ้มเนือยๆ ราวกับคำพูดคำถามที่เตรียมมามันกระโดดหายไปเสียแล้ว   เย็นแล้ว...กลับถึงบ้าน  แม่กำลังเตรียมผัดหมูสามชั้นกับเต้าเจี้ยวใส่ขิง 3 รส ราดปลาตะเพียนทอดกรอบ ฉันนั่งมองปลาแม่น้ำของชอบของฉันที่ราคาไม่แพงตัวนั้นถูกแม่หั่นเป็นบั้งถี่ๆ และทอดเสียจนกรอบจากน้ำมันปาล์ม ที่ตอนนี้ฉันเลิกสนใจไปแล้วว่าราคามันขวดละเท่าไหร่  หลังเสียง ฉ่า ฉ่า ของกระเทียมถูกทุบที่ผัดไวๆ ในกระทะน้ำมันร้อนจัด ก็มีกลิ่นหอมฟุ้งชวนหิวขึ้นมาแทนความคำนึงทั้งหมดที่แบกมาระหว่างขับรถกลับจากนามาสู่บ้าน กระเทียมเจียวเหลืองกรอบ กลิ่นมันหอมโดดเด่น สักพักก็มีเสียงฟู่แบบใหม่มาจากในกระทะ  ที่แม่หย่อนหมูสามชั้นหั่นชิ้นเล็กๆ ลงไปกลิ้งคลุกเคล้า พร้อมกับน้ำเต้าเจี้ยว น้ำมะขามเปียก และน้ำตาลปี๊บ   จากนั้นเสียง ฉ่า ฉ่า เปลี่ยนเป็นเสียงน้ำข้นๆ เดือดปุดๆ เพียงครู่เดียวแม่ก็ใส่ใบขึ้นฉ่ายหั่นท่อน  พริกสดหั่นแฉลบ และขิงซอยลงไปผัดพอสลด แล้วดับเตาไฟ ตักเครื่องราด 3 รส เปรี้ยว เค็ม หวานกลมกล่อมลิ้น ราดลงปลาตะเพียนตัวกรอบ   ถึงตอนนี้แล้ว ของโปรดของอร่อยมาวางอยู่ต่อหน้า เรื่องอื่นๆ ของคนอื่นๆ ก็คงต้องวางไว้ก่อนแล้วแหละนะ

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 125 ต้มเป็ดมะนาวดอง : ต้อง 3 แก่เท่านั้นที่แม่คอนเฟิร์ม

  ปีนี้ฝนมาไวกว่าปกติ ผิดกับปีก่อนที่ฝนล่าและแล้งร้อนร้ายกาจ   ตั้งแต่พฤษภาคมเป็นต้นมาฝนตกบ่อยๆ ฝนตกสลับกับแดดออกแบบจัดจ้าอย่างนี้มาหลายวันแล้ว   สภาพอากาศแบบนี้ก็ชวนให้ครั่นเนื้อครั่นตัวง่ายๆ ได้เหมือนกัน ฉันเพิ่งรู้และเพิ่งกลับจากการสังเกตการประชุมเตรียมการของกลุ่มชาวบ้านเพื่อรับมือกับโครงการที่ราชการจะปรับแปลงสภาพพื้นที่ 4 อำเภอของจังหวัดพระนครศรีอยุธยาให้เป็นแอ่งรับน้ำนองเพื่อแก้ปัญหาภัยน้ำท่วมกรุงเทพ     โดยที่ก่อนหน้านี้ในเขตอำเภอผักไห่นั้นมีการประชุมไปแล้ว 2 ครั้ง  การประชุมวันนี้เป็นช่วงการเริ่มต้นจับกลุ่มกันทำงานของชาวบ้านเพื่อระดมความคิดจัดทำแผนรับมือกับปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากที่เจอกันเป็นประจำทุกปี ฟังจากที่ประชุมเขาว่า  ก่อนหน้านี้ที่อำเภอเสนาและบางบาลมีการประชุมเตรียมการรับมือกันอย่างคึกคัก  ก็อย่างว่าแหละ ปัญหามาจ่อคอหอยกันขนาดนั้น มันก็ต้องลุกขึ้นมาทำอะไรให้กับตัวเองกันหน่อย  ฟังเสียงดูว่า อย่างน้อย พวกเขาก็ควรให้มีแผนการปรับตัวของคนในพื้นที่โดยพวกเขาเอง   เดินเข้าบ้านไปถึงครัว เห็นหม้ออะลูมิเนียมใบใหญ่สุดในบ้านมีเป็ดต้มอยู่ไอกรุ่นๆ  แรกทีเดียวฉันนึกว่าแม่คงทำเป็ดพะโล้ให้กิน  แต่ดูๆ ไปชักสงสัย ไหงมีแต่น้ำเปล่าๆ ต้มกับเป็ด? ถามแม่  แม่ว่าจะต้มเป็ดมะนาวดอง  ฉันพยายามนึกถึงมัน  นานทีเดียวที่ไม่ได้กินกับข้าวเมนูนี้ ตอนที่ต้นมะนาวแป้นที่ขึ้นอยู่ข้างกอกล้วยหลังบ้านยังมีชีวิตอยู่ มันให้ลูกกินอยู่บ่อยๆ บางช่วงที่น้ำดีก็จะมีลูกดกมาก  ซึ่งช่วงนั้นเองแม่จะเก็บมะนาวแก่จัดๆ ที่ร่วงเกลื่อนใต้ต้นมาล้างและดองในขวดกาแฟปากกว้าง  บางครั้งฉันหอบหิ้วโหลมะนาวดองของแม่ไปที่สำนักงานแถวงามวงศ์วานด้วยเพื่อให้แม่บ้านสำนักงานช่วยต้มฟักไก่มะนาวดองให้กิน ระหว่างนั่งซดน้ำซุปโฮกๆ   ที่รสชาติทิ้งห่างเมื่อใช้ไก่    สลับกับเคี้ยวเนื้อเป็ดนุ่ม หนุบหนับๆ ความรู้เกี่ยวกับการดองมะนาวของแม่ก็ส่งทอดมาสู่ฉันอย่างไม่เป็นระบบระเบียบ จากการถามคำตอบคำระหว่างฉันกับแม่ รวมความแล้ว แม่ว่ามะนาวที่ใช้ดอง ต้องเป็นมะนาวแก่เท่านั้น  เมื่อเอามาดองแล้วผ่าดูจะเห็นได้ชัดว่าถ้าเป็นมะนาวแก่จัดจะมีลักษณะเป็นมันเยิ้มข้างใน และรสชาติเปรี้ยวเค็มกำลังดี  ส่วนมะนาวดองวันนี้ที่แม่ซื้อจากตลาดมามันอ่อน ไม่ได้รสชาติ เพราะจะมีแต่รสเค็มเกลือ และทำให้แทนที่จะใส่มะนาวดองเพียงลูกเดียวก็ต้องใส่ดับเบิ้ลเป็น 2 เท่า  เลือกมะนาวได้แล้ว ล้างแล้วเอาไปคลึงกับเกลือเม็ดให้น้ำเขียวๆ ที่ผิวซึ่งมีรสขมออกให้หมด  แล้วล้างซ้ำ จากนั้นนำไปตากแดดให้แห้ง 2 วัน ครบกำหนดก็เอานึ่งในน้ำเดือดจัดๆ ประมาณ 5 นาที แล้วเอามาผึ่งลมให้แห้ง  จากนั้นก็เตรียมต้มน้ำเกลือสำหรับดอง  แม่บอกว่าไม่ได้ตวงเกลือตวงน้ำ แต่ใช้วิธีชิมเอา เค็มได้ที่ของแม่นี่แค่ไหนหนอ ... ฉันนึกระหว่างที่แม่บอกว่าต้องรอให้น้ำเกลือเย็นก่อนค่อยเอามะนาวดองได้  มะนาวดอง  ดองนานราว 1 เดือน โดยเอาโหลมะนาวออกผึ่งแดดทุกวัน  ถ้าน้ำดองมะนาวเริ่มมีฟองก็ค่อยเทออกมาต้มเติมเกลือลงไป แล้วรอให้เย็นจึงดองต่อจนครบกำหนด   สูตรต้มเป็ดมะนาวดองของแม่ แม่ว่าต้องใช้เป็ดไข่แก่ที่ปลดระวางแล้วจึงจะอร่อยกว่าเป็ดรุ่น เป็ดสาว แถมราคาก็ถูกกว่าด้วย  ให้ร้านสับเป็ดเป็นชิ้นโตๆ  ส่วนก้นที่เกรงว่าจะสาบให้เฉือนเอาตรงที่เป็นต่อมไขมันชวนเสียวนั้นทิ้งไป   แล้วเอาชิ้นเป็ดมาล้างให้สะอาด  ส่วนฟักที่จะใช้ใส่คู่กันก็ต้องแก่จัด  หากเป็นฟักลูกอ่อนจะทำให้เละ และน้ำขุ่น  วิธีการต้ม ตั้งน้ำใส่เกลือนิดหน่อยให้เดือดพล่านแล้วใส่ชิ้นเป็ดสับลงไปต้ม หรี่ไฟลงให้เป็นไฟกลาง คอยช้อนฟองออก  ต้มราว 20 นาที แล้วจึงปอกเปลือกฟักใส่ลงไป  พร้อมๆ กับเห็ดหอมที่แช่จนนิ่ม  ต้มต่อจนสุก ก่อนยกลงจึงปรุงรสด้วยน้ำมะนาวดอง และลูกมะนาวดอง  อ้อ!... ต้องผ่ามะนาวดองเอาเม็ดออกก่อนนะเพื่อกันขม   แค่นี้ก็ได้น้ำซุปรสกลมกล่อม จากเครื่องปรุงสำคัญ 3 อย่าง เป็ด ฟัก และมะนาวดอง ที่ต้องแก่ๆ ทั้งนั้น แม่จึงจะประกันคุณภาพความอร่อย

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 124 กินมะรุมแนวใหม่ ไม่ต้องปอกเปลือก

