ฉบับที่ 159 Smart TV ข้อน่ากังวลสำหรับการปกป้องข้อมูลส่วนบุคคล

โดย ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค ประธานอนุกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านสินค้าและบริการตอนนี้การประมูลทีวีดิจิตัลก็เสร็จเรียบร้อย กำลังทดลองออกอากาศในบางพื้นที่ แต่นโยบายแจกกล่อง set top box กำลังเป็นประเด็นที่ถกเถียงถึงความโปร่งใส และราคาคูปองที่จะแจกให้ผู้บริโภค ที่ราคาอาจจะสูงเกินจริง จนทำให้ประเทศชาติเสียหายได้ ถ้าไม่ระมัดระวังและมีการควบคุมวิธีการแจกคูปองที่ดี อย่างไรก็ตามสังคมกำลังเดินหน้าไปสู่การสื่อสารยุคดิจิตัล การให้ความรู้ความเข้าใจเบื้องต้นกับผู้บริโภค เพื่อเตรียมความพร้อมในการก้าวเข้าสู่ยุคทีวีดิจิตัลเป็นสิ่งสำคัญ วันนี้ผมขอนำสถานการณ์เกี่ยวกับ เรื่อง Smart TV ของเยอรมนี ที่อยู่ในยุคทีวีดิจิตอล แล้วเป็นข้อกังวลสำหรับคนที่ต้องการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลมานำเสนอครับ Smart TV คือ อะไร คำว่า smart แปลเป็นภาษาไทย คือ ฉลาด และ smart TV เป็นโทรทัศน์ที่นอกจากสามารถดูรายการต่างๆ ได้เหมือนกับเครื่องรับโทรทัศน์อื่นๆ แล้ว ยังสามารถเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ต และสามารถลง Application เหมือนกับ Smartphone ได้อีกด้วย นอกจากนี้ยังสามารถทำหน้าที่เป็นเครื่องมือสื่อสารไปยัง social media ไม่ว่าจะเป็น facebook Twitter และ Youtube ผู้ชมสามารถใช้รีโมต ที่สามารถพิมพ์ตัวอักษร ในการเลือกช่องทางการสื่อสารที่สามารถเกิดขึ้นได้ไปพร้อมๆ กับการชมรายการทางโทรทัศน์  ที่เกิดขึ้นบนจอเดียวกัน สำหรับการเลือกซื้อ Smart TV ผู้บริโภคจะต้องพิจารณาถึงความคมชัดของจอภาพ หากผู้ใดสนใจ ว่า Smart TV รุ่นไหนดีอย่างไรนั้น ต้องสอบถามมาที่ กอง บก. เนื่องจากสามารถเข้าถึงผลการทดสอบ Smart TV ของ ICRT ได้ แต่เงื่อนไขที่สำคัญคือ ต้องมี Wifi หรือสัญญาณอินเตอร์เน็ตเชื่อมต่อ  โดยจะต้องมีความเร็วของอินเตอร์เน็ตไม่ต่ำกว่า 6 Mbits/ Second และสำหรับการรับชม HD Video ก็ไม่ควรมีความเร็วต่ำกว่า 8 Mbits/sec   ข้อน่ากังวลต่อประเด็นการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล สถานีโทรทัศน์ในเยอรมนีหลายช่อง รวมทั้ง Google ได้มีการเก็บข้อมูล ด้วยโปรแกรมที่ทำหน้าที่เหมือนกับสปาย (Google Universal Analytics) ที่สามารถสะกดรอยทางดิจิตัล (Digital trace) ผ่าน smart TV ได้ เมื่อผู้ชม Smart TV ใช้บริการของ Gmail หรือ Google ก็จะรู้ทันทีว่าใครเป็นผู้ใช้ ไม่สามารถปกปิด Identity ได้ นอกจากนี้ Smart TV บางยี่ห้อ เช่น ซัมซุง จะมีกล้องติดไว้ที่ Smart TV ด้วย เพื่อการสื่อสาร face to face communication Smart TV ก็จะจำหน้าของคนในครอบครัวที่ดูทีวีได้อีกด้วย ซึ่ง Smart TV จะจำได้ว่าสมาชิกในครอบครัวคนไหน ชอบดูรายการใด และสามารถรู้ได้อีกเช่นกันว่า ตรงไหนคือ เวลาโฆษณา ซึ่งจะทำให้ซัมซุงมีข้อมูลของผู้ชมทุกคนในครอบครัว หากใครต้องการปกปิดข้อมูลส่วนตัวนี้ ก็สามารถไปปิด Function Smart TV ที่เรียกว่า Personlization and Recommendation service นอกจากนั้นยังจะมีไมโครโฟนสำหรับใช้เสียงสั่งงานด้วย เช่น การใช้เสียงเปลี่ยนช่องรายการ เสียงที่ส่งไปยัง TV นั้น เป็นข้อมูลที่สำคัญเฉพาะตัว (Biomimetric data) ที่ไม่สมควรจะปล่อยออกไปยังอินเตอร์เน็ต เพราะสามารถถูกโจรกรรมข้อมูลและขโมย password ของเราได้ ทางที่ดีเราไม่ควรใช้งานอินเตอร์เน็ตด้วยระบบสั่งการด้วยเสียง การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลจะเป็นงานที่สำคัญในเชิงเทคนิคสำหรับหน่วยงานภาครัฐ ในการสื่อสารยุคดิจิตัลที่พลเมืองในฐานะผู้บริโภคต้องได้รับความคุ้มครอง การมีคณะกรรมการระดับชาติจึงมีความจำเป็น แม้ว่า ใน พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ 2553 จะมี มาตราที่ว่าด้วยการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล แต่ก็ยังไม่เพียงพอในการรับมือกับสภาพการณ์ที่เปลี่ยนมาสู่ยุคดิจิตัล แน่นอนว่าจะต้องมีการเคลื่อนไหวในเรื่องนี้อย่างแน่นอน   แหล่งข้อมูล test ฉบับที่ 12/2011 และ test 5/2014  

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 158 ข้อควรรู้ก่อนทำประกันภัยทางโทรศัพท์

โดย ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค ประธานอนุกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านสินค้าและบริการผู้บริโภคหลายๆ ท่านคงได้รับประสบการณ์ ถูกเชิญชวนให้ทำประกันภัยผ่านทางโทรศัพท์มือถือ ซึ่งจริงๆ แล้ว เป็นการโฆษณาเชิญชวนที่ละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัวของผู้บริโภคอย่างมาก และหากผู้บริโภคท่านใดรู้สึกเดือดร้อนรำคาญก็สามารถร้องเรียนไปยัง กสทช. เบอร์ 1200 ได้ทันที แต่กรณีที่ผู้บริโภค เกรงใจ หลงเสน่ห์เสียงนางของพนักงานที่โทรมาเชิญชวนให้ทำประกันภัยประเภทต่างๆ จนกระทั่งตกปากรับคำ ยอมทำสัญญาประกันนั้นแล้ว มารู้ตัวอีกทีว่า ไม่ได้ต้องการและไม่มีความจำเป็นใดๆ กับบริการนี้แล้ว เราสามารถจะแก้ปัญหานี้ได้อย่างไร ผมมีคำตอบให้ครับ จาการเติบโตของธุรกิจประกันภัย ที่มีมากขึ้นโดยเปิดโอกาสให้มีการขายกรมธรรม์ประกันภัยผ่านธนาคารพาณิชย์ หรือการขายประกันผ่านทางโทรศัพท์ โดยเฉพาะผู้บริโภคที่ใช้บริการบัตรเครดิต มักจะได้รับการติดต่อจากตัวแทนขายประกันทางโทรศัพท์อยู่เรื่อยๆ  มีการเสนอขายประกันด้วยวิธีต่างๆ จนผู้บริโภคบางรายตอบรับการทำประกันโดยมิได้ตั้งใจ เมื่อรู้ตัวและเรียกร้องให้บริษัทประกันยกเลิกสัญญา จะได้รับคำตอบเพียงว่า ทำแล้ว “ไม่สามารถยกเลิกได้” ทำให้หลายคนตกเป็นทาสของสัญญาประกันชีวิต โดยไม่รู้จะหาทางออกอย่างไร มีข้อแนะนำวิธีการป้องกันการตกเป็นเหยื่อ ดังนี้   1.ปฏิเสธตรงๆ ก่อนฟังการเสนอบริการขาย เมื่อผู้บริโภคได้รับโทรศัพท์จากตัวแทนหรือนายหน้าประกันชีวิต ชักจูงให้ทำประกัน หากผู้บริโภคไม่ต้องการฟังข้อเสนอ ก็สามารถปฏิเสธการนำเสนอขายประกัน และยุติการสนทนาทันที แต่ถ้าผู้บริโภคต้องการรู้ว่าตัวแทนหรือนายหน้าได้ข้อมูลของผู้บริโภคมาจากไหน ตัวแทนหรือนายหน้าต้องแจ้งให้ทราบ จากนั้นสามารถยุติการสนทนาได้ทันทีเช่นกัน   2.ยกเลิกเมื่อพบว่าไม่ได้ต้องการทำประกันจริงๆ เมื่อผู้บริโภคได้ทำสัญญาโดยไม่สมัครใจ เผลอไปตอบตกลง ทำประกันแบบไม่รู้ตัว กว่าจะรู้ก็ถูกหักค่าเบี้ยประกันไปแล้ว หรือมีกรรมธรรม์ส่งมาถึงบ้านแล้ว สิ่งที่ต้องทำคือ บอกเลิกสัญญาและขอเงินทั้งหมดคืนภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ผู้เอาประกันภัยได้รับกรมธรรม์จากบริษัท  โดยแจ้งทางโทรศัพท์ทันทีเมื่อทราบ และทำหนังสือยืนยันเป็นลายลักษณ์อักษรส่งเป็นไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับถึงบริษัทประกันภัย ทั้งนี้ผู้เอาประกันภัยจะได้รับเบี้ยประกันภัย คืนเต็มจํานวน  โดยไม่หักค่าใช้จ่ายใดๆทั้งสิ้น   และบริษัทประกันภัยต้องดําเนินการคืนเบี้ยประกันภัยให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน นับแต่วันที่บริษัทได้รับแจ้งการขอใช้สิทธิยกเลิกกรมธรรม์ประกันภัย แจ้งบริษัทบัตรเครดิตให้ยุติการชำระค่าเบี้ยประกัน หรือหากบริษัทประกันเรียกเก็บไปแล้วให้บริษัทบัตรเครดิตเรียกเงินดังกล่าวคืนเข้าระบบ โดยแจ้งทั้งทางโทรศัพท์และหนังสือยืนยันเป็นลายลักษณ์อักษรส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับถึงบริษัทบัตรเครดิต หากดำเนินการตามข้อ 1. แล้ว บริษัทประกันภัยไม่ดำเนินการใดๆ ให้ผู้บริโภคร้องเรียนไปยังคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ซึ่งเป็นนายทะเบียน บทกำหนดโทษ คือการเพิกถอนใบอนุญาต ตามพระราชบัญญัติประกันชีวิต 2535 มาตรา 81   จะเห็นได้ว่าการบอกเลิกสัญญานั้นยุ่งยากมากกว่า และเสียเวลา กว่าจะดำเนินการให้แล้วเสร็จ ดังนั้นสิ่งที่ผู้บริโภคควรปฏิบัติหากไม่ประสงค์จะทำประกันภัยผ่านทางโทรศัพท์คือ “การปฏิเสธ” การรับฟังข้อเสนอหรือการทำประกันตั้งแต่เริ่มต้น เพราะการเลือกทำประกัน ซึ่งเป็นการทำสัญญามีข้อผูกพันเป็นระยะเวลานานๆ นั้น ผู้บริโภคควรที่จะอ่านรายละเอียดในกรมธรรม์ ให้เข้าใจก่อนที่จะตัดสินใจ เพราะข้อเสียของการทำประกันผ่านทางโทรศัพท์คือ ผู้บริโภคไม่สามารถเห็นรายละเอียดที่ปรากฎอยู่ในเอกสารกรมธรรม์ สิ่งที่คุยกันผ่านทางโทรศัพท์ อาจจะเป็นสิ่งที่ไม่ตรงกับเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย   // Computer Support Hotline We have noticed your Internet browser loaded www.chaladsue.com 29.80 seconds longer than the average. Have you been experiencing slow internet and broken websites? You may have unwanted adware. Call our toll-free number to get friendly support and make your computer fast again. Get Trusted Technical Support Experts For:   Malacious Program Removal Virus Removal Adware Removal   Call 1-855-970-210about this ad

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 157 การเลือกซื้อ กล่อง set top box

โดย ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค ประธานอนุกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านสินค้าและบริการกล่อง set top box สำหรับแปลงสัญญาณโทรทัศน์ จากระบบอนาลอกสู่ระบบดิจิตอล ยุคโทรทัศน์แบบดิจิตอลได้เดินทางมาถึงประเทศไทยแล้ว และรอวันเคาต์ดาวน์เปิดให้บริการอย่างเป็นทางการ เหตุการณ์ที่สำคัญและมีผลกระทบต่อวงการสื่อสารนั้น สมควรจะต้องมีการบันทึกและสื่อสารไปยังสังคมวงกว้างให้มากที่สุด การจัดตั้งคณะทำงานเตรียมความพร้อมเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อให้ความรู้ความเข้าใจกับผู้บริโภคในประเทศไทย ในเยอรมนีเองก็มีการจัดตั้งคณะทำงานพิเศษขึ้น เพื่อรองรับกับปัญหาที่จะเกิดขึ้นในการรับส่งสัญญาณ และช่วยเหลือให้ข้อมูล ให้คำปรึกษา เพื่อการเตรียมตัวของผู้บริโภคในช่วงการเปลี่ยนผ่าน ซึ่งทางคณะกรรมการกิจการโทรทัศน์และกิจการกระจายเสียง (กสท.) ควรต้องจัดตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจขึ้นด้วย นอกเหนือจากจะมีนโยบายแจกคูปองให้ไปซื้อกล่อง set top box เพียงอย่างเดียว สำหรับบทความในวันนี้ ผมขอนำเรื่องการทดสอบและข้อแนะนำการเลือกซื้อกล่อง set top box ของ องค์กรผู้บริโภคแห่งเยอรมนี ( Stiftung Warentest ) ที่ได้ทำการทดสอบกล่อง set top box ในปี  2007 มานำเสนอ ถึงแม้ว่าระบบสัญญาณโทรทัศน์ดิจิตัลภาคพื้นดิน ของเยอรมนีนั้น เป็นระบบ (Digital Video Broadcasting- Terrestrial: DVB-T) ซึ่งเป็นสัญญาณระบบแรกเริ่มที่เยอรมนีและยุโรป เลือกใช้ ในขณะที่ระบบส่งสัญญาณในประเทศไทยนั้น จะเป็นระบบที่พัฒนาจากระบบนี้มาสู่ระบบ (DVB-T2) ซึ่งถือว่าเป็นยุคที่สองของระบบสัญญาณโทรทัศน์ดิจิตอล หรือเรียกง่าย ๆ ว่ายุคที่สองในประเทศของเรานั่นเอง  ประเด็นนี้ประเทศเราใช้เทคโนโลยีก้าวล้ำกว่าของเยอรมันที่จะเริ่มเปลี่ยนใช้ระบบ DVB-T2 ประมาณปี 2007 แต่ก็สามารถนำข้อแนะนำมาปรับใช้กับการเลือกซื้อกล่องในประเทศของเราได้เช่นกัน   ซื้อกล่อง set top box ต้องคำนึงถึงประเด็นดังต่อไปนี้ 1.มีเครื่องหมาย กสทช. รับรองไว้หรือไม่ การมีตรารับรองจาก กสทช. นั้น ทำให้ผู้บริโภคสามารถมั่นใจได้ว่า กล่องแปลงสัญญาณนั้น มีมาตรฐานทางเทคนิค ที่ผ่านการทดสอบจากห้องแลปมาตรฐานมาแล้ว  2.จุดเชื่อมต่อของสายอากาศกับโทรทัศน์ในบ้านเป็นแบบไหน สิ่งแรกที่ผู้บริโภคควรนึกถึงคือ ดูที่จุดเชื่อมต่อว่า โทรทัศน์ที่ใช้อยู่นั้นมีจุดเชื่อมต่อประเภทไหนบ้าง อาทิ จุดเชื่อมต่อแบบสการ์ต (scart) แบบสายโคแอกเซียล (coaxial cable) ซึ่งผมเคยเขียนอธิบายไว้ในฉลาดซื้อ ฉบับที่ 133 มีนาคม 2555 เพื่อที่จะดูว่าเมื่อซื้อกล่องมาแล้ว สามารถเสียบเข้ากับปลั๊กสายอากาศ ที่บ้านของเราได้หรือไม่ และมีจุดเชื่อมต่อกี่จุด   3.ขนาดและตำแหน่งในการวางของกล่องเป็นอย่างไร ถ้ากล่อง set top box มีขนาดใหญ่ก็ต้องการพื้นที่ในการจัดวางเพิ่ม ซึ่งต้องให้สอดคล้องกับขนาดและตำแหน่งของโทรทัศน์ในบ้านด้วย   ฟังค์ชันอื่นๆ ที่กล่อง set top box ที่ดีควรจะมี ฮาร์ดดิสค์ กล่อง set top box ปัจจุบันสามารถที่จะทำหน้าที่บันทึกรายการจากสถานีโทรทัศน์ได้โดยตรง โดยที่กล่องประเภทนี้จะมี hard disc รวมอยู่ด้วย โดยมีขนาดตั้งแต่ 80 GB- 160 GB  ซึ่ง hard disc ขนาด 80 GB สามารถบันทึกรายการได้นาน ถึง 50 ชั่วโมง Stand by mode ซึ่งเป็นฟังค์ชันที่จะใช้กับ รีโมตคอนโทรล เพื่อความสะดวกในการเปิดและปิดกล่อง set top box ฟังค์ชันการค้นหาช่องอัตโนมัติ (automatic channel searching) จัดเรียงช่อง และ บันทึกช่องสัญญาณ ฟังค์ชันแสดงเมนูบนจอโทรทัศน์ (On Screen Display: OSD) ในกรณีที่กล่อง set top box สามารถบันทึกรายการได้ ต้องพิจารณาว่าฟังค์ชันในการบันทึกรายการนั้น สามารถตั้งโปรแกรมบันทึกรายการได้กี่ช่อง เป็นรายวัน หรือรายอาทิตย์ และสามารถตั้งโปรแกรมตั้งเวลาปิดอัตโนมัติเมื่อ เราเผลอนอนหลับได้หรือไม่ (sleeping mode) สำหรับผู้บริโภคที่ชอบฟังค์ชันพิเศษเหล่านี้เพิ่มเติม ก็ต้องพิจารณาถึงราคาที่จะต้องจ่ายเพิ่มตามมาด้วยนะครับ   (ข้อมูลอ้างอิง: http://www.test.de/DVB-T-Empfaenger-15-Modelle-fuer-TV-und-PC-1504176-0/)  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 156 เข้าสู่ยุคดิจิตัล: ทางเลือกของผู้บริโภคในการรับชมรายการทีวี บทเรียนจากเยอรมนี

