ฉบับที่ 180 สถานการณ์รถยนต์ส่วนบุคคลที่ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า Electricity car (E-car) ของเยอรมนี

โดย ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค ประธานอนุกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านสินค้าและบริการปี 2007 รัฐบาลเยอรมนีมีมติสนับสนุนเงินงบประมาณให้กับโครงการรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า (E-car) โดยมีเป้าหมายว่า ภายในปี 2020 จะต้องมีจำนวนรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าไม่ต่ำกว่า 1 ล้านคันวิ่งบนท้องถนน แต่จากข้อมูลของกรมการขนส่งทางบก (Kraftfahrtbundesamt: KBA) ในปี 2015 มีเพียงแค่ 31,000 คัน เท่านั้น ซึ่งยังห่างไกลจากเป้าหมายที่วางไว้มาก และในเดือนมกราคม ปี 2016 ที่ผ่านมา มีรถไฟฟ้าที่ขอจดทะเบียนเพียงแค่ 477 คัน จากรถทั้งหมด 218,365 คัน (น้อยกว่า 27% เมื่อเทียบกับข้อมูลจากปีที่แล้วในเดือนเดียวกัน) และมีเพียง 976 คันที่เป็นรถ plug-in hybrid (รถที่ขับเคลื่อนด้วยน้ำมันและไฟฟ้า) ทำให้การเติบโตและความนิยมของรถไฟฟ้าต่ำกว่าความคาดหวังของตลาดรถยนต์ แม้ว่าภาพลักษณ์ของรถไฟฟ้าถูกมองว่าเป็นความหวังของอนาคต เนื่องจากเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ไม่สร้างมลพิษ และโฆษณาชวนเชื่อว่า ปล่อยก๊าซเรือนกระจก 0 กรัม สำหรับรถแบบ plug in hybrid ที่ โฆษณาว่า ประหยัดพลังงาน ยกตัวอย่างรถ ปอร์เช่ Cayenne S E-hybrid ใช้น้ำมันเพียง 3.4 ลิตร ต่อ 100 กิโลเมตร และได้ฉลากประหยัดน้ำมันระดับ A+ ในการปล่อยก๊าซ CO2  สู่บรรยากาศ (ซึ่งยังไม่ได้รวมปริมาณการปล่อยก๊าซ CO2 จากการใช้ไฟฟ้า ที่เกิดจาก โรงไฟฟ้า) แต่สิ่งที่สำคัญสำหรับรัฐบาลเยอรมนี คือ การติดตามผล การดำเนินนโยบายในอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ ที่จะผลักดันให้เยอรมนีเป็นผู้นำในด้าน รถไฟฟ้า ในด้านการตลาด และเป็นผู้นำในการส่งออก ซึ่งใช้มาตรการให้เงินสนับสนุน (Kaufprämien: buyer’s premium) แก่ผู้ผลิตหลังจากที่ได้มีการพูดคุยกันระหว่างรัฐบาล และผู้ประกอบการผลิตรถยนต์ รถที่ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมจริงหรือไม่ ? แน่นอนว่าถ้าใช้รถที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า (E-Car) ปัญหาของก๊าซ NOX จะลดลง แต่อย่างไรก็ตามมีความจำเป็นที่จะต้องมองภาพรวมการก่อให้เกิดมลพิษโดยรวม ด้วยเทคโนโลยีการผลิตแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า ในปัจจุบันใช้พลังงานสิ้นเปลืองมากเช่นกัน นอกจากนี้การผลิตกระแสไฟฟ้า ซึ่งส่วนใหญ่ใช้ถ่านหิน ก็มีส่วนในการปลดปล่อยก๊าซสู่บรรยากาศอย่างมหาศาลเช่นกัน ยังไม่รวมถึงก๊าซพิษอื่นๆ เช่น ปรอทที่เกิดจากการเผาไหม้ถ่านหิน หากพิจารณาถึงสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าในเยอรมนีซึ่งขณะนี้ใช้ถ่านหิน ถึง 42 % ก็หมายความความว่า การใช้รถขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้านั้น ไม่ได้หมายถึงการลดมลภาวะ และก๊าซเรือนกระจกสู่บรรยากาศ หากเปรียบเทียบกับ รถที่ใช้เบนซิน ก๊าซธรรมชาติ ดีเซล และเครื่องยนต์ ไฮบริดที่มีประสิทธิภาพ จากข้อมูลของสมาคมยานยนต์ของเยอรมนี (VCD) รถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า (E-Car) ปล่อยก๊าซ CO2 67-103 กรัมต่อ ระยะทาง 1 กิโลเมตร ในขณะที่รถยนต์ที่ติดอันดับต้นๆในการประหยัดพลังงานที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานอย่างอื่น ปล่อยก๊าซ CO2 ระหว่าง 79-94 กรัมต่อระยะทาง 1 กิโลเมตรความคาดหวังของรัฐบาลเยอรมนี ในการสนับสนุนรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า คืออะไรจริงๆ แล้วเงินสนับสนุนที่รัฐทุ่มให้กับรถยนต์ E- Car นั้น ไม่ว่าจะเป็นการลดราคาให้ผู้ซื้อ (buyer’s premium) คันละ 5000 ยูโรหรือ การลดภาษี เพื่อส่งเสริมให้เกิดการใช้งาน E-Car ในวงกว้างนั้น อาจไม่เป็นดังที่รัฐบาลคาด (รัฐบาลสนับสนุนงบประมาณที่สูงถึง 2500 ล้านยูโร) ที่จะทำให้เกิดการขยายปริมาณการใช้รถยนต์ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า ให้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ ซึ่งงบประมาณดังกล่าว เปรียบเสมือนของขวัญที่รัฐบาลมอบให้กับอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ทำอย่างไร รถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าจึงจะขยายตัวการใช้งานได้มากขึ้น หากเราพิจารณาแต่เพียงรถยนต์ส่วนบุคคล อาจเป็นการมองที่คับแคบไป จริงๆ แล้วขณะนี้ในเยอรมนีเอง ก็มีรถขนส่งสาธารณะที่ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า ซึ่งมีมานานแล้วแทบทุกเมือง นอกจากนี้ รถไฟฟ้าความเร็วสูง รถไฟ รถบัสที่ขนส่งในเมือง ก็ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าอยู่แล้ว นอกจากนี้ รถจักรยานไฟฟ้า ก็เป็นที่นิยม ในปี 2015 สามารถจำหน่ายรถจักรยานไฟฟ้า ได้ถึง 500,000 คัน ซึ่งเหมาะสำหรับการขนส่งสินค้าในเมืองใหญ่     ดังนั้นเป้าหมายที่ทางรัฐบาลเยอรมนี เพิ่มปริมาณรถที่ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า 1 ล้านคัน (ซึ่งคิดสัดส่วนเทียบกับปริมาณรถทั้งหมด เพียงแค่ 2 %) แทบไม่ได้ส่งผลต่อการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกเลย จากข้อมูลดังกล่าว ผู้เชี่ยวชาญมีความเห็นว่า รัฐบาลเยอรมนี ไม่ควรให้น้ำหนักกับปริมาณรถไฟฟ้าที่จะวิ่งในถนนให้ครบ 1 ล้านคัน ตามเป้าที่ได้ตั้งไว้แต่แรก แต่ควรตั้งเป้าในการลดต้นทุนการผลิตแบตเตอรีประกอบกับพัฒนาประสิทธิภาพแบตเตอรี เพื่อให้รถสามารถวิ่งได้ในระยะทางไกลขึ้น ซึ่งขึ้นอยู่กับความจริงใจของภาคอุตสาหกรรมในการปฏิวัติเทคโนโลยีระบบการขับเคลื่อนแบบใหม่ ที่ไม่จำเป็นต้องรอความช่วยเหลือจากรัฐบาลเลย(ที่มา http://www.tagesschau.de/wirtschaft/elektroautos-kaufpraemien-101.htm)  

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 179 สมาร์ทโฟน รุ่นไหนที่เหมาะกับความต้องการของเรา

โดย ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค ประธานอนุกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านสินค้าและบริการบทความในเดือนนี้ผมขอเสนอผลการรีวิวการทดสอบ สมาร์ตโฟนทั้งรุ่นเก่า และรุ่นใหม่ จำนวน 100 รุ่น ของ มูลนิธิทดสอบสินค้าแห่งเยอรมนี (Stiftung Warentest) ตั้งแต่เดือน กรกฎาคม 2014  มีผลสรุปโดยแบ่งประสิทธิภาพและคุณภาพเป็น 4 กลุ่มตามตารางข้างล่างนี้ หวังว่าสมาชิกฉลาดซื้อสามารถใช้ข้อมูลนี้ เลือกซื้อสมาร์ตโฟนเป็นของขวัญในปีใหม่นี้ ได้อย่างฉลาดและรู้เท่าทันกันนะครับ ท้ายนี้ผมขออำนาจคุณพระศรีรัตนตรัย ดลบันดาลให้ทุกท่านเจริญด้วยอายุ วรรณะ สุข พละ ตลอดปีวอก 2559 ครับ ผลการรีวิวการทดสอบสมาร์ตโฟน          

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 177 Smart watch

โดย ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค ประธานอนุกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านสินค้าและบริการสมาร์ตวอตช์ ทำหน้าที่เหมือนกับเป็นคอมพิวเตอร์พกพาขนาดจิ๋วที่ทำหน้าที่ดังต่อไปนี้•    แจ้งการรับข้อมูล ในกรณีที่มี SMS อีเมล และข้อความข่าวสารที่ส่งเข้า•    แจ้งเตือนหมายนัดต่างๆ•    โทรศัพท์ •    เก็บข้อมูลจากกิจกรรมการเล่นกีฬาเช่น จ๊อกกิ้ง ปั่นจักรยาน และตีกอล์ฟ•    เป็น navigator บอกทิศทางในการเดินทาง ตั้งแต่เดือน เมษายน- มิถุนายน 2015 มูลนิธิทดสอบสินค้าแห่งเยอรมนี (Stiftung Warentest) ได้ทำการทดสอบ สมาร์ตวอตช์ จำนวน 12 ยี่ห้อ ได้แก่1. Apple watch 42 mm,2. Apple sport watch 42 mm, 3. LG G watch R, 4. LG Watch Urbane, 5. Samsung Gear S, 6. Sony Smart Watch 3, 7. Asus ZemWatch, 8. Pebbele Time9. Pebbel Steel, 10. Motorola Moto 360, 11. Garmin Vivoactive, 12. Alcatel Onetouch Watch ผลการทดสอบไม่มียี่ห้อไหนได้คะแนน ดีมาก ยี่ห้อที่ได้คะแนนพอใช้ ได้แก่ 1. Apple watch 42 mm (คะแนนเฉลี่ย 2.6)* 2. Apple sport watch 42 mm (คะแนนเฉลี่ย 2.7) 3. LG G watch R (คะแนนเฉลี่ย 3.0) 4. LG Watch Urbane (คะแนนเฉลี่ย 3.2) 5. Samsung Gear S (คะแนนเฉลี่ย 3.2) 6. Sony Smart Watch 3 (คะแนนเฉลี่ย 3.3) 7. Asus ZemWatch (คะแนนเฉลี่ย 3.5) 8. Pebbele Time (คะแนนเฉลี่ย 3.5)ยี่ห้อที่ได้คะแนนเพียงแค่ผ่านได้แก่ 9. Pebbel Steel (คะแนนเฉลี่ย 3.6) , 10. Motorola Moto 360 (คะแนนเฉลี่ย 3.7), 11. Garmin Vivoactive (คะแนนเฉลี่ย 4.3)ยี่ห้อที่ได้คะแนน ไม่ผ่าน ได้แก่ 12. Alcatel Onetouch Watch (คะแนนเฉลี่ย 4.8) ในโปรแกรมการทดสอบ หน่วยงานที่ทดสอบให้ความสำคัญกับเรื่อง การป้องกันข้อมูลส่วนบุคคล กรณีสมาร์ตวอตช์ ยี่ห้อ Alcatel Onetouch Watch และ ยี่ห้อ Garmin Vivoactive นาฬิกาได้ส่งข้อมูลอัตโนมัติโดยที่ไม่มีการใส่รหัสป้องกันความลับของข้อมูล ทำให้ข้อมูลของผู้ใช้งานสามารถถูกดักจับและนำไปทำ user profile ซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิข้อมูลส่วนบุคคลตามกฎหมายเยอรมันหวังว่าข้อมูลผลการทดสอบเป็นประโยชน์ต่อสมาชิกฉลาดซื้อได้บ้างพอสมควร*หมายเหตุ หลักการคิดเกรดการคะแนนตามแนวทางของคนเยอรมันนั้น มีลักษณะ ตัวเลขน้อยคือ เกรดดี ตัวเลขมากคือ เกรดแย่ ดังนี้เกรด 1 หมายถึง ดีมาก (เกรดเฉลี่ยน้อยกว่า 1.6 ขึ้นไป)เกรด 2 หมายถึง ดี (เกรดเฉลี่ยระหว่าง 1.7- 2.6)เกรด 3 หมายถึง พอใช้ (เกรดเฉลี่ยระหว่าง 2.7- 3.6)เกรด 4 หมายถึง ผ่าน (เกรดเฉลี่ยระหว่าง 3.7-4.6)เกรด 5 หมายถึง ไม่ผ่าน (เกรดเฉลี่ย มากกว่า 4.7 ลงไป)(ที่มา วารสาร Test 8/2015)  

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 176 เมื่อโฟล์คสวาเก้น อาจต้องรับผิดตามกฎหมายสินค้าชำรุดบกพร่อง