  ต้นมะรุมหลังบ้าน พักหลังถูกแม่เก็บมากินบ่อยมากขึ้น ทั้งดอก ยอด และฝักอ่อนๆ  แต่กระนั้นก็ยังคงมีบางฝักที่หลุดเหลือจนจนกลายเป็นฝักแก่ และแตกปริปล่อยให้เมล็ดกลมๆ สีน้ำตาลที่มีปีก ปลิวว่อนและหล่นเกลื่อนกลาดรายรอบพ้นดิน เมล็ดไหนที่ได้ทำเลดี ไม่มีปรกใบของเตยหอม พุ่มพริกขี้หนู และยอดผักบุ้งนาขึ้นคลุม ก็ค่อยโผล่ยอดออกมาให้ฉันได้ทึ้งถอนมันทิ้งไป แม้ใจจะอยากเก็บไว้ให้มันได้โตและอาศัยเก็บกินต่อไป แต่พื้นที่ที่มีอยู่ก็ไม่เอื้อให้ทำได้อย่างใจหวัง  มะรุมต้นนี้อายุเกือบ 2 ปีแล้วกระมัง  หลังจากที่ไปเห็นแม่ค้าขนเข็นเอามันใส่ถุงดินวางขายอยู่ท้ายตลาดสดบางบัวทอง  ช่วงนั้นทั้งต้น และผลิตภัณฑ์จากมะรุมมีอยู่เกลื่อนออกมารับกระแสรักสุขภาพ ทั้งในรูปแคปซูล และชา โดยมีรูปแบบและราคาที่แตกต่างกันไป  แม่ฉันก็ได้ของฝากของกำนัลจากหลานชายที่ห่วงใยใส่ใจสุขภาพคนแก่ และหนึ่งในกระเช้าผลิตภัณฑ์เพื่อความกตัญญูก็มีห่อชามะรุมสำเร็จรูปมาพร้อมกับแคปซูลเม็ดมะรุมที่มีสนนราคาที่จัดได้ว่าแพงแบบกลืนน้ำลายเหนียวกันทีเดียว  ลูก(ที่อยากจะ)กตัญญูแต่ทรัพย์น้อยอย่างฉันก็เลยต้องหันมาพึ่งอะไรที่ถูกกว่า  ดีเสียว่ายังพอมีที่ให้เอาต้นมะรุมสูงแค่พ้นเข่าไปลงหลังบ้านได้  ฉับหอบหิ้วมันมาที่บ้าน จัดการขุดหลุมฉุบฉับ ปลูกและรดน้ำชุ่มอยู่ 2 – 3 วัน แล้วฝากแม่ให้ดูแลต่อ  แล้วหายหัวไปกับหน้าที่การงานอยู่จนครบเดือนจึงกลับบ้าน อย่างนี้ทุกเดือน จน 2 – 3 เดือนผ่านไป มะรุมต้นน้อยโตให้สูงพ้นหัว เริ่มแตกยอด ออกดอก จนมีฝักและเก็บมาสอยกินได้ในช่วงเวลาไม่ถึงปี  ฉันบอกแม่ว่าใบมะรุมขนาดกลางไม่อ่อนไม่แก่ เอาไปทำใบชากินได้สรรพคุณอาจจะดีเทียบเท่าชาสำเร็จ แต่แม่ก็ยังเฉยๆ  แรกๆ แม่ก็เก็บกินแค่ฝัก  รอฝักให้มันใหญ่แต่ไม่ทันปล่อยให้แก่  ฉันชวนแม่ทำต้มจืดฝักมะรุมที่ต้มแบบเดียวกับต้มจืดใบตำลึง แต่ก็ยังเฉยๆ  แต่ทั้งแม่และฉันชอบกินฝักมะรุมแกงส้ม  ถึงกระนั้นแม่ก็ไม่ค่อยชอบแกงมะรุมให้กินแม้ที่ต้นจะมีฝักแกว่งเท้งเต้งต่องแต่งเหมือนไม้ตีกลอง Drumstick Tree สมชื่อของมัน  แม่ว่า “ขี้เกียจปอก เปลือกมันแข็ง”   จนวันหนึ่ง  ญาติผู้ใหญ่จากกรุงเทพฯ อีกคนแวะมาหาแม่ช่วงเทศกาล ช่วงนั้นฉันกลับมานั่งทำงานหน้าจอคอมพ์อยู่ที่บ้านแล้วแหละ  ผู้ใหญ่คุยกันนั่นนี่โน่น และสุดท้ายก็วกเข้ามาคุยกันเรื่องสุขภาพ คุยมาคุยไปก็ไปจดจ่อกันที่เรื่องอาหาร ลุงแกอยู่กรุงเทพฯ เสียนานแต่ชีวิตวกกลับมากินอาหารแบบบ้านๆ เพราะด้วยวัยบวกรสนิยมที่ติดลิ้นแกมา แกว่าแกชอบกินมะรุมแกงส้ม  ฉันเลยได้ทีคุยกับแก  แต่กะกระทบชิ่งไปที่แม่ แม่ที่มีรสนิยมการกินที่แสนจะอนุรักษ์นิยม ทั้งรูปแบบการปรุงและรสลิ้นมาตรฐาน  ชี้ชวนกับลุงว่ามะรุมเราเห็นอยู่นี่หนาใช่ว่าจะกินได้แต่ฝักอ่อนแบบเคยๆ แกก็เออออห่อหมกใบยอไปกับฉันอย่างถูกคอ ก็มะรุม สุดยอดสรรพคุณเรื่องแหล่งวิตามินเอที่บำรุงสายตา ที่มีมากกว่าแครอทถึง 3 เท่า มีโพแทสเซียมที่บำรุงสมองและระบบประสาทมากกว่ากล้วย และมีวิตามินซีสูง  แค่ลวกให้สุกในวิธีแบบไหนเพื่อให้เอาเข้าปากได้อย่างอร่อยก็ได้ประโยชน์แต็มๆ แล้ว ทั้งต่อตา กระดูก และระบบประสาท    แต่ที่เขาฮิตเป็นกระแสเพราะว่ามะรุมมันมีสารต้านอนุมูลอิสระมากมายหลายชนิด และคาดว่าจะช่วยให้เกิดฤทธิ์ชะลอความแก่ แต่ในทางวิชาการก็ยังไม่พบรายงานการวิจัยเกี่ยวกับมะรุมในด้านนี้ ซึ่งในด้านการตลาดแบบไทย-ไทย จริงไม่จริงแค่ไหน ต่างก็โหนกระแสสารต้านอนุมูลอิสระทำกำไร คุณสมบัติพื้นฐานง่ายๆ ที่มีในมะรุมเลยถูกทำให้กลายเป็นหวือหวา  จนลืมไปว่าอะไรที่ใกล้ๆ ตัว ทำง่าย กินง่าย ยังมีอยู่ที่ก้นครัว  ลุงกลับกรุงเทพฯ ไปแล้ว  หลังจากนั้น  บางวันฉันเห็นยอดอ่อนและดอกมะรุม ลอยน้ำกอดคออยู่กับใบตำลึงและดอกขจรในชามต้มจืดหมูสับใส่กุ้งแห้ง  บางวันแกงส้มผักรวมของแม่จะมีดอก ยอดและฝักอ่อนๆ ของมะรุมรวมอยู่ในนั้น   ผัดผักบางวันก็มีฝักอ่อนมะรุมปนจนบางครั้งฉันนึกสับสนว่ามันเป็นถั่วฝักยาวหรือว่าฝักมะรุม   แต่ที่บ่อยที่สุด อาจจะเพราะเอามากินง่ายสุดด้วยก็คือ ผักลวกจิ้มน้ำพริกกะปิ น้ำพริกเผาป่า และน้ำปลาร้าหลน ฝักมะรุมอ่อน  อ่อนชนิดที่จะเอาไปลวกกินไม่ต้องปอกเปลือก  นี่แม่คิดเอง  คิดแบบคนแก่ที่มีพื้นฐานการทำอาหารให้ลูกกินมาตลอดชีวิตของแม่  คนแก่ที่ยังไม่ถึงขนาดยักแย่ยักยัน ที่ยังสร้างสรรค์จากสุขภาพที่ทำให้แม่ไม่ค่อยอยากจะขยันจะปอกเปลือกแข็งๆ ของมันมาทำกินนั่นแหละ  ฉันยังนึกอยู่ว่า  ถ้าไม่มีต้นมะรุมปลูกอยู่ที่บ้าน และแม่ยังคงขยันและไม่แก่  ก็ไม่แน่ว่าจะได้กินมะรุมอ่อนๆ แบบของแม่นี่หรือเปล่า?

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 123 คะน้าปลาช่อนแดดเดียว : เมนูจานด่วนจากขาประจำ