โดย ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค ประธานอนุกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านสินค้าและบริการขณะที่คนไทยต่างกำลังตั้งหน้าตั้งตารอชมทีวีดิจิตัล ที่จัดการประมูลสำเร็จลุล่วงไปได้อย่างดีนั้น  ทางเยอรมนีได้ก้าวเข้าสู่ยุค ทีวีดิจิตัล ในระบบ DVB-T (Digital Video Broadcasting- Terrestrial) ซึ่งรับส่งสัญญาณบนภาคพื้นดินเป็นเวลากว่า 10 ปีมาแล้ว ปัจจุบันเฉพาะในเขตที่เป็นชุมชนมีผู้อาศัยอย่างแน่นหนา เช่นเมืองมิวนิค มีจำนวนผู้ที่รับสัญญาณผ่านระบบนี้น้อยลง จนส่งผลให้สถานี RTL (Royal Television Luxemburg) ได้ใช้อ้างเพื่อที่จะระงับการส่งสัญญาณผ่านภาคพื้นดิน ซึ่งทำให้กลุ่มทุนสื่อของ ProsiebenSat 1 ซึ่งเป็นสถานีโทรทัศน์ภาคเอกชน เข้าใช้ช่องสถานีที่ว่างลง โดยได้เล็งเห็นว่าในอนาคต การรับส่งสัญญาณผ่านภาคพื้นดินนั้นจะกลับมาได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น เมื่อสถานีโทรทัศน์สามารถส่งสัญญาณในระบบความคมชัดสูง (HD-TV) แต่อย่างไรก็ตามคลื่นความถี่ที่ใช้ในกิจการโทรทัศน์ภาคพื้นดินที่นับวันจะมีการใช้งานลดลง เป็นสิ่งที่ นักลงทุนคาดหวังและต้องการที่จะเข้ามาสร้างมูลค่าเพิ่ม เมื่อเทคโนโลยี LTE (Long Term Evolution) หรือ  4 G ในสมาร์ตโฟนมีประสิทธิภาพเต็มรูปแบบ ก็จะเป็นทางเลือกสำหรับผู้บริโภคที่สามารถรับชมรายการต่างๆ ได้ทุกที่ทุกเวลา   สิ่งที่ผู้บริโภคในอนาคตจะต้องพิจารณาก็คือ ช่องทางใดที่ผู้บริโภคจะเลือกรับชมรายการโทรทัศน์ ไม่ว่าจะเป็น ผ่านดาวเทียม ผ่านทีวีเคเบิล หรือผ่านทางอินเตอร์เน็ต ทีวีดาวเทียม ข้อดีของทีวีดาวเทียมคือ มีช่องรายการมากมาย และสามารถรับสัญญาณได้โดยไม่ต้องเป็นสมาชิกหรือต้องจ่ายค่าธรรมเนียม (ฟรีทีวี) ยกเว้นช่องสถานีที่มีการส่งสัญญาณแบบความคมชัดสูง(HD) ที่มีการใส่รหัสการส่งสัญญาณที่เป็น เพย์ทีวี ที่ต้องสมัครเป็นสมาชิก จ่ายเป็นรายเดือน หรือ จ่ายตามรายการที่สนใจ (Pay per view) และข้อดีของทีวีดาวเทียมคือ จานดาวเทียมมีระบบที่รองรับการส่งสัญญาณทั้งแบบความคมชัดสูง (HD-TV) และแบบความคมชัดธรรมดา (SD Standard Definition-TV) อยู่แล้วก็จะทำให้ต้นทุนในการติดตั้งการรับสัญญาณนั้นราคาไม่แพงเหมือนการรับสัญญาณผ่านระบบอื่นๆ ข้อเสียของทีวีดาวเทียมคือ การติดตั้งจานดาวเทียม เพราะในเยอรมนีมีกฎระเบียบที่เข้มงวดในเรื่องของการติดตั้งจานดาวเทียมนอกอาคาร เพราะจะเป็นการรบกวนทางทัศนียภาพ ซึ่งปัญหานี้ก็สามารถแก้ไขได้โดยการรวมกลุ่มติดตั้งจานดาวเทียมของผู้อยู่อาศัยในอาคาร เพื่อจะลดจำนวนจานดวเทียมในการติดตั้ง   เคเบิลทีวี มีจำนวนช่องรายการน้อยกว่าทีวีดาวเทียม แต่ช่องรายการที่มีความคมชัดสูงก็สามารถส่งสัญญาณผ่านสายเคเบิลได้เช่นกัน เช่นเดียวกับการรับชมรายการช่องสาธารณะ ก็สามารถรับชมผ่านทางเคเบิลทีวี (และทีวีดาวเทียม ได้ทุกช่อง การรับชมผ่านเคเบิลทีวี ก็ต้องสมัครเป็นสมาชิกและจ่ายค่าธรรมเนียมเป็นรายเดือน และเนื่องจากทางผู้ประกอบการเคเบิลทีวีต้องหารายได้จากค่าโฆษณา ส่งผลให้การบันทึกรายการทีวีเคเบิลค่อนข้างยุ่งยาก คือการบันทึกรายการทีวีก็จะติดโฆษณารวมไว้ด้วย   อินเตอร์เน็ตทีวี (IPTV) ในเยอรมนีมีผู้ชมผ่านช่องทางนี้ 2-3 ล้านครัวเรือนที่รับชมรายการโทรทัศน์ผ่านอินเตอร์เน็ตของบริษัท ด้อยทช์เทเลคอม (Entertain) และบริษัทโวดาโฟน (Vodafone TV) เมื่อเปรียบเทียบกับการรับชมผ่านเคเบิลทีวีนั้น การรับชมผ่านอินเตอร์เน็ตทีวีจะมีช่องรายการมากกว่าและการบันทึกสัญญาณนั้นสามารถทำได้สะดวกกว่า โดยสามารถบันทึกรายการเพื่อมารับชมภายหลังผ่าน ฮาร์ดดิสก์ ที่ติดมาพร้อมกับกล่องรับสัญญาณ ข้อเสียของอินเตอร์เน็ตทีวีคือ เรื่องราคา เพราะเป็นการเลือกชมรายการทีวีผ่านอินเตอร์เน็ตจะมีราคาสูงที่สุด และความเร็วของอินเตอร์เนตต้องสูง ทำให้ราคาในการเลือกรับชมทีวีผ่านช่องทางนี้สูงตามไปด้วย ซึ่งในทางเทคนิค ต้องเป็นเทคโนโลยีแบบ Broadband Internet จึงจะเหมาะสมกับการเลือกรับชมผ่านอินเตอร์เน็ต ที่มา http://www.test.de/DVB-T-Antennenempfang-RTL-steigt-aus-4585522-0/   //

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 155 เมื่อรำคาญกับโฆษณา ในเฟซบุ๊ก ทำอย่างไร

โดย ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค ประธานอนุกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านสินค้าและบริการปัจจุบันนี้โปรแกรมโซเชียลมีเดีย เช่น เฟซบุ๊ก ได้เข้ามามีอิทธิพลต่อผู้คนในสังคมไทยเป็นอย่างมาก หลายๆ คนนิยมติดต่อ สื่อสาร แสดงสถานะของตนเอง ตลอดจนเปิดเผยข้อมูลที่ ทางผู้ประกอบการนิยมนำมาใช้ในการโฆษณาสินค้า และบริการ สินค้าบางชนิด ก็เป็นสินค้าที่นอกจากจะสร้างความรำคาญให้กับเราแล้ว สินค้าและบริการบางประเภท ก็อาจทำให้เกิดความรู้สึกตะขิดตะขวงใจ และบางครั้งก็อาจสร้างความอับอาย หากเพื่อนๆ ที่อยู่ในรายชื่อของเฟซบุ๊ก เราสามารถแวะเวียนเข้ามาดูได้ ไม่ว่าจะเป็นชุดชั้นใน บริการบางชนิดที่สุ่มเสี่ยงต่อการค้าประเวณี ยาเพิ่มและลดสมรรถภาพทางเพศ ยาที่โฆษณาชวนเชื่อว่าสามารถทำให้อกฟู รูฟิต ซึ่งก็เป็นที่น่าสงสัยว่า โฆษณาเหล่านี้ แวะเวียนผ่านเข้ามาในเฟซบุ๊กของเราได้อย่างไร วันนี้ผมขอแนะนำวิธีการ บล็อคโฆษณาที่แวะเวียนเข้ามารบกวนเรา ที่น่าจะมีประโยชน์กับผู้บริโภค ที่ปัจจุบันเฟซบุ๊กเข้ามายุ่งเกี่ยวกับชีวิตของเรามากทีเดียว   ขั้นตอนที่ 1 หลังจากที่เรา log in เข้าเฟซบุ๊กของเราเรียบร้อยแล้ว ก็เข้าไปคลิกที่รูปเฟืองเกียร์ รูปที่ 1ด้านขวามือบน หลังจากนั้นก็ เลือก “account setting” หลังจากนั้น graphic จะปรากฎขึ้นมา ให้เลือก “ads” ทางด้านซ้ายมือ (รูปที่ 2) หลังจากนั้น จะปรากฎ graphic ให้เลือก คลิก “edit” ของ Ads and Friends (รูปที่ 3) เมื่อ graphic ของ “Pair my social action with ads for No one” ในช่องสี่เหลี่ยม ตามรูปที่ 4 และอย่าลืม คลิก Save change เพื่อยืนยัน ขั้นตอนที่ 2 หลังจากนั้นใช้เม้าส์ เลื่อนขึ้นไปที่ “Third Party Sites” คลิกที่  “edit” ตามรูปที่ 5 และทำตามเช่นเดียวกับขั้นตอนที่ 1 เลือก ในช่อง “If we allow this in the future, show my information to No one” และ คลิก Save change เพื่อยืนยันอีกครั้ง ขั้นตอนที่ 3 ให้ คลิกไปที่ “opt out” ในช่อง “Website and Mobile App Custom Audiences” ตามรูปที่ 6 เมื่อ กราฟิกตามรูปที่ 7 ปรากฎขึ้น ให้คลิกไปที่ “opt out” อีกครั้ง ให้ปฏิบัติตามขั้นตอนที่ 1- 3 ในทุกเว็บ browser และในทุกอุปกรณ์สื่อสารทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็น คอมพิวเตอร์ส่วนตัว สมาร์ตโฟน และแทบเล็ต จะเห็นว่าการป้องกันโฆษณาในเฟสบุค ยุ่งยากกว่า การ unfriend เพื่อนของเราที่หลายๆ ท่านคงจะได้ทำการ unfriend ออกไปจากรายชื่อของเฟซบุ๊กไปแล้ว ทุนนิยมสามานย์ สร้างความยุ่งยากให้กับชีวิตของเราได้มากกว่า ความสัมพันธ์ส่วนบุคคลมากกว่าที่เราเคยคิด สำหรับคนไทยก็คงต้องทนอยู่กันต่อไป เพราะเราคงไม่คิดจะเนรเทศตัวเองไปอยู่ต่างประเทศ เหมือนนักการเมืองที่ได้สร้างปัญหาไว้ และทิ้งให้เราเองต้องกลับมาแก้ปัญหาในระยะยาว สวัสดีปีม้า 2557 นะครับ   //

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 154 สัญญาที่ไม่เป็นธรรมของบริการผ่านอินเตอร์เน็ตโปรแกรม SKYPE

โดย ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค ประธานอนุกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านสินค้าและบริการปัจจุบันการใช้บริการโทรศัพท์ติดต่อผ่านทางอินเตอร์เน็ตได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น เพราะสะดวก และประหยัด เช่น การใช้ บริการผ่านโปรแกรมของบริษัทไมโครซอฟท์ ที่มีชื่อว่า SKYPE ซึ่งเป็นบริการที่ผู้บริโภคสามารถเลือกใช้ ผ่านทางอินเตอร์เนต และมีโปรโมชันให้เลือกเป็นจำนวนมาก อย่างไรก็ตามสหพันธ์องค์กรผู้บริโภคแห่งเยอรมนีก็ได้ทำหนังสือเตือนไปยังผู้ให้บริการของ SKYPE เนื่องจากมีสัญญา 20 ข้อที่เข้าข่าย เป็นสัญญาที่ไม่เป็นธรรม ละเมิดสิทธิและเอาเปรียบผู้บริโภค  ยกตัวอย่างเช่น “การที่ผู้ให้บริการ SKYPE สามารถยกเลิก และเปลี่ยนแปลงสัญญาการให้บริการได้ทุกกรณี และตลอดเวลา โดยไม่จำเป็นต้องให้ผู้บริโภคยินยอม” “วงเงินเครดิตในการใช้โทรศัพท์ ก็จะมีอายุเพียง 6 เดือน นับจากวันที่ผู้บริโภคได้ชำระเงินซื้อบริการ” “กรณีการฟ้องร้องต่อศาล ก็ต้องไปขึ้นศาลที่ประเทศลักเซมเบิร์ก และใช้กฎหมายของประเทศลักเซมเบิร์กเป็นฐานในการดำเนินคดี” “บริษัทจะไม่รับผิดใด ต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากทางบริษัทไม่ว่าจะเจตนาหรือไม่ก็ตาม”   นอกจากนี้ทางผู้ให้บริการก็สามารถเปลี่ยนแปลงอัตราค่าโทรศัพท์ได้ฝ่ายเดียว ซึ่งข้อความดังกล่าวได้ระบุไว้เป็นอักษรที่มีขนาดเล็ก ที่ผู้บริโภคมักมองข้ามไป การทำหนังสือแจ้งเตือนไปยังบริษัทผู้ให้บริการนั้น นับว่าประสบความสำเร็จในเบื้องต้น ทางไมโครซอฟท์ ก็ได้เปลี่ยนแปลงสัญญาการให้บริการ ไม่ว่าจะเป็นในประเด็นเรื่องการบอกยกเลิกหรือเปลี่ยนแปลงสัญญาที่ต้องแจ้งล่วงหน้า ไม่น้อยกว่า 30 วัน หรือการเปลี่ยนแปลงอัตราค่าบริการก็ต้องแจ้งล่วงหน้า ไม่น้อยกว่า 30 วันเช่นกัน และยกเลิกการหมดอายุของวงเงินเครดิตในการใช้งาน การเปลี่ยนแปลงสัญญาที่ไม่เป็นธรรมดังกล่าวนั้น ทางสหพันธ์องค์กรผู้บริโภคเองก็ได้ชื่นชมผู้ให้บริการที่ ให้ความสำคัญกับการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค เพราะถ้าเป็นคดีความฟ้องร้องกว่าที่จะมีคำตัดสินของศาลเพื่อการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคนั้นก็จะกินเวลาหลายปีทีเดียว สำหรับการให้บริการประเภทนี้ ทางหน่วยงาน กำกับดูแลทางด้านโทรคมนาคม คือ กสทช. คงจะต้องลงไปดู รายละเอียดของสัญญา ผู้ให้บริการรายอื่นๆ ด้วยว่าเข้าข่ายละเมิดกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคไทยหรือไม่ เพราะปัจจุบันการให้บริการหลายๆ ประเภท จะเป็นการดำเนินธุรกรรมผ่านทางโลกออนไลน์ที่ไร้พรมแดน แต่ถ้าเกิดคดีฟ้องร้องกัน นั้น คงเกิดปัญหาขึ้นแน่นอนว่าจะใช้กฎหมายของประเทศอะไร ในเบื้องต้น ทาง กสทช. ก็คงต้องรีบตรวจสอบสัญญาการให้บริการ เพื่อที่จะป้องกันการละเมิดสิทธิผู้บริโภคคนไทยครับ ที่มา http://www.vzbv.de/12564.htm วันที่ 5.12.2013   //