โดย ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค ประธานอนุกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านสินค้าและบริการจากเหตุการณ์ กรมควบคุมมลพิษของอเมริกา ( EPA) ได้แจ้งข้อกล่าวหาต่อ บ. โฟล์กสวาเกน (VW) ว่า จงใจที่จะหลอกลวงการแสดงข้อมูลการวัดค่าไอเสียจากรถยนต์ดีเซลรุ่น Jetta, Beatle, Passat และ Audi A 3 เนื่องจากซอฟท์แวร์แสดงผลการวัดต่ำกว่าค่าความเป็นจริงถึง 10- 40 เท่าในสภาวะการขับแบบปรกติ ซึ่งเกินกว่าค่าที่ทางกรมควบคุมมลพิษของอเมริกากำหนด ต่อกรณีดังกล่าวผู้บริโภคตามกฎหมายเยอรมันสามารถทำอะไรได้บ้างเมื่อรถยนต์ที่ซื้อมามีปัญหาชำรุด บกพร่องโฟล์คสวาเก้นมีหน้าที่ ที่จะต้องเรียกคืนรถที่มีปัญหาจากการวัดค่าไอเสียรถยนต์คืนหรือไม่ ?ไม่จำเป็น ตามหลักกฎหมายเยอรมัน บริษัทจะเรียกรถคืนก็ต่อเมื่อรถยนต์นั้นก่อให้เกิดความไม่ปลอดภัยต่อชีวิตของลูกค้า ในกรณีความผิดพลาดจากเครื่องมือวัดไอเสียที่ติดตั้งในตัวรถนั้นยังไม่ถึงกับ ก่อให้เกิดความไม่ปลอดภัยต่อชีวิต แต่โฟล์คสวาเก้นสามารถเรียกคืนรถยนต์คันที่มีปัญหาดังกล่าวตามความสมัครใจ หรือ ในกรณีที่โฟล์คสวาเก้นไม่อยากสร้างความยุ่งยากใจให้กับลูกค้า เพราะลูกค้าสามารถใช้สิทธิเรียกร้องให้โฟล์คสวาเก้นชดเชยค่าเสียหายและความบกพร่อง (Mängelrechte) ที่เกิดขึ้นได้ ซึ่งจะมีผลต่อภาพลักษณ์ของและความน่าเชื่อถือของบริษัท สิ่งที่น่าติดตามสำหรับผู้บริโภคขณะนี้คือ รอดูว่าโฟล์คสวาเก้นมีข้อเสนอให้กับลูกค้าอย่างไร ผู้บริโภคมีสิทธิอะไรบ้างในกรณีนี้ตามหลักกฎหมายแพ่งของเยอรมนี ในกรณีที่ลูกค้าซื้อสินค้า เมื่อภายหลังปรากฏว่า เป็นสินค้าชำรุดบกพร่อง ค่าไอเสียที่ปล่อยออกมามีค่าสูงมากเกินกว่ากฎหมายกำหนด หรือทำให้ ใช้น้ำมันมากกว่าที่โฆษณาไว้ ผู้บริโภคสามารถใช้สิทธิเรียกร้องตามกฎหมาย การประกันสินค้า (Gewährleistungsrecht: defect liability law) หลักการใช้สิทธิเรียกร้องตามกฎหมายดังกล่าวคือ •    เรียกร้องให้ผู้ผลิตหรือผู้ขาย ซ่อมแซมสินค้าให้เป็นไปตามสัญญาหรือที่โฆษณาไว้ (Nacherfüllung) โดยจะต้องกำหนดเงื่อนไขของเวลาในการซ่อมแซมให้รถมีสภาพเหมือนเดิมอย่างสมเหตุสมผล ในกรณีการขอเปลี่ยนรถให้ใหม่นั้น ต้องไม่เป็นภาระต่อผู้ผลิตหรือผู้ขายมากเกินไป ซึ่งผู้ผลิตมักจะเลือกการซ่อมแซมแทนการเปลี่ยนของใหม่ให้ก่อน •    นอกจากนี้ผู้บริโภคสามารถบอกยกเลิกสัญญากับผู้ขายได้ (Rücktritt) โดยสามารถคืนรถที่มีปัญหา และขอเงินคืน โดยคิดราคาค่าเสื่อมจากการใช้รถไปแล้วบางส่วน ซึ่งสามารถคิดจากระยะทางที่รถวิ่งมาแล้ว กรณีการคืนรถสามารถทำได้ ถ้าผู้ผลิตไม่สามารถซ่อมแซมแก้ไขให้รถมีสภาพกลับคืนมาเหมือนเดิมได้ หรือ ผู้ผลิต ซ่อมแล้วซ่อมอีกจนทำให้ผู้บริโภคเดือดร้อนรำคาญ (unzumutbar) •    การขอลดหย่อนราคา (Minderung) ในกรณีที่รถมีความเสียหาย หรือบกพร่องเล็กน้อย ผู้บริโภคสามารถขอลดหย่อนราคาจากผู้ขายหรือผู้ผลิตได้ ผู้บริโภคสามารถใช้สิทธิตามกฎหมายการประกันสินค้ากับใครเนื่องจากผู้บริโภคไม่ได้ซื้อรถกับบริษัทผู้ผลิตรถยนต์โดยตรง แต่ซื้อผ่านบริษัทตัวแทน ตามกฎหมายการประกันสินค้า (Gewährleistungsrecht: defect liability law) ผู้บริโภคต้องเรียกร้องสิทธิผ่านบริษัทตัวแทนขายรถยนต์ที่มีสัญญาต่อกัน บริษัทตัวแทนขายรถยนต์ (Dealer) สามารถเรียกค่าเสียหายกับโฟล์คสวาเก้นในฐานะผู้ผลิตรถยนต์ ต่อ ได้หรือไม่สามารถเรียกร้องได้ เนื่องจากมี นิติสัญญาต่อกัน อายุความตามกฎหมายการประกันสินค้ามีระยะเวลานานเท่าใดปกติอายุความจะมีอายุ 2 ปีนับจากวันที่ทำสัญญาซื้อรถ แต่ในกรณีที่สินค้าชำรุดบกพร่องมาตั้งแต่กระบวนการผลิตจากโรงงาน และบริษัทตัวแทนจำหน่ายก็ไม่ได้มีส่วนรู้เห็นความผิดพลาดของรถยนต์ เนื่องจากทางบริษัทย่อมปกปิดข้อผิดพลาดดังกล่าวด้วย อายุความในกรณีนี้ก็จะยาวนานขึ้น ในกรณีนี้ อายุความขยายเป็นสามปี นับจากวันที่ผู้บริโภคทราบถึงความชำรุดบกพร่องนั้น กรณีที่ ผู้บริโภคมีประกัน (Guarantee) จากผู้ผลิต สามารถทำอะไรได้บ้างผู้ผลิตรถยนต์มักจะเสนอบริการ ให้การรับประกันจากผู้ผลิต (manufacturer guarantee) เพิ่มเติมกับผู้บริโภค แต่การประกันแบบนี้จะต่างจาก การประกันตามกฎหมายประกันความชำรุดบกพร่องของสินค้า (Gewährleistungsrecht: defect liability law) ซึ่งมีสภาพบังคับ ในกรณีนี้ผู้ผลิตรถยนต์สามารถเสนอการรับประกันรถยนต์ซึ่งมีเวลานานกว่า 2 ปีตามความสมัครใจ หากผู้บริโภคมีประกันประเภทนี้ ก็สามารถใช้สิทธิดำเนินการให้ผู้ผลิตนำรถยนต์ที่มีปัญหาไปปรับปรุง ซ่อมแซมแก้ไขได้ สัญญาประกันแบบนี้ เป็นนิติกรรมที่ผู้ผลิตรถยนต์มีผลผูกพันกับผู้บริโภคโดยตรง สำหรับผู้บริโภคในไทยตอนนี้ คงต้องรอ พ.ร.บ. ความรับผิดต่อการชำรุดบกพร่องของสินค้า (Lemon Law) ที่ผ่านการลงมติเห็นชอบจากสภาปฏิรูปแห่งชาติเรียบร้อยแล้ว แต่ยังรอการพิจารณาในชั้นของสภานิติบัญญัติแห่งชาติอยู่ อีกหนึ่งความหวังของกฎหมายดีๆ ที่มักจะถูกละเลย และขัดขวางจาก ผู้มีอำนาจทางการเมืองหลายฝ่าย ที่ยังเข้าใจว่า การคุ้มครองผู้บริโภคเป็นอุปสรรคต่อการประกอบธุรกิจและอุตสาหกรรม ทว่าจริงๆแล้วการคุ้มครองผู้บริโภคที่ดี เป็นการส่งเสริมธุรกิจ การแข่งขันทางการค้า และเป็นการส่งเสริมธรรมาภิบาลอีกทางหนึ่งที่สำคัญ  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 175 การเลือกซื้อรองเท้าสำหรับวิ่งออกกำลังกาย

โดย ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค ประธานอนุกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านสินค้าและบริการการวิ่งออกกำลังกายเป็นการลงทุนที่มีความสำคัญต่อสุขภาพ เพราะสุขภาพแข็งแรงเป็นสิ่งที่ไม่สามารถซื้อ แต่ต้องลงมือทำเอง ภาพคนวิ่งออกกำลังกายในสวนสาธารณะในกรุงเทพ และต่างจังหวัดเป็นสิ่งที่เราเห็นได้ทั่ว ๆ ไป สิ่งที่ควรคำนึงของนักวิ่งคือ เรื่องน้ำหนักร่างกายที่จะส่งผลต่อแรงกระแทกในขณะที่กำลังวิ่ง แรงที่กระแทกมีขนาดเท่ากับสองถึงสามเท่าของน้ำหนักตัว หากเราหนัก 60 กิโลกรัม แรงกระแทกที่กระทำต่อข้อเท้า เข่า อาจสูงถึง 180 กิโลกรัม คนที่ชอบวิ่งเป็นประจำ มีความจำเป็นที่จะต้องหารองเท้าสำหรับวิ่งที่เหมาะสม เพื่อลดแรงกระแทกและป้องกันปัญหาเรื่องการบาดเจ็บที่ข้อเท้า เข่าและสะโพกเสื่อมสภาพลงสิ่งที่ต้องคำนึงในการเลือกซื้อรองเท้าวิ่งโดยทั่วไป ได้แก่ ลักษณะของข้อเท้าในขณะที่วิ่ง กรณีที่เราวิ่ง การบิดของข้อเท้า น้อยหรือไม่มีเลย (normal pronation) เราควรจะเลือกรองเท้าวิ่งแบบ neutral running shoes ดูรูปที่ 1 aกรณีที่การบิดของข้อเท้ามาก เข้าด้านใน หรือ ออกด้านนอก (over pronation) ควรจะเลือกรองเท้าวิ่งแบบ stability running shoes ดูรูปที่ 1 b และ c (คำแนะนำ สำหรับนักวิ่งที่ต้องการทราบลักษณะการวิ่งของตัวเองว่า การบิดข้อเท้าเป็นอย่างไร ในต่างประเทศจะมีผู้เชี่ยวชาญทางด้านการวิ่งในร้านขายรองเท้าเฉพาะนักวิ่ง (specialist running shoe shop) ให้คำปรึกษาได้ แต่สำหรับนักวิ่งในประเทศของเราอาจต้องลองหาคำปรึกษาจากหมอเวชศาสตร์ฟื้นฟู หรือ หมอทางด้านออร์โธปิดิกส์) หรือต้องให้เพื่อนร่วมวิ่งช่วยสังเกตข้อเท้าของเราขณะที่วิ่งก็ได้ โดยคนสังเกตจะคอยวิ่งตามหลังเรา)    ความสามารถในการรับแรงกระแทกการพิจารณาสมบัติของรองเท้าวิ่งในข้อนี้จำเป็นต้องใช้การทดสอบในห้องแลป ทาง biomechanics โดยใช้เซนเซอร์วัดแรงกระแทกติดไว้ที่รองเท้าวิ่ง แต่อย่างไรก็ตามทีมงานฉลาดซื้อ ก็มีผลการทดสอบรองเท้าวิ่ง จากองค์กรทดสอบและวิจัยสินค้านานาชาติ ( International Consumer Research and Testing ICRT) มาเผยแพร่ให้สมาชิกฉลาดซื้อได้รับทราบเป็นระยะๆ สำหรับคอลัมน์นี้ขอนำผลการทดสอบขององค์กรทดสอบสินค้าเยอรมัน (Die Stiftung Warentest) มาเผยแพร่ผลการทดสอบรองเท้าวิ่ง ซึ่งผลการทดสอบในประเด็นความสามารถในการรับแรงกระแทกของรองเท้าที่ได้คะแนนดี- ดีมาก ได้แก่•    รองเท้ากลุ่ม neutral running shoes ได้แก่ ยี่ห้อ Asics รุ่น Gel-Cumulus 16, New Balance 880 V4, Mizuno Wave Ultima 6, Solomon X-Scream 3D•    รองเท้ากลุ่ม stability running shoes ได้แก่ ยี่ห้อ Asics GT-1000 3, Mizuno Wave Inspire 11 และยี่ห้อ Brooks Adrenaline GTS 15สำหรับนักวิ่งสมัครเล่นที่ซ้อมน้อย ยิ่งควรเลือกรองเท้าวิ่งที่มีความสามารถในการรับแรงกระแทกได้ดี เพราะจะช่วยป้องกัน ข้อเท้า และข้อเข่าได้ดีกว่า ช่วยลดปัญหาในการบาดเจ็บขณะวิ่งได้ เพื่อที่เราจะสามารถวิ่งออกกำลังกายเพื่อสุขภาพไปได้นานๆ (ที่มา: วารสาร Test ฉบับที่ 8/ 2015)  รูปที่ 1 ลักษณะการบิดข้อเท้าแบบต่างๆ ของนักวิ่ง a) การบิดของข้อเท้า น้อยหรือไม่มีเลย (normal pronation) b) การบิดของข้อเท้าแบบ เข้าด้านใน c) การบิดข้อเท้าออกด้านนอก

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 174 คุณภาพสมาร์ทโฟนระหว่าง รุ่นเก่า Vs. รุ่นใหม่

โดย ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค ประธานอนุกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านสินค้าและบริการ...เก่าไป ใหม่มา คลื่นลูกเก่าหายไป คลื่นลูกใหม่ย่อมมีมาแทน... เวลาที่เราได้ฟังเพลงฮิตเพลงนี้ ของวงนูโว เมื่อ 20 กว่าปีที่แล้ว ทำให้เราเข้าใจว่า ของใหม่ที่ผลิตมาแทนของรุ่นเก่านั้นย่อมดีกว่า มีคุณภาพดีกว่า มายาคตินี้ ได้ตอกย้ำให้เห็นว่าไม่จริงเสมอไป โดยผลการทดสอบสมาร์ตโฟนล่าสุดของ มูลนิธิทดสอบสินค้าแห่งเยอรมนี (Stiftung Warentest) ฉบับที่ 8/2015 มีผลสรุปดังนี้1.    Samsung S6 สวยกว่า แต่ Samsung S5 ดีกว่ารูปลักษณ์ภายนอกของ Samsung S6 โครงของสมาร์ตโฟน (body) ทำจากพลาสติก ทำให้ดูดีมีสไตล์ ในขณะโครงของ Samsung S5 ทำจาก โลหะและกระจกแก้ว นอกจากนี้ข้อด้อยของรุ่น S6 คือ ผู้บริโภคไม่สามารถเปลี่ยนแบตเตอรีได้เองอีกแล้ว เพราะแบตเตอรีจะติดแน่นกับตัวเครื่อง ข้อด้อยอีกอย่างหนึ่งของสมาร์ตโฟนรุ่นใหม่ เมื่อเทียบกับรุ่นเก่าคือ พลังงานไฟฟ้าของแบตเตอรีหมดเร็วกว่า จากการทดสอบการโทรศัพท์ ปรากฏว่า แบตเตอรีของรุ่นใหม่ หมดเร็วกว่ารุ่นเก่าถึง 6 ชั่วโมงตัว memory card ภายใน สำหรับเพิ่มปริมาณการเก็บข้อมูลก็ไม่สามารถขยายต่อเติมได้ ราคาสมาร์ตโฟน Samsung S6 ในเยอรมันราคาอยู่ที่ 700 ยูโร ในขณะที่ ราคาของ รุ่น S5 อยู่ที่ 430 ยูโร แนะนำว่าถ้าไม่สนใจเรื่องรูปลักษณ์ภายนอกและอยากประหยัดก็แนะนำว่า รุ่น S5 ก็ยังมีคะแนนโดยรวมจากการทดสอบสูงกว่ารุ่น S62.    สมาร์ตโฟน LG G4 คุณภาพไม่ได้แตกต่างจาก รุ่น G3 แต่ราคาแพงกว่า ราคาของ LG G4 อยู่ที่ 665 ยูโร ในขณะที่ รุ่น G3 อยู่ที่ 290 ยูโร สมาร์ตโฟนถึงแม้นว่า คุณภาพของกล้องและ วิดีโอจะดีกว่า รุ่น G3 แต่แบตเตอรีของรุ่น G4 หมดเร็วกว่ารุ่น G3 ถึง 6 ชั่วโมงครึ่ง 3.    สมาร์ตโฟน HTC One M9 Vs. HTC M8 จากผลการทดสอบ ทั้งรุ่นเก่า ( HTC M8) และรุ่นใหม่ (HTC One M9) ยังอยู่ในกลุ่ม คุณภาพดีทั้งคู่ แต่รุ่นใหม่ก็ยังด้อยกว่ารุ่นเก่า ดังนี้•    คุณภาพในการรับสัญญาณคลื่นของ รุ่น HTC One M9 แย่กว่า รุ่น HTC M 8 เพราะในการทดสอบ network sensitivity ที่ทดสอบในสภาพแวดล้อมที่มีคลื่นสัญญาณต่ำ ปรากฏว่า สัญญาณโทรศัพท์ถูกตัดขาดง่ายกว่า•    ผลการทดสอบแบตเตอรี จากการใช้งานอินเตอร์เนต แบตเตอรีของสมาร์ตโฟนรุ่นใหม่หมดเร็วกว่ารุ่นเก่าถึง 2 ชั่วโมง โดยที่ราคาของรุ่นใหม่อยู่ที่ 695 ยูโร แต่ราคาของรุ่นเก่าอยู่ที่ 450 ยูโร4.    สมาร์ตโฟน Motorola G 2 Vs. G1 ผลการทดสอบเปรียบเทียบระหว่างรุ่นเก่า (G 1) กับรุ่นใหม่ (G 2) น่าแปลกใจว่า รุ่นเก่ามีคุณภาพดีกว่ารุ่นใหม่ โดยเฉพาะผลการทดสอบของ network sensitivity และ ความละเอียดของภาพถ่ายที่ 8 Megapixel ก็ไม่ได้ทำให้ผลการทดสอบดีขึ้นแต่อย่างใดเมื่อรู้ผลอย่างนี้แล้ว ก็คงต้องพิจารณานะครับว่า ชอบรุ่นเก่าหรือชอบรุ่นใหม่ หรือ เก็บออมไว้สำหรับของใหม่ที่มีคุณภาพดีกว่า คอลัมน์นี้จะนำผลการทดสอบมานำเสนอให้เพื่อนสมาชิกทราบอย่างสม่ำเสมอเมื่อผลการทดสอบได้เผยแพร่ออกมา(ที่มา: วารสาร Test ฉบับที่ 7/ 2015 และ ฉบับที่ 7/ 2014) 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 173 Sharing economy (เศรษฐศาสตร์แห่งการแบ่งปัน): Car sharing (การเช่ารถระยะสั้น)