  เมื่อย้ายกลับมาอยู่กับแม่ที่ผักไห่ กิจกรรมประจำวันในตอนเช้าคือเปิดร้านจัดแผงวางหนังสือพิมพ์และนิตยสาร วารสารต่างๆ เพื่อเตรียมรับลูกค้า จัดชุดหนังสือพิมพ์รายวันเตรียมให้กับบรรดาขาประจำที่จะมารับ  ส่วนแม่ ตั้งแต่เช้าก็ขลุกอยู่ในครัว ต้มน้ำ ชงชา ชงกาแฟ และชงผงข้าวกล้องงอก ไว้รองท้องพร้อมขนม เป็นมื้อเช้าแบบเบาๆ  และอุ่นข้าวและกับให้ฉันไปกินตอนสายราว 9 โมง   ช่วงที่ความตื่นตระหนกต่อภัยธรรมชาติครั้งใหญ่ที่ญี่ปุ่น  สภาวะอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย ขนาดเรียกได้ว่ามี 3 ฤดู ใน 1 วัน    อากาศหนาวเย็นจนอยากได้อาหารอุ่นๆ มาช่วย   แต่แม่และฉันเกิดเบื่ออาหารขึ้นมาอย่างไม่รู้สาเหตุ    เรา 2 คน แม่ลูก มองหน้า จ้องตา ก็ส่ายหัวว่าไม่รู้จะกินไรดี  “กินอะไรล่ะวันนี้” เสียงคุ้นๆ แจ่มใสของอาหวาด นายดาบตำรวจวัน 50 ต้น ขาประจำร้านหนังสือพิมพ์ของแม่ ถามขณะควักเงินจ่ายค่าหนังสือพิมพ์ทักฉัน  เป็นคำถามเชิงทายทักที่ได้ฟังจนชินจากปากแกเมื่อปะหน้ากัน  แก หรือไม่ก็เมียของแก น้าติ๋ว ต้องสลับหมุนเวียนมาซื้อหนังสือพิมพ์ไปอ่านประจำวัน  สองสามี-ภรรยาคู่นี้ฉันเห็นและรู้จักตั้งแต่ฉันยังเป็นเด็กวิ่งซนตัวกะเปี๊ยกอยู่ในตลาด “ยังคิดกับแม่อยู่นี่ล่ะว่าจะกินอะ ไรดี” ฉันตอบหลังเงยหน้าจากหนังสือพิมพ์  ถามกลับกับแก “กินอะไรดี?”  อาหวาดเป็นคนชอบเดินตลาด ซื้อกับข้าว ชอบกิน และชอบทำกับข้าว  แกถามกลับฉัน  “ชอบคะน้าไหม?” ฉันพยักหน้า แม้จะรู้ว่าคะน้าส่วนใหญ่จะปลูกแบบไหน และพยายามสับเปลี่ยนหมุนเวียนการกินผักตลาดไปเป็นชนิดอื่นๆ เพราะแถวบ้านยังหาคนปลูกผักอินทรีย์มาขายไม่ได้  ขณะที่ผักพื้นบ้านที่ค่อนข้างแน่ใจว่าไม่ถูกกระแสความนิยมของคนกินมาเปลี่ยนแปลงวิธีการปลูกให้เปลี่ยนไปก็ชักจะมีอยู่น้อยลงๆ   อาหวาดยิ้มอย่างใจเย็น บอก “นี่นะ คะน้า ต้นสวยๆ เอามาล้างสะอาด ปอกเปลือกแข็งๆ  ทุบแล้วหั่นเป็นท่อนๆ ผัดกับปลาช่อนแดดเดียว  นี่ละสุดยอด บ้านอาชอบกินกันทั้งบ้าน” พลางแนะวิธีว่า “ปลาช่อนแดดเดียวนี่อร่อยกว่าปลาเค็มอินทรีย์อีก  เพราะไม่เค็ม  อาเอามาล้างนะ เลาะกระดูกออก  แล้วทอดกรอบๆ  แล้วเอามาผัดกับคะน้า แบบผักบุ้งไฟแดง”  ลำพังแค่นึกภาพตามที่แกว่า ก็ทำให้อาการที่เบื่ออาหารอยู่เมื่อครู่ก็พอทุเลาไปได้โขแล้ว  แต่ด้วยน้ำเสียง ลีลา และสีหน้าแก เป็นราวกับพร็อบประกอบนิทรรศการชวนหิวหนักเข้าไปใหญ่   มื้อสายฉันตักข้าวราดแกงส้มที่แม่อุ่นไว้ให้ พลางนึกไปถึงเมนูที่อาหวาดแนะ ตกเย็นแล้วนั่นแหละที่ฉันเดินเข้าไปในครัวแล้วเห็นเมนูที่อาหวาดฟุ้งไว้เมื่อเช้า ที่แท้แม่ก็ฟังลูกค้าขาประจำคุยกับฉัน แล้วแอบไปสุ่มเงียบจ่ายตลาดตอนที่ฉันสาละวนกับการปั่นรายงานแล้วกำลังนึกอยู่ว่าจะเอาเรื่องไหนเขียนเป็นต้นฉบับส่ง บก.ฉลาดซื้อดี  งานนี้อาหวาด ขาประจำตัวใหญ่เสียงดัง ทำช่วยฉันให้ผ่านเส้นตายไปได้อย่างฉิวเฉียดทีเดียวเชียว   คะน้าปลาช่อนแดดเดียวเครื่องปรุง : คะน้าต้นใหญ่  3 – 4 ต้น ปอกแล้วหั่นท่อน ,  ปลาช่อนแดดเดียว ครึ่งตัว เลาะกระดูกแล้วหั่นเป็นชิ้น,  น้ำปลา ,  พริกขี้หนูบุบ ตามชอบ , กระเทียม  5 – 8 กลีบ บุบ , น้ำตาลทราย ครึ่งช้อน ,  น้ำมัน 1/3 ถ้วย   วิธีทำ 1.ตั้งกระทะไฟกลาง ทอดปลาช่อนที่หั่นชิ้นจนเหลืองกรอบ ตักขึ้นพักไว้ 2.เร่งเตาไฟให้แรง จนกระทะน้ำมันร้อนจัด ใส่พริกกับกระเทียมบุบลงไป ตามด้วยคะน้า ปรุงรสด้วยน้ำปลา น้ำตาลทราย ผัดเร็วๆ จนคะน้าสลดไฟแล้วจึงเอาปลาช่อนแดดเดียวทอดเทใส่ลงไปแล้วผัดให้เข้ากันอีกทีจึงตักเสิร์ฟส่วนคนที่ชอบรับประทานน้ำมันหอยและซีอิ๊ว เลือกปรุงเติมตอนผัดได้ตามอัธยาศัยค่ะ

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 122 เมนูฤดูอาหารแพง

  ว่ากันว่า ราคาอาหารแพงมักจะมาเป็นช่วงๆ (ไม่เกี่ยวกับหลินฮุ่ย)   เทศกาล ตรุษ – สารท หมู เนื้อ ไก่ เป็ด และผลไม้ไหว้เจ้า น้ำท่วม ฝนแล้ง ผักผลไม้แพงก็ว่ากันไป  ปีที่ผ่านมามะพร้าวที่โดนแมลงโจมตีมีผลกระทบต่อราคามะพร้าวและกะทิทั้งแบบสดและแบบกล่อง จนแม่ค้าข้าวแกงและขนมหวานหลายร้านต้องขอปรับราคาแกงกะทิและขนมหวานใหม่  หลังข่าวมะพร้าวมาเจอน้ำมันปาล์ม   ราคาน้ำมันปาล์มขวดค่อยๆ ไต่ระดับขึ้นถึง 70 บาทเมื่อช่วงกลางเดือนแห่งความรักปีนี้ จากราคาขวดละ 38 บาทเมื่อราวปลายตุลาคม 53  ช่างดูเหมือนว่าระยะเวลาเพียง 3 – 4 เดือนนี้ เป็นช่วงเวลาที่ยาวนานมากๆ สำหรับบรรดาแม่บ้านและแม่ค้าที่จำเป็นต้องขวนขวายหาน้ำมันปาล์มมาเพื่อประกอบอาหาร   แม้ไม่ถึงกับขนาดที่จะอาจเรียกได้ว่าเลือดตาแทบกระเด็น แต่ความจำเป็นที่สะท้อนให้เห็นยามที่เหล่าเธอทั้งผองต้องขึ้นเข้าคิวรอซื้อน้ำมันในห้างค้าปลีกทันสมัยที่เพิ่งมาเปิดใหม่ในหมู่บ้านได้ราวปีกว่า แล้วพบว่า การรอคอยที่ยาวนานนั้นไม่ได้น้ำมันราคาขวดละ 47 บาทกลับไป  และต้องจำเป็นไปเลือกใช้อีกบริการหนึ่งจากแม่ค้ารถเร่สินค้าจิปาถะเจ้าใหญ่ในตลาดนัด ซึ่งแน่นอนว่า พลาดช้าอาจหมดแม้ราคาขายต่อขวดที่กำหนดไว้จะ 70 บาทก็ตาม  เหล่าแม่ครัวและแม่ค้าก็จำต้องซื้อ จะเรียกได้ว่าซื้อไป บ่น (ด่า) ไป   ส่วนคนที่กลายเป็นเป้าให้ ถูก บ่น(ด่า) ก็คงพอจะเดากันได้ไม่ยาก   เอาล่ะ  ฉันขอเสนอเมนูเลี่ยงน้ำมัน ปลาตะเพียนส้ม ที่อยากกินคงจะต้องใช้วิธีทอดใบตองแทนทอดน้ำมันซะแล้ว    แต่ขออธิบายเสียก่อนนิดหนึ่ง เพราะใช่ว่าจะเอาใบตองมารองของทอดแทนน้ำมันได้ซะทุกอย่างไป  อย่างใบตองรองปลาส้มนี่พอได้ เพราะเป็นอาหารที่เมื่อทอดในน้ำมันก็ต้องใช้ไฟอ่อนๆ อยู่แล้วเพราะถ้าไฟแรงจะกระเด็น คนทอดต้องใจเย็นมากๆ ทีเดียว ก็ขนาดใจเย็นให้รัฐบาลชุดนี้บริหารประเทศจนราคาน้ำมันแพงได้ จะใจเย็นรอปลาส้มทอดอีกสักหน่อยจะเป็นไร   วิธีการ – ใช้กระทะเหล็ก กระทะอะลูมิเนียม หรือกระทะเคลือบก็ได้ อย่างใดอย่างหนึ่ง  หาใบตองมาวางเรียงในกระทะ แล้ววางตัวปลาส้มลง เปิดไฟอ่อนๆ รอจนเหลืองแล้วค่อยกลับทอดอีกข้างให้สุก  ไม่กรอบอร่อยเหมือนทอดน้ำมันก็ทนๆ กันไป   อยากจะปรับตัวปรับใจปรับรสนิยมปากให้หันไปสนใจอาหารต้มๆ นึ่งๆ บ้างอย่างที่ท่านอดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์เสนอ เลยริจะทำพะโล้ เมนูต้มตุ๋นที่คุ้นและชื่นชอบกันมานานก็คงต้องไปตลาด จะซื้อน้ำตาลทรายซะด้วย   แม่เพิ่งได้มะตูมสุกมาลูกหนึ่ง กะว่าจะต้มกรองเอาน้ำดื่มบำรุงธาตุให้ชื่นใจ ดับกระหายคลายโกรธ  แม่เองก็ชอบกินเนื้อมะตูมสุกที่ต้มแล้ว  แต่ต้มมะตูมนี่ต้องใส่รสหวานให้ปะแล่มนิดหนึ่งจึงจะชื่น เพื่อหน้าตูมๆ จะยิ้มแย้มเบิกบานขึ้นมาบ้าง   ความน้ำมัน(สวา)ปาล์มยังไม่ทันหายความน้ำตาลทรายจะขึ้นราคาก็มาแทรกแซงกันอีก ชาวบ้านร้านตลาดพากันบ่นว่าขณะที่ฉันเดินวนหาซื้อข้าวของในตลาด   เครื่องต้มพะโล้ เครื่องปรุง ขาหมู 0.5   กก. ,  ไข่เป็ดต้ม   5  ฟอง  ,  น้ำตาลปี๊บ 1 ขีด , กระเทียม 1 – 2 หัว ,  รากผักชี 2 – 3 ราก ,  ข่าว 2 – 3 แว่น ,  ผงพะโล้ – อบเชย – โป้ยกั๊ก – ดอกจันทร์ 1 ซอง , ซีอิ๊วขาว , เต้าทู้ขาว 1 ชิ้นหั่น 6 ชิ้น  (ไม่ต้องทอด)   วิธีทำ 1.ใส่น้ำลงกระทะครึ่งถ้วย  ละลายน้ำตาลปี๊บแล้วตั้งไฟบุบกระเทียม ตำรากผักชี และหั่นข่า ใส่ลงไป   เคี่ยวน้ำตาลให้เหนียว ระหว่างนี้ปรุงรสด้วยน้ำซีอิ้วขาวให้มีรสเข้มข้นตามที่ชอบ 2.เมื่อน้ำตาลที่เคี่ยวเหนียวดีแล้ว นำขาหมูที่หั่นเป็นชิ้น  เต้าหู้ทอด และไข่ต้มมาผัดในกระทะ ตอนนี้ต้องหรี่ไฟ ค่อยๆ ผัดจนแห้ง แต่ไม่ไหม้ จึงเติมน้ำใส่ลงไปเพื่อเคี่ยวพอท่วมแล้วเคี่ยวไฟอ่อนๆ ต่อสักอีก 1 ชั่วโมง เคล็ดลับการทำหมูพะโล้ ไข่พะโล้นี่อยู่ที่ความสามารถในการตุ๋นไฟอ่อนนี่เอง  โปรดอดใจรอ  นานหน่อย แต่อร่อยแน่ๆ ค่ะ คุณๆ ขา   หม่ำข้าว ปลาส้มทอด กับพะโล้มื้อนี้แถมมีน้ำมะตูมตบท้าย อิ่มอร่อยสบายท้องไปเรียบร้อยแล้ว มองเนื้อมะตูมเนื้อเหลืองชวนกินแล้วต้องเบนหน้าหนีแบบอดใจอิ่มใจ  ข่าวประโคมเรื่องข้าวยากหมากแพงใดๆ ที่เจอะเจอช่วงนี้ ขอให้มันแค่เป็นตื่นตูมไปชั่วครั้งชั่วครู่ เทอญ   ขอให้เป็นแค่ชั่วฤดูนี้ ก็คงจะดี... เจ้าประคู้ณ  