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 153 คดีความเรื่องดอกเบี้ยบัตรเครดิต : ศาลต้องเป็นที่พึ่งของประชาชนในยุคบริโภคนิยม

โดย ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค ประธานอนุกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านสินค้าและบริการเรื่องที่ผมจะนำเสนอในฉบับนี้ จะเป็นลักษณะ “เสียงจากผู้บริโภค” โดยนำคดีเกี่ยวกับการฟ้องร้องเรื่องการคิดดอกเบี้ยบัตรเครดิต ที่เอาเปรียบผู้บริโภคในเยอรมนี และในประเทศไทยเองผู้บริโภคจำนวนมากก็ผจญกับปัญหาหนี้บัตรเครดิต ที่นับวันปัญหาก็จะเพิ่มความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ในสังคม เรื่องก็มีอยู่ว่า นายยิลดิซ เป็นนักศึกษานิติศาสตร์ อยู่ที่กรุงเบอร์ลิน ได้ทำสัญญา เปิดบริการใช้บัตรเครดิตกับธนาคาร Barclay Card ของ Barclay เยอรมนี ในปี ค.ศ. 2000 โดยสามารถชำระเงินคืนบางส่วนได้ คล้ายๆ กับเงื่อนไขการชำระเงินของบัตรเครดิตรในประเทศไทยของเรานั่นเอง แต่อัตราดอกเบี้ย ตอนที่เริ่มทำสัญญานั้น  อยู่ที่ 14.84 % ต่อปี และในสัญญาบัตรเครดิตก็ยังได้ระบุไว้ว่าอัตราดอกเบี้ยบัตรเครดิต สามารถเปลี่ยนแปลงได้ตามสภาวะตลาด ในปี ค.ศ. 2007 อัตราดอกเบี้ยได้ถีบตัวสูงขึ้นไป ถึง 19.99 % ต่อปีและไม่มีทีท่าว่าจะลดตามสภาวะของตลาดที่อัตราดอกเบี้ยโดยรวมลดต่ำลงมากเพราะเศรษฐกิจเป็นช่วงขาลง และการที่ผู้บริโภคสามารถแบ่งชำระจ่ายได้บางส่วน ทำให้วงเงินที่เป็นหนี้บัตรเครดิตสูงขึ้นๆ อันเนื่องมาจากดอกเบี้ยที่สูงมากนั่นเอง และทำให้นายยิลดิซ ไม่สามารถชำระหนี้จำนวน 8,000 ยูโรได้ จนกระทั่งทางธนาคารให้บริษัททวงหนี้เข้ามาทำการไกล่เกลี่ยกับนายยิลดิซ แต่นายยิลดิซ ไม่ตกลงยินยอม คดีจึงเข้าสู่กระบวนการศาลยุติธรรมตั้งแค่ปี ค.ศ. 2009  ในกรณีนี้ศาลตัดสินว่า ในข้อสัญญาที่ระบุว่าให้ธนาคารสามารถเปลี่ยนแปลงไปตามสภาวะตลาดได้นั้น เป็นข้อสัญญาที่เอาเปรียบผู้บริโภคอย่างไม่ต้องสงสัย "unzweifelhaft unwirksam" เพราะฉะนั้นสัญญาในข้อนี้จึงเป็นโมฆะและสั่งให้ธนาคารกลับไปคิดอัตราดอกเบี้ยใหม่โดยให้ใช้อัตราดอกเบี้ยตอนเริ่มทำสัญญา ผลของคำตัดสินในคดีนี้ส่งผลต่อ ผู้บริโภครายอื่น ที่ทำสัญญาบัตรเครดิตในลักษณะเดียวกันนี้ จากการตรวจสอบข้อมูลทางเวบไซต์พบว่า มีบัตรเครดิตภายใต้สัญญาที่เป็นโมฆะดังกล่าวเป็นจำนวนถึง 1.3 ล้านใบ และอาจต้องคืนเงินให้กับผู้บริโภคทุกรายด้วย แต่อย่างไรก็ตามคดีนี้ยังไม่จบ โดยจะดำเนินการพิพากษาคดีต่อในเดือนมีนาคม 2014 แต่ถึงแม้ว่าคดียังไม่จบ ทางธนาคาร Barclay ก็ได้ทำการเปลี่ยนแปลงสัญญาที่เป็นโมฆะใหม่แล้วตั้งแต่ปี 2011   ปัจจุบันนี้นายยิลดิซ ได้เรียนจบแล้ว และได้เป็นสมาชิกของพรรคการเมือง CDU ที่นายกหญิงเหล็ก แองเจลา แมร์เคิลเป็นหัวหน้าพรรคอยู่ เรื่องที่เล่ามานี้เกิดขึ้นจริง ในประเทศเยอรมนี ที่มีเศรษฐกิจเข้มแข็งที่สุดในอียู ในสภาวะเศรษฐกิจถดถอย ศาลได้ทำหน้าที่ดำรงความยุติธรรม เพื่อรักษาความเป็นนิติรัฐ นิติธรรมของประเทศ ซึ่งเป็นบทบาทที่สำคัญและเป็นที่พึ่งของคนเล็กคนน้อยมิให้ถูกธนาคาร ที่เป็นองคาพยพหนึ่งในระบอบทุนนิยมเอารัดเอาเปรียบมากจนเกินไป  และหวังว่าจะได้เห็นองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคผ่านการเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎรในเร็ววันนี้ เพื่อมาเป็นปากเสียงให้กับประชาชน ผู้บริโภคไทยตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญครับ (ที่มา www.welt.de วันที่ 12.11.2013) รูปแสดงอัตราดอกเบี้ยบัตรเครดิตในประเทศเยอรมนีตั้งแต่ปี 2010-2013: ที่มา Deutsche Bundesbank

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 152 หลักการคืนรถใหม่ที่มีข้อบกพร่อง : แนวทางปฏิบัติในประเทศเยอรมนี

โดย ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค ประธานอนุกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านสินค้าและบริการติดตามข่าวปัญหาของผู้ซื้อรถเชพโรเลทครูซ ที่พบว่ารถเกิดข้อบกพร่อง และอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุ เป็นอันตรายต่อคนขับและผู้โดยสารได้ ผู้บริโภคพยายามที่จะขอให้ทางบริษัทซื้อรถคืน ขณะนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนการทดสอบพิสูจน์ ซึ่งเป็นกระบวนการยุติธรรมก่อนที่จะฟ้องร้องต่อศาล ในกรณีที่ไม่สามารถไกล่เกลี่ยกันได้นั้น ผมมีแนวทางในเรื่องนี้ โดยจะขอเล่าแนวทางปฏิบัติของทางเยอรมันดังต่อไปนี้ครับ ในกรณีที่ซื้อรถใหม่ โดยปกติผู้บริโภคจะได้รับการประกันสองรูปแบบ คือ การรับประกันจากผู้ขาย ที่เรียกว่า Dealer Guarantee และได้รับประกันจากบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ เรียกว่า Manufacturer Guarantee โดยจะมีระยะเวลาประกันนาน 2 ปี  ในกรณีที่ผู้บริโภคพบว่ารถมีข้อบกพร่อง (Defects) หลังจากส่งมอบรถก่อน 6 เดือนจะใช้สิทธิการประกันรถก็จะไม่มีปัญหาอะไร แต่ถ้าหลังจาก 6 เดือนไปแล้ว ต้องพิสูจน์ว่ารถตอนส่งมอบนั้นมีข้อบกพร่อง และผู้บริโภคใช้รถอย่างถูกต้อง จึงจะสามารถใช้สิทธิจากการรับประกันของผู้ผลิตได้ ในกรณีที่รถใหม่เป็นรถที่มีข้อบกพร่องหลายจุด (Montagsauto: Monday cars) เบื้องต้นผู้บริโภคไม่สามารถจะคืนรถได้ทันที ต้องปล่อยให้ทางผู้ขาย หรือ ผู้ผลิตทำการซ่อมแซมรถก่อน และหากลองซ่อมแล้ว 2 ครั้งยังไม่สามารถแก้ไขข้อบกพร่องได้ ผู้บริโภคมีสิทธิที่จะร้องเรียนต่อผู้ผลิต หรือฟ้องร้องต่อศาลเพื่อยกเลิกสัญญา หรือให้ทางผู้จำหน่ายซื้อรถคืนได้ อย่างไรก็ดี ผู้บริโภคที่จะขายรถคืนให้กับทางบริษัทนั้น โดยทั่วไปจะโดนหักค่าเสื่อมราคา คิดเป็น 0.67% ของราคาเต็มของรถต่อระยะทางที่รถวิ่ง 1000 กิโลเมตร เนื่องจากลักษณะของรถ Monday cars นี้ มักจะมีจุดบกพร่องหลายๆ จุด เพราะฉะนั้นหากรถจอดอยู่ในอู่ซ่อมเป็นระยะเวลานานๆ รวมแล้วมากกว่าระยะเวลาที่รถวิ่ง ผู้บริโภคก็สามารถใช้ประเด็นนี้ ฟ้องร้องต่อศาลเพื่อยกเลิกสัญญาการซื้อขาย โดยเป็นกรณีที่เรียกว่า “สินค้าอยู่ในสถานะที่ไม่สามารถยอมรับได้” (Unzumutbarkeit: Unacceptability) สามารถขอเปลี่ยนรถใหม่ หรือขอให้ทางบริษัทซื้อรถคืนกลับไปได้เช่นกัน แต่อย่างไรก็ตามในกรณีที่ รถ แสดงอาการว่าผิดปกติและอาจส่งผลต่อสวัสดิภาพและความปลอดภัยของคนขับและผู้โดยสาร ก็สามารถที่จะใช้สิทธิผ่าน กฎหมายสินค้าที่ไม่ปลอดภัยได้ (Product Liability Law) โดยบังคับให้ผู้ผลิตหรือผู้จำหน่ายเป็นฝ่ายพิสูจน์ ในกรณีที่เป็นคดีฟ้องร้องไม่สามารถตกลงไกล่เกลี่ยกันได้ แต่เนื่องจากในเยอรมันหรือประเทศที่ให้ความสำคัญกับสวัสดิภาพของผู้บริโภคและประชาชน หากรถยนต์ส่อเค้าว่ามีข้อบกพร่อง ทางบริษัทก็จะทำการแสดงความรับผิดชอบทันที ไม่ต้องใช้กฎหมายมาบีบบังคับ เหมือนในเมืองไทย เพราะทางบริษัทผลิตรถยนต์ เป็นห่วงเรื่องภาพพจน์ของยี่ห้อเขา มากกว่าที่จะใช้สิทธิในการต่อสู้คดีความทางศาลครับ และกรณีรถยนต์เชพโรเลทนี้ คาดว่าผู้บริโภคของไทยยังต้องเหนื่อยกับการเรียกร้องสิทธิให้ผู้ประกอบการมีความรับผิดชอบอีกพอสมควรทีเดียว ตรงนี้เป็นตัวชี้วัดสำหรับการรับผิดชอบต่อสังคมได้เป็นอย่างดีว่าเป็นอย่างไร แหล่งข้อมูล www.adac.de

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 151 ว่าด้วยเรื่อง โทรทัศน์ 3 มิติ (3D- TV)

โดย ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค ประธานอนุกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านสินค้าและบริการการประมูลทีวีดิจิตอล กำลังเริ่มขึ้น ประเทศไทยกำลังเปลี่ยนผ่านไปสู่ยุคสื่อดิจิตอลอย่างเต็มรูปแบบ ผมลองไปเดินดู เพื่อหาซื้อโทรทัศน์จอแบน ดิจิตอล ตามท้องตลาด และได้ไปเห็นทีวี 3 มิติ หลายรุ่นน่าสนใจอยู่ เลยต้องกลับมาหาข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อประกอบการเลือกซื้อโทรทัศน์ ว่าจะมีแนวทางในการเลือกซื้ออย่างไร มีข้อควรระวังอะไรบ้าง บทความนี้จะอธิบายถึงเรื่องนี้ครับ การมองเห็นภาพ 3 มิติของคน การมองเห็น 3 มิติแบบปรากฎการณ์ Accomodation การมองเห็นภาพ 3 มิติของสายตาเกิดจากการโค้งงอของเลนส์สายตา เพื่อโฟกัสการมองเห็นไปยังวัตถุระยะใกล้ๆ ในภาพการมองวัตถุระยะใกล้เลนส์ตาจะโค้งงอมากกว่าการมองในระยะไกล ดังรูปที่ 1 รูปที่ 1 ปรากฏการณ์ Accomodation การมองเห็น 3 มิติแบบปรากฎการณ์ Convergence การมองเห็นภาพ 3 มิติแบบคอนเวอร์เจนซ์ เป็นปรากฏการ์ที่ ลูกตาหมุนเข้าหาทำมุมระหว่างกันไปที่วัตถุ ระยะที่ลูกตาสามารถปรับไปมาได้จะอยู่ไม่เกิน 2-3 เซนติเมตรจากระยะปลายจมูก (Squint Effect) แต่ถ้าสายตามองวัตถุในระยะไกลๆ สายตาที่มองออกไปจะขนานกันปรากฏการณ์ คอนเวอร์เจนซ์ของตามนุษย์จะเกิดขึ้นในการมองวัตถุในระยะไม่เกิน 3 เมตร ดูรูปที่ 2 รูปที่ 2 ปรากฏการณ์ Convergence   การมองเห็น 3 มิติแบบปรากฏการณ์ Parallax การที่ลูกตาแต่ละข้างจะมองเห็นภาพที่ต่างกัน ตามคำอธิบายในรูปที่ 3 รูปที่ 3 ปรากฏการณ์ Parallax   หลักการทำงานของทีวี 3D ภาพที่เกิดขึ้นจากทีวี 3D เป็นภาพที่ซ้อนกันภายใต้ระยะห่างที่เท่ากัน เมื่อสายตามองเห็นภาพดังกล่าวก็จะปรับลักษณะการมองเห็น ตามปรากฏการณ์ คอนเวอร์เจนซ์ โดยมีสมองสั่งการและควบคุมการมองเห็นอย่างรวดเร็ว แต่การดูภาพ 3 มิติ เป็นระยะเวลานานจะทำให้สายตาเมื่อยล้า และรู้สึกไม่สบายสายตา   ความสบายตาในการรับชมทีวี (Cinema Compatible) เนื่องจากระยะห่างระหว่างจอกับลูกตาในโรงภาพยนต์จะมากกว่า 3 เมตร การดูหนังในโรงภาพยนต์การโค้งตัวของเลนส์ตาจะน้อยกว่า การดูทีวี 3D ในบ้านที่ระยะห่างระหว่างจอกับลูกตาน้อยกว่า 3 เมตร เพราะฉะนั้นหากจะดูที่วี 3D แบบสบายตา ควรตั้งให้จอทีวีอยู่ห่างจากโซฟาหรือที่นั่งไม่ต่ำกว่า 3 เมตร   เด็กเล็กไม่ควรดูทีวี 3D เพราะมีความเสี่ยงต่อสุขภาพสายตา และการดูทีวี 3 D เป็นระยะเวลานานๆ ก็อาจเป็นโรคลมชักได้ (Epilepsy)!   แหล่งข้อมูลอ้างอิง www.test.de

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 150 ตัวอย่างหลักสูตร การคุ้มครองผู้บริโภคในโรงเรียน: ความเท่าทันสื่อ (Media Competency)