โดย ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค ประธานอนุกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านสินค้าและบริการแนวความคิดการเช่าแทนที่การซื้อสินค้านั้น มีหลายเหตุมาจากหลายปัจจัย ในกรณีที่สินค้าบางอย่างเราใช้แทบนับครั้งได้ การซื้อก็เป็นวิธีที่ไม่คุ้มค่า แนวความคิดนี้ ชาวเยอรมันได้พัฒนามาเป็นธุรกิจการเช่ารถระยะสั้น เนื่องจากบางคนใช้รถส่วนตัวไม่บ่อยนัก เพราะโครงข่ายจราจรในเมืองใหญ่ของประเทศเยอรมันนั้นค่อนข้างดี และครอบคลุมไปเกือบทุกพื้นที่ ประเด็นที่น่าสนใจ คือ คนที่นิยมใช้การเช่าแบบระยะสั้นนั้นเป็นคนรุ่นใหม่ ในขณะที่คนมีอายุเกิน 60 ปี ไม่ได้มีความสนใจต่อ พฤติกรรมการเช่ารถ นอกจากเหตุผลที่สำคัญในประเด็นความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจแล้ว ประเด็นการรักษาสิ่งแวดล้อมก็มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าประเด็นทางเศรษฐศาสตร์รูปแบบการให้บริการ Car sharingการให้บริการ Car sharing มีสองลักษณะคือ •    กรณีที่เป็นผู้มีรถยนต์ส่วนตัว และแบ่งให้ผู้อื่นมาเช่ารถของตน เนื่องจากใช้รถน้อยมาก โดยเฉลี่ยใช้รถยนต์ส่วนตัวไม่เกิน 5000 กิโลเมตรต่อปี•    กรณีที่ทำเป็นธุรกิจแบ่งรถให้เช่าในรูปแบบบริษัท ลักษณะการประกอบการจำแนกได้เป็น 2 ลักษณะเช่นกัน คือ•    ผู้เช่าสั่งจองรถยนต์และเดินทางมารับรถรถยนต์ที่เช่า ซึ่งจอดอยู่ตามสถานที่ที่ระบุไว้ โดยสามารถเช่าได้ทางอินเตอร์เนต โทรศัพท์ และสมาร์ทโฟนแอพ อัตราค่าเช่ารถ คือ 2-5 ยูโรต่อชั่วโมง (ราคานี้รวมน้ำมันแล้วด้วย) เมื่อใช้รถยนต์เสร็จแล้ว ก็ขับกลับไปคืนที่เดิม•    แบบที่สองเรียกว่า Free floating model ซึ่งมีลักษณะยืดหยุ่นกว่าแบบแรก แต่ก็มีอัตราเช่าสูงกว่า ปัจจุบันอัตราค่าเช่าอยู่ที่ 15-17 ยูโรต่อชั่วโมง (ราคานี้รวม น้ำมันและค่าจอดรถไว้แล้ว) การเช่ารถแบบนี้ ผู้เช่าจะไปรับรถที่จอดไว้ ตามสถานที่ที่ระบุไว้ในคอมพิวเตอร์ เว็บไซต์ หรือ สมาร์ทโฟนแอพ และเมื่อใช้รถเสร็จแล้วก็จะนำไปจอดคืนไว้ ณ ที่จอดสาธารณะในเขตที่ตกลงกันกรณีผิดกติกาการเช่ารถเนื่องจากการแบ่งเช่ารถระยะสั้นต้องเป็นสมาชิกกับผู้ประกอบการให้เช่ารถ เพราะฉะนั้นหากผู้เช่าผิดกติกาบ่อยครั้งนอกจากจะถูกปรับเป็นจำนวนเงินสูงแล้ว ก็อาจถูกแบนไม่ให้เช่ารถต่อไปได้เช่นกัน ตัวอย่างของการคืนรถในลักษณะที่ผิดกติกา เช่น การคืนรถที่มีรถสกปรกเลอะเทอะเปรอะเปื้อนทั้งภายในภายนอกอย่างมาก กรณีแบบนี้ผู้เช่าต้องจ่ายค่าทำความสะอาดเพิ่มเติม หรือในกรณีที่คืนรถในสภาพที่มีน้ำมันในถังน้อยกว่า หนึ่งในสี่ ผู้เช่าก็อาจต้องจ่ายค่าปรับเพิ่มเติมถึง 50 ยูโร นอกจากนี้การสูบบุหรี่ในรถหรือคืนรถไม่ตรงเวลาก็ต้องเสียค่าปรับสูงมากทีเดียวธุรกิจแบ่งรถให้เช่าระยะสั้นแบบนี้กำลังเติบโตในเยอรมนี สามารถเช่ารถได้ใน 490 เมือง มีสมาชิกทั้งหมด 223,000 คน และในอนาคตจะเติบโตมากขึ้นเนื่องจากราคาถูกกว่าแท็กซี่ และด้วยความสามารถของระบบนาวิเกเตอร์ ทำให้สามารถเดินทางไปยังจุดหมายได้อย่างง่ายดายและแม่นยำ แม้ว่าจะไม่รู้จักเส้นทางการเดินทางในเมืองนั้นมาก่อนก็ตาม(ที่มา: วารสาร Test ฉบับที่ 7/ 2015) 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 172 การเลือกซื้อที่ล็อครถจักรยาน

โดย ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค ประธานอนุกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านสินค้าและบริการฉบับที่แล้วได้เล่าถึงการเลือกซื้อจักรยานโดยดูจากชิ้นส่วนและอุปกรณ์ที่สำคัญในการขี่ ฉบับนี้ขอเล่าถึงการเลือกซื้อที่ล็อครถจักรยานสำหรับป้องกันการขโมยดูบ้าง ตามสถิติการก่ออาชญากรรมในประเทศเยอรมนีนั้น ขโมยจะใช้เวลาไม่เกิน 3 นาที ในการตัดหรือทำลายที่ล็อคจักรยาน หากใช้เวลานานกว่านั้น ย่อมเสี่ยงที่จะถูกจับ ดังนั้น แทนที่ขโมยจะใช้เวลานานในการปฏิบัติการทำลายที่ล็อคจักรยานคันนี้ ก็เลือกที่จะไปขโมยรถจักรยานคันอื่นที่ขโมยง่ายกว่าแทน ในแต่ละปีในประเทศเยอรมนีจะมีจักรยานถูกขโมยไม่ต่ำกว่า 300,000 คัน การป้องกันด้วยการล็อคจักรยานที่มีประสิทธิภาพจะช่วยลดความเสี่ยงในการถูกขโมยได้ ประเภทของที่ล็อครถจักรยาน•    ที่ล็อคแบบตัว U (U-lock) เป็นประเภทที่ดีที่สุดแบบหนึ่ง ยากที่จะใช้เครื่องมือตัดหรือทำลาย•    ที่ล็อคแบบ amored cable lock ลักษณะแข็งนอก อ่อนใน เนื่องจากข้างในเป็นลวดโลหะสามารถตัดได้ง่าย•    ที่ล็อคแบบ spiral cable lock ข้อดีของที่ล็อคประเภทนี้คือ เป็นลวดยาวๆ ล็อคจักรยานได้ง่าย แต่ก็โดนตัดทำลายได้ง่ายเช่นกัน•    ที่ล็อคแบบ folding clamp และ แบบ 2-folding-clamp lock ข้อดีคือ พกพาได้สะดวก พับเก็บง่าย แต่มีข้อเสียคือ มีขนาดสั้น ไม่ยาว•    ที่ล็อคแบบห่วงโซ่ (chain lock) เป็นที่ล็อคที่มีความแข็งแรงปลอดภัยสูง ตัดให้ขาดยาก แต่ก็มีน้ำหนักมาก•    ที่ล็อคแบบ folding cable lock มีลักษณะเป็นลวดโลหะที่สามารถพับเก็บได้ โดนตัดหรือทำลายได้ง่ายมากการล็อคจักรยานเป็นการป้องกันการลักขโมยในเบื้องต้น แต่ต้องเข้าใจว่าไม่สามารถป้องกันได้ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ถ้ารู้จักใช้ที่ล็อคดีๆ ก็สามารถประวิงเวลาขโมยในการตัดหรือทำลายตัวล็อคได้ การล็อคจักรยานที่ดีคือ การล็อคล้อ และโครงจักรยานให้ติดกับรั้ว ที่ไม่สามารถยกหนีไปไหนได้ นอกจากนี้การเลือกสถานที่จอดรถจักรยานที่เหมาะสม มีคนพลุ่กพล่าน และไม่เป็นที่ลับตาคน ก็ช่วยป้องกันขโมยได้เช่นกัน วิธีการล็อคจักรยานที่ถูกต้อง •    ล็อคตัวจักรยานไว้กับสิ่งปลูกสร้าง เช่น ที่จอดรถจักรยาน เสาไฟฟ้า หรือ กำแพง•    ล็อคจักรยานให้สูงไว้ก่อน เพื่อป้องกันไม่ให้ขโมยใช้เครื่องมือตัดได้ง่าย โดยล็อคบริเวณตัวโครงจักรยาน นอกจากนี้ ควรจะล็อคที่ส่วนอื่นๆ ของจักรยานเพิ่มเติมเช่น ล้อรถจักรยาน•    ควรเลือกสถานที่มีคนพลุกพล่าน จะช่วยทำให้ขโมยต้องยับยั้งชั่งใจ และไม่ควรจอดรถจักรยานทิ้งไว้ข้ามคืนสำหรับใครที่มีจักรยานราคาแพงๆ แล้ว ก็สมควรหาที่ล็อคที่เหมาะสมกับราคาจักรยานด้วย โดยรวมแล้วที่ล็อคจักรยาน แบบ U- lock นั้น มีประสิทธิภาพสูงที่สุดจากผลการทดสอบขององค์กรผู้บริโภค (Stiftung Warentest) คือ จากการทดสอบที่ล็อคแบบ U lock 10 ยี่ห้อ ได้คะแนนระดับดี 6 ยี่ห้อ ในขณะที่ ที่ล็อคแบบ folding clamp ได้คะแนนระดับ ดี เพียง 1 ยี่ห้อจากที่ทดสอบทั้งหมด 8 ยี่ห้อ ที่ล็อคแบบ ห่วงโซ่ (chain lock) ได้คะแนนระดับดี เพียง 1 ยี่ห้อเช่นกัน จากที่ทดสอบ 9 ยี่ห้อและที่ล็อคแบบ amored cable lock ไม่มียี่ห้อใดเลยได้คะแนนระดับดี จากที่ทดสอบ 3 ยี่ห้อหวังว่าจะพอเป็นข้อมูลเบื้องต้นให้กับเพื่อนสมาชิกวารสารฉลาดซื้อ ได้ใช้เป็นแนวทางในการเลือกซื้อที่ล็อคจักรยานและวิธีป้องกันขโมยได้บ้างพอสมควร(ที่มา: วารสาร Test ฉบับที่ 7/2007 และ 5/ 2015) 

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 171 การเลือกซื้อจักรยาน

โดย ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค ประธานอนุกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านสินค้าและบริการการขี่จักรยานนอกจากจะเป็นการออกกำลังกายแล้ว ยังสามารถช่วยลดการใช้พลังงานจากน้ำมัน และก๊าซธรรมชาติที่ในอนาคตจะมีราคาสูงขึ้นและนับวันจะมีแต่หมดลงทุกที แต่สิ่งที่ต้องระมัดระวังการขี่จักรยานในเมืองใหญ่ คือ เรื่องความปลอดภัยจากผู้ร่วมใช้ถนนอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นคนขับมอเตอร์ไซค์ รถยนต์ส่วนบุคคล รถยนต์โดยสารสาธารณะ และคนเดินทางเท้า การจำกัดความเร็วในการขับขี่รถยนต์บนถนนแต่ละสาย จะทำให้การขับรถบนถนนนั้นมีความปลอดภัยต่อผู้ร่วมใช้ถนนอื่นๆ ด้วย ในเขตที่อยู่อาศัยและสถานที่ราชการ เช่น ในโรงเรียน ในมหาวิทยาลัย จะมีป้ายจำกัดความเร็ว ซึ่งกำหนดให้ใช้ความเร็วได้ไม่เกิน 30 กิโลเมตรต่อชั่วโมง  จากข้อมูลของสมาคมขับขี่จักรยานแห่งเยอรมนี(The German Cyclist’s Association: ADFC) ชี้ให้เห็นว่า การกำหนดความเร็วที่ 30 กิโลเมตรต่อชั่วโมงนั้นจะทำให้บรรยากาศและสวัสดิภาพของคนขี่จักรยานและคนเดินถนนดีขึ้น และยังทำให้การไหลลื่นและความคล่องตัวของการจราจรโดยรวมดีขึ้นด้วย นอกจากนี้ยังสามารถลดมลภาวะจากเสียง มลภาวะจากควันได้ ตลอดจนสามารถลดการใช้พลังงานกลุ่มฟอสซิล ทั้งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ที่เป็นทรัพยากรสิ้นเปลือง มีราคาแพงและมีวันหมดไปในอนาคต ตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมในการเปลี่ยนให้ถนนในเมืองใช้ความเร็วได้ไม่เกิน 30 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ในปี 1983 ในเขตเมือง Buxtehude       ที่ได้ประกาศกำหนดความเร็วบนถนนในเมือง 30 กิโลเมตรต่อชั่วโมง นั้น ปรากฏว่า คนที่ขับรถยนต์ กลับประหลาดใจว่า สภาพการจราจร ในเมืองดีขึ้น การจราจรไหลลื่นขึ้น ผิดความคาดหมายว่าจะเกิด “สภาพจลาจลในเมืองขึ้น” เวลาที่ใช้ในการขับรถผ่านเมืองใช้เวลาเพียง 48 วินาทีเท่านั้น จากการทดลองในเมืองดังกล่าวได้นำไปสู่การขยายผล กำหนดเป็นกฎจราจรที่ใช้บังคับในอีกหลายเมืองตามมา  สำหรับเนื้อหาในวันนี้จะเล่าถึงการเลือกซื้อจักรยานเบื้องต้น จะต้องพิจารณาอะไรบ้างในการลงทุนซื้อจักรยานนอกจากราคาแล้วยังมีปัจจัยด้านอื่นที่เราควรต้องคิดถึงด้วยเช่นกัน   การเลือกระบบเกียร์ ถ้าเราขี่จักรยานบ่อย ๆ ควรจะเลือกซื้อจักรยานที่มีคุณภาพดี สำหรับจักรยานที่มี 27 เกียร์นั้น เราไม่ได้ใช้เกียร์หมดทุกเกียร์ ส่วนใหญ่แล้วเราใช้ 15- 16 เกียร์เท่านั้นเอง เกียร์ที่สำคัญในการขับขี่จักรยาน คือ เกียร์ต่ำสุด และเกียร์สูงสุด การเลือกซื้อจักรยาน 27 เกียร์นั้น เหมาะสำหรับนักกีฬาปั่นจักรยานที่ขับผ่านเทือกเขาสูง เพราะนักกีฬาที่เข้าแข่งขันจะคุ้นเคย ทราบถึงความละเอียดและความเหมาะสมของเกียร์ในสนามแข่งขันดีกว่าคนที่ขับขี่จักรยานทั่วไป ซึ่งใช้เพียง 7 เกียร์ ก็เพียงพอแล้ว ระบบของเกียร์จักรยานแบ่งเป็น 2 ระบบ คือ ระบบ ·       derailleur gear (Kettenschaltung) ·       internal gear hub (Nebenschaltung) ปัจจุบันมี 4 ยี่ห้อที่เป็นผู้นำในตลาดได้แก่ ·         Shimano ·         SRAM (เดิมคือยี่ห้อ Sachs) ·         Campagnolo และ ·         Rohloff ระบบเบรก การขับขี่จักรยานทั่วๆ ไป ใช้ drum brake และ back pedal brake ก็เพียงพอ เนื่องจากเป็นเบรกที่ประกอบสำเร็จใน gear hub บำรุงรักษาง่าย และใช้งานได้ดีในสภาวะพื้นถนนลื่น เบรกประเภทนี้ ไม่เหมาะสำหรับการขับขี่จักรยานลงภูเขา เป็นระยะเวลานาน ๆ เพราะจะเกิดความร้อนสูงมาก อาจทำให้เบรกไหม้ได้ สำหรับนักกีฬาจักรยาน การใช้เบรก ประเภท caliper brake หรือ disc brake จะเหมาะสมกว่า แต่ caliper brake นั้นความสามารถในการเบรกจะลดลงในสภาวะถนนเปียก ข้อด้อยอีกอย่างหนึ่งของเบรกประเภทนี้ คือ การสึกหรอของผ้าเบรก และการสึกหรอของล้อจักรยาน ในขณะที่ dis brake จะไม่มีปัญหามากเรื่องการสึกหรอนี้ ล้อรถจักรยาน มี 2 ประเภท ตามวัสดุที่ใช้ในการผลิต คือ ล้ออะลูมิเนียม และ ล้อเหล็กกล้า ซึ่งมีราคาถูกกว่า ล้ออะลูมิเนียม ในกรณีที่ใช้ล้อเหล็กกล้า ก็ไม่ควรใช้ กับ caliper brake เพราะความสามารถในการเบรกแย่มาก บนถนนเปียก ปัจจุบัน เรามักพบว่า จักรยานหลายยี่ห้อใช้ล้ออะลูมิเนียม ซึ่งมักจะมีตัวบ่งบอกการสึกของ ล้อ ( wear indicator) ช่วยบอกการสึกหรอที่เกิดจากการเบรก ซึ่งจะช่วยให้คนขับขี่จักรยานสามารถเปลี่ยนล้อได้ทัน ก่อนที่ล้อจะแตกหัก ยางรถจักรยาน แล้วแต่ความชื่นชอบของแต่ละคน สำหรับนักปั่นจักรยานสำหรับการแข่งขัน ชอบยางรถจักรยานทื่มีความกว้างของยางน้อยๆ และไม่มีดอกยาง ในขณะที่นักปั่นจักรยานวิบาก (mountain bike) ชอบยางที่มีความกว้างของยางมากๆ และมีดอกยางหยาบๆ   สิ่งที่สำคัญสำหรับยางรถจักรยานไม่ได้อยู่ที่ความกว้างหรือความแคบของยาง แต่ขึ้นอยู่กับแรงดันอากาศในยางและดอกยาง ถ้านักปั่นที่ขับขี่จักรยานที่มีดอกยางหยาบๆ บนถนนลาดยาง เสียงจะดัง ซึ่งก็คือ การเสียพลังงานจากการปั่น ไปเป็นพลังงานเสียงโดยไม่จำเป็น จริงๆ แล้ว ควรเลือกใช้ยางจักรยานที่มีดอกยางไม่ต้องหยาบมาก และไม่ต้องกังวลว่าจะเกิดเหตุการณ์ ล้อฟรี (Aquaplanning) ถ้าความเร็วไม่เกิน 400 km/ชั่วโมง เพราะการเกาะถนนไม่ได้ขึ้นอยู่กับลักษณะของดอกยาง แต่ขึ้นอยู่กับส่วนผสมทางเคมีของวัสดุที่นำมาผลิตยางรถจักรยาน และก่อนจะตกลงซื้อ ควรลองขับขี่ดูก่อนว่า จักรยานคันที่เราสนใจนี้ เป็นอย่างไร เพราะต้องเข้าใจว่า ราคาจักรยานสมัยนี้ไม่ได้มีราคาพันสองพันบาทแล้ว บางคันมีราคาเป็นหลักหมื่น หวังว่าจะพอเป็นข้อมูลเบื้องต้นให้กับเพื่อนสมาชิกวารสารฉลาดซื้อ ได้ใช้เป็นแนวทางในการเลือกซื้อจักรยานให้เกิดประโยชน์สูงสุด และคุ้มค่ากับเงินได้บ้างพอสมควร   (ที่มา: http://www.fa-technik.adfc.de/Ratgeber/Fahrradkauf/index.html)  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 170 ข้อควรระวังเมื่อจอดรถทิ้งไว้กลางแดดหน้าร้อน