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 121 รักนะ(หอย)จุ๊บ จุ๊บ

  วันแรกของเดือนที่สองของปี ที่ตลาดนัดแถวบ้านผู้คนหนาแน่นกว่าปกติ  แผงขายของของเหล่าพ่อค้าแม่ค้าต่างนำสินค้าที่ใช้ประกอบพิธีกรรมปีใหม่จีนมาจัดวางกันอย่างคึกคักเพื่อให้ลูกค้าเลือกซื้อและจับจ่าย  ทั้งขนมเข่ง ขนมเทียน หมู ไก่ ผลไม้ ซึ่งราคาแพงโด่งไปกว่าปกติยังสังเกตเห็นได้ชัดเจน  หลายๆ คนยังไม่วายบ่นปนกังวลกับราคาเนื้อสัตว์ ผลไม้ และน้ำมันพืช  แม้ว่าผักเศรษฐกิจหัวใหญ่ๆ งามๆ อย่างกะหล่ำดอก กะหล่ำดอก ผักกาดขาว และกวางตุ้งจะลดต่ำลงมาถูกอย่างไม่น่าเชื่อก็ตาม  ฉันค่อยๆ เดินเลาะวนไปตามทางเล็กๆ ที่ผู้คนแออัดนั่น  จากปากทางเข้าตลาดไม่กี่เมตร สายตาก็กวาดไปเห็น “new arrival” สินค้าแปลกใหม่ในรอบสัปดาห์นี้วางอยู่ในกระจาดที่พาดบนกะละมังสังกะสี ตรงหน้าตักแม่ค้าขายปลาที่นั่งสงบเสงี่ยมอยู่บนทางเดินเท้าแคบๆ  สองขาของฉันพาตัวฉันผ่าน new arrival นั้นมาแล้วอย่างช้าๆ จนเดินไปยังร้านขายสินค้าที่แม่สั่งซื้อไว้  แล้วยังเดินวกอ้อมเส้นทางที่เป็นรูปเกือบม้าไปยังด้านหน้าตลาดอีกฟากด้วย จนสุดท้ายแล้วนั่นแหละ จึงวนกลับทางเก่า   เป็นดั่งที่คาดไว้ เจ้า new arrival แม้จะมีจำนวนถุงที่บรรจุพร่องไปบ้างแล้ว แต่ยังเหลืออยู่อีก 6 – 7 ถุง ให้ฉันได้เลือกซื้อ   ฉันเขย่าถุงแกงป่องๆ ที่ใส่หอยจุ๊บสภาพพร้อมปรุง   กึ่งถามกึ่งขอร้องกับแม่เมื่อมาถึงบ้านทันทีว่าแกงหอยจุ๊บนะ   แม่ทำหน้ากลุ้มใจนิดหนึ่ง แม่ว่าแม่ไม่เคยแกงหอยจุ๊บเลย  แต่เดี๋ยวแม่จะเดินไปถามแม่ค้าในตลาดดูว่าทำไง   พอแม่คล้อยหลัง  ฉันรีบเดินเข้าครัว ตั้งกาน้ำต้มน้ำให้เดือดเพียงชั่วอึดใจ แล้วใช้น้ำร้อนๆ นั่นลวกหอยที่ล้างอีกครั้งตามแม่บอก  แล้ววิ่งออกมาเก็บพริกขี้หนูสวนเอาไปตำกับกระเทียม ใส่น้ำตาลปี๊บนิดหน่อย ปรุงรสด้วยน้ำปลากับมะนาว  นั่งกินอย่างเอร็ดอร่อยไปได้หนึ่งยก  นี่หากฉันเจอหอยจุ๊บในสภาพธรรมชาติ คือยังเป็นๆ สดๆ และไม่ถูกทุบก้นนี่คงต้องใช้เวลาในการตัดสินใจมากกว่านี้อีกหลายเท่าแน่  ไม่ใช่แค่กลัวบาปกรรมเท่านั้นแต่มันหมายถึงต้องเอามาแช่น้ำ ล้าง ซาว และกะเทาะก้น นานและหลายขั้นตอนทีเดียว  ไม่อยากคิดว่าฉันเข้าสู่วัยที่สนใจจะประหยัดเวลากับการกินหอยจุ๊บสุดโปรดแล้วจริงๆ  ย้อนกลับไปสมัยอยู่ชั้นประถม  ช่วงเวลาก่อนหน้านี้สัก 1 - 2 เดือน  ซึ่งเป็นหน้าน้ำ ฉันกับเพื่อนๆ จะลงแรงกวาดตาหาหอยจุ๊บที่มักเกาะตามเสา และต้นไม้ในหนองน้ำเพื่อเอามานึ่งใส่ใบโหระพากับต้นตะไคร้ทุบ โรยเกลือ แล้ว แล้วทำน้ำจิ้มแซ่บๆ ระหว่างรอให้หอยสุก  แม่กลับมาพร้อมมะพร้าวขูด 1 ขีด  พริกแกงเผ็ด 1 ขีด และชะอม 1 กำ  ใครว่าชะอมหน้านี้ไม่ควรกินเพราะแพง แต่ก็เพราะแกงหอยจุ๊บนี่แหละถ้าขาดชะอมไปความอร่อยคงลดลงไปเยอะโขทีเดียว  แม่เดินวนไปหลังครัว เก็บใบมะกรูดและใบชะพลูมาสมทบ   แม่เริ่มล้างและรูดชะอมก่อน  รูดจากส่วนปลายลงข้างล่าง ถึงชะอมมีหนามก็ไม่ตำมือ เสร็จแล้วก็หั่นใบชะพลูและใบมะกรูดให้เป็นฝอย  ไม่น่าเชื่อว่าผัก 3 อย่าง 3 กลิ่น ที่แตกต่างกันพอจับเอาเข้าเครื่องกับพริกแกง กะทิและหอยจุ๊บจะอร่อยได้ขนาดนั้น  เตรียมผักเสร็จแล้วแม่คั้นกะทิ จากนั้นก็เริ่มเอาพริกแกง 1 ช้อนโต๊ะผัดกับน้ำมันในกระทะไฟร้อนปานกลางจนหอม จากนั้นใส่น้ำกะทิลงไปผัด ปรุงรสด้วยน้ำปลา น้ำตาลนิดหน่อย พอน้ำแกงเดือดดีก็ใส่หอยจุ๊บลงไป  ปล่อยให้เดือดอีกทีใส่ผัก 3 อย่างที่เตรียมไว้ลงและปิดเตา  แม่ว่า... แกงหอยจุ๊บอร่อยๆ มันง่ายแค่นี้เอง   สงสัยว่าตลาดนัดอาทิตย์หน้า ต้องมองหาและคว้ามาทำกินอีกรอบแหงๆ  