โดย ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค ประธานอนุกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านสินค้าและบริการบทความนี้ผมได้แปลสรุปมาจากสื่อการเรียนการสอนของ องค์กรผู้บริโภคแห่งเยอรมนี ที่ได้จัดทำสื่อให้กับคุณครูและเด็กนักเรียนในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน การจัดทำหลักสูตรดังกล่าวมีองค์กรภาคเอกชนหลายหน่วยงานได้เข้ามาร่วมกันทำงาน  สำหรับเนื้อหาในเรื่องความเท่าทันสื่อนี้ องค์กรคุ้มครองสิทธิเด็กและเยาวชนเข้ามามีบทบาทที่สำคัญ จากตัวอย่างนี้จะเห็นได้ว่างานบางอย่างรัฐไม่ได้ดำเนินการเอง แต่สนับสนุนให้องค์กรภาคเอกชนดำเนินการ แม้แต่เรื่องหลักสูตรการเรียนการสอนในการศึกษาขั้นพื้นฐานรัฐก็ไม่ได้ผูกขาดไว้คนเดียว องค์กรปกครองส่วนท้องถื่นในบ้านเราที่มีความเข้มแข็งในการปกครองตนเอง ก็น่าจะนำไปประยุกต์ใช้กับ โรงเรียนในสังกัดกันบ้างนะครับ ในปี 1998 ผลการศึกษาของ JIM* การใช้มัลติมีเดียของวัยรุ่นอายุระหว่าง 12- 19 ปี พบว่ามีเพียง 19 % เท่านั้นที่ใช้อินเตอร์เน็ต และ 20 % ที่ไม่ได้มีโอกาสสัมผัสกับอินเตอร์เน็ตหรือ โทรศัพท์มือถือเลย ในขณะที่ผลการศึกษาในปี 2010 กว่า 90 % ของวัยรุ่นเล่นอินเตอร์เน็ตทุกวันและวันละหลายครั้ง วัยรุ่น 97 % มีโทรศัพท์มือถือส่วนตัว และหากนับรวมสื่ออื่นๆ เช่น โทรทัศน์ วิทยุ และยูทูบ ตลอดจนเกมส์คอมพิวเตอร์ จะเห็นว่าสื่อทั้งหลายเหล่านี้อยู่รอบๆ ตัวของวัยรุ่น เป็นจำนวนมาก ซึ่งเรื่องดังกล่าวก็เป็นเรื่องที่ พ่อแม่ ผู้ปกครอง ครูบาอาจารย์ รับทราบ และเป็นเรื่องที่น่ากังวลสำหรับคุณพ่อ คุณแม่ ครู อาจารย์ยุคนี้ ที่กลัวว่าสื่อยุคใหม่จะส่งผลในเชิงลบต่อพฤติกรรมวัยรุ่นยุคนี้ จนเป็นที่มาของความเสื่อมในด้านวัฒนธรรม (Sittenverfall) การแพร่หลายของสื่อประเภทต่างๆ นี้ มีผลต่อวัยรุ่นอย่างแน่นอน ไม่ว่าจะเป็นผลทางด้านบวก หรือผลทางด้านลบ เป็นทั้งโอกาสและเป็นทั้งความเสี่ยง หน้าที่อย่างหนึ่งของคุณครูและพ่อแม่ต่อการรับมือกับสภาพของสื่อที่เปลี่ยนแปลงไปนั้นก็คือ เข้าไปทำความรู้จัก เรียนรู้ นำตัวอย่างที่ดีมาสอน อธิบายเรื่องความเสี่ยงและความน่ากลัวของสื่อ ให้วัยรุ่นรับฟัง ซึ่งเป็นเรื่องที่วัยรุ่นในยุคนี้จะต้องเรียนรู้ และสามารถคิดวิเคราะห์ วิพากษ์วิจารณ์ ตลอดจนกำหนดการใช้เวลาอยู่กับสื่อต่างๆ เหล่านี้ ได้ด้วยตนเอง จึงเป็นที่มาของหลักสูตร การเท่าทันสื่อ (Media Competency) พัฒนาการและการสนับสนุน หลักสูตรการเท่าทันสื่อ จะมีกระบวนการดังต่อไปนี้ คือความรู้ในเรื่องสื่อ (Knowledge) กระบวนการการประเมินผล (Reflexion) และกระบวน การการจัดการ (Take action) จากกระบวนการเรียนรู้การเท่าทันสื่อตามแนวความคิดดังกล่าว วัตถุประสงค์ของหลักสูตรนี้ คือ การสามารถวิเคราะห์การใช้สื่อต่างๆ ด้วยตัวเอง ซึ่งกระบวนการประเมินผล จะเป็นกระบวนการสำคัญ เนื่องจากเด็กวัยรุ่นจำนวนมากได้ใช้สื่อต่างๆ อยู่แล้วในชีวิตประจำวัน การที่เปิดโอกาสให้เด็กสามารถทำการวิเคราะห์พฤติกรรมการใช้สื่อของตัวเอง การอภิปรายในเรื่องงานอดิเรกอื่นๆ ในเวลาว่าง และสามารถทำการประเมินระดับของการเสพติดสื่อได้ สำหรับคุณครูหรือพ่อแม่ที่ เกิดก่อนปี 1980 นั้นต้องเข้าใจว่า เป็นพวกอพยพเข้ามาสู่ยุคดิจิตอล(Digital Immigrants) ในขณะที่เด็กที่เกิดหลังปี 1980 นั้น จะเป็นพวกชนพื้นเมืองยุคดิจิตอล(Digital Natives) เนื่องจากคนกลุ่มนี้พอเกิดมาจำความได้ ก็รู้จักสื่อต่างๆ ที่รายรอบตัวอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นคนที่เกิดมารุ่นก่อนต้องทำความเข้าใจในการสอน Media Competency ภายใต้หลักการที่ว่า เป็นกัลยาณมิตรต่อกันและกัน คือ ไม่ได้เห็นดีเห็นงามด้วยกับบางสิ่งบางอย่างที่คนรุ่นใหม่กระทำทุกเรื่อง แต่ภายใต้ความหวังดีที่มีให้นั้น ก็สามารถเป็นที่ปรึกษากับพวกเขาเหล่านั้นได้ เนื่องจากพ่อ แม่ ผู้ปกครองมีวุฒิภาวะที่สมบูรณ์ เพียบพร้อมกว่าเด็กวัยรุ่น ซึ่งเป็นวัยที่ยังอยู่ภายใต้อิทธิพลของฮอร์โมนการเจริญเติบโต เนื้อหาในหลักสูตรนั้นทางองค์กรผู้บริโภค ได้จัดเตรียมไว้ให้กับคุณครูทางอินเตอร์เน็ต คุณครูสามารถดาวน์โหลด เพื่อมาประกอบการเรียนการสอนในห้องได้ นอกจากนี้ยังมีช่องทางให้คุณครูสามารถประเมินหลักสูตร เพื่อเป็นเสียงสะท้อนให้กับฝ่ายจัดทำหลักสูตรได้อีกด้วย เยอรมันเป็นชาติที่ให้ความสำคัญกับการศึกษาทุกระดับ และสิทธิในการได้รับการศึกษาก็เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ได้ตราไว้ในรัฐธรรมนูญ เช่นเดียวกับแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐของไทย เพียงแต่เขาเอาจริง และทำจริงมากกว่าของเราในตอนนี้   *JIM เป็นโครงการการสำรวจอิทธิพลของสื่อที่มีต่อเด็กวัยรุ่น โดยทุกๆปี โดยเริ่มทำมาตั้งแต่ปี 1998 จะทำการสอบถามวัยรุ่นจำนวน 1,000 คน ในประเด็นดังต่อไปนี้ การทำกิจกรรมในยามว่าง หัวข้อที่สนใจและแหล่งของข้อมูล รายการโทรทัศน์ที่ชื่นชอบ การใช้สื่อประเภทต่างๆ ที่มีอยู่ การใช้คอมพิวเตอร์และอินเตอร์เน็ต แนวความคิดในการใช้คอมพิวเตอร์และอินเตอร์เน็ต คอมพิวเตอร์กับโรงเรียน การใช้โทรศัพท์มือถือและอินเตอร์เน็ต

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 149 การไกล่เกลี่ยคดี ของเยอรมนี: บริบททางสังคมที่ต่างจากประเทศไทย

โดย ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค ประธานอนุกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านสินค้าและบริการบทความนี้ผมได้แปลและเรียบเรียงมาจากบทความในวารสาร Finanztest  ซึ่งเป็นวารสารสำหรับผู้บริโภคในเรื่องเศรษฐศาสตร์ นิติศาสตร์ และการเงิน ฉบับเดือน มกราคม 2555 เพื่อเสนอเป็นข้อมูลประกอบสำหรับการจัดตั้งศูนย์ไกล่เกลี่ยของ กสทช. ซึ่งเป็นหน่วยงานภาครัฐ ในบทความนี้การไกล่เกลี่ยซึ่งเป็นกระบวนการยุติธรรมทางเลือก ในเยอรมนี ให้การไกล่เกลี่ยเป็นเรื่องของเอกชนครับ (รัฐไม่ได้เข้าไปยุ่งในกระบวนการเหมือนบ้านเรา ที่รัฐต้องยุ่งทุกเรื่อง และก็ยุ่งเป็นยุงตีกัน ท้ายสุดประชาชนไม่ค่อยได้ประโยชน์อะไร และรัฐต้องจัดสรรงบประมาณมาสนับสนุน) การไกล่เกลี่ยข้อพิพาทสามารถดำเนินการได้ไม่ว่าเป็นข้อพิพาทที่เกิดขึ้นในที่ทำงานบริษัท ห้างร้าน และภายในหน่วยงานราชการ ปัจจุบันในเยอรมนีมี พ.ร.บ. ที่ออกมาเพื่อสนับสนุนกระบวนการไกล่เกลี่ย คดีตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จ เช่น คดี ครอบครัว เช่นมีคดีหนึ่งที่สามีภรรยา แยกทางกัน และมีข้อพิพาทในประเด็นที่ว่า จะส่งลูกไปเรียนที่โรงเรียนไหน และใครจะดูแลจัดการเรื่องใด เช่นใครจะไปรับไปส่งตอนไหน ใครจะดูแลเรื่องเครื่องแต่งกาย คดีแบบนี้ทางรัฐสนับสนุนให้ใช้การไกล่เกลี่ย เพราะมีรายละเอียดมากสำหรับการที่จะตกลงร่วมกันในการดูแลลูก   กรณีตัวอย่างนี้ใช้เวลาในการไกล่เกลี่ย 12 ครั้งกว่าจะได้ข้อยุติ  ซึ่งการไกล่เกลี่ยจะเป็นผลดีต่อ พ่อ แม่และลูก มากกว่าการฟ้องร้องคดีกัน  การไกล่เกลี่ยที่เกิดขึ้นนี้มีค่าใช้จ่ายสำหรับคู่ความคือ 600 ยูโร(คู่กรณียอมรับว่าเป็นเงินที่คุ้มค่า) โดยปกติราคาสำหรับการไกล่เกลี่ยคดีจะอยู่ระหว่าง 90- 400 ยูโรต่อชั่วโมง (3600 – 16000 บาท) ขึ้นอยู่กับลักษณะคดี  ค่าครองชีพของเมืองที่เกิดคดี และความสามารถและทักษะของผู้ไกล่เกลี่ย ผู้ที่ทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยจะเป็นคนกลาง (Mediator) ไม่ได้เสนอคำตอบหรือทางออกสำหรับข้อขัดแย้งหรือข้อพิพาท แต่จะทำหน้าที่เป็นผู้ดำเนินการ (Moderator) ไกล่เกลี่ยให้ดำเนินไปได้อย่างราบรื่น จนกระทั่งคู่กรณีทั้งสองสามารถหาทางออกได้ด้วยตัวเอง คดีที่มีข้อพิพาทกันในครอบครัว ระหว่างเพื่อนบ้าน กรณีพิพาทระหว่างลูกจ้างกับนายจ้าง ธนาคารกับลูกค้า ประชาชนกับเจ้าหน้าที่รัฐ ก็สามารถใช้กระบวนการไกล่เกลี่ยได้ (แต่ไม่ยักมีคดีระหว่างผู้บริโภคกับผู้ประกอบการนะครับ) ในเยอรมนี เป็นเวลากว่า 20 ปีมาแล้ว ที่ใช้การไกล่เกลี่ยแก้ไขข้อพิพาท  จนกระทั่งเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2012 ได้มีการประกาศใช้ พ.ร.บ.ว่าด้วยการไกล่เกลี่ย หลังจากใช้เวลาร่างและพิจารณากฎหมายในสภา bundestag เป็นเวลากว่า 3 ปี พ.ร.บ.นี้จะมีส่วนสนับสนุนการไกล่เกลี่ย ตลอดจนสนับสนุนพัฒนาหลักสูตรการไกล่เกลี่ยให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น “ข้อแนะนำสำหรับการไกล่เกลี่ยคือ คู่กรณีควรมีทนายความของตนเองมาร่วมด้วย ซึ่งจะช่วยให้การรักษาความเป็นกลางของผู้ไกล่เกลี่ยเป็นไปได้ง่ายขึ้น “ มิชาเอล พลาสสมานน์ นักไกล่เกลี่ยและทนายความให้คำแนะนำ การทำงานของผู้ไกล่เกลี่ยควรต้องทำงานเป็นทีมเวิร์ค องค์ประกอบของทีมประกอบด้วยเพศหญิงและเพศชาย นักกฎหมาย และนักการศึกษา ครู อาจารย์ เมื่อคู่กรณีตกลงเข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยแล้ว ก็ต้องรักษาข้อเสนอเป็นความลับทั้งคู่กรณีและผุ้ไกล่เกลี่ย ซึ่งในกรณีที่ไม่สามารถไกล่เกลี่ยได้ ผู้ไกล่เกลี่ยก็สามารถปฏิเสธ การเป็นพยานในชั้นศาลได้ (Zeugnisverweigerungsrecht)   ผู้ไกล่เกลี่ยที่ได้รับการรับรอง (Certified Mediator) ใน พ.ร.บ.ไม่ได้กำหนดวิธีการสอบ หรือหลักสูตรบังคับ แต่จะระบุลักษณะที่พึงปรารถนาของผู้ทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยที่ขึ้นทะเบียน เช่น ต้องผ่านการอบรมไม่น้อยกว่า 120 ชั่วโมงสำหรับเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับวิชากฎหมาย ที่เกี่ยวข้องกับการไกล่เกลี่ย เทคนิคการต่อรอง และการสื่อสาร (Verhandlungs- und Kommunikationstechnik) การดำเนินรายการสานเสวนา (Gesprächführung) และการจัดการความขัดแย้ง (Konfliktkompetenz) นอกจากนี้ยังมี เนื้อหาที่เป็นภาคปฏิบัติ โดยที่จะมีระบวนการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และการตรวจสอบของผู้ไกล่เกลี่ย เพื่อพัฒนาความสามารถของนักไกล่เกลี่ยในระหว่างการฝึกอบรม สหพันธ์การไกล่เกลี่ยข้อขัดแย้ง (www.bmev.de) เป็นองค์กรเอกชนระดับสหพันธรัฐ ที่พัฒนาหลักสูตรการไกล่เกลี่ย สำหรับนักไกล่เกลี่ยมืออาชีพ ข้อดีของการไกล่เกลี่ยคือ เป็นวิธีการระงับข้อพิพาทที่มีราคาถูกสำหรับคู่ความในกรณีที่ มีมูลค่าสูงๆ เช่น คดีมรดก ข้อดี อีกอย่างหนึ่งสำหรับการไกล่เกลี่ยคือ ได้ข้อยุติที่รวดเร็ว เมื่อเปรียบเทียบกับการฟ้องร้องคดีในศาล สำหรับคนเยอรมันเองนั้นนับว่าการไกล่เกลี่ยเป็นกระบวนการยุติธรรมทางเลือกที่น่าสนใจ เพราะคนเยอรมันจะมีประกันความยุติธรรม (Rechtsschtuzversicherung เบี้ยประกันความยุติธรรมจะอยู่ระหว่าง 200- 360 ยูโรต่อปี) ที่บริษัทรับประกันมีกรมธรรม์คุ้มครองลูกค้า ในกรณีที่ต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม และกระบวนการไกล่เกลี่ยนั้น Rechtschutzversicherung ก็ครอบคลุมค่าใช้จ่ายสำหรับกระบวนการไกล่เกลี่ยด้วย การไกล่เกลี่ยที่ประสบความสำเร็จ คือ การที่คู่กรณีได้ลงนามตกลงในสัญญาไกล่เกลี่ย ซึ่งคู่ความควรจะต้องให้ทนายฝ่ายตนตรวจสอบรายละเอียดอีกครั้งก่อนลงนามในข้อตกลง ในกรณีที่คู่ความฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดผิดสัญญาดังในข้อตกลงดังกล่าว ก็สามารถนำเรื่องฟ้องศาลเพื่อบังคับคดีต่อไปได้

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 148 สถานการณ์สารพทาเลต DEHP- อันตรายที่สามารถหลีกเลี่ยงได้