โดย ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค ประธานอนุกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านสินค้าและบริการหน้าร้อนในเมืองไทย โดยเฉพาะเดือนเมษายนถึงพฤษภาคมของทุกปี จะเป็นเดือนที่มีอุณหภูมิสูงที่สุด อุณหภูมิกลางแจ้งอาจเกินกว่า 40 องศาเซลเซียส ในบางพื้นที่ทั้งในกรุงเทพและต่างจังหวัด หากเราจอดรถปิดกระจกทิ้งไว้ โดยไม่มีที่บังแดดหรือติดม่านกันแดด อุณหภูมิภายในรถที่จอดทิ้งไว้นานหลายชั่วโมง อาจจะสูงถึง 70- 80 องศาเซลเซียส ข้อควรระวังสำหรับผู้ที่ต้องจอดรถทิ้งไว้กลางแจ้ง ในการเติมน้ำมันเต็มถัง แล้วขับรถโดยใช้น้ำมันเล็กน้อย เมื่อจอดรถในที่กลางแจ้ง อาจทำให้น้ำมันที่เติมนั้นล้นออกมาจากถังได้ เพราะอากาศร้อนทำให้น้ำมันขยายตัว เช่น เราเติมน้ำมันเต็มถัง 50 ลิตร เมื่ออุณหภูมิของรถที่จอดกลางแดดเพิ่ม น้ำมันจะขยายตัว เพิ่มขึ้นอีกถึงหนึ่งลิตร เนื่องจากน้ำมันที่ออกมาจากปั้มนั้น จะมีอุณหภูมิต่ำกว่าอุณหภูมิสิ่งแวดล้อม เนื่องจากถังน้ำมันในปั๊ม จะฝังอยู่ใต้ดิน  น้ำมันที่รั่วล้นออกมาจากการขยายตัวนั้น หากโชคร้าย ก็อาจติดไฟลุกไหม้ เป็นอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินได้ แว่นตา ก็ไม่ควรทิ้งไว้ โดยเฉพาะด้านที่ติดกับกระจกที่สามารถโดนแสงแดด  เนื่องจากเป็นอันตรายในกรณีที่แสงแดดผ่านเลนส์ อาจทำให้เกิด focus effect ซึ่งการรวมแสงที่จุดโฟกัส อาจทำให้เกิดการติดไฟลุกไหม้ได้เช่นกัน ของมีค่าไม่ว่าจะเป็นกล้องถ่ายรูป คอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟน โทรศัพท์มือถือ เนื่องจากเป็นของล่อตาล่อใจ โจรขโมย และอาจทำให้อุปกรณ์อิเล็คโทรนิคเหล่านี้ ชำรุดได้ เมื่อทิ้งไว้ในที่ที่มีอุณหภูมิสูงนาน ๆ โซดาหรือน้ำอัดก๊าซ ที่บรรจุในขวดแก้ว ก็ไม่ควรทึ้งไว้ในรถที่จอดกลางแดดไว้นานๆ เพราะความร้อนทำให้ก๊าซขยายตัว เกิดการระเบิดได้ เมื่อจอดรถไว้กลางแดด เมื่อสตาร์ตรถ ควรหมุนกระจกหน้าต่างให้ต่ำที่สุด เพื่อระบายอากาศร้อนในรถก่อน หลังจากนั้น เมื่อขับรถ ก็ปรับกระจกหน้าต่างระบายอากาศโดยปรับให้กระจกสูงขึ้น โดยมีช่องระบายอากาศสูงประมาณ 1 ฝ่ามือ และเปิดเครื่องปรับอากาศที่มีความแรงปานกลาง และหากรถเรามี ปุ่มปรับทิศทางของแอร์ ก็ให้ปรับทิศทางของแอร์ไหลผ่านทางเท้า จะช่วยการระบายความร้อนในรถได้เร็วขึ้น การเปิดเครื่องปรับอากาศระดับสูงสุดขณะขับรถ จะสิ้นเปลืองพลังงานสูงมาก สิ่งมีชีวิต เช่น สัตว์เลี้ยง ไม่ว่า สุนัข หรือแมว ก็ไม่ควรปล่อยให้อยู่ในรถเพราะอาจทำให้ เกิดอาการ heat stroke ได้ เราเคยได้ยินข่าวโศกนาฏกรรมจากการปล่อย สัตว์เลี้ยงอยู่ในรถ ในขณะที่จอดรถทิ้งไว้กลางแดด ต้องตายเพราะความประมาท ชะล่าใจของเจ้าของ ที่สำคัญที่สุด คือ ไม่ควรปล่อยเด็กเล็กทิ้งไว้ในรถ โดยไม่มีผู้ใหญ่ดูแล เคยมีกรณี เด็กเสียชีวิตจากการขาดอากาศหายใจ และ heat stroke เป็นประจำ ฉลาดซื้อ ฉลาดคิด ฉลาดใช้ชีวิต ในยุคบริโภคนิยม แม้หน้าร้อนสภาพอากาศจะร้อนรุนแรง หากเราตั้งสติรับมือกับความร้อนอย่างชาญฉลาด ก็สามารถผ่านหน้าร้อนได้อย่างสบายๆ ครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 169 มรดกทางดิจิตัล

โดย ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค ประธานอนุกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านสินค้าและบริการปัจจุบันเราใช้การติดต่อสื่อสาร การเก็บข้อมูลในรูปแบบของสารสนเทศผ่านโปรแกรมและแอพพลิเคชันต่าง ๆ ในโลกไซเบอร์ ดังนั้นประเด็นหนึ่ง ซึ่งต้องให้ความสำคัญ และทางองค์กรคุ้มครองผู้บริโภคแห่งเยอรมนีกำลังรณรงค์อยู่ คือ การจัดการข้อมูลส่วนตัวของผู้เสียชีวิต (Digital Estate) ว่าจะจัดการอย่างไรดี บทความนี้ขอเล่าวิธีจัดการมรดกตกทอดของเราไม่ว่าจะเป็น บัญชีอีเมล์ เฟสบุ้ค ไลน์ ทวิตเตอร์ และยาฮู อีเบย์ เพย์พาล ที่ทำธุรกรรมผ่านโปรแกรมหรือแอพพลิเคชันดังกล่าว ซึ่งการจัดการนั้นอิงกับกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และกฎหมายมรดกตามหลักกฎหมายของเยอรมนี สิ่งที่เราเคยโพสลงไปในเฟสบุ้ค เมื่อเรายังมีชีวิตอยู่นั้น เมื่อตอนเราเสียชีวิต ข้อความและบัญชีนั้น ก็ยังคงดำรงอยู่ หากไม่มีผู้ใดทราบ รหัสผ่านของเราในการที่จะเข้าไปลบข้อความหรือ ยกเลิกบัญชีกับทางเฟสบุ้คได้ ลูกหลานหรือ ญาติ ที่เป็นผู้รับมรดก ที่ต้องการจะเข้าไปจัดการมรดกทางดิจิตัลนี้ จำเป็นต้องใช้มรณบัตร ถึงแม้ว่าจะมีใบมรณบัตรมายื่นเป็นหลักฐานกับทางเฟสบุ้คก็ตาม แต่ก็ไม่สามารถที่จะเข้าไปลบข้อมูลส่วนตัวของผู้ตายได้ แต่สามารถเข้าไป จัดการ ให้เป็นสถานะ Commemoration (in Gedenken erhalten) ได้ ภายใต้สถานะนี้ โปรแกรมเฟสบุ้ค จะไม่ส่ง การแจ้งเตือนวันครบรอบวันเกิดของผู้เสียชีวิตแล้วเหมือนอย่างที่เคยแจ้งเตือนวันเกิด การขอเข้าไปจัดการกับบัญชีและแอพพลิเคชันทั้งหลายในโลกไซเบอร์นั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ จำเป็นต้องอาศัยกฎหมายมรดกเป็นหลัก ผู้ให้บริการอีเมล์ บางราย ไม่ยินยอมให้ ผู้รับมรดกเข้าไปตรวจสอบอีเมล์ของผู้ตายได้เลย แต่จะยอมให้ลบบัญชีอีเมล์ของผู้ตายทิ้งแทน ทั้งๆ ที อาจมีอีเมล์ที่ความสำคัญทางธุรกิจรวมอยู่ด้วย โปรแกรม google+ มีทางเลือกที่น่าสนใจต่อกรณี การรับมรดกทางดิจิตัล คือ inactive account manager ในตอนที่เจ้าของบัญชี google + ยังมีชีวิตอยู่นั้น สามารถกำหนดได้เลยว่า ใครบ้างที่สามารถเข้าไปจัดการบัญชีของเราได้ เมื่อเสียชีวิตไปแล้ว หรือสามารถกำหนดได้ว่า หากไม่มีการเคลื่อนไหวของบัญชีเป็นระยะเวลานานเท่าไหร่ จึงสามารถลบข้อมูลในบัญชีตัวเองแบบอัตโนมัติ   และเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมเรื่องมรดกทางดิจิตัล เราสามารถเตรียมตัวไว้ก่อนได้ดังนี้ 1. ระบุลงไปพินัยกรรมว่า ใครเป็นผู้ได้รับสิทธิในการเข้าไปจัดการ มรดกทางดิจิตัล 2. จดบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรว่า ใช้บัญชี อีเมล์ไหนบ้าง และบัญชีไหนที่สำคัญ 3. การระบุสถานะของโซเชียลมีเดีย ไม่ว่าจะเป็น เฟสบุ้ค ทวิตเตอร์ หรือ google+ ว่าจะให้ลบบัญชี หรือ คงสถานะ Commemoration ไว้ 4. ภาพถ่ายและวิดิโอ ในพินัยกรรมควรระบุหรือ บอกกล่าวด้วยว่า ภาพหรือวีดิโอไหนที่มีค่าและมีความสำคัญ เพื่อช่วยผู้รับมรดกในการตัดสินใจว่า จะลบหรือเก็บภาพถ่าย วิดิโอไว้ 5. Digital Subscribes ควรระบุไว้ในพินัยกรรมด้วยว่า แอพพลิเคชัน เกมส์ออนไลน์ บริการ Streaming ข่าวสาร ของหนังสือพิมพ์ใด ที่เรารับบริการและเสียค่าบริการอยู่ เพื่อให้ผู้รับมรดกไปทำการยกเลิก 6. ในการจัดทำพินัยกรรมสำหรับจัดการมรดกทางดิจิตัลนี้ ทางที่ดีคือ การบันทึกพินัยกรรมด้วยลายมือ พร้อมกับลงนามต่อหน้าพยานซึ่งพยานเองก็ต้องลงนามด้วย จึงจะทำให้พินัยกรรมนั้นมีผลทางกฎหมาย ชีวิตในโลกยุคดิจิตัลนั้นเป็นชีวิตที่สะดวกสบาย แต่ในกรณีที่เสียชีวิตลง มรดกทางดิจิตัลเองนั้น ก็สามารถสร้างความยุ่งยากให้กับผู้รับมรดกอยู่ไม่ใช่น้อย แต่อย่างไรก็ตามข้อมูลของผู้ตายนั้น บางครั้งมีคุณค่าและมีความสำคัญต่อญาติที่รับมรดกมากกว่ามูลค่าทางตัวเงิน ที่ผู้ให้บริการดิจิตัล และผู้ที่ทำหน้าที่ออกกฎหมายจำเป็นที่จะต้องวางหลักเกณฑ์ เพื่ออำนวยความสะดวกต่อการจัดการมรดกประเภทนี้   (แหล่งข้อมูล: วารสาร Test 3/2015)

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 168 The World is Fat … ละตินอเมริกากับการแก้ปัญหา “โลกอ้วน”

โดย ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค ประธานอนุกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านสินค้าและบริการฉลาดซื้อได้มีโอกาสเข้าฟังการบรรยายโดย ดร.แบรี่ พอบกิ้น นักเคลื่อนไหวและผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์และโภชนาการ ผู้ทำการศึกษาความเปลี่ยนแปลงด้านโภชนาการและพฤติกรรมการบริโภคอาหารของผู้คนในกว่า 20 ประเทศทั่วโลก และเป็นผู้เขียนหนังสือเรื่อง The World is Fat (ฉบับแปลเป็นภาษาไทยชื่อ โรคกลม: เศรษฐศาสตร์ในความตุ้ยนุ้ย สำนักพิมพ์โพสต์บุ๊กส์) คราวนี้เขามาเล่าถึงความคืบหน้าของขบวนการลดพุงลดโรคในละตินอเมริกาให้เราฟัง เริ่มจากประเทศเม็กซิโกที่มีผู้เสียชีวิตจากโรคเบาหวานกว่า 500,000 คน ระหว่างปี 2006 ถึงปี 2012 นี่คือการเพิ่มขึ้นร้อยละ 60 จาก 6 ปีก่อนหน้านั้น และเม็กซิโกยังชิงตำแหน่ง “ประเทศที่อ้วนที่สุดในโลก” จากอเมริกามาหมาดๆ ด้วยอัตราการบริโภคน้ำอัดลม ถึง 3.6 ล้านกระป๋องต่อวัน แถมด้วยการทำการตลาดเชิงรุกของผู้ประกอบการ และการใช้ฉลากอาหารแบบ GDA ที่อ้างว่าเป็นประโยชน์ต่อการเลือกของผู้บริโภค แต่งานวิจัยพบว่าแม้แต่นักโภชนาการเองก็ยังอ่านไม่เข้าใจ เม็กซิโกมีความตื่นตัวในเรื่องนี้มาก ผลการสำรวจความคิดเห็นระบุว่าประชาชนมากกว่าร้อยละ 70 เชื่อว่าการดื่มน้ำอัดลมมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเป็นโรคเบาหวาน และเห็นด้วยที่จะมีการเก็บภาษีจากเครื่องดื่มดังกล่าว ด้วยความร่วมมือจากหน่วยงานรัฐที่ดูแลด้านสุขภาพ นักวิชาการ องค์กรผู้บริโภค อุตสาหกรรมอาหาร ไปจนถึงประธานาธิบดี นำไปสู่การประกาศใช้ “ภาษีน้ำหวาน” ซึ่งเริ่มเก็บในเดือนมกราคมปี 2014 สาระสำคัญคือเครื่องดื่มที่มีการแต่งกลิ่นทุกชนิด รวมถึงหัวเชื้อ ผง หรือน้ำเชื่อมที่ใช้ในการทำเครื่องดื่มเหล่านั้น จะต้องเสียภาษีให้รัฐในอัตราร้อยละ 10 หรือพูดง่ายๆ คือเครื่องดื่มที่เติมน้ำตาลจะต้องถูกเรียกเก็บภาษีในอัตรา 1 เปโซ ต่อเครื่องดื่ม 1 ลิตร เรื่องนี้ส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงพอสมควรทีเดียว การสำรวจพบว่าการซื้อลดลงในช่วง 3 เดือนแรกหลังมีการเก็บภาษี ข้อมูลจากผู้ผลิตก็เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ยอดขายของ Coca-Cola Femsa ในครึ่งแรกของปี 2014 ลดลงร้อยละ 6.4 ในขณะที่ Arca Continental ก็มียอดขายลดลงร้อยละ 4.7 ในช่วงเดียวกัน ต่อมาในเดือนสิงหาคมมีการสำรวจความคิดเห็นของผู้บริโภค และพบว่าผู้บริโภคมากกว่าครึ่ง บอกว่าตัวเองดื่มน้ำอัดลมน้อยลง ซึ่งตัวเลขนี้อาจสะท้อนว่าเมื่อน้ำอัดลมราคาแพงขึ้น ผู้คนก็จะลดการบริโภคลง แต่ผลทางอ้อมของมาตรการภาษีคือการส่งสารออกไปให้คนทั่วๆ ไปได้รับรู้ถึงอันตรายจากการบริโภคน้ำตาลเกินความต้องการของร่างกาย นอกจากมาตรการภาษีแล้ว เม็กซิโกยังมีการควบคุมการโฆษณาอาหารต่อเด็กอย่างเคร่งครัดด้วยตั้งแต่เดือนกรกฎาคมปีที่ผ่านมา โดยกำหนดให้อาหารที่สามารถโฆษณาได้ในช่วงรายการเด็ก(รายการที่มีผู้ชมเป็นเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปีมากกว่าร้อยละ 35) เป็นอาหารที่ผ่านเกณฑ์โภชนาการเท่านั้น ขนมหวาน ช็อคโกแลต ขนมกรุบกรอบ หรือน้ำอัดลม จึงไม่สามารถปรากฏตัวในเวลานั้นได้ แต่นั่นยังไม่ดีพอ เพราะเด็กไม่ได้ดูแค่รายการสำหรับเด็กเท่านั้น จากการสำรวจพบว่าเด็กยังดูรายการกีฬา หรือรายการอื่นที่ดูกันทั้งบ้านด้วย จึงเกิดความพยายามที่จะผลักดันให้มีกฎหมายที่แบนอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพเหล่านี้ออกจากจอทีวีไปโดยสิ้นเชิง แรงกระเพื่อมจากเม็กซิโก ยังส่งผลต่อประเทศข้างเคียงอย่างชิลี เอกวาดอร์ และเปรู ด้วย ชิลีกำหนดให้มีการแจ้งเตือนบนฉลากว่าอาหารดังกล่าวมีปริมาณน้ำตาล โซเดียม ไขมัน หรือแคลอรีสูง โดยสัญลักษณ์นี้ต้องมีขนาดไม่ต่ำกว่าร้อยละ 10 ของบรรจุภัณฑ์ ในขณะที่เอกวาดอร์และเปรู มีกฎหมายห้ามใช้ตัวการ์ตูน ของเล่น หรือตัวละครใดๆ ในการโฆษณาที่เกี่ยวข้องกับอาหาร (ที่ไม่ดีต่อสุขภาพ) สำหรับเด็ก ส่วนบราซิลนั้นยังห่างไกลเพื่อนบ้าน จนถึงวันนี้กฎหมายควบคุมการทำการตลาดอาหารโภชนาการต่ำ(อาหารที่มีน้ำตาล โซเดียม ไขมันอิ่มตัว และไขมันทรานส์มากเกินไป) ยังไม่ถูกประกาศใช้ แม้จะเคยถูกนำเข้าพิจารณาตั้งแต่ปี 2006 ก็ตาม ความท้าทายหลักๆ ของผู้บริโภคในทุกระดับรายได้วันนี้คือ การลดการบริโภคอาหารที่มีไขมัน น้ำตาลและโซเดียมในปริมาณสูง เพื่อการเจริญวัยและสูงวัยอย่างมีคุณภาพปราศจากอาการเจ็บป่วย ในวันที่เราถูกแวดล้อมไปด้วยอาหารและเครื่องดื่มสำเร็จรูปซึ่งมีคุณสมบัติตรงข้าม สิ่งที่หลายประเทศในละตินอเมริกากำลังทำอยู่คือการดูแลเกื้อกูลสุขภาพของประชาชนผ่านการใช้กฎหมาย แต่ผลที่ได้ในระยะยาวจะเป็นอย่างไร เราคงต้องติดตามดูกันต่อไปว่าอุตสาหกรรมอาหารจะมีการตอบโต้อย่างไร ... นี่เป็นเพียงการเริ่มต้นเท่านั้น *การบรรยายครั้งนี้จัดขึ้นที่สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2558