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 120 ขื่นกะเพรา เฉาโหรพา

เอ่ยถึง “กะเพรา” วาบแรกที่เห็นคือ “ผัดกะเพราราดข้าว” อาหารจานด่วนยอดฮิตติดอับดับ  ส่วนองค์ประกอบของผัดกะเพราที่โป๊ะมาบนจานข้าวอาจจะมีแตกต่างกันไป  ทั้งผักและเนื้อสัตว์ รวมทั้งเครื่องปรุงรสที่ใส่ลงไปตามแต่สไตล์ของคนผัดและคนกินจะเลือกสรร  แต่สิ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้นั้นคือกะเพรา  ข้าวผัดกะเพราที่เราคุ้นๆ กัน  กับข่าว “กะเพรา” ที่เห็นข้างหน้า ทำให้เราเห็นอะไรที่ไปไกลกว่า กะเพรา และพืชร่วมตระกูลอย่าง โหรพา แมงลัก ยี่หร่า   และพืชต่างตระกูลอย่าง ผักชี พริกขี้หนู พริกหยวก พริกชี้ฟ้า มะระจีน มะระขี้นก รวมไปถึง มะเขือเปราะ มะเขือยาว มะเขือขาว มะเขือม่วง มะเขือเหลือง และมะเขือขื่น ราว 16 ชนิด  กลายเป็นผักที่คนในยุโรป 27 ประเทศ นิยมกินและสั่งนำเข้าจากไทย ทำรายได้มูลค่าไม่ต่ำกว่าปีละ 700 ล้านบาท  ฝ่ายเจ้ากระทรวงพาณิชย์ออกมายืนยันว่า ความนิยมในรสชาติอาหารไทย-ร้านอาหารไทยที่มีอยู่ในอียูหลายพันแห่งยังครองกระแสและมีแนวโน้มที่ดีในอนาคต จนทำให้ใน 11 เดือนแรกของปี 53 ไทยส่งออกสินค้าประเภท เครื่องเทศและสมุนไพรไปอียูจนมีรายได้สูงถึง 356.1 ล้านเหรียญสหรัฐ   แต่กลับกลายว่าผู้ส่งออกไทยจะกำลังเผชิญปัญหา เพราะว่าสหภาพยุโรป(อียู) ได้งัดมาตรการปกป้องผู้บริโภคด้วยมาตรฐานสุขอนามัยแบบคุมเข้มขึ้นมา ซึ่งจากการตรวจสอบพืชผักที่ผ่านเข้าตามรายการที่ว่ามาพบว่ามีการตกค้างทั้งสารเคมี และเชื้อจุลินทรีย์  และได้ส่งเรื่องแจ้งให้ทางหน่วยงานที่รับผิดชอบอย่างกรมวิชาการเกษตรทราบถึงปัญหามากกว่า 700 เรื่อง ในตลอดช่วงปีที่ผ่านมา จนทางกรมวิชาการฯ คิดว่าจะระงับจากส่งพืช 16 ชนิดนี้ไปอียูชั่วคราวในเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้  เพื่อตรวจสอบ และคุมเข้มให้ได้สินค้าดีตามมาตรฐานที่อียูกำหนดปัญหาที่ว่าได้แก่ สารตกค้าง 60 %  การลักลอบ 20 % และอื่นๆ เช่นการติดฉลาก  กรมวิชาการฯ ได้แจงต่อไปอีกว่าได้เตรียมแผนสำรองเพื่อหาตลาดใหม่ทดแทนอย่างญี่ปุ่น รวมทั้งขยายตลาดภายในประเทศ โดยมีเป้าหมายสร้างความร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุขเพื่อนำสินค้าผ่านเกณฑ์ไปจำหน่าย ตามโรงพยาบาล  ท้ายข่าวยังมีความเห็นของผู้ส่งออกไว้ให้อ่านด้วยว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นเกิดจากผู้ส่งออก 2 ราย (ไหน?) แต่มาตรการแก้ไขที่กรมวิชาการเสนอทำให้ผู้ส่งออกทั้งหมดร่วม 20 รายต้องเสียหาย  ฝ่ายเกษตรกรผู้ผลิตซึ่งมีแหล่งปลูกรวมแล้วราว 1,800 ไร่ ที่นครปฐม ปลูกกะเพรา โหรพา และสะระแหน่ ขายได้ปีหนึ่งราว 12.4 ล้านบาท  , 15.9 ล้านบาท และ 3.3 ล้านบาท ในปีที่ผ่านมา เริ่มหาทางลดความเสี่ยงทางการตลาดของตัวเองลงโดยการหันมาปลูกผักบุ้งจีนสลับลงในแปลง  อ่านข่าวแล้วได้แต่รำพึง   ในฐานะที่เป็นคนอยู่ในประเทศผู้ผลิตและส่งออกสินค้าและวัฒนธรรมอาหารไทย  ได้แต่ทอดถอน และหาทางออกเพื่อแก้ปัญหาคุณภาพอาหารของตัวเองไปตามอัตภาพกันเถอะเรา   ใครพอมีที่มีทาง มีแสงสว่างส่องถึง ก็เตรียมจัดหากระถาง ขนาดย่อมเอาไว้ให้พอเหมาะพอดี ปลูกผักประเภท ผักชีฝรั่ง กะเพรา โหระพา พริก เอาไว้ติดบ้าน ดีหน่อยที่บ้านแม่พอมีที่ทางปลูกต้นมะเขือเปราะ มะเขือม่วงได้บ้าง  แต่ระหว่างรอผลที่มันจะงอกเงยมาจากต้นที่ปลูกข้างบ้าน  ก็คงต้องทำใจเลือกซื้อเลือกหาจากตลาดมากิน  ใครมีแหล่งผู้ผลิตดีๆ เอาไว้ก็โชคดีหน่อย   ถ้ามาดูในอาหารจานโปรดของแม่และฉันก็ล้วนแต่มีส่วนประกอบหลักจาก 16 พืชส่งออกเจ้าปัญหานี้เป็นส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะผัดพริกแกงเผ็ด ผัดฉ่า แกงป่า  แกงกะทิ แกงเขียวหวาน ต้มยำ  ฯลฯ   มากน้อยต่างไป แต่ยังไงก็ต้องมีสักอย่าง 2 อย่างอยู่ดี   ปลาหมึกผัดเผ็ด เครื่องปรุง ปลาหมึกสด   2 – 3 ตัว หั่นเป็นชิ้นพอคำ  ,  พริกแกง  1 ช้อนโต๊ะ  (พริกบางช้างแห้ง , กะปิ , ข่า , ตะไคร้ , ผิวมะกรูด หอมแดง) มะเขือเปราะ  5 – 6 ลูก  ผ่า 4 ,  ใบมะกรูด 3 – 4 ใบ ฉีก ,  พริกสด 3 – 4 เม็ด  หั่นเฉียง, กระชาย  5 – 6 ราก  หั่นเป็นเส้นฝอยตามแนวยาว  , พริกไทยสด  3 – 4 ช่อ  ,  ใบโหรพา  1 ขยุ้มมือ  , น้ำมันพืช 2 ช้อนโต๊ะ , น้ำปลา , น้ำตาลทราย  วิธีทำ ตั้งกระทะไฟปานกลาง  ใส่น้ำมันให้ร้อนแล้วนำพริกแกงลงไปผัดให้สุกหอม  ใส่น้ำปลา น้ำตาล ตามชอบ   จากนั้นใส่เนื้อปลาหมึกหั่นลงไปผัดเร็วๆ  ตามด้วยมะเขือเปราะ  เติมน้ำได้นิดหน่อย  มะเขือเปราะสุกแล้วใส่กระชาย พริกไทยสด ใบมะกรูด ใบโหรพา และพริกสด   ผัดฉ่าปลาหมึก เครื่องปรุงและวิธีทำ คล้ายกับปลาหมึกผัดเผ็ด  แต่... เปลี่ยนจากพริกแกง เป็น กระเทียมไทยสับกับพริกขี้หนู  และใบโหระพา เป็นกะเพรา  และมะเขือเปราะเป็นยอดมะพร้าวหั่นเส้นแทน  

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 119 เมนูกุ้งฝอย

  ที่ผักไห่ บ้านแม่ ซึ่งอยู่ในเขตลุ่มน้ำท่วมทุกปี ร่วม 4 เดือน นับแต่ราวปลายเดือนกันยายน – มกราคม เป็นช่วงที่คนครัวต่างรอต้อนรับการกลับมาของตลาดปลาตอนเช้าๆ กันอย่างจดจ่อ แต่หลังหน้าแล้งปีนี้(2553) หรือราวเดือนเมษายนจนเข้าช่วงต้นฝนที่มาล่าในเดือนสิงหาคมนั้นปลาในตลาดที่ถูกจับมาวางขายมีน้อยลงมากกว่าทุกปี  จนน้ำท่วมหลากตอนดีเปรสชั่นเข้าราวกลางเดือนกันยายนที่ฝนตกหนักต่อเนื่องกันนานนับสัปดาห์และน้ำเหนือหลากมาแล้วนั่นแหละ ปลาในน้ำ หนอง และนา เริ่มหาได้ง่ายและมากกว่าช่วงแล้งอย่างเห็นได้ชัด ทั้งปลาเค้า ตะเพียน ตะโกก ปลากด ปลาสร้อย ปลาซิว และอีกสารพันปลา สายๆ ของทุกวัน แม่จะหิ้วถุงปลาตะเพียนมั่ง ปลาหมอมั่ง กลับมาจากตลาด กลับถึงบ้านก็ผ่าท้องควักไส้ออกแล้วล้างสะอาด บั้งเป็นตาถี่ๆ ตลอดแนวลำตัวทั้ง 2 ข้าง โดยไม่ขอดเกล็ด แล้วทอดกรอบๆ หรือบางทีก็แค่ผ่าท้องแล้วย่างปลาด้วยเตาไฟฟ้าไฟไม่แรงนัก ปลาสุกหอมๆ มันๆ กินพร้อมสะเดาที่เข้ากันได้ทั้งน้ำปลาหวาน และน้ำพริกเผาสับมะม่วงเปรี้ยวเป็นเส้นใส่ ขยำกินกับข้าว เป็นเมนูหลักวนเวียนไปในช่วงฤดูแห่งปลามัน จนเดือนมกราคมต้นกุมภาพันธ์ปี 54 เลยทีเดียว   ที่ตลาดนี้ยังมีห่อหมกเจ้าประจำที่ทำขาย ซึ่งโดยปกติแม่ค้าจะใช้เนื้อปลาบดที่ซื้อสำเร็จจากตลาดมาทำขาย แต่หากเป็นต้นหนาวหน้าน้ำหลาก น้ำทรง และน้ำลดลงในช่วงปลาหนาว เราแม่ลูกที่ชอบกินห่อหมกจะเลือกกระทงห่อหมกที่มีหัวปลาช่อนแทนเนื้อบด เพราะเป็นหัวปลาสดๆ ที่แม่ค้าห่อหมกหาซื้อมาได้ กินอร่อยถูกใจกว่าเนื้อปลาบดมาก  นอกจากปลา ยังมีกุ้งฝอย สัตว์น้ำจืดอีกอย่าง ที่ฉันกับแม่เฝ้ารอคอย แม้จะปลายพฤศจิกายนเข้าต้นธันวาคมแล้ว กุ้งฝอยที่เคยมีมาขายยังหายหน้า แม่วนไปตลาดเช้ามาหลายวัน จนวันหนึ่งแม่หิ้วถุงใส่กุ้งฝอยมา แม่บอกว่าแพงกว่ากุ้งเลี้ยงตัวใหญ่ขีดละตั้งหนึ่งบาทแหนะ (ฮา) ได้กุ้งฝอยสดๆ มาแม่จับใส่ตะกร้าล้างน้ำหลายเที่ยวจนสะอาด แล้วเอามาตัด กรี – ส่วนที่เป็นหนามแข็งด้านหัวกุ้งออก แล้วตั้งกระทะ ใส่น้ำกะปริมาณให้พอผัดกับกุ้งฝอยแบบขลุกขลิก เมื่อน้ำร้อนจัดใส่กุ้งลงไปลวก ใช้ตะหลิวพลิกกุ้ง 4 – 5 ครั้ง ก็ดับเตาไฟ ตักกุ้งขึ้นพักให้สะเด็ดน้ำ เท่านี้ก็ได้กุ้งฝอยพร้อมปรุงใส่กล่องแช่เย็นไว้ได้อีกหลายเมนูทีเดียว คราวนี้แหละเราแม่ลูกก็มีเมนูกุ้งฝอยมาให้พอประทังความคิดถึงกันได้แบบชั่วคราว... ระยะหนึ่ง   ยำน้ำพริกเผากุ้งฝอย เครื่องปรุง ; กุ้งฝอยลวกสุก ตะไคร้ซอย หอมแดงซอย ผักชีใบยาวซอย ใบสะระแหน่ ปรุงรสด้วย น้ำพริกเผาแบบเผ็ด (พริกบางช้างแห้งเผา กระเทียมเผา หอมเผา กะปิ เกลือ มะขามเปียก น้ำตาลปี๊บนิดเดียว) น้ำปลา และมะนาว  วิธีทำ ; นำน้ำพริกเผาใส่ในชามอ่าง ใส่น้ำปลาและน้ำมะนาว ละลายน้ำพริกเผาให้เข้ากันดี ชิมรสตามชอบให้จัดจ้านนิดหน่อย แล้วใส่กุ้งฝอย กับผักที่เตรียมไว้ยำ คลุกเคล้าให้เข้ากัน   กุ้งฝอยผัดพริกแกงถั่วพูเครื่องปรุง ; ถั่วพูหั่นท่อน กุ้งฝอยลวกสุก หมูหั่นชิ้น น้ำมันพืช พริกแกงเผ็ด (พริกบางช้างแห้ง หอมแดง ผิวมะกรูด พริกไทย เกลือ กะปิ) น้ำปลา น้ำตาล น้ำ ใบมะกรูดฉีก วิธีทำ ; ตั้งกระทะบนเตาไฟกลางๆ ใส่น้ำมันจนร้อนแล้วนำพริกแกงลงไปผัดให้หอม ใส่เนื้อหมู และกุ้งฝอยลงไปผัดให้สุก เติมน้ำปลา น้ำตาล และน้ำ ชิมรสให้ถูกใจ แล้วใส่ถั่วพู และใบมะกรูด ผัดคลุกเคล้าให้เข้ากันดีแล้วตักเสิร์ฟ  เคล็ดไม่ลับ ; ถั่วพู แม่ใช้วิธีลวกทั้งฝักในน้ำเดือดจัดแล้วตักขึ้นมาใส่ในชามน้ำเย็นทันที แล้วจึงหั่นเป็นท่อนๆ วิธีนี้ทำให้ได้ถั่วพูสีสวยไม่คล้ำเข้มเหมือนการนำถั่วพูสดลงไปผัด           สายบัวผัดกุ้งฝอย เมนูสุดท้ายเป็นสายบัวผัดกุ้งฝอย แม่ว่าเคล็ดผัดสายบัวให้สีสวยใสต้องลวกสายบัวก่อน   ส่วนวิธีผัดเหมือนผัดผักไฟแดงทั่วไป ตั้งกระทะบนเตาไฟแรง ใส่น้ำมันร้อนตีกระเทียมใส่ ตามด้วยหมูและกุ้งฝอยลวก และสายบัว ปรุงรสด้วยน้ำปลาและตัดเค็มด้วยน้ำตาลนิดหน่อย อร่อยแบบไม่ต้องพึ่งซอสปรุงรสและผงชูรสค่ะ