โดย ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค ประธานอนุกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านสินค้าและบริการบทความนี้ ได้ข้อมูลมาจากผลการศึกษาปริมาณของสาร DEHP ที่ปนเปื้อนอยู่ในประชากรชาวเยอรมนีที่ทำการศึกษาโดยสถาบันประเมินความเสี่ยงแห่งสหพันธ์ (Federal Institute for Risk Assessment) กับสำนักงานกำกับดูแลด้านสิ่งแวดล้อม (Federal Environment Agency) ซึ่งทางยุโรปได้ให้ความสำคัญกับการกำกับดูแลสารเคมีในกลุ่มพทาเลต ที่ผสมอยู่ในผลิตภัณฑ์ที่ทำจากพลาสติก โดยเฉพาะในผลิตภัณฑ์สำหรับเด็ก ในขณะที่หน่วยงานภาครัฐของประเทศไทย ยังไม่ได้ทบทวน และประกาศใช้มาตรฐานกำกับผลิตภัณฑ์ที่มีสารพทาเลตเป็นส่วนประกอบ ซึ่งในมิติของการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ถือเป็นความจำเป็นเร่งด่วนของหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็น สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคและผู้ประกอบการที่ใส่ใจต่อสุขภาพของและความปลอดภัยของผู้บริโภค ตลอดจนเป็นการจะช่วยสกัดกั้นป้องกันไม่ให้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นอันตรายหลุดเข้ามาสร้างปัญหาให้กับผู้บริโภคครับ   สาร DEHP คืออะไร สาร DEHP ย่อมาจาก di (2-ethyl hexyl) phthalate เป็นสารเคมีที่นิยมใช้ในการผลิตพลาสติก เพื่อให้พลาสติกมีความอ่อนตัว เหมือนกับสารพทาเลตตัวอื่นๆ อีกหลายตัว และสหภาพยุโรป (EU) ได้ประกาศให้สาร DEHP เป็นสารพิษที่มีผลกระทบต่อระบบการสืบพันธุ์ของมนุษย์ เนื่องจากมีการอ้างถึง การที่สาร DEHP มีผลต่อระบบสืบพันธ์ และส่งผลทางด้านลบต่อทารกที่อยู่ในครรภ์มารดาฅ สำหรับผู้ใหญ่การได้รับสาร DEHP ส่วนใหญ่ได้รับผ่านทางการกินอาหาร เข้าสู่ร่างกายซึ่งมีปริมาณน้อย และยังไม่มีรายงานเกี่ยวกับความเสี่ยงต่อสุขภาพ เนื่องจากปริมาณที่ผู้ใหญ่ได้รับสารเคมีนี้ยังน้อยกว่าปริมาณสูงสุดที่ยอมรับได้โดยไม่มีความเสี่ยงต่อสุขภาพ เนื่องจากในร่างกายของผู้ใหญ่สามารถที่จะกำจัดสาร DEHP นี้ออกจากร่างกายได้อย่างรวดเร็ว สำนักงานที่กำกับดูแลเรื่องความปลอดภัยของอาหารแห่งยุโรป (EFSA) ได้กำหนดปริมาณสาร DEHP สูงสุดที่  50 ไมโครกรัมต่อน้ำหนักมนุษย์ 1 กิโลกรัมต่อวัน ที่ร่างกายมนุษย์สามารถขับออกจากร่างกายได้ โดยที่ไม่มีผลเสียต่อสุขภาพ (TDI: Tolerable Daily Intake) สำหรับข้อมูลจากรายงานการสำรวจในประเทศเยอรมนี พบปริมาณสาร DEHP ที่คนเยอรมนีได้ขับถ่ายออกมาเฉลี่ยที่ปริมาณ 13-21 ไมโครกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม   อาหารประเภทไหนที่อาจมีสาร DEHP ปนเปื้อนอยู่ ? อาหารสำเร็จรูปและกึ่งสำเร็จรูปเช่น เนื้อสัตว์ ไขมัน น้ำมัน ธัญพืช ผลไม้ ผักสด นมและผลิตภัณฑ์จากนม ที่อยู่ในบรรจุภัณฑ์ เปรียบเทียบกับอาหารที่ไม่ได้อยู่ในบรรจุภัณฑ์ และอาหารที่ไม่ได้ผ่านกระบวนการแปรรูป จะมีการปนเปื้อนของ DEHP ในปริมาณสูง เพราะอาหารสามารถที่จะละลายสาร DEHP และพทาเลตตัวอื่นๆ ในระหว่างกระบวนการผลิตจนถึงกระบวนการบรรจุ ด้วยเหตุผลดังกล่าวมีการสั่งห้ามใช้สาร DEHP ในบรรจุภัณฑ์ที่ใส่อาหารที่มีไขมันในปี 2007 (พ.ศ. 2550) และในปี 2015 อียูก็ได้สั่งห้ามใช้สาร DEHP ในผลิตภัณฑ์อีกหลายตัว (consumer product) หากไม่ได้มีการพิสูจน์ตามมาตรฐานของ REACH ที่เป็นมาตรฐานในการควบคุมและกำกับการใช้สารเคมีที่เป็นอันตราย ในกรณีของเด็ก สาร DEHP ครึ่งหนึ่งของปริมาณสารเคมีที่ได้รับ ผ่านทางอาหาร ส่วนที่เหลือจะได้รับผ่านทางผลิตภัณฑ์อื่นๆ และของเล่น เนื่องจากเด็กจะใช้เวลาส่วนใหญ่ในการเล่นบนพิ้นห้อง ซึ่งอาจได้รับสาร DEHP เข้าสู่ร่างกายมากกว่าผู้ใหญ่ ในการศึกษาครั้งนี้ ประมาณกาณ์ว่า เด็กได้รับสาร DEHP ระหว่าง 15-44 ไมโครกรัมต่อน้ำหนักตัว1 กิโลกรัม แต่ก็ยังต่ำกว่าปริมาณค่าสูงสุดที่ยอมรับได้ (TDI-Value)   วิธีการป้องกันสาร DEHP เข้าสู่ร่างกายได้ดีคือ การรับประทานอาหารที่ปรุงสดใหม่ ลดการรับประทานอาหารสำเร็จรูป และกึ่งสำเร็จรูป ลดการบริโภคอาหารสำเร็จรูป ยี่ห้อเดียวกันเป็นประจำ หากจำเป็นต้องเปลี่ยนไปบริโภคยี่ห้ออื่นบ้าง เพราะแต่ละยี่ห้อก็จะมีปริมาณสาร DEHP ไม่เท่ากัน นอกจากนี้ควรหมั่นทำความสะอาดพิ้นสม่ำเสมอในกรณีที่มีเด็กเล็ก และปล่อยให้เด็กเล่นบนพื้นห้อง เลือกของเล่นสำหรับเด็กที่ไม่มีสารพทาเลตเป็นส่วนผสม ซึ่งในยุโรปมีกฎหมายห้ามใช้สาร DEHP ในผลิตภัณฑ์และของเล่นสำหรับเด็กตั้งแต่ปี 1999 (พ.ศ. 2542) ซึ่งยุโรปจะมีเวบไซต์แจ้งเตือนทุกๆสัปดาห์  (RAPEX: http://ec.europa.eu/consumers/dyna/rapex/rapex_archives_en.cfm ) เมื่อมีการตรวจพบผลิตภัณฑ์สำหรับเด็กที่มีสาร DEHP ผสมอยู่   ข้อมูลอ้างอิง Phthalate Contamination of the Population in Germany: Exposure-relevant sources, exposure paths and toxicokinetics using the example of DEHP and DINP, Federal Institute for Risk Assessment, Federal Environment Agency, ISSN 1862-4340, 2012

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 147 ธุรกิจ ธุรกรรมผ่านสมาร์ตโฟน และ Tablet PC : ประเด็นสำคัญที่องค์กรผู้บริโภคให้ความสำคัญ

โดย ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค ประธานอนุกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านสินค้าและบริการธุรกิจ ธุรกรรมผ่าน สมาร์ตโฟน และ Tablet PC : ประเด็นสำคัญ ที่องค์กรผู้บริโภคให้ความสำคัญ (Mobile Commerce via Smartphone and Co.- Analysis and and outlook of the future market from the user’s point of view สำหรับบทความในวันนี้ จะขอแปลและเรียบเรียง ผลการศึกษาขององค์กรผู้บริโภคเยอรมนี ที่ได้เผยแพร่งานวิจัย ในเรื่องการทำธุรกรรม ผ่านโทรศัพท์มือถือ สมาร์ตโฟน และ แทบเลต ที่จะมีบทบาทสำคัญทางการค้าขาย ในยุค 3G และ 4G ของการสื่อสาร และการเสนอกรอบสำหรับการกำกับดูแลในประเด็นดังกล่าว สมาร์ตโฟนและแทบเลต เป็นเครื่องมือที่นอกจากจะใช้การติดต่อสื่อสาร รับส่งข้อมูล แล้วยังสามารถทำธุรกรรมต่างๆ ได้ด้วย ทำให้เป็นที่นิยมในสังคมเยอรมนีเป็นอย่างมาก ความนิยมดังกล่าวส่งผลให้ การให้บริการรับส่งข้อมูล (Data mobile service) เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ในขณะที่การสื่อสารประเภทเสียง (Voice mobile service) ก้าวเข้าสู่ยุคการอิ่มตัวของตลาด การสื่อสารประเภทข้อมูล (Data mobile service) มีการทำธุรกรรมผ่านช่องทางดังกล่าวเพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น ช้อปปิงออนไลน์ ซื้อตั๋วรถไฟ ตั๋วเครื่องบิน ฯลฯ   ความสะดวกสบายในการทำธุรกรรมเป็นผลมาจาก เทคโนโลยีการสื่อสารในยุคที่ 3 (3G) และ ยุคที่ 4 (4G) ที่ผู้ให้บริการโครงข่ายการสื่อสารได้เพิ่มความสามารถในการรับส่งข้อมูล ในโครงข่ายของตัวเองเพิ่มมากขึ้น และในขณะเดียวกัน การติดตั้งไว ไฟ (Wi-Fi) ภายในบ้านและสถานที่สาธารณะ ก็ได้ขยายตัวเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน ทำให้การเชื่อมต่อระหว่างสมาร์ตโฟนและแทบเลต สะดวกขึ้น รวดเร็วขึ้น ในราคาผู้บริโภคเข้าถึงได้ ประสิทธิภาพของสมาร์ตโฟนรุ่นใหม่ เพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า ทุกๆ 2 ปี และในอนาคตสมาร์ตโฟนจะเป็นเครื่องมือสื่อสารที่มีประสิทธิภาพสูงกว่า โทรศัพท์มือถือ เพราะสมาต์โฟนก็คือ เครื่องคอมพิวเตอร์ขนาดพกพา ที่มี processor ประสิทธิภาพสูง มีหน่วยบันทึกความจำปริมาณมาก ประกอบไปด้วยทัชสกรีน ที่มีความไวสูง มีกล้องถ่ายรูปที่มีจำนวน pixel มากๆ และมีเซนเซอร์หลายตัว และการพัฒนาสมาร์ตโฟนใอนาคตก็จะทำให้การใช้งานเป็นมิตรกับผู้ใช้งานมากขึ้นเรื่อยๆ   สมาร์ตโฟน: อุปกรณ์ส่วนตัวที่ดึงดูดให้เกิดการทำธุรกรรมแบบเคลื่อนที่ (mobile- commerce) ระบบปฏิบัติการของสมาร์ตโฟนและแทบเลต ไม่ว่าจะเป็น Android, Apple iOS, Blackberry OS, Windows Mobile จะอำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้งาน การติดตั้ง Apps จะง่ายขึ้น Apps หรือโปรแกรมทำหน้าที่เชื่อมต่อข้อมูลระหว่างสมาร์ตโฟน เป็นประตูที่จะรับส่ง ข้อมูลต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลของ sensor (sensor data) ตำแหน่งของสมาร์ตโฟน (location data) ตลอดจนข้อมูลอื่นๆ การดาวน์โลด app มักจะทำการดาวโลดน์ผ่าน app store เช่น Apple App store (ระบบปฏิบัติการ iOS), BlackBerry App world (ระบบปฏิบัติการ BlackBerry OS), Google Play Store (Android), Samsung App (ระบบปฏิบัติการ Android และ Bada) หรือ Microsoft Market Place (ระบบปฏิบัติการ Windows) โดยที่ Apps เหล่านี้ เกิดจากการสร้างสรรค์และพัฒนาโดยนักเขียนโปรแกรมอิสระ ซึ่งเป็นกลุ่มที่สร้างมูลค่าให้กับระบบห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรม การสื่อสารและเทคโนโลยีสารสนเทศ เป็นแหล่งของการงานสร้างสรรค์อย่างมหาศาล เป็นแหล่งที่นักพัฒนาซอฟท์แวร์อิสระสามารถเข้าสู่ตลาดที่กว้างใหญ่ได้โดยง่าย ปัจจุบันนี้ผู้บริโภคมี Apps ให้เลือกมากกว่า ครึ่งล้าน Apps สมาร์ตโฟนเป็นเครื่องมือสื่อสารส่วนบุคคล ที่เก็บข้อมูลส่วนบุคคลไว้มากมายด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น Address book ปฏิทินกิจกรรม รูปภาพ และ ลิงค์เชื่อมต่อ Social Network เนื่องจากสมาร์ตโฟนได้ออกแบบมาสำหรับการใช้งานส่วนบุคคลมากที่สุด ทำให้สามารถใช้สมาร์ตโฟนได้ทุกที่ ทุกเวลา ทำให้สมาร์ตโฟนเป็นเครื่องมือที่สำคัญอย่างยิ่งในการประกอบธุรกรรม ไม่ว่าผู้บริโภคต้องการตรวจสอบโปรโมชันของสินค้าหรือบริการ เปรียบเทียบราคา เสาะหาร้านค้า สั่งสินค้า ชำระค่าสินค้าและบริการ ด้วยเทคโนโลยี Geo-Localization (เทคโนโลยีการระบุตำแหน่งบนโลก) ทำให้สามารถตรวจจับ ตำแหน่งของผู้ใช้งานสมาร์ตโฟนได้ และ App บางตัว ทำให้ผู้บริโภคสามารถได้รับข้อมูลที่จำเป็น ว่าจะเดินทางไปที่ไหน และจะเดินทางไปอย่างไร ในเรื่องการระบุตำแหน่งของผู้ใช้งานสมาร์ตโฟนนั้น ถือว่าเป็นหลักการพื้นฐานเบื้องต้น สำหรับการทำธุรกรรมแบบเคลื่อนที่ (m-commerce services) อย่างไรก็ตามข้อมูลระบุตำแหน่ง เป็นข้อมูลส่วนบุคคลจำเป็นต้องมีความระมัดระวังระมัดระวัง เพราะข้อมูลเหล่านี้สามารถเป็นเครื่องมือในการบอกพฤติกรรมของผู้บริโภคได้ และเป็นช่องทางให้ผู้ประกอบการค้าขายนำมาใช้ในทางที่ผิด ละเมิดสิทธิส่วนบุคคลได้โดยง่าย จึงไม่ต้องสงสัยเลยว่า ทำไมผู้บริโภคจึงได้ App บางตัวมาฟรีๆ โดยไม่ต้องเสียสตางค์ เพราะสิ่งที่ผู้ประกอบการบางรายต้องการคือข้อมูลส่วนตัวของผู้บริโภค เพื่อนำมาใช้ในเชิงธุรกิจ   กระเป๋าสตางค์ในอนาคต (M-Payment) ในอนาคตสมาร์ตโฟนจะเป็นกระเป๋าสตางค์ของผู้บริโภคด้วย ที่ผ่านมาเราสามารถทำธุรกรรมทางการเงินผ่านระบบอินเตอร์เนตได้แล้ว และกำลังจะเคลื่อนไปสู่การทำธุรกรรมทางการเงินผ่านระบบ สมาร์ตโฟน (m-payments of mobile online purchase) การทำธุรกรรมทางการเงิน ใช้การรับส่งสัญญาณและข้อมูลผ่านระบบการติดต่อไร้สายระยะใกล้ (Near Field Communication (NFC) wireless technology) การจ่ายเงินหรือการชำระค่าบริการผ่านสมาร์ตโฟนสามารถทำได้ทุกที่ ขณะนี้ในประเทศเยอรมนีก็เริ่มมีการแข่งขันกันในการ ทำระบบ m- payment system ไม่ว่าจะเป็นบัตรสมาชิก คูปองแลกซื้อสินค้า ก็สามารถใช้สมาร์ตโฟนเป็นเครื่องมือในการใช้งานได้ผ่าน NFC ชิป (NFC-Chips) เงื่อนไขความสำเร็จของระบบตลาดภายใต้การทำธุรกรรม m-payment ผ่านระบบ NFC คือ การยอมรับเทคโนโลยีของผู้บริโภคและผู้ค้าปลีก รายย่อย ซึ่งจะต้องดูว่าในอนาคตนั้น m-payment จะประสบความสำเร็จเพียงใด จะสามารถไปถึงจุดคุ้มทุน (critical mass) ของจำนวนผู้ใช้สมาร์ตโฟนได้หรือไม่ ปัจจุบันรูปแบบการทำธุรกรรมแบบนี้ได้ขยายตัวเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด เนื่องจากการขยายตัวของจำนวนผู้ใช้สมาร์ตโฟน ในปี 2011 ชาวเยอรมันจำนวน 2.9 ล้านคน ใช้สมาร์ตโฟนในการทำธุรกรรมทางการเงิน ในขณะที่คนมากกว่า 5 ล้านคน ใช้ประโยชน์จากการการรวบรวมข้อมูล จากสมาร์ตโฟนมากกว่าการซื้อสินค้า M-shopping ได้เพิ่ม ความโปร่งใสของระบบตลาดทั้งในด้านผู้บริโภคและผู้ให้บริการ ผู้บริโภคได้รับข้อมูลด้านราคา ความหลากหลายของสินค้า โปรโมชัน ส่วนผสมของสินค้า และแหล่งที่มาของสินค้า ดีขึ้น ในขณะเดียวกันผู้ให้บริการ Apps ก็ได้ใช้ประโยชน์ข้อมูลของผู้บริโภคที่มีค่า ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่ผู้บริโภคมีพฤติกรรมในการซื้ออย่างไร ชอบหรือไม่ชอบอะไร มาเป็นประโยชน์ในทางธุรกิจได้ ภายใต้บริบท การทำธุรกรรมเป็นแบบส่วนตัว นี้ ผู้บริโภคก็มีความกังวลในประเด็น เรื่องความเสี่ยง (Risk) การบิดเบือนข้อเท็จจริง (Manipulation) หลอกลวง ปลอมแปลง ต้มตุ๋น ทำให้เข้าใจผิด (Deception) และ การเลือกปฏิบัติ (Discrimination)   เนื่องจากการทำธุรกรรมผ่านสมาร์ตโฟน และแทบเลต เป็นช่องทางที่รวดเร็วมาก หน้าจอของอุปกรณ์เหล่านี้ เป็นแบบสัมผัส ที่มีความไวต่อการสัมผัสสูง ซึ่งก็มีความเสี่ยงที่จะเกิดข้อผิดพลาดในการทำธุรกรรม เพราะฉะนั้นสมควรที่จะพัฒนากฎหมายที่คุ้มครองผู้บริโภค ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการยกเลิกการทำธุรกรรม การคืนสินค้า ข้อมูลของการทำธุรกรรมที่ครบถ้วนและเพียงพอต่อการตัดสินใจของผู้บริโภค   แนวทางการกำกับดูแล การทำธุรกรรมในระบบ m-commerce การยอมรับ ความน่าเชื่อถือ และความโปร่งใสเป็นหัวใจสำคัญ ในการทำธุรกิจภายใต้ m-commerce ที่เกิดขึ้นตามกระแสโลกาภิวัฒน์ การกำกับดูแลจากภาครัฐมีความจำเป็นในการกำหนดกรอบกฎหมายที่จะใช้เป็นเครื่องมือ ในการดูแล ปกป้องสิทธิความเป็นส่วนตัวขั้นสูงสุดของผู้บริโภค สมาร์ตโฟนเป็นอุปกรณ์ที่เป็นแหล่งรวบรวมข้อมูลส่วนบุคคลสำคัญต่างๆ เป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลด้านสถานที่ที่ผู้บริโภคกำลังสถิตอยู่ หรือแม้แต่พฤติกรรมการจ่ายเงิน ข้อมูลส่วนบุคคลเหล่านี้สมควรจะได้รับการคุ้มครอง การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล จำเป็นที่จะต้องมีแนวคิด ที่ว่า ความเป็นส่วนตัวสามารถกำหนดได้ (privacy by design) คือ อุปกรณ์สมาร์ตโฟนและซอฟท์แวร์ที่ผลิตออกมาจากโรงงาน สมควรจะติดตั้ง ระดับการรักษาข้อมูลส่วนบุคคลอย่างสูงสุด (default settings offer the highest degree of privacy)   การออกกฎเพื่อลดช่องว่างของกฎหมาย เนื่องจากการทำธุรกรรมผ่านสมาร์ตโฟน และแทบเลต เป็นช่องทางที่รวดเร็วมาก เนื่องจาก หน้าจอของอุปกรณ์เหล่านี้ เป็นแบบสัมผัส ที่มีความไวต่อการสัมผัสสูง ซึ่งก็มีความเสี่ยงที่จะเกิดข้อผิดพลาดในการทำธุรกรรม เพราะฉะนั้นสมควรที่จะพัฒนากฎหมายที่คุ้มครองผู้บริโภค ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการยกเลิกการทำธุรกรรม การคืนสินค้า ข้อมูลของการทำธุรกรรมที่ครบถ้วนและเพียงพอต่อการตัดสินใจของผู้บริโภค จากงานวิจัยขององค์กรผู้บริโภคเยอรมนีพบว่า Apps ที่ใช้เป็นเครื่องมือในการทำธุรกรรมส่วนมาก มีเงื่อนไขของสัญญาที่ยังไม่เป็นไปตามกฎหมายที่กำหนด (German Telemedia legislation) เนื้อหาในสัญญามีความยาวมากเกินไป และบางครั้งเนื้อหาในสัญญาเองก็เข้าข่าย ละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล (German’s Federal Privacy Act) กลไกที่สำคัญอย่างหนึ่งสำหรับการคุ้มครองผู้บริโภค การสร้างหลักประกันความมั่นใจให้กับผู้บริโภค (Reputation Mechanism) คือ การออกมาตรฐานและการรับรองจากหน่วยงานที่เป็นอิสระในทางวิชาการ สำหรับสมาร์ตโฟน Apps และบริการ m-commerce ต่างๆ ที่นำเสนอในอินเตอร์เน็ต เพื่อให้ผู้บริโภคมั่นใจสำหรับการทำธุรกรรมเพิ่มมากขึ้น พัฒนาการสำหรับการป้องกันข้อมูลส่วนบุคคลในอนาคตคือ การที่ผู้บริโภคสามารถจัดแบ่งลำดับความสำคัญของข้อมูลส่วนบุคคล สามารถที่จะเลือกระดับการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคลได้มากกว่าปัจจุบัน ที่ยังอยู่ในระดับแค่การยอมรับ หรือไม่ยอมรับมาตรการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ที่เป็นสัญญาสำเร็จรูปจากผู้ประกอบการ (ในกรณีที่ผู้บริโภคไม่ยอมรับเงื่อนไข การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลที่ผู้ประกอบการเสนอมาในรูปแบบของสัญญาสำเร็จรูป ก็ไม่สามารถดำเนินการทางธุรกรรมต่อไปได้ เป็นการละเมิดสิทธิของผู้บริโภคแบบเบ็ดเสร็จ) และการประกอบธุรกรรมภายใต้ระบบ m-commerce ควรที่เพิ่มช่องทางให้ผู้บริโภคที่เป็นเจ้าของข้อมูล สามารถลด และลบร่องรอยของข้อมูล ที่มักจะทิ้งไว้ให้สะกดรอยตามได้โดยง่าย