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 167 ทีวีจอโค้ง Vs. ทีวีจอแบน

โดย ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค ประธานอนุกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านสินค้าและบริการในปัจจุบันเราจะเห็นทีวีจอโค้งได้วางขายในห้างร้านขายเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน โดยใช้การตลาดและการโฆษณามาจูงใจให้ผู้บริโภคเข้าใจว่าทีวีจอโค้งที่มีราคาสูงกว่าทีวีจอแบนนั้น คุณภาพจะต้องดีกว่าทีวีจอแบนตามราคาที่สูงขึ้นไปด้วย บทความในวันนี้จะมาไขข้อข้องใจให้กับผู้บริโภคที่กำลังจะตัดสินใจซื้อทีวีจอโค้งว่า จะได้ทีวีคุณภาพดีสมกับที่โฆษณาไว้หรือไม่ จากข้อมูลขององค์กรผู้บริโภคเยอรมนีนั้น ทีวี 3 มิติ ไม่ได้รับกระแสตอบรับที่ดีนักจากตลาด และ ทีวีแบบความคมชัดสูงมาก (UHD: Ultra High Definition) ก็หาแผ่นดีวีดี หรือ รายการที่ส่งข้อมูลด้วยความคมชัดสูงมากได้ยาก ดังนั้นสินค้าตัวใหม่ที่นำเสนอตลาดเพื่อล่อตาล่อใจผู้บริโภคนั้นคือ ทีวีจอโค้ง จากผลการทดสอบคุณภาพของทีวีจอโค้งนั้น (Samsung UE55H8090 จอโค้ง ราคา 1990 ยูโร) ได้ผลออกมาว่า คุณภาพและความคมชัดของภาพไม่ได้แตกต่างหรือมีผลต่อการมองเห็นไปจากทีวีจอแบนแต่อย่างใด เมื่อเปรียบเทียบกับทีวีจอแบน (Samsung UE55H7090 จอแบน ราคา 1750 ยูโร หรือ LG 47LB630 V ราคา 580 ยูโร) เพราะฉะนั้น การเลือกซื้อทีวีจอโค้งหรือจอแบน เป็นเรื่องของความชื่นชอบส่วนบุคคลเสียมากกว่า สิ่งสำคัญที่ผู้บริโภคต้องคำนึงถึงในการเลือกซื้อทีวี คือ ต้องพิจารณาถึงความชื่นชอบในรายการที่ดูเป็นรายบุคคล ในกรณีที่ชอบดูรายการประเภทกีฬา ไม่ว่าจะเป็นฟุตบอล วอลเลย์บอล มวย หรือแบดมินตัน ความไวของภาพเป็นสิ่งสำคัญ เพราะมีการเคลื่อนไหวของภาพด้วยความเร็วสูง การแสดงภาพบนจอต้องต่อเนื่อง ไม่ขาดๆหายๆ หรือภาพต้องไม่มีการเหลื่อมซ้อนทับกัน จากผลการทดสอบมี 3 รุ่นที่ไม่แนะนำสำหรับการรับชมรายการประเภทกีฬา เนื่องจากเกิดการกระตุกของภาพเคลื่อนไหวคือ Philips รุ่น 48PFK 5509 Samsung UE 48H5570 และ Sony รุ่น KDL 48W605B สำหรับผู้บริโภคที่นิยมการบันทึกรายการเพื่อนำกลับมาดูย้อนหลัง ก็ต้องเลือกทีวีที่สามารถอัดรายการได้ และสามารถดูรายการช่องอื่นไปพร้อมๆ กับการอัดรายการได้ด้วย(TV with double receiver) ปัจจุบันผู้ผลิตทีวีมักจะไม่ให้ คู่มือการใช้งานชนิดที่เป็นรูปเล่มแบบสมบูรณ์เหมือนสมัยก่อน แต่มักจะเป็นคู่มือที่อยู่ในรูปข้อมูลอิเล็กโทรนิกส์ที่จัดเก็บไว้ในทีวี ในกรณีที่ทีวีไม่มีปัญหาก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าเกิดตัวทีวีมีปัญหาขึ้นมา และผู้บริโภคต้องการค้นหาข้อมูลก็จะเกิดความยุ่งยากทีเดียว นอกจากนี้ควรพิจารณาถึงการประหยัดพลังงานไฟฟ้าด้วยเช่นกัน จากผลการทดสอบ ทีวีที่ประหยัดไฟ คือ Philips 55PFK7199 จอแบน ราคา 1170 ยูโร สำหรับคุณภาพของเสียง ทีวีจอโค้งของ Samsung รุ่น Samsung UE55H8090 จอโค้ง ได้รับคะแนนสูงสุด เท่ากับทีวีจอแบน ของ Samsung รุ่น Samsung UE55H7090 หวังว่าจะพอเป็นข้อมูลเบื้องต้นให้กับเพื่อนสมาชิกวารสารฉลาดซื้อ ได้ใช้เป็นแนวทางในการเลือกซื้อทีวีเครื่องใหม่ ในยุคดิจิตอลให้เกิดประโยชน์สูงสุด และคุ้มค่ากับเงินได้บ้างพอสมควร (ที่มา: วารสาร Test ฉบับ 12/2014)  

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 166 การเลือกมีดทำครัว

โดย ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค ประธานอนุกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านสินค้าและบริการในปัจจุบันคนทั่วไปมักจะไม่ค่อยมีเวลาได้ทำกับข้าวรับประทานเอง เนื่องจากมีร้านสะดวกซื้อเปิดอยู่แทบทุกหัวถนน และเปิดตลอด 24 ชั่วโมง ในช่วงวันหยุดยาวสิ้นปีเก่า เริ่มปีใหม่นี้ การหาเวลาว่างทำอาหารรับประทานเองกันในครอบครัว เป็นอีกกิจกรรมหนึ่งที่สังคมชาวตะวันตก ใช้เป็นอุบายในการทำกิจกรรมเพื่อเสริมสร้างความมีปฏิสัมพันธ์ในครอบครัว อาวุธที่สำคัญในการทำครัว คือ มีดที่ต้องมีความคมสำหรับการหั่นเนื้อสัตว์ที่มีความเหนียว และหั่นผักที่มีความแข็ง เช่น แครอท บทความนี้จะขอแนะนำหลักการทั่วๆ ไป ในการเลือกซื้อมีดที่จะนำมาใช้ในการทำครัว แบบที่พ่อครัวมืออาชีพนิยมใช้ในการเตรียมอาหารทั้งประเภทเนื้อสัตว์และผัก ซึ่งสามารถแบ่งมีดทำครัวออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ 1. มีดที่ใช้ในครัว (Kitchen knife) มีดที่ใช้หั่น ฝรั่งเรียกรวมๆ กันว่ามีดในครัว (Kitchen knife) เป็นมีดที่ใช้หั่นทุกอย่างในครัว ใบมีดควรมีขนาดความหนาอยู่ระหว่าง 0-3 – 0.46 มิลลิเมตรและตอนปลายด้ามความหนาของมีดควรมีความหนากว่า มีดประเภทนี้สามารถใช้ในการเฉือนมะเขือเทศ หรือผัก ผลไม้ที่มีความแข็งไม่มากได้ดี โดยผักหรือผลไม้ เช่น มะเขือเทศไม่ช้ำ 2. มีดแบบญี่ปุ่น (Santoku) เป็นมีดที่มีต้นกำเนิดมาจากประเทศญี่ปุ่นที่ปัจจุบันได้รับความนิยมในยุโรปและอเมริกา เนื่องจากความคมของใบมีดและลักษณะการใช้งานที่หลากหลาย คำว่า Santoku แปลว่า คุณค่า 3 อย่าง เพราะมีดชนิดนี้สามารถ หั่น เฉือน และสับได้ด้วย บางยี่ห้อตรงด้านข้างของใบมีดจะมีรอยบุ๋มลึกลงไป ทำให้เวลาเฉือน เนื้อที่ถูกเฉือนออกมาไม่ติดกับใบมีด ทำให้เฉือนได้ง่ายขึ้น   วัสดุที่ใช้ในการทำมีด มีดที่มียี่ห้อส่วนใหญ่จะผลิตจากวัสดุ 2 ประเภทหลักคือ เหล็กกล้าไร้สนิมและเซรามิก สำหรับเหล็กกล้าไร้สนิมที่นิยมใช้ในการทำมีด (โดยเฉพาะมีดของแบรนด์เนมทั้งหลาย) คือเหล็กเกรด X50CrMoV15 โดยที่ -   X หมายถึง เป็นเหล็กกล้าผสมสูง (มาตรฐานเยอรมัน) -   50 หมายความว่า มีธาตุคาร์บอนผสมอยู่ในเนื้อเหล็ก 0.5 % ส่วนผสมของคาร์บอนนี้จะทำให้เหล็กมีความแข็ง -   15 หมายความว่า มีธาตุโครเมียมอยู่ 15 % ธาตุโครเมียมเป็นธาตุที่ป้องกันการเกิดสนิมในเหล็ก   นอกจากนี้ในเนื้อเหล็กยังมีธาตุอื่นผสมรวมอยู่ด้วยคือ ธาตุโมลิบตินัม และธาตุวาเนเดียม ธาตุ 2 ชนิดนี้ช่วยให้เหล็กทนต่อการสึกหรอและการกัดกร่อนได้ดี ความแข็งของวัสดุอย่างเดียวไม่ใช่เป็นหัวใจสำหรับความคมของมีด ความคมของมีดขึ้นอยู่กับเทคนิคในการเจียรใบมีด ซึ่งสามารถทดสอบความคมได้จากการทดลองเฉือนกระดาษทรายที่ซ้อนกัน และวัดความลึกของใบมีดที่กรีดลงไปว่ามีขนาดลึกเท่าใด นอกจากเหล็กกล้าไร้สนิมแล้ว ปัจจุบันมีดที่ทำจากเซรามิกเป็นที่นิยม เนื่องจากมีความแข็งมากกว่าเหล็กกล้า แต่ข้อเสียของมีดที่ทำจากวัสดุประเภทนี้คือ การลับคมมีด จำเป็นต้องใช้ผลึกเพชรมาเจียรใบมีดหลังจากใช้งานไปได้ระยะหนึ่ง และการเจียรใบมีดนั้นก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องปล่อยให้มืออาชีพเจียรใบมีด และข้อควรระวังในการใช้มีดเซรามิกคือ การแตกของใบมีดเนื่องจากวัสดุที่แข็งมากก็จะเปราะมากด้วยเช่นกัน เพราะฉะนั้นการหั่นผักหรือผลไม้ที่มีความแข็งสูงๆ ก็ไม่เหมาะสม และหากมีดตกจากที่สูงสู่พื้น ก็อาจจะทำให้ใบมีดแตกได้อีกเช่นกัน การทำความสะอาดใช้เพียงฟองน้ำเช็ดบริเวณใบมีด และแขวนเก็บไว้ การทำความสะอาดไม่ควรใช้แผ่นโลหะขัด เพราะจะทำให้คมมีดทื่อ และใบมีดเป็นรอย เกิดสนิมได้ง่าย เนื่องในวารดิถีปีใหม่ผมขออำนาจคุณพระศรีรัตนตรัย ดลบันดาลให้เพื่อนสมาชิกฉลาดซื้อทุกท่าน เจริญด้วยอายุ วรรณะ พละ ฉลาดบริโภค โรคภัยไม่ถามหานะครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 165 สัญลักษณ์ในผลิตภัณฑ์เครื่องนุ่งห่ม

โดย ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค ประธานอนุกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านสินค้าและบริการปัจจุบันคนทั่วไปจะซักผ้าโดยใช้เครื่องซักผ้า เพราะมีความสะดวก และประหยัดกว่าการจ้างซัก เสื้อผ้าที่เราซื้อมาใช้นั้น ถ้าเป็นเสื้อผ้าที่มีคุณภาพระดับส่งออก มักจะมีป้ายที่ติดสัญลักษณ์ไว้ เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถเลือกโปรแกรมในการซักได้อย่างถูกต้องและเหมาะสมกับชนิดของเสื้อผ้า ซึ่งจะทำให้เสื้อผ้าที่เราซื้อมานั้นมีอายุการใช้งานได้นานขึ้น บทความครั้งนี้ ขอเสนอความหมายของสัญลักษณ์ ที่เรามักพบเห็นได้บนเสื้อผ้า เพื่อเป็นข้อมูลให้กับผู้บริโภคที่ฉลาด (smart consumer) ในการเลือกใช้งานสำหรับการซัก รีด เสื้อผ้าของเราได้อย่างถูกต้อง แสดงวิธีการซัก (washing): โปรแกรมซักผ้าสี ซักแบบถนอมผ้าปานกลาง และซักผ้าแบบถนอมผ้าที่สุด ความหมายของตัวเลขในกล่องหมายถึงอุณหภูมิของน้ำที่จะใช้ซักผ้า เครื่องซักผ้าบางรุ่น บางยี่ห้อ สามารถเลือกโปรแกรมการซัก โดยกำหนดอุณหภูมิในการซักได้ เช่น 95 หมายถึงซักในน้ำที่อุณหภูมิ 95 องศาเซลเซียสได้ การเลือกใช้โปรแกรมซักผ้าที่อุณหภูมิสูงนั้น เป็นการซักผ้าสี และเป็นผ้าที่มีความทนทานสูง สามารถใส่ผ้าลงไปในเครื่องซักผ้าในปริมาณมากๆ ของการซักแต่ละครั้งได้ 60 หมายถึงซักในน้ำที่อุณหภูมิ 60 องศาเซลเซียสได้ การเลือกใช้โปรแกรมซักผ้าที่อุณหภูมินี้นั้น เป็นการซักแบบถนอมผ้า (delicate wash program) และเป็นผ้าที่มีความทนทาน ขีดหนึ่งขีดที่ใต้กล่อง หมายถึงควรใส่ผ้าในปริมาณหลวมๆ ที่ไม่แน่นมาก 30 หมายถึงซักในน้ำที่อุณหภูมิไม่เกิน 30 องศาเซลเซียสได้ การเลือกใช้โปรแกรมซักผ้าที่อุณหภูมินี้นั้น เป็นการซักแบบถนอมผ้าที่สุด (fine wash program) เช่นผ้าขนสัตว์ ขีดสองขีดที่ใต้กล่อง หมายถึงควรใส่ผ้าในปริมาณน้อยๆ ไม่แน่นจนเกินไป ซักด้วยมือ   หมายถึงควรซักด้วยมือ ในน้ำที่อุณหภูมิไม่เกิน 40 องศาเซลเซียส และไม่ควรแช่ผ้าทิ้งไว้ในน้ำเป็นเวลานานๆ เครื่องซักผ้าบางรุ่นได้พัฒนาความสามารถ โดยมีโปรแกรมการซักเหมือนกับการซักด้วยมือ   ห้ามซักผ้าด้วยเครื่อง ต้องซักแห้งโดยใช้น้ำยาเคมีเท่านั้น เวลาเลือกซื้อเสื้อผ้า ควรตรวจดูฉลากด้านใน ของเสื้อผ้าด้วย เพราะถ้าซื้อมาแล้วซักด้วยเครื่องหรือซักมือไม่ได้ ก็ต้องจ้างซัก ซึ่งมีราคาที่ต้องจ่ายเพิ่มขึ้น แสดงวิธีการฟอกขาว (Bleaching) สัญลักษณ์ รูปสามเหลี่ยม หมายถึง เราสามารถฟอกเสื้อผ้าได้ ไม่ว่าจะฟอกด้วยออกซิเจน หรือ ฟอกด้วยคลอรีน ถ้าเป็นสัญลักษณ์รูปสามเหลี่ยมที่มีเส้นขวางสองเส้นอยู่ด้านใน หมายความว่า แนะนำให้ฟอกด้วยออกซิเจน     สัญลักษณ์แสดงการ ห้ามฟอกขาว   ถ้าเสื้อผ้ามีสัญลักษณ์นี้ ให้เราเข้าใจว่า ห้ามฟอกขาว และควรต้องเลือกใช้ผงซักฟอกสำหรับซักผ้าสี ไม่ควรใช้ผงซักฟอกสำหรับซักผ้าขาว เพราะจะทำให้สีซีดได้ สัญลักษณ์แสดงการรีด สัญลักษณ์ ที่แสดงเป็นรูปเตารีด หมายถึง สามารถรีดเสื้อผ้าโดยใช้ความร้อนได้ โดยขนาดความร้อนที่ใช้รีด ดูได้จากจำนวนจุด ถ้ามี สามจุดหมายความว่า สามารถรีดโดยใช้ความร้อนสูงได้ (200 องศาเซลเซียส) สองจุดขนาดความร้อนปานกลาง (150 องศาเซลเซียส) หนึ่งจุดขนาดความร้อนเล็กน้อย (100 องศาเซลเซียส) ซึ่งสามารถปรับขนาดความร้อนตามเตารีดให้ตรงตามปริมาณจุด ที่กำหนดไว้ในเสื้อผ้าได้   สัญลักษณ์ห้ามรีด เป็นสัญลักษณ์ที่ บอกว่า ห้ามรีด ถ้านำเสื้อผ้าไปรีด ก็อาจทำให้สีตก หรือ สีเพี้ยนไป และอาจทำให้เสื้อผ้าฉีกขาดเสียหายได้ เพราะความร้อนทำให้เนื้อผ้าละลาย สัญลักษณ์สำหรับการใช้เครื่องอบแห้ง เป็นรูปสี่เหลี่ยม ด้านในเป็นรูปวงกลม จุดสองจุดหมายถึง สามารถเลือกใช้โปรแกรมสำหรับการอบแห้งใด ๆ ก็ได้ แต่ถ้ามีจุดเดียวต้องเลือกใช้โปรแกรมที่มีอุณหภูมิต่ำในการอบ   เพราะอาจทำให้เสื้อผ้าเสียหายได้จากความร้อนของเครื่องอบผ้า     ฉลาดซื้อแล้ว ก็ต้องฉลาดใช้ ด้วยนะครับ