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 118 หวานมะยม

มะยมติดลูกและเริ่มเก็บกินได้ช่วงต้นๆ เดือนตุลาคม ช่วงที่ฝนฉ่ำฟ้าแทบทุกวัน ช่วงใหม่ๆ หลังจากชม้ายตามองแบบหมายปองจะกินมันตั้งแต่ออกลูก กระทั่งลูกมะยมยังเขียวระเรื่อไม่ทันเหลืองใส ก็เดินไปคว้ามันมากินเสียก่อน หลังฝนตกปลิดมะยมออกจากต้นแล้วเคี้ยวสดๆ ไม่พึ่งพิงเครื่องจิ้มแม้จะง่ายที่สุดอย่างเกลือสมใจอยาก แต่ก็กินมันได้ไม่นานไม่มาก เพราะแม้มะยมต้นที่บ้านจะจัดว่าไม่เปรี้ยวจัดแต่ไม่ถึงขั้นจืดไร้เปรี้ยว แต่ก็ชวนเข็ดเขี้ยวยามใช้ฟันบดเคี้ยวอยู่ไม่น้อย   ลูกมะยมข้างต้นที่อยู่ข้างหน้าต่างด้านขวาโต๊ะทำงานย้ายมาอยู่บนจานข้างจอคอมและคีย์บอร์ด พร้อมถ้วยกะปิหวาน ที่ปรุงง่ายๆ จากน้ำปลาหวานที่เหลือกินกับมะม่วงโดยเติมกะปิเพิ่มลงไป สำหรับฉันแล้ว เปรี้ยวแบบมะยมจะกินให้กลมกล่อมกับน้ำปลาหวานที่เหลือจะต้องเค็มและมีกลิ่นรสของกะปิเพื่อเพิ่มความนัวจึงเข้ากันกับความเปรี้ยว แบบมะยม   ฉับพลันที่ความเปรี้ยวจี๊ดจ๊าดผสมผสานความหวานเค็มเผ็ดของเครื่องจิ้มผสานผสมอยู่ในปากและรับรู้รสด้วยลิ้น อาการง่วงซึมเซื่องจากการนั่งหน้าจอพิมพ์ก็อกแก็กก่อนหน้าก็หายไปทันที ด้วยระยะเวลาไม่เกิน 10 นาทีของการจัดเก็บ เตรียมเครื่องจิ้ม และกินอย่างอร่อยเอร็ดนั้นทำให้รู้สึกกระชุ่มกระชวยกระฉับกระเฉงขึ้นมาให้ตั้งหน้าปั่นงานต่อจากบ่ายไปถึงเย็น จนเสร็จ  ระหว่างปั่นงานต่อ ความคิดแว้บๆ ของมะยมเข้ามาโลดแล่นเป็นระยะ แต่นั่นแหละ ยังไงก็จัดการกินลูกมันไปแล้วนี่ อิ อิ   จนค่ำแล้ว ฉันนั่งกินข้าวกับแม่ มะยมแว้บๆ ที่เข้ามาแทรกแซงความคิดระหว่างงานก็เผยออกในสำรับข้าว กินข้าวกันสองคนแท้ๆ ฉันบอกแม่ว่าคิดถึงพี่สาว ลูกของป้าที่แม่เลี้ยงเหมือนลูกอีกคน เมื่อ 2 เดือนก่อนพี่สาวกลับบ้านมาหาและพาแม่ไปเที่ยวที่ตลาดน้ำอโยธยา ครั้นพอเห็นมะยมเชื่อมเสียบไม้ใส่ถุงไว้ พี่สาวฉันก็ทำท่าพยักพะเยิดอย่างเป็นอันรู้กันว่าจะกิน   เม็ดมะยมเชื่อมรสอมเปรี้ยวอมหวานปะแล่มเค็มนิดๆ อยู่ในปากพี่สาว พี่ ฉัน และแม่ก็พลอยคุยกันถึงยายจวงอย่างออกรส   ยายจวงที่ว่า เป็นผู้หญิงวัยสัก 50 แก่กว่าพี่สาวฉันไม่กี่ปี แต่ไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ในตลาดต่างเรียกหญิงคนนี้ว่ายายจวงทั้งนั้น เธอทำขนมเชื่อม ประเภทมะยมเชื่อม มันเชื่อม เสียบไม้ขาย วางใส่ถาดอะลูมิเนียมสี่เหลี่ยมราดน้ำเชื่อมเหนียวหวานสีสวย วางเคียงกับพุทรากวน พุทราแผ่นราดน้ำเชื่อม กล้วยหักมุกเชื่อมสีแดง กล้วยไข่เชื่อมสีเหลืองปลั่ง หม้อใบใหญ่ที่ใส่เส้นราดหน้าเส้นหมี่ เส้นใหญ่ผัดเตรียมไว้กับอีกหม้อที่มีน้ำราดหน้าผัดใส่หมูสามชั้นปนลูกชิ้นสีแดงๆ ผ่าซีก   ส่วนอีกฟากของแผงมีเครื่องหวานเย็นใส่โหลใสเล็กๆ ให้เลือกกิน และมีขาตั้งสำหรับไสน้ำแข็งที่วางซ่อนในกองแกลบด้านหลังของแผง ซึ่งเมื่อจะกินต้องไปเอาน้ำแข็งมาล้างในกะละมังน้ำสะอาดข้างๆ กองแกลบแล้วใส่กระติกพลาสติกที่วางข้างตัวคนขาย แผงร้านยายจวงขายในโรงเรียนประถมในช่วงกลางวัน และย้ายมาขายที่แผงเล็กๆ ข้างศาลาแดง ท่าศาลาน้ำหน้าอำเภอ เป็นที่พึ่งของเด็กๆ ที่กระโจนเล่นน้ำที่หัวกะไดของท่าน้ำ และของชาวตลาดที่พักผ่อนหย่อนใจกันในวันอดีต   มะยมเชื่อม เชื่อมเราเลยไปถึงเรื่องเล่าของตาชู เจ้าของสวนแสนหวง มีอาวุธประจำตัวเป็นหนังสติ๊กที่ไม่เคยยิงเด็กๆ หัวขโมยรักสนุกในตลาด แม้ว่าบ้านเราตอนนั้นจะไม่มีที่ปลูกและมีเงินพอจะซื้อกินเพราะมันก็ไม่ได้แพงมากมาย แต่ใช่ว่ามะยมซื้อจะอร่อยอย่างที่ลักตาชูมากินได้เสียเมื่อไหร่ ทั้งพี่สาวและฉันต่างถูกปู่ตีกำหลาบเพราะแกมาฟ้องปู่แม้จะแบบต่างกรรมต่างวาระ ไม่แน่ใจว่ารสมะยมเชื่อมกับรสรำลึกในวัยอดีตนั้นรสใดนำหน้ากันแน่ วันรุ่งขึ้น แม่เก็บมะยมมาล้าง เอาเขียงคลึงให้มะยมพอช้ำ แล้วเอามะยมที่คลึงแล้วใส่คืนกะละมัง โรยเกลือป่นสัก 1 ช้อนโต๊ะ แล้วคั้น แม่ว่าขยำให้เปรี้ยวมันออกไปบ้าง แม่ขยำจนหนำใจแล้วก็เอาน้ำสะอาดล้างให้หมดจด   จากนั้นแม่ละลายน้ำปูนแดงกับน้ำ แล้วเอามะยมที่ถูกบีบคั้นจนช้ำนั้นแช่ลงไป น้ำปูนใสค่อยๆเปลี่ยนสีผิวของลูกมะยมตรงที่ช้ำๆให้กลายเป็นสีคล้ำออกน้ำตาลเป็นหย่อมๆ แม่ปล่อยมะยมไว้อย่างนั้นแล้วหันไปยุ่งกับหมาๆ ในบ้าน ราวชั่วโมงได้กระมัง จึงเทน้ำปูนใสออกแล้วล้างให้สะอาดอีกที   เย็นแล้ว ถึงเวลาตั้งสำรับ ฉันเตรียมจานข้าวตักกินกับกับที่แม่เตรียมไว้ ก่อนกินข้าว แม่เตรียมเชื่อมมะยม ที่บ้านไม่มีกระทะทองเหลืองอย่างของยายจวง แม่ใช้หม้ออะลูมิเนียมตั้งเตา ใส่มะยม ใส่น้ำแค่พอท่วมมะยมเล็กน้อยแล้วโกยน้ำตาลใส่ 3 – 4 – 5 – 6 ช้อนโต๊ะ แล้วตั้งเตาไฟกลางๆ แล้วกลับมานั่งลงกินข้าวกัน   เท่าที่ดูที่แม่เชื่อมมะยมหลายครั้ง ครั้งไหนที่ใช้น้ำตาลมากจัดและเคี่ยวนาน น้ำงวดจนแห้งและเหนียว สีมะยมเปลี่ยนเป็นแดงสวยได้เองโดยไม่ต้องใส่สีแดงๆ แต่หญิงหวานอยู่แล้วอย่างแม่ที่ต้องควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดก็ไม่เคยจำหรือบอกฉันได้สักทีว่ามะยมเท่านั้นเท่านี้จะใช้น้ำตาลกี่ช้อน!   มาตรากะของแม่ใช้ลิ้นตวงกับความซ้ำซากจำเจในการทำบ่อยๆ เป็นเครื่องวัดข้าวเข้าปากแต่ฉันก็ยังพูดถึงพี่สาวได้เจื้อยๆ ใจนึกอยู่พี่สาวคงไม่น่ากลับมาทันมะยมเชื่อมของแม่งวดนี้แน่ แม่เองก็คงรู้อย่างเดียวกันกับฉันเช่นกันตื่นรุ่งเช้าอีกวัน ฉันตักมะยมเชื่อมใส่กระปุกเล็กๆ 3 อัน หอบเอามาจากบ้านต่างจังหวัดเผื่อเพื่อนที่ไม่ได้เจอะเจอกันเสียนาน กะว่ามะยมเชื่อมในถุงผ้าเที่ยวนี้จะเชื่อมความรำลึก ความทรงจำ และเรื่องราวของเพื่อนขึ้นมาปะติดปะต่อเป็นเรื่องเล่าใหม่ๆ     คุณล่ะ มีความทรงจำอะไรเกี่ยวกับมะยมเชื่อมที่อยากเล่าให้เราฟังกันบ้าง?