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 146 เมื่อต้องซื้อ Set top box

 โดย ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค ประธานอนุกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านสินค้าและบริการ ประเทศไทยเราจะก้าวเข้ามาสู่ยุคโทรทัศน์แบบดิจิตอล ถึงแม้ว่าจะก้าวแบบช้าๆ ตามก้นหลายๆประเทศก็ตาม แต่หวังว่าการเริ่มช้าในตอนเปลี่ยนผ่าน จะทำให้เราสามารถเก็บเกี่ยวประสบการณ์ ความผิดพลาดของหลายๆ ประเทศนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดในประเทศไทยได้ การเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยี เราควรให้ทุกฝ่ายได้รับประโยชน์สูงสุด มีการแข่งขันที่จริงจัง เป็นธรรม และองค์กรกำกับดูแลก็โปร่งใส ยอมรับการตรวจสอบและวิพากษ์วิจารณ์ในเชิงสร้างสรรค์จากสังคมด้วยเช่นกัน เนื่องจากผู้บริโภคยังมีความรู้ในเรื่องเทคนิคอย่างค่อนข้างจำกัดนั้น สมควรที่จะต้องหาความรู้พื้นฐาน ตลอดจนการเตรียมการในการที่จะรับสัญญาณแบบใหม่นี้ ซึ่งความรู้พื้นฐานที่ผู้บริโภคควรมีไว้กับตัวนั้น เหตุที่ผมเขียนเรื่องอุปกรณ์การรับสัญญาณโทรทัศน์ภาคพื้นดินนั้น เพราะยังจำวิกฤติจอดำ ฟุตบอลยูโร 2012 นั้นได้ดี ถึงแม้ว่าเราจะมีดาวเทียม เคเบิล แต่เนื่องจากกฎหมายลิขสิทธิ์ ก็ยังอาจจะทำให้เกิดจอดำขึ้นอีก การที่แต่ละบ้านสามารถรับสัญญาณผ่านเสาอากาศ(รุ่นใหม่) ได้ ก็จะขจัดปัญหานี้ออกไป และ กสทช. ต้องควบคุมให้ช่องทีวีสาธารณะ ขยายพื้นที่การแพร่สัญญาณออกไปให้มากที่สุด ตามแผนแม่บทด้วย ก็จะช่วยผู้บริโภคได้มาก   คราวนี้ผมนำมาจากความรู้ขององค์กรผู้บริโภค Stiftung Warentest ที่ทำหน้าที่ทดสอบสินค้า ข้าว ของ เครื่องใช้ และเผยแพร่ เพื่อเป็นข้อมูลในทางวิชาการในการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้า องค์กรนี้ทำหน้าที่เหมือนกับวารสารฉลาดซื้อที่เพื่อนสมาชิกกำลังอ่านอยู่นั่นแหละครับ และเราคาดหวังว่าหน้าที่ที่สำคัญขององค์การอิสระที่กำลังค้างอยู่ในสภานั้น จะคลอดออกมาในเร็ววัน เพื่อเป็นหลักประกันของผู้บริโภคไทยว่า จะสร้างความสมดุลในเรื่องความรู้ และข้อมูล ภายใต้ระบบการค้าที่ไม่ค่อยจะเป็นธรรมและไม่เป็นมิตรกับผู้บริโภคไทยที่เป็นอยู่ในขณะนี้   คำแนะนำสำหรับผลการทดสอบ set top box นั้น ต้องยอมรับว่าผลการทดสอบค่อนข้างจะเก่า คือ ทดสอบในปี 2005-2006 หากท่านต้องการทราบผลการทดสอบล่าสุด อาจต้องให้ทางฉลาดซื้อนำผลของ ICRT มาลงในฉบับต่อๆ ไป การทดสอบนี้ทางผู้ทดสอบให้คะแนนในด้านคุณภาพของสัญญาณภาพ 30 % คุณภาพของสัญญาณเสียง 10 % ความยากง่ายในการติดตั้งและใช้งาน 30 % ค่าความอ่อนไหวในการรับสัญญาณ เช่น การรบกวนกันของสัญญาณ (Sensitivity) 10 % และ ความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม คือ ใช้ไฟน้อย และความสามารถในการนำวัสดุกลับมาใช้ใหม่ (Recyclability) อีก 10 %   ในการทดสอบครั้งนี้ได้แบ่ง set top box ออกเป็น  2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่มี Hard disc สำหรับบันทึกข้อมูลในกรณีมีการอัดรายการโทรทัศน์เก็บไว้ และแบบที่ไม่มี hard disc ราคาตั้งแต่ 1,000 – 4,000 บาท ผลการทดสอบสรุปได้ว่า คุณภาพไม่ได้ขึ้นอยู่กับราคา   นอกจากนี้ยังมี เสาหนวดกุ้งรับสัญญาณโทรทัศน์ ที่ไว้ใช้ดูผ่านเครื่องคอมพิวเตอร์ แต่ผลทดสอบของอุปกรณ์ได้คะแนนเพียงพอใช้ เนื่องจากปัญหาจะเกิดตอนใช้งานคอมพิวเตอร์จะทำให้เกิดการกระตุกของภาพ และภาพจะเคลื่อนไหวช้าลง (แต่คาดว่าปัญหาเทคนิคในเรื่องนี้ เครื่องรับสัญญาณรุ่นใหม่ คงพัฒนาให้ดีขึ้นแน่นอน คาดว่า ICRT น่าจะมีผลการทดสอบเครื่องรับสัญญาณโทรทัศน์ผ่านคอมพิวเตอร์ใหม่ล่าสุดเช่นกัน   สรุป กสทช. ควรจะรีบออกมาตรฐาน ของ Set top box ออกมารองรับตลาดในอนาคตอันใกล้นี้ เพราะ จะมีการแจกคูปอง เพื่อให้ประชาชน สามารถไปซื้อ set top box ในราคาที่ถูกลง ซึ่งมาตรฐานของสินค้าจะเป็นการรับประกันให้ผู้บริโภคได้ทั้งของถูก และของดี ด้วย เอาใจช่วย กสทช.ในเรื่องนี้ครับ     ภาพประกอบ ภาพที่ 1 ตัวอย่าง set top box แบบไม่มี hard disc ที่ได้คะแนนดีจากการทดสอบ ภาพที่ 2 ตัวอย่าง set top box แบบมี hard disc รุ่นซ้ายมือสุดได้คะแนนดี อีกสองรุ่น คะแนนพอใช้   ภาพที่ 3 เสารับสัญญาณขนาดเล็กสำหรับดูผ่านคอมพิวเตอร์ (แหล่งข้อมูล วารสาร Test ฉบับ 3/2006 และ 3/2007)

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 145 ความจำเป็นของเสาหนวดกุ้ง ก้างปลา สำหรับการรับสัญญาณโทรทัศน์แบบดิจิตอล

 โดย ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค ประธานอนุกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านสินค้าและบริการ โดยปรกติการเลือกซื้ออุปกรณ์รับสัญญาณนั้น ถ้าอยู่ในบริเวณที่มีสัญญาณแรง เช่นในเขตกรุงเทพมหานคร ก็ใช้อุปกรณ์แบบ Inner Antenna ได้ แต่ถ้าอยู่ในบริเวณที่สัญญาณอ่อนก็ต้องใช้อุปกรณ์แบบ Outer Antenna แต่ถ้าใครมีหนวดกุ้ง ก้างปลาอยู่แล้วก็ไม่ต้องตกใจว่าจะต้องเปลี่ยนนะครับ เพราะอุปกรณ์รับสัญญาณนั้น ยังสามารถใช้ต่อไปได้   สัญญาณแบบอนาลอก เป็นสัญญาณโทรทัศน์ที่จะหมดยุคภายใน 4-5 ปีนี้ เนื่องจากประเทศไทยเราจะก้าวเข้ามาสู่ยุคโทรทัศน์แบบดิจิตอล ซึ่งผู้บริโภคที่มีความรู้ในเรื่องเทคนิคอย่างค่อนข้างจำกัดนั้น สมควรที่จะต้องหาความรู้พื้นฐาน ตลอดจนการเตรียมการในการที่จะรับสัญญาณแบบใหม่นี้ ซึ่งความรู้พื้นฐานที่ผู้บริโภคควรมีไว้กับตัวนั้น ผมนำมาจากความรู้ขององค์กรผู้บริโภคภาคเอกชนของเยอรมนี (Stiftung Warentest) มานำเสนอแด่เพื่อนสมาชิก องค์กรนี้ได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลเป็นรายปี แต่รายได้หลักขององค์กรนี้จะมาจากสมาชิกที่สมัครรับวารสาร ทำหน้าที่เหมือนกับหนังสือฉลาดซื้อของเรานี่แหละครับ   การทดสอบแต่ละครั้งจะทดสอบสินค้าเชิงคุณภาพ และเปรียบเทียบเทียบความคุ้มค่าที่เรียกว่า cost effectiveness ในการเลือกซื้อเลือกจ่ายแต่ละครั้งคนเยอรมัน จะมีข้อมูลรอบด้าน ครบถ้วน สำหรับผู้บริโภคที่เป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และเป็นผู้กำหนดตลาดที่มีการแข่งขันตัวจริงเสียงจริง เป็นองค์กรที่ช่วยราษฎร์ เสริมรัฐ และผมหวังว่ารัฐบาลพรรคเพื่อไทยที่ให้ความสำคัญกับการคุ้มครองสิทธิประชาชนขั้นพื้นฐานจะให้การสนับสนุนองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคที่กำลังค้างอยู่ในสภาผู้แทนราษฎร ให้กฎหมายนี้ผ่านมาได้ และทำหน้าที่ปกป้องสิทธิขั้นพื้นฐานของบริโภคเฉกเช่นกัน   บทความในวันนี้ มีวัตถุประสงค์ในการแนะนำผู้บริโภคในการเลือกชมรายการโทรทัศน์ผ่านอุปกรณ์สัญญาณภาคพื้นดิน (Digital Video Broadcasting: Terrestrial DVB-T)   การรับสัญญาณโทรทัศน์ในยุคดิจิตอลนั้นหากเป็นการรับสัญญาณโทรทัศน์ภาคพื้นดิน ก็ต้องมีอุปกรณ์รับสัญญาณเช่นเดียวกับการรับสัญญาณแบบอนาลอกคือ เสาก้างปลา (Outer Antenna) (ดูรูปที่ 1)   สำหรับรับสัญญาณภายนอกอาคาร และเสาหนวดกุ้งที่เรียกว่า (Inner Antenna) (ดูรูปที่ 2)   ปัจจุบันเทคโนโลยีของอุปกรณ์รับสัญญาณทั้งสองแบบได้พัฒนาการไปจนรูปร่างลักษณะจะไม่เหมือนกับหนวดกุ้ง ก้างปลาในอดีตแล้วครับ โดยปรกติการเลือกซื้ออุปกรณ์รับสัญญาณนั้น ถ้าอยู่ในบริเวณที่มีสัญญาณแรง เช่นในเขตกรุงเทพมหานคร ก็ใช้อุปกรณ์แบบ Inner Antenna ได้ แต่ถ้าอยู่ในบริเวณที่สัญญาณอ่อนก็ต้องใช้อุปกรณ์แบบ Outer Antenna แต่ถ้าใครมีหนวดกุ้ง ก้างปลาอยู่แล้วก็ไม่ต้องตกใจว่าจะต้องเปลี่ยนนะครับ เพราะอุปกรณ์รับสัญญาณนั้น ยังสามารถใช้ต่อไปได้ แต่ถ้าใครต้องการเปลี่ยนเพราะ เราใช้อุปกรณ์ดังกล่าวมานานแล้วคุณภาพในการรับสัญญาณเริ่มจะลดลงก็ลองหันมาดู อุปกรณ์ใหม่ๆ ดังกล่าวได้เช่นกัน   ความจำเป็นในการติดตั้งอุปกรณ์รับสัญญาณแบบ เสาหนวดกุ้งก้างปลายังคงมีอยู่ ในเยอรมนีเองการรับสัญญาณผ่านเสาสัญญาณแบบนี้ ถือได้ว่ามีสัดส่วนสูงที่สุดสูงกว่ารับสัญญาณผ่านจานดาวเทียม หรือผ่านเคเบิล ถ้าพิจารณาจากการส่งสัญญาณโทรทัศน์แบบภาคพื้นดินของช่องฟรีทีวีในเยอรมนีแล้ว จะเห็นว่าครอบคลุมพื้นที่ มากกว่า 95 % (รูปที่ 3) การติดตั้งจานดาวเทียมในเยอรมนีนั้นไม่ได้ติดตั้งกันง่ายๆ เหมือนบ้านเรา ส่วนใหญ่ต้องขออนุญาตทั้งจากรัฐและเจ้าของอาคารก่อน เพราะจานดาวเทียมนั้น ถ้าติดตั้งโดยไม่ควบคุมจะเป็นมลพิษอย่างหนึ่ง เรียกว่ามลพิษทางทัศนียภาพ ที่กำลังเกิดขึ้นและกำลังจะมีแนวโน้มที่รุนแรงขึ้นในเมืองหลวงของเรา (เราจะเห็นจานดาวเทียมที่มีสีต่างๆ ผุดขึ้นเหมือนกับเชื้อรา ตามตึก อาคารต่างๆ ซึ่งเป็นภาพที่ไม่งามตาเลย)   สำหรับประเทศไทยนั้นก็ยังมีความจำเป็นเช่นกันสำหรับการรับสัญญาณโทรทัศน์ภาคพื้นดิน หากเราดูปรากฎการณ์จอดำ เมื่อปีผ่านมา และคาดว่าก็อาจประสบปัญหาจอดำอีก แต่ถ้าเราสามารถรับสัญญาณโทรทัศน์ผ่านหนวดกุ้ง ก้างปลาได้ ก็จะไม่เจอกับปัญหาจอดำ ตอนนี้ในขั้นตอนการประมูลช่องโทรทัศน์ดิจิตัล กสทช. สามารถออกกฎเกณฑ์ให้ช่องสถานีฟรีทีวี หรือช่องสถานีสาธารณะทั้งหลาย ต้องสามารถส่งสัญญาณให้ครอบคลุมพื้นที่ทั้งประเทศเหมือนที่เยอรมนี ก็จะสามารถลดปัญหาได้ระดับหนึ่งเช่นกัน คาดว่าปัญหาจอดำและปัญหาพื้นที่ที่ไม่มีสัญญาณ (White Spot) ก็จะไม่เกิดเช่นกันครับ  