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 164 ได้โปรดเปลี่ยนหลอดไฟ !: หลอดไฟฮาโลเจน VS. หลอดไฟ LED

โดย ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค ประธานอนุกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านสินค้าและบริการบทความนี้ได้รณรงค์การใช้หลอดไฟ LED ในวารสาร Test ซึ่งเป็นวารสารของมูลนิธิเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ที่จัดตั้งโดยรัฐบาลเยอรมัน แต่เป็นองค์การอิสระ เป็นนิติบุคคลประเภท มูลนิธิ สำหรับให้คำแนะนำผู้บริโภคทุกด้านในการใช้ชีวิต ไม่ว่าจะเป็นด้านการเงินการธนาคาร อาหารและแครื่องสำอาง สื่อดิจิตอล บ้านและสวน งานอดิเรกและการเดินทาง ตลอดจนด้านสุขภาพ ซึ่งจะคล้ายคลึงกับโครงสร้างการทำงานของคณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคในส่วนของความเชี่ยวชาญทางวิชาการ ทั้ง 7 ด้าน การปฏิรูปพลังงานในเยอรมนี หมายถึงการปฏิรูประบบสำรองพลังงานที่ ก้าวข้ามการใช้พลังงานจากน้ำมัน ถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติ และพลังงานนิวเคลียร์ แต่ให้ความสำคัญกับการเพิ่มสำรองพลังงานหมุนเวียนแทน ภายในปี 2050 เยอรมนีจะผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานหมุนเวียนไม่ต่ำกว่า 80 % และใช้พลังงานจากพลังงานหมุนเวียนไม่ต่ำกว่า 60 % ของพลังงานทั้งระบบ เป้าหมายสำคัญคือ จะเลิกใช้พลังงานนิวเคลียร์ภายในปี 2022 การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นเสาหลักแท่งที่สองของการปฏิรูปพลังงาน รองจากการใช้พลังงานหมุนเวียน การประหยัดพลังงานและใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ลดการสร้างโรงไฟฟ้าและโครงข่ายการจ่ายกระแสไฟฟ้าลง ในกรณีนี้ทางเยอรมนีให้ความสำคัญ ในเรื่องการจัดการพลังงานไฟฟ้าแบบ Demand-Side Management (DSM)  ซึ่งเป็นการส่งเสริมการใช้ไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพ (Promotion of Electricity  Energy Efficiency) ซึ่งเป็นแนวทางที่เกิดขึ้นและแพร่หลายในประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อโลกประสบวิกฤตการณ์พลังงานในช่วงทศวรรษ 1970 ทำให้ทั่วโลกได้ตระหนักว่า การผลิตเพื่อสนองความต้องการใช้พลังงานเพียงทางเดียว ย่อมก่อให้เกิดปัญหาหลายประการติดตามมา เช่น ทรัพยากรพลังงานที่นับวันจะหมดไป, ปัญหาสิ่งแวดล้อมจากมลภาวะที่เกิดจากการเผาผลาญพลังงาน เป็นต้น แนวคิดการส่งเสริมให้เกิดการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ จึงได้รับการเผยแพร่และคิดค้นวิจัยไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมและจริงจัง DSM เป็นทางเลือกเพิ่มขึ้นอีกทางหนึ่งสำหรับการวางแผนพัฒนาการผลิตและส่งไฟฟ้า ซึ่งจะต่างจากการจัดการพลังงานไฟฟ้าแบบ Supply-Side Management คือ การวางแผน ก่อสร้างและจัดหาแหล่งผลิตไฟฟ้าเพื่อสนองความต้องการของผู้ใช้ องค์กรผู้บริโภคได้ให้ข้อมูลด้านวิชาการ เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถเลือกใช้อุปกรณ์ไฟฟ้า เช่น หลอดไฟ ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด และคุ้มค่ากับเงินที่ต้องจ่ายออกไป โดยเปรียบเทียบการใช้ไฟฟ้าของหลอดไฟฮาโลเจน กับหลอดไฟ LED ซึ่งหลอดไฟ LED สามารถประหยัดพลังงานไฟฟ้าได้มากกว่า และมีอายุการใช้งานของหลอดไฟที่นานกว่าhttps://www.chaladsue.com/images/stories/164/chaladshop/dd.jpg โดยเฉลี่ยผู้บริโภคต้องจ่ายค่าไฟสำหรับการส่องสว่างของหลอดไฟฮาโลเจนต่อปีเป็นเงิน 11 ยูโร (1 ยูโร = 41 บาท) ใช้ไฟเฉลี่ย 3 ชั่วโมงต่อวัน นอกจากนี้อายุการใช้งานของหลอดไฟฮาโลเจน ก็ยังสั้นมาก คือ มีอายุการใช้งาน เพียง 2 ปี (จากข้อมูลการทดสอบของวารสาร Test นี้ หลอดไฟฮาโลเจนมีอายุไม่เกิน 2,000 ชั่วโมง) ในขณะที่หลอดไฟ LED มีอายุการใช้งานสูงกว่า 25,000 ชั่วโมง ในรูปเปรียบเทียบค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น ระหว่างหลอดไฟฮาโลเจนกับหลอดไฟ LED ตลอดระยะเวลา 12 ปี (12,000 ชั่วโมง)  ซึ่งใช้หลอดไฟฮาโลเจน 3 ดวง คิดเป็นเงิน 15 ยูโร แต่ต้องจ่ายค่าไฟ คิดเป็นเงิน 117 ยูโร รวมเป็น 132 ยูโร แต่ถ้าใช้หลอดไฟ LED ที่กำลังส่องสว่างเท่ากัน ใช้ไฟเพียงดวงเดียว (เนื่องจากอายุการใช้งานที่ยาวกว่า) ค่าหลอดไฟ LED 10 ยูโร และเสียค่าไฟเพียง 17 ยูโร  รวมเป็น 27 ยูโร การเปลี่ยนหลอดไฟส่องสว่างจากหลอดฮาโลเจนมาเป็นหลอดไฟ LED 1 ดวง จะประหยัดเงิน ได้ถึง 105 ยูโร (ค่าไฟฟ้าของเยอรมัน 0.28 ยูโรต่อ หน่วย kWh) องค์กรผู้บริโภคในประเทศที่เจริญทางด้านเศรษฐกิจอย่างเยอรมนี เป็นกำลังสำคัญ ในการเข้าไปมีส่วนช่วยเหลือรัฐบาลในด้านการปฏิรูปพลังงาน ไม่เหมือนกับองค์กรภาคเอกชนที่ทำงานด้านปฏิรูปพลังงานของเรา ที่ถูกกีดกัน ขัดขวางและถูกมองเป็นคู่ขัดแย้ง กับรัฐบาลและกลุ่มทุนผูกขาด ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำครับ หากรัฐจะคืนความสุขให้กับประชาชนก็จำเป็นต้องแก้สมการ การปฏิรูปกิจการด้านพลังงานของประเทศให้ได้ครับ ลดการผูกขาด = ลดความเหลื่อมล้ำ =  คืนความสุขที่ยั่งยืนให้กับประชาชน   แหล่งข้อมูล DE Magazin Deutschland ฉบับที่ 1/2014 วารสาร Test ฉบับ 10/2014 http://www.dsm.egat.co.th/index.php?option=com_content&view=article&id=18&Itemid=111  

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 163 โทรทัศน์ความคมชัดสูง (UHD TV) ยังล้ำหน้าสำหรับเกินไปสำหรับผู้บริโภคของไทย

โดย ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค ประธานอนุกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านสินค้าและบริการตอนนี้การประมูลทีวีดิจิตอลเสร็จเรียบร้อยแล้ว กำลังอยู่ระหว่างทดลองออกอากาศในบางพื้นที่ นโยบายแจกกล่อง set top box และราคาคูปองที่จะแจกให้ผู้บริโภค สรุปว่าอยู่ที่ 690 บาท ตามที่องค์กรผู้บริโภคเสนอ สำหรับท่านที่กำลังเลือกซื้อโทรทัศน์เครื่องใหม่ จะเห็นว่าเริ่มมีโทรทัศน์ความคมชัดสูงมาก ที่เรียกว่า Ultra High Definition Television (UHD TV) ดังนั้น ขอเสนอบทความเกี่ยวกับเรื่อง UHD TV ซึ่งทางองค์กรผู้บริโภคของเยอรมนีได้ทำการสำรวจและมีข้อมูลบางประเด็นสำหรับความเหมาะสมทางด้านเทคนิคมานำเสนอ เพื่อประกอบการตัดสินใจเลือกซื้อโทรทัศน์เครื่องใหม่ในยุคดิจิตัลทีวี โทรทัศน์ความคมชัดสูงมาก แบบ UHD นี้ เป็นเทคนิคการรับสัญญาณภาพที่พัฒนาต่อมาจาก โทรทัศน์แบบความคมชัดธรรมดา (Standard Definition: SD) ซึ่งมีความละเอียดของจุดการรับภาพ (Resolution) 0.4 ล้านจุด (pixel) โทรทัศน์แบบความคมชัดสูง (High Definition: HD) มีจุดในการรับภาพ (Resolution) 2 ล้านจุด (pixel)  และโทรทัศน์แบบความคมชัดสูงมากจะมีจุดในการรับภาพ 8 ล้านจุด (3840 x 2160 pixel) ปัจจุบัน สถานีที่ประมูลช่องทีวีดิจิตอลในระบบความคมชัดสูง (Full HD) จะส่งสัญญาณภาพที่ระดับความชัด 2 ล้านจุดเท่านั้น (1920 x 1080 pixel) ในกรณีที่โทรทัศน์แบบ HD Ready จะมีระดับความชัดอยู่ที่ (1280 x 720 pixel) ซึ่งต่ำกว่าแบบ Full HD ในกรณีที่ทางสถานีโทรทัศน์ส่งสัญญาณ แบบ SD หรือ HD ผ่านโทรทัศน์แบบ UHD การแปลงสัญญาณภาพจะทำให้สังเกตถึงความเพี้ยนของภาพได้ เพราะฉะนั้นการรับสัญญาณโทรทัศน์ในขณะนี้ ด้วยโทรทัศน์แบบ HD จึงจะมีความสอดคล้องกับการรับสัญญาณจากสถานีโทรทัศน์มากกว่า คำแนะนำของขององค์กรผู้บริโภคเยอรมันในขณะนี้ คือ คุณภาพของ UHD และ HD แทบไม่ต่างกัน ในขณะที่ ราคาต่างกันมาก เนื่องจากสายตาของคนยังไม่สามารถจับความแตกต่างความคมชัดของภาพระหว่าง UHD และ HD ได้ หากระยะห่างระหว่างจอภาพและผู้ชมรายการไม่ได้ไกลมาก และจอภาพมีขนาดเล็ก   อย่างไรก็ตามโทรทัศน์แบบความคมชัดสูงมากนี้ เหมาะกับรายการโทรทัศน์ที่บันทึกด้วยกล้องความคมชัดพิเศษ ภายใต้เทคโนโลยี 4K โดยในอนาคตอันใกล้นี้ ผู้ให้บริการหนังและวิดีโอออนไลน์อย่าง Amazon Instant Video, Maxdome และ Netfix จะเปิดให้บริการดูหนังและซีรีส์ ผ่าน Video Streaming ภายใต้ความคมชัดสูงมาก ซึ่งเงื่อนไขที่สำคัญในการรับชมผ่านอินเตอร์เนต คือ ความเร็วของอินเตอร์เนตในระบบ 4G โดยจะต้องมีความเร็วอินเตอร์เนตไม่ต่ำกว่า 25 Mbits ต่อวินาที นอกจากช่องทางในการรับชมหนังและภาพยนตร์ผ่านรายการโทรทัศน์ หรือผ่านระบบอินเตอร์เนตแล้ว ก็สามารถรับชมผ่านแผ่น ที่เป็นระบบ UHD ได้เช่นกัน แต่ผู้ชมรายการก็ต้องซื้อเครื่องเล่นที่สามารถเล่นแผ่นได้ในระบบ UHD ด้วยจึงจะได้ภาพที่มีความคมชัดสูงมาก หากมีโทรทัศน์ที่เป็นระบบ UHD แต่เครื่องเล่นแผ่นไม่ได้เป็นระบบ UHD ก็จะไม่เกิดประโยชน์ในการรับชมภาพที่ทีความคมชัดสูง เพราะฉะนั้นผู้บริโภคในเมืองไทยที่ต้องการรับชมรายการที่มีความคมชัดสูง ขณะนี้เครื่องรับสัญญาณโทรทัศน์ ระดับความคมชัดแบบ HD ก็เพียงพอ และในอนาคตเมื่ออินเตอร์เนตความเร็วสูง หรือ ระบบ 4G เกิดขึ้นในเมืองไทยเมื่อใด เมื่อนั้น โทรทัศน์ แบบ UHD ก็ เป็นทางเลือกในการรับชมภาพความคมชัดสูงมากที่น่าสนใจครับ (ที่มา : วารสาร Test ฉบับ 7/2014)

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 162 การเลือกคอนแทคเลนส์และบิ๊กอาย