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 117 กุ้งอบวุ้นเส้น

  เมนูนี้จัดให้ตามใจกองบรรณาธิการฉลาดซื้อ เป็นเมนูที่ทำง่าย ได้กินไวทันใจ เพียงแต่เตรียมเครื่องปรุงเอาไว้ให้พร้อมสรรพ กับอุปกรณ์ง่ายๆ จะเป็นกระทะไฟฟ้าสำหรับคนอยู่หอ หรือสัญจรไปต่างถิ่น หรือจะทำกินในครัวที่บ้านก็ง่ายมากๆ   สูตรที่จะชวนทำนี้สำหรับจานเล็กๆ 3 จาน โดยไม่เน้นกุ้ง หากแต่ผู้อ่านที่สนใจนำไปปรับใช้ก็สามารถเพิ่มปริมาณเครื่องปรุงต่างๆ ได้ตามถนัดนะคะ   เครื่องปรุงที่ใช้ 1. กุ้ง 5 ตัว จะเป็นกุ้งชีแฮ้ กุ้งขาว กุ้งกุลาดำ หรือกุ้งแม่น้ำก็ได้ ตามแต่อัธยาศัย ล้างกุ้งให้สะอาด โดยแกะออกเฉพาะส่วนหัว เอาขี้ดำๆ ที่หัวออก แล้วนำไปล้างให้สะอาด 2. หมูสามชั้น หั่นหนาขนาด ½ เซนติเมตร 3 ชิ้น ไว้รองก้นกระทะ3. วุ้นเส้น ห่อขนาดกลาง 1 ห่อ แช่น้ำให้เส้นนิ่ม แล้วสงขึ้นมา นำมาตัดเป็นท่อนสั้นๆ ราว 3 – 4 นิ้ว4. ขึ้นฉ่าย 1 กำ ล้างสะอาดแล้วหั่นเป็นท่อน ขนาด 1 – 1½ นิ้ว5. ขิง เลือกแบบไม่แก่ไม่อ่อน ล้างและปอกเปลือกให้สะอาด ฝานเป็นแผ่นบางๆ สัก 15 – 20 ชิ้น6. กระเทียม 3 หัว 2 หัวสำหรับปอกเปลือก ล้าง และทุบให้แหลกนำไปเจียวกับน้ำมันหมูหรือน้ำมันพืช 2 โต๊ะ7. น้ำปลาดี 8. ซีอิ๊วขาว 1ช้อนโต๊ะ9. น้ำมันหอยนางรม 1 ช้อนโต๊ะ10. น้ำตาลทราย ½ ช้อนชา11. พริกไทยเม็ด 15 – 20 เม็ด บดหยาบเครื่องปรุงน้ำจิ้ม12. กระเทียมไทย 1 หัวปอกเปลือกล้างสะอาด 13. พริกขี้หนู 10 – 15 เม็ด14. มะนาว 1 ซีก15. น้ำตาลปี๊บ นิดหน่อย   วิธีทำ1. เจียวกระเทียมสับให้เหลืองหอม2. วางหมูสามชั้นลงบนกระทะเคลือบ3. วางกุ้งที่ล้างเตรียมไว้บนหมู 3 ชั้น4. ปรุงวุ้นเส้น โดยหาชามปากกว้างใส่ซีอิ๊วขาว , น้ำมันหอย , น้ำตาลทราย และพริกไทยบด คนให้เข้ากันดีแล้วจึงนำวุ้นเส้นที่เตรียมไวลงไปคลุกเคล้าให้เข้ากันจนทั่วดีแล้ว ตักแยกเฉพาะน้ำมันที่เจียวกระเทียมมาคลุกเคล้ากับวุ้นเส้นแล้วจึงนำไปวางบนกุ้งในกระทะ5. โรยด้วยขิงซอย แล้วตามด้วยผักขึ้นฉ่าย6. ปิดฝากระทะแล้วตั้งไฟกลางๆ สัก 5 นาที พอได้กลิ่นหอมของกุ้งเป็นอันใช้ได้7. ก่อนเสิร์ฟราดหน้าด้วยกระเทียมเจียวสับอีกที เมื่อจะเริ่มกินก็คลุกเคล้าให้เข้ากัน   วิธีปรุงน้ำจิ้มเหมือนการทำน้ำจิ้มทะเลทั่วไป คือตำพริกกับกระเทียมให้แหลกเข้ากัน ตักใส่ถ้วยปรุงรสด้วยน้ำปลาดี น้ำตาลปี๊บและมะนาว ว่าด้วยกรรมวิธีปรุงก็เป็นอันหมดหน้ากระดาษแล้ว ไว้คราวหน้าจะเขียนเล่าเรื่องราวน่าสนใจเช่นเดิมค่ะ  

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 116 ต้มเค็มปลาตะโกก

ปลายเดือนสิงหาคม เป็นช่วงที่ฝนตกชุกเกือบทุกเย็นค่ำทีเดียว  เช้าวันเสาร์หลังคืนฝนตกและฟ้าเพิ่งหมาดฝนไปเมื่อสาง  วันที่ไม่ต้องตื่นแต่เช้าตรู่จับรถเมล์ประจำอำเภอเข้ากรุงเทพฯ แบบนี้ ตลาดสดดูจะเป็นที่ให้เรียนรู้เรื่องอาหารการกินได้เป็นอย่างดี ที่ตลาดสดเช้านี้มีปลาแม่น้ำออกมาวางขายมากมาย ทั้งปลาเค้า ปลากด  ปลาตะโกก  ปลาตะเพียน  ปลาสวาย และปลาแขยง  ผิดกับช่วงก่อนหน้านี้ ตั้งแต่เมื่อราวเดือนกรกฎาคมที่แม้เข้าสู่หน้าฝน แต่ฝนพัดพามาตกแถวบ้านน้อยครั้งเต็มที ที่ลุ่มอย่างอำเภอผักไห่แม้จะเคยอุดมสมบูรณ์ด้วยปลา มีน้ำปลา และปลาร้าเป็นของขึ้นชื่อของถิ่นนี้มาแต่สมัยก่อน ตอนนี้แทบจะเอ่ยปากบอกได้ว่าแทบจะไม่มีปลาจะกินกันก่อนเลยทีเดียว แม่ค้าปลา 5 – 6 รายที่เอาปลาวางขายต่างยิ้มหัว เมื่อฉันบอกว่าจะวิ่งกลับไปเอากล้องที่บ้านมาถ่ายภาพปลาและตัวแม่ค้า  สัก 5 นาทีให้หลังฉันกลับมาทั้งแม่ค้าปลาและคนขับรถรับจ้างในตลาดต่างพากันเชียร์ให้ซื้อปลากันใหญ่  ฉันว่ารออีกสักพักฉันจะตามไปที่บ้านของพวกเธอและถามว่าอยู่กันแถวไหน  ทุกคนว่ามาจากคลองมะขามเทศ  คลองเล็กๆ ก่อนเชื่อมต่อจากแม่น้ำน้อยผ่านไปทาง ต.ลาดชะโด ฉันนึกภาพตามที่พวกเธอว่า ระหว่างทางสัญจรของ อ.ผักไห่ กับ จ.สุพรรณบุรี จะมีเส้นทางลาดยางเก่าๆ ทอดตัวยาวเป็นแนวขนานไปกับคลองเล็กๆ  ซึ่งบางแห่งจะมียอตั้งอยู่ริมคลองนั้นไม่มากนัก  ผิดกับสมัยที่ฉันยังอยู่ในวัยเด็ก ที่ยอตั้งรอท่าเพื่อยกขึ้นมาถี่กว่าทุกวันนี้ แม่ค้าหลายคนว่า ถ้ามาเช้ากว่านี้มีปลาให้เลือกเยอะ เพราะยกยอกันขึ้นมา  ปลาเค้า ปลาเนื้ออ่อนไม่มีเกล็ดตัวใหญ่มีเยอะกว่าใคร ถูกคนครัวร้านอาหารเหมาซื้อไปมากโขแล้วก็ยังมีเหลืออยู่  ฉันนึกในใจว่ามาตลาด 7 โมงเช้านี่ก็ถือว่าเช้าแล้วสำหรับฉันเชียวนา แม่ค้าปลาเกือบทั้งหมดมาจากบ้านที่หาปลากันเอง หลายคนทำนาด้วย  มีเพียงแค่เจ้าเดียวเท่านั้นที่บอกว่าไม่ได้หาเองแต่ไปรับซื้อจากเพื่อนบ้านข้างๆ กันมาขาย การซื้อ-ขายปลาสดในตลาดสดสมัยนี้ต่างไปจากแต่ก่อนด้วยเหมือนกัน  แต่ก่อนตอนไปตลาด ถ้าจะเดินผ่านหรือนั่งชี้เลือกปลาในกะละมังที่แม่ค้าจับขังใส่ไว้ในตาข่าย เวลาพวกมันดิ้นขลุกขลักก็ต้องระมัดระวังเพราะน้ำจะกระเส็นกระสายแตกกระจายอยู่ตามแรงดีดของปลา  คนทำปลาให้กินมักเลือกปลาเป็นๆ ขนาดตัวตามที่ต้องการหรือมีแล้วชี้ในถังหิ้วกลับบ้าน  คนไหนที่ไม่อยากทำปลาเป็นก็ชี้ให้แม่ค้าทุบหัวแล้วเอาเชือกกล้วยร้อยเข้าทางเหงือกออกทางปาก ให้คนซื้อหิ้วกลับไปขอดเกล็ด ผ่าพุงล้างไส้   หากแต่ปัจจุบันคนซื้อหลายคนกลับนิยมซื้อปลาที่ตายแล้วแต่ตายังวาวใส เลือกชี้ให้คนขายช่วยทำปลาจนออกมาเป็นชิ้นๆ พร้อมเอากลับไปปรุงที่บ้านมากกว่าซื้อตัวเป็นๆ จับไปขังก่อนจัดการสังหารเองก่อนปรุงด้วยหวังว่าจะได้เนื้อสดๆ  แม่ค้าปลากดที่ฉันเจอส่วนใหญ่ก็จะเป็นปลากดแช่น้ำแข็งไปเสียหมดแล้ว  แม่ค้าว่าเอาขังไว้มาขายไม่ได้ เดี๋ยวนี้จับปลากดได้ก็ปลดเบ็ดแล้วน็อคน้ำแข็งรวมเอาไว้ พอเช้าก็เอามาขาย  แม้ฉันจะชอบกินเนื้อปลาสดๆ ยังไง พอเจอแบบนี้เข้าก็ต้องตามน้ำไปกับแม่ค้าเขาเหมือนกันนะนี่ เช้านั้นฉันได้ปลาตะโกก ตัวหนัก 9 ขีด ราคา 45 บาทมาบ้าน  ก่อนหน้านี้ฉันเคยสับสนระหว่างปลาตะโกก กับปลาตะเพียนอยู่เหมือนกัน  แต่แม่ว่ามันสังเกตไม่ยากตรงที่ปลาตะโกกตัวยาวกว่าปลาตะเพียน     ตอนได้มามันตายเสียแล้วแหละแต่ตายังใส แม่ว่าไม่ต้องเอาใส่ตู้เย็น สายๆ วันนั้นแม่จัดการผ่าพุงล้างท้องเอาเหงือกออก แล้วต้มเค็ม ต้มมันทั้งเกล็ดนั่นแหละ เพราะเกล็ดปลาตะโกกนั้นเคี้ยวมันอร่อยพอๆ  กับเกล็ดปลาตะเพียนเลยทีเดียว   สูตรต้มเค็มปลาตะโกกพริกไทยเม็ดตำให้แหลกกับกระเทียมและรากผักชี   แล้วเอาไปต้มในน้ำให้เดือด ปรุงรสเปรี้ยวด้วยมะขาม รสหวานด้วยน้ำตาลปี๊บ รสเค็มด้วยเกลือและซีอิ้ว จนรสชาติครบ 3 รสดีแล้ว จึงใส่ปลา ใส่มะเขือเทศ หรือสับปะรด ก่อนจะปิดเตายกหม้อลงให้ใส่ต้นหอมหั่นท่อนลงไปด้วย ปลาตะโกกสดๆ นอกจากจะต้มเค็มอร่อยไม่แพ้ปลาตะเพียนแล้ว ยังเอาไปต้มกับน้ำปลาร้าแล้วแกะเอาแต่เนื้อสุกๆ มาตำโขลกกับเครื่องแกงน้ำยาสำหรับกินกับขนมจีนได้อร่อย เนื้อน้ำยาฟู นุ่ม น่ากินมาก และถ้าคุณเกิดนึกอยากกินปลาตะโกกขึ้นมา ลองออกตามหาที่ตลาดสดใกล้บ้านดูสิคะ  