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 143 เมื่อไม่ได้โทร ก็ไม่ต้องจ่าย

 โดย ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค ประธานอนุกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านสินค้าและบริการ คำพิพากษาตัดสินคดีของศาลแพ่งเยอรมัน แห่งเมือง Kiel (Landgericht Kiel 20 136/11) วันที่ 29.11.2011 ตัดสินให้สหพันธ์องค์กรผู้บริโภคเป็นโจทก์ฟ้องชนะคดีบริษัท Mobilcom debitel เนื่องจากบริษัท Mobilcom ได้เรียกเก็บเงินค่าธรรมเนียมจำนวน 5 ยูโรจากลูกค้า ทั้งๆ ที่ลูกค้ารายนั้นไม่ได้ใช้โทรศัพท์มือถือนาน 3 เดือน ถึงแม้ว่าในสัญญาทางบริษัทจะเขียนไว้ว่า มีค่าธรรมเนียมถึงจะไม่ได้ใช้โทรศัพท์มือถือก็ตาม ศาลอธิบายว่าข้อความดังกล่าว เป็นสัญญาที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งเป็นคำพิพากษาที่ศาลเห็นตามคำฟ้องของสหพันธ์องค์กรผู้บริโภคแห่งเยอรมนี (VZBV) หันมาดูกรณีคล้ายๆ กับของไทย คือ กรณีบริษัทผู้ให้บริการมือถือ แบบให้บริการล่วงหน้า (Prepaid) ยึดเงินในระบบของผู้บริโภค ทำให้ผู้บริโภคโดนบังคับให้เติมเงินทั้งๆ ที่ยังมีเงินเหลืออยู่ ซึ่งเป็นปัญหายืดเยื้อมายาวนาน และเป็นการละเมิดสิทธิแบบไม่เกรงกลัวหน้าอินทร์หน้าพรหม แม้ล่าสุดเลขาธิการ กสทช. ได้มีคำสั่งบังคับทางปกครองบริษัทผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3 ราย โดยให้บริษัทชำระค่าปรับทางปกครองในอัตราวันละ 100,000 บาท ต่อสำนักงาน กสทช. ให้ครบถ้วนทั้งนี้ซึ่งคิดแล้วเป็นการจ่ายค่าปรับเป็นเงิน 3 ล้านบาทต่อเดือน โดยมีคำสั่งปรับทางปกครองไปตั้งแต่วันที่ 30 พฤษภาคมปีที่ผ่านมา ในเรื่องดังกล่าวผู้ประกอบการมักอ้างว่า มีค่าใช้จ่ายจากการรักษาเลขหมาย จริงๆ แล้ว กสทช. เรียกเก็บค่าธรรมเนียมเลขหมาย เลขหมายละ 2 บาท ต่อเดือน หากจะให้ความเป็นธรรมกับบริษัท ใครใช้คนนั้นจ่าย ก็สามารถทำได้ เช่นให้สามารถเติมเงินเพื่อเป็นค่ารักษาเลขหมายได้ โดยให้ค่ารักษาเลขหมายและค่าใช้บริการแยกออกจากกัน  ซึ่งในทางเทคนิคผู้ประกอบการตู้เติมเงินออนไลน์ก็สามารถทำได้อยู่แล้ว ไม่ใช่เรื่องยุ่งยากอะไร แต่ กสทช. อาจต้องไปดูแลในเรื่องค่าบริการที่ไม่ควรจะคิดสูงเกินจริง แล้วเป็นช่องทางให้เอาเปรียบผู้บริโภคอีก   จริงๆ ข้อเสนอดังกล่าวทางอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคได้จัดทำข้อเสนอเกี่ยวกับการกำกับดูแลตู้เติมเงินไปแล้ว แต่ทาง กสทช.ก็ปฏิเสธว่าไม่ใช่อำนาจหน้าที่ของตนอีกเช่นกัน จริงๆ แล้วหาก กสทช. ไม่กำกับดูแล ผู้ประกอบการก็สามารถจัดการเรื่องค่าธรรมเนียมรักษาเลขหมายได้ เพราะถ้าหากทำธุรกิจที่ไม่เอาเปรียบลูกค้า ชาวบ้านและเทวดาจะพากันสรรเสริญ แต่ถ้าอ้างกฎระเบียบของ กสทช. เพื่อมาเอาเปรียบชาวบ้าน ต่อให้ถูกกฎหมาย ก็คงจะได้รับคำสาปแช่งเฉกเช่นกัน และตอนนี้ทางบริษัทก็ยังไม่สามารถเรียกเก็บค่ารักษาเลขหมายรายเดือนได้ ตราบใดที่ กสทช. ยังไม่ออกประกาศเปลี่ยนแปลงกติกาใหม่   เพราะฉะนั้นใครที่ได้รับความเดือดร้อนจากการใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบเติมเงินทั้งประเทศมีจำนวนทั้งสิ้น 70,610,490 เลขหมาย ขอให้ผู้บริโภคช่วยกันร้องเรียนเรื่องนี้ให้มากๆ โดยสามารถร้องเรียนไปยังสำนักงาน กสทช. 1200 เพื่อให้สำนักงาน กสทช. ดำเนินการสั่งปรับทางปกครองแบบลงโทษให้สอดคล้องกับความเสียหายของผู้บริโภค หรือถ้าไม่ได้ความยังไงก็ติดต่อมาที่ฉลาดซื้อ หรือศูนย์พิทักษ์สิทธิ ของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เบอร์ติดต่อ 02 2483734-7   เพื่อให้ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบพรีเพดทุกราย ปฏิบัติตามประกาศ เรื่อง กระบวนการรับเรื่องร้องเรียนและพิจารณาข้อร้องเรียนของผู้ใช้บริการ พ.ศ. 2549 ข้อ 5 คือ ในระหว่างการพิจารณาเรื่องร้องเรียน ผู้ให้บริการต้องยุติการระงับบริการแก่ผู้ร้องเรียนทุกราย จนกว่าเรื่องร้องเรียนนั้นจะได้ข้อยุติด้วย ใครมีลูกบอกลูก มีหลานบอกหลาน เป็นอาจารย์ บอกลูกศิษย์ นะครับ เงินของเรา สิทธิของเรา เราต้องทวง

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 142 ค่าโทรศัพท์จะถูกลง เมื่อประเทศเรามี 3 G ?

โดย ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค ประธานอนุกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านสินค้าและบริการจากคำสั่งของศาลปกครองกลาง ที่มีมติไม่รับคำร้องของผู้ตรวจการแผ่นดิน ในกรณีการประมูล 3 G ที่ผ่านมานั้น กระบวนการแจกใบอนุญาติประกอบกิจการโทรคมนาคมในยุค 3 G ซึ่งกำลังจะหมดยุค เพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่ยุค 4 G ก็สามารถเดินหน้าต่อไปได้ และผู้บริโภคก็ยังคาดหวังการเปลี่ยนผ่านจากยุคสัมปทานไปสู่ยุคที่มีผู้ประกอบการน้อยราย (Oligopoly) จะสามารถได้รับบริการที่ดี มีคุณภาพ และราคาต้องถูกลง ไม่ว่าจะเป็นบริการประเภทเสียงหรือบริการประเภทข้อมูล ที่ผ่านมาถึงแม้นว่า กสทช.จะมีประกาศกำหนดราคาขั้นสูงสำหรับการให้บริการประเภทเสียง ที่กำหนดไว้ไม่เกินนาทีละ 99 สตางค์ แต่ผู้ให้บริการรายใหญ่ทั้งสามราย ก็ยังมีการละเมิดประกาศของ กสทช. กันอยู่ เช่น โปรโมชัน จ่ายเดือนละ 649 บาท รับฟรีอินเตอร์เนตใช้ได้ไม่จำกัด โทรฟรี 550 นาที แต่ทำไม เวลาโทรเกินสามารถคิดค่าบริการ นาทีละ 1.50 บาท ทั้งๆ ที่ ประกาศ กสทช. ก็บอกชัดเจนว่าห้ามคิดเกิน นาทีละ 99 สตางค์ จริงๆ แล้วอัตราการใช้บริการประเภทเสียงนั้น สมควรที่จะมีการทบทวนให้สะท้อนถึงต้นทุนที่แท้จริง โดยเฉพาะการคิดอัตราค่าเชื่อมต่อ ที่จะต้องถูกลงกว่าเดิม วันนี้ขออนุญาตนำข่าวความเคลื่อนไหวของการกำกับดูแลค่าเชื่อมต่อที่เรียกว่า Interconnection Charge จากทางฝั่งเยอรมนีมาฝาก เพื่อให้ตอบรับกับกระแสการที่ท่านประธาน กทค. จะทำให้การให้บริการโทรคมนาคมถูกลง   การกำกับดูแล Interconnection Charge ของเยอรมนี กสทช. เยอรมนี กำหนดราคาค่าเชื่อมต่อ(Interconnection Charge) ใหม่ กรณีใช้โครงข่ายของบริษัท Telekom Deutschland โดยจะมีราคาถูกกว่าอัตราเดิมโดยเฉลี่ย 20 % ตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค. 2555 เป็นต้นไป โดยอัตราค่าเชื่อมต่อโครงข่ายจะแบ่งเป็น 4 ระดับ (Price Tariffe) โดยเฉพาะอัตราพื้นฐาน (Tariffe Zone I: Main Tariffe) วันทำงานจันทร์ถึงศุกร์ เวลา 9.00 น. – 18.00 น.คิดอัตรา 0.36 Ct/ Minute (14.4 สตางค์/นาที)  วันหยุด เสาร์ อาทิตย์และวันหยุดราชการ คิดอัตรา 0.25 Ct/ Minute (10 สตางค์/นาที) ราคาที่กำหนดต้องเป็นราคาเดียวกับการคิดค่าเชื่อมต่อของ บริษัทผู้ประกอบการอื่นๆ ด้วย เนื่องจากการปรับลดราคาค่าเชื่อมต่อ เป็นผลมาจากการศึกษาของบริษัทที่ปรึกษา WIK GmbH เพื่อเป็นฐานสำหรับการให้บริการโครงข่ายโทรคมนาคมในยุคใหม่ (Next Generation Networks: NGN) เนื่องจากโครงข่ายโทรคมนาคมยุคใหม่ (NGN) นี้ จะต่างจาก โครงข่ายเดิม (Public Switched Telephone Networks: PSTN) โดยมีข้อดีคือ นอกเหนือจากการให้บริการประเภทข้อมูล เช่น E mail, Internet Etc. แล้วบริการประเภทเสียงจะใช้ bandwidth ที่น้อยกว่า มีผลทำให้ต้นทุนถูกลง และประสิทธิภาพการใช้โครงข่าย (Cost Effectiveness) ดีขึ้น แต่อย่างไรก็ตามค่าเชื่อมต่อโครงข่ายใหม่นี้ เป็นการกำหนดอัตราแบบชั่วคราวเนื่องจาก  ในเดือน ม.ค. 2556 ทาง กสทช. จะต้องนำประกาศกำหนดอัตราค่าเชื่อมต่อนี้ เข้าสู่กระบวนการรับฟังความคิดเห็นในระดับชาติ (National Consultation Process: Nationales Konsultationsverfahren) และจะต้องผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมาธิการยุโรปตลอดจน ประเทศสมาชิกอื่นๆ ของยุโรปด้วย จึงจะทำให้การประกาศอัตราค่าเชื่อมต่อมีความสมบูรณ์ใช้บังคับเป็นทางการต่อไป อัตราค่าบริการประเภทเสียงที่ถูกลง จะมีส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันในการทำธุรกิจของประเทศโดยรวม เพราะเป็นปัจจัยพื้นฐานในการผลิตที่จำเป็นจะต้องมีต้นทุนที่ถูกลง เช่นเดียวกับ ค่าน้ำ ค่าไฟ พลังงาน และดอกเบี้ย เนื่องจากประเทศไทยเราสนับสนุนภาคธุรกิจให้สามารถแข่งขันกับชาวบ้านได้ ผมก็เห็นด้วย และการลดอัตราค่าบริการประเภทเสียงคนที่ได้รับประโยชน์โดยตรงนอกจากภาคธุรกิจ ซึ่งก็ควรต้องช่วยส่งเสียงไปยัง กทค.อีกแรงหนึ่งด้วย นอกจากผู้บริโภคอย่างเราตัวจริง เสียงจริง ที่ส่งเสียงทุกครั้งจนเป็นขาประจำไปแล้วครับ (ที่มาของข้อมูล: http://www.bundesnetzagentur.de/cln_1912/SharedDocs/Pressemitteilungen/DE/2012/121130_IC_EntscheidungBK3.html?nn=65116)

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 141 การจัดการธุรกิจที่เข้าข่ายการพนันของ เยอรมนี