โดย กอง บก. อ.ไพบูลย์ ช่วงทอง ติดภารกิจสำคัญขอพัก 1 ฉบับ กองบรรณาธิการจึงขอนำเสนอเรื่อง บิ๊กอาย ที่มีผู้อ่านขอให้ทางฉลาดซื้อนำเสนอบ้าง บิ๊กอาย เป็นคอนแทคเลนส์ชนิดหนึ่ง ถูกผลิตขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการพิเศษคือ ทำให้ตาของผู้ใช้มีลักษณะของลูกตาดำที่ใหญ่ขึ้น(เลนส์ของบิ๊กอายมีการวาดรูปตาดำให้ใหญ่กว่าตาดำจริง และใช้วัสดุที่มีความมันวาวมาก) ดวงตาดูกลมโตน่ารัก สมชื่อ “บิ๊กอาย” ซึ่งเป็นกระแสแรงมาจากฟากเกาหลี ญี่ปุ่น ที่ดารา นักร้องไอดอลทั้งหลาย เขาฮิตกัน วัยรุ่นไทยจึงไม่พลาด ขอตามแฟชั่นด้วย อันที่จริงการใช้คอนแทคเลนส์ ซึ่งเป็นวัสดุทางการแพทย์นั้นได้รับความนิยมกันมานานแล้ว เพราะช่วยแก้ไขปัญหาเรื่องสายตา แทนการใช้แว่นสายตาได้ จึงเป็นทางเลือกสำหรับคนที่อาจไม่ได้รับความสะดวกหรือรู้สึกรำคาญจากการสวมแว่นตา เมื่อมีผู้นิยมใส่คอนแทคเลนส์ ซึ่งเดิมเป็นเพียงเลนส์ใสๆ กันมากขึ้น ก็มีการพัฒนาให้มีเรื่องของสีสันเข้ามาเพิ่มเรียกว่า คอนแทนเลนส์สี โดยปกติจะมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางที่ 14 มิลลิเมตรและ 14.5 มิลลิเมตร ต่อมาก็ทำให้มีขนาดใหญ่ขึ้น เป็น 15 มิลลิเมตร 15.5 มิลลิเมตร(ใหญ่กว่านี้ก็มี)ซึ่งจัดว่าเป็น บิ๊กอาย ทั้งหมด คือไม่ได้เน้นช่วยเรื่องการมองเห็นแล้วแต่จะเป็นเรื่องของแฟชั่น   “คอนแทคเลนส์ประเภทบิ๊กอาย พบว่า ไม่มีการอนุญาตให้จำหน่าย ซึ่งที่ได้รับการอนุญาตจะเป็นคอนแทคเลนส์ประเภทคัลเลอร์โทนขนาด 14.5 มิลลิเมตรเท่านั้น แต่ขนาดเกินกว่านี้คือ บิ๊กอาย โดยขณะนี้มีการจดทะเบียนกว่า 70 รายการ แต่กลับพบว่าในท้องตลาดมีการวางขายกว่า 1,000 ยี่ห้อ โดยคอนแทคเลนส์ถูกจัดให้อยู่ในประเภทวัสดุทางการแพทย์ ในปี 2551 และหากขายโดยไม่ได้การรับรองจาก อย.ถือว่าผิดกฎหมายทั้งสิ้น” นพ.ฐาปนวงศ์ ตั้งอุไรวรรณ จักษุแพทย์ โรงพยาบาลพระนั่งเกล้า จ.นนทบุรี กล่าวในรายการข่าวช่องไทยพีบีเอส เมื่อ วันที่ 4 สิงหาคม 2557 การใส่คอนแทคเลนส์ มีความเสี่ยงมากกว่าการใส่แว่นตา เพราะเลนส์จะเข้าไปปิดทับบนกระจกตา ซึ่งมีความอ่อนไหวมาก แต่คนที่มีปัญหาเรื่องสายตาส่วนใหญ่จะได้รับการให้ข้อมูลที่ถูกต้องในการใส่ มีการวัดเคิร์ฟของเลนส์ที่เหมาะกับดวงตาของผู้ใช้ ตลอดจนได้รับคำแนะนำเรื่องการทำความสะอาด โดยส่วนใหญ่จึงดูแลและใช้คอนแทคเลนส์กันได้ดี เพราะต้องใส่กันประจำเนื่องจากความจำเป็น ขณะที่บิ๊กอายนั้น คนที่นิยมกลับเป็นพวกที่ไม่ได้มีปัญหาเรื่องสายตา เพียงแต่ต้องการทำตามแฟชั่น ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นวัยรุ่นและสาวหนุ่ม ที่สนใจเรื่องพวกนี้เป็นพิเศษ คนกลุ่มนี้จะไม่ค่อยได้สนใจเรื่องความถูกต้องของการใช้งาน การทำความสะอาด และวัสดุที่นำมาทำเป็นเลนส์ อาศัยซื้อหาสินค้าราคาไม่แพง ซื้อกันง่ายๆ จากแผงลอยหรือเว็บออนไลน์ ขนาดซื้อมาคนละสีแล้วมาแบ่งกันใส่ก็มี ทำให้ความเสี่ยงที่ดวงตาจะได้รับความเสียหายมีมากขึ้น   อันตรายจากการใส่คอนแทคเลนส์ บิ๊กอาย 1.การติดเชื้อที่ตา สัญญาณอาการตาติดเชื้อโรค อย่างแรกคือ ขณะใส่หรือถอดคอนแทคเลนส์จะรู้สึกเคืองตามาก ตาจะแดง เรียกว่าเริ่มมีความผิดปกติเกิดขึ้นกับตา ยิ่งถ้าถึงขั้นตามัวลง หรือสังเกตเห็นจุดขาวๆ ที่ตาดำ แสดงว่า อาการรุนแรงมากแล้ว ต้องรีบไปพบจักษุแพทย์ด่วน เพราะจุดขาวๆ นี้ก็คือ การติดเชื้อที่กระจกตาดำ ซึ่งอาจจะลุกลามจนส่งผลร้ายแรงต่อไป ส่วนสาเหตุการติดเชื้อเกิดได้จากหลายปัจจัย เช่น การดูแลความสะอาดที่ไม่ดีหรือไม่มีเลย การใส่คอนแทคเลนส์นานเกินไป การใส่คอนแทคเลนส์นอน รวมถึงใช้คอนแทคเลนส์ เกินระยะเวลาที่กำหนด เช่น ที่กล่องระบุให้ใช้ 1 เดือน ก็ไปใช้ 2 เดือน โดยเชื้อที่มักพบบ่อยคือ เชื้อแบคทีเรียที่ชื่อ ซูโดโมแนส(Pseudomonas) ซึ่งเชื้อแบคทีเรียนี้  สามารถอยู่ได้ทุกที่ในสภาพแวดล้อมทั่วไป เป็นเชื้อที่ลุกลามรวดเร็วและค่อนข้างจะดื้อต่อการใช้ยารักษามากด้วย 2.กระจกตาทะลุ ตาบอด กระจกตาทะลุ ส่วนใหญ่ต่อเนื่องมาจากการติดเชื้อ และได้รับการรักษาช้าไป ผลของกระจกตาทะลุ คือต้องเปลี่ยนกระจกตาเลย กระจกตาที่เปลี่ยนก็ต้องเอามาจากคนที่เสียชีวิต ซึ่งเป็นที่ทราบว่าในประเทศไทยนั้นจำนวนกระจกตาไม่เพียงพอ มีความขาดแคลนอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นถ้ากระจกตามาไม่ทันก็เกิดความสูญเสียมากขึ้นเรื่อยๆ บางครั้งถ้าเปลี่ยนไม่ทันเราก็ต้องใช้อย่างอื่นมาช่วย ทำให้ผลที่ได้รับไม่ดี เป็นต้อหินแทรก และก็มีโอกาสที่จะตาบอดได้ 3.อาการภูมิแพ้เรื้อรังที่ดวงตา ภูมิแพ้เรื้อรังเกิดจากใส่คอนแทคเลนส์ที่ผิดขนาด หรือแม้แต่คอนแทคเลนส์ที่มีมาตรฐานก็อาจทำให้เกิดโรคภูมิแพ้เรื้อรังที่ดวงตาได้ ซึ่งจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของเยื่อบุตาขาว กลายเป็นก้อนเนื้อและจะสูญเสียการทำงานของเยื่อบุตาขาวจะทำให้เกิดการแห้ง แสบ อาการเบื้องต้นคือ แสบตา หลับตาจะมีน้ำตาไหล โดยโรคนี้เมื่อเป็นในระยะแรกสามารถรักษาให้หายได้แต่หายเป็นระยะยาวจะรักษา หายค่อนข้างยากรวมถึงมีค่ารักษาพยาบาลที่สูง การใช้ขนาดเลนส์ที่ไม่พอดี(ผิดขนาด) กับความโค้งของตา ก่อให้เกิดอันตรายได้ ซึ่งแต่ละคนจะมีเคิร์ฟหรือความโค้งของตาไม่เท่ากัน   “เคิร์ฟของลูกตาโก่งมากโก่งน้อย ถ้าโก่งมากเราต้องใช้ตัวที่มันใหญ่เกาะได้ มันเล็กก็ต้องใช้ตัวเล็ก แต่ที่ขายตามบูธเล็กๆ มันไม่มีหรอกแต่ถ้าเป็นร้านที่มีเครื่องวัดก็จะเช็คได้ว่าเคิร์ฟของลูกตาเป็นอย่างไร” รศ.พญ.งามจิตต์ เกษตรสุวรรณ ให้สัมภาษณ์ไว้กับฉลาดซื้อ 4.การบาดเจ็บที่กระจกตาเนื่องจากเลนส์ไม่ได้มาตรฐาน 5.การที่แพ้สารประกอบในเลนส์หรือน้ำยาล้าง การเลือกคอนแทคเลนส์ หากจะใส่คอนแทคเลนส์ สำหรับมือใหม่ควรปรึกษาจักษุแพทย์ เพื่อให้ได้รับคำแนะนำที่เหมาะสมและได้วัดขนาดความโค้งของตา เรียกว่าใช้ของได้เหมาะและจัดการดูแลได้ดี เพื่อป้องกันปัญหาในระยะยาว เพราะอย่างไรเสียก็ต้องใช้งานกันประจำ และสำหรับกลุ่มที่ต้องการแค่ครั้งคราวเพื่อความสวยงามตามแฟชั่น ก็มีข้อแนะนำดังนี้ 1.เลือกจากแหล่งขายที่น่าเชื่อถือ เมื่อเกิดปัญหาจากสินค้าสามารถเรียกร้องได้ ไม่ใช่ร้านค้าที่หาตัวไม่เจอ และขายสินค้าที่มีใบรับรองมาตรฐาน 2.ตัวสินค้า กล่องบรรจุภัณฑ์คอนแทคเลนส์ จะต้องมีเอกสารกำกับการใช้ ข้อบ่งใช้ ข้อห้าม ข้อควรระวัง แจ้งเอาไว้อย่างชัดเจน คอนแทคเลนส์เป็นวัสดุทางการแพทย์ต้องมีเอกสารรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) 3.ศึกษาวิธีการใช้งานและเลี่ยงการใช้ในลักษณะไม่เหมาะสม ทั้งการแลกเปลี่ยนกันใช้ ไม่ทำความสะอาด ใส่นานเกินเวลา หรือแม้แต่เผลอใส่นอน

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 161 ความรับผิดเพื่อชำรุดบกพร่องในสัญญาซื้อขาย และการคุ้มครองผู้บริโภค

โดย ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค ประธานอนุกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านสินค้าและบริการคณะอนุกรรมการด้านสินค้าและบริการทั่วไป ได้ดำเนินงานตามบทบาทหน้าที่ตามที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการฯ ดังที่กำหนดไว้ใน (ร่าง) พรบ.องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. ... เพื่อทดลองทำหน้าที่ของอนุกรรมการฯ ตามเจตนารมณ์ของร่างกฎหมายดังกล่าว โดย ได้มีความเห็นให้จัดทำการศึกษาวิจัยเรื่อง “ความรับผิดเพื่อชำรุดบกพร่องในสัญญาซื้อขายและการคุ้มครองผู้บริโภค โดย นายเชิดวุฒิ สินพิมลบูรณ์ นักวิจัยในโครงการนี้ ซึ่งผลจากการศึกษาวิจัยได้นำไปประกอบการจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย และขยายผลโดยการนำเสนอต่อผู้แทนภาครัฐและภาคธุรกิจ เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคและประชาชนทั่วไป โดยผลจากการแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นปรากฏว่า ผู้เข้าร่วมทุกฝ่ายมีความเห็นตรงกันว่าการปรับปรุงหลักกฎหมายในการจัดการกับปัญหาข้อพิพาทเรื่องสินค้ามือหนึ่งชำรุดบกพร่องในลักษณะทำนองเดียวกับที่หลายประเทศได้ดำเนินการแล้วจะเป็นประโยชน์ และทุกภาคส่วนควรร่วมมือกันในการปรับปรุงและพัฒนามาตรการที่เกี่ยวข้องดังกล่าวเพื่อยกระดับการคุ้มครองผู้บริโภคและพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตของประเทศไทยให้ดียิ่งขึ้น หลักกฎหมายว่าด้วยความรับผิด(ของผู้ขาย) เพื่อความชำรุดบกพร่องของสินค้าถือเป็นหลักกฎหมายสำคัญที่รัฐจะนำไปเป็นกฎเกณฑ์ในการสร้างความสงบและผาสุก(ในแง่ของการทำสัญญาซื้อขาย) ให้แก่สังคม อีกทั้ง หลักกฎหมายดังกล่าวยังมีความสำคัญต่อความคล่องตัวและความมั่นคงทางพาณิชย์อีกด้วย ซึ่งกฎเกณฑ์ดังกล่าวได้มีการบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 3 ลักษณะ 1 หมวด 2 ส่วนที่ 2 ตั้งแต่มาตรา 472 ถึงมาตรา 474 โดยบัญญัติไว้อย่างกว้างๆ ซึ่งในทางหนึ่งก็อาจจะส่งผลให้สามารถใช้และตีความกฎหมายได้อย่างยืดหยุ่นตามกาลเวลา แต่ก็อาจจะสร้างความสับสนและก่อให้เกิดอุปสรรคในการบังคับใช้และการตีความได้เช่นกัน   ประกอบกับมาตราดังกล่าวได้บัญญัติและบังคับใช้มาตั้งแต่พุทธศักราช 2472 และด้วยกาลเวลาที่ผ่านมาเป็นระยะเวลาที่ยาวนานย่อมส่งผลต่อการบังคับใช้กฎหมายอย่างมิอาจหลีกเลี่ยงได้ เนื่องจากข้อเท็จจริงที่ปรากฏในขณะนั้น กับข้อเท็จจริงที่ปรากฏในปัจจุบันย่อมแตกต่างกันไปมาก ทั้งในแง่เทคโนโลยี ความซับซ้อนของสินค้า พฤติกรรมของคู่สัญญา หรือวิธีการดำเนินการค้าขายก็แตกต่างกันมากมายในแง่ทางเทคนิค ดังนั้น จึงควรจะต้องทำการวิเคราะห์และศึกษาเปรียบเทียบ เพื่อค้นหาปัญหาและแนวทางการแก้ไขปัญหาที่เหมาะสมเท่าที่จะเป็นไปได้ และนอกเหนือไปจากประเด็นปัญหาเกี่ยวกับบทนิยามของความชำรุดบกพร่องของสินค้า รวมถึงภาระในการพิสูจน์เกี่ยวกับความชำรุดบกพร่องของสินค้าแล้ว ยังมีประเด็นที่ควรต้องทำการศึกษาต่อไปว่า ความชำรุดบกพร่องที่ผู้ขายต้องรับผิดนั้นได้แก่ความชำรุดบกพร่องที่ปรากฏขึ้นในช่วงเวลาใด ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นก่อน ระหว่าง หรือหลังการส่งมอบสินค้าแล้วก็ได้ และเมื่อปรากฏว่าผู้ขายต้องรับผิดเพื่อชำรุดบกพร่องแล้วก็จะต้องมาแจกแจงสิทธิและหน้าที่ต่างๆ ของทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย รวมถึงการพิจารณาเกี่ยวกับอายุความในการใช้สิทธิเรียกร้องที่เกี่ยวเนื่องกับความรับผิดเพื่อชำรุดบกพร่อง โดยได้ทำการศึกษาเปรียบเทียบหลักกฎหมายดังกล่าวที่ปรากฏในประเทศเยอรมนีและสิงคโปร์ (Lemon Law) ผลการศึกษา เมื่อพิจารณาจากระบบความรับผิดเพื่อชำรุดบกพร่องของไทยที่ปรากฏในมาตรา 472 ถึง 474 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์แล้ว จะพบว่าบทบัญญัติความรับผิดเพื่อชำรุดบกพร่องมีขอบเขตกว้างและไม่ชัดเจน ก่อให้เกิดความยุ่งยากในการตีความ อันส่งผลต่อการคุ้มครองผู้บริโภคอย่างมีนัยสำคัญ และแม้ว่าพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภคจะมีมาตรการในการคุ้มครองผู้บริโภคที่หลากหลายก็ตาม แต่นั่นก็เป็นเพียงการบัญญัติเกี่ยวกับวิธีพิจารณาหรือกรอบการใช้อำนาจของศาลเท่านั้น อีกทั้งโครงสร้างการคุ้มครองผู้บริโภคกรณีความรับผิดเพื่อชำรุดบกพร่องที่ปรากฏในพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 ยังเป็นการบัญญัติการคุ้มครองผู้บริโภคที่เรียกได้ว่า “กล้าๆ กลัวๆ” เมื่อเปรียบเทียบกับของเยอรมนีและสิงคโปร์ ดังจะเห็นได้จากการการบัญญัติการคุ้มครองผู้บริโภคกรณีสินค้าชำรุดบกพร่องเอาไว้ในกฎหมายวิธีพิจารณาความ ซึ่งก็เป็นการคุ้มครองผู้บริโภคกรณีสินค้าชำรุดบกพร่องที่ “ผิดฝา ผิดตัว” ดังนั้น การคุ้มครองผู้บริโภคกรณีสินค้าชำรุดบกพร่องที่ปรากฏในระบบกฎหมายไทยควรจะมีการจัดระบบเสียใหม่ เพื่อลบภาพ “กล้าๆ กลัวๆ และผิดฝา ผิดตัว” ออกไปให้ได้ ...   เปรียบเทียบหลักกฎหมายของเยอรมนีและสิงคโปร์ กรณีสินค้าชำรุดบกพร่อง เยอรมนี นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 2002 เป็นต้นมา เยอรมนีได้ทำการปรับปรุงประมวลกฎหมายแพ่ง (Das Bürgerliches Gesetzbuch; BGB)  ขนานใหญ่  โดยหนึ่งในนั้นคือ การนำข้อความคิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคเข้ามาใส่ไว้ในระบบความรับผิดเพื่อชำรุดบกพร่อง ซึ่งมีการแก้ไขเพิ่มเติมทั้งในส่วนองค์ประกอบของนิยามความชำรุดบกพร่อง เหตุยกเว้นความรับผิด รวมไปถึงสิทธิต่างๆ ของผู้ซื้อไม่ว่าจะเป็น การเรียกให้ซ่อมแซมหรือเปลี่ยนสินค้า การขอลดราคาตามสภาพ การบอกเลิกสัญญา (ขอคืนสินค้าและขอรับเงินที่ชำระไปคืน) รวมไปถึงการคุ้มครองผู้บริโภคในกรณีที่ผู้บริโภคทำสัญญากับผู้ประกอบธุรกิจ จะต้องมีการคุ้มครองผู้บริโภคในบางประเด็นเป็นกรณีพิเศษ เช่น บทสันนิษฐานความชำรุดบกพร่อง หรือข้อห้ามในการยกเว้นสิทธิต่างๆ ของผู้บริโภคตามกฎหมาย เป็นต้น สิงคโปร์ (Lemon law) ระบบความรับผิดเพื่อชำรุดบกพร่องของสิงคโปร์เป็นระบบความรับผิดที่ปรากฏในระบบคอมมอนลอว์ คือถือเอาข้อตกลงตามสัญญาเป็นหลักไม่ว่าจะเป็นข้อตกลงที่ปรากฏชัดแจ้งหรือข้อตกลงโดยปริยายเป็นต้น กรณีที่ผิดข้อตกลงที่เป็นสาระสำคัญของสัญญา (breach of conditions) ผู้ซื้อมีสิทธิที่จะไม่ขอผูกพันตนตามสัญญาอีกต่อไปได้ โดยสามารถปฏิเสธที่จะไม่รับมอบสินค้าหรือโดยการขอกลับคืนสู่สถานะเดิม เสมือนหนึ่งไม่เคยมีสัญญาต่อกัน โดยการบอกเลิกสัญญาและการเรียกค่าเสียหายหลังจากเลิกสัญญาไปแล้ว และในกรณีที่ในการผิดข้อตกลงที่มิได้เป็นสาระสำคัญของสัญญานั้น (breach of warranties) ผู้ซื้อยังคงต้องผูกพันตนตามสัญญาต่อไปได้ โดยสามารถเรียกค่าเสียหายได้ แต่มิได้ให้สิทธิในการปฏิเสธที่จะรับมอบทรัพย์ที่ซื้อขายหรือยกเลิกสัญญาแต่อย่างใด ดังนั้น สิทธิของผู้ซื้อจึงมีน้อยกว่าหรือหากจะมองในมุมมองของผู้บริโภคจะถือได้ว่า Sale of Goods Act ไม่ปรากฏการคุ้มครองผู้บริโภคเลย ซึ่งก็มีความพยายามที่จะตีความ Sale of goods act เพื่อให้คุ้มครองผู้บริโภคมากขึ้น ซึ่งก็ปรากฏความพยายามที่จะอธิบายว่าผู้ขายจะสามารถป้องกันมิให้ผู้ซื้อยกเลิกสัญญาได้ โดยการส่งมอบสินค้าที่ไม่ชำรุดบกพร่องให้ทันแก่เวลา (เอาสินค้านั้นกลับไปแก้ไข ซ่อมแซม หรือเปลี่ยนสินค้าให้ใหม่) แต่คำอธิบายดังกล่าวก็ยังมิได้มีการบัญญัติสิทธิดังกล่าวไว้ในกฎหมายแต่อย่างใด ดังนั้น จึงเกิดปรากฏการณ์ที่มีการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมาย หรือเรียกสั้นๆ ว่า Lemon Law ขึ้น โดยจะเป็นการเพิ่มเติมในส่วนที่ว่า ผู้ขายจะรับผิดอย่างไร (สิทธิของผู้ซื้อในการเรียกให้ผู้ขายรับผิด) โดยจะมีการบัญญัติถึงการซ่อมแซมแก้ไข การเปลี่ยนสินค้า รวมถึงการลดราคาตามสภาพ รวมถึงบทสันนิษฐานความรับผิดเพื่อชำรุดบกพร่องด้วย สำหรับท่านที่สนใจในรายงานฉบับสมบูรณ์ ทางอนุกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านสินค้าและบริการจะทำการเผยแพร่ผลการศึกษา ผ่านทางเวบไซต์ของ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค http://www.consumerthai.org/main/index.php?option=com_content&view=section&layout=blog&id=24&Itemid=179 หรือ สามารถติดต่อเพื่อขอรับเอกสารในรูปอิเลคโทรนิคส์ไฟล์ ได้ทางฝ่ายเลขานุการอนุกรรมการ ตามที่อยู่อีเมลด้านล่างนี้ pohin59@gmail.com;     //