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 115 ข้าวต้มสุขภาพ และการเตรียมงานใหญ่ชาวกินเปลี่ยนโลก

เมื่อวานมาประชุมออฟฟิศจนค่ำ ทำให้กลับบ้านนอกไม่ทันรถบัสเที่ยวสุดท้าย เมื่อคืนเลยเลือกนอนค้างบ้านพี่เก๋ เพราะใกล้ที่ประชุม สายวันนี้ต้องประชุมเรื่องการออกแบบลานวัฒนธรรม ในงานมหกรรมสมุนไพรแห่งชาติครั้งที่ 7 ซึ่งจะมีขึ้นระหว่าง วันที่ 1 – 5 กันยายน นี้ที่เมืองทองธานี...... ปีนี้นอกจากจะมีเพื่อนเครือข่ายเกษตรทางเลือก และชุมชนต้นแบบความมั่นคงทางอาหารแล้ว ยังมีเครือข่ายหมอยาพื้นบ้านมาร่วมกัน วางแผนออกแบบเนื้อหาและรูปแบบการนำเสนอ ซึ่งในปีนี้ จะเน้นไปเรื่องความหอมของพืชผัก อาหาร และสมุนไพร จากทั่วประเทศไทย มานำเสนอและแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างชุมชนกับผู้สนใจ เพื่อให้เกิดการนำมาปรับประยุกต์ใช้ในวิถีประจำวันได้อย่างสมสมัย ปีนี้มีคอนเซ็ปต์ของมหกรรมสมุนไพรฯ คือ " หอมกรุ่นทั่วไทย หอมไกลทั่วโลก " นอกจากจะมีข้าวหอมหลากชนิด กับผักสมุนไพรเด่นตามคอนเซ็ปต์ของแต่ละภาคมาโชว์ในรูปแบบของอาหารพร้อมชิม และการสาธิตวิธีการปรุงพร้อมสรรพคุณแล้ว ยังมีโซนทางเลือกเพื่อสุขภาพของคนเมือง ซึ่งปีนี้นอกจากจะมีแปลงผักคนเมืองและสาธิตการดูแลสวนครัวแบบอินทรีย์ที่เหมาะกับคนเมืองแล้ว ยังมีหน่วยให้ความรู้เคลื่อนที่ (mobile unite) ของโครงการสวนผักคนเมือง มาเปิดตัวให้ได้รู้จักกันในงาน และตามไปบริการในละแวกใกล้บ้านอีก 7 หน่วยอีกด้วย ปีนี้โครงการพัฒนากลไกอาหารปลอดภัย มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้มาร่วมเปิดบูธให้บริการข้อมูลอาหารปลอดภัยให้กับผู้บริโภคที่สนใจ ในรูปแบบของเกมส์ที่ขออุบไว้ รอให้ท่านผู้สนใจไปร่วมกิจกรรมกันในงาน ส่วนชาวกินเปลี่ยนโลก ปีนี้เตรียม ทำหนังสือเรื่องถั่วพื้นบ้านจากงานศึกษาออกมา 2 เล่ม พร้อมกิจกรรมรณรงค์กินถั่วพื้นบ้าน ซึ่งมี “นิทรรศการถั่วๆ” ว่าด้วยสาธิต การกิน การปลูก และพันธุ์เมล็ดถั่วพื้นบ้าน พร้อมกับนิทรรศการกินได้พร้อมคู่มือการกินโปรไบโอติกพื้นบ้าน !! ทั้งนี้ในบริเวณลานวัฒนธรรมปีนี้ เราออกแบบรณรงค์ลด ละ เลิก การสร้างขยะ โดยขอเชิญชวนให้ผู้สนใจไปงานมหกรรมพกพาภาชนะส่วนตัวสำหรับใส่อาหารรับประทาน จาน ช้อน ปิ่นโต และถุงใส่ของต่างๆ ไปเอง พร้อมมีกิจกรรม “ธนาคารขยะ” เพื่อให้เกิดการหมุนเวียนถุงพลาสติกแล้วมาใช้ซ้ำใหม่อีกด้วย จบการประชาสัมพันธ์ ...เช้าตรู่หลังฟ้าสางใหม่ๆ วันนี้ พี่เก๋ตื่นและลงมาตั้งหม้อข้าวต้มแล้วเตรียมตัวออกไปวิ่งที่สระน้ำ สวนสาธารณะท้ายหมู่บ้าน ก่อนออกไปบอกฉันที่หมกตัวอยู่ในคอมพ์ฯ “ดูข้าวต้มด้วยนะ” จนพี่เก๋กลับมาจากวิ่งแล้วร้องทักฉันเรื่องข้าวต้มนั่นแหละ จึงได้เดินตาตื่นไปดูหม้อข้าวบนเตาแก๊ส เฮ้อ! เกือบไป .... ดีนะที่พี่เก๋ตั้งหม้อข้าวบนเตาไฟอ่อน ข้าวหอมมะลิในหม้อกำลังเดือด ปุดๆ เบาๆ เม็ดขาวๆ แตกปริเปื่อยกำลังชวนกิน นี่ถ้าไหม้คงจะต้องต้มใหม่อีกรอบ พี่เก๋ปิดเตาไฟ หันมาเตรียม เห็ดฟาง เห็ดหอม เต้าหู้ ผักชี กระเทียมและขิง เต้าหู้ขาว 2 ชิ้น หั่นเป็นก้อนพอคำ เห็ดฟาง 1 ขีด และเห็ดหอมสดอีก 1 ขีด ผ่ากลาง ผักชีหั่นหยาบ และขิงซอยเป็นเส้นบาง และบุบกระเทียมไทยไว้ผัด 2 หัว เครื่องปรุงข้าวต้มสุขภาพก็พร้อมปรุงแล้ว!! วิธีทำข้าวต้มสุขภาพ 1.ตั้งกระทะบนเตาไฟ เทน้ำมันลงใส่ รอให้ร้อนแล้วใส่ก้อนเต้าหู้หั่นชิ้นลงไปทอดให้เหลืองหอมจึงปิดเตาแล้วตักเต้าหู้ขึ้นพัก 2.เปิดเตาไฟอีกครั้ง ใส่กระเทียมบุบสับหยาบลงไปผัดในน้ำมันให้เหลืองหอม แล้วลำเลียงเครื่องปรุง อันได้แก่ เห็ดหอมสด เห็ดฟาง และเต้าหู้ทอดลงไปผัดเพื่อดึงความหวานหอมของเนื้อเห็ดออกมา ปรุงรสด้วยซีอิ๊วขณะผัด 3.เมื่อเห็ดหอมและเห็ดฟางสุกแล้วปิดเตาไฟ ตักใส่ลงในหม้อข้าวต้มที่สุกรอไว้ก่อนหน้านี้ คนให้เข้ากัน ชิมและปรุงรสด้วยซีอิ๊ว โรยด้วยขิงซอย ผักชีหั่นหยาบ และพริกไทยป่น ตักเนื้อข้าวต้มในชามเข้าปากแล้วใจก็ยังอดนึกฝักถั่วแปบอ่อนๆ ถ้าเอามาผัดกับเครื่องข้าวต้มเหล่านี้ก็คงอร่อยเนอะ...จำถั่วแปบที่เล่าในเล่มก่อนได้ไหมคะ ถั่วแปบที่ปลูกไว้เมื่อกลางมิถุนายน ครั้นปลายเดือนกรกฎาคมก็ได้เพื่อนบ้านผู้หวังดีมาช่วยตัดหญ้าหน้าบ้านให้ แต่ความที่เขาไม่รู้จักก็เลยตัดต้นถั่วแปบที่กำลังงามทิ้งไปด้วย กะว่าในงานมหกรรมฯ นี่แหละ คงจะได้ต้นและเมล็ดถั่วแปบกลับไปปลูกใหม่ที่บ้านอีกครั้ง คุณล่ะคะ สนใจถั่วแปบและถั่วและโปรไบโอติกพื้นบ้านหรือเปล่า? ถ้าสนใจเชิญในงานมหกรรมฯ นะคะ ไว้เจอกัน  

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point