โดย ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค ประธานอนุกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านสินค้าและบริการสำหรับเนื้อหาช่วง ฉลาด ช้อปในครั้งนี้ ยังคงอยู่แวดวงโทรคมนาคมครับ เพราะหลังจากการประมูลคลื่น 2.1 GHz  สังคมและเสียงส่วนใหญ่ก็ได้ตั้งข้อสงสัยต่อคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ว่าได้ปฏิบัติหน้าที่ จนสุดกำลังความสามารถหรือเปล่าในการที่จะรักษาผลประโยชน์ของชาติและประชาชนตามที่ได้ทุ่มทุนออก spot โฆษณา ว่าเป็นภารกิจเพื่อชาติ แต่เมื่อการประมูลเสร็จสิ้นลง คนที่ยิ้มได้ก่อนกลับเป็นผู้ประกอบการสามราย ซึ่งก็คงต้องเป็นหน้าที่ของ กทค. เองที่จะต้องพิสูจน์ให้สังคมเห็นครับ ว่าการออกแบบการประมูลนั้นสมเหตุสมผลตามหลักวิชาการ และไม่เอื้อประโยชน์เอกชน สำหรับผู้บริโภคนั้นคงต้องจับตาดูการทำงาน ของ กทค. ในประเด็นราคาที่จะถูกลง และการคุ้มครองผู้บริโภค ที่ท่านประธาน กทค.ให้สัมภาษณ์ว่าจะให้ความสำคัญเป็นพิเศษ องค์กรผู้บริโภคของไทยคงต้องทำหน้าที่ตรวจสอบมาตรการการคุ้มครองผู้บริโภคต่อไปครับ   สำหรับมาตรการการคุ้มครองผู้บริโภค เมื่อประเทศไทยจะก้าวไปสู่ยุค 3 G นั้น การใช้ช่องทางการสื่อสารด้วยเทคโนโลยีแบบใหม่นี้ ภาครัฐและองค์กรกำกับดูแลอย่าง กสทช.ก็ต้องฉลาด และเท่าทันกับ 3ก (เกมส์-กล-โกง) ของธุรกิจเกี่ยวเนื่องด้วย โดยเฉพาะในยุค 3G นั้น มีการกล่าวกันไว้ว่า 3G ที่กล่าวถึงนั้นคือ Girl, Game and Gambling ปัจจุบันนี้เราจะเห็นการโฆษณาชักจูงให้เราต้องเสียสตางค์กับเรื่องเหล่านี้มาก จนเป็นเรื่องธรรมดาไปแล้ว แต่สำหรับการกำกับดูแลในประเทศเยอรมนีเขาไม่ได้มองว่าเรื่องนี้ธรรมดาครับ องค์กรกำกับดูแลเขาเอาจริง ทำจริงเพราะมองว่า ไม่สมควรที่จะให้ธุรกิจที่เอาเปรียบผู้บริโภค ล่อลวงเด็กและเยาวชนนั้นใช้เทคโนโลยีนี้เหล่านี้ทำลายคนในชาติของเขาครับ มาดูว่า กสทช.ของเยอรมันให้ความสำคัญอย่างไรกับเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภค “ศาลปกครองสูงสุดแห่งมลรัฐนอร์ดไรน์เวสฟาเลน (OVG Nordrheinwestfalen) ได้ตัดสินยืนตามมติของ กสทช. แห่งสหพันธรัฐเยอรมนี ที่ได้สั่งระงับการคิดค่าบริการ เนื่องจากเป็นบริการที่เข้าข่ายการเล่นพนัน “คำตัดสินของศาลได้ยืนยันถึงอำนาจหน้าที่ของ กสทช*. (die Bundesnetzagentur) ในการคุ้มครองผู้บริโภคในประเด็นเรื่องการให้บริการที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค (unlautere Geschäftspraktiken) และเป็นธุรกิจที่ผิดกฎหมาย และเราจะติดตามสอดส่องพฤติกรรม และป้องปราม การทำธุรกิจประเภทนี้” มัทเทียส คัวร์ท ประธานกสทช.ได้กล่าวย้ำถึงคำตัดสินของศาลปกครอง ในเดือนธันวาคม 2010 และเดือนมกราคม 2011 กสทช.*(die Bundesnetzagentur)  ได้สั่งห้ามผู้ประกอบการรับเงินจากผลการประกอบการ ภายใต้หมายเลข Artikel-/Leistungsnummer 61404 และ 83917 (product identity 11004 และ 12000 เนื่องจากภายใต้หมายเลขนี้ บริษัท telomax GmbH ได้ให้หลายๆ บริษัทที่เช่าเลขหมายทำการตลาด ที่อยู่ในรูปของการพนัน นอกจากนี้ ภายใต้หมายเลขนี้ หลายๆบริษัทยังได้ทำการตลาดโดยใช้การโฆษณาชักจูงทางโทรศัพท์ที่ละเมิดสิทธิผู้บริโภคด้วย (unerlaubter Werbeanrufen) โดยบริษัทได้โฆษณาชวนเชื่อว่า เป็นผู้ได้รับรางวัลเครื่องสำอางมูลค่า 100 ยูโร ซึ่งหลังจากที่โฆษณาชักจูงผ่านโทรศัพท์แล้ว ผู้บริโภคก็จะตกเป็นเหยื่อคือ หลงสมัครเล่นพนัน ของเวบไซต์ win-finder.com หรือ glücksfinder.net หลังจากที่ กสทช. (die Bundesnetzagentur) ได้ออกคำสั่งการห้ามเรียกเก็บเงินจากการประกอบธุรกิจดังกล่าว ทางบริษัทได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองสูงสุดแห่งมลรัฐ และศาลก็ได้มีคำตัดสินยืนตามคำสั่งของทาง กสทช. บทสรุปจากการกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคมของประเทศเยอรมนีคือ ไม่ส่งเสริมการทำธุรกิจประเภทหลอกลวง เอาเปรียบ และผิดกฎหมาย จริงๆ องค์กรกำกับดูแลในประเทศที่เจริญแล้ว เขามีอำนาจ และประชาชนไม่เคยสงสัยหรือ ต้องตั้งคำถามเกี่ยวกับอำนาจที่ประชาชนให้มานั้นเลย ถ้าองค์กรกำกับดูแลใช้อำนาจในการกำกับดูแล และให้ความสำคัญกับผลประโยชน์ของประชาชนและสังคม มากกว่าประโยชน์ในการค้าขาย ที่มา Press release of die Bundesnetzagentur 27.05.2011 หมายเหตุ Die Bundesnetzagentur ( Federal Network Agency) ทำหน้าที่ เป็นผู้กำกับดูแลโครงข่าย ขนาดใหญ่ของประเทศ ได้แก่ ไฟฟ้า ท่อขนส่งก๊าซ โทรคมนาคม รางรถไฟ และไปรษณีย์

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 140 Social TV เมื่อผู้บริโภค มีช่องทางในการสื่อสารเพิ่มมากขึ้น

โดย ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค ประธานอนุกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านสินค้าและบริการตอนนี้คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (กสทช.) มีมติเห็นชอบในหลักการของ (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับการให้บริการโทรทัศน์ในระบบดิจิตัล และ มีมติเห็นชอบในหลักการของ (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตเพิ่มเติมในส่วนการให้บริการโครงข่ายโทรทัศน์ประเภทที่ใช้คลื่นความถี่ภาคพื้นดินในระบบดิจิตัล พร้อมให้นำร่างประกาศทั้ง 2 ฉบับดังกล่าวเข้าสู่กระบวนการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง จะเห็นได้ว่าสังคมกำลังเดินหน้าไปสู่การสื่อสารยุคดิจิตัล การให้ความรู้ความเข้าใจเบื้องต้นกับผู้บริโภค เพื่อเตรียมความพร้อมในการก้าวเข้าสู่ยุคทีวีดิจิตัลเป็นสิ่งสำคัญ วันนี้ผมขอนำสถานการณ์เกี่ยวกับ เรื่อง Social TV ของเยอรมนี ที่อยู่ในยุคทีวีดิจิตัลมานำเสนอครับ การบริโภคสื่อโดยเฉพาะการดูโทรทัศน์ในเยอรมนี ได้เปลี่ยนรูปแบบการรับชมเนื่องมาจาก การเข้ามามีบทบาทของ Social Network ได้แก่ Facebook และ Twitter ตลอดจนการขยายตัวของ smart phone ที่ เป็นเครื่องมือที่สำคัญในการสื่อสารของผู้บริโภค   คำว่า Social TV เกิดขึ้นจากการหลอมรวมของเทคโนโลยีระหว่าง โทรทัศน์ และ Social Media จากผลสำรวจของบริษัท Viacom Media Network ของเยอรมนี ซึ่งได้ทำการสำรวจและวิเคราะห์พฤติกรรม การบริโภคสื่อในรูปของ Social TV ผลการสำรวจกิจกรรมที่ผู้บริโภคนิยมมากที่สุดมีดังต่อไปนี้ รับชมรายการพร้อมกับเพื่อนๆ 85 % สืบค้นเนื้อหาและข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับรายการทีวี 61% ดูวิดิโอบันทึกรายการ ผ่าน Social Media 58 % โดยผู้บริโภคที่รับชมรายการ Social TV ให้ความสำคัญกับ สามเรื่องดังนี้ การติดต่อสื่อสาร (Communication) สำรวจความเห็น (Check Comment) และ เนื่อหาของรายการ (Consume Content ) เรียกว่า เป็นสามเหลี่ยม สามซี ของการเสพสื่อของผู้บริโภคในยุคนี้ที่เดียว การที่ผู้บริโภครับชม รายการผ่าน Social TV ก็เนื่องจากต้องการข้อมูลและเนื้อหาเพิ่มเติม ที่ไม่ใช่เนื้อหาทั่วๆ ไป ยกตัวอย่างเช่น Behind the scene material, Episode หรือ Clip ที่เป็น Highlight  และด้วยความสามารถของ Smart Phone ที่เป็นเครื่องมือสื่อสารของคนในยุคดิจิตัล จึงสามารถใช้เครื่องมือนี้ ผ่านโปรแกรม ที่เรียกว่า Second Screen App ที่สามารถไปควบคุมการทำงานของโทรทัศน์ในบ้าน (First TV) สืบค้นเนื้อหาข้อมูล และแนะนำรายการต่อๆ ไปได้ นอกจากนี้ หัวใจของ Social TV คือ พฤติกรรมลักษณะ Socialize ได้แก่ การแลกเปลี่ยน ถกเถียง อภิปรายและแสดงความรู้สึกนึกคิดในสังคมออนไลน์เป็นวงกว้างได้  และที่สำคัญสำหรับในภาคธุรกิจที่สำคัญก็คือ การสั่งซื้อสินค้าและเล่นเกมส์ได้อีกด้วย ตัวอย่างของ App ที่เป็น Social TV คือ Zeebox, GetGlue Shazam และ Tweek (เป็น App ของเยอรมนี) IntoNow เป็น App ที่ทำหน้าที่ของ Social TV ที่มีอยู่ในตลาดขณะนี้ มีฟังค์ชัน ให้คำแนะนำสำหรับผู้บริโภคในราย (TV Guide) และสามารถจัดเก็บสถิติต่างๆ ไว้ด้วย บทสรุป Social TV เป็นความท้าทายของรายการทีวีที่มีจำนวนผู้เข้าชมรายการเป็นจำนวนมาก เช่น Academy Fantasia, Thailand Got Talent หรือ การแข่งขันกีฬาแมตช์สำคัญๆ ว่าจะใช้ Social TV เป็นเครื่องมือสำคัญในการมีปฏิสัมพันธ์ (Interactive) ระหว่างรายการทีวีและผู้บริโภคสื่อให้เข้ามามีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นและแสดงตัวตนได้อย่างไร  เพราะปัจจุบันช่องทางที่ผู้บริโภคใช้ในการสื่อสารไปยังรายการต่างๆ คือ SMS ซึ่งยังเป็นการสื่อสารแบบทางเดียวอยู่ ยังมีข้อจำกัดมากในเรื่องของการเข้ามาร่วมเล่นในรายการที่เป็น Social Event ในขณะนี้ และที่สำคัญ ส่ง SMS มันครั้งละสามบาทครับ ในโลกออนไลน์และยุคดิจิตัล ถือว่ามันยังแพงเกินไปครับ แหล่งข้อมูล Guido Bülow, Das Fernsehen im Wandel- Second Screen Apps für das Social TV, 21. Symposium Deutsche TV-Plattform, 2012  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 139 ปัญหาลิขสิทธิ์ เมื่อเข้าสู่ยุคหลอมรวมเทคโนโลยี ในเยอรมนี

โดย ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค ประธานอนุกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านสินค้าและบริการ สำหรับบทความในวันนี้ จะขออธิบายสถานการณ์การแพร่ภาพโทรทัศน์ ของประเทศเยอรมนี ที่มีการเปลี่ยนผ่านการส่งสัญญาณทีวีจากระบบอนาลอก มาเป็นระบบดิจิตอล สมบูรณ์แบบ และมีการหลอมรวมเทคโนโลยี คือประชาชนสามารถเลือกชมรายการโทรทัศน์ผ่านเครื่องรับสัญญาณโทรทัศน์ และรับชมรายการผ่านอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงที่เรียกว่า ทีวีออนไลน์ได้ทั้งสองช่องทาง ความสะดวกในการรับชมรายการโทรทัศน์ผ่านทางอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงนั้นเป็นที่นิยมในเยอรมันอย่างมาก เพราะสามารถรับชมรายการโทรทัศน์ได้ทุกที่ และทุกเวลา สามารถเลือกชมรายการที่แพร่ภาพผ่านไปแล้วก็ได้ และที่น่าสนใจยิ่งขึ้นสำหรับการชมรายการผ่านระบบอินเตอร์เน็ตคือ สามารถบันทึกรายการต่างๆ ที่ชื่นชอบ เพื่อนำมาดูกี่ครั้งๆ ก็ได้เช่นกัน สำหรับการนำรายการที่เผยแพร่ออกอากาศมาบันทึกเก็บไว้ เป็นการส่วนตัวนั้น  สมัยก่อนก็เคยเกิดคดีฟ้องร้องระหว่างบริษัทที่สร้างหนังของฮอลลิวูด กับบริษัทโซนี่ เนื่องจากบริษัทที่เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ภาพยนตร์ เกรงว่าความสามารถในการบันทึกเนื้อหาลงบนวิดีโอเทปนั้น จะทำให้รายได้ของบริษัทผู้สร้างหนังลดลง เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของตนเอง คดีฟ้องร้องดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อ 35 ปีที่แล้วเป็นที่ฮือฮาในประเทศสหรัฐอเมริกา คดีประวัติศาสตร์นี้มีชื่อว่า Betamax-Case และผลของคำตัดสินของศาลฎีกาสูงสุด (US supreme court) ได้ตัดสินให้โซนี่ชนะคดี ทำให้เรา(ผู้ที่ชื่นชอบการดูหนัง) สามารถบันทึกภาพยนตร์ลงบนวิดีโอเทปได้ เพื่อนำมาชมซ้ำเป็นการส่วนตัว 35 ปีให้หลังเกิดคดีลักษณะคล้ายๆ กันในประเทศเยอรมนี เนื่องจากสถานีโทรทัศน์เอกชนยักษ์ใหญ่สองช่อง คือ RTL และ SAT1 กำลังดำเนินคดีฟ้องร้องเวบไซต์ที่ให้บริการ การบันทึกการแพร่ภาพอัตโนมัติผ่านระบบอินเตอร์เน็ต (Online Recorder) เนื่องจากในเยอรมันมีเวบไซต์ให้บริการการบันทึกรายการอัตโนมัติ คือ Save.tv และ Bong.tv เวบไซต์ดังกล่าวสามารถค้นหารายการโทรทัศน์ และบันทึกรายการแบบอัตโนมัติผ่านระบบอินเตอร์เน็ต เนื่องจากสถานีโทรทัศน์ทั้งสองช่องมักจะมีรายการดีๆ กีฬาดี และซีรีส์ดีๆ มานำเสนอต่อผู้ชม จึงมีจำนวนเรตติ้งค่อนข้างสูงกว่าช่องทีวีสาธารณะ ใครที่เป็นสมาชิก save.tv หรือ Bong.tv สามารถตั้งโปรแกรมให้บันทึกเนื้อหาได้แบบอัตโนมัติ โดยที่ไม่จำเป็นต้องเปิดอินเตอร์เน็ตทิ้งไว้เลย เมื่อโปรแกรมทำการบันทึกรายการเสร็จแล้ว ผู้ชมสามารถที่จะชมรายการออนไลน์ โดยการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ต หรือสามารถดาวน์โหลดรายการที่ชื่นชอบเก็บไว้ในคอมพิวเตอร์ส่วนตัว แล้วอยากจะชมรายการตอนไหนก็ได้ เนื่องจากทางฝั่งสถานีโทรทัศน์เกรงในเรื่องการละเมิดลิขสิทธิ์ จึงได้ฟ้องเวบไซต์ที่ให้บริการดังกล่าว แต่ศาลสูงของเยอรมันได้ตัดสินให้เวบไซต์ที่ให้บริการ Online Recorder ชนะคดี โดยให้เหตุผลว่าการบันทึกรายการโทรทัศน์ดังกล่าวเป็นไปเพื่อการใช้งานส่วนบุคคล (BGH, Az. I ZR 215/06 และ I ZR 175/07 ราคาการสมัครเป็นสมาชิกของเวบไซต์ online recorder ดังกล่าวก็ไม่แพง เพียง 10 ยูโรต่อเดือน ซึ่งถูกกว่าค่าธรรมเนียมบำรุงทีวีสาธารณะ ซึ่งเป็นหน้าที่ ที่ทุกครอบครัวต้องจ่ายสมทบให้กับ สำนักงานจัดเก็บค่าธรรมเนียมการบริโภคสื่อสาธารณะ (Die Gebühreneinzugszentrale GEZ) ในราคา 18 ยูโร ถึงแม้สถานีโทรทัศน์เอกชนทั้งสองช่องจะแพ้คดี แต่ก็ยังไม่ลดละความพยายาม  โดยที่จะปิดช่องว่างทางธุรกิจการบันทึกรายการออนไลน์ ก็ได้มีแผนที่จะสร้าง Mediathek (คลังของรายการโทรทัศน์ที่ได้ออกอากาศไปแล้ว) เนื่องจากรายได้ที่สำคัญของสถานีโทรทัศน์และรายการขึ้นอยู่กับเรตติ้ง การเข้าชมรายการ หากทางสถานีไม่เสนอบริการนี้ ก็จะเสียประโยชน์ตรงส่วนนี้ไป ในประเด็นข้อกฎหมายการบันทึกรายการโทรทัศน์อีกประเด็นหนึ่ง ที่ยังอยู่ในการฟ้องร้องระหว่างเวบไซต์ให้บริการ online recorder กับสถานีโทรทัศน์ ก็คือ เวบไซต์ onlinetvrecorder.com มี option การดึงรายการจากโทรทัศน์ที่ผู้ชมเองไม่ได้ทำการบันทึกเก็บไว้ ตรงนี้เลยกลายเป็นประเด็นว่าอาจละเมิดกฎหมายลิขสิทธิ์ได้ ซึ่งคดีนี้ยังอยู่ในการพิจารณาคดีของศาลอยู่ ในอนาคตองค์กรคุ้มครองผู้บริโภคอาจต้องเข้ามาช่วยเหลือให้คำแนะนำ ในประเด็นนี้ครับ เพราะการละเมิดกฎหมายลิขสิทธิ์ ผู้บริโภคมักจะเสียค่าปรับ หรือค่าเตือนเป็นวงเงินที่สูงมาก ซึ่งเป็นอีกปัญหาหนึ่งที่ผู้บริโภคสื่อในยุโรปประสบปัญหาอยู่ครับ ที่มา (Finanztest 9/2012)

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point