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 160 10 คำถามกับนโยบายปฏิรูปพลังงานในเยอรมนี

โดย ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค ประธานอนุกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านสินค้าและบริการแหล่งพลังงานจากฟอสซิลอย่างน้ำมัน ถ่านหิน และก๊าซธรรมชาติมีข้อด้อยอยู่สองประการหลักๆ คือ เป็นพลังงานที่มีอยู่อย่างจำกัด และการเผาไหม้ยังปล่อยก๊าซที่เป็นพิษต่อสภาพภูมิอากาศ ทำให้เกิดผลเสียและค่าเสียหายอย่างมหาศาลอีกด้วย ยูเรเนียมเองก็มีอยู่อย่างจำกัดเช่นกัน ดังนั้นการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนจึงไม่เพียงแต่สมเหตุสมผลแต่เป็นประโยชน์อย่างมากในแง่เศรษฐกิจโดยรวม ลม น้ำ แสงอาทิตย์ ความร้อนใต้พิภพ และชีวมวล เป็นแหล่งพลังงานที่มีอยู่อย่างไม่สิ้นสุด นอกจากนี้การใช้พลังงานจากแหล่งเหล่านี้ยังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ มีความแน่นอนและมั่นคงทางพลังงาน ต่างจากแหล่งพลังงานอย่าง น้ำมันดิบ ถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติ และยูเรเนียม การใช้พลังงานหมุนเวียนช่วยลดการนำเข้าพลังงานจากนอกประเทศ เพิ่มความมั่นคงในการจ่ายกระแสไฟฟ้า และยังช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ อีกทั้งยังช่วยให้เกิดการให้บริการไฟฟ้าอย่างยั่งยืน ทำให้เกิดนวัตกรรมที่เข้มแข็ง และยังช่วยสร้างงานใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นอยู่เสมอๆ อีกด้วย 10 คำถาม คำตอบ ต่อนโยบายปฏิรูปพลังงานในเยอรมนีจะช่วยทำให้เราเห็นภาพและทิศทางในการขับเคลื่อนนโยบายด้านพลังงานของเยอรมนี ที่จะสร้างความมั่นคงและยั่งยืนสำหรับนโยบายพลังงานของประเทศ  1. เยอรมนีเชื่อมั่นต่อนโยบายปฏิรูปพลังงาน (Energiewende) คำถามคือ อะไรคือการปฏิรูปพลังงาน ? การปฏิรูปพลังงาน หมายถึงการปฏิรูประบบสำรองพลังงานที่ ก้าวข้ามการใช้พลังงานจากน้ำมัน ถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติ และพลังงานนิวเคลียร์ แต่ให้ความสำคัญกับการเพิ่มสำรองพลังงานหมุนเวียนแทน ภายในปี 2050 เยอรมนีจะผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานหมุนเวียนไม่ต่ำกว่า 80 % และใช้พลังงานจากพลังงานหมุนเวียนไม่ต่ำกว่า 60 % ของพลังงานทั้งระบบ เป้าหมายสำคัญคือ จะเลิกใช้พลังงานนิวเคลียร์ภายในปี 20222. เทคโนโลยีประเภทใดที่เป็นหัวใจสำคัญสำหรับ นโยบายการปฏิรูปพลังงาน ? พลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์ เป็นแหล่งพลังงานหมุนเวียนที่สำคัญสำหรับเยอรมนี ภายใต้การพัฒนาเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่องมาตลอดระยะเวลา 20 ปี ส่งผลให้ราคาไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์ มีราคา 6- 9 ยูโรเซนต์ต่อกิโลวัตต์ชั่วโมง (2.6 – 3.8 บาทต่อกิโลวัตต์ชั่วโมง) ซึ่งจะมีราคาเทียบเคียงกับการผลิตไฟฟ้าจากก้าซและถ่านหิน และถูกกว่าไฟฟ้าที่ผลิตจากนิวเคลียร์3. ในฐานะประเทศอุตสาหกรรม เยอรมนีสามารถให้ความเชื่อมั่นกับพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์ได้หรือไม่ และจะเกิดปัญการขาดแคลนพลังงานไฟฟ้าได้หรือไม่ ? “เยอรมนีเป็นประเทศที่มีอัตราการเกิดไฟฟ้าดับ น้อยที่สุดในยุโรป และคาดว่าจะคงรักษาอันดับนี้ต่อไป” การใช้พลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งเป็นพลังงานหมุนเวียน จะมีเทคโนโลยีระบบสำรองพลังงาน(Backup Technology) ซึ่งสามารถจ่ายกระแสไฟฟ้าได้ในสถานการณ์ที่พลังงานจากลมและพลังงานแสงอาทิตย์ไม่เพียงพอ โดยในระยะแรกจะยังคงใช้ถ่านหินและก๊าซธรรมชาติ ในระยะยาวพลังานหมุนเวียนอื่นๆ เช่น พลังงานจากน้ำ ไบโอแมส และพลังงานความร้อนใต้พื้นพิภพ จะเป็นพลังงานสำรองเพิ่มขึ้น4. พลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์ไม่ได้นำมาใช้ ในพื้นที่ที่ผลิต มีเทคโนโลยีใดที่จะมาแก้ปัญหานี้ได้ ? โครงข่ายที่จ่ายกระแสไฟฟ้าที่มีอยู่ในตอนนี้มีความทนทานและสามารถส่งกระแสไฟฟ้าเพิ่มได้อีก            มาก ในระยะต่อไป จะมีการสร้างโครงข่ายสำหรับจ่ายกระแสไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานลมบริเวณ            ชายฝั่งทะเลทางตอนเหนือของประเทศ ไปยังบริเวณที่มีกระแสลมไม่แรง หรือจะมีการสร้าง  โครงข่ายกระแสไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้นในพื้นที่ที่มีการใช้พลังงานอย่างเข้มข้น5. เยอรมนีจะเป็นตัวอย่าง ที่แสดงถึงความสำคัญของนโยบายปฏิรูปพลังงาน ต่อประเทศเพื่อนบ้านได้อย่างไร ? การใช้พลังงานหมุนเวียนจะเป็นคำตอบของความท้าทายการขาดแคลนพลังงานในอนาคต เนื่องจากพลังงานฟอสซิล ได้แก่ ถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติจะลดน้อยลง และเป็นสาเหตุของปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมและสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง การใช้พลังงานหมุนเวียนจะเป็นคำตอบของการแก้ปัญหาทั้งสองเรื่อง ในประเด็นนี้เยอรมนีจะเป็นมิตรต่อประเทศเพื่อนบ้านที่ให้คำปรึกษาในเรื่องการสร้างระบบโครงข่ายกระแสไฟฟ้าที่เหมาะสมกับการผลิตไฟฟ้าจากลมและแสงอาทิตย์6. มีแรงจูงใจอะไรสำหรับนโยบายปฏิรูปพลังงาน เพื่อให้เกิดการแข่งขันในตลาดพลังงานภายใต้การกำกับดูแลของเรกูเลเตอร์ ? พระราชบัญญัติพลังงานหมุนเวียน(Das Erneubare- Energie Gesetz: EEG) ในปี 2000 ได้ทำให้เกิดการแข่งขันของเทคโนโนโลยีการผลิตพลังงาน โดยเฉพาะเทคโนโลยีการผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์ ที่เป็นฝ่ายได้รับประโยชน์จากกฏหมายฉบับนี้ โดยได้รับการสนับสนุนทั้งในเชิงเงินทุนสนับสนุนและ ในเชิงกฎหมาย7. ประเทศเยอรมนีจัดอยู่ในประเทศที่มีความก้าวหน้าในเทคโนโลยีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และภายใต้การปฏิรูปพลังงานจะนำพาประเทศไปสู่ การสร้างนวัตกรรมได้หรือไม่? “นโยบายการปฏิรูปพลังงาน เป็น โครงการสำหรับอนาคตของประเทศเยอรมนี ในฐานะที่เป็นประเทศอุตสาหกรรม.พลังงานหมุนเวียนจะกลายเป็นสินค้าสำหรับตลาดทั่วโลก ถ้าราคาพลังงานหมุนเวียนใกล้เคียงกับราคาพลังงานจากโรงไฟฟ้าถ่านหินและก๊าซธรรมชาติ ก็จะส่งผลให้ประเทศอื่นๆ สนใจพลังงานหมุนเวียน โดยเฉพาะประเทศที่อุดมไปด้วยลมและแสงอาทิตย์ และประเทศเยอรมนีก็จะเป็นประเทศผู้นำการผลิตนวัตกรรมไม่เพียงเฉพาะทางด้านพลังงาน(Energy Technology) แต่จะขยายผลไปยังด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (Information and communication technology) และเทคโนโลยีวัสดุ (Material Technology)8. นโยบายปฏิรูปพลังงานเป็นนโยบายที่ต้องใช้งบประมาณสูง(ระดับพันล้านยูโร) จะทำอย่างไรให้การปฏิรูปพลังงานมีต้นทุนไม่สูงสำหรับผู้บริโภคจนเกินไป และมีความคุ้มค่าในการลงทุน ? ประเทศเยอรมนี ต้องจ่ายเงินสำหรับการนำเข้าถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซ ปีละกว่า 80,000 ล้านยูโร เงินที่ต้องจ่ายออกไปนอกประเทศแต่ละปีๆ นั้น ถ้าสะสมกันก็จะเป็นเงินจำนวนมหาศาล หากสามารถลดการนำเข้าพลังงานด้วยการผลิตพลังงานหมุนเวียน ก็จะทำให้เศรษฐกิจของประเทศเติบโต และมีการจ้างงานเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นหลักประกันในเรื่องความคุ้มค่าในการลงทุน ถึงแม้นว่าในระยะแรกเริ่มซึ่งเป็นระยะการลงทุน ผู้บริโภคจะต้องจ่ายเพิ่มขึ้น แต่ค่าพลังงานที่จ่ายสำหรับครัวเรือนคิดเป็นมูลค่าเพียง 3% ของค่าใช้จ่ายทั้งหมดในครัวเรือน9. การลดการใช้ไฟฟ้าเป็นเป็นความยั่งยืนสูงสุด การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพจะมีความหมายอย่างไรต่อ การปฏิรูปพลังงาน ? การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นเสาหลักแท่งที่สองของการปฏิรูปพลังงาน รองจากการใช้พลังงานหมุนเวียน การประหยัดพลังงานและใช้พลังงานอย่างมีประสิทธภาพ ทำให้ลดการสร้างโรงไฟฟ้าและโครงข่ายการจ่ายกระแสไฟฟ้าลง การใช้กระแสไฟฟ้าในเยอรมนีลดลงเล็กน้อยตั้งแต่ปี 2007 และเป้าหมายในการลดการใช้ไฟฟ้าลง 10 % ในปี 2020 ยังคงเป็นเป้าหมายที่ยังห่างไกลอยู่ อย่างไรก็ตาม ภาคการเมืองก็ต้องมีมาตรการออกมาสำหรับผลักดันให้เป้าหมายเป็นจริง10. การเลิกการใช้พลังงานนิวเคลียร์มีผลต่อการปฏิรูปพลังงานอย่างไร ? หลายๆ คนเข้าใจว่า การประกาศเลิกใช้พลังงานนิวเคลียร์ของเยอรมนี เกิดจากปฏิกริยาของ เหตุการณ์ ฟูกูชิมา ที่ประเทศญี่ปุ่น ในปี 2011 แต่แผนการเลิกการใช้นิวเคลียร์ได้เริ่มมาก่อนนั้นแล้ว การสนับสนุนพลังงานหมุนเวียนได้เริ่มมาตั้งแต่ปี 1990 และออกมาเป็น พระราชบัญญัติพลังงานหมุนเวียน(EEG) ในปี 2000 โดยในปีนี้ รัฐบาลเยอรมนีได้ทำความตกลงกับผู้ประกอบการผลิตพลังงาน ว่าจะเลิกการใช้พลังงานนิวเคลียร์ในปี 2020 มติของรัฐบาลนายกแองเจลา แมร์เคิล ในปี 2011 คือ ลดการใช้ ถ่านหิน น้ำมัน และ เลิกการใช้นิวเคลียร์ เพิ่มการใช้พลังงานจากลม แสงอาทิตย์ พลังงานน้ำ ไบโอแมส และความร้อนจากใต้พื้นพิภพ หวังว่าการปฏิรูปพลังงานในไทย จะทำให้คนไทยสามารถมีพลังงานใช้อย่างยั่งยืน ในราคาที่เป็นธรรม และค่าใช้จ่ายสำหรับพลังงานในครัวเรือนจะลดลงสามารถอยู่ที่ระดับ 3 %  ของค่าใช้จ่ายในครัวเรือน แหล่งข้อมูล DE Magazin Deutschland ฉบับที่ 1/2014 //

